Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระอสีติมหาสาวก (ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 8:28 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๒๐ กลุ่มพระชาวแคว้นมคธ


ขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในพระคันธกุฎีในวัดเวฬุวัน ทรงทราบถึงสาเหตุให้เกิดความอัศจรรย์ว่า เป็นเพราะปิปผลิกับภัททา กาปิลานี แยกทางกันออกบวช จึงเสด็จไปประทับนั่งรอรับ ณ โคนต้นพหุปุตตกนิโครธ ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทา นักบวชปิปผลิเดินผ่านมาทางนั้นเห็นพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ด้วยพระอาการสงบ แต่สง่างามด้วยพระฉัพพรรณรังสีที่แผ่ซ่านออกไปจากพระวรกาย จึงสำคัญว่า นี่คือพระอรหันต์ แล้วเข้าไปหมอบกราบถวายตัวเป็นสาวกถึง ๓ ครั้ง

“กัสสปะ” พระพุทธเจ้าตรัสเรียกตามชื่อโคตร “นั่งเถอะ ตถาคตจะมอบความเป็นทายาทให้เธอ”

ครั้นแล้ว พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ท่านด้วยวิธีบวชแบบโอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา คือทรงประทานโอวาทให้ ๓ ข้อ คือ

๑. ทรงสอนให้มีหิริโอตตัปปะในภิกษุทั้งหลาย ทั้งที่เป็นเถระ ทั้งที่บวชใหม่ และทั้งที่มีพรรษาปานกลาง

๒. ทรงสอนให้ฟังธรรมทั้งหมดที่ประกอบไปด้วยกุศล ด้วยความเคารพและทรงจำไว้ให้ได้

๓. ทรงสอนให้เจริญกายคตาสติอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อบวชแล้วท่านก็ได้สมาทานถือธุดงค์ ๓ ข้อ คือ อยู่ป่าเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นเบื้องต้น ต่อมาเพื่อนพระต่างเรียกท่านว่า ‘พระมหากัสสปะ’ เพื่อให้ต่างจากพระกัสสปะรูปอื่นๆ คือ พระอุรุเวลกัสสปะ พระนทีกัสสปะ พระคยากัสสปะ และพระกุมารกัสสปะ

พระราธะ ขณะที่อาศัยวัดเวฬุวันอยู่นั้น ท่านได้เรียนรู้ว่าชีวิตพระเป็นชีวิตที่สงบไม่วุ่นวาย จึงปรารถนาจะมีชีวิตที่สงบอย่างนั้นบ้าง วันหนึ่งจึงเข้าไปหาพระที่คุ้นเคยกัน แล้วแจ้งความประสงค์ให้ทราบ ไม่มีพระรูปใดรับบวชให้ ท่านก็ยังไม่เลิกล้มความตั้งใจ วันหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลให้ทรงทราบถึงความประสงค์ของตน พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูอุปนิสัยของท่านแล้วเห็นว่า แม้จะแก่แต่ก็สามารถบรรลุอรหัตผลได้ จึงตรัสสั่งให้ประชุมสงฆ์แล้วถามว่า จะมีใครสงเคราะห์ให้พราหมณ์นี้ได้บวชได้บ้าง

ในที่ประชุมสงฆ์ครั้งนั้นมีพระสารีบุตรรวมอยู่ด้วย พระสารีบุตรระลึกได้ว่าครั้งหนึ่งเคยได้รับบิณฑบาตเป็นข้าว ๑ ทัพพีจากท่าน จึงกราบทูลขอรับสงเคราะห์บวชให้ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสารีบุตรบวชให้ท่านด้วยวิธีบวชแบบญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา ซึ่งเป็นการบวชแบบต้องขอมติจากสงฆ์ก่อน

พระอุปเสนะ พระมหาจุนทะ และพระขทิรวนิยเรวตะ ออกบวชต่างวาระกัน แต่มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน คือ ออกบวชตามพระสารีบุตรผู้เป็นพี่ชาย พระอุปเสนะและพระมหาจุนทะออกบวชหลังจากฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมจบ

ส่วนพระขทิรวนิยเรวตะออกบวชในวันแต่งงานของท่านเอง เรื่องมีอยู่ว่า ขณะทำพิธีรดน้ำคู่บ่าวสาวอยู่นั้น ญาติมิตรต่างทยอยกันเข้ารดน้ำพร้อมทั้งกล่าวคำอวยพรต่างๆ อาทิ ขอให้ปรองดองกันเหมือนสายน้ำ ญาติมิตรจำนวนหนึ่งให้พรเจ้าสาว ขอให้อายุยืนเหมือนคุณยาย คุณยายของเจ้าสาวมีอายุถึง ๑๒๐ ปี ร่างกายแก่หง่อมหลังโกง ผิวหนังตกกระ ท่านได้ยินคำให้พรแล้วคิด เปรียบเทียบว่า หากเจ้าสาวมีอายุยืนเหมือนคุณยายก็จะมีสภาพเหมือนกัน ซึ่งไม่มีความสวยเหลืออยู่เลย จึงเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาทันที

ท่านเริ่มครุ่นคิดถึงวิธีที่จะพ้นไปจากการมีครอบครัว ในที่สุดก็เห็นว่า มีอยู่ทางเดียวเท่านั้นคือออกบวช เหมือนอย่างพระพี่ชายทั้ง ๓ รูป ดังนั้นขณะที่นั่งยานไปเรือนหอ ท่านได้ขอตัวลงไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะระหว่างทาง แล้วเลยหนีไปยังสำนักของพระผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรและขอบวช พระเหล่านั้นทราบว่าท่านเป็นน้องชายของพระสารีบุตร จึงจัดการบวชให้ตามประสงค์ ทั้งนี้เนื่องจากพระสารีบุตรทราบด้วยญาณว่า ท่านจักออกบวชแน่ จึงได้มาบอกพระเหล่านั้นให้บวชให้ด้วย ซึ่งเท่ากับว่าท่านได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองแล้ว

พระมหาปันถกและพระจูฬปันถก ออกบวชต่างวาระเช่นเดียวกัน พระมหาปันถกออกบวชก่อน พระจูฬปันถกออกบวชทีหลัง สำหรับพระมหาปันถกนั้น พระพุทธเจ้าตรัสขอท่านจากเศรษฐีราชคหะ ซึ่งเศรษฐีก็ยินดีอนุญาตให้บวชได้ การที่เศรษฐีราชคหะอนุญาตให้พระมหาปันถกออกบวชอย่างง่ายดายโดยไม่คัดค้านนั้น ก็เพราะเห็นว่าการบวชจะเป็นทางช่วยลบปมด้อยของหลานชายที่มักถูกเรียกว่า ‘ลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่’ ลงได้

พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ท่านเป็นสามเณรก่อน เพราะอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปี ต่อมาเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีแล้วจึงทรงบวชเป็นพระให้ ส่วนพระจูฬปันถกออกบวชเพราะความอนุเคราะห์ของพระมหาปันถกผู้พี่ชาย ที่พิจารณาเห็นว่าความสุขที่เกิดจากการได้บรรลุมรรคผลเป็นความสุขชั้นยอด ซึ่งจูฬปันถกน่าจะได้รับบ้าง ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้ พระมหาปันถกจึงไปขออนุญาตเศรษฐีราชคหะ พาจูฬปันถกออกบวช ซึ่งเศรษฐีก็ยินดีอนุญาตให้เหมือนเช่นครั้งที่อนุญาตให้ท่านเองออกบวช

พระสภิยะ ออกบวชเป็นปริพาชกก่อน บวชแล้วก็ได้ศึกษาศิลปศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะวิชาการโต้วาทะท่านมีความชำนาญมาก ท่านเป็นนักโต้วาทะเรื่องลัทธิต่างๆ ที่มีฝีปากคม มีคนนิยมชมชอบกันมาก จนไม่มีนักโต้วาทะคนใดกล้าปะทะคารมด้วย ต่อมาท่านได้สร้างอาศรมอยู่ใกล้ประตูเมืองราชคฤห์ แล้วเปิดสอนศิลปศาสตร์แก่คนทุกวรรณะ แม้จะมีชื่อเสียงปานนั้น ท่านก็ยังไม่สบายใจเมื่อนึกถึงชาติกำเนิดของตนเอง ที่เกิดในขณะที่แม่ออกบวชเป็นปริพาชิกา ดังได้กล่าวไว้แล้วว่ามารดาของท่านได้กับปริพาชกรูปหนึ่งแล้วให้กำเนิดท่านขึ้นมา ท่านพิจารณาถึงความเป็นไปนี้แล้ว รู้สึกรังเกียจการเกิดมาเป็นหญิงของมารดา

วันหนึ่งพรหมองค์หนึ่งซึ่งเป็นสหายเก่าครั้งเป็นมนุษย์ในอดีตชาติ ได้มาหาท่านแล้วผูกเป็นปัญหาให้ ๒๐ ข้อ เพื่อให้ท่านนำไปถามสมณพราหมณ์อื่นๆ ท่านทำตามที่พรหมองค์นั้นบอก แต่ไม่มีใครตอบปัญหาท่านได้ จนมาถึงคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประกาศพระศาสนาที่เมืองราชคฤห์ แล้วประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน ท่านได้เข้าเฝ้าและทูลถามปัญหา ๒๐ ข้อนั้น ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตอบได้ทั้งหมด ท่านฟังพระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหานั้นแล้วเกิดศรัทธา จึงทูลขอบวชเป็นพระ และพระพุทธเจ้าทรงบวชให้ตามประสงค์

การบรรลุอรหัตผล

พระมหากัสสปะ ครั้นบวชให้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงพาท่านออกจากโคนต้นพหุปุตตกนิโครธไป แต่ครั้นเสด็จพุทธดำเนินไปได้หน่อยหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงพาท่านพักที่โคนต้นไม้อีกต้นหนึ่ง ณ โคนต้นไม้นั้น ท่านเอาผ้าสังฆาฏิของท่านพับเป็น ๔ ชั้น ทำเป็นอาสนะถวายพระพุทธเจ้าสำหรับประทับนั่ง

“กัสสปะ ผ้าสังฆาฏิของเธอเนื้อนุ่มดี” พระพุทธเจ้าตรัสขณะประทับนั่ง พลางลูบคลำอยู่ไปมา

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์ทรงใช้เถิด”

“กัสสปะแล้วเธอล่ะ จะเอาอะไรใช้”

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อข้าพระองค์ได้ผ้าจากพระองค์ก็จักใช้เป็นผ้าสังฆาฏิ”

ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าจึงทรงประทานผ้าสังฆาฏิของพระองค์ซึ่งเก่ามากให้ท่าน การที่พระพุทธเจ้าทรงประทานผ้าสังฆาฏิให้นี้ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่ง ที่ทำให้ท่านตระหนักถึงความเป็นทายาท ท่านได้เพิ่มอุตสาหะสมาทานธุดงค์เพิ่มอีก ๑๐ ข้อ รวมเป็น ๑๓ ข้อ นับแต่วันบวชทีเดียว ท่านบำเพ็ญสมถะและวิปัสสนาอย่างหนักและได้บรรลุอรหัตผลในวันที่ ๘ หลังจากบวช

พระราธะ ยังไม่ได้บรรลุธรรมทันทีหลังจากบวชเนื่องจากจิตไม่สงบ ทั้งนี้เป็นเพราะไม่ได้ความสะดวกเรื่องอาหาร แต่ละวันท่านได้อาหารไม่พอฉัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าท่านเป็นพระบวชใหม่ นั่งบนอาสนะท้ายสุดเวลาฉันอาหารในโรงฉัน ในโรงฉันนั้นมีพระมาก อาหารต้องแจกกันตามลำดับอาวุโสจึงไม่ค่อยเหลือถึงท่าน

พระสารีบุตรผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ทราบถึงความลำบากของท่านในเรื่องนี้ดี จึงแก้ปัญหาด้วยการพาท่านจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งทำให้ท่านได้อาหารพอฉัน ครั้นได้อาหารพอแล้วท่านกลับมีร่างกายแข็งแรง จิตเริ่มสงบ ประกอบกับได้พระสารีบุตรคอยแนะนำพร่ำสอนอยู่เนืองๆ ท่านเป็นคนว่าง่าย ปฏิบัติตามที่พระอุปัชฌาย์พร่ำสอนทุกประการ และเข้าใจได้รวดเร็ว จึงปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาอยู่ได้ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล


มีต่อ >>> ตอนที่ ๒๑
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 8:28 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๒๑ กลุ่มพระชาวแคว้นมคธ


พระอุปเสนะ พระมหาจุนทะ และพระขทิรวนิยเรวตะ ได้บรรลุธรรมตามลำดับกันดังนี้
พระอุปเสนะ หลังบวชแล้วได้ ๑ พรรษา ท่านได้เป็นอุปัชฌาย์บวชให้กุลบุตรคนหนึ่ง โดยมีจุดมุ่งหมายหวังจะช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนา ต่อมาท่านได้พาสัทธิวิหาริกไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าครั้นทรงทราบว่าท่านบวชได้เพียงพรรษาเดียวแล้วเป็นอุปชฌาย์บวชให้กุลบุตร จึงทรงตำหนิอย่างรุนแรง

“โมฆบุรุษ เธอทำไม่ถูกนะ เธอเองยังต้องถูกสั่งสอน แต่นี่กลับไปสอนคนอื่นเสียแล้ว ดูช่างมักมากเหลือเกิน”

ท่านสลดใจที่ถูกพระพุทธเจ้าตรัสตำหนิจึงคิดหนัก

“เพราะสัทธิวิหาริกนี้เองจึงทำให้เราถูกพระพุทธเจ้าตำหนิ ดังนั้นเราจะอาศัยการมีสัทธิวิหาริกนี้แหละทำให้พระพุทธเจ้าสรรเสริญเราให้ได้”

ครั้นคิดอย่างนี้แล้ว ท่านก็ลาพระพุทธเจ้า แล้วพาสัทธิวิหาริกกลับ จากนั้นก็เร่งบำเพ็ญเพียร ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล

พระมหาจุนทะ หลังจากบวชแล้วก็ได้ศึกษากรรมฐานจากพระสารีบุตร ท่านบำเพ็ญเพียรอยู่ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล

ส่วนพระขทิรวนิยเรวตะก็เช่นเดียวกัน หลังจากบวชแล้วก็ได้เรียนกรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์ ท่านได้เดินทางไปบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าไม้ขทิระ (ป่าไม้ตะเคียน) และได้บรรลุอรหัตผลภายในพรรษานั้นเอง

พระมหาปันถก หลังจากบวชพระแล้ว ท่านเจริญโยนิโสมนสิการ คือกำหนดนามรูปเป็นอารมณ์อย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งได้บรรลุอรูปฌาน ๔ ออกจากอรูปฌาน นั้นแล้วก็เจริญวิปัสสนา ต่อด้วยการพิจารณาองค์ฌานจนเกิดความรู้แจ้งได้บรรลุอรหัตผล พระไตรปิฎกเล่าว่า ท่านตั้งปณิธานไว้ว่าตราบใดยังถอนลูกศรคือตัณหาออกไม่ได้ จะไม่ยอมนั่งแม้แต่ครู่เดียว ปรมัตถทีปนีกล่าวเพิ่มเติมว่า ครั้นตั้งปณิธานอย่างนั้นแล้วท่านก็เจริญวิปัสสนาอยู่ทั้งคืน ด้วยการยืนกับการเดินจงกรม เท่านั้น เมื่อออกจากอรูปฌานก็เจริญวิปัสสนา โดยพิจารณาองค์ฌานเป็นหลัก จนทำให้แจ้งซึ่งอรหัตผล

พระจูฬปันถก หลังจากบวชแล้วได้ ๔ เดือน ท่านถูกพระมหาปันถกผู้พี่ชายขับไล่ให้สึก เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นท่านท่องจำคาถา (คำร้อยกรอง) ไม่ได้เลยแม้แต่บทเดียว ท่านเสียใจมากจึงจะไปสึก เช้าวันนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จมาปลอบและพาท่านไปนั่งอยู่หน้าพระคันธกุฎี แล้วทรงประทานผ้าขาวให้ผืนหนึ่ง ทรงสอนให้ ท่านนั่งดูดวงอาทิตย์พลางลูบผ้าขาวพลาง พร้อมทั้งนึกบริกรรมว่า ‘ผ้าเช็ดฝุ่น ผ้าเช็ดฝุ่น’ (รโชหรณํ รโชหรณํ) วิธีปฏิบัติดังกล่าวถูกกับอุปนิสัยท่าน เพราะเมื่อลูบไปๆ ผ้าก็เริ่มสกปรกทีละน้อยๆ จนมีสภาพเหมือนผ้าเช็ดหม้อข้าว

ในขณะเดียวกันความรู้ของท่านก็แก่กล้าขึ้นตามลำดับ จนทำให้ท่านมองเห็นความสิ้นความเสื่อมของสังขารได้ชัดเจน ท่านพิจารณาเปรียบเทียบจิตเหมือนผ้าขาว ซึ่งเดิมทีสะอาดแต่มาสกปรกไปเพราะอาศัยร่างกายนี้เอง จึงแสดงให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง ท่านพิจารณาอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งจิตสงบบรรลุฌาน ออกจากฌานแล้วก็อาศัยฌานนั้นเองเป็นพื้นฐานเจริญวิปัสสนาต่อไป ท่านเจริญสมถะสลับกับวิปัสสนาอยู่อย่างนี้จนเกิดความรู้แจ้ง ได้บรรลุอรหัตผลหน้าพระคันธกุฎีนั้นเอง

พระสภิยะ หลังจากบวชแล้วท่านเจริญวิปัสสนาอยู่ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล

งานสำคัญ

บรรดาพระอสีติมหาสาวกชาวแคว้นมคธ ๘ รูปนั้น แต่ละรูปได้ช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนาตามกำลังความสามารถ แต่ที่มีบันทึกเป็นหลักฐานไว้มี ๔ รูปดังนี้

พระมหากัสสปะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วได้ช่วยพระพุทธเจ้ารับภาระสอนพระ จนมีพระเป็นศิษย์ถึง ๕๐๐ รูป ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ ๒๑ วัน ท่านได้ปรารภเหตุที่พระสุภัททวุฑฒบรรพชิต กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย จึงได้ชักชวนพระสาวกที่ไป ร่วมงานถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีจำนวน ๗๐๐,๐๐๐ รูป จัดทำสังคายนาพระธรรมวินัย พระสาวกทั้งหลายต่างเห็นด้วย จึงมอบให้ท่านเป็นประธานในการจัดทำ ท่านคัดเลือกพระอรหันต์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม คือได้บรรลุอภิญญา ๖ และแตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔ ได้ ๔๙๙ รูป โดยรวมทั้งท่านด้วยเป็น ๕๐๐ รูป จากนั้นจึงได้ร่วมกันทำการสังคายนาพระธรรมวินัยเป็นครั้งแรก (ปฐมสังคายนา) ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภาระ ในพระราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอชาตศัตรู แห่งแคว้นมคธ

การทำปฐมสังคายนาครั้งนั้นนับว่าสำคัญมาก เพราะช่วยรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้คงอยู่ และจัดแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ แล้วแยกออกเป็น ๒ หมวดหมู่ใหญ่ คือ พระธรรมกับพระวินัย เพื่อสะดวกต่อการศึกษาทรงจำ ซึ่งทำให้คงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

พระอุปเสนะ ชักนำให้สัทธิวิหาริกของท่านสมาทานธุดงค์ตามกำลังความสามารถ กล่าวคือหลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว ท่านได้สมาทานธุดงค์ครบทั้ง ๑๓ ข้อด้วยตนเอง ต่อมาเมื่อมีกุลบุตรจำนวนมากมาขอบวชในสำนักของท่าน แต่เนื่องจากท่านยังมีพรรษาไม่ครบ ๑๐ จึงให้กุลบุตรเหล่านั้นบวชเป็นสามเณรก่อน ครั้นเมื่อท่านมีพรรษาครบ ๑๐ แล้วจึงรับเป็นอุปัชฌาย์บวชพระให้ สัทธิวิหาริกของท่านทุกรูปต่างล้วนปฏิบัติธุดงค์อย่างเคร่งครัด โดยบางรูปสมาทานเพียงบางข้อ ขณะที่บางรูปสมาทานหมดทุกข้อ

พระพุทธเจ้าเคยตรัสถามสัทธิวิหาริกของท่าน ถึงเหตุผลที่สมาทานธุดงค์ สัทธิวิหาริกทั้งหลายกราบทูลว่า ที่สมาทานธุดงค์นั้นเพราะความเคารพในพระอุปัชฌาย์

พระมหาจุนทะ คราวที่พระพุทธเจ้ายังไม่มีพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำนั้น ท่านได้ถวายการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าเป็นครั้งคราว และเคยรับอาสาจะแสดงฤทธิ์แข่งกับพวกนักบวชนอกศาสนาแทนพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต เพราะทรงมีพระประสงค์จะทรงแสดงฤทธิ์คือยมกปาฏิหาริย์ด้วยพระองค์เอง นอกจากนั้นท่านยังได้ทำงานสำคัญอื่นๆ อีก คือแจ้งข่าวการตายของนิครนถนาฏบุตรให้พระอานนท์ ได้ทราบ ซึ่งขณะนั้นท่านจำพรรษาอยู่ที่เมืองปาวา

นิครนถนาฏบุตรหรือท่านมหาวีระ ศาสดาของศาสนาเชน ได้มรณภาพลง แล้วสาวกของท่านได้แตกแยกเป็น ๒ ฝ่าย เพราะมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องคำสอน พระมหาจุนทะเห็นความแตกแยกในข้อนี้ จึงเดินทางจากเมืองปาวาไปพบพระอานนท์ที่หมู่บ้านสามะ ในแคว้นสักกะ ซึ่งขณะนั้นพระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ที่นั่นกับพระอานนท์ พระอานนท์ครั้นทราบเรื่องราวจากท่านแล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงชวนท่านเข้าเฝ้ากราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าครั้นทรงทราบแล้ว จึงได้ตรัสถึงเหตุแห่งการขัดแย้ง เรื่องที่ขัดแย้ง และวิธีระงับความขัดแย้ง การทำปฐมสังคายนาภายหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานที่มีพระมหากัสสปะเป็นประธานนั้น ท่านก็ได้ร่วมทำอยู่ด้วย

พระขทิรวนิยเรวตะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว ท่านได้แสดงฤทธิ์เนรมิตป่าให้เป็นพระคันธกุฎีและเรือนยอดถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวก ๕๐๐ รูปที่ตามเสด็จ เรื่องมีอยู่ว่า พระพุทธเจ้าทรงพาพระสาวก ๕๐๐ รูปมาเยี่ยมท่าน สถานที่ที่ท่านอยู่นั้นเป็นป่าไม้ตะเคียนใหญ่ ซึ่งไม่เหมาะที่พระจำนวนมากจะมาอยู่เนื่องจากเป็นป่ารก ครั้นท่านได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าจะทรงพาพระสาวก ๕๐๐ รูปมาเยี่ยม ท่านจึงเนรมิตป่าให้เป็นพระคันธกุฎีถวายพระพุทธเจ้า เนรมิตป่าอีกส่วนหนึ่งให้เป็นเรือนยอดเป็นที่อยู่ของพระสาวก ๕๐๐ รูป จากนั้นก็ได้เนรมิตที่จงกรม ที่พักกลางคืน และที่พักกลางวันอีกอย่างละ ๕๐๐ สำหรับพระสาวกทั้งหมดนั้นได้ใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญเพียร และหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงพาพระสาวกเสด็จกลับแล้ว ท่านก็คลายฤทธิ์ ป่าทั้งป่ากลับมีสภาพดังเดิม


มีต่อ >>> ตอนที่ ๒๒
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 8:29 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๒๒ กลุ่มพระชาวแคว้นมคธ


บั้นปลายชีวิต

บรรดาพระอสีติมหาสาวก ชาวแคว้นมคธ ๘ รูปนั้น พระมหากัสสปะรูปเดียวที่มีกล่าวถึงบั้นปลายชีวิตของท่านไว้ว่า ท่านมีชีวิตอยู่ถึง ๑๒๐ ปีแล้วจึงนิพพาน ณ เชิงเขากุกกุฏสัมปาตะ ในแคว้นมคธ ก่อนที่จะนิพพาน ๑ วัน หลังจากได้ตรวจดูอายุสังขารและเห็นว่าจะอยู่ได้เพียงวันนี้อีกวันเดียว ท่านจึงสั่งให้ประชุมศิษย์ของท่าน แล้วกล่าวให้โอวาทและบอกพระที่เป็นปุถุชนไม่ให้เสียใจ วันรุ่งขึ้นก่อนนิพพานท่านได้เข้าไปถวายพระพรลาพระเจ้าอชาตศัตรู แล้วกลับมาที่เชิงเขากุกกุฎสัมปาตะ ณ ที่นั้นท่านได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ และให้โอวาทพุทธบริษัทที่มาประชุมกันอยู่ให้ยึดมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วจึงนิพพาน

เอตทัคคะ - อดีตชาติ

บรรดาพระอสีติมหาสาวกชาวแคว้นมคธดังกล่าวมานี้ มีที่ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะ ๖ รูป คือ พระมหากัสสปะ พระราธะ พระอุปเสนะ พระขทิรวนิยเรตะ พระมหาปันถก พระจูฬปันถก

พระมหากัสสปะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านสมาทานธุดงค์

พระราธะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีปฏิภาณยอดเยี่ยมเข้าใจได้เร็ว

พระอุปเสนะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านน่าเลื่อมใสของชนทุกชั้น

พระขทิรวนิยเรตะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านอยู่ป่า

พระมหาปันถก พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะด้านฉลาดในปัญญาวิมุติ (วิปัสสนา)

พระจูฬปันถก พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านฉลาดในเจโตวิมุติ (สมถะ) และชำนาญในมโนมยิทธิ

พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระอสีติมหาสาวกทั้ง ๖ รูป นี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ตามความสามารถในชาติปัจจุบันและตามที่ตั้งจิตปรารถนาไว้ในอดีตชาติ

พระมหากัสสปะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรกฎุมพีชาวเมืองหงสวดี มีชื่อว่า ‘เวเทหะ’ วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระมหานิสภะ พระสาวกรูปหนึ่งของพระองค์ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านสมาทานธุดงค์ แล้วเกิดความศรัทธาปรารถนา จะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก ขณะที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกกำลังฉันภัตตาหารอยู่ที่บ้านของท่านนั้น พระมหานิสภะเดินบิณฑบาตผ่านมาพอดี ท่านจึงนิมนต์ให้เข้าไปฉันภัตตาหารในบ้าน พระมหานิสภะปฏิเสธเพราะท่านสมาทานธุดงค์ครบทั้ง ๑๓ ข้อ และมีธุดงค์อยู่ข้อหนึ่งว่าด้วยการฉันแต่เฉพาะอาหารที่บิณฑบาตได้มา โดยจะไม่ยอมฉันในที่นิมนต์ ท่านจึงให้คนจัดอาหารมาใส่บาตร

ครั้นพระมหานิสภะกลับไปแล้ว ท่านได้กราบทูลเรื่องพระมหานิสภะให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรรเสริญพระมหานิสภะในด้านต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องสมาทานธุดงค์ ยิ่งทำให้ท่านเกิดความเลื่อมใส จึงถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกเพิ่มอีกเป็น ๗ วัน วันสุดท้ายหลังจากพระพุทธเจ้าและพระสาวกฉันภัตตาหารแล้ว ท่านได้ถวายผ้าไตรจีวรให้พระพุทธเจ้าและพระสาวกครอง แล้วกราบลงแทบพระบาทของพระพุทธเจ้า พลางกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตลอด ๗ วันที่ข้าพระองค์ถวายมหาทานอยู่นี้ กายกรรม วจีกรรม นโนกรรม ประกอบด้วยเมตตา ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาสมบัติอื่นใด ไม่ว่าสวรรค์สมบัติหรือมนุษย์สมบัติ นอกจากนิพพานสมบัติเท่านั้น ด้วยผลบุญนี้ขอข้าพระองค์ได้เป็นผู้เลิศด้านสมาทานธุดงค์หมือนพระมหานิสภะนี้เถิด ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล”

พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูความเป็นไปได้ในอนาคตของท่านด้วยพระญาณแล้ว ทรงเห็นว่าความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่จึงทรงพยากรณ์ว่า

“ในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้บรรลุอรหัตผล และได้รับตำแหน่งเอตทัคคะด้านสมาทานธุดงค์”

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าวิปัสสี

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้น ท่านเกิดเป็นพราหมณ์ยากจนชื่อ ‘จูเฬกสาฎก’ ได้นางพราหมณี ยากจนคนหนึ่งเป็นภรรยา จูเฬกสาฎกกับภรรยาต่างผลัดเปลี่ยนกันไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ภรรยาไปฟังธรรมตอนกลางวัน ส่วนจูเฬกสาฎกไปฟังธรรมตอนกลางคืน เหตุที่สองสามีภรรยาไม่สามารถไปฟังธรรมพร้อมกันได้ เพราะมีผ้าห่มออกข้างนอกอยู่เพียงผืนเดียว ซึ่งต้องผลัดกันใช้ คืนวันหนึ่ง ขณะที่นั่งฟังพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่นั้น จูเฬกสาฎกเกิดศรัทธาจึงได้ถวายผ้าห่มที่มีอยู่ผืนเดียวของตนนั้นเป็นพุทธบูชา พร้อมทั้งเปล่งวาจาว่า “ข้าพระองค์ชนะแล้ว”

ชัยชนะที่จูเฬกสาฎกหมายถึง คือ ชนะความตระหนี่ในใจของตนเองได้ พระเจ้าพันธุมหาราช กษัตริย์แห่งเมืองพันธุมดีทรงทราบความจริง จึงพระราชทานทรัพย์ให้เขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วยให้เขาพ้นจากความยากจน จูเฬกสาฎกกับภรรยาแม้จะมั่งมีขึ้นก็ไม่ได้ประมาท ทั้งสองได้บริจาคทรัพย์ส่วนหนึ่งบำรุงพระพุทธศาสนาและทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธันดรหนึ่ง (ช่วงระยะเวลาที่โลกว่างพระพุทธเจ้า ไม่มีพระพุทธศาสนา)

ชาติหนึ่งในพุทธันดรนั้น ท่านเกิดเป็นบุตรกฎุมพี วันหนึ่งขณะเดินไปตามริมฝั่งน้ำ พบพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่งกำลังทำจีวรอยู่ ทราบว่าผ้าสำหรับทำอนุวาตะ (ผ้าทาบชายจีวร) ไม่พอ จึงได้ถวายผ้าชิ้นหนึ่ง นอกจากนั้นท่านยังได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอีกอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้ากัสสปะนั้น ท่านเกิดเป็นบุตรเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พุทธบริษัทได้ช่วยกันสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ท่านได้สละทรัพย์จำนวนหนึ่งออกร่วมทำบุญถวายเป็นพุทธบูชา นอกจากนั้นยังได้จัดดอกไม้บูชาพระเจดีย์จนดูสวยงาม ท่านยังได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอีกอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผล ให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ

จนถึงพุทธุปบาทกาลพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์กปิละดังกล่าวมาแล้ว ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยจิตที่ตั้งปรารถนามาแต่อดีตชาติประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่เมื่อออกบวชแล้วก็ได้สมาทานธุดงค์ครบทั้ง ๑๓ ข้อก่อนได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านสมาทานธุดงค์


มีต่อ >>> ตอนที่ ๒๓
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 8:29 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๒๓ กลุ่มพระชาวแคว้นมคธ


พระราธะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองหงสวดี วันหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีปฏิภาณยอดเยี่ยม แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็น เช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก พร้อมทั้งได้ทำการบูชาอย่างยิ่งใหญ่อย่างที่พระมหากัสสปะทำ แล้วกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพุทธพยากรณ์อย่างที่พระมหากัสสปะได้รับมาแล้วคือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดม ในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีปฏิภาณยอดเยี่ยม

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ยากจนอยู่ในเมืองราชคฤห์ ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่ อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติที่เมื่อบรรลุอรหัตผลแล้ว ก็ยังไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรมอยู่เนืองๆ จนเกิดความเข้าใจได้แจ่มแจ้งกว้างขวางลึกซึ้งและว่องไว พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีปฏิภาณยอดเยี่ยม

พระอุปเสนะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองหงสวดี คราวหนึ่งเห็นพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ ณ เงื้อมเขาแห่งหนึ่งแล้วเลื่อมใส จึงได้นำดอกกรรณิกา ที่กำลังบานสะพรั่งมาทำเป็นร่มดอกไม้สีขาวไปกั้นถวาย พระพุทธเจ้า จากนั้นจึงได้ถวายอาหารแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกอีก ๘ รูปที่ตามเสด็จ ต่อมาท่านได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระอาราม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านเป็นที่เลื่อมใสของคนทุกชั้น แล้วปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายทาน แล้วกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่านและได้รับพุทธพยากรณ์อย่างที่พระมหากัสสปะและพระราธะได้รับมาแล้วคือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านเป็นที่เลื่อมใสของชนทุกชั้น

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตาย เกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นน้องชายของพระสารีบุตร ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนาแต่อดีตชาติประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่เมื่อบรรลุอรหัตผลแล้วมีคนทุกระดับชั้นเลื่อมใสท่านมาก นิยมมาบวชในสำนักของท่าน พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านเป็นที่เลื่อมใสของชนทุกชั้น

พระขทิรวนิยเรวตะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นพ่อค้าชาวเมืองหงสวดี ทำการค้าขายทางเรือและจอดเรือทอดสมออยู่ที่ท่าปยาคปติฏฐานะ ซึ่งอยู่ด้านฝั่งแม่น้ำคงคา คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระเสด็จมาถึงท่าเรือพร้อมด้วยพระสาวกจำนวนมาก นายเรือทราบว่าพระพุทธเจ้ามีพระประสงค์จะพาพระสาวกข้ามฟาก จึงชวนพวกชาวเรือด้วยกันผูกเรือขนานตกแต่งให้สวยงาม จัดอาสนะเรียบร้อยแล้ว กราบทูลพระพุทธเจ้าให้เสด็จนำพระสาวกขึ้นเรือ จากนั้นนายเรือได้ออกเรือพาพระพุทธเจ้าและพระสาวกมาส่งยังอีกฟากหนึ่ง

ขณะที่เรือยังแล่นอยู่กลางแม่น้ำนั้น พระพุทธเจ้าทรงเห็นเป็นโอกาส จึงทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านอยู่ป่า นายเรือเห็นดังนั้นเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายมหาทาน แด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพุทธพยากรณ์อย่างที่พระมหากัสสปะ พระราธะ พระอุปเสนะ ได้รับมาแล้ว คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมใน อีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านเป็นอยู่ป่า

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นน้องชายของพระสารีบุตร ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนาแต่อดีตชาติประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่เมื่อออกบวชแล้วก็ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรด้วยจิตใจนิยมการอยู่ป่า พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านอยู่ป่า

พระมหาปันถก ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นกฎุมพี ชาวเมือง หงสวดี มีน้องชายอยู่ ๑ คน (คือพระจูฬปันถกในชาติปัจจุบัน) วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านชำนาญในปัญญาวิมุติ แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายมหาทาน แด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุด ท้ายได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพุทธพยากรณ์อย่างที่พระมหากัสสปะ พระราธะ พระอุปเสนะ และพระขทิรวนยเรวตะได้รับมาแล้ว คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านชำนาญในปัญญาวิมุติ

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อ เนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตาย เกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นคนวรรณะจัณฑาล หลานของเศรษฐีราชคหะ ครั้นออกบวชก็ได้ บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่เมื่อออกบวชแล้วมีความชำนาญในการเจริญวิปัสสนา พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านชำนาญในปัญญาวิมุติ


มีต่อ >>> ตอนที่ ๒๔
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 8:30 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๒๔ กลุ่มพระชาวแคว้นมคธ


พระจูฬปันถก ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นน้องชายของกฎุมพี ชาวเมืองหงสวดี (คือพระมหาปันถกในชาติปัจจุบัน) วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับพี่ชายและพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านชำนาญในเจโตวิมุติ และด้านชำนาญในมโนมยิทธิ (การใช้ฤทธิ์ทางใจ) แล้วปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏ ด้วยการถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพุทธพยากรณ์อย่างที่พระมหากัสสปะ พระราธะ พระอุปเสนะ พระขทิรวนิยเรวตะ และพระมหาปันถกผู้เป็นพี่ชายได้รับแล้ว คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านชำนาญในเจโตวิมุติ และชำนาญในมโนมยิทธิ

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้ากัสสปะนั้น ท่านออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ มีสติปัญญาดีมาก ทรงจำพระพุทธพจน์ไว้ได้มากและแม่นยำ คราวหนึ่งได้ฟังพระปัญญาทึบรูปหนึ่งสาธยายพระพุทธพจน์ผิดๆ ถูกๆ แล้วหัวเราะเยาะ จนพระรูปนั้นอายเลิกท่องจำพระพุทธพจน์อีกต่อไป จากชาตินั้นท่านเวียน ว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านเกิดมาเป็นน้องชายของพระมหาปันถก ตอนบวชใหม่ๆ บาป กรรมที่เคยหัวเราะเยาะพระปัญญาทึบตามมาให้ผล โดยทำให้ท่านไม่ได้กัลยาณมิตรแนะนำการปฏิบัติธรรม จึงไม่สามารถท่องจำคาถาแม้เพียงบทเดียวได้ จนถูกพระมหาปันถกขับไล่ให้สึก

แต่ต่อมาได้พระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตรทรงแนะนำให้เจริญกรรมฐาน จึงได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนา มาแต่อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่เมื่อบรรลุอรหัตผลแล้วมีความชำนาญในการเข้าสมาธิ และชำนาญในการใช้ฤทธิ์ทางใจเนรมิตร่างกายท่านได้ตั้ง ๑,๐๐๐ ร่างในขณะจิตเดียว พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านชำนาญในการเข้าสมาธิ (เจโตวิมุติ) และชำนาญในการใช้มโนมยิทธิ

ได้กล่าวถึงอดีตชาติของพระอสีติมหาสาวกชาวแคว้นมคธที่ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะมาแล้ว ต่อไปนี้จะกล่าวถึงอดีตชาติของพระอสีติมหาสาวก ชาวแคว้นมคธที่ไม่ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะ ซึ่งมีอยู่ ๒ รูป คือ พระมหาจุนทะ กับพระสภิยะ

พระอสีติมหาสาวก ๒ รูปนี้ แม้จะไม่ได้ตั้งจิตปรารถนาตำแหน่งเอตทัคคะไว้เหมือนพระอสีติมหาสาวก ๖ รูปนั้น แต่ก็ได้ตั้งจิตปรารถนาเพื่อเป็นพระสาวกและได้บรรลุอรหัตผลในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล ซึ่งแต่ละรูปก็ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าในอดีตทำนองเดียวกัน คือจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมและจักได้บรรลุอรหัตผลดังมีรายละเอียดดังนี้

พระมหาจุนทะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ในพระพุทธเจ้าในอดีตหลายพระองค์ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าสิทธัตถะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าสิทธัตถะนั้น ท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองเวภาระ มีจิตเลื่อมใสให้ช่างทำดอกไม้แล้วนำไปบูชาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน จึงตรัสพยากรณ์ว่าท่านจักได้บรรลุอรหัตผลในศาสนาของพระพุทธเจ้าโคดม เป็นเหตุให้ท่านเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง แล้วทำความดีอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อ เนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าวิปัสสี

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้น ท่านเกิดเป็นช่างหม้อชาวเมืองพันธุมดี วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้ถวายบาตรดินแด่พระองค์ด้วยจิตเลื่อมใส แล้วตั้งจิตปรารถนาขอให้ได้บรรลุอรหัตผลในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล พระพุทธเจ้าทรงทราบความปรารถนาของท่าน จึงตรัสพยากรณ์อย่างที่พระพุทธเจ้าสิทธัตถะตรัสพยากรณ์ เป็นเหตุให้ท่านเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง แล้วทำความดีอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ท่านมาเกิดเป็นน้องชายของพระสารีบุตร ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล สมตามที่ตั้งจิตปรารถนาไว้ดังกล่าวมาแล้ว

พระสภิยะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ในพระพุทธเจ้าในอดีตหลายพระองค์ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้ากกุสันธะนั้น ท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองเขมะ วันหนึ่งเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จ พุทธดำเนินด้วยพระบาทเปล่าแล้วเกิดศรัทธาถวายรองเท้า แล้วตั้งจิตปรารถนาขอให้ได้เป็นสาวกของ พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล พระพุทธเจ้าทรงทราบความปรารถนาของท่าน จึงตรัสพยากรณ์ว่าท่านจักได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดม เป็นเหตุให้ท่านเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง แล้วทำ ความดีอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ

จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ ชาติที่พบพระพุทธเจ้ากัสสปะนั้น ท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองพาราณสี วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยชาวเมืองเพื่อฟังธรรม พระพุทธเจ้าทรงทราบความปรารถนาของท่าน จึงตรัสพยากรณ์อย่างที่พระพุทธเจ้ากกุสันธะตรัสพยากรณ์มาแล้ว เป็นเหตุให้ท่านเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง แล้วทำความดีอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ท่านมาเกิดเป็นบุตรของปริพาชิกานางหนึ่ง ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล สมตามที่ตั้งจิตปรารถนาไว้ดังกล่าวมาแล้ว


มีต่อ >>> ตอนที่ ๒๕
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 29 พ.ย.2006, 11:56 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๒๕ กลุ่มพระชาวแคว้นมคธ


วาจานุสรณ์

พระมหากัสสปะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วมีความประสงค์จะสอนพระทั้งหลายให้เห็นคุณค่าของการอยู่ในที่สงัด จึงกล่าวว่า

ผู้มีปัญญาเห็นว่า ไม่ควรอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ
เพราะเป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่าน ได้สมาธิยาก
การมัวแต่สงเคราะห์ (เกี่ยวข้องกับ) คนนั้นคนนี้อยู่ เป็นความลำบาก
ดังนั้น จึงไม่ชอบใจจะอยู่กับหมู่คณะ
ผู้มีปัญญา ไม่ควรเกี่ยวข้องกับตระกูลทั้งหลาย
เพราะเป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่าน ได้สมาธิยาก
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตระกูล ย่อมต้องขวยขวายในการเข้าไปสู่ตระกูล
มักติดรสอาหาร จึงทำให้ต้องละทิ้งประโยชน์ที่จะนำสุขมาให้
ผู้มีปัญญากล่าวว่า การไหว้และการบูชาในตระกูลทั้งหลาย
เป็นเปือกตมและลูกศรที่ละเอียด ถอนได้ยาก
บุรุษผู้เลวทรามย่อมละสักการะได้ยากอย่างยิ่ง

ต่อมาท่านได้สอนพระให้ยินดีในปัจจัย ๔ โดยเฉพาะอาหารบิณฑบาตได้มา โดยกล่าวถึงข้อปฏิบัติของท่านว่า

เราลงจากเสนาสนะแล้วเข้าไปบิณฑบาตในเมือง
คนขี้เรื้อนคนหนึ่งกำลังบริโภคอาหารอยู่
เราไปยืนอยู่ใกล้เขาด้วยอาการสำรวม
คนขี้เรื้อนปั้นข้าวคำหนึ่งมาใส่บาตรเรา
มือของเขามีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม
ขณะที่หย่อนข้าวลงในบาตร นิ้วของเขาขาดตกอยู่ในบาตร
เรานั่งฉันข้าวคำนั้นอยู่ข้างฝาเรือนต่อหน้าเขา
โดยไม่มีความรังเกียจเลยแม้แต่น้อย
ภิกษุใดไม่ดูหมิ่นปัจจัยทั้ง ๔ คือ อาหารบิณฑบาต
ที่จะต้องลุกขึ้นเดินไปรับที่ประตูเรือนของชาวบ้าน ๑
บังสุกุลจีวร ๑ โคนต้นไม้ ๑ ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ๑
ภิกษุนั้นแล สามารถจะอยู่ได้ในทิศทั้ง ๔ แม้ยามชรา

เมื่อจะย่างเข้าสู่วัยชรา แต่ท่านยังคงสมาทานธุดงค์ ๑๓ ข้ออย่างเคร่งครัด กลับจากบิณฑบาตแล้วก็ขึ้นภูเขาบำเพ็ญฌาน ท่านได้กล่าวสรรเสริญภูมิภาคและภูเขาที่ท่านอยู่ไว้ว่า

ภาคพื้นดินแห่งนี้มีต้นกุ่มขึ้นเป็นแถว
กึกก้องด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์
นั่นภูเขาสูง ชูยอดเสียดเมฆ คล้ายปราสาท
ณ เชิงเขานั้น มีสายน้ำใสสะอาด
ดารดาษด้วยหญ้าสีเหลืองเหมือนแมลงค่อมทอง น่ารื่นรมย์
ภูเขาที่ฝนตกรด มีต้นไม้ใบหญ้าขึ้นเขียวชอุ่ม
เป็นถิ่นที่ฤาษีชอบมาอาศัย
ไพเราะด้วยเสียงนกยูง น่ารื่นรมย์
เราก็เหมือนคนที่จิตแน่วแน่ทั่วไป
ที่พิจารณาเห็นได้อย่างแจ่มแจ้งถูกต้อง
จึงไม่ยินดีในดนตรีมีองค์ ๕
(แต่มายินดีเสียงน้ำตก เสียงช้างร้องและเสียงนกยูงแทน)
คราวหนึ่ง ท่านกล่าวเตือนพระนักปริยัติ แต่ไม่สนใจการปฏิบัติว่า
เพียงแค่ท่องบ่นพระพุทธวจนะได้
ย่อมทำให้คนโง่มองไม่เห็นตัวเอง
เขาย่อมเที่ยวชูคอสำคัญตนว่า ประเสริฐกว่าผู้อื่น

พระราธะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วก็ยังสนใจในการเพ่งพินิจธรรม วันหนึ่งขณะนั่งพินิจธรรมอยู่ในกระท่อม เกิดฝนตกรั่วรดลงมาทางหลังคาที่มุงไม่ดี ท่านคิดเปรียบเทียบเรือนที่มุงไม่ดีว่าเหมือนกับจิตที่ไม่ได้ฝึกฝน จึงกล่าวว่า

เรือนที่มุงไม่ดี ฝนตกรั่วรดได้
จิตที่ไม่ได้ฝึกฝนก็เป็นเช่นนั้น
ราคะย่อมรั่วรดได้
เรือนที่มุงดี ฝนตกรั่วรดไม่ได้
จิตที่ฝึกฝนไว้ดีก็เป็นเช่นนั้น
ราคะย่อมรั่วรดไม่ได้

พระอุปเสนะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วได้มาจำพรรษาอยู่ที่เมืองโกสัมพี แคว้นวังสะ คราวนั้นเองพระชาวโกสัมพีได้แตกกันเป็น ๒ ฝ่าย พระรูปหนึ่งถามท่านว่า ควรวางตัวเช่นไรในสถานการณ์เช่นนี้ ท่านกล่าวว่า

ป่าที่สัตว์ร้ายอาศัยอยู่ แต่สงบสงัดปราศจากเสียงอื้ออึง
ภิกษุผู้หวังจะหลีกเร้น ควรอยู่ในเสนาสนะป่าเช่นนั้น
ควรห่มจีวรเศร้าหมอง ที่ได้มาโดยเก็บผ้ามาจากกองขยะ
จากป่าช้า จากตรอกซอกซอย แล้วมาทำเป็นจีวร
ควรสยบจิตให้หมดมานะ คุ้มครองทวาร สำรวมอินทรีย์
เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก
บิณฑบาตที่ได้มาแม้จะไม่ประณีตก็ควรยินดี
ไม่ควรอยากได้อาหารมากรส
เพราะคนที่ติดในรสอาหาร จิตย่อมไม่ยินดีในฌาน
ไม่ควรคลุกคลีกับใครๆ ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์
ควรแสดงตนให้เป็นเหมือนคนบ้าและคนใบ้ คือ ไม่พูดมาก
เมื่ออยู่ท่ามกลางหมู่คณะ ไม่ควรใส่ร้ายใคร ไม่ควรกระทบกระทั่งใคร
ควรสำรวมในพระปาติโมกข์ และควรรู้จักประมาณในการฉันอาหาร
ควรศึกษานิมิตรหมายที่ทำให้จิตเกิดให้ดี
จิตเกิดแต่ละขณะเป็นอย่างไร ควรรู้ให้ทัน
ควรบำเพ็ญสมถะและวิปัสสนาเนืองๆ
ไม่ควรวางใจในเมื่อยังไม่สิ้นทุกข์
ภิกษุผู้ปรารถนาความบริสุทธิ์ เป็นอยู่อย่างนั้น
อาสวะย่อมหมดไปได้ เธอย่อมบรรลุนิพพาน

พระมหาจุนทะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วประสงค์จะประกาศว่า การที่ท่านบรรลุอรหัตผลได้นั้นเพราะอาศัยครูและการอยู่ในเสนาสนะอันสงัด จึงกล่าวว่า

เพราะตั้งใจฟังครูสอน จึงได้ความรู้
ความรู้ทำให้ได้ปัญญา
เพราะปัญญาจึงทำให้รู้ประโยชน์
ประโยชน์ที่รู้แล้วย่อมนำสุขมาให้
ภิกษุควรเสพเสนาสนะอันสงัด
ควรประพฤติธรรมอันเป็นเหตุให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัด
ถ้าในเสนาสนะและธรรมนั้นยังยินดีเต็มที่ไม่ได้
เมื่ออยู่กับคณะ ก็ควรมีสติรักษาตน


มีต่อ >>> ตอนที่ ๒๖
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 08 ม.ค. 2007, 12:58 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๒๖ กลุ่มพระชาวแคว้นมคธ


พระขทิรวนิยเรวตะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว คราวหนึ่งขณะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าท่านเดินผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่งถูกโจรปล้น พวกชาวบ้านต่างร่วมใจกันต่อสู้ขัดขวาง ฝ่ายพวกโจรเมื่อได้ทรัพย์สินเงินทองแล้วก็ห่อหิ้วหนีออกจากหมู่บ้าน ครั้นเห็นว่าจวนตัวเพราะพวกชาวบ้านไล่ล่าติดๆ และพอดีเห็นพระเถระเดินสวนทางมาจึงทิ้งห่อของไว้ใกล้พระเถระ เพื่อลวงชาวบ้านให้เข้าใจผิดจะได้ไม่ติดตามตน ฝ่ายชาวบ้าน ก็เข้าใจผิดอย่างที่พวกโจรคาดหวัง จึงช่วยกันจับท่านไปถวายพระเจ้าแผ่นดินให้สอบสวน และลงโทษ ระหว่างการสอบสวนท่านได้กล่าวขึ้นว่า

นับตั้งแต่ออกบวช อาตมาไม่เคยคิดร้ายใคร
ตลอดเวลาที่บวชอยู่นี้ไม่เคยคิดให้ใครถูกฆ่า
ถูกเบียดเบียนและได้รับทุกข์
ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็คือ แผ่เมตตาไปอย่างไม่จำกัด
ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน
อาตมาเป็นมิตรของสรรพสัตว์
เป็นเพื่อนของสรรพสิ่ง
ยินดีที่ไม่เบียดเบียนใคร
แผ่เมตตาจิตอยู่ทุกเมื่อ
จิตของอาตมาไม่หวั่นไหว ไม่กำเริบ
อาตมาทำให้มันบันเทิงอยู่ด้วยการเจริญพรหมวิหารธรรม
คือแผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ซึ่งคนต่ำช้าทำไม่ได้แน่
จากนั้นท่านได้กล่าวแก่พระสัทธิวิหาริกที่เดินทางมาเยี่ยมท่านว่า
พระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เข้าเพียงทุติยฌานก็นิ่งได้ประเสริฐแล้ว เพราะหมดความหลง
ภิกษุสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จึงมั่นคงไม่หวั่นไหวคล้ายภูเขาหิน
คนที่หมดกิเลส สะอาดทั้งกาย วาจา ใจ
ย่อมเห็นความชั่วแม้เล็กน้อยขนาดเท่าปลายขนทราย
ว่ามากมายเหมือนก้อนเมฆ
ท่านทั้งหลายจงคุ้มครองตัวเอง
ให้เหมือนนักรบ คุ้มครองเมืองหน้าด่านอย่างแข็งขัน
จะเป็นหรือตายเราก็ไม่ไยดี
เรารอแต่เวลาคล้ายลูกจ้างรอเวลางาน
จะเป็นหรือตายเราก็ไม่ไยดี
เรารอแต่เวลาอย่างคนมีสติสัมปชัญญะ
พระศาสดาเราก็รับใช้แล้ว
คำสอนของพระพุทธเจ้าเราก็ทำตามได้แล้ว
ภาระหนักเราก็ปลงได้แล้ว
อีกทั้งตัณหา ตัวการทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด
เราก็ถอนรากถอนโคนได้แล้ว
ประโยชน์ที่คนออกบวชต้องการ คือความหมดกิเลสเราก็ได้รับแล้ว
ขอท่านทั้งหลายจงทำความดีให้สมบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด

ท่านกล่าวสอนพระทั้งหลายเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นก็เหาะขึ้นไปนั่งขัดสมาธิอยู่ในอากาศ เข้าเตโชสมาบัติอธิษฐานให้เกิดไฟลุกไหม้ร่างกายท่านหลังจากนิพพานแล้ว ท่านนิพพานกลางอากาศนั้นเอง

พระมหาปันถก หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วได้กล่าวแสดงความรู้สึกของท่านว่า

ครั้งแรกที่ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นยอดคน
เราก็เกิดความสลดใจ (ว่าทำไมจึงไม่มาเฝ้าพระองค์เสียตั้งนาน)
ต่อมาเราสละสิ่งทั้งปวง ปลงผมและหนวดออกบวช
เรารักษาศีลได้ดีเยี่ยม
ศึกษาสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้อย่างถ่องแท้
สำรวมดีแล้วในในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่พ่ายแพ้แก่มาร
ครั้งนั้นเราตั้งจิตปรารถนาไว้ว่า
ถ้ายังถอนลูกศรคือตัณหาออกไม่ได้
เราจะไม่ยอมนั่งแม้เพียงครู่เดียว
แล้วสิ้นราตรีนั้นเอง พอพระอาทิตย์อุทัย
เราก็ถอนลูกศร คือตัณหาได้หมดสิ้น
จากนั้นจึงเข้าไปนั่งขัดสมาธิภายในกุฏิ

พระจูฬปันถก หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว พระทั้งหลายถามท่านว่า สามารถบรรลุอรหัตผลได้อย่างไร ในเมื่อท่านเป็นคนปัญญาทึบ ท่านเล่าให้ฟังว่า

เมื่อก่อนผมเข้าใจได้ช้าจึงถูกตำหนิ
หลวงพี่ได้ขับไล่ผมให้สึกเสีย
ผมเสียใจมากเพราะยังอาลัยรักพระศาสนาอยู่
จึงไปยืนร้องไห้อยู่ที่ซุ้มประตูวัดชีวกัมพวัน
ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาหาผม
ทรงลูบศีรษะแล้วจับแขนพาผมเข้าไปในวัด
พระศาสดาทรงประทานผ้าแก่ผม
แล้วทรงพระกรุณาตรัสบอกให้ผมไปนั่งบริกรรมจนขึ้นใจ
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าทำให้ผมยินดีอยู่ในศาสนา
บำเพ็ญสมาธิให้เกิดขึ้นเพื่อบรรลุประโยชน์อันสูงสุด
แล้วผมก็ได้บรรลุวิชชา ๓ ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้หมดสิ้น
ผมเนรมิตตนได้ ๑,๐๐๐ ร่าง จนถึงเวลาเขานิมนต์
ผมได้เหาะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วถวายบังคมแทบเบื้องพระยุคลบาท
ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าได้ตรัสรับรองผม

พระสภิยะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดเวฬุวัน อันเป็นช่วงเวลาที่พระเทวทัตกำลังพยายามทำลายสงฆ์ พระทั้งหลายเกิดความสับสน ท่านจึงให้โอวาทว่า

นอกจากบัณฑิตแล้ว ไม่มีใครรู้หรอกว่า
เราทั้งหลายที่กำลังทะเลาะกันอยู่นี้กำลังย่อยยับ
คนที่รู้ย่อมไม่ทะเลาะกัน
เมื่อไม่รู้วิธีระงับการทะเลาะตามความเป็นจริง
พวกเขาย่อมทำตัวเหมือนไม่แก่ไม่ตาย ก็จะทะเลาะกันร่ำไป
ส่วนคนที่รู้ตามความเป็นจริงว่าการทะเลาะทำให้เร่าร้อน
พวกเขาย่อมไม่ก่อการทะเลาะ
การงานที่ทำเหลาะแหละ วัตรปฏิบัติที่ไม่น่าเลื่อมใส
และพรหมจรรย์ที่ระลึกถึงด้วยความน่ารังเกียจ ทั้ง ๓ นี้ไม่มีผลมาก
ผู้ใด ไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย
ผู้นั้น ย่อมห่างไกลจากพระสัทธรรม
เหมือนฟ้ากับดินห่างไกลกัน


มีต่อ >>> ตอนที่ ๒๗
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.พ.2007, 8:12 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๒๗ กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล


กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล คือ กลุ่มพระที่เป็นชาวแคว้นโกศล โดยกำเนิด ซึ่งนอกจากกลุ่มพระมาณพ ๑๖ รูปแล้ว ยังมีพระอสีติมหาสาวกที่เป็น ชาวแคว้นโกศลอีก ๑๖ รูป คือ พระวักกลิ พระยโสชะ พระกุณฑธานะ พระปิลินทวัจฉะ พระมหาโกฎฐิตะ พระโสภิตะ พระอุปวาณะ พระองคุลิมาล พระสาคตะ พระเสละ พระวังคีสะ พระลกุณฑกภัททิยะ พระกุมารกัสสปะ พระนันทกะ พระสุภูติ และพระกังขาเรวตะ แต่ละรูปมีประวัติที่น่าศึกษาดังนี้

สถานะเดิม

พระวักกลิ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ศึกษาจบไตรเพท อยู่ในเมืองสาวัตถี

พระยโสชะ เป็นหัวหน้าชาวประมง มี ลูกน้องอยู่ ๕๐๐ คน ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ แม่น้ำอจิรวดี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งที่ไหลผ่านแคว้นโกศล

พระกุณฑธานะ เกิดในวรรณะพราหมณ์ มีชื่อเดิมว่า ‘ธานะ’ ศึกษาจบไตรเพท

พระปิลินทวัจฉะ เกิดในวรรณะพราหมณ์ เชื้อสายวัจฉโคตร มีชื่อเดิมว่า ‘ปิลินทะ’ แต่มักมีผู้เรียกท่านว่า ‘ปิลินทวัจฉะ’ โดยนำเชื้อสายของท่านมาต่อท้าย ศึกษาจบไตรเพท

พระมหาโกฎฐิตะ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ในตระกูลพราหมณ์มหาศาล บิดาชื่อ ‘อัสสลายนะ’ มารดาชื่อ ‘จันทวดี’ มีชื่อเดิมว่า ‘โกฏฐิตะ’ ศึกษาจบไตรเพท

พระโสภิตะ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ศึกษาจบศิลปวิทยาของพราหมณ์

พระอุปวาณะ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ศึกษาจบไตรเพท

พระองคุลิมาล เกิดในวรรณะพราหมณ์ บิดาชื่อ ‘ภัคควะ’ เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล มารดาชื่อ ‘มันตานี’ มีชื่อเดิมว่า ‘อหิงสกะ’

พระสาคตะ เกิดในวรรณะพราหมณ์

พระเสละ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ที่อาปณนิคมในแคว้นอุตตราปะ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับแคว้นอังคะ บิดาชื่อ ‘วาเสฏฐะ’ ศึกษาจบไตรเพทและศิลปวิทยาของพราหมณ์

พระวังคีสะ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ศึกษาจบไตรเพท

พระลกุณฑกภัททิยะ เกิดในวรรณะไวศยะ ตระกูลของท่านร่ำรวย มีชื่อเดิมว่า ‘ภัททิยะ’ แต่เพราะมีร่างกายเล็กและเตี้ยจึงมักถูกเรียกว่า ‘ลกุณฑกภัททิยะ’ (ภัททิยะผู้มีร่างกายเล็กและเตี้ย)

พระกุมารกัสสปะ เกิดในวรรณะไวศยะ คลอดในขณะที่มารดาเป็นภิกษุณี เนื่องจากมารดาตั้งครรภ์ท่านแล้วไม่ทราบ ได้ออกบวชจนเมื่อครรภ์ใหญ่จึงได้ทราบ และได้คลอดท่านในสำนักภิกษุณีนั้นเอง

พระนันทกะ เกิดในวรรณะไวศยะ แต่งงานแล้ว

พระสุภูติ เกิดในวรรณะไวศยะ ในตระกูลเศรษฐี เป็นน้องชายของอนาถบิณฑิกเศรษฐี

พระกังขาเรวตะ เกิดในวรรณไวศยะ ในตระกูลเศรษฐี มีชื่อเดิมว่า ‘เรวตะ’ เหตุที่มีคำว่า ‘กังขา’ แปลว่า ‘สงสัย’ นำหน้าชื่อนั้น เป็นเพราะก่อนได้บรรลุอรหัตผล ท่านมักมีความสงสัยเกี่ยวกับพระวินัยว่า อะไรควรอะไรไม่ควร และมักซักถามพระพุทธเจ้าและเพื่อนพระด้วยกันอยู่เนืองๆ ดังนั้นต่อมาจึงมีเพื่อนพระเรียกท่านว่า ‘กังขาเรวตะ’ แปลวว่า ‘เรวตะ ผู้ชอบสงสัย’

ชีวิตฆราวาส

พระวักกลิ แม้จะศึกษาจบไตรเพท แต่ไม่ปรากฏว่าท่านได้ทำหน้าที่เป็นครูสอนพระเวทแก่ใครแต่อย่างใด ตามประวัติกล่าวว่าท่านเป็นคนรักสวยรักงาม พบสิ่งใดที่ถูกตาถูกใจมักจะหลงใหลได้ง่าย

พระยโสชะ เนื่องจากเกิดในครอบครัวของชาวประมง เมื่อเติบโตขึ้นท่านจึงประกอบอาชีพการทำประมงเลี้ยงดูครอบครัวอย่างที่บรรพบุรุษได้ทำมา ท่านทำมาหากินอยู่บริเวณลุ่มน้ำอจิรวดี อันเป็นถิ่นกำเนิดนั้นเอง ท่านมีความสุขพอสมควรแก่อัตภาพ ทุกวันต้องออกไปหาปลากับเพื่อนชาวประมง

พระกุณฑธานะ พระปิลินทวัจฉะ พระมหาโกฏฐิตะ พระอุปวาณะ เป็นเช่นเดียวกับพระวักกลิ กล่าวคือ แม้จะศึกษาจบไตรเพท แต่ก็ไม่ได้ทำหน้าที่เป็น ครูสอนพระเวท

พระปิลินทวัจฉะ มีนิสัยพูดจาโผงผาง หากพูดกับคนที่ต่ำกว่าหรือเสมอกันมักจะจบลงด้วยคำว่า “วสลิ” (ไอ้ถ่อย) เสมอ แต่ความจริงแล้วด้านจิตใจนั้นท่าน เป็นคนโอบอ้อมอารี เข้าทำนองว่า ‘ปากร้ายใจดี’

พระอุปวาณะ เป็นคนร่างกายใหญ่โตขนาดเท่าลูกช้าง

ส่วนอุปนิสัยและบุคลิกภาพของ พระกุณฑธานะ และพระมหาโกฏฐิตะ น่าเสียดายว่ายังไม่พบหลักฐาน

อย่างไรก็ตาม พระมหาสาวกทั้ง ๔ รูปนี้ ครั้งเป็นฆราวาสก็มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย โดยเฉพาะพระมหาโกฏฐิตะนั้นเกิดในตระกูลพราหมณ์ที่มั่งคั่ง จึงได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี นอก จากศึกษาจบไตรเพทแล้ว ท่านยังศึกษาจบศิลปวิทยาสาขาอื่นๆ ที่คนวรรณะพราหมณ์ควรศึกษา

พระโสภิตะ พระสาคตะ ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตฆราวาสของท่าน แต่อาศัยจากหลักฐานที่ว่าท่านศึกษาจบศิลปวิทยา จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่าท่านคงเกิดในตระกูลที่มั่งคั่งและมีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย

พระองคุลิมาล เนื่องจากเป็นบุตรของปุโรหิตผู้ใหญ่ในราชสำนักของพระเจ้าปเสนทิโกศล จึงมีความเป็นอยู่สุขสบายและมีเกียรติ เมื่อเจริญวัยขึ้นบิดาได้ส่งท่านให้ไปศึกษาศิลปวิทยาในสำนักของอาจารย์ทิสาปาโมกข์ ณ เมืองตักกสิลา การศึกษาที่เมืองตักกสิลานี้เอง ที่ทำให้ท่านต้องมาเป็นโจรด้วยความจำเป็น ท่านเป็นคนแข็งแรงและมีกำลังเท่าช้าง ๗ เชือก

พระเสละ ชอบแสวงหาความรู้ รักการสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะ เมื่อศึกษาจบไตรเพทและศิลปวิทยาของพราหมณ์แล้ว จึงตั้งสำนักสอนพระเวท มีผู้มาเรียนด้วย ๓๐๐ คน

พระวังคีสะ นอกจากศึกษาจบไตรเพทแล้วยังได้ศึกษา ‘สีสมนตร์’ (มนตร์ที่ทำให้รู้ว่าคนตายไปเกิดที่ใดด้วยการเคาะกะโหลกศีรษะ) ท่านมีความชำนาญ ในมนตร์นี้มาก และได้อาศัยเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต

พระลกุณฑกภัททิยะ พระนันทกะ ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตฆราวาสของท่าน

พระกุมารกัสสปะ เติบโตอยู่ในสำนักภิกษุณี เนื่องจากมารดาตั้งครรภ์ท่านแล้วไม่รู้ว่าตั้งครรภ์ได้ออกบวช นางได้คลอดท่านขณะที่เป็นภิกษุณีนั้นเอง ท่านได้รับการเลี้ยงดูในสำนักภิกษุณีตั้งแต่เกิด วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จผ่านมาสำนักภิกษุณีได้ยินเสียงเด็กร้อง ครั้นทรงทราบเรื่องราวทั้งหมดจึงรับสั่งให้ขอท่านไปเลี้ยงไว้ในราชสำนัก ในฐานะพระ-โอรสของพระองค์และทรงตั้งชื่อให้ว่า ‘กัสสปะ’ ต่อมามีผู้เรียกท่านว่า ‘กุมารกัสสปะ’ แปลว่า กัสสปะผู้ได้รับการเลี้ยง ดูอย่างพระราชกุมาร

พระสุภูติ มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบายอย่างที่เศรษฐีในยุคนั้นจะพึงเป็นได้

พระกังขาเรวตะ เป็นเช่นเดียวกับพระสุภูติเพราะเกิดในตระกูลเศรษฐีเหมือนกัน


มีต่อ >>> ตอนที่ ๒๘
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 02 มี.ค.2007, 4:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๒๘ กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล


การออกบวช

พระวักกลิ ออกบวชเพราะเลื่อมใสในพระวรกายอันสง่างามของพระพุทธเจ้า มีเรื่องเล่าว่าครั้งแรกที่ได้เห็นพระวรกายของพระพุทธเจ้า ท่านเกิดความเลื่อมใสทันที หลังจากนั้นก็วนเวียนมาเฝ้าดูพระวรกายของพระพุทธเจ้าอยู่เนืองๆ ในที่สุดท่านเกิดความคิดว่าจะต้องออกบวช เพื่อจะได้ดูพระวรกายของพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิดและตลอดเวลา ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงบวชให้ตามประสงค์

พระยโสชะ ออกบวชเพราะเกิดความสังเวชสลดใจ ในบาปกรรมของปลาทอง ที่ท่านและเพื่อนชาวประมงจับได้ มีเรื่องเล่าว่า วันนั้นท่านและเพื่อนชาวประมงได้ออกไปจับปลาในแม่น้ำอจิรวดีเหมือนอย่างเคย จับได้ปลาใหญ่ตัวหนึ่งซึ่งมีตัวเป็นสีทองแต่ว่าปากเหม็น ทุกคนเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงเห็นพ้องต้องกันให้นำไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล และพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงรับสั่งให้นำปลานั้นไปถวายพระพุทธเจ้าต่อ ทั้งนี้เพื่อจะได้ถือโอกาสทูลถามเรื่องกรรมเก่าของปลานั้นด้วย

พระพุทธเจ้าครั้นทอดพระเนตรเห็นปลาแล้ว ก็ทรงทราบถึงกรรมเก่าที่ทำให้ปลานั้นมีตัวเป็นสีทองแต่ปากเหม็น จึงตรัสบอกพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ในครั้งศาสนาของพระพุทธเจ้ากัสสปะ ปลาทองนั้นเกิดเป็นกุลบุตรมีชื่อว่า ‘กปิละ’ มารดาชื่อ ‘สาธนี’ น้องสาว ชื่อ ‘ตาปนา’ พี่ชายชื่อ ‘โสธนะ’ ต่อมา หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว กปิละกับพี่ชายได้ออกบวช พระโสธนะผู้พี่ชายตั้งใจศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล

ส่วนพระกปิละตั้งใจศึกษาพระไตรปิฎกเป็นอย่างดี แต่ไม่สนใจปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา ท่านเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกเป็นอย่างมาก มีพระมาศึกษาพระไตรปิฎกด้วยเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ท่านเกิดความหลงตนและลืมตัวด่าว่าพระรูปอื่นอย่างเสียหายทุกครั้งที่ไม่พอใจ ท่านหลงตนลืมตัวหนักขึ้นถึงขั้นประกาศว่าจะไม่ลงฟังพระปาติโมกข์อีกต่อไปเพราะไม่มีประโยชน์ ท่านประพฤติตัวก้าวร้าวอยู่อย่างนั้นแม้จะถูกพระพี่ชายตักเตือนด้วยความหวังดีก็ไม่เคยให้ความเคารพเชื่อฟัง ครั้นมรณภาพจากชาตินั้นแล้ว บาปกรรมก็ส่งผลให้ท่านไปเกิดในอเวจีนรกสิ้นพุทธันดรหนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้บาปกรรมที่ยังเหลืออยู่ส่งผลให้ท่านมาเกิดเป็นปลาใหญ่ปากเหม็นอยู่ในแม่น้ำอจิรวดี แต่ที่มีตัวเป็นสีทองนั้นเป็นผลมาจากการที่ทรงจำพระไตรปิฎกได้ดีนั่นเอง

พระยโสชะและเพื่อนชาวประมง ได้ฟังกรรมเก่าของปลาทองแล้วเกิดความสังเวชสลดใจในความไม่แน่นอน ของสัตว์ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จึงพร้อมใจกันสละบ้านเรือนออกบวชในพระพุทธศาสนา

พระกุณฑธานะ ออกบวชเมื่ออายุย่างเข้าวัยชราหลังจากวันหนึ่งได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วเกิดศรัทธาจึงทูลขอบวช

พระปิลินทวัจฉะ ออกบวชเป็นปริพาชกก่อนเพราะเกิดความสลดใจในการเวียนว่ายตายเกิดไม่สิ้นสุดของ สัตว์ทั้งหลาย ขณะเป็นปริพาชกนั้นท่านได้ศึกษาวิชา ‘จูฬคันธาระ’ จนสำเร็จ จึงทำให้สามารถเหาะได้และทำให้สามารถรู้ใจของผู้อื่นด้วย วิชาจูฬคันธาระทำให้ท่านมีชื่อเสียง เมื่อท่านเดินทางมาถึงเมืองราชคฤห์ก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเจ้าของถิ่น แต่ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเผยแพร่เข้าไปถึงเมืองราชคฤห์ พุทธานุภาพทำให้วิชาจูฬคันธาระของท่านเสื่อม ท่านไม่สามารถเหาะและรู้ใจผู้อื่นได้เหมือนเมื่อก่อน

อาจารย์ผู้สอนวิชาจูฬคันธาระเคยบอกท่านว่า หากวิชามหาคันธาระมีอยู่ที่ใด วิชาจูฬคันธาระก็จะไม่สัมฤทธิ์ผลในที่นั้น ท่านคิดตามที่เคยได้รับการบอกกล่าว ในขณะเดียวกันก็ได้ทราบข่าวคราวของพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเมืองราชคฤห์ จึงเชื่อแน่ว่าพระพุทธเจ้าต้องทรงทราบวิชามหาคันธาระ ต่อมาเมื่อได้โอกาสจึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลขอเรียนวิชามหาคันธาระ พระพุทธเจ้าทรงยินดีจะสอนให้ แต่ทรงเสนอเงื่อนไขให้ท่านบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนาก่อน ท่านยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขและทูลขอบวชทันที

พระมหาโกฏฐิตะ ดังได้กล่าวแล้วว่าท่านเป็นบุตรพราหมณ์อัสสลายนะ บิดาของท่านเป็นคนมีชื่อเสียงมีความถือตัวจัดเรื่องชาติกำเนิด พระพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยของพราหมณ์นั้นจึงเสด็จไปโปรดจนยอมคลายทิฐิมานะ และประกาศตนเป็นอุบาสกนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต พระมหาโกฏฐิตะเห็นบิดาเปลี่ยนศาสนามานับถือพระพุทธศาสนาก็เกิดศรัทธาขึ้นมาบ้าง

วันหนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเชตวัน ฟังธรรมแล้วก็เกิดศรัทธายิ่งขึ้น จึงทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ท่านตามประสงค์ จากนั้นทรงมอบหมายให้พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ และทรงมอบหมายให้พระมหาโมคคัลลานะเป็นพระอาจารย์

พระโสภิตะ พระสาคตะ พระลกุณฑกภัททิยะ พระนันทกะ พระกังขาเรวตะ ออกบวชเช่นเดียวกับพระกุณฑธานะและพระมหาโกฏฐิตะ กล่าวคือได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วเกิดศรัทธาจึงทูลขอบวช

พระอุปวาณะ ออกบวชเพราะความเลื่อมใสพุทธานุภาพที่ท่านเห็นในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปรับวัดพระเชตวันจากอนาถบิณฑิกเศรษฐี เรื่องมีอยู่ว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐีเดินทางไปค้าขายที่เมืองราชคฤห์ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดสีตวัน ฟังธรรมแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล จึงทูลนิมนต์ให้พระพุทธเจ้าเสด็จ มาเมืองสาวัตถีบ้าง ครั้นพระพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์แล้วท่านก็กลับมาสละเงินซื้อสวนเจ้าเชตสร้างเป็นวัดเชตวันทันที แล้วส่งคนไปนิมนต์พระพุทธเจ้าให้เสด็จมารับถวาย เมื่อเสด็จมาถึงแล้ว ก่อนเสด็จเข้าไปในวัดเชตวันนั้นพระพุทธเจ้าทรงรับสั่งให้อุบาสกอุบาสิกาที่ตามเสด็จมาด้วยเดินเป็นแถวนำหน้าเข้าไปก่อน จากนั้นพระองค์จึงเสด็จเข้าไปโดยมีพระสาวกเดินแถวตาม เสด็จ ขณะที่เสด็จเข้าไปนั้นพระพุทธเจ้าทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีสวยงามเรืองรองไปทั่วบริเวณ พระอุปวาณะเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มาเฝ้ารับเสด็จ เห็นพุทธานุภาพในวันนั้นแล้วเกิดความเลื่อมใสยิ่งนักจึงขอบวช

พระองคุลิมาล ดังได้กล่าวแล้วว่าการศึกษาที่เมืองตักกสิลานี้เองที่ทำให้ท่านต้องมาเป็นโจรด้วยความจำเป็น จึงขอกล่าวต่อไปว่าการมาเป็นโจรด้วยความจำเป็นนี้เองเป็นมูลเหตุชักนำให้ท่านออกบวช ดังเรื่อง มีอยู่ว่า เมื่อมาศึกษาอยู่ในสำนักทิสาปาโมกข์นั้น ท่านตั้งใจศึกษาเต็มที่ ในขณะเดียวกันก็ตอบแทนพระคุณอาจารย์ด้วยการรับใช้อาจารย์และภริยาด้วยความเคารพ ความดีดังกล่าวเป็นผลให้อาจารย์และภริยาโปรดปรานท่านมาก โดยเฉพาะนางพราหมณีผู้ภริยาของอาจารย์ได้เกื้อกูลท่านด้วยของกินของใช้มิให้ลำบาก จนศิษย์คนอื่นๆ พากันริษยาและหาเรื่องใส่ร้ายท่านว่าเป็นชู้กับภริยาของอาจารย์

ในที่สุดอาจารย์ก็หลงเชื่อจึงวางแผนฆ่าท่านโดยวิธีที่แนบเนียน โดยบอกว่าศิษย์ที่ศึกษาจบศิลปวิทยานั้นต้องให้ครุทักษิณา (ของบูชาครู) แก่อาจารย์ จากนั้นอาจารย์ก็บอกถึงของที่จะเป็นครุทักษิณานั้นคือนิ้วมือขวาของคน ๑,๐๐๐ นิ้ว ซึ่งจะหาได้มาก็ด้วยการออกล่าผู้คน ความจริงแล้วอาจารย์ มิได้ต้องการครุทักษิณาอย่างนั้น แต่ที่บอกไปนั้นก็ด้วยความเชื่อมั่นว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีฆ่าศิษย์โดยอาจารย์เองไม่มีความผิด เพราะก่อนที่จะได้นิ้วมานั้นศิษย์ก็คงจะถูกฆ่าตายเสียก่อน

อาจารย์คาดผิดถนัด อหิงสกะออกล่านิ้วคนเป็นว่าเล่น ได้นิ้วมาแล้วก็แขวนไว้ตามกิ่งไม้ ต่อมาเห็นว่าไม่ปลอดภัยเพราะถูกแร้งกาจิกกิน จึงนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยคล้องไหล่คล้ายสายธุรำ การกระทำดังกล่าวมานี้เองเป็นเหตุให้ได้ชื่อว่า ‘องคุลิมาล’ (ผู้มีนิ้วมือเป็นพวงมาลัย) แทนชื่อ ‘อหิงสกะ’ มานับแต่นั้น


มีต่อ >>> ตอนที่ ๒๙
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 01 พ.ค.2007, 12:32 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๒๙ กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล


พฤติกรรมของโจรองคุลิมาลลือชาไปทั่วเป็นที่หวาดกลัวของผู้คน ความทราบถึงพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์จึงทรงรับสั่งให้จัดกำลังทหารออกตามล่าโจรองคุลิมาล ปุโรหิตภัคควะบิดาของโจรองคุลิมาลทราบเรื่อง ก็ไม่ได้แสดงอาการหวั่นวิตกแต่ประการใด เพราะปลงใจได้ว่าลูกชายได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้มาก จึงถึงคราวที่จะต้องได้รับผลกรรมตอบสนองบ้างแล้ว แต่นางพราหมณีผู้มารดาหวั่นไหวหนัก เมื่อสามีปฏิเสธไม่ยอมไปพบลูกชายตามที่นางขอร้อง นางจึง ออกไปเองตามลำพังด้วยหมายจะเกลี้ยกล่อมลูกชายให้ยอมมอบตัวแต่โดยดี

วันนั้น โจรองคุลีมาลก็ดีใจว่าจะเป็นวันที่จบการศึกษาศิลปวิทยาแล้ว เพราะเหลืออีกนิ้วเดียวก็จะครบ ๑,๐๐๐ พอดี และตั้งใจว่าเมื่อได้นิ้วครบ ๑,๐๐๐ ซึ่งถือว่าจบ การศึกษาแล้วก็จักตัดผม แต่งหนวด อาบน้ำ เปลี่ยนผ้านุ่งห่มใหม่ แล้วกลับไปเยี่ยม บิดามารดา จึงออกจากกลางป่ามายืนดักอยู่ที่ปากทางเข้าป่า

ขณะนั้นนางพราหมณีผู้เป็นมารดา กำลังเดินมุ่งหน้าไปทางป่าที่โจรองคุลีมาลซุ่มซ่อนอยู่นั้น โจรองคุลีมาลเห็นมารดาเดินมาแต่ไกลก็จำได้ แต่เพราะอยากได้นิ้วมือจึงถือดาบวิ่งเข้าหามารดาหมายจะฆ่าแล้วตัดเอานิ้วมือข้างขวาอีก ๑ นิ้ว ก็จะครบ ๑,๐๐๐ พอดี พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูอุปนิสัยของเวไนยสัตว์ตอนเช้ามืด ทรงเห็นอุปนิสัยของโจรองคุลีมาลว่าสามารถจะบรรลุมรรคผลได้และทรงเห็นว่า โจรองคุลิมาล จะบรรลุมรรคผลไม่ได้เลยหากจะต้องมาทำอนันตริยกรรมฆ่ามารดาของตนเอง

ดังนั้น หลังจากเสด็จบิณฑบาตและเสวยพระกระยาหารแล้ว จึงรีบเสด็จไปถึงพร้อมกับเวลาที่นางพราหมณีมาถึง และเสด็จไปขวางหน้าก่อนที่โจรองคุลิมาลจะวิ่งถึงมารดา โจรองคุลิมาลเห็นพระพุทธเจ้าจึงเปลี่ยนใจไม่ฆ่ามารดา แต่หันมาไล่ตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์ให้โจรองคุลีมาลวิ่งตามไม่ทันจน รู้สึกเหนื่อยล้า แล้วหยุดยืนอยู่กับที่ร้องบอกพระพุทธเจ้าขึ้นว่า

“หยุดก่อน สมณะ หยุดก่อน”

“เราหยุดแล้ว องคุลิมาล และเธอสิก็จงหยุดด้วย”

“ท่านหมายความว่าอย่างไร ข้าพเจ้าไม่เข้าใจ”

“ตถาคต หมายความว่า เราหยุดฆ่าสัตว์แล้ว แต่เธอสิไม่หยุด ฉะนั้น เธอต้องหยุดด้วย”

โจรองคุลิมาลฟังแล้วก็รู้สึกได้ทันทีว่า ผู้ที่กำลังพูดอยู่กับตนนั้น คือพระพุทธเจ้า จึงทิ้งดาบแล้วก้มลงกราบแทบพระบาท เขาเกิดปีติโสมนัสอย่างแรงกล้าในพระพุทธเจ้า บุญบารมีที่สั่งสมมาแต่อดีตชาติได้โอกาสเกื้อหนุนให้จิตใจน้อมไปในการบวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ตามที่ทูลขอ

พระเสละ ออกบวชเมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชฎิลเกณิยะ เรื่องมีอยู่ว่า ขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกอยู่ในอังคุตตราปถชนบทพร้อมด้วยพระสาวก ๑,๒๕๐ รูป ชฎิลเกณิยะเกิดเลื่อมใสในพระเกียรติคุณ จึงทูลนิมนต์พระองค์พร้อมด้วยพระสาวก ไปรับภัตตาหารที่อาศรมของตนในเช้าวันรุ่งขึ้น

วันนั้นขณะที่บริวารของชฎิลเกณิยะกำลังขะมักเขม้นอยู่กับการผ่าฟืน เตรียมเตาไฟและเตรียมอาหารนั้น พราหมณ์เสละและศิษย์ผ่านมาพบเข้า จึงสอบถามได้ความว่าจะมีการถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้าในวันพรุ่งนี้เช้า ก็เกิดเลื่อมใสทันทีจึงพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ขณะที่ทูลสนทนากับพระพุทธเจ้าอยู่นั้น พราหมณ์เสละก็ได้ตรวจดูมหาปุริสลักษณะของพระพุทธเจ้าไปด้วยจนครบถ้วนทั้ง ๓๒ ประการ จึงตกลงใจเชื่อแน่ว่านี่คือพระพุทธเจ้า ตกคืนนั้นเองพราหมณ์เสละและศิษย์ ๓๐๐ คนก็ตัดสินใจทูลขอบวชพร้อมกัน

พระวังคีสะ ออกบวชเพราะต้องการเรียนสีสมนตร์ดังกล่าวแล้ว เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อท่านตัดสินใจจะอาศัยมนตร์นี้เลี้ยงชีวิต พวกพราหมณ์พวกของท่านจึงพาท่านตระเวนไปแสดงความสามารถตามสถานที่ต่างๆ ปรากฏว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ใครก็ตามที่ต้องการทราบว่าญาติของตนที่ตายไปแล้วเกิดอยู่ในที่ใด นรก สวรรค์ หรือโลกมนุษย์ เมื่อมาหาท่านก็จะได้รับคำตอบหมด วิธีหาคำตอบก็คือ ท่านจะให้นำกะโหลกคนตายมาวางไว้แล้วเอานิ้วเคาะ ไม่นานก็จะได้คำตอบผ่านทางกะโหลกนั้น เกี่ยวกับสถานที่เกิดใหม่ของเจ้าของกะโหลก ด้วยวิธีการอย่าง นี้ท่านก็ได้รับสิ่งของ อาทิ อาหาร ของใช้ เป็นเครื่องสักการะตอบแทน

หลังจากพากันตระเวนไปตามเมืองต่างๆ แล้วพวกพราหมณ์จึงพาท่านกลับมา ยังเมืองสาวัตถีตามเดิม และพำนักอยู่ใกล้ประตูทางเข้าวัดเชตวัน เหตุผลที่มาพำนักอยู่ที่นี้ก็เพื่อจะชักชวนพุทธศาสนิกชนที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้าให้หันมาเลื่อมใสท่านบ้าง

“ท่านทั้งหลาย เชิญมาหาวังคีสะเถิด เขารู้ที่เกิดของคนตายอย่างไม่มีใครสู้ได้” พวกของท่านโฆษณา

“วังคีสะ จะสู้พระพุทธเจ้าของเราได้หรือ” มีเสียงตอบจากกลุ่มพุทธศาสนิกชน

ทั้ง ๒ ฝ่ายโต้เถียงกันรุนแรงถึงขั้นท้ากัน วังคีสะขอตามพุทธศาสนิกชนกลุ่มนั้นไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วย เพื่อจะได้ประลองวิชากัน พระพุทธเจ้าทรงรับคำท้าของท่าน ที่จะขอแสดงความสามารถให้ดูด้วยการให้นำกะโหลกคนตายมา ๕ กะโหลกด้วยกัน คือ กะโหลกคนตายที่ไปเกิดในนรก กะโหลกคนตายที่ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน กะโหลกคนตายที่ไปเกิดเป็นมนุษย์ กะโหลกคนตายที่ไปเกิดเป็นเทวดา และกะโหลกของพระอรหันต์ วังคีสะเคาะกะโหลกคนตายแล้วก็บอกได้ว่าเป็นกะโหลกของใคร ตามลำดับ แต่มาถึงกะโหลกสุดท้ายอันเป็นกะโหลกของพระอรหันต์ ท่านไม่สามารถบอกได้ เพราะเคาะแล้วก็ไม่ได้รับคำตอบว่าเจ้าของกะโหลกไปเกิด ณ ที่ใด จึงรู้สึก อับอายและยืนนิ่งอยู่โดยไม่ยอมปริปากพูดอะไร พระพุทธเจ้าทรงเข้าใจความรู้สึก ของท่านได้ดี จึงตรัสว่า

ผู้ใดรู้การเกิดและการตายของสัตว์ทั้งหลายได้ครบถ้วน ไม่มีติดขัด
เพราะดำเนินตามอริยมรรคและรู้แจ้งอริยสัจ เราเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์
เทวดา คนธรรพ์ และมนุษย์ ไม่รู้ที่ไปของบุคคลใด
บุคคลนั้นสิ้นอาสวะห่างไกลกิเลสแล้ว
เราเรียกเขาว่า เป็นพราหมณ์

วังคีสะได้ฟังแล้วอยากจะเป็นพราหมณ์เช่นนั้นบ้าง จึงทูลขอให้พระพุทธเจ้าสอนวิชาให้ โดยคิดว่าเมื่อเรียนวิชาจากพระพุทธเจ้าได้แล้วก็จะทำให้รู้ที่เกิดของพระอรหันต์ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเลี้ยงชีพต่อไป พระพุทธเจ้าทรงรับที่จะสอนให้ แต่ทรงวางเงื่อนไขให้ท่านบวชก่อนจึงจะยอมสอน เมื่อวังคีสะตกลงจึงทรงบวชให้

พระกุมารกัสสปะ ออกบวชเป็นสามเณรก่อน มูลเหตุที่ทำให้ออกบวชก็คือ ท่านเกิดความสลดใจในชีวิตของตนเอง เมื่อได้ทราบความจริงว่าท่านไม่ใช่โอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศลอย่างที่เข้าใจมาแต่แรก แท้จริงแล้วเป็นลูกของภิกษุณี จึงทูลขอพระราชานุญาตพระเจ้าปเสนทิโกศลออกบวช พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทัดทาน แต่เมื่อทรงเห็นว่าไม่สามารถจะเปลี่ยนความตั้งใจของท่านได้ จึงทรงอนุญาต และเนื่องจากท่านมีอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ พระพุทธเจ้าจึงทรงให้บวชเป็นสามเณรก่อน

พระสุภูติ ออกบวชเพราะความเลื่อมใสในพุทธานุภาพที่ท่านเห็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปรับวัดพระเชตวันจากอนาถบิณฑิกเศรษฐี เช่นเดียวกับพระอุปวาณะ


มีต่อ >>> ตอนที่ ๓๐
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 10 พ.ค.2007, 11:18 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๓๐ กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล


การบรรลุอรหัตผล

พระวักกลิ บรรลุอรหัตผลหลังจากคิดฆ่าตัวตาย ดังได้กล่าวไว้แล้วว่าท่านหลงใหลในพระรูปกายของพระพุทธเจ้า ดังนั้นเมื่อบวชแล้วจึงละทิ้งการบำเพ็ญสมณธรรมทั้งหมด คอยเฝ้าแต่ติดตามดูพระรูปกายของพระพุทธเจ้าเท่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสเตือนท่านเนืองๆ ให้เลิกละการเที่ยวดูร่างกายอันจะเปื่อยเน่า และทรงชี้ทางออกให้หันมามุ่งหน้าบำเพ็ญสมณธรรม

วักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเท่ากับได้เห็นตถาคต
ผู้ใดเป็นตถาคต ผู้นั้นเท่ากับได้เห็นธรรม

พระวักกลิ แม้จะได้ยินพระพุทธเจ้าตรัสเตือนเช่นนี้ก็หาได้เข้าใจไม่ ท่านยังคงทำตัวเหมือนเดิม ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะประทับอยู่ที่ใด ท่านก็จะไปเฝ้าอยู่ใกล้ๆ พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าหากให้เหตุการณ์ดำเนินไปเช่นนี้ ท่านเองจะเป็นคนเสียหาย เนื่องจากจะไม่ได้บรรลุมรรคผลอันใด วันต่อมาเมื่อพระวักกลิมาเฝ้าจึงทรงขับไล่ไปให้พ้นจากพระองค์ พระวักกลิไม่ ทันเข้าใจถึงวิธีการของพระพุทธเจ้าจึงรู้สึกเสียใจมาก และออกจากวัดเชตวันไปหมายจะกระโดดภูเขาฆ่าตัวตาย พระพุทธเจ้าทรงติดตามดูการกระทำของท่านตลอดเวลา ครั้นทรงเห็นว่าจะฆ่าตัวตายจริงๆ จึงทรง ปรากฏพระองค์ให้เห็นพร้อมทั้งตรัสเรียกชื่อ ‘วักกลิ’ ซึ่งทำให้ท่านชงักและเกิดความดีใจว่าพระพุทธเจ้าตรัสเรียก ความน้อยใจแต่แรกหายไป กลายเป็นเกิดปีติ ขึ้นมาแทนที่ พระพุทธเจ้าทรงเห็นเป็นโอกาสอันสมควร จึงตรัสสอน

ภิกษุผู้เลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้า
มากด้วยความปราโมทย์
สามารถบรรลุทางอันสงบสุข
ซึ่งดับการปรุงแต่งเสียได้ทั้งหมด

การที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกและตรัสสอนท่านนั้น ทำให้ท่านเกิดความอบอุ่นใจและมีกำลังใจ จึงได้ตั้งสติเจริญวิปัสสนาพิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน ครั้นแล้วก็พลันเกิดความรู้แจ้ง ได้บรรลุอรหัตผล

พระยโสชะ บรรลุอรหัตผลหลังจากถูกขับไล่ออก จากวัดเชตวัน ดังได้กล่าวไว้แล้วว่าท่านเป็นชาวประมง หลังจากบวชแล้วก็พักอยู่แถบลุ่มน้ำอจิรวดีซึ่งเป็นบ้านเกิด วันหนึ่งได้พร้อมด้วยพระบริวารเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวัน พระบริวารของท่านส่งเสียงดังอื้ออึงลั่นวัดด้วยความเคยชินมาแต่ครั้งเป็นฆราวาส พระพุทธเจ้าจึงทรงตำหนิและขับไล่ให้ออกไปจากวัดเชตวันโดยด่วน ท่านรู้สึกสลดใจจึงพาพระบริวารออกเดินทางไปยังแคว้นวัชชี แล้วปลูกกระท่อมอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ท่านและพระบริวารต่างมุ่งมั่นบำเพ็ญสมณธรรมจนได้บรรลุอรหัตผลในพรรษานั้นเอง

พระกุณฑธานะ บรรลุอรหัตผลพร้อมกับเวลาที่กรรมชั่วให้ผลสิ้นสุด มีเรื่องเล่าว่า ครั้นบวชได้ไม่นาน ท่านก็เริ่มรู้สึกไม่สบายใจต่อคำพูดเสียดสีของเพื่อนพระด้วยกัน จนไม่สามารถบำเพ็ญสมณธรรมได้ มูลเหตุที่ทำให้ท่านถูกพูดจาเสียดสีจนจิตใจฟุ้งซ่านนั้น ก็คือ นับตั้งแต่วันบวชมีคนเห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินตามหลังท่านอยู่ตลอดเวลาและทุกสถานที่ ผู้หญิงคนนั้นตามที่คนทั่วไปเห็นมีรูปร่างสวยงาม เวลาเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ขณะใส่บาตรท่าน ชาวบ้านก็มักจะพูดว่า ส่วนนี้เป็นของท่าน อีกส่วนหนึ่งนี้เป็นของผู้หญิงที่ติดตามท่าน เวลาอยู่ในวัดเพื่อนพระก็จะพูดเสียดสีท่านว่าไม่น่าเลยท่านธานะคนดีต้องมาเป็นคนกุณฑะ (ชั่วช้า ในภาษาฮินดีใช้หมายถึง พวกนักเลงหัวไม้) จึงเป็นเหตุให้ท่านมีชื่อว่า ‘กุณฑธานะ’ มานับแต่นั้น

พระกุณฑธานะไม่ทราบเลยว่ามีผู้หญิงติดตามท่านอยู่ จึงรู้สึกไม่พอใจเมื่อถูกพูดจาเสียดสีบ่อยครั้ง เมื่อทนไม่ไหวจึงกล่าวตอบโต้บ้างอย่างเผ็ดร้อน โดยเฉพาะแก่เพื่อนพระด้วยกัน

“พวกท่านซีชั่วช้า อุปัชฌาย์อาจารย์ของพวกท่านก็ชั่วช้า”

ต่อมาความทราบถึงพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงรับสั่งให้ท่านเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามถึงข้อเท็จจริง เมื่อท่านยอมรับว่าได้กล่าวตอบโต้ จึงตรัสเตือน

“ภิกษุ กรรมเก่าเธอยังชดใช้ไม่หมด ไฉนจึงมาสร้างกรรมใหม่อีก”

จากนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าถึงกรรมเก่าที่ท่านทำไว้

เรื่องที่พระกุณฑธานะมีผู้หญิงติดตามนี้ อื้อฉาวมากรู้กันทั่วเมืองสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลในฐานะพุทธศาสนูปถัมภก ทรงเห็นว่าเป็นมลทินของพระพุทธศาสนา ทรงหวังจะช่วยชำระ จึงเสด็จไปตรวจสอบดูด้วยพระองค์เองถึงกุฏิของพระกุณฑธานะนั้น

ขณะนั้น พระกุณฑธานะกำลังนั่งเย็บผ้าอยู่ในกุฏิ พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปถึงทอดพระเนตรเห็นหญิงคนหนึ่งแต่งตัวสวยงามยืนอยู่ข้างหลังท่าน จึงทรงขออนุญาตเสด็จเข้าไปในกุฏิเพื่อดูหญิงนั้นให้ชัดเจน แต่ครั้นเสด็จเข้าไปแล้วก็ไม่ทรงพบเห็นแม้แต่เงา ทรงตรวจดูกุฏิทุกซอกทุกมุมก็ไม่ทรงพบเห็น จึงเสด็จกลับออกมาประทับยืนอยู่ในที่เดิม และขณะที่ประทับยืนทอดพระเนตรอยู่ในที่เดิมนั้น ก็ทรงเห็นหญิงนั้นอีก ในที่สุดทรงสรุปได้ว่าผู้หญิงนั้นคงไม่ใช่รูปจริง แต่คงเป็นรูปที่เกิดขึ้นมาจากกรรมเก่าของพระเถระ แรกทีเดียวที่เสด็จมาถึง พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงไหว้ แต่เมื่อทรงแน่พระทัยว่าท่านไม่ผิดอย่างที่ถูกกล่าวหา จึงทรงยอมไหว้แล้วทอดพระเนตรดูท่านอย่าง พินิจพิเคราะห์ ทรงเห็นท่านผ่ายผอมผิวพรรณซีดเซียว จึงทรงเข้าพระทัยได้ดีว่าท่านคงลำบากเรื่องอาหาร ดังนั้นก่อนเสด็จกลับจึงตรัสว่า

“พระคุณเจ้า นับแต่นี้ไปไม่ต้องไปบิณฑบาตที่ไหนหรอก โยมจะบำรุงท่านด้วยปัจจัย ๔ ขอให้ท่านตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมก็แล้วกัน”

นับแต่นั้นมาพระกุณฑธานะก็เข้าไปบิณฑบาตในพระราชวังทุกวัน ร่างกายก็เริ่มมีกำลังเพราะได้อาหารพอฉัน จิตเริ่มสงบเพราะไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับคำพูดเสียดสี ท่านเจริญสมถะและวิปัสสนาอย่างต่อเนื่อง ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล และทันทีที่ได้บรรลุอรหัตผลนั้นรูปหญิงที่ติดตามท่านก็หายไปพร้อมๆ กัน

พระปิลินทวัจฉะ ดังได้กล่าวแล้วว่า ท่านบวชเพื่อต้องการศึกษาวิชามหาคันธาระจากพระพุทธเจ้า ดังนั้นครั้นบวชแล้วพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนวิชามหาคันธาระนั้นทันที ด้วยการประทานกรรมฐานที่เหมาะสมแก่อุปนิสัยให้ ท่านบำเพ็ญกรรมฐานไม่นานก็ได้สำเร็จวิชา มหาคันธาระ คือ บรรลุอรหัตผล อันทำให้หยุดการดิ้นรนขวยขวายเพื่อลาภสักการะดังแต่ก่อน

พระมหาโกฏฐิตะ พระโสภิตะ พระอุปวาณะ พระเสละ พระนันทกะ มีหลักฐานกล่าวไว้คล้ายกันว่า หลังจากบวชแล้วไม่นานท่านได้บรรลุอรหัตผล แต่น่า เสียดายว่าไม่มีกล่าวถึงรายละเอียดการปฏิบัติธรรมของท่าน


มีต่อ >>> ตอนที่ ๓๑
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 08 มิ.ย.2007, 5:04 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๓๑ กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล


พระองคุลิมาล บรรลุโสดาปัตติผลก่อนบวช หลังจากฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมเรื่องการไม่ฆ่าสัตว์ดังกล่าวมาแล้ว จากนั้นจึงทูลขอบวช ครั้นบวชแล้วก็เจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุอรหัตผลในเวลาต่อมา

ก่อนบรรลุอรหัตผล มีเรื่องเล่าว่า เมื่อท่านตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปอยู่ที่วัดเชตวันนั้น แม้ว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลจะทรงอุปการะเรื่องปัจจัย ๔ ท่านก็ไม่รับ แต่กลับถือธุดงค์ ๔ ข้อ คือ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ถือครองผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น) เป็นวัตร และถือครองผ้าไตรจีวร (ผ้า ๓ ผืน) เป็นวัตร

เช้าวันหนึ่งขณะออกบิณฑบาตท่านเห็นหญิงท้องแก่ใกล้คลอดคนหนึ่ง แล้วเกิดธรรมสังเวชว่า สัตว์ทั้งหลายช่างลำบากแท้หนอ กลับจากบิณฑบาตแล้วท่านเข้าไปกราบทูลเล่าถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสแนะนำให้ท่านเข้าไปหาหญิงนั้นแล้วกล่าวว่า

“น้องหญิง ตั้งแต่อาตมาเกิดมา อาตมาไม่รู้เลยว่าได้จง ใจปลงชีวิตสัตว์ (ฆ่าสัตว์) ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่เธอ ขอความสวัสดีจงมีแก่ลูกของเธอ”

แต่ท่านพูดค้านว่า ถ้าท่านพูดอย่างนั้นก็เท่ากับว่ากล่าวเท็จทั้งที่รู้ตัวอยู่ เพราะ (ตลอดเวลาที่เป็นโจร) ข้าพระองค์จงใจปลงชีวิตสัตว์ พระพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้ท่านกล่าวใหม่ว่า

“น้องหญิง ตั้งแต่อาตมาเกิดมาในอริยชาติ (เป็นพระอริยะ) อาตมาไม่รู้เลยว่าได้จงใจปลงชีวิตสัตว์ ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่เธอ ขอความสวัสดีจงมีแก่ลูกของเธอ” ท่านไปทำตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแนะนำ ผลปรากฏว่า หญิงนั้นและลูกปลอดภัย

วิธีทำของท่านมีกล่าวไว้ในปปัญจสูทนีว่า เมื่อพระเถระไปถึงที่คลอด ชาวบ้านช่วยกันกั้นม่านแล้วตั้งตั่งให้พระเถระนั่งนอกม่าน พระเถระนั่งทำสัจกิริยา (เปล่งคำสัตย์) อยู่นอกม่านนั้น พร้อมกับเวลาที่กล่าวคำสัตย์เด็กก็คลอดออก จากครรภ์มารดา เหมือนน้ำไหลออกจากธมกรก (กระบอกกรองน้ำ)

ปรากฏว่านับแต่นั้นมา ที่นั้นเลยกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แม้สัตว์ดิรัจฉานที่คลอดยาก พวกเจ้าของก็จะนำมานอนที่ตั่ง ผลก็คือคลอดลูกง่าย บางตัวไม่แข็งแรงพามาไม่ได้ พวกเจ้าของก็จะเอาน้ำล้างตั่งไปรดหัวให้ ผลก็คือคลอดลูกง่ายเหมือนกัน

พระสาคตะ บรรลุอรหัตผลเพราะสลดใจในพฤติกรรมเมาสุราของท่านเอง มีเรื่องเล่าว่าหลังจากบวชได้ไม่นาน ท่านบำเพ็ญสมถกรรมฐานจนได้บรรลุสมาบัติ ๘ ท่านมีความชำนาญในการเข้าสมาบัติ ๘ และมีความชำนาญเป็นพิเศษในการเข้าเตโชสมาบัติ คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงพาท่านไปยังท่าเรืออัมพะ ซึ่งอยู่ที่หมู่บ้านภัททวติกะ ในแคว้นเจตี ที่ท่าเรือแห่งนั้นมีอาศรมของพวกชฎิลตั้งอยู่ ชฏิลคณะนี้นับถือพญานาค (งูใหญ่) พญานาคนั้นมีฤทธิ์มากสามารถบันดาลฝนให้ตกหรือไม่ตกก็ได้ตามใจปรารถนา ซึ่งทำให้ชาวบ้านท่าเรืออัมพะเดือดร้อนมาก

พระสาคตะตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปถึงที่นั้นทราบความเดือดร้อนของชาวบ้าน จึงคิดอยู่ว่าจะทรมานพญานาคให้ได้ ครั้นได้โอกาสท่านจึงไปนั่งขัดสมาธิใกล้ที่อยู่พญานาคนั้น เป็นเหตุให้พญานาค โกรธมากถึงขั้นพ่นควันพิษใส่ท่าน ท่านเข้าเตโชสมาบัติอธิษฐานจิตให้บังเกิดเป็นควันฟุ้งตลบกลบควันพิษของพญานาค พญานาคยิ่งโกรธมากขึ้นจึงพ่นควันไฟใส่ท่านอีก ท่านก็เข้าเตโชสมาบัติอธิษฐานจิตให้บังเกิดเป็นควันไฟที่ร้อนแรงกว่าใส่พญานาค จนในที่สุดพญานาคยอมแพ้และไม่แสดงฤทธิ์เบียดเบียนใครอีก

ข่าวคราวพระสาคตะปราบพญานาคได้กระจายไปทั่วหมู่บ้านท่าเรืออัมพะ ชาวบ้านต่างดีใจมาก นอกจากนั้นชาวเมืองโกสัมพีก็ได้ทราบข่าวคราวนี้ด้วยและดีใจไม่แพ้กัน เมื่อท่านเดินทางกลับมาแคว้นวังสะ ชาวเมืองโกสัมพีก็ต้อนรับท่านเยี่ยงวีรบุรุษ ด้วยการเตรียมสุราถวายให้ท่านดื่ม ตามคำแนะนำของพระฉัพพัคคีย์

รุ่งเช้าพระสาคตะออกไปบิณฑบาต ชาวเมืองโกสัมพีได้นำสุราที่จัดเตรียมไว้ออกมาถวายให้ท่านดื่ม เวลานั้นยังไม่มีพระพุทธบัญญัติห้ามพระดื่มสุรา ท่านจึงดื่มเพื่อฉลองศรัทธาบ้านละนิดละหน่อย แต่ครั้นดื่มมากบ้านเข้าท่านก็มีอาการเมาหมดสติล้มพับหลับใหลอยู่ข้างกองขยะริมทางเดิน พระพุทธเจ้าเสด็จผ่านมาพบเข้าจึงทรงรับสั่งให้ พระช่วยกันหามท่านกลับวัด แล้วทรงยกเรื่องของท่านเป็น ปฐมเหตุบัญญัติสิกขาบทห้ามพระดื่มสุรา

รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งท่านสร่างเมาได้สติรู้สึกตัวและได้ฟังเรื่องราวของท่านจากเพื่อนพระก็รู้สึกสลดใจในพฤติกรรมของตนเอง นับแต่นั้นจึงไม่ประมาทไม่ติดอยู่ในสมาบัติและฤทธิ์ ตั้งใจบำเพ็ญวิปัสสนา ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล

พระวังคีสะ บรรลุอรหัตผลหลังจากบวชได้ไม่นาน กล่าวคือ เมื่อทรงบวชให้ท่านแล้ว พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้ท่านเป็นสัทธิวิหาริกของพระนิโครธกัปปะ พระนิโครธกัปปะสอนให้ท่านบำเพ็ญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานท่านก็ได้บรรลุอรหัตผล ซึ่งเท่ากับว่าได้สำเร็จวิชาสีสมนตร์แล้ว

พระลกุณฑกภัททิยะ บรรลุโสดาปัตติผลหลังจากบวชได้ไม่นาน ต่อมาได้บรรลุสกทาคามิผลและอนาคามิผลตามลำดับ มีเรื่องเล่าว่า วันที่ท่านจะบรรลุอนาคามิผลนั้นเป็นวันมีมหรสพเล่น ท่านเดินผ่านมาทางในเมือง คณิกานางหนึ่งนั่งรถเล่นกับพราหมณ์คนหนึ่ง นางเห็นท่านตัวเล็ก อดขันไม่ได้จึงหัวเราะออกมาจนเห็นฟันขาว ท่านกำหนดเอากระดูกฟันของนางเป็นอารมณ์จนได้บรรลุฌาน แล้วทำฌานนั้นให้เป็นฐานสำหรับเจริญวิปัสสนาต่อไป จนได้บรรลุอนาคามิผล ต่อมาท่านเจริญกายคตาสติ คือ ตั้งสติกำหนดพิจารณาอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย พร้อมทั้งการเคลื่อนไหวอิริยาบถเป็นอารมณ์ และวันหนึ่งได้รับโอวาทเพิ่มเติมจากพระสารีบุตร ท่านเจริญวิปัสสนาตามโอวาทนั้นจนเกิดความรู้แจ้งได้บรรลุอรหัตผล

พระกุมารกัสสปะ บรรลุอรหัตผลหลังจากได้ฟังพระพุทธเจ้าทรงเฉลยปัญหา ๑๕ ข้อที่พรหมองค์หนึ่งบอกท่าน มีเรื่องเล่าว่า ขณะที่บำเพ็ญสมณธรรมอย่างเคร่งเครียดอยู่ในป่าอันธวัน พรหมชั้นสุทธาวาสองค์หนึ่งซึ่งเคยเป็นเพื่อนออกบวชปฏิบัติธรรมอยู่ด้วยกันตอนช่วงปลายศาสนาของพระพุทธเจ้ากัสสปะ เห็นท่านไม่บรรลุมรรคผลอันใดทั้งที่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หวังจะช่วยให้บรรลุธรรมเร็วขึ้นจึงมาจากพรหมโลกปรากฏตนในป่าอันธวัน ครั้นสนทนากันแล้วพรหมองค์นั้นจึงฝากปัญหา ๑๕ ข้อให้ ท่านไปทูลถามพระพุทธเจ้า ท่านทำตามที่พรหมแนะนำ และเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหา ๑๕ ข้อนั้นจบลง ท่านก็ได้บรรลุอรหัตผล

พระสุภูติ บรรลุอรหัตผลโดยอาศัยเมตตาฌานเป็นฐาน มีเรื่องเล่าว่า ครั้นบวชแล้วท่านศึกษากรรมฐานจากพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลลาเข้าป่าบำเพ็ญสมณธรรม ท่านบำเพ็ญสมถะด้วยการตั้งจิตเมตตาไปยังสัตว์ทั้งหลายทั่วทุกทิศจนได้บรรลุเมตตาฌาน แล้วอาศัยเมตตาฌานนั้นเองเป็นฐานสำหรับเจริญวิปัสสนาต่อไป จนเกิดความรู้แจ้ง ได้บรรลุอรหัตผล

พระกังขาเรวตะ บรรลุอรหัตผลโดยอาศัยฌานเป็นฐานคล้ายกับพระสุภูติ มีเรื่องเล่าว่า ท่านศึกษากรรมฐานจากพระพุทธเจ้ากราบทูลลาพระพุทธเจ้าเข้าป่าไปบำเพ็ญสมถะจนได้บรรลุฌาน แล้วอาศัยฌานนั้นเป็นฐานสำหรับเจริญวิปัสสนาต่อไป ด้วยการพิจารณานามรูปให้เป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนที่แท้จริง จนเกิดความรู้แจ้งได้ บรรลุพระอรหัตผล


มีต่อ >>> ตอนที่ ๓๒
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ค.2007, 5:36 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๓๒ กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล


งานสำคัญ

เป็นที่ทราบกันดีว่า พระอสีติมหาสาวกนั้นมีหน้าที่สำคัญในการช่วยพระพุทธเจ้าเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามกำลังความสามารถของแต่ละท่าน พระอสีติมหาสาวก ๑๖ รูปนี้ก็เช่นกันแม้จะไม่ปรากฏหลักฐานหมดทุกรูป แต่ก็สันนิษฐานว่าทุกรูปได้พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว

บรรดาพระอสีติมหาสาวก ๑๖ รูปนั้น พระอสีติมหาสาวกที่มีการบันทึกเรื่องราวการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่านไว้มี ๕ รูป คือ พระปิลินทวัจฉะ พระสาคตะ พระกุมารกัสสปะ พระนันทกะ และพระสุภูติ

พระปิลินทวัจฉะ สอนธรรมแก่พวกเทวดาเป็นประจำหลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว เทวดาเหล่านั้นมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งมีความคุ้นเคยกับท่านมาตั้งแต่ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ด้วยกันในชาติหนึ่งในอดีต มี เรื่องเล่าว่า ในชาตินั้นท่านเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ ทรงธรรมสอนพสกนิกรให้มั่นคงอยู่ในศีล ๕ ครั้นตายแล้ว พสกนิกรเหล่านั้นได้ไปบังเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ เมื่อท่านมาเกิดในชาตินี้ได้ออกบวชและบรรลุอรหัตผล เทวดาเหล่านั้นจำได้จึงมาหาด้วยความ คุ้นเคยและเลื่อมใสพร้อมทั้งได้ฟังธรรมจากท่านด้วย

พระสาคตะ แสดงปาฏิหาริย์ตามพระดำรัสของพระพุทธเจ้า มีเรื่องเล่าว่า คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ท่านทำหน้าที่ถวายการอุปัฏฐาก มีชาวเมืองแคว้นอังคะจำนวนมากมาที่ภูเขาคิชฌกูฏนั้น เพื่อขอเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วยการดำดินลงไปแล้วโผล่ขึ้นเบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าชาวเมืองแคว้นอังคะที่ยังไม่เลื่อมใสศรัทธาเริ่มน้อมใจศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว เพื่อเป็นการเพิ่มพูนศรัทธาของพวกเขาพระองค์จึงทรงรับสั่งให้ท่านแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่อไปอีกด้วยการเดิน ยืน นั่ง นอนในอากาศ ท่านแสดง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งอย่างครบถ้วน และจบลงด้วยการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่ท่านชำนาญ คือ การทำให้เกิดควันไฟออกจากกายของท่าน

ชาวเมืองแคว้นอังคะเห็นแล้วต่างรู้สึกว่าพระสาวกยังมีความสามารถถึงเพียงนี้ แล้วพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาเล่าจักมีความสามารถเพียงไหน พระพุทธเจ้าทรง ตรวจดูวาระจิตของคนเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา ครั้นทรง เห็นว่ามีจิตอ่อนโยนแล้วจึงทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ จนพวกเขาเข้าใจได้บรรลุโสดาปัตติผล

พระกุมารกัสสปะ แสดงธรรมโปรดพระเจ้าปายาสิ เจ้าผู้ครองนครเสตัพยะ จนคลายความเห็นผิดและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เดิมทีเดียวพระเจ้าปายาสิทรงเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นว่าโลกหน้าไม่มี เทวดาและสัตว์นรกไม่มี ผลกรรมดีกรรมชั่วไม่มี พระองค์ได้นำเรื่องนี้ไปสนทนากับพระกุมารกัสสปะ พระกุมารกัสสปะกล่าวอธิบายด้วยข้ออุปมาที่ลึกซึ้งจนทำให้พระองค์เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง ยอมละความเห็นผิด ประกาศตนนับถือพระรัตนตรัยและทำบุญต่างๆ อาทิ ถวายทานแก่พระในพระพุทธศาสนาและนักบวชนอกพระพุทธศาสนา รวมทั้งทรงสงเคราะห์คนยากจนด้วย

พระนันทกะ แสดงธรรมสอนภิกษุณี ๕๐๐ รูป จนได้บรรลุอรหัตผล ณ วัดราชการาม เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล มีเรื่องเล่าว่า คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ วัดเชตวัน พระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งออกบวชเป็นภิกษุณีแล้วได้พาภิกษุณี ๕๐๐ รูปเข้าเฝ้า เพื่อทูลขอให้ทรงแสดงธรรมให้ฟัง พระพุทธเจ้าทรงเห็นเป็นโอกาสอันสมควร จึงทรงมอบให้พระสาวกรับภาระผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนแสดงธรรมให้ภิกษุณีเหล่านั้นฟัง พระสาวกที่ได้รับมอบภาระนั้น มีพระนันทกะรวมอยู่ด้วย

พระสาวกรูปอื่นๆ ต่างทำหน้าที่ด้วยดีเมื่อถึงวาระของตน แต่พระนันทกะกลับหลบหลีกไม่ยอมไปแสดงธรรม เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะท่านระลึกชาติได้ว่า ภิกษุณีเหล่านั้นชาติหนึ่งในอดีตเคยเป็นบาทบริจาริกาของท่าน จึงเกรงว่าเมื่อไปแสดงธรรมจะถูกพระสาวกรูปอื่นที่ระลึกชาติได้ตำหนิว่า ท่านยังมีความผูกพันอยู่กับภิกษุณีเหล่านั้น ด้วยเหตุดังว่ามานี้ท่านจึงหลบหลีกให้พระสาวกรูปอื่นไปแสดงธรรมแทนท่าน

ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงทรงรับสั่งให้ท่านไป แสดงธรรมด้วยตนเองเมื่อถึงวาระ ทั้งนี้เพราะทรงทราบ ดีว่าภิกษุณีเหล่านั้นหวังจะได้ฟังธรรมจากพระนันทกะเป็นสำคัญ เนื่องจากมีความผูกพันมาแต่อดีตชาติดังกล่าวแล้ว ท่านไม่อาจขัดขืนพระดำรัสของพระพุทธเจ้าได้ วันรุ่งขึ้นจึงไปแสดงธรรมตามวาระที่มาถึง

ธรรมที่ท่านแสดงนั้นว่าด้วยเรื่องอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ และเวทนา ที่เกิดจากอายตนะภายในกับอายตนะภายนอกกระทบกัน พระนันทกะชี้ให้เห็นว่า สิ่งทั้งปวงนั้นต่างไม่เที่ยง มีความ ผันแปรและไม่มีตัวตนอันแท้จริงที่จะให้ยึดถือได้ จากนั้นจึงจบลงด้วยการแสดงโพชฌงค์ ๗ ให้ฟัง

วันแรก ภิกษุณีเหล่านั้นฟังแล้วยังไม่ได้บรรลุมรรคผลขั้นใดเลย ต่อมาวันที่ ๒ พระนันทกะแสดงธรรมเรื่องเดียวกันนี้ให้ฟังซ้ำอีก จึงได้บรรลุอรหัตผล เนื่องจากทำจิตให้สงบคลายความรักความผูกพันที่มีมาแต่อดีตชาติลงได้

พระสุภูติ แม้ว่าจะไม่ปรากฏเรื่องราวหลักธรรมที่ท่านสอน แต่ปฏิปทาของท่านที่ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความเลื่อมใสนั้น นับว่าเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางหนึ่ง มีเรื่องเล่าว่า หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วท่านได้จาริกไปตามเมืองต่างๆ ทั้งในแคว้นโกศลและนอกแคว้นโกศล คราวหนึ่งจาริกไปถึงแคว้นมคธ เข้าไปในเมืองราชคฤห์

พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบข่าวว่า ท่านมีปกติอยู่ด้วยอรณวิหารธรรม คือ เข้าฌานอยู่เป็นประจำ แม้เวลาบิณฑบาตก่อนจะรับบิณฑบาตที่บ้านใดก็จะเข้าฌานแผ่เมตตาให้แก่เจ้าของบ้านนั้นก่อน และบัดนี้ทรงทราบว่าท่านเดินทางมาถึงแคว้นมคธแล้ว จึงเสด็จไปหาแล้วตรัสนิมนต์ให้ท่านอยู่จำพรรษาในแคว้นมคธ

พระสุภูติรับนิมนต์ แต่เนื่องจากพระเจ้าพิมพิสาร ทรงลืมรับสั่งให้จัดเสนาสนะให้ท่าน ท่านจึงอยู่ในที่กลางแจ้ง การที่ท่านอยู่ในที่กลางแจ้งนั้นมีผลทำให้ฝนไม่ตก ชาวเมืองที่เป็นชาวนาชาวไร่ต่างเดือดร้อนเพราะปลูกพืชผักไม่ได้ จึงไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร หลังจากทรงใคร่ครวญถึงสาเหตุแล้ว พระเจ้าพิมพิสารก็แน่พระทัยว่าฝนไม่ตกเพราะพระสุภูติอยู่ในที่กลางแจ้ง ทรงใคร่ครวญต่อไปถึงสาเหตุที่พระสุภูติต้องอยู่ในที่กลางแจ้งก็ทรงพบว่า เป็นเพราะพระองค์ไม่ได้จัดเสนาสนะถวายท่าน

ครั้นทรงทราบแน่ชัดอย่างนี้แล้ว พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงรับสั่งให้สร้างกุฏิใบไม้ถวาย และทันทีที่ท่านเข้าไปภายในกุฏินั้นปรากฏว่าฝนตก ชาวเมืองพากันดีใจ ความเดือดร้อนที่เนื่องจากฝนแล้งก็ยุติลง

คราวสังคายนาครั้งที่ ๑ อันถือว่าเป็นงานสำคัญที่ช่วยกันรักษาพระธรรมวินัยให้คงอยู่และยั่งยืนสืบมา พระอสีติมหาสาวกชาวแคว้นโกศลก็มีส่วนร่วมด้วย ที่ปรากฏชื่อมี ๔ รูป คือ พระวังคีสะ พระกุมารกัสสปะ พระมหาโกฏฐิตะ และพระอุปวาณะ


มีต่อ >>> ตอนที่ ๓๓
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 05 ส.ค. 2007, 7:50 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๓๓ กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล


เอตทัคคะ - อดีตชาติ

บรรดาพระอสีติมหาสาวกชาวแคว้นโกศลที่กล่าวมานี้ มีที่ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะ ๑๒ รูป คือ พระวักกลิ พระกุณฑธานะ พระปิลินทวัจฉะ พระมหาโกฏฐิตะ พระโสภิตะ พระสาคตะ พระวังคีสะ พระลกุณฑกภัททิยะ พระกุมารกัสสปะ พระนันทกะ พระสุภูติ และพระกังขาเรวตะ

พระวักกลิ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านหลุดพ้นด้วยศรัทธา

พระกุณฑธานะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านจับสลากได้เป็นคนแรก

พระปิลินทวัจฉะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านเป็นที่รักของเทวดา

พระมหาโกฏฐิตะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านแตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔

พระโสภิตะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านระลึกชาติได้มาก

พระสาคตะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านเข้าเตโชสมาบัติ

พระวังคีสะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านปฏิภาณกวี

พระลกุณฑกภัททิยะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีเสียงไพเราะ

พระกุมารกัสสปะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านแสดงธรรมได้งดงามด้วยข้ออุปมา

พระนันทกะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านสอนภิกษุณี ๕๐๐ รูป ให้ได้บรรลุอรหัตผลพร้อมกัน

พระสุภูติ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีปกติอยู่ด้วยการเข้าฌาน และเป็นผู้ควรแก่ทักษิณา (ของทำบุญ)

พระกังขาเรวตะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะด้านชำนาญในการเข้าฌาน

พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระอสีติมหาสาวก ๑๒ รูปนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ตามความสามารถในชาติปัจจุบันและตามที่ตั้งจิตปรารถนาไว้ในอดีตชาติ

พระวักกลิ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรพราหมณ์อยู่ในเมืองหงสวดี วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านหลุดพ้นด้วยศรัทธา แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายหลังจากพระพุทธเจ้าและพระสาวกฉันภัตตาหารแล้ว ท่านได้ถวายผ้าไตรจีวรแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก แล้วกราบแทบพระบาทของพระพุทธเจ้าพลางกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อ ๗ วันที่แล้ว พระองค์ทรงยกย่องพระสาวกรูปหนึ่งว่าเลิศกว่าพระสาวกทั้งหลายผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา ด้วยผลบุญนี้ ขอข้าพระองค์จงได้รับยกย่องอย่างพระสาวกรูปนั้นในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลด้วยเถิด”

พระพุทธเจ้าปทุมุตตระทรงตรวจดูความเป็นไปในอนาคตของท่านด้วยพระญาณแล้ว ทรงเห็นว่าความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่ จึงทรงพยากรณ์ว่า “ในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้บรรลุอรหัตผล และได้รับตำแหน่งเอตทัคคะด้านหลุดพ้นด้วยศรัทธา”

ท่านฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ในเมืองสาวัตถี ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่เมื่อออกบวชแล้วได้บรรลุอรหัตผล เพราะอาศัยศรัทธาในพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านหลุดพ้นด้วยศรัทธาดังกล่าวแล้ว

พระกุณฑธานะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองหงสวดี วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านจับสลากได้เป็นอันดับแรก แล้วเกิด ศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการทำบุญต่างๆ แล้วจากนั้นจึง ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของ ท่าน และได้รับพยากรณ์อย่างที่พระวักกลิได้รับมาแล้ว คือจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านจับสลากได้เป็นอันดับแรก

ท่านฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆสนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ในเมืองสาวัตถี ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่เมื่อได้บรรลุอรหัตผลแล้วจับสลากได้เป็นอันดับแรกทุกครั้ง พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านจับสลากได้เป็นอันดับแรกดังกล่าวมาแล้ว

กล่าวถึงกรรมดีมาแล้ว ต่อนี้ไปจักได้กล่าวถึงกรรมชั่วของท่านบ้าง ซึ่งให้ผลออกมาเป็นว่าท่านเมื่อบวชแล้วมีรูปหญิงติดตามหลังอยู่ตลอดเวลา

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งเป็นช่วงปลายพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ ท่านเกิดเป็นภุมมเทวดา (เทวดาที่สิงสถิตอยู่ตามภาคพื้นดิน) เห็นพระสาวกของพระพุทธเจ้ากัสสปะ ๒ รูป มีความรักและสามัคคีกันอย่างยิ่ง จึงรู้สึกริษยาหวังจะทำให้พระสาวกนั้นแตกแยกกัน ภุมมเทวดาหาโอกาสทำลายความรักสามัคคีของพระสาวก ๒ รูปนั้นอยู่นาน จนถึงวันอุโบสถวันหนึ่งพระสาวก ๒ รูปนั้นเดินทางไปทำอุโบสถร่วมกัน ระหว่างทางรูปหนึ่งเกิดปวดอุจจาระจึงขอตัวไปทำธุระในพุ่มไม้ใกล้ทางเดิน ปล่อยให้อีกรูปหนึ่งยืนคอยอยู่ ภุมมเทวดาเห็นเป็นโอกาสจึงแปลงตนเป็นหญิงสาวรูปร่างสวยงาม เมื่อพระสาวกรูปนั้นออกจากดงมาก็ตามหลังท่านออกมาด้วย พลางแสดงกิริยาอาการเหมือนว่าได้สำเร็จกามกิจกับท่านมา นั่นคือ เกล้าผม จัดแต่งผ้านุ่งให้เรียบร้อย

พระสาวกรูปที่ยืนคอยอยู่เห็นพระเพื่อนมีผู้หญิงเดินตามหลังออกมาจากพุ่มไม้ ก็เริ่มสงสัยในพฤติกรรม ยิ่งมาได้เห็นกิริยาอาการของหญิงที่แสดงออกมาอย่างนั้น ก็ยิ่งแน่ใจว่าสิ่งที่ตนสงสัยนั้นน่าจะเป็นจริง จึงแสดงอาการรังเกียจ เมื่อพระเพื่อนมาถึงจึงได้ปฏิเสธไม่ขอร่วมทางด้วย พร้อมทั้งบอกตามที่ตนเห็นและสงสัย ฝ่ายพระเพื่อนที่ถูกภุมมเทวดาแกล้งนั้นก็ปฏิเสธหนักแน่นว่า มิได้ทำผิดอย่างที่ถูกกล่าวหา

อย่างไรก็ตาม วันนั้นการกลั่นแกล้งของเทวดาได้ผล กล่าวคือ พระสาวก ๒ รูปนั้นเกิดแตกแยกถึงขนาดไม่ยอมร่วมลงอุโบสถด้วยกัน และไม่ใช่แต่พระสาวกคู่กรณีนั้นเท่านั้น แม้พระสาวกรูปอื่นๆ ที่เดินทางมาหมายจะร่วมลงอุโบสถ ด้วยก็เริ่มลังเลใจ ในที่สุดพระสาวกรูปที่ถูกเทวดาแกล้งก็ถูก ขับไล่ ไม่มีพระสาวกรูปใดร่วมทำอุโบสถด้วย เพราะต่างก็เชื่อกันว่าท่านเสียศีลขาดจากความเป็นพระแล้ว เพราะเหตุที่มีเพศสัมพันธ์กับหญิง

ภุมมเทวดารู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ตอนแรกรู้สึกสมใจที่พระสาวกแตกแยกกัน แต่เมื่อความแตกแยกขยายใหญ่ขึ้น พระสาวกรูปที่ตนแกล้งถูกรังเกียจจนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ภุมมเทวดาจึงรู้สึกเสียใจและสงสารพระสาวกรูปนั้นมาก ขณะนั้นเองจึงตัดสินใจแปลงตนเป็นคนแก่ เข้าไปหาพระสาวกที่กำลังลังเลใจจะเชื่อ หรือไม่เชื่อดีพร้อมทั้งสารภาพผิด และบอกกล่าวความจริงให้ทราบ

พระสาวกเหล่านั้น ครั้นได้ทราบความจริงแล้วก็ยอมให้พระสาวกที่ถูกกลั่นแกล้งนั้นเข้าร่วมลงอุโบสถ แต่แม้กระนั้นความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระคู่กรณีก็มิได้ดีดุจเดิม ต่างรูปต่างแยกกันอยู่และต่างมุ่งปฏิบัติธรรมจนตราบอายุขัย

ฝ่ายภุมมเทวดาจุติจากชาตินั้นแล้ว บาปกรรมก็ส่งผลให้ไปเกิดในอเวจีนรกสิ้นพุทธันดรหนึ่งต้องทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน จึงพ้นจากอเวจีนรกมาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถีดังกล่าวแล้ว


มีต่อ >>> ตอนที่ ๓๔
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 21 ก.ย. 2007, 2:06 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๓๔ กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล


พระปิลินทวัจฉะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นชาวเมืองหงสวดี รับราชการในตำแหน่งนายประตู เป็นคนสนิทของพระเจ้าอานันทะผู้เป็นพระอนุชาของพระพุทธเจ้า ซึ่งครองราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา ท่านเป็นคนมั่งคั่ง เห็นพระเจ้าอานันทะและเชื้อพระวงศ์ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกอยู่เนืองๆ จึงเกิดศรัทธาปรารถนาจะถวายทานบ้าง วันหนึ่งจึงทูลขอพระราชานุญาต และเมื่อได้รับพระราชานุญาตแล้วจึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ขณะนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่พร้อมทั้งทรงประกาศตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านเป็นที่รักของเทวดา ท่านเห็นแล้วยิ่งเพิ่มศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายท่านได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพุทธพยากรณ์อย่างที่พระวักกลิและพระกุณฑธานะได้รับแล้ว คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านเป็นที่รักของเทวดา

ท่านฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าสุเมธะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าสุเมธะนั้น ท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองสุทัสสนะ เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและถวายการรับใช้อยู่เป็นประจำ ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ก็ได้บูชาสักการะพระสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมทั้งถวายทานแด่พระอรหันต์ และพระสาวกที่ยังเป็นปุถุชนโดยไม่จำเพาะเจาะจงอยู่ตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถี ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันที่เมื่อบรรลุอรหัตผลแล้วมีเทวดามาหาและสนทนาธรรมอยู่ด้วยเนืองๆ พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านเป็นที่รักของเทวดาดังกล่าวมาแล้ว

พระมหาโกฏฐิตะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้น ท่านเกิดเป็นกุลบุตรของตระกูลมั่งคั่งตระกูลหนึ่งในเมืองหงสวดี วันหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านแตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔ แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยวิธีการอย่างที่พระวักกลิและพระปิลินทวัจฉะทำ คือ ถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายท่านได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพุทธพยากรณ์อย่างที่พระวักกลิ พระกุกุณฑธานะ พระปิลินทวัจฉะได้รับมาแล้ว คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านแตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถี ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติที่เมื่อบรรลุอรหัตผลแล้วมีความแตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔ คือ แตกฉานในข้อธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แตกฉานในความหมายที่อธิบายข้อธรรมนั้นๆ แตกฉานในการใช้ภาษาและแตกฉานเชิงปฏิภาณ พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านแตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔ ดังกล่าวมาแล้ว

พระโสภิตะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรคหบดีตระกูลหนึ่งในเมืองหงสวดี วันหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านระลึกชาติได้มาก แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการทำบุญและกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพยากรณ์อย่างที่พระวักกลิ พระปิลินทวัจฉะ พระกุณฑธานะ และพระมหาโกฏฐิตะ ได้รับมาแล้ว คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านระลึกชาติได้มาก

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถี ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติที่เมื่อบรรลุอรหัตผลแล้วสามารถระลึกชาติได้มากถึงชาติที่เกิดเป็นอสัญญีสัตว์ (แปลว่า สัตว์ผู้ไม่มีสัญญา คือ ความรู้สึกตัว ใช้เรียกพรหมพวกหนึ่งซึ่งเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ได้บรรลุฌาน และเวลาตาย ตายขณะอยู่ในอิริยาบถใดก็ไปเกิดเป็นพรหมอยู่ในอิริยาบถนั้นด้วยอำนาจฌาน และไม่มีความรู้สึกตัว ไทยมักเรียกว่า พรหมลูกฟัก) พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านระลึกชาติได้มากดังกล่าวมาแล้ว


มีต่อ >>> ตอนที่ ๓๕
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 22 ต.ค.2007, 5:53 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๓๕ กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล


พระสาคตะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถี วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านเข้าเตโชสมาบัติ แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการทำบุญและกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่านและได้รับพุทธพยากรณ์อย่างที่พระวักกลิ พระกุณฑธานะ พระปิลินทวัจฉะ พระมหาโกฏฐิตะ และพระโสภิตะ ได้รับมาแล้ว คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านชำนาญการเข้าเตโชสมาบัติ

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถี ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่เมื่อบรรลุอรหัตผลแล้วมีความสามารถเข้าเตโชสมาบัติปราบพญานาคได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านเข้าเตโชสมาบัติดังกล่าวมาแล้ว

พระวังคีสะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นพราหมณ์ ศึกษาจบไตรเพท วันหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับพวก ชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านปฏิภาณกวี แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยวิธีการอย่างที่พระวักกลิ พระปิลินทวัจฉะ และพระมหาโกฏฐิตะทำ คือ ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายท่านได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพุทธพยากรณ์ อย่างที่พระวักกลิ พระกุณฑธานะ พระปิลินทวัจฉะ พระมหาโกฏฐิตะ พระโสภิตะ และพระสาคตะได้รับมาแล้ว คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านปฏิภาณกวี

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถี ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติที่ท่านได้กล่าวสรรเสริญพระอัญญาโกณฑัญญะและพระอัครมหาสาวกเป็นบทกวี ยิ่งกว่านั้นยังได้กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้าเป็นบทกวีอีกด้วย พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านปฏิภาณกวีดังกล่าวมาแล้ว

พระลกุณฑกภัททิยะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นกุลบุตรของตระกูลมั่งคั่งตระกูลหนึ่งในเมืองหงสวดี วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีเสียงไพเราะ แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยวิธีการอย่างที่พระวักกลิ พระปิลินทวัจฉะ พระมหาโกฏฐิตะ และพระวังคีสะทำ คือ ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายท่านได้กราบทูล พระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพุทธพยากรณ์อย่างที่พระวักกลิ พระกุณฑธานะ พระปิลินทวัจฉะ พระมหาโกฏฐิตะ พระโสภิตะ พระสาคตะ และพระวังคีสะได้รับมาแล้ว คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีเสียงไพเราะ

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆสนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าวิปัสสี

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้น ท่านเกิดเป็นนกดุเหว่าด้วยผลกรรมชั่วบางอย่าง แต่กรรมดีก็ส่งผลให้แสนรู้และมีขนสวยงาม วันหนึ่งขณะคาบผลมะม่วงสุกมีรสหวานบินมาจากป่าหิมพานต์ เห็นพระพุทธเจ้าวิปัสสีเสด็จพระพุทธดำเนินมีพระสาวกจำนวนมากโดยเสด็จด้วย แล้วเกิดความเลื่อมใสจึงกระพือปีกถวายบังคมแล้วบินร่อนลงมาหาพระพุทธเจ้า ด้วยตั้งใจจะถวายผลมะม่วงสุกนั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบความประสงค์ของนกดุเหว่า จึงรับบาตรจากพระอุปัฏฐากเปิดฝาบาตรแล้วทรงยื่นออกรับผลมะม่วงสุกจากนกดุเหว่านั้น ครั้นแล้วทรงเลือกที่ประทับนั่งเสวย นกดุเหว่าเห็นพระพุทธเจ้าเสวยผลมะม่วงสุกนั้นแล้ว ก็เกิดปีติโสมนัสพลางน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า จากนั้นก็ปรบปีกถวายบังคมบินลากลับรัง นกดุเหว่าระลึกถึงบุญนั้นอยู่เนืองๆ ตลอดชีวิต จากนั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้ากัสสปะนั้น ท่านเกิดเป็นช่างไม้ฝีมือดี หลังจากพระพุทธเจ้ากัสสปะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พุทธบริษัทได้ประชุมกันเพื่อสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แต่ตกลงกันไม่ได้ว่าจะสร้างสถูปสูงเท่าใด เพราะเท่าที่เสนอมานั้นสูงถึง ๗ โยชน์ จากนั้นก็เสนอลดหลั่นกันลงมา ๖ โยชน์บ้าง ๕ โยชน์บ้าง ๔ โยชน์บ้าง ๓ โยชน์บ้าง ๒ โยชน์บ้าง

ช่างไม้รู้สึกรำคาญใจจึงเสนอให้สร้างสูงเพียง ๑ โยชน์ ด้านกว้างก็เสนอให้สร้างมีขนาด ๑ โยชน์เช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า หากสร้างสูงใหญ่เกินนั้นไปจะลำบากเรื่องการรักษาซ่อมแซมเมื่อถึงคราวชำรุดทรุดโทรม ส่วนหน้ามุขแต่ละด้านช่างไม้ก็เสนอให้สร้างกว้างด้าน ละ ๑ คาวุต พุทธบริษัทพิจารณาแล้วก็เห็นด้วยตามที่เขาเสนอ จึงมีมติให้ลดส่วนพระสถูปลงมาเหลือสูงเพียง ๑ โยชน์ จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นบุตรของตระกูลร่ำรวยตระกูลหนึ่งในเมืองสาวัตถี ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติที่ท่านมีเสียงไพเราะ พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีเสียงไพเราะดังกล่าวมาแล้ว


มีต่อ >>> ตอนที่ ๓๖
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 01 พ.ย.2007, 5:32 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๓๖ กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล


พระกุมารกัสสปะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ตระกูลหนึ่งในเมืองหงสวดี วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านแสดงธรรมได้งดงามด้วยข้ออุปมา แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยวิธีการอย่างที่พระวักกลิ พระปิลินทวัจฉะ พระมหาโกฏฐิตะ พระวังคีสะ และพระลกุณฑกภัททิยะทำ คือ ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้าย ท่านได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพุทธพยากรณ์อย่างที่พระวักกลิ พระกุณฑธานะ พระปิลินทวัจฉะ พระมหาโกฏฐิตะ พระโสภิตะ พระสาคตะ พระวังคีสะ และพระลกุณฑกภัททิยะได้รับมาแล้ว คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านแสดงธรรมได้งดงามด้วยข้ออุปมา

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้ว เกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้ากัสสปะนั้น ท่านออกบวช ภายหลังที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้นานแล้ว ซึ่งตกอยู่ในช่วงปลายพุทธุปบาทกาล พระศาสนาของพระพุทธเจ้ากัสสปะนั้นใกล้สูญสิ้น ไปจากโลก ครั้นบวชแล้วท่านพร้อมกับเพื่อนพระอีก ๖ รูป (รวมเป็น ๗ รูปกับทั้งท่าน) ที่มุ่งมั่นปฏิบัติปลดเปลื้องตนให้พ้นจากกิเลส ได้ชวนกันละทิ้งหมู่คณะแล้วออกไปปฏิบัติธรรมอยู่ด้วยกันบนยอดเขาลูกหนึ่ง

ผลปรากฏว่าใน ๗ รูปนั้นมีเพียง ๑ รูปที่ได้บรรลุอรหัตผล และอีก ๑ รูปที่ได้บรรลุอนาคามิผล ส่วนที่เหลืออีก ๕ รูป แม้จะมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมอย่างหนัก แต่ก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลขั้นใดเลย อย่างไรก็ตามพระ ๕ รูปนั้นก็หาได้ท้อถอยไม่ ยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมต่อไปจนถึงมรณภาพ ต่างรูปต่างเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ ตามผลกรรม จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ทั้งหมดนั้นได้มาเกิดเป็นบุคคล ต่างๆ ดังนี้

ท่านหนึ่งมาเกิดเป็นเจ้าชายปุกกุสาติแห่งเมืองตักกสิลา แคว้นคันธาระ ท่านหนึ่งมาเกิดเป็นพระสภิยะ ท่านหนึ่งมาเกิดเป็นพระพาหิยทารุจีริยะ ท่านหนึ่งมาเกิดเป็นพระทัพพมัลลบุตร และอีกท่านหนึ่งมาเกิดเป็นพระกุมารกัสสปะ

ทั้ง ๕ ท่านนั้น ท่านแรก คือ เจ้าชายปุกกุสาติ ได้พบพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ได้ฟังธรรมและบรรลุอนาคามิผล แต่มิทันได้บวชก็ถูกแม่วัวขวิดตายขณะออกหาบาตรและจีวร เช่นเดียวกับพระพาหิยะ ท่านไปเกิดเป็นพรหมอนาคามีอยู่ในพรหมโลกชั้นอวิหา อันเป็นชั้นแรกของพรหมโลกชั้นสุทธาวาส อีก ๓ ท่าน คือ พระสภิยะ พระทัพพมัลลบุตร และพระกุมารกัสสปะ ได้ออกบวชและบรรลุอรหัตผลในเวลาต่อมา ส่วนพระพาหิยทารุจีริยะได้บรรลุอรหัตผลก่อนบวช แต่ยังมิทันได้บวชก็นิพพานเสียก่อน

พระกุมารกัสสปะ ครั้นออกบวชและได้บรรลุอรหัตผลแล้ว อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติที่สามารถแสดงธรรมได้งดงามด้วยข้ออุปมา พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านแสดงธรรมได้งดงามด้วยข้ออุปมาดังกล่าวมาแล้ว

พระนันทกะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรเศรษฐี ชาวเมืองหงสวดี วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านสอนภิกษุณี แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการทำบุญสำคัญต่างๆ อาทิ ถวายผ้ากัมพลราคาแพงแด่พระพุทธเจ้า บูชาต้นสาละ ซึ่งเป็นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้ ต่อมาได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพุทธพยากรณ์อย่างที่พระวักกลิ พระกุณฑธานะ พระปิลินทวัจฉะ พระมหาโกฏฐิตะ พระโสภิตะ พระสาคตะ พระวังคีสะ พระลกุณฑกภัททิยะ และพระกุมารกัสสปะได้รับมาแล้ว คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดม จักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านสอนภิกษุณี

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าสิขี

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าสิขีนั้น ท่านเกิดเป็นนายพราน วันหนึ่งขณะออกล่าเนื้ออยู่ในป่าฝ่านมาทางที่ประทับของพระพุทธเจ้า เห็นที่ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เดินจงกรมเป็นหลุมเป็นบ่อแล้วเกิดศรัทธา จึงได้นำทรายมาถมพร้อมทั้งเกลี่ยให้ราบเรียบ ท่านได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นบุตรเศรษฐี เมืองสาวัตถี ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติที่เมื่อบรรลุอรหัตผลแล้วได้สอนภิกษุณี ๕๐๐ รูปให้ได้บรรลุอรหัตผลด้วย พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านสอนภิกษุณีดังกล่าวมาแล้ว


มีต่อ >>> ตอนที่ ๓๗
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 05 ธ.ค.2007, 8:39 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๓๗ กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล


พระสุภูติ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลในเมืองหงสวดี มีชื่อว่า ‘นันทะ’ ศึกษาจบไตรเพท ต่อมาได้ออกบวชเป็นฤาษีสร้างอาศรมอยู่ที่ภูเขานิสภะในป่าหิมพานต์ และมีกุลบุตรออกบวชตามเป็นจำนวนมาก วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดถึงอาศรม ฤาษีนันทะและบรรดาศิษย์ต่างมีจิตเลื่อมใสถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกที่ตามเสด็จด้วยจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ รูป จากนั้นพระพุทธเจ้าทรงนำพระสาวกเข้านิโรธสมาบัติเป็นเวลา ๗ วัน ขณะที่พระพุทธเจ้าเข้านิโรธสมาบัติอยู่นั้น ฤาษีนันทะได้ยืนกั้นร่มถวายพระพุทธเจ้า ส่วนบรรดาฤาษีศิษย์ได้ยืนประนมมือไหว้พระสาวก

หลังออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งให้พระสาวกรูปหนึ่งที่ได้ตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีปกติอยู่ด้วยการเข้าฌานและเป็นผู้ควรแก่ทักษิณา กล่าวอนุโมทนาทานของฤาษีนันทะและศิษย์ จากนั้นพระพุทธเจ้าจึง ทรงแสดงธรรมด้วยพระองค์เอง ผลปรากฏว่าเมื่อฟังธรรมแล้วฤาษีศิษย์ทั้งหลายได้บรรลุอรหัตผลแล้วทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา ส่วนฤาษีนันทะไม่ได้บรรลุมรรคผลขั้นใดเลย ทั้งนี้เพราะมัวแต่ตั้งจิตปรารถนาจะเป็นเหมือนพระสาวกที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะนั้นในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต จนลืมพิจารณาธรรม พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงความปรารถนาของท่านจึงตรัสพยากรณ์ทำนองเดียวกัน คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีปกติอยู่ด้วยการเข้าฌานและเป็นผู้ควรแก่ทักษิณา

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้ากัสสปะนั้น ท่านได้ออกบวชในพระพุทธศาสนาและมุ่งมั่นบำเพ็ญสมณธรรม ท่านบำเพ็ญ คตปัจจาคติกวัตร ตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นบุตรเศรษฐีชาวเมืองสาวัตถี ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติที่ว่าท่านบิณฑบาตถึงบ้านใดก็จะเข้าฌาน แผ่เมตตาให้แก่เจ้าของบ้านและสรรพสัตว์ก่อนเป็นปกติแล้วจึงรับบิณฑบาตจากบ้านนั้น ซึ่งยังผลให้การทำบุญนั้นมีผลมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีปกติอยู่ด้วยการเข้าฌาน และเป็นผู้ควรแก่ทักษิณาดังกล่าวมาแล้ว

พระกังขาเรวตะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรพราหมณ์เมืองหงสวดี วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อม กับชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านชำนาญในการเข้าฌาน แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยวิธีการอย่างที่พระวักกลิ พระปิลินทวัจฉะ พระมหาโกฏฐิตะ พระวังคีสะ พระลกุณฑกภัททิยะ และพระกุมารกัสสปะทำ คือ ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพุทธพยากรณ์อย่างที่พระวักกลิ พระกุณฑธานะ พระปิลินทวัจฉะ พระมหาโกฏฐิตะ พระโสภิตะ พระสาคตะ พระวังคีสะ พระลกุณฑกภัททิยะ พระกุมารกัสสปะ พระนันทกะ และพระสุภูติได้รับมาแล้ว คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านชำนาญในการเข้าฌาน

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นบุตรเศรษฐีชาวเมืองสาวัตถี ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติที่ท่านมีความสามารถชำนาญในการเข้าฌานเสมอด้วยพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านชำนาญในการเข้าฌานดังกล่าวมาแล้ว


มีต่อ >>> ตอนที่ ๓๘
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 08 ม.ค. 2008, 2:07 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๓๘ กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล


ได้กล่าวถึงอดีตชาติของพระอสีติมหาสาวกชาวแคว้นโกศล ที่ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะมาแล้ว ต่อไปนี้จักได้กล่าวถึง อดีตชาติของพระอสีติมหาสาวกชาวแคว้นโกศล ที่ไม่ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะ ซึ่งมีอยู่ ๔ รูป คือ พระยโสชะ พระอุปวาณะ พระองคุลิมาล และพระเสละ

พระอสีติมหาสาวก ๔ รูปนี้ แม้จะไม่ได้ตั้งจิตปรารถนาตำแหน่งเอตทัคคะไว้เหมือนพระอสีติมหาสาวก ๑๒ รูปนั้น แต่ก็ได้ตั้งจิตปรารถนาเพื่อเป็นพระมหาสาวก และได้บรรลุอรหัตผลในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต ซึ่งแต่ละรูปต่างก็ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าในอดีตทำนองเดียวกัน คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมและจักได้บรรลุอรหัตผลดังมีรายละเอียดดังนี้

พระยโสชะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ในพระพุทธเจ้าในอดีตหลายพระองค์ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าวิปัสสี

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้น ท่านเกิดเป็นชาวสวนเมืองพันธุมดี วันหนึ่งเห็นพระพุทธเจ้าทรงเหาะอยู่กลางอากาศแล้วเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธานุภาพ และตั้งจิตปรารถนาเพื่อบรรลุอรหัตผลในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล ต่อมาพบพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จบิณฑบาต จึงถวายขนุนสำมะลอให้พระพุทธเจ้าเสวย พระพุทธเจ้าทรงทราบความปรารถนาของท่าน ครั้นเสวยแล้วจึงตรัสพยากรณ์ว่า ท่านจักได้บรรลุอรหัตผลในศาสนาของพระพุทธเจ้าโคดม เป็นเหตุให้ท่านเกิดปีติโสมนัสอย่างยิ่ง จึงได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้ากัสสปะนั้น ท่านเป็นหัวหน้าโจร มีบริวาร ๕๐๐ คน วันหนึ่ง ออกปล้นแล้วถูกชาวบ้านไล่ตาม จึงพากันหนีเข้าป่ามาพบพระป่ารูปหนึ่งกำลังบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ เลยขอให้ท่านช่วยเหลือ ท่านจึงช่วยเหลือด้วยการให้พวกโจรถือศีล ๕ แล้วสอนว่า

“อุบาสกทั้งหลาย บัดนี้พวกท่านถือศีล ๕ แล้ว ซึ่งก็หมายความว่า พวกท่านจักไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ และไม่ดื่มน้ำเมาอีกต่อไป ฉะนั้น ขอให้พวกท่านถือศีลไว้ให้มั่นคง อย่ายอมเสียศีลแม้ว่าจะต้องเสียชีวิตก็ตาม”

พวกโจรต่างรับคำหนักแน่น ครั้นเมื่อพวกชาวบ้านตามมาทัน พวกเขาก็มิได้คิดต่อสู้หรือป้องกันตัว จึงถูกพวกชาวบ้านฆ่าตายหมด แต่ตายแล้วก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ เพราะผลบุญที่ได้รักษาศีลด้วยจิตเลื่อมใสก่อนตายนั้นเอง โดยหัวหน้าโจรได้เกิดเป็นหัวหน้าเทพบุตร ส่วนบริวารทั้ง ๕๐๐ ก็ได้เกิดเป็นเทพบุตรบริวาร

หัวหน้าโจรกับโจรบริวารเวียนว่ายตาย เกิดในสุคติภพต่างๆ อยู่พุทธันดร ๑ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน หัวหน้าเทพบุตรจึงได้มาเกิดเป็นบุตรหัวหน้าชาวประมง โดยมีเทพบุตรบริวารทั้ง ๕๐๐ มาเกิดเป็นบริวาร ท่านและบริวารครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผลสมตามที่ตั้งจิตปรารถนาไว้ดังกล่าวมาแล้ว

พระอุปวาณะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นคนเข็ญใจ คราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท่านได้ไปร่วมงานฉลองพระบรมสารีริกธาตุด้วย ขณะที่รำลึกถึงพระพุทธคุณอยู่นั้น ท่านเกิดศรัทธาอย่างแรงกล้าถึงขั้นยอมสละผ้าห่ม ซึ่งมีอยู่ผืนเดียวนั้นทำเป็นธงปักถวายเป็นพุทธบูชาบนยอดพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ครั้นแล้วได้เข้าไปหาพระอรหันตสาวกรูปหนึ่งซึ่งได้อภิญญา พระอรหันตสาวกรูปนั้นได้พยากรณ์ถึงผลบุญของท่านว่าจะให้ผลยิ่งใหญ่และจะส่งผลให้ท่านได้ออกบวชเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าโคดม

ท่านได้ฟังคำพยากรณ์นั้นแล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ทำความดีอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าวิปัสสี

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้น ท่านเกิดเป็นอารักขเทวดารักษาพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ

ชาติที่พบศาสนาของพระพุทธเจ้ากัสสปะนั้น ท่านเกิดเป็นอารักขเทวดาอีกเช่นเคย ทำหน้าที่รักษาพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในสุคติภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านมาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลชาวเมืองสาวัตถี ครั้นออกบวชแล้วก็ได้บรรลุอรหัตผลสมตามที่ตั้งจิตปรารถนาไว้ดังกล่าวมาแล้ว

พระเสละ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรเศรษฐีชาวเมืองหงสวดี เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้ทำบุญสำคัญไว้ คือ ชักชวนบุรุษ ๓๐๐ นายช่วยกันสร้างพระคันธกุฎีถวายพระพุทธเจ้า ครั้นสร้างพระคันธกุฎีเสร็จแล้วก็ได้ถวายพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวก และวันสุดท้ายได้ถวายผ้าไตรจีวรแก่พระพุทธเจ้าและพระสาวกได้ครอง พระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์ถึงผลบุญของท่าน อย่างที่พระอุปวาณะได้ รับพยากรณ์จากพระอรหันตสาวกของพระพุทธเจ้ากัสสปะ คือ จะให้ผลยิ่งใหญ่และจะส่งผลให้ท่านได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดม ท่านเป็นเช่นเดียวกับพระอุปวาณะได้ฟังคำพยากรณ์นั้นแล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ทำความดี อื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในสุคติภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านมาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์วาเสฎฐะชาวเมืองสาวัตถี ครั้นออกบวชแล้วก็ได้บรรลุอรหัตผลสมตามที่ตั้งจิตปรารถนาไว้ดังกล่าวมาแล้ว

พระองคุลิมาล นอกจากตั้งจิตปราถนาไว้กับพระพุทธเจ้าในอดีตหลายพระองค์แล้ว คราวที่โลกว่างพระพุทธเจ้าคราวหนึ่ง ท่านได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นชาวนา เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเดินตากฝนผ่านมายังโรงนา แล้วเกิดความสงสารและเลื่อมใส จึงก่อไฟผิงถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าผิงไฟแล้วหายหนาวกลับมีกำลังแข็งแรง ท่านเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้ามีอาการดีขึ้นจึงเกิดปีติโสมนัส บุญครั้งนั้นส่งผลให้ท่านเกิดมามีกำลังกายแข็งแรงเท่าช้าง ๗ เชือกในทุกชาติ

ความแข็งแรงดังกล่าวมานี้ นอกจากจะเห็นได้ชัดในชาตินี้แล้ว ในชาติที่เกิดพบศาสนาของพระพุทธเจ้ากัสสปะก็มีเรื่องให้เห็นชัดเจน กล่าวคือ ในชาตินั้นท่านเกิดเป็นพระเจ้าพรหมทัต แห่งเมืองพาราณสี ทรงเสวยเนื้อคนเป็นอาหาร จนมีชื่อเรียกว่า ‘โปริสาท’ แปลว่า ‘คนกินคน’ หลังจากทรงถูกเทรเทศให้ออกไปอยู่นอกเมืองแล้ว ก็เสด็จออกล่าคนเสวยทุกวัน ครั้งสุดท้ายทรงล่าพระราชาทั่วชมพูทวีปได้ ๑๐๐ พระองค์ มาทำพลีกรรมถวายรุกขเทวดา เป็นการแก้บนที่ได้บนบานไว้ขอให้ช่วยรักษาบาดแผลที่พระบาทซึ่งเกิดจากถูกตอไม้ตำให้จนหายสนิท แต่ยังมิทันจะได้ทำพลีกรรม พระเจ้ามหาสุตโสม พระสหายเก่าที่เคยศึกษาศิลปวิทยาร่วมสำนักกันมา ก็เสด็จมาตรัสเตือนให้ได้สติ จนพระเจ้าโปริสาทยอมเลิกทำพลีกรรม แล้วปล่อยพระราชาทั้ง ๑๐๐ พระองค์นั้นให้เป็นอิสระ ท่านเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านมาเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ภัคควะ ปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล กับนางมันตานี ครั้นออกบวชแล้วก็ได้บรรลุอรหัตผลสมตามที่ตั้งจิตปรารถนาไว้ดังกล่าวมาแล้ว


มีต่อ >>> ตอนที่ ๓๙
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 12 ก.พ.2008, 11:00 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๓๙ กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล


วาจานุสรณ์

พระวักกลิ คราวหนึ่งขณะพักอยู่ในป่าใหญ่ใกล้เขาคิฌชกูฏ เกิดเป็นลมขึ้นเพราะความหิว เนื่องจากไม่ได้ฉันอาหาร พระพุทธเจ้าทรงทราบจึงเสด็จมาเยี่ยมแล้วตรัสถาม

ภิกษุ ป่าใหญ่ที่เธอมาพักอยู่นี้แห้งแล้ง ไม่มีหมู่บ้านอยู่ใกล้ ขณะนี้เธอก็อาพาธด้วยโรคลมแล้ว จักช่วยตัวเองอย่างไร

พระวักกลิกราบทูลว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์จักแผ่ปีติและสุขให้ซาบซ่านไปทั่วร่างกาย แล้วปีติและสุขนั้นจักข่มความหิวให้ระงับลงได้ ข้าพระองค์ก็จักสามารถอยู่ในป่าใหญ่ที่แห้งแล้งเช่นนี้ได้

พระยโสชะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว ได้สมาทานธุดงค์หมดทั้ง ๑๓ ข้อ ท่านปฏิบัติโดยเคร่งครัดจนร่างกายซูบผอม ผิวพรรณไม่ผ่องใส พระพุทธเจ้าทรงยกย่องท่านว่าเป็นผู้มักน้อย แม้จะซูบผอมเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น แต่ก็ยังรู้จักฉันอาหารแต่พอดี และไม่ท้อแท้ สมควรที่จะยึดถือเป็นแบบอย่าง พระทั้งหลายที่ยังเป็นปุถุชน ได้รับคำแนะนำจากพระพุทธเจ้าเช่นนี้ จึงพากันมาหาท่าน ท่านจึงสอนพระเหล่านั้นว่า

ภิกษุอยู่ในป่าใหญ่ย่อมถูกเหลือบยุงกัด
ต้องมีสติ อดทน จึงจะอยู่ได้
คล้ายช้างอาชาไนย อดทนอยู่ในสนามรบ
จะอยู่อย่างพรหมก็ต้องอยู่รูปเดียว เพราะสงบสงัด
จะอยู่อย่างเทวดาก็ต้องอยู่ ๒ รูป เพราะจะขัดแย้งกันเป็นครั้งคราว
จะอยู่อย่างชาวบ้านก็ต้องอยู่ ๓ รูป เพราะจะวุ่นวายไม่สิ้นสุด

พระกุณฑธานะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว โดยพระพุทธานุญาต ท่านได้เหาะขึ้นไปกลางอากาศแล้วแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ จากนั้นจึงกล่าวแก่พระที่ยังเป็นปุถุชนว่า

กิเลสที่ผูกสัตว์ไว้ในภพขั้นหยาบ ๕ อย่าง คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ และปฏิฆะ ภิกษุต้องตัดให้ได้

กิเลสที่ผูกสัตว์ไว้ในภพขั้นละเอียด ๕ อย่าง คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา ภิกษุต้องละให้ได้

อินทรีย์ธรรม ๕ อย่าง คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ภิกษุต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้

เพราะภิกษุที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ข้ามโอฆะ (ห้วงน้ำคือกิเลส) ได้นั้น ต้องล่วงพ้นกิเลสเครื่องทำให้ข้องติด ๕ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฏฐิ

พระปิลันทวิจฉะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว วันหนึ่งขณะนั่งอยู่กับพระจำนวนมาก ท่านพิจารณาถึงผลสำเร็จแห่งการฏิบัติที่ได้รับว่า เนื่องมาจากได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงกล่าวขึ้นท่ามกลางที่ประชุมว่า

การที่ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นการมาดีแล้ว
การที่คิดไว้ว่าจักฟังธรรมในสำนักของพระพุทธเจ้าแล้วบวช
มิใช่ความคิดที่เลว
เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าทรงจำแนกธรรมทั้งหลายอยู่นั้น
เราก็ได้บรรลุโลกุตตรธรรมอันประเสริฐ

พระมหาโกฏฐิตะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว เกิดความสุขใจอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน คราวหนึ่งท่านต้องการจะประกาศให้ทราบว่า ความสงบก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบรรลุธรรม จึงกล่าวว่า

ภิกษุผู้สงบระงับไม่ฟุ้งซ่าน
คิดรอบคอบก่อนแล้วจึงพูดเสมอ
ย่อมปลิดบาปธรรมออกไปจากจิตได้
คล้ายลมปลิดใบไม้แก่หลุดจากขั้ว

พระโสภิตะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว คราวหนึ่งท่านนั่งพิจารณาการระลึกชาติได้ของท่าน ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสยกย่องว่าเสมอด้วยพระองค์ และพิจารณาถึงวิธีปฏิบัติจนเกิดการระลึกชาติได้มากมายนั้นแล้วเกิดปีติ จึงกล่าวว่า

เราผู้เป็นภิกษุ มีสติและปัญญา ปรารถนาความเพียรเป็นกำลัง
จึงระลึกชาติก่อนๆ ถึง ๕๐๐ กัป ได้อย่างรวดเร็ว
เหมือนนึกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในคืนเดียว
เพราะเจริญ สติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘
เราระลึกชาติก่อนๆ ถึง ๕๐๐ กัป ได้อย่างรวดเร็ว
เหมือนนึกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในคืนเดียว

พระอุปวาณะ ทำหน้าที่ถวายการอุปัฏฐากแก่พระพุทธเจ้ามาก่อนพระอานนท์ คราวหนึ่งขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในเมืองสาวัตถี ทรงประชวรด้วยพระโรคลม ท่านได้เข้าไปหาพราหมณ์เทวหิตะสหายเก่า เพื่อขอน้ำร้อนและยาแก้โรคลมตามที่เคยปวารณาไว้ คัมภีร์บันทึกคำขอของท่านไว้ว่า

ท่านพราหมณ์ พระมุนีพระศาสดาของอาตมา
ทรงประชวรด้วยพระโรคลม พระองค์เป็นพระอรหันต์
เสด็จไปดีในที่ทุกแห่งในโลก
ถ้าท่านมีน้ำร้อนก็จงถวายแด่พระองค์เถิด
พระศาสดาของอาตมานั้น
บรรดาทวยเทพที่ควรบูชา พระองค์ได้รับการบูชามากกว่า
บรรดาอิสรชนที่ควรสักการะ พระองค์ได้รับการสักการะมากกว่า
บรรดาพระขีณาสพที่ควรนอบน้อม พระองค์ได้รับการนอบน้อมมากกว่า
อาตมาปรารถนาจะนำน้ำร้อนและยาไปถวายพระองค์

พราหมณ์เทวหิตะ เมื่อทราบความต้องการของท่าน จึงได้จัดยาและน้ำร้อนถวายตามที่ขอ พระพุทธเจ้าครั้นได้เสวยยาที่ท่านปรุงถวายแล้วไม่นานก็ทรงหายประชวร


มีต่อ >>> ตอนที่ ๔๐
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง