Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 คุณธรรมคือหน้าที่ (พระไพศาล วิสาโล) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 07 ม.ค. 2007, 12:13 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

คุณธรรมคือหน้าที่
โดย พระไพศาล วิสาโล


การช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ และการแบ่งปัน (หรือให้ทาน) นั้น จัดว่าเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง และเมื่อพูดถึงคุณธรรมแล้ว เรามักนึกว่าเป็นเรื่องสมัครใจ คือทำก็ดี ไม่ทำก็ไม่เป็นไร ความคิดเช่นนี้เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้วก็ถือว่าไม่ผิด แต่มีหลายกรณีที่เป็นข้อยกเว้น เพราะในบางสถานการณ์หรือในบางสถานะ คุณธรรมคือหน้าที่เลยทีเดียว

สำหรับผู้ที่เป็นพ่อหรือแม่ คุณธรรมที่มีต่อลูก เช่น การเสียสละให้ลูกได้กินอิ่มนอนอุ่นนั้น ถือว่าเป็นหน้าที่ หาใช่เรื่องความสมัครใจไม่ ในทำนองเดียวกันการทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของครูต่อศิษย์ ในวัฒนธรรมไทย มีหลายสถานภาพที่มาพร้อมกับหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือเจือจานผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ “ต่ำ” กว่า เช่น พี่กับน้อง ผู้ใหญ่กับผู้น้อย เจ้านายกับลูกน้อง เป็นต้น

ในบางสถานการณ์ การช่วยเหลือก็ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ไม่ใช่แค่เรื่องสมัครใจเท่านั้น เช่น เมื่อเห็นคนกำลังจมน้ำ คนที่อยู่บนบกจะถือว่าธุระไม่ใช่ ช่วยก็ได้ ไม่ช่วยก็ได้ หาได้ไม่ ในยามนั้นทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือคนที่กำลังจะจมน้ำตาย ถ้าไม่ทำย่อมถูกตำหนิ ติเตียน

คุณธรรมที่ถือว่าเป็นหน้าที่นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หน้าที่ทางศีลธรรม” ทุกสังคมหรือทุกวัฒนธรรมย่อมกำหนดหน้าที่ทางศีลธรรมไว้สำหรับบุคคลอย่างน้อยก็เมื่ออยู่ในบางสถานะหรือในบางสถานการณ์ หน้าที่ทางศีลธรรมต่างจากหน้าที่ตามกฎหมาย เพราะไม่มีการตราเป็นข้อบังคับหรือลายลักษณ์อักษร แต่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ผู้ที่ละเมิดหรือละเลย แม้จะไม่ถูกลงโทษตามกฎหมาย แต่ก็ถูกตำหนิ ติเตียนจากสังคม หรือถึงกับไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย

ชุมชนแบบหมู่บ้านในอดีต คนรวยมีหน้าที่ทางศีลธรรมที่จะต้องช่วยเหลือคนจน และถ้ามีแขกแปลกหน้ามาขออาหาร เจ้าบ้านมีหน้าที่หาข้าวหาน้ำมาให้ หากไม่ทำย่อมถูกตำหนิติเตียนว่าไร้น้ำใจ จะอ้างว่านี่เป็นเรื่องสมัครใจหาได้ไม่

ในสังคมสมัยใหม่แม้ขนบธรรมเนียมหลายอย่างจะเปลี่ยนไป และแม้ผู้คนจะอยู่อย่างตัวใครตัวมันมากขึ้น แต่ความเชื่อว่าคุณธรรมเป็นหน้าที่ก็ยังไม่หมดไป อย่างน้อยก็ยังถือว่าเป็นพันธะที่ติดมากับสถานภาพบางอย่าง ในอเมริกาหรือยุโรปซึ่งแม้จะเป็นสังคมทุนนิยมเต็มที่ ก็ยังมีคติความเชื่ออยู่ว่าคนรวยต้องบริจาคทรัพย์เพื่อส่วนรวม การเสียภาษีนั้นเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย แต่แค่นั้นยังไม่พอ ต้องรู้จักนำทรัพย์สมบัติมาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมด้วย เช่น บริจาคเงินนับล้านๆ ให้แก่โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย หอสมุด พิพิธภัณฑ์ อุดหนุนการวิจัย หรือช่วยเหลือคนยากจน

หน้าที่ทางศีลธรรมดังกล่าวยังครอบคลุมถึงผู้ที่เป็นบุคคลสาธารณะ หรือ “คนดัง”ที่มีฐานะ เช่น ดารา นักแสดง นักกีฬา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อเกิดมหันตภัยสึนามิ คนดังทั้งหลายในอเมริกาและยุโรป จึงพากันบริจาคเงินก้อนโตเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย คนเหล่านี้อาจไม่ใช่คนมีคุณธรรมมาก แต่เขารู้ดีว่าในสถานภาพปัจจุบันเขามีหน้าที่ทางศีลธรรมที่จะต้องช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างสมควรแก่ฐานะ ถ้าเขาไม่ทำเขาจะถูกตำหนิติเตียน และนั่นอาจหมายถึงการสูญเสียรายได้มหาศาลจากค่าโฆษณา เพราะเจ้าของสินค้าอาจไม่จ้างเขาเป็นพรีเซนเตอร์เนื่องจากมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี

ควรกล่าวเพิ่มเติมตรงนี้ด้วยว่า แม้ไม่ใช่คนรวย แต่หากเป็นบุคคลสาธารณะด้านอื่นๆ เช่น เป็นนักการเมือง ข้าราชการ ก็มีหน้าที่ทางศีลธรรมเช่นกัน แต่สิ่งที่สังคมคาดหวังมิใช่การบริจาคทรัพย์ หากได้แก่การประพฤติตัวให้ถูกทำนองคลองธรรม เช่น มีผัวเดียวเมียเดียว ไม่ใช้เส้นในตำแหน่งหน้าที่ ไม่เหยียดผิว หรือลวนลามผู้หญิง

สำหรับสังคมไทยนั้นแม้ความเชื่อว่าคนรวยมีหน้าที่ช่วยเหลือคนจนจะเสื่อมคลายลง เพราะสำนึกในความเป็นชุมชนเดียวกันจางหายไปมากแล้ว แต่ความเชื่อเรื่องหน้าที่ทางศีลธรรมยังมีอยู่ ความเชื่อดังกล่าวทำให้ภราดร ศรีชาพันธุ์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงหลังจากมีข่าวว่าบริจาคเงินช่วยผู้ประสบภัยสึนามิเพียง ๑๐,๐๐๐ บาท ในขณะที่ภราดรและครอบครัวอาจคิดว่าการบริจาคเงินเป็นเรื่องสมัครใจ จะให้เท่าไรก็สุดแท้แต่ความพอใจ แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยเห็นว่าโดยสถานภาพของภราดรในปัจจุบันเขามีพันธะหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือมากกว่านั้น ปัญหาเกิดขึ้นเพราะภราดรไม่รู้ว่าตนอยู่ในสถานภาพอะไร หรือพูดให้ถูกต้องคือไม่รู้ว่าตนมีพันธะหน้าที่อะไรบ้างที่ติดมาพร้อมกับสถานภาพดังกล่าว

กรณีของภราดรอาจเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าความเชื่อเรื่องคุณธรรมในสังคมไทยกำลังเจือจางลงมาก จนเกิดความเข้าใจไปว่าคุณธรรมเป็นเรื่องสมัครใจล้วนๆ หรือเป็นเรื่องส่วนตัวล้วนๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพันธะหน้าที่หรือสำนึกต่อส่วนรวม น่าเป็นห่วงว่าหากความคิดเช่นนี้แพร่หลายไปกว้างขวาง สังคมไทยจะอยู่อย่างตัวใครตัวมันกันมากขึ้น และตกอยู่ในภาวะล้าหลังทางคุณธรรมยิ่งกว่าสังคมอเมริกันหรือยุโรป ซึ่งยังมีความเชื่อในเรื่องหน้าที่ทางศีลธรรมอยู่อย่างเข้มแข็ง (แม้จะมีเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวเกี่ยวข้องอยู่มากก็ตาม)

สำนึกเรื่องหน้าที่ทางศีลธรรมเป็นสิ่งที่ต้องตอกย้ำกันให้มากขึ้นในสังคมไทย แต่ก็ต้องทำอย่างมีสติและเมตตา ไม่ติดยึดแค่รูปแบบหรืออากัปกิริยาภายนอกเท่านั้น ไม่เช่นนั้นแล้วคุณธรรมหรือศีลธรรมอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทำร้ายผู้คนแทนที่จะส่งเสริมให้เกิดชีวิตที่ดีงาม เช่น ถ้าใครไม่ปฏิบัติตนตามกรอบคุณธรรมที่วางเอาไว้ ก็รุมตำหนิอย่างรุนแรงไร้เมตตา (ดังที่ภราดรประสบ) หรือถึงกับทำร้ายจนเสียผู้เสียคน ทั้งๆ ที่เขามีคุณงามความดีมากมาย (ดังกรณี “ไอ้ฟัก” ในนิยายเรื่องคำพิพากษา) เมตตาธรรมและขันติธรรมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้เรียกร้องคุณธรรมจากผู้อื่น

ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องระวังผู้ที่ใช้ศีลธรรมเป็นเครื่องมือสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเอง เช่น สร้างภาพว่าตนเองเป็นคนมีคุณธรรม หรือใช้คุณธรรมบางข้อเป็นเครื่องปกปิดความผิดที่ร้ายแรง การบริจาคเงินนั้นเป็นของดีที่น่าอนุโมทนา แต่คนที่บริจาคเงินมากๆ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนดีเสมอไป ในสังคมที่เชิดชูคุณธรรมมักมีคนที่ชอบทำบุญเอาหน้าทั้งๆ ที่เบื้องหลังนั้นสกปรก เราจึงไม่ควรชื่นชมใครเพียงเพราะเขาขยันบริจาคเงินเท่านั้น หากควรดูพฤติกรรมอื่นๆ ประกอบด้วย

ค่านิยมที่ยกย่องเชิดชูคนทำบุญเอาหน้า ไม่เพียงแต่จะเปิดโอกาสให้คนชั่วขึ้นมามีหน้ามีตาในสังคมเท่านั้น หากยังจะบีบคั้นให้คนยากจนต้องเป็นหนี้สินหนักขึ้น เพื่อจะได้มีเงินมาทำบุญมากๆ หรือหมดเนื้อหมดตัวไปกับงานบวชและงานศพเพียงเพื่อจะได้ไม่น้อยหน้าคนอื่นเขา

คุณธรรมนั้นมีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างความผาสุกในสังคม ขออย่าให้กลายมาเป็นเครื่องมือทำร้ายผู้คนหรือสร้างภาพให้แก่พาลชน



............................................................

คัดลอกมาจาก ::
หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ มองอย่างพุทธ
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9850
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 10 ม.ค. 2007, 11:42 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุค่ะ

สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง