Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ความตาย (สมเด็จพระญาณสังวรฯ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 24 เม.ย.2007, 3:51 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ความตาย

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
วัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กทม.


แสดงทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗



“ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนพาล ทั้งบัณฑิต
ล้วนไปสู่อำนาจแห่งความตาย
ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า”


แทบทุกคนเคยได้รับรู้ความหมายของข้อความข้างต้นกันอยู่แล้ว
แทบทุกคนเคยพูดออกจากปากตนเองมาแล้ว
แม้จะไม่ตรงเป็นคำๆ แต่ก็มีความหมายตรงกันกับข้อความข้างต้นนี้
ทั้งยังเป็นการพูดชนิดที่เรียกว่าติดปากอีกด้วย คือ พูดอยู่เสมอ
ได้รู้ได้เห็นการตายของผู้ใดทีไร
ก็มักจะอุทานเป็นการปลง ด้วยความหมายดังกล่าวแทบทั้งนั้น
นี่เป็นเพราะทุกคนมีความรู้อยู่แก่ใจว่า
ทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย
ไม่มีใครสักคนเดียวที่จะหนีความตายไปพ้น
นับว่าทุกคนมีความได้เปรียบอยู่ประการหนึ่ง
ที่มีความรู้นี้ติดตัวติดใจอยู่
แต่แทบทุกคนก็มีความเสียเปรียบอยู่ประการหนึ่ง
ที่ไม่เห็นค่าไม่เห็นประโยชน์ของความรู้นี้
จึงมิได้ใส่ใจเท่าที่ควร ปล่อยปละละเลย จึงรู้เหมือนไม่รู้
สิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ จึงเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่มีค่า


สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 24 เม.ย.2007, 3:53 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ความรู้ว่าทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย
เป็นสิ่งเป็นคุณเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่
แม้ใส่ใจในความรู้นี้ให้เท่าที่ควร
ก็จะสามารถทำให้เกิดคุณเกิดประโยชน์แก่ตนเองได้มหาศาล
ไม่มีคุณไม่มีประโยชน์ใดอาจเปรียบปรานได้
เพื่อเสริมส่งความรู้นี้ให้บังเกิดคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่
แก่ตนเองและแก่ส่วนรวม
ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาทั้งหลาย
ท่านจึงสอนให้หัดตายเสียก่อนถึงเวลาตายจริง
ท่านสอนให้หัดตายไว้เสมอ
อย่างน้อยก็ควรวันละหนึ่งครั้ง
ครั้งละ ๕ นาที ๑๐ นาที เป็นอย่างน้อย

การหัดตายนั้น
บางคนบางพวก น่าจะเริ่มต้นด้วย
หัดคิดถึงสภาพเมื่อคนกำลังถูกประหัตประหารให้ถึงตาย
คิดให้ลึกซึ้งถึงความกลัวตายของตนในขณะนั้น
แล้วก็คิดจนถึง เมื่อต้องถูกประหัตประหารถึงตายจนได้
แม้จะกลัวแสนกลัว แม้จะพยายามกระเสือกกระสนช่วยตนเอง
ให้รอดพ้นอย่างไร ก็หารอดพ้นไม่
ต้องตายด้วยความทรมานทั้งกายทั้งใจ

การหัดตาย
เริ่มตั้งแต่ความกลัวตายแบบทารุณโหดร้ายเช่นนี้
มีคุณเป็นพิเศษแก่จิตใจ
จักสามารถอบรมบ่มนิสัย
ที่แม้เหี้ยมโหดอำมหิต
ปราศจากเมตตากรุณาต่อชีวิตร่างกายผู้อื่น
ให้เปลี่ยนแปลงได้
ความคิดที่จะประหัตประหารเขา
เพื่อผลได้ของตน จักเกิดได้ยาก หรือจักเกิดไม่ได้เลย
เพราะการพยายามหัดให้รู้สึกหวาดกลัว
การถูกประหัตประหารผลาญชีวิตนั้น
เมื่อทำเสมอๆ ก็จะเป็นผล
เป็นความเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้อื่นที่ต้องหวาดกลัวเช่นเดียวกัน
ความเมตตาปรานีชีวิตผู้อื่นสัตว์อื่นจะเกิดได้ แม้จะไม่เคยเกิดมาก่อน
ซึ่งก็เป็นการเมตตาปราณีชีวิตตนเองไปพร้อมกันด้วยอย่างแน่นอน
ผู้ประหัตประหารเขา แม้จะได้สิ่งที่มุ่งได้
แต่ผลที่แท้จริง อันจะเกิดจากกรรม
คือ การประหัตประหารที่ได้ประกอบกระทำลงไปนั้น
จักเป็นทุกข์โทษแก่ผู้กระทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กรรมนั้นให้ผลสัตย์ซื่อนัก เหมือนผลของยาพิษร้าย
กรรมนั้นเมื่อทำแล้ว ก็เหมือนดื่มยาพิษร้ายแรงเข้าไปแล้ว
จักไม่เกิดผลแก่ชีวิตและร่างกายย่อมไม่มี ย่อมเป็นไปไม่ได้
ถ้าเป็นกรรมดีก็จักให้ผลดี
ถ้าเป็นกรรมชั่วก็จักให้ผลชั่ว
เราเป็นพุทธศาสนิก นับถือพระพุทธศาสนา
พึงมีปัญญาเชื่อให้จริงจังถูกต้องในเรื่องกรรม
และการให้ผลของกรรมเถิด จักเป็นศิริมงคล
เป็นความสวัสดีแก่ตนเอง

ยุคสมัยนี้ น่าจะง่ายพอสมควร
สำหรับนึกให้กลัวการถูกประหัตประหารถึงชีวิต
เพราะเหตุการณ์ทำนองนี้ เกิดขึ้นแก่ใครก็ได้ไม่ว่างเว้น
อาจจะเกิดแก่เราเอง วินาทีหนึ่งวินาทีใดก็ได้
หัดคิดไว้ก่อน จึงเป็นการเตรียมพร้อมที่ไม่ปราศจากเหตุผล
แต่เป็นการไม่ประมาท
ความตายเกิดขึ้นได้แก่ทุกคนทุกหนทุกแห่งทุกเวลา
พุทธศาสนสุภาษิตกล่าวว่า “เมื่อสัตว์จะตายไม่มีผู้ป้องกัน”
และ “จะอยู่ในอากาศ อยู่กลางสมุทร เข้าไปสู่หลืบเขา
ก็ไม่พ้นจากมฤตยูได้
ประเทศ คือ ดินแดนที่มฤตยูจะไม่รุกรานผู้อยู่ ไม่มี”
เพราะถูกมฤตยูรุกรานเมื่อไรที่ไหนเราไม่รู้
หายใจออกครั้งนี้แล้ว เราอาจไม่ได้หายใจเข้าไปอีก
เมื่อถึงเวลาจะต้องตาย ไม่มีผู้ใดจะผัดเพี้ยนได้ ไม่มีผู้ใดจะช่วยได้
เพราะ “เมื่อสัตว์จะตาย ไม่มีผู้ป้องกัน”
และ “ความผัดเพี้ยนกับมฤตยูอันมีกองทัพใหญ่นั้นไม่ได้เลย”
ทุกก้าวย่างของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่แห่งหนตำบลใด
จึงไม่พ้นมือมฤตยูได้ ผู้ร้ายก็เคยตกอยู่ในมือ
ทั้งที่ถุงใส่เงินแสนเงินล้านที่ไปปล้นจี้เขายังอยู่ในมือ
ไม่ทันได้ใช้ได้เก็บเข้าบัญชี
สะสมเพื่อความสมปรารถนาของตน
นักการเมืองไม่ว่าเล็กว่าใหญ่
ก็เคยตกอยู่มในมือมฤตยู ในขณะกำลังเหนื่อยกายเหนื่อยใจ
ใช้หัวคิดทุ่มเท เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดของตน
ผู้ที่ใช้กำลังยิ้มแย้มแจ่มใสมีความสุขกับครอบครัว
เคี้ยวข้าวอยู่ในปากแท้ๆ ก็เคยตกอยู่ในมือมฤตยู โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ผู้เหินฟ้าอยู่บนเครื่องบินใหญ่โตมโหฬารราวกับตึก
ก็เคยอยู่ในมือมฤตยู โดยไม่คาดคิด
ผู้โดยสารเรือเดินสมุทรใหญ่
ก็เคยตกอยู่ในมือมฤตยูพร้อมกันมากมายหลายสิบชีวิต
นักไต่เขาผู้ที่เคยหายสาบสูญในขณะที่กำลังไต่เขา
โดยตกเข้าไปอยู่ในมือมฤตยู
ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนยันสัจจะแห่งพุทธศาสนสุภาษิต
ที่ยกมาแสดงแล้วทั้งสิ้น


สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 24 เม.ย.2007, 3:56 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา คือ ผู้มีปัญญา
ท่านจึงสอนให้เร่งอบรมมรณสติ
นึกถึงความตาย หัดตายก่อนตายจริง


จุดมุ่งหมายสำคัญของการหัดตาย
ก็คือ เพื่อปล่อยใจจากสิ่งทั้งหลาย
ก่อนที่จะถูกความตายบังคับให้ปล่อยกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจ
ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก
อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายทั้งปวง
หัดใจให้ปล่อยเสีย พร้อมกับหัดตาย
สิ่งอันเป็นเหตุ ให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง ให้เกิดตัณหาอุปาทาน
หัดละเสียเสีย ปล่อยเสีย พร้อมกับหัดตาย
ซึ่งจะมาถึงเราทุกเข้าจริงได้ทุกวินาที


บางทีจะมีปัญหาว่า มีคุณพิเศษอย่างใดหรือ
ที่จะควรละหรือเพียงหัดละ
ความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหาอุปาทาน ตั้งแต่ก่อนตาย
หรือจะไม่พูดถึงจุดประเสริฐสูงสุดในพุทธศาสนา
คือ มรรคผลนิพพาน อันจะเกิดได้
เพราะการละกิเลสสำคัญ คือ สามกองเท่านั้น


แต่จะพูดถึงผลได้ผลเสียธรรมดาๆ
ที่แท้พิจารณาเพียงสมควร ก็จะเข้าใจ
อันความโลภความโกรธความหลงตัณหาอุปาทานนั้น
บางครั้งบางคราว ก็ทำให้ผู้ยังมีชีวิตอยู่ทั้งหลาย
ได้รับวัตถุตอบสนองสมปรารถนา
เช่น ผู้มีความโลภอยากได้ข้าวของทรัพย์สินเงินทองของผู้อื่น
บางครั้งบางคราวก็อาจขอเขา โกงเขา ลักขโมยเขา
ได้สิ่งที่โลภอยากได้ เป็นของตนสมปรารถนา
หรือผู้มีความโกรธ อยากว่าเขา อยากทำร้ายร่างกายเขา
บางครั้งบางคราว ก็อาจทำได้สำเร็จสมใจ
แต่ถ้าตกอยู่ในมือมฤตยูแล้ว เป็นคนตายแล้ว
แม้ยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหาอุปาทาน
เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจิตใจ
ผู้ที่ตายแล้ว จะไม่สามารถใช้กิเลสกองหนึ่งกองใด
ให้เกิดผลตอบสนองความปรารถนาต้องการได้เลย
ผู้ตายแล้วที่มีความโลภ ก็ไม่อาจขอเขาลักขโมยเขาได้
หรือผู้ตายแล้ว ที่มีความโกรธ ก็ไม่อาจว่าเขา ทำร้ายร่างกายเขาได้
กล่าวได้ว่า แม้ใจของผู้ที่ตายแล้ว จะยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง
ตัณหาอุปาทาน อยู่มากมายเพียงไร
ก็จะไม่สามารถก่อให้เกิดผลดี
อันเป็นคุณแก่ตนหรือแก่ผู้ใดได้เลย
มีแต่ผลร้ายอันเป็นโทษสถานเดียวจริง

ปัญหาสืบเนื่องว่า ไฉนเมื่อกิเลสเป็นคุณแก่ผู้ตายแล้วไม่ได้
จึงเป็นโทษแก่ผู้ตายได้นั้น มีคำตอบดังนี้
เมื่อลมหายใจออกจากร่างไม่กลับเข้าอีกแล้ว
สิ่งที่เป็นนาม แลไม่เห็นด้วยสายตาเช่นเดียวกับลมหายใจ
คือ จิตก็จะออกจากร่างนั้นด้วย
จิตจะออกจากร่างโดยคงสภาพเดิม
คือ พร้อมด้วยกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง
ที่มีอยู่ในจิตขณะยังอยู่ในร่าง
คือ ยังเป็นจิตของคนเป็น ของคนยังไม่ตาย


สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 24 เม.ย.2007, 3:58 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า
“ผู้ละโลกนี้ไป ขณะที่จิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้”
กิเลสทั้งปวง เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต
จิตที่มีกิเลส เป็นจิตที่เศร้าหมอง
กิเลสมาก จิตก็เศร้าหมองมาก
กิเลสน้อย จิตก็เศร้าหมองน้อย
จิตที่มีกิเลสเศร้าหมอง
เมื่อละจากร่าง ไปสู่ภพภูมิใด ก็จะคงกิเลสนั้นอยู่
คงความเศร้าหมองนั้นไว้
ภพภูมิที่ไป จึงเป็นทุคติ คติที่ชั่ว คติที่ไม่ดี
มากน้อยหนักเบาตามกิเลสตามความเศร้าหมองของจิต


อันคำว่า “จิตเศร้าหมอง” ที่ท่านใช้ในที่นี้
มิได้หมายความเพียงว่า
เป็นจิตที่หดหู่ อยู่ด้วยความเศร้าโศกเสียใจ เท่านั้น
แต่ “จิตเศร้าหมอง” หมายถึง จิตที่ไม่บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
คือ เศร้าหมองด้วยกิเลส ดังกล่าวแล้วว่า
จิตมีกิเลสมากก็เศร้าหมองมาก จิตที่มีกิเลสน้อยก็เศร้าหมองน้อย

อันกิเลสกองหลังหรือโมหะนั้น เป็นกองใหญ่กองสำคัญ
เป็นเหตุแห่งโลภะและโทสะ
ความหลงหรือโมหะนั้น คือ ความรู้สึกที่ไม่ถูก
ความรู้สึกที่ไม่ชอบ ความรู้สึกที่ไม่ควร
คนมีโมหะ คือ คนหลง
ผู้มีความรู้สึกไม่ถูกไม่ชอบไม่ควรทั้งหลาย คือ คนมีโมหะ คือ คนหลง
เช่นหลงตน หลงคน หลงอำนาจ เป็นต้น


คนหลงตน เป็นคนมีโมหะ
มีความรู้สึกที่ไม่ถูกไม่ชอบ ไม่ควรในตนเอง
คนหลงตน จะมีความรู้สึกว่า
ตนเป็นผู้ที่มีความดี ความสามารถ ความวิเศษ
เหนือใครทั้งหลายเกินความจริง
ซึ่งเป็นความรู้สึกในตนเอง ที่ไม่ถูก ไม่ชอบ ไม่ควร
โลภะและโทสะ ก็จักเกิดตามมา โดยไม่ยาก
เมื่อหลงจนว่า ดีวิเศษเหนือคนทั้งหลาย
ความโลภ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งอันควรแก่ความดีความวิเศษ
ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
ความโกรธ ด้วยไม่ต้องการให้ความดีความวิเศษนั้น
ถูกเปรียบหรือถูกลบล้าง ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา นี้เป็นตัวอย่าง

คนหลงคน เป็นคนมีโมหะ
มีความรู้สึกที่ไม่ถูก ไม่ชอบ ไม่ควรในคนทั้งหลาย
คนหลงจะมีความรู้สึกว่า คนนั้นคนนี้ที่ตนหลง
มีความสำคัญ มีความดีความวิเศษเหนือคนอื่นเกินความจริง
ซึ่งเป็นความรู้สึกในคนนั้นๆ ที่ไม่ถูก ไม่ชอบ ไม่ควร
เมื่อมีความรู้สึกนี้อันเป็นโมหะ
โลภะและโทสะ ก็จักเกิดตามมาได้โดยไม่ยาก
เมื่อหลงคนใดคนหนึ่งว่า มีความสำคัญความดีความวิเศษเหนือคนอื่น
ความรู้สึกมุ่งหวังเกี่ยวกับคนใดคนหนึ่งนั้น เป็นโลภะ
และเมื่อมีความหวัง ก็ต้องมีได้ทั้งความสมหวังและความผิดหวังเป็นธรรมดา
ความรู้สึกผิดหวังนั้น เป็นโทสะ
นี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความหลง คือ หลงคน

คนหลงอำนาจ เป็นคนมีโมหะ
มีความรู้สึกที่ไม่ถูก ไม่ชอบ ไม่ควรในอำนาจที่ตนมี
คนหลงอำนาจ จะมีความรู้สึกว่า
อำนาจที่ตนมีอยู่นั้น ยิ่งใหญ่เหนืออำนาจทั้งหลายเกินความจริง
ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่ถูก ไม่ชอบ ไม่ควร
เมื่อมีความรู้สึกนี้อันเป็นโมหะ
โลภะและโทสะ ก็จักเกิดตามมาได้โดยไม่ยาก
เมื่อหลงอำนาจของตนว่ายิ่งใหญ่เหนืออำนาจทั้งหลาย
ย่อมเกิดความเหิมเห่อทะเยอทะยานในการใช้อำนาจนั้น
ให้เกิดผลเสริมอำนาจของตนยิ่งๆ ขึ้น
ความรู้สึกนี้ จัดเป็นโลภะก็ได้
และแม้ไม่เป็นไปดังความเหิมเห่อทะเยอทะยาน
ความผิดหวังนั้นจักเป็นโทสะ
นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของความหลง คือ หลงอำนาจ

ผู้มีโมหะมาก คือ มีความหลงมาก
มีความรู้สึกที่ไม่ถูก ไม่ชอบ ไม่ควรมากในตน
ในคน ในอำนาจ ย่อมปฏิบัติผิดได้มาก
ก่อทุกข์โทษภัยให้เกิดขึ้นได้มาก ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
ทั้งแก่ส่วนน้อยและส่วนใหญ่
รวมถึงแก่ประเทศชาติศาสนาพระมหากษัตริย์
พระพุทธดำรัสที่ว่า “ผู้ละโลกนี้ไปในขณะที่จิตเศร้าหมอง
ทุคติเป็นอันหวังได้” นั้น


มีตัวอย่างที่จักยกขึ้นประกอบการพิจารณาให้เข้าใจพอสมควร ดังนี้
บุคคลผู้มีโมหะมาก หลงตนมาก
จัดเป็นพวกมีกิเลสมาก จิตเศร้าหมองมาก
จะเป็นผู้ขาดความอ่อนน้อม
แม้แต่ต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อมอย่างยิ่ง
บุคคลเหล่านี้เมื่อละโลกนี้ไป ขณะที่ยังมิได้ละกิเลส คือ โมหะ
จิตย่อมเศร้าหมอง ย่อมไปสู่ทุคติ


ทุคติของผู้หลงตน
จนไม่มีความอ่อนน้อมต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อมอย่างยิ่ง
จักเกิดในตระกูลที่ต่ำ
ตรงกันข้ามกับ ผู้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อม
ที่จะไปสู่สุคติ คือ จักเกิดในตระกูลที่สูง
นี้เป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งชัดแจ้งเกี่ยวกับกรรมและการให้ผลของกรรม
ผู้ใดทำกรรมใดไว้ จักได้รับผลของกรรมนั้น
ทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว
ทำเช่นใด จักได้เช่นนั้น
ความไม่อ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม เป็นกรรมไม่ดี
การเกิดในตระกูลที่ต่ำ เป็นผลของกรรมไม่ดี
เป็นผลที่ตรงตามเหตุแท้จริง
เพราะผู้เกิดในตระกูลที่ต่ำ
ปกติย่อมไม่ได้รับความอ่อนน้อมจากคนทั้งหลาย
ส่วนผู้เกิดในตระกูลที่สูง
ปกติย่อมได้รับความอ่อนน้อม
ความอ่อนน้อมที่ผู้เกิดในตระกูลสูงมีปกติ
ได้รับนั้นเป็นผลที่เกิดจากเหตุอันเป็นกรรมดี คือ ความอ่อนน้อม


สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 24 เม.ย.2007, 4:00 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ที่กล่าวมาแล้วเป็นการยืนยันว่า
ผู้มีปัญญาควรปฏิบัติตามคำแนะนำของปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา
หัดตายก่อนที่จะตายจริง
หัดปล่อยใจจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจ
พร้อมกับการหัดตาย ก่อนที่จะถูกความตายมาบังคับให้เป็นไป


การหัดตายที่ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา
ท่านแนะนำ คือ การหัดอบรมความคิดสมมติว่า
ตนเองในขณะนั้นปราศจากชีวิตแล้ว ตายแล้ว
เช่นเดียวกับผู้ที่ตายแล้วจริงๆ ทั้งหลาย
คิดให้เห็นชัดในขณะนั้นว่า
เมื่อตายแล้ว ตนจะมีสภาพอย่างไร


ร่างที่เคยเคลื่อนไหวได้ก็จะหยุดนิ่ง
อย่าว่าแต่จะลุกขึ้น ไปเก็บรวบรวมเงินทองข้าวของ
ที่อุตส่าห์สะสมไว้ เพื่อนำไปด้วยเลย
จะเขยิบให้พ้นแดดพ้นมดสักนิ้วสักคืบ ก็ทำไม่ได้
หมดลมที่ตรงไหน ก็จะเคลื่อนพ้นที่ตรงนั้นไปด้วยตนเองไม่ได้
เมื่อมีผู้มายกไปนำไป ยังที่ซึ่งเขากำหนดว่าเหมาะว่าควร
ก็ไม่อาจขัดขืนโต้แย้งได้
แม้บ้านอันเป็นที่รักที่หวงแหน เขาก็จะไม่ให้อยู่
จะยกไปวัด เคยนอนบนฟูกบนเตียงในห้องกว้าง
ประตูหน้าต่างเปิดโปร่ง
เขาก็จับใส่ลงไปในโลงศพที่แคบอับทึบ
ไม่มีประตูไม่มีหน้าต่าง
ตีตะปูปิดสนิทแน่น ไม่ให้มีแม้แต่ช่องลมและอากาศ
จะร้องก็ไม่ดัง จะประท้วงหรืออ้อนวอนก็ไม่สำเร็จ ไม่มีใครสนใจ
สามีภรรยามารดาบิดาบุตรธิดาญาติสนิทมิตรทั้งหลาย
ที่เคยรักห่วงใยกันนักหนา ก็ไม่มีใครมาอยู่ด้วยแม้สักคน
อย่าว่าแต่จะเข้าไปนั่งไปนอนในโลงศพด้วยเลย
แม้แต่จะนั่งเฝ้าอยู่ข้างโลงทั้งวันทั้งคืน ยังไม่มีใครยอม
บ้านใครเรือนใคร ก็พากันกลับไปหมด
ทิ้งเราไว้แต่ลำพัง ในวัดที่อ้างว้าง
มีศาลาตั้งศพ มีเมรุเผาศพ มีเชิงตะกอน
มีศพที่เผาเป็นเถ้าถ่านแล้วบ้าง ยังไม่ได้เผาบ้าง มากมายหลายศพ
ที่นี่เมื่อยังไม่ตาย เราเคยกลัว เคยรังเกียจ
แต่เมื่อตาย เราก็หนีไม่พ้น
เรามีอะไรหรือในขณะนั้น เราไม่มีเลย
มือเปล่า เกลี้ยงเกลาไปทั้งเนื้อทั้งตัว
เงินสักบาททองสักเท่าหนวดกุ้ง ก็ไม่มีติดตัวแท้ๆ
เขาไม่ได้แต่งเครื่องเพชรเครื่องทองของมีค่า
หรือมอบกระเป๋าใส่เงินใส่ทองให้เลย
ยังดีเราก็มีเพียงเสื้อผ้าที่เขาเลือกสวมใส่แต่ศพให้ไปเท่านั้น
ซึ่งไม่กี่วันก็จะชุ่มเลือดชุ่มน้ำเหลืองที่ไหลจากตัว
มีใครเล่าจะมาเปลี่ยนชุดใหม่ให้
ทั้งๆ ที่ก็สะสมไว้มากมายหลายชุด
ที่ล้วนเป็นที่ชอบอกชอบใจ ว่าสวยว่างาม
โอกาสที่จะได้ใช้เงินใช้เสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องเพชรเครื่องทองเหล่านั้น
สิ้นสุดลงแล้วพร้อมกับลมหายใจ
พร้อมกับชีวิตที่สิ้นสุดนั้นเอง
ไม่คุ้มกันเลยกับความเหนื่อยยากแสวงหา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่คุ้มกันเลย
กับที่ถ้าจะต้องแสวงหา มาสะสม
โดยไม่ถูกไม่ชอบ ด้วยประการทั้งปวง
ที่เป็นบาปเป็นอกุศล
เป็นการเบียดเบียนก่อทุกข์ก่อภัยให้ผู้อื่น

หัดนึกถึงร่างของคนเองที่ตายแล้ว ขึ้นอืดอยู่ในโลง
เริ่มปริเริ่มแตกมีน้ำเลือดน้ำหนองไหลออกจากทุกขมขน
เส้นผมเปียกแฉะด้วยเลือดด้วยหนอง
ลิ้นที่เคยอยู่ในปากเรียบร้อยก็หลุดออกมาจุก
นัยน์ตาถลนเหลือกลาน รูปร่างหน้าตาตนเองขณะนั้น
อย่าว่าแต่จะให้ใครอื่นจำได้เลย แม้แต่ตัวเองก็จำไม่ได้
อย่าว่าแต่จะให้ใครอื่นไม่รังเกียจสะดุ้งกลัวเลย
แม้แต่ตัวเองก็ยากจักห้ามความรู้สึกนั้น
ผิวพรรณที่อุตสาหะพยายามถนอมรักษาให้งดงาม
เจริญตาเจริญใจ ด้วยหยูกยาเครื่องอบเครื่องลูบไล้
เครื่องประทินอันมีกลิ่นมีคุณค่าราคาแพงทั้งหลาย
มีลักษณะตรงกันข้ามกับความปรารถนาอย่างสิ้นเขิง เมื่อความตายมาถึง

เมื่อความตายมาถึง ไม่มีผู้ใดจะสามารถถนอมรักษาหวงแหน
ทะนุบำรุงร่างของตนเองไว้ได้
แม้สมบัติพัสถานที่แสดงหาไว้ระหว่างมีชีวิตอยู่
จนเต็มสติปัญญาความสามารถ ด้วยเหล่ห์ ด้วยกลก็ตาม
เพื่อใช้ทะนุถนอมรักษาเชิดชูบำรุงร่างของตน
ก็ติดกับร่างไปไม่ได้เลย
เป็นจริงดังพุทธศาสนสุภาษิตว่า
“ทรัพย์สักนิดก็ติดตามคนตายไปไม่ได้”
ให้ความสุข ความสมบูรณ์ ความสะดวกสบาย
ความปกป้องคุ้มกันร่างของคนตายไม่ได้
ต้องปล่อยให้ร่างนั้นผุพังเน่าเปื่อยคืนสู่สภาพเดิม
เป็นดินน้ำไฟลมประจำโลกต่อไป
ต้องตามพุทธศาสนสุภาษิตว่า
“สัตว์ทั้งปวงจักทอดทิ้งร่างไว้ในโลก”


สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 24 เม.ย.2007, 4:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผู้มีความเข้าใจว่า ตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไร
สุขทุกข์อย่างไร เราไม่รับรู้ด้วยแล้ว...จึงไม่มีความหมาย
นี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง...เป็นโมหะสำคัญ
ก็ที่เราเกิดเป็นนั่นเป็นนี่กันในชาตินี้
ทำไมเราจึงรู้สุขรู้ทุกข์
ทั้งๆ ที่เราไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับชาติก่อนอย่างไร
พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่เชื่อว่า
มีขาติในอดีตและชาติในอนาคต
เชื่อว่าก่อนที่จะมาเกิดในชาตินี้ ได้เคยเกิดขึ้นชาติอื่นมาแล้ว
และจะต้องเกิดในชาติหน้าต่อไปอีกไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ
ถ้ายังทำกิเลสให้สิ้นไปไม่ได้
แต่ทั้งที่เชื่อเช่นนี้ ก็ยังมีเป็นอันมากที่มีโมหะ
หลงเข้าใจผิดอย่างยิ่งดังกล่าวแล้ว
ว่าจบสิ้นความเป็นคนในชาตินี้แล้ว
เราก็ไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับชาติต่อไป
เพราะฉะนั้นก็ สำคัญที่ต้องแสดงหาความสุข
ความสมบูรณ์ให้ตนเองให้เต็มที่ในชาตินี้
ผู้ใดมีโมหะหลงคิดผิดเช่นนี้
ผู้นั้นก็จะสามารถทำความผิดร้ายได้ทุกอย่าง
เพื่อประโยชน์ตน ทรยศคดโกง
เบียดเบียนทำลายเขา แม้กระทั่งถึงชีวิต ก็ทำได้
เป็นการสร้างกรรมที่จะให้ผลแก่ตนเองอย่างแน่นอน
และจะต้องเสวยผลเสวยทุกขเวทนาทั้งในโลกนี้
และเมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ตามกรรมของตน
ต้องตามพุทธภาษิตที่ว่า “กรรมของตนเองย่อมนำไปสู่ทุกคติ”

ปราชญ์กล่าวว่าชีวิตนี้น้อยนัก
พึงมีปัญญาขยายความนี้ให้ดีว่า
เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองมากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ชีวิตนี้น้อยนัก ก็คือ ชีวิตในชาตินี้น้อยนัก
ชีวิตในชาติข้างหน้ายาวนานมิอาจประมาณได้
ฉะนั้นแม้รักตนจริง ก็ควรรักให้ตลอดไป
ถึงชีวิตชาติข้างหน้าด้วย
ไม่ใช่คิดเพียงสั้นๆ รักแต่ชีวิตนี้เท่านั้น
หาแต่ความสมบูรณ์พูลสุขให้ชีวิตนี้
ในขอบเขตที่ถูกทำนองคลองธรรมเถิด
ผลแห่งกรรม ทั้งในชาตินี้และชาติหน้าต่อๆ ไป
ที่จะต้องเสวยจะได้ไม่เป็นผลร้าย ไม่เป็นผลของบาปกรรม


ชีวิตใครใครก็รัก ชีวิตเราเราก็รัก ชีวิตเขาเขาก็รัก
ความตายเราก็กลัว ความตายเขาก็กลัว
ของของใคร ใครก็หวง ของเราเราหวง ของเขาเขาก็หวง
จะลัก จะโกง จะฆ่า จะทำร้ายใครสักคน ขอให้นึกกลับกันเสีย
ให้เห็นเขาเป็นเรา เราเป็นเขา
คือ เขาเป็นผู้ที่ลัก จะโกง จะฆ่า จะทำร้ายเรา
เราเป็นผู้จะถูกลัก ถูกโกง ถูกฆ่า ถูกทำร้าย
ลองนึกเช่นนี้ให้เห็นชัดเจน
แล้วดูความรู้สึกของเรา
จะเห็นว่าที่เต็มไปด้วยโมหะนั้น
จะเปลี่ยนเป็นเมตตากรุณาอย่างลึกซึ้ง


ข่าวผู้พยายามป้องกันสมบัติของตนจนเสียชีวิตนั้น
น่าสลดสังเวชยิ่งนัก
หรือข่าวผู้แม้กำลังจะสิ้นชีวิตแล้ว
แต่ก็ยังพยายามกระเสือกกระสนรักษาสมบัติมีค่าของตน
ที่ติดตัวอยู่ก็น่าสงสารอย่างที่สุด
พบข่าวเหล่านี้เมื่อไรขอให้นึกถึงใจคนเหล่านั้น
อย่าคิดทำร้าย อย่าคิดเบียดเบียนกันเลย
ทุกคนจะต้องตายและจะตายในเวลาไม่นาน
คนไม่ได้อายุยืน เพราะทรัพย์
จะทำทุกวิถีทางแม้ที่ชั่วช้าโหดร้าย เพื่อได้มาซึ่งทรัพย์ทำไมเล่า
ความโลภโดยไม่มีขอบเขตนั้น เป็นทุกข์หนักนัก
ตนเองทุกข์ เพราะความอยากได้
แล้วก็แผ่ความทุกข์เดือดร้อนไปถึงคนอื่นอย่างน่าเอนจอนาถ

ขอแนะนำว่า ถ้าทุกข์ ถ้าร้อน เพราะความอยากได้ไม่มีสิ้นสุด
จะไม่สามารถดับความทุกข์นั้นได้
ด้วยวิธีลักขโมยคดโกงหรือประหัตประหารผู้ใด
แต่จะดับทุกข์นั้นได้ ด้วยทำกิเลสให้หมดจดเท่านั้น และขออำนวยพร




-------------------------------------------
ที่มา...หนังสือเรื่อง มรณสติ พุทธวิธีต้อนรับความตาย ด้วยสติและปัญญา
หน้า ๑ – ๗


คัดลอกจาก...คุณลูกป้ามล
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=nanasaranae&group=1

สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 25 เม.ย.2007, 8:12 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุคร้าบบ.. สาธุ คุณลูกโป่ง
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง