Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 บารมี ยิ่งยวด หรือ ยิ่งใหญ่ : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 พ.ค.2007, 9:05 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

บารมี ยิ่งยวด หรือ ยิ่งใหญ่
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)



ให้ธรรม-ให้ทุน

ขอเจริญพร วันนี้ ก็เช่นเดียวกับครั้งก่อนๆ คือคณะคุณโยมมิสโจ พร้อมด้วยญาติมิตรลูกศิษย์ท่านที่เคารพนับถือ ได้ทำบุญถวายภัตตาหาร สำหรับวันนี้เป็นรายการประจำเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531

นอกจากเลี้ยงภัตตาหารแล้ว คราวนี้ คุณโยมยังได้ทำทานพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือได้ชักชวนญาติมิตรร่วมกันสร้างหนังสือ “พุทธธรรม” สำหรับถวายแก่วัดต่างๆ แก่พระสงฆ์ และญาติโยม สาธุชนที่สนใจใฝ่ธรรมทั้งหลาย ซึ่งเมื่อกี้นี้อาตมาก็ได้อนุโมทนาไปครั้งหนึ่งแล้ว ในตอนที่คุณศุภนิจ คุณศุภวรรณ และคุณสุจินต์ ได้มาถวายหนังสือนี้ไว้ก่อน นอกจากได้สร้าง คือทำให้มีขึ้นมาแล้ว ก็ได้นำมาถวายอาตมาสำหรับไปแจกต่ออีกด้วย

โดยสรุปก็คือ การบริจาคทรัพย์สร้างหนังสือ “พุทธธรรม” นี้ เป็นการทำบุญ 2 ชั้น ทั้งเผยแพร่ธรรม และถวายทุนการศึกษาแก่พระเณร คือว่า หนังสือนี้โยมได้สร้าง โดยไปจัดหามาจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งได้พิมพ์หนังสือนี้ขึ้น เพื่อจะหาทุนมาให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนี้ เรียกกันว่าเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ มีพระเณรเรียนอยู่ประมาณ 1,500 องค์ นับว่าเป็นจำนวนมาก พระเณรเหล่านี้พักอยู่ตามวัดต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียง ไปถึงเมืองนนท์ เมืองปทุมธานี พระเณรเหล่านี้ไม่ใช่เป็นพระที่อยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียง แต่เป็นพระเณรที่มาจากทั่วประเทศ คือมาจากทุกภาคเกือบจะทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งมาเล่าเรียนศึกษา เรียนนักธรรม เรียนบาลี เช่นได้เปรียญต่างๆ แล้ว ก็มาเรียนเพิ่มเติมในมหาวิทยาลัยสงฆ์อีก

ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ ก็จะต้องหาทุนมาจัดการศึกษา แต่ไม่ค่อยจะมีทุนรอน จึงต้องหาวิธีที่จะได้รับความอุปถัมภ์มาจากด้านต่างๆ ก็เลยพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นเป็นสื่อในการที่จะหาทุน และนอกจากหาทุนแล้ว ก็จะได้เป็นการเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปด้วยพร้อมกัน

เพราะฉะนั้น เมื่อญาติโยมไปจัดหาซื้อหนังสือนี้มา ในขั้นที่หนึ่ง ก็ได้ช่วยให้ทุนการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร ซึ่งเป็นการบริจาคทานที่มอบแก่ส่วนรวม จึงเรียกว่าเป็นสังฆทาน เมื่อเป็นสังฆทาน ก็เป็นทานที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมาก ว่ามีผลยิ่งใหญ่ อันนี้ก็เป็นทานขั้นที่หนึ่ง พอเริ่มซื้อก็ได้ทำบุญไปแล้ว

ขั้นที่สอง เมื่อนำหนังสือนี้มาแจกแก่ญาติโยม รวมทั้งนำมาถวายอาตมาให้ไปแจกต่อด้วย ก็เรียกว่าเป็นธรรมทาน ที่เป็นยอดของทาน เมื่อกี้เป็นสังฆทานก็เป็นทานยิ่งใหญ่แล้ว พอมาเป็นธรรมทานก็เป็นทานชั้นเลิศอีก ดังที่โยมก็คงเคยได้ยินพุทธภาษิตบทหนึ่งที่ว่า

สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
แปลว่า การให้ธรรมชนะการให้ทั้งปวง


ให้ธรรม คือยอดทาน

ธรรมทานนี้ชนะทานทุกอย่าง เพราะเป็นการให้แสงสว่างแก่ชีวิต คนที่ได้ธรรมะไปแล้วก็รู้จักที่จะดำเนินชีวิตของตนให้ถูกต้อง โดยมีจิตใจที่มีความสุข และประพฤติตัวดี บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น ช่วยให้สังคมมีความสุข มีความเจริญ และก้าวหน้าในธรรม การที่จะปฏิบัติธรรมถูกต้อง ไม่ว่าจะเจริญศีล สมาธิ หรือปัญญาอย่างไรก็ตาม ก็จะต้องรู้จักธรรมะ เพราะฉะนั้นการให้ธรรมะก็คือให้ทางปฏิบัติและทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง

แม้แต่จะไปทำทานอื่น หรือการที่คนจะไปช่วยเหลือกัน จะทำความดีอะไรๆ ก็เพราะเข้าใจธรรมะ หรือเคยได้ยินได้ฟังคำสอนที่ถูกต้อง ถ้าได้รู้จักคำสอนที่ถูกต้อง คือธรรมะนี้แล้ว ก็จะสามารถทำความดีได้ทุกอย่าง แต่ถ้าไม่รู้จักธรรมะ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรจึงจะถูกต้อง ก็อาจจะประพฤติผิดพลาดได้มากมาย พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า

“การให้ธรรมเป็นการให้ที่เลิศประเสริฐสุด”

เมื่อโยมและญาติมิตรมาแจกหนังสืออย่างนี้ คือ สร้างหนังสือนี้มอบให้แก่ที่อื่นหรือแก่บุคคลอื่น ก็เท่ากับว่าแจกจ่ายธรรมะ เป็นการให้ทานที่ประเสริฐที่สุด และเป็นการทำบุญที่สำคัญ


(มีต่อ 1)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 พ.ค.2007, 9:09 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ทำไมโบราณว่า จารึกธรรมหนึ่งอักษร
เท่ากับสร้างพระพุทธปฏิมาหนึ่งองค์


มีคติแต่โบราณบอกว่า การสร้างพระธรรม แม้แต่หนึ่งตัวอักษร ถือว่ามีคุณค่าเท่ากับได้สร้างพระพุทธรูปหนึ่งองค์ โบราณถือกันมาอย่างนี้ เพราะถ้าได้ทำบุญสร้างอักษรจารึกพระธรรมไปแล้ว ก็จะทำให้คนได้รู้เข้าใจว่า จะประพฤติปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้อง

แม้แต่เราจะรู้จักปฏิบัติต่อพระพุทธรูปถูกต้อง เราก็ต้องรู้จักพระธรรมด้วย เพราะพระพุทธรูปนั้น เป็นแต่เพียงวัตถุที่สร้างเป็นรูปเปรียบของพระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่รู้จักธรรมะ ไม่รู้จักคำสอน เราก็ไม่รู้ว่าจะมีพระพุทธรูปไปทำไม แล้วเราควรจะทำอย่างไรต่อพระพุทธรูปนี้

การที่เราได้นึกถึงพระพุทธรูป และไปหาพระพุทธรูปมา หรือไปไหว้พระพุทธรูป ก็เพราะว่า เราได้รู้จักพระธรรม ได้รู้จักคำสอนว่า อ๋อ พระพุทธรูปนี้ เป็นองค์แทนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามีพระคุณอย่างนั้นๆ เราจึงได้แสดงความเคารพนับถือพระองค์ อย่างนี้เรียกว่ารู้จักพระพุทธคุณด้วยอาศัยธรรมะ เพราะฉะนั้น การให้ธรรมะจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

นอกจากนั้น เวลาเราไหว้พระพุทธรูป เราจะทำใจอย่างไรถูกต้อง ก็ต้องอาศัยพระธรรมมาสอนอีกเหมือนกัน ว่าเวลาไหว้พระนะ จะต้องทำจิตใจให้สงบ ให้ผ่องใสเบิกบานอย่างนั้นๆ ระลึกพระคุณอย่างนั้นๆ การที่เราปฏิบัติถูกต้อง ก็เพราะอาศัยพระธรรม

พระธรรมมีความสำคัญอย่างที่กล่าวมา ท่านจึงถือว่าการสร้างพระธรรม แม้แต่เพียงตัวอักษรหนึ่ง มีค่ามากเท่ากับสร้างพระพุทธรูปหนึ่งองค์ แล้วถ้าสร้างหลายตัวอักษร ก็ยิ่งมีค่ามากขึ้น คำสอนธรรมะนี้จารึกข้อธรรมที่สำคัญทุกอย่างไว้ เป็นเครื่องสืบต่อพระศาสนา

อันนี้ก็เป็นสาระสำคัญที่แสดงถึงประโยชน์หรืออานิสงส์ที่เกิดขึ้นจากการสร้างหนังสือธรรมะ หรือคัมภีร์ขึ้นมาเผยแพร่


ทำบุญให้ดี ทำทีเดียวได้ครบทั้งทาน-ศีล-ภาวนา

การที่โยมมาทำบุญวันนี้ อย่างที่ทำกันมาทุกๆ เดือน ถวายทานแล้วมาสังสรรค์กันในหมู่ญาติมิตร แล้วก็มาบำเพ็ญธรรมทานอย่างนี้ ทั้งหมดนั้นก็เป็นการบำเพ็ญบุญกิริยา คือการทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งเราได้ทำกันในด้านต่างๆ ดังที่ได้เคยกล่าวมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะที่เห็นชัดๆ ก็คือทาน

ตอนแรกก็ถวายทาน ถวายภัตตาหาร แล้วก็รักษาศีล ดังที่ได้สมาทานศีลกันเมื่อกี้นี้ แล้วก็ได้ภาวนา คือทำจิตใจและสติปัญญาให้เจริญงอกงามขึ้น ทำจิตให้เจริญด้วยการทำใจให้สงบ ให้เบิกบานผ่องใส แล้วก็เจริญปัญญาด้วยการฟังธรรม เมื่อฟังธรรมะไปแล้ว ใจคอสบาย เกิดความสว่าง เข้าใจธรรมะ รู้ว่าอะไรจริง อะไรถูกต้อง อะไรดีงาม มีความรู้ความเข้าใจในหลักคำสอนมากขึ้น ก็เจริญปัญญา แม้จะยังไม่ได้บำเพ็ญสมาธิอะไรก็เรียกว่าเป็นภาวนา

รวมแล้วก็คือปฏิบัติตามหลัก 3 ประการที่เรียกว่าเป็นบุญกิริยา คือ ทาน ศีล และภาวนา ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง มาทำบุญกันในวันนี้ ก็ได้ครบทั้ง 3 อย่าง ได้ทั้งทาน ทั้งศีล และภาวนา


ทำบุญสูงขึ้นไป กลายเป็นบารมี

ว่าถึงการทำบุญนี้ แยกได้เป็นหลายระดับ คือในขั้นต้นๆ นี้เราอาจจะทำพอเป็นพื้นฐานสำหรับการปฏิบัติธรรมขั้นต่อไป เช่นว่า ในการบำเพ็ญทานเราก็อาจจะแบ่งปันบริจาคบำรุงต่างๆ พอเป็นพื้นฐานสำหรับความมั่นคงงอกงามของการรักษาศีลและสำหรับการบำเพ็ญภาวนา หรือในการรักษาศีล ก็รักษาพอเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ในสังคมที่ดีงาม สูงขึ้นไปก็เป็นพื้นฐานในการบำเพ็ญสมาธิอะไรต่างๆ เหล่านี้ เรียกว่าเป็นการบำเพ็ญกุศลทำความดีในขั้นพื้นฐาน สำหรับการก้าวไปสู่ธรรมะขั้นสูงขึ้นไป

อีกระดับหนึ่ง บางทีเราอาจจะอยากปฏิบัติให้ยิ่งกว่านั้น จึงมีการทำดี ในขั้นเป็น “บารมี” ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจขั้นหนึ่ง คือบางท่านไม่ได้คิดแต่เพียงว่า ทำบุญ หรือทำความดีเป็นพื้นฐานเบื้องต้นเท่านั้น แต่อยากจะทำให้เป็นบารมี ซึ่งเป็นคำสำคัญอย่างหนึ่ง ผู้ใดต้องการจะทำความดีให้ยวดยิ่งให้เป็นพิเศษ ก็ทำให้ถึงขั้นเป็นบารมี

ในขั้นบารมี ถามว่าบารมีเป็นอย่างไร คำว่า “บารมี” นั้นก็คล้ายๆ กับคำที่เราเคยได้ยินบ่อยๆ เราเคยได้ยินคำที่พูดว่า บรม หรือปรม คำว่าบรมหรือปรมนี้เป็นคำชุดเดียวกับบารมี และคำว่าบารมีนั้น ก็มาจากคำว่าบรมหรือปรมนั่นเอง

บรมหรือปรมแปลว่าอย่างยิ่ง เช่นบรมสุข ก็แปลว่าความสุขอย่างยิ่ง หรือเราเรียกบุคคลที่สูงสุด อย่างที่นำมาใช้กับสมเด็จพระราชินี ก็เรียกพระบรมราชินี ใช้กับบุคคลก็ตาม ใช้กับอะไรก็ตาม ก็ใช้ในระดับสูงอย่างยิ่ง หรือสูงสุด

คำว่าบรม ก็มาเป็นบารมี “บารมี ก็คือธรรมะ หรือ คุณธรรมที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อจะบรรลุจุดหมายที่สูงส่ง”

จะเห็นว่าเป็นเรื่องสูงทั้งนั้น การปฏิบัติและคุณธรรมที่ปฏิบัตินั้น ก็บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด และบำเพ็ญไปก็มีจุดหมายที่จะบรรลุถึงสิ่งที่ดีงามสูงสุด เช่นเพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้า

ยกตัวอย่างพระพุทธเจ้าของเรานี้ แต่ก่อนก็เป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งได้บำเพ็ญธรรมะต่างๆ ธรรมะที่พระองค์บำเพ็ญนั้น มีจุดหมายสูงยิ่งว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า ก็เลยบำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เหนือกว่าที่คนธรรมดาจะทำได้ จึงเรียกว่าเป็น “บารมี”


(มีต่อ 2)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 พ.ค.2007, 9:11 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

บารมีทำได้หลายอย่าง และมีหลายขั้น

ธรรมะต่างๆ ที่สามารถจะบำเพ็ญให้เป็นบารมีได้ก็มีมาก อย่างพระพุทธเจ้าของเรานี้ ต้องบำเพ็ญคุณธรรมสำคัญที่เป็นหลักถึง 10 ประการ ขอยกเอาแต่ชื่อธรรมนั้นๆ พอให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าของเราบำเพ็ญบารมีอะไรบ้าง ดังนี้

ทาน การให้ ในที่นี้เน้นการให้ด้วยน้ำใจเสียสละอย่างยิ่ง

ศีล การรักษากายวาจาให้อยู่ในวินัยและวัตรปฏิบัติที่สูงขึ้นไป

เนกขัมมะ การสลัดความสุขส่วนตัว การเสียสละเรื่องทางโลกทั่วไป เช่นที่ปรากฏเป็นการออกบวช

ปัญญา ความรู้เข้าใจสังขาร หยั่งเห็นสัจธรรม

วิริยะ ความเพียร

ขันติ ความอดทน

สัจจะ ความจริง จริงใจ จริงวาจา จริงกาย (ทำจริง)

อธิษฐาน ความตั้งใจมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว

เมตตา ความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ สัตว์ร่วมโลกทั้งหลาย

อุเบกขา ความวางใจเป็นกลางได้ ความดำรงอยู่ในธรรมไม่หวั่นไหวเอนเอียง

นี่คือคุณธรรมต่างๆ ที่ว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญอย่างยิ่งยวด

แม้บารมีนี้เอง ก็ยังแบ่งเป็นขั้นๆ ที่จริงเป็นบารมีก็ยิ่งยวดอยู่แล้ว แต่ยิ่งยวดก็ยังแบ่งเป็นยิ่งยวดขั้นธรรมดา ยิ่งยวดขั้นสูงขึ้นไป และยิ่งยวดขั้นสูงสุด

ยิ่งยวดขั้นธรรมดา เรียกว่าบารมีเฉยๆ ถ้ายิ่งยวดสูงขึ้นไปอีก ขั้นจวนสูงสุด เรียกว่าอุปบารมี และบำเพ็ญยิ่งยวดขั้นสูงสุดทีเดียว เรียกว่าปรมัตถบารมี

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นจะบำเพ็ญทาน พระพุทธเจ้าเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ก็บำเพ็ญเอาจริงเอาจังมาก ทำอย่างสม่ำเสมอ ถ้าทำในขั้นต้น เป็นบารมีธรรมดา ก็คือสละทรัพย์สินสิ่งของมากมายช่วยเหลือมนุษย์ทั้งหลาย เห็นคนยากจน คนตกยากลำบากมีความทุกข์อะไรต่างๆ ก็พยายามช่วยเหลือ ขั้นนี้เรียกว่าทานบารมี

ถ้าเสียสละขั้นสูงขึ้นไป บางคราวมีเหตุจำเป็นต้องถึงกับเสียสละอวัยวะของตน ก็สละให้ได้ การเสียสละขั้นนี้ เรียกว่าอุปบารมี

ในบางครั้ง เช่นว่าจะรักษาธรรมะ รักษาความถูกต้องดีงาม รักษาสัจธรรมไว้ ต้องเสียสละอย่างสูงสุด ถึงกับเสียสละชีวิตก็ต้องทำ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงเคยเสียสละชีวิต ในตอนที่เป็นพระโพธิสัตว์ ทานที่บำเพ็ญถึงขั้นนี้ เรียกว่าปรมัตถบารมี เป็นบารมีขั้นสูงสุดในด้านทาน

คุณธรรมอื่นๆ ก็เหมือนกัน ก็แบ่งเช่นนี้ คือ ชั้นยิ่งยวดธรรมดาเป็นบารมี ขั้นสูงเป็นอุปบารมี และขั้นสูงสุด เป็น ปรมัตถบารมี


ทำความดีขนาดไหน จึงจะได้เป็นบารมี

เราชาวพุทธหรือผู้ศึกษาธรรมทั้งหลายนี้ ถ้าต้องการปฏิบัติธรรมให้เป็นบารมี ก็ต้องตั้งใจจริงจัง โดยมีจุดหมายสูงสุด

มีจุดหมายสูงสุดคืออะไร ก็เช่นตั้งเป้าหมายจะเป็นพระพุทธเจ้า หรือแม้แต่ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นพระมหาสาวก จะบรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์ผู้หมดกิเลส คือมีเป้าหมาย ไม่ใช่บำเพ็ญอย่างเลื่อนลอย นี่เป็นประการที่หนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะของบารมี คือมีจุดมุ่งหมาย ไม่ใช่ทำอย่างเลื่อนลอย

ประการที่ 2 ทำอย่างจริงจังสม่ำเสมอ ไม่ใช่ทำๆ หยุดๆ ต้องเอาจริงเอาจัง อย่างพระพุทธโพธิสัตว์ในชาติหนึ่งๆ ก็จะมีบารมีที่เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งว่าจะบำเพ็ญคุณความดีข้อนี้ แล้วก็ทำอย่างจริงจัง เช่น ในพระชาติใดถือสัจจะคือความจริง ก็ตั้งมั่นอยู่ในความจริงมั่นคง ซื่อสัตย์สม่ำเสมอตลอดไปไม่ยอมทำให้คลาดเคลื่อนจากความจริง ถ้าทำได้อย่างนี้ก็อยู่ในระดับบารมี

ประการต่อไป ลักษณะของบารมี คือมีการสะสม เพิ่มพูนมากขึ้นๆ เรื่อยๆ จนกระทั่งมีลักษณะหนึ่งคือ เกิดความเคยชิน คนที่บำเพ็ญคุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นประจำสม่ำเสมอและสั่งสมมามาก จะมีความเคยชินในการประพฤติปฏิบัติสิ่งนั้น จนกระทั่งกลายเป็นการแสดงออกอย่างอัตโนมัติเป็นไปเอง

เหมือนคนที่บำเพ็ญเมตตา มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นอยู่เสมอ ตั้งใจที่จะช่วยเหลือคนทั้งหลาย ก็จะมีอาการแสดงออกเป็นความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลพร้อมที่จะช่วยเหลือด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อทำเป็นประจำสม่ำเสมอเอาจริงเอาจัง ต่อมาก็จะเป็นนิสัยประจำตัว มีการแสดงออกเป็นอัตโนมัติ โดยไม่ต้องตั้งใจ


(มีต่อ 3)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 พ.ค.2007, 9:16 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คนอ่อนแอ ไปไม่ถึงบารมี

แม้แต่คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติกันโดยทั่วไปนี้ ก็ต้องระลึกไว้ว่า ไม่ใช่ทำนิดๆ หน่อยๆ ก็จะเห็นผล บางคนพอปฏิบัติธรรมสักอย่างไปนิดหน่อย ก็นึกแต่จะเอาผล ชอบเรียกร้องว่าทำไมจึงยังไม่ให้ผล บางทีก็เกิดความท้อใจ แต่ที่แท้ตัวเองมิได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง

ยกตัวอย่างเช่นคนบางคน ตั้งร้านค้าขึ้นมาร้านหนึ่ง ทำการค้าขายโดยสุจริต แต่ไม่ค่อยได้กำไร เกิดความรู้สึกว่าเมื่อค้าขายตรงไปตรงมาไม่ค่อยได้ผล ก็ชักจะท้อใจ

แต่ถ้าเขามีความมั่นคงในงานซื่อสัตย์สุจริตนั้น ทำไปทำมาจนกระทั่งในที่สุดคนรู้แพร่หลายกระจายกว้างขวางถึงระดับหนึ่ง คนทั่วไปก็เกิดมีความเชื่อถือ พอนึกถึงหรือพูดถึงคนนี้หรือร้านนี้แล้ว เขาก็รู้กันทั่วไปเข้าใจทันทีว่า เจ้านี้ละตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์สุจริต จนกระทั่งว่าถ้าเข้าร้านนี้แล้วไม่ต้องต่อราคาเลย อย่างนี้ก็เรียกว่าพอจะอยู่ในระดับเป็นบารมีได้ คือทำอย่างจริงจังและเป็นประจำสม่ำเสมอ มีความคงเส้นคงวา จนทำให้เกิดความเชื่อถือ

พูดง่ายๆ ว่า บุคคลบางคนบำเพ็ญคุณธรรมบางอย่างเป็นประจำ จนกระทั่งคุณธรรมนั้นปรากฏออกมาในกิริยาอาการลักษณะทั่วไป คนไหนเห็นแล้วก็รู้จักคนนั้นในลักษณะของคุณธรรมข้อนั้นไปเลย นี่เรียกว่าเป็นการบำเพ็ญในระดับที่เรียกว่าเป็นบารมี


นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง จะได้ไม่ท้อใจ

ฉะนั้น ขอให้เรานึกถึงพระพุทธเจ้า จะได้ไม่ท้อใจ เพราะถ้าเราไม่มีตัวอย่าง เราก็จะท้อใจว่า ได้บำเพ็ญธรรมะข้อนี้ไปแล้วก็ยังไม่เห็นผลอะไร เลยท้อใจคิดว่าจะเลิก อย่าทำดีกว่า คนอื่นเขาไม่เห็นต้องลำบากอย่างนี้ บางคนทำไม่ดีกลับได้ผล ก็ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติก้าวหน้าไปได้

แต่ถ้านึกถึงพระพุทธเจ้าและมองไปตามพระประวัติของพระองค์ ได้คิดว่าบางครั้งพระองค์ทำความดีแล้วต้องประสบความทุกข์ ถูกคนอื่นข่มเหงรังแกเดือดร้อนมากมาย แต่พระองค์ก็ไม่เคยยอมท้อถอยเลย ประวัติของพระพุทธเจ้าครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นแบบนี้มาก แต่พระองค์ก็ยืนหยัดในความดีนั้น จนประสบความสำเร็จจากการทำความดีของตนเอง แต่ต้องอาศัยกาลเวลายาวนาน และมีความมั่นคง มีความอดทนเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น คุณธรรมที่บำเพ็ญในระดับบารมีจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

การที่เรายึดเอาพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง เป็นที่ระลึก ก็เพราะจะได้เป็นเครื่องส่งเสริมกำลังใจของตนเองด้วย

อย่างเรามีพระพุทธรูปไว้นี้ นอกจากระลึกถึงพระพุทธคุณที่สวดกันว่า
อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา พุทฺธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ

หรือ สวดบทยาวเป็นพุทธคุณ ๙ ประการว่า
อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ฯเปฯ แล้ว

ซึ่งเรามักระลึกถึงพระคุณทั่วๆ ไป แบบนึกกว้างๆ ลางๆ แต่บางทีเราก็ไม่ได้แยกแยะให้ลึกซึ้งในแต่ละด้าน ความจริงนั้นถ้าเราแยกออกไปให้ละเอียด เราจะเห็นพระคุณแต่ละข้อๆ ว่าพระองค์ได้ฝึกพระองค์มาอย่างไร พัฒนาตนเองมาอย่างไร ได้บำเพ็ญคุณธรรมมาลำบากลำบนเสียสละแค่ไหน ประสบความยากลำบากแค่ไหน ถ้าเราได้เห็นปฏิปทาของพระองค์อย่างนั้นแล้ว จะได้มาเป็นเครื่องเตือนใจให้เรามีความเข้มแข็งอดทนในความดี

แม้แต่ในชาติปัจจุบันเราก็ยังเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงมีความเสียสละเป็นอย่างยิ่ง การที่จะได้ตรัสรู้นี้ไม่ใช่ง่ายๆ ต้องเสียสละชีวิตที่มีความสุขสำราญในรั้วในวัง สละทรัพย์สมบัติทุกสิ่งทุกอย่างออกไปอยู่ป่า และตอนที่ไปอยู่ในป่าพระองค์ต้องลำบากทุกข์ยากขนาดไหน อดๆ อยากๆ ถูกคนที่เขามาล้อมาเลียน มาทำอะไรต่างๆ โดยที่ว่าพระองค์ไม่ถือสา ต้องผจญกับความหวาดกลัวต่างๆ แล้วก็จาริกไปศึกษาเล่าเรียนในสำนักต่างๆ ปฏิบัติทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ จนในที่สุดประสบความสำเร็จด้วยความเพียรของพระองค์ อย่างพุทธภาษิตที่ว่า

วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ
คนล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร

หมายความว่า จะประสบความสำเร็จพ้นจากความทุกข์ได้ก็ด้วยความเพียร อันนี้เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า

ถ้าเราได้ศึกษาประวัติของพระพุทธเจ้าในแง่ด้านต่างๆ ได้เห็นตัวอย่างการทำความดีของพระองค์แล้ว ก็จะมาเป็นเครื่องเตือนใจ และเป็นแบบอย่างแก่เราทั้งหลาย ทำให้เรามีความเข้มแข็งอดทน มีกำลังใจในการที่จะทำความดี ไม่ท้อถอย ไม่หวั่นระย่อต่ออุปสรรคและความทุกข์ยากต่างๆ


(มีต่อ 4)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 พ.ค.2007, 9:16 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ระลึกถึงการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า
แล้วน้อมบารมีเข้ามาสู่ตัวของเรา


นอกจากนั้น ในเวลาที่บำเพ็ญคุณธรรมความดีเหล่านั้น แม้จะมีความทุกข์ความลำบากในภายนอก แต่จิตใจมีความสุข คือ มีความสุขในการที่จะทำความดี มีความปลาบปลื้มใจอยู่เสมอ นี้ก็เป็นคติอย่างหนึ่งที่เราควรจะได้จากการบำเพ็ญคุณธรรมขั้นยิ่งยวดที่เรียกว่าบารมี

ในแง่หนึ่งก็คือ การมองบารมีจากตัวอย่างการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า แล้วโยงมาสู่การที่จะสร้างให้เป็นบารมีของตัวเราเอง

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ใดที่ต้องการจะปฏิบัติธรรม ในขั้นที่ว่าให้เป็นพิเศษขึ้นไป โดยมานึกว่า เราจะไม่หยุดอยู่เพียงการปฏิบัติคุณธรรมขั้นพื้นฐาน หรือเพียงเป็นบันไดขั้นต่อไปๆ เท่านั้น แต่เราจะบำเพ็ญคุณธรรมในระดับที่เรียกว่าเป็นบารมี คือการบำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายที่สูงส่ง ก็จะเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมอีกระดับหนึ่ง ซึ่งจะนำผลดีมาให้ในระยะยาว นำไปสู่คุณประโยชน์อย่างกว้างขวางและสูงส่งแก่โลก

ที่ได้กล่าวมาในวันนี้ เป็นการพูดถึงการปฏิบัติธรรมอีกแบบหนึ่ง ในชุดที่เรียกว่าบารมี ซึ่งมีความหมายดังที่ได้กล่าวมา การที่พูดนี้ก็เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของญาติโยม ให้เข้าใจเรื่องการปฏิบัติธรรมที่เรียกว่าบารมี นับว่าเป็นขั้นที่ 1 คือพูดพอเป็นความรู้ความเข้าใจ และถ้าจะให้ได้ผลยิ่งขึ้นไป ก็คือท่านผู้ใดเห็นว่าเราน่าจะทำในขั้นนั้นบ้าง ก็นำมาประพฤติปฏิบัติตามอย่างจริงจัง บารมีก็จะเกิดขึ้นในตัวของเรา


บารมีแบบไทย เสี่ยงภัย ต้องระวัง

ในภาษาไทยนั้น เรานำคำว่าบารมีมาใช้กันผิดมากถูกน้อย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน เดี๋ยวนี้คำว่าบารมีมีความหมายเพี้ยนไป เราเห็นว่าคนไหนมีอิทธิพล มีเงินมีอำนาจ ยิ่งใหญ่ ก็เรียกว่าเขามีบารมี เวลาพูดว่าคนนี้มีบารมีมาก ก็หมายความว่ามีพวกพ้องบริวารมาก หรือมีอิทธิพลมาก สามารถจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้ เรียกว่าเป็นบารมี ความหมายที่เพี้ยนไปนี้คือไปมองที่ผล เอาผลที่เกิดขึ้น แต่ของพระท่านมองที่เหตุ คือ การทำเหตุ “การทำความดีที่เป็นตัวเหตุ เรียกว่าเป็นบารมี”

แต่คนไทยเรามามองที่ผล ว่าคนที่มีกำลังมีอิทธิพลอย่างนั้นแล้วเรียกว่าเป็นบารมี ก็เลยเป็นความหมายที่เคลื่อนคลาดไป ถ้าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา จะต้องไปเน้นที่ตัวการประพฤติปฏิบัติ หรือตัวคุณธรรมที่จะบำเพ็ญนั้น แล้วทำ “เหตุ” สำเร็จแล้ว ก็จะเกิดเป็น “ผล” ขึ้นเอง และเป็นผลที่ดีงาม เป็นคุณแท้จริง ไม่ใช่อิทธิพลที่ส่งผลร้ายคุกคามข่มขี่คนอื่น

ถ้าเราตั้งใจทำความดีอย่างจริงจัง ก็จะเกิดเป็นบารมีขึ้นมาอย่างที่ว่า คนที่ทำความดีจนกระทั่งเห็นกันชัดๆ คนรู้กันทั่วไป เป็นที่เชื่อถือในเรื่องนั้นๆ ได้รับความเคารพนับถือในระดับนั้นๆ ก็เพราะเขาได้สั่งสมบารมีมามาก เราก็เลยเรียกสั้นๆ ว่า เขามีบารมีมาก ก็คือเขามีคุณธรรมความดีที่ได้สั่งสมมามากนั่นเอง

เราจะต้องพยายามทำความเข้าใจในเรื่องบารมีให้ถูกต้อง พยายามตรวจสอบกันอยู่เสมอ ในภาษาไทยนี้คำศัพท์ต่างๆ ทางธรรมะที่นำมาใช้นั้น ความหมายคลาดเคลื่อนไปไกลก็มีมากมาย ศัพท์ประเภทนี้คนนำมาใช้ต่อๆ ตามๆ กัน แล้วความหมายก็เลือนไป


คำศัพท์ธรรมในภาษาไทย
ต้องสะสางความเข้าใจกันให้ดี


ตัวอย่างง่ายๆ คำหนึ่ง คือ “สังเวช” คำว่าสังเวชนี้ ภาษาไทยนำมาใช้กลายเป็นเสียเลย คือมักมาเข้าใจกันไปว่า สลดหดหู่ใจ ถ้าสังเวชอย่างนี้ก็เป็นกิเลส เป็นนิวรณ์ ทำให้ใจไม่เข้มแข็ง ไม่มีกำลังใจที่จะปฏิบัติธรรม

ขอให้ระลึกว่า ในการปฏิบัติธรรม ต้องมีจิตใจเข้มแข็ง มีกำลังใจแกล้วกล้า ถ้าไปหดหู่ท้อถอยก็ไม่เป็นธรรมะ เพราะฉะนั้น ก็ไม่เป็นกุศล

สังเวชนี้ คำเดิมหมายถึง “เร้าใจให้ได้สำนึก” หรือเร้าใจให้ได้คิด คือ ให้ฉุกใจได้คิดถึงคุณความดีว่า เราอย่ามัวประมาท เราต้องเร่งขวนขวายทำความดีนะ ถ้าเห็นเหตุการณ์อะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง เหตุการณ์นั้นเร้าใจเราให้เกิดความคิด ให้หยุดยั้งความชั่วร้ายเหลวไหล และหันมาสู่ความถูกต้องดีงาม หรือว่าเรากำลังมีความมัวเมา ลุ่มหลงอะไรอยู่ เหตุการณ์นั้นสิ่งนั้นกระตุกหรือกระตุ้นใจ ทำให้เราหยุดชะงักแล้วหันมาคิดในทางที่ดี เกิดกำลังที่จะหันมาสร้างสรรค์ความดี ความรู้สึกอย่างนั้น เรียกว่าเกิดความสังเวช

เพราะฉะนั้น เรื่องศัพท์ธรรมะในภาษาไทยนี้จะต้องมีการตรวจสอบกันหลายคำ ที่พูดมานี้เป็นเพียงตัวอย่าง วันนี้อาตมามุ่งไปพูดคำว่าบารมีก็พอสมควรแก่เวลา

ที่พูดนี้ก็เป็นการเริ่มต้น ถ้าหากจะมีการสนทนาธรรมกัน บางทีโยมอาจจะมีข้อสงสัยอะไร แม้แต่ในเรื่องศัพท์แสงต่างๆ ก็นำมาเสนอต่อไปได้

ตอนนี้ อาตมาก็ขออนุโมทนาคุณโยมมิสโจ พร้อมทั้งญาติมิตร ลูกศิษย์ ท่านที่เคารพนับถือ ที่ได้ทำบุญถวายภัตตาหารในวันนี้ และได้บำเพ็ญธรรมทาน ด้วยการสร้างหนังสือธรรมะในพระพุทธศาสนาแจกจ่ายกันไป เพื่อให้เกิดความรู้ เกิดแสงสว่างแห่งปัญญาให้ก้าวหน้าในธรรมต่อไป

ขอให้พลังกุศลนี้ ประกอบเข้ากับอานุภาพของคุณพระรัตนตรัย จงเป็นปัจจัยอภิบาลรักษาทุกท่านให้มีความร่มเย็นเป็นสุข เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา ในการที่จะดำเนินชีวิต และทำกิจหน้าที่การงาน ให้ประสบความก้าวหน้า และความสำเร็จ และจงงอกงามในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดกาลนาน เทอญ


>>>>> จบ >>>>>


เทียน รวมคำสอน “พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=48552
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง