Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 นิพพานมิใช่อัตตา มิใช่อนัตตา (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 05 ธ.ค.2006, 1:25 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

นิพพานมิใช่อัตตา มิใช่อนัตตา
โดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓



พระครั้งพุทธกาลท่านอยู่กันเป็นจำนวนมากก็มี ๒๐ - ๓๐ องค์ในที่บางแห่ง ตามตำราท่านบอกไว้อย่างนั้น แต่เวลากลางวันนี้เหมือนไม่มีพระในวัด ประชาชนเขามาไม่เห็นพระ เขาเข้าใจว่าพระทะเลาะกันเพราะหายเงียบประการหนึ่ง ประการที่สองเห็นพระท่านเคร่งขรึม ไม่พูดไม่คุยไม่หยอกไม่เล่นกัน เขาเข้าใจว่าพระท่านทะเลาะกัน เพราะเขาไม่ทราบเรื่องการดำเนินของพระ เวลาต้องการจะพบท่านก็เอาไม้ไปเคาะระฆัง ท่านได้ยินท่านก็มา

การอยู่กันเป็นจำนวนมากภาระหน้าที่ที่เกี่ยวโยงถึงกันก็ต้องมาก ไม่ว่ากิจใดมันเกี่ยวโยงถึงกัน ข้อวัตรปฏิบัติเช่นปัดกวาดเช็ดถูทำความสะอาด ซักผ้าย้อมผ้า ขนน้ำขึ้นกุฏิ ใส่ไห เหล่านี้เป็นกิจส่วนรวมเสียมากกว่าส่วนบุคคล การทำต้องได้ช่วยกันทำ ต่างคนต่างถือว่าเป็นหน้าที่เป็นความจำเป็นของตนที่จะต้องทำด้วยกัน สมกับที่เรามุ่งมาเพื่อคุณงามความดี เพื่ออรรถเพื่อธรรมทุกแง่ทุกมุม สิ่งใดที่เป็นธรรมชอบธรรมแล้วต้องได้ทำสิ่งนั้น ความขี้เกียจเหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล

การอยู่นี้เราไม่ได้อยู่แบบแขกมาเยี่ยมบ้านเยี่ยมเรือนเรา เราอยู่แบบพระ อยู่ที่ไหนทำดีที่นั่น ไม่ได้ถือว่านั้นเป็นวัดของท่าน นี่เป็นวัดของเรา นั้นเป็นกิจการงานของท่าน นั่นเป็นวัดของท่าน นี่เป็นกิจของเรา เป็นข้อวัตรของเรา ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องได้ต่างคนต่างช่วยกันทำ เพื่อความพร้อมเพรียงเป็นสำคัญ กิจการก็เรียบร้อยไปโดยไม่ได้รับข้อหนักใจจากผู้หนึ่งผู้ใด เพราะความขี้เกียจขี้คร้าน ความเห็นแก่ตัว ความเอารัดเอาเปรียบอันเป็นเรื่องของกิเลสเข้าทำลายจิตใจหมู่เพื่อน อย่างนี้ไม่ให้มีหรือไม่มี ผู้ตั้งใจปฏิบัติธรรมรีบกำจัด

เราจะเห็นได้ว่าเรื่องของกิเลสมีความละเอียดลออเพียงไรนั้น เห็นได้ในสิ่งนี้ มันแทรกมันแซงเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของกิเลสไม่ใช่เรื่องของธรรม มันแทรกแซงอยู่ในหัวใจของพระของเณรเรานี้ ผู้ปฏิบัติไม่สังเกตสิ่งเหล่านี้ ไม่กำจัดสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นของหยาบๆ กว่ากิเลสประเภทอื่นแล้ว เราจะแก้กิเลสประเภทที่ละเอียดยิ่งกว่านี้ได้อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะต้องคิดให้ตลอดทั่วถึง เพราะเป็นสิ่งหยาบๆ ที่ผู้ปฏิบัติธรรมจะพอทราบได้

การประกอบความพากเพียรถือเป็นกฎเป็นเกณฑ์ เป็นกิจจำเป็นสำคัญอย่างยิ่งภายในชีวิตลมหายใจของเราที่ครองตัวอยู่ด้วยเพศแห่งความเป็นนักบวช และมีความมุ่งมั่นต่อแดนแห่งความพ้นทุกข์ จึงต้องถือธรรมเป็นศาสตราอาวุธอยู่เสมอไม่ปล่อยวาง ท่านเรียกว่าธรรมาวุธ อาวุธคือธรรมเครื่องประหัตประหารกิเลส ที่ฝังจมอยู่ในเนื้อในกายในจิตในใจ ในกิริยาอาการทุกส่วนของตัวเรา มีตั้งแต่เรื่องของกิเลสทั้งมวลหาอะไรแทรกลงไม่ได้ ถูกแต่ตัวกิเลส แต่เราไม่ทราบว่ามันเป็นกิเลส เพราะมันฝังจมอย่างลึก

เพราะกิเลสไม่ใช่เป็นของโง่ เป็นของฉลาดเกินกว่าสติปัญญาของเราจะหยั่งถึงมันได้ง่ายๆ ด้วยเหตุนี้จึงต้องได้อบรมสั่งสอนกันอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังจริงๆ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ทันกับการแก้การถอดถอนกิเลสประเภทต่างๆ นับแต่ส่วนหยาบๆ เข้าไปถึงส่วนละเอียดอยู่ภายใน ผู้ปฏิบัติเท่านั้นที่จะทราบเรื่องเหล่านี้ได้ดี คือระหว่างกิเลสกับธรรมซึ่งมีอยู่ในตัวของเรานี้ หากไม่ได้เคยกำจัด ไม่เคยต่อสู้กัน ไม่เคยชำระสะสางมาก่อนแล้วจะไม่ทราบว่า กิริยาใดอาการใดที่แสดงออกทางจิตใจและกายวาจา ความเคลื่อนไหวต่างๆ ว่าเป็นกิริยาอาการของกิเลส หรือเป็นกิริยาอาการของธรรม ไม่มีทางทราบได้เลย

เพราะมันมีแต่ธรรมชาติอันเดียวทั้งนั้น เป็นเจ้าของของหัวใจ เป็นเจ้าของของมารยาทของเนื้อของหนังทุกสัดทุกส่วน มันครอบครองอยู่หมด จึงไม่อาจสามารถทราบได้ว่ามันเป็นกิเลส เพราะมันกับเราเข้ากลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ว่าจะทำอะไรก็กลัวกระเทือนเราซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสแท้ๆ ถ้าเป็นสิ่งดีงามแล้วมันจะทำการกีดขวางให้เป็นความท้อแท้อ่อนแอ ให้เกิดความท้อถอย อืดอาดเนือยนาย พอจะประกอบความพากเพียรเหมือนจะถูกหามเข้าไปฆ่านั่นแหละ นี่เวลากิเลสมันมีกำลังมันเป็นอย่างนี้ แต่เราไม่ทราบตอนนั้นไม่ทราบว่ามันเป็นกิเลส

เวลานั่งสมาธิภาวนา ความพยายามหรือความตั้งใจเดิมนั้น ตั้งใจพยายามว่าจะให้จิตมีความสงบเย็นใจ ดังที่ครูบาอาจารย์หรือธรรมสอนไว้ แต่เวลานั่งลงไปแล้วก็มีแต่กิเลสไปทำหน้าที่แทนอยู่ภายในความเพียรนั้นเสีย ขับไล่สติซึ่งเคยควบคุมงานในทางด้านอรรถธรรม ให้เตลิดเปิดเปิงไปไหนก็ไม่รู้ มีแต่กิเลสเข้าทำงานป่วนปั่นจิตใจให้คิดโน้นคิดนี้ ยุ่งเหยิงวุ่นวายไปหมด ไม่มีกิริยาแห่งความเพียรของผู้ปฏิบัติธรรมปรากฏอยู่ในจิตดวงนั้นเลย มีแต่กิเลสทำหน้าที่โดยถ่ายเดียว นี่เป็นเรื่องสำคัญ ตอนนั้นเราไม่รู้

ทีนี้พอกิเลสปล่อยวาง มันกินเสียอิ่มแล้ว พอปล่อยวางแล้ว สติก็ระลึกได้ว่าตนนั่งภาวนา แล้วก็มาทวงผลด้วยเวล่ำเวลาว่านั่งนานเท่านั้นนั่งนานเท่านี้ เดินจงกรมนานเท่านั้นเท่านี้ เท่านั้นนาทีเท่านั้นชั่วโมงไม่เห็นได้ผลได้ประโยชน์อะไร การมาทวงเช่นนี้ก็เพื่อจะแหวกแนวอีก มันเป็นอุบายวิธีการของกิเลสทั้งนั้น เราจะไปแง่ไหนที่นี่มันถึงจะดีภาวนาเพื่อความดีมันก็ไม่ได้ดี

เพราะกิเลสไปทำหน้าที่ของมัน ด้วยความเป็นข้าศึกต่อความเพียรของเราเสีย ต่อธรรมเสีย แล้วจะออกทางไหนดี อย่างน้อยก็นอนเสียดีกว่า มากกว่านั้นก็ทำไปทำไมความเพียรนี่ ไม่เห็นได้เรื่องได้ราวอะไร ยิ่งไปกว่านั้นก็สึกเสียดีกว่า มันมีตั้งแต่กลอุบายของกิเลสทั้งมวลที่หลอกหัวใจเราหัวใจคน นี่เราก็ไม่ทราบตอนนั้น จะทราบได้ยังไงเมื่อสติปัญญายังไม่เหนือมัน

แต่ความพยายามอยู่โดยสม่ำเสมอ นั่นเป็นทางของปราชญ์ท่านดำเนินกัน เรื่องเหล่านี้มันมีได้เพราะกำลังของกิเลสมีมาก ที่ว่าจิตไม่สงบๆ มีแต่ความฟุ้งซ่านวุ่นวายเพราะอะไร ก็เพราะกิเลสเข้าทำงานอย่างเต็มที่ ป่วนปั่นวุ่นวายไปหมดทั้งดวงใจ แล้วจะเอาความสงบสุขมาจากที่ไหนเมื่อธรรมไม่ได้แทรกเข้าไปเลย คือสติที่ควบคุมงานเป็นสำคัญ ถูกขับไล่ไสส่งหนีไปทวีปไหนก็ไม่รู้

เวลานั้นที่จิตไม่สงบก็เพราะกิเลสมีมาก มีกำลังมาก มันทำการป่วนปั่นทุกสิ่งทุกอย่าง ทำลายหมดแท่นบัลลังก์แห่งความเพียรของเราไม่มีเหลือ เมื่อเป็นเช่นนั้นผลที่พึงใจจะได้อย่างไร เพราะเราไม่ได้ทำเหตุอันเป็นที่พึงใจในขณะประกอบความพากเพียร มีแต่กิเลสมาทำหน้าที่ของมันเสียทั้งสิ้นในอิริยาบถต่างๆ แม้ขณะที่ประกอบความพากเพียรอยู่ก็ตาม นี่เพราะสติยังไม่ทันเราก็ไม่อาจทราบได้ จึงต้องถูกกล่อมไปหลายแง่หลายมุม พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงไปได้ทุกแง่ทุกมุมบรรดาความแยบคายของกิเลสที่มาเสี้ยมสอนจิตใจเรา เราจึงไม่ทราบแล้วก็แหวกแนวไปตามกิเลสเสีย

ต่อเมื่อได้ทำความพยายามอยู่ตลอด คราวแพ้ก็ยอมว่าแพ้ เวลาฟุ้งซ่านก็ฟุ้ง เวลากิเลสมีอำนาจก็ให้มันเอาไป แต่ความพยายามไม่ลดละไม่ถอยหลัง มันอยู่เรื่อยๆ หลายครั้งหลายหนก็จับเงื่อนได้ทีละเล็กละน้อย จิตไม่เคยสงบก็สงบตัวได้ เมื่อสงบตัวได้หนหนึ่งสองหนเข้าไปแล้ว ก็ชื่อว่าได้หลักฐานพยาน ได้ความแปลกประหลาด ได้เครื่องดื่มด่ำภายในจิตใจเป็นเครื่องฝังศรัทธาให้มั่นคงลงไปได้

เมื่อศรัทธาเชื่อต่อผลที่ปรากฏนั้นได้หยั่งลงไปภายในจิตใจแล้ว แม้ในคราวต่อไปวันต่อไปจิตจะสงบตัวลงอย่างนั้นไม่ได้ก็ตาม ความพยายามซึ่งจะตามมาจากศรัทธาความเชื่ออันหยั่งลงเรียบร้อยแล้วนั้นจะตามมาเอง ศรัทธาความเชื่อนั้นก็ไม่ลดละไม่ถอย ท่านจึงเรียกว่าอจลศรัทธา คือศรัทธาฝังลึกในความจริงที่ตนได้เคยเห็นผลมาแล้ว ไม่หวั่นไหว แม้ได้บ้างเสียบ้างก็ยอมรับว่าได้บ้างเสียบ้าง แต่ความหยั่งของศรัทธาที่เคยได้เห็นผลแล้วนั้น ไม่ยอมละไม่ยอมถอนขึ้นมา หลายครั้งหลายหนได้เข้าไปอีก นี่คือความเพียร ผู้เพียรอยู่เสมอต้องได้อย่างนี้ ให้ถือว่ากิจนี้เป็นกิจจำเป็นของเรา

เคยพูดแล้วพูดเล่าอยู่เสมอว่า ไม่มีงานใดที่จะหนักมากยิ่งกว่างานต่อสู้กับกิเลส ให้พึงทราบเอาไว้อย่างถึงใจ ไม่ใช่งานทำเอาง่ายๆ สบายๆ ได้ตามนัดตามหมายตามความต้องการทุกเวล่ำเวลาที่ประกอบความพากเพียร หรือนึกเอาอย่างไรก็ได้อย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นธรรมะก็ไม่น่าอัศจรรย์ กิเลสก็ไม่เป็นสิ่งที่ใครจะน่ากลัวนัก แม้จะทำเราให้เป็นทุกข์เราพลิกทีเดียวเท่านั้นความสุขก็เกิดขึ้นมาแล้วและเป็นไปได้อย่างใจหวัง แต่นี้เพราะกิเลสมันเหนียวแน่นมั่นคงเฉลียวฉลาดแหลมคมเกินกว่าสติปัญญาของเราที่จะตามรู้ตามเห็นและตามถอดถอนแก้ไขมันได้นั่นเอง คนเราจึงยอมรับความทุกข์เพราะอำนาจของกิเลสสร้างขึ้นมาภายในใจ ให้เราทราบไว้อย่างนี้แล้วก็พยายามต่อสู้

หนักเบาขนาดไหนทุกข์ยากลำบากเพียงไรก็ตาม มันเป็นงานของเราเพื่อจะรื้อถอนภพถอนชาติอันเป็นเสี้ยนเป็นหนาม เป็นหอกเป็นแหลมหลาวปักเสียบอยู่ภายในหัวใจนี้ให้ขึ้นมาให้หมด นำออกให้หมดจนไม่มีสิ่งใดเหลือ เมื่อเวลาเกิดความท้อถอยอ่อนแอขึ้นมาก็ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ดัง ธชัคคสูตร ท่านแสดงไว้เกี่ยวกับพวกอสูรรบกันกับพวกพระอินทร์ ย่นเข้ามาสอนพระ อรญฺเญ รุกฺขมูเล วา สุญฺญาคาเรว ภิกฺขโว เมื่อท่านทั้งหลายไปอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ หรือเรือนว่างที่ใดก็ตาม

เมื่อเกิดความหวาดเสียวหรือพรั่นพรึงขึ้นมาให้พึงยกธง เรียกว่าธง ๓ สีถ้าเทียบอย่างเราทุกวันนี้ คือพระพุทธเจ้าขึ้นมา ความกลัวนั้นก็จะหาย ความหวาดเสียวความกลัวนั้นจะหาย ความขนพองสยองเกล้าเพราะความกลัวนั้นก็จะระงับดับไป ทีแรกท่านให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเสียก่อน โน เจ พุทฺธํ สเรยฺยาถ เมื่อระลึกพระพุทธเจ้ายังไม่ได้ผล ก็ให้ระลึกถึงพระธรรม แบบเดียวกัน ถ้าระลึกถึงพระธรรมจิตใจยังไม่สงบตัวลงได้ให้ระลึกถึงพระสงฆ์

นี่เมื่อเกิดความท้อถอยอ่อนแอขึ้นมาก็ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าในเรื่องความพากเพียร ทุกข์หรือไม่ทุกข์ก็เห็นอยู่แล้วในพระประวัติของท่าน ท่านทุกข์ขนาดไหน นาเรามันทำยาก สวนเรามันทำยาก มีแต่หญ้ารกรุงรังปกคลุมหุ้มห่อไปหมด เราจะไปปักดำเอาเลยๆ นั้นไม่ได้ มันต้องถากต้องถางต้องสับต้องฟันให้แหลกละเอียด ทั้งคราดทั้งไถเอากันอย่างเต็มที่เต็มฐาน ควรปักควรดำควรเพาะปลูกสิ่งต่างๆ ค่อยปลูกลงไปได้

เมื่อนาเราทำยากเราก็ต้องเอาให้เต็มที่ เราจะทำแบบนาเขาทำง่ายๆ สวนเขาทำง่ายๆ อย่างนั้นไม่ได้ กิเลสของเราเป็นยังไง มันแก้ยาก เอ้า แก้ยากก็เอาให้หนักมือ เพราะกิเลสมีตามขั้นของบุคคล ผู้มีกิเลสเบาบางก็มี กิเลสปานกลางก็มี กิเลสหนาแน่นก็มีแต่พอแก้ไขได้ กิเลสครอบเอาเสียจนมืดมิดปิดตา ทวารทั้ง ๖ ไม่มีทางที่จะมองเห็นรู้ได้เลย อันนั้นก็เป็นพวกปทปรมะ ถ้าเป็นโรคก็ประเภทไม่ดูหมอไม่ฟังยา มีแต่จะตายท่าเดียว นั่นก็สุดวิสัย แต่เราไม่ใช่คนประเภทนั้น

ผู้ที่มีกิเลสเบาบางก็ประเภทอุคฆฏิตัญญู รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมทั้งหลายได้ง่าย เพราะกิเลสเบาบางมาแล้ว วิปจิตัญญู รองกันลงมา เป็นประเภทที่เบาบางเช่นเดียวกันแต่รองกันลงมาเล็กน้อย เนยยะ เป็นผู้ควรตักเตือนแนะนำสั่งสอนได้ หลายครั้งหลายหนก็ค่อยเป็นไปได้ ทั้งครูทั้งอาจารย์ตักเตือนแนะนำสั่งสอน ทั้งตนเองเป็นผู้แนะนำพร่ำสอนตนเองด้วยอุบายวิธีการต่างๆ มีความเพียรเป็นเครื่องหนุนอยู่ตลอดเวลา หลายครั้งหลายหนกิเลสก็ค่อยบางลงไปๆ บทเวลาจะรู้ก็เป็น อุคฆฏิตัญญูเช่นเดียวกัน เมื่อถึงขั้นที่จะรู้เร็วแล้วไม่ต้องบอก ห้ามไม่อยู่ ขณะเดียวเท่านั้นเลิกหมดโลกธาตุภายในหัวใจนี้เลย แต่เวลารื้อถอนในเบื้องต้นโดยลำดับๆ มานั้นแสนทุกข์แสนยากแสนลำบากสาหัส

เมื่อเรารู้นิสัยของเราเป็นอย่างนี้ ก็เทียบกับว่านาของเราเป็นเช่นนี้ เอ้า เราต้องหนักมือในการประกอบความพากเพียร อย่าถอยเป็นอันขาดลูกศิษย์ตถาคต หรือธรรมของพระพุทธเจ้าไม่มีบทใด ที่สอนให้ผู้ปฏิบัติทั้งหลายถอยหลังอ่อนแอ ไม่มีอะไรเหนือธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญมา และได้ผลมาแล้ว พร้อมทั้งการแนะนำสั่งสอนไว้ เป็นเยี่ยมทุกอย่าง เพราะฉะนั้นกิเลสจึงกลัวธรรม ให้นำมาประพฤติปฏิบัติ ให้นำมาต่อสู้กับกิเลส

วิริยธรรม แน่ะฟังซิ สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม นี่มีแต่ธรรมเยี่ยมๆ ทั้งนั้น ที่จะฟาดฟันกับกิเลสให้แตกกระจายไม่มีเหลือภายในดวงใจได้ด้วยกันทั้งนั้น พระพุทธเจ้าท่านนำไปใช้ สาวกท่านนำไปใช้ ทำไมท่านจึงได้ผลเป็นที่พอพระทัยและพอใจ จนกลายเป็นสรณะของพวกเราได้ ท่านทำวิธีใด เราให้ยึดเอาคติตัวอย่างที่ท่านพาทำพาดำเนินมา มาเป็นเครื่องมือ มาเป็นเครื่องดำเนินต่อสู้กับกิเลส นี้ชื่อว่าลูกศิษย์มีครู

สมกับกล่าวอ้างพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ยึดทั้งข้อปฏิบัติปฏิปทาเครื่องดำเนิน ทั้งวิริยะอุตสาหะ ทั้งสติทั้งปัญญา ศรัทธาความเพียร ทุกแง่ทุกมุมยึดมาเป็นคติแก่ตัวเอง ท่านดำเนินอย่างไร ยึดท่านมาเป็นหลักเป็นเกณฑ์เครื่องดำเนิน ไม่ลดละท้อถอยไม่ปล่อยวาง เอาจนได้ชัยชนะ



(มีต่อ 1)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 05 ธ.ค.2006, 1:29 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เมื่ออยู่ขั้นยากก็ต้องเอาให้หนักมือ งานนี้งานหนักเราจะไปทำเบาๆ ไม่ได้ เช่นท่อนไม้มันหนักเราจะไปเอามือเดียวยกไม่ได้ ต้องทำให้เต็มเรี่ยวเต็มแรงไม่งั้นยกไม่ขึ้น เอาไปไม่ไหว งานประเภทต่างๆ มีหนักมีเบา การแก้กิเลสประเภทต่างๆ ย่อมมีหนักมีเบาเหมือนกัน แต่ส่วนมากหนักด้วยกันทั้งนั้นแหละ หากเราจะไปถือว่าหนัก แต่ผู้ที่ต้องการสิ่งที่เลิศประเสริฐกว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้มาถือสิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์พอให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินของตน แล้วก็ผ่านพ้นไปได้โดยลำดับ

ธรรมะทุกบททุกบาทที่ประทานไว้แล้วนี้ เป็นธรรมะสดๆ ร้อนๆ ไม่มีคำว่าครึว่าล้าสมัย ผ่านมากี่ปีกี่เดือนก็ตาม อยู่ในท่ามกลางแห่งความเหมาะสมทั้งนั้น เหมาะสมกับการบำเพ็ญของเราที่จะให้เป็นคนดีตามสติกำลังความสามารถของเรา และเหมาะสมกับการปราบปรามกิเลสทุกประเภท ให้ขาดสะบั้นหั่นแหลกลงไปจากจิตใจไม่มีเหลือได้ด้วยกันทั้งนั้น ทั้งครั้งพุทธกาลและครั้งนี้ ไม่มีอะไรผิดแผกแปลกต่างกันไปเลย นอกจากความพากเพียร ความอุตส่าห์พยายาม ความโง่ความฉลาดของเราเท่านั้นมีต่างกันกับท่าน ผลจึงต้องต่างกันเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงต้องยึดหลักของท่านมาเป็นเครื่องดำเนินให้ดี

สติตั้งให้ดี สติเป็นของสำคัญมากในวงความเพียร ถ้าขาดสติไปเสียก็เท่ากับขาดความเพียรไปพร้อมในขณะเดียวกัน ขาดไประยะสั้นยาวเพียงไรก็ชื่อว่าความเพียรขาดไประยะสั้นยาวเพียงนั้น แม้จะนั่งอยู่หรือเดินจงกรมอยู่ก็ไม่ให้ชื่อว่าความเพียร เพราะขาดประโยคแห่งงานที่สืบต่อกัน มีสติเป็นผู้ควบคุมสำคัญปราศจากไม่ได้ ที่ว่าขั้นปัญญา สติกับปัญญาต้องกลมกลืนกันไป แต่ถึงขั้นนั้นแล้วเราไม่ต้องพูดแหละ ขั้นล้มลุกคลุกคลานนี่ซิ ขั้นขาดแล้วติด ติดแล้วต่อกันยุ่งไปหมด ขาดแล้วต่อไม่ได้ก็มี สติขาดไปเอามาต่อก็ไม่ได้เพราะไม่สนใจจะต่อ อ่อนแอปวกเปียกไปหมด อย่างนี้ไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้า

ให้มีความเข้มแข็งมีความอดทน มีความพินิจพิจารณาใคร่ครวญทุกสิ่งทุกอย่างที่มาเกี่ยวข้องกับตน นี่ชื่อว่าเพศของนักบวชเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ พระสาวกทั้งหลายท่านเป็นอย่างนี้ ให้พินิจพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างที่มาเกี่ยวข้องสัมผัสสัมพันธ์กับอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา สัมผัสเพื่อจะเกิดเรื่องทั้งนั้นแหละ แล้วเรื่องนั้นเป็นเรื่องดีหรือเรื่องชั่ว เอาสติปัญญาเข้าไปจับพินิจพิจารณาให้ทันกับเหตุการณ์ เรื่องก็ระงับไป ถ้าเป็นเรื่องไม่ดีก็ระงับไป ถ้าเป็นเรื่องดีก็เป็นการส่งเสริมเรื่องนั้นให้มีกำลังมากมูนขึ้นไปโดยลำดับ ด้วยการพินิจพิจารณา ด้วยความไม่ประมาท คือความมีสติ

นี่เป็นหลักของการภาวนา เป็นหลักของการปฏิบัติ สำหรับผู้จะให้ถึงจุดหมายปลายทางที่ตนตั้งไว้อย่างไรโดยไม่ต้องสงสัย หลักเหตุต้องให้เกี่ยวโยงกันไปโดยลำดับอย่าให้ขาดวรรคขาดตอน

อย่าลืมว่าภาระที่เรากำลังดำเนิน เรากำลังแบกหามอยู่เวลานี้ ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดในโลกทั้งสามนี้จะมาช่วยฉุดช่วยลากช่วยแบ่งหนักแบ่งเบาออกจากใจของเราได้ ครูบาอาจารย์ก็เป็นแต่เพียงผู้ให้อุบายวิธีการต่างๆ ดังพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา งานถอดถอนกิเลสทั้งมวลเป็นหน้าที่ของเธอทั้งหลาย หรือของท่านทั้งหลายจะทำเอง พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ชี้แนวทางหรืออุบายวิธีการให้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้ไปแก้ไปถอดถอนกิเลสให้

เมื่อเป็นเช่นนั้นเราอย่าหวังพึ่งผู้ใด อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน เมื่อได้รับโอวาทจากครูจากอาจารย์มาแล้ว ให้ยึดเข้ามาเป็นหลักต่อสู้กับสิ่งที่เป็นข้าศึกฝังจมอยู่ภายในจิตใจนี้ ให้ออกได้ด้วย อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เป็นตนเป็นเนื้อเป็นหนังของตน ตนเป็นผู้ต่อสู้เพื่อตนเอง เพื่อชัยชนะของตนเอง เพราะคำว่าแพ้ก็เราเป็นผู้แพ้ คนอื่นไม่แบ่งมาแพ้กับเราได้ แบ่งหนักแบ่งเบาให้เราแพ้น้อยลง คนอื่นแบ่งเอาไปบ้างอย่างนี้ไม่มี เราแพ้ก็ต้องแพ้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เมื่อชนะก็ต้องเอาให้ชนะเต็มเม็ดเต็มหน่วย การที่จะเอาให้ชนะเต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มอรรถเต็มธรรม ต้องประกอบการต่อสู้ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มสติกำลังความสามารถ ด้วย อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ของเราเอง นั่นแหละผลจึงจะปรากฏขึ้นมา

คำว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตนนี้ ฟังเผินๆ แล้วไม่มีใครอยากจะเชื่อ แต่เวลาปฏิบัติเข้าไปแล้วยอมรับเอง จึงได้ทราบว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ นี้เป็นธรรมละเอียดมากทีเดียว ก็ผู้ละเอียดเป็นผู้สอนนี่ ไม่ใช่คนโง่เขลาเบาปัญญาหูหนวกตาบอดมาสอนธรรมนี่ พระพุทธเจ้าเป็นคนหูหนวกตาบอด เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญาเมื่อไร ธรรมที่สอนเหล่านี้ออกมาจากพระพุทธเจ้าทั้งนั้น ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นเรื่องของความโง่ความฉลาดของคนนั้นเท่านั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความที่พระพุทธเจ้าโง่ สอนธรรมไม่ถูก มันขึ้นอยู่กับผู้ฟังผู้พิจารณา เมื่อถึงขั้นความเพียรที่เป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ อย่างชัดเจนแล้วแยกกันไม่ออกกับพระโอวาทนี้ ยอมกราบสนิทเพราะประจักษ์อยู่กับตัวเองว่าไม่มีใครจะช่วยเราได้

ดังที่เคยกล่าวเสมอว่า เวลาจนตรอกจนมุมนั้นน่ะ เป็นเวลาที่สติปัญญาจะฟิตตัวเต็มที่เพื่อหาทางออก ด้วยการต่อสู้โดยวิธีต่างๆ สติปัญญาทุ่มกันลงให้หมดชีวิตจิตใจ เป็นก็เป็นตายก็ตาย นั่นละ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตรงนั้นใครช่วยไม่ได้ สติปัญญาก็เกิดขึ้นในเวลาจนตรอกจนมุมนั่นแล อยู่เฉยๆ ไม่จนตรอกมันไม่ได้ใช้ความคิดคนเรา

เมื่อเข้าจนตรอกถูกทุกข์ถูกเหตุการณ์บังคับบีบคั้นเข้าโดยลำดับๆ จนหาทางออกไม่ได้แล้ว ทำไมคนเรายังจะยอมตายอยู่เฉยๆ เมื่อพอมีทางออกได้อยู่ เพราะฉะนั้นจึงต้องคิดต้องค้น ยิ่งผู้ต้องการฆ่ากิเลสอาสวะทุกประเภทไม่ให้เหลืออยู่ภายในใจแล้ว จะไปถอยได้ยังไง ก็ขณะนี้เป็นขณะที่ต่อสู้กับข้าศึกศัตรูอย่างเต็มเหนี่ยวกันอยู่แล้วจะถอยได้ยังไง ถอยไม่ได้ นอกจากจะเอาให้ทะลุไปเท่านั้น ไม่ทะลุก็ตาย ไม่ตายก็ให้ทะลุ ถึงจุดหมายปลายทาง ถึงชัยชนะอันสมบูรณ์เต็มที่

นี่ละ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เห็นเด่นชัด กับคำที่ว่าคนเราไม่ได้โง่อยู่ตลอดไป เมื่อถึงคราวจนตรอกจนมุมแล้ว ฟิตตัวเองขึ้นมาได้ ช่วยตัวเอง จนหลบหลีกปลีกตัวออกไปได้ ได้ชัยชนะขึ้นมาในขณะที่จนตรอกเป็นลำดับลำดาไม่สงสัย นี่เคยได้ดำเนินมาแล้วจึงได้นำมาสั่งสอนหมู่เพื่อน ให้เป็นที่ลงใจ อย่าท้อถอยปล่อยวางธรรมบทนี้ คือ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ จะพ้นภัยไม่สงสัย

สติปัญญาให้นำมาใช้อย่าอยู่เฉยๆ ภาวนาก็อย่าให้กิเลสตัวขี้เกียจเข้าไปแทรกในความสงบ พอมีจิตใจสงบบ้างแล้วก็ขี้เกียจพินิจพิจารณาเสีย อยากจะสงบอยู่นั้น หลังจากนั้นก็ง่วงเหงาหาวนอนสัปหงกงกงัน ใช้ไม่ได้ เวลาตั้งใจทำความสงบก็ให้เป็นความสงบภายในจิตใจจริงๆ ด้วยเจตนา ด้วยความมีสติ อันเป็นงานสืบเนื่องกันอยู่โดยลำดับในขณะประกอบความพากเพียรนั้น ไม่ให้ขาดวรรคขาดตอน

ถึงกาลเวลาที่ควรจะพินิจพิจารณา ก็ให้เปลี่ยนงานจากความสงบมาสู่ความคิดค้นพิจารณาหาเหตุหาผล ตามสภาวธรรมซึ่งมีอยู่ในขันธ์ของเรานี้เป็นสำคัญ มีอยู่ในรูปคือกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ซึ่งออกมาจากใจ ใจเป็นผู้รับผิดชอบ มันอยู่ที่นี่ เวลาจะพิจารณาก็พิจารณาตามสิ่งเหล่านี้ เปลี่ยนอาการเท่านั้น แล้วก็ทำด้วยความจงใจอย่าสักแต่ว่าทำ

นี่เวลาดูหมู่ดูเพื่อนทำให้อิดหนาระอาใจเหมือนกัน ดูกิริยาที่ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้มักจะไม่ค่อยมีความแยบคาย อันนี้ส่อถึงเรื่องปัญญา มันบอก ออกมาภายนอกจะแสดงความโง่ความฉลาดมันไม่แสดงออกมาจากใจจะแสดงมาจากไหน มาเป็นกิริยาทางกาย ทางวาจา ความประพฤติ การกระทำต่างๆ มันบอกอยู่นั้น เพราะฉะนั้นจึงได้พูดย้ำแล้วย้ำเล่าอยู่เสมอว่า ปัญญาๆ

การฆ่ากิเลสทุกประเภทเราพูดได้อย่างเต็มปากว่า ต้องเป็นปัญญาทั้งมวล สมาธิเป็นแต่เพียงว่าตะล่อมกิเลสให้เข้าสู่จุดรวมตัวไม่ฟุ้งซ่านรบกวนใจเท่านั้น ที่เรียกว่าจิตสงบก็คือกิเลสมันนอนก้น เหมือนกับตะกอนนอนก้นโอ่ง นอนกองอยู่ในนั้น แล้วจะปฏิบัติต่อตะกอนอย่างไรบ้างนั่นเป็นอีกแง่หนึ่ง นั่นเป็นเรื่องของปัญญา จิตของเราสงบ สงบตัวเข้ามา ไม่วุ่นวายกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ นี่เรียกว่าจิตสงบตัว

สมถธรรมทำให้กิเลสสงบตัวเข้ามา แต่เวลาที่จะแยกจะแยะกิเลสแต่ละประเภทออกมาฆ่ามาทำลายเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงนี้ต้องใช้ปัญญาทั้งนั้น ถึงสงบมันจะยึด แย็บออกไปมันก็ยึด อยู่ในภายในกายนี้มันก็ยึดขันธ์ทั้ง ๕ นี้ หมดทั้งดวงใจ ถึงสงบมันก็ยึด เพราะฉะนั้นจึงต้องได้คลี่คลายออกมาถึงเวลาที่จะทำลายกันแล้ว คลี่คลายออกมาด้วยปัญญา พินิจพิจารณาให้เห็นแจ่มแจ้งชัดเจน พอเข้าใจเต็มที่แล้วมันปล่อยของมันเอง

เช่นอย่างรูปกายนี่ กายของเราทุกสัดทุกส่วนเรียกว่ากองรูป ขันธ์แปลว่ากองหรือแปลว่าหมวด พิจารณากองรูปได้แก่ร่างกายนี้ จะพิจารณาตรงไหนก็พิจารณา พิจารณาหนังก็ซึมซาบเข้าไปถึงเนื้อถึงเอ็นถึงกระดูกถึงภายใน ซึ่งเต็มไปด้วยความปฏิกูลโสโครกพอๆ กันทั้งภายนอกภายใน พอดูได้อยู่บ้างแม้จะเป็นของสกปรกแต่เป็นส่วนละเอียดก็คือผิวหนังเท่านั้นปกปิดเอาไว้ นั่นก็ยังขี้เหงื่อขี้ไคลเต็มอยู่แล้ว เป็นขี้ทั้งหมด บนศีรษะกิเลสหรือสิ่งเหล่านี้ก็ไม่นิยมว่าสูงว่าต่ำมันมีทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการพิจารณารูปกายเราจะพิจารณาตรงไหนมันก็วิ่งทั่วถึงกันหมด เพราะเป็นความจริงเท่ากัน

ถ้าพูดถึงเรื่องอสุภะอสุภัง เป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่าขยะแขยง ไม่น่ายึดน่าถือมันก็เหมือนกัน จะพิจารณาเป็น อนิจฺจํ ความแปรสภาพ ทุกส่วนมันแปรเหมือนกันหมด ไม่มีส่วนไหนที่จะยับยั้งตั้งตัวอยู่โดยไม่เดินตามทาง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มันเกี่ยวโยงกันไป ทำหน้าที่พร้อมๆ กันไปจนกระทั่งมีความรู้แจ้งเห็นจริงประจักษ์ด้วยปัญญาแล้ว ไอ้ที่มันเคยยึดถืออยู่อย่างเหนียวแน่นมั่นคงก็คือกายนี้แลเป็นสำคัญ แม้เช่นนั้นมันก็ทนไม่ได้ เมื่อได้เห็นความจริงประจักษ์ด้วยปัญญาแล้ว จิตถอนตัวออกมาได้ทันที อุปาทานในขันธ์คือรูปขันธ์ถอนตัวออกมาได้ด้วยปัญญา นี่กิเลสประเภทหลงกาย ประเภทยึดกายเพราะความหลงนี้ ถอนออกมาได้ด้วยปัญญาพิจารณาใน ๓ สถาน ๔ สถานนี้ คืออสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา พ้นจากนี้ไปไม่ได้

ถ้าใจได้ซึ้งถึงธรรม ๓-๔ อย่างนี้แล้วก็ปล่อย ปล่อยอุปาทานความยึดมั่นในกาย เวทนาที่เกิดขึ้นภายในกายในจิตมันก็เป็นตัว อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เหมือนกัน ไม่ว่าสุข ไม่ว่าทุกข์ ไม่ว่าเฉยๆ มันเป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน พลิกออกมาแต่ว่าเป็นอสุภะอสุภังก็ได้ในฝ่ายรูปขันธ์เท่านั้น พลิกออกมานิดหนึ่งก็มาเป็นไตรลักษณ์นี้เสีย เพราะไตรลักษณ์เป็นที่รวมแห่งธรรมทั้งมวล

สัญญา ความจำได้หมายรู้ สังขารความคิดความปรุงภายในจิตใจ วิญญาณความรับทราบในขณะที่รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้นมาสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น เกิดแล้วดับไปๆ ประกาศตัว อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อยู่ในตัวอย่างสมบูรณ์ของเขา ถ้าสติปัญญาได้พินิจพิจารณาตามความสมบูรณ์ของไตรลักษณ์ที่ประกาศกังวานอยู่ภายในขันธ์นี้โดยตลอดทั่วถึงแล้ว ทำไมใจจะไม่ปล่อย

การยึดไว้ถือไว้เพราะความสำคัญผิดต่างหาก เมื่อความเข้าใจอันถูกต้องแล้วก็วางลงสู่ความจริงให้ถูกต้อง ไม่ยึดไม่ถือให้หนักหน่วงถ่วงหัวใจเปล่าๆ ได้รับความทุกข์ความทรมานมามากเพียงไรเพราะความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิด ไปแบกหามสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นเราเป็นของเรา คือความเป็นพิษเป็นภัยได้ถอนออกหมดด้วยปัญญา นี่ละหลักของการพิจารณาเป็นอย่างนี้

เมื่อถอนไปหมดแล้วมันไปไหนที่นี่ กิเลสมันมาเที่ยวซุ่มเที่ยวซ่อนอยู่ตามรูปทุกสัดทุกส่วนของรูป ทุกอาการของรูปก็ถูกทำลายไปแล้วด้วยปัญญา เวทนา ความสุข ทุกข์ เฉยๆ ทางส่วนร่างกายนี้ ก็รู้เท่าทันแล้ว ถอนอุปาทานจากความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ว่าเป็นเราเป็นของเราเสียแล้ว สัญญา ความจำได้หมายรู้ ก็ถอนจากความเป็นเราเป็นของเราเสียแล้ว มอบให้ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อันเป็นความจริงประเภทหนึ่งไปเสีย สังขาร วิญญาณ ก็เหมือนกัน มอบลงสู่ความจริงของเขาด้วยปัญญาอันเห็นชอบของเรา



(มีต่อ 2)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 05 ธ.ค.2006, 1:44 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ทีนี้กิเลสที่จะไปซุ่มซ่อนอยู่ในรูปก็ไม่มี เพราะถูกถอดถูกถอนออกไปโดยลำดับ ถูกฆ่าถูกฟันโดยลำดับ สะพานที่เกี่ยวโยงออกไปไปใกล้ไปไกล ออกไปหา รูป เสียง กลิ่น รส ออกไปจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ออกไปสัมผัสสัมพันธ์กับรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆ ก็ถูกทำลายลงไปหมด ไม่มีที่สืบต่อ แม้อายตนะภายในก็ถูกทำลายลงไป กองรูปก็ทำลายลงไปด้วยปัญญา กองเวทนา กายเวทนาก็ถูกทำลายลงไปด้วยปัญญา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ถูกทำลายลงไปด้วยสติปัญญา

กิเลสประเภทต่างๆ ที่เคยหลบเคยซ่อน เคยยึดเคยถือให้เป็นเครื่องกดถ่วงจิตใจ บีบคั้นจิตใจอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว นี่ละการพิจารณาทางด้านปัญญา แล้วกิเลสจะไปไหน บริษัทบริวารถูกฆ่าถูกทำลายไปหมดแล้ว ก็เหลือแต่องค์กษัตริย์ใหญ่ของมันเท่านั้นเอง ท่านเรียกว่าอวิชชา ไม่มีสมุนไม่มีทางออกหากินเสียแล้ว ออกมาทางรูป ทางเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ออกไม่ได้ถูกตัดสะพานแล้ว ออกไปรูป เสียง กลิ่น รสก็ยิ่งไกล ถูกตัดเข้ามาโดยลำดับๆ จนกระทั่งในขันธ์ก็ตัดขาดหมดแล้วไม่มีที่ต่อ เพียงเท่านี้เราก็ทราบได้ชัดว่า จิตนี้เป็นตัวการแห่งการเกิดการตาย ยังไม่ถึงขั้นดับอวิชชาก็ตาม

เพียงเท่านี้ก็ทราบได้ชัดแล้วว่า ตัว อวิชฺชาปจฺจยา นี้พาให้สืบหน่อต่อแขนงออกไปกว้างแคบขนาดไหนไม่มีประมาณ ให้เกิดภพเกิดชาติที่นั่นที่นี่เป็นไปเพราะอันใดก็รู้ชัด นี่เวลาขาดลงไปโดยลำดับๆ ไม่มีเงื่อนต่อแล้ว ก็ทราบชัดว่าเงื่อนต่อที่จะไปให้เกิดภพเกิดชาติในภพนั้นภพนี้อีกอันเป็นส่วนหยาบๆ ทั้งหลายไม่มี นอกจากส่วนละเอียดยังมีอยู่ในตัวของมัน มันก็รวมตัวเข้าไปอยู่ในจิต จิตกับอวิชชากลมกลืนเป็นอันเดียวกัน นั่นเห็นไหมความแยบคายของกิเลส

ผู้ปฏิบัติถ้าไม่ได้ปฏิบัติไม่ได้เจอไม่รู้ว่ากิเลสแหลมคมขนาดไหน ละเอียดลออขนาดไหน เพียงแต่สมุนของมันที่แสดงตัวออกมาเท่านั้นก็หลงกันเต็มโลกเต็มสงสารแล้ว เหตุใดเราจะไปสามารถรู้กษัตริย์ของกิเลสทั้งหลายได้ง่ายๆ จึงต้องถากต้องถางต้องตัดต้องฟันเข้าไปๆ แม้ที่สุดจนถึงจุดที่จะถึงปากถึงท้องอยู่แล้วมันก็ยังเอายาพิษไปวางไว้ตรงนั้นอีก ติดที่นั่น ไปยึดจิตซึ่งเต็มไปด้วยยาพิษคืออวิชชานั้นว่าเป็นเราเป็นของเราจนได้ นั่นถึงว่ามันเอายาพิษไปฝังไว้นั่นแล้ว เมื่อยึดนั้นก็เอาอีก ถึงจะไม่เกิดภพน้อยภพใหญ่ก็ตาม แม้ภพที่เป็นสุขและแน่วแน่ต่อความหลุดพ้นก็เป็นการล่าช้า ยังถูกหลอกของอวิชชาอยู่จนได้นั่นแล

เพราะฉะนั้นปัญญาเมื่อได้ฟาดฟันหั่นแหลกเข้าไปโดยลำดับ เชื้ออยู่ที่ไหนเป็นต้องติดตามเข้าไป เชื้ออันเป็นข้าศึก จอมข้าศึกอันแท้จริงคืออะไรอยู่ที่ไหน หนีจากใจได้เหรอ มันต้องพิจารณาเข้าไป ตอนนั้นซีตอนไปเจออวิชชาให้มันกล่อม นั่นเราจะเห็นได้ว่าอวิชชาละเอียดขนาดไหน พอไปถึงจุดนั้นก็ว่าตัววิเศษวิโสอัศจรรย์เกินโลก มีความสง่าผ่าเผย มีความสว่างกระจ่างแจ้ง มีความองอาจกล้าหาญ มีแต่เรื่องอวิชชาดัดทั้งนั้น ตบตาปัญญาเสียไม่รู้ตัว สติปัญญาเลยกลายเป็นองครักษ์ไปรักษาอวิชชาอย่างไม่รู้ตัว

นั่นเห็นไหม ถึงขั้นสติขั้นปัญญาอัตโนมัติก็ตามยังต้องหลงกลอวิชชาจนได้ ถ้าไม่มีผู้แนะไว้ก่อนอย่างไรต้องเป็นอย่างนี้ ก่อนที่จะผ่านไปได้ไม่เร็วก็ช้าต้องติดเสียก่อน ถ้ามีผู้แนะไว้ก่อนแล้ว พอไปถึงจุดนี้ตามหลักความจริงของตนประจักษ์แล้ว ก็เข้าใจได้เอง อ๋อ ตรงนี้เหรอที่ท่านว่าอย่างนั้นๆ สติปัญญาก็ใส่เข้าไปทันที พังทลายเลยไม่ได้ชักช้า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็ไปรวมอยู่นั้นหมด

ส่วน อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้มันหมดปัญหาไปแล้ว ผ่านไปแล้วไม่มายุ่ง ว่าอันนี้เป็น อนิจฺจํ นี้เป็น ทุกฺขํ นี้เป็น อนตฺตา เมื่อผ่านไปแล้วๆ สิ่งเหล่านี้เป็นทาง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นไตรลักษณ์เป็นทางเดินเพื่อความหลุดพ้น เมื่อผ่านพ้นไปถึงไหน ๆ แล้ว สิ่งที่ผ่านไปแล้วมันก็หมดความหมายไม่ว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตาไปโดยลำดับ ไม่ต้องมาเสกมาสรรกันอีก ทีนี้อันนี้ก็ไปรวมตัวอยู่กับอวิชชา เพราะเป็นสมมุติด้วยกัน อวิชชาก็เป็นสมมุติ สมมุติสุดยอดของสมมุติ ละเอียดสุดยอด อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็ละเอียดสุดยอดอยู่ในอวิชชานั้น สติปัญญาอันเป็นฝ่ายมรรคซึ่งเป็นสมมุติด้วยกันก็สุดยอด

ผู้ปฏิบัติทั้งหลายพึงสังเกตให้รอบคอบ ไม่งั้นติดและทำให้ล่าช้าในการดำเนิน และอย่าเข้าใจว่าเป็นสูงเป็นต่ำ เป็นที่ยึดเป็นที่ไว้ใจที่ต้องใจเมื่อพิจารณาเข้าไป เมื่อถึงขั้นที่จะทำลายกันแล้วนั้น อันนี้แลที่เรียกว่าจะว่าขิปปาภิญญาหรือว่าอุคฆติตัญญูก็ได้เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว ไม่นาน เป็นขั้นละเอียด ถ้าว่างานก็ง่ายแล้ว มีแต่ยุบยิบๆ อยู่ภายในจิตเท่านั้น นอกนั้นหมดปัญหาไปโดยประการทั้งปวง ประหนึ่งว่าเราไม่เคยพิจารณามาเลย คือจิตไม่สนใจกับสิ่งใดทั้งนั้น เพราะไม่ติดใจ ปล่อยมาแล้ว วางมาแล้ว รู้แล้วเห็นแล้วไปยุ่งทำไม มันรู้เอง ตรงไหนที่ยังมีสัมผัสสัมพันธ์ดูดดื่มอยู่ ตรงนั้นแหละเป็นจุดที่อยู่ของข้าศึก จึงต้องรบกันที่ตรงนั้น ฟาดฟันหั่นแหลกกันที่ตรงนั้น

พอจุดสุดท้ายพังทลายลงไปด้วยปัญญาอันทันสมัยแล้วก็หมดปัญหาโดยสิ้นเชิง จะพิจารณาว่าอันนี้เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อะไรอีก ใจเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ได้ยังไง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นทางเดินเพื่อพระนิพพานต่างหาก ใจที่บริสุทธิ์แล้วเป็น อนตฺตา ได้ยังไง ถ้าใจที่บริสุทธิ์แล้วเป็น อนตฺตา นิพพานเป็น อนตฺตา นิพพานก็เป็นไตรลักษณ์ละซิ เป็นของอัศจรรย์อะไร เพราะฉะนั้นธรรมชาตินั้นจึงไม่มีสมมุติที่จะพูดว่าเป็น อตฺตา หรือเป็น อนตฺตา เพราะทั้งสองนี้เป็นสมมุติด้วยกัน

อันนั้นไม่ใช่สมมุติ พ้นวิสัยของสมมุติไปแล้ว ท่านจึงให้ชื่อเพียงว่าวิมุตติเท่านั้น แล้วก็ไม่ขัดกับธรรมบทใดเหมือนคำว่า อนตฺตา ถ้าว่า อนตฺตา ก็ขัดกับไตรลักษณ์ ดึงพระนิพพานมาเป็นไตรลักษณ์เสียเอง เป็นวิมุตติพ้นแล้วก็หมดปัญหา เมื่อถึงจุดนี้ว่าขิปปาภิญญาก็ได้ เพราะเป็นขึ้นเพียงขณะเดียวเท่านั้น อุคฆติตัญญูก็ได้ ทราบกลมายาของกิเลสทั้งมวลโดยลำดับๆ ไปถึงขณะนั้นยิ่งจะทราบเลย เรียกว่าอุคฆติตัญญูก็ได้ วิปจิตัญญูก็ได้ หากมีเหตุมีผลเป็นเครื่องเทียบเคียงตนเอง สอนตนเอง พิจารณาโดยลำพังตนเอง ฟังเทศน์ระหว่างอวิชชากับจิต หรือระหว่างขันธ์กับจิต

ตั้งแต่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไปแหละ นี่เป็นเรื่องฟังธรรมทั้งกลางวันกลางคืนไปตลอดสาย ส่วนรูปนี้เวลาชำนิชำนาญทางอสุภะแล้วก็เป็นได้ พิจารณาทั้งกลางวันกลางคืน ยิ่งไปถึงขั้นอวิชชาด้วยแล้วเหมือนน้ำซับน้ำซึมไหลรินอยู่ทั้งแล้งทั้งฝน สติปัญญาขั้นละเอียดกับกิเลสประเภทละเอียดตามต้อนกัน พิจารณากัน ต่อสู้กัน จนกระทั่งหมดสิ่งที่จะต่อสู้ หมดข้าศึก หมดสมมุติ หมดศัตรูภายในจิตใจแล้ว สติปัญญาที่หมุนตัวเป็นเกลียวอยู่เหมือนธรรมจักรก็หมดปัญหาไปเอง เพราะสติปัญญาก็เป็นสมมุติฝ่ายแก้ สมุทัยก็เป็นสมมุติฝ่ายผูกมัด เมื่อฝ่ายนั้นซึ่งเป็นฝ่ายกิเลสสิ้นสุดลงไปหรือหมดปัญหาลงไปแล้ว สติปัญญาประเภทมรรคจะไปแก้อะไร ย่อมหมดปัญหาไปเช่นเดียวกัน

หากจะพูดก็ว่าสติในหลักธรรมชาติ ปัญญาในหลักธรรมชาติ หรือว่าปัญญาญาณไปเสีย แต่ก็เป็นสมมุติด้วยกัน ธรรมชาติที่บริสุทธิ์นี้เท่านั้นเป็นวิมุตติ ไม่มีอาการ อันใดที่แสดงอาการออกอันนั้นเป็นสมมุติทั้งมวล อาศัยกันไปเพียงระยะชั่วขันธ์แตกสลายเท่านั้น พอขันธ์แตกสลายไปแล้วอันนี้ก็หมดปัญหา อาการทั้งมวลนี้ก็เป็นไปตามสมมุติทั้งหมด ส่วนวิมุตตินั้นไม่ใช่นักโทษไม่ใช่ผู้ต้องหา จะต้องไปเที่ยวหาตั้งชื่อตั้งนาม ไปหาค้นคว้าว่าไปอยู่ที่ไหนๆ อะไร ถ้าเป็นผู้ต้องหาก็จะต้องตามจับควบคุมตัวมาลงโทษ นั่นเป็นวิมุตติ

ขอให้เป็นเถอะใครเป็นก็รู้ได้ทุกคนนั่นแหละ สนฺทิฏฺฐิโก พระพุทธเจ้าไม่ได้ผูกขาด มอบให้กับผู้ปฏิบัติทุกคนจะพึงรู้โดยลำพังตนเอง สนฺทิฏฺฐิโก จะเป็นผู้พึงรู้เองเห็นเองด้วยการปฏิบัติตามสติปัญญาของตนเอง ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ท่านผู้รู้ทั้งหลายจะพึงรู้จำเพาะตน มันก็หมดปัญหา

นั่นละหนักมาขนาดไหน ทุกข์มาเพียงไรก็ตาม เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วมันลบล้างกันหมดเรื่องความทุกข์ทั้งหลาย ไม่เสียดายความเพียรของตนที่ทำมาหนักเบามากน้อยเพียงไรแทบล้มแทบตาย ไม่ได้เสียดายกำลังความเพียรที่ทำอยู่นั้นด้วยความทุกข์ยากลำบาก เพราะคุณค่าเกินคาดเกินหมาย เป็นธรรมล้นค่า ทำไมเราจะต้องมาถือความทุกข์ความลำบากซึ่งเปรียบเหมือนมูตรเหมือนคูถนี้เป็นอุปสรรค แล้วเราจะเห็นธรรมอันประเสริฐที่เป็นเครื่องลบล้างสิ่งเหล่านี้ได้ยังไง ต้องคิดอย่างนั้นนักปฏิบัติ

อย่าท้อถอยอ่อนแออันเป็นกลมายาของกิเลสทั้งมวล มีอยู่รอบจิตใจของเรา พากันคิดอ่านไตร่ตรองให้ดีทุกสิ่งทุกอย่าง จะเป็นไปด้วยความราบรื่นดีงาม สมนามว่าเราเป็นผู้มาชำระกิเลส อย่าให้กิเลสมาเหยียบย่ำทำลายหัวใจเรา กิริยามารยาทอาการแสดงออกทุกแง่ทุกมุม อย่าให้เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวลดังที่เคยเป็นอยู่นี้ ให้เป็นเรื่องของธรรมได้มีโอกาสแสดงออกมาบ้าง ด้วยความพยายามของเรา สมกับนามว่าเป็นนักปฏิบัติ เป็นนักต่อสู้ เป็นนักใคร่ครวญเพื่อความรู้ความฉลาดวันนี้เทศน์เพียงเท่านี้พูดท้ายเทศน์

พูดให้สติหมู่เพื่อนให้ข้อคิดอุบายวิธีต่อสู้กับกิเลส ไม่งั้นไม่ทันมันง่ายๆ นะ ละเอียดสุดทีเดียว แต่เมื่อรู้เรื่องของมันเสียหมดจนปราบมันอยู่หมัด พูดง่ายๆ นะ แล้วนั้น มันจะแสดงอยู่ที่ไหนมันรู้ที่นี่ ไม่ว่ามันจะแสดงออกมากับคน ออกมากับสัตว์รู้หมด มันมีแต่เรื่องอันเดียวทั้งนั้น พอเรารู้ทันมันแล้วมันก็หมดหนทางทำลายเรา กิเลสนี้ละเอียดเอาจริงๆ นะ หมดเนื้อหมดตัวนี่ก็มันทั้งนั้น

ครอบอยู่หมดทุกขุมขน เพราะฉะนั้นจึงแก้มันยากนะ ต้องเอาจริงๆ ใช้ความพินิจพิจารณา ใช้ความอดความทนพากเพียร เอาให้เต็มที่เต็มฐาน เพราะเราตั้งหน้าตั้งตาจะเอาชนะมันอยู่แล้ว จะให้แพ้มันมันสมควรเหรอกับเราผู้ตั้งใจจะเอาชนะมัน แต่แล้วกลับแพ้มันอย่างหลุดลุ่ยๆ ฟังแต่ว่าหลุดลุ่ยๆ นั่นเถอะ ไม่เป็นท่าอะไรเลย

นี่ได้เคยปฏิบัติมา โอ้โห พิจารณาย้อนหลัง แหม บางทีจะร้องห่มร้องไห้และน้ำตาร่วงคิดดูอย่างตอนจิตเสื่อม แหมมันเสียใจเสียจน ถ้าเป็นทางโลกก็เรียกว่าผูกโกรธผูกแค้น พอได้ที่เท่านั้นละแหม ทีนี้กำลังทางความเพียรความเป็นนักต่อสู้ไม่ทราบมาจากไหน ถ้าเราเทียบแบบโลกนะ ฆ่าคนได้เขาฆ่ากันได้เพราะเหตุนี้เอง มันเคียดแค้นอย่างถึงใจ แต่นี้มันเป็นเรื่องของธรรมไม่จัดว่าเป็นกิเลสเสีย เป็นฝ่ายมรรค คือพลังของธรรมขึ้นเต็มที่ต่อสู้กับกิเลส ถ้าเป็นทางโลกนี้ก็เรียกว่าเป็นสมุทัย เป็นความอาฆาตจริงๆ อันนี้ไม่เป็นอย่างนั้น เป็นพลังของธรรมไม่ยอมที่จะให้แพ้ได้อีกต่อไป ให้เสื่อมอีกต่อไปได้

ตั้งแต่นั้นมาเหมือนเป็นอาจารย์เอกทีเดียว ไปที่ไหนนี่มันฟิตตัวของมันปั๋งๆ ไม่คุ้นกับใครเลยแหละ จ่อหัวมันอยู่นั่นเลย แล้วจิตก็ไม่เสื่อมเพราะกิเลสและธรรมไม่ชอบคนเซ่อนี่ เซ่อตรงไหนมันเข้าตรงนั้นละกิเลส ธรรมท่านก็ไม่ได้สอนให้เซ่อ สอนให้ฉลาด แต่สุดท้ายมันก็มาจมอยู่ในสมาธิจนได้ มันเอาช่องหนึ่งจนได้กิเลส

เวลาสมาธิได้อย่างใจแล้ว ที่นี่ก็เลยติดสมาธิเสียไม่อยากออกพิจารณาทางด้านปัญญา เห็นว่าลำบากลำบน เข้าอยู่ในความรู้แน่วอยู่อันเดียว ไม่กระทบกระเทือนกับอะไรเพราะไม่ออกมาสู้กับอะไรนี่ อยู่เท่าไรก็ได้ ก็ติดตรงนั้นเสีย กิเลสก็ไปกล่อมตรงนั้นอีกแหละ ติดสมาธิไม่เป็นกิเลสจะเป็นอะไร ความหลงความติด ความติดสุขมันก็เป็นสมุทัยเสีย แน่ะ มันเอาจนได้นะ ยังดีพ่อแม่ครูอาจารย์ท่านยังมีชีวิตอยู่ท่านขนาบออกมันถึงออก ไม่งั้นไม่ยอมออกง่ายๆ นะ

เวลาออกจากสมาธิเพื่อปัญญา มันก็ออกอย่างแหวกแนวเหมือนกัน นิสัยผมมันผาดโผนรู้เจ้าของ ผาดโผนจริงๆ เพราะฉะนั้นครูอาจารย์ผู้มาสอนก็ต้องฉลาดจริงๆ ถึงจะสอนได้ อย่างพ่อแม่ครูอาจารย์ไม่มีทางตำหนิแล้ว เวลามันออกมันก็ออกอย่างผาดโผน ออกแบบไม่ยอมเข้า มีแต่จะออกท่าเดียว ว่ากิเลสตายด้วยปัญญา ก็เลยมีแต่จะเอาปัญญาไม่คำนึงถึงสมาธิเลย แล้วตำหนิสมาธิด้วยซ้ำว่านอนตายอยู่เฉยๆ แน่ะ มันไม่พอดี เวลาผ่านไปถึงรู้ นั่นเป็นครูหมด

เวลาจะตายจริงๆ ก็เข้าสมาธิ แต่บังคับเข้านะไม่งั้นไม่ยอมเข้า จะตายจริงๆ ยังต่อสู้กันอยู่ไม่ถอย เพียงยกมือไปแปะๆ มันต่อยไม่ได้หมดกำลัง เอามือไปแปะๆ กัน เอาหมัดไปแปะๆ กัน มันไม่มีกำลังจะต่อยก็ยังไม่ถอยจิตนี่ นั่นละมันจะตายจริงๆ ก็หมุนตัวเข้ามาสู่สมาธิ บังคับเข้า สุดท้ายก็เอาพุทโธกำกับนะ ไม่งั้นมันจะผึงออกไปทำงาน ไม่ใช่มันจะไปไหนนะมันจะผึงไปสู่งาน บังคับไว้อย่างขนาดนั้นทีเดียวผมน่ะ นิสัยมันผาดโผน บังคับไว้ๆ เอาจริงเอาจัง

พุทโธให้ถี่ยิบไม่ยอมให้ออก สักเดี๋ยวจิตก็ค่อยสงบเข้ามาๆ เพราะมันจริงทุกอย่างนี่ เวลาสงบก็จริงไม่ยอมให้ทำงาน จิตจะออกไม่ให้ออกบังคับไว้ โอ๋ย เป็นภาระจริงๆ เป็นธุระภาระจริงๆ ใส่เข้าไปมันก็สงบแน่วลง โห เหมือนกับถอดเสี้ยนถอดหนามนะ จิตมีกำลังวังชาเบาโหวงเทียวในตัวนี่ จิตแน่ว พักให้เต็มที่ เรื่องถอนไม่ต้องบอก พอแต่ปล่อยเมื่อไรจะออกผึงเลย ผึงก็ผึงใส่งานนะไม่ใช่ผึงไปไหนแหละ

พอถอนออกมาปั๊บก็ปุ๊บเลย เอ้า ปล่อย มันกระหน่ำกัน ถ้าคมมีดก็เหมือนมีดได้ลับหินเรียบร้อยแล้ว คนก็ได้รับประทานอาหารได้พักผ่อนนอนหลับให้สบายแล้ว งานก็งานชิ้นนั้นมันทนไปได้ยังไง มีดก็มีดเล่มนี้แหละแต่ได้ลับหินแล้ว คนก็คนคนนี้ผู้ทำงานแต่มีกำลังวังชาแล้ว พักผ่อนนอนหลับรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว ฟันลงไป งานชิ้นนี้ไม้ท่อนนี้ขาดสะบั้นไปเลยคราวนี้ แต่เพราะความด่วนนั่นเองละ ความเห็นโทษมาก ความด่วน รีบด่วนจิตจึงไม่อยากจะเข้าสมาธิ

ก็เห็นคุณค่าอยู่แต่มันก็เห็นคุณค่าแห่งการต่อสู้มากยิ่งกว่าสมาธิ จนกระทั่งจิตผ่านของมันไปแล้ว มันฟัดมันเหวี่ยงกันจนผ่านไปแล้วทีนี้ถึงมาเป็นบทเรียนทั้งหมด อุทธัจจะ ท่านว่า ความฟุ้งซ่าน ไม่ใช่ฟุ้งซ่านไปโน่นนะ ความฟุ้งความเพลินในงานที่ตนทำ ที่ตนแก้กิเลสนั้น อุทธัจจะกุกกุจจะ ในนิวรณ์ ๕ กับอุทธัจจะอันนี้ต่างกันคนละโลก มันเหมือนกันได้ยังไง

อุทธัจจะในนิวรณ์ ๕ ก็มีอยู่ในคนทั่วๆ ไป แต่อุทธัจจะอันนี้จิตเพลินในการพิจารณา การต่อสู้กับกิเลส เพลินจนลืมพักผ่อนในสมาธิ ท่านเรียกอุทธัจจะ คือจิตไม่รอบตัวก็เป็นสังโยชน์อันหนึ่ง มานะก็หมายถึงจิตดวงผ่องใสนี่แหละ ที่ว่ามานะ ๙ นั่น เอาผ่องใสนี่ยกขึ้นเป็นเขี้ยวเป็นเขาขึ้นมา ท่านถึงได้ว่า สามสามเป็นเก้า ตนต่ำกว่าเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขา สำคัญว่าเสมอเขา สำคัญว่ายิ่งกว่าเขา ตัวเสมอเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขา สำคัญว่าเสมอเขา สำคัญว่ายิ่งกว่าเขา ตนยิ่งกว่าเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขา สำคัญว่าเสมอเขา สำคัญว่ายิ่งกว่าเขา เก้าแล้วนั่น เอาอันนี้แหละเป็นเขี้ยวเป็นเขา พออันนี้พังลงไปแล้วเอาอะไรมาเทียบมาเคียง เอาอะไรมาฟัดมาเหวี่ยงกันไม่มี เขี้ยวเขาก็หมดไปแล้ว

เขี้ยวเขาก็เขี้ยวเขาของอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นั่น พอต่อยเขี้ยวมันหักลงไปแล้ว จะเอาอะไรมาแข่ง อยากสู้กับอะไรอีก อยากสู้ก็ไม่อยากสู้ กล้าก็ไม่กล้า กลัวก็ไม่กลัว ความกล้าความกลัวมันก็เป็นกิเลสทั้งมวล นี่ละที่ว่ามานะ ๙ พอจากอวิชชานี้แล้วถืออะไร มันไม่มีที่ถือนี่ จะไปบอกให้มันถืออะไรอีก ลงในนี้หมดนั่นแหละ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ รูปราคะก็ยินดีใน แต่สำหรับผมการปฏิบัติของผมผมว่ายินดีภาพภายในจิต เพราะเราปรากฏอย่างนั้น เป็นภาพภายในจิต ข้างนอกมันสละมาแล้ว มันเป็นภาพอันหนึ่งอยู่ภายใน มันก็มายินดีในการพิจารณานี้

ความยินดีในการพิจารณานั้นแหละท่านเรียกรูปราคะ ไม่ได้เป็นราคะตัณหาแบบโลกๆ ทั้งหลายเขาเป็นนะ แต่มันไม่มีศัพท์อะไรที่จะมาใช้ให้เหมาะสมกับนี้ท่านก็ว่าราคะ คือความเพลิน ความพอใจในการพิจารณาอยู่กับอันนั้น พอใจกับอันนั้น แต่มันไปปรากฏเป็นภาพภายใน ภาพภายนอกมันออกหมดแล้ว มันปล่อยทิ้งก็เป็นภาพภายใน พออันนี้ออกหมดแล้วมันก็ว่างนี่

อรูปราคะมันไม่มีรูป ก็ยินดีในความว่างของตัวเองเสีย นี่พูดตามหลักปฏิบัติที่ประจักษ์กับเจ้าของเราพูดได้อย่างนี้ หรือจะว่ายินดีในสุขเวทนาก็ยกให้ แต่มันไม่เด่นเหมือนเป็นความว่างนี้ มันว่างๆ หมด มองดูภูเขาทั้งลูก ตามันเห็นพอเป็นเงาๆ นี่ แต่จิตมันทะลุไปหมด มองดูหินทั้งก้อนนี้ ก้อนใหญ่ๆ เท่ากุฏินี่มองดูมันพอเป็นเงาๆ แต่จิตมันว่างหมดแล้ว มองดูร่างกายเจ้าของนี่ก็เหมือนกับเป็นเงาๆ อย่างว่าอีกเหมือนกัน อันหนึ่งมันทะลุไปหมด



(มีต่อ 3)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 05 ธ.ค.2006, 1:50 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มันว่างถึงขนาดนั้น แต่หารู้ไม่ว่าตัวผู้ที่ไปว่าเขาว่างมันไม่ได้ว่างนี่ เหมือนกับคนที่อยู่บนหัวตอนี่มองไปที่ไหนมันก็ว่างไปหมด แต่หัวตอที่ยืนเหยียบอยู่นั้นมันไม่ดู มันว่างที่ไหนก็หัวตอนั่นน่ะ มันไม่ดูตรงนั้นซิ การพิจารณาทางภาคปฏิบัติสำหรับผมเองเป็นอย่างนั้น ก็ยกให้ตามถนัดมันลางเนื้อชอบลางยา ผมมันมาถนัดเอาความว่าง มันติดอยู่ในความว่าง อรูปราคะยินดีอยู่ในความว่าง เพลินอยู่ในนั้น ฝึกซ้อมกันอยู่นั้นเอากันอยู่นั้น มานะก็ถือจิต อุทธัจจะ ความเพลินในการค้นคว้าการพินิจพิจารณา

อวิชชาก็ถือตัวนี้แหละ พออันนี้หมดแล้วถืออะไร ก็มันถืออยู่ตรงนั้น มันติดอยู่ตรงนั้น ก็ถือตรงนั้นยินดีในนั้น พออันนั้นหมดไปแล้วไม่เห็นไปยินดีกับอะไร ไม่เห็นไปถืออะไรไปติดอะไร ทีนี้พออันนี้หมดไปแล้วมันก็ว่าง ว่างรอบตัวที่นี่ มันไม่ว่างอยู่กับตรงนั้นตรงอวิชชา เหมือนกับว่าเราขึ้นเหยียบอยู่บนหัวตอ อวิชชาเป็นเหมือนหัวตอ มองไปทางไหนว่างหมด แต่หัวตอที่เรากำลังเหยียบอยู่นั่นไม่ได้มองลงไป มันไม่ว่างตรงนั้น พอย้อนมาดูหัวตอที่เราเหยียบ หัวตอก็พังไปด้วยกัน ทีนี้ก็ว่างไปหมด ว่างเป็นขั้นๆ นี่เราก็เคยเทศน์และพิมพ์ออกเป็นหนังสือแล้ว ออกเป็นกัณฑ์เทศน์แล้วอยู่ในแว่นดวงใจก็มี ความว่างมันว่างรอบตัวจากนั้นแล้วก็ไม่มีอะไรจะพูด

เราพูดถึงเรื่องสมาธิว่า ในขณะที่จิตเป็นสมาธิมันก็ว่าง พอถอนออกจากสมาธิแล้วมันไม่ว่าง ออกจากนั้นมันก็ว่าง ว่างเป็นฐานของจิตดังที่พูดแล้ว ขึ้นไปอยู่บนหัวตอมันก็ว่าง ว่างตามฐานของจิต ถึงจิตจะเข้าสมาธิก็ว่าง ออกมาแล้วความว่างก็มีประจำจิต เรียกว่าเป็นฐานของจิต ว่างประจำฐานของจิตที่ชำระได้ เราก็พูดไปแล้ว จากนั้นก็ว่างในความเป็นจริงของจิต คือว่างทั้งจิตด้วย ไม่ว่าแต่อันนั้นว่างอันนี้ว่าง เจ้าของไม่ว่าง เจ้าของเองก็ว่างมันก็วางไปหมด วางอันนั้นกับวางอันนี้แต่เจ้าของไม่วางเจ้าของมันก็ยังไม่ว่าง พอมาวางเจ้าของเมื่อไรมันก็ว่างเมื่อนั้น เรียกว่าว่างตลอดทั่วถึง

แต่เราเขียนในนั้นเราเพียงแต่ว่าว่างนี้ว่างขั้นสุดท้ายตามกำลังของเรา เราว่าไปอย่างนั้นเสีย ใครจะมีกำลังเหนือนั้นก็เอาไปซีถ้าไปได้ ถึงนั้นแล้วมันก็รู้ด้วยกันทุกคนแต่ไม่จำเป็นจะต้องไปพูด เพราะพูดไว้สำหรับผู้ปฏิบัติให้พิจารณา ไปถึงนั้นมันจะเลยไปไหนอีกเอ้าลองดูซิ

เพราะฉะนั้นพระกรรมฐานหรือผู้ปฏิบัตินี้มีภูมิจิตภูมิใจสูงต่ำขนาดไหน พอมาพูดต่อกันฟังเท่านั้นแหละ มันอ่านหัวใจกันนี่ พิจารณายังไงทุกวันนี้นั่นถาม พิจารณาอย่างนั้นๆ นั่นบอกแล้วนะนั่น อ่านหัวใจแล้ว เปิดหัวใจให้อ่านแล้ว พิจารณาอย่างนั้นๆ ทราบแล้ว ทราบทันทีว่าอยู่ในขั้นใดภูมิใด ถ้าสมมุติว่าสิ้นสุดไปแล้ว ก็ต้องพูดเรื่องราวของจิตปั๊บออกมาเท่านั้นไม่ต้องมาก รู้ทันที

สนฺทิฏฺฐิโก ไม่มีปัญหา พระพุทธเจ้าประทานไว้ไม่มีปัญหาจริงๆ นี่ ที่มีปัญหาก็มีแต่เรื่องของกิเลสทั้งนั้นพาให้เป็นปัญหา ตัวนี้ตัวมืดนี่มันปิดตรงไหนมืดตื้อไปเลย ตัวของมันไม่ได้มืด มันฉลาด แต่เวลามันปิดตาสัตวโลกมันทำให้มืดมิดปิดตา ลืมบุญลืมคุณ ลืมนรกสวรรค์ไปหมด ไม่ให้เห็น ดีกลับเป็นชั่ว พลิกทางสันเป็นคมไปหมดฟันเจ้าของแหลก

ใครจะไปอ่านมันง่ายๆ กิเลส รู้ขนาดไหนก็รู้เถอะ ถ้าไม่รู้ตามแบบฉบับของพระพุทธเจ้าที่สอนไว้นี้ไม่มีทางว่างั้นเลย เรากล้าพูดได้เต็มปาก วิชาใดก็ตาม ใครเรียนมาจากไหนก็ตาม ถ้าไม่ใช่วิชาธรรมพระพุทธเจ้า ยังไงกิเลสหนังไม่ถลอก นอกจากจะเป็นเครื่องเสริมกิเลสเข้าไปอีก ถ้าวิชาธรรมเข้าไปจับแล้วกิเลสตัวไหนก็ขยะๆ แล้วหมอบๆ ดีไม่ดีเรียบ

อ่านหัวใจนี่ซิมันสำคัญมากนะ ดูนอกมันดูง่าย ดูโน่นดูนี่ ดูต้นไม้ ภูเขา ดินฟ้าอากาศเป็นยังไง แต่มาดูหัวใจนี้ดูยาก เพราะกิเลสพาให้ยาก ถ้าเรียนเรื่องของกิเลสจะเรียนยากอะไร เรียนกันง่าย เพราะกิเลสพาให้ง่ายนี่

อย่างนี้ที่ท่านว่าเป็นมหาสติมหาปัญญา เวลาท่านมีอธิกรณ์ พระอรหันต์มีคนฟ้องเหมือนกันนี่ครั้งพุทธกาลมีนี่ พระพุทธเจ้าท่านยกมหาสติขึ้นรับ แต่ก่อนพระพุทธเจ้าเป็นประธานเป็นสักขีพยาน พระองค์รับสั่งอย่างไรแล้วเป็นความจริงนี่ ใครไม่เชื่อพระพุทธเจ้าก็หมด นอกจากเทวทัตเท่านั้น กลายเป็นเทวทัตกี่คนก็ไม่เชื่อเท่านั้นคน ฟ้องพระอรหันต์ถึงขั้นที่สุดก็มีนี่ เป็นปาราชิก โอ๊ย อย่าไปฟ้องเธอ เธอเป็นสติวินัยแล้ว ท่านว่าอย่างนี้นะ ท่านเอามาใช้ตอนนั้นสติวินัย

คือรอบตัวแล้ว เป็นอฐานะ พูดง่ายๆ พูดอย่างเราให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ว่า อันหนึ่งจิตวิมุตติ อันมาฟ้องร้องนี้เป็นสมมุติทั้งมวลมันเข้ากันได้ยังไงกับวิมุตติน่ะ นี่พูดตามหลักความจริง อันนั้นวิมุตติหลุดพ้นแล้วจากสมมุติทั้งมวล เหตุใดสมมุตินี้จะเอื้อมเข้าไปถึง ฟ้องท่านเป็นสังฆาฯ ปาราชิกอะไรได้อีก เพราะไม่ใช่วิสัยนี่ จิตดวงนั้นไม่ใช่วิสัยของสมมุติ การฟ้องร้องนี่จะเอื้อมเข้าไปถึงได้ไง เท่านั้นก็หมดปัญหา

มีพระอรหันต์เท่านั้นท่านจะเป็นสักขีพยานกันได้ เพราะท่านเป็นธรรมด้วยกัน ท่านเห็นด้วยกัน ท่านรู้ด้วยกัน ท่านแน่ด้วยกันในสิ่งเหล่านี้ นอกนั้นก็เป็นไม่ได้ ครั้งพุทธกาลก็มีพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เป็นอรหันต์องค์เอกจะว่าไง ใครมาฟ้องพระพุทธเจ้าก็รับสั่งเสีย อย่าง วักกลิๆ คนถ่อยๆ อย่าไปว่าเธอ คือใครก็ไปตำหนิติเตียนท่านองค์นั้น เธอเคยสั่งสมกิริยานี้มาตั้งนานแสนนานแล้วจะไปแก้ได้ยังไงจริตนิสัย ไปว่าเธอทำไม จริตนิสัยของใครของเราก็เป็นสมบัติของใครของเรา จริตนิสัยไม่เป็นโทษเป็นกรรมอะไร พระองค์ว่าอย่างงั้นก็หยุดแล้ว

บางองค์ก็กิริยามารยาทสวยงาม ใครก็ว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะคนก็คาดว่าพระอรหันต์ต้องมีกิริยามารยาทที่สวยงามนิ่มนวลมาก นี่เป็นความคิด แต่ไม่ได้คำนึงถึงนิสัย นิสัยเป็นของดั้งเดิม ความเป็นอรหันต์เป็นความสิ้นจากกิเลส กิเลสไม่ได้อยู่ในกิริยาอันนี้ เพราะสิ่งนี้มันยังไม่ดับ ดับได้เฉพาะพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น พร้อมทั้งนิสัยและวาสนา นอกนั้นดับไม่ได้

พระสันตกาย พระสงฆ์ทั้งหลายขึ้นไปทูลพระพุทธเจ้าด้วยความชมเชย ว่าแหมเป็นเหมือนท่านเป็นพระอรหันต์ ทูลถามพระพุทธเจ้าตรงๆ ก็มีว่าเป็นพระอรหันต์แล้วยัง พระสันตกายนี่ ให้ชื่อว่าสันตกาย สันตกายก็แปลว่าผู้มีกายอันสงบนั่นเอง มารยาทเรียบร้อยสวยงาม ก็ตรัสบอกว่า โอ้โห นี่เธอเคยเป็นราชสีห์มาตั้ง ๕๐๐ ชาติ เธอได้เคยเป็นมาอย่างนี้

ยกราชสีห์ขึ้นมา ราชสีห์นั้นเป็นสัตว์ที่มีสติดีมากเหมือนกับเสือ เวลาจะนอนราชสีห์จะต้องกำหนดอวัยวะทุกสัดทุกส่วนไว้เรียบร้อย ตื่นขึ้นมาแล้วเมื่อเห็นอวัยวะส่วนใดเคลื่อนไหวจากที่วางไว้เดิมแล้ว ราชสีห์จะไม่ลุกขึ้นหากิน จะนอนใหม่ตั้งใหม่ จนกระทั่งตื่นขึ้นมาอวัยวะส่วนใดที่วางไว้ เช่น หู หางอย่างนี้เป็นปกติแล้วจึงจะลุกขึ้นหากิน แผดเสียงเอี้ยวกายบิดกายแล้วออกหากิน นี่เธอได้เคยฝึกมารยาทแบบนี้มาเป็นเวลานานแล้วจากกำเนิดราชสีห์

จากนั้นท่านก็เลยยกธรรมะเป็นพุทธพจน์ขึ้นว่า สนฺตกาโย สนฺตวาโจ สนฺตมโน สุสมาหิโต วนฺตโลกามิโส ภิกฺขุ อุปสนฺโตติ จฺจติ ผู้มีกายอันสงบด้วยความประพฤติ ผู้มีวาจาอันสงบ ผู้มีใจอันสงบจากกิเลสทั้งหลาย ผู้มีโลกามิสอันละได้โดยประการทั้งปวงแล้วด้วยจิตที่บริสุทธิ์นั้น นั้นแลปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่า อุปสนฺโต เรียกว่าผู้สงบรอบตัว พระสันตกายก็เลยได้บรรลุธรรมในขณะนั้น ถ้าจำไม่ผิดเข้าใจว่าอย่างงั้น พระองค์นั้นก็ได้สำเร็จในขณะนั้น

การสำเร็จของพระอรหันต์แต่ก่อนเราก็ไม่ได้พิจารณาอะไรมากนัก ประการหนึ่งเวลาเรียนมันวุ่นกับการเรียน เวลามาปฏิบัติก็วุ่นกับการต่อสู้กับกิเลส ไม่ค่อยได้คิดอ่านอะไรมากนัก ไม่ค่อยมีโอกาส พอหลังจากนั้นมาก็เอามาพิจารณา ท่านสำเร็จนี้เราเทียบกันได้กับตอนที่เราฟังเทศน์ของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ฟังคราวนี้จิตเป็นอย่างนี้ ฟังคราวนั้นเป็นอย่างนั้น คือมันค่อยเปลี่ยนไปเรื่อยๆ มันก็ทำให้เชื่อแน่ว่า องค์ที่ท่านมีอุปนิสัยที่ควรจะรู้เร็วอยู่แล้ว พอฟังคราวนี้ปั๊บท่านเลื่อนระดับเข้าใจนี้ชัดๆ แล้วในขณะเดียวกันก็เข้าใจนี้ปั๊บๆ แล้วตามทัน หากผู้ไม่ทันในคราวนี้ ฟังคราวต่อไปเลื่อนขึ้นไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ไปได้

พระมากต่อมาก คนมากต่อมาก สำเร็จมรรคผลนิพพานมากต่อมากก็เพราะว่ามันมากต่อมากที่ฟังอยู่เรื่อยๆ ด้วยกัน แล้วค่อยเลื่อนขึ้นไปเรื่อยๆ นั่นเชื่อที่นี่ เชื่อเอาอย่างไม่สงสัยเลย ใครจะว่าบ้าก็ว่าเถอะ บ้าแบบนี้ว่างั้นเลยนะ ไม่ยอมถอนบ้าแบบนี้ ไม่ยอมแก้ว่างั้นเลย มันมีสักขีพยานอยู่แล้วในขณะที่ฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่น จิตมันเปลี่ยนเรื่อย เปลี่ยนตัวของมันเรื่อย เรากำลังพิจารณาอยู่ในจุดนี้เวลานี้ เอ้า ฟังเทศน์วันนี้ท่านจะว่ายังไง พอเทศน์มาจวนจะถึงจุดนั้น เพราะท่านเทศน์แบบเหินฟ้านี่ แบบเรือบินเหินฟ้า

เทศน์ตั้งแต่สมาธิขึ้นไปเรื่อยๆ พอดีเรากำลังพิจารณาอยู่จุดนั้น เรากำลังติดอยู่จุดนี้ กำลังต่อสู้กันอยู่จุดนี้ท่านจะว่ายังไง พอมาถึงจุดนี้ท่านก็พุ่งเลย เพราะท่านเข้าใจหมดแล้ว เราก็ได้อุบายปั๊บ พุ่งตาม เอ้าไปได้จุดนี้ก่อน ฟังในวาระต่อไป กำลังพิจารณาอยู่จุดนั้น พอไปถึงจุดนั้นมันก็เป็นอีกๆ เราถึงเชื่อ อ๋อ ที่ท่านผ่านพ้นไปในครั้งพุทธกาลเพราะเหตุนี้เอง ยิ่งผู้ที่เป็นบัวอยู่บนผิวน้ำอยู่แล้วก็ยิ่งเร็ว ประเภทอุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู ก็ยิ่งเร็ว

ตั้งแต่พวกเนยยะ บึกบึนไปหลายครั้งหลายหนก็โผล่ขึ้นมาได้ นอกจากปทปรมะ หูหนวกตาบอดแปดทิศแปดด้าน ไม่สนใจเรื่องอรรถเรื่องธรรมเรื่องเหตุเรื่องผลนรกสวรรค์นิพพานอะไรทั้งสิ้น นอกจากสนใจแต่ความทะเยอทะยานไปตามกิเลสตัณหา ให้มันลากไปจนถลอกปอกเปิก ไม่รู้เนื้อรู้ตัวไม่รู้บุญรู้บาปเท่านั้น พวกนี้พวกปทปรมะ ตกนรกไม่มีวันขึ้นมาได้เลย ในชีวิตนี้มันก็ตกอยู่ในภายในใจ พอตายลงไปแล้วจะไปไหน นิสัยของคนบอกอยู่ในหัวใจนั้นจะไปไหน เรื่องก็บอกอยู่แล้ว

ปลายกระสุนปลายปืนนั้นมันชี้ไปตรงไหน พอปั้งมันก็ต้องไปตรงนั้นจะไปตรงไหน นี่มันบอกอยู่ในตัวของมัน มันเล็งดูตัวของมันเสร็จแล้ว ว่ามันจะไปทิศใต้ทิศเหนือ สูงต่ำขนาดไหนมันบอกอยู่ในจิตหมด พอขาดร่างนี้ปั๊บก็ปุ๊บเลย เหมือนกับเหนี่ยวไกปั้งเดียวก็พุ่งลงนรกเลยไม่สงสัย

การเกิดการตายเป็นสิ่งจำเจของสัตว์โลกเพราะอันเดียวนี้ เพราะฉะนั้นการแก้จึงต้องใช้ความพยายามเต็มที่เต็มฐาน เอาเป็นเอาตายเข้าฝากมอบไว้เลย เพราะยังไงก็ถึงวาระเราจะตาย ไม่ได้ทำความเพียรทุกข์ก็จะบีบคั้นเอาจนกระทั่งถึงเราตายเหมือนกันแหละ นี่ทุกข์เพราะความเพียรไม่ถึงขั้นตายนี่วะ นอกจากกิเลสจะตายก่อนเราด้วยซ้ำไป เรายังไม่ตายกิเลสตายเสียก่อน ถ้าลงได้เอากันขนาดนั้นแล้ว เราจะยังไม่ตายกิเลสมันตายก่อน

พระพุทธเจ้าก็เพียงขั้นสลบกิเลสตาย พระสาวกทั้งหลายก็เห็นไหมล่ะประกอบความพากเพียร ที่ท่านยกมาเด่นๆ ตาแตกไม่ตาย กิเลสตาย เดินจงกรมฝ่าเท้าแตกไม่ตาย กิเลสตาย ฝ่าเท้าแตกนี้ก็ต้องเป็นแบบที่ผมว่านี่ละ นี่มันหยั่งไปโน่นนะ ทำไมอยู่ธรรมดาเดินจงกรมฝ่าเท้าแตก ต้องมีเครื่องพาท่านหมุน เราก็เอาความรู้ขี้หมูราขี้หมาแห้งเรานี่ก็น่าจะเทียบได้ เทียบแบบของเรา ตั้งแต่เราอยู่พื้นแผ่นดินเรายังมองขึ้นไปพระอาทิตย์สูงๆ ได้ อันนี้ทำไมเราต่ำๆ เราจะพูดถึงเรื่องธรรมพระพุทธเจ้าสูงๆ ไม่ได้ พูดเรื่องธรรมของท่านผู้มีความเพียรกล้าไม่ได้ ท่านกล้าเพราะเหตุไรเราก็ยังมีเงื่อนอันหนึ่ง

เวลาถึงขั้นมันเพลินในความเพียรมันลืมจริงๆ ลืมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ลืมหิวลืมกระหายอะไรทั้งนั้น แม้ที่สุดน้ำก็ไม่ได้กิน ก็ไม่เคยสนใจ มีแต่จิตหมุนติ้วๆ อยู่ภายใน คิดดูซิเดินจงกรมตั้งแต่ฉันจังหันเสร็จแล้วจนกระทั่งถึงเวลาปัดกวาดนานหรือไม่นาน มันรู้เนื้อรู้ตัวเมื่อไรกับเวล่ำเวลาน่ะ นอกจากมันหมุนอยู่กับความเพียรภายในจิตติ้วๆ ทีนี้เมื่อหลายวันเข้าไปๆ ฝ่าเท้าจะไม่แตกได้ยังไง

เราไม่ถึงฝ่าเท้าแตกแต่ออกร้อน โอ้โห เหมือนไฟลนแหละ พอมาถึงที่พักถึงรู้นะ ตอนนั้นไม่รู้ แดดก็ไม่รู้ร้อน มันไม่สนใจกับแดดกับฝนอะไร แต่ไม่ได้เคยตากฝนเดินจงกรม แต่ตากแดดนี่เคยแล้วเรา เอาผ้าอาบน้ำมาพับครึ่งแล้วก็มัดผูกบนศีรษะนี้แล้วก็มาผูกใส่คาง เหลือแต่ตา เดินจงกรมกลางแจ้งทีเดียวบนไร่ร้างสวนร้างเขา เอากันอยู่นั่น ไม่มีร่มเลย ร่มไม่ร่มช่างหัวมัน ฟาดลงนั้นเลย ทำได้นะไม่สนใจกับร้อนกับหนาวอะไรเลย เพราะอันนี้มันรุนแรงภายในใจ

บทเวลาถึงเวลาปัดกวาดออกจากที่มา มาเห็นกาน้ำนี่แหมมันอยากน้ำจนจะเป็นจะตายจริงๆ นะ ตอนนั้นจิตไม่ได้ออกนี่ โดดใส่กาน้ำรินน้ำฉันนี่สำลักกั้กๆ มันจะตาย ผมไม่ลืมนะ ในขณะนั้นจิตไม่ออกเสียอย่างเดียวมันหมดแหละความหิวความกระหาย ทีนี้เรื่องการเดินจงกรมว่าฝ่าเท้าแตกผมไม่สงสัย เพราะเหตุนี้พาให้แตก ท่านก็เร่งของท่านอย่างนั้นถึงขั้นเพลิน ส่วนที่จะบังคับเอานั้นก็มีส่วนแต่น้อยมาก ส่วนเป็นไปตามหลักอัตโนมัติหลักธรรมชาติแห่งความเพียรของท่านในขั้นสติปัญญาอัตโนมัตินี้ผมยอมรับทันทีร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นไปได้ฝ่าเท้าแตกไม่สงสัย เพราะมันบอกอยู่ในตัวแล้วนี่

มันลืมไปหมดเรื่องความหิวความกระหายอะไร หมากพลูบุหรี่อะไรอย่ามายุ่งเลยมันไม่สนใจ อย่าเข้าใจว่ามันจะมาคิดเลยนะ อย่างหมากพลูนี้เหมือนกันผมบางที ๖ เดือน ๗ เดือนก็ไม่แตะ บางทีเกือบปีก็มีเวลาประกอบความเพียรนี่นะ ในพรรษาบางพรรษาไม่เคยแตะสักคำเดียวก็มี ฉันไปอย่างนั้นแหละ อันนี้ก็ทำไปอย่างนั้น จะหยุดเมื่อไรมีปัญหาอะไร นี่เราก็เห็นว่าทางเดินของศรัทธาญาติโยมที่เป็นบุญเป็นกุศลของเขา มาตามกำลังศรัทธาของเขาเราก็ทำไปอย่างนั้น เพราะไม่เห็นมีอะไรเสียหายนี่

การฉันหมากนี่เสียอะไรเราก็คิดแล้ว เราพิจารณาอยู่แล้วไม่เห็นมีอะไรเสียหายทางมารยาทความประพฤติหน้าที่การงานอะไรไม่เห็นเสียหาย จะพาให้ล่มจมอะไรก็ไม่มี คิดไปหมดไม่ใช่เราไม่คิด เพราะฉะนั้นเวลาไปอังกฤษจึงได้สั่งทันทีเลย พวกลูกศิษย์ลูกหาในดอนเมืองเขาจะส่งหมากพลูบุหรี่ไปให้เป็นกล่องๆ เขาว่าไม่เสียเงิน จะส่งให้ถึงที่เลย

เจ้าหน้าที่ของเขาทางโน้นมี โอ๊ย อย่าส่ง เขาเอามาเป็นลังๆ เอามาๆ เอามาเดี๋ยวนี้เราจะเปิดฉันเดี๋ยวนี้แล้วเอาไปถวายพระวัดไหนๆ ก็แล้วแต่นะ จะฉันให้ทุกกล่องๆ นั่นแหละ นี่เป็นคำสุดท้าย ห้ามไม่ให้ส่งไปเป็นอันขาด นี่เป็นคำสุดท้าย เพียงเท่านี้หยุดไม่ได้สอนคนให้เป็นประโยชน์อะไร แล้วอย่าส่งไปเป็นอันขาดนะ ส่งไปก็ไม่แตะถ้าลงว่าไม่ฉันแล้วนะ

ใครจะกล้าส่งเมื่อพูดอย่างเด็ดขาดแล้วเราจริงอย่างนั้นด้วย ส่งไปก็ไม่เกิดประโยชน์ไม่แตะเลยจริงๆ นี่ ถ้าลงว่าหยุดๆ จริงๆ พอมาลงดอนเมืองนี้ โอ๋ย พวกนี้พวกเข้านอกออกในเต็มอยู่สนามนั่นแล้ว ก็มีแต่เมียเจ้าเมียนายใหญ่ๆ โตๆ เข้านอกออกในได้หมด พอเรือบินมาจอดลานบินเท่านั้นละ อาจารย์อยู่ไหนๆ ยุ่ง เสียงจอแจๆ คนนั้นก็ยกจานหมากๆ เหมือนเราหิวเราโหยจะตายมาจากที่ไหน คนนั้นก็ยื่นคนนี้ก็ยื่น จะให้รับของใครก่อนใครหลัง เต็มข้างเรือบิน

เขาคิดว่าเราจะหิวจะโหย เราจะมีอะไร เป็นอย่างงั้น ทำไปอย่างงั้นแหละ สมมุตินิยมอันไหนไม่ขัดข้องไม่เป็นข้าศึกต่อธรรมต่อวินัยเราก็พิจารณาซิ จะให้ฆราวาสเขามาสอนเราทำไม จะว่าเป็นทิฐิมานะเราก็ไม่เห็นมี ห้ามพระสูบบุหรี่ ฉันหมากบ้างอะไรๆ พูดตำหนิติเตียนพระอย่างนั้นอย่างนี้ ตัวที่มันตำหนิมันละอะไรได้บ้างล่ะ มันไม่อายเจ้าของบ้างเหรอ มาหาเกาที่ไม่คัน ไอ้ตรงที่มันคันๆ ทำไมไม่เกาบ้างให้มันหายคัน ถ้าสนใจเกาเจ้าของบ้างมันจะดีนี่นะ พูดขายเจ้าของเปล่าๆ

พระไม่มีเหตุผล ถ้าพระเป็นผู้มุ่งต่อความเป็นพระของพระพุทธเจ้าจริงๆ ต้องมีเหตุผลมีหลักเกณฑ์ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่จะทำแบบสุ่มๆ เดาๆ ไปนี่วะ เพราะฉะนั้นคนอย่างผมนี้การที่จะมาห้ามปรามก็ดีมาผลักไสไปไหนก็ดี ถ้าไม่ใช่เหตุผลแล้วอย่ามาบอก อย่ามาห้าม อย่ามาฉุดมาลากไว้ ถ้าเหตุผลผมเส้นเดียวไม่ข้าม หยุดทันที และไปทันทีและทำทันทีถ้าเป็นเหตุผล อย่างธรรมดานี่ไม่ได้เรื่องแหละเรา เพราะเราปฏิบัติต่อตัวเราก็ปฏิบัติอย่างนั้น เหตุผลคือความถูกต้องดีงาม รวมกันลงแล้วเป็นธรรม เราเคยปฏิบัติของเราได้ผลมามากน้อยเราเห็นคุณค่าของเหตุผลนี้อยู่แล้ว ของไม่มีเหตุผลเอามาใช้ทำไม เอาละพอ



................................................................

คัดลอกจาก
http://www.dharma-gateway.com/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง