Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 นิด (หลวงตาแพรเยื่อไม้) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 20 ต.ค.2004, 7:40 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



นิด.JPG


นิด
โดย หลวงตาแพรเยื่อไม้

จัดพิมพ์โดย ธรรมสภา


หลวงตาเจอนิดก่อนบินไปเชียงใหม่ ตลอดเวลาที่อยู่เชียงใหม่ หลวงตาเฝ้าคิดถึงแต่นิด ขากลับจึงมีของมาฝาก เหตุที่ชักนำให้ได้มาพบกัน ก็เพราะมีพระภิกษุในวัดถึงมรณะภาพลงรูปหนึ่ง ทางวัดได้จัดการศพในฐานะเป็นเจ้าภาพ มีสวดพระอภิธรรมติดต่อกันหลายคืน พระเณรในวัดนับแต่ท่านเจ้าคุณเทพฯ ไปจนถึงเณรเล็กๆ ฆราวาสก็ตั้งแต่มรรคทายก ศิษย์วัด ไปจนกระทั่งสัปเหร่อ ต่างก็แสดงการนำพาอาทร ถือเอาเป็นธุระ มาช่วยกันหยิบโน่นฉวยนี่ เพราะถือเป็นเสมือนหนึ่งคนครอบครัวเดียวกัน

เมื่อใครมีทุกข์ขึ้นมาสักคน ก็ย่อมจะมีผลให้กระเทือนไปทั่ว บางคนทำอะไรไม่ถูก ก็ต้องเห็นใจเพราะไม่เคยตาย และยังไม่คิดจะตาย ก็เลยไม่ได้เตรียมตัว อย่างไรก็ตามขอให้มาเถอะ ! ไม่ทำอะไร เพียงแต่มานั่งให้เห็นๆ หน้ากัน แม้จะคุยทะลึ่งๆ สู่เพื่อนฟังให้หัวเราะกันจนเสียมรรยาท ก็ยังแสดงว่ามีน้ำใจ ยังดีกว่าผู้ดีสมบูรณ์แบบที่นั่งคิดอยู่แต่ว่า ธุระไม่ใช่ !

ที่ศาลาตั้งศพตอนค่ำคืน จะคึกคักพลุกพล่านไปด้วยผู้คนแขกเหรื่อ ทั้งพระเณร และคฤหัสถ์ แต่ตอนกลางวันกลับตรงกันข้ามเงียบเชียบ เพราะแถวศาลาบำเพ็ญกุศลงานศพ ว่าไปแล้วมันก็ป่าช้าดีๆ นี่เอง ใครที่ไม่มีความจำเป็นก็ไม่อยากเฉียดกราย

กลางวันวันหนึ่งสักประมาณบ่าย ๒ โมง หลวงตาลงไปนั่งอยู่ที่ตั้งศพ เพราะเกิดความคิดถึงขึ้นมา เนื่องจากท่านที่มรณะภาพนี้ เคยได้นั่งเปล่งคำอธิษฐานพรรษาคู่กันมาถึง ๒๐ ปี เมื่อเพื่อนมามีอันเป็น (ตาย) ไปก็ใจหาย ความผูกพันทางสำนึกดังนี้ ชักนำหลวงตาให้พาตัวเองไปนั่งมองหีบศพอยู่ที่นั่น ความสงัดวังเวงของบรรยากาศ ณ บริเวณนี้ บวกกับความสังเวชในใจ ทำให้หลวงตาเกิดอุปาทานไปบางขณะ ว่าคล้ายๆ กับได้ยินเสียงของความเงียบ เสียงจากปรภพกระซิบกระซาบอยู่ในอนุสติ หลวงตาอาจจะเคลิ้มไปนาน แต่ก็ต้องตื่นจากภวังค์เมื่อคุณหญิง คุณหญิงชื่อ เมียด

คุณหญิงเป็นผู้หนึ่งที่มีความเคารพนับถือท่านผู้มรณะ วันที่นำศพกลับจากโรงพยาบาล หลวงตายังเห็นคุณหญิงกับลูกสาวพากันร้องไห้เสีย เป็นวรรคเป็นเวร น้ำตาของคุณหญิงหรือของใครก็แล้วแต่ ที่ไหลออกมาในยามนี้ย่อมมีความหมาย อย่างน้อยที่สุดก็เป็นเครื่องประมาณว่า ชีวิตแตกดับไปแล้วนี้เคยมีประโยชน์ โดยเฉพาะกับคนที่เสียน้ำตา น้ำตาคือเครื่องวัดราคาคน

คุณหญิงมาเก็บกวาดสถานที่ และจัดดอกไม้ด้วยตนเองอย่างไม่ถือเนื้อถือตัวเลย พระเณรทั้งวัดพากันชมเชยและนับถือคุณหญิงอย่างสนิท แม้บรรดาลูกๆ ทั้งหญิงทั้งชายก็พากันมาช่วยเหลือ จนเกิดความสนิทสนมกับพระเณรเป็นอย่างดี โดยเฉพาะคุณผู้หญิงมีลูกสาวหลายคน แต่ละคนหน้าตาดีๆ ทั้งนั้น จึงเป็นเสมือนแรงดึงดูดอีกกระแสหนึ่งซึ่งพาให้ใครต่อใครรุมล้อมห้อมแห่คุณหญิงยิ่งขึ้น

หลวงตาทักทายคุณหญิงพอเป็นกิริยา แล้วก็นั่งเงียบเป็นเบื้อต่อไป เพราะหมู่นี้ไม่รู้ว่ามีอะไรมาทำให้หลวงตารู้สึกปากหนัก ไม่อยากพูดจากับใคร เห็นจะคิดมากเกินไปนั่นเอง ขณะที่นั่งเงียบอยู่นั้น ก็มีใครคนหนึ่งคลานประคองแก้วน้ำเย็นเข้ามาทำท่าจะน้อมถวาย หลวงตารู้สึกตัวจึงรับประเคนแล้วมองหน้าผู้ถวาย

“อยู่ที่ไหน ? ไม่เคยเห็นหน้า” หลวงตาถาม

“อยู่สี่พระยาค่ะ !” ผู้ถวายตอบ

“ลูกสาวฉันเองหลวงตา คนเล็กค่ะ !” คุณหญิงร้องบอกขณะที่กำลังจัดดอกไม้

“ชื่อไรจ๊ะ ?” หลวงตาถามผู้ถวายเบาๆ

“ชื่อนิดค่ะ !”

“นิดอะไร นิตยาใช่ไหม ?”

นิดเฉยๆ ค่ะ ชื่อจริง ชื่อวรรณา”

หลวงตาชวนนิดพูดคุยต่อไปอีกหลายคำ และนิดก็โต้ตอบได้เรียบร้อย ความเคอะเขินมีอยู่ชั่วประเดี๋ยวแล้วก็ปรับตัวเข้าสู่ความปกติได้ จึงทำให้การพูดการคุยเกิดความเพลิดเพลินและสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว หลวงตาเริ่มรู้สึกว่านิดมีอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจ อาจจะประกอบกับหลวงตาปรกติห่างเหินกับคนอย่างนิดก็ได้ และในที่สุดก็ถึงกับว่าจะห้ามตนเองไม่ให้สนใจนิด ทำได้ยากเสียแล้ว

“หลวงตารักนิดจัง” ค่ำวันหนึ่งหลวงตาบอกนิด และนิดยิ้มเอียงอาย

“นิดรักใครมากที่สุดจ๊ะ !”

“รักคุณแม่ค่ะ !”

“แล้วก็ใครอีก ?”

“คุณพ่อ คุณยาย แล้วก้อพี่ค่ะ !”

“นิดจ๊ะ ! รักหลวงตาอีกสักคนได้ไหม ?”

“ไม่ค่ะ !”

คำปฏิเสธของนิด ช่างหวานหูหลวงตาเหลือเกิน

หลวงตาต้องห่างนิดไปชั่วระยะหนึ่ง เพราะบินไปเชียงใหม่ ตลอดเวลาที่อยู่ที่โน่นไม่ว่าจะไปทางไหน ได้พบอะไรเป็นต้องหวลคิดถึง เนื่องจากการไปครั้งนี้ไปเพื่อเทศน์ฉลองศรัทธาคณะบุญกฐินจากกรุงเทพฯ ซึ่งไปทอดที่วัดสารภี อำเภอสารภี ตอนบ่ายของวันไปถึง เขาจัดให้มีการแห่กฐินขึ้น และขบวนแห่นั้นสิ่งที่เป็นเสมือนวิญญาณก็คือการฟ้อนพื้นเมือง มีฟ้อนเล็บเป็นต้น

เมื่อถึงกำหนดเวลา ผู้จัดการหรือผู้อำนวยการขบวนแห่ ได้จัดรถมารับหลวงตากับประธานคณะกฐิน ไปเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เขาปลาบปลื้มปิติถึงกับแห่แหน หลวงตาจึงมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับ การแสดงศิลปะพื้นเมืองที่นี่ และเกิดสนใจการฟ้อนชุดหนึ่งเป็นพิเศษ เขาเรียกว่า “ฟ้อนแม้ว” ประกอบด้วยเด็กสาวรุ่นแปดคน แต่งกายเป็นชาวเขาเผ่าแม้ว สีของผ้าแดงสลับดำ มีเครื่องประดับ

สิ่งที่ทำให้สนใจ “ฟ้อนแม้ว” จนถึงกับออกปากตั้งชื่อให้เขาว่า “แม้วพัฒนา” ก็คือสร้อยคล้องคอ เพราะสิ่งนี้มันทำให้หลวงตาคิดถึงนิด และกะแผนการไว้ว่า กลับกรุงเทพจะซื้อสร้อยแม้วไปฝากนิด นิดได้คล้องสายสร้อยแบบนี้คงจะสวยน่ารักไม่น้อย และตั้งใจว่าจะคล้องสวมให้นิดด้วยตนเอง นิดคงจะดีใจ หลวงตาฝันถึงนิด จนลืมความสวยงามของขบวนแห่ บางครั้งก็เผลอไปว่าหากนิดมาด้วย คงจะตื่นเต้นกับการต้อนรับของชาวสารภีครั้งนี้ไม่น้อยเลย


(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 20 ต.ค.2004, 7:46 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กลับจากเชียงใหม่ หลวงตามีสร้อยแม้วติดย่ามมาจริงๆ และเลือกเฉพาะเส้นที่เห็นว่า สวยเป็นพิเศษเสียด้วย ธุระเรื่องแรก หลังจากมาถึงวัดเรียบร้อยแล้ว สรงน้ำยังไม่ทันตัวจะแห้งสนิท หลวงตาก็ไปหาคุณหญิง แต่ใจจริงนั้นไปหานิด

ตอนค่ำที่งานศพพระภิกษุรูปนั้น มองหานิดเท่าไรก็ไม่เห็น

“คุณหญิง !” หลวงตาตะโกนข้ามกลุ่มพระเณรไปด้วยความรู้สึกว่าเหลือทน

“อะไรหลวงตา ?” คุณหญิงถามเมื่อเดินมาถึง

“มีเรื่องสิคุณหญิง...เอ้อ ! คุณหญิง !!”

“วุ้ย ! หลวงตานี่ อะไรก็ไม่รู้ กะอีเมียสัปเหร่อ ก็เรียกคุณหญิง”

“เออน่า ! มันดีแล้วละ ! ถ้ากูไม่เรียก ต่อให้กูอยู่ไปจนตาย ก็ไม่มีใครเขาตั้งให้”

“ว่าแต่หลวงตาเถอะ ! เรียกทำไม !”

“นิดน่ะซี ! นิดไปไหน ?” ถามด้วยเสียงสะอื้น

“ส่งกลับบ้านแล้วค่ะ !”

“ทำไมไม่ให้นิดอยู่ที่นี่ ?”

“ก้อแกเรียนหนังสือนี่คะ !”

“อะไร ! นิดน่ะเหรอ เรียนหนังสือ ?”

“ค่ะ ! เรียนอนุบาล ก้อแกย่างเข้าห้าขวบแล้วนี่คะ !”

จนกระทั่งบัดนี้หลวงตาก็ยังไม่ได้พบนิด แผนต่างๆ ที่วาดไว้ ก็ไม่มีท่าว่าจะเป็นรูปร่างขึ้นมา ตกลงสร้อยแม้วเส้นที่สวยงามนั้น หลวงตาก็เพียงแต่วางไว้ที่โต๊ะบูชา มองเห็นครั้งใดก็อดคิดถึงนิดไม่ได้ เว้นแต่ความคิดถึงนิดตอนนี้ แตกต่างกว่าตอนโน้น เพราะเกิดความคิดบางอย่างชวนให้เก้อเขิน

“เงื้อค้างง้างเก้อ”

“เงื้อค้างง้างเก้อ เพราะหนูนิดมันยังมีพิษสงถึงขนาดนี้ หากเป็นในรายที่สำคัญกว่าหนูนิด ตัวกูจะบ้าขนาดไหน ?” หลวงตาพึมพำเหมือนวิกลจริต พลางบันทึกความรู้สึกนี้ลงไปในเศษกระดาษ เพื่อเอาไว้ตวาดตัวเอง

“เจ้ายังไม่เข้มแข็งพอที่จะเผชิญกับความรักความหวังใดๆ ดอก เจ้าขลัวเอ๋ย !”


หมายเหตุ :: สร้อยแม้วทำด้วยเมล็ดพืช นัยว่าเป็นลูกเดือย บางคนว่าเป็นเมล็ดมะกล่ำชนิดหนึ่ง แต่เมื่อนำมาพิจารณาแล้ว เมล็ดสีขาวซึ่งมีขนาดประมาณเท่าเม็ดสาคู ดูจะเป็นเมล็ดพุทธรักษา ส่วนเมล็ดเล็กแบนๆ สีดำ เหมือนเมล็ดกระถินใช้ด้ายเหนียวๆ ร้อยอย่างประคำ สลับกันไป สีขาว สีดำ แต่ละเส้นยาวขนาดคล้องแล้ว ย้อยยานมาถึงพกหรือต่ำกว่า เขานิยมคล้องกันหลายๆ เส้น แลดูงาม แปลก สำหรับสวมกันเล่นในยามเทศกาลรื่นเริง เช่น ยี่เป็ง เป็นของไม่มีราคาค่างวดอะไร ซื้อได้เส้นละบาท หรืออาจจะต่ำกว่า



..................... เอวัง .....................
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
หนูนิด
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 12 ส.ค. 2006, 3:28 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 
^^o^^
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 15 พ.ค.2007, 2:06 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง