Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ย. 2006, 3:16 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ


วัดสนามใน
ต.วังชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี



๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ เกิดที่บ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2454 ตรงกับวันอังคารเดือนสิบ ปีกุน ขึ้น 13 ค่ำ บิดาของท่านชื่อจีน มารดาชื่อโสม นามสกุลอินทผิว

หลวงพ่อมีนามจริงว่า พันธ์ อินทผิว เหตุที่ท่านเป็นที่รู้จักในนามหลวงพ่อเทียน ก็เนื่องจากท้องถิ่นของท่านนิยมเรียกชื่อกันตามชื่อของลูกคนหัวปี บุตรชายคนแรกของหลวงพ่อชื่อเทียน ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านจึงเรียกท่านว่าพ่อเทียน ภรรยาของท่านชื่อหอม ก็ได้รับการเรียกขานว่าแม่เทียนหอมเช่นเดียวกัน

ปฐมวัย หลวงพ่อมีชีวิตในวันเด็กเช่นเดียวกับเด็กชาวบ้าน ในท้องถิ่นชนบทห่างไกลความเจริญทั่วไป ตื่นเช้าท่านก็ออกไปช่วยพ่อแม่ทำนา เลี้ยวัว เลี้ยงควาย ตกเย็นก็ไล่ต้อนควายกลับบ้าน ท่านเล่าท่านไม่เคยได้มีโอกเาสเรียนหนังสือในโรงเรียน เนื่องจากในท้องถิ่นของท่านยังไม่มีโรงเรียน ถ้าจะเรียนก็ต้องเดินทางไปเรียนในท้องถิ่นที่เจริญกว่า ในสมัยนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวก และโรงเรียนอยู่ห่างไกลจากบ้านท่านมาก

บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อหลวงพ่ออายุได้ราว 10 ขวบ หลวงน้าของท่านซึ่งไปเรียนหนังสือมาจากจังหวัดอุบลราชธานี ได้มาขอกับบิดามารดาของท่านให้ท่านบวชเป็นเณร คอยรับใช้หลวงน้า ก่อนที่หลวงพ่อจะบรรพชาเป็นสามเณร หลวงพ่อไปวัดที่หลวงน้าอยู่เป็นประจำทุกเช้าเย็น วัดที่หลวงน้าจำพรรษาอยู่นั้นชื่อว่า วัดภูหรือวัดบรรพตคีรี อยู่ไม่ห่างจากบ้านหลวงพ่อ ตอนเช้าหลวงพ่อต้องนำอาหารและดอกไม้ไปกราบหลวงน้าแล้วจึงไปนา ตอนเย็นหลังจากตักน้ำที่คลองน้ำแล้วท่านก็จะไปวัด

ขณะที่บวชเป็นเณรอยู่กับหลวงน้า หลวงน้าสอนหลวงพ่อให้ท่องนะโม ตัสสะ ทำวัตรเช้า วัตรเย็น อาราธนาศีล อาราธนาธรรม ดูฤกษ์ยาม ทำกรรมฐาน เดินจงกรม หลวงพ่อได้เรียนอักษรลาวหรือไทยน้อย และอักษรธรรม ซึ่งเขียนบนใบลานกับหลวงน้า สำหรับการเรียนการสอนเป็นแบบปากเปล่า ไม่มีการเขียน ใช้วิธีจดจำ เวลากลางคืนหลังจากเลิกเรียนหนังสือแล้ว หลวงน้าจะพาหลวงพ่อเดินจงกรม หลวงน้าเป็นพระที่ขยันปฏิบัติ บางครั้งท่านก็ลุกขึ้นเดินจงกรมในเวลาดึก ส่วนหลวงพ่อเดินจงกรมห่างจากหลวงน้า 4-5 วา

สำหรับการฝึกกรรมฐาน หลวงน้าให้หลวงพ่อนั่งขัดสมาธิเพชรหลับตาแล้วภาวนา หายใจเข้าให้ว่า "พุท" หายใจออกให้ว่า "โธ" หลวงพ่อเป็นสามเณรอยู่กับหลวงน้าเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ได้เรียนมนต์คาถาจากหลวงน้าพอสมควร เนื่องจากขณะที่หลวงน้าไปเรียนมูลกัจจายน์ที่จังหวัดอุบลราชธานี ท่านได้เรียนเวทมนต์คาถาอาคมของเขมรด้วย เช่น คาถาใส่หนังบังควัน วัวธนูดูหน้าน้อย ซึ่งเป็นอาคมไล่ผี เมื่อหลวงพ่อลาสิกขาบทแล้ว ท่านยังรู้สึกเสียดายช่วงเวลาที่บวชอยู่กับหลวงน้า ด้วยในขณะนั้นท่านอยากมีความรู้ทางไสยศาสตร์ อยากมีหูทิพย์ ตาทิพย์ เหาะได้ หายตัวได้ ย่อแผ่นดินได้ มีคาถาอาคม ฟันไม่เข้ายิงไม่ออกเหมือนกับหลวงน้า

ในสมัยนั้น ท้องถิ่นที่หลวงพ่ออาศัยอยู่ ยังมีความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจกันอยู่มาก ลูกผู้ชายต้องมีเวทมนต์ ไว้รักษาตัวเองและคุ้มครองรักษาคนในครอบครัว รวมทั้งญาติพี่น้อง หลวงน้าจึงได้เมตตาอบรมสั่งสอนหลวงพ่ออย่างเข้มงวดกวดขัน เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์เมื่อสึกออกมาแล้ว เป็นผู้ครองเรือน

อุปสมบทครั้งแรก เมื่ออายุครบบวช หลวงพ่อได้มาบวชอยู่กับหลวงน้าอีกครั้ง โดยมีพระครูวิชิตธรรมาจารย์ เจ้าคณะอำเภอเชียงคาน เป็นอุปัชฌาย์ ท่านได้ฝึกวิชาต่างๆ กับหลวงน้าเช่นเดิม คือฝึกกรรมฐาน และเรียนเวทมนต์ถาคาต่างๆ ท่านเล่าว่าไม่มีวิชาอะไรเพิ่มขึ้น แต่ทำตามที่สอนไว้ให้เจริญขึ้น นอกจากนั้นเดินธุดงค์ ซึ่งเป็นการทำตามประเพณี ยังไม่เข้าใจว่าธุดงค์หมายถึงอะไร การธุดงค์ที่หลวงพ่อทำในขณะนั้นคือไปอยู่ตามป่าช้า ตามสวนใกล้ๆ บ้านคน หรือตามกระต๊อบปลายนาไม่ห่างจากบ้านคนมากนัก เพื่อให้ออกบิณฑบาตได้โดยไม่ลำบากจนเกินไป

การครองเรือน หลวงพ่อบวชเป็นพระอยู่ได้ 6 เดือน จึงลาสิกขาบท มารดาของท่านได้จัดการให้ท่านมีครอบครัวเมื่ออายุราว 22 ปี ภรรยาของท่านชื่อหอม เป็นญาติกับท่าน มารดาของภรรยาท่านเป็นน้องของบิดาของท่าน ซึ่งท่านเรียกว่าแม่อา ทั้งท่านและภรรยาต่างก็กำพร้าบิดามาตั้งแต่เด็ก ท่านอยู่กับภรรยามานานยังไม่มีบุตร จึงได้นำบุตรของพี่สาวภรรยาท่าน ซึ่งแยกทางกับพี่เขยมาเลี้ยง ต่อมาท่านจึงมีบุตรชาย 3 คน ชื่อ เนียม เทียน และเตรียม

เมื่อมีบุตรคนแรกชื่อเนียมใครๆ จึงเรียกท่านว่าพ่อเนียม ตามประเพณีนิยมของคนในท้องถิ่น ที่เรียกชื่อกันตามชื่อลูกคนหัวปี ต่อมาบุตรคนแรกของหลวงพ่อที่ชื่อเนียม ถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้เพียง 5 ปี ท่านจึงได้รับการเรียกขานตามชื่อลูกคนที่สองตราบเท่าทุกวันนี้ บุตรคนที่สองของท่านถึงแก่กรรม ก่อนที่ท่านจะมรณภาพราว 2 ปีเศษ

เวทย์มนต์คาถา หลวงพ่อเล่าว่าช่วงระยะที่หลวงพ่อครองเพศฆราวาสอยู่นั้น ท่านได้ใช้เวทย์มนต์คาถาที่ร่ำเรียนมาจากหลวงน้าอยู่เนืองๆ สมัยนั้นยังเชื่อเรื่องผีสางกันอยู่มาก บางครั้งเพื่อนบ้านก็มาขอให้ท่านไปเป็นหมอมนต์ ไล่ผีให้คนเจ็บไข้ได้ป่วย สำหรับในครอบครัว ท่านก็เป็นผู้คุ้มครองคนในบ้านและญาติพี่น้องที่เข้ามาให้คุ้มครอง ซึ่งเรียกว่ามาเข้าของรักษา

หลวงพ่อเล่าว่าในขณะนั้นท่านยังพอใจคาถาอาคม เวทย์มนต์ต่างๆ อยู่ อยากมีฤทธิ์เดชอิทธิปาฏิหาริย์ หายตัว ดำดิน มุดน้ำ เหาะได้เหมือนนก ทั้งนี้เนื่องจากท่านได้รับอิทธิพลจากนิทานใบลานหลายเรื่อง อาทิ การะเกด สินชัย สุริวงศ์ แตงอ่อน ลิ้นทอง เป็นต้น

ท่านได้พยายามแสวงหาวิชาอาคมเรื่อยมา เมื่อเรียนกับหลวงน้าจนหมดสิ้นแล้ว ท่านก็แสวงหาครูบาอาจารย์อื่นๆ ต่อไป หลังจากหลวงน้ามรณภาพแล้ว ท่านได้ข่าวว่ามีอาจารย์ที่เก่งกว่าหลวงน้าอยู่ที่เมืองลาวชื่อ ยาคูบุญมาดอนพุง ยาคูท่านนี้เลี้ยงนกยูงไว้ ท่านทำปลอกใส่ขานกยูงแล้วปล่อยไป ฝรั่งเอาปืนมายิงก็ยิงไม่ออก หลวงพ่อจึงไปอยู่กับยาคูบุญมาพรรษาหนึ่ง

หลวงพ่อเล่าว่า ท่านได้ความรู้หรือจะเรียกว่าความโง่จากยาคูบุญมาหลายเรื่อง อันได้แก่ เวทย์มนต์คาถาอยู่ยงคงกระพันต่างๆ ที่หลวงพ่อจำได้คือ "โอม ธุลีๆ คอกูมีแผ่นทองกั้นพร้า หน้าผากกูแกร่งปานหิน ตีนกูแกร่งปานเหล็ก ขนแข้งกูเท่าหนามคา ขนขากูเท่าขนเม่น กูจักเต้นไปร้อยโยชน์พันวา พญามนต์ทั้งหลายจงมาบังกั้นตนกู"

เมื่อหลวงพ่อไปปฏิบัติธรรมะ จนรู้ธรรมะแล้ว หลวงพ่อจึงเข้าใจว่าคอหลวงพ่อไม่มีแผ่นเหล็กแผ่นทอง หน้าผากหลวงพ่อชนโน่นชนนี่ก็ต้องแตก เท้าหลวงพ่อก็ไม่ได้แข็งแรงเหมือนเหล็ก ถ้าเดินไปตามถนนหนทางเหยียบขวดเหยียบแก้วก็ต้องบาด เหยียบหนามก็ต้องตำ ท่านว่าคนโง่สอนคนฉลาดไม่ได้ คนฉลาดสอนคนฉลาดหรือสอนคนโง่ให้ฉลาดได้

อุปนิสัยในเรื่องการทำบุญ หลวงพ่อได้เล่าให้ฟังว่าหลวงพ่อเป็นนักแสวงหาบุญตั้งแต่อายุยังน้อย และได้เป็นผู้นำชาวบ้านทำบุญเสมอมา ในขณะนั้นท่านเป็นผู้ใหญ่บ้าน มีคนเคารพนับถืออยู่มาก ท่านเองอายุอยู่ในราว 27-28 ปี ท่านได้ชักชวนญาติพี่น้องเพื่อนบ้านในการทำบุญ แม้แต่ผู้ที่ได้ทำกรรมหนักถึงขั้นอนันตริยกรรม ท่านก็ได้หาโอกาสให้ได้ร่วมทำบุญด้วย

อาชีพ หลังจากสิกขาบทแล้วหลวงพ่อได้ยึดอาชีพทำนา ทำสวน และค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งหลวงพ่อได้เริ่มทำมาตั้งแต่สึกจากสามเณรแล้ว ต่อมาจึงมีเรือกระแซง 7 ลำ ค้าขายขึ้นล่องระหว่างหนองคายและเชียงคาน การค้าขายได้ผลดีขึ้นเรื่อยๆ หลวงพ่อเล่าว่า บิดาของท่านชำนาญในการเดินเรือค้าขาย แต่ก็ได้เสียชีวิตลงตั้งแต่ท่านยังเป็นเด็ก ภายหลังมีการตั้งกรมเกษตรขึ้น และมีการสั่งห้ามขนย้ายสินค้าเกษตรกรรมบางชนิด หลวงพ่อจึงได้ไปค้าขายอยู่ที่เมืองลาว แต่ครอบครัวของท่านยังอยู่เมืองไทย ท่านได้ทำการค้าฝ้ายมีกำไรงดงาม ได้ขายเรือกระแซงและซื้อเรือกลไฟ ทำการค้าขึ้นล่องตามลำแม่น้ำโขง

หลวงพ่อเล่าว่าแม้ท่านจะประสบผลสำเร็จในการค้าขายเป็นอย่างดี แต่ท่านก็ไม่มีความสุข แม้เวลาจะนอนก็มีแต่ทุกข์ คิดถึงเรื่องเงินทองและสินค้าที่จะซื้อจะขาย


๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

หลวงพ่อเล่าว่าก่อนที่ท่านจะออกมาปฏิบัติธรรมจนได้รู้ธรรมะตามวิธีของท่าน ท่านได้ทำกรรมฐานมาพอสมควร แต่กรรมฐานก็ไม่ช่วยให้หลวงพ่อหมดทุกข์ได้ มีผู้กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า ก่อนที่หลวงพ่อจะออกมาปฏิบัติธรรมนั้นท่านมีความทุกข์อย่างไร หลวงพ่อเล่าว่า ครั้งหนึ่งคนที่เมืองลาวมาขอให้นำกฐินไปทอดที่เมืองลาว ในครั้งนั้นมีการทำกฐินถึง 5 กอง เนื่องจากมีหลายบ้านขอร่วมทอดกฐินด้วย และในการนำกองกฐินจะต้องมีมหรสพ เช่น หมอลำ ภาพยนต์ให้คนชม หลวงพ่อได้ตกลงกับภรรยาไว้ว่า การใช้จ่ายต่างๆ และการจัดหาอาหารให้แขกยกให้เป็นหน้าที่ของภรรยาท่าน ส่วนท่านจะรับอุโบสถศีลและรับแขกทางไกล

ครั้นเวลาเช้า ภรรยาของท่านถามท่านว่าจะต้องจ่ายเงินค่าหมอลำเท่าไร ท่านรู้สึกโกรธมาก ท่านเล่าว่า "มันหนักจนลุกแทบไม่ได้ มันตำเข้าในใจ" แต่ท่านข่มอารมณ์ไว้ มิได้แสดงให้ภรรยาของท่านทราบ กลับตอบด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่าเป็นหน้าที่ของภรรยาท่าน แต่ความโกรธนั้นยังอยู่ในใจของท่าน หลังจากนำกฐินไปถวายที่ฝั่งลาว และกลับมารับประทานข้าวมื้อเย็นพร้อมกับภรรยาและบุตรทั้งสอง ท่านได้กล่าวเปรยถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในตอนเช้าว่า "คนไม่รู้จักเคารพนับถือก็อย่างนี้แหละ" ท่านกล่าวซ้ำหลายครั้งจนภรรยาของท่านรู้สึกสะดุดใจ

เมื่อภรรยาของท่านพาบุตรทั้งสองไปนอนแล้ว จึงถามว่าท่านโกรธที่ถามเรื่องค่าหมอลำใช่หรือไม่ เมื่อท่านตอบว่าใช่ ภรรยาของท่านจึงพูดว่าสามีภรรยาถามกันเรื่องการจับจ่ายใช้สอยถือว่าผิดด้วยหรือ หลวงพ่อเล่าว่าท่านเห็นด้วยกับคำพูดของภรรยา ท่านรู้ว่าท่านผิด มีมานะทิฐิอยากจะเอาชนะ ภรรยาของท่านพูดว่า "เจ้าไม่พอใจ ละสิ โอ ! ข้อยบ่รู้จักเจ้าไม่พอใจ ก็นั่งหน้าตาดีอยู่นี่นะ โอ ! เจ้าตกนรกแล้ว"

หลวงพ่อเห็นจริงตามคำพูดของภรรยาท่าน คำพูดนี้กระทบใจท่านมากจนท่านถือว่าภรรยาของท่านเป็นครูท่าน มีบุญคุณต่อท่านที่สุด แต่ก่อนท่านไม่เข้าใจว่าความโกรธนี้เป็นความทุกข์หนักเหมือนตกนรก ภรรยาของท่านเองก็ไม่เข้าใจ แต่พูดไปตามอารมณ์ "เจ้าตกนรกแล้ว แม้ทำกฐินก็บ่ได้บุญดอกเจ้า"

หลวงพ่อท่านเล่าว่า ท่านเองก็เข้าใจว่าท่านคงจะไม่ได้บุญเพราะท่านหนักใจอยู่ทั้งวัน เมื่อภรรยาท่านพูดว่าท่านเช่นนี้ทำให้ท่านสบายใจขึ้น ออกจากความคิดแบบนั้นได้ แต่ยังไม่รู้จักวิธีที่จะออกจากความคิด ท่านคิดในใจว่าหากท่านยังเอาชนะความทุกข์แบบนี้ไม่ได้ ก็จะไม่เลิกละในการปฏิบัติธรรม

หลวงพ่อคิดถึงเรื่องนี้อยู่เป็นเวลาปลายปี ท่านพยายามทำการซื้อขายให้น้อยลง ในที่สุดท่านตัดสินใจว่าจะไม่ทำมาหากินอีกต่อไป ท่านจึงได้สะสางบัญชีและเงินที่ตกค้างอยู่กับผู้ที่ค้าขายอยู่กับท่านให้เป็นที่เรียบร้อย หลวงพ่อเล่าว่าเมื่อท่านจะทำอะไรท่านต้องคิดเตรียมไว้นานๆ ไม่ใช่ปุบปับทำ กว่าท่านจะจัดการเรื่องเงินทองต่างๆ เรียบร้อย ก็เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี

ในคราวที่หลวงพ่อกลับจากปากลายหรือล้านช้าง ซึ่งเป็นระยะที่หลวงพ่อจะเลิกทำการค้าขายแล้วนั้น หลวงพ่อได้มาพบเพื่อนคนหนึ่งซึ่งบวชเป็นพระอยู่ชื่อ พระมหาศรีจันทร์ ได้เปรียญ 5 ประโยค อายุอ่อนกว่าหลวงพ่อราว 2-3 ปี พระมหาศรีจันทร์ได้เคยเดินทางขึ้นล่องระหว่างเชียงคานและหนองคายกับเรือกลไฟของหลวงพ่อ และได้ธุดงค์ไปตามถ้ำ ตามป่าช้า ท่านอยู่ที่ตำบลพันพร้าว ซึ่งเป็นอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดนองคายในปัจจุบัน หลวงพ่อได้เคยอุปัฏฐากถวายจังหัน ถวายเพลแก่ท่าน เมื่อท่านเดินทางขึ้นล่องไปกับเรือกลไฟของหลวงพ่อ

เมื่อได้พบกันที่หนองคายครั้งหลังนี้ หลวงพ่อได้คุยกับพระมหาศรีจันทร์ เรื่องการทำกรรมฐานตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า หลวงพ่อได้ถามปัญหาพระมหาศรีจันทร์หลายเรื่อง ในที่สุดพระมหาศรีจันทร์ท่านก็บอกหลวงพ่อว่า เรื่องวิปัสสนากรรมฐานนั้น หากจะถามเท่าไรก็ไม่มีวันจบสิ้น ผู้ใดอยากรู้ต้องลงมือปฏิบัติเอง

หลวงพ่อท่านได้ครุ่นคิดเรื่องการปฏิบัติที่พระมหาศรีจันทร์กล่าวกับท่าน อยู่เป็นเวลากว่า 3 ปี เวลานั้นท่านยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ยังคงแสวงหาอาจารย์ต่อไป

การตัดสินใจออกไปปฏิบัติธรรม หลวงพ่อเล่าว่าเมื่อหลวงพ่ออายุได้ 40 กว่าปี ท่านเลิกทำการค้าขายโดยเด็ดขาด ไม่มีงานการอะไรต้องทำ ท่านจึงเฝ้าแต่ครุ่นคิดไม่หยุดหย่อนว่า คนเราเกิดมาแล้วก็ตาย ไม่เห็นมีอะไรไปด้วย คนรวยก็ตาย คนจนก็ตาย ไม่เห็นมีอะไร มีแต่บาปกับบุญ ในที่สุดท่านจึงตัดสินใจออกปฏิบัติธรรม เพื่อหาทางพ้นทุกข์ให้ได้

ท่านได้บอกความตั้งใจของท่านกับภรรยา ภรรยาของท่านจึงได้จัดเสื้อผ้าใส่กระเป๋าให้ ท่านไม่ได้บอกภรรยาของท่านว่าจะไปอยู่ที่ใดและจะไปนานเท่าไร เพียงแต่บอกว่า หากท่านไม่ตายเสียท่านก็จะกลับมาอีก

การปฏิบัติธรรมและการรู้ธรรม หลวงพ่อปฏิบัติธรรมด้วยความตั้งใจและทำจริงๆ ปฏิบัติลงไปที่ใจ เนื่องจากหลวงพ่อเป็นผู้แสวงหาและปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง และเป็นระยะเวลานานพอสมควร การเจริญสติและการศึกษาธรรมะของหลวงพ่อเป็นการศึกษาจากการปฏิบัติและประสบการณ์ของหลวงพ่อเองเป็นส่วนใหญ่ เวลาที่หลวงพ่อรู้จักธรรมะให้ว่าพริบตาเดียวก็ได้ หรือว่าจะอึดใจเดียวก็ได้ ในขณะนั้นหลวงพ่อรู้เรื่องรูปเรื่องนาม รู้รูปธรรม นามธรรม รู้รูปโรค นามโรค รูปโรค นามโรค มี 2 อย่าง หลวงพ่อสะดุดใจ เมื่อหลวงพ่อรู้จักรูปโรค นามโรค โรคทางจิตใจดีแล้ว หลวงพ่อก็รู้จักทุกขัง อนิจจัง อนัตตา รู้จริงๆ ไม่ใช่รู้กับตำรา รู้โดยญาณความรู้หรือว่าสัญญาความหมายรู้จำได้

หลวงพ่อรู้จักสมมติ เมื่อรู้สมมติ หลวงพ่อก็เลยรู้จักศาสนาไม่ใช่ศาสนาอย่างที่เราเคยถือมา รู้จักศาสนาเข้ามา ศาสนาแปลว่า คำสั่งสอนของท่านผู้รู้ ใครมีความรู้เรื่องอะไรต้องสอน สอนให้เราไหว้ผี สอนเรื่องฤกษ์งามยามดี สอนอะไร คำสอนของผู้รู้ทั้งนั้น สอนให้ตาเรานี้ให้ดู สอนให้หูเรานี่ให้ฟัง สอนตัวเรานี้แหละ เรียกว่าตัวคนเป็นศาสนา หลวงพ่อเข้าใจตัวทุกคนนั้นแหละเป็นตัวศาสนา

ดังนั้นไปฆ่าคน ไปตีคน ไปหลอกลวงคนนั้น แปลว่าไปหลอกลวงศาสนา เป็นบาป หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น พุทธศาสนาคือตัวรู้นี่แหละ ตัวสติ ตัวปัญญา ตัวสมาธิ จะว่าตัวอะไรก็รู้แหละ พลิกมือขึ้นก็รู้ความรู้สึกนั้นแหละเป็นตัวพุทธศาสนา พุทธะจึงแปลว่าผู้รู้ แต่มันไม่ใช่รู้เฉพาะเท่านี้ มันรู้ให้แตกฉานจริงๆ ไม่ใช่แตกฉานนับเม็ดหิน เม็ดทราย ไม่ใช่อย่างนั้น คือแตกฉานใจตัวเอง รู้ทุกข์ รู้สุข รู้วิธีทำให้ทุกข์เกิด รู้วิธีทำให้ทุกข์หมด หลวงพ่อจึงว่าพุทธศาสนาแปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม

หลวงพ่ออุปสมบทครั้งที่สอง หลวงพ่อปฏิบัติและรู้ธรรมตั้งแต่ยังเป็นฆราวาส หลวงพ่อบวชเป็นพระครั้งที่สองเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 ที่วัดศรีคุณเมือง ตำบลชุมฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มีพระครูวิชิตธรรมาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการชุน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการสุบรรณ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ขณะนั้นหลวงพ่อมีอายุได้ 48 ปี

เมื่อบวชเป็นพระแล้ว หลวงพ่อได้ทำหน้าที่ของท่านคือ สอนธรรมะให้ทั้งพระสงฆ์และญาติโยมท่านเล่าว่าท่านสอนไปทุกที่ ไม่จำกัดว่าอยู่ในวัดหรือกุฏิ แม้แต่คนเดินอยู่บนถนน ถ้าถามท่านๆ ก็แนะนำให้ หรือบางครั้งท่านก็ยังเคยเป็นผู้ถามนำขึ้นก่อนก็มี

ท่านมักจะถามผู้ที่ได้พบปะสนทนากับท่านว่า เขาผู้นั้นมีความทุกข์เดือดร้อนอะไรบ้าง ถือศาสนาพุทธมากี่ปีแล้ว และความทุกข์ลดน้อยลงไปบ้างหรือไม่ หรือยังคงมีความทุกข์อยู่ตามเดิม เพราะหากยังมีความทุกข์อยู่ตามเดิมแสดงว่ายังไม่เข้าใจหลักพุทธศาสนา เพียงเข้าใจหลักศีลธรรม ศาสนาศีลธรรมไม่ใช่เป็นพุทธศาสนา เพราะศาสนาพุทธสอนให้คนมีปัญญา กำจัดเหตุแห่งทุกข์ลงได้


(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ย. 2006, 3:19 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ครั้งหนึ่งที่ศูนย์เซนในประเทศสิงคโปร์ มีผู้เรียนถามหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ในที่ประชุมว่า ท่านรู้ธรรมะถึงที่สุดหรือไม่ หรือยังมีธรรมที่จะต้องปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงอีก หลวงพ่อได้ตอบว่า

"สิ่งที่สูงที่สุดนั้น ย่อมไม่มีอะไรที่จะสูงยิ่งไปกว่าอีก สีที่ดำที่สุดนั้นไม่มีอะไรที่ดำไปกว่าอีก สีที่แดงที่สุดนั้นย่อมไม่มีอะไรที่จะแดงยิ่งไปกว่าอีก" คำตอบของท่านทำให้ที่ประชุมนิ่งอึ้งไปชั่วขณะหนึ่ง ทุกคนต่างก็รู้สึกพอใจในคำตอบนั้น

นับเป็นเวลากว่า 30 ปีที่หลวงพ่อได้มานะบากบั่นอบรมสั่งสอนธรรมะแก่เพื่อมนุษย์ โดยมิได้เห็นแก่ความเหนื่อยยากและอุปสรรคใดๆ ปฏิปทาข้อนี้ของท่านย่อมเป็นที่ซาบซึ้งใจแก่บรรดาศิษยานุศิษย์เป็นอย่างดี

หลวงพ่อเริ่มมีอาการอาพาธด้วยโรคมะเร็ง มาตั้งแต่ต้นปี 2525 โดยท่านมีอาการอาพาธปวดท้องอยู่เนืองๆ ในระหว่างที่ท่านโปรดลูกศิษย์ที่ประเทศสิงคโปร์ครั้งแรก เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2525 นั้น ท่านมีอาการอาพาธปวดท้องอย่างรุนแรง จนถึงกับต้องลงนอนเหยียดยาวกับพื้นทันทีที่ท่านกลับเข้ามาในที่พัก หลังจากที่ท่านเดินจงกรมบนถนนหน้าบ้านพัก ท่านจำเป็นต้องเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่สิงคโปร์ ถึงกระนั้นท่านก็ยังคงเมตตาสั่งสอนชาวสิงคโปร์ผู้สนใจในการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด และในคราวที่ท่านรับนิมนต์ไปโปรดลูกศิษย์ชาวสิงคโปร์ครั้งที่สอง เมื่อเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้น อาการของโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารได้ปรากฏขึ้นอย่างเฉียบพลัน ท่านจำเป็นต้องเดินทางกลับเพื่อเข้ารับการผ่าตัดโดยทันที ตามคำแนะนำของคณะแพทย์ชาวสิงคโปร์

หลวงพ่อได้รับการผ่าตัดครั้งแรกที่โรงพยาบาลศิริราช หลังจากนั้นอีกหนึ่งปีท่านจึงได้รับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลสมิติเวช จากการผ่าตัดครั้งที่สองนี้ แพทย์พบว่า โรคมะเร็งได้ลุกลามไปมากแล้ว แม้กระนั้นหลวงพ่อท่านก็มิได้เคยแสดงให้เห็นถึงทุกขเวทนาแต่อย่างใด

เมื่อต้นปี 2529 ท่านจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอีกครั้ง เนื่องจากแพทย์ตรวจพบว่ามีโรคมะเร็งเกิดขึ้นอีกที่ลำไส้ หลังจากนั้นท่านก็ยังคงได้รับการตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอจากคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลสมิติเวช

แม้ว่าท่านจะอาพาธด้วยโรคที่มีความรุนแรงถึงชีวิต และก่อให้เกิดวิบากของสังขาร ซึ่งดูเหมือนว่าจะหนักหนาเกินกว่าจะกล่าวสำหรับคนทั่วไป แต่หลวงพ่อยังคงดำเนินชีวิตของท่านด้วยความปกติ ปกติทั้งกายและใจ ท่านยังคงทำหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้ได้รู้ธรรมมากที่สุดเท่าที่ท่านสมารถจะทำได้ การเผยแพร่ธรรมในระยะหลังนี้จึงเป็นไปอย่างกว้างขวาง

แม้ว่าในช่วงปีสุดท้ายนี้ สุขภาพของหลวงพ่อจะทรุดโทรมลงอย่างน่าเป็นห่วง แต่ท่านก็ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจของท่านในการปรับปรุงเกาะพุทธธรรม ทับมิ่งขวัญ ให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่จะก่อประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ปฏิบัติ พรรษาสุดท้ายท่านจึงได้ไปจำพรรษาอยู่ที่ ทับมิ่งขวัญ จังหวัดเลย แม้ว่าท่านจำเป็นต้องเดินทางมากรุงเทพฯ ถึงเดือนละ 2-3 ครั้ง เพื่อรับการตรวจรักษาตามที่แพทย์แนะนำ ท่านสู้ทนตรากตรำด้วยเมตตาธรรม หวังจะสร้างเกาะพุทธธรรมให้เป็นที่ผลิตผู้รู้ธรรมะออกไปอบรมสั่งสอนเพื่อนมนุษย์ ท่านเคยพูดว่าต่อไปภายหน้าเกาะพุทธธรรมนี้ จะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ไม่แพ้ที่ใด

ปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2531 หลวงพ่ออาพาธด้วยโรคนิวมอเนีย ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดเลย และกลางเดือนสิงหาคม ขณะที่เดินทางกลับจากจังหวัดเลย หลวงพ่อถูกฝน ต่อมามีไข้สูงและอ่อนเพลียลง แพทย์ตรวจพบว่า หลวงพ่ออาพาธด้วยโรคปอดบวมจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ขณะเดียวกันอาการของโรคมะเร็งได้กำเริบหนักขึ้น สุขภาพของหลวงพ่อทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว เป็นที่วิตกห่วงใยแก่บรรดาศิษยานุศิษย์ แม้ว่าจะทราบดีว่าสภาวะจิตของท่านนั้นอยู่เหนือวิบากทั้งปวงของสังขารแล้วก็ตามที วันหนึ่งศิษย์ที่เฝ้ารักษาพยาบาลได้กราบเรียนถามท่านว่า "หลวงพ่อมีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ไม่มีทุกข์ ใช่ไหม ขอรับ" ท่านยิ้มและตอบว่า "ใช่"

วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2531 หลวงพ่อออกจากโรงพยาบาลและกลับมาพำนักที่วัดสนามใน วันที่ 6 กันยายน ท่านปรารภว่าจะกลับไปจังหวัดเลย บรรดาศิษย์ได้กราบเรียนทักท้วงว่า หากท่านเดินทางไปจังหวัดเลยในขณะนั้น ท่านก็จะต้องเดินทางกลับมากรุงเทพฯ อีก ในวันที่ 13 กันยายน เพื่อรับการตรวจร่างกายตามที่แพทย์นัด แต่หลวงพ่อกล่าวว่าท่านจะไม่กลับมาอีก และในวันที่ 7 กันยายน หลวงพ่อได้มอบหมายให้พระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นผู้พยาบาลท่าน ติดต่อให้ศิษย์ที่ใกล้ชิดจองตั๋วเครื่องบินไปจังหวัดเลย เที่ยวบินวันที่ 9 กันยายน โดยท่านให้จองตั๋วเที่ยวไปเท่านั้น เพราะท่านจะไม่กลับมาอีก ทั้งนี้ท่านกำชับมิให้บอกผู้ใด ต่อมาเมื่อญาติโยมและบรรดาศิษย์ได้รับทราบข่าวว่าหลวงพ่อจะเดินทางกลับจังหวัดเลย จึงพากันกราบเรียนขอร้องมิให้ท่านเดินทางไปจังหวัดเลย ท่านกล่าวว่า "โรครักษาได้ แต่ชีวิตรักษาไม่ได้"

วันที่ 9 กันยายน หลวงพ่อเดินทางกลับจังหวัดเลย โดยมีศิษย์ที่เป็นพระภิกษุและที่เป็นฆราวาสกลุ่มหนึ่งเดินทางไปส่งท่าน ในขณะนั้นอาการของหลวงพ่อทรุดหนักจนเป็นที่น่าวิตกว่า ร่างกายของท่านอาจจะไม่สามารถทนต่อความกระทบกระเทือนจากการเดินทางได้ เมื่อเดินทางถึงทับมิ่งขวัญ จังหวัดเลย หลวงพ่อปฏิเสธที่จะฉันยาทุกชนิด แม้ว่าหลวงพ่อจะมีวิบากของสังขารหนักหนาปานใด ท่านก็ยังเมตตาแสดงธรรมโปรดญาติโยมและศิษย์ที่มาเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้น

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2531 เวลา 18.15 น. หลวงพ่อได้ละสังขารอย่างสงบ ณ ศาลามุงแฝก ของเกาะพุทธธรรม ทับมิ่งขวัญ สถานที่ปฏิบัติธรรมที่หลวงพ่อได้ทุ่มแรงกายแรงใจในช่วงสุดท้ายของชีวิต


๏ ธรรมโอวาท

ธรรมโอวาทของหลวงพ่อ เป็นคำกล่าวหรือคำพูดง่ายๆ แต่มีความหมายอย่างลึกซึ้งสำหรับผู้รู้ ผู้เข้าใจด้วยสติปัญญา และการประพฤติปฏิบัติธรรม หลวงพ่อกล่าวว่าคนฟังธรรมะ มี 3 ประเภทประเภทที่หนึ่ง ฟังแล้วเข้าใจส่งเสริมสนับสนุนช่วยท่าน ประเภทที่สอง ฟังแล้วกลายเป็นฝ่ายตรงกันข้าม หาวิธีกลั่นแกล้ง ขัดขวาง ประเภทที่สาม ฟังแล้วก็แล้วไป ไม่มีความสนใจแต่ประการใด

พวกที่ไม่เห็นด้วยกับคำสอนของหลวงพ่อ ก็สงสัยหลวงพ่อว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์ เช่น หลังจากที่หลวงพ่อเปิดอบรมวิปัสสนาอยู่ระยะหนึ่ง ก็เริ่มมีผู้กล่าวหาว่าหลวงพ่อเป็นคอมมิวนิสต์ เนื่องจากคำสอนของหลวงพ่อขัดแย้งกับสิ่งที่คนเหล่านั้นประพฤติปฏิบัติอยู่ หลวงพ่อสอนให้เลิกละธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งแท้จริงแล้วมิได้เกื้อกูลต่อการสร้างบุญสร้างกุศลแต่อย่างใด เช่น การฆ่าวัว ฆ่าควาย หรือการเลี้ยงสุกร เครื่องดองของเมา การเล่นการพนันในงานบุญ ท่านกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวไม่ใช่บุญ แต่เป็นบาป ผู้ที่ไม่เข้าใจจึงกล่าวหาว่าท่านลบล้างขนบธรรมเนียมประเพณี หลวงพ่อเล่าว่าบางคนไม่เข้าใจเรื่องการทำบุญ คนประเภทนั้นเมื่อไม่รู้จักบุญ ก็ย่อมเอาบุญไม่ได้ หรือทำบุญแต่อาจกลายเป็นบาปไปได้

ธรรมโอวาท มักปรากฏในการเทศนาธรรมของหลวงพ่อ หรือมีผู้สนใจธรรมะไปซักถามและสนทนาธรรมกับหลวงพ่อ ปัจจุบันสามารถหาฟังการเทศนาธรรมของหลวงพ่อจากเทปธรรมะที่มีผู้บันทึกเสียงเอาไว้ และสามารถหาอ่านหนังสือธรรมะของหลวงพ่อ ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมและญาติธรรมได้ดำเนินการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม อยู่ประมาณไม่ต่ำกว่า 43 เล่ม เช่น วิธีปฏิบัติธรรมเพื่อเอาไปประยุกต์ใช้กับการงานทุกอย่าง วิธีปฏิบัติธรรมทางลัด การเจริญสติสว่างที่กลางใจ ความรู้สึกตัว ธรรมะแท้ต้องรู้อย่างเดียวกัน พลิกโลกเหนือความคิด การประจักษ์แจ้งสัจจะ รู้อย่างไม่รู้ รู้อย่างผู้รู้ ความหลุดพ้น เป็นต้น

ธรรมโอวาทที่ฟังแล้วเรียบง่าย มักไม่ปะปนไปด้วยสำนวนโวหาร เช่น

"การปฏิบัติธรรมะ นั้นวิธีใดก็ดี ถ้ามันทำประโยชน์ให้กับเรา หมดข้อข้องแวะ แต่ขอให้หมดจริงๆ ต้องปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อหลอกตัวเอง ต้องปฏิบัติจริงๆ คนจริงย่อมรู้ของจริง"

"คนโง่สอนคนฉลาดไม่ได้ คนฉลาดสอนคนฉลาดหรือคนโง่ได้"

"การถวายหมากพลู บุหรี่ เป็นเรื่องพอกพูนความชั่วให้พระมีความผิด เรียกว่าเอากิเลสไปให้พระ เราอยากละกิเลส แต่เราไม่รู้จักกิเลส"

"ความรู้สึกตัวเป็นรากเหง้าของบุญ ความไม่รู้สึกตัวเป็นรากเหง้าของบาป"

"ความสงบที่แท้จริงจะเกิดขึ้น ต่อเมื่อเราหยุดการแสวงหา ต่อเมื่อเราไม่ต้องวิ่งหาบุคคลอื่นนั้น เรียกว่า ความสงบ"

"การแสวงหาพระพุทธเจ้าก็ตาม แสวงหาพระอรหันต์ก็ตาม แสวงหามรรคผลนิพพานก็ตาม อย่าไปแสวงหาที่ๆ มันไม่มี แสวงหาตัวเรานี้ ให้เราทำความรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอนี่แหละ จะรู้จะเห็น" ฯลฯ


๏ ปัจฉิมบท

จากประวัติของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ทำให้ทราบว่าหลวงพ่อได้แสวงหาและปฏิบัติธรรม ตั้งแต่บรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งในขณะนั้นมีอายุได้ราว 10 ขวบ และขณะเป็นฆราวาสก็สนใจการทำบุญและแสวงหาธรรมะมาโดยตลอด จากคำนำในหนังสือ ปกติ : หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และสิ่งที่ฝากไว้ ซึ่งกลุ่มเทียนสว่างธรรม ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

"...นับเป็นประวัติชีวิตที่เรียบง่าย ไม่มีสิ่งใดบ่งชี้ถึงความมหัศจรรย์ หรืออำนาจเร้นลับเกินมนุษย์ธรรมดา ไม่มีความพิสดาร หรืออิทธิปาฏิหาริย์ใดใดอันจะเป็นเครื่องโน้มน้าวให้ติดตามต่อไปจนถึงสาระสำคัญที่สุดคือ แก่นแท้ของธรรมะ เพราะสำหรับหลวงพ่อแล้วสิ่งนั้นเป็นเหตุให้บุคคลใช้เวลาในการเดินทางไปสู่ความหลุดพ้นยาวนานเกินความจำเป็น ด้วยอาจจะพลัดหลงหรือติดอยู่ในความมหัศจรรย์ของเปลือกของกระพี้นั้น หลวงพ่อท่านจึงมุ่งเน้นให้เข้าใจในหลักปฏิบัติ และให้ทุ่มเทความเพียรในการปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นภาระกิจที่มนุษย์ทุกคนพึงกระทำให้แก่ชีวิตของตน..."

"บุคลิกภาพ อุปนิสัย และปฏิปทาของหลวงพ่อ น่าเคารพเลื่อมใส มีความปกติกายปกติใจอย่างเห็นได้ชัด เรียบง่ายและมีความเกรงใจผู้อื่นอยู่เป็นนิจ มีความกตัญญูต่อบุคคลที่ได้เคยช่วยเหลือเกื้อกูลท่าน ท่านมีความระลึกถึงและหาโอกาสตอบแทนความดีของบุคคลเหล่านั้นอยู่เสมอ หลวงพ่อมีความอ่อนโยนและเกรงใจผู้อื่น แต่ท่านก็มีความมั่นคงและเด็ดขาด" นี่เป็นคำกล่าวของผู้ที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดประพฤติปฏิบัติธรรม และอุปัฏฐากหลวงพ่อ



.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.manager.co.th/dhamma/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 09 ม.ค. 2013, 6:50 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

กระทู้ในบอร์ดใหม่

ประวัติและปฏิปทา “หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ”
วัดสนามใน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี (โดยละเอียด)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44206

รวมคำสอน “หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38672
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง