Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ๑๐. เวสสันดรชาดก : บำเพ็ญทานบารมี อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 10 ต.ค.2006, 8:51 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

๑๐. เวสสันดรชาดก
บำเพ็ญทานบารมี


เป็นเรื่องที่มีผู้รู้จักกันมาก เพราะตั้งแต่โบราณกาลมาทีเดียว ที่การเทศน์ที่เรียกกันว่า มหาชาติ ๑๓ กัณฑ์ ซึ่งแต่งเป็นร่ายยาวด้วยท่วงทำนองอันเพราะพริ้ง และแต่ละกัณฑ์ทำนองไม่เหมือนกันเลย ซึ่งนักเทศมหาชาติ ทั้งหลายจะรู้จักกันดี มิใช่แต่เท่านั้น สมัยพระบรมโกศากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ได้แต่งมหาคำหลวง อันประกอบไปด้วยร่ายและโคลงเป็นทำนองสำหรับสวดให้ผู้ที่มาจำอุโบสถศีลฟัง ในโรงเรียนก็ใช้มหาชาติเป็นหนังสือเรียน ทั้งกลอนเทศน์และคำหลวง แต่ก็เฉพาะบางกัณฑ์เท่านั้น

ผู้ที่นิยมนับถือ เรื่องเวสสันดรกันมากนี้ เพราะมีเรื่องจากหนังสือฎีกามาลัยกล่าวไว้ว่า หากผู้ใดได้ฟังมหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ในวันเดียวและบูชาธูปเทียนดอกไม้ ๑,๐๐๐ เท่าจำนวนคาถานั้นแล้ว จะได้พบศาสนาพระศรีอาริย์ และศาสนาพระศรีอารีย์นั้นพรรณนาไว้อย่างวิเศษ เป็นต้นว่าผู้หญิงงดงามเสมอกันหมด จนกระทั่งลงจากเรือนแล้วจำกันไม่ได้ แม่น้ำลำคลองจะมีน้ำไหลขึ้นมาข้างหนึ่ง และไหลลงข้างหนึ่ง จึงทำให้เปี่ยมฝั่งอยู่เสมอ แผ่นดินก็ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อเรียบเป็นหน้ากลอง และอะไรอีกมากมาย เลยทำให้คนอยากพบศาสนาพระศรีอารีย์กันมาก

พากเราๆ ถ้าอยากจะพบบ้างก็ไม่ยาก ฟังนิทานพระเจ้าสิบชาติให้จบในวันเดียว ตั้งใจให้ดีเหมือนในเรื่องนิทานแล้วก็จะได้พบศาสนาพระศรีอาริย์ฯ ทีนี้จะเริ่มเล่าเรื่องของเวสสันดรล่ะนะ

ในสมัยก่อนมีกษัตริย์พระองค์หนึ่ง พระนามว่า สีพีราช เสวยราชสมบัติในกรุงสีพีราชบุรี มีพระโอรสพระองค์หนึ่งนามว่า สญชัย และให้ครองราชสมบัติเมื่อมีอายุสมควรแล้วได้อภิเษกกับ พระนางผุสดี ราชธิดากษัตริย์มัททราช

เรื่องของพระนางผุสดีนั้นก็เรื่องออกจะยืดยาว โดยกล่าวว่าเมื่อพระวิปัสสีพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกแล้ว พระเจ้าพันธุมราชเสวยราชสมบัติอยู่ในพันธุมดีนคร มีเมืองขึ้นส่งดอกไม้ทอง และแก่นจันทร์มาถวายเป็นเครื่องบรรณการ พระองค์ก็ทรงพระราชทานดอกไม้ทองให้แก่ราชธิดาผู้น้อง ส่วนแก่นจันทร์แดงให้แก่ราชธิดาผู้พี่

ราชธิดาทั้งสองนั้นเลื่อมใสในพุทธศาสนา ผู้น้องก็เอาดอกไม้ทองให้ช่างทำเป็นเครื่องประดับอก ซึ่งสมัยนี้ก็อาจจะทำเป็นจี้ห้อยคอก็เป็นได้ แล้วนำไปถวายพระวิปัสสีพุทธเจ้า พร้อมกับตั้งปรารถนาไว้ “เกิดชาติหน้าฉันใด เมื่อข้าเกิดในชาติใดขอให้ดอกไม้ทองนี้จงบังเกิดแก่ข้าพเจ้าทุกชาติ”

ส่วนราชธิดาผู้พี่นั้น ให้เขาบดจันทร์แดงเป็นผง แล้วนำไปถวายพระวิปัสสีพุทธเจ้า พร้อมกับตั้งความปรารถนาว่า “หากข้าพเจ้าเกิดในชาติใดๆ ขอให้ได้เป็นมารดาของพระพุทธเจ้าเถิด”

ทั้งสองได้จุติจากชาตินั้น ผู้น้องได้ไปเกิดเป็นราชธิดาของพระเจ้ากิงกิสราช มีเครื่องประดับอกเกิดพร้อมกับปฎิสนธิ เมื่อเจริญวัยได้ฟังเทศน์ของพระกัสสปพุทธเจ้าก็สำเร็จอรหันต์นิพพานในสมัยกาลนั้น ส่วนนางราชธิดาผู้พี่ ก็ได้มาเกิดเป็นราชธิดาของพระเจ้ากิงกิสราชเหมือนกัน แต่ต่างมารดา จุติจากชาตินั้นแล้วก็ไปบังเกิดในดาวส์ดึงสวรรค์ เป็นมเหสีของท้าวอมรินทราธิราช ทรงพระนามว่า ผุสดี

อยู่มาจนกระทั่ง วันหนึ่งท้าวอมรินทราราชได้เห็นว่าพระนางจะจุติลงไปแล้ว จึงพานางลงไปยังสวนนันทวัน เพื่อให้รื่นเริงไม่ระลึกถึงอะไร พอได้โอกาสก็ตรัสว่า “เจ้าจงไปเกิดในเมืองมนุษย์โลกแล้ว เราจะให้พรเจ้า ๑๐ ประการ”

“ทำไมกระหม่อมฉันจะต้องลงไปเกิดในมนุษย์โลก”

“เพราะว่าเจ้าสิ้นบุญของน้องที่จะอยู่ที่นี่แล้ว จงรับเอาพร ๑๐ ประการเถิด”

เมื่อนางได้สดับก็คิดสลดใจ และได้ขอพรแก่ท้าวสหัสนัยดังนี้

๑. ขอให้ไปเกิดในปราสาทเมืองมัทราช

๒. ขอให้ตาข้าพเจ้าดำขลับดุจเนื้อทราย

๓. ขอให้ขนคิ้วข้าพเจ้าเขียวขำ เปรียบดุจสร้อยคอนกยูง

๔ .ขอให้ได้นามว่า ผุสดีเหมือนเดิม

๕. ขอให้มีโอรสที่ยิ่งใหญ่กว่าเจ้าพระยาทั้งหลายในสากลชมภูทวีป

๖. เมื่อทรงครรถ์อย่าให้ครรภ์ข้านูนเหมือนหญิงสามัญให้คงปกติราบเรียบเหมือนก่อน

๗. ถันของข้าพระองค์ยามเมื่อมีโอรสอย่าได้หย่อนยานและดำผิดไปจากเดิม

๘ ขอให้เกศาข้าพเจ้าดำขลับไม่รู้จักหงอก

๙. ขอให้ผิวกายข้าพระเจ้าบริสุทธิ์สอาด ธุลีหรือผงละอองไม่สามารถจะติดผิวกายอันละเอียดอ่อนนุ้มได้

๑๐. ขอให้ข้าได้ช่วยชีวิตผู้ที่ต้องราชอาญาได้


รวมเป็นพร ๑๐ ประการ ที่พระนางทูลขอท้าวอมรินทร์ซึ่งท้าวเธอก็ปราสาทให้ดังประสงค์ พระนางก็จุติลงมาเกิดในปราสาทกษัตริย์มัททราช เมื่อประสูติออกมาแล้วพรทั้งปวงก็ปรากฎแก่นางเช่นกัน แต่ยังมีบางข้อซึ่งพระนางยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่สามารถจะมีพระสวามีได้ ครั้นพระชนม์ได้ ๑๖ ปี ก็เป็นมเหสีของพระเจ้าสญชัยกรุงสีพีราช สมเด็จท้าวอมรินทร์รู้ว่าพระนางผุสดีอภิเษกแล้ว ก็คิดว่าพรทั้ง ๑๐ ยังไม่สมบรูณ์แก่พระนาง จำจะต้องสงเคราะห์ เพื่อให้ได้พรครบบริบูรณ์ จำจะต้องอารักษ์ทั้งหลายพากันไปทูลเชิญอาราธนาพระโพธิสุตว์จากดุสิตลงสู่พระครรภ์ของพระนาง

เมื่อพระนางทรงครรภ์ถ้วนทศมาสใกล้คลอด เกิดอยากจะเสด็จประพาสพระนคร จึงได้ทูลลาพระภัสดา ซึ่งท้าวสญชัยก็ตามพระทัยให้ เสด็จพระพาสโดยขบวน ตราบจนพระทั่งถึงตรอกพ่อค้า ก็เกิดปวดพระอุทรจะประสูติ พนักงานก็จัดที่ถวายพระนางก็ประสูติพระราชโอรส ณ ที่นั้น พระโอรสก็เลยได้พระนามว่า เวสสันดร ซึ่งแปลว่าระหว่างพ่อค้า ในระหว่างที่ประสูติแล้ว พอพระกุมารลืมพระเนตรก็ถามพระมารดาถึงทรัพย์ที่จะทำทาน อันผิดแปลกจากประชาชนสามัญ ซึ่งกว่าจะพูดได้ก็ตั้ง ๓ เดือน ๖ เดือน หรือหนึ่งปีขึ้นไป พระราชมารดาก็พระราชทานทรัพย์ออกให้ทาน



>>>>> มีต่อ หน้า ๒
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 10 ต.ค.2006, 8:54 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

กล่าวถึงนางพญาช้างฉัททันต์ อันท่องเที่ยวไปในอากาศได้ นำลูกช้างเผือกบริสุทธิ์มาไว้ในโรงช้างต้น และต่อไปช้างนั้นก็ได้นามว่า ปัจจัยนาเคนทร์ ช้างเกิดสำหรับบุญของพระเวสสันดร พระชนม์ได้ ๔ – ๕ พรรษา ก็ได้เปลื้องเครื่องประดับ พระราชทานแก่พี่เลี้ยงนางนมหมดด้วยกันถึง ๗ ครั้ง

เมื่อมีพระชนมายุได้ ๑๖ ก็ได้เสวยราชสมบัติ และสู่ขอพระมัสทรีตระกูลมาตุลราชวงศ์ มาอภิเษกให้เป็นมเหสีของท้าวเธอ พระองค์ยินดีในการให้ทาน ได้ตั้งโรงทานถึง ๖ แห่งในพระนคร คือที่ประตูเมืองทั้ง ๔ และกลางเมือง และอีกแห่งหนึ่งก็คือที่ประตูพระราชวัง พระองค์เสด็จออกทอดพระเนตรการให้ทานอยู่เป็นเนืองนิจ ตราบจนกระทั่งพระนางมัทรีประสูติโอรส บรรดาพระญาติได้รับข่ายทอง และถวายพระนามว่าชาลี และต่อมาก็ได้ประสูติพระราชธิดา บรรดาพระญาติก็รับด้วยหนังหมี จึงได้นามสมญาว่ากัญหา

ในวาระนั้นเมืองกาลิงครัฐเกิดข้าวหมากแพง เพราะฝนแล้งไม่ตกต้องตามฤดูกาล ประชาชนก็พากันไปชุมนุมหน้าพระลานร้องทุกข์แก่พระเจ้ากาลิงคราช พระเจ้ากาลิงคราชพิจารณาดูพระองค์ว่าผิดศีลทศพิธราชธรรมประการใดก็ไม่เห็น จึงรักษาอุโบสถศีลสิ้นเวลาถึง ๗ วัน ฝนก็ไม่ตก ความความเดือดร้อนก็เพื่มพูนแก่ประชาชนพลเมืองยิ่งขึ้น เสียงร่ำร้องให้ช่วยก็แซ็งแซ่ไปทั้งพระนคร

พระเจ้ากาลิงคราชหมดปัญญาที่จะทำให้ฝนตกได้ เพราะแม้ราฎรประชาชนพลเมืองจะพากันแห่นางแมว และเซ่นสรวงเทพาอารักษ์ขอให้ฝนตก ฝนก็ไม่ตกไปได้ ความร้อนก็แผ่ขยายไปทั่วประเทศ ต้นไม้ใบหญ้าแทบจะกรอบเกรียมไปด้วยความร้อน พระองค์จึงทรงปรึกษากับบรรดาอำมาตย์ราชปุโรหิตว่าจะทำอย่างไรดี จึงจะให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลได้ เพราะทำอะไรมากมายหลายอย่างแล้งฝนก็ไม่ตก อำมาตย์คนหนึ่งคิดขึ้นมาได้จึงกราบทูลขึ้นว่า

“ขอเดชะ เมืองสีพีเป็นเมืองสมบูรณ์ไปด้วยข้าวปลาธัญญาหารทั้งปวง เพราะพระเวสสันดรกษัตริย์สีพีเสด็จขึ้นคอคชสารปัจจัยนาเคนทร์ เสด็จไปทั่วพระนคร ช้างตัวนี้วิเศษจริงๆ พระเจ้าค่ะ ไปที่ไหนฝนฟ้าก็ตกที่นั้น”

“ถ้าอย่างนั้นก็ดีน่ะสิ ทำอย่างไรจึงจะขอยืมมาใช้ได้ล่ะ”

อำมาตย์อีกผู้หนึ่งจึงทูลว่า “ขอเดชะ ถ้าเป็นพระเวสสันดรเห็นจะไม่ยากนัก เพราะองค์ทรงยินดีในการให้บริจาคทาน หากส่งพราหมณาจารย์ฉลาดในเชิงพูดไปทูลขอก็เห็นจะสำเร็จดังประสงค์”

“ถ้าอย่างนั้นก็ดี ประชาชนพลเมืองทั้งหลายจะได้หายเดือดร้อน เราเองก็จะสบายใจ เพราะพลเมืองของเราก็จะร่มเย็นสุข ท่านปุโรหิตผู้ใหญ่จงจัดพราหมณ์ไปพร้อมกันรวม ๘ คนด้วยกัน ไปทูลขอมาให้ได้”

“เมื่อรับคำสั่งมหาพราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิตก็คัดเลือกผู้ที่จะไปได้พร้อมแล้วก็ออกเดินทางไปยังกรุงสีพี เพื่อจะทูลขอช้างเผือกปัจจัยนาเคนทร์ ถึงกรุงสีพีเป็นเวลาที่พระเวสสันดรออกมาให้ทานก็ได้ติดตามไป

จนได้โอกาสเหมาะก็ได้ทูลขอช้างปัจจัยนาเคนทร์ซึ่งพระองค์ก็บริจาคให้โดยดี พราหมณ์ทั้ง ๘ ก็ขับขี่ช้างเพื่อนำกลับไปยังกาลิงครัฐ ผ่านประชาชนพลเมืองเป็นพราหมณ์ขี่ช้างเผือกยอดพาหนะของพระเวสสันดรก็ตระโกนด่าว่าด้วยถ่อยคำที่หยาบคายว่า ไม่รู้จักสำนึกกระลาหัวไปขึ้นขี่พาหนะทรงของในหลวง และยังแถมว่าเป็นผู้ร้ายลักช้างเสียด้วย หากพราหมณ์เหล่านั้นก็กล่าวเยอะเย้ยว่าพวกชาวเมืองไม่รู้อะไร ช้างนี้พระเวสสันดรพระราชทานให้ต่างหาก มิฉะนั้นแล้วพวกตนจะไปเอามาได้อย่างไร แล้วก็ขับช้างบ่ายหน้าไปกาลิงครัฐ

เมื่อช้างไปถึงแล้วฟ้าฝนก็ได้ตกลงมาห่าใหญ่ เป็นอันว่าความแห้งแล้งอดอยากทั้งหลายก็หายไป เมืองกาลิงครัฐความร้อนก็ค่อยบรรเทาเบาบางลง ความชุ่มชื่นก็ปรากฎขึ้น หญ้าก็เริ่มแตกระบัด ต้นไม้ผลิดอกออกช่อแตกใบเขียวชอุ่ม มองไปทางไหนก็มีแต่สีเขียวพรืดไปหมดทั้งประเทศ เพราะอภินิหารของปัจจัยนาเคนทร์ ช้างคู่บุญของพระเวสสันดร

ชาวบ้านชาวเมืองสีพีเห็นพราหมณ์ขับขี่ช้างมงคลประจำเมืองออกไปเสียเช่นนั้นก็พากันโกรธเคือง พากันเดินขบวน ว่าที่จริงครั้งก่อนก็แก่เดินขบวนเหมือนกัน แต่ไม่มีป้ายประณามหรือคำขวัญต่างๆ หรือประท้วงอดอาหารอย่างสมัยนี้ พากันเดินไปชุมนุมกันที่หน้าพระลานเรียกร้องให้พระเจ้ากรุงสญชัยออกมาพบ

“พวกเราจะพินาศ พวกเราจะพากันเดือดร้อน เพราะเจ้าเวสสันดรให้ช้างเผือกคู่บ้านคู่เมืองไปเสียแล้ว อีกหน่อยก็คงจะยกบ้านยกเมืองให้คนอื่นเสียอีก ใครเขาจะขจัดความเดือดร้อนได้ พระเจ้าสญชัยจะจัดการอย่างไร ถ้ามิฉะนั้นประชาชนก็จะจัดกันการเสียเอง” เสียงประชาชนโห่ร้องกึกก้อง เรียกร้องจะลงโทษเจ้าเวสสันดร

พระเจ้ากรุงสญชัยเห็นจะไม่ได้การ จึงเสด็จออกไปยังพระลานพร้อมกับตรัสว่า

“ประชาชนทั้งหลาย ฉันขอบใจพวกเธอที่มีอะไรก็รีบมาบอกกล่าวกัน เรื่องทั้งหลายฉันจะจัดการให้” ตรัสยังมิทันขาดคำ พวกประชาชนพากันโห่ร้องกับมีเสียงตะโกนออกมา

“มิใช่จะจัดการ ต้องจัดการเดี๋ยวนี้”

“จะให้เราจับเจ้าเวสสันดรมาประหารหรืออย่างไร” เสียงเงียบไปชั่วขณะ แล้วมีเสียงตอบกลับออกมาว่า”

“มิใช่ประหาร เราต้องการให้ขับไล่ออกเสียจากนอกเมือง เพราะขืนให้อยู่ต่อไปพวกเราจะเดือดร้อน เดี๋ยวใครๆ รู้ก็จะพากันมาขอ แล้วถ้าเกิดมีคนมาขอบ้านเมืองขอแผ่นดินเจ้าเวสสันดรก็คงจะยกให้เขาไป แล้วพวกเราจะอยู่อย่างไร”

“เอาล่ะ เมื่อพวกเจ้าต้องการเช่นนั้น เราก็จะจัดการเนรเทศให้” แล้วประชาชนก็พากันกลับไปยังบ้านเรือนของตน

เป็นยังไงบ้าง ประชามิติร้ายแรงแค่ไหน ถ้าป็นสมัยนี้บางทีคนพูดนั้นเหละ อาจจะถูกเนรเทศแทนเจ้าเวสสันดรก็อาจเป็นได้ใครจะรู้ ดีไม่ดีอาจจะโดนอุ้มเงียบหายสาบสูญก็ได้

เมื่อประชาชนกลับไปแล้ว ท้าวสญชัยก็ดำรัสสั่งให้ไปบอกเจ้าเวสสันดรว่า ประชาชนต้องการให้ขับไล่ออกไปเสียจากเมืองเพราะเหตุผลให้ช้างคู่เมืองไป เพราะฉะนั้นวันพรุ่งนี้ต้องออกจากเมืองไป


นายนักการไปทูลให้ทราบแล้ว พระเวสสันดรมิได้ตกพระทัยเลย กลับตรัสว่า “อย่าว่าแต่ช้างซึ่งเป็นของนอกกายเลย แม้ชีวิตร่างกายของเราถ้าใครต้องการเราก็จะให้ แต่ก่อนเราจะไปจากเมืองนี้ขอให้ทานจนจุใจสักหน่อย สัก ๒ วันเท่านั้นแล้วเราก็จะไป”

เมื่อความที่จะเนรเทศพระเวสสันดรเสียจากเมืองรู้ไปถึงข้างใน สาวสนมกรมในพากันร้องไห้เสียงอื้ออึง ส่วนพระมัทรีได้รับทราบข่าวภัดดาซึ่งมาบอกก็ขอตามเสด็จไปด้วย ถึงกับยื่นคำขาดว่า

“จะบุกป่าฝ่าดงไปแห่งใด ข้าพระบาทจะตามเสด็จไปไม่ขออยู่ จะเอาขีวิตและกายนี้สู่สนองพระคุณจนกว่าจะสิ้นบุญข้ามัทรี แม้พระองค์มิพรงอนุญาตให้ตามไป ข้ามัทรีจะก่อกองไฟให้รุ่งโรจน์โดดเข้า ตายดีกว่าจะอยู่เป็นม่ายให้อายคน” พระเวสสันดรก็เลยต้องยอมให้นางติดตามไปด้วย และพระนางมัทรีได้พรรนาวงกตคีรีประเทศ ป่าหิมมพานต์เหมือนหนึ่งพระนางได้เคยพานพบมาได้อย่างอัศจรรย์ ทั้งพฤกษชาติและสัตว์นานาชนิดอย่างเพลิดเพลินเจริญใจ ใครฟังแล้วแทบจะคิดว่าเป็นเมืองแดนมนุษย์ ถ้าจะเทียบก็คงจะสนุกสนานมโหฬารปานสวนสามพราน หรือทิมแลน ซึ่งเห็นสถานที่ให้ความสุขทั้งกายและใจ

Image

พระนางผุสดีเล่าได้ทราบข่าวก็รีบไปหาเจ้าเวสสันดรและมัทรีปลอบประโลมใจ แล้วเลยไปเฝ้าพระสญชัยขอให้ไม่ต้องเนรเทศ แต่ท้าวเธอก็ไม่ยินยอม แม้จะทูลวิงวอนสักเท่าไหร่ ท้าวเธอก็มิได้ทรงอำนวยตาม พระนางก็ต้องโศกากลับมาหาพระเวสันดรและพระนางมัทรี เล่าความที่ได้กราบทูลให้ฟังทุกประการ ซึ่งพระองค์ก็ได้แต่สลดใจ เมื่อพนักงานได้จัดสัตตสตกมหาทาน คือให้ทานสิ่งละ ๗๐๐ เรียบร้อยแล้ว ทั้งสองพระองค์ก็เสด็จออกเดินทางไปเขาวงกต ท้าวสญชัยตรัสขอให้พระโอรสและพระธิดา คือชาลีและกัณหาอยู่ในเมืองเพราะกลัวลำบาก แต่พระนางมัทรีกับทูลโต้ว่า

“นับประสาแต่พระโอรสยังถูกชาวเมืองขับ หากเป็นพระเจ้าหลานก็น่ากลัวจะต้องถึงประหาร เพราะฉะนั้นเจ้าทั้งสองอย่าอยู่ในบ้านในเมืองเลย ถึงตกระกำลำบากด้วยประการใดหม่อมฉันก็จะทนทรมานไป ไม่ทิ้งสองพระหน่อเลย” เป็นทั้งคำพ้อและถามต่อว่า ทำเอาท้าวสญชัยพูดไม่ออกได้แต่กลอกหน้า ก็เลยเป็นอันว่า ต้องยอมให้พระนางมัทรีและชาลีกัณหาติดตามไปด้วย

เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานสัตตสตกมหาทานเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เสด็จออกจากเมือง ทั้ง ๔ พระองค์ก็ทรงรถมีม้าเทียมออกเดินทางไปยังเขาวงกต มีพราหมณ์พวกหนึ่งติดตามไปขอม้าที่เทียมราชรถ ท้าวเธอก็พระราชทานให้ดังประสงค์ เมื่อรถไม่มีม้าก็ไม่สามารถจะเดินทางต่อไปได้ ต้องร้อนถึงเทพเจ้าแปลงกายเป็นละมั่งสีเหลืองทองมาเทียมราชรถออกเดินทางต่อไป ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น พราหณ์พวกหนึ่งได้ยินข่าวว่าพระเวสันดรให้ทานก็เดินทางมารับทาน แต่ไม่ทันเลยรีบเดินทางติดตามไป พอทันก็ทูลขอราชรถ ซึ่งท้าวเธอก็พระราชทานให้เทพเจ้าซึ่งแปรงกายเป็นละมั่งก็อันตรธานหายไปจากสถานที่แห่งนั้น ทีนี้หมดทั้งรถทั้งม้าแล้ว แต่ท้าวเธอก็มิได้วิตก เสด็จ ลงเดินไปบนแผ่นดิน ตามหนทางที่พลเมืองทั่งไปเดินพบใครสวนมาก็ถามถึงเขาวงกต ซึ่งเขาเหล่านั้นก็บอกว่ายังไกลและชี้ทางไปข้างหลัง

ทั้ง ๔ พระองค์ก็เสด็จดำเนินไป จนกระทั่งพระโอรสพระธิดาเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจะไปไม่ไหว ก็ช่วยกันอุ้มพระโอรสราชธิดาออกเดินทางต่อไป คือพระเวสสันดรอุ้มพระชาลี ซึ่งค่อนข้างจะโตและมีร่างกายหนักกว่า ส่วนพระนางมัทรีก็อุ้มเจ้ากัณหาซึ่งบอบบางและมีน้ำหนักเบากว่า การออกเดินทางของทั้ง ๔ องค์ ก็เป็นไปด้วยประการเช่นกล่าวนี้

จนกระทั่งถึงนครเจตราฐาจึงไปพักที่ศาลาแห่งหนึ่ง กษัตริย์ในเจตราฐาทราบความก็ออกมาต้อนรับสนทนาปาศรัย จึงได้ทราบว่าพระเวสสันดรถูกเนรเทศ เพราะช้างคู่บ้านคู่เมืองเป็นทานไป จึงได้ขอให้อยู่ครองราชสมบัติในเจตราฐานคร แต่ท้าวเธอกลับค้านว่า

“เพราะว่าเราถูกชาวเมืองสีพีเขารังเกียจ ถึงกับให้ขับไล่ เมื่อพวกท่านมารับเราไว้ ชาวเมืองก็จะเดือดร้อน อาจเกิดเป็นสงครามขึ้นก็อาจเป็นได้ เหตุเพราะชาวชาวสีพีก็พลอยจะโกรธเคืองมายังพวกท่านทั้งหลายด้วย และอนึ่ง เราก็อยากจะบำเพ็ญเพียร สงบจิตใจสักพักหนึ่งก่อน” เมื่อตรัสเช่นนี้แล้ว กษัตริย์เจตราฐาก็ต้องยินยอมจึงบอกหนทาง และได้ตั้งเจตยุตรให้เป็นนายด่านคอยตรวจคนที่ผ่านเข้าไปยังวงกต เพื่อป้องกันมิให้คนเหล่าอื่นเข้าไปรบกวนท้าวเธอได้

รุ่งขึ้นทั้ง ๔ องค์ ก็ได้เสด็จด้วยพระบาทต่อไปตามที่เขาชี้บอก ก็บรรลุถึงเขาวงกต เเละได้บวชเป็นฤาษีอยู่ที่นั้นหมดด้วยกัน



>>>>> มีต่อ หน้า ๓
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 11 ต.ค.2006, 7:04 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ในเวลานั้นในแคว้นกาลิงคราช มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ ชูชก ประกอบด้วยโทษของบุรุษ ๑๘ ประการ ดำเนินชีวิตในทางขอทานอยู่เป็นประจำ แกขอทานมาก็รวบรวมไว้ได้ถึง ๑๐๐ กสาปณ์ ถ้าจะคิดเป็นตัวเงินก็ ๔๐๐ บาทนั้นเอง

“เอ๊ะ นี้เราก้มีเงินเยอะแยะ จะเอาไว้กับตัวน่ากลัวจะถูกโปล้นบีบคอเราตายเข้าสักวันเป็นแน่แท้ สมัยนี้การฉกชิงวิ่งราวและจี้โปล้นก็มีกันออกดาดดื่นเกลื่อนเมืองไปหมด

เมื่อคิดได้เช่นนั้น ตาชูชกก็ออกเดินทางไปยังบ้านของสหายผู้หนึ่ง ครั้นถึงแล้วก็อวดมั่งอวดมี พร้อมกับหยิบเงินร้อยกสาปณ์ออกมา

“นี่เป็นเงินของเราจริงๆ นะ ไม่ใช่เงินของใครอื่น ตั้งร้อยแน่ะเกลอ ครั้นจะเก็บไว้กับตัวหรือก็กลัวไอ้คนที่รู้เค้าเข้ามันจะมาดักจี้ตีชิงวิ่งราวเอาเราแย่แน่ไปด้วย เพราะเราไม่มีใช่หนุ่มเหมือนแต่ก่อนถ้าเหมือนเมื่อก่อนล่ะก็สหายเอ๋ย นี้ไม่ใช่คุยนะ เราก็หนึ่งในกลิงค์เหมือนกัน เรื่องตีฟันแทงแล้วต้องยกให้เรา พอเอ่ยชื่อชูชกใครๆ ก็สั่นหน้าเพราะเขาไม่รู้จัก จริงๆ นะ” พูดไปก็หัวเราะไป สหายทั้งผัวเมียก็พลอยไปด้วย ผู้ผัวจึงถามว่า

“แล้วเกลอเอาเงินออกมาน่ะ จะทำอย่างไร ?”

“อ้าว แล้วกัน ก็ฉันบอกแล้วว่าเงินมันเป็นจำนวนมากมายก่ายกองอย่างนี้ จะเอาไว้กับตัวก็กลัวจะเกิดภัย จึงคิดจะเอามาฝากสหายไว้”

“ได้ จะเป็นไรมี ว่าแต่สหายจะมาเอากลับคืนเมื่อไหร่ล่ะ”

“ยังก่อน เราต้องเดินทางไปอีกร้อยเอ็ดเจ็ดพระนครรวบรวมเงินได้พอเมื่อไหร่ ก็จะกลับมาขอคืน ว่าแต่สหายอย่าแล่นสกปรก ยักย้ายถ่ายเทเอาเอาเงินของเราไปใช้เสียหมดล่ะ คงได้เล่นงานกันทีเดียว”

“เออน่ะ ไม่เชื่อกันหรือไง จะมาเมื่อไหร่ก็มาเอาเถอะ เราน่ะอยู่เสมอ การยักย้ายถ่ายเทของสหาย ก็รู้อยู่แล้วว่าเราเป็นคนอย่างไร ขอบใจนะที่ยังเชื่อเราอยู่” ตาชูชกเมื่อตะแกฝากเงินเรียบร้อยแล้วก็ออกเดินทางขอทานมันเรื่อยไป ไปจนไกลเกิดคิดถึงบ้าน

“กลับเสียทีเห็นจะดีเป็นแน่” เมื่อตาแกคิดเช่นนั้นแล้วก็เดินทางกลับ

ในขณะที่ชูชกกำลังเดินทางขอทานอยู่นั้น ครอบครัวที่รับฝากเงินของตาชูชกไว้ก็เกิดหยิบเงินไปใช้ทีละเล็กละน้อยจนในที่สุดเงิน ๑๐๐ กสาปณ์ก็หมด โดยที่เห็นว่าตาเฒ่าาชูชกแกไปนาน คงจะไปล้มหายตายจากไปเป็นแน่ แต่ความคิดเหล่านี้ใช้ไม่ได้ เพราะชูชกแกกลับมา ไม่กลับเปล่าเสียด้วย แถมไปทวงเงินที่ฝากไว้เสียด้วย พอเดินทางมาถึงเมือง ตาชูชกใจจดจ่ออยู่กับเงินที่ฝากไว้จึงรีบเร่งรีบไปยังบ้านที่รับฝากไว้เพื่อจะขอเงินคืน เห็นบ้านปิดสนิท จึงตะโกนเรียก พอสองผัวเมียรู้ว่าชูชกมาทวงเงินของมันแล้ว

“ตายละหว่า ไอ้ชูชกมันมาเอาเงินคืนแล้ว”

ยายเมียก็เสริมขึ้นมาว่า “แล้วเราจะทำยังไงดีล่ะตา จะเอาที่ไหนให้ล่ะก็เราได้ใช้ไปกันหมดแล้ว”

“ทำใจดีๆ ไว้ก็แล้วกัน พี่จะจัดการเอง” ผู้ผัวว่า

“ถ้ายังงั้นตาก็รับหน้าไปก็แล้วกัน” ยายเมียว่าแล้วก็หลบหน้าไปเสีย เมื่อรู้ว่าเป็นชูชกแน่แล้ว จึงออกมาเปิดประตูแล้วเชื้อเชิญให้ขึ้นไปบนเรือน

“เงินของตูรีบเอามาไวๆ”

“อย่าเพิ่งยุ่งอะไรเลยน่ะ กำลังเหนื่อย นั่งพักผ่อนเสียก่อนเถิด” ยังนั่งไม่ลงหรอกเพื่อน เงิน ของเรารีบเอามาเสียก่อนแล้วค่อยนั่ง”

“มาถึงบ้านแล้วกลัวอะไรนะ เงินทองมันก็อยู่ แต่ดูเพื่อนออกจะรีบร้อนเกินไปสักหน่อยนะ”

“ไม่รีบร้อนได้ยังไงล่ะ เรื่องเงินเรื่องทองเป็นของสำคัญ ใครทำมือห่างเท้าห่างเป็นได้ลำบากกันน่ะสิ”

“แต่ว่าเพื่อนจะไม่นั่งลงก่อนรึ”

“ถ้าไม่มีเงินยังนั่งไม่ได้”

“เงิน อ้า..อ้า..”

“ทำไม เงินอ้า..ทำไม ?”

“ไม่ทำไมหรอก แต่มันหมดแล้วน่ะสิ”

“หมด ?” ตาชูชกร้องออกมาอย่างหมดหวัง

“ตายแล้ว ตายจริงๆ”

“ไม่ตายน่ะ ยังพอพูดกันได้”

“พูดอะไร เงินๆ ของตูรีบเอามาเสียเถอะ อย่าให้ต้องผิดใจกันเลยนะ”

“ค่อยพูดๆ พูดค่อยๆ จากันก็ได้นี่นะ เราเป็นคนอื่นที่ไหนคนรักชอบพอกันทั้งนั้น เรื่องเงินของท่านไม่สูญแน่ เรามีหนทางที่จะใช้ให้ได้” ชูชกค่อยหย่อนกายลงนั่งพลางกล่าวว่า

“ว่ากันให้ดีหน่อยนะเกลอ ม่ายงั้นเป็นเรื่องใหญ่ไปถึงเจ้าหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้องนะเกลอ เสียหายกันไปหมดเลย”

“ใจเย็น หน่อย เอาล่ะ เราเองก็รับว่าได้เอาเงินของท่านไปใช้จ่ายคิดว่าจะหามาใช้ให้ทัน แต่มันผิดคาดหมายไปเสีย เงินก็เลยขัดข้องไปหน่อย”

“ไม่เพียงแต่พูดเท่านั้น เขาหันไปเรียกลูกสาว

“อมิตดาเอ๊ย เอาน้ำท่าออกมาให้อาหน่อยซิ” เสียงขาน จ๋า ดัง เล่นเอาชูชกสะดุ้ง แล้วเจ้าของเสียงก็โผล่ออกมา ในมือมีภาชนะใส่น้ำมาด้วย

“อุแม่เอ๋ย” ชูชกคิด

“ลูกสาวเกลอเราคนนี้มันสวยจริงๆ”


Image

เออ เกลอกินน้ำกินท่าเสียก่อนสิแล้วค่อยๆ มาพูดมาจากัน” พอถึงตอนนี้ ชูชกชักเสียงไม่ค่อยแข็งนัก และเมื่อได้ยินเพื่อนเกลอปรับทุกข์ปรับร้อน และแถมท้ายว่า

“หากไม่รังเกียจแล้ว เราอยากจะยกลูกสาวคนนี้ให้ท่านไปใช้สอยเป็นการขัดดอกไปก่อน เกลอจะว่าอย่างไร”

“หาเกลอว่าไงนะ ? ชูชกรีบถามช้ำ”

“หา เกลอว่ายังไง ถ้าไม่รังเกียจแล้ว เราจะยกแม่อมิตดาให้แก่ท่านเป็นการขัดดอกไปก่อน”

“เฮอะ ? เฮอะ ? เหอ” ตาชูชกส่งเสียงหัวเรอะลั่น

“เออ พูดยังงี้ค่อยน่าฟังหน่อย เอ สหายนี้ยุติธรรมพอใช้ เงินทองน่ะมันของหายาก เมื่อเอาของเขาไปใช้แล้วก็หาทางทดแทนเขาเสียมันก็สิ้นเรื่อง อย่าพูดเรื่องรังเกียจเลย แม่หนูนี่ก็ไม่ใช่ลูกคนอื่น เป็นลูกของเพื่อนแท้ๆ”

“ก็เป็นอันว่าเกลอตกลงนะ”

เรื่องนี้เป็นอันตกลงกันได้อย่างดีเสียด้วย พ่อแม่ที่คิดเอาแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ ของคนอื่น ก็ตกยกลูกสาวให้ตาเฒ่าขอทานไป

ส่วนอมิตดาสาวเจ้านั้น เพราะอยู่ในโอวาทของบิดามารดา เมื่อทั้งสองยินยอมยกให้แก่ตาเฒ่าชูชกสาวเจ้าก็ไปแต่โดยดี เพราะคิดเสียว่าเป็นการทดแทนพระคุณท่านทั้งสอง ตาชูชกก็พาอมิตดาสาวน้อยไปเป็นคู่เรียงเคียงหมอนยังบ้านเดิมของแก

เรื่องมันก็น่าจะจบลงด้วยดี ถ้าไม่มีบรรดานารีที่เห็นคนอื่นดีกว่าตนไม่ได้เข้ามาพัวพัน เรื่องมันมีอยู่ว่า

อมิตดาเจ้าคิดเสียว่าเป็นทาสของตาเฒ่า มิได้คิดอย่างอื่น จะใช้สอยอย่างไรก็ปฎิบัติตามทุกประการ การใช้คำพูดคำจาก็ไพเราะน่าฟัง ค่ะ ขา จ๊ะ จ๋า ไม่มึงวาพาโวยเช่นกับเมียบางคน การงานทั้งหลายสาวเจ้าก็เฝ้าปฎิบัติทำโดยไม่รังเกียจเลยแม้แต่น้อย

การกระทำของสาวเจ้ากับตาชูชกอยู่ในสายตาของคนในระแวกนั้น

“แหม เมียตาเฒ่าชูชกนี้สวยจริงๆ”

“ไม่ใช่แต่สวยอย่างเดียว กิริยามารยาทก็นิ่มนวนแช่มช้อย จะลุกจะนั่งจะเดินเหินแล้วมันดูดีไปหมด”

อีกคนสนับสนุน

“ระวังอย่าพูดให้ตาเฒ่าชูชกแกได้ยินเชียวนา เดี๋ยวแกเอาไม่เท้ามาแพ่นกบาลเอาให้หรอก”

“พูดจริงๆ นี่นา”

“ก็ใครว่าไม่จริงล่ะ”

“ก็ถึงว่าสิ เดี๋ยวก็จะหาว่าไปเกี้ยวพาราสีเมียแกนะสิ”

“เกี้ยวหรือไม่เกี้ยวไมรู้ล่ะ”

“แต่เมียของพวกเราสิเต็มที พูดจาก็มีแต่มึงอย่างนั้น กูอย่างนี้ จะหาไพเราะสักคำก็ไม่มี ถ้าจะพูดด่าล่ะก็แม่ถนัดนักแล”

“เมียกันก็ด่าเป็นไฟใส่คะแนนไม่ทันเลยล่ะ”

“ยังสู้ของกันไม่ได้ เวลาแม่ด่าแล้วล่ะก็เกลอเอ๋ย โครตเง่าเหล่ากอมีแค่ไหนแม่ขุดมาด่าหมด วาจาก็สำรากอย่างกับสุนัขหวงก้าง”

“ของกันสิวิเศษกว่า เห็นกันเป็นลูกชายของหล่อนไปเสียสิบ ทั้งโขกทั้งสับ เห็นแม่อมิตดาแล้ว แหม มันตรงกันข้ามยังกับฟ้ากับดิน หรือนรกกับสวรรค์นั้นเชียวล่ะเกลอเอ๋ย”

อีกคนหนึ่งเอ่ยขึ้นมาบ้างว่า

“บรรดาเมียใครทั้งหมดเห็นว่าจะสู้ของกันไม่ได้ หล่อนเก่งทุกอย่าง นินทาเอย มารยาทก็ไม่เรียบร้อย แนะนะโครมคราม พูดจาก็ไม่น่าฟัง พูดคำด่าคำจนติดปากไปเลย ไพ่ก็เล่นเก่ง ถั่วโปแม่เอาทุกอย่าง การบ้านการเรือนเลี้ยงลูกเลี้ยงเต้าปล่อยให้กันคนเดียว แม่คุณเอ๋ย ของกันเก่งจริงๆ”

สหายหลายคนต่างร้องอือไปตามๆ กัน แต่อีกคนเอ่ยขึ้นว่า

“ของพวกเราน่ะมันพอๆ กันทั้งนั้น กานบ้านการเรือนก็ไม่เอาอะไรเสียเลย ดีแต่นินทาคนนั้นคนนี้แล้วก็เข้าบ่อน ลงได้เข้าบ่อนแล้วล่ะก็เป็นอันว่าใจเย็นเสียเถอะว่าผัวต้องเข้าครัวเอง แม้แต่มุ้งและที่หลับที่นอนก็ต้องปูให้แม่นอน ดูเมียตาเฒ่าชูชกสิ สาวสวยสิบห้าหยกๆ สิบหกหย่อนๆ แต่หล่อนปฏิบัติพัดวีตาเฒ่าอย่างดี การบ้านการเรือนหล่อนก็ไม่ต้องให้ตักเตือน”

“แกดูนั้นสิ หล่อนเอาหม้อน้ำไปตักน้ำอีกแล้ว”

ทุกคนลงความเห็นต้องจัดการสังคนาทางบ้านเสียทีให้เป็นดีแน่ๆ เมื่อตกลงกันแล้วต่างคนก็กลับไปบ้าน บ้านหนึ่งพอโผล่ขึ้นบ้าน แม่เมียกำลังนั่งเล่นไพ่อยู่กัยเพื่อน ก็แหวขึ้นมา

“แกหายหัวไปไหนมา เมื่อกี้เรียกหาจะใช้ซื้ออะไรมากินสักหน่อย ดีแต่หลบมุม”

พอพูดได้เท่านั้นพ่อผัวซึ่งฮึดมาจากที่ประชุมอยู่แล้วก็ตรงรี่เข้ามา พร้อมกับกล่าวว่า

“ไม่หายหัวไปไหนหรอก แต่อยากจะดัดนิสัยคนสักหน่อย”

“อ๋อ ดัดหรือ เดี๋ยวแม่...” ยังไม่ทันขาดคำตาผัวก็เตะพลั่กเข้าให้ เล่นเอาแม่เมียรักลงไปเค้เก้ วงไพ่แตกกระจาย เสียงร้องวี้ดว้ายอย่างไม่เป็นส่ำ ยายเมียพยายามลุกขึ้นจะสู้ แต่เจ้าผัวไม่ยอมให้ลุก ทั้งเตะ ทั้งเข่า ทนไม่ไหวแม่เมียต้องอย่าศึก

“พอแล้วพ่อคุณ ฉันกลัวแล้ว”

“กลัวแล้วหรือ เอาอีก” แล้วก็ใส่เข่าพลั่กๆ เข้าให้อีก

“จ้ะ ฉันเจ็บแลัว กลัวแล้วจริงๆ”

“กิจการบ้านเรือนไม่เอาเรื่อง ดีแต่เข้าบ่อนแล้วก็นินทาชาวบ้าน”

“เลิกแล้วจ้ะ ฉันเลิกแล้วจริงๆ จ้า โอ้ย...” พ่อผัวก็รำมะนาต่อไป พร้อมกับสั่งสอน

“ตัวอย่างดีๆ อย่างแม่อมิตดาเมียตาชูชก ทำไมแกไม่เอาเยี่ยงอย่าง”

“จ้า...จ้า...ฉันจะเอาเยี่ยงอย่างจ้า” ตาผัวก็หยด เมียก็ได้แต่ร้องให้ฮือๆ

อีกบ้านหนึ่ง บ่อนแตกจากบ้านนี้แล้วก็วิ่งกลับมาบ้านตน พอมาถึง ฝ่ายตาผัวไม่ฟังเสียงพอได้เห็นหน้า หน้าแข้งลอยมาที่สีข้างเอียงเป็นนกปีกหัก

“ต๊าย...ไอ้บ้าเตะกู มึงต้องตาย”

“เออ เตะสิวะ วันนี้ข้าจะเอาเองให้ตาย”

“มึงเป็นบ้าอะไรขึ้นมาวะ ?”

“บ้าเรอะ” แล้วเสียงพลั่กๆ ติดๆ กัน

“อุ๊ย จะตายแล้ว ไอ้บ้า ไอ้บ้ามันตีฉันจะตายแล้ว เพื่อนบ้านช่วยฉันที”

“เรียกใครให้ช่วยอีคนชั่ว การบ้านการเรือนไม่เอา ต้องสั่งสอนกันบ้างเสียบ้าง” แล้วเสียงตบตีก็ดังต่อไป จนกระทั่งมีเสียงว่ายอมแล้วกลัวแล้วนั้นแหละ เสียงจึงสงบ


Image

ทุกๆ บ้านในระแวกนั้นทีแต่เสียงฮึดๆ ฮือๆ ของเมีย ซึ่งถูกบรรดาสามีลงทัณฑ์เข้าให้อย่างสมรัก และต่างก็ได้รับคำสั่งสอนให้เอาอย่างอมิตดาทั้งนั้น

เมื่อสั่งสอนจนหอมปากหอมคอแล้ว เรื่องก็สงบเงียบจริงๆ เสียงดุด่าอย่างทุกๆ วันไม่ปรากฏอีกเลย พรรคผัวธิปไตรก็จัดการพรรคภริยาธิปไตรลงอย่างราบคาบอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ

รุ่งขึ้น หลังจากฝ่ายผัวออกเดินทางไปปฏิบัติการงานแล้ว แม่ภารยาคนดีก็มาชุมนุมกัน คนหนึ่งกล่าวขึ้นว่า

“เมื่อวานนี้หลังจากบ่อนแตกแล้ว ฉันก็กลับไปบ้าน ไปเห็นพ่อเจ้าประคุณผัวยืนรอคอยอยู่ เรานึกว่าจะแหวใส่ให้สักหน่อยแก้กลุ้มที่บ้านที่บ่อนแตกไป พ่อไม่ยอมให้พูด ตรงรี่เข้ามาซัดตุ้บเข้าให้ที่สีข้าง เล่นเอาหน้าอกหน้าใจแทบพังแน่ะ ปากก็ร้องว่า ดีแต่เข้าบ่อน การบ้านการเรือนก็ไม่เอา ไม่ดูเยี่ยงอย่างแม่อมิตดาเขาเลย ไอ้เราจะสู้ก็สู้ไม่ไหว พ่อแล่นทั้งถีบทั้งเตะ จนน่วมไปทั้งตัว”

อีกคนก็เอ่ยเสริมว่า

“ของฉันก็เหมือนกันแหละย่ะ พ่อทั้งเตะทั้งถีบไม่ให้เราตั้งตัวได้เลย พอเงื้อมมือว่าจะตบ ที่ไหนได้พ่อถีบเสียแอ่น จนต้องบอกว่ายอมนั้นแหละจึงหยุด ยังแถมสั่งสอนให้เอาเยี่ยงอย่างอีอมิตดาเมียไอ้แก่ขอทานชูชกเสียด้วยสิ”

“ของฉันก็พอๆ กัน พอเจอหน้าก็กรากเข้าใส่ยังกับมวยคู่อาฆาต เราไม่ทันจะตั้งตัวสักหน่อยพ่อก็ซัดเปรี้ยงๆ ยังกับฟ้าผ่า เห็นดาวกลางวันแสกๆ ไปหมด เราจะสู้ก็ไม่ไหวต้องยอมให้ซ้อม ถามว่าเรื่องอะไรก็ไม่บอก แถมหมัดเอย ศอกเอย จนเราถามไม่ออก ลงไปนอนหมอบนั่นแหละ พร้อมกับเอ่ยให้เอาเยี่ยงเมียไอ้ขอทาน อพิโธ่เอ๋ย...ก็เมียขอทานเราเป็นเมียมันเสียเมื่อไหร่ จะได้ทำอย่างนั้น”

“พวกเรานี่น่าเห็นใจนะ แต่ก่อน แต่ไรผัวของเราไม่เคยจะฮึดสู้ แม้ถูกเฆี่ยนตีอย่างลูกก็ยังยอมให้เฆี่ยนตีเลย ให้นอนนอกมุ้งก็ยอม แถมอ้อนวอนท่าโน้นท่านี้จนกว่าเราจะใจอ่อนแต่เดี๋ยวนี้สิไม่ได้ ถนัดแต่ศอกถัดมวย เท้าอย่างไรพ่อไม่เลือก เหตุที่เห็นเช่นนี้เพราะที่สามใช่ไหม”

“แล้วพวกเราควรจะทำอย่างไรดีล่ะ”

“เรื่องไม่เห็นจะยากเลย ก็พ่อเจ้าประคุณที่ลุกขึ้นมาตบตีพวกเราแล้วยังไม่พอแถมสั่งสอนว่าให้เอาเยี่ยงอย่างเมียไอ้แก่ขอทาน อีนางนั้นแหละตัวการสำคัญที่ทำให้ผัวของพวกเราลุกขึ้นมาเล่นงานเราล่ะ”

“เออ จริงสินะ เมียไอ้แก่นั่นแหละตัวสำคัญ ตั้งแต่มันเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเรานี้ เหมือนความไม่ดีทั้งหลายจะไหลตามมันมาด้วย แต่แล้วไม่ยักจะอยู่กับมัน ผ่ามาอยู่กับพวกเราเสียฉิบ”

“แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะปลอดภัยจากมือเท้าของสามีของพวกเราล่ะ”

“ถ้าเมียตาแก่ขอทานยังอยู่ พวกเราก็จะไม่มีวันที่จะปลอดภัยเป็นแน่ บางทีอาจจะได้กินอย่างอื่นทั้งเช้าทั้งเย็นแทนข้าวก็ได้”

“ถ้าเช่นนั้นพวกเราไปจัดการให้มันอยู่ไม่ได้”

“ตบเลยดีใหม ?”

“ไม่พอ ต้องกระทืบด้วย”

“เอ๋ะ ไม่ได้ๆ บ้านเมืองมีขื่อมีแป พวกเราใช้กฎหมายเถื่อนไม่ได้”

“งั้นทำไงดีล่ะ”

“พวกเราต้องช่วยกัน เจอมันที่ไหนก็เสียดสีด่าว่ากระแนะกระแหนมันไปเรื่อยๆ สักวันมันก็อายจนต้องหลบหนีไปเอง”

“เออ อย่างนี้ค่อยยังชั่ว เป็นอันว่าที่ประชุมตกลงเอาตามนี้นะ”

Image

เมื่อที่ประชุมของภรรยาพราหมณ์ทั้งหลายตกลงกันแล้ว พอถึงเวลาไปตักน้ำทุกๆ คนต่างพากันไปคอยที่ท่าน้ำ คอยที่จะพบกับผู้ที่ทำให้ตนต้องทนเจ็บช้ำ เพราะน้ำมือสามีของตัวเอง เข้าแบบโบราณแท้ที่ว่า “รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง” ตัวเองไม่ดีสิโทษเขาผู้นั้นผู้นี้ อนิจจา...อย่างนี้มีมาแล้วชั่วกัปป์ชั่วกัลป์

พอได้เวลาตักน้ำ อมิตดาสาวน้อยผู้น่าสงสารก็ยกหม้อน้ำขึ้นแบกตรงมาหมายจะอาบน้ำชำระร่างกายและตักน้ำไปใช้สอยในกิจอื่น

“เมียอ้ายขอทานมาแล้ว” เสียงเขาบอกกระซิบต่อๆ กัน และจิ๊จ๊ะเสียงฮาป่าก็เริ่มขึ้น จากนั้นเสียงใครต่อใคร...ใส่คะแนนไม่ทันจากแม่พวกนั้น

“รูปร่างก็สะสวย ไม่น่ามาอยู่กับไอ้คนขอทานเลย หรือว่าแกไปเก็บมาจากสำนักไหนกระมัง”

“โอ้ย รูปนี้ร้อยทั้งร้อย เป็นนางกลางเมืองแน่ๆ ทีเดียว”

“อยากเป็นคุณนาย ที่แท้ก็เดนเขาเลือกแล้ว จึงตกมาถึงตาแกขอทาน”

“หนุ่มๆ ไม่มีหรือยังไงแม่เอ๋ย หน้าด้านมาอยู่กับอ้ายแก่คราวพ่อได้”

“แม่ดูอ้ายสารรูปขอทานหรือเปล่า อุตสาห์ยอมให้มันก่ายเกย แต่ฉันยังงี้ อดขยะแขยงมิได้เลย”

“ตาแก่มันมีอะไรดีกระมัง แม่ยังเป็นสาวจึงยอม”

“ไม่มีพ่อหรืออย่างไร จึงเอาอ้ายคนชนิดนี้”

เรื่องการด่าก็เป็นที่รู้กันแล้วว่าผู้หญิงน่ะเวลาจะด่าไม่รู้ว่าสรรหามาจากไหน ปทานุกรมเล่มใหญ่ๆ น่ะอย่าไปเปิดหาเลยไม่พบหรอก ที่แจ้งที่ลับที่ไหนๆ แม่ก็เอามาไขหมด อมิอตดาถูกด่าเข้าเช่นนั้น ชะงักไม่กล้าลงไปตักน้ำ มองไปทางไหนก็ล้วนแต่ยื่นหน้ายื่นปากเป็นชักใยไปตามๆ กัน บางคนแถมขยับไม้ขยับมือจะเล่นงานเอาเสียด้วย

“ตบเอาฟันไปทำลูกเต๋าดีไหมพวกเรา”

“เอาซี่โครงไปเหน็บฝาเรือนบ้านฉันดีกว่า”

อมิตดาเจอเข้าอย่างนี้เข้าได้แต่น้ำตาไหลนองหน้า

“เป่าปี่แล้วพวกเรา แม่สาวน้อยเขาเก่งอย่างนี้ แล้วอ้ายเฒ่าจะไม่หลงได้ยังไง”

“เอ้า พวกเราช่วยกันเชิดหน่อย” ปากก็ทำเสียงล้อเลียนต่างๆ นาๆ หันหลังกลับบ้านน้ำตาของอมิตดาสาวน้อยอาบหน้าสะอึกสะอื้นขึ้นเรือนได้ก็ปิดประตูเงียบ จนเสียงแม่ค้าปากตลาดเหล่านั้นเงียบไปแล้ว ก็ได้แต่นั่งนึกถึงตัวเองว่าทำอะไรผิดไป

พอดีในขณะนั้นชูชกก็กลับมาจากการปฏิบัติภารกิจประจำวัน คือการขอทาน พอเห็นสาวน้อยเมียรักสะอึกสะอื้นอยู่ก็เข้าไปถาม

“หนูเป็นอะไร ร้องไห้ทำไม ใครทำอะไรบอกมา อ้ายเฒ่าคนนี้จะไปจัดการให้”

ถามทีไรสาวน้อยก็ได้แต่นิ่ง ตาผัวเฒ่าก็เฝ้าอ้อนวอนถามไถ่ จนสาวน้อยยอมบอกความ

“ต่อไปฉันจะไม่ออกไปตักน้ำอีกแล้วล่ะ เพราะแม่พวกชาวบ้านพากันมารุมด่าฉันที่ท่าน้ำ แม้น้ำฉันก็จะไม่ลงไปอาบ ฉันจะอาบมันที่บนเรือนนี่แหละ”

“ไม่เป็นไรแม่หนู พี่เฒ่าจะจัดการให้เสร็จ อย่าไปฟังยาย


Image

ปากปลาร้าเหล่านั้น จะทำให้แม่หนูหม่นหมองเศร้าใจเสียเปล่าๆ พี่เฒ่าจะทำให้ทั้งตักน้ำ ปูที่หลับ ปัดที่นอนแม่หนูนั่งๆ นอนๆ อยู่เฉยๆ พี่เฒ่าจะทำให้แม่หนูทุกอย่าง”

“ไม่เอา ตระกูลฉันไม่เคยใช้ผัว”

“อ้าว แล้วจะให้พี่เฒ่าทำอย่างไร”

“ไม่รู้ล่ะ แกต้องไปหาคนใช้มาให้ฉัน ม่ายยังงั้นฉันจะกลับบ้าน”

“เบาๆ แม่อย่าเพิ่งพูดว่าจะกลับบ้าน จะทำให้พี่เฒ่าเป็นลมตายเสียก่อน”

จะพูดอย่างไรก็ตาม อมิตดาสาวเจ้าก็ไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนตาม แม้จะอ้างว่าไม่มีเงินที่จะไปซื้อทาสและทาสีมาใช้สอย แต่อมิตดาก็กลับบอกว่า

“จะต้องไปเสียเงินทองอะไรกันเล่า พระเวสสันดรออกไปจำศีลอยู่ที่เขาวงกต พระราชโอรสและธิดาก็ออกไปด้วย ก็ไปขอโอรสธิดานั้นแหละมาใช้สอยสิ เรื่องมันก็ง่ายจะตายไป”

“โอ้ย ตายแล้วแม่ เขาวงกตน่ะมันไม่ใช่ใกล้ๆ เดินกันเป็นเดือนทีเดียว ถ้าพี่เฒ่าไปก็คงไม่มีหวังจะได้กลับมา คงจะตายเสียกลางทางเป็นแน่ทีเดียว”

“ฉันไม่รู้ด้วย ถ้าหาคนใช้มาให้ฉันไม่ได้ก็ต่างคนต่างอยู่เถอะ อย่าอยู่ร่วมกันเลย ฉันลำบากใจเหลือเกิน”

“เอาก็เอา จะตายหรือเป็นก็ช่าง เพราะเห็นแก่ความรักต่อแม่อมิตดา พี่เฒ่าจะพยายามเดินทางไปจนกว่าจะได้กลับมา”

เมื่อตกลงว่าจะไปแล้ว ชูชกก็จัดแจงเรือนชานเตรียมเสบียงอาหารทุกชนิด ออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังเขาวงกต ดูเอาเถอะ เรื่องการมุ้งกับการเมืองมักจะแยกกันไม่ออกอย่างนี้แหละ ถูกด่าข้างนอกก็มาไล่เบี้ยเอากับตาแก่ และเรื่องมันก็สำเร็จด้วย

ตาเฒ่าจอมขอก็ดั้นด้นเดินมุ่งหน้าไปยังเขาวงกต พบใครก็ถามถึงเขาวงกต แทนที่จะได้รับคำตอบ กลับได้ทั้งคำพูดให้เจ็บใจและแถมศอกเข่าก้อนดินเป็นของแถมพอหอมปากหอมคอ แต่แกก็ไม่ยอมย่อท้อ ถูกทุบตีก็หลบหลีกพอพ้นไปเฉพาะหน้า อ้ายพราหมณ์ขอทาน เพราะพวกมึงขอไม่เลือก จึงทำให้เจ้านายกูต้องถูกเนรเทศ ไปๆ ให้พ้น เดี๋ยวพ่อ...” ว่าแล้วก็มีอะไรลอยปลิวมาจนตาพราหมณ์เฒ่าต้องรีบแจวต่อไปข้างหน้า ตราบจนกระทั่งเข้าเขตป่าที่เจตบุตรรักษาการอยู่

นึกว่าจะหมดอุปสรรคหรือยังก่อนหรอก เพราะพอย่างเข้าไปยังไม่ทันไร เสียงหมูหมาก็เห่าหอนมาแต่ไกล ตาแก่ก็เป็นคนช่างหัวดี หลบก่อนดีกว่า แต่จะหลบหน้าไปทางไหนดีเล่า ขึ้นไปบนต้นไม้สิ แล้วแกก็ตะเกียกตะกายขึ้นไป ยังไม่ทันจะถึงคบเลย เสียง โฮ้งๆ ดังใกล้ๆ ตาเฒ่าเหลียวไปดู โอ้โฮ หมาขนาดใหญ่ตั้ง ๔ - ๕ ตัว โดดขึ้นจะกัดแก เล่นเอามือเท้าอ่อนแทบจะพลัดตกลงไปให้ได้ แต่ต้องพยายามม่ายงั้นเป็นตายแน่ๆ แต่ก็ไม่วายเจอบางตัวงับเอาผ้าหลุดลุ่ย

โล่งใจเมื่อขึ้นไปถึงคบที่หมาโดดไม่ถึง แกหันหลังลงมาตวาดไล่มัน แต่มันก็ไม่ยอมไปแถมยังนอนเฝ้าต้นไม้นั้นเสียด้วย บางตัวเดินวนๆ เวียนๆ ตะกียกตะกายจะปีนขึ้นไปเล่นงานแกให้ได้ บางตัวก็ส่งเสียงเห่าขรม ตายจริง ทำไงถึงจะเดินทางไปได้ล่ะ อดไม่ได้ถึงกับรำพึงออกนามพระเวสสันดรออกมาดังๆ ถ้าพบพระองค์เป็นรอดแน่ๆ

เสียงคนย่างเหยียบมาตามทาง พอโผล่มา โอโอ้อ้ายเจ้าของหมาพวกนั้นล่ะสิ หน้าตาขมึงทึงท่าทางดุร้าย มือกุมธนู เพ่งจ้องมองมาที่แก พร้อมกับยกธนูขึ้นเล็งตรงมายังแก

“ช้าๆ พ่อเอ๋ย ช้าก่อน”

“อ้ายตาเฒ่าทำไมมาที่นี้ ออกตามเจ้านายจะเบียดเบียนอีกหรือ ไม่ได้ ไอ้พวกนี้ต้องให้หมากินก่อน”

“อย่าทำใจเร็วใจร้อนไปหน่อยเลยพ่อหลานชาย หลานน่ะยังไม่รู้อะไร ตานี่แหละเป็นราชทูตจะไปเฝ้าพระเวสสันดรล่ะ”

“ฮ้าๆ ขี้ทูตน่ะสิ”

“อย่าพูดอย่างนั้นหลานชาย ตาเป็นปุโรหิตเชียวนะ”

“มีอะไรเป็นเครื่องหมายราชทูตบ้างล่ะ” อ๋อ มีสิ แล้วแกก็ล้วงลงไปในย่ามอันเต็มไปด้วยเสบียงกรัง คว้าเอากระปุกใส่น้ำพริกออกมาชูขึ้น พลางร้องบอกว่า

“อ้ายหลานชาย นี่เป็นกลักพระราชสาส์นซึ่งจะต้องถวายต่อพระองค์” พอเห็นเจตบุตรลดหน้าไม้ลง แกก็เริ่มวัธยายต่อไป

“เดี๋ยวนี้น่ะในเมืองเขาหายโกรธพระองค์แล้ว จึงได้ส่งตามาให้ไปทูลเชิญ เมื่อตกลงกันแล้วจะได้แต่งขบวนเกียรติยศออกมารับ”

“งั้นลงมาคุยกันก่อนดีกว่าตา”

เจตบุตรบอก แล้วจัดแจงผูกหมาให้เรียบร้อยแล้วก็รับตาชูชกซึ่งจัดเจนโลกกว่า หลอกเสียจนหลงเชื่อว่าเป็นทูตจะมาเชิญเสด็จพระเวสสันดรกลับไปครองราชสมบัติดังเดิม จึงได้จัดเสบียงกรังมอบให้ตาชูชก พร้อมกับนำทางผ่านไปในป่าอันเป็นบริเวณที่ตนรักษาอยู่ เมื่อถึงแดนป่าใหญ่ก็ชี้ทางให้ตาชูชก ผ่านเข้าไปในป่า และได้พบฤาษีผู้บำเพ็ญฌาณอยู่ แล้วถามทางจากท่านก็เดินไปอย่างถูกทาง แล้วอำลาตาชูชกกลับยังสำนักของตน ตาชูชกแกออกเดินทางไปตามที่เจตบุตรชี้ให้ทราบ

จนกระทั่งพบกับอจุตฤาษี ซึ่งก็ถูกตาเฒ่าหลอกให้หลงเชื่อ อจุตฤาษีก็นำไปชี้ทางให้

“โน้น ที่เห็นเป็นทิวแถวอยู่นั้นแหละ เขาคุนธมาทน์ ต่อจากนั้นจะมีทางเดินอย่างสะดวกสบายไปสู่เขาวงกต ซึ่งพระเวสสันดรบำเพ็ญพรตอยู่ ไม่ต้องกลัวหลง เพราะมีเส้นทางเดียวเท่านั้น” แล้วอจุตฤาษีก็กลับสำนัก ตาแกก็เดินมุ่งไปทางที่อจุตฤาษีชี้ให้ ตราบจนผ่านเข้าเขตเขาวงกตเป็นเวลาจวนพลบ ตาแกจึงคิดว่า

“ถ้าเราไปขอสองพระกุมารในตอนนี้ ซึ่งพระนางมัทรีกลับจากป่าเรื่องก็จะไม่สำเร็จแน่ เพราะธรรมดาสตรีน่ะเลือดในอกยากที่จะยกให้ใครไปได้ ต้องรอพรุ่งนี้พอมัทรีเข้าป่าไปเสียก่อนจึงเข้าไปขอจะดีกว่า” เมื่อแกคิดเช่นนี้แล้วก็หาที่พักอาศัยหลับนอน



>>>>> มีต่อ หน้า ๔
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 16 พ.ย.2006, 12:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

และในคืนที่ตาเฒ่าแกมานอนใกล้ๆ บริเวรอาศรมนั้นเอง เวลาดึกสงัดพระนางมัทรีก็เกิดฝันประหลาดพิศดารแสนน่ากลัวสยดสยองยิ่งนัก ในฝันนั้นมีบุรุษผู้หนึ่งรูปร่างกำยำล่ำสัน ทัดดอกไม้แดงทั้งสองหู ถือดาบอันคมกริบวิ่งวู่วามเข้ามาที่พระนาง จิกพระเกศาพร้อมกับเอาดาบผ่าพระอุระของพระนาง หยิบเอาหัวใจของพระนางไป แม้พระนางจะร่ำร้องสักเพียงไร บุรุษผู้นั้นก็ไม่สงสารเวทนา ได้หัวใจแล้วก็ปล่อยพระนางให้เป็นอิสระแล้วก็หันไป

พระนางได้แต่ร้องๆ จนตกใจตื่นเหงื่อชุ่มโชกไปทั่วพระวรกาย ใจยังเต้นไม่รู้หาย ไม่รู้ว่าเป็นอะไร คิดอะไรไม่ออก ต้องไปถามพระฤาษีเจ้าดูจะรู้เห็น พระนางมัทรีก็ค่อยๆ เดินไปยังอาศรมของพระเวสสันดร เคาะประตูพระอาศรม ในขณะนั้นพระเวสสันดรก็ตื่นบรรทมแล้วเช่นกันเมื่อได้ยินเสียงเคาะก็ร้องถามออกมาว่า

“ใครนั่นน่ะ ?”

“หม่อมฉันเอง”

“มัทรีเรอะ”

“เจ้าข้า กระหม่อมฉัน”

“เอ๋ะ ก็เราเคยสัญญากันไว้ยังไงล่ะ ว่ากลางค่ำกลางคืนเราจะไม่ไปหากัน เจ้าลืมสัญญาแล้วหรือไร”

“มิได้พระเจ้าข้า ที่กระหม่อมฉันมาเพราะมีเรื่องร้อน”

“เรื่องอะไรล่ะ นั่งอยู่แต่ข้างนอกเถอะ แล้วเล่ามาดูหรือ”

“คือว่าหม่อมฉันฝันไป”

“ฝันว่าอย่างไร”

“ฝันว่ามีบุรุษกำยำล่ำสัน ทัดดอกไม้แดงทั้งสองหู ถือเอาดาบอันคมกล้า วิ่งมาแหวะหทัยหม่อมฉัน แล้วควักเอาดวงใจหนีไป กระหม่อมฉันจึงต้องมาขอให้พระฤาษีเจ้าช่วยทำนายทายทักด้วย ว่าเป็นอย่างไร ใจของหม่อมฉันยังเต้นไม่หายเลย”

พระเวสสันดรได้สดับฟังพระสุบินที่พระนางมัทรีเล่าก็ทราบได้ทันทีว่าพรุ่งนี้จะมียาจกมาขอพระลูกเจ้าทั้งสอง แต่จะบอกไปตามตรงก็กลัวมัทรีจะไม่ไปป่า จะเป็นอันตรายแก่พระโพธิญาณที่พระองค์ประสงค์ จึงเบี่ยงบ่ายเสียว่า

“ไม่มีอะไรดอกพระนาง ธาตุวิปริตจึงทำให้ฝันร้าย เธอ เคยอยู่แต่ในที่อันมีแต่ความสุข มาอยู่ในอาศรมอันกระด้าง อาหารก็มีแต่เผือกกับมันผลไม้ ธาตุเธอจึงวิปริตไป อย่าตกใจอะไรเลย”

พระมัทรีไม่ยากจะเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อ เพราะผู้ทำนายได้ในที่นี้ก็ไม่มีใครนอกจากพระเวสสันดรเท่านั้น จึงทูลลากลับไปยังอาศรมบทของพระนาง

เวลารุ่งเช้าพระนางไม่อยากออกไปป่าเลย ให้ห่วงพระราชโอรสและธิดาทั้งสอง แต่ก็ไม่สามารถจะอยู่ได้ เพราะผลไม้เผือกมันทั้งหลายก็ดูจะเหลือเพียงเล็กน้อย จึงตระเตรียมเสียมและไม้ขอไม้คาน และกระเช้าเสร็จเรียบร้อยก็จูงมือสองพระกุมารเข้าไปฝากพระเวสสันดรไว้

ถึงอย่างนั้นพระนางก็กลับไปกลับมาตั้งหลายหน ดูจะเป็นลางสังหรณ์หรืออย่างไรแน่ ก่อนจะไปก็เฝ้าฝากแล้วฝากอีก เพราะพระนางยังนึกถึงนิมิตร้ายอันนั้นไม่หาย

หลังจากพระนางออกไปแล้ว พระเวสสันดรทราบดีว่าวันนี้จะมียาจกมาถึงสำนัก จึงตรัสให้พระชาลีและกัณหาไปคอยดูต้นทางที่จะมีใครไปมา

Image

ตาเฒ่าชูชกเล่า พอตื่นล้างหน้าล้างตาคะเนว่าพระมัทรีคงจะออกไปแล้ว ตาแกก็เดินดุ่มตรงรี่เข้ามายังอาศรมบท ซึ่งขณะนั้นเองพระเวสสันดรก็ทอดพระเนตรเห็น จึงบอกให้เจ้าชาลีต้อนรับ แต่ก็ถูกตาชูชกตะเพิดกลับเพราะเข้าลักษณะตวาดป่าให้ว่าเสือกลัวไว้ก่อน

เมื่อเข้ามาถึงก็ทักทายปราศรัยกันเรียบร้อยแล้ว ตาแกก็เริ่มอารัมภบท ชักแม่น้ำทั้ง ๕ มาปรารภว่าเป็นดินแดนแห่งความสุขของประชาชน และเป็นต้นแห่งเกษตรกรรม และไม่รู้จักจะเหือดแห้งในการทำทาน เสมือนแม่น้ำทั้ง ๕ อำนวยความสุขแก่พลเมืองฉะนั้น และที่แกมานี่ก็เพื่อจะขอพระชาลีกัณหาไปเป็นทาสี ซึ่งพระเวสสันดรก็อำนวยให้ด้วยใจโสมนัสอย่างยิ่ง

แต่ในขณะนั้นเอง พอพระชาลีและกัณหารู้ว่าพระบิดายกตนให้แก่พราหมณ์ผู้ร้ายกาจ บังเกิด ความกลัว ก็หลบลี้หนีเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในสระบัว เอาใบบัวบัวศรีษะไว้ ตาชูชกพอขอได้แล้วก็เหลียวไปดูไม่เห็นสองพระกุมาร ก็เริ่มบริภาษพระเวสสันดรเป็นการใหญ่

“ทำเป็นคนใจดี พอขอปุ๊บก็ยกให้ปั๊บ แต่พอจะเอาเข้าจริงสิขายหน้า เด็กสองคนก็ร้ายเหลือพอพยักหน้าหมับก็โดดผลับ หายไปเลย เขาว่าพระเวสสันดรใจดี เห็นจะไม่จริงเสียกระมัง”


Image

พระเวสันดรก็มิได้โกรธเคือง ทรงพิจารณาเห็นว่าสองกุมารคงจะกลัวจึงไปหลบซ่อนกายอยู่ภายนอก จึงพูดปลอบใจชูชกแล้วออกติดตามสองกุมาร เพื่อนำมามอบให้ตาชูชก เสด็จออกไปเที่ยวค้นหา ตราบจนกระทั่งถึงสระบัวเห็นรอยเท้าขึ้นแต่ไม่เห็นรอยเท้าลง ก็รู้แน่ว่าสองกุมารอยู่ในสระ

จึงตรัสเรียกชาลี เตือนให้รู้ว่าเป็นลูกกษัตริย์และจะช่วยให้พระราชบิดาได้บำเพ็ญบารมีเพื่อโพธิญาณ โดยเปรียบ พระชาลีเหมือนเรือ ซึ่งจะขี่ข้ามห้วงน้ำให้สำเร็จประโยชน์

พระชาลีได้คิดก็เปิดใบบัว แล้วขึ้นมากราบกับพระบาท ทรงถามถึงกัณหา ซึ่งพระชาลีก็บอกเป็นนัยๆ พระเวสสันดรก็ตรัสเรียกโดยในเดียวกับชาลี พระกัณหาก็ได้ขึ้นมากราบพระบาททรงนำสองกุมารไปมอบให้ตาชูชก

ตาแก่ชูกเมื่อได้รับพระราชทานสองพระกุมารจากพระเวสสันดรแล้วก็คิดว่า...“เออ...สองกุมารเด็กน้อยนี้เป็นลูกเจ้าลูกนายจำเป็นเราต้องข่มขวัญให้สองพระกุมารนี้กลัวเสียก่อนมิฉนั้นแล้วแทนที่เราจะเป็นนายกับเป็นอันว่าเราต้องไปคอยรับใช้สองพระกุมารเสีย...” คิดได้ดั่งนี้แล้วจึงได้เอาเถาวัลย์มาผูกข้อหัตถ์ของสองพระกุมารที่น่าสงสารแล้วขู่ตระคอกต่อพระพักต์ของพระเวชสันดร

.....มาถึงตรงนี้บางท่านได้รจนาไว้ว่า พระเวสสันดรถึงกับชักพระขรรค์ออกจะปริดชีพเจ้าพราหมณ์เฒ่า “เราอุตสาห์เลี้ยงดูกล่อมเกลี้ยสองลูกน้อยแต่น้อยมามิเคยได้ตบตีให้ระคายเคืองแม้แต่น้อย และสองพระกุมารก็มิได้เดื้อดึงขัดขื่นพูดว่านอนสอนง่าย”

แต่แล้วด้วยอำนาจของกุศลกรรมความดีที่พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญเพื่อสัมพุทธโพธิญาณก็มาดลใจให้พระเวสสันดรกลับคิดขึ้นมาได้ว่าพระองค์ได้ทรงมอบพระลูกน้อยทั้งสองแด่พราหมณ์เฒ่าไปแล้วพระเวสสันดรจึงได้เข้าหลบเข้าไปข้างในบรรณศาลา.. และก็ทรงระลึกถึงมหาทานในครั้งนี้...คือทรงมุ่งหวังจะเป็นพระพุทธเจ้าที่จำเป็นจะต้องเสียสละซึ่งแห่งทานนี้...พระเวสสันดรก็ระงับเสียซึ่งโทสะนี้ได้ ฝ่ายตาแกชูชกก็รีบพาจากไปเพราะกลัวจะพบพระมัทรี

Image

พระมัทรีที่อยู่ในป่า วันนี้ดูวิปริตผิดไปทุกอย่างทุกประการ เดี๋ยวเสียมหลุดมือ เดี๋ยวกระเช้าหล่น เดี๋ยวไม้ขอไม้คานพลัด อะไรต่อมิอะไรดูมันวุ่นวายไปหมด ที่ๆ เคยมีผลไม้เผือกมันก็บังเอิญไม่มี ซึ่งพระนางก็ต้องบุกไกลออกไปกว่าที่เคย ได้มาบ้างพอสมควรแล้วก็รีบกลับอาศรม เพราะห่วงสองกุมาร แต่พอมาถึงกลางทางซึ่งเป็น ทางแคบเดินได้เฉพาะตัว ก็พบสัตว์ ๓ ตัวคือ ราชสีห์ เสือเหลือง และเสือโคร่ง นอนขวางทางอยู่ นางไม่สามารถจะไปได้

ก็วางสิ่งของยกมือวอนไหว้ขอทาง แต่ทั้งสามสัตว์ซึ่งเทวดาแปลงกายมาเพื่อสกัดทางไม่ให้พระมัทรีไปทันสองพระกุมาร ก็แกล้งนอนขวางหนทางอยู่เฉยๆ จนกระทั่งเวลาจวนพลบ ตาชูชกและสองกุมารพ้นประตูป่าไปแล้ว ทั้งสามสัตว์ก็หลีกทางหายไป พระมัทรีก็ดุ่มเดินกลับบรรณศาลา อะไรมันผิดดูแปลกตาไปเสียหมดทุกอย่าง ทุกๆ วันทั้งสองเคยมาดักหน้าดักหลัง

“แม่ขา แม่ได้อะไรมา” กัณหาจะฉะอ้อนถาม ส่วนพ่อชาลีก็จะรับเสียมบ้าง ไม้ขอบ้าง ไปตามต้องการ

แต่มาวันนี้ช่างเงียบเสียจริงๆ คงเล่นเพลินอยู่ที่พระบิดาก็เป็นได้ พระนางก็รีบด่วนเดินเข้าไปยังบรรณศาลาของพระเวสสันดร ก็ไม่เห็นพระสองลูกรักก็ใจหายวาบ ตายจริงนี่อะไรกัน สอบถามพระเวสสันดรก็ไม่ตรัสด้วย ยิ่งทำให้กลุ้มมากขึ้น พระนางออกตามหาสองพระกุมารสักเท่าใดก็ไม่มีเสียงขาน จึงกลับมายังบรรณศาลา จะถามสักเท่าใดพระเวสสันดรก็นิ่งเฉย แต่พอพูดขึ้นมาก็ยิ่งทำให้กลุ้ม

“ทุกๆ วันเคยกลับแต่วัน วันนี้คงชมดงชมป่าเพลินไปนะ จึงกลับเอามืดค่ำ ในป่าไม่ใช่มีแต่สัตว์ วิชาธรณ์คนธรรพ์ตลอดจนพรานป่าก็มีมากมาย เห็นจะสมใจเจ้าแล้วสินะ”

โอ...ช่างน่าสงสารพระนางมัทรีเสียนี่กระไรกลับจากป่าเพื่อหาผลไม้ก็ให้แสนจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้วยังต้องมาถูกพระเวสสันดรตัดพ้อให้ซอกช้ำระกำใจอีก ทำไมพระเวสสันดรจึงตัดพ้อเช่นนี้หนอ...อะไรเป็นเหตุมันเป็นกรรมอะไรของพระนางมัทรีเล่า ? ไปอ่านบุพกรรมของพระนางมัทรีได้ในเรื่องเจ้าหญิงนกกระจาบ

พระนางถึงกับสอึก แต่ความทุกข์เรื่องลูกทั้งสองมีมากกว่า ก็คร้านจะต่อปากต่อคำ ก็วนเวียนค้นหาไปเรื่อยไป พร้อมกับร้องไห้สะอึกสะอื้น ทุกข์อะไรเล่าจะมีล้นไปกว่าทุกข์ของแม่ที่ลูกหาย ไม่ทราบว่าตายหรือเป็น หาแล้วหาอีก ร้องไห้ตะโกนไป เรียกไปเสียงแหบเสียงแห้ง จนกระทั่งจวนสว่างพระนางก็หมดกำลัง พอกับมาถึงหน้าพระอาศรมก็สลบหมดสติแน่นิ่งไป

พระเวสสันดรแสนจะตกใจ เพราะเกรงว่านางจะตายเสีย จึงตรงเข้าไปจับต้องตัวนางก็เห็นว่าร่างยังอบอุ่นอยู่ ก็สงสารเห็นความทุกข์ของนาง ลืมตัวว่าเป็นฤาษีก็ยกเศียรนางขึ้นพาดตัก แล้วนวดแฟ้นเท่าที่จะทำได้ เป็นครู่ใหญ่ พระนางก็รู้สึกตัว

พระเวสสันดรก็บอกเรื่อง ให้ลูกเป็นทานไปแล้ว เพราะเห็นว่านางเหนื่อยมาแต่ป่าจึงยังไม่บอก และขอให้นางอนุโมทนา ซึ่งพระนางก็ได้อนุโมทนาบุตรทานด้วยความยินดี

ทีนี้ก็ถึงเรื่องจะกล่าวบทไปถึงท้าวสหัสนัยไตรตรึงสาทิพย์อาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา กลับกระด้างดังศิลาก็ให้ประหลาดใจ จะมีเหตุมั่นแม้นในแผ่นดิน อมรินทร์เร่งคิดสงสัย จึงสอดส่องทิพย์เนตรดูเหตุภัย ก็แจ้งใจ...พระเวสสันดร ถ้าไม่ไปช่วยเห็นทีจะแย่เสียกระมัง

Image

เพราะถ้าใครรู้แกวแบบมาขอพระมัทรีไปเสีย พระองค์จะเหลือเพียงองค์เดียว การบำเพ็ญพรตภาวนาก็คงไม่สะดวกไปได้ ต้องลงไปช่วยเห็นจะดีเป็นแน่ พระอินทร์ซึ่งมาชื่อเยอะแยะก็แต่งองค์ทรงเครื่องเหาะลงไป พอลงมาถึงโลกมนุษย์ก็แปลงตัว เป็นพราหมณ์แก่เดินกระย่องกระแย่งเข้าไปหาพระเวสสันดร ซึ่งนั่งอยู่หน้าพระอาศรมมีพระมัทรีเฝ้าสนทนาอยู่ด้วย พอเข้าไปถึงก็ขอพระมัทรี โดยอ้างเหตุผลอย่างที่พูดกันว่า

“ลุงนะแก่แล้ว ขอลุงเถอะ” ซึ่งพระเวสสันดรก็อำนวยให้ทันอกทันใจเลยทีเดียว พร้อมกับจูงมือพระมัทรีมามอบให้เดี๋ยวนั้น พราหมณ์เห็นได้ดังประสงค์ แลดูหน้าพระเวสสันดรและพระมัทรีก็เห็นยิ้มแย้ม เต็มอกเต็มใจในการบริจาค จึงได้ทูลว่า

“ข้าแต่พระเวสสันดร ข้าพเจ้ามิใช้พราหมณ์ขอทาน”

“ท่านเป็นอะไรล่ะ”

“ข้าพเจ้าเป็นพระอินทร์ ผู้เป็นใหญ่ในดาวดึงส์สวรรค์”

“ท่านลงมาทำไมล่ะ”

“เพื่อให้พระบารมีของพระองค์บริบูรณ์เนื่องด้วยการบริจาคภรรยาร่วมใจ”

และได้ตรัสต่อไปอีกว่า “พระมัทรีนี้พระองค์ได้ให้ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าขอฝากไว้ก่อน พระองค์จะให้ใครอีกไม่ได้”

“ทำไมไม่เอาไปล่ะ”

“ฝากปฏิบัติพระองค์ก่อน และที่ข้าพเจ้าลงมานี้พระองค์ประสงค์อะไรโปรดบอก ข้าพเจ้าจะประสิทธิ์ให้ดังปรารถนา”

Image

พระเวสสันดรซึ่งมาบำเพ็ญพรตอยู่ป่า ก็คิดจะกลับบ้านเมืองอยู่แล้ว จึงได้ขอพรพระอินทร์ ๘ ประการ คือ

๑. ขอให้พระบิดาหายโกรธเคือง มารับไปครองสมบัติดังเก่า

๒. หากจะมีการฆ่าขอให้มีปัญญาที่จะปลดปล่อยไป

๓. ขอให้ข้ามีเมตตากรุณาแก่ช่วยคนทุกทั่วหน้า และประชาชนเหล่านั้นได้อาศัยข้าอยู่เป็นสำราญ

๔. ขอให้ข้ามีน้ำใจอยู่ในภรรยาแต่ผู้เดียว ไม่เกาะเกี่ยวด้วยหญิงอื่น

๕. ขอให้ข้าได้มีโอกาสสืบสันติวงศ์ และปรากฏชื่อเสียงเลื่องลือแก่คนทั่วไป

๖. เมื่อข้าได้เสวยราชย์แล้ว พอรุ่งเช้าให้มีอาหารพอที่ข้าจะให้ทานได้โดยสะดวก

๗. เมื่อข้าได้ให้ทานมากน้อยเท่าใดๆ ก็ตาม ของสิ่งนั้นอย่าได้รู้จักหมดสิ้นไปเลย

๘. เมื่อแตกกายสลายชีพขอข้าได้ไปสู่สวรรค์


รวมเป็นพร ๘ ประการ ซึ่งท้าวมัฆวานก็ประสิทธิ์ให้ดังใจปรารถนา แล้วท้าวอมรินทร์ก็เลื่อนลอยคืนสู่ยังนิเวสสถานของพระองค์ สองกษัตริย์ก็โสมนัสในพระทัย และตั้งใจอยู่ว่าเมื่อใดจะได้พบสองกุมารที่ท้าวเธอได้ให้ทานไป และเมื่อใดพระพรทั้ง ๘ นี้ จะอำนวยผลให้ตามท้าวหัสนัยประสิทธิ์

ฝ่ายว่าเฒ่าชราตาชูชกแกได้สองกุมารแล้ว ก็พาทั้งสองกุมารเดินทางมา ตาแกเอาเถาวัลย์ผูกข้อมือ ๒ กุมารแล้วจูงเรื่อยมา บางครั้งก็เดินสะดุดตอไม้ เถาวัลย์หลุดจากมือ สองกุมารก็วิ่งตื๋อกลับอาศรม แกตามมาทันก็โบยตีเรื่อยไป ฟาดพระชาลี ตีพระกัณหา เสียงร้องเอ็ดอึงไปด้วยกัน

ครั้นตกค่ำแกกลัวภัยจากสัตว์ร้าย ตนเองก็ปีนป่ายต้นไม้ขึ้นไปผูกเปลนอนข้างบน ข้างล่างแกก็ล่ามสองกุมารไว้โคนต้นไม้ จะประสบอันตรายอะไรก็ช่าง ธุระไม่ใช่ นี่แหละจิตใจของผู้ที่อยากแต่จะได้ ฉันเป็นดีคนอื่นยังไงก็ช่าง ทาสทาสีตายเสียได้ก็ดีไม่ต้องเสียค่าข้าว ว่าไปนั้น สัตว์ป่าร้องโหยหวนชวนขนลุกและอากาศก็หนาวเหน็บสองพระกุมารกอดกันกลมเป็นที่สงสารยิ่งนัก

เอาเป็นว่าตาชูชกแกเห็นแก่ตัวเองโดยประการดังนี้ เหล่าเทพยดานางฟ้าที่ปรกปรักรักษาในเขตป่านั้นก็ให้สงสารสองพระกุมาร เมื่อเห็นว่าตาเฒ่าชูชกหลับสนิทก็ออกมาแปลงกายเป็นพระเวสสันดรและพระนางมัทรีปลอบขวัญและแห่กล่อมขับกล่อมร่ายรำพร้อมอาหารมาให้สองกุมารเพลิดเพลินเจริญใจคลายความความหวาดกลัวไปได้บ้าง พอรุ่งเช้าเทพยดานางฟ้าเหล่านั้นก็หายไป

รุ่งขึ้นเดินทางต่อไป จนกระทั่งถึงทางแยกอีกทางหนึ่งไปกลิงครัฐ ส่วนอีกทางหนึ่งนั้นไปพิชัยเชตุอุดรแกจำได้คลับคล้ายคลับคลาเพราะผ่านมาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ผลที่สุดก็เลยเสี่ยงทายผิดถูกไม่เป็นไม่เป็นไรน่ะมีปากน่ะมีปากมีตีนจะกลัวอะไรกับหลงทาง

แกก็เลยหลงจริงๆ พาสองกุมารเดินเรื่อยตราบจนกระทั่งถึงกรุงพิชัยเชตุอุดร

ในคืนนั้นเอง ลางสังหรณ์ก็ปรากฏกับท้าวสญชัยผู้เป็นอัยกา ในที่บรรทมหลับก็เผอิญฝันเห็นว่ามีผู้เอาดอกบัว ๒ ดอกมาถวาย ก็ตกพระทัยตื่น จึงตรัสเรียกโหรมาทำนายโหรก็ทำนายว่าจะได้ลาภจะพบญาติวงศ์ที่สนิท ชิดเชื้อกลับคืนมา ได้เวลาออกว่าราชการท้าวเธอก็เสด็จออกว่าราชการมองไปที่หน้าพระลาน ก็ปรากฏร่างของชายชราจูงสองกุมารผ่านมา ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นก็สงสัย จึงตรัสสั่งอำมาตย์

Image

“เฮ้ย อำมาตย์ ไปดูทีหรือว่าใครจูงใครผ่านไปนั้น ?” อำมาตย์ก็รับพระบัญชาก็ออกไปถามตาพราหมณ์ดู ก็ได้ความจากพราหมณ์เฒ่าว่า ขอสองกุมารจากพระเวสสันดร มาจะกลับไปบ้านเมือง

พระเจ้ากรุงสญชัยทราบเรื่อง ก็ขอไถ่สองกุมารตามที่พระเวสสันดรได้กำหนดไว้ ให้ชูชกเป็นมหาเศรษฐีขึ้นทันทีมีปราสาทข้าทาสบริวารทั้งหลายอย่างภาคภูมิ เป็นเศรษฐีทางลัดโดยที่พระเจ้ากรุงสญชัยไถ่ค่าตัวกัณหาชาลี ตาเฒ่าชูชกก็เลยกลายเป็นมหาเศรษฐีโดยฉับพลัน ด้วยที่แกไม่เคยพบไม่เคยเห็นแก้วแหวนเงินทองมากมายก่ายกอง เหล่านางรำนางกำนัลแต่ละนางก็ล้วนแต่สวยสดงดงาม

แม่อมิตดาว่างามแล้วก็ยังต้องชิดซ้าย พูดจาก็อ่อนหวานเอาอกเอาใจยามกินก็คอยป้อนให้ถึงปาก พี่จ๊ะ พี่จ๋าน้องป้อน อันนี้อร่อยอันนั้นก็น่าทาน มีดนตรีขับกล่อมตลอดเวลา จนพี่แกลืมแม่อมิตดาเมียรักเสียสนิท และด้วยตาเฒ่าชูชกแกไม่เคยกินของอร่อยที่วิเศษอย่างนี้มาก่อน แกก็เลยกินๆ จนเกินกระเพาะที่จะรับได้ จนท้องแตกตาย


Image

พระเจ้ากรุงสญชัยก็เลยทำศพให้ แล้วป่าวร้องให้ญาติของแกมารับทรัพย์สมบัติไป แต่ก็ไม่มีใคร เพราะแกไม่ใช่คนในแคว้นนั้น เป็นคนมาจากที่อื่น ถ้าเป็นสมัยนี้จะน่าคิดทีเดียว ขนาดคนรุ่นมหาเศรษฐีอย่างชูชก ไม่มีญาติมีหรือ คงจะมีคนมาอ้างเป็นญาติข้างพ่อบ้าง ข้างแม่บ้าง ตั้งร้อยตั้งพันแจกกันไม่หวาดไม่ไหวเป็นแน่ แต่นี่ดีที่เป็นสมัยก่อน เลยไม่มีคนมารับสมอ้าง ทรัพย์ทั้งหลายก็เลยเข้าท้องพระคลังอย่างเดิม ตาชูชกก็ได้ตายไปแล้วหมดเรื่องปิดฉากเสียที ยังเหลือแต่พระชาลีกัณหา ซึ่งพระเจ้าปู่ได้ไถ่ออกมาจากการเป็นทาสทาสี ตอนนั้นพระเจ้ากรุงสญชัยคิดถึงพระเวสสันดรมากแล้ว คิดดูง่ายๆ สมัยพระเวสสันดรยังอยู่ราชการงานเมืองทั้งหลายพระเวสสันดรรับภาระไปทั้งนั้น

Image

เดี๋ยวนี้สิพระองค์ต้องโดดเข้ามาทั้งร้องทั้งรำเองเสร็จ เหนื่อยทั้งกายทั้งใจ พอเห็นสองพระกุมารก็ดีพระทัย ข้อโกรธเคืองทั้งหลายก็หมดไปหมด เมื่อไถ่สองกุมารเสร็จเรียบร้อย ก็ให้จัดการรับมิ่งสู่ขวัญ มีการสมโภชเฉลิมฉลองต้อนรับสองกุมารเป็นการใหญ่

ซึ่งเรื่องทั้งหลายก็เป็นไปอย่างงามเกียรติของกษัตริย์ที่จัดทุกประการ แล้วสั่งให้เตรียมพล โยธาออกไปรับพระเวสสันดรคืนพระนคร โดยจัดให้พระชาลีเป็นทัพหน้ายกไปก่อน

พระเวสสันดรได้ยินเสียงไพร่พลช้างม้าอื้ออึง ก็ตกพระทัย แต่พระนางมัทรีทูลเตือนให้สตินึกถึงพรที่ขอพระอินทร์ไว้ ก็ค่อยพินิจดูก็รู้ชัดว่าเป็นไพร่พลของพระบิดาของพระองค์ เมื่อตั้งสติก็คอยต้อนรับอยู่ที่หน้าบรรณศาลา

พอกษัตริย์ทั้ง ๖ ไปพบกันพร้อมหน้า คือพระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดี พระชาลี กัณหา พระเวสสันดร และพระนางมัทรีก็โศกโศกา เพราะพลัดพรากกันมานานหลายเดือน ได้รับความลำบากต่างๆ ถึงกับสลบลงทั้ง ๖ กษัตริย์ ไพร่พลก็พากันร่ำร้องไห้ไปหมดทั้งกองทัพ ถึงกับสลบสไสลไปหมดด้วยกัน

พระอินทร์เห็นว่าจะไม่เป็นการแน่ ต้องช่วยอีกแล้ว ในเรื่องพระอินทร์บันดาลให้ห่าฝนโบกขรพรรษตกลงมา ฝนนี้ก็แปลกประหลาดเหลือ เพราะใครอยากไม่ให้เปียกก็ไม่เปียก เขาว่าเหมือนน้ำตกบนใบบอนหรือบัว แล้วก็ตกลงพื้นดินไป ต่อเมื่อใครอยากให้เปียกจึงจะเปียก และแถมมีสีแดงเสียด้วยสิ

กษัตริย์ทั้ง ๖ และไพร่พล ได้รับความชุ่มชื่นก็ฟื้นจากสลบ พระเจ้ากรุงสญชัยก็เชิญให้พระโอรสลาผนวชเข้าไปครองราชสมบัติดังเก่า พระนางผุสดีก็ให้พระมัทรีลาเพศดาบทสินี (ฤๅษีผู้หญิง) กลับไปอยู่เวียงวังตามเคย

สุดท้ายของเรื่องก็คือ พระเวสสันดรลาเพศดาบถคืนเข้าเสวยราชสมบัติให้ทานต่อไปตามเคย ชาวกลิงคราชซึ่งขอช้างปัจัยนาเคนทร์ไป จนพระเวสสันดรถูกเนรเทศ หลังจากแว่นแคว้นเข้าสู่สภาพปกติสุข ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาลแล้ว ก็นำช้างกลับมาถวายคืนไว้ตามเดิม

Image

บุพพกรรม

บุพพกรรมของพระเวสสันดร ทรงหวาดกลัวเสียงไพร่พลช้างม้าที่พระเจ้ากรุงสญชัยยกทัพมารับกลับยังกรุงพระนคร ก็เป็นเพราะว่าครั้งหนึ่งพระเวสสันดรเสวยพระชาติเป็นมหากษัตริย์ พระองค์ทรงยกกองทัพออกจากพระนครเป็นกองทัพที่ใหญ่โตมโหราญและได้มีพระภิกษุองค์หนึ่งเดินผ่านมาพระมหาษัตริย์ทรงเกรงว่าพระภิกษุองค์นั้นจะได้รับอันตรายจึงให้อำมาตย์ไปนิมนต์พระภิกษุหลบไปก่อน...พระภิกษุองค์นั้นตกใจกลัวก็หลบไป...ด้วยผลกรรมอันนี้มาในชาติพระเวสสันดรพระองค์ก็เลยตกใจกลัวเสียงกองทัพด้วยประการฉะนี้

บุพกรรมของพระนางมัทรี ที่ถูกพระเวสสันดรทรงตัดพ้อให้เจ็บช้ำพระหฤทัยนั้นก็เพราะในพระชาตินั้นทรงเป็นเกิดนกกระจาบแล้วได้ต่อว่าต่อขานแก่สามีซึ่งเป็นพ่อนกติดอยู่ในดอกบัวไม่สามารถที่จะกลับมาได้จึงเป็นเหตุให้ลูกน้อยต้องตายไปในกองไฟป่าทั้งหมด

บุพพกรรมของพระกัณหา ชาลี ในอดีตชาตินั้นเกิดเป็นกุมารแลกุมารีของชาวนา บิดามารดาใช้ให้กุลบุตรทั้ง ๒ ดูแลควายมิให้เข้ากัดกินข้าวกล้าในนาข้าว ควายแก่นั้น ดื้อ ด้าน ทาน ขืน ก้าวลงสู่ท้องนาเพื่อกัดกินข้าวกล้า กุลบุตรทั้ง ๒ จึงเฆี่ยนตีควายนั้นให้เข็ดหลาบ ด้วยบุพพกรรมนั้นแล ควายนั้นกำเนิดเกิดเป็นตาพราหมณ์ชูชกในชาตินี้ กุลบุตรทั้ง ๒ เกิดเป็นพระกัณหาชาลีร่วมภพชาติ ด้วยบุพกรรมอันนั้นส่งผลให้สองพระกุมารต้องมาถูกชูชกผูกมัดมือเฆียนตีดังกล่าว

บุพพกรรมของตาชูชก ที่ได้ภรรยาสาวสวยวัยรุ่นนั้นเป็นเพราะในชาติหนึ่งได้บูชาพระด้วยดอกไม้สดแรกแย้มมาในชาตินี้จงมีภรรยาสาววัยรุ่นดังกล่าว

บุพพกรรมของนางอมิตดา ที่มีสามีแก่เพราะในชาติหนึ่งนางได้บูชาพระด้วยดอกไม้เหี่ยวแห้ง ส่วนดอกไม้สดนางก็นำมาประดับตัวเอง จนกระทั้งนางได้นึกขึ้นว่าไม่ดีงามนางจึงได้กลับใจบูชาพระด้วยดอกไม้สดตูมสวย และต่อจากนั้นตาชูชกจากไปไม่นาน นางก็มีชายหนุ่มรูปงามมาเกี่ยวพาราสี นางจึงได้หลบหนีไปอยู่ด้วยกัน จึงเป็นอันว่าตอนหลังนางก็มีสามีหนุ่ม ไม่ใช่ตาเฒ่าแก่เช่นตาชูก ดังนี้แล


Image

บทสรุป

พระเวสสันดร = มาเป็นพระพุทธเจ้า

พระนางมัทรี = มาเป็นพระนางพิมพายโสธรา พระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ (พระพุทธเจ้า) ออกบวชบรรลุอรหันตผล ได้เป็นเอตทัคคะทางด้านระลึกชาติ

พระชาลี = มาเป็นพระราหุล ได้บวชตั้งแต่ ๗ ขวบ จนสำเร็จบรรลุอรหัตต์ และปรินิพพานเมื่ออายุ ๓๒ ปี

พระกัณหา = มาเป็นพระอุบลวรรณา ออกบวชได้เป็นอัครสาวิกาฝ่ายซ้าย เป็นเอตทัคคะด้านอิทธิฤทธิ์

อัจจฤๅษี = มาเป็นพระสารีบุตร พระสาวกฝ่ายขวา เป็นเอตทัคคะผู้มีปัญญามาก

ช้างปัจจัยนาค = มาเป็นพระโมคคัลลาน พระสาวกฝ่ายซ้าย เป็นเอตทัคคะผู้มีฤทิธ์มาก

ชูชก = มาเป็นพระเทวทัต

นางอมิตตดา = มาเป็นนางจิญจมานวิกา

พรานเจตบุตร = มาเป็นนายฉันนะ

พระเจ้าสญชัย = มาเป็นพระเจ้าสุทโธทนะ (พุทธบิดา)

พระนางผุสดี = มาเป็นพระนางสิริมหามายา (พุทธมารดา)

เทวดาที่มาช่วยดูแลพระกุมารในตอนกลางคืน

ตนหนึ่งมา = เป็นพระอนุรุธ

และอีกตน = มาเป็นพระมหากัจจายนะ

พระอินทร์ = มาเป็นพระมหากัสสปะ



ดอกไม้ คติธรรม : บำเพ็ญทานบารมี

สั่งสอนให้คนเราเพียรประกอบคุณความดีโดยมิท้อถอย หากรู้จักสละทรัพย์บริจาคทานเนื่องนิจก็จะเป็นที่สรรเสริญทั่วไป คนโลภคนจิตบาปหยาบร้ายก็ต้องได้ภัยเพราะตัวเองดั่งชูชกนั้นเอง




>>>>> จบ >>>>>



.....................................................

คัดลอกมาจาก
http://www.learntripitaka.com/
http://www.larnbuddhism.com/
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง