Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 สังขารทั้งหลายมีมายาไม่น่ายึดมั่น (ก. เขาสวนหลวง) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
Hero
บัวผลิหน่อ
บัวผลิหน่อ


เข้าร่วม: 24 ม.ค. 2007
ตอบ: 6

ตอบตอบเมื่อ: 17 ก.พ.2007, 11:38 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

สังขารทั้งหลายมีมายาไม่น่ายึดมั่น
โดย ก. เขาสวนหลวง


วันนี้อยากจะแนะให้ผู้ปฏิบัติได้มีการพิจารณา
รู้จักลักษณะของสังขารให้ถูกต้องและละเอียดยิ่งขึ้น
เพราะว่าอะไรๆ ก็เป็นสังขารไปทั้งหมด

ทีนี้เรารู้จักสังขารกันนิดหน่อย
รู้แต่ความปรุงแต่ง หรือสังขารร่างกายอะไรเท่านี้
คำว่า “สัพเพ สังขารา อนิจจาติ” ตามหลักท่านว่าไว้นั้น
มีความหมายกว้างขวางลึกซึ้งมาก
ควรจะหยั่งเข้าไปทราบถึงลักษณะของสังขารทุกชนิด
ที่มันมีความรู้สึกเกิดขึ้นกับจิต

ต้องสอบดูลักษณะของสังขารว่าเป็นอย่างไร
และก็จะรู้ได้เองว่า สิ่งไหนที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ก็เรียกว่าเป็นสังขารทั้งนั้น

ถ้าจะพิจารณาดูความรู้สึก
โดยเฉพาะว่าจะมีการรู้สึกในเรื่องรูปธรรม หรือนามธรรมอย่างนี้
ก็เป็นสังขารทั้งหมด
ตัวสติก็เป็นสังขาร
ปัญญาก็เป็นสังขาร
จนกระทั่งว่าจิตที่สงบก็เป็นสังขาร
ไม่สงบก็เป็นสังขาร

ดูสังขารให้ลึก ให้ละเอียด ให้ทั่วถึงเข้าไปให้ได้
มิฉะนั้นก็เห็นสังขารนิดๆ หน่อยๆ
แล้วก็เป็นการเข้าใจเอาเองว่า
สังขารคือความปรุงแต่งอะไรต่ออะไรเท่านี้
เป็นการรู้นิดหน่อย ยังรู้ไม่ทั่วถึง

ทีนี้ตัวความรู้ จนกระทั่งว่าผู้ดู ผู้รู้ก็เป็นสังขารอีก
ล้วนแต่เป็นสังขารทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว ฝ่ายถูก ฝ่ายผิด
นี่จะต้องรู้จักสังขารเสียให้ทั่วถึง

แล้วการรู้สังขารให้ทั่วถึงลึกซึ้งเข้าไปในเรื่องภายในโดยเฉพาะ
ทำให้น่าเบื่อหน่าย
มิฉะนั้นจะไปเลือกเอาสังขารที่ดีๆ มายึดถือเอาไว้
แล้วสังขารที่ไม่ดีก็จะผลักไสไป
ทีนี้จะได้รู้เสียให้ทั่วถึง ว่า
ตัวผู้ดู ผู้รู้นั่นแหละก็เป็นสังขารเหมือนกัน
จะไปยึดถือเอาไว้ไม่ได้
หรือว่าที่จะยืนหลักความรู้เหล่านี้ก็เหมือนกัน เป็นสังขารทั้งนั้น

ที่เราได้พิจารณาเห็นลงไปว่ามันเป็นสังขารนี้
ก็เพราะมันเป็นสิ่งที่ปรวนแปรเปลี่ยนรูป ดับไปได้
เราจึงรู้ว่านี่พวกสังขารทั้งนั้น

เราก็มาเล่นอยู่กับของหลอกๆ ตลอดเวลา
การรู้จริงแจ่มแจ้งอะไรก็เป็นสังขารอีกนั่นแหละ
ก็เข้าไปยึดถือพออกพอใจ
แล้วมันก็เปลี่ยนรูปไปอีก
เปลี่ยนไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง
เปลี่ยนแปรไปตามเหตุตามปัจจัย ทั้งรูปธรรมนามธรรม

ทั้งความรู้สึกที่เป็นสติปัญญา หรือญาณทัศนะที่เป็นการรู้อย่างนั้นอย่างนี้
ก็เป็นสังขารทั้งนั้น
แต่ว่าเป็นสังขารฝ่ายดี
ที่จะต้องใช้อาศัยไปก่อน จะไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้

เราจะต้องรู้จักสังขาร
และต้องรู้จักใช้สังขารให้ถูกต้อง
แล้วก็ปล่อยวางเท่านั้นเอง
ไม่ต้องไปยึดมั่นถือมั่น

การที่จะรู้จักสังขารให้ทั่วถึงนี้
ต้องเพียรเพ่งพิจารณาให้รู้ลักษณะของความรู้
ความไม่รู้ก็เป็นสังขาร และความรู้ก็เป็นสังขาร
ที่สืบทราบได้ตามที่สอบสวนจากภายใน
ก็รู้ว่ามันเป็นของเกิดดับเหมือนกัน

ที่เรารู้ๆ อยู่นี่ ถึงจะรู้ความจริงอะไรขึ้นมา ก็อยู่ไม่นาน
ต้องเปลี่ยนแปรเป็นไม่รู้ไปอีก
เราจึงจับหลักได้ว่า
พวกสังขารนี้เล่นกลหลายชนิดหลายชั้นนัก
แล้วเราก็ไม่รู้หลงมาเล่นกับมันอยู่นี่เอง

การรู้มายาของสังขารทุกชนิดทุกชั้นเข้าไป
ถ้าใครรู้ได้ก็มีประโยชน์มาก
จะได้รู้จริงๆ เหมือนที่พระพุทธองค์ตรัสว่า สัพเพ สังขารา อนิจจาติ
บุคคลมาพิจารณาให้รู้ว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง
นี่เป็นหลักสำคัญ
แล้วเราอาจจะมองทะลุไปได้ถึงความเป็นทุกข์อยู่ในตัวสังขารทุกประเภท

แม้ว่าจะเป็นสังขารฝ่ายดี ฝ่ายถูกที่เป็นสติปัญญาก็ตาม
ก็มีทุกข์อยู่ในตัวของมัน
เพราะมันต้องมีความเปลี่ยนแปรไป
เหมือนกับเป็นเครื่องมือใช้ชั่วคราว
ไม่ให้เข้าไปยึดมั่นถือมั่น

ถ้าใครหลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่น คนนั้นก็จะแย่
เรียกว่ายังไม่รู้จักสังขารให้ทั่วถึงเลย
ยังยึดถือเอาอย่างนั้นอย่างนี้
มีความเห็นอะไรขึ้นมาก็ยึดถือเอาจริงเอาจังไปทีเดียว
จึงต้องเห็นลงไปว่า ที่รู้อะไรต่ออะไรที่เกิดๆ ดับๆ อยู่นี่
มันเป็นสังขารทั้งหมด ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

แม้จะต้องรักษาหลักความรู้ หรือคุ้มครองจิตไว้ด้วยสติปัญญา
อย่างนี้ก็ต้องรู้ว่า จิตใจก็เป็นสังขาร ตัวสติปัญญาก็เป็นสังขาร
มิฉะนั้นจะนึกว่าความรู้นี่ไม่ใช่เป็นสังขาร
หรือตัวผู้ดู ผู้รู้ ผู้ปล่อยอะไรเหล่านี้ ก็นึกว่าไม่เป็นสังขาร
ที่แท้ก็เป็นสังขารทั้งหมด
เพราะตัวผู้ดูผู้รู้นั่น ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัวมันเหมือนกัน

ไม่ว่าความรู้ขั้นไหนก็เป็นสังขารทั้งหมด
เพราะว่ามันไม่ได้อยู่ระดับเดียว
มันเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัวของมัน
แล้วก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลง
คือความไม่เที่ยงของสังขารทุกประเภทหมด
จนกระทั่งเห็นความทุกข์อยู่ในนั้นเสร็จ
ไม่ใช่ทุกข์กายหรือทุกข์ใจ
ทุกข์นี้มันเป็นทุกข์อยู่ในความเปลี่ยนแปลง

ทุกประเภทของสังขารที่เปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นทุกข์อยู่ในตัวเสร็จ
เช่น ตัวสติปัญญาก็เป็นสังขาร แล้วก็มีความเปลี่ยนแปลง
และตัวที่ต้องทนความเปลี่ยนแปลงนั่นแหละเป็นทุกข์อยู่ในตัว
อยู่ในตัวสติ อยู่ในตัวปัญญาเสร็จ

ถ้าอย่างนี้มันลึกเข้าไปอีก เพราะว่าเรารู้แต่เพียงเผินๆ กัน
ปล่อยวางอะไรได้ ก็พูดไปตามขั้นของการปฏิบัติเป็นขั้นๆ ไป
เรียกว่ายังไม่รู้แจ้งสังขารให้ลึกซึ้งเข้าไป
เราก็รู้กันแค่นี้ แล้วก็ว่าดี ว่าถูกกันอยู่แค่นี้
ที่ลึกละเอียดเข้าไปไม่รู้
อย่างนี้ก็ยังอยู่ในเกลียวหมุนของสังขารอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

แล้วจะน่าศึกษาให้ลึกซึ้งเข้าไปไหม
เราก็มาเล่นอยู่กับสังขารหลอกๆ ล่อๆ อยู่อย่างนี้
เดี๋ยวจะเอาอย่างนี้
สังขารฝ่ายดีก็อยากจะได้
สังขารฝ่ายชั่วก็อยากจะให้มันพ้นไป ดับไป
เรียกว่าเล่นชักคะเย่ออยู่กับสังขารทั้งนั้น
ถ้าดูให้ละเอียดๆ มันน่าเบื่อที่สุด ไม่ว่าสังขารประเภทใดทั้งหมด
ที่เป็นของเกิดดับอยู่ ทั้งความรู้ดี รู้ผิด รู้ถูก

ทีนี้ความรู้สึกที่เป็นความรู้ถูกต้อง
ที่เป็นสังขารฝ่ายดี ก็จะต้องพยายามอบรมให้มีความรู้ที่เป็นเครื่องอ่านออกทั้งภายนอกตัว หรือในตัวของมันเอง
มันสลับซับซ้อนเข้ามา
เมื่อรู้จักมองให้ทะลุถึงความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์
แล้วก็จะต้องมองเห็นความไม่มีตัวตนอยู่ในสังขารทุกประเภทหมด

ตามหลักท่านจึงได้บอกว่า อถนิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอสมคฺโค วิสุทฺธิยา
พอมาจับหลักของการพิจารณาลึกเข้าไปแล้ว
มันเป็นอย่างนี้เอง
ที่มีความเบื่อหน่าย
พอมีความเบื่อหน่ายสิ่งที่ตนเคยหลงสังขารมา และยึดถึออยู่
เพราะไม่รู้ ทีนี้รู้ด้วยปัญญาขึ้นมา จึงมีความเบื่อหน่าย

และที่เบื่อหน่าย ไม่ใช่เบื่อหน่ายไปเฉยๆ
มันเบื่อแล้วจางคลายออก
คือมันจางคลายออกไป
หรือมันหลุดออกไป
มันขาดออกไปได้
ท่านจึงบอกว่านี่แหละเป็นทางแห่งควาหมดจด

เราไปพบกับความจางคลายเข้าเท่านี้
ก็พบทางแล้ว
แม้จะยังไม่หมดจดถึงที่สุด
เราก็รู้แนวแล้ว ว่าการรู้ สัพเพ สังขารา อนิจจาติ รู้ด้วยปัญญาจริงๆ มันลึกซึ้งเข้าไป
ทำให้เบื่อหน่ายพร้อมกับคลายออกไป
ไม่ยึดมั่นถือมั่น
แล้วอย่างนี้น่าจะพิจารณาให้ซึ้งเข้าไปไหม

เพียงแต่มารู้กันล่อๆ หลอกๆ นิดๆ หน่อยๆ เท่านี้
ก็อยู่ไปแบบนั้นนั่นเอง
มันรู้ไม่จริงจังอะไร
ทั้งๆ ที่มันถูกปรุงแต่งอยู่ในปัจจุบันทั้งนั้น
ไม่ว่าฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว ฝ่ายถูก ฝ่ายผิดทั้งหมด
ก็ถูกปรุงแต่อยู่เรื่อย แต่ว่าไม่ค่อยจะรู้กันขึ้นมาได้

เพราะฉะนั้นน่าจะรู้เรื่องนี้ให้ถูกต้อง
ถ้าไม่รู้เรื่องนี้ให้ถูกต้อง
หนทางปฏิบัติเพื่อจะให้หลุดพ้นไปจากสังขารนี่ก็ไม่มีเหมือนกัน
เพราะว่ายังอยู่กับความชุลมุนของสังขารทั้งนั้น

แล้วยิ่งการพิจารณาที่มานึกเอาชั่วครั้งชั่วคราว
ยิ่งเอาตัวไม่รอด
จะต้องให้เป็นการรู้แยบคายเข้าไปทุกที ทุกขั้น ทุกชั้น
อ่านมันออกทุกขั้นทุกชั้นเข้าไป

ตัวที่มันรู้ๆ เราก็ดูมันเข้าไป
ไม่ได้ดูตัวข้างนอก ดูตัวในที่เป็นตัวในรู้ของมันเอง
ว่าตัวในรู้ของมันเปลี่ยนแปลงไหม เกิดดับไหม
ในตัวที่รู้ๆ อยู่นี่ หรือตัวจิตหรือวิญญาณก็ตาม
ที่ยืนรู้อยู่นี่ ต้องดูเข้าไปให้ตรงจุดมันทีเดียวๆ

การดูตรงจิตอย่างนี้ก็ไม่ใช่ของง่ายนักเหมือนกัน
เพราะว่ามันถนัดจะดูออกอยู่เรื่อย
มันปรุงอะไรต่ออะไรออกมาเป็นพวกสัญญาความจำหมาย ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
มันสืบอยู่เรื่อย ส่งอยู่เรื่อย
แล้วก็ปรุงไปตามนี้
ปรุงอยู่นอกๆ สมมุติว่าปรุงอยู่นอกจิต

ทีนี้ตัวในจิตเอง
ตัวมันเองก็เกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัวของมันเองอย่างถี่ยิบ
เช่น จิตที่วางเฉยอยู่นั้น วางเฉยแล้วแล้วไป
ไม่ได้ดูเข้าในตัวที่วางเฉยนั่น

ตัวใน ตัวที่วางเฉยนั้นมันเกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่เสร็จในนั้น
นี่ดูกันข้างนอกทั้งนั้น
จิตที่ไม่ถูกปรุงมันยืนรู้อยู่นั่น

เหมือนที่เรารู้ๆ กันอยู่ว่า
พอสัญญาจำหมายเกิดขึ้น เราก็หยุดไม่ปรุงต่อ
ก็เรียกว่าจิตมีความสงบ หรือมีความว่างที่ไม่ถูกปรุง
เพียงเท่านี้เท่านั้นเอง
ทั้งๆ ที่ว่าตัวของความรู้ในขณะที่มันยืนรู้นั่น ตัวมันก็เป็นสังขาร
ต้องเปลี่ยนแปลงไปอีก ไม่ได้ยืนรู้อยู่ได้เป็นของถาวร

ถึงมันจะยืนรู้อยู่ได้ มันก็เปลี่ยนแปลงอยู่ในตัวของความรู้เสร็จ
เหมือนขั้นญาณ
ตามหลักที่เปลี่ยนขึ้นมาตามญาณที่หนึ่งที่สอง ก็เรียกว่า ญาณทัศนะ
ญาณความรู้เหล่านั้นก็เป็นสังขารทั้งหมด
ที่สืบทราบได้ก็เพราะมันเกิดดับเปลี่ยนแปลงไม่คงที่
มันอยู่ในกลุ่มของสังขารทั้งหมด

ควรจะรู้ให้ได้ว่า ความรู้ในกลุ่มของสังขาร
คือความเปลี่ยนแปลงเป็นทุกข์อยู่ในตัว ไม่มีตัวตนอยู่ในตัวเองเสร็จ
หมั่นดูอย่างนี้ซ้ำๆ เอาไว้
จนกระทั่งเป็นความชัดใจ จึงจะคลายได้
เบื่อหน่ายคลายกำหนัดออกไป

สังขารที่ดีก็ไม่เข้าไปยึดถือ
ที่ชั่วก็ไม่เข้าไปผลักไส
เพราะรู้ว่ามันราคาเดียวกัน เป็นของเปลี่ยนแปลงเท่ากัน

แม้ว่าเราจะให้มันเป็นการยืนรู้
หรือเป็นการคุ้มครองจิตใจ ในด้านที่จะไม่ให้ถูกปรุงภายนอกมากขึ้น
แต่เราก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นในความรู้อย่างนี้
เพราะว่ามันต้องเปลี่ยนแปลงไปอีก

เหมือนกับความรู้ขั้นนี้เป็นการรู้อยู่อย่างนี้
เราก็ว่าเรารู้จริงในเรื่องนี้
แต่ครั้นว่าสมัยอื่นหรือขณะอื่น เราเกิดมีความรู้อะไรที่แจ่มแจ้งชัดใจมากไปกว่านี้อีก
เราจึงจะรู้ว่าที่รู้ลักษณะนั้น ที่เรายืนยันว่าเป็นความรู้จริง ที่แท้ไม่ใช่

ความรู้นี่มันเปลี่ยนได้ มันเปลี่ยนแปลงขึ้นมาแล้ว
แม้มันจะเปลี่ยนสูงขึ้นมาเท่าไรๆ ก็ต้องเห็น ต้องตามเห็นอยู่วันยังค่ำ
ว่ามันเป็นสังขาร มันเปลี่ยนแปลงทุกประเภท
ไม่ว่าจะเป็นหยาบ ละเอียด อะไรทั้งหมด
จะต้องรู้ให้ทั่วถึงหมดให้ได้
มิฉะนั้นไปยึดถืออยู่แต่อย่างนั้นเอง
แล้วก็จะไปอยากอย่างนี้อย่างนั้นขึ้นมาสลับซับซ้อนหมด

ถ้าดูแบบที่เห็นสังขารทั้งหมดได้ทั่วถึง ทั้งดี ชั่ว ถูก ผิด
ทั้งตัวผู้รู้ ตัวไม่รู้
ทั้งหมดเป็นสังขารประเภทเดียวกัน
ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว ความรู้มันค่อยๆ เหนือขึ้นมาได้

ถึงแม้ว่าความรู้ที่จะเหนือขึ้นมา
ก็เป็นสังขารอีกเหมือนกัน
ยังไม่พ้นความเป็นสังขารไปได้
ถึงมรรคก็เป็นสังขาร
แม้ว่าเราจะมีการเจริญมรรค มีสัมมาทิฎฐิ ปัญญาเห็นชอบ
ควรจะเห็นชอบในเรื่องนี้
ควรจะเห็นให้แจ้งชัดเข้าไปทุกประเภทหมด

ที่เป็นความรู้อะไรออกมาในลักษณะไหน
ไม่ว่าจะดูรูปธรรม นามธรรม ที่เกิดๆ ดับๆ อยู่ เป็นลักษณะของสังขารทั้งหมด
แม้แต่จิตที่กำลังตั้งมั่นเป็นสมาธิ ก็เป็นสังขาร
พวกฌานก็เป็นสังขารทั้งหมด

ตามในหลักสัพเพสังขารา จนกระทั่งสัพเพธัมมา
เรื่องสัพเพ ธัมมา อนัตตา นี้เป็นการรวบยอด
ที่ว่าเห็นสภาพของสังขารที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แล้วก็เป็นอนัตตา
นี่เป็นฝ่ายสังขตะ เป็นฝ่ายสังขารที่มีการปรุงแต่ง

ทีนี้เรื่องสัพเพธัมมานี้
ตามหลักท่านมีเรื่องของการพ้นสังขาร เป็นวิสังขารหรืออสังเขตธรรม
ก็หมายถึงนิพพานอย่างนี้
ถ้าเราไม่รู้จักสังขารให้ทั่วถึงทุกประเภท
เราก็ไม่รู้ถึงวิสังขาร หรือสิ่งที่มันไม่ปรุงแต่ง

จิตที่ตั้งมั่นนี้ ยิ่งดูสังขารได้ชัดดี
มันตั้งมั่นเดี่ยวอยู่ได้อย่างไร
ความรู้ที่ควบคู่อยู่กับจิตที่ตั้งมั่น
จะเป็นเครื่องอ่านออกในลักษณะจิตที่มีการไหวรับอารมณ์ขึ้นมาทุกๆ ขณะ

และตัวที่มันควบคุมอยู่นั่น
มันจะได้รู้ตัวของมันเองว่า
ตัวของมันเองก็พวกเดียวกัน
มันเปลี่ยนแปลง
และแม้ว่าในขณะนี้บางคนอาจจะฟังไม่เข้าใจ
ก็นำไปพิจารณาดูเรื่อยๆ ไปก่อนก็ได้

เพราะว่าแค่ที่จะให้พิจารณาเห็นรูปธรรม นามธรรม
ที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดดับ
ก็ยังไม่ค่อยจะรู้ได้ง่ายๆ เลย
ยิ่งเอาเรื่องนี้มาพูด
ที่เป็นการรวบยอด ก็คงจะเข้าใจยากสักหน่อย

แต่ถึงอย่างไร ก็อยากจะให้เข้าใจในเรื่องนี้ที่เป็นการรวบยอด
เพราะได้ประโยชน์ที่เราจะได้ไม่ต้องเล่นกับพวกสังขารมากเกินไป
หรือว่ามัวแต่งมอยู่กับสังขารมากเกินไป
ถ้าจะรู้จักปล่อยวางอะไรออกไปได้แง่ ได้แยบคายอะไรขึ้นมา
ในเรื่องนี้เรื่องเดียว ก็จะแก้ปัญหาอื่นๆ ไปได้เรื่อยๆ

โดยเฉพาะที่ได้มีการอบรมมา
เป็นการติดต่อมาอย่างไร
เป็นการพินิจพิจารณารู้เรื่องของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ของรูปนามมาอย่างไร
นี่ก็นับว่าเป็นกิจกรรมที่จะต้องจัดทำอยู่ตลอดเวลา

และการเพ่งพิจารณาอย่างนี้จะได้ลึกซึ้งเข้าไปในตัวของความรู้เอง
อ่านแบบนี้เรื่อยไปในตัวความรู้เองนั้น
ดูมันเข้าไป
มันก็เปลี่ยนแปลง
จึงจะทำให้ความรู้ความเห็นแจ่มแจ้งว่า
มันเป็นมายาหลายชั้นอย่างนี้เอง
จะได้ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นทั้งหมด ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่วทั้งหมด

และทีนี้จะมีการพิจารณากันให้รู้ด้วยปัญญาจริงๆ
ถ้าเราไม่สนใจเรื่องนี้
การเจริญกัมมัฎฐานวิปัสสนา มันไปเรื่องอื่น
ที่แท้มันเป็นเรื่องนี้ทั้งหมด
ตลอดจนว่าจะมีการศึกษา ก็ต้องศึกษาให้รู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
จะมีการปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติให้รู้ความจริงในเรื่องความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ของนามรูป หรือของสังขารทุกประเภท

เราจะพูดกันเฉพาะเรื่องเดียว สิ่งเดียวเท่านี้เอง
แต่ให้พูดไปจนตาย ก็ไม่รู้จักจบอีกเหมือนกัน
เพราะว่าความรู้ภายในที่ยังรู้ไม่ได้ ยังเปลี่ยนตัวอยู่เรื่อย
มันกลับกลอกหลอกหลอนอยู่ในตัวรู้เรื่อย
ถ้าเราไม่จับหลักเข้าไปดูมันแบบนี้ ก็ถูกหลอกแย่อยู่นั่นเอง
ก็เป็นอันว่าหลงสังขาร ไม่รู้จักสังขารตามความเป็นจริง
อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์จะให้รู้
เราก็ไปรู้ผิดเห็นผิดกันเสียหมดอย่างนี้

แท้จริงที่พระองค์ตรัสรู้มาอย่างละเอียดสุขุม
แล้วก็ทรงเผยแพร่ให้ตื้นขึ้น
ที่ลึกทรงทำให้ตื้นขึ้น
ที่เป็นของเร้นลับเห็นยากก็ทำให้เปิดเผยเห็นง่าย เป็นสิ่งที่น่าสนใจ
เรากลับไม่มีความสนใจในเรื่องนี้
ไปสนใจเรื่องอื่นๆ กันเสียหมด

พูดเรื่องอื่นๆ ก็เลยไม่รู้อะไรเป็นอะไรไปทั้งหมด
ยิ่งรู้มากก็ยากนาน รู้น้อยพลอยรำคาญ
รู้น้อยพลอยรำคาญก็อยากจะรู้มากนั่นเอง
เกิดรำคาญขึ้นมา อยากจะรู้ให้มากๆ

อันที่จริงการปฏิบัตินี้ไม่ใช่เรื่องหอบฟาง อย่างที่เขาเรียกกันว่าบ้าหอบฟาง
หอบแต่ฟางไปมากมาย ไม่ได้ข้าวสักเม็ด
ใครขยันหอบฟางก็หอบไปเถอะ เหนื่อยตายอยู่นั่น
ที่ไม่ต้องหอบอะไร ไม่ต้องหิ้วอะไร ไม่ต้องแบกอะไรนั่นจะดีไหม
มาทำอย่างนี้กัน
หรืออยากจะแบกหาม อยากจะหิ้วก็ตามใจ

แต่ว่าถ้าใครแบกมามากๆ แล้ว
เกิดความรู้สึกว่าเหนื่อยเต็มทีแล้ว ทนไม่ไหวแล้ว
ทีนี้จะต้องหาช่องปล่อยวาง
มีช่องปล่อยวางได้เหมือนกัน
มันมีช่องออก ไม่ใช่ว่าปิดแปดด้านสิบด้านหมด ก็แย่ตายอยู่ในนั้นเอง

นี่ยังเป็นโชคดีของเราอยู่มาก
ที่ได้มามีส่วนได้รับธรรมะของพระพุทธเจ้า
ถ้าเราจะมองออกไปไกลๆ ถึงคนจำนวนมาก ที่อยู่ในประเทศที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้
คือพวกที่เขานับถือพระพรหม พระศิวะ พระวิษณุ
ที่เขาบูชาศิวลึงค์นั้น ไม่ใช่คนนิดหน่อยที่ทำการบูชาอย่างนั้น
ทำไมบูชากันมาได้ไม่รู้กี่สมัยมาแล้ว กี่ร้อยปีมาแล้ว

และก็ดูในสมัยที่มนุษย์มีความเจริญในวิชาการทางโลกอย่างนี้
มีการพิสูจน์ด้วยเหตุผลอะไรต่างๆ ก็ตาม
แต่ว่าพวกนั้นก็ยังจนปัญญาอยู่นั่นเอง
ยังจนปัญญาอยู่ทั้งนั้น
ที่จะเล็ดลอดออกมารู้ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีจำนวนนิดเดียว
ส่วนใหญ่ยังหลงอยู่

เท่านี้ก็ทำให้เห็นว่า
ธรรมะมีความเป็นอัศจรรย์อยู่ในตัวธรรมะเสร็จ
จะทำให้หายโง่หายหลง
แทนที่จะไปเชื่อถืออะไรต่ออะไรที่ไม่มีประโยชน์

เมื่อสอบเข้ามาทางเหตุผลในทางเชื่อกรรม
เท่านี้ก็หักล้างไปเสียแล้ว ที่ไปเชื่อพระเจ้าต่างๆ นั้น
นี่ก็เพียงแต่นำมาพูดสู่กันฟังในวงแคบๆ
เราไม่ต้องไปพูดอะไรที่จะกระทบกระเทือนคนที่เขานับถือศาสนาของเขา
เขาก็เห็นดิบเห็นดีไปตามเรื่องของเขา
แต่นี่นำมาเป็นเครื่องสอบสวนดูว่า
ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ
ได้มีการปฏิบัติตามแนวของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้องขึ้นมาได้
ในกลุ่มน้อยๆ หรือว่าเป็นความรู้สึกของสติปัญญาอย่างน้อยๆ
เท่านี้ ก็ยังนับว่าประเสริฐเหมือนกัน

ทีนี้ในวงกว้างๆ ออกไป
แล้วก็ไปดูสภาพของสัตว์ทุกๆ ชนิด
มันเป็นของต้องทรมานมาอย่างไร
เป็นการเวียนว่ายตายเกิดมาอย่างไร
แม้จะดูให้ละเอียดเข้ามา
ทุกๆ ขณะที่มีการปรุงแต่ง ดี ชั่ว ตัวตนขึ้นมา
เป็นอะไรต่ออะไรยุบยิบอยู่นี่
มีภพชาติก่อเกิดอยู่ในจิตใจของเราหลายอย่างถี่เข้ามา ใกล้เข้ามาเท่านี้
ก็จะเป็นเครื่องให้เรารู้ว่า
ในวัฎฎสงสารไม่มีอะไรดีเลย
เต็มไปด้วยความเป็นมายาของสังขารทุกประเภท
และตลอดไปหมดอีกเหมือนกัน

ไม่ว่าพวกนรก สวรรค์ชั้นฟ้าอะไรทั้งหมด
ก็เป็นพวกสังขารที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยถากรรมทั้งนั้น
นี้จะทำให้เรายิ่งรู้สึกเห็นคุณค่าของธรรมะประเภทที่ท่านชี้แนวเอาไว้
ให้รู้เห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงด้วยปัญญา
แล้วก็มีความเบื่อหน่ายในทุกข์ที่ตนหลงยึดถือมาแต่กาลก่อนได้
เท่านี้ก็เป็นผู้มีทางแล้ว
เป็นทางแห่งความหมดจดขึ้นมาแล้วภายในจิต

เราควรจะมีทางแห่งความหมดจดภายในจิต
ที่มีความรู้ความเห็นที่ถูกตรง
และไม่ยึดมั่นถือมั่น
ต้องสอบกันอยู่เรื่อย
เพราะสังขารเกิดดับเรื่อย ไม่ว่าง
ถ้าไปเจอว่าง ก็ว่างของสังขารอีก
ประเดี๋ยวก็ไม่ว่างไปอย่างนั้น
ทีนี้การพิจารณาให้เห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยงให้ทั่วถึงแล้ว
จะได้เห็นทุกข์อยู่ในตัวเสร็จ

ทีนี้จะต้องรู้ให้สูงขึ้น
ไม่รู้แต่เพียงทุกข์ของกาย
กายก็เป็นสังขาร แล้วก็รู้เพียงเท่านี้
รู้แต่ทุกข์ของสังขารร่างกายนิดๆ หน่อยๆ
แล้วก็ไม่ได้รู้อะไรอื่นไปอีกได้
ทีนี้รู้มันให้ทั่วให้ได้

แม้แต่ตัวจิตที่จะรู้อะไรต่ออะไร เกิดๆ ดับๆ วุ่นๆ วายๆ ก็ล้วนแต่สังขารทั้งนั้น
อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเข้า

ไม่ว่าลักษณะไหนก็ต้องดูให้ละเอียด ให้ลึกเข้าไปด้วย
ทุกๆ ขณะปัจจุบันนี้
พระพุทธเจ้าทรงชี้อยู่ในเรื่องนี้
ทรงชี้ให้เห็นรูปทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน
รูปใกล้ รูปไกล หยาบ ละเอียด เลว ประณีต ก็ให้ดูให้ทั่วถึง
ให้เห็นทั้งรูปธรรม นามธรรม ก็แบบเดียวกัน ต้องดูให้ละเอียด

ทีนี้การปฏิบัติ ถ้าไม่รู้แยบคาย หรือไม่ได้รู้ละเอียดไปแล้ว
ข้อปฏิบัติก็ทำให้เฉื่อยชาง่ายเหมือนกัน
หรือว่าอยากจะรู้จัดเกินไป จะเพียรจัดเกินไป ก็อีกเหมือนกัน
จะไปเล่นกับสังขาร จะบังคับบัญชามันเกินไป
เมื่อไม่ได้สมหวังก็เกิดความรวนเรขึ้นมา
จะต้องพยายามดู พยายามรู้ไปให้เหมาะสม

ตามหลักท่านจึงเปรียบเทียบข้อปฏิบัติด้านจิตใจเหมือนการจับนก
สมมุติว่าจับนกตัวเล็กๆ ที่มันอาจจะลอดช่องนิ้วมือได้
ถ้าจะกำแน่น นกก็จะตายคามือ
ถ้ากำอย่างหลวมๆ มันก็ลอดนิ้วมือบินหนีไป
จะกำอย่างไรให้นกไม่ตาย และไม่บินหนีไปด้วย

และวิธีกำหนดจิต จะต้องกำหนดโดยวิธีใด
จะต้องคอยสังเกต
ถ้าเป็นการรุนแรงนัก บีบคั้นเกินไป
จิตก็ดิ้นรนกระวนกระวายมาก
เพราะถูกบังคับมากเกินไป
ถ้าหละหลวมจิตก็พร้อมที่จะล่องลอยตามอารมณ์ไปหมด
ไปคิดนึกปรุงแต่งอะไรเรื่อยเปื่อยไปได้ง่ายๆ
ทีนี้จะทำให้มันรู้เฉพาะตัวมันอย่างไร

ในการฝึกสติสัมปชัญญะก็ดี อยู่อินทรียสังวรก็ดี
ก็ไม่ใช่เพื่ออะไรอื่น ไม่ใช่เป็นการสังวรอยู่เฉยๆ แบบนั้นตะพึดไป
ที่มีการสังวรและพิจารณาประกอบอยู่ด้วย
จึงจะได้ จึงจะเป็นเครื่องอ่านออก
และรู้ลักษณะของความรู้สึกที่เกิดดับไปอย่างไรตามผัสสะ

เพราะว่างานปฏิบัติที่จะอบรมจิตภาวนาเป็นของลึกซึ้งอยู่ในตัว
ถ้าไม่มีการพูดอะไรกันบ้าง
ก็ทำกันไปทื่อๆ
ไม่มีความรู้แยบคาย ที่จะแสดงออกให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนปฏิบัติด้วยกัน
และไม่มีการพูดจาหารืออะไรก็ทื่อๆ ไปอย่างนั้น
จะมีการรู้แจ้งอะไรเสร็จแล้วก็ไปแบบนั้น

การพูดก็เพื่อจะเป็นการคุ้ยเขี่ยเหมือนที่เขาจุดไต้
ไต้ที่เขาจุดแล้วนานๆ มันชักมอดไป
เพราะขี้เถ้าเกรอะกรังขึ้นมา
ก็ต้องเขี่ยมัน
เขี่ยมันทีมันก็ลุกโพลงขึ้นมาได้
จิตใจก็ชอบให้เขี่ยเหมือนกัน
แต่ต้องคุ้ยเขี่ยให้ถูกวิธี
ถ้าคุ้ยเขี่ยผิดๆ ถูกๆ ก็ไม่โพลงขึ้นมาได้
ไม่แจ้ง ไม่รู้
ถ้าถูกวิธีขึ้นมา เนื่องจากหลักความรู้ก็อยู่กับจิตแล้ว พอถูกผัสสะอะไรที่เป็นการตรงเข้าหาตัวมัน มันก็แจ้งขึ้นมาในตัวของมันเองเสร็จ

การรับฟังอย่างนี้ ก็เป็นของเฉพาะคนๆ ไป
อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้
แต่ถึงอย่างไรก็ดี
ถ้าหลักของจิตมีสติปัญญาเป็นเครื่องควบคุมอยู่ตลอดเวลาแล้ว
ทำอย่างไรเสียก็ต้องได้รู้แยบคาย
และบางทีก็แจ้งอยู่ในขณะนั้นได้ไม่ลำบาก

บางทีเราไปทำความเพียรความสงบ
มันไปตื้อไปตันไปวางเฉยเสียในขั้นนั้นขั้นนี้
หรือว่าสงบมากเกินไป
ก็ไม่รู้อะไรเป็นอะไรอีกเหมือนกัน

ทีนี้จะรู้ออกมา
ประเดี๋ยวมันปรุงเป็นฟุ้งซ่านไปอีกแล้ว
กลายเป็นปัญญามากเกินไป
ไม่สมดุลกับสมาธิ
สมาธิจัดเกินไปก็ทื่อ
ไม่รู้อะไรเหมือนกัน
มันสงบเฉยอยู่ได้ หรือบางทีมีนิมิตอะไรก็ไปเพลิดเพลิน
ได้แต่รู้ออก

การทำข้อปฏิบัติในเรื่องจิต
เวลาที่ทำความสงบอย่าเอาตาเพ่ง
ถ้าเอาตาเพ่งมันจะรู้ออก
ถ้าจะเป็นความรู้ของจิต
ก็ต้องเอาจิตรู้จิต
ไม่ใช่เอาตาเข้าไปเพ่ง
ขืนไปเพ่งแล้วก็พาออกนอก

เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจให้ถูกแต่ต้นๆ
ที่เขาทำสมาธิกัน
ไปเที่ยวกันไกลๆ ไปรู้อะไร เห็นอะไรมา
เอามาเป็นดีไป
ที่ไปเห็นดีๆ ก็เอามายึดถือในนิมิตนั้น
เพราะเรื่องไม่รู้ในสังขารทุกประเภท
จึงทำให้ไปยึดถืออะไรต่ออะไรมาก
ถ้ารู้ล่วงหน้าไปอย่างนี้ก่อนก็ดี
เมื่อไปรู้อะไรขึ้นมา
จะได้ไม่ไปยึดมั่นถือมั่น
รู้จักปล่อยวางเรื่อยไปก็ไม่ผิด

ความรู้อะไรที่เป็นการทรงตัวได้
ก็ควรจะพยายามเหมือนกัน
ถ้าไม่พยายามอย่างนี้
จิตมันชอบท่องเที่ยว
และเป็นการฟุ้งซ่านจนบังคับไม่อยู่

บางทีตามแบบท่าน ก็มีการพูดเปรียบเทียบถึงลักษณะของจิต
เปรียบเหมือนเขาพรากเอาลูกโคจากแม่
ก็เหมือนพรากจิตออกจากบ้านเรือน
จากอารมณ์ต่างๆ นานาที่เคยลุ่มหลง เพลิดเพลิน เอร็ดอร่อย
เอามาผูก
เหมือนเขาพรากลูกโคจากแม่เอามาผูกกับหลัก
เขาต้องการจะฝึกเพื่อใช้งาน
ในวันสองวันแรกมันร้องหาแม่ของมันแทบตาย
เพราะอยู่กับแม่มันเคยเพลิดเพลินดี
พอมาอยู่ตัวเดียวมันชักจะว่าเหว่

แล้วลองพิจารณาดูจิตใจของเรา
ที่ออกจากบ้านเรือนหรือโลกียารมณ์ทั้งหลาย
ซึ่งเปรียบเหมือนแม่โค
ที่จะออกมาได้นี้
จิตมันเหงาหงอยไหม
ว้าเหว่ไหม ที่ออกมาไกลลูกหลานบ้านเรือน
มันว้าเหว่ไหม
ถ้ามันจะมาว้าเหว่อยู่สักสองสามวัน
ก็ช่างมันเถอะ
จับเอามันผูกกับหลัก คือสติไว้ก่อน

ทีนี้มันจะร้องหาแม่ของมัน สักสองสามาวันมันคงลดลง
พอมันจะไป
ก็มารู้จิตไว้
พอจะไปก็มารู้จิตไว้แบบนี้ เรียกว่าจับเอาลูกโค คือจิตผูกกับหลัก
แล้วก็ลงมือฝึก
เช่น ทำกรรมฐานหรือเจริญวิปัสสนา
เป็นเครื่องฝึกลูกโคคือจิต
แล้วดูว่ามันค่อยๆ อยู่ในอำนาจของสติปัญญาหรือยัง

ในขั้นต้น ต้องมีสติสัมปชัญญะเป็นเครื่องฝึกก่อน

เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เป็นประจำ
หลักนี้ต้องทำก่อน ต้องรู้ก่อน
จนกระทั่งมีการสังวรอินทรีย์เป็นเครื่องปิดกั้น
ไม่ให้หลงใหลเพลิดเพลินไป

ฉะนั้นผู้ปฏิบัติก็ต้องสังเกตเอาเอง
และพิจารณาเอาเอง
ถ้าพิจารณาเองได้
ความชัดใจในลักษณะไหน ก็จะได้ประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง

ขอให้ผู้ปฏิบัติตั้งหน้าพยายามพินิจพิจารณากันให้เป็นการรู้จริง
ให้ได้ความจริงที่เป็นเครื่องชัดใจให้จงได้เถิด
 

_________________
รู้ทุกอย่างที่จิตรู้ แต่อย่าติดในรู้นั้น
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง