Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 สงบจิต ได้ปัญญา (หลวงพ่อชา สุภัทโท) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
new
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 532

ตอบตอบเมื่อ: 05 มิ.ย.2004, 6:15 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

สงบจิต ได้ปัญญา
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท

วัดหนองป่าพง
ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี



ตั้งใจในความรู้สึกเฉพาะหน้า อาตมาจะอธิบายการนั่งสมาธิหรือการทำสมาธิหรือการกำหนดจิตต่อไป ขอโยมทั้งหลายนั่งในความสงบ อย่าไปรำคาญในเสียงอาตมาที่แนะนำในการปฏิบัติ ให้มันเป็นคนละอย่าง หูให้ได้ยิน จิตใจให้ได้รู้จัก อาตมาว่าอย่างไร ให้จิตเป็นสมาธิอยู่ และความรู้สึกนั้นมันจะรู้สึกของมันเอง การนั่งสมาธินี้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกหัดจิตของพวกพุทธบริษัททั้งหลาย สมัยนี้คนที่นับถือพระพุทธศาสนาซึ่งถึงจะมีศีลมีทาน ก็ยังไม่เป็นบ่อเกิดแห่งความสงบได้อย่าแน่นอน แต่เมื่อเรามาทำจิตของเราให้สงบเรียบร้อย เป็นสมาธิ ปัญญาจึงจะเกิดขึ้นที่จิต ความรู้จะเกิดขึ้นที่จิต สมควรแก่การประพฤติปฏิบัติธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ดังนั้นวันนี้โยมจึงสัญจรมาจากถิ่นฐานของตน มีศรัทธา มีจิตประสงค์ อยากจะมากราบไหว้อาตมาและอยากจะพบหน้าตา ความจริงนั้นมาถึงได้เห็นแล้วก็นึกว่าจะกลับเลย แต่ว่ามันเปลี่ยนจิต อยากจะพบธรรมะคำสั่งสอน อยากฝึกเรื่องการทำสมาธิเพื่อถือเป็นแบบอย่างต่อไป

ฉะนั้นจงเตรียมตัวนั่งสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย ตั้งการให้ตรงและให้มีความรู้สึกว่าบัดนี้เราจะทำการปฏิบัติ ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องคิดถึงบ้าน ไม่ต้องคิดถึงช่องหรือเป็นห่วงนี่เป็นใยนั่น แต่ให้ความรู้สึกว่ามันรู้อยู่ เมื่อนั่งมือขวาทับมือซ้าย ขาขวาทับขาซ้ายตั้งกายให้ตรงแล้ว เราก็ต้องเลือกหาว่าอะไรเป็นส่วนใหญ่ในกายของเรานี้ คำตอบก็คือจิต จิตนี้เป็นส่วนใหญ่ มันเป็นส่วนรวมของทุกสิ่งทุกอย่างในสกลกายนี้ คือมีจิตเป็นใหญ่ เราทุกคนก็รู้กันอยู่แล้ว เมื่อมีจิตเป็นใหญ่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันก็เป็นลูกน้องเป็นบริวารของจิตนั้น เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงจับผู้เป็นตัวการ ผู้เป็นหัวหน้า คือจิตนี้เองมาฝึก

จิตนี้คืออะไร จิตนี้มันก็ไม่คืออะไร จิตนี้มันก็คือจิต เพ่งเอาตัวผู้รู้ ผู้รู้สึกอารมณ์ อย่างอาตมาพูดอยู่นี้ได้ยินด้วยหูก็รู้สึกที่ใจ ผู้รู้สึกนั้นคือใคร ก็คือผู้รู้สึกอันสมมติว่าจิต ผู้รับรู้อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดมาจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่แหละผู้รู้ที่เกิดขึ้น นี่ขอให้โยมเข้าใจอย่างนี้ ผู้รู้นี่มีทุกคน มีคำพูดคำหนึ่งของพระผู้มีพระภาคเจ้า... ผู้รู้นั่นแหละ เรียกว่าหรือคล้ายว่าเป็นจิต ผู้ที่รับรู้อารมณ์นั้น

จะทำให้จิตมีกำลังต้องออกกำลังทางจิต กำลังของจิตกับกำลังของกายต่างกัน กำลังของกายต้องเคลื่อนไหวอย่างทางโลกเขาทำโยคะหรือการวิ่งเคลื่อนไหวทำให้กายมีกำลัง เป็นสิ่งที่ทำให้สุขภาพสมบูรณ์ อันนั้นมันเป็นเรื่องของกาย ส่วนเรื่องของจิตนั้นมันเป็นนามธรรม มันไม่มีรูปร่างแต่มันมีความรู้อยู่อย่างนั้น ทีนี้จิตนี้เราไม่ค่อยได้ฝึก ตั้งแต่เราเกิดมาพ่อแม่ก็ฝึกไปทางอื่น ฝึกไปในทางทำมาหากิน อะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่างในทางโลก ดังนั้นจิตใจของเราทั้งหลายจึงสับสนมาก คือฝึกให้จิตคิดมากๆ อะไรให้มากๆ ไม่อยู่กับตัวเรา บางทีคิดไปที่ไหนๆ ยังไม่รู้ตัวเลย นานๆ จึงกลับมารู้ตัวเราทีหนึ่ง เพราะคิดมากอะไรมากอย่างนั้นจะไม่ให้มันยุ่งเหยิงได้อย่างไร เพราะเราฝึกมันมาอย่างนั้น พ่อแม่เราก็ฝึกอย่างนั้น ตัวเราก็ฝึกอย่างนั้น คนอื่นก็ฝึกอย่างนั้น ผลที่เกิดจากการฝึกมาอย่างนั้นก็เป็นปัญหาเรื่อยมา ตลอดมา จนทุกวันนี้ เมื่อมีปัญหาเรื่อยมาก็เป็นคนวุ่นวายตลอดเวลา นั่นเรียกว่าทำจิตไม่ให้มีกำลัง ให้มีกำลังน้อย อันนั้นมันเป็นเรื่องของจิต

ส่วนทำให้จิตมีกำลังนี้จะต้องทำจิตให้มีสมาธิ สมาธิแปลว่าความตั้งใจมั่น มั่นในคำใดคำหนึ่ง แม่นในอันใดอันหนึ่ง ยกตัวอย่างวันนี้เราตั้งใจอะไร จะให้มันแน่วแน่ในธรรมอันใด จะยกอันใดขึ้นเป็นหลัก อย่างเรายกเอาอานาปานสติ ลมหายใจของเรานี้เป็นหลัก คือทำความรู้ให้รู้ตามลมหายใจ สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว ให้รู้สึกว่าบัดนี้เราทำอะไรทั้งหลับตาและไม่หลับตา ให้เรารู้สึกว่ามีลมหายใจนี้เป็นสิ่งสำคัญ เป็นอาหารที่ยอดเยี่ยมที่สุด แม้เรานอนหลับอยู่เราก็หายใจ เราตื่นอยู่เราก็หายใจ เดินอยู่เราก็หายใจ นั่งอยู่เราก็หายใจ ทำอะไรมันก็หายใจทั้งนั้น อันนี้คือเป็นยอดอาหารทั้งหมด อาหารที่เราทานสักชั่วโมงสองชั่วโมงมันก็พออยู่ได้ ฉะนั้นขอให้เราเข้าใจอย่างนี้ อันนั้นควรจะยกเอาความรู้ไว้ที่ลม ดูกันว่าลมมันอยู่ตรงไหน รู้ไหม รู้แล้วมันรู้อย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นเราจะต้องเอาความรู้สึกมาปักเข้าที่ปลายจมูกหรือริมฝีปากข้างบนสุด คือหมายความว่าลมออกลมเข้าในส่วนจมูกเองให้เป็นอย่างนี้ แต่อย่าไปตั้งใจให้มากมายเกินไป อย่าไปปรับใจจนเกินไปจนเสียอารมณ์เรา ให้กำหนดว่าลมมันออกอย่างนี้ ลมมันเข้าอย่างนี้ แล้วก็สูดลมเข้าไป แล้วก็หายใจออกมา นี่มันคลี่คลายๆ อยู่อย่างนี้ตลอดเวลา เมื่อหายใจเข้าไปอีกแล้วก็ปล่อยมันไป ถึงที่สุดแล้วก็อัดลมเข้าไปอีก หายใจออกหายใจเข้าอยู่อย่างนี้

บัดนี้เรารู้จักอะไรเป็นอะไร ที่จมูกมันเป็นอย่างไร ความรู้สึกมันเป็นอย่างไร เมื่อรู้แล้วก็กำหนดลม คำว่ากำหนดลมนั้นคืออย่าไปบังคับลม หายใจเข้าไปตามสบาย ไม่ให้มันยาวนัก หายใจออก เอาลมออกมา ลมออกอย่าให้มันยาวนัก ลมเข้าอย่าให้มันยาวนัก ให้มันพอดีๆ จะได้ทำความคิดว่ายาวแค่ไหนมันสบาย สั้นแค่ไหนสบาย แรงแค่ไหนสบาย ค่อยแค่ไหนสบาย สภาพอย่างไรที่มันพอสบายไม่อึดอัด ไม่ต้องแต่งลม พอจะรู้ว่าลมหายใจเข้าออกอยู่เสมอ และก็กำชับผู้รู้นั้นให้ไปรู้ลมออกพอดี ลมเข้าพอดี ให้มีสติจับตามลม สูดลมเข้าเราเห็น "พุทธ" หายใจออกเราเรียกว่า "โธ" ก็ได้ คือพุทโธนี่เป็นแต่เพียงความรู้สึก ไม่ต้องพูดให้มีเสียง หายใจเข้าเรียกว่า "พุทธ" หายใจออกเรียกว่า "โธ" เจริญในใจว่า พุทโธ พุทโธ อยู่อย่างนี้ เอาสติกำหนดรู้ตามลมหายใจเข้าหายใจออกอยู่อย่างนี้ ไม่ให้นึกไปข้างบน ไม่ให้นึกไปข้างล่าง ไม่ให้นึกไปข้างซ้าย ไม่ให้นึกไปข้างขวา ไม่ให้นึกไปข้างหน้า ไม่ให้นึกไปข้างหลัง จิตอยู่กลางๆ คล้ายๆ กับว่าเราเดินทางถึงเมืองหนึ่ง มันเป็นทางสี่แพร่ง เราก็ยังอยู่ในวงกลม ข้างซ้ายเราก็ไม่ไป ข้างขวาเราก็ไม่ไป ข้างหน้าเราก็ไม่ไป ข้างหลังเราก็ไม่ไป ทำความรู้สึกเฉพาะจิตใจของเรา ให้หยุดอยู่กับลมอย่างนั้น อยู่กับลม จ่ออยู่อย่างนั้น ไม่ต้องไปข้างหน้า ไม่ต้องไปข้างหลัง ไม่ต้องไปข้างซ้าย ไม่ต้องไปข้างขวา รู้ลมที่มันออกมาแล้วก็เข้าไป รู้อาการที่มันออกแล้วเข้าอยู่อย่างนั้น

บางทีจิตของเรามันวอกแวกไปหน่อยก็ได้ แต่ไม่เป็นไร เรามีสติอยู่เราก็รู้มัน แล้วก็กลับมาที่ลมหายใจเข้าออกต่อไป ให้ยกจิตขึ้นมารู้จักมันเสีย บางทีมันจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาอย่างนี้ว่า กำหนดลมนี้มันจะรู้อะไร มันจะเป็นอะไร มันจะเป็นอย่างไร อันนั้นไม่ใช่การงานของเรา ไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราในปัจจุบันนี้มีหน้าที่ต่อตัวเองว่า ให้กำหนดลมออกให้รู้จัก กำหนดลมเข้าให้รู้จักเท่านั้น เรื่องอื่นไม่ใช่ธุระของเรา หน้าที่ของเรารู้แต่กำหนดลมออกกำหนดลมเข้า ให้มันทันท่วงทีเท่านั้นแหละ ให้รู้ว่าอันนี้มันยาวไปให้มันสั้นอีกหน่อย อันนี้มันสั้นไปให้มันยาวๆ อีกหน่อย ให้รู้จักมันอย่างนั้น ปล่อยเป็นธรรมดาของมัน ควบคุมให้มันประกอบกับความสบาย มันสบายอย่างไรเอาอย่างนั้น อยู่อย่างสบาย ที่มันสบายไม่ขัดข้อง ลมหายใจก็ไม่ขัดข้อง นั่งก็ไม่ขัดข้อง อะไรก็ไม่ขัดข้องแล้วในกายส่วนใดส่วนหนึ่ง นั่นแหละสบาย

เมื่อนั่งสมาธิและทำจิตสงบแล้วร่างกายมันจะเบา ไม่หนัก มันเบา เป็นร่างกายที่สมควรแก่การงาน สมควรแก่สมาธิ แต่ว่าทำขั้นแรกมันก็ฝืนธรรมชาติสักหน่อย อึดอัด สงสัย มันก็เหมือนกับเราเดินทางไปที่ๆ ไม่เคยไป มันก็สงสัยอยู่เรื่อยไป เป็นเรื่องธรรมดาของเรา การทำสมาธินี้เราไม่เคยทำหรือทำมาแล้วแต่ไม่ค่อยรู้จัก มันก็สงสัยอยู่อย่างนั้น เป็นธรรมดาของมัน ความสงสัยนี้เองแหละมันจะเป็นเหตุไม่ให้เราสงสัย มันจะเป็นเหตุให้เรารู้ตามความเป็นจริงก็เพราะความสงสัยนี้ไม่ใช่อื่นไกล เรื่องอะไรทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดขึ้นมาในเวลาเรานั่งสมาธิอยู่นั้น มันเป็นอาการของจิตเท่านั้น สักแต่ว่าเท่านั้น มันจะมีเรื่องอะไรมาก็สักแต่ว่าเท่านั้น สักแต่ว่า สักแต่ว่าสุข สักแต่ว่าทุกข์ สักแต่ว่ามันถูกกรรมของเรา มันเป็นเรื่องสักแต่ว่าเท่านั้น ถ้าเราพิจารณาเช่นนี้เราก็วกเข้ามาดูจิตของเรา ลมมันสม่ำเสมออย่าไปแต่งมันนะ อย่าไปแต่งมัน อย่าไปแต่งให้มันสั้น อย่าไปแต่งให้มันยาว ค่อยๆ ดูสภาพตามความเป็นจริงของมันอย่างนั้น หน้าที่ของเราในเวลานั้นก็คือดูลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว มันจะนึกว่ามันจะเป็นอะไรไหม มันจะรู้อะไรไหม อันนั้นเป็นเรื่องของความรู้สึกเฉยๆ เป็นสักแต่ว่าความรู้สึกเกิดขึ้นมาแล้วมันก็หายไป อย่าไปตามมัน พิจารณาอะไรให้มันเป็นสักแต่ว่า ในเวลานี้ในเวลาสั้นๆ นี้ อย่าเพิ่งพิจารณาอันใดอื่นเลย อย่าเพิ่งไปยกกายขึ้นมาพิจารณา อย่าเพิ่งไปยกอะไรขึ้นมาพิจารณาทั้งนั้นแหละ ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะปฏิบัติกว้างขวางไปถึงนั้น ทำปัจจุบันคือทำให้ลมเข้าออก ถ้าเราทำ ลมออกเราก็ทำลมเข้าเราก็ทำมันเสีย ทำมันทั้งออกทำมันทั้งเข้านั้นแหละ เมื่อทำมันแล้วเราก็ไม่ได้ควบคุมลม ไม่ได้บังคับลม ลมมันออกมันเข้าก็ตามเรื่องของมัน ผู้รู้ที่จิตของเราก็รู้เฉยๆ รู้ว่ามันออกรู้ว่ามันเข้า พร้อมกับกำหนดว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ

คำว่าพุทโธนี้มันเป็นความรู้สึกของเรา เมื่อมีลมเข้าเราก็รู้สึกว่า "พุทธ" เมื่อมีลมออกเราก็รู้สึกว่า "โธ" ทั้งสองอย่างนี้ก็ไม่เป็นเหตุก่อกวนเรา รู้สึกว่าเข้าก็ "พุทธ" รู้สึกว่าออกก็ "โธ" เท่านั้น และไม่จำเป็นจะออกด้วยวาจาของเรา ทำความรู้สึกเท่านั้นตลอดเวลา ทีนี้เมื่อจิตเรามีความละเอียดกว่านั้น มันจะไม่อยากรู้สึกพุทธหรือโธ มันไม่อยากจะนึกอย่างนั้น ก็กำหนดว่าให้รู้แต่ลมมันออก ให้รู้ลมมันเข้า ลมออกก็รู้ลมเข้าก็รู้ ให้รู้อย่างนี้ รู้อย่างนั้น มันเป็นพุทธเองมันเป็นโธเอง มันก็เลยเป็น พุทโธ พุทโธ อยู่ในอาการอย่างนั้น มันเป็นเองอย่างนั้น ให้เรารู้สึกรู้อย่างนี้ตลอดเวลา ลมออกเราก็รู้จักลมเข้าเราก็รู้จัก ความรู้อันนี้แหละเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายอยากจะให้เราทำไปนานๆ

ที่เรียกว่าพุทโธ พุทโธคือผู้รู้ ผู้รู้อันนี้แหละท่านเรียกว่าพุทโธ รู้อีกอย่างหนึ่งมันรู้เรื่องของจิตเรา จิตของเรานี่มันหยาบ พุทโธคือผู้รู้มันรู้ละเอียด มันรู้ทั้งอาการของจิต เรื่องของจิต คือมันรู้เรื่องของจิตคล้ายๆ กับว่าเป็นพระพุทธเจ้านั่นเอง มันก็รู้จักการสั่งสอนจิตของมัน ถ้าเฉพาะจิตล้วนๆ มันจะรู้สึกตัวเอง มันละเอียด พุทโธผู้รู้นี่รู้เรื่องของจิต รู้อาการของจิต รู้ความเป็นจริงของจิต รู้อย่างนั้น เมื่อมันเกิดรู้ขึ้นมาแล้วมันก็ได้เห็นจิต เอาผู้รู้อันนี้ดูจิต เอาจิตดูจิต เอาจิตรู้จิต เอาจิตสั่งสอนจิต สมกับท่านขนาบภิกษุทั้งหลายว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะตามดูจิตของตน ถ้าใครตามดูจิตของตน คนนั้นจะพ้นจากบ่วงของมาร" ใครจะไปตามดูจิตได้ ไม่มีสิ่งที่เหนือจิตเพื่อจะดูจิตของจิต ถ้ามี จิตเท่านั้นมันก็สอนตัวมันเอง อันนี้เป็นเรื่องของจิต ฟังยากสักหน่อยหนึ่ง เข้าใจยากสักหน่อยหนึ่ง แต่ง่าย คือเรื่องตัวเราฝึกจิตให้มันมีความฉลาดมากขึ้นกว่าจิตเดิม จิตเดิมที่มันโกหก เขาชวนอย่างไรเราไม่รู้เรื่อง ก็ทำตามไปเรื่อยๆ มันจะรู้อย่างนี้ ไม่รู้ตัวของมัน คล้ายๆ กับว่าทำความชั่ว รู้ แต่ว่าทำ ไม่กลัวความผิด จิตก็รู้ แต่ทำ นี่เรียกว่าความรู้ของจิตขั้นหยาบ มันเป็นอย่างนี้ ความรู้เกี่ยวกับการไปมาเป็นความรู้อันหนึ่ง รู้เรื่องของจิต รู้ว่าอันนั้นมันผิดจิตจะพาไปทำ มันห้ามเลย ไม่ทำ มันบังคับ จิตจะทำความชั่ว มันรู้ก่อน ก็ห้ามจิต รักษาจิต นี่เรียกว่าผู้รู้ รู้แล้วตามรักษาจิตของเจ้าของ ถ้าพูดตามเป็นจริงคือจิตนั่นแหละรักษาจิต ความรู้อันนี้มันเกิดขึ้นมาจากจิต อันนั้นจิตอันหยาบ หยาบมันเป็นพื้นอย่างนั้น นี่มันเป็นอย่างนั้น เช่นว่าจุดตะเกียง เอาไฟไปจุดเข้ามันก็สว่างยิ่งกว่าเก่า ความสว่างมันออกจากดวงไฟนี้ ความสว่างมันกระจายไปหลายเมตร อันนั้นคือความสว่างจากดวงไฟ อันนี้มันออกมาจากจิต คือความสว่างมันออกจากจิตนี้ จิตคือผู้รู้ทั้งหลายนี้ ถ้าฝึกจิตแล้วก็จะเกิดความสว่าง ... เกิดปัญญา เกิดความสว่าง เมื่อปัญญามันละเอียดขึ้นไปมันก็เกิดญาณ ที่พระท่านตรัสว่า "ใครมีปัญญา คนนั้นก็มีญาณ ใครมีญาณ คนนั้นก็มีปัญญา" ใครมีปัญญาคนนั้นก็มีญาณ หมายความว่า ปัญญานั้นมันละเอียดลึกเข้าไปแล้วมันจะกลายเป็นญาณอีกอันหนึ่ง

จะวกกลับมาเรื่องที่ได้พูดไว้ว่า เมื่อจิตมันสงบแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นหลายอย่าง บางทีเกิดเป็นแสงขึ้นมา บางทีเกิดเป็นรูปอันนั้นอันนี้ขึ้นมาสารพัดอย่าง มันจะเกิดอะไรขึ้นมาตรงนั้น เราก็คุมสติให้ดี อย่าวิ่งไปตามแสงอันนั้น อย่าวิ่งไปตามสีอันนี้ เราก็เพ่งดูจิตของเรา ดูจิตของเรา เออ ! ไม่ต้องกลัว ทำใจให้สบาย ไม่ต้องกลัว บางทีมันก็สงบจนถึงกับว่าจมูกของเราที่เคยมีลมหายใจเคยผ่านเข้าออกเสมอ เมื่อมันถึงความสงบจิตแล้ว จมูกของเรานี้มันจะอยู่เฉยๆ ไม่มีลมผ่านออกหรือเข้า ความรู้สึกนี้มีกันเยอะ ใครไม่เข้าใจอาจคิดว่า เมื่อไม่มีลมมันจะตายไหมนี่ ไม่หายใจแล้ว ลมมันไม่มีแล้ว อย่างนี้ก็มี ถ้ามันเป็นเช่นนั้นจะทำอย่างไรต่อไป อันนี้พระพุทธเจ้าไม่ให้กลัว ลมไม่มีแต่เอาผู้รู้ว่าลมไม่มีนั่นแหละเป็นอารมณ์อีกต่อไป มันรู้อยู่แต่ก่อนว่ามันมีลมออก ลมเข้า บัดนี้ไม่มีลมออก ลมเข้า มันรู้ว่าไม่มี ความรู้ว่าไม่มีนั่นแหละคือผู้รู้ มันเป็นเรื่องของภาวนา

ภาวนานี้แยกกันออกเป็นสองอย่าง คือสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาซึ่งแยกไปตามความรู้สึก แต่มันก็เป็นอันเดียวกันนั่นแหละ แต่หยาบละเอียดกว่ากัน เช่นว่า ความสงัดของสมาธิที่เราทำอยู่เดี๋ยวนี้มันเกิดสงบ ถึงคราวสงบมันก็สงบ ความสงบเช่นนี้อย่างว่าเสียงก็ไม่ได้ยิน รูปก็ไม่เห็น อะไรก็ไม่มี มันก็เลยสงบ จิตสงบอยู่ สงบอย่างนี้ก็เรียกว่าเข้าไปสงบเฉยๆ ไม่ใช่ว่าสงบกิเลส คือเดี๋ยวนี้มันห่างจากเสียงห่างจากรูป มันไม่ได้ยินมันก็เลยสงบ อย่างนี้เรียกว่าการเข้าไปสงบจิต ไม่ใช่สงบกิเลส แต่ว่าการเข้าไปสงบจิตนี้ก็มีเหตุผลเหมือนกัน อย่างเราออกจากบ้านมาอยู่นี่มันก็กายวิเวก กายวิเวกมันเป็นเรื่องทางกาย มันห่างจากบ้านมา มันห่างจากเพื่อนฝูงมาอยู่ในป่าที่มันสงัด สงบ อันเป็นวิเวกทางกาย กายวิเวก เมื่อมีกายวิเวกมันเป็นเหตุให้จิตวิเวก คือจิตสงบไม่กระสับกระส่าย มันเป็นเหตุถึงความสงบถึงจิตอย่างนั้น ดังนั้นมันจึงมีผล กายวิเวกเป็นเหตุ เมื่อเป็นเหตุแล้วก็ทำให้จิตสงบเป็นผลขึ้นมา กายวิเวก จิตวิเวก เมื่อจิตวิเวกแล้วก็เป็นเหตุต่อไปจนถึงอุปธิวิเวก กิเลสสงบ อุปธิสงัด ระงับกิเลสคือความเศร้าหมอง คือราคะ คือโทสะ คือโมหะวุ่นวายต่างๆ ที่เรียกว่ากิเลส

อุปธิคือสภาวะที่มันดองในใจของเรา ปลูกฝังอยู่ในใจของเราตลอดกาลนานมาแล้ว ดูอย่างหนึ่งเหมือนว่ามันไม่มี เมื่อถูกอารมณ์ที่ชอบใจ กิเลสมันก็ฟุ้งขึ้นมา เกิดราคะ เกิดโทสะ เกิดโมหะขึ้นมา อันนี้เรียกว่าจิตของเราสมาธิมันระงับไม่ได้ นั่นเรียกว่าสมาธิมันมีกำลังเพียงเข้าไปสงบจิตเท่านั้น อำนาจของมันยังไม่ถึงกับว่าเข้าไปสงบกิเลส เมื่อเรานั่งในความสงบแล้วเราออกไปสัญจรไปมาเห็นแสงมันลุกฟู เห็นอะไรที่ชอบใจและไม่ชอบใจมันจะลุกฟูขึ้นมา นั่นเรียกว่ากิเลสยังอยู่ ไม่ใช่ว่ามันสงบกิเลส อย่างนั้นเรียกว่าเข้าไปสงบจิต เป็นเรื่องสมถะทางจิต อันนี้สงบไปอย่างหนึ่ง แต่ก็ดี มันเป็นเหตุพาเราให้ออกกายวิเวก ใจวิเวกเสมอ เมื่อมันมากขึ้นๆ ชำนาญมากขึ้นๆ มันก็มีกำลังก็เกิดปัญญา ดังนั้นท่านจึงบอกว่าสอนว่า ถ้าเราทำสมถจิตนี้ ถ้ามันสงบเราก็รู้ว่ามันสงบ แต่อย่าเพิ่งไปดีใจจนเกินไป ถ้ามันสงบจิตแล้วก็ดีใจสบายใจ บางคนนั่งตรงไหนก็อยากพูดอยู่ตรงนั้น แหม! เมื่อวานนี้ฉันทำสมาธิมันสงบดีเหลือเกินอย่างนี้ พูดบ่อยๆ ก็เพราะอดไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ก็ขอให้เราบอกกับมันว่า อันความสงบนี้มันก็ไม่แน่.... ความสงบนี้มันก็ไม่แน่ เราต้องเตรียมไว้อย่างนี้เสมอ ทีนี้พอวันที่สอง มานั่งไม่ได้ความสงบเลย วุ่นวายเหลือเกิน ก็ให้เรารู้มันว่าความวุ่นวายนี้มันก็ไม่แน่ เห็นไหมเมื่อวานนี้มันสงบ ทำไมวันนี้มันวุ่นวาย มันก็ไม่แน่อย่างนี้ ความวุ่นวายมันก็ไม่แน่เหมือนกัน วันนี้มันไม่สงบวันต่อไปมันก็ต้องสงบอย่างนี้เรื่อยไป สงบบ้างไม่สงบบ้าง เราจะเห็นความสงบ เห็นความไม่สงบนั้นอยู่ในใจของเราเสมอ มันไม่แน่อย่างนั้น ความเห็นที่ว่ามันไม่แน่นั้น จะเกิดขึ้นมาที่จิตของเรา ที่เรารู้นั่นแหละ มันไม่แน่จริงๆ มันเป็นของไม่แน่อย่างนั้น คิดว่ามันไม่แน่อย่างนั้น มันไม่แน่จริงๆ ถ้าไม่แน่แล้วจะทำอย่างไร ปล่อยเสียอย่าไปทำอะไรมัน เมื่อมันไม่แน่ก็อย่าไปยึดมั่นมันเลย อย่าไปยึดมั่นมัน อย่าไปถือมั่นมัน นี่ ปัญญาเกิดแล้ว แต่ก่อนมันโง่ที่สุด โง่ขนาดอะไรมาก็จับปั๊บเลย เมื่อวุ่นวายก็กระทบเลย นี่มันโง่ที่สุด เมื่อเราทำไปทำมาเราก็เตือนมันว่า เออ ! สงบนี้ก็เป็นอนิจจัง วุ่นวายก็เป็นอนิจจัง ให้เราดูไปนานๆ ที่จริงมันเป็นอย่างนั้นเอง อย่างวันนี้มันสงบ พรุ่งนี้มันก็ไม่สงบ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ เมื่อมันเป็นอย่านี้ปัญญาก็เข้ามาช่วย เข้ามาช่วยว่ามันเป็นอย่างนี้ จะทำอย่างไรล่ะมันเป็นอย่างนั้น เห็นว่ามันเป็นอย่างนั้น มันไม่เที่ยง มันไม่เที่ยงก็อย่าไปยึดมั่นมันซิ เมื่อสั่งสอนอย่างนี้จิตของเราก็ลุกตื่นขึ้นมา เออ ! อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมัน เรียกว่ามันถอย มันคลี่คลายจากความยึดมั่นถือมั่น มันก็ถอยมา ถอยมานานจนมันเคยตัว อารมณ์ทุกอย่างนั้นมันจะสงบบ้างไม่สงบบ้าง เราก็ไม่ทุกข์

การไม่เป็นทุกข์ก็เรียกว่ารู้เรื่องของมันตามความเป็นจริงแล้วว่า มันไม่แน่นอน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของเป็นอนิจจังมันไม่เที่ยงอย่างนั้น เราไม่เชื่อก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมัน เชื่อก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมัน พอเราไปยึดมั่นถือมั่นมัน ก็เป็นทุกข์ เพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นอนัตตธรรม ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา อย่างนี้เมื่อจิตของเรารู้สึกอย่างนี้อธิบายอารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ออกมา ผู้รู้ของเราก็รู้สึกว่ามันเป็นอย่างนั้น เราจะทำเมื่อไหร่มันก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเราพิจารณารู้บ่อยๆ ก็เป็นเหมือนกับว่าเราอยู่อารมณ์ พูดง่ายๆ ก็คล้ายๆ กับว่าบ้านเราอยู่ติดทางรถ แหม! ไปสร้างบ้านใหม่ๆ บ้านอยู่ติดทางรถมันวุ่นวายเหลือเกิน ไม่ค่อยสบาย ไม่ค่อยสบายเพราะเสียงรถมันรบกวนเรา แต่เราจะหนีไปไม่ได้ เพราะเราอยู่ที่นั่น บ้านเราอยู่ที่นั่น จำเป็นจะต้องอยู่ เพราะที่เราอยู่นั่น บ้านเราอยู่นั่น เมื่อเราอยู่นั่นมันไม่สบาย เวลาได้ยินเสียงรถ ฮือๆ ฮาๆ ไปตลอดวัน อยู่ไปนานๆ ดูเป็นเรื่องธรรมดา รถมีเสียงก็เหมือนไม่มีเสียง อยู่ไปมันก็ชินกันนะ มันรู้จักกันนะ ก็เลยอยู่สบาย เพราะความเป็นจริงนั้น เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นมัน แต่ก่อนนั้นเราเข้าใจว่ารถมันมากวนเรา เสียงมันกวนเรา เราจะทุกข์ขนาดไหนเราก็ไปไม่ได้ เพราะบ้านเราอยู่นั่น เพราะเรือนเราอยู่นั่น จำเป็นอย่างนั้น เมื่ออยู่นานไปมันก็ชินกับเสียงรถ ได้ยินเสียงรถแล้วต่อไปมันคลี่คลายสบายๆ นี่เพราะรู้เรื่องของมัน มิหนำซ้ำบางทีรถหนีหมดจะเหงาเสียด้วย นี่ อย่างนี้ เป็นไปอย่างนี้ หากไม่ได้ยินเสียงรถเสียงเรือจะบ่นหาเสียด้วยนา มันก็เป็นอย่างนี้ จิตใจของเราน่ะ

ฉะนั้น เมื่อรู้อย่างนี้ก็คิดเสียว่ามันเป็นเรื่องอนิจจัง สักแต่ว่ารูป สักแต่ว่าเสียง กลิ่น รส เป็นธรรมดาของมัน เมื่อเห็นเป็นตามธรรมดาอย่างนั้นแล้วก็เรียกว่าความรู้มันเกิดขึ้น รู้มันแล้ว ถึงหากว่าเป็นเสียงรถก็ไม่รำคาญ เสียงฮือฮาก็ไม่รำคาญ เพราะเราเคยต่อสู้มาแล้วเรื่องอย่างนี้ เมื่อปัญญามันเกิดเห็นเช่นนั้น มันก็ไม่รำคาญกับรูป ไม่รำคาญกับเสียง กลิ่น รส เลยเป็นเรื่องธรรมดา มันปล่อยวางในตัวมันเน้อ อันนี้เรียกว่ามันเป็นเช่นนั้นมันปล่อยวางอย่างนั้น ก็เรียกว่าปัญญาวิปัสสนา ปัญญามันเกิดขึ้นจากจิต คือมันไม่โง่เหมือนก่อน แต่ก่อนมันโง่ มันไปตะครุบเสียง มันไปตะครุบรูป มันไปเป็นสุขเป็นทุกข์กับเขาอยู่นั่นแหละ มันโง่อยู่นั่นแหละ บัดนี้เราไม่โง่ เราเป็นคนฉลาด รู้เรื่องของมันว่ารถมันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เสียงรถมันมารบกวนหรอก ตัวเราไปกวนรถไปกวนเสียง เมื่อเห็นอย่างนั้นคนเราก็อยู่สบาย สมัยก่อนได้ยินเสียงรถมันกวนเรา บัดนี้เห็นว่าเราเป็นคนไปกวนรถ เราเห็นว่าเราไปกวนเขานี่ ตรงกันข้ามเช่นนี้ เราไปกวนเขาเข้าใจว่าเขามากวนเรา มันไม่สบาย บัดนี้ความรู้อันนี้เป็นแหล่งปัญญาของเรา มันก็ปล่อยเสียงอันนั้น ปล่อยอารมณ์อันนั้น จิตของเราก็สบายขึ้น สูงขึ้น มีปัญญาขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นจะลืมตาอยู่ก็สงบ จะหลับตาอยู่ก็สงบ จะนั่งอยู่ก็สงบ จะอยู่ท่าไหนก็สงบนั่นแหละ ถ้ารู้แล้วว่ามันเป็นเช่นนั้น ความรู้อันนี้เกิดขึ้นมาก็เรียกว่าปัญญาเกิดพร้อม ไม่เป็นทุกข์ รู้จักแล้ว รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ รู้ความความดับทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ถ้ามันรู้เช่นนี้มันก็เป็นเรื่องมรรค คือรู้ความจริง พิจารณาอย่างนั้น การรู้อย่างนั้นเราเรียกว่ารู้กิเลส กิเลสที่มันเกิดขึ้นมาก็มีความรู้อันหนึ่ง สมัยก่อนเรารู้ว่าเสียงมากวนเรา บัดนี้เห็นว่าไม่ใช่ เราไปกวนเสียงเอง มันก็วาง มันก็ปล่อย ฉะนั้นจิตสมาธิ จิตมันฉลาดแล้ว เป็นจิตฉลาดแล้วนะ อันนี้เรียกว่าการภาวนา คือสมาธิไม่เกิดก็ทำให้มันเกิด ไม่มีก็ทำให้มันมี ปัญญาไม่เกิดก็ทำให้เกิด ปัญญามันหยาบก็ทำให้มันละเอียด ก็ทำไปอย่างนี้

ฉะนั้นในทางพุทธศาสนาการมาทำภาวนาเช่นนี้ก็เพื่อบรรเทาราคะบรรเทาโทสะบรรเทาโมหะ ไม่ใช่การทำภาวนาเพื่ออยากจะไปเห็นนรกอยากจะไปเห็นสวรรค์ อยากจะไปดูพรหมโลก อยากจะดูพ่อแม่เราว่าตายแล้วไปเกิดอยู่ที่ไหนอะไรอย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องอย่างนั้น ตามความจริงไม่ใช่เรื่องอย่างนั้น เรื่องทำให้จิตสงบให้เกิดปัญญารู้เรื่องแล้วปล่อยวาง การปล่อยวางได้แก่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นมันก็ไม่หนักอะไรสักอย่าง จะพูดก็พูดด้วยปัญญา จะทำก็ทำด้วยปัญญา จะอยู่ก็อยู่ด้วยปัญญา จะทำอะไรทำด้วยปัญญาทั้งนั้น ไม่ทำด้วยความโง่ เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ก็ให้ประกอบด้วยปัญญา ไม่ฟังเสียงด้วยความโง่ ไม่เห็นรูปด้วยความโง่ ฉะนั้นความรู้เช่นนี้เราก็รู้จักทุกข์ รู้สึกเหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติให้เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าต้องการอย่างนี้ ให้เรารู้เรื่องอยู่อย่างนี้ พอรู้เรื่องอย่างนี้แล้วก็หมด ไม่มีอะไรเป็นทุกข์ เป็นคนที่ไม่มีทุกข์ เป็นคนมีปัญญาตลอดกาลตลอดเวลา พระท่านว่าเป็นทุกขตธรรม ที่ท่านสอนพระไมฆราช ซึ่งเป็นสาวกว่า "ไมฆราช ท่านจงมองโลกนี้ให้เป็นของว่าง เมื่อท่านมองโลกนี้ให้เป็นของว่าง มัจจุราชคือความตายจะตามไม่ทัน" ท่านจึงว่า อนัตตธรรมคือธรรมอันไม่ตาย ทำให้เห็นเป็นความว่าง มันว่าง พระพุทธเจ้าของเราท่านสอนว่าให้มันว่าง ความว่างนี้อย่าไปฟังผิดนะ ถ้าฟังผิดละก็อะไรก็ว่างไปหมด จะได้อะไร ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรจะเอา คือปฏิบัติเพื่อละเพื่อวาง ถ้าเราเอาอะไรทุกอัน เรามีอะไรไหม เรามีอะไรมันก็ข้องอยู่อันนั้นแหละ มีลูกมันก็ข้องอยู่กับลูก มีหลานมันก็ข้องอยู่กับหลาน มีเรือกสวนไร่นามันก็ข้องอยู่ตรงนั้นแหละ ทำไม...จะไม่ให้มันมีหรือ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเราทำที่ไม่มีให้มันมี เราก็ต้องทำที่มันมีให้เหมือนกับไม่มี มันเป็นคนละเรื่องกัน ที่เราร่ำที่เรารวยหรือชีวิตที่เกิดขึ้นมานี้ เราอยู่กับการปล่อยวาง อยู่ด้วยปัญญา เราไม่ได้อยู่ด้วยความโง่ อยู่กับใครก็ได้ มีเงินเยอะก็ได้ มีทองเยอะก็ได้ มีผัวก็ได้ มีเมียก็ได้ ขอให้เรามีปัญญา อยู่อย่างปล่อยวาง อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมัน เหมือนกับขันตักน้ำนั่นนะ โอ่งน้ำและขันตักน้ำ มีโอ่งอย่างหนึ่ง มีขันตักน้ำอย่างหนึ่ง และก็มีน้ำอย่างหนึ่งอยู่รวมกันนั่น เมื่อเราจะดื่มน้ำเราก็เดินไปที่โอ่ง ไปที่โอ่งเราก็จะไปพบน้ำกับขันน้ำที่ลอยอยู่ เราจะดื่มน้ำจะทำอย่างไร ก็เอาขันตักเอาน้ำมาดื่มเท่านั้น เราก็เอาขันวางไว้เอาโอ่งวางไว้ แล้วก็จากไป ไม่ใช่ว่าเราจะดื่มขัน ไม่ใช่ว่าเราจะดื่มโอ่ง โอ่งนั้นสำหรับบรรจุน้ำไว้ให้เราดื่ม เมื่อเราดื่มเสร็จแล้วเราก็ปล่อยโอ่งไว้ ปล่อยขันไว้ เราก็จากไป ไม่ใช่ว่าเราจะหอบเอาขันไปด้วย ไม่ใช่ว่าเราจะแบกเอาโอ่งไปด้วย ไม่ใช่อย่างนั้น อันนี้ก็เหมือนกัน อันนี้บ้านเรา อันนี้เรือนเรา อันนี้ลูกเราเมียเราหลานเรา ทุกอย่างเป็นของเรา สักแต่ว่าสมมติ ไม่ใช่ของจริง ความจริงนั้นเราไปดื่มน้ำ ถ้าเราไปดื่มโอ่งน้ำจะสบายไหม ไปดื่มเอาขันมันจะสบายไหม คงจะไม่มีผู้ใดไปดื่มโอ่งดื่มขัน คงไม่มีนะ เอาโอ่งวางไว้อย่างเก่า เอาขันวางไว้อย่างเก่า เราก็จากไป เรามีของอะไรต่างๆ ของที่เรามีมันก็มีอยู่แล้วในโลก เราเห็นว่าตัวเรานี้ก็ไม่ใช่เรา ของนั้นก็ไม่ใช่ของเรา แต่เป็นเครื่องสัมพันธ์กันอยู่ มีก็ใช้ไปเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่กาย แต่ความเป็นจริงสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ

ที่พระพุทธเจ้าของเราท่านสอนเป็นอนัตตธรรม ธรรมอันไม่ตาย มองโลกให้เป็นของว่าง ว่างจากการเป็นตัวตน เรา...เขา ว่างจากความโลภ ว่างจากความโกรธ ว่างจากความหลง ท่านจึงให้ทำให้ว่าง ว่างจากสิ่งที่มันมีอยู่ ไม่ใช่ละของที่มันไม่มี ปัญหาทั้งหลายมันจะรู้ว่าเรากำลังทำมันอยู่ จี้มันอยู่ รู้จักมัน ปัญหาทั้งหลายมันจะเกิดขึ้นเราก็รู้ทัน รู้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ บางทีเราเห็นว่ามันเป็นของว่างแล้วก็ไม่สบายใจ ไม่ค่อยสบายใจ ความเป็นจริงนั้นอย่าไปยึดมั่น อย่าไปยึดมั่นถือมั่น อย่าไปยึดมั่นว่าเราว่าเขา ว่าของเราของเขา ทำไปด้วยปัญญาของเราอย่างนั้น อันนี้มันเป็นเรื่องพูดฟังยาก...พูดก็ยากฟังก็ยาก ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ที่พระพุทธเจ้าของเราท่านสอนไว้ ไม่ใช่เป็นคำสอนที่พูดให้คนเข้าใจได้โดยง่าย ไม่ใช่จะตรัสรู้ได้เพราะการฟังธรรม เพราะความเข้าใจในคำพูดนี้ มันเป็นเช่นนั้น มันเป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตนเอง พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญหรอก คนที่เชื่อคนอื่นจนเกินไป พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าเราตรัสรู้ก็เพราะตนเอง เป็นปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ รู้ด้วยตนเอง เห็นด้วยตนเอง เหมือนกับที่โยมมาวันนี้ ต่างคนต่างไม่เคยมาวัดหนองป่าพง แต่รู้เรื่องวัดหนองป่าพงอยู่ คนอื่นเขาเคยมาก็สักแต่ว่าถามเขา วัดหนองป่าพงเป็นอย่างไร อะไรอย่างนี้ เขาก็ตั้งใจเล่าให้ฟัง วัดหนองป่าพงอยู่ตรงโน้น เป็นอย่างนั้นๆ ฟังก็พอเข้าใจแต่ไม่รู้ เข้าใจอยู่แต่ไม่รู้ หรือรู้อยู่แต่ไม่เข้าใจจริง คือรู้ไม่ถึง มีคนเคยมาวัดอีกก็ถามเขาอีกละ วัดหนองป่าพงอยู่ไกลเท่าไหร่ เป็นอย่างไร ปัญหาไม่จบลง เพราะอะไร เพราะเราไม่เห็นเอง เราไม่เป็นปัจจัตตัง

โยมที่มาวันนี้ปัญหาที่จะถามคนอื่นว่าวัดหนองป่าพงเป็นอย่างไร คงจะไม่มีอีกแล้ว ท่านอาจารย์เป็นอย่างไรก็คงไม่เป็นปัญหา ที่มันจบลงนี่เพราะอะไร เพราะเรามาเห็นด้วยตนเอง ปัญหาก็คงไม่ต้องถาม ถ้าโยมไม่ได้มาคงจะถามตลอดเวลา วัดหนองป่าพงเป็นอย่างไร ท่านอาจารย์เป็นอย่างไร ถามตลอดเวลา เพราะอะไร เพราะไม่เห็นด้วยตนเอง การไปถามคนอื่นก็ไม่มีแล้ว ไม่สงสัย นี้ฉันใด.... อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น ไม่แปลกอะไรกับธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอน

เรื่องการปฏิบัตินี้มันเป็นเรื่องที่จะต้องทำ เห็นแล้วไม่ปฏิบัติรู้แล้วไม่ปฏิบัติ ก็ไม่ได้เรื่องได้ราว จะเปรียบง่ายๆ อาหารที่มีรสเอร็ดอร่อย เอามาวางไว้ข้างๆ รู้ไหมว่ามันอร่อย มันเกิดประโยชน์ไหม นี่ท่านเรียกว่ารู้เฉยๆ ไม่ได้ปฏิบัติ คนรู้ธรรมะไม่เท่าคนผู้เห็นธรรมะ คนเห็นธรรมใจมันเป็นธรรม ธรรมะเกิดขึ้นกับจิต อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น ปฏิบัติจริงอย่าไปอาศัยสิ่งอื่นมากมาย ปฏิบัติให้รู้ด้วยตนเองนี้ เมื่อจิตมันสงบแล้วสบาย มันจะมาของมัน เกศา โลมา นขา ทันตา ตะโจ บางคนก็รำคาญ เกศาคือผมนี่ทำไมต้องสอน มันเห็นอยู่แล้ว ความเป็นจริงไม่ใช่ให้ตาเนื้อนี่มันเห็น ตาเนื้อนั้นมันเห็นไม่จริงมันเลยไม่บรรเทากิเลส มันเพิ่มกิเลสขึ้นมา พระพุทธองค์ท่านอยากให้ตาในคือปัญญานั้นเห็น เรามีผมอยู่บนศีรษะตลอดเวลาตั้งแต่เกิดมาแล้ว แต่เรายังไม่เคยเห็นสักนิดเดียวเลยทางใจของเรา ขน...เรามีอยู่เต็มตัว เรายังไม่เคยเห็นขนสักเส้นเดียว ฟัน...เราก็มีเต็มปากนี่ แต่เรายังไม่เห็นแม้ซี่เดียวเลย หนัง...ที่หุ้มตัวเราอยู่นี้ ความจริงเรายังไม่เคยเห็นหนังสักเดี๋ยวหนึ่งเลย เห็นถนัด เห็นชัด เห็นตามเป็นจริง เห็นด้วยปัญญาตามเป็นจริง ยังไม่รู้ว่าอันนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา อย่างนี้ไม่ได้เห็น ไม่เห็น การเห็นด้วยตาเนื้อนี้ไม่ใช่ความเห็นโดยแจ่มแจ้ง เห็นด้วนการปิดบังเห็นด้วยความมืด ไม่ใช่เห็นด้วยความสว่าง

ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงให้มองเห็นอย่างนี้ ท่านให้มองเห็นด้วยปัญญา เห็นแล้วมันถอน เห็นความชั่วก็รู้จักความชั่ว เห็นความผิดก็รู้ว่าความผิด มันไม่เอา จิตนั่นเป็นเหตุ อันนี้จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ไม่ได้อีกแล้ว ถ้าเราเห็นทุกข์ ทุกข์ก็ไม่ก่อเรื่องขึ้นมา นี่เรียกว่าตัดต้นตอมันเสียด้วยปัญญาของเรา เมื่อจิตสงบแล้วเราก็มาพิจารณาให้ปัญญามันเกิดแยบคาย ให้มันเห็น เกศา โลมา นขา ทันตา ตะโจ ด้วยการประพฤติปฏิบัติ เมื่อเราเห็นเช่นนั้น สมมตินี้มันกองกันอยู่ สมมติทั้งนั้น สมมติว่าผมขนเล็บฟันหนัง สมมติว่าผู้หญิงผู้ชาย สมมติว่าเรา อย่างนั้นมันเป็นเรื่องสมมติ มันไม่จริง มันไม่จริงเพราะมันสมมตินะ มันไม่มีอะไรสักชิ้นเป็นของเรา เป็นเรื่องสมมติ อย่างพวกเรานั่งอยู่นี่ก็เหมือนกัน ผู้หญิงก็สมมติว่าเป็นหญิง ผู้ชายก็สมมติว่าเป็นชาย ถ้าผู้หญิงถูกสมมติให้เป็นผู้ชาย เราก็คงเรียกผู้หญิงเป็นผู้ชายตลอดมาจนทุกวันนี้ สมมติว่าตามันเป็นหูเสีย เราก็จะเรียกตาว่าหูมาตลอด นี่เรื่องสมมติ ความเป็นจริงสิ่งทั้งหลายมันไม่รู้เรื่องอะไรหรอก ไม่มีอะไรเป็นเรื่องของเรา ให้เรารู้ตามเป็นจริง เมื่อรู้ตามความเป็นจริงแล้วมันจะได้ปล่อย มันจะได้วาง อยู่ไปก็ไม่เป็นทุกข์ นั่งก็ไม่เป็นทุกข์ นอนก็ไม่เป็นทุกข์ อะไรก็ไม่เป็นทุกข์ อยู่ด้วยปัญญา อยู่ด้วยความสงบจากทุกข์ อยู่ด้วยความว่าง ไม่ได้อยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ให้เป็นอย่างนี้ตลอดเวลา อันนี้คือผลที่จะเกิดในการปฏิบัติของพวกเราทั้งหลาย โยมซึ่งฟังธรรมวันนี้ ฟังออกก็ออก ฟังไม่ออกก็ไม่ออกต่อไป อย่าไปสงสัยอะไรมันเลย


จบเทศนา....................... เอวัง


ดอกไม้ รวมคำสอน “หลวงพ่อชา สุภัทโท” วัดหนองป่าพง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38519

ดอกไม้ ประมวลภาพ “หลวงพ่อชา สุภัทโท” วัดหนองป่าพง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=20430
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 05 มิ.ย.2004, 9:11 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ
.......

โพสต์แล้วได้ทั้งตัวเอง และผู้อื่น
ไม่เสียประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 06 มิ.ย.2004, 6:59 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุอ่ะค่ะ
ได้ความรู้มั่กเลยค่ะ
ขอบคุณนิวด้วยน๊ะ ที่หาเรื่องมีประโยชน์มาโพสท์แบ่งเพื่อนๆ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
s i a m
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 30 ม.ค. 2005, 12:13 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุครับมีความสุขมากเลยครับที่ได้อ่านข้อความธรรมมะ
 
jeed
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 11 มี.ค.2005, 2:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอบคุณค่ะ รีบปริ๊นซไปอ่านเลย จะได้ทบทวนวันอื่น และต้องหมั่นปฏิบัติด้วย จะได้เกิดปัญญาจากการปฏิบัติ สาธุ โมทนา กับคนให้ข้อมูลด้วยคะ
 
-ชีพ-
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 20 เม.ย.2005, 6:50 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง
 
kan
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 28 ธ.ค.2006, 11:34 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ
 
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773

ตอบตอบเมื่อ: 29 ธ.ค.2006, 7:05 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง