Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 คลายสงสัยเรื่องกฎแห่งกรรม (พระธรรมวิสุทธิกวี) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.พ.2006, 5:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

คลายสงสัยเรื่องกฎแห่งกรรม
โดย พระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ)

วัดโสมนัสวิหาร
เขตป้อมปราบฯ กทม.



คลายสงสัยในเรื่องกฎแห่งกรรม และการเวียนว่ายตายเกิดนี้ มักจะมีผู้สงสัยในประเด็นต่างๆ ของการเกิดใหม่ และกฎแห่งกรรมรวมทั้งสงสัยในเรื่องบุญบาป และเรื่องนรกสวรรค์ จึงมักได้ยินคำถามหรือข้อสงสัย เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อยู่บ่อยๆ

ฉะนั้น เพื่อจะให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจชัดยิ่งขึ้น และเพื่อให้ได้คลายสงสัยในเรื่องเหล่านี้ ผู้เขียนจึงได้รวบรวมปัญหาต่างๆ ที่เคยมีผู้ถามหรือมีความสงสัยมาแสดงไว้ในที่นี้ พร้อมทั้งคำตอบของผู้เขียนดังต่อไปนี้


๑ . ถาม "ถ้าคนเราตายแล้วเกิดจริง เมื่อตายไปเท่าใดก็ควรเกิดเท่านั้น แต่ทำไม ในปัจจุบัน จึงเกิดมากกว่าแต่ก่อนมาก วิญญาณมาจากไหน ?"

ตอบ "ตามหลักพระพุทธศาสนา ถือว่า วิญญาณมีมาก และมีมากอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังพระบาลีว่า "อนนฺตํ วิญฺญาณํ- วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด" วิญญาณดวงหนึ่งก็คือชีวิตหนึ่ง วิญญาณนี้ก็คือจิตนั่นเอง และจิตนี้เป็นตัวไปเกิดในภพภูมิต่างๆ ตามพลังแห่งกรรมดีและกรรมชั่วที่ผู้นั้นทำไว้

จิตหรือวิญญาณนี้ หรือจะเรียกว่าชีวิตก็ได้ ไม่ใช่มีอยู่ในโลกมนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีอยู่ในโลกหรือในภพภูมิอื่นๆ อีกเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน วิญญาณเหล่านี้มีการถ่ายเท เคลื่อนย้ายจากโลกหนึ่งไปยังอีกโลกหนึ่ง หรือจากภูมิหนึ่งไปยังอีกภูมิหนึ่ง ตามพลังแห่งกรรมของสัตว์โลกนั้นๆ

ฉะนั้น วิญญาณจากโลกนี้จึงไปเกิดในโลกอื่นได้ และในทำนองเดียวกัน วิญญาณหรือชีวะจากโลกอื่นก็มาเกิดในโลกนี้ได้เช่นกัน

แม้วิญญาณในโลกนี้ ก็มีการถ่ายเทเคลื่อนย้ายอยู่มาก และมีอยู่ตลอดทุกวินาทีก็ว่าได้ เช่นคนตายไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือสัตว์เดรัจฉานตายไปเกิดเป็นคน และสัตว์เดรัจฉานในโลกมนุษย์ ก็มีมากหลายแสนชนิด

แม้แต่ปลา แมลง และมด ก็มีมากชนิดจนแทบนับไม่ถ้วน สัตว์เหล่านี้เมื่อตายแล้ว บางตัวก็มาเกิดเป็นคน ไม่ต้องดูอื่นไกล ในวันหนึ่ง ๆ มีปลาที่ขึ้นสู่ท่าเรือในเมืองท่าใหญ่ๆ ของโลก แต่ละวันก็นับเป็นแสนๆ ตันแล้ว วิญญาณของปลาเหล่านี้ ก็มีโอกาสที่จะเกิดเป็นมนุษย์ได้ ฉะนั้น

มนุษย์จึงอาจเพิ่มขึ้นอีกเท่าไรก็ได้ หากมีตัวกรรมที่ดลบันดาลให้เขามาเกิดได้ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงวิญญาณที่มาจากโลกอื่น แม้แต่วิญญาณที่มีอยู่ในโลกนี้ก็นับไม่ถ้วนเสียแล้ว"


๒. ถาม "คนที่ตายแล้ว จะต้องมาเกิดเป็นคนตลอดไป หรือว่าไปเกิดเป็นสัตว์โลกอย่างอื่นก็ได้ ?"

ตอบ "คนที่ตายแล้ว ถ้ายังมีกิเลสอยู่ก็ต้องเกิดอีก ตามกรรมที่เขาทำไว้ และสามารถไปเกิดในภพภูมิต่างๆ ได้ทั้ง ๓๑ ภูมิ หาใช่เกิดเป็นคนตามเดิมอย่างเดียวไม่"


๓. ถาม คนที่เกิดเป็นหญิงหรือชาย จะเกิดเป็นหญิงหรือชายทุกชาติหรือไม่ ถ้าหญิงอยากเกิดเป็นชาย หรือชายอยากเกิดเป็นหญิง จะทำได้หรือไม่ ?"

ตอบ "ตามหลักพระพุทธศาสนา ผู้ชายอาจเกิดเป็นหญิง หรือหญิงอาจเกิดเป็นชายได้ ข้อนี้ขึ้นอยู่กับกฎแห่งกรรมและความปรารถนาของแต่ละคน ถ้าหญิงต้องการเกิดเป็นชาย ก็ทำบุญเพิ่มเข้าไว้ แล้วอธิษฐานขอเกิดเป็นชาย ก็สามารถเกิดเป็นชายได้ในชาติต่อไป

หรือชายต้องการเกิดเป็นหญิง ก็ทำบุญเข้าไว้ แล้วอธิษฐานขอเกิดเป็นหญิง ก็สามารถเกิดเป็นหญิงได้เช่นกัน หรือชายบางคนที่ประพฤติผิดในกามก็อาจเกิดเป็นหญิงได้ในชาติต่อไป เช่นพระอานนทเถระ ปรากฏว่าท่านเคยเกิดเป็นหญิงติดต่อกันถึ ๕๐๐ ชาติ เพราะประพฤติผิดในกาม

แต่ก็มีสามีภรรยาบางคู่ หรือจำนวนไม่น้อย ทำบุญแล้วตั้งความปรารถนาให้เกิดมาเป็นคู่ครองกันทุกภพทุกชาติ ถ้าความปรารถนาของเขาสมประสงค์ สามีก็ต้องเกิดเป็นชายฝ่ายภรรยาก็ต้องเกิดเป็นหญิงอย่างแน่นอน"


๔. ถาม "นักวัตถุนิยมกล่าวว่า จิตไม่มี เพราะไม่มีตัวตนที่จะมองเห็นได้ สมองต่างหาก เป็นตัวสั่งงาน ไม่ใช่จิต ในฐานะที่ท่านเป็นพุทธศาสนิกชน ท่านจะอธิบายเขาอย่างไรในข้อนี้ ?"

ตอบ "ถ้าอย่างนั้น ปัญญา ความรู้ก็ไม่มีละซิ เพราะไม่อาจจะมองเห็นได้ก็ตาม แท้ที่จริงจิตเป็นนามธรรมเช่นเดียวกับปัญญาและมีอยู่จริง แม้ไม่สามารถจะมองเห็นได้ แท้ที่จริงตัวตนนั้น จะหาว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีไม่ได้

เพราะสิ่งในโลกทั้งหมด เมื่อกล่าวโดยย่อก็มีเพียง ๒ อย่างเท่านั้น คือ นามกับรูป รูปนั้นเราสามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า ส่วนนามเราไม่สามารถสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า

แต่ก็สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทที่หก คือ ใจ เช่น ความสุข ความจำ และความทุกข์ แม้ไม่มีตัวตนที่จะมองเห็นได้ แต่ก็สามารถรับรู้ได้ด้วยใจ

การที่จะพูดว่า สมองเป็นผู้สั่งงานนั้น ถูกแล้ว หากแต่สั่งงานตามคำสั่งของจิต เช่นเดียวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือสมองกล ถ้ามนุษย์ไม่ป้อนข้อมูล ลงไปให้มันก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะไร้วิญญาณ และสมองก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของร่างกาย จึงไม่ใช่จิต

กายทั้งหมดรวมทั้งสมองเป็นวัตถุ ไม่ใช่นาม และทำความคำสั่งของจิตอันเป็นนาม คือ ผู้รับใช้จิตนั่นเอง ดังคำพังเพยของไทยที่ว่า "ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว"

แท้จริง จิตกับสมองไม่เหมือนกัน สมองเป็นส่วนหนึ่งของกายแต่เป็นเครื่องมือของจิต บางคนอาจจะค้านว่า "ถ้าไม่มีสมองสั่งงาน เช่น สมองพิการ หรือได้รับความกระทบกระเทือนจนสั่งงานไม่ได้ จิตก็ไม่มีอำนาจที่จะบังคับกายได้เลย จึงแสดงให้เห็นว่า สมองต่างหากเป็นตัวสั่งงาน ไม่ใช่จิต"

ข้อนี้ขอตอบว่า "ก็เมื่อสมองอันเป็นเครื่องมือในการสั่งงานของจิตพิการเสียแล้ว จิตก็ขาดเครื่องมือในการสั่งงาน จึงไม่อาจบังคับกายได้ เพราะขาดเครื่องมือ ถ้าจะเปรียบให้เห็นง่ายๆ ก็คือ

กายอันประกอบด้วยประสาทรับรู้ต่างๆ เปรียบเหมือนสายโทรศัพท์ ที่ต่อจากชุมสายโทรศัพท์ไปตามบ้านเรือน หรือสถานที่ต่างๆ สมองเปรียบเหมือนชุมสายโทรศัพท์กลาง จิตเปรียบเหมือนพนักงานคุมสายโทรศัพท์กลาง ถ้าหากชุมสายโทรศัพท์เสียใช้การไม่ได้แล้ว

ข้อนี้ฉันใด มนุษย์เราก็เหมือนกัน แม้ร่างกายส่วนอื่นไม่พิการ แต่ถ้าสมองพิการเสียแล้ว จิตก็สั่งงานไม่ได้ เพราะขาดเครื่องมือในการสั่งงาน"

อีกอย่างหนึ่ง ร่างกายนี้เปรียบเหมือนตัวรถ สมองเปรียบเหมือนเครื่องยนต์ จิตเปรียบเหมือนคนขับ ตามปกติรถยนต์ ถ้าตัวรถยังดี เครื่องยนต์ไม่บกพร่อง และคนขับก็ชำนาญ ก็ย่อมนำรถไปสู่ที่หมายตามปรารถนาและปลอดภัย

แต่ถ้าหากว่า ตัวรถดี แต่เครื่องเสียใช้การไม่ได้ หรือตัวรถก็ดีอยู่ เครื่องยนต์ก็ไม่เสีย แต่ไม่มีคนขับ รถนั้นก็เหมือนกับรถตาย เคลื่อนไหวไม่ได้ หรือตัวรถยังดี เครื่องยนต์ก็ไม่เสีย แต่คนขับขี้เมา หรือขับด้วยความประมาท ก็อาจจะพารถไปชนคน ชนต้นไม้ หรือสิ่งต่างๆ ได้ หรือพลิกคว่ำ ตกถนน เป็นต้น

ย่อมก่อให้เกิดอันตรายแก่ตนเอง บุคคลอื่น และทรัพย์สิน ได้เป็นอันมาก ดังที่ปรากฏอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน ข้อนี้ฉันใด มนุษย์เราก็เหมือนกัน ถ้ามีร่างกาย สมอง และจิตใจครบบริบูรณ์ดี ก็ย่อมนำชีวิตไปสู่ความสงบสุขได้ รวมทั้งช่วยคนอื่นให้มีความสงบสุขได้ด้วย

ถ้ามีแต่ร่างกายกับสมอง แต่ไม่มีจิตเป็นผู้สั่ง คนนั้นก็เหมือนคนนอนหลับ หรือเหมือนคนตาย หรือมีร่างกายบริบูรณ์ แต่สมองพิการ แม้จะมีจิตเป็นผู้สั่งงาน ก็สั่งไม่ได้ เพราะเครื่องมือคือสมองใช้การไม่ได้ หรือร่างกายและสมองบริบูรณ์ดีไม่บกพร่อง แต่จิตพิการ

สุขภาพจิตไม่บริบูรณ์ เช่นเป็นคนวิกลจริตหรือเป็นโรคจิต หรือเป็นคนโลภจัด โกรธจัด หลงจัด เป็นต้น ก็ย่อมนำความพินาศความทุกข์เดือดร้อนมาให้แก่ตนเองและสังคมได้มาก"


๕. ถาม "ถ้าจิตมีจริงแล้ว ทำไมไม่อาจมองเห็นได้ หรือไม่อาจจับต้องได้ด้วยเครื่องมือใดๆ ทางวิทยาศาสตร์ ?"

ตอบ "จิตเป็นนาม ไม่ใช่รูป จึงไม่อาจมองเห็นได้ เพราะไม่มีรูปร่าง ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี ไม่มีเสียง และไม่กินที่อยู่ จึงไม่อาจจะจับได้ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ใดๆ แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ซึ่งสามารถรู้ได้สังเกตได้จากพฤติกรรมที่แสดงออกมา

เช่น เมื่อดีใจ เสียใจ มีความโกรธ ความโลภ หรือ มีความสุข เพราะแสดงออกทางกายให้ปรากฏเช่นเดียวกับความรู้ แม้ไม่มีตัวตน ก็เป็นของที่มีอยู่จริง เพราะแสดงออกมาให้ปรากฏว่ามีหรือไม่มี มีน้อยหรือมีมาก โดยเฉพาะตัวเราเองย่อมรู้ชัดด้วยตนเอง

เพราะจิตเป็นตัวทำหน้าที่จำ คิดนึก สั่งงาน เก็บกรรมและกิเลสเอาไว้ และท่านผู้มีความสามารถบางคนใช้พลังจิตหรืออำนาจจิตที่มหัศจรรย์ออกมาให้ปรากฏ เช่น ดักใจรู้ใจคนอื่น เป็นต้น"



(มีต่อ 1)
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"

แก้ไขล่าสุดโดย สายลม เมื่อ 24 ก.พ.2006, 5:27 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.พ.2006, 5:21 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๖. ถาม "ถ้ากรรมดีและกรรมชั่วมีจริง ทำไม บางคนทำชั่วกลับได้ดี แต่บางคนทำดี กลับได้ชั่ว ?"

ตอบ "ปัญหาข้อนี้มีผู้ชอบถามและสงสัยกันมาก จะต้องใช้หน้ากระดาษตอบยาวหน่อย เพราะมีประเด็นที่จะต้องพูดกันหลายแง่หลายมุม

กรรมดีกรรมชั่วมีจริงแน่นอน เพราะกรรมหมายถึงการกระทำ ถ้าทำดีก็จัดเป็นกรรมดี เรียกว่ากุศลกรรม หรือบุญกรรม ถ้าทำชั่วก็เป็นกรรมชั่ว เรียกว่าอกุศลกรรม หรือบาปกรรม ผลของกรรมดีและกรรมชั่ว ก็มีจริง คือ ใครทำดีก็ย่อมได้ดี ใครทำชั่วก็ย่อมได้ชั่ว เห็นกันอยู่เป็นจำนวนมาก

แม้ในปัจจุบัน เป็นเพียงแต่ว่า กรรมนั้นจะให้ผลเร็วหรือช้าเท่านั้น ในการพิสูจน์ผลของกรรมจะต้องใช้กาลเวลาด้วย เพราะกรรมบางอย่างให้ผลเร็ว กรรมบางอย่างให้ผลช้า กรรมบางอย่างให้ผลในชาตินี้

กรรมบางอย่างให้ผลในชาติต่อไป ดังนั้นจึงกล่าวกันว่า "กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ผลของกรรม"

การทำกรรมเหมือนการปลูกพืช คือ บุคคลหว่านพืชชนิดใดชนิดหนึ่งลงไปก็ย่อมได้รับผลของพืชชนิดนั้น เช่นปลูกถั่วไว้ ผลที่ได้รับก็ต้องเป็นถั่ว จะเป็นข้าวหรือเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ปลูกอ้อยไว้ ผลที่ได้รับก็ต้องเป็นอ้อย จะเป็นข้าวโพดหรืออย่างอื่นไปไม่ได้

กรรมก็เช่นเดียวกัน เมื่อทำกรรมใดไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม จะต้องได้รับผลของกรรมนั้น คือทำดีต้องได้ดี ทำชั่วก็ต้องได้ชั่ว เป็นเพียงแต่ว่าต้องใช้เวลาสำหรับกรรมบางอย่าง เพราะกรรมบางอย่างให้ผลช้า

เช่น การศึกษาเล่าเรียน กว่าจะเรียนจบต้องใช้เวลาหลายปี จบแล้วก็ต้องหางานทำอีก เมื่อมีงานทำแล้วจึงได้เงินมาใช้ อันเป็นผลส่วนหนึ่งของการเรียน แต่กรรมบางอย่างเห็นผลเร็ว เช่นหุงข้าวในวันนี้ ก็ได้รับผลในเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงในวันนี้

แต่คนบางคน ทำชั่วแล้วยังมีความสุขความเจริญดีอยู่ ยังไม่ได้รับผลของกรรมชั่วที่ทำไว้ หรือคนทำดีบางคนยังต้องได้รับทุกข์ทรมานเดือดร้อนอยู่ ยังไม่ได้รับผลกรรมดีที่ทำไว้ จึงมีคนไม่น้อยเข้าใจผิดไปว่า "ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว"

ทั้งนี้ก็เพราะความซับซ้อนในกฎแห่งกรรมนั่นเอง คือ การที่คนบางคนทำชั่วแล้วยังไม่ได้รับผลชั่ว ก็เพราะกรรมดีที่เขาทำไว้ยังให้ผลอยู่ แต่กรรมชั่วที่เขากำลังทำอยู่ยังไม่ถึงวาระให้ผล แต่เมื่อใดกรรมดีของเขาอ่อนพลังลงหรือหมดไป

กรรมชั่วที่เขาทำไว้จะต้องถึงวาระให้ผลอย่างแน่นอน หรือคนทำดี แต่ยังเดือดร้อนลำบากอยู่ และเมื่อใดกรรมชั่วของเขาอ่อนกำลังลง หรือหมดไป กรรมดีของเขามีพลังมากขึ้น เขาก็ย่อมได้รับผลอย่างแน่นอน

เพื่อความเข้าใจชัดในเรื่องนี้ จะขอยกตัวอย่างให้ดูสัก ๒ เรื่อง คือ เรื่องนายแดงสำนึกผิด และเรื่องนายมีนักเลงการพนัน

นายแดง ใจกล้า ฆ่าคนตายที่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วหนีการจับกุมไปหลบซ่อนตัวที่จังหวัดสงขลา สำนึกในความผิดของตัวว่า ตนได้ทำความชั่วกรรมนั้นจะตามมาให้ผลในวันข้างหน้า เขาจึงตั้งใจทำดีเพื่อลบล้างกรรมชั่วของเขา คือเมื่อเขาไปอยู่ที่สงขลา ก็ตั้งใจทำมาหากินอยู่ที่นั่น

คนที่นั้นไม่มีใครรู้เบื้องหลังชีวิตของเขา เขาเข้าวัดทุกวันพระ ทำบุญฟังธรรม และรักษาศีลอุโบสถเป็นประจำ และตั้งใจทำงานโดยสุจริต

คนทางจังหวัดเชียงใหม่ ที่รู้พฤติกรรมชั่วของเขาในการฆ่าคนแล้วหนีไป จึงพูดกันว่า "ทำชั่วได้ชั่วมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป" เพราะนายแดงทำชั่วแล้ว ไม่เห็นได้รับผลชั่ว แต่ไปหลบตัวสบายอยู่ที่จังหวัดสงขลา

๑๐ ปีต่อมา ตำรวจสืบทราบว่า นายแดงหนีไปหลบซ่อนอยู่ที่จังหวัดสงขลา จึงตามไปจับกุมได้ในขณะที่นายแดงกำลังนั่งฟังธรรมอยู่บนศาลาการเปรียญอยู่ในวันหนึ่ง แล้วใส่กุญแจมือนำไปดำเนินคดีตามกฎหมาย ฝ่ายชาวบ้านทางสงขลาแถบนั้นไม่รู้เรื่องเดิมมาก่อน

เห็นแต่นายแดงเป็นคนดี เป็นอุบาสก รักษาศีล ๘ ทุกวันพระ มาวัด ฟังธรรม ทำบุญอยู่เสมอจึงพูดกันว่า "คนดีแท้ๆ ถูกใส่ความ ทำดีได้ดีมีที่ไหน ดูนายแดงเป็นตัวอย่าง ทำดีแท้ๆ กลับได้ชั่ว" แต่ถ้าทั้งคนที่เชียงใหม่และที่สงขลา รู้ความจริงของนายแดงโดยตลอดแล้ว พวกเขาคงไม่เข้าใจผิดในเรื่องกฎแห่งกรรม

เรื่องที่สอง คือ นายมี ชอบใจ เป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี มีนาและสวนอยู่หลายแปลง แต่เป็นคนขี้เกียจ ทั้งชอบเล่นการพนัน และมีลูกหลายคน เขาจึงยากจน และเป็นหนี้สินเขา ต่อมานายมี รู้สึกตัวว่า การที่ตนต้องลำบากเดือดร้อนยากจน ต้องเป็นหนี้สินเขา ก็เพราะตนขี้เกียจและชอบเล่นการพนัน จึงเลิกเล่นการพนัน

หันมาช่วยลูกเมียทำนา ทำสวนอย่างขยันขันแข็ง เพราะมีที่ทำมาหากินอยู่พร้อมแล้ว เมื่อเขาทำนาทำสวนในปีนั้น ทั้งข้าวในนาและพืชผลในสวนของเขากำลังงอกงามอุดมสมบูรณ์ แต่ยังไม่ทันได้เก็บเกี่ยว นายมีก็ยังยากจนและเป็นหนี้เขาอยู่เช่นเดิม และยังมีความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นเสียอีก

เพราะต้องลงทุนลงแรงในการทำงานทั้งๆ ที่เขาและครอบครัวได้ทำทำมาหากินโดยความขยันหมั่นเพียรและสุจริต คนบางคนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชีวิตเบื้องหลังของนายมี เห็นแต่นายมีขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากิน แต่ยังยากจนและเดือดร้อนอยู่

จึงพูดกันว่า "ไหนว่า คนทำดีได้ดี แต่ทำไมนายมีทำงานโดยสุจริต และขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากิน แต่ยังยากจนและเดือดร้อนอยู่"

ต่อมา เมื่อข้าวในนา และพืชผลในสวนของเขาเก็บเกี่ยวแล้ว และให้ผลดีมาก เขาก็มีกินมีใช้อย่างสบาย หมดหนี้สิน หลายปีเข้าเขาก็มีความร่ำรวยขึ้น เพราะความขยันหมั่นเพียร และเพราะรู้จักตั้งตัวประกอบอาชีพสุจริต

ต่อมา นายมีกลับคบเพื่อนเก่า ที่เป็นนักเลงการพนัน ซึ่งมาชวนเล่นการพนันอีก เขาจึงเลิกกิจการในนาและในสวน หันมาเล่นการพนันตามเดิมอีกเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ยังมีกินมีใช้อยู่ เพราะเงินทองที่เก็บไว้ตอนขยันหมั่นเพียรนั้นยังเหลืออยู่มาก

บางคนที่ไม่รู้จักประวัติเดิมของนายมี เห็นนายมีเล่นการพนันและไม่ยอมทำการงาน แต่ยังมีกินมีใช้อยู่สบาย จึงพูดว่า "ไหนว่า คนเราทำชั่วได้ชั่ว แต่นายมีขี้เกียจไม่ทำงาน และเล่นการพนัน กลับอยู่สบาย คนที่ขยันเสียอีกต้องเหนื่อยยากลำบากในการทำมาหากิน"

ทั้งนี้ก็เพราะว่า คนที่พูดเช่นนั้นไม่ทราบความจริงโดยตลอด การที่นายมียังมีกินมีใช้อยู่ก็เพราะกรรมดีครั้งก่อนของเขา คือความขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากิน จึงมีเงินเก็บไว้ ทำให้เขาสบายดีอยู่ แต่ถ้าเขายังขี้เกียจอีก และยังไม่ยอมเลิกเป็นนักเลงการพนัน ในที่สุด เขาก็ต้องเดือดร้อน ยากจน และเป็นหนี้เป็นสินเขาอีกอย่างแน่นอน

เพราะฉะนั้น การพิสูจน์กฏแห่งกรรมจะต้องใช้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ด้วย แต่เท่าที่ผู้เขียนสังเกต อย่างมากไม่เกิน ๓๐ ปี จะต้องได้รับผลดีหรือผลชั่วที่ตนทำไว้อย่างแน่นอน

นอกจากกาลเวลาแล้ว ยังต้องพิจารณาให้รอบคอบอีกหลายด้าน เพราะยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่เป็นตัวประกอบในความซับซ้อนของเรื่องกฎแห่งกรรม เช่นยังอยู่กับเจตนาของผู้กระทำ

ขึ้นอยู่กับกรรมนั้นว่า เป็นกรรมเล็กน้อยหรือมาก เบาหรือหนัก และยังขึ้นอยู่กับเหตุการณ์และสถานที่อื่นๆ ที่เข้ามาประกอบอีกด้วย

ในการพิสูจน์หรือเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมนั้น ถ้าจะให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น เราต้องศึกษาให้เข้าใจเรื่องกรรม ๑๒ ประการด้วย คือ กรรมให้ผลตามกาล ๔ อย่าง กรรมให้ผลตามหน้าที่ ๔ อย่าง และกรรมให้ผลตามลำดับ ๔ อย่าง

อีกอย่างหนึ่ง จะต้องเข้าใจเหตุและผลของกรรมดีและกรรมชั่วนั้นรวมทั้งสภาพจิตใจ ของคนที่ทำกรรมดีและกรรมชั่วนั้นด้วย จึงจะเข้าใจกฎแห่งกรรมชัดยิ่งขึ้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างต้องเกิดจากเหตุ เมื่อมีเหตุแล้วก็ต้องมีผล จึงควรทำความเข้าใจเรื่องบุญบาปว่า คืออะไรด้วย

ทั้งบุญและบาปก็มีเหตุและผลของมัน เหตุของบุญก็คือการทำดี ผลของบุญก็คือความสุข ส่วนสภาพจิตใจของคนที่ทำบุญ ก็คือ ความสะอาดผ่องใสของจิต

แต่เหตุของบาปก็คือการทำชั่ว ผลของบาปก็คือความทุกข์ ส่วนสภาพจิตใจของคนที่ทำบาปก็คือความเศร้าหมอง สกปรกของจิต

บางคนมองกรรมดีกรรมชั่วเฉพาะแต่ผลของมัน คือมองแค่ความสุขหรือความทุกข์เพียงฝ่ายเดียว แต่ไม่ได้มองเหตุของมัน หรือมองเฉพาะแต่เหตุของมัน คือ การทำดีหรือทำชั่วเพียงฝ่ายเดียว ไม่มองผลของมัน

หรือบางคนมองเฉพาะแต่เหตุกับผลของกรรม แต่ไม่ได้มองถึงสภาพจิตใจของคนที่ทำบุญหรือบาป จึงทำให้เห็นไม่ตลอดสาย ฉะนั้น จึงต้องดูให้ตลอดสาย จึงจะเข้าใจเรื่องกฏแห่งกรรมได้ชัด เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุผล หากปราศจากเหตุผลก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนา

แท้ที่จริง ถ้าจะมองถึงสภาพจิตใจของคนที่ทำดีทำชั่วแล้ว คนทำดีและคนทำชั่วย่อมได้รับผลทันทีที่ทำกรรมนั้นๆ คือ จิตใจของคนที่ทำดีย่อมประเสริฐขึ้นในทันทีที่ทำดี ส่วนคนทำชั่วก็มีจิตใจต่ำลงในทันทีที่ทำชั่วนั้น

แม้คนบางคนจะทำชั่วด้วยความร่าเริงยินดี แต่จิตใจที่แท้จริงของเขานั้นเศร้าหมอง ต่ำทราม ลดคุณภาพลง ส่วนคนทำดีบางคน แม้จะมองดูว่าลำบาก เหนื่อยยาก แต่จิตใจของเขาก็สะอาดและสูงขึ้น ย่อมส่งผลเป็นความสุขความเจริญอย่างแน่นอน

ฉะนั้น การเข้าใจกฎแห่งกรรม จำจะต้องพิจารณารอบคอบด้วย จึงจะสามารถเข้าใจได้ชัด"



(มีต่อ 2)
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"

แก้ไขล่าสุดโดย สายลม เมื่อ 24 ก.พ.2006, 5:27 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.พ.2006, 5:23 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๗. ถาม "ทำไมกรรมชั่วจึงไม่ให้ผลทันตาเห็น คนจะได้เลิกทำกรรมชั่ว ทำแต่กรรมดี?"

ตอบ "เพราะเป็นธรรมชาติในกฏแห่งกรรมอย่างนั้นเอง เนื่องจากกรรมบางอย่างให้ผลในชาตินี้ แต่กรรมบางอย่างให้ผลในชาติหน้า หรือชาติต่อไป เช่นเดียวกับการปลูกพืชและต้นไม้ คือ พืชบางอย่างให้ผลภายในระยะเวลาเพียง ๓-๔ เดือน เช่น ข้าวและถั่ว เป็นต้น

แต่พืชบางอย่างให้ผลนานกว่านั้น เช่น อ้อยและสับปะรด เป็นต้น ต้นไม้บางอย่างกว่าจะให้ผลต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๕ ปีขึ้นไป เช่น มะม่วงและมะพร้าว เป็นต้นแต่บางอย่างต้องใช้เวลานานกว่านั้นจึงจะให้ผล เช่น ตาลและไม้สัก เป็นต้น

เราจึงไม่อาจจะเร่งผลของกรรมบางอย่างที่ยังไม่ถึงเวลาเผล็ดผลได้เลย"


๘. ถาม "ถ้าหากว่าคนทำชั่วตกนรกแล้ว ทำไม พระเทวทัตทำชั่วทุกชาติ แต่ยังกลับเกิดเป็นมนุษย์ได้ แถมยังเกิดในตระกูลสูงด้วย ?"

ตอบ "พระเทวทัตต์ไม่ได้ทำชั่วอย่างเดียว แต่ได้ทำดีไว้ด้วยทุกชาติ มากบ้างน้อยบ้าง ท่านจึงได้เกิดเป็นมนุษย์และเกิดในราชตระกูลด้วย เพราะการเกิดเป็นมนุษย์ได้และเกิดในตระกูลสูงย่อมแสดงให้เห็นว่านั้นเป็นผลของการทำความดี

เพราะคนเรานั้นจะทำกรรมชั่วอย่างเดียวไม่ทำกรรมดีเลย หรือทำกรรมดีอย่างเดียว ไม่ทำกรรมชั่วเลย แทบไม่มีเลย พระเทวทัตต์แม้ในชาติที่เกิดในสมัยพุทธกาลก็ได้บรรพชา บำเพ็ญความดีจนถึงกลับได้ฌานสมาบัติ และมีอำนาจฤทธิ์ด้วย

แม้เมื่อจวนจะสิ้นใจ ท่านก็ได้ระลึกถึงพุทธคุณ รู้สึกสำนึกความผิดของตน ด้วยการถวายกระดูกคางของตนแด่พระพุทธเจ้าในขณะที่ถูกแผ่นดินสูบ ซึ่งการทำความดีของท่านในครั้งนี้เอง ท่านจึงได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าของเราว่า

ในอนาคตข้างหน้าโน้น พระเทวทัตต์จะได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธะองค์หนึ่งพระนามว่า "อัฏฐิสสระ"

ถ้าเราเห็นใครทำชั่วแล้ว ก็อย่าเพิ่งเข้าใจว่า เขาไม่ทำดี หรือไม่เคยทำความดีไว้เลย หรือเราเห็นใครทำดีแล้ว ก็อย่าเข้าใจว่าผู้นั้นไม่เคยทำชั่วเลย แท้จริง มนุษย์เราทำชั่วบ้าง ทำดีบ้างสลับกันอยู่ เป็นเพียงแต่ว่าใครจะทำอย่างใดมากน้อยกว่ากันเท่านั้น

คนเราจึงเกิดมามีสุขบ้าง มีทุกข์บ้างทุกคน เป็นเพียงแต่ว่า ใครจะมีสุขมากหรือทุกข์มากกว่ากันเท่านั้น"


๙. ถาม "ทำชั่วไว้แล้วจะไม่ให้กรรมชั่วนั้นตามทัน หรือจะหนีให้พ้นจากกรรมชั่วนั้น ได้อย่างไร ?"

ตอบ คนทำกรรมชั่ว แล้วจะหนีให้พ้นจากกรรมชั่วไม่ได้ หรือทำดีแล้วจะต้องการผลของกรรมดีที่ยังไม่มาถึง หรือยังไม่เผล็ดผลนั้นก็ไม่ได้ จะขอร้องรหรือขอผ่อนปรนต่อกรรมชั่วที่ทำไว้ก็ไม่ได้

เพราะกฎแห่งกรรมเป็นกฎธรรมชาติ ไม่ใช่กฎที่มนุษย์ตั้งขึ้น ถ้าเป็นกฎที่มนุษย์ตั้งขึ้นก็อาจจะได้รับการงดโทษหรือผ่อนปรน หรือยืดหยุ่นได้บ้าง

แต่อย่างไรก็ตาม กรรมชั่วที่เราทำไว้แล้วนั้น เราสามารถทำให้อ่อนพลังลงได้ โดยทำกรรมดีเพิ่มเข้าให้มากๆ กรรมชั่วก็จะอ่อนกำลังลง หรือตามเราไม่ทัน เพราะกฎแห่งกรรมมีอยู่ว่า "กรรมใดหนัก กรรมนั้นให้ผลก่อน"

ไม่ว่ากรรมนั้นจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ไม่ว่ากรรมนั้นเราจะทำก่อนหรือทำทีหลังก็ตาม" สมมติว่าคนผู้หนึ่งทำชั่วเอาไว้ และกรรมชั่วนั้น ยังไม่ทันให้ผล หรือให้ผลบ้างแล้ว แต่ยังไม่หมดพลัง

ภายหลังผู้นั้นก็ทำกรรมดีเข้าไปมากๆ และในขณะเดียวกันก็เลิกทำกรรมชั่ว กรรมชั่วที่ทำไว้นั้นจะอ่อนพลังลง หรือตามมาให้ผลไม่ทันเพราะต้องรอคิวให้ผลตามลำดับหนักเบา และเพราะมีกำลังน้อยลง

เปรียบเหมือนยาพิษ แม้จะร้ายแรงชนิดกินเข้าไปถึงความตาย แต่ถ้าเราเอาน้ำใส่ลงไปในยาพิษนั้นมากๆ จนจืดจางลงไปร้ายแรงชนิดกินเข้าไปถึงความตาย แต่ถ้าเราเอาน้ำใส่ลงไปในยาพิษนั้นมากๆ จนจืดจางลงไป ยาพิษนั้นก็คลายพลังลง หรืออาจจะกลายเป็นยาแก้โรคไปเสียก็ได้

อีกอย่างหนึ่ง กรรมที่ติดตามเรามา เหมือนสุนัขไล่เนื้อ ทันเหยื่อของมันเมื่อไร ก็กัดกินเหยื่อของมันเมื่อนั้น คือถ้าเนื้อตัวนั้นอ่อนกำลังลงหรือหยุดวิ่ง ฝูงสนัขที่ติดตามมาก็จะเข้ากัดกินเนื้อนั้นโดยพลัน

แต่ถ้าเนื้อนั้นมีกำลังดี ทั้งวิ่งไม่ยอมหยุดและวิ่งได้เร็ว จนพ้นกำลังการติดตามของฝูงสุนัข มันก็ปลอดภัยได้ เว้นไว้แต่ว่า มันเกิดวิ่งกลับหลังมาสวนทางกับฝูงสุนัข ที่ไล่ติดตามมันมาเท่านั้น ความชั่วที่ติดตามเรามานี้ก็เช่นเดียวกัน

ถ้าเราทำกรรมดีเข้ามากๆ และทำติดต่อกันอย่างไม่หยุด กรรมชั่วแม้ติดตามเรามาก็ตามมาทันยาก เพราะพลังมันอ่อน จึงตามมาไม่ทัน เว้นไว้แต่เราหยุดทำกรรมดี เหมือนอย่างเนื้อที่หยุดวิ่ง หรือเว้นไว้แต่เราทำความชั่วเพิ่มเข้าอีก ซึ่งเหมือนกับเนื้อวิ่งสวนทางเข้าไปหาฝูงสุนัขที่ไล่ติดตามมาเสียเท่านั้น

เพราะฉะนั้น กรรมชั่วที่เราทำไว้นั้น เราจึงสามารถหนีให้ห่างไกลหรือทำให้อ่อนกำลังลงได้ ด้วยการหยุดทำกรรมชั่ว แล้วทำกรรมดีเพิ่มเข้าไว้มากๆ กรรมชั่วนั้นก็จะตามมาไม่ทัน และจะค่อยอ่อนกำลังลงในที่สุด

เว้นไว้แต่กรรมชั่วนั้นเป็นอนันตริยกรรม เช่น ฆ่าพ่อแม่ และฆ่าพระอรหันต์ เป็นต้น ซึ่งไม่มีกรรมอื่นใดที่จะลบล้างหรือสกัดการให้ผลของมันได้เลย"



(มีต่อ 3)
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.พ.2006, 5:24 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๑๐. ถาม "มีอะไรเป็นเครื่องวัดว่า กรรมดีและกรรมชั่ว ให้ผลหนักหรือเบา มากหรือน้อย ไม่เท่ากัน ?"

ตอบ "สิ่งที่เป็นเครื่องวัดผลของกรรมว่า มีมากหรือน้อย มี ๓ อย่าง คือ

๑. วัตถุ
๒. ประโยค
๓. เจตนา

วัตถุ หมายถึง คน สัตว์ สิ่งของ หรือเรื่องที่เป็นตัวกรรม เช่น

ถ้าฆ่าคนหรือสัตว์ดิรัจฉาน คนหรือสัตว์ที่เราฆ่านั้นจัดเป็นวัตถุของปาณาติบาต ผู้ที่เราฆ่านั้นเป็นผู้ที่มีคุณมากหรือเป็นผู้มีคุณน้อย เป็นสัตว์ใหญ่หรือเป็นสัตว์เล็ก ถ้าฆ่าผู้มีคุณความดีมาก พ่อแม่ หรือ พระสงฆ์ บาปก็มาก แต่ฆ่าผู้มีคุณความดีน้อย เช่น โจร บาปก็น้อย ถ้าฆ่าสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง วัว ควาย บาปก็มาก แต่ถ้าฆ่ามดหรือยุง บาปก็น้อย

ในการลักของเขา ถ้าของใหญ่หรือของน้อยแต่มีค่ามาก บาปก็มาก แต่ถ้าของที่ลักนั้น เป็นของน้อย หรือมีค่าน้อย บาปก็น้อย

ในการประพฤติผิดในกาม ถ้าประพฤติผิดในท่านผู้มีคุณความดีมาก มีคุณธรรม เช่น พระภิกษุสามเณร บาปก็มาก ถ้าประพฤติผิดในท่านผู้มีคุณความดีน้อยหรือคนชั่ว บาปก็น้อย

ในการพูดเท็จ ถ้าเรื่องที่พูดสำคัญ เกิดความเสียหายมาก หักลาญประโยชน์คนอื่นมาก บาปก็มาก ถ้าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่สำคัญ หรือพูดเพื่อสนุก หัวเราะเล่น บาปก็น้อย

ในการเสพของมึนเมา ถ้าของที่เสพนั้นมีฤทธิ์มาก ร้ายแรง ทำให้มึนเมา หลงใหล ไร้สติได้มาก บาปก็มาก แต่ถ้ามึนเมานิดหน่อย ทำลายสติสัมปชัญญะน้อย บาปก็น้อย

ประโยค หมายถึง ความพยายาม คือการกระทำทางกาย หรือทางวาจา ถ้าทำด้วยความพยายามมาก เช่น ต้องติดตามกระทำกรรมนั้นเป็นวัน เป็นเดือน หรือเป็นปี บาปก็มาก ถ้าทำด้วยความพยายามน้อย เช่น ตบยุงแป๊ะเดียว ไม่ต้องลงทุนลงแรงมาก บาปก็น้อย

เจตนา หมายถึง ความจงใจ หรือตัวเจตนา เพราะการทำกรรมไม่ว่าเป็นการกระทำกุศลกรรมหรือทำอกุศลกรรม ที่จะจัดเป็นกรรมส่งผลให้แก่ผู้ทำได้ จะต้องทำด้วยเจตนาหรือความจงใจ

เช่น ถ้าฆ่าสัตว์ด้วยไม่มีเจตนา ก็ไม่เป็นบาป หรือทำบุญด้วยไม่มีเจตนา ก็ไม่เป็นบุญ พระพุทธเจ้าจึงตรัสกฎแห่งกรรมในข้อนี้ไว้ว่า "เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เรากกล่าวการกระทำที่มีเจตนาว่าเป็นกรรม"

ดังนั้น เมื่อพูดในด้านเจตนากันแล้ว ถ้ากระทำกรรมด้วยเจตนาที่รุนแรงคือทำด้วยโลภะ โทสะ หรือโมหะกล้า บาปก็มาก ถ้าทำด้วยเจตนาที่เบาบางคือทำด้วยโลภ โกรธ หลงน้อย บาปก็น้อย

ฉะนั้น การจะตัดสินใจว่า การทำกรรมมีบาปน้อยหรือมาก ก็ขึ้นอยู่กับตัวประกอบทั้ง ๓ ประการดังกล่าวมา แม้ในการทำความดี คือทำกุศลกรรมหรือทำบุญ ก็มีนัยตรงกันข้ามกับการทำบาป จึงไม่จำเป็นต้องชี้แจงอีก"


๑๑. ถาม "ทำไม คนชั่วบางคนจึงร่ำรวยและเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในชีวิตและการงานมากกว่าคนทำดี ?"

ตอบ "เพราะเขาเคยทำความดีไว้มากในอดีตที่ผ่านมา ทั้งในชาตินี้และชาติที่ล่วงมาแล้ว ไม่ใช่เขาทำแต่กรรมชั่วเพียงอย่างเดียว เช่น คนทำชั่วบางคน ขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพ รู้จักบริหารงาน รู้จักบริโภคใช้สอยสมบัติ และเลี้ยงพ่อแม่ของตนเป็นต้น

แม้เขายังทำกรรมชั่วบางอย่างอยู่ เช่น โกงกิน ฉ้อราษฏร์บังหลวง และข้อที่สำคัญที่สุดคือกรรมชั่วของเขายังไม่ถึงเวลาให้ผล แต่กรรมดีที่เขาเคยทำไว้ก่อหรือกำลังกระทำอยู่ กำลังให้ผลอยู่ ส่วนคนดีบางคนที่ยังต้องทุกข์ยากลำบากอยู่ทั้งๆ ที่ทำดี ก็เพราะเขาไม่ได้ทำกรรมดีแต่เพียงอย่างเดียว แต่ทำกรรมชั่วด้วย

เช่น ตกอยู่ในอบายมุข ชอบเล่นการพนัน เกียจคร้านทำการงาน ไม่รู้จักรักษาทรัพย์ ไม่รู้จักใช้จ่าย และไม่ใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต และที่สำคัญที่สุดคือกรรมดีที่เขาทำไว้ยังไม่ทันให้ผล แต่กรรมชั่วที่เขาทำไว้ในอดีตหรือในปัจจุบันกำลังให้ผลอยู่

ดังนั้น จึงทำให้เราพบว่า มีคนชั่วบางคนร่ำรวย และรุ่งเรืองกว่าคนทำดีบางคน

แต่เมื่อใดกรรมชั่วหรือกรรมดีที่เขาทำไว้ให้ผลแล้ว เขาจะต้องเห็นประจักษ์ด้วยตนเองอย่างแน่นอน เหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในคัมภีร์ธรรมบทว่า

"แม้คนชั่วเห็นกรรมชั่วว่าดี ตลอดเวลาที่กรรมชั่วยังไม่ให้ผล แต่เมื่อใดกรรมชั่วให้ผล เมื่อนั้นเขาย่อมเห็นกรรมชั่วนั้นว่าชั่วจริงๆ

แม้คนดีเห็นกรรมดีว่าไม่ดี ตลอดเวลาที่กรรมดียังไม่ให้ผล แม้เมื่อใดกรรมดีให้ผล เขาย่อมเห็นกรรมดีว่าดีจริงๆ"


๑๒. ถาม "ถ้าตายแล้วเกิด ทำไม คนเราจึงระลึกชาติไม่ได้ ?"

ตอบ "เพราะภพชาติปกปิดไว้ และเพราะการกระทำอื่นๆ เป็นอันมากทับถมกันอยู่ในจิตใจปัจจุบัน แม้กระนั้น ก็ยังปรากฏว่า มีคนบางคนระลึกชาติได้ ซึ่งมีอยู่ทั่วโลกแม้ในสมัยปัจจุบัน

ไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องในชาติก่อน ซึ่งล่วงมานานแล้วเลยที่เราระลึกไม่ได้ แม้แต่เรื่องในชาตินี้เป็นจำนวนมากเราก็ลืม นึกไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงอื่นไกล เมื่อเช้าวันนี้ เรากินข้าวมากี่คำ เราก็จำไม่ได้เสียแล้ว และไม่ตั้งใจจำด้วย จึงไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องในชาติก่อน"


๑๓. ถาม "คนที่ระลึกชาติได้ ต้องได้ฌานหรือเปล่า ?"

ตอบ "ไม่เสมอไป เพราะเท่าที่ปรากฏหลักฐานในปัจจุบัน คนที่ระลึกชาติได้โดยทั่วไปอยู่ในวัยเด็ก ล้วนแต่เป็นคนธรรมดาซึ่งไม่ได้ฌานสมาบัติอันใดทั้งสิ้น"


๑๔. ถาม "ทำชั่วแล้ว จะทำดีล้างชั่วได้หรือไม่ ?"

ตอบ "ไม่ได้, แม้จะทำพิธีล้างบาปก็ไม่ได้ เพราะทำกรรมอันใดไว้ จะต้องได้รับกรรมนั้น แต่กรรมชั่วจะเบาบางลงได้ หรือ อ่อนกำลังลงได้ ถ้าเราทำกรรมดีเข้ามากๆ เปรียบเหมือนน้ำละลายความเค็มของเกลือให้เจือจาง"


๑๕. ถาม "ทำบุญแล้วอธิษฐาน กับทำบุญแล้วไม่อธิษฐาน อย่างไหนจะได้ผลดีกว่ากัน ?"

ตอบ "ถ้าเราทำบุญแล้ว หวังจะให้บุญนั้นส่งผลให้ตามที่ตนมุ่งหมายไว้ ทำบุญแล้วอธิษฐานดีกว่า เพราะบุญนั้นจะให้เราสำเร็จเป้าหมายโดยเร็วไว แต่ถ้าเราทำบุญหรือความดีแล้วไม่ได้หวังผลอะไร นอกจากเห็นว่ามันเป็นความดีแล้วก็ทำ ก็ไม่จำเป็นต้องอธิษฐาน บุญที่เราทำไว้นั้น จะจัดคิวให้ผลของมันเอง"

แต่การทำบุญแล้วอธิษฐานนั้นได้ผลตามเป้าหมายดีกว่า เหมือนนักศึกษาสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในเมืองไทยเราในปัจจุบัน เลือกวิชาที่ตนต้องการอันดับหนึ่ง อันดับสอง อันดับสาม... เอาไว้เมื่อสอบได้ ทางคณะกรรมการก็จัดให้เข้าเรียนตามสาขาวิชาที่เรามีสิทธิเข้าเรียนและเลือกไว้

แต่ถ้าหากว่า ในการสอบไม่มีกำหนดให้เลือกวิชาใดไว้ก็แล้วแต่กรรมการจะจัดให้เข้าเรียนตามความเหมาะสม ซึ่งบางทีก็อาจจะไม่ตรงตามวิชาที่เราต้องการก็ได้

อีกอย่างหนึ่ง การทำบุญแล้วอธิษฐาน ทำให้เรามุ่งไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมีมาทุกภพทุกชาติ ก็ทรงอธิษฐานเพื่อสำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ถ้าหากพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีแล้ว ไม่ทรงอธิษฐานเพื่อสัมมาสัมโพธิญาณ

พระองค์ก็ไม่มีทางที่จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ แม้จะบำเพ็ญความดีมามากก็ตาม ต้องยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนั่นเอง เหมือนคนที่ไม่ได้ตั้งใจจะไปเชียงใหม่ แม้จะเดินทางทุกวันก็ไม่อาจจะถึงเชียงใหม่ได้ เพราะเขาไม่ได้มุ่งจะไปเชียงใหม่

แต่อย่างไรก็ตาม ในการทำบุญแล้วอธิษฐานนั้น ก็ควรอธิษฐานในขอบเขตที่เป็นไปได้ จึงจะได้รับผลตามที่ตนมุ่งหมายไว้ แต่ถ้าทำเหตุไม่สมกับผล หรือไม่สร้างเหตุแห่งการทำดีคือบุญเลย แต่ต้องการผลเกินกว่าเหตุ หรืออธิษฐานพร่ำเพรื่อมากเกินไป (แบบค้ากำไรเกินควร)

ก็จะไม่ได้รับผลที่ต้องการ การที่จะได้รับผลของบุญตามที่ได้อธิษฐานนั้น ก็ต่อเมื่อแรงบุญหรือพลังบุญที่ทำไว้เพียงพอ

ฉะนั้น พุทธศาสนิกชนจึงควรอธิษฐานเฉพาะเรื่องที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น ไม่ควรอธิษฐานพร่ำเพรื่อไปเสียทุกเรื่อง มิฉะนั้นแล้วจะไม่ได้ผลในเรื่องที่หวังผลเกินกว่าเหตุ และจะเข้าลักษณะอ้อนวอน เหมือนอย่างศาสนาประเภทเทวนิยม ที่ถือพระเจ้าสร้างโลกทั้งหลายไปเสีย"



(มีต่อ 4)
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.พ.2006, 5:26 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สรุปความ

เพราะฉะนั้น ด้วยเหตุผลและหลักฐานที่แสดงมาทั้งหมดนี้ จึงขอยืนยันตามหลักพระพุทธศานา และข้อพิสูจน์ว่า กรรมดีกรรมชั่วมีจริง คนเราตายแล้วต้องเกิด ถ้าผู้นั้นยังมีกิเลสอยู่ และถ้าผู้ใดหมดกิเลสแล้ว เป็นพระอรหันต์ก็ไม่ต้องเกิดอีก แต่ได้เข้าสู่พระนิพพานอันเป็นที่สุดทุกข์ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก

ส่วนผู้ที่ยังมีกิเลส ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏอันไม่มีที่สิ้นสุดนั้น เมื่อตายจากชาติปัจจุบันแล้ว จะไปเกิดเป็นอะไร และอยู่ที่ใดนั้น ข้อนี้ย่อมขึ้นอยู่กับแรงเหวี่ยงของกรรมดีและกรรมชั่วที่เขาทำไว้ ซึ่งจะส่งเขาไปเกิดในภพชาตินั้นๆ

เรื่องกฎแห่งกรรมและตายแล้วเกิดใหม่นี้เป็นกฎธรรมชาติ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเชื่อ และความไม่เชื่อของคนเรา เช่น ไฟเป็นของร้อน หรือดวงดาวในจักรวาลอื่นๆ มีอยู่จริง ใครจะรู้เห็นหรือไม่ก็ตาม

สิ่งเหล่านี้ก็ยังอยู่เหมือนเดิมตามธรรมชาติของมัน ไม่ได้หายไปเพราะความไม่เชื่อ และไม่ได้ปรากฏมีขึ้นเพราะความเชื่อของคนเรา แม้คนเราเมื่อตายจะไม่อยากเกิดก็ต้องเกิดอยู่นั่นเองถ้ายังมีกิเลสอยู่ เหมือนอย่างคนที่ไม่อยากตาย แต่ก็ต้องตายในที่สุด เพราะความตายเป็นกฎธรรมชาติ

แต่อย่างไรก็ตาม คนที่เชื่อว่า "ตายแล้วเกิดจริง บาปบุญมีจริง นรกสวรรค์มีอยู่จริง คนทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วจริง" ย่อมดีกว่าหรือย่อมได้รับประโยชน์กว่าคนที่ไม่เชื่อเป็นอันมาก สวรรค์และนรกนั้นมีจริงแน่ เมื่อเชื่อว่าสวรรค์นรกมีจริง คนเราก็ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ก็ย่อมไปเกิดในที่ดี ไม่ตกนรกแน่

ถ้าสมมติว่าสวรรค์และนรกไม่มีจริง คนที่ทำแต่ความดีก็มีความสุขในปัจจุบัน ไม่ต้องเดือดร้อน แต่คนที่ไม่เชื่อ แล้วไม่ยอมทำดี แต่กลับทำชั่ว ย่อมีแต่ขาดทุน คือเดือดร้อนในปัจจุบัน

เมื่อนรกและสวรรค์มีจริง คนที่ทำชั่วตายไปก็ตกนรก ไม่มีโอกาสขึ้นสวรรค์ได้ ในชาตินี้ก็ขาดทุน ชาติหน้าก็ขาดทุน เพราะทำชั่วไม่ยอมทำดี ย่อมมีความทุกข์ความเดือดร้อน ส่วนคนที่เชื่อแล้วทำดีนั้นย่อมมีแต่ทางได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า

ยิ่งเราผู้นับถือพระพุทธศาสนา ยึดมั่นในพระพุทธเจ้าด้วยแล้ว แม้เรายังพิสูจน์ไม่ได้ หรือยังไม่เห็นประจักษ์ด้วยตัวเอง ก็ควรเชื่อพระพุทธเจ้าไว้ก่อน เหมือนคนทั่วไปที่ยังไม่เห็นเชื้อโรคด้วยตนเอง ก็จงเชื่อหมอไว้ก่อน มันดีกว่าไม่เชื่อ

เพราะว่าการที่จะให้คนเรารู้เห็นหมดทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้และในจักรวาลอื่นๆ นั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ บางอย่างซึ่งสุดความสามารถ ของเราก็ต้องเชื่อท่านผู้รู้ไว้ก่อน และเมื่อเราเชื่ออย่างมีเหตุผล ตั้งอยู่บนรากฐานของปัญญาแล้ว แม้จะไม่เห็นประจักษ์ด้วยตา

หรือไม่สามารถสัมผัสรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า แต่เมื่อได้ปฏิบัติกรรมฐาน ฝึกอบรมจิตของเราแล้ว หรือค้นคว้าเหตุผล ด้วยการใช้ปัญญาใคร่ครวญ หรือได้ประสบพบเห็นด้วยตนเองแล้ว ในที่สุด สิ่งเหล่านี้ สภาพเหล่านี้ จะปรากฏแก่เราชัดขึ้น เพราะพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดีแล้วนั้น ย่อมพิสูจน์ด้วยเหตุผลและด้วยการปฏิบัติ.



.....................................................

คัดลอกจาก : กฎแห่งกรรม
พระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ)

ดร.ราชินทร์ จันทร์สิงหกุล
(พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน)
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กฎแห่งกรรม
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 19 ม.ค. 2007, 11:14 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง