Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พุทธประวัติ ฉบับสำหรับยุวชน (พุทธทาสภิกขุ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ย. 2006, 9:11 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

พุทธประวัติ ฉบับสำหรับยุวชน

พุทธทาสภิกขุ แปลและเรียบเรียง
จากฉบับภาษาอังกฤษ
ของภิกษุสีลาจาระ (J.F. Mc kechnie)

สำนักพิมพ์ธรรมสภา



สารบัญ

คำนำของผู้แปลและเรียบเรียง
ตอนที่ ๑ กำเนิดพระสิทธัตถะ
ตอนที่ ๒ วัยกุมาร
ตอนที่ ๓ ในวัยรุ่น
ตอนที่ ๔ ในวัยหนุ่ม
ตอนที่ ๕ ความเบื่อหน่าย
ตอนที่ ๖ การสละโลก
ตอนที่ ๗ พระมหากรุณาธิคุณ
ตอนที่ ๘ ความพยายามก่อนตรัสรู้
ตอนที่ ๙ ประสพความสำเร็จ
ตอนที่ ๑๐ ทรงประกาศพระธรรม
ตอนที่ ๑๑ สิงคาลมาณพ
ตอนที่ ๑๒ สารีบุตรและโมคคัลลานะ
ตอนที่ ๑๓ เสด็จกบิลพัสดุ์
ตอนที่ ๑๔ พุทธกิจประจำวัน
ตอนที่ ๑๕ พระนางมหาปชาบดี
ตอนที่ ๑๖ ปาฏิหาริย์
ตอนที่ ๑๗ พระพุทธดำรัส
ตอนที่ ๑๘ ความกรุณาของพระพุทธองค์
ตอนที่ ๑๙ เทวทัต
ตอนที่ ๒๐ ปรินิพพาน
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ย. 2006, 9:21 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

คำนำของผู้แปลและเรียบเรียง
(ในการพิมพ์ครั้งแรก)


พุทธประวัติสำหรับยุวชนเล่มนี้ แก้ไขปรับปรุงขึ้นมาจากพุทธประวัติต่างประเทศฉบับหนึ่ง ซึ่งแต่งโดย ภิกษุสีลาจาระ (J.F Mc Kechnie) นักศึกษาทางพุทธศาสนาที่รู้จักกันดีทั่วโลกผู้หนึ่ง แต่งขึ้นใช้สำหรับสอนเด็กในลังกา เหตุผลที่ต้องแก้ไขปรับปรุงบางประการนั้น ได้กล่าวไว้ในบันทึกท้ายเล่มของหนังสือเล่มนี้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขความขาดแคลนหนังสืออ่านสำหรับยุวชนชาวพุทธในประเทศไทย ไปเรื่อยๆ เท่าที่จะทำได้

ทำไมกองตำราของคณะธรรมทานจึงไม่แต่งหนังสือเล่มนี้ขึ้นใหม่เอง โดยไม่ต้องอาศัยฉบับที่กล่าวนั้น ข้อนี้เป็นเพราะรู้สึกเคารพต่อความสามารถในการแต่งของผู้แต่งคนที่กล่าวนี้ซึ่งทำไว้เป็นอย่างดี ถึงกับเมื่อได้แก้ไขสิ่งบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ นั้นเสียแล้วก็เป็นหนังสือที่เหมาะสมที่สุด และเกินความสามารถของพวกเราที่จะทำได้โดยไม่เห็นตัวอย่าง และแม้เห็นตัวอย่างก็ไม่อาจทำได้ดีกว่า ข้าพเจ้าขอประกาศ และเทอดทูนความดีของท่านผู้นี้ในกรณีนี้ไว้ในที่นี้ด้วย และพร้อมกันนี้ขออุทิศส่วนกุศลแห่งการแปลและเรียบเรียงแก้ไขจนสำเร็จรูปเป็นหนังสือเล่มนี้ขึ้น แด่ท่านภิกษุสีลาจาระผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยกุศลเจตนาทั้งสิ้น เพื่อบูชาเกียรติคุณของท่านผู้นี้ไว้ตลอดกาลนาน

ข้าพเจ้ายอมรับว่าในหนังสือเล่มนี้มีถ้อยคำสำนวน และเนื้อเรื่องที่มุ่งให้เกิดผลทางอารมณ์ทำนองนวนิยายปนอยู่บ้าง แต่ทั้งนี้เพื่อเป็นผลดี ในทางกล่อมเกลานิสัยยุวชนโดยส่วนเดียว หาโทษอันใดมิได้

มีเรื่องบางเรื่องที่ผู้อ่านอาจฉงน เช่น กล่าวถึงการหามศพผ่านย่านตลาดและเผากันในลักษณะง่ายๆ เช่นนั้น เรื่องเช่นนี้ผู้ที่เคยไปอินเดียมาแล้วย่อมยืนยันได้ว่า แม้กระทั่งในบัดนี้ก็ยังเป็นสิ่งหาดูได้ ไม่ต้องกล่าวถึงพุทธกาลเลย สำหรับเรื่องพระองคุลีมารถูกขว้างบาตรแตกกระจาย ผู้ที่ไม่เคยทราบว่าครั้งพุทธกาลมีการใช้บาตรดินเผากันเป็นปรกติ ก็จะค้านว่ากล่าวพล่อยๆ เพราะว่าเคยเห็นแต่บาตรเหล็ก ฉะนั้นขอให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษาในเรื่องนั้นๆ ให้พอสมควรเสียก่อน ก่อนที่จะวินิจฉัยอะไรโดยผลุนผลัน

การจัดหน้าหนังสือเป็นข้อๆ และมีเลขกำกับข้อนี้เป็นความคิดใหม่ มุ่งหวังให้เกิดความสะดวกในการศึกษาจดจำและอ้างอิง ซึ่งจะทำได้ละเอียดลงไปกว่าการอ่านเลขหน้า ในการทำปทานุกรมก็ได้อ้างถึงเลขประจำข้อนี้แทนการอ้างถึงเลขหน้า

เรื่องที่ควรกล่าวไว้ในที่นี้อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ในการทำหนังสือเรื่องนี้ท่านอภิปุญฺโญภิกฺขุได้ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ในการช่วยสอบทานสิ่งที่อาจพลั้งพลาดในการคัดลอกและอื่นๆ ตลอดจนการพยายามทำปทานุกรมท้ายเล่มขึ้นด้วยความอุตสาหะพากเพียร จนสำเร็จรูปดังที่เห็นอยู่นี้ ขอบรรดาผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการนี้จงได้อนุโมทนาโดยทั่วกัน

ในที่สุด คณะธรรมทานมีความหวังว่าหนังสือเล่มนี้ จักเป็นสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความขาดแคลนหนังสืออ่านสำหรับยุวชนชาวพุทธในประเทศไทย ได้บ้างไม่มากก็น้อย


พุทธทาส อินทปัญโญ
ในนามกองตำราคณะธรรมทาน
ไชยา
๑๒ สิงหาคม ๒๔๙๗
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ย. 2006, 5:35 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ ๑ กำเนิดพระสิทธัตถะ


เมื่อ ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว ในดินแดนซึ่งบัดนี้เป็นเขตของประเทศเนปาลและของประเทศอินเดีย ตอนที่เป็นมณฑลอูธ (Oudh) และมณฑลพิหารเหนือ (North Behar) นั้น มีอาณาจักรน้อยๆ ของชนเชื้อชาติต่างๆ ตั้งอยู่ด้วยกันหลายอาณาจักร แต่ละอาณาจักรมีพระราชาของตนๆ เป็นผู้ปกครองบ้าง มีคณะบุคคลที่นับเนื่องในราชสกุลเป็นผู้ปกครองบ้าง

ในบรรดาอาณาจักรเล็กๆ เหล่านั้น มีอาณาจักรหนึ่งตั้งอยู่ตรงพื้นที่ทางทิศเหนือของจังหวัดโครักขปุระ (Gorakhapore) ในปัจจุบันทางฝั่งเหนือของแม่น้ำรัปตี (Rapti) เป็นดินแดนของชนที่มีเชื้อชาติ อันเรียกกันมาว่าพวกศากยะ พระราชาซึ่งปกครองชนชาตินี้ ในครั้งนั้นมีพระนามว่า พระเจ้าสุทโธทนะ พระเจ้าสุทโธทนะมีชื่อสกุลว่า โคตมะ ดังนั้น พระองค์จึงทรงมีพระนามเต็มว่า สุทโธทนะโคตมะ นครซึ่งเป็นราชธานีของอาณาจักรและทั้งเป็นที่ตั้งแห่งราชสำนักของพระองค์นั้น มีนามว่า กบิลพัสดุ์

พระเจ้าสุทโธทนะมีพระอัครมเหสีนามว่า สิริมหามายา เมื่อทรงอยู่ร่วมกันมาเป็นเวลานานด้วยความผาสุก พระเทวีได้ทรงมีพระครรภ์ และทรงรู้พระองค์ว่าจักถึงเวลาประสูติในไม่นานนักแล้ว ได้ทูลขออนุญาตจากพระราชสวามี เพื่อเสด็จไปเยี่ยมนครอันเป็นที่กำเนิดของพระเทวีเอง อันมีนามว่า นครเทวทหะ และตั้งอยู่ไม่ห่างไกลกันนัก พระเจ้าสุทโธทนะได้โปรดประทานอนุญาตแก่พระมเหสีของพระองค์ ด้วยความเต็มพระทัย ได้ทรงส่งบุรุษไปตระเตรียมหนทางสำหรับการเสด็จของพระนาง และให้เตรียมทุกๆ อย่างเพื่อให้เกิดความบันเทิงเริงรื่น ในการเสด็จไปเยี่ยมพระญาติวงศ์ของพระนางเองในครั้งนี้

ที่กึ่งทางระหว่างนครกบิลพัสดุ์กับนครเทวทหะต่อกันนั้น มีสวนป่าหรือวโนทยานอยู่แห่งหนึ่ง เรียกกันว่า สวนลุมพินี ที่นี้เป็นสถานที่ซึ่งประชาชนแห่งนครทั้งสองได้พากันไปเที่ยวเล่นในฤดูร้อน หาความบันเทิงภายใต้ร่มไม้สาละใหญ่ๆ อันมีอยู่ทั่วๆ ไป ในอุทยานนั้น

ขณะนั้นเป็นวันเพ็ญในเดือนพฤษภาคม ต้นสาละใหญ่ๆ เหล่านี้ปกคลุมไปด้วยดอกอันสวยงาม แต่โคนต้นจนถึงยอด บนกิ่งยาวๆ ของมันมีหมู่นกนานาชนิดกำลังร้องด้วยสำเนียงอันไพเราะ ทำให้อากาศอื้ออึงไปด้วยเสียงอันจับใจ และตามดอกไม้อันมีอยู่มากมายเหลือที่จะคำนวณได้นั้น ก็เต็มไปด้วยแมลงผึ้งทำเสียงหึ่งๆ และง่วนอยู่ด้วยการเก็บน้ำหวานจากดอกไม้เหล่านั้น

เมื่อขบวนเสด็จของพระเทวีผ่านมาถึงวโนทยานแห่งนี้ พระนางสิริมหามายา ทรงมีพระประสงค์จะทรงพักเล่นในสวนนี้สักครู่หนึ่ง ตามร่มเงาอันเย็นเพราะเป็นเวลาเที่ยงวัน ดังนั้นพระเทวีจึงทรงรับสั่งให้เขานำพระองค์ผ่านไปตามระหว่างหมู่ไม้ในอุทยานนั้น แต่ชั่วเวลาอันไม่นานในขณะที่พระเทวีกำลังเสด็จดำเนินไปมาโดยทรงเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งสวยงาม และเสียงอันไพเราะในสวนนั่นเอง พระนางทรงเกิดความรู้สึกพระองค์ขึ้นมาอย่างกระทันหันว่า จักต้องมีการประสูติในสถานที่นั้นเสียแล้ว ต่อมาอีกชั่วเวลาเล็กน้อย พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ สวนลุมพินี ภายใต้ต้นสาละ อันเต็มไปด้วยหมู่นกและแมลงผึ้งนั่นเอง

สถานที่อันเป็นที่ตั้งแห่งสวนลุมพินีนั้น เป็นที่รู้จักกันได้ไม่ยากในสมัยนี้ เพราะพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งครอบครองประเทศอินเดีย ในเวลาสามสี่ร้อยปีต่อมาจากสมัยของพระเจ้าสุทโธทนะนั้น ได้ทรงรับสั่งให้สร้างเสาศิลาอันสูงใหญ่ขึ้นตรงที่ซึ่งเป็นที่ประสูติของพระโอรสแห่งพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายาแห่งนครกบิลพัสดุ์ เพื่อเป็นเครื่องกำหนดหมายสถานที่อันสำคัญนั้น

ที่เสานั้น พระเจ้าอโศกมหาราชรับสั่งให้จารึกอักษร ซึ่งยังคงอ่านได้อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ มีข้อความว่า พระองค์ทรงได้สร้างเสานี้ขึ้นเพื่อให้ชนชั้นหลังทราบได้ถึงสถานที่ที่เคยมีเหตุการณ์อันสำคัญคือ การประสูติของพระพุทธองค์ แม้เวลาจะล่วงมา นับแต่กาลนั้นมาจนถึงบัดนี้ ๒,๐๐๐ ปีกว่าแล้วก็ตาม แม้เสาท่อนบนจะได้หักออกและท่อนที่เหลือจะเคยเอียงเอนไปทางหนึ่งแล้วก็ตาม เสานั้นก็ยังคงอยู่ในที่ซึ่งพระเจ้าอโศกรับสั่งให้สร้างขึ้นนั่นเอง สืบมาจนถึงทุกวันนี้ พร้อมด้วยอักษรจารึกที่กล่าวแล้ว มีประชาชนจำนวนมากได้ไปเยี่ยมและนมัสการสถานที่นี้ทุกๆ ปี

เมื่อพระนางสิริมหามายาได้ประสูติพระโอรสในสวนลุมพินีเช่นนั้น คนทั้งหลายก็งดการพาพระนางไปสู่นครเทวทหะ แต่ได้นำกลับคืนสู่นครกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะทรงดีพระทัย และทรงจัดให้พระเทวีและพระโอรสของพระองค์ได้รับการเอาใจใส่เป็นอย่างดี

บนทิวเขานอกเมืองกบิลพัสดุ์ เป็นที่อยู่แห่งฤษีจำนวนมาก ในบรรดาฤษีเหล่านั้น มีมหาฤษีผู้สูงอายุรูปหนึ่งชื่อ กาฬเทวิล เป็นที่เคารพนับถืออย่างสูงของชาวเมืองกบิลพัสดุ์ แม้พระเจ้าสุทโธทนะเอง ก็ทรงมีความเคารพรักใคร่ในฤษีรูปนี้เป็นพิเศษ ดังนั้น เมื่อฤษีผู้เฒ่าได้ทราบว่าพระราชาซึ่งเป็นมหามิตรของตนได้โอรสประสูติใหม่เช่นนั้น ก็ได้มาสู่ราชสำนักแห่งนครกบิลพัสดุ์ เพื่อดูพระราชกุมาร

เมื่อฤษีมาถึง พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงประสงค์จะให้ท่านอำนวยพรแก่พระโอรสของพระองค์ จึงได้ทรงให้นำพระกุมารมาเพื่อทำความเคารพแก่พระฤษี เมื่อพระฤษีได้เห็นพระราชกุมารแล้ว ได้กล่าวขึ้นว่า "มหาราชเจ้า ! มันไม่ใช่พระโอรสของพระองค์ที่ควรแสดงความเคารพต่ออาตมาเสียแล้ว แต่มันเป็นอาตมาเองต่างหากที่ควรแสดงความเคารพต่อพระโอรสของพระองค์ อาตมาได้เห็นชัดแล้วว่า พระกุมารนี้มิใช่เป็นกุมารตามธรรมดา อาตมาได้เห็นชัดแล้วว่า เมื่อพระกุมารนี้เจริญวัยเติบโตเต็มที่แล้ว จักเป็นศาสดาเอก สอนธรรมอันสูงสุดแก่โลกโดยแน่นอนทีเดียว อาตมามั่นใจว่าพระกุมารนี้ต้องเป็นศาสดาอันสูงสุดที่โลกจะพึงมี"

เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว พระฤษีได้นิ่งอึ้งอยู่ขณะหนึ่ง มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แสดงความปลึ้มอกปลึ้มใจออกมานอกหน้า แต่แล้วน้ำตาได้ค่อยๆ ไหลซึมออกมาทีละน้อยๆ จนกระทั่งเป็นการร้องไห้มีน้ำตานองทีเดียว

พระราชาได้ตรัสถามด้วยความตกพระทัยอย่างยิ่งว่า "ทำไมกัน เกิดเรื่องอะไรแก่พระคุณเจ้าเล่า ? เมื่อตะกี้นี้พระคุณเจ้าได้ยิ้มอยู่ บัดนี้กลับร้องไห้ มีเหตุการณ์อะไรร้ายแรงหรือ ? พระคุณเจ้าได้มองเห็นเหตุร้ายอันใดอันหนึ่งซึ่งจะเกิดขึ้นแก่โอรสของข้าพเจ้าหรือ ?"

พระฤษีได้ทูลว่า "หามิได้เลย มหาราชเจ้า พระองค์อย่าได้ทรงตกพระทัยเลย ไม่มีเหตุร้ายอันใดจะมาแผ้วพานพระโอรสของพระองค์ได้ เกียรติคุณของพระกุมารจักรุ่งโรจน์ พระกุมารจักเป็นผู้เรืองอำนาจอันสูงสุด"

พระราชาได้ตรัสถามว่า "ถ้าเช่นนั้น ทำไมพระคุณเจ้าจึงร้องไห้เล่า ?" พระฤษีได้ทูลว่า "อาตมาภาพร้องไห้เพราะเห็นว่า อาตมามีอายุมากจนจะต้องล่วงลับไปในไม่ช้า จักไม่มีโอกาสอยู่เห็นพระโอรสของพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระศาสดาอันสูงสุดในวันหน้า ดูกรมหาราชเจ้า พระองค์จักทรงมีพระชนมายุอยู่จนถึงวันอันนำมาซึ่งความสุขอย่างยิ่งนั้น ชนเหล่าอื่นเป็นอันมากก็จักได้ประสพเหตุการณ์อันนั้น ส่วนอาตมาไม่มีโอกาสที่จะได้ประสพโชคอันใหญ่หลวง จึงไม่อาจจะอดกลั้นการร้องไห้ไว้ได้"

เมื่อพระฤษีกล่าวดังนั้นแล้ว ได้ลุกขึ้นจากที่นั่งทรุดตัวลงประคองอัญชลีด้วยมือทั้งสอง แล้วน้อมตัวลงถวายนมัสการแก่พระกุมารนั้น พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงตกตะลึงในคำกล่าวและการกระทำของพระฤษี ผู้น้อมศีรษะอันขาวโพลนไปด้วยหงอก ก้มลงทำความเคารพตรงหน้าของทารกน้อยๆ แต่ในที่สุด พระองค์ก็ได้ทรงรู้สึกว่า แม้พระองค์เองก็ควรทรงกระทำเช่นเดียวกับพระฤษีนั้นได้กระทำ ดังนั้น พระองค์จึงได้ทรงประคองอัญชลีแล้วทรุดพระองค์ลงถวายบังคมแก่พระโอรสของพระองค์เอง ซึ่งยังเป็นเพียงทารกอยู่เช่นเดียวกับพระฤษีนั้น

ในประเทศอินเดียในครั้งนั้นมีธรรมเนียมว่า เมื่อเด็กผู้ชายเกิดมาได้ห้าวัน ในวันที่ครบห้านั้นจะต้องมีการเชื้อเชิญผู้เป็นปราชญ์มาประชุมกัน เพื่อทำพิธีสระเกล้าแล้วขนานนามแก่กุมาร ตามที่ที่ประชุมแห่งนักปราชญ์เหล่านั้นจะเห็นควร พระเจ้าสุทโธทนะก็ได้ทรงประกอบพิธีดังกล่าวนี้แก่พระโอรสของพระองค์ตามธรรมเนียม

ครั้งนั้น ที่ประชุมแห่งนักปราชญ์ได้เลือกเฟ้น แล้วขนานนามให้แก่พระโอรสของพระองค์ว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า "ผู้มีความสำเร็จสมประสงค์ในทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนตั้งใจจะทำ" นักปราชญ์เหล่านั้นพากันกล่าวว่าเขาได้มองเห็นว่า พระกุมารนี้จักไม่เป็นไปดังเช่นกุมารทั้งหลายใด ถ้าหากว่าอยู่ครองฆราวาส จักเป็นพระราชาในเวลาอันสมควร แล้วจักเป็นมหาราชาผู้จักรพรรดิในที่สุด ถ้าหากว่าไม่อยู่ครองฆราวาส แต่ออกบวชเป็นนักบวชแล้ว ก็จักเป็นพระศาสดาชั้นสูงสุดทำนองเดียวกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีนักปราชญ์คนหนึ่งในหมู่ปราชญ์เหล่านั้นยืนยันผิดแปลกออกไปจากนักปราชญ์ทั้งหลาย ท่านผู้นี้ได้กล่าวว่า ตามความเห็นของท่านแล้ว ท่านแน่ใจว่าเมื่อพระกุมารนี้เติบโตขึ้น จักไม่เจริญรอยตามพระราชบิดาอย่างแน่นอน แต่จักสละราชบัลลังก์ และราชอาณาจักรทุกสิ่งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง แล้วประพฤติพรหมจรรย์บรรลุธรรมเป็นศาสดาเอกในโลก นักปราชญ์ผู้เดียวนี้ได้กล่าวพยากรณ์อนาคตของพระกุมารตรงเป็นอันเดียวกับคำกล่าวของพระฤษีผู้เฒ่าดังนี้

เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่พระราชาย่อมทรงดีพระทัยเป็นอย่างยิ่งว่า ประชาชนและนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายในอาณาจักรของพระองค์ ได้พากันหวังว่าพระกุมารน้อยนี้เมื่อทรงเจริญวัยแล้ว จักเป็นมหาบุรุษ แต่พระองค์ไม่ทรงสบายพระทัยในข้อที่ว่า พระกุมารนี้จักไม่เจริญรอยตามพระองค์ในการครองราชสมบัติ แต่จักออกบวชเป็นศาสดาผู้สอนศาสนาไปเสีย พระองค์ทรงพระประสงค์ให้พระโอรสของพระองค์ทรงเป็นอยู่อย่างชาวโลก และทรงทำอย่างที่ชาวโลกเขาทำกัน กล่าวคือ การสมรสและมีบุตร เมื่อพระองค์เองก็ทรงชราภาพมากแล้ว จักไม่อยู่ครองอาณาจักรไปได้นาน จึงทรงประสงค์ที่จะเห็นพระโอรสของพระองค์ขึ้นครองบัลลังก์ ปกครองประชาราษฎร์ให้อยู่เย็นเป็นสุขดังที่พระองค์กระทำมาด้วยความสวัสดี

พระองค์ได้ทรงรำพึงในใจว่า "ต่อไปวันหน้า ใครจะรู้ได้ บางทีลูกของเราจักเป็นมหาราชครอบครองอาณาจักรไม่เพียงแต่นครกบิลพัสดุ์น้อยๆ นี้เท่านั้น แต่จักครอบครองชมพูทวีปทั้งหมดทั้งสิ้นก็ได้" พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงปลอบพระองค์เองดั่งนี้ ความคิดเช่นนี้เอง ได้ทำให้พระองค์ทรงมีความหวัง และมีความอิ่มพระทัยเป็นอันมาก พระองค์ทรงตกลงพระทัยในการที่จะทรงกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่พระองค์จะทรงทำได้ เพื่อให้เป็นที่แน่นอนว่าพระสิทธัตถะจักอยู่ครองฆราวาส และจะไม่คิดถึงสิ่งใดอื่นมากไปกว่านั้น

แต่ในขณะเดียวกัน พระองค์ต้องทรงประสพความหม่นหมองพระทัยด้วยเรื่องอื่นอีกเรื่องหนึ่ง จำเดิมแต่พระนางเจ้าสิริมหามายาได้ประสูติพระสิทธัตถะแล้ว พระเทวีได้ประชวรและไม่อาจจะกลับมีพระกำลังเข้มแข็งดั่งเดิม แม้ว่าจะได้รับความประคบประหงมอย่างสูงสุด ตามที่พระราชินีทั้งหลายพึงจะได้รับ มีแพทย์อย่างดี มีผู้รักษาพยาบาลอย่างดี แต่ในที่สุด พระเทวีก็สิ้นพระชนม์ชีพในวันที่สอง นับแต่วันที่ได้มีการขนานนาม หรือนับเป็นวันที่เจ็ดจากวันที่พระนางได้ประสูติพระโอรส คนทุกคนได้พากันเศร้าโศกในการสิ้นพระชนม์ของพระนาง ผู้ที่โศกเศร้าเป็นอย่างยิ่งก็คือพระราชสวามีของพระนาง เพราะเหตุที่พระนางเป็นกุลสตรีที่ประเสริฐสุด เป็นพระเทวีที่มีคุณธรรมสูงเหนือสตรีและเทวีทั้งหลาย

เมื่อเหตุการณ์เป็นไปดั่งนี้ พระราชาจำต้องทรงประทานพระโอรสกำพร้ามารดาองค์นี้ ให้อยู่ในความอารักขาของพระเทวีองค์หนึ่งซึ่งเป็นพระน้านาง และมีนามว่า มหาปชาบดี พระเทวีพระองค์นี้ ได้ทรงเอาพระทัยใส่ทะนุถนอม ราวกับว่าเป็นพระโอรสของพระองค์เองก็ปานกัน ด้วยเหตุนี้พระสิทธัตถะกุมารจึงไม่เคยทรงเห็นพระพักตร์พระมารดาอันแท้จริงของพระองค์เลย


Image
รูปหล่อองค์พุทธมารดาและพระรูปของพระพุทธเจ้าปางประสูติ
ประดิษฐาน ณ วัดพรหมรังษี เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ



มีต่อ >>>>> ตอนที่ ๒ วัยกุมาร
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ย. 2006, 5:52 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ ๒ วัยกุมาร


ตามที่พระฤษีผู้สูงอายุ และนักปราชญ์ทั้งหลาย ผู้ได้ประชุมกันในวันขนานนามของพระสิทธัตถะ ได้มีความเห็นพ้องกันว่าพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะองค์นี้ มิได้เป็นกุมารตามธรรมดานั้น คำกล่าวข้อนี้ได้ปรากฏเป็นความจริงยิ่งขึ้นทุกวันๆ

เมื่อได้รับการทะนุถนอมจาก พระเจ้าแม่น้า ผู้รักพระกุมารอย่างกะว่าเป็นพระโอรสของพระองค์เอง มาจนกระทั่งพระกุมารมีพระชนมายุได้ ๘ พรรษา พระราชาได้ประทานครูบาอาจารย์ เพื่อให้การศึกษาแก่พระกุมารในการอ่านการเขียนและวิชาคำนวณ โดยอาศัยการแนะนำของครูอาจารย์เหล่านี้ พระกุมารได้ศึกษาวิชาความรู้ทุกอย่างที่ควรศึกษานั้น ได้อย่างรวดเร็ว

ว่าโดยที่แท้แล้ว พระกุมารทรงศึกษาได้อย่างรวดเร็วและอย่างดียิ่ง จนเป็นที่ฉงนสนเท่ห์ของคนทุกคน รวมทั้งครูอาจารย์ทั้งพระราชบิดาและพระมารดาเลี้ยงด้วย เรื่องใดที่พระองค์จักต้องทรงศึกษาเรื่องนั้นไม่มีความยากลำบากแก่พระองค์เลย ได้รับการบอกการแนะนำวิชาอย่างใดๆ เพียงครั้งเดียว ก็จำได้ทันทีไม่มีลืม และลักษณะอย่างนี้ มีมากเป็นพิเศษขนาดที่เรียกว่าผิดธรรมดา ในการเรียนวิชาคำนวณของพระองค์ ทุกๆ คนเห็นชัดได้โดยง่ายว่าพระองค์ทรงมีอะไรๆ เหนือคนธรรมดาสามัญมากมายจริงๆ

แม้พระองค์จะทรงมีอัจฉริยลักษณะอันสูงสุดในการศึกษาถึงเพียงนี้ ทั้งยังอยู่ในสถานะมกุฎราชกุมารผู้จะครองบัลลังก์ในอนาคตก็ตาม พระองค์ไม่ได้ทรงละเลยที่จะแสดงความเคารพนอบน้อมในฐานะเป็นศิษย์ต่อครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เพราะทรงระลึกสำนึกอยู่ว่า โดยอาศัยบรรดาครูบาอาจารย์ทั้งมวลนี่เอง คนเราจึงได้รับสิ่งซึ่งมีค่าสูงสุด กล่าวคือวิชาความรู้ พระกุมารมีปรกติสุภาพเรียบร้อยเป็นนิสัย ทรงประพฤติต่อทุกๆ คน และโดยเฉพาะต่อครูบาอาจารย์เป็นพิเศษ ในการแสดงความสุภาพอ่อนโยนเคารพนบนอบด้วยประการฉะนี้

ในทางกำลังกายก็เหมือนกัน พระองค์ทรงประกอบไปด้วยคุณสมบัติไม่น้อยกว่าคุณสมบัติในทางจิตและทางมรรยาท ไม่ต้องกล่าวถึงความสุภาพทางกิริยาอาการ ไม่ต้องกล่าวถึงข้อที่พระองค์เป็นสุภาพบุรุษเต็มตามความหมายที่ดีที่สุดของคำๆ นี้ พระองค์ยังเป็นผู้ที่กล้าหาญ ไม่ครั่นคร้ามในการแสดงฝีมือทางกีฬาสำหรับผู้ชายแห่งประเทศของพระองค์ด้วย ในฐานะที่ได้รับการอบรมมาอย่างผู้มีกำเนิดในวรรณะกษัตริย์คือนักรบ พระองค์ทรงเป็นนักขี่ม้าที่ใจเย็นและห้าวหาญ ทั้งเป็นนักขับรถที่สามารถและเชี่ยวชาญมาแต่เล็ก ในการกีฬาอย่างหลังนี้ เคยแข่งชนะคู่แข่งที่ดีที่สุดในประเทศของพระองค์ แม้กระนั้นเมื่อถึงคราวเอาจริงเอาจังในการที่จะชนะการแข่งขัน พระองค์ก็ยังมีเมตตากรุณาต่อม้าของพระองค์ ที่เคยช่วยให้พระองค์มีชัยชนะอยู่เสมอๆ โดยทรงยอมให้พระองค์เป็นฝ่ายแพ้เสีย แทนที่จะขับเคี่ยวม้าให้มากเกินกำลังของมันไปเพื่อเห็นแก่ความชนะถ่ายเดียว

พระองค์ใช่จะทรงปรานีเฉพาะแต่ม้าของพระองค์เท่านั้นก็หาไม่ แม้สัตว์อื่นๆ ทุกชนิด ก็ได้รับความเอื้อเฟื้อและความเมตตากรุณาอย่างเดียวกัน พระองค์เป็นโอรสของพระเจ้าแผ่นดินไม่เคยทรงประสพความทุกข์ ความลำบากอย่างใดเลยก็จริง แต่น้ำพระทัยของพระองค์ก็ยังทรงหยั่งทราบถึงจิตใจของสัตว์เหล่าอื่น ด้วยความเห็นใจว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมไม่ปรารถนาความเจ็บปวดเช่นเดียวกัน ไม่ว่าสัตว์นั้นๆ จะเป็นสัตว์มนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน แม้เมื่อพระองค์ยังเป็นกุมารเล็กๆ อยู่ ก็มีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงหลีกเลี่ยงทุกอย่างทุกทาง ในการที่จะก่อความทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่สัตว์อื่นอย่างมากที่สุดที่พระองค์จะทรงทำได้ ในที่ทุกแห่งและโอกาส และทรงพยายามที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ของสัตว์ที่กำลังได้รับทุกข์อยู่ทุกวิถีทาง

ครั้งหนึ่ง เมื่อพระองค์เสด็จออกไปเที่ยวเล่นนอกเมืองกับพระญาติ ลูกเรียงพี่เรียงน้องของพระองค์นามว่า เทวทัต ผู้ซึ่งได้พาคันศรและลูกศรติดไปด้วย เจ้าชายเทวทัต ได้ยิงหงส์ซึ่งกำลังร่อนผ่านมาบนศีรษะตัวหนึ่ง ลูกศรถูกปีกหงส์ทำให้มันต้องถลาตกลงมายังพื้นดิน มีแผลใหญ่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด

เจ้าชายทั้งสองพระองค์ต่างก็วิ่งไปเก็บมัน แต่เจ้าชายสิทธัตถะไปถึงหงส์ตัวนั้นก่อน และได้อุ้มมันขึ้นอย่างระมัดระวัง พระองค์ได้ทรงชักลูกศรออกจากปีกนก ทรงยัดใบไม้มีรสเย็นเข้าไปในบาดแผลเพื่อให้โลหิตหยุดไหล และทรงลูบประคองไปมาอย่างเบาๆ เพื่อบรรเทาความเจ็บและความกลัวของนกนั้น เจ้าชายเทวทัตรู้สึกขัดเคืองพระทัยเป็นอันมาก ในการที่พระญาติของพระองค์มาแย่งเอานกไปเสียดั่งนี้ จึงได้เรียกร้องให้พระสิทธัตถะคืนนกให้แก่พระองค์ในฐานะที่พระองค์เป็นผู้ยิงมันตกด้วยลูกศรของพระองค์เอง

อย่างไรก็ตาม เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงปฏิเสธที่จะมอบนกเจ็บตัวนั้นให้ โดยตรัสตอบว่า ถ้านกตาย มันจึงจะเป็นของผู้ยิง แต่เมื่อมันยังมีชีวิตอยู่เช่นนี้ มันก็ต้องเป็นของผู้ที่พยายามช่วยชีวิตมันไว้ ดังนั้น พระองค์จึงไม่มอบให้ ฝ่ายเจ้าชายเทวทัตก็ยังคงยืนกรานว่า มันต้องเป็นของพระองค์ผู้ที่ยิงมันตกลงมาด้วยน้ำมือเอง ในที่สุด เจ้าชายสิทธัตถะเป็นฝ่ายเสนอขึ้นว่าข้อพิพาทรายนี้ควรจักต้องนำไปเพื่อรับการพิพากษาตัดสินชี้ขาดในที่ประชุมแห่งนักปราชญ์ของประเทศ ฝ่ายเจ้าชายเทวทัตก็ยินยอม

ณ ที่ประชุมสำหรับวินิจฉัยเรื่องต่างๆ ในวันนั้น ได้มีปัญหาเรื่องหงส์ตัวนี้ขึ้น มีการถกเถียงกันมา ในที่ประชุมนั้น บางท่านมีความเห็นอย่างหนึ่ง บางท่านมีความเห็นเป็นอย่างอื่น บางท่านว่า นกควรเป็นของพระสิทธัตถะ บางท่านว่า ควรเป็นของเจ้าชายเทวทัต โดยมีเหตุผลต่างๆ กัน ไม่เป็นที่ยุติลงไปได้ แต่ในที่สุดมีบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งไม่เคยมีใครในที่ประชุมนั้นรู้จักมาก่อน ได้ลุกขึ้นยืน และกล่าวว่า “โดยแท้จริง ชีวิตต้องเป็นของผู้ที่พยายามจะช่วยชีวิตนั้นไว้ ชีวิตต้องไม่เป็นของผู้ที่พยายามแต่จะทำลายมัน นกที่กำลังบาดเจ็บนี้ เมื่อกล่าวโดยสิทธิอันชอบธรรมแล้ว ต้องตกเป็นของบุคคลที่พยายามช่วยชีวิตมันไว้แต่ฝ่ายเดียว ดังนั้น ขอให้นกตัวนี้ตกเป็นของผู้ที่พยายามช่วยเหลือ คือเจ้าชายสิทธิธัตถะเถิด”

ทุกคนในที่ประชุม ลงความเห็นด้วยกับถ้อยคำอันมีเหตุผลเที่ยงธรรมนี้ การตัดสินก็เป็นว่า ให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นผู้รับเอานกตัวซึ่งพระองค์ได้ทรงพยายามช่วยชีวิตนั้นไป พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ในนกนั้นอย่างเอื้อเฟื้อที่สุด จนกระทั่งแผลของมันหายสนิท และได้ทรงปล่อยมันสู่ความเป็นอิสระกลับไปยังฝูงของมัน มีความสุขอยู่ในสระกลางป่าลึกสืบไป


มีต่อ >>>>> ตอนที่ ๓ ในวัยรุ่น
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ย. 2006, 5:54 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ ๓ ในวัยรุ่น


ในประเทศอินเดียแห่งโบราณ คนทุกคนทราบดีว่าทุกสิ่งที่มนุษย์เราพากันต้องการนั้น ย่อมสำเร็จมาจากพื้นดิน เพราะฉะนั้น ผู้ซึ่งทำหน้าที่ไถหว่านแผ่นดิน จนกระทั่งเกิดอาหารอันเป็นของจำเป็นสำหรับมนุษย์ขึ้นมาได้นั้น นับว่าเป็นบุคคลผู้ทำสิ่งซึ่งจำเป็นที่สุด และมีประโยชน์ที่สุดให้แก่ประเทศชาติของตน ด้วยเหตุนั้น จึงเกิดมีประเพณีเป็นประจำปีในยุคนั้นที่พระราชาแห่งถิ่นแคว้นแดนนั้นๆ จักต้องเสด็จสู่ท้องนาด้วยพระองค์เอง พร้อมทั้งอำมาตย์ข้าราชการของพระองค์ด้วย พระองค์จะทรงจับคันไถขึ้นไถนาด้วยพระหัตถ์เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ปวงประชาราษฎร์ของพระองค์ ในข้อที่ว่า งานอันมีเกียรตินี้ ไม่ใช่สิ่งที่ควรรังเกียจหรือละอาย

ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ในครั้งนี้เป็นปลายฤดูร้อน อันเป็นฤดูเริ่มการทำนา พระเจ้าสุทโธทนะก็ได้เสด็จออกจากนครพร้อมด้วยขบวนหลวง เพื่อทรงประกอบพิธีเรียกกันว่า “รัชชนังคลมงคล” ประชาชนทั้งนครได้ติดตามพระองค์ไป เพราะเป็นพิธีใหญ่ประจำปี เพื่อดูพระราชาของตนประกอบพิธีอันสำคัญนี้ และมีส่วนในการเลี้ยงอันเอิกเกริกที่สุด ซึ่งเนื่องอยู่ด้วยกัน แม้พระราชาก็ได้ทรงพาพระโอรสองค์น้อยของพระองค์ไปสู่ท้องนาคราวนั้นด้วย แต่ทรงปล่อยให้พักอยู่กับคนเลี้ยงตามลำพัง

พระเจ้าสุทโธทนะเสด็จไปสู่ที่ที่ประกอบพิธีไถพื้นดิน ทรงจับคันไถซึ่งประดับด้วยทองคำ แล้วทรงเริ่มไถพื้นดินแห่งท้องนา ถัดตามมาข้างหลังมีหมู่อำมาตย์ซึ่งจับไถอันประดับเงิน แล้วก็ถึงอันดับของหมู่ชาวนาธรรมดาทำการไถตามมา ด้วยไถตามปกติของตนๆ เป็นคู่ๆ ล้วนแต่พลิกเนื้อดินดีสีน้ำตาลเหล่านั้นให้ร่วนเหมาะสมที่จะปลูกหว่านสืบไป

ครั้นตกมาถึงเวลาเลี้ยงดูกัน พวกคนเลี้ยงพระกุมารได้ทยอยกันมาสู่ที่เลี้ยงกันจนหมดสิ้น พากันลืมพระกุมารนั้นโดยสิ้นเชิง และได้ทิ้งพระองค์ไว้ในที่นั้นแต่พระองค์เดียว เมื่อพระกุมารรู้สึกว่าพระองค์ทรงอยู่แต่พระองค์เดียวเช่นนั้นก็ทรงรู้สึกสบายพระทัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเหตุพระองค์เป็นเด็กฉลาดอย่างยิ่งนั่นเอง พระองค์มีพระประสงค์ที่จะหาเวลาคิดอย่างเงียบๆ ของพระองค์ในสิ่งที่ได้ทรงเห็นในวันนี้ ในขณะที่เขากำลังมีการเลี้ยงและรื่นเริงกันอย่างยิ่งนั้น ดั่งนั้นพระองค์จึงเสด็จดำเนินไปอย่างเงียบๆ ตามลำพังจนกระทั่งถึงต้นหว้าใหญ่ มีใบตกร่มเงาเย็นสนิทต้นหนึ่ง แล้วได้ประทับนั่งลงสำรวมจิตให้ว่างโปร่งจากอารมณ์ทั้งหลาย

พระองค์ได้เริ่มพิจารณาเป็นข้อแรกว่า ณ ที่นี้ พระราชบิดาของพระองค์ พร้อมทั้งอำมาตย์และชาวนาทั้งหลายได้ประกอบพิธีการไถนา ทุกคนกำลังมีความร่าเริงสนุกสนานเลี้ยงดูกันอย่างเต็มที่ แต่สำหรับวัวทุกตัวนั้นเล่าดูไม่มีความสุขสบายเสียเลย มันต้องลากไถอันหนักให้ไถไปตลอดพื้นดินอันเหนียว มันต้องฉุดลากไถจนมันหมดแรงเหนื่อยหอบจนต้องหายใจทางปาก ทำให้เห็นชัดทีเดียวว่าชีวิตนี้มิใช่เป็นของสนุกสนานสำหรับมันเลย แม้ในวันที่พวกมนุษย์พากันเลี้ยงดูกันอย่างสนุกสนานเช่นนี้ มันก็ยังจำต้องทำงานหนัก และมักจะมีอยู่บ่อยๆ ที่มันถูกตวาดด้วยถ้อยคำอันหยาบคาย หรือถึงกับถูกตีหนักๆ เพราะเผอิญมันทำไม่ได้ตรงตามความต้องการของเจ้าของ เจ้าชายสิทธัตถะยังได้พิจารณาเห็นต่อไปว่า แม้ในขณะแห่งความบันเทิงในวันที่ร่าเริงกันอยู่อย่างยิ่งนี้ ก็ยังมีสิ่งอื่นอีกมากที่ไม่ได้รับความผาสุกอย่างใดเลยอยู่เป็นธรรมดา

ในขณะที่พระองค์ประทับอยู่ภายใต้ต้นหว้านั้น พระองค์ได้ทรงสังเกตความเคลื่อนไหวของนกและของสัตว์ต่างๆ ตลอดถึงแมลงนานาชนิด ในบริเวณนั้น พระองค์ได้สังเกตเห็นกิ้งก่าตัวหนึ่งวิ่งออกมาจากซอกใกล้ๆ พระบาทของพระองค์ แล้วใช้ลิ้นอันรวดเร็วของมัน แลบตวัดจับกินมดตัวเล็กๆ ซึ่งทำงานตามหน้าที่ของมันอยู่อย่างแข็งขัน แต่ชั่วขณะเล็กน้อยเท่านั้น งูตัวหนึ่งได้เลื้อยออกมางับเอากิ้งก่าตัวนั้นแล้วกลืนกิน และในขณะที่กำลังทรงประหลาดใจอยู่นั่นเอง เหยี่ยวตัวหนึ่งได้ถลาลงมาจากท้องฟ้าอย่างรวดเร็ว จับเอางูตัวนั้นไปฉีกกินเป็นอาหาร

เจ้าชายสิทธัตถะทรงพิจารณาอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป และได้ถามพระองค์เองว่า เมื่อสิ่งต่างๆ มันเป็นดังนี้แล้ว ความสวยงามทั้งหลายซึ่งปรากฏอยู่ในชีวิตนี้ ย่อมมีความโสมมโดยประการทั้งปวงแฝงอยู่ ณ เบื้องหลังของมันมิใช่หรือ แม้พระองค์ยังทรงเยาว์วัยเช่นนี้ และยังไม่เคยได้รับทุกข์ทรมานแต่อย่างใดเลยก็ตาม เมื่อพระองค์ได้ทรงมองดูโดยรอบๆ พระองค์ และทรงพิจารณาในสิ่งนั้นๆ แล้ว ก็ทรงมีความรู้สึกว่า ความทุกข์อันใหญ่หลวงกำลังครอบงำคนและสัตว์จำนวนมากอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าพระองค์เองจะกำลังทรงพระสำราญดีอยู่

เมื่อพระองค์ทรงรำพึงอยู่เช่นนั้น ทั้งที่ยังทรงเยาว์วัยอยู่ก็ได้มีพระหฤทัยดิ่งลงสู่เหวลึกแห่งความคิด จนกระทั่งหมดความรู้สึกต่อสิ่งทั้งปวง ทรงหมดความรู้สึกต่อวันซึ่งเขากำลังสนุกสนานเลี้ยงดูกันอย่างเอิกเกริก หมดความรู้สึกต่อพระบิดา หมดความรู้สึกต่อพิธีไถนา และหมดความรู้สึกต่อทุกสิ่งโดยสิ้นเชิง ในขณะนี้พระองค์ทรงมีจิตดิ่งแน่วแน่เป็นสมาธิถึงขั้นที่เรียกกันทั่วไปในหมู่โยคีทั้งหลายว่า “ปฐมฌาน”

พิธีไถนาและการเลี้ยงได้สิ้นสุดไปแล้ว พวกที่มีหน้าที่ทำการอารักขาเจ้าชายระลึกขึ้นได้ถึงพระองค์ ก็รีบกลับมาสู่ที่ที่เขาได้ละทิ้งพระองค์ไว้ ครั้นไม่ได้พบพระองค์ ก็พากันตกใจ แยกย้ายกันออกเสาะหาทุกหนทุกแห่ง โดยเกรงว่าในไม่ช้าพระราชาก็จะทรงเรียกหาพระโอรสเพื่อพากลับคืนวัง ในที่สุดเขาได้พบพระองค์ประทับนั่งนิ่งเงียบ ราวกะรูปหินสลัก อยู่ภายใต้ต้นหว้านั่นเอง

เจ้าชายกำลังมีพระทัยดิ่งลึกอยู่ในห้วงแห่งความคิดของพระองค์ จนถึงกับไม่ได้ยินคำร้องเรียกของคนเหล่านั้นในชั้นแรก แต่เมื่อคนเหล่านั้นได้พยายามอยู่ครู่หนึ่ง ก็สามารถปลุกให้ทรงตื่นจากสมาธิได้สำเร็จ และรีบกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบว่า พระราชบิดากำลังรับสั่งให้หา เพราะเป็นเวลาสมควรที่จะกลับไปสู่วังแล้ว ดั่งนั้นพระองค์จึงได้ทรงลุกและเสด็จไปกับพระหฤทัยของพระองค์เต็มไปด้วยความสงสารต่อสรรพสัตว์ซึ่งมีชีวิตอยู่ แต่ละตัวๆ ล้วนแต่รักชีวิตของตนๆ เหลือประมาณ และกำลังต่อสู้อยู่ด้วยความลำบากยากเข็ญ เพื่อประโยชน์แก่ชีวิตนั่นเอง

พระเจ้าสุทโธทนะ ได้ทรงวุ่นวายพระทัยในการที่ได้ทราบว่า พระโอรสของพระองค์ทรงเริ่มมีความคิดนึกจริงจัง ในปัญหาชีวิตและความหมายอันแท้จริงของชีวิต ก่อนเวลาที่ควรจะเป็น พระองค์ทรงหวั่นพระทัยเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งซึ่งพระฤษีผู้สูงอายุได้เคยกล่าวไว้เมื่อแรกประสูตินั้น บัดนี้จะเริ่มเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว กล่าวคือ ความคิดของพระโอรสของพระองค์ได้เริ่มหมุนไปในทางธรรมเสียแล้ว หากความคิดเหล่านี้ไม่ระงับไป สิ่งที่พระองค์เคยทรงหวั่นวิตกอย่างยิ่งจักเกิดขึ้นโดยแน่นอน คือเจ้าชายสิทธัตถะจักละทิ้งบ้านเรือนไป และพระองค์จักไม่มีพระโอรสเป็นผู้สืบบัลลังก์แห่งประเทศของพระองค์

ในขณะนั้น พระองค์ทรงตกลงพระทัยที่จะทำอะไรบางอย่าง เพื่อโน้มน้าวดวงจิตแห่งพระโอรสให้ออกห่างมาเสียจากความคิดอันรุนแรงลึกซึ้งเช่นนั้น พระองค์ทรงตั้งพระทัยในอันที่จะกระทำทุกวิถีทางที่จะทำได้ เพื่อให้ชีวิตในราชสำนักเป็นสิ่งที่น่ายินดีและเพลิดเพลินแก่พระโอรสของพระองค์ จนถึงกับพระโอรสจะทรงเลิกละความคิดที่คนทั้งหลายเขาไม่คิดกันนั้นเสียได้ ด้วยอำนาจแห่งความเพลิดเพลินนั้น

พระองค์รับสั่งแก่พวกช่าง ให้สร้างปราสาทอันสวยงามขึ้นถึง ๓ ปราสาทสำหรับพระโอรส ปราสาทหลังที่หนึ่ง สร้างขึ้นด้วยไม้แก่นอย่างดี ภายในบุด้วยไม้สีดาอันมีกลิ่นหอม ภายในปราสาทอันอบอุ่นสบายหลังนี้พระองค์ทรงพระประสงค์ให้พระโอรสประทับอยู่ตลอดฤดูหนาว ปราสาทหลังที่สอง สร้างขึ้นด้วยหินอ่อนขัดมันเย็นเฉียบ เพื่อให้เหมาะสมและมีความสบายที่จะอาศัยอยู่ตลอดฤดูร้อน อันเป็นฤดูที่ทุกๆ สิ่งภายนอกปราสาทนั้น กำลังร้อนระอุอยู่ด้วยแสงแดดอันแผดกล้า ปราสาทหลังที่สามสร้างขึ้นด้วยอิฐอย่างดี หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีเขียวเพื่อกันฝนอันตกหนักในฤดูมรสุม ในปราสาทหลังสุดท้ายนี้พระราชาทรงมุ่งหมายให้พระโอรสประทับอยู่ตลอดฤดูฝนให้เป็นสุข ปราศจากความรบกวนของความชื้นและความเย็นเยือกแห่งละอองฝน

รอบบริเวณแห่งปราสาทเหล่านี้ พระองค์รับสั่งให้จัดเป็นสวนอันรื่นรมย์ ประดับด้วยไม้ร่มเงาและไม้ดอกนานาชนิด พร้อมทั้งสระ อันมีน้ำถ่ายเทเข้าออกได้ ปลูกบัวทุกๆ สีในสระเหล่านั้น เพื่อว่าพระโอรสจะได้ออกดำเนินเที่ยวหรือขี่ม้าเล่นได้ทุกคราวที่ทรงพระประสงค์และจะได้รับอากาศเย็นอันบริสุทธิ์ รับความร่มรื่นและทั้งความงามของดอกไม้ทุกทิศทางที่พระโอรสจะทอดสายพระเนตร


มีต่อ >>>>> ตอนที่ ๔ ในวัยหนุ่ม
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ย. 2006, 5:57 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ ๔ ในวัยหนุ่ม


ในที่สุด กาลเวลาได้ผ่านไป เจ้าชายได้ทรงเริ่มผ่านวัยขึ้นมาเป็นหนุ่ม แต่สิ่งอันน่ารื่นรมย์เหล่านั้น กล่าวคือปราสาทก็ตาม สวนก็ตาม สระน้ำก็ตาม ที่เดินที่เล่นที่ขับม้าก็ตาม ข้าบริพารอันงามที่พระราชาจัดประทานให้เป็นอย่างดีก็ตาม ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าอะไรในการที่จะหยุดความคิดอันลึกซึ้งของเจ้าชายได้เลย

พระราชาได้ทรงสังเกตเห็นความจริงข้อนี้ พระองค์ได้ทรงเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์จัดขึ้นเพื่อยึดหน่วงจิตใจเจ้าชาย ให้ติดอยู่ในความเพลิดเพลินนั้น ได้เป็นสิ่งที่ล้มเหลวไร้ผลโดยสิ้นเชิง พระองค์ทรงเรียกประชุมอำมาตย์ทั้งหลายของพระองค์ แล้วรับสั่งถามคนเหล่านั้นว่า ยังมีอะไรวิธีใดอีกบ้าง ที่พระองค์จะทรงสามารถจัดทำเพื่ออย่าให้ถ้อยคำพยากรณ์ของพระฤษีผู้สูงอายุนั้นเกิดเป็นความจริงขึ้นมา

อำมาตย์ทั้งหลายได้กราบทูลถวายความคิดเห็นของตนๆ ว่า ทางที่ดีที่สุดในการยึดหน่วงจิตใจของเจ้าชาย อย่าให้คิดไปในทางสละโลกนั้น คือการจัดให้เจ้าชายได้สมรสกับสตรีสาวที่สวยที่สุดเสีย พร้อมกับทูลอธิบายว่าด้วยการทำอย่างนี้ เจ้าชายจักพัวพันอยู่กับพระชายา จนไม่มีเวลาที่จะหวนคิดถึงสิ่งอื่นใด จนเวลาล่วงไปๆ กระทั่งอยู่ในภาวะเหมาะสมที่จะขึ้นครองบัลลังก์ตามความประสงค์ของพระราชบิดา ตามแบบอย่างที่เขากระทำกัน

พระราชาทรงเห็นชอบว่า คำแนะนำอันนี้เป็นคำแนะนำที่ดีที่สุด แต่พระองค์ยังไม่ทรงวางพระทัยในข้อที่จะเสาะหาสตรีสาวสวยมาได้อย่างไร ที่จะให้น่ารักน่าเสน่หา จนถึงกับเมื่อสมรสแล้ว จะทำให้เจ้าชายหลงใหลโดยสิ้นเชิง และมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องนึกถึงเรื่องอื่นใด นอกไปจากความคิดที่จะทำให้สตรีที่รักของตนนั้นมีความสุขอย่างยิ่งแต่อย่างเดียว

เมื่อได้ทรงพินิจพิจารณาอยู่ครู่หนึ่งแล้ว พระองค์ก็ทรงพบความคิดอันแยบคาย พระองค์ทรงบัญชาให้บรรดาหญิงที่มีรูปร่างงามที่สุดทั้งหมดในประเทศของพระองค์ มาสู่นครกบิลพัสดุ์ ในวันที่ได้กำหนดไว้ เพื่อให้เดินผ่านพระพักตร์เจ้าชายสิทธัตถะ ให้เจ้าชายมีโอกาสระบุว่าสตรีใดเป็นผู้ที่สวยที่สุดกว่าบรรดาสตรีทั้งหลาย และให้เจ้าชายประทานรางวัลเพื่อความงามของสตรีผู้นั้นเป็นพิเศษ แม้สตรีอื่นทุกคนที่ได้มาแสดงตัวในที่นั้นก็จักได้รับรางวัลอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยสมควรแก่ความงามของตนจากพระหัตถ์ของเจ้าชายเองเช่นเดียวกัน

เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงมีพระราชบัญชาออกไปดังนี้แล้ว พระองค์ยังได้ทรงจัดเตรียมให้อำมาตย์ผู้มากด้วยปัญญาของพระองค์จำนวนหนึ่ง ไปคอยเฝ้าดูอยู่ ณ ที่ที่สตรีทั้งหลายเดินผ่านพระพักตร์เจ้าชาย เพื่อจะได้สังเกตว่าเจ้าชายจักพอพระทัยในสตรีคนไหนอย่างสูงสุด แล้วให้กำหนดตัวไว้ว่าเป็นผู้ใดมาจากไหน จักได้กลับไปกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบในภายหลัง

ในที่สุด วันแห่งการประกวดความสวยงามก็มาถึง บรรดาหญิงสาวที่งดงามที่สุดในประเทศ ได้เดินผ่านพระพักตร์เจ้าชายโดยลำดับทีละคนๆ เป็นขบวนแห่งความงามอย่างแพรวพราวทอตาเป็นที่สุด แต่ละคนได้รับพระราชทานรางวัลจากพระหัตถ์ของเจ้าชาย ตามที่เจ้าชายทรงเห็นว่าผู้ใดควรจะได้รับเพียงไร

สตรีเหล่านั้น แทนที่จะรู้สึกร่าเริงยินดี ในการที่ได้มีเกียรติเข้ารับของรางวัลจากพระหัตถ์เจ้าชาย กลับมีแต่ความกลัวจนสะทกสะท้าน จะกลับมีใจร่าเริงได้ ก็ต่อเมื่อได้ผ่านพ้นไปสู่หมู่เพื่อนสาวของตน เป็นอยู่อย่างนี้คนแล้วคนเล่า มันเป็นการชอบด้วยเหตุผลแล้ว ที่พวกสตรีเหล่านั้นจะรู้สึกดังนั้น เพราะว่าเจ้าชายของพวกเขาพระองค์นี้ ไม่เหมือนกับบรรดาชายหนุ่มอื่นๆ ที่พวกเขาเคยพบปะมา เจ้าชายไม่ได้ตั้งพระทัยตรวจมองความงามของหญิงเหล่านั้นเลย หรือหากจะกล่าวให้ตรงความจริงยิ่งไปกว่านั้น ก็คือว่าพระองค์ไม่ได้ทรงมีความรู้สึกนึกคิดใดๆ ในบรรดาสาวงามเหล่านั้นเลย

พระหัตถ์ของเจ้าชายสิทธัตถะ ได้ยื่นประทานของรางวัลให้แก่สตรีเหล่านั้นก็จริง แต่พระหฤทัยนั้นกำลังคิดครุ่นอยู่ถึงสิ่งอื่นบางสิ่งโดยสิ้นเชิง มันเป็นสิ่งซึ่งใหญ่หลวงกว่า เป็นจริงยิ่งกว่าดวงหน้าอันยิ้มแย้มและท่าทางรูปร่างอันเย้ายวนของสาวๆ เหล่านั้น สตรีบางคนได้พูดว่า ขณะที่พระองค์กำลังประทับบนบัลลังก์เพื่อประทานรางวัลอยู่นั้น เธอรู้สึกราวกะว่า พระองค์เป็นเพียงเทวรูปองค์ใดองค์หนึ่ง มากกว่าที่จะเป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญ

บรรดาอำมาตย์ที่พากันเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ตามพระราชโองการนั้น ได้เกิดความรู้สึกหวั่นใจว่า พวกเขาทั้งหลายจะต้องกลับไปกราบทูลพระราชาในการไร้ผลโดยสิ้นเชิงแห่งแผนการของพระองค์ เพราะว่าเจ้าชายไม่ได้ทรงแสดงความพอใจใดๆ ให้ปรากฏ ในบรรดาสตรีงามที่ผ่านไปๆ นั้นแม้เพียงคนเดียว สตรีทั้งหลายก็ได้เดินผ่านไปๆ เกือบจะถึงคนสุดท้ายอยู่แล้ว สิ่งของอันได้จัดเป็นรางวัลก็เกือบจะหมดอยู่แล้ว เจ้าชายก็ยังคงประทับนิ่ง ไม่ไหวติง มีพระหฤทัยเลื่อนลอยไปในทางอื่นอย่างเห็นได้ชัดว่า ไม่ทรงสนพระทัยในความงามอย่างยิ่งของหมู่สตรีสาว ซึ่งแต่ละคนๆ มีความงามอย่างจับตาจับใจคนธรรมดาสามัญทุกๆ คนเหล่านั้นเลย

แต่ในที่สุด ในขณะที่สตรีซึ่งทุกคนคิดว่าเป็นคนสุดท้ายได้เข้ารับรางวัลชิ้นสุดท้ายและเดินผ่านไปแล้ว ยังมีสตรีสาวอีกคนหนึ่ง ได้เดินเข้ามาช้ากว่ากำหนดด้วยอาการค่อนข้างรีบร้อน ทุกคนที่เฝ้าดูอยู่ในที่นั้น ได้สังเกตเห็นว่าเจ้าชายได้มีอาการสะดุ้งนิดหนึ่ง ในเมื่อสตรีผู้นี้เดินมาตรงพระพักตร์ แม้สตรีผู้นี้ก็เหมือนกัน แทนที่จะก้มหน้าอย่างเอียงอายเดินผ่านเจ้าชายไปอย่างสตรีทั้งหลาย กลับมองพระพักตร์เจ้าชายอย่างตรงๆ ยิ้มแล้วถามว่า “ยังมีรางวัลอะไรเหลืออยู่สำหรับหม่อมฉันบ้าง ?” เจ้าชายได้ทรงยิ้มตอบและตรัสว่า “ฉันเสียใจ ที่รางวัลได้หมดไปแล้ว แต่เธอจงรับเอาสิ่งนี้ไปเถิด” พร้อมกับตรัสดังนั้น ได้ทรงปลดพระสังวาลอันงดงามเป็นพิเศษจากพระศอของพระองค์ แล้วทรงพันให้รอบข้อพระหัตถ์แห่งสตรีนั้น

อำมาตย์ทั้งหลาย เมื่อได้เห็นดังนั้น ก็พากันปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่ง ครั้นได้สืบจนทราบว่ากุลสตรีคนสุดท้ายนี้ มีนามว่า ยโสธรา เป็นเจ้าหญิงธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ ดังนั้นแล้ว ก็พากันรีบกลับไปเฝ้าพระราชา กราบทูลให้ทรงทราบทุกประการ ในวันต่อมา พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงจัดส่งคนของพระองค์ไปสู่สำนักพระเจ้าสุปปพุทธะ เพื่อทูลขอพระธิดา อันมีนามว่ายโสธรานั้น เพื่อการสมรสกับเจ้าชายสิทธัตถะ

มีธรรมเนียมประเพณีอยู่อย่างหนึ่ง ในบรรดาเจ้าศากยะซึ่งเป็นเชื้อชาติที่มีความเข้มแข็งกล้าหาญแห่งเชิงเขาหิมาลัยว่า เมื่อชายหนุ่มคนใดประสงค์จะสมรส ข้อแรกเขาจะต้องแสดงตนเองให้คนทั้งหลายเห็นว่า ตนเป็นผู้ฉลาดและเชี่ยวชาญในการขี่ม้า การใช้คันศรแลลูกศร และการใช้ดาบเช่นเดียวกับชายหนุ่มอื่นๆ ดังนั้นเจ้าชายสิทธัตถะ แม้ทรงเป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ก็ยังทรงต้องอนุวัติตามธรรมเนียมประเพณีอันนี้ ดังเช่นชายหนุ่มทั้งหลาย ครั้นถึงวันนัด ชายหนุ่มผู้ฉลาดและเข้มแข็งแห่งแคว้นศากยะทั้งหมด ก็ได้มาประชุมพร้อมกัน ณ สนามอันเป็นที่ประลองฝีมือ ในกรุงกบิลพัสดุ์ ล้วนแต่เป็นนักขี่ม้า นักยิงศร และนักฟันดาบ ที่จัดเจนด้วยกันทุกคน ทุกๆ คนได้แสดงฝีมือในการขี่ม้า การใช้ศร และการฟันดาบ ตามที่ตนสามารถต่อหน้าที่ประชุมของอำมาตย์และประชาชน

เจ้าชายสิทธัตถะทรงขี่ม้าขาวชื่อ กัณฐกะ แสดงความสามารถอาจหาญในการขับขี่ ประกวดกับคนอื่นๆ จนเป็นที่ปรากฏว่าพระองค์ทรงมีความสามารถเท่า หรือยิ่งกว่าคนที่สามารถที่สุดในประเทศของพระองค์ ในการยิงศรพระองค์ทรงสามารถส่งลูกศรไปได้ไกล และแม่นยำกว่าคนหนุ่ม ที่ถือกันในเวลานั้นว่ายิงศรได้เก่งที่สุดในประเทศนั้น กล่าวคือ เจ้าชายเทวทัตซึ่งเป็นลูกเรียงพี่เรียงน้องของพระองค์นั่นเอง

ในการประลองฝีมือทางการฟันดาบนั้นเล่า พระองค์ได้ทรงฟันต้นไม้รุ่นๆ ต้นหนึ่ง ขาดออกด้วยการฟันเพียงครั้งเดียว ด้วยฝีพระหัตถ์อันประณีตและเที่ยงจนถึงกับเมื่อดาบผ่านไปแล้ว ต้นไม้ก็ยังคงยืนต้นอยู่ ทำให้ผู้ที่คอยดูอยู่นั้นคิดไปว่าต้นไม้นั้นยังไม่ถูกตัด จนกระทั่งมีลมโชยมา จึงได้ค่อยๆ ล้มไปสู่พื้นดิน ทำให้คนทั้งหลายเห็นว่า แผลตัดนั้นเกลี้ยงอย่างกะรอยมีดตัดเนย ในการประกวดการฟันดาบคราวนี้ พระองค์ทรงเป็นผู้กำชัยชนะเลิศไว้ได้ กล่าวคือ ทรงชนะพระอนุชาต่างมารดาของพระองค์เอง ซึ่งมีพระนามว่า นันทะ อันเป็นผู้ซึ่งใครๆ คาดกันว่าไม่มีผู้ใดในประเทศนี้จะเอาชนะเจ้าชายพระองค์นี้ ในทางฟันดาบได้

อันดับต่อไป เป็นการประลองฝีมือทางการแข่งม้าโดยอาศัยม้ากัณฐกะสีขาว ฝีเท้าเร็วของพระองค์ เจ้าชายสิทธัตถะสามารถขับขี่ทิ้งผู้อื่นทุกคนไว้เบื้องหลังได้โดยง่ายดาย นักแข่งด้วยกันพากันไม่พอใจ บางคนพูดแก้เก้อว่า “ที่พระองค์ทรงชนะได้อย่างง่ายดายเช่นนี้ น่าจะเป็นเพราะม้าต่างหาก ถ้าเราได้ม้าฝีเท้าเร็วเช่นม้ากัณฐกะมาขี่ เราก็ต้องชนะเหมือนกัน มันดีอยู่ที่ม้าต่างหาก หาใช่ดีที่คนขี่ไม่ อย่างไรๆ เอาม้าเปลี่ยวสีดำ ตัวที่ไม่เคยยอมให้ใครๆ ขึ้นหลังเลยนั้น มาพิสูจน์กันที ว่าใครจะขึ้นขี่มันได้ หรือนั่งบนหลังมันได้นานที่สุด”

ดังนั้นบรรดาเจ้าชายหนุ่มทั้งหลาย จึงได้พยายามเต็มความสามารถของตน ผลัดกันทีละคนๆ ที่จะพยายามจับม้าตัวนั้นเผ่นขึ้นนั่งบนหลังของมันให้ได้ ผลปรากฏทุกพระองค์ ได้ถูกม้าอันลำพองและดุร้ายตัวนั้นสะบัดให้ล้มลงมายังพื้นดินทุกคราวไป กระทั่งเวียนมาถึงรอบของเจ้าชายอรชุน ซึ่งถือกันว่า เป็นนักขี่ม้าที่เยี่ยมที่สุดในประเทศมาแล้ว เจ้าชายองค์นี้ใช้ความพยายามเพียงเล็กน้อย ก็ทรงสามารถขึ้นนั่งบนหลังมันได้ และหวดด้วยแส้ เพื่อให้มันวิ่งไปรอบๆ สนาม แต่ในอึดใจต่อมา โดยที่ใครๆ คาดไม่ถึงว่ามันจะมีฤทธิ์เดชอย่างไร ม้าร้ายตัวนี้ได้แว้งศีรษะของมันมาโดยเร็ว งับเอาขาของเจ้าชายอรชุน ด้วยฟันอันใหญ่คมและแข็งกร้าวของมัน ดึงกระชากเจ้าชายให้หลุดจากหลังแล้วเหวี่ยงลงยังพื้นดิน หากว่าพนักงานที่คอยเฝ้าระวังเหตุการณ์อยู่นั้น พวกหนึ่งไม่ช่วยกันรั้งแยกมันออกไว้ทัน และพนักงานอีกพวกหนึ่งไม่พากันรุมตีทางหลังของมันแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยที่เจ้าสัตว์ดุร้ายตัวนี้จะไม่ทำอันตรายแก่เจ้าชายอรชุนจนกระทั่งเสียชีวิต

แม้ม้าเปลี่ยวดุร้ายตัวนั้น จะอาละวาดถึงเพียงนั้นมาแล้วก็ตาม รอบถัดไป ก็จำต้องเป็นรอบของเจ้าชายสิทธัตถะที่จะต้องขึ้นขี่ ตามที่ตกลงกัน ทุกคนพากันคิดว่าพระองค์จะต้องเสียชีวิต เพราะแม้เจ้าชายอรชุน ที่ถือกันว่าเชี่ยวชาญการขี่ม้าของประเทศก็ยังรอดตายไปได้อย่างหวุดหวิด

แต่เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงดำเนินอย่างแช่มช้าเป็นปรกติ ตรงแน่วไปยังม้าตัวนั้น ทรงวางพระหัตถ์ข้างหนึ่งบนคอของมัน และพระหัตถ์อีกข้างหนึ่งลูบที่จมูกของมัน พร้อมกับกล่าวคำอ่อนหวานที่หูของมันสองสามคำ และพระองค์ได้ทรงตบเบาๆ ที่สีข้างทั้งสองของมัน การกระทำได้ในชั้นต้นนี้ก็ทำความประหลาดใจให้แก่ทุกๆ คน ในการที่ม้าร้ายตัวนั้นยอมนิ่งให้ไม่กระดุกกระดิก และซ้ำยังยินยอมให้เจ้าชายขึ้นบนหลัง ขี่ขับไปข้างหน้าถอยมาข้างหลังได้ตามที่พระองค์ทรงปรารถนาอีกด้วย จึงเป็นที่ประจักษ์ด้วยกันทุกคนในที่นั้นว่า มันยินยอมทำตามความประสงค์ของเจ้าชายทุกๆ อย่างโดยสิ้นเชิง นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีคนเข้าไปใกล้มันได้อย่างนี้โดยไม่เกรงกลัวมัน ทั้งสามารถบังคับขับขี่มัน โดยไม่ต้องมีการเฆี่ยนตีอีกด้วย แม้ม้าตัวนั้นก็จักต้องรู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง ในการกระทำเช่นนั้นของเจ้าชาย ซึ่งมันไม่เคยได้รับการกระทำอย่างนี้จากใครที่ไหนมาก่อนเลย มันจึงยอมให้เจ้าชาย ผู้ซึ่งไม่ทรงหวาดกลัว และทั้งไม่ทรงแสดงความทารุณต่อมัน ทรงขึ้นขี่มันได้ตามความประสงค์

ในที่สุด ทุกคนได้ยอมรับว่า เจ้าชายสิทธัตถะได้เป็นนักขี่ม้าที่เชี่ยวชาญที่สุดของประเทศด้วยอีกประการหนึ่ง และเป็นผู้สมควรที่สุด ที่จะเป็นพระสวามีของเจ้าหญิงยโสธราผู้งามเลิศด้วย ทางฝ่ายพระเจ้าสุปปพุทธะ พระบิดาแห่งเจ้าหญิงยโสธราก็ได้ทรงเห็นพ้องในข้อนี้ ทรงยินยอมยกธิดาของพระองค์ให้เป็นพระชายาของเจ้าชายหนุ่ม ผู้ซึ่งมีรูปร่างงดงามและแกว่นกล้าพระองค์นี้ด้วยความเต็มพระทัย

เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงสมรสกับพระนางยโสธราผู้เลอโฉม ในท่ามกลางความชื่นชมยินดีอันใหญ่หลวงของคนทุกหมู่เหล่า และได้เสด็จพร้อมด้วยพระนางไปประทับ ณ ปราสาทอันสร้างใหม่และงดงาม ซึ่งพระบิดารับสั่งให้สร้างขึ้น เพื่อคนทั้งคู่จะได้แวดล้อมอยู่ด้วยความเบิกบานบันเทิงทุกอย่างทุกประการ เต็มตามที่คนหนุ่มสาวจะพึงบันเทิงได้

ในบัดนี้ พระเจ้าสุทโธทนะเริ่มทรงดีพระทัยว่า พระโอรสของพระองค์จักไม่ทรงใฝ่ฝันถึงการสละบัลลังก์ ออกไปผนวชเป็นนักบวชอีกต่อไป แต่เพื่อให้เป็นที่แน่นอนยิ่งขึ้น ว่าความคิดนึกของเจ้าชายจะไม่น้อมไปในทางนั้นโดยเด็ดขาด พระราชาจึงรับสั่งไม่ให้ผู้ใดผู้หนึ่งในที่นั้นเอ่ยถึงสิ่งที่นำมาซึ่งความเศร้าสลด เช่น ความแก่ ความเจ็บ หรือความตาย เป็นต้น แม้แต่คำเดียว คนที่ห้อมล้อมใกล้ชิดอยู่เหล่านั้น จะต้องพยายามกระทำทุกอย่างทุกทาง ให้ราวกะว่าสิ่งอันไม่พึงปรารถนาเหล่านั้นมิได้มีอยู่ในโลกนี้เลย

ยิ่งไปกว่านั้น พระราชาได้รับสั่งให้คนรับใช้ทั้งภายในและภายนอก ที่มีลักษณะส่อรูปร่างหน้าตาไปในทางชราหรืออ่อนเพลีย หรือเจ็บไข้ได้ป่วย ปรากฏออกมาเพียงเล็กน้อย ให้ออกไปเสียให้พ้นจากเขตวังของพระราชโอรส พระองค์ได้ทรงจัดจนถึงกับว่า ในเขตปราสาทและบริเวณอุทยานรอบปราสาทของเจ้าชายนั้น คนอื่นจักไม่มีผู้ใดเยี่ยมกรายเข้าไปเลย นอกจากหนุ่มสาว ซึ่งมีใบหน้าแสดงแววแห่งความสุขความร่าเริง และความยิ้มแย้มแจ่มใสเท่านั้น หากเผอิญมีใครล้มเจ็บลงในนั้น จักต้องช่วยกันรีบนำออกไปนอกบริเวณโดยทันที และจะไม่ยอมให้กลับเข้ามาอีก จนกว่าจะหายและสมบูรณ์ดังเดิม

พระราชาทรงมีพระราชโองการอันเฉียบขาด มิให้ใครคนใดคนหนึ่งในที่นั้น แสดงอาการหรือนิมิตแห่งความอ่อนเพลียหรือเศร้าใจออกมาต่อพระพักตร์ของเจ้าชาย ทุกๆ คนที่แวดล้อมเจ้าชายอยู่ ต้องแสดงอาการรื่นเริงบันเทิงสดชื่นแจ่มใสจนตลอดทั้งวันทั้งคืน และในยามที่เป็นเวลาปรนนิบัติเต้นรำขับกล่อมจะต้องไม่แสดงอาการแห่งความเมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยออกมาให้ปรากฏ โดยสรุปแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงพยายามจัดทำทุกสิ่งทุกอย่าง ไปในทำนองที่ว่าเจ้าชายจักไม่สามารถทราบหรือแม้แต่เพียงคาดคะเนได้ ว่าในโลกนี้ไม่มีสิ่งอื่นใด นอกไปจากการยิ้ม การหัวเราะและเกลื่อนไปด้วยความเป็นหนุ่มเป็นสาว เต็มไปด้วยความชื่นชม และเป็นสุขเท่านั้น

เพื่อความมุ่งหวังของพระองค์เป็นไปสมบูรณ์ตามนั้น พระราชารับสั่งให้สร้างกำแพงสูงๆ ล้อมปราสาทและอุทยานของเจ้าชายเอาไว้ และทรงบังคับอย่างเฉียบขาดแก่ผู้เฝ้าประตูทั้งหลาย ว่าเขาจักต้องไม่ยอมให้เจ้าชายเสด็จออกไปนอกกำแพงนี้ไม่ว่ากรณีใดๆ โดยวิธีนี้ที่พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงคิดว่า มันจักเป็นที่นอนใจได้ ว่าเจ้าชายจักไม่ได้พบเห็นสิ่งใด นอกจากสภาพอันน่ารื่นรมย์ของความเป็นหนุ่มเป็นสาวและความสวยความงาม จักไม่ได้ยินเสียงใดๆ นอกจากเสียงแห่งความบันเทิงเริงรื่นของบทเพลงของการหัวเราะ และจักทรงพอพระทัยในการที่จะเป็นอยู่ตามที่พระบิดาได้จัดสรรประทานให้ จักไม่ทรงปรารถนาในการออกบวช และทรงเสาะแสวงหาสิ่งอื่นใด ให้มากไปกว่าการเป็นอยู่อย่างเจ้าชาย ผู้เป็นพระโอรสหัวแก้วหัวแหวนของพระบิดาเท่านั้น


มีต่อ >>>>> ตอนที่ ๕ ความเบื่อหน่าย
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ย. 2006, 5:59 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ ๕ ความเบื่อหน่าย


แม้พระราชาจักได้ทรงจัดสรร ให้มีการบำรุงบำเรอแวดล้อมพระโอรสของพระองค์สักเพียงใด และแม้ว่าความทุกข์ยากนานาประการ จะได้ถูกเขาเกียดกันออกไป จนไม่มีทางที่เจ้าชายจะรู้สึกเป็นทุกข์ใจ แม้แต่นิดหนึ่งก็ตาม เจ้าชายสิทธัตถะก็ยังทรงไม่รู้สึกเป็นสุข ดังที่พระบิดาปรารถนาเอาไว้ แม้แต่หน่อยเดียว พระองค์อยากจะทราบว่าอะไรอยู่นอกกำแพง ซึ่งเขาไม่ยอมให้พระองค์เสด็จผ่านออกไปเลย

เพื่อป้องกันมิให้พระโอรสมีความสนพระทัยต่อสิ่งซึ่งมีอยู่นอกกำแพง พระราชาได้ทรงจัดงานเลี้ยงดูและงานรื่นเริงต่างๆ ขึ้นทุกชนิด แต่ก็เป็นการไร้ผลเช่นเคย เจ้าชายยิ่งทรงไม่พอพระทัยมากยิ่งขึ้นในการเป็นอยู่อย่างถูกปิดตายเช่นนั้น พระองค์ทรงประสงค์ใคร่จะเห็นโลก มากกว่าที่มันมีอยู่ภายในกำแพงของพระองค์ ทั้งๆ ที่การเป็นอยู่ภายในพระราชวังนั้น ก็เต็มไปด้วยความรื่นเริงเป็นที่สุดแล้ว พระองค์ปรารถนาที่จะทราบว่า คนที่มิใช่เป็นลูกเจ้าลูกนายนั้น เขาเป็นอยู่กันอย่างไร พระองค์ได้กราบทูลพระบิดาซ้ำแล้วซ้ำอีก ว่าพระองค์จักไม่มีความสุขใจได้เลย ถ้าหากว่ามิได้ออกไปเห็นสิ่งเหล่านั้น

กาลล่วงมากระทั่งวันหนึ่ง อันเป็นวันซึ่งพระราชา ไม่สามารถจะทรงทนความรบเร้าของพระโอรสในการที่จะออกไปดูสิ่งต่างๆ ภายนอกกำแพงได้อีกต่อไปแล้ว พระองค์ได้ตรัสว่า “ดีแล้วลูกเอ๋ย ! เจ้าควรจะออกไปเที่ยวภายนอกวัง และดูประชาชนทั้งหลาย ว่าเขาเป็นอยู่กันอย่างไร แต่ต้องให้พ่อได้เตรียมสิ่งต่างๆ ให้พอเหมาะแก่การที่ลูกรักคนเดียวของพ่อจะไปดูเสียก่อน”

พระราชาได้รับสั่งให้แจ้งข่าวแก่ประชาชนทั้งปวง เพื่อทราบว่าพระโอรสของพระองค์จักเสด็จประพาสนครในวันที่กำหนดให้ และให้ทุกบ้านทุกเรือนประดับธงทิวและเครื่องห้อยอันสวยงาม ตามประตูและหน้าต่างเป็นต้น จักต้องทำความสะอาดบ้านเรือนเช็ดถู ทาสีใหม่ ประดับดอกไม้เหนือประตูและหน้าต่างและทำทุกๆ อย่างให้ดูงดงามสดใส สุดความสามารถที่จะพึงกระทำได้ พระองค์ทรงมีพระราชโองการเด็ดขาด มิให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำกิจธุระส่วนตัวของตน แม้เพียงเล็กน้อยกลางถนน คนตาบอด คนง่อยเปลี้ย คนเจ็บป่วยชนิดใดๆ ก็ตาม คนแก่ คนโรคเรื้อนเหล่านี้ ต้องไม่ออกมาสู่ถนนทุกสายในวันนั้น แต่จะต้องเก็บตัวปิดประตูอยู่ในเรือน ตลอดเวลาที่เจ้าชายเสด็จผ่านมา คนหนุ่มแน่น คนแข็งแรง คนมีสุขภาพอนามัย คนที่มีแววร่าเริง เป็นสุขเท่านั้น ที่จะออกมาทำการเฝ้าแหนต้อนรับเจ้าชายในการเสด็จประพาสนคร ใช่แต่เท่านั้น พระราชโองการยังมีอีกว่าในวันนั้น ต้องไม่มีการหามศพไปสู่ป่าช้าเลยเป็นอันขาด ไม่ว่ากรณีใด ให้เก็บศพรอไว้จนกว่าจะถึงวันรุ่งขึ้น

ประชาชนได้พากันกระทำตามที่พระราชามีพระบรมราชโองการทุกประการ ได้พากันกวาดถนนทุกสายและรดน้ำเพื่อระงับฝุ่น ได้ทาบ้านเรือนด้วยสีขาว ประดับประดาให้สวยงามด้วยพวงดอกไม้ และระยาดอกไม้แขวนหน้าประตูบ้านช่องของตนๆ เขาได้แขวนแถบผ้าสีต่างๆ ตามต้นไม้สองข้างถนน ที่เจ้าชายจะเสด็จผ่านไป โดยสรุปแล้ว เขาได้พยายามทำทุกอย่างตามที่เขาเห็นว่าจะทำให้นครนี้ ปรากฏแก่สายพระเนตรเจ้าชายราวกะว่าเป็นนครแห่งเทพยดาในแดนสวรรค์ แทนที่จะเป็นโลกมนุษย์

เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จออกจากวังประทับบนราชรถคันงามของพระองค์ เสด็จประพาสตามถนนสายต่างๆ ทอดพระเนตรทุกสิ่งทุกอย่างในที่ทุกแห่ง ซึ่งล้วนแต่มีใบหน้าอันยิ้มแย้มแจ่มใสของประชาชนคอยต้อนรับอยู่โดยทั่วไป ประชาราษฎร์ทั้งปวงต่างก็ดีอกดีใจ ที่ได้เห็นเจ้าชายเสด็จมาในท่ามกลางพวกเขา บางคนได้ยืนขึ้นและเปล่งเสียงพร้อมๆ กันว่า “ไชโย ! ความชนะ จงมีแต่เจ้าชาย” บางพวกก็ได้วิ่งนำไปข้างหน้าโรยดอกไม้บนหนทาง ที่ม้าของพระองค์จะลากราชรถผ่านไป

ฝ่ายพระราชาเมื่อได้ทรงเห็นว่าประชาชนได้ทำตามพระประสงค์ของพระองค์อย่างเคร่งครัดเช่นนั้น ก็ทรงเบิกบานพระทัยเป็นอย่างยิ่ง และทรงดำริว่า การที่เจ้าชายได้เที่ยวดูนครและได้เห็นแต่สิ่งสวยงามรื่นเริงบันเทิงเสียบ้างเช่นนี้ จักรู้สึกพอพระทัย และจักระงับความคิดอันวิตถารนั้นเสียได้โดยเด็ดขาดเป็นแน่

แต่ในที่สุด แผนการที่พระราชาได้ทรงวางไว้เป็นอย่างดีนั้น ได้เกิดล้มเหลวขึ้นอย่างไม่น่าจะเป็นได้ ได้มีชายชราคนหนึ่งมีผมขาวเต็มทั้งศีรษะ มีแต่ผ้าขี้ริ้วพันกายอย่างกระท่อนกระแท่น เดินโขยกเขยกออกมาจากบ้านหลังหนึ่งข้างถนน โดยไม่ทันที่จะมีผู้ใดเห็นและห้ามเสีย ใบหน้าของแกเต็มไปด้วยจุดกระและรอยย่น นัยน์ตาแฉะและฝ้าฟาง ในปากไม่มีฟันแม้แต่ซี่เดียว เรือนร่างค่อมงอจนต้องใช้มือทั้งสองอันมีแต่หนังหุ้มกระดูกยันไม้เท้าไว้เพื่อไม่ให้ล้ม แกสู้พยายามพยุงกายเดินไปตามถนน อย่างไม่เอาใจใส่ต่อฝูงชนอื่นใด เท้าก็เดินปัดเป๋เปะปะไปพร้อมกับเสียงพึมพำอย่างอิดโรย ขาดเป็นห้วงๆ ออกมาจากปากอันซีดของแก แกกำลังเที่ยวร้องวอนขออาหารกินจากประชาชนที่ผ่านไป ด้วยความหิวโหยถึงขนาดที่ว่า หากไม่ได้รับประทานอาหารสิ่งใดในวันนี้แล้ว แกจักต้องถึงแก่ชีวิต

ทุกๆ คนในที่นั้น มีความขึ้งเคียดตาแก่นี้เป็นอันมาก ในการบังอาจออกมาสู่ท้องถนนในวันที่เจ้าชายเสด็จประพาสนครเป็นครั้งแรก เช่นนี้ ทั้งพระราชาก็ได้มีพระราชโองการห้ามคนเช่นนี้ มิให้แสดงตัวในท่ามกลางถนนในวันนั้นไว้ด้วยแล้ว ผู้คนเหล่านั้นได้พากันพยายามรีบรุมขับต้อนตาแก่คนนี้ ให้กลับเข้าไปยังบ้านของแกเสีย ก่อนแต่ที่เจ้าชายจะทอดพระเนตรเห็น

แต่การกระทำของคนเหล่านี้ เป็นไปไม่ทันท่วงที เจ้าชายสิทธัตถะได้ทอดพระเนตรเห็นคนแก่คนนั้นเสียก่อนแล้ว พระองค์ทรงสะดุ้งในการเห็นภาพคนแก่คนนั้น ซึ่งทรงรู้สึกว่าเป็นการยากที่จะกล่าวได้ว่าเหมือนกับภาพของอะไร พระองค์ได้รับสั่งถามนายฉันนะ สารถีคนโปรดของพระองค์ซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ ว่า “นั่นอะไรกัน ฉันนะ ! มันต้องไม่ใช่คนแน่ๆ ทำไมมันจึงโค้งงอมากเช่นนั้นเล่า ? ทำไมไม่เหยียดหลังให้ตรงๆ เหมือนแกและฉันนี้ ? ทำไมต้องสั่นเทิ้มอย่างนั้น ? ทำไมผมของเขา จึงขาวโพลนอย่างประหลาดไม่เหมือนผมของเราๆ ? ตาของเขาเป็นอะไรไป ? ฟันของเขาอยู่ที่ไหน ? คนบางคนเกิดมาก็มาเป็นอย่างนี้เลยหรือ ? บอกฉันทีเถิด ฉันนะ ! ว่ามันหมายความว่าอย่างไรกัน ?

นายฉันนะได้กราบทูลถวายแก่เจ้าชายของตนว่า “ทูลกระหม่อม บุคคลที่เป็นเช่นนี้เรียกกันว่าคนแก่หง่อม เขาไม่ได้เป็นเช่นนี้มาแต่กำเนิด เขาเกิดมาสู่โลกนี้ เช่นเดียวกับคนทั้งหลายอื่น ในครั้งแรก เขาก็เป็นหนุ่มร่างกายตรง ผึ่งผายและแข็งแรง มีผมดำสนิท และดวงตาอันแจ่มใส แต่เมื่อเขามีชีวิตอยู่ในโลกนี้นานเข้าเขาก็เป็นดั่งนี้ ทูลกระหม่อมอย่าไปเอาพระทัยใส่กับเขาเลย นั่นมันเรื่องของคนแก่ชราต่างหาก”

“หมายความว่าอะไรกัน ฉันนะ !” เจ้าชายได้ตรัสถามต่อไป “หมายความว่า นี่เป็นของธรรมดาอย่างนั้นหรือ ? เธอยืนยันถึงกับว่า ทุกคนที่อยู่ในโลกนี้นานเข้าแล้ว จักต้องเป็นเช่นนั้นหรือ ? ต้องไม่ใช่แน่ๆ ฉันไม่เคยเห็นอย่างนี้มาก่อนเลย ความแก่หง่อม นั่นอะไรกัน ?”

“ทูลกระหม่อม ทุกๆ คนในโลกเมื่อมีชีวิตนานเข้าแล้ว จักต้องเป็นเหมือนบุคคลคนนี้โดยไม่มีทางหลีกเลี่ยงเลย”

“ทุกคนเทียวหรือ ฉันนะ ! เธอด้วย ? ฉันด้วย ? พ่อของฉันด้วย ? ชายาของฉันด้วย ? เราทุกคนจักต้องเหมือนคนคนนี้ ! จักต้องโค้งงอและสั่นเทิ้ม จักต้องใช้ไม้ยันกายเอาไว้เมื่อต้องการจะเคลื่อนไหวแทนที่จะยืนได้ตรงๆ เหมือนนายคนนี้ดังนั้นหรือ ?”

“เป็นดังนั้นแน่ ทูลกระหม่อม ทุกๆ คนในโลกเมื่อมีชีวิตอยู่นานเข้าแล้ว จักต้องเป็นเหมือนบุคคลคนนี้ มันเป็นสิ่งที่ป้องกันหลีกหนีเสียไม่ได้ นี่คือความชรา”

เจ้าชายสิทธัตถะรับสั่งให้นายฉันนะขับรถกลับวังในทันที พระองค์ไม่มีแก่ใจที่จะประพาสนครอีกต่อไปในวันนั้น พระองค์หมดความสามารถที่จะรู้สึกบันเทิงเริงรื่นในการได้เห็นภาพแห่งความหัวเราะร่าเริงบันเทิงอันมากมายของประชาชน ในท่ามกลางสิ่งที่ตบแต่งไว้อย่างงดงามทั่วๆ เมือง ทรงประสงค์แต่จะอยู่เดี่ยวลำพังแต่พระองค์เดียว เพื่อคิดตีปัญหาอันเนื่องกับสิ่งที่น่าหวาดเสียว ที่พระองค์ได้ทรงประสพเป็นครั้งแรกนี้ บัดนี้ พระองค์ผู้ซึ่งเป็นเจ้าชายและเป็นทายาทแห่งราชบัลลังก์ พร้อมทั้งทุกๆ คน ที่พระองค์ทรงรักใคร่นั้น ในวันหนึ่งจักต้องหมดกำลัง จักสูญสิ้นความร่าเริงแห่งชีวิตโดยประการทั้งปวง เพราะจักต้องเข้าถึงความชรา และทั้งไม่มีทางที่จะปลดเปลื้องป้องกันได้ ไม่มียกเว้น ว่าจะเป็นใครผู้ใดมาแต่ไหน ไม่ว่าคนมั่งมีหรือคนยากจน ไม่ว่าคนเรืองอำนาจหรือคนไร้วาสนา ล้วนแต่จะต้องเป็นอย่างเดียวกัน

เมื่อพระองค์เสด็จกลับถึงพระราชวังแล้ว แม้ว่าคนปรนนิบัติจะได้จัดสรรอาหารเครื่องต้นอย่างดีมาถวาย พระองค์ก็ไม่อาจจะเสวย เพราะความคิดต่างๆ ได้กลุ้มรุมอยู่ในพระทัยอย่างไม่รู้สร่าง ว่าวันหนึ่งจะต้องเข้าถึงความชรา แม้เมื่ออาหารเหล่านั้น ได้ถูกนำกลับไปแล้ว และมีสตรีนักฟ้อน นักขับจะได้เข้ามาถวายความบันเทิงแก่พระองค์ด้วยการฟ้อนและขับกล่อมก็ตาม พระองค์ไม่สามารถที่จะทอดพระเนตรเห็น หรือได้ยินเสียเพลงแห่งการขับร้องเหล่านั้น เพราะความคิดได้กลุ้มรุมอยู่ในพระหฤทัยตลอดเวลา ว่าในวันหนึ่ง พวกหญิงทั้งหมดนี้ก็จะต้องเข้าถึงความชรา ทุกๆ คนจะต้องเป็นดังนั้น ไม่มีทางยกเว้น แม้แต่คนที่สวยที่สุดและร้องเพลงไพเราะที่สุด !

ต่อมาอีกเล็กน้อย พระองค์รับสั่งให้คนเหล่านั้นกลับออกไป แล้วทรงเอนกายลงพักผ่อน แต่ก็ไม่สามารถจะทรงหลับลงได้ ทรงตื่นพระเนตรแจ๋วอยู่ตลอดราตรี ทรงครุ่นคิดแต่เรื่องที่พระองค์และพระชายา อันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ จักต้องเป็นไปในอนาคตว่า วันหนึ่งจะเข้าถึงความชราด้วยกันทั้งคู่ จักมีผมหงอกขาวเต็มศีรษะ จักมีหน้าเหี่ยวย่นน่าขยะแขยง จักไร้ฟันในปาก และจักน่าสะอิดสะเอียนเหมือนบุคคลที่พระองค์ได้ทรงเห็นมาในตอนกลางวันวันนี้ แล้วทั้งสองคนก็จักไม่สามารถทำความบันเทิงเริงรื่นอะไรๆ ให้แก่กันและกันได้อีกสืบไป

เมื่อทรงคิดมาถึงตอนนี้ พระองค์เริ่มทรงฉงนพระทัยว่า จักไม่มีใครสักคนหนึ่ง ในบรรดาคนจำนวนมากมายในโลกนี้ ได้เคยตั้งใจค้นให้พบวิธีที่จะหนีออกไปเสียให้พ้นจากสิ่งอันร้ายกาจ กล่าวคือความชรานี้บ้างเลยหรือ ? ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์เริ่มทรงสงสัยว่า หากพระองค์จักทรงพยายามแล้วพยายามอีกให้เต็มความสามารถ หยุดการกระทำอย่างอื่นเสียทั้งสิ้น ใช้ความคิดและกำลังทั้งหมด คิดและกระทำแต่สิ่งๆ เดียวนี้แล้ว จักไม่สามารถพบวิธีที่จะก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่พระองค์เอง แก่พระนางยโสธรา แก่พระบิดา และแก่คนทุกคนในโลกบ้างเลยหรือ ?

ได้มีผู้กราบทูลให้พระราชาทรงทราบถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในท้องถนนนั้นทุกประการ และพระองค์ทรงเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง แม้พระราชาก็ไม่สามารถบรรทมหลับได้ตลอดราตรีนั้น ได้ทรงเริ่มคิดหาวิธีอื่นๆ ในการที่จะโน้มน้าวพระหฤทัยของเจ้าชายมาเสียจากความคิดชนิดที่ถ้าไม่หยุดคิดแล้ว จะต้องทำให้เจ้าชายสละโลกออกผนวชเป็นฤษีหรือนักบวชผู้เร่ร่อนโดยไม่ต้องสงสัย

พระราชาได้ทรงแสวงหาสิ่งเพลิดเพลินสนุกสนานอย่างอื่น มาบำรุงบำเรอแก่พระโอรสของพระองค์อีกมากอย่าง แต่ทุกๆ อย่างก็ไร้ผลดังที่เคยเป็นมา เจ้าชายหนุ่มไม่ทรงแยแสไยดีในสิ่งเหล่านั้น กลับทรงวิงวอนพระบิดา ขอให้ทรงอนุญาตให้พระองค์เสด็จประพาสนครอีกครั้งหนึ่งตามลำพัง โดยไม่ต้องให้มีใครทราบ เพื่อพระองค์จะได้ทรงเห็นสิ่งต่างๆ ดังเช่นที่เป็นอยู่ทุกๆ วัน อย่างที่ใครเขาเห็นกันอยู่ตามปรกติ

ทีแรก พระราชาไม่ทรงปรารถนาที่จะประทานพระอนุญาต เพราะพระองค์ทรงหวั่นกลัวยิ่งขึ้น ว่าเจ้าชายสิทธัตถะออกไปอีกครั้งนี้ ได้เห็นความเป็นอยู่ตามปรกติของผู้คน ซึ่งไม่มีโอกาสกำเนิดเป็นลูกเศรษฐีลูกกษัตริย์ต้องทำมาหากิน อย่างที่เหงื่อไหลตกลงมาจากคิ้วตลอดเวลาเข้าแล้ว คำทำนายของพระฤษีผู้สูงอายุนั้นจักต้องเป็นความจริงขึ้นโดยแน่นอน เจ้าชายสิทธัตถะก็จักไม่มีโอกาสครองราชย์บัลลังก์สืบแทนพระองค์สืบไป

แต่อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงทราบดีอีกว่า พระโอรสของพระองค์จักไม่ทรงมีความสุขได้เลย หากว่าไม่ได้ออกไปทอดพระเนตรเห็นสิ่งต่างๆ ที่ทรงพระประสงค์ ด้วยความรักและสงสารแห่งน้ำพระทัยของพระราชาผู้เป็นบิดาอันมีต่อบุตร แม้จะเกิดผลขึ้นเป็นประการใดก็ตามที พระองค์ทั้งๆ ที่ไม่ปรารถนาก็จำต้องทรงอนุญาตให้เจ้าชายเสด็จประพาสนครได้ตามประสงค์ ดังนั้นเจ้าชายสิทธัตถะจึงได้มีโอกาสเสด็จออกจากกำแพง ซึ่งเขามุ่งหมายจะกีดกันมิให้พระองค์ทรงประสพสิ่งอันไม่พึงปรารถนานั้นได้อีกครั้งหนึ่ง

ในครั้งนี้ พระองค์ได้เสด็จดำเนินด้วยพระบาท แทนการเสด็จด้วยราชรถ ทรงแต่งพระองค์ด้วยเครื่องแต่งกายอย่างคนหนุ่ม ที่มีเชื้อสกุลดีและไม่มีใครตามเสด็จ นอกจากนายฉันนะซึ่งก็ได้แต่งกายให้ผิดแปลกไปจากที่เคยแต่ง เพื่อคนอื่นจักไม่ทราบได้ว่า นายฉันนะนั่นคือใคร และเป็นทางให้ไม่รู้จักพระองค์ต่อไปอีกด้วย

ครั้งนี้ ไม่มีกลุ่มชนที่ชุมนุมกันอยู่ เพื่อคอยเฝ้าถวายพระพร ไม่มีการประดับที่งามระย้าไปด้วยพวงดอกไม้ ไม่มีธงทิวหลายสีทอพระเนตรเจ้าชายดั่งในกาลครั้งก่อน แต่เป็นเพียงภาพแห่งสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ตามธรรมดาแห่งนคร อันเต็มไปด้วยพลเมืองซึ่งสาละวนอยู่กับกิจการงานนานาชนิด อันเกี่ยวกับอาชีพ เพื่อให้ได้มาซึ่งอาหาร

ตามทางที่ผ่านไปมีช่างเหล็ก กำลังตีเหล็กที่ว่าอยู่บนทั่งด้วยค้อนใหญ่เพื่อทำเป็นเครื่องไถ เคียว หรือล้อเกวียนและสิ่งอื่นๆ ข้างถนน อันเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของคนมั่งมี มีช่างเพชรพลอย และช่างทองกำลังทำและจำหน่ายเครื่องเพชรพลอย ทองเงินรูปพรรณนานาชนิด ถนนบางสายเต็มไปด้วยร้านรวงของคนย้อมผ้าซึ่งกำลังตากผ้าสีสดต่างๆ กัน บางแห่งเต็มไปด้วยร้านทำขนม มีช่างทำขนมกำลังปรุง และบ้างก็กำลังขายให้ผู้คนที่มายืนคอยซื้อเพื่อต้องการบริโภคทันทีที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ

ในขณะนี้ พระหฤทัยของพระองค์ทรงสนุกสนานเพลิดเพลินไปด้วยภาพแห่งคนทั้งหลาย ซึ่งกำลังประกอบกิจของตนๆ อยู่อย่างขยันขันแข็ง ไม่มีวี่แววแห่งความอ่อนเพลีย เป็นที่เบิกบานพระทัยอยู่ แต่ในที่สุด ก็ยังมีสิ่งบางสิ่ง ซึ่งเกิดขึ้นอย่างกะทันหันมาทำลายความบันเทิงเริงรื่น ที่เกิดจากการได้พบเห็นสิ่งน่าสนใจต่างๆ ในวันนั้นเสียจนหมดสิ้น ถึงกับทำให้พระองค์ต้องรีบเสด็จกลับสู่วังเป็นครั้งที่สองด้วยพระทัยอันหดหู่เต็มไปด้วยความเศร้าสลดเป็นอย่างยิ่ง

ขณะที่พระองค์เสด็จไปตามถนนสายต่างๆ อยู่นั้น พระองค์ทรงได้ยินเสียงร่ำร้อง เหมือนกับเสียงขอความช่วยเหลือของใครบางคน อยู่ทางเบื้องหลังในระยะอันไม่สู้จะห่างนัก พระองค์ส่ายพระเนตรเพื่อดูให้เห็นว่าเป็นเรื่องอะไรกัน ได้ทรงเห็นชายคนหนึ่ง กำลังนอนบิดตัวไปมาอยู่กลางฝุ่นด้วยท่าทางอันประหลาด ตามหน้าตามตาและตามเนื้อตัว เต็มไปด้วยจุดสีม่วงอันน่าขยะแขยง นัยน์ตากลอกไปกลอกมา เมื่อพยายามจะลุกยืนต้องอัดใจเบ่งกำลังทั้งหมดเพื่อพยุงตัวขึ้น และทุกคราวที่เขาลุกขึ้นมา พอสักว่าจะยืนตรง ก็กลับล้มฟาดอย่างทิ้งตัวลงไปอีกโดยแรง

ด้วยความเมตตากรุณาอันเป็นพระนิสัยของเจ้าชาย พระองค์ได้ทรงวิ่งตรงไปยังชายคนนั้นในทันที และพยุงเขาให้ลุกขึ้นนั่ง ให้ศีรษะพาดอยู่กับเข่าของพระองค์ และเมื่อทรงช่วยกระทำให้เขารู้สึกค่อยสบายขึ้นบ้างแล้ว ก็ตรัสถามเขาว่ากำลังเจ็บปวดที่ตรงไหน และทำไมจึงยืนไม่ได้ ชายคนนั้นพยายามที่จะพูดแต่ไม่สามารถที่จะพูดออกมา เขาไม่มีกำลังลมมากพอที่จะพูดให้เป็นเสียงได้ จึงได้ถอดใจอยู่ไม่มา

เมื่อนายฉันนะได้สาวเท้าตามเข้ามาถึงพระองค์ เจ้าชายรีบตรัสถามว่า “ฉันนะ บอกฉันทีว่าทำไมชายคนนี้จึงเป็นอย่างนี้ ? การหายใจของเขาเป็นอย่างไรไป ? ทำไมเขาจึงไม่ตอบคำถามของฉัน ?”

นายฉันนะได้ร้องขึ้นอย่างตกใจว่า “ทูลกระหม่อมอย่าไปจับต้องบุคคลเช่นนี้ เขาเป็นคนป่วย โลหิตของเขาเป็นพิษ เขากำลังเป็นกาฬโรค มันกำลังเผาผลาญเขาอยู่ภายใน จนกระทั่งแม้จะหายใจก็ทำได้ด้วยความยากลำบาก และในที่สุดลมหายใจของเขาก็จะต้องเหือดหายไป”

เจ้าชายได้ตรัสถามต่อไปว่า “คนอื่นๆ ก็เป็นอย่างนี้กันด้วยหรือ ? ฉันเองก็อาจเป็นอย่างนี้ด้วยหรือ ?”

“ทูลกระหม่อมก็อาจเป็นได้เหมือนกัน ถ้าหากไปแตะต้องคนเช่นนั้นอย่างใกล้ชิด ขอพระองค์จงวางเขาเสียเถิด อย่าไปจับต้องเขาเลย เพราะกาฬโรคของเขาอาจจะติดต่อมายังพระองค์ได้ และแล้วพระองค์จักต้องเป็นเหมือนเขา”

“ยังมีสิ่งร้ายๆ อันอื่นเหมือนเช่นนี้อีกไหม นอกจากกาฬโรคนี้ ฉันนะ ?”

“ยังมีอย่างอื่นอีก พะยะค่ะ ! ยังมีอีกมากมายหลายชนิด ล้วนแต่ทำความทุกข์ทรมานให้อย่างเดียวกัน”

“แล้วไม่มีใครแก้ไขมันได้หรือ ? ความเจ็บไข้เช่นนี้มาสู่มนุษย์โดยที่มนุษย์ไม่อาจเอาชนะมันได้เลยหรือ ? ประหลาดเสียแล้วละ !”

“มันเป็นอย่างนั้นเอง ทูลกระหม่อม ไม่มีใครทราบได้ว่า วันไหนเขาอาจเจ็บไข้ขึ้น มันอาจจะเกิดขึ้นได้แก่คนทุกคนและทุกเวลา ?”

“ทุกคนเทียวหรือ ฉันนะ ? แก่พวกเจ้านายทั้งหลายด้วยหรือ ? แก่ฉันด้วยหรือ ?”

“เป็นดั่งนั้น พะยะค่ะ มันอาจเกิดขึ้นได้ แม้แก่ทูลกระหม่อมเอง”

“ถ้าดังนั้น คนทุกคนในโลกก็ต้องมีแต่ความหวาดกลัวกันอยู่ตลอดเวลาละซี เพราะว่าไม่มีใครรู้ว่าตัวเอง คืนนี้เข้านอนแล้ว รุ่งขึ้นอาจจะกลายเป็นคนเจ็บป่วยเหมือนคนๆ นี้ ดังนั้นหรือฉันนะ ?”

“มันเป็นดังนั้นจริงๆ ทูลกระหม่อม ไม่มีใครในโลกที่จะรู้ได้ ว่าวันไหนเขาจะล้มเจ็บลง และเมื่อทรมานถึงที่สุดแล้วก็ตาย”

“ตาย ? คำอะไรกัน ? แปลกเหมือนกัน ฉันนะ ! ตายคืออะไร ?”

“ทูลกระหม่อมทอดพระเนตรไปดูนั่นซี พะยะค่ะ”

เจ้าชายทรงทอดพระเนตรไปทางที่นายฉันนะชี้ และได้ทรงเห็นหมู่คนไม่กี่คนกลุ่มหนึ่ง กำลังเดินร้องไห้มาตามถนน และเบื้องหลังคนเหล่านี้ มีคนสี่คนหามบุคคลซึ่งนอนนิ่งแข็งทื่อคนหนึ่งมาบนแผ่นไม้กระดาน คนที่นอนบนนั้นแก้มยุบปากอ้าอย่างน่าเกลียด ไม่พูดไม่จาว่าอะไร แม้คนหามจะเขย่าอย่างแรง หรือคนหามสะดุดพลาดเพลงไป ก็ไม่ออกปากบ่นว่าแต่อย่างใด

เจ้าชายทรงหยุดประทับดูคนหมู่นั้น ขณะที่เขากำลังผ่านพระองค์ไป ทรงฉงนพระทัยว่าทำไมต้องพากันร้องไห้ และทำไมคนที่นอนอยู่บนแผ่นไม้กระดานจึงไม่ขอร้องให้คนหามมีความระมัดระวังขึ้นสักหน่อย และพระองค์ทรงประหลาดพระทัยยิ่งขึ้น ในเมื่อคนกลุ่มนั้น เดินไปได้อีกหน่อยเดียว เขาก็พากันวางคนนั้น ลงบนกองฟืนที่กองไว้ และจุดไฟขึ้นจนกระทั่งลุกโพลงเป็นกองไฟกองใหญ่ น่าสยดสยอง แต่กระนั้น คนที่ถูกเผา ก็ยังคงนอนนิ่งเงียบอยู่ แม้ไฟจะได้ไหม้ลามถึงศีรษะและเท้าของเขาแล้วก็ตาม

เจ้าชายได้ตรัสถามนายฉันนะ ด้วยเสียงอันสั่นเครือว่า “นี่มันอย่างไรกัน ฉันนะ ! ทำไมคนนั้นจึงนอนนิ่งให้เขาเผาอย่างนั้นเล่า ?”

“ทูลกระหม่อม คนๆ นั้นเป็นคนตายแล้ว เขามีเท้า แต่ไม่อาจวิ่งได้อีกแล้ว เขามีตา แต่ไม่อาจดูอะไรได้อีกแล้ว เขามีหู แต่ไม่อาจได้ยินเสียงอะไรได้อีกแล้ว เขาไม่อาจมีความรู้สึกในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นความร้อน ความหนาว ไม่ว่าไฟหรือหิมะ เขาหมดความรู้สึกทุกอย่างแล้ว เขาตายแล้ว”

“ตายหรือ ? ฉันนะ ! ความตาย หมายถึงสิ่งนี้หรือ ? และฉันซึ่งเป็นลูกพระเจ้าแผ่นดิน ก็จะต้องตายเหมือนชายคนนี้ด้วยหรือ ? พ่อของฉัน ยโสธรา และทุกๆ คนที่ฉันรู้จัก พวกเราเหล่านี้ทุกคน ในวันหนึ่งจักนอนตายเหมือนคนยากจน ที่กำลังนอนอยู่บนกองฟืนนี้ด้วยหรือ ?”

“พะยะค่ะ ทูลกระหม่อม ทุกคนที่มีชีวิตจักต้องตายลงในวันหนึ่งโดยไม่มีทางใดจะป้องกันได้ ไม่มีสิ่งใดที่จะอยู่ได้อย่างเที่ยงแท้คงทน ไม่มีใครสามารถต้านทานปัดป้องการมาของความตาย”

เจ้าชายทรงตะลึงนิ่งอึ้ง มิได้ตรัสอะไรออกมาอีกต่อไป พระองค์ทรงรู้สึกว่าการที่ไม่มีหนทางรอดพ้นจากความตายอันร้ายกาจ ซึ่งครอบงำคนทุกคนอยู่นี้ เป็นสิ่งที่น่าสยดสยอง แม้พระราชา แม้พระโอรสของพระราชาก็ยังไม่พ้นจากอำนาจของความตาย พระองค์เสด็จกลับวังอย่างเงียบกริบตรงไปสู่ห้องที่ประทับของพระองค์บนปราสาท ประทับนั่งรำพึงอยู่พระองค์เดียว ชั่วโมงแล้วชั่วโมงอีก ในสิ่งซึ่งพระองค์ได้ทรงไปพบเห็นมา

ในที่สุด พระองค์ได้ตรัสแก่พระองค์เองว่า “มันเป็นสิ่งที่น่าหวาดเสียวที่ทุกคนในโลกต้องตายลง ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ทั้งไม่มีทางป้องกันมันได้เลย ฉันนะเขาว่าอย่างนั้น ! แต่โอ ! มันต้องมีหนทางรอดอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่สำหรับสิ่งนี้ ! ฉันต้องค้นหาหนทางรอดนั้นให้พบจนได้ ! ฉันจะค้นหาทางรอดสำหรับฉันเองด้วย สำหรับบิดาของฉัน สำหรับยโสธรา และสำหรับคนอื่นๆ ทุกคนด้วย ! หนทางซึ่งฉันจะไม่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของสิ่งน่าเกลียดน่ากลัว คือความแก่ ความเจ็บไข้ และความตายเหล่านี้ ฉันจักต้องหาให้พบให้จนได้ !”

ในโอกาสต่อมา เมื่อเจ้าชายกำลังทรงม้าเล่นในอุทยานภายนอกวัง พระองค์ได้ทรงพบบุรุษผู้หนึ่ง ห่มผ้ากาสาวพัสตร์สีเหลืองของบรรพชิต พระองค์ได้ทรงจ้องสังเกตนักบวชผู้นั้นอย่างลึกซึ้ง จนทรงหยั่งทราบถึงภายในใจของบุคคลคนนี้ ว่ากำลังเต็มไปด้วยความสงบสุขอย่างเย็นเยือก พระองค์จึงได้ตรัสถามนายฉันนะ ถึงความประพฤติเป็นไปในชีวิตของบุคคลประเภทนี้

นายฉันนะได้กราบทูลแก่พระองค์ว่า “บุคคลผู้นี้ เป็นบุคคลประเภทที่เรียกกันว่า “ผู้สละโลก” เพื่อแสวงหาสิ่งดับทุกข์ทรมานของโลก” เจ้าชายมีความปลาบปลื้มในคำๆ นี้เป็นอันมาก เลยประทับนั่งนิ่งๆ อยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งในอุทยานนั้น ด้วยความสุขใจจนตลอดวัน ตลอดเวลานั้นทรงน้อมจิตของพระองค์ไปสู่การออกจากบ้านเรือนขึ้นมาได้เอง

ขณะที่พระองค์ประทับนั่งรำพึงแก่พระองค์เองผู้เดียวอยู่เช่นนั้น ได้มีผู้มากราบทูลว่า พระชายาของพระองค์ได้ประสูติพระโอรสพระองค์หนึ่งงดงามมาก แต่พระองค์มิได้ทรงแสดงอาการดีพระทัยแต่อย่างใด กลับทรงพลั้งพระโอษฐ์ออกไปเบาๆ ด้วยพระทัยอันเหม่อลอยว่า “บ่วงเกิดขึ้นแก่ฉันแล้ว ! บ่วงเกิดขึ้นแก่ฉันแล้ว !” ดังนี้ ด้วยเหตุที่พระองค์ได้ตรัสดังนี้ในวันนั้น จึงเป็นที่ขนานพระนาม คนทั้งหลายได้ขนานพระนามของพระโอรสของพระองค์ว่า “บ่วง” (ราหุละ)


มีต่อ >>>>> ตอนที่ ๖ การสละโลก
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ย. 2006, 6:01 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ ๖ การสละโลก


นับตั้งแต่เจ้าชายราหุลกำเนิดแล้วเป็นต้นมา พระเจ้าสุทโธทนะทรงรู้สึกว่า ไม่มีความจำเป็นอย่างใดอีกต่อไป ในการที่จะกักขังเจ้าชายสิทธัตถะไว้ในความบันเทิงเริงรื่น พระองค์ทรงอนุญาตให้เสด็จออกประพาสที่ต่างๆ ในพระนคร ได้ตามความปรารถนา เจ้าชายจึงเสด็จประพาสทั่วๆ ไป ในพระนครอยู่เนืองๆ ทรงได้ทอดพระเนตรเห็นสิ่งต่างๆ และทรงใคร่ครวญทุกๆ สิ่งที่พระองค์ทรงประสพ และทรงพยายามตั้งพระทัยในอันที่จะต้องจัดต้องทำต่อสิ่งนั้นๆ ตามที่พระองค์ทรงเห็น

วันหนึ่ง เมื่อพระสิทธัตถะเสด็จกลับจากการประพาสนคร ก่อนที่จะถึงที่ประทับของพระองค์ พระองค์ได้เสด็จผ่านหน้าตำหนักอันเป็นที่ประทับของบรรดาเจ้าหญิงทั้งหลาย เจ้าหญิงองค์หนึ่ง พระนามว่า กีสาโคตมี บังเอิญประทับอยู่ที่หน้าบัญชร ได้ทรงเห็นเจ้าชายเสด็จมา ความสง่างามและความสุภาพละเอียดอ่อนของเจ้าชายได้เป็นที่ประทับพระทัยเจ้าหญิงองค์นี้ จนถึงกับพลั้งพระโอษฐ์ออกมาว่า “เย็นเหลือเกิน ! สุขเหลือเกิน ! อิ่มใจเหลือเกิน ! ถ้าหากใครได้เป็นแม่ก็ดี ได้เป็นพ่อก็ดี ได้เป็นเมียก็ดี ของเจ้าชายหนุ่มรูปงามพระองค์นี้”

เสียงพลั้งพระโอษฐ์โดยไม่รู้สึกตัวของเจ้าหญิงกีสาโคตมี ดังจนกระทั่งได้ยินไปถึงโสตของเจ้าชายทุกๆ คำ แต่ขณะนั้นพระองค์เฝ้าพะวงขบคิดแต่เรื่องเพศบรรพชิตและการออกบวช จึงเมื่อทรงได้ยินดังนั้นเข้า ก็กลับจับเอาความไปเสียอีกทางหนึ่ง ทรงรำพึงต่อพระองค์เองต่อไปว่า “แน่แล้ว แม่ก็ตาม พ่อก็ตาม เมียก็ตาม ถ้าได้ลูกหรือได้ผัวเช่นว่านั้น จักต้องมีความเย็น ความสุขและความอิ่มใจแน่แท้ แต่ว่าอะไรกันเล่า ที่เป็นความเย็น ความสุขและความอิ่มใจอันแท้จริง ?” พระหฤทัยของเจ้าชายในขณะนี้ สูงพ้นไปจากความยินดีอย่างวิสัยโลกเสียแล้ว ด้วยเหตุที่สิ่งต่างๆ ที่พระองค์ได้ทรงประสพมาก่อนหน้านี้ได้เต็มแน่นอยู่ในพระหฤทัยของพระองค์ตลอดเวลา ไม่มีช่องทางที่จะให้คิดไปในทำนองอื่นได้อีก

พระองค์ตรัสแก่พระองค์เองว่า “ความสุขที่จริงแท้จะมีมาได้ ก็ต่อเมื่อความไข้แห่งราคะ โทสะ และโมหะ ได้ถูกเยียวยารักษาให้หายแล้วโดยสิ้นเชิง เมื่อไฟแห่งมานะ ทิฏฐิ และกิเลสทั้งหลาย ดับไปหมดแล้ว เมื่อนั้นแหละ ความเย็น ความสุข และความอิ่มใจอันจริงแท้จักมีมา นั่นแหละ คือสิ่งที่ฉันและคนอื่นทุกคนอยากจะได้ นั่นแหละ คือสิ่งที่ฉันต้องออกไปแสวงหาในบัดนี้ ฉันไม่อาจทนอยู่ด้วยความเพลิดเพลินในวังนี้อีกต่อไป ฉันจะต้องออกไปบัดนี้แล้ว ฉันจะแสวงและจะแสวงเรื่อยไป จนกว่าจะพบสิ่งซึ่งเป็นความสุขอันแท้จริง อันจักทำให้ฉันและทุกคนได้ขึ้นอยู่เหนืออำนาจของความแก่ ความเจ็บ ความตาย เจ้าหญิงผู้นี้ได้บอกบทเรียนอย่างดีให้แก่ฉันแล้ว เธอเป็นครูที่ดีที่สุดแก่ฉันอย่างไม่มีปัญหา ฉันต้องส่งค่าบูชาครูไปถวายเธอ”

ตรัสดังนั้นแล้ว พระองค์ได้ทรงปลดสร้อยไข่มุกซึ่งพระองค์กำลังทรงสวมอยู่ขณะนั้นจากพระศอ ส่งไปถวายเจ้าหญิงกีสาโคตมีเป็นธรรมบรรณาการ เจ้าหญิงองค์นั้นทรงรับสร้อยจากบุรุษเดินข่าวของเจ้าชาย แล้วตรัสคำขอบพระคุณอย่างยิ่งฝากไปยังเจ้าชาย และทรงเข้าใจเอาเองว่า การประทานสร้อยนั้นเป็นการแสดงความรักของเจ้าชายอันใคร่จะได้นางเป็นพระชายา

แต่พระหฤทัยของเจ้าชายอยู่ในสภาพที่ห่างไกลจากเรื่องชนิดนั้น ซึ่งพระบิดาและพระชายาของพระองค์ได้ทรงทราบอยู่เป็นอย่างดี ทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องอยู่กับเจ้าชาย ได้ทรงสังเกตเห็นชัดว่า ในระยะหลังนี้ เจ้าชายได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง นับแต่วันเสด็จกลับจากการประพาสนคร พระองค์ทรงเคร่งขรึมและคิดหนักยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาแล้ว แต่พระบิดาของพระองค์ก็ไม่สามารถปล่อยให้เป็นไปตามเหตุการณ์ โดยไม่ทรงพยายามเป็นครั้งสุดท้าย ดังนั้นพระองค์จึงรับสั่งให้หาหญิงระบำและนักขับร้องที่ฉลาดที่สุด งามหยดย้อยที่สุดในประเทศของพระองค์มาประจำ ณ ปราสาทของเจ้าชาย สตรีเหล่านั้นได้ทำการร้องรำถวายเจ้าชายสิทธัตถะตามพระราชโองการของพระราชาอย่างไพเราะและงดงามที่สุด และด้วยท่าทางที่ยั่วเย้าที่สุด ด้วยความหวังที่จะให้เจ้าชายเกิดความพอใจและเพลิดเพลินให้จนได้

ในชั้นแรกๆ เจ้าชายก็ทรงทอดพระเนตรและยอมฟัง พอไม่ให้เป็นที่ขัดเคืองพระทัยของบิดา แต่พระเนตรของพระองค์ทรงเผยอขึ้นดูสิ่งสวยงามยั่วยวนเหล่านั้นได้เพียงครึ่งเดียว เพราะพระหฤทัยของพระองค์ไปหมกมุ่นอยู่เสียกับสิ่งอื่นบางสิ่ง อย่างไม่มีเวลาสร่าง พระองค์ทรงคิดถึงสิ่งนั้นราวกะว่ามันเป็นเพียงสิ่งเดียวที่คุ้มค่าในการคิด คือ ปัญหาที่ว่า ทำอย่างไรพระองค์และคนทั้งหลายจักพ้นจากความแก่ ความเจ็บไข้ และความตายได้โดยสิ้นเชิง

ในที่สุด พระองค์ทรงอ่อนเพลีย เนื่องจากการคิดมาก และไม่มีเวลาหยุด จึงทั้งๆ ที่อยู่ในท่ามกลางความครื้นเครงแห่งดนตรีและระบำยั่วยวน พระองค์ได้ทรงหลับไป เพราะมันไม่มีกำลังพอที่จะครอบงำ ทำพระหฤทัยของพระองค์ให้รู้สึกเพลิดเพลินได้แต่อย่างใด หญิงนักร้องและนางระบำเหล่านั้นก็สังเกตได้ว่า ผู้ซึ่งเขาทั้งหลายพากันรำถวายนั้น มีความสนพระทัยน้อยเกินไปจนถึงกับหลับไปเสียเช่นนี้ จึงพากันหยุดการร้องรำ ชวนกันนอกพักที่ตรงนั้นเพื่อการพักผ่อน รอคอยจนกว่าเจ้าชายจะทรงตื่นขึ้นมาใหม่ จะได้ร้องรำถวายต่อไป แต่หญิงเหล่านั้นก็เช่นเดียวกับเจ้าชาย คือพอได้เอนกายลง ก็ม่อยหลับไปเพราะความอ่อนเพลีย โดยไม่ทันรู้สึกตัว ทั้งที่ดวงไฟยังลุกสว่างไสวอยู่ทั่วห้อง

สักครู่ต่อมา เจ้าชายได้ทรงตื่นบรรทม ซึ่งมีเพียงงีบเดียว แล้วทรงเหลียวไปรอบๆ ด้วยความประหลาดพระทัย ทั้งขยะแขยงในสิ่งซึ่งพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นในขณะนั้น หญิงทุกคนที่ถือกันว่างามที่สุด หยดย้อยที่สุดในประเทศนั้น บัดนี้ได้นอนระกะอยู่ทั่วไปตามพื้นห้อง ด้วยอากัปกิริยาอันน่าขยะแขยง ด้วยท่าทางอันไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ถึงเพียงนั้น ลางนางนอนเช่นเดียวกับหมู โดยทั่วๆ ไป ลางนางนอนปากอ้า ลางนางนอนน้ำลายไหลจากมุมปากลงเลอะเครื่องแต่งตัว ลางนางกำลังกัดเขี้ยวทั้งกำลังหลับ ดูราวกับปีศาจกำลังโกรธ แต่ละคนๆ น่าเกลียดน่าสะอิดสะเอียน จนถึงกับเจ้าชายทรงประหลาดพระทัยว่า ก่อนหน้านี้พระองค์ทรงรู้สึกพอพระทัยในคนทั้งหลายนี้ได้อย่างไรกัน

ภาพแห่งสตรีทั้งหลายเหล่านี้ ซึ่งครั้งหนึ่งพระองค์เคยทรงรู้สึกว่าน่ารักนั้น บัดนี้ได้เปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัวไปจนหมดสิ้น และเป็นสิ่งสุดท้ายในฐานะเป็นสิ่งที่น่าขยะแขยงที่สุด ที่เข้าไปมีอยู่ในพระหฤทัยของพระองค์นับแต่เวลาที่ได้ทรงมีพระชนม์ชีพมา

บัดนี้ พระหฤทัยของพระองค์ทรงปักแน่ว ที่จะทรงสลัดสิ่งรบกวนใจเหล่านี้ไว้เบื้องหลัง แล้วเสด็จออกแสวงหาสิ่งอันเป็นความสุขแท้จริง ซึ่งสามารถระงับสิ่งร้ายทั้งหลายเหล่านี้ได้โดยทันที พระองค์ทรงลุกขึ้นอย่างเงียบกริบ โดยไม่ทำให้หญิงคนใดตื่นขึ้น ลอบเสด็จออกมานอกห้องนั้นแล้วรับสั่งให้นายฉันนะเตรียมผูกม้ากัณฐกะสีขาวตัวโปรดของพระองค์ในบัดนั้น เพื่อพระองค์จะเสด็จทางไกล

ขณะที่นายฉันนะออกไปเตรียมผูกม้าอยู่นั้น เจ้าชายสิทธัตถะทรงดำริว่า พระองค์ควรเสด็จไปดูพระโอรสเพิ่งประสูติของพระองค์เสียสักครั้งหนึ่งก่อนแต่ที่จะออกไป ดังนั้น พระองค์จึงได้เสด็จไปยังห้องเป็นที่บรรทมของพระชายาและพระโอรส เมื่อเสด็จไปถึง ก็ได้ทรงเห็นว่าพระชายากำลังบรรทมหลับ วางพระหัตถ์กกพระโอรสของพระองค์ไว้อย่างแนบสนิท พระองค์ทรงรำพึงว่า “ถ้าเราจักยกพระหัตถ์ของพระเทวีขึ้น พระนางก็จะตื่นบรรทม ถ้าพระนางตื่นบรรทมก็จักทรงขัดขวางการออกไปของเรา เราต้องไปบัดนี้แล้ว เมื่อใดเราได้พบสิ่งซึ่งเราแสวงหาแล้ว จึงค่อยกลับมาเยี่ยมลูกน้อยและแม่ของเขา” ดังนี้

เจ้าชายได้เสด็จออกจากพระตำหนักอย่างเงียบกริบ จนไม่มีผู้ใดตื่นขึ้นเห็นเหตุการณ์ในท่ามกลางความสงัดเงียบแห่งเที่ยงคืนนั้น พระองค์ทรงขึ้นประทับบนหลังม้ากัณฐกะซึ่งเป็นม้าแสนรู้ รู้จักระมัดระวังไม่ส่งเสียงดังอย่างเดียวกัน พระองค์มีนายฉันนะจับหางม้ากัณฐกะ ได้เสด็จไปสู่ประตูนครและทรงผ่านออกไปได้โดยไม่มีใครขัดขวาง พลางขับม้าหนีห่างจากบุคคลทั้งหลาย ซึ่งทุกคนก็ยังพากันมีความจงรักภักดีในพระองค์อยู่

เมื่อพระองค์เสด็จไปได้หน่อยหนึ่ง ก็ทรงชักม้าให้เหลียวกลับ ประทับนิ่งทอดพระเนตรย้อนมาเป็นครั้งสุดท้ายสู่นครกบิลพัสดุ์ ในท่ามกลางแห่งแสงจันทร์ซึ่งบัดนี้ผู้คนกำลังพากันหลับสนิทสงบเงียบ ในขณะที่เจ้าชายแห่งนครของมันเองกำลังจะเสด็จจากไปอย่างไม่อาจจะทราบได้ว่า เมื่อไรจะได้กลับมาเห็นอีก

นครนี้เป็นนครของพระบิดาของพระองค์เอง ทั้งยังเป็นนครซึ่งมีพระชายาอันสุดที่รักและพระโอรสหัวแก้วหัวแหวนของพระองค์ประทับอยู่ในนั้นด้วย แม้กระนั้นก็ยังไม่สามารถหน่วงเหนี่ยวทำให้พระองค์ทรงท้อแท้พระทัยในความแน่วแน่แห่งการเสด็จออกแม้แต่หน่อยเดียว ความคิดที่จะเสด็จกลับเข้านครมิได้เกิดขึ้นในพระทัยของพระองค์เลย พระหฤทัยนั้นยังคงแน่วแน่ปักดิ่งในการเสด็จออกอยู่ทุกประการ พลางทรงชักม้ากลับและทรงควบขับม้าไปตามที่พระองค์ทรงประสงค์ กระทั่งลุถึงฝั่งแม่น้ำอันมีนามว่า อโนมา ณ ที่นั้นเอง พระองค์ได้เสด็จลงจากหลังม้า ประทับยืนบนหาดทราย ใช้พระหัตถ์ทั้งสองเปลื้องเครื่องประดับทั้งหมดออกจากพระองค์ ยื่นส่งให้แก่นายฉันนะ พร้อมกับตรัสว่า “นี่ฉันนะ จงเอาเครื่องประดับเหล่านี้ของเรา พร้อมทั้งม้ากัณฐกะกลับไปบ้านเมือง บัดนี้เป็นเวลาที่เราสละโลกแล้ว”

นายฉันนะได้ร้องว่า “ทูลกระหม่อมสุดที่รัก อย่าได้เสด็จไปแต่พระองค์เดียวดังนี้เลย จงโปรดให้ข้าพระองค์ได้ไปด้วยอีกคนหนึ่งเถิด” แม้นายฉันนะจะได้วิงวอนครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อขอตามเสด็จไปทุกแห่งที่พระองค์จะเสด็จตามไปก็ตาม เจ้าชายก็ยังทรงยืนยันปฏิเสธไม่ยอมให้ไปกับพระองค์อยู่นั่นเอง

พระองค์ได้ตรัสแก่นายฉันนะว่า “มันยังไม่ใช่เวลาที่จะสละโลกสำหรับเธอ ฉันนะ ! เธอจงกลับไปบ้านเมืองเสียเดี๋ยวนี้ จงทูลพระบิดาพระมารดาด้วยว่า ฉันยังปลอดภัยอยู่” พระองค์ได้ทรงบังคับให้นายฉันนะนำเครื่องประดับและม้ากัณฐกะกลับไปด้วยอาการอันเฉียบขาดดั่งนี้

นายฉันนะ ไม่สามารถจะฝ่าฝืนพระบัญชาแห่งเจ้านายของตนได้ ดังนั้น ทั้งๆที่มีหัวใจอันเหี่ยวแห้งและร่ำไห้อยู่ตลอดเวลา เขาก็จำต้องก้าวย่างกลับไป ไปตามถนนสู่นคร เขาจูงม้ากัณฐกะพร้อมทั้งนำเครื่องประดับของเจ้าชายกลับไปถึงนคร แจ้งข่าวแก่คนทั้งหลายว่า เจ้าชายซึ่งเป็นเจ้านายสุดที่รัก อันพวกเขาได้พากันทะนุถนอมมาจนถึงที่สุดนั้น บัดนี้ได้สละพระชนกชนนี พระชายาและพระโอรส รวมทั้งอาณาจักรไว้เบื้องหลัง เสด็จไปเป็นนักบวชผู้ไร้บ้านเรือนโดยประการทั้งปวงแล้ว

เจ้าชายสิทธัตถะโคตมะ แห่งศากยวงศ์ ผู้ทรงมีพระชนมายุ ๒๙ ปี ยังทรงอยู่ในวัยหนุ่ม มีผมอันดำสนิทประกอบไปด้วยพละกำลังของคนหนุ่ม ได้เสด็จออกจากเรือนสู่ความเป็นผู้ไม่มีเรือน เพื่อทรงแสวงหาหนทางที่จะทำให้พระองค์และคนทั้งปวงประสพชัยชนะ อยู่เหนือความเจ็บไข้ ความทุกข์โศกและความยากเข็ญทั้งปวงด้วยอาการอย่างนี้


มีต่อ >>>>> ตอนที่ ๗ พระมหากรุณาธิคุณ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ย. 2006, 6:03 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ ๗ พระมหากรุณาธิคุณ


เมื่อได้ประทับอยู่ ณ ป่าริมแม่น้ำ ที่พระองค์ได้เสด็จจากนายฉันนะนั้น ชั่วขณะหนึ่งแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะซึ่งบัดนี้อยู่ในสภาพแห่งนักบวชผู้กระทำภิกขาจาร ได้เสด็จมุ่งหน้าสู่ทิศใต้ตรงไปยังประเทศมคธ พระองค์เสด็จถึงราชธานีชื่อ นครราชคฤห์ อันเป็นที่ประทับของพระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งประเทศนั้น

ในพระนครนั้น พระสิทธัตถะทรงถือภาชนะขออาหารเสด็จไปตามท้องถนนเพื่อการภิกขาจารเยี่ยงนักบวชทั้งหลาย แต่อย่างไรก็ตาม พระองค์ปรากฏแก่สายตาของประชาชนว่า มิได้เป็นเช่นนักบวชตามธรรมดาเลย ประชาชนต่างสังเกตเห็นว่าพระองค์มีลักษณะผิดจากนักบวชธรรมดาหลายประการ ดังนั้น ก็พากันหาอาหารที่ดีที่สุดอันจะพึงมีมาถวายและใส่ลงในบาตรของพระองค์

เมื่อพระองค์ทรงรับอาหารได้พอสมควรแล้ว ก็เสด็จออกจากนคร ไปสู่ที่อันสมควรแห่งหนึ่ง ประทับนั่งเพื่อเตรียมฉันอาหารตามที่ได้รับมา แต่ท่านทั้งหลายจงคิดดูเถิด ว่าอาหารที่ได้มาในวันนั้น จะปรากฏในความรู้สึกของพระองค์อย่างไร พระองค์มีกำเนิดเป็นเจ้าชาย ทรงประสพแต่พระกระยาหารอันประณีตที่สุด มีผู้ปรนนิบัติให้เสวยด้วยอาการที่ประเล้าประโลมให้เป็นที่พึงพอใจที่สุด ไม่ทรงเคยประสพอาหารชั้นเลว ทั้งได้ระคนกันในภาชนะอันเดียวเช่นนี้มาก่อนเลย ลำไส้ของพระองค์เริ่มกระอักกระอ่วนราวกะจะทันออกมาจากพระโอษฐ์ ในเมื่อได้ทรงก้มลงดูในบาตรอันเต็มไปด้วยอาหารนานาชนิดนานาพรรณ คละปนกันจนไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไร พระองค์ไม่ทรงสามารถบังคับพระองค์เองให้เสวยอาหารเช่นนี้ได้ ทั้งทรงนึกใคร่จะขว้างทิ้งไปเสียโดยไม่เสวยอะไรเสียเลยจะดีกว่า

แต่ในที่สุด พระองค์ทรงยับยั้งความคิดเช่นนั้นไว้ได้ พระองค์ได้ทรงคิดและรำพึงกับพระองค์เองดังต่อไปนี้

“สิทธัตถะ เธอกำเนิดในราชสำนักแห่งขัตติยวงศ์อันใหญ่ยิ่ง มีอาหารทุกๆ ชนิด ล้วนแต่เป็นอย่างดีสำหรับกินได้ตามปรารถนา ข้าวก็อย่างดี แกงกับก็อย่างดีและเหลือเฟือ แต่แทนที่เธอจะอยู่กินอาหารเช่นนั้นในวัง เธอกลับตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวเพื่อออกมาเป็นนักบวชไร้บ้านเรือน มีชีวิตอยู่ด้วยอาหารของคนขอทาน ตามที่คนใจบุญเขาจะบริจาคให้ แม้ในบัดนี้เธอก็ยังยืนยันความเป็นอย่างนั้นอยู่ ว่าเธอเป็นนักบวชที่ไร้บ้านเรือน แล้วบัดนี้เล่า เธอกำลังจะขว้างทิ้งอาหารนี้เช่นนั้นหรือ ? เธอกำลังไม่ประสงค์จะกินอาหารชนิดที่เป็นของนักบวชผู้ไร้บ้านเรือน ตามที่เขาให้มาอย่างไร เธอคิดว่าการทำเช่นนั้นเป็นการสมควรแล้วหรือ ?”

พระสิทธัตถะทรงให้โอวาทแก่พระองค์เอง พร้อมทั้งเหตุผลนานาประการ เพื่อปรับปรุงพระหฤทัยให้เหมาะสมแก่การที่จะต้องเป็นอยู่ด้วยอาหารของคนขอทาน ตามธรรมเนียมของนักบวชทั้งหลาย ในที่สุดแห่งการต่อสู้กันในภายในจิตใจครั้งนี้ พระองค์เป็นฝ่ายชนะความกระด้างถือตัว ทรงหมดความรังเกียจในอาหารอันวางอยู่เฉพาะพระพักตร์ แล้วทรงเริ่มเสวยอาหารนั้น โดยปราศจากอาการอันกระสับกระส่ายแก่ประการใด และไม่ต้องทรงลำบากพระทัยในการที่จะต้องฉันอาหารเช่นนั้นอีกสืบไป

ในครั้งนั้น ประชาชนชาวเมืองราชคฤห์ได้พากันโจษจันถึงนักบวชแปลกหน้า ซึ่งเข้ามาบิณฑบาตในนครเมื่อเช้านี้ ว่ามีลักษณะผิดแปลกจากนักบวชตามปรกติอย่างไม่อาจจะเทียบกันได้ ในความสง่างามและความมีลักษณะสูงส่ง ข่าวอันนี้ได้แพร่สะพัดไปจนกระทั่งถึงวังหลวง ทราบถึงพระเจ้าพิมพิสาร จนถึงกับพระองค์ได้ทรงส่งราชบุรุษออกติดตามเพื่อให้ทราบว่านักบวชผู้แปลกประหลาดนี้คือใครกัน

โดยเวลาไม่มากนัก ราชบุรุษผู้สื่อข่าวเหล่านั้น ก็สามารถทราบเรื่องราวอันเกี่ยวกับพระสิทธัตถะได้ครบถ้วน และพากันกลับมากราบทูลให้พระราชาของตนทราบว่า นักบวชผู้นั้นคือพระโอรสองค์ใหญ่ของพระราชาแห่งชนชาวศากยะ ทั้งเป็นทายาทผู้จะต้องสืบราชบัลลังก์อีกด้วย แต่พระองค์ทรงสละสิ่งทั้งปวงออกบวชเป็นภิกษุ เพื่อเสาะแสวงหาหนทางอันจะทำให้คนเราพ้นจากความครอบงำของความแก่ชรา ความเจ็บไข้ และความตาย

เมื่อราชบุรุษกราบทูลดังนั้น พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับด้วยความตื่นเต้นอย่างใหญ่หลวง พระองค์ไม่เคยทรงทราบมาแก่ก่อนว่า มีนักบวชผู้ใดเคยออกบวชเพื่อเสาะแสวงหาสิ่งอันแปลกประหลาดเหนือกฎธรรมดาเช่นนั้น แต่เมื่อฟังดูก็รู้สึกว่า เป็นการกระทำที่น่าเคารพบูชาอย่างยิ่ง เป็นการเหมาะสมแก่เจ้าชายชาติชาตรีแท้จริง และทั้งเป็นสิ่งที่อาจจะเป็นไปได้ว่าจักนำมาซึ่งความสำเร็จ

พระองค์ได้เสด็จไปทูลขอร้องให้พระสิทธัตถะประทับอยู่ในเขตนครของพระองค์ โดยพระองค์จักเป็นผู้ถวายอาหารบิณฑบาตและสิ่งอื่นๆ อันจักเป็นเครื่องอำนวยความสะดวก และนำมาซึ่งความสำเร็จในสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ได้โดยง่าย แต่พระสิทธัตถะทรงปฏิเสธ โดยตรัสว่า พระองค์ไม่อาจประทับอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง แต่แห่งเดียว ตลอดเวลาที่ยังไม่ทรงประสพสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ เมื่อเป็นดั่งนั้น พระราชาได้ทรงขอร้องให้พระองค์ทรงรับคำว่า เมื่อบรรลุถึงสิ่งซึ่งทรงประสงค์แล้ว จักเสด็จมาสู่นครของพระองค์ก่อน เพื่อโปรดให้พระองค์และประชาชนๆ ได้ทราบถึงสิ่งนั้นด้วยเป็นพวกแรก

พระสิทธัตถะได้เสด็จจากนครราชคฤห์ตรงไปยังชนบทอันเต็มไปด้วยทิวเขาเป็นที่อยู่แห่งฤษีแลมุนี นักบวชนานาชนิด ซึ่งพระองค์ทรงหวังว่าบุคคลเหล่านี้จักสามารถช่วยให้พระองค์ได้ทรงศึกษา และทราบถึงความจริงเรื่องชีวิต ความจริงเรื่องความตาย ตลอดถึงสิ่งชั่วร้าย กล่าวคือความทุกข์ทรมาน อันเนื่องกันอยู่กับชีวิตนั้น เพื่อหาหนทางกำจัดเสียโดยสิ้นเชิง

ขณะที่พระองค์เสด็จไปตามหนทาง ได้ทรงเห็นฝุ่นฟุ้งตลบฟ้าลงมาจากภูเขา พร้อมทั้งเสียงกีบสัตว์จำนวนมากกระทบกับพื้นดิน ครั้งเสด็จใกล้เข้าไป ก็ทอดพระเนตรเห็นแพะและแกะฝูงใหญ่ ออกมาจากกลุ่มฝุ่นอันฟุ้งขึ้นดุจเมฆนั้น ฝูงสัตว์ที่น่าสงสารนั้นกำลังถูกขับต้อนไปทางในเมือง ตอนท้ายๆ ปลายฝูงอันยาวยืดนั้น มีลูกแกะอ่อนตัวหนึ่ง ขาเจ็บเป็นแผล มีเลือดไหลโซม ต้องพยายามโขยกเขยกเดินไปตามฝูงด้วยความเจ็บปวดอันทรมาน

เมื่อพระสิทธัตถะทอดพระเนตรเห็นลูกแกะตัวนี้ และทั้งทรงสังเกตเห็นแกะที่เป็นแม่ของมันกำลังเดินวกวน พะวงหน้าพะวงหลัง เพราะมีลูกเล็กที่จะต้องห่วงหลายตัว พระหฤทัยของพระองค์ก็เต็มอัดอยู่ด้วยความกรุณา พระองค์ทรงอุ้มลูกแกะแล้วเดินตามฝูงแกะไปข้างหลังพลางตรัสว่า “สัตว์ที่น่าสงสารเอ๋ย ฉันกำลังจะไปหาพวกฤษีบนภูเขา แต่มันก็เป็นความดีเท่ากันในการที่ฉันจะช่วยบรรเทาความทุกข์ของเจ้า หรือในการที่ฉันจะไปนั่งสวดมนต์ภาวนากับบรรดาฤษีเหล่านั้นบนภูเขา”

เมื่อพระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นหมู่คนเลี้ยงแกะซึ่งเดินตามข้างหลัง ก็ตรัสถามว่า เขาจะต้อนฝูงแกะเหล่านี้ไปทางไหน และทำไมเขาจึงต้อนแกะเหล่านี้ในเวลาเที่ยงวันเช่นนี้ แทนที่จะต้อนมันกลับจากที่เลี้ยงในเวลาเย็น คนเหล่านั้นได้กราบทูลพระองค์ว่าเขาต้องทำตามคำสั่งซึ่งสั่งให้นำแพะและแกะอย่างละร้อยตัวไปสู่ภายในนครตอนกลางวันเสียแต่เนิ่น เพื่อให้เป็นการพรักพร้อมที่จะประกอบการบูชามหายัญของพระราชาในตอนค่ำ พระองค์ตรัสว่า “ฉันจะไปกับพวกท่านด้วย” แล้วพระองค์ก็เสด็จตามฝูงแกะนั้นไป ทรงอุ้มลูกแกะตัวน้อยนั้นไว้ในอ้อมพระหัตถ์ตลอดทาง” (*เรื่องฝูงแกะนี้ ไม่มีในพุทธประวัติอย่างไทย)

เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงริมท่าน้ำแห่งหนึ่ง มีผู้หญิงคนหนึ่ง เดินตรงมาหาพระองค์ ทำความเคารพอย่างนอบน้อมแล้วได้กล่าวกะพระองค์ว่า “ข้าแต่พระเป็นเจ้าสูงสุด พระองค์โปรดเมตตาแก่ดิฉัน จงโปรดบอกให้ทราบเถิดว่า เมล็ดพันธุ์ผักกาด ที่สามารถแก้ความตายได้นั้น ดิฉันจักหาได้จากที่ไหน ?” เมื่อสตรีผู้นั้นได้เห็นอาการสนเท่ห์ของพระองค์ จึงได้กล่าวต่อไปอีกว่า “พระเป็นเจ้าได้ลืมเสียแล้วหรือ เมื่อวานนี้ ดิฉันได้นำลูกชายเล็กๆ ซึ่งเจ็บหนักจวนจะตาย มาให้พระเป็นเจ้าดูที่ในเมือง และได้ถามถึงยา ที่จะป้องกันไม่ให้ตายเพราะดิฉันมีลูกคนเดียว พระเป็นเจ้าได้ตอบว่า มียาซึ่งอาจช่วยชีวิตเขาไว้ได้ ถ้าดิฉันอาจหาเมล็ดผักกาดดำมาหนึ่งโกละ จากเรือนซึ่งไม่เคยมีใครตายเลย !”

พระสิทธัตถะได้ตรัสถามด้วยน้ำเสียงอันอ่อนโยน และพระพักตร์อันยิ้มแย้มว่า “ก็เธอหาเมล็ดผักกาดนั้นได้มาแล้วหรือยังเล่า น้องหญิง ?” หญิงนั้นได้กราบทูลด้วยน้ำเสียงอันเศร้าที่สุดว่า “หาไม่ได้เลย พระเป็นเจ้า ดิฉันเที่ยวหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดอย่างที่ว่านั้นไม่ได้ แม้ดิฉันจะเที่ยวเสาะหาไปทุกบ้านทุกเรือนแล้ว และทุกๆ คนเขาก็พากันเต็มใจจะให้ แต่พอดิฉันบอกเขาว่า ฉันต้องการแต่เมล็ดผักกาดที่มีอยู่ในเรือนซึ่งยังไม่เคยมีคนตายมาก่อน เขาจะพากันกล่าวว่าดิฉันพูดเรื่องที่น่าพิลึกกึกกือเกินไป เพราะบ้านเรือนของคนเหล่านั้น ล้วนแต่มีคนตายในเรือนทั้งนั้น บางเรือนยังเคยตายกันมากกว่าคนหนึ่ง บางคนบอกว่าเคยมีทาสตาย บางคนว่าบิดาตาย บางคนว่าแม่ตาย บางคนว่าลูกชายตาย บางคนว่าลูกหญิงตาย ทุกๆ บ้าน ทุกๆ เรือน ไม่ใครก็ใครได้ตายไปแล้วทั้งนั้น ดิฉันจึงไม่แสวงหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดดังกล่าวนั้นได้จากที่ใดเลย ดิฉันจักหาเมล็ดผักกาดชนิดนั้นมาแต่ไหน ก่อนแต่ที่ลูกชายเพียงคนเดียวของดิฉันนี้จักตายไป จักไม่มีบ้านใด บ้างหรือที่ไม่มีใครเคยตายเลย ?”

พระสิทธัตถะได้ตรัสตอบแก่หญิงนั้น ซึ่งบัดนี้ได้เริ่มร้องไห้สะอึกสะอื้นว่า “เธอได้กล่าวเองแล้วมิใช่หรือว่า ไม่มีบ้านเรือนหลังใดที่ไม่เคยมีใครตายเลย เธอได้พบความจริงอันนี้แล้วด้วยตนเอง บัดนี้ เธอได้ทราบแล้วว่าความทุกข์เช่นนี้ มิใช่เป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่เธอเฉพาะแต่ผู้เดียวในโลกนี้ บัดนี้ เธอได้ทราบด้วยตนเองแล้วว่า คนทั้งโลกก็ร้องไห้เพราะเหตุอย่างเดียวกันกับเธอเต็มไปหมด จงกลับไปบ้าน แล้วจัดการฝังศพลูกของเธอที่ตายแล้วเสียเถิดน้องหญิงเอ๋ย ส่วนฉันนี้จักไปเสาะแสวงหาสิ่งซึ่งจักระงับความโศกของเธอ และของคนทั้งหลาย หากพบแล้ว ฉันจะกลับมาอีก และจะมาบอกเล่าสิ่งนั้นให้เธอทราบ”

พระสิทธัตถะได้เสด็จตามฝูงแกะ ซึ่งกำลังก้าวเข้าไปใกล้ความตายเข้าทุกทีนั้น กระทั่งถึงนคร แล้วเสด็จต่อไปจนกระทั่งถึงวังหลวง อันเป็นที่ซึ่งจะมีการบูชายัญ ณ ที่นั้น พระราชาประทับยืนอยู่กับหมู่นักบวช ซึ่งกำลังสวดบทมนต์สรรเสริญคุณเทพเจ้าทั้งหลายอยู่ ในขณะนั้นไฟบนแท่นบูชายัญได้ติดขึ้นแล้ว นักบวชเหล่านั้นก็พร้อมที่จะทำการบูชายัญด้วยฝูงสัตว์ที่เพิ่งมาถึง ขณะที่หัวหน้านักบวชกำลังยกมีด เงื้อขึ้นเพื่อจะตัดศีรษะแพะที่ถูกนำเข้ามาเป็นตัวแรก พระสิทธัตถะได้ทรงก้าวเข้าตรงหน้า และหยุดยั้งการกระทำของเขาไว้

พระสิทธัตถะได้ตรัสแก่พระเจ้าพิมพิสารว่า “อย่าเลย มหาราช อย่าให้ผู้บูชายัญเหล่านี้พร่าชีวิตสัตว์ที่น่าสงสารเหล่านั้นเลย” พอตรัสเช่นนั้นแล้ว ก่อนที่ใครๆ จะทราบว่าพระองค์จะทำอะไรต่อไป พระองค์ได้ทรงรีบแก้เชือกหญ้าที่เขาใช้ผูกแพะตัวนั้นออก และปล่อยให้มันกลับไปหาฝูงของมัน ไม่มีใครในที่นั้น แม้แต่พระราชาเอง หรือแม้แต่หัวหน้านักบวชผู้ทำพิธีบูชายัญนั้น ได้ทันเกิดความรู้สึกที่จะขัดขวางพระองค์ ในขณะที่พระองค์ทรงปล่อยสัตว์ตัวนั้นให้เป็นอิสระ ทั้งนี้ เป็นเพราะพระองค์ทรงมีท่าสง่างามและสูงส่ง ครอบงำความรู้สึกของคนทั้งหลายในขณะนั้นเสียสิ้น

พระองค์ได้ตรัสแก่พระราชาและนักบวช ผู้ประกอบพิธีบูชายัญ ตลอดถึงประชาชน ที่ได้พากันมาดูการบูชายัญนั้นให้ทราบถึง ข้อที่ชีวิตนี้เป็นของที่น่าอัศจรรย์เพียงไร คือการที่ใครๆ ทำลายมันได้ แต่เมื่อทำลายลงไปแล้ว ใครก็ไม่อาจสร้างมันให้กลับขึ้นมาได้ พระองค์ได้ตรัสแก่คนที่ล้อมรอบอยู่ในที่นั้นว่า ทุกตัวสัตว์ซึ่งมีชีวิต ย่อมรักชีวิต ย่อมกลัวต่อความตายเช่นเดียวกับมนุษย์ แล้วทำไม มนุษย์จะมาใช้กำลังที่ตนมีเหนือสัตว์ผู้เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันนั้น ให้เป็นไปในทางปล้นเอาชีวิต ซึ่งเป็นที่รักของมัน ซึ่งน่าอัศจรรย์ดังกล่าวแล้วนั้น ไปเสียเล่า ?

พระองค์ตรัสต่อไปว่า ถ้ามนุษย์ปรารถนาจะได้รับความเมตตากรุณาแล้ว ก็ควรแสดงความเมตตากรุณาออกไป ถ้ามนุษย์เป็นผู้ล้างผลาญชีวิต เขาก็จะถูกล้างผลาญชีวิตเป็นการตอบแทนตามกฎความจริงซึ่งครองโลก พระองค์ได้ตรัสถามเขาเหล่านั้นว่า พระเป็นเจ้าพวกไหนกันที่เพลิดเพลินในโลหิตและแสวงหาความยินดีจากโลหิต ? ต้องเป็นพระเจ้าชนิดที่ไม่ดีเป็นแน่แท้ ? ผู้ที่แสวงหาความเพลิดเพลินจากความทุกข์ยากและชีวิตของผู้อื่นนั้นควรจะเป็นปีศาจร้าย มากกว่าเป็นพระเป็นเจ้ามิใช่หรือ ?

พระองค์ได้ทรงสรุปว่า ถ้าคนเราปรารถนาจะได้รับความสุขด้วยตนเองในอนาคตแล้ว ก็ต้องไม่ทำความทุกข์ให้เกิดแก่สัตว์อื่น แม้ที่ต่ำต้อยเพียงไร ผู้ที่หว่านพืชพันธุ์แห่งความทุกข์ยากเศร้าโศกทรมานลงไปแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลย จักต้องได้เก็บเกี่ยวผลอันเกิดขึ้นในทำนองเดียวกัน

พระสิทธัตถะได้ตรัสแก่พระราชาและนักบวช ผู้ประกอบการบูชายัญ ตลอดถึงประชาชนชาวนครราชคฤห์เหล่านั้น ด้วยถ้อยคำเหล่านี้ และด้วยลักษณาการอันสุภาพอ่อนโยน เต็มไปด้วยความกรุณาอย่างแท้จริง แต่ก็ทรงไว้ซึ่งอำนาจและกำลังอันเข้มแข็ง ถึงกับเปลี่ยนจิตใจของพระราชาและนักบวชเหล่านั้นได้โดยสิ้นเชิง

จำเดิมแต่นั้นมา พระราชาได้ทรงประกาศพระราชโองการตลอดราชอาณาจักรของพระองค์ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการบูชายัญด้วยสัตว์มีชีวิตอีกต่อไป ให้ประกอบแต่การบูชายัญด้วยสิ่งที่ไม่ต้องมีการล้างผลาญสัตว์ที่มีชีวิต เช่น ดอกไม้ ผลไม้ ขนมหวาน และสิ่งอื่นๆ ซึ่งไม่ต้องมีการฆ่าฟันทำลายชีวิตเลย

พระเจ้าพิมพิสาร ได้ทรงขอร้องต่อพระสิทธัตถะอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ประทับอยู่ในอาณาจักรของพระองค์ และสั่งสอนชนทั้งหลายให้มีความเมตตาปรานีต่อสัตว์ที่มีชีวิตสืบไป พระสิทธัตถะได้ทรงตอบขอบพระทัยในความหวังดีของพระราชา แต่เนื่องจากพระองค์ยังไม่ได้ทรงประสบสิ่งซึ่งพระองค์กำลังทรงแสวงหา พระองค์ไม่สามารถจะหยุดอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง จักท่องเที่ยวต่อไปในที่ทุกหนทุกแห่ง ในบรรดาชนผู้มีวิชาความรู้เป็นนักปราชญ์


มีต่อ >>>>> ตอนที่ ๘ ความพยายามก่อนตรัสรู้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ย. 2006, 6:05 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ ๘ ความพยายามก่อนตรัสรู้


ในประเทศอินเดียสมัยนั้น ก็มีศาสดาผู้สอนลัทธิต่างๆ ในทางศาสนาให้แก่ศิษย์ของตนๆ มากมายหลายลัทธิหลายสำนัก เช่นเดียวกับในสมัยนี้ในบรรดาเจ้าลัทธิเหล่านี้ มีศาสดาคนหนึ่ง มีนามว่า อาฬาระ กาลามะ พระสิทธัตถะได้เสด็จไปสำนักของศาสดาผู้นี้ เพื่อศึกษาในลัทธิของท่าน พระองค์ได้ทรงศึกษาอยู่กับท่านอาฬาระ กาลามะ ด้วยความพากเพียรพยายามจนสามารถเรียนรู้และกระทำได้ทุกๆ อย่างเหมือนดังที่อาจารย์รู้และกระทำได้

ท่านอาฬาระ กาลามะ มีความพอใจในพระองค์และในความสามารถของพระองค์ จนถึงกับวันหนึ่ง ได้กล่าวแก่พระองค์ว่า “บัดนี้ ท่านรู้ทุกๆ สิ่งที่ข้าพเจ้ารู้ ท่านสามารถสั่งสอนลัทธินี้ได้เช่นเดียวกับที่ข้าพเจ้าสอน ข้าพเจ้าเห็นอย่างใด ท่านเห็นอย่างนั้น ท่านเห็นอย่างใด ข้าพเจ้าเห็นอย่างนั้น ในระหว่างเราทั้งสอง ไม่มีความแตกต่างกันเลย จงอยู่ที่นี่ด้วยกัน ช่วยกันสั่งสอนศิษย์สืบไปเถิด”

พระองค์ได้ตรัสถามว่า “ท่านอาจารย์ไม่มีสิ่งใดที่สอนข้าพเจ้าได้อีกแล้วหรือ ? ท่านอาจารย์ไม่สามารถสอนวิธีที่จะทำให้มีอำนาจเหนือความเป็นอยู่ ความเจ็บไข้ และความตายเสียแล้วหรือ ?” ท่านอาจารย์อาฬาระ กาลามะ ได้ตอบว่า “ไม่มีเลย ข้าพเจ้าไม่ทราบวิธีการทำให้อยู่เหนืออำนาจของความเป็นอยู่ และความตาย แล้วจะสามารถสอนท่านได้อย่างไรกัน ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่ามีผู้ใดในโลกนี้ มีความรู้ในข้อนั้น”

ท่านอาฬาระ กาลามะ มีความรู้เท่าที่ท่านได้สอนพระสิทธัตถะไปจนสิ้นเชิงแล้ว คือวิธีกระทำจิตให้ขึ้นถึงขั้นที่สงบเงียบ จนไม่มีความรู้สึกว่า มีสิ่งใดๆ อยู่ในโลกนี้หรือโลกไหน แล้วมีความพอใจอยู่ในความสงบอันนั้น แต่นี่หาใช่เป็นวิธีที่จะช่วยมนุษย์ให้พ้นไปจากการที่ต้องวนเวียนอยู่ในความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตายได้ไม่ ยังจะต้องวนเวียนอยู่ในความทุกข์เหล่านี้ต่อไป ไม่มีที่สิ้นสุด ดั่งนั้นพระสิทธัตถะจึงไม่ทรงพอพระทัยในลัทธินี้ ได้เสด็จท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ เพื่อทรงเสาะแสวงหาบุคคลที่สามารถสอนให้พระองค์ได้ทราบสิ่งที่สูงยิ่งไปกว่าที่ท่านอาฬาระ กาลามะได้สอนให้สืบไป

ในลำดับต่อมา พระองค์ได้ทราบข่าวเจ้าลัทธิชื่อ อุทกะ รามบุตร ว่าเป็นผู้มีความรู้และคุณวิเศษในทางจิตอันสูงยิ่ง พระองค์ได้เสด็จไปสู่สำนักของท่านอุทกะ รามบุตรผู้นี้ และได้เข้าเป็นศิษย์ศึกษาและปฏิบัติ ด้วยความพากเพียรอย่างแรงกล้า จนกระทั่งมีความรู้และความสามารถในการกระทำเช่นเดียวกับอาจารย์ของพระองค์ในที่สุด ท่านอุทกะ รามบุตร ก็เช่นเดยวกับท่านอาฬาระ กาลามะ คือมีความพอใจในความเฉลียวฉลาด และความสามารถของพระสิทธัตถะอย่างแรง จนถึงกับออกปากชักชวนให้อยู่ช่วยสั่งสอนศิษย์ร่วมกันสืบไป

พระสิทธัตถะได้ทรงย้อนถามท่านอุทกะ รามบุตร เช่นเดียวกับที่ได้ทรงถามท่านอาฬาระ กาลามะ และก็ได้รับคำตอบอย่างเดียวกัน พระสิทธัตถะไม่ทรงพอพระทัยในลัทธิ ซึ่งสอนให้ได้ผลอย่างสูง เพียงแต่ทำจิตให้มีความสงบ ถึงขนาดที่ไม่มีความรู้สึกต่อสิ่งทั้งปวง จนถึงกับจะเรียกว่า มีชีวิตอยู่ก็ไม่ใช่ ตายแล้วก็ไม่ใช่ ของท่านอาจารย์ผู้นี้ จึงได้ทรงลาจากสำนักนั้นไป และทรงตั้งพระทัยว่า จักเลิกการเสาะแสวงหาวิชาความรู้จากสำนักเจ้าลัทธิต่างๆ แต่จักทรงหาเอาตามลำพังสติปัญญาและความเพียรของพระองค์เอง

ในประเทศอินเดียในสมัยนั้น ก็เหมือนกับประเทศอินเดียในสมัยนี้ ในการที่มีนักบวชจำนวนมาก สละบ้านเรือนออกไปบวช โดยพากันคิดว่า การอดอาหารและการทรมานกายโดยวิธีต่างๆ นั้น จักทำให้ตนได้รับความสุขในเทวโลกตลอดกาลนาน เขาเหล่านั้นเชื่อว่า เมื่อได้รับความทุกข์ในโลกนี้มากเพียงใด ก็ยิ่งมีความสุขในโลกหน้ามากขึ้นเพียงนั้น เขาเหล่านั้นมีความเชื่อเช่นนี้และปฏิบัติสืบๆ ตามกันมาอย่างเคร่งครัด จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

ผู้บำเพ็ญพรตเหล่านั้น บางพวกได้ลดจำนวนอาหารที่ตนบริโภคลงวันละเล็กวันละน้อย ทุกวัน จนกระทั่งแทบไม่บริโภคอะไรเลย มีร่างกายเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก บางพวกปฏิบัติวิธีการยืนด้วยขาข้างเดียว จนขาข้างหนึ่งลีบตายไป บางพวกยืนยกมือข้างหนึ่งขึ้นชี้ไปบนอากาศตลอดเวลาจนกระทั่งแขนลีบตายไป เพราะไม่มีโลหิตขึ้นไปหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ บางพวกกำมือแน่นเสมอตลอดเวลาไม่ยอมคลาย จนกระทั่งเล็บมืองอก ทะลุฝ่ามือไปโผล่ทางหลังมือ บางพวกนอนบนหนามหรือบนแผ่นกระดาน ซึ่งเต็มไปด้วยเหล็กแหลม ที่ปลายตั้งชันขึ้นข้างบน ดั่งนี้เป็นต้น

พระสิทธัตถะได้ทรงกระทำการทรมานพระองค์ โดยวิธีต่างๆ โดยทรงหวังว่าจักได้พบสิ่งซึ่งพระองค์ทรงประสงค์ โดยไม่ทรงคำนึงถึงความเจ็บปวดอันจะเกิดขึ้น แม้จะมากมายเพียงใด เมื่อพระองค์ไม่ได้ทรงประสพผลดีไปกว่าคนเหล่านั้น พระองค์ทรงดำริสืบไปว่า หากได้ประพฤติตบะทรมานร่างกายให้มากขึ้น จนเพียงพอแล้ว คงจะประสพความรู้ที่พระองค์ทรงประสงค์โดยแน่นอน

ข้อความต่อไปนี้ เป็นการกล่าวถึงการกระทำของพระองค์ในครั้งนั้น ซึ่งพระองค์ทรงนำมาตรัสเล่าแก่พระมหาเถระชื่อสารีบุตร ผู้เป็นอัครสาวกของพระองค์ในภายหลัง

“ดูก่อนสารีบุตร เราได้ประพฤติการกลั้นลมหายใจ จนกระทั่งเกิดเสียงบันลือลั่นในหูของเรา และมีความเจ็บปวดเกิดขึ้นในศีรษะราวกะว่าถูกแทงด้วยดาบหรือถูกหวดบนศีรษะด้วยแส้หนัง ตามเนื้อตัวนั้นเล่ารู้สึกเจ็บ เหมือนคนเอามีดคมมาแล่เถือเนื้อหนังเราทั่วทั้งตัว หรือเหมือนกับถูกจับโยนลงไปในกลุ่มถ่านเพลิง

ดูก่อนสารีบุตร ต่อมา เราได้ประพฤติในความเป็นอยู่โดดเดี่ยว กลางคืนระหว่างวันดับและวันเพ็ญ เราได้เที่ยวไปผู้เดียวในที่เปลี่ยว อันเป็นที่ฝังศพ ตามระหว่างต้นไม้ใหญ่ๆ เราอยู่ที่นั่นตลอดคืน มีขนลุกชันไปทั้งตัว ทุกคราวที่ใบไม้หล่นลงมา เพราะลมพัดหรือนกบินมาจับต้นไม้ หรือเมื่อกวางหรือสัตว์อื่นวิ่งผ่านมาเราก็กลัวจนตัวสั่น เพราะไม่รู้ว่าในความมืดนั้นมีอะไร แต่เราไม่วิ่งหนี เราได้บังคับตัวเราให้ทนอยู่ที่นั่น ให้ผจญกับความกลัว และความสะดุ้งที่เราได้รับจนกระทั่งเราชนะความกลัวนั้น

ดูก่อนสารีบุตร เราได้ประพฤติการอดอาหารเป็นลำดับๆ ไป เราบริโภคอาหารวันหนึ่งเพียงครั้งเดียว แล้วบริโภคสองวันต่อครั้งหนึ่ง แล้วสามวันต่อครั้งหนึ่ง ดังนี้ เป็นลำดับไป จนกระทั่ง ๑๕ วัน จึงบริโภคอาหารครั้งหนึ่ง บางคราวเราบริโภคแต่หญ้า บางคราวบริโภคแต่รากหญ้าแห้ง บางคราวบริโภคแต่ผลไม้ป่า รากไม้ ผักป่า เห็ด เมล็ดหญ้าป่า และมีบางคราวบริโภคสิ่งต่างๆ เท่าที่จะคว้ามาได้จากพื้นดินรอบๆ ตัวตรงที่เรานั่งนั้น เราปกปิดร่างกายของเราด้วยเศษผ้า ที่เขาทิ้งตามป่าช้า หรือกองขยะมูลฝอย บางคราวปกปิดร่างกายด้วยหนังสัตว์ที่ตายเองตามทุ่งนา บางคราวก็ปิดด้วยแผ่นหญ้าถักด้วยพวงขนนก ซึ่งเราพบเรี่ยราดอยู่ในที่นั้นๆ

ดูก่อนสารีบุตร เราอยู่ผู้เดียวในป่าเปลี่ยว ไม่พบเห็นมนุษย์เป็นเดือนๆ ในฤดูหนาวในเวลาดึกหนาวจัดเราออกมาอยู่เสียกลางที่แจ้ง ไม่ผิงไฟ ถึงเวลากลางวันมีแสงแดด เราหมกตัวอยู่ในป่าไม้ ที่เย็นเยือก ครั้นถึงฤดูร้อนในเวลากลางวันที่ร้อนเปรี้ยง เรานั่งอยู่กลางแดดตลอดวัน ครั้นถึงเวลากลางคืน เราอยู่ในพุ่มไม้ที่รกทึบ

ดูก่อนสารีบุตร เราได้ประพฤติวิธีที่เรียกกันว่า “ทำความบริสุทธิ์ด้วยอาหาร” เราไม่บริโภคอะไรเลย นอกจากถั่ว ครั้นถึงสมัยอื่น เราไม่บริโภคอะไรเลย นอกจากเมล็ดพันธุ์ผักกาด ครั้งถึงสมัยอื่นอีก ไม่บริโภคอะไรเลย นอกจากข้าวและเราลดปริมาณลงทุกวัน จนกระทั่งเหลือวันหนึ่งบริโภคถั่วเพียงเม็ดหนึ่ง หรือเมล็ดพันธุ์ผักกาดเม็ดหนึ่ง หรือข้าวเมล็ดหนึ่งต่อวัน

ดูก่อนสารีบุตร เมื่อเราบริโภคอาหารน้อยเช่นนี้ ร่างกายของเราก็ผอมและอ่อนระทวยอย่างน่ากลัว ขาของเรามีลักษณะอย่างต้นอ้อ ตะโพกที่นั่งทับของเรามีสัณฐานดั่งเท้าอูฐ กระดูกสันหลังของเราโปนขึ้น เหมือนเส้นเชือก สีข้างของเรา มีซี่โครงโผล่ขึ้นเป็นซี่ๆ เหมือนกลอนเรือน ที่ถูกทิ้งร้าง ตาของเราลึกอยู่ในเบ้าตา เหมือนดวงดาวที่ปรากฏอยู่ในก้นบ่ออันลึก หนังศีรษะของเราเหี่ยวย่นเหมือนน้ำเต้าอ่อนตัดทิ้งไว้กลางแดด เมื่อเราลูบแขนหรือลูบขาของเราด้วยฝ่ามือ เพื่อให้เกิดความสบายบ้าง ขนก็หลุดขึ้นทั้งรากติดไปกับฝ่ามือที่ลูบนั้น

ดูก่อนสารีบุตร แม้เราได้รับความทุกข์อันแสบเผ็ดเห็นปานนี้ เราก็ยังไม่ได้รับความรู้ที่เราปรารถนา เพราะความรู้แจ้งเห็นจริงนั้น ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการประพฤติเช่นนั้น ตรงกันข้าม อาจจะเกิดจากการพินิจพิจารณาในภายใน และจากการสละเสียซึ่งการประพฤติอย่างชาวโลกทั้งปวง” ดังนี้

พระสิทธัตถะ ทรงทรมานกายโดยทำนองนี้ เกือบตลอดเวลาประมาณ ๖ ปี เท่าที่ทรงท่องเที่ยวไปมาตามที่ต่างๆ โดยทรงดำริว่า เมื่อทรงกระทำอย่างพอเพียงแล้ว จักได้ตรัสรู้ในตอนสุดท้าย พระองค์ได้เวียนมาประทับอยู่ในดินแดนของแคว้นมคธอีก ณ สถานที่อันเงียบสงัดในดงไม้ไผ่แห่งหนึ่งใกล้ๆ แม่น้ำซึ่งมีน้ำใสเย็นสนิท ไหลอยู่เสมอ มีท่าขึ้นลงโดยสะดวก มีหมู่บ้านสำหรับภิกขาจารได้โดยง่าย และไม่ไกลนัก พระองค์ทรงพอพระทัยว่า “สถานที่นี้เป็นที่เหมาะสมอย่างยิ่งแล้ว สำหรับนักบวชเช่นเราอยู่อาศัยเพื่อการทำความเพียร เราจะอยู่อาศัยในสถานที่นี้ละ” ดั่งนี้

พระสิทธัตถะ ได้ทรงถือเอาสถานที่ซึ่งเรียกว่า ตำบลอุรุเวลา เป็นที่อยู่ประจำของพระองค์ ทรงบำเพ็ญภาวนาและตบะกรรมอื่นๆ อย่างเคร่งครัดใต้ต้นไม้ในถิ่นนั้น โดยทรงแน่พระทัยว่า การทำเช่นนั้น จักรู้สิ่งซึ่งเป็นความจริงอันพระองค์ต้องประสงค์

ในครั้งนั้น มีผู้เลื่อมใสในการกระทำอย่างเคร่งครัดของพระองค์จำนวนหนึ่ง ได้พากันมาเฝ้าปรนนิบัติพระองค์ คนเหล่านี้มีจำนวนห้าคนด้วยกัน เรียกว่า คณะปัญจวัคคีย์ ได้คอยเฝ้ารับใช้พระองค์ ในบางประการ โดยเขาเหล่านั้นเชื่อว่า ผู้ที่บำเพ็ญตบะกรรมอย่างกล้าเช่นพระสิทธัตถะนี้ต้องไม่ใช่คนธรรมดา เขาเชื่ออย่างแน่นอนว่า นักบวชผู้มีความอดทนและเสียสละเช่นนี้ ต้องประสพผลสำเร็จในสิ่งที่ตนประสงค์โดยแน่นอน และเมื่อประสพผลสำเร็จแล้วจักสั่งสอนสิ่งซึ่งได้รู้นั้น แก่ผู้เป็นศิษย์ทั้งหลาย

วันหนึ่ง เหตุการณ์ได้บังเอิญเป็นจนถึงกับว่า เมื่อพระสิทธัตถะประทับนั่งอยู่แต่ผู้เดียวใต้ต้นไม้แห่งหนึ่ง มีร่างกายอ่อนเพลียเพราะการอดอาหารและการทรมาน นั่งบำเพ็ญภาวนานานเกินไป พระองค์ได้ล้มลงนอนสลบแน่นิ่งอยู่ ณ พื้นดิน ไม่ไหวติง หมดกำลังจนถึงกับไม่สามารถจะฟื้นคืนชีวิตได้ โดยลำพังพระองค์เอง

แต่เป็นโชคดี ที่เด็กเลี้ยงแพะในถิ่นนั้นคนหนึ่ง ได้บังเอิญเดินมาพบพระองค์บรรทมสลบอยู่ในที่นั้น และเดาเอาว่าพระองค์กำลังจะสิ้นชีวิตเพราะการอดอาหาร โดยที่คนทั้งหลายในถิ่นนั้น รู้กันอยู่ทั่วไปว่า พระอริยเจ้าผู้นี้ได้เว้นจากอาหารมาหลายวันแล้ว ดังนั้น เด็กเลี้ยงแพะคนนั้น ได้วิ่งไปที่ฝูงแพะของตน นำแพะนมตัวหนึ่งมาสู่ที่ที่พระองค์ล้มสลบอยู่ ได้รีดนมแพะให้ตกจากเต้านมโดยตรง หยดลงตรงพระโอษฐ์ของพระองค์ ซึ่งเผยออยู่เล็กน้อย เพราะเขาไม่กล้าแตะต้องเนื้อตัวของผู้ที่ใครๆ ถือกันว่า เป็นพระอริยเจ้า โดยเหตุที่เขาเป็นเพียงเด็กเลี้ยงแพะ

ในเวลาไม่นานนัก น้ำนมนั้นก็ได้แสดงผลตามหน้าที่ของมันแก่พระสิทธัตถะ ซึ่งอยู่ในลักษณะมีชีวิตเหลืออยู่เพียงนิดเดียว ในขณะนั้น ต่อมาอีกครู่หนึ่งพระองค์ทรงสามารถลุกนั่ง และรู้สึกมีความสบายขึ้นกว่าเวลาที่แล้วมา พระองค์เริ่มรู้สึกว่า เพราะเหตุใดจึงได้ทรงสลบไป และเพราะเหตุใดในบัดนี้ จึงมีความรู้สึกสดชื่นทั้งกายและใจขึ้นมาได้ พระองค์ทรงระลึกได้เป็นลำดับๆ ดังต่อไปนี้

“โธ่เอ๋ย เราโง่มาเสียแล้วอย่างมากมาย เราได้สละภรรยาและครอบครัว สละเหย้าเรือนและทุกๆ สิ่ง เราออกบวช เป็นนักบวชไร้บ้านเรือนเพราะประสงค์จะรู้สัจจธรรม อันเกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์เรา และให้รู้วิธีที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อลุผลอันเกี่ยวกับชีวิตให้ดีที่สุด แต่ในการที่จะให้ได้รับความรู้อันลึกซึ้ง ยากที่จะรู้ได้เช่นนี้ เราควรจะมีสมองและจิตใจที่เข้มแข็งให้มากที่สุดที่จะมากได้ เพื่อเราจะสามารถคิด และเจริญภาวนาอย่างแน่วแน่และเข้มแข็ง แต่ในที่สุดเรากลับไปทำให้ร่างกายนี้อ่อนเพลียทุพพลภาพไปด้วยการอดอาหาร และด้วยการปฏิบัติอย่างตึงเครียดอื่นๆ ดังที่เราปฏิบัติมาแล้ว ก็คนเราจักมีจิตใจอันเข้มแข็งสดชื่นในร่างกายที่อ่อนเพลียระส่ำระสายไร้สุขภาพได้อย่างไรกัน !”

“พุทโธ่เอ๋ย เราโง่อย่างเหลือเกิน ที่ได้ไปทรมานตัวเองให้อ่อนเพลียในขณะที่ต้องการกำลัง ที่เราอาจจะมีได้ในการปฏิบัติกิจอันสูงสุด ซึ่งเราได้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างออกมาเพื่อปฏิบัติ ! ต่อนี้ไป เราจักบริโภคอาหารทุกชนิดตามที่ร่างกายนี้ต้องการ เพื่อกลับคืนไปสู่ปรกติภาพ เราจักไม่บริโภคมากเกินควร เพราะจะทำให้มึนชาและง่วงซึม ซึ่งจะทำให้เราไม่สามารถบำเพ็ญภาวนาได้พอเหมาะ เราจักบริโภคแต่พอให้เกิดกำลังกายที่เหมาะสมเพื่อว่าเราจักมีจิตอันใสกระจ่าง ซึ่งในที่สุดเราอาจจะได้รู้สัจจธรรมที่เราประสงค์” ดั่งนี้

เมื่อทรงดำริเช่นนั้น พระองค์ได้ทรงเหลียวไปทางเด็กเลี้ยงแพะ ซึ่งบัดนี้กำลังคุกเข่าอยู่ข้างๆ พระองค์ และตรัสขอให้เขานำนมแพะมาให้แก่พระองค์อีกชามหนึ่ง เพราะปรากฏว่า การบริโภคนมนั้นเป็นผลดีแก่พระองค์มาก เด็กเลี้ยงแพะได้ตอบว่า “ข้าแต่พระเป็นเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ข้าพเจ้าเป็นเพียงเด็กเลี้ยงแพะตระกูลต่ำ พระองค์เป็นพระอริยเจ้าเป็นผู้ประเสริฐ หากข้าพเจ้าสัมผัสพระองค์ด้วยสิ่งใดที่ข้าพเจ้าเคยจับต้องแล้ว มันจักเกิดเป็นบาปแก่ข้าพเจ้าอย่างใหญ่หลวง”

พระสิทธัตถะได้ตอบว่า “พ่อหนูเอ๋ย เราไม่ได้ขอสิ่งซึ่งเกี่ยวกับชาติหรือตระกูล เราขอแต่นม มันไม่มีความแตกต่างอย่างแท้จริงอะไรกันเลยในระหว่างเราทั้งสอง แม้ว่าเธอเป็นเด็กเลี้ยงแพะและเราเป็นฤษี ในสายเลือดของเราทั้งสอง ต่างก็มีเลือดไหลอยู่อย่างเดียวกัน ถ้ามีโจรเอาดาบมาตัดร่างกายเราทั้งสอง เลือดก็จะไหลออกมาเป็นสีแดงอย่างเดียวกัน คนเรานี้ถ้าทำดีก็เป็นคนดีและประเสริฐ ถ้าทำเลวก็เป็นคนเลวและไม่ประเสริฐ นั่นแหละคือชาติและตระกูลอันแท้จริง เธอได้ทำสิ่งที่ดี โดยการให้นมแก่ฉันในขณะที่กำลังร่อแร่ จวนจะขาดใจตายเพราะอดอาหาร เพราะฉะนั้นเธอจึงเป็นผู้ที่มีชาติและตระกูลดีพอแล้ว สำหรับจะให้นมแก่ฉันสักชามหนึ่ง”

เด็กเลี้ยงแพะคนนั้น ดีใจจนบอกไม่ถูก ในถ้อยคำอันแปลกประหลาดและน่าชุ่มชื่นใจของพระมหาฤษีชั้นพิเศษ ซึ่งแทนที่จะโบกมือบอกให้เขาหลีกห่างออกไป เพราะเขาเป็นเด็กเลี้ยงแพะตระกูลต่ำ แต่กลับต้องการจะได้นมจากเขา และทั้งยินดีที่จะดื่มจากชามอันเป็นภาชนะใช้สอยประจำตัวของเขาด้วย เขาจึงได้วิ่งออกไปนำนมแพะเต็มชาม กลับมาถวายแก่พระองค์ด้วยความร่าเริงยินดี ในข้อที่ว่าพระองค์ได้ตรัสว่า เขาเป็นผู้ที่มีชาติและตระกูลดีอย่างเพียงพอ สำหรับการที่ถวายนมแก่พระองค์ เขาได้รับชามเปล่ากลับ และได้ก้มศีรษะนมัสการขอพร แล้วก็วิ่งกลับไปสู่ฝูงแพะของตนด้วยความสุขใจอย่างหาที่เปรียบมิได้* (*เรื่องเด็กเลี้ยงแพะถวายนมอย่างนี้ ไม่มีในพุทธประวัติอย่างไทย มีแต่ในพุทธประวัติอย่างต่างประเทศ ส่วนในพุทธประวัติอย่างไทย มีข้อความกล่าวว่า เทวดาบางองค์ได้นำอาหารอันเป็นทิพย์มาแทรกเข้าตามขุมขนของพระองค์ จนกลับมีพระกำลังอย่างเดิม)

เมื่อพระสิทธัตถะ กลับมีพระกำลังอย่างเดิมโดยการเสวยนมเช่นนี้แล้ว ได้ประทับที่โคนต้นไม้ เจริญภาวนาต่อไปเป็นผลดีกว่าที่แล้วมา เมื่อพระองค์ได้ประทับนั่งอยู่ ณ ที่นั้น พอตะวันตกลับขอบฟ้าไป ได้ทรงสดับเสียงเพลงของหญิงนักร้องหมู่หนึ่ง ซึ่งเป็นนักร้องและนักระบำอาชีพเดินผ่านมาทางนั้น เพื่อเข้าไปประกอบอาชีพในเมือง และเมื่อหญิงเหล่านั้นผ่านมาใกล้พระองค์ ก็พอดีกับที่หญิงเหล่านั้นได้ร้องเพลงขึ้น อันมีเนื้อความว่า

“เมื่อสายพิณของเราหย่อนเกิดไป ย่อมส่งเสียงไม่น่าฟัง และเมื่อตึงเกินไป ก็ขาดและไม่อาจดังได้อีก เพราะฉะนั้น เพื่อผลอันดีที่สุด ใครๆ ไม่ควรขึงสายพิณให้หย่อนหรือตึงเกินไป แต่ควรขึงให้พอเหมาะ มักจักส่งเสียงอันไพเราะโดยแท้จริง” ดั่งนี้* (*พุทธประวัติอย่างไทย กล่าวว่า พระอินทร์ลงมาดีดพิณให้ฟัง แทนที่จะเป็นหญิงร้องเพลงเช่นนี้)

เมื่อพระองค์ได้ทรงสดับบทเพลงของหญิงเหล่านั้น ก็ทรงรู้สึกขึ้นในพระทัยว่า “บทเพลงของหญิงเหล่านี้ ช่างถูกแท้ หญิงเหล่านี้สอนอะไรๆ ให้แก่เรามากทีเดียว ที่แล้วมาเราขึงสายพิณแห่งชีวิตของเราตึงเกินไปอย่างน่าสังเวช มันตึงเกิน จนจวนจะขาดลงอย่างไม่มีเหลือ ถ้าในวันนี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเด็กเลี้ยงแพะนั้นแล้ว เราก็คงตายไปแล้ว แล้วอะไรเล่า ที่เป็นผลแห่งการแสวงหาสัจจธรรมของเราทั้งที ! เรื่องก็จบลงที่นี่และบัดนี้ แล้วสิ่งซึ่งฉันและมนุษย์ทั้งหลาย จะพึงได้รับจากการเสาะแสวงของฉัน ก็มาพลอยล้มเหลวลงอย่างน่าเศร้า เพราะความเข้าใจผิดในเรื่องอาหารนี้นิดเดียว วิธีปฏิบัติอย่างทารุณต่อร่างกายเช่นนี้ มิใช่วิธีอันถูกต้องสำหรับการค้นหาสัจจธรรมเลย จำเดิมแต่นี้ไป ฉันจักเลิกปฏิบัติต่อร่างกายอย่างทารุณเสียโดยเด็ดขาด แต่จะปฏิบัติอย่างเอาใจใส่ระมัดระวังให้เหมาะสมที่สุด ที่จะพึงกระทำได้”

ต่อจากนั้น พระสิทธัตถะได้ทรงออกบิณฑบาตทุกเวลาเช้า ทรงบริโภคอาหารตามแต่จะได้มาทุกๆ วัน พระองค์กลับทรงมีพระกำลังอย่างเดิม มีพระฉวีวรรณผุดผ่องเป็นสีทอง ดุจเดียวกับเมื่อยังประทับอยู่ในพระราชวังของพระองค์ในกาลก่อน แม้พระองค์จะได้ทรงมองเห็นอย่างชัดแจ้งว่าการทรมานกายอย่างเคร่งเครียดของพระองค์นั้น มีผลทำนองเดียวกับการพยายามผูกอากาศให้เป็นปม หรือเช่นเดียวกับการนำทรายมาฟั่นให้เป็นเชือก โดยไม่มีผิดกันเลยดั่งนี้ก็ตาม ส่วนบุรุษห้าคน มิได้มีความคิดหรือรู้สึกเช่นเดียวกับพระองค์แต่อย่างใด คนทั้งห้านั้นยังคงมีความยึดถือเช่นเดียวกับคนอื่นๆ อยู่นั่นเองว่า วิธีที่จะตรัสรู้สัจจธรรมในศาสนานั้นต้องสำเร็จมาแต่การทรมานร่างกายแต่วิธีเดียวเท่านั้น

เมื่อคนที่ห้านั้นเห็นว่า บุคคลซึ่งตนเคยยกย่องเป็นอาจารย์ได้เลิกละการอดอาหาร และการทรมานกายโดยวิธีต่างๆ มาบริโภคอาหารบำรุงร่างกายตามปรกติธรรมดาเช่นนั้น ก็พากันกล่าวแก่กันและกันว่า “อา ! พระสมณะโคตรมะศากยบุตรนี้กลายเป็นคนมักมากไปเสียแล้ว เลิกละการต่อสู้และความพากเพียร กลับไปสู่ชีวิตแห่งความบันเทิงเริงรื่นเสียแล้ว” ดั่งนี้คนทั้งห้าได้พากันละทิ้งพระองค์ เพราะแน่ใจเสียแล้วว่า ไม่มีประโยชน์อันใดในการที่จะอยู่อาศัยกับอาจารย์ผู้เลิกละความเพียรโดยประการต่างๆ คือการทรมานกายเสียเช่นนี้

คนทั้งห้าเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่า นักบวชที่ไม่ทรมานกายนั้น ย่อมไม่มีทางที่จะตรัสรู้ธรรมอันสูงสุดในทางศาสนาเลย คนทั้งห้านี้ ได้มีความหลงผิดเพียงไร ได้ปฏิบัติอย่างเขลาที่สุดเพียงไร ได้ปรากฏเป็นความจริงออกมาในเวลาอันไม่นานเลย บัดนี้ อาจารย์ของเขา ซึ่งที่แท้หาได้หมุนไปจากทางแห่งสัจจธรรมแต่ประการใดไม่นั้น ได้เป็นผู้ซึ่งกำลังก้าวมาถึงจุดแห่งความสำเร็จ ในการที่จะบรรลุสิ่งซึ่งพระองค์ทรงประสงค์อย่างแน่นอนแล้ว


มีต่อ >>>>> ตอนที่ ๙ ประสพความสำเร็จ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ย. 2006, 6:08 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ ๙ ประสพความสำเร็จ


ในวันหนึ่งต่อมา มีสตรีผู้หนึ่งนามว่า สุชาดา ผู้อาศัยอยู่ในถิ่นนั้นได้นำข้าวอย่างดี ซึ่งหุงขึ้นด้วยนมที่ได้คัดเลือกเป็นอย่างดีที่สุด มาถวายพระองค์ถึงที่ที่พระองค์ประทับอยู่ เมื่อได้ถวายอาหารนี้แก่พระองค์แล้ว กุลสตรีนั้นได้กล่าวแก่พระองค์ว่า “ขอให้พระองค์จงทรงประสพความสำเร็จในสิ่งซึ่งพระองค์ทรงประสงค์ เช่นเดียวกับที่ดิฉันได้ประสพความสำเร็จในสิ่งซึ่งดิฉันประสงค์แล้วเถิดเจ้าข้า” ดั่งนี้ พระองค์ไม่ทรงปฏิเสธการถวายทานของสตรีผู้นี้ ทรงรับและฉันในขณะนั้นเอง ด้วยความพอพระทัย และด้วยความรู้สึกในคุณประโยชน์ที่ให้เกิดกำลังกาย กำลังใจ แก่พระองค์เป็นอย่างยิ่ง

ต่อจากนั้น พระองค์ได้เสด็จไปสู่ต้นไม้ต้นหนึ่ง ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์แห่งการตรัสรู้ของพระองค์ มาจนกระทั่งทุกวันนี้ อันเราเรียกกันว่า ต้นโพธิ์ หรือไม้แห่งการตรัสรู้ คำกล่าวของกุลสตรีชื่อ สุชาดา ยังคงก้องอยู่ในพระโสตของพระองค์ว่า “ขอพระเป็นเจ้า จงประสพความสำเร็จ ดังที่ดิฉันได้ประสพความสำเร็จเถิดเจ้าข้า” ดังนี้จนกระทั่งพระองค์ได้เสด็จเข้าไปสู่โคนไม้นั้น

ณ บัดนี้ พระองค์ได้ประทับนั่งลงที่โคนต้นไม้นั้น ทางทิศตะวันออกอันเกลี่ยด้วยหญ้า ๘ ฟ่อน ที่คนตัดหญ้า ชื่อ โสตถิยะ ถวายแก่พระองค์ และได้ทรงอธิษฐานจิตกำหนดพระทัยต่อพระองค์เองว่า แม้เลือดในกายจะแห้งไป แม้เนื้อจะหมดไป ไม่มีอะไรเหลืออยู่ นอกจากหนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที จักไม่ยอมลุกจากที่นั่งนี้ จนกว่าจะได้พบสิ่งซึ่งทรงแสวง ลุถึงจุดปลายทางที่ทรงประสงค์ กล่าวคือทรงพบวิธีที่จะทำให้พระองค์เองและมนุษย์ทั้งปวง หลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นผู้ไม่ต้องเกิดและตาย อย่างซ้ำแล้วซ้ำอีก ในลักษณะที่เบื่อหน่ายอีกต่อไป กล่าวโดยสรุปแล้วก็คือพระองค์ทรงประทับนั่ง ณ โคนต้นโพธิ์ โดยตั้งพระทัยแน่วแน่ว่า ถ้าไม่ลุถึงสภาพที่เรียกว่า “นิพพาน” แล้ว จักไม่ยอมลุกจากที่นั้นโดยไม่ทรงคำนึงถึงว่า จักมีเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้น

การอธิษฐานจิตเช่นนี้ เป็นสิ่งที่กระทำได้แสนยาก ยังไม่เคยมีใครในโลกของเราแห่งสมัยนี้ เคยทำการอธิษฐานเช่นนั้น ในประเทศอินเดียในสมัยนั้น มีนักบวชจำนวนมากซึ่งได้พยายามบำเพ็ญตบะทรมานร่างกายและทำความเพียรทางจิตอย่างแข็งกล้า ตลอดเวลาเป็นปีๆ เพื่อให้บรรลุถึงสิ่งซึ่งเขาเหล่านั้นเห็นว่าเป็นสิ่งซึ่งดีที่สุดหรือสูงที่สุด แต่สิ่งซึ่งเขาได้รับเหล่านั้นเป็นความสุขชนิดชั่วคราว ไม่ยั่งยืนตลอดกาล ยังไม่เป็นความสุขที่สามารถทนทานต่อความเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาได้ เมื่อกำลังแห่งความเพียรที่กระทำให้เขาเหล่านั้นได้ประสพสุขในสวรรค์เสื่อมสิ้นลง เขาเหล่านั้นก็ต้องละจากโลกอันเป็นที่พอใจนั้น กลับมาสู่โลกชั้นต่ำ อันเต็มไปด้วยสิ่งซึ่งไม่ตรงตามความประสงค์อีกต่อไป

ถ้าจะเปรียบความข้อนี้ ก็เหมือนกับบุคคลคนหนึ่ง เริ่มสะสมเงินทองไว้ในหีบเป็นอันมาก แล้วก็เริ่มใช้สอย ไม่นานนักก็จักหมดสิ้นไป เหลือแต่หีบเปล่าซึ่งจะทำให้เขาต้องทำการสะสมใหม่อีกต่อไป ข้อนี้เป็นฉันใด นักบวชที่ได้ประสพความสุขอันไม่ถาวร เมื่อความสุขนั้นสิ้นไปแล้ว เขาก็จักต้องทนความยากลำบากบำเพ็ญตบะกรรมใหม่ สืบต่อไปอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุดฉันเดียวกัน

การเป็นอย่างนี้ ทำให้เขาต้องวนเวียนไปมา อยู่ในระหว่างการเกิดในโลกสวรรค์กับการเกิดในโลกแผ่นดินนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดลงได้เลย การกระทำในทำนองนี้ มีความยากลำบากดุจดังการกลิ้งครกอย่างหนักขึ้นภูเขา ซึ่งมันมีแต่จะกลิ้งกลับลงมาสู่ตีนเขาเสียร่ำไป ซึ่งทำให้เขาต้องระดมกำลังกลิ้งใหม่อย่างซ้ำและซ้ำอีก โดยไม่มีที่สิ้นสุด

ส่วนสิ่งซึ่งพระสิทธัตถะทรงประสงค์ในที่นี้นั้น คือวิชชาที่จะทำให้พระองค์และมนุษย์ทั้งหลาย ไม่จำต้องทนทรมานในทำนองกลิ้งครกขึ้นเขาเช่นนั้น พระองค์ทรงแสวงหาสิ่งซึ่งมีความเที่ยงแท้ถาวร อันจักไม่กลับเสื่อมสิ้นหรือตกต่ำอีก ซึ่งเมื่อใครได้ประสพแล้วเพียงครั้งเดียวก็ไม่ต้องพยายามทำเพื่อให้ได้ให้มีอีกต่อไป ณ โคนต้นโพธิ์ แห่งตำบลอุรุเวลานั้น พระองค์ทรงตั้งพระทัยอธิษฐานจิต ทำความเพียรเพื่อให้ประสพสิ่งซึ่งเที่ยงแท้ถาวรสิ่งนี้เอง หากไม่ประสพก็จักยอมให้ร่างกายพินาศทำลายไปในที่ตรงนั้น ไม่ยอมเขยื้อนแม้แต่หน่อยเดียว

ณ บัดนี้ พระสิทธัตถะได้ทรงตั้งพระทัย ระดมกำลังจิตของพระองค์ต่อสู้กับธรรมชาติฝ่ายต่ำ และยกจิตของพระองค์ให้ขึ้นสูง เหนือสิ่งซึ่งเป็นเพียงความสุขชั่วคราวไม่เที่ยงแท้ถาวร ซึ่งพระองค์เคยทรงผ่านมาแล้วแต่หนหลังอย่างมากมาย พระองค์ทรงประสงค์ที่จะสลัดความคิดอย่างโลกๆ เสียให้สิ้นเชิง เพื่อปักใจค้นหาความจริงในข้อที่ว่า ความทุกข์ทั้งปวงเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

แต่แทนที่จิตของพระองค์จักคิดไปในทำนองนั้นอย่างเดียว มันได้หวนคิดกลับไปกลับมา ถึงความสุขสบายในหนหลัง มันได้นำภาพแห่งความเพลิดเพลินบันเทิงเริงรื่นอยู่ในท่ามกลางการบำรุงบำเรอที่พระองค์เคยทรงได้รับในพระราชวังแห่งพระบิดาของพระองค์ มาปรากฏ ณ ที่ดวงตาในภายในของพระองค์อย่างเด่นชัดอยู่บ่อยๆ

ความจำหมายได้ปรากฏขึ้นเป็นภาพอันชัดแจ้ง ภาพในใจของพระองค์เป็นภาพห้องบรรทมอันสวยงาม ซึ่งพระองค์เคยประทับ เป็นภาพแห่งลานในอุทยานอันสดชื่น เป็นภาพแห่งสระบัวซึ่งงามจับใจ เป็นภาพแห่งคนผู้ปรนนิบัติรับใช้พระองค์ทุกวิถีทาง โดยไม่มีข้อขัดข้อง และได้ทรงมองเห็นภาพแห่งพระชายา ผู้งามเลิศ ภาพแห่งโอรสองค์น้อยๆ องค์เดียวของพระองค์ ซึ่งมีรูปโฉมงดงามและมีลักษณะอันแสดงว่า จักเป็นโอรสที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจอย่างใหญ่หลวง แก่บุคคลผู้เป็นบิดาในกาลข้างหน้า และพระองค์ยังได้ทรงเห็นภาพแห่งพระบิดาของพระองค์อีกด้วย ว่าบัดนี้เข้าสู่วัยชรามีพระเกศาหงอก เพราะเข้าถึงปัจฉิมวัย และกำลังทรงระทมทุกข์อยู่ เพราะพระโอรสองค์ใหญ่มิได้ทรงอยู่เคียงข้างพระองค์ ในการช่วยกันปกครองบ้านเมืองและรับช่วงการครองราชย์สมบัติ ในเมื่อพระองค์ทรงชรามากเกินกว่าที่จะทรงทำการปกครองได้สืบไป

พระสิทธัตถะโคตมะได้ทรงเห็นภาพแห่งสิ่งทั้งหลายดังกล่าวนี้ ด้วยพระเนตรในภายใน ในท่ามกลางความสงัดเงียบและได้ทำให้เกิดความคิดชนิดซึ่งพระองค์ไม่ทรงประสงค์เป็นอย่างยิ่ง แต่มันก็เกิดขึ้นจนได้ว่า

“สิทธัตถะ ! ถ้าท่านจักอยู่ครองเหย้าเรือนเหมือนคนทั้งหลายอื่น ท่านก็จักเป็นพระราชาผู้สูงศักดิ์ มีอำนาจมาก มีเกียรติคุณอันใหญ่หลวง แต่ท่านได้หลีกหนีออกมา โดยสละประชาชนและสิ่งมีค่าสูงสุดทุกอย่างไว้เบื้องหลัง ออกมาแสวงหาสิ่งซึ่งไม่มีใครเคยคิดถึงมันเลย นอกจากท่านผู้เดียว และทั้งเป็นสิ่งซึ่งบางทีไม่สามารถจะหาพบได้ และยิ่งไปกว่านั้นบางทีจักเป็นสิ่งซึ่งมิได้มีอยู่เลย ! ท่านรู้ได้อย่างไร ว่าท่านมิได้เป็นคนโง่หรือบ้าในการที่สละสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นของที่มีตัวมีตนจริงๆ และก็ได้เคยรู้รสเป็นความสุขแน่แก่ใจตนเองมาแล้วจริงๆ ไปหลงแสวงหาสิ่งบางสิ่ง ซึ่งท่านเองก็ยังไม่สามารถรู้ได้ว่ามันเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงหรือหาไม่

สิทธัตถะเอ๋ย ถ้าท่านต้องการที่จะละทิ้งของประเสริฐในโลก ไปแสวงหาสิ่งซึ่งท่านคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่านั้นไปอีกจริงๆ แล้ว ทำไมท่านจึงไม่พยายามแสวงหาโดยวิธีที่นักบวชอื่นๆ เขาแสวงหากันด้วยการอดอาหารและการทรมานกาย หรือด้วยการวิธีที่ประกอบการบูชายัญ ดังเช่นคนใจบุญสุนทานทั้งหลายเขากระทำกันอยู่ทั่วไป ? ท่านเห็นวิธีของคนอื่นผิดหมด ถูกอยู่แต่วิธีของท่านคนเดียวเท่านั้นหรือ ? และอย่างไรก็ตาม ทำไมท่านจึงไม่สามารถพอใจในความสุขเท่าที่ท่านควรจะพอใจ แม้จะไม่ถาวรเหมือนที่ท่านต้องการก็ตาม ?

สิทธัตถะเอ๋ย ชีวิตนี้เป็นของสั้นนิดเดียว ทุกคนต้องตายในไม่ช้า ถึงท่านเองก็จักต้องตายในไม่ช้านี้แล้วเหมือนกัน ทำไมท่านจึงไม่ใช้เวลาที่เหลือเพียงเล็กน้อยนี้เสวยความสุขเท่าที่อาจจะมีได้เสีย ก่อนแต่ที่ความตายจะมาถึง ซึ่งท่านจะไม่อาจเสวยความสุขอย่างใดได้อีกต่อไปแล้ว ? ความรักก็มี ชื่อเสียงก็มี ความสูงศักดิ์ก็มี การบูชาสรรเสริญก็มี ทุกๆ อย่างพอสักว่าท่านต้องการ มันก็มีทุกอย่าง เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นตัวเป็นตน ซึ่งท่านสามารถลูบคลำสัมผัสบริโภคมันได้ ไม่ใช่เป็นเพียงความฝันหรือภาพมายาอย่างวิมานในอากาศเลย ทำไมท่านจึงมากระทำการทรมานตัวเองให้ตกระกำลำบากอยู่ในป่าเปลี่ยว เพื่อเสาะหาสิ่งซึ่งไม่เคยมีใครหาเช่นนี้เล่า ?”

ความรู้สึกดังกล่าวนี้ ได้เกิดขึ้นในภายในพระหฤทัยของพระสิทธัตถะในคืนวันที่พระองค์ประทับนั่งภายใต้ต้นโพธิ์ เพื่อแสวงหาวิธีข้ามออกไปให้พ้นจากความเกิด ตาย มันได้ล่อหลอกพระองค์ ด้วยการทำให้รำลึกถึงความเพลิดเพลินนานาชนิดซึ่งพระองค์ทรงสลัดไว้เบื้องหลัง ด้วยการทำความลังเลว่าพระองค์จักทรงมีความสามารถในการแสวงหาให้พบสิ่งซึ่งพระองค์ทรงประสงค์นี้หรือหาไม่ และด้วยความไม่แน่พระทัยว่า การเสาะแสวงหาทั้งนี้เป็นไปอย่างถูกทางแล้วหรือยัง แต่พระองค์ไม่ทรงยอมให้พระองค์หมุนกลับจากสิ่งซึ่งทรงมุ่งหมาย ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสิ่งเหล่านี้มาล่อหลอกพระองค์มากยิ่งขึ้นเพียงใด พระองค์ยิ่งทรงบังคับพระทัยของพระองค์ให้มุ่งไปตามจุดหมายเดิมยิ่งขึ้นเพียงนั้น

พระองค์ทรงร้องขึ้นว่า “มารเอย กลับไปเถิด ! เรารู้แล้วละว่าเจ้าคือใคร เจ้าคือปีศาจร้าย ซึ่งลวงคนให้เลิกละจากทุกๆ สิ่ง ซึ่งเป็นความดี ความงาม ความใหญ่ยิ่ง และความประเสริฐ เจ้าอย่าพยายามหมุนเราให้กลับจากสิ่งซึ่งเราได้ออกมาแสวงหาให้ลำบากอีกต่อไปเลย ! มารเอย จิตของเราปักแน่นเสียแล้ว เราต้องนั่งที่นี่ จนกว่าจะได้รับสิ่งที่เราประสงค์ แม้ว่าเราจักต้องนั่งจนกระทั่งเลือดและเนื้อเหือดแห้งไป ไม่มีอะไรเหลืออยู่นอกจากหนังกับกระดูกก็ตามที”

ณ ที่นั้น พระสิทธัตถะได้ประทับนั่งและทรงดำเนินการต่อสู้ และทรงพยายามบากบั่นทำการปลุกปล้ำด้วยกำลังพระหฤทัยทั้งหมด เพื่อให้ทรงพบสิ่งซึ่งสามารถขจัดความทุกข์โศกของสรรพสัตว์ และทรงพยายามแสวงสิ่งซึ่งสามารถตัดรากเหง้าของสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง ในโลกนี้ให้สูญสิ้นเด็ดขาดไป แล้วนำมาซึ่งสิ่งที่ดีงามเป็นความสงบสุข อันไม่รู้จักสิ้นสูญหรือเปลี่ยนแปลงเป็นอนันตกาล ตั้งอยู่เหนือความแปรปรวนโดยสิ้นเชิง การพิจารณาคิดค้นให้ทราบถึงการเกิดขึ้นของความทุกข์ และความดับลงของความทุกข์ตามลำดับ ทั้งขึ้นและลงเช่นนั้น โดยละเอียดเช่นนี้ เรียกว่า การพิจารณา ปฏิจจสมุปบาท

พระองค์ทรงประสพความสำเร็จ เมื่อพระองค์ทรงแน่วแน่อยู่ในสมาธิจิต ทรงปัดเป่าความคิดอันชั่วร้ายทั้งหลายที่เข้ามารบกวนพระทัย และล่อหลอกพระองค์ให้ไหลหลงออกไปได้โดยสิ้นเชิงแล้ว พระหฤทัยของพระองค์สงบรำงับเหมือนน้ำในสระ ในเวลาที่คลื่นลมสงบ ท่ามกลางความเงียบสงัด ความชั่วร้ายที่รบกวนพระองค์ด้วยการระลึกถึงความสุขในหนหลังได้สูญสิ้นไปโดยสิ้นเชิง ความสงสัยลังเลในสิ่งซึ่งพระองค์ทรงแสวงและวิธีซึ่งพระองค์ทรงกระทำการแสวง ก็มิได้เกิดขึ้นอีกต่อไป

ในท่ามกลางความเป็นสมาธิ อันแน่วแน่สงบเงียบแห่งพระหฤทัยของพระองค์ ซึ่งบัดนี้ได้รวมกำลังพุ่งไปสู่สิ่งที่มุ่งหมายเพียงจุดเดียว และมีอานุภาพแห่งจิต ซึ่งประกอบด้วยกำลังอันมหาศาล ซึ่งบัดนี้ได้รวมกำลังพุ่งไปเพื่อทำลายอวิชชาอย่างเดียวแล้ว ณ ที่นั้นซึ่งพระองค์ได้ประทับนั่ง ณ โคนต้นโพธิ์ต้นนั้นเอง พระสิทธัตถะโคตมะ ผู้สมณะศากยบุตร ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า พระโคตมะพุทธะ ผู้ซึ่งได้นำแสงสว่างแห่งสัจจธรรมมาสู่ชาวโลกทั้งปวงแห่งยุคนี้ ซึ่งกำลังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ณ บัดนี้ทุกถ้วนหน้า

ณ บัดนี้ พระองค์ทรงมีความสว่างไสวแจ่มแจ้ง ตรงกันข้ามจากชนทั้งหลายอื่น ซึ่งความแจ่มแจ้งของเขา ก็คือความงมอยู่ในที่มืดชนิดใดชนิดหนึ่ง บัดนี้ พระองค์ทรงตื่นจากหลับ ตรงกันข้ามจากความตื่นของคนเหล่าอื่น ซึ่งความตื่นของเขาเป็นเพียงอาการของการละเมอเพ้อฝัน บัดนี้พระองค์ทรงประกอบไปด้วยความรู้อันต่างจากความรู้ของชนเหล่าอื่น ซึ่งที่แท้ความรู้ของชนเหล่านั้น เป็นเพียงความงมงายชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น

นับแต่กาลนี้ พระองค์ได้ทรงรู้แจ้งแทงตลอด ในความหมายอันแท้จริงของชีวิตอย่างทั่วถึง ตั้งแต่มูลรากขึ้นไปทีเดียว บัดนี้ พระองค์ได้ทรงทราบว่าทำไมมนุษย์เราจึงต้องเกิดแล้วเกิดเล่า ตายแล้วตายเล่า อยู่ร่ำไปและทรงทราบว่าทำอย่างไรมนุษย์เหล่านั้นจักทำความทนทรมานเพราะการเกิดและการตายนี้ให้สิ้นสุดลงได้

สิ่งแรกที่สุด ซึ่งพระองค์ได้ทรงเห็นอย่างชัดแจ้ง ด้วยญาณอันคมกล้าของพระองค์ ณ ที่ประทับภายใต้ต้นโพธิ์ในคืนนี้นั้น ก็คือลำดับอันยาวยืดแห่งการเกิดและการตายของพระองค์ ตลอดกัปป์ตลอดกัลป์เป็นอันมากว่าได้เคยทรงเกิดเป็นสัตว์มีรูปกายต่างๆ กันมาแล้วทุกชนิด ได้เคยมีชีวิตต่างๆ กันมาแล้วครบทุกแบบ ทั้งอย่างต่ำและอย่างสูง ทั้งอย่างเลวและอย่างประเสริฐ ทั้งอย่างหยาบและอย่างปราณีต จนกระทั่งการเกิดครั้งสุดท้ายได้ทรงมีกำเนิดเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายานี้ ความเห็นแจ้งในข้อนี้ เรียกชื่อว่า ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

พระองค์ได้ทรงเพ่งพิจารณาด้วยญาณอันแรงกล้าต่อไปอีก ก็ได้ทรงทราบถึงข้อที่สัตว์ทั้งหลาย ได้เกิดมาแล้วตายไป และไปกำเนิดในที่อื่นอีกตามแต่กรรมที่ตนได้กระทำไว้ โดยลักษณะอย่างไร พระองค์ได้ทรงเห็นชัดซึ่งคนบางจำพวก ได้เกิดเป็นคนมีความสุข เพราะกรรมที่ตนทำไว้นั้นเป็นกรรมดี และคนบางพวกเกิดมามีความทุกข์ เพราะกรรมที่ตนทำไว้นั้นเป็นกรรมชั่ว พระองค์ได้ทรงเห็นชัดว่าทั้งหมดนี้ เป็นเพราะกรรมของสัตว์นั้นๆเอง หาใช่สิ่งอื่นใดไม่ ที่ทำให้เกิดเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ในโลกนี้และโลกอื่นทุกๆ โลก ความเห็นแจ้งในลักษณะเช่นนี้เรียกว่า จุตูปปาตญาณ

และในที่สุด สิ่งสุดท้ายและใหญ่ยิ่งที่พระองค์ได้ทรงประสพ ในคืนอันสำคัญนั้น คือพระองค์ได้ทรงทราบและได้ทรงเห็นอย่างชัดแจ้ง ปราศจากความสงสัยอย่างสิ้นเชิง ว่ามันไม่เป็นการถูกต้องปลอดภัยแต่อย่างใด ในการที่มนุษย์เราจักปล่อยชีวิตนี้ ให้เป็นไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และว่าไม่เป็นความดีแต่อย่างใด ในการที่มนุษย์เราจำต้องเป็นผู้ซึ่งประเดี๋ยวสุขประเดี๋ยวทุกข์ ขึ้นๆ ลงๆ เหมือนเรือลำน้อยๆ ลอยไปในทะเลอันมีคลื่นลม

พระองค์ได้ทรงทราบว่า เหตุซึ่งทำให้คนเราเกิดมา เพื่อกระโจนขึ้นกระโจนลง ไปตามคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงในโลกนี้นั้น เป็นเพราะคนเหล่านั้นหลงรักและหลงติดในความสุขอันเป็นมายา ซึ่งเกิดขึ้นเล็กๆ น้อยๆ เป็นครั้งเป็นคราวในโลกนี้ พระองค์ได้ทรงเห็นว่า สรรพสัตว์ติดอยู่ในบ่วงของการเรียนเกิดในโลกนี้เหมือนเนื้อติดบ่วง เพราะมันละโมบในเหยื่อเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาวางไว้ล่อมัน

และพระองค์ได้ทรงทราบอีกว่า ถ้าคนเราไม่ประสงค์จะติดอยู่ในบ่วงของการเกิดเช่นนี้แล้ว ก็มีหนทางทางเดียวเท่านั้น กล่าวคือการดับเสียซึ่งความตะกลามต่อความเพลิดเพลินทุกๆ อย่างที่เขาได้พบได้เห็น และไม่ปล่อยตัวให้ตกจมลงไปในสิ่งซึ่งยั่วยวน และไม่ปล่อยใจให้ทะเยอทะยานไปตามสิ่งที่โลกนี้มีไว้ยั่วมนุษย์

และต่อจากนั้น พระองค์ได้ทรงทราบถึงหนทางซึ่งเมื่อบุคคลใดได้ปฏิบัติตามถึงที่สุดแล้ว จะสามารถทำตนให้หลีกห่างจากความทะเยอทะยานและความหมกจมอยู่ในอารมณ์แห่งความยั่วยวนเหล่านั้นได้ เพราะเขาจะได้พบและพอใจในสิ่งซึ่งดีกว่าและสูงกว่า ซึ่งหลังจากนั้นแล้ว เขาจักไม่หมุนกลับมาพอใจในโลกที่มีเพียงสิ่งยั่วยวน และเป็นโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง ความทุกข์ทรมานและความสุขที่เป็นมายาเช่นนั้นอีก แต่จะสามารถลุถึงความสุขอันจริงแท้และถาวร กล่าวคือ พระนิพพาน มรรคหรือหนทาง อันนี้ พระองค์ทรงเรียกว่า “ทางอันประเสริฐประกอบด้วยองค์แปด” เพราะเป็นหนทางที่ดำเนินโดยบุคคลผู้มีความมุ่งหมายและความปรารถนาต่อสิ่งที่ประเสริฐ และเป็นหนทางที่ประกอบอยู่ด้วยส่วนประกอบแปดประการ ความเห็นในสิ่งทั้งสี่คือ ความทุกข์ มูลเหตุของความทุกข์ การดับมูลเหตุของความทุกข์ และวิธีดับมีองค์แปด เหล่านี้รวมเรียกว่า อาสวักขยญาณ

ส่วนประกอบประการที่หนึ่ง ของหนทางอันประเสริฐประกอบไปด้วย องค์แปดประการ ซึ่งจักดำเนินไปให้พ้นจากสิ่งชั่วร้ายทุกชนิด ตามที่พระองค์ทรงสอนนั้นเรียกว่า “สัมมาทิฏฐิ” คือความเห็นหรือเข้าใจอันถูกต้อง ความเห็นอันถูกต้องนี้หมายถึงเห็นทุกสิ่งๆ ในโลกนี้ แม้กระทั่งความเป็นอยู่ของผู้นั้นเองว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่มีความเป็นแก่นสารและความถาวรที่แท้จริง และมีแต่จะนำไปสู่ความทุกข์ทรมานอย่างเดียว ถ้าหากเราไปหลงติดพันมันอย่างใกล้ชิด ความเห็นอันถูกต้องนี้ ยังหมายความไปถึงการเห็นว่า การทำความดีย่อมนำไปสู่ความสุข และการทำความชั่วย่อมนำไปสู่ความทุกข์เสมอไป ทั้งในโลกนี้และโลกอื่น

ส่วนประกอบประการที่สอง ของหนทางอันประกอบด้วยองค์แปดประการนั้นเรียกว่า “สัมมาสังกัปปะ” คือความมุ่งหมายอันถูกต้อง ความมุ่งหมายอันถูกต้องนี้ หมายถึงเมื่อได้เห็นสิ่งต่างๆ ทุกสิ่งในโลกนี้ว่าเป็นอย่างไรโดยแท้จริง แล้วก็ถอยห่างออกมาเสียจากการเข้าไปมัวเมาคลุกคลีอย่างหลงใหลในสิ่งเหล่านั้น ความมุ่งหมายอันถูกต้องนี้ยังหมายถึงความไม่มุ่งจะทำร้ายเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งล้วนแต่กำลังหลงใหลอยู่ในโลกนี้จนได้รับความทุกข์อยู่ทั้งกายและทางใจ แต่มุ่งหมายในอันที่จะรักใคร่และสงสาร แล้วช่วยเหลือเพื่อสัตว์เหล่านั้นให้พ้นจากทุกข์ซึ่งเขากำลังได้รับอยู่ให้สุดความสามารถที่จะช่วยได้

ส่งประกอบประการที่สาม ของหนทางอันประกอบด้วยองค์แปดประการนั้นคือ “สัมมาวาจา” ได้แก่ การพูดจาที่ถูกต้อง หมายถึงการพูดจริง พูดไพเราะ พูดให้เกิดความรักใคร่สามัคคี และพูดแต่สิ่งที่มีประโยชน์ กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็หมายถึงการเว้นจากการพูดเท็จ พูดหยาบคาย พูดยุยงให้แตกร้าวและพูดอย่างเขลาๆ ไร้สาระ

ส่วนประกอบประการที่สี่ ของหนทางอันประกอบด้วยองค์แปดประการนั้น เรียกว่า “สัมมากัมมันตะ” หรือการกระทำที่ถูกต้อง หมายถึงการเว้นเสียจากการฆ่า การลักขโมย การล่วงเกินของรักของผู้อื่น และการดื่มน้ำเมา ซึ่งทำให้ผู้ดื่มไร้สติจนถึงกับทำสิ่งต่างๆ ซึ่งใครๆ ก็ไม่ปรารถนาให้ทำ

ส่วนประกอบประการที่ห้า ของหนทางอันประกอบด้วยองค์แปดประการนั้น คือ การเลี้ยงชีวิตด้วยวิธีที่ถูกต้อง อันเรียกว่า “สัมมาอาชีวะ” หมายถึงการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิตโดยวิธีที่ไม่ทำอันตรายให้เกิดขึ้นแก่บุคคลใดๆ หรือสัตว์ใด

ส่วนประกอบประการที่หก ของหนทางอันประกอบด้วยองค์แปดประการนั้น คือ ความพากเพียรอย่างถูกต้อง อันเรียกว่า “สัมมาวายามะ” หมายถึงการพยายามบังคับความคิดนึกและความรู้สึกไม่ให้เกิดความคิดชั่ว ทำชั่วขึ้นในตน การพากเพียรทำความคิดชั่วและทำชั่วที่เกิดขึ้นแล้วให้สิ้นไป และยังหมายถึงการพากเพียรทำให้เกิดความคิดที่ดีและการกระทำที่ดีขึ้นในตน และการพากเพียรรักษาความดีเหล่านั้น ให้ยังคงมีอยู่ หรือให้แน่นแฟ้นมั่นคงยิ่งขึ้น

ส่วนประกอบประการที่เจ็ด ของหนทางอันประกอบด้วยองค์แปดประการนั้น ได้แก่ ความระลึกอย่างถูกต้อง อันเรียกว่า “สัมมาสติ” หมายถึงการระลึกหรือสำนึกไว้อย่างไม่มีลืมว่าร่างกายของเรานี้ โดยแท้จริงแล้ว คืออะไร เป็นอย่างไร และเพียงเท่าใด เพื่อไม่หลงสำคัญผิดให้ดีกว่าหรือเกินกว่าความเป็นจริงของมัน และหมายถึงความระลึกไว้อย่างถูกต้องว่า การเคลื่อนไหวและการกระทำหรือหน้าที่ต่างๆ ของร่างกายนี้ ก็เป็นการเคลื่อนไหวการกระทำแลหน้าที่ของมัน ซึ่งจะต้องเป็นไปตามธรรมชาติอย่างนั้น เมื่อเกิดผลอันใดขึ้น อย่าได้หลงสำคัญผิด หลงรักหลงชังให้มากไปกว่านั้น ความรู้สึกอย่างถูกต้องนี้ ยังหมายถึงความระลึกว่าจิตของเรานั้นเป็นสิ่งซึ่งเปลี่ยนแปลงทั้งในทางความคิดและความรู้สึก รุดหน้าเรื่อยไป ไม่มีหยุด หรือไม่ซ้ำกันแม้เพียงอย่างเดียว และในขั้นสุดท้าย ยังหมายถึงการระลึกไว้โดยไม่มีการหลงลืม ในข้อปฏิบัติมีอันดับต่างๆ กัน ดั่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้แก่เรา เพื่อปฏิบัติและกระทำจิตให้หลุดพ้นจากสิ่งที่ผูกมัดห่อหุ้ม จนกระทั่งลุถึงความเอาตัวรอดได้อย่างสมบูรณ์ อันเรียกว่า “พระนิพพาน”

ส่วนประกอบประการที่แปด อันเป็นประการสุดท้ายของมรรคมีองค์แปดนั้นหมายถึง ความดำรงจิตไว้อย่างถูกต้องอันเรียกว่า “สัมมาสมาธิ” ได้แก่การไม่ปล่อยใจของเราให้ฟุ้งไปตามที่มันอยากจะฟุ้ง แต่จักควบคุมมันไว้ให้มั่นคงในสิ่งที่เราเห็นว่ามันควรจะดำรงอยู่ในสิ่งนั้น จนกระทั่งเกิดผลเป็นความรู้ หรือความเข้าใจอันถูกต้อง ในสิ่งซึ่งเราประสงค์จะรู้หรือจะเข้าใจ หรือเพื่อกระทำให้เป็นผลสำเร็จในสิ่งที่เราประสงค์จะทำ

ทั้งหมดนี้ คือส่วนประกอบแปดประการของหนทางอันประเสริฐอันประกอบด้วยองค์แปด ซึ่งเจ้าชายสิทธัตถะโคตมะ ผู้ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นพระพุทธเจ้าไปแล้วนั้น ได้ทรงค้นพบที่โคนแห่งต้นโพธิ์ ในตำบลอุรุเวลา เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว

ส่วนประกอบ ๓ ประการในเบื้องปลาย คือความพากเพียรอย่างถูกต้อง ความระลึกอย่างถูกต้อง และความดำรงจิตไว้อย่างถูกต้องนั้นมีความหมายกว้างไปถึงกับว่า ผู้ที่จะปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด จักต้องกระทำจนสุดกำลังความสามารถของตน จนถึงกับสละเหย้าเรือนออกบวชเป็นภิกษุ จึงจะมีโอกาสกระทำได้อย่างสมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ตามคนทุกคนไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือไม่ ล้วนแต่สามารถประพฤติในหลักธรรม ๓ ข้อนี้ ในอัตราที่พอเหมาะแก่ความเป็นอยู่ของตนได้ทุกๆ คน ตามมากตามน้อย ตามความหมายแห่งข้อธรรมนั้นๆ ดังที่กล่าวแล้ว

สำหรับหลักธรรม ๒ ข้อข้างต้น คือความเห็นอันถูกต้องและความมุ่งหมายอันถูกต้องนั้นก็เหมือนกัน จะทำให้ดีถึงที่สุดได้ ก็เฉพาะบุคคลผู้ซึ่งได้พยายามเป็นปีๆ ในการฝึกและการเจริญสมาธิภาวนา จนกระทั่งเข้าใจและเห็นแจ้งในความจริงของสิ่งทั้งปวง โดยทำนองเดียวกับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเห็น ถึงกระนั้นคนทุกคนไม่ว่าจักเป็นใคร ล้วนแต่ควรพยายามประพฤติในหลักธรรม ๒ ข้อนี้ ตามมากตามน้อยเท่าที่ตนจะพึงกระทำได้เช่นเดียวกัน ในบางครั้งเขาจะเห็นว่าสิ่งทุกสิ่งรอบตัวเขา มิได้สวยงามน่ารักดังที่มันปรากฏแก่เขา และในบางคราวเขาจักเกิดความแน่ใจว่า วันหนึ่งเขาจะละทิ้งสิ่งซึ่งเป็นมายาต่างๆ ในโลกนี้ และหันไปสนใจกับสิ่งซึ่งดีกว่า เจริญกว่า และถาวรกว่า นั้นได้เป็นแน่แท้

แต่สำหรับหลักธรรม ๓ ประการ ในตอนกลางของมรรคมีองค์แปดประการนั้น เป็นหลักธรรมซึ่งบุคคลทุกประเภทสามารถประพฤติปฏิบัติได้ เต็มความสามารถของตน ทุกคนควรพยายามประกอบอาชีพที่ไม่เป็นอันตรายต่อบุคคลผู้ใด ทั้งโดยทางกายและทางวาจา ทุกๆ คนควรพยายามและสามารถที่จะพยายาม เพื่อจะหลีกเลี่ยงเสียจากการพูดชั่วและทำชั่ว และแล้วเขาจะได้รับผลตอบแทนอย่างเพียงพอ เพราะเท่ากับเป็นการแผ้วถางหนทางของตนเองเพื่อในวันหนึ่งเขาจะสามารถควบคุมความคิดและฝึกจิตของตน จนกระทั่งลุถึงวิชชาและความเห็นแจ้งอันแท้จริง อันเป็นวิชชาและความเห็นแจ้งซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบและทรงสอนไว้ ซึ่งทรงเรียกว่า “ปัญญา” (ญาณ)

เมื่อเขาได้ลุถึงปัญญาอันแท้จริงเช่นนี้แล้ว จิตก็จะไม่ยึดถือพัวพันหลงใหลในสิ่งใดๆ ในโลกไหนๆ อีกต่อไป และเพราะไม่ยึดถือเช่นนี้ จิตก็จักไม่ก่อให้เกิดนามและรูป (ใจและกาย) ขึ้นในโลกไหนๆ ข้อนี้หมายความว่าเมื่อไม่มีการเกิดมาในโลกแล้ว ก็ไม่มีความทุกข์ทรมานใดๆ ชนิดที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้เกิดมาในโลก ปรากฏขึ้นอีกต่อไป และความทุกข์ทั้งปวงก็ถึงที่สุดและดับหมดไปไม่มีเหลือ

สิ่งนี้แหละ พระพุทธองค์ทรงค้นพบที่โคนแห่งต้นโพธิ์ คือพระองค์ทรงค้นพบหนทางอันประเสริฐอันประกอบด้วยองค์แปดประการ ได้แก่ความเห็นอันถูกต้อง ความมุ่งหมายอันถูกต้อง การพูดจาอันถูกต้อง การกระทำอันถูกต้อง การเลี้ยงชีวิตอันถูกต้อง ความพากเพียรอันถูกต้อง ความระลึกอันถูกต้อง และความดำรงจิตอย่างถูกต้อง ซึ่งทั้งหมดนี้ ยังสรุปเรียกโดยชื่ออื่นได้อีกว่า “แนวทางปฏิบัติ ๓ ประการ” คือการประพฤติทางกาย วาจา และการอบรมจิตจนเกิดความรู้แจ้ง หรือเรียกโดยภาษาบาลีว่า “ศีล สมาธิ ปัญญา” ดังนี้


มีต่อ >>>>> ตอนที่ ๑๐ ทรงประกาศพระธรรม
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ย. 2006, 6:12 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ ๑๐ ทรงประกาศพระธรรม


ในขณะนี้ พระองค์ทรงมีอาการเปรียบเสมือนบุคคลที่ได้พยายามว่ายน้ำฝ่ากระแสคลื่นลมมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งได้ถึงฝั่งด้วยความปลอดภัย แล้วนอนลงชั่วครู่หนึ่งเพื่อบรรเทาความเมื่อยล้าของแขนและขา แล้วยืนมองดูกระแสน้ำ ซึ่งเต็มไปด้วยภัยอันตรายอันพระองค์ได้ว่ายฟันฝ่ามาด้วยความยากลำบาก จนกระทั่งถึงฝั่งด้วยความสวัสดี หรือมิฉะนั้นเปรียบเหมือนบุคคลซึ่งได้ไต่ขึ้นไปด้วยความยากลำบาก จนถึงยอดภูเขาสูง มีอากาศเย็นสบายนั่งลงพักเหนื่อย มองดูโดยรอบข้าง มีความสบายกายและสบายใจ เหลียวลงมาดูแผ่นดินเบื้องล่างอันเต็มไปด้วยลมร้อนและฝุ่นร้อนที่ตนได้ผ่านมาแล้วแต่หนหลัง ก็รู้สึกเป็นสุขใจ คือบัดนี้ความพยายามฟันฝ่าอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของพระองค์ได้ประสพผลสำเร็จโดยครบถ้วน ในท่ามกลางความเงียบสงัดของป่าตำบลอุรุเวลานั่นเอง

พระองค์ผู้ทรงประสพชัยชนะในสงครามอันโหดร้ายนี้แล้ว ได้เสด็จประทับพักผ่อน เสวยวิมุติสุข คือความสุขเกิดจากความรอดพ้นจากการทนทรมานนานาประการในการต่อสู้กับกิเลส และได้ทรงลิ้มรสของศานติธรรมอันพระองค์ทรงชนะแล้ว และเป็นผลของความรู้หรือความจริง ซึ่งพระองค์ได้ทรงประสพในบัดนี้ เมื่อพระองค์ได้เสด็จประทับอยู่ภายใต้ต้นไม้แห่งชัยชนะ กล่าวคือต้นโพธิ์นั้น จนเป็นที่พอพระทัยแล้ว ก็ได้เสด็จไปยังต้นไทรในบริเวณใกล้เคียงกันอีกต้นหนึ่ง ซึ่งพวกเด็กเลี้ยงแพะในถิ่นนั้นใช้เป็นที่นั่งพักร้อนเฝ้าสูงแพะในเวลากลางวัน

เมื่อพระองค์กำลังประทับอยู่ ณ ที่นั้น เผอิญมีพราหมณ์คนหนึ่งผ่านมาทางนั้น ได้ทักทายพระองค์ตามธรรมเนียม แล้วได้ตั้งคำถามขึ้นถามพระองค์ว่า “ท่านโคดม ! อะไรที่ทำคนให้เป็นพราหมณ์ที่แท้จริงได้ ? คุณสมบัติอะไรบ้างที่เขาจะต้องแสวงหามาใส่ตน เพื่อทำให้เขาเป็นบุคคลแห่งวรรณะสูงอย่างแท้จริง ?”

พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงรู้สึก หรือไม่ทรงสนพระทัยในความเย่อหยิ่งของพราหมณ์ผู้นั้น ที่กล่าวแก่พระองค์ด้วยอาการออกชื่อสกุลตรงๆ อันเป็นความไม่เคารพ แทนที่จะกล่าวด้วยคำเป็นต้นว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้า” หรือ “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า” ดังนี้เป็นต้น พระองค์ได้ตรัสตอบอย่างตรงไปตรงมาด้วยคำซึ่งผูกขึ้นเป็นกาพย์มีใจความว่า

“พราหมณ์ที่แท้จริง คือผู้ที่ลอยบาปเสียได้ทั้งหมด ละความเย่อหยิ่งได้ สำรวมคนได้ ไร้มลทิน รอบรู้และประพฤติพรหมจรรย์ คนเช่นนี้เท่านั้นที่ควรเรียกว่าเป็นพราหมณ์ได้ เขาเป็นผู้ที่ไม่ประพฤติอย่างชาวโลกอีกสืบไป”

พราหมณ์ผู้นั้นได้เดินหลีกไป พร้อมกับบ่นพึมพำกับตัวเองว่า “พระสมณะโคดมนี้ รู้เรื่องในใจของเรา พระสมณะโคดมนี้ รู้เรื่องในใจของเรา” ดังนี้

สองสามวันต่อมา ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้ายังคงประทับอยู่ที่โคนต้นไม้ของเด็กเลี้ยงแพะนั้น มีพ่อค้า ๒ คน ซึ่งนำสินค้ามาขายยังประเทศนี้ได้เดินผ่านมา เขาได้เห็นพระองค์ประทับนั่งอยู่ใต้ต้นไม้นั้น ด้วยอาการอันสงบและอิ่มเอิบ เหมือนบุคคลที่ได้ประสพชัยชนะในการต่อสู้อย่างใหญ่หลวงแล้วกำลังพอใจในผลแห่งชัยชนะนั้นอยู่ เขาได้น้อมนำอาหารอย่างดีเข้าไปถวาย และจับอกจับใจในถ้อยคำและความงามสง่าของพระองค์ และได้ทูลขอร้องให้พระองค์ทรงยอมรับเขาเป็นสาวกผู้นับถือพระองค์ ด้วยเหตุนี้พ่อค้าสองคนนี้ ซึ่งมีนามว่า “ตปุสสะ” และ “ภัลลิกะ” จึงได้เป็นบุคคลแรกในโลก ซึ่งได้เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้

เมื่อพระองค์ทรงพักผ่อนเป็นเวลานานพอแก่พระประสงค์แล้ว ก็ทรงเริ่มพระดำริถึงสิ่งที่พระองค์ควรกระทำต่อไป พระองค์ได้ทรงพบสิ่งซึ่งพระองค์ทรงแสวงแล้ว และทรงรู้สึกว่าไม่ควรจะเก็บความรู้อันประเสริฐนี้ไว้เงียบๆ ควรจะเผยแผ่ให้รู้กันทั่วๆ ไป เพื่อให้คนเหล่าอื่นมีส่วนได้รับประโยชน์จากความรู้อันประเสริฐนี้ด้วย

พระองค์ทรงดำริเช่นนี้ขึ้นในพระทัยเป็นข้อแรก แต่แล้วความคิดอีกอันหนึ่งได้เกิดขึ้นขัดขวาง โดยทรงรำถึงแก่พระองค์เองว่า “สิ่งที่เราได้รู้แล้วนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก มันเป็นของที่ลึกซึ้งและละเอียดสุขุม คนที่มีความคิดจริงๆ มีปัญญาแจ่มใสจริงๆ เท่านั้น จึงจะสามารถจับฉวยเอาใจความได้อย่างถูกต้องจนได้รับผล แต่คนที่มีความคิดและปัญญาอันแจ่มใสนั้นมีอยู่ที่ไหน คนส่วนมาไม่ประสงค์จะทนความยากลำบากในการคิดและพินิจพิจารณาอย่างลึกซึ้ง เขาชอบกันแต่สิ่งง่ายๆ ชอบกันแต่สิ่งที่ทำความสนุกสนานเพลิดเพลินให้แก่ตน หัวใจของเขาเอียงไปแต่ในสิ่งซึ่งเขาเห็นว่าจะนำความสนุกสนานบันเทิงเริงรื่นมาให้แก่เขาเท่านั้น เขาทั้งหมดพากันปล่อยตัวไปในเรื่องความเพลิดเพลินทางกามารมณ์ หากเราจะสั่งสอนธรรมะนี้แก่เขา เขาก็ไม่เข้าใจว่าเราได้พูดถึงเรื่องอะไรกะเขา เขาจักไม่สนใจ แล้วเราก็จักเหนื่อยเปล่า”

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริในพระหฤทัยเช่นนี้ จนมีพระทัยน้อมไปในทางที่จะไม่ทรงสั่งสอนสิ่งซึ่งพระองค์ได้ตรัสรู้แก่ผู้ใด แต่จะทรงเก็บไว้เพื่อประโยชน์แก่พระองค์แต่ผู้เดียว เพราะไม่ทรงเห็นว่าจะมีผู้ใดในโลกที่ต้องการจะทราบหรือจะพอใจ ในเมื่อพระองค์จะบอกเล่าสิ่งนี้ให้แก่เขา แต่อย่างไรก็ตาม ความดำริของพระองค์หาได้หยุดเสียเพียงเท่านี้ไม่ เพราะถ้าเป็นดังนั้นแล้ว ใครๆ ก็หามิได้รู้ธรรมะของพระองค์ ดังเช่นทุกวันนี้ พระองค์ได้ทรงพยายามตีปัญหาเรื่องนี้ต่อไปอีก จนกระทั่งเกิดมีความคิดอันใหม่ขึ้นแก่พระองค์ดั่งต่อไปนี้

“ถูกแล้ว มันเป็นความจริงในข้อที่ว่าคนแทบทั้งหมดในโลกนี้ไม่ปรารถนาจะฟังธรรมะซึ่งเราได้ค้นพบ และจะไม่เข้าใจแม้ว่าเราจะได้พยายามบอกกล่าวแก่คนประเภทนี้ เขารักแต่สิ่งที่ง่ายๆ สนุกสนานและไม่ทำให้เขายุ่งยากใจในการคิด แต่แม้จะเป็นอย่างนั้น คนทุกคนในโลกไม่เหมือนกัน มีคนบางพวกแม้จะมีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งกำลังไม่ประสพความพอใจด้วยวิถีแห่งการดำเนินชีวิตชนิดที่เขากำลังกระทำอยู่ เขากำลังต้องการจะรู้ให้มากไปกว่าที่เขารู้อยู่ในบัดนี้ เขาไม่พอใจที่จะดำเนินตนไปในทางที่เอาแต่ความสนุกสนานเพลิดเพลิน มันจะเป็นที่น่าสมเพชสักเพียงใดถ้ารู้ธรรม ซึ่งสามารถนำความสุขกายสุขใจมาให้แก่คนประเภทนี้ได้ แต่แล้วกลับเก็บเงียบไว้ไม่บอกกล่าวให้เขาได้ยินได้ฟังเลย

ไม่ได้ ! เราจักไม่ทำเช่นนั้น เราจักออกไปเดี๋ยวนี้แล้ว และจะทำคนจำพวกนั้นทุกคนที่เราพบ ให้ได้รู้ได้เข้าใจถึงความจริงอันประเสริฐสี่ประการ ซึ่งเราได้ค้นพบแล้ว คือความจริงเรื่องทุกข์ และต้นเหตุของมัน เรื่องความไม่มีทุกข์เลย และวิธีที่จะให้ได้รับความไม่มีทุกข์นั้น คนที่ฟังแล้วพอจะเข้าใจได้ก็ยังมีอยู่ แม้จะมีเพียงจำนวนน้อยก็ตาม

มันเหมือนกับในสระบัว ซึ่งมีบัวหลายๆ ชนิดเกิดอยู่ เป็นสีชมพูบ้าง น้ำเงินบ้าง ขาวบ้าง บัวส่วนมามีดอกอ่อนโผล่ขึ้นมาจากกอ ซึ่งยังจมอยู่ใต้ดินได้หน่อยหนึ่ง พอพ้นจากโคลนบ้าง ขึ้นมาได้ครึ่งทางระหว่างพื้นดินกับผิดน้ำบ้าง ขึ้นโผล่มาถึงผิวน้ำบ้าง ถูกสัตว์กัดกินเสียก่อนที่จะได้บานบ้าง ส่วนที่โผล่ขึ้นพ้นน้ำรับแสงแดดเบิกบานอยู่ในอากาศนั้น มีเป็นจำนวนน้อยกว่าก็จริง แต่ก็ยังมีอยู่! ข้อนี้ฉันใด สัตว์ทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น บางพวกใจของเขาเอาแต่จะจมอยู่ในโคลนแห่งกิเลสแลตัณหา แต่บางพวกมิได้จมอยู่ในโคลนมากเหมือนอย่างนั้น มีกิเลสแลตัณหาครอบงำแต่เพียงเล็กน้อย คนจำนวนหลังนี้เองจะสามารถเข้าใจคำสั่งสอนของเรา เมื่อเขาได้ยินได้ฟังเราจักออกไปเดี๋ยวนี้ จะต้องให้เขาได้ยินได้ฟัง และสอนคนทุกคนที่ควรสอน”

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเริ่มระลึกว่าพระองค์ควรจะสอนบุคคลใดเป็นคนแรก ซึ่งจะพอใจฟังและเข้าใจได้โดยเร็ว ลำดับนั้น พระองค์ทรงระลึกถึงอาจารย์เก่าของพระองค์เอง คือดาบสชื่อ อาฬาระ กาลามะ ซึ่งมีความรู้ ความคิด ความเฉลียวฉลาด และความบริสุทธิ์อยู่เป็นอันมาก แล้วพระองค์ทรงรำพึงแก่พระองค์เองว่า เราจักไปสอนดาบสอาฬาระ กาลามะ ก่อนใครอื่น ท่านผู้นี้จักเข้าใจได้โดยรวดเร็ว

เมื่อพระองค์ทรงเตรียมพร้อมที่จะเสด็จไปสู่สำนักดาบสอาฬาระ กาลามะ ก็มีใครบางคนได้มาแจ้งข่าวแก่พระองค์ว่า อาฬาระดาบสนั้นได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว พระองค์จึงทรงนึกถึงบุคคลอื่นสืบไป ก็ระลึกได้ถึงดาบส อุทกะ รามบุตร ผู้ซึ่งมีสติปัญญาพอที่จะรู้ธรรมะนี้ได้โดยแล้ว อย่างเดียวกัน แต่ในที่สุด ก็ทรงทราบว่าดาบสผู้นี้ถึงแก่กรรมเสียแล้วเมื่อคืนที่แล้วมา

พระองค์ทรงระลึกหาบุคคลที่เหมาะสม ที่จะรับคำสั่งสอนเป็นคนแรกที่สุด ต่อไปอีก ในที่สุดก็ทรงระลึกได้ถึง ภิกษุห้ารูป ที่เคยอยู่เฝ้าพระองค์ในคราวเมื่อทรงบำเพ็ญตบะทรมานกาย ณ ตำบลอุรุเวลา เมื่อได้ทรงทราบว่าบัดนี้ภิกษุเหล่านั้นอาศัยอยู่ที่ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี แล้ว ก็เสด็จจากตำบลอุรุเวลา ตรงไปยังเมืองพาราณสี (ซึ่งมีระยะทางประมาณ ๑๕๐ ไมล์) เมื่อพบกับภิกษุเหล่านั้น พระองค์ได้เสด็จไปโดยลำดับๆ จนกระทั่งเย็นวันหนึ่ง ก็เสด็จถึงป่าอิสิปตนมิคทายวัน อันเป็นที่ซึ่งนักบวชห้ารูปนั้นกำลังพักอาศัยอยู่ * (* ในระหว่างทางตอนนี้ พระองค์ได้พบอาชีวก ชื่ออุปกะ และได้สนทนาโต้ตอบกันขณะหนึ่ง เขาไม่เชื่อว่า พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ธรรม และไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการได้พบกับพระองค์)

เมื่อนักบวชห้ารูปนั้น เห็นพระองค์เสด็จดำเนินมาแต่ไกล ก็ได้กล่าวแก่กันและกันว่า “ดูโน่น ! พระสมณโคตมะกำลังตรงมาที่นี่ พระสมณโคตมะผู้มักมาก ซึ่งได้สละความเพียร เวียนกลับไปสู่ความเป็นผู้อยู่อย่างสะดวกสบาย พวกเราอย่าพูดกะท่าน พวกเราอย่าออกไปต้อนรับ และแสดงความเคารพใดๆ อย่าออกไปรับบาตรจีวร เราเพียงแต่ตั้งอาสนะไว้ผืนหนึ่งที่นี่ ถ้าท่านอยากนั่ง จะได้นั่ง ถ้าท่านไม่นั่ง ก็ให้ท่านยืน ใครที่ไหนจะไปต้อนรับคนที่ไม่มีอะไรแน่วแน่เช่นท่านผู้นี้ ?”

แต่ในที่สุดเมื่อพระองค์ได้เสด็จดำเนินใกล้เข้ามา นักบวชทั้งห้านั้นได้สังเกตเห็นอะไรบางอย่างอันแสดงว่าพระองค์มิได้ทรงเป็นอย่างที่เขาเคยนึกมาแต่ก่อน ในบัดนี้มีอะไรบางอย่างปรากฏอยู่ที่พระองค์ เป็นความสง่างามและสูงส่ง มีแววแห่งความประเสริฐอย่างที่เขาเหล่านั้นไม่เคยเห็นมาก่อน นักบวชทั้งห้านั้นได้มีความตื่นเต้นในใจจนกระทั่งลืมตัวเอง และลืมข้อนัดหมายที่ได้ตกลงกันไว้ ได้พากันกระทำทุกสิ่งทุกอย่างตามที่ตนอยากจะทำ ในบัดนั้นบางคนได้รีบเดินตรงไปต้อนรับพระองค์ ถวายความเคารพ และรับบาตรรับจีวรจากพระองค์ด้วยความนอบน้อม บางคนรีบเร่งตระเตรียมอาสนะเสียใหม่เป็นพิเศษสำหรับพระองค์ และบางคนรีบไปหาน้ำมาชำระพระบาทของพระองค์

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะ ซึ่งนักบวชทั้งห้านั้นจัดถวายแล้ว ได้ตรัสแก่เขาเหล่านั้นว่า “ฟังก่อนภิกษุทั้งหลาย! เราได้พบหนทางแห่งอมฤตธรรมแล้ว เราจะบอกท่าน เราจะแนะให้ท่าน ถ้าท่านทั้งหลายฟังและศึกษาและปฏิบัติตามที่เราบอก ไม่นานเลย ท่านทั้งหลายจักรู้ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอถึงชาติหน้า แต่จักรู้ได้ที่นี่ ในบัดนี้ ในชีวิตนี้ว่าถ้อยคำที่เรากล่าวนั้นมีความจริงเพียงใด และท่านทั้งหลายจักเข้าถึงสิ่งซึ่งอยู่เหนือความเกิดและความตายได้ ด้วยตนเอง

เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่นักบวชทั้งห้านี้จะต้องมีความฉงนเป็นอันมากในการที่ได้ฟังพระองค์ตรัสเช่นนี้ เขาเหล่านั้นได้เห็นพระองค์บำเพ็ญตบะอดอาหารและทรมานกาย แล้วมาเลิกเสียเพื่อให้บรรลุธรรม และบัดนี้ยังมาบอกแก่เขาว่าพระองค์ได้บรรลุธรรมนั้นแล้วด้วย นักบวชเหล่านั้นไม่ยอมเชื่ออย่างง่ายๆ และได้กล่าวโต้พระองค์นานาประการ

เขาได้กล่าวแก่พระองค์ว่า “เพื่อโคตมะ ! ทำไมเล่า เมื่อพวกเราอยู่กับท่าน ท่านปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการบำเพ็ญตบะทรมานกายทุกชนิดดังเช่นนักบวชทั้งหลายประพฤติกันอยู่ทั่วชมพูทวีป พวกเราจึงได้นับถือท่านเป็นอาจารย์ผู้สั่งสอน ท่านบำเพ็ญตบะอย่างเคร่งครัดเช่นนั้นแล้ว ก็ยังไม่บรรลุธรรมที่ท่านต้องการ มาบัดนี้ท่านจะบรรลุธรรมนั้นได้อย่างไร ในเมื่อท่านกลับมาเป็นคนอยู่อย่างมักมาก ละทิ้งความเพียรเสียแล้ว หมุนไปหาความสะดวกสบายตามพอใจเช่นนี้ ?”

พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบว่า “ท่านทั้งหลาย ! พวกท่านเข้าใจผิด เราไม่ได้ละความเพียรแต่อย่างใดเลย เราไม่ได้เป็นอยู่อย่างหลงใหลตามใจตัวเอง เอาแต่สนุก จงฟังเราก่อน เราได้บรรลุวิชชาและญาณอันสูงสุดแล้วจริงๆ เราสามารถสอนท่านทั้งหลายให้ท่านบรรลุธรรมนั้นได้ โดยตัวท่านเองด้วย”

นักบวชทั้งห้าเหล่านั้นไม่สามารถจะปลงใจเชื่อ ในถ้อยคำของพระองค์ มันปรากฏแก่เขาในทำนองที่เป็นไปไม่ได้ แม้พระองค์จะได้ทรงขอร้องให้คนเหล่านั้นฟังและเชื่ออีกครั้งหนึ่ง เขาก็ยังไม่อาจจะเชื่อ เมื่อพระองค์ทรงเห็นว่าคนเหล่านั้น ไม่ยอมเชื่อว่าพระองค์บรรลุธรรมที่อยู่เหนือความตายจริงๆ แล้ว พระองค์ได้ทรงมองที่ใบหน้าของคนเหล่านั้น อย่างเพ่งจ้องและเอาจริงเอาจังพร้อมทั้งตรัสว่า “ท่านทั้งหลาย ! จงฟังก่อน จงนึกดูให้ดีๆ ว่า ตลอดเวลาที่ท่านทั้งหลายอยู่กับเรา ในครั้งกระโน้น เราได้เคยพูดเช่นนี้กับท่านทั้งหลายบ้างหรือเปล่า ? เราได้เคยบอกท่านทั้งหลายว่าเราได้บรรลุวิชชาและญาณอันสูงสุด อันทำอยู่เหนือความเกิดและความตายเช่นนี้หรือเปล่า ? จงคิดดู !”

นักบวชทั้งห้านั้น ต้องตอบแก่พระองค์ว่า เป็นความจริงที่พระองค์ไม่เคยตรัสคำเช่นนี้แก่พวกเขามาก่อนเลย พระองค์ได้ตรัสต่อไปว่า “บัดนี้จงฟังเราก่อน ในเมื่อเราได้ยืนยันว่าเราได้ถึงหนทางแห่งอมตธรรมแล้วจริงๆ ก็จงฟังให้รู้ว่าเราได้พบอะไรและอย่างไรเสียก่อนจะดีกว่า”

พระองค์ได้ตรัสถ้อยคำเหล่านี้อย่างองอาจ และตรึงใจ ขณะเมื่อตรัสพระองค์ได้ทรงเพ่งจ้องมองด้วยลักษณะของบุคคลผู้มีเมตตา และซื่อตรงอย่างบริสุทธิ์ จนนักบวชเหล่านั้นหมดความสงสัย ไม่ปฏิเสธในการที่จะตั้งใจฟังพระองค์อย่างแท้จริง นักบวชทั้งห้าได้ขอร้องให้พระองค์ทรงยับยั้งอยู่เพื่อสอนเขาเหล่านั้น ด้วยสิ่งซึ่งพระองค์ทรงค้นพบ คำสอนเรื่องแรกที่พระองค์ได้สอนเขานั้นเรียกว่า ปฐมเทศนา หรือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ว่าด้วยอริยสัจ ๔ อย่าง และมรรคมีองค์ ๘ ประการ

พระองค์ได้ทรงสอนนักบวชทั้งห้า ซึ่งเคยเป็นศิษย์เก่าของพระองค์เหล่านั้น ด้วยธรรมที่พระองค์เพิ่งตรัสรู้ใหม่ๆ ทุกวันๆ จนครบถ้วน เป็นเวลาสองสามเดือน ประทับอยู่กับนักบวชเหล่านั้น โดยทรงสอนนักบวชสามคน เมื่อนักบวชอีกสองคนไปบิณฑบาตเพื่อนำอาหารมาเลี้ยงกัน และทรงสอนนักบวชอีกสองคน ในเมื่อนักบวชสามคนนั้นได้ไปบิณฑบาต ผลัดเปลี่ยนกันโดยทำนองนี้ตลอดเวลาอย่างผาสุก

เพราะเหตุที่ได้อาจารย์อันประเสริฐสุดในโลก นักบวชทั้งห้านั้นก็ได้ลุถึงธรรม ดังเช่นที่พระองค์ได้ทรงบรรลุ เขาได้ประสพผลแห่งการปฏิบัติขั้นสูงสุด คือนิพพานได้ ในภาพทันตาเห็นนี้เอง ในบรรดานักบวชห้าคนนั้นผู้ที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ในคำสอนของพระองค์เป็นคนแรก มีนามว่า โกณฑัญญะ อีกสี่คนนอกนั้นมีนามว่า ภัททิยะ อัสสชิ วัปปะ และมหานามะ นักบวชทั้งห้านี้ ได้เป็นพระอรหันต์จำนวนห้าองค์แรกในโลก คำ “อรหันต์” นี้ เป็นที่ชื่อที่ใช้สำหรับบุคคลผู้บรรลุนิพพานได้ด้วยตนเอง ในชีวิตทันตาเห็น นับว่าพระอรหันต์ทั้งห้าองค์นี้เป็นชุดแรกของหมู่สงฆ์สาวกประเภทที่มีพระพุทธองค์เป็นผู้ทรงสั่งสอนและแนะนำด้วยพระองค์เองโดยตรง คำสอนที่ทำให้ท่านเหล่านั้นได้เป็นพระอรหันต์พร้อมกันทั้งห้าองค์นั้น เรียกว่า อนัตตลักขณสูตร

เมื่อพระองค์ยังประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนะนั้น มีชายหนุ่มลูกเศรษฐีแห่งเมืองพาราณสีคนหนึ่งชื่อ ยสะ ได้มาพบพระองค์เข้าโดยบังเอิญในโอกาสวันหนึ่ง เมื่อเขาได้ฟังธรรมะของพระองค์ และทราบถึงผลของการปฏิบัติธรรมะนั้นแล้ว ก็มีความพอใจจนถึงกับขอบวช และอยู่อาศัยกับพระองค์เพื่อศึกษาและปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไปอีก

ในเย็นวันนั้นเอง ได้มีชายสูงอายุคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์และทูลว่าลูกชายได้หายมาจากบ้าน ตั้งแต่เมื่อเช้านี้ เข้าใจว่ามาทางนี้ มารดาของเขากำลังร้องไห้คร่ำครวญโดยคิดว่า เขาอาจจะถูกคนร้ายฆ่าเสียในถิ่นนี้แล้ว

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกให้เศรษฐีผู้นั้น ทราบว่าลูกของเขาปลอดภัย ไม่ต้องเป็นห่วง และพระองค์ได้ตรัสธรรมะอันเหมาะสมให้เศรษฐีผู้นั้นฟัง เพื่อให้เศรษฐีผู้นั้นทราบว่าธรรมะนั้นเป็นอย่างไร จึงได้เป็นที่พอใจแก่ลูกชายของเขาจนถึงกับขอบวช ในที่สุดแห่งการตรัส เศรษฐีผู้นี้ก็ได้พอใจและเลื่อมใสในธรรม ประกาศตนเป็นอุบาสก รับถือธรรมของพระองค์เป็นสรณะจนตลอดชีวิตสืบไป เขาได้ทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งพระยสะด้วย ไปฉันอาหารบิณฑบาตที่เรือนของตนในวันพรุ่งนี้

ต่อจากนั้นมา เพื่อสนิทของพระยสะเศรษฐีบุตรอีกสี่คนได้ออกบวชตามพระยสะ เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา และได้มีคนหนุ่มอีกจำนวนมากพากันบวชตามโดยทำนองนี้ที่ป่าอิสิปตนะนั้น จนกระทั่งรวมด้วยกันทั้งหมดประมาณ ๖๐ รูป ผู้บวชใหม่เหล่านี้ทุกคน ล้วนแต่มีเชื้อชาติสกุลดี มีความพากเพียรพยายามในการศึกษาและการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ภายใต้การควบคุมสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเอง ในเวลาไม่นานเลย ทุกคนได้รู้และได้ลุถึงวิชชาและญาณอันสูงสุดด้วยตนเอง และเป็นพระอรหันต์ด้วยกันทุกคน

พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงยอมให้พระสาวกเหล่านั้นอยู่อาศัยในที่แห่งเดียวกันนั้น เพราะว่าบัดนี้ทุกๆ รูปได้เรียนรู้และปฏิบัติได้ผลครบถ้วน ตามที่พระองค์ทรงสอนแล้ว พระองค์รับสั่งแก่พระสาวกเหล่านั้นว่า ท่านเหล่านั้นต้องออกเดินทางไปเพื่อทำการสั่งสอนคนเหล่าอื่น เพื่อว่าคนที่พร้อมที่จะรับคำสั่งสอนเหล่านั้น จะได้มีโอกาสได้ยินๆ ได้ฟังคำสอน ครั้นได้ศึกษาและปฏิบัติแล้ว เขาจักเป็นผู้พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้เช่นเดียวกัน

พระองค์ได้ตรัสแก่พระสาวกทั้งหลายเหล่านั้นว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป จงแสดงธรรมซึ่งมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในเบื้องปลาย จงประกาศแบบแห่งการครองชีวิตอันสมบูรณ์อันประเสริฐ และบริสุทธิ์ ในโลกนี้ยังมีคนบางพวกซึ่งมีธุลี คือกิเลสแลตัณหาแต่เพียงเบาบาง หากไม่ได้ฟังธรรมแล้ว จักเสียประโยชน์อันใหญ่หลวง คนพวกนี้แหละจักฟังธรรมและเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง”

พระพุทธองค์ได้ทรงส่งพระสาวกชุดแรกจำนวน ๖๐ รูป ออกไปประกาศพระศาสนา ทรงระบุไม่ได้ไปเป็นคู่หรือเป็นหมู่ แต่ให้ไปเพียงสายละรูปๆ โดยทิศทางต่างๆ กัน เพื่อให้ธรรมนี้แพร่หลายไกลออกไปโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ พระสาวกเหล่านี้ได้สนองพระพุทธบัญชา ตามพระพุทธประสงค์และออกไปเผยแพร่พระธรรมวินัยของพระองค์ทุกทิศทุกทางทั้งทางเหนือและทางใต้ ทางตะวันออกและทางตะวันตก

พระสาวกเหล่านี้เป็นบุคคลพวกแรกที่สุดในโลก ที่ได้ออกทำการเผยแพร่คำสอนทางศาสนาของตนๆ ตามถิ่นต่างๆ ว่าโดยที่แท้แล้วท่านเหล่านี้เป็นคณะเผยแพร่ศาสนา ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างฉับพลันทันทีที่ตนได้บรรลุธรรม นับเป็นพวกแรกที่สุดที่โลกได้เคยเห็น ทุกองค์มีความกล้าหาญ ทำการเผยแพร่พระพุทธศาสนาเป็นพวกแรกที่สุดในโลก โดยลักษณะดังกล่าวนี้


มีต่อ >>>>> ตอนที่ ๑๑ สิงคาลมาณพ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ย. 2006, 6:14 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ ๑๑ สิงคาลมาณพ


หลังจากที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงส่งพระอรหันตสาวก ๖๐ รูป ออกไปเพื่อเผยแพร่พระศาสนาตามทิศทางต่างๆ แล้ว พระองค์เองก็ได้เสด็จออกจากป่าอิสิปตนะ ตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่ประเทศมคธ และในที่สุดก็ได้เสด็จมาถึงตำบลอุรุเวลา ณ ที่นั้นพระองค์ได้เสด็จไปพำนักอยู่กับพวกชฎิลจำนวนหนึ่ง ประมาณพันรูป ซึ่งมีชฎิลชื่อว่า กัสสปะสามคนพี่น้องเป็นหัวหน้า พระองค์ได้ทรงทำลายทิฏฐิมานะของชฎิลเหล่านั้นสิ้นเชิง แล้วทรงอธิบายหลักธรรม ที่ทรงค้นพบได้ใหม่ให้หัวหน้าชฎิลเหล่านั้นฟังจนมีความพอใจรับเอาคำสอนของพระองค์ และขอบวชเป็นภิกษุในศาสนาของพระองค์ และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในเวลาต่อมาด้วยกันทุกรูป ทั้งหัวหน้าและบริวาร

พระพุทธองค์ได้เสด็จจากอุรุเวลาไปสู่นครราชคฤห์ตามที่เคยได้สัญญาไว้กับพระเจ้าพิมพิสารว่า เมื่อพระองค์บรรลุธรรมแล้ว จักเสด็จกลับมาสั่งสอนพระราชาและประชาชนแห่งนครนั้นให้รู้ตามด้วย พระเจ้าพิมพิสารและชาวนครราชคฤห์ได้ทำการต้อนรับพระองค์ ด้วยความยินดีอย่างสูงสุดในข้อที่ว่าพระองค์ได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเสด็จมาโปรดเขาเหล่านั้น

ณ ที่สวนตาลหนุ่มแห่งหนึ่ง พระองค์ได้ทรงสั่งสอนชี้แจงด้วยพระหฤทัยอันเต็มไปด้วยพระกรุณา โดยวิธีต่างๆ จนกระทั่งพระราชาและประชาชนเหล่านั้น มีความเข้าใจในธรรม ประกาศตนเป็นพระสาวกของพระองค์ พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงแสดงความเคารพนับถือในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ให้ปรากฏออกมาโดยการทรงถวายอุทยานเวฬุวัน ให้เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

เช้าวันหนึ่ง พระองค์เสด็จออกจากอุทยานเวฬุวัน เพื่อไปบิณฑบาตในนครราชคฤห์ ในระหว่างทางพระองค์ได้ทรงพบชายหนุ่มคนหนึ่งเนื้อตัวเปียกชุ่มไปหมด ราวกะว่าเพิ่งขึ้นมาจากน้ำ ยืนอยู่กลางถนน ทำอาการโค้งตัวนบไหว้ทิศทั้งสี่ คือ ทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ แล้วไหว้แหงนขึ้นไปบนฟ้า และไหว้ลงไปทางพื้นดินแทบเท้าของตนในที่สุด และได้โปรยเมล็ดข้าวไปทุกทิศ ในขณะที่ตนกำลังทำการนบไหว้

พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรดูชายหนุ่มคนนั้น ซึ่งกระทำพิธีอันแปลกประหลาดอยู่บนทางสาธารณะจนเสร็จแล้ว ได้ตรัสถามเขาว่า ทำไมเขาจึงทำอย่างนั้น ชายหนุ่มคนนั้นได้ทูลตอบว่า เขาทำเช่นนั้นตามคำสั่งของบิดาซึ่งได้สั่งให้เขากระทำทุกๆ เวลาเช้า เพื่อเป็นการป้องกันสิ่งชั่วร้ายทุกประการมิให้มาสู่ตัวเขา จากทิศทั้งสี่ และจากเทวดาในเบื้องบนและจากปีศาจในเบื้องต่ำ บิดาของเขาได้ขอร้องเขาเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อกำลังจะสิ้นชีพให้เขาทำเช่นนั้น ดังนั้น เขาจึงไม่อาจฝ่าฝืนความประสงค์ของบิดา นับตั้งแต่วันที่บิดาของเขาสิ้นชีพเป็นต้นมา เขาได้ปฏิบัติตามคำสั่งนี้อย่างเคร่งครัด โดยไม่มีขาดสักวันเดียว

พระพุทธองค์ได้ทรงฟังคำตอบของเขาดังนั้นแล้วได้ตรัสว่า “เป็นการถูกต้องอย่างยิ่ง สำหรับท่านที่รักษาคำมั่นสัญญาอันได้ให้ไว้กะบิดาขณะที่จะสิ้นชีพอย่างซื่อสัตย์ แต่ว่าสิ่งที่ท่านกระทำนั้น ยังไม่ตรงตามที่บิดาของท่านมุ่งหมาย”

“ข้อที่บิดาของท่านสั่งให้ท่านทำการนบไหว้และโปรยอาหารไปทางทิศตะวันออกนั้น บิดาของท่านหมายความว่าท่านจะต้องแสดงความเคารพสักการะต่อบุคคล ซึ่งให้กำเนิดชีวิตแก่ท่านโดยเฉพาะ ก็คือมารดาบิดานั่นเอง การนบไหว้าทางทิศใต้นั้น บิดาของท่านหมายถึงการเคารพสักการะครูบาอาจารย์ ซึ่งสั่งสอนวิชาความรู้ให้ท่าน การนบไหว้ทางทิศตะวันตกนั้น หมายถึงการทนุถนอมเลี้ยงดูบุตรและภรรยา การนบไหว้ทางทิศเหนือ หมายถึงการเคารพนับถือสงเคราะห์วงศ์ญาติและมิตรสหาย การนบไหว้ทางทิศเบื้องบน หมายถึงการสักการบูชาบุคคลผู้มีความดี ความงาม ความประเสริฐ เช่น สมณะและพราหมณ์ เป็นต้น สำหรับการไหว้ลงทิศเบื้องต่ำทางพื้นดินนั้น หมายถึงการยอมรับนับถือสิทธิในการแสวงสุข และการมีชีวิตของสัตว์ต่างๆ ทุกประเภท แม้แต่สัตว์ที่ถือกันว่าเล็กและเลวที่สุด ซึ่งอาศัยอยู่ในแผ่นดิน บิดาของท่านมุ่งหมายอย่างนี้ จึงได้สั่งให้นบไหว้เช่นนั้น และเป็นการป้องกันอันตรายทุกอย่างอันจะมาถึงท่านจากทุกทิศทุกทางได้จริง”

พระองค์ได้ทรงอธิบายให้ชายหนุ่มคนนี้ ซึ่งมีนามว่า สิงคาละ เข้าใจโดยละเอียด ในสิ่งที่เขาจะต้องประพฤติต่อตนเองและต่อบุคคลอื่น เพื่อให้ทุกคนมีความสุขความเจริญ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต พระองค์ได้ทรงแนะให้สิงคาละเว้นจากการฆ่า เว้นจากการลักขโมย จากการล่วงเกินคนรักของบุคคลอื่น จากการพูดเท็จ และการดื่มน้ำเมาทุกชนิด พระองค์ทรงแนะนำให้เขาทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เพื่อการสะสมทรัพย์และในการรักษาทรัพย์ซึ่งหามาได้แล้ว แต่ก็อย่าได้หลงละโมภหรือบริโภคใช้สอยทรัพย์นั้นเพื่อประโยชน์แก่ตนแต่ผู้เดียว และไม่ใช้ทรัพย์ไปในทางสุรุ่ยสุร่ายอย่างโง่เขลา ทรงแนะให้ใช้ทรัพย์จำนวนหนึ่งในสี่เพื่อการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว หนึ่งในสี่ในการขยายการงานอาชีพของตนให้กว้างขวางออกไป หนึ่งในสี่ในการช่วยเหลือคนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ และอีกหนึ่งในสี่เก็บไว้เป็นทุนสำรอง เมื่อคราวภัยพิบัติเกิดขึ้นจักได้ใช้สอยทันท่วงที

สิงคาละได้ตั้งใจฟังคำแนะนำของพระองค์ด้วยความเคารพ และได้กราบทูลแก่พระองค์ว่าเมื่อบิดาของเขายังมีชีวิตอยู่นั้น เขาเองได้กล่าวกะบิดาของเขาอยู่บ่อยๆ ถึงข่าวเล่าลืออันเกี่ยวกับพระองค์ว่าทรงเป็นศาสดาเอก และได้พยายามขอร้องให้บิดาของเขาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อรับคำสั่งสอน แต่บิดาของเขาได้ปฏิเสธเสียทุกคราวไป โดยพูดว่าลำบากเกินไปบ้าง เหนื่อยเปล่าบ้าง ไม่มีเวลาบ้าง ไม่มีเงินที่จะใช้จ่ายในการเดินทางบ้าง กล่าวดังนี้แล้ว ชายหนุ่มชื่อสิงคาละนั้น ได้ทูลขอร้องให้พระพุทธองค์ทรงยกโทษให้แก่บิดาของเขา และตัวเขาเอง ขอสมัครเป็นสาวกของพระองค์ยืนยันในการที่จะทำการไหว้ทิศทั้งหก ตามวิธีที่พระองค์แนะนำโดยครบถ้วนจนตลอดชีวิต ข้อความที่พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่สิงคาลมานพอย่างไรโดยละเอียดนั้น อาจจะอ่านดูได้จากสิคาโลวาทสูตร ในคัมภีร์ฑีฆนิกาย


มีต่อ >>>>> ตอนที่ ๑๒ สารีบุตรและโมคคัลลานะ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ย. 2006, 6:15 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ ๑๒ สารีบุตรและโมคคัลลานะ


ในระยะเวลาที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ใกล้นครราชคฤห์นี้ มีเจ้าลัทธิผู้หนึ่งชื่อ “สญชัย” ตั้งสำนักอยู่ใกล้ๆ นครราชคฤห์ มีสาวกประมาณ ๒๐๐ คนเศษ ในบรรดาสาวกเหล่านั้นมีสาวกสองคน ชื่อ อุปติสสะ และโกลิตะ มีสติปัญญามาก ทั้งสองคนไม่พอใจในคำสั่งสอน ท่าที่อาจารย์ของตนได้สอนให้ แต่มีความประสงค์จะรู้สิ่งที่ดีและลึกซึ้งไปกว่านั้น อันเรียกกันว่า “อมฤตธรรม” คนทั้งสองนี้รักกันมาก คนหนึ่งจะต้องมีส่วนได้ในสิ่งที่อีกคนหนึ่งได้เสมอไป จึงได้ทำกติกาต่อกันอย่างเงียบๆ ว่า ต่างคนต่างพยายามศึกษาและคิดค้นให้สุดกำลังสติปัญญาของตนๆ เพื่อให้พบอมฤตธรรม ถ้าคนใดได้พบก่อน ก็จักบอกให้อีกคนหนึ่งได้รู้ด้วย

วันหนึ่ง ในเวลาเช้า เมื่ออุปติสสะเดินไปตามถนนในนครราชคฤห์ เขาได้เห็นบรรพชิตรูปหนึ่ง กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ มีอาการแปลกประหลาด จับตาจับใจของเขาเป็นอันมาก บรรพชิตรูปนั้นมีลักษณะอาการที่สุภาพเรียบร้อย สงบเสงี่ยมงดงามทั้งในการเดินและการยืนตลอดจนการรับบิณฑบาตชนิดที่เขาไม่เคยพบเห็นมาแต่ก่อน ยิ่งเดินเข้าไปใกล้ก็ยิ่งมีความฉงน และเต็มไปด้วยความเคารพยิ่งขึ้น เพราะว่าใบหน้าของบรรพชิตรูปนั้นเป็นใบหน้าชนิดที่เขาไม่เคยเห็นนักบวชรูปใดมีใบหน้าซึ่งประกอบด้วยลักษณะเช่นนั้นเลย คือเป็นใบหน้าที่แสดงความสุขอย่างเต็มเปี่ยม และแสดงถึงความสงบไม่มีความหวั่นไหว เปรียบประดุจดังผิวน้ำในเวลาที่เงียบสงัด ปราศจากลมรบกวน ในเวลากลางคืน อุปติสสะได้รำถึงอยู่ในใจว่า บรรพชิตรูปนี้ เป็นอย่างไรหนอ บรรพชิตรูปนี้ต้องเป็นบุคคลที่ได้บรรลุถึงธรรมที่เรากำลังแสวงหาแล้วอย่างแน่นอน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องเป็นสาวกของผู้ที่ได้บรรลุธรรมนั้นแล้ว เราอยากรู้เหลือเกินว่า ใครเป็นอาจารย์ของท่านผู้นี้ คำสอนของอาจารย์ท่านผู้นี้ จักเป็นอย่างไรหนอ เราจักต้องติดตามเอาความจริงให้ได้

อย่างไรก็ตาม อุปติสสะรู้สึกว่า ยังไม่เหมาะที่จะเข้าไปไต่ถามบรรพชิตรูปนั้น ในขณะที่ท่านกำลังบิณฑบาตอยู่ จึงได้เดินตามไปห่างๆ จนกระทั่งบรรพชิตรูปนั้น ได้อาหารบิณฑบาตเพียงพอแล้ว กำลังเดินออกประตูเมืองไป อุปติสสะได้เข้าไปทำความเคารพทักทายปราศรัย พอให้เกิดความคุ้นเคย แล้วไต่ถามในข้อที่ว่า ท่านผู้ใดเป็นครูบาอาจารย์ที่บรรพชิตรูปนี้มีความเคารพ และรับปฏิบัติตามโอวาท อุปติสสะได้กล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ อากัปกิริยาของท่านสงบเสงี่ยมยิ่งนัก ใบหน้าของท่านเปล่งปลั่ง สุกใสดียิ่งนัก ข้าพเจ้าใคร่จะทราบอย่างแท้จริงว่า ผู้ใดเป็นครูอาจารย์ของท่าน คำสอนของใคร ที่ท่านสละเหย้าเรือนและญาติมิตรมาอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ อาจารย์ของท่านชื่ออะไร ? และคำสอนของท่านเป็นอย่างไร ?”

บรรพชิตรูปนั้นได้ตอบอย่างยิ้มแย้มว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าอาจจะบอกท่านได้เดี๋ยวนี้ มีพระมหาสมณะแห่งวงศ์ศากยะผู้หนึ่ง ซึ่งได้สละฆราวาสวิสัยออกมาบวชประพฤติพรหมจรรย์ ข้าพเจ้าสละเหย้าเรือนบวชเพื่อประพฤติตามพระมหาสมณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าองค์นั้นเอง เป็นครูของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่านผู้นั้น”

อุปติสสะได้คิดว่า บางทีเขาอาจจะได้ทราบจากบรรพชิตผู้นี้ ถึงเรื่อง “อมฤตธรรม” ซึ่งเขาและโกลิตะเพื่อนของเขาได้เสาะแสวงหามาเป็นเวลานานแล้ว จึงได้ถามขึ้นอย่างรีบร้อนว่า “ข้าแต่ท่านที่เคารพ คำสั่งสอนที่ท่านกล่าวถึงนั้น เป็นอย่างไร ? ครูของท่านได้สอนอะไร ? ข้าพเจ้าอยากทราบในข้อนั้นเป็นอย่างยิ่ง”

บรรพชิตผู้นั้นได้ตอบอย่างสุภาพว่า “ข้าพเจ้าเป็นแต่คนเพิ่งมาบวชแรกศึกษา ยังเป็นเวลาน้อยมาก นับแต่ข้าพเจ้าเริ่มศึกษาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าและประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยของพระองค์ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ทราบอะไรในคำสอนของพระองค์มากนัก ข้าพเจ้าไม่สามารถอธิบายแก่ท่านได้โดยละเอียด ถ้าท่านต้องการทราบแต่โดยย่อแล้ว ข้าพเจ้าก็อาจจะบอกให้ท่านทราบได้บ้างสักสองสามคำ”

อุปติสสะได้กล่าวขึ้นโดยเร็วว่า “ท่านผู้เจริญ นั่นแหละที่ข้าพเจ้าต้องการทราบ จงบอกแต่ใจความให้แก่ข้าพเจ้าเถิด ใจความนั่นแหละ สำคัญไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวด้วยถ้อยคำยืดยาวดอก”

บรรพชิตผู้นั้น ได้กล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น ก็ดีแล้ว ท่านจงฟังเถิด

สิ่งใด มีเหตุเป็นเครื่องบันดาลให้เกิดขึ้น พระตถาคตได้ตรัสบอกถึงเหตุแห่งสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น พร้อมทั้งความดับสนิทของสิ่งเหล่านั้น พระมหาสมณะองค์นั้นมีปรกติกล่าวด้วยอาการอย่างนี้”

นักบวชได้กล่าวเพียงเท่านี้ แต่ขณะที่อุปติสสะได้ยืนฟังข้อความนี้อยู่ที่ประตูเมืองนั่นเอง ความแจ่มแจ้งได้โพลงขึ้นในใจของเขาอย่างรุ่งโรจน์ ในธรรมที่พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ได้ทรงสอน เป็นธรรมที่แสดงให้ทราบว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว หรือกำลังจะเกิดขึ้นก็ตาม จักต้องดับลงไป อีกอย่างไม่มีทางยกเว้น อย่างไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้ อย่างไม่เคยผิดพลาดเลย อุปติสสะได้เห็นอย่างแจ่มแจ้งในขณะนั้นเองว่า “สิ่งที่ไม่มีการเกิด” เท่านั้นเองที่จะเป็นอิสระเหนือกฎที่ว่า “มันจะต้องดับ” หรือ “ต้องตาย” และสิ่งนั้นแหละคืออมฤตธรรม”

อุปติสสะได้กล่าวแก่บรรพชิตรูปนั้นว่า “ถ้าความข้อนี้เป็นสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้มาจากอาจารย์ของท่านแล้ว ก็เป็นที่แน่นอนว่าท่านได้ลุถึงสิ่งที่ไม่มีทุกข์ อยู่เหนือความตาย ซึ่งไม่เคยปรากฏแก่มนุษย์เรามาเป็นยุคๆ” เมื่ออุปติสสะกล่าวดังนี้แล้ว ก็ได้กล่าวขอบคุณแก่บรรพชิตรูปนั้น และได้ไต่ถามถึงที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ แล้วลาจากไปเพื่อไปบอกกล่าวแก่โกลิตะเพื่อนของตน ให้ทราบถึงข่าวดีที่ว่า บัดนี้ ตนได้พบอมฤตธรรมนั้นแล้ว !

บัดนี้อุปติสสะมีใบหน้าแจ่มใสอิ่มเอิบสงบเสงี่ยมเช่นเดียวกับใบหน้าของบรรพชิตผู้ที่ได้บอกกล่าวอมฤตธรรมแก่เขา เมื่อโกลิตะได้เห็นอุปติสสะ มีใบหน้าเช่นนั้นกำลังเดินใกล้เข้ามา ก็ทราบได้ว่าความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวง ได้เกิดขึ้นแก่สหายของเขาแล้ว จึงได้ถามว่า “เพื่อเอ๋ย ทำไมหน้าตาของท่านจึงดูแจ่มใส รุ่งเรืองยิ่งนัก ท่านได้พบอมฤตธรรม ซึ่งเราทั้งสองได้แสวงกันมาเป็นเวลานานนักแล้วอย่างนั้นหรือ ?”

อุปติสสะได้ตอบด้วยความร่าเริงว่า “อย่างนั้น อย่างนั้น เพื่อเอ๋ย เราได้พบอมฤตธรรมนั้นแล้ว” โกลิตะได้ถามอย่างรีบร้อนว่า “เป็นอย่างไรกันเพื่อน ? เป็นอย่างไรกัน ?” อุปติสสะได้บอกแก่โกลิตะเพื่อร่วมใจของเขาด้วยเรื่องบรรพชิตแปลกหน้า ที่เขาได้พบเที่ยวบิณฑบาตอยู่ตามถนนในเวลาเช้า นุ่งห่มจีวรสีเหลือง มีท่าทางสงบและสำรวม ชนิดที่เขาไม่เคยเห็นนักบวชรูปใดเป็นอย่างนั้นมาก่อนเลย และบอกให้ทราบถึงการที่เขาได้ติดตามไปจนถึงประตูเมือง และไต่ถามถึงมูลเหตุที่ทำให้ท่านมีผิวพรรณผ่องใส สงบเสงี่ยมเช่นนั้น ในที่สุดอุปติสสะได้กล่าวคาถามีจำนวนสี่บาท ซึ่งบรรพชิตรูปนั้นได้กล่าวแล้วให้โกลิตะฟัง และในขณะนั้นเอง โกลิตะก็ได้เห็นธรรม รู้แจ้งว่าอมฤตธรรมนั้น มิได้เกิดอยู่ในโลกนี้ ในลักษณะที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและความคิดนึกต่างๆ และเพราะเหตุที่อมฤตธรรมนั้นมิได้เป็นสิ่งที่มีความเกิดขึ้นเช่นนั้นเอง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ดับ คือไม่ตาย

ในที่สุด สหายคู่นั้น ได้ตรงไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า และถือเอาพระพุทธองค์เป็นครู แทนครูสญชัยสืบไป พระองค์ทรงรับเขาทั้งสองเข้าเป็นภิกษุ และต่อมาได้เป็นพระอัครสาวกของพระองค์ เนื่องจากมีความรู้สติปัญญาและความสามารถมาก และมีนามซึ่งรู้จักกันในโลกนี้ว่า “พระสารีบุตร” และ “พระโมคคัลลาน” บรรพชิตผู้ได้บอกอมฤตธรรมแก่ท่านทั้งสองโดยคาถาเพียงสี่บาทนั้น มีนามว่า “อัสสชิ” เพราะฉะนั้นคาถานั้นจึงได้นามว่า “คาถาของพระอัสสชิ” สืบมา

มิใช่เพียงแต่อุปติสสะกับโกลิตะเท่านั้น ที่เข้ามาบวชเป็นภิกษุกับพระพุทธองค์ ขณะที่ประทับอยู่ใกล้นครราชคฤห์ในคราวนี้ แต่ยังมีคนหนุ่มตระกูลสูงเป็นจำนวนมาก ได้สละบ้านเรือน มารดาบิดา ญาติใหญ่น้อย แล้วมาบวชเป็นภิกษุสาวกของพระองค์ ผู้มีนามที่เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “พระศากยมหามุนี” ทั้งนี้เพราะเหตุที่พระองค์ทรงเป็นศาสดาแตกต่างจากศาสดาอื่นๆ ในประเทศนั้น ในข้อที่ทรงมีพระชาติกำเนิดอันสูงศักดิ์และประเสริฐ และทรงมีการบรรลุธรรมอันสูงสุด ซึ่งเมื่อใครปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์จนถึงที่สุดแล้ว จักได้พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง โดยสิ้นเชิง

ความจริงมีว่า ในครั้งนั้น คนหนุ่มๆ ได้พากันออกบวชเป็นจำนวนมาก จนถึงกับประชาชนแห่งเมืองนั้นพากันรู้สึกตกใจ ไม่สบายใจ และบางพวกถึงกับโกรธแค้น คนบางพวกได้ไปร้องทุกข์กับพระองค์ว่า ถ้ายังออกบวชกันเป็นจำนวนมากอยู่เช่นนี้ ในไม่ช้าก็จักไม่มีคนหนุ่มที่จะประกอบกิจการงานตามบ้านเรือนอีกต่อไป เขาพากันกล่าวว่า ในไม่ช้าจักไม่มีครอบครัวเพิ่มขึ้น จักไม่มีเด็กเกิดมา บ้านเมืองก็จะรกร้างว่างเปล่า เพราะออกบวชเป็นภิกษุกันเสียหมด


มีต่อ >>>>> ตอนที่ ๑๓ เสด็จกบิลพัสดุ์
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ย. 2006, 6:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ ๑๓ เสด็จกบิลพัสดุ์


เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะซึ่งเป็นพระพุทธบิดา ได้ทรงทราบข่าวว่า บัดนี้พระโอรสของพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว และกำลังประทับอยู่ที่นครราชคฤห์ จึงได้ทรงส่งผู้เดินข่าวไปกราบทูล เพื่อให้พระพุทธองค์ทรงทราบว่า บัดนี้พระพุทธบิดาทรงชรามากแล้ว และได้ทรงขอร้องให้พระองค์เสด็จไปเพื่อจะได้มีโอกาสเห็นพระองค์สักครั้งหนึ่ง ก่อนแต่จะสิ้นพระชนม์ แต่บังเอิญคนเดินข่าวซึ่งพระเจ้าสุทโธทนะทรงส่งไปนั้นได้ไปถึงนครราชคฤห์ในขณะที่พระพุทธองค์กำลังทรงแสดงธรรมแก่ประชาชนอยู่ เขาจึงได้นั่งฟังธรรมไปจนจบโดยยังไม่ได้ทูลแจ้งข่าวที่ตนรับเอามา แต่พระธรรมที่พระพุทธองค์แสดงนั้น ปรากฏแก่เขาว่า มีความไพเราะ และมีความจริงแท้อย่างน่าอัศจรรย์ จนเมื่อการแสดงธรรมจบลงแล้ว เขามีความพอใจและปลาบปลื้มในธรรมนั้น จนลืมเรื่องราวที่เขารับรับสั่งมากระทั่งถึงลืมว่าตนเองเป็นคนเดินข่าว ดังนั้นแทนที่จะทูลแจ้งข่าว เขาก็ได้ขอบวชเป็นภิกษุและอยู่อาศัยฟังธรรมของพระองค์สืบไป

พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงคอยอยู่เป็นเวลานาน มิได้เห็นคนเดินข่าวของพระองค์กลับมา จึงได้ทรงส่งผู้เดินข่าวพวกอื่นอีก ให้ไปทูลแจ้งข่าวแก่พระพุทธองค์ และเพื่อติดตามข่าวอันเกี่ยวกับคนเดินข่าวชุดแรกด้วย แต่คนเดินข่าวพวกที่สองนี้ก็อย่างเดียวกัน ได้ไปถึงในตอนเย็น ในขณะที่ได้มีการแสดงพระธรรมเทศนา เขาได้ฟังได้พอใจ จนลืมการส่งข่าว และได้บวชเป็นภิกษุเสียโดยทำนองเดียวกันอีก พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงส่งไปใหม่เป็นครั้งที่สามที่สี่จนถึงครั้งที่เก้า เหตุการณ์ก็เป็นไปโดยทำนองเดียวกันทั้งสิ้น คือคนเหล่านั้นได้หลงใหลในพระธรรมเทศนา จนลืมตัวเอง ลืมการแจ้งข่าว และได้บวชเป็นภิกษุเพื่ออยู่ฟังพระธรรมเทศนาต่อไป ด้วยความกระหาย

พระเจ้าสุทโธทนะทรงประหลาดพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ในการที่คนเดินข่าวมิได้กลับมาเลยแม้แต่คนเดียว และเมื่อทรงหมดความสามารถในการที่จะได้รับข่าวแต่อย่างใดแล้ว จึงได้ทรงขอร้องต่อพระนางยโสธรา ซึ่งเป็นพระสุนิสา (ลูกสะใภ้) ของพระองค์ ให้ทรงส่งข่าวเป็นของพระนางเอง ไปดูบ้าง ผลก็เป็นอย่างเดียวกัน ส่งไปกี่คนๆ ก็มิได้รับข่าวอย่างใดกลับมา จนกระทั่งพระนางยโสธรา ก็ทรงหมดความสามารถเช่นเดียวกันอีก

พระเจ้าสุทโธทนะทรงระลึกขึ้นได้ว่า มีคนหนุ่มในราชสำนักอยู่คนหนึ่งชื่อว่า “อุทายิ” เคยเป็นเพื่อนเล่นคนโปรดของเจ้าชายสิทธัตถะตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กอยู่ด้วยกัน พระองค์ทรงดำริว่า ถ้าหากส่งอุทายินี้ไปแล้วบางทีจะทำให้พระพุทธองค์เสด็จมาสู่นครกบิลพัสดุ์ได้ ดังนั้น พระองค์จึงทรงส่งอุทายิไปทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์เสด็จมาสู่นครกบิลพัสดุ์ เพื่อเป็นโอกาสให้ทุกๆ คนในที่นั้น ได้เห็นพระพักตร์ของพระองค์สักครั้งหนึ่ง โดยที่คนเหล่านั้น ก็คือพระบิดาของพระองค์ พระชายาของพระองค์ พระโอรสของพระองค์ และประชาชนพลเมืองซึ่งจะต้องเป็นของพระองค์ ถ้าหากว่ามิได้ทรงสละราชสมบัติออกไปผนวชเสีย นั่นเอง

เมื่ออุทายิได้มาถึงนครราชคฤห์แล้ว เขาก็ได้ทราบถึงสาเหตุที่ว่าทำไมคนเดินข่าวเหล่านั้นจึงไม่กลับไปสู่นครกบิลพัสดุ์เลยสักคนเดียว ในขณะที่เขาเข้าไป พอสักว่าได้ยินเสียงที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาเท่านั้น เขาได้พยายามที่จะไม่ฟังพระธรรมเทศนานั้นต่อไปอีก โดยที่กลัวว่า เขาจะต้องกลายเป็นอย่างเดียวกับนักเดินข่าวคนก่อนๆ เมื่อจบการแสดงพระธรรมเทศนา เขาได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ถวายความเคารพอย่างสูงสุดแล้วได้กราบทูลพระองค์ว่า พระบิดาและพระชายา พระโอรส พร้อมทั้งชาวกบิลพัสดุ์ทั้งปวง มีความกระหายถึงกับมีความร้อนใจในการที่จะได้เห็นพระองค์และหวังในความกรุณาของพระองค์ว่า จะโปรดเสด็จไปเยี่ยมเขาโดยด่วน พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบด้วยความเมตตาเป็นอย่างยิ่งว่าพระองค์ไม่ปฏิเสธในความประสงค์ของคนเหล่านั้น และจะเสด็จไปสู่นครกบิลพัสดุ์เพื่อเยี่ยมเยียนเขาโดยเร็ว ดังนั้นอุทายิ จึงได้รีบกลับไปกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะให้ทรงทราบว่า พระสิทธัตถะในกาลก่อนนั้น บัดนี้ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของชาวโลกแล้ว จักเสด็จมาสู่นครกบิลพัสดุ์เพื่อกระทำหน้าที่ที่บุตรจักต้องทำตอบแทนแก่บิดา ในไม่ช้า

ทุกคนในนครกบิลพัสดุ์ นับตั้งแต่พระราชาลงไป มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่าพระราชกุมาร ซึ่งได้ละทิ้งพวกเขาเป็นเวลา ๖ ปีมาแล้ว ไปบวชเป็นนักบวช อาศัยอาหารของผู้อื่นเลี้ยงชีวิต เพื่อการบรรลุธรรมอันสูงสุดนั้น บัดนี้ได้ประสพความสำเร็จตามความประสงค์ ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาของคนทั้งหลาย ไม่เพียงแต่ของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเป็นศาสดาของเทวดาทั้งหลายด้วย ทั้งจะเสด็จมาเยี่ยมเยียนพวกเขาและบอกธรรมะที่ได้ตรัสรู้นั้นให้แก่เขา

ประชาชนเหล่านั้นได้พากันทำความสะอาดถนนหนทางทุกแห่ง ในนครกบิลพัสดุ์ และประดับประดาบ้านเรือนด้วยดอกไม้ ด้วยธง ด้วยแถบผ้าสีต่างๆ กัน เตรียมรับพระราชกุมารของตนๆ ในฐานะที่เป็นทั้งพระโอรสแห่งพระราชาของตน และเป็นทั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จถึงนครกบิลพัสดุ์ในเวลาเย็นวันหนึ่ง ได้ประทับอยู่ในอุทยานนอกนครตามธรรมเนียมของนักบวชทั้งหลาย ในวันรุ่งเช้า ได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาตตามถนนต่างๆ ภายในเมือง ตามที่พระองค์เคยทรงกระทำเป็นปรกติ ผู้ที่ได้เห็นพระองค์เสด็จดำเนินบิณฑบาตแล้ว บางคนได้เข้าไปกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะให้ทรงทราบ พระเจ้าสุทโธทนะทรงสลดพระทัยพร้อมทั้งทรงพิโรธ ในการที่ได้ทรงสดับข่าวเช่นนั้น พระองค์รับสั่งให้รีบขับรถพาพระองค์ตรงไปยังถนนซึ่งมีผู้แจ้งข่าวว่าพระพุทธองค์ กำลังทรงเที่ยวขออาหารอยู่อย่างคนขอทาน

เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะได้เสด็จมาถึงถนนสายนั้น ก็ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นพระพุทธองค์กำลังทรงดำเนินอยู่บนท้องถนน มีบาตรอยู่ในพระหัตถ์ อันเต็มไปด้วยอาหาร กำลังบ่ายพระพักตร์มาตามทางที่ตรงไปสู่พระราชวัง มีประชาชนห้อมล้อมถวายความเคารพอยู่โดยรอบ แต่ความน้อยพระทัยและความพิโรธของพระเจ้าสุทโธทนะในข้อที่พระโอรสของพระองค์ทรงกระทำภิกขาจารในถิ่นแคว้นที่อะไรๆ ก็เป็นของพระองค์ ซึ่งพระองค์จะถือเอาได้ โดยไม่ต้องมีการอนุญาตเช่นนี้ ยังคงกลัดกลุ้มอยู่ในพระหฤทัยของพระองค์อย่างใหญ่หลวง พระองค์ได้เสด็จตรงไปยังพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสตัดพ้อด้วยพระสำเนียงอันแสดงความขัดแค้นเขือเจือด้วยความน้อยพระทัย

“ลูกเอ๋ย นี่หรือที่เป็นข่าวดีที่พ่อได้รับ ? เพื่อทำอย่างนี้เท่านั้นแหละหรือ ที่ลูกทิ้งบ้านเมืองของพ่อไป แล้วเพื่อกลับมาเป็นคนขอทาน เลี้ยงชีวิตวันหนึ่งๆ อย่างคนขอทานทั่วไปในประเทศของพ่อ ? ลูก, เป็นลูกของพระราชา เป็นรัชทายาทของราชบัลลังก์แน่แล้วหรือ ? โอ ! ลูกเอ๋ย, ในวันนี้ลูกได้ทำความเสื่อมเสียแก่พ่อ และแก่ราชวงศ์ของเจ้า อย่างที่สุดแล้ว เคยมีครั้งไหนบ้าง ที่วงศ์ตระกูลของเจ้าเคยทำอย่างนี้ ? เคยมีครั้งไหนบ้าง ที่พวกเราเคยเที่ยวขออาหารอย่างคนขอทานเช่นนี้ ?”

พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบแก่พระบิดา ซึ่งทรงกริ้ว เพราะความเข้าพระทัยผิดอย่างเรียบๆ ว่า “ดูก่อนมหาราช, นี่แลเป็นการกระทำที่วงศ์ตระกูลของอาตมาได้เคยปฏิบัติกันมาแล้วอย่างแท้จริง” พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงตวาดขึ้นว่า “เท่าที่มนุษย์เขาจำกันได้นั้น วงศ์ตระกูลของเจ้าเป็นเจ้าแผ่นดินกันทุกคน ไม่มีใครสักคนเดียวเคยทำสิ่งที่น่าอดสูง เช่นนี้”

พระองค์ได้ตรัสตอบอย่างเรียบๆ สืบไปว่า “ดูก่อนมหาราช, ข้อนั้นก็เป็นความจริงเหมือนกัน แต่ในที่นี้อาตมาไม่ได้หมายถึงการสืบตระกูลอย่างชาวโลกเช่นนี้ บัดนี้ อาตมาเป็นผู้ถูกนับเนื่องเข้าในตระกูลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่ล่วงมาแล้ว อาตมาหมายถึงพระพุทธเจ้าเหล่านั้นเอง เมื่อกล่าวว่าอาตมาได้ทำตรงตามที่วงศ์ตระกูลของอาตมาได้เคยทำมาแล้ว พระพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อน ได้ทรงกระทำดั่งนี้มาด้วยกันทั้งนั้น และการทำอย่างนี้เท่านั้น ที่ถูกต้องและเหมาะสมแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย อาตมาจึงได้กระทำอย่างเดียวกัน”

เมื่อพระพุทธองค์ทรงดำเนินไปตามท้องถนนพร้อมกับพระพุทธบิดาตรงไปยังพระราชวังนั้น พระองค์ได้ตรัสแก่พระบิดาว่า พระองค์มิได้เสด็จกลับมาสู่บ้านเกิดของพระองค์อย่างคนสิ้นเนื้อประดาตัวที่กลับมามือเปล่า พระองค์ได้ตรัสยืนยันว่า พระองค์ได้นำเพชรพลอยอันมีค่าสูงเกินกว่าที่จะตีค่าได้ติดตัวมาด้วยเป็นอันมาก เป็นเพชรพลอยที่มีค่าสูงสุดในโลก เป็นเพชรพลอยแห่งสัจจธรรมที่สามารถนำคนไปสู่ความสุขอันไม่เปลี่ยนแปลงของพระนฤพาน

เมื่อพระองค์ได้เสด็จมาถึงพระราชวังแล้ว พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมอันเป็นทางแห่งความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง ที่พระองค์ทรงค้นพบ แก่พระพุทธบิดาและคนอื่นๆ อย่างละเอียดลออชัดเจนแจ่มแจ้ง จนเป็นที่เข้าใจแก่คนทั้งหลายในที่นั้นและพากันยอมรับธรรมะนั้นไปประพฤติปฏิบัติ ในฐานที่เป็นสาวกของพระองค์สืบไป และในเวลาภายหลังต่อมา พระโอรสของพระพุทธองค์ซึ่งมีนามว่า ราหุล นั้นก็ได้ออกบวชด้วยเหมือนกัน


มีต่อ >>>>> ตอนที่ ๑๔ พุทธกิจประจำวัน
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ย. 2006, 6:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ ๑๔ พุทธกิจประจำวัน


พระองค์ได้ทรงทำการเทศนาสั่งสอนมหาชน รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา ๔๕ ปี ตลอดเวลาเหล่านี้ พระองค์ได้เสด็จท่องเที่ยวไปในดินแดนแห่งประเทศอินเดียภาคเหนือ ซึ่งบัดนี้เป็นมณฑลอูธและเบ็งกอลเหนือเป็นส่วนใหญ่ นอกจากในฤดูฝนแล้ว พระองค์ไม่ค่อยทรงพักค้างคืนที่ใดเกินกว่า ๒-๓ คืน ในฤดูฝนอันเป็นเวลาจำพรรษา ส่วนมาพระองค์ประทับอยู่ที่สวนเวฬุวัน ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารน้อมถวาย ใกล้นครราชคฤห์ หรือที่เชตวันซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ใกล้นครสาวัตถี

ตลอดเวลาเหล่านี้ พระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจประจำวันดั่งนี้ คือพระองค์ทรงตื่นจากบรรทมก่อนเวลารุ่งสาง ทรงชำระพระสรีรกายแล้ว ทรงกระทำสมาธิสอดส่องอุปนิสัยสัตว์ทั้งหลายว่า ผู้ใดมีอุปนิสัยแก่กล้าสมควรได้รับธรรมเทศนาในวันนี้ ก็จักเสด็จไปโปรดเขาในวันนั้น

ครั้นเวลารุ่งสว่างแล้ว พระองค์ทรงจีวรถือบาตรในพระหัตถ์ เสด็จไปบิณฑบาตตามหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ใกล้ที่ที่พระองค์ประทับ ทอดพระเนตรจับอยู่ที่พื้นดิน จากบ้านโน้นสู่บ้านนี้ ทรงรับอาหารตามแต่ผู้มีใจบุญจะถวายสิ่งใด โดยใส่ลงในบาตรของพระองค์ บางคราวเสด็จไปแต่พระองค์เดียว บางคราวเสด็จไปพร้อมกับภิกษุสงฆ์ เดินเป็นแถวเดียวเรียงองค์ไม่ลักลั่น ทุกองค์ถือบาตรอยู่ในมือ มีกิริยาอาการสงบเสงี่ยม และแช่มชื่นเหมือนกันหมด ในบางคราวมีคนบางคนอาราธนาพระองค์ให้ฉันอาหารบิณฑบาตตามบ้านเรือนเขา ในกรณีเช่นนี้ที่เป็นการสมควรได้ทรงรับอาราธนา ประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาจัดถวาย ทรงฉันอาหารจากบาตรที่เขารับไปจากพระองค์ เพื่อบรรจุอาหารที่ดีที่สุดแล้วนำกลับมาถวายแก่พระองค์ เมื่อเสร็จขากการฉันและล้างพระหัตถ์แล้ว พระองค์จักตรัสสนทนากับบุคคลที่อยู่ในที่นั้น โดยทรงแนะนำชี้แจงให้เขารู้จักสิ่งที่ดีและชั่ว ที่เป็นไปเพื่อสุขและทุกข์ ทั้งในโลกนี้และโลกอื่น ทรงชี้ชวนให้บุคคลเหล่านั้นมีความกล้าหาญในการที่จะปฏิบัติ หลังจากนั้นพระองค์จักเสด็จกลับไปสู่ที่ประทับที่พระอาราม

ณ ที่นั้น พระองค์จะประทับนั่งเงียบๆ อยู่ในเรือนพักตามโคนต้นไม้ในบริเวณใกล้เคียง ทรงรอคอยจนกระทั่งภิกษุทั้งหลายซึ่งอยู่อาศัยกับพระองค์เสร็จจากการฉันอาหารบิณฑบาตด้วยกันทุกองค์ และพระองค์จักเสด็จไปทรงพักผ่อนในที่ประทับส่วนพระองค์ ทรงล้างพระบาทแล้วเข้าไปสู่ห้องที่ประทับชั่วขณะหนึ่ง เมื่อภิกษุประชุมพร้อมกันในโรงที่ประชุมเพื่อการสนทนาแล้ว พระองค์จักเสด็จไปตรัสข้อความเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งเหมาะสมแก่ที่ประชุมนั้น หรือที่ภิกษุเหล่านั้นกำลังพูดค้างอยู่ พระองค์จักทรงเร้าใจให้ภิกษุเหล่านั้นมีความพากเพียรในการศึกษา และการปฏิบัติพระธรรมวินัย ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้ลุถึงจุดหมายปลายทาง คือนิพานเสียแต่ในชาติอันเป็นปัจจุบันนี้ทุกคราวไป

เมื่อพระองค์ตรัสข้อความเหล่านั้นจบลงแล้ว มักจะมีภิกษุบางรูปทูลขอให้พระองค์ทรงบอกข้อธรรมสำหรับการบำเพ็ญภาวนาของตนโดยเฉพาะในข้อใดข้อหนึ่ง ซึ่งเหมาะแก่อุปนิสัยของตน พระองค์ก็จะทรงพินิจพิจารณาและประทานบทธรรมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับภิกษุรูปนั้น จะเป็นบทที่ยากหรือง่ายย่อมแล้วแต่พระองค์จะเห็นสมควรว่า ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้มีความสามารถเพียงใด และได้บำเพ็ญมาแล้วอย่างไร ภิกษุทั้งหลายจักเลิกประชุมเมื่อถึงเวลาสมควร ต่างรูปต่างจักไปสู่ที่สงัด มีโคนไม้หรือป่าไม้หรือเรือนร้างเป็นต้น เพื่อบำเพ็ญภาวนาตามบทธรรมที่ได้รับมาจากพระพุทธองค์ ส่วนพระพุทธองค์ก็เสด็จกลับไปสู่ที่ประทับที่เป็นส่วนพระองค์

หากเป็นฤดูร้อน พระองค์จักทรงพักผ่อนอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง จนกระทั่งเพียงพอแก่พระอัธยาศัย ในขณะนี้เป็นโอกาสที่ประชาชนตามหมู่บ้าน หรือจังหวัดใกล้เคียงจักมาเฝ้าพระองค์ในตอนเย็น บางพวกก็นำสิ่งของมาถวาย บางพวกก็มาเพื่อฟังธรรม พระองค์จะแสดงธรรมด้วยพระกิริยาวาจาที่น่าเลื่อมใส โดยวิธีที่จะให้คนทุกคนในที่นั้นได้ความรู้ความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นคนยากจน หรือคนมั่งมี คนเรียนมากหรือคนเรียนน้อย ทุกคนในที่นั้นจะรู้สึกราวกะว่าพระองค์ได้ตรัสตอบข้อความเหล่านั้น เพื่อเขาเองโดยเฉพาะจนตลอดเวลา ไม่มีความรู้สึกว่ามีเรื่องอื่นที่ตรัสสำหรับบุคคลอื่นแม้แต่หน่อยเดียว เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว ทุกคนมีความพอใจ และปลาบปลื้มสรรเสริญพระธรรมเทศนา ประกาศตนเป็นผู้รับนับถือพระธรรมและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด จนตลอดชีวิตต่อพระพักตร์ของพระองค์ ทุกคนกลับไปบ้านด้วยใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยธรรมะที่ตนได้ยินได้ฟังทั้งหมดในวันนั้น

เมื่อคนเหล่านั้นกลับไปแล้ว พระองค์จักเสด็จไปสู่ที่สรงน้ำแห่งใดแห่งหนึ่งในพระอาราม ถ้ามีสระหรือบึงที่เหมาะสมแก่การสรงในบริเวณใกล้เคียงพระองค์จักเสด็จไปสรง ณ ที่นั้น เป็นการชำระภายในเวลาเย็น หลังจากนั้นแล้วจักทรงพักผ่อนระงับพระทัยด้วยสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเวลาพอสมควร

ตอนนี้เป็นเวลาเย็นมากแล้ว เป็นโอกาสของภิกษุบางพวกซึ่งไม่ได้อยู่อาศัยกับพระองค์ ได้เดินทางมาจากที่อื่นเพื่อเฝ้าพระองค์เพื่อการเยี่ยมเยียน หรือเพื่อขอรับพระพุทธโอวาทอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามความปรารถนา พระองค์ทรงต้อนรับปราศรัยแก่ภิกษุเหล่านั้น และประทานคำสั่งสอนชี้แจงตลอดจนถึงทรงอธิบายธรรมะที่ยากๆ ให้เป็นที่เข้าใจแก่ภิกษุเหล่านั้นจนกระทั่งทูลลาพระองค์กลับไปด้วยความพอใจและร่าเริง

พระองค์ได้ทรงพยายามกระทำกิจเหล่านี้ ด้วยความกรุณาและความอดกลั้นอดทน และเต็มพระทัยอย่างยิ่ง ตลอดเวลา ๔๕ ปี ที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อภิกษุทั้งหลายเป็นประจำวันทุกๆ วัน มิได้ขาด ในการตอบปัญหาและอธิบายข้อยุ่งยากต่างๆ ไม่เคยมีสักครั้งเดียว ที่พระองค์ได้ทรงขัดพระทัยในการถามของผู้ถาม หรือทรงรำคาญขัดเคืองแก่ผู้หนึ่งผู้ใดที่ได้ทูลถาม ไม่ว่าเขาจะมาถามอย่างมิตรหรืออย่างศัตรู และไม่มีปัญหาใดๆ ที่มีผู้ถามแล้วพระองค์จะทรงตอบไม่ได้

พระองค์ทรงพร้อมอยู่เสมอ ที่จะตรัสแก่บุคคลนานาชนิดที่มาเฝ้าพระองค์ ด้วยถ้อยคำอันเหมาะสม ไม่ว่าเขาจะมาถามเพราะอยากรู้อยากเข้าใจหรือว่าจะมาล่อถามให้พระองค์ทรงติดกับจนมุมในถ้อยคำของพระองค์เอง สำหรับผู้ที่มาถามด้วยความอยากรู้ในข้อธรรมที่ลึกซึ้งต่างๆ นั้น พระองค์ได้ประทานคำตอบที่สำเร็จประโยชน์แก่คนเหล่านั้น และเป็นที่พอใจอย่างยิ่ง สำหรับบางคนที่มาเพื่อท้าทายหรือลองดีกับพระองค์นั้น ก็มีอยู่บ่อยๆ ที่ได้พ่ายแพ้แก่พระปรีชาของพระองค์ จนถึงกับยอมรับนับถือถ้อยคำของพระองค์ หรือยอมบวชเป็นสาวกผู้จงรักภักดีต่อพระองค์จนตลอดชีวิต

ในตอนพลบ เมื่อทรงเหน็ดเหนื่อยด้วยการนั่งตลอดวัน พระองค์จักทรงดำเนินไปมาในที่ใดที่หนึ่ง ในพระอารามนั้น เพื่อเป็นการบำบัดความเมื่อยขัดที่เกิดขึ้นแก่ร่างกายของพระองค์ จนกระทั่งมีความสดชื่นและคล่องแคล่วดังเดิม เมื่อได้ทรงจงกรมดังกล่าวนี้ จนพอแก่พระอัธยาศัยแล้ว พระองค์ก็พร้อมที่จะทรงสนทนากับภิกษุสงฆ์อีกระยะหนึ่ง ในตอนค่ำทุกๆ คืน

ในเวลาจวนดึก เป็นโอกาสที่บุคคลชั้นสูงมีพระราชาแห่งนครนั้นๆ เป็นต้น จะได้พากันไปเฝ้าเพื่อทรงสนทนา และไต่ถามปัญหาบางประการตามที่อยากจะทราบ พระองค์จะตรัสตอบแก้ไขปัญหาของอิสรชนเหล่านั้นจนเป็นที่พอใจและพากันกลับไป ในเวลาอันสมควร

หลังจากนั้นแล้ว พระองค์จักทรงพักผ่อนบรรทมหลับด้วยอาการที่เรียกกันว่า ประทับสีหเสยยา คือการนอนตะแคงทางเบื้องขวา มีเท้าซ้อนเหลื่อมกัน มีพระหัตถ์วางพาดไป ตามยาวแห่งลำตัว พระหัตถ์ข้างหนึ่งงอพับเข้ามาวางแนบอยู่ข้างพระเศียร ดังที่จะเห็นได้จากแบบพระพุทธรูปบรรทมทั่วๆ ไป ทรงกำหนดสติในการลุกเมื่อถึงเวลาจะต้องลุก แล้วก็บรรทม พระองค์ทรงตื่นบรรทมในเวลาประมาณ ๒ ชั่วนาฬิกาก่อนเวลาย่ำรุ่ง แล้วทรงบำเพ็ญพุทธกิจด้วยการเข้าสมาธิภาวนา ตรวจส่องอุปนิสัยของสัตว์ผู้ควรรับธรรมเทศนาในวันรุ่งขึ้นสืบไปอีก

ตลอดเวลา ๔๕ พรรษา แห่งการเทศนาสั่งสอนของพระองค์นั้น พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจอย่างครบถ้วน ดังกล่าวนี้ทุกๆ วัน เว้นแต่คราวเดินทาง พระองค์ได้ทรงใช้เวลาของพระองค์ให้หมดไปในการสั่งสอน มิใช่เพียงแต่ทางธรรมะในพระศาสนาเท่านั้น แต่ยังได้ทรงตอบปัญหาและชี้แจงข้อความอันเกี่ยวกับการครองชีวิตอย่างชาวโลก แก่ผู้ที่ประสงค์จะทราบพร้อมกันไปด้วยในหมู่ประชาชน ซึ่งพระองค์ได้เสด็จผ่านไปอย่างเหมาะสมแก่เหตุการณ์และบุคคลในที่นั้นๆ ด้วยพระปัญญาอันรอบรู้และเฉียบแหลมของพระองค์

ตัวอย่างในเรื่องนี้ คือครั้งหนึ่งเมื่อพระองค์ประทับอยู่ที่พระอารามเชตวันใกล้เมืองสาวัตถี ประชาชนชาวนครกบิลพัสดุ์และชาวนครโกลิยะกำลังวิวาทกันด้วยเรื่องการทดน้ำเพื่อทำนา เวลานั้น เป็นคราวที่ฝนแล้งไม่ตกเป็นเวลานานเกินไป ลำธารที่มีอยู่ในระหว่างเนื้อนาของชนชาวนครกบิลพัสดุ์และชาวโกลิยะ ได้แห้งขอด จนมีน้ำเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย คนเหล่านั้น ต่างฝ่ายต่างต้องการจะได้น้ำทั้งหมดนั้นมาเป็นของตัว โดยไม่แบ่งให้อีกฝ่ายหนึ่งเลยจึงเกิดทะเลาะวิวาทกัน เตรียมพร้อมที่จะรบกันและฆ่ากันเพื่อให้ได้น้ำตามความต้องการของตน

ชาวเมืองกบิลพัสดุ์ ล้วนแต่เป็นพระญาติวงศ์ และเป็นบุคคลในประเทศของพระองค์โดยตรง เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าคนเหล่านี้ จะทำการรบพุ่งล้างผลาญพวกโกลิยะ ก็ทรงสังเวชพระทัย ในการที่พระญาติวงศ์ของพระองค์เองจักทำการล้างผลาญผู้อื่น หรือถึงกับล้างผลาญตัวเองด้วยเพื่อประโยชน์แต่น้ำหน่อยเดียว ดังนั้นพระองค์จึงได้เสด็จไปสู่สถานที่ ซึ่งคนทั้งสองฝ่ายกำลังเตรียมอาวุธพร้อมจะประหัตประหารกันอยู่แล้ว เมื่อพระองค์ได้เสด็จไปถึงที่นั่นได้ตรัสแก่คนเหล่านั้นและทรงโต้ตอบกัน ดังต่อไปนี้

“ดูก่อนเจ้าศากยะ และนักรบทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังเราพูดก่อน ท่านทั้งหลายจงตอบเราตามที่เป็นจริง ท่านทั้งหลายเตรียมพร้อมที่จะฆ่าฟันกันและกันด้วยเรื่องอะไร ?”

“เราจะรบกันเพื่อน้ำในลำธารนี้ ซึ่งเราแต่ละฝ่ายต้องการจะได้น้ำไปหล่อเลี้ยงนาอันแห้งแล้งของเรา” เสียงตอบมาจากทั้งสองฝั่งของลำธาร

“ถูกแล้ว แต่จงบอกเราตามที่เป็นจริงก่อนว่า สิ่งไหนเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่ากัน ในระหว่างสิ่งทั้งสอง คือน้ำนิดหนึ่งในลำธารนี้ กับโลหิตในเส้นเลือดของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะก็คือโลหิตในการของบรรดาเจ้าชายและนักรบผู้กล้าหาญทั้งหลายเหล่านี้ ?”

“เลือดในกายของบรรดาเจ้าชายและนักรบทั้งหลายเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าน้ำในลำธารนี้มากนัก”

“เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว เป็นการถูกต้องและสมควรหรือ ? ในการที่จะนำเอาโลหิตอันมีค่ามากนั้นมาพร่าเสีย เพื่อประโยชน์แก่น้ำอันมีค่าเพียงนิดเดียว ?”

“ข้าแต่พระองค์ เป็นการไม่สมควรจริงๆ มันเป็นการไม่ถูกต้อง ไม่สมควรในการที่จะเอาของมีค่า มาพร่าเสียเพื่อของมีค่านิดหน่อยเช่นนี้”

“ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ท่านทั้งหลายจงรบความโกรธของท่านทั้งหลายให้ชนะเถิด ? จงวางอาวุธสำหรับฆ่าฟันกันนั้นเสีย แล้วมาทำความตกลงกันด้วยความสงบ ในระหว่างพวกท่านผู้ฆ่าความโกรธได้แล้วด้วยกันทุกคน”

พวกกบิลพัสดุ์และพวกโกสิยะทั้งสองฝ่าย ได้รู้สึกละอายในความโง่เขลาขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเอง ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงชี้ให้เห็น จึงได้พากันทำตามคำแนะนำของพระองค์ ทำความตกลงแบ่งปันน้ำให้แก่กันและกันโดยเสมอภาค และอยู่กันอย่างเป็นสุขสืบมา


มีต่อ >>>>> ตอนที่ ๑๕ พระนางมหาปชาบดี
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ย. 2006, 6:21 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ ๑๕ พระนางมหาปชาบดี


ครั้งหนึ่ง พระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาได้ประชวรหนัก พระพุทธองค์ได้ทรงพาพระนันทะน้องต่างมารดาของพระองค์ และพระอานนท์ลูกเรียงพี่เรียงน้องของพระองค์ ซึ่งบัดนี้ได้ผนวชเป็นภิกษุแล้ว พร้อมทั้งพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเสด็จไปสู่นครกบิลพัสดุ์ เพื่อการเยี่ยมเยียน ในตอนแรก ด้วยการได้เห็นพระพุทธองค์ซึ่งเป็นโอรสสุดที่รักอีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าสุทโธทนะได้ค่อยทรงทุเลาขึ้น และทุกๆ คนคิดว่า พระองค์จะต้องทรงหายประชวร แต่อาการทุเลานี้ได้เป็นไปชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น พระองค์ทรงมีความชรามากเกินไปกว่าที่จะมีกำลังต้านทานความเจ็บไข้ ในสองสามวันต่อมาได้กลับประชวรหนักยิ่งขึ้นไปอีก และได้สิ้นพระชนม์ลงในท่ามกลางความโศกเศร้าของคนทั้งหลาย

เมื่อพระราชสวามีสิ้นพระชนม์ลงดั่งนี้ พระนางมหาปชาบดี ผู้เป็นพระมารดาเลี้ยงของพระพุทธองค์ ซึ่งได้เลี้ยงพระองค์มหาราวกะว่าเป็นโอรสของพระนางเองนั้น ไม่ทรงประสงค์ที่จะอยู่เป็นฆราวาสอีกต่อไป พระนางทรงมีความโศกเศร้าในการสิ้นพระชนม์ของพระสวามี ประกอบกับความพอพระทัยในการประพฤติพรหมจรรย์ จึงมีพระประสงค์จะออกผนวชเป็นบรรพชิตในสำนักของพระองค์ เพื่อรับคำแนะนำสั่งสอนโดยใกล้ชิด พระนางได้ทรงพาสุภาพสตรีอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ยอมอยู่โดยปราศจากพระนางโดยจะติดตามไปในที่ทุกหนทุกแห่งด้วยกัน ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าและทูลขอร้องให้ทรงเมตตากรุณายินยอมรับสตรีบวชเป็นบรรพชิต อยู่ภายใต้การแนะนำสั่งสอนของพระองค์โดยใกล้ชิด เช่นเดียวกับภิกษุทั้งหลาย แต่แม้พระนางจะได้ทรงวิงวอนถึง ๓ ครั้ง ๓ หน ให้พระองค์ทรงรับพระนางและสุภาพสตรีเหล่านั้นเข้าบวช เป็นนักบวชสตรีอยู่กับพระองค์ พระองค์ก็ได้ทรงปฏิเสธโดยทรงขอร้องอย่าให้พระนางทูลขออนุญาตเช่นนั้นกับพระองค์เลย พระนางมหาปชาบดีทรงโศกเศร้าเป็นอันมากในการที่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ พระนางและสุภาพสตรีเหล่านั้น ได้พากันร้องไห้เพราะเหตุนั้น

เมื่อทรงปลงพระศพพระเจ้าสุทโธทนะสิ้นสุดลงแล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จจากนครกบิลพัสดุ์ ทรงจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ จนกระทั่งสมัยหนึ่งได้เสด็จถึงเมืองเวสาลี และประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน พระนางมหาปชาบดีได้ตัดพระเกศาของพระนางออก ทรงครองผ้าอย่างนักบวช พร้อมด้วยสุภาพสตรีจำนวนหนึ่งดังที่กล่าวแล้ว ได้เสด็จไปตามหนทางที่จะไปสู่เมืองเวสาลี ทรงดำเนินด้วยพระบาททีละเล็กละน้อย ล่วงเวลาเป็นอันมาก จนกระทั่งถึงป่ามหาวัน อันเป็นที่ซึ่งพระพุทธองค์กำลังประทับอยู่

เมื่อเสด็จถึงที่นั้นแล้ว มีฝ่าพระบาทบวมพอง เพราะการเดินทางไกล มีฝุ่นจับทั่วทั้งองค์ ซูบเศร้า และอ่อนเพลีย พระนางได้ประทับยืนกันแสดงอยู่ข้างนอกพระวิหาร พระอานนท์ได้มาพบพระนางซึ่งกำลังยืนอยู่ในพระอาการที่น่าสมเพชอย่างยิ่งเช่นนั้น ได้ทูลถามถึงต้นเหตุเพื่อทราบว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และพระนางกันแสงเพราะเหตุใด

พระนางได้ตรัสตอบว่า “ท่านอานนท์ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้สตรีละจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อยู่ประพฤติธรรมวินัยกับพระองค์ อิฉันไม่ปรารถนาจะเป็นอย่างอื่น ปรารถนาจะบวชแต่อย่างเดียวจึงต้องร้องไห้”

พระอานนท์ได้ตอบว่า “พระบุตรีแห่งราชวงศ์โคตมะจงรอก่อน ถ้าเรื่องเป็นดังนี้ อาตมาจักวิงวอนขอร้องให้พระผู้มีพระภาคเจ้าโรดประทานพระอนุญาตให้สตรีได้บวชประพฤติธรรมวินัยในสำนักของพระองค์ เช่นเดียวกับภิกษุทั้งหลาย” พระอานนท์ได้พยายามกระทำตามที่ได้ให้สัญญาแก่พระนางมหาปชาบดี เมื่อได้ไปถึงที่ประทับของพระพุทธองค์แล้ว ได้ทำการวิงวอนด้วยความเคารพนอบน้อมอย่างสูงสุด เพื่อให้ทรงเมตตาแก่สตรีทั้งหลายโดยโปรดประทานอนุญาตให้บวชได้ โดยทำนองเดียวกับบุรุษ

พระดำรัสตอบของพระพุทธองค์ต่อพระอานนท์ในขณะนั้นมีว่า “อย่าเลย ! อานนท์, อย่าเลย ! อย่าขอสิ่งเช่นนี้กับเราเลย” พระอานนท์ก็มิได้หมดความพยายามหรือท้อถอย ได้ทูลวิงวอนแล้ววิงวอนอีก เป็นครั้งที่สองและที่สาม ด้วยคำวิงวอนอย่างเดียวกัน และทุกครั้งพระองค์ได้ทรงปฏิเสธด้วยคำปฏิเสธอย่างเดียวกัน

พระอานนท์ได้ทรงรำถึงอยู่ในใจว่า “พระพุทธองค์ไม่ประทานพระอนุญาต เมื่อถูกทูลขอตรงๆ แต่บางทีพระองค์อาจจักทรงอนุญาต ถ้าเราจักใช้วิธีอื่น” ดังนั้นท่านจึงได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าหากว่าสตรีได้สละเหย้าเรือนแล้ว ออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยของพระตถาคตอย่างเคร่งครัดแล้ว เธอเหล่านั้นจะสามารถบรรลุธรรมวิเศษทั้งสี่ชั้น ตามลำดับแห่งอัฏซังคิกมรรคเพื่อลุถึงนิพพานได้หรือไม่ พระเจ้าข้า ?”

พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบว่า “อานนท์ ถ้าสตรีสละเหย้าเรือน ออกบวชในธรรมวินัยนี้ ก็อาจเป็นพระอรหันต์ ลุถึงนิพพานได้ในชาติอันเป็นปัจจุบันนี้เหมือนกัน”

พระอานนท์ได้กราบทูลว่า “ถ้าเช่นนั้นแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โปรดพิจารณาดูเถิด พระนางมหาปชาบดีแห่งราชวงศ์โคตมะ ได้เป็นผู้มีพระคุณต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างสูงสุด พระนางเป้ฯพระกนิษฐภคินีแห่งพระมารดาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเอง และทรงเป็นพระมารดาบุญธรรมเป็นผู้ฟูมฟักทะนุถนอม และถวายนมแทนพระมารดาแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระนางได้ทรงเลี้ยงดู และได้ทรงอบรมสั่งสอนพระผู้มีพระภาคเจ้ามาตั้งแต่พระมารดาสิ้นพระชนม์ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์ได้โปรดประทานพระอนุญาตเพื่อเห็นแก่พระนาง ให้สตรีทั้งหลายที่สละเหย้าเรือนได้บวชเป็นบรรพชิตประพฤติพรหมจรรย์ ในธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างเดียวกับบุรุษ เพื่อบรรลุถึงธรรมอันประเสริฐ ที่พระองค์มีไว้โปรดประทานแก่ชาวโลกในชั้นสูงสุดนั้นเถิดพระเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า “เอาละ อานนท์ ถ้าพระนางมหาปชาบดีแห่งราชตระกูลโคตมะเต็มพระทัยจะถือกฎอันเฉียบขาด ๘ ประการ ต่อไปนี้อย่างเคร่งครัดแล้ว ก็ให้ถือว่านั่นแหละ เป็นการบรรพชาอุปสมบทของพระนางเถิด” ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์ถึงกฎ ๘ ประการนั้นว่า

- สตรีผู้บวชแล้ว แม้นานเท่าใดก็ต้องทำความเคารพแก่ภิกษุผู้บวชแล้ว แม้วันเดียว

- ต้องไม่อยู่อาศัยในถิ่นที่ซึ่งไม่มีภิกษุอยู่ด้วย

- ต้องรับคำสั่งสอนจากภิกษุซึ่งสงฆ์ได้มอบหมายหน้าที่ ให้เป็นผู้สั่งสอนทุกๆ กึ่งเดือน

- ต้องปวารณาเปิดโอกาสให้สงฆ์ทั้งฝ่ายภิกษุและภิกษุณี ว่ากล่าวตักเตือนชี้โทษได้ ในวันปวารณา

- ถ้ามีอาบัติโทษอันชั่วหยาบ จักต้องได้รับการพิจารณาโทษและออกจากอาบัติในสงฆ์ทั้งสองฝ่ายคือทั้งฝ่ายภิกษุและภิกษุณี

- ก่อนบวชเป็นภิกษุณี ต้องอยู่ประพฤติวัตร เป็นสิกขมานา เพื่อการทอดลองเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๒ ปี แล้วจึงบวชได้ในสำนักแห่งสงฆ์ทั้งสองฝ่าย

- ต้องไม่พูดคำหยาบอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ภิกษุและ

- ต้องไม่ทำตนเป็นผู้ว่ากล่าวตักเตือนภิกษุ แต่จักต้องเป็นผู้รับคำว่ากล่าวตักเตือนจากภิกษุ

อานนท์, ถ้าหากว่าพระนางมหาปชาบดีแห่งราชวงศ์โคตมะทรงเต็มพระทัยที่จะรับถือกฎอันเฉียบขาด ๘ ประการนี้ อย่างเคร่งครัด จนตลอดพระชนมายุแล้ว ก็ให้ถือว่าพระนางเป็นภิกษุณีแล้วโดยสมบูรณ์เถิด” พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงยืนยันในที่สุด

พระอานนท์ได้รับเอาพระพุทธานุญาตนั้นแล้ว กลับออกมาทูลแก่พระนางมหาปชาบดี ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสทุกประการ พระนางมหาปชาบดีทรงรู้สึกปลาบปลื้มและดีพระทัย ตรัสแก่พระอานนท์ว่า “ท่านอานนท์, เปรียบเหมือนคนหนุ่มคนสาวรักการแต่งตัว อาบน้ำชำระกายและศีรษะของตนแล้ว ยกพวงมาลัยอันประกอบด้วยดอกไม้สีสวยสดและกลิ่นหอม ขึ้นด้วยมือทั้งสอง แล้ววางลงบนศีรษะของตนอันเป็นอวัยวะสูงสุดกว่าอวัยวะทั้งหลาย ด้วยความระมัดระวังฉันใด แม้อิฉันจักเทิดทูนกฎ ๘ ประการนั้นไว้เหนือศีรษะไม่ประพฤติล่วงละเมิด จนตลอดชีวิตของอิฉันด้วยความระมัดระวังอย่างเดียวกัน”

พระอานนท์ ได้กลับเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายความเคารพแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระนางมหาปชาบดีแห่งราชตระกูลโคตมะทรงยอมรับสมาทานกฎ ๘ ประการ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติให้แก่พระนางอย่างเคร่งครัด พระน้าของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เป็นภิกษุณีสมคามพระประสงค์แล้วพระเจ้าข้า”

แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า “อานนท์เอ๋ย ธรรมวินัยซึ่งมีสตรีรับเอาไปประพฤติร่วมอยู่ด้วย จักไม่ตั้งมั่นยืนนาน เปรียบเหมือนตระกูลที่มีผู้หญิงมาก มีผู้ชายน้อย ไม่สามารถผจญต่อโจรผู้ร้ายผู้เบียดเบียนนี้ฉันใด ธรรมวินัยของเราที่สตรีรับเอาไปประพฤติ ย่อมไม่ตั้งอยู่นานฉันนั้น มันเหมือนกับนาข้าวสาลีหรือสวนอ้อย ซึ่งถูกเพลี้ยลงจับ ย่อมไม่เจริญงอกงามไปได้นาน ฉันใดก็ฉันนั้น” เหตุการณ์ได้เป็นไปตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ทุกประการ การบวชของภิกษุณี ซึ่งมีพระนางมหาปชาบดีเป็นองค์แรกนั้น มีอายุยืนยาว ๕๐๐ ปี แล้วก็สบสูญไป


มีต่อ >>>>> ตอนที่ ๑๖ ปาฏิหาริย์
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ย. 2006, 6:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ ๑๖ ปาฏิหาริย์


เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปตามชนบทต่างๆ พร้อมกับภิกษุสงฆ์นั้น ทุกแห่งที่พระองค์เสด็จไป ได้มีประชาชนพากันจับกลุ่มเพื่อดูพระองค์ และฟังพระองค์ตรัสและแสดงธรรม มีคนจำนวนมากเลื่อมใสในพระองค์และคำสั่งสอนของพระองค์ จนถึงกับยอมเป็นสาวกของพระองค์ แต่พร้อมกันนั้นก็ยังมีศาสดาสอนศาสนาคนอื่นๆ ซึ่งได้สั่งสอนประชาชนให้เลื่อมใสอยู่ด้วยวิธีการต่างๆ กันอีกมิใช่น้อย และยังมีเจ้าลัทธิบางคนในจำนวนเจ้าลัทธิเหล่านั้น ได้แสดงสิ่งซึ่งประหลาดผิดธรรมดา อันเรียกว่า ปาฏิหาริย์ บางสิ่งบางอย่างในบางครั้ง ได้ทำให้มหาชนแตกตื่นกันไปดู และมีเป็นอันมากที่ได้เลื่อมใส และออกปากสรรเสริญการกระทำเช่นนั้น ได้อยู่เฝ้าคอยฟังคำสั่งสอนของเจ้าลัทธิเหล่านั้น จนกระทั่งกลายเป็นสาวกของเจ้าลัทธินั้นๆ ก็มีอยู่เป็นส่วนมาก

ภิกษุทั้งหลายได้สังเกตเห็นเหตุการณ์ดั่งนั้น ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอร้องให้พระองค์ทรงกระทำสิ่งประหลาดมหัศจรรย์ หรือที่เรียกกันว่าปาฏิหาริย์นั้น ให้ปรากฏแก่ประชาชนบ้าง เพื่อประชาชนจักได้เลื่อมใสพอใจและเข้ามาเป็นสาวก โดยทำนองเดียวกับที่เจ้าลัทธิเหล่าโน้นได้กระทำกันอยู่ พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบภิกษุ ซึ่งได้มาทูลขอเช่นนั้นว่า พระองค์ทรงรู้สึกละอายในการที่จะล่อประชาชนให้มีความเชื่อถือ ด้วยการกระทำที่แปลกประหลาดหรือปาฏิหาริย์ทำนองนั้น แต่พระองค์ทรงสามารถทำให้คนเกิดความประหลาดถึงขนาดรู้สึกมหัศจรรย์ในปาฏิหาริย์ที่แท้จริงอย่างอื่น

พระองค์ได้ตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า “ตถาคตเจ้าทั้งหลายย่อมกระทำปาฏิหาริย์ แต่อย่างเดียวนี้เท่านั้นคือ เมื่อพระตถาคตทั้งหลายเห็นมนุษย์ประกอบไปด้วยกามกิเลสและตัณหา ก็ทรงเปลื้องประชาชนเหล่านั้นออกเสียจากกามกิเลสและตัณหา เมื่อทรงเห็นว่ามหาชนทั้งหลาย ตกเป็นทาสของโทสะและการผูกเวร ก็ทรงเปลื้องประชาชนเหล่านั้นเสียจากการตกเป็นทาสของโทสะและการผูกเวร เมื่อทรงทราบว่าประชาชนบอดเพราะความเขลาและอวิชชา ก็ทรงเปิดตาของคนเหล่านั้น ช่วยให้เขาพ้นจากความเขลาและอวิชชา ซึ่งเป็นความบอดมืดยิ่งเสียกว่าความมืดแห่งราตรี ภิกษุทั้งหลาย ! ปาฏิหาริย์อย่างเดียวดังกล่าวนี้เท่านั้น ที่พระตถาคตทั้งหลายพากันกระทำ ส่วนปาฏิหาริย์อย่างอื่นๆ นั้น ท่านเกลียดชังและประณาม ไม่ยอมกระทำปาฏิหาริย์เหล่านั้น”

ครั้งหนึ่งมีคนบางคนได้มากราบทูลพระพุทธองค์ว่า ท่านพระปิณโฑละภารทวาชะ มีท่านพระโมคคัลลานะไปเป็นเพื่อนได้กระทำปาฏิหาริย์ด้วยอำนาจฤทธิ์ซึ่งท่านมีมากกว่าพระอรหันต์องค์อื่นๆ โดยเหาะขึ้นไปในที่สูงปลดเอาบาตรใบหนึ่ง ซึ่งมีผู้ให้นำขึ้นไปติดไว้ เพื่อเป็นการทดลองฤทธิ์ของบุคคลผู้มีฤทธิ์ ลงมาได้ พระองค์ไม่ทรงเห็นดีด้วย ในการกระทำเช่นนั้นของพระปิณโฑละภารทวาชะเป็นอันมาก ได้รับสั่งให้ไปตามพระปิณโฑละภารทวาชะ มาพร้อมทั้งบาตรในนั้นด้วย เมื่อท่านพระปิณโฑละภารทวาชะนำบาตรใบนั้นมาถึงแล้ว พระองค์รับสั่งให้ทำลายบาตรใบนั้นเสีย ต่อหน้าพระปิณโฑละภารทวาชะและภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย จนเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และรับสั่งห้ามมิให้กระทำเช่นนั้นอีกต่อไป พร้อมทั้งทรงบัญญัติว่า ภิกษุทั้งหลายต้องไม่ทำการล่อลวงคนเขลาทั่วๆ ไปให้นับถือบูชา ด้วยการกระทำปาฏิหาริย์ชนิดนั้น ถ้าขืนทำเพื่อให้เขาเลื่อมใสเช่นนั้น จักต้องไม่อยู่ร่วมกับพระองค์หรือภิกษุสงฆ์ทั้งหลายอีกต่อไป ข้อบังคับอันนี้ได้มีอยู่สืบมาเป็นวินัยข้อสำคัญข้อหนึ่งของภิกษุในพระพุทธศาสนา ห้ามมิให้ภิกษุใดแสดงปาฏิหาริย์ เพื่อให้คนเลื่อมใส เพื่อลาภสักการะอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเด็ดขาด

พระพุทธองค์ไม่ทรงปรารถนาที่จะกระทำให้คนทั้งหลายหลงใหลเลื่อมใสในพระองค์ เพราะการกระทำปาฏิหาริย์ ชนิดซึ่งเป็นที่หลงใหลของคนสามัญทั่วไป แต่ถึงกระนั้นประชาชนได้พากันรู้สึกและเห็นชัดแจ้งขึ้นว่าพระองค์เป็นศาสดาที่แท้จริง และได้พากันแสดงความเคารพนับถือพระองค์ยิ่งขึ้น และได้พากันบำรุงด้วยสมณบริขารอย่างมากมายทั่วไป ทุกหนทุกแห่ง ยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม สาวกของเจ้าลัทธิอื่นๆ เกิดความไม่พอใจที่ได้เห็นเช่นนั้น

ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ และภิกษุได้เสด็จมาถึงนครโกสัมพี ซึ่งมีเจ้าลัทธิผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งอาศัยอยู่ พร้อมด้วยสาวกจำนวนมาก คนเหล่านี้ได้พากันด่าทอพระภิกษุสงฆ์ และบุคคลที่เลื่อมใสในพระพุทธองค์ด้วยถ้อยคำหยาบคายชั่วร้ายต่างๆ นานา พระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์และกราบทูลให้ทรงทราบถึงการที่คนเหล่านั้น ได้พากันคอยด่าทอภิกษุสงฆ์ด้วยถ้อยคำหยาบคายร้ายกาจไปเสียทุกหนทุกแห่ง และโดยเฉพาะเมื่อเวลาออกบิณฑบาต และได้กราบทูลพระพุทธองค์ในนามของภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ขอให้ทรงพาภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย เดินทางออกไปเสียจากนครโกสัมพี เพื่อภิกษุสงฆ์ทั้งหลายจักได้ไม่ถูกด่าทอในเวลาบิณฑบาตทุกๆ วันเช่นนั้นอีก

พระพุทธองค์ได้ทรงนิ่งฟังท่านพระอานนท์กล่าวจนตลอด และในที่สุดได้ทรงโต้ตอบกับพระอานนท์ ดังต่อไปนี้

“อานนท์, ถ้าหากว่าเราไปสู่ที่อื่นแล้ว ถูกคนในที่นั้นกระทำทารุณด่าทอต่อเราเข้าอีก จะทำอย่างไรเล่า ?”

“ถ้าเป็นอย่างนั้น พวกเราก็ควรจักไปสู่ที่อื่นต่อไปอีก”

“ถ้าในที่แห่งใหม่นี้ เราก็ยังถูกด่าทอสบประมาทอยู่นั่นเองเล่า เราจะทำอย่างไรต่อไป ?”

“เราก็จะไปสู่ที่อื่นต่อไปอีก พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ได้ทรงนิ่งอยู่ขณะหนึ่งแล้ว ได้ทรงเหลียวมองดูพระอานนท์ด้วยสายพระเนตรที่อ่อนโยนอย่างยิ่ง และได้ตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์, อดทนให้เหมาะๆ เสียสักหน่อยเท่านั้น ก็จะตัดความยุ่งยากลำบากทั้งหมด ในการที่ต้องเที่ยวโยกย้ายไปมาเสียได้โดยสิ้นเชิง มันไม่เป็นที่แน่นอนว่าเราจะหาพบที่แห่งใหม่ ซึ่งไม่มีใครด่าทอในโอกาสข้างหน้า แต่มันเป็นที่แน่นอนว่าเราจะหาพบที่เช่นนั้นได้ในที่ตรงนี้เอง ถ้าหากว่าเราเพียงแต่ประพฤติตนอดกลั้นอดทนกันเสียบ้าง โดยการอดกลั้นอดทนนี่เอง ที่นักปราชญ์ทั้งหลายพากันเอาชนะศัตรูได้โดยสิ้นเชิง”

“อานนท์เอ๋ย, จงดูช้างซึ่งบุคคลพาเข้าไปสู่สนามรบ มันพุ่งตัวเข้าไปในท่ามกลางการต่อสู้อันชุลมุนวุ่นวาย มันไม่เอาใจใส่ต่อลูกศรหรือแหลนหลาว ซึ่งบุคคลพุ่งซัดเข้ามาโดยรอบตัวมัน มันตั้งหน้ากระโจนเข้าใส่ข้าศึกทำลายสิ่งต่างๆ ซึ่งเข้ามาเผชิญหน้ามันให้ราบเรียบไปหมด อานนท์เอ๋ย, ฉันจักเอาอย่างช้างตัวนั้น ฉันจักอยู่ที่นี่ในเมืองนี้ และจะพยายามเผยแผ่คำสอนที่ถูกต้องด้วยกำลังกายกำลังใจทั้งหมดและจะทำโดยไม่หยุดยั้ง ในการที่จะปลดเปลื้องคนชั่วช้าเหล่านั้นออกมาเสียจากข่ายแห่งกิเลส ซึ่งเขากำลังพากันติดแน่นอยู่ ฉันจะไม่เอาใจใส่แม้แต่หน่อยเดียวในคำกล่าวร้ายของฝ่ายปฏิปักษ์ซึ่งแกล้งกล่าวแก่ฉันและแก่สาวกของฉัน มันเหมือนกับคนที่ถ่มน้ำลายจะขึ้นไปบนฟ้า โดยคิดจะให้ฟ้าเปื้อน เขาจะได้พบความจริงว่าน้ำลายจะขึ้นไปเปื้อนฟ้าไม่ได้ แต่จะกลับตกลงมารดหน้าของผู้ถ่มนั้นเองต่อภายหลังนี้ฉันใด พวกคนที่น่าสมเพช ซึ่งแกล้งด่าทอเรา ก็จักได้ประสพในภายหลังว่า คำด่าทอนั้นจักกลับไปสู่พวกเขา เพราะเราไม่เอาใจใส่ต่อคำด่าทอเช่นนั้น”

พระพุทธองค์ไม่ทรงกระทำตามคำขอร้องของท่านพระอานนท์ และภิกษุทั้งหลาย ยังคงประทับอยู่ ณ เมืองโกสัมพี และผลแห่งการอดกลั้นอดทนของพระองค์ ก็ได้ปรากฏออกมาอย่างแท้จริง ในเวลาอันไม่นานเลย เมื่อประชาชนชาวนครโกสัมพีทั้งหลายได้พากันเห็นว่า พระองค์และภิกษุสงฆ์มีความอดทนอย่างน่าสรรเสริญต่อถ้อยคำของสาวกแห่งเจ้าลัทธิอื่นๆ โดยไม่ปริปากกล่าวร้ายตอบ แม้แต่คำเดียวเช่นนั้น ก็พากันเกลียดชังนักบวชและสาวกของเจ้าลัทธิอื่นเป็นอันมาก ที่ทำการกล่าวร้ายต่อบุคคลผู้ไม่เคยกล่าวร้ายแก่ใครๆ คนหนุ่มตระกูลสูงแห่งนครโกสัมพีเป็นอันมากพากันนิยมชมชื่น ในการกระทำของพระพุทธองค์ และของภิกษุทั้งหลายที่ได้กระทำเช่นนั้น ได้พากันรับนับถือของพระพุทธองค์ถึงกับออกบวชเป็นภิกษุก็มีอยู่ไม่น้อย

แต่อย่างไรก็ตาม นักบวชชาวโกสัมพีเหล่านี้ แม้บวชเป็นภิกษุแล้วบางพวกก็ยังไม่อาจละทิ้งนิสัยการทะเลาะเบาะแว้ง ชั่วเวลาไม่นาน ได้มีการทะเลาวิวาทกันเองด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับข้อประพฤติปฏิบัติว่าใครจะปฏิบัติถูกกว่าหรือดีกว่า ในเรื่องกระจุกกระจิกหยุมๆ หยิมๆ พวกหนึ่งถืออย่างหนึ่ง อีกพวกหนึ่งถืออีกอย่างหนึ่ง ไม่ตกลงกันจนวิวาทกัน แม้พระพุทธองค์จะได้ทรงขอร้องซ้ำแล้วซ้ำอีกให้ระงับการวิวาทเหล่านั้นเสีย เพื่ออยู่กันด้วยความสงบโดยไม่ต้องวินิจฉัยให้แตกหักว่า ใครเป็นฝ่ายผิดและใครเป็นฝ่ายถูก ก็ยังพากันดื้อดึงวิวาทกันเรื่อยไปไม่ยอมหยุด ภิกษุเหล่านี้ไม่เอาใจใส่ในข้อที่พระองค์ได้ตรัสบอกให้ทราบว่า การทะเลาวิวาทมาดร้ายกันนั้น เป็นความผิดความเลวยิ่งไปกว่าความคิดเห็นที่แตกต่างกันเพียงเล็กๆ น้อยๆ อันเป็นมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทกันนั้นเสียอีก

เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นว่าภิกษุเหล่านั้นไม่เชื่อฟังพระองค์ จนไม่ยอมรับคำแนะนำ พระองค์ก็ได้เสด็จไปเสียจากนครโกสัมพี ทิ้งภิกษุเหล่านั้นไว้เบื้องหลัง เมื่อประชาชนชาวเมืองโกสัมพีได้ทราบว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จไปแต่พระองค์เดียว และภิกษุเหล่านั้นประพฤติตนเป็นคนขี้ทะเลาะเบาะแว้งเหมือนชาวบ้าน ไม่แตกต่างกับชาวบ้าน ก็ได้พากันงดการถวายอาหารบิณฑบาตและการบำรุงอื่นๆ โดยสิ้นเชิง การทำอย่างนี้ได้ทำให้ภิกษุเหล่านั้นสำนึกตัวได้ในระยะเวลาอันสั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงได้หยุดการวิวาท ทำความปรองดองซึ่งกันและกัน เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของพระองค์อย่างเคร่งครัด จนกระทั่งพระองค์ได้ทรงยินยอมให้ภิกษุเหล่านั้นอยู่ร่วม และร่วมการเดินทางกับพระองค์สืบไป


มีต่อ >>>>> ตอนที่ ๑๗ พระพุทธดำรัส
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ย. 2006, 6:25 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ ๑๗ พระพุทธดำรัส


ในฐานะที่พระพุทธองค์เป็นโอรสแห่งกษัตริย์ ย่อมทรงคุ้นเคยกับมรรยาทอย่างราชสำนักทุกประเภท พระองค์จึงทรงสามารถทำการโต้ตอบสนทนา ในท่ามกลางที่ประชุมแห่งกษัตริย์หรือมหาราชา ตลอดจนถึงนักบวชนักศึกษาผู้คงแก่เรียนชั้นสูงได้โดยสะดวก และยังทรงทำให้อิสรชนเหล่านั้นจากพระองค์ไปด้วยความพอใจ และมีความรู้อย่างแจ่มแจ้งในธรรมอันลึกซึ้งติดไปด้วย มิใช่แต่เท่านั้น แม้ในการสมาคมหรือโต้ตอบสนทนากับชนสามัญทั่วไป พระองค์ก็ยังทรงสามารถทำได้เป็นอย่างดีอย่างเดียวกัน และเท่ากันกับที่จะสมาคมโต้ตอบกับชนชั้นที่มีความเข้าใจและพอใจในธรรมอันลึกซึ้งนั้น เมื่อพระองค์เสด็จดำเนินด้วยพระบาทไปตามชนบทต่างๆ พระองค์พร้อมที่จะตรัสโต้ตอบและทำความยินดีปรีดาให้แก่คนทุกคนที่ทรงพบ ไม่ว่าเขาจะเป็นชาวนาชาวสวนหรือเป็นช่างเหล็ก ช่างทำเกวียน หรือแม้แต่ช่างตัดผมเป็นต้น ถ้าหากว่าเขาพอใจที่จะสนทนาด้วยพระองค์

ตัวอย่างในเรื่องนี้ คือวันหนึ่ง พระองค์เสด็จไปตามหมู่บ้าน ซึ่งกำลังประกอบการทำนากันอยู่ทั่วไป ได้ทรงพบชาวนาคนหนึ่งกำลังทำงานอยู่ในนา ได้ทรงหยุดและทรงไต่ถามเกี่ยวกับการทำนาของเขา ตอนหนึ่ง พระองค์ได้ตรัสแก่เขาว่า “ท่านจงรู้เถิด เราก็เป็นชาวนาด้วยเหมือนกัน เราได้เตรียมพร้อมทุกๆ อย่าง ที่จะทำนากระทั่งเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะใช้เป็นพืช” ชาวนาคนนั้นได้ร้องขึ้นด้วยความประหลาดใจว่า “ท่านเป็นชาวนาอะไรกัน ! ถ้าท่านเป็นชาวนาจริง วัวของท่านอยู่ที่ไหน ? ไถของท่านอยู่ที่ไหน ? และอะไรอื่นๆ อีกหลายอย่าง ของท่านอยู่ที่ไหน ?”

พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบอย่างสงบเสงี่ยมว่า “สิ่งเหล่านั้น เราได้มีติดตัวมาที่นี่แล้วทั้งหมด ท่านจงฟังให้ดีเถิด เราจะบอกให้ท่านทราบทุกสิ่งทุกอย่างทีเดียว

เมล็ดพืชของเรา คือความปรารถนาและความกรุณาในการที่จะช่วยสรรพสัตว์ที่ทำให้เรามีความเชื่ออันมั่นคง และตั้งใจแน่วแน่เพื่อเป็นพุทธะรวมทั้งสิ้นที่เราได้ตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ์ น้ำสำหรับหล่อเลี้ยงต้นข้าวของเราให้งดงามนั้น คือกุศลกรรมอันมหาศาลที่เราได้พากเพียรพยายามกระทำสืบมาจนกระทั่งถึงวันตรัสรู้ ปัญญาเป็นแอกและไถของเรา ใจเป็นเชือกชักสำหรับบังคับวัว ความละอายบาป อันเป็นเครื่องเกียดกันบาปออกเสียจากจิต เป็นงอนไถอันงามงอนของเรา ธรรมะซึ่งทำให้เราสามารถขจัดสิ่งชั่วและประกอบสิ่งดี เป็นคันสำหรับจับ ก็เมื่อท่านไถนาของท่าน ท่านย่อมตัดและกลบหญ้าที่เป็นโทษทุกอย่างเสียฉันใด ผู้ที่รู้อริยสัจสี่ประการ ก็ย่อมตัดและกลบอกุศลจิตอันชั่วร้ายภายในตัวเขาฉันนั้น

ครั้นถึงเวลาค่ำ เสร็จงานกลางวันแล้ว ท่านแก้วัวของท่านปล่อยมันไปเที่ยวตามที่มันต้องการ ฉันใด, ผู้เป็นบัณฑิตก็ยึดมั่นอยู่แต่ในความบริสุทธิ์ ย่อมสละสิ่งอันไม่บริสุทธิ์ให้ออกไป ฉันนั้น, วัวของท่านต้องแข็งข้อลากไถเพื่อไถพื้นที่นาของท่านให้เหมาะแก่การหว่าน ฉันใด, ผู้มีปัญญาก็ตั้งหน้าพยายามจนสุดกำลัง เพื่อชำระสันดานของตนให้สะอาดเหมาะสมแก่การลุงถึงนิพพาน ฉันนั้น, ชาวนาทำงานหนักเพื่อตบแต่งที่ดินให้เหมาะแก่เมล็ดพืช ฉันใด, บัณฑิตก็ประกอบความยายามหนัก เพื่อกำจัดโทษแห่งวัฏฏสงสาร ฉันนั้น

แต่คนที่ทำงานในนาข้าว ต้องประสพความไม่พอใจผิดหวังอยู่บ่อยๆ เพราะผลที่เก็บเกี่ยวได้น้อยเกินไป บางคราวถึงกับโกรธหัวปั่นนอนไม่หลับก็มีอยู่เสมอ ส่วนผู้ที่ทำนาแห่งปัญญาเพื่อลุถึงนิพพานนั้น ไม่เคยได้รับความไม่พอใจเช่นนั้นเลย เขาเป็นผู้แน่นอนที่จะต้องได้เก็บเกี่ยวผลงานของเขาเต็มที่ มีความสุขเต็มที่ มีความพอใจเต็มที่ เมื่อได้มองเห็นผลคือนิพพานนั้น พราหมณ์เอย, โดยลักษณะอย่างนี้แหละ ซึ่งเราก็เป็นชาวนาคนหนึ่งด้วยเหมือนกัน และนี่แหละเป็นวิธีซึ่งเราได้ทำนาของเรา”

เมื่อพราหมณ์ได้ฟังคำตรัสเช่นนั้นของพระพุทธองค์เขามีความพอใจอย่างสูงสุด จนถึงกับพยายามทูลวิงวอนให้พระองค์ทรงรับเขาเข้าเป็นชาวนาคนหนึ่งในการทำนาตามแบบของพระองค์ และเขาได้เป็นสาวกของพระองค์สืบไปจนตลอดชีวิต

ได้มีผู้มาทูลถามพระพุทธองค์ ถึงวิธีที่คนทั่วไปอาจลุถึงสภาพที่เป็นความสุขที่สุด และประเสริฐที่สุด และมีสวัสดีมงคลถึงที่สุด พระพุทธองค์ได้ตรัสข้อแนะนำเหล่านี้แก่เขา

“จงอย่าเข้าเป็นพวกกับคนโง่เขลา จงทำความสนิทสนมกับบัณฑิต จงแสดงความเคารพนับถือต่อคนที่ควรเคารพนับถือ จงอยู่ในที่ซึ่งเหมาะสมแก่อุปนิสัยและความสามารถของตน จงเป็นคนที่เคยทำความดีไว้มาก จงประกอบกุศลกรรมเพื่อความรุ่งเรืองในอนาคตอยู่อย่างไม่ขาดสาย จงทำความพอใจในการดูการฟังทุกอย่างที่สามารถจะทำได้เพื่อให้ได้มาซึ่งวิชาความรู้ จงศึกษาทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งไม่ประกอบด้วยโทษ จงฝึกฝนให้เป็นคนมีระเบียบวินัยและแบบแผนอันดี จงพูดแต่คำจริงคำน่ารักและคำมีประโยชน์ จงอุปัฏฐากมารดาแลบิดา จงเอาใจใส่เลี้ยงดูบุตรภรรยา จงละเว้นความโลเลในการงาน จงบำเพ็ญทาน จงประพฤติแต่กรรมดี จงช่วยเหลือญาติและมิตรสหาย ในคราวที่ควรช่วยเหลือ จงเว้นการทำสิ่งที่ต้องเสียใจทีหลัง จงอย่าทำสิ่งซึ่งท่านห้ามไว้โดยกฎแห่งศีลธรรม จงเว้นจากการดื่มน้ำเมา จงอย่าชักช้าที่จะประกอบกรรมดีในเมื่อโอกาสมาถึง จงนอบน้อมต่อทุกคน จงอย่าจองหองพองตัว จงพอใจด้วยสิ่งที่มีอยู่ จงรู้บุญคุณที่บุคคลอื่นทำแก่ตน จงฟังธรรมตามโอกาส จงมีความอดกลั้นอดทน จงทำตนให้เป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส จงเยี่ยมเยียนพระอริยเจ้าอยู่เนืองนิตย์ จงซักซ้อมสนทนาธรรมทุกโอกาส จงเป็นอยู่ด้วยความพากเพียร จงประพฤติพรหมจรรย์ จงกำหนดอริยสัจสี่ไว้ในใจ จงมีนิพพานเป็นที่มุ่งหมายของจิตอยู่เสมอ เมื่อถูกสิ่งต่างๆ รบกวนจงอย่าหวั่นไหว จงอย่าโศกเศร้า จงอย่ากำหนัด และจงปรกติ ผู้ใดประพฤติได้สมบูรณ์ตามนี้ ความชั่วร้ายจักไม่สามารถครอบงำผู้นั้น เขาจักมีสวัสดีมงคลอย่างสูงสุด ได้รับความสุขแห่งจิตที่สมบูรณ์อยู่เนืองนิจ”

อีกครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงพำนักอยู่ที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ชาวบ้านในถิ่นนั้น ได้มาเฝ้าพระองค์และทูลถามว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค, พวกเราได้ทราบว่าพระองค์เป็นพระศาสดาผู้ประกาศธรรม และได้สั่งสอนสิ่งที่ดีเป็นอันมาก ให้แก่สาวกของพระองค์ ซึ่งได้สละบ้านเรือนแล้ว ติดตามมาอยู่ศึกษากับพระองค์ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน ส่วนพวกเราทั้งหลายไม่สามารถจะเป็นนักบวช พวกเรายังเป็นชาวบ้าน แออัดอยู่ด้วยบุตรภรรยา ประกอบการอาชีพด้วยการทำนาและเลี้ยงสัตว์ ได้รับความสุขอยู่ตามประสาชาวบ้าน ยังต้องใช้เงินใช้ทอง ยังรักการประดับตกแต่งด้วยเครื่องประดับอันมีค่าและดอกไม้ตามโอกาส ยังลูบทาด้วยของหอมตามเนื้อตัว เพื่อเกิดความพอใจอยู่ตามวิสัยของโลกทั่วไป ข้าแต่พระผู้มีพระภาค, ถ้าในคำสั่งสอนของพระองค์ มีอะไรๆ ที่จะเป็นความดีแก่พวกเราทั้งหลาย เพื่อมีความสุขทั้งในเวลานี้แลเวลาต่อไป จนกระทั่งสิ้นชีวิตแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงได้โปรดให้พวกเราทั้งหลายได้ยินได้ฟังคำสั่งสอนส่วนนั้น เพื่อปฏิบัติตามและได้รับผลอันนั้นด้วยเถิด”

พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “ดูก่อนท่านทั้งหลาย มีธรรมะอยู่ ๔ อย่าง ซึ่งบุคคลผู้สั่งสอนเช่นกับเราจะพึงสั่งสอนแก่ท่านทั้งหลายผู้มิใช่นักบวช เพื่อให้ได้ทราบและปฏิบัติ ท่านทั้งหลายจงฟังและเราจะกล่าวให้ฟัง

ข้อที่หนึ่ง สิ่งใดเป็นอาชีพของพวกท่าน สิ่งนั้นท่านควรขยันกระทำให้ดีที่สุดอยู่เนืองนิตย์ ให้ท่านมีความสามารถในสิ่งนั้นๆ จริงๆ ถ้าเป็นชาวนาท่านต้องเป็นชาวนาที่ดีด้วยหมั่นและฉลาด ทำเนื้อนาของท่านให้เกิดผลถึงที่สุดของมันจริงๆ ถ้าเป็นพ่อค้า ท่านต้องเป็นพ่อค้าที่มีหูตากว้างขวางและขวนขวายอยู่อย่างขมักเขม้น ถ้าเป็นคนใช้ก็เป็นคนใช้ผู้น่าเชื่อถือในความสามารถและเป็นที่ไว้วางใจได้ในความซื่อสัตย์สุจริต ของผู้เป็นนายของตน จงเป็นผู้กระปรี้กระเปร่าและมีกำลังกายอยู่เสมอ ในการที่จะทำให้เป็นผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยในสิ่งที่ท่านทำ ไม่ว่าจะเป็นงานชนิดใด ด้วยการกระทำอย่างนี้ ท่านจะมีทรัพย์สมบัติ แล้วจะสามารถใช้ทรัพย์สมบัตินั้นไปในทางที่ดี คือการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือนอกไปจากการใช้สอยโดยตนเอง ถ้าท่านไม่ขยันทำงานให้มีทรัพย์ ท่านจะไม่สามารถประกอบการกุศลและสงเคราะห์ผู้อื่น เพราะท่านไม่มีอะไรที่จะใช้ในการสงเคราะห์เขานั่นเอง (คำสอนข้อนี้เรียกชื่อโดยภาษาบาลีว่า อุฏฐานสัมปทา แปลว่าการถึงพร้อมด้วยความขยันในหน้าที่)

ข้อที่สอง ท่านจะต้องมีความเอาใจใส่เป็นพิเศษอย่างถูกต้อง ในการรักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้แล้ว จะไม่ใช้จ่ายให้สิ้นเปลืองไปอย่างโง่เขลา มันไม่มีประโยชน์อันใดที่จะเทน้ำใส่ลงไปในตุ่มที่มีรูรั่ว นอกจากความเหนื่อยเปล่า การมีทรัพย์นั้นก็เป็นสิ่งที่ดีดอก แต่มันเป็นความจำเป็นทุกกระเบียดนิ้ว ที่จะต้องจัดต้องทำไม่ให้มันสูญหายไปอย่างโง่เขลาแลเปลืองเปล่าทุกๆ อย่าง (คำสอนข้อนี้เรียกชื่อโดยภาษาบาลีว่า อารักขสัมปทา แปลว่าการถึงพร้อมด้วยการรักษา)

ข้อที่สาม ฆราวาสจักต้องเลือกเอาแต่บุคคลที่ดีมาเป็นเพื่อน หรือเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ตามปรกติ คนเราคบคนเช่นใด ก็จักเป็นเช่นคนนั้น ถ้าคบคนดี ก็เป็นโอกาสดีที่จะกลายเป็นคนดีไปด้วย ถ้าคบคนชั่ว ก็จะกลายเป็นคนชั่วได้โดยง่ายที่สุด ท่านจะสามารถจับของสกปรก โดยที่ไม่ทำให้มือของท่านสกปรกไปด้วยนั้น ไม่ได้ เหตุนั้น พวกฆราวาสควรคบหาสมาคมแต่กับคนดี ที่ฉลาด ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และนิยมต้องนับถือแต่สิ่งที่ดี แล้วเขาก็จะกลายเป็นคนดี คนฉลาด คนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และคนนิยมแต่ในสิ่งที่ดีไปได้โดยง่ายดาย (คำสอนข้อนี้เรียกชื่อโดยภาษาบาลีว่า กัลยาณมิตตา แปลว่าการคบคนดี)

ข้อที่สี่ ฆราวาสควรดำเนินการครองชีวิตที่เป็นไปในสายกลาง และเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เขาไม่ควรเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือยเกินไปหรืออย่างแห้งแล้งเกินไป เขาไม่ควรจะใช้จ่ายหรือให้ทานจนเกินกว่ารายได้ของตนเอง ถ้าเขาทำเช่นนั้น ทรัพย์สมบัติของเขาจะเหมือนกับน้ำในสระ ซึ่งมีทางไหลออกมากกว่าทางไหลเข้า ซึ่งไม่ช้าก็จักแห้งขอดไม่มีน้ำเหลืออยู่เลย แต่ถ้าผู้นั้นเอาใจใส่ในการใช้สอยทรัพย์สมบัติ เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ตลอดจนถึงทำบุญให้ทานให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่เกินรายได้ของตนแล้ว สระน้ำกล่าวคือทรัพย์สมบัติของเขาก็จะไม่มีวันแห้งขอดเลย จักมีน้ำเหลืออยู่คือมีทรัพย์สมบัติเหลืออยู่ สำหรับใช้จ่ายในเมื่อมีกิจรีบด่วนที่จะต้องใช้จ่ายเป็นพิเศษเกิดขึ้น แต่ข้อนี้มิได้หมายความว่าเขาจะไม่ใช้ทรัพย์นั้น ให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ และมิได้หมายความว่าเขาจะต้องสะสมมันไว้อย่างซ่อนเร้น โดยไม่ใช่จ่ายให้เป็นประโยชน์อะไรเลย คนที่ทำเช่นนั้นเหมือนกับคนที่มีต้นผลไม้อยู่ในสวนมีผลดกเต็มต้น แต่แทนที่จะกินผลไม้นั้นเมื่อมันสุกได้ที่แล้ว เขากลับเก็บผลไม้เหล่านั้นลงหีบแล้วฝังดินเสีย ผู้ที่ทำเช่นนี้จะต้องประจักษ์ในภายหลัง ว่าผลไม้ของเขาเน่าหมด ไม่มีส่วนที่เป็นประโยชน์เหลืออยู่เลย เขาไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากของดีๆ ที่มีอยู่” (คำสอนข้อนี้ เรียกชื่อโดยภาษาบาลีว่า สมชีวิตา แปลว่า การดำรงชีวิตที่ถูกต้อง)

พระองค์ได้ตรัสเป็นคำสรุปความในตอนท้ายว่า “ท่านที่เป็นฆราวาสทั้งหลาย นี่แหละเป็นข้อปฏิบัติ ๔ ประการ อันนำมาซึ่งความสำเร็จ และเป็นอยู่อย่างผาสุกในโลกนี้ในเมื่อท่านปฏิบัติตาม และต่อจากนี้ เราจักบอกธรรมอีก ๔ ประการ ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีอย่างยิ่ง ในอนาคต ธรรม ๔ ประการนั้น คือ (๑) มีความเชื่อว่า การทำดีจะนำมาซึ่งผลดี และการทำชั่วจะนำมาซึ่งผลชั่ว (๒) ประกอบกรรมดีอยู่เสมอ เว้นขาดจากการทำชั่ว เช่น การฆ่า การลักขโมย การประพฤติผิดต่อของรักของบุคคลอื่น การพูดไม่จริง และการดื่มน้ำเมา (๓) การฝึกตนให้เป็นคนใจกว้างขวางในการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ถึงกับมีจิตใจผ่องใสไม่ยึดถือในทรัพย์สมบัติชนิดโลกๆ อย่างเหนียวแน่นเกินไป (๔) การบำเพ็ญให้เกิดปัญญาในการที่จะรู้และปฏิบัติไปตามทางอันนำให้ถึงนิพพาน” (คำสอนทั้ง ๔ ข้อนี้ เรียกชื่อตามลำดับว่าศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา)

ทั้งหมดนี้ คือคำเทศนา ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พวกชาวบ้าน ซึ่งยังเป็นฆราวาส ไม่สามารถจะบวชเป็นนักบวช แต่การจะปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงความดี ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทุกคนมีความพอใจอย่างสูงสุด ในคำสั่งสอนอันชัดเจนแจ่มแจ้งของพระองค์ ซึ่งได้ตรัสแก่เขาในครั้งนั้น

ในบรรดาเทศนาที่ยาวที่สุด ซึ่งพระพุทธองค์ได้เคยทรงแสดงนั้น มีธรรมเทศนาเรื่องหนึ่ง ซึ่งได้ตรัสแก่พระเจ้าอชาตสัตรู แห่งแคว้นมคธ หาได้มีแต่ที่ตรัสแก่คนธรรมดาหรือแก่ภิกษุของพระองค์เท่านั้นไม่ พระเจ้าอชาตสัตรู ผู้นี้เป็นคนชั่ว คือเป็นผู้ร้ายฆ่าคน รับสั่งให้ทรมานพระเจ้าพิมพิสาร พระราชบิดาของพระองค์เองด้วยการให้อดอาหาร จนสิ้นพระชนม์อย่างโหดร้าย และไม่เป็นธรรม แล้วขึ้นครองราชย์บัลลังก์ด้วยพระองค์เอง

เรื่องมีว่า ในคืนวันหนึ่งเป็นวันเพ็ญ พระเจ้าอชาตสัตรูได้ประทับนั่งอยู่ที่เฉลียง ไม่ทรงทราบว่าจะหาความสำราญอย่างไรดี จึงตัดสินพระทัยเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ ซึ่งกำลังประทับอยู่ในสวนมะม่วง ซึ่งหมอชีวกได้ถวายเป็นสังฆาราม เมื่อพระเจ้าอชาตสัตรูเสด็จไปถึงที่ที่พระพุทธองค์ประทับก็ได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่อย่างสงบ ในท่ามกลางภิกษุทั้งหลายในโรงอันเป็นที่ประชุม ได้ทรงทำความคุ้นเคยด้วยการทักทายปราศรัยกับพระพุทธองค์พอสมควรแล้ว ได้ทูลถามพระองค์ถึงประโยชน์หรืออานิสงส์ของการบวชเป็นภิกษุ

พระเจ้าอชาตสัตรูได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า, ผู้ที่ครองชีวิตอย่างสมณะนั้น ย่อมได้รับคุณประโยชน์อย่างไรบ้าง ? หม่อมฉันได้ไต่ถามนักบวชเจ้าลัทธิต่างๆ เป็นอันมาก ด้วยปัญหาข้อนี้ แต่ไม่เคยได้รับคำตอบที่พอใจจากผู้ใดเลย เขาเหล่านั้นได้ตอบไปเสียในทางอื่น ซึ่งหม่อมฉันมิได้ไต่ถาม ทำนองเดียวกับเมื่อถามเรื่องขนุนสำมะลอ กลับไปตอบเรื่องมะม่วง ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า, หม่อมฉันจักมีความพอใจอย่างสูงสุด ถ้าหากได้ฟังคำตอบแห่งปัญหาข้อนี้จากพระผู้มีพระภาคเจ้า”

เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสพระดำรัส เป็นเครื่องทำความสนิทสนมต่อพระเจ้าอชาตสัตรูพอสมควรแล้ว ก็ได้ตรัสถึงคุณประโยชน์อันใหญ่หลวงของการครองชีวิตเป็นสมณะอย่างยืดยาว พระองค์ได้ตรัสไว้อย่างชัดแจ้ง จนกระทั่งเมื่อจบลงนั้นพระเจ้าอชาตสัตรูได้รู้สึกพอพระทัยในคำตอบนั้นเป็นอย่างยิ่งว่าเป็นคำตอบที่ถูกแท้ และมีความเชื่อว่า เป็นการดีที่สุดเหนือความดีทั้งปวงในโลกนี้ ในการที่ได้บวชเป็นภิกษุที่ดี และปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาที่ดี เช่นพระพุทธองค์ และยังได้ทรงทูลขอร้องให้พระพุทธองค์ทรงยอมรับพระองค์ เป็นสาวกจนตลอดชีวิตด้วย เมื่อพระเจ้าอชาตสัตรูเสด็จกลับแล้ว พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายในที่นั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย, พระราชานี้ มีจิตใจเลื่อมใสในข้อความที่เรากล่าวเป็นอย่างยิ่ง ถ้าพระราชานี้ไม่ได้ทำกรรมชั่วร้าย คือการทำบิดาของตนให้สิ้นพระชนม์แล้ว พระราชานี้ก็จักเห็นธรรมะอันเรากล่าวอย่างแจ่มแจ้งด้วยดวงตาสำหรับเห็นธรรม ณ ที่นั่งตรงนี้เอง และจักสละราชบัลลังก์ออกบวชเป็นภิกษุและเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในธรรมวินัยนี้”

สูตรที่ยาวที่สุดซึ่งพระองค์ได้ตรัสนี้ มีพิสดารอยู่ในคัมภีร์ทีฆนิกายแห่งสุตตันตปิฎก เรียกว่า สามัญญผลสูตร แสดงถึงคุณประโยชน์แห่งการครองชีวิตเป็นนักบวชไว้อย่างพิสดารที่สุด ผู้ปรารถนาจะทราบโดยละเอียดอาจอ่านดูได้จากสูตรนั้น

ตัวอย่างแห่งธรรมเทศนาที่สั้นที่สุด ที่พระองค์ได้เคยตรัสนั้น เช่น ธรรมเทศนาเรื่องนี้ ครั้งหนึ่ง มีคนๆ หนึ่งได้ทูลถามพระองค์ว่า การให้อะไรเป็นการให้ที่ดีที่สุด ? รสของอะไรเป็นรสที่ดีที่สุด ? ความยินดีในอะไรเป็นความยินดีที่ดีที่สุด ? อะไรเป็นเครื่องระงับกิเลสและความทุกข์ให้สิ้นเชิง ? พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบคำถามทั้งสี่ข้อนี้รวมกันด้วยคำๆ เดียวว่า “ธรรม !”

ผู้ถามได้ทูลขอให้พระองค์ทรงอธิบายให้กระจ่างขึ้นอีกเล็กน้อย พระองค์ได้ตรัสอธิบายว่า “การให้สิ่งของแม้จะเป็นการกระทำที่ดีก็จริง แต่ไม่สามารถทำคนผู้ได้รับให้เดินไปตามทางแห่งนิพพานได้ ธรรมะเท่านั้นที่จะทำคนให้เดินไปตามทางแห่งนิพพานได้ เพราะฉะนั้นการทำคนให้รู้ธรรมะซึ่งผู้ทำอาจจะได้รับความลำบากบ้าง นั่นแหละ เรียกว่าการให้ธรรมในที่นี้และเป็นการให้ที่ดีที่สุดกว่าการให้ทั้งหลาย

“เมื่อได้รู้ธรรม เมื่อนั้นจิตใจก็เต็มไปด้วยความสดชื่นแจ่มใส เกิดความรู้สึกพอใจในรสอันสูงสุดของธรรมนั้น ธรรมนั้นได้ทำลายกิเลสร้ายต่างๆ ซึ่งทำคนให้เป็นทุกข์นั้นให้หมดไป แล้วทำให้ประสพความไม่มีทุกข์เลย ซึ่งเรียกว่า นิพพานในที่สุด เพราะฉะนั้น ธรรมะจึงเป็นสิ่งที่มีรสดีเลิศกว่ารสทั้งหลาย และนำมาซึ่งความยินดีที่ยิ่งกว่าความยินดีทั้งหลาย และเป็นสิ่งที่เลิศที่สุดในโลก ที่สามารถทำกิเลสให้สูญสิ้นไป พวกท่านจงประกาศธรรมะนั้นแก่คนทั้งหลายเถิด จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำการให้ที่ดีที่สุด ดีกว่าการให้ทั้งหลายแก่ผู้ที่อยู่ในโลกมนุษย์ และผู้ที่อยู่ในสวรรค์”


มีต่อ >>>>> ตอนที่ ๑๘ ความกรุณาของพระพุทธองค์
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ย. 2006, 6:27 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ ๑๘ ความกรุณาของพระพุทธองค์


ครั้งหนึ่ง เมื่อพระองค์เสด็จจาริกเที่ยวสั่งสอนประชาชนตามถิ่นต่างๆ ทรงพักค้างคืนอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง พราหมณ์ชาวนาคนหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ในถิ่นใกล้ๆ กันนั้นได้ตั้งใจไว้แต่กลางคืนว่า รุ่งเช้าจักไปฟังธรรมของพระองค์ แต่โชคไม่เข้าข้างเขา อย่างที่เขานึกไว้ โดยที่พอวันรุ่งขึ้น ถึงเวลาที่เขาควรจะไปฟังธรรมนั้น ปรากฏว่าวัวตัวหนึ่งของเขา ได้หายไปเสียตั้งแต่เวลากลางคืน เขาเป็นคนยากจนมาก ไม่อาจจะปล่อยให้หายเสียเช่นนั้น จึงออกจากบ้าน รีบติดตามวัวไปในป่า โดยหวังว่าจักพบได้ในเวลาอันไม่นานแล้วกลับมาให้ทันฟังธรรมเทศนาพอดี

แต่วัวได้ไปไกลเกินกว่าที่เขาหวัง แม้เขาจะได้พยายามติดตามเป็นอย่างดีแล้ว กว่าจะพบได้ ก็เป็นเวลาเลยเที่ยงวันไปแล้ว เขารีบนำวัวกลับบ้านด้วยความเหนื่อยและอ่อนเพลียเพราะการเที่ยววิ่งหาที่นั่นที่นี่ท่ามกลางแดด ถึงกระนั้น เขาก็ไม่ประสงค์ที่จะพักผ่อน หรือไปรับประทานอาหารเสียก่อน แล้วจึงไปฟังธรรม เขารีบตรงไปสู่ที่ที่พระพุทธองค์ประทับโดยหวังว่าอย่างน้อยที่สุด เขาจะได้ฟังธรรมเทศนาตอนท้ายสักนิดหนึ่ง ก็ยังดี แต่เมื่อเขาไปถึงที่แสดงธรรม ก็มีความประหลาดใจอย่างยิ่ง เพราะว่าธรรมเทศนาสำหรับในวันนั้นยังไม่ได้เริ่มแสดงเลย ในที่แสดงธรรมนั้นพระพุทธองค์ยังคงประทับอยู่นิ่งๆ ในท่ามกลางประชาชนเป็นอันมาก เพื่อรอคอยเขาอยู่ด้วยความอดทน เขามีความดีใจอย่างสูงสุด เมื่อรู้สึกว่าเขามาได้ทันเวลา และได้ค่อยๆ คลานเข้าไปอย่างเงียบๆ ทางท้ายที่ประชุม เพื่อหาที่นั่งสักแห่งหนึ่ง

แต่พอเขาเข้ามาที่ประตู พระพุทธองค์ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นเขาและได้ตรัสถามว่า เขาได้รับประทานอะไรมาบ้างแล้วหรือเปล่า ? ชาวนาผู้นั้นได้ทูลว่า เขาเพิ่งกลับมาจากการตามวัวตั้งแต่เช้า และไม่ได้หยุดหาอะไรรับประทาน เพราะประสงค์จะไม่ให้พลาดการฟังธรรม เมื่อได้ทรงสดับดังนั้น พระพุทธองค์รับสั่งให้อุปัฏฐากผู้หนึ่งของพระองค์ไปนำอาหารบางอย่างมาให้ชาวนาผู้นั้น และได้ทรงรอจนกว่าเขาจะรับประทานอาหารเสร็จ

ฝ่ายชาวนานั้นเมื่อรำงับความหิวและความกระหายแล้ว ได้เข้ามาเฝ้าอยู่ใกล้ๆ พระพุทธองค์ พระองค์ได้ทรงเริ่มการแสดงธรรม เขาจึงได้ทราบ ณ บัดนั้นเองว่าพระพุทธองค์ได้ทรงทราบวาระน้ำใจของเขาว่า เขาต้องการฟังธรรม และได้ทรงนั่งรอคอยเขาอยู่ท่ามกลางที่ประชุมพร้อมด้วยคนเป็นอันมาก จนกระทั้งเขากลับมา พวกชาวบ้านและภิกษุเป็นอันมากพากันเห็นว่าเป็นของแปลกประหลาดอย่างยิ่ง และไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่พระพุทธองค์ไม่ทรงเอาใจใส่ในเรื่องอาหารของคนเพียงคนเดียว ทั้งเป็นเพียงฆราวาสไม่ใช่ภิกษุ มิหนำซ้ำยังเป็นพราหมณ์ ไม่ใช่สาวกของพระองค์มาก่อนเลย แต่พระกรุณาและความตั้งพระทัยของพระองค์ ซึ่งมีต่อพราหมณ์นั้นได้เป็นผลดียิ่ง หัวใจของพราหมณ์นั้นเต็มตื้นไปด้วยควาเผื่อแผ่ของพระองค์ และเมื่อจบธรรมเทศนาแล้ว เขาก็ได้กลายเป็นสาวกของพระองค์จนตลอดชีวิต

ในคราวอื่นอีก พระองค์ได้ทรงแสดงความกรุณาต่อชาวบ้านตามธรรมดาซึ่งเป็นเพียงเด็กหญิงคนหนึ่ง ในเมืองซึ่งพระองค์กำลังประทับอยู่ในขณะนั้น มีช่างทอผ้าคนหนึ่งอาศัยเลี้ยงชีพอยู่ด้วยกันสองคนกับบุตรสาว มีบุตรสาวเป็นผู้ช่วยทำงาน เด็กหญิงผู้นี้มีความปรารถนาที่จะฟังธรรมเทศนาของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง แต่ในวันที่พระองค์จะทรงแสดงธรรมเทศนานั้น เผอิญมีงานท่อผ้าด่วน ที่เขากับบิดาจะต้องทำให้เสร็จทันในวันนั้น ดังนั้นเด็กหญิงผู้นั้นจึงได้ตั้งใจ ที่จะรีบทำงานส่วนของตนให้แล้วเสร็จก่อนเวลา จนมีเวลาเหลือสำหรับการไปฟังธรรมเทศนาด้วย เมื่อเขาได้รีบทำงานส่วนที่เป็นหน้าที่ของเขา คือม้วนด้ายที่กรอนั้นเสร็จแล้ว ก็ตั้งใจจะไปส่งให้แก่บิดาที่โรงทองผ้าอีกแห่งหนึ่ง แต่ในระหว่างทางที่เดินไปนั้น ยังไม่ถึงโรงทองผ้า เขาได้ผ่านที่ซึ่งหมู่ชนกำลังนั่งฟังธรรมเทศนาของพระองค์อยู่

เด็กหญิงผู้นั้นได้วางหลอดด้ายลงและนั่งอยู่แถวหลังสุดของหมู่คนที่นั่งฟัง แต่พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า เด็กหญิงคนนี้พร้อมที่จะเข้าใจธรรมะ และปฏิบัติตามธรรมของพระองค์ จึงรับสั่งให้เข้าไปนั่งใกล้กว่านั้น เพื่อจะได้นั่งฟังถนัดไม่ผิดพลาด เด็กหญิงนั้นได้เข้าไปใกล้พระองค์ พระองค์ทรงทักทายเพื่อให้เกิดความดีใจโดยตรัสถามว่า เขามาจากไหนและกำลังจะไปข้างไหน แต่เด็กหญิงนั้น ทั้งๆ ที่ทราบดีอยู่ ว่าตนมาจากไหนและจะไปที่ไหนก็ตาม ได้ทูลว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้า ดิฉันไม่ทราบว่าดิฉันมาจากไหน และไม่ทราบว่าจะไปสู่ที่ไหน”

เมื่อประชาชนที่นั่งฟังอยู่ ณ ที่นั้น ได้ฟังคำตอบอันแปลกประหลาดที่เด็กหญิงนั้นกล้าหาญทูลตอบแด่พระพุทธองค์ไปเช่นนั้น ก็พากันขัดเคืองเป็นอันมาก เพราะคนเหล่านั้น คิดว่าเด็กหญิงนั้นพูดเล่นตลกกับพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นบุคคลสูงสุดและได้พากันกระซิบกระซาบกันบ้าง พูดกันบ้างถึงเรื่องที่จะคร่าเด็กหญิงคนนี้ให้ออกไปเสียจากที่ประชุม เพราะการกระทำที่ไม่งดงามนั้น แต่พระพุทธองค์ทรงทราบถึงความคิดของเด็กหญิงผู้นี้ได้ดี ในการที่ได้กล่าวคำตอบอันประหลาดเช่นนั้นกับพระองค์ จึงได้ทรงห้ามประชาชนเหล่านั้นให้นิ่ง แล้วพระองค์ทรงเหลียวไปตรัสแก่เด็กหญิงนั้นเพื่อให้อธิบายถึงความหมายของคำที่กล่าวเช่นนั้น

เด็กหญิงนั้นได้ทูลว่า “ดิฉันทราบดีว่าดิฉันมาจากบ้านและกำลังจะไปสู่โรงทอผ้า ที่พ่อกำลังทอผ้าอยู่ แต่ข้อที่ดิฉันมาสู่ภพนี้ จากภพไหนนั้น ดิฉันไม่ทราบเลย และทั้งดิฉันไม่แน่ใจว่า ภพเบื้องหน้าของดิฉันนั้น จะเป็นอย่างไร ดิฉันไม่ทราบสิ่งทั้งสองนี้จริงๆ แม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่งพระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์และประชาชนทุกคนในที่นั้น ได้รู้สึกนิยมชมชื่น ในสติปัญญาและความคิดของเด็กหญิงผู้นี้ ต่อจากนั้น พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมเมื่อจบลง เด็กหญิงผู้ซึ่งได้ตั้งอกตั้งใจฟังแต่ต้นจนตลอดผู้นี้ ได้บรรลุธรรมลำดับแรกของการลุถึงนิพพาน คือธรรมขั้นที่เรียกว่าโสดาบัน หมายความว่าได้เข้าถึงกระแสทางแห่งนิพพานอย่างแน่วแน่ ไม่มีการเวียนกลับอีกต่อไปจนกว่าจะลุถึงนิพพานนั้น

ในคราวหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปตามทางในป่าลึก พระองค์ได้ทรงพบเนื้อตัวหนึ่ง ติดบ่วงของนายพรานดิ้นกระวนกระวายอยู่ พระพุทธองค์ได้เสด็จตรงไปแก้บ่วงปล่อยสัตว์นั้นให้หลุดรอดไป ในทันที แล้วได้ประทับนั่งอยู่ ณ โคนต้นไม้แห่งหนึ่งใกล้ๆ ที่นั้นเอง ในระหว่างนั้นพรานผู้นั้นได้มาที่บ่วงของเขา เขาเหลือบตาดูด้วยความชำนาญเพียงแวบเดียว ก็รู้ได้ทันทีว่า เนื้อติดบ่วงแล้ว แต่มีคนมาแก้ปล่อยมันไป เมื่อเขาได้เหลียวดูรอบๆ เพื่อมองหาตัวบุคคลที่ทำเช่นนั้น ก็ได้เหลียวไปพบนักบวชครองผ้าเหลืององค์หนึ่ง ซึ่งนั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ใกล้ๆ สถานที่นั้น เขาทราบได้ทันทีว่าต้องเป็นบุคคลผู้นี้เองที่ทำให้เขาต้องสูงเสียเนื้อที่เขาควรจะได้ไปตัวหนึ่ง เขาบ่นด้วยความโกรธว่า “มากเกินไปเสียแล้วพวกนักบุญเหล่านี้! เล่นสกปรกไปเสียทุกหนทุกแห่ง ! เที่ยวทำลายผลประโยชน์ของคนอื่น เพื่อบุญกุศลของตนอย่างไม่เข้าเรื่อง” กล่าวดังนั้นแล้ว เขาได้ยกคันศรขึ้นด้วยความโกรธ หยิบลูกศรเกี่ยวสายแล้วเล็งตรงไปยังพระพุทธองค์ ซึ่งขณะนี้กำลังประทับนั่งสงบนิ่งอยู่ แล้วก็ลงมือยิงพลางพูดว่า “อย่างนี้แล้ว ไม่ต้องเสียลูกศรมากกว่าดอกเดียวดอก”

แต่ในขณะที่เขาเล็งลูกศรตรงไปยังสมณะผู้นั่งสงบนิ่งอยู่อย่างประหลาดนั้น ปรากฏว่ามือของเขาสั่น ดังนั้นลูกศรที่เขายิงไป จึงพลาดที่หมาย ตั้งแต่เป็นพรานมาในชีวิตเขาไม่เคยยิงอะไรผิดในระยะใกล้เช่นนี้ เขาจึงโกรธตัวเองหนักขึ้น เขาหยิบลูกศรมาอีกดอกหนึ่ง แล้วยิงไปใหม่ ก็พลาดอีก เขายิ่งประหลาดใจในการที่ความแม่นยำของเขามาสูญสิ้นไปอย่างกะทันหันเช่นนี้แต่ก็ได้ฝืนยิงไปอีกดอกหนึ่งเป็นดอกสุดท้าย ซึ่งก็พลาดที่หมายอีกอย่างเดียวกัน ในขณะนั้น ความรู้สึกซึ่งยิ่งไปกว่าความกลัว ได้เกิดขึ้นในใจของเขาจนคันศรและลูกศรตกจากมือ เขาได้หมอบคลานไปสู่ที่ที่พระพุทธองค์ประทับนั่งอยู่ แล้วทูลถามว่า “พระองค์เป็นใคร ?”

พระองค์ได้ตรัสตอบเขาและทรงอธิบายให้เขาทราบถึงความชั่วในการทำลายชีวิต ซึ่งเป็นการง่ายที่จะทำลาย แต่เป็นการยากยิ่งในการที่จะทำให้กลับคืนมาหลังจากที่ถูกทำลายไปแล้ว พรานผู้นั้นได้ฟังคำตรัสของพระองค์แล้ว มีความจับใจด้วยถ้อยคำของพระองค์ และกิริยาอาการของพระองค์ในการตรัสถ้อยคำเหล่านั้นเป็นอันมาก จนถึงกับได้ทำสัญญากับพระองค์ว่า นับแต่วันนั้นไปเขาจักไม่ทำลายชีวิตสัตว์ใดๆ อีกเลย และจะเลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยการกระทำที่ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่นๆ ตามที่พระองค์ทรงของร้อง

บุคคลอีกคนหนึ่ง ซึ่งทำการล้างผลาญชีวิตและกลับตัวได้โดยคำแนะนำของพระองค์นั้น มีชื่อว่า องคุลีมาล เขาเป็นคนฆ่าคนด้วยกัน และเขามีชื่อว่าองคุลีมาล ซึ่งแปลว่า “มาลัยแห่งนิ้วมือ” ก็เพราะว่าเขาได้ฆ่ามนุษย์แล้วตัดนิ้วมือมาร้อยเป็นพวงแขวนคอไว้รอบๆ คอของเขาถึง ๙๙ คนแล้ว ในคราวนี้ เขาคอยอยู่ข้างทาง เพื่อฆ่าคนที่ครบร้อย เพื่อให้พวงมาลัยของเขาเพิ่มจาก ๙๙* นิ้วเป็น ๑๐๐ นิ้วบริบูรณ์ เรื่องบังเอิญว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จผ่านมาตามถนนที่เขาคอยอยู่พอดี องคุลีมาลไม่เข้าใจว่า พระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเป็นอะไร เขาต้องการแต่จะให้พวงมาลัยนิ้วมือของเขาครบ ๑๐๐ นิ้วเท่านั้น

องคุลีมาลก็เหมือนกับนายพรานที่กล่าวแล้ว เขาก็พยายามที่จะเข้าถึงองค์พระพุทธเจ้า เพื่อทำลายชีวิตพระองค์ถึง ๓ ครั้ง ๓ หน แต่ก็ไม่ประสพความสำเร็จทุกครั้งไป เขาจึงรู้สึกประหลาดใจและครั่นคร้ามเป็นอันมาก ได้เข้าไปหาพระองค์ด้วยความเคารพ และทูลถามว่าพระองค์เป็นใคร พระองค์ได้ตรัสตอบเขาโดยไม่ได้พาดพิงถึงการที่เขาพยายามที่จะทำลายชีวิตพระองค์แม้แต่คำเดียว แต่ได้ตรัสอธิบายธรรมให้แก่เขาอย่างลึกซึ้ง เขาได้ฟังธรรมจากพระพุทธโอษฐ์โดยตรงเช่นนั้น ก็สำนึกในความผิด ละการกระทำอันชั่วร้ายเสียและได้บวชเป็นภิกษุ ครั้นบวชแล้วได้พยายามปฏิบัติธรรมจนลุถึงความเป็นพระอรหันต์

แม้กระนั้น ท่านผู้นี้ก็ยังมิได้พ้นไปจากผลกรรมที่กระทำไว้แต่กาลก่อน เมื่อท่านเข้าไปบิณฑบาตในนครสาวัตถี คนเป็นอันมากได้ขว้างปาท่านด้วยไม้ค้อนก้อนดิน จนได้รับความเจ็บปวดสาหัส และบาตรแตกกระจายทุกครั้งทุกคราวทุกหนทุกแห่งที่ท่านไป แต่ท่านก็มิได้โศกเศร้า หรือน้อยใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนั้น และมิได้โกรธเคืองบุคคลซึ่งขว้างปาท่าน ท่านทราบดีว่า มันเป็นผลของกรรมเก่า และมันเป็นการดีมากแล้วในการที่ได้รับผลกรรมที่ให้เสร็จสิ้นไปเสีย แทนที่จะให้ติดค้างกันอยู่ไม่รู้สิ้นสุด ดังนั้นท่านองคุลีมาล จึงดับขันธ์ด้วยความสงบ และลุถึงนิพพาน


มีต่อ >>>>> ตอนที่ ๑๙ เทวทัต
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง