Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระอสีติมหาสาวก (ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 7:29 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เทียน อ่านต่อจนจบได้ที่นี่ >>>

ดอกไม้ พระอสีติมหาสาวก (ศ.พิเศษ ดร.บรรจบ บรรณรุจิ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=18709

Image

พระอสีติมหาสาวก
โดย ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

คัดลอกมาจาก...หนังสือพิมพ์ธรรมลีลา


หัวข้อ

• ความรู้ทั่วไป
• กลุ่มพระปัญจวัคคีย์
• พระนาลกะ - พระยสะ
• กลุ่มเพื่อนพระยสะ
• กลุ่มพระชฎิล ๓ พี่น้อง
• กลุ่มพระอัครสาวก
• กลุ่มพระชาวแคว้นมคธ
• กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล
• กลุ่มพระชาวแคว้นสักกะ
• กลุ่มพระมาณพ ๑๖
• กลุ่มพระชาวแคว้นวังสะ
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 04 ธ.ค.2008, 4:05 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 7:32 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๑ ความรู้ทั่วไป


ความหมายของคำว่า ‘อสีติมหาสาวก’ ตามรูปศัพท์ คำว่า ‘อสีติมหาสาวก’ เป็นคำสมาสประกอบด้วยคำ ‘อสีติ’ และ ‘มหาสาวก’

‘อสีติ’ เป็นปกติสังขยา คือ จำนวนนับตามปกติ แปลว่า ‘๘๐’

‘มหาสาวก’ ประกอบด้วยคำว่า ‘มหา’ ซึ่งเป็นคุณศัพท์แปลว่า ใหญ่,มาก, สำคัญ และคำว่า ‘สาวก’ ซึ่งเป็น คำนามกิตก์ ประกอบรูปมาจากธาตุ ‘สุ’ (ในความหมายว่าฟัง) + ปัจจัย ณฺวุ มีรูปศัพท์ว่า ‘สาวก’ แปลว่า ผู้ฟัง ในที่นี้หมายถึง ภิกษุผู้บรรลุธรรมชั้นสูงสุดคืออรหัตผล

ดังนั้นคำว่า ‘อสีติ’ และ ‘มหาสาวก’ เมื่อรวมเข้าด้วยกันเป็นคำสมาส เป็น ‘อสีติมหาสาวก’ จึงแปลว่า พระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ รูป หรือพระสาวกผู้ยิ่งใหญ่ ๘๐ รูป หรือพระสาวกสำคัญ ๘๐ รูป

ที่มาของคำว่า “อสีติมหาสาวก” และรายนาม

ได้กล่าวถึงความหมายของคำว่า ‘อสีติมหาสาวก’ มาแล้ว ต่อไปนี้เป็นการกล่าวถึงที่มาของคำว่า ‘อสีติมหาสาวก’ และรายนาม ซึ่งในพระไตรปิฎกไม่มีคำว่า ‘อสีติมหาสาวก’ ในที่ที่กล่าวถึงพระอสีติมหาสาวก พบแต่คำว่า ‘พระสาวกเถระผู้มีชื่อเสียง’ แต่พบคำว่า ‘อสีติมหาสาวก’ ปรากฏอยู่ในหนังสืออรรถกถาต่างๆ คือ อรรถกถาธรรมบท สุมังคลวิลาสินี และ ปรมัตถทีปนี

ส่วนรายนามของพระอสีติมหาสาวก ในพระไตรปิฎก มีกล่าวไว้ครบ แต่กล่าวไว้ในที่ต่างๆ กัน ส่วนมากกล่าวไว้ในพระสุตตันตปิฎก ในอรรถกถาธรรมบทก็มีบ้าง ในปรมัตถทีปนีกล่าวไว้ครบเช่นเดียวกับในพระไตรปิฎก ดังนี้

พระอัญญาโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ พระอัสสชิ พระนาลกะ พระยสะ พระวิมละ พระสุพาพ พระปุณณชิ (๑๐),

พระควัมปติ พระอุรุเวลกัสสปะ พระนทีกัสสปะ พระคยากัสสปะ พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระมหากัจจายนะ พระมหาโกฏฐิตะ พระมหากัปปินะ (๒๐),

พระมหาจุนทะ พระอนุรุทธะ พระกังขาเรวตะ พระอานนท์ พระนันทกะ พระภคุ พระนันทะ พระกิมพิละ พระภัททิยะ(กาฬโคธาบุตร) พระราหุล (๓๐),

พระสีวลี พระอุบาลี พระทัพพะ(มัลลบุตร) พระอุปเสนะ(วังคันตบุตร) พระขทิรวนิยเรวตะ พระปุณณมันตานีบุตร พระปุณณะ(สุนาปรันตกะ) พระโสณกุฏิกัณณะ พระโสณโกฬิวิสะ พระราธะ (๔๐),

พระสุภูติ พระองคุลิมาล พระวักกลิ พระกาฬุทายิ พระมหาอุทายี พระปิลินทวัจฉะ พระโสภิตะ พระกุมารกัสสปะ พระรัฐบาล พระวังคีสะ (๕๐),

พระสภิยะ พระเสละ พระอุปวาณะ พระเมฆิยะ พระสาคตะ พระนาคิตะ พระลกุณฑกภัททิยะ พระปิณโฑลภารทวาชะ พระมหาปันถก พระจูฬปันถก (๖๐),

พระพากุละ พระกุณฑธานะ พระพาหิยะ(ทารุจีริยะ) พระยโสชะ พระอชิตะ พระติสสเมต เตยยะ พระปุณณกะ พระเมตตคู พระโธตกะ พระอุปสีวะ (๗๐),

พระนันทะ พระเหมกะ พระโตเทยยะ พระกัปปะ พระชตุกัณณี พระภัทราวุธ พระอุทยะ พระโปสาละ พระโมฆราช พระปิงคิยะ (๘๐)

รายนามของพระอสีติมหาสาวกที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ รายนามลำดับที่ ๑-๔๑ ยกเว้นลำดับที่ ๑๖ (พระมหาโมคคัลลานะ) เป็นพระมหาเถระนั่งด้านพระปรัศว์ขวาของพระพุทธเจ้า

ส่วนรายนามลำดับที่ ๑๖ และตั้งแต่ลำดับที่ ๔๒-๘๐ เป็นพระมหาเถระนั่งด้านพระปรัศว์ซ้ายของพระพุทธเจ้า

การที่พระสาวกนั่งด้านปรัศว์ทั้ง ๒ ข้างของพระพุทธเจ้า ถือเป็นธรรมเนียมครั้งพุทธกาล โดยมีหลักอยู่ว่าการปูลาดอาสนะในที่นิมนต์ ให้ปูลาดอาสนะของพระพุทธ เจ้าไว้ตรงกลาง ปูลาดอาสนะของพระสารีบุตรไว้ด้านพระปรัศว์ขวา ปูลาดอาสนะของพระมหาโมคคัลลานะไว้ด้านพระปรัศว์ซ้าย แล้วจึงปูลาดอาสนะพระสาวกรูปอื่นๆ ต่อจากอาสนะของพระมหาสาวกทั้ง ๒ นั้น

หลักการเลือกพระอสีติมหาสาวก

ได้กล่าวถึงความหมาย ที่มา และรายนามของพระอสีติมหาสาวกมาแล้ว เรื่องที่จะศึกษาต่อไปก็คือ หลักการเลือกพระสาวก ๘๐ รูปแล้วจัดเป็นพระอสีติมหาสาวก

ผู้เขียนจะกล่าวถึงเหตุผลในการเลือก พระสาวกแล้ว จัดเป็นพระมหาสาวกก่อน ผู้เขียนพบว่า ท่านทำโดยยึดถือคุณธรรม และความสามารถ คือความชำนาญในอภิญญาสมาบัติและความแตกฉานในปฏิสัมภิทาเป็นหลัก โดยไม่เกี่ยวกับพรรษา และอายุ และด้วยเหตุนี้เองจึงปรากฏว่าท่านจัดฆราวาสที่เป็นพระอรหันต์เข้าเป็นพระมหาสาวกด้วย ๑ ท่านคือพระพาหิยะ

ส่วนการคัดเลือกแล้วจัดให้เป็นพระอสีติมหาสาวกนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงวินิจฉัยไว้โดยทรงเสนอเกณฑ์สำหรับพิจารณา ไว้ว่า

พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นเอตทัคคะสงเคราะห์พระปัญจวัคคีย์ ๔ พระองค์เข้าด้วย

พระอุรุเวลกัสสปะ สงเคราะห์พระกัสสปะน้องชายอีก ๒ พระองค์เข้าด้วย

พระโมฆราชเป็น เอตทัคคะสงเคราะห์พระคณะเดียวกัน อีก ๑๕ พระองค์เข้าด้วย

อีกเกณฑ์หนึ่ง สงเคราะห์พระสาวกผู้มีชื่อระบุไว้ในประถมโพธิกาล แต่มิได้ระบุอยู่ในจำนวน เอตทัคคะ คือ พระยสะกับพระสหายอีก ๔ พระองค์ โดย ๒ เกณฑ์นี้ได้พระสาวก เอตทัคคะ ๔๑ พระสาวกสหจรแห่ง เอตทัคคะ ๒๓ พระองค์ ในประถมโพธิกาล ๑ สหจร ๔ รวมเป็น ๖๙ พระองค์ อีก ๑๑ พระองค์เป็นพระสาวกที่จัดเข้าโดยหาเกณฑ์มิได้ แต่มีนามระบุอยู่ในมัชฌิมโพธิกาลบ้าง ในปัจฉิมโพธิกาลบ้าง

จากหลักการเลือกที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงวินิจฉัยไว้นี้ ผู้เขียนสรุปได้ว่า

๑. กำหนดเอาพระสาวกผู้เป็นเอตทัคคะเป็นหลัก แล้วรวมพระสหจรในกลุ่มของท่านเข้าด้วยนี้เป็นเกณฑ์แรก ส่วนเกณฑ์ที่ ๒ กำหนดเอาพระสาวกผู้มิได้เป็นเอตทัคคะ แต่มีชื่อระบุไว้ในปฐมโพธิกาล ตามหลักการเลือกนี้ เกณฑ์แรก ได้พระสาวก ๖๔ รูป เกณฑ์ที่ ๒ ได้พระมหาสาวกอีก ๕ รูป รวมเป็นได้พระมหาสาวก ๖๙ รูป

๒. ที่เหลืออีก ๑๑ รูปนั้น จัดเข้าโดยไม่มีหลักเกณฑ์ ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงวินิจฉัยว่า “.....คงเป็นด้วยต่างอาจารย์ต่างเลือกกันจัดเข้าตามมติของตน เพื่อให้ครบจำนวน ๘๐ จึงต่างรายชื่อกัน”

แนวความคิดที่ทรงวินิจฉัยไว้นี้ ผู้เขียนเห็นว่ามีเหตุผลสมควรแก่การถือเป็นหลักในการศึกษาวิเคราะห์ต่อไป

อนึ่ง ในการเลือกพระสาวกแล้วจัดเข้า เป็นพระอสีติมหาสาวกนั้น ยังมีข้อที่น่าศึกษาเพิ่มเติมคือ เกิดมีขึ้นในยุคใด จากเหตุผลที่กล่าวมานี้ทำให้สันนิษฐานได้ว่า น่าจะมีเค้ามาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว โดยเห็นได้จากคำเรียกที่ว่า “พระสาวกเถระ ผู้มีชื่อเสียง” ซึ่งเท่าที่ระบุนามไว้ ก็เป็นอสีติมหาสาวกทั้งหมด แต่มาเด่นชัดขึ้นในยุคสมัยของพระอรรถกถาจารย์ในลังกา

ทั้งนี้เพราะธัมมปทัฏฐกถา ก็ดี สุมังคลวิลาสินี ก็ดี ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่มีคำว่า “มหาสาวก” และ ‘อสีติมหาสาวก’ ปรากฏอยู่ล้วนเป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นในลังกา หรือในยุคที่การศึกษาพระพุทธศาสนาในลังกากำลังรุ่งเรือง โดยพระอรรถกถาจารย์ผู้มีชื่อเสียงคือพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่าง ปี พ.ศ. ๙๐๐-๑๐๐๐ พุทธศาสนิกชนในยุคนั้นและยุคต่อมาทั้งพระและฆราวาส ต่างนิยมยกย่องในตัวพระอสีติมหาสาวกมาก คัมภีร์มหาวงศ์กล่าวว่า

“พระเจ้าพุทธทาสแห่งลังกามีพระราชบุตร ๘ องค์ล้วนทรงสุรภาพแกล้วกล้าการรณรงค์สงคราม ทรงขนานนามพระกุมารนั้นตามพระอัชฌาสัยของพระองค์ให้คงนามพระอสีติมหาสาวกทั้งหลาย พระเจ้าพุทธทาสองค์นี้ ได้แวดล้อมด้วยพระราชบุตรทั้งหลายอันทรงพระนามตาม พระอสีติมหาสาวกว่า สารีบุตร เป็นอาทิ พระองค์ทรงรุ่งเรืองอยู่ ดูประหนึ่งว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น”
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 7:33 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๒ ความรู้ทั่วไป


ส่วนปรมัตถทีปนี ซึ่งมีรายนามของพระอสีติมหาสาวกอยู่ครบ ถ้วนนั้น แต่งที่สำนักพทรติตถวิหาร แคว้นทมิฬ ในอินเดียตอนใต้ โดยพระธรรมปาละ พระอรรถกถาจารย์รูปนี้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี พ.ศ.๙๕๐-๑๐๐๐ อันเป็นรุ่นหลังพระพุทธโฆษาจารย์ แต่ท่านก็ได้สร้างงานรจนาคัมภีร์อรรถกถาฎีกาสืบต่อจากพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าท่าน จะต้องได้รับแนวความคิดเรื่องพระอสีติมหาสาวกนี้มาจากพระพุทธโฆษาจารย์บ้าง

ส่วนเหตุผลที่กำหนดพระมหาสาวกให้มีจำนวน ๘๐ รูปนั้น ไม่ปรากฏว่ามีกล่าวไว้ในที่ใด แต่เป็นไปได้ที่จำนวน ๘๐ เป็นจำนวนแสดงความมั่งคั่งของคนในสังคมอินเดียโบราณ เพราะบุคคลผู้จะเป็นนครเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีได้นั้นต้องมีทรัพย์ตั้งแต่ ๔๐ ถึง ๘๐ โกฏิ

ดังนั้นจึงทำให้สันนิษฐานได้ว่า จำนวน ๘๐ นอกจากจะเป็นจำนวนแสดงความมั่งคั่งของคนในสังคมอินเดียโบราณแล้ว ยังน่าจะเป็นจำนวนแสดงความยิ่งใหญ่ ความสวยงามและความสำคัญได้อีก และจำนวน ๘๐ นี้ เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอยู่หลายสถานะด้วยกันคือ

๑. พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา

๒. พระพุทธเจ้าทรงมีพระฉัพพรรณรังษีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายวนเวียนรอบเนื้อที่ประมาณ ๘๐ ศอก

๓. พระวรกายของพระพุทธเจ้าสง่างาม ด้วยพระอนุพยัญชนะ ๘๐

จากหลักฐานที่กล่าวมา ผู้เขียนจึงสรุป ได้ว่า การกำหนดพระมหาสาวกให้มีจำนวน ๘๐ นั้น น่าจะมีเหตุผลแสดงถึงความยิ่งใหญ่ ความสวยงาม และความสำคัญของพระพุทธเจ้าเกี่ยวข้องอยู่บ้าง

พระอสีติมหาสาวกผู้ได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

แม้ว่าพระมหาสาวกจะมีอยู่ถึง ๘๐ รูป ดังกล่าวมาแล้ว แต่ก็มีเพียง ๔๑ รูปเท่านั้นที่ได้รับการยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะจากพระพุทธเจ้า เพราะตำแหน่งเอตทัคคะคือ ตำแหน่งที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้แก่พระสาวกผู้มีความสามารถเป็นเลิศเฉพาะด้านต่างๆ เพื่อเป็นการยกย่อง และพระอสีติมหาสาวก ๔๑ รูปนั้นได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะก็ด้วยเหตุผล ๔ ประการ คือ

๑. ได้รับยกย่องตามเรื่องที่เกิด (อตฺถุปฺปตฺติโต) หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกรูปนั้นๆ ได้แสดงความสามารถออก มาให้ปรากฏโดยสอดคล้องกับเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น

๒. ได้รับยกย่องตามที่สะสมบุญมาแต่อดีต (อาคมนโต) หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกรูปนั้นๆ ได้สร้างบุญสะสมมาแต่ อดีตชาติ พร้อมทั้งตั้งจิตปรารถนาเพื่อบรรลุตำแหน่งเอตทัคคะนั้นด้วย

๓. ได้รับยกย่องตามความเชี่ยวชาญ (จิณฺณวสิโต) หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกรูปนั้นๆ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง เป็นพิเศษ สมตามที่ตั้งจิตปรารถนามา

๔. ได้รับยกย่องตามที่มีความสามารถเหนือผู้อื่น (คุณาติเรกโต) หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกรูปนั้นๆ มีความสามารถ ในเรื่องที่ทำให้ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะเหนือกว่าพระสาวกรูปอื่นๆ ที่มีความสามารถอย่างเดียวกัน

คุณลักษณะสำคัญของพระอสีติมหาสาวก

ได้ทราบมาแล้วว่า พระอสีติมหาสาวก มีทั้งที่ได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะและที่มิได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะซึ่งเป็นไปตามความปรารถนา แต่ถึงอย่างไรพระอสีติมหาสาวก ๒ กลุ่มนี้ก็มีความสำคัญที่ควรกล่าวถึงไว้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และความสำคัญของพระอสีติมหาสาวกนั้นแยกกล่าวได้เป็น ๒ ประการ คือ

๑. คุณลักษณะสำคัญส่วนตน

ได้แก่ คุณลักษณะสำคัญที่เกิดจากความเป็นผู้ได้บำเพ็ญบารมีมามาก การได้บรรลุอภิญญา และความเป็นผู้มีเถรธรรม

ก. ความเป็นผู้ได้บำเพ็ญบารมีมามาก หมายถึง การได้บำเพ็ญบารมีมาเพื่อเป็นพระมหาสาวกไว้หลายต่อหลายชาติ ปรมัตถทีปนี กล่าวว่า “พระสาวกของพระพุทธเจ้าใช่ว่าจะเป็นพระมหาสาวกได้ทุกรูป ท่านที่บำเพ็ญบารมีมาเพื่อการนี้เท่านั้นจึงจะเป็นได้ และต้องบำเพ็ญบารมีสิ้นระยะเวลา ๑๐๐,๐๐๐ กัป”

อนึ่ง นอกจากบำเพ็ญบารมีสิ้นระยะเวลา ๑๐๐,๐๐๐ กัปแล้ว พระอสีติมหาสาวกยังต้องบำเพ็ญ ‘คตปัจจาคตวัตร’ อยู่ตลอดเวลาประกอบอีกด้วย ปรมัตถทีปนี กล่าวว่า “วัตรนี้ผู้ที่ปรารถนาเป็นพระมหาสาวกต้องบำเพ็ญ มิเช่นนั้นแล้วก็ไม่สามารถบรรลุถึงความเป็นพระมหาสาวกได้เลย”

ข. การได้บรรลุอภิญญา หมายถึง การได้บรรลุความรู้ชั้นสูง ความรู้ชั้นสูงเรียกว่า อภิญญา มี ๖ คือ

(๑) อิทธิวิธี ความรู้ที่ทำให้สามารถแสดงฤทธิ์ได้
(๒) ทิพพโสต ความรู้ที่ทำให้เกิดหูทิพย์
(๓) เจโตปริยญาณ ความรู้ทำให้รู้ใจผู้อื่นได้
(๔) ปุพเพนิวาสานุสติ ความรู้ทำให้ระลึกชาติได้
(๕) ทิพพจักขุ ความรู้ทำให้เกิดตาทิพย์
(๖) อาสวักขยญาณ ความรู้ทำอาสวะให้สิ้นไป

ค. ความเป็นผู้มีเถรธรรม หมายถึงความเป็นผู้มีธรรมที่ทำให้เป็นผู้มั่นคง ประกอบด้วย

๑. รัตตัญญู เป็นผู้รู้ราตรี หมายถึง บวชมานานและรู้เห็นกิจการทรงจำเรื่องราวต่างๆ ไว้ได้มาก

๒. สีลวา เป็นผู้มีศีล หมายถึง เคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลายและสำรวมกายวาจาใจ

๓. พหุสสุตะ เป็นพหูสูต หมายถึง ทรงความรู้ไว้มาก

๔. สวาคตปาฏิโมกขะ เป็นผู้ทรงจำปาฏิโมกข์ได้ดี หมายถึง ทรงจำพระวินัยได้คล่องแคล่ว ชำนิชำนาญ สามารถวินิจฉัยได้ดี

๕. อธิกรณสมุปปาทวูปสมกุสละ เป็นผู้ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น หมายถึง เมื่อเกิดเรื่องราวไม่สงบขึ้นในสงฆ์ สามารถหาทางระงับปัญหานั้นได้

๖. ธัมมกามะ เป็นผู้ใคร่ในธรรม หมายถึง รักความรู้ รักความจริง ยินดีในการพิจารณาธรรม

๗. สันตุฏฐะ เป็นผู้ยินดีในของที่ตนมี หมายถึง ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้

๘. ปาสาทิกะ เป็นผู้น่าเลื่อมใส หมายถึง เป็นผู้มีอิริยาบถ รวมทั้งกิริยาอาการเรียบร้อย ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความเลื่อมใส

๙. ฌานลาภี เป็นผู้ได้ฌาน หมายถึง เป็นผู้บรรลุฌานและมีความคล่องแคล่วในฌาน ๔ อันเป็นเครื่องทำให้อยู่เป็นสุขในชีวิตประจำวัน

๑๐. อนาสวเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ เป็นผู้บรรลุเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ สิ้นอาสวะ หมายถึง ละราคะและอวิชชาได้จนทำให้กิเลสสิ้นไป

พระอสีติมหาสาวก แม้จะมีเถรธรรมไม่ครบหรือมีแตกต่างกัน แต่ที่ต้องมีเหมือนกันคือ ข้อ ๑๐ ซึ่งก็หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกทุกรูปต้องเป็นพระอรหันต์ แม้ว่าบางรูปขณะที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แต่ก็สำเร็จได้ภายหลังพุทธปรินิพพาน

๒. คุณลักษณะสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

คุณลักษณะข้อนี้เป็นผลมาจากความสามารถเฉพาะตัวของพระอสีติมหาสาวก และเกิดจากผลงานที่ส่งผลต่อ ความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนา

ก. ความสามารถเฉพาะตัว พระอสีติมหาสาวกแต่ละรูปมีความสามารถเฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป จนดูเหมือน ว่าจะเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าในด้านต่างๆ ได้ อาทิ

พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าด้านรัตตัญญู

พระสารีบุตร เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าด้านมีปัญญามาก

พระมหาโมคคัลลานะ เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าด้านมีฤทธิ์มาก

ความสามารถดังกล่าวนี้แม้จะเป็นความสามารถเฉพาะตัวแต่ก็เป็นไปเพื่อส่วนรวม เพราะพระอสีติมหาสาวกได้ใช้ความสามารถนี้ช่วยรับภารกิจของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระพุทธศาสนา

เพราะเหตุที่มีความสามารถเฉพาะตัวนี้เอง พระอสีติมหาสาวกจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ตามเสด็จที่ดีเลิศ ตามปกติพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จไปในที่ใด ย่อมมีพระสาวกแวดล้อมตามเสด็จไปด้วยเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนั้นมีพระอสีติมหาสาวกรวมอยู่ด้วย ดังปรากฏในอรรถกถาธรรมบทว่า

“วันหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์พร้อมด้วยพระอสีติมหาเถระ โดยมีภิกษุ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร” และว่า

“คราวหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาอยู่ในปราสาทของมิคารมารดา ครั้นถึงวันมหาปวารณาเสด็จมาประทับอยู่ที่ชั้นล่างของปราสาท โดยมีพระมหาสาวกนั่งแวดล้อม”


มีต่อ >>> ตอนที่ ๓
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 7:35 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๓ ความรู้ทั่วไป


การมีบริวารตามเสด็จนั้นถือว่าเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ และถือเป็นเกียรติยศอย่างหนึ่งที่ทำให้พระพุทธเจ้าสง่างาม สุมังคลวิลาสินีกล่าวถึงความสง่างามของพระพุทธเจ้าที่เกิดจากการมีพระอสีติมหาสาวกแวดล้อมขณะเดินทางไกล ระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทาในคราวหนึ่งว่า

“ก็วันนั้นแลพระอสีติมหาสาวกส่วนใหญ่นุ่งห่มผ้าบังสุกุลมีสีดังเมฆเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ถือไม้เท้าราวกะช้างตระกูลคันธวงศ์ที่ถูกฝึกหัดมาอย่างดี ปราศจากโทษแล้ว คายโทษแล้ว ทำลายกิเลสแล้ว สางเครื่องรุงรังแล้ว ตัดเครื่องผูกพันได้ขาดแล้วพากันห้อมล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น พระองค์เองทรงปราศจากราคะแล้ว แวดล้อมไปด้วยภิกษุผู้ปราศจากราคะแล้ว พระองค์เองทรงปราศจากโทสะแล้ว แวดล้อมไปด้วยภิกษุผู้ปราศจากโทสะแล้ว พระองค์เองผู้ปราศจากโมหะแล้ว แวดล้อมไปด้วยภิกษุผู้ปราศจากโมหะแล้ว พระองค์เองทรงปราศจากตัณหาแล้ว แวดล้อมไปด้วยภิกษุผู้ปราศจากตัณหาแล้ว พระองค์เองทรงหมดกิเลสแล้ว แวดล้อมไปด้วยภิกษุผู้หมดกิเลสแล้ว พระองค์เองตรัสรู้แล้ว แวดล้อมไปด้วยภิกษุผู้ตรัสรู้ตาม ราวกะว่าไกรสรราชสีห์แวดล้อมไปด้วยมฤคชาติ ราวกะว่าดอกกรรณิการ์แวดล้อมไปด้วยเกสร ราวกะว่าพญาช้างฉัททันต์แวดล้อม ไปด้วยช้าง ๘,๐๐๐ เชือก ราวกะว่าพญาหงส์ธตรฐแวดล้อมไปด้วยหงส์ ๙๐,๐๐๐ ตัว ราวกะว่าพระเจ้าจักรพรรดิแวดล้อมไปด้วยเสนางคนิกร ราวกะว่าท้าวสักกเทวราช แวดล้อมไปด้วยหมู่เทวดา ราวกะว่าท้าวหาริตมหาพรหมแวดล้อมไปด้วยหมู่พรหม เสด็จดำเนินไปด้วยพุทธลีลาอันหาที่เปรียบมิได้ ที่ใครๆ คิดไม่ถึง ซึ่งบังเกิดด้วยผลบุญที่ทรงสั่งสมมาตลอดเวลาอันหาประมาณมิได้ สง่างามคล้ายดวงจันทร์โคจรตลอดพื้นทิฆัมพร ฉะนั้น”

โดยเหตุที่พระอสีติมหาสาวกมีความสามารถดังกล่าว จึงมีผลออกมาเป็นการให้สังคมยอมรับ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่พระและฆราวาสเมื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว มักจะถือโอกาสไปนมัสการพระอสีติมหาสาวกด้วย ดังปรากฏในอรรถกถาธรรมบทว่า

“ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในเมืองโกสัมพี มีลาภเกิดขึ้นแก่พระองค์และพระสาวกมากมาย มีผู้คนถือเครื่องสักการะ อาทิ ผ้าและยาไปวัดแล้วเที่ยวหาดูว่า พระศาสดาประทับนั่งอยู่ที่ ไหน พระสารีบุตรนั่งอยู่ที่ไหน พร้อมทั้งเที่ยวหาดูที่นั่งของพระอสีติมหาสาวกรูปอื่นๆ ด้วย”

ในทำนองเดียวกัน พระสาวกทั่วไปเมื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว ก็จะไปไหว้พระอสีติมหาสาวกด้วย อรรถกถาธรรมบทเล่าว่า

“พระเถระผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรรูป หนึ่งส่งศิษย์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับสั่งว่า เธอทั้งหลายจงไปถวายบังคมพระศาสดาตามที่ฉันบอกแล้ว และจงไปไหว้พระอสีติมหาสาวกด้วย”

และว่า “ต่อมาพระเถระรูปนั้นมาเฝ้าพระศาสดาเอง เก็บบาตรและจีวรไว้ในสำนักพระเถระผู้เป็นสหายแล้ว จากนั้นจึงไปถวายบังคมพระศาสดาและไหว้พระมหาเถระ ครั้นแล้วจึงกลับมายังที่อยู่ของพระเถระผู้เป็นสหาย”

นอกจากนี้ พระอสีติมหาสาวกด้วยกัน หลังจากเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วก็จะถือโอกาสไปมาหาสู่กัน ดังปรากฏในปรมัตถทีปนีว่า

“หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว พระขทิรวนิยเรวตะได้ไปยังที่บำรุงของพระศาสดา และของพระมหาเถระมีพระธรรม เสนาบดี เป็นต้น ตามเวลาอันเหมาะสม”

ข. ผลงาน พระอสีติมหาสาวกได้แสดงผลงานออกมา ด้วยการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายและรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ การช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายนั้น ปรากฏให้เห็นเด่นชัดแต่แรกแล้วนั่นคือ หลังจากได้ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระพุทธเจ้าได้ประกาศพระพุทธศาสนาตามลำพังพระองค์เดียวอยู่ระยะหนึ่ง กระทั่งได้พระสาวก ๖๐ รูป ต่อมาทรงเห็นว่าพระสาวกเหล่านั้นสามารถเป็นกำลังสำคัญ ของพระองค์ได้ จึงทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนาในที่ต่างๆ วันที่ส่งพระสาวกออกไปประกาศพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพ้นแล้วจากบ่วง ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ขอเธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขเกษมแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมวลมนุษย์ ขอเธอทั้งหลายอย่าได้ไปร่วมทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรมให้งามในเบื้องต้น ให้งามในท่ามกลาง และให้งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ให้พรั่งพร้อมด้วยอรรถและพยัญชนะให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยมีอยู่ เมื่อไม่ได้ฟังธรรมจักพากันเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี ภิกษุทั้งหลายแม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม”

ครั้นแล้วพระสาวกเหล่านั้นก็แยกย้าย กันไปประกาศพระพุทธศาสนา และปรากฏว่าในบรรดาพระสาวก ๖๐ รูป มีพระอสีติมหาสาวกรวมอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง พระอสีติมหาสาวกรูปที่สร้างประวัติศาสตร์สำคัญไว้ในพระพุทธศาสนา คือ พระอัสสชิโดยท่านได้แสดงธรรมโปรดปริพาชกอุปติสสะให้ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วปริพาชกอุปติสสะนั้นเองก็ได้แสดงธรรมที่บรรลุแก่ปริพาชกโกลิตะผู้สหายให้ได้บรรลุโสดาปัตติผลเช่นกัน ต่อมาปริพาชกทั้ง ๒ ได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้วพระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งให้เป็น พระอัครสาวก ปริพาชกอุปติสสะเป็นที่รู้ จักกันในนามว่า ‘พระสารีบุตร’ ส่วนปริพาชกโกลิตะเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘พระมหาโมคคัลลานะ’ ทั้ง ๒ ท่านได้เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนา

นอกจากพระอัครสาวกทั้ง ๒ นี้แล้ว พระอสีติมหาสาวกรูปอื่นๆ ก็มีผลงานอยู่ เหมือนกัน พระไตรปิฏกกล่าวถึง พระมหากัสสปะ พระมหากัจจายนะ พระมหาโกฏฐิตะ พระมหากัปปินะ พระมหาจุนทะ พระเรวตะ พระอานนท์ และพระมหาสาวกรูปอื่นๆ ว่า แต่ละท่านนั้นมีศิษย์ที่ต้องแนะนำพร่ำสอนท่านละ ๑๐ รูปบ้าง ๒๐ รูปบ้าง ๓๐ รูปบ้าง ๔๐ รูปบ้าง ขณะจำพรรษาอยู่กับพระพุทธเจ้า ณ วัดบุพพาราม

นอกจากเป็นกำลังสำคัญในการช่วยประกาศพระพุทธศาสนาแล้ว พระอสีติมหาสาวกยังเป็นกำลังสำคัญในการช่วยรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ จะเห็นได้ จากคราวหนึ่ง พระสารีบุตรทูลถามพระพุทธเจ้าถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้พระพุทธศาสนามั่นคง พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า การบัญญัติสิกขาบทและการแสดงปาฏิโมกข์ ทั้ง ๒ นี้เป็นเหตุให้พรหมจรรย์มั่นคง พระสารีบุตรจึงกราบบังคมทูลให้พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทและแสดงปาฏิโมกข์ พระพุทธเจ้าทรงรับข้อเสนอของพระสารีบุตรแต่ตรัสชี้แนะว่า

“ตามปกติพระศาสดาจะบัญญัติสิกขาบทและแสดงปาฏิโมกข์แก่สาวก ก็ต่อเมื่อปรากฏว่ามีธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะเกิดขึ้นในสงฆ์”

ผลงานอีกอย่างหนึ่งของพระสารีบุตร คือ การเสนอต่อที่ประชุมสงฆ์ให้จัดทำสังคายนา ซึ่งได้แก่การจัดคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งเมื่อทำอย่างนี้แล้ว จะช่วยรักษาธรรมวินัยให้มั่นคงอยู่เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกได้นานแสนนาน

ภายหลังพุทธปรินิพพาน พระมหากัสสปะผู้เป็นหนึ่งในบรรดาพระอสีติมหาสาวก ที่เหลืออยู่ไม่กี่รูป ก็ได้สร้างผลงาน ชิ้นสำคัญไว้ นั่นคือเป็นกำลังสำคัญในการ รักษาธรรมวินัยโดยชวนพระอรหันต์ ๔๙๙ รูป (รวมทั้งท่านด้วยเป็น ๕๐๐ รูป) ทำสังคายนาตามแนวทางที่พระสารีบุตรเสนอ ส่งผลให้คำสอนของพระพุทธเจ้ายั่งยืนสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ในคราวทำปฐมสังคายนานั้น นอกจากพระมหากัสสปะแล้ว ยังมีพระอสีติมหาสาวกรูปอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ พระอุบาลี และพระอานนท์

นอกจากพระอสีติมหาสาวกรูปที่กล่าวมานี้ พระอสีติมหาสาวกรูปอื่นๆ ต่างก็ล้วนเป็นกำลังสำคัญในการรักษาธรรมวินัยให้มั่นคงด้วยการปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเหมาะสม และปฏิบัติชอบ ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวมานี้ของพระอสีติมหาสาวกเหล่านั้นสามารถรักษาพระศาสนาไว้ได้


มีต่อ >>> ตอนที่ ๔
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 7:36 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๔ กลุ่มพระปัญจวัคคีย์


ได้กล่าวถึงเรื่องราวทั่วไปเกี่ยวกับพระอสีติมหาสาวกมาแล้ว ต่อไปนี้จักได้กล่าวถึงประวัติของแต่ละรูปโดยแบ่งกล่าวเป็นกลุ่มๆ ดังต่อไปนี้

กลุ่มพระปัญจวัคคีย์ คือ กลุ่มพระชาวแคว้นสักกะ ๕ รูป ที่ออกบวชตามเสด็จพระพุทธเจ้าและเฝ้าถวายการอุปัฏฐากคราวที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา พระ ๕ รูปนั้นคือ พระอัญญาโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ซึ่งมีประวัติที่น่าศึกษาดังนี้

สถานะเดิม

พระปัญจวัคคีย์เกิดในวรรณะพราหมณ์ ที่หมู่บ้านโทณวัตถุอันเป็นหมู่บ้านที่คนวรรณะพราหมณ์อยู่อาศัย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองกบิลพัสดุ์ พระอัญญาโกณฑัญญะเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล มีนามเดิมว่า ‘โกณฑัญญะ’ ตามชื่อตระกูล ส่วนพระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ต่างเป็นบุตรของพราหมณาจารย์ในจำนวนพราหมณาจารย์ ๘ คนที่ทำนายพระลักษณะของพระราชกุมารสิทธัตถะ

ชีวิตฆราวาส

กล่าวถึง โกณฑัญญะ ก่อน โดยเหตุที่เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ชีวิตฆราวาสของท่านจึงดำเนินมาด้วยดี เมื่อเจริญวัยขึ้นท่านได้ศึกษาวิชาไตรเพทอันเป็นวิชาชั้นสูงและศึกษามนตร์ตรวจดูลักษณะคนควบคู่ไปด้วย แม้จะอยู่ในวัยหนุ่มท่านก็มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญด้านทำนายลักษณะคน ความสามารถนี้เองเป็นเหตุให้ท่านได้รับเชิญเข้าไปทำนายพระลักษณะของพระราชกุมารสิทธัตถะ

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาทรงให้มีพระราชพิธีถวายพระนามพระราชกุมาร โดยทรงรับสั่งให้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ ท่านมารับภัตตาหารในพระราชวัง พราหมณ์ ๑๐๘ ท่านนั้นต่างล้วนทรงไว้ซึ่งวิทยาคุณแตกฉานในไตรเพทและเจริญด้วยคุณวุฒิ ส่วนมากแล้วเป็นพราหมณ์ผู้ใหญ่อายุล่วงเข้าวัยชรา เมื่อพระราชพิธีถวายพระนามเสร็จสิ้นแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะทรงขอให้เลือกพราหมณ์ ๘ ท่าน ที่เชี่ยวชาญการทำนายลักษณะของคน มาทำนายพระลักษณะของพระราชกุมาร ปรากฏว่าพราหมณ์ทั้ง ๘ ท่านที่ได้รับคัดเลือกนั้น มีโกณฑัญญะรวมอยู่ด้วย

โกณฑัญญะเป็นพราหมณ์หนุ่มรุ่นลูกหากเทียบกับพราหมณ์ผู้ใหญ่ ๗ ท่านที่เหลือ แต่มีความเชี่ยวชาญการทำนายลักษณะของคนเกินวัย ท่านมีความเชื่อมั่นสูง ดังนั้นเมื่อตรวจดูพระลักษณะของพระราชกุมารแล้ว จึงได้ทำนายยืนยันเป็นทางเดียวว่า

“พระราชกุมารจักเสด็จออกผนวชและจักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน”

ส่วนพราหมณ์ผู้ใหญ่ ๗ ท่าน ได้ทำนายเป็น ๒ ทางว่า

“ถ้าอยู่ครองฆราวาส พระราชกุมารจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ถ้าเสด็จออกผนวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า”

พราหมณ์หนุ่มโกณฑัญญะ เชื่อมั่นในคำทำนายของตนมากถึงขนาดตั้งใจจักออกบวชตามคราวที่พระราชกุมารเสด็จออกผนวช ฝ่ายพราหมณ์ผู้ใหญ่ที่เป็นบิดาของวัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ครั้นกลับไปบ้านแล้วก็ได้บอกบุตรของตนให้ออกบวชตามโกณฑัญญะเมื่อเวลานั้นมาถึง ทั้งนี้เป็นด้วยความเชื่อมั่นว่า การเสด็จออกผนวชของพระราชกุมารสิทธัตถะไม่ไร้ผลอย่างแน่นอน

การออกบวช

โดยที่ตั้งใจไว้เช่นนั้นไม่เปลี่ยนแปลง ครั้นพระราชกุมารสิทธัตถะเสด็จออกผนวช และทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ โกณฑัญญะซึ่งบัดนี้อายุย่างเข้าวัยกลางคนแล้วกับพราหมณ์หนุ่มรุ่นน้องอีก ๔ คน ดังกล่าวมาแล้วคือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ก็ได้สละเพศฆราวาสออกบวชเป็นฤาษี รอนแรมติดตามไปเฝ้าถวายการอุปัฏฐากพระมหาบุรุษอยู่ ณ ที่นั่น และเนื่องจากลุ่มคนที่ออกบวชครั้งนั้นมีอยู่ ๕ คน จึงมีชื่อเรียกรวมว่า ‘ปัญจวัคคีย์’(ผู้มีพวก ๕ คน) ในเวลาต่อมา

พระปัญจวัคคีย์ได้บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนาไม่พร้อมกัน ผู้ที่ได้ดวงตาเห็นธรรมก่อนก็ได้รับอนุญาตให้บวชก่อน โกณฑัญญะได้รับพุทธานุญาตให้บวชเป็นคนแรก เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ วัปปะและภัททิยะได้รับพุทธานุญาตให้บวชเป็นรายที่ ๒ ในวันแรม ๒ ค่ำ ส่วนมหานามะและอัสสชิได้รับพุทธานุญาตให้บวชเป็นรายสุดท้าย ในวันแรม ๔ ค่ำ ในเดือนเดียวกันนั้นเอง พระไตรปิฎกกล่าวถึงการบวชของท่านไว้ว่า

แรกทีเดียวที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั้น พระปัญจวัคคีย์ไม่ยอมรับว่าพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว แม้พระองค์จะตรัสยืนยันถึง ๒ ครั้ง การที่พระปัญจวัคคีย์ไม่ยอมรับสืบเนื่องมาจากว่าพระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา กลับมาเสวยพระกระยาหาร แล้วทรงบำเพ็ญเพียรทางจิต เพราะพระปัญจวัคคีย์มีความเชื่อมาแต่เดิมว่าการทรมานตนเองให้ลำบากด้วยวิธีการต่างๆ เท่านั้นจะทำให้พบความหลุดพ้น จนเมื่อพระองค์ตรัสบอกให้พวกท่านหวนระลึกถึงความหลังครั้งเคยอยู่ด้วยกันว่า เคยได้ยินพระองค์ตรัสเช่นนี้บ้างหรือไม่ พระปัญจวัคคีย์หวนระลึกและไม่เคยได้ยิน จึงยอมละทิฐิมานะและยอมฟังพระองค์แสดงธรรม

ขั้นแรก พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า นักบวชไม่ควรทำกิจ ๒ อย่างคือ การหมกมุ่นอยู่กับกามสุขและการทรมานตนเองให้ลำบาก พระองค์ทรงเรียกกิจ ๒ อย่างนี้ว่า ‘ที่สุดโต่ง’ จากนั้นทรงให้เหตุผลว่า การหมกมุ่นอยู่กับความสุขเป็นของต่ำช้า เป็นกิจกรรมของปุถุชนผู้ครองเรือน เป็นที่สุดโต่งข้างหย่อนยานส่งเสริมให้เกิดความหลงใหลในกามคุณ ส่วนการทรมานตนเองให้ลำบากเป็นกิจกรรมที่ทำให้ตน เองเหน็ดเหนื่อย เป็นที่สุดโต่งข้างตึงเครียด เปล่าประโยชน์

ขั้นต่อมา ทรงชี้ให้ดำเนินตามทางสายกลาง คือ มรรคมีองค์ ๘ ประกอบด้วยความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) ความดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ) การพูดชอบ (สัมมาวาจา) การงานชอบ (สัมมากัมมันตะ) การเลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ) ความเพียรชอบ (สัมมาวายามะ) ความระลึกชอบ(สัมมาสติ) ความตั้งใจมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ) พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า ทางสายกลางนี้แหละพระองค์ตรัสรู้มาด้วยปัญญาอันสูง เป็นทางทำให้ดำเนินไปถึงความสงบและทำให้ได้รู้แจ้งอริยสัจ

ขั้นสุดท้าย ทรงอธิบายให้ทราบว่า อริยสัจ คือความจริงของชีวิตที่เมื่อรู้แล้ว ทำให้ละกิเลสได้ ความจริงดังกล่าวนั้นมี ๔ ประการ คือ

๑. ทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า ความเกิด ความแก่ ความตาย การได้พบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก การไม่ได้ดังใจปรารถนา เหล่านี้ล้วนเป็นทุกข์ ซึ่งบีบคั้นให้ชีวิตต้องตึงเครียดและทรมาน

๒. ทุกขสมุทัย เหตุเกิดทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า ความทุกข์นั้นมีมาจากเหตุ เหตุให้เกิดทุกข์ คือความอยากต่างๆ นับตั้งแต่ความอยากที่จะได้ รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัส ตลอดถึงความอยากเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิ ต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะทำให้ต้องดิ้นรนแสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการ

๓. ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า ทุกข์นั้นดับได้โดยดับที่เหตุ คือดับความอยาก เพราะถ้าความอยากไม่เกิดก็ไม่ต้องมีการดิ้นรนให้ได้มา เมื่อไม่ดิ้นรนทุกข์ก็จะไม่เกิดไปโดยปริยาย

๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ มรรค พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า การจะดับความอยากได้นั้นต้องดำเนินไปตามทางสายกลางคือมรรคมีองค์ ๘ ทางสายนี้ทำให้ไม่ยึดติดในกามสุข และทำให้ไม่หลงผิดทรมานตนเองให้ลำบาก เป็นทางสายตรงมุ่งสู่ความสงบสุขสูงสุดดับทุกข์ได้สิ้นเชิง

พระธรรมเทศนากัณฑ์นี้จัดเป็น ‘ปฐมเทศนา’ คือเป็นเทศนากัณฑ์แรกของพระพุทธเจ้า มีชื่อว่า ‘ธัมมจักปัปปวัตนสูตร’ พระปัญจวัคคีย์ได้ฟังแล้วเกิดความซาบซึ้ง โดยเฉพาะโกณฑัญญะเกิดดวงตาเห็นธรรม คือรู้แจ้งตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน สำเร็จเป็นพระโสดาบัน


มีต่อ >>> ตอนที่ ๕
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 7:37 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๕ กลุ่มพระปัญจวัคคีย์


ทันทีที่โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงเกิดปีติโสมนัส ด้วยทรงเห็นว่ามีผู้สามารถรู้แจ้งตามพระองค์แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานว่า

“อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ
โกณฑัญยะผู้เจริญได้รู้แล้วหนอ
อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ
โกณฑัญญะผู้เจริญได้รู้แล้วหนอ”

โดยเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานขึ้นต้นด้วยคำว่า “อัญญาสิ” จึงได้มีคำหน้าโกณฑัญญะว่า ‘อัญญา’ เป็น ‘อัญญาโกณฑัญญะ’ มานับแต่วันนั้น

พร้อมกับได้ดวงตาเห็นธรรม อัญญาโกณฑัญญะก็หมดความสงสัยในพระพุทธเจ้า จึงทูลขอบวช พระพุทธเจ้าตรัสว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำทุกข์ให้สิ้นไปโดยชอบเถิด”

จบพระพุทธดำรัสอัญญาโกณฑัญญะถือว่าได้บวชเป็นพระสมบูรณ์แบบในพระพุทธศาสนา และปรากฏชื่อว่า ‘พระอัญญาโกณฑัญญะ’ มานับแต่วันนั้น พระอัญญาโกณฑัญญะบวชด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา และได้เป็นพระสงฆ์สาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้าด้วยประการฉะนี้

ครั้นทรงสอนพระอัญญาโกณฑัญญะให้ได้ดวงตาเห็นธรรมและทรงบวชให้แล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนพระวัปปะกับพระภัททิยะ และพระมหานามะกับพระอัสสชิ ให้ได้ดวงตาเห็นธรรมและทรงบวชให้ตามลำดับดังกล่าวแล้ว

การบรรลุอรหัตผล

พระปัญจวัคคีย์ได้บรรลุอรหัตผลพร้อมกันในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ นั่นเอง โดยได้ฟัง ‘อนัตตลักขณสูตร’ จากพระพุทธเจ้า ความว่า

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา บังคับให้เป็นไปตามใจปรารถนาไม่ได้ เพราะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จึงควรหรือที่จะมาเห็นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา

แม้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นอดีตและอนาคต ก็เป็นอนัตตา บังคับให้เป็นไปตามใจปรารถนาไม่ได้ เพราะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จึงควร หรือที่จะมาเห็นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา

พระไตรปิฎกกล่าวว่า พระปัญจวัคคีย์ฟังพระธรรมเทศนาพลางพิจารณาไปพลาง จิตของท่านเริ่มคลายความยึดมั่น ครั้นจบพระธรรมเทศนาก็หลุดพ้นจากอาสวะโดยสิ้นเชิง

งานสำคัญ

พระปัญจวัคคีย์อยู่ในคณะพระธรรมจาริกรุ่นแรก ที่พระพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๖๐ รูป

พระอัญญาโกณฑัญญะ เดินทางกลับไปยังบ้านเกิด ท่านได้โปรดบรรดาญาติให้หันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา บุตรของน้องสาวชื่อ ‘ปุณณะ’ เลื่อมใสท่านมากถึงขั้นยอมออกบวชตาม

พระมหานามะ เดินทางไปยังเมืองมัจฉิกาสณฑ์ จิตตคฤหบดีเห็นท่านแล้วเกิดเลื่อมใส จึงนิมนต์ให้เข้าไปฉันภัตตาหารในเรือน ครั้นฉันภัตตาหารเสร็จแล้วท่านได้แสดงธรรมโปรดจนจิตตคฤหบดีนั้นได้บรรลุโสดาปัตติผล จิตตคฤหบดีมีศรัทธามากได้ ถวายอุทยานชื่ออัมพาฎกวันของตนให้เป็นวัด เปิดประตูรับพระในพระพุทธศาสนาที่มาจากทุกทิศ

วันที่จิตตคฤหบดีถวายวัดนั้น เกิดแผ่นดินไหวใหญ่กระทั่งถึงน้ำที่รองรับแผ่นดิน เป็นนิมิตหมายให้รู้ว่า

“บัดนี้ พระพุทธศาสนาตั้งมั่นแล้วในเมืองมัจฉิกาสณฑ์”

พระอัสสชิ จาริกอยู่ในแคว้นมคธนั้นเอง วันหนึ่งปริพาชกอุปติสสะมาพบท่านเดินบิณฑบาตอย่างสำรวมอยู่นอกเมืองราชคฤห์แล้วเกิดความเลื่อมใส จึงตามไปสนทนาด้วย ท่านได้แสดงธรรมให้ปริพาชกอุปติสสะฟังแต่โดยย่อว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และตรัสความดับธรรมเหล่านั้นไว้ด้วย พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้”

ปริพาชกอุปติสสะฟังแล้วเกิดความ รู้แจ้งได้บรรลุโสดาปัตติผล จากนั้นได้ลากลับไปหาปริพาชกโกลิตะผู้เป็นเพื่อน แล้วกล่าวธรรมตามที่ได้รู้แจ้งมานี้ให้ฟัง ผลปรากฏว่าปริพาชกโกลิตะได้บรรลุโสดาปัตติผลด้วย

ปริพาชกทั้ง ๒ ได้พาปริพาชกบริวาร เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวันตามที่พระอัสสชิแนะนำ แล้วได้ทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ท่านพร้อมด้วยบริวาร ครั้นบวชแล้วปริพาชกอุปติสสะมีชื่อใหม่ว่า ‘สารีบุตร’ ส่วนปริพาชกโกลิตะมีชื่อใหม่ว่า ‘โมคคัลลานะ’ พระเถระทั้ง ๒ ต่อมาได้เป็นคู่อัครสาวกที่มีบทบาทอย่างสำคัญมากในการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนา

ส่วนพระวัปปะและพระภัททิยะ น่าเสียดายว่าคัมภีร์ไม่ได้บันทึกผลงานของท่านไว้ให้ได้ศึกษากัน

บั้นปลายชีวิต

พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ไม่มีกล่าวถึงบั้นปลายชีวิตของท่านไว้ในที่ใด พบแต่ที่กล่าวถึงบั้นปลายชีวิตของพระอัญญาโกณฑัญญะ

คัมภีร์มโนรถปูรณีและคัมภีร์ปรมัตถทีปนี กล่าวไว้ตรงกันว่า ๑๒ ปี ก่อนนิพพาน พระอัญญาโกณฑัญญะได้ทูลลาพระพุทธเจ้าไปอยู่จำพรรษา ณ ป่าหิมพานต์ ตามลำพัง ด้วยเหตุผล ๓ ประการ

ประการที่ ๑ ท่านไม่ประสงค์จะเห็น พระอัครสาวกคือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนา ต้องมาแสดงความนอบน้อมต่อพระแก่อย่างท่าน ซึ่งสังขารนับวันแต่จะร่วงโรยและใกล้แตกดับไปทุกขณะ

ประการที่ ๒ ท่านได้รับความเหน็ด เหนื่อยเป็นอย่างมากที่ต้องคอยต้อนรับผู้มาหา ซึ่งมีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ การอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน จึงไม่เหมาะสมอีกต่อไปสำหรับพระแก่อย่าง ท่าน

ประการที่ ๓ ท่านเบื่อหน่ายความดื้อรั้นของพระสัทธิวิหาริกรุ่นหลังๆ ที่มักประพฤตินอกลู่นอกทาง ห่างไกลจากการบรรลุมรรคผล

ท่านจำพรรษาอยู่ในป่าหิมพานต์นั้น ณ บริเวณริมฝั่งสระฉัททันต์เป็นเวลา ๑๒ ปี วันจะนิพพานท่านได้ออกจากป่า หิมพานต์มาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทูลลานิพพาน ครั้นพระพุทธเจ้าทรงอนุญาต แล้ว ท่านก็ได้เดินทางกลับไปยังป่าหิมพานต์ แล้วนิพพานในบรรณศาลา พระพุทธเจ้าเสด็จไปพร้อมด้วยพระสาวกจำนวนมากเพื่อทำพิธีเผาศพท่าน

ว่ากันว่า วันเผาศพท่านมีสัตว์ป่านานาชนิดมาชุมนุมกันเนืองแน่น ร่างกายของท่านมอดไหม้ไปท่ามกลางความอาลัยรักของสัตว์ป่าเหล่านั้น

เอตทัคคะ - อดีตชาติ

บรรดาพระปัญจวัคคีย์นั้น มีพระอัญญาโกณฑัญญะเพียงรูปเดียวเท่า นั้นที่ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู ตามความสามารถในชาติปัจจุบันและตามที่ตั้งจิตปรารถนาไว้ในชาติอดีต

พระอัญญาโกณฑัญญะตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรคหบดีมหาศาลชาวเมืองหงสวดี วันหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธจ้าพร้อมกับพวกชาวเมือง เพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง


มีต่อ >>> ตอนที่ ๖
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 7:39 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๖ กลุ่มพระปัญจวัคคีย์


ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายได้สั่งให้เปิดเรือนคลังเก็บผ้า นำผ้าเนื้อดีเลิศมาวางถวายไว้แทบยุคลบาทของพระพุทธเจ้าและถวายพระสาวก แล้วกราบทูลว่า

“ขอแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นเหมือนภิกษุรูปที่พระองค์ทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเมื่อ ๗ วันก่อนจากนี้ด้วยเถิด นั่นคือขอให้ได้บวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าในอนาคตแล้วได้รู้แจ้งธรรมก่อนใครหมด”

พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูความเป็นไปในอนาคตของท่านด้วยพระญาณแล้ว ทรงเห็นว่าความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่ จึงทรงพยากรณ์ว่า “ในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้รู้แจ้งธรรมก่อนใคร และจักได้รับตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู”

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ต่อมาไม่นานเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างกำแพงแก้วล้อมพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ ครั้นถึงวันประดิษฐานพระเจดีย์ก็ได้สร้างเรือนแก้วไว้ภายในพระเจดีย์อีก จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าวิปัสสี

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้น ท่านเกิดเป็นบุตรของกฎมพีชาวเมืองพันธุมดี มีชื่อว่า ‘มหากาล’ มหากาลมี น้องชายชื่อ ‘จูฬกาล’ ทั้ง ๒ มีอุปนิสัยแตกต่างกัน กล่าวคือมหากาลเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าวิปัสสี แต่จูฬกาลกลับไม่เลื่อมใส ดังนั้น ทั้ง ๒ จึงมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับการทำบุญ

มหากาลได้แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน โดยให้ส่วนหนึ่งเป็นสมบัติของตน และอีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นสมบัติของจูฬกาล แล้วได้นำเอาข้าวสาลีอันเป็นผลิตผลที่เกิดจากนาส่วนของตนนั้นมาทำบุญตามวาระต่างๆ จนจวบสิ้นอายุขัย จากชาตินั้นบุญส่งให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านมาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลในหมู่บ้านพราหมณ์โทณวัตถุ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองกบิลพัสดุ์ ครั้นออกบวชได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่ได้รู้แจ้งธรรมและบวชในพระพุทธศาสนาก่อนใคร พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญูดังกล่าวมาแล้ว

ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์ที่เหลือ คือ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ซึ่งมีอดีตชาติร่วมกับพระอัญญาโกณฑัญญะ ตรงที่ตั้งจิตปรารถนาให้ได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมก่อนใคร และปรารถนาจะบรรลุอรหัตผลพร้อมกัน ก็ได้สิ่งที่ปรารถนาไว้ คือได้ฟังพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมก่อนใคร และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกันในที่สุด

วาจานุสรณ์

พระอัญญาโกณฑัญญะ กล่าวแสดงความรู้สึกของท่านไว้เป็นเครื่องเตือนใจสำหรับคนรุ่นหลัง ๒ วาระด้วย กัน คือ

วาระแรก ท่านกล่าวเมื่อได้เห็นพระปุถุชนบางจำพวกตกอยู่ในอำนาจความคิดผิดต่างๆ แล้วทำไปตามแรงผลักดันของความคิดผิดนั้น ท่านระลึกได้ถึงธรรมที่เป็นข้าศึกต่อความคิดผิด และระลึกได้ว่าตัวท่านเองพ้นไปจากความคิดผิดนั้นได้แล้ว จึงกล่าวแสดง ความรู้สึกเป็นคำร้อยกรองความว่า

โลกนี้มีสิ่งที่สวยงามอยู่มาก
บุคคลผู้มีความคิดเจือด้วยราคะ
เห็นเป็นของสวยงามจะถูกย่ำยีเป็นแน่
เมื่อใดพิจารณาเห็นได้ด้วยปัญญา
เมื่อนั้นความคิดทั้งหลายจึงจะสงบได้
คล้ายสายฝนสยบฝุ่นที่ถูกลมพัดฟุ้งฉะนั้น

จากนั้นท่านได้แสดงวิธีพิจารณาเห็นด้วยปัญญาไว้โดยให้เห็นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และย้ำว่า นี้แหละคือทางแห่งความบริสุทธิ์

วาระสุดท้าย ท่านกล่าวเมื่อคราวที่เห็นสัทธิวิหาริกของท่านรูปหนึ่งเกียจคร้าน มีจิตฟุ้งซ่าน คบเพื่อนไม่ดี ทำตัวห่างไกลจากการบรรลุมรรคผล จึงตักเตือนด้วยความหวังดี แต่ว่าสัทธิวิหาริกรูปนั้นไม่เชื่อฟังท่าน ท่านเกิดความสลดใจ จึงกล่าวแสดงความรู้สึกเป็นเชิงตำหนิการปฏิบัติผิด สรรเสริญการปฏิบัติถูกและการอยู่ในที่สงัดว่า

ภิกษุผู้ฟุ้งซ่าน เหลวไหล คบแต่เพื่อนชั่ว
ย่อมถูกคลื่นคือกิเลสซัดให้จมลงไปในห้วงน้ำคือสังสารวัฏ
ส่วนภิกษุผู้ไม่ฟุ้งซ่านไม่เหลวไหล สำรวมอินทรีย์
มีปัญญารักษาตัวรอด คบแต่เพื่อนดี
จะสามารถทำทุกข์ให้หมดสิ้นไปได้

ภิกษุที่ยินดีในที่สงัด แม้จะซูบผอม เนื้อตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น ใจก็ยังไม่ย่อท้อ ยังรู้จักบริโภคข้าวและน้ำแต่พอดี

ภิกษุดังว่ามานั้น แม้จะถูกเหลือบยุงกัดอยู่กลางป่า ก็ย่อมมีสติอดกลั้นไว้ได้ คล้ายช้างศึกอดทนต่อศัตราวุธในยุทธภูมิฉะนั้น

จากนั้นท่านได้กล่าวแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิตและความตายของท่านเอง และความรู้สึกที่มีต่อพระพุทธเจ้าว่า

ความเป็นความตายเราไม่ยินดี
เรารอแต่เวลาคล้ายลูกจ้างรอเวลางานฉะนั้น
พระศาสดาเราก็รับใช้แล้ว
คำสอนของพระองค์เราก็ทำตามได้แล้ว
ภาระหนักเราก็ปลงลงได้แล้ว
อีกทั้งตัณหาตัวการให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด
เราก็ถอนรากถอนโคนได้แล้ว
ประโยชน์ที่คนออกบวชต้องการเราก็ได้รับแล้ว
ทำไมเราจะต้องวุ่นวายอะไรอยู่กับสัทธิวิหาริกผู้ว่ายาก

พระวัปปะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วก็ได้พิจารณาคุณสมบัติที่ตนได้ จึงทำให้เข้าใจถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าว่ายิ่งใหญ่ ในขณะเดียวกันท่านก็รู้ สึกถึงความผิดพลาดของกลุ่มของท่าน ที่เรียกพระพุทธเจ้าว่าเป็นคนมักมาก และแสดงกิริยากระด้างกระเดื่อง คราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงในระยะแรก จึงทำให้มองเห็นว่าภาวะของพระอริยะกับภาวะของปุถุชนนั้นห่างไกลกันมาก ท่านเข้าใจได้ชัดเจนว่าเป็นไปไม่ได้ที่ปุถุชนจะเข้าใจถึงภาวะของพระอริยะ เพื่อแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ท่านจึงกล่าวว่า

พระอริยะย่อมเห็นทั้งบัณฑิตผู้เห็นอยู่ด้วย
ย่อมเห็นทั้งอันธพาลผู้ไม่เห็นอยู่ด้วย
ส่วนปุถุชนย่อมมองไม่เห็นทั้งอันธพาลและบัณฑิตนั้น

ส่วน พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ยังไม่พบหลักฐานว่าท่านได้กล่าววาจานุสรณ์ไว้ในที่ใด


มีต่อ >>> ตอนที่ ๗
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 7:41 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๗ พระนาลกะ - พระยสะ


พระนาลกะ

พระนาลกะ เป็นพระอสีติมหาสาวกที่พุทธบริษัทไม่ค่อยคุ้นนัก ท่านบวชหลังกลุ่มพระปัญจวัคคีย์เพียง ๗ วัน แต่หลังจากบรรลุอรหัตผลได้เพียง ๗ เดือนก็นิพพาน

สถานะเดิม

พระนาลกะมีนามเดิมว่า ‘นาลกะ’ ท่านเกิดในวรรณะพราหมณ์ที่เมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ

ชีวิตฆราวาส

ท่านเป็นหลานของฤาษีอสิตะผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าสุทโธทนะ โดยโยมมารดาของท่านเป็นน้องสาวของฤาษีอสิตะนั้น ดังนั้นตระกูลของท่านจึงถือได้ว่าเป็นตระกูลขุนนางที่ทรงเกียรติตระกูลหนึ่งในเมืองกบิลพัสดุ์

การออกบวช

ท่านออกบวชเป็นฤาษีตั้งแต่อายุยังน้อยตามคำแนะนำของฤาษีอสิตะผู้เป็นลุง ที่เปี่ยมล้นด้วยความรักและปรารถนาดี ดังมีเรื่องเล่าว่า

หลังจากได้รับพระราชานุญาตจากพระเจ้าสุทโธทนะให้ออกบวช และได้บรรลุสมาบัติ ๘ พร้อมทั้งอภิญญา ๕ แล้ว ฤาษีอสิตะมักจะอาศัยอำนาจฤทธิ์หายตัวไปพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ อาทิ ป่าหิมพานต์ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา และสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

วันหนึ่ง ฤาษีอสิตะหายตัวไปพักผ่อน ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์โดยนั่งเข้าฌานอยู่ในวิมานหลังหนึ่งที่เกิดขึ้นด้วยบุญของท่านเอง

หลังออกจากฌานแล้วท่านได้ยืนอยู่ที่ประตูวิมานและมองไปรอบๆ เห็นธงทิวของเทวดาปลิวไสวอยู่ตามท้องถนน ซึ่งกว้างใหญ่ ๖๐ โยชน์ ทั้งยังได้เห็นและได้ยินเสียงท้าวสักกะ (พระอินทร์) และเทวดาชาวสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ต่างฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรีปรบมือแสดงความ ยินดีสนุกสนานอยู่ท่ามกลางถนน พร้อมทั้งกล่าวสรรเสริญคุณของพระโพธิสัตว์ จึงถามด้วยความแปลกใจว่า

มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นหรือ ทวยเทพทังหลายถึงได้แสดงความยินดีกันเหลือเกิน ท่านทั้งหลายโบกสะบัดผ้าทิพย์กันทำไม อะไรทำให้ท่านขนพองสยองเกล้า

เทวดาทั้งหลายกล่าวตอบว่า

ท่านอสิตะ พระโพธิสัตว์อุบัติขึ้นแล้วในโลกมนุษย์ พระองค์ประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ณ ป่าลุมพินีของเจ้าศากยะเมื่อสักครู่นี้เอง เหตุนี้แหละที่ทำให้เราทั้งหลายดีใจ

ท่านอสิตะ ท่านไม่ทราบหรือว่า พระโพธิสัตว์เป็นผู้สูงสุดในหมู่สัตว์ พระองค์จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จักประกาศธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสีแคว้นกาสี ด้วยพุทธลีลาอันอาจ หาญดุจพญาราชสีห์

คำตอบของเทวดาทำให้ฤาษีอสิตะไม่สามารถอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ต่อไปได้ ท่านรีบลงมาเข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะทันที และทูลขอโอกาสเฝ้าพระราชกุมารด้วย

พระเจ้าสุทโธทนะทรงอนุญาตให้ตามที่ท่านประสงค์ ทรงรับสั่งให้พระอภิบาลอุ้มพระราชกุมารออกมาให้ท่านได้เฝ้าพระราชกุมารทรงมีพระฉวีวรรณงดงาม ฤาษีอสิตะเห็นแล้วก็ทราบได้ทันทีด้วยอำนาจอภิญญาว่า พระราชกุมารนี้คือพระโพธิสัตว์อย่างที่เทวดาบอกกล่าว จึงกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะว่า

พระราชกุมารนี้ไม่มีใครยิ่งใหญ่ไปกว่าได้ พระองค์ทรงสูงสุดในบรรดาสรรพสัตว์ทวิบท (สัตว์ ๒ เท้า) พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ครั้นกราบทูลแล้วฤาษีอสิตะก็ร้องไห้น้ำตาไหลพรากด้วยความเสียใจว่า ตนเองชราแล้ว มีอายุอยู่ไม่ทันได้เห็นพระราชกุมารตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อีกทั้งเสียใจ ว่าเมื่อตายแล้วก็จะไปเกิดเป็นอรูปพรหม ไม่มีรูปร่าง หมดโอกาสที่จะได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรม

ฤาษีอสิตะเข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะและพระราชกุมาร พอสมควรแก่เวลาแล้ว ก็ทูลลากลับ ท่านนึกเสียดายเรื่องที่จะไม่ได้อยู่ทันพระราชกุมารได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา ท่านนึกถึงเด็กชาย ‘นาลกะ’ ลูกของน้องสาวขึ้นมาได้ และเห็นว่าหลานชายคนนี้มีอุปนิสัยน้อมไปในการออกบวช จึงไปหาน้องสาวเพื่อขออนุญาต นำหลานชายออกบวชเป็นฤาษีเช่นเดียวกับท่าน เมื่อน้องสาวอนุญาตแล้ว ท่านก็ได้ดำเนินการตามที่ประสงค์

วันหนึ่งขณะนั่งพักผ่อนอิริยาบถอยู่ด้วยกัน ฤาษีอสิตะได้บอกแก่ฤาษีนาลกะว่า

วันข้างหน้าหากได้ยินเสียงกล่าวว่า พระพุทธเจ้า ขอให้เข้าใจเถิดว่า พระราชกุมารเสด็จออกผนวช และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เจ้าจงไปเข้าเฝ้าและทูลถามเรื่องที่อยากรู้ และจงบวชเป็นสาวกของพระองค์เถิด

ฤาษีนาลกะรับคำด้วยความเคารพ ท่านรอคอยฟังเสียงว่า ‘พระพุทธเจ้า’ อยู่ตลอดเวลา จนมาเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดพระปัญจวัคคีย์ ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากท่านบวช เป็นฤาษีแล้ว ๓๕ ปี ท่านก็ได้ยินเสียงเทวดาป่าวร้องอื้ออึงว่า

พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกแล้ว
พระองค์ทรงแสดงธรรมจักรแล้ว

ฤาษีนาลกะดีใจมากที่วันเวลาแห่งการรอคอยมาถึง ๗ วันหลังจากนั้นเมื่อพระปัญจวัคคีย์ได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ท่านได้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์เป็นหลานของฤาษีอสิตะ รอคอยเวลาที่จะได้เข้าเฝ้าพระองค์มานานแล้วถึง ๓๕ ปี บัดนี้จึงได้สมปรารถนา ขอพระองค์ได้โปรดตรัสบอกข้อปฏิบัติของมุนี แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด เพื่อข้าพระองค์ผู้เป็น มุนีไม่มีเรือน เที่ยวเลี้ยงชีพด้วยภิกขาจาร จะได้ยึดถือปฏิบัติต่อไป

พระพุทธเจ้าทรงทราบอุปนิสัยของท่านดี จึงตรัสโมเนยยปฏิปทา (ข้อปฏิบัติของมุนี) ให้ท่านฟัง ความว่า

เธอจงทำใจให้มั่นคง วางตนให้เหมือนกันทั้งแก่คนที่ด่า และยกมือไหว้ ไม่มีความเย่อหยิ่ง (จงระลึกไว้เสมอว่า) รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัสทางกาย ไม่ต่างอะไรไปจากเปลวไฟในป่า (ย่อมไหม้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย)

มุนีทั้งหลายย่อมถูกนารีเล้าโลมให้หลงใหลด้วยอิตถีลีลาต่างๆ อาทิ การหัวเราะ การพูด และการร้องไห้ เธออย่าถูกเล้าโลมเหมือนอย่างนั้นเลย

มุนีต้องละกาม งดเว้นจากเมถุนธรรม

มุนีต้องรักสัตว์อื่นให้เหมือนรักตัวเอง โดยยกตนเป็นที่เปรียบว่า เราเป็นฉันใด สัตว์อื่นๆ ก็เป็นฉันนั้น

ความปรารถนาและความอยากได้จนเกินไป ทำให้ปุถุชนข้องอยู่ มุนีจงละความปรารถนาและความอยากได้เกินไปนั้นเสีย จงละความอยากไม่หยุดในเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเหตุให้ประกอบมิจฉาชีพ

มุนีต้องไม่เห็นแก่กิน บริโภคอาหารแต่พอประมาณ มักน้อย ต้องทำตนให้หายหิว หมดความอยาก ดับความเร่าร้อนให้ได้ทุกเมื่อ

มุนีเที่ยวภิกขาจารได้อาหารแล้วจงไปยังชายป่า นั่งบริโภคตามโคนต้นไม้ จากนั้นจงบำเพ็ญฌาน ใช้ชีวิตอยู่ในป่า รุ่งเช้า จึงค่อยเข้าหมู่บ้านเที่ยวภิกขาจาร ได้อาหารอย่างใดก็บริโภคอย่างนั้น ไม่หวังอาหารที่ยังไม่ได้ ขณะฉันอาหารไม่ควรพูด

มุนีจงทำใจให้ได้ว่า จะได้หรือไม่ได้ก็ดี ทั้งนั้น เพราะทั้งการได้และไม่ได้ย่อมทำให้ พ้นทุกข์ ขณะภิกขาจารมุนีแม้ไม่เป็นใบ้ ก็ควรทำตนให้เหมือนคนใบ้ ไม่ควรดูหมิ่น ทานว่าเล็กน้อย ไม่ควรดูถูกบุคคลผู้ให้

ในการบำเพ็ญเพียรตามหลักที่มุนีปฏิบัติกันมา คือ ใช้ลิ้นกดเพดาน (กลั้นลม หายใจ) เดิน ยืน นั่ง นอน แต่ผู้เดียวในที่สงัด

นาลกะ เธอจงรู้ไว้เถิดว่า น้ำในแม่น้ำน้อย ในหนอง ในห้วย ย่อมไหลดัง แต่น้ำในแม่น้ำใหญ่ย่อมไหลเงียบ สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นย่อมมีเสียงดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นย่อม ไม่มีเสียงดัง คนโง่ ย่อมทำตนเหมือนหม้อน้ำที่มีน้ำเพียงครึ่งเดียว ส่วนคนฉลาดย่อมทำตนเหมือนหม้อน้ำที่มีน้ำเต็ม เพราะเป็นผู้สงบ

สมณะใดรู้อยู่ สำรวมตน รู้เหตุแห่งความเสื่อม และความทุกข์แล้ว ไม่พูดมาก สมณะนั้นแล ได้ชื่อว่าเป็นมุนี ได้ชื่อว่าปฏิบัติตามปฏิปทาของมุนีได้อย่างเหมาะสม และได้ชื่อว่าได้บรรลุธรรมที่ทำให้เป็นมุนีแล้ว

การบรรลุอรหัตผล

ฤาษีนาลกะได้ฟังข้อปฏิบัติของมุนีจากพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงได้ทูลขอบวชทันที ครั้นบวชแล้วก็ยึดถือปฏิบัติตามหลักมักน้อย ๓ ประการ คือ มักน้อยในการเห็น มักน้อยในการฟัง และมักน้อยในการถาม

มักน้อยในการเห็น พระนาลกะไม่ได้ปรารถนาอีกว่า เมื่อไปอยู่ป่าแล้วขอให้ได้ พบพระพุทธเจ้าอีก

มักน้อยในการฟัง พระนาลกะไม่ได้ปรารถนาอีกว่า ขอให้ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าอีก

มักน้อยในการถาม พระนาลกะไม่ได้ ปรารถนาอีกว่า ขอให้ได้ทูลถามถึงข้อปฏิบัติของมุนีอีก

พระนาลกะครั้นตั้งจิตยึดถือตามหลักมักน้อย ๓ ประการนี้แล้ว ก็ทูลลาพระพุทธเจ้าไปอยู่ที่เชิงเขา ตามลำพัง ท่านปฏิบัติตามข้อปฏิบัติของ มุนีอย่างเคร่งครัด คือไม่อยู่ในป่าแห่งเดียวถึง ๒ วัน ไม่นั่งที่โคนต้นไม้ต้นเดียวกันถึง ๒ วัน ไม่บิณฑบาตที่บ้านเดียวถึง ๒ วัน ดังนั้นท่านจึงออกจากป่าโน้นไปยังป่านี้ ออกจากต้นไม้นี้ไปยังต้นไม้โน้น ท่านปฏิบัติโดยเคร่งครัดอย่างนี้ไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหัตผล


มีต่อ >>> ตอนที่ ๘
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 7:44 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๘ พระนาลกะ - พระยสะ


งานสำคัญ

ดังได้กล่าวแล้วว่า พระนาลกะบวชหลังกลุ่มพระปัญจวัคคีย์ ๗ วัน ดังนั้น หากนับลำดับกันแล้ว ท่านก็เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้ารูปที่ ๖ และเป็นพระอรหันต์รูปที่ ๗ โดยมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์รูปแรก แต่ถึงคราวที่พระพุทธเจ้าทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนานั้นกลับไม่มีท่านรวมอยู่ในจำนวนนั้นด้วย ทั้งนี้คงเป็นด้วยเพราะท่านถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในข้อปฏิบัติของมุนีนั่นเอง พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ท่านเป็นอยู่อย่างอิสระ และไม่ทรงเรียกประชุมในคราวส่งพระสาวก ไปประกาศพระพุทธศาสนา

โดยเหตุที่ท่านไม่มีบทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในครั้งนั้น และนิพพานเร็วกว่าพระสาวกรูปอื่นในยุคเดียวกัน จึงไม่มีงานสำคัญอันใดเหลือ ไว้ อันเป็นเหตุให้ชื่อท่านเลือนหายไปจากประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาจนกลายเป็นชื่อที่แปลกตาสำหรับนักศึกษายุคปัจจุบัน

บั้นปลายชีวิต

ตามปกติ โมเนยยปฏิปทา หรือข้อปฏิบัติของมุนีเพื่อความเป็นมุนีผู้นิ่งเงียบนั้น ถือได้ว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่เป็นอัตตกิลมถานุโยค คือทำตนเองให้ลำบาก แต่เพราะเหตุที่ผู้ปฏิบัติไม่ยึดติดใน สัสสตทิฎฐิและอุจเฉททิฏฐิ ตรงกันข้ามกลับมีความเข้าใจถูกต้องที่ปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจาก ความเกิด ความแก่ และความตาย พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ปฏิบัติ

เพราะเหตุที่โมเนยยปฏิปทาเป็นวิธีปฏิบัติแบบอัตตกิลมถานุโยคดังกล่าว จึงมีผลอย่างสำคัญต่อสุขภาพ กล่าวคือ ผู้ที่ปฏิบัติเคร่งครัดขั้นต้นหลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว จะมีชีวิตอยู่ได้ ๑๖ ปี ผู้ปฏิบัติเคร่งครัดขั้นกลางหลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว จะมีชีวิตอยู่ได้ ๗ ปี ส่วนผู้ที่ปฏิบัติเคร่งครัดขั้นสูงสุด หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้ ๗ เดือน

พระนาลกะปฏิบัติโมเนยยปฏิปทาอย่างเคร่งครัดขั้นสูงสุด เพราะฉะนั้นหลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว ท่านจึงมีชีวิตอยู่ได้เพียง ๗ เดือนเท่านั้น เนื่องจากร่างกายบอบช้ำหนักนั่นเอง

มีกล่าวไว้ว่าวันที่จะนิพพานนั้น ท่านรู้ตัวดีจึงสรงน้ำชำระกายแล้วครองผ้าอย่างเรียบร้อย ท่านยืนหันหน้าไปทางที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ซึ่งคาดว่าขณะนั้นพระพุทธเจ้าคงประทับอยู่ ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ จากนั้นท่านก็ก้มลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วลุกขึ้นยืนพิงภูเขาหิงคุละ ประนมมือนิพพานด้วยอาการสงบ เมื่อทรงทราบว่าพระนาลกะนิพพานแล้ว พระพุทธเจ้าก็เสด็จมายังภูเขาหิงคุละพร้อมด้วยพระสาวกหลายรูป ครั้นรับสั่งให้ฌาปนกิจศพท่านแล้วก็ทรงรับสั่งให้นำอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ เพื่อให้พุทธบริษัทได้สักการะ

เอตทัคคะ - อดีตชาติ

พระนาลกะมิได้รับแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ทั้งนี้เป็นด้วยท่านตั้งจิต ปรารถนาเพียงเพื่อเป็นพระมหาสาวกเท่านั้น แต่มิได้ตั้งจิตปรารถนาเพื่อได้ตำแหน่งเอตทัคคะ ส่วนเรื่องราวในอดีต ชาติของท่านมีกล่าวว่า ท่านได้พบพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ฟังธรรมแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงตั้งจิตปรารถนาขอให้ได้บรรลุอรหัตผลและเป็นพระมหาสาวก

ซึ่งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระทรงพยากรณ์ว่า ท่านจะได้บวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิด เป็นหลานของฤาษีอสิตะในเมืองกบิลพัสดุ์ ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผลดังกล่าวแล้ว และเป็นพระมหาสาวกรูปหนึ่งในศาสนาของพระองค์


พระยสะ

สถานะเดิม

พระยสะมีนามเดิมว่า ‘ยสะ’ เกิดในวรรณะไวศยะ ในตระกูลเศรษฐีแห่งเมืองพาราณสี แคว้นกาสี

ชีวิตฆราวาส

ยสะมีชีวิตฆราวาสที่สมบูรณ์พูนสุข ทุกประการ ท่านอยู่ในปราสาท ๓ ฤดูมาแต่อายุย่างเข้าวัยหนุ่มเช่นเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ โดยที่เมื่อถึงฤดูหนาวก็อยู่ ในปราสาทประจำฤดูหนาว เมื่อถึงฤดูร้อนก็อยู่ในปราสาทประจำฤดูร้อน เมื่อถึงฤดูฝนก็อยู่ในปราสาทประจำฤดูฝน

ยสะแต่งงานแล้วกับหญิงสาวที่มีตระกูลเสมอกัน แต่ไม่ปรากฏชัดว่า ได้มีบุตรธิดาด้วยกันหรือไม่ สำหรับตัวท่านเองนั้นสันนิษฐานได้ว่าคงจะเป็นบุตรชายคนเดียวของตระกูล ทั้งนี้สังเกตได้จากการที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีปราสาทอยู่ใน ๓ ฤดูนั้นเป็นเครื่องบ่งบอกได้อย่างดีว่า บิดาของท่านมีฐานะอยู่ในระดับเศรษฐี ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องบ่งบอกถึงตัวท่านเองว่ามีความสำคัญต่อตระกูล และเป็นที่โปรดปรานของบิดามารดาเพียงใด นอกจากนั้นท่านยังมีเพื่อนวัยเดียวกันอยู่มากมาย

การออกบวชและบรรลุธรรม

ยสะได้บวชในพระพุทธศาสนาในปีเดียวกับพระปัญจวัคคีย์ โดยออกบวชหลังพระปัญจวัคคีย์ไม่นาน ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั้นเอง พระไตรปิฎกเล่าถึงวันที่ท่านออกบวชไว้ว่า

เมื่อฤดูฝนมาถึงยสะได้มาอยู่ที่ปราสาทประจำฤดูนั้นพร้อมด้วยนางระบำจำนวนมาก ท่านมีความสุขอยู่ท่ามกลาง เสียงดนตรีขับกล่อม ชีวิตเป็นดังนี้เรื่อยมา จนอยู่มาในค่ำวันหนึ่ง ขณะที่บรรดา นางระบำกำลังร่ายรำและบรรเลงดนตรีอยู่นั้น ท่านม่อยหลับไปก่อนแล้วมาตื่นขึ้นตอนใกล้รุ่ง ขณะนั้นบรรดานางระบำกำลังนอนหลับใหลไม่ได้สติ แสงสว่างจากประทีปที่ตามไว้ตลอดคืนทำ ให้ท่านมองเห็นภาพนางระบำนอนหลับได้ชัดเจน บางนางมีพิณตกอยู่ที่รักแร้ บางนางมีตะโพนวางอยู่ข้างคอ บางนางมีเปิงมางตกอยู่ที่อก บางนางสยายผม บางนางนอนน้ำลายไหล บางนางนอนละเมอ ท่านเห็นภาพเหล่านี้แล้วมีความรู้สึกเหมือนเห็นซากศพอยู่ในป่าช้า จึงเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายขึ้นมาทันที

“ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” ท่านเปล่งอุทานกับตัวเองพลางสวมรอง เท้าเดินลงจากปราสาท ตรงไปยังประตูใหญ่แล้วเลยออกไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

เวลานั้นพระพุทธเจ้าเสด็จจงกรมอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง พระองค์ทอดพระเนตรเห็นยสะกำลังเดินมาแต่ไกล ทรงทราบดีว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น จึงเสด็จลงจากที่จงกรมมาประทับนั่งบนอาสนะ ยสะเดินเข้ามาใกล้พระพุทธองค์ทุกขณะพลางเปล่งอุทาน “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ”

“ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เชิญเถิด ยสะ เชิญมาทางนี้ เราจักแสดงธรรมให้เธอฟัง” พระพุทธเจ้าตรัสตอบ พระดำรัสของพระพุทธเจ้าทำให้ยสะเกิดสะดุดใจ ท่านหยุดชะงัก รีบถอดรองเท้า แล้วเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทันที

เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว พระพุทธเจ้าทรงยกอนุปุพพิกถาขึ้นแสดงให้ท่านฟัง อนุปุพพิกถา คือการแสดงธรรมไปตาม ลำดับธรรมที่แสดงให้ยสะฟังไปตามลำดับนั้น คือ ทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และอานิสงส์ของการออกจากกาม โดยพระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่าการให้ทานและการรักษาศีลเป็นความดีที่ฆราวาสทำได้ ซึ่งเมื่อทำแล้วก็ให้ผลเป็นการเกิดในสวรรค์หลังจากตาย และสวรรค์นั้นเป็นแดนที่พรั่งพร้อมด้วยเบญจกามคุณที่ดีเลิศ แต่ถึงอย่างไรเบญจกามคุณที่ดีเลิศนั้นก็ยังเป็นของต่ำช้าให้โทษ สู้การออกบวชไม่ได้


มีต่อ >>> ตอนที่ ๙
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 7:48 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๙ พระนาลกะ - พระยสะ


ยสะฟังธรรมพลางพิจารณาตามไปพลาง จิตที่วุ่นวายเริ่มสงบ พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าขณะนี้ท่านมีจิตสงบปราศจากนิวรณ์ ผ่องใสเบิกบานเหมาะสมที่จะฟังธรรมขั้นสูงต่อไป จึงทรงแสดงอริยสัจ ๔ ให้ฟัง หลังจากฟังธรรมเทศนาจบลง ท่านได้บรรลุโสดาปัตติผลทันที โดยเกิดความรู้แจ้งว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา

ฝ่ายทางบ้านของยสะ ครั้นรุ่งเช้า เมื่อไม่เห็นยสะเศรษฐีได้ส่งคนออกติดตามไปตามที่ต่างๆ ส่วนเศรษฐีเองก็ได้ออกติดตามด้วย โดยเดินทางมาทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้พบรองเท้าของบุตรชายวางอยู่ก็จำได้เพราะเป็นรองเท้าทองคำ จึงตามเข้าไปยังที่ที่เขาเชื่อว่าบุตรชายจะอยู่ที่นั่น

พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นเศรษฐีเดินมาทางพระองค์ จึงทรงรอต้อนรับอยู่ ครั้นเขาเข้ามาใกล้ พระองค์จึงทรงบันดาลด้วยฤทธิ์ให้บิดากับบุตรชายไม่เห็นกัน และเมื่อเศรษฐีทูลถามว่าเห็นบุตรชายของตนบ้างไหม พระองค์ตรัสตอบว่า เชิญนั่งลงเถิดคหบดี บางทีท่านนั่งอยู่ที่นี่จะได้เห็นบุตรชายท่านก็ได้

เศรษฐีรู้สึกโล่งใจเมื่อได้คำปลอบโยนจากพระพุทธเจ้า จึงถวายบังคมและนั่งลงด้วยอาการสงบ พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนุปุพพิกถาให้ฟัง จากนั้นทรงแสดงอริยสัจ ๔ ต่อ และเมื่อจบพระธรรมเทศนาเศรษฐีก็ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบันเช่นเดียวกับยสะบุตรชาย

ฝ่ายยสะ ขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้บิดาฟังอยู่นั้น ท่านเองก็ได้พิจารณาตามกระแสพระธรรมเทศนาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อจบพระธรรมเทศนาจิตของท่านก็คลายความถือมั่น หลุดพ้นไป จากอาสวะทั้งหลาย ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ณ ที่นั้นเอง

พระพุทธเจ้าเมื่อทรงทราบว่ายสะได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ไม่มีสภาพจิตที่จะหวนกลับไปใช้ชีวิตแบบฆราวาสอีกต่อไป จึงทรงคลายฤทธิ์ให้ท่านกับบิดาได้เห็นกัน และครั้นได้เห็นกันแล้วเศรษฐีก็พูดชวนบุตรชายให้กลับบ้านไปอยู่กับมารดาและภรรยาดุจเดิม

ยสะไม่ตอบว่ากระไร ได้แต่ชำเลืองดูพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงเข้าพระทัยถึงความรู้สึกของยสะได้ดี จึงตรัสบอกเศรษฐีว่า

“ท่านคหบดี บัดนี้ยสะได้เป็นพระอรหันต์แล้ว จึงไม่สมควรที่จะกลับไปครองเรือนอีกต่อไป”

เนื่องจากตนเองได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว เศรษฐีจึงเข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกได้ดี ท่านมิได้รบเร้าอีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกันก็สรรเสริญว่า เป็นลาภของบุตรชายที่ได้บรรลุธรรมถึงขั้นอรหัตผล และก่อนกลับได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ไปเสวย พระกระยาหารที่บ้านของตนในวันพรุ่งนี้พร้อมด้วยยสะ

เมื่อเศรษฐีกลับไปแล้ว พระพุทธจ้าก็ทรงบวชให้ยสะตามที่ทูลขอ โดยตรัสว่า

“เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด”

จบพระพุทธดำรัส ยสะก็ได้เป็นพระสมบูรณ์แบบในพระพุทธศาสนา และปรากฏชื่อว่า ‘พระยสะ’ นับแต่นั้นมา พระยสะบวชด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาเช่นเดียวกับพระปัญจวัคคีย์ ต่างแต่ว่าท่านได้บรรลุอรหัตผลก่อนบวช ไม่ต้องบำเพ็ญเพียรเพื่อละกิเลสอีกต่อไป พระพุทธเจ้าจึงไม่ตรัสในตอนท้ายว่า “เพื่อทำทุกข์ให้สิ้นไปโดยชอบ” อย่างที่ตรัสแก่พระปัญจวัคคีย์

วันรุ่งขึ้นพระยสะได้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปโปรดโยมมารดาและภรรยาเก่า ที่บ้านของท่าน พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ให้บุคคลทั้ง ๒ ฟังจนได้บรรลุโสดาปัตติผล ด้วยเช่นกัน โยมบิดาของพระยสะได้เป็นอุบาสกคนแรกในพระพุทธศาสนา ส่วนโยมมารดาและภรรยาได้เป็นอุบาสิกาคู่แรกในพระพุทธศาสนาเช่นกัน

งานสำคัญ

พระยสะอยู่ในคณะพระธรรมจาริกรุ่นแรก ที่พระพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนาซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๖๐ รูป แต่น่าเสียดายที่ในคัมภีร์ไม่มีกล่าวถึงผลงานของท่านไว้ จึงทำให้เราไม่สามารถทราบได้ว่าท่านเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ที่ใด และมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร รวมทั้งเรื่องราวชีวิตบั้นปลายของท่านก็ไม่มีบันทึกไว้ให้ทราบ

อย่างไรก็ตาม พระยสะก็ถือได้ว่าเป็นสาวกสำคัญรูปหนึ่งของพระพุทธ เจ้า ในฐานะที่การออกบวชของท่าน นอกจากทำให้โยมบิดามารดาและภรรยาเก่าได้เป็นอุบาสกอุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนาดังกล่าวมาแล้ว ยังเป็นเหตุจูงใจให้บุตรเศรษฐีคนอื่นๆ อีก ๕๔ คน ซึ่งเป็นเพื่อนของท่านออกบวชตาม และได้บรรลุอรหัตผล ซึ่งต่อมาได้รวมอยู่ในคณะพระธรรมจาริกรุ่นแรกด้วย

เอตทัคคะ - อดีตชาติ

พระพุทธเจ้ามิได้ทรงแต่งตั้งพระยสะไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะท่านมิได้ตั้งจิตปรารถนาตำแหน่งเอตทัคคะไว้ ได้แต่ตั้งจิตปรารถนาเพื่อการบรรลุอรหัตผลเท่านั้น อรรถกถาธรรมบท และอรรถกถาเถรคาถา (ปรมัตถทีปนี) กล่าวถึงชีวิตในอดีตชาติ ของท่านช่วงที่พบพระพุทธเจ้าสุเมธะ พระพุทธเจ้าสิทธัตถะ และพระพุทธเจ้ากัสสปะ ไว้ดังนี้

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าสุเมธะนั้น ท่านเกิดเป็นพญานาคมีจิตเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า วันหนึ่งได้นิมนต์ให้เสด็จมายังที่อยู่ของท่านพร้อมด้วยพระสาวก ท่านพร้อมทั้งบริวารได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก รวมทั้งได้ถวายผ้าไตรจีวรให้ครอง จากนั้นได้ตั้งจิตปรารถนาขอให้ได้บรรลุอรหัตผลในศาสนาของพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล พระพุทธเจ้าสุเมธะทรงเห็นด้วยพระญาณว่า ความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่ จึงพยากรณ์ว่า

“ในอีก ๓๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์แล้ว จักได้บรรลุอรหัตผล”

ท่านฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าสิทธัตถะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าสิทธัตถะนั้น ท่านเกิดเป็นบุตรเศรษฐีชาวเมืองสุทัสสนะ และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้นำเอาแก้ว ๗ ประการไปบูชาต้นกรรณิกา อันเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้ จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้ากัสสปะนั้น ท่านก็มีจิตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากถึงขั้นยอมสละเรือนออกบวชบำเพ็ญสมณธรรม จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนถึงพุทธันดรหนึ่ง

ในช่วงพุทธันดรนั้น ท่านได้เวียนว่ายตายเกิดเป็นเทวดาและมนุษย์ มีอยู่ชาติหนึ่งท่านเกิดเป็นคนเก็บซากศพ โดยร่วมกับเพื่อน ๕๔ คน เที่ยวเก็บศพไม่มีญาติไปไว้หรือเผาในป่าช้า

วันหนึ่ง ท่านกับเพื่อนพบศพหญิงตายทั้งกลม จึงพร้อมใจกันนำไปเผาในป่าช้า ขณะที่กำลังเผาอยู่นั้นท่านเกิดอสุภสัญญา คือความรู้สึกว่าร่างกายไม่ใช่ของสวยงาม จึงเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง เพื่อนๆพิจารณาตามที่ท่านเล่าแล้วได้อสุภสัญญาเช่นเดียวกัน นอกจากบอกเพื่อนๆ แล้ว ท่านยังกลับไปบอกบิดามารดาและภรรยาด้วย จนคนเหล่านั้นได้อสุภสัญญาขึ้นมาด้วย

ว่ากันว่าอสุภสัญญาแต่อดีตชาตินั้น ได้เป็นอุปนิสัยปัจจัยให้ท่านออกบวชในชาติปัจจุบัน กล่าวคือ อสุภสัญญาแต่อดีตชาติเกิดขึ้นกระตุ้นเตือนจิต ให้ท่านเห็นบรรดานางระบำที่นอนหลับใหลไม่ได้สติมีสภาพเหมือนซากศพในป่าช้า จึงทำให้ท่านเกิดความเบื่อหน่ายจนต้องออกบวชดังกล่าวแล้ว

วาจานุสรณ์

พระยสะเป็นพระสาวกรูปแรกที่ ได้บรรลุอรหัตผล และขณะครองเพศฆราวาส ท่านได้กล่าวแสดงความรู้สึกของท่านไว้ ความว่า

ทั้งๆ ที่เนื้อตัวยังหอมกรุ่นด้วยเครื่องลูบไล้
ทั้งๆ ที่ร่างกายยังงามพร้อมด้วยเครื่องประดับ
เราก็ได้บรรลุวิชชา ๓
เราทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้แล้ว


มีต่อ >>> ตอนที่ ๑๐
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 7:53 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๑๐ กลุ่มเพื่อนพระยสะ


กลุ่มเพื่อนพระยสะ คือ กลุ่มของพระที่เป็นเพื่อนเก่าของพระยสะตั้งแต่ครั้งยังเป็นฆราวาส และได้ออกบวชตามเมื่อพระยสะออกบวช พระกลุ่มนี้มี ๕๔ รูป แต่ที่ปรากฏชื่อและได้รับจัดเข้าเป็นพระอสีติมหาสาวกมีเพียง ๔ รูป คือ พระวิมละ พระสุพาหุ พระปุณณชิ และพระควัมปติ ฉะนั้นในการกล่าวถึงกลุ่มเพื่อนพระยสะจะกล่าวถึงแต่เฉพาะพระสาวก ๔ รูปนี้เท่านั้น ซึ่งแต่ละรูปมีประวัติที่น่าศึกษาดังนี้

สถานะเดิม

พระสาวกทั้ง ๔ รูป เกิดในวรรณะไวศยะ ในตระกูลเศรษฐีแห่งเมืองพาราณสี แคว้นกาสี

ชีวิตฆราวาส

ไม่ปรากฏหลักฐานว่าท่านดำเนินชีวิตอย่างไร แต่โดยเหตุที่เป็นบุตรเศรษฐีและเป็นได้ว่าคงดำเนินชีวิตไม่ต่างไปจากพระยสะ กล่าวคือมีความเป็นอยู่สุขสบาย สมบูรณ์พูนสุขทุกประการ มีนางระบำบรรเลงดนตรีขับกล่อมเวลาเข้านอน

การออกบวชและบรรลุโสดาปัตติผล

ได้กล่าวไว้แล้วว่าพระสาวกทั้ง ๔ รูป ออกบวชตามพระยสะ พระไตรปิฏกกล่าวถึงการออกบวชของท่านไว้ว่า

พระวิมละ พระสุพาหุ พระปุณณชิ และพระควัมปติ เมื่อได้ทราบว่ายสะออกบวช ต่างมีความคิดเป็นอย่างเดียวกันว่า บัดนี้ยสะได้ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด ออกจากเรือนบวชแล้ว การบวชของยสะคงไม่ใช่ของต่ำต้อย ธรรมวินัยที่ยสะประพฤติคงไม่ต่ำทราม ครั้นแล้วจึงพร้อมใจกันเดินทางไปหาพระยสะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ด้วยความศรัทธา พระยสะได้พาทั้ง ๔ ท่านเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า หลังจากกราบทูลให้ทรงทราบถึงประวัติส่วนตัวของแต่ละท่านแล้ว ได้ทูลขอให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้ฟัง พระพุทธเจ้าได้ตรวจดูอุปนิสัยแล้ว ก็ได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ให้ฟังตามลำดับ เมื่อจบพระธรรมเทศนา ทั้ง ๔ ท่านก็ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ครั้นแล้วได้ทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาอย่างที่ทรงประทานแก่พระปัญจวัคคีย์ โดยตรัสว่า

“พวกเธอจงเป็นภิกษุเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำทุกข์ให้หมดสิ้นไปโดยชอบเถิด”

จบพระพุทธดำรัสทั้ง ๔ ท่านก็ได้เป็นพระสมบูรณ์แบบในพระพุทธศาสนา และปรากฏชื่อว่า พระวิมละ พระสุพาหุ พระปุณณชิ พระควัมปติ มานับแต่นั้น

การบรรลุอรหัตผล

หลังจากบวชแล้ว พระพุทธเจ้ายังคงแสดงธรรมโปรดอยู่เนืองๆ ไม่ช้าพระสาวกทั้ง ๔ รูปนั้นก็ได้บรรลุอรหัตผล

งานสำคัญ

พระวิมละ พระสุพาหุ พระปุณณชิ และพระควัมปติ อยู่ในคณะพระธรรมจาริกรุ่นแรก ที่พระพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๖๐ รูป บรรดาพระสาวก ๔ รูปนี้ ในคัมภีร์มีกล่าวไว้แต่เรื่องของพระควัมปติว่า ท่านได้เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาถึงสหชาตินครในแคว้นเจตี ซึ่งอยู่ทางเหนือ

พระควัมปติ หลังจากที่ได้บรรลุอรหัตผลแล้ว คราวหนึ่งได้จำพรรษาอยู่ ณ ป่าอัญชนวัน เมืองสาเกต กับพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสามเณรจำนวนมาก ปรากฏว่าเสนาสนะไม่พอ พระภิกษุสามเณรที่ไม่ ได้เสนาสนะต้องพากันไปจำวัดตามหาดทรายชายฝั่งแม่น้ำสรภูมิซึ่งอยู่ใกล้ๆ วิหารตกเที่ยงคืนเกิดฝนตกน้ำหลากพระเณรต้องหนีน้ำกันจ้าละหวั่น ความทราบถึงพระพุทธเจ้าพระองค์ทรงใช้พระควัมปติให้ไปใช้ฤทธิ์กั้นสายน้ำช่วยพระเณรที่กำลังเดือดร้อน ท่านไปตามพุทธบัญชาแล้วใช้พลังฤทธิ์กั้นสายน้ำไม่ให้ไหลมารบกวนพระเณรอีก อยู่มาวันหนึ่งท่านกำลังนั่งแสดงธรรมให้เทวดาฟัง พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นจึงตรัสสรรเสริญท่านว่า

เทวดาและมนุษย์ต่างพากันนอบน้อมพระควัมปติ ผู้ใช้ฤทธิ์ ห้ามแม่น้ำสรภูมิไม่ให้ไหล พระควัมปติไม่ติดอยู่ในกิเลสและตัณหาใดๆ ไม่หวั่นไหวต่ออะไรทั้งสิ้น ล่วงพ้นเครื่องข้องได้ทุกอย่าง เป็นมหามุนี ผู้ขึ้นฝั่งแห่งภพได้

อดีตชาติ - เอตทัคคะ

พระสาวกทั้ง ๔ รูปนี้มิได้ปรารถนาตำแหน่งเอตทัคคะใดๆ ไว้แต่อดีตชาติเช่นเดียวกับพระยสะ เพียงแต่ได้ตั้งจิตปรารถนาเพื่อการเป็นพระมหาสาวกไว้เท่านั้น

ในอรรถกถาธรรมบทและอรรถกถาเถรคาถา (ปรมัตถทีปนี) มีกล่าวถึงเรื่องอดีตชาติของท่านไว้ว่า คราวที่โลกว่างจากพระพุทธเจ้าคราวหนึ่ง พระสาวกทั้ง ๔ รูปนั้นได้เกิดร่วมกับพระยสะและเพื่อนอีก ๕๐ คน และได้ทำความดีร่วมกันไว้โดยได้เที่ยวเก็บศพที่ไม่มีญาติ แล้วนำไปเผาที่ป่าช้าเป็นประจำ ความดีนี้ส่งผลให้ท่านได้อสุภสัญญา (ความสำคัญว่าร่างกายไม่ใช่ของสวยงาม) อันเป็นปัจจัยสำคัญให้ท่านได้ออกบวชและบรรลุอรหัตผลในชาติปัจจุบัน

นอกจากนั้นอรรถกถาเถรคาถา (ปรมัตถทีปนี) ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่อง อดีตชาติของพระควัมปติไว้อีกว่า ท่านได้พบพระพุทธเจ้าในอดีตหลายพระองค์ด้วยกัน เฉพาะที่ปรากฏพระนามมีอยู่ ๓ พระองค์ คือ พระพุทธเจ้าสิขี พระพุทธเจ้า โกนาคมนะ และพระพุทธเจ้ากัสสปะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าสิขีนั้น ท่านเกิดเป็นนายพรานเนื้อ ขณะตระเวนล่าเนื้ออยู่ในป่า ได้พบพระพุทธเจ้าสิขีแล้วเลื่อมใสได้ ทำบุญสำคัญ คือ บูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้นานาพรรณ จากชาตินั้นบุญส่งผลให้ไปเกิดอยู่ในเทวโลกเป็นเวลานาน ครั้นมาเกิดเป็นมนุษย์อีกท่านก็ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ท่านเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าโกนาคมนะนั้น ท่านให้สร้างฉัตรและให้ยกพื้นขึ้นในพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ภายหลังที่พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้ากัสสปะนั้น ท่านเกิดในครอบครัวเศรษฐี ตระกูลของท่านเลี้ยงวัวไว้หลายฝูงโดยจ้างพวกโคบาลเป็นคนเลี้ยง ส่วนท่านก็รับผิดชอบโดยเที่ยวตรวจดูตามฝูงโค เวลาที่พวกโคบาลต้อนออกไปหากินในทุ่งหญ้า ทุกวันที่ออกไปนั้นท่านได้เห็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง พระอรหันต์รูปนี้หลังจากบิณฑบาตในหมู่บ้าน แล้วก็จะออกมาฉันนอกหมู่บ้าน วันหนึ่งท่านเห็นแล้วเกิดความคิดขึ้นว่า พระคงจะร้อน จึงชวนพวกโคบาลสร้างปะรำมุงด้วยกิ่งซึกถวายพระอรหันต์ พระอรหันต์ได้นั่งฉันภัตตาหารทุกวันในปะรำไม้ซึกนั้น จากชาตินั้นบุญส่งผลให้ท่านไปเกิดเป็นเทวดาอยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ที่บริเวณใกล้ประตูวินานมีไม้ซึกขึ้นเป็นป่าใหญ่ออกดอกสวยงามบานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมอบอวลตลอดปี ท่านเวียนว่ายตายเกิดเป็นเทวดาและมนุษย์อยู่พุทธันดร หนึ่ง จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นบุตรเศรษฐี เป็นสหายของพระยสะ ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผลดังกล่าวแล้ว

วาจานุสรณ์

พระสาวกทั้ง ๔ รูปนั้น พบว่ามีอยู่เพียงพระวิมละกับพระสุพาหุเท่านั้น ที่ได้กล่าววาจาแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมของท่านไว้ดังนี้

พระวิมละ วันหนึ่งท่านอยู่ท่ามกลางบรรยากาศอันน่าสะพรึงกลัว มีฝนตก หนัก ฟ้าแลบ ลมพัดแรง แต่ท่านหาได้หวาดกลัวไม่ ท่านได้กล่าวแสดงความรู้สึกขณะนั้นไว้ว่า

ธรณีชุ่มชื้นด้วยน้ำฝน
ลมพัดกิ่งไม้ไหว
สายฟ้าแลบแปลบปลาบ
แต่จิตของเราสิมั่นคง วิตกต่างๆ สงบ

พระสุพาหุ วันหนึ่ง ณ บริเวณที่ท่านพักอยู่มีฝนตกหนัก แต่ท่านไม่หวั่นไหว และได้กล่าวแสดงความรู้สึกขณะนั้นไว้ว่า

ฝนตกอยู่ไม่ขาดสาย
ฟังคล้ายเพลงขับอันไพเราะ
กุฏิของเรามุงไว้มิดชิด
ประตูหน้าต่างปิดสนิทแสนสบาย
ใจของเราหรือก็มั่นคง
ถ้าปรารถนา จงตกลงมาเถิดฝนเอ๋ย


มีต่อ >>> ตอนที่ ๑๑
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 8:03 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๑๑ กลุ่มพระชฎิล ๓ พี่น้อง


กลุ่มพระชฎิล คือกลุ่มพระ ๓ รูปที่ออกบวชเป็น ชฎิลก่อนแล้วต่อมาได้ออกบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา คือ พระอุรุเวลกัสสปะ พระนทีกัสสปะ และพระคยากัสสปะ ทั้ง ๓ รูปมีประวัติที่น่าศึกษาดังนี้

สถานะเดิม

พระชฎิล ๓ รูป เกิดในวรรณะพราหมณ์ที่เมืองพาราณสี แคว้นกาสี ตระกูลกัสสปโคตร มีชื่อว่า ‘กัสสปะ’ ตามชื่อตระกูล ทั้ง ๓ รูปเป็นพี่น้องบิดามารดาเดียวกัน พระอุรุเวลกัสสปะเป็นพี่ชายคนโต พระนทีกัสสปะเป็นพี่ชายคนรอง และพระคยากัสสปะเป็นน้องชายคนเล็ก เมื่อเติบโตแล้วได้ศึกษาจบไตรเพท

ชีวิตฆราวาสและการออกบวช

พราหมณ์ ๓ พี่น้องนี้หลังจากศึกษาไตรเพทแล้ว ครองชีวิตฆราวาสอยู่ได้ไม่นานก็เกิดความเบื่อหน่าย จึงพร้อมใจกันออกบวชเป็นชฎิลพร้อมด้วยบริวาร พี่ชายคนโตพร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ คน เดินทางไปยังอุรุเวลาเสนานิคม อธิษฐานจิตบวชแล้วตั้งอาศรมอยู่ที่อุรุเวลาเสนานิคมนั่นเอง และปรากฏชื่อว่า ‘อุรุเวลกัสสปะ’ ตามชื่อสถานที่

ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมมีแม่น้ำเนรัญชราไหลผ่านจากทิศใต้ไปทิศเหนือ อาศรมของอุรุเวลกัสสปะตั้งอยู่บนฝั่งด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำเนรัญชรา และถัดไปทางตะวันออกของอาศรมมีแม่น้ำโมหนีไหลผ่านอีกสายหนึ่ง ซึ่งมาบรรจบกันแม่น้ำเนรัญชราตรงที่โค้งและเลยจุดที่บรรจบกันนั้นไป แม่น้ำรวมสายนั้นก็เรียกว่าแม่น้ำคยาตามชื่อสถานที่ที่ไหลผ่าน

พี่ชายคนรองพร้อมด้วยบริวาร ๓๐๐ คน เดินทางไป ยังที่บริเวณโค้งแม่น้ำเนรัญชรากับแม่น้ำโมหนีบรรจบ กัน ซึ่งอยู่เหนือจากนั้นไปเล็กน้อย อธิษฐานจิตบวชแล้ว ตั้งอาศรมอยู่ที่โค้งแม่น้ำนั้นเองและปรากฏชื่อว่า ‘นทีกัสสปะ’ ตามชื่อสถานที่

น้องชายคนเล็กพร้อมด้วยบริวาร ๒๐๐ คน เดินทาง ไปยังที่คยาสีสะซึ่งอยู่เหนือจากนั้นไป อธิษฐานจิตบวชแล้วตั้งอาศรมอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคยา และปรากฏชื่อว่า ‘คยากัสสปะ’ ตามชื่อสถานที่

สถานที่ที่พราหมณ์ทั้ง ๓ พี่น้องไปออกบวชเป็นชฎิล แล้วตั้งอาศรมอยู่นั้น อยู่ในแคว้นมคธอันเป็นแคว้นที่มีนักบวชต่างลัทธิต่างศาสนาอยู่กันเป็นจำนวนมาก ชฎิล ๓ พี่น้องถือลัทธิบูชาไฟ สร้างโรงบูชาไฟไว้ที่ใกล้อาศรม ในโรงบูชาไฟนั้นมีงูใหญ่อาศัยอยู่ด้วยทำนองจะพิทักษ์สถานที่ ทั้ง ๓ ท่านได้ออกบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนาคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด หลังจากที่ทรงส่งพระสาวก ๖๐ รูปออกไปประกาศพระศาสนาแล้ว พระไตรปิฎกกล่าวถึงการออกบวชของท่านไว้ว่า

พระพุทธเข้าเสด็จไปยังอาศรมของอุรุเวลกัสสปะ อุรุเวลกัสสปะต้อนรับพระองค์เป็นอย่างดี เมื่อพระองค์ตรัสขออนุญาตพักค้างคืนด้วย อุรุเวลกัสสปะได้อนุญาตให้พระองค์เข้าไปพักในโรงบูชาไฟ พระองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์ด้วยการจับพญานาคซึ่งอยู่ในโรงบูชาไฟนั้นใส่ไว้ในบาตร และยังได้แสดงปาฏิหาริย์ต่างๆ อาทิ นำผลหว้าจากต้นหว้าใหญ่ อันเป็นไม้ประจำทวีปมาก่อนที่อุรุเวลกัสสปะกลับมาถึง เป็นเหตุให้อุรุเวลกัสสปะเริ่มเลื่อมใส แต่ยังไม่ยอมรับพระพุทธเจ้าว่าเป็นพระอรหันต์อยู่ดี ในขณะเดียวกันนั้นก็สำคัญอยู่ว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของอุรุเวลกัสสปะอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อทรงเห็นว่าจิตใจของท่านเริ่มอ่อนโยนพระพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนว่า

กัสสปะ เธอไม่ใช่พระอรหันต์หรอกนะ
ทั้งยังไม่พบทางแห่งความเป็นพระอรหันต์ด้วย
แม้ปฏิปทาของเธอที่จะเป็นเหตุให้เป็นพระอรหันต์
หรือพบทางแห่งความเป็นอรหันต์ก็ไม่มี

พระดำรัสของพระพุทธเจ้าทำให้อุรุเวลกัสสปะได้คิดหลังจากที่หลอกตัวเองอยู่นาน เมื่อคิดตกแล้วท่านโผเข้าซบแทบพระบาทของพระพุทธเจ้าแล้วทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงเตือนให้ท่านแจ้งความประสงค์ให้บริวารของท่านทราบก่อน บริวารของท่านเมื่อทราบความประสงค์แล้วก็ตกลงใจขอบวชตามด้วย หลังจากปลงผม และนำไปลอยลงในแม่น้ำเนรัญชราพร้อมด้วยชฎา เครื่องบริขารและเครื่องบูชาไฟแล้ว อุรุเวลกัสสปะและบริวารทั้ง ๕๐๐ ก็พากันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ตามที่ทูลขอ ด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา

นทีกัสสปะ ซึ่งตั้งอาศรมอยู่ตรงที่โค้งซึ่งแม่น้ำบรรจบกัน คือแม่น้ำเนรัญชราและแม่น้ำโมหนี ครั้นเห็นผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟของชฎิลพี่ชาย พร้อมด้วยของบริวารลอยน้ำมาแล้วจำได้ จึงพร้อมด้วยบริวาร ๓๐๐ เดินทางมาหาอุรุเวลกัสสปะ เพราะเกรงไปว่าพี่ชายอาจจะได้รับอันตรายจากภัยพิบัติบางอย่าง แต่ครั้นได้มาเห็น พี่ชายพร้อมด้วยบริวารบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงถามว่า

“ข้าแต่พี่กัสสปะ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐแน่หรือ”

เมื่อได้รับคำตอบยืนยันว่าพรหมจรรย์นี้ประเสริฐ ท่านพร้อมด้วยบริวารจึงพร้อมใจกันปลงผมแล้วนำไปลอยลงในแม่น้ำเนรัญชรา พร้อมด้วยชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟ จากนั้นได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทุกท่านตามที่ทูลขอ ด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาเช่นเดียวกัน

คยากัสสปะ ซึ่งตั้งอาศรมอยู่ตามแนวฝั่งของแม่น้ำคยา ที่อยู่เหนือขึ้นไปอีก ครั้นเห็น ผม ชฎา และเครื่องบูชาไฟของชฎิลพี่ชายทั้ง ๒ พร้อมด้วยของบริวารลอยน้ำ มาจำได้ จึงพร้อมด้วยบริวาร ๒๐๐ เดินทางมาหาที่อาศรม เพราะเกรงไปว่าพี่ชายอาจจะได้รับอันตรายจากภัยพิบัติบางอย่าง แต่ครั้นได้มาเห็นพี่ชายทั้ง ๒ พร้อมด้วยบริวาร บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงถามด้วยคำถามเดียวกับที่นทีกัสสปะถามอุรุเวลกัสสปะว่า

“ข้าแต่พี่กัสสปะ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐแน่หรือ”

เมื่อได้รับคำตอบยืนยันว่าพรหมจรรย์นี้ประเสริฐ ท่านพร้อมด้วยบริวารจึงพร้อมใจกันทำอย่างที่พี่ชายทั้ง ๒ พร้อมด้วยบริวารทำมาแล้ว คือปลงผมแล้วนำไปลอย ลงในแม่น้ำเนรัญชรา พร้อมด้วยชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟ จากนั้นได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทุกท่านตามที่ทูลขอ ด้วยวิธีแบบเดียวกับที่ทรงประทานแก่ชฎิลผู้พี่ คือวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาเช่นเดียวกัน

การออกบวชของชฎิล ๓ พี่น้องพร้อมด้วยบริวาร ๑,๐๐๐ ส่งผลให้พระพุทธเจ้าได้พระสาวกใหม่ถึง ๑,๐๐๓ รูป ภายในวันเดียว

การบรรลุอรหัตผล

หลังจากบวชให้พระชฎิล ๓ พี่น้องและบริวารแล้ว พระพุทธเจ้าพาพระทั้งหมดนั้นไปยังคยาสีสะซึ่งอยู่ใกล้แม่น้ำคยา ครั้นแล้วได้ทรงแสดงธรรมให้ฟัง ความว่า

สิ่งทั้งปวงนั้นคือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ จักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส สุข ทุกข์ หรือความไม่สุข ไม่ทุกข์ ที่เกิดเพราผัสสะต่างๆ ดังกล่าวเป็นปัจจัย ต่างล้วนเป็นของร้อน เพราะถูกเผาด้วยไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส

พระธรรมเทศนากัณฑ์นี้มีชื่อเรียกว่า ‘อาทิตตปริยายสูตร’ (สูตรว่าด้วยสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน) จบพระธรรมเทศนา พระชฎิล ๓ พี่น้องพร้อมด้วยบริวารก็ได้บรรลุอรหัตผล

งานสำคัญ

บรรดาชฎิล ๓ พี่น้อง พระอุรุเวลกัสสปะนับว่าได้ช่วยพระพุทธเจ้าเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างสำคัญยิ่ง พระไตรปิฎกกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

ครั้นโปรดพระชฏิล ๓ พี่น้องพร้อมด้วยบริวารให้ได้บรรลุอรหัตผลแล้ว พระพุทธเจ้าทรงพาพระทั้งหมดเดินทางเข้าเมืองราชคฤห์เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ตามที่ทูลขอไว้ตั้งแต่ครั้งยังมิได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า กล่าวคือ คราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวชใหม่ๆ นั้น ได้เสด็จมาพบพระเจ้าพิมพิสารที่ภูเขาปัณฑวะ เขตเมืองราชคฤห์ หลังจากทรงทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จออกแสวงหาโมกขธรรม (ความหลุดพ้นจากทุกข์) พระเจ้าพิมพิสารจึงตรัสอนุโมทนา และขอให้เสด็จกลับมาโปรดพระองค์หลังจากได้ตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงรับคำขอ และการเสด็จไปเมืองราชคฤห์ครั้งนี้ ก็เป็นการเสด็จไปตามคำขอครั้งนั้น

เมื่อถึงเมืองราชคฤห์แล้ว พระพุทธเจ้าได้พาพระสาวก ใหม่ทั้ง ๑,๐๐๓ รูป ไปประทับในสวนตาลหนุ่ม (ลัฏฐิวัน) ข่าวคราวที่พระองค์พร้อมด้วยพระสาวกจำนวนมากประทับอยู่ที่นั้นระบือไปทั่ว พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ จึงพร้อมด้วยพราหมณ์และคหบดีชาวมคธ จำนวน ๑๒ นหุต เสด็จมาเฝ้า ครั้นถวายบังคมพระพุทธเจ้าแล้ว พระเจ้าพิมพิสารก็ได้ประทับนั่ง ณ ที่ที่สมควรแก่พระองค์ ส่วนพราหมณ์และคหบดีที่ตามเสด็จมานั้นต่างแสดงกิริยา อาการต่างๆ กัน บางพวกถวายบังคมพระพุทธเจ้าแล้วก็นั่ง ณ ที่ที่สมควรแก่ตน บางพวกไม่ถวายบังคมเป็นแต่ ทูลสนทนาปราศรัยพอให้คุ้นเคยกันแล้วก็นั่ง ณ ที่ที่สมควรแก่ตน บางพวกเพียงแต่ประคองอัญชลีไหว้ บางพวกเพียงแต่ประกาศชื่อและสกุล (โคตร) และบางพวกได้ แต่นั่งเฉย เหตุที่พราหมณ์และคหบดีชาวมคธแสดงกิริยาอาการต่างๆ นั้นเป็นเพราะยังไม่แน่ใจว่า ระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระอุรุเวลกัสสปะ ใครเป็นศาสดาของใคร


มีต่อ >>> ตอนที่ ๑๒
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 8:06 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๑๒ กลุ่มพระชฎิล ๓ พี่น้อง


พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของพราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นเป็นอย่างดี ทรงหวังว่าจะเปลื้องความสงสัยของพวกเขา จึงหันมาสนทนากับพระอุรุเวลกัสสปะ

พระพุทธเจ้า : กัสสปะ เธออยู่ในอุรุเวลเสนานิคมมานาน เคยเป็นอาจารย์สั่งสอนชฎิลให้บำเพ็ญพรตจนร่างกายซูบผอม แต่เธอมาได้เห็นอะไรจึงยอมเลิกบูชาไฟเสียเล่า

พระอุรุเวลกัสสปะ : การบูชายัญ กล่าวยกย่องรูป เสียง กลิ่น และรสที่น่าปรารถนา และกล่าวยกย่องสตรีทั้งหลาย ข้าพระพุทธเจ้ารู้ว่านั่นเป็นมลทิน เพราะเหตุนั้นจึงไม่ยินดีในการเซ่นสรวงบูชา

พระพุทธเจ้า : กัสสปะ ใจของเธอไม่ยินดีแล้วในอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส แล้ว บัดนี้ใจของเธอยินดีในสิ่งใดเล่า ยินดีในเทวโลกหรือมนุษยโลก

พระอุรุเวลกัสสปะ : ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นทางอันสงบ ไม่มีการยึดถือ ไม่มีกังวล ไม่ติดอยู่ในกามภพ ไม่ผันแปร ไม่ใช่ธรรมที่ผู้อื่นแนะให้บรรลุ เพราะฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงไม่ยินดีในการเซ่นสรวงบูชา

อุรุเวลกัสสปะเมื่อกราบทูลแล้ว ก็ลุกขึ้นไปซบศีรษะอยู่แทบพระบาทของพระพุทธเจ้าแล้ว ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระบรมศาสดา พระองค์เป็นพระศาสดาของข้า พระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นพระสาวก”

จากกิริยาอาการและคำพูดของพระอุรุเวลกัสสปะ ส่งผลให้พราหมณ์และคหบดีทั้ง ๑๒ นหุตนั้นเข้าใจได้ถูกต้องว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระศาสดาของพระอุรุเวลกัสสปะซึ่งตนเคยเคารพนับถือ จึงคลายความสงสัยและเพิ่มพูนศรัทธายิ่งขึ้นในพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า บัดนี้พราหมณ์และและคหบดีเหล่านั้นมีจิตอ่อนโยนสมควรที่จะฟังพระธรรมเทศนาได้แล้ว จึงทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ให้ฟัง

ผลจากการที่ได้ฟังพระธรรมเทศนา พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยพราหมณ์และคหบดี ๑๑ นหุตได้บรรลุโสดาปัตติผล ส่วนพราหมณ์และคหบดีที่เหลือ ๑ นหุต แม้จะไม่ได้บรรลุโสดาปัตติผลแต่ก็ได้ศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย ได้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ

การที่พราหมณ์และคหบดี ๑๒ นหุตได้บรรลุโสดาปัตติผลและได้ศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัยนั้น ถือได้ว่า พระอุรุเวลกัสสปะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยพระพุทธเจ้าเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งนั้น

ส่วนพระนทีกัสสปะและพระคยากัสสปะ แม้จะไม่มีบันทึกเกี่ยวกับผลงานของท่านไว้ แต่ก็มั่นใจได้ว่าท่านจะต้องเป็นกำลังสำคัญในการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนาอย่างแน่นอน

อดีตชาติ - เอตทัคคะ

บรรดาพระชฎิล ๓ พี่น้องมีเพียงพระอุรุเวลกัสสปะรูปเดียวเท่านั้นที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งท่านไว้ตามความสามารถในชาติ ปัจจุบัน และตามที่ท่านตั้งจิตปรารถนาไว้ในอดีตชาติ ส่วนพระนทีกัสสปะและพระคยากัสสปะปรารถนาแต่ให้ได้บรรลุอรหัตผลเท่านั้น แต่ไม่ได้ปรารถนาตำแหน่งเอตทัคคะไว้

พระอุรุเวลกัสสปะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาว เมืองหงสวดี วันหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับชาวเมือง เพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีบริวารมาก แล้วเกิดศรัทธา ปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูความเป็นไปได้ในอนาคตของท่านด้วยพระญาณแล้วทรงเห็นว่าความปราถนาของท่านสำเร็จได้แน่ จึงทรงพยากรณ์ว่า

“ในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้บรรลุอรหัตผลและได้รับตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีบริวารมาก”

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้ว เกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าผุสสะ

ครั้งนั้น พระอุรุเวลกัสสปะ พระนทีกัสสปะ และพระคยากัสสปะ ได้เกิดเป็นพระภาดา (น้องชาย) ต่างพระมารดาของพระพุทธเจ้าผุสสะ คราวหนึ่งเกิดจลาจลที่ชายแดน พระเจ้ามหินทราช พระราชบิดาทรงส่งพระราชโอรส ทั้ง ๓ ไปปราบจลาจล เมื่อพระราชโอรสทรงปราบจลาจล ได้แล้วเสด็จกลับมา พระราชบิดาพระราชทานพรให้ได้โอกาสถวายการบำรุงพระพุทธเจ้าเป็นเวลา ๓ เดือน

พระราชโอรสทั้ง ๓ พระองค์ทรงดีพระทัยมาก ทรงสมาทานศีล ๑๐ และทรงรักษามิให้ด่างพร้อยตลอดระยะเวลา ๓ เดือน ครั้นถึงวันออกพรรษาอันเป็นวันสุดท้ายที่ได้ถวายการบำรุงพระพุทธเจ้าและพระสาวก พระราชโอรสทั้ง ๓ พระองค์ทรงบูชาพระพุทธเจ้าและพระสาวก เป็นการใหญ่ด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้ง ๓ พระองค์ยังทรงทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอีกตลอดพระชนมชีพ จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ท่านและน้องชายทั้ง ๒ ได้มาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์เมืองพาราณสี แคว้นกาสี และเป็นพี่น้องกันตามลำดับ

ต่อมาเมื่อออกบวชทั้ง ๓ รูปก็ได้สมกับที่ปรารถนาไว้แต่อดีตชาติ นั่นคือ พระอุรุเวลกัสสปะนอกจากได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ยังได้รับตำแหน่งเอตทัคคะทางด้านมีบริวารมากอีกด้วย ส่วนพระนทีกัสสปะและพระคยากัสสปะก็ได้บรรลุอรหัตผล พระชฎิล ๓ พี่น้องนี้ได้บรรลุอรหัตผลพร้อมกัน

วาจานุสรณ์

พระอุรุเวลกัสสปะ เกิดปีติที่ได้บวชในพระพุทธศาสนา ท่านได้กล่าวแสดงความรู้สึกไว้ว่า

ตลอดเวลาที่เรายังไม่ได้เห็นปาฏิหาริย์
ของพระพุทธเจ้าโคดมผู้เรืองยศนั้น
เราถูกความริษยาและความถือตัว
ล่อลวงใจให้ใหลหลงจนไม่ยอมนอบน้อมใคร
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นสารถีของนรชน
ทรงทราบความคิดของเรา จึงทรงตักเตือน
จนเราเกิดความสลดใจ อัศจรรย์ใจ และขนลุกชูชัน
เมื่อก่อนที่เป็นชฎิล เรามีลาภสักการะพร้อมพรั่ง
แต่เป็นความสำเร็จเพียงเล็กน้อย
บัดนี้เราสละความสำเร็จนั้น
มาบวชในพระพุทธศาสนาของพระผู้ชนะมาร
เมื่อก่อน เรายินดีการบูชายัญ ห้อมล้อมด้วยกามารมณ์
ภายหลังจึงถอนราคะ โทสะ และโมหะ ได้แล้ว
บัดนี้ เราระลึกชาติได้ มีตาทิพย์ มีฤทธิ์
รู้ความคิดของผู้อื่น และมีหูทิพย์
อนึ่ง เราได้รับประโยชน์จากการบวชที่เรามุ่งหวังแล้ว
กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวงเราก็ละได้สิ้นแล้ว

พระนทีกัสสปะ เกิดปีติในผลของการปฏิบัติธรรมที่พระพุทธเจ้าสู้อุตส่าห์เสด็จมาโปรดถึงแม่น้ำเนรัญชรา ท่านได้กล่าวแสดงความรู้สึกว่า

พระพุทธเจ้าเสด็จมาแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อช่วยเหลือเรา
เพราะเราได้ฟังธรรมของพระองค์ จึงละความเห็นผิดได้
เมื่อเป็นปุถุชนยังมืดมนอยู่ เราจึงบูชายัญและบูชาไฟ
เพราะสำคัญไปว่าการบูชาเป็นความบริสุทธิ์
เราถือผิดอย่างลึกล้ำ เชื่อถืออย่างหลงใหล ตาบอดไม่รู้แจ้ง
จึงสำคัญความไม่บริสุทธิ์ว่าเป็นความบริสุทธิ์
บัดนี้ ความเห็นผิดเราละได้แล้ว
ภพทั้งปวงเราทำลายได้หมดแล้ว
เราหันมาบูชาไฟ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นทักขิไณยบุคคล เราขอนมัสการพระตถาคต
ความลุ่มหลงทั้งปวงเราละได้แล้ว
ความอยากเกิดเราก็ทำลายได้แล้ว
ความเวียนว่ายตายเกิดของเราสิ้นแล้ว
บัดนี้ ไม่มีภพใหม่(การเกิดอีก) สำหรับเรา

พระคยากัสสปะ เกิดปีติในการลอยบาปแบบใหม่ที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ ท่านได้กล่าวแสดงความรู้สึกไว้ว่า

เราลงไปลอยบาปในแม่น้ำคยาที่ท่าคยาผัคคุ
วันละ ๓ ครั้ง คือ เช้า เที่ยง เย็น
ทั้งนี้เป็นเพราะเมื่อก่อนเรามีความเห็นว่า
บาปที่ทำไว้ในชาตินั้นๆ ย่อมถูกลอยไปได้ในแม่น้ำ คยานี้
บัดนี้เราได้ฟังวาจาสุภาษิต ได้ฟังบทธรรมที่มีเหตุผลแล้ว
พิจารณาเห็นความหมายได้ถ่องแท้ตามความเป็นจริง
ด้วยปัญญาอันแยบคาย จึงล้างบาปได้หมด
ไม่มีมลทิน สะอาดหมดจด
เป็นทายาทผู้บริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า
เป็นบุตรผู้เกิดแต่พระอุระของพระพุทธเจ้า
เราได้ลงสู่กระแสน้ำ คือ มรรคมีองค์ ๘ แล้วลอยบาป ได้หมด
เราได้บรรลุวิชชา ๓ และได้ทำกิจในพระพุทธศาสนาเสร็จสิ้นแล้ว


มีต่อ >>> ตอนที่ ๑๓
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 8:25 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๑๓ กลุ่มพระอัครสาวก


กลุ่มพระอัครสาวก คือกลุ่มของพระที่เคยเป็นศิษย์ของสัญชัยปริพาชก มีจำนวน ๒๕๒ รูป แต่ที่ปรากฏ ชื่อและได้รับยกย่องว่าเป็นอัครสาวก (สาวกผู้เลิศ) มี ๒ รูป คือ พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ ฉะนั้น ในที่นี้จะกล่าวถึง แต่เฉพาะเรื่องราวของพระสาวก ๒ รูปนี้เท่านั้น แต่ละรูปมีประวัติที่น่าศึกษาดังนี้

สถานะเดิม

พระอัครสาวกเกิดในวรรณะพราหมณ์ พระสารีบุตร มีนามเดิมว่า อุปติสสะ เกิดที่หมู่บ้านอุปติสสะ เมืองนาลันทา บิดาเป็นนายบ้านมีนามว่า ‘วังคันตะ’ ส่วนมารดามีนามว่า ‘สารี’ ฝ่ายพระมหาโมคคัลลานะ มีนามเดิมว่า ‘โกลิตะ’ เกิดที่หมู่บ้านโกลิตะ เมืองนาลันทา บิดาเป็นนายบ้าน ส่วนมารดามีนามว่า ‘โมคคัลลี’ เมื่อเจริญวัยแล้วทั้ง ๒ ท่านได้ศึกษาจบศิลปวิทยา

ชีวิตฆราวาส

โดยเหตุที่อุปติสสะและโกลิตะเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ซึ่งตระกูลของทั้ง ๒ ผูกสัมพันธ์กันมานานถึง ๗ ชั่วอายุคน ฉะนั้นจึงได้รับการเลี้ยงดูคล้ายๆ กัน ครั้นเติบโตเป็นหนุ่มบิดาของทั้ง ๒ ได้จัดหาเด็กหนุ่มวัยเดียวกันมาเป็นบริวารคนละ ๕๐๐ เวลาจะไปเล่นน้ำในแม่น้ำหรือจะไปหาความสำราญในอุทยาน อุปติสสะจะมีวอทองเป็นพาหนะนั่งไป ส่วนโกลิตะจะมีรถเทียมม้าอาชาไนยเป็นพาหนะพาไป โดยมีบริวารห้อมล้อมคนละ ๕๐๐ ดังกล่าวแล้ว

การออกบวชและการบรรลุโสดาปัตติผล

อุปติสสะและโกลิตะออกบวชหลังจาก ชมมหรสพบนยอดเขาแล้ว เรื่องมีว่า ในเมืองราชคฤห์มีงานประจำปีอยู่อย่างหนึ่ง คือการแสดงมหรสพบนยอดเขา อันได้แก่การเล่น ละครรวมทั้งการแสดงอื่นๆ แต่ละปีที่ผ่าน มามีผู้คนทั้งในเมืองราชคฤห์เองและจากต่างเมือง เดินทางไปชมกันเป็นจำนวนมาก อุปติสสะและโกลิตะก็อยู่ในจำนวนนั้นด้วย ในปีนี้ก็เช่นกัน อุปติสสะและโกลิตะได้ไปชมมหรสพด้วยกัน โดยบริวารได้จัดให้นั่งอยู่ด้วยกันเหมือนเช่นทุกปี

ตามปกติในปีก่อนๆ ขณะนั่งดูมหรสพอยู่นั้น อุปติสสะและโกลิตะก็เหมือนกับคนดูอื่นๆ กล่าวคือ มีความรู้สึกคล้อยตามบทบาทของตัวละคร ถึงตอนหัวเราะสนุกสนาน ก็หัวเราะสนุกสนาน ถึงตอนหดหู่ก็แสดงความรู้สึกหดหู่ ถึงตอนให้รางวัลก็จะให้รางวัล มาในปีนี้ทั้ง ๒ กลับมีกิริยาอาการและความรู้สึกไม่เหมือนเก่า ถึงตอนหัวเราะสนุกสนานก็ไม่หัวเราะสนุกสนาน ถึงตอนเศร้าโศกก็ไม่แสดงอารมณ์เศร้าโศก ถึงตอนจะให้รางวัลก็ไม่ให้รางวัล ตรงกันข้าม ทั้ง ๒ กลับแสดงอาการเฉยชา

ไม่เห็นมีอะไรน่าสนใจ ตัวละครที่กำลังแสดงอยู่นี้
อยู่ได้ไม่ถึง ๑๐๐ ปีก็ต้องตายไปแล้ว
มีตัวละครใหม่มาแสดงแทน เราเองก็มาหลงดูอยู่ทำไม
ไฉนจึงไม่แสวงหาความหลุดพ้น

เมื่อต่างฝ่ายต่างคิดตรงกันอย่างนี้ในที่สุด โกลิตะได้ถามอุปติสสะซึ่งนั่งนิ่งอยู่ อุปติสสะตอบว่า

“เพื่อน เหตุที่ข้าพเจ้านั่งนิ่งก็เพราะมัวคิดอยู่ว่า เรามาดูละครที่ไร้สาระอยู่ทำไม”

โกลิตะรู้สึกพอใจในคำตอบของอุปติสสะเป็นอย่างมากเพราะหากจะให้ตนเองตอบก็จะต้องตอบออกมาในลักษณะนี้ ความเบื่อหน่ายในการดูละครส่งผลให้เกิด ความเบื่อหน่ายในเพศฆราวาสติดตามมา ดังนั้นเมื่อละครเลิกแล้วอุปติสสะและโกลิตะจึงพร้อมด้วยบริวารคนละ ๒๕๐ ชวนกันออกบวชเป็นปริพาชกในสำนักของสัญชัยปริพาชก ซึ่งตั้งสำนักอยู่ในเมืองราชคฤห์ และกำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง

ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะเป็นคนฉลาด ศึกษาคำสอนของสัญชัยปริพาชกอยู่ไม่นานก็เจนจบ แต่ก็พบว่ายังไม่ใช่ คำสอนที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้ ทั้ง ๒ จึงชวน กันจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อพบปะสนทนากับนักบวชที่ทรงความรู้ อันจะทำให้เขาได้พ้นความทุกข์อย่างที่ต้องการ แต่แล้วก็ผิดหวัง เพราะสนทนากันแล้ว นักบวชเหล่านั้นก็ไม่สามารถชี้ทางแห่งความพ้นทุกข์ให้ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ปริพาชกหนุ่มทั้ง ๒ จึงหันหน้าเข้าปรึกษากัน ในที่สุดก็ตกลงกันว่า “เรา ๒ คน หากใครได้บรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกกันด้วย”

ช่วงเวลาที่อุปติสสะและโกลิตะออกไปบวชเป็นปริพาชก และกำลังแสวงหาโมกขธรรมอยู่นั้น เป็นช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณและทรง สั่งสอนธรรมแล้วได้ ๑ พรรษา พระองค์ทรงมีพระสาวกอยู่ ๖๐ รูป ทั้งหมดล้วนสำเร็จพระอรหันต์ ซึ่งขณะนั้นพระองค์ทรง ส่งพระอรหันตสาวกทั้ง ๖๐ รูปนั้นออกไปประกาศพระศาสนาตามเมืองต่างๆ และบรรดาพระอรหันตสาวกเหล่านั้นมีพระอัสสชิรวมอยู่ด้วย

พระอัสสชิเป็นพระอรหันตสาวกที่อยู่ในกลุ่มพระปัญจวัคคีย์ เช้าวันหนึ่งท่านเข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ ระหว่างทางได้สวนทางกับปริพาชกอุปติสสะซึ่งกำลังเดินกลับสำนัก ทันทีที่เห็นพระเถระ ปริพาชกอุปติสสะก็เลื่อมใส เพราะพระเถระเดินด้วยอาการสำรวมเหลียวซ้ายแลขวาอย่างระมัดระวัง

“นักบวชแบบนี้เราไม่เคยเห็นมาก่อน” ปริพาชกอุปติสสะบอกตัวเอง “คงจะเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ที่เขาว่ามีอยู่ในโลกนี้”

ปริพาชกอุปติสสะตัดสินใจจะเข้าไปสนทนาด้วยจึงเดินตามไปห่างๆ ครั้นเห็นพระเถระแสดงท่าทีจะนั่งฉันอาหารจึงรีบเข้าไปแสดงความเอื้อเฟื้อ ด้วยการตั้งตั่งของตนที่นำติดตัวมาด้วยถวาย ขณะที่พระเถระกำลังฉันอาหารอยู่นั้นก็นั่งอยู่ไม่ไกล เพื่อคอยดูว่าท่านต้องการอะไร และเมื่อพระเถระฉันเสร็จแล้วก็นำคณโฑน้ำดื่มเข้าไปถวายให้ท่านได้ฉันและใช้ จากนั้นจึง ได้นั่งรอ ครั้นเห็นว่าพระเถระพร้อมจะสนทนาด้วยแล้วจึงเข้าไปใกล้ๆ แล้วเริ่มสนทนา

ปริพาชกอุปติสะ : ผู้มีอายุ ท่านมีอินทรีย์ผ่องใส ผิวพรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชเชิดชูใคร (เป็นศาสดา) ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบใจธรรมของใคร

พระอัสสชิ : ผู้มีอายุ มีพระสมณะผู้ยิ่งใหญ่อยู่พระองค์หนึ่ง พระองค์เป็นชาวศากยะ ออกบวชจากตระกูลกษัตริย์อันสูงส่ง อาตมาออกบวชเชิดชูพระสมณะผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นั้น (เป็นศาสดา) พระองค์ทรงเป็นพระศาสดาของอาตมา อาตมาชอบใจธรรมของพระองค์

ปริพาชกอุปติสสะ : พระศาสดาของท่านมีปกติตรัสสอนอย่างไร

พระอัสสชิ : ผู้มีอายุ อาตมาเป็นพระบวชใหม่ เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยของพระศาสดา ได้ไม่นาน อาตมาจึงไม่สามารถพอที่จะบอกถึงคำสอนของพระศาสดาโดยพิสดารได้

ปริพาชกอุปติสสะ : ผู้มีอายุ ข้าพเจ้าชื่ออุปติสสะ ขอท่านว่าไปตามเท่าที่สามารถ จะน้อยหรือมากไม่เป็นไร การทำความเข้าใจคำสอนเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าเอง

พระอัสสชิ เมื่อทำให้ปริพาชกอุปติสสะเข้าใจถึงความยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้าได้แล้ว จึงกล่าวธรรมความว่า

ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้นไว้
และตรัสถึงความดับ(เหตุ)ไว้ด้วย
พระสมณะผู้ยิ่งใหญ่ มีปกติตรัสอย่างนี้

หลังจากพระอัสสชิกล่าวจบ ปริพาชกอุปติสสะเกิดความรู้แจ้งว่า “ทุกสิ่งเกิดขึ้นมาแล้ว มีอันต้องดับไปเป็นธรรมดา” แล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล ณ ที่นั้นเอง

ครั้นเป็นพระโสดาบันแล้ว ปริพาชกอุปติสสะก็กำหนดไว้ว่า คุณวิเศษชั้นสูงกว่านี้ยังมีอยู่อีก ในขณะเดียวกันจิตก็น้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ซึ่งพระอัสสชิผู้เป็นอาจารย์ของตนเรียกว่า ‘พระสมณะผู้ยิ่งใหญ่’ และอยากเดินทางไปเฝ้า

“ข้าแต่อาจารย์’ ปริพาชกอุปติสสะเรียนถาม ‘บัดนี้พระศาสดาของเราประทับอยู่ที่ไหน”

“ที่เวฬุวัน” พระอัสสชิตอบ

เมื่อได้ยินคำว่า ‘เวฬุวัน’ ก็ระลึกได้ว่าเป็นป่าไผ่ของพระเจ้าพิมพิสารที่พระองค์เคยใช้เป็นอุทยาน ซึ่งมีสภาพเป็นป่าร่มรื่น เหมาะสมเป็นที่อยู่ของผู้สงบ

“ขอนิมนต์พระคุณเจ้าล่วงหน้าไปก่อนเถิด” ปริพาชกอุปติสสะแจ้งแก่พระอัสสชิ “ข้าพเจ้าจะตามไปเฝ้าพระศาสดาทีหลัง”

ครั้นพระอัสสชิจากไปแล้ว ปริพาชกอุปติสสะก็รีบเดินทางไปหาปริพาชกโกลิตะผู้เป็นเพื่อน ท่าทางของปริพาชกอุปติสสะที่กำลังเดินมา ซึ่งปริพาชกโกลิตะเห็นแต่ไกล ทำให้มั่นใจว่า วันนี้เพื่อนจะต้องมีข่าวดีมาบอก และยิ่งเมื่อปริพาชกอุปติสสะเข้ามาใกล้ สีหน้าและแววตาที่เอิบอิ่มด้วยปีติ ก็ยิ่งทำให้ปริพาชกโกลิตะเพิ่มความเชื่อมั่นขึ้นอีกว่า ข่าวดีนั้นจะต้องเป็นข่าวดีที่เกี่ยวกับการบรรลุธรรมอย่างที่ตกลงกันไว้อย่าง แน่นอน

“อุปติสสะ” ปริพาชกโกลิตะทักขึ้นก่อน “ท่านได้บรรลุอมตธรรมแล้วหรือ”

“ใช่...โกลิตะ” ปริพาชกอุปติสสะตอบรับ “ข้าพเจ้าได้บรรลุอมตธรรมแล้ว”

จากนั้น ปริพาชกอุปติสสะก็ได้บอกเนื้อความของอมตธรรมที่ตนได้บรรลุให้ปริพาชกโกลิตะฟัง ซึ่งเป็นอย่างเดียวกับที่พระอัสสชิบอกตน เนื้อความของอมตธรรมนั้นกินใจจนทำให้ปริพาชกโกลิตะกำหนดได้ว่า “ทุกสิ่งเกิดขึ้นมาแล้วมีอันต้องดับไปเป็นธรรมดา” บัดนี้ปริพาชกโกลิตะได้รู้แจ้งเช่นเดียวกับปริพาชกอุปติสสะได้รู้แจ้งแล้ว ปริพาชกหนุ่มทั้ง ๒ ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันด้วยกัน


มีต่อ >>> ตอนที่ ๑๔
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 8:26 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๑๔ กลุ่มพระอัครสาวก


ปริพาชกโกลิตะ ชวน ปริพาชกอุปติสสะ ให้เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทันที แต่ก่อนที่จะไปนั้นปริพาชกอุปติสสะได้ชวนปริพาชกโกลิตะไปหา สัญชัยปริพาชก ผู้เป็นอาจารย์ก่อน โดยมุ่งหวังว่าจะชวนอาจารย์เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วย ทั้งนี้ด้วยความหวังที่จะให้อาจารย์ได้บรรลุอมตธรรมอันเป็นธรรมที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง

“ฉันขอบใจเธอทั้ง ๒ ที่หวังดี” สัญชัยปริพาชกเอ่ยขึ้น หลังจากได้ทราบความประสงค์ของศิษย์เอกที่มาหา “แต่ฉันก็ไปไหนไม่ได้หรอก และไม่คิดที่จะไปด้วย เพราะทุกวันนี้ฉันมีสภาพที่ไม่ต่างอะไรไปจากจระเข้ในตุ่มน้ำ จะกลับหัวกลับหางก็ลำบากเสียแล้ว”

คำพูดของสัญชัยปริพาชกเป็นการตัดบทโดยสิ้นเชิง ลาภสักการะและความยิ่งใหญ่ในฐานะเจ้าลัทธิ ทำให้สัญชัยปริพาชกไม่อาจลดฐานะของตนลงมาเป็นศิษย์ใครได้ แม้ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะจะพูดโน้มน้าวใจด้วยประการต่างๆ ก็ไม่สำเร็จ

“ท่านอาจารย์” ปริพาชกทั้ง ๒ พยายามเป็นครั้งสุดท้าย

“ขณะนี้ใครต่อใครต่างพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันทั้งนั้นนะ”

สัญชัยปริพาชกมองหน้าปริพาชกผู้เป็นศิษย์แล้วถามว่า

“ในโลกนี้คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก”

“คนโง่มีมาก คนฉลาดมีน้อย”

“ถ้าอย่างนั้น ขอให้คนฉลาดจงไปหาพระสมณโคดม ส่วนคนโง่จงมาหาฉัน”

จากคำพูดประโยคสุดท้าย ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะก็แน่ใจว่าไม่สามารถโน้มน้าวให้อาจารย์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกันได้ ดังนั้นจึงอำลาและพาปริพาชกบริวารจำนวน ๒๕๐ ที่พร้อมจะไปกับตนเดินทางไปวัดเวฬุวัน

การออกบวช

วันและเวลาที่ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะ พาบริวารเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทอยู่ พระองค์ทรงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วยพระญาณ จึงได้ตรัสบอกว่า “อุปติสสะกับโกลิตะกำลังมาหาตถาคต ทั้ง ๒ เป็นเพื่อนกัน เขาจะมาเป็นคู่อัครสาวกของตถาคต”

เมื่อตรัสบอกแล้วพระพุทธเจ้ายังทรงแสดงธรรมต่อไปเรื่อยๆ แม้ปริพาชกทั้ง ๒ จะพาปริพาชกบริวารมาถึงแล้วก็หาได้ทรงหยุดแสดงธรรมไม่ ทั้งนี้เป็นด้วยทรงเห็นว่าปริพาชกบริวารทั้ง ๒๕๐ นั้น ได้ฟังธรรมนี้แล้วจะได้บรรลุอรหัตผล ส่วนปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะยังคงเป็นพระโสดาบันอยู่เช่นเดิม

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ปริพาชกบริวารปรารถนาเพียงแค่ได้บรรลุอรหัตผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะ นอกจากจะปรารถนามาให้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ยังปรารถนาเป็นพระอัครสาวก และได้ตำแหน่งเอตทัคคะอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนานั่นเอง โดยเหตุที่อุปนิสัยน้อมไปเพื่อทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่นั้น จึงจำเป็นอยู่เองที่จะต้องผ่านการฝึกหัดที่ยากลำบาก ซึ่งทำให้ได้บรรลุผลสูงสุดคืออรหัตผล ช้ากว่าปริพาชกบริวาร

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อบวชแล้วปริพาชกทั้ง ๒ ก็หาได้บรรลุอรหัตผลชักช้าแต่ประการใดไม่ กล่าวคือ ปริพาชกโกลิตะหลังบวชได้ ๗ วัน ก็ได้บรรลุอรหัตผล ส่วนปริพาชกอุปติสสะหลังบวชได้ ๑๕ วัน ก็ได้บรรลุอรหัตผล ซึ่งรายละเอียดจะได้กล่าวต่อไปในตอนว่าด้วยการบรรลุอรหัตผล

กล่าวถึงการบวชของปริพาชกทั้งหมดนั้น เมื่อปริพาชกบริวารได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะก็ได้นำปริพาชกบริวารเหล่านั้นกล่าวคำทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งหมดด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่างแต่ว่าเวลาที่ทรงบวชให้ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะนั้น พระองค์ตรัสว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำทุกข์ให้หมดสิ้นไปโดยชอบเถิด”

เหมือนอย่างที่ตรัสแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ แต่เวลาที่ทรงบวชให้ปริพาชกบริวาร พระองค์ตรัสว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เถิด”

การบรรลุอรหัตผล

ภายหลังได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ปริพาชกอุปติสสะมีชื่อเรียกใหม่ว่า สารีบุตร (บุตรของนางสารี) ส่วนปริพาชกโกลิตะมีชื่อเรียกใหม่ว่า โมคคัลลานะ (ผู้มีเชื้อสายของนางโมคคัลลี) และต่อมามีชื่อเรียกเพิ่มเติมว่า มหาโมคคัลลานะ

พระมหาโมคคัลลานะ หลังบวชแล้วท่านได้ทูลลาพระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ หมู่บ้านกัลลวาละ แคว้นมคธ ขณะบำเพ็ญสมณธรรมอยู่นั้น ท่านเกิดง่วงเหงาหาวนอนอย่างหนัก จนไม่สามารถบำเพ็ญเพียรได้ พระพุทธเจ้าทรงทราบอยู่ตลอดเวลา วันที่ ๘ จึงเสด็จมาสอนท่านให้หาทางแก้ง่วงด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

๑. เมื่อกำหนดนึกอย่างไรแล้วเกิดความง่วง ควรพิจารณาถึงการกำหนดนึกนั้นให้มาก

๒. หากยังไม่หายง่วง ควรตรึกตรองพิจารณาถึงธรรม ตามที่ได้ฟังได้ศึกษาจนขึ้นใจ

๓. หากยังไม่หายง่วง ควรท่องบ่นธรรมที่ได้ฟังได้ศึกษาโดยพิสดาร

๔. หากยังไม่หายง่วง ควรแยงช่องหูทั้ง ๒ ข้างและ เอาฝ่ามือลูบตัว

๕. หากยังไม่หายง่วง ควรลุกขึ้นยืน เอาน้ำลูบตา แล้วเหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาว

๖. หากยังไม่หายง่วง ควรกำหนดถึงแสงสว่าง ควรตั้งความสำคัญว่าเป็นกลางวันไว้ในจิตตลอดเวลา ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน

๗. หากยังไม่หายง่วง ควรเดินจงกรม โดยมีสติกำหนด หมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน

๘. หากยังไม่หายง่วง ควรนอนแบบสีหไสยาคือนอนตะแคงข้างขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะหมาย ใจอยู่ว่าจะลุกขึ้น ครั้นตื่นแล้วให้รีบลุกขึ้นด้วยความตั้งใจว่า จะไม่หาความสุขจากการนอน จะไม่หาความสุขจากการเอนอิง จะไม่หาความสุขจากการเคลิ้มหลับ

พระมหาโมคคัลลานะได้ปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนทันที พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเห็นว่าท่านหายง่วงจึงตรัสสอนเรื่องธาตุกัมมัฏฐาน โดยทรงแนะนำให้ท่านกำหนดพิจารณากายนี้แยกเป็นส่วนๆ ให้เห็นว่าเป็นเพียงธาตุ ๔ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย ซึ่งแต่ละส่วนนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ท่านเจริญสมถะสลับกับวิปัสสนาไปตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน และได้บรรลุอรหัตผลในวันนั้นเอง

ส่วนพระสารีบุตร หลังบวชแล้วท่านได้ทูลลาพระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญสมณธรรม ณ ถ้ำสุกรขาตะ เชิงเขาคิชฌกูฏ เขตเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธนั้นเอง วันที่จะได้บรรลุอรหัตผลพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดโดยประทับอยู่ในถ้ำนั้นกับท่าน ต่อมาปริพาชกทีฆนขะได้มาเฝ้าและทูลสนทนาด้วย

“พระสมณะโคดม” ปริพาชกทีฆนขะกล่าวขึ้น

“ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด”

“อัคคิเวสนะ” พระพุทธเจ้าตรัสเรียกเขาตามชื่อตระกูล “ถ้าอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้นก็ไม่ควรแก่ท่าน ท่านก็ต้อง ไม่ชอบความเห็นนั้นด้วย”

พระพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์จะชี้ให้ปริพาชกทีฆนขะเห็นว่าเขามีความเห็นผิด จึงตรัสต่อไปถึงความเห็นของสมณพราหมณ์ ๓ จำพวก ซึ่งสรุปได้ว่า

สมณพราหมณ์บางพวกมีความเห็นว่า
สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา เราชอบใจหมด
สมณพราหมณ์บางพวกมีความเห็นว่า
สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจหมด
สมณพราหมณ์บางพวกมีความเห็นว่า
บางสิ่งควรแก่เรา เราชอบใจ
บางสิ่งไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจ
ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกแรก
ใกล้ข้างความกำหนัดรักใคร่ยินดีในสิ่งต่างๆ
ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกหลัง
ใกล้ข้างความเกลียดชังสิ่งต่างๆ
ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกสุดท้าย
ใกล้ข้างความกำหนัดรักใคร่ในของบางสิ่ง
ใกล้ข้างความเกลียดชังของบางสิ่ง
ผู้รู้พิจารณาเห็นว่า ถ้าเราจักถือมั่นความเห็นอย่างใด อย่างหนึ่งแล้ว
กล่าวว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นไม่จริง
ก็จะต้องพิจารณาจากคน ๒ พวกที่มีความเห็นไม่เหมือนกับตน
ครั้นถือผิดกันก็ต้องวิวาทกัน จากนั้นก็จะกลายเป็นความพิฆาตเขม่น
แล้วติดตามด้วยการเบียดเบียนกันต่างๆ นานา
ผู้รู้เห็นอย่างนี้แล้ว ย่อมละความเห็นนั้นเสียด้วย
และไม่ให้ความเห็นอย่างอื่นเกิดขึ้น


เมื่อทรงแสดงโทษของความถือมั่นอย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงต่อไปถึงอุบายวิธีที่เป็นเหตุให้ไม่ถือมั่นว่า

อัคคิเวสสนะ กาย คือ รูป ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔
คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เกิดมาจากบิดามารดา
เติบโตมาเพราะข้าวสุกและขนมสด ต้องคอยอบคอยรมกันกลิ่นเหม็น
และขัดสีอยู่เป็นนิตย์ มีอันจะต้องแตกดับไปเป็นธรรมดา
จึงควรที่จะพิจารณาให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง ทนได้ยาก
เป็นของถูกเสียดแทง เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร
เป็นของชำรุดทรุดโทรม ว่างเปล่า ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง
เมื่อพิจารณาเห็นได้อย่างนี้ ย่อมละความรักใคร่ กระวนกระวายในกามเสียได้
อัคคิเวสสนะ เวทนา (ความรู้สึก) มี ๓ อย่างคือ สุข ทุกข์ และอุเบกขา
เวทนา ๓ อย่างนี้เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน
คราวใด บุคคลเสวยสุขเวทนา คือรู้สึกเป็นสุข
คราวนั้น ก็ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาและอุเบกขาเวทนา
คราวใด เสวยทุกขเวทนาคือรู้สึกเป็นทุกข์
คราวนั้น ก็ไม่ได้เสวยสุขเวทนาและอุเบกขาเวทนา
คราวใด เสวยอุเบกขาเวทนาคือรู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข
คราวนั้น ก็ไม่ได้เสวยสุขเวทนาและทุกขเวทนา
แต่ว่า เวทนาทั้ง ๓ นี้เป็นอย่างเดียวกันตรงที่ว่า ไม่เที่ยง
มีปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น
มีความสิ้นไป เสื่อมไป สลายไป และดับไป เป็นธรรมดา



มีต่อ >>> ตอนที่ ๑๕
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 8:26 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๑๕ กลุ่มพระอัครสาวก


ขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ปริพาชกทีฆนขะอยู่นั้น พระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ (ข้างหลัง) ท่านพิจารณาไปตามเนื้อความพระธรรมเทศนานั้นตลอดเวลา ครั้นจบพระธรรมเทศนาท่านก็ได้บรรลุอรหัตผลสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนปริพาชกทีฆนขะหลานของท่านได้บรรลุโสดาปัตติผล

ท่านได้บรรลุอรหัตผลในวันที่ ๑๕ หลังบวช ซึ่งวันนั้นตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓) เพราะหลังจากทรงแสดงธรรมโปรดให้ท่านได้บรรลุอรหัตผลแล้ว พระพุทธเจ้าก็เสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏมายังวัดเวฬุวัน เพื่อทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในตอนบ่าย

งานสำคัญ

พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ได้เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนา โดยพระอัครสาวกทั้ง ๒ ได้ทำงานสัมพันธ์กัน ดังจะเห็นได้จากพระพุทธดำรัสที่ตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเสพ
จงคบหาสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด
ทั้ง ๒ รูปนี้เป็นภิกษุผู้เป็นบัณฑิต
อนุเคราะห์ผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์
สารีบุตร เปรียบเหมือนผู้ให้กำเนิด
โมคคัลลานะ เปรียบเหมือนผู้บำรุงเลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว
สารีบุตร ย่อมแนะนำในโสดาปัตติผล
โมคคัลลานะ ย่อมแนะนำในผลชั้นสูง

นอกจากนั้นแต่ละท่านยังได้มีผลงานเฉพาะตัวอีกมาก ซึ่งต่างล้วนเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาทั้งสิ้น คือ

พระสารีบุตร ได้เป็นอุปัชฌาย์บวชให้สามเณรหลายรูปด้วยกัน อาทิ สามเณรราหุล สามเณรสุขะ สามเณรสังกิจจะ สามเณรทัพพะ ต่อมายังได้โน้มน้าวใจให้น้องชายคือ พระจุนทะ พระอุปเสนะ พระเรวตะ และน้องสาว คือ จาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา ออกบวชในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นผู้เสนอแนะให้พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทเพื่อช่วยรักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคง และยังได้ทูลเสนอพระพุทธเจ้าให้ทำสังคายนา คือรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยอมรับและตรัสให้ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

ท่านได้แสดงตัวอย่างด้วยการจัดหลักธรรม ไว้เป็นหมวดหมู่ กล่าวคือ ธรรมที่มี ๒ ข้อก็จัดไว้หมวดหนึ่ง จนถึงธรรม ๑๒ ข้อก็จัดไว้เป็นอีกหมวดหนึ่งต่างหาก และภายหลังพุทธปรินิพพาน พระมหากัสสปะได้ประชุมสงฆ์จัดทำปฐมสังคายนาก็ได้จัดทำ ตามแนวที่พระสารีบุตรเสนอไว้ นอกจากนั้นท่านยังได้สอนพระลกุณฑกภัททิยะให้ได้บรรลุอรหัตผล และได้เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้พระราธะ ซึ่งพระลกุณฑกภัททิยะและพระราธะนี้ต่อมาได้รับยกย่องไว้ในเอตทัคคะ และจัดอยู่ในกลุ่มพระอสีติมหาสาวก

พระมหาโมคคัลลานะ ก็ได้เป็นอาจารย์ของหมู่คณะช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนาทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ ท่านแสดงฤทธิ์ปราบบุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ จำนวนมากให้คลายเห็นผิด แล้วหันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา อย่างเช่นที่เมืองราชคฤห์ ท่านได้แสดงฤทธิ์ปราบเศรษฐีมัจฉริยโกสิยะด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ บังหวนควันไฟ เดินจงกรมในอากาศ จนเขาเกิดความกลัวและยอมเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ท้ายที่สุดก็ประกาศตนนับคือพระรัตนตรัย ท่านได้ปราบมารผู้มีความเห็นผิดด้วยวิธีการต่างๆ เช่นกัน จนมารยอมแพ้ นอกจากนั้นท่านยังได้ปราบนาคราชนันโทปนันทะ

อีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า พระอัครสาวกทั้ง ๒ ทำงานสัมพันธ์กันอย่างได้ผล นั่นคือคราวที่พระเทวทัตประกาศแยกตนออกจากพระพุทธเจ้า แล้วพาพระวัชชีบุตรซึ่งเป็นศิษย์ของท่านไปอยู่ที่คยาสีสประเทศ พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้พระอัครสาวกทั้ง ๒ ไปแก้ปัญหา ผลปรากฏว่าท่านได้แสดงธรรมและพูดเกลี้ยกล่อมให้พระวัชชีบุตรกลับมาเข้าอยู่ในคณะสงฆ์ตามเดิม โดยปล่อยให้พระเทวทัตกับศิษย์ของท่านจำนวนหนึ่งอยู่กันอย่างโดดเดี่ยว

แม้พระอัครสาวกทั้ง ๒ จะเกิดในวันเดียวกัน แต่โดยที่พระสารีบุตรได้บรรลุโสดาปัตติผลก่อน และยังได้กล่าวธรรมให้พระมหาโมคคัลลานะได้บรรลุตามด้วย ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสยกย่องให้พระสารีบุตรเป็นพี่ ดังจะเห็นได้จากคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงแสดงอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา ครั้นอีก ๗ วันจะถึงมหาปวารณาออกพรรษา พระมหาโมคคัลลานะได้ขึ้นไปเฝ้าแล้วทูลถามว่าจะเสด็จลงจากเทวโลก ณ เมืองไหน พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า

“โมคคัลลานะ สารีบุตรพี่ชายเธออยู่ที่ไหน”

“จำพรรษาอยู่ที่เมืองสังกัสสะ พระเจ้าข้า”

เมื่อพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลให้ทรงทราบดังนั้น พระองค์จึงตรัสว่า พระองค์จักเสด็จลงจากเทวโลก ณ เมืองสังกัสสะนั้นแหละ

บั้นปลายชีวิต

พระอัครสาวกทั้ง ๒ รูป มีชีวิตอยู่มาจนกระทั่งถึงระยะปัจฉิมโพธิกาล (ระยะเวลาใกล้สิ้นยุคพุทธกาล) หลักฐานบางแห่งว่า ทั้ง ๒ ท่านนิพพานก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ๑ ปี คือนิพพาน ในปีที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุ ๗๙ พรรษา

พระสารีบุตร นิพพานเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ที่บ้านของท่านเอง ด้วยโรคปักขันทิกาพาธ (ถ่ายจนเป็นเลือด) ดังมีเรื่องเล่าว่า

วันหนึ่ง ท่านเข้าผลสมาบัติอยู่ในที่พักกลางวันของท่านในวัดเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ออกจากผลสมาบัติแล้วพิจารณาเห็นว่าพระอัครสาวกย่อมนิพพานก่อนพระพุทธเจ้า ดังนั้นท่านจึงได้ตรวจดูอายุสังขารของตนเองและเห็นว่าจะมีชีวิตอยู่ไปได้อีก ๗ วันเท่านั้น ท่านได้พิจารณาต่อไปถึงสถานที่ที่จะไปนิพพาน ก็เห็นว่าควรจะไปนิพพานที่บ้านเกิด ทั้งนี้เพื่อจะได้โปรดโยมมารดาซึ่งยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ให้ได้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย อีกทั้งยังเห็นด้วยว่าโยมมารดามีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุมรรคผลได้เมื่อได้ฟังธรรมที่ท่านแสดง

เมื่อปลงใจได้ดังนั้นแล้ว ท่านจึงแจ้งพระจุนทะผู้เป็นน้องชายให้ทราบ และบอกพระจุนทะให้แจ้งแก่บรรดาศิษย์ของท่านให้ทราบด้วย เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วท่านได้เก็บกวาดเสนาสนะ แล้วออกมายืนอยู่ที่หน้าเสนาสนะนั้น ท่านมองดูทุกสิ่งทุกอย่างเป็นครั้งสุดท้าย แล้วพาพระจุนทะและพระบริวาร ๕๐๐ รูปเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

“ข้าแต่พระบรมศาสดา” ท่านกราบทูล หลังจากกราบถวายบังคมแล้ว “อายุของข้า พระองค์ใกล้สิ้นแล้ว ข้าพระองค์ขอกราบพระบาทเป็นครั้งสุดท้าย เพราะนับจากนี้ไปอีก ๗ วัน ข้าพระองค์จะได้ทอดทิ้งร่างกาย ขอได้ทรงพระกรุณาอนุญาตให้ข้าพระองค์นิพพานด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า”

“สารีบุตร เธอจักไปนิพพานที่ไหน” พระพุทธเจ้าตรัสถาม

“ที่บ้านเกิด พระพุทธเจ้าข้า”

“สารีบุตร” พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพร้อมทั้งอนุญาต แล้วตรัสต่อไปว่า

“ต่อนี้ไปภิกษุทั้งหลายจะไม่ได้เห็นพระสาวกเช่นเธออีกแล้ว ขอเธอได้ช่วยอนุเคราะห์แสดงธรรมให้ภิกษุทั้งหลายฟังก่อนเถิด”

ท่านเข้าใจถึงพุทธประสงค์ได้ดี จึงลุกขึ้นถวายบังคมรับพระพุทธดำรัส แต่ก่อนที่จะแสดงธรรม ท่านได้เหาะขึ้นไปสูงได้ชั่วลำตาล ๑ แล้วกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้า จากนั้นก็ได้เหาะกลับขึ้นไปอีกแล้วกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้าอีก ท่านทำอยู่อย่างนี้ถึง ๗ ครั้ง กล่าวคือ ท่านเหาะขึ้นไปสูงสุดถึง ๗ ชั่วลำตาล และในแต่ละชั่วลำตาลนั้นท่านได้เหาะกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้าทุกครั้ง ขณะที่เหาะอยู่สูงถึง ๗ ชั่วลำตาลนั้นท่านได้แสดงฤทธิ์ต่างๆ มากกว่าร้อยแล้วจึงแสดงธรรม

ขณะที่แสดงธรรมอยู่นั้นท่านได้แสดงฤทธิ์ด้วย โดยบางครั้งทำให้คนเห็นตัวท่าน แต่บางครั้งก็ทำให้ไม่เห็น คงให้ได้ยินแต่เสียง หรือให้เห็นเพียงครึ่งตัว เสียงของท่านบางครั้งก็ได้ยินจากข้างบน บางครั้งก็ได้ยินจากเบื้องล่าง ท่านยังปรากฏกายให้เห็นเป็นรูปต่างๆ บางครั้งเป็นรูปพระจันทร์ บางครั้งเป็นรูปพระอาทิตย์ บางครั้งเป็นรูปภูเขา บางครั้งเป็นรูปมหาสมุทร บางครั้งเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ บางครั้งเป็นท้าวเวสสุวรรณ บางครั้งเป็นพระอินทร์ บางครั้งเป็นท้าวมหาพรหม ครั้นแสดงฤทธิ์และแสดงธรรมถวายตามพุทธประสงค์แล้ว ท่านก็ได้เหาะกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้าแล้วเข้าไปประคองพระบาท พลางกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระบรมศาสดา ข้าพระองค์สู้สร้างบารมีมาช้านานนับได้ ๑ อสงไขยกับ ๑๐๐.๐๐๐ กัป ก็ด้วยตั้งใจจะได้ถวายบังคมพระบรมบาท”

จากนั้นท่านได้กราบถวายบังคมลา พระพุทธเจ้าเสด็จออกมาส่งหน้าพระคันธกุฎี และตรัสบอกพระสาวกทั้งหลายในที่นั้นให้ไปส่งท่าน ครั้นถึงซุ้มประตูเชตวันมหาวิหาร ท่านบอกพระที่ตามมาส่งท่านให้กลับ พร้อมทั้งกล่าวสอนไม่ให้ประมาท

ท่านพร้อมด้วยพระจุนทะและพระบริวารเดินทางอยู่ ๗ วันก็ถึงอุปติสสคามบ้านเกิดของท่าน ที่เมืองนาลันทา แคว้นมคธ ท่านพร้อมด้วยคณะได้ยืนพักเหนื่อยอยู่ที่โคนต้นไทรใกล้ทางเข้าบ้านของท่าน และได้พบกับอุปเรวตะผู้เป็นหลานชาย จึงได้แจ้งความประสงค์ที่จะมาพักที่บ้านกับโยมมารดาให้หลานชายทราบ


มีต่อ >>> ตอนที่ ๑๖
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 8:27 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๑๖ กลุ่มพระอัครสาวก


ฝ่ายนางสารีโยมมารดาเมื่อได้ทราบว่า พระลูกชายพาพระบริวารมาเยี่ยม ก็รู้สึกดีใจเป็นกำลัง จึงสั่งคนงานในบ้านให้จัดการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ จัดที่พักและตามประทีปไว้พร้อมสรรพ และเมื่อได้ทราบว่าท่านประสงค์จะพักในห้องที่ท่านเกิด นางสารีก็จัดให้ตามประสงค์ แต่ในขณะเดียวกันก็สงสัยอยู่ว่า ทำไมพระลูกชายจึงได้พาพระบริวารมามากมายเพียงนี้ หรือว่ามาเพื่อจะสึก เมื่อท่านพร้อมด้วยพระจุนทะและพระบริวารเข้าพักในสถานที่ที่โยมมารดาให้คนจัดให้ตามประสงค์แล้ว

ตกดึกคืนนั้นเองท่านได้เกิดป่วยเป็นโรคปักขันธิกาพาธ (ถ่ายจนเป็นเลือด) อย่างปัจจุบันทันด่วน ท่านได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส พระจุนทะและพระบริวารได้ช่วยกันพยาบาลอย่างใกล้ชิด ฝ่ายโยมมารดาเห็นว่าท่านอาพาธหนัก จึงมาเฝ้าดูอาการด้วยความเป็นห่วง

ขณะนั้น เทวดาองค์สำคัญๆ ต่างมาเยี่ยมอาการป่วยของท่านตามลำดับ คือ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ได้แก่ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักข์ ท้าววิรุฬหก และท้าวเวสสุวรรณ ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสุยามา ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นยามา ท้าวดุสิต ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดุสิต ท้าวสุนิมมิตะ ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นนิมมานรดี และท้าวปรนิมมิตวสวัดดี ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัดดี รวมทั้งท้าวมหาพรหมแห่งพรหมโลก ชั้นสุทธาวาสก็ได้มาเยี่ยมอาการป่วยของท่านด้วย เทวดาและท้าวมหาพรหมนั้นแต่ละองค์ล้วนมีรัศมีเปล่งปลั่งงดงาม ต่างพากันมาเยี่ยมอาการป่วยของท่านด้วยความเป็นห่วงและด้วยความเคารพอย่างยิ่ง

นางสารีเห็นเหตุการณ์นั้นตลอด เมื่ออาการของพระเถระค่อยบรรเทาลง นางได้เข้าไปหาและสนทนาด้วย โดยได้ถามถึงเทวดาองค์สำคัญๆ ที่มาเยี่ยมซึ่งนางไม่ทราบว่าเป็นใคร ท่านได้บอกให้โยมมารดา ได้ทราบตามลำดับจนกระทั่งถึงท้าวมหาพรหม

“อุปติสสะ” โยมมารดาเรียกชื่อเดิมของท่านด้วยความอัศจรรย์ใจ “นี่ลูกของแม่ใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมอีกหรือ”

“ใช่... โยมแม่” ท่านตอบรับ

ทันใดนั้น โยมมารดาก็เกิดปีติอย่างใหญ่หลวง สีหน้าเอิบอิ่ม เมื่อได้ทราบว่าพระลูกชายยิ่งใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมที่ตนเคารพ

“อุปติสสะลูกชายของเรายิ่งใหญ่ขนาดนี้ แล้วพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาของลูกชายเราเล่าจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน”

นางสารีคิดไปถึงพระพุทธเจ้า พระเถระสังเกตดูโยมมารดาตลอดเวลา เมื่อเห็นว่าจิตใจเริ่มอ่อนโยน เหมาะจะรับน้ำย้อมคือคำสอนทางพระพุทธศาสนาได้ จึงเริ่มแสดงธรรมโปรด โดยพรรณนาถึงพระพุทธคุณนานาประการ อาทิว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์ห่างไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง โยมมารดาฟังแล้วเลื่อมใสยิ่งนัก และเมื่อจบพระธรรมเทศนา นางก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล

พระเถระได้ตอบแทนพระคุณโยมมารดาด้วยการตอบแทนที่ล้ำค่า คือให้พ้นจากความเห็นผิดที่มีมานานเสียได้ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญ ส่วนโยมมารดารู้สึกเสียดายเวลาที่ผ่านมาที่ไม่ได้สัมผัสอมตธรรม จึงพูดกับท่านเป็นเชิงต่อว่า ว่า

“ลูกรัก ทำไมจึงเพิ่งมาให้อมตธรรมนี้แก่แม่เล่า”

หลังจากโยมมารดาได้ลากลับเข้าไปที่พักผ่อนแล้ว ท่านได้บอกพระจุนทะให้นิมนต์พระบริวารมาประชุมพร้อมกัน ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้สว่าง ท่านดูอิดโรยเต็มที แต่ถึงกระนั้นก็พยายามยันกายลุกขึ้นนั่ง โดยพระจุนทะคอยประคองอยู่ตลอดเวลา

“ท่านทั้งหลาย” พระเถระเอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงแหบพร่า

“ผมกับท่านอยู่ด้วยกันมานานถึง ๔๔ ปี หากกายกรรมและวจีกรรมของผมอันใดไม่เป็นที่พอใจ ขอได้อภัยให้ผมด้วย”

“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ” พระบริวารกล่าวตอบ “พวกกระผมติดตามท่านมานาน ยังมองไม่เห็นกายกรรมและวจีกรรมอันใดของท่านที่ไม่เหมาะสมเลย แต่พวกกระผมสิจะต้องขอให้ท่านได้โปรดยกโทษในกายกรรมและวจีกรรมที่ไม่สมควร”

ท่านกับพระบริวารต่างกล่าวคำขอขมากันและกันแล้ว แสงเงินแสงทองเริ่มจับขอบฟ้าแล้ว เช้าวันนั้นเบญจขันธ์อันอ่อนล้าของ พระเถระก็ดับลงอย่างสนิท ท่านนิพพานเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ในห้องที่ท่านเกิด เทวดาและมนุษย์ได้พร้อมใจกันฌาปนกิจศพของท่านอย่างสมเกียรติ พระจุนทะนำผ้าขาวมาห่ออัฐิของท่านแล้วนำไปพร้อมทั้งบาตรและจีวร เพื่อมอบให้พระอานนท์นำไปถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงรับอัฐิของท่านแล้วโปรดให้สร้างสถูปบรรจุไว้ที่ใกล้ประตูเชตวันมหาวิหาร เพื่อให้พุทธบริษัทได้สักการะต่อไป

พระมหาโมคคัลลานะ นิพพานเมื่อวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ณ ถ้ำกาฬศิลา แคว้นมคธ หลังพระสารีบุตรนิพพานได้ ๑๕ วัน ดังมีเรื่องเล่าว่า

พรรษาที่จะนิพพานนั้น ท่านจำพรรษา อยู่ที่ถ้ำกาฬศิลา แคว้นมคธ เดียรถีย์ (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) คณะหนึ่งได้ จ้างโจรก๊กหนึ่งให้ไปฆ่าท่าน เหตุที่เป็นดังนั้นเพราะเดียรถีย์ได้ประชุมปรึกษาหารือกันแล้วต่างลงความเห็นว่า ทุกวันนี้พวกตน เสื่อมจากลาภสักการะ มีผู้นับถือน้อยลง เป็นเพราะผู้คนพากันหันไปเลื่อมใสพระสมณโคดมเป็นส่วนใหญ่ สาวกของพระสมณโคดมองค์สำคัญที่เป็นตัวการให้คนหันไปเลื่อมใสศาสดาของตนนั้น คือพระมหาโมคคัลลานะ เนื่องจากสาวกรูปนี้มีฤทธิ์ไปนรกสวรรค์ แล้วกลับมาเทศนาสั่งสอนจนคนเกิดศรัทธาเลื่อมใส หากไม่มีสาวกรูปนี้แล้ว พระสมณโคดมก็หมดความหมาย ผู้คนก็จะหมดความเลื่อมใส แล้วพากันหันกลับมาเลื่อมใสพวกตนตามเคย ลาภสักการะก็จะมีมากเหมือนเก่า

ครั้นปรึกษาหารือกันแล้ว พวกเดียรถีย์ก็เรี่ยไรเงินจากผู้ที่ยังนับถือพวกตนอยู่ไปว่าจ้างโจรให้ไปฆ่าพระเถระ เวลานั้นเป็นช่วงระยะเวลาเข้าพรรษา พวกโจรได้พากันไปยังถ้ำกาฬศิลาซึ่งท่านจำพรรษาอยู่ ภายนอกถ้ำมีกุฏิหลังเล็กๆ อยู่หลังหนึ่ง ท่านพักอยู่ในกุฏิหลังนั้น และเมื่อได้ทราบว่ามีโจรมาล้อมกุฏิหมายจะฆ่าท่าน พระเถระก็เข้าฌานอธิษฐานจิตหายออกไปทางช่องลูกดาล พวกโจรไม่ทราบจึงเข้าไปค้น แต่ก็พลาดโอกาสไม่พบท่าน

วันต่อมาๆ พวกโจรก็ได้มาล้อมกุฏิของท่านอีก แต่ก็ไม่สามารถจับตัวท่านได้ เพราะท่านได้ใช้อำนาจฤทธิ์หายตัวไม่ยอมให้โจรจับได้ พวกโจรพยายามอยู่อย่างนี้ ถึง ๒ เดือนเต็ม พวกเดียรถีย์รู้สึกเคียดแค้นหนักขึ้น จึงเร่งให้พวกโจรจัดการกับพระเถระให้ได้

วันหนึ่ง ท่านมาหวนพิจารณาถึงการที่พวกโจรพยายามตามฆ่าท่านว่าคงจะเนื่องมาจากกรรมเก่าที่ตามมาให้ผล ครั้นพิจารณาไปก็เห็นว่าชาติหนึ่งในอดีตชาติท่านได้ทำอนันตริยกรรม คือ ฆ่าบิดามารดาตามคำยุยงของภรรยา บาปกรรมครั้งนั้นส่งผลให้ท่านไปเกิดในอเวจีมหานรกอยู่เนิ่นนาน ได้รับทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส แม้จะพ้นจากอเวจีมหานรกแล้วแต่เศษของผลบาปกรรมก็ยังมีอยู่และตามให้ผลตลอดเวลา จนมาในชาติปัจจุบันแม้จะได้บรรลุอรหัตผลสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ผลของบาปกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่นั้นก็ยังตามอยู่ เมื่อเห็นเป็นดั่งนี้ท่านก็ไม่คิดหนีอีก พวกโจรจึงจับท่านได้และทุบตีอย่างเคียดแค้น ผลก็คือร่างกายของพระเถระแหลกเหลว กระดูกแหลกละเอียด เหลือเป็นชิ้นๆ ขนาดเท่าเม็ดข้าวสารหัก

เมื่อทุบจนหายแค้นแล้ว พวกโจรสำคัญว่าท่านมรณภาพจึงช่วยกันหามไปทิ้งไว้หลังพุ่มไม้แห่งหนึ่งใกล้ๆ ถ้ำกาฬศิลา นั้นแล้วหลบหนีไป

แม้จะได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส แต่พระเถระก็ยังไม่มรณภาพ ซึ่งเป็นธรรมดาของพระอัครสาวกหากยังไม่ได้ทูลลาพระพุทธเจ้าแล้วจะยังไม่นิพพานอย่างเด็ดขาด พระเถระยังคงมีสติมั่นคง ท่านเข้าฌานอธิษฐานจิตประสานกายให้ปกติดุจเดิมแล้วเหาะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน แคว้นมคธ เพื่อทูลลานิพพาน

พระพุทธเจ้าทรงขอให้ท่านแสดงธรรม และแสดงฤทธิ์อย่างที่ทรงขอให้พระสารีบุตรได้ทำ ท่านได้ทำตามพุทธประสงค์ จากนั้นได้ก้มลงกราบพระบาทของพระพุทธเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย แล้วเหาะกลับไปยังถ้ำกาฬศิลา ท่านนิพพาน ณ ที่นั่นเมื่อวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ดังได้กล่าวมาแล้ว

พระอัครสาวกทั้ง ๒ ได้ทำงานร่วมกันตลอดอายุขัย ได้ช่วยให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว และเป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติทุกวรรณะในสังคมอินเดียครั้งกระนั้น

เอตทัคคะ - อดีตชาติ

พระสารีบุตร มีปัญญามาก สามารถแสดงธรรมได้ใกล้เคียงกับพระพุทธเจ้า ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีปัญญามาก ดังพระพุทธดำรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสาวกของตถาคตที่มีปัญญามาก สารีบุตรนี้เป็นเลิศกว่าใครทั้งสิ้น”

พระมหาโมคคัลลานะ มีฤทธิ์มาก สามารถแสดงฤทธิ์ได้ใกล้เคียงกับพระพุทธเจ้า ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีฤทธิ์มาก ดังพระพุทธดำรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสาวกของตถาคตที่มีฤทธิ์มาก โมคคัลลานะนี้เป็นเลิศกว่าใครทั้งสิ้น”


มีต่อ >>> ตอนที่ ๑๗
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 8:27 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๑๗ กลุ่มพระอัครสาวก


วันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานตำแหน่งเอตทัคคะ และตำแหน่งพระอัครสาวกให้แก่พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะนั้น มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า พระพุทธเจ้าทรงเลือกที่รักมักที่ชัง พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์มิได้เลือกที่รักมักที่ชังแต่ประการใด แต่ประทานให้ตามที่ทั้ง ๒ ท่าน ปรารถนามาแต่อดีตชาติ จากนั้นได้ตรัสเล่าเรื่องราวของพระอัครสาวกให้พระทั้งหลายฟัง นับถอยหลังจากนี้ไปได้ ๑ อสงไขยกับ ๑๐๐,๐๐๐ กัป พระสารีบุตรเกิดเป็นพราหมณ์มหาศาลชื่อ ‘สรทะ’ ส่วนพระมหาโมคคัลลานะเกิดเป็นบุตรคหบดีมหาศาลชื่อ ‘สิริวัฑฒะ’ ทั้ง ๒ เป็นเพื่อนกันมาแต่เยาว์วัย

สรทะ เมื่อบิดาล่วงลับไปก็ได้ดูแลทรัพย์สมบัติแทน อยู่มาวันหนึ่งขณะอยู่ตามลำพังก็คิดถึงความเป็นไปของชีวิตในลักษณะต่างๆ แล้วสรุปได้ว่า

สรรพสัตว์และสรรพสิ่งต้องตายและแตกดับ
ไม่มีใครหรืออะไรจะรอดพ้นความตายและความแตกดับนั้นไปได้
เราก็เป็นหนึ่งในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งนั้น
ฉะนั้นเราจึงควรออกบวช แสวงหาความรอดพ้นจากความตาย และความแตกดับนั้นให้ได้

ครั้นคิดได้อย่างนี้จึงเดินทางไปหาสิริวัฑฒะ เล่าให้ทราบถึงความคิดของตนแล้วชวนสิริวัฑฒะให้ออกบวชด้วย เมื่อสิริวัฑฒะบอกว่ายังไม่พร้อมจะออกบวช สรทะก็ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจ ครั้นกลับไปถึงบ้านก็ให้เปิดเรือนคลังเก็บรัตนะชนิดต่างๆ แล้วแจกจ่ายให้เป็นทานแก่คนทั่วไปพร้อมทั้งได้สละบ้านเรือนออกไปอยู่ป่า แล้วอธิษฐานจิตบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่านั้นเอง โดยมีบุตรพราหมณ์จากตระกูลต่างๆ ออกบวชตามจำนวน ๗๔,๐๐๐ คน

ฤาษีสรทะได้ตั้งใจบำเพ็ญเพียรฝึกจิต จนในไม่ช้าก็ได้บรรลุอภิญญาและสมาบัติชั้นสูง จากนั้นได้สอนวิธีเพ่งกสิณให้แก่ฤาษีบริวาร จนฤาษีบริวารเหล่านั้นได้บรรลุอภิญญาและสมาบัติเช่นเดียวกับตน

ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าอโนมทัสสีเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เสด็จจาริกแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ไปตามสถานที่ต่างๆ วันหนึ่งทรงทราบด้วยพระญาณว่า ฤาษีสรทะพร้อมด้วยบริวารมีอุปนิสัยสามารถบรรลุธรรมได้จึงตัดสินพระทัยเสด็จไปโปรด

พระพุทธเจ้าอโนมทัสสีเสด็จไปแต่ลำพัง พระองค์ทรงมุ่งหวังที่จะให้ฤาษีสรทะเห็นเป็นอัศจรรย์และรู้ว่าพระองค์ คือพระพุทธเจ้า จึงทรงเหาะไปลงที่หน้าอาศรมของท่าน ให้ท่านเห็นกับตา ฤาษีสรทะมองดูนักบวชที่เหาะมาลงหน้าอาศรมของตนอยู่ไม่นาน ก็รู้ได้ตามมหาปุริสลักษณะว่า นักบวชรูปนี้ไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าต่างหาก จึงลุกขึ้นถวายการต้อนรับโดยปูลาดอาสนะถวาย แล้วกราบทูลให้เสด็จมาประทับนั่ง ส่วนฤาษีสรทะเองก็นั่งเฝ้าอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล

พอดีเวลานั้นบรรดาฤาษีผู้เป็นศิษย์ที่ออกไปเก็บผลไม้พากันกลับมาถึง เห็นอาการนั่งของฤาษีสรทะผู้เป็นอาจารย์และนักบวชอาคันตุกะแล้วรู้สึกแปลกใจ

“ท่านอาจารย์” ฤาษีรูปหนึ่งพูดขึ้น “เมื่อก่อนพวกเราเที่ยวอวดใครต่อใครว่า ผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าอาจารย์ไม่มีอีกแล้ว แต่มาบัดนี้พวกเราเริ่มไม่แน่ใจ นักบวชรูปนี้เห็นจะยิ่งใหญ่กว่าท่านซินะ”

“พวกพ่อพูดอะไร” ฤาษีสรทะแสดงท่าขวยเขิน

“ทำไมเอาเขาพระสุเมรุมาเทียบกับเมล็ดพันธุ์ผักกาด ขอพวกพ่ออย่าได้เอาเราซึ่งเท่ากับเมล็ดพันธุ์ผักกาด ไปเทียบกับพระพุทธเจ้า ผู้อุปมาเหมือนเขาพระสุเมรุเลย”

เมื่อได้ฟังคำชี้แจงอย่างนั้น บรรดาฤาษีผู้เป็นศิษย์ต่างยอมรับความยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า จึงพร้อมกันหมอบกราบลงแทบพระบาทของพระพุทธเจ้า จากนั้นฤาษีสรทะได้บอกบรรดาฤาษีเหล่านั้นให้ช่วยกันจัดผลไม้นำมาถวายพระพุทธเจ้า ท่านได้นำผลไม้ที่บรรดาศิษย์จัดมานั้น ไปน้อมถวายพระพุทธเจ้าด้วยตนเอง

หลังจากพระพุทธเจ้าอโนมทัสสีเสวยผลไม้แล้ว ฤาษีสรทะได้บอกบรรดาฤาษีผู้เป็นศิษย์ให้เข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้าใกล้ๆ พร้อมกัน พระพุทธเจ้าทรงมองดูฤาษีสรทะ พลางส่งพระทัยไปถึงพระสาวกผู้เป็นอัครสาวกให้มาเฝ้าพระองค์ พร้อมด้วยพระสงฆ์จำนวนมาก

ณ บัดนี้ พระอัครสาวกทั้ง ๒ ทราบพระพุทธดำริแล้ว ก็พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๑๐๐,๐๐๐ รูป เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าทันที ถวายบังคมแล้วก็ยืนเฝ้าอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล

ฤาษีสรทะเห็นพระมากันเป็นจำนวนมาก ก็เกิดกุศลจิต จึงบอกบรรดาฤาษีผู้เป็นศิษย์ให้นำดอกไม้มาทำเป็นอาสนะถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวก บรรดาฤาษีผู้เป็นศิษย์เหล่านั้นก็เกิดกุศลจิตเช่นเดียวกับอาจารย์ จึงใช้อำนาจฤทธิ์นำดอกไม้หลายสีหลากกลิ่นมาจัดปูเป็นอาสนะดอกไม้ถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวกตามที่อาจารย์สั่ง และเมื่อการจัดอาสนะดอกไม้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ฤาษีสรทะได้ยืนประนมมือต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์ได้โปรดประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้ เพื่ออนุเคราะห์ข้าพระองค์ด้วยเถิด”

พระพุทธเจ้าอโนมทัสสีประทับนั่ง ตามที่ฤาษีสรทะกราบทูล จากนั้นพระอัครสาวกและพระอรหันตบริวารก็ได้นั่งบนอาสนะที่สมควรแก่ตนตามลำดับ

ตามปกติทานที่ถวายแก่พระที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติย่อมมีผลมาก พระพุทธเจ้าอโนมทัสสีทรงมีพระประสงค์จะให้ทานของฤาษีสรทะและศิษย์เป็นเช่นนั้น จึงทรงเข้านิโรธสมาบัติ ฝ่ายพระอัครสาวกและพระอรหันต์ที่เหลือทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงเข้านิโรธสมาบัติ จึงเข้าตาม ขณะที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกกำลังเข้านิโรธสมาบัติอยู่นั้น ฤาษีสรทะได้ยืนกั้นร่มดอกไม้ถวายตลอดเวลา ส่วนฤาษีผู้เป็นศิษย์ได้ยืนประนมมือเฝ้าพระพุทธเจ้าและพระสาวกตลอดเวลาด้วยเช่นกัน

พระพุทธเจ้าอโนมทัสสีทรงเข้านิโรธสมาบัติอยู่ ๗ วัน ครั้นออกแล้วได้รับสั่งให้พระนิสภเถระ พระอัครสาวกเบื้องขวา กล่าวอนุโมทนาอาสนะดอกไม้ เพื่อให้ฤาษีสรทะและศิษย์ได้เกิดปีติโสมนัส เมื่อพระนิสภเถระกล่าวอนุโมทนาแล้ว พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งให้พระอโนมเถระ พระอัครสาวกเบื้องซ้าย แสดงธรรมต่อไป ฤาษีทั้งหลายได้ฟังพระอัครสาวกทั้ง ๒ กล่าวอนุโมทนา และแสดงธรรมแล้ว หาได้บรรลุธรรมแต่ประการใดไม่ คงเกิดแต่ปีติโสมนัสในทานและธรรมเท่านั้น

ความจริงแล้วพระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่าจะต้องเป็นเช่นนั้น เพราะฤาษีทั้งหมดเป็นพุทธเวไนยสัตว์ กล่าวคือ จะบรรลุธรรมได้ต้องได้ฟังจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น พระสาวกไม่ว่ารูปใดไม่สามารถสอนให้บรรลุธรรมได้ แต่ที่ทรงให้พระนิสภะกล่าวอนุโมทนา และทรงให้พระอโนมเถระกล่าวธรรมตามลำดับนั้น ก็โดยทรงมีพุทธประสงค์จะให้ฤาษีเหล่านั้นได้ฟังธรรมเป็นอุปนิสัยปัจจัย เพื่อให้ได้บรรลุธรรมคราวที่ได้ฟังธรรมจากพระองค์โดยตรง

โดยเหตุที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ฤาษีเหล่านั้นเป็นพุทธเวไนยสัตว์ ดังนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าอโนมทัสสีทรงแสดงธรรมจบลง ฤาษีทั้งหมดยกเว้นฤาษีสรทะก็ได้บรรลุอรหัตผล ครั้นแล้วได้ทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าอโนมทัสสีก็ทรงบวชให้ตามประสงค์ด้วยวิธีแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา

กล่าวถึงฤาษีสรทะ การที่ไม่ได้บรรลุมรรคผลขั้นใดนั้นเป็นเพราะความฟุ้งซ่าน กล่าวคือขณะที่นั่งฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมอยู่นั้น ใจก็คิดปรารถนาอยู่แต่การจะได้เป็นพระอัครสาวก โดยคิดอยู่ว่า “ทำอย่างไรเราจึงจะได้เป็นพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล เหมือนอย่างที่พระนิสภเถระได้เป็นอยู่นี้”

และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจบ ท่านก็เข้าไปกราบถวายบังคมแทบพระบาท แล้วเปล่งวาจาปรารถนาตำแหน่งเอตทัคคะและการเป็นพระอัครสาวก พระพุทธเจ้าอโนมทัสสีทรงตรวจดูด้วยพระญาณที่ล่วงรู้ถึงอนาคต (อนาคตังสญาณ) ก็ทรงทราบดีว่าความปรารถนาของฤาษีสรทะนั้น สำเร็จได้แน่ จึงตรัสพยากรณ์ว่า

“จากนี้ไป ๑ อสงไขยกับอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัป เธอจักได้เป็นพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้าโคดม และจักมีชื่อว่า สารีบุตร”

จากนั้นพระองค์ได้ตรัสธรรมกถาประคับประคองศรัทธาของฤาษีสรทะให้กล้าแข็งยิ่งขึ้น และเมื่อทรงเห็นว่าประทับอยู่พอสมควรแก่เวลาแล้ว ก็ทรงพาพระสงฆ์ทั้งหมดเหาะกลับไปที่ประทับ

ฝ่ายฤาษีสรทะ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพาพระสาวกกลับไปแล้วก็หวนนึกถึงสิริวัฑฒะ บุตรคหบดีผู้เป็นเพื่อนเก่าจึงเดินทางไปหา

“เพื่อนรัก” ฤาษีสรทะเริ่มเล่า “บัดนี้พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ข้าพเจ้าได้เฝ้าพระองค์ และได้ตั้งจิตปรารถนาเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่าข้าพเจ้าจักได้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าโคดม ซึ่งจะเสด็จอุบัติขึ้นในอนาคต ข้าพเจ้ามาระลึกว่าตำแหน่งพระอัครสาวกเบื้องซ้ายยังไม่มีผู้ใดปรารถนา จึงคิดถึงท่านอยากให้ท่านตั้งจิตปรารถนาเพื่อไปเกิดด้วยกัน”

“ขอบคุณท่านสรทะ” สิริวัฑฒะกล่าวด้วยความสนใจ “ขอบคุณที่ท่านได้นำข่าวดีมาบอก แต่ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไร ขอให้ท่านโปรดแนะนำด้วย”

“ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก” ฤาษีสรทะแนะนำ


มีต่อ >>> ตอนที่ ๑๘
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 8:27 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๑๘ กลุ่มพระอัครสาวก


เมื่อสิริวัฑฒะตกลงใจที่จะถวายทานแล้ว ฤาษีสรทะก็รับไปนิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสาวกให้ ฝ่ายสิริวัฑฒะเมื่อฤาษีสรทะกลับแล้ว ก็ลงมือเตรียมรับเสด็จพระพุทธเจ้าอย่างเต็มที่ ขั้นแรกให้คนเกลี่ยพื้นดินหน้าประตูบ้าน ซึ่งกว้างประมาณ ๘ กรีสให้เรียบเสมอกันก่อน แล้วให้โปรยข้าวตอกดอกไม้ลงบนพื้นที่เรียบเสมอนั้น จากนั้นให้ทำปะรำมุงด้วยดอกอุบลเขียว แล้วให้ปูลาดอาสนะสำหรับพระพุทธเจ้าและพระสาวกไว้พร้อมสรรพ สุดท้ายสั่งให้เตรียมอาหารและเครื่องสักการะไว้มากมาย

สิริวัฑฒะถวายมหาทานอยู่ ๗ วัน วันสุดท้ายถวายจีวรมีราคาแพงให้พระพุทธเจ้าและพระสาวกครองด้วย แล้วได้ตั้งจิตปรารถนาตำแหน่งเอตทัคคะและการเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต พระพุทธเจ้าอโนมทัสสีทรงตรวจดูด้วยพระญาณที่ล่วงรู้ถึง อนาคตแล้ว ทรงเห็นว่าความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่ จึงทรงพยากรณ์เหมือนอย่างที่ทรงพยากรณ์แก่ฤาษีสรทะ

นับแต่นั้นมาสิริวัฑฒะได้ทำบุญสนับสนุนตลอดชีวิต ตายแล้วได้ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่ในสวรรค์ ส่วนฤาษีสรทะยังบำเพ็ญญาณสมาบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอ มรณภาพแล้วได้ไปเกิดเป็นพรหมอยู่ในพรหมโลก ท่านทั้ง ๒ เวียนว่ายตายเกิดในสุคติภูมิจนถึงระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทั้ง ๒ ท่านได้มาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์นายบ้านแห่งเมืองนาลันทา แคว้นมคธ และมีความผูกพันกัน ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะและตำแหน่งอัครสาวกดังกล่าวแล้ว

วาจานุสรณ์

โดยเหตุที่พระอัครสาวกทั้ง ๒ เป็นกำลังสำคัญในการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานาน ถึง ๔๔ ปี นับแต่ปีที่บวช จึงมีถ้อยคำเตือนใจที่ทั้ง ๒ ท่านกล่าวไว้มากมาย ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์

พระสารีบุตร เมื่อศึกษาดูแล้วจะพบว่าท่านกล่าวเกี่ยวกับเรื่องราวและในโอกาสต่างๆ กันดังนี้

เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวของท่านขณะบำเพ็ญสมณธรรม ท่านกล่าวว่า

ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีล สงบระงับ มีสติ คิดชอบ
เพ่งพินิจธรรมอยู่เป็นนิตย์ ไม่ประมาท
ยินดีอยู่กับการเจริญกรรมฐานในภายในตัวเอง
มีใจมั่นคงอย่างยิ่ง อยู่ผู้เดียว ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า ภิกษุ

เกี่ยวกับการฉันอาหาร ท่านกล่าวว่า

ภิกษุฉันอาหาร จะเป็นของสดหรือของแห้งก็ตาม
ไม่ควรฉันให้อิ่มจนแน่นท้อง ควรมีสติฉันแต่พอประมาณ
เมื่อรู้ว่าอีก ๔-๕ คำจะอิ่ม ควรงดเสียแล้วดื่มน้ำแทน
เพราะฉันเพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว เพื่อความอยู่อย่างสบาย
ของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นต่อนิพพาน

เกี่ยวกับจีวรและที่อยู่อาศัย ท่านกล่าวว่า

การครองจีวรที่เหมาะสม ก็คือ
มุ่งประโยชน์ของมันเป็นหลัก
ส่วนกุฏิใดที่ภิกษุนั่งแล้วฝนตกรดเข่าทั้งสองข้างไม่ได้
กุฏินั้นนับว่าเพียงพอแล้ว
ที่จะให้ภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นต่อนิพพาน
อยู่ได้อย่างสบาย

เกี่ยวกับที่อยู่ของพระอรหันต์ ท่านกล่าวว่า

พระอรหันต์อยู่สถานที่ใด ไม่ว่าบ้านหรือป่า
ไม่ว่าที่ดอนหรือที่ลุ่ม สถานที่นั้นย่อมเป็นภูมิสถาน
อันน่ารื่นรมย์ไปโดยปริยาย
ป่าอันน่ารื่นรมย์ที่คนผู้แสวงหากามไม่ยินดี
แต่กลับเป็นที่ที่ท่านผู้ปราศจากตัณหาชื่นชม
เพราะท่านเหล่านั้นไม่แสวงหากามอันใดอีก

เกี่ยวกับการอบรมสั่งสอน ท่านกล่าวว่า

บุคคลควรเห็นท่านผู้มีปัญญาชี้โทษมักกล่าวข่มขี่
ให้เป็นเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์
ควรคบบัณฑิตเช่นนั้น เพราะว่า เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น
ย่อมมีแต่ความดี ไม่มีชั่วเลย
ปราชญ์เองก็ควรแนะนำสั่งสอน ควรห้ามผู้อื่น
จากธรรมที่มิใช่ของคนดี แต่ผู้ที่แนะนำสั่งสอนเช่นนั้น
จะเป็นที่รักก็แต่เฉพาะของคนดีเท่านั้น
แต่คนชั่วจะไม่รักเขาเลย

เกี่ยวกับความชั่ว ท่านกล่าวว่า

ภิกษุผู้ไม่มีกิเลส แสวงหาความสะอาดอยู่เป็นนิตย์
ย่อมมองเห็นความชั่วเพียงเท่าปลายขนทราย
ปรากฏเป็นของใหญ่เท่าก้อนเมฆในท้องฟ้า

เกี่ยวกับชีวิตและความตาย ท่านกล่าวว่า

ความเป็น ความตาย เราไม่ยินดี
เราจักละทิ้งร่างกายนี้ไปอย่างผู้มีสติสัมปชัญญะ
ความเป็น ความตาย เราไม่ยินดี
เรารอแต่ให้ถึงเวลา คล้ายลูกจ้างรอให้หมดเวลาทำงาน
ความตายนี้มีแน่ ไม่เวลาแก่ก็เวลาหนุ่ม
แต่ที่จะไม่ตายไม่มีหรอก

พระมหาโมคคัลลานะ เมื่อศึกษาดูแล้วจะพบว่าท่านกล่าวเกี่ยวกับเรื่องราวและในโอกาสต่างๆ กันดังนี้

เกี่ยวกับธุดงควัตร ท่านกล่าวว่า

ภิกษุถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร
ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร มีจิตมั่นคง
จะกำจัดเสนาแห่งพระยามัจจุราชเสียได้
คล้ายช้างทำลายเรือนไม้อ้อ

เกี่ยวกับร่างกาย ท่านกล่าวสอนโสเภณีนางหนึ่งที่มาเล้าโลมท่านว่า

กระท่อมคือร่างกาย มีกระดูกเป็นโครงสร้าง
ฉาบด้วยเนื้อ ร้อยรัดด้วยเส้นเอ็น
เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็นน่าเกลียด
คนทั่วไปพากันยึดถือ
แต่สำหรับเราเป็นของน่ารังเกียจ
ร่างกายของเธอไม่ต่างอะไรกับถุงใส่อุจจาระ
มีหนังหุ้มห่อปกปิดไว้ เหมือนนางปีศาจ
มีผื่นขึ้นที่หน้าอก มีช่อง ๙ ช่องให้สิ่งสกปรกไหลออกเป็นนิตย์
ภิกษุ(อย่างเรา) ย่อมไม่เหลียวแลร่างกายของเธอ
เหมือนชายหนุ่มผู้รักความสะอาด
ย่อมหลบหลีกอุจจาระปัสสาวะเสียห่างไกล
สำหรับคนทั่วไป หากเขาได้เข้าใจร่างกายของเธอ
อย่างที่เราเข้าใจ ต่างจะพากันหลีกไกล
คล้ายชายหนุ่มผู้รักความสะอาด เห็นหลุมอุจจาระที่ฝนตกใส่
ย่อมหลบหลีกเสียไกล
อากาศ คือความว่างเปล่า ใครก็ตามที่หวังจะเอาขมิ้น
หรือน้ำย้อมอย่างอื่นไปย้อมอากาศ ย่อมเหนื่อยเปล่า
จิตของเราว่างเปล่าเหมือนกับอากาศ มั่นคงอยู่ภายในฉะนั้น
เธออย่ามาหวังความรักจากจิตที่ว่างเปล่านี้เลย
เพราะจะพบแต่ความปวดร้าว เช่นเดียวกับแมลงบินเข้ากองไฟ

เกี่ยวกับการนิพพานของพระสารีบุตร ท่านกล่าวว่า

เมื่อพระสารีบุตรเถระ
ผู้เพียบพร้อมด้วยธรรมมีศีลสังวร เป็นต้น นิพพานไปแล้ว
ก็เกิดเหตุน่าสะพึงกลัวขนพองสยองเกล้า
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา
การดับสังขารเหล่านั้นเสียได้ เป็นสุข

เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมของท่านเอง ท่านกล่าวว่า

สายฟ้าแลบแปลบปลาบเข้าไปตามช่องภูเขาเวภาระ
และช่องภูเขาปัณฑวะ (ทำให้เกิดแสงสว่าง)
ส่วนเราผู้เป็นโอรสของพระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ไม่มีใครเปรียบ
เข้าสู่ช่องภูเขาแล้ว เจริญฌานอยู่อย่างมั่นคง

เกี่ยวกับมารที่ประทุษร้ายท่านและพระพุทธเจ้า ท่านกล่าวว่า

ภิกษุใด เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
รู้กรรม และผลของกรรม อย่างชัดแจ้ง
ภิกษุใด แสดงยอดภูเขาสิเนรุ ชมพูทวีป และปุพพวิเทหทวีป
ให้มนุษย์ชาวอปรโคยานทวีป และชาวอุตตรกุรุทวีป
ได้เห็นด้วยวิโมกข์
มารผู้มีบาป ท่านเบียดเบียนภิกษุนั้น
จะต้องประสบทุกข์เป็นแน่แท้
ไฟไม่ได้คิดเลยว่าจะไหม้คนพาล
แต่คนพาลกลับเข้าไปหาไฟให้ไหม้ตนเอง ฉันใด
ท่านประทุษร้ายพระพุทธเจ้า ก็เท่ากับเผาตนเอง
เหมือนคนพาลคนนั้น
มารผู้มุ่งแต่จะให้เขาตาย ท่านสั่งสมบาปมานาน
จึงแน่นอนว่าจะต้องประสบทุกข์
ฉะนั้น จงอย่าคิดร้ายต่อพระพุทธเจ้าและพระสาวกอีกต่อไปเลย


มีต่อ >>> ตอนที่ ๑๙
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2006, 8:28 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ พระอสีติมหาสาวก
ตอนที่ ๑๙ กลุ่มพระชาวแคว้นมคธ


กลุ่มพระชาวแคว้นมคธ คือ กลุ่มพระที่เป็นชาวแคว้นมคธโดยกำเนิด ซึ่งนอกจากกลุ่มพระอัครสาวกแล้ว ยังมีพระอสีติมหาสาวกที่เป็น ชาวแคว้นมคธอีก ๘ รูป คือ พระมหากัสสปะ พระราธะ พระอุปเสนะ พระมหาจุนทะ พระขทิรวนิยเรวตะ พระมหาปันถก พระจูฬปันถก และพระสภิยะ แต่ละรูปมีประวัติที่น่าศึกษา ดังนี้

สถานะเดิม

พระมหากัสสปะ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ตระกูลพราหมณ์มหาศาล เชื้อสายกัสสปโคตร ณ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อ ‘มหาติฏฐะ’ ซึ่งอยู่ในเมืองราชคฤห์ บิดาชื่อ ‘กปิละ’ ส่วนมารดาไม่ปรากฏชื่อ ท่านเองมีชื่อเดิมว่า ‘ปิปผลิ’

พระราธะ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ตระกูลพราหมณ์ยากจนในเมืองราชคฤห์ มีน้องชายชื่อ ‘สุราธะ’

พระอุปเสนะ พระมหาจุนทะ พระขทิรวนิยเรวตะ เป็นน้องชายของพระสารีบุตร พระอุปเสนะศึกษาจบไตรเพท ส่วนพระมหาจุนทะและพระขทิรวนิยเรวตะ ไม่มีกล่าวถึงการศึกษาของท่านไว้

พระมหาปันถก และพระจูฬปันถก เป็นพี่น้องกัน พระมหาปันถกเป็นพี่ ส่วนพระจูฬปันถกเป็นน้อง เกิดในวรรณะจัณฑาล เนื่องจากบิดากับมารดาเป็นคนต่างวรรณะกัน บิดาเป็นคนวรรณะศูทร ส่วนมารดาเป็นคนวรรณะไวศยะ ซึ่งเป็นธิดาของเศรษฐีราชคหะ ในเมืองราชคฤห์

พระสภิยะ เกิดในวรรณะไวศยะ ในเมืองราชคฤห์

ชีวิตฆราวาส

พระมหากัสสปะ เพราะเหตุที่เป็นลูกพราหมณ์มหาศาล ซึ่งต้องการผู้สืบเชื้อสายวงศ์ตระกูล มารดาบิดาจึงจัดการให้ท่านได้แต่งงานกับหญิงลูกสาวพราหมณ์มหาศาลเช่นกัน ชื่อ ‘ภัททา กาปิลานี’ ขณะนั้นท่านมีอายุ ๒๐ ปี

คัมภีร์บันทึกไว้ว่า ปิปผลิ และภัททา กาปิลานี เป็นคู่ภรรยาสามีที่แปลก กล่าวคือ เมื่อแต่งงานกันแล้วก็มิได้ใช้ชีวิตคู่เยี่ยงสามีภรรยาคู่อื่นๆ มิได้ถูกเนื้อต้องตัวกัน มิได้มีเพศสัมพันธ์ต่อกัน แต่อยู่อย่างเพื่อนกัน ถึงคราวนอนแม้จะนอนเตียงเดียวกันแต่ก็วางพวกดอกไม้ไว้ตรงกลางเป็นเชิงกั้นเขตแดนมิให้ร่างกายถูกกัน พร้อมทั้งตกลงกันว่าหากพวงดอกไม้ของใครเหี่ยว แสดงว่าคนนั้นเกิดกามราคะขึ้นแล้ว

ปิปผลิ และภัททา กาปิลานี อยู่ด้วยกันอย่างนี้จนบิดามารดาถึงแก่กรรม และทิ้งกิจการรวมทั้งทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาลไว้ให้ดูแล กิจการของตระกูลเกี่ยวข้องอยู่กับการทำไร่ไถนา ซึ่งใช้เนื้อที่ถึง ๑๒ โยชน์ (๑๙๒ ตารางกิโลเมตร) มีเหมืองสูบน้ำถึง ๖๐ เหมือง ปิปผลิพาบริวารขี่ม้าออกไปตรวจดูกิจการทุกวัน วันหนึ่งขณะยืนตรวจดูกิจการเห็นฝูงนกกาจับกลุ่มกันหากินไส้เดือนอยู่ตามรอยไถ จึงถามว่า

“นกเหล่านั้นหากินสัตว์อื่นอยู่ในไร่นาของเรา แล้วใครเล่าจะเป็นผู้รับผลกรรมนั้น”

“ท่านนั่นแหละขอรับจะเป็นผู้ได้รับ” บริวารตอบ

ปิปผลิได้ฟังแล้วรู้สึกสลดใจจึงถามตัวเองว่า ถ้าเราจะต้องมารับผลกรรมที่สัตว์เหล่านี้ทำแล้ว กิจการและทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาลจะมีความหมายอะไร ทาสกรรมกรจำนวนมากจะช่วยอะไรเราได้ จากนั้นจึงเริ่มคิดถึงการออกบวช โดยตั้งใจว่าจะยกกิจการและทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้ภัททา กาปิลานี ดูแล

ในขณะที่ปิปผลิพบเหตุการณ์ที่ทำให้สลดใจและตัดสินใจออกบวชนั้น ภัททา กาปิลานีก็พบเหตุการณ์ทำนองเดียวกันและเกิดความรู้สึกเหมือนกัน นั่นคือ นางใช้ให้คนตากเมล็ดงาเต็มบริเวณลานหน้าบ้าน แล้วเฝ้าดูอยู่กับพวกพี่เลี้ยง นางเห็นฝูงนกกาลงจิกกินสัตว์เล็กๆ ซึ่งปนอยู่กับเมล็ดงาแล้วเกิดความสลดใจ ที่สัตว์มาอาศัยชีวิตสัตว์ด้วยกันเป็นอยู่ จากนั้นก็เริ่มคิดถึงการออกบวช

สองสามีภรรยาคิดเหมือนกัน แต่ต่างไม่ทราบความคิดของกันและกัน จนเมื่อได้เวลารับประทานอาหาร ซึ่งทั้งคู่มาอยู่พร้อมหน้ากัน จึงเปิดเผยความรู้สึกของกันและกัน ครั้นแล้วต่างฝ่ายต่างยืนยันจะออกบวชให้ได้ โดยไม่สนใจในทรัพย์สมบัติที่อีกฝ่ายหนึ่งจะมอบให้ ในที่สุดทั้งสองก็ตกลงใจออกบวชด้วยกัน โดยยกกิจการและทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้ญาติพี่น้องและบริวาร

พระราธะ ชีวิตฆราวาสไม่สู้ราบรื่นนัก เพราะเป็นคนยากจน มิหนำซ้ำเมื่อแก่ตัวลง ลูกเมียก็รังเกียจถึงขั้นขับไล่ออกจากบ้าน ท่านจึงต้องมาอาศัยพระอยู่ที่วัดเวฬุวัน ว่าโดยนิสัยที่แท้จริงแล้ว ท่านเป็นคนใจบุญ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก่อน แม้จะยากจนแต่ก็ทำบุญใส่บาตรตามสมควรแก่โอกาส พระสารีบุตรยังเคยรับบิณฑบาตจากท่าน โดยที่มีอุปนิสัยน้อมไปในการทำบุญเช่นนั้น เมื่อมาอยู่ที่วัดเวฬุวันท่านก็ได้ขวนขวาย รับใช้พระในด้านต่างๆ อาทิ ถางหญ้า กวาดบริเวณวัด จัดน้ำฉันน้ำใช้ถวาย และซักจีวร พระในวัดเวฬุวันก็มีเมตตาสงเคราะห์ท่านด้วยอาหารการกินและที่อยู่อาศัย ซึ่งทำให้ท่านพอมีความสุขตามสมควรแก่อัตภาพ

พระอุปเสนะ พระมหาจุนทะ และพระขทิรวนิยเรวตะ ต่างเป็นพี่น้องกันดังกล่าวมาแล้ว และมีความเป็นอยู่สุขสบาย เนื่องจากเป็นลูกของนายบ้าน พระอุปเสนะนับว่ามีชื่อเสียงกว่าใครในบรรดา ๓ พี่น้อง เนื่องจากศึกษาจบไตรเพท พระมหาจุนทะไม่มีเรื่องราวชีวิตฆราวาสของท่านให้ได้ศึกษา แต่พระขทิรวนิยเรวตะมีกล่าวไว้ว่า ท่านถูกบิดามารดาขอร้องให้แต่งงานตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ เนื่องจากท่านเป็นลูกชายคนเล็กของครอบครัว บิดามารดาเกรงว่าจะท่านจะออกบวชตามพี่ชาย คือพระสารีบุตร พระอุปเสนะ พระมหาจุนทะ อันจะเป็นเหตุให้ตระกูลขาดผู้สืบต่อ จึงได้จัดการแต่งงานให้ท่านกับเด็กหญิงวัยเดียวกัน ด้วยหวังจะใช้ชีวิตคู่เป็นเครื่องผูกมัด

พระมหาปันถก และพระจูฬปันถก แม้ตอนแรกจะลำบากเนื่องจากบิดามารดามีฐานะยากจน แต่ต่อมาได้ถูกส่งมาอยู่กับเศรษฐีราชคหะผู้เป็นตา จึงสุขสบายขึ้น เศรษฐีแม้จะรังเกียจมารดาของท่านที่ได้คนวรรณะศูทรเป็นสามี แต่ก็รักหลานทั้ง ๒ มาก เกือบทุกครั้งที่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวันก็มักจะพาหลานไปด้วยเสมอ อย่างไรก็ตามเมื่อเจริญวัยขึ้นสองพี่น้องโดยเฉพาะมหาปันถกรู้สึกไม่สบายใจที่ได้ยินใครต่อใครเรียกว่า ‘ลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่’

พระสภิยะ เจริญเติบโตอยู่กับมารดา ซึ่งบวชเป็นปริพาชิกา จนเมื่อถึงวันอันสมควรจึงได้บวชเป็นปริพาชก ใน ‘ปรมัตถทีปนี’ ว่า มารดาของท่านเป็นราชธิดา ออกบวชเป็นปริพาชิกา เพราะต้องการศึกษาลัทธิอื่นๆ นางได้เสียกับปริพาชกคนหนึ่งและตั้งท้อง ปริพาชกทั้งหลายรังเกียจจึงไล่นางออกจากสำนัก นางเร่ร่อนไปเรื่อยจนมาถึงสภา (ที่ประชุม) แห่งหนึ่งในกลางทางแล้วคลอดลูก ชายที่สภา ซึ่งเป็นเหตุให้ลูกชายได้ชื่อว่า ‘สภิยะ’ (ผู้เกิดในสภา) ในเวลาต่อมา

การออกบวช

พระมหากัสสปะ หลังจากตกลงใจออกบวชด้วยกันแล้ว ท่านกับภัททา กาปิลานีก็ให้คนไปซื้อผ้ากาสาวพัสตร์ และบาตรดินมาจากตลาด ครั้นต่างฝ่ายต่างปลงผมให้กันและกัน อาบน้ำเรียบร้อยแล้วก็ครองผ้ากาสาวพัสตร์ สะพายบาตร เดินลงจากปราสาทไปอย่างไม่มีห่วงกังวล พวกบริวาร อาทิ ทาสและกรรมกรเห็นแล้วจำได้ จึงเข้าไปอ้อนวอนให้ทั้งสองเลิกล้มความตั้งใจออกบวช แต่ก็ไร้ผล เพราะว่าทั้งสองได้ตัดสินใจเด็ดขาดแล้ว อย่างไรก็ตามทั้งสอง ก็ได้ให้อิสรภาพแก่ทาสกรรมกร โดยบอกให้ทุกคนเป็นไทแก่ตนเองตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งทำให้พวกเขาปลาบปลื้มใจมาก จากนั้นก็ได้เดินทางต่อไปจนถึงทาง ๒ แพร่ง ซึ่งแยกไปทางซ้ายกับทางขวา

“ข้าแต่ท่าน” ภัททา กาปิลานี เอ่ยขึ้น “ท่านเป็นชายควรแก่ทางข้างขวา ส่วนดิฉันเป็นหญิงควรแก่ทางข้างซ้าย”

ว่าแล้ว นางก็เดินประทักษิณ (เดินเวียนขวา) เพื่อแสดงความเคารพสามี ๓ รอบ แล้วก้มลงกราบตรงเบื้องหน้า เบื้องหลัง เบื้องซ้าย และเบื้องขวา ก่อนที่ทั้งสองจะจากกันไป

คัมภีร์บันทึกไว้ว่า ขณะที่ทั้งสองแยกทางกันเดินนั้น เกิดมีเหตุการณ์อัศจรรย์ คือแผ่นดินไหว ยอดภูเขาพระสุเมรุเอนเอียง ในอากาศมีแสงฟ้าแลบแปลบปลาบ ฉวัดเฉวียนอยู่ไปมา


มีต่อ >>> ตอนที่ ๒๐
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง