Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ปัจจัยสำคัญของการฝึกอบรม (เสฐียรพงษ์ วรรณปก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 21 ม.ค. 2007, 7:45 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ปัจจัยสำคัญของการฝึกอบรม
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก


พระไตรปิฎก อันเป็นบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า ตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า "เวลาพระอาทิตย์จะขึ้น ย่อมมีแสงเงินแสงทองขึ้นมาก่อน เป็นนิมิตหมายว่า เดี๋ยวก็จะมีพระอาทิตย์โผล่ขึ้นท้องฟ้าให้เห็น ข้อนี้ฉันใด ก่อนที่อริยมรรคมีองค์ 8 จะเกิดขึ้นและพัฒนาจนสมบูรณ์นั้น ก็ย่อมมี 2 อย่างเกิดขึ้นก่อนเป็นบุพนิมิต คือ ปรโตโฆสะ และโยนิโสมนสิการ ฉันนั้น"

วันนี้ขอพูดถึงเฉพาะปัจจัยแรกคือ ปรโตโฆสะ

ปรโตโฆสะ แปลตามตัวอักษรว่า "เสียงจากคนอื่น" เป็นศัพท์เทคนิคทางพระแท้ๆ เลย แม้พระภิกษุสามเณรบางกลุ่มที่ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนก็แปลไม่ออก หรือแปลออกก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ปรโตโฆสะ หมายถึง "สิ่งแวดล้อม" ครอบคลุมถึงสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ และสิ่งแวดล้อมทางบุคคลหรือสังคม

พูดให้ชัดก็คือ ทุกอย่างที่แวดล้อมเราเรียกว่า ปรโตโฆสะ

พระพุทธศาสนาสอนว่า สิ่งแวดล้อมภายนอกมีผลต่อการฝึกฝนอบรมมิใช่น้อย คนเรานั้นมีแนวโน้มจะดีหรือชั่ว เพียงเพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ถ้าเขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะ ไม่เอื้อต่อการพัฒนาตนเป็นคนดี เขาก็อาจจะกลายเป็นคนชั่วคนเลวได้ ตรงข้ามถ้าเขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เขาก็จะเป็นคนดีที่สังคมปรารถนาได้

คัมภีร์พุทธศาสนาได้ยกนิทานมา "สาธก" เกี่ยวกับอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมเรื่องหนึ่ง (ความจริงหลายเรื่อง แต่นึกได้เรื่องเดียว) มีความว่า มีลูกนกแขกเต้าสองตัว ลูกพ่อแม่เดียวกัน วันหนึ่งเกิดพายุกล้า พัดพาเอาลูกนกทั้งสองไปคนละทิศละทาง ลูกนกตัวหนึ่งถูกลมหอบไปตกลงที่กองอาวุธของพวกโจร พวกโจรจึงนำมันไปเลี้ยง ตั้งชื่อมันว่า "สัตติคุมพะ" (แปลแบบไทยๆ ก็ว่า "ไอ้หอก")

อีกตัวหนึ่งลมหอบไปตกลงท่ามกลางพุ่มไม้ใกล้อาศรมของพวกฤๅษี พวกฤๅษีจึงนำมันไปเลี้ยงไว้ ตั้งชื่อว่า "ปุปผกะ" (แปลว่า "ไอ้ดอกไม้")

พวกโจรนั้นวันๆ ก็พูดแต่คำหยาบคาย มีแต่เรื่องฆ่าเรื่องปล้น ไอ้หอกมันก็เลียนเสียงพูดที่หยาบคายของพวกโจร ส่วนพวกฤๅษีพูดไพเราะ ไอ้ดอกไม้มันก็เลียนเสียงพูดที่สุภาพไพเราะตาม

วันหนึ่งพระเจ้ากรุงปัญจาละ เสด็จไปล่าเนื้อ ติดตามด้วยข้าราชบริพารจำนวนมาก เกิดพลัดหลงกับเหล่าข้าราชบริพาร เสด็จเข้าป่าลึกไปตามลำพัง ทรงเหน็ดเหนื่อย จึงพักผ่อนใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง พลันได้ยินเสียงมาแต่ไกลว่า "ฆ่ามันเลย ปล้นมันเลย" ทรงตกพระทัย เหลียวซ้ายแลขวาไม่เห็นใคร แหงนพระพักตร์ขึ้นไปยังเบื้องบน จึงทอดพระเนตรเห็นนกน้อยตัวหนึ่งพูดภาษาคนแจ้วๆ ล้วนแต่คำหยาบคายทั้งนั้น

เสด็จไปได้สักระยะหนึ่งก็ลุถึงอาศรมของพวกฤาษี ขณะนั้นพวกฤๅษีไม่อยู่ มีแต่นกน้อยตัวหนึ่ง ร้องต้อนรับว่า "ท่านผู้เจริญ พักผ่อนก่อน ท่านผู้เจริญดื่มน้ำก่อน" ทรงนึกชมว่า นกน้อยตัวนี้พูดไพเราะจัง ไม่เหมือนตัวที่ผ่านมา

เมื่อพวกฤๅษีกลับมายังอาศรม พระเจ้ากรุงปัญจาละ จึงเล่าเรื่องนกสองตัวให้ฟัง พวกฤๅษีกล่าวว่า ความจริงนกสองตัวนี้ เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน แต่บังเอิญว่าเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน นิสัยใจคอจึงแตกต่างกันดังที่เห็น

นิทานเรื่องนี้ต้องการชี้ว่า อย่าว่าแต่คนเลย แม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน ก็ย่อมจะแตกต่างกันไปด้วย

เราคงเคยสังเกตเห็นว่า สัตว์ที่เกิดในเมืองหนาว มักจะมีขนยาวหนา ต่างจากสัตว์เมืองร้อน ด้านกายภาพ มันก็ยังปรับตัวให้เข้ากับสภาพของดินฟ้าอากาศ เรื่องนิสัยใจคอ มันก็ย่อมต่างกันไปตามธรรมชาติและสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกัน

พูดถึงเรื่องนี้นึกถึงหลวงพ่อปัญญานันทะขึ้นมาได้ สมัยก่อนยังไม่เคยมีพระภิกษุไทยไปต่างประเทศ หลวงพ่อปัญญานันทะดูเหมือนจะเป็นพระไทยรูปแรกที่ได้รับนิมนต์ไปต่างประเทศ ถัดจากหลวงพ่อปัญญานันทะมา จึงมีพระเป็นจำนวนมากได้ไปเมืองนอกเมืองนา ถึงวันนี้มีพระไทยไปสร้างวัดสร้างวากัน โดยเฉพาะที่อเมริกาเป็นสิบเป็นร้อยวัดแล้ว

เหตุเกิดที่ยุโรป ท่ามกลางอากาศอันหนาวเหน็บ หลวงพ่อปัญญานันทะ ใส่ถุงเท้าและข้างในก็ใส่เสื้อขนสัตว์ แล้วห่มจีวรทับ เพื่อป้องกันหนาวตามคำแนะนำของญาติโยมที่อยู่ที่นั่น เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้น อาจจะปอดบวมตายได้ แต่มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งจากเมืองไทย ไม่พบท่านหลวงพ่อปัญญานันทะ จึงเรียนถามว่า "ท่านไม่รักษาวินัยหรือ"

"เจริญพร เป็นพระต้องรักษาวินัยอยู่แล้ว" หลวงพ่อตอบ

"ทำไมท่านนุ่งห่มอย่างนี้ ไม่ผิดวินัยหรือ" โยมคนนั้นซักอีก

"เจริญพร อาตมาเป็นคนนะ ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน" หลวงพ่อตอบ แล้วต่อว่า "สัตว์เดรัจฉานเช่นแพะแกะ อยู่เมืองหนาว ยังมีขนยาวหนา เพื่อป้องกันหนาว คนมีปัญญากว่าสัตว์เดรัจฉานนะโยม"

เรื่องนี้ให้ "สัจธรรม" อย่างหนึ่ง คือสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อคนมาก คนเมืองร้อนไปเมืองหนาว ยังต้องรู้จักปรับตัวเองให้เข้ากับดินฟ้าอากาศเมืองหนาว นี้แค่ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันนะครับ สภาพของดินฟ้าอากาศยังมีอิทธิพลต่อคนเพียงนี้ ต่อเรื่องอื่นล่ะจะมีอิทธิพลมากแค่ไหน

ยิ่งถ้าเป็นสิ่งแวดล้อมทางบุคคลด้วยแล้ว อิทธิพลย่อมมากกว่าสิ่งแวดล้อมทางวัตถุหลายร้อยเท่านัก ขอให้นึกถึง จอมโจรองคุลิมาล นึกถึงพระเจ้าอชาตศัตรู ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา แล้วจะเห็นชัด

องคุลิมาล เดิมชื่อ อหิงสกะ (แปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียน) เป็นบุตรปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เมืองสาวัตถี ได้รับการศึกษาอบรมจากพ่อแม่อย่างดี โตมาได้เป็นศิษย์ศึกษาศิลปวิทยาอยู่กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ แห่งเมืองตักศิลา อันเป็นมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อมากในยุคนั้น

อหิงสกะ เป็นเด็กขยันหมั่นเพียร ตั้งอกตั้งใจเรียน เป็นเด็กมีความประพฤติดีและเรียนเก่ง จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์มาก แต่เพราะความดีความเก่งของอหิงสกะนั้นเองที่ทำให้ชีวิตเธอผันแปรจากแนวทางที่ควรจะเป็น

เด็กนักศึกษาคนอื่นๆ อิจฉาอหิงสกะ จึงหาทางยุยงให้อาจารย์เข้าใจอหิงสกะผิด แรกๆ ไม่เชื่อ แต่หลายคนพูดเข้า บ่อยเข้า อาจารย์ก็เชื่อว่าอหิงสกะนั้นคิด "ล้างครู" เป็นศิษย์อกตัญญู (ทั้งๆ ที่ไม่มีวี่แววอะไรเลย) จึงวางแผนกำจัด

สั่งให้อหิงสกะไปฆ่าคนเอานิ้วมาให้ครบพันนิ้วแล้วจะประสิทธิ์ประสาทวิชาชั้นยอดให้ อหิงสกะเชื่อมั่นในอาจารย์ ด้วยความอยากได้วิชาชั้นยอด จึงไปฆ่าคนเอานิ้วมือได้หลายนิ้วก็ร้อยเป็นพวงมาลัยคล้องคอไว้ จึงกลายเป็นโจร "องคุลิมาล" ในที่สุด

วิถีชีวิตขององคุลิมาลคงดิ่งลงต่ำไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้พระพุทธองค์เสด็จมาโปรด จนกระทั่งเลิกละความชั่ว บวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์

แง่คิดจากเรื่องนี้ก็คือ อหิงสกะได้สิ่งแวดล้อมทางบุคคลไม่ดี คืออาจารย์ทิศาปาโมกข์ไม่ได้เป็น "กัลยาณมิตร" (มิตรแท้) ของอหิงสกะ ตรงข้ามกลับทำตัวเป็น "บาปมิตร" (มิตรชั่ว) ไป จึงชักนำให้เห็นผิดเป็นชอบ

พระเจ้าอชาตศัตรูเช่นเดียวกัน ถ้าไม่พบพระเทวทัต วิถีชีวิตก็คงไม่หักเหจากแนวทางที่ควรเป็นดังที่ทราบกันแล้ว แต่บังเอิญช่วงนั้นพระเทวทัตคิดจะปกครองสังฆมณฑลแทนพระพุทธเจ้า ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำตามที่ตนปรารถนา จึง "อกหัก" คิดว่า ถ้าได้เจ้าชายอชาตศัตรูสนับสนุนแผนการก็จะสำเร็จง่ายขึ้น

จึงไปพูดเกลี้ยกล่อมอชาตศัตรูต่างๆ นานา จนกระทั่งเจ้าชายทรงเลื่อมใส ยกให้เป็นอาจารย์ พอได้จังหวะเหมาะ จึงยุให้เจ้าชายปลงพระชนม์พระราชบิดายึดเอาราชสมบัติ (ทั้งๆ ที่อยู่เฉยๆ อีกไม่นานก็จะได้เป็นของพระองค์อยู่แล้ว เนื่องจากพระองค์เป็นรัชทายาท) แต่ด้วยลิ้นเล่ห์ของเทวทัต เจ้าชายก็หลงเชื่อ จนถึงกับทำ "ปิตุฆาต" ทำอนันตริยกรรม (กรรมหนัก) ยากจะแก้ไขให้คงคืน

แม้ว่าในตอนหลัง จะเข้าไปสารภาพผิดต่อพระพุทธองค์ ได้ฟังธรรมแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร พระพุทธองค์ตรัสภายหลังว่า "ถ้าอชาตศัตรูไม่ได้ทำปิตุฆาต หลังจากฟังธรรมแล้วจะบรรลุเป็นพระอริยบุคคลทันที แต่เนื่องจากทำกรรมหนักถลำพลาดเกินกว่าจะแก้ไขเสียแล้ว จึงไม่ได้บรรลุอะไร"

ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะอชาตศัตรูได้สิ่งแวดล้อมทางบุคคลที่ไม่ดี ได้พระเก๊ พระเทียม พระที่ไม่ประพฤติตนอยู่ในธรรมวินัยเป็นอาจารย์ จึงถูกยุยงให้เห็นผิดเป็นชอบ

พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นนักเน้นหนาว่า ในการฝึกฝนอบรมตนนั้น สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยแรกที่สำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงก่อน ต้องจัดให้เหมาะสมให้เอื้ออำนวยแก่การฝึกฝนอบรม

- จะให้อยู่ที่ไหน ที่อยู่นั้นเหมาะสมหรือไม่ (นี้คือสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ)

- จะให้อยู่กับใคร ใครเป็นผู้ให้การฝึกฝนอบรม (นี้คือสิ่งแวดล้อมทางบุคคล)

เมื่อได้สิ่งแวดล้อมดี เหมาะสม เอื้อต่อการฝึกฝนอบรมแล้ว คนคนนั้นก็จะเดินไปสู่ความสำเร็จในสิ่งที่มุ่งมั่นปรารถนา

นี้แหละที่พระท่านว่า ได้สิ่งแวดล้อมดีแล้ว อริยมรรคมีองค์แปดก็จะเกิดขึ้นและพัฒนาจนสมบูรณ์


มีต่อ >>>>>
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 28 ม.ค. 2007, 11:22 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อาทิตย์ที่แล้ว ได้ยกพุทธวจนะจากพระไตรปิฎกเกี่ยวกับปัจจัยของการฝึกอบรม 2 ประการว่า เป็นนิมิตหมายแห่งการพัฒนาก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิต ดุจแสงเงินแสงทองเป็นนิมิตหมายแห่งอุทัยขึ้นของดวงอาทิตย์ฉะนั้น

ปัจจัย 2 ประการคือ ปรโตโฆสะ (สิ่งแวดล้อมที่ดี) และโยนิโสมนสิการ (การรู้จักคิด) ประการแรก ผมได้เขียนถึงแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา วันนี้ก็พูดถึงปัจจัยที่สองคือ โยนิโสมนสิการ

โยนิโสมนสิการ พระท่านแปลว่า คิดโดยอุบายอันแยบยล เด็กสมัยนี้ (อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ใหญ่สมัยนี้ด้วยแหละ) ฟังแล้ว "เป็นงง" ว่าหมายถึงอะไร ถ้าจะแปลให้เข้าใจง่ายก็คือ "รู้จักคิด" หรือ "คิดเป็น"

การคิดเป็น นำไปสู่การแก้ปัญหาเป็น หรือแก้ปัญญาได้ ถ้าคิดไม่เป็น ถึงจะพยายามแก้ปัญหา ก็แก้ไม่เป็น ยิ่งแก้ก็ยิ่งสร้างปมปัญหา หรือยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น

มีเรื่องเล่าขานกันมา (เขาว่าเป็นเรื่องจริง) นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง มีชื่อเสียงโด่งดังด้วย เอ่ยชื่อก็ร้องอ๋อทุกคน แกเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีสมองเป็นเลิศ ใครๆ ก็เรียนทฤษฎีของแก แต่ก็เฉพาะในเรื่องวิทยาศาสตร์ แต่ในเรื่องอื่น แกก็ไม่ต่างจากสามัญชนทั่วไป คือเรื่องกล้วยๆ ง่ายๆ แกก็แก้ปัญหาไม่ได้

ว่ากันว่าแกเลี้ยงแมวไว้สองตัว เวลาแกเข้าไปในห้องแล็บ เจ้าแมวสองตัวมันก็ร้องเมี้ยวๆ ขอเข้าไปด้วย ก็เปิดประตูให้มันเข้า สักพักมันก็ร้องเมี้ยวๆ ขอออกไปข้างนอก กำลังมีสมาธิอยู่กับการทดลอง ก็ต้องลุกขึ้นมาเปิดประตูให้มันออก บ่อยเข้าแกก็คิดแก้ปัญหา

เจาะรูให้แมวเข้า-ออกสองช่อง คิดตามประสาของแกว่า ช่องใหญ่ให้แมวตัวโตเข้า-ออก ช่องเล็กให้แมวตัวเล็กเข้า-ออก เหตุการณ์ก็ดำเนินไปได้ด้วยดี โดยที่แกก็ไม่ได้สังเกตว่าแมวตัวไหนเข้า-ออกช่องไหน

วันหนึ่งเพื่อนซี้คนหนึ่งมาเยี่ยมแกที่ทำงาน สังเกตเห็นช่องสองช่อง จึงเอ่ยปากถามว่าช่องอะไร นักวิทยาศาสตร์ร้อยแปดสิบไอคิวตอบว่า ช่องแมวเข้า-ออก

"แมวมันร้องเข้า-ออกวันละไม่รู้กี่ครั้ง ผมรำคาญจึงเจาะช่องให้มันเข้า-ออกตามชอบใจมัน

"ทำไมต้องมีสองช่อง" เพื่อนซัก

"ช่องใหญ่ให้แมวตัวโตเข้า-ออก ช่องเล็กให้แมวตัวเล็กเข้า-ออก" นักวิทยาศาสตร์ใหญ่ตอบ

เมื่อเพื่อนท้วงว่า เจาะช่องเดียวให้มันใหญ่พอที่แมวทั้งสองตัวลอดได้ก็พอ ทำไมต้องเจาะสองช่อง นักวิทยาศาสตร์ก็ร้องเสียงดังว่า "เออ จริงด้วย"

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของ "โยนิโสมนสิการ" เป็นอย่างดีครับ นักวิทยาศาสตร์ใหญ่ท่านนั้น ไม่มีโยนิโสมนสิการในเรื่องทำช่องให้แมวเข้า-ออก คือคิดไม่เป็น เมื่อคิดไม่เป็นก็เลยแก้ปัญหาไม่ถูกไม่เป็นไปด้วย

พระท่านจึงสอนว่า ความคิดนี้สำคัญ เพราะเป็นรากเหง้าแห่งการกระทำ ถ้าคิดผิด การกระทำก็ผิดไปด้วย ถ้าคิดถูกคิดเป็น การกระทำก็ถูกไปด้วย เวลาสอนเรื่อง "กรรม" พระท่านจะสอนว่า "มโนกรรม" (กรรมทางใจคือความคิด) สำคัญที่สุด ดังพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา
มนสา เจ ปทุฏเฐน ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ ทุกฺขมเนวติ จกฺกํ ว วหโต ปทํ

แปลเป็นภาษาไทยว่า "ใจเป็นผู้นำสรรพสิ่ง สรรพสิ่งมีใจประเสริฐสุด สำเร็จด้วยใจ ถ้าคนเรามีใจคิดชั่วแล้ว การกระทำ การพูดก็พลอยชั่วไปด้วย เพราะพูดชั่ว ทำชั่วนั้น ความทุกข์ย่อมจะตามสนองเขา ดุจดังล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนฉะนั้น"

คราวที่แล้ว ได้พูดว่า สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนกลายเป็นคนดีหรือเลวได้ ได้ยกตัวอย่าง อหิงสกกุมาร กลายเป็นมหาโจรองคุลิมาล อชาตศัตรูราชกุมาร ถลำทำชั่วถึงขั้นปิตุฆาต (ฆ่าพระราชบิดา) ก็เพราะทั้งสองได้ "สิ่งแวดล้อมทางบุคคล" ไม่ดี คือได้อาจารย์ชั่ว จึงกลายเป็นคนชั่วไป

ถึงสิ่งแวดล้อมจะมีอิทธิพลอย่างไร ก็หาใช่ทุกกรณีไม่ ถ้าหากคนเรามีความคิด รู้จักคิด และมีพลังใจกล้าแข็ง สิ่งแวดล้อมที่เลว ก็มีอิทธิพลเหนือเขาไม่ได้ ตรงข้ามเขาคนนั้นย่อมสามารถผันแปรสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีนั้นให้กลายเป็นประโยชน์แก่ตัวเขาได้

ยกตัวอย่างง่ายๆ ก่อน ถ้าเราเป็นนักเรียน มีความมุ่งมั่นจะศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ใส่ตัวจริงๆ มีจิตใจกล้าแข็งจริง ถึงจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ค่อยจะอำนวยต่อการศึกษา เช่น อึกทึกครึกโครม พลุกพล่านไปด้วยผู้คน เราก็สามารถบังคับตัวเอง ฝึกตนเองให้ "ชิน" ต่อสิ่งแวดล้อมนั้น จนกระทั่งไม่ "รับเข้ามา" เป็นอาจารย์กวนใจได้ พูดง่ายๆ ว่า เราสามารถนั่งอ่าน หรือท่องหนังสือได้ ท่ามกลางความอึกทึกครึกโครมนั้น ทั้งนี้ เพราะเรา "รู้จักคิด" หรือ "คิดเป็น"

รู้จักคิดว่า ขณะนี้เราเป็นอะไร เรากำลังทำอะไร เราเป็นนักเรียน กำลังมาเรียนเพื่อหาความรู้ไปประกอบอาชีพในกาลข้างหน้า การเรียนสำคัญกว่าอย่างอื่น เมื่อคิดได้ ก็จะไม่ยอมปล่อยตัวให้ล่องลอยไปตามกระแสภายนอก

คนเราไม่สามารถจะ "จัดการ" กับสิ่งแวดล้อมภายนอกได้เสมอไป แต่เราก็มีเสรีภาพในการ "แปร" สิ่งแวดล้อมภายนอกที่ไม่ดีให้กลายเป็น "ดี" คือให้เป็นคุณประโยชน์แก่เราเองได้

เพราะความรู้จักคิด หรือคิดเป็นมันสำคัญปานฉะนี้ โบราณาจารย์ท่านถึงย้ำเน้นให้ฝึกคิดอยู่เสมอ ความรู้ที่ได้จากการคิดถูกคิดเป็น ท่านเรียกว่า "จินตามยปัญญา" ถ้าใครเกิดจินตามยปัญญาแล้ว มักจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือการปรับปรุงแก้ไขความผิดพลาดของตนโดยอัตโนมัติ

ขอยกตัวอย่างเรื่องในประวัติศาสตร์อินเดีย (เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้วยบางส่วน) มหาโจรจันทร์คุปต์ (ว่ากันว่าสืบเชื้อสายมาจากศากยวงศ์ ที่หลบหนีสงคราม ฆ่าล้างโคตรกันเอง เมื่อตอนปลายพุทธกาล) นำสมัครพรรคพวกบุกเข้าตีเมืองปาตลีบุตร เพื่อชิงบัลลังก์พระเจ้านันทะหลายครั้งหลายหน แต่ก็พ่ายแพ้ยับเยินทุกครั้ง ครั้งหลังสุดดูเหมือนยับเยินกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา จันทร์คุปต์ถูกตามล่ากระเจิดกระเจิง หนีเข้าไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ขณะนั้นแม่ค้าขนมเบื้องกำลังทอดขนมอยู่ พลางด่าลูกสาววัยประมาณ 7-8 ขวบ ที่ยืนร้องไห้อยู่ข้างๆ

"ไอ้ลูกหน้าโง่ มึงมันโง่เหมือนโจรจันทร์คุปต์"

จันทร์คุปต์ได้ยินก็ผงะ "กูเกี่ยวอะไรด้วยหว่า" จันทร์คุปต์คิดแล้วก็ยืนฟังต่อ เสียงแม่ค้าด่าสั่งสอนลูกลอยมา

"ไอ้โจรหน้าโง่นั่น จะตีเมืองทั้งที เสือกยกมาตีกลางเมือง ทำไมมันไม่ตีโอบเข้าจากกรอบนอก ทำอย่างนี้ตีกี่ครั้งมันก็แพ้ สมน้ำหน้า มึงก็เหมือนกัน รู้ว่าขนมเบื้องมันร้อน มึงเสือกกัดตรงกลาง มันก็ลวกปากมึงสิ ทำไมมึงไม่ค่อยเล็มจากขอบมัน อีหน้าโง่ โง่เหมือนโจรจันทร์คุปต์ไม่ผิด..."

จันทร์คุปต์ฟังไปสะดุ้งไป พลันก็ "ฉุกคิด" ขึ้นมาได้ว่า แม่ค้าขนมเบื้องพูดถูก จะตีเมืองทั้งที ต้องค่อยๆ ตีมาจากรอบนอกแบบป่าล้อมเมือง จึงรวบรวมสมัครพรรคพวกอีกครั้ง เมื่อมีกำลังเพียงพอแล้วก็ยกพลเข้าตีเมืองเล็กเมืองน้อยรอบๆ ได้มาเป็นลำดับ จนกระทั่งในที่สุดก็ยึดเมืองปาตลีบุตรได้ สถาปนาตนเป็นพระเจ้าจันทร์คุปต์ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โมริยะ

จันทร์คุปต์มีพระราชโอรสต่อมาได้เป็นกษัตริย์พระนามว่า พินทุสาร พระเจ้าพินทุสารมีพระราชโอรสชื่อ อโศกมหาราช กษัตริย์ผู้สถาปนาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอินเดียเป็นองค์แรก และผู้เป็นต้นแบบแห่งการปกครองระบอบธรรมราชาในกาลต่อมา ว่ากันว่า ราชวงศ์โมริยะสืบมาแต่ราชวงศ์ศากยะ หรือพูดให้ชัดก็ว่า พระเจ้าอโศกมหาราชเป็น "ลูกหลาน" พระพุทธเจ้านั้นแล จริงเท็จอย่างไร ถือว่าเป็น "ประวัติศาสตร์กระซิบ" ก็แล้วกันครับ

ในเรื่องนี้ถือว่าจันทร์คุปต์ "รู้จักคิด" หรือ "คิดเป็น" ทั้งๆ ที่ได้ยินเขาด่า แต่ก็แปรคำด่าให้เป็นประโยชน์ นำเอามาเป็นบทเรียนแก้ไขตนเองจนประสบความสำเร็จ

ถ้าจันทร์คุปต์ "คิดไม่เป็น" แทนที่จะได้ประโยชน์ อาจทำบาปกรรมหนักขึ้น คือทันทีที่ได้ยินคำด่า ก็คงโกรธฉุนแม่ค้าคนนั้นถึงกับฆ่าเธอตายก็ได้ ใครจะไปรู้

พระพุทธเจ้าตรัสสอนวิธีคิดไว้ถึง 10 วิธี พระอรรถกถาจารย์ (อาจารย์อธิบายพระไตรปิฎก) ย่อไว้เป็น 4 วิธี มีอะไรบ้าง คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ คราวหน้าค่อยว่ากันก็แล้วกัน



............................................................

คัดลอกมาจาก ::
หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10543
วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10550
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง