Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระนันทเถระ [พุทธอนุชา] (เอตทัคคะ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่หัวข้อนี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไข หรือตอบได้
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 06 ก.ย. 2006, 7:38 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

พระนันทเถระ (พุทธอนุชา)
เอตทัคคะในทางผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์


ในรายนามของพระมหาสาวกที่ปรากฏอยู่ใน อรรถกถาเล่มที่ ๕๓ อรรถกถาวังคีสเถรคาถาที่ ๑ ปรากฎอยู่ ๘๐ ชื่อ ครบตามจำนวน อสีติมหาสาวก ที่แปลว่า แปดสิบ แต่ปรากฎชื่อ พระนันทเถระ ซ้ำอยู่ ๒ ชื่อ ได้พยายามค้นทั้งในพระบาลี และ อรรถกถาทั้งหมด ก็พบว่า พระเถระที่ชื่อ “นันทะ” นี้ ในพระบาลีปรากฏอยู่ ๓ ท่านด้วยกันคือ

๑. พระนันทะ พระอนุชาของพระบรมศาสดา ผู้เกิดแต่พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุฉาเจ้า และเป็นเอตทัคคะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์

๒. พระนันทะ ผู้ซึ่งเดิมเป็นนายโคบาล ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ เกิดความเลื่อมใสขอบรรพชา และต่อมาสำเร็จเป็นพระอรหันต์ (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ ทารุขันธสูตร) และ

๓. พระนันทะ ซึ่งเดิมเป็น ๑ ใน ๑๖ ของศิษย์ของพราหมณ์พาวรีที่ส่งไปเฝ้าพระบรมศาสดาต่อมาก็ได้บรรลุพระอรหัตทั้ง ๑๖ ท่าน และทุกท่านก็มีรายชื่ออยู่ในพระอสีติมหาสาวก

แต่ประวัติที่จะกล่าวต่อไปนี้หมายเอาถึงพระนันทเถระ ที่เป็นพุทธอนุชา

ควรจะได้ทราบว่าการที่พระนันทเถระได้รับการสถาปนาในตำแหน่งที่เป็นเลิศเช่นนั้น ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ พระเถระเป็นผู้สั่งสมบำเพ็ญบารมีในเรื่องการสำรวมอินทรีย์นั้นในตลอดอดีตชาติที่ผ่านมา และ ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังเนื่องจากท่านได้ตั้งปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้


๐ ความปรารถนาในอดีต
กระทำมหาทานแด่พระปทุมุตตระพุทธเจ้า


ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ พระเถระนี้เกิดในเรือนแห่งผู้มีตระกูล ในพระนครหงสาวดีครั้นเติบใหญ่แล้วได้เข้าฟังธรรมในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งในตำแหน่งแห่งภิกษุผู้เลิศ ฝ่ายคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ก็ปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้บำเพ็ญมหาทานอันมากไปด้วยบูชาและสักการะแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า และภิกษุสงฆ์ ได้น้อมถวายผ้าที่ทอในแคว้นโขมะที่มีเนื้อละเอียดอ่อนยิ่งนัก ด้วยจิตเลื่อมใส มีความเคารพนับถือมาก ในพระผู้มีพระภาคเจ้า และได้ตั้งปณิธานว่า ในอนาคตกาล ขอเป็นเช่นสาวกในตำแหน่งนั้นของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล

พระปทุมุตระพุทธเจ้า ทรงพยากรณ์ท่านว่า ด้วยการถวายผ้านี้ ท่านจักเป็นผู้มีผิวพรรณดังทองคำ จักได้เป็นพระอนุชาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม ท่านจะเป็นผู้มีราคะอันกล้า มีปกติสุขประกอบด้วยความกำหนัดในกาม เป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าจะทรงตักเตือน แต่นั้นก็จักบวช ครั้นบวชในพระศาสนาของพระโคดมนั้นแล้ว จักกำหนดรู้อาสวะทั้งปวง ไม่มีอาสวะ และจักนิพพาน


๐ บุรพกรรมในสมัยระหว่างพระพุทธเจ้าอัตถทัสสี

ครั้นในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่าอัตถทัสสี เกิดเป็นเต่าใหญ่ ในแม่น้ำชื่อว่า วินดา วันหนึ่งเห็นพระศาสดา ประทับยืนอยู่ที่ริมฝั่ง เพื่อจะข้ามฝั่งน้ำ มีความประสงค์จะยังพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ข้ามด้วยตนเอง จึงหมอบลงแทบบาทมูลของพระศาสดา พระศาสดาทรงเล็งดูอัธยาศัยของมัน แล้วเสด็จประทับขึ้นสู่หลัง มันร่าเริงยินดี แล้วว่ายตัดกระแสน้ำไปโดยเร็ว ยังพระศาสดาให้ถึงฝั่งอย่างฉับพลัน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุโมทนา ตรัสบอกกุศลที่จะเกิดแก่มันแล้วเสด็จหลีกไป

ต่อแต่นั้น ก็ท่องเที่ยวตายเกิดไปในภูมิเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ในกัปที่ ๑๐,๐๐๐ ในกาลก่อนแต่กัปนี้ไป ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิถึง ๔ วาระ มีพระนามเดียวตลอดว่า เจละ

ก็ภายหลังล่วงไปได้ ๖ ล้านกัป ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ครั้ง พระนามว่า อุปเจละ เหมือนกันทุกครั้ง ในกัปหนึ่งๆ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิทุกกๆ ๔ ชาติ

ในกัปที่ ๕,๐๐๐ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ครั้ง พระนามว่าเจละ ทุกครั้งอีก เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้สมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการ ได้เป็นใหญ่เป็นประธาน ในทวีปทั้ง ๔ ทุกทวีป คือ ชมพูทวีป อปรโคยานทวีป อุตตรกุรุทวีป และปุพพวิเทหทวีป


๐ เกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์

ก่อนที่ท่านจะเกิดมาในสมัยพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์ คือ

เกิดเป็นพระมหาอุปราชของ พระพุทธองค์ซึ่งเสวยพระชาติเป็นพระเจ้ากุรุราชโพธิสัตว์ ใน กุรุธรรมชาดก


๐ พระบรมศาสดาทรงอุบัติ

ส่วนพระโพธิสัตว์ของเราจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต มาถือปฏิสนธิในครรภ์ของอัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ทรงเจริญวัยโดยลำดับ ทรงครองเรือนอยู่ ๒๙ ปี แล้วทรงเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณโดยลำดับ ทรงยับยั้งที่โพธิมัณฑสถาน ๗ สัปดาห์ ประกาศพระธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ทรงกระทำการอนุเคราะห์โลก ครั้นเมื่อพระเจ้าสุทโธทนทรงสดับข่าวว่าพระบรมศาสดามายังกรุงราชคฤห์ จึงทรงรับสั่งให้อำมาตย์กาฬุทายี ไปนิมนต์พระบรมศาสดา อำมาตย์กาฬุทายีก็ได้บวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชาแล้วพระกาฬุทายีเถระทูลวิงวอนให้เสด็จไปโปรดพระพุทธบิดายัง ณ กรุงกบิลพัสดุ์


๐ กำเนิดเป็นเจ้านันทศากยะในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ในพุทธกาลนี้ ท่านได้บังเกิดในพระครรภ์ของพระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้ทรงเป็นพระกนิษฐภคินี (น้องสาว) ของพระนางสิริมหามายา (พระพุทธมารดา) โดยเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ในพระนครกบิลพัสดุ์ ทรงมีพระน้องนางพระนามว่าเจ้าหญิงนันทา (ซึ่งต่อมาทรงบรรพชาเป็นภิกษุณี และพระบรมศาสดาทรงสถาปนาพระนันทาเถรี ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณี สาวิกา ผู้ยินดีในฌาน) ในวันขนานพระนามพระกุมาร พระประยูรญาติได้ขนานพระนามว่า นันทะ ดังนี้ ก็เพราะทรงทำให้หมู่พระญาติเกิดความยินดีเมื่อทรงมีพระประสูติกาล เพราะท่านประกอบด้วยลักษณะแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ

ครั้นเมื่อเติบใหญ่ขึ้นทรงเป็น กุลบุตรที่มีพระรูปงาม แข็งแรง สมบูรณ์ด้วยกำลัง เป็นผู้มากด้วยราคะจริต


๐ พระศาสดาเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์

ครั้นเมื่อพระบรมศาสดาเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว ในวันรุ่งขึ้น เสด็จเข้าไปบิณฑบาต โปรดพระบิดาให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล โปรดพระนางมหาปชาบดีโคตมีให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล และโปรดพระราชบิดา ให้ดำรงอยู่ในสกทาคามิผล ในกาลเสร็จภัตกิจ ทรงอาศัยการพรรณนาพระคุณของราหุลมารดา ตรัสจันทกินนรีชาดก

ในวันที่ ๓ แต่วันนั้น วันนั้นเอง พระนันทราชกุมาร มีมหามงคล ๕ อย่าง คือ (๑) แก้พระ เกศา (๒) ผูกพระสุพรรณบัฏ (๓) ฆรมงคล (๔) อาวาหมงคล (๕) ฉัตรมงคล โดยนันทกุมารจะอภิเษกกับนางชนบทกัลยาณีในวันนั้น พระบรมศาสดาได้รับนิมนต์ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตที่ในวัง หลังจากทรงเสร็จภัตตกิจแล้ว ทรงประทานบาตรในหัตถ์ของนันทกุมาร ตรัสอวยพรแล้วเสด็จลุกจากอาสนะแล้วหลีกไป หาได้ทรงรับบาตรจากหัตถ์ของนันทกุมารไม่


๐ นันทะพุทธอนุชาออกบวช

ฝ่ายนันทกุมารนั้น ด้วยความเคารพในพระตถาคต จึงมิอาจทูล( เตือน ) ว่า “ขอพระองค์รับบาตรไปเถิด พระเจ้าข้า” แต่คิดอย่างนี้ว่า “พระศาสดา คงจักทรงรับบาตรที่หัวบันได” แม้ในที่นั้นพระศาสดาก็มิได้ทรงรับ

นันทกุมารนคิดว่า “คงจักทรงรับที่ริมเชิงบันได” แม้ในที่นั้น พระศาสดา ก็ไม่ทรงรับ

นันทกุมารก็คิดว่า “จักทรงรับที่พระลานหลวง” แม้ในที่นั้น พระศาสดา ก็ไม่ทรงรับ

พระกุมารปรารถนาจะเสด็จกลับ (แต่) จำเสด็จไปด้วยความไม่เต็มพระทัย แต่ด้วยความเคารพในพระตถาคต จึงไม่สามารถทูลว่า “ขอพระองค์ทรงรับบาตรเถิด” ทรงเดินนึกไปว่า “พระองค์จักทรงรับในที่นี้ พระองค์จักทรงรับในที่นี้”

ในขณะนั้น หญิงพวกอื่นเห็นอาการนั้นแล้ว จึงบอกแก่นางชนบทกัลยาณีว่า “พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพานันทกุมารเสด็จไปแล้ว คงจักพรากนันทกุมารจากพระแม่เจ้า”

ฝ่ายนางชนบทกัลยาณีนั้นได้ยินคำนั้นแล้ว มีหยาดน้ำยังไหลอยู่เทียวมีผมอันเกล้าได้กึ่งหนึ่ง รีบไปทูลว่า “ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระองค์รีบเสด็จกลับมาโดยเร็วเถิด” คำของนางนั้น ประหนึ่งตกไปขวางตั้งอยู่ในหทัยของนันทกุมาร

แม้พระศาสดา ก็ยังไม่ทรงรับบาตรจากหัตถ์ของนันทกุมารนั้นเลย

ทรงนำนันทกุมารนั้นไปสู่วิหารแล้วตรัสว่า “นันทะ เธออยากบวชไหม ?”

นันทกุมารนั้น ด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า จึงไม่ทูลว่า “จักไม่บวช” ทูลรับว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จักบวชพระเจ้าข้า”

พระศาสดารับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากระนั้น เธอทั้งหลายจงให้นันทะบวชเถิด”

หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงโปรดให้บวชนันทกุมารแล้ว ต่อมาก็ทรงโปรดให้บวชพระราหุล ผู้เป็นพระโอรส และแสดงธรรมโปรดพระบิดาให้ดำรงอยู่ในอนาคามิผลแล้ว ก็เสด็จกลับไปสู่กรุงราชคฤห์ จากนั้นเสด็จไปจำพรรษาในพระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี ที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย

Image

๐ พระนันทะอยากสึก

ฝ่ายพระนันทเถระ ครั้นเมื่อต้องจำพระทัยบวชแล้ว ก็มิได้เอาพระทัยใส่ในวัตรปฏิบัติมากนัก ด้วยความที่มีพระทัยมุ่งไปทางราคจริต จึงทรงเอาพระทัยใส่อยู่ในการแต่งพระองค์ โดยไม่ระมัดระวัง จนในทำให้เกิดเสียงตำหนิและเป็นสาเหตุให้พระบรมศาสดาทรงบัญญัติพระวินัย ดังเช่น

พระนันทเถระกับการบัญญัติพระวินัยบางข้อ

โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระนันทะโอรสพระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ทรงโฉม เป็นที่ต้องตาต้องใจ พระวรกายต่ำกว่าพระผู้มีพระภาค ๔ องคุลี ท่านทรงจีวรเท่าจีวรพระสุคต ภิกษุเถระได้เห็นท่านพระนันทะมาแต่ไกล ครั้นแล้วลุกจากอาสนะสำคัญว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมา ท่านพระนันทะเข้ามาใกล้จึงจำได้ แล้วเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ท่านพระนันทะจึงได้ทรงจีวรเท่าจีวรของพระสุคตเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

ทรงสอบถาม

พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระนันทะว่า ดูกรนันทะ ข่าวว่า เธอทรงจีวรเท่าจีวร สุคต จริงหรือ ?

ท่านพระนันทะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า


ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรนันทะ ไฉนเธอจึงได้ทรงจีวรเท่าจีวรของสุคต เล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อ ความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้


พระบัญญัติ

อนึ่ง ภิกษุใด ให้ทำจีวรมีประมาณเท่าสุคตจีวร หรือยิ่งกว่า เป็น ปาจิตตีย์ มีอันให้ตัดเสีย นี้ประมาณแห่งสุคตจีวรของพระสุคตในคำนั้น โดยยาว ๙ คืบ โดยกว้าง ๖ คืบ ด้วยคืบสุคต นี้ประมาณแห่งสุคตจีวรของพระสุคต


ในเรื่องวัตรปฏิบัติของท่าน ก็ยังมีเรื่องที่ทำให้พระบรมศาสดาต้งทรงเรียกพระนันทะมาตักเตือน ดังนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระนันทะผู้เป็นบุตรของพระเจ้าแม่น้าแห่งพระผู้มีพระภาคห่มจีวรที่ทุบและกลับทุบแล้ว หยอดนัยน์ตา ถือบาตรมีสีใส เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

ครั้นท่านพระนันทะนั่งเรียบร้อยแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรนันทะ ข้อที่เธอห่มจีวรที่ทุบและกลับทุบแล้ว หยอดนัยน์ตา และถือบาตรมีสีใส ไม่สมควรแก่เธอผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา ข้อที่เธอถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และไม่พึงเป็นผู้เพ่งเล็งในกามทั้งหลายอยู่อย่างนี้ จึงสมควรแก่เธอผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา ฯ

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

เมื่อไร เราจะพึงได้เห็นนันทะ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโภชนะที่เจือปนกัน
ผู้ไม่อาลัยในกามทั้งหลาย ดังนี้ ฯ


ตั้งแต่วันที่ตรัสพระสูตรนี้ พระเถระเพียรพยายามอยู่โดย ๒๓ วันเท่านั้น ก็ดำรงอยู่ในพระอรหัต เป็นทักขิไณยบุคคลผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลก แต่ก่อนที่ท่านจะบรรลุพระอรหัตผลนั้น พระบรมศาสดาก็ทรงต้องใช้อุบายในการทรมานพระนันทะให้ละจากกาม เรื่องมีดังต่อไปนี้

เวลาต่อมา ท่านพระนันทะจึงได้เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร อย่างไรก็ตาม ท่านก็ยังคงระลึกถึงคำพูดของนางชนบทกัลยาณีอยู่นั่นเอง ขณะนั้น เหมือนกับนางชนบทกัลยาณีนั้น มายืนอยู่ไม่ไกล นันทกุมารนั้น ถูกความกระสัน อยากลาสิกขา บีบคั้นหนักๆ เข้า ก็เดินไปหน่อยหนึ่ง เมื่อเดินผ่านพุ่มไม้หรือกอไม้ ก็เหมือนกับพระทศพลมาประทับยืนอยู่เบื้องหน้า ท่านก็ห่อเหี่ยวเหมือนขนไก่ที่เอาใส่กองไฟ จึงกลับเข้าไปที่อยู่ของตน

พระศาสดาทรงพระดำริว่า นันทะอยู่อย่างประมาทเหลือเกิน ไม่อาจระงับความกระสันสึกได้ จึงควรทำการดับความร้อนจิตของเธอเสีย

เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวันอย่างนี้นั่นแล ท่านพระนันทะกระสันขึ้นแล้ว จึงบอกเนื้อความนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ผู้มีอายุ ข้าพเจ้าไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถที่จะสืบต่อพรหมจรรย์ไปได้ ข้าพเจ้าจักกล่าวคืนสิกขาแล้วสึก” พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับความเป็นไปนั้นแล้ว รับสั่งให้หาท่านพระนันทะมาเฝ้าแล้วตรัสคำนี้ว่า “จริงหรือนันทะ ? ได้ยินว่า เธอบอกกล่าวแก่ภิกษุหลายรูปอย่างนี้ว่าจักกล่าวคืนสิกขาแล้วสึกหรือ ?”

พระนันทะ “จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคเจ้า “นันทะ ก็เธอได้ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถจะสืบต่อพรหมจรรย์ไปได้ จะกล่าวคืนสิกขาสึกไปเพื่อเหตุอะไร ?”

พระนันทะ “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ออกจากเรือน นางชนบทกัลยาณีผู้ศากิยะ มีผมอันเกล้าได้กึ่งหนึ่ง ได้ร้องสั่งคำนี้กะข้าพระองค์ว่า ‘ขอพระองค์รีบเสด็จกลับมาโดยเร็วเถิด’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นั้นแล หวนระลึกถึงคำนั้นอยู่ จึงไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถจะสืบต่อพรหมจรรย์ไปได้ จักกล่าวคืนสิกขาสึกไป”

พระศาสดาทรงทรมานพระนันทะ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า “ดูก่อนนันทะ เธอเคยจารึกไปป่าหิมพานต์หรือเปล่า”

พระนันทะกราบทูลว่า “ไม่เคยไปเลยพระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนนันทะ ถ้าเช่นนั้นเราไปกัน”

พระนันทะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีฤทธิ์จะไปได้อย่างไรพระพุทธเจ้าข้า”

พระศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนนันทะ เราจะพาเธอไปด้วยกำลังฤทธิ์ของเราเอง”

แล้วทรงจับมือพระนันทะเหาะขึ้นไปสู่อากาศ ในระหว่างทาง ทรงแสดงถึงนาที่ถูกไฟไหม้แห่งหนึ่งแล้วทรงแสดงถึงนางลิงตัวหนึ่งซึ่งมีจมูกและหางด้วน มีขนถูกไฟไหม้ มีผิวเป็นริ้วรอย หุ้มห่อไว้เพียงแต่หนัง นั่งนับเจ่าอยู่บนตอไฟไหม้ แล้วตรัสถามว่า

“ดูก่อนนันทะ เธอเห็นลิงตัวนั้นไหม”

พระนันทะกราบทูลว่า “เห็นพระพุทธเจ้าข้า”

พระศาสดาตรัสว่า “เธอจงกำหนดไว้ให้ดี”

ครั้นแล้วก็ทรงพาพระนันทะไปทรงชี้ให้ดูพื้นมโนสิลา ประมาณหกสิบโยชน์ สระใหญ่เจ็ดสระ มีสระอโนดาตเป็นต้น แม่น้ำใหญ่ห้าสาย และภูเขาหิมพานต์อันน่ารื่นรมย์หลายร้อยลูก ซึ่งเรียงรายไปด้วยเขาทอง เขาเงิน และเขาแก้วมณี แล้วตรัสถามว่า

“ดูก่อนนันทะ เธอเคยเห็นภพดาวดึงส์หรือ”

พระนันทะกราบทูลว่า “ไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้าข้า”

พระศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนนันทะ เธอจงมาเราจักแสดงภพดาวดึงส์แก่เธอ”

แล้วทรงพาไปถึงภพดาวดึงส์ ประทับนั่งเหนือบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ท้าวสักกเทวราช พร้อมด้วยหมู่เทวดาในเทวโลกก็พากันเสด็จมาเฝ้า ทั้งหมดได้ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ส่วนหนึ่ง เหล่าเทพอัปสรประมาณ ๕๐๐ นางอัปสรเหล่านั้นแม้ทั้งหมดเคยให้น้ำมันทาเท้าแก่สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า กัสสป จึงเป็นผู้มีเท้าดุจเท้าของนกพิราบ ผู้เป็นนางบำเรอ ก็พากันมาถวายบังคมนั่งอยู่ข้างหนึ่ง

พระศาสดาทรงให้พระนันทะดูนางอัปสร ๕๐๐ เหล่านั้นบ่อยๆ ด้วยอำนาจกิเลส ตรัสถามว่า

“นันทะ เธอเห็นนางอัปสรสีเท้านกพิราบเหล่านี้ไหมเล่า”

พระนันทะกราบทูลว่า “เห็นพระพุทธเจ้าข้า”

พระศาสดาตรัสถามว่า “นางอัปสรเหล่านี้งาม หรือนางชนปทกัลยาณีงาม”

พระนันทะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ นางลิงขนเกรียนเทียบกับนางชนปทกัลยาณีฉันใด นางชนปทกัลยาณีก็ฉันนั้น เมื่อเทียบกับนางอัปสรเหล่านี้ก็เทียบได้เพียงนางลิง”

พระศาสดาตรัสถามว่า “นันทะบัดนี้เธอจักทำอย่างไรเล่า”

พระนันทะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ ทำกรรมอะไรจึงจะได้นางอัปสรเหล่านั้น”

พระศาสดาตรัสว่า “บำเพ็ญสมณธรรมซิ”

พระนันทะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ หากพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้รับรองเพื่อให้นางเหล่านี้ ข้าพระพุทธเจ้าจักบำเพ็ญสมณธรรม”

พระศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนนันทะ จงบำเพ็ญสมณธรรมเถิด เราจะเป็นผู้รับรองเธอ”

พระเถระถือพระตถาคตเป็นผู้รับรองในท่ามกลางหมู่เทวดาแล้วจึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ ขอพระองค์อย่าทำให้เนิ่นช้านัก เชิญเสด็จมา ไปกันเถิด ข้าพระองค์จักบำเพ็ญสมณธรรม”


๐ พระนันทะสำเร็จอรหัตผล

พระศาสดาตรัสเรียกพระธรรมเสนาบดีมา แล้วตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตร นันทะน้องชายของเรา ได้ยึดเราเป็นผู้รับรอง เพราะเรื่องนางอัปสรทั้งหลายในท่ามกลางหมู่เทวดาในดาวดึงส์เทวโลก โดยอุบายนี้แหละพระองค์ทรงแจ้งแก่ภิกษุที่เหลือโดยมากแก่อสีติมหาสาวกเป็นต้นว่า พระมหาโมคคัลลานะเถระ พระมหากัสสปเถระ พระอนุรุทเถระ พระอานนท์ผู้เป็นคลังพระธรรม

พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเข้าไปหาพระนันทะเถระกล่าวว่า ท่านนันทะ นัยว่าท่านยึดเอาพระทศพลเป็นผู้รับรอง ณ ท่ามกลางหมู่เทวดาในดาวดึงส์เทวโลกว่า เมื่อได้นางเทพอัปสรจักบำเพ็ญสมณธรรมจริงหรือ แล้วย้ำว่าเมื่อเป็นอย่างนี้การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ของท่าน ก็เกี่ยวข้องด้วยมาตุคาม มิใช่หรือ ท่านนั้นไม่ต่างอะไรกับกรรมกรผู้รับจ้างทำการงานเพื่อต้องการสตรี พระเถระละอายยอมจำนนในถ้อยคำดังกล่าว

พระอสีติมหาสาวกและภิกษุที่เหลือทั้งสิ้นก็ได้ทำให้ท่านพระนันทะละอายโดยอุบายเช่นเดียวกันนี้

ครั้งนั้นแล ท่านพระนันทะขวยเขิน ละอาย รังเกียจด้วยวาทะว่า คนรับจ้างบ้าง ด้วยวาทะว่าคนที่พระศาสดาทรงไถ่ไว้บ้าง ของเหล่าภิกษุสหาย จึงหลีกออกไปปฏิบัติธรรมอยู่แต่ผู้เดียว แล้วไม่ประมาท มีความเพียร ต่อกาลไม่นานเลย ได้ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนเพื่อบวชต้องการ ด้วยความรู้ยิ่งเอง สำเร็จแล้ว ได้ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจจำต้องทำๆ เสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี เป็นอันว่าท่านพระนันทะ ได้เป็นพระอรหันต์องค์ใดองค์หนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย

ครั้นเมื่อบรรลุธรรมอันวิเศษแล้วจึงได้กล่าวคาถาว่า

เรามัวแต่ประกอบการประดับตกแต่ง
เพราะไม่มีโยนิโสมนสิการ มีใจฟุ้งซ่าน กลับกลอก ถูกกามราคะเบียดเบียน
เราได้ปฏิบัติโดยอุบายที่ชอบ ตามที่พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ฉลาดในอุบาย
ได้ทรงสั่งสอนแนะนำ แล้วถอนจิตที่จมลงในภพขึ้นได้ ดังนี้


ครั้งนั้น เทวดาองค์หนึ่ง ยังพระเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง ในส่วนแห่งราตรีแล้ว เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว กราบทูลว่าเรื่องที่พระนันทะบรรลุพระอรหัตแด่พระบรมศาสดา

ท่านพระนันทะนั้น รุ่งขึ้นจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้ว ได้กราบทูลคำนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเป็นผู้ประกันของข้าพระองค์ เพื่อให้ได้ซึ่งนางอัปสร ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจเท้านกพิราบ ด้วยการรับรองใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เปลื้องพระผู้มีพระภาคเจ้าจากการรับรองนั่น”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “นันทะ เราก็กำหนดใจของเธอด้วยใจของเรา ทราบแล้วว่า เธอได้ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยความรู้ยิ่งเอง สำเร็จแล้วอยู่ในทิฏฐธรรม แม้เทวดาก็บอกเนื้อความนี้แก่เรา นันทะเมื่อใดแล จิตของเธอ พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะมีความไม่ยึดมั่น เมื่อนั้น เราก็พ้นจากการรับรองนั้น”

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

“เปือกตมคือกามอันผู้ใดข้ามได้แล้ว
หนามคือกามอันผู้ใดย่ำยีได้แล้ว
ผู้นั้น บรรลุความสิ้นไปแห่งโมหะ
ย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์”



๐ พระนันทะถูกฟ้อง

ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้ยังไม่ทราบว่าพระนันทเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว จึงได้ถามท่านพระนันทะว่า “นันทะผู้มีอายุ เมื่อคราวก่อนท่านกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าเป็นผู้กระสันแล้ว’ บัดนี้จิตของท่านเป็นอย่างไร ?” พระนันทะตอบว่า “ผู้มีอายุ ความห่วงใยในความเป็นคฤหัสถ์ของเราไม่มี” พวกภิกษุได้ฟังคำนั้นแล้ว กล่าวกันว่า “ท่านนันทะ พูดไม่จริง ย่อมพยากรณ์พระอรหัตผล ในวันที่แล้วๆ มา กล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าเป็นผู้กระสันแล้ว’ แต่บัดนี้กล่าวว่า ‘ความห่วงใยในความเป็นคฤหัสถ์ของเราไม่มี” ดังนี้

แล้วไปกราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในวันที่แล้วๆ มา อัตภาพของนันทะได้เป็นเช่นกับเรือนที่เขามุงไม่ดี แต่บัดนี้เป็นเช่นกับเรือนที่เขามุงดีแล้ว เพราะว่านันทะนี้ จำเดิมแต่กาลที่ตนเห็นนางเทพอัปสรแล้ว พยายามเพื่อบรรลุที่สุดแห่งกิจของบรรพชิตอยู่ ได้บรรลุกิจนั้นแล้ว” ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า

ยถา อคารํ ทุจฉนนํ วุฏฐี สมติวิชฌติ
เอวํ อภาวิตํ จิตตํ ราโค สมติวิชฌติ.
ยถา อคารํ สุจฉนนํ วุฏฐี น สมติวิชฌติ
เอวํ สุภาวิตํ จิตตํ ราโค น สมติวิชฌติ

“ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดีได้ฉันใด
ราคะย่อมเสียดแทงจิตที่ไม่ได้อบรมแล้วได้ฉันนั้น
ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ฉันใด
ราคะก็ย่อมเสียดแทงจิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ฉันนั้น”


ในกาลจบคาถา ชนเป็นอันมากได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น เทศนาได้สำเร็จประโยชน์แก่มหาชนแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ครั้นทราบความนี้แล้วจึงประชุมกันในโรงธรรมว่า ดูก่อนอาวุโส ท่านพระนันทะรูปนี้ อดทนต่อคำสอนตั้งมั่นหิริและโอตตัปปะไว้ด้วยโอวาทครั้งเดียวเท่านั้น แล้วบำเพ็ญสมณธรรมบรรลุพระอรหัต พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่าภิกษุทั้งหลายพวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อกราบทูลให้ทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นันทะอดทนต่อคำสอนมิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้แต่ก่อน ก็อดทนต่อคำสอนเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า


สังคามาวจรชาดก

ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลคนฝึกช้าง ครั้นเจริญวัยสำเร็จศิลปะฝึกช้าง แล้วรับราชการกับพระราชาผู้เป็นศัตรูของพระเจ้าพาราณสีพระองค์หนึ่ง พระโพธิสัตว์ฝึกหัดช้างมงคลของพระราชานั้นไว้แล้วเป็นอย่างดี พระราชานั้นทรงดำริว่า จักยึดราชสมบัติในกรุงพาราณสี จึงชวนพระโพธิสัตว์เสด็จขึ้นช้างมงคล เสด็จไปล้อมกรุงพาราณสีด้วยกองทัพใหญ่ แล้วทรงส่งสาส์นถึงพระราชาพรหมทัตว่า จะยกราชสมบัติถวายหรือจะรบ

พระราชาพรหมทัตตอบว่า เราจักรบ แล้วรับสั่งให้พลนิกายประจำที่ประตูกำแพงและป้อมค่ายเตรียมรบ พระราชาผู้มีศัตรู เอาเกราะหนังสวมช้างมงคล แม้พระองค์เองก็สวมหนัง เสด็จขึ้นคอช้าง ทรงพระแสงขอคม ทรงใสช้างมุ่งสู่พระนครด้วยทรงหมายพระทัยว่า จักทำลายล้างพระนครปราบปัจจามิตรให้ถึงสิ้นชีวิต และยึดราชสมบัติให้จงได้

ช้างมงคลเห็นทหารซัดทรายอันร้อนเป็นต้น ปล่อยหินยนต์และเครื่องประหารหลายๆ อย่าง ก็หวาดกลัวต่อความตายไม่อาจเข้าใกล้ได้จึงหลีกไป ครั้งนั้นนายหัตถาจารย์เข้าไปหาช้างมงคลพูดปลอบว่า เจ้าก็กล้าหาญเข้าสงคราม ชื่อว่าการล่าถอยอย่างนี้ไม่สมควร เมื่อจะสอนช้างจึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า


ดูก่อนกุญชร ท่านปรากฏว่าเป็นผู้เคยเข้าสงคราม มีความแกล้วกล้า มีกำลังมาก เข้ามาใกล้เขื่อนประตูแล้ว เหตุไรจึงถอยกลับเสียเล่า

ดูก่อนกุญชร ท่านจงหักลิ่มกลอนถอน เสาระเนียด และทำลายเขื่อนทั้งหลาย แล้วเข้าประตูให้ได้โดยเร็วเถิด


ช้างมงคลได้ฟังดังนั้น ก็หันกลับเพราะคำสอนของพระโพธิสัตว์เพียงคำเดียวเท่านั้น แล้วใช้งวงฟันเสาระเนียดถอนขึ้นเหมือนดังถอนเห็ดฉะนั้น แล้วทำลายเสาค่าย ถอดกลอน พังประตูเมือง เข้าพระนครยึดราชสมบัติถวายพระราชา

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก ช้างในครั้งนั้น ได้เป็นนันทะในครั้งนี้ พระราชาได้เป็นพระนันทะ ส่วนนายหัตถาจารย์ คือเราตถาคตนี้แล



๐ พระนันทะเคยถูกล่อด้วยมาตุคาม

ต่อมา ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาว่า “ผู้มีอายุ ชื่อว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอัจฉริยบุคคล ท่านพระนันทะ ชื่อว่าอาศัยนางชนบทกัลยาณีกระสันแล้ว พระศาสดาทรงทำเหล่านางเทพอัปสรให้เป็นอามิสแนะนำได้แล้ว” พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลายบัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยกถาอะไรหนอ ?” เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ด้วยกถาชื่อนี้” ดังนี้แล้ว ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลายไม่ใช่แต่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน นันทะนี้เราก็ได้ล่อด้วยมาตุคามแนะนำแล้วเหมือนกัน” ดังนี้แล้ว อันภิกษุเหล่านั้นทูลอ้อนวอน จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า


๐ บุรพกรรมของพระนันทะ

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี ได้มีพ่อค้าชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่ง ชื่อกัปปกะ ซึ่งเป็นเจ้าของลาเพศผู้ตัวหนึ่ง สามารถบรรทุกนำสัมภาระได้กุมภะหนึ่ง มันเดินไปได้วันละ ๗ โยชน์

สมัยหนึ่ง เขาเดินทางไปยังเมืองตักกสิลา พร้อมด้วยภาระที่บรรทุกหลังลา ครั้นเมื่อถึงแล้วจึงได้ปล่อยลาเที่ยวไปจนกว่าจำหน่ายสิ่งของหมด ครั้งนั้น ลาของเขานั้นเที่ยวไปบนหลังคู พบนางลาตัวหนึ่ง จึงเข้าไปหา นางลาเมื่อจะทำปฏิสันถารกับลาผู้ตัวนั้น จึงกล่าวว่า “ท่านมาแต่ไหน ?”

ลาผู้ “มาแต่เมืองพาราณสี”

นางลา “ท่านมาด้วยกิจอะไร ?”

ลาผู้ “ด้วยกิจของพ่อค้า”

นางลา “ท่านสามารถบรรทุกสัมภาระไปได้เท่าไร ?”

ลาผู้ “สัมภาระประมาณกุมภะหนึ่ง”

นางลา “ท่านเมื่อนำสัมภาระจำนวนเท่านั้นไป ไปได้กี่โยชน์”

ลาผู้ “ได้ ๗ โยชน์”

นางลา “ในที่ซึ่งท่านไปแล้ว นางลาใดๆ ผู้ทำการนวดเท้า หรือประคบประหงมให้แก่ท่านมีหรือ ?”

ลาผู้ “หามีไม่ นางผู้เจริญ”

นางลา “เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านคงได้รับทุกข์มากนะ ?”

จริงอยู่ ชื่อว่าการทำกิจกรรมมีการนวดเท้าเป็นต้น สำหรับสัตว์ดิรัจฉาน ทั้งหลายย่อมไม่มีเป็นแน่แท้ แต่นางลา กล่าวคำเช่นนั้นเพื่อพาดพิงถึงกามสังโยชน์ ลาผู้นั้นก็เกิดกระสันขึ้นด้วยคำของนางลานั้นแล้ว

ฝ่ายกัปปกพาณิช ขายสินค้าหมดแล้ว ไปยังที่ลาพำนัก แล้วกล่าวว่า

“มาเถิด พ่อ เราจักไป”
ลาผู้ตัวนั้นตอบว่า “ท่านจงไปเถิด ข้าพเจ้าจักไม่ไป”


ลำดับนั้น นายกัปปกะ อ้อนวอนลานั้นแล้วๆ เล่าๆ แต่ก็ไม่สำเร็จ จึงคิดว่า “เราจะทำให้เจ้าลาขี้เกียจนั้นเกิดความกลัว” ดังนี้แล้วจึงกล่าวคาถานี้ว่า

“เราจักทำปฏักมีหนามแหลมยาว ๑๖ นิ้วแก่เจ้า
เราจักทิ่มแทงกายของเจ้า
แน่ะเจ้าลา เจ้าจงรู้อย่างนี้”


ลาได้ฟังคำนั้นแล้ก็คิดว่า

“เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็จักตอบโต้กับท่านบ้าง” ดังนี้แล้ว กล่าวคาถานี้ว่า

“หากท่านนำปฏักมีหนามแหลมยาว ๑๖ นิ้ว แก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจักยันข้างหน้า ยกข้างหลังขึ้นแล้ว ยังภัณฑะของท่านให้ตกไป
กัปปกะ ท่านจงรู้อย่างนี้”


พ่อค้าได้ฟังคำนั้น จึงฉงนว่า “ด้วยเหตุใดหนอ ลานี้จึงกล่าวกะเราอย่างนี้ ?” ดังนี้แล้ว เมื่อเหลียวมองดู เห็นนางลานั้นแล้วจึงทราบว่า

“เจ้านี่ คงจะถูกนางลาตัวนี้ ให้สำเหนียกแล้วอย่างนี้ เราต้องล่อมันด้วยมาตุคามว่า “ข้าจักนำนางลาซึ่งมีรูปอย่างนี้มาให้เจ้า” แล้วจักนำไป” ดังนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถานี้ว่า

“เราจักนำนางลาสาว มีเท้า ๔ มีหน้าดุจสังข์ มีสรรพางค์กายงาม มาเป็นภรรยาเจ้า
ข้าแต่กัปปกะ ท่านจงรู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าจักไปให้เร็วขึ้นถึง ๑๔ โยชน์นะ กัปปกะ”


ทีนั้น นายกัปปกะจึงกล่าวกะลานั้นว่า “ถ้ากระนั้น เจ้าจงมาเถิด” ดังนี้แล้ว ได้จูงไปสู่ที่ของตน

ลานั้น โดยกาลล่วงไปสองสามวัน จึงกล่าวกับนายกัปปกะว่า “ท่านได้พูดกะข้าพเจ้าว่า จักนำภรรยามาให้กับข้า ดังนี้มิใช่หรือ ?”

นายกัปปกะตอบว่า

“เออ เรากล่าวแล้ว เราจักไม่ทำลายถ้อยคำของตน จักนำภรรยามาให้เจ้า แต่เราจักให้อาหารแก่เจ้าเฉพาะตัวเดียว อาหารนั้นเพียงพอแก่เจ้า สองตัวผัวเมียหรือไม่ก็แล้วแต่

เจ้าพึงรู้ตัวเองเถอะ แม้ลูกทั้งหลาย อาศัยการสังวาสของเจ้าทั้งสองก็จักเกิดขึ้น อาหารนั้นจะเพียงพอแก่เจ้ากับลูกเป็นอันมากเหล่านั้นหรือไม่ก็ตามที เจ้าพึงรู้เองเถอะ”

ลาเมื่อนายกัปปกะนั้นกล่าวอยู่เช่นนั้น ได้เป็นผู้หมดหวังแล้ว

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงยังชาดกให้จบลงด้วยพระดำรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย นางลาในคราวนั้นได้เป็นนางชนบทกัลยาณี ลาผู้ได้เป็นนันทะ พ่อค้าได้เป็นเราเอง แม้ในกาลก่อน นันทะนี้ เราก็ได้ล่อด้วยมาตุคามแนะนำแล้ว ด้วยประการอย่างนี้” ดังนี้แล


๐ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่ง
เอตทัคคมหาสาวกผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์


ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความที่พระนันทะ เป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายพร้อมกับคุณพิเศษของท่าน เมื่อจะทรงประกาศคุณพิเศษนั้น จึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งของภิกษุผู้เลิศ โดยความเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้ว ในอินทรีย์โดยพระดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระนันทะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้สาวกของเราฝ่ายคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย



.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/
http://www.manager.co.th/Dhamma/
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่หัวข้อนี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไข หรือตอบได้
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง