Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์ อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 01 มี.ค.2007, 5:16 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

มองสันติภาพโลก
ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 01 มี.ค.2007, 5:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มองสันติภาพโลก
ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์


"มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์" หัวข้อเรื่องตั้งไว้ให้พูดเกี่ยวกับ "ศาสนา" ซึ่งเป็นคำที่กำหนดความหมายกันขึ้นตามสมมติในโลก โดยเฉพาะ "ศาสนา" เป็นคำที่มีการบัญญัติซ้อนกันมาหลายชั้น จนกระทั่งความหมายที่ใช้ขณะนี้ บางทีก็ไม่สื่อไปถึงตัวศัพท์เองเลย อย่างน้อยถ้าไม่พร่าๆ มัวๆ ก็มองไปตามความหมายของคำฝรั่ง (คือ religion) ที่เป็นคนละเรื่อง มากกว่าจะมองตามความหมายของคำของเราเอง

นอกจากนั้น ยังมาเจอกับการแบ่งแยกอีก ว่าเป็นศาสนานั้นศาสนานี้ เหมือนกับติดป้ายให้ แล้วคนก็ติดในป้ายนั้นด้วย เรียกว่าติด ๒ ชั้น

ทีนี้ สำหรับพวกเราที่เป็นนักศึกษา ถ้าจะเข้าใจให้ชัดจึงต้องมอง ๒ ชั้น ทั้งชั้นนอก คือ ชื่อที่เป็นเหมือนป้าย และเป็นรูปแบบ ทั้งชั้นใน คือ เนื้อหาสาระ

ถ้าจะพูดเรื่องนี้ในแง่มุมของพุทธศาสนา อาจจะไม่พูดตามชื่อหัวข้อ เพราะส่วนที่ต้องการคือเนื้อหาสาระ ซึ่งอาจเรียกว่า "ธรรม" หรืออะไรก็แล้วแต่ คือสิ่งที่เป็นความจริง ความถูกต้อง ความดี ความงาม

ยิ่งกว่านั้น ถ้าจะให้เข้าใจชัด และได้ประโยชน์จริง ก็ต้องเรียนศาสนาไม่แยกจากเรื่องอื่นๆ เพราะศาสนานั้นแทรกบ้าง ซึมบ้าง ปนบ้าง แฝงบ้าง ครอบบ้าง คลุมบ้าง ไม่เชิงบวก ก็เชิงลบ ในทุกกิจกรรมและกิจการอื่นของคน ทั้งบุคคล สังคม และโลก

อย่างปัญหาสันติภาพ ที่เด่นเป็นเรื่องใหญ่อยู่นี้ ปัจจุบันก็เห็นปัจจัยด้านศาสนาชัดขึ้นๆ แต่ที่จริงเป็นมาลึกจากภูมิหลังในอดีต ใครที่คิดจะแก้ปัญหาสันติภาพ ถ้าไม่รู้ความเป็นมาเป็นไปของศาสนา ก็ต้องกลายเป็นคนทื่อ

ที่ว่านี้จริงอย่างไร ก็ให้มาดูกัน (พอเห็นแนว)


พุทธทัศน์ต่อความต่างศาสนาและสันติภาพโลก
ศาสนาโดยเนื้อหากับโดยรูปแบบ


มนุษย์เรานี้เริ่มต้นก็ดำเนินชีวิตอยู่ในโลก ในสังคม แม้แต่จะดำเนินชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน เริ่มตั้งแต่การที่จะอยู่รอด เราก็อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เราต้องปรับตัว เราต้องมีความสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านั้น รวมทั้งความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วย เมื่อเราดำเนินชีวิตไป เราก็ต้องการอยู่ให้ดี ไม่ใช่ต้องการเพียงแค่อยู่รอด

ในการที่จะอยู่ให้ดีนี้ มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษ คือรู้จักใช้ปัญญา จุดเริ่มต้นที่จะใช้ปัญญาในเรื่องนี้ ก็คือการตอบข้อสงสัยที่อยากรู้

เมื่อมองออกไปภายนอก นักปราชญ์บางพวกบอกว่า มนุษย์ถูกสภาพแวดล้อมบีบคั้น เกิดมีภัยอันตราย เช่น ภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว ลมพายุแรง

จากการต้องพยายามดำเนินชีวิตให้รอดท่ามกลางสภาพแวดล้อมอย่างนี้ มนุษย์ก็คิดคำนึงเกี่ยวกับสิ่งที่ตนต้องประสบนั้น และมีความสงสัยอยากจะรู้ว่าเป็นอะไร เพราะความที่เป็นสัตว์พิเศษรู้จักใช้ปัญญา

ก็คิดหาเหตุผลในเรื่องนั้น ศาสนาจึงเกิดขึ้น

มองในแง่นี้ ก็เท่ากับบอกว่า จุดกำเนิดของศาสนา คือ การที่มนุษย์อยากรู้ อยากเข้าใจธรรมชาติรอบตัว ว่าภัยอันตรายที่เกิดขึ้นซึ่งตนต้องเกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิต เริ่มตั้งแต่อยู่รอดนั้น คืออะไร เป็นมาอย่างไร เพื่อหาทางแก้ไข

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูให้ลึกลงไป มนุษย์มิได้มองแค่นั้น มนุษย์มีความรู้สึกนึกถึงสิ่งที่เรียกว่าความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เป็นต้นด้วย นั่นคือสิ่งที่มนุษย์แสวงหาตลอดมา

พระพุทธเจ้า เมื่อจะออกผนวช ก็มิได้ทรงสนพระทัยว่า ศาสนาชื่อไหน และก็มิได้ครุ่นคำนึงถึงภัยธรรมชาตินอกตัว แต่ต้องการรู้ว่าความจริงของชีวิตคืออะไร มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามได้อย่างไร อย่างที่เราได้ยินตามพุทธประวัติ พระองค์ได้เห็นสภาพแวดล้อม เช่นคนที่อยู่รอบพระองค์ ว่าคนเกิดแก่เจ็บตาย เมื่อทอดพระเนตรเห็นนิมิต ๔ พระองค์ก็เห็นว่า ผู้คนทั้งหลายมีความทุกข์ครอบงำอยู่ ชีวิตเป็นอย่างนี้ ทำอย่างไรจะพ้นจากความทุกข์ไปได้ ในที่สุดก็นำไปสู่การเสด็จออกบรรพชาหรือการผนวช

เมื่อพระองค์ผนวชนั้น พระพุทธเจ้าได้เล่าถึงการค้นหาความจริงของพระองค์ ทรงใช้คำว่า "เราเป็น กึกุสลคเวสี" แปลว่า ผู้แสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล กุศลก็คือสิ่งที่ดี สิ่งที่เอื้อ สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เกื้อหนุนต่อชีวิตที่จะเป็นอยู่อย่างดีงาม พ้นจากทุกข์ภัย มีความสุข นี้คือสิ่งที่พระองค์แสวงหา อันนี้คือสาระที่แท้จริง

ถ้ายุติตรงนี้ ก็จะเห็นว่า การที่เกิดเป็นศาสนาชื่อนั้นชื่อนี้ เป็นเพียงรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม รูปแบบก็เป็นสิ่งสำคัญ รูปแบบมีความสำคัญในแง่ที่จะรักษาเนื้อหาที่เป็นหลักการ หมายความว่า เมื่อมีหลักการขึ้นมาแล้ว เพื่อจะให้หลักการนั้นดำรงอยู่ ก็ต้องมีการจัดตั้ง เมื่อมีการจัดตั้งก็กลายเป็นรูปแบบ เป็นระบบ เป็นกฎเกณฑ์ กติกาขึ้นมา

อนึ่ง รูปแบบนั้น นอกจากเพื่อรักษาหลักการไว้แล้ว ก็เพื่อเป็นสื่อนำหลักการไปเข้าถึงประชาชนหมู่ใหญ่ เพื่อจะให้เนื้อหาสาระนั้นออกไปสำเร็จประโยชน์แก่คนทั้งหลาย และเพื่อให้ได้ผลที่เป็นจุดหมายของหลักการนั้นด้วย

เพราะว่ารูปแบบนั้นคนจัดตั้งขึ้นมา เพื่อจัดสภาพแวดล้อมเป็นต้น ให้เอื้อต่อการดำเนินชีวิต ที่จะเป็นไปเพื่อจุดหมายที่มุ่งประสงค์ตามหลักการนั้น ด้วยเหตุนี้รูปแบบต่างๆ จึงเกิดขึ้นมา

แล้วเราก็อาศัยรูปแบบเหล่านี้เพื่อสนองหลักการ


(มีต่อ ๑)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 05 มี.ค.2007, 12:43 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถ้ามองอย่างนี้ ก็จะไม่มีการยึดติดถือมั่นอะไรมาก แต่จะรู้เข้าใจถึงตัวความมุ่งหมายที่แท้ แม้จะรู้อยู่ว่า รูปแบบนั้นก็สำคัญ และต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่ทั้งหมดนั้นก็เพื่อให้เกิดผลที่สนองความมุ่งหมายของหลักการนั่นเอง และหลักการนั้น ว่าโดยแท้จริงก็คือ หลักการเพื่อความดีงามของมนุษย์ ในที่สุดก็ต้องมาลงที่นี่ คือทำอย่างไรจะช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ทั้งของชีวิตส่วนตัวและของสังคม

ทีนี้จุดสำคัญก็อยู่ที่ว่า หลักการนั้นเราเห็นด้วย หรือเห็นว่าอย่างน้อยก็มีเค้าที่จะช่วยให้มนุษย์เรา ได้เข้าถึงสิ่งที่มุ่งประสงค์หรือไม่ ส่วนรูปแบบนั้นเราอาศัยเพียงเป็นสื่อช่วย คือเป็นเครื่องช่วยให้เกิดผลทางปฏิบัติในการเดินหน้าไปสู่จุดมุ่งหมาย ถ้าเข้าใจอย่างนี้ เราก็จะไม่เอารูปแบบนั้นมาเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดความแตกแยก

แต่มนุษย์ก็อย่างนี้แหละ พอมีรูปแบบขึ้นมาก็อดไม่ได้ ที่จะไปยึดติด แม้แต่บุคคลคนหนึ่งๆ เราสมมติชื่อเป็น นาย ก. นาย ข. ขึ้นมาแล้ว พอพูดว่า นาย ก. ไม่ดี นาย ก. ก็โกรธ นาย ก. ก็ว่านาย ข. บ้าง นาย ข. ก็โกรธ เมื่อเกิดเป็นชื่อขึ้นมา ก็เกิดการยึดติดถือมั่น

แต่ถ้าเรารู้ตระหนักอยู่ว่า ในการมีรูปแบบขึ้นนั้น ความประสงค์ที่แท้ก็เพื่อให้ชีวิตดีงาม เข้าถึงความจริง โดยอาศัยรูปแบบนั้นมาเป็นสื่อ อย่างที่ว่า รูปแบบเป็นเครื่องนำเราเข้าสู่ความจริง ความดีงาม พอเข้าใจอย่างนี้ เรามองดูรูปแบบด้วยความเข้าใจ ก็ทำให้เราปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้อง ทั้งได้ผลดีตามความมุ่งหมาย และทั้งไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้วย


ท่าทีทั่วไปของพุทธศาสนาต่อลัทธิศาสนาอื่น

ที่พูดมานี้ ก็เพื่อให้เห็นว่าที่แท้แล้ว พุทธศาสนา อย่างน้อยก็ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา มีความมุ่งหมายอยู่ที่ตัวเนื้อหาสาระ และเราก็เข้าใจรูปแบบที่จัดตั้งขึ้นมาว่ามีขึ้นด้วยความจำเป็น เพื่อห่อหุ้มรักษา เพื่อเป็นสื่อหรือเพื่อสร้างสภาพเอื้อต่อการที่จะเข้าถึงหลักการกันต่อไป

ถ้าเข้าใจกันอย่างนี้ เราก็จะไม่ค่อยมองในแง่ว่าเป็นเรื่องของศาสนาโน้นของศาสนานี้ แต่จะมองโดยสัมพันธ์กับเนื้อหา ว่าจะช่วยให้เราเข้าถึงความจริงความดีงามได้อย่างไร ซึ่งในที่สุดมันก็เป็นเรื่องของปัญญา คือเป็นเรื่องของมนุษย์ที่ต้องการค้นหาตัวความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เพื่อรู้ เพื่อเข้าใจ และเพื่อทำให้เป็นประโยชน์

แล้วก็โยงมาหาชื่อตรงที่ว่าทำอย่างไรจะให้รูปแบบนี้มาเป็นสื่อแก่ปัญญาได้

เมื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นกันอย่างนี้แล้ว เราก็จะเห็นท่าทีของพุทธศาสนาต่อสิ่งที่เรียกว่า "ศาสนาอื่น" หรืออาจจะเรียกว่า ทัศนะอื่น

ทีนี้ จากพุทธประวัติ หรือตามที่เราดูปฏิปทา หรือพระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้า เช่นในเรื่องราวที่มีผู้มาพบพระพุทธเจ้าแล้วทูลถามพระองค์ในเรื่องธรรม หรือเรื่องความจริงต่างๆ เมื่อพูดถึงทัศนะของผู้นั้น ผู้นี้ ตามปกติพระพุทธเจ้าจะไม่วิจารณ์สิ่งที่เราเรียกกันว่า "ศาสนาอื่น" หรือแม้แต่คนที่ถือศาสนาอื่น

เมื่อคนมาหาพระพุทธเจ้าแล้วทูลถามว่า "เรื่องนี้คนโน้นว่าอย่างนั้น คนนั้นว่าอย่างนี้ คนไหนจะถูก" พระองค์ก็จะตรัสว่า "เรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ฉันจะพูดธรรมให้คุณฟัง" หมายความว่า ให้เขาฟังสิ่งที่พระองค์ได้เห็น ได้รู้ แล้วก็วินิจฉัยเอาเอง พระองค์ไม่ไปตัดสินใคร

ขอยกตัวอย่างเรื่องในจูฬสาโรปมสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรในพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ ว่า

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระนครสาวัตถี ที่พระเชตวัน ครั้งนั้นพราหมณ์ชื่อปิงคลโกจฉ์เข้ามาเฝ้า และได้ทูลพระพุทธเจ้าว่า มีสมณพราหมณ์พวกนักบวชต่างๆ ซึ่งเป็นเจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ผู้มีชื่อเสียง มียศ มีศักดิ์ ได้แก่ ท่านปูรณกัสสปะ มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถนาฏบุตร (ที่เรียกกันว่า ครูทั้ง ๖) ศาสดาทั้ง ๖ ท่านนี้ เป็นผู้ที่ตรัสรู้เข้าถึงความจริงตามปฏิญาณของตนทุกท่าน หรือว่า บางท่านก็รู้จริง บางท่านก็ไม่รู้จริง หรือไม่มีใครรู้เลย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "พราหมณ์ พักไว้ก่อนเถอะ ท่านเหล่านั้นจะรู้จริงตามปฏิญาณของตนทุกท่าน หรือทุกท่านไม่รู้จริง หรือบางท่านรู้ บางท่านไม่รู้ เอาไว้ก่อน เราจะแสดงธรรมแก่ท่าน" นี่ก็หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงต้องการพูดถึงเนื้อหา และเมื่อพระองค์ตรัสแสดงไป พวกเขาก็มีสิทธิใช้ปัญญาพิจารณาเอาเอง และไปวินิจฉัยเอาเอง ว่าคำสอนของพระองค์เป็นอย่างไร และที่ว่าศาสดาโน้นสอนอย่างนี้ ศาสดานี้สอนอย่างนั้น เป็นความจริงอย่างที่สอนหรือไม่ เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าไม่ต้องตัดสิน

นี่ก็เป็นท่าทีที่เป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องของการให้สิทธิในการใช้ปัญญา และเป็นลักษณะหนึ่งของการมีเสรีภาพทางปัญญา การที่ยกพุทธประวัติมาให้ดู เป็นการแสดงถึงท่าทีของพระพุทธเจ้าเอง ส่วนท่าทีทั่วไป เดี๋ยวอาจจะพูดกันอีก

ท่าทีที่พุทธศาสนาให้ทุกคนมีต่อทุกศาสนา

รวมทั้งต่อพุทธศาสนาเองด้วย


(มีต่อ ๒)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 07 มี.ค.2007, 1:44 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ท่าทีแห่งเสรีภาพทางปัญญา ซึ่งเป็นกลางๆ อย่างที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นนั้น จะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นอีก ในกาลามสูตร (เรียกอีกอย่างว่า เกสปุตตสูตร) ซึ่งเป็นสูตรที่สะดุดใจชาวตะวันตกมาก และชาวตะวันตกที่สนใจพุทธศาสนารู้จักกันดี ในขณะที่ชาวพุทธในประเทศไทยเอง แทบไม่รู้จักเลย

กาลามสูตรแสดงทัศนะของพุทธศาสนาต่อลัทธิศาสนาอื่นๆ แต่ยิ่งกว่านั้นอีก กาลามสูตรแสดงท่าทีที่คนทุกคนควรมีต่อทุกศาสนา รวมทั้งต่อพุทธศาสนาเองด้วย ตลอดไปจนถึงเรื่องราวที่บอกเล่าถ่ายทอดหรือสืบทอดกันมาทุกอย่าง เป็นการเปิดโอกาสแก่ เสรีภาพทางความคิด อย่างเต็มที่ เพื่อเข้าถึงความจริง ด้วยวิธีการแห่งปัญญาแท้จริง ความในกาลามสูตรนั้นว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า...เสด็จถึงเกสปุตตนิคม ถิ่นของชาวกาลามะ (ชนวรรณะกษัตริย์พวกหนึ่ง) พวกกาลามะชาวเกสปุตตนิคมนั้นได้ทราบ...จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า...กราบทูลว่า

สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มาถึงเกสปุตตนิคมนี้ พูดเชิดชูแต่หลักคำสอนของตน พร้อมกับพูดข่มขี่ดูถูกหลักคำสอนของพวกอื่น ครั้นสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมาถึงเกสปุตตนิคม...(ก็พูดอย่างเดียวกันนั้น) พวกข้าพเจ้าจึงมีความสงสัยคลางแคลงใจว่า ในบรรดาสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านี้ ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า เป็นการสมควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะสงสัยจะแคลงใจ ความสงสัยของท่านทั้งหลายเกิดขึ้นในเหตุที่ควรสงสัย

นี่แน่ะ ท่านผู้เป็นชาวกาลามะทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย

๑. อย่าปลงใจเชื่อ โดยการฟังตามกันมา
๒. อย่าปลงใจเชื่อ โดยการถือสืบๆ กันมา
๓. อย่าปลงใจเชื่อ โดยการเล่าลือ
๔. อย่าปลงใจเชื่อ โดยการอ้างตำรา
๕. อย่าปลงใจเชื่อ โดยตรรกะ
๖. อย่าปลงใจเชื่อ โดยการอนุมาน
๗. อย่าปลงใจเชื่อ โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
๘. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน
๙. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะท่าทางน่าเชื่อ
๑๐. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา

เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เกื้อกูล...ใครยึดถือปฏิบัติแล้วจะเป็นไปเพื่อความเสียหาย เพื่อความทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายพึงละเสีย...เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนว่า สิ่งเหล่านี้เป็นของเกื้อกูล...ใครยึดถือปฏิบัติแล้วจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เมื่อนั้นท่านทั้งหลายพึงถือปฏิบัติให้ถึงพร้อม...

สาระของพระสูตรนี้ ขอให้พิจารณาเอง ในที่นี้จะไม่พูดขยายความ แต่จะขอผ่านไปก่อน


ท่าทีของพุทธศาสนาต่อความจริงหรือต่อสัจธรรม

ว่าถึงหลักการทางพุทธศาสนา เราดูไม่เฉพาะท่าทีที่แสดงออกมาต่อผู้อื่นหรือสิ่งอื่นเท่านั้น แต่ดูท่าทีต่อสิ่งที่ตัวเองแสวงหา หรือสิ่งที่ตัวเองแสดงด้วย คือท่าทีต่อสิ่งที่เรียกว่า "ธรรม"

เรื่องของศาสนานี้มีสิ่งหนึ่งที่เราต้องการ คือ ความเป็นสากล ทำอย่างไรจะให้เป็นของสากล

คำว่า "สากล" ก็เป็นคำที่กำกวมอยู่ ความหมายหนึ่งว่า สากล คือสิ่งที่คนยอมรับกันมากๆ หรือทั่วไป อย่างเสื้อผ้าชุดสากล เราบอกว่าสากล เหมือนกับว่าเป็นของร่วมกันทั้งโลก แต่ที่จริงเป็นเสื้อผ้าของฝรั่ง แต่เราไปยอมรับฝรั่ง ก็เลยเรียกว่าสากล

ที่เรียกว่าสากลแบบนี้มีมาก มันเป็นเพียงของฝรั่งเท่านั้น และคนก็ไปตื่น ไปยอมรับกัน ความจริงมันเป็นสากลไม่ได้ เพราะมันไม่เหมาะกับภูมิประเทศไปทั่วทุกแห่ง เช่น เสื้อผ้าชุดสากลอาจจะไม่เหมาะกับภูมิอากาศเมืองไทยที่ร้อน นี่คือสากลตามที่คนยอมรับ

ความเป็นสากลอีกอย่างหนึ่ง คือความจริง หมายถึงความจริงที่ไม่เข้าใครออกใคร ไม่ว่าอยู่ที่ไหนมันก็เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นสากล เป็นสากลตามธรรมชาติ ตามธรรมดา เช่น เป็นมนุษย์ก็ต้องกินอาหาร หรือเป็นชีวิตก็ต้องกินอาหาร เป็นต้น หรือเราอาจจะพูดว่า เราต้องมีเครื่องนุ่งห่ม เป็นเครื่องช่วยในการค้ำชูชีวิต การใช้เครื่องนุ่งห่มเป็นของสากลของมนุษย์ แต่ตอนที่ว่ารูปแบบเสื้อผ้าชนิดนี้ ชนิดนั้น เป็นสากลหรือเปล่านี้ แล้วแต่จะยอมรับ

ตกลงว่า สากล มี ๒ อย่าง และที่เราต้องการก็คือความเป็นสากลที่ว่า เป็นของจริง ชนิดที่ไม่เข้าใครออกใคร มันจะอยู่ที่ไหน เมื่อไร ในเทศะไหน หรือแม้แต่ในกาลใด ก็เป็นอย่างนั้น เรื่องหลักการของศาสนา ก็ต้องไปถึงจุดนี้ด้วย

ทีนี้เรามาพูดถึงเรื่องท่าทีของพุทธศาสนาต่อสิ่งที่เรียกว่าศาสนาทั้งหลาย ก็มาเจอท่าทีต่อตัวความจริงนี้ด้วย ว่าพุทธศาสนามีท่าทีต่อความจริงนี้อย่างไร

ท่าทีพื้นฐานที่สุด จะเห็นได้ในคำตรัสของพระพุทธเจ้าเองว่า

"อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ ฐิตา ว สา ธาตุ ธมฺมฏฺฐิตตา ธมฺมนิยามตา..." = ไม่ว่าตถาคตทั้งหลายจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม หลักความจริง คือกฎธรรมชาติ ก็คงอยู่อย่างนั้น...ตถาคตตรัสรู้ ค้นพบหลักความจริงนั้นแล้ว ก็มาบอก แสดง จัดตั้ง วางหลัก เปิดเผย แจกแจง ทำให้เข้าใจได้ง่าย...ว่าดังนี้ๆ


(มีต่อ ๓)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 13 มี.ค.2007, 10:57 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พุทธพจน์นี้เป็นคำแสดงฐานะของพระศาสดาไปด้วย ให้รู้ว่าความจริงมีอยู่ตามธรรมดาของมัน ไม่ได้ขึ้นต่อองค์พระศาสดา พระศาสดามีฐานะเป็นผู้ค้นพบ และเมื่อค้นพบความจริงด้วยปัญญาแล้ว ก็มาบอกมาเปิดเผยความจริงนั้นแก่มนุษย์ทั้งหลาย เพื่อให้รู้เข้าใจความจริงนั้น แล้วจะได้ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้องตามความจริง อันจะทำให้การดำเนินชีวิตและกิจการทั้งหลายของมนุษย์บังเกิดผลดีเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

ด้วยท่าทีพื้นฐานนี้ คือ เมื่อไม่ถือว่าความจริงและหลักการต่างๆ จะเป็นสิ่งที่ศาสดาจะตั้งเอาเองตามที่พอใจ และความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายดำเนินไปตามกฎธรรมชาติ ไม่มีใครที่จะมาเป็นผู้วินิจฉัย พิพากษาตัดสิน มนุษย์เราจึงต้องรู้เข้าใจความจริงนั้น เพื่อจะปฏิบัติได้ถูกต้อง ดังนั้น ท่าทีทั่วไปของพุทธศาสนาจึงเป็นท่าทีแห่งปัญญา

อนึ่ง ในเมื่อปัญญาเป็นสิ่งที่จะต้องพัฒนาขึ้นในตัวมนุษย์แต่ละคน จะจับใส่ ยัดเยียดให้ หรือบังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ พุทธศาสนาจึงมีท่าทีทั่วไปอีกอย่างหนึ่งตามมา คือการเปิดโอกาสแก่ทุกคนในการคิดพิจารณา และเชิญชวนให้ใช้ปัญญา อย่างที่เรียกว่า เสรีภาพทางความคิด

พร้อมกันนั้น ในการกล่าวสอนหรือประกาศแสดงนำเสนอหลักการต่างๆ พุทธศาสนาก็จะมีท่าทีเป็นกลางๆ แบบเสนอให้พิจารณาและให้คิดตัดสินใจด้วยตนเอง

พุทธศาสนาจึงไม่พูดว่า พุทธศาสนาจะเอาอย่างนั้นจะเอาอย่างนี้ แต่จะพูดเป็นกลางๆ ว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ๆ เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ และเมื่อผลอย่างนี้ๆ จะเกิดขึ้นจากการทำเหตุอย่างนี้ๆ มนุษย์เราควรเลือกเอาหรือควรจะปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ อย่างไร จากความจริงที่เป็นอย่างนี้ ถ้ามนุษย์ต้องการผลดีก็ต้องปฏิบัติอย่างนี้ๆ ถ้าท่านปฏิบัติอย่างนี้ๆ ผลดีก็จะเกิดขึ้น ท่านจะเห็นด้วยและปฏิบัติไหมล่ะ ฯลฯ

ตามหลักการนี้ ก็จะมีแต่ท่าทีต่อตัวความจริง ต่อข้อเสนอ ต่อความคิดเห็นความรู้สึกต่างๆ ไม่มีท่าทีต่อศาสนาที่มีชื่ออย่างนั้นอย่างนี้ ท่าทีของพุทธศาสนาตามหลักการที่เป็นสากล

จากท่าทีพื้นฐานต่อความจริงที่เป็นกลางๆ ดังกล่าวมา พุทธศาสนาก็จะมีท่าทีสืบเนื่องในเชิงจริยธรรม ซึ่งเป็นกลางๆ ด้วย กล่าวคือ

ขั้นที่ ๑ พุทธศาสนามีท่าทีในการแสดงความจริง ซึ่งถือว่า ความจริงเป็นของกลางๆ ไม่เข้าใครออกใคร

ดังนั้น พุทธศาสนาจึงพูดเป็นกลางๆ ว่า สิ่งทั้งหลายเป็นอย่างนี้

เช่นพูดว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ว่ามันจะอยู่ที่ไหนมันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือเช่นสอนว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หรือการทำดีเป็นเหตุให้ไปสวรรค์ หรือการทำชั่วเป็นเหตุให้ไปนรก ก็จบเท่านั้น คือถือว่าตัวการทำดีและการทำชั่วเป็นเหตุให้ได้รับผลต่างกันโดยตัวของมันเอง เป็นเรื่องธรรมดาของระบบเหตุปัจจัย

เมื่อมีการเปรียบเทียบกันขึ้นมา ก็คือบอกว่า ในทางพุทธศาสนาไม่มีผู้ตัดสิน ไม่มีผู้วินิจฉัยโทษ หมายความว่า คุณจะมีตรา มีชื่อว่านับถือศาสนาไหนก็ตาม ไม่เกี่ยว ผลจะเป็นอย่างไรอยู่ที่การกระทำ เมื่อทำดี การทำดีก็เป็นเหตุให้ไปสวรรค์ เมื่อทำชั่ว การทำชั่วก็เป็นเหตุให้ไปนรก ผลกับเหตุตามกันมาเอง ไม่ขึ้นต่อตรา

เพราะฉะนั้นมันก็ไม่มีคำว่าจะต้องถือศาสนาไหนเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะคำนี้มันยืนอยู่เป็นของกลางๆ อย่างที่เรียกว่า ไม่เข้าใครออกใคร แล้วก็ไม่ต้องมีผู้พิพากษา เพราะว่าการทำเหตุก่อให้เกิดผลเอง เหตุทำให้เกิดผล ผลเกิดจากเหตุ ก็จบ ไม่ต้องมาเถียงกันว่าจะเชื่อผู้พิพากษาท่านใด

อนึ่ง หลักการย่อมสัมพันธ์กับท่าทีไปในตัว หลักการเป็นอย่างไร ท่าทีก็เป็นอย่างนั้น อันนี้คือความจริงที่เป็นสากล ซึ่งไม่เข้าใครออกใคร ไม่ต้องบอกว่านับถือศาสนาไหน ไม่ขึ้นต่อศาสดาองค์ใด แต่เพราะการทำดีเป็นเหตุให้ไปสวรรค์ การทำชั่วเป็นเหตุให้ไปนรก โดยไม่ต้องมีใครตัดสินส่งไป เพราะฉะนั้นศาสดาจึงมาสอนว่า เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ถ้าเราต้องการไปสวรรค์ เราก็ต้องทำดี

ศาสดามาแสดงความจริงและแนะนำตามความจริงนั้นเท่านั้น แต่ความจริงก็เป็นของมันอย่างนั้น ไม่ขึ้นต่อศาสดา ไม่ต้องแยกว่าศาสนาไหน ศาสดาใด

ขั้นที่ ๒ ความรู้สึกหรือท่าทีต่อมนุษย์อื่น ตามหลักพุทธศาสนา ก็ตั้งอยู่บนฐานของข้อที่ ๑ คือบอกว่ามนุษย์ก็เป็นชีวิต เป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ในแง่นี้มนุษย์ก็มิได้มีอะไรพิเศษ นอกเหนือจากกฎธรรมชาติ เพียงแต่มีคุณสมบัติบางอย่างแตกต่างจากสัตว์อื่น และเมื่อเป็นมนุษย์แล้วก็มีความเป็นมนุษย์เสมอกัน เพราะฉะนั้น มนุษย์ก็เป็นมนุษย์ ไม่มีตราที่จะเอามาแยกเช่นเดียวกัน

ที่ว่านี้หมายความว่า ตราหรือป้ายชื่อว่า คนไทย คนจีน คนแขก คนฝรั่ง ฯลฯ นี้ เป็นเพียงเครื่องหมายรู้เพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ ในการที่จะปฏิบัติต่อกันได้ตรงตามความประสงค์

แต่เนื้อหาก็คือ ความเป็นมนุษย์


(มีต่อ ๔)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 20 มี.ค.2007, 1:37 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เมื่อเป็นมนุษย์เสมอเหมือนกัน ก็รักสุขเกลียดทุกข์ และตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาก็จะบอกว่า สัตว์ทั้งหลาย โดยเฉพาะเริ่มจากมนุษย์ ล้วนรักสุข เกลียดทุกข์ รักตัวกลัวตายด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรเบียดเบียนกัน ท่านบอกว่า "น หเนยฺย น ฆาตเย" แปลว่า ไม่พึงฆ่า ไม่พึงให้ฆ่า

เป็นอันว่า มนุษย์ทุกคน

๑. มีธรรมชาติของการรักสุข เกลียดทุกข์ เหมือนกัน ล้วนกลัวภัย กลัวต่อความตายทั้งนั้น

๒. ร่วมกฎธรรมชาติเดียวกัน เสมอกันในกฎธรรมชาติ คือ ทุกคนเกิดมาแล้วก็ตกอยู่ใต้อำนาจของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกัน คือเป็นเพื่อนร่วมกฎธรรมชาติด้วยกัน

เพราะฉะนั้นเราจึงบอกว่า "สัพเพ สัตตา" สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมเกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นจึงพูดเป็นกลางๆ ว่าไม่ควรเบียดเบียนกัน โดยไม่มีชื่อ ไม่มีป้ายใดทั้งสิ้น และการฆ่ามนุษย์ หรือฆ่าชีวิตใดก็ตาม ก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งนั้น เราเรียกว่าเป็นบาป โดยเป็นกลางๆ ไม่จำกัดว่าจะติดป้ายไหน นี่คือ ความเป็นมนุษย์ที่เป็นสากล

ขั้นที่ ๓ จากการถือความเป็นมนุษย์ที่เป็นสากล ก็ออกไปสู่ท่าทีต่อกัน กล่าวคือ เพราะเหตุที่ว่ามนุษย์แต่ละคนเป็นชีวิตที่รักสุข เกลียดทุกข์ จึงอยากมีความสุข อยากอยู่ด้วยดี เราฉันใด คนอื่นๆ ก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้นเราปรารถนาดีต่อตัวเรา เราก็ควรปรารถนาดีต่อผู้อื่น และเพื่อให้มนุษย์อยู่กันด้วยดี ทุกคนก็ควรจะมีเมตตาต่อกัน เป็นเมตตาที่เป็นกลางๆ เสมอกันหมดต่อมนุษย์ทุกคน ต่อทุกชีวิต

อันนี้เรียกว่า เมตตาที่เป็นสากล คือไม่จำกัดพวกนั้น พวกนี้ หรือกลุ่มไหนศาสนาใดทั้งสิ้น

หลักการ ๓ อย่างนี้ เป็นข้อสำคัญในเรื่องทัศนะหรือท่าที หมายความว่า มันเหมือนเป็นฐาน เพราะว่าจากหลักการนี้ ก็จะมีท่าทีตามมา เมื่อยึดถือหลักการอย่างไร ทัศนะและท่าทีการมองก็เป็นไปอย่างนั้น บางทีเราแทบไม่ต้องพูดถึงตัวท่าทีอีกเลย เพราะมันมากับตัวความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าเป็นสัจธรรมอันนี้

นอกจากนั้น หลักการที่พูดมานี้ ยังแสดงถึงความหมายของจริยธรรมในทัศนะของพุทธศาสนาด้วย กล่าวคือ จริยธรรม คือการปฏิบัติที่ถูกต้องของมนุษย์ ต้องตั้งอยู่บนฐานของสัจธรรม หรือสืบเนื่องมาจากความจริงของกฎธรรมชาติ

หมายความว่า เพราะความจริงเป็นอย่างนี้ๆ มนุษย์จึงควรดำเนินชีวิตหรือปฏิบัติอย่างนี้ๆ

จริยธรรม ไม่ใช่ข้อกำหนดของศาสนาหรือบัญญัติของศาสดา แต่เป็นเหมือนข้อเรียกร้องของกฎธรรมชาติต่อการปฏิบัติของมนุษย์ ซึ่งพระศาสดาทรงชี้ให้เห็นหรือนำมาเสนอและแนะนำ


รูปแบบของพุทธศาสนา
สื่อถึงหลักการแห่งธรรมชาติของมนุษย์


อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เราจัดตั้งรูปแบบขึ้นมา ก็เพื่อรักษาหลักการ เพื่อจะเป็นสื่อนำหลักการนั้นไปถ่ายทอด และเพื่อสร้างสภาพเอื้อต่อการที่จะช่วยผู้ที่จะไปสู่จุดหมายของหลักการนั้น ให้ดำเนินไปได้โดยง่าย ด้วยพื้นความเข้าใจนี้ เราจึงได้มีการจัดตั้งที่เรียกว่า "สังฆะ" ขึ้นมา คณะสงฆ์เป็นรูปแบบจัดตั้งที่มีขึ้นเพื่อสนองหลักการอะไร

หลักการก็คือ พุทธศาสนาบอกว่าตามความจริงของธรรมชาติ มนุษย์นี้เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง แต่เป็นสัตว์พิเศษ พิเศษอย่างไร พิเศษคือเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนา และก็ฝึกได้ด้วย คือต้องฝึก และก็ฝึกได้ ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่น

สัตว์ชนิดอื่นนั้น แทบจะไม่ต้องฝึกเลย เพราะอยู่ได้โดยสัญชาตญาณ ส่วนมนุษย์นั้นไม่สามารถอยู่ได้เพียงด้วยสัญชาตญาณ สิ่งที่มนุษย์จะนำมาใช้ในการอยู่รอด มนุษย์ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกทั้งนั้น เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงใช้เวลาเลี้ยงนาน กว่าจะสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเอง ระหว่างนั้นก็ต้องเรียนโดยอาศัยผู้เลี้ยง มีพ่อแม่เป็นต้น

สัตว์ชนิดอื่นจะอาศัยพ่อแม่นิดเดียว หรือแทบจะไม่ต้องอาศัยเลย พอเกิดมาบางทีก็เดินได้เลย อย่างลูกวัว พอออกมาปั๊บ เดี๋ยวเดินแล้ว และเดี๋ยวก็หากินได้ อยู่รอดได้ และก็มีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยสัญชาตญาณ แต่มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษที่ไม่สามารถอยู่ได้เพียงด้วยสัญชาตญาณ จึงต้องอาศัยการเรียนรู้ การฝึกฝนพัฒนา พระใช้คำว่า "ฝึก" ต้องฝึกทั้งนั้น

กินก็ต้องฝึก นอนก็ต้องฝึก นั่งก็ต้องฝึก ขับถ่ายก็ต้องฝึก เดินก็ต้องฝึก พูดก็ต้องฝึก นี่เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตทั้งนั้น และมนุษย์ก็ต้องฝึกทั้งหมด เพราะฉะนั้น จึงถือเป็นสัตว์พิเศษที่ว่าต้องฝึก ต้องเรียนรู้ ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่รอด อยู่ไม่ได้เพียงด้วยสัญชาตญาณ อันนี้คือความพิเศษของมนุษย์

พิเศษมิใช่หมายความว่าต้องดี พิเศษ แปลว่า แปลกพวก วิ แปลว่า แปลก เศษ แปลว่า ที่เหลือ พิเศษ จึงแปลว่าแปลกจากพวกที่เหลือ แปลกจากสัตว์อื่น คือแปลกพวก

มนุษย์ก็พิเศษในแง่นี้ เป็นความพิเศษในทางด้อยคือแพ้สัตว์อื่น ที่ไม่สามารถอยู่ได้เพียงด้วยสัญชาตญาณ แต่ก็กลับมาเป็นข้อดีของมนุษย์ที่ว่า นอกจากมนุษย์ต้องฝึก ต้องเรียนรู้แล้ว เขาก็เรียนรู้ได้ และฝึกได้ด้วย และก็ฝึกได้แทบจะไม่มีขีดจำกัด

ฉะนั้น พอตั้งต้นเรียนรู้ฝึกไป มนุษย์จะเดินหน้าล้ำเลิศกว่าสัตว์ทั้งหลายอื่น สัตว์ทั้งหลายเกิดมาด้วยสัญชาตญาณอย่างไร อยู่ไปจนตายก็แค่สัญชาตญาณอย่างนั้น แต่มนุษย์จากจุดที่เกิดมาอยู่เองไม่ได้ ไม่รอด สัญชาตญาณช่วยไม่ไหว แต่พอฝึกไป เรียนไป กว่าจะตาย ไปลิบ

สามารถเป็นสัตว์ประเสริฐกระทั่งบรรลุชีวิตที่สมบูรณ์


(มีต่อ ๕)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 27 มี.ค.2007, 3:42 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เราก็จึงตั้งพระพุทธเจ้าขึ้นมาเป็นตัวแบบว่า นี่เป็นตัวอย่างของมนุษย์ที่ฝึกตนเองดีแล้ว ฝึกได้ขนาดเป็นพุทธ

เราทุกคนสามารถเป็นพุทธได้ทั้งนั้น ในทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นอย่างนั้น แต่จะต้องฝึกฝนพัฒนาตนเอง

จากความจริงที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึก พุทธศาสนาก็ถือเป็นหลักการว่า มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามได้ต้องเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน หรือพูดว่าเมื่อมนุษย์ต้องการมีชีวิตที่ดีก็ต้องมีการเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา

กับทั้งเพื่อสนองหลักการนั้น เพื่อให้มั่นใจว่ามนุษย์จะได้มีการฝึกฝนพัฒนาตน ก็ต้องมีการจัดตั้งวางระบบหรือรูปแบบขึ้นมา เพื่อให้เกิดมีสภาพความเป็นอยู่ที่เอื้อต่อการที่มนุษย์จะได้ฝึกฝนพัฒนาตน หรือมีการเรียนรู้อย่างดีที่สุด

มนุษย์นั้นแม้จะเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตนกันอยู่ แต่เพราะไม่รู้หลักการชัดเจนก็เรียนไปอย่างนั้นๆ ตามที่ความจำเป็นบีบบังคับ คือ ฝึกพออยู่ได้ ฝึกเดินพอเดินได้ ฝึกพูดพอพูดได้ แต่จะพูดให้ดี ให้เป็น ให้ได้ผลกว่านั้นบางทีก็ไม่ยอมฝึก ทั้งๆ ที่มีศักยภาพ

ทีนี้จะทำอย่างไรให้การฝึกไม่หยุดเพียงแค่พออยู่รอด แต่ฝึกให้มันดีที่สุด ให้เต็มศักยภาพของมนุษย์ เราก็จึงจัดตั้งวางระบบขึ้นมา

การที่พระพุทธเจ้าจัดตั้งระบบขึ้นมาเป็นสังฆะก็เพื่อสนองหลักการนี้ คือ เพื่อให้เป็นชุมชนที่จะเอื้ออำนวยให้มนุษย์ได้เรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตน

สังฆะจึงเป็นชุมชนที่มีชีวิตแห่งการศึกษา เพราะว่าสังฆะนั้นตั้งขึ้นเพื่อการศึกษา

จะเห็นว่าเวลาพระใหม่บวชเสร็จอุปัชฌาย์ก็จะบอกว่า ท่านจะต้องอาศัยเลี้ยงชีพด้วยอะไรบ้าง และท่านจะทำอะไรไม่ได้บ้างที่ขัดกับลักษณะชีวิตความเป็นอยู่ของท่าน อันนี้คือนิสัย ๔ และอกรณียกิจ ๔

จากนั้นก็จะบอกตัวเนื้อแท้ของชีวิตพระ คือ ไตรสิกขา ว่า "สีลํ สมฺมทกฺขาตํ, สมาธิ สมฺมทกฺขาโต, ปญฺญา สมฺมทกฺขาตา" นี่คือชีวิตของท่าน ต่อแต่นี้ไปท่านอยู่กับ ๓ อย่างนี้ คือไตรสิกขา (การศึกษา ๓ ด้าน) ตลอดชีวิต

ในทางพุทธศาสนา ถือว่าทุกคนต้องศึกษา ๓ ด้านที่เรียกว่า "ไตรสิกขา" นี้ คือพัฒนา ศีล สมาธิ ปัญญา ได้แก่พัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญา เราจะมีชีวิตที่ประเสริฐด้วยการศึกษาทั้ง ๓ ด้านนี้

เมื่อเราพัฒนาไปก็จะกลายเป็นคนมีชีวิตดีงาม ที่ท่านเรียกว่าเป็นอริยะ

ซึ่งมี ๔ ขั้น คือ เป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี

สามขั้นนี้เรียกว่า "เสขะ" หรือ "เสกขะ" ซึ่งมาจากคำว่า สิกขา เป็นผู้ที่ยังต้องศึกษาอยู่ คือผู้ยังอยู่ในไตรสิกขา จนกระทั่งถึงขั้นที่ ๔ เป็นพระอรหันต์ จบการศึกษา เรียกว่าเป็น "อเสกขะ" หรือ "อเสกขะ" จึงไม่ต้องศึกษา

จะเห็นว่า ทั้งหมดนี้มีศัพท์สำคัญอยู่ที่คำว่า "สิกขา" คือการศึกษา

เพราะฉะนั้น สังฆะ ก็คือชุมชนที่จัดตั้งขึ้นมา เพื่อจะให้สมาชิกมีโอกาสพัฒนาตนเอง ด้วยการเรียนรู้ ฝึกฝนตนเองอย่างเต็มที่ เพราะว่าในสังคมมนุษย์ทั่วไปนั้น การจัดตั้งยังเปะปะอยู่ จำเป็นจะต้องมีการมาช่วยเหลือกันโดยอยู่เป็นชุมชนที่ปฏิบัติได้เต็มตามหลักการ แล้วให้กลุ่มขยายออกไป

รวมความว่า การตั้งสังฆะ ก็เพื่อประโยชน์นี้ คือ เพื่อสร้างสภาพเอื้อในการที่จะให้มนุษย์ที่เข้ามา ได้ฝึกฝน เรียนรู้ พัฒนาตนเอง

เมื่อตัวเองมีความรู้ ความเข้าใจ ฝึกฝน พัฒนาตนเองดีแล้ว ก็จะได้ช่วยผู้อื่น โดยเป็นแหล่งที่คนภายนอกได้มาอาศัย ในการที่จะได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในการฝึกฝน พัฒนาตน

นอกจากนั้น ผู้ที่อยู่ในชุมชนนี้ เมื่อศึกษาพัฒนาตนดีแล้ว ก็ออกไปข้างนอก เพื่อนำความรู้ ความเข้าใจ ตามหลักการศึกษานี้ ไปช่วยให้คนอื่นศึกษาต่อไป

เป็นอันว่า พระพุทธศาสนาในทางปฏิบัติก็วนเวียนอยู่ในหลักการนี้เท่านั้นเอง คือเรื่องของไตรสิกขา


จากหลักการแห่งธรรมชาติของมนุษย์
โยงไปสู่ท่าทีแห่งการแสดงบทบาทในสังคม


ที่พูดนี้ เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า ทำไมจึงมีการจัดตั้งชุมชนขึ้นมา ดังที่เรียกว่าเป็น "สังฆะ" และหลักการนี้ก็อยู่ในเนื้อหาสาระ ซึ่งเป็นความจริงตามธรรมชาติ คือหลักการที่บอกว่า ตถาคตทั้งหลายจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม ความจริงก็เป็นความจริงของมันอยู่อย่างนั้น อย่างที่พระสวดเสมอว่า "อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถา-คตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ"

ตถาคตทั้งหลายจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม ความจริงมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น แต่มนุษย์นี้ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ทั้งๆ ที่มันก็อยู่ต่อหน้าต่อตา จนกระทั่งมีผู้ที่พัฒนาตนเองจนเกิดปัญญารู้แจ้ง มาค้นพบ มารู้ความจริงเข้า

พอรู้ความจริงนี้แล้วก็มาเปิดเผย ชี้แจง แสดง อธิบายให้เข้าใจง่าย ว่าเป็นอย่างนี้ๆ นี่คือ ธรรม แล้วหลักการในธรรมชาติก็กลายเป็นหลักการของมนุษย์ขึ้นมา หลักการนี้เรียกว่าธรรม

เป็นอันว่า หลักการในพุทธศาสนา ก็คือความจริงที่มีในธรรมชาติ พุทธศาสนาไม่มีอะไร

ก็คือเรื่องของธรรมชาติ

หรือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา


(มีต่อ ๖)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 27 มี.ค.2007, 3:54 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ทีนี้ พอได้หลักการแล้ว เราก็หาทางให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากหลักการ หรือตัวความจริงในธรรมชาตินั้น เพราะความจริงของธรรมชาตินั้นครอบงำชีวิตของมนุษย์อยู่ และเราก็อยู่ในกฎธรรมชาติ ถ้าเราทำถูกต้องตามกฎธรรมชาติ ผลดีก็เกิดแก่ชีวิตของเรา ถ้าเราทำไม่ถูก ผลร้ายก็เกิดขึ้นตามมา

เพื่อให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากความจริงของธรรมชาตินี้ จะทำอย่างไร ก็ต้องมีการสั่งสอนกัน

ถ้าพระพุทธเจ้าสั่งสอนทีละคนๆ กว่าจะได้ผลก็ช้า และบางทีเขาเดินหน้าไปได้นิดหน่อยก็ถูกกลืนกลับเข้าไปในชุมชนแวดล้อม ก็จึงมีการตั้งสังฆะขึ้น

การตั้งสังฆะ ก็คือการจัดตั้งระบบขึ้นมา เพื่อให้เป็นชุมชนที่มีสภาพเอื้อ หรือเป็นชุมชนที่ประกอบด้วยคนที่มุ่งทำตามหลักการนี้ และมามีวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการที่จะให้เกิดผลสำเร็จตามหลักการ การจัดตั้งนี้ เรียกว่า "วินัย"

ฉะนั้นในพระพุทธศาสนา จึงมีธรรม กับ วินัย เป็นคู่กัน และจึงเรียกพุทธศาสนาในชื่อเดิมว่า "ธรรมวินัย"

ธรรม คือตัวหลักการแห่งความจริงตามธรรมชาติที่ค้นพบ และจะเอามาใช้ประโยชน์

ส่วนวินัย คือ การจัดตั้ง วางระบบ วางรูปแบบ เป็นสังคม เป็นชุมชน เพื่อจะให้หลักการนั้น ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง

เรื่องของหลักการ หรือเนื้อหาสาระกับรูปแบบ ก็มีอย่างนี้ มีเท่านี้ เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ท่าทีของพุทธศาสนาก็ไม่มีเรื่องที่จะต้องพูดกันมาก

เมื่อหลักการเป็นอย่างนี้ ก็มีจุดหมายที่แน่นอนว่า จะมุ่งเพื่อให้คนที่เข้ามาในชุมชน ได้มีโอกาสฝึกฝนอบรมตนและเรียนรู้อย่างดี ในการพัฒนาชีวิตของตน ที่เรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญา พร้อมทั้งนำผู้อื่นในการพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญานั้นด้วย

จากหลักการใหญ่นี้ ก็เลยพลอยขยายออกไปสู่หลักการที่ว่าพระพุทธศาสนาจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับระบบผลประโยชน์และเรื่องอำนาจเป็นต้น ในสังคม

อย่างไรก็ตาม ที่เป็นอย่างนี้ไม่ใช่เป็นการปลีกตัว แต่เพราะสังฆะไม่ต้องการอำนาจในระบบการเมือง และไม่ต้องการผลประโยชน์ในระบบธุรกิจ สังฆะจึงปลีกตัวในแง่นั้น เพื่อจับเอาบทบาทที่สอดคล้องกับหลักการของตนโดยเฉพาะ สังฆะจึงเน้นการมีฐานะและบทบาทที่สัมพันธ์กับสังคมในแง่การให้การศึกษา เช่นให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองบ้านเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบผลประโยชน์เป็นต้น แต่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ไม่ไปเล่นบทบาทนั้นเอง เพราะสังฆะมีจุดหมายของตน

ซึ่งเป็นสาระหรือหลักการที่ชัดเจน

เพราะฉะนั้น ภาพที่ปรากฏออกมาของพระพุทธศาสนา ก็เลยกลายเป็นว่า มีรูปแบบที่เป็นลักษณะพิเศษของตนเองที่ว่า ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นต้น และก็ดูเป็นว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับชีวิตทางโลก ซึ่งบางทีก็แยกยาก แต่ต้องจับให้ได้

ถ้าจับหลักการไม่ถูก ก็จะทำให้ตัวเองยึดถือบทบาทไปตามรูปแบบเฉยๆ โดยไม่เข้าใจ หรืองมงาย และถ้ายึดถือแต่รูปแบบโดยไม่เข้าใจสาระ ก็เป็นอันตรายที่จะเกิดความไขว้เขว และคลาดเคลื่อน ทั้งที่คงรูปแบบนี้อยู่ แต่อาจจะเอาเนื้อหาอย่างอื่นมาใส่แทน


จากหลักการแห่งการศึกษา
โยงไปสู่ท่าทีในการเผยแผ่พุทธศาสนา


แม้ว่าสังฆะจะเป็นชุมชนของผู้ที่ได้อุทิศตัวมุ่งมาสู่การฝึกฝนพัฒนาตน หรือเรียนรู้ ตามหลักไตรสิกขา แต่ในขณะเดียวกันนั้น สังฆะก็เป็นชุมชนของผู้ที่อุทิศตัวเพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวมอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุด

ทั้งนี้เพราะว่า ผู้ที่ฝึกฝนพัฒนาตนดีแล้ว สมบูรณ์แล้ว ก็จะไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองต่อไปอีก ดังลักษณะหนึ่งของผู้ที่บรรลุผลของการพัฒนาตน มีการศึกษาที่สมบูรณ์ ท่านเรียกว่าเป็น "อนุปฺปตฺตสทตฺโถ" คือเป็นผู้ที่บรรลุประโยชน์ตนแล้ว

ทั้งนี้เพราะว่า ประโยชน์ที่แท้จริงของมนุษย์ก็คือการมีชีวิตที่ประกอบด้วยพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาที่ได้พัฒนาแล้วโดยสมบูรณ์ จนลุถึงจุดหมายแห่งการมีสันติสุขที่เป็นอิสระ มิใช่หมายถึงผลประโยชน์ข้างนอก

เมื่อทำชีวิตของตนเองให้สมบูรณ์แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตนเองอีก ต่อจากนั้นก็อุทิศตัวให้แก่การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้เต็มที่ ลักษณะของพระอรหันต์ก็เป็นอย่างนี้

ตอนที่ยังอยู่ในระหว่างฝึกตน ก็มีชีวิตที่เกื้อกูลกัน เรียกว่าเป็นกัลยาณมิตรแก่กัน ดังนั้นสังคมของพุทธศาสนา ในระหว่างที่ยังอยู่ในไตรสิกขา ก็เป็นสังคมของกัลยาณมิตร คือเอื้อต่อกัน ช่วยเหลือกัน

แต่พอตนเองบรรลุผลการพัฒนาเต็มที่ เป็นผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว คราวนี้สำหรับตัวเอง ไม่มีอะไรต้องทำหรือต้องหาอีก ไม่ว่าความสุข หรือความดีงาม

ต่างจากคนธรรมดาที่ยังต้องหาความสุขอยู่ จึงไม่สามารถทำเพื่อผู้อื่นเต็มที่ เพราะต้องมีอะไรเพื่อตนอยู่

เมื่อบรรลุประโยชน์ตนแล้ว ความสุขมีอยู่ในตัวเอง ไม่ต้องไปหาอีก ชีวิตสมบูรณ์แล้ว

ไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตนเอง


(มีต่อ ๗)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 29 มี.ค.2007, 7:37 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เพราะฉะนั้นชีวิตที่เหลืออยู่จึงอุทิศให้แก่โลกได้เต็มที่ ดังคติของพุทธศาสนา ซึ่งจะเห็นได้ในการส่งพระสาวกออกไปเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชน ที่ตรัสว่า

"จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย" = เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข แก่ชนจำนวนมาก เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของชาวโลก

ตอนนี้เรื่องของตัวไม่มีแล้ว ทำเพื่อผู้อื่นอย่างเดียว อันนี้ถือเป็นคติของการทำหน้าที่ของพระตลอดมา พระสงฆ์ทำหน้าที่นี้ คือ

ก) ฝึกตนเอง พร้อมไปกับการเกื้อหนุนผู้อื่น และ

ข) เมื่อฝึกตนเองแล้ว ก็ทำเพื่อผู้อื่นอย่างเต็มที่

หลายคนไม่เข้าใจเรื่องคติพระอรหันต์ และพระโพธิสัตว์ โดยมองคลาดเคลื่อนไปว่า พระโพธิสัตว์อุทิศตัวเพื่อจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ด้วยมหากรุณา ส่วนพระอรหันต์ทำเพื่อตนเอง

นี่ก็คือไม่เข้าใจหลักการ ที่ว่ามนุษย์จะบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นได้เต็มที่ ต่อเมื่อมีปัญญารู้ชัดว่าอะไรเป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์ จึงต้องพัฒนาตนเอง ให้มีปัญญาเต็มที่

ก่อนนั้นก็ช่วยได้ แต่ช่วยไปตามที่เชื่อกันมาว่าอย่างนั้นดี อย่างนั้นเป็นประโยชน์แก่เขา ซึ่งอาจจะผิดพลาดได้ ถ้าจะช่วยให้เขาได้ประโยชน์ที่แท้จริงก็ต้องมีปัญญารู้เพียงพอ มหากรุณาจะเป็นของแท้ ก็ต่อเมื่อเป็นไปพร้อมด้วยปัญญาที่ถึงโพธิ

อีกประการหนึ่ง ถ้าตัวเองยังต้องหาความสุขอยู่ หรือยังต้องแสวงหาความดีงามที่สมบูรณ์อยู่ หรือยังต้องฝึกฝนพัฒนาตน ยังต้องบำเพ็ญบารมีอยู่ ก็จะทำเพื่อผู้อื่นได้ไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ หรือไม่พอดี

พระอรหันต์นั้น เพราะตนเองสมบูรณ์แล้ว การกระทำเพื่อผู้อื่นจึงเป็นไปโดยอัตโนมัติ เพราะไม่มีอะไรต้องทำหรือต้องหาเพื่อตนเองอีก

ต่างจากพระโพธิสัตว์ที่ต้องทำด้วยปณิธาน คือต้องมีความมุ่งมั่น ตั้งจุดหมาย เพราะตนเองยังไม่สมบูรณ์ ฉันจะทำเพื่อผู้อื่นเต็มที่ ยอมสละแม้ชีวิตนี้ เสียสละตัวเองให้เต็มที่ ทำอยู่ได้ด้วยปณิธาน และทำเพื่อทำตนเองให้สมบูรณ์

แต่พระอรหันต์ไม่ต้องมีปณิธาน ท่านทำโดยอัตโนมัติ เพราะเป็นชีวิตของท่านอย่างนั้นเอง เป็นไปตามธรรมชาติ เรียกว่าเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง ไม่ต้องมาตั้งใจซ้อนขึ้นอีกชั้นหนึ่ง

พุทธศาสนาบอกว่า จงจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่อเห็นแก่ชาวโลก ไม่มีคำว่าจงไปทำให้เขาหันมานับถือ

คือ มุ่งไปเพื่อประโยชน์แก่เขาอย่างเดียว

"จงจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก" จบเท่านั้น เขาจะนับถือ หรือไม่นับถือ เป็นเรื่องของเขา การพูดอย่างนี้เป็นท่าทีที่สอดคล้องกับหลักการ เพราะว่าท่าทีย่อมสืบเนื่องมาจากหลักการ ท่าทีเป็นช่วงต่อระหว่างเนื้อหากับรูปแบบ รูปแบบจะออกมาได้ก็ต้องมีเนื้อหาเป็นที่ตั้ง และรูปแบบก็เป็นที่แสดงออกของท่าทีด้วย


แบบอย่างแห่งการให้เสรีภาพทางศาสนาระดับรัฐ

พุทธศาสนาได้ใช้หลักการนี้ตลอดมา ดังจะเห็นว่า ในยุคพระเจ้าอโศก ก็ปรากฏท่าทีแบบพุทธในเชิงปฏิบัติการที่ชัดเจน เพราะออกมาสู่ระดับของรัฐ ว่าเมื่อผู้ปกครองรัฐเป็นชาวพุทธ จะมีท่าทีต่อศาสนาอื่น หรือต่อรูปแบบที่เรียกว่าศาสนาอื่นอย่างไร

พระเจ้าอโศก ซึ่งฝรั่งเรียกว่า เป็น Emperor (พระเจ้าอโศกเองก็มิได้เรียกพระองค์ว่าเป็นจักรพรรดิ คนไทยเราเรียกว่า "พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช" หรือ "ธรรมาโศก" อโศกผู้ทรงธรรม) ทรงได้รับชื่อเสียงเป็นที่เชิดชูว่าเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศอินเดีย ดังที่อินเดียได้ยอมรับเอาธรรมจักรบนหัวสิงห์ บนยอดเสาศิลาจารึก มาเป็นตราธงชาติของประเทศอินเดีย และเอาหัวสิงห์ที่อยู่ยอดเสาจารึกของพระเจ้าอโศกนั้นมาเป็นตราแผ่นดิน เพราะเห็นว่า เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดีย

ว่าที่จริง อินเดียลืมพระเจ้าอโศกไปนานแล้ว ฝรั่งอังกฤษ เป็นผู้ค้นพบและรื้อฟื้นเรื่องพระเจ้าอโศกขึ้นมา เพราะพระเจ้าอโศกนั้นจมอยู่ในกองดินกองทรายลึก ไม่มีใครเห็น คนอินเดียไม่รู้จัก จนกระทั่งอังกฤษเข้ามาปกครองอินเดีย

ชาวอังกฤษเป็นคนใฝ่รู้ เป็นนักสำรวจ ก็ไปสำรวจขุดค้นโบราณคดี เจอศิลาจารึกอโศก โบราณสถาน โบราณวัตถุเยอะแยะ เรื่องพระเจ้าอโศกก็เลยปรากฏขึ้นมา

จากจารึกของพระเจ้าอโศก ก็ได้เห็นความยิ่งใหญ่ และนโยบายสำคัญของพระองค์ในการปกครองบ้านเมือง

ศิลาจารึกพระเจ้าอโศกนั้น แสดงถึงสิ่งที่พระองค์ได้กระทำไว้ พร้อมทั้งแนวความคิดของพระองค์ในการปกครองบ้านเมือง ปรากฏว่า พระเจ้าอโศกเป็นกษัตริย์ผู้เดียวที่นักประวัติศาสตร์ หรือนักเขียนสำคัญที่ชื่อ H.G. Wells ยกย่องไว้ (ใน The Outline of History) H.G. Wells บอกว่า ในประวัติศาสตร์ทั้งตะวันตกและตะวันออก ทั่วทั้งโลก รวมทั้งกษัตริย์ของเขาด้วย ไม่มีกษัตริย์องค์ใดที่เขาจะยกย่องได้เลย นอกจากองค์เดียวคือพระเจ้าอโศกเท่านั้น ฝรั่งอังกฤษนี่แหละที่มายกย่องพระเจ้าอโศก

แล้วคนอินเดียสมัยใหม่จึงพลอยรู้จักพระเจ้าอโศกและยกย่องไปด้วย


(มีต่อ ๘)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 03 เม.ย.2007, 5:40 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นตัวอย่างของพุทธมามกะที่สำคัญ พระองค์ได้มีท่าทีต่อศาสนาทั้งหลายอย่างไร อาตมาจะอ่านจารึกพระเจ้าอโศกให้ฟัง ให้เห็นตัวอย่างของท่าทีในระดับการปกครองประเทศชาติ

พระเจ้าอโศกได้จารึกไว้ เป็นจารึกศิลาฉบับที่ ๑๒ คือ Rock Edit 12 ลองสังเกตดูว่าแนวความคิดของพระเจ้าอโศกเป็นอย่างไร

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ย่อมทรงยกย่องนับถือศาสนิกชน แห่งลัทธิศาสนาทั้งปวง ทั้งที่เป็นบรรพชิต และคฤหัสถ์ ด้วยการพระราชทานสิ่งของ และการแสดงความยกย่องนับถืออย่างอื่นๆ

แต่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ (หมายถึงพระเจ้าอโศก) ย่อมไม่ทรงพิจารณาเห็นทาน หรือการบูชาอันใดที่จะเทียบได้กับสิ่งนี้เลย สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนั้นก็คือ การที่จะพึงมีความเจริญงอกงามแห่งสารธรรม ในลัทธิศาสนาทั้งปวง

ก็ความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมนี้มีอยู่มากมายหลายประการ แต่ส่วนที่เป็นรากฐานแห่งความเจริญงอกงามอันนั้น ได้แก่สิ่งนี้คือ การสำรวมระวังวาจา ระวังอย่างไร คือ ไม่พึงมีการยกย่องลัทธิศาสนาของตน และการตำหนิลัทธิศาสนาของผู้อื่น ในเมื่อมิใช่ โอกาสอันควร หรือแม้เมื่อถึงโอกาสอันสมควรอย่างใดอย่างหนึ่ง การยกย่องลัทธิศาสนาของตน และการตำหนิลัทธิศาสนาของผู้อื่นนั้น ก็พึงมีแต่เพียงเล็กน้อย เพราะว่าลัทธิศาสนาทั้งหลายอื่นก็ย่อมเป็นสิ่งที่ควรแก่การเคารพบูชาในแง่ใดแง่หนึ่ง

บุคคลผู้กระทำการเคารพบูชาลัทธิศาสนาทั้งหลายอื่นด้วยเช่นนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ส่งเสริมลัทธิศาสนาของตนเองให้เจริญขึ้นด้วย และทั้งในเวลาเดียวกันก็เป็นการเอื้อเฟื้อต่อลัทธิศาสนาอื่นด้วย แต่เมื่อกระทำโดยวิธีตรงข้าม ย่อมชื่อว่าเป็นการทำลายลัทธิศาสนาของตนเองด้วย และเป็นการทำร้ายแก่ลัทธิศาสนาของคนอื่นด้วย

อันบุคคลผู้ยกย่องลัทธิศาสนาของตน และกล่าวติเตียนลัทธิศาสนาของผู้อื่นนั้น ย่อมทำการทั้งปวงนั้นลงไป ด้วยความภักดีต่อลัทธิศาสนาของตนนั่นเอง ข้อนั้นอย่างไร คือด้วยความตั้งใจว่า เราจะแสดงความดีเด่นแห่งลัทธิศาสนาของเรา แต่เมื่อเขากระทำลงไป ดังนั้น ก็กลับเป็นการทำอันตรายแก่ลัทธิศาสนาของตนหนักลงไปอีก

ด้วยเหตุฉะนั้น การสังสรรค์กลมเกลียวกันนั้นแล เป็นสิ่งดีงามแท้ จะทำอย่างไร คือจะต้องรับฟังและยินดีรับฟังธรรมของกันและกัน (ขีดเส้นใต้ โดยผู้เรียบเรียง)

ดังนั้น พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ จึงทรงมีความปรารถนาว่า เหล่าศาสนิกชนในลัทธิศาสนาทั้งปวง พึงเป็นผู้มีความรอบรู้ (เป็นพหูสูต) และมีหลักศาสนธรรมที่ดีงาม (กัลยาณาคม)

ชนเหล่าใดก็ตามซึ่งมีศรัทธาเลื่อมใสในลัทธิศาสนาต่างๆ กัน ชนเหล่านั้นพึงกล่าวให้รู้กันทั่วไปว่า พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ไม่ทรงถือว่า ทานหรือการบูชาอันใด จะทัดเทียมกับสิ่งนี้เลย สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนี้ได้แก่การพึงมีความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมในลัทธิศาสนาทั้งปวง และความเจริญงอกงามนี้พึงมีเป็นอันมากด้วย

ศิลาจารึกยังไม่จบ เอาเฉพาะจบข้อความที่เกี่ยวข้องเท่านี้ก็พอ นโยบายนี้จะเห็นว่าเป็นแบบอย่างของการปกครอง ที่ปัจจุบันเรียกว่ามี tolerance ซึ่งหาได้ยากในประวัติศาสตร์ แต่ในสมัยพระเจ้าอโศก ศาสนาต่างๆ อยู่กันได้ด้วยดี และได้รับการอุปถัมภ์บำรุงเต็มที่

มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า เรื่องของการอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนา ฝรั่งมักใช้คำว่า "tolerance" ซึ่งโดยตัวศัพท์ที่แท้แปลว่าอดทน ได้แก่การมีขันติธรรม ถ้าพูดแรงก็ต้องว่า ฝรั่งไปได้แค่นี้เองหรือ ไปได้แค่ต้องอดต้องทน (หรือต้องยอมปล่อย) คือแค่ดีขึ้นกว่าอดไม่ได้ ทนไม่ได้ ทนฟังคนอื่นมิได้ที่เขามีความเห็นต่างไป หรือทนอยู่กับเขาไม่ได้ ต้องไปจัดการบังคับเขาให้หันมาถืออย่างตัว

การทนได้ที่เรียกว่า tolerance นี้ ฝรั่งพยายามขยายความหมายออกไปให้เป็นความใจกว้างและการมีเสรีภาพทางศาสนา ต่างจากคติของพระเจ้าอโศกที่ไม่ใช่แค่ tolerance เพราะใช้คำว่า "สมวายะ" ซึ่งแปลว่าความประสานกลมกลืน ความสามัคคี หรือการอยู่ร่วมกันอย่างประสานสอดคล้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก มนุษย์จะต้องพัฒนามากทีเดียว จึงจะอยู่ด้วยกันได้ดี ทั้งๆ ที่มีความแตกต่าง

แม้จะแตกต่างกัน แต่สามารถอยู่กันอย่างประสานกลมกลืน อันนี้คือเครื่องบ่งชี้การพัฒนามนุษย์อย่างหนึ่ง ไม่จำเป็นและเป็นไปไม่ได้ที่จะให้มนุษย์เป็นเหมือนกันหมด

มนุษย์ย่อมมีความแตกต่างกัน แต่ทำอย่างไรจะให้เขาอยู่ได้อย่างดีด้วยกัน ท่ามกลางความแตกต่างนั้น

ความสำเร็จขั้นต้นก็คือ "tolerance" ได้แก่ ทนกันได้ แต่ทำอย่างไรจะให้เหนือกว่านั้น คือให้มี "สมวายะ" มีความประสานกลมกลืน ความปรองดองสามัคคี

อันนี้เป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่ง


(มีต่อ ๙)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 05 เม.ย.2007, 12:55 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ในประวัติศาสตร์ มนุษย์ยังไม่ประสบความสำเร็จในการที่จะอยู่กันอย่างปรองดองสามัคคี สมัยพระเจ้าอโศกผ่านไป แบบอย่างที่พระองค์จัดวางไว้ ก็ไม่คงอยู่ยั่งยืน อำนาจแห่งราชวงศ์ของพระองค์ก็สิ้นสุดลงด้วยการถูกฆ่าฟัน และมีการเบียดเบียนในทางศาสนา

ทั้งนี้เพราะว่า เมื่อรัชสมัยของพระเจ้าอโศกผ่านไปแค่ชั่วหลานหรือเหลน ก็ถูกยึดอำนาจโดยอำมาตย์ที่ตั้งราชวงศ์ของพราหมณ์ขึ้นมา และมีการกำจัดพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ และนี่ก็คือประวัติศาสตร์ในแง่หนึ่งที่เป็นบทเรียนสอนมนุษย์


ปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติ
ที่ท้าทายต่อหลักการของประชาธิปไตย


เรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า การอยู่ร่วมกันด้วยดีระหว่างศาสนามีตัวอย่างอยู่ในอดีต เป็นเวลาตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว พระเจ้าอโศกนี้ แค่ ๒๐๐ กว่าปีหลังพุทธกาล เท่ากับ ๒,๓๐๐ ปีแล้ว แต่มนุษย์ไม่สามารถสืบทอดรักษา หรือแพร่ขยายท่าทีนี้ออกไปให้สำเร็จได้

จึงเป็นเรื่องที่มนุษย์จะต้องมาคิดพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป โดยเฉพาะในยุคนี้เรามีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย จะต้องปฏิบัติให้ได้ตามหลักการนี้ คือทำอย่างไรจะให้คนที่แตกต่างกันอยู่ด้วยกันได้ เวลานี้กลายเป็นเรื่องยากที่สุด

ภัยของมนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้ ที่ใหญ่ที่สุดมี ๒ อย่าง ที่จะทำให้มนุษยชาติอยู่ได้หรือไม่ได้

๑. ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่มนุษย์ยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เฉพาะอย่างยิ่งประเทศตะวันตกตื่นตัว กลัวเกรงภัยอันตรายมาก บางทีก็คิดว่าโลกอาจจะไปไม่รอด อาจจะถึงกับพินาศ มีการประชุมระดับโลกเรียกว่า "Earth Summit" ประชุมมา ๒ ครั้งแล้ว ในปี 1972 และ 1992

ในช่วงเวลา ๒๐ ปี ระหว่างครั้งที่ ๑ กับครั้งที่ ๒ นี้ เขาสรุปออกมาว่า ทั้งๆ ที่มนุษย์ตื่นตัว แต่ก็แก้ปัญหาหรือยับยั้งเรื่องความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม หรือภัยอันตรายแก่สิ่งแวดล้อม ไม่ได้ผล คือไม่ดีขึ้นเลย แต่กลับทรุดโทรมหนักลงไป ภัยอันตรายจะครอบงำมนุษย์ต่อไป

๒. ความแตกแยกระหว่างหมู่ชน ที่แบ่งกันไปด้วยเหตุการนับถือลัทธิศาสนา ด้วยเหตุแบ่งผิวชาติชั้นวรรณะ อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยผู้นำ ได้ชื่อว่าเป็น "melting pot" คือเบ้าหลอมให้คนรวมเป็นอันเดียวกัน เวลานี้ เบ้าหลอมก็แตกแล้ว

คติประชาธิปไตย มี ๓ ข้อ

๑) เสรีภาพ (liberty)
๒) สมภาพ/สมานภาพ/ความเสมอภาค (equality)
๓) ภราดรภาพ (fraternity)

หลักทั้งสามนี้ว่ากันมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution, ค.ศ.1789/พ.ศ.๒๓๓๒)

แต่ตอนหลังๆ นี้ ไม่มีใครพูดถึงภราดรภาพ พูดถึงแต่เสรีภาพกับความเสมอภาค และเสรีภาพก็มิใช่เพื่อจะมาอยู่ร่วมกัน แต่เป็นเสรีภาพเพื่อแก่งแย่งผลประโยชน์กัน

เสรีภาพเพื่อฉันต้องเอาให้ได้เท่าที่ฉันต้องการ เสมอภาคเพื่อจะให้คนอื่นจะต้องได้ไม่มากกว่าฉัน ถ้าแกได้ ๕๐๐ ฉันต้องได้ ๕๐๐ นี้เรียกว่าเสรีภาพและเสมอภาคแบบทุนนิยม คือเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ ที่จริงมันมิใช่ประชาธิปไตยแท้

ในประชาธิปไตยที่แท้ เสรีภาพ คือการที่คนมีโอกาสนำเอาศักยภาพของตน เช่นความรู้ความสามารถและสติปัญญา มาร่วมกันแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคม อันนี้คือเสรีภาพในความหมายเดิม

ถ้ามนุษย์ไม่มีเสรีภาพ ทั้งๆ ที่ตัวเองมีความรู้ มีสติปัญญาความสามารถ แต่สติปัญญาความรู้ความสามารถของเขาก็ไม่สามารถแสดงตัวออกมาเป็นประโยชน์แก่สังคมได้ เราจึงให้มีเสรีภาพ ซึ่งในความหมายเดิมเป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์สังคม

ส่วนความเสมอภาคก็คือ การมีโอกาสเท่าๆ กัน โดยเฉพาะการร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน ซึ่งเป็นเชิงสามัคคี และเชิงให้ คือเสรีภาพที่จะให้แก่สังคม และความเสมอภาคที่จะมาประสานอยู่ร่วมกัน อย่างที่ทางพระเรียกว่า "สมานสุขทุกขตา" แปลว่ามีสุขทุกข์เสมอกัน คือร่วมสุขร่วมทุกข์ ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง และไม่เอาเปรียบกัน

ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะเกิดภราดรภาพ คือความเป็นพี่เป็นน้อง ภราดรภาพ คือความสามัคคี มีเอกภาพ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยให้บุคคลทุกคนใช้เสรีภาพและความเสมอภาคในการร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามมีสันติสุขได้เต็มที่


ภาวะไม่มั่นคงของหลักการแห่งประชาธิปไตย
บ่อนทำลายอารยธรรมปัจจุบันแม้แต่ในประเทศผู้นำ


หลักการของประชาธิปไตย ๓ ข้อนี้ คือ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ ตามความหมายที่แท้นั้น กลมกลืนประสานเป็นอันเดียวกัน

แต่ตอนนี้ลัทธิทุนนิยมครอบงำโลก แต่ละคนก็ต้องมุ่งเพื่อผลประโยชน์ของตน เสรีภาพก็เลยถูกใช้เพื่อสนองเป้าหมายของตัวว่า ฉันต้องการฉันต้องได้ ฉันอยากทำอะไรฉันจะต้องทำเพื่อให้ได้ตามที่ฉันต้องการ เป็นเสรีภาพเพื่อเอาผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด จึงต้องยับยั้งด้วยกฎหมาย ในการที่จะมิให้ละเมิดต่อผู้อื่น โดยเอากฎหมายมาเป็นขอบเขต

ความเสมอภาคก็เป็นแบบแก่งแย่งผลประโยชน์ว่า ถ้าคนโน้นได้ ๕๐๐ ฉันต้องได้ ๕๐๐ แกได้ ๑,๐๐๐ ฉันต้องได้ ๑,๐๐๐ เมื่อความหมายของเสรีภาพและความเสมอภาคเป็นไปในเชิงแบ่งแยก และแก่งแย่ง

ภราดรภาพก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้



(มีต่อ ๑๐)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 20 เม.ย.2007, 8:14 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ภราดรภาพนั้น สหรัฐอเมริการักษาไว้ในคติ melting pot ในอเมริกาแทบไม่มีการพูดคำว่า "fraternity" แต่ fraternity นิยมใช้เป็นคำเรียกกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัย คล้ายๆ คำว่า society หรือ association แต่ fraternity เดิมเป็นหลักการของประชาธิปไตย

ในสังคมอเมริกันมีคติ melting pot ว่าคนอเมริกันมาจากเชื้อชาติภูมิหลังต่างๆ กัน มาอยู่ในสังคมเดียวกันก็รวมกันในเบ้าหลอม กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกว่าเป็นสังคม melting pot

อเมริกันมีความภูมิใจมากในคติ melting pot ว่าสังคมของเขานั้น พิเศษกว่าสังคมทั้งหลายอื่น ไม่มีสังคมไหนจะกลมกลืน ประสานคนเข้าเป็นอันเดียวกันได้อย่างสังคมอเมริกัน

มาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) นายกรัฐมนตรีอังกฤษสมัยหนึ่งก็ยกย่องสรรเสริญในที่ประชุมใหญ่ว่า อเมริกาเป็นประเทศที่มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถหล่อหลอมคนต่างเชื้อชาติต่างวัฒนธรรมให้เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ คือเป็นชนชาติอเมริกัน นับว่าเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งในสังคมของเขา

ที่ว่ามานี้เท่ากับบอกว่า อเมริกาในอดีตก็มีหลัก fraternity แต่ใช้คำว่า melting pot แทน ซึ่งก็หมายความว่า รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ สามัคคีกันได้ แต่ตอนนี้อเมริกายอมรับแล้วว่าสังคมของตนเลิกเป็น melting pot คตินี้เลิกไปแล้วอย่างรวดเร็ว

เวลานี้ อเมริกาไม่ได้เป็น melting pot ต่อไปแล้ว หนังสือที่ออกมาใหม่ๆ ถือว่าอเมริกานี้ อย่างดีก็เป็นได้แค่ โมเสก (mosaic) หมายความว่า คนในอเมริกามีภูมิหลังเชื้อชาติต่างๆ กัน แต่มาอยู่รวมกันอย่างเป็นระเบียบ อยู่ในกฎกติกาหรือภายใต้ law เดียวกัน เหมือนกับโมเสก คือชิ้นกระเบื้องที่มีสีสันต่างๆ ที่เขาเอามาจัดแต่งประดับ ก็สวยงาม แม้จะต่างสีก็เป็นระเบียบ

อเมริกันตอนนี้อยากเป็น mosaic เพราะเป็น melting pot ไม่ไหว มันหลอมไม่ไหว มันหลอมไม่รวม

ทีนี้ เมื่อหลอมไม่รวม แม้แต่โมเสกตอนนี้ก็เป็นไม่ได้ Mr.Naisbitt เขียนหนังสือบอกว่า อเมริกันเป็นได้แค่จานสลัด (salad bowl) คือยำเลย จึงนุงนังไม่เป็นระเบียบ คลุกเคล้ายุ่งกันไปหมด ตอนนี้อเมริกาได้แค่นั้น

ที่จริงนั้น คติเบ้าหลอม หรือ melting pot นี้ เป็นเพียงแบบหนึ่งของภราดรภาพ มีความหมายไม่ตรงกับภราดรภาพแท้จริง คือเป็นการหลอมรวมหรือกลืนคนต่างชาติต่างวัฒนธรรมเข้าในวัฒนธรรมหลักของประเทศนั้น

คนอเมริกันยุคปัจจุบันไม่ชอบคติเบ้าหลอมนี้แล้ว แต่ (จำนวนไม่น้อย) หันไปนิยม multiculturalism คือ "คติพหุวัฒนธรรม" หรือการมีวัฒนธรรมหลากหลาย ให้คนต่างวัฒนธรรมคงวัฒนธรรมของตนไว้ได้ท่ามกลางการอยู่ร่วมกัน

ก็เป็นภราดรภาพอีกแบบหนึ่ง ตามแนวคิดใหม่

แต่เท่าที่เป็นมาถึงปัจจุบันนี้ วัฒนธรรมหลากหลายเหล่านั้นก็หาได้อยู่ร่วมกันด้วยดีมีภราดรภาพไม่ ความแตกแยกรังเกียจเดียดฉันท์ก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมอเมริกันต่อไป

ที่พูดมานี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าหัวเราะ แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะมันนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมอเมริกัน และจะนำไปสู่ความหายนะ นำไปสู่แม้แต่ความเสื่อมสลายของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยในอเมริกามิใช่จะมั่นคง เพราะว่า

ดูง่ายๆ ความแตกแยกระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวดำ แค่นี้ก็ไปไม่รอดแล้ว อเมริกาพยายามนักหนาที่จะรวมคน ๒ พวกนี้ แต่จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ความพยายามที่จะรวมเหมือนจะทำให้แตกแยกยิ่งขึ้น เวลานี้ อเมริกายอมรับว่า ช่องว่างได้กว้างยิ่งขึ้น ไม่ใช่เล็กลง

วิธีการของอเมริกานั้น เป็นการพยายามรวมด้วยกฎหมาย เพราะสังคมอเมริกัน เขาภูมิใจนัก ว่าเขาเป็นสังคม rule of law คือเป็นสังคมที่ถือกฎหมายเป็นใหญ่ ปกครองกันโดยกฎหมาย ปกครองกันโดยกติกา ปกครองกันโดยหลักการ

แต่อย่าลืมว่า ถ้าเป็นหลักการที่แห้งแล้ง ไม่เกิดจากหัวใจที่แท้จริงแล้วก็ไปไม่รอด เพราะความนิยมยึดถือกฎกติกานั้น เกิดมาจากจิตใจเดิม ที่คนอเมริกันรุ่นบรรพบุรุษ ได้มีน้ำใจรักความเป็นระเบียบ รักกฎเกณฑ์กติกา

แต่กฎเกณฑ์กติกาที่สืบมา โดยไม่ได้สืบเนื้อหาสาระทางด้านจิตใจ ก็ได้แต่รูปแบบ ต่อมานานเข้า สาระในจิตใจที่เป็นแกนจืดจางไป รูปแบบก็เพี้ยน

ถึงตอนนั้น สังคม rule of law อาจจะรวมคนได้ แต่รวมใจไม่ได้ เมื่อรวมใจไม่ได้ ก็ไม่รวมกันจริง

เวลานี้ก็มีความระแวงและต้องคอยเอาใจกัน เวลาจะพูดเหตุผลกัน ถ้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องผิว พูดไม่ได้ พูดแล้วสะเทือนใจ ต้องอดทน

ความอดทนอย่างนี้ถูกหรือ อดทนที่ถูกคืออดทนโดยยอมรับฟัง และพูดกันด้วยเหตุผล แต่อดทนที่เก็บไว้ไม่ยอมพูด พูดไม่ได้เพราะกลัว ไม่ใช่ความอดทนที่แท้ ถ้าอยู่กันด้วยความกลัว ประชาธิปไตยก็ไปไม่ไหว ประชาธิปไตยต้องอยู่ด้วยเหตุผล ต้องสามารถพูดจาแสดงออก

เสรีภาพในการพูดเวลานี้เป็นปัญหามากในสังคมอเมริกัน แม้แต่ในมหาวิทยาลัยของอเมริกา การใช้เสรีภาพในการพูดเดี๋ยวนี้ลำบาก บางคนจะพูดออกมาแสดงความคิดเห็นให้เหตุผลแบบเสรี ก็ถูกประณาม ต้องยอมแก่ "political correctness" คือความถูกต้องแบบการเมือง


(มีต่อ ๑๑)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 20 เม.ย.2007, 8:43 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เดี๋ยวนี้ในสังคมอเมริกัน ศัพท์นี้มีความสำคัญมาก อะไรหลายอย่างพูดไม่ได้ สังคมที่พูดเหตุผลกันไม่ได้อย่างนี้ จะไปรอดได้อย่างไร เรื่องผิวขาวผิวดำก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของเรื่องที่พูดไม่ได้ และเมื่อคนไม่สามารถอยู่กันด้วยเหตุผล ไม่สามารถพูดหรือแสดงความคิดเห็นหรือแสดงเหตุผลกันได้อย่างจริงจัง ประชาธิปไตยจะอยู่ยั่งยืนได้อย่างไร

ยิ่งต้องมีการเอาอกเอาใจ โดยเฉพาะนักการเมือง เช่น ส.ส.ฝ่ายผิวขาวก็อาจจะต้องเอาใจคนผิวดำ เพื่อจะได้คะแนนเสียง โดยมิใช่เป็นไปด้วยการใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผลที่แท้จริง ประชาธิปไตยก็เรียกได้ว่า ง่อนแง่นแล้ว

เมื่อมองสังคมอเมริกันด้วยความเข้าใจ ก็จะเห็นว่าประชาธิปไตยอเมริกัน ไม่ได้มีความมั่นคงแท้จริง

การแตกแยกในเรื่องผิวพรรณ เป็นเรื่องใหญ่มาก เวลานี้อเมริกามีคนตั้ง ๕ เผ่า มีผิวขาว ผิวดำ คนเชื้อสายสเปน ซึ่งมีจำนวนมาก (ครั้งหนึ่งเคยจะขอให้ภาษาสแปนิชเป็นภาษาราชการด้วย) ต่อจากนั้นก็มีชาวเอเชียคือคนผิวเหลือง ซึ่งกำลังเข้าไปมาก แล้วก็เนติฟอเมริกัน คือคนอินเดียนแดง ซึ่งเหลืออยู่นิดเดียวในเขต reservation/เขตสงวน

ขออภัยถ้าใช้คำว่าสงวนพันธุ์ เหมือนกับสงวนพันธุ์อินเดียนแดงไว้ คือเหลืออยู่นิดหน่อย ไปรวมอยู่กันเป็นกลุ่มๆ มีการเรียกร้องสิทธิขึ้นมาเป็นครั้งคราว แต่มีกำลังน้อย ก็อยู่กันมาอย่างนี้

สังคมอเมริกันที่เรายึดเอาเป็นแม่แบบประชาธิปไตยในปัจจุบันเป็นอย่างนี้ แต่ก่อนนี้ถืออังกฤษเป็นแม่แบบ แต่เดี๋ยวนี้ทั้งที่รูปแบบของเรามาจากสายอังกฤษ แต่เราไม่ค่อยถืออังกฤษ เรามักมองไปที่อเมริกา แต่ถ้าสังคมแม่แบบเป็นอย่างนี้แล้วจะไปดีได้อย่างไร เพราะแม้แต่แม่แบบก็ยังแย่ ความแตกแยกอย่างนี้เป็นตัวอย่างของการที่มนุษย์จะไปไม่รอด

มองกว้างออกไปในโลก เวลานี้มนุษย์ก็รบราฆ่าฟันกันด้วยเรื่อง การแบ่งเผ่า แบ่งผิว แบ่งลัทธิศาสนา เพราะฉะนั้นมนุษย์จะต้องคิดกันให้หนักว่า เราจะอยู่กันอย่างไรให้สงบสุขได้ มนุษย์จะต้องมองไปที่ท่าที และรูปแบบ โดยโยงไปถึงตัวเนื้อหาสาระเช่นหลักการต่างๆ แล้วอยู่กันด้วยเมตตา ซึ่งเกิดจากปัญญาที่รู้เข้าใจกัน แล้วให้โอกาสแก่กันและกัน จึงจะไปได้จริง

ตอนนี้มีผู้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า The Twilight of Democracy แปลว่า สนธยาแห่งประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยยามสนธยา หมายความว่า ประชาธิปไตยจะแย่แล้ว มันจะไปไม่รอด

เรื่องประชาธิปไตยและความสงบสุขของสังคมที่พูดมานี้ จะต้องมองให้โยงไปที่ลัทธิศาสนาต่างๆ ด้วย อย่างน้อยก็น่าพิจารณาว่า เท่าที่เป็นมา ศาสนามีบทบาทในทางสร้างสามัคคี หรือก่อความแตกแยก อย่างไหนมากกว่ากัน แล้วเอาจริงเอาจังในการที่จะหาทางแก้ปัญหาให้ถูกต้อง

เป็นอันว่า โลกมนุษย์ในปัจจุบัน มีภัยอันตรายใหญ่อยู่ ๒ ประการ

๑. ความแตกแยกระหว่างมนุษย์ ที่รบราฆ่าฟัน สมานกลมกลืนกันไม่ได้ นับวันจะมากขึ้น ทั้งๆ ที่โลกของสิ่งแวดล้อมและโลกของการสื่อสารรวมกันได้ด้วยโลกาภิวัตน์ เป็น Global Village คือเป็นโลกแคบอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่มนุษย์กลับยิ่งแตกแยก และสภาพแตกแยกนั้นก็กลายเป็นโลกาภิวัตน์

๒. ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโลกาภิวัตน์ แผ่ไปทั่วโลกเช่นเดียวกัน

สองปัญหานี้ มนุษย์จะพัฒนาตัวเองพอที่จะแก้ไขได้หรือไม่ มันอาจจะนำมนุษยชาติไปสู่ความพินาศ บางทีเราก็มัวไปนึกถึงภัยธรรมชาติ หรือนึกถึงนักทำนายอนาคตอย่างนอสตราดามุส หรืออะไรต่ออะไรก็ว่ากันไป แต่ที่จริงกรรมคือการกระทำของมนุษย์นี่เองเป็นตัวร้าย

มนุษย์มักจะมัวไปคิดซัดทอดปัจจัยอื่น แต่ลืมมองตนเอง ปัญหาตอนนี้เป็นเรื่องของมนุษย์ที่เจริญมาจนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่พัฒนาตนเองเท่าไร ทั้งๆ ที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย ก็ยังไม่แสดงถึงลักษณะที่มนุษย์จะพัฒนาไปในแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะว่าความแตกแยกไม่น้อยลง แต่กลับมากขึ้น ทำอย่างไรเราจะพัฒนามนุษย์ได้สำเร็จ


ท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา
และท่าทีต่อสัจธรรมด้วยปัญญา


เรื่องท่าทีต่อกันระหว่างมนุษย์ รวมทั้งท่าทีต่อกันระหว่างศาสนา ก็เป็นเรื่องใหญ่ ต้องดูจุดรวมใหญ่ที่ว่า เราจะอยู่กันอย่างไรด้วยท่าทีที่ถูกต้อง

ท่าทีที่ดี กับ ท่าทีที่ถูกต้อง อาจจะไม่เหมือนกัน

เมื่อพูดถึง "ท่าทีที่ดี" เราอาจจะมองไปในแง่ที่ว่า อ๋อ! เช่นมีเมตตาต่อกัน ต้องมี tolerance ต้องมีการประสานกลมกลืน ประนีประนอมกัน ซึ่งถ้าไม่ระวังให้ดี ก็พลาดเหมือนกัน เพราะมนุษย์นั้น แท้จริงแล้วเขาต้องการรู้ความจริงและความดีงามที่เป็นของธรรมชาติ เขาไม่ใช่แค่อยากรู้ แต่เขาต้องรู้ด้วย

มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามแท้จริงโดยสมบูรณ์ จะต้องรู้ความจริงของธรรมชาติ ทีนี้ความจริงของธรรมชาติ มันไม่เข้าใครออกใคร มันไม่ได้ขึ้นต่อมนุษย์ มันเป็นของมันอย่างนั้น มนุษย์จะเอาอย่างไรก็เรื่องของมนุษย์ แต่มันไม่เป็นไปตามใจมนุษย์ มนุษย์นี่แหละจะต้องไปรู้จักมัน

เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องเข้าไปรู้จักความจริงของธรรมชาติ

และปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง


(มีต่อ ๑๒)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 20 เม.ย.2007, 8:52 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สำหรับความเป็นอยู่ของมนุษย์นี้ เราเห็นอยู่ชัดเจนว่า มนุษย์อยู่กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งเป็น ๒ อย่าง ๒ วง หรือ ๒ ระดับ

๑. สิ่งแวดล้อมที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน คือสิ่งแวดล้อมทางสังคม ได้แก่เพื่อนมนุษย์

๒. สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติทั้งหลายทั้งหมด ได้แก่ระบบของสรรพสิ่งที่อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ รวมทั้งตัวมนุษย์เองด้วย

ถ้าเราแยกอย่างนี้ได้ ก็จะเห็นความแตกต่าง ว่าเราจะต้องมีท่าทีต่างกันเป็น ๒ อย่าง ซึ่งถ้าไม่ระวังจะสับสน

ก) ท่าทีต่อคน หรือท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ คือ คนเราอยู่ด้วยกัน ก็ควรรักกัน มีเมตตาต่อกัน นี้เป็นท่าทีที่ดี เพราะว่ามันจะช่วยให้เราไม่เบียดเบียนกัน มีความสามัคคี มีความรักใคร่ปรองดอง ปรารถนาดี ปรารถนาประโยชน์สุขแก่กันและกัน

ข) ท่าทีต่อธรรม (จะเรียกว่า ท่าทีต่อสัจธรรม ก็ได้) คือ พร้อมกับที่อยู่กับคนนั้น มนุษย์ก็อยู่กับความจริงของธรรมชาติ อยู่กับระบบของสรรพสิ่งที่สัมพันธ์กัน (ไม่ใช่หมายถึงธรรมชาติด้านชีวิต เช่นสิงสาราสัตว์ แต่หมายถึงตัวกฎธรรมชาติ) ซึ่งอย่างที่บอกแล้วว่า ไม่เข้าใครออกใคร มนุษย์จะต้องไปรู้จักมัน

ท่าทีต่อความจริงของธรรมชาตินี้จะเอาเมตตาไปใช้ไม่ได้ แต่จะต้องรู้เข้าใจมันด้วยปัญญา และจะต้องปฏิบัติต่อมันโดยใช้ปัญญา

ท่าทีที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์คือมีเมตตา แต่ท่าทีที่ถูกต้องต่อกฎธรรมชาติคือใช้ปัญญา

มนุษย์จะอยู่ด้วยเมตตาต่อกฎธรรมชาติ มันก็ไม่รู้เรื่องด้วย และมันก็ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของเรา แล้วมันก็เมตตาต่อใครไม่เป็น แต่มันก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของมันอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น เราต้องรู้มัน ต้องรู้ความจริงของมัน แล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง

มนุษย์เรานั้นแสวงหาสิ่งนี้อยู่แล้ว คือหาความจริง แต่พร้อมกันนั้นมนุษย์ก็ต้องอยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์ ซึ่งต่างพวกต่างคนก็เห็นความจริงไม่เหมือนกัน ตอนนี้แหละถ้าไม่ระวังให้ดีจะมีท่าทีที่สับสนแล้วก็จะพลาด

ที่ว่านั้น หมายความว่า มนุษย์ที่พยายามอยู่ร่วมกันด้วยดีนั้น ก็จะบอกว่า เราต้องมีเมตตาต่อกัน แล้วก็จะมาประนีประนอมกัน โดยบอกว่า นี่นะ ไม่เป็นไรหรอก เรามาตกลงกันว่า เราทุกคนทุกฝ่ายก็เห็นความจริงด้วยกันทั้งนั้น

ถ้าอย่างนี้ มนุษย์ที่จะประนีประนอมกันนั้น ก็กลายเป็นว่าไปประนีประนอมกับความจริง หรือเอาสัจธรรมมาประนีประนอมกับตน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และการทำอย่างนั้นก็จะเป็นอุปสรรคแก่ตัวมนุษย์เอง คือทำให้มนุษย์ขัดขวางตัวเองจากความจริง

ซึ่งจะทำให้ไม่เข้าถึงความจริงนั้น

เราบอกว่า ความจริงเป็นอย่างที่คนนั้นมองก็ได้ คนนี้ก็เข้าถึงความจริงเหมือนกัน แต่เขาเข้าถึงจริงหรือไม่ เราก็ไม่รู้ กลายเป็นว่าเราพูดเอาเอง เราตัดสินเอง ทั้งที่ตัวเราเองก็ยังไม่รู้ ซึ่งความจริงมันก็ไม่ไปตามเรา และ ความจริงย่อมเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เป็นอย่างใดก็ได้

เคยมีท่านที่พยายามทำอย่างนี้ คือจะประสานกลมกลืนระหว่างศาสนาโดยวิธีพูดประนีประนอมว่า ทุกๆ ศาสนาก็เห็นความจริงเหมือนกันทั้งนั้น

ผู้ที่พูดอย่างนั้น ควรถามตัวเองว่า เรารู้ว่าเป็นอย่างนั้นจริง หรือเราพูดเพื่อเอาใจกัน เราไปพิสูจน์ เราไปตรัสรู้แล้วหรือ ว่าจริง ว่าถึง เราเก่งขนาดไหน จึงไปตัดสินได้ ถ้าเราตัดสินได้ เราก็ต้องรู้ความจริงสมบูรณ์แล้วและรู้ทั่วถึงทุกศาสนา นี่คือ จะต้องมีท่าทีที่พอดีกับความเป็นจริง

ถ้าเราไม่มีความรู้จริงพอที่จะไปวินิจฉัยว่า คนนั้นคนนี้ ท่านผู้นั้นผู้นี้ ศาสนานั้นศาสนานี้ ลัทธินั้นลัทธินี้ เข้าถึงความจริงหรือไม่ เราก็ควรพูดตรงๆ ว่าฉันไม่มีสิทธิ์วินิจฉัย แต่เราควรอยู่ด้วยกันด้วยเมตตา

ตอนนี้แหละเป็นการพัฒนามนุษย์ในขั้นสำคัญ ที่มนุษย์จะต้องไปถึงให้ได้ คืออยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา โดยที่พร้อมกันนั้น ก็สามารถที่จะให้แต่ละคนแสวงหาสัจธรรมความจริงโดยเปิดใจเต็มที่ด้วย ให้ความแตกต่างมีอยู่ได้ท่ามกลางความประสานกลมกลืน อันนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุด

บางทีมนุษย์ก็หลงไปว่าพวกตนจะต้องมาประนีประนอมกันว่า ศาสนาหรือลัทธิอะไรๆ ก็เข้าถึงความจริงด้วยกันทั้งนั้น ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ กลายเป็นว่า เราไปข้ามขั้น เราไปตัดสินความจริงของธรรมชาติ ซึ่งมันไม่มีทางประนีประนอมหรือยอมตามเรา

การค้นหาความจริงเป็นหน้าที่ที่แต่ละคนต้องทำต่อไป ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรมนุษย์จึงจะรับฟังซึ่งกันและกันได้ ไม่บีบคั้นบังคับหรือข่มเหงกัน ไม่ใช่ว่าเขาพูดแปลกหูออกมา ก็จะจัดการ

ท่าทีโอนอ่อนอย่างมากที่สุดที่มนุษย์จะทำได้ ก็คือการพูดว่า ทั้งศาสนาของคุณ และศาสนาของฉัน อาจจะเข้าถึงความจริงด้วยกันทั้งสองฝ่ายก็ได้ คือในขั้นสุดท้ายตรงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว ขอให้เราแสวงหาและพยายามเข้าถึงความจริงกันต่อไป

ตกลงว่าเรามีสิ่งแวดล้อม ๒ อย่างที่จะต้องปฏิบัติด้วยท่าทีที่ถูกต้อง คือ

๑. ท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา และ
๒. ท่าทีต่อสัจธรรมหรือกฎธรรมชาติด้วยปัญญา

ให้ไปด้วยกันทั้งคู่ แม้จะยากที่สุด แต่มันคือเครื่องวัดการพัฒนาของมนุษย์


(มีต่อ ๑๓)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 20 เม.ย.2007, 8:54 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตัวอย่างที่แสดงท่าทีต่อสัจธรรมด้วยปัญญา
และท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา


เรื่องจากสีหสูตรต่อไปนี้ แสดงถึงท่าทีของพุทธศาสนาต่อลัทธิศาสนาอื่นได้อย่างชัดเจน อันจะเห็นได้จากพระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าเอง และทำให้เห็นว่า การยอมรับด้วยปัญญาต่อหลักคำสอนของศาสนาหนึ่ง พร้อมกับการเกื้อกูลต่อศาสนาอื่นด้วยเมตตา เป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง และควรจะต้องเป็นเช่นนั้น ความในสีหสูตรต่อไปนี้มีความชัดเจน ไม่จำเป็นต้องอธิบาย ดังนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี

โดยสมัยนั้นแล กษัตริย์ลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงจำนวนมาก ซึ่งนั่งประชุมกันในสันถาคาร (หอประชุมพิจารณากิจการของรัฐ) กำลังกล่าวสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์โดยอเนกปริยาย

สมัยนั้น สีหเสนาบดี ผู้เป็นสาวกของนิครนถ์ ก็นั่งอยู่ในที่ประชุมนั้น ลำดับนั้น ท่านสีหเสนาบดีได้มีความคิดว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น คงจักเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยมิต้องสงสัย กษัตริย์ลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้ ซึ่งประชุมอยู่ในสันถาคาร จึงกล่าวสรรเสริญคุณ...มิฉะนั้น เราพึงเข้าไปเฝ้าพระองค์...เถิด

เมื่อสีหเสนาบดีคิดดังนั้นแล้ว ด้วยความเคารพในนิครนถ-นาฏบุตรผู้เป็นอาจารย์ จึงเข้าไปบอกแจ้งขอโอกาสก่อนจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านนิครนถนาฏบุตรก็เตือนว่า พระสมณโคดมเป็น อกิริยวาท ทำให้สีหเสนาบดีเลิกความคิดที่จะไปเฝ้า

แต่ต่อมาสีหเสนาบดีก็กลับคิดขึ้นมาอีกว่า การที่กษัตริย์ลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงจำนวนมากพากันกล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้านั้น คงจะทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมมาพุทธเจ้าจริง ก็เข้าไปบอกแจ้งขอโอกาสกะนิครนถนาฏบุตรอีก ท่านนิครนถนาฏบุตรก็ชี้แจงจนทำให้สีหเสนาบดีเลิกความคิดที่จะไปเฝ้าอีก

จนกระทั่งครั้งที่ ๓ สีหเสนาบดีคิดขึ้นมาอีก แต่คราวนี้ท่านเสนาบดีตัดสินใจไม่ไปบอกแจ้งขอโอกาสจากท่านนิครนถนาฏบุตรก็เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว

เมื่อไปเฝ้าพบกับพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านเสนาบดีก็ทูลว่า ท่านได้ยินได้ฟังมาว่าพระสมณโคดมเป็นอกิริยวาท คำกล่าวนั้นเป็นจริงหรือไม่ พระพุทธเจ้าก็ทรงอธิบายให้ฟัง ในที่สุด สีหเสนาบดีเกิดความเข้าใจชัดเจนแล้วเลื่อมใส ขอประกาศตนเป็นอุบาสก แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนว่า

ท่านสีหะ ท่านจงใคร่ครวญก่อนทำ การใคร่ครวญก่อนทำ เป็นการดีสำหรับคนที่มีชื่อเสียงเช่นท่าน

สีหเสนาบดีได้ฟังดังนั้นแล้ว ยิ่งมีความเลื่อมใส ได้กล่าวยืนยันขอแสดงตนเป็นอุบาสกอีกเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อท่านเสนาบดียืนยันเช่นนี้ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสต่อไปว่า

ท่านสีหะ ตระกูลของท่านเป็นเสมือนบ่อน้ำของนิครนถ์ทั้งหลายมานานแล้ว

ท่านควรใส่ใจจัดให้อาหารบิณฑบาตแก่นิครนถ์ที่เข้าไป (ดังเดิม) ด้วย

ได้พูดมาบ้างแล้วถึงการแสดงออกต่อผู้อื่นหรือท่าทีทั่วๆ ไป ทีนี้ หันมาพูดถึงท่าทีของพระพุทธศาสนาต่อผู้อื่นที่มากระทำต่อพุทธศาสนา หรือมาแสดงออกต่อตนเองบ้าง ว่าในกรณีที่ผู้อื่นมาแสดงออกต่อตน จะรู้สึกและปฏิบัติอย่างไร

ขอยกตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เมื่อมีผู้มาติชมพระรัตนตรัย คือ มาติเตียนพระรัตนตรัยบ้าง มาชมพระรัตนตรัยบ้าง หรือมาติเตียนพุทธศาสนาบ้าง มาชมพุทธศาสนาบ้าง คราวนี้ดูซิว่า ท่าทีของชาวพุทธตามที่พระพุทธเจ้าได้แนะนำไว้ เป็นอย่างไร

จะขออ่านข้อความในพระสูตรแรกในพระไตรปิฎกให้ฟัง พระสูตรที่ ๑ เริ่มต้นด้วยเรื่องนี้ คือท่าทีของพุทธศาสนาต่อผู้ที่มีทรรศนะดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ต่อพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าผู้อื่นจะกล่าวติเตียนเราก็ตาม ติเตียนพระธรรมก็ตาม ติเตียนพระสงฆ์ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่พึงมีความเคียดแค้น ไม่พึงมีความขัดใจ ไม่พึงกระทำความไม่พอใจ

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าคนอื่นมากล่าวติเตียนเราก็ตาม พระธรรมก็ตาม พระสงฆ์ก็ตาม ถ้าเธอทั้งหลายโกรธขึ้ง ไม่พอใจ ก็จะเป็นอันตราย ต่อตัวเธอเอง

ถ้าเขาติเตียนแล้ว เธอโกรธ หรือไม่พอใจ เธอจะรู้ได้หรือว่า ที่เขาพูดนั้น ถูกหรือผิด เขากล่าวชอบ หรือกล่าวไม่ชอบ เป็นสุภาษิต หรือทุภาษิต ถ้าเขาพูดไม่ถูก เธอก็ควรชี้แจงให้เขาเข้าใจตามความเป็นจริง

ถ้ามีคนอื่นมาสรรเสริญเราก็ตาม สรรเสริญพระธรรมก็ตาม สรรเสริญพระสงฆ์ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่พึงมีความชอบใจ ความปลื้มใจ ความลำพองตัวกระเหิมใจ ถ้าหากว่า เธอทั้งหลายเกิดความชอบใจ พองใจอย่างนั้น ก็จะเกิดอันตรายกับตนเอง ในคำชมนั้น ถ้าเขาพูดถูก เธอก็พึงยอมรับ พึงชี้แจงไปตามที่เป็น

นี่คือท่าทีของพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นคำแนะนำของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาเอง นอกจากนี้ ก็มีกรณีที่เป็นเรื่องปลีกย่อย เช่น การไปเผยแผ่ศาสนาก็ไปเพื่อประโยชน์แก่เขา อย่างที่พูดไปแล้วข้างต้น

มีกรณีหนึ่ง ที่พระหลายท่านคงเคยได้ยิน คือเรื่องพระปุณณะ ผู้มาจากดินแดนที่ชื่อว่า สุนาปรันตะ ซึ่งเป็นดินแดนที่คนดุร้าย ตอนมาท่านยังไม่รู้จักพุทธศาสนา เมื่อท่านมาพบพระพุทธเจ้าแล้ว ฟังธรรมเกิดความเลื่อมใสก็เลยได้บวชเป็นพระภิกษุ

เมื่อบวชแล้วต่อมาได้ขอกลับไปอยู่ถิ่นเดิม คือสุนาปรันตชนบท

โดยมาลาพระพุทธเจ้าเพื่อรับโอวาทจากพระองค์


(มีต่อ ๑๔)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 24 เม.ย.2007, 6:24 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ก่อนจะเดินทางไป พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปุณณะ มนุษย์ชาวสุนาปรันตะนั้น ดุร้าย รุนแรง เมื่อท่านไปอยู่ ถ้าเขาจะด่า จะบริภาษท่าน ท่านจะทำอย่างไร (เพราะเป็นพวกแปลกถิ่น แปลกพวกไปแล้ว)

พระปุณณะทูลตอบว่า

ถ้าเขาด่า ข้าพระองค์ก็จะคิดว่า ก็ยังดีที่เขาด่า ไม่ถึงกับเอามือทุบตี

พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อไปว่า แล้วถ้าเขาทุบถอง จะทำอย่างไร ก็ตอบว่าดีกว่าเขาเอาก้อนดินก้อนหินขว้าง ตรัสถามต่อไปว่า ถ้าเขาเอาก้อนดินก้อนหินขว้างล่ะ ก็ตอบว่า ดีกว่าเอาท่อนไม้มาทุบมาฟาด ถ้าเขาเอาท่อนไม้มาทุบมาฟาดล่ะ ก็ยังดีกว่าเขาเอามีดมาฟันมาฆ่า

พระพุทธเจ้าตรัสถามและพระปุณณะทูลตอบไปตามลำดับอย่างนี้ จนกระทั่งถึงฆ่าเลย หมายความว่ายอมสละชีวิตได้ จะไม่ทำร้ายใคร ถ้าเขาจะทำร้ายก็ทำไป ตายก็ตาย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่างนี้เธออยู่สุนาปรันตะได้ ก็เป็นอันว่า พระปุณณะได้เดินทางไปสุนาปรันตชนบท และได้ประสบความสำเร็จในการสั่งสอนประชาชนให้มีการศึกษา นี้ก็เป็นตัวอย่างเรื่องหนึ่ง

ว่าที่จริง ในเรื่องนี้ ตามหลักพุทธศาสนา พระสงฆ์มีระเบียบวินัยที่กันไว้แล้ว คือพระภิกษุนั้น เมื่อฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต แม้แต่มด ปลวก ริ้น ไร ก็เป็นอาบัติ แต่อาบัติเบาหน่อย ถ้าฆ่ามนุษย์ แม้แต่ทำให้แท้ง ก็เป็นอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุ โดยไม่มีขีดจำกัดว่าฆ่ามนุษย์ไหน เพราะฉะนั้นก็เป็นกลางๆ พระก็ไปเบียดเบียนใครไม่ได้ นี่เป็นวินัยซึ่งเป็นแบบแผนความประพฤติที่ขีดกั้นไว้

นอกจากนั้นยังมีคำสอนที่เรียกว่า สมณธรรม เรามักได้ยินสมณธรรมในความหมายที่ว่า เป็นข้อปฏิบัติของพระที่บำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา เข้ากรรมฐาน แต่ความจริงสมณธรรมในบริบทบางแห่งมีความหมายว่า เป็นธรรมของผู้สงบ ไม่เบียดเบียนใคร และมีคำสอนที่เรียกว่า "สมณธรรม" ในพระสูตรหนึ่งที่ตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย เขาด่า ก็ไม่ด่าตอบ เขาเสียดสี ก็ไม่เสียดสีตอบ เขาประหาร ก็ไม่ประหารตอบ อย่างนี้แหละสมณะจึงจะชื่อว่าตั้งอยู่ในสมณธรรม

หลักสมณธรรมนี้สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานที่เรียกว่าโอวาทปาติโมกข์

ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่าหัวใจพุทธศาสนา

ในโอวาทปาติโมกข์นี้ มีข้อความท่อนแรกแสดงหลักขันติธรรม นิพพาน และลักษณะของสมณะนักบวช ดังนี้

ขันติ คือ ความอดได้ทนได้ เป็นตบะอย่างยอด นิพพานเป็นบรมธรรม ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต

ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

หลักการนี้จำกัดความหมายของสมณะนักบวชว่า ความเป็นสมณะและนักบวชนั้น ไม่อยู่ที่การมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ การทำพิธี การเป็นสื่อสวรรค์ เป็นต้น แต่อยู่ที่การไม่เบียดเบียน หรือเป็นสัญลักษณ์ของความไม่มีภัย ซึ่งรวมถึงความมีขันติธรรมด้วย

ขันติธรรมนั้น ย่อมครอบคลุมความหมายของคำที่นิยมใช้กันในปัจจุบันว่า "อหิงสา" ดังที่ในวงการระหว่างประเทศ ถือว่าพุทธศาสนาเป็นต้นแบบแหล่งหนึ่งของหลักอหิงสา


ท่าทีอหิงสาที่สืบมาในศาสนาของอินเดีย

พึงสังเกตว่า ต่อมาตอนหลัง ฮินดูก็มาถือหลักอหิงสา ทั้งที่ว่าตามความจริง ฮินดูนั้นมาจากศาสนาพราหมณ์

ศาสนาพราหมณ์เดิมนั้นคงจะเป็นอหิงสาได้ยาก เพราะเป็นศาสนาแห่งการบูชายัญ ตอนหลังฮินดูถึงกับไม่กินเนื้อสัตว์ และถือหลักอหิงสา อย่างท่านมหาตมคานธี เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เมื่อศาสนาพราหมณ์ได้ปรับตัวขึ้นมา และตอนหลังเรียกว่าศาสนาฮินดู

พูดในแง่หนึ่งก็คือการปรับตัวเพื่อแข่งขัน เพราะพระพุทธศาสนา กับศาสนาของเชน หรือศาสดาไชนะ หรือชินะ หรือนิครนถนาฏบุตร ถือหลักอหิงสา ไม่เบียดเบียน ทางฮินดูก็พยายามสู้ด้วยการถืออหิงสาด้วย

ในสมัยพระเจ้าอโศกนั้น จารึกของพระองค์บอกว่า แต่ก่อนนี้ ในวังฆ่าสัตว์เป็นอาหาร วันละเท่านั้นเท่านี้ ต่อมาตอนนี้เหลืออย่างละ ๑ ตัว คือสัตว์ ๔ เท้าตัวหนึ่ง และสัตว์ปีกตัวหนึ่ง ต่อไปก็จะไม่มีการฆ่าเลย

ตามเรื่องนี้ เราจะเห็นร่องรอยของการไม่ฆ่าสัตว์ทำอาหารในสมัยของพระเจ้าอโศก และก็คงมีการถือกันต่อๆ มา จนกระทั่งทำให้ศาสนาฮินดูก็ต้องแข่ง โดยพยายามถือหลักอหิงสา

ปัจจุบันนี้กลายเป็นว่าคนฮินดูทั่วไปไม่กินเนื้อสัตว์ และมีการถือหลักอหิงสาไปด้วย ทั้งๆ ที่ว่า เดิมนั้นตัวเองมาจากศาสนาบูชายัญ แต่กลับมาถือบางอย่างมากกว่าพุทธศาสนาอีก ในขณะที่ปัจจุบันชาวพุทธจำนวนมากยังกินเนื้อสัตว์กันอยู่ แต่ชาวฮินดูกลับไม่กิน นี่ก็เป็นเกร็ดปลีกย่อย แต่จะให้เห็นว่า ในเรื่องหลักอหิงสา พุทธศาสนามีชื่อเสียงมากมาแต่เดิม คู่กับศาสนานิครนถ์

ศาสนานิครนถ์นั้นถือเข้มงวดมาก พุทธศาสนาถือโดยตัดสินด้วยเจตนา ถ้าไม่ได้เจตนาก็เป็นอันว่าไม่ได้ฆ่า แต่ของนิครนถ์ระมัดระวังมาก นักบวชจะเดินก็กลัวจะไปเหยียบสัตว์ตาย ก็เลยต้องประดิษฐ์ไม้กวาดพิเศษขึ้นมา เดินไปก็ต้องกวาดทางข้างหน้าไป เพื่อไม่ให้เดินไปเหยียบสัตว์ตาย

หายใจก็กลัวว่าสัตว์เล็กสัตว์น้อยบางอย่างมันจะเข้าจมูกตายในตัวเรา ก็เลยต้องทำผ้าปิดจมูก คล้ายๆ กับคนในสังคมปัจจุบันที่อยู่ในเมืองหลวง ตามถนน เอาผ้าปิดจมูก พวกนิครนถนาฏบุตรเขาปิดมาก่อน แต่นิครนถ์เขาปิดเพื่อกันสัตว์ไม่ให้เข้าจมูก ต่างจากคนเมืองหลวงปัจจุบันนี้ ที่ปิดจมูกกันมลภาวะ กันคนละอย่าง


(มีต่อ ๑๕)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 26 เม.ย.2007, 5:52 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เวลาอาบน้ำ ก็กลัวว่า น้ำจะไปถูกไปท่วมสัตว์ตาย แม้แต่ที่ตัวเราก็มีสัตว์จะถูกน้ำตาย ก็เลยหลีกเลี่ยงการอาบน้ำ หรือจะจุดไฟ ก็กลัวแมลงบินมาถูกไฟตาย ก็เลยไม่ให้จุดไฟ

นักบวชนิครนถ์ก็เลยมีข้อบัญญัติในการที่จะเป็นอหิงสา ชนิดที่ทางพุทธศาสนาถือว่าสุดโต่งเกินไป แต่หลักการก็คืออหิงสา ไม่เบียดเบียน ทีนี้หลักการเหล่านี้ ก็เป็นท่าทีต่อสรรพสัตว์ทั่วๆ ไปเป็นกลางๆ จึงเอามาเล่าให้กันฟัง


ทำไมความต่างศรัทธา จึงขยายเป็นสงครามศาสนา

อหิงสานั้น ฝรั่งแปลว่า nonviolence แต่คำนี้ฝรั่งเพิ่งใช้มาได้ประมาณ ๘๐ ปี (เริ่มใช้ราว ค.ศ.1920) และเพราะเหตุที่เขารู้จักคำนี้จากเรื่องขบวนการกู้เอกราชของมหาตมคานธีในอินเดีย ฝรั่งก็จึงมักใช้คำนี้ในแง่เป็นอุดมการณ์หรือขบวนการทางการเมือง

ส่วนการอยู่ร่วมกันได้กับคนพวกอื่นที่ต่างเชื้อชาติ ต่างลัทธิศาสนาเป็นต้นนั้น ฝรั่งมีคำของเขาที่ใช้กันมา คือ tolerance (=ขันติธรรม) ที่เคยพูดถึงแล้วข้างต้น

เมื่อพูดถึง tolerance คือ ความยอมทนกันได้ หรือความยอมทนเห็นทนได้ยินคนอื่นที่เขาเชื่อถือหรือมีศาสนาต่างจากตนได้ หรือแปลให้ไพเราะขึ้นอีกว่า ความมีใจกว้างแล้ว ก็ควรพูดถึงถ้อยคำที่ตรงข้ามกันด้วย

ภาวะที่ตรงข้ามกับ tolerance ก็คือ intolerance ได้แก่ ความทนไม่ได้ หรือยอมไม่ได้ที่จะให้คนอื่นเชื่อถือต่างไปจากตน หมายความว่า เห็นหรือได้ยินคนอื่นพวกอื่นมีความเชื่อถือหรือนับถือต่างไปจากตนแล้ว ทนดูทนฟังไม่ได้ อยู่ร่วมด้วยไม่ได้ ตลอดจนปล่อยไว้ไม่ได้

(มีคำใกล้เคียงคือ bigotry แปลว่า ความเชื่อรั้นฝังหัว ความมีใจคับแคบยึดเอาแต่ทิฏฐิหรือลัทธิของตน และ religious fanaticism แปลว่า ความคลั่งศาสนา)

คำตรงข้ามกับ tolerance ไม่จบแค่นี้ เพราะว่า เมื่อยอมไม่ได้ หรือทนไม่ได้แล้ว ก็มักจะต้องแสดงหรือทำอะไรออกมาในทางที่เป็นการขัดแย้งหรือรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง

ถ้าตนเองมีกำลังอำนาจหรือมีพวกมากกว่า ความยอมไม่ได้ทนไม่ได้ คือ intolerance นั้น ก็มักแสดงออกเป็นการกระทำที่ฝรั่งเรียกว่า persecution ซึ่งแปลว่า การบีบคั้นข่มเหง การกำจัดกวาดล้าง หรือการห้ำหั่นบีฑา เช่น ไล่ฆ่าฟัน หรือจับเอาไปฆ่าหรือทำทารุณกรรม เมื่อเป็นการห้ำหั่นบีฑาด้วยเรื่องทางศาสนาก็เรียกว่า religious persecution

ถ้าทั้งสองฝ่ายต่างก็มีกำลังพอจะต่อสู้กัน หรือฝ่ายที่ถูกรังแกลุกขึ้นสู้ ก็กลายเป็นการรบราฆ่าฟันกัน ซึ่งมีมากมายที่กลายเป็นสงครามที่เรียกว่าสงครามศาสนา ตามคำฝรั่งที่เรียกว่า religious war

สงครามศาสนานี้ อาจจะเป็นสงครามเพื่อศาสนา ที่ในบางศาสนายอมรับหรือสนับสนุน ดังที่ฝรั่งมีคำเรียกว่า holy war ซึ่งอาจจะแปลว่า สงครามศักดิ์สิทธิ์ หรือสงครามเพื่อพระเป็นเจ้า

สงครามศาสนาที่โป๊ปทรงรับรองหรืออนุมัติ มีชื่อเรียกพิเศษว่า ครูเสด (crusade)

holy war นี้ฝรั่งว่าชาวมุสลิมก็มีเรียกว่า ญิฮาด (ฝรั่งเขียน jihad) ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่เลยทีเดียว ฝรั่งบางทีถึงกับเรียกอิสลามว่าเป็นศาสนาที่เผยแพร่ด้วยคมดาบ แต่ชาวมุสลิมแย้งว่าชาวตะวันตกเข้าใจความหมายของญิฮาดผิดไปมาก

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องความขัดแย้ง ตลอดจนสงครามที่เกี่ยวข้องกับศาสนานั้น จะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเพื่อกันความสับสน โดยแยกเป็น ๒ อย่าง

๑. การสู้รบหรือสงครามเพราะไม่ยอมให้นับถือศาสนาต่างกัน (หรือแม้แต่ศาสนาเดียวกัน แต่ต่างนิกายกัน) ตรงกับความหมายที่กล่าวข้างต้นว่า เห็นคนอื่นเชื่อถือหรือนับถือต่างไปจากตนแล้ว ทนหรือยอมปล่อยไว้ไม่ได้ ไม่ให้โอกาสแก่เขาที่จะเชื่อถือหรือนับถืออย่างอื่น เป็นการขัดแย้งหรือสงครามที่เกิดจากศาสนา หรือเพราะปรารภความต่างศาสนาโดยตรง

๒. การสู้รบหรือสงครามระหว่างคนต่างพวก ที่นับถือศาสนาต่างกัน หมายความว่า คนเหล่านั้นมีพื้นเดิมที่แบ่งแยกกันเป็นคนละพวกอยู่แล้ว โดยที่สาเหตุให้แบ่งแยกอาจจะเกิดจากความต่างเชื้อชาติต่างเผ่าต่างผิวเป็นต้น แล้วความต่างศาสนาก็ไปประกอบเข้าด้วย เมื่อมีเหตุกระทบกระทั่งกันขึ้น ความยึดถือในความเป็นพวกเขาพวกเรา หรือของเขาของเรา ก็ทำให้เกิดการขัดแย้งสู้รบกันขึ้น

พูดง่ายๆ ให้เห็นจุดแยกก็คือ

อย่างแรก เป็นการสู้รบเพราะ ความต่างศาสนา
อย่างที่สอง เป็นการสู้รบเพราะ ความต่างพวก

จะเห็นว่าตัวเหตุไม่เหมือนกัน คืออยู่ที่ความต่างศาสนาหรือความต่างพวก

มีบ่อยครั้งมากที่คนพวกเดียวกัน เช่น เชื้อชาติ ผิว เผ่าพันธุ์ หรือแม้แต่วงศ์ตระกูล หรือครอบครัวเดียวกัน ได้หันมารบราฆ่าฟันกันเพราะหันไปนับถือลัทธิศาสนาหรือนิกายศาสนาต่างกัน

จะเห็นว่า การเบียดเบียนสู้รบกันแบบที่ ๑ เป็นเรื่องที่เกิดจากศาสนาโดยตรง หรือเกิดขึ้นโดยปรารภศาสนา ซึ่งโดยทั่วไปจะมีวัตถุประสงค์ต่อไปนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง คือ

ก. เพื่อเผยแพร่ศาสนาของตน หรือให้เขายอมรับศาสนาของตน ด้วยการใช้กำลังบังคับ

ข. เพื่อกำจัดกวาดล้างศาสนาหรือลัทธิความเชื่อถืออย่างอื่น ซึ่งตนถือว่าเป็นบาป เป็นความชั่วร้าย ตลอดจนกำจัดคนที่เชื่อถือหรือประพฤติปฏิบัติอย่างอื่นที่ตนถือว่าเป็นบาป

การห้ำหั่นบีฑาและการทำสงครามแบบนี้ จึงจะตรงกับที่ฝรั่งเรียกว่า religious persecution และ religious war ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วมากมายในประวัติศาสตร์

โดยเฉพาะในโลกซีกตะวันตก


(มีต่อ ๑๖)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 01 พ.ค.2007, 5:56 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตามปกติ การเบียดเบียนและการสู้รบแบบนี้ จะต้องมีฐานอยู่ที่หลักการหรือคำสอนของศาสนานั้นๆ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม กล่าวคือ

๑) มีคำสอนในคัมภีร์ ที่ส่งเสริมหรือยอมรับการที่จะไปบังคับคนอื่นให้มาเชื่ออย่างตนหรือนับถือศาสนาของตน

๒) มีคำสอนหรือหลักการที่ให้ยกไปอ้างได้ว่า การรบหรือการฆ่าฟันสังหารกันในกรณีอย่างนั้น เป็นบุญ หรือเป็นความถูกต้องดีงาม

๓) หลักการหรือคำสอนของศาสนานั้น เป็นข้อปรารภในการก่อการเบียดเบียนหรือทำสงคราม อย่างที่เรียกว่า สงครามเพื่อเผยแพร่ศาสนา หรือสงครามในนามของศาสนา

๔) การมีความเห็นความเข้าใจหรือตีความคำสอนแตกต่างกัน ไม่อาจยุติหรือให้เป็นไปด้วยวิธีการแห่งปัญญาตามทางของการพูดจาด้วยเหตุผล แต่กลายเป็นเหตุให้ใช้กำลังเข้าประหัตประหารกัน ทำให้หมู่ชนแม้แต่ที่เป็นชาติเดียวกันนับถือศาสนาเดียวกัน ก็ต้องทำสงครามกัน

๕) สถาบันหรือองค์กรที่เป็นตัวแทนของศาสนา ให้การรับรองหรือสนับสนุนการกำจัดหรือการทำสงครามนั้น โดยอ้างหลักการหรือข้อปรารภตามหลักศาสนา

ยกตัวอย่างเช่น ทั้งที่คนทั้งหลายไม่ได้เป็นศัตรูกันเลย แต่องค์กรศาสนาอาจป่าวประกาศเชิญชวนว่าให้ไปช่วยกันปราบปรามกำจัดศัตรูของพระผู้เป็นเจ้า แล้วก็อาจจะเกิดสงครามที่ร้ายแรงยิ่งกว่าการสู้รบกับศัตรูของมนุษย์เอง ดังในกรณีของสงครามครูเสด เป็นต้น

เมื่อว่าโดยสาระสำคัญ สาเหตุพื้นฐานของความทนเห็นทนได้ยินทนอยู่ด้วยไม่ได้ จะต้องไปกำจัดกวาดล้างหรือทำสงครามทางศาสนา ก็เนื่องจากการขาดความเป็นสากล ๓ อย่างที่พูดมาแล้ว คือ

๑. ความจริงที่เป็นสากล เช่นว่า การทำความดีเป็นเหตุให้ไปสวรรค์ การทำชั่วเป็นเหตุให้ไปนรก

แต่แทนที่จะถือเป็นกลางๆ อย่างนี้ ก็กลับมีการจำกัดว่า ต้องเป็นการทำดีที่ท่านผู้นั้นผู้นี้โปรดปรานยอมรับจึงจะทำให้ไปสวรรค์ได้ หรือแม้จะทำชั่ว ถ้าท่านผู้นั้นผู้นี้ยกโทษให้ ก็ไม่ต้องไปนรก ใครเป็นเจ้าของสวรรค์ ใครจะตัดสินให้ไปสวรรค์ได้หรือไม่ได้ เป็นต้น

๒. ความเป็นมนุษย์ที่เป็นสากล เช่นว่า การทำลายชีวิตมนุษย์เป็นบาปหรือเป็นความไม่ดี ไม่สมควร (ทั้งนั้น)

แต่แทนที่จะถือเป็นกลางๆ อย่างนี้ ก็มีการจำกัดว่า ฆ่ามนุษย์พวกนี้จึงจะเป็นบาป ฆ่ามนุษย์พวกนั้นอยู่นอกศาสนา ไม่เป็นบาป แต่กลับได้บุญ เป็นต้น

๓. เมตตาที่เป็นสากล คือ ให้ทุกคนแผ่ความรู้สึกรักใคร่ไมตรีต่อเพื่อนมนุษย์ทั่วไป โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นกลุ่มไหนพวกใด นับถือลัทธิศาสนาใด

แต่แทนที่จะตั้งความรู้สึกเป็นกลางๆ อย่างนี้ ก็มีการจำกัดให้มีเมตตาต่อคนกลุ่มนี้นับถือศาสนานี้ แล้วให้เกลียดชังคนพวกโน้น หรือคนนอกศาสนาของตน ถึงโลกจะพัฒนาแต่มนุษย์ยังล้าหลังไกลในวิถีทางแห่งสันติภาพ ดังได้กล่าวแล้วว่า เรื่องการขัดแย้งสู้รบที่เกี่ยวข้องกับศาสนานั้นจะต้องแยกทำความเข้าใจให้ชัด

ขอย้อนกลับไปพูดถึงความขัดแย้งสู้รบแบบที่ ๒ ข้างต้น คือ การขัดแย้งสู้รบของคนต่างพวกที่นับถือศาสนาต่างกัน ซึ่งสาระอยู่ที่ความต่างพวกหรือถือพวก คือยึดถือในพวกของตน หรือสิ่งที่เป็นของพวกตน แล้วสู้รบเพื่อปกป้องสิ่งที่ยึดถือเป็นของตน

การขัดแย้งสู้รบแบบนี้ไม่เป็นการห้ำหั่นบีฑาหรือการทำสงครามศาสนา แต่มีสาเหตุที่ลึกลงไปอีก หรือเป็นพื้นฐานมากกว่า กล่าวคือ เป็นเรื่องของสัญชาตญาณในการยึดถือพวกของตนและของของตน

เป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ปุถุชนที่ยังไม่ได้พัฒนา หรือยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ซึ่งย่อมจะมีความยึดถือในหมู่พวก และในสิ่งทั้งหลายที่ยึดถือว่าเป็นของตน ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนาม-ธรรม เช่น วงศ์ตระกูล ถิ่นที่อยู่อาศัย วัฒนธรรมประเพณี เป็นต้น

การยึดถือผูกพันนี้มีประโยชน์ ที่ช่วยกลุ่มชนตลอดจนสังคมประเทศชาติให้มีความรักสามัคคี มีเอกภาพ เกิดความเข้มแข็ง และเป็นแรงจูงใจให้ทำการสร้างสรรค์เพื่อท้องถิ่น เพื่อชุมชน หรือเพื่อสังคมของตน

แต่พร้อมกับที่ให้คุณด้านหนึ่ง เมื่อมนุษย์เรายังพัฒนาไม่สมบูรณ์ มันก็มักก่อให้เกิดโทษหรือปัญหาอีกด้านหนึ่ง คือการขัดแย้งทะเลาะวิวาทตลอดจนสงคราม กับคนพวกอื่น การรังเกียจเดียดฉันท์ดูถูกดูแคลนสิ่งที่เป็นของคนพวกอื่น

ตามความหมายในแง่นี้ เมื่อคนกลุ่มหนึ่งเชื่อหรือนับถือศาสนาใด และได้ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมา เขาก็จะมีความยึดถือผูกพันหวงแหนต่อศาสนานั้น ทำนองเดียวกับสิ่งทั้งหลายอื่นที่เขายึดถือเป็นของเขา และในความหมายนี้ การยึดมั่นนับถือศาสนาของเขาก็มีทั้งคุณในทางที่ทำให้เกิดกำลังสามัคคีเป็นปึกแผ่นมีเรี่ยวแรงสร้างสรรค์ และทั้งโทษในการที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งทะเลาะวิวาทกับคนพวกอื่นได้เช่นเดียวกัน

การขัดแย้งในกรณีนี้ เป็นคนละอย่างกัน และเกิดจากสาเหตุคนละอย่างกับการขัดแย้งสู้รบแบบที่ ๑ ที่สาเหตุเกิดจากตัวศาสนาหรืออย่างน้อยจากสถาบันศาสนาโดยตรง

ฉะนั้น คำว่าการห้ำหั่นบีฑาและสงครามศาสนา คือ religious persecution และ religious war จึงใช้กับความขัดแย้งสู้รบแบบที่ ๑ มิใช่หมายถึงการขัดแย้งสู้รบแบบที่ ๒

ความไม่รู้จักแยกหรือความไม่ชัดเจนในเรื่องที่ว่ามานี้ เป็นปัญหามากแม้ในยุคปัจจุบัน และเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเอาใจใส่แก้ไข เพราะความไม่เข้าใจไม่รู้จักแยกให้ชัดเจนนั้น นอกจากทำให้เกิดความสับสนในทางปัญญาและวางท่าทีต่อกรณีและสถานการณ์ไม่ถูกต้องแล้ว ที่สำคัญยิ่งก็คือทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะจับจุดของปัญหาไม่ถูก

อีกทั้งยังไม่รู้ตระหนักด้วยว่าสองอย่างนี้เป็นปัญหาคนละระดับ และต้องใช้วิธีแก้ไขที่ต่างกัน


(มีต่อ ๑๗)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 03 พ.ค.2007, 9:43 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เมื่อเกิดความขัดแย้งสู้รบแบบที่ ๒ (แบบถือความต่างพวก หรือยึดถือพวกกูของกู) ตามสัญชาตญาณของปุถุชนแล้ว ศาสนาก็อาจจะเข้ามามีบทบาทโดยช่วยผ่อนคลายปัญหา ทำให้การขัดแย้งเบาลง

อย่างน้อยถ้าหลักการของศาสนาไม่เอื้อ และสถาบันของศาสนาไม่หนุน คนก็จะไม่สามารถยกข้ออ้างจากศาสนามารับรองเสริมเติมหรือขยายการขัดแย้งสู้รบของตน

แต่ในทางตรงข้าม ถ้ามีหลักการหรือคำสอนของศาสนาให้อ้าง หรือสถาบันศาสนาเข้ามาหนุน การขัดแย้งสู้รบนั้นก็จะขยายใหญ่โตรุนแรงมากขึ้น และก็อาจจะกลายเป็นการขัดแย้งสู้รบหรือสงครามที่เป็นทั้งแบบที่ ๒ และแบบที่ ๑ ปนพร้อมไปด้วยกัน

คนอย่างน้อยจำนวนหนึ่ง ได้พยายามแสวงหาวิถีทางที่จะทำให้มนุษย์ที่เชื่อถือนับถือลัทธิศาสนาหรือนิกายศาสนาที่ต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ และแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิธีเจรจาประนีประนอม แต่เท่าที่เป็นมาถึงบัดนี้ก็ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ สาเหตุอย่างหนึ่งอาจจะเกิดจากการที่ไม่ได้พบวิธีการแก้ไขที่ถูกต้อง

พูดให้ตรงจุดว่า มนุษย์ยังไม่พัฒนาเพียงพอที่จะอยู่กันด้วยคุณธรรม โดยเฉพาะเมตตาหรือไมตรีชนิดที่เปิดใจเต็มที่ โดยมีปัญญาที่รู้เข้าใจแจ่มชัดเป็นฐาน

เมื่อขาดเมตตาหรือไมตรีที่มากับปัญญาอันเปิดโล่ง ความจริงใจเปิดใจแท้จริงไม่มี บางทีเขาก็ชวนกันให้แก้ปัญหาด้วยการเอาอกเอาใจกัน โดยให้ปิดตาไม่มองข้อแตกต่างและกลบเกลื่อนปัญหา

วิธีเช่นนี้ไม่เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่แท้จริง เป็นการหลีกเลี่ยงความจริงและพรางตาตัวเอง ซึ่งแฝงซ่อนเชื้อปัญหาให้บ่มฟักตัวของมันขึ้นได้ต่อไป

ดังได้กล่าวแล้ว และขอย้ำว่า การแก้ปัญหาที่แท้จริงจะต้องเกิดจากความมีเมตตาหรือไมตรี ชนิดที่เปิดใจเต็มที่ โดยมีปัญญาที่รู้เข้าใจความจริงเป็นฐาน ท่าทีอย่างนี้จึงจะทำให้การแก้ปัญหาสำเร็จได้จริงและยั่งยืน

เพื่อให้ชัดขอแยกว่า

๑. การพิจารณาและตัดสินใจด้วยเมตตาหรือไมตรีนั้น ตั้งอยู่บนฐานของการรู้เข้าใจความจริง และพูดความจริงกันได้โดยเหตุผล เช่นรู้เข้าใจภูมิหลังกันชัดเจน ไม่ใช่หลบเลี่ยงปัญหาหรือทำเพียงแบบเอาอกเอาใจกัน อันจะไม่จิรังยั่งยืน

๒. การรู้เข้าใจความจริงแม้ที่ปวดร้าว แล้วยอมรับความผิดพลาดในอดีต ยอมรับผู้ผิดพลาด และให้อภัยกันได้นั่นแหละ จึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะเกิดจากไมตรีที่สดใสชำระล้างความกินแหนงเคลือบแคลงได้แล้ว

จึงเป็นคุณธรรมที่แท้จริง และยั่งยืน

จุดอับจนหรือติดตันอยู่ที่ว่า แม้โลกจะพัฒนามาถึงขั้นที่บอกว่าเป็นโลกาภิวัตน์แล้ว แต่มนุษย์ก็ยังมีจิตใจที่ล้าหลังห่างไกล ไม่สามารถเข้าหากันด้วยการพูดความจริง ไม่สามารถมีเมตตาหรือไมตรีที่มาพร้อมกับความเปิดใจต่อการใช้วิธีการแห่งปัญญา และแม้กระทั่งยังยึดมั่นในการแบ่งแยก เขาจึงไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ได้ และยังคงไม่มีความหวังอันชัดเจนมั่นใจที่จะมองเห็นทางแก้ปัญหานั้น

การแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมาในระดับโลก เท่าที่มนุษย์ทำได้อย่างดีที่สุด คือใช้วิธีคานอำนาจกัน หรือใช้ความกลัวต่อภัยพินาศที่ยิ่งใหญ่กว่าเป็นเครื่องยับยั้งกัน ดังกรณีที่เห็นชัดในยุคสงครามเย็น

ตลอดเวลายาวนาน โลกสองค่ายอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (ไม่มีสงครามใหญ่ภายนอก แต่จิตใจเร่าร้อนหามีสันติไม่) โดยมีอาวุธนิวเคลียร์และความกลัวต่อการตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์นั้น เป็นเครื่องยับยั้งสงคราม ดังที่เรียกกันโก้ว่า nuclear deterrence

เพื่อให้แนวคิดนี้สัมฤทธิผล สองค่ายจึงต้องเร่งผลิตและสะสมอาวุธร้ายให้มากอย่างทันกัน ซึ่งก็กลายเป็นสงครามในยามสันติ คือ สงครามเย็น ที่ทำลายมนุษยชาติอย่างเลือดเย็น

กล่าวโดยรวม มนุษยชาติยังก้าวไปได้น้อยมาก ในวิถีทางแห่งการสร้างสรรค์สันติภาพ ชนิดที่มั่นใจในการแก้ไขกำจัดความขัดแย้งระหว่างกัน และอยู่กันด้วยไมตรีอย่างเปิดใจ โดยมีปัญญาเป็นฐานให้เกิดความเข้าใจ


ภูมิหลังที่ต่างกันแห่ง ๒ วิธี
ในการดำเนินวิถีแห่งสันติภาพ


ในระดับชนชาติหรือระดับภูมิภาค พูดได้คร่าวๆ ว่ามีมนุษย์อยู่ ๒ พวก ที่มีประสบการณ์แห่งความปรองดองทางศาสนา หรืออย่างน้อยก็อยู่ในขั้นของ tolerance คือความมีขันติธรรม

อย่างน้อยก็อยู่ในขั้นของ tolerance คือความมีขันติธรรม ได้แก่

๑. ประเทศประชาธิปไตยตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

๒. ประเทศพุทธศาสนา

การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความมีขันติธรรมทางศาสนา ในหมู่ชน ๒ พวก ในข้อ ๑ และ ๒ นี้ มีลักษณะแห่งประสบการณ์ ภูมิหลัง และหลักการที่แตกต่างกันมาก


(มีต่อ ๑๘)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 08 พ.ค.2007, 8:01 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พวกที่ ๑ คือกลุ่มประเทศประชาธิปไตยตะวันตก มีขันติธรรม (tolerance) ในรูปของเสรีภาพทางศาสนา ที่เกิดจากปฏิกิริยาต่อภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของตนเอง ที่เต็มไปด้วยการห้ำหั่นบีฑา (persecution) และสงครามศาสนา (religious wars) เป็นเหตุบีบคั้นให้ดิ้นรนใฝ่หาเสรีภาพ พร้อมทั้งเกิดความเบื่อหน่ายขยะแขยงต่อภาวะเช่นนั้น แล้วแสวงหาทางออกใหม่ที่ตรงข้าม

พวกที่ ๒ คือกลุ่มประเทศพุทธศาสนา มีประวัติศาสตร์อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในโลก โดยเฉพาะในประเทศตะวันตกว่า มีความเอื้อเฟื้อใจกว้างและการยอมรับผู้อื่นเป็นคุณสมบัติพื้นเดิม อันสืบมาจากหลักการหรือคำสอนของพุทธศาสนานั้นเอง

ในโลกปัจจุบันนี้ อารยธรรมตะวันตกแผ่อิทธิพลไปเป็นโลกาภิวัตน์ จนมีสถานะเหมือนเป็นตัวแทนแห่งอารยธรรมของมนุษยชาติ ดังที่เมื่อพูดถึงความเจริญของโลกมนุษย์เวลานี้ ก็หมายถึงสภาพแห่งอารยธรรมแบบตะวันตกนั่นเอง และในอารยธรรมตะวันตกนั้นก็แน่นอนว่า ตัวชูที่เชิดอารยธรรมนั้นขณะนี้ ก็คืออารยธรรมอเมริกัน

ชนชาติทั้งหลายในยุโรป มีประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่บีบคั้น การห้ำหั่นบีฑา และสงครามกัน อย่างกว้างขวางรุนแรงตลอดมา และศาสนาก็ได้เป็นองค์ประกอบใหญ่อยู่ในกระบวนการแห่งความขัดแย้งและสงครามนั้น จนความขัดแย้งทางศาสนากับปัญหาการเมืองเป็นเรื่องปะปนมาด้วยกัน โดยเฉพาะการใช้อำนาจการเมืองเป็นเครื่องบังคับคนให้ถือลัทธินิกายศาสนาของตน และกำจัดผู้คนที่ไม่นับถืออย่างตน

การจำกัด กีดกั้น ข่มเหง บังคับ กำจัด กวาดล้างด้วยสาเหตุแห่งการนับถือศาสนา หรือแม้แต่ตีความคำสอนในศาสนาต่างกัน มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเสื่อมและเจริญของอารยธรรมตะวันตก

พร้อมนั้น ภูมิหลังข้อนี้แหละที่เป็นสาเหตุให้ชนชาติอเมริกันผู้อพยพไปจากยุโรป มีความใฝ่ฝันนักในสิ่งที่เรียกว่า freedom คือ ความเป็นอิสรเสรี ซึ่งรวมทั้งเสรีภาพทางศาสนา (religious freedom) และมุ่งหวังให้ประเทศอเมริกาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ (the land of liberty) หรือดินแดนแห่งเสรีชน (the land of the free; พอดีมาตรงกับคำแปลชื่อประเทศไทย)

การรู้ความจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แห่งการดิ้นรนสู่เสรีภาพนี้ เป็นสิ่งสำคัญต่อการเข้าใจชนชาติอเมริกัน ซึ่งหมายถึงการเข้าใจอารยธรรมที่ครอบงำหรือนำโลกอยู่ในปัจจุบัน และมีความหมายอย่างยิ่งต่อการที่จะก้าวหน้าไปในการแก้ไขปัญหาของมนุษยชาติ

ในด้านความขัดแย้งเบียดเบียนกันนั้น


ภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

๑. ภูมิหลังศาสนากับอารยธรรมตะวันตก

ในซีกโลกตะวันตก ศาสนาเกิดขึ้นมาพร้อมกับความรุนแรง

ศาสนาของตะวันตก เริ่มต้นและดำเนินมาด้วยความรุนแรง เมื่อศาสนาคริสต์เกิดขึ้นใหม่ๆ จักรวรรดิโรมันกำลังเรืองอำนาจครอบครองทั่วยุโรป ศาสนาคริสต์ถูกกำจัดกวาดล้างอย่างรุนแรงเริ่มแต่ ค.ศ.64 เป็นต้นมา

ตลอดเวลาประมาณ ๒๕๐ ปี จนถึง ค.ศ.313 คริสต์ ศาสนิกชนถูกกำจัดกวาดล้างสังหารอย่างทารุณ รวมทั้งถูกจับเอาไปโยนให้สู้กับเสือสิงห์จนถูกกินให้คนดูในสนามกีฬาโคลีเซียม (Colosseum หรือ Coliseum) อันยิ่งใหญ่ ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความงามสง่าโอฬารของกรุงโรม และเป็นเครื่องแสดงลักษณะแห่งสิ่งที่เรียกกันว่าจิตวิญญาณของอารยธรรมโรมัน

ครั้นต่อมา เมื่อจักรวรรดิโรมันหันมานับถือคริสต์ศาสนา เริ่มแต่พระเจ้า Constantine I ใน ค.ศ.313 ต่อนั้นมาไม่นานประวัติศาสตร์อันยืดยาวแห่งการที่คริสต์ศาสนากำจัดกวาดล้างคนนอกรีตและพวกซาตานหรือศัตรูของพระเจ้าก็เริ่มขึ้น ตามด้วยสงครามระหว่างคริสต์ศาสนาต่างนิกายกัน นับแต่ประมาณ ค.ศ.391 เป็นต้นมาจนถึง ค.ศ.1834 เป็นเวลาเกือบ ๑๔๕๐ ปี

การกำจัดกวาดล้างเหล่านี้ เป็นเรื่องที่คริสต์ศาสนจักรร่วมกับอาณาจักรดำเนินการบ้าง คริสต์ศาสนจักรใช้อิทธิพลชักนำให้อาณาจักรปฏิบัติตามบ้าง กลุ่มชนหรือกลุ่มประเทศที่นับถือคริสต์ศาสนาต่างนิกายกันสังหารหรือทำสงครามกันบ้าง

ในสมัยกลาง พวกยิว ชาวมุสลิม และคนนอกรีต เป็นกลุ่มที่ถูกกำจัดกวาดล้างโดยทั่วไป ตลอดจนแม่มดทั้งหลาย (ถือว่าเป็นพวกของซาตาน) ต่อมาก็รวมถึงนักปราชญ์นักวิชาการที่เผยแพร่ความรู้ความคิดเห็นขัดแย้งต่อคำสอนในคริสต์ศาสนา

ถึงกับได้มีสถาบันสำคัญเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่นี้ คือการที่องค์สันตะปาปา (Pope) ได้ร่วมกับอาณาจักร ตั้งศาลที่เรียกว่า Inquisition (ขอแปลว่า "ศาลไต่สวนศรัทธา") ขึ้น ในค.ศ.1231

ศาลนี้เพิ่งมาสิ้นสุดหมดไปใน ค.ศ.1834 (= ประมาณ ๖๐๐ ปี) คนที่ทางศาสนจักรถือว่านอกรีต เข้ากับซาตาน หรือทำผิดต่อคริสต์ศาสนา ถูกจับขึ้นศาลลงโทษ รวมทั้งเผาทั้งเป็น จำนวนมากมาย

ตัวอย่างที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ คือ บรูโน (Giodarno Bruno) นักปราชญ์ผู้สอนว่า ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล และมีจักรวาลมากมายเป็นอนันต์ ถูกศาล Inquisiton ตัดสินประหารด้วยการเผาทั้งเป็น ในค.ศ.1600

กาลิเลโอ (Galileo Galilei) นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ผู้สอนว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ หาใช่ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลกไม่ ก็ถูกจับขึ้นศาลนี้ แต่เพราะกาลิเลโอยอมรับผิด จึงได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษให้ขังกักบริเวณอยู่แต่ในบ้าน (house arrest) จนตายไปเมื่อ ค.ศ.1642

ก่อนหน้านั้น เซอร์วีตัส (Michael Servetus) ผู้ค้นพบระบบการไหลเวียนของโลหิต ก็ถูกศาล Inquisition นี้ ตัดสินประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็น ในค.ศ.1553

เซอร์วีตัสหนีการจับกุมของศาลฝ่ายคาทอลิกไปได้ ทางฝ่ายคาทอลิกจึงเผาหุ่นแทนตัวเขา แต่เซอร์วีตัสก็ไปถูกฝ่ายโปรเตสแตนต์จับได้ และศาล Inquisition ของฝ่ายโปรเตสแตนต์ (เรียกชื่อว่า Consistory) ที่ Geneva ในสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้ตัดสินให้จับเขาเผาทั้งเป็นได้สำเร็จ ในค.ศ.1553 นั้นเอง


(มีต่อ ๑๙)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง