Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ๕. มโหสถชาดก : บำเพ็ญปัญญาบารมี อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.ย. 2006, 9:07 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

๕. มโหสถชาดก
บำเพ็ญปัญญาบารมี


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภ พระปัญญาบารมีของพระองค์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้

ความย่อว่า วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในธรรมสภา เมื่อจะสรรเสริญพระปัญญาบารมีของพระตถาคต ได้นั่งสรรเสริญพระคุณของพระศาสดาว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระตถาคตเป็นผู้มีพระปัญญาใหญ่ มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาร่าเริง มีพระปัญญาลึกซึ้ง มีพระปัญญาดุจแผ่นดิน มีพระปัญญาแหลม มีพระปัญญาว่องไว มีพระปัญญาแทงตลอด ย่ำยีเสียซึ่งวาทะแห่งคนอื่น ทรงทรมานเหล่าพราหมณ์ มีกูฏทันตพราหมณ์เป็นต้น เหล่าปริพาชกมีสัพภิยปริพาชกเป็นต้น เหล่ายักษ์มีอาฬวกยักษ์เป็นต้น เหล่าเทวดามีท้าวสักกเทวราชเป็นต้น เหล่าพรหมมีพกพรหมเป็นต้น และเหล่าโจรมีโจรองคุลิมาลเป็นต้น ด้วยพระปัญญานุภาพของพระองค์ ทรงทำให้สิ้นพยศ พระองค์ทรงทรมานชนเป็นอันมากประทานบรรพชาให้ตั้งอยู่ในมรรคผล พระศาสดามีพระปัญญาใหญ่ ด้วยประการฉะนี้

พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งสนทนาถึงเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในกาลนี้เท่านั้นที่ตถาคตมีปัญญา แม้ในอดีตกาล เมื่อญาณยังไม่แก่กล้า ยังบำเพ็ญบุรพจรยาเพื่อประโยชน์แก่พระโพธิญาณอยู่ ก็เป็นผู้มีปัญญาเหมือนกัน ตรัสฉะนี้แล้วทรงดุษณีภาพ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลวิงวอนให้ทรงประกาศบุรพจริยา จึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้



>>>>> มีต่อ หน้า ๒
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 14 ต.ค.2006, 9:25 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล มีพระราชาพระนามว่า วิเทหะ เสวยราชสมบัติในกรุงมิถิลา แคว้นวิเทหะ มีบัณฑิต ๔ คน ชื่อ เสนกะ, ปุกกุสะ, กามินทะ และเทวินทะ บัณฑิตเหล่านี้เป็นผู้ถวายอนุศาสนอรรถธรรมแด่ พระเจ้าวิเทหราช นั้น

ในวันพระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิ พระเจ้าวิเทหราชทรงพระสุบินว่า ที่มุมพระลานหลวงทั้ง ๔ มุม มีกองเพลิง ๔ กองประมาณเท่ากำแพงใหญ่ลุกโพลง ในท่ามกลางกองเพลิงทั้ง ๔ นั้น มีกองเพลิงเล็กกองหนึ่งขนาดประมาณเท่าหิ่งห้อย ลุกโพลงล่วงเลยกองเพลิงทั้ง ๔ ลุกสูงขึ้นไปจนจดประมาณอกนิฏฐพรหมโลก ส่องแสงสว่างไปทั่วจักรวาล สิ่งที่ตกบนพื้นแม้มีขนาดเล็กเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดก็สามารถมองเห็น ทั้งเทวดา ทั้งมาร ทั้งพรหมมาบูชากองไฟนั้น ด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น มหาชนเที่ยวอยู่ในระหว่างเปลวเพลิง ก็มิได้ร้อนแม้สักว่าขุมขน

พระราชาทรงเห็นพระสุบินนี้แล้วก็ทรงหวาดสะดุ้ง เสด็จลุกขึ้นประทับนั่ง ทรงจินตนาการอยู่จนอรุณขึ้นว่า เหตุการณ์อะไรหนอจะเกิดขึ้นแก่เรา รุ่งเช้าเมื่อบัณฑิตทั้ง ๔ มาเฝ้าแล้วทูลถามถึงสุขไสยาว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์บรรทมเป็นสุขหรือ

พระราชาตรัสตอบว่า ท่านอาจารย์ความสุขจะมีแก่เราได้อย่างไร ในเมื่อเราได้ฝันเห็นอย่างนี้ แล้วทรงตรัสเล่าเรื่องความฝันของพระองค์ให้บัณฑฺตทั้งสี่ได้รับฟัง

ลำดับนั้น เสนกบัณฑิตทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์อย่าได้ตกพระหฤทัย พระสุบินนั้นเป็นมงคล ความเจริญจักมีแด่พระองค์

เมื่อมีพระราชดำรัสถามว่า เพราะเหตุไร จึงทูลว่าข้าแต่มหาราช บัณฑิตที่ ๕ อีกคนหนึ่งจักเกิดขึ้น ครอบงำพวกข้าพระองค์ซึ่งเป็นบัณฑิตทั้ง ๔ ทำให้หมดรัศมี พวกข้าพระองค์ทั้ง ๔ คน เหมือนกองเพลิง ๔ กอง บัณฑิตที่ ๕ จักเกิดขึ้น เหมือนกองเพลิงที่เกิดขึ้นในท่ามกลาง บัณฑิตนั้นย่อมไม่มีผู้เสมอทั้งในโลกทั้งเทวโลก

พระเจ้าวิเทหราชตรัสถามว่า ก็บัดนี้บัณฑิตนั้นอยู่ที่ไหน

เสนกบัณฑิตทูลพยากรณ์ราวกะเห็นด้วยทิพยจักษุเพราะกำลังแห่งการศึกษาของตนว่า บัณฑิตนั้นจักคลอดจากครรภ์มารดาในวันนี้

พระราชาทรงระลึกถึงคำแห่งเสนกบัณฑิตนั้นนับแต่นั้นมา

ก็บ้านทั้ง ๔ คือ บ้านชื่อทักขิณยวมัชฌคาม ๑ ปัจฉิมยวมัชฌคาม ๑ อุตตรยวมัชฌคาม ๑ ปาจีนยวมัชฌคาม ๑ ตั้งอยู่ที่ประตูทั้ง ๔ แห่งกรุงมิถิลา

ในบ้านทั้ง ๔ นั้น เศรษฐีชื่อ สิริวัฒกะ อยู่ในบ้านชื่อปาจีนยวมัชฌคาม ภรรยาของเศรษฐีนั้นชื่อ สุมนาเทวี วันนั้นพระมหาสัตว์จุติจากดาวดึงส์พิภพ ถือปฏิสนธิในครรภ์แห่งนางสุมนาเทวี ในเวลาที่พระราชาทรงพระสุบิน เทพบุตรอีกพันหนึ่งก็จุติจากดาวดึงส์พิภพมาถือปฏิสนธิในตระกูลแห่งเศรษฐีใหญ่น้อยในบ้านนั้นนั่นเอง ฝ่ายนางสุมนาเทวี เมื่อเวลาล่วงมาได้ ๑๐ เดือน ก็คลอดบุตรมีผิวพรรณวรรณะดุจทองคำ

ขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชทอดพระเนตรดูมนุษยโลก ก็ทรงทราบว่าพระมหาสัตว์คลอดจากครรภ์มารดาแล้ว ทรงคิดว่า ควรเราจะทำพระพุทธางกูรนี้ให้ปรากฏทั้งในโลกทั้งเทวโลก ในเวลาที่พระมหาสัตว์คลอดจากครรภ์มารดา จึงเสด็จมาด้วยอทิสมานกายไม่มีใครเห็นพระองค์ วางแท่งโอสถแท่งหนึ่งที่หัตถ์แห่งพระมหาสัตว์นั้น แล้วเสด็จกลับไปยังทิพยพิมานแห่งตน

พระมหาสัตว์รับแท่งโอสถนั้นกำไว้ ก็เมื่อพระมหาสัตว์คลอดจากครรภ์นั้น ความทุกข์มิได้มีแก่มารดาแม้สักหน่อยหนึ่ง คลอดง่ายคล้ายเทน้ำออกจากหม้อฉะนั้น นางสุมนาเทวีเห็นแท่งโอสถในมือของบุตรนั้น จึงถามว่า พ่อได้อะไรมา

บุตรนั้นตอบมารดาว่า โอสถจ๊ะแม่ แล้ววางทิพยโอสถในมือมารดา กล่าวว่า ข้าแต่แม่ แม่จงให้โอสถนี้แก่พวกคนที่เจ็บป่วยเถิด

นางสุมนาเทวีมีความร่าเริงยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงบอกแก่สิริวัฒกเศรษฐีผู้สามี ก็เศรษฐีนั้นป่วยเป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี ได้ยินดังนั้นก็มีความร่าเริงยินดี คิดว่ากุมารนี้เมื่อเกิดแต่ครรภ์มารดาก็ถือโอสถมา ทั้งพูดกับมารดาได้ในขณะที่เกิดนั่นเอง โอสถที่ผู้มีบุญเช่นนี้ให้คงจักมีอานุภาพมาก คิดฉะนี้แล้วจึงถือโอสถนั้นฝนที่หินบด แล้วเอาโอสถหน่อยหนึ่งทาที่หน้าผาก โรคปวดศีรษะที่เป็นมา ๗ ปีก็หายไป ดุจน้ำหายไปจากใบบัวฉะนั้น ท่านเศรษฐีนั้นมีความดีใจว่า โอสถมีอานุภาพมาก

เรื่องพระมหาสัตว์ถือโอสถมา ก็ปรากฏไปในที่ทั้งปวง บรรดาผู้เจ็บป่วยทั้งหลายนั้นต่างก็พากันมาที่บ้านท่านเศรษฐีเพื่อขอยา ฝ่ายท่านเศรษฐีก็ถือเอาโอสถหน่อยหนึ่งฝนที่หินบด ละลายน้ำให้แก่คนทั้งปวง เพียงเอาทิพยโอสถทาสรีระเท่านั้น ความเจ็บป่วยทั้งปวงก็สงบ มนุษย์ทั้งหลายได้ความสุขแล้วก็สรรเสริญว่าโอสถในเรือนท่านสิริวัฒกเศรษฐีมีอานุภาพมากแล้วกลับไป

ในวันตั้งชื่อพระมหาสัตว์ ท่านมหาเศรษฐีคิดว่า เราไม่ต้องการนำเอาชื่อบรรพบุรุษมาเป็นชื่อบุตรของเรา บุตรของเราจงชื่อโอสถ เพราะเมื่อเขาเกิดถือโอสถมาด้วย แต่นั้นมาจึงตั้งชื่อพระมหาสัตว์นั้นว่า มโหสถกุมาร เพราะอาศัยคำที่เกิดขึ้นว่า โอสถนี้มีคุณมาก โอสถนี้มีคุณมาก ด้วยประการฉะนี้

ลำดับนั้น ท่านเศรษฐีได้มีความคิดว่า บุตรของเรามีบุญมาก จักไม่เกิดคนเดียวเท่านั้น ทารกทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับบุตรของเรานี้จะต้องมี จึงให้ตรวจตราดู ก็ได้ข่าวพบทารกเกิดวันเดียวกัน ๑ พันคน จึงให้เครื่องประดับแก่กุมารทั้งหมด และให้นางนม ๑ พันคน ให้ทำมงคลแก่ทารกเหล่านั้นพร้อมกับพระโพธิสัตว์ทีเดียว ด้วยคิดว่า ทารกเหล่านี้จักเป็นผู้ปฏิบัติบำรุงบุตรของเรา นางนมทั้งหลายตกแต่งทารกแล้วนำมาบำเรอพระมหาสัตว์

พระโพธิสัตว์เล่นอยู่ด้วยทารกเหล่านั้น จนเมื่อเจริญวัยมีอายุได้ ๗ ขวบ มีรูปงามราวกะรูปทองคำ เมื่อพระโพธิสัตว์เล่นอยู่กับทารกเหล่านั้นในสนามกลางหมู่บ้าน

วันหนึ่งเมื่อเขาเหล่านั้นกำลังเล่นกันอยู่ เมฆฝนก็ตั้งเค้าขึ้น พระมหาสัตว์ผู้มีกำลังดุจช้างสาร เห็นเมฆตั้งขึ้นก็วิ่งเข้าสู่ศาลาหลังหนึ่ง พวกทารกอื่นวิ่งตามไปทีหลังพระมหาสัตว์ ก็เหยียบเท้าของกันและกันพลาดล้มถึงเข่าแตกเป็นต้น พระโพธิสัตว์จึงคิดว่า ควรทำศาลาเป็นที่เล่นในสถานที่นี้ เราทั้งหลายจักไม่ลำบากอย่างนี้ จึงแจ้งแก่ทารกเหล่านั้นว่า พวกเราลำบากด้วยลม ฝน และแดด พวกเราจักสร้างศาลาหลังหนึ่งในที่นี้ ให้พอเป็นที่ยืนนั่ง และนอนได้ ท่านทั้งหลายจงนำกหาปณะมาคนละหนึ่งกหาปณะ ทารกเหล่านั้นก็กระทำตามนั้น

พระมหาสัตว์ให้เรียกนายช่างใหญ่มากล่าวว่า ข้าแต่พ่อท่านจงสร้างศาลาในที่นี้ แล้วได้ให้กหาปณะพันหนึ่งแก่เขา นายช่างใหญ่รับคำรับกหาปณะพันหนึ่งแล้ว ปราบพื้นที่ให้เสมอขุดหลักตอออกแล้วขึงเชือกกะที่ พระมหาสัตว์เห็นวิธีขึงเชือกของนายช่าง จึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญท่านอย่าขึงเชือกอย่างนี้จงขึงให้ดี

นายช่างกล่าวว่า นาย ข้าพเจ้าขึงตามวิชาที่ข้าพเจ้าเรียนมา การขึงอย่างอื่นนอกจากนี้ข้าพเจ้าไม่รู้

พระมหาสัตว์กล่าวว่า แม้เพียงเท่านี้ก็ไม่รู้ ท่านจักรับทรัพย์ของพวกเราทำศาลาได้อย่างไร จงนำเชือกมาเราจักขึงให้ท่าน

แล้วจึงให้นำเชือกมาแล้วก็ขึงด้วยตนเอง เชือกที่พระมหาสัตว์ขึง ได้เป็นประหนึ่งพระวิสสุกรรมเทพบุตรขึง และแล้วพระมหาสัตว์ได้กล่าวกะนายช่างว่าท่านสามารถขึงเชือกได้อย่างนี้ไหม

ไม่สามารถ นาย

ถ้าเช่นนั้นท่านสามารถทำตามความเห็นของเราได้ไหม

สามารถ นาย

พระมหาสัตว์จัดแบ่งที่ศาลาให้เป็นส่วนๆ คือ ห้องสำหรับหญิงอนาถาคลอดบุตรห้องหนึ่ง ห้องสำหรับสมณพราหมณ์ผู้อาคันตุกะมาพักห้องหนึ่ง ห้องสำหรับคฤหัสถ์ผู้อาคันตุกะมาพักห้องหนึ่ง ห้องสำหรับเก็บสินค้าของพวกพ่อค้าผู้อาคันตุกะมาพักห้องหนึ่ง ทำห้องเหล่านั้นทั้งหมดให้มีประตูทางหน้ามุข ให้ทำสนามเล่น ที่วินิจฉัยแม้โรงธรรมอย่างนั้นๆ

เมื่อศาลาแล้วเสร็จก็ให้เรียกช่างเขียนมาเขียนรูปอันน่ารื่นรมย์ โดยตนเป็นผู้สั่งการเอง ศาลานั้นก็งดงามเปรียบด้วยเทวสภาชื่อสุธรรมา

แต่นั้น พระมหาสัตว์ดำริว่าเพียงเท่านี้ ศาลายังหางามไม่ ควรสร้างสระโบกขรณีด้วยถึงจะงาม จึงให้ขุดสระโบกขรณี ให้เรียกช่างอิฐมา ให้สร้างสระโบกขรณีให้มีคดลดเลี้ยวนับด้วยพัน ให้มีท่าลงนับด้วยร้อย โดยความคิดของตน สระโบกขรณีนั้นดาดาษด้วยปทุมชาติ ๕ ชนิด เป็นราวกะว่านันทนโบกขรณี

ให้สร้างสวนปลูกต้นไม้ต่างๆ ทั้งไม้ดอกและไม้ผลริมฝั่งสระนั้น ดุจอุทยานนันทนวัน และใช้ศาลานั้นแหละเริ่มตั้งทานวัตร เพื่อสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติธรรม และผู้เดินทางที่จรมาเป็นต้น การกระทำของพระมหาสัตว์นั้นได้ปรากฏไปในที่ทั้งปวง มนุษย์เป็นอันมากได้มาอาศัยศาลานั้น พระมหาสัตว์นั่งในศาลานั้น กล่าวสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ สิ่งที่ถูกและผิด แก่ผู้ที่มาแล้วๆ เริ่มตั้งการวินิจฉัย กาลนั้นได้เป็นเสมือนพุทธุปบาทกาล

ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราช เมื่อเวลาล่วงไปได้ ๗ ปี ทรงระลึกได้ว่า บัณฑิตทั้ง ๔ กล่าวแก่เราว่า บัณฑิตที่ ๕ จักเกิดขึ้นครอบงำพวกเขา บัณฑิตคนที่ ๕ นั้นบัดนี้อยู่ที่ไหน จึงโปรดให้อำมาตย์ ๔ คนไปสืบเสาะหาทางประตูทั้ง ๔ ด้านให้รู้สถานที่อยู่แห่งบัณฑิตนั้น

อำมาตย์ผู้ออกไปทางประตูอื่นๆ ไม่พบพระมหาสัตว์ อำมาตย์ผู้ออกไปทางประตูด้านปราจีนทิศ นั่งที่ศาลาคิดว่า ศาลาหลังนี้ต้องคนฉลาดทำเองหรือใช้ให้คนอื่นทำ จึงถามคนทั้งหลายว่า ศาลาหลังนี้ช่างไหนทำ คนทั้งหลายตอบว่า ศาลาหลังนี้นายช่างไม่ได้ทำเอง แต่ได้ทำตามวิจารณ์ของมโหสถบัณฑิตผู้เป็นบุตรของสิริวัฒกเศรษฐี ด้วยกำลังปัญญาแห่งตน

อำมาตย์ถามว่า ก็บัณฑิตอายุเท่าไร

คนทั้งหลายตอบว่า ๗ ปีบริบูรณ์

อำมาตย์นับปีตั้งแต่วันที่พระราชาทรงเห็นพระสุบิน ก็ทราบว่า บัณฑิตนั้นคือผู้นี้เอง สมกับพระราชาทรงเห็นพระสุบิน จึงส่งทูตไปทูลพระราชาว่าขอเดชะ บุตรของสิริวัฒกเศรษฐีในบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ชื่อมโหสถบัณฑิตอายุได้ ๗ ปี ให้สร้างศาลา สระโบกขรณี และอุทยานอย่างนี้ๆ ข้าพระบาทจะพาบัณฑิตนี้มาเฝ้าหรือยัง

พระราชาทรงสดับประพฤติเหตุนั้น มีพระหฤทัยยินดี รับสั่งให้หาเสนกบัณฑิตมาตรัสเล่าเนื้อความนั้นแล้วดำรัสถามว่า เป็นอย่างไร ท่านอาจารย์เสนกะ เราจะนำบัณฑิตนั้นมาหรือยัง

เสนกบัณฑิตนั้นเป็นคนตระหนี่ จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตด้วยเหตุเพียงให้สร้างศาลาเป็นต้น ใครๆ ก็ให้สร้างได้ ข้อนั้นยังเป็นการเล็กน้อย

พระราชาทรงสดับคำของเสนกบัณฑิตก็ทรงนิ่งอยู่ ทรงส่งทูตของอำมาตย์กลับไปพร้อมกับสั่งว่าอำมาตย์จงอยู่ในที่นั้นพิจารณาดูบัณฑิตไปก่อน อำมาตย์ได้ฟังพระราชดำรัสนั้นก็ยับยั้งอยู่ที่นั้น พิจารณาดูบัณฑิตต่อไป ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้เกิดเรื่องที่พิจารณา รวม ๑๙ หัวข้อ ดังนี้

๑ ชิ้นเนื้อ ๒ โค ๓ เครื่องประดับทำเป็นปล้องๆ ๔ กลุ่มด้าย ๕ บุตร ๖ คนเตี้ยชื่อโคฬกาฬ ๗ รถ ๘ ท่อนไม้ ๙ ศีรษะคน ๑๐ งู ๑๑ ไก่ ๑๒ แก้วมณี ๑๓ ให้โคตัวผู้ตกลูก ๑๔ ข้าว ๑๕ ชิงช้าห้อยด้วยเชือก ทราย ๑๖ สระน้ำ ๑๗ อุทยาน ๑๘ ลา ๑๙ แก้วมณีบนรังกา (รวม ๑๙ ข้อ)



>>>>> มีต่อ หน้า ๓
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 14 ต.ค.2006, 9:33 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หัวข้อว่า ชิ้นเนื้อ

วันหนึ่งพระโพธิสัตว์ไปสู่สนามเล่น มีเหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบเอาชิ้นเนื้อมาจากเขียงฆ่าสัตว์ บินอยู่บนท้องฟ้า ทารกทั้งหลายเห็นเหยี่ยวคาบเนื้อบินมา ก็ติดตามไปด้วยคิดจะให้เหยี่ยวทิ้งชิ้นเนื้อนั้น เด็กเหล่านั้นวิ่งไปข้างโน้นข้างนี้ ตาแลดูเบื้องบน วิ่งตามไปข้างหลังเหยี่ยวนั้น เมื่อตาไม่ได้มองดูทาง ก็วิ่งพลาดสะดุดตอบ้าง แผ่นหินบ้างเป็นต้น ได้รับความลำบาก

ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตกล่าวกะเด็กเหล่านั้นว่า เราจะให้เหยี่ยวนั้นทิ้งชิ้นเนื้อ พวกเจ้าทั้งหลายจงคอยดู มโหสถวิ่งไปด้วยกำลังเร็วดังลมตาไม่แลดูข้างบน แต่วิ่งตามเงาของเหยี่ยว ครั้นวิ่งทันพอเหยียบเงาเหยี่ยว ก็ตบมือร้องเสียงดังลั่นด้วยเดชานุภาพแห่งมหาสัตว์ เสียงนั้นดุจเข้าไปก้องในท้องของเหยี่ยวนั้น เหยี่ยวนั้นกลัวก็ทิ้งชิ้นเนื้อ พระมหาสัตว์แลดูเงาก็รู้ว่าเหยี่ยวทิ้งชิ้นเนื้อแล้ว ก็รับเอาชิ้นเนื้อนั้นในอากาศโดยไม่ตกพื้นดิน

มหาชนเห็นการที่มหาสัตว์ทำดังนั้นเป็นอัศจรรย์ จึงบันลือโห่ร้องตบมือทำเสียงเซ็งแซ่ อำมาตย์ทราบประพฤติเหตุนั้นจึงส่งทูตไปทูลพระราชาอีกว่า ขอเดชะ มโหสถบัณฑิตได้ยังเหยี่ยวให้ทิ้งชิ้นเนื้อด้วยอุบายนี้ ขอสมมติเทพ จงทรงทราบประพฤติเหตุนี้

พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสถามเสนกบัณฑิตว่า ท่านเสนกะ เราจะนำบัณฑิตมาหรือยัง

เสนกบัณฑิตคิดว่า นับแต่เวลาที่มโหสถกุมารมาในราชสำนักนี้ พวกเรา ๔ คน จักหมดรัศมี พระราชาจักไม่ทรงทราบว่าพวกเรามีอยู่ ไม่ควรให้นำมโหสถกุมารนั้นมา เพราะความตระหนี่ลาภ จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราช บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ข้อนั้นยังเป็นการเล็กน้อย พระราชาทรงมีพระองค์เป็นกลาง จึงส่งทูตนั้นกลับไปด้วยพระราชดำรัสสั่งว่า จงพิจารณามโหสถนั้นในที่นั้นต่อไป


หัวข้อว่า โค

บุรุษชาวปาจีนยวมัชฌคามคนหนึ่งคิดว่าเมื่อฝนตก เราจักไถนา จึงซื้อโคจากหมู่บ้านอื่นนำมาให้อยู่ในบ้าน รุ่งขึ้นนำไปสู่ที่มีหญ้าเพื่อให้หากิน ตนเองนั่งอยู่บนหลังโค ต่อมาเกิดความง่วงด้วยความเหน็ดเหนื่อย ก็ลงจากหลังโคแล้วนั่งที่โคนต้นไม้เลยหลับไป

ขณะนั้นโจรคนหนึ่งจึงมาพาโคหนีไป บุรุษเจ้าของโคนั้นตื่นขึ้นมาไม่เห็นโค ค้นหาโคข้างโน้นข้างนี้ เห็นโจรจึงวิ่งไล่ไปโดยเร็วกล่าวว่า แกจะนำโคของข้าไปไหน

โจรกล่าวตอบว่า แกพูดอะไร โคของข้าข้าจะนำโคของข้าไป

มหาชนต่างมาฟังชนทั้งสองวิวาทกันจนแน่น มโหสถบันฑิตได้ฟัง จึงให้เรียกคนทั้งสองมา เห็นกิริยาของคนทั้งสองก็รู้ว่า คนนี้เป็นโจร คนนี้เป็นเจ้าของโค แต่ถึงรู้ ก็ถามว่า ท่านทั้งสองวิวาทกันเพราะเหตุไร

เจ้าของโคกล่าวว่า ข้าแต่นาย ข้าพเจ้าซื้อโคนี้มาจากคนชื่อนี้ที่หมู่บ้านโน้น นำมาให้อยู่ในบ้าน นำไปสู่ที่มีหญ้าแต่เช้า ชายนี้พาโคหนีไป เพราะเห็นข้าพเจ้าประมาทในเวลานั้น ข้าพเจ้ามองหาข้างโน้นข้างนี้เห็นชายคนนี้ จึงติดตามไปจับตัว ชาวบ้านโน้นรู้การที่ข้าพเจ้าซื้อโคนี้มา

ฝ่ายโจรกล่าวว่า โคนี้เกิดในบ้านของข้าพเจ้า ชายนี้พูดปด

ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตจึงถามชายทั้งสองว่า เราจักวินิจฉัยความของท่านทั้งสองโดยยุติธรรมท่านทั้งสองจักยอมรับคำวินิจฉัยของเราหรือไม่ เมื่อคนทั้งสองรับแล้วจึงถามว่า โคเหล่านี้ท่านให้กินอะไร ให้ดื่มอะไร

โจรตอบว่า ข้าแต่ท่านบัณฑิต ข้าพเจ้าให้โคดื่มยาคู ให้กินงา แป้ง และขนมกุมมาส

ต่อนั้นจึงถามเจ้าของโค เจ้าของโคตอบว่า อาหารมีข้าวยาคูเป็นต้น คนจนอย่างข้าจะได้ที่ไหนมา ข้าพเจ้าให้กินหญ้าเท่านั้น

มโหสถบัณฑิตได้ฟังคำของคนทั้งสองนั้นแล้ว จึงให้คนของตนนำถาดมา ให้นำใบประยงค์มาตำในครก ขยำด้วยน้ำให้โคดื่ม โคก็อาเจียนออกมาเป็นหญ้า

มโหสถบันฑิตแสดงแก่มหาชนให้เห็นแล้วถามโจรว่า เจ้าเป็นโจรหรือมิใช่

โจรรับสารภาพว่าเป็นโจร มโหสถบัณฑิตให้โอวาทว่า ถ้าอย่างนั้น นับแต่นี้ไปเจ้าอย่าทำอย่างนี้ ฝ่ายบริษัทของพระโพธิสัตว์ก็ทุบตีโจรนั้นด้วยมือและเท้าทำให้บอบช้ำ

ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตได้กล่าวสอนโจรนั้นว่า เจ้าจงเห็นทุกข์ของเจ้านี้ในภพนี้เพียงนี้ แต่ในภพหน้า เจ้าจักเสวยทุกข์ใหญ่ในนรกเป็นต้น นับแต่นี้ไปเจ้าจงละกรรมนี้เสีย แล้วให้เบญจศีลแก่โจรนั้น

อำมาตย์ทูลประพฤติเหตุนั้นแด่พระราชาตามความเป็นจริง พระราชาตรัสถามเสนกบัณฑิตว่า ท่านอาจารย์เสนกะ เราควรนำบัณฑิตนั้นมาหรือยัง เมื่อเสนกะทูลว่า ข้าแต่มหาราช คดีเรื่องโค ใครๆ ก็วินิจฉัยได้ บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ขอให้ทรงรอไปก่อน พระราชาทรงวางพระองค์เป็นกลาง จึงทรงส่งข่าวไปอย่างนั้นอีก ในหัวข้อต่อๆ ไปจักแสดงแต่เพียงเนื้อเรื่องนั้นๆ เท่านั้น ในเรื่องที่พระราชาตรัสถามเสนกบัณฑิต และที่เสนกบัณฑิตคัดค้านก็มีเนื้อความเหมือนกันทุกเรื่อง


หัวข้อว่า เครื่องประดับทำเป็นปล้องๆ

ยังมีหญิงเข็ญใจคนหนึ่งเปลื้องเครื่องประดับทำเป็นปล้อง ถักด้วยด้ายสีต่าง ๆ จากคอวางไว้บนผ้าสาฎก ลงสู่สระโบกขรณีที่มโหสถบัณฑิตให้ทำไว้ เพื่ออาบน้ำ หญิงรุ่นสาวคนหนึ่งเห็นเครื่องประดับนั้น เกิดความโลภ หยิบเครื่องประดับขึ้นชมว่าเครื่องประดับนี้งามเหลือเกิน เธอทำมาด้วยราคาเท่าไร แม้ฉันก็จักทำรูปเหล่านี้ บ้าง กล่าวชมฉะนี้แล้วประดับที่คอตน แล้วกล่าวว่า ฉันอยากจะพิจารณาเครื่องประดับนั้นก่อน หญิงเจ้าของกล่าวว่า จงพิจารณาดูเถิด เพราะหญิงเจ้าของเป็นคนมีจิตซื่อตรง

หญิงรุ่นสาวประดับที่คอตนแล้วเดินหนีไป ฝ่ายหญิงเจ้าของเห็นดังนั้น ก็รีบขึ้นจากโบกขรณี นุ่งผ้าสาฎกแล้ววิ่งตามไปยึดผ้าไว้กล่าวว่า เอ็งจักถือเอาเครื่องประดับของข้าหนีไปไหน

ฝ่ายหญิงขโมยกล่าวตอบว่า ข้าไม่ได้เอาของของแก เครื่องประดับคอของข้าต่างหาก

มหาชนชุมนุมฟังวิวาทกัน ฝ่ายมโหสถบัณฑิตเล่นอยู่กับเหล่าทารกได้ฟังเสียงหญิงสองคนนั้นทะเลาะกันที่ประตูศาลา จึงถามว่านั่นเสียงอะไร เมื่อได้ฟังเหตุที่หญิงสองคนทะเลาะกันแล้ว จึงให้เรียกหญิงทั้งสองคนเข้ามา แม้รู้อยู่โดยอาการว่า หญิงนี้เป็นขโมย หญิงนี้มิใช่ขโมย ก็ถามเนื้อความนั้นแล้วกล่าวว่า เธอทั้งสองจักยอมรับคำวินิจฉัยของเราหรือไม่ เมื่อคนทั้งสองรับแล้ว มโหสถบัณฑิตจึงถามหญิงขโมยก่อนว่า เธอย้อมเครื่องประดับนี้ด้วยของหอมอะไร

หญิงขโมยตอบว่า ข้าพเจ้าย้อมด้วยของหอมทุกอย่าง ของหอมที่ทำประกอบด้วยของหอมทั้งปวงชื่อว่าของหอมทุกอย่าง

ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตจึงถามหญิงเจ้าของ นางตอบว่า เพราะข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจ ของหอมทุกอย่างจะมีแต่ไหน ข้าพเจ้าย้อมด้วยของหอมคือดอกประยงค์เท่านั้นเป็นนิตย์

มโหสถบัณฑิตให้คนของตนกำหนดคำของหญิงทั้งสองนั้นไว้แล้วให้นำน้ำมาแล้วแช่เครื่องประดับในน้ำนั้น พักหนึ่งจึงให้เรียกคนที่รู้จักกลิ่นมาสั่งว่า ท่านจงดมเครื่องประดับนั้นเป็นกลิ่นอะไร คนรู้จักกลิ่นดมเครื่องประดับนั้นแล้วก็ตอบว่าเป็นกลิ่นดอกประยงค์

ลำดับนั้น เมื่อพระมหาสัตว์ทำให้มหาชนรู้เหตุการณ์นั้นแล้วก็ถามหญิงขโมยว่า แกเป็นขโมยหรือ หญิงนั้นก็สารภาพว่าเป็นขโมย นับแต่นั้น ความที่พระมหาสัตว์เป็นบัณฑิตก็ปรากฏแก่มหาชน


หัวข้อว่า ด้ายกลุ่ม

ยังมีสตรีคนหนึ่งรักษาไร่ฝ้าย เมื่อเฝ้าไร่ได้เก็บฝ้ายที่บริสุทธิ์ในไร่นั้นมาปั่นให้เป็นเส้นเล็กๆ แล้วเอาเม็ดมะพลับมาไว้เป็นแกนข้างใน พันด้ายกับแกนนั้นให้เป็นกลุ่ม เก็บไว้ในพก เมื่อจะกลับบ้าน คิดว่าเราจักอาบน้ำในสระโบกขรณีของท่านบัณฑิต จึงวางกลุ่มด้ายนั้นไว้บนผ้าสาฎกแล้วลงอาบน้ำ

ยังมีหญิงคนหนึ่งเห็นด้ายกลุ่มนั้น ก็ถือเอาด้วยมีจิตโลภ ตบมือพูดว่า โอ ด้ายนี้สวยดี ท่านทำหรือ ทำเป็นเหมือนแลดู แล้วเอาใส่ในพกหลีกไป เรื่องต่อไปก็เหมือนกับเรื่องที่เล่าไว้ก่อน มโหสถบัณฑิตถามหญิงขโมยก่อนว่า เมื่อแกทำด้ายให้เป็นกลุ่ม ได้ใช้อะไรทำเป็นแกนข้างใน หญิงขโมยนั้นตอบว่า ข้าพเจ้าใช้ผลฝ้ายนั่นเองไว้ข้างใน ต่อนั้น มโหสถบัณฑิตจึงถามหญิงอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของ นางตอบว่า ใส่เม็ดมะพลับไว้เป็นแกนข้างใน มโหสถบัณฑิตให้คนของตนกำหนดคำของหญิงทั้งสองไว้ แล้วให้คลี่ด้ายกลุ่มนั้นออกก็เห็นเม็ดมะพลับ จึงให้หญิงขโมยนั้นรับสารภาพว่าเป็นขโมย มหาชนร่าเริงยินดี กล่าวว่ามโหสถบัณฑิตวินิจฉัยความดี ได้ให้สาธุการเป็นอันมาก


หัวข้อว่า บุตร

ยังมีสตรีคนหนึ่งพาบุตรไปสระโบกขรณีของมโหสถบัณฑิต เพื่อล้างหน้า เอาบุตรอาบน้ำแล้วให้นั่งบนผ้าสาฎกของตน ตนเองลงล้างหน้า ขณะนั้น มียักขินีตนหนึ่งเห็นทารกนั้นอยากจะกิน จึงแปลงเพศเป็นสตรีมาถามว่า แน่ะสหายทารกนี้งามหนอ เป็นบุตรของเธอหรือ

ครั้นสตรีมารดาทารกนั้นรับว่าเป็นบุตรของตน จึงกล่าวว่า ฉันจะให้ดื่มนม

เมื่อสตรีมารดาทารกอนุญาตแล้ว ก็อุ้มทารกนั้นให้เล่นหน่อยหนึ่งแล้วพาทารกนั้นหนีไป สตรีมารดาทารกเห็นดังนั้น จึงขึ้นจากน้ำวิ่งไปโดยเร็ว ยึดผ้าสาฎกไว้กล่าวว่า เอ็งจะพาบุตรข้าไปไหน

นางยักขินีกล่าวว่า เจ้าได้บุตรมาแต่ไหน นี้เป็นบุตรของข้าต่างหาก

หญิงทั้งสองทะเลาะกันเดินไปถึงประตูศาลา มโหสถบัณฑิตได้ฟังเสียงนางทั้งสองทะเลาะกัน ให้เรียกเข้ามาถามว่า เรื่องเป็นอย่างไรกัน นางทั้งสองก็แจ้งให้ทราบเรื่องนั้น มโหสถบัณฑิตฟังความนั้นแล้ว แม้รู้ว่า หญิงนี้เป็นยักขินีอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะนัยน์ตาไม่กระพริบ นัยน์ตาแดงและไม่มีเงา จึงกล่าวว่า เธอทั้งสองจักยอมรับคำวินิจฉัยของเราหรือไม่ เมื่อคนทั้งสองรับแล้ว จึงขีดรอยที่แผ่นดิน ให้ทารกนอนกลางรอยขีด ให้ยักขินีจับมือทารก ให้หญิงผู้เป็นมารดาจับเท้า แล้วกล่าวว่า แกทั้งสองคนจงฉุดคร่าเอาไป ทารกนั้นจักเป็นบุตรของผู้ที่สามารถดึงเอาทารกไปได้

นางทั้งสองก็คร่าทารกนั้น ทารกนั้นเมื่อถูกคร่าไปด้วยความเจ็บปวดก็ร้องไห้จ้า หญิงมารดาได้ฟังเสียงนั้น ก็เป็นเหมือนหัวใจจะแตก ปล่อยบุตรยืนร้องไห้อยู่

มโหสถบัณฑิตถามมหาชนว่า ใจของมารดาทารกอ่อน หรือว่าใจของหญิงไม่ใช่มารดาอ่อน

มหาชนตอบว่า ใจของมารดาอ่อน

มโหสถบัณฑิตจึงถามมหาชนว่า บัดนี้เป็นอย่างไร หญิงผู้คร่าทารกไปได้ เป็นมารดา หรือว่านางผู้สละทารกเสีย เป็นมารดา

มหาชนตอบว่า นางผู้สละทารก เป็นมารดา

มโหสถกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายรู้หรือว่านางนี้เป็นคนขโมยทารก

มหาชนตอบว่า ไม่ทราบ

มโหสถจึงกล่าวว่า นางนี้เป็นยักขินีคร่าเอาทารกไปเพื่อกิน

มหาชนถามว่า รู้ได้อย่างไร

มโหสถตอบว่า รู้ได้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะยักขินีนัยน์ตาไม่กระพริบ นัยน์ตาแดง ไม่มีเงา และปราศจากความกรุณา ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ถามหญิงนั้นว่า แกเป็นใคร

ยักขินีตอบว่าข้าพเจ้าเป็นยักขินี

พระมหาสัตว์ซักต่อไปว่า เจ้าจะเอาทารกนี้ไปทำไม

ยักขินีตอบว่า เอาไปกิน

พระมหาสัตว์กล่าวว่า แน่ะนางอันธพาล แต่ก่อนเอ็งทำบาปจึงเกิดเป็นยักขินี แม้บัดนี้ก็ยังจะทำบาปอีก โอ เอ็งเป็นคนอันธพาล กล่าวดังนี้แล้ว ให้ยักขินีตั้งอยู่ในเบญจศีล แล้วปล่อยตัวไป ฝ่ายหญิงมารดาทารกกล่าวว่า จงมีอายุยืนนานเถิดนาย ชมมโหสถบัณฑิตแล้วพาบุตรหลีกไป


หัวข้อว่า คนเตี้ยชื่อโคฬกาฬ

มีชายคนหนึ่งชื่อโคฬกาฬเพราะเป็นคนเตี้ยและผิวดำ เขาทำงาน ๗ ปีได้ภรรยาชื่อทีฆตาหลา วันหนึ่งโคฬกาฬเรียกภรรยามากล่าวว่า เจ้าจงทอดขนม ครั้นนางถามว่าแกจะไปไหน จึงบอกว่า ข้าจะไปเยี่ยมบิดามารดา นางห้ามว่า แกจะต้องการอะไรด้วยบิดามารดา โคฬกาฬต้องสั่งให้ทอดขนมถึง ๓ ครั้ง นางจึงยอม ครั้นแล้วจึงถือเอาเสบียง และของฝากเดินทางไปกับภรรยานั้น

ในระหว่างทางได้เห็นแม่น้ำ มีกระแสน้ำไหลตื้น แต่สองสามีภรรยานั้นเป็นคนขลาดจึงไม่อาจลง ก็ยืนอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ กาลนั้นมีชายเข็ญใจคนหนึ่งชื่อทีฆปิฏฐิ เดินเลียบมาตามฝั่งแม่น้ำถึงสถานที่นั้น สามีภรรยาเห็นชายนั้นจึงถามว่า แม่น้ำนี้ลึกหรือตื้น

นายทีฆปิฏฐิรู้อยู่ว่าสองสามีภรรยานั้นขลาดต่อน้ำ จึงตอบว่า แม่น้ำนี้ลึกเหลือเกิน ปลาร้ายก็ชุม

สามีภรรยาจึงซักถามว่า สหายจักไปอย่างไรเล่า

ชายนั้นตอบว่า เรามีความคุ้นเคยกับจระเข้และมังกร ฉะนั้น สัตว์ร้ายเหล่านั้นจึงไม่เบียดเบียนเรา

สองสามีภรรยากล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น สหายจงพาเราทั้งสองไป

ชายนั้นรับคำ ลำดับนั้น สองสามีภรรยาจึงให้ของเคี้ยวของบริโภคแก่ชายนั้น ชายนั้นบริโภคอิ่มแล้วจึงถามว่า สหายจะให้เราพาใครไปก่อน

นายโคฬกาฬตอบว่า จงพาภรรยาไปก่อน พาเราไปทีหลัง

ชายนั้นรับคำแล้วให้นางทีฆตาหลาขึ้นคอ ถือเสบียงและของฝากทั้งหมดลงข้ามแม่น้ำ ไปได้หน่อยหนึ่งแล้วย่อตัวเดินต่อไป

ลำดับนั้น นายโคฬกาฬยืนอยู่ที่ฝั่งคิดว่า แม่น้ำนี้ลึกจริงแท้ คนสูงยังเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นเราคงไม่ได้การทีเดียว

ฝ่ายนายทีฆปิฏฐิพานางทีฆตาหลาไปถึงกลางแม่น้ำก็พูดเกี้ยวว่า ข้าจักเลี้ยงดูเจ้า เจ้าจักมีผ้าและเครื่องประดับบริบูรณ์ มีทาสทาสีแวดล้อม นายโคฬกาฬตัวเตี้ยคนนี้จักทำอะไรแก่เจ้าได้ เจ้าจงทำตามคำข้า

นางทีฆตาหลาได้ฟังคำของนายทีฆปิฏฐินั้น ก็ตัดสิเนหาในสามีของตน มีจิตปฏิพัทธ์ในนายทีฆปิฏฐินั้นในขณะนั้นเอง จึงกล่าวตอบว่า ถ้านายไม่ทิ้งฉัน ฉันจักทำตามคำของนาย

นายทีฆปิฏฐิกล่าวว่า นางพูดอะไร ข้าจะเลี้ยงดูนาง

คนทั้งสองนั้นไปถึงฝั่งโน้น ก็ชื่นชมต่อกันและกันแล้วคิดจะทิ้งนายโคฬกาฬเสียจึงกล่าวว่า รอก่อน รอก่อน แล้วต่างก็เคี้ยวกินเสบียงต่อหน้านายโคฬกาฬผู้แลดูอยู่แล้วพากันเดินหนีไป

นายโคฬกาฬเห็นดังนั้นจึงรู้ว่า คนทั้งสองนี้เห็นจะร่วมกันทิ้งเราหนีไป ก็วิ่งไปวิ่งมา ข้ามลงแม่น้ำได้หน่อยหนึ่งก็กลับขึ้นเพราะความกลัว และแล้วด้วยความโกรธในคนทั้งสองนั้นจึงโดดลงแม่น้ำนั้นด้วยไม่ใส่ใจว่าจะเป็นหรือตายก็ตามที เมื่อลงไปในแม่น้ำแล้ว จึงรู้ว่าตื้น ก็ข้ามขึ้นจากแม่น้ำติดตามไปโดยเร็ว

พอทันคนทั้งสองนั้นจึงกล่าวว่า แน่ะอ้ายโจรร้าย มึงจะพาเมียกูไปไหน

นายทีฆปิฏฐิกล่าวตอบว่า แน่ะอ้ายถ่อยแคระเตี้ยร้าย เมียมึงเมื่อไร กล่าวดังนี้แล้วก็ไสคอนายโคฬกาฬไป

นายโคฬกาฬจับมือนางทีฆตาหลา กล่าวว่า รอก่อน รอก่อน เอ็งจะไปไหน ข้าทำงานมา ๗ ปีจึงได้เอ็งมาเป็นเมีย

เมื่อทะเลาะกับนายทีฆปิฏฐิพลางมาถึงที่ใกล้ศาลาพระมหาสัตว์ มหาชนประชุมกัน มโหสถบัณฑิตถามว่า นั่นเสียงอะไรกัน สดับความนั้นแล้วให้เรียกคนทั้งสองมา ได้ฟังโต้ตอบกันแล้ว จึงกล่าวว่า แกทั้งสองจักยอมรับคำวินิจฉัยของเราหรือไม่ เมื่อคนทั้งสองรับแล้ว จึงถามนายทีฆปิฏฐิก่อนว่า แกชื่ออะไร

ข้าพเจ้าชื่อทีฆปิฏฐิ

ก็ภรรยาของแกชื่ออะไร

นายทีฆปิฏฐิเมื่อไม่ทันรู้จักชื่อนางทีฆตาหลาก็บอกชื่ออื่น

มโหสถบัณฑิตถามว่า บิดามารดาของแกชื่ออะไร

นายทีฆปิฏฐิก็บอกชื่อบิดามารดาของตน

บิดามารดาของภรรยาชื่ออะไร

นายทีฆปิฏฐิเมื่อยังไม่รู้ก็บอกชื่ออื่น

ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตจึงให้คนของตนจดจำถ้อยคำไว้ แล้วให้นายทีฆปิฏฐินั้นออกไป ให้เรียกนายโคฬกาฬมา ถามคำถามเช่นเดียวกันกับที่ถามนายทีฆปิฏฐิ นายโคฬกาฬเมื่อรู้อยู่ตามเป็นจริงก็บอกไม่ผิด

พระโพธิสัตว์ให้นำนายโคฬกาฬออกไป ให้เรียกนางทีฆตาหลามาถามว่า แกชื่ออะไร

ข้าพเจ้าชื่อทีฆตาหลา

ผัวแกชื่ออะไร

เมื่อยังไม่ทันรู้จักชื่อกันก็บอกชื่ออื่น

บิดามารดาของแกชื่ออะไร

ก็บอกชื่อนั้นๆ

บิดามารดาของผัวแกชื่ออะไร

เมื่อยังไม่รู้จักชื่อก็บอกชื่ออื่น

มโหสถบัณฑิตให้เรียกนายทีฆปิฏฐิและนายโคฬกาฬมาแล้วถามมหาชนว่า ถ้อยคำของนางทีฆตาหลาสมกับคำของนายทีฆปิฏฐิ หรือสมกับคำของนายโคฬกาฬ

มหาชนตอบว่า ถ้อยคำของนางทีฆตาหลาสมกับคำของนายโคฬกาฬ

มโหสถบัณฑิตจึงกล่าวว่า นายโคฬกาฬเป็นผัวของนางทีฆตาหลานายทีฆปิฏฐิเป็นโจร

ลำดับนั้น มโหสถจึงถามนายทีฆปิฏฐิว่า เจ้าเป็นโจรหรือ นายทีฆปิฏฐิรับสารภาพว่าเป็นโจร นายโคฬกาฬได้ภรรยาของตนคืนด้วยวินิจฉัยของมโหสถบัณฑิต ก็ชมเชยมโหสถบัณฑิตแล้วพาภรรยาหลีกไป มโหสถบัณฑิตกล่าวกะนายทีฆปิฏฐิว่า นับแต่นี้ไปเจ้าอย่าทำกรรมเช่นนี้อีก



>>>>> มีต่อ หน้า ๔
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 14 ต.ค.2006, 9:41 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หัวข้อว่า รถ

กาลนั้นยังมีบุรุษคนหนึ่งนั่งในรถออกจากบ้านเพื่อล้างหน้า ขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงพิจารณาเห็นพระโพธิสัตว์จึงดำริว่า เราจักทำให้อานุภาพแห่งปัญญาของมโหสถผู้พุทธางกูรปรากฏแก่มหาชน จึงเสด็จมาด้วยเพศแห่งมนุษย์เกาะท้ายรถไป

บุรุษเจ้าของรถถามว่า แน่ะพ่อ พ่อมาด้วยประโยชน์อะไร ครั้นได้ฟังว่า จะมาเพื่อรับใช้ตน จึงรับว่าดีแล้ว ก็ลงจากรถไปเพื่อทำสรีรกิจ

ขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชก็ขึ้นรถแล้วขับไปโดยเร็ว บุรุษเจ้าของรถเมื่อทำสรีรกิจเสร็จแล้วออกมาเห็นท้าวสักกเทวราชลักรถหนีไป ก็ติดตามไปโดยเร็ว ร้องกล่าวว่า หยุดก่อน หยุดก่อน แกจะนำรถของข้าไปไหน

เมื่อท้าวสักกะตอบว่า รถของแกคันอื่น แต่คันนี้รถของข้า ก็เกิดทะเลาะกันไปถึงประตูศาลา มโหสถบัณฑิตถามว่า เรื่องอะไรกัน แล้วให้เรียกคนทั้งสองนั้นมา ครั้นเมื่อเห็นคนทั้งสองมาก็รู้ชัดว่า ผู้นี้เป็นท้าวสักกเทวราช เพราะปราศจากความกลัวเกรง และเพราะนัยน์ตาไม่กระพริบ ผู้นี้เป็นเจ้าของรถ

แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น มโหสถก็ถามถึงเหตุแห่งการวิวาทกล่าวว่า ท่านทั้งสองจักยอมรับคำวินิจฉัยของเราหรือไม่ เมื่อคนทั้งสองรับแล้ว จึงกล่าวว่า เราจักขับรถไป ท่านทั้งสองจงจับท้ายรถ เจ้าของรถจักไม่ปล่อย ผู้ไม่ใช่เจ้าของรถจักปล่อย กล่าวฉะนี้แล้ว บังคับบุรุษคนหนึ่งว่าจงขับรถไป บุรุษนั้นได้ทำตามนั้น

คนทั้งสองจับท้ายรถวิ่งตามไป เจ้าของรถไปได้หน่อยหนึ่งก็เหน็ดเหนื่อย จึงปล่อยรถแล้วยืนอยู่ ฝ่ายท้าวสักกเทวราชวิ่งไปกับรถทีเดียว มโหสถบัณฑิตสั่งให้กลับรถแล้วแจ้งแก่มหาชนว่า บุรุษนี้ไปได้หน่อยหนึ่งก็ปล่อยรถยืนอยู่ แต่บุรุษนี้วิ่งไปกับรถ กลับมากับรถ แม้เพียงหยาดเหงื่อจากร่างของเขาก็ไม่มี หายใจออกหายใจเข้าก็ไม่มี หาความสะทกสะท้านมิได้ นัยน์ตาก็ไม่กระพริบ ผู้นี้คือท้าวสักกเทวราช

ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตถามว่า ท่านเป็นท้าวสักกเทวราชมิใช่หรือ ครั้นได้รับตอบว่าใช่ จึงถามว่า พระองค์เสด็จมาที่นี้เพื่ออะไร ครั้นได้รับตอบว่า เพื่อประกาศปัญญาของเธอนั่นแหละ จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นพระองค์อย่าได้กระทำอย่างนี้อีก

ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะแสดงสักกานุภาพ ก็สถิตอยู่ในอากาศ ตรัสชมเชยมโหสถบัณฑิตว่า เธอวินิจฉัยความได้ดี เธอวินิจฉัยความได้ดี แล้วเสด็จกลับยังทิพยสถานของตน

กาลนั้น อำมาตย์นั้นไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราชด้วยตนเอง ถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า ความเรื่องรถมโหสถกุมารวินิจฉัยดีอย่างนี้ แม้ท้าวสักกเทวราชก็ยังแพ้ เหตุไรพระองค์จึงไม่ทรงทราบบุรุษพิเศษเล่า ขอเดชะ พระราชาตรัสถามเสนกอาจารย์ว่า ควรนำบัณฑิตมาหรือยัง อาจารย์เสนกะเป็นคนตระหนี่จึงได้ทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้าบุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตด้วยเหตุเพียงเท่านี้ โปรดรอไปก่อน เราจักทดลองเขาแล้วจักรู้ พระราชาทรงดุษณีภาพ

จบปัญหาของทารก ๗ ข้อ


หัวข้อว่า ท่อนไม้

วันหนึ่งพระเจ้าวิเทหราชทรงดำริจะทดลองมโหสถบัณฑิต จึงให้นำท่อนไม้ตะเคียนมา ให้ตัดเอาเพียง ๑ คืบให้ช่างกลึงกลึงให้ดีแล้ว ให้ส่งไปยังชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ด้วยพระราชาอาณัติว่า

ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงแจ้งว่า ท่อนไม้ตะเคียนนี้ ข้างนี้ปลายข้างนี้โคน ถ้าไม่มีใครรู้ จะปรับพันกหาปณะ

ชาวบ้านต่างประชุมกัน เมื่อไม่อาจจะรู้ได้ จึงบอกแก่ท่านสิริวัฒกเศรษฐีว่า บางทีมโหสถบัณฑิตจะรู้ ขอให้เรียกเขามาถาม ท่านมหาเศรษฐีให้เรียกมโหสถบัณฑิตมาแต่สนามเล่น บอกเนื้อความนั้นแล้วถามว่า พวกเราไม่อาจจะรู้ปัญหานี้ พ่ออาจจะรู้บ้างไหม

พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้ว คิดว่า จริงๆ แล้วพระราชานั้นจะต้องพระประสงค์จะทราบเรื่องปลายหรือโคนของไม้ตะเคียนท่อนนี้ก็หาไม่ แต่ประทานไม้ตะเคียนท่อนนี้มาเพื่อจะทดลองเรา จึงกล่าวว่า นำมาเถิดพ่อ ข้าพเจ้าจักรู้เรื่องนั้น

ลำดับนั้น ท่านเศรษฐีให้นำท่อนไม้ตะเคียนมาให้แก่มโหสถบัณฑิต พระโพธิสัตว์รับท่อนไม้ตะเคียนนั้นด้วยมือเท่านั้นก็รู้ได้ว่า ข้างนี้ปลาย ข้างนี้โคน แต่ถึงแม้จะรู้อยู่ก็ให้นำภาชนะน้ำมาเพื่อกำหนดใจของมหาชน แล้วเอาด้ายผูกตรงกลางของท่อนไม้ตะเคียน ถือปลายด้ายไว้ วางท่อนไม้ตะเคียนบนน้ำ พอวางเท่านั้น โคนก็จมลงก่อนเพราะหนัก

แต่นั้นพระโพธิสัตว์จึงถามมหาชนว่า ธรรมดาต้นไม้โคนหนัก หรือปลายหนัก เมื่อมหาชนตอบว่า โคนหนัก จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ส่วนของไม้ตะเคียนท่อนนี้จมลงก่อน จึงเป็นโคน แล้วบอกปลายและโคนด้วยสัญญานี้ ชาวบ้านส่งข่าวทูลพระราชา

พระราชาทรงยินดี ตรัสถามว่า ใครรู้ เมื่อชาวบ้านกราบทูลว่า มโหสถบัณฑิตบุตรสิริวัฒกเศรษฐี พระเจ้าข้า ทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า ท่านอาจารย์เสนกะ เราควรนำมโหสถบัณฑิตมาหรือยัง เสนกอาจารย์ทูลว่า รอไว้ก่อน เราจักทดลองด้วยอุบายอื่นอีก พระราชาตรัสว่า ดีแล้ว ท่านเสนกะ


หัวข้อว่า ศีรษะ

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชให้นำศีรษะ ๒ ศีรษะ คือศีรษะหญิงและศีรษะชายมา แล้วส่งไปให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามทำนาย โดยมีพระราชาณัติว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงรู้ว่า นี้ศีรษะหญิง นี้ศีรษะชาย ถ้าไม่รู้ จะปรับไหมพันกหาปณะ ชาวบ้านเมื่อไม่รู้จึงถามพระมหาสัตว์ พระมหาสัตว์พอเห็นเท่านั้นก็รู้ รู้ได้อย่างไร คือ แสกในศีรษะชายตรง แสกในศีรษะหญิงคด มโหสถบัณฑิตแจ้งว่า นี้ศีรษะหญิงนี้ศีรษะชาย ด้วยความรู้ยิ่งนี้ ชาวบ้านก็ส่งข่าวกราบทูลแด่พระราชาอีก ข้อความที่เหลือเหมือนนัยอันมีในก่อนนั่นเอง


หัวข้อว่า งู

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชให้นำงูตัวผู้และงูตัวเมียมา ส่งไปให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ด้วยพระราชาณัติว่าชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จงรู้ว่า นี้งูตัวผู้ นี้งูตัวเมีย เมื่อไม่มีใครรู้ จะปรับไหมพันกหาปณะ ชาวบ้านเมื่อไม่รู้ จึงถามมโหสถบัณฑิต มโหสถบัณฑิตนั้นพอเห็นเท่านั้นก็รู้ ด้วยว่า หางของงูตัวผู้ใหญ่ หางของงูตัวเมียเรียว หัวของงูตัวผู้ใหญ่ หัวของงูตัวเมียเรียวยาว นัยน์ตาของงูตัวผู้ใหญ่ ของงูตัวเมียเล็ก ลวดลายของงูตัวผู้ติดต่อกัน ลวดลายของงูตัวเมียขาด มโหสถบัณฑิตแจ้งแก่ชาวบ้านว่า นี้งูตัวผู้ นี้งูตัวเมีย ด้วยความรู้ยิ่งเหล่านี้ ข้อความที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล


หัวข้อว่า ไก่

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชส่งข่าวไปแก่ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงส่งโคตัวผู้อันเป็นมงคล ขาวทั้งตัว มีเขาที่เท้า มีโหนกที่หัว ร้องไม่ล่วง ๓ เวลา มาแก่เรา ถ้าไม่ส่ง จะปรับไหมพันกหาปณะ ชาวบ้านเหล่านั้นเมื่อไม่รู้ จึงถามมโหสถบัณฑิต มโหสถบัณฑิตกล่าวว่า พระราชาให้สั่งไก่ขาวทั้งตัวไปถวายนั่นเอง เพราะว่าไก่นั้นชื่อว่ามีเขาที่เท้า เพราะมีเดือยที่เท้า ชื่อว่ามีโหนกที่หัว เพราะมีหงอนที่หัว ชื่อว่าร้องไม่ล่วง ๓ เวลา เพราะขัน ๓ ครั้ง ฉะนั้นท่านทั้งหลายจงส่งไก่มีลักษณะอย่างนี้ไปถวาย ชาวบ้านเหล่านั้นก็ส่งไปถวายแด่พระราชา พระราชาทรงยินดี


หัวข้อว่า แก้วมณี

ดวงแก้วมณีที่ท้าวสักกเทวราชประทานแก่พระเจ้ากุสราชมีอยู่ ดวงแก้วมณีนั้นมีโค้งในที่ ๘ แห่ง ด้ายเก่าของดวงแก้วมณีนั้นขาด ไม่มีใครจะสามารถนำด้ายเก่าออกแล้วร้อยด้ายใหม่เข้าไป วันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชให้ส่งข่าวไปถึงชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามว่าชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงนำด้ายเก่าออกจากดวงแก้วมณีนี้ แล้วร้อยด้ายใหม่เข้าแทน ถ้าร้อยไม่ได้จะปรับไหมพันกหาปณะ

พวกมนุษย์ชาวบ้านไม่สามารถจะนำด้ายเก่าออกแล้วร้อยด้ายใหม่เข้าแทนได้ เมื่อไม่สามารถจึงแจ้งแก่มโหสถบัณฑิต มโหสถบัณฑิตกล่าวว่า อย่าวิตกไปเลย แล้วให้นำน้ำผึ้งมาทาช่องแก้วมณีทั้งสองข้าง ให้ฟั่นด้วยขนสัตว์เอาน้ำผึ้งทาปลายด้ายนั้น ร้อยเข้าไปในช่องหน่อยหนึ่ง วางไว้ในที่มดแดงทั้งหลายจะออก เหล่ามดแดงพากันออกจากที่อยู่ของมันมากินด้ายเก่าในแก้วมณี แล้วไปคาบปลายด้ายขนสัตว์ใหม่คร่าออกมาทางข้างหนึ่ง มโหสถบัณฑิตรู้ว่า ด้ายนั้นเข้าไปแล้ว ก็ให้แก่ชาวบ้าน ให้ถวายแด่พระราชา พระราชามีพระดำรัสถาม ทรงสดับอุบายวิธีให้ด้ายนั้นเข้าไปได้ ทรงยินดี


หัวข้อว่า ให้โคตัวผู้ตกลูก

ได้ยินว่า วันหนึ่งพระราชาตรัสสั่งให้ราชบุรุษให้โคตัวผู้ เป็นมงคลเคี้ยวกินกุมมาสเป็นอันมากจนท้องโตให้ชำระล้างเขาทั้งสองแล้วทาด้วยน้ำมัน ให้เอาน้ำขมิ้นรดตัวส่งไปยังชาวบ้านนั้นด้วยพระราชาณัติว่า ได้ยินว่า พวกท่านเป็นนักปราชญ์ โคตัวผู้มงคลของพระราชานี้ตั้งครรภ์ ท่านทั้งหลายจงให้โคตัวผู้นี้ตกลูก แล้วส่งกลับไปพร้อมด้วยลูก เมื่อไม่ส่งจะปรับไหมพันกหาปณะ

พวกมนุษย์ชาวบ้านปรึกษากันว่า พวกเราไม่สามารถจะทำได้อย่างนี้ จักทำอย่างไร จึงถามมโหสถบัณฑิต

มโหสถบัณฑิตคิดว่า เรื่องนี้ต้องย้อนปัญหา จึงถามว่า พวกท่านจักอาจหาคนที่แกล้วกล้าสามารถทูลกับพระราชาได้หรือ

ชาวบ้านตอบว่าเรื่องนั้นไม่หนักใจเลย ท่านบัณฑิต

ถ้าเช่นนั้น จงเรียกเขามา

ชาวบ้านเหล่านั้นเรียกเขามาแล้ว ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ กล่าวกะเขาว่า ท่านจงสยายผมของท่านไว้ข้างหลังแล้วคร่ำครวญใหญ่มีประการต่างๆ ไปสู่ทวารพระราชนิเวศน์ ใครถามอย่าตอบ คร่ำครวญเรื่อยไป พระราชาตรัสเรียกมาถามเหตุที่เทวนาการ จงถวายบังคมแล้วทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่สมมติเทพ บิดาของข้าพระองค์ไม่อาจจะคลอดบุตร วันนี้เป็นวันครบ ๗ ขอสมมติเทพทรงเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์ โปรดทรงทำอุบายที่จะคลอดบุตรแก่บิดาของข้าพระองค์ เมื่อพระราชาตรัสว่า คนคลั่งอะไร ข้อนั้นไม่ใช่ฐานะ ธรรมดาบุรุษคลอดบุตรมีหรือ จงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ถ้าว่าอย่างนี้มีไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จะยังมงคลอุสภให้ตกลูกได้อย่างไร

บุรุษนั้นรับคำจะทำตามที่สั่งนั้นได้ ก็ได้ทำไปอย่างนั้น พระราชาทรงสดับคำบุรุษนั้น ตรัสถามว่า ย้อนปัญหานี้ใครคิด ได้ทรงทราบว่า มโหสถบัณฑิตคิด ก็โปรดปราน


หัวข้อว่า ข้าว

ในวันอื่นอีก พระราชาทรงดำริว่า เราจักทดลองมโหสถ จึงให้ส่งข่าวไปว่า ได้ยินว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามเป็นคนฉลาด ชาวบ้านนั้นจงหุงข้าวเปรี้ยวให้ประกอบด้วยองค์ ๘ มาให้เรา

องค์ ๘ นั้น คือ ไม่ให้หุงด้วยข้าวสาร ไม่ให้หุงด้วยน้ำ ไม่ให้หุงด้วยหม้อข้าว ไม่ให้หุงด้วยเตาหุงข้าว ไม่ให้หุงด้วยไฟ ไม่ให้หุงด้วยฟืน ไม่ให้หญิงหรือชายยกมา ไม่ให้นำมาส่งโดยทาง พวกนั้นส่งมาไม่ได้ จะปรับไหมพันกหาปณะ

พวกชาวบ้านหารู้เหตุไม่ จึงแจ้งแก่มโหสถบัณฑิต มโหสถบัณฑิตกล่าวว่าอย่าตกใจไปเลย แล้วชี้ให้เห็นว่า ให้หุงด้วยข้าวแหลก อันไม่ชื่อว่าข้าวสาร ให้หุงด้วยน้ำค้าง อันไม่ชื่อว่าน้ำปกติ ให้หุงด้วยภาชนะดินใหม่ อันไม่ชื่อว่าหม้อข้าว ให้ตอกตอไม้ตั้งภาชนะนั้นหุง อันไม่ชื่อว่าหุงด้วยเตา ให้หุงด้วยไฟที่สีกันเกิดขึ้น อันไม่ชื่อว่าไฟปกติ ให้หุงด้วยใบไม้ อันไม่ชื่อว่าฟืน ชื่อว่าหุงข้าวเปรี้ยว แล้วบรรจุในภาชนะใหม่ผูกด้วยด้ายประทับตรา อย่าให้หญิงหรือชายยกไป ให้กระเทยยกไป ไปโดยทางน้อยละทางใหญ่เสีย อันชื่อว่าไม่มาโดยทาง ส่งข้าวเห็นปานดังนี้ไปถวายพระราชา ชาวบ้านได้ทำตามนัยนั้นพระราชาทอดพระเนตรเห็นกิริยานั้น จึงตรัสถามว่า ปัญหานี้ใครรู้ ทรงทราบว่า มโหสถรู้ ก็โปรดปราน


หัวข้อว่า ชิงช้าห้อยด้วยเชือกทราย

ในวันนั้นอีกพระราชาให้ส่งข่าวไปยังชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม เพื่อทดลองมโหสถบัณฑิตว่า พระราชาใคร่จะทรงเล่นชิงช้าห้อยด้วยเชือกทราย เชือกทรายเก่าในราชสกุลขาดเสียแล้ว ให้ชาวบ้านนั้นฟั่นเชือกทรายหนึ่งเส้นส่งมาถวาย ถ้าส่งมาถวายไม่ได้ จะปรับไหมพันกหาปณะ

ชาวบ้านเหล่านั้นไม่รู้เหตุ จึงแจ้งแก่มโหสถบัณฑิต มโหสถบัณฑิตคิดว่า เรื่องนี้ต้องย้อนปัญหา พูดเอาใจชาวบ้านไม่ให้วิตกแล้ว เรียกคนฉลาดพูดมาสองสามคน สั่งสอนให้ไปทูลพระราชาว่าข้าแต่สมมติเทพ ชาวบ้านไม่ทราบประมาณแห่งเชือกนั้นว่าเล็กใหญ่เท่าไรขอสมมติเทพโปรดให้ส่งท่อนแต่เชือกทรายเส้นเก่าสักหนึ่งคืบ หรือสี่นิ้วเป็นตัวอย่าง ชาวบ้านเห็นประมาณนั้นแล้ว จักได้ฟั่นเท่านั้น ถ้าพระราชารับสั่งแก่ท่านทั้งหลายว่า เชือกทรายในพระราชฐานของเราไม่เคยมีแต่ไหนมา ท่านทั้งหลายจงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช เชือกทรายตัวอย่างนั้นไม่มี ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จักทำอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า ชาวบ้านเหล่านั้นไปทำตามมโหสถแนะนำ พระราชาตรัสถามว่า ย้อนปัญหานี้ใครคิด ทรงทราบว่า มโหสถคิด ก็ทรงยินดี


หัวข้อว่า สระน้ำ

ในวันอื่นอีก พระเจ้าวิเทหราชให้ส่งข่าวแก่ชาวบ้านเหล่านั้น เพื่อจะทดลองมโหสถว่า พระราชามีพระราชประสงค์จะทรงเล่นน้ำ ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงส่งสระโบกขรณีอันดาดาษด้วยบัวเบญจพรรณมา ถ้าพวกชาวบ้านนั้นไม่ส่งมา จะปรับไหมพันกหาปณะ

ชาวบ้านเหล่านั้นแจ้งแก่มโหสถบัณฑิต มโหสถบัณฑิตคิดว่า เรื่องนี้ต้องย้อนปัญหา จึงสั่งให้เรียกคนผู้ฉลาดพูดมาสองสามคน สั่งสอนให้พูดแล้วส่งไปให้ทูลว่า ท่านทั้งหลายจงเล่นน้ำจนตาแดง ทั้งผมทั้งผ้ายังเปียกตัวเปื้อนโคลน ถือเชือกก้อนดินและท่อนไม้ไปสู่ทวารพระราชนิเวศน์ ให้กราบทูลความที่มายืนคอยเฝ้าพระราชา ได้โอกาสแล้วเข้าเฝ้ากราบทูลว่าข้าแต่พระมหาราชเจ้า เพราะทรงส่งข่าวไปให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามส่งสระโบกขรณีมาถวาย ก็แต่สระโบกขรณีนั้น เห็นพระนครอันมีกำแพง คูประตู หอรบ ก็กลัว ตัดเชือกหนีเข้าป่าไป เพราะเคยอยู่ในป่า พวกข้าพระองค์โบยตีด้วยก้อนดินและท่อนไม้ ก็ไม่สามารถจะให้กลับ ขอพระองค์โปรดพระราชทานสระโบกขรณีเก่าของพระองค์ที่นำมาแต่ป่า พวกข้าพระองค์จักผูกควบเข้ากับสระโบกขรณีใหม่นำมาถวาย เมื่อพระราชารับสั่งว่า สระโบกขรณีของเราที่นำมาแต่ป่า ไม่เคยมีมาแต่กาลไหนๆ เราไม่เคยส่งสระโบกขรณีไปเพื่อผูกกับอะไรๆ นำมาฉะนี้ จงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ถ้าเมื่ออย่างนี้ ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จักส่งสระโบกขรณีมาถวายอย่างไรได้ ชาวบ้านที่รับคำแนะนำของมโหสถ ก็ไปทำตามทุกประการ พระราชาทรงทราบว่า มโหสถรู้ปัญหานี้ ก็ทรงยินดี


หัวข้อว่า อุทยาน

อีกวันหนึ่ง โปรดให้ส่งข่าวไปอีกโดยพระราชาณัติว่า พระองค์ใคร่จะทรงเล่นอุทยาน ก็แต่ราชอุทยานต้นไม้เก่าหักโค่นเสียหมด ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จงส่งอุทยานใหม่ ให้ดาดาษไปด้วยดรุณรุกขชาติทรงดอกบานงามเข้ามาถวาย ถ้าไม่ส่งเข้ามาตามพระราชประสงค์ จะปรับไหมพันกหาปณะ

ชาวบ้านเหล่านั้นไม่รู้เหตุก็นำความแจ้งแก่มโหสถ มโหสถบัณฑิตคิดว่า เรื่องนี้ต้องย้อนปัญหา จึงเรียกคนทั้งหลายมาสั่งไปโดยนัย อันมีในก่อนนั่นแล คนเหล่านั้นก็ไปทำตามสั่ง

พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสถามเสนกอาจารย์ว่า เราควรนำมโหสถบัณฑิตมาละกระมัง อาจารย์เสนกะกราบทูลด้วยความตระหนี่ลาภสักการะว่า บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ขอได้ทรงรอไปก่อน

พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำของเสนกบัณฑิตแล้วมีพระดำริว่า มโหสถบัณฑิตแก้ปัญหาแห่งทารกทั้ง ๗ ข้อถูกใจเรา การพยากรณ์ในการทดลองปัญหาลึกลับ และในการย้อนปัญหาเห็นปานนี้ของมโหสถนั้น เป็นดุจของพระพุทธเจ้า อาจารย์เสนกะไม่ให้นำบัณฑิตเห็นปานนี้มาในที่นี้ เราจะต้องการอะไร ด้วยเสนกะคัดค้าน เราจักนำมโหสถบัณฑิตนั้นมา

พระเจ้าวิเทหราชก็เสด็จไปสู่บ้านนั้นด้วยบริวารใหญ่ เมื่อพระราชาทรงม้ามงคลเสด็จไป กีบของม้ากระทบพื้นระแหงก็แตก พระราชาก็เสด็จกลับจากตรงนั้นเข้าพระนคร

ลำดับนั้น อาจารย์เสนกะเข้าเฝ้าพระราชาทูลถามว่า พระองค์เสด็จไปบ้านปาจีนยวมัชฌคาม เพื่อนำมโหสถบัณฑิตมาหรือ พระเจ้าข้า

ครั้นได้ฟังกระแสรับสั่งว่าเสด็จไป จึงทูลว่าข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ทึกทักเอาข้าพระองค์ว่าเป็นผู้ใคร่ความพินาศ ก็ทรงพิจารณ์ เห็นหรือยัง ในเมื่อข้าพระองค์ทัดทานให้ทรงรอไว้ก่อน ก็บังเอิญกีบม้ามงคลรีบด่วนออกไปแตกเมื่อไปครั้งแรกทีเดียว พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำของเสนกะก็ทรงดุษณีภาพ



>>>>> มีต่อ หน้า ๕
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 14 ต.ค.2006, 9:52 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หัวข้อว่า ลา

อีกวันหนึ่งพระเจ้าวิเทหราชทรงปรึกษากับเสนกะว่า เราจะนำมโหสถมา เสนกะทูลว่า พระองค์อย่าเสด็จไปเอง ส่งทูตไปยังมโหสถว่า เมื่อพระองค์เสด็จไปสู่สำนักเธอ กีบม้าที่นั่งแตก เธอจงส่งม้าอัสดรหรือม้าประเสริฐกว่าม้าสามัญมา ถ้าเธอจักส่งม้าอัสดรมา เธอจงมาเอง แต่เมื่อจะส่งแต่ม้าประเสริฐมา จงส่งบิดาของเธอมาด้วย ปัญหาของเรานี้แหละจักถึงที่สุด

พระราชาทรงเห็นชอบด้วย จึงส่งราชทูตไปดังว่านั้น

มโหสถบัณฑิตได้ฟังคำราชทูต จึงคิดว่า พระราชาทรงใคร่จะพบเราและบิดาของเรา จึงไปหาบิดาไหว้แล้วกล่าวว่า พระราชาทรงใคร่จะพบบิดาและข้าพเจ้า ขอบิดาจงพร้อมด้วยอนุเศรษฐีพันหนึ่งเป็นบริวารไปเฝ้าก่อน เมื่อไปอย่าไปมือเปล่า จงเอาผอบไม้จันทน์เต็มด้วยเนยใสใหม่ไปด้วย พระราชาจักตรัสปฏิสันถารกับบิดา ตรัสเรียกให้นั่งว่า จงนั่งที่อาสน์อันสมควร บิดาจงพิจารณาอาสน์อันสมควรแล้วนั่ง เมื่อบิดานั่งแล้ว ข้าพเจ้าจักไป พระราชาจักตรัสทักทายข้าพเจ้า ตรัสสั่งให้นั่งว่าจงนั่งที่อาสนะอันสมควร แต่นั้นข้าพเจ้าจักแลดูบิดา บิดาจงลุกจากอาสน์ด้วยสัญญานั้น กล่าวว่า แน่ะพ่อมโหสถ พ่อจงนั่ง ณ อาสน์นี้ ปัญหาอย่างหนึ่งจักถึงที่สุดในวันนี้

สิริวัฒกเศรษฐีรับจะทำตามนั้น แล้วก็ไปโดยนัยที่กล่าวแล้ว ให้ทูลความที่ตนมายืนรออยู่ที่พระทวารแด่พระราชา ครั้นได้พระราชานุญาตแล้วจึงเข้าไปเฝ้า ถวายบังคมพระราชา ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง

พระราชาทรงทักทายปราศรัยตรัสถามว่า ดูก่อนคฤหบดี มโหสถบุตรของท่านอยู่ไหน

เศรษฐีทูลตอบว่า มาภายหลัง

พระราชาทรงทราบดังนี้ก็ดีพระหฤทัยตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงดูอาสน์ควรแก่ตนนั่ง

เศรษฐีนั้นก็นั่ง ณ อาสน์ที่ควรแก่ตนในที่ส่วนหนึ่ง

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ประดับตกแต่งตัวแล้ว มีเด็กพันหนึ่งห้อมล้อมนั่งรถที่ประดับแล้ว เมื่อเข้าสู่พระนคร เห็นลาตัวหนึ่งเที่ยวอยู่ที่หลังคู จึงสั่งบริวารที่มีกำลังแข็งแรงว่า เจ้าจงผูกลาตัวหนึ่งที่ปากอย่าให้ร้องได้แล้วห่อด้วยเสื่อลำแพน ให้นอนในเครื่องลาดแบกมา บริวารเหล่านั้นก็ทำตามสั่ง

มโหสถไปถึงทวารพระราชฐาน ให้กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาทรงสดับว่ามโหสถมา ก็ทรงโสมนัสตรัสว่า มโหสถบุตรเรา จงรีบมาเถิด

มโหสถพร้อมด้วยเด็กพันหนึ่งเป็นบริวาร ขึ้นสู่ปราสาทถวายบังคมพระราชา ยืนอยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่ง พระราชาทอดพระเนตรเห็นมโหสถก็ทรงพระปราโมทย์ ตรัสปฏิสันถารอย่างอ่อนหวานว่า แน่ะบัณฑิตเจ้าจงรู้อาสน์ที่สมควรนั่งเถิด

กาลนั้น พระโพธิสัตว์แลดูเศรษฐีผู้บิดา ลำดับนั้นบิดาของมโหสถก็ลุกจากอาสน์ด้วยสัญญาที่บุตรแลดูแล้ว กล่าวว่า แน่ะบัณฑิตเจ้าจงนั่งที่อาสน์นี้

มโหสถก็นั่งที่อาสน์นั้น

เสนกะ ปุกกุสะ กามินทะ เทวินทะและชนเหล่าอื่นผู้โฉดเขลา ก็พากันตบมือสรวลเสเฮฮาเยาะเย้ยว่า คนทั้งหลายพากันเรียกคนโฉดเขลาผู้นี้ว่าบัณฑิต การเรียกผู้ที่ให้บิดาลุกจากอาสน์ แล้วตนนั่งเสียเองนี้ว่า บัณฑิต ไม่สมควร

พระราชามีพระพักตร์เศร้าหมอง ทรงเสียพระหฤทัย

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลถามพระราชาว่า พระองค์เสียพระราชหฤทัยหรือพระเจ้าข้า

พระราชามีพระราชดำรัสตอบว่า เออ ข้าเสียใจ เพราะได้ฟังความเป็นไปของเจ้าก็เป็นที่ยินดี แต่พอได้เห็นความเป็นไปของเจ้าก็เกิดเสียใจ เพราะว่าเจ้าให้บิดาของเจ้าลุกจากอาสน์แล้วเจ้านั่งเสียเอง

มโหสถจึงทูลถามว่า ก็พระองค์ทรงสำคัญว่า บิดาอุดมกว่าบุตรในที่ทั่วไปหรือ

ครั้นตรัสตอบว่า เข้าใจอย่างนั้น

จึงกราบทูลว่า พระองค์พระราชทานข่าวไปว่า ให้ข้าพระบาทส่งม้าอัสดรหรือม้าประเสริฐกว่าม้าสามัญมาถวายไม่ใช่หรือพระเจ้าข้า

กราบทูลดังนี้แล้ว ลุกจากอาสน์ให้บริวารให้นำลาที่นำมานั้น มาให้นอนแทบพระบาทยุคลแห่งพระเจ้าวิเทหราช แล้วกราบทูลถามว่า ลานี้ราคาเท่าไรพระเจ้าข้า

พระราชาตรัสตอบว่า ราคามัน ๘ กหาปณะ

มโหสถทูลถามต่อไปว่า ก็ม้าอัสดรอาศัยลานี้เกิดในท้องนางม้าสามัญ หรือนางลาอันเป็นแม่ม้าอาชาไนย ม้าอัสดรนั้นจักมีราคาเล่าไรเล่า พระเจ้าข้า

ครั้นพระราชาตรัสตอบว่า หาค่ามิได้ซิ เจ้าบัณฑิต

ข้าแต่สมมติเทพ เหตุไรตรัสดังนั้น ก็พระองค์ตรัสเมื่อกี้นี้ว่า บิดาอุดมกว่าบุตรในที่ทุกสถานมิใช่หรือ ถ้าพระราชดำรัสนั้นจริง ลาก็อุดมกว่าม้าอัสดรของพระองค์ พระองค์จงทรงรับลานั้นไว้ ถ้าว่าม้าอัสดรอุดมกว่าลาทั้งหลายพระองค์จงทรงรับม้าอัสดรนั้นไว้ ก็เป็นอย่างไร บัณฑิตทั้งหลายของพระองค์จึงไม่สามารถจะรู้เหตุเท่านี้ พากันตบมือหัวเราะเฮฮา โอ บัณฑิตทั้งหลายของพระองค์บริบูรณ์ด้วยปัญญา พวกนั้นพระองค์ได้มาแต่ไหน

ครั้นทูลอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ก็กราบทูลว่า ถ้าบิดาประเสริฐกว่าบุตรทั้งหลาย ขอได้ทรงรับบิดาของข้าพระองค์ไว้ ถ้าบุตรประเสริฐกว่าบิดา ขอได้ทรงรับข้าพระองค์ไว้ เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำนั้นก็ทรงโสมนัส ราชบริษัททั้งปวงก็แซ่ซ้องสาธุการว่า มโหสถบัณฑิตกล่าวปัญหาดีแล้ว บัณฑิต ๔ คน ต่างมีหน้าเศร้าหมองซบเซาไปตามๆ กัน

ปุจฉาว่า บุคคลผู้รู้คุณแห่งบิดามารดา เช่นกับพระโพธิสัตว์ย่อมไม่มีมิใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรพระโพธิสัตว์จึงทำอย่างนี้

วิสัชนาว่า พระโพธิสัตว์นั้นได้ทำอย่างนั้น เพื่อประสงค์จะดูหมิ่นบิดาก็หาไม่ ก็แต่พระราชาส่งข่าวไปว่า ให้ส่งม้าอัสดรหรือม้าประเสริฐกว่าม้าสามัญมาถวาย เพราะฉะนั้นจึงทำอย่างนี้ เพื่อจะทำปัญหานั้นให้แจ่มแจ้งเพื่อจะประกาศความที่ตนเป็นบัณฑิต และเพื่อจะทำอาจารย์ทั้ง ๔ มีเสนกะเป็นต้นให้หมดรัศมี


หัวข้อว่า พระเจ้าวิเทหราชทรงรับมโหสถบัณฑิตไว้เป็นราชบุตร

พระเจ้าวิเทหราชทรงยินดี จับพระเต้าทองคำอันเต็มด้วยน้ำหอมทรงหลั่งน้ำนั้นลงในมือสิริวัฒกเศรษฐี พระราชทานให้ปกครองปาจีนยวมัชฌคาม แล้วตรัสว่า เหล่าอนุเศรษฐีจงบำรุงสิริวัฒกเศรษฐี แล้วให้ส่งเครื่องสรรพาลังการพระราชทานแก่นางสุมนาเทวีมารดาพระโพธิสัตว์

พระเจ้าวิเทหราชทรงเลื่อมใสในปัญหาลา จึงตรัสกะเศรษฐีเพื่อจะทรงรับพระโพธิสัตว์ไว้เป็นราชบุตรที่รักของพระองค์ว่า ดูก่อนคฤหบดีผู้เจริญ ท่านจงให้มโหสถบัณฑิตไว้เป็นราชบุตรแห่งเรา

เศรษฐีทูลค้านว่า ข้าแต่สมมติเทพ มโหสถบุตรของข้าพระองค์นี้ยังเด็กนัก จนถึงวันนี้ กลิ่นน้ำนมในปากของเธอยังได้กลิ่นอยู่ ต่อในกาลเมื่อเธอเป็นผู้ใหญ่ เธอจึงอยู่ในราชสำนัก

พระราชาตรัสว่า นับแต่นี้ไปท่านอย่าห่วงใยในมโหสถเลย มโหสถนี้จักเป็นราชบุตรของเราแต่วันนี้ไปเราพอจะเลี้ยงบุตรของท่านได้ ท่านจงกลับบ้านเถิด

ตรัสฉะนี้แล้วมีพระราชานุญาตให้เศรษฐีกลับบ้าน เศรษฐีถวายบังคมบรมกษัตริย์แล้วสวมกอดมโหสถให้นอนแนบอก จุมพิตศีรษะ ให้โอวาทแก่มโหสถว่า แน่ะพ่อดุจดวงใจ ดุจดวงตาอันประเสริฐ พ่อมโหสถผู้บัณฑิต พ่ออย่าทำให้บิดาหาที่พึ่งมิได้ นับแต่นี้ไป พ่อจงบำรุงพระราชาของเราทั้งหลายด้วยความไม่ประมาทเถิด

มโหสถไหว้บิดาแล้วกล่าวว่า บิดาอย่าวิตกเลย แล้วส่งให้บิดากลับเคหสถานแห่งตน

พระเจ้าวิเทหราชตรัสถามมโหสถว่า เจ้าจักเป็นข้าหลวงเรือนในหรือข้าหลวงเรือนนอก พระโพธิสัตว์คิดว่า บริวารของเรามีมาก ควรเราจักเป็นข้าหลวงเรือนนอก จึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์จักเป็นข้าหลวงเรือนนอกลำดับนั้น พระราชาจึงพระราชทานเคหสถานอันสมควร แล้วพระราชทานเสบียงและเครื่องอุปโภคทั้งปวง ตลอดถึงบริวารพันหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมา มโหสถบัณฑิตก็รับราชการกับพระราชา ฝ่ายพระราชาก็ทรงใคร่จะทดลองมโหสถนั้นต่อไป


หัวข้อว่า แก้วมณีในรังกา

ก็กาลนั้น แก้วมณีได้มีอยู่ในรังกาบนต้นตาลต้นหนึ่งที่ริมฝั่งสระโบกขรณี ไม่ไกลประตูเบื้องทักษิณแห่งพระนคร เงาของแก้วมณีนั้นปรากฏในสระโบกขรณี ชนทั้งหลายทูลแด่พระราชาว่า แก้วมณีมีอยู่ในสระโบกขรณีพระราชาตรัสเรียกเสนกะมาตรัสถามว่า แน่ะอาจารย์เสนกะ ได้ยินว่า มณีรัตนะปรากฏในสระโบกขรณี ทำอย่างไร จึงจะถือเอาแก้วมณีนั้นได้

ครั้นเสนกทูลว่า ควรวิดน้ำถือเอา จึงมอบการนั้นให้เป็นภาระของเสนก อาจารย์เสนกให้คนเป็นอันมากประชุมกันวิดน้ำโกยตมออกจากสระโบกขรณี แม้ขุดถึงพื้นก็ไม่เห็นแก้วมณี เมื่อน้ำเต็มสระโบกขรณี เงาแก้วมณีก็ปรากฏอีก เสนกก็ทำดังนั้นอีก ก็ไม่เห็นแก้วมณีนั้นเลย

ต่อนั้นพระราชาตรัสเรียกมโหสถบัณฑิตมาตรัสว่า แก้วมณีดวงหนึ่งปรากฏในสระโบกขรณี อาจารย์เสนกให้นำน้ำและโคลนออกจากสระโบกขรณี กระทั่งขุดพื้นก็ไม่เห็นแก้วมณีนั้น เมื่อน้ำเต็มสระโบกขรณี เงาแก้วมณีก็ปรากฏอีก เจ้าสามารถจะให้เอาแก้วมณีนั้นมาได้หรือ

มโหสถกราบทูลสนองว่า ข้อนั้นหาเป็นการหนักไม่ พระเจ้าข้า เชิญเสด็จเถิด ข้าพระองค์จักแสดงแก้วมณีนั้นถวาย

พระเจ้าวิเทหราชได้สดับดังนั้นก็ทรงดีพระหฤทัย ทรงคิดว่า วันนี้เราจักเห็นกำลังปัญญาของมโหสถบัณฑิต ก็เสด็จพร้อมด้วยข้าราชบริพารไปสู่ฝั่งโบกขรณี

พระมหาสัตว์ยืนที่ฝั่งแลดูมณีรัตนะก็รู้ว่า แก้วมณีนี้ไม่มีในสระโบกขรณี มีอยู่บนต้นตาล จึงกราบทูลว่า แก้วมณีไม่มีในสระโบกขรณี พระเจ้าข้า

ครั้นพระเจ้าวิเทหราชรับสั่งว่า แก้วมณีปรากฏในน้ำไม่ใช่หรือ

พระมหาสัตว์จึงให้นำภาชนะสำหรับขังน้ำมาใส่น้ำเต็ม แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทอดพระเนตร แก้วมณีนี้หาได้ปรากฏในสระโบกขรณีแต่แห่งเดียวไม่ แม้ในภาชนะน้ำก็ปรากฏ

ครั้นพระเจ้าวิเทหราชตรัสถามว่า เจ้าบัณฑิต ก็แก้วมณีมีอยู่ที่ไหน

มโหสถบัณฑิตจึงกราบทูลสนองว่า ข้าแต่สมมติเทพเงาปรากฏในสระโบกขรณีบ้าง ในภาชนะน้ำบ้าง แก้วมณีไม่ได้อยู่ในสระโบกขรณี แต่แก้วมณีมีอยู่ในรังกาบนต้นตาล

พระเจ้าวิเทหราชจึงโปรดให้ราชบุรุษขึ้นไปนำลงมาถวายเถิด พระราชาก็ตรัสให้ราชบุรุษขึ้นไปนำแก้วมณีลงมา มโหสถบัณฑิตรับแก้วมณีจากราชบุรุษแล้ววางในพระหัตถ์ของพระราชา มหาชนให้สาธุการแก่มโหสถบัณฑิต บริภาษอาจารย์เสนก ชมเชยมโหสถว่า แก้วมณีอยู่บนต้นตาล เสนกโง่ให้คนมากมายขุดสระทำลายสระโบกขรณี แต่มโหสถบัณฑิตไม่ทำเช่นนั้น

แม้พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงโสมนัส พระราชทานสร้อยมุกดาหารเครื่องประดับพระศอของพระองค์ แก่มโหสถ พระราชทานสร้อยมุกดาวลีแก่ เด็กผู้เป็นบริวารพันหนึ่ง ทรงอนุญาตพระโพธิสัตว์พร้อมบริวารให้ปฏิบัติราชการโดยทำนองนี้

จบปัญหา ๑๙ ข้อ


หัวข้อว่า กิ้งก่าได้ทอง

อีกวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปพระราชอุทยานกับมโหสถบัณฑิต กาลนั้น มีกิ้งก่าตัวหนึ่งอยู่ที่ปลายเสาค่าย มันเห็นพระราชาเสด็จมาก็ลงจากเสาค่ายหมอบอยู่ที่พื้นดิน พระราชาทอดพระเนตรเห็นกิริยาของกิ้งก่านั้นจึงตรัสถามว่า แน่ะบัณฑิต กิ้งก่าตัวนี้ทำอะไร

มโหสถทูลตอบว่า กิ้งก่าตัวนี้ถวายตัว พระเจ้าข้า

พระราชาตรัสว่า การถวายตัวของกิ้งก่าอย่างนี้ ไม่มีผลก็หามิได้ ท่านจงให้โภคสมบัติแก่มัน

มโหสถกราบทูลว่ากิ้งก่านี้หาต้องการทรัพย์ไม่ ควรพระราชทานเพียงแต่ของกินก็พอ

ครั้นตรัสถามว่า มันกินอะไร

ทูลตอบว่า มันกินเนื้อ

แล้วตรัสซักถามว่า มันควรได้ราคาเท่าไร

ทูลว่า ราคาราวกากณึกหนึ่ง

จึงตรัสสั่งราชบุรุษหนึ่งว่า รางวัลของหลวงเพียงกากณึกหนึ่งไม่ควร เจ้าจงนำเนื้อราคากึ่งมาสกมาให้มันกินเป็นนิตย์

ราชบุรุษรับพระราชโองการ ทำดังนั้นนับแต่นั้นมา

วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ คนไม่ฆ่าสัตว์ ราชบุรุษนั้นไม่ได้เนื้อ จึงเจาะเหรียญกึ่งมาสกนั้นเอาด้ายร้อยผูกเป็นเครื่องประดับที่คอมัน ลำดับนั้น ความถือตัวก็เกิดขึ้นแก่กิ้งก่านั้น อาศัยมันมีกึ่งมาสกนั้น

วันนั้น พระราชาเสด็จไปพระราชอุทยานกิ้งก่านั้นเห็นพระราชาเสด็จมา ก็ทำตนเสมอพระราชาด้วย เหมือนจะเข้าใจว่าพระองค์มีพระราชทรัพย์มากหรือ ตัวเราก็มีมากเหมือนกัน ด้วยอำนาจความถือตัวอันอาศัยทรัพย์กึ่งมาสกนั้นเกิดขึ้น ไม่ลงจากปลายเสาค่าย หมอบยกหัวร่อนอยู่ไปมาบนปลายเสาค่ายนั่นเอง พระเจ้าวิเทหราชได้ทอดพระเนตรเห็นกิริยาของมัน เมื่อจะตรัสถามว่า แน่ะเจ้าบัณฑิต วันนี้ มันไม่ลงมาเหมือนในก่อน เหตุเป็นอย่างไรหรือ

ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตรู้ว่า ในวันอุโบสถ คนไม่ฆ่าสัตว์ มันอาศัยกึ่งมาสกที่ราชบุรุษผูกไว้ที่คอ เพราะหาเนื้อให้กินไม่ได้ ความถือตัวของมันจึงเกิดขึ้น ดังนี้จึงกล่าวว่า

กิ้งก่าได้กึ่งมาสก ซึ่งไม่เคยได้ จึงดูหมิ่นพระเจ้าวิเทหราช ผู้ทรงสงเคราะห์ชาวกรุงมิถิลา.

พระราชาตรัสให้เรียกราชบุรุษนั้นมาตรัสถาม ก็ได้ความสมจริงดังนั้น ก็ทรงเลื่อมใสในพระโพธิสัตว์เกินเปรียบ ด้วยเห็นว่า อัธยาศัยของกิ้งก่า มโหสถไม่ได้ถามอะไรๆ ก็รู้ได้ ดังพระสัพพัญญูพุทธเจ้ารู้อัธยาศัยเวไนยสัตว์ ฉะนั้น จึงพระราชทานส่วยที่ประตูทั้ง ๔ แก่มโหสถบัณฑิต แต่กริ้วกิ้งก่าทรงปรารภจะให้ฆ่าเสีย มโหสถทูลทัดทานพระราชาว่า ธรรมดาสัตว์ดิรัจฉานหาปัญญามิได้ ขอพระองค์โปรดยกโทษให้มันเถิด ขอเดชะ



>>>>> มีต่อ หน้า ๖
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 14 ต.ค.2006, 10:01 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หัวข้อว่า สิริกับกาลกรรณี

ครั้งนั้น มีมาณพคนหนึ่ง ชื่อ ปิงคุตตระ เป็นชาวมิถิลา ไปกรุงตักกศิลาเรียนศิลปะในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เรียนได้รวดเร็ว มาณพนั้นให้ทรัพย์เครื่องตอบคุณอาจารย์แล้วจึงลากลับบ้าน ก็ธรรมเนียมมีอยู่ว่า ถ้าธิดาในสกุลนั้นเป็นผู้เจริญวัย อาจารย์ต้องยกให้แก่ศิษย์ผู้ใหญ่ อาจารย์นั้นมีธิดาอยู่คนหนึ่ง มีรูปงามเปรียบด้วยเทพอัปสร ลำดับนั้น อาจารย์กล่าวกะปิงคุตตรมาณพนั้นว่า เราให้ธิดาแก่เจ้า เจ้าจงพาไปด้วย

แต่มาณพนั้นไม่ใช่ผู้มีบุญ เป็นคนกาลกรรณี ส่วนนางกุมาริกาเป็นผู้มีบุญมาก จิตของปิงคุตตรมาณพมิได้ปฏิพัทธ์เพราะเห็นนางกุมาริกานั้น มาณพนั้น แม้ไม่ปรารถนานางกุมาริกาก็ต้องรับด้วยคิดว่า เราจักไม่ทำลายคำของอาจารย์

พราหมณ์ทิศาปาโมกข์ได้ให้ธิดาแก่มาณพนั้น มาณพนั้นนอน ณ ที่นอนอันมีสิริที่ตกแต่งแล้วในเวลาราตรี ให้ละอายใจเนื่องเพราะนางกุมารีนั้นมาขึ้นนอนด้วย ก็ลงจากที่นอน มานอนที่พื้น ฝ่ายนางกุมาริกาก็ลงมานอนใกล้ๆ มาณพนั้น มาณพก็ลุกขึ้นไปบนที่นอน นางกุมาริกานั้นก็ขึ้นไปยังที่นอนอีก พอนางกุมาริกาขึ้นไปมาณพก็ลงจากที่นอน นอนที่พื้นอีก

ชื่อว่ากาลกรรณีย่อมไม่ร่วมกับสิริ

นางกุมาริกานอนที่ที่นอน มาณพนั้นนอนที่ภาคพื้น มาณพนั้นยังกาลให้ล่วงไปอย่างนี้สิ้นสัปดาห์หนึ่ง ก็พานางกุมาริกานั้นไหว้อาจารย์ออกจากพระนครตักกศิลา ในระหว่างทางมิได้พูดจาปราศรัยกันเลย ชนทั้งสองมิได้มีความปรารถนากัน

เมื่อได้มาถึงกรุงมิถิลาปิงคุตตรมาณพถูกความหิวเบียดเบียน เห็นต้นมะเดื่อต้นหนึ่งเต็มไปด้วยผลในที่ใกล้พระนคร ก็ขึ้นต้นไม้นั้น เคี้ยวกินผลมะเดื่อ ฝ่ายนางกุมาริกานั้นก็หิวโหยเช่นกัน จึงไปที่โคนต้นไม้กล่าวว่า ข้าแต่นาย จงทิ้งผลลงมาให้ข้าพเจ้าบ้าง

มาณพนั้นตอบว่า มือตีนของเจ้าไม่มีหรือเจ้าจงขึ้นมาเก็บกินเอง

นางก็ขึ้นไปเก็บเคี้ยวกิน มาณพเมื่อเห็นนางขึ้นมา ก็ได้โอกาส รีบลงล้อมสะต้นมะเดื่อด้วยหนามแล้วกล่าวว่า เราได้พ้นจากหญิงกาลกรรณีแล้ว แล้วก็หนีไป นางกุมาริกานั้นเมื่อไม่อาจลงจากต้นมะเดื่อ ก็นั่งอยู่บนนั้นนั่นเอง

วันนั้น พระเจ้าวิเทหราชเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ทรงเล่นอยู่ในพระราชอุทยานนั้นแล้วเมื่อประทับนั่งบนคอช้างเสด็จเข้าพระนครในเวลาเย็น ได้ทอดพระเนตรเห็นนางกุมาริกานั้น มีพระหฤทัยปฏิพัทธ์ในนาง จึงตรัสสั่งให้ถามว่า นางมีผู้หวงแหนหรือหาไม่

นางแจ้งว่า สามีของนางที่สกุลตบแต่งให้นั้นมีอยู่ แต่เขาให้ข้าพเจ้านั่งบนต้นไม้นี้ แล้วทิ้งข้าพเจ้าหนีไปเสีย

อำมาตย์กราบทูลความนั้นแด่พระราชา พระราชาทรงดำริว่า ภัณฑะไม่มีเจ้าของ ตกเป็นของหลวง จึงให้รับนางลงแล้วให้ขึ้นคอช้างนำไปราชนิเวศน์ อภิเษกสถาปนาไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี พระนางเป็นที่รัก เป็นที่ชอบพระหฤทัยแห่งพระราชา ชนทั้งหลายกำหนดรู้พระนามของพระนางว่า อุทุมพรเทวี เพราะพระราชาได้พระนางมาแต่อุทุมพรพฤกษ์

อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าหน้าที่จ้างชาวบ้านใกล้ประตูเมืองให้แผ้วถางทางเพื่อประโยชน์ในการเสด็จพระราชดำเนินสู่สวนหลวง ปิงคุตตรมาณพเมื่อทำการจ้าง โจงกระเบนมั่นถางทางด้วยจอบ เมื่อทางยังไม่แล้ว พระราชาประทับบนรถที่นั่งกับด้วยพระนางอุทุมพรเทวี เสด็จออกจากพระนคร

พระนางอุทุมพรเทวีได้ทอดพระเนตรเห็นปิงคุตตรมาณพผู้กาลกรรณีนั้นแผ้วถางอยู่ เมื่อทอดพระเนตรมาณพนั้น ด้วยนึกในพระหฤทัยว่า บุรุษกาลกรรณีนี้ไม่สามารถจะทรงสิริเห็นปานดังนี้ไว้ ก็ทรงพระสรวล พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระนางทรงพระสรวลก็กริ้ว ตรัสถามว่า หัวเราะอะไร

พระนางกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ บุรุษผู้ถางทางนี้เป็นสามีคนเก่าของข้าพระบาท ยังข้าพระบาทให้ขึ้นต้นมะเดื่อแล้วเอาหนามสะวงไว้แล้วหนีไป ข้าพระบาทแลดูเขาแล้วคิดว่า บุรุษกาลกรรณีนี้ไม่สามารถจะทรงสิริเห็นปานดังนี้ไว้ จึงหัวเราะ

พระราชาตรัสว่าเธอกล่าวมุสา เธอเห็นอะไรอื่น เราจักฆ่าเธอ ตรัสฉะนี้แล้วทรงจับพระแสงดาบ

พระนางมีความเกรงกลัวพระราชอาญา จึงกราบทูลว่า ขอพระองค์ตรัสถามบัณฑิตทั้งหลายก่อน

พระราชาจึงตรัสถามเสนกว่า ท่านเชื่อหรือ

เสนกทูลว่า ข้าพระองค์ไม่เชื่อ ชายอะไรจะละสตรีดังเช่นพระเทวีนี้ไป พระเจ้าข้า

พระนางอุทุมพรได้ทรงสดับคำของเสนกยิ่งกลัวพระราชอาญาเหลือเกิน ลำดับนั้น พระราชาทรงดำริว่า เสนกจะรู้อะไร เราจักถามมโหสถ จึงตรัสถามมโหสถว่า

ดูก่อนมโหสถบัณฑิต สตรีผู้รูปงาม และนางนั้นสมบูรณ์ด้วยอาจารมารยาท จะมีบุรุษที่ไม่ปรารถนาสตรีนั้น เจ้าเชื่อเรื่องนี้หรือ

มโหสถบัณฑิตได้ฟังกระแสพระราชดำรัสนั้น จึงกล่าวว่า

ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์เชื่อ บุรุษผู้หาบุญมิได้นั้นย่อมมีในโลกนี้ สิริและกาลกรรณีย่อมร่วมกันไม่ได้ ไม่ว่าในกาลไหนๆ

พระราชาทรงทราบเหตุการณ์นั้น ตามคำของมโหสถก็ทรงหายกริ้ว ทรงยินดีต่อมโหสถ ตรัสว่า แน่ะเจ้าบัณฑิต ถ้าไม่ได้เจ้า วันนี้ข้าจักเสื่อมจากสตรีแก้วเช่นนี้ ด้วยถ้อยคำของเสนกผู้โฉดเขลา ข้าได้นางนี้ไว้เพราะอาศัยเจ้า ตรัสชมฉะนี้แล้ว พระราชทานกหาปณะแสนหนึ่งบูชามโหสถ

ฝ่ายพระเทวีถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่เทพเจ้า ข้าพระองค์ได้ชีวิตเพราะอาศัยมโหสถบัณฑิต ข้าพระองค์ปรารถนาพระพรเพื่อให้มโหสถบัณฑิตนี้ตั้งอยู่ในที่เป็นน้องชาย ขอพระองค์โปรดประทานเถิด

พระเจ้าวิเทหราชก็พระราชทานพรแก่พระนางว่า ดีแล้วพระเทวี เธอจงรับพร เราให้พรแก่เธอ

พระนางจึงกราบทูลว่า ข้าแต่เทพเจ้า นับแต่วันนี้ ข้าพระองค์จะไม่บริโภคอะไรๆ มีรสอร่อยแต่เพียงผู้เดียว โดยมิได้แบ่งปันให้น้องชายผู้นี้ ตั้งแต่นี้ไป ข้าพระองค์จงได้รับอนุญาตจากพระองค์เพื่อให้เปิดประตูได้ในทุกเวลา เพื่อส่งของมีรสอร่อยไปให้น้องชายนั้น ข้าพระองค์ขอรับพระพรนี้

พระเจ้าวิเทหราชตรัสว่า ดีแล้ว นางผู้เจริญ เธอจงรับพรนี้


หัวข้อว่า แพะในทวาทสนิบาต

วันอื่น พระเจ้าวิเทหราชเสวยกระยาหารเช้าแล้ว เสด็จดำเนินไปมา ณ ระหว่างพื้นยาวแห่งปราสาท เมื่อทอดพระเนตรออกไปทางช่องพระแกล ได้ทอดพระเนตรเห็นแพะหนึ่ง สุนัขหนึ่ง ทำความเชยชิดเป็นมิตรกัน

เรื่องมีอยู่ว่า แพะนั้นกินหญ้าในโรงช้างที่เขาวางไว้หน้าช้าง คนเลี้ยงช้างทั้งหลายจึงไล่ตีแพะนั้นให้ออกไป คนเลี้ยงช้างคนหนึ่งไล่ติดตามแพะนั้น ซึ่งร้องหนีไปโดยเร็ว เอาท่อนไม้ตีขวางลงที่หลังแพะ แพะนั้นแอ่นหลังได้ทุกขเวทนาไปนอนใกล้ตั่งอาศัยฝาใหญ่ในพระราชคฤหาสน์

วันนั้นสุนัขเคี้ยวกินกระดูกและหนังเป็นต้นที่ห้องเครื่องหลวงจนอ้วนพี เมื่อพ่อครัวจัดภัตตาหารแล้วก็ออกไปข้างนอกครัวเพื่อผึ่งเหงื่อในตัวให้แห้ง สุนัขนั้นได้กลิ่นอาหาร ไม่อาจอดกลั้นความอยากก็เข้าไปในห้องเครื่อง ทำฝาปิดภาชนะให้ตกลงแล้วเคี้ยวกินเนื้อในภาชนะนั้น ฝ่ายพ่อครัวได้ยินเสียงฝาภาชนะตก ก็เข้าไปตามเสียง เห็นสุนัขกำลังกินเนื้ออยู่จึงปิดประตูตีสุนัขนั้นด้วยก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้น สุนัขนั้นก็ทิ้งเนื้อที่เคี้ยวกินจากปากร้องวิ่งหนีออกไป พ่อครัวรู้ว่าสุนัขหนีออกไป จึงติดตามไปตีขวางที่หลังด้วยท่อนไม้ สุนัขก็แอ่นหลังยกเท้าข้างหนึ่งเข้าไปในที่แพะนอน

แพะถามสุนัขนั้นว่า เพื่อนแอ่นหลังยกเท้าข้างหนึ่งมาด้วยเหตุไร ลมเสียดแทงเพื่อนหรือ

ฝ่ายสุนัขก็ถามว่า เพื่อนแอ่นหลังนอนอยู่ ลมเสียดแทงเพื่อนหรือ

แพะบอกเรื่องของตนแก่สุนัข แม้สุนัขก็บอกอย่างนั้นเหมือนกัน ลำดับนั้นแพะถามสุนัขว่า เพื่อนสามารถจะไปสู่โรงครัวอีกหรือ

สุนัขตอบว่า ข้าไม่สามารถแล้ว เมื่อข้าไปชีวิตจะไม่มี ก็เพื่อนสามารถจะไปสู่โรงช้างอีกหรือ

แพะตอบว่า ถึงข้าก็ไม่กล้าไปที่โรงช้างนั้น ถ้าข้าขืนไป ชีวิตก็จะไม่มี

สัตว์ทั้งสองคิดหาอุบายว่า บัดนี้เราจะเป็นอยู่ได้อย่างไรหนอ แพะจึงกล่าวกะสุนัขว่า ถ้าเราทั้งสองอาจอยู่ร่วมกัน อุบายก็มี คือตั้งแต่นี้ไป เจ้าจงไปโรงช้าง พวกคนเลี้ยงช้างจักไม่สงสัยในตัวเจ้า ด้วยเห็นว่า สัตว์นี้ไม่กินหญ้า เจ้าพึงนำหญ้ามาเพื่อข้า ส่วนข้าจักเข้าไปในโรงครัว พ่อครัวจักไม่สงสัยในตัวข้าด้วยเห็นว่า สัตว์นี้ไม่กินเนื้อ ข้าก็จักนำเนื้อมาเพื่อเจ้า

สัตว์ทั้งสองตกลงกันว่า อุบายนี้เข้าที สุนัขจึงไปโรงช้าง คาบฟ่อนหญ้านำมาวางไว้ใกล้หลังฝาใหญ่ ฝ่ายแพะไปสู่ห้องเครื่องคาบก้อนเนื้อเต็มปากนำมาวางไว้ใกล้ที่นั้นเอง สุนัขก็เคี้ยวกินเนื้อ แพะเคี้ยวกินหญ้า สัตว์ทั้งสองนั้นพร้อมเพรียงชอบพอกันอยู่ใกล้หลังฝาใหญ่

พระเจ้าวิเทหราชทอดพระเนตรเห็นความที่แพะและสุนัขทั้งสองนั้นชอบกันโดยเป็นเพื่อน จึงทรงจินตนาการว่า เหตุการณ์ที่เรายังไม่เคยเห็น เราได้เห็นแล้วในวันนี้ แต่ก่อนมาสัตว์ทั้งสองนี้เป็นศัตรูกัน บัดนี้อยู่ร่วมกันได้ เราจักจับเหตุการณ์นี้ทำเป็นปัญหาถามบัณฑิตทั้งหลาย บัณฑิตใดไม่รู้ปัญหานี้ เราจักขับบัณฑิตนั้นจากแคว้น แต่เราจักสักการะแก่บัณฑิตผู้รู้ เพราะบัณฑิตอื่นรู้อย่างนี้ไม่มี วันนี้หมดเวลาแล้ว พรุ่งนี้เราจักถามบัณฑิตเหล่านั้นในเวลามาทำการในหน้าที่

รุ่งขึ้นในเมื่อบัณฑิตทั้งหลายมานั่งทำการในหน้าที่ของตนแล้ว จึงตรัสถามปัญหาขึ้นว่า

ความที่สัตว์เหล่าใดเป็นเพื่อนกันในโลกนี้ แม้ ไปด้วยกันสัก ๗ ก้าว ไม่เคยมีในกาลไหนๆ สัตว์ ทั้งสองนั้นเป็นศัตรูกัน มาเป็นเพื่อนประพฤติเพื่อคุ้นกันได้ เพราะเหตุอะไร

ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ได้ตรัสอย่างนี้อีกว่า

ถ้าเวลากินอาหารเช้าแล้ววันนี้ ท่านทั้งหลายไม่สามารถกล่าวแก้ปัญหานี้ของเรา เราจักขับท่านทั้งปวง จากแว่นแคว้น เพราะเราไม่ต้องการพวกคนเขลา

เสนกะนั่งอยู่ต้นอาสนะ มโหสถบัณฑิตนั่งอยู่ที่สุดอาสนะ พระมหาสัตว์พิจารณาปัญหานั้น ยังไม่เห็นเนื้อความจึงคิดว่า พระราชาองค์นี้มีพระชวนะเฉื่อยช้า ไม่สามารถจะทรงจับคิดปัญหานี้ พระองค์คงจักทอดพระเนตรเห็นอะไรแน่ วันหนึ่งเมื่อเราได้โอกาสจักนำปัญหานี้ออกแสดง อาจารย์เสนกะจักยังพระราชาให้งดสักวันหนึ่งในวันนี้ ด้วยอุบายอย่างหนึ่งจะได้หรือ ชนทั้งสามนอกนี้แลไม่เห็นอะไรๆ เหมือนเข้าห้องมืดฉะนั้น

เสนกะแลดูพระโพธิสัตว์ด้วยมนสิการว่า ความเป็นไปของมโหสถจะเป็นอย่างไรหนอ

ฝ่ายมโหสถก็แลดูเสนก เสนกรู้ความประสงค์ของพระโพธิสัตว์ ด้วยอาการที่พระโพธิสัตว์แลดู จึงคิดว่าปัญหานั้นยังไม่ปรากฏแก่มโหสถ เพราะเหตุนั้น มโหสถจึงปรารถนาโอกาสวันหนึ่ง เราจักทำมโนรถของมโหสถให้เป็นผล จึงสรวลขึ้นด้วยวิสาสะกับพระราชา ทูลว่า พระองค์จักขับข้าพระบาทเหล่านี้ ผู้ไม่สามารถกล่าวแก้ปัญหาจากแคว้นจริงๆ หรือ พระเจ้าข้า พระราชาตรัสตอบว่าจริงๆ ซิ บัณฑิต

เสนกะจึงทูลว่า พระองค์ทรงกำหนดปัญหานี้ว่า ปัญหามีเงื่อนเดียวหรือ ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่สามารถจะกล่าวแก้ปัญหานี้ในวันนี้ ขอได้ทรงงดหน่อยหนึ่ง ปัญหานี้มีเงื่อน ข้าพระองค์ทั้งหลายจักกล่าวแก้ในท่ามกลางประชุมชน จะต้องนั่งคิดในที่หนึ่ง ภายหลังจักทูลแก้แด่พระองค์ ขอได้โปรดพระราชทานโอกาสแก่พวกข้าพระองค์

พระราชาทรงสดับคำของเสนกะก็ดีพระหฤทัย ตรัสคุกคามดังนี้ว่า ดีแล้ว ท่านทั้งหลายจงคิด เมื่อแก้ไม่ได้จักให้ขับเสีย

บัณฑิตทั้ง ๔ ลงจากพระราชนิเวศน์ เสนกะจึงกล่าวกะบัณฑิตอื่นว่า พระราชาตรัสถามปัญหาสุขุม เมื่อพวกเราแก้ไม่ได้ ภัยใหญ่จักเกิดขึ้น เหตุนั้น ท่านทั้งหลายบริโภคสบายแล้ว จงพิจารณาปัญหานั้นโดยชอบ

ฝ่ายมโหสถลุกไปสู่สำนักพระราชเทวีอุทุมพรทูลถามว่า ข้าแต่พระเทวีเจ้า วันนี้หรือวานนี้พระราชาประทับอยู่ในที่ไหนนาน พระนางอุทุมพรรับสั่งว่า เมื่อวานนี้พระราชาเสด็จไปมา ทอดพระเนตรที่พระแกล ณ ภายในพื้นยาว

แต่นั้นพระโพธิสัตว์จึงคิดว่า พระราชาจักได้ทอดพระเนตรเห็นเหตุอะไรๆ โดยข้างนี้ จึงไปในที่นั้นแลดูภายนอก ได้เห็นกิริยาแห่งแพะและสุนัข ก็ทำความเข้าใจว่า พระราชาทอดพระเนตรเห็นสัตว์ทั้งสองนี้ จึงทรงประพันธ์ปัญหาจับเค้าได้ฉะนี้แล้วก็กลับไปเคหสถาน

ฝ่ายบัณฑิตทั้งสามคิดแล้วไม่เห็นอะไรจึงไปหาเสนกะ เสนกะเห็นบัณฑิตทั้งสามนั้นจึงถามว่า ท่านเห็นปัญหาแล้วหรือ

ครั้นได้รับตอบว่ายังไม่เห็น จึงกล่าวว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น พระราชาจักขับท่านทั้งหลายจากแว่นแคว้น ท่านทั้งหลายจักทำอย่างไร

ครั้นบัณฑิตทั้งสามย้อนถามว่า ก็ท่านเห็นหรือ

ก็ตอบว่า แม้เราก็ยังไม่เห็น

ครั้นบัณฑิตทั้งสามกล่าวว่า เมื่ออาจารย์ไม่เห็น ข้าพเจ้าทั้งหลายจะเห็นอะไร ก็เมื่อวานนี้เราทั้งหลายบันลือสีหนาทในราชสำนักว่า จักคิดแก้ แล้วมาบ้าน บัดนี้พระราชาจักกริ้วพวกเราผู้แก้ไม่ได้ พวกเราจักทำอย่างไร

เสนกะจึงกล่าวว่า ปัญหานี้อันเราทั้งหลายไม่อาจเห็น มโหสถจักคิดได้ตั้งหลายร้อยนัย เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงมาไปสำนักมโหสถด้วยกันกับเรา

บัณฑิตทั้งสี่ไปสู่ประตูเคหสถานแห่งมโหสถ ให้แจ้งความที่ตนมาแล้วเข้าไปสู่เรือน ปราศรัยกันแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง แล้วถามมโหสถว่า บัณฑิต ท่านคิดปัญหาได้แล้วหรือ

พระโพธิสัตว์ตอบว่า ในเมื่อข้าพเจ้าคิดไม่ได้ คนอื่นใครจักคิดได้ เออ ปัญหานั้นข้าพเจ้าคิดได้แล้ว

ครั้นเมื่อบัณฑิตทั้งสี่กล่าวว่า ถ้ากระนั้นท่านจงบอกแก่ข้าพเจ้าบ้าง มโหสถจึงดำริว่า ถ้าเราจักไม่บอกแก่บัณฑิตทั้งสี่นี้ พระราชาจักกริ้วบัณฑิตทั้งสี่ ขับเสียจากแคว้น พระราชทานรัตนะ ๗ แก่เรา คนเขลาเหล่านี้อย่าได้ฉิบหายเสียเลย เราจักบอกแก่พวกนี้ ดำริฉะนี้แล้วให้บัณฑิตทั้งสี่นั่ง ณ อาสน์ต่ำแล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงพยากรณ์อย่างนี้ ในกาลเมื่อพระราชาตรัสถาม แล้วให้บัณฑิตทั้งสี่เรียนบาลีประพันธ์เป็นคาถา ๔ คาถาแล้วส่งให้กลับไป

ในวันที่ ๒ บัณฑิตเหล่านั้นไปสู่ราชุปัฏฐาน นั่ง ณ อาสน์ที่ลาดไว้ พระราชาตรัสถามเสนกะว่า ท่านรู้ปัญหาแล้วหรือ เสนกะจึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เมื่อข้าพระองค์ไม่รู้ คนอื่นใครเล่าจักรู้ ครั้นรับสั่งให้กล่าว จึงกล่าวคาถาโดยทำนองที่เรียนมาทีเดียวว่า

เนื้อแพะเป็นที่รักที่เจริญใจแห่งบุตรอำมาตย์ และ พระราชโอรส ชนเหล่านั้นไม่บริโภคเนื้อสุนัข ครั้งนี้ มิตรธรรมแห่งแพะนั้นกับด้วยสุนัข มีต่อกัน

แม้กล่าวคาถาแล้ว เสนกะก็หารู้เนื้อความไม่ ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชทรงทราบความ เพราะปรากฏแก่พระองค์ เพราะฉะนั้นจึงตรัสถามปุกกุสะต่อไป ด้วยเข้าพระหฤทัยว่า เสนกะรู้แล้ว ฝ่ายปุกกุสะจึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์ไม่ใช่บัณฑิตหรือ แล้วกล่าวคาถาโดยทำนองที่เรียนมาทีเดียวว่า

ชนทั้งหลายใช้หนังแพะเป็นเครื่องลาดหลังม้า เป็นเหตุแห่งความสุข ไม่ใช้หนังสุนัขเป็นเครื่องลาดหลังม้า ครั้งนี้มิตรธรรมแห่งแพะนั้นกับด้วยสุนัข มีต่อกัน

แม้ปุกกุสะก็ไม่รู้ความหมายแห่งบาทคาถานั้น

ฝ่ายพระราชาเข้าพระหฤทัยว่า ปุกกุสะนี้รู้เนื้อความเพราะปรากฏแก่พระองค์ จึงตรัสถามกามินทะต่อไป กามินทะจึงกล่าวคาถาตามที่ได้เรียนมาทีเดียวว่า

แพะมีเขาอันโค้งแท้จริง แต่เขาทั้งหลายแห่งสุนัขไม่มีเลย แพะกินหญ้า สุนัขกินเนื้อ ครั้งนี้มิตรธรรมแห่งแพะนั้นกับด้วยสุนัข มีต่อกัน

แม้กามินทะก็ไม่รู้ความหมายแห่งบาทคาถานั้น

พระราชาเข้าพระหฤทัยว่า แม้กามินทะนี้ก็รู้เนื้อความแล้ว จึงตรัสถามเทวินทะต่อไป เทวินทะก็กล่าวคาถาตามที่ได้เรียนมาทีเดียวว่า

แพะกินหญ้ากินใบไม้ สุนัขไม่กินหญ้าไม่กินใบไม้ สุนัขจับกระต่ายหรือแมวกิน ครั้งนี้มิตรธรรมแห่งแพะนั้นกับด้วยสุนัข มีต่อกัน

แม้เทวินทะก็ไม่รู้ความหมายแห่งบาทคาถานั้น

ลำดับนั้น พระราชาเข้าพระหฤทัยว่า แม้เทวินทะนี้ก็รู้ เพราะปรากฏแก่พระองค์ จึงตรัสถามมโหสถว่า ดูก่อนพ่อมโหสถ แม้ตัวเจ้ารู้ปัญหานี้หรือ มโหสถโพธิสัตว์ทูลสนองว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ตั้งแต่อเวจีจนถึงภวัคคพรหม ยกข้าพระองค์เสีย คนอื่นใครจะรู้ปัญหานี้ ครั้นพระราชาตรัสให้กล่าวมโหสถบัณฑิตจึงกราบทูลว่า ขอพระองค์ทรงฟัง

แพะมีเท้า ๔ เท้า มีกีบ ๘ สุนัขนี้นำหญ้ามาเพื่อแพะนี้ แพะนี้นำเนื้อมาเพื่อสุนัขนั้น พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าชาววิเทหรัฐประทับอยู่ ณ ปราสาทอันประเสริฐ ได้ทอดพระเนตรเห็นการนำอาหารมาแลกกันกินโดยประจักษ์ และได้ทอดพระเนตรเห็นมิตรธรรมแห่งสุนัขและแพะเอง

พระราชาเมื่อไม่ทรงทราบความที่อาจารย์ทั้งสี่เหล่านั้นรู้ปัญหาเพราะอาศัยมโหสถโพธิสัตว์ ทรงสำคัญว่า บัณฑิตทั้ง ๔ รู้ด้วยปัญญาของตนเอง ก็ทรงโสมนัสตรัสว่า

ลาภของเราไม่น้อยเลยที่มีบัณฑิตเช่นนี้อยู่ในราชสกุล เพราะว่าบัณฑิตทั้งหลายแทงตลอดเนื้อความ ของปัญหาอันลึกละเอียดด้วยเป็นสุภาษิต

ครั้นตรัสฉะนี้แล้วได้พระราชทานรถเทียมม้า รถหนึ่ง และบ้านส่วย บ้านหนึ่ง แก่บัณฑิตทั้งห้าเหล่านั้น



>>>>> มีต่อ หน้า ๗
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 14 ต.ค.2006, 10:08 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หัวข้อว่า สิริเมณฑกปัญหา

ฝ่ายพระราชเทวีอุทุมพรทรงทราบความที่บัณฑิตทั้ง ๔ รู้ปัญหาอาศัยมโหสถ จึงทรงดำริว่า พระราชาพระราชทานรางวัลแก่บัณฑิตทั้ง ๕ เป็นเหมือนคนทำค่าของถั่วเขียวให้เท่ากับถั่วราชมาษ จึงเสด็จไปเฝ้าพระราชาทูลถามว่า ใครทูลแก้ปัญหาถวาย พระราชาตรัสตอบว่า บัณฑิตทั้ง ๕

พระราชเทวีทูลว่า บัณฑิตทั้ง ๕ รู้ปัญหาของพระองค์อาศัยใคร

พระราชาตรัสตอบว่า เราไม่รู้

พระนางอุทุมพรจึงกราบทูลว่า บัณฑิตทั้ง ๔ คนเหล่านี้จะรู้อะไร มโหสถให้เรียนปัญหาด้วยสงสารว่า คนเขลาเหล่านี้อย่าได้ฉิบหายเสียเลย ก็พระองค์พระราชทานรางวัลแก่บัณฑิตทั้งปวงเสมอกันนั่นไม่สมควรเลย ควรจะพระราชทานแก่มโหสถให้เป็นพิเศษ

พระราชาทรงเห็นว่ามโหสถนี้ไม่บอกความที่บัณฑิตทั้ง ๔ รู้ปัญหาอาศัยตน ก็ทรงโสมนัส มีพระประสงค์จะทรงทำสักการะให้ยิ่งกว่า จึงทรงคิดว่า ยกไว้เถิด เราจักถามปัญหาอันหนึ่งกะบุตรของเรา และทำสักการะใหญ่ในกาลเมื่อบุตรของเรากล่าวแก้ เมื่อพระราชาทรงคิดปัญหาอันหนึ่ง จึงทรงคิดสิริเมณฑกปัญหา (ปัญหาว่าปัญญากับทรัพย์อะไรจะประเสริฐกว่ากัน)

วันหนึ่ง เวลาบัณฑิตทั้ง ๕ มาเฝ้า จึงตรัสกะเสนกะว่า ท่านอาจารย์เสนกะ เราจักถามปัญหา

เสนกะกราบทูลรับว่า ตรัสถามเถิด พระเจ้าข้า

พระราชาจึงตรัสคาถาที่หนึ่งในสิริเมณฑกปัญหาว่า

แน่ะอาจารย์เสนกะ เราถามเนื้อความนี้กะท่าน บรรดาคน ๒ พวก คือคนสมบูรณ์ด้วยปัญญา แต่เสื่อมจากสิริ และคนมียศแต่ไร้ปัญญา นักปราชญ์ยกย่องใครว่าประเสริฐ

ได้ยินว่า ปัญหานี้สืบเนื่องมาจากวงศ์ของเสนกะ ฉะนั้นเสนกะจึงได้กราบทูลเฉลยปัญหานั้นได้ทันทีว่า

ข้าแต่พระจอมประชาราษฏร์ คนฉลาดและคนเขลา คนบริบูรณ์ด้วยศิลปะและหาศิลปะมิได้ แม้มีชาติ สูงก็ย่อมเป็นผู้รับใช้ของคนหาชาติมิได้แต่มียศ ข้าพระองค์เห็นความดังนี้จึงขอทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลวทราม คนเป็นใหญ่นั่นแลเป็นคนประเสริฐ

พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำของเสนกะนั้นแล้ว ไม่ตรัสถามอาจารย์อีก ๓ คน เมื่อจะตรัสถามมโหสถบัณฑิตผู้ยังใหม่ในหมู่ซึ่งนั่งอยู่ จึงตรัสว่า

ดูก่อนมโหสถ เราถามเจ้า ในคน ๒ พวกนี้ นักปราชญ์ยกย่องใครคนไหนว่าประเสริฐ ระหว่างคนพาลผู้มียศ หรือบัณฑิตผู้ไม่มีโภคะ

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลพระราชาว่า

คนพาลทำกรรมเป็นบาปด้วยความเมาในอิสริยะ เมื่อตายไปก็ต้องไปเกิดในนรกในปรโลก ครั้นมาจากนรกนั้นก็ต้องมาเกิดเป็นผู้มีโภชนะเป็นทุกข์ในตระกูลต่ำในโลกนี้อีก ชื่อว่าย่อมพ่ายแพ้ในโลกทั้งสอง ข้าพระองค์เห็นความเหล่านี้จึงขอกราบทูลว่า คนมีปัญญาประเสริฐแท้ คนเขลามียศจะประเสริฐอะไร

เมื่อพระโพธิสัตว์ทูลดังนี้ พระเจ้าวิเทหราชทอดพระเนตรดูเสนกะตรัสว่า มโหสถสรรเสริญคนมีปัญญาว่าเป็นผู้สูงสุดมิใช่หรือ

เสนกะทูลว่าข้าแต่พระมหาราชเจ้า มโหสถยังเด็ก แม้จนวันนี้ปากของเธอก็ยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมมิใช่หรือ เธอจะรู้อะไร ทูลฉะนี้แล้วจึงกล่าวว่า

ศิลปะนี้ก็ดี พวกพ้องก็ดี ร่างกายก็ดี หาได้จัดโภคสมบัติมาให้ไม่ มหาชนย่อมคบหาโควินทเศรษฐี ผู้มีน้ำลายไหลออกจากคางทั้งสองข้าง ผู้ได้รับความสุข มีศิริต่ำช้า ข้าพระพุทธเจ้าเห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลวทราม คนมีศิริเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ พระเจ้าข้า

ได้ยินว่า โควินทะนั้นเป็นเศรษฐีมีสมบัติ ๘๐โกฏิ ในพระนครนั้นแล มีรูปร่างแปลก ไม่มีบุตร ไม่มีธิดา ไม่รู้ศิลปะอะไรๆ เมื่อเขาพูด น้ำลายไหล ๒ ข้างลูกคาง มีสตรีสองคนดั่งเทพอัปสร ประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวงถือดอกอุบลเขียวที่บานดีแล้ว ยืนอยู่สองข้างคอยรองรับน้ำลายด้วยดอกอุบลเขียวแล้วทิ้งดอกอุบลทางหน้าต่าง ฝ่ายพวกนักเลงสุราเมื่อจะเข้าร้านเครื่องดื่ม มีความต้องการดอกอุบลเขียว ก็พากันไปประตูเรือนของเศรษฐีนั้น แล้วกล่าวว่า ข้าแต่นายโควินทเศรษฐี ท่านเศรษฐีได้ยินเสียงนักเลงเหล่านั้น ยืนที่หน้าต่างกล่าวว่า อะไรพ่อ ขณะนั้นน้ำลายก็ไหลจากปากของท่าน หญิงสองคนนั้นก็เอาดอกอุบลเขียวรองรับน้ำลายแล้วโยนทิ้งไปในระหว่างถนน พวกนักเลงก็เก็บดอกอุบลเหล่านั้นเอาไปล้างน้ำ แล้วประดับตัวเข้าร้านเครื่องดื่ม เศรษฐีนั้นเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสิริอย่างนี้ เสนกะเมื่อแสดงเศรษฐีนั้นเป็นตัวอย่าง จึงกล่าวอย่างนี้

พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้วตรัสว่า พ่อมโหสถบัณฑิต เจ้าจะกล่าวแก้อย่างไร

มโหสถบัณฑิตกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เสนกะจะรู้อะไร เห็นแต่ยศเท่านั้น ไม่เห็นไม้ค้อนใหญ่ซึ่งจะตกบนศีรษะ เปรียบเหมือนกาอยู่ในที่เทข้าวสุก และเปรียบเหมือนสุนัขปรารภจะดื่มนมส้ม โปรดฟังเถิดพระเจ้าข้า ทูลฉะนี้แล้ว ได้กล่าวว่า

คนมีปัญญาน้อย เมื่อได้รับความสุขอันเกิดจากยศแล้ว ย่อมมัวเมา แม้ถูกความทุกข์กระทบแล้วย่อมถึงความหลง อันสุขทุกข์ที่จรมากระทบเข้าแล้วย่อมหวั่นไหว ดุจปลาที่ดิ้นรนอยู่ในที่ร้อนฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นความข้อนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่ ถึงมียศจะประเสริฐอะไร พระเจ้าข้า

พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสถามเสนกะว่า ท่านอาจารย์จะแก้อย่างไร

เสนกะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ มโหสถนี้จะรู้อะไร มนุษย์ทั้งหลายจงยกไว้ก่อน วิหกทั้งหลายย่อมคบหาแต่ต้นไม้ที่เกิดในป่า ซึ่งสมบูรณ์ด้วยผลเท่านั้น ทูลฉะนี้แล้ว ได้กล่าวว่า

ฝูงนกย่อมพากันบินเร่ร่อนไปมาโดยรอบต้นไม้ที่มีผลดีในป่า ฉันใด คนเป็นอันมากย่อมคบหาผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์ มีโภคสมบัติ เพราะเหตุต้องการทรัพย์ ก็ฉันนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นข้อความแม้นี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลวทราม คนมีศิริเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ พระเจ้าข้า

พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสกะมโหสถว่า พ่อจะแก้อย่างไร

มโหสถบัณฑิตจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เสนกะท้องโตคนนี้จะรู้อะไร โปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า ทูลฉะนี้แล้วจึงกล่าวว่า

คนโง่ถึงจะมีกำลังก็หายังประโยชน์ให้สำเร็จไม่ เมื่อได้ทรัพย์มาด้วยกรรมอันร้ายแรง เมื่อตายไปนายนิรยบาลทั้งหลาย ย่อมฉุดคร่าเอาคนโง่ ผู้ไม่ฉลาด คร่ำครวญอยู่นั้น ไปสู่นรกอันร้ายกาจ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นข้อความแม้นี้ จึงกราบทูลว่าคนมีปัญญาเท่านั้น ประเสริฐ คนโง่ถึงมียศจะประเสริฐ อะไร พระเจ้าข้า

เมื่อพระราชาตรัสถามอีกว่า ท่านอาจารย์เสนกะ ท่านจะแก้อย่างไร

เสนกะจึงทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า โปรดฟังเถิด แล้วกล่าวว่า

แม่น้ำน้อยใหญ่อันใดอันหนึ่ง ย่อมไหลไปสู่แม่น้ำคงคา แม่น้ำเหล่านั้นทั้งหมดเทียว ย่อมละทิ้งชื่อและถิ่นเดิม แม่น้ำคงคาไหลไปถึงมหาสมุทร ย่อมไม่ปรากฏชื่อ คงได้แต่ชื่อว่ามหาสมุทรเท่านั้น ฉันใด คนในโลกนี้ที่มีปัญญามากก็ไม่ปรากฏ คือไม่มีใครรู้จักชื่อ เหมือนแม่น้ำคงคาเข้าไปสู่มหาสมุทร ฉันนั้นแล ข้าพระพุทธเจ้าเห็นข้อความแม้นี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญา เป็นคนเลวทราม คนมีศิริเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ พระเจ้าข้า

พระราชาตรัสอีกว่า พ่อบัณฑิต เจ้าจะแก้อย่างไร มโหสถบัณฑิตกราบทูลว่า โปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า แล้วกล่าวว่า

ข้าพระเจ้าจะกล่าวแก้ปัญหาที่ท่านอาจารย์กล่าว แม่น้ำน้อยใหญ่ทั้งหลายย่อมหลั่งไหลไปสู่ทะเลใหญ่ ทะเลนั้นแม้มีกำลังมากอย่างยิ่ง สามารถยกคลื่นขึ้นเป็นพันๆ แต่ก็ไม่อาจล่วงฝั่งไปได้ คลื่นทั้งหมดถึงฝั่งแล้วย่อมแตกไปแน่แท้ ฉันใด กิจการที่คนเขลาประสงค์ ย่อมไม่อาจล่วงคนมีปัญญาไปได้ เมื่อถึงคนมีปัญญานั้นแล้วย่อมทำลายไปฉันนั้นเหมือนกัน คนมีศิริย่อมไม่ล่วงเลยคนมีปัญญาไปได้ไม่ว่าในกาลไหนๆ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นข้อความแม้นี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญา เท่านั้นประเสริฐ คนโง่ถึงมียศจะประเสริฐอะไร

พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสถามเสนกะ ว่าจะแก้อย่างไร

เสนกะกราบทูลว่า โปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า แล้วกล่าวว่า

หากว่าคนมียศผู้ไม่มีศีลอยู่ในที่วินิจฉัย กล่าวข้อความแก่ชนเหล่าอื่น เมื่อเขาซึ่งแวดล้อมไปด้วยบริวารใหญ่ กล่าวมุสาทำให้เป็นเจ้าของบ้าง ให้ไม่เป็นเจ้าของบ้าง คำของเขานั่นแลย่อมเป็นที่เชื่อถืออยู่ในหมู่บริษัท คนมีปัญญาไม่สามารถทำให้คนมีสิริต่ำช้าเชื่อฟังถ้อยคำของตนได้ ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนต่ำช้า คนมีสิริเป็นคนประเสริฐแท้

เมื่อพระราชาตรัสถามมโหสถอีกว่า พ่อจะแก้อย่างไร มโหสถบัณฑิตจึงกราบทูลว่า โปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า เสนกะคนเขลาจะรู้อะไร ดูอยู่แค่โลกนี้เท่านั้น ไม่ดูไปถึงปรโลก แล้วกล่าวว่า

คนเขลามีปัญญาน้อยกล่าวมุสาแก่คนอื่นบ้าง แม้แก่ตนบ้าง คนเขลานั้นถูกติเตียนในท่ามกลางที่ ประชุม ภายหลังเขาจะไปทุคติ ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่

ลำดับนั้น เสนกะกล่าวคาถานี้ว่า

ถ้าคนมีปัญญาดุจแผ่นดิน ไม่มีที่อยู่ มีทรัพย์น้อย เป็นคนเข็ญใจ เมื่อกล่าวข้อความ คำของเขานั้นย่อมไม่งอกงามในท่ามกลางญาติ และสิริย่อมไม่มีแก่คนมีปัญญา ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนต่ำช้า คนมีสิริเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ

เมื่อพระราชาตรัสถามมโหสถอีกว่า พ่อจะแก้อย่างไร

มโหสถบัณฑิตจึงกราบทูลว่า เสนกะจะรู้อะไร ดูอยู่แค่โลกนี้เท่านั้น ไม่ดูไปถึงปรโลก แล้วกล่าวว่า

คนมีปัญญาดุจแผ่นดินไม่กล่าวคำเหลาะแหละ เพื่อเหตุของผู้อื่นหรือแม้ของตน คนผู้นั้นอันมหาชน บูชาแล้วในท่ามกลางที่ประชุม ภายหลังเขาจะไปสุคติ ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญา เท่านั้นเป็นคนประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่

ลำดับนั้น เสนกะกล่าวว่า

ช้าง โค ม้า กุณฑลแก้วมณี และนารีทั้งหลาย เกิดในสกุลมั่งคั่ง ทั้งหมดนั้นย่อมเป็นอุปโภคของบุรุษผู้มีอิสระ สัตว์ผู้ไม่มีอิสระก็เป็นอุปโภคของผู้มีอิสระ ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนต่ำช้า คนมีสิริเท่านั้นเป็นคน ประเสริฐ

ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตกล่าวว่า เสนกะจะรู้อะไร เมื่อจะชักเหตุอันหนึ่งมาแสดง จึงกล่าวว่า

สิริย่อมละเสียซึ่งคนเขลาผู้ไม่จัดการงาน ผู้มีความคิดอย่างคนไม่มีความคิด ผู้มีปัญญาทราม เหมือนงูละคราบเก่าเสียฉะนั้น ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่

ลำดับนั้น ครั้นพระราชาตรัสถามเสนกะว่าจะแก้อย่างไร

เสนกะกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ มโหสถนี้ยังเป็นเด็กรุ่น จะรู้อะไร โปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า ทูลฉะนี้แล้วคิดว่า เราจักทำมโหสถให้หมดปฏิภาณ จึงกล่าวว่า

ขอจงทรงพระเจริญ พวกข้าพระองค์เป็นบัณฑิต ๕ คน ทั้งหมด เคารพบำรุงพระองค์ พระองค์เป็น อิสระครอบงำข้าพระองค์ทั้งหลาย ดุจท้าวสักกเทวราชผู้เป็นเจ้าแห่งภูตทั้งหลาย ข้าพระองค์เห็นความ ดังนี้จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนต่ำช้า คนมีสิริเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ

ได้ยินว่า พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับคำของเสนกะนี้แล้วทรงดำริว่าเหตุการณ์ที่เสนกะชักมาดีอยู่ บุตรของเราจักสามารถนำเหตุการณ์อื่นมาทำลายวาทะของเสนกะนี้ได้หรือหนอ จึงตรัสว่า พ่อบัณฑิต เจ้าจะแก้อย่างไร

ได้ยินว่า เมื่อเสนกะชักเหตุการณ์นี้มา คนอื่นเว้นพระโพธิสัตว์เสีย ที่ชื่อว่าสามารถทำลายวาทะนั้นไม่มี เพราะฉะนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะทำลายวาทะแห่งเสนกะนั้น ด้วยกำลังญาณของตน จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้าเสนกะนี้เป็นคนเขลา จะรู้อะไร แลดูอยู่เฉพาะยศเท่านั้น ไม่ทราบความวิเศษแห่งปัญญา โปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า กราบทูลฉะนี้แล้ว จึงกล่าวว่า

คนเขลามียศเป็นดุจทาสของคนฉลาด ในเมื่อกิจต่างๆ เกิดมี คนฉลาดย่อมจัดกิจอันละเอียดใด คน เขลาย่อมถึงความหลงพร้อมในกิจนั้น ข้าพระองค์เห็นความอย่างนี้จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้น เป็นคนประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่

พระมหาสัตว์แสดงเหตุการณ์แห่งนัยปัญญาด้วยประการฉะนี้ ราวกะผู้วิเศษคุ้ยทรายทองขึ้นแต่เชิงเขาสิเนรุ และราวกะผู้มีฤทธิ์ยังดวงจันทร์เต็มดวงให้ตั้งขึ้นในท้องฟ้า ฉะนั้น

เมื่อพระมหาสัตว์กล่าวแสดงอานุภาพแห่งปัญญาอยู่นั่นแล พระราชาตรัสกะเสนกะว่า เสนกะ ท่านจะแก้อย่างไร ท่านอาจกล่าวให้ยิ่งขึ้นหรือ เสนกะนั้นยังวิทยาคมที่เรียนมาให้สิ้นไป เป็นผู้หมดปฏิภาณ เป็นผู้เก้อนั่งซบเซาอยู่ เหมือนข้าวเปลือกที่เขาเก็บไว้ในฉาง ก็ถ้าเสนกะนั้นพึงนำเหตุการณ์อื่นมาไซร้ มโหสถจะพึงเฉลยอันจัดเป็นชาดกนี้ให้จบลงด้วยคาถาพันหนึ่ง พระมหาสัตว์เมื่อจะพรรณนาปัญญานั่นแลให้ยิ่งขึ้นเหมือนนำห้วงน้ำลึกมาในกาลที่เสนกะนั้นหมดปฏิภาณนิ่งอยู่ จึงกล่าวว่า

ปัญญาเป็นที่สรรเสริญแห่งสัตบุรุษทั้งหลาย สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญปัญญาว่าประเสริฐแท้จริง สิริ เป็นที่ใคร่ของพวกคนเขลา พวกคนเขลาใคร่ซึ่งสิริ ยินดีในโภคสมบัติ ก็ความรู้ของเหล่าท่านผู้รู้อันใครๆ ซึ่งเปรียบด้วยอะไรไม่ได้ คนมีสิริย่อมไม่ล่วงเลยคนมีปัญญาในกาลไหนๆ ข้าพระองค์เห็นความอย่างนี้จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่

พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำนั้นก็ทรงโสมนัสด้วยปัญหาพยากรณ์แห่งพระมหาสัตว์ เมื่อจะทรงบูชาพระมหาสัตว์ด้วยทรัพย์ ราวกะผู้วิเศษยังฝนลูกเห็บให้ตก จึงตรัสว่า

ดูก่อนมโหสถผู้เห็นธรรมทั้งปวง เราได้ถามปัญหานั้นใดกะเจ้า เจ้าได้ประกาศเผยแผ่ปัญหานั้นแก่เรา เรายินดีด้วยการแก้ปัญหาของเจ้า เราให้โคพันหนึ่ง ทั้งโคอุสุภราช ช้าง รถเทียมม้าอาชาไนย ๑๐ คัน และบ้านส่วย ๑๖ ตำบลแก่เจ้า



>>>>> มีต่อ หน้า ๘
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 14 ต.ค.2006, 10:15 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หัวข้อว่า ฉันนปถปัญหา

นับแต่นั้น มโหสถโพธิสัตว์ได้มียศใหญ่ พระนางอุทุมพรเทวีได้ทรงพิจารณาปัญหานั้นทั้งหมด ในกาลเมื่อมโหสถมีอายุได้ ๑๖ ปี พระนางทรงดำริว่า น้องชายของเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว แม้ยศของเธอก็ใหญ่ เราควรจะทำอาวาหมงคลแก่เธอ ทรงดำริฉะนี้แล้วได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระเจ้าวิเทหราช บรมกษัตริย์ได้ทรงสดับเนื้อความนั้น จึงมีพระราชดำรัสว่า ดีแล้วเธอจงให้เจ้าตัวทราบ พระนางให้มโหสถทราบความ เมื่อมโหสถรับทำอาวาหมงคล จึงมีพระเสาวนีย์ว่า ถ้ากระนั้น เราจะนำนางกุมาริกามาเพื่อเธอ

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์คิดว่า นางกุมาริกาที่พระนางจะนำมาบางทีจะไม่พึงชอบใจเรา เราจะพิจารณาหาดูเองก่อน คิดฉะนี้แล้วจึงทูลว่า ข้าแต่พระราชเทวีพระองค์อย่าตรัสอะไรแด่พระราชาสักสองสามวัน ข้าพระบาทจักแสวงหานางกุมาริกานางหนึ่งเองที่ชอบใจ แล้วจักทูลให้ทรงทราบ

พระนางอุทุมพรทรงอนุญาต มโหสถจึงถวายบังคมลาพระเทวีไปเรือนของตน ให้สัญญาแก่พวกสหายแล้ว แปลงตนให้ใครๆ ไม่รู้จัก ถือเครื่องอุปกรณ์แห่งช่างชุนผ้า ออกทางประตูด้านทิศอุดรแต่ผู้เดียว ไปสู่บ้านอุตตรยวมัชฌคาม

ก็ในกาลนั้น มีสกุลเศรษฐีสกุลหนึ่งในบ้านนั้น เป็นสกุลเก่าแก่ ธิดาของสกุลนั้นนางหนึ่งชื่อ อมราเทวี นางมีรูปงามบริบูรณ์ด้วยลักษณะดีทุกอย่างเป็นผู้มีบุญ

วันนั้น นางต้มข้าวต้มแต่เช้า นำข้าวต้มนั้น คิดว่าจักไปสู่ที่บิดาไถนา จึงออกจากเรือนเดินสวนทางกับมโหสถ พระมหาสัตว์เห็นนางเดินมาคิดในใจว่า สตรีนี้สมบูรณ์ด้วยลักษณะดีทุกอย่าง ถ้ายังไม่มีสามี นางนี้ก็ควรเป็นภรรยาของเรา

ฝ่ายนางอมราพอเห็นมโหสถ ก็คิดในใจว่า ถ้าเราได้บุรุษนี้เป็นสามีไซร้ เราอาจจะยังทรัพย์สมบัติให้เกิดมั่งคั่ง

ลำดับนั้นพระมหาสัตว์ดำริว่า เรายังไม่รู้ความที่สตรีนี้มีสามีหรือยังไม่มี จักถามนางด้วยวิธีใช้ใบ้ ถ้านางฉลาด ก็จักรู้เนื้อความแห่งปัญญาของเรา คิดฉะนี้แล้วยืนอยู่แต่ไกลกำมือเข้า

นางอมรารู้ความว่า บุรุษนี้ถามว่าเรามีสามีหรือยัง จึงยืนอย่างนั้นเอง แบมือออก

มโหสถรู้เหตุนั้นแล้วจึงเข้าไปใกล้นางถามว่า แน่ะนางผู้เจริญเธอชื่ออะไร

นางอมราตอบว่า ข้าแต่นาย สิ่งใดไม่มีในอดีต ในอนาคตหรือในปัจจุบัน สิ่งนั้นเป็นชื่อของข้าพเจ้า

มโหสถกล่าวว่า แน่ะ นางผู้เจริญ ชื่อว่าความไม่ตายไม่มีในโลก ฉะนั้นนางจักชื่อว่า อมรา

นางอมราตอบว่า อย่างนั้น นาย

มโหสถถามว่า เธอจักนำข้าวต้มไปเพื่อใคร

เมื่อนางอมราตอบว่า ข้าพเจ้านำไปเพื่อบุรพเทวดา

มโหสถจึงกล่าวว่า บิดามารดาชื่อว่าบุรพเทวดา ชะรอยเธอจักนำข้าวต้มไปเพื่อบิดาของเธอ

นางอมราตอบว่าถูกแล้ว

มโหสถถามว่า บิดาของเธอทำงานอะไร

นางอมราตอบว่า บิดาของดิฉันทำสิ่งหนึ่งโดยส่วนสอง

มโหสถกล่าวว่า แน่ะนางผู้เจริญ การไถนาชื่อว่าการทำสิ่งหนึ่งโดยส่วนสอง ชะรอยบิดาของเธอไถนา

นางอมราตอบว่าถูกแล้ว

มโหสถถามว่า บิดาของเธอไถนาอยู่ที่ไหน

นางอมราตอบว่า ชนทั้งหลายไปในที่ใด คราวเดียวภายหลังไม่กลับมา บิดาของดิฉันไถนาในที่นั้นแล

มโหสถกล่าวว่า ป่าช้าชื่อว่าสถานที่แห่งชนทั้งหลายไปคราวเดียวภายหลังไม่กลับ ชะรอยบิดาของเธอจะไถนาในที่ใกล้ป่าช้า

นางอมราตอบว่าถูกแล้ว

มโหสถถามต่อไปว่า แน่ะนางผู้เจริญ วันนี้เธอจะกลับหรือไม่กลับ

นางอมราตอบว่า ข้าแต่นาย ถ้าว่ามา ดิฉันจะยังไม่กลับ ถ้าว่าไม่มาดิฉันจักกลับ

มโหสถกล่าวว่า แน่ะนางผู้เจริญ บิดาของเธอชะรอยจักไถนาใกล้ฝั่งแม่น้ำ ครั้นเมื่อน้ำมา เธอจักไม่กลับ ครั้นเมื่อน้ำไม่มา เธอจักกลับ

นางอมราตอบว่า ถูกแล้ว

ทั้งสองเจรจาโต้ตอบกันเท่านี้แล้ว ภายหลังนางอมรา เชิญมโหสถให้ดื่มข้าวต้ม พระมหาสัตว์ดำริว่า การปฏิเสธเป็นอวมงคลจึงกล่าวรับว่าจักดื่ม นางจึงปลงหม้อข้าวต้มลง พระมหาสัตว์คิดว่า ถ้านางอมราไม่ล้างภาชนะ ไม่ให้น้ำล้างมือ ให้ข้าวต้ม เราจักละนางเสียในที่นี้ไป

ฝ่ายนางอมราล้างภาชนะแล้ว นำน้ำมาด้วยภาชนะให้น้ำล้างมือ ไม่วางภาชนะเปล่าในมือ คนหม้อที่วางไว้บนพื้นแล้วตักข้าวต้มใส่เต็มภาชนะ ก็แต่เมล็ดข้าวในภาชนะนั้นน้อย ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวว่า แน่ะนางผู้เจริญ น้ำข้าวต้มมากเกินหรือ

นางอมราตอบว่า ข้าแต่นาย ดิฉันได้น้ำแล้ว

พระมหาสัตว์กล่าวว่า เธอเห็นจักไม่ได้น้ำมาแต่ทุ่งนา

นางอมราตอบว่า ถูกแล้วแล้ว

นางแบ่งข้าวต้มไว้ให้บิดา เหลือจากนั้นให้พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ดื่มข้าวต้มนั้นแล้วบ้วนปาก พูดว่า แน่ะนางผู้เจริญ เราจักไปสู่เรือนของเธอ เธอจงบอกทางแก่เรา นางอมรากล่าวว่าดีแล้ว เมื่อจะบอกทาง จึงกล่าวคาถานี้ ในเอกนิบาตว่า

ร้านขายข้าวสัตตู ถัดไปร้านขายน้ำส้ม ถัดสอง ร้าน ต้นทองหลางดอกบานมีใบสองชั้น มีอยู่โดย ทางใด ดิฉันถือภาชนะข้าวต้มด้วยมือขวาใด ดิฉัน บอกทางนั้นโดยมือขวานั้น ดิฉันไม่ได้ถือภาชนะข้าว ต้มด้วยมือซ้ายใด ดิฉันไม่ได้บอกทางนั้นโดยมือซ้ายนั้น ทางนั้นเป็นทางไปเรือนของดิฉัน ซึ่งตั้งอยู่ในบ้าน อุตตรยวมัชฌคาม ขอท่านจงทราบทางอันปกปิดนี้

คาถานั้นมีความว่า ข้าแต่นาย ท่านเข้าไปภายในหมู่บ้านแล้วจะเห็นร้านขายข้าวสัตตูร้านหนึ่ง ถัดไป ร้านขายน้ำส้ม ข้างหน้าร้านค้าสองร้านนั้นมีต้นทองหลาง มีใบสองชั้นมีดอกบาน ฉะนั้นท่านจงไปทางที่มีร้านขายข้าวสัตตู ร้านขายน้ำส้ม และต้นทองหลางดอกบาน ยืนที่โคนต้นทองหลาง ถือเอาทางขวา ละทางซ้าย นี้เป็นทางไปเรือนของพวกเรา ซึ่งตั้งอยู่ในบ้านยวมัชฌคาม ขอท่านจงทราบทางที่ข้าพเจ้ากล่าวปกปิดอย่างนี้

นางอมราบอกทางแก่มโหสถอย่างนี้แล้ว ถือข้าวต้มไปส่งบิดา


หัวข้อว่า การแสวงหานางอมราเทวี

มโหสถโพธิสัตว์ไปสู่เรือนนั้นตามทางที่นางอมราบอก ลำดับนั้นมารดาของนางอมราเห็นมโหสถแล้วจึงให้พระมหาสัตว์นั่ง ณ อาสนะแล้วกล่าวว่า จักดื่มข้าวต้มไหมนาย

มโหสถตอบว่า ข้าแต่แม่ น้องหญิงอมราเทวีได้ให้ข้าวต้มแก่ฉันหน่อยหนึ่งแล้ว

แม้มารดาของนางอมราก็รู้ว่า ชายคนนี้คงมาเพื่อต้องการลูกสาวของเรา พระมหาสัตว์แม้จะรู้ว่าสกุลนั้นๆ เข็ญใจก็ถามว่า ข้าแต่แม่ ฉันเป็นช่างชุนผ้า มีผ้าอะไรๆ ที่ฉันควรเย็บบ้างไหม

มารดานางอมราตอบว่า นาย ผ้านั้นมี แต่ค่าจ้างไม่มี

มโหสถกล่าวว่า ข้าแต่แม่ ฉันไม่ทำเอาค่าจ้าง แม่จงนำมา ฉันจักเย็บให้

มารดานางอมราจึงนำผ้าเก่าๆ มาให้มโหสถชุน พระโพธิสัตว์ก็ให้ผ้าที่นำมาๆ แล้วเสร็จทั้งหมดเพราะว่าการทำของท่านผู้มีบุญย่อมสำเร็จง่ายดาย

ลำดับนั้นมโหสถแจ้งแก่มารดานางอมราว่า แม่จงบอกกล่าวตามฟากถนน ให้นำผ้ามาจ้างชุน มารดานางอมราก็บอกแก่ชาวบ้านทั่วไป พระมหาสัตว์ทำการชุนผ้าวันเดียวเท่านั้นได้ทรัพย์พันหนึ่ง

ฝ่ายมารดานางอมราหุงข้าวให้มโหสถกินเวลานั้นแล้วถามว่า เวลาเย็นข้าจะหุงเท่าไร

มโหสถตอบว่า ชนมีประมาณเท่าใดบริโภคในเรือนนี้แม่จงหุงโดยประมาณแห่งชนเท่านั้น

นางจึงหุงภัตตาหารเป็นอันมากทั้งแกงทั้งกับมิใช่น้อย ฝ่ายนางอมราเทวี เวลาเย็นเอามัดฟืนทูนศีรษะและกระเดียดใบไม้มาแต่ป่า บรรจุฟืนที่ประตูด้านตะวันออก แล้วเข้าสู่เรือนทางประตูด้านตะวันตก ส่วนบิดาของนางอมรากลับบ้านเย็นกว่าธิดากลับ มโหสถบริโภคโภชนาหารมีรสเลิศต่างๆ

นางอมราให้บิดามารดาของตนบริโภคแล้วตนจึงบริโภคภายหลัง แล้วชำระเท้าบิดามารดา และเท้ามโหสถโพธิสัตว์

มโหสถกำหนดสังเกตนางอมราอยู่ในบ้านนั้นสองสามวัน ลำดับนั้นเมื่อจะทดลองนาง วันหนึ่งจึงกล่าวว่า แน่ะอมราเทวีผู้เจริญ เธอจงเอาข้าวสารกึ่งทะนาน ต้มข้าวต้ม ทำขนม และหุงข้าวสวย เพื่อเรา ด้วยข้าวสารกึ่งทะนานนั้น

นางอมรารับคำสั่งแล้วตำข้าวสารนั้น แล้วเอาข้าวสารต้นอันเป็นตัวไม่ค่อยมีเมล็ดหัก ต้มเป็นข้าวต้ม เอากลางข้าวสารอันมีเมล็ดหักโดยมากหุงเป็นข้าวสวย เอาปลายข้าวสารอันป่นทำขนม แล้วประกอบกับข้าวให้ควรแก่ข้าวสวยข้าวต้มนั้น ให้ข้าวต้มแก่มโหสถก่อน

พอมโหสถได้ดื่มข้าวต้มถึงปาก ข้าวต้มนั้นก็แผ่ซ่านไปสู่เส้นประสาทเจ็ดพันซึ่งเป็นเส้นสำหรับรับรส มโหสถกล่าวเพื่อทดลองนางอมราว่า นางไม่รู้จักหุงต้ม ทำข้าวสารของเราให้เสียหายเพื่อประโยชน์อะไร แล้วคายถ่มข้าวต้มพร้อมกับน้ำลายลงยังพื้น

นางอมรามิได้โกรธกล่าวว่าข้าแต่นาย ถ้าข้าวต้มไม่อร่อย ท่านจงกินขนม แล้วส่งขนมให้มโหสถ มโหสถก็ทำอาการอย่างนั้นแล้วกล่าวอย่างนั้นอีก

นางอมราจึงกล่าวว่า ถ้าขนมไม่อร่อยท่านจงกินข้าวสวย แล้วให้ข้าวสวยแก่มโหสถ มโหสถก็ทำอาการอย่างนั้นและกล่าวดังนั้นอีก ทำเป็นเหมือนขัดเคืองขยำข้าวทั้งสามอย่างนั้นเป็นอันเดียวกันแล้วทาสรีระทั้งสิ้นตั้งแต่ศีรษะแห่งนาง แล้วไล่ให้นางไปยืนอยู่ที่ประตู

ฝ่ายนางอมราไม่โกรธเลย ประนมมือกล่าวว่า ดีจ๊ะนาย แล้วได้ทำตามสั่ง มโหสถรู้ว่านางไม่ถือตัว จึงเรียกกลับมาหา พอได้ยินเรียกคำเดียวเท่านั้น นางก็มานั่งลงที่ใกล้มโหสถ

ฝ่ายพระมหาสัตว์เมื่อมาแต่บ้านตน หาได้มามือเปล่าไม่ เอาผ้าสาฎก ๑ ผืน กับกหาปณะ ๑ พันบรรจุในไถ้น้อยมาด้วย จึงนำผ้าสาฏกนั้นออกจากไถ้น้อยให้แก่นางอมราแล้วกล่าวว่า แน่ะนางผู้เจริญ นางจงอาบน้ำกับพวกสหายของนาง แล้วนุ่งผ้าสาฏกนี้มา

นางอมราได้ทำตามคำสั่ง มโหสถให้ทรัพย์ที่เกิดขึ้นและทรัพย์ที่นำมาทั้งหมดแก่บิดามารดาของนางอมรา ยังคนทั้งสามให้ยินดีแล้ว ลาแม่ยายพ่อตา พานางอมรากลับไปบ้าน

พระมหาสัตว์ให้ร่มและรองเท้าแก่นางอมราแล้วพูดอย่างนี้ว่า แน่ะนางผู้เจริญ นางจงเอาร่มกางกันตัว สวมรองเท้าเดินไป นางอมรารับของสองอย่าง ในคราวร้อนแดดในที่แจ้งนางหุบร่มเดินไป ในที่ดอน นางถอดรองเท้าถือไป ในเวลาถึงที่มีน้ำนางสวมรองเท้าเดินไป

มโหสถเห็นเหตุนั้นจึงถามว่า แน่ะนางผู้เจริญ เป็นอย่างไรนางไม่สวมรองเท้าในที่ดอน สวมในที่มีน้ำเดินไป เพราะเหตุอะไร

นางตอบมโหสถว่า ข้าแต่นาย ดิฉันสามารถมองเห็นสิ่งประทุษร้ายร่างกายมีหนามเป็นต้นในที่ดอน แต่ดิฉันไม่สามารถมองเห็นสิ่งประทุษร้ายร่างกายมีปลา เต่า และหนามเป็นต้นในที่มีน้ำ ถ้าเครื่องประทุษร้ายเข้าไปสู่เท้า ดิฉันก็พึงเสวยทุกขเวทนาใหญ่เพราะฉะนั้นจึงสวมรองเท้าในที่มีน้ำเดินไป

พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำของนางก็คิดว่า นางทาริกานี้ฉลาดมากหนอ แล้วก็เดินไป

ลำดับนั้น นางอมราเมื่อเข้าภายในป่า ก็กั้นร่มเดินไป มโหสถถามเหตุนั้นว่า แน่ะนางผู้เจริญชนเหล่าอื่นกั้นร่มกันแดดในที่แจ้งเดินไป แต่นางหาทำอย่างนั้นไม่ เพราะเหตุอะไร

นางตอบมโหสถว่า ข้าแต่นาย ดิฉันชื่อว่าเข้าสู่ภายในป่าก็จริงแต่ทำอย่างนี้เพราะกลัวไม้แห้งท่อนไม้ตกบนศีรษะ พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำที่นางกล่าวด้วยเหตุ ๒ อย่างก็ยินดี

ลำดับนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์เดินไปกับนางเห็นต้นพุทราถึงพร้อมด้วยผลในที่หนึ่ง ก็หยุดนั่งใต้ต้นพุทรา ฝ่ายนางอมราเห็นพระมหาสัตว์นั่งใต้ต้นพุทราก็พูดขึ้นว่า ข้าแต่นาย ท่านจงขึ้นเก็บผลพุทรากิน ให้ดิฉันบ้าง

มโหสถตอบว่า แน่ะนางผู้เจริญ เราเหน็ดเหนื่อยไม่อาจขึ้น นางขึ้นเถิด

นางได้ฟังคำของมโหสถก็ขึ้นต้นพุทรานั้นเลือกเก็บผล ฝ่ายพระโพธิสัตว์กล่าวกะนางว่า แน่ะนางผู้เจริญ นางจงให้ผลแก่เราบ้าง นางคิดว่า เราจักดูบุรุษนี้ฉลาดหรือโง่ จักทดลองเขาดู จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่นายท่านจะกินผลร้อนหรือผลเย็น

พระโพธิสัตว์แม้รู้เหตุที่นางถาม ก็ทำเป็นเหมือนไม่รู้ จึงกล่าวตอบอย่างนี้ เพื่อทดลองว่า แน่ะนางผู้เจริญ เราต้องการด้วยผลร้อน

นางจึงเก็บผลโยนไปในที่พื้นดินกล่าวว่า ท่านจงกินเถิด นาย

พระโพธิสัตว์ก็เก็บผลมาปัดเป่าให้หมดผงแล้วเคี้ยวกิน เมื่อจะทดลองนางอีกจึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะนางผู้เจริญ นางจงให้ผลเย็นแก่เรา

นางก็เก็บผลพุทราโยนไปบนพื้นหญ้า พระโพธิสัตว์ก็เก็บผลนั้น ไม่ต้องปัดเป่าเคี้ยวกินทีเดียว รู้ว่านางทาริกานี้ฉลาดเหลือเกินก็ยินดี แล้วบอกให้นางลงจากต้นพุทรา นางอมราได้ฟังคำมโหสถเรียกให้ลง ก็ลงจากต้นพุทรา ถือหม้อไปแม่น้ำนำน้ำมาให้มโหสถ มโหสถก็ดื่มน้ำแล้วบ้วนปาก นางยืนอยู่ส่วนข้างหนึ่ง เขาทั้งสองลุกขึ้นเดินไปเข้าสู่พระนคร

พระมหาสัตว์ให้นางอยู่ที่เรือนคนเฝ้าประตู แล้วแจ้งแก่ภรรยาแห่งคนเฝ้าประตูให้ทราบ เพื่อทดลองนาง แล้วเข้าสู่เคหสถานของตน เรียกชายทั้งหลายมาแจ้งว่า เราให้สตรีคนหนึ่งอยู่ที่เรือนโน้นจึงมาบ้านนี้ เจ้าทั้งหลายจงเอาทรัพย์หนึ่งพันกหาปณะนี้ไปที่เรือนนั้น พูดเกี้ยวพานลองดู สั่งฉะนี้แล้วให้กหาปณะหนึ่งพันแล้วส่งไป

บุรุษเหล่านั้นไปสู่สำนักนางอมรา แล้วได้ทำตามมโหสถสั่ง นางไม่ปรารถนา คิดเห็นว่าความประพฤติของบุรุษเหล่านี้ไม่ถึงสักว่าละอองเท้าของสามีแห่งเรา บุรุษเหล่านั้นก็กลับมาบอกแก่มโหสถ

ลำดับนั้น มโหสถส่งบุรุษเหล่านั้นไปบ่อยๆ ถึง ๓ คราวในวาระที่ ๔ จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น เจ้าทั้งหลายจงไปจับตัวนางคร่ามา บุรุษเหล่านั้นก็ไปทำดังนั้น นางก็ได้มาเห็นพระมหาสัตว์ตั้งอยู่ในความเป็นผู้มีทรัพย์สมบัติมากก็จำไม่ได้ แลดูมโหสถแล้วหัวเราะแล้วร้องไห้

มโหสถซักถามถึงเหตุทั้งสองนั้น นางก็แจ้งแก่มโหสถว่า ข้าแต่นาย ดิฉันเห็นสมบัติของท่านก็นึกในใจว่า สมบัตินี้ท่านไม่ได้ด้วยไม่มีเหตุ ก็แต่ท่านจักทำกุศลไว้ในปางก่อนจึงได้สมบัตินี้ โอ ผลของบุญทั้งหลายน่าอัศจรรย์หนอ นึกในใจดังนี้จึงได้หัวเราะ ก็เมื่อดิฉันร้องไห้ก็ร้องไห้ด้วยความกรุณาในตัวท่าน ด้วยสงสารว่า บัดนี้ท่านมาทำร้ายในวัตถุที่คนอื่นปกครองหวงแหน ก็จักไปสู่นรก

มโหสถทดลองนางอมรารู้ความที่นางเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงกล่าวสั่งว่า เจ้าทั้งหลายจงไป จงพานางไปอยู่ที่เดิม แล้วแปลงเพศเป็นช่างชุนผ้าไปแรมอยู่กับนาง

รุ่งเช้าก็เข้าไปสู่ราชสำนัก ทูลประพฤติเหตุนั้นแด่พระนางอุทุมพร พระนางนำความกราบทูลพระเจ้าวิเทหราช แล้วประดับนางอมราเทวีด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงให้นั่งในวอใหญ่ นำมายังเคหสถานของมโหสถทำอาวาหมงคลด้วยเกียรติอันยิ่งใหญ่

พระราชาทรงส่งทรัพย์มูลค่าพันกหาปณะเป็นบรรณาการแก่พระโพธิสัตว์ ชาวพระนครทั้งสิ้นตั้งแต่คนรักษาประตู ก็ได้จัดของขวัญมาให้

ฝ่ายนางอมราเทวีก็แบ่งของที่ได้รับพระราชทานเป็นสองส่วน คืนเข้าพระคลังส่วนหนึ่ง รับไว้ส่วนหนึ่ง ได้ส่งของช่วยของชาวนครทั้งสิ้นไปสงเคราะห์ชาวนครโดยวิธีนี้ แต่นั้นมาพระมหาสัตว์ก็ได้อยู่ร่วมกับนางอมรา ได้ถวายอนุศาสน์อรรถธรรมแด่พระราชา



>>>>> มีต่อ หน้า ๙
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 14 ต.ค.2006, 10:22 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หัวข้อว่า โจรลักรัตนะ ๔ คน

อยู่มาวันหนึ่ง เสนกะเห็นปุกกุสะ กามินทะ และเทวินทะ ทั้งสามอาจารย์มาสู่สำนักตน จึงปรึกษาอาจารย์เหล่านั้นกล่าวว่า แน่ะผู้เจริญทั้งสามเราทั้งสี่คนไม่เทียมทันมโหสถผู้บุตรคฤหบดี ก็บัดนี้เขานำภรรยาผู้ฉลาดนักมาเอง พวกเราพึงทำลายเขาระหว่างพระราชาเสียอย่างไรดี

อาจารย์ทั้งสามตอบเสนกะว่า ข้าพเจ้าทั้งสามจะรู้อะไร ขอท่านดำริเถิด

เสนกะจึงกล่าวว่า พวกท่านอย่าวิตก เรามีอุบายอยู่อย่างหนึ่ง

อาจารย์ทั้งสามถามว่า อุบายอะไรท่านอาจารย์

เสนกะจึงแจ้งว่า เราจักลักพระจุฬามณีของพระราชามา ท่านปุกกุสะจงลักสุวรรณมาลามา ท่านกามินทะจงลักคลุมบรรทมกัมพลมา ท่านเทวินทะจงลักฉลองพระบาททองคำมา ก็และครั้นลักราชาภรณ์ทั้งสี่อย่างมาได้ฉะนี้แล้ว เราทั้งสี่จงยังราชาภรณ์ทั้งสี่นั้นให้เข้าไปอยู่ในเรือนของมโหสถ เราแม้ทั้งสี่จักลักราชาภรณ์ทั้งสี่มาด้วยอุบายแล้ว แต่นั้นจักให้เข้าไปอยู่ในเรือนมโหสถ ทำมิให้ประชาชนสงสัยพวกเรา

อาจารย์ทั้งสามรับว่าอุบายนี้งามนัก

เสนกะจึงนำพระจุฬามณีลงไว้ในหม้อเปรียงก่อนแล้วส่งให้ทาสีคนหนึ่งนำหม้อเปรียงนั้นไปสั่งว่า เจ้าจงนำหม้อเปรียงนี้ไปเร่ขาย อย่าขายให้แก่ชนเหล่าอื่นผู้รับซื้อ ถ้าเมื่อชนในเรือนมโหสถรับซื้อ เจ้าจงให้เปล่าทั้งหม้อ

ทาสีก็ไปสู่ประตูเรือนมโหสถร้องขายว่า ท่านทั้งหลายจงซื้อเปรียงๆ เดินกลับไปกลับกลับมาที่หน้าประตูเรือนนั้น

นางอมราเทวียืนอยู่ที่ประตูเห็นกิริยาของทาสีนั้นจึงคิดว่า หญิงนี้ไม่ไปที่อื่น น่าจะมีกลอุบายอันใดในหญิงนี้ จึงส่งสัญญาณให้ทาสีทั้งหลายให้เลี่ยงไป แล้วเรียกทาสีผู้ขายเปรียงนั้นมาว่า มานี่แม่ฉันจะซื้อเปรียง เมื่อนางผู้ขายเปรียงมาแล้ว นางอมราเทวีก็ทำสัญญาณเรียกให้พวกทาสีของตนมา

ครั้นเมื่อพวกทาสีของตนยังไม่มา จึงให้นางผู้ขายเปรียงนั้นไปเรียกมา เมื่อนางขายเปรียงนั้นไปตามที่นางสั่ง นางอมราเทวีจึงล้วงมือลงในหม้อ พบพระจุฬามณีในนั้น เมื่อนางผู้ขายเปรียงนั้นกลับมาจึงถามว่า แม่มาแต่สำนักใครนะ

นางขายเปรียงนั้นตอบว่า ข้าแต่แม่เจ้า ข้าเป็นทาสีของอาจารย์เสนกะ จากนั้นนางอมราจึงซักถามชื่อของนาง และของบิดามารดาแห่งนาง เมื่อได้รับคำตอบแล้วก็ถามว่า เปรียงนี้แม่จะขายราคาเท่าไร

ก็ได้รับตอบว่า เท่าราคาข้าว ๔ ทะนาน

จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นแม่จงขายแก่ฉัน

ก็ได้รับตอบว่า เมื่อแม่เจ้ารับซื้อ จะต้องการอะไรด้วยราคา จงรับไว้ทั้งหม้อไม่คิดราคา

นางอมราเทวีก็ว่า ถ้าเช่นนั้นก็ตกลง แล้วให้นางขายเปรียงนั้นกลับไป แล้วให้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรถือไว้ มีความว่า เดือนนั้น วันนั้น อาจารย์เสนกะให้ทาสีชื่อนี้ ธิดาของทาสีชื่อนี้ นำพระจุฬามณีของพระราชามาขายไว้

ฝ่ายปุกกุสะวางสุวรรณมาลาในผอบซึ่งบรรจุดอกมะลิ แล้วปิดสุวรรณมาลานั้นด้วยดอกมะลิแล้วส่งไป

ฝ่ายกามินทะวางคลุมบรรทมกัมพลในกระเช้าซึ่งบรรจุผักแล้วปิดด้วยผักแล้วส่งไป

ฝ่ายเทวินทะสอดฉลองพระบาททองคำภายในฟ่อนข้าวเหนียวแล้วส่งไป

นางอมรารับสิ่งทั้งปวงนั้นไว้ บันทึกเรื่องไว้โดยนัยหนหลัง บอกแก่พระมหาสัตว์แล้วเก็บไว้

ฝ่ายบันฑิตทั้งสี่นั้นไปสู่ราชสำนักทูลว่า พระองค์ไม่ทรงประดับพระจุฬามณีหรือพระเจ้าข้า พระเจ้าวิเทหราชตรัสว่า จะประดับ จงไปนำมา

อาจารย์ทั้งสี่นั้นไปดู ไม่เห็นพระจุฬามณีในสถานที่เก็บ และไม่เห็นราชาภรณ์อีหสามอย่าง จึงทูลยุยงว่า ข้าแต่สมมติเทพ ราชาภรณ์ของพระองค์อยู่ในเรือนของมโหสถ มโหสถกล้าใช้ราชาภรณ์ เห็นจะตั้งตนเป็นศัตรูต่อพระองค์

ลำดับนั้นคนสอดแนมของมโหสถ ก็นำความมาแจ้งแก่มโหสถ มโหสถได้ฟังคำของพวกสอดแนม จึงคิดว่า เราจักเฝ้าพระราชาจึงจะรู้เรื่อง จึงไปสู่ที่เฝ้าพระราชา พระราชากริ้วมโหสถ ไม่ให้มโหสถเห็นพระองค์ด้วยทรงคิดถึงเหตุที่เกิดว่า เราไม่รู้มโหสถจะมาทำไมในที่นี้ มโหสถรู้ว่าพระราชากริ้ว จึงกลับบ้านของตน

พระราชาตรัสสั่งให้จับมโหสถ ฝ่ายมโหสถบัณฑิตได้ฟังคำของพวกสอดแนมจึงคิดว่า ควรเราจะหลบหลีกไป จึงให้สัญญาแก่นางอมราแล้วแปลงเพศออกจากเมือง ไปสู่ทักขิณยวมัชฌคามทำหม้อเลี้ยงชีพอยู่ ณ บ้านนั้น

ครั้งนั้นก็เกิดโกลาหลขึ้นในพระนครว่า มโหสถบัณฑิตหนีไปแล้ว อาจารย์ทั้งสี่มีเสนกะเป็นต้นรู้ว่ามโหสถหนีไปแล้ว จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายอย่าวิตก เราทั้งหลายไม่ใช่บัณฑิตหรือ กล่าวฉะนี้แล้วไม่นัดแนะกันและกันให้รู้ ต่างก็ส่งบรรณาการไปให้นางอมรา นางอมรารับบรรณาการที่อาจารย์ทั้งสี่ส่งไปแล้วคิดว่า เราจักให้ทั้งสี่คนมาหาเราแล้วเราจักทำให้ได้อาย จึงบอกกับผู้นำบรรณาการมาส่งว่าขอให้นายของท่านจงมาในเวลานั้น เวลานั้น จากนั้นจึงเรียกเหล่าทาสีมาสั่งให้ขุดหลุมหนึ่ง ล้อมรั้วที่หลุมนั้น เทคูถกับน้ำลงในหลุมนั้น แล้วให้ปิดแผ่นกระดานยนต์ที่พื้นข้างบนแห่งหลุมคูถ ปกปิดด้วยเสื่อลำแพนมีลิ่มสลักสองข้าง แล้วแต่งเคหสถานให้ห้อยบุปผชาติ เป็นต้นให้เป็นเหมือนน่ารื่นรมย์ ให้ตั้งน้ำไว้ จัดแจงเตรียมการสิ่งทั้งปวงให้แล้วเสร็จ

เวลาค่ำวันนั้น เสนกะแต่งตัว กินโภชนาหารมีรสเลิศต่างๆ แล้วไปสู่เรือนมโหสถ ยืนอยู่แทบประตู ให้แจ้งคนรักษาประตูถึงการที่ตนมา เพื่อให้ให้บอกแก่นางอมรา นางอมราครั้นทราบว่าเสนกะมาจึงกล่าวว่ามาเถิด เสนกะก็ไปยืนอยู่ใกล้นางอมรา นางอมราจึงกล่าวอย่างนี้กะเสนกะว่า ข้าพเจ้าตกอยู่ในอำนาจของท่านในบัดนี้แล้ว การไม่อาบน้ำแล้วนอนไม่ควร ท่านจงไปอาบน้ำหอมนี้เสียก่อนจึงมา

เสนกะรับคำแล้วไปเหยียบแผ่นกระดานจักอาบ นางอมราทำเป็นเหมือนรดน้ำให้ในกาลเมื่อเสนกะขึ้นยืนบนแผ่นกระดาน นางเหยียบที่แผ่นกระดานกล ทำเสนกะให้ตกลงในหลุมคูถ

ในเวลาต่อมา เมื่อปุกกุสะผู้แต่งกายกินโภชนะเลิศแล้วมาในเวลาเย็น นางก็ทำให้ตกในหลุมคูถนั้นด้วยอุบายเดียวกัน ปุกกุสะเมื่อตกลงไปในหลุมคูถ ตัวไปกระทบเสนกะเข้าจึงถามเสนกะว่า ท่านเป็นคนหรือ ก็ได้รับตอบว่า เราเป็นอาจารย์เสนกะ ฝ่ายเสนกะก็ถามปุกกุสะว่า ก็ท่านเล่า เป็นคนหรือ ก็ได้รับตอบว่าเราเป็นอาจารย์ปุกกุสะ

นางอมราทำกามินทะและเทวินทะทั้งสองผู้มาตามๆ กันให้ตกลงในหลุมคูถ โดยอุบายนั้นเหมือนกัน อาจารย์ทั้งสี่คนนั้นยืนอยู่ในหลุมคูถเพียงท้อง ศีรษะโดนกันและกัน ต่างถามกันว่า นั่นใครๆ

ครั้นทั้งสามอาจารย์ถามว่า จะทำอย่างไรกัน ท่านอาจารย์เสนกะจึงห้ามว่า ท่านทั้งหลายอย่าอึงไป ตั้งแต่นี้ไป ความอายจักมีแก่พวกเรา บัณฑิตทั้งสี่คนอยู่ในหลุมคูถอันสกปรกน่าเกลียดอย่างนี้ตลอดคืน ครั้นรุ่งสว่างนางอมรา ให้ทั้งสี่คนนั้นจับเชือกสาวขึ้นมาจากหลุมคูถนั้น ให้อาบน้ำแล้วให้เอามีดโกนโกนผมและหนวดทั้งสี่อาจารย์นั้นให้โล้นแล้วให้ขัดร่างด้วยแผ่นอิฐจนเลือดออกซิบๆ แล้วให้เอาข้าวสารหนึ่งทะนาน แช่น้ำให้ชุ่มแล้วตำให้ละเอียด บรรจุในภาชนะกวนให้เป็นเหมือนแป้งเปียกข้าวยาคูเป็นอันมากให้ทาให้ทั่วทั้งตัวของอาจารย์ทั้งสี่ตั้งแต่ศีรษะ แล้วให้เอานุ่นย่อยๆ โรยลงให้ทั่วตัว ตั้งแต่ศีรษะ จับให้นอนในกระชุกรุเสื่อลำแพน ปิดผูกพันด้วยเชือกให้แน่น ประทับตรา แล้วให้นำรัตนะ ๔ อย่างกับอาจารย์ทั้งสี่ไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่งแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงรับบรรณาการทั้งหลาย กราบทูลฉะนี้แล้ว ให้วางเสื่อลำแพนทั้งสี่แทบพระบาทมูลแห่งพระราชา

ลำดับนั้น พระราชาให้เปิดเสื่อลำแพนนั้นออก ทอดพระเนตรเห็นบัณฑิตทั้งสี่มีเสนกะเป็นต้น เหมือนกับวานรเผือก ก็ทรงดุษณีภาพ ฝ่ายมหาชนเห็นอาจารย์ทั้งสี่นั้น ก็พูดกันว่า โอ วานรเผือกงามมากๆ เราทั้งหลายไม่เคยเห็น มาได้เห็น แล้วพากันสรวลเฮฮาใหญ่ อาจารย์ทั้งสี่ได้ความอายมาก

ลำดับนั้น นางอมราถวายรัตนะ ๔ อย่างกับอาจารย์ทั้ง ๔ แด่พระราชา เมื่อจะประกาศความที่มโหสถสามีของตนไม่มีความผิด จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพมโหสถบัณฑิตไม่ได้เป็นโจร แต่อาจารย์ทั้ง ๔ ของพระองค์เป็นโจร คือเสนกะลักพระจุฬามณีของพระองค์ ปุกกุสะลักสุวรรณมาลา กามินทะลักคลุมบรรทมกัมพล เทวินทะลักฉลองพระบาททองคำ รัตนะทั้ง ๔ อย่างนี้ อันอาจารย์ทั้ง ๔ ให้ทาสีชื่อนี้ เป็นลูกสาวของทาสีชื่อนี้ ส่งไปขายให้ข้าพระบาทในวันนั้นเดือนนั้น ขอพระองค์ทอดพระเนตรหนังสือบันทึกสำคัญนี้ แล้วทรงรับไว้เป็นของหลวง และจงทรงรับโจรและรัตนะเหล่านี้ไว้ ยังชนทั้ง ๔ ให้ถึงมหาวิปการอย่างนี้แล้วถวายบังคมลากลับบ้าน ลำดับนั้น พระราชาไม่ตรัสอะไรๆ กะชนเหล่านั้น เพราะทรงรังเกียจในพระโพธิสัตว์ เพราะพระโพธิสัตว์หนีไปเสียแล้ว และเพราะความไม่มีชนเหล่าอื่นเป็นมนตรีผู้บัณฑิต ตรัสสั่งแต่ว่า ท่านทั้ง ๔ จงอาบน้ำกลับไปเคหสถานของตน


หัวข้อว่า ปัญหาหิ่งห้อย

ณ กาลครั้งนั้น เทวดาผู้สิงอยู่ที่เศวตฉัตรแห่งบรมกษัตริย์ไม่ได้สดับธรรมเทศนาแห่งพระโพธิสัตว์ จึงพิจารณาดูก็ทราบเหตุนั้น จึงคิดว่า เราจักทำให้พระโพธิสัตว์ได้กลับมาอยู่บ้านตามเดิม ครั้นเวลาราตรี จึงแหวกกำพูฉัตรออกมาถามปัญหาพระเจ้าวิเทหราช ๔ ข้อ มีคำว่า หนฺติ หตฺเถหิปาเทหิ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาอันเทวดาถามในจตุกนิบาต

พระราชาได้ทรงสดับเทวปัญหานั้น ยังไม่ทรงทราบ จึงตรัสตอบเทวดานั้นว่า ข้าพเจ้ายังไม่รู้ จักถามบัณฑิตอื่นๆ ก่อน แล้วตรัสขอเทพบริหารอย่าให้ต้องเทวทัณฑ์สักวันหนึ่ง

ครั้นรุ่งขึ้นจึงตรัสเรียกบัณฑิตทั้ง ๔ คนมาเฝ้า ครั้นอาจารย์ทั้ง ๔ ทูลว่า พวกตนศีรษะโล้นด้วยคมมีดโกนเดินตามถนนมีความอาย จึงโปรดให้ส่งนาฬิกปัฏ ผืนผ้าทำรูปดุจทะนานไปพระราชทาน ให้เอานาฬิกปัฏนั้นๆ สวมศีรษะมาเฝ้า ได้ยินว่า นาฬิกปัฏเกิดขึ้นแต่กาลนั้นมาจนบัดนี้

อาจารย์ทั้ง ๔ ก็มาเข้าเฝ้า นั่ง ณ อาสนะที่ปูลาดไว้ ลำดับนั้น พระราชาตรัสว่า ท่านอาจารย์เสนกะ คืนวันนี้เทวดาผู้สิงอยู่ ณ เศวตฉัตรถามปัญหาเรา ๔ ข้อ เราขอผัดว่า ยังไม่รู้ จักถามพวกท่านดูก่อน ท่านเสนกะจงกล่าวปัญหานั้นแก่เรา ตรัสฉะนี้แล้ว จึงถามปัญหาเป็นปฐมว่า

บุคคลทำร้ายร่างกายผู้อื่นด้วยมือทั้งสอง หรือ ด้วยเท้าทั้งสอง และเอามือทำร้ายปากผู้อื่น บุคคลนั้นกลับเป็นที่รักแห่งผู้ถูกทำร้าย เพราะฉะนั้น พระองค์ทรงเห็นว่า ผู้เป็นที่รักนั้นได้แก่ใคร

เสนกะได้ฟังเทพปัญหานั้นก็ไม่รู้ความ บ่นปัญหานั้นๆ ว่า ใครประหารอะไรๆ แลไม่เห็นที่สุดและเงื่อนแห่งเทพปัญหานั้น แม้อาจารย์อีก๓ คนก็หมดความคิด พระราชาทรงวิปฏิสาร ครั้นในส่วนแห่งราตรี เทวดาถามอีกว่า ทรงทราบปัญหาแล้วหรือ

ก็ตรัสตอบว่า ข้าพเจ้าได้ถามบัณฑิตทั้ง ๔ แล้ว เขาก็ไม่รู้

เทวดาจึงกล่าวขู่พระราชาว่า อาจารย์ทั้ง ๔ นั้นจะรู้อะไร เว้นมโหสถบัณฑิตเสีย ใครๆ อื่นจะสามารถกล่าวแก้ปัญหาเหล่านั้นย่อมไม่มี ถ้าพระองค์ให้เรียกมโหสถมาให้กล่าวแก้ปัญหานั้น นั่นแหละจะเป็นการดี ถ้าไม่เรียกมโหสถมาให้กล่าวแก้ปัญหาเหล่านั้น ข้าพเจ้าจักทำลายเศียรของพระองค์ด้วยค้อนเหล็กอันลุกโพลงนี้

กล่าวขู่ฉะนี้แล้วทูลเตือนว่า แน่ะมหาราช เมื่อต้องการไฟ ไม่ควรจะเป่าหิ่งห้อย หรือเมื่อต้องการน้ำนม ไม่ควรจะรีดเขาโค นำเอาขัชโชปนกปัญหาในปัญจกนิบาตนี้มากล่าวคาถาว่า

ใครเล่าเมื่อไฟลุกโพลงมีอยู่ ยังเที่ยวหาไฟอีกโดยมิใช่เหตุ บุคคลเห็นหิ่งห้อยในราตรีก็สำคัญว่าไฟ เอามูลโคแห้งอันละเอียดหรือหญ้าแห้งโรยทำเชื้อบนหิ่งห้อยเพื่อให้เกิดไฟ ก็ไม่สามารถทำให้เกิดไฟลุกโพลง ด้วยสำคัญวิปริต ฉันใด คนอันธพาลดุจคนใบ้ แม้แสวงหาสิ่งที่ต้องประสงค์โดยไม่ใช่อุบาย ก็ไม่ได้สิ่งที่ต้องประสงค์นั้น ฉันนั้น

นมโคไม่มีที่เขาโค บุคคลรีดนมโคที่เขาโค ก็ไม่ได้นมโค ฉันใด บุคคลแสวงหาสิ่งที่ต้องการในที่ไม่ใช่ที่จะหาได้ ก็ไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ฉันนั้น ชนทั้งหลายลุถึงสิ่งที่ต้องการด้วยอุบายต่างๆ พระเจ้าแผ่นดินทั้งหลายครองแผ่นดินอันชื่อพสุนธร เพราะทรงไว้ซึ่งรัตนะคือแก้ว ก็ด้วยนิคคหะเหล่าอมิตร ปัคคหะเหล่ามิตร ได้เหล่าอำมาตย์ มีเสนีเป็นประมุข และความแนะนำของอำมาตย์ผู้ คุ้นเคยเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจ

เทวดากล่าวขู่พระราชาว่า ชนทั้งหลายเช่นกับพระองค์ ในเมื่อไฟมีอยู่แท้ ก็หาเป่าหิ่งห้อยไม่ ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ก็พระองค์ตรัสถามอาจารย์ทั้ง ๔ มีเสนกะเป็นต้น ก็เป็นเหมือนครั้นเมื่อไฟมีอยู่ ทรงเป่าหิ่งห้อย เหมือนคนทิ้งตราชูเสียแล้วชั่งด้วยมือ และเหมือนเมื่อต้องการน้ำนมก็รีดเอาแต่เขาโคฉะนั้น อาจารย์ทั้ง ๔ เหล่านั้นจะรู้อะไร เพราะเขาเหล่านั้นเช่นกับหิ่งห้อย มโหสถบัณฑิตเช่นกับกองเพลิงใหญ่ ย่อมรุ่งโรจน์ด้วยปัญญา ขอพระองค์โปรดให้หามโหสถมาตรัสถามเถิด เมื่อพระองค์ไม่ทรงทราบปัญหาเหล่านี้พระชนมชีพของพระองค์จะไม่มี ทูลคุกคามฉะนี้แล้ว ก็อันตรธานหายไป


หัวข้อว่า ภูริปัญหา

พระราชาถูกมรณภัยคุกคาม รุ่งขึ้นให้เรียกอำมาตย์ ๔ คนมาตรัสสั่งว่าท่านทั้ง ๔ คนจงขึ้นรถ ๔ คัน ออกจากประตูเมืองทั้ง ๔ ประตู ค้นหามโหสถบุตรเราอยู่ที่ใด จงทำสักการะแก่เธอในที่นั้น แล้วนำตัวมาโดยเร็ว

อำมาตย์ทั้ง ๔ คนออกทางประตูคนละประตู อำมาตย์ ๓ คนไม่พบมโหสถบัณฑิต แต่อำมาตย์คนหนึ่งออกทางประตูด้านทิศทักษิณ พบพระมหาสัตว์ที่บ้านทักขิณยวมัชฌคาม ขนดินเหนียวมา มีร่างกายเปื้อนดินเหนียว นั่งบนตั่งใบไม้หมุนจักรในสำนักอาจารย์ ปั้นดินเหนียวเป็นปั้นๆ บริโภคข้าวเหนียวไม่มีแกง

ถามว่า ก็เหตุไร มโหสถจึงทำการอย่างนี้ แก้ว่า ได้ยินว่า พระราชาทรงรังเกียจว่า มโหสถบัณฑิตจะชิงราชสมบัติของพระองค์โดยไม่สงสัย มโหสถคิดว่า เมื่อพระราชาทรงทราบว่า มโหสถเลี้ยงชีพอยู่ด้วยการทำหม้อขายก็จะทรงหายรังเกียจ จึงได้ทำอย่างนี้

มโหสถเห็นอำมาตย์ก็รู้ว่าจะมาหาตน จึงดำริว่า วันนี้ยศของเราจักกลับมามีดังเดิมอีก เราจะได้บริโภคโภชนาหารมีรสเลิศต่างๆ ที่นางอมราเทวีจัดไว้รับเรา เมื่อคิดฉะนี้จึงทิ้งก้อนข้าวที่ถือไว้ ลุกขึ้นบ้วนปาก อำมาตย์นั้นเข้าไปหามโหสถในขณะนั้น แต่อำมาตย์คนนั้นเป็นพวกเดียวกับเสนกะ เพราะฉะนั้น เมื่อจะสืบต่อข้อความที่เสนกะกล่าวเมื่อครั้งก่อนว่าทรัพย์ประเสริฐกว่าปัญญานั้น จึงกล่าวว่าแน่ะท่านบัณฑิต คำของอาจารย์เสนกะนั้นเป็นจริง ในเมื่อยศของท่านเสื่อม ท่านเป็นผู้มีปัญญามากถึงปานนี้ ก็ไม่สามารถจะเป็นที่พึ่งแก่ท่าน บัดนี้ท่านมีร่างกายเปรอะเปื้อนด้วยดินเหนียว นั่งที่ตั่งใบไม้กินข้าวไม่มีแกงอย่างนี้

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวตอบอำมาตย์นั้นว่า แน่ะเจ้าอันธพาล เรานั้นประสงค์จะทำให้ยศของเรานั้นกลับคืนมาดังเดิมด้วยปัญญาของเราเอง เราจึงได้ทำอย่างนี้

ลำดับนั้น อำมาตย์กล่าวกะมโหสถว่า แน่ะพ่อบัณฑิต เทวดาผู้สิงอยู่ ณ เศวตฉัตรถามปัญหาพระราชา พระราชาตรัสถามบัณฑิตทั้ง ๔ ก็ไม่มีบัณฑิตแม้คนหนึ่งจะแก้ปัญหาได้ เพราะเหตุนั้น พระราชาจึงดำรัสสั่งให้ข้าพเจ้ามาหาท่าน

พระมหาสัตว์จึงกล่าวสรรเสริญอานุภาพแห่งปัญญาว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจงเห็นอานุภาพแห่งปัญญา เพราะว่าอิสริยยศย่อมเป็นที่พึ่งไม่ได้ในเวลาเช่นนี้ บุคคลผู้บริบูรณ์ด้วยปัญญาเท่านั้นย่อมเป็นที่พึ่งได้

อำมาตย์นั้นได้รับพระราชบัญชามาว่า จงให้มโหสถบัณฑิตอาบน้ำนุ่งห่มในที่ที่พบทีเดียวแล้วนำมา จึงได้ทำตามรับสั่งโดยมอบกหาปณะให้เป็นจำนวนหนึ่งพันกหาปนะ และผ้าสำรับหนึ่ง ซึ่งเป็นของพระราชทานแก่พระมหาสัตว์

ในครั้งนั้น นายช่างหม้อเกิดกลัวขึ้นเอง ด้วยคิดเห็นว่า เราได้ใช้สอยมโหสถผู้เป็นราชบัณฑิตจักเป็นความผผิด พระมหาสัตว์เห็นกิริยาของช่างหม้อ จึงพูดเอาใจว่า อย่ากลัวเลยท่านอาจารย์ ท่านเป็นผู้มีอุปการะแก่ข้าพเจ้ามาก กล่าวฉะนี้แล้วให้กหาปณะพันหนึ่งแก่ช่างหม้อ แล้วนั่งไปในรถทั้งตัวเปื้อนดินเหนียวเข้าไปสู่พระนคร

อำมาตย์ให้ทูลข่าวมาของมโหสถแด่พระราชา พระราชารับสั่งถามว่า ท่านพบมโหสถที่ไหน อำมาตย์นั้นจึงกราบทูลว่ามโหสถทำหม้อขายเลี้ยงชีพอยู่ ณ บ้านทักขิณยวมัชฌคาม ทราบว่ามีรับสั่งให้มาเฝ้า ก็ยังไม่ได้อาบน้ำ ตรงเข้ามาเฝ้าทั้งๆ มีร่างกายเปื้อนดินเหนียวทีเดียว

พระเจ้าวิเทหราชทรงดำริว่า ถ้ามโหสถเป็นศัตรูของเรา จะพึงเที่ยวอยู่ด้วยอิสริยศักดิ์ มโหสถนี้หาได้เป็นศัตรูของเราไม่ ทรงดำริฉะนี้แล้วตรัสสั่งว่า ท่านจงบอกแก่มโหสถบุตรของเราว่า จงไปเรือนของตนอาบน้ำตกแต่งกายแล้วมาตามเข้าเฝ้าตามทำนองเกียรติศักดิ์ที่เราให้

มโหสถได้สดับพระราชกระแส ก็ได้กระทำอย่างนั้นแล้วจึงกลับมาเข้าเฝ้า เมื่อได้พระราชานุญาตให้เข้าเฝ้าแล้ว ก็ตรงเข้าไปถวายบังคมพระราชา แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชเมื่อจะทรงทดลองมโหสถบัณฑิต จึงทรงปฏิสันถารกับมโหสถบัณฑิตว่า

แน่ะบัณฑิต ก็คนบางพวกไม่ทำความชั่วเพราะเหตุแห่งความเป็นผู้มีอิสระยิ่ง ด้วยคิดว่า พวกเรามีความสุขสมบูรณ์ด้วยอิสริยยศ พวกเราไม่ควรทำความชั่วด้วยเหตุเพียงเท่านี้

คนบางพวกไม่ทำความชั่วเพราะเกรงเกี่ยวข้องด้วยความติเตียน ด้วยคิดว่าคนมุ่งร้ายกล่าวติเตียนจักมีแก่เจ้านายผู้ให้ยศแก่เราอย่างนี้ บางคนมีปัญญาน้อย แต่ตัวเจ้าเป็นผู้สามารถ มีความคิดเต็มเปี่ยม ถ้าต้องการก็ครองราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้นได้ เหตุไรจึงไม่ชิงราชสมบัติ เหตุไรจึงไม่ไม่ทำความทุกข์ให้เกิดแก่เรา

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า

บัณฑิตทั้งหลายไม่ประพฤติความชั่ว แม้เป็นผู้มีสภาพที่พลาดจากสมบัติแล้วตั้งอยู่ในวิบัติ ย่อมไม่ละแม้ซึ่งธรรมคือประเพณี แม้ซึ่งธรรมคือสุจริต

พระราชาเมื่อจะตรัสขัตติยมายาเพื่อทดลองมโหสถอีก จึงตรัสคาถานี้ว่า

บุคคลเมื่อตกต่ำ ก็พึงทำตนให้ตั้งอยู่ในยศในสมบัติดังเดิมเสียก่อน ภายหลังจึงประพฤติธรรมก็ได้มิใช่หรือ

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะแสดงอุปมาด้วยต้นไม้ แด่พระราชาจึงกล่าวคาถานี้ว่า

บุคคลเมื่อได้นั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ก็ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นผู้ชั่วช้า

ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงความที่ตนมิใช่ผู้ประทุษร้ายมิตรแม้ในที่ทั้งปวง จึงกล่าวว่า

ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ถ้าว่าบุคคลหักกิ่งต้นไม้ที่ตนได้บริโภค ชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายมิตรไซร้

บิดาของข้าพระองค์ พระองค์ก็ให้ดำรงอยู่ในอิสริยยศอันโอฬารและตัวข้าพระองค์ พระองค์ก็ทรงอนุเคราะห์เป็นอันมาก ถ้าข้าพระองค์ทำร้ายในพระองค์ จะไม่พึงชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายมิตรได้อย่างไร

บัดนี้ เมื่อจะถวายโอวาทพระราชา มโหสถบัณฑิตจึงกล่าวว่า

คฤหัสถ์บริโภคกามเป็นคนเกียจคร้าน ไม่ดี

บรรพชิตเป็นผู้ไม่สำรวมแล้ว ไม่ดี

พระราชาผู้ไม่ทรงพิจารณาก่อนจึงทรงราชกิจ ไม่ดี

ความโกรธของบัณฑิตผู้มักโกรธ ไม่ดี

กษัตริย์ควรทรงพิจารณาก่อนแล้วจึงทรงราชกิจ กษัตริย์ไม่ทรงพิจารณาก่อน ไม่พึงทรงราชกิจ ยศและเกียรติย่อมเจริญแก่พระราชาผู้ทรงพิจารณาก่อน แล้วจึงทรงบำเพ็ญราชกรณียกิจเป็นปกติ



>>>>> มีต่อ หน้า ๑๐
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 14 ต.ค.2006, 10:34 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หัวข้อว่า เทวปัญหา

เมื่อพระมหาสัตว์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระเจ้าวิเทหราชจึงให้พระมหาสัตว์นั่ง ณ ราชบัลลังก์ภายใต้เศวตฉัตร พระองค์เองประทับนั่ง ณ อาสนะต่ำกว่า ตรัสว่า พ่อบัณฑิต เทวดาผู้สิงอยู่ ณ เศวตฉัตรถามปัญหา ๔ ข้อกะเราแต่เราไม่รู้ปัญหา ๔ ข้อนั้น อาจารย์ ๔ คนก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น เจ้าจงกล่าวแก้ปัญหา ๔ ข้อนั้นแก่เรา

มโหสถกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เทวดาผู้สิงอยู่ ณ เศวตฉัตรก็ยกไว้เถิด หรือเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาเป็นต้น ก็ยกไว้เถิด ข้าพระองค์อาจกล่าวแก้ปัญหาที่ผู้ใดผู้หนึ่งถาม ขอพระองค์ตรัสปัญหา ๔ ข้อที่เทวดาถามเถิด พระเจ้าข้า

ลำดับนั้น พระราชาเมื่อจะตรัสคำถามที่เทวดาถาม จึงตรัสคำถามแรกว่า

บุคคลทำร้ายร่างกายผู้อื่นด้วยมือทั้งสอง หรือ ด้วยเท้าทั้งสอง และเอามือทำร้ายปากผู้อื่น บุคคล นั้นกลับเป็นที่รักแห่งผู้ที่ถูกทำร้ายนั้น เพราะเหตุนั้น พระองค์ทรงเห็นบุคคลผู้เป็นที่รักได้แก่คนไหน เทวดาถามปัญหานั้นอย่างนี้

พอพระมหาสัตว์ได้สดับปัญหาเท่านั้น เนื้อความแห่งปัญหานั้นก็ปรากฏเหมือนดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏในท้องฟ้า ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลเตือนพระราชาให้คอยทรงสดับแล้ว จึงกล่าวแก้เทวปัญหาทำให้ปรากฏประหนึ่งผู้มีฤทธิ์ชูดวงอาทิตย์ขึ้นไปกลางหาวฉะนั้นอย่างนี้ว่า

ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อใดเด็กน้อยนอนบนตักมารดา ก็ร่าเริงยินดีเล่นทุบตีมารดาด้วยมือและเท้า ถอนผมมารดา เอามือทุบตีปากมารดา เมื่อนั้นมารดาก็กล่าวคำดังนี้เป็นต้นกับบุตรนั้นด้วยอำนาจความรักว่า แน่ะอ้ายลูกประทุษร้าย อ้ายโจร เอ็งทุบตีข้าอย่างนี้ได้หรือ กล่าวฉะนี้แล้วก็ไม่อาจจะกลั้นความรักไว้ ก็สวมกอดให้นอนระหว่างถัน จูบศีรษะ บุตรนั้นเป็นที่รักแห่งมารดาในกาลนั้น ฉันใดก็เป็นที่รักแห่งบิดาในกาลนั้น ฉันนั้น

เทวดาได้สดับอรรถาธิบายของพระโพธิสัตว์ ก็เผยกำพูฉัตรออกมาสำแดงกายกึ่งหนึ่งให้ปรากฏ ให้สาธุการด้วยเสียงอันไพเราะว่า โอ บัณฑิตกล่าวแก้ปัญหาถูกดีแล้วหนอ แล้วบูชาพระมหาสัตว์ด้วยดอกไม้และของหอมอันเป็นทิพย์ อันบรรจุเต็มในผอบแก้ว แล้วอันตรธานหายไป แม้พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงบูชาพระมหาสัตว์ด้วยบุปผชาติเป็นต้น แล้วตรัสวิงวอนให้กล่าวแก้ปัญหาข้ออื่นต่อไป ครั้นได้ทรงรับให้ตรัสถาม จึงตรัสถามคำถามที่ ๒ ว่า

บุคคลด่าผู้อื่นตามความใคร่ แต่ไม่อยากให้ผู้ถูกด่านั้นถึงภยันตราย บุคคลผู้ถูกด่านั้นย่อมเป็นที่รักของ ผู้ด่า เพราะเหตุนั้น พระองค์ทรงเห็นใครว่าเป็นที่รักแห่งผู้ด่า

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์อธิบายปัญหาที่ ๒ นั้นว่า

ข้าแต่พระมหาราชเจ้า มารดาสั่งบุตรอายุ ๗ - ๘ ขวบ ผู้สามารถจะทำตามสั่งได้ว่า แน่ะพ่อเจ้าจงไปนา เจ้าจงไปร้านตลาด ดังนี้เป็นต้น กุมารกล่าวว่า แม่จ๋า ถ้าแม่ให้ของเคี้ยวของกินนี้แก่ลูก ลูกจักไป ครั้นมารดากล่าวว่า เอาซิพ่อ กุมารนั้นก็เคี้ยวกินของกินแล้วบ้วนปาก ยืนอยู่ที่ประตูเรือน เล่นเสียกับหมู่เด็ก หาทำตามสั่งของมารดาไม่ ครั้นมารดาบังคับให้ไปก็กล่าวเฉไฉไปเรื่อย

ครั้นมารดากล่าวว่า เอ็งลวงข้า กุมารก็แสดงมือและปากล้อเลียนมารดา แล้วหนีไป มารดาเห็นบุตรหนีก็ขัดเคือง ถือไม้ไล่ตาม เมื่อไม่ทันบุตร ก็ด่าว่า อ้ายคนชั่ว อ้ายโจร เอ็งกินของกินของข้าแล้วไม่ปรารถนาจะทำงาน หยุดก่อน ๆแล้วกล่าวคำ เช่นว่า เอ็งไปเถิด อ้ายถ่อย พวกโจรจงตัดมึงให้เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ ด่าบริภาษตามอัธยาศัย แต่ไม่ว่าปากกล่าวจะอะไรๆ ออกไป แต่ใจนั้นก็ไม่ปรารถนาให้บุตรมีภยันตรายแม้สักหน่อยหนึ่ง

ฝ่ายทารกเล่นกับพวกทารกตลอดวัน ไม่อาจจะเข้าบ้านเวลาเย็น ก็ไปยังบ้านหมู่ญาติ ฝ่ายมารดาเมื่อแลดูตามทางที่บุตรจะกลับมา เห็นบุตรที่รักยังไม่กลับบ้าน ก็มีหัวใจเต็มไปด้วยความโศกว่า ชะรอยลูกของเราจะไม่อาจเข้าบ้านมีน้ำตาไหลอาบหน้า ไปค้นหาที่เรือนญาติ เมื่อเห็นบุตรที่รักก็สวมกอดจูบที่ศีรษะเอามือทั้งสองจับบุตรให้นั่งกล่าวว่า พ่อลูกรัก อย่าเอาถ้อยคำของแม่จดไว้ในใจเลย กล่าวฉะนี้ก็ยังความรักให้เกิดขึ้นอย่างเหลือเกิน

ข้าแต่พระมหาราชเจ้า บุตรชื่อว่าเป็นที่รักยิ่งในกาลเมื่อมารดาโกรธ ด้วยประการฉะนี้

เทวดาได้สดับก็บูชาพระมหาสัตว์เหมือนคราวที่แล้วมา ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชก็ทรงบูชาพระมหาสัตว์เหมือนคราวที่แล้ว แล้วตรัสวิงวอนให้กล่าวแก้ปัญหาที่ ๓ ครั้นได้ทรงรับให้ตรัสถาม จึงตรัสคำถามที่ ๓ ว่า

บุคคลกล่าวตู่ด้วยคำไม่จริง แล้วท้วงกันด้วยคำเหลาะแหละ บุคคลนั้นย่อมเป็นที่รักแห่งกัน ด้วยเหตุนั้น พระองค์ทรงเห็นว่า ได้แก่ใคร

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลแก้ปัญหานั้นแด่พระราชาว่า

ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เมื่อใดภรรยาและสามี ๒ คนอยู่ในที่ลับ เล่นกันด้วยความเสน่หาตามความยินดีของโลก แล้วกล่าวตู่กันและกันด้วยคำไม่จริงอย่างนี้ว่า เราไม่รักท่านแล้ว เราได้ยินว่า ใจของท่านไปภายนอกแล้ว แล้วท้วงกันด้วยคำเหลาะแหละ เมื่อนั้นภรรยาและสามีทั้ง ๒ นั้น ก็รักกันเหลือเกิน ขอพระองค์ทรงทราบเนื้อความแห่งปัญหานั้น ด้วยประการฉะนี้

เทวดาได้สดับแล้วก็บูชาพระโพธิสัตว์เหมือนดังก่อนอีก ฝ่ายพระราชาก็ทรงบูชาพระมหาสัตว์โดยนัยหนหลัง แล้วตรัสวิงวอนให้กล่าวแก้ปัญหาข้ออื่นอีก ครั้นได้รับให้ตรัสถามจึงตรัสคาถาที่ ๔ ว่า

บุคคลนำข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะไป ชื่อว่าผู้นำไปมีอยู่โดยแท้ บุคคลเหล่านั้นย่อมเป็นที่รักแห่งผู้เป็นเจ้าของข้าวน้ำเป็นต้น ด้วยเหตุนั้น พระองค์ทรงเห็นว่าได้แก่ใคร

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์อธิบายแก้เนื้อความแห่งปัญหาถวายพระราชาว่า

ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ปัญหานี้เทวดากล่าวหมายเอาสมณะและพราหมณ์ผู้ประพฤติธรรม

จริงอยู่ สกุลทั้งหลายผู้มีศรัทธา เชื่อโลกนี้และโลกหน้า จึงบริจาคทานและใคร่จะให้อีก สกุลเหล่านั้นเห็นสมณะและพราหมณ์นั้น ขอข้าวน้ำเป็นต้นไปก็ดี นำข้าวน้ำเป็นต้นที่ได้แล้วไปบริโภคก็ดี ก็เลื่อมใสรักใคร่ในสมณะและพราหมณ์เหล่านั้นเหลือเกิน ด้วยเห็นว่า สมณะและพราหมณ์เหล่านี้ขอข้าวน้ำเป็นต้นของเรา ข้าวน้ำเป็นต้นที่บริโภคเป็นของของเราทั้งนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายชื่อว่าเป็นผู้นำไป คือเป็นผู้ขอโดยส่วนเดียว แลเป็นผู้นำข้าวและน้ำเป็นต้นที่ได้แล้วไปโดยแท้ ชื่อว่าเป็นผู้เป็นที่รักของเจ้าของข้าวน้ำเป็นต้น

ก็ในเมื่อปัญหานี้อันมโหสถกล่าวแก้แล้ว เทวดาก็บูชาเหมือนอย่างนี้ แล้วกระทำสาธุการแล้วซัดผอบอันเต็มด้วยรัตนะ ๗ ประการมาแทบเท้าแห่งมโหสถแจ้งว่า ดูก่อนมโหสถบัณฑิต ท่านจงรับผอบเต็มด้วยรัตนะ ๗ ประการ ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชโปรดปรานเลื่อมใสในมโหสถเป็นอย่างยิ่ง ได้พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่เขา นับแต่นั้นมา พระมหาสัตว์ได้มียศใหญ่


หัวข้อว่า ปริภินทกถา

บัณฑิตทั้ง ๔ เหล่านั้นปรึกษากันอีกว่า บัดนี้ มโหสถบุตรคฤหบดีมียศใหญ่นัก เราจักทำอย่างไรดี ลำดับนั้น เสนกะจึงกล่าวกะบัณฑิตทั้งสามว่า การที่เขามียศใหญ่นั้นยกไว้เถิด เราเห็นอุบายแล้ว เราทั้ง ๔ จักไปหามโหสถถามว่า ควรบอกความลับแก่ใคร ถ้าเขาจักบอกว่า ไม่ควรบอกแก่ใครไซร้ เราทั้งหลายจักทูลยุยงพระราชาว่า คฤหบดีบุตรผู้มีนามว่ามโหสถเป็นข้าศึกของพระองค์ บัณฑิตทั้ง ๓ เห็นชอบด้วย

บัณฑิตทั้ง ๔ เหล่านั้น จึงไปเรือนมโหสถทำปฎิสันถารแล้วกล่าวว่า แน่ะบัณฑิต เราทั้ง ๔ ใคร่จะถามปัญหาท่าน

ครั้นมโหสถให้ถาม เสนกะจึงถามว่า บุคคลผู้เป็นบัณฑิตควรตั้งอยู่ในธรรมอะไร

มโหสถตอบว่า ควรตั้งอยู่ในความจริง

เสนกะถามว่า ผู้ตั้งอยู่ในความจริงแล้วควรทำอะไร

มโหสถตอบว่า ควรให้ทรัพย์สมบัติเกิดขึ้น

เสนกะถามว่าให้ทรัพย์สมบัติเกิดแล้ว ควรทำอะไร

มโหสถตอบว่า ควรคบมิตร

เสนกะถามว่า คบมิตรแล้วควรทำอะไรต่อไป

มโหสถตอบว่า ควรเรียนความคิดอ่านจากมิตร

เสนกะถามว่า เรียนความคิดอ่านจากมิตรแล้วควรทำอะไรอีก

มโหสถตอบว่า การได้ความคิดอ่านจากมิตรนั้น ถ้าเป็นความลับ ไม่ควรบอกความลับของตนแก่ใคร

บัณฑิตทั้ง ๔ ก็รับว่าดีแล้ว แล้วลากลับ เป็นผู้มีจิตยินดีคิดว่า บัดนี้เราทั้ง ๔ จะสามารถแก้แค้นมโหสถได้ละ แล้วไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่าข้าแต่พระมหาราชเจ้า มโหสถเป็นกบฏต่อพระองค์

พระเจ้าวิเทหราชตรัสห้ามว่า เราไม่เชื่อท่านทั้งหลาย มโหสถจะไม่เป็นกบฎต่อเรา บัณฑิตทั้ง ๔ จึงกราบทูลว่า จริงนะพระเจ้าข้า ขอได้ทรงเชื่อ ก็ถ้าไม่ทรงเชื่อจงตรัสถามเขาดูว่า ความลับของเขา เขาไม่ควรบอกแก่ใคร ถ้าเขาจักไม่เป็นกบฏต่อพระองค์เขาจักทูลว่า ควรบอกแก่คนชื่อนั้น ถ้าเขาจักเป็นกบฏต่อพระองค์ เขาจักทูลว่าไม่ควรบอกแก่ใครๆ ในเมื่อความปรารถนาสำเร็จจึงควรบอก ในกาลนั้นพระองค์จักทรงเชื่อข้าพระองค์หมดสงสัย

พระราชาทรงรับจะทดลอง วันหนึ่งเมื่อบัณฑิตทั้ง ๕ มาพร้อมกัน จึงตรัสคาถานี้ในปัญจปัณฑิตปัญหา ในวีสตินิบาตว่า

ท่านทั้งหลายผู้เป็นบัณฑิตทั้ง ๕ มาพร้อมกันแล้ว บัดนี้ปัญหาแจ่มแจ้งแก่เรา ท่านทั้งหลายจงฟัง ปัญหานั้น บุคคลควรเปิดเผยข้อความที่ควรติเตียน หรือควรสรรเสริญ อันเป็นข้อความลับแก่ใคร

ครั้นพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว เสนกะคิดว่า เราจักให้พระราชาเข้ามาเป็นพวกเราด้วย จึงกล่าวว่า

ข้าแต่พระภูมิบาล พระองค์จงตรัสเปิดเผยแก่เหล่าข้าพระองค์ก่อน พระองค์เป็นผู้ชุบเลี้ยง เป็นผู้ทรงอดทนต่อราชกรณียะอันหนัก จงตรัสก่อน ข้าแต่พระจอมประชากร เหล่าข้าพระองค์ผู้เป็นนักปราชญ์ทั้ง ๕ จักพิจารณาสิ่งที่พระองค์พอพระราชหฤทัยและ เหตุเป็นที่ชอบด้วยพระอัธยาศัย แล้วกราบทูลภายหลัง

ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสคาถานี้ ด้วยความเป็นผู้เป็นไปในอำนาจกิเลสของพระองค์ว่า

ภรรยาใดมีศีลาจารวัตร ไม่ให้ผู้อื่นลักสัมผัส คล้อยตามอำนาจความพอใจของภัสดา เป็นที่รักเป็นที่เจริญใจ สามีควรเปิดเผยข้อความที่ควรติเตียน หรือควรสรรเสริญ อันเป็นความลับแก่ภรรยา

แต่นั้นเสนกะยินดีว่า บัดนี้เราทั้งหลายยังพระราชาให้เข้าในพวกเราได้แล้ว เมื่อจะแสดงเหตุการณ์ที่ตนทำไว้เอง จึงกล่าวคาถานี้ว่า

สหายใดเป็นที่ระลึก เป็นที่ถึง เป็นที่พึ่งของบุคคลผู้ถึงความทุกข์ เดือดร้อนอยู่ บุคคลควรเปิดเผย ข้อความที่ควรติเตียน หรือควรสรรเสริญ อันเป็นความลับ แก่สหายนั้นเทียว

ลำดับนั้น พระราชาตรัสถามปุกกุสะว่า แน่ะอาจารย์ปุกกุสะ ท่านเห็นอย่างไร ความลับของตนควรบอกแก่ใคร ปุกกุสะเมื่อจะกราบทูลจึงกล่าวว่า

พี่น้องชายใด ผู้เป็นพี่ใหญ่หรือพี่กลางหรือน้อง ถ้าว่าพี่น้องชายนั้นตั้งอยู่ในศีล เสพสิ่งที่ควรเสพ บุคคลควรเปิดเผยข้อความที่ควรติเตียน หรือควรสรร เสริญ อันเป็นความลับ แก่พี่น้องชายนั้น

แต่นั้น พระราชาตรัสถามกามินทะว่า แน่ะอาจารย์กามินทะ ท่านเห็นอย่างไร ความลับควรบอกแก่ใคร กามินทะเมื่อจะกราบทูลจึงกล่าวคาถานี้ว่า

บุตรใดดำเนินตามใจบิดา เป็นผู้อดทนต่อโอวาท เป็นอนุชาต* (บุตรมี ๓ ประเภท คือ อภิชาต ๑ อนุชาต ๑ อวชาต ๑ บุตรผู้ยังยศที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ชื่อว่า อภิชาต บุตรที่เป็นเชื้อสายของสกุล เป็นผู้ตัดวงศ์สกุล ทำทรัพย์ให้พินาศ ชื่อว่า อวชาต บุตรผู้รักษาแบบแผนของสกุล ประเพณีของสกุลไว้ได้ ชื่อ อนุชาต) มีปัญญา ไม่ทรามกว่าบิดา บิดาควรเปิดเผยข้อความที่ควร ติเตียนหรือควรสรรเสริญอันเป็นความลับแก่บุตรนั้น

แต่นั้น พระราชาตรัสถามเทวินทะว่า แน่ะอาจารย์เทวินทะ ท่านเห็นอย่างไร ความลับควรบอกแก่ใคร เทวินทะเมื่อจะกราบทูลเหตุการณ์ที่ตนทำไว้จึงกล่าวคาถานี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ประเสริฐที่สุดแห่งมนุษยนิกร มารดาใดเลี้ยงบุตรด้วยความพอใจรักใคร่ บุตรควรเปิดเผยข้อความที่ควรติเตียนหรือควรสรรเสริญ อันเป็นความลับแก่มารดานั้น

พระราชาครั้นตรัสถามอาจารย์ ๔ คนเหล่านั้น ซึ่งกล่าวตอบไปอย่างนี้แล้ว จึงตรัสถามมโหสถบัณฑิตว่า เจ้าเห็นอย่างไร พ่อบัณฑิต ความลับควรบอกแก่ใคร มโหสถบัณฑิตเมื่อจะกราบทูลเหตุแห่งความลับ จึงกล่าวว่า

การซ่อนความลับไว้นั่นแลเป็นการดี การเปิดเผยความลับไม่ดีเลย บุคคลผู้มีปรีชา เมื่อความปรารถนายังไม่สำเร็จก็พึงกลั้นไว้ เมื่อความปรารถนาสำเร็จแล้วพึงกล่าวตามสบาย

ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เมื่อสิ่งที่ตนปรารถนายังไม่สำเร็จเพียงใด บัณฑิตพึงอดกลั้นไว้ ไม่พึงแจ้งแก่ใครๆ เพียงนั้น

เมื่อมโหสถบัณฑิตกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระราชาทรงเสียพระทัย

เสนกะแลดูพระพักตร์พระราชา พระราชาก็ทอดพระเนตรหน้าเสนกะ มโหสถบัณฑิตเห็นกิริยาแห่งเสนกะและพระราชา ก็รู้ว่าอาจารย์ทั้ง ๔ นี้ได้ยุยงในระหว่างเราและพระราชาไว้ก่อนแล้ว พระราชาตรัสถามปัญญาเพื่อทดลองเรา

เมื่อพระราชาและราชบริษัทเจรจากันอยู่ ดวงอาทิตย์อัสดงคต เจ้าหน้าที่ตามประทีป มโหสถดำริว่า ขึ้นชื่อว่าราชการเป็นของหนักย่อมไม่ปรากฏ ใครจะรู้เรื่อง อะไรจักมี เราควรรีบกลับเสียก่อน ดำริฉะนี้จึงลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระราชาแล้วกลับออกไป แล้วมีความคิดว่า เสนกะกล่าวว่า ควรบอกความลับแก่สหาย ปุกกุสะกล่าวว่าควรบอกความลับแก่พี่น้องชาย กามินทะกล่าวว่า ควรบอกควาบลับแก่บุตร เทวินทะกล่าวว่า ควรบอกความลับแก่มารดา เราสำคัญว่า กิจที่เป็นความลับของคนเหล่านี้คงได้เกิดขึ้นแล้วเป็นแน่ คนเหล่านี้คงได้ทำกิจที่เป็นความลับนั้นแล้วแน่ คนเหล่านี้คงกล่าวถึงกิจที่ตนทำแล้ว เอาเถิด เราจักรู้เรื่องเหล่านั้นในวันนี้

ฝ่ายราชบัณฑิตทั้ง ๔ เมื่อออกจากราชสำนักแล้ว ปกติแล้วในวันอื่นๆ เคยนั่งที่หลังถังข้าวถังหนึ่งใกล้ประตูพระราชนิเวศน์ ปรึกษากันถึงกรณียกิจแล้วจึงกลับไปบ้าน เพราะเหตุนั้น มโหสถจึงดำริว่า วันนี้ เรานอนอยู่ภายใต้ถังข้าว ก็สามารถจะรู้ความลับของอาจารย์ทั้ง ๔ นั้น จึงให้คนใช้ยกถังข้าวนั้นแล้วให้ลาดเครื่องลาด แล้วเข้าอยู่ภายใต้ถังข้าวนั้น แล้วให้สัญญาแก่คนใช้ว่า เมื่ออาจารย์ทั้ง ๔ มานั่งปรึกษากันลุกไปแล้ว พวกเจ้าจงมานำข้าวออก คนใช้เหล่านั้นรับคำสั่งแล้วหลีกไป

ฝ่ายอาจารย์เสนกะทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า พระองค์ยังไม่ทรงเชื่อข้าพระบาทหรือ บัดนี้ข้อความนั้นเป็นอย่างไรพระเจ้าข้า

พระราชาทรงสดับคำของพวกอาจารย์ผู้ยุยง ก็หาได้ทรงพิจารณาไม่ เป็นผู้ทั้งกลัวทั้งตกพระหฤทัย จึงตรัสถามว่า แน่ะท่านเสนกบัณฑิต บัดนี้เราจักทำประการไร

เสนกะจึงทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้าควรที่พระองค์จะไม่ชักช้า อย่าทันให้มโหสถรู้ตัว แล้วฆ่าเสีย

พระราชาตรัสว่า แน่ะอาจารย์เสนกะ นอกจากท่านแล้ว คนอื่นที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ใคร่จะทำความเจริญให้แก่เราย่อมไม่มี ท่านจงชวนสหายของท่านคอยอยู่ที่ภายในประตู เมื่อมโหสถบุตรคฤหบดีมาสู่ราชสำนักแต่เช้า จงตัดศีรษะเสียด้วยพระแสงขรรค์

ดำรัสสั่งดั่งนี้แล้วก็พระราชทานพระแสงขรรค์รัตนะที่ทรง



>>>>> มีต่อ หน้า ๑๑
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 14 ต.ค.2006, 10:40 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อาจารย์ทั้ง ๔ นั้นกราบทูลว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า ขอพระองค์อย่าทรงเกรงกลัวเลย พวกข้าพระบาทจักฆ่ามโหสถนั้นเสียให้จงได้

ทูลฉะนี้แล้วออกมานั่งที่หลังถังข้าว รำพึงกันว่า พวกเราจักสามารถแก้แค้นปัจจามิตรได้แล้ว แต่นั้นเสนกะจึงเอ่ยขึ้นว่า ใครจักฆ่ามโหสถ

อาจารย์ทั้ง ๓ จึงตอบว่า ท่านอาจารย์นั่นแลจักฆ่าได้ แล้วก็ยกกิจนั้นให้เป็นภาระของเสนกะนั้นผู้เดียว

ลำดับนั้น เสนกะจึงถามอาจารย์ทั้ง ๓ ว่า ท่านทั้ง ๓ กล่าวว่า ชื่อว่าความลับควรบอกแก่บุคคลชื่อโน้นๆ ดังนี้ กิจนั้นท่านทั้ง ๓ ได้ทำแล้ว หรือเห็นแล้ว หรือได้สดับแล้วอย่างไร

ลำดับนั้น อาจารย์ทั้ง ๓ กล่าวกะเสนกะว่า ข้าแต่อาจารย์ กิจที่ท่านกล่าวว่า ความลับควรบอกแก่สหายนั้นเป็นของปรากฏแล้ว กิจนั้นท่านทำแล้ว หรือเห็นแล้ว หรือได้ฟังแล้วอย่างไรเล่า

กิจนั้นเราได้ทำเอง

ข้าแต่อาจารย์ ถ้ากระนั้นท่านจงกล่าวให้ทราบ

ความลับนี้ถ้าพระราชาทรงทราบแล้ว ชีวิตของเราจะไม่มี

ข้าแต่อาจารย์ ท่านอย่ากลัวเลย บุคคลผู้ทำลายความลับของเราทั้งหลายในที่นี้ไม่มี ขอจงกล่าวให้ทราบเถิด

เสนกะเอาเล็บเคาะถังข้าวว่า มโหสถอยู่ใต้ถังข้าวนี้กระมัง

อาจารย์ทั้ง ๓ ตอบว่า มโหสถเป็นคนเมาอิสริยยศ คงไม่เข้าไปอยู่ในที่เช่นนี้ บัดนี้จักเป็นคนเมายิ่งด้วยยศ ท่านเห็นซึ้งไปได้

ฝ่ายเสนกะเมื่อจะบอกความลับของตน จึงกล่าวว่า ท่านทั้ง ๓ รู้จักหญิงแพศยาชื่อโน้นในนครนี้หรือ

ข้าพเจ้าทั้ง ๓ ทราบ บัดนี้นางคนนั้นยังปรากฏอยู่หรือหายไป ไม่พบเลย

ท่านอาจารย์เสนกะจึงแจ้งว่า เราทำกิจของบุรุษกับด้วยนางคนนั้นในสวนไม้รัง แล้วฆ่านางคนนั้นให้ตายเพราะเราต้องการเครื่องประดับของนาง แล้วนำเครื่องประดับของนางนั้นมาห่อด้วยผ้าสาฎก แล้วแขวนไว้บนไม้รูปเหมือนงาช้างในห้องเรือนของเรา เรายังไม่อาจจะใช้เครื่องประดับนั้น เห็นความที่เครื่องประดับนั้นเป็นของเก่า เราทำความผิดพระราชกำหนดอย่างนี้ ได้บอกแก่สหายคนหนึ่ง สหายคนนั้นมิได้บอกแก่ใคร ด้วยเหตุนี้เราจึงกล่าวว่า เราได้บอกความลับแก่สหาย

มโหสถเริ่มตั้งใจกำหนดจดจำความลับของเสนกะไว้เป็นอย่างดี

ฝ่ายปุกกุสะเมื่อจะบอกความลับของตน จึงกล่าวว่า โรคเรื้อนมีที่ขาของข้าพเจ้า น้องชายน้อยของข้าพเจ้าเท่านั้นรู้ ข้าพเจ้าไม่ให้ใครๆ รู้ ชำระแผลนั้นทายา พันผ้าทับแผล พระราชามีพระหฤทัยกรุณาในข้าพเจ้า ตรัสเรียกข้าพเจ้าว่า ปุกกุสะจงมา แล้วบรรทมที่ขาของข้าพเจ้าบ่อยๆ ก็ถ้าราชาทรงทราบเรื่องนี้ พึงประหารชีวิตข้าพเจ้า นอกจากน้องชายน้อยคนนั้นของข้าพเจ้าแล้ว คนอื่นไม่รู้เลย ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าบอกความลับแก่น้องชายน้อย

ฝ่ายกามินทะเมื่อจะแสดงความลับของตน จึงกล่าวว่า ในวันอุโบสถข้างแรม ยักษ์ชื่อนรเทวะมาสิงข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ร้องดุจสุนัขบ้าร้อง ข้าพเจ้าได้แจ้งเนื้อความนี้แก่บุตร บุตรของข้าพเจ้ารู้ว่ายักษ์มาสิงข้าพเจ้า ก็ให้ข้าพเจ้านอนในห้องข้างใน ปิดประตูแล้วออกไปจัดการให้มีมหรสพที่ประตูเพื่อกลบเสียงของข้าพเจ้า ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าบอกความลับแก่บุตร

แต่นั้นอาจารย์ทั้ง ๓ จึงถามเทวินทะ เทวินทะเมื่อจะกล่าวความลับของตน จึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าทำการขัดสีแก้วมณี มีแก้วมณีเป็นมงคล เป็นที่เข้าอยู่แห่งสิริ เป็นของหลวงซึ่งท้าวสักกเทวราชประทานพระเจ้ากุสราชไว้ ข้าพเจ้าลักเอามงคลมณีรัตน์นั้นมาให้มารดา มารดานั้นไม่ให้ใครรู้ ถึงเวลาข้าพเจ้าจะเข้าเฝ้าพระราชา ก็ให้มงคลมณีรัตน์แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้ายังสิริให้อยู่ในตัวข้าพเจ้า ด้วยอำนาจแห่งมงคลมณีรัตน์นั้น จึงเข้าไปสู่ราชสำนัก พระราชาไม่ตรัสแก่ท่านทั้งหลาย ตรัสกับข้าพเจ้าก่อนกว่าใครๆ แล้วพระราชทานกหาปณะ ๘ กหาปณะบ้าง ๑๖ กหาปณะบ้าง ๓๒ กหาปณะบ้าง ๖๔ กหาปณะบ้าง แก่ข้าพเจ้าเพื่อเป็นเสบียงได้เลี้ยงชีพทุกวัน ถ้าพระราชาทรงทราบอานุภาพมณีรัตน์นั้นไซร้ ชีวิตของข้าพเจ้าก็จะไม่รอดอยู่ ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าบอกความลับแก่มารดา

พระมหาสัตว์ได้ทำความลับของอาจารย์ทั้ง ๔ ให้ประจักษ์ ก็อาจารย์ทั้ง ๔ นั้นแจ้งความลับแก่กันแลกัน ราวกะบุคคลผ่าอกของตนแผ่อวัยวะภายในออกมาภายนอก แล้วเตือนกันว่า ท่านทั้งหลายอย่าประมาท มาช่วยกันฆ่ามโหสถบุตรคฤหบดีแต่เช้า กำชับกันดังนี้แล้วต่างลุกขึ้นหลีกไป

ในกาลเมื่ออาจารย์ทั้ง ๔ ไปแล้ว คนใช้ของมโหสถที่นัดหมายกันไว้ ก็มายกถังข้าวพาพระมหาสัตว์ออกหลีกไป พระโพธิสัตว์กลับถึงเคหสถาน อาบน้ำแต่งกายบริโภคโภชนาหารแล้วรู้ว่า วันนี้พระนางอุทุมพรเทวีผู้เชษฐภคินีของเรา คงประทานข่าวมาแต่พระราชวัง จึงวางบุรุษพิเศษไว้ที่ประตูสั่งว่า เจ้าจงให้คนมาแต่พระราชวังเข้ามา แล้วบอกแก่เราโดยเร็ว ก็แลครั้นสั่งฉะนั้นแล้วก็นอน

ขณะนั้น พระเจ้าวิเทหราชบรรทม ณ ที่บรรทมอันมีสิริ ทรงอนุสรณ์ถึงคุณของมโหสถว่า มโหสถบัณฑิตบำรุงเรามาตั้งแต่เขามีอายุได้ ๗ ปี ไม่ได้ทำความเสียหายหน่อยหนึ่งแก่เรา เมื่อเทวดาถามปัญหา ถ้าจักไม่มีมโหสถไซร้ ชีวิตของเราก็จะไม่พึงมี เรามาถือเอาคำของปัจจามิตรผู้มีเวร แล้วกล่าวสั่งว่าท่านทั้งหลายจงฆ่ามโหสถผู้มีธุระหาผู้เสมอมิได้ ฉะนี้แล้วให้พระขรรค์ เป็นอันว่าเราทำสิ่งที่ไม่ควรทำ บัดนี้แต่พรุ่งนี้ไป เราจักไม่ได้เห็นมโหสถอีก ทรงรำพึงฉะนี้ก็ยังความโศกให้เกิดขึ้น พระเสโทไหลโซมพระกาย

พระราชานั้นเต็มไปด้วยความโศกก็ไม่ทรงได้ความผ่องใสแห่งพระมนัส พระนางอุทุมพรเทวีเสด็จไปบรรทมร่วมกับพระราชสามี ทอดพระเนตรเห็นพระอาการของพระราชสามี ทรงดำริว่า เป็นไฉนหนอ ความผิดอย่างไรของเรามีอยู่ หรือเหตุการณ์แห่งความโศกอย่างไรอื่นเกิดขึ้นแก่พระองค์ พระนางจึงได้ทูลถามดังนั้นกับพระสวามี

ลำดับนั้น พระราชาตรัสตอบพระนางว่า

แน่ะนางผู้เจริญ บัณฑิตทั้ง ๔ บอกแก่เราว่า มโหสถบัณฑิตเป็นศัตรูของเรา เราไม่ได้พิจารณาโดยถ่องแท้ สั่งฆ่ามโหสถผู้มีปัญญาดังแผ่นดินเสีย เมื่อเราคิดถึงการณ์นั้น จึงมีความโทมนัสว่า เราตายเสียดีกว่ามโหสถบัณฑิตตาย

ความโศกสักเท่าภูเขาเกิดขึ้นแก่พระนางอุทุมพร ด้วยความรักในพระมหาสัตว์ เพราะได้ทรงสดับพระราชาตรัสฉะนั้น แต่นั้นพระนางจึงทรงคิดว่า เราจักยังพระราชาให้ทรงอุ่นพระหฤทัยด้วยอุบายหนึ่ง ในกาลเมื่อพระราชาบรรทมหลับ เราจักส่งข่าวไปยังมโหสถผู้กนิษฐภาดาของเรา

ลำดับนั้น พระนางจึงกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์ผู้ยังมโหสถให้ดำรงอยู่ในอิสริยยศใหญ่ ภายหลังมาทรงทำการดังนี้แก่เขาจะเป็นไรไป แล้วทูลเล้าโลมพระราชาว่า พระองค์ทรงสถาปนามโหสถในตำแหน่งเสนาบดี ได้ยินว่า บัดนี้เธอคิดกบฏต่อพระองค์ ก็บุคคลผู้ปัจจามิตร มิใช่เป็นคนเล็กน้อยเลย พระองค์ควรประหารชีวิตเขาเสียทีเดียว ขอพระองค์อย่าทรงพระวิตกเลย

เมื่อพระราชามีความโศกเบาบางลงก็หยั่งลงสู่นิทรารมณ์ ขณะนั้นพระราชเทวีเสด็จลุกขึ้นเข้าสู่ห้อง แล้วทรงพระอักษรมีความว่า ดูก่อนมโหสถ บัณฑิตทั้ง ๔ ทำลายเธอให้แตกกับพระราชา พระราชากริ้ว ตรัสสั่งบัณฑิตทั้ง ๔ ให้ฆ่าเธอที่ประตูพระราชวังเวลาพรุ่งนี้ พรุ่งนี้เธออย่ามาสู่ราชสำนัก ถ้าจะมา ก็จงทำชาวพระนครให้อยู่ในเงื้อมมือเธอเสียก่อนแล้วพึงมา

เมื่อทรงพระอักษรมีความฉะนี้แล้วสอดเข้าในห่อ เอาด้ายพันห่อแล้ววางในสุพรรณภาชน์ใหม่ปิดฝาประทับพระลัญจกรประทานแก่นางข้าหลวงตรัสสั่งว่า เจ้าจงนำห่อนี้ไปให้แก่มโหสถบัณฑิตผู้น้องชายน้อยของเรา

นางข้าหลวงได้ทำตามคำสั่ง ใครๆ ไม่ควรสงสัยว่า ทำไมนางข้าหลวงออกจากตำหนักข้างในในเวลากลางคืนได้ เพราะว่าพระราชาพระราชทานพรแก่พระนางไว้ก่อนแล้ว ให้พระนางใช้ใครนำของเสวยอันมีรสออกไปให้มโหสถได้ตามประสงค์ เพราะฉะนั้น ใครๆ จึงไม่ห้ามนางข้าหลวงนั้น

พระโพธิสัตว์รับพระสุพรรณภาชน์แล้วให้นางข้าหลวงนั้นกลับ นางข้าหลวงก็ลากลับมาทูลความที่ตนให้พระสุพรรณภาชน์แก่มโหสถแล้วแด่พระนาง ขณะนั้นพระนางจึงเสด็จมาบรรทมกับพระราชสามี

ฝ่ายพระโพธิสัตว์แก้ห่อหนังสือออกอ่านรู้ความนั้นแล้ว จัดกิจที่จะพึงทำแล้วเข้านอน

ฝ่ายอาจารย์ทั้ง ๔ ถือพระแสงขรรค์ยืนอยู่ภายในประตูวังแต่เช้า เมื่อไม่เห็นมโหสถมาก็เสียใจ ไปเฝ้าพระราชา ครั้นตรัสถามว่า เป็นอย่างไร ท่านทั้งหลายฆ่ามโหสถแล้วหรือ

จึงกราบทูลว่า ไม่เห็นมโหสถมา พระเจ้าข้า

ฝ่ายพระมหาสัตว์ พออรุณขึ้นก็สนานกายด้วยน้ำหอม ประดับกายด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง บริโภคโภชนะอันเลิศ ชำระสรีรกิจแล้ว ทำชาวพระนครให้อยู่ในเงื้อมมือแล้ว ตั้งการรักษาในที่นั้นๆ เป็นผู้อันมหาชนห้อมล้อมขึ้นรถไปสู่ประตูวังด้วยยศใหญ่

ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชให้เปิดพระแกลประทับยืนทอดพระเนตรอยู่

ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ลงจากรถถวายบังคมบรมกษัตริย์แล้วยืนอยู่ พระราชาทอดพระเนตรเห็นกิริยาของมโหสถทรงดำริว่า ถ้ามโหสถเป็นข้าศึกแก่เรา ที่ไหนเขาจะพึงไหว้เรา

ลำดับนั้นก็ตรัสให้เรียกมโหสถมาเฝ้า แล้วเสด็จประทับ ณพระราชอาสน์ ฝ่ายมโหสถถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ส่วนหนึ่ง บัณฑิตทั้ง ๔ ก็นั่งอยู่ที่นั่น ลำดับนั้น พระราชาเป็นเหมือนไม่ทรงทราบอะไร ตรัสถามมโหสถว่า แน่ะพ่อมโหสถ เมื่อวานนี้เจ้ากลับบ้านแต่ยามแรก เจ้าพึ่งมาเดี๋ยวนี้ เจ้าสละเสียอย่างนี้เพราะอะไร ตรัสฉะนี้แล้ว ได้ตรัสว่า

เจ้าไปบ้านแต่หัวค่ำ แล้วมาเอาตอนนี้ ใจของเจ้ารังเกียจเพราะเจ้าได้ฟังอะไรมาหรือ ดูก่อนเจ้าผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน มีใคร ได้กล่าวกะเจ้าว่า อย่าไปเฝ้าพระราชาหรือ พวกเราอยากจะฟังคำของเจ้านั้น เชิญเจ้าบอกการณ์นั้นแก่เรา

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลเตือนพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ถือเอาคำบัณฑิตทั้ง ๔ แล้ว มีพระราชาณัติให้ฆ่าข้าพระบาท ด้วยเหตุนั้น ข้าพระบาทจึงยังไม่มา เมื่อทูลพระราชาดังนั้นแล้วได้กล่าวว่า

มโหสถผู้มีปัญญาจะถูกฆ่า ข้าแต่พระปิ่นประชากร เมื่อพระองค์เสด็จอยู่ในที่ลับ ได้ตรัสข้อความลับที่รับสั่งแก่อาจารย์ทั้ง ๔ กับพระนางอุทุมพรเมื่อหัวค่ำ ข้อความลับอย่างนั้นของพระองค์ พระองค์ได้เปิดเผยแล้ว ก็ข้อความลับนั้นอันข้าพระบาทได้ฟังแล้วในกาลนั้น

พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำของมโหสถก็ทรงพระพิโรธด้วยทรงเห็นว่า นางอุทุมพรจักส่งข่าวไปขณะนั้นเอง จึงทอดพระเนตรดูพระราชเทวี

มโหสถรู้กิริยานั้นจึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ทรงพิโรธพระราชเทวีทำไม ข้าพระองค์ทราบเหตุการณ์ อดีต อนาคต และปัจจุบันทั้งสิ้น เรื่องที่พระนางตรัสความลับของพระองค์แก่ข้าพระองค์จงยกไว้ก่อน ความลับของเสนกะและปุกกุสะเป็นต้น ใครแจ้งแก่ข้าพระองค์เล่า ปัญหาของกิ้งก่าใครบอกแก่ข้าพระองค์ และปัญหาของเทวดาใครบอกแก่ข้าพระองค์เล่า ข้าพระองค์ทราบความลับของชนเหล่านี้ก่อนแล้วทีเดียว เมื่อจะทูลความลับของเสนกะก่อนจึงได้กล่าวคาถานี้ว่า

เสนกะได้ทำกรรมลามกไม่ใช่กรรมดีอันใด คือ ฆ่าหญิงแพศยานางหนึ่งในสวนไม้รัง ในนครนี้เอง แล้วถือเอาเครื่องประดับห่อด้วยผ้าสาฎกเก็บไว้ในเรือนของตน อยู่ในที่ลับ และได้แจ้งเรื่องนี้แก่สหายคนหนึ่ง กรรมลามกอันเป็นความลับของตนอย่างนี้ อันเสนกะทำให้ปรากฏแล้ว ความลับนี้ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว

ข้าพระองค์มิได้คิดกบฏต่อสมมติเทพเสนกะนั่นแหละเป็นผู้คิดกบฏ ถ้าพระองค์มีพระราชประสงค์ด้วยคนกบฏ จงโปรดให้จับเสนกะ

พระราชาทอดพระเนตรดูเสนกะแล้วมีราชกระทู้ถามว่า จริงหรือเสนกะ ก็ได้ทรงรับกราบทูลตอบว่า จริงพระเจ้าข้า จึงรับสั่งให้จำเสนกะในเรือนจำ ฝ่ายมโหสถเมื่อจะกราบทูลข้อความลับของปุกกุสะ จึงกล่าวว่า

ข้าแต่พระจอมประชากร โรคเรื้อนเกิดขึ้นแก่ ปุกกุสะ เป็นโรคที่ไม่สมควรจะใกล้ชิดพระราชา ปุกกุสะอยู่ในที่ลับได้แจ้งแก่น้องชายน้อย ความที่ ปุกกุสะเป็นโรคเรื้อน เป็นข้อความลับเห็นปานนี้ อันปุกกุสะได้ทำให้ปรากฏแล้ว ความลับนี้ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว

พระองค์บรรทมที่ขาของปุกกุสะบ่อยๆ ด้วยเข้าพระหฤทัยว่า ขาของปุกกุสะอ่อน ที่แท้ขาของปุกกุสะนั้นมีสัมผัสอ่อนเพราะผ้าพันแผล พระเจ้าข้า

พระราชาทอดพระเนตรดูปุกกุสะแล้ว ตรัสถามว่า จริงหรือปุกกุสะครั้นได้ทรงสดับ รับสารภาพว่าจริง จึงรับสั่งให้เอาตัวเข้าเรือนจำ มโหสถบัณฑิตเมื่อจะกราบทูลความลับของกามินทะ จึงกล่าวว่า

กามินทะนั้น เมื่อยักษ์ชื่อ นรเทวะ เข้าสิงแล้วเป็นเหมือนสุนัขบ้าร้องอยู่ กามินทะได้แจ้งความลับนี้แก่บุตร ความลับเห็นปานนี้อันกามินทะทำให้ปรากฏแล้ว ความลับนี้ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว

พระราชาทอดพระเนตรดูกามินทะแล้วตรัสถามว่า จริงหรือ กามินทะกามินทะทูลรับสารภาพ จึงตรัสสั่งให้นำกามินทะเข้าสู่เรือนจำ ฝ่ายมโหสถบัณฑิตเมื่อจะกราบทูลความลับของเทวินทะ จึงกล่าวคาถานี้ว่า

ท้าวสักกเทวราชได้ประทานมณีรัตนะอันโอฬาร มี ๘ คดแด่พระเจ้ากุสราชผู้เป็นพระอัยยกาของพระองค์ มณีรัตนะนั้นเดี๋ยวนี้ตกถึงมือเทวินทะ ก็เทวินทะอยู่ในที่ลับได้แจ้งแก่มารดา ข้อความลับเห็นปานนี้ อัน เทวินทะทำให้ปรากฏแล้ว ความลับนี้ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว

พระราชาตรัสถามเทวินทะว่า จริงหรือเทวินทะ ครั้นเทวินทะกราบทูลสารภาพว่าจริง จึงโปรดให้ส่งเทวินทะเข้าเรือนจำ อาจารย์ทั้ง ๔ ตั้งใจจะฆ่ามโหสถ กลับต้องเข้าเรือนจำเองทั้งหมด ด้วยประการฉะนี้

พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระองค์กราบทูลว่า อันบุคคลไม่ควรบอกความลับของตนแก่บุคคลอื่นด้วยเหตุนี้ อาจารย์ทั้ง ๔ กราบทูลว่า ควรบอก ก็ถึงความพินาศใหญ่ เมื่อจะแสดงธรรมให้ยิ่ง ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

การซ่อนความลับไว้นั่นแหละดี การเปิดเผยความลับไม่ประเสริฐเลย บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อข้อความลับยังไม่สำเร็จ พึงอดทนไว้ ข้อความลับสำเร็จแล้ว พึงกล่าวตามสบาย

บุคคลไม่ควรเปิดเผยข้อความลับเลย ควรรักษาข้อความลับนั้นไว้ ดุจบุคคลรักษาขุมทรัพย์ ฉะนั้น ข้อความลับอันบุคคลผู้รู้แจ้งไม่ทำให้ปรากฏนั่นแลดี บัณฑิตไม่ควรบอกความลับแก่สตรี และแก่คนไม่ใช่มิตร กับอย่าบอกความในใจแก่บุคคลที่อามิสลากไป

ผู้มีปรีชาย่อมอดทนต่อคำด่า คำบริภาษ และการทำร้ายของบุคคลผู้รู้ความลับ เพราะกลัวแต่แพร่ความลับที่คิดไว้ ประหนึ่งคนเป็นทาสอดทนต่อคำด่าแห่งนายฉะนั้น ชนทั้งหลาย รู้ความลับที่ปรึกษากันของบุคคลผู้หนึ่งเพียงใด ความหวาดสะดุ้งของบุคคลนั้นย่อมเกิดขึ้นเพียงนั้น เพราะเหตุนั้น ผู้ฉลาดไม่ควรสละความลับ

บุคคลกล่าวความลับในเวลากลางวัน พึงหาโอกาสที่เงียบ เมื่อจะพูดความลับในเวลาค่ำคืน อย่า ปล่อยเสียงให้เกินเขต เพราะว่าคนแอบฟังความ ย่อมจะได้ยินความลับที่ปรึกษากัน เพราะฉะนั้น ความลับที่ปรึกษากันจะถึงความแพร่งพรายทันที

พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับ ถ้อยคำแห่งมโหสถก็ทรงพิโรธว่าอาจารย์เหล่านี้ปองร้ายกันเอง มาลงเอามโหสถว่าเป็นผู้ปองร้ายเรา จึงมีพระราชดำรัสสั่งราชบุรุษว่า พวกเจ้าจงไป จงนำอาจารย์ทั้ง ๔ นั้น ออกจากพระนคร ให้นอนหงายบนหลาวแล้วตัดศีรษะเสีย

มโหสถกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ อาจารย์เหล่านี้เป็นอำมาตย์เก่าของพระองค์ ขอพระองค์ทรงงดโทษแก่อาจารย์เหล่านี้

พระราชาพระราชทานอนุญาต แล้วให้เรียกอาจารย์ทั้ง ๔ มา ตรัสสั่งยกให้เป็นทาสแห่งมโหสถ แต่มโหสถทูลยกให้เป็นไทในเวลานั้นนั่นเอง

พระราชาตรัสสั่งให้ขับไล่อาจารย์ทั้ง ๔ จากพระราชอาณาจักร

มโหสถทูลขอพระราชทานโทษว่า ขอได้โปรดอดโทษแก่คนอันธพาลเหล่านั้น ขอให้ทรงยกย่องอยู่ในฐานันดรนั้น

พระราชาทรงเลื่อมใสในมโหสถเกินเปรียบ ด้วยทรงดำริว่า มโหสถได้มีเมตตาเห็นปานนี้ในเหล่าปัจจามิตร มโหสถจักไม่มีเมตตาเห็นปานนี้ในชนเหล่าอื่นอย่างไร นับแต่นั้น นักปราชญ์ทั้ง ๔ เป็นผู้หมดพยศ ดุจงูถูกถอนเขี้ยวเสียแล้วไม่อาจจะกล่าวอะไรอีก

จบปัญหาบัณฑิต ๕


จบเรื่องปริภินทกถา



>>>>> มีต่อ หน้า ๑๒
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 16 พ.ย.2006, 10:52 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

นับแต่กาลนั้นมา มโหสถบัณฑิตถวายอนุศาสน์อรรถธรรมแด่พระเจ้ากรุงมิถิลา มโหสถคิดว่า ก็เราดูแลเศวตฉัตรอันเป็นราชสมบัติของพระราชา ควรที่เราจะไม่ประมาท ดำริฉะนี้จึงให้ทำกำแพงใหญ่ในพระนครและให้ทำกำแพงน้อยอย่างนั้น ทั้งหอรบที่ประตูและที่ระหว่างๆ ให้ขุดคู ๓ คู คือคูน้ำ คูเปือกตม คูแห้ง ให้ซ่อมแซมเรือนเก่าๆ ภายในพระนคร ให้ขุดสระโบกขรณีใหญ่ ให้ฝังท่อน้ำในสระนั้น ทำฉางทั้งปวงในพระนครให้เต็มด้วยธัญญาหาร ให้นำพืชหญ้ากับแก้และกุมุทจากพวกดาบสผู้มาแต่หิมวันตประเทศมาปลูกไว้ ให้ชำระล้างท่อน้ำให้น้ำไหลเข้าออกสะดวก ให้ซ่อมแซมสถานที่ทั้งหลายมีศาลาเก่าภายนอกพระนครเป็นต้น

เพราะเหตุการณ์อะไร มโหสถจึงให้ตกแต่งบ้านเมืองดังนั้น เพราะจะป้องกันภัยอันจะมาถึงในกาลข้างหน้า มโหสถไต่ถามพวกพาณิชผู้มาแต่ประเทศนั้นๆ ว่า มาแต่ไหน เมื่อได้รับตอบว่า มาแต่สถานที่โน้น จึงซักถามว่า อะไรเป็นที่ชอบพระราชหฤทัยของพระราชาแห่งพวกท่าน ได้ความแล้วก็ทำความนับถือต่อพวกนั้นแล้วส่งกลับไป

แล้วเรียกโยธาร้อยเอ็ดของตนมากล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงรับเครื่องบรรณาการที่เราจะให้ แล้วไปสู่ราชธานีร้อยเอ็ด ถวายบรรณาการเหล่านี้แด่พระราชาเหล่านั้น เพื่อต้องการให้พระราชาเหล่านั้นรักตน แล้วจงอยู่บำรุงพระราชาเหล่านั้น คอยเฝ้าดูกิริยาหรือความคิดแห่งพระราชาเหล่านั้น แล้วส่งข่าวมาให้เรารู้ เราจะเลี้ยงบุตรและภรรยาของพวกท่านเองไม่ต้องเป็นห่วง

สั่งดังนี้แล้วจารึกกุณฑล ฉลองพระบาท พระขรรค์และสุวรรณมาลาให้เป็นอักษรในราชาภรณ์นั้น ๆ เพื่อพระราชาเหล่านั้นๆ แล้ว ตั้งสัตยาธิษฐานว่า กิจของเราย่อมมีเมื่อใด อักษรเหล่านี้จงปรากฏเมื่อนั้น แล้วมอบให้โยธาร้อยเอ็ดเหล่านั้นไป

โยธาเหล่านั้นไปในประเทศนั้นๆ ถวายบรรณาการแด่พระราชาเหล่านั้น เมื่อพระราชาเหล่านั้นตรัสถามว่า มาธุระอะไร ก็ทูลว่า มาบำรุงพระองค์ ครั้นตรัสถามว่า มาแต่ไหน ก็ไม่ทูลตามตรง ทูลว่ามาจากที่อื่น เมื่อทรงรับ ก็อยู่รับราชการในภายใน

กาลนั้นมีพระราชาองค์หนึ่งพระนามว่า สังขพลกะ ในกัมพลรัฐ ให้เตรียมศัสตราวุธและเรียกระดมกองทัพ ทหารของมโหสถที่วางให้สดับข่าว และระวังเหตุการณ์ ที่ส่งไปอยู่ ณ ราชสำนักแห่งพระเจ้าสังขพลกราชนั้น ได้ส่งข่าวสาสน์มายังมโหสถและขอให้มโหสถได้ส่งสุวบัณฑิต (นกแก้วฉลาด) ไปสืบความเองโดยละเอียด

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ได้ฟังข่าวนั้นจึงเรียกสุวโปดกลูกนกแก้วมากล่าวว่า เจ้าจงไปสืบข่าวว่า พระราชาองค์หนึ่งมีพระนามว่าสังขพลกะ ในกัมพลรัฐ ให้เตรียมศัสตราวุธและเรียกระดมกองทัพ แล้วจงเที่ยวไปสืบในสกลชมพูทวีปมาแจ้งแก่เรา กล่าวฉะนี้แล้วให้สุวโปดกกินข้าวตอกคลุกน้ำผึ้งให้ดื่มน้ำผึ้ง แล้วเอาน้ำมันหุงร้อยหน หุงพันหนทาขนปีก แล้วให้จับที่หน้าต่างเบื้องปราจีนทิศปล่อยไป สุวบัณฑิตนั้นไปในที่นั้น เที่ยวสืบเรื่องของพระเจ้าสังขพลกราชจากสำนักทหารของมโหสถนั้นโดยละเอียดแล้ว และไปสืบข่าวทั่วชมพูทวีปทั้งสิ้นจนถึงอุตรปัญจาลนครในกัปปิลรัฐ

กาลนั้น พระราชามีพระนามว่าจุลนีพรหมทัต ครองราชสมบัติในอุตรปัญจาลนครนั้น พราหมณ์ชื่อเกวัฏ เป็นนักปราชญ์ผู้ฉลาดพร่ำถวายอรรถธรรมแก่พระราชานั้น

ในเวลาใกล้รุ่งวันหนึ่ง ปุโรหิตนั้นตื่นขึ้นแลดูห้องประกอบด้วยสิริอันประดับแล้ว คำนึงว่าพระเจ้าจุลนีพรหมทัตพระราชทานเกียรติยศอันยิ่งใหญ่แก่เรา ควรที่เราจักจัดการให้พระองค์ได้เป็นอัครราชาในสกลชมพูทวีป เราก็จักได้เป็นอัครปุโรหิตของพระองค์ คิดฉะนี้แล้วเข้าเฝ้าพระราชาแต่เช้า ทูลถามถึงสุขไสยาตามธรรมเนียมแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้อความอันข้าพระบาทจะพึงทูลปรึกษามีอยู่

เมื่อพระราชาทรงอนุญาตให้กราบทูล จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า สถานที่ลับในพระนครไม่มี ขอเสด็จไปพระราชอุทยาน

พระราชาทรงเห็นชอบด้วย จึงเสด็จไปพระราชอุทยานกับปุโรหิต วางพลนิกายไว้ภายนอกให้เฝ้ารักษา แล้วเสด็จเข้าสู่พระราชอุทยานกับพราหมณ์เท่านั้น ประทับนั่ง ณ แผ่นศิลาเป็นมงคล ครั้งนั้น สุวโปดกเห็นกิริยาของพระราชากับพราหมณ์ จึงคิดว่า ดูจากกิริยาของพระราชากับพราหมณ์นี้เห็นทีจะมีเหตุการณ์อันใดเป็นแน่ วันนี้เราจักได้ฟังอะไรๆ ที่ควรแจ้งแก่มโหสถ

คิดฉะนี้แล้วบินเข้าไปสู่พระราชอุทยาน จับเร้นอยู่ระหว่างใบไม้รังอันเป็นมงคล พระราชาตรัสให้เกวัฏทูลเรื่อง พราหมณ์จึงกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอพระองค์ทรงเก็บความนี้ไว้เฉพาะในพระองค์ ความคิดนี้จักชื่อว่ารู้กัน ๔ หู ถ้าพระองค์ทรงทำตามคำของข้าพระองค์ ข้าพระองค์จักทำพระองค์ให้เป็นอัครราชาในสกลชมพูทวีป

พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับคำของเกวัฏ ก็ทรงโสมนัสด้วยความเป็นผู้มีความปรารถนาใหญ่ จึงตรัสว่า กล่าวไปเถิดอาจารย์ เราจักทำตามคำของท่าน

พราหมณ์เกวัฏจึงทูลบรรยายความคิดว่า ข้าแต่สมมติเทพ เราทั้งหลายจักเรียกระดมกองทัพแล้วล้อมเมืองน้อยยึดเอาไว้ก่อน ข้าพระบาทจักเข้าสู่เมืองทางประตูน้อยแล้วแจ้งแก่พระราชานั้นว่า ถ้าพระองค์ไม่ประสงค์ที่จะทำศึก โภคสมบัติเป็นของพวกข้าพระเจ้าทั้งสิ้น พระองค์จักคงเป็นพระราชาอยู่อย่างนั้น ก็ถ้าพระองค์จักรบ ก็จะพ่ายแพ้แน่นอนเพียงอย่างเดียว เพราะความที่พลและพาหนะของพวกข้าพระเจ้ามาก ถ้าพระราชานั้นจักทำตามคำของพวกเรา พวกเราจักจับพระราชานั้นไว้ ถ้าพระราชานั้นจักไม่ทำตามคำของเราไซร้ พวกเราจักรบแล้วฆ่าพระราชานั้นให้สิ้นพระชนม์ แล้วถือเอากองทัพนครนั้น ไปยึดเอาเมืองอื่นต่อไป ถือเอาราชสมบัติในสกลชมพูทวีปโดยอุบายนี้ แล้วพวกเราจักจัดงานดื่มชัยบาน นำพระราชาร้อยเอ็ดพระนครมาสู่เมืองเรา แล้วให้ดื่มสุราเจือยาพิษในอุทยาน เมื่อพระราชาทั้งหมดสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ให้ทิ้งพระศพของพระราชาเหล่านั้นเสียในคงคา เมื่อเป็นอย่างนี้ราชสมบัติในราชธานีร้อยเอ็ดพระนครก็จะอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ของพระองค์ พระองค์จักเป็นอัครราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้นด้วยประการฉะนี้

พระราชาทรงยินดีตรัสว่า ดีแล้วอาจารย์ เราจักทำอย่างนั้น

พราหมณ์เกวัฏกราบทูลว่า ความคิดนี้ชื่อว่าความคิดรู้กัน ๔ หู เพราะว่าบุคคลอื่นไม่อาจมาล่วงรู้ เพราะเหตุนั้น ขอพระองค์อย่าชักช้า รีบยกกองทัพออกทีเดียว

พระราชาได้ทรงสดับคำนั้นก็ทรงโสมนัสรับว่า ดีแล้ว

สุวโปดกได้ฟังเรื่องนั้นทั้งหมด ในกาลเมื่อพราหมณ์กับพระราชาคิดการนี้จบลง จึงประหนึ่งบินลงจับกิ่งไม้รังที่ห้อย ยังมูลให้ตกลงบนศีรษะแห่งเกวัฏแล้วร้องขึ้นว่า นี้อะไรกัน พอเกวัฏแหงนขึ้นก็ยังมูลให้ตกลงในปากร้องกิริๆ บินขึ้นจากกิ่งไม้รังกล่าวว่า แน่ะเกวัฏ ท่านสำคัญว่า ความคิดของท่านรู้กันแต่ ๔ หูหรือ บัดนี้รู้กันเป็น ๖ หูแล้ว จักรู้กันเป็น ๘ หูอีก แล้วจักรู้กันหลายร้อยหูทีเดียว

ครั้นเมื่อเกวัฎร้องสั่งพวกทหารว่า ช่วยกันจับๆ ให้ได้ สุวโปดกก็บินไปสู่กรุงมิถิลาโดยกำลังเร็วดุจลม เข้าไปสู่เคหสถานแห่งมโหสถบัณฑิต ความประพฤติของสุวโปดกนั้นมีปกติเป็นเช่นนี้ คือถ้าว่าได้ข่าวมาแต่ที่ไรๆ แล้วข่าวควรจะบอกแก่มโหสถผู้เดียว เมื่อนั้นสุวโปดกก็ลงจับที่จะงอยบ่าแห่งมโหสถ ถ้าว่าควรบอกแก่นางอมราเทวี สุวโปดกก็ลงจับที่ตัก ถ้าว่าข่าวนั้นควรแจ้งแก่มหาชน สุวโปดกก็ลงจับที่พื้น

กาลนั้นสุวโปดกลงจับที่จะงอยบ่าแห่งมโหสถ ด้วยสัญญาณนั้น มหาชนก็หลีกไปด้วยรู้กันว่า สุวโปดกมีความลับจะแจ้ง มโหสถพาสุวโปดกขึ้นไปสู่พื้นชั้นบนแล้วถามว่า พ่อได้เห็นได้ฟังอะไรมาหรือ

ลำดับนั้น สุวโปดกจึงกล่าวกะมโหสถว่า ข้าแต่นาย ข้าพเจ้าไม่เห็นภัยอะไรๆ จากสำนักพระราชาอื่นในสกลชมพูทวีป จะมีก็แต่พราหมณ์ชื่อเกวัฏ ผู้เป็นปุโรหิตของพระราชาจุลนีพรหมทัต พาพระราชาไปอุทยานแล้วทูลความคิดอันรู้แต่ ๔ หู ข้าพเจ้าจับอยู่ระหว่างกิ่งไม้รัง ถ่ายมูลให้ตกลงในปากแห่งพราหมณ์เกวัฏแล้วมานี่ กล่าวฉะนี้แล้วบอกกิจที่ได้เห็นที่ได้ฟังทั้งปวงแก่มโหสถ

ครั้นมโหสถถามว่า ก็พระเจ้าจุลนีรับจะทำตามหรือไม่

สุวโปดกตอบว่า รับจะทำตาม

มโหสถจึงทำกิจที่ควรทำแก่นกนั้น คือให้นอนในกรงทองคำ มีเครื่องลาดอันอ่อน แล้วคิดว่า ชะรอยเกวัฏไม่รู้จักความที่เราชื่อมโหสถบัณฑิต เราจักให้เขารู้ คิดแล้วจึงให้ถ่ายสกุลเข็ญใจที่อยู่ในเมืองออกอยู่นอกเมือง นำสกุลมีอิสริยยศซึ่งอยู่ใกล้ประตูชนบทในแคว้นเข้ามาอยู่ภายในเมือง ให้สะสมธัญญาหารไว้เป็นอันมาก

ฝ่ายพระเจ้าจุลนีพรหมทัตเชื่อคำแห่งเกวัฏ จึงยกพลเสด็จไปล้อมเมืองหนึ่ง ฝ่ายเกวัฏก็เข้าไปในเมืองนั้นโดยนัยที่กล่าวแล้ว ทำพระราชาในเมืองนั้นให้ยอมแพ้แล้ว ทำเมืองนั้นให้เป็นของตน ทำกองทัพทั้ง ๒ ให้เป็นกองเดียวกันไปล้อมเมืองอื่น ก็ยึดเมืองทั้งปวงได้หมดโดยลำดับ

พระเจ้าจุลนีเชื่อคำของพราหมณ์เกวัฏ พระราชาทั้งหลายในสกลชมพูทวีป เว้นเสียแต่พระเจ้าวิเทหราช ก็ตกเป็นของพระองค์ด้วยประการฉะนี้

บุรุษที่มโหสถวางไว้ก็ส่งข่าวถึงมโหสถเนืองนิตย์ว่า นครทั้งหลายนั้นพระเจ้าจุลนีพรหมทัตยึดไว้ได้แล้ว ขอท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาท ฝ่ายมโหสถบัณฑิตส่งข่าวตอบไปยังบุรุษที่วางไว้เหล่านั้นว่า เราอยู่ในที่นี้แล้วเป็นผู้มิได้ประมาท แม้พวกเจ้าทั้งหลายก็อย่าได้วิตกถึงเรา จงเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่เถิด

ฝ่ายพระเจ้าจุลนีพรหมทัตยกทัพไปยึดนครนั้นๆ สิ้น ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ก็ได้ราชสมบัติในสกลชมพูทวีป จึงตรัสกะเกวัฏปุโรหิตว่า นครทั้งหลายเท่านี้ เราได้ไว้แล้วๆ เราจักยึดราชสมบัติของพระเจ้าวิเหหราช ณ กรุงมิถิลา

ปุโรหิตทูลค้านว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พวกเราไม่ควรจะยึดราชสมบัติในนครที่มโหสถอยู่ เพราะว่ามโหสถนั้นเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยความรู้ และเป็นผู้ฉลาดในกลอุบายอย่างยิ่ง

ปุโรหิตพรรณนาคุณสมบัติของมโหสถ ดุจบุคคลยกมณฑลแห่งดวงจันทร์ ขึ้นกล่าว แล้วทูลห้ามพระเจ้าจุลนีว่า ข้าแต่เทพเจ้า ราชสมบัติในมิถิลานครเป็นของเล็กน้อย ราชสมบัติในสกลชมพูทวีปเป็นของพอแก่เราทั้งหลาย ประโยชน์อะไรด้วยราชสมบัติในนครมิถิลาแก่เราทั้งหลายเล่า

ฝ่ายพระราชาประเทศราชทั้งหลายก็กล่าวว่า เราทั้งหลายจักยึดราชสมบัติในกรุงมิถิลาแล้วดื่มชัยบาน

ฝ่ายเกวัฏก็ทูลห้ามพระราชาเหล่านั้นแล้วให้พระราชาเหล่านั้นรู้ด้วยอุบายว่า เราทั้งหลายจักยึดราชสมบัติในวิเทหรัฐทำอะไร พระราชานั้นก็เป็นดุจของเราทั้งหลาย ขอพระองค์ทั้งหลายเสด็จกลับเถิด

พระราชาเหล่านั้นได้ฟังคำของเกวัฏ ต่างก็เสด็จกลับนครของตนๆ

เหล่าบุรุษที่วางไว้สดับเหตุการณ์ ก็ส่งข่าวแก่มโหสถว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตพร้อมด้วยพระราชาร้อยเอ็ดจะมาสู่กรุงมิถิลา แต่ก็กลับสู่เมืองของตน ฝ่ายมหาสัตว์ก็ส่งข่าวตอบพวกบุรุษที่วางไว้ว่า นับแต่นี้ พวกเจ้าจงคอยดูกิริยาของพระเจ้าจุลนี

ฝ่ายพระจุลนีทรงปรึกษากับอาจารย์เกวัฎว่า บัดนี้เราจักทำกิจอย่างไร ครั้นเกวัฏทูลว่า เราจักดื่มชัยบาน จึงให้ประดับอุทยานแล้ว ตรัสสั่งพวกราชเสวกว่า พวกเจ้าจงตระเตรียมสุราไว้ในไหสักร้อยไหพันไห ตระเตรียมของบริโภคมีรส คือ ปลาและเนื้อเป็นต้น มีอย่างต่างๆ ไว้ให้เพียงพอ

กาลนั้นบุรุษที่มโหสถวางไว้ก็ส่งเหตุนั้นให้มโหสถทราบ แต่บุรุษที่มโหสถวางไว้เหล่านั้นหารู้ไม่ว่า พระเจ้าจุลนีผสมสุราด้วยยาพิษ เพื่อจะฆ่าพระราชาทั้งร้อยเอ็ดพระนครให้สิ้นพระชนม์ชีพ ฝ่ายพระโพธิสัตว์รู้ความนั้นจากสุวโปดก จึงส่งข่าวตอบพวกบุรุษที่วางไว้นั้นว่า เจ้าทั้งหลายเมื่อรู้วันที่จะดื่มชัยบานแน่นอนแล้วจงบอกแก่เรา บุรุษที่วางไว้นั้นก็ทำตามสั่ง

มโหสถดำริว่า เมื่อบัณฑิตเช่นเรามีอยู่ พระราชามีประมาณเท่านี้ไม่ควรสิ้นพระชนม์ชีพ เราจักเป็นที่พึ่งของพระราชาเหล่านั้น คิดฉะนี้แล้วเรียกพวกทวยหาญที่เป็นบริวารสหชาตพันคนนั้นมาแจ้งว่า

ดูก่อนสหายทั้งหลาย ได้ยินว่า พระราชาจุลนีให้ตกแต่งพระราชอุทยาน ประสงค์จะดื่มสุรากับพระราชาทั้งร้อยเอ็ดพระนคร เจ้าทั้งหลายจงไปในที่นั้น เมื่อเขาตั้งอาสน์ของพระราชาทั้งหลายแล้ว ในขณะที่พระราชาทั้งหลายยังไม่นั่ง เจ้าทั้งหลายจงชิงเอาอาสน์ซึ่งตั้งอยู่ถัดจากอาสน์ของพระเจ้าจุลนี แล้วจงประกาศว่า นี้เป็นราชอาสน์แห่งพระราชาของพวกเรา ดังนี้ และเมื่อข้าราชการฝ่ายนั้นกล่าวว่า ท่านทั้งหลายเป็นคนของใคร พึงกล่าวตอบว่า เป็นข้าราชการของพระเจ้าวิเทหราช เมื่อพวกข้าราชการฝ่ายนั้นกล่าวกะพวกเจ้าว่า เราทั้งหลายเมื่อไปล้อมยึดเอานครนั้นๆ ถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ก็หาเห็นพระราชาอันมีนามว่าวิเทหะสักวันหนึ่งไม่ พระราชาที่พวกท่านอ้างนั้น จักชื่อว่าพระราชากระไรได้ ท่านทั้งหลายจงไปเอาอาสน์ที่ตั้งอยู่ท้ายสุดนั้น เมื่อกล่าวฉะนี้แล้วก็จักทุ่มเถียงกัน พวกเจ้าก็จงเถียงว่า พระราชาอื่นนอกจากพระเจ้าจุลนีพรหมทัตเสียแล้วจะยิ่งใหญ่กว่าพระราชาของเราในที่นี้ไม่มี กล่าวฉะนี้แล้ว จงทุ่มเถียงให้มากขึ้นแล้วพูดว่า เมื่อพวกเราไม่ได้แม้ซึ่งอาสน์เพื่อพระราชาของพวกเรา พวกเราจักไม่ให้ท่านทั้งหลายดื่มสุราและเคี้ยวกินมัจฉมังสะ ณ บัดนี้ แล้วบันลือโห่ร้องยังความสะดุ้งให้เกิดแก่ข้าราชการ ฝ่ายนั้นด้วยเสียงดัง แล้วต่อยทุบไหสุราทั้งปวงเสียด้วยค้อนใหญ่ แล้วเทสาดมัจฉมังสาหารเสีย ทำให้บริโภคไม่ได้แล้วเข้าไปสู่ระหว่างแห่งเสนาโดยเร็ว ดุจเหล่าอสูรเข้าไปสู่เทพนคร แล้วทำเสียงให้อึกทึกครึกโครมประกาศว่า เราทั้งหลายเป็นคนของมโหสถบัณฑิตในกรุงมิถิลา ถ้าท่านทั้งหลายสามารถก็จงจับพวกเรา ให้ข้าราชการเหล่านั้นรู้ความที่พวกเจ้ามาแล้ว จงมาเถิด

มโหสถแจ้งให้สหชาตโยธาของตนรู้ฉะนี้แล้วส่งไป

ทวยหาญสหชาตบริวารของมโหสถรับคำสั่ง ไหว้มโหสถแล้ว ผูกสอดอาวุธ ๕ ออกจากกรุงมิถิลาไปในราชอุทยานแห่งพระเจ้าจุลนี เข้าไปสู่พระราชอุทยานอันตกแต่งแล้วดุจนันทนวันเทพอุทยานฉะนั้น เห็นสิริราชสมบัติอันประดับแล้วตั้งแต่พระราชบัลลังก์ของพระราชาทั้งร้อยเอ็ดพระนครซึ่งยกเศวตฉัตรตั้งไว้แล้ว ก็ได้ทำกิจทั้งปวงโดยนัยอันพระโพธิสัตว์กล่าวแล้ว กระทำมหาชนให้เอิกเกริกวุ่นวายแล้วบ่ายหน้ากลับกรุงมิถิลา

ฝ่ายราชบริษัทข้างกรุงปัญจาละก็กราบทูลเหตุนั้นแด่พระราชาเหล่านั้น พระเจ้าจุลนีพรหมทัตทรงพิโรธว่า พวกกรุงมิถิลามาทำอันตรายแก่สุราที่ประกอบยาพิษของเราเสีย ฝ่ายพระราชาทั้งร้อยเอ็ดพระนครก็พิโรธว่า พวกกรุงมิถิลามาทำให้พวกเราไม่ได้ดื่มชัยบาน ส่วนพลนิกายก็ขัดใจว่า เราทั้งหลายไม่ได้ดื่มสุราอันหามูลค่ามิได้

ฝ่ายพระเจ้าจุลนีพรหมทัตก็จึงตรัสเรียกพระราชาเหล่านั้นมา รับสั่งว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมา เราทั้งหลายจักไปกรุงมิถิลา ตัดเศียรพระเจ้าวิเทหราชเสียด้วยพระขรรค์ แล้วย่ำเหยียบเสียด้วยบาท แล้วประชุมดื่มชัยบาน ท่านทั้งหลายจงเตรียมยกกองทัพ ไป

ตรัสฉะนี้แล้วเสด็จในที่ลับ ตรัสกับเกวัฏว่า เราทั้งหลายจักจับศัตรูผู้ทำลายงานมงคลนี้ของพวกเรา พวกเราพร้อมด้วยเสนา ๑๘ อักโขภิณี และพระราชาทั้งร้อยเอ็ดพระนครไป ท่านอาจารย์จงไปด้วย

พราหมณ์เกวัฏดำริด้วยความที่ตนเป็นผู้ฉลาดว่า ถ้าเราไม่อาจจะเอาชนะมโหสถบัณฑิต ความอับอายจะมีแก่พวกเราเป็นแน่ เราจักทำให้พระราชาเปลี่ยนพระทัย

ลำดับนั้นเกวัฏจึงทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช นั่นหาใช่กำลังของพระเจ้าวิเทหราชไม่ นั่นเป็นการจัดแจง นั่นเป็นอานุภาพของมโหสถบัณฑิต อันกรุงมิถิลานั้นเป็นเมืองที่เขาปกปักรักษาแล้ว ก็เสมือนอาณาบริเวณที่ราชสีห์รักษาแล้ว ไม่ว่าใครๆ ก็ไม่อาจยึดเอา ความอายจักมีแก่พวกเราอย่างเดียว เราไม่ควรไป ณ กรุงมิถิลา

ฝ่ายพระราชาจุลนีเป็นผู้มัวเมาในราชอิสริยยศ ด้วยถือพระองค์ว่าเป็นกษัตริย์ จึงตรัสว่า มโหสถจักทำอะไรเราได้ ตรัสฉะนี้แล้วจึงเสด็จออกไปพร้อมด้วยพระราชาร้อยเอ็ดพระนคร แวดล้อมไปด้วยเสนา ๑๘ อักโขภิณี

ฝ่ายอาจารย์เกวัฏเมื่อไม่อาจจะให้พระเจ้าจุลนีเชื่อคำของตน ก็โดยเสด็จไปด้วย ด้วยคิดเห็นว่า เราไม่ควรจะประพฤติขัดต่อพระราชา

ฝ่ายสหชาตโยธาของมโหสถก็กลับถึงกรุงมิถิลาภายในราตรีเดียว เมื่อกลับมาถึงก็ได้แจ้งกิจที่ตนได้ทำแก่มโหสถ ฝ่ายเหล่าบุรุษที่มโหสถวางไว้ก็ส่งข่าวก่อนว่า พระเจ้าจุลนีพร้อมด้วยพระราชาร้อยเอ็ดพระนครเสด็จมาด้วยทรงมุ่งจะจับพระเจ้าวิเทหราช ขอท่านผู้เป็นบัณฑิตอย่าประมาท

มโหสถได้รับข่าวเป็นระยะๆ จากเหล่าบุรุษที่วางไว้ว่า วันนี้พระเจ้าจุลนีเสด็จถึงสถานที่นั้น วันนี้ถึงสถานที่นั้น ก็วันนี้จักเสด็จถึงกรุงมิถิลา พระมหาสัตว์ได้ทราบข่าวนั้นก็ยิ่งเป็นผู้ไม่ประมาท



>>>>> มีต่อ หน้า ๑๓
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 16 พ.ย.2006, 11:00 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชทรงทราบข่าวว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตกรีธาทัพมายึดเมืองเรา ได้ทรงฟังเสียงกึกก้องไม่ขาดเสียง ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีพรหมทัตพร้อมด้วยพลนิกายถือคบเพลิงนับด้วยแสนดวง ส่องมรรคาเสด็จมาถึงแต่หัวค่ำ แล้วให้ล้อมเมืองมิถิลาไว้ทั้งสิ้น

ลำดับนั้นแม่ทัพก็ให้ตั้งหมู่พลในที่นั้นๆ ล้อมกรุงมิถิลาด้วยปราการคือช้าง ด้วยปราการคือรถ ด้วยปราการคือม้า เหล่าพลนิกายได้ยินบันลือลั่น ปรบมือ ผิวปาก คำรนร้องอยู่ กรุงมิถิลากำหนดทั้งสิ้น ๗ โยชน์ ก็มีแสงสว่างรุ่งโรจน์ด้วยแสงสว่างประทีปและแสงสว่างเครื่องประดับ สมัยนั้นราวกะว่าเป็นการที่ปฐพีจะแตกสลายด้วยศัพท์สำเนียงแห่งม้า รถและดุริยางค์ดนตรีเป็นต้น

นักปราชญ์ทั้ง ๔ คือ เสนกะ ปุกกุสะ กามินทะ เทวินทะได้ยินเสียงโห่ร้องโกลาหลไม่รู้เรื่อง ก็เข้าไปเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เสียงโห่ร้องอื้ออึงมาก ก็แต่ข้าพระองค์ไม่ทราบเสียงนั่นเป็นเสียงอะไร ควรที่จะทรงพิจารณ์ให้ทราบเรื่อง

พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำของอาจารย์ทั้ง ๔ ก็ทรงคิดว่าพระเจ้าพรหมทัตจักเสด็จมาแล้ว จึงเปิดพระแกลทอดพระเนตร ก็ทรงทราบว่าเสด็จมาแล้ว ทั้งกลัว ทั้งตกพระหฤทัย ทรงเห็นชัดว่า ชีวิตของเราไม่มีละพรุ่งนี้พระเจ้าพรหมทัตจักยังพวกเราทั้งมวลให้สิ้นชีวิต ทรงเห็นฉะนี้ก็ประทับนั่งตรัสอยู่กับอาจารย์ทั้ง ๔

ส่วนพระโพธิสัตว์รู้ว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตเสด็จมาถึงแล้ว เป็นผู้ไม่ครั่นคร้ามดุจราชสีห์ จัดการรักษาในพระนครทั้งสิ้นแล้วคิดว่า เราจักปลอบประโลมพระราชาจึงขึ้นสู่พระราชนิเวศน์ ถวายบังคมพระราชาแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง

พระเจ้าวิเทหราชทอดพระเนตรเห็นมโหสถมาเฝ้าก็ค่อยสบายพระหฤทัย ทรงดำริว่า ยกเว้นมโหสถบัณฑิตผู้บุตรของเรา คนอื่นชื่อว่าจะสามารถเปลื้องเราจากทุกข์ ย่อมไม่มี เมื่อจะรับสั่งกับมโหสถ ได้ตรัสคาถาแรกในมหาอุมมังคชาดกนี้ว่า

ดูก่อนพ่อมโหสถได้ยินว่า พระเจ้าจุลนีเสด็จยาตราทัพมาพร้อมด้วยกองทัพทุกหมู่เหล่า นับได้ ๑๘ อักโขภิณี มีพระราชาร้อยเอ็ดเป็นผู้นำ มีกองช่างโยธา กองราบ ล้วนแต่ฉลาดในสงครามทั้งปวง สามารถแอบเข้าไปในกองทัพไม่มีใครเห็น ตัดศีรษะข้าศึกนำมาได้ มีเสียงอื้ออึง ยังกันและกันให้รู้ด้วยเสียงกลองและเสียงสังข์ ในที่นั้นไม่สามารถจะสั่งการให้รู้ด้วยคำสั่งว่า จงมา จงรุกจงรบ จงอย่าไปเป็นต้น แต่คำสั่งเช่นนั้นจะให้รู้กันได้ ด้วยเสียงกลองและด้วยเสียงสังข์ พลรบต่างประดับไปด้วยเครื่องโลหะต่างๆ เช่นเสื้อเกราะ หมวกเกราะ โล่เป็นต้น มีธงเกลื่อน กล่นด้วยช้างม้า ตั้งมั่นด้วยเหล่าทหารผู้แกล้วกล้า

กล่าวกันว่าในกองทัพนี้มีบัณฑิต ๑๐ คน มีปกตินั่งปรึกษากันในที่ลับ เล่ากันว่า บัณฑิตเหล่านั้นเมื่อได้คิดกันวันสองวัน ก็สามารถจะกลับเอาแผ่นดินขึ้นตั้งไว้ในอากาศได้

ได้ยินว่า พระชนนีของพระเจ้าจุลนีนั้น ประกอบด้วยปัญญายิ่งกว่าบัณฑิต ๑๐ คนนั้น พระชนนีนั้นเป็นคนฉลาดที่ ๑๑ ของบัณฑิตเหล่านั้น สั่งสอนพร่ำสอนกองทหารปัญจาละ

เล่ากันมาว่า วันหนึ่งมีบุรุษคนหนึ่งถือข้าวสารหนึ่งทะนาน ข้าวสุกหนึ่งห่อ และกหาปณะหนึ่งพัน คิดจะข้ามแม่น้ำ ก็ลงถึงท่ามกลางแม่น้ำไม่อาจจะข้ามได้ จึงกล่าวกะชนทั้งหลายผู้ยืนอยู่ริมฝั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าวสารหนึ่งทะนาน ข้าวสุกหนึ่งห่อ และกหาปณะหนึ่งพัน ของข้าพเจ้ามีอยู่ในมือ บุคคลผู้สามารถทำให้ข้าพเจ้าได้ข้ามจากฝั่งนี้ไป ข้าพเจ้าจักให้สิ่งที่ข้าพเจ้าชอบใจซึ่งมีอยู่ในมือ

ลำดับนั้น มีบุรุษหนึ่งถึงพร้อมด้วยกำลัง นุ่งผ้ามั่นแล้วข้ามลงสู่แม่น้ำ จับแขนบุรุษนั้นให้ข้ามลงไปแล้วเมื่อพาข้ามไปได้แล้วก็กล่าวว่า ท่านจงให้สิ่งที่ควรให้แก่ข้าพเจ้า

บุรุษนั้นกล่าวตอบว่า ท่านจงถือเอาข้าวสารหนึ่งทะนานหรือข้าวสุกหนึ่งห่อ

บุรุษผู้พาข้ามฟากจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าพาท่านข้ามฟากอย่างไม่คิดชีวิต ข้าพเจ้าไม่ต้องการด้วยของสองสิ่งนั้น ท่านจงให้กหาปณะแก่ข้าพเจ้า

บุรุษผู้ว่าจะให้ของชอบใจนั้นจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้พูดว่า ข้าพเจ้าจะให้สิ่งที่ชอบใจจากของ ๓ อย่างแก่ท่าน บัดนี้ ข้าพเจ้าก็ให้สิ่งที่ข้าพเจ้าชอบใจแก่ท่าน ท่านอยากได้ก็จงเอาไป

บุรุษผู้พาข้ามฟากจึงพูดกับบุคคลผู้หนึ่งซึ่งยืนอยู่ใกล้ บุคคลผู้นั้นก็กล่าวตอบว่า บุรุษผู้นั้นบอกว่าจะให้ของชอบใจ และเขาก็ได้ให้ของที่ชอบใจแก่ท่านแล้ว ท่านจงรับเอาไปเถิด

บุรุษผู้พาข้ามฟากกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่เอา

แล้วพาบุรุษผู้จะให้ของชอบใจไปสู่ศาล แจ้งแก่อำมาตย์ผู้วินิจฉัยทั้งหลาย ฝ่ายอำมาตย์ผู้วินิจฉัยเหล่านั้นได้ฟังข้อความทั้งปวงก็วินิจฉัยอย่างนั้น บุรุษผู้พาข้ามฟากไม่พอใจกับคำวินิจฉัยของอำมาตย์เหล่านั้น จึงกราบทูลพระราชา

ฝ่ายพระราชาจุลนีให้เรียกอำมาตย์ผู้วินิจฉัยเหล่านั้นมา ทรงฟังคำของชนทั้ง ๒ จากสำนักอำมาตย์ผู้วินิจฉัย เมื่อไม่ทรงทราบจะวินิจฉัยอย่างอื่น จึงทรงวินิจฉัยทับสัตย์ บุรุษผู้พาข้ามฟากได้ฟังพระราชวินิจฉัยดังนั้น ก็พูดขึ้นหน้าพระที่นั่งว่าพระองค์ทำข้าพระองค์ผู้สละชีวิตลงสู่แม่น้ำให้มีโทษ

ขณะนั้น พระชนนีแห่งพระเจ้าจุลนีมีพระนามว่าสลากเทวี ประทับนั่งอยู่ใกล้ ทรงทราบความที่พระราชาวินิจฉัยผิด จึงตรัสว่า พ่อวินิจฉัยคดีที่วินิจฉัยผิด ดีแล้วหรือ

พระเจ้าจุลนีทูลพระราชมารดาว่า ข้าพระเจ้าทราบเท่านี้ ถ้าว่าพระมารดาทรงทราบยิ่งกว่านี้ไซร้ ขอได้ทรงวินิจฉัยอีกเถิด

พระนางสลากเทวีจึงรับสั่งว่า ดีล่ะพ่อ แม่จะวินิจฉัย

จึงรับสั่งให้เรียกบุรุษผู้ว่าจะให้ของที่ชอบใจมาแล้วตรัสว่าเจ้าจงมา จงวางของ ๓ อย่างที่เจ้าถืออยู่ไว้ที่ภาคพื้น แล้วตรัสถามว่า เมื่อเจ้าลอยอยู่ในน้ำ เจ้าพูดว่ากระไรกะบุรุษผู้พาเจ้าข้ามฟากคนนี้

ครั้นบุรุษผู้ว่าจะให้ของที่ชอบใจทูลดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงรับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงหยิบเอาของที่เจ้าชอบใจของเจ้า ณ บัดนี้

บุรุษผู้ว่าจะให้ของที่ชอบใจจึงหยิบเอาถุงกหาปณะหนึ่งพัน ลำดับนั้น พระนางจึง ตรัสถามว่า เจ้าชอบกหาปณะหนึ่งพันหรือ

ครั้นได้ทรงฟังทูลตอบว่า ชอบกหาปณะหนึ่งพัน พระเจ้าข้า

จึงตรัสว่า เจ้าพูดกะบุรุษผู้พาข้ามฟากนี้ว่า เราจักให้ของที่ชอบใจจากของ ๓ อย่างนี้แก่เขาหรือไม่ได้พูด

ครั้นได้ทรงฟังตอบว่า ได้พูด จึงรับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงให้กหาปณะหนึ่งพันแก่บุรุษผู้พาเจ้าข้ามฟากนี้นั่นแล

บุรุษผู้ว่าจะให้ของที่ชอบใจได้ฟังพระวินิจฉัยฉะนั้น ก็ร้องไห้คร่ำครวญและได้ให้กหาปณะหนึ่งพันแก่บุรุษผู้พาตนข้ามฟากนั้น ขณะนั้น พระเจ้าจุลนีพรหมทัตและอำมาตย์ทั้งหลายยินดีในพระวินิจฉัยนั้นต่างแซ่ซ้องสาธุการ นับแต่นั้น ความที่พระนางเจ้าสลากเทวีพระราชชนนีของพระเจ้าจุลนีเป็นผู้พร้อมไปด้วยพระปัญญา ก็บังเกิดปรากฏในที่ทั้งปวง


กรุงมิถิลาถูกกองทัพนั้นแวดล้อมเป็น ๓ ชั้น ถูกล้อมด้วยกำแพง ๔ เหล่านี้คือ ถูกล้อมด้วยกำแพง คือ ช้างเป็นชั้นแรก ถัดนั้นล้อมด้วยกำแพงคือรถ ถัดนั้นล้อมด้วยกำแพงคือม้า ถัดนั้นล้อมด้วยกำแพงคือพลราบ ชื่อว่าล้อม ๓ ชั้น คือระหว่างกองช้างกับกองรถเป็นชั้น ๑ ระหว่างกองรถกับกองม้าเป็นชั้น ๑ ระหว่างกองม้ากับกองพลราบเป็นชั้น ๑

ราชธานีของชาววิเทหรัฐถูกขุดเป็นคูโดยรอบ กองทัพที่แวดล้อมกรุงมิถิลาโดยรอบนั้นปรากฏเหมือนดาวบนท้องฟ้า ดูก่อนพ่อมโหสถ ตั้งแต่อเวจีจนถึงภวัคคพรหม คนอื่นที่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตผู้ฉลาดในอุบายเช่นเจ้าไม่มี อนึ่ง ชื่อว่าความเป็นบัณฑิตย่อมรู้กันได้ในฐานะเห็นปานนี้ เพราะคนอื่นเช่นเจ้าไม่มี ฉะนั้น เจ้าเท่านั้นที่จะรู้ว่า พวกเราจักพ้นความทุกข์นี้ได้อย่างไร

พระมหาสัตว์ได้สดับพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหราชดังนี้แล้ว ดำริว่าพระราชานี้ทรงกลัวมรณภัยเหลือเกิน ก็แพทย์เป็นที่พึ่งอาศัยของคนไข้ โภชนาหารเป็นที่พึ่งอาศัยของคนหิว น้ำดื่มเป็นที่พึ่งอาศัยของคนระหาย เว้นเราเสีย คนอื่นที่เป็นที่พึ่งอาศัยของพระราชานี้ไม่มี เราจักปลอบโยนพระองค์ให้เบาพระหฤทัย

ครั้งนั้น พระมหาสัตว์มิได้ครั่นคร้าม ดุจราชสีห์บันลือสีหนาท ณ พื้นมโนศิลา กราบทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้าขอพระองค์อย่าทรงกลัวเลย จงเสวยราชสมบัติให้เป็นสุขเถิด ข้าพระองค์จักทำกองทัพซึ่งนับได้ ๑๘ อักโขภิณีนี้ ให้หนีไป ดุจบุคคลเงื้อก้อนดินให้กาหนีไป และดุจบุคคลขึ้นธนูให้ลิงหนีไปฉะนั้น

มโหสถบัณฑิตยังพระราชาให้อุ่นพระหฤทัยแล้วออกมาให้ยังกลองแจ้งเรื่องเล่นมหรสพเที่ยวป่าวร้องในพระนคร กล่าวกะชาวพระนครว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้วิตกเลย จงยังวัตถุทั้งหลายมีดอกไม้ของหอมเครื่องลูบไล้ น้ำดื่มและโภชนะเป็นต้นให้ถึงพร้อมแล้วเริ่มเล่นมหรสพ

มโหสถกล่าวกะชาวพระนครว่า ชนทั้งหลายในที่นั้นๆ จงดื่มใหญ่ จงเล่นดีดสีตีเป่า จงประโคมดนตรี จงฟ้อนรำ จงโห่ร้อง จงเฮฮา จงบันลือเสียงให้เอิกเกริก จงตบมือให้สนุก จงขับร้องตามสบาย ค่าใช้จ่ายสำหรับพวกท่านทั้งหลาย เป็นของเราจัดให้ทั้งนั้น เราผู้มีนามว่ามโหสถบัณฑิต พวกท่านจักได้เห็นอานุภาพของเรา

ยังชาวพระนครให้เบาใจแล้ว ชาวพระนครได้ทำตามนั้น ชนทั้งหลายอยู่นอกเมืองย่อมได้ยินเสียงมีเสียงขับประโคมเป็นต้นก็พากันเข้าสู่ภายในเมืองทางประตูน้อย ผู้รักษาทั้งหลายย่อมไม่จับกุมบุคคลที่ตนเห็นแล้วๆ นอกจากพวกศัตรู เพราะฉะนั้น คนเดินเข้าออกมิได้ขาดบุคคลเข้าไปในเมืองย่อมเห็นคนเล่นมหรสพ

ฝ่ายพระเจ้าจุลนีพรหมทัตได้ทรงสดับเสียงโกลาหลในกรุงมิถิลา จึงตรัสถามอำมาตย์ทั้งหลายว่า ดูก่อนผู้เจริญทั้งหลาย ในเมื่อพวกเราล้อมเมืองด้วยกองทัพนับด้วยอักโขภิณีตั้งอยู่แล้ว ความกลัวหรือเพียงความพรั่นพรึงย่อมไม่มีแก่ชาวเมือง ชาวเมืองร่าเริงปีติโสมนัส ประโคมฟ้อนรำขับโห่ร้องเกรียวกราว ตบมือ คุกคาม มีเหตุการณ์เป็นไฉน

ลำดับนั้น บุรุษที่มโหสถวางไว้ก็ทูลมุสาแด่พระราชาว่า ข้าแต่เทพเจ้า พวกเรามีกิจอันหนึ่งเข้าไปในเมืองทางประตูน้อย เห็นประชาชนชาวเมืองเล่นการมหรสพ ได้ซักถามว่า พระราชาในสกลชมพูทวีปมาล้อมเมืองของท่านทั้งหลายแล้ว แต่พวกท่านเป็นผู้ประมาทเหลือเกิน เหตุการณ์เป็นอย่างไร

ชาวเมืองเหล่านั้นกล่าวตอบว่าพระราชาของเราทั้งหลายทรงปรารถนาอย่างหนึ่ง ได้มีในกาลเมื่อยังทรงพระเยาว์ว่า ถ้าเมื่อเมืองเรามีพระราชาในสกลชมพูทวีปยกทัพมาล้อมแล้ว พวกเราจักเล่นมหรสพ วันนี้สมความปรารถนาของพระราชาแห่งพวกเราแล้ว เพราะฉะนั้นทางราชการจึงป่าวร้องให้ชาวเมืองเล่นมหรสพ ดื่มกินกันให้ยิ่งใหญ่ในที่ของตนๆ

พระเจ้าจุลนีพรหมทัตได้ทรงฟังถ้อยคำของพวกบุรุษที่มโหสถวางไว้ ก็ทรงขัดเคืองตรัสสั่งเสนาว่า ท่านทั้งหลายจงไป จงรีบถมเมืองข้างนี้ด้วยข้างนี้ด้วย จงทำลายคู จงทำลายกำแพง จงทำลายประตูหอรบ เข้าไปในเมือง เอาศีรษะชาวเมืองมาด้วยเกวียนร้อยเล่ม ดุจเอาฟักเขียวมาฉะนั้น จงตัดเศียรพระเจ้าวิเทหราชนำมา

โยธาผู้กล้าหาญทั้งหลายได้ฟังพระราชดำรัสสั่ง ก็กุมอาวุธมีประการต่างๆ ไปสู่ที่ใกล้ประตูหอรบ ถูกทวยหาญของมโหสถประทุษร้ายด้วยการเทสาดเปือกตมระคนด้วยก้อนกรวดและเลนระคนด้วยทราย และการทิ้งก้อนศิลา ต่างก็ถอยกลับลงสู่คู ด้วยหมายคิดจะทำลายกำแพง

เหล่าโยธาที่ตั้งอยู่บนประตูเชิงเทินภายใน ก็ทำให้ข้าศึกถึงความพินาศใหญ่ ด้วยเครื่องสังหารมีลูกศรหอกและโตมรเป็นต้น และด่าบริภาษขู่ด้วยประการต่างๆ พูดยั่วให้โกรธว่า พวกเจ้ามีร่างกายเหน็ดเหนื่อย จงมาดื่มเคี้ยวกินสักหน่อยซิ แล้วสาดสุราทิ้งภาชนะสุราและโยนมัจฉมังสะ กับทั้งไม้เสียบมัจฉมังสะลงไป ส่วนพวกสัตว์ก็ดื่มเคี้ยวกินเดินไปมาบนกำแพง

โยธากรุงปัญจาละไม่อาจจะทำอะไรได้ก็ไปเฝ้าพระเจ้าพรหมทัต กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ บุคคลเหล่าอื่นยกท่านผู้มีอานุภาพแล้ว ไม่สามารถจะเอาชัยชนะได้ พระเจ้าจุลนีประทับแรมอยู่ ๔ - ๕ ราตรี เมื่อไม่ทรงเห็นอุบายที่จะหักเอาเมืองมิถิลาได้จึงตรัสถามเกวัฏว่า อาจารย์ พวกเราไม่สามารถจะยึดพระนครได้ แม้คนคนหนึ่ง ก็ไม่สามารถจะเข้าใกล้ จะควรทำอย่างไร

เกวัฎกราบทูลสนองว่า ช่างก่อนเถอะพระเจ้าข้า ธรรมดาเมืองมีน้ำภายนอก เราจักเอาเมืองได้โดยวิธีทำให้สิ้นน้ำ พวกในเมืองเมื่อได้รับความลำบากเพราะขาดน้ำ ก็จักเปิดประตูเมืองออกมา

พระราชาทรงเห็นชอบด้วยว่าอุบายนี้ดี นับแต่นั้นมา พวกข้างกองทัพก็มิให้ใครนำน้ำเข้าไปในเมือง บุรุษที่มโหสถวางไว้ก็เขียนหนังสือผูกปลายลูกศรยิงส่งข่าวเข้าไปในเมือง เพราะมโหสถตั้งอาณัติไว้ว่า ใครพบหนังสือที่ปลายลูกศรจงนำมาให้เราดังนี้

ครั้งนั้นบุรุษคนหนึ่งเห็นหนังสือที่ปลายลูกศรก็เอาไปแสดงแก่มโหสถ มโหสถรู้ข่าวนั้นจึงนึกว่า พระเจ้าจุลนีไม่รู้จักความที่เราเป็นมโหสถบัณฑิต จึงให้ผ่าไม้ไผ่ยาว ๖๐ ศอกออกเป็น ๒ ซีก รานปล้องออกหมดแล้วประกบกันเข้าอีกรัดด้วยหนังทาโคลนข้างบน ให้หว่านโตนดสายบัวและพืชบัวขาว ซึ่งได้มาแต่ดาบสผู้มีฤทธิ์นำมาแต่หิมวันตประเทศ ในเลนใกล้ฝั่งสระโบกขรณี วางไม้ไผ่ไว้ข้างบนกรอกน้ำลงไป คืนเดียวเท่านั้นเกิดดอกขึ้นไปๆ ถึงปลายไม้ไผ่สูงพันราว ๑ ศอก

ลำดับนั้น มโหสถยังบุรุษทั้งหลายของตนให้ถอนสายบัวนั้นโยนให้พวกข้าศึกด้วยคำว่า พวกท่านจงถวายสายบัวนี้แก่พระเจ้าจุลนี

เหล่าบุรุษของมโหสถทำสายบัวนั้นให้เป็นมาลัยแล้วร้องบอกว่า แน่ะท่านทั้งหลายผู้เป็นข้าบาทของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต เหล่าท่านอย่าตายด้วยความหิวเลย จงรับเอาดอกอุบลนี้ประดับ เคี้ยวกินสายบัวให้อิ่มหนำ ร้องบอกฉะนี้แล้วโยนลงไป

บุรุษคนหนึ่งที่มโหสถวางไว้จึงถือเอาสายบัวนั้นนำไปถวายพระเจ้าจุลนี กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอได้ทอดพระเนตรสายบัวนี้ สายบัวยาวเท่านี้ เราทั้งหลายไม่เคยเห็นมาแต่ก่อนจนบัดนี้

ครั้นเมื่อพระราชาตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงวัดดู

ก็วัดสายบัวอันยาว ๖๐ ศอก ทูลว่า ๘๐ ศอก ในเมื่อพระราชาตรัสถามอีกว่าบัวนั่นเกิดในที่ไหน บุรุษคนหนึ่งที่มโหสถวางไว้กราบทูลเท็จว่า วันหนึ่งข้าพระเจ้ากระหายน้ำเข้าไปในเมืองทางประตูน้อยด้วยคิดจะดื่มสุรา ได้เห็นสระโบกขรณีใหญ่ทั้งหลายที่ขุดไว้เพื่อประโยชน์แห่งชาวเมืองเล่นน้ำ มหาชนนั่งในเรือเก็บดอกบัว ดอกบัวนี้เกิดริมฝั่งสระโบกขรณีนั้น ก็แต่สายบัวอันเกิดในที่ลึกยาวราว ๑๐๐ ศอก

พระเจ้าจุลนีพรหมทัตได้สดับข้อความนั้นจึงตรัสแก่เกวัฏว่า ดูก่อนท่านอาจารย์ พวกเราไม่อาจจะยึดเอาเมืองนี้โดยวิธีทำให้สิ้นน้ำท่านเลิกความคิดนี้เสียเถิด

พราหมณ์เกวัฏกราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้น จักยึดเอาเมืองนี้โดยวิธีทำให้สิ้นข้าว เพราะธรรมดาว่านครต้องมีข้าวที่มาภายนอกพระนคร

พระราชาตรัสให้ทำอย่างนั้น มโหสถบันฑิตรู้ข่าวนั้นโดยนัยหนหลัง จึงนึกว่า พราหมณ์เกวัฏไม่รู้จักความที่เราเป็นมโหสถบัณฑิต จึงให้เทโคลนตามบนกำแพงเมือง แล้วให้หว่านข้าวเปลือกในที่นั้น ธรรมดาความประสงค์ของพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายย่อมสำเร็จ ราตรีเดียวเท่านั้น ข้าวเปลือกก็งอกขึ้นบนกำแพงเมือง



>>>>> มีต่อ หน้า ๑๔
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 16 พ.ย.2006, 11:08 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระเจ้าจุลนีทอดพระเนตรเห็นต้นข้าวนั้นจึงตรัสถามว่า นั่นอะไรปรากฏเขียวอยู่บนกำแพงเมือง บุรุษที่มโหสถวางไว้ได้ฟังพระราชกระแส จึงกราบทูลว่า ข้าแต่เทพเจ้า ได้ยินว่า บุตรแห่งคฤหบดีอันมีนามว่ามโหสถบัณฑิต คิดเห็นภัยในอนาคตกาล จึงให้ขนข้าวเปลือกแต่แคว้นขึ้นฉางหลวงไว้ แล้วเก็บงำข้าวเปลือกที่เหลือไว้ริมกำแพง ได้ยินว่าข้าวเปลือกเหล่านั้น แห้งไปด้วยแดด ครั้นเมื่อได้ความชุ่มชื้นจากฝน ข้าวกล้าทั้งหลายก็เกิดขึ้นในที่นั้น วันหนึ่งข้าพเจ้าเข้าไปโดยประตูน้อยด้วยกิจอันหนึ่งเห็นกองข้าวเปลือกริมกำแพงก็หยิบข้าวเปลือกมาจากกองนั้น ทิ้งไว้ริมทาง ทีนั้นหมู่ชนพูดกับข้าพระเจ้าว่า ชะรอยท่านจะหิว ท่านจงเอาชายผ้าห่อข้าวเปลือกไปเรือนของท่าน ตำหุงกินซิ

พระเจ้ากรุงปัญจาละได้สดับดังนั้นจึงตรัสกะพราหมณ์เกวัฏว่า เราไม่อาจจะยึดเอาเมืองโดยวิธีทำให้สิ้นธัญญาหาร อุบายอื่นมีหรือ

เกวัฏกราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้นเราจักยึดเอาด้วยสิ้นฟืน ขึ้นชื่อว่า เมืองย่อมมีฟืนภายนอก

พระราชาตรัสให้ดำเนินการอย่างนั้น ฝ่ายมโหสถรู้ข่าวนั้นดังหนหลัง ให้ทำกองฟืนประมาณเท่าภูเขา ให้ปรากฏล่วงพ้นข้าวเปลือกบนกำแพง พวกคนของมโหสถเมื่อกล่าวเยาะเย้ยเล่นกับโยธาของพระเจ้าจุลนีจึงกล่าวว่า ถ้าพวกท่านหิวจงหุงข้าวกินเสีย แล้วโยนฟืนใหญ่ๆ ลงไปให้

ฝ่ายพระราชาจุลนีทอดพระเนตรเห็นฟืนเป็นอันมากกองพ้นกำแพงเมือง จึงตรัสถามว่า นั่นอะไร

บุรุษที่มโหสถวางไว้จึงกราบทูลว่า ข้าแต่เทพเจ้า ได้ยินว่าบุตรคฤหบดีผู้มีนามว่ามโหสถเห็นภัยในอนาคต จึงให้ขนฟืนมากองไว้หลังเรือนทั้งหลายและให้กองไว้ริมกำแพงเมืองก็มิใช่น้อย

พระเจ้ากรุงปัญจาละได้สดับดังนั้นจึงตรัสกะอาจารย์เกวัฏว่า เราไม่อาจจะยึดเอาเมืองโดยวิธีทำให้สิ้นฟืน ท่านจงเลิกอุบายนี้เสีย พราหมณ์เกวัฏทูลว่า ขอพระองค์อย่าได้ทรงวิตกอุบายอื่นยังมี

พระเจ้าจุลนีตรัสถามว่า อุบายอย่างไรอีก เรายังไม่เห็นอุบายใดของท่านที่สำเร็จ เราไม่สามารถจะยึดเอาวิเทหรัฐได้ เราจักกลับเมืองของเรา

เกวัฏจึงทูลว่า ถ้าพระองค์กระทำเช่นนั้น ความอับอายว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตกับพระราชาร้อยเอ็ด ไม่สามารถจะยึดเอาวิเทหรัฐได้ จักเกิดมีแก่พระองค์ มโหสถเป็นบัณฑิตเช่นไร แม้ข้าพระองค์ก็เป็นบัณฑิตเช่นนั้น พวกเราจักทำเลศอันหนึ่ง

พระราชาตรัสว่า เลศอะไร

เกวัฏจึงทูลสนองว่า พวกเราจักทำธรรมยุทธ์

พระราชาตรัสถามว่าอะไรเรียกว่าธรรมยุทธ์

เกวัฏทูลตอบว่า เสนาจักไม่ต้องรบ ก็แต่บัณฑิตทั้งสองของพระราชาทั้งสอง จักอยู่ในที่เดียวกัน ในบัณฑิตทั้งสองนั้น บัณฑิตใดจักไหว้ บัณฑิตนั้นจักแพ้ ก็มโหสถไม่รู้ความคิดนี้ และข้าพระองค์ก็เป็นผู้แก่กว่า มโหสถยังเป็นหนุ่ม เห็นข้าพระองค์ก็จักไหว้ มโหสถไหว้ข้าพระองค์เมื่อใด ชาวแคว้นวิเทหะก็จักชื่อว่า อันพวกเราชนะแล้ว ทีนั้นพวกเราจักยังวิเทหรัฐให้ปราชัยแล้วยึดไว้เป็นเมืองของตน ความอายจักไม่มีแก่พวกเราด้วยประการฉะนี้ รบด้วยเลศนี้ชื่อว่าธรรมยุทธ์

ฝ่ายมโหสถได้ทราบรหัสเหตุเหมือนหนหลัง จึงคิดว่า ถ้าเราแพ้เกวัฏ เราก็ไม่ใช่บัณฑิต

ส่วนพระเจ้าจุลนีพรหมทัตตรัสว่า อุบายนี้งามละอาจารย์

พระองค์จึงให้เขียนราชสาสน์ความว่า พรุ่งนี้ธรรมยุทธ์จักมี ชนะหรือปราชัยโดยธรรม จักมีแก่บัณฑิตทั้งสอง ผู้ใดไม่ทำธรรมยุทธ์ ผู้นั้นชื่อว่าพ่ายแพ้ ดังนี้ แล้วส่งไปถวายพระเจ้าวิเทหรัฐทางประตูน้อย

พระเจ้ากรุงมิถิลาได้ทรงสดับราชสาสน์นั้น ให้เรียกมโหสถมาแจ้งเนื้อความนั้น มโหสถกราบทูลว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า ขอสมมติเทพพระราชทานราชสาสน์ตอบไปว่า ชาวกรุงมิถิลาจักเตรียมจัดสนามธรรมยุทธ์ไว้ทางประตูด้านปัศจิมทิศ กองทัพกรุงปัญจาละจงมาสู่สนามธรรมยุทธ์

พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำของมโหสถจึงพระราชทานราชสาสน์ตอบแก่ทูตนั่นเอง มโหสถให้เตรียมจัดสนามธรรมยุทธ์ทางประตูด้านปัศจิมทิศ

ฝ่ายเหล่าบุรุษที่มโหสถวางไว้ร้อยเอ็ดคน ก็ล้อมเกวัฏไว้เพื่อประโยชน์แก่การรักษามโหสถ ด้วยคิดว่า ใครจะรู้เหตุการณ์อะไรจักเกิดมี ส่วนพระราชาร้อยเอ็ดก็ไปสู่สนามธรรมยุทธ์ ยืนคอยดูทางปราจีนทิศ พราหมณ์เกวัฏก็ไปเช่นนั้นเหมือนกัน

ฝ่ายมโหสถบรมโพธิสัตว์สนานน้ำหอมแต่เช้าทีเดียวแล้ว นุ่งผ้ามาแต่แคว้นกาสีราคานับด้วยแสนกหาปณะแล้วประดับเครื่องอลังการทั้งปวง บริโภคโภชนาหารมีรสเลิศต่างๆ ไปสู่พระทวารพร้อมด้วยบริวารเป็นขบวนใหญ่ ครั้นได้พระราชานุญาตให้เข้าเฝ้า ก็เข้าไปถวายบังคมพระราชา ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า ข้าพระองค์ประสงค์จะลวงเกวัฏด้วยแก้วมณี ขอให้ข้าพระองค์ได้มณีรัตนะ ๘ คด

พระราชาก็ทรงอนุญาต

มโหสถรับมณีรัตนะนั้นแล้วถวายบังคมพระราชาลงจากพระราชนิเวศน์ มีโยธาสหชาตพันหนึ่งแวดล้อม ขึ้นสู่รถอันประเสริฐเทียมด้วยม้าเศวตสินธพอันมีค่าเก้าแสนกหาปณะถึงริมประตู เวลากินอาหารเช้า

ฝ่ายเกวัฏยืนคอยดูทางมาแห่งมโหสถ เฝ้าชะเง้อคอยมองดูการมาของมโหสถ เหงื่อไหลโซมด้วยความร้อนแห่งดวงอาทิตย์

ฝ่ายมโหสถเต็มไปด้วยความเป็นผู้มีบริวารมากแวดล้อมดุจมหาสมุทรท่วมทับ เป็นผู้มิได้หวาดหวั่น มิได้พองขนดุจไกรสรสีหราช ให้เปิดประตูออกจากพระนคร ลงจากรถดำเนินไปโดยว่องไว องอาจดุจพระยาราชสีห์ พระราชาร้อยเอ็ดเห็นสิริรูปแห่งพระโพธิสัตว์ ก็ส่งสำเนียงเอิกเกริกสรรเสริญเกียรติพระโพธิสัตว์ว่า ได้ยินว่าบุตรสิริวัฒกเศรษฐี ผู้มีนามว่า มโหสถบัณฑิต เป็นผู้ไม่มีสอง ไม่มีใครเปรียบด้วยความปรีชาในสกลชมพูทวีป

ฝ่ายมโหสถมีสิริสมบัติหาที่เปรียบมิได้คือมณีรัตนะเดินตรงไปหาพราหมณ์เกวัฏ ส่วนปุโรหิตเกวัฏเห็นมโหสถบรมโพธิสัตว์ ก็ไม่อาจจะทรงกายนั่งอยู่ได้ จึงลุกยืนขึ้นต้อนรับกล่าวว่า ท่านมโหสถบัณฑิตเราทั้งสองเป็นบัณฑิตเหมือนกัน เมื่อพวกข้าพเจ้ามาอยู่ที่นี้นานเนื่องเพราะท่าน ท่านไม่ส่งแม้เพียงเครื่องบรรณาการมาบ้าง เพราะเหตุไรท่านจึงได้ทำอย่างนี้

ลำดับนั้น มโหสถกล่าวตอบเกวัฏว่า ท่านบัณฑิต ข้าพเจ้าหาบรรณาการที่สมควรแก่ท่าน พึ่งได้มณีวันนี้เอง ท่านจงรับเอามณีรัตนะนี้ มณีรัตนะอื่นอย่างนี้หาไม่ได้ทีเดียว

เกวัฏเห็นมณีรัตนะอันรุ่งเรืองอยู่ในมือมโหสถก็คิดว่ามโหสถจักประสงค์ให้เรา จึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงให้มาเถืด แล้วเหยียดมือคอยรับ

มโหสถจึงกล่าวว่า ท่านคอยรับเถิด แล้วโยนไปให้ตก ณ ปลายนิ้วมือที่เหยียดออกมารับ

ลำดับนั้น นิ้วมือของเกวัฏไม่อาจทานแก้วมณีอันมีน้ำหนักมากได้ แก้วมณีก็พลาดตกใกล้เท้าของมโหสถ เกวัฏก็น้อมกายลงแทบเท้าแห่งมโหสถ ด้วยใคร่จะหยิบเอาแก้วมณีนั้นด้วยความโลภ

ลำดับนั้น มโหสถ จับคอเกวัฏไว้ด้วยมือข้างหนึ่ง ยันไว้ไม่ให้เกวัฏลุกขึ้นได้ จับชายกระเบนไว้ด้วยมืออีกข้างหนึ่ง พร้อมกับกล่าวว่า ลุกขึ้นซิ ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าเป็นเด็กเท่ากับหลานของท่าน ท่านอย่าไหว้ข้าพเจ้าเลย

แล้วจับหน้าของเกวัฏให้ไถลงที่พื้นกลับไปกลับมา จนหน้าเปื้อนด้วยโลหิต แล้วกล่าวว่า ดูก่อนคนอันธพาล เจ้าหวังว่าจะได้การไหว้จากเราหรือ กล่าวแล้วจับคอโยนเกวัฏไปตกลงในที่ห่างราวหนึ่งอุสุภะแล้วลุกขึ้นหนีไป โยธาของมโหสถก็หยิบเอาแก้วมณีไว้

เสียงของมโหสถที่ร้องว่า ลุกขึ้นเถิดๆ อย่าไหว้เราเลย ดังนี้ ได้ยินไปทั่ว บริวารของมโหสถก็กล่าวว่า เกวัฏไหว้เท้ามโหสถ แล้วโห่ร้องแซ่เป็นเสียงเดียวกัน พระราชาร้อยเอ็ด ตลอดพระเจ้าจุลนีก็ได้เห็นเกวัฏน้อมกายลงแทบเท้ามโหสถ พระราชาเหล่านั้นคิดว่า บัณฑิตของพวกเราไหว้มโหสถบัณฑิตแล้ว บัดนี้พวกเราเป็นอันพ่ายแพ้ มโหสถจักไม่ให้ชีวิตแก่พวกเรา คิดฉะนี้แล้วต่างก็ขึ้นม้าของตนหนีไปทางอุตตรปัญจาละ

บริวารของพระโพธิสัตว์เห็นพระราชาเหล่านั้นหนีไปแล้ว จึงบอกกันว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตพาพระราชาร้อยเอ็ดพระนครหนีไปแล้ว แล้วโห่ร้องกันอีก พระราชาทั้งปวงได้สดับเสียงนั้นกลัวแต่มรณภัยก็พากันแตกกองทัพหนีไป บริษัทของพระโพธิสัตว์ก็บันลือสำเนียงเกรียวกราวโกลาหลใหญ่ พระมหาสัตว์ก็พาบริวารกลับเข้าสู่กรุงมิถิลา

เมื่อฝ่ายกองทัพของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตหนีไปได้ ๓ โยชน์ เกวัฏก็ขึ้นม้าแล้วเช็ดโลหิตที่หน้าผากตามไปถึงกองทัพ ขณะที่นั่งอยู่บนหลังม้าก็กล่าวว่า แน่ะท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าหนีไปเลย เราไม่ได้ไหว้บุตรคฤหบดีผู้ชื่อว่ามโหสถดอก ท่านทั้งหลายหยุดเถิด

เสนาเหล่านั้นต่างก็ไม่ยอมเชื่อ คงเดินต่อไปพร้อมกับพากันด่าเกวัฏ กล่าวว่า แน่ะพราหมณ์ชั่ว ท่านกล่าวว่า เราจักทำธรรมยุทธ์ แล้วกลับมาไหว้มโหสถผู้เป็นเด็กคราวหลาน พวกข้าพเจ้าไม่มีกิจอันใดกับท่านแล้วกล่าวฉะนี้แล้วก็ไม่ฟังถ้อยคำของเกวัฏ คงเดินต่อไปทีเดียว

เกวัฏก็ติดตามไปโดยเร็ว เมื่อถึงกองทัพจึงกล่าวว่า ดูก่อนผู้เจริญทั้งหลายพวกท่านจงเชื่อเราเถิด เราไม่ได้ไหว้มโหสถ มโหสถลวงเราด้วยแก้วมณี แล้วก็เกลี้ยกล่อมพระราชาทั้งปวงเหล่านั้นให้เชื่อถ้อยคำของตน กระทำกองทัพที่แตกกระจัดกระจายแล้วนั้น ให้กลับควบคุมกันเป็นปกติดังเดิม อันที่จริงขนาดของกองทัพที่ใหญ่ถึงเพียงนั้น หากทหารแต่ละนายจะกำฝุ่นหรือถือก้อนดินก้อนหนึ่งปาไปแล้วละก็ กองฝุ่นและดินก็จะมีกองเท่ากำแพงเมือง หรือสามารถทำคูเมืองให้เต็มได้ ก็แต่ความประสงค์แห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมสำเร็จ เพราะเหตุนั้น จึงไม่มีแม้บุคคลผู้หนึ่งที่จะหันหน้าเข้าหาเมืองแล้วซัดกำฝุ่นหรือปาก้อนดินไปเลย

เมื่อกองทัพทั้งปวงกลับถึงสถานที่ตั้งค่ายของตน พระราชาจุลนีตรัสถามเกวัฏว่า เราจักทำอย่างไร อาจารย์

เกวัฏทูลตอบว่า เราทั้งหลายไม่ให้ใครๆ ออกจากประตูน้อย ตัดการเข้าออกเสีย ชาวเมืองออกไม่ได้ก็จักเดือดร้อนเปิดประตู ทีนั้นพวกเราจักจับเหล่าปัจจามิตรได้

พระราชาตรัสรับรองว่า อุบายนี้เหมาะ

ฝ่ายมโหสถรู้ข่าวนั้นโดยนัยหนหลังจึงคิดว่า เมื่อกองทัพปัญจลนครล้อมอยู่ในที่นี้นาน พวกเราจักไม่มีความผาสุก ควรที่จะให้กองทัพนั้นหนีไปด้วยอุบาย มโหสถก็เฟ้นหาคนฉลาดคนหนึ่ง ก็เห็นพราหมณ์หนึ่งชื่อ อนุเกวัฏ จึงให้เรียกตัวมาแจ้งว่า แน่ะอาจารย์ ท่านควรจะช่วยงานอันหนึ่งของพวกเรา

อนุเกวัฏถามว่า ท่านจะให้ข้าพเจ้าทำอะไร

มโหสถบัณฑิตจึงชี้แจงอุบายต่ออนุเกวัฏว่า

ท่านอาจารย์จงขึ้นไปอยู่บนกำแพงเมือง เมื่อเห็นกองรักษาฝ่ายเราเผลอ ก็จงโยนขนมและปลาเนื้อเป็นต้น ให้กับพวกกองทัพของพระเจ้าจุลนี แล้วร้องบอกว่า ดูก่อนผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านจงเคี้ยวกินสิ่งนี้ๆ อย่าเดือดร้อนเลย จงพยายามอยู่สักสองสามวันเถิด ชาวเมืองมิถิลาก็เดือดร้อน ดุจไก่อยู่ในกรงฉะนั้น ไม่ช้านานก็จะเปิดประตูเมืองเพื่อพวกท่าน ต่อแต่นั้น พวกท่านจงจับพระเจ้ากรุงมิถิลาและมโหสถผู้ดุร้าย

กองรักษาของพวกเราได้ฟังถ้อยคำของท่าน ก็จักด่าคุกคามท่าน จะทำเป็นเหมือนจับมือและเท้าท่าน โบยตีด้วยซีกไม้ไผ่ให้กองทัพพระเจ้าจุลนีเห็น แล้วให้ท่านลงจากกำแพงเมือง มุ่นผมท่านให้เป็นจุก ๕ หย่อม แล้วโรยผงอิฐลงบนศีรษะท่านแล้วให้ท่านทัดดอกยี่โถ แล้วตีท่านเล็กน้อยพอให้เห็นเป็นรอยที่หลังท่าน แล้วให้ท่านขึ้นบนกำแพงเมือง ให้ท่านนั่งในสาแหรกเอาเชือกผูกโรยหย่อนลงไปนอกกำแพงเมือง แล้วด่าท่านให้กองทัพของพระเจ้าจุลนีได้ยินว่า แน่ะอ้ายโจร เอ็งจงไป

พวกกองทัพของพระเจ้าจุลนีจักพาท่านไปเฝ้าพระเจ้าจุลนี พระเจ้าจุลนีทอดพระเนตรเห็นจักตรัสถามท่านว่า ท่านมีความผิดอย่างไร ทีนั้นท่านควรทูลอย่างนี้แด่พระเจ้าจุลนีว่า

ข้าแต่พระมหาราชเจ้า แต่ก่อนข้าพระเจ้ามียศใหญ่ มโหสถโกรธข้าพระเจ้าว่า เป็นผู้ขัดขวางความคิดของตน จึงทูลพระเจ้าวิเทหราชแล้วชิงเอายศของข้าพระเจ้าเสียทั้งหมด ข้าพระเจ้าคิดว่า จักขอให้พวกพลของพระองค์ตัดศีรษะของบุตรคฤหบดีผู้ชิงยศของข้าพระเจ้าไป ข้าพระเจ้าคิดฉะนี้แล้วได้เห็นโยธาของพระองค์เดือดร้อน จึงให้ของเคี้ยวของกินแก่โยธาเหล่านั้น มโหสถผูกใจเจ็บในข้าพระเจ้า จึงให้ข้าพระเจ้าถึงความพินาศอย่างนี้ ชนทั้งปวงต่างก็รู้เหตุทั้งหมด

ท่านจงกระทำให้พระเจ้าจุลนีพรหมทัตเชื่อโดยประการต่างๆ เมื่อเกิดความคุ้นเคยกันแล้ว จึงทูลต่อไปว่า

ข้าแต่มหาราช นับแต่กาลที่พระองค์ได้ข้าพระบาทมาแล้ว พระองค์อย่าได้ทรงวิตกเลย บัดนี้พระชนมชีพของพระเจ้าวิเทหราชและชีวิตของมโหสถจะไม่มี เพราะข้าพระเจ้ารู้สถานที่มั่นคง สถานที่ย่อหย่อนกำลัง และสถานที่มีหรือไม่มีสัตว์ร้ายมีจระเข้เป็นต้น ในคูแห่งกำแพงในเมืองนี้ ข้าพระบาทจักยึดเอาเมืองถวายพระองค์โดยกาลไม่นานเลย

ครั้นทูลอย่างนี้ พระราชาจุลนีจักทรงเชื่อประทานรางวัลแก่ท่าน แต่นั้นจะให้ท่านปกครองกองทัพและพาหนะของพระองค์ ทีนั้นท่านจงคุมกองทัพของพระเจ้าจุลนีให้ลงในคูที่มีจระเข้ร้าย กองทัพของพระเจ้าจุลนีก็จักไม่ลงด้วยกลัวจระเข้ กาลนั้นท่านจงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ มโหสถยุยงให้กองทัพแตกร้าวเป็นกบฏต่อพระองค์แล้ว ใครๆ ตั้งแต่พระราชาร้อยเอ็ดและพราหมณ์เกวัฏที่จะไม่รับสินบนมโหสถไม่มี ชนเหล่านี้ที่แวดล้อมโดยเสด็จทั้งสิ้น ล้วนแต่เป็นพวกของมโหสถ อันเสวกามาตย์ของพระองค์มีแต่ข้าพระบาทคนเดียวเท่านั้นถ้าพระองค์ยังไม่ทรงเชื่อ จงมีพระราชโองการแก่พระราชาเหล่านั้น ทั้งหมดว่าเธอทั้งหลายจงแต่งองค์มาหาเรา ดังนี้ ทีนั้นพระองค์ก็จะพึงทอดพระเนตรเห็นอักษรในราชาภรณ์มีภูษาทรงเครื่องประดับและพระขรรค์เป็นต้น อันมโหสถจารึกนามของตนถวายไว้แก่พระราชาเหล่านั้น ก็จะพึงทรงเชื่อ

ท่านทูลฉะนี้ พระเจ้าจุลนีพรหมทัตก็จักทรงทำตามอย่างนั้น จักทอดพระเนตรเห็นอักษรที่จารึกชื่อมโหสถในราชาภรณ์เหล่านั้น ก็จักทรงเชื่อและกลัว สะดุ้งพระหฤทัย แล้วส่งพระราชาเหล่านั้นกลับไป แล้วจักตรัสหารือท่านว่า บัดนี้เราจักทำอย่างไรดี ท่านบัณฑิต

ท่านควรกราบทูลพระองค์ดังนี้ว่า มโหสถเป็นคนเจ้ามายามาก ถ้าพระองค์จักประทับอยู่ต่อไป มโหสถก็จักทรงทำเสนาทั้งปวงของพระองค์ให้อยู่ในเงื้อมมือตนแล้วจับพระองค์ เราทั้งหลายอย่าเนิ่นช้า รีบขึ้นม้าหนีไปเสียในระหว่างมัชฌิมยามวันนี้

พระเจ้าจุลนีพรหมทัตได้ทรงฟังคำของท่านดังนั้นก็จักทรงทำตาม ท่านจงกลับในเวลาที่พระเจ้าจุลนีหนีไป แล้วยังพวกโยธาของเราให้รู้


พราหมณ์อนุเกวัฏได้ฟังคำชี้แจงนั้น ก็กล่าวว่า ข้าแต่ท่านบัณทิต ดีแล้ว ข้าพเจ้าจักทำตามคำของท่าน

มโหสถจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านควรทนต่อการโบยตีเล็กน้อย

อนุเกวัฏกล่าวตอบว่า ข้าแต่ท่านบัณฑิต ยกเสียแต่ชีวิตและมือเท้าของข้าพเจ้า ที่เหลือจากนั้น ท่านจงทำตามชอบใจของท่าน

มโหสถจึงให้สิ่งของแก่เหล่าชนในเรือนของอนุเกวัฏแล้วกระทำตามอุบายที่ได้วางเอาไว้โดยนัยที่กล่าวแล้ว แล้วให้นั่งในสาแหรกเอาเชือกผูกโรยลงไปให้แก่พวกเสวกของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต.

ลำดับนั้น พวกเสนาก็จับอนุเกวัฏนำไปถวายพระเจ้าพรหมทัต พระราชาทรงทดลองแล้วก็ทรงเชื่อพราหมณ์อนุเกวัฏ จึงพระราชทานรางวัลแก่อนุเกวัฏแล้วให้ปกครองเสนา

ฝ่ายอนุเกวัฏก็ยังเสนาให้ลงในสถานที่มีจระเข้ร้าย พลนิกายถูกจระเข้ทั้งหลายขบกัด ถูกกองรักษาที่อยู่บนหอรบยิงพุ่งเอาด้วยศรหอกและโตมร ก็ถึงความพินาศใหญ่ นับแต่นั้นๆ ก็ไม่อาจเข้าไปใกล้ด้วยความกลัวอันตรายเห็นปานนั้น



>>>>> มีต่อ หน้า ๑๕
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 16 พ.ย.2006, 11:13 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ลำดับนั้น อนุเกวัฏเข้าเฝ้าพระเจ้าจุลนีพรหมทัตทูลว่า ข้าแต่เทพเจ้า พวกทหารที่รบเพื่อประโยชน์ต่อพระองค์ไม่มี มีแต่พวกรับสินบนทั้งนั้น ถ้าพระองค์ไม่เชื่อ จงให้พวกเหล่านั้นมา จักทอดพระเนตรเห็นอักษรจารึกชื่อมโหสถในเครื่องอุปโภค มีผ้านุ่งที่นุ่งอยู่เป็นต้น

พระเจ้ากรุงอุตตรปัญจาละให้ทำอย่างนั้น ก็ทอดพระเนตรเห็นอักษรในผ้าของพวกนั้นทั้งหมดก็แน่พระทัยว่าพวกนี้รับสินบน จึงตรัสถามอนุเกวัฏว่า บัดนี้เราควรจะทำอย่างไร ท่านอาจารย์

ครั้นอนุเกวัฏทูลตอบว่า กิจอื่นที่ควรทำไม่มี พระเจ้าข้า ถ้าพระองค์ทรงรีรออยู่ มโหสถจักจับพระองค์ ส่วนอาจารย์เกวัฏก็สาละวนอยู่แต่แผลที่หน้าผากเท่านั้น แต่รับสินบนเหมือนกัน เพราะแกรับมณีรัตนะแล้วทำพระองค์ให้หนีไป ๓ โยชน์ ให้ทรงเชื่อถือแล้วให้กลับ แกนี้แหละยุยงให้กองทัพแตก ข้าพระองค์ไม่สมัครจะอยู่แม้สักคืนเดียว ควรจะหนีเสียในระหว่างเที่ยงคืนวันนี้ นอกจากข้าพระองค์แล้ว บุคคลอื่นจะเป็นผู้ร่วมพระหฤทัยไม่มีเลย

ครั้นอนุเกวัฏทูลฉะนี้ ก็ตรัสสั่งว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านอาจารย์จงผูกม้าที่นั่งแล้วตระเตรียมยาน

อนุเกวัฏรู้ความที่พระเจ้าจุลนีจะหนีโดยทรงวินิจฉัยแน่จึงทูลให้อุ่นพระหฤทัยว่า อย่ากลัวเลย พระเจ้าข้า แล้วออกไปข้างนอกสั่งพวกบุรุษที่มโหสถวางไว้ว่า วันนี้พระเจ้าอุตตรปัญญาจาละจะหนี ท่านทั้งหลายอย่าหลับเสีย สั่งฉะนี้แล้วก็ผูกม้าพระที่นั่งในลักษณะที่เมื่อรั้งไว้จะให้หยุด ม้าจะรู้สึกเหมือนว่าจะกระตุ้นให้มันวิ่งตะบึงไป แล้วกราบทูลว่า ม้าที่นั่งเตรียมผูกไว้แล้ว พระเจ้าข้า

พระราชาก็ขึ้นม้าหนีไป ฝ่ายอนุเกวัฏก็ขึ้นม้าทำเหมือนโดยเสด็จด้วยหน่อยหนึ่งก็กลับ ม้าที่นั่งที่ผูกไว้ในลักษณะนั้น เมื่อพระราชารั้งให้หยุด ก็วิ่งพาพระราชาหนีต่อไปอย่างเดียว

ฝ่ายอนุเกวัฏก็เข้าในหมู่เสนาก็ร้องอึงขึ้นว่า พระราชาจุลนีพรหมทัตเสด็จหนีไปแล้ว พวกบุรุษที่มโหสถวางไว้ก็ร้องบอกกันกับพวกของตน ฝ่ายพระราชาร้อยเอ็ดได้สดับเสียงนั้น ก็สำคัญว่า มโหสถเปิดประตูเมืองออกมา บัดนี้เขาจักไม่ไว้ชีวิตพวกเรา ก็กลัวสะดุ้งตกใจ ไม่สนใจเครื่องอุปโภคบริโภคพากันหนีไป

ชนทั้งหลายก็ร้องเอ็ดกันขึ้นว่า แม้พระราชาร้อยเอ็ดก็เสด็จหนีไปแล้ว กองรักษาอยู่ที่บนประตูหอรบได้ยินเสียงนั้น ก็โห่ร้องตบมือกันขึ้น

ขณะนั้น พระนครมิถิลาทั้งสิ้น ทั้งภายในภายนอกก็บันลือเสียงสนั่นหวั่นไหวเป็นเสียงเดียวกัน ประหนึ่งแผ่นดินแยกออก ประหนึ่งท้องทะเลปั่นป่วนฉะนั้น

พลนิกาย ๑๘ อักโขภิณีต่างกลัวมรณภัย ด้วยเข้าใจว่า พระเจ้าจุลนีและพระราชาร้อยเอ็ดถูกมโหสถจับไว้ได้แล้ว ก็ทิ้งกองทัพเสียแล้วหนีไป สถานที่ตั้งกองทัพว่างเปล่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตพาพระราชาร้อยเอ็ดไปสู่นครของตน

วันรุ่งขึ้นพลนิกายชาวกรุงมิถิลาเปิดประตูเมืองออกมาแต่เช้า เห็นสิ่งของกองอยู่เป็นอันมาก จึงแจ้งแก่มโหสถว่า ข้าแต่ท่านบัณฑิต พวกเราจักทำอย่างไร

มโหสถกล่าวว่า ทรัพย์ที่พวกข้าศึกทิ้งไว้ตกเป็นของพวกท่าน พวกท่านจงถวายสิ่งที่เป็นของพระราชาทั้งปวงแด่พระราชาของเราทั้งหลาย จงนำสิ่งเป็นของเศรษฐีและเกวัฏมาให้แก่เรา ชาวเมืองจงถือเอาสิ่งที่เหลือจากนี้

พระโพธิสัตว์ให้รางวัลเป็นอันมากแก่พราหมณ์อนุเกวัฏ ได้ยินว่า นับแต่นั้นมา ชาวกรุงมิถิลาก็บังเกิดมั่งคั่งมั่งมีเงินแลทอง รัตนะมีค่ามากก็เกิดมีมากหลาย

พระเจ้าจุลนีพรหมทัตประทับอยู่ ณ เมืองอุตตรปัญจาละกับพระราชาร้อยเอ็ดเหล่านั้น ล่วงไปปีหนึ่ง.

อยู่มาวันหนึ่ง พราหมณ์เกวัฏแลดูหน้าด้วยกระจกก็เห็นแผลที่หน้าผากจึงคิดว่า นี้มโหสถทำไว้ มโหสถทำเราให้อับอายแก่พระราชาทั้งหลาย คิดฉะนี้ก็เกิดโกรธขึ้น คิดว่า เมื่อไรหนอ เราจะสามารถได้แก้แค้นมโหสถ ก็นึกได้ว่า อุบายมีอยู่ ลงสันนิษฐานแน่ว่า

พระราชธิดาของพระราชาแห่งเรามีพระนามว่า ปัญจาลจันที มีพระรูปโฉมอุดมเปรียบด้วยเทพอัปสร เราจักให้พระนางนั้นแก่พระเจ้าวิเทหราช ลวงท้าวเธอด้วยกาม แล้วนำท้าวเธอผู้เป็นดังปลากลืนเบ็ดกับมโหสถมาฆ่าเสียทั้งสองคนแล้วดื่มชัยบาน

เมื่อพราหมณ์เกวัฏตระหนักแน่ฉะนี้แล้ว จึงเข้าเฝ้ากราบทูลแด่พระเจ้าจุลนีว่า ข้าแต่สมมติเทพยังมีความคิดอีกอย่างหนึ่ง

พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับคำของเกวัฏ จึงตรัสว่าแน่ะท่านอาจารย์ พวกเราต้องหนีกระทั่งต้องทิ้งผ้าสาฎกที่พันท้อง ก็เพราะอุบายความคิดของท่าน บัดนี้ท่านจักทำอะไรอีก นิ่งเสียทีเถิด

เกวัฏจึงทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า อุบายอื่นเช่นอุบายนี้ไม่มี

พระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจงกล่าวให้ฟัง

พราหมณ์เกวัฏทูลว่า ถ้าจะทูล ควรอยู่แต่สอง พระเจ้าข้า

พระราชาทรงเห็นชอบด้วย พราหมณ์จึงเชิญเสด็จพระราชาขึ้นบนปราสาท ให้เสด็จเข้าไปในห้องบรรทมแล้วทูลว่า เราทั้งหลายจักโลมพระเจ้าวิเทหราชด้วยกิเลส แล้วเอาตัวมาฆ่าเสียพร้อมกับมโหสถ

พระราชาตรัสว่า อุบายนี้งาม แต่เราจักเล้าโลมนำเขามาอย่างไร

เกวัฏทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระราชธิดาของพระองค์ผู้มีพระนามว่า ปัญจาลจันที ทรงรูปโฉมงดงาม พวกเราจักให้จินตกวีประพันธ์รูปสมบัติอันทรงสิริ และความงามแห่งอิริยาบถสี่ของพระราชธิดานั้น ด้วยประพันธ์เป็นเพลงขับ แล้วให้ผู้ชำนาญขับร้องกาพย์กลอนเหล่านั้นในกรุงมิถิลา ให้มีใจความว่า เมื่อจอมนรินทร์ปิ่นวิเทหรัฐไม่ได้นารีรัตน์เห็นปานนี้ ราชสมบัติก็ไม่มีประโยชน์อะไร ดังนี้

เมื่อรู้ว่าพระเจ้าวิเทหราชปฏิพัทธ์พระราชธิดาจากการที่ได้ฟังเพลงขับนั้นแล้ว ข้าพระองค์จักไปในกรุงมิถิลากำหนดวันมารับพระราชธิดาอภิเษก เมื่อข้าพระองค์กำหนดวันกลับมาแล้วพระเจ้าวิเทหราชก็จักเป็นเหมือนปลากลืนเบ็ด พามโหสถมา ภายหลังเราทั้งหลายก็จักฆ่าพระเจ้าวิเทหราชกับมโหสถเสีย

พระเจ้าจุลนีได้สดับคำของเกวัฏแล้วทรงยินดีรับรองว่า อุบายของท่านงาม เราทั้งหลายจักทำอย่างนั้น

ไม่มีผู้ใดอื่นที่รู้ความลับนี้ จะมีก็แต่นางนกสาลิกาที่เลี้ยงไว้ในที่บรรทมแห่งพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ที่ได้ฟังความคิดนั้น

พระเจ้าจุลนีให้เรียกพวกจินตกวีเก่ามาพระราชทานทรัพย์เป็นอันมาก แล้วแสดงพระราชธิดาแก่พวกนั้น ตรัสว่า เจ้าทั้งหลายจงประพันธ์กาพย์กลอนอาศัยรูปสมบัติของธิดานี้ พวกจินตกวีเหล่านั้นก็ประพันธ์เพลงขับอย่างจับใจยิ่งแล้วขับถวายพระราชา พระราชาก็พระราชทานทรัพย์เป็นอันมากแก่พวกนั้นอีก นางฟ้อนรำทั้งหลายเรียนกาพย์กลอนแต่สำนักจินตกวีทั้งหลายแล้วไปขับร้องในมณฑลมหรสพ เพลงขับเหล่านั้นได้แพร่ไปด้วยประการฉะนี้

เมื่อเพลงขับเหล่านั้นได้แพร่ไปในหมู่ประชาชน พระเจ้าจุลนีตรัสให้เรียกพวกขับร้องทั้งหลายมาตรัสสั่งว่า เจ้าทั้งหลายจงจับนกใหญ่ให้มาก ขึ้นสู่ต้นไม้ในราตรี นั่งขับร้องอยู่บนต้นไม้นั้น ครั้นเวลาใกล้รุ่งจงผูกกังสดาลที่คอนกเหล่านั้นปล่อยขึ้นไปแล้วจึงลงจากต้นไม้ พระเจ้าจุลนีให้ทำดังนั้น เพื่อเหตุให้เป็นของปรากฏว่า แม้เทวดาทั้งหลายก็ขับร้องพรรณนาพระรูปโฉมแห่งพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงปัญจาละ

พระเจ้าจุลนีตรัสเรียกเหล่าจินตกวีนั้นมาอีกตรัสว่า บัดนี้เจ้าทั้งหลายจงพรรณนาสรรเสริญว่า นางกุมาริกาเห็นปานนี้หาสมควรแก่พระราชาอื่นในพื้นชมพูทวีปไม่ นางสมควรแก่พระเจ้าวิเทหราชกรุงมิถิลา และอิสริยยศของนางนี้ผู้เดียวควรแก่พระเจ้าวิเทหราช ดังนี้ ผูกให้เป็นเพลงขับ

จินตกวีเหล่านั้นทำตามรับสั่งแล้วขับถวายให้ทรงสดับ

พระเจ้าจุลนีก็พระราชทานทรัพย์แก่พวกนั้นแล้วตรัสสั่งว่า เจ้าทั้งหลายจงไปสู่กรุงมิถิลา แล้วขับโดยอุบายนี้แหละในกรุงมิถิลานั้นอีก

จินตกวีเหล่านั้นเมื่อไปถึงกรุงมิถิลาโดยลำดับ ก็ขับ ณโรงมหรสพ มหาชนได้ฟังเพลงขับเหล่านั้นก็ยังเสียงโห่ร้องเกรียวกราวให้เป็นไป ได้ให้ทรัพย์เป็นอันมากแก่พวกนั้น พวกนั้นขับบนต้นไม้ในเวลาราตรี ครั้นใกล้รุ่งก็ผูกกังสดาลที่คอนกทั้งหลายแล้วลงจากต้นไม้ เสียงโกลาหลเป็นอันเดียวกันว่า แม้เทวดาทั้งหลายก็ขับร้องพรรณนาพระรูปโฉมของพระราชธิดาพระเจ้ากรุงปัญจาละ ดังนี้ ได้มีในพระนครทั้งสิ้น เพราะได้ยินเสียงกังสดาลในอากาศ

พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับเสียงนั้น จึงให้เรียกพวกนักประพันธ์กาพย์กลอนมาให้เล่นมหรสพในพระราชนิเวศน์แล้วทรงดำริว่า ได้ยินว่าพระเจ้าจุลนีมีพระราชประสงค์จะประทานพระราชธิดาผู้ทรงรูปโฉมอันอุดมปานนี้แก่เรา ทรงดำริฉะนี้ก็ทรงยินดี ได้พระราชทานทรัพย์เป็นอันมากแก่นักประพันธ์เหล่านั้น พวกนั้นก็กลับนำความมากราบทูลพระเจ้าจุลนีพรหมทัต

ลำดับนั้น อาจารย์เกวัฏจึงกราบทูลพระเจ้าจุลนีว่า บัดนี้ข้าพระบาทจักไปเพื่อกำหนดวัน

พระราชาตรัสว่า ดีแล้วอาจารย์ ท่านควรจะเอาอะไรไปบ้าง

เกวัฏกราบทูลว่า ควรเอาบรรณาการบ้างเล็กน้อยไป พระเจ้าข้า

พระราชาก็ทรงอนุญาตเกวัฏก็ถือเอาเครื่องบรรณาการไปพร้อมกับบริวารเป็นอันมาก เมื่อถึงวิเทหรัฐก็เกิดเสียงโกลาหลเป็นอันเดียวกันในกรุงมิถิลา เพราะได้ยินว่า พระเจ้าจุลนีกับพระเจ้าวิเทหราชจักกระทำสัมพันธไมตรีต่อกัน ฝ่ายพระเจ้าจุลนีจักประทานพระธิดาของพระองค์ แด่พระราชาของพวกเรา ได้ยินว่าพราหมณ์เกวัฏมาเฝ้าเพื่อกำหนดวันเสด็จไปอภิเษก

พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำนั้น แม้พระมหาสัตว์ก็ได้ฟังเหมือนกัน ความปริวิตกได้มีแก่พระมหาสัตว์ว่า การที่เกวัฏมาย่อมต้องมีเหตุอันใด เราจักต้องรู้เหตุนั้นให้ได้

มโหสถจึงส่งข่าวไปยังบุรุษที่วางไว้ในสำนักของพระเจ้าจุลนีว่า เจ้าจงสืบความนี้ตามความเป็นจริงแล้วส่งข่าวมาให้รู้

ลำดับนั้นพวกบุรุษที่วางไว้จึงส่งข่าวตอบมาว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายไม่รู้ข้อความนี้ พระเจ้าจุลนีกับเกวัฏนั่งปรึกษากันอยู่ในห้องบรรทม จะมีก็แต่นกสาลิกาที่เลี้ยงไว้ในที่บรรทมของพระเจ้าจุลนีที่รู้ความลับอันนี้

พระมหาสัตว์ได้สดับดังนั้นแล้วคิดว่า เราจักไม่ให้เกวัฏเห็นบ้านเมืองที่จัดดีแล้ว จำแนกดีแล้ว อย่างที่ปัจจามิตรไม่มีโอกาส มโหสถจึงให้ล้อมทางที่มาทั้งสองข้าง และเบื้องบนด้วยเสื่อลำแพน ตั้งแต่ประตูพระนครจนถึงพระราชนิเวศน์ และตั้งแต่พระราชนิเวศน์จนถึงเรือนตน ให้เขียนภาพโปรยดอกไม้ที่พื้น ให้ตั้งหม้อน้ำมีน้ำเต็มและให้ปักต้นกล้วยผูกธงไว้ เมื่อเกวัฏเข้าสู่พระนคร เห็นดังนั้นก็คิดว่า พระราชาให้ตกแต่งมรรคาไว้รับเรา ไม่รู้ว่า เขาทำเพื่อไม่ให้เห็นบ้านเมือง เกวัฏเดินทางไปเข้าเฝ้าถวายบังคมพระเจ้าวิเทหราช ถวายเครื่องบรรณาการทูลปฏิสันถารแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชทรงทำสักการะสัมมานะแล้ว เมื่อจะกราบทูลถึงเรื่องที่ตนมา ได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระราชาของข้าพระองค์ทั้งหลายมีพระราชประสงค์จะทรงทำสันถวไมตรีกับด้วยพระองค์ จะประทานรัตนะทั้งหลายตั้งต้นแต่พระราชธิดาซึ่งเป็นอิตถีรัตนะแด่พระองค์

ได้ยินว่า ตั้งแต่นี้ไป ทูตทั้งหลายผู้มีวาจาไพเราะ กล่าวคำที่น่ารัก คุมเครื่องบรรณาการจากอุตตรปัญจาลนคร มายังมิถิลานครนี้ และจากมิถิลานครนี้ ไปยังอุตตรปัญจาลนครนั้น

ขอรัฐทั้งสองนั้นจงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทีเดียว ดุจน้ำในคงคาไหลร่วมกับน้ำในยมุนาฉะนั้น

ก็แลครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว เกวัฏได้กราบทูลต่อไปว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระราชาของข้าพระเจ้าใคร่จะส่งมหาอำมาตย์อื่นมา ก็ไม่สามารถจะแจ้งข่าวให้เป็นที่ชอบพระราชหฤทัย เพราะฉะนั้น จึงส่งข้าพระเจ้ามาโดยพระราชโองการว่า ท่านอาจารย์ ท่านจงยังพระเจ้าวิเทหราชให้ทรงทราบดีแล้วพาเสด็จมา ดังนี้ ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ขอพระองค์เสด็จราชดำเนินไป จักได้พระราชธิดามีรูปงามนัก และสันถวไมตรีกับพระราชาของข้าพระองค์ทั้งหลายจักดำรงมั่นแด่พระองค์

พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำของเกวัฏแล้วทรงโสมนัส ข้องอยู่ด้วยอันได้ทรงฟังว่า จักได้พระราชธิดารูปงามที่สุด จึงตรัสว่า แน่ะอาจารย์ ได้ยินว่า ความวิวาทในเพราะธรรมยุทธ์ได้มีแก่ท่านและมโหสถ ท่านจงไปหามโหสถบุตรเรา ท่านทั้งสองเป็นบัณฑิตจงยังกันและกันให้ขมาโทษ ปรึกษาหารือกันแล้วจงกลับมา

เกวัฏได้ฟังพระราชดำรัส ก็ไปด้วยคิดว่า เราจักพบมโหสถ ฝ่ายพระมหาสัตว์รู้ว่าเกวัฏจะมายังสำนักตนวันนั้น จึงคิดว่า การที่เราจะเจรจากับเกวัฏผู้มีกรรมอันลามกเป็นธรรมดาจงอย่าได้มีเลย คิดดังนี้แล้วจึงดื่มเนยใสหน่อยหนึ่งแต่เช้า ผู้รักษาเรือนเอาโคมัยสดเป็นอันมากละเลงเรือนมโหสถ และเอาน้ำมันทาเสาทั้งหลาย แต่ตั้งเตียงผ้าไว้หนึ่งเตียงสำหรับเป็นที่นอนแห่งมโหสถ นอกจากนี้ให้เก็บเสียสิ้นไม่ว่าเตียงหรือตั่ง มโหสถได้ให้สัญญาแก่ชนบริวารว่า เมื่อพราหมณ์ปรารถนาจะพูดกับพวกเจ้า พวกเจ้าพึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะพราหมณ์ ท่านอย่าพึงพูดกับท่านบัณฑิต เพราะวันนี้ท่านบัณฑิตดื่มเนยใส ในเมื่อเราทำอาการจะพูดกับเกวัฏ พวกเจ้าพึงห้ามเสียว่า ท่านดื่มเนยใสอย่างแรง ท่านอย่าพูด

มโหสถจัดอย่างนี้แล้วนุ่งผ้าแดง วางคนรักษาไว้ที่ซุ้มประตูทั้ง ๗ ชั้นแล้วนอนบนเตียงผ้า ฝ่ายเกวัฏยืนที่ซุ้มประตูที่ ๑ ของเรือนมโหสถ ถามว่าบัณฑิตอยู่ไหน

ลำดับนั้น ชนทั้งหลายก็ห้ามพราหมณ์เกวัฏว่า แน่ะพราหมณ์ท่านอย่าส่งเสียง ถ้าท่านอยากจะมา จงมานิ่งๆ เพราะวันนี้ท่านบัณฑิตดื่มเนยใสอย่างแรง ท่านจักต้องไม่ทำเสียงอื้ออึง

ชนทั้งหลายที่ซุ้มประตูนอกจากนี้ก็กล่าวห้ามพราหมณ์อย่างนั้น เกวัฏล่วงซุ้มประตูที่ ๗ ก็ถึงสำนักมโหสถ มโหสถแสดงอาการจะพูด ลำดับนั้น ชนทั้งหลายกล่าวห้ามว่า ท่านอย่าได้พูดเพราะท่านดื่มเนยใสอย่างแรง ประโยชน์อะไรด้วยการพูดกับพราหมณ์ร้ายนี้

เกวัฏไปสำนักมโหสถบัณฑิต ไม่ได้นั่ง ไม่ได้แม้ที่ยืน ต้องยืนเหยียบโคมัยสดอยู่ ลำดับนั้น คนใช้ของมโหสถคนหนึ่ง แลดูเกวัฏแล้วก็ถลึงตา คนหนึ่งแลดูแล้วยักคิ้ว คนหนึ่งแลดูแล้วงอศอกเงื้อ เกวัฏเห็นกิริยาของพวกมโหสถ ก็เก้อเขินกล่าวว่า แน่ะท่านบัณฑิต ข้าพเจ้าลาไปละ เมื่อคนอื่นๆ กล่าวว่า แน่ะพราหมณ์ร้ายถ่อย แกอย่าส่งเสียง ถ้าว่าแกขืนส่งเสียง พวกเราจักทำลายกระดูกแกเสีย ก็เป็นผู้ทั้งกลัวทั้งตกใจ กลับไปไม่เหลียวหลัง ลำดับนั้นคนหนึ่งลุกขึ้นตีหลังเกวัฏด้วยซีกไม้ไผ่ คนหนึ่งตีหลังด้วยฝ่ามือ คนหนึ่งไสคอผลักไป

เกวัฏทั้งกลัวทั้งตกใจออกไปสู่พระราชวัง ดุจมฤคพ้นจากปากราชสีห์

พระเจ้าวิเทหราชทรงดำริว่า วันนี้บุตรของเราได้ฟังประพฤติเหตุนี้แล้วจักเป็นผู้ยินดี ธรรมสากัจฉาใหญ่จะพึงมีแก่บัณฑิตทั้งสอง วันนี้บัณฑิตทั้งสองจักยังกันและกันให้ขมาโทษ เป็นลาภของเราหนอ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นเกวัฏ เมื่อจะตรัสถามเรื่องการสนทนากับมโหสถบัณฑิตจึงตรัสถามว่า

ดูก่อนอาจารย์เกวัฏ ท่านได้พบกับมโหสถ เป็นอย่างไรหนอ เชิญกล่าวข้อความนั้นเถิด มโหสถกับท่านต่างงดโทษกันแล้วกระมัง มโหสถยินดีแล้วกระมัง

ลำดับนั้น เกวัฏทูลว่า พระองค์อย่าทรงถือมโหสถว่าเป็นบัณฑิตเลยพระเจ้าข้า คนที่ชื่อว่าเป็นอสัตบุรุษยิ่งกว่ามโหสถไม่มี แล้วกล่าวว่า

ข้าแต่พระจอมประชากร บุรุษที่ชื่อมโหสถเป็นคนเลว ไม่น่าชื่นชม กระด้าง มิใช่สัตบุรุษ ไม่พูดอะไรสักคำ เหมือนคนใบ้คล้ายคนหนวก

พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำของเกวัฏแล้ว ไม่ทรงยินดี ไม่ทรงคัดค้าน โปรดให้พระราชทานเสบียงและเรือนพักอยู่แก่เกวัฏและเหล่าบริวารที่มาด้วย ทรงส่งเกวัฏไปด้วยรับสั่งว่า เชิญท่านอาจารย์ไปพักผ่อน ดังนี้แล้วทรงดำริว่า มโหสถบุตรของเราเป็นผู้ฉลาดในปฏิสันถาร ได้ยินว่า เขาไม่ได้ทำปฏิสันถารกับเกวัฏเลย ไม่แสดงความยินดี เขาจักเห็นภัยอะไรๆ ในอนาคต บุตรของเราจักเห็นโทษในการมาของพราหมณ์เกวัฏ ด้วยว่าเกวัฏนี้ เมื่อมา จักมิได้มาเพื่อต้องการสันถวไมตรี แต่แกคงมาเพื่อเล้าโลมเราด้วยกามคุณแล้วพาไปเมืองของตนเอาตัวไว้ บุตรของเราจักเห็นภัยในอนาคตนั้นแล้ว ทรงนึกอยู่อย่างนี้ ก็ทั้งกลัวทั้งสะดุ้งประทับนั่งอยู่



>>>>> มีต่อ หน้า ๑๖
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 16 พ.ย.2006, 11:20 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เมื่อบัณฑิตทั้ง ๔ คนมาเฝ้า พระราชาตรัสถามเสนกะว่าการที่เราจะไปอุตตรปัญจาลนครนำพระราชธิดาของพระเจ้าจุลนีมา ท่านชอบใจอยู่หรือ

เสนกะกราบทูลว่า พระองค์รับสั่งอะไร พระเจ้าข้า เพราะว่าควรที่พระองค์จะนำสิริซึ่งมาถึงอย่าให้หนีไปเสีย หากพระองค์เสด็จไปกรุงปัญจาละก็จักได้รับพระราชธิดามา กษัตริย์องค์อื่นยกเสียแต่พระเจ้าจุลนีพรหมทัต จักเป็นผู้เสมอด้วยพระองค์ย่อมไม่มีในพื้นสกลชมพูทวีป เพราะอะไร เพราะพระองค์ได้พระราชธิดาของพระราชาผู้เป็นใหญ่มาเป็นมเหสี จริงอยู่ พระเจ้าจุลนีพรหมทัตเป็นพระราชาเลิศในพื้นสกลชมพูทวีป ใคร่จะยกพระราชธิดาผู้ทรงพระรูปโฉมอันอุดมถวายแด่พระองค์ ก็ด้วยทรงเห็นว่า พระราชานอกนี้เป็นคนของเรา พระเจ้าวิเทหราชพระองค์เดียวเสมอเรา ขอพระองค์ทรงทำตามคำของพระเจ้าจุลนีเถิด แม้พวกข้าพระองค์ก็จักได้ผ้าและเครื่องประดับทั้งหลาย เพราะอาศัยพระองค์

พระเจ้าวิเทหราชตรัสถามอาจารย์อีก ๓ คนที่เหลือ อาจารย์เหล่านั้นก็กราบทูลเช่นเดียวกัน เมื่อพระราชากำลังรับสั่งอยู่กับอาจารย์ทั้ง ๔ พราหมณ์เกวัฏออกจากเรือนพักรับรองมาถวายบังคมพระราชาด้วยคิดว่า เราจักทูลลาพระราชากลับ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพข้าพระองค์ไม่อาจรอช้า จักทูลลากลับ พระราชาทรงทำสักการะแก่เกวัฏแล้วทรงส่งเขากลับไป

พระมหาสัตว์รู้ว่าเกวัฏกลับแล้ว จึงอาบน้ำแต่งกายไปเฝ้าพระราชา ถวายบังคมพระราชาแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง พระราชาทรงดำริว่า มโหสถบัณฑิตบุตรเราเป็นผู้มีความคิดมาก ถึงฝั่งแห่งมนต์ ย่อมรู้ข้อความทั้งหลายทั้งในอดีตอนาคตและปัจจุบัน เป็นนักปราชญ์ จักรู้ว่าควรหรือไม่ควรที่เราจะไปในกรุงปัญจาละ พระองค์มิได้ตรัสเรื่องของพระองค์ที่ทรงคิดไว้ก่อน แต่ตรัสถามมโหสถบัณฑิตว่า

พ่อบัณฑิต พวกเรา ๖ คน คือ พราหมณ์เกวัฏ ๑ เรา ๑ และอาจารย์ ๔ คนเหล่านี้ มีมติเสมอกันเป็นเอกฉันท์ทีเดียว ชอบใจการที่พระเจ้าจุลนีนำพระราชธิดามา แต่ว่าความชอบใจของพวกเรานั้นยังเอาเป็นประมาณไม่ได้ เจ้าก็จงแสดงความคิดว่า การที่พวกเราไปปัญจาลนครเพื่อประโยชน์อาวาหมงคล หรือไม่ไปหรืออยู่ในที่นี้เท่านั้น เจ้าชอบอย่างไร

พระมหาสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสดังนั้นจึงคิดว่า พระราชาองค์นี้เป็นผู้ละโมบในกามารมณ์ ถือเอาคำของอาจารย์ ๔ คนเหล่านี้ด้วยความเป็นอันธพาลย่อมไม่ทรงทราบโทษที่จะเสด็จไป เราจักชี้โทษในการเสด็จไป แล้วจักให้กลับพระหฤทัยเสีย คิดฉะนี้แล้วจึงกล่าวว่า

ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์ทรงทราบพระเจ้า จุลนีพรหมทัตทรงมีอานุภาพมาก มีพลมาก ประกอบด้วยพลนับได้ ๑๘ อักโขภิณี ก็พระราชานั้นปรารถนาเพื่อปลงพระชนมชีพของพระองค์ ดุจนายพรานฆ่ามฤคด้วยมฤคี (ได้แก่ แม่เนื้อที่ใช้เป็นตัวล่อเหยื่อ ก็นายพรานฝึกแม่เนื้อตัวหนึ่งแล้วเอาเชือกผูกนำไปป่า พักไว้ในที่พวกเนื้อหากิน แม่เนื้อนั้นต้องการนำเนื้อโง่มาสำนักตน จึงร้องดังยั่วราคะด้วยสัญญาของตน เนื้อโง่แวดล้อมด้วยฝูงเนื้อนอนที่พุ่มไม้ในป่า ได้ฟังเสียงของแม่เนื้อนั้น เกิดมีใจผูกพันลุกออกไป ชูคอเข้าไปหาแม่เนื้อตัวนั้น ยืนให้ความสะดวกอย่างมากแก่นายพราน นายพรานใช้หอกคมกริบแทงเนื้อนั้นให้สิ้นชีวิตในที่นั้นเอง ในเรื่องนั้นพระเจ้าจุลนี เหมือนนายพราน พระราชธิดาของพระองค์เหมือนแม่เนื้อล่าเหยื่อ พราหมณ์เกวัฏเหมือนอาวุธในมือของนายพราน อธิบายว่า นายพรานต้องการฆ่าเนื้อด้วยเนื้อล่อเหยื่อฉันใด พระเจ้าจุลนีต้องการฆ่าพระเจ้าวิเทหราชด้วยพระราชธิดา ฉันนั้น) ฉะนั้น

ปลาอยากกินของสดคือเหยื่อ ย่อมกลืนเบ็ดที่คด ซึ่งปกปิดไว้ด้วยเนื้ออันเป็นเหยื่อ มันย่อมไม่รู้จักความตายของมัน (ปลาแม้อยู่ในน้ำลึกร้อยวาต้องการเหยื่อคือของสดที่เขาเกี่ยวเพื่อปกปิดเบ็ดไว้นั้น กลืนเบ็ดเข้าไปย่อมไม่รู้ว่าเหยื่อนั้นคือความตายของตน) ฉันใด ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงปรารถนากาม ย่อมไม่ทรงทราบพระราชธิดาของพระเจ้าจุลนี เหมือนปลาไม่รู้จักความตายของตน (พระองค์ทรงปรารถนากามย่อมไม่ทรงทราบว่าพระราชธิดาของพระเจ้าจุลนีนั้นเป็นเช่นกับเหยื่อที่พรานเบ็ด คือพระเจ้าจุลนีทรงวางเพื่อปกปิดเบ็ด คือคำพูดของพราหมณ์เกวัฏไว้ เหมือนปลาไม่รู้ว่าเหยื่อ คือความตายของมัน) ฉะนั้น

ถ้าพระองค์เสด็จไปยังปัญจาลนคร จักต้องสละพระองค์ทันที ภัยใหญ่จักถึงพระองค์ ดุจภัยมาถึงมฤค ตัวตามไปถึงทางประตูบ้าน (ถ้าพระองค์เสด็จไปยังอุตตรปัญจาลนคร ภัยใหญ่จักมาถึงพระองค์ เหมือนเนื้อตัวที่เดินเข้าไปในหมู่บ้าน เมื่อพวกมนุษย์ถืออาวุธออกจากบ้านเพื่อล่าเนื้อ เห็นเนื้อนั้นเข้าก็ย่อมฆ่าเนื้อนั้นเสีย ฉันใด มรณภัยใหญ่จักมาถึงพระองค์เมื่อเสด็จอุตตรปัญจาลนคร ฉันนั้น พระมหาสัตว์ทูลข่มพระราชาด้วยประการฉะนี้) ฉะนั้น

พระเจ้าวิเทหราชถูกพระมหาสัตว์ข่มอย่างเหลือเกินทีเดียว ก็ทรงพิโรธว่า มโหสถนี้หมิ่นเราดุจทาสของตน ไม่สำคัญว่าเราเป็นพระราชา รู้ราชสาสน์ที่พระอัครราชส่งมาสำนักเราว่า จักประทานพระราชธิดาดังนี้แล้ว ไม่กล่าวคำประกอบด้วยมงคลแม้คำหนึ่ง กลับมากล่าวกะเราว่า เป็นเหมือนเนื้อโง่ เป็นเหมือนปลากลืนเบ็ด และเป็นเหมือนเนื้อเดินตามทางถึงประตูบ้านจักถึงความตาย ครั้นกริ้วแล้วได้ตรัสบริภาษว่า มโหสถเป็นบุตรคฤหบดีย่อมโตมาด้วยการถือคันไถไถนาตั้งแต่เป็นหนุ่มเท่านั้น จึงย่อมรู้งานของบุตรคฤหบดีเท่านั้น ย่อมไม่รู้งานที่เป็นมงคลของกษัตริย์ทั้งหลาย ส่วนคนอื่นๆ คืออาจารย์เกวัฏหรืออาจารย์เสนกะเป็นต้น รู้จักความเจริญคือมงคลของกษัตริย์เหล่านี้ ส่วนมโหสถจะรู้จักมงคลเหล่านั้นละหรือ

ครั้นพระเจ้าวิเทหราชด่าบริภาษมโหสถแล้วตรัสว่า บุตรคฤหบดีทำอันตรายแห่งมงคลแก่เรา ท่านทั้งหลายจงนำเขาออกไปเสีย

มโหสถรู้ว่า พระราชากริ้ว จึงคิดว่า หากว่าใครอื่นทำตามพระราชดำรัสจับมือหรือมาจับคอเรา นั่นไม่ควรแก่เรา เราจะอับอายไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้น เราจักออกไปเสียเอง คิดฉะนี้แล้วจึงถวายบังคมพระราชา ลุกจากที่นั่งกลับไปสู่เคหสถานแห่งตน

ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชรับสั่งดังนั้น ด้วยอำนาจพระพิโรธเท่านั้น หาได้ตรัสสั่งใครๆ ให้ทำดังนั้นไม่ เพราะพระองค์มีพระทัยเคารพในพระโพธิสัตว์

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์คิดว่า พระราชาองค์นี้เป็นอันธพาลเกินเปรียบ ไม่ทรงทราบถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ พระองค์เป็นผู้ปรารถนาในกาม ทรงทราบแต่ว่า จักได้พระราชธิดาของพระเจ้าจุลนี แต่หาทรงคำนึงถึงภัยในอนาคตไม่ เมื่อเสด็จไปกรุงปัญจาละก็จักถึงความพินาศใหญ่ แต่เราก็ไม่ควรที่จะเอาสิ่งที่พระราชาตรัสนั่นมาเก็บไว้ในใจ เพราะพระองค์ทรงมีพระอุปการะแก่เรามาก พระราชทานยศใหญ่แก่เรา เราควรจะหาทางช่วยเหลือพระองค์ แล้วดำริต่อไปว่า เราจักส่งสุวโปดกไปสืบหาความจริงก่อน แล้วจักไปด้วยตนเองในภายหลัง ครั้นดำริฉะนี้แล้ว

มโหสถจึงเรียกสุวโปดกมาพร้อมกับกล่าวว่า มานี่สหาย เจ้าจงขวนขวายทำกิจของเราอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้อื่นที่เป็นมนุษย์ไม่อาจทำได้

นกสุวบัณฑิตก็บินมาจับที่ตักแล้วถามว่า จะให้ข้าพเจ้าทำอะไร นาย

มโหสถก็กล่าวว่า สหาย คนอื่นเว้นพระเจ้าจุลนีและพราหมณ์เกวัฏ ย่อมไม่รู้เหตุที่พราหมณ์เกวัฏมาโดยความเป็นทูต คนสองคนเท่านั้นนั่งปรึกษากันในห้องบรรทมของพระเจ้าจุลนี แต่มีนางนกสาลิกาที่พระเจ้าปัญจาลราชนั้นเลี้ยงไว้ในที่บรรทม ได้ยินว่า นางนกสาลิกานั้นรู้ความลับนั้น เจ้าจงไปในที่นั้น ทำความคุ้นเคยประกอบด้วยเมถุนกับนางนกสาลิกานั้น ถามความลับของพระเจ้าจุลนีและพราหมณ์เกวัฏ กะนางนกสาลิกานั้นโดยพิสดาร จงถามนางนกสาลิกานั้นในสถานที่มิดชิด อย่างที่ใครๆ อื่นจะไม่รู้เรื่องนั้น ก็ถ้าใครได้ยินเสียงของเจ้า ชีวิตของเจ้าจะไม่มี ฉะนั้น เจ้าจงถามค่อยๆ ในที่มิดชิด

สุวโปดกนั้นรับคำของมโหสถ ไหว้พระมหาสัตว์ ทำประทักษิณแล้วบินออกทางสีหบัญชรที่เปิดไว้ ไปนครชื่ออริฏฐปุระในแคว้นสีพี ด้วยความเร็วปานลม ไปสำนักของนางนกสาลิกาเมื่อถึงแล้วสุวโปดกนั้นจับที่ยอดแหลมอันเป็นทองของพระราชนิเวศน์ ส่งเสียงอย่างไพเราะ เป็นสัญญาให้รู้ว่าฉันจักไปหา นางนกสาลิกานั้นเมื่อได้ยินเสียงของสุวโปดกแล้ว ก็จับที่สุวรรณบัญชรใกล้ที่บรรทมของพระราชา มีจิตกำหนัดด้วยราคะ ส่งเสียงรับสามครั้ง สุวโปดกบินไปหน่อยหนึ่งส่งเสียงบ่อยๆ เกาะที่ธรณีสีหบัญชรโดยลำดับ ตามกระแสเสียงที่นางนกสาลิกากระทำ ตรวจดูว่าไม่มีอันตราย บินไปสำนักของนางนกสาลิกานั้น นางนกสาลิกาได้กล่าวกะสุวโปดกในที่นี้ว่า มาเถิดสหาย จงจับที่สุวรรณบัญชร สุวโปดกก็บินไปจับ แล้วนางนกสาลิกาก็ถามว่า

ดูก่อนสหาย ท่านมาแต่ไหน หรือว่าใครใช้ท่านมา ก่อนแต่นี้ฉันไม่เคยเห็นท่าน หรือเคยได้ยินเสียงของท่านเลย

สุวโปดกได้ฟังคำของนางนกสาลิกาแล้ว คิดว่า ถ้าเราบอกว่ามาแต่มิถิลา นางนกสาลิกานี้แม้จะตาย ก็จักไม่ยอมทำความคุ้นเคยกับเรา ฉะนั้นเราจักทำมุสาวาทกล่าวว่าพระเจ้าสีวิราชทรงส่งมาแต่ที่นั้น คิดฉะนี้แล้วจึงกล่าวว่า

ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่เขาเลี้ยงไว้ในที่บรรทม บนปราสาทของพระเจ้าสีวิราช พระราชาพระองค์นั้นเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม โปรดให้ปล่อยสัตว์ทั้งหลายที่ถูกขังจากที่ขังนั้นๆ

ลำดับนั้น นางนกสาลิกาจึงให้ข้าวตอกคลุกน้ำผึ้ง ที่วางอยู่ในกระเช้าทองและน้ำผึ้งแก่สุวโปดก แล้วถามว่า แน่ะสหาย ท่านมาแต่ที่ไกล มาในที่นี้เพื่อประสงค์อะไร สุวโปดกได้ฟังคำนางนกสาลิกา ใคร่จะฟังความลับจึงมุสาวาทกล่าวว่า

นางนกสาลิกาภรรยาของฉันได้ถูกเหยี่ยวฆ่าเสียต่อหน้าฉัน

ลำดับนั้น นางนกสาลิกาถามสุวโปดกว่า ก็อย่างไรเหยี่ยวจึงได้ฆ่าภรรยาของท่านเสีย

สุวโปดกจึงกล่าวว่า เธอจงฟัง วันหนึ่งพระราชาของฉันเสด็จไปเล่นน้ำ ตรัสเรียกฉันไปตามเสด็จ ฉันจึงพาภรรยาไปตามเสด็จ เล่นน้ำกลับมากับพระราชานั้น ขึ้นปราสาทกับพระองค์พาภรรยาออกมาจากกรง จับอยู่ที่โพรงตำหนักยอดเพื่อผึ่งสรีระ ขณะนั้นมีเหยี่ยวตัวหนึ่งบินมาเพื่อโฉบเราทั้งสองผู้ออกจากตำหนักยอด ฉันกลัวแต่ภัยคือความตายบินหนีโดยเร็ว แต่นางนกสาลิกาคราวนั้นมีครรภ์แก่ เพราะฉะนั้น นางจึงไม่อาจหนี ทีนั้นเหยี่ยวก็ยังนางให้ตายต่อหน้าฉัน ผู้เห็นอยู่แล้วพาหนีไปทีนั้นพระราชาของฉันทอดพระเนตรเห็นฉันร้องไห้ด้วยความโศกถึงนาง จึงตรัสถามว่า เจ้าร้องไห้ทำไม ได้ทรงฟังความข้อนั้นแล้วรับสั่งว่า พอละเจ้าอย่าร้องไห้ จงแสวงหาภรรยาอื่น เมื่อฉันได้ฟังรับสั่งจึงกราบทูลว่า ประโยชน์อะไรด้วยภรรยาอื่น ผู้ไม่มีอาจารมรรยาท ไม่มีศีล แม้ที่นำมาแล้ว ผู้เดียวเที่ยวไปดีกว่า รับสั่งว่า แน่ะสหาย ข้าเห็นนางนกสาลิกาตัวหนึ่ง ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตรเช่นกับภรรยาของเจ้า ก็นางนกสาลิกาเห็นปานนี้ เขาเลี้ยงไว้ในที่บรรทมของพระเจ้าจุลนีมีอยู่ เจ้าจงไปในที่นั้น ถามใจของเขาดู ให้เขาทำโอกาส ถ้าเจ้าชอบใจเขา จงมาบอกแก่เรา ภายหลังเราหรือพระเทวีจักไปนำนางนั้นมาด้วยบริวารใหญ่ ตรัสฉะนี้แล้วทรงส่งฉันมาในที่นี้ ฉันจึงมาด้วยเหตุนั้น

กล่าวฉะนี้แล้วสุวโปดกจึงกล่าวว่า

ฉันรักใคร่ต่อเธอจึงมาในสำนักของเธอ ถ้าเธอพึงให้โอกาส เราทั้งสองก็จะได้อยู่ร่วมกัน

นางนกสาลิกาได้ฟังคำของสุวโปดกก็ดีใจ แต่ยังไม่ให้สุวโปดกรู้ว่าตนปรารถนา ทำเป็นไม่ปรารถนากล่าวว่า

นกแขกเต้า ก็พึงรักใคร่กับนางนกแขกเต้า นกสาลิกา ก็พึงรักใคร่กับนางนกสาลิกา การที่นกแขกเต้าจะอยู่ร่วมกับนางนกสาลิกาดูกระไรอยู่

สุวโปดกได้ฟังดังนั้นจึงคิดว่า นางนกสาลิกานี้หาได้ห้ามเราไม่ คงจักปรารถนาเราเป็นแน่ เราจักให้นางนกสาลิกานี้เชื่อถือเราด้วยอุปมาต่างๆ คิดฉะนี้แล้ว จึงกล่าวว่า การอยู่ร่วมกัน ทุกอย่างย่อมเป็นเช่นเดียวกันทั้งนั้นเพราะมีจิตเป็นเช่นเดียวกัน ในเรื่องกาม จิตเท่านั้นเป็นใหญ่ ชาติกำเนิดหาเป็นใหญ่ไม่

ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว สุวบัณฑิตเมื่อจะนำเรื่องแต่ก่อนเก่ามาเล่าให้นางนกสาลิกาฟังเพื่อแสดงว่าความที่ชาติกำเนิดต่างกันไม่เป็นเรื่องใหญ่ โดยยกตัวอย่างในหมู่มนุษย์ก่อน จึงกล่าวยกตัวอย่างว่า พระเจ้าวาสุเทพ วันหนึ่งได้เสด็จออกจากกรุงทวารวดี เพื่อประพาสพระราชอุทยาน ระหว่างทางได้ทอดพระเนตรเห็นกุมาริการูปงามคนหนึ่งเป็นจัณฑาล มาจากหมู่บ้านคนจัณฑาลเดินเข้าสู่พระนครด้วยธุระบางอย่าง ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง พระองค์เห็นนางแล้วก็มีจิตปฏิพัทธ์ มีรับสั่งให้ถามว่า ชาติอะไร แม้ได้สดับว่า ชาติจัณฑาลก็ยังมีรับสั่งให้ถามว่า มีสามีหรือไม่ ทรงสดับว่ายังไม่มีสามี จึงพานางกุมาริกานั้นไปจากที่นั้นทีเดียว นำไปพระราชนิเวศน์ ทรงตั้งเป็นอัครมเหสี

สุวบัณฑิตนำอุทาหรณ์นี้มาอย่างนี้แล้วกล่าวว่า กษัตริย์แม้ยิ่งใหญ่ปานนี้ยังสำเร็จสังวาสกับหญิงจัณฑาล ใครจะมาว่าอะไรในเราทั้งสอง ซึ่งเป็นเพียงสัตว์ดิรัจฉานเล่า ความชอบใจในการร่วมประเวณีกันและกันต่างหาก เป็นข้อสำคัญกล่าวฉะนี้แล้ว เมื่อจะชักอุทาหรณ์อื่นมาอีก จึงเล่าเรื่องที่นางกินรีชื่อรัตนวดีได้ร่วมรักกะดาบสชื่อวัจฉะว่า

ในอดีตกาล มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อวัจฉะ เห็นโทษในกามทั้งหลาย จึงละทิ้งบ้านเรือนออกบวชเป็นฤๅษี สร้างบรรณศาลาอยู่ ณ หิมวันตประเทศ ใกล้บรรณศาลาของฤๅษีนั้น มีถ้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งมีกินนรเป็นจำนวนมากอาศัยอยู่ แต่ที่ปากประตูถ้ำนั้น มีแมลงมุมตัวหนึ่งอยู่ มันได้กัดศีรษะของกินนรเหล่านั้นดื่มกินโลหิต

ธรรดากินนรทั้งหลายหากำลังมิได้ เป็นชาติขลาด และแมลงมุมตัวนั้นก็ใหญ่โตมาก กินนรทั้งหลายไม่อาจจะทำอะไรมันได้จึงเข้าไปหาดาบสนั้น ทำปฏิสันถาร แล้วดาบสถามถึงเหตุที่มา จึงพากันบอกว่า มีแมลงมุมตัวหนึ่งประหารชีวิตของพวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าไม่เห็นผู้อื่นจะเป็นที่พึ่งได้ ขอท่านจงฆ่ามันเสีย ทำความสวัสดีแก่พวกข้าพเจ้า ดาบสได้ฟังคำดังนั้นก็รุกรานว่า พวกเองจงไปเสีย บรรพชิตทั้งหลายเช่นเราไม่ทำปาณาติบาต

บรรดากินนรเหล่านั้น มีกินรีชื่อรัตนาวดี ยังไม่มีผัว กินนรเหล่านั้นจึงตกแต่งกินรีรัตนวดีนั้น แล้วพาไปหาดาบส กล่าวว่า กินรีนี้จงเป็นผู้บำเรอเท้าท่าน ท่านจงฆ่าปัจจามิตรของพวกเราเสีย ดาบสเห็นกินรีรัตนวดีก็มีจิตปฏิพัทธ์ จึงสำเร็จร่วมอภิรมย์กับกินรีนั้นแล้วไปยืนที่ประตูถ้ำ ตีแมลงมุมที่ออกมาหากินด้วยค้อนให้สิ้นชีวิต ดาบสนั้นอยู่สมัครสังวาสกับกินรีนั้นมีบุตรธิดาแล้วทำกาลกิริยา ณ ที่นั้นแล

สุวโปดกนำอุทาหรณ์นี้มา เมื่อจะแสดงว่า วัจฉดาบสเป็นมนุษย์ยังสำเร็จสังวาสกับกินรีนั้นผู้เป็นดิรัจฉานได้ จะกล่าวไยถึงเราทั้งสองซึ่งเป็นนก เป็นดิรัจฉานด้วยกันจะร่วมสังวาสกันไม่ได้เล่า

นางนกสาลิกานั้น ได้ฟังคำของสุวโปดกแล้ว กล่าวว่า ข้าแต่นาย ขึ้นชื่อว่าจิตจะมั่นคงเป็นอย่างเดียวไปตลอดกาล ย่อมไม่มี ฉันกลัวแต่ความพลัดพรากจากท่านที่รักจ้ะ

สุวบัณฑิตนั้นเป็นผู้ฉลาดในมายาสตรี ฉะนั้นเมื่อจะทดสอบใจของนางนกสาลิกาจึงกล่าวอีกว่า

คำที่เธอกล่าวทั้งหมดนั้น ทำให้ฉันได้รู้ประจักษ์ เธอล่วงเกินดูหมิ่นฉันว่า นกแขกเต้านี้ย่อมมีแต่ความปรารถนาเท่านั้น เธอไม่รู้สารสำคัญของฉัน พระราชาก็ชื่นชมฉัน ฉันหาภรรยาได้ไม่ยาก ฉันจักแสวงหานกตัวอื่นเป็นภรรยา ฉันจักไปละ

นางนกสาลิกาได้ฟังคำของสุวโปดกร้อนตัว ได้กล่าวว่า

แน่ะสหายสุวบัณฑิตมงคลย่อมไม่มีแก่ผู้ใจร้อน งานที่ผู้ใจร้อนกระทำย่อมไม่งาม ขึ้นชื่อว่าการครองเรือนนั้นหนักยิ่ง ต้องคิดพิจารณาก่อนจึงทำ ขอเชิญท่านอยู่ในที่นี้ จนกว่าจะได้เห็นพระราชาของพวกเราผู้ประกอบด้วยยศใหญ่

ท่านจักได้ฟังเสียงตะโพนเสียงขับร้องและเสียงประโคมดนตรีอื่นๆ ที่เหล่านารีผู้มีรูปโฉมอุดม มีลีลาเสมอด้วยกินรี บรรเลงอยู่ในเวลาสายัณห์ และจักได้เห็นอานุภาพและสิริโสภาคอันยิ่งใหญ่ของพระราชา ท่านจะด่วนไปทำไมเล่าสหาย แม้ข้ออ้างท่านก็ยังไม่รู้ อยู่ก่อนเถิด ฉันจักให้รู้จักภายหลัง

ลำดับนั้น นกทั้งสองก็กระทำเมถุนสังวาสในสายัณหสมัยนั้นเอง มีความสามัคคีบันเทิงอยู่ร่วมเป็นที่รักกัน ครานั้นสุวโปดกคิดว่า บัดนี้นางนกสาลิกาจักไม่ซ่อนความลับแก่เรา ควรที่เราจักถามนางแล้วจึงไป จึงกล่าวว่า แน่ะสาลิกา

อะไรหรือนาย

ฉันอยากจะถามอะไรเจ้าสักหน่อย



>>>>> มีต่อ หน้า ๑๗
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 16 พ.ย.2006, 11:26 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถามเถิดนาย

เรื่องนั้นงดไว้ก่อน วันนี้เป็นวันมงคลของเรา ไว้วันอื่นฉันจักถาม

นางนกสาริกากล่าวว่า ถ้าคำที่ถามประกอบด้วยมงคล ก็จงถาม ถ้ามิใช่ ก็อย่าเพิ่งถาม

สุวบัณฑิตตอบว่า กถานั้นเป็นมงคลกถา ที่รัก

ถ้าเช่นนั้นก็จงถามเถิด

ลำดับนั้นสุวบัณฑิตกล่าวว่า ถ้าเธออยากฟังเรื่องนั้น ฉันก็จักกล่าวแก่เธอ แล้วจึงถามว่า

มีเสียงเล่าลือกันไปทั่ว จนถึงรัฐอื่น ชนบทอื่นว่า พระเจ้าปัญจาลราชจักประทานพระราชธิดาผู้มีพระฉวีวรรณเสมอด้วยดาวประกายพรึกนั้นแก่พระเจ้าวิเทหราช

ฉันได้ฟังเสียงที่ลือกันไปอย่างนี้นั้น จึงคิดว่า พระราชธิดานี้ทรงพระรูปโฉมอันงาม และพระเจ้าวิเทหราชก็เป็นข้าศึกของพระเจ้าจุลนี พระราชาอื่นๆ ที่อยู่ในอำนาจของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตก็มีอยู่เป็นอันมาก เหตุไรพระเจ้าจุลนีจึงไม่ประทานแก่พระราชาเหล่านั้น กลับจะประทานพระราชธิดาแก่พระเจ้าวิเทหราชเสีย

นางนกสาลิกาได้ฟังคำของสุวบัณฑิตนั้นแล้ว จึงกล่าวอย่างนี้ว่า นาย เพราะเหตุไรท่านจึงกล่าวอวมงคลในวันมงคล

สุวโปดกจึงย้อนถามว่า ฉันกล่าวว่ามงคล เธอกล่าวว่าอวมงคล นี่อะไรกัน

นาย การทำมงคลเห็นปานนี้จงอย่าได้มีแก่ชนเหล่านั้นแม้เป็นอมิตร

สุวโปดกให้นางนกสาสิกาเล่ารายละเอียด

นางนกสาลิกาว่า ไม่กล้าพูด

สุวโปดกจึงว่า ที่รัก ถ้าเธอบอกความลับที่เธอรู้แก่ฉันไม่ได้ ก็จักไม่มีการร่วมอภิรมย์กันฉันสามีภรรยาอีกต่อไป

นางนกสาลิกาถูกสุวโปดกแค่นไค้นักก็กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง แล้วกล่าวว่า

เมื่อใดที่พระเจ้าวิเทหราชเสด็จมาพระนครนี้ เมื่อนั้นพระเจ้าจุลนีจักไม่ประทานพระราชธิดาแก่พระเจ้าวิเทหราชนั้นแม้เพื่อจะให้ทอดพระเนตร ได้ยินว่า พระเจ้าวิเทหราชนั้นมีบัณฑิตอยู่คนหนึ่งชื่อมโหสถบัณฑิต พระเจ้าจุลนีจักฆ่ามโหสถนั้นพร้อมกับพระเจ้าวิเทหราช พราหมณ์เกวัฏปรึกษากับพระเจ้าจุลนีว่า เราจักฆ่าคนทั้งสองนั้นเสียแล้วดื่มชัยบาน จึงไปกรุงมิถิลาเพื่อจับมโหสถนั้นมา.

นางนกสาลิกาบอกความลับแก่สุวบัณฑิตโดยไม่เหลือ ด้วยประการฉะนี้ สุวบัณฑิตได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงกล่าวชมเกวัฏว่า อาจารย์เกวัฏเป็นคนฉลาดในอุบาย การฆ่าพระเจ้าวิเทหราชเสียด้วยอุบายอย่างนี้น่าอัศจรรย์ แล้วกล่าวว่า ประโยชน์อะไรด้วยอวมงคลเช่นนี้แก่เรา นิ่งเสีย นอนกันเถิด

เมื่อภารกิจที่รับมอบหมายมาได้สำเร็จลงแล้ว นกสุวโปดกอยู่กับนางนกสาลิกานั้นในราตรีนั้น แล้วกล่าวว่าที่รัก ฉันจักไปแคว้นสีวี ทูลความที่ฉันได้ภรรยาที่ชอบใจ แด่พระเจ้าสีวีและพระเทวี แล้วกล่าวเพื่อให้นางนกสาลิกาอนุญาตให้ตนไปว่า

เอาเถิด เธอจงอนุญาตให้ฉันไปสัก ๗ ราตรีเพียงให้ฉันได้กราบทูลพระเจ้าสีวิราชและพระมเหสีว่าฉันได้อยู่ในสำนักของนางนกสาลิกาแล้ว.ในวันที่ ๘ จักกลับมาที่นี้ จักพาเธอไปด้วยบริวารใหญ่ เธออย่าได้กระวนกระวายจนกว่าฉันจะมา

นางนกสาลิกาได้ฟังดังนั้น ไม่ปรารถนาจะแยกกับสุวโปดกเลย แต่ไม่อาจจะปฏิเสธคำของเขาได้ จึงกล่าวว่า

เอาเถิด ฉันอนุญาตให้ท่านไปประมาณ ๗ ราตรี ถ้าท่านไม่กลับมาหาฉันภายใน ๗ ราตรี ฉันจะสำคัญตัวฉันว่าหยั่งลงแล้ว สงบแล้ว ท่านจักมาในเมื่อฉันตายแล้ว

ฝ่ายสุวบัณฑิตกล่าวด้วยวาจาว่า ที่รัก เธอพูดอะไร แม้ตัวฉันเองถ้าไม่ได้เห็นเธอในวันที่ ๘ ก็จะมีชีวิตอยู่ที่ไหนได้ แต่ใจคิดว่า เจ้าจะเป็นหรือตาย ก็ไม่มีประโยชน์อะไรแก่เรา แล้วก็บินขึ้นบ่ายหน้าไปสีวีรัฐ ไปได้หน่อยหนึ่งยังกลับมาสำนักของนางนกสาลิกานั้นอีก กล่าวว่า ที่รัก ฉันไม่เห็นรูปสิริของเธอ ไม่อาจจะทิ้งเธอไปได้ ฉะนั้น ฉันจึงกลับมา กล่าวฉะนี้แล้วบินขึ้นอีก ไปกรุงมิถิลา ลงจับที่จะงอยบ่ามโหสถบัณฑิต พระมหาสัตว์เห็นสัญญาณดังนั้นก็รู้ว่าสุวโปดกมีเรื่องลับจะมาบอกจึงอุ้มขึ้นไปบนปราสาทแล้วไต่ถาม สุวโปดกจึงแจ้งเรื่องนั้นทั้งหมดแก่มโหสถ ฝ่ายมโหสถก็ได้ให้สิ่งตอบแทนความชอบแก่สุวโปดกนั้นโดยนัยก่อนนั่นแล

พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นจึงดำริว่า เมื่อเราไม่อยากให้เสด็จ พระราชาก็จักเสด็จ แต่ถ้าเสด็จไปแล้วก็จักพบกับความพินาศอย่างใหญ่หลวง เรานั้นเมื่อพระราชาประทานยศเห็นปานนี้ ถ้าเราไม่ปกป้องพระองค์ ก็จะเกิดข้อครหาแก่เรา เพราะฉะนั้นเราจะล่วงหน้าไปก่อน เข้าเฝ้าพระเจ้าจุลนีแล้วสร้างนครให้เป็นที่ประทับของพระเจ้าวิเทหราช จัดแจงพระนครนั้นให้เป็นนครที่ดีแล้ว ให้ทำอุโมงค์เป็นทางเดินยาวราว ๑ คาวุต อุโมงค์ใหญ่ราวกึ่งโยชน์ แล้วอภิเษกพระนางปัญจาลจันทีราชธิดาของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ให้เป็นบาทบริจาริกาแห่งพระราชาของเรา และในเมื่อพระราชาร้อยเอ็ดพร้อมด้วยพลนิกาย ๑๘ อักโขภิณีแวดล้อมอยู่นั้นเอง เราก็จักปลดเปลื้องพระราชาของเราให้พ้นจากอัตรายไป ดุจเปลื้องดวงจันทร์จากปากอสุรินทรราหูฉะนั้น แล้วจักพาเสด็จสู่พระนครมิถิลา

ครั้นดำริดังนี้แล้ว ก็อาบน้ำแต่งตัวไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช ถวายบังคมแล้วยืน ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์จักเสด็จไปอุตตรปัญจาลนครหรือ

พระราชาตรัสตอบว่า เออ จะไป เมื่อเราไม่ได้นางปัญจาลจันที จะต้องการอะไรด้วยราชสมบัติ เจ้าอย่าทิ้งเรา จงไปกับเรา ประโยชน์ ๒ ประการ คือเราได้นารีรัตนะและราชไมตรีของพระเจ้าจุลนีกับเราจักตั้งมั่น จักสำเร็จเพราะเหตุเราทั้งสองไปในกรุงปัญจาละนั้น

ลำดับนั้นมโหสถเมื่อจะทูลว่า ถ้าอย่างนั้น ข้าพระองค์จักไปก่อน เพื่อสร้างพระราชนิเวศน์ถวาย พระองค์ควรเสด็จไปในเมื่อข้าพระองค์ส่งข่าวมากราบทูล

พระเจ้าวิเทหราชเมื่อได้ทรงสดับดังนั้น ก็ทั้งทรงร่าเริง ทั้งทรงโสมนัสด้วยเข้าพระหฤทัยว่า มโหสถไม่ทิ้งเราจึงดำรัสว่า แน่ะพ่อมโหสถ เมื่อพ่อไปก่อน พ่ออยากจะได้อะไรไปบ้าง

มโหสถกราบทูลตอบว่าต้องการพลและพาหนะไปด้วย

พระเจ้าวิเทหราชจึงตรัสว่า พ่อปรารถนาสิ่งใด จงเอาสิ่งนั้นไป

มโหสถจึงกราบทูลว่า ขอพระองค์โปรดให้เปิดเรือนจำ ๔ เรือน ให้ถอดเครื่องจำคือ โซ่ตรวนแห่งโจรทั้งหลายส่งไปกับข้าพระองค์

ครั้นพระราชทานพระราชานุญาตแล้ว มโหสถจึงให้เปิดเรือนจำ ให้พวกโจรที่กล้า เป็นทหารใหญ่ ผู้สามารถทำกิจการที่มอบหมายไปแล้วให้สำเร็จได้ แล้วกล่าวว่า เจ้าทั้งหลายจงช่วยเหลือเราแล้ว ให้สิ่งของแก่ชนเหล่านั้น แล้วพาเสนา ๑๘ เหล่าผู้ฉลาดในศิลปะต่าง ๆ มีช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างหนัง ช่างศิลา ช่างเขียน ช่างอิฐเป็นต้นไป ให้เอาเครื่องอุปกรณ์เป็นอันมาก มีมีด ขวาน จอบ เสียมเป็นต้นไปด้วย เป็นผู้มีกองพลใหญ่ ห้อมล้อมออกจากนครไป

ฝ่ายพระมหาสัตว์เมื่อเดินทางไปในนั้น ก็ให้สร้างหมู่บ้านหมู่หนึ่งในระยะทางโยชน์หนึ่งๆ แล้วกล่าวกะอำมาตย์คนหนึ่งๆ ว่า ท่านทั้งหลายจงเตรียมจัดช้างม้าและรถไว้ที่หมู่บ้านนี้ ในเวลาที่พระเจ้าวิเทหราชรับพระนางปัญจาลจันทีกลับมาแล้ว คอยป้องกันอย่าให้เหล่าศัตรูประทุษร้ายพระองค์ได้ แล้วรีบส่งเสด็จให้ถึงกรุงมิถิลาโดยเร็ว สั่งฉะนี้แล้ววางอำมาตย์คนหนึ่งๆ ไว้

ก็ครั้นมโหสถไปถึงฝั่งแม่น้ำ จึงเรียกอำมาตย์ชื่ออานันทกุมารมาสั่งว่า ดูก่อนอานันทะ ท่านจงพาช่างไม้ ๓๐๐ คนไปเหนือแม่น้ำ ให้สร้างเรือประมาณ ๓๐๐ ลำแล้วถากไม้ในที่นั้นนั่นแหละ บันทุกไม้เบาๆ ในเรือเอามาโดยพลัน เพื่อต้องการสร้างเมือง

มโหสถเองเมื่อสั่งอานันทกุมารแล้วก็ขึ้นเรือข้ามฟากไปฝั่งโน้น กำหนดนับทางด้วยเท้าก้าวไปนับแต่สถานที่ขึ้นจากเรือ ก็กำหนดวางแผนไว้ว่า ที่นี้กึ่งโยชน์ อุโมงค์ใหญ่จักมีในที่นี้ นครที่ตั้งพระราชนิเวศน์แห่งพระเจ้าวิเทหราชจักมีในที่นี้ นับแต่พระราชนิเวศน์นี้ อุโมงค์เป็นทางเดินจักมีในที่ราว ๑ คาวุตจนถึงพระราชมณเฑียร วางแผนไว้ฉะนี้แล้วเข้าไปสู่กรุงอุตตรปัญจาละ

พระเจ้าจุลนีทรงสดับว่ามโหสถมาถึงก็ทรงโสมนัสยิ่งว่า บัดนี้ความปรารถนาของเราจักสำเร็จ เราจักได้แก้แค้นเหล่าปัจจามิตร เมื่อมโหสถมา พระเจ้าวิเทหราชก็คงจักมาในไม่ช้า ทีนั้นเราจักฆ่าศัตรูทั้งสองเสีย เสวยราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้น

เมื่อมโหสถเข้าสู่กรุงอุตตรปัญจาละนั้น ทั่วทั้งเมืองก็เอิกเกริกโกลาหล ต่างก็มาดูด้วยได้ยินว่า ผู้นี้ชื่อมโหสถบัณฑิต ได้ยินว่าพระราชาร้อยเอ็ดพระนครได้ถูกมโหสถนี้ทำให้หนีไป ราวกะบุคคลไล่กาให้หนีไปด้วยก้อนดิน ในขณะที่ชาวเมืองดูชมรูปสมบัติของตนอยู่นั้นเอง พระมหาสัตว์ก็ไปสู่พระทวารแห่งพระราชวังของพระเจ้าจุลนี ให้เจ้าพนักงานกราบทูลพระเจ้าจุลนีให้ทรงทราบถึงการที่ตนได้มาถึงเพื่อขอเข้าเฝ้า ครั้นได้รับพระราชานุญาตให้เข้าเฝ้า จึงเข้าไปถวายบังคมพระราชายืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง

ลำดับนั้นพระเจ้าจุลนีทรงทำปฏิสันถารตรัสถามมโหสถว่า พระราชาของเจ้าจักเสด็จมาเมื่อไร

มโหสถทูลว่า จักเสด็จมาในกาลเมื่อข้าพระองค์ส่งข่าวไปทูล

พระเจ้าจุลนีตรัสถามว่า ก็ตัวเจ้ามาเพื่อประโยชน์อะไร

มโหสถทูลว่า มาเพื่อสร้างพระราชนิเวศน์แห่งพระราชา ของข้าพระองค์

พระเจ้าจุลนีตรัสว่า ดีแล้ว แต่นั้นก็โปรดให้พระราชทานเสบียงแก่เสนาของมโหสถ และพระราชทานเรือนที่อยู่และสิ่งของเป็นอันมากแก่มโหสถแล้วตรัสว่า แน่ะพ่อ เจ้าอย่าเดือดร้อน จงทำราชการที่ควรทำอยู่กับข้าจนกว่าพระราชาของเจ้าจะเสด็จมา

ได้ยินว่า ขณะที่มโหสถเข้าไปสู่พระราชนิเวศน์นั้น เมื่อยืนอยู่ที่เชิงบันไดของพระหมาปราสาทก็ได้กำหนดไว้ว่า ประตูอุโมงค์ที่จะใช้เป็นทางเดินจักต้องอยู่ตรงนี้ ความปริวิตกได้มีแก่มโหสถว่า เมื่อจะขุดอุโมงตรงนี้แล้วทำอย่างไรบันไดนี้จึงจะไม่ทรุดลงไป ครั้นเมื่อพระเจ้าจุลนีตรัสว่า เจ้าจงทำกิจที่ควรทำแก่พวกเราบ้าง ลำดับนั้น มโหสถเห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงกราบทูลพระเจ้าจุลนีอย่างนี้ว่า ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อข้าพระองค์เข้ามาเฝ้ายืนอยู่ที่เชิงบันได ตรวจดูนวกรรมในที่นี้ เห็นโทษที่บันไดใหญ่ ถ้าข้อความที่กราบทูลนี้ชอบด้วยพระราชดำริ ข้าพระองค์จะเอาไม้ทั้งหลายมาปูลาดลงให้เป็นที่พอใจ

พระเจ้าจุลนีทรงอนุญาต

มโหสถนั้นได้วางแผนไว้อย่างดีแล้วว่า ช่องประตูอุโมงค์จักสร้างในที่นี้ จึงให้นำบันไดออกเสีย ให้ปูลาดแผ่นกระดานเพื่อต้องการมิให้มีฝุ่นในที่ที่จะเป็นประตูอุโมงค์ แล้วทำบันไดไว้ตามเดิม มิให้ทรุดลงได้เมื่อขุดอุโมงค์

เมื่อพระราชาไม่ทรงทราบถึงเหตุที่มโหสถได้วางแผนไว้ก็เข้าพระหฤทัยว่า มโหสถทำด้วยความภักดีในพระองค์ มโหสถให้ทำนวกรรมตลอดวันนั้นอย่างนี้แล้ว รุ่งขึ้นจึงกราบทูลพระเจ้าจุลนีว่า ข้าแต่สมมติเทพถ้าข้าพระองค์พึงเลือกหาสถานที่ประทับแห่งพระราชาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์พึงปฏิบัติทำให้ชอบใจ

พระเจ้าจุลนีตรัสว่า ดีแล้วพ่อบัณฑิต ยกเสียแต่พระราชนิเวศน์ของข้า นอกนี้ในกรุงทั้งหมด เจ้าปรารถนาที่ใดเป็นพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าวิเทหราช เจ้าจงเอาที่นั้น

มโหสถกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พวกข้าพระองค์เป็นแขกมา ประชาชนคนของพระองค์ที่เป็นคนสนิทมีมาก คนเหล่านั้นครั้นเมื่อข้าพระองค์เอาเรือนของเขา ก็จักเกิดทะเลาะกับพวกข้าพระองค์ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จักทำอะไรกับพวกเหล่านั้นได้

พระเจ้าจุลนีตรัสว่า ดูก่อนบัณฑิต เจ้าอย่าถือเอาคำของพวกนั้น สถานที่ใดเจ้าชอบใจ เจ้าจงถือเอาสถานที่นั้นทีเดียว

มโหสถจึงกราบทูลต่อไปว่า ข้าแต่สมมติเทพ พวกนั้นจักมากราบทูลพระองค์บ่อย ๆ ความสำราญแห่งพระหฤทัยของพระองค์ และแห่งใจของข้าพระองค์จักไม่มี ก็ถ้าว่าพระองค์ทรงปรารถนา คนรักษาประตูควรเป็นคนของข้าพระองค์ จนกว่าข้าพระองค์จักหาสถานที่เป็นพระราชนิเวศน์แห่งพระราชาของข้าพระองค์ได้ แต่นั้นพวกนั้นเข้าประตูไม่ได้ก็จักไม่มา เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็จักทรงพระสำราญ และข้าพระองค์ก็จักสบายใจ

พระราชาจุลนีทรงอนุญาต พระมหาสัตว์ตั้งคนของตนไว้ในที่ทั้งปวงคือที่เชิงบันได หัวบันได และประตูใหญ่ สั่งว่าพวกเจ้าอย่าให้ใครๆ เข้าไป

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ไปสู่ตำหนักพระราชมารดาของพระเจ้าจุลนีก่อนแล้วสั่งคนทั้งหลายว่า เจ้าทั้งหลายจงจัดการรื้อตำหนัก คนใช้เหล่านั้นก็ปรารภเพื่อจะรื้ออิฐและขุดดินตั้งแต่ซุ้มประตู พระราชชนนีของพระเจ้าจุลนีได้สดับข่าวนั้น จึงเสด็จมารับสั่งว่า พวกเจ้าจะให้รื้อตำหนักของข้าเพื่ออะไร

ชนเหล่านั้นจึงทูลตอบว่า มโหสถให้รื้อ เพื่อให้สร้างพระราชนิเวศน์แห่งพระราชาของตน

พระราชชนนีจึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น อยู่ด้วยกันในตำหนักนี้ก็แล้วกัน

ชนเหล่านั้นทูลตอบว่า พลพาหนะของพระราชาแห่งพวกข้าพระองค์มีมาก ตำหนักนี้ย่อมไม่พอกันอยู่ ข้าพระองค์จักให้สร้างที่ประทับใหม่ให้ใหญ่

พระราชชนนีจึงรับสั่งว่า พวกเจ้าไม่รู้จักข้า ข้าเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าจุลนี ข้าจักไปหาลูกข้า จักรู้กันเดี๋ยวนี้

ชนเหล่านั้นจึงทูลว่า ข้าพระองค์จักรื้อตามพระราชดำรัส ถ้าพระองค์สามารถ ก็จงห้าม

พระนางสลากเทวีกริ้วรับสั่งว่า เดี๋ยวพวกเจ้าจักรู้กิจที่ข้าพึงทำแก่พวกเจ้า ตรัสแล้วเสด็จไปประตูพระราชนิเวศน์ ลำดับนั้นคนเฝ้าประตูก็ห้ามพระราชมารดาว่า แกอย่าเข้าไป

พระราชมารดาตรัสว่าข้าเป็นพระราชชนนี

ชนเหล่านั้นก็ทูลว่า พวกข้าพระองค์ไม่ทราบ พระเจ้าจุลนีตรัสสั่งไว้ว่า อย่าให้ใครๆ เข้าไป เพราะฉะนั้นพระองค์จงเสด็จกลับไปเสีย

พระนางสลากเทวีเมื่อไม่ทอดพระเนตรเห็นที่พึ่ง ก็เสด็จกลับมาทอดพระเนตรตำหนักของพระองค์ประทับยืนอยู่

ลำดับนั้น ชนผู้หนึ่งจึงทูลพระนางนั้นว่า แกทำอะไรในที่นี้ จงไปๆ ว่าแล้วลุกขึ้นไสพระศอให้ล้มลงยังพื้น

พระนางเจ้าทรงดำริว่า พวกนี้พระราชาลูกเราสั่งแล้วแน่ ใครไม่สามารถจะทำอย่างนี้ ด้วยประการอื่น เราจักไปหามโหสถ จึงเสด็จไปหามโหสถ ตรัสว่า แน่ะพ่อมโหสถ ท่านให้รื้อตำหนักข้าพเจ้าเพราะอะไร

มโหสถไม่พูดกับพระนางเจ้า แต่บุรุษผู้ยืนอยู่ในที่ใกล้ทูลว่า พระนางจะตรัสอะไรกะมโหสถ

พระนางเจ้าจึงรับสั่งว่า มโหสถให้รื้อตำหนักข้าพเจ้าเพื่ออะไร

บุรุษนั้นทูลว่า เพื่อทำที่ประทับแห่งพระเจ้าวิเทหราช

พระราชมารดารับสั่งว่าเมืองใหญ่ถึงเพียงนี้ ทำไมจะหาที่ทำพระราชนิเวศน์ในที่อื่นไม่ได้ เจ้าจงรับสินบนแสนกหาปณะนี้แล้วให้ทำพระราชนิเวศน์ในสถานที่อื่นเถิด

บุรุษนั้นทูลตอบว่า ดีแล้ว พระแม่เจ้า ข้าพระองค์จักให้ละเว้นตำหนักของพระนาง แต่พระนางอย่ารับสั่งการที่ข้าพระองค์รับสินบนแก่ใครๆ เพราะว่าชนเหล่าอื่น จะพากันให้สินบนแก่ข้าพระองค์เพราะไม่อยากจะถูกรื้อเรือนของตน

พระนางสลากเทวีรับสั่งตอบว่า การที่ข้าพูดให้ใครรู้นั้น เป็นที่น่าอายแก่ข้าว่า พระราชมารดาได้ให้สินบน ดังนี้ เพราะฉะนั้นข้าจักไม่บอกแก่ใคร



>>>>> มีต่อ หน้า ๑๘
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 16 พ.ย.2006, 11:32 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

บุรุษนั้นทูลรับว่า ดีแล้วแล้วรับเอากหาปณะ ๑ แสนจากพระนาง ก็ละจากตำหนักนั้นไปยังเรือนเกวัฏให้ทำเหมือนกับที่กระทำกับตำหนักพระนางสลากเทวีนั้น

เกวัฏโกรธไปสู่ราชทวาร เหล่าคนรักษาประตูก็ตีเอาที่หลังเกวัฏด้วยซีกไม้ไผ่ หนังที่หลังเกวัฏก็เป็นแนวขึ้น เกวัฏไม่เห็นจะพึ่งอะไรได้ก็กลับบ้านให้กหาปณะ ๑ แสนแก่บุรุษนั้น

มโหสถถือเอาสถานที่ตั้งเรือนในนครทั้งสิ้นด้วยอุบายนี้ รับสินบนได้กหาปณะในที่นั้นๆ ประมาณ ๙ โกฏิ พระโพธิสัตว์พิจารณาพระนครทั้งสิ้นแล้วไปเฝ้าพระเจ้าจุลนี พระราชาตรัสถามว่า เป็นอย่างไร พ่อบัณฑิต สถานที่ตั้งพระราชนิเวศน์เจ้าหาได้หรือยัง

มโหสถกราบทูลว่า คนที่กล้าจะไม่ให้ ย่อมไม่มี แต่ครั้นเมื่อข้าพระองค์จักถือเอาเรือนของผู้ใด ชนผู้เป็นเจ้าของก็ย่อมลำบาก การทำให้ชนเหล่านั้นต้องพลัดพรากจากของรัก ไม่สมควรแก่ข้าพระองค์ เพราะฉะนั้นข้าพระองค์จักสร้างพระนครให้เป็นสถานที่ประทับแห่งพระราชาของข้าพระองค์ ในที่โน้นระหว่างคงคากับพระนครนี้ ในที่ ๑ คาวุต (๔ กิโลเมตร) แต่ที่นี้ ภายนอกพระนครนี้

พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับก็ยินดี ด้วยทรงเห็นว่า การรบกันภายในเมืองเป็นการลำบาก เสนาฝ่ายเราหรือเสนาฝ่ายอื่นก็อาจรู้ยาก การทำยุทธนาการภายนอกเมืองเป็นการง่าย จักได้ไม่ต้องทุบตีกันตายในเมือง ทรงเห็นฉะนี้จึงตรัสว่า ดีแล้วพ่อ เจ้าจงให้สร้างในสถานที่ที่เจ้ากำหนดเถิด

มโหสถกราบทูลว่า ข้าพระองค์จักให้ทำในที่ ที่กราบทูลและขอพระราชทานอนุญาตแล้วนั้นชาวพระนครอย่าพึงไปสู่ที่ทำนวกรรมของข้าพระองค์ เพื่อหาฟืนและใบไม้เพราะว่าเมื่อชาวเมืองไป จักเกิดทะเลาะวิวาทกัน ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ ความสำราญพระราชหฤทัยจักไม่มีแด่พระองค์ และความสบายใจก็จักไม่มีแก่ข้าพระองค์

พระเจ้าจุลนีตรัสว่า ดีแล้ว พ่อบัณฑิต เจ้าจงห้ามไม่ให้ใครไปยังประเทศนั้น

มโหสถทูลต่อไปว่า ข้าแต่สมมติเทพ ช้างทั้งหลายของข้าพระองค์ชอบเล่นน้ำ เมื่อน้ำเกิดขุ่นมัวขึ้น ถ้าชาวเมืองจักขัดเคืองพวกข้าพระองค์ว่านับแต่มโหสถมา พวกเราไม่ได้ดื่มน้ำใส ขอพระองค์กรุณาอดกลั้นในเรื่องนี้ อย่ากริ้วพวกข้าพระองค์

พระเจ้าเจ้าจุลนีตรัสว่า ช้างทั้งหลายของพวกเจ้า พวกเจ้าจงปล่อยให้เล่นเถิด ตรัสฉะนี้แล้วให้ป่าวร้องว่า ผู้ใดออกจากที่นี้ไปสู่ที่สร้างพระนครของมโหสถ จักปรับไหมผู้นั้นพันกหาปณะ

มโหสถถวายบังคมลาพระเจ้าจุลนีพาพวกของตนออกจากพระนครเพื่อสร้างพระนครในสถานที่ที่กำหนดไว้ แล้วก็ให้สร้างบ้านชื่อคัคคลิริมฝั่งแม่น้ำฟากโน้น ให้ช้าง ม้า รถพาหนะ โคมีกำลังอยู่ในบ้านนั้น พิจารณาการสร้างพระนคร แบ่งการงานทั้งปวงว่า ชนเท่านี้ทำกิจนี้ เป็นต้น และได้เริ่มการงานในอุโมงค์ ประตูอุโมงค์ใหญ่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ

ชนทั้งหลายราว ๖,๐๐๐ คน ขุดอุโมงค์ใหญ่ นำกรวดทรายที่ขุดออกมานั้นทิ้งลงในแม่น้ำ น้ำนั้นก็ขุ่นมัวไหลไป ชาวเมืองก็พากันกล่าวว่า ตั้งแต่มโหสถมา พวกเราไม่ได้ดื่มน้ำใส คงคาขุ่นมัวไหลมา เป็นเพราะเหตุอย่างไรหนอ

ลำดับนั้น บุรุษที่มโหสถวางไว้ก็แจ้งแก่ชาวเมืองว่า ได้ยินว่า หมู่ช้างของมโหสถเล่นน้ำ ทำให้น้ำในคงคาขุ่นเป็นตม เพราะเหตุนั้น คงคาจึงขุ่นมัวไหลมา

ธรรมดาว่าความประสงค์ของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมสำเร็จ อุโมงค์ซึ่งเป็นทางเดินถูกขุดยาวจนเข้าไปอยู่ในเมืองนั้น ชนทั้งหลายราว ๓,๐๐๐ คนขุดอุโมงค์ซึ่งเป็นทางเดินโดยบรรจุกรวดทรายด้วยถุงหนังไปถมทิ้งในนครนั้น แล้วให้คลุกเคล้าดินและทรายกับน้ำก่อเป็นกำแพง และทำกิจอื่นๆ ด้วย ประตูทางเข้ามหาอุโมงค์มีอยู่ในเมือง ประกอบด้วยประตูเป็นคู่ สูง ๑๘ ศอก มีกลไกอยู่ เมื่อเหยียบกดสลักอันหนึ่งเข้า ประตูนั้นก็เปิดออก ทั้งสองข้างทางแห่งมหาอุโมงค์ให้ก่ออิฐแล้วฉาบปูน ปูไม้เป็นฝ้าบังเบื้องบนเอาดินเหนียวยาอุดช่องแล้วทาขาว

ในอุโมงค์นั้นมีประตูทั้งหมด คือประตูใหญ่ ๘๐ ประตูน้อย ๖๔ ทุกประตูประกอบด้วยกลไก ในเมื่อเหยียบกดไกสลักอันหนึ่งเข้า ประตูทั้งหมดก็ปิดพร้อมกัน ในเมื่อเหยียบกดไกสลักอีกอันหนึ่งเข้า ประตูทั้งหมดก็เปิดพร้อมกัน โคมดวงไฟมีมากกว่าร้อย มีตลอด ๒ ข้างของมหาอุโมงค์ โคมดวงไฟทั้งสิ้นประกอบด้วยกลไก เมื่อเปิดกลไกนั้นโคมทุกดวงก็เปิดสว่างพร้อมกันหมด ครั้นเมื่อปิดกลไกอีกอันหนึ่ง โคมทุกดวงก็ปิดมืดพร้อมกันหมด

ก็ห้องบรรทมร้อยเอ็ดห้องสำหรับพระราชาร้อยเอ็ด เรียงรายอยู่ ๒ ข้างแห่งมหาอุโมงค์ ทุกห้องทอดเครื่องลาดต่างๆ ไว้ในห้องบรรทม ตั้งที่ประทับนั่งแห่งหนึ่งๆ ยกเศวตฉัตรไว้ทุกแห่ง

รูปสตรีทำด้วยเส้นป่านรูปหนึ่งๆ งดงามยิ่ง ตั้งไว้อาศัยพระราชสีหาสน์และพระราชมหาสยนะองค์หนึ่งๆ ประดิษฐานไว้แล้ว ถ้าว่าบุคคลไม่จับต้องรูปนั้น ก็ไม่อาจรู้ว่าไม่ใช่รูปคน

อนึ่ง พวกช่างเขียนผู้ฉลาดได้ทำจิตรกรรมเขียนอย่างวิจิตรต่างๆ ทั้ง ๒ ข้างแห่งมหาอุโมงค์แสดงภาพทั้งปวงไว้ในอุโมงค์ แบ่งเขียนเป็นต้นว่าภาพสักกเทวราชเยื้องกรายมีหมู่เทวดาแวดล้อมและเขาสิเนรุ เขาบริภัณฑ์ สาคร มหาสาคร ทวีป ๔ ป่าหิมพานต์สระอโนดาต พื้นศิลา ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ สวรรค์ชั้นกามาพจรมีจาตุมหาราชิกาเป็นต้นและสมบัติ ๗ ประการ เกลี่ยกรวดทรายซึ่งมีสีดุจแผ่นเงินที่ภาคพื้น แสดงดอกปทุมห้อยตามช่องเบื้องบน แสดงร้านตลาดขายของมีประการต่างๆ ทั้ง ๒ ข้าง ห้อยพวงของหอมพวงบุปผชาติเป็นต้นในที่นั้นๆ ประดับอุโมงค์เป็นราวกะสุธรรมาเทพสภา

ฝ่ายช่าง ๓๐๐ คนที่มโหสถให้ไปทำเครื่องใช้สำหรับพระราชนิเวศน์และให้ต่อเรือบรรทุกมานั้น ก็ได้ต่อเรือ ๓๐๐ ลำ บรรทุกเครื่องใช้ที่ตกแต่งเสร็จแล้วมาทางน้ำ เมื่อมาถึงก็แจ้งแก่มโหสถ มโหสถจึงให้นำเครื่องใช้เหล่านั้นไปสำหรับใช้การในพระนคร แล้วให้นำเรือทั้งหลายไปรักษาไว้ในที่ปกปิด สั่งพวกนั้นไว้ว่า พวกเจ้าจงนำมาในวันที่เราสั่ง

การก่อสร้างทั้งปวงในพระนครที่แล้วเสร็จ คือคูน้ำ คูเปือกตม คูแห้ง กำแพงสูง ๑๘ ศอก ป้อมประตูเมือง ซุ้มประตูเมือง พระราชนิเวศน์เป็นต้น โรงช้างเป็นต้น และสระโบกขรณี มหาอุโมงค์ ชังฆอุโมงค์ พระนครทั้งหมดนี้แล้วเสร็จ ๔ เดือน ด้วยประการฉะนี้

ต่อนั้นล่วงมาได้ ๔ เดือน พระมหาสัตว์ได้ส่งทูตไปเพื่อเชิญเสด็จพระเจ้าวิเทหราชให้เสด็จมา

พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำของทูต ก็ทรงโสมนัส เสด็จไปด้วยราชบริพารเป็นอันมาก

พระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปโดยลำดับถึงฝั่งคงคา ลำดับนั้นพระมหาสัตว์ก็ไปรับเสด็จให้เข้าสู่นครที่ตนสร้าง พระราชาเสด็จไปสู่ปราสาทอันประเสริฐในนครนั้น สนานพระวรกายทรงแต่งพระองค์แล้ว เสวยโภชนาหารมีรสอันเลิศ ทรงพักผ่อนหน่อยหนึ่งแล้ว เวลาเย็นทรงสั่งราชทูตไปยังสำนักพระเจ้าจุลนี เพื่อให้ทรงทราบว่าพระองค์เสด็จมาถึงแล้ว

พระเจ้าวิเทหราชนั้นมีพระชนม์แก่กว่าพระเจ้าจุลนีมาก พระเจ้าจุลนีไม่พอที่จะเป็นแม้เพียงพระโอรสของพระเจ้าวิเทหราช แต่พระเจ้าวิเทหราชหมกมุ่นไปด้วยกิเลส จึงทรงดำริว่าพระเจ้าจุลนีเป็นพระสัสสุระที่เราผู้เป็นพระชามาตาควรถวายบังคม ไม่ทรงทราบความคิดของพระเจ้าจุลนี จึงทรงส่งสาสน์ถวายบังคมไปว่า พระองค์โปรดเรียกหม่อมฉันมาว่า จะประทานพระราชธิดา ขอได้โปรดประทานพระราชธิดานั้นแก่หม่อมฉันในบัดนี้เถิด

ฝ่ายพระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับถ้อยคำของราชทูตก็ทรงโสมนัส ดำริว่า บัดนี้ปัจจามิตรของเราจักไปไหนพ้น เราจักตัดศีรษะเขาทั้งสองคนแล้วดื่มชัยบาน จึงพระราชทานรางวัลแก่ราชทูตแล้ว ตรัสดุจพระเจ้าวิเทหราชนั้นเสด็จอยู่เฉพาะพระพักตร์ว่า

ดูก่อนพระเจ้าวิเทหราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว เสด็จมาแต่ไกลก็เหมือนใกล้ พระองค์หาฤกษ์อาวาห มงคลไว้ หม่อมฉันจะถวายพระราชธิดาประดับด้วย ราชาลังการล้วนแต่ทองคำ ห้อมล้อมด้วยหมู่นาง ข้าหลวงแด่พระองค์

ราชทูตได้ฟังดังนั้น จึงไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราชกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงหาฤกษ์ที่สมควรแก่การพระราชพิธีอาวาหมงคลพระเจ้าจุลนีจะถวายพระราชธิดาแด่พระองค์ พระเจ้าวิเทหราชจึงส่งราชทูตไปอีกว่า วันนี้แหละฤกษ์ดี

ฝ่ายพระเจ้าจุลนีตรัสลวงว่า จะส่งไปเดี๋ยวนี้ๆ ดังนี้ ได้ประทานสัญญาณแก่พระราชาทั้งร้อยเอ็ดพระนครว่า ท่านทั้งปวงกับเสนา ๑๘ อักโขภิณีจงเตรียมออกรบ วันนี้เราจักตัดศีรษะข้าศึกทั้งสอง พรุ่งนี้จักได้ดื่มชัยบาน

พระราชาทั้งร้อยเอ็ดพระนครเหล่านั้นทั้งหมดก็ออกไปพร้อมกันในขณะนั้นทีเดียว ฝ่ายพระเจ้ากรุงปัญจาละเมื่อจะเสด็จออกทำการยุทธ์ ก็ให้พระนางสลากเทวี ผู้พระราชมารดาพระนางนันทาเทวี ผู้พระมเหสี พระปัญจาลจันทะ ผู้ราชโอรส พระนางปัญจาลจันที ผู้พระราชธิดา รวม ๔ องค์ ให้อยู่รวมกันในตำหนักเดียวกันกับนางสนมทั้งหลาย แล้วจึงเสด็จออกสงคราม

ฝ่ายมโหสถบรมโพธิสัตว์ทำราชสักการะเป็นนักหนา แด่พระเจ้าวิเทหราชพร้อมพวกเสนาที่โดยเสด็จ ชนบางพวกดื่มสุรา บางพวกเคี้ยวกินมัจฉมังสาหาร บางพวกเหน็ดเหนื่อยก็นอน เพราะมาแต่ทางไกล ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชทรงพาอาจารย์ทั้ง ๔ มีเสนกะเป็นต้น ประทับนั่ง ณ พื้นพระราชมณเฑียรที่ตกแต่งแล้ว ท่ามกลางราชบริพาร

ฝ่ายพระเจ้าจุลนีก็ยกทัพมาล้อมนครที่พระเจ้าวิเทหราชประทับ ติดต่อกัน ๓ ชั้นด้วยกองทัพจำนวน ๑๘ อักโขภิณี มีคนจุดคบเพลิงนับด้วยแสนๆ คน ครั้นอรุณขึ้นก็เตรียมยึดเมืองตั้งอยู่

มโหสถรู้ความก็ส่งโยธา ๓๐๐ คนของตนไปสั่งว่า เจ้าทั้งหลายจงไปตามทางอุโมงค์จับราชมารดา มเหสี ราชบุตรและราชธิดาของพระเจ้าจุลนีมาทางอุโมงค์ แล้วควบคุมตัวไว้ในอุโมงค์จนกว่าข้าจะมา

ชนเหล่านั้นรับคำสั่งมโหสถแล้วก็ไปทางอุโมงค์ เปิดไม้ที่ลาดไว้ที่เชิงบันได แล้วมัดมือเท้ายามรักษาการณ์ที่เชิงบันได หัวบันไดและพื้นตำหนัก และนางบำเรอมีนางค่อมแคระเป็นต้น แล้วปิดปากชนเหล่านั้น แล้วเคี้ยวกินเครื่องเสวยที่จัดไว้ถวายพระเจ้าจุลนี ทิ้งของอะไรๆ เสีย ทำลายภาชนะทำให้ป่นปี้เสีย แล้วขึ้นสู่เบื้องบนปราสาท

กาลนั้นพระนางสลากเทวีบรรทมอยู่ ณ พระยี่ภู่เดียวกันกับพระนันทาเทวี ราชบุตรราชธิดา โยธาเหล่านั้นยืนร้องเรียกที่ประตูห้อง พระนางจึงออกมาตรัสถามว่า ทำไมพ่อ

โยธาเหล่านั้นจึงแสร้งทูลว่า ข้าแต่พระเทวี พระราชาของพวกเรายังพระเจ้าวิเทหราชกับมโหสถให้ถึงความสิ้นชีวิตแล้ว แวดล้อมด้วยพระราชาร้อยเอ็ดเป็นเอกราชในสกลชมพูทวีป ดื่มชัยบานใหญ่ด้วยพระเกียรติยศใหญ่ ส่งข้าพระองค์ทั้งหลายมาเพื่อพาเสด็จไปทั้ง ๔ พระองค์

พระราชมารดาเป็นต้นทรงเชื่อ จึงเสด็จลงจากปราสาทถึงเชิงบันได โยธาเหล่านั้นก็พาเสด็จไปเข้าทางอุโมงค์ พระราชมารดาตรัสว่า ข้าอยู่ในที่นี้มาจนบัดนี้ก็ยังไม่เคยลงสู่ทางนี้เลย

โยธาเหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่พระเทวีเจ้า ชนทั้งปวงหาได้ลงสู่ทางนี้ไม่ เพราะทางนี้เป็นทางมงคล วันนี้พระราชาตรัสสั่งให้นำเสด็จโดยทางนี้ เพราะเป็นวันมงคล

พระราชมารดาเป็นต้นทรงเชื่อ ลำดับนั้น โยธาบางพวกก็เป็นผู้พาพระราชมารดาและพระประยูรญาติมาบ้าง บางพวกก็กลับไปเปิดคลังรัตนะในพระราชนิเวศน์ ถือเอาทรัพย์ตามปรารถนามาบ้าง

ฝ่ายพระราชมารดาเมื่อมาถึงมหาอุโมงค์ เห็นภายในอุโมงค์ตกแต่งไว้งดงามราวกะเทพสภา ก็ทรงสำคัญว่า ตกแต่งไว้เพื่อพระราชา ลำดับนั้น โยธาเหล่านั้นพาพระราชมารดาไปสู่สถานที่ใกล้แม่น้ำใหญ่ให้ประทับในห้องอันตกแต่งแล้วภายในอุโมงค์ พวกหนึ่งอยู่รักษา พวกหนึ่งไปแจ้งการที่ได้นำพระราชมารดามาแล้วนั้นแก่มโหสถโพธิสัตว์

มโหสถได้ฟังคำของโยธาเหล่านั้นก็มีความโสมนัสว่า บัดนี้ความปรารถนาของเราจักถึงที่สุด จึงไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชทรงดำริว่า พระเจ้าจุลนีจักนำพระราชธิดามาให้เราบัดนี้ ก็เสด็จลุกจากราชบัลลังก์ ทอดพระเนตรทางช่องพระแกลเห็นกองทัพใหญ่ล้อมรอบพระนครมีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน ด้วยคบเพลิงนับด้วยแสนดวง แล้ว ก็ทรงฉงนสนเท่ห์รำพึงว่า นั่นอะไรกันหนอ จึงตรัสถามอาจารย์ผู้บัณฑิตทั้งหลาย

อาจารย์เสนกะได้ฟังตรัสถามจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้าขอพระองค์อย่าทรงวิตกเลย คบเพลิงมากเหลือเกินปรากฏอยู่ ชะรอยพระเจ้าจุลนีจะพาพระราชธิดามาถวายพระองค์

ฝ่ายอาจารย์ปุกกุสะกราบทูลว่า พระเจ้าจุลนีจักทรงอารักขาเพื่อทรงทำอาคันตุกสักการะแด่พระองค์

บัณฑิตทั้งสี่เหล่านั้นชอบใจอย่างใดก็กราบทูลอย่างนั้น ด้วยประการฉะนี้

ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชเมื่อได้ทรงสดับเสียงคนในกองทัพบอกสั่งกันว่า เสนาทั้งหลายจงตั้งอยู่ในที่โน้นท่านทั้งหลายจงรักษาในที่โน้น อย่าประมาท และทอดพระเนตรเห็นเสนาผูกสอดเกราะ ก็หวั่นพระราชหฤทัย จึงตรัสถามพระมหาสัตว์ว่า พ่อบัณฑิต เจ้าคิดอย่างไรหนอ เสนาเหล่านี้จักกระทำอะไรแก่พวกเรา

พระมหาสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสดังนั้น จึงคิดในใจว่า เราจักทำพระราชาผู้อันธพาลนี้ให้สะดุ้งสักหน่อย ภายหลังจึงแสดงกำลังปัญญาของเราให้ปรากฏ ทำให้พระองค์เบาพระหฤทัย คิดฉะนี้แล้ว จึงกราบทูลว่า

ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตมีกำลังมาก ล้อมพระองค์ไว้เพื่อจักประทุษร้ายพระองค์ รุ่งเช้า จักปลงพระชนม์พระองค์

คนเหล่านั้นทั้งหมดมีพระเจ้าวิเทหราชเป็นต้นก็ตกใจกลัวตาย พระราชาพระศอแห้ง พระเขฬะไม่มีในพระโอฐ เกิดเร่าร้อนในพระสรีระ พระองค์ทรงกลัวต่อมรณภัย คร่ำครวญอยู่

พระมหาสัตว์ได้ฟังพระเจ้าวิเทหราชทรงคร่ำครวญ คิดว่า พระราชานี้เป็นอันธพาล ไม่ทำตามคำของเราในวันก่อนๆ เราจักข่มพระองค์ให้ยิ่งขึ้นจึงทูลว่า

ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์เป็นผู้ประมาทเพราะความใคร่ เป็นผู้ไม่สนพระทัยความคิดของข้าพระองค์ที่เห็นภัยในอนาคตแล้วคิดป้องกันภัยนั้นด้วยปัญญา

พระองค์ทรงมีความคิดเห็นเช่นเดียวกับอาจารย์ ๔ คน มีอาจารย์เสนกะเป็นต้น อาจารย์เหล่านี้ก็จงรักษาพระองค์ในบัดนี้เถิด ข้าพระองค์เห็นความสามารถของอาจารย์เหล่านั้น

มฤคมาด้วยความโลภเหยื่อติดอยู่ในบ่วงหลุม ฉันใด พระองค์ไม่ทรงเชื่อคำของข้าพระองค์ เสด็จมาด้วยความโลภว่าจักได้พระราชธิดาปัญจาลจันที บัดนี้จึงทรงเป็นเหมือนมฤคที่ติดในบ่วงหลุม ฉันนั้น.อุปมานี้ข้าพระองค์แสดงมาแล้วในครั้งก่อน

บุรุษผู้ไร้ความละอาย มีชาติของคนชั่วเช่นพราหมณ์เกวัฏ พระองค์ไม่ควรทำมิตรธรรมกับคนเช่นนั้น แต่พระองค์ทรงมีเมตตาพราหมณ์เกวัฏ เชื่อถือคำของเขา ขึ้นชื่อว่าการสมาคมกับคนเห็นปานนี้ ทำครั้งเดียว ก็เป็นทุกข์ เพราะนำทุกข์ใหญ่มาทั้งในโลกนี้ทั้งในโลกหน้า

ลำดับนั้น มโหสถข่มพระเจ้าวิเทหราชยิ่งขึ้น ด้วยหวังว่าพระองค์จักไม่ทรงทำอย่างนี้อีก เมื่อจะนำพระดำรัสที่ตรัสไว้ในกาลก่อนมาแสดง จึงทูลว่า

ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระองค์เป็นบุตรคฤหบดี จักรู้จักความเจริญเหมือนคนอื่นๆ เช่น เสนกะเป็นต้น ผู้เป็นบัณฑิตของพระองค์ซึ่งรู้ความเจริญฉะนั้น ได้อย่างไร คนเหล่านั้นเป็นบัณฑิต วันนี้พระองค์ถูกกองทัพ ๑๘ อักโขภิณีล้อมไว้ คนทั้งหลายมีเสนกะเป็นต้น จงเป็นที่พึ่งของพระองค์เถิด ก็พระองค์รับสั่งให้ไสคอข้าพระองค์ฉุดออกไปเสีย บัดนี้ พระองค์ตรัสถามข้าพระองค์ทำไม

พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับดังนั้น ทรงดำริว่ามโหสถบัณฑิตกล่าวโทษที่เราทำไว้เท่านั้น เพราะเขารู้ภัยในอนาคตนี้มาก่อนนั่นเอง เพราะเหตุนั้น เขาจึงกล่าวข่มเราเหลือเกิน แต่เขาก็ไม่ได้ละเลยสิ่งที่ควรทำเลย มโหสถนี้จักทำความสวัสดีแก่เราแน่แท้ ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราชเมื่อจะยึดมโหสถเป็นที่พำนัก จึงตรัสคาถา ๒ คาถาว่า

บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ถือเอาโทษที่ล่วงไปแล้วมาทิ่มแทงกันด้วยปาก เจ้าทิ่มแทงเรา ราวกะม้าที่เขาผูกไว้อย่างดี เพราะถูกเสนาข้าศึกล้อมไว้ทำไม เจ้าจงสั่งสอนเรา คือจงให้เราสบายใจ ด้วยความสวัสดีนั้นว่า พระองค์จักพ้นภัยด้วยอาการอย่างนี้พระองค์จักปลอดภัยด้วยอาการอย่างนี้ ด้วยว่า เว้นเจ้าเสียแล้ว คนอื่นเป็นที่พึ่งอาศัยของเราไม่มี

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ดำริว่า พระราชาองค์นี้เป็นอันธพาลเหลือเกินไม่รู้จักบุรุษวิเศษ เราจักให้พระองค์ลำบากเสียหน่อยหนึ่งแล้วจักเป็นที่พึ่งของพระองค์ภายหลัง ดำริฉะนี้แล้ว ทูลว่า



>>>>> มีต่อ หน้า ๑๙
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 16 พ.ย.2006, 11:37 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ข้าแต่บรมกษัตริย์ การปลดเปลื้องพระองค์จากภัยนี้ทำได้ยาก ข้าพระองค์ไม่สามารถจะทำได้ ขอพระองค์ทรงทราบเถิด ก็เหล่าช้าง ม้า นก ยักษ์ หรือผู้มีฤทธิ์ มียศ ที่จะสามารถช่วยเหลือพระองค์ให้หนีไปได้ทางอากาศพระองค์มีอยู่ พวกเหล่านั้น ก็พึงพาพระองค์ไปได้ ข้าแต่บรมกษัตริย์ การปลดเปลื้องพระองค์จากภัยนี้ทำได้ยาก ข้าพระองค์เองไม่สามารถจะปลดเปลื้องพระองค์ให้หนีไปโดยทางอากาศได้

พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับคำของมโหสถดังนั้นก็จำนนประทับนั่งอยู่ลำดับนั้น อาจารย์เสนกะคิดว่าบัดนี้ ยกมโหสถบัณฑิตเสีย ที่พึ่งอื่นของพระราชาและของพวกเราไม่มี ก็พระราชาทรงฟังคำของมโหสถ ทรงครั่นคร้ามต่อมรณภัย ไม่ทรงสามารถจะตรัสอะไรๆ ได้ เราจักอ้อนวอนมโหสถบัณฑิตให้ช่วย จึงกล่าวว่า

บุรุษผู้เรือแตกกลางทะเล ไม่เห็นฝั่งในมหาสมุทร เมื่อถูกกำลังคลื่นซัดลอยไปแล้วได้ที่พึ่งในประเทศใด เขาย่อมได้ความสุขในประเทศนั้น ฉันใด

ท่านมโหสถขอท่านได้เป็นที่พึ่งของพวกเรา และของพระราชา ฉันนั้น ท่านเป็นผู้ประเสริฐสุดกว่าพวกข้าพเจ้าเหล่ามนตรี ขอท่านช่วยปลดเปลื้องพวกเราจากทุกข์เถิด

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะข่มอาจารย์เสนกะจึงได้กล่าวว่า

ท่านอาจารย์เสนกะ ข้าพเจ้าไม่มีความสามารถ ท่านจงนำพระราชานี้สู่กรุงมิถิลาทางอากาศเถิด

พระเจ้าวิเทหราชเมื่อไม่ทรงเห็นเครื่องยึดถือที่จะพึงทรงยึดถือ ทรงครั่นคร้ามต่อมรณภัย ไม่สามารถจะตรัสอะไรๆ กับพระมหาสัตว์ได้ ทรงดำริว่า บางคราวแม้เสนกะก็รู้อุบายอะไรๆ เราจะถามเขาดูก่อน จึงตรัสถามว่า

ท่านเห็นว่าเราควรจะทำอย่างไรในเวลานี้ พวกเราถูกมโหสถละทิ้งแล้ว ถ้าท่านรู้ ก็จงบอกแก่เรา

อาจารย์เสนกะได้ฟังดังนั้น คิดว่า พระราชาตรัสถามอุบายกะเรา เราจักกล่าวอุบายอย่างหนึ่งแด่พระองค์ แต่อุบายนั้นจะงามหรือไม่งาม จงยกไว้ คิดฉะนี้แล้วกล่าวว่า

พวกเราจงปิดประตูก่อไฟเผาปราสาทเสีย แล้วจงจับศัสตราห้ำหั่นกันและกัให้ตายเสียโดยพลัน อย่าทันให้พระราชาพรหมทัตฆ่าพวกเราให้ลำบากนาน ปราสาทที่ตกแต่งแล้วนั่นแลจักเป็นจิตกาธารของพวกเรา

พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังดังนั้นก็เสียพระหฤทัยจึงตรัสว่า ท่านอาจารย์เสนกะจงทำจิตกาธารเห็นปานนั้นแก่บุตรภรรยาของตนเถิด แล้วตรัสถามปุกกุสะเป็นต้น พวกนั้นก็กราบทูลด้วยถ้อยคำแสดงความเขลาตามสมควรแก่ตน คือ

ปุกกุสะกราบทูลว่าพวกเราควรกินยาพิษตายละชีวิตเสียพลัน อย่าทันให้พระราชาพรหมทัตฆ่าพวกเราให้ลำบากนาน

กามินทะกราบทูลว่าพวกเราพึงเอาเชือกผูกให้ตาย หรือโดดลงบ่อให้ตายเสีย อย่าทันให้พระราชาพรหมทัตฆ่าพวกเราให้ลำบากนาน

ลำดับนั้น อาจารย์เทวินทะคิดว่า พระราชานี้ทำไมมาตรัสถามพวกเรา ในเมื่อไฟมีอยู่ มาทรงเป่าหิ่งห้อยจะได้ประโยชน์อันใด นอกจากมโหสถบัณฑิตแล้ว ไม่มีใครที่จะสามารช่วยเหลือพวกเราได้ในบัดนี้ พระองค์ไม่ตรัสถามมโหสถ มาตรัสถามพวกเรา พวกเราจะรู้อะไร คิดฉะนี้แล้ว เมื่อไม่เห็นอุบายอื่น จึงกราบทูลพระราชาว่า

พวกเราทั้งหมดจะวิงวอนมโหสถนั่นแหละก็ถ้าว่าแม้เมื่อวิงวอนแล้ว มโหสถก็ไม่สามารถจะปลดเปลื้องช่วยเหลือพวกเราได้ พวกเราจักทำตามคำเสนกะคือ.เอาไฟเผาปราสาท แล้วจับมีดฆ่ากันและกันละชีวิตเสียพลัน ดังนี้

พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำของเทวินทะดังนั้น ก็ทรงระลึกถึงโทษที่พระองค์ได้ทำแก่พระโพธิสัตว์ในกาลก่อน แต่ก็ไม่ทรงสามารถจะตรัสกับมโหสถ จึงทรงคร่ำครวญเสียงดังจนมโหสถได้ยินถนัด แล้วตรัสว่า

บุคคลแสวงหาแก่นของต้นกล้วย ย่อมไม่ได้ ฉันใด เราทั้งหลายแม้แสวงหาอุบายเครื่องพ้นทุกข์นี้ ถามบัณฑิต ๕ คน ก็ไม่ประสบปัญหานั้นฉันนั้น

การอยู่ของช้างทั้งหลายในสถานที่ไม่มีน้ำ ชื่อว่ามิได้อยู่ในถิ่นที่สมควร เพราะว่าช้างเหล่านั้น ย่อมตกอยู่ในอำนาจของศัตรูโดยเร็วพลัน ฉันใด การที่เราทั้งหลายอยู่ในที่ใกล้ของมนุษย์ชั่ว เป็นคนพาลหาความรู้มิได้ ก็ชื่อว่าอยู่ในในถิ่นที่ไม่สมควร ฉันนั้น. ก็บรรดาบัณฑิตที่เรามีอยู่เท่านี้ แม้คนหนึ่งซึ่งจะเป็นที่พึ่งอาศัยของเราในบัดนี้ก็ไม่มี พระเจ้าวิเทหราชทรงบ่นเพ้อไปต่างๆ ด้วยประการฉะนี้

มโหสถบัณฑิตได้สดับดังนั้น คิดว่า พระราชาพระองค์นี้ทรงลำบากเหลือเกิน ถ้าเราไม่เล้าโลมพระองค์ให้สบายพระหฤทัย พระองค์จักมีพระหฤทัยแตกสิ้นพระชนมชีพ จึงได้กราบทูลปลอบประโลมว่า

ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์อย่าตกพระหฤทัยกลัวเลย ข้าพระองค์จักทำกองทัพปัญจาละให้หนีไป ดุจไล่ฝูงกาด้วยก้อนดิน ถ้าข้าพระองค์มิได้ป้องกันพระองค์ผู้อยู่ในที่คับขันให้พ้นจากทุกข์ได้แล้วไซร้ ชื่อว่าปัญญาของข้าพระองค์นั้นจะมีประโยชน์อะไร หรือบุคคลเช่นข้าพระองค์นั้นเป็นอำมาตย์จะมีประโยชน์อะไร

ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำของมโหสถ ก็กลับได้ความอุ่นพระหฤทัยว่า บัดนี้เราได้ชีวิตแล้ว เมื่อพระโพธิสัตว์บันลือสีหนาท ชนทั้งปวงเหล่านั้นก็พากันยินดี

ลำดับนั้น เสนกะถามพระโพธิสัตว์ว่า ท่านบัณฑิต ท่านเมื่อพาพวกเราทั้งหมดไป จักไปได้ด้วยอุบายอย่างไร

มโหสถแจ้งว่าข้าพเจ้าจักนำไปทางอุโมงค์ซึ่งตกแต่งไว้ พวกท่านจงเตรียมไปเถิด แล้วจึงสั่งโยธาให้เปิดประตูอุโมงค์ เปิดประตูห้องนอนร้อยเอ็ดห้อง เปิดประตู เปิดโคมดวงประทีปร้อยเอ็ดโคม

คนใช้ของมโหสถเหล่านั้นลุกไปทำตามที่มโหสถสั่ง บัดนั้นอุโมงค์ทั้งสิ้นก็มีแสงสว่างทั่วไป สว่างไสวประหนึ่งเทวสภาที่ได้ประดับแล้ว

พวกนั้นเปิดประตูอุโมงค์แล้วแจ้งให้มโหสถทราบ มโหสถก็กราบทูลนัดพระราชาว่า ได้เวลาแล้วพระเจ้าข้า ขอเชิญเสด็จลงจากปราสาท พระราชาก็เสด็จลง เสนกะเปลื้องเครื่องพันศีรษะแล้วผลัดผ้าหยักรั้ง

ลำดับนั้น มโหสถเห็นกิริยาแห่งเสนกะ จึงถามว่า นั่นท่านอาจารย์ทำอะไร

เสนกะตอบว่าแน่ะบัณฑิต ธรรมดาทั้งหลายไปโดยอุโมงค์ ต้องเปลื้องผ้าโพกหยักรั้งไป

มโหสถจึงแจ้งว่า แน่ะอาจารย์เสนกะ ท่านอย่าสำคัญว่า คนเข้าอุโมงค์ต้องก้มคุกเข่าเข้าไป ถ้าท่านใคร่จะไปด้วยช้างจงขึ้นช้างไป ถ้าท่านใคร่จะไปด้วยม้าจงขึ้นม้าไป เพราะประตูอุโมงค์สูง ๑๘ ศอก ท่านจงประดับตกแต่งตัวตามชอบใจ แล้วไปก่อนพระราชา

ฝ่ายพระโพธิสัตว์จัดให้เสนกะไปก่อน ให้พระราชาเสด็จไปท่ามกลาง ตนเองไปภายหลัง เหตุไรมโหสถจึงจัดอย่างนี้ เพราะพระเจ้าวิเทหราชจะได้ทอดพระเนตรอุโมงค์อันตกแต่งแล้วค่อยๆ เสด็จไป ข้าวต้มข้าวสวยของเคี้ยวเป็นต้นอันมีประมาณไม่ได้ มีไว้เพื่อมหาชนในอุโมงค์ คนเหล่านั้นเคี้ยวดื่มพลางแลชมอุโมงค์ไป ฝ่ายพระมหาสัตว์ทูลเตือนพระเจ้าวิเทหราชว่า เชิญเสด็จไป เชิญเสด็จไป พระเจ้าข้า ตามเสด็จไปเบื้องหลัง พระเจ้าวิเทหราชทอดพระเนตรอุโมงค์ซึ่งเป็นดังเทวสภาอันตกแต่ง แล้วพลางเสด็จไป

คนหนุ่มผู้รับใช้ของมโหสถเหล่านั้นรู้ว่า พระเจ้าวิเทหราชเสด็จมา จึงนำพระนางสลากเทวีพระราชมารดาพระเจ้าจุลนี พระนางนันทาเทวีมเหสีพระเจ้าจุลนี และพระปัญจาลจันทราชกุมาร พระนางปัญจาลจันทีราชกุมารีผู้เป็นราชโอรสราชธิดาของพระเจ้าจุลนี ออกจากอุโมงค์ให้ประทับอยู่ ณ พลับพลากว้างใหญ่

ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชเสด็จออกจากอุโมงค์กับมโหสถ กษัตริย์ทั้ง ๔ คือ พระนางสลากเทวี พระนางนันทาเทวี ปัญจาลจันทกุมารปัญจาลจันทีกุมารี ได้ทอดทัศนาการเห็นพระเจ้าวิเทหราชกับมโหสถก็ทราบว่าพวกเราตกอยู่ในเงื้อมมือศัตรูโดยไม่สงสัย เหล่าคนของมโหสถจับพวกเรามา ก็เกิดครั่นคร้ามต่อมรณภัย ทั้งกลัว ทั้งสะดุ้งส่งเสียงร้องอึง

ได้ยินว่า พระเจ้าจุลนีเสด็จไปคุมพลอยู่ ณ สถานที่ ๑ คาวุต (๔ กิโลเมตร) ใกล้ฝั่งคงคา ด้วยทรงเกรงพระเจ้าวิเทหราชจะหนี ในราตรีอันเงียบสงัดนั้น พระเจ้าจุลนีทรงได้ยินเสียงร้องของพระราชมารดา พระเทวี และพระราชโอรส พระราชธิดาทั้ง ๔ ก็เกือบจะออกพระโอษบ์ว่า นั่นเป็นเสียงนางนันทาเทวี แต่ก็หาได้ตรัสอย่างไรไม่ ด้วยทรงเกรงข้าราชบริพารจะเย้ยหยัน

พระมหาสัตว์เชิญให้พระนางปัญจาลจันทีราชกุมารีประทับบนกองรัตนะแล้วอภิเษกในที่นั้น แล้วกราบทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า พระองค์เสด็จมาเพราะเหตุการณ์นี้ พระราชกุมารีนี้จงเป็นมเหสีของพระองค์ เรือ ๓๐๐ ลำได้เทียบอยู่แล้ว พระเจ้าวิเทหราชเสด็จลงจากพลับพลากว้างขึ้นสู่เรืออันตกแต่งแล้ว แม้กษัตริย์ทั้ง ๔ ก็ขึ้นสู่เรือ

ได้ยินว่า มโหสถนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ต่อไปในภายภาคหน้า พระเจ้าวิเทหราชอาจกริ้วแล้วฆ่าพระชนนีของพระเจ้าจุลนีเสีย หรือเอาพระนางนันทาเทวีผู้มีพระรูปงดงามมาเป็นพระมเหษี หรือฆ่าพระราชกุมารเสียก็ได้ จำเราจักถือปฏิญญาของพระเจ้าวิเทหราชไว้ เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวถวายอนุศาสน์พระราชาดังนี้

พระปัญจาลจันทกุมารนี้เป็นพระโอรสของพระเจ้าจุลนีผู้เป็นพระสัสสุระของพระองค์ เป็นพระกนิษฐภาดาของพระนางปัญจาลจันที บัดนี้พระเจ้าจุลนีเป็นพระสัสสุระ (พ่อตา) ของพระองค์แล้ว พระมารดาของพระนางปัญจาลจันทีนี้ พระนามว่านันทาเทวี เป็นพระสัสสู (แม่ยาย) ของพระองค์

บุตรย่อมกระทำวัตรปฏิบัติแก่มารดา ฉันใด พระองค์จงมีการกระทำวัตรปฏิบัติแก่พระนางนันทาเทวี ฉันนั้น ยังมาตุสัญญาซึ่งมีกำลังกว่าให้ปรากฏ อย่าทรงแลดูพระนางนันทาเทวีด้วยโลภจิตไม่ว่าในกาลไรๆ

ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงรักใคร่พระเชษฐภาดาร่วมพระอุทรพระมารดาเดียวกันโดยตรงของพระองค์อย่างใด พระองค์ควรทรงรักใคร่พระปัญจาลจันทราชกุมารอย่างนั้น

พระนางปัญจาลจันทีนี้จักเป็นมเหสีของพระองค์ พระองค์อย่าทรงดูหมิ่นพระนางนี้ มโหสถบัณฑิตได้ถือปฏิญญาของพระเจ้าวิเทหราชอย่างนี้

พระเจ้าวิเทหราชทรงรับคำว่า ดีแล้ว

มโหสถมิได้กล่าวอะไรๆ ถึงพระราชชนนีพระเจ้าจุลนี เพราะเห็นว่าพระราชชนนีนั้นทรงพระชราแล้ว พระโพธิสัตว์ยืนกล่าวเรื่องทั้งปวงอยู่ริมฝั่งคงคา

ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราชเป็นผู้ใคร่จะรีบเสด็จไปด้วยความอยากจะพ้นจากมหนันตภัยจึงตรัสกะมโหสถว่า ดูก่อนมโหสถ เจ้าจงรีบขึ้นเรือ เจ้าจะยืนอยู่ริมฝั่งคงคาทำไมหนอ เราทั้งหลายพ้นจากทุกข์แล้ว จงไปบัดนี้เถิด

พระมหาสัตว์ได้ฟังรับสั่งจึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ การโดยเสด็จด้วยพระองค์ยังไม่ควรแก่ข้าพระองค์ ข้าแต่พระมหาราชเจ้า การที่ข้าพระองค์ผู้เป็นนายกแห่งเสนา มาทอดทิ้งเสนางคนิกรเสีย เอาแต่ตัวรอด หาชอบไม่ ข้าพระองค์จักนำมาซึ่งเสนางคนิกรในกรุงมิถิลาที่พระองค์ละไว้ และสิ่งของที่พระเจ้าพรหมทัตประทานแล้ว

มโหสถกล่าวดังนี้แล้วกราบทูลว่า ก็เมื่อเหล่าชนมาแต่ทางไกลบางพวกเคี้ยวกิน บางพวกดื่ม บางพวกเหน็ดเหนื่อยก็นอนหลับ ไม่รู้การที่พวกเราออกจากอุโมงค์แล้ว บางพวกเจ็บป่วย ทำงานมากับข้าพระองค์ตลอด ๔ เดือน เป็นคนมีอุปการะแก่ข้าพระองค์ ก็บรรดาชนเหล่านั้นมีมาก ข้าพระองค์ไม่อาจจะทิ้งแม้คนหนึ่งไป แต่ข้าพระองค์จักกลับนำมาซึ่งเสนาทั้งปวงของพระองค์ และทรัพย์ที่พระเจ้าจุลนีประทานมิให้เหลือไว้ ขอพระองค์อย่าเฉื่อยช้าในที่ไหน รีบเสด็จไปโดยช้างม้าพาหนะเป็นต้น ที่ข้าพระองค์วางไว้เป็นระยะตามรายทางเข้าสู่กรุงมิถิลาเสียโดยเร็วพลัน

ลำดับนั้น พระราชาได้ตรัสกับมโหสถบัณฑิตว่า

ดูก่อนบัณฑิต เจ้าเป็นผู้มีเสนาน้อย จักข่ม พระเจ้าจุลนีผู้มีเสนามากตั้งอยู่อย่างไร เจ้าเป็นผู้ไม่มี กำลัง จักลำบากด้วยพระเจ้าจุลนีผู้มีกำลัง

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์กล่าวทูลพระราชาว่า

ถ้าบุคคลมีความคิด แม้มีเสนาน้อย ย่อมชนะบุคคลผู้ไม่มีความคิดที่มีเสนามากได้ พระราชาผู้มีปัญญาพระองค์ เดียวย่อมชนะพระราชาทั้งหลายที่มีปัญญาทรามได้ ดุจดวงอาทิตย์อุทัยกำจัดความมืด ฉะนั้น

ก็แลครั้นทูลดังนี้แล้ว พระมหาสัตว์ถวายบังคมพระเจ้าวิเทหราชกราบทูลว่า เชิญพระองค์เสด็จไปเถิด แล้วส่งเสด็จ พระเจ้าวิเทหราชทรงนึกถึงคุณของพระโพธิสัตว์ว่า เราพ้นจากเงื้อมมือข้าศึกแล้วหนอ และความประสงค์ของเราก็ถึงที่สุดแล้ว เพราะได้นางปัญจาลจันทีราชธิดาพระเจ้าพรหมทัตแล้ว ก็บังเกิดพระปีติปราโมทย์ จึงตรัสแก่เสนกะสรรเสริญคุณของมโหสถว่า

แน่ะอาจารย์เสนกะ เพราะมโหสถปลดเปลื้องพวกเราที่ตกอยู่ในเงื้อมมือข้าศึก ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า การอยู่ร่วมด้วยเหล่าบัณฑิตอย่างนี้ นี้เป็นสุขดีหนอ

ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราชเสด็จขึ้นจากแม่น้ำ ถึงหมู่บ้านที่มโหสถให้สร้างไว้ทุกระยะ ๑ โยชน์ ชนทั้งหลายที่มโหสถวางไว้ในหมู่บ้านนั้นๆ ก็จัดช้างพาหนะข้าวน้ำเป็นต้นถวายพระราชา พระราชายังช้างม้ารถที่เหน็ดเหนื่อยแล้วๆ ให้กลับ เปลี่ยนสัตว์พาหนะนอกนี้ ถึงหมู่บ้านอื่นด้วยสัตว์พาหนะเหล่านั้น เสด็จไปด้วยระยะทาง ๑๐๐ โยชน์ก็โดยวิธีนี้ รุ่งเช้าก็เสด็จเข้ากรุงมิถิลา

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ไปสู่ประตูอุโมงค์ เปลื้องดาบที่ตนเหน็บไว้ออก คุ้ยทรายที่ประตูอุโมงค์ฝังดาบนั้นไว้ในทรายนั้น ก็แลครั้นฝังดาบแล้วก็เข้าไปสู่อุโมงค์แล้วออกจากอุโมงค์เข้าสู่เมืองที่สร้างไว้ ขึ้นปราสาทอาบน้ำแล้วบริโภคโภชนะอันมีรสเลิศต่างๆ แล้วไปสู่ที่นอนอันประเสริฐ เมื่อนึกว่ามโนรถของเราถึงที่สุดแล้วก็หลับไป

ฝ่ายพระเจ้าจุลนีเสด็จถึงนครนั้นโดยกาลล่วงไปแห่งราตรีนั้น

ฝ่ายพระเจ้าจุลนีตรวจเสนางคนิกรแล้วให้รักษาการตลอดราตรี ครั้นอรุณขึ้นก็เสด็จถึงอุปการนคร เสด็จทรงช้างที่นั่งตรัสสั่งเสนาให้จับเป็นพระเจ้าวิเทหราช แล้วจึงทรงเตือนช้างที่นั่งด้วยพระแสงขออันประดับเพชร แล้วตรัสสั่งเสนาให้บุกอุปการนคร

ลำดับนั้น บุรุษทั้งหลายที่มโหสถวางไว้ ก็พาพวกของตนแวดล้อมมโหสถไว้เพื่อรักษาความปลอดภัย ขณะนั้น พระโพธิสัตว์ลุกจากที่นอน ชำระร่างกายแล้ว บริโภคอาหารเช้า ประดับตกแต่งตัวนุ่งผ้ามาแต่แคว้นกาสีราคาตั้งแสน ห่มรัตกัมพลเฉียงอังสา ถือไม้เท้าทองที่สำหรับใช้อันหนึ่ง สวมรองเท้าทอง มีเหล่าสตรีที่ตกแต่งแล้วดุจเทพอัปสรพัดให้อยู่ด้วยวาลวีชนี เปิดสีหบัญชรบนปราสาทแล้วแสดงตนแด่พระเจ้าจุลนี เดินกลับไปกลับมาด้วยลีลาดังท้าวสักกเทวราช

ฝ่ายพระเจ้าจุลนีทอดพระเนตรเห็นสิริรูปอันอุดมของมโหสถ ก็ไม่สามารถจะยังพระมนัสให้เลื่อมใส เร่งไสช้างที่นั่งเข้าไปด้วยทรงคิดว่า เราจักจับมโหสถให้ได้ในบัดนี้

มโหสถโพธิสัตว์คิดว่า พระเจ้าจุลนีนี้ด่วนมาด้วยหมายจะได้ตัวพระเจ้าวิเทหราชในที่นี้เอง ชะรอยจะไม่ทรงทราบว่าเราจับพระโอรสพระธิดาและพระมเหสีของพระองค์ส่งถวายแด่พระราชาของพวกเราแล้ว ดังนั้นจึงยืนอยู่ที่หน้าต่างกล่าวเย้ยหยันกับพระเจ้าจุลนีว่า

พระองค์ด่วนไสช้างที่นั่งตัวประเสริฐมาทำไมหนอ พระองค์มีพระหฤทัยร่าเริงแล้วเสด็จมา คงจะเข้าพระทัยว่าทรงเป็นผู้ได้ประโยชน์แล้ว ขอพระองค์ทรงลดแล่งธนูนั่นลงเสียเถิด ทรงทิ้งลูกธนูเสียเถิด ทรงเปลื้องเกราะอันงามโชติช่วงด้วยแก้วไพฑูรย์ แก้วมณีนั่นออกเสียเถิด

พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับคำของมโหสถแล้วจึงตรัสคุกคามมโหสถว่า ธรรมดาความผ่องใสแห่งผิวพรรณอย่างนี้ ย่อมมีแก่คนในเวลาใกล้ตายเท่านั้น เพราะฉะนั้น วันนี้เราจักตัดศีรษะของเจ้าแล้วดื่มชัยบาน

ในเวลาที่มโหสถทูลกับพระเจ้าจุลนีนั้นอย่างนี้ ฝ่ายพลนิกายเป็นอันมากได้เห็นรูปสิริแห่งพระมหาสัตว์ จึงได้ไปสู่สำนักของพระเจ้าพรหมทัตด้วยคิดว่า พระราชาของพวกเราทรงปรึกษามโหสถ ตรัสอะไรกันหนอ พวกเราจักฟังพระดำรัสและถ้อยคำแห่งพระราชาและมโหสถ



>>>>> มีต่อ หน้า ๒๐
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 16 พ.ย.2006, 11:45 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ฝ่ายมโหสถบัณฑิตได้ฟังพระดำรัสของพระเจ้าจุลนีแล้ว คิดว่า พระเจ้าจุลนีทรงรู้จักเรา มโหสถบัณฑิตน้อยไป คิดฉะนี้จึงทูลว่า ข้าแต่ขัตติยราช พระดำรัสที่พระองค์ตรัสคุกคามไร้ประโยชน์เสียแล้ว เรื่องที่พระองค์และเกวัฏสมคบคิดกันในห้องพระบรรทมนั้นอย่าคิดว่าจะไม่มีใครรู้ เรื่องนั้นข้าพระองค์รู้แล้วก่อนทีเดียว

ข้าแต่พระมหาราช พระราชาของพวกข้าพระองค์ พระองค์ทรงจับได้ยากเหมือนม้าสินธพกับม้ากระจอก พระองค์เหมือนคนขี่ม้ากระจอก ไม่อาจที่จะจับพระราชาของพวกข้าพระองค์ซึ่งเหมือนคนขี่ม้าอาชาไนยมีกำลังเร็ว

พระเจ้าวิเทหราชพร้อมด้วยเหล่าอำมาตย์ข้าราชบริพารเสด็จข้ามน้ำไปแต่วันวานนี้แล้ว มิได้เสด็จหนีไปพระองค์เดียวเสียด้วย ก็ถ้าพระองค์จักไล่ตามพระเจ้าวิเทหราช ก็เหมือนกาบินไล่ตามพระยาหงส์ทองจักตกในระหว่างทางนั่นแล

บัดนี้ พระมหาสัตว์ผู้องอาจประดุจพระยาไกรสรราชสีห์ มิได้พรั่นพรึงในเรื่องใด เมื่อจะแสดงอุทาหรณ์ต่อพระเจ้าจุลนีจึงทูลว่า

สุนัขจิ้งจอกทั้งหลายเป็นสัตว์ต่ำช้ากว่ามฤค เห็นดอกทองกวาวบานท่ามกลางแสงจันทร์ในรัตติกาล ก็คิดว่าเป็นชิ้นเนื้อ เข้าล้อมต้นอยู่ ด้วยหวังว่า จักเคี้ยวกินชิ้นเนื้อแต่เช้าทีเดียวแล้วจักไป ครั้นเมื่อราตรีล่วงไปแล้ว พระอาทิตย์ขึ้น สุนัขจิ้งจอกเห็นดอกทองกวาวบานแล้วรู้ว่านี้ไม่ใช่เนื้อก็หมดหวัง ฉันใด ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงล้อมพระเจ้าวิเทหราช ก็จักทรงหมดหวัง เสด็จไปเหมือนสุนัขจิ้งจอกทั้งหลายเห็นดอกทองกวาว ฉันนั้น.

พระเจ้าจุลนีทรงสดับคำอันไม่พรั่นพรึงของมโหสถนั้น ทรงคิดว่า บุตรคฤหบดีนี้เป็นคนกล้าเกินกล่าวแล้ว มันคงให้พระเจ้าวิเทหราชเสด็จหนีไปแล้วโดยไม่ต้องสงสัย ก็กริ้วเหลือเกิน ทรงรำพึงว่า เมื่อก่อน พวกเราต้องทิ้งแม้แห่งผ้าสาฎกที่คาดพุงเพราะมโหสถ บัดนี้ปัจจามิตรอยู่ในเงื้อมมือของพวกเราแล้ว มโหสถก็ทำให้หนีไป มโหสถเป็นคนทำความฉิบหายแก่พวกเรามากหนอ เราจักทำโทษอันควรทำแก่คนสองคน มารวมลงโทษแก่มโหสถนี้คนเดียว เมื่อจะทรงสั่งลงโทษแก่มโหสถ จึงตรัสว่า

เจ้าทั้งหลายจงตัดมือและเท้า หูและจมูกของมโหสถผู้ปล่อยพระเจ้าวิเทหราชศัตรูของข้า ซึ่งอยู่ในเงื้อมมือแล้วไปเสีย เจ้าทั้งหลายจงเสียบมโหสถเสียด้วยหลาว ย่างมันให้ร้อนดุจย่างเนื้อ ข้าให้เจ้าทั้งหลายทิ่มแทงมโหสถแล้วฆ่าเสียด้วยหอก เหมือนบุคคลแทงหนังโคที่แผ่นดิน หรือเกี่ยวหนังราชสีห์หรือเสือโคร่งฉุดมาด้วยขอฉะนั้น.

พระมหาสัตว์ได้ฟังพระดำรัสดังนั้นก็หัวเราะ คิดว่าพระราชานี้ไม่รู้ว่าเราส่งพระมเหสีและพระวงศานุวงศ์ของพระองค์ไปกรุงมิถิลาแล้ว เพราะฉะนั้นจึงคิดลงโทษแก่เรา เอาเถิด เราจะแจ้งเหตุการณ์เพื่อทำให้พระองค์โศกาดูรเสวยทุกข์ บรรทมสลบอยู่บนหลังช้างที่นั่งนั่นเอง คิดฉะนี้แล้วจึงทูลว่า

ถ้าพระองค์ตัดมือและเท้า หูและจมูกของข้าพระองค์ พระเจ้าวิเทหราชจักให้ตัดพระหัตถ์เป็นอาทิ แห่งพระปัญจาลจันทราชโอรส พระนางปัญจาลจันทีราชธิดา และพระนางนันทาเทวีมเหสีของพระองค์อย่างนั้นเหมือนกัน

ถ้าพระองค์เสียบเนื้อข้าพระองค์ด้วยหลาว ย่างให้ร้อน พระเจ้าวิเทหราชก็จักให้เสียบเนื้อพระปัญจาลจันทราชโอรส พระนางปัญจาลจันทีราชธิดา และพระนางนันทาเทวีมเหสีของพระองค์ ย่างให้ร้อนอย่างนั้นเหมือนกัน

ถ้าพระองค์จักทิ่มแทงข้าพระองค์ด้วยหอก พระเจ้าวิเทหราชก็จักให้ทิ่มแทงพระปัญจาลจันทราชโอรส พระนางปัญจาลจันทีราชธิดา และพระนางนันทาเทวีมเหสีของพระองค์ด้วยหอก อย่างนั้นเหมือนกัน

ข้อความดังกราบทูลมาอย่างนี้ พระเจ้าวิเทหราชกับข้าพระองค์ได้ปรึกษา ตกลงกันไว้แล้วเป็นความลับ โล่หนังมีน้ำหนัก ๑๐๐ ปละ ที่ช่างหนังทำสำเร็จแล้วด้วยมีดของช่างหนังย่อมช่วยป้องกันตัว เพื่อห้ามกันลูกศรทั้งหลาย ฉันใด ข้าพระองค์เป็นผู้นำความสุข บรรเทาทุกข์ถวายพระเจ้าวิเทหราชผู้เรืองยศ ก็จำต้องทำลายลูกศร คือ พระดำริของพระองค์ ด้วยโล่หนัง คือ ความคิดของข้าพระองค์ ฉันนั้น

พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับดังนั้นแล้วทรงพระดำริว่า บุตรคฤหบดีพูดอย่างนี้ทำไม ได้ยินว่า เราทำโทษแก่เขาอย่างใด พระเจ้าวิเทหราชจักทรงทำโทษแก่โอรสและมเหสีของเราอย่างนั้น บุตรคฤหบดีไม่รู้ว่าเราจัดการอารักขาโอรสและมเหสีของเราอย่างดี บัดนี้เขาจักตายจึงบ่นเพ้อด้วยกลัวตายนั่นเอง เราไม่เชื่อคำของเขา

มโหสถคิดว่า พระราชาสำคัญตัวเราว่า พูดด้วยความกลัวตาย เราจักให้พระองค์ทรงทราบเสีย จึงทูลว่า

ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เชิญเถิด ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรดูภายในเมืองของพระองค์ซึ่งว่างเปล่า นางสนม และกุมารทั้งหลายตลอดถึงพระชนนีของพระองค์ ข้าพระองค์ให้นำออกจากอุโมงค์ถวายไปแด่พระเจ้าวิเทหราชแล้ว

พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับดังนั้นจึงทรงคิดว่า บุตรคฤหบดีนี้กล่าวหนักแน่นเหลือเกิน อนึ่ง เมื่อคืนนี้เราได้ยินเสียงเหมือนเสียงนางนันทาเทวีข้างแม่น้ำคงคา มโหสถนี้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก บางทีพึงกล่าวจริง ทรงคิดฉะนี้แล้ว เกิดความโศกมีกำลัง ดำรงพระสติไว้ทำเป็นไม่โศก ตรัสเรียกอำมาตย์คนหนึ่งมาส่งไปในเมือง ตรวจตราดูว่าคำพูดของมโหสถนี้จริงหรือเท็จอย่างไร

อำมาตย์นั้นพร้อมด้วยบริวารไปสู่พระราชนิเวศน์ เปิดพระทวารเข้าไปภายใน ได้เห็นเหล่าคนผู้รักษาพระราชนิเวศน์ และเหล่าบริจาริกานารีที่ค่อมแคระเป็นต้นถูกผูกมือและเท้าอุดปากติดกับไม้นาคทันต์ทั้งหลาย ภาชนะในห้องเครื่องแตกทำลาย ขาทนียโภชนียะเกลื่อนกล่นในที่นั้น และห้องบรรทมมีประตูเปิด มีการปล้นรัตนะ ซึ่งเหล่าปัจจามิตรเปิดประตูคลังรัตนะทิ้งไว้ ได้เห็นฝูงกาเข้าไปทางพระทวารและพระแกลซึ่งเปิดทิ้งไว้เที่ยวอยู่ในพระราชนิเวศน์ราวกับบ้านที่ทิ้งแล้ว หรือประหนึ่งพื้นสุสาน จึงกลับมากราบทูลแด่พระราชา

พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับดังนั้นก็ทรงสะทกสะท้านด้วยความโศกเกิดแต่ความพลัดพรากจากกษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์ก็ทรงพิโรธพระโพธิสัตว์เกินเปรียบดุจงูพิษถูกตีด้วยท่อนไม้ว่า ความทุกข์ของเรานี้เกิดขึ้นเพราะอาศัยบุตรคฤหบดี

มโหสถเห็นพระอาการกริ้วของพระเจ้าจุลนี จึงคิดว่า พระราชาพระองค์นี้อาจจะเบียดเบียนเราด้วยอำนาจแห่งความโกรธ เราต้องทำพระนางนันทาเทวี ให้เป็นเหมือนพระราชานี้ยังไม่เคยเห็น เราพึงสรรเสริญรูปร่างหน้าตาและผิวพรรณแห่งพระนางนั้น ทีนั้นพระราชาก็จะทรงระลึกถึงพระนางนั้น ก็จักไม่ทำอะไรๆ แก่เราด้วยทรงรักใคร่ในพระมเหสีของพระองค์ ด้วยทรงคะนึงว่า ถ้าเราฆ่ามโหสถเสีย เราก็จักไม่ได้พระนางคืนมา

มโหสถคิดฉะนี้แล้ว จึงได้ยืนอยู่บนปราสาทสรรเสริญพระรูปแห่งพระนางนั้น เมื่อพระมหาสัตว์พรรณนารูปสิริของพระนางนันทาเทวีแล้ว พระนางเธอก็ได้เป็นเหมือนสตรีที่พระเจ้าจุลนีไม่เคยได้ทอดพระเนตรเห็นมาก่อนพระองค์บังเกิดความเสน่หาเป็นกำลัง

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทราบว่า พระเจ้าจุลนีมีความเสน่หาเกิดขึ้น จึงได้กล่าวต่อไปว่า

ข้าแต่พระมหาราชผู้มีพาหนะถึงพร้อมด้วยสิริ พระองค์ย่อมทรงยินดีด้วยการทิวงคตของพระนางนันทาเทวีผู้ทรงพระรูปอันอุดมอย่างนี้แน่ ก็ถ้าพระองค์จักฆ่าข้าพระองค์ พระราชาของข้าพระองค์ก็จักฆ่าพระนางนันทาเทวีอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้น พระนางนันทาเทวีและข้าพระองค์ก็จักไปสำนักของยมราช ยมราชเห็นข้าพระองค์ทั้งสองแล้วก็จักให้พระนางนันทาเทวีแก่ข้าพระองค์เท่านั้น เมื่อข้าพระองค์แม้ตายแล้วก็ยังได้นางแก้วเช่นนั้น จักเสียประโยชน์อะไรเล่า ข้าพระองค์แลไม่เห็นความเสื่อมเพราะตัวต้องตาย พระเจ้าข้า

พระมหาสัตว์สรรเสริญพระนางนันทาเทวีเท่านั้น หาได้สรรเสริญกษัตริย์อีก ๓ องค์ไม่ ด้วยเหตุว่า ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายย่อมไม่ทำสิเนหาอาลัยในชนอื่นๆ ดุจในภรรยาที่รัก หรือว่าชนทั้งหลาย เมื่อไม่ระลึกถึงมารดา ก็จักไม่ระลึกถึงบุตรและธิดา เพราะเหตุนั้นพระโพธิสัตว์จึงสรรเสริญพระนางนันทาเทวีเท่านั้น ไม่สรรเสริญพระราชมารดา เพราะทรงพระชราแล้ว

ในเมื่อพระมหาสัตว์สรรเสริญพระนางนันทาเทวีด้วยเสียงอ่อนหวาน พระนางนันทาเทวีก็ได้เป็นเหมือนมาประทับอยู่หน้าที่นั่งพระเจ้าจุลนี แต่นั้นพระเจ้าจุลนีจึงทรงคิดว่า ยกมโหสถบัณฑิตเสีย บุคคลอื่นที่ชื่อว่าสามารถจะพามเหสีที่รักของเรามาให้แก่เรา ย่อมไม่มี

ลำดับนั้นเมื่อพระเจ้าจุลนีทรงระลึกพระนางเจ้านั้น ความโศกก็เกิดขึ้น พระโพธิสัตว์จึงทูลเล้าโลมพระเจ้าจุลนีว่า พระองค์อย่าทรงวิตกเลย พระราชเทวี พระราชโอรส และพระราชชนนีของพระองค์ ทั้ง ๓ องค์จักเสด็จกลับมา เวลาที่ข้าพระองค์กลับไปนั่นแหละ จะเป็นกำหนดในการเสด็จกลับแห่งกษัตริย์ทั้ง ๓ องค์นั้น เพราะฉะนั้น ขอพระองค์วางพระหฤทัยเสียเถิด พระเจ้าข้า

ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีทรงคิดว่า เราให้ทำการพิทักษ์รักษาเมืองของเราเป็นอันดี แล้วมาตั้งล้อมอุปการนครนี้ด้วยพลพาหนะถึงเท่านี้ มโหสถยังนำพระเทวีโอรสธิดา และพระชนนีของเรา จากเมืองเราซึ่งรักษาดีแล้วอย่างนี้ไปให้พระเจ้าวิเทหราชได้ และเมื่อพวกเราตั้งล้อมอยู่อย่างนี้ มโหสถยังพระเจ้าวิเทหราชทั้งพลพาหนะให้หนีไป แม้สักคนหนึ่งก็หามีใครรู้ไม่ มโหสถรู้เล่ห์กลอันเป็นทิพย์หรือ หรือเป็นเพียงอุบายบังตาหนอ จึงตรัสถามข้อความกะมโหสถว่า

เจ้ารู้เล่ห์กลอันเป็นทิพย์ หรือ เจ้าได้ทำอุบายบังตา ในการที่เจ้าปล่อยพระเจ้าวิเทหราชผู้เป็นศัตรูของข้า ไปเสียจากเงื้อมมือข้า

มโหสถได้ฟังรับสั่งจึงทูลว่า

ข้าแต่พระมหาราชเจ้า บัณฑิตทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมบรรลุเล่ห์กลอันเป็นทิพย์ บัณฑิตชนผู้มีความรู้ เหล่านั้นจึงเปลื้องตนจากทุกข์ได้ เหล่าโยธารุ่นหนุ่มของข้าพระองค์มีอยู่ เป็นคนฉลาด เป็นทหารขุดอุโมงค์ พระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปกรุงมิถิลา โดยทางที่ทหารเหล่านี้ทำไว้

พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับคำนี้แล้ว ก็ใคร่จะทอดพระเนตรอุโมงค์โดยทรงคิดว่า มโหสถแจ้งว่า ได้ยินว่า พระเจ้าวิเทหราชได้เสด็จไปโดยอุโมงค์ที่ตกแต่งไว้ อุโมงค์เป็นอย่างไรหนอ

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์รู้ว่า พระเจ้าจุลนีมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรอุโมงค์ จึงคิดว่า พระราชาใคร่จะทอดพระเนตรอุโมงค์ เราจักแสดงอุโมงค์แก่พระองค์ จึงได้กล่าวเชื้อเชิญพระราชาว่า

เชิญเถิด พระเจ้าข้า ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรอุโมงค์ที่ได้สร้างไว้ดีแล้ว งามรุ่งเรืองด้วยระเบียบแห่งกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และ กองพลราบ ซึ่งสำเร็จดีแล้วตั้งอยู่

ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว มโหสถได้ทูลต่อไปว่า อุโมงค์ซึ่งตกแต่งแล้ว ข้าพระองค์ให้สร้างไว้ด้วยปัญญาของข้าพระองค์ เป็นราวกะปรากฏแล้วในที่ตั้งขึ้นแห่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ พระองค์จงทอดพระเนตรประตูใหญ่ ๘๐ ประตูน้อย ๖๔ ห้องนอน ๑๐๑ โคมดวงประทีป ๑๐๑ พระองค์จงเป็นผู้พร้อมเพรียงบันเทิงกับด้วยข้าพระองค์ เสด็จเข้าไปสู่อุปการนครกับด้วยราชบริพาร ทูลฉะนี้แล้วให้เปิดประตูเมือง พระเจ้าจุลนีพระราชาร้อยเอ็ดแวดล้อมเสด็จเข้าสู่เมือง พระมหาสัตว์ลงจากปราสาทถวายบังคมพระเจ้าจุลนีพาพระราชาพร้อมด้วยราชบริพารเข้าสู่อุโมงค์ พระเจ้าจุลนีทอดพระเนตรเห็นอุโมงค์ราวกะเทวสภา จึงทรงพรรณนาคุณแห่งพระโพธิสัตว์ว่า

ดูก่อนมโหสถ บัณฑิตทั้งหลายเช่นนี้ เหล่านี้ อย่างตัวเจ้า อยู่ในเรือน ในแว่นแคว้นแห่งผู้ใด เป็นลาภของชาววิเทหรัฐและชาวกรุงมิถิลาผู้ได้อยู่ร่วมกับผู้นั้น

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ได้แสดงห้องนอน ๑๐๑ ห้องแด่พระเจ้าจุลนี ครั้นประตูห้องหนึ่งเปิด ประตูทั้งหมดก็เปิด ครั้นประตูห้องหนึ่งปิด ประตูทั้งหมดก็ปิด เมื่อพระราชาทอดพระเนตรพลางเสด็จไปข้างหน้า มโหสถโดยเสด็จไปข้างหลัง เสนาทั้งปวงก็เข้าไปสู่อุโมงค์ ครั้นเมื่อพระราชาเสด็จออกจากอุโมงค์ มโหสถรู้ว่าพระราชาเสด็จออก จึงตามออกมาบ้าง แล้วให้ทหารกันไม่ให้ชนทั้งปวงออก ปิดประตูอุโมงค์เหยียบเครื่องกลไกทำให้ประตูใหญ่ ๘๐ ประตูน้อย ๖๔ ประตูห้องนอน ๑๐๑ และโคมดวงประทีป ๑๐๑ ก็ปิดพร้อมกัน อุโมงค์ทั้งสิ้นก็มืดราวกะโลกันตนรก มหาชนทั้งกลัวทั้งสะดุ้ง

พระมหาสัตว์หยิบดาบซึ่งตนเข้าไปฝังทรายไว้เมื่อวานนี้ แล้วโดดขึ้นจากพื้นสู่อากาศสูง ๑๘ ศอก แล้วกลับลงมาจากอากาศ จับพระหัตถ์พระเจ้าจุลนีพรหมทัตไว้เงื้อดาบให้ตกพระหฤทัยทูลถามว่า ราชสมบัติในสกลชมพูทวีปเป็นของใคร

พระราชากลัวตรัสตอบว่า เป็นของเธอ แล้วตรัสว่า เธอจงให้อภัยแก่ข้า

มโหสถทูลว่า พระองค์อย่าตกพระหฤทัยกลัวเลย พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จับดาบด้วยใคร่จะปลงพระชนม์ก็หาไม่ ข้าพระองค์จับเพื่อจะสำแดงปัญญานุภาพของข้าพระองค์ ทูลฉะนี้แล้วถวายดาบนั้นต่อพระหัตถ์พระราชา

ลำดับนั้นมโหสถทูลพระราชาผู้ทรงถือดาบประทับยืนอยู่ว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ถ้าพระองค์ทรงใคร่จะฆ่าข้าพระองค์ ก็จงฆ่าด้วยดาบเล่มนี้ ถ้าพระองค์ทรงใคร่จะพระราชทานอภัย ก็จงพระราชทาน

พระราชาตรัสตอบว่า ดูก่อนบัณฑิต ข้าให้อภัยแก่เธอจริงๆ เธออย่าคิดอะไรเลย

พระราชาจุลนีพรหมทัตกับมโหสถโพธิสัตว์ทั้งสองต่างจับดาบทำสาบานเพื่อไม่ประทุษร้ายต่อกันและกัน

ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีตรัสกะพระโพธิสัตว์ว่า ดูก่อนบัณฑิต เธอเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกำลังปัญญาอย่างนี้ เหตุไรไม่เอาราชสมบัติเสีย

มโหสถทูลตอบว่า ถ้าพระองค์อยากได้ ก็จะฆ่าพระราชาในสกลชมพูทวีปเสียในวันนี้แล้วเอาราชสมบัติ ก็แต่การฆ่าผู้อื่นแล้วถือเอายศ นักปราชญ์ทั้งหลายไม่สรรเสริญ

ลำดับนั้นพระราชาตรัสว่า ดูก่อนบัณฑิต มหาชนออกจากอุโมงค์ไม่ได้ก็คร่ำครวญเธอจงเปิดประตูอุโมงค์ให้ชีวิตทานแก่มหาชนเถิด

มโหสถก็สั่งให้เปิดประตูอุโมงค์ อุโมงค์ทั้งสิ้นก็มีแสงสว่างปรากฎขึ้น พระราชาทั้งปวงออกจากอุโมงค์กับเสนาไปสู่สำนักมโหสถ มโหสถสถิตอยู่ ณ พลับพลาอันกว้างขวางกับพระราชาจุลนี

ลำดับนั้น พระราชาเหล่านั้นตรัสกะมโหสถว่าพวกข้าพเจ้าได้ชีวิตเพราะอาศัยท่าน ถ้าท่านไม่เปิดประตูอุโมงค์อีกครู่เดียวข้าพเจ้าทั้งปวงก็จักถึงความตายในอุโมงค์นั้นนั่นเอง

มโหสถทูลตอบว่า ข้าแต่มหาราชทั้งหลาย พระองค์ไม่เสียพระชนมชีพเพราะอาศัยข้าพระองค์ แต่ในบัดนี้ก็หาไม่ แม้ในกาลก่อนพระองค์ก็ได้อาศัยข้าพระองค์จึงยังดำรงพระชนมชีพอยู่

พระราชาเหล่านั้นตรัสถามว่า เมื่อไร บัณฑิต

มโหสถบันฑิตจึงทูลว่า ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์ทรงฟัง ทรงระลึกถึงกาลเมื่อพระเจ้าจุลนียึดราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้นได้ ยกเสียแต่เมืองของพวกข้าพระองค์ แล้วกลับอุตตรปัญจาลราชธานี แล้วจัดแต่งสุราเพื่อดื่มชัยบานในสวนหลวงได้หรือไม่

พระราชาเหล่านั้นรับว่าระลึกได้

มโหสถจึงทูลว่า ในกาลนั้น พระราชาจุลนีกับเกวัฏผู้มีความคิดชั่ว ประกอบกิจนั้นเพื่อปลงพระชนม์เหล่าพระองค์ด้วยสุราที่ประกอบด้วยยาพิษและมัจฉมังสะเป็นต้น ทีนั้นข้าพระองค์จึงรำพึงว่า เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ เหล่าพระองค์จงอย่าได้เสียพระชนมชีพโดยหาที่พึ่งมิได้เลย คิดในใจดังนี้จึงส่งพวกคนของข้าพระองค์ไป ให้ทำลายภาชนะทั้งปวง ทำลายความคิดของพวกนั้นเสีย ได้ให้ชีวิตทานแด่พระองค์ทั้งหลาย

พระราชาเหล่านั้นทั้งหมดได้สดับคำของมโหสถ ก็มีพระมนัสหวาดเสียว จึงทูลถามพระเจ้าจุลนีว่า จริงหรือไม่ พระเจ้าข้า

พระเจ้าจุลนีตรัสตอบว่า จริง ดีฉันเชื่อถ้อยคำของอาจารย์เกวัฏได้ทำอย่างนั้น มโหสถบัณฑิตได้กล่าวจริงทีเดียว

พระราชาเหล่านั้นต่างสวมกอดพระมหาสัตว์ ตรัสว่า แน่ะบัณฑิต ท่านได้เป็นที่พึ่งของพวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าได้รอดชีวิตเพราะท่าน ตรัสฉะนี้แล้วบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยราชาภรณ์ทั้งปวง

มโหสถทูลพระเจ้าจุลนีอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์อย่าได้ทรงคิดเลย นั่นเป็นโทษของการส้องเสพด้วยมิตรลามกนั่นเอง ขอพระองค์จงตรัสขอให้พระราชาเหล่านั้นยกโทษให้พระองค์เถิด

พระราชาพรหมทัตตรัสว่า เราได้ทำกรรมเห็นปานนี้แก่พวกท่านเพราะอาศัยคนชั่ว นั่นเป็นความผิดของข้าพเจ้า ท่านทั้งหลายจงยกโทษแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักไม่ทำกรรมเห็นปานนี้อีก รับสั่งฉะนี้แล้วให้พระราชาเหล่านั้นขมาโทษ พระราชาเหล่านั้นแสดงโทษกะกันและกัน แล้วเป็นผู้พร้อมเพรียง ชื่นชมต่อกัน



>>>>> มีต่อ หน้า ๒๑
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง