Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ปราการต้านภัยบริโภคนิยม (พระไพศาล วิสาโล) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 พ.ย.2006, 10:32 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ปราการต้านภัยบริโภคนิยม
โดย พระไพศาล วิสาโล


ลัทธิบริโภคนิยมให้สัญญาแก่เราว่ายิ่งมีสิ่งเสพสิ่งบริโภคมากเท่าไร ชีวิตจะมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น แต่หลายคนพบว่าแม้ชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีความสุขมากขึ้นเลย ตรงกันข้ามกลับมีความทุกข์เท่าเดิมหรือยิ่งกว่าเดิม ที่น่าสนใจก็คือทั้งๆ ที่เป็นเช่นนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังหลงใหลในบริโภคนิยมอยู่นั่นเอง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?

กล่าวอย่างสั้นๆ ก็คือ มนุษย์นั้นมีสัญชาตญาณที่ปรารถนาความสุข หากเราไม่สามารถได้รับความสุขจากภายใน ก็ย่อมโหยหาความสุขจากภายนอก วัตถุหรือกามดึงดูดใจผู้คนได้ก็เพราะเหตุนี้ คนจำนวนไม่น้อยเข้าหายาเสพติดก็เพราะเหตุผลเดียวกัน แต่หากเราสามารถเข้าถึงความสุขภายใน วัตถุหรือกามก็จะมีเสน่ห์น้อยลง

ความสุขภายในนั้นเกิดขึ้นได้เมื่อใจสงบ ปราศจากความเร่าร้อน วิตกกังวล หรือแรงกระตุ้นจากตัณหา ความรู้จักพอ รู้จักประมาณ หรือยินดีในสิ่งที่ตนมีตนเป็น ที่เรียกว่าสันโดษนั้น เป็นธรรมช่วยน้อมใจให้สงบได้ในเบื้องต้น ความสงบที่ยิ่งกว่านั้นเกิดขึ้นได้ก็เพราะอำนาจของสมาธิ สมาธิภาวนาจึงมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยให้จิตมีภูมิคุ้มกันต่อบริโภคนิยม อย่างไรก็ตาม สมาธิภาวนามิได้หมายถึงการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ปิดใจไม่รับรู้สิ่งอื่น หากยังหมายถึงการทำให้สติมั่นคงงอกงาม สติช่วยรักษาใจให้เป็นปกติ ไม่กระเพื่อมหรือหวั่นไหวเมื่อถูกกระตุ้นเร้า เมื่อเกิดความสบายหรือไม่สบาย ก็ตระหนักรู้ ไม่หลงเพลินจนมัวเมาหรือเผลอใจจนเป็นทุกข์

บริโภคนิยมประสบความสำเร็จได้ก็เพราะสามารถกระตุ้นให้ผู้คนเกิดความอยาก (วัตถุ) ควบคู่กับความไม่พอใจ (ตัวเอง) เครื่องมือสำคัญในการนี้ก็คือโฆษณา โฆษณาในปัจจุบันพยายามทำให้คน "คิด" น้อยที่สุด แต่ให้ "รู้สึก" มากที่สุด เพราะความรู้สึกมีผลต่อการตัดสินใจในการซื้อและเสพสิ่งต่างๆ มากกว่าความคิดด้วยซ้ำ ดังนั้น โฆษณาในปัจจุบันจึงพุ่งเป้าไปที่อารมณ์ความรู้สึกของผู้คน โดยใช้ภาพเป็นอุปกรณ์สำคัญ เพราะภาพมีอิทธิพลอย่างมากต่อจิตใจของคน ชนิดที่อาจส่งผลไปถึงจิตไร้สำนึก (โฆษณาในปัจจุบันจึงเน้นภาพมากกว่าตัวหนังสือ) ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ผู้คนเกิดความอยากซื้อสินค้าโดยไม่ต้องคิดหรือโดยไม่รู้ตัว กล่าวอีกนัยหนึ่งคือทำให้ผู้คนใช้ปัญญาหรือมีสติให้น้อยที่สุด

สติจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยรักษาใจไม่ให้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของโฆษณาและบริโภคนิยม สตินอกจากจะช่วยกำกับใจไม่ให้หลงเพลินไปกับคำโฆษณา หรือไหลไปกับความรู้สึกดีๆ ที่ผูกติดกับผลิตภัณฑ์ หากยังช่วยให้ปัญญาหรือวิจารณญาณกลับคืนมา เพื่อเห็นอีกด้านหนึ่งของคำโฆษณา หรือเห็นความจริงของผลิตภัณฑ์อย่างรอบด้าน ว่ามีข้อจำกัดอย่างไร มีคุณดังว่าจริงหรือ และก่อให้เกิดภาระอย่างไรบ้างหากจะซื้อหามาบริโภค

สติยังมีบทบาทสำคัญในการเตือนใจให้มีความรู้จักประมาณในการบริโภค ไม่เพลินในรสอร่อยหรือความสบายจากสิ่งเสพ อีกทั้งยังช่วยรักษาใจให้มีความยินดีในสิ่งที่ตนมีหรือได้มา คนเราไม่ว่าจะได้เงินหรือวัตถุมามากเท่าไร ก็ยากที่จะพอใจหากเห็นคนอื่นได้มากกว่า ชาวบ้านได้รับแจกผ้าห่ม 1 ผืน ทีแรกก็ดีใจแต่กลับไม่พอใจทันทีที่รู้ว่าบ้านอื่นได้ 1 ผืน ในทำนองเดียวกัน พนักงานได้โบนัส 50,000 บาท ก็ดีใจได้ไม่นาน หากรู้ว่าเพื่อนได้ 1 แสนบาท การปล่อยใจให้ไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ย่อมทำให้ยากที่จะพอใจในสิ่งที่ตนมีหรือได้ ต่อเมื่อมีสติ รู้ทันจิตที่ชอบเปรียบเทียบ ไม่เผลอจดจ่อกับสิ่งที่คนอื่นมี ความพอใจในสิ่งที่ตนได้ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ยิ่งรู้จักมีมุทิตาจิตต่อผู้อื่นที่ได้มากกว่าเรา จิตใจก็จะอิจฉาหรือทุกข์น้อยลง

การรักษาใจให้ปกติ และฝึกฝนตนจนเข้าถึงความสุขจากภายในแล้ว เปรียบได้กับการสร้างภูมิคุ้มกันต่อบริโภคนิยม อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องรู้จักกำกับพฤติกรรมของตนให้เกี่ยวข้องกับวัตถุสิ่งเสพอย่างถูกต้องด้วย จึงจะเรียกได้ว่ามีปราการป้องกันภัยจากบริโภคนิยมได้อีกชั้นหนึ่ง

พฤติกรรมนั้นเป็นเรื่องของศีล เห็นได้จากศีลห้าซึ่งเป็นการควบคุมพฤติกรรมไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น ส่วนอีก 3 ข้อที่เพิ่มมาในศีลแปดเป็นการฝึกตนให้มีชีวิตที่เรียบง่าย บริโภคหรือใช้สอยเท่าที่จำเป็น มิใช่เพื่อปรนเปรอตนหรือเพื่อความเพลิดเพลินทางประสาททั้งห้า

อย่างไรก็ตาม การรักษาตนท่ามกลางกระแสบริโภคนิยม ลำพังศีลแปดย่อมไม่เพียงพอ และอาจไม่เหมาะกับคนทั่วไป จึงควรมีการคิดค้นศีลหรือข้อปฏิบัติที่เหมาะสมเฉพาะตน เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการบริโภค "ข้อมูล" โดยเฉพาะทางโทรทัศน์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันโทรทัศน์เป็นเสมือนหน้าต่างสู่โลกแห่งบริโภคนิยม นอกจากจะกระตุ้นให้เกิดความต้องการสิ่งเสพสิ่งบริโภคมากมาย ยังแย่งเวลาไปจากกิจกรรมที่มีสารประโยชน์ นับเป็นการสิ้นเปลืองเวลาอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กๆ ทุกวันนี้เฉลี่ยดูโทรทัศน์ถึงวันละ 5 ชั่วโมง

บางครอบครัวถึงกับปฏิเสธที่จะนำโทรทัศน์เข้าบ้าน ซึ่งมีผลดีเพิ่มขึ้นมาคือ คนในบ้านมีเวลาปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น แทนที่จะต่างคนต่างดูโทรทัศน์ (ซึ่งอาจมีกันคนละห้อง) และลูกมีเวลาทำการบ้านมากขึ้น หากจะมีโทรทัศน์ในบ้าน ก็ควรมีข้อกำหนดว่าจะดูรายการอะไรบ้าง วันละกี่ชั่วโมง ตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง นอกจากโทรทัศน์แล้ว เทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ ก็สามารถก่อพิษภัยแก่จิตใจได้ เช่น คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต เกมออนไลน์ โทรศัพท์มือถือ ก็ควรมีข้อกำหนดเช่นกันว่าจะใช้ทำอะไรบ้าง นานเท่าไร และใช้อย่างไร

ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจับจ่ายใช้สอย ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน ทุกวันนี้ผู้คนใช้เงินจับจ่ายและบริโภคโดยใช้ความรู้สึกเป็นหลัก ดังเห็นได้จากผู้ที่ไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า ส่วนใหญ่มิได้คิดมาก่อนว่าจะซื้ออะไรบ้าง แต่ก็ลงเอยด้วยการซื้อสิ่งต่างๆ มากมาย เพราะตามห้างมีวิธีการสารพัดที่กระตุ้นให้ผู้คนอยากได้อยากซื้อทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น การลด แลก แจก แถม รวมทั้งเพิ่มเติมกลิ่นให้เพลินใจ การมีข้อกำหนดบางอย่างย่อมช่วยให้ไม่เผลอใจซื้อสิ่งของที่ไม่ได้ต้องการมาก่อน เช่น จัดทำรายการของที่จะซื้อก่อนเข้าห้างทุกครั้ง และไม่ซื้อของที่ไม่ได้อยู่ในรายการดังกล่าว คนที่ชอบเข้าห้างควรมีข้อกำหนดให้ตัวเองว่าจะเข้าห้างได้ไม่เกินเดือนละกี่ครั้ง ส่วนคนที่มักห้ามใจไม่อยู่เวลาเข้าห้าง ควรมีวิธีป้องกันตัวเองเช่น ไม่พกเครดิตการ์ดเวลาไปเที่ยวห้าง หรือพกเงินไปไม่มาก รวมทั้งมีวินัยให้ตัวเองว่าจะไม่ยืมเงินใคร จะซื้อของเท่าที่มีเงิน เป็นต้น

ในพุทธศาสนามีศีลประเภทหนึ่ง เรียกว่าปัจจัยสันนิสิตศีล หรือการพิจารณาก่อนบริโภคปัจจัยสี่ว่าบริโภคตรงตามจุดมุ่งหมายของสิ่งนั้นหรือไม่ เช่น ก่อนบริโภคอาหาร ก็พิจารณาว่าพึงบริโภคเพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ได้ มีสุขภาพดีเพื่อประกอบกิจการงานต่างๆ ได้ มิใช่เพื่อความเอร็ดอร่อย หรือเพื่อความโก้เก๋ทันสมัย แต่ปัจจุบันเรามีสิ่งเสพสิ่งบริโภคมากมายนอกเหนือปัจจัยสี่ จึงควรนำศีลข้อนี้ไปใช้กับการบริโภคใช้สอยสิ่งอื่นด้วย เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ ดีวีดีอินเตอร์เน็ต กล่าวคือ พิจารณาก่อนใช้เพื่อเตือนตนให้ใช้ในทางที่เป็นคุณประโยชน์ มิใช่ก่อโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

ในทำนองเดียวกัน ก่อนจะซื้ออะไร ก็ควรพิจารณาก่อนว่าซื้อเพื่ออะไร เอาความถูกใจเป็นหลัก หรือคำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมด้วย ถ้าให้ดีควรถามต่อไปด้วยว่าเป็นสิ่งเราต้องการจริงๆ หรือไม่ จะมีโอกาสใช้มันได้มากน้อยเพียงใด ใช้ทนหรือไม่ มีอยู่กี่ชิ้นแล้วที่บ้าน และมีสิ่งอื่นที่จะใช้แทนได้หรือไม่ นอกจากประโยชน์แล้ว ก็ควรคำนึงถึงภาระหรือผลเสียที่จะตามมา เช่น จะต้องเสียเวลาและเงินทองในการดูแลรักษามากน้อยเพียงใด เมื่อใช้เสร็จแล้วหรือหมดอายุแล้ว จะทิ้งอย่างไร เป็นปัญหาแก่สิ่งแวดล้อมหรือไม่

การตั้งข้อกำหนดดังกล่าวจะช่วยให้เรามีสติและเกิดปัญญามากขึ้นในการบริโภคใช้สอยสิ่งต่างๆ ทำให้การบริโภคเป็นประโยชน์แก่เรา ไม่ตกเป็นเหยื่อของบริโภคนิยมได้ง่ายๆ



....................................................................

คัดลอกมาจาก
หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ มองอย่างพุทธ
วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10480
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 22 พ.ย.2006, 8:07 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุครับ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง