Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ปฏิบัติให้ถูกพ้นทุกข์ได้ (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 05 ธ.ค.2006, 11:23 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ปฏิบัติให้ถูกพ้นทุกข์ได้
โดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

เทศน์อบรมคณะพระธรรมบัณฑิต
เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗



วันนี้ท่านหลวงปู่พระธรรมบัณฑิต เจ้าคณะภาควัดโพธิสมภรณ์ ได้นำคณะ เจ้าคณะทั้งหลายทั้งพระเณรตลอดถึงประชาชนมาจำนวนมาก มาเยี่ยมวัดป่าบ้านตาด และมาทำวัตร เขาเรียกสมมาคารวะตามภาษาของเรา ขอขมาลาโทษซึ่งกันและกัน เพราะคนเราต่างมีกิเลสย่อมมีความผิดพลาดเช่นเดียวกัน การขออภัยซึ่งกันและกัน การขอขมาลาโทษซึ่งกันและกันนี้เป็นแนวทางของนักปราชญ์ที่ท่านดำเนินมา ไม่ถือสีถือสาซึ่งกันและกัน เสร็จลงแล้ว จากนี้ท่านขอนิมนต์ให้หลวงตาแสดงธรรมให้แก่พี่น้องทั้งหลายฟังไม่มากก็ไม่เป็นไร ว่าอย่างนั้น ฉะนั้นจึงขอให้ทุกๆ ท่านตั้งอกตั้งใจฟัง

วันนี้จะพูดเรื่องศาสนา พวกเราชาวพุทธนับถือพระพุทธศาสนามานมนานตั้งแต่ปู่ย่าตายายก่อนนั้นมาอีก จนกระทั่งปัจจุบัน เรายังไม่อาจทราบได้ว่าศาสนาแท้คืออะไร ธรรมแท้คืออะไร เพราะใครก็เห็นแต่ตามคัมภีร์ใบลานท่านบอกไว้ นั้นเป็นชื่อของธรรม นั่นเป็นชื่อของศาสนา ชื่อของบาป ชื่อของบุญ ชื่อของนรกสวรรค์ ชื่อของคนดีคนชั่ว สัตว์ดีสัตว์ชั่ว แต่หลักธรรมชาติจริงๆ แท้แล้วคืออะไร ตัวจริงที่ระบุชื่อระบุนามนั้นน่ะคืออะไร ที่ถูกระบุนั้นคืออะไร เช่น ตัวบาปจริงๆ คืออะไร บุญจริงๆ คืออะไร นรกจริงๆ คืออะไร สวรรค์จริงๆ คืออะไร ศาสนาที่แท้จริงคืออะไร นี้เราไม่ค่อยจะได้เข้าใจกัน

คำว่าศาสนาที่แท้จริงนั้นท่านกล่าวออกมาเป็นกิริยาว่า สาสนํ แปลว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเอามาจากของแท้ของจริงได้แก่ธรรมล้วนๆ ซึ่งเป็นหลักธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้แล้ว ได้นำธรรมนั้นออกจากพระทัยที่ตรัสรู้ บรรจุธรรมไว้อย่างเต็มที่แล้วนั้นออกมาสั่งสอนสัตว์โลก ให้เป็นกิริยา ว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง ๑ กุสลสฺสูปสมฺปทา การยังกุศลคือความฉลาดโดยธรรมให้ถึงพร้อม ๑ สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ผ่องใสจนกระทั่งถึงขั้นบริสุทธิ์ ๑ นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ และนี้แลคือศาสนา ท่านชี้ลงในจุดนี้ กิริยาที่ท่านบอกนี้บอกลงในจุดที่จะเป็นบาปเป็นกรรมให้แก่พวกเราทั้งหลายทราบ หลักศาสนาที่เราปฏิบัติทุกวันนี้ท่านแสดงอาการออกมาเพื่อนำกิ่งก้านสาขาดอกใบนี้เข้าไปหาต้นลำอย่างแท้จริง คือธรรมแท้

ธรรมแท้ได้แก่ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้เจอเข้าในพระทัย ได้เจออย่างจังๆ ในพระทัยและพระอรหันต์ท่านบรรลุ นั้นแลคือธรรมแท้ การปฏิบัติตัวเองรักษาศีลภาวนา การทำบุญให้ทานนี้คือกิ่งก้านสาขาแห่งธรรมแท้ และเดินตามเข้าไปๆ เพราะนี้เป็นสายทางที่จะให้เข้าถึงธรรมแท้ ความพ้นทุกข์แท้ ไม่ใช่พ้นธรรมดาไม่ใช่พ้นเล็กๆ น้อยๆ แล้วเข้ามาคลุกเคล้ากับทุกข์อยู่อีก เป็นความพ้นทุกข์แท้ นี่ออกจากกิริยาแห่งการทำดีทั้งหลาย

อย่างพวกเราทั้งหลายมาบวชในพระพุทธศาสนานี้ ท่านให้รักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ๒๒๗ ข้อนี้เป็นข้อห้ามอย่าได้พากันทำ ถ้าทำลงไปแล้วก็เป็นความด่างพร้อยและทะลุในศีลของตนนั้นแล คนเราเมื่อศีลไม่บริสุทธิ์แล้วก็เหมือนกับผ้าที่ไม่บริสุทธิ์ ขาดๆ ด่างๆ พร้อยๆ แล้วขาดมากกว่านั้นก็ขาดหมดทั้งตัว เพียงแต่ขาดเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่น่าดูแล้ว มองเห็นอวัยวะส่วนต่างๆ ชัดบ้างไม่ชัดบ้างเข้าไป จนกระทั่งถึงขาดเสียหมดทั้งผืนแล้วดูไม่ได้เลย ใครนุ่งห่มก็ไม่ได้ นี่ก็เหมือนกันศีลขาด ศีลขาดเล็กๆ น้อยๆ ก็ด่างๆ ดาวๆ ไม่น่าดู ถ้าเป็นคนก็ไม่เต็มบาตร เป็นพระก็ไม่เต็มเต็ง เป็นพระ ๗๕ บ้าง เป็นพระ ๖๕ บ้าง เป็นพระ ๒๕ บ้าง สุดท้ายไม่มีพระเหลืออยู่เลย ท่านว่าปาราชิก ๔ เหล่านี้เรียกว่าขาดทะลุอย่างพินาศฉิบหาย

ให้เรารักษาศีลทั้ง ๒๒๗ นี้เป็นอย่างน้อย ที่อนุบัญญัติซึ่งมีมากกว่านั้นก็รักษาไปตามๆ กัน แต่ข้อสำคัญก็ที่บัญญัติไว้ในเบื้องต้นว่า ๒๒๗ นี้ให้ต่างองค์ต่างรักษาด้วยดี เรามาบวชในพระพุทธศาสนามารักษาศีลรักษาธรรม คำว่าธรรมก็คือเป็นคู่เคียงของศีล กิริยาของศีลที่รักษาได้นี้ก็จะทำให้ธรรมของเรามีความแน่นหนามั่นคงขึ้นภายในใจ เช่น สมาธิภาวนา การอบรมภาวนาให้จิตใจเป็นสมาธิเป็นอย่างไร นี่ละเริ่มเข้าไปหาธรรมแล้ว เริ่มตั้งแต่จิตใจสงบนี่เริ่มเห็นกระแสของธรรมเข้าไปแล้ว จิตใจสงบเข้าไปมากเข้าไปๆ สงบจนราบคาบจนกระทั่งกิเลสไม่มีเหลือแล้ว กิเลสสงบราบที่เรียกว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นใดยิ่งกว่าความสงบเพราะกิเลสสิ้นไปนี้ไม่มี นี่เป็นความสงบอันราบคาบ หรือความสงบอันสุดยอด นี้แหละเป็นธรรมแท้อยู่จุดนั้น

เราปฏิบัติศีลธรรมก็ให้พากันระมัดระวังรักษาแนวทางนี้ไว้ให้ดี เพื่อจะก้าวเข้าสู่ธรรม สมาธิธรรมก็เป็นหน้าที่ของพระของเณรเรานี้แหละจะเป็นผู้บำเพ็ญ อย่าปล่อยอย่าทิ้งให้ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นเจ้าของของศีลธรรมเหล่านี้ เพราะคำว่าเป็นพระ เราเป็นพระเต็มองค์ เป็นเณรเต็มองค์ด้วยกัน เป็นผู้ทรงศีลทรงสมาธิทรงปัญญาด้วยกัน จงพยายามบำเพ็ญศีลของตนให้บริสุทธิ์ แล้วก็บำเพ็ญสมาธิคือความสงบใจให้เกิดขึ้นภายในจิตใจ

ใจที่มีความสงบย่อมไม่วอกแวกคลอนแคลน ไม่ดีดไม่ดิ้นไม่รบกวนตัวเอง เรียกว่าใจสงบ ถ้าใจไม่สงบนั้นใจคึกใจคะนอง มองเห็นอะไรก็มีแต่ความคึกความคะนองเต็มหูเต็มตา เต็มจมูกเต็มลิ้นเต็มกาย จากรูปจากเสียงจากกลิ่นจากรส มีแต่สิ่งยั่วยวนกวนใจ ใจของเรามีแต่ความวุ่นวี่วุ่นวายหาความสงบไม่ได้ก็หาความสุขไม่ได้ มาบวชในพระพุทธศาสนาแทนที่จะได้รับความสุขจากศาสนา กลับได้รับความทุกข์ความลำบาก ความกระวนกระวาย เพราะไม่รักษาจิตใจของตนให้เป็นสมาธิ

คือความสงบใจ เพราะฉะนั้นจงพากันรักษา สมาธิก็ให้รักษาให้บำเพ็ญเป็นคู่เคียงกันไป เวลาเรียนก็เรียน เรียนก็เรียนเพื่อเป็นสมาธินั้นแหละ เพื่อเป็นปัญญา เพื่อเป็นวิมุตติหลุดพ้นนั้นแลจะเรียนเพื่ออะไร ไม่ใช่เรียนแบบโลกเขา อย่างที่โลกเขาเรียนกันนั้นเขาเรียนเพื่อโลกเพื่อสงสาร เราเรียนนี้เราเรียนเพื่ออรรถเพื่อธรรม เพื่อศีลเพื่อสมาธิเพื่อปัญญา เพื่อวิมุตติหลุดพ้น เพราะฉะนั้นจงทั้งเรียนทั้งทำ เวลาเรียนก็เรียนท่องบ่นสังวัธยาย เวลาสงบใจปล่อยจากการศึกษาเล่าเรียนแล้วก็ให้ทำจิตของตนให้มีความสงบด้วยสมาธิ

คำว่าสมาธินั้นคือความสงบ หรือคือความแน่นหนามั่นคงของใจ ความสงบ-สงบเข้าไปหลายครั้งจิตก็เป็นสมาธิขึ้นมาได้ จิตเป็นสมาธิคือจิตมีความแน่นหนามั่นคง แม้จะคิดอ่านไตร่ตรองเรื่องราวอะไรได้อยู่ก็ตาม แต่ฐานของจิตนี้มีความแน่นหนามั่นคงอยู่กับตัวเอง นี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ เมื่อเรารักษาจิตของเราหลายครั้งหลายหนด้วยบทบริกรรมคำใดก็ได้ เพราะตามธรรมดาของจิตนั้นอยู่เฉยๆ จะให้เป็นสมาธิให้สงบนี้จับไม่ถูก เพราะความรู้มีอยู่ทั้งร่างกายของเราซ่านไปหมด ไม่ทราบจะจับจุดไหนเป็นผู้รู้ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้จับเอาคำบริกรรมคำใดคำหนึ่งมาเป็นที่เกาะของจิต เช่น พุทโธ ธัมโม หรือสังโฆ หรืออานาปานสติ เป็นต้น คำใดก็ตามให้จิตติดแนบอยู่กับคำบริกรรมนั้นๆ นี่เรียกว่าภาวนา



(มีต่อ 1)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 05 ธ.ค.2006, 11:27 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ภาวนาคือการอบรมให้เกิดให้มีในความดีทั้งหลาย เราภาวนาติดต่อกันระมัดระวังด้วยสติ เช่น พุทโธๆ ก็ให้รู้อยู่ ให้จิตรู้อยู่กับพุทโธๆ เท่านั้น มีสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา จิตกับธรรมคือพุทโธ จิตคือผู้รู้สัมผัสสัมพันธ์กันต่อเนื่องไปโดยลำดับ แล้วจะสร้างผลขึ้นมาให้เชื่อมโยงถึงกันกลายเป็นความแน่นหนามั่นคง กลายเป็นความสงบร่มเย็นขึ้นมาภายในใจของตน นี่เรียกว่าธรรมเกิด เริ่มเกิดแล้วคือความสงบเกิดแล้ว ความแน่นหนามั่นคงของใจเกิดแล้ว ความไม่วุ่นวายทั้งหลายเกิดแล้ว นี่ผลเริ่มเกิด-เกิดจากนี้

เมื่อจิตได้อาศัยคำบริกรรมคำใดก็ตามอยู่เป็นนิจกาลในขณะที่ภาวนานั้นแล้ว จิตจะมีความสงบเย็นลงไปๆ แล้วก็จับจุดผู้รู้ได้ ผู้รู้คือมีความรู้เด่นอยู่ในจุดเดียว นี่เรียกว่าจับจิตได้แล้ว ในขั้นนี้เราเริ่มจับจิตได้แล้ว นี้แหละจิตแท้เป็นอย่างนี้ ส่วนที่เรารู้อยู่ตามสรรพางค์ร่างกายนั้นเป็นกระแสของจิตแต่จิตเองก็จับไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องหาเครื่อง ถ้าพูดแบบโลกเขาเรียกว่าเครื่องล่อ-เครื่องล่อใจ คือ พุทโธ ให้ใจติดให้ใจเกาะอยู่กับคำว่าพุทโธเป็นต้น ให้รู้อยู่ตรงนั้น เมื่อรวมเข้าๆ มีแต่คำว่าพุทโธไม่มีคำอื่นเข้ามาแทรกมาปน มีแต่คำว่าพุทโธคำเดียวๆ ตลอดไปเลย จิตเราจะสงบเข้ามาๆ แล้วก็สงบแนบแน่นลงไป มีแต่ความรู้ล้วนๆ

เวลาสงบมากจริงๆ แล้วคำบริกรรมกับผู้รู้นี้จะกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน บริกรรมไม่ได้เลย นึกบริกรรมไม่ออกเพราะจิตเป็นผู้รู้เต็มตัวแล้ว ถ้าอย่างนั้นให้ปล่อยคำบริกรรมนั้นเสีย เพราะไม่บอกให้ปล่อยก็ปล่อยแล้ว ให้อยู่กับความรู้นั้นเสีย จนกระทั่งความรู้นั้นกระดิกพลิกแพลงหรือมีกระดิกออกมาแล้ว ค่อยนำคำบริกรรมเข้าไปแทนที่ใหม่และบริกรรมต่อไปใหม่ นี่เรียกว่าภาวนา

จิตสงบย่อมอิ่มตัว คำบริกรรมนั้นก็อิ่ม ไม่รับคำบริกรรมต่อไป มีแต่ความรู้ล้วนๆ เด่นอยู่ภายในหัวใจ คือในหัวอกนี้แหละ นี่หัวอกตรงกลางอกเรานี้ ไม่ได้อยู่บนสมองนะ ทางภาคภาวนานี้ได้ทำเต็มกำลังความสามารถจนกระทั่งหายสงสัยในเรื่องความรู้นี้อยู่ที่ไหนแน่ ความรู้ไม่ได้อยู่บนสมอง บนสมองเป็นสถานที่ทำงานแห่งความจำทั้งหลาย เวลาเราเรียนหนังสือเรียนมากๆ นี้สมองทื่อไปหมดเลย เพราะความจำอยู่บนสมองไปทำงานอยู่ตรงนั้น

แต่เวลาภาวนานี้ภาวนามากเท่าไรๆ จิตของเรายิ่งสงบอยู่ภายในทรวงอกของเราตรงกลางอกนี้แหละ สงบอยู่ตรงนี้สว่างไสวอยู่ตรงนี้ แม้จะเกิดทางด้านปัญญาก็เกิดอยู่ที่จุดกลางนี้ คือเกิดอยู่ในทรวงอกของเรานี่ ซ่านอยู่ภายในนี้ สว่างไสวอยู่รอบตัวภายในหัวอกนี้ไม่ได้อยู่บนสมอง บนสมองเลยกลายเป็นอวัยวะเหมือนอวัยวะทั่วๆ ไปหมด ไม่ปรากฏว่าความรู้ไปหนักไปแน่นอยู่ในจุดใด แต่มาหนักแน่นอยู่ในท่ามกลางอกนี้เท่านั้น นี่เรื่องการภาวนา

เวลาจิตมีความสงบแล้วจะสว่างไสว หรือจะสงบเย็นอยู่ภายในหัวอกของเรานี้ เวลาจิตเกิดปัญญา คำว่าปัญญานี้ ปัญญาที่เราเรียนมานั้นเป็นบาทฐานแห่งปัญญาที่จะเกิดขึ้นโดยหลักธรรมชาติของตัวเอง ที่ท่านเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ในหลักธรรมชาติเป็นอย่างนั้น จะเกิดขึ้นภายในนี้แหละ อาศัยปัญญาที่เราคาดเราคิดนี้เสียก่อน สัญญาเป็นตัวหมายไป ปัญญาพิจารณาโดยจิตของเรามีความสงบเย็นพอสมควรแล้ว ก็อิ่มอารมณ์ภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสสัมพันธ์ ที่ทำให้ใจคึกคะนองก็ปล่อยตัวไปๆ มีแต่ความสงบเย็นอยู่ภายใน นี่เรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์

จิตอิ่มอารมณ์นี้เราพาพิจารณาทางด้านปัญญา คือ อนิจฺจํ ก็ตาม ทุกฺขํ ก็ตาม อนตฺตา ก็ตาม อสุภะอสุภังความไม่สวยไม่งามในร่างกายของเขาของเราก็ตาม เราก็พิจารณาอยู่ภายในหัวอกของเรานี้แหละ มันหากอยู่ในนี้เองไม่ได้ไปไหน นี่เรียกว่าการพิจารณาทางด้านปัญญา แล้วจะเกิดความคล่องแคล่วแกล้วกล้า ความสว่างไสว เกิดความคล่องตัวขึ้นภายในจิตใจ นี่เรียกว่าปัญญาได้เกิดกับผู้ภาวนา ทีแรกอาศัยสัญญาคาดหมายไปเสียก่อน พอคาดหมายไปหลายครั้งหลายหนปัญญาค่อยตั้งตัวได้แล้ว ก็ดำเนินโดยลำพังตัวเองไม่ต้องไปอาศัยสัญญาอารมณ์ที่ไหน เป็นปัญญาอัตโนมัติขึ้นมา

ดังที่ท่านแสดงไว้ในปัญญา ๓ ประเภท คือ สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการได้ยินได้ฟัง ๑ จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการพินิจพิจารณาไตร่ตรองของสามัญชนทั่วๆ ไป ๑ ภาวนามยปัญญา ๑ ส่วนภาวนามยปัญญานี้เกิดขึ้นโดยหลักธรรมชาติของตัวเอง นี้แลที่ท่านว่าปัญญาเกิด ภาวนามยปัญญานี่เป็นปัญญาเกิดขึ้นโดยหลักธรรมชาติ ท่านเรียกว่าอัตโนมัติ ปัญญาขั้นนี้แลเป็นปัญญาที่จะฆ่ากิเลส เป็นปัญญาที่เห็นมรรคเห็นผลโดยลำดับ

ที่พระพุทธเจ้าว่า โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามรรค สกิทาคาผล อนาคามรรค อนาคาผล คือปัญญาประเภทนี้แลจะเป็นผู้ก้าวเดินไปแถวธรรมเหล่านี้ของผู้ปฏิบัติเอง ไม่ใช่ผู้อื่นผู้ใดจะรู้จะเห็น หากเป็นผู้นั้นเพราะอำนาจแห่งปัญญานี้ เป็นปัญญาที่ซึมซาบ เป็นปัญญาที่ก้าวเดินโดยลำพังตนเองโดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับรูป กับเสียงกับกลิ่นกับรสถ่ายเดียว ว่าเราได้ยินได้เห็นสิ่งใดจึงมาเกิดปัญญาข้อคิดขึ้น เพราะได้เห็นได้ยินสิ่งเหล่านั้น อย่างนั้นก็ไม่ใช่

เราจะพิจารณาอยู่โดยลำพังนี่เท่านั้น จะเกิดขึ้นโดยลำพังตัวเอง เมื่อพบสิ่งใดสัมผัสสัมพันธ์ก็เกิด ไม่พบก็เกิด ท่านเรียกว่าภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาอัตโนมัติของผู้ปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติไม่รู้ปัญญาประเภทนี้ต้องปฏิบัติ ศีลเราก็ปฏิบัติแล้ว สมาธิเป็นขึ้นภายในใจเราก็รู้แล้ว คือ ความสงบเย็นใจ มีขอบมีเขต สมาธิมีขอบมีเขต เหมือนกับน้ำเต็มแก้ว เมื่อเต็มภูมิของสมาธิแล้วจะทำให้หนาแน่นมั่นคงยิ่งกว่านั้นเข้าไปอีกไม่ได้ เต็มภูมิเหมือนน้ำเต็มแก้ว เอาน้ำที่ไหนมาเทก็ล้นออกหมด นี่สมาธิเมื่อเต็มภูมิแล้วก็เหมือนกันเช่นนั้น

แต่ปัญญาไม่เป็นเช่นนั้น ปัญญาเมื่อได้ก้าวเดินออกไปตั้งแต่เราเริ่มพิจารณาปัญญาโดยสัญญาอารมณ์เสียก่อน ใช้สัญญาวาดภาพพิจารณาไปหลายครั้งหลายหนจนเกิดความซึ้งภายในใจ เห็นว่าเป็น อนิจฺจํ อย่างแท้จริง ทุกฺขํ อย่างแท้จริง อนตฺตา อย่างแท้จริง เป็นอสุภะอสุภังประจักษ์ใจอย่างแท้จริงแล้วนี้ ปัญญาขั้นนี้แหละก้าวเดินที่นี่

ตั้งแต่นั้นต่อไปแล้วก้าวเดินหมุนติ้วๆ เหมือนน้ำซับน้ำซึม เหมือนไฟได้เชื้อ เชื้อไฟอยู่ที่ไหนไฟจะลุกลามไปตามเชื้อนั้นโดยไม่หยุดหย่อน กระทั่งเชื้อไฟนั้นหมดเมื่อไรแล้วไฟถึงจะดับ อันนี้ฉันใดก็เหมือนกัน การพิจารณาปัญญาในขั้นนี้ เช่นพิจารณาอสุภะอสุภัง พิจารณาจนกระทั่งอสุภะอสุภังนี้อิ่มตัวเต็มที่แล้ว ปล่อยวางทั้งสุภะทั้งอสุภะ หมุนตัวไปตรงกลางไม่ยึดในสุภะไม่ยึดในอสุภะทั้งสอง นี้เรียกว่าปัญญาอิ่มตัวในขั้นนี้ นั่นเป็นขั้นๆ อย่างนี้ของผู้ภาวนา นี่ละปัญญาก้าวเดินเพื่อมรรคเพื่อผลครั้งพุทธกาลท่านก้าวอย่างนั้น

เรามาปฏิบัติก็เป็นสวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบแล้วเหมือนกัน เมื่อปฏิบัติตามนี้แล้วของเราทุกสิ่งทุกอย่างมีเหมือนท่าน อริยสัจของเราก็มีเต็มภูมิเหมือนกัน ทุกข์ก็เต็มหัวใจเต็มกาย สมุทัยก็เต็มหัวใจของเราด้วยกัน มรรคพยายามทำให้เต็มหัวใจแล้วต้องแก้สมุทัยโดยแท้ เมื่อมรรคแก้สมุทัยไปมากน้อยเพียงไรนิโรธคือความดับทุกข์จะดับไปเรื่อยๆ ตามผลของมรรคที่ทำได้มากน้อย แล้วก็ไหม้ไปเรื่อยๆ

ส่วนอสุภะอิ่มตัวแล้วก็หมุนตัวไปทางอื่น หมุนตัวไปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่เรียกว่าปัญญาโดยหลักธรรมชาติของผู้ปฏิบัติภาวนา เมื่อพอตัวแล้วก็หมุนตัวไปเรื่อยๆ ไปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ประสานงานซึ่งกันและกันโดยอัตโนมัติของปัญญา นี่ละปัญญานี้เป็นปัญญาที่ก้าวสู่มรรคสู่ผล ไม่มีใครบอกก็ตาม ใครจะปฏิเสธว่ามรรคผลนิพพานไม่มีก็ตาม สิ่งที่หยั่งทราบประจักษ์ใจๆ หากซึมซาบกันอยู่เช่นนั้น ดูดดื่มกันอยู่เช่นนั้น หมุนตัวไปอยู่เช่นนั้น

นี่เรียกว่าอจลศรัทธา เป็นผู้รู้ผู้เห็นในอรรถในธรรมทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ ตั้งแต่พื้นๆ จนกระทั่งหลุดพ้น จะเป็นธรรมชาติซึมซาบภายในจิตโดยลำดับ ไม่ไปหวังฟังจากผู้หนึ่งผู้ใด เขาบอกว่ามีหรือไม่มีมรรคผลนิพพาน ว่ามีก็ตามไม่มีก็ตาม ไม่สนใจยิ่งกว่าความจริงที่รู้อยู่เห็นอยู่ระหว่างกิเลสกับธรรมฟัดกันอยู่ภายในใจ สมุทัยเป็นยังไง มรรคเป็นยังไง เข้าแก้กันอยู่ภายในจิตใจ ใจเป็นสนามรบ เพราะกิเลสกับธรรมอยู่บนหัวใจ ใจเป็นเวทีฟัดกันอยู่ตรงนั้น ดูดดื่มอยู่ตรงนั้น หมุนติ้วๆ อยู่ตรงนั้น นี่ท่านเรียกว่าภาวนามยปัญญาของผู้ปฏิบัติ ให้มันเป็นในหัวใจของเจ้าของเองแล้วจะสว่างจ้าขึ้นเลย

พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปกี่หมื่นกี่แสนกี่ล้านๆ พระองค์หาที่สงสัยไม่ได้ เพราะจุดอริยสัจนี้แลเป็นที่อุบัติแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตลอดถึงพระสาวกทั้งหลายจะพ้นจากอริยสัจนี้ไปไม่ได้แม้พระองค์เดียว นี่คือเป็นสถานที่ผลิตหรืออุบัติของพระพุทธเจ้า ของท่านผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายอุบัติขึ้นที่ตรงนี้ เราก็จ่อจิตของเราไปตรงนั้น เหมือนไฟได้เชื้อเผากันอยู่ตรงนั้น เห็นกันอยู่ตรงนั้น แก้กันอยู่ตรงนั้น กิเลสออกมาฉากใดมุมใด สติปัญญาหลบฉากหลบมุมกันแก้กันอยู่นั้น เหมือนนักมวยต่อยกันบนเวที



(มีต่อ 2)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 05 ธ.ค.2006, 11:33 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

นี่เป็นเรื่องที่เพลินมากสำหรับผู้ปฏิบัติในปัญญาขั้นนี้แล้ว ลืมวันลืมคืนลืมปีลืมเดือน ลืมหิวลืมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าลืมหลับลืมนอน หมุนติ้ว เพราะฉะนั้นท่านถึงสอนให้เข้าพักสมาธิ เมื่อได้ออกรบได้แก่การพิจารณาทางด้านปัญญานี้มันจะเลยเถิด แล้วให้เข้าพักในสมาธิพักผ่อนหย่อนจิต คือไม่ใช้กิริยา เพราะเรื่องของปัญญาก็เป็นกิริยาแห่งการทำงานอันหนึ่ง เรียกว่างานของปัญญางานของจิต เราพักอย่างนั้นเสีย ให้จิตเข้ามาสู่สมาธิพักแรงพักเอากำลัง เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ไม่ต้องไปยุ่งกับเรื่องปัญญาขั้นใดก็ตามในเวลานั้น ให้หมุนตัวเข้าสู่สมาธิสงบแน่วอยู่เพียงเท่านั้นเพื่อเอากำลัง

จะพักจิตกี่ชั่วโมงก็ให้อยู่ จนกระทั่งจิตอิ่มตัวแล้วจิตถอยออกมา พอถอยออกมาแล้วทีนี้ไม่ต้องห่วงสมาธิ คือไม่ต้องห่วงการพักผ่อนอีกต่อไปแล้ว ก้าวเข้าสู่ปัญญาหมุนติ้วบนเวที นี่คือผู้ปฏิบัติเพื่อทรงมรรคทรงผลท่านปฏิบัติอย่างนั้น ในสมัยปัจจุบันนี้ก็เป็นอย่างนั้นเพราะอริยสัจเป็นอันเดียวกัน กิเลสเป็นอันเดียวกัน ทุกข์ สมุทัยเป็นอันเดียวกัน มรรค นิโรธ เป็นอันเดียวกัน แก้กิเลสได้อย่างเดียวกัน จึงเรียกว่าสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้วๆ ผู้ปฏิบัติพิจารณาย่อมเห็นได้ชัดภายในตัวเอง นี่อธิบายถึงเรื่องภาวนามยปัญญา

พอก้าวจากภาวนามยปัญญานี้แล้วเข้าสู่มหาสติมหาปัญญา หาความเผลอตัวไม่ได้เลย เผลอได้ยังไงกิเลสจะต่อยเอาๆ เมื่อความเห็นโทษถึงขนาดคอขาดบาดตายกันแล้วนั้นจะเผลอกันไม่ได้ นั่นละมหาสติมหาปัญญาตั้งตัวแบบนั้นเอง เพราะตั้งตัวแบบสละตาย ถ้าเผลอเมื่อไรก็ตายเหมือนกับนักมวยต่อยกัน นี่ระหว่างจิตกับกิเลส กิเลสเข้าถึงขั้นละเอียดละเอียดมาก แล้วสติปัญญาก็ตามต้อนกันให้ทันกันนั้น ฆ่าไปเรื่อยทันไปเรื่อย ฆ่าไปเรื่อย สุดท้ายก็วิมุตติหลุดพ้น กิเลสขาดสะบั้นลงไปจากหัวใจ นั้นเรียกว่าสมุทัยม้วนเสื่อ

สมุทัยคืออะไร อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นั้นแลคือยอดของสมุทัย ในบรรดากิเลสทั้งหลายขึ้น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา รวมตัวไปอยู่ในจิตนั้นหมด กระแสของมันถูกสกัดลัดต้อนหมด ออกไปทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย สกัดลัดต้อนออกด้วยอำนาจของธรรมที่กล่าวมาเบื้องต้นมี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภะอสุภังเป็นต้น ตีต้อนเข้ามาๆ จนกระทั่งถึงจิต

อวิชชาไม่มีทางเดิน เครื่องมือหรือทางเดินถูกตัดหมดแล้วหมุนตัวเข้าไปสู่จิต นี่ละเรียกว่ายอดสมุทัยเข้าสู่จิตแล้วจิตจะมีความสว่างกระจ่างแจ้ง มีความสว่างไสว มีความอัศจรรย์ นี่ก็คือกลอุบาย คือโล่ของอวิชชาที่หลอกสัตว์ทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติจึงต้องติด อะไรละเอียดก็ตามไม่ละเอียดเหมือนอวิชชา อวิชชานี้แม้แต่มหาสติมหาปัญญายังหลงกลมันได้ แต่หลงก็หลงเพื่อจะฆ่า ไม่ใช่หลงเพื่อจะหลงไปเลยเหมือนความหลงทั้งหลาย หลงหมัดของมันหรือว่ามันต่อยมาหลบฉากไม่ทันถูกต่อยเอาก็มี แต่ยังไงก็ตามจะต้องม้วนเสื่อแน่นอน พอเข้าถึงจุดนี้แล้วมหาสติมหาปัญญานั้นหมายความว่ายังไง ไม่ต้องถามรู้กันเองๆ ในวงปฏิบัติบนเวทีของหัวใจผู้ปฏิบัตินั้นแล

เมื่ออวิชชาได้ม้วนเสื่อลงไปแล้ว คำว่ามหาสติมหาปัญญาก็หมดปัญหาไปในทันทีทันใดโดยไม่ต้องบังคับบัญชา นี่เรียกว่าพอเหมาะพอดีกันทุกอย่าง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ขาดสะบั้นจากกันไปแล้ว เหลือแต่ความวิมุตติหลุดพ้นโผล่ขึ้นมาตรงกลางนั้น นี่ละพระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ตรงนี้ พระสาวกอรหัตอรหันต์ทั้งหลายตรัสรู้หรือบรรลุธรรมขึ้นที่ตรงนี้ เราจะตรัสรู้ที่ไหน เราผู้ปฏิบัติเราต้องรู้ที่ตรงนี้จึงสามารถพูดอันนี้ออกมาเป็นเครื่องยืนยันได้ นั่น นี่ละที่ว่าธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องยืนยันโลก เวลานี้ก็มีอยู่อย่างนั้น

พระพุทธศาสนาของเรานี้จึงเป็นตลาดแห่งมรรคผลนิพพาน เป็นตลาดแห่งพระโสดา พระสกิทา พระอนาคา พระอรหันต์สมบูรณ์บริบูรณ์ เป็นห้างร้านอันใหญ่โตเต็มไปด้วยอริยมรรคอริยผล จึงขอให้พระลูกพระหลานทั้งหลายตลอดประชาชนญาติโยม เพราะเป็นผู้มีอริยสัจเหมือนกันจะปฏิบัติให้รู้ให้เห็นได้ด้วยกัน แล้วต่างคนต่างอุตส่าห์พยายามปฏิบัติตนให้เป็นไปตามแนวทางของพระพุทธเจ้า ผู้หญิงก็พ้นทุกข์ได้ ผู้ชายพ้นทุกข์ได้ ฆราวาสพ้นทุกข์ได้ พระเณรพ้นทุกข์ได้เมื่อปฏิบัติให้ถูก ถ้าไม่ถูกก็เป็นทุกข์ได้ด้วยกันไม่ว่าพระว่าเณรฆราวาสญาติโยม เป็นทุกข์ได้ด้วยกันทั้งนั้นถ้าปฏิบัติผิดจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ถ้าปฏิบัติให้ถูกแล้วเป็นอย่างนั้น

วันนี้ได้แสดงถึงเรื่องภาวนา ก้าวไปถึงภาวนามยปัญญาก็เลยไปใหญ่เลย จึงขอสรุปเอาว่า ศีลก็อยู่กับเราทุกท่านผู้ปฏิบัติรักษาศีล สมาธิอยู่กับเราทุกท่านที่เป็นผู้เสาะผู้แสวงหาจะบำเพ็ญให้เกิดให้มี พระพุทธเจ้าไม่ลำเอียงและไม่ทรงผูกขาด สนฺทิฏฺฐิโก ประกาศกังวานไว้กับผู้ปฏิบัติทุกรูปทุกนามไป พระพุทธเจ้าไม่ทรงผูกขาดไว้เลยแม้นิดหนึ่ง มอบไว้กับผู้ปฏิบัติจะพึงรู้เองเห็นเองในธรรมทั้งหลายที่กล่าวมานี้

จึงขอให้ทุกๆ ท่านได้นำไปประพฤติปฏิบัติกำจัดสิ่งที่เป็นภัยทั้งหลายอยู่ในใจของเรา คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหานี้เป็นตัวภัยอันยิ่งใหญ่ ในสามแดนโลกธาตุนี้ไม่มีอะไรเป็นภัยอันยิ่งใหญ่ยิ่งกว่ากิเลส ๓ ประเภทนี้ จงพยายามกำจัดมันออกจากใจแล้วอยู่ที่ไหนสบายหมด วันคืนปีเดือนดินฟ้าอากาศฟ้าแดดดินลมหมื่นแสนจักรวาลอะไรที่จะมาเป็นภัยต่อจิตใจไม่มี มีกิเลสอันเดียวนี้เท่านั้นเป็นภัยต่อใจ เมื่อกิเลสได้ม้วนเสื่อลงไปแล้วไม่มีอะไรเป็นภัยต่อใจ เวิ้งว้างสุดจิตสุดคิดสุดบรมสุขโดยไม่ต้องคาดต้องฝัน หากเป็นหากพอเหมาะพอดีอยู่กับผู้เป็นผู้บริสุทธิ์พุทโธนี้เท่านั้น

ในอวสานแห่งการแสดงธรรมนี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านผู้ฟังทั้งหลายโดยทั่วกันเทอญ



................................................................

คัดลอกจาก
http://www.dharma-gateway.com/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง