Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 กรรม อวิชชา สันโดษ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.พ.2007, 8:59 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

กรรม อวิชชา สันโดษ

พระนิพนธ์
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


หนังสือตามพระราชดำริปรารถสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.พ.2007, 9:00 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คำปรารถการพิมพ์

สืบเนื่องจากที่ธรรมสภาและสถาบันบันลือธรรมได้จัดพิมพ์หนังสือ ธธมสมเด็จย่า อันเป็นหนังสือที่คุณอัครวัฒน์ โอสถานุเคราะห์ ได้ขอกราบบังคมทูลเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อขอพระราชทานสัมภาษณ์ ณ กรุงโลซานต์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๒๑

ในหนังสือนี้ พระองค์ท่านทรงปรารถอาราธนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มื่อครั้งทรงสมณศักดิ์ พระสาสนโสภณ เรียบเรียงขึ้น เพื่อพุทธบริษัทและประชาชนได้อ่านและศึกษา ให้เกิดความรู้เป็นแนวทางการปฏิบัติ อันเป็นเริ่องที่ทุกคนควรทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

ทำให้พุทธศาสนิกชนมากมายสนใจและต้องการศึกษาหนังสือธรรม โดยพระราชดำริปรารถ ที่ทรงนิพนธ์ โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ธรรมสภาและสถาบันบันลือธรรม พร้อมด้วย คุณอัครวัฒน์ โอสถานุเคราะห์ จึงได้กราบบังคมทูลเข้าเฝ้า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขอประทานอนุญาติจัดพิมพ์หนังสือธรรม ที่ทรงพระนิพนธ์ชุดนี้

เพื่อเผยแพร่แก่พุทธศาสนิกชน โดยพระองค์ท่านทรงพระเมตตาอนุญาติ ให้จัดพิมพ์เผยแพร่ได้ เพื่อประโยชน์สุขอันบังเกิดแก่พุทธบริษัท

หนังสือธรรมชุดนี้ มี ๔ เล่ม ประกอบด้วย

๑. พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไร
๒. หลักการทำสมาธิเบื้องต้น
๓. ศีลและพรหมวิหาร ๔
๔. กรรม อวิชชา สันโดษ

ธรรมสภาและสถาบันบันลือธรรม ได้จัดพิมพ์หนังสือธรรมนิพนธ์ชุดนี้ เผยแพร่แก่ประชาชนผู้เป็นพุทธบริษัทและน้อมเกล้า ขอประธานอนุญาติถวายแด่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จำนวน ๔,๐๐๐ เล่ม เพื่อไว้แจกเป็นธรรมบรรณาการแก่พุทธศาสนิกชนที่ได้กราบบังคมทูลเข้าเฝ้าขอพรเพื่อเป็นสิริมงคล เนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๕

ธรรมสภาและสถาบันบันลือธรรม ปรารถนาเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือธรรมนิพนธ์ตามพระราชดำริปรารถโดย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ชุดนี้ จักเผนแพร่ได้อย่างกว้างขวาง ตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่าน

จึงขอให้ท่านที่ได้อ่านและศึกษาทำความเข้าใจ จงช่วยกันเผยแพร่ให้แพร่หลาย เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระเมตตาอันหาที่สุดมิได้ ถวายเป็นพระราชกุศล แด่ องค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย

ด้วยความสุจริต หวังดี
ธรรมสภาปรารถนาให้โลกพบกับความสงบสุข
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.พ.2007, 9:00 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คำนำ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระราชปรารภว่า ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้อาราธนา สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น พระสาสนโสภณ วัดบวรนิเวศวิหาร เรียบเรียงวิธีปฏิบัติตน ให้ถูกต้องทางธรรมถวาย

ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้พิมพ์เผยแพร่ ให้เป็นประโยชน์ต่อไป ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ แล้ว และได้มีพระราชดำริอีกว่า ในทางปฏิบัติตนให้ถูกต้องนั้น ย่อมเกี่ยวเนื่องถึงเรื่องกรรมด้วย เรื่องกรรมเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่ทุกคนควรทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

จึงทรงพระกรุณาโปรดให้อาราธนา สมเด็จพระญาณสังวร รวบรวมเรื่องกรรมถวาย ทรงพระราชวิจัยเลือกสรรเฉพาะที่เป็นข้อสำคัญ พอจะแสดงให้เห็นหลักธรรมและหลักปฏิบัติว่า มุ่งสอนให้ละกรรมชั่ว ทำกรรมดีในปัจจุบัน

และโปรดให้ประมวลเรื่องอักโกสกพราหมณ์และเรื่องขันติต่อเข้าไว้กับเรื่องกรรมด้วย คนที่ทำกรรมดีนั้น ก็อาจมีอุปสรรค เช่น ถูกนินทาว่าร้าย จึงต้องมีวิธีทำใจในเมื่อถูกนินทาว่าร้าย และจำต้องมีขันติเพื่อให้สำเร็จประโยชน์

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๑๘

วังสระปทุม
มกราคม ๒๕๑๘
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.พ.2007, 9:02 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กรรม อวิชชา สันโดษ

กรรม
กุศลกรรม อกุศลกรรม อพยากตธรรม


O เรื่องกรรม (บาลี กัมมะ) เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนา ปรากฏในพระพุทธประวัติว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้ตรัสรู้ ยังทรงเป็นโพธิสัตว์อยู่ ได้เสด็จออกแสวงหาทางที่เป็นเครื่องหลุดพ้น ที่เรียกว่า โมกขธรรม เมื่อได้ทรงพบทางปฏิบัติที่ถูกต้องแล้วก็ได้ทรงปฏิบัติในทางนั้นจนถึงในราตรีที่จะตรัสรู้

O ในยามที่ ๑ แห่งราตรีนั้น ทรงได้ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณนี้คือพระปรีชาหยั่งรู้ถึงขันธ์ที่เป็นที่อยู่อาศัยในปางก่อน เรียกสั้นว่าระลึกชาติได้

O ในยามที่ ๒ ทรงได้ จุตูปปาตญาณ พระปรีชาหยั่งรู้ในจุติและอุบัติของสัตว์ (สัตตะ) ทั้งหลาย คือ การตายและการเกิดอีกของสัตว์ทั้งหลายในชาตินั้นๆ ว่าเป็นไปตามกรรม กระทำชั่วไว้ก็เข้าถึงชาติที่ชั่วมีทุกข์ กระทำความดีไว้ก็เข้าถึงชาติที่ดีมีสุข

O ในยามที่ ๓ จึงทรงได้ อาสวักขยญาณ พระปรีชาหยั่งรู้วิธีกำจัดอาสวะ คือ กิเลส (ความไม่ดี) ที่นอนจมหมักหมมอยู่ในจิตสันดาน สำเร็จเป็นพุทธ คือ พระผู้ตรัสรู้

O กรรม เป็นคำกลางแปลว่า การงานที่บุคคลกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ กรรมแบ่งออกได้เป็น ๓ คือ

กุศลกรรม คือ กรรมที่เป็นส่วนดี
อกุศลกรรม คือ กรรมที่เป็นส่วนชั่ว
อัพยากตกรรม คือ กรรมที่ไม่เป็นกุศลหรืออกุศล

กรรมทุกอย่างพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยชัดเจนว่า กรรมเช่นไรเป็นอกุศล เช่นไรเป็นกุศล เช่นไรเป็นอัพยากตกรรม

O กรรมที่เป็นอกุศล
ทางกาย เช่น ฆ่าและทรมานสัตว์ ลักของเขา โกง ประพฤติผิดในทางกาม
ทางวาจา พูดปด พูดส่อเสียด นินทา ว่าร้าย คนอื่น พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เป็นต้น
ทางใจ โลภ เพ่งเล็งทรัพย์ของเขา พยาบาท คิดปองร้าย เห็นผิดจากคลองธรรม

O กรรมที่เป็นกุศล
เว้นจากอกุศลกรรมต่างๆ ปฏิบัติไปในทางสุจริต มีเมตตา กรุณา มีทาน มีศีล

O อัพยากตธรรม
กรรมที่เป็นอาชีพ เช่น กสิกรรม พาณิชยกรรม ที่เกี่ยวแก่ความรื่นเริง การเดิน ยืน นั่ง นอน กิน ดื่ม ถ่าย พูด นิ่ง เหล่านี้ไม่จัดว่าเป็นกุศลหรืออกุศล

O คนเรานั้นได้ทำกรรมต่างๆ ซับซ้อนกันอยู่มากมายทั้งในอดีตและชาตินี้ เมื่อเกิดมาในชาตินี้ บางทีกระทำดีต่างๆ อยู่แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับผลดี ทั้งนี้ก็หาใช่ว่ากรรมดีที่ทำไว้นั้นจะไม่ให้ผล แต่ก็เพราะว่ากรรมไม่ดีที่ทำไว้แต่ชาติก่อนให้ผลจึงรับผลที่ไม่ดี กรรมดีที่ทำอยู่ปัจจุบันนี้ก็จะให้ผลในเวลาต่อไป

หรือบางคนทำกรรมชั่วในปัจจุบันแต่ก็ปรากฏว่าได้รับผลดี ผลดีที่ได้รับนั้นไม่ใช่เป็นผลของกรรมชั่วที่ทำอยู่ แต่เป็นผลของกรรมดีที่ได้กระทำไว้ก่อน เมื่อหมดผลของกรรมดีแล้วผลของกรรมชั่วก็จะปรากฏขึ้น เขาก็จะเข้าถึงทุกข์

O กุศลกรรมที่ประกอบในชาตินี้ ถ้ากรรมเก่าซึ่งเป็นอกุศลกรรมยังส่งผลหรือมีกำลังแรงกว่า ก็ต้านทานอกุศลกรรมได้ยาก ไม่ต้องมองดูให้ไกลออกไป แต่มองดูกุศล อกุศลกรรมในจิตใจในบัดนี้

เช่น บุคคลหนึ่งมีเจตนาแน่วแน่ในการประกอบกุศลกรรมเพื่อประโยชน์สุขสำหรับส่วนรวม ขณะเดียวกันก็มีบุคคลอีกคนหนึ่งหรือหลายคน มีจิตริษยาเสียแล้ว ทั้งที่ก็มีจิตอยากจะทำดีเหมือนกัน แต่อยากจะทำดีเพื่อให้ดีแต่ผู้เดียว

ตัวอย่างนี้เห็นได้ว่าความอิจฉาริษยายังมีอำนาจแรงอยู่ แสดงว่าอกุศลกรรมฝ่ายความริษยายังมีอำนาจแรงกว่า ทั้งๆ ที่วัตถุประสงค์ในด้านกุศลกรรมก็มีอยู่ตรงกัน ไม่ต้องกล่าวถึงบุคคลที่ปราศจากเหตุผล จิตคิดจะทำดีมีแต่อิจฉาริษยาเท่านั้น เป็นผู้ทำลายโลกโดยแท้

O ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นต้องฝึกฝนตนเองให้มีกุศลกรรมให้มากขึ้น เช่น ถ้าเป็นคนมักริษยาคนอื่น ก็ต้องหัดทำมุทิตาจิต คือ ตั้งใจหัดใจทำความยินดีในกุศลกรรม ในความสุขความเจริญของผู้อื่นอยู่เสมอ

เมื่อกุศลกรรมฝ่ายมุทิตานี้เจริญมากขึ้น อกุศลกรรมฝ่ายริษยาก็จะลดลงจนหายไปได้ จะทำให้เกิดความคิดส่งเสริมทุกคนผู้ประกอบกุศลกรรม เพื่อให้สำเร็จผลเร็วยิ่งขึ้น

O เราทุกคนมีกรรมดีกรรมชั่วติดตัวมาตั้งแต่อดีตชาติ ผลของกรรมเหล่านั้น ก็ทำให้เราเกิดในครอบครัวต่างๆ จน มี ดี ชั่ว ฉลาด โง่ สวย ไม่สวย

ความพิการทางร่างกายและจิตใจของมนุษย์ จะเป็นผลของกรรมเช่นกัน เพราะไม่มีใครเกิดมาอยากพิการ หูหนวก ตาบอด แขนด้วน ง่อยเปลี้ย จิตใจไม่ปกติ ไม่สมประกอบ หรือปัญญาอ่อน เป็นต้น

เมื่อเราเข้าใจและเชื่อในท่านผู้รู้ (พระพุทธเจ้า) ว่าที่เราเป็นอย่างนี้ ดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็เพราะกรรมที่เราได้ทำมา ก็ควรพยายามทำกรรมดีเพื่อความสุขความเจริญของเราในภายหน้า

ผู้ที่ประกอบกรรมดีอย่างหนักและบ่อยๆ กรรมดีนี้อาจชนะกรรมชั่วที่เบาที่ได้ทำไว้ในอดีต

O กรรมที่สำคัญที่ ๑ คือ ทางใจ ควรฝึกใจให้มีความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไม่ให้มีอิจฉาริษยา ไม่เบียดเบียน ไม่นินทา ไม่พยาบาท เป็นต้น การกระทำที่ไม่ดีทางกาย และทางวาจา ก็จะลดน้อยลงจนหมด มีจิตใจการปฏิบัติสะอาด นั่นแหละคือความสุขที่แท้จริง


(มีต่อ ๑)
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.พ.2007, 9:03 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อักโกสกสูตร

O ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อยู่ในเขตพระนครราชคฤห์ มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ อักโกสก ได้ทราบว่าพราหมณ์ภารทวาชโคตรได้ไปบวชเป็นบรรพชิตในสำนักของพระพุทธเจ้า ก็โกรธขัดใจ

เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วด่าบริภาษพระพุทธเจ้าด้วยวาจาอันหยาบคายมิใช่ของสุภาพชน

O เมื่ออักโกสกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามว่า พราหมณ์ ท่านมีญาติมิตรมาเยี่ยมบ้างไหม พราหมณ์ได้ทูลตอบว่ามีมาเป็นครั้งคราว

พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสถามต่อไปว่า พราหมณ์เมื่อมีญาติมิตรมาหา ท่านเคยจัดของบริโภคหรือของดื่มต้อนรับแขกของท่านบ้างหรือไม่ พราหมณ์ก็ทูลตอบว่า ข้าพระองค์ได้จัดของบริโภคและของดื่มต้อนรับญาติมิตรในบางคราว

O พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามว่า พราหมณ์ ถ้าญาติมิตรผู้เป็นแขกเหล่านั้นไม่รับ ของบริโภคและของดื่มเหล่านั้นจะเป็นของใคร พราหมณ์ได้ทูลตอบว่า ของต่างๆ เหล่านั้นเป็นของข้าพระองค์

O พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า พราหมณ์ ข้อนี้ก็เป็นอย่างเดียวกัน เราไม่รับการด่าว่าของท่าน ฉะนั้นการด่าว่าก็กลับไปเป็นของท่านผู้เดียว ผู้ใดด่าโกรธตอบบุคคลผู้ด่าผู้นั้นเราว่าบริโภคร่วมกัน เรานั้นไม่บริโภคร่วม

O พระพุทธเจ้าได้ตรัสต่อไปว่า...
ผู้ไม่โกรธ ฝึกฝนตนแล้วมีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ
บุคคลที่ไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธ
ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้โดยยาก
ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้วมีสติสงบเสียได้
ผู้นั้นชื่อว่าปฏิบัติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย
คือ แก่ตนและผู้อื่น

O เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสอย่างนี้แล้ว อักโกสกพราหมณ์คิดได้และเข้าใจ ได้กราบทูลว่าภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลง หรือส่องประทีปในที่มืด คนมีจักษุย่อมเห็นรูปได้ ข้าพระองค์มีความศรัทธา ขอพระองค์พึงอุปสมบทข้าพระองค์อยู่ในสำนักของพระองค์ต่อไป

O เมื่ออักโกสกได้รับการอุปสมบทแล้ว ก็ได้ปฏิบัติอย่างไม่ประมาท มีความเพียร ใช้ปัญญาพิจารณาในธรรมต่างๆ จนถึงความรู้ที่แท้จริงอย่างแจ่มแจ้ง ก็ได้สำเร็จพระอรหันต์


(มีต่อ ๒)
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.พ.2007, 9:03 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อวิชชา
ความไม่รู้ในสัจจะ (ความจริง หรือ สภาพที่จริง)


คำนำ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงอาราธนา พระสาสนโสภณ (สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร เรียบเรียงเรื่อง “อวิชชา” และ “สันโดษ” ขึ้น โดยพระราชทานพระราชดำริบางประการ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับปฏิบัติในการดำรงชีวิต

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดพิมพ์ขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๑๓

วังสระประทุม
มิถุนายน ๒๕๑๓


(มีต่อ ๓)
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.พ.2007, 9:05 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อวิชชา

O บัดนี้ความรู้วิชาการต่างๆ ในโลกเจริญขึ้นมาก มนุษย์เราสามารถสร้างพาหนะนำตนไปถึงดวงจันทร์ได้ (เมื่อศกที่แล้ว พ.ศ.๒๕๑๒) วิชาเหล่านี้เป็นวิชาทางโลก หรือวิชาภายนอก

ส่วนวิชาภายในหรือวิชชาคือความรู้สัจจะ (ความจริง) ภายในตนเอง จะยังบกพร่องอยู่ทั่วๆ ไป จึงปรากฏว่าคนโดยมาก แม้มีความรู้ทางศิลปวิทยาต่างๆ มาก แต่ก็ยังขาดความรู้ในตนเอง ดังจะเรียกว่ายังมีอวิชชา ที่แปลตามศัพท์ว่า “ความไม่รู้”

O “อวิชชา” ที่แปลว่าไม่รู้นี้ มิได้หมายความว่า ไม่รู้อะไรเลยเหมือนอย่างก้อนดินก้อนหิน แต่หมายถึงรู้อะไรๆ เหมือนกัน แต่รู้ผิดจากความจริง หรือรู้ไม่จริงก็เท่ากับไม่รู้ เพราะที่เรียกว่า “รู้ๆ” นั้น ควรเป็นรู้จริง (รู้+จริง) จึงจะชื่อว่ารู้ และเพื่อให้ชัดขึ้น จึงแปลแบบอธิบายว่า ความไม่รู้ในสัจจะ คือความจริง หรือสภาพที่จริง กล่าวสั้นว่าความไม่รู้จริง

O และเมื่อกล่าวโดยทั่วไป ความรู้ที่ทุกๆ คนมีอยู่ ย่อมมีปริมาณจำกัด ส่วนที่ยังไม่รู้มีมากกว่านัก เช่น วิชาทางโลกมีอยู่มากมาย ทั้งเพิ่มขึ้น และแก้ไข เปลี่ยนแปลงใหม่ขึ้นอยู่เสมอ แต่คนหนึ่งๆ อาจเรียนให้รู้ได้เพียงส่วนหนึ่งๆ เท่านั้น

บางคนแสดงว่ายิ่งเรียนมากก็ยิ่งรู้สึกว่าตนเองยิ่งโง่ ฉะนั้นแม้ในเรื่องภายนอกทางโลก อวิชชาคือความไม่รู้ก็ยังมากกว่า วิชชาคือความรู้มากมายนัก แต่อวิชชาที่มีลักษณะดังนี้ ไม่ใช่ข้อที่ประสงค์ในที่นี้ อวิชชาที่ประสงค์จะแสดงคือความไม่รู้สัจจะในตนเอง ดังเช่น

O ความไม่รู้จักตนเอง คือความไม่รู้จักตนเองโดยฐานะต่างๆ เกี่ยวแก่ความรู้ความสามารถ และตำแหน่งหน้าที่อันควรแก่ตน เป็นต้น เป็นเหตุให้ขวนขวายจะได้ฐานะที่สูงกว่าที่ตนควรจะได้ หรือน้อยใจในเมื่อไม่ได้ฐานะที่คิดเอาเองว่าตนควรจะได้ หรือนินทาว่าร้ายผู้ใหญ่ว่ากดตนเป็นต้น

ข้อนี้นับว่าเป็นอวิชชาอย่างหนึ่งเป็นเครื่องปิดกั้นความเจริญของตนเอง เพราะเมื่อไม่รู้จักตนตามเป็นจริง ก็ไม่อาจจะแก้ไขตนเองให้ดีขึ้นโดยทางที่ถูกได้

O ความต้องการสมภาพในทางที่ผิด สมภาพ คือความเสมอกัน ต้องการให้ทุกๆ คนเสมอกันไปหมด ไม่มีผู้ใหญ่ผู้น้อยในฐานะต่างๆ ข้อนี้เป็นอวิชชาอย่างหนึ่งเป็นเครื่องทำลายตนเอง เพราะทุกๆ คนทำกรรมมาแล้ว และกำลังทำกรรมอยู่ต่างๆ กัน จะให้เสมอกันได้อย่างไร

O เรื่องนี้มีนิทานเรื่องเปรตจัดระเบียบ ที่เล่ากันมาแต่ก่อนว่า มีเปรตตนหนึ่งสิงอาศัยอยู่ที่ศาลาพักแรมของคนเดินทางไกลแห่งหนึ่ง เป็นเปรตที่ชอบสมภาพ เมื่อมีคนมานอนพักในศาลาที่เรียงกันมากคน ขณะที่กำลังหลับสนิทในเวลาดึกสงัด

เปรตได้มาตรวจทางด้านเท้า เห็นเท้าไม่เสมอกัน ก็ฉุดเท้าของทุกๆ คนให้ลงไปเท่ากัน ไปตรวจทางด้านศีรษะ เห็นไม่เท่ากันอีก ก็ฉุดศีรษะของทุกๆ คนให้ขึ้นมาเท่ากัน แล้วก็ลงไปตรวจทางเท้าอีก เห็นไม่เท่ากัน ก็ดึงเท้าลงอีก ขึ้นไปทางศีรษะก็ดึงศีรษะขึ้นไปอีก

O ตกว่าเปรตจัดให้เท่ากันทั้งสองด้านไม่ได้สักครั้ง และคนทั้งปวงที่นอนพักบนศาลานั้น ก็ไม่เป็นอันได้หลับนอนโดยผาสุก

นอกจากนี้ความวางตนคล้ายกับเสมอกัน ขาดคารวะในผู้ใหญ่ เช่น บุตรีขาดคารวะและความเชื่อฟังในมารดาบิดา ถือว่าสมัยนี้ต้องเป็นอิสระในการทำตามความคิดเห็นของตนเอง มารดาบิดามีความคิดเห็นของตนได้ บุตรธิดาก็มีได้เหมือนกัน

บางทีกลับเห็นว่ามารดาบิดามีความคิดเห็นไม่ทันสมัย บุตรธิดาจะถูกบ้างก็ได้ แต่อาจจะผิดก็มาก เพราะวัยคะนองอาจจูงใจให้คิดเห็นไปอย่างคะนอง ต่างจากมารดาบิดาส่วนมากที่มีความเห็นเป็นผู้ใหญ่แล้ว จึงเป็นอวิชชาอย่างหนึ่งที่พึงระมัดระวังให้มาก

O ความแสดงออกในทางที่ผิดต่างๆ เช่น การทำอะไรให้เป็นข่าวขึ้นในทางที่ผิดต่างๆ บางทีก็ทำเฉพาะตนผู้เดียว บางทีก็ชักชวนกันทำเป็นหมู่เป็นคณะ เช่น ชักชวนกันยกพวกไปตีกันทำร้ายกัน ทั้งที่รู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิด แต่ก็ทำด้วยต้องการจะแสดงว่าเก่งกล้าสามารถ จัดว่าเป็นอวิชชาอย่างหนึ่ง

เพราะเป็นความเห็นและการกระทำที่ผิด แม้ว่าใครที่ทำอย่างนั้นจะแย้ง แต่เมื่อความสำนึกผิดชอบแม้ที่เรียกว่าสามัญสำนึกเกิดขึ้นเมื่อใด จะมีความสำนึกผิดขึ้นได้เอง การกระทำที่ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายว่าผิดและทั้งที่ผิดพระบรมราโชวาท ย่อมเป็นความผิดที่ไม่อาจแย้งได้

O ความริษยาในความทำดีและในผลดีของผู้อื่น เมื่อเห็นผู้อื่นทำความดี หรือเห็นเขาได้รับผลดีที่เกิดจากความดี ก็เกิดความริษยา พูดติเตียน หรือทำการขัดขวางตัดรอนเป็นอวิชชาอย่างหนึ่ง

ซึ่งเป็นเครื่องทำลายโลกคือประชุมชน เพราะทำให้จิตใจมืดมิดมองไม่เห็นสัจจะในความชั่ว คือความริษยาของตนและในความดีของผู้ทำความดี

แม้จะริษยาในความดีของเขาทั้งที่รู้ว่าเป็นความดีก็เป็นอวิชชาอยู่นั่นเอง เหมือนอย่างถ่มน้ำลายรดฟ้า ทั้งที่รู้ว่าน้ำลายนั้นจะต้องตกมาเปื้อนตัวเอง ทำดั่งนั้นไม่ชื่อว่าทำอย่างรู้แต่ชื่อว่าทำทั้งรู้ คือทำทั้งรู้ว่าไม่ควรทำ การไม่ทำอย่างรู้แต่ทำทั้งรู้เช่นนี้เป็นอวิชชาที่มีแต่ในคนพาล ไม่มีในบัณฑิต

O ผู้ที่ริษยาในความทำดีของคนอื่นนั้น บางทีกลับไปยินดีในความทำชั่ว ตลอดถึงในผลของความชั่วไม่ดีของคนอื่น ก็ยิ่งเป็นอวิชชาหนักเข้าไปอีก เพราะเห็นความชั่วเป็นความดีไป นี้ก็เป็นอวิชชาที่มีแต่ในคนพาล ไม่มีในบัณฑิตเช่นกัน

O ความเมาต่างๆ อันความเมาทั้งที่เป็นความเมาเหล้าและเมาเพราะเหตุต่างๆ มีความยกย่อง เป็นต้น เป็นอวิชชาทุกชนิด

เพราะเมื่อเมาแล้ว ก็ทำให้ขาดปัญญาที่จะรู้สัจจะในสิ่งทั้งหลาย เมาเหล้าเรียกว่าเป็นเมาทางกาย สร่างเมาอาจจะเร็วกว่าเมาใจ คือเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กายถูกต้อง และเรื่องที่ใจคิดที่ชวนใจให้เมา

เมาในเสียงที่พูดยกย่อง เรียกว่าเมาในเสียงอย่างหนึ่ง ใครก็ตามเมื่อเกิดเมาขึ้นแล้ว ก็จะไม่รู้เหตุผลตามที่เป็นจริง ไม่มีใครจะพูดตักเตือนในขณะที่เมาได้ จะพูดกันให้เกิดความเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อสร่างเมาแล้ว

O ความหลง คือ ความขาดปัญญาในลักษณะต่างๆ จนถึงความถือเอาทางผิดด้วยความเข้าใจผิด และความงุนงง ไม่พบทางออกเหมือนอย่างคนหลงทาง คนเราเผลอสติปัญญาเสียเมื่อใด ความหลงก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น

คนที่ถูกเขาหลอกลวงได้เพราะไปเชื่อในคำหลอกลวงของผู้หลอกลวง เรียกว่าเป็นคนหลงอย่างหนึ่งคือ หลงเชื่อสิ่งที่หลอกลวงมิใช่มีแต่คนภายนอก แต่เป็นความคิดเห็นหรือใจของตนเองก็มี จึงไม่ควรด่วนเชื่อใคร หรือแม้ใจตนเองทันที ควรใช้สติปัญญาให้เพียงพอ ถ้าสติปัญญาของตนไม่พอ ก็อาศัยผู้มีสติปัญญาผู้มีความปรารถนาดี

ความปล่อยจิตใจให้ซึมเหงา ง่วง อ่อนแอ เกียจคร้าน เก็บความสงสัยต่างๆ ไว้ ไม่คลี่คลายด้วยความพินิจพิจารณาโดยแยบคาย ก็เป็นความหลง ความหลงนี้เป็นอวิชชาอีกอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องปิดบังปัญญามิให้รู้เห็นในสัจจะแม้ที่น่าจะรู้เหมือนอย่างเส้นผมบังภูเขา

O คนเห็นผิด หรือที่เรียกเป็นคำศัพท์ว่า มิจฉาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นผิดจากคลองธรรมอย่างแรง เช่น เห็นว่าการทำบาปทำบุญอะไรก็ไม่เป็นอันทำ คือไม่มีบาปไม่มีบุญ สักว่าเป็นกิริยาที่ทำเท่านั้น ทำแล้วก็แล้วไป ไม่เป็นบาปเป็นบุญอะไรที่สนองผลต่อไป เห็นว่าผลต่างๆ เช่น ความสุขทุกข์ที่ได้รับ ไม่มีเหตุคือมิใช่เกิดจากเหตุคือกรรม หรือเหตุอะไรอย่างอื่น แต่เกิดมีขึ้นตามคราว

หรือตามแต่จะประจวบเหมาะเห็นว่าไม่มีอะไร เช่น มารดาบิดาไม่มี...บุคคลเกิดสืบกันมาตามพืชพันธุ์ สมณพราหมณ์ไม่มี ผลของทานไม่มี โลกนี้โลกหน้าไม่มี เป็นต้น เป็นอวิชชา เป็นโมหะอย่างแรง ความเห็นผิดอย่างนี้เมื่อดิ่งลงแล้วแก้ยาก

ความเห็นผิดชนิดที่ถือเอาสุดโต่ง เช่น โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด เป็นต้น ซึ่งไม่เป็นสัจจะและไม่เป็นประโยชน์ เป็นอวิชชาอีกอย่างหนึ่ง และความเห็นผิดจากอริยสัจจะ คือสัจจะของพระอริยะ เป็นอวิชชาอย่างละเอียดที่มีเป็นพื้นอยู่ในสามัญชนทั่วไป


(มีต่อ ๔)
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.พ.2007, 9:06 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

O อวิชชาตามตัวอย่างที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงบางประการ ยังมีประการต่างๆ ของการกระทำที่แสดงออกมาจากอวิชชา อันจะพึงเรียกได้ว่าเป็นอวิชชาอีกมากมาย ประมวลกล่าวรวมเข้าได้ในอวิชชา ๘ คือ

๑. ความไม่รู้ในทุกข์
๒. ความไม่รู้ในเหตุเกิดทุกข์
๓. ความไม่รู้ในความดับทุกข์
๔. ความไม่รู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกสั้นว่า มรรค
๕. ความไม่รู้ในเงื่อนต้นหรือในอดีต
๖. ความไม่รู้ในเงื่อนปลายหรือในอนาคต
๗. ความไม่รู้ในทั้งเงื่อนต้นและเงื่อนปลายหรือทั้งอดีตและอนาคต
๘. ความไม่รู้ในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น

O ข้อ ๑ ความไม่รู้ในทุกข์ คำว่าทุกข์มีความหมายดังนี้

(๑) ความทุกข์คือความไม่สบายกายไม่สบายใจที่ตรงกันข้ามกับสุข คือความสบายกายสบายใจ และหมายถึงวัตถุ คือสิ่งต่างๆ ที่เป็นที่ตั้ง คือเป็นที่ให้เกิดทุกข์ด้วย

(๒) ความไม่คงทนต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และหมายถึงสิ่งที่ไม่คงทนทุกอย่างด้วย แม้ทุกข์สุขในข้อ (๑) ก็นับว่าเป็นทุกข์ในข้อนี้ ความไม่รู้ในทุกข์ก็คือความเห็นในทุกข์ว่าเป็นสุข หรือว่าไม่เป็นทุกข์

นึกดูว่าทุกคนย่อมต้องการความสุข ไม่ต้องการความทุกข์ แต่ไฉนทุกคนจึงต้องพบกับความทุกข์ น้อยหรือมากอยู่ด้วยกัน บางคนดูน่าจะมีความสุขมากเพราะมีอำนาจมีทรัพย์มีบริวารมาก แต่กลับมีความทุกข์มาก บางคนดูน่าจะมีความทุกข์มาก เพราะไม่ค่อยจะมีอะไรเท่าไร แต่กลับมีสุขมาก

ต้องกล่าวว่าเพราะมีอวิชชาข้อนี้เป็นประการแรก คือไม่รู้ในทุกข์จึงไม่ยึดถือเอาทุกข์ไว้มากมาย เหมือนอย่างไปกำเอาไฟเข้าไว้ ไฟก็ไหม้มือให้ร้อน

O อันที่จริงอำนาจทรัพย์บริวาร เป็นต้น เป็นของกลางๆ ถ้าได้มาและใช้ไปในทางที่ถูกต้อง ก็จะเป็นคุณเกื้อกูลให้เกิดสุข แต่ถ้าได้มาและไม่ใช้หรือใช้ไปในทางที่ผิด ก็จะเป็นโทษก่อให้เกิดทุกข์เดือดร้อน

จึงสรุปได้ว่า ใครก็ตามที่แสวงหาให้ได้มาและเก็บไว้หรือใช้ไปในที่ผิด นั้นแหละเรียกว่าไม่รู้ในทุกข์ เพราะเท่ากับแสวงหาทุกข์ ก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ตน แต่เพราะไม่รู้ในทุกข์ก็อาจจะหลงคิดว่าเป็นสุข เท่ากับรู้สึกว่าเป็นสุขอยู่ในกองทุกข์ เหมือนอย่างแมลงเม่าที่โผเข้าหากองไฟ

O ข้อ ๒ ความไม่รู้ในเหตุเกิดทุกข์ คือ ไม่รู้ว่าข้อนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ ตลอดถึงไม่รู้ว่าข้อนี้เป็นเหตุแห่งสุขที่ตรงกันข้าม จึงไปดำเนินในทางที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ ถึงจะปรารถนาสุขแต่ไปดำเนินในทางแห่งทุกข์ก็จะไม่พบสุข

จึงเป็นอวิชชาอีกข้อหนึ่งคู่กับข้อที่ ๑ คือข้อที่ ๑ ไม่รู้ในผล ข้อที่ ๒ ไม่รู้ในเหตุ ทั้งสองข้อนี้รวมเป็นความไม่รู้ในสายทุกข์ อะไรเป็นเหตุแห่งทุกข์ อะไรเป็นเหตุแห่งสุข ทุกๆ คนย่อมจะคิดหาและย่อมจะพยายามกันอยู่แล้วที่จะปฏิบัติในเหตุแห่งสุขตามที่แต่ละคนเห็น

เช่น ผู้ที่เห็นว่าทรัพย์เป็นเหตุแห่งสุข ก็ขวนขวายที่จะให้ได้ทรัพย์มา ผู้ที่เห็นว่าสิ่งใดอื่นเป็นเหตุแห่งสุข ก็ขวนขวายเพื่อจะได้สิ่งนั้น นอกจากนี้ เมื่อเห็นว่าการกระทำอันใดหรือทางใดเป็นเหตุแห่งสุขก็ทำหรือดำเนินในทางนั้น

O นี้ก็เป็นเรื่องสามัญทั่วไป แต่ก็น่าจะนึกเข้ามาถึงเหตุภายในที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ คือตรัสชี้ระบุว่าตัณหา คือ ความทะยานอยากเป็นเหตุแห่งทุกข์ ทุจริตคือความประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ ต่างๆ สืบเนื่องมาจากตัณหาทั้งนั้น

ความประพฤติเบียดเบียนกันและกันตั้งแต่ส่วนน้อยจนถึงส่วนใหญ่ จึงเกิดจากตัณหาของคนนี้แหละ ฉะนั้นเมื่อยังมีความทะยานอยากอยู่ตามธรรมดาของสามัญชน ก็ควรให้อยากไปในทางดี ห้ามความอยากในทางที่ผิด ก็จะลดความทุกข์ลงได้มาก เพราะจะไม่ต้องไปประพฤติทุจริตต่างๆ ด้วยอำนาจของความทะยานอยาก

O ส่วนผู้ที่ห้ามความทะยานอยากในทางที่ผิดไม่ได้ ดังที่เรียกว่าเป็นทาสของตัณหา ต้องประพฤติทุจริตต่างๆ ก็ต้องประสบทุกข์เป็นผล สิ่งที่ได้มานั้นจะเป็นทรัพย์หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งน้อยหรือมากเพียงไรก็ตาม ย่อมเป็นเหมือนเชื้อที่นำมาสุมไฟคือตัณหา ส่งเสริมไฟคือตัณหาให้กองโตขึ้น กินเชื้อมากขึ้น

คิดดูให้ดีแล้วจะเห็นว่าเท่ากับป้อนเชื้อให้แก่ไฟ ไม่มีประโยชน์อะไรที่แท้จริงแก่ชีวิต มีแต่ทุกข์โทษเดือดร้อน แต่ก็ยากที่จะมองเห็นตัณหาว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์เพราะอวิชชามากำบังไว้

O ข้อ ๓ ความไม่รู้ในความดับทุกข์ เมื่อยังดับไฟคือตัณหาไม่ได้ ยังป้อนเชื้อให้อยู่เสมอ คือยังทำอะไรไปตามความปรารถนาต้องการ ไม่เลือกว่าผิดหรือถูก ต้องการแต่จะให้ได้มาเท่านั้น ก็ยังไม่รู้จักความดับทุกข์ แม้จะเข้าใจว่ามีความสุข เช่น เมื่อได้อะไรมาก็เกิดความสุขโสมนัสเพราะสมปรารถนา และได้ใช้บำรุงความสุขต่างๆ

แต่พิจารณาดูให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า ความสุขโสมนัสนั้นมีขึ้นประเดี๋ยวหนึ่ง เช่นเดียวกับเมื่อนำเชื้อใส่ให้ไฟๆ ก็กินเชื้อ สว่างโพลงขึ้นครู่หนึ่งแล้วก็ลดความสว่างลงไปตามส่วนแห่งเชื้อที่หมดไป ต้องหาเชื้อใหม่มาให้อีกจึงจะสว่างขึ้นอีก

O ความสุขโสมนัสก็เช่นกัน เกิดขึ้นแล้วก็หายไปในเวลาไม่ช้านัก สิ่งที่มีอยู่ก็เหมือนกองเถ้าถ่านไม่เป็นที่ต้องการของไฟตัณหา เพราะตัณหาต้องการของใหม่ๆ อีก

ส่วนประโยชน์การใช้สอยจริงของแต่ละคนมีไม่เท่าไร เช่น ข้าวที่บริโภคก็มีปริมาณจำกัด เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เป็นต้น ก็เช่นเดียวกัน การแสวงหาเท่าที่ร่างกายต้องการบริโภค ดูก็ไม่เป็นภาระมากมายอะไรนัก แต่ที่เป็นภาระมากก็คือเพื่อให้เป็นที่พอใจหรือเพื่อเสนอสนองตัณหาซึ่งไม่มีเวลาที่จะพอได้ จึงไม่มีโอกาสที่จะได้พบความสุขที่ถาวร ที่เป็นความดับทุกข์ได้แท้จริง

O อะไรเป็นความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสชี้ระบุไว้ว่า คือความดับตัณหาเสีย เพราะตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์ เมื่อดับเสียได้ก็เป็นความดับทุกข์

คิดดูง่ายๆ อย่างสามัญว่าเพียงดับตัณหาชนิดหยาบ ที่เป็นเหตุให้ทำทุจริตได้อย่างเดียว ก็ดับทุกข์ได้มากมาย สามัญชนดับตัณหาได้เพียงเท่านี้ก็พอสมควร แต่เพราะอวิชชามากำบังจึงไม่รู้ในความดับทุกข์ว่าคือความดับตัณหาเสีย

O ข้อ ๔ ไม่รู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกสั้นว่ามรรค ไม่รู้ในข้อนี้ย่อมเป็นเหตุให้ปฏิบัติไปในทางที่ผิดคือในทางก่อทุกข์ แทนที่จะเป็นทางดับทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงชี้ระบุไว้ชัดเจนว่า ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นั้นคือมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ (สองข้อนี้ย่อในปัญญาสิกขา)

สัมมาวาจา เจรจาชอบ
สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ (สามข้อนี้ย่อลงในศีลสิกขา)

สัมมาวายามะ เพียรพยายามชอบ
สัมมาสติ ระลึกชอบ
สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ (สามข้อนี้ย่อลงในจิตตสิกขา)

เมื่อปฏิบัติในทางแห่งตัณหา ซึ่งเป็นทางแห่งทุกข์ แม้จะปรารถนาความสิ้นทุกข์หรือความดับทุกข์ก็ไม่อาจถึงได้

คนที่ต้องเป็นทุกข์เดือดร้อนต้องประพฤติทุจริตต่างๆ แม้จะมีอำนาจทรัพย์บริวาร เป็นต้น มากมาย และแทนที่จะมีในทางที่เป็นประโยชน์กลับมีในทางที่เป็นโทษ เพราะปฏิบัติไปในทางแห่งตัณหา

เป็นผู้ลุอำนาจแห่งตัณหาหรือเป็นทาสแห่งตัณหา นับว่าเป็นอวิชชา ในข้อนี้ซึ่งคู่กับข้อที่ ๓ คือ

ข้อที่ ๓ ไม่รู้ในผล
ข้อที่ ๔ ไม่รู้ในเหตุ ทั้งสองข้อนี้รวมเป็นความไม่รู้ในสายดับทุกข์

ข้อ ๕ ความไม่รู้ในเงื่อนต้นหรือในอดีต
ข้อ ๖ ความไม่รู้ในเงื่อนปลายหรือในอนาคต
ข้อ ๗ ความไม่รู้ในทั้งเงื่อนต้นและเงื่อนปลาย หรือทั้งอดีตและอนาคต
ข้อ ๘ ความไม่รู้ในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น

O ทั้ง ๔ ข้อนี้อธิบายรวมกันว่า เหตุและผลทั้งสองสายดังกล่าวใน ๔ ข้อข้างต้นที่เกิดขึ้น เป็นไปอยู่ในทุกๆ คน ย่อมมีเงื่อนที่จะจับขึ้นมาพิจารณาให้รู้ได้ เมื่อจับเงื่อนไขได้ถูกก็จะรู้เหตุและผลได้ถูกต้อง เงื่อนนั้นเมื่อกล่าวโดยย่อก็มี ๒ คือเงื่อนต้นและเงื่อนปลาย

O ถ้าจะชี้ว่าอะไรเป็นเงื่อนเหล่านี้ ก็อาจชี้ได้ว่าในสายทุกข์ ตัณหาเป็นเงื่อนต้นแห่งทุกข์ ส่วนทุกข์ที่เป็นผลเป็นเงื่อนปลาย และถ้าผลนั้นก่อตัณหาให้เกิดขึ้นอีก ผลนั้นก็เป็นเงื่อนต้นขึ้นอีก

เช่น ทรัพย์ที่ได้มาในทางที่ผิดด้วยตัณหา ได้มาแล้วก็เป็นเครื่องยั่วเพิ่มตัณหามากขึ้น ก็กลายเป็นเงื่อนต้นแห่งตัณหาขึ้นอีกได้ในสายดับทุกข์

มรรคมีองค์ ๘ เป็นเงื่อนต้น ความดับทุกข์เป็นเงื่อนปลาย และความดับทุกข์อย่างหนึ่งที่เป็นเครื่องส่งเสริมให้ปฏิบัติในทางดับทุกข์ยิ่งขึ้นไปก็กลายเป็นเงื่อนต้นแห่งมรรคที่ยิ่งขึ้นไปได้อีกเหมือนกัน

หรือจะยกกาลเวลาขึ้นมาพิจารณา โดยกำหนดปัจจุบันเป็นหลักก็ได้ คือ จับเงื่อนต้นแต่อดีตสืบไปถึงเงื่อนปลายในอนาคต เหมือนกำลังเดินอยู่ในทางสายยาว ย่อมจะมีข้างหลังที่เดินมาแล้ว มีข้างหน้าที่จะเดินต่อไป ตกว่ามีทั้งข้างหลังข้างหน้าต่อไปกัน ฉะนั้นเมื่อไม่รู้ตามข้อ ๕, ๖, ๗ ก็จับเหตุจับผลจับหน้าจับหลังไม่ได้

O อีกอย่างหนึ่ง เหตุผลดังกล่าวย่อมเกิดสืบเนื่องกันไปเป็นสาย เหมือนดังทางสายยาวดังกล่าว ทั้งเป็นทางวนเป็นวงกลมเพราะสิ่งที่เป็นผลย่อมกลับเป็นเหตุ สิ่งที่เป็นเหตุก็กลับเป็นผล เวียนวนกันไปดังเช่นตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น นี้เรียกว่าธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น

O ยกตัวอย่างโดยสรุปอีกข้อหนึ่งคือ วัฏฏะ ที่แปลว่า วน ๓ ได้แก่ กิเลส กรรม วิบาก (คือผล) กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม กรรมเป็นเหตุแห่งวิบาก และวิบากก็กลับเป็นเหตุแห่งกิเลสอีก วนไปดังนี้

ถ้าไม่รู้ในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น ก็จับเหตุผลที่เกิดเนื่องกันไปไม่ได้สิ่งที่ปรากฏขึ้นทุกๆ อย่าง กล่าวได้ว่าเป็นเหตุผลที่เกิดสืบเนื่องกันไปเป็นสาย เช่นสิ่งที่ปรากฏขึ้นที่เรียกว่าธรรมชาติ เช่น ฝนตก ซึ่งเป็นผลอย่างหนึ่ง

ถ้าจะถามว่าอะไรเป็นเหตุให้ฝนตก ก็จะพบเหตุผลที่สืบต่อกันไปหลายอย่างเป็นสายต่อเนื่องกัน เหตุผลเหล่านี้ถ้าไม่ต่อเนื่องกน ขาดตอนกันเสีย ก็จะไม่เกิดผลที่นับว่าเป็นเงื่อนปลายคือฝนตก

สิ่งที่ปรากฏขึ้นเกี่ยวแก่ธรรมชาติและกรรมของคนประกอบกัน เช่น ความยากจนของคนส่วนใหญ่ สิ่งที่ปรากฏขึ้นเกี่ยวแก่กรรมของคนโดยตรง เช่น โจรกรรมที่เพิ่มมากขึ้น ทุจริตต่างๆ การยกพวกตีกันของคนกลุ่มน้อย จนถึงสงครามระหว่างคนกลุ่มใหญ่ ย่อมมีเหตุผลที่สืบต่อกันไปหลายอย่าง

ถ้าจับเหตุผลหน้าหลังเงื่อนต้นปลายแต่ละเงื่อนโดยเฉพาะ และที่รวมกันทั้งสองเงื่อน และที่ต่อเนื่องกันไปเป็นสายได้ตลอดสาย ทั้งสายเกิดสายดับ ย่อมสามารถจะแก้ไขได้ถูกต้อง ถ้าจับเงื่อนทั้งปวงไม่ถูกเพราะไม่รู้ตั้งแต่ข้อ ๕ ถึงข้อ ๘ ก็เป็นอันไม่รู้เหตุผลทั้งสายเกิดทุกข์ ทั้งสายดับทุกข์ดังกล่าว

ในข้อ ๑ ถึงข้อ ๔ จะสับสนวุ่นวาย จับต้นชนปลายไม่ถูก จะมืดหน้ามืดหลัง จะมืดตลอดสาย จึงไม่อาจจะปฏิบัติเพื่อดับทุกข์เดือดร้อนทั้งปวงได้

O สัจจะ คือสภาพที่จริงดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น รวมลงใน ๘ ข้อนั้น ได้มีอยู่ในทุกๆ คนนี้เอง เพราะทางแห่งชีวิตที่ทุกๆ คนดำเนินอยู่ทุกเวลา ถ้าไม่ดำเนินไปในทางทุกข์ก็ดำเนินไปในทางดับทุกข์ หรืออาจดำเนินไปในทางนี้บ้าง ทางนั้นบ้าง เป็นสัจจะที่มีอยู่ในตัวบุคคลเอง

ถึงตนเองจะไม่รู้ว่าดำเนินไปในทางทุกข์ มีความร่าเริงสนุกสนานไปในทางนั้น ด้วยเข้าใจว่าเป็นทางสุข ก็คงเป็นทางทุกข์อยู่นั่นเอง

เป็นที่น่ากรุณาของผู้รู้ที่ดูอยู่ แต่แม้จะมีผู้กรุณาชี้บอกอยู่สักเท่าไร ดังเช่นพระพุทธเจ้าตรัสบอกทาง เหมือนดังทรงชูดวงประทีปในที่มืด เพื่อผู้มีจักษุจะได้มองเห็นรูปทั้งหลาย ถ้าตนเองไม่ยอมดูให้รู้สัจจะในตนเอง

เหมือนอย่างที่จักษุก็ไม่ยอมลืมจักษุขึ้นดู ประทีปที่ท่านผู้มีเมตตาชูขึ้นให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ในความมืด ก็ไร้ประโยชน์สำหรับผู้นั้น นี่แหละเรียกว่า “อันธพาล” ที่แปลว่าผู้เขลาเหมือนอย่างบอด เป็นผู้มืดหน้ามืดหลัง มืดมามืดไป

บุคคลเช่นนี้ย่อมไม่รู้จักตนเอง ต้องการสมภาพในทางที่ผิด แสดงออกในทางที่ผิด มีความริษยาในความทำดีและในผลดีของผู้อื่น เป็นต้น แม้จะรักตนก็ทำตนเหมือนอย่างศัตรูของตนเองไม่ต้องกล่าวถึงผู้อื่น

เป็นอันตรายแก่ส่วนรวม ส่วนผู้ที่ยอมดูเข้ามาให้รู้สัจจะในตัวเองคือ พยายามอบรมปัญญาในตนเองให้มากขึ้น ตามทางที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ คือศึกษาในวิชชาที่ตรงกันข้าม คือ

๑. ความรู้ในทุกข์
๒. ความรู้ในเหตุเกิดทุกข์
๓. ความรู้ในความดับทุกข์
๔. ความรู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกสั้นว่า มรรค
๕. ความรู้ในเงื่อนต้นหรือในอดีต
๖. ความรู้ในเงื่อนปลายหรือในอนาคต
๗. ความรู้ในทั้งเงื่อนต้นและเงื่อนปลายหรือทั้งอดีตและอนาคต
๘. ความรู้ในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นตามความเป็นจริงที่มีอยู่ในตนนี้แหละ

ชื่อว่าได้ศึกษาเพื่อละอวิชชาในตนเอง จะเป็นผู้ที่รู้จักตนเอง จะไม่ต้องการสมภาพในทางที่ผิด จะไม่แสดงออกในทางที่ผิด จะไม่ริษยาในความทำดีและในผลดีของผู้อื่น จะบรรเทาความเมา ความหลง จะมีความเห็นชอบตามคลองธรรมและตามสัจจะ ดำรงตนอยู่ในฐานะใดฐานะหนึ่ง ที่เรียกว่าต่ำหรือสูงในทางโลกก็ตาม

จะเป็นผู้ที่ถือเอาและดำเนินทางถูกทางสว่างเสมอ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสว่างหน้าสว่างหลัง สว่างมาสว่างไป กระทั่งถึงสว่างตลอดสาย

O อันวิชชา คือความรู้สัจจะในตนเองนี้ ควรศึกษาอย่างยิ่งตามแนวที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ แม้ดังที่ยกมาอธิบายข้างต้น เมื่อศึกษาจะได้ความรู้ที่สูงขึ้นไปอีกอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับสัจจะในภายนอก เช่น ความรู้ตามที่ตามองเห็น ก็เห็นดวงอาทิตย์โคจรทางทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก (เรียกอาทิตย์โคจรรอบโลก)

ส่วนความรู้ที่เกิดจากการศึกษา แสดงว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ กลับตรงกันข้าม สัจจะในภายในก็เช่นเดียวกัน ความรู้ตามที่รู้อย่างผิวเผินว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เมื่อศึกษาในวิชชาของพระพุทธเจ้า จะได้ ความรู้อีกอย่างหนึ่งที่กลับตรงกันข้าม และจักรู้ว่า ความรู้เดิมเป็นอวิชชา คือรู้ผิดเป็นความหลงเข้าใจผิดเห็นผิด

O “โลกอันอวิชชา คือ ความไม่รู้จริงปิดบังไว้แล้วจึงหลงดุจอยู่ในที่มืด เพราะความอยากมีประการต่างๆ และความประมาทเลินเล่อ จึงไม่มีปัญญาเห็นปรากฏ จะมัวร่าเริง จะมัวบันเทิงอะไรกัน ในเมื่อโลกสันนิวาสนี้ถูกไฟกิเลสเผาให้ลุกโพลงอยู่เป็นนิตย์ ท่านทั้งหลายถูกอวิชชาอันทำให้มืดบอดปกคลุมแล้ว เหตุไฉนจึงไม่แสวงหาดวงประทีปเล่า”


(มีต่อ ๕)
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.พ.2007, 9:07 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สันโดษ
ความยินดีพอใจของของตน
ความยินดีด้วยของที่มีอยู่
ความยินดีโดยสม่ำเสมอ


คำนำ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงอาราธนา พระสาสนโสภณ (สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร เรียบเรียงเรื่อง “อวิชชา” และ “สันโดษ” ขึ้น โดยพระราชทานพระราชดำริบางประการ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับปฏิบัติในการดำรงชีวิต

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดพิมพ์ขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๑๓

วังสระประทุม
มิถุนายน ๒๕๑๓


(มีต่อ ๖)
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.พ.2007, 9:08 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สันโดษ

O สันโดษ เป็นธรรมข้อหนึ่งที่ได้มีผู้ปรารภกล่าวกันมากทั้งในทางสนับสนุนทั้งในทางค้าน สนับสนุนคือส่งเสริมให้มีการปฏิบัติกัน ค้านคือแสดงว่าไม่ควรส่งเสริมให้มีการปฏิบัติ เพราะเห็นว่าเป็นเครื่องขัดขวางความเจริญก้าวหน้า

ผู้ที่ต้องการจะทราบอธิบายเรื่องสันโดษก็มีมาก มีหลายคน ได้แสดงคำแนะนำว่าควรแสดงเรื่องสันโดษให้ทราบทั่วกัน อันที่จริงเรื่องสันโดษได้มีสอนกันตั้งแต่นักธรรม และธรรมศึกษาชั้นตรีในวัดทั้งหลายทั่วราชอาณาจักร ในโรงเรียนเด็กก็มีสอนกันทั่วไป

O นอกจากนี้ ก็มีการแสดงเป็นเทศน์ เป็นปาฐกถาเป็นบทความในบางครั้งบางคราว แต่ที่จะให้แสดงเรื่องเดียวกันนี้ทุกวันทุกครั้งไปคงไม่ได้ เพราะธรรมที่จะแสดงมีมาก ฉะนั้นถ้าต้องการที่จะทราบ ก็คงจะหาคำอธิบายได้ไม่ยากนัก

O คำแปลศัพท์สันโดษ คำว่า สันโดษ จากภาษาบาลีว่า “สันโตสะ สันตุฏฐิ” แปลว่า “ความยินดี (หรือพอใจ) ด้วยของของตน ความยินดีด้วยของที่มีอยู่ ความยินดีโดยสม่ำเสมอ”

O คำอธิบายสันโดษ ธรรมข้อนี้ตามที่พบในที่มาคือพระสูตรทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุเป็นพื้น คำอธิบายจึงเป็นคำอธิบายสำหรับภิกษุ ซึ่งเป็นผู้สละสิ่งทั้งปวงออกบวชแล้วว่า ยินดีด้วยปัจจัย (เครื่องอาศัย) ๔ อย่าง ตามมีตามได้ และในบางพระสูตร เช่น อริยวังสิกสูตร อธิบายกว้างขวางออกไปอีก

รวมความว่า “ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ กล่าวสรรเสริญความยินดีดังนั้น ไม่แสวงหาในทางที่ไม่สมควร เพราะเหตุปัจจัยทั้งหลาย ไม่ได้ปัจจัยก็ไม่สะดุ้ง ได้ปัจจัยมาก็ไม่สยบติดเห็นโทษ มีปัญญาสลัดใจออกได้บริโภคใช้สอย ทั้งไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะสันโดษนั้น ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติพินิจ”

O ถ้าจะมีปัญหาว่า ถ้าเช่นนั้นสันโดษก็เป็นธรรมสำหรับภิกษุหรือสำหรับบรรพชิตคือผู้บวชเท่านั้น มิใช่สำหรับคฤหัสถ์ ก็ตอบได้ว่า ได้มีที่มาบางแห่งและความหมายที่แสดงไว้บางอย่างแสดงว่าใช้ได้ทั่วไป เช่น หลักธรรมสำหรับตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ข้อ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ว่าธรรมที่เป็นไปเพื่อ

๑. กำหนัดย้อมใจ
๒. ประกอบอยู่กับทุกข์
๓. สั่งสม
๔. อยากใหญ่
๕. ไม่สันโดษ
๖. คลุกคลีด้วยหมู่คณะ
๗. เกียจคร้าน
๘. เลี้ยงยาก

เหล่านี้มิใช่ธรรม มิใช่วินัย มิใช่คำสอนของพระศาสดา ส่วนธรรมที่เป็นไปเพื่อ

๑. ปราศจากกำหนัดย้อมใจ
๒. ไม่ประกอบกับทุกข์
๓. ไม่สั่งสม
๔. อยากน้อย หรือ มักน้อย
๕. สันโดษ
๖. สงัด
๗. ปรารภความเพียร
๘. เลี้ยงง่าย

เหล่านี้เป็นธรรมวินัย เป็นคำสอนของพระศาสดา เมื่อสันโดษเป็นข้อหนึ่งสำหรับตัดสินพระธรรมวินัย จึงกล่าวได้ว่า เป็นธรรมทั่วไปแก่ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์

O ในมงคลสูตรที่ตรัสสำหรับเทพและมนุษย์ทั่วไป ก็มีสันโดษรวมอยู่ด้วยข้อหนึ่ง และอธิบายบางอย่าง เช่น ในอริยวังสิกสูตรนั้นตามที่กล่าวมาข้างต้น เช่น ไม่แสวงหาในทางที่ไม่สมควร ไม่ได้ก็ไม่สะดุ้ง ได้ก็ไม่สยบติด เป็นต้น ก็พึงใช้ได้สำหรับคฤหัสถ์ตามสมควร

O และในข้อท้ายแห่งอริยวงศ์ว่า ยินดีในการภาวนา คือ ความอบรมกุศลธรรมให้เกิดขึ้น ยินดีในปหานะ คือ การละอกุศลธรรม กับที่สอนให้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ประจำอยู่ในอริยวงศ์ทุกข้อ แสดงว่าเหมาะแก่ทุกฝ่ายและเป็นข้อยืนยันว่า สันโดษมิใช่เป็นความเกียจคร้านเลย

ในที่มาคือพระสูตรบางแห่ง สอนตรงๆ ว่าให้มีอสันตุฏฐิ คือ ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย หมายความว่าให้สันโดษแต่ในปัจจัย ส่วนในกุศลธรรมอย่าสันโดษ เพราะจะต้องทำกุศลให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอันสอนให้มีความเพียรละความชั่วทำความดีนั่นเอง

O ทางที่ควรทำความเข้าใจในคำอธิบาย เป็นธรรมดาที่การอธิบายอะไรเมื่ออธิบายแก่ใคร ก็พึงให้เหมาะแก่บุคคลหรือหมู่บุคคล เช่นเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุบริษัท ก็ตรัสอธิบายให้เหมาะแก่บริษัทนั้น

ฉะนั้น จะใช้อธิบายนั้นตรงตัวอักษรแก่บริษัทอื่นหาได้ไม่ จะใช้ได้ก็แต่หลักธรรมซึ่งต้องนำมาใช้ให้เหมาะแก่ภาวะของบุคคลแต่ละคนหรือบริษัท ธรรมข้อเดียวกันจึงอาจอธิบายได้ต่างกัน เช่น สัมมาอาชีวะ ความเลี้ยงชีวิตชอบสำหรับบรรพชิต การเที่ยวบิณฑบาตเป็นสัมมาอาชีวะ แต่การทำนา ทำสวน ค้าขาย เป็นต้น เป็นมิจฉาอาชีวะ

ส่วนสำหรับคฤหัสถ์ การทำนา ทำสวน การค้าขาย เป็นต้น ที่ทำโดยชอบเป็นสัมมาอาชีวะ ส่วนการเที่ยวบิณฑบาตเป็นการขอเขา มิใช่สัมมาอาชีวะของคฤหัสถ์ สันโดษก็เช่นเดียวกัน เมื่อใช้สำหรับคฤหัสถ์ก็อธิบายให้เหมาะแก่ภาวะคฤหัสถ์ เช่นที่อธิบายไว้ในชั้นอรรถกถาในต่อมา

O ความมุ่งหมายของสันโดษ แต่ในการที่จะอธิบายนั้นจะต้องทราบความมุ่งหมายจึงจะอธิบายได้ถูกต้องไม่เป็นการที่เรียกว่า “กล่าวตู่พระธรรม” หรือ “กล่าวตู่พระพุทธเจ้า” ดังเช่นอ้างว่าพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธศาสนากล่าวว่าอย่างนั้นๆ โดยที่ไม่มีปรากฏว่ามีกล่าวไว้อย่างนั้นในที่ไหนเลย ทั้งเป็นการกล่าวผิดทางผิดความมุ่งหมาย ดังเช่นผิดต่อหลักตัดสินพระธรรมวินัยดังกล่าวมาข้างต้น

O พระอาจารย์ได้แสดงความมุ่งหมายของสันโดษไว้ว่า สันโดษก็คือความไม่โลภ มุ่งหมายเพื่อละบาปธรรมเป็นต้นว่าความปรารถนาเกินไป ความปรารภมากไป ความปรารถนาเป็นบาปคือผิด ความปรารถนาเกินไปนั้น เช่น ความไม่อิ่มในลาภของตน ปรารถนาลาภของคนอื่น ความปรรถนามากไปนั้น เช่นบรรพชิตใคร่จะได้ปัจจัย ๔ ยิ่งๆ ขึ้นไปมาก

หรือคฤหัสถ์ใคร่จะได้รูป เสียง เป็นต้น ที่น่าใคร่น่าปรารถนาพอใจยิ่งๆ ขึ้นไปมากมาย อีกอย่างหนึ่ง ความประกาศตัวอวดอ้างคุณที่มีอยู่ และความไม่รู้ประมาณในการรับ เรียกว่าความมักมากก็ได้ ความปรารถนาเป็นบาปนั้น เช่นความประกาศตัวอวดอ้างคุณที่ไม่มีอยู่ และความไม่รู้ประมาณดังกล่าวในข้อมักมาก

O ความปรารถนาที่มีลักษณะดังกล่าวมาทั้งหมดเป็นอาการของความโลภ ที่เป็นมูลแห่งอกุศลหรือแห่งทุจริตทั้งปวง สันโดษเป็นธรรมที่กำจัดความโลภหรือความปรารถนาดังกล่าว บุคคลทุกคนไม่ว่าคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ถ้าขาดสันโดษก็เต็มไปด้วยความโลภหรือความปรารถนาดั่งนั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ลองคิดดูว่าผลจะเป็นอย่างไร ก็จะพากันประพฤติอกุศลทุจริตต่างๆ อย่างไม่หยุดยั้ง เพราะความโลภความปรารถนาเกินไปมากไป หรือที่เป็นบาปลามกเหล่านั้นชักนำจิตใจ ชักนำความประพฤติให้เป็นไป ความทุกข์เดือดร้อนต่าง ๆ ก็เกิดตามมา จะไม่เป็นเช่นนั้นก็เพราะอานุภาพแห่งสันโดษที่ยังคุ้มครองจิตใจของคนดีอยู่

เมื่อเข้าใจความมุ่งหมายของสันโดษดังนี้ ก็จะอธิบายสันโดษได้ถูกต้องและจะปฏิบัติไปด้วยกัน ได้กับความเพียร สร้างความเจริญก้าวหน้าต่างๆ เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นอุปการะในทางอื่น เช่นในทางประหยัด เป็นต้น

O การอธิบายสันโดษในต่อมา คือ ในขั้นอรรถกถาพระอาจารย์ได้อธิบายขยายความกว้างขวางออกไป ทั้งสำหรับบรรพชิตและคฤหัสถ์ โดยยกเป็นหัวข้อคือ ยถาลาภสันโดษ ยถาพลสันโดษ ยถาสารุปปสันโดษ และอธิบายลำดับการปฏิบัติสันโดษ ตั้งต้นแต่สันโดษในความคิดและในการแสวงหา ในการรับ ในการบริโภค เป็นต้น

O ยถาลาภสันโดษ คือ ยินดีตามที่ได้ เมื่อได้สิ่งใดก็ยินดีสิ่งนั้นและใช้สอย ไม่ปรารถนาสิ่งอื่นที่เกินไป มากไป หรือในทางที่ผิดที่เรียกว่าปรารถนาเป็นบาป

O ยถาพลสันโดษ คือ ยินดีตามกำลัง ถ้าสิ่งที่ได้มาไม่เหมาะแก่กำลังของตน เช่น ไม่เหมาะแก่กำลังกายเพราะป่วยเป็นไข้จะบริโภคใช้สอยไม่สะดวก ก็แลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ตนจะบริโภคใช้สอยได้ หรือไม่เหมาะแก่กำลังประการอื่น ก็แลกเปลี่ยนให้เหมาะแก่กำลังของตน มีอธิบายไว้ดังนี้ และอาจอธิบายว่ายินดีตามกำลังของตน มีอธิบายไว้ดังนี้ และอาจอธิบายว่ายินดีตามกำลังของตนในเรื่องต่างๆ ก็ได้

O ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามสมควร ถ้าได้มาแล้วเห็นว่าไม่เหมาะไม่ควรแก่ตน เพราะเป็นของดีเกินไป ก็สละให้แก่ผู้ที่สมควร แสวงหามาใช้แต่ที่พอเหมาะพอควร หรือเพราะเป็นสิ่งของที่ตนไม่ควรจะใช้สอยด้วยเหตุว่าผิดวินัย (สำหรับบรรพชิต) หรือเกินฐานะ (สำหรับทั่วไป) ก็ไม่รับมาหรือสละไปเสียแสวงหาใช้สอยแต่ที่เหมาะที่ควรแก่ภาวะและฐานะ เป็นต้น และข้อนี้ย่อมหมายถึงแสวงหาแต่ที่พอเหมาะพอควรด้วย

O สันโดษในความคิด คือ ระงับความคิดที่ฟุ้งซ่าน อยากได้โน่นได้ที่นี่เกินไป มากไป หรือที่อยากได้ในทางผิดดังกล่าว พอใจในการใช้ความคิดในทางที่ถูกที่ควร

O สันโดษในการแสวงหา คือ ยินดีแสวงหาแต่สิ่งที่ควรจะได้ ที่จะพึงบริโภคใช้สอยได้ตามกำลังของตนและที่สมควรแก่ภาวะฐานะ เป็นต้น และในทางที่ถูกที่ควร

O สันโดษในการรับ คือ รับแต่ที่ควรรับและรับพอประมาณ มิใช่ว่าเมื่อจะได้หรือเมื่อมีผู้จะให้ ก็รับทุกอย่าง เพราะสิ่งที่จะได้เป็นสิ่งที่มีโทษก็มี เป็นสิ่งที่อาจเป็นโทษเพราะรับเกินประมาณไปก็มี ทั้งบุคคลที่จะให้อาจมีความปรารถนาในทางไม่ชอบก็มี เช่นให้เพื่อหวังผลตอบแทนที่ยิ่งกว่า

เมื่อรับแล้วก็ต้องทำธุรกิจให้เขาในทางที่ผิด ผู้ที่รักษาตนให้บริสุทธิ์จึงไม่ยอมรับอะไรของใครง่ายๆ จะต้องพิจารณาว่าเขาให้ทำไมเพื่ออะไร ถ้ารู้สึกว่าเป็นการให้ด้วยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ก็ไม่ยอมรับ ความยินดีรับแต่ที่ควรรับและแม้ที่ควรรับก็รับแต่พอประมาณ ย่อมเป็นเหตุให้พ้นมลทินโทษเพราะการรับ

O สันโดษในการบริโภค คือ ยินดีบริโภคใช้สอยสิ่งที่ได้มาด้วยการพิจารณาให้รู้ถึงประโยชน์ที่ต้องการอันสิ่งที่ได้มานั้นจะต้องเป็นสิ่งที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง และเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ แล้ว ก็จะต้องมียิ่งหย่อนกว่ากันตามฐานะต่างๆ เช่น ฐานะแห่งทรัพย์ที่จะซื้อหา

ถ้าขาดสันโดษในข้อนี้ก็จะเกิดความปรารถนาอยากที่จะบริโภคใช้สอยแต่สิ่งที่ดีๆ เช่น อาหารที่ดี เครื่องนุ่งห่มที่สวยงาม ที่อยู่อาศัยที่ผาสุกและงดงาม นอกจากนี้ยังต้องการเครื่องบำรุงความสุข สะดวก เครื่องประดับตกต่างต่างๆ อีกไม่มีที่สิ้นสุด

O กล่าวได้ว่าความขาดสันโดษข้อนี้ เป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ต้องเป็นผู้ซื้อมากกว่า จริงอยู่ทุกๆ คนย่อมต้องการบริโภคใช้สอยสิ่งที่ดีๆ และสวยงาม แต่ก็ต้องมีขอบเขตแห่งปริมาณ เป็นต้น คือทุกคนย่อมมีขอบเขตแห่งการได้มา มิใช่ว่าจะสามารถได้ตามที่อยาก

โดยปกติย่อมได้มาตามปริมาณแห่งรายได้ มีรายได้น้อยก็ซื้อหามาได้น้อย มีรายได้มากก็อาจซื้อหามาได้มาก แม้มีเงินแต่ไม่อาจจะซื้อหามาได้ก็มีอยู่ไม่น้อย และอาจบริโภคใช้สอยได้ตามปริมาณแห่งกำลัง เช่น บริโภคอาหารได้คราวละอิ่ม ถึงจะมีอาหารมากมายเท่าไร ก็บริโภคให้เกินกว่าอิ่มหนึ่งในคราวหนึ่งไม่ได้

บางคราวเป็นโรคอาจบริโภคไม่ได้ เครื่องนุ่งห่มก็ใช้ได้คราวละชุด ที่อยู่อาศัยถึงจะใหญ่โตเท่าไร ก็อยู่จริงๆ คราวหนึ่ง....กว้างยาวเท่าขนาดของตนเอง กำลังแห่งการที่จะบริโภคใช้สอยได้จริงๆ ของแต่ละคน จึงมีอยู่ไม่มากนัก และยังมีปริมาณแห่งความสมควรอีกประการหนึ่ง

ยกตัวอย่างเครื่องบริโภคใช้สอย เช่น สิ่งนั้นสิ่งนี้สมควรแก่ตนหรือไม่ จะต้องเป็นสิ่งที่ตนทำได้เองหรือใช้ของที่คนอื่นทำก็ได้ คนเราบัดนี้ต้องใช้ของที่ผู้อื่นทำกันเป็นส่วนมาก จำพวกที่ทำเองก็ทำเป็นบางอย่าง เช่น ชาวนาทำนาข้าว

พวกทอผ้าก็ทำผ้า พวกช่างก่อสร้างก็ก่อสร้างบ้านเรือน พวกหมอก็ทำยาพยาบาลไข้เจ็บ และพวกอื่นก็มีอาชีพอย่างอื่น เมื่ออยู่รวมกันก็ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันใช้บ้าง ให้เป็นการสงเคราะห์อนุเคราะห์บูชากันบ้าง

O ฉะนั้นจะจำกัดว่าจะต้องใช้เฉพาะสิ่งที่ตนเองทำเท่านั้นหาได้ไม่ ถ้าถือเช่นนั้น ไม่ได้ทำนาเองก็ไม่ต้องบริโภคข้างกันเท่านั้น และจะถือประเทศถิ่นก็ไม่สะดวกอีก เพราะมีมากสิ่งที่อำนวยประโยชน์ แต่ไม่มีในประเทศถิ่นของตน

O เกณฑ์ที่จะพึงตัดสินว่าสมควรแก่ตนหรือไม่ จึงน่าพิจารณาในทางอื่น และทางที่จะพิจารณาในที่นี้ก็ควรเป็นทางตามนัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ คือประโยชน์ที่จะพึงได้จากการบริโภคใช้สอยสิ่งนั้นๆ

ดังเช่นที่ตรัสสอนให้พวกภิกษุพิจารณาในการบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ ตามประเภท เช่น บริโภคจีวรก็เพื่อป้องกันหนาวร้อน เพื่อปกปิดส่วนที่พึงละอายเป็นต้น บริโภคบิณฑบาตก็เพื่อดำรงกายนี้เพื่อที่จะทำความดีได้ เป็นต้น

รวมความว่ามิใช่เพื่อเพิ่มพูนตัณหา การมีสิ่งต่างๆ ไว้เพื่อสนองความต้องการของร่างกายนั้นไม่มากมายอะไรนัก แต่การที่จะสนองตัณหานั้น จะต้องมีมากมายอย่างไม่อาจกำหนดเขตได้

O เกณฑ์ดังกล่าวนี้ น่าจะนำมาใช้ได้ง่ายสำหรับทุกๆ คน สมมุติว่าของสิ่งนี้ ว่าถึงรายได้และกำลังที่จะใช้สอยก็อยู่เพียงพอ แต่จะสมควรหรือไม่ก็ให้พิจารณาว่าจำเป็นจะต้องมีหรือไม่ จะได้ประโยชน์ทางการใช้อย่างไรบ้าง เมื่อเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ถึงจะเก่าและอาจไม่งดงามก็ยังใช้ได้ ถึงจะได้มาอีกก็ไม่เกิดประโยชน์

การใช้เพิ่มขึ้นเป็นแต่เพียงสำหรับอวด หรือเพื่อสนองความอยากเท่านั้น เพียงเท่านี้ก็ตัดสินได้แล้วว่าไม่สมควร ถ้ายิ่งไม่เหมาะสมแก่ภาวะฐานะอย่างอื่นอีก ก็รู้ได้ง่าย เว้นแต่จะระงับความอยากได้ที่เป็นตัณหาไม่ได้เท่านั้น

O ฉะนั้นความฟุ่มเฟือยเกินไปมากไปต่างๆ จึงอยู่ที่ความขาดสันโดษดังกล่าว เป็นผลเสียหายนับจากส่วนตัวไปหาส่วนรวม และจากส่วนรวมไปหาส่วนตัวสำหรับผู้ที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย จนตัวเองต้องวิบัติยากจนขัดสนลงไป

ผลอันนี้ก็จะต้องกระเทือนไปถึงส่วนรวมไม่น้อยก็มาก เรียกว่าเป็นผลเสียหายนับจากส่วนตัวไปหาส่วนรวม ส่วนผู้ที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยแม้ตนเองยังไม่วิบัติเพราะมีทรัพย์มาก แต่ก็เป็นเหตุให้ส่วนรวมยากจนลง

ผลแห่งความยากจนของส่วนรวม ก็ย่อมกระเทือนถึงผู้ที่มั่งมีและใช้ความมั่งมีไปในทางที่ผิดนั้นได้ เรียกว่า เป็นผลเสียหายจากส่วนรวมไปหาส่วนตัว แต่ถ้ามีสันโดษดังกล่าวจะไม่เกิดผลเสียหายเช่นนั้น เพราะจะมีการใช้ความคิดในทางที่ถูก จะมีการแสวงหา การรับการบริโภคในทางที่ถูก

ตามหลักของสันโดษ ๓ คือ

ยถาลาภสันโดษ
ยถาพลสันโดษ
ยถาสารุปปสันโดษ

จะเป็นการประหยัดหรือสมชีวิตา การใช้จ่ายเลี้ยงชีวิตตามสมควร

O ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า สันโดษ ๓ นั้น เป็นหลักอธิบายสันโดษอื่นๆ ที่แยกอาการออกไป เช่น สันโดษในความคิด ในการแสวงหา ในการรับ ในการบริโภค ได้กล่าวถึงสันโดษในการบริโภคมากกว่าข้ออื่น ก็เพราะการบริโภค หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “การกิน” นี้ เป็นข้อสำคัญที่เกี่ยวพันไปถึงข้ออื่นทุกข้อ

สันโดษกับธรรมบางข้อ ตามที่กล่าวมานี้สันโดษจึงมิใช่ข้อที่ทำให้เกียจคร้าน หรือมิใช่เป็นพวกเดียวกับความเกียจคร้าน กล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ในที่อธิบายสันโดษก็แสดงความขยันหมั่นเพียรด้วย และในลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย มีสันโดษและความเพียรรวมอยู่ด้วยทั้งสองข้อ ถ้าสันโดษจะทำให้เกียจคร้านก็จะต้องมิใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะผิดลักษณะตัดสินดังกล่าว

O อันที่จริง สันโดษน่าจะใกล้กับมัจฉริยะ (ความตระหนี่) และเป็นปฏิปักษ์กับทาน (การให้) หรือจาคะ (การบริจาค) เพราะสันโดษคือความยินดีด้วยสิ่งที่มีอยู่ของตน เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องหวงไว้ไม่ให้แก่ใคร ถ้าให้แก่ใครจะไม่เป็นการผิดสันโดษไปหรือ เพราะจะเป็นการไม่ยินดีด้วยของของตน

แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะผู้มีสันโดษย่อมไม่โลภด้วยมีความปรารถนาเกินไปผิดไป จึงมิใช่เป็นผู้ตระหนี่ สามารถบริจาคทานได้สะดวก เป็นอันว่า สันโดษ ความเพียร ทานหรือจาคะ ย่อมเป็นธรรมดาที่สนับสนุนกันอีกอย่างหนึ่ง

O สันโดษมักแสดงเป็นคู่กันกับอัปปิจฉตา ที่แปลกันว่า “ความปรารถนาน้อย” หรือ “ความมักน้อย” ความมักน้อยตรงกันข้ามกับความมักมาก อธิบายได้ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือความต้องการเฉพาะที่ต้องบริโภคใช้สอยจริงๆ ไม่ต้องการมากไปกว่านั้น อีกอย่างหนึ่งอธิบายว่าไม่อวดตัวด้วยหวังความเด่น หรือแม้จะทำความดีก็ไม่ปรารถนาแสดงตัว ทำนองคำว่า “ปิดทองหลังพระ”

O คุณของสันโดษ สันโดษที่ปฏิบัติให้เหมาะกับให้คุณอย่างไร น่าจะเป็นที่เข้าใจได้พอสมควรแล้ว จากการอธิบายที่กล่าวมาโดยลำดับ แต่ก็ควรจะเพิ่มเติมอีกบ้างด้วยแสดงพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า “สันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง” และว่า “สันโดษย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่เพื่อความไม่ฟั่นเฝือ เพื่อความไม่อันตรธานแห่งพระสัทธรรมศาสนา”

O ข้อว่า “สันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง” พึงเห็นความว่า เพราะทำให้จิตใจรู้จักกับความมั่งมี จิตใจที่ขาดสันโดษประกอบด้วยความปรารถนา กระหายในสิ่งที่ต่างๆ ย่อมรู้สึกว่าขาดแคลนอยู่เสมอ แม้จะได้ภูเขาที่เป็นทองทั้งลูกก็คงรู้สึกขาดแคลนอยู่นั่นเอง

จึงมีพระพุทธภาษิตกล่าวว่า “แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาคือความอยากไม่มี” จึงไม่มีโอกาสได้รู้จักกับความมั่งมี หรือความอิ่ม ความพอ ความเห็น ความเต็ม รู้จักแต่ความยากจนขาดแคลน มีทรัพย์มากเท่าไรก็เหมือนไม่มี

ทรัพย์เหล่านั้นมีค่าเท่ากับเชื้อสำหรับสุมกองไฟคือตัณหาเท่านั้น แล้วเชื้อนั้นเองก็กลายเป็นเถ้าถ่านไปในเวลาไม่ช้า ตัณหาจะอยากทะยานหาเชื้อใหม่ต่อไป

ต่อเมื่อมีสันโดษจึงเกิดความมั่งมีและความสุข เพราะจะมีความอิ่มความพอความเต็ม ฉะนั้น สันโดษนี้เองจึงเป็นตัวทรัพย์ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง เพราะทรัพย์อย่างอื่นไม่ทำให้อิ่มให้พอ ส่วนทรัพย์นี้ทำให้อิ่มได้พอได้ นี้คือความมั่งมี ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความสุขที่แท้จริง

O อีกข้อหนึ่งที่ตรัสว่า สันโดษเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่เป็นต้นแห่งพระสัทธรรมศาสนานั้น พึงเห็นความว่า พระสัทธรรม อันหมายถึงพระศาสนา คือ คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ย่อมสอนให้ละความชั่วทำความดี และให้ชำระจิตใจของตนให้ผ่องใส จะดำรงอยู่ได้ในบุคคลที่มีสันโดษเท่านั้น

คนที่ขาดสันโดษจะพอกพูนแต่ความชั่วทุจริตต่างๆ จะทำความดีอะไรไม่ได้ แม้แต่ศีลก็จะรักษาไว้มิได้ จะชำระจิตใจให้ผ่องแผ้วก็มิได้ เพราะจะมีแต่ความโลภปรารถนาที่เกินไปมากไปและที่ผิดไปต่างๆ สัทธรรมจึงไม่อาจจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่เจริญยิ่งขึ้นในบุคคลเช่นนี้ ที่มีอยู่แล้วก็จะเสื่อมจะสิ้นไป ต่อเมื่อมีสันโดษ สัทธรรมจึงจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่และเจริญยิ่งขึ้น

O อธิบายใกล้ๆ ภายในตนเองดังนี้แหละ ไม่จำต้องไปอธิบายให้ไกลตนว่า พระศาสนาของท่านจะเสื่อมจะเจริญที่นั่นที่นี่ ความเสื่อมหรือความเจริญแห่งพระสัทธรรมในตนของแต่ละบุคคลนี้แหละเป็นสิ่งสำคัญและรู้ได้ง่าย เพราะไม่ต้องไปดูที่ไหน ดูเข้าที่ตนเองก็จะมองเห็น

ชีวิตอันสูงสุด

ชีวิตอันสูงสุดในแง่ของพระพุทธศาสนาก็คือ
ชีวิตที่ดี อันเรียกว่า “สุชีวิต”
หมายถึงความดีอาศัยชีวิตทำขึ้น
ชีวิตของผู้ที่ทำดี จึงเรียกว่าชีวิตดี
เมื่อทำดีมาก....ชีวิตก็สูงขึ้นมาก
ทำดีที่สุด....ชีวิตก็สูงขึ้น
องค์ประกอบของความดีในชีวิต มี ๔ ประการ
คือ กรรม วิชา ศีล และธรรม
กรรม คือการงานที่ทำ การงานที่เป็นประโยชน์
วิชา คือความรู้ในศิลปวิทยา
ศีล คือความประพฤติที่ดี
ธรรม คือคุณสมบัติที่ดีในจิตใจ
ชีวิตที่ดีจะต้องมีองค์คุณทั้ง ๔ ประการนี้

ตนที่ฝึกดีแล้ว....ย่อมไปสู่ความเจริญ

ผู้ที่เป็นคนดี....แล้วย่อมสามารถฝึกตนไปสู่ความดีงามต่างๆ ได้ นำตนไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ และสามารถนำผู้อื่นไปสู่ความดีต่างๆ ได้ นำผู้อื่นไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ด้วย ท่านจึงกล่าวว่า...
ตนที่ฝึกดีแล้ว....เป็นแสงสว่าง
ตนที่ฝึกดีแล้ว....เป็นเครื่องนำชีวิต
ตนที่ฝึกดีแล้ว....เป็นเครื่องยังชีวิตให้สว่าง

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

สาธุ สาธุ สาธุ

..เจริญธรรมครับ ทุกท่าน..
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง