Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ย้อนอดีตชีวิตภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ “พระสุรยุทฺโธ” อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 22 พ.ย.2006, 12:08 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ย้อนอดีตชีวิตภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์
ของนายกฯ คนที่ 24 “พระสุรยุทฺโธ”


เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตองคมนตรี, อดีตผู้บัญชาการทหารบก และอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 24 ของประเทศไทย

หลังพิธีรับสนองพระบรมราชโองการ พล.อ.สุรยุทธ์ ได้ตอบคำถามของนักข่าวที่ถามว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีแบบไหนของประเทศไทย ว่า

“ผมจะยืนอยู่บนระบบของคุณธรรม สร้างความเป็นธรรมในระบบการบริหารเป็นหลัก ซึ่งระบบคุณธรรมนี้หมายความว่า เราจะดูในเรื่องของความสามารถประสิทธิภาพความซื่อตรง เป็นหลักที่สำคัญ”

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่นั้น พล.อ.สุรยุทธ กล่าวว่า จะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานไว้ และคงไม่ได้มุ่งในเรื่องของตัวจีดีพีมากนัก แต่จะดูตัวที่วัดความผาสุกของพี่น้องประชาชนมากกว่า

ย้อนอดีตไปเมื่อ 2 ปีก่อนของพล.อ.สุรยุทธ์ ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 30 ก.ย. พ.ศ. 2546 หลังจากเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยหลังจากปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งองคมตรีได้เกือบปี พล.อ.สุรยุทธ์ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดป่าดานวิเวก บ้านแสงอรุณ ต.ศรีชมภู อ.โซ่พิสัย จ.หนองคาย เป็นเวลา 3 เดือน ตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่รับราชการแล้วว่า จะขอบวชสักครั้งในชีวิตเพื่อทดแทนคุณให้กับบิดามารดา


Image
หลวงปู่ทองพูล สิริกาโม


โดยพล.อ.สุรยุทธ์ ได้เดินทางมาปฎิบัติธรรมและท่องบทสวดมนต์ ที่วัดป่าดานวิเวก ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 และได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 โดยมี หลวงปู่ทองพูล สิริกาโม เจ้าอาวาสวัดป่าภูกระแต (วัดสามัคคีอุปถัมภ์) ต.วิศิษฐ์ อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายา ‘สุรยุทฺโธ’ ซึ่งแปลว่า ‘ผู้อาจหาญในการรบ’

การเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ครั้งนั้นของพล.อ.สุรยุทธ์ เป็นไปอย่างเงียบๆ และเรียบง่าย โดยมีเพียง พ.อ.คุณหญิงจิตรวดี จุลานนท์ ภริยา และน้องสาว น้องชาย เข้าร่วมในพิธี พร้อมทหารประมาณ 10 นายเท่านั้น

สำหรับวัดป่าดานวิเวกนั้น ตั้งอยู่ในเขตป่าดงดิบศรีชมภู สภาพโดยรอบของวัดมีรั้วรอบขอบชิด ภายในปลูกต้นไม้ร่มรื่น ภายนอกล้อมรอบด้วยสวนยางและไร่นาของชาวบ้าน สำหรับสภาพแวดล้อมในวัดนั้นไม่มีไฟฟ้าและสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ทั้งสิ้น จะมีสิ่งก่อสร้างก็คือพระธาตุมงคลแปดทิศ ซึ่งภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน 22,687 องค์ อัฐิธาตุพระสาวกอรหันต์ รวมทั้งหนังสือธรรมะ


Image
พระอาจารย์ปรีดา ฉันทกโร


ส่วน “พระอาจารย์ปรีดา ฉันทกโร” หรือ “หลวงปู่ทุย” เจ้าอาวาสวัดป่าดานวิเวก นั้นเป็นพระวิปัสสนาฝ่ายธรรมยุตสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และเป็นศิษย์รุ่นน้องของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี และถือปฏิบัติธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกับพระบูรพาจารย์

เมื่อพล.อ.สุรยุทธ์ ได้ครองสมณเพศแล้ว ก็ได้ศึกษาฝึกหัดปฏิบัติธรรม และปฏิบัติศาสนกิจมิได้ขาด เช่น การออกบิณฑบาต การปฏิบัติธรรมทำสมาธิ เดินจงกรม หรือแม้กระทั่งการกวาดลานวัดทุกเช้า เป็นต้น จวบจนกระทั่งครบ 1 พรรษา ก็ได้ลาสิกขาจากเพศบรรพชิต เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2547


มีต่อ >>>>>
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 22 พ.ย.2006, 12:21 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
ภาพสีน้ำมันพระสุรยุทฺโธ


หลังจากเพิ่งลาสิกขาได้ไม่นาน พล.อ.สุรยุทธ์ ก็เปิดบ้านพักซอยพิบูลย์พัฒนา ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนถึงการเป็นพระป่าที่เคร่งครัด ยึดหลักการศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างสงบ พร้อมด้วยมุมมองเกี่ยวกับธรรมะ สังคม ธรรมชาติ ครอบครัว ดังนี้

• ทราบว่าการอ่านหนังสือประทีปแห่งทวีป เอเซีย [ประพันธ์โดย เซอร์เอ็ดวิน อาร์โนลด์ ภาษาไทยแปลโดย พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)] เป็นแรงบันดาลใจให้ท่านมุ่งหาพระสัทธรรม

จริงๆ อย่างที่เคยบอกว่าเรามีทุกข์ ก็คิดวนเวียนอยู่อย่างนั้น ถ้าเราจะแก้ไขปัญหา หรือแก้ไขความคิดของเราอย่างไร บังเอิญไปเจอหนังสือเล่มนี้ สิ่งที่อ่านพบในหนังสือเล่มนี้ คือธรรมะประการหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรง สอนไว้ว่า เมื่อเราพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ไม่พอใจ ก็เป็นทุกข์ และเราปรารถนาสิ่งใด แล้วไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์หมดอย่างนี้ ก็มามองย้อนกลับไปว่า แน่นอนเราก็ผิดหวัง เราก็ประสบกับสิ่งที่เราไม่พึงปรารถนาในตอนนั้น เราก็ทำใจเสียได้ และบอกตัวเองว่ามันคงเป็นกรรมของเรามั้ง

ศาสนาพุทธสอนในเรื่องของหลักแห่งกรรมอยู่แล้ว มันอาจจะเป็นกรรมที่เราได้ทำมาก่อน สิ่งที่เราต้องแก้ไขคือทำในวันนี้ให้ดีที่สุด ทำในสิ่งปัจจุบันให้ดีที่สุด เรื่องที่ผ่านมาแล้ว เรารับได้ เป็นสิ่งที่ผ่านมา หาทางแก้ไขในปัจจุบันและมองภาพในอนาคต หรือตั้งความหวัง ตั้งเป้าหมาย ซึ่งเป็นเป้าที่ดีไว้ในอนาคต แล้วเราก็มุ่งไปสู่จุดนั้น นั่นก็เป็นสิ่งที่ถือได้ว่าได้อ่านจากหนังสือทวีปแห่งเอเซีย ก็นำมาคิดว่าผลที่มันเกิดขึ้นกับเราเกิด จากสาเหตุอะไร แล้วก็หาวิธีที่จะแก้ไขจากตรงนั้น ด้วยการมองภาพปัจจุบัน และมองเป้าในทางที่ดีในอนาคตไว้

มันก็จะทำให้การทำงานต่างๆ เราก็มีกำลังใจขึ้น มีความเชื่อมั่นขึ้นว่าอย่างน้อยๆ เราก็พยายามทำดีนะ เราพยายามที่จะไม่ทำสิ่งซึ่งจะเป็นบาป หรือเป็นกรรม ซึ่งจะส่งให้เราไปในทางที่ไม่ดีต่อไปอีก นั่นเป็นหลักทางศาสนาพุทธว่าถ้าเราทำในสิ่งที่ดีงาม ผลตอบแทนก็น่าจะดีงาม แต่สิ่งที่เราทำไปแล้วผลตอบแทนอาจไม่เท่ากัน หรืออาจจะมากกว่า หรืออาจจะน้อยกว่า ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะการลงทุนผลตอบแทนก็ไม่แน่นอนเสมอไปว่า ลงไปร้อย จะต้องได้ร้อย เป็นเรื่องธรรมดา ต้องเข้าใจ ถ้าเราทำกรรมดีแล้ว ผลจะต้องออกมาทางที่ดี จะมากน้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


• ทำไมตัดสินใจมาบวชที่วัดนี้

ที่ตัดสินใจบวชตรงนี้ เพราะ

1. ตั้งใจจะหาที่ที่จะศึกษาได้ และปฏิบัติได้ ก็ดูที่ความพร้อมที่ว่าจะเป็นที่ ไหนบ้าง สภาพก็คงไม่อยู่ใกล้ชุมชนเท่าไหร่นัก มีโอกาส แสวงหาความสงบได้ง่าย

2. มีความปลอดภัยพอเพียง ไม่มีปัญหาให้ห่วงเรื่องชีวิตและทรัพย์สิน ไม่มีผู้ที่จะมาสร้างปัญหาให้เราได้

3. ในส่วนของผู้ที่จะให้คำแนะนำ ก็คือพระอาจารย์ ถ้าเราได้สถานที่เรียน แต่ไม่มีอาจารย์ที่จะแนะนำได้ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร

4. เป็นเรื่องของจำนวนผู้คน จำนวนพระในวัดก็เป็นปัจจัยอันหนึ่ง ถ้ามีพระมากก็คงพลุกพล่าน ความจริงไปดูหลายแห่ง ตอนรับราชการอยู่อีสานมา 3 ปีก็พอจะทราบว่าที่ไหน มีอะไรบ้าง พอดีมีนายทหารรุ่นน้อง ซึ่งเขาก็ชอบในทาง นี้อยู่แล้ว แต่ไม่ขอเอ่ยชื่อ เขาก็บอกว่ามีวัดอะไรบ้าง ก็ ไปดูในช่วงต้นปี แล้วก็มาเห็นที่วัดนี้ ทั้งในเรื่องของสภาพแวดล้อมทั่วไป จำนวนพระ และก็ได้ไปคุยกับหลวงพ่อ คิดว่าน่าจะเป็นจุดที่ดีที่สุด


• วัตรปฏิบัติเป็นอย่างไร

เป็นเรื่องธรรมดาของพระป่า คือ เช้า บิณฑบาต เสร็จแล้วก็กลับมาฉัน แล้วก็กลับไปกุฏิ เดินจงกรม ซึ่งการเดินจงกรมทำให้อาหารที่ทานไปย่อย ทำให้การ เคี้ยวอาหารดีขึ้น หลังจากการเดินจงกรมเสร็จแล้วก็มี เรื่องที่ต้องทำคือการซักอังสะบ้างอะไรบ้าง เอาผ้าไปตาก ช่วงบ่ายของพระป่า คือการฉันน้ำร้อน ซึ่งเป็นน้ำผลไม้ เขาจะเรียกว่าน้ำร้อน แต่ไม่ใช่น้ำร้อนก็ได้ เหมือนที่เรียกกันว่าน้ำปานะ เช่น น้ำมะนาว น้ำส้ม น้ำมะตูม น้ำว่านหางจระเข้ สมอ ลูกมะกอก ทำให้ระบบการย่อย อาหารดีขึ้น สำหรับการบิณฑบาต เดินไปกลับประมาณ 5 กิโลเมตร การใช้ชีวิตบวชที่นี่เป็นการหาที่สงัด วิเวก เพื่อหาความสงบในการปฏิบัติธรรม

กุฏิแต่ละรูปเป็นการส่วนตัว จะไปคุยกุฏิโน้นกุฏินี้ไม่ได้ ความจริงเจ้าอาวาสไม่ได้ดุ แต่เป็นหลักของท่าน ว่าคนที่มาบวช มาหาความสงบ ไม่ได้มาหาเพื่อน นั่นคือระเบียบของพระวัดป่า บิณฑบาตต่างคนก็แยกย้ายกันไป แล้วก็กลับมารวมกันตอนฉันน้ำชา การทำความสะอาดพูดคุยกันไม่ได้ เพราะทุกคนต้องใช้สติที่ต้องทำงาน

เวลาพูดคุยคือตอนฉันน้ำชา จะไปพูดจาเอะอะโวยวายไม่ได้ ต้องพูดคุยกันเงียบๆ ด้วยความสงบ ท่านไม่ได้ดุอะไร ท่านมองว่าผมสามารถปฏิบัติได้ค่อนข้างดี มีอยู่อย่างหนึ่งที่ขอท่านในตอนแรก ที่ในวัดเป็นก้อนหินมีเหลี่ยมคม ก็ขอท่านสวมรองเท้ายาง แต่ออกไปนอกวัดบิณฑบาตก็ต้องถอด ท่านก็แนะนำเราแค่นั้น การปฏิบัติก็เป็นเรื่องของเรา บอกว่าเราทำได้ค่อนข้างดีที่เป็นรูปธรรม

พระที่วัดส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 30-50 ปี อายุ 60 ปีไม่ค่อยมี มีแต่เจ้าอาวาส ชาวบ้านที่นั่นจะให้ความสนใจในเรื่องศาสนา เพราะความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับบ้านเป็นส่วนที่ดีงาม หลวงพ่อก็แนะนำชาวบ้านว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร แนะนำในเรื่องการประกอบอาชีพ แนะนำในเรื่องของการรักษาความสะอาด ให้ทุนการศึกษาช่วยโรงเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับบ้านแน่นแฟ้น


• ปรับตัวนานหรือไม่

ผมเข้าไปเตรียมตัวเมื่อวันที่ 16 ก.ค. พ.ศ. 2547 และก็บวชอาทิตย์ที่ 27 ก.ค. มีระยะเวลาในการปรับตัวในช่วงต้น 10 กว่าวัน ในเรื่องของการอดอาหาร หรือลดอาหาร ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ลำบากอะไร เพราะว่ามื้อเย็นผมทานน้อยอยู่แล้ว ก็คงแค่ลดไป 1 มื้อ สิ่งที่แก้ไขได้คือการเปลี่ยนจากการทานข้าวสวย เป็นข้าวเหนียว เมื่อทานข้าวเหนียวทำให้อยู่ท้องมากกว่า ตัวผมเองเมื่อทานข้าวมื้อเดียว ในช่วงปรับตัว 10 วันนั้นก็ทานข้าวมื้อเดียว พูดง่ายๆ คือทานข้าวก้นบาตรที่เหลือจากพระ ก็เอามาทาน ก็ไม่ได้มีความรู้สึกว่าหิวโหยอะไร ทานข้าวเหนียวก็อยู่ได้อยู่แล้ว อาจารย์ท่านก็แปลกใจว่า ปกติผู้ที่เปลี่ยนหรือปรับในเรื่องทานอาหารในช่วง 20 วัน จะเกิดความรู้สึกที่อดทนไม่ไหว แต่ผมเองไม่มี แต่น้ำหนักก็ลดลงไป 7 กิโลกรัม


• แนวทางของพระป่าสายหลวงปูมั่น เป็นอย่างไร

การสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านในเรื่องของพุทธศาสนา และทั้งเรื่องของการปฏิบัติทั่วไปของพี่น้อง ประชาชน เพราะมันมีวัฒนธรรม ประเพณี ที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นเวลานาน แนวของพระป่าคือพิธีการที่เรียบ ง่าย ไม่มีพิธีรีตอง ตัดสิ่งที่ฟุ่มเฟือยต่างๆ ลงไป นั่นจะเป็นจุดที่ทำให้ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใส แต่เดิมต้องใช้ค่าใช้จ่ายมาก จะบวชทีก็ต้องแห่นาค มีเลี้ยงโน่นเลี้ยงนี่ แต่นี่ไม่จำเป็น


• หลังจากไปปฏิบัติธรรมแล้วได้อะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของสมาธิ

เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ในส่วนของผมเองถือได้ว่าสามารถสงบใจตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ก็คงคิดว่าได้สักชั้นประถม และน้องๆ ทหารที่มาก็ไม่ได้นำเรื่องภายนอกมาทำให้เราเกิดความวอกแวก การนั่งสมาธิก็ทำให้เราสงบใจได้ ทำให้เราไม่คิดเรื่องอื่นเลย เพ่งอยู่ในสิ่งที่ทำ ในเรื่องของการทำสมาธิเบื้องต้น ใช้พุทโธเป็นการบริกรรม ผมเองก็พยายามหาความสงบให้ตัวเอง ชีวิตก็ผ่านมาเยอะแล้ว ตัวเองก็ไม่ได้เกิดความกลัว เรื่องความกลัวก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่เราระงับได้ค่อนข้างง่าย


• มีโอกาสได้ไปเทศนาธรรมกับชาวบ้านหรือไม่

ไม่ได้เทศน์ แต่ไปพูดให้นักเรียนที่โรงเรียนดงสีชมพู ที่เขาสอนถึง ม.6 เราก็ไปพูดให้เขาฟังว่า ในเรื่องของการศึกษาต้องมีความรู้และมีทั้งคุณธรรม และให้เขาตั้งหน้าตั้งตาที่จะเรียนในโรงเรียนให้ดี ตั้งความหวังว่าอยากเป็นอะไรก็ต้องทุ่มเท ทั้งความสนใจและความพยายามไปสู่จุดนั้น ถ้าเราไม่พยายามความสำเร็จก็คงไม่เกิดขึ้น ก็ยกตัวอย่างชีวิตเราที่ผ่านมา ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราประสบความสำเร็จ เราก็ไม่มีอะไรแตกต่างจากเด็กที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฐานะ เรื่องของเศรษฐกิจ เป็นลูกชาวบ้านเหมือนกัน แต่ว่าที่ขึ้นมายืนตรงนี้ได้เพราะว่าเราตั้งหน้าตั้งตาจะทำอะไรบ้าง


• กับภริยาและครอบครัว หลังจากไปบวชมาแล้วจะทำให้ทัศนคติในการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปหรือไม่

มันเป็นเรื่องของการที่เราไปศึกษาธรรมะและปฏิบัติ สิ่งที่ออกมาก็คงจะทำให้ชีวิตส่วนตัวและครอบครัวดีขึ้น มีเหตุมีผลมากขึ้น ตัวเราเองก็คงต้องใช้เหตุผลให้มากขึ้น ใช้ความรอบคอบมากขึ้น ก็จะพยายามสอนลูกๆ ว่าศีล 5 ให้เขายึดไว้ เขาถามผมว่าถ้าเขาพูดปดแล้วทำให้เกิด ความเสียหายขึ้นมา และพูดความจริงแล้วทำให้เกิดความเสียหายขึ้นมาจะทำอย่างไร ผมก็บอกว่าการพูด อะไรต่างๆ มันต้องดูโอกาสด้วย ในบางครั้งความจริง ก็ทำให้เกิดความเสียหายได้ ถ้าพูดผิดโอกาส เราต้องดูว่าเราจะพูดอะไร ไม่ใช่เขาถามอะไรมาแล้วบอกว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ บางอย่างเราก็บอกว่า ตรงนี้เรายังตอบไม่ได้ โอกาสยังไม่บอกว่าจะตอบ

พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่าจะพูดอะไรต้องเป็นประโยชน์ แม้ความจริงก็ตาม ถ้าไม่ถูกโอกาสก็ไม่เป็นประโยชน์ ก็อย่าไปพูด ท่านสอนไว้ตั้งแต่ 2500 ปี ถ้าดูในพระไตรปิฎกจะเห็นชัดเจน ท่านเรียกว่า อภัยราชกุมารสูตร อยู่ในสุตตันตปิฎก ในนั้นตั้งคำถามเหมือน ที่ลูกผมถามเลย นี่มาอ่านทีหลัง ที่เราได้ตอบลูกไปแล้ว อภัยราชกุมาร ถามพระพุทธเจ้าว่าถ้าเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างไร ท่านก็ตรัสทุกอย่างมีเหตุมีผลหมด พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนที่พูดปดก็เกิดความไม่แน่ใจว่าเขาจะไม่ทำ บาปอย่างอื่น แค่พูดก็ยังทำได้แล้วในส่วนที่มันแย่กว่านั้นเขาก็จะทำได้ ถ้าไม่พูดปด อย่างน้อยก็มีความ สบายใจในตัวของเราเองว่าเรามีสัจจะ เราพูดความจริง และเกิดความเชื่อถือต่อคนรอบข้างว่าคนนี้ใช้ได้ ถ้าเขาพูดอะไรออกมาไม่ได้เป็นการพูดอะไรที่เพ้อเจ้อ มดเท็จก็เป็นเครดิตของเราเอง


• ตอนนี้อ่านพระไตรปิฎกไปกี่เล่ม

ตอนนี้ยังไม่ครบ พระไตรปิฎกทั้งหมด 45 เล่ม เป็นเรื่องเกี่ยวกับวินัย 8 เล่ม เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาธรรมเรื่องต่างๆ เล่มที่ 9-33 ที่เหลือเป็นเรื่องของธรรมะแท้ๆ จะเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาลึกซึ้ง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดที่เกี่ยวกับว่าความรู้สึกของคน มันเกิดขึ้นมาอย่างไร ท่านจะทรงมองสองด้าน มองจากทางด้านนี้ไป มองจากทางด้านโน้นกลับมา ถือเป็นวิธีการที่ท่านทรงสอน

ในส่วนของสุตตันตปิฎกอ่านจบเล่มที่ 30 กว่า อันนี้เป็นฉบับย่อ ซึ่งศึกษาช่วง 3 เดือนที่ไปบวช หลังจากที่เดินจงกรมแล้ว พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ที่ท่านเทศนามานี่เหมือนกับสวนดอกไม้ ก็ขึ้น อยู่กับว่าแต่ละคนจะเลือกเก็บดอกไม้ไปประดับแจกันให้เกิดความสวยงาม แต่จะเอาไปทั้งสวนคงไม่ได้ ดังนั้นจึงอยู่ที่เราว่าจะเลือกธรรมะที่เราชอบใจไปใช้พิจารณา นำไปศึกษาให้ลึกซึ้ง และไปอ่านในส่วนหลังที่เรียกว่า อภิธรรมปิฎก เป็นรายละเอียดเจาะไปเรื่อยๆ


• จะกลับไปบวชอีกหรือไม่ เพราะเคยมีข่าวว่า อยากบวชไปตลอดชีวิต

ที่ตอบได้ คือ คนอายุมากก็เป็นปัจจัยอันหนึ่งในเรื่องการบวช สังขารก็มีความสำคัญเหมือนกัน ถ้าจะบวชพระก็จะต้องนั่งบนส้นเท้าเป็นเวลานานๆ ถ้าคนแก่ก็จะทนไม่ไหว นั่งพับเพียบเป็นเวลานานๆ นั่งทำสมาธิเป็นเวลานานๆ อย่างนี้เป็นต้น พออายุมากๆ เข้า เพียงแต่พูดว่าบวชก็ดูง่าย แต่การปฏิบัติต่างๆ จะทำได้หรือไม่เป็นเรื่องสำคัญ


• ในฐานะที่ท่านเป็นนายทหารที่มีชีวิตสมถะเรียบง่าย รักธรรมชาติ ทำให้ต้องสวมหมวก ในฐานะประธานมูลนิธิอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ท่านมองวิกฤตทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร

คงเป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจกัน พื้นที่ที่ผมไปบวชเคยเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านปลูกมันสำปะหลัง และก็มาปลูกอ้อย หลวงพ่อก็ไปแนะนำให้ชาวบ้านปลูกยางพารา ทีแรกชาวบ้านก็ปลูกแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ปล่อยให้ไฟไหม้บ้าง อะไรบ้าง ปัจจุบันนี้ก็เป็นรายได้หลักของชาวบ้าน ชาวบ้านก็มาทำสวนยาง ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น เขาไม่ต้องทิ้งถิ่นไปทำมาหากินที่อื่น พอเกี่ยวข้าวเสร็จก็อยู่บ้านทำสวนยาง อยู่ที่การทำความเข้าใจว่าจะทำอย่างไรให้ผู้คนตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นอย่างไร เมื่อเป็นสวนยาง ดินดีขึ้นน้ำดีขึ้น ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และก็ฝนมากขึ้น เห็นได้ชัดว่าสภาพป่าที่มันร่มรื่นสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา

สิ่งนี้เห็นได้ชัดเจนว่าเราจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องทำ มาหากิน เรื่องเกษตรกรรมที่มีผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ สภาพความชื้นในอากาศ เป็นเรื่องที่เราเห็นได้ชัดเจน ถ้าเข้าใจและนำสิ่งเหล่านี้ไปถ่าย ทอดให้ผู้คนทราบ เราก็คงจะปกป้องสิ่งที่เป็นทรัพยากร ที่สำคัญของเราได้ ถ้าไม่มีป่า ความชื้นก็คงน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นความชื้นในอากาศ ความชื้นที่ผิวดิน ความชื้นในดินก็ต้องหมดไป เพราะถูกแดดก็ไปหมด


• ฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ที่เป็นเยาวชน ในการหันมาศึกษาธรรมะ

อยู่ที่ระบบการศึกษาว่าเราเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ สัมผัสในเรื่องที่ถือว่าเป็นคุณธรรมมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่เรื่องศาสนา แต่เป็นเรื่องของคุณธรรม เพราะความรู้ที่เราเรียนในเรื่องทั่วไป ถือเป็นความรู้ในทางโลก เมื่อมีความรู้ก็ต้องมีคุณธรรมประกอบด้วย เพราะถ้าไม่มีคุณธรรมประกอบในเรื่องจิตใจ ก็จะใช้ความรู้ในทางที่ผิดใช้ในทางที่ทำให้เกิดผลเสียแก่ตัวเองได้ เพราะทุกอย่างมีทั้งผลดีและผลเสีย ทุกอย่างมีสิ่งที่เป็นบวกและลบ อย่างโทรศัพท์มือถือ (ชี้มาทางโทรศัพท์มือถือของนักข่าวที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ) ก็มีทั้งบวกและลบ ไม่มีอะไรที่ดี 100 % ไม่มีเสียเลยนั้น ไม่มี


Image
เข้าเฝ้าสักการะและถวายพระพรสมเด็จพระญาณสังวรฯ


แม้จะสึกหาลาเพศมาแล้ว แต่พล.อ.สุรยุทธ์ ก็ยังไม่เคยลืมพระอาจารย์ปรีดา เจ้าอาวาสวัดป่าดานวิเวก ผู้เคยอบรมบ่มเพาะธรรมให้ตนเองมาตลอด 1 พรรษา โดยหลังจากมีข่าวว่าจะได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 24 พล.อ.สุรยุทธ์ พร้อมนายทหารคนสนิท ได้เดินทางไปที่วัดป่าดานวิเวก เพื่อกราบและสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ปรีดา

และหลังจากได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 แล้ว ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 2 ตุลาคม พล.อ.สุรยุทธ์ พร้อมภรรยา ได้เดินทางไปที่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อเข้าเฝ้าสักการะและถวายพระพรสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในโอกาสคล้ายวันประสูติ ก่อนที่จะเดินทางไปทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นวันแรก ซึ่งเป็นการเริ่มต้นบททดสอบใหม่ในชีวิตที่ พล.อ.สุรยุทธ์ ต้องฝ่าฟันให้ได้อีกครั้ง



................................................................

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 พฤศจิกายน 2549 14:13 น.
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ฌาณ
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 23 ก.ค. 2008
ตอบ: 1145
ที่อยู่ (จังหวัด): หิมพานต์

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ย. 2008, 8:04 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 

_________________
ผมจะพยายามให้ได้ดาวครบ 10 ดวงครับ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง