Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 น้อมลงที่ใจ (หลวงปู่หล้า เขมปัตโต) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 06 พ.ย.2006, 2:44 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ธรรมเพื่อความหลุดพ้น น้อมลงที่ใจ
โดย หลวงปู่หล้า เขมปัตโต

วัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ)
ต.หนองสูงใต้ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร
๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗



มันเป็นโลกโกลาหลอยู่ทุกเมื่อ ความแก่ ความเจ็บ ความตายแต่ละอย่าง ๆ มันเป็นโกลาหลตามธรรมชาติ ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน ไม่ลงธรรมาสน์อีกด้วย ไม่จบเกษียนอีกด้วย บรรจุอยู่ทีนี้ ลักษณะของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ประชุมกันเป็นกายที่เรียกว่า “รูป” ก็โกลาหลไปในทางบูดเน่าเปื่อย อยู่ไม่มีกลางวันกลางคืน ไม่จบเกษียณอีกด้วย ไม่ลงธรรมาสน์อีกด้วย คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นมหาโลกุตรคุณ ซึ่งรวมเข้าทั้งคุณของพระบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ทวด หรือท่านผู้มีคุณ หรือทั่วทั้งไตรโลกธาตุ

ก็เป็นเมืองขึ้นของคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็กลมกลืนกัน ไม่แสลงกัน คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แท้ก็กลมกลืน ไหลขึ้นสู่พระนิพพาน อันเป็นที่สุดทุกข์โดยชอบ เป็นเมืองขึ้นของพระนิพพานอีก อันนี้ก็ไม่ลงธรรมาสน์ เป็นของจริง โกลาหลอยู่ ไม่มีกลางวันกลางคืน แต่ก็ไม่แย่งธรรมาสน์กัน ไม่ได้เป็นสงครามกัน ความจริงธรรมทั้งหลาย ไม่ได้เป็นสงครามกัน ธรรมส่วนไหนก็เป็นจริงอยู่ส่วนนั้น ไม่ได้แย่งธรรมาสน์ ไม่ได้หาเสียงธรรมฝ่ายโลกุตระ ก็เป็นจริงอยู่ ไม่มีกลางวันกลางคืนมีอยู่ ทรงอยู่ ธรรมอันว่าธรรมทั้งหลายเป็นของที่มีอยู่ทรงอยู่

อันนี้ก็โกลาหลอยู่ไม่มีกลางวันกลางคืน เป็นจริงอยู่อย่างนั้น ใครจะเห็นหรือไม่เห็นก็ตาม ไม่ลงธรรมาสน์ ไม่จบเกษียณ ไม่มีเอวัง เหมือนเราเทศน์ภายนอก สิ่งทั้งหลายเป็นของจริงอยู่ ไม่มีกลางวันกลางคืน ส่วนท่านผู้พ้นไปแล้ว ก็เงียบสงัดจากไตรโลกธาตุ ก็เป็นของจริงอยู่ ไม่มีกลางวันกลางคืน ผู้ที่เข้าอนุปาทิเสสนิพพานแล้ว แปลว่าธรรมอันไม่ตาย ก็เป็นของจริงอยู่ ไม่มีกลางวันกลางคืน ไม่ลงจากธรรมาสน์อีกด้วย ไม่จบเกษียณอีกด้วย ไม่มีพรรคมีพวกอีกด้วย ไม่แยกพรรคแยกพวกอีกด้วย

ยถาภูตํ สมฺมปฺปญฺญาย ทฏฺฐพฺพํ พระบรมศาสดาสอนว่า ให้รู้ตามเป็นจริงด้วย ปฏิบัติตามเป็นจริงด้วย จะหลุดพ้นจากความหลงของตนเอง ตามเป็นจริงด้วย การปฏิบัติพระพุทธศาสนาก็มีจุดหมายปลายทางแห่งเดียว เพื่อหลุดพ้นเท่านั้น พุทธประสงค์ ธรรมประสงค์ สังฆประสงค์ พุทธศาสนา ธรรมศาสนา สังฆศาสนา ก็มีความหมายอันเดียวกัน พุทธหนทาง ธรรมหนทาง สังฆหนทาง คือหนทางพ้นทุกข์ ก็มีความหมายอันเดียวกัน พุทธแว่นส่องทาง ธรรมแว่นส่องทาง สังฆแว่นส่องทาง ก็มีความหมายอันเดียวกัน

พุทธทางร่มเย็น ธรรมทางร่มเย็น สังฆทางร่มเย็น ก็มีความหมายอันเดียวกัน พุทธโลกุตระ ธรรมโลกุตระ สังฆโลกุตระ ก็มีความหมายอันเดียวกัน พุทธทรัพย์ ธรรมทรัพย์ สังฆทรัพย์ ก็มีความหมายเดียวกัน คือทรัพย์ภายใน ถ้าทรัพย์ภายในมีทรัพย์ภายนอก ก็ค่อยเป็นค่อยไป แต่ทรัพย์ภายในไม่อันตรธาน ทรัพย์ภายนอกอันตรธานเป็นขึ้นๆ ลงๆ เหมือนฟ้าแลบ ลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญก็ดี เท่ากับฟ้าแลบ เวลาฟ้าไม่แลบมีมากกว่าฟ้าแลบ อุปมาเหมือนเวลา เสื่อมลาภ เสื่อมสุข เสื่อมสรรเสริญ เมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นของจริงมีอยู่ ไม่มีกลางวัน กลางคืน เราก็ไม่มีปัญหาที่จะสงสัย

พระพุทธศาสนา ธรรมศาสนา สังฆศาสนา พุทธศาสนา ธรรมศาสนา สังฆศาสนาก็มีอยู่ที่สกลกาย วาจา ใจของเรา ที่เราประพฤติ ถ้าเราจะย่นลงเป็นสาม กายพุทธ วจีพุทธ มโนพุทธ กายธรรม วจีธรรม มโนธรรม กายสงฆ์ วจีสงฆ์ มโนสงฆ์ หมายความว่า ในสิ่งที่ไปในทางถูกน้อมพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ลงมาเป็น ๓ ปิฎก อยู่ในปิฎกกายบ้าง ปิฎกวาจาบ้าง อยู่ในปิฎกใจบ้าง แต่ว่าปิฎกกาย ปิฎกวาจา เป็นเมืองขึ้นของปิฎกใจอีกเหมือนกัน ย่นลงมาเป็นเอกนิบาต ทีนี้

ศีล ๕ ข้อเป็นอารมณ์ของกรรมฐานเหมือนกัน ก็จัดเป็นศีลและสมาธิอยู่ในตัว เพราะตัดสินลงใน ณ ที่นั้นแล้วทีนี้ ผู้ไม่มีปัญญาก็รักษาศีลไม่คุ้ม ก็มีทั้งสติ ทั้งปัญญาในชั้นนั้น ก็เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา รวมลงในขณะเดียว อยู่แห่งเดียวกัน เพราะเป็นของอัญญะมัญญะเสมอกัน หน้าก็ดี ตาก็ดี จมูกก็ดี เป็นพลังรวมอยู่ที่แห่งเดียวกัน หนังก็ดีเนื้อก็ดี เอ็นก็ดี ก็เป็นพลังอยู่ที่แห่งเดียวกัน อัญญะมัญญะซึ่งกันและกัน อยู่อาศัยซึ่งกันและกัน เป็นน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอยู่ในขณะเดียวกัน

ศีลเป็นของสำคัญในทางพระพุทธศาสนา เมื่อศีลเป็นเบื้องต้น สมาธิก็เป็นเบื้องต้น ปัญญาก็เป็นเบื้องต้น เบื้องต้นของพรหมจรรย์ในทางพระพุทธศาสนา พรหมจรรย์ในทางพระพุทธศาสนาเบื้องต้น หมายถึงศีลห้า เป็นแก่นของพรหมจรรย์เป็นรากแก้ว เหตุฉะนั้น สังคายนาครั้งที่ ๑ พระมหากัสสปะมหาเถระ ซึ่งเป็นพระอรหันต์จึงทรงพระมติว่า ควรสังคายนาพระวินัยก่อน เพราะพระวินัยเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา จึงให้พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนา เพราะท่านเป็นผู้แตกฉาน รักษาศีลก็คือรักษาตัวเอง ก็คือรักษาพระพุทธศาสนา ธรรมศาสนา สังฆศาสนา

สมาธิปัญญาหรือจาคะ ก็มีความหมายอันเดียวกัน ให้ทานรักษาศีลภาวนาเพื่อหวังจะชำระโลภ โกรธ หลงของตนให้หายไปทีละเล็กละน้อยจนถึงที่สุดทุกข์โดยชอบ เพราะเห็นภัยในวัฏสงสารอย่างเต็มที่ เห็นภัยโลภ เห็นภัยโกรธ เห็นภัยหลง เพราะโลภ โกรธ หลง เป็นพืชพาให้เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในวักสงสารที่เรียกว่า อวิชชา จะเอากองทัพ วิชชา จรณสัมปันโน วิชชา จรณสัมปันโน ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้เอง ไปต่อสู้กับอวิชชาที่เรียกว่าวัฏจักรก็ว่า อวิชชาน่ะ วัฏจักรเพราะหมุนเวียนพาให้เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ต้องการอยากจะมาท่องเที่ยวในวัฏสงสาร เพราะเห็นภัยอย่างเต็มที่

เห็นภัยเกิด เห็นภัยแก่ เห็นภัยเจ็บ เห็นภัยตาย เห็นภัยจี้ เห็นภัยปล้น เห็นภัยหิว เห็นภัยอยาก เห็นภัยเหนื่อยเมื่อยล้า เห็นภัยหนาว เห็นภัยร้อน เห็นภัยปวดอุจจาระปัสสาวะ เห็นภัยในสกลกายต่างๆ ทุกสิ่งทุกอย่างมีแต่ภัยในสกลกายสรรพโรคทั้งปวงก็เกิดขึ้นที่กายนี่เป็นทุกข์อันหนึ่งที่เรียกว่า กายทุกข์ ทุกข์ทางกาย เพราะกายเป็นก้อน เป็นท่อน หนาวก็มากระทบ เย็นก็มากระทบ คำว่าปวดอุจจาระ คำว่าปวด รสของความปวดก็คือ อะไรก็คือทุกข์ ปวดปัสสาวะ รสของความปวดคืออะไร ก็คือทุกข์ให้ปรากฏขึ้น เมื่อเราจะยึดถือหรือไม่ยึดถือก็ตาม มันก็โทรศัพท์ให้เรารู้จัก

ถ้าเราไม่ใช่คนผีบ้า คนไม่เห็นทุกข์ ก็ไม่ยินดีในการที่จะพ้นทุกข์ ก็ต้องเห็นทุกข์เสียก่อน เช่น พระบรมศาสดาก็ต้องเห็นทุกข์แก่ ทุกข์เจ็บ ทุกข์ตาย เสียก่อน จึงทรงยินดีในทางปฏิบัติเพื่อจะออกจากกองทุกข์ อุปสรรคเป็นยาวิเศษ ถ้าไม่มีอุปสรรคในเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในสกลไตรโลกธาตุ มนุษย์ สัตว์ เทวดา มาร พรหม ก็จะยินดีอยู่แต่เพียงแค่มนุษย์ ไม่น้อมถึงพระนิพพาน มนุษยโลก เทวโลก สัตว์โลก พรหมโลกซึ่งมีชาติเป็นต้นแล้ว ต้องถูกเฆี่ยนแก่ ถูกเฆี่ยนเจ็บ ถูกเฆี่ยนตายอยู่ ไม่มีกลางวันกลางคืน เกิดขึ้นแล้วแปรปรวน แล้วแตกสลาย ไม่มีอะไรยั่งยืนคงทนอยู่



(มีต่อ 1)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 06 พ.ย.2006, 2:52 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เมื่อโลกคือสกลกายก็ดี สกลชาติภพก็ดี สิ่งที่มีวิญญาณครองสิงก็ดี ที่ไม่มีวิญญาณครองสิงก็ดี ซึ่งอยู่ใต้อำนาจอนิจจังหมดทีนี้ เราๆ ท่านทั้งหลาย จะมาฝืนอวดดี ปั้นน้ำให้เป็นตัว ให้อนิจจังเหล่านี้อยู่ในวงแขนตาไม่ความประสงค์ของตัว มันก็เป็นไปไม่ได้ เมื่อเป็นไปไม่ได้ ก็จะเป็นจะยกธงขาวต่อคำสอนของพระบรมศาสดา พิจารณาตามความเป็นจริง เพื่อถ่ายถอนความหลงของตนไม่ให้ติดต่ออยู่ มิฉะนั้นก็ไม่ทันกับความหลงของตนอีก เพราะความหลงมีเวลามากกว่า การต่อสู้กับความหลงมีเวลาน้อย

ธรรมดาคนปล้ำกัน ผู้มีกำลังมาก จึงสามารถปล้ำเขาให้ล้มลง ถ้ากำลังน้อยก็ปล้ำเขาไม่ลง ถ้ากำลังของปัญญามาก ความหลงก็แสดงปาฏิหาริย์ไม่ได้ ไม่มีปาฏิหาริย์ หลงตัวเดียว พาให้ท่องเที่ยวในวัฏสงสารทีนี้ ใครเป็นผู้หลง นอกจากใจ ก็ไม่มีอันใดจะหลงใจ นอกจากใจก็ไม่มีอันใดจะรู้เท่าใจ นอกจากใจก็ไม่มีอันใดจะปฏิบัติใจ นอกจากใจก็ไม่มีอันใดจะเห็นคุณในใจ นอกจากใจก็ไม่มีอันใดจะเห็นโทษในใจ ตกลงเป็นงานของใจอันเดียว งานของตา ของหู ของจมูก ของลิ้น ของกาย เพราะเขาเป็นผู้พ่วง ไม่เป็นหัวรถจักร หัวจักรพาเขาหมุนไป เขาไม่เป็นผู้บงการ เขาไม่เป็นนายทุน

จะทำผิดหรือทำถูกก็ขึ้นอยู่กับเมืองใจ การทำถูกทำอยู่ที่เมืองไหนครั้งไหน การทำผิดทำอยู่ที่เมืองไหนครั้งไหน เวลาใด ก็อยู่ที่เมืองใจ ครั้งใจนั่นเอง ใครจะเป็นผู้รู้ถูกรู้ผิดทีนี้ ใจต้องรับรองตนเอง ไม่มีใครจะมารับรองได้ ตาก็ไม่มารับรอง หูก็ไม่มารับรอง จมูกก็ไม่มีมารับรอง ลิ้นก็ไม่มารับรอง กายก็ไม่มารับรอง ไม่รับประกันให้ เพราะเขาไม่ได้บงการ เพราะเขาไม่ได้เป็นนายก เพราะเขาไม่ได้เป็นหัวจักร เพราะเขาไม่ได้เป็นผู้ขับ เขาก็คล้ายๆ กับรถ ทีนี้จะชำรุดทรุดโทรมก็เป็นหน้าที่ผู้ขับรถ จะปฏิบัติ จะฟังหรือไม่ฟัง ก็ขึ้นอยู่กับธรรมชาติที่ปฏิบัติถูกบ้างไม่ถูกบ้าง

ถึงจะปฏิบัติถูกสักเพียงไหนก็ตาม ถ้าเหลือวิสัย รถคันนั้นมันก็ต้องปล่อยตามเรื่องผู้ท่องเที่ยวในวัฏสงสาร ก็คือจิตใจที่หลงๆ ไหลๆ หลำๆ นั่นเอง บางแห่งก็เรียกว่าวิญญาณ บางคำก็เรียกว่าจิต บางคำก็เรียกว่ามโน ภาษาอื่นเขาเรียกว่า เซลล์ หรืออะไรไม่ทราบเขา ก็มีความหมายอันเดียวกัน ใจดวงเดียวไม่เกี่ยวกับการส่งส่าย ถ้าใจเป็นหนึ่ง ธรรมก็เป็นหนึ่ง ไปในทางถูก ก็เหมือนกัน ไปในทางผิดก็เหมือนกัน ถ้าไปในทางผิด มันก็ลงเป็นหนึ่งเหมือนกัน สมมติว่าเราตกลงใจจะฆ่ามนุษย์ มันก็ลงเป็นหนึ่งเหมือนกัน จึงตกลงฆ่าได้ เราตกลงใจจะรักษาศีล ภาวนา มันก็ลงเป็นหนึ่งเหมือนกัน มันจึงทำได้

คำว่าทำใจให้ว่าง มันก็กินความกว้างหนักหนา ไม่รู้ว่าว่างในชั้นไหนๆ พวกที่มีศีลบริบูรณ์ เว้นจากปาณาติบาต กาเม หรือมิจฉาจาร เขาก็ว่างจากความชั่ว ในตอนนี้จิตของเขา แต่ส่วนความดี มันก็ว่างจากความผิดในตอนนั้นๆ เช่นเรากินอาหาร มันก็ว่างจากหิว ไปเป็นคำๆ จนถึงสมมติว่าอิ่ม เป็นวาระหนึ่งๆ คนทั้งหลายชอบพูดกันว่า จงภาวนาทำจิตให้ว่าง พูดง่าย แต่ฟังยาก ไม่รู้ว่าว่างอยู่ในขั้นไหนๆ ใครพูดก็ได้ พุทโธ พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ไม่รู้ว่ารู้อะไร ผู้เขาไปลัก เขาก็รู้อยู่ ก็พุทโธขี้ลักก็มี ถ้าอย่างนั้นเขาก็รู้ว่าเขาไปลักอยู่ พุทโธ ผู้รู้ แปลว่าละชั่ว ทำดี รู้ละชั่ว

ทำดี เรียกว่าพุทโธ แต่พุทโธย่อมมีขอบเขต ผู้รู้ก็มีขอบเขต จิตว่างก็มีขอบเขต ถ้าอย่างนั้นมันก็ฝั้นเฝือกัน จิตว่างถึงพระโสดาบัน จิตเป็นพุทโธถึงพระโสดาบัน จิตเป็นธัมโมถึงพระโสดาบัน จิตเป็นสังโฆถึงพระโสดาบัน สมาธิพระโสดาบัน ศีลพระโสดาบัน ปัญญาพระโสดาบัน ศรัทธาพระโสดาบัน วิริยะพระโสดาบัน ความเชื่อสติของพระโสดาบัน สมาธิความตั้งมั่นของพระโสดาบัน ปัญญาความรอบรู้ของพระโสดาบัน นับแต่จำพวกนี้ไป จึงมีประมาณในทางพระพุทธศาสนา ต่ำกว่านั้นจะเอาเป็นประมาณไม่ได้ กระจุยกระจายกันปั้นไม่ติด

พระโสดาบันทำสิ่งใดในทางพระพุทธศาสนา เกี่ยวแก่การงานอะไรก็ตาม หวังเพื่อพ้นทุกข์ในวัฏสงสารโดยด่วนเท่านั้น มีเจตนาอันเดียว ไม่มีเจตนาอันอื่นมาปะปนให้เป็นปัญหาสอดแทรก จะพ้นหรือไม่พ้น ก็เชื่อลงในอันเดียวเท่านั้น ไม่สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วไม่ลังเล พระโสดาบันต้องเว้นอบายมุขทุกประเภท จึงทรงพระนามว่าสุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ ต่ำกว่านั้นลงมา พระบรมศาสดาไม่รับรอง เพราะหลายบางที บางทีก็ไปนรกบ้าง บางทีก็ไปสวรรค์บ้าง บางทีก็ไปพรหมโลกบ้าง บางทีก็ไปเป็นเปรตอสุรกายบ้าง

เพราะยังไม่ปิดประตูใจอันไปในทางผิด ถ้าหากว่าทำบุญบ้าง ไม่ได้ทำบ้าง เวลาจะถึงมรณภาพ ก็ระลึกถึงบุญของตนเสีย ระลึกถึงบุญของตนแล้วสิ้นลมปราณ ในขณะนั้นก็ไปสู่บุญของตน หมดอายุขัยก็มาสู่บาปทีนี้ เวียนวัดปัดถะหวิงอยู่อย่างนั้น ถ้าหากว่าเวลาใกล้จะตาย ก็ระลึกถึงบาปที่ตนทำไว้เสียซะก็ว่า “ซะ” เป็นคำอีสาน เสียเป็นคำสมัยรัชกาลที่ ๖ แต่ทุกวันนี้หลวงปู่ไม่เข้าใจเขาพูดกัน เพราะมีคำเพิ่มมากในภาษาอีสาน ในภาษาภาคกลาง ก็เพราะเป็นผู้อ่อนภาษา

ถ้าเรายังไม่ถึงพระโสดาบัน เราก็ยังไม่ไว้ใจในปฏิปทาของเรา เพราะไม่รับรองในว่าว เพราะเกรงว่าจะเป็นว่าวเชือกขาด พระโสดาบันในทางฆราวาสมีตั้งแสนๆ ล้านๆ ครั้งพุทธกาล สกทาคามีก็เหมือนกัน อนาคามีก็เหมือนกัน พระอรหันต์ก็มีเหมือนกัน เรื่องโลก เรื่องสงสาร เราทราบชัดกันดีอยู่แล้วว่า เป็นไปด้วยความเกิดขึ้น แปรปรวน และแตกสลาย เราจะเพลินไปสักเพียงไหน ก็มีอยู่เพียงนั้น ไม่เป็นไปตามความเพลินของเรา เราจะทะเยอทะยาน หรือไม่ทะเยอทะยาน ก็เป็นจริงอยู่เพียงนั้น

การประพฤติพรหมจรรย์เพื่อหวังโลกุตระหนึ่งขณะจิต ก็ยังดีกว่าการประพฤติพรหมจรรย์พอเป็นนิสัยตั้งล้านๆ ขณะจิต การประพฤติพรหมจรรย์ในทางพระพุทธศาสนา มี ทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น หวังเพื่อพ้นทุกข์โดยด่วนในปัจจุบัน ชาติอันนั้นสร้างบารมีมานานแล้วบันดาลให้นิยมชมชอบ มีเรื่องทดสอบตนเอง ถ้าหากว่า จิตใจของเรายังตะเกียกตะกายในทางวัตถุนิยมอยู่ เราก็ตัดสินตนเองได้ว่า ความหลงของเรายังมีกำลังมาก ถ้าหากว่า เราเห็นภัยในวัฏสงสาร ถ้ามีอุปสรรคเป็นยาวิเศษให้ชวนคิดอยู่เสมอๆ

ไม่ไว้ใจอันใด ไว้ใจในตาก็ไม่ได้ ไว้ใจ ในหูก็ไม่ได้ ไว้ใจในจมูกก็ไม่ได้ ไว้ใจในลิ้นก็ไม่ได้ ไว้ใจในกายก็ไม่ได้ ไว้ใจในใจก็ยัง เพราะใจยังไม่ฝึก จะไว้ใจก็ไม่ได้ เพราะฝึกยังไม่เต็มที่ คล้าย ๆ กับม้าฝึกยังไม่ดี ก็ไว้ใจไม่ได้ เมื่อไม่ไว้ใจในวัฏสงสาร ก็คือไม่ไว้ใจในความทุกข์ ก็มีความหมายอันเดียวกัน เมื่อตื่นอยู่ด้วยสติในวัฏสงสาร ไม่คุ้นเชื่องอันใด ก็เรียกว่าเป็นผู้มีศีล เป็นผู้มีสมาธิ เป็นผู้มีปัญญาอยู่ในตัว เป็นผู้เห็นธรรมอยู่ในตัว ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม พระบรมศาสดายืนยัน

ถ้าหากว่าเราตัดสินลงดีๆ แล้ว โลกนี้เต็มไปด้วยกองทุกข์ เต็มไปด้วยแก่ เต็มไปด้วยเจ็บ เต็มไปด้วยตาย เต็มไปด้วยไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน เต็มไปด้วยไม่มีใครเป็นเจ้าของ เกิดมาแล้วก็แปรปรวนแตกสลาย ถ้าเราเห็นชัดด้วยปัญญาอย่างนี้ อยู่พร้อมกับลมหายใจเข้าออกก็ดี หรือพร้อมกับก้าวขาออกเดิน กับเวลาเราปฏิบัติเดินจงกรมก็ดี เวลาเรานั่งสมาธิก็ดี ถ้าไปเห็นล่องหนก็ดี เหาะเหินเดินอากาศก็ดี ก็อยู่ใต้อำนาจอนิจจังเหมือนกัน ถ้าหากว่าไม่อยู่ใต้อำนาจอนิจจัง พระโมคคัลลานะทำไมไม่เหาะ อยู่ถึงทุกวันนี้ก็เสื่อมสูญไปแล้ว ท่านก็เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานไปแล้ว

ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ใดๆ ในโลกล้วนทุกขัง ใดๆ ในโลกล้วนอนัตตา ผู้ใดพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เห็นพร้อมกันในขณะเดียว พร้อมกับลมเข้าออก ผู้นั้นก็จะเบื่อหน่าย คลายเมา ในวัฏสงสาร จะสิ้นความสงสัยในวัฏสงสาร จะเป็นตัวมหาศีล จะเป็นตัวมหาสมาธิ จะเป็นตัวมหาปัญญา จะเป็นภาวนาไม่เรียงแบบ จะไม่ตื่นโวหารของผู้ใดทั้งสิ้น จะไม่ตื่นโวหารภายนอกทั้งสิ้น จะเป็นธรรมชั้นสูง จะเป็นธรรมที่มีขอบเขต จะเข้าสู่โลกุตรธรรม มีสุคติเป็นเบื้องหน้า สุคติทางใจเหมือนพระจันทร์ในวันข้างขึ้น

ลมเข้ามีทั้งเกิดขึ้น มีทั้งแปรปรวน มีทั้งดับไป ลมออก มีทั้งเกิดขึ้น มีทั้งแปรปรวน มีทั้งดับไป ส่อแสดงให้เห็นว่า เป็นสังขารอันละเอียดอยู่แล้ว เป็นโลกอันละเอียดอยู่แล้ว เป็นปัจจุบันโลกอยู่แล้ว อดีตคืออะไร ย่นลงมา คือลมเข้าออกที่ล่วงไปแล้ว อนาคตคือลมเข้าออกที่ยังไม่มาถึง ปัจจุบันคือลมเข้าออกที่กำลังเป็นอยู่ ที่ให้เห็นเป็นพยานเอก เป็นตัวมหาอนิจจังในฝ่ายกายสังขารอันละเอียด ส่วนจิตสังขารที่บัญญัติว่า ลมๆๆๆ แต่ละคำ แต่ละคำ ก็มีเกิด มีแปรปรวน มีดับไป เป็นแต่ละคำๆ พร้อมกัน เหมือนพยับแดด

เมื่อเป็นดังนี้ ในไตรโลกธาตุทั้งหยาบ ทั้งละเอียด ทั้งประณีต ทั้งไกล ทั้งใกล้ ทั้งภายนอก ทั้งภายใน ทั้งที่มีวิญญาณครองสิง และไม่มีวิญญาณครองสิง ก็เกิดขึ้นแล้วแปรปรวนและแตกสลายอย่างผึ่งผายอยู่ ถ้าหากว่า จิตใจจะมาเหนี่ยวรั้งเอาสิ่งเหล่านี้อยู่ในวงแขนของตน ให้เป็นสมบัติพัสถานโดยจริงๆ จังๆ เพื่อความสุขแล้วประตูของความเบื่อหน่ายก็ไม่เปิด เพราะเป็นของไม่จีรังยั่งยืน มันเกิดขึ้นเอง มันแปรปรวนเอง มันแตกสลายเอง แต่หากว่า จิตผู้รู้ก็เป็นแต่สักว่าผู้รู้ จิตก็ดี ลมก็ดี ผู้รู้ก็ดี มิได้เป็นสงครามกัน แต่ความหลงไปเป็นสงครามกันต่างหาก

ความหลงว่าเรา ว่ากู ของกู มึง ของมึง นี่เป็นความหลงสำคัญมาก ของท่าน ของเธอ ของกระผม ของดิฉัน ของพระเดชพระคุณ ก็มีความหมายอันเดียวกัน นอนใจในวัฏสงสาร กับนอนอยู่ในหลุมถ่านเพลิง ก็มีความหมายอันเดียวกัน นอนใจในความหลงของตนที่ยังไม่พ้นเป็นพระอรหันต์ กับนอนในหลุมถ่านเพลิงก็มีความหมายอันเดียวกัน นอนใจอยู่ในคุก ในตะราง คุกกิเลส คุกโลภ คุกโกรธ คุกหลง ก็มีความหมายอันเดียวกัน กับนอนใจในหลุมถ่านเพลิง



(มีต่อ 2)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 06 พ.ย.2006, 2:58 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

โพเธตา พระบรมศาสดาสอนให้ตื่นอยู่ด้วยสติ จงอย่านอนใจเน้อ พุทธบริษัททั้งหลาย ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา เดี๋ยวพวกเธอทั้งหลายจะเสียใจในภายหลังนะ เวลามีกำลังวังชา จงรีบเร่งภาวนา เพื่อพ้นทุกข์ในวักสงสารเสียเถิด เดี๋ยวจะเสียใจในภายหลัง เราตถาคตเมตตาพวกเธอทั้งหลาย จึงบอกด้วยความสุภาพ ไม่ได้ข่ม ไม่ได้ชวนเชื่อ ไม่ได้ข่มเหง ความไม่ยินดีในโลกทั้งปวงชนะตัณหา ชนะกองทุกข์ด้วย ชนะพืชที่จะปลูกไปในภพต่อๆ ด้วย ถ้าไม่ยินดีโดยการแยบคาย ไม่ใช่ไม่ยินดีได้ยินตามสัญญา

ผู้ที่เอือมระอาในวัฏสงสารอย่างแยบคาย ไม่ได้เอือมระอาแบบมีโกรธสัมปยุต ผู้นั้นมีศีล สมาธิ ปัญญา ของเขามีกำลังแล้วมีพลังรวมกันแล้วเป็นเชือก ๓ เกลียว เขาจะไม่มาท่องเที่ยวในวัฏสงสารนานอีกเลย ผู้ใดตะเกียกตะกายแต่ในทางวัตถุนิยมถ่ายเดียว ไม่มองเหลียวดูทางพ้นทุกข์ในวัฏสงสารเป็นเหตุให้เนิ่นนาน ในทางพ้นทุกข์ในวัฏสงสาร เพราะบารมียังอ่อน อินทรีย์ยังอ่อน สตินทรีย์ วิริยินทรีย์ ปัญญินทรีย์ สมาธินทรีย์ยังอ่อน เห็นดินขณะเดียวก็เห็นไตรโลกธาตุ เพราะไตรโลกธาตุเต็มไปด้วยธาตุดิน เห็นน้ำขณะเดียวกันก็เห็นรอบไตรโลกธาตุ

นั่งอยู่บัลลังก์เดียวก็เห็น เพราะไตรโลกธาตุเต็มไปด้วยน้ำ เห็นไฟภายนอกขณะจิตเดียว ก็เห็นรอบไตรโลกธาตุ เพราะไตรโลกธาตุเต็มไปด้วยไปภายนอก เรียกว่าเห็นธาตุ เห็นธรรม ก็เหมือนกัน เห็นความแก่ เจ็บ ตาย แต่ละอย่าง แต่ละอย่าง ก็เหมือนกัน เห็นในปัจจุบันชัด ก็เห็นรอบในไตรโลกธาตุ ทั้งอดีตด้วย ทั้งอนาคตด้วย ทั้งปัจจุบันด้วย เห็นความตายชัดในปัจจุบัน ความตายในอดีต อนาคตก็ต้องชัด ไม่ต้องสงสัยอีก ถ้าอย่างนั้นก็เห็นตามสัญญา ถ้าไปสงสัยอีก ได้ยินแต่เขาว่า แก้วเจ้าขา กินข้าวกับกล้วย ถ้าเห็นชัดด้วยปัญญาของตนแล้วก็ไม่ต้องสงสัย

ไม่ได้สงสัยโลกด้วยจดหมายโกหกพกลมกัน ทุกวันนี้ ดิฉัน ผม อาตมาภาพในทางนี้ก็สบายดีออก ก็พูดตามสมมติ ในเวลาไม่เจ็บป่วยก็พูดตามสมมติ แต่ความจริงแล้วยังไม่พ้นทุกข์ในวัฏสงสาร จะเอาความสบายมาแต่ที่ไหน ถ้าจิตใจมีกิเลสอยู่ก็พูดกันตามสมมติ คนหนึ่งอยู่จังหวัดพังงา เขาเขียนจดหมายมาหา บ้านเมืองของเขา บ้านของเขาก็เป็นที่ถาวรมั่นคง เขาบอกว่าที่พักชั่วคราว บ้านของเขาก็ถาวร มั่นคงอยู่ เขาก็บอกว่าที่พักชั่วคราว ที่พักชั่วคราวจริงอยู่ เพราะไม่อยู่พอร้อยปีก็ตาย เรียกว่าพักชั่วคราว ไม่ว่าแต่เท่านั้น เห็นความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ก็มีกำลัง

ก็ไม่เพลินในวัฏสงสารจนลืมตัว ผู้ใดเห็นภัยในวัฏสงสารอย่างเต็มที่ ผู้นั้นเป็นภิกษุอย่างเต็มที่ จะเป็นหัวดำหัวขาวสักเพียงไหนก็ตาม จะเป็นเพศอะไรก็ตาม ภิกษุในทางปรมัตถ์ พระบรมศาสดายืนยัน ความเห็นภัยในวัฏสงสารอย่างเต็มที่กับความดับเพลินในวัฏสงสารอย่างเต็มที่ก็มีรสชาติเป็นอันเดียวกัน ความไม่นอนใจในวัฏสงสารกับความไม่นอนใจในกิเลสของตน ก็มีความหมายอันเดียวกัน เว้นไว้แต่ไม่ต้องการ คราวไหนที่จิตใจอยู่ห่างเหินกรรมฐาน พอได้ยินเสียงอะไรตูม ก็สะดุ้งผวา เพราะกิเลสตัณหากลัวตาย

คราวไหนมีสติอยู่กับกรรมฐาน อะไรตูมลง มันก็เฉย มันไม่สะดุ้ง เราสังเกตใครๆ สังเกตก็รู้ดี เห็นคุณในปัจจุบัน พวกที่วางของตูมๆ ตามๆ ก็คือสติไม่อยู่ที่ หลวงปู่มั่น จับของไม่มีกระทบกระเทือน จับขึ้นก็รู้ วางลงก็รู้ หลวงปู่มั่น ถ้าหัดให้มีสติอยู่กับตัวก็ภาวนาง่าย สังเกตดู เราก็รู้จักเวลาจับสิ่งของ เปรื่องปร่าง เพราะสติไม่อยู่กับตัว ไม่อยู่กับที่จับ ไม่อยู่กับที่วาง เดี๋ยวเรากำหนดลมหายใจเข้าออก แล้วเดี๋ยวจิตก็ไปจับอันนั้น เดี๋ยวจิตก็ไปจับอันนี้ ทรมานยากเหมือนกัน เหมือนลิง มันขึ้นอยู่กับความยินดี มันก็ขึ้นอยู่กับความพอใจอีกด้วย ขึ้นอยู่กับความเชื่ออีกด้วย จิตที่ไม่ทรมานก็คล้ายๆ กับร่างกายไม่อาบน้ำ ไม่ทรมานในทางธรรมะ

ก็คล้ายกับว่า ร่างกายที่หิวอาหารแล้วไม่รับประทานให้มัน จิตกินอาหารอยู่ไม่มีกลางวันกลางคืน คือนึกคิดก็ให้นึกคิดไปในทางที่ดี ก็เรียกว่ากินอาหารดี ถ้านึกคิดไปในทางเบียดเบียนตนและผู้อื่น ออกจากธรรมของพระบรมศาสดาแล้ว ก็เรียกว่าจิตกินอาหารไม่ดี พบอะไรก็คว้าใส่ปากเจอก้าง จิตเป็นของนึกคิดแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่เอามาดื่มมากิน มาฉัน มาทาน ตาสำหรับดูสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ต้องดู เช่น ดูหนัง ดูละคร ดูลิเก เป็นต้น ดูหนังก็ดูหุ่น ดูหุ่นก็ดูหนัง โทรทัศน์ก็เหมือนกัน สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ฟังเสียงร้องเพลง แต่ฟังเพื่อน้อมมาเป็นธรรมก็เป็นสถานหนึ่ง ฟังเพลินไปกับเขา มันก็ขัดต่อศีลธรรมของเราอีกเหมือนกัน นันทิ ความเพลิน

แก่ เราก็เห็นเต็มตา เจ็บ เราก็เห็นเต็มตา ตาย เราก็เห็นเต็มตา ตายจากเช้า สาย บ่าย เที่ยง เราเกิดมาเลื่อนตำแหน่งมาหลายตำแหน่งแล้ว เกิดมานิดๆ ตัวนิดๆ เลื่อนตำแหน่งมาตัวโตๆ ปฏิสนธิในครรภ์พระมารดา เลื่อนตำแหน่งใหญ่โตขึ้น มีหู มีตา จนถึงเลื่อนตำแหน่งคลอดออกมา เลื่อนตำแหน่งมาจนถึงเป็นคุณหนู เป็นเด็กชาย เด็กหญิง เป็นนางนั่น นางนี้ ก็ว่าตามโบราณ เป็นคุณนั้น คุณนี้ เป็นคุณยาย เป็นคุณตา เลื่อนไปอีก เลื่อนไปอีก เลื่อนตำแหน่งไปอีก ก็เลื่อนเข้ากองไปทีนี้

แต่จิตใจนั้นเลื่อนตำแหน่งออกจากบาปมาหาบุญหรือไม่ก็เป็นอีกสถานหนึ่ง ก็เป็นหน้าที่เจ้าตัวจะพิจารณาตัวเอง ของใครของมัน จะใส่ร้ายป้ายสีกันก็ไม่ได้ กายแก่เป็น ชราเป็น ตายเป็น แต่จิตตายไม่เป็น จิตตายมี ๒ อย่าง ตายจากความดีหนึ่ง เรียกว่าจิตตาย จิตตายชั้นสุดท้าย คือตายจากกิเลส ไม่มีกิเลส เรียกว่าตายสุดท้าย ไม่เกิดอีก ที่เรียกว่าจิตไม่ตายก็มีอยู่ ๒ ประเภท จิตไม่ตายเพราะศีลธรรม เพราะปฏิบัติศีลธรรมอยู่ จิตไม่ตายเพราะถึงพระนิพพาน ไม่มาเกิด แก่ เจ็บ ตายอีกอันนั้น ทีนี้ท่านผู้ใดเคยภาวนาอันใด ก็ภาวนาลง อย่าไปสงสัยพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาอยู่ที่ไหนล่ะ ถามตนเองอย่างนั้น เอากำปั้นตีหน้าอกตนเอง นี่ๆๆ บอกอย่างนั้น อริยธมฺเม ฐิโต นโร อริยธรรมอยู่ที่นรชน ผู้ชอบพิจารณาสกลร่างกายก็พิจารณาเพื่อให้มีข้อวัตร เราทำไปทุกวัน ทุกวัน จิตใจเราไม่อยู่เหมือนเก่า มันสูงขึ้น ถึงร่างกายจะเก่าก็ตาม เขาทำบาปแต่ละวันๆ บาปก็ไม่อยู่เท่าเก่า มันก็สูงขึ้นๆ ในใจของเขาน่ะ บาปบวกบาป บุญบวกบุญ มันบวกอยู่ที่ใจ บุญคุณบุญ อยากจะเห็นบาปก็ดูที่ใจ ถ้าใจทำมันก็มี ถ้าใจไม่ทำ มันก็ไม่มี อยากเห็นบุญก็ดูใจ อยากเห็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ดูใจ อยากเห็นสมาธิก็ดูใจ อยากเห็นปัญญาก็ดูใจ

ถ้าใจตั้งมั่นก็เรียกว่าสมาธิ ถ้าใจรอบรู้ในกองสังขารก็เรียกว่าปัญญาเท่านั้น อยากเห็นกิเลสก็ดูใจ ถ้าใจมีโลภ มีโกรธ มีหลง ก็อยู่ที่ใจ ถ้าใจพ้นแล้วมันก็พ้นอยู่ที่ใจ จะไปดูที่อื่น มันก็ไม่เห็นทั้งนั้น ดูของที่มันมีอยู่ ใครเป็นผู้สงสัย พระพุทธศาสนาก็คือใจ ถ้าใจไม่สงสัยพระพุทธศาสนา ใจก็รู้ว่าใจไม่สงสัย ใจเลื่อมใสพระพุทธศาสนาหรือไม่ ถ้าใจเลื่อมใส ใจก็ตอบใจได้ ถ้าใจไม่เลื่อมใส ใจก็ตอบใจไม่ได้ ถ้าไม่เลื่อมใส ก็ใจนั่นแหละตอบใจ ถ้าไม่เชื่อพระพุทธศาสนา ใจนั่นแหละตอบใจ

ถ้าใจเชื่อพระพุทธศาสนา ก็ใจตอบใจเหมือนกัน ฟังเทศน์ก็คือ ฟังใจผู้เทศน์ ก็เอาใจเทศน์ ผู้ฟังก็เอาใจฟัง ตกลงก็เป็นธรรมกถึกเอกทั้งสอง ทั้งผู้ฟัง ทั้งผู้เทศน์ ถ้าคนไม่มีใจ ก็ฟังเทศน์ไม่เป็น ถ้าคนไม่มีใจก็เทศน์ไม่เป็น ตกลงเรื่องเทศน์ก็คือเทศน์ใจ ฟังก็คือฟังใจ ปฏิบัติก็คือปฏิบัติใจ ไม่ปฏิบัติก็คือไม่ปฏิบัติใจ ได้ประโยชน์ก็คือใจเป็นผู้ได้ ไม่ได้ประโยชน์ ก็คือใจเป็นผู้ไม่ได้ ขาดทุนก็ใจเป็นผู้ขาดทุน ไม่ขาดทุนก็ใจเป็นผู้ไม่ขาดทุน เพราะผู้นั้นเป็นผู้รู้จัก อันอื่นไม่รู้จัก



......................................................

คัดลอกจาก
http://www.dharma-gateway.com/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง