Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ปัญหา 108 (3) (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 05 ก.ย. 2004, 2:36 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ปัญหา 108 (3)
โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก


วัดป่าสุนันทวนาราม
บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี



คำนำ

ปัญหา 108 (3) เป็นหนังสือที่ได้รวบรวมคำถาม คำตอบ ปัญหาธรรมของผู้เข้ารับการอบรมอานาปานสติ ณ วัดป่าสุนันทวนาราม และที่อื่นๆ ที่ได้กราบมนัสการถามพระอาจารย์มิตซูโอะ นับเป็นผลงานต่อเนื่องจากหนังสือ ปัญหา 108 (1) และปัญหา 108 (2)

หวังว่าหนังสือปัญหา 108 (3) จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านตามสมควร และหวังว่าข้อธรรมะในหนังสือจะเป็นแนวทางสำหรับผู้อ่านนำไปปรับใช้ในการดำรงชีวิตได้เป็นอย่างดี ขออนุโมทนากับทุกท่านที่มีส่วนในการจัดพิมพ์หนังสือ และขอให้ทุกท่านจงเจริญงอกงามในทาน ศีล ภาวนา ยิ่งๆ ขึ้นไป


มูลนิธิมายา โคตมี
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 23 ส.ค. 2006, 1:35 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สารบัญ

ถาม 1 บาปเป็นอย่างไร

ถาม 2 คนที่ฆ่าตัวตายมีบาปมากใช่ไหม

ถาม 3 คนที่ฆ่าตัวตาย ต้องไปเกิดใช้กรรมอีกกี่ภพกี่ชาติ

ถาม 4 จะมีวิธีแนะนำคนที่คิดจะฆ่าตัวตายอย่างไร เพราะเคยชวนเขามาถือศีลแล้ว เขาบอกว่าช่วยอะไรเขาไม่ได้

ถาม 5 เพราะเหตุใดสัตว์ เช่น งู ไส้เดือน ลิง จึงสามารถเกิดเป็นมนุษย์ได้

ถาม 6 ที่พระอาจารย์สอนเรื่องกรรมดำ กรรมขาว ขอเรียนถามว่า กรรมไม่มีดำไม่มีขาวมีหรือไม่

ถาม 7 ทำไมพ่อแม่พี่น้องท้องเดียวกัน จึงมีสภาพความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน เช่น คนหนึ่งรวย คนหนึ่งจน คนหนึ่งขี้โรค คนหนึ่งแข็งแรง เกิดจากเหตุปัจจัยอะไร

ถาม 8 ขอกราบหลวงพ่อช่วยอธิบายธรรม อบรมใจในการปฏิบัติเพื่อต่อสู้กับโรคร้ายที่รักษาไม่หาย เช่น มะเร็ง หรือ โรคเอดส์

ถาม 9 การที่เราไปศึกษาปฏิบัติธรรมหลายๆสำนัก ทำให้ตอนปฏิบัติเกิดความลังเลสงสัยว่าจะเริ่มปฏิบัติอันไหนดี เพราะคิดว่าอันนั้นก็ดี อันนี้ก็ดี พระอาจารย์มีคำแนะนำอย่างไร ?

ถาม 10 ตามที่พระอาจารย์ได้บรรยายถึงเรื่องวิบากกรรมว่า ทำให้คนที่เกิดมาในชาติปัจจุบันต้องได้รับผลดีหรือไม่ดี เช่น รูปร่าง ฐานะ และปัญญา ถามว่าคนพิการ ปัญญาอ่อน สมควรที่จะได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นหรือไม่ เพราะในเมื่อเขารับวิบากการรมของเขาเอง เขาก็ควรชดใช้กรรมนั้น ด้วยตัวเอง ใช่หรือไม่

ถาม 11 พระสงฆ์ที่มีอิทธิฤทธิ์ แต่ใช้ในทางที่ผิดในสมัยพุทธกาลมีหรือไม่ และจะได้รับผลกรรมอย่างไร

ถาม 12 มนุษย์ที่ยังมีกรรมเก่า ได้บวชในพุทธศาสนา จะมีโอกาสบรรลุนิพพานและพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้หรือไม่?

ถาม 13 จิตของพระอรหันต์นั้นเมื่อกายเนื้อดังแล้วจิตยังอยู่ หรือสูญสลายไป

ถาม 14 “พึงละเว้นจากกาม” หมายถึง ละเว้นจากทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้จิตไม่สงบใช่ไหมครับ เช่น การดูหนังฟังเพลง การเล่นกีฬา การสังสรรค์เฮฮาในหมู่เพื่อนฝูง ขอคำแนะนำในการดำเนินชีวิตที่ไม่ขัดแย้งกับสังคม และสามารถละเว้นจากกามหรือความไม่สงบได้ครับ

ถาม 15 มนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร

ถาม 16 ตามที่ท่านอาจารย์เล่าให้ฟังว่ามีบุคคลจำนวนมากฟังพระพุทธเจ้าเทศน์เพียงครั้งเดียวก็สามารถสำเร็จเป็นโสดาบัน หรืออริยบุคคลระดับต่างๆ อยากทราบว่าเขาเหล่านั้นจะต้องผ่านการนั่งภาวนาอย่างที่เราทำอยู่หรือเปล่าคะ

ถาม 17 สำหรับผู้ทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากๆ จนบางครั้งเป็นฟุ้งซ่านไป งานประเภทนี้จะทำให้เกิดอารมณ์ทำให้จิตไม่สงบ สมควรที่มุ่งเน้นงานประเภทนี้ต่อไปหรือไม่

ถาม 18 พระอรหันต์กับพระโพธิสัตว์ต่างกันอย่างไร และทำไมไม่เรียกพระพุทธเจ้าว่าเป็นพระสงฆ์องค์แรก ในเมื่อพระพุทธเจ้าผนวชก่อนองค์อื่นๆ

ถาม 19 ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะเป็นที่รักของผู้อื่น

ถาม 20 การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ แพทย์จะสามารถนำหลักธรรมพรหมวิหาร 4 ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร

ถาม 21 อยากทราบว่านิพพานใช้กับผู้ที่มีชีวิตอยู่ (จิตหมดกิเลส) ได้หรือไม่

ถาม 22 ถ้าความรักคือการให้ แล้วทำไม พระพุทธเจ้าจึงห้ามพระภิกษุแต่งงาน เมื่อความรักทำให้โลกนี้มีความสุข

ถาม 23 กราบเรียนท่านอาจารย์ว่า การเป็นฆราวาสทำงานมีเงินเดือน มีโอกาสทำบุญ บริจาค ยามว่างไปเป็นอาจารย์สอนเด็ก (ไม่รับผลตอบแทน) ไปเยี่ยมเด็กกำพร้า เปรียบเทียบกับพระไม่มีโอกาสทำบุญแบบนี้ อย่างนี้เป็นฆราวาสไม่ดีกว่าหรือครับ

ถาม 24 ขอความกรุณาช่วยอธิบายถึง คู่สามีภรรยาที่ขัดแย้งกัน มีปากเสียงกันเกือบทุกวัน ทั้งๆ ที่ต่างฝ่ายก็เป็นคนดี มีการทำบุญ ทำทาน สวดมนต์ นั่งสมาธิ แก้ไขได้อย่างไร

ถาม 25 กระผมเป็นตำรวจและเป็นพนักงานสอบสวนต้องพบกับประชาชน ซึ่งมีความเดือดร้อนมา บางกรณีทั้งที่เป็นเรื่องเล็กน้อยก็ไม่ยอมกัน จะเอาชนะกันให้ได้ ผมจะอธิบายหรือไกล่เกลี่ยอย่างไรเขาจึงจะพอใจและมีความรู้สึกว่า มาพบตำรวจแล้วความทุกข์ความเดือดร้อนหายไปครับ ?

ถาม 26 จะมีวิธีแก้อย่างไร ที่เพื่อนของเราชอบชวนไปเที่ยวกลางคืน ถ้าไม่ไปเขาก็จะโกรธเรา

ถาม 27 ที่พระอาจารย์สอนว่าคิดว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา นั้น เป็นการคิดผิด แล้วคิดถูกเป็นอย่างไร

ถาม 28 ตามที่พระอาจารย์สอนว่าเมื่อรู้อะไรมาให้เชื่อ 50% ไม่เชื่อ 50% นั้น ถ้าเป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์สอน ก็ควรเชื่อ 50% หรือเปล่าคะ แล้วเมื่อไรควรเชื่อ 100% คะ

ถาม 29 ถ้าความคิดและความรู้สึกเชื่อไม่ได้แล้ว ถ้าเราต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง อยากทราบว่าเราควรใช้อะไรช่วยในการตัดสินใจ

ถาม 30 ขอถามพระอาจารย์ว่ามีผู้ป่ายคนหนึ่งรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เขาตั้งใจว่าเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว จะไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศ ตามหน้าที่ของตน แต่เขาได้เสียชีวิตก่อนวิญญาณของเขาจะไปสู่สุคติหรือไม่ เพราะรู้สึกว่าเขามีเรื่องกังวลอยู่หลายประการ ทั้งหน้าที่การงานและเรื่องในสังคม ต้องการอุทิศส่วนกุศลให้จะทำอย่างไร

ถาม 31 ทานคือการให้ แต่เวลาเอาของไปถวายพระ เรียกว่า การทำบุญ ทำไมเรียกไม่เหมือนกันทั้งๆ ที่เป็นการสละสิ่งของเช่นเดียวกัน

ถาม 32 กรณีภรรยา 2 คน ภรรยาคนแรกมีลูกด้วยกัน อีกคนยังไม่มีลูก ก็รู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี แต่อยู่ด้วยกันมานานแล้ว จะเลิกกับใครคนหนึ่งทำไม่ได้ ควรทำอย่างไร

ถาม 33 ในบทแผ่เมตตา คำว่า กรรมพันธุ พ่อแม่ที่มีลูก แล้วทำผิดศีลข้อสาม ผลของคำว่า กรรมพันธุ โดยสายเลือดของพ่อแม่หรือไม่ ประการใด คือ ลูกจะต้องร่วมรับกรรมอันเกิดจากการกระทำของพ่อแม่ด้วยหรือเปล่าคะ ?

ถาม 34 พระโสดาบันมีนิวรณ์ หรือไม่คะ

ถาม 35 การปฏิบัติสมาธิจะมีขึ้นต่อเมื่อเกิดความอยาก และการปฏิบัติเพราะความอยาก จัดเป็นกิเลสหรือไม่

ถาม 36 การเจริญภาวนาให้บรรลุธรรมะ ขั้นสูง บุคคลควรจะต้องออกจากเรือนใช่หรือไม่ (หมายถึงผู้หญิง)

ถาม 37 ในยุคเศรษฐกิจอย่างนี้ ท่านอาจารย์แนะนำให้ใช้ธรรมะข้อใด

ถาม 38 ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ กับการวางตัวเป็นอุเบกขา เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ถาม 39 เรียนถามพระอาจารย์ว่า การเกิดปัญญานั้นเกิดอย่างไร แล้วทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าเกิดปัญญา

ถาม 40 ชีวิต คือกายกับจิต (ใจ) แล้วสติที่ใช้ระลึกรู้นั้น อยู่ที่ส่วนใดหรือมาจากไหน

ถาม 41 ในเมื่อเวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนาแล้ว ทำไมพระพุทธเจ้าเมื่อเกิดทุกขเวทนาจึงตรัสกับ พระอานนท์ว่า “เราตถาคตมีเวทนามาก เธอจงปูผ้าลาดสังฆาฏิให้เราตถาคตระงับเวทนา”

ถาม 42 แก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออะไร
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 23 ส.ค. 2006, 1:57 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำในวันนี้
ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้
เพราะการผัดเพี้ยนต่อมัจจุราชซึ่งมีเสนามาก
ย่อมไม่มีสำหรับเรา
มุนีผู้สงบย่อมกล่าวเรียกผู้มีความเพียรอยู่อย่างนั้น
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืนว่า
เป็นผู้อยู่แม้เพียงราตรีเดียวก็น่าชม

ภัทเทกรัตตสูตร
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 23 ส.ค. 2006, 2:03 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถาม 1

บาปเป็นอย่างไร


ตอบ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อระลึกถึงสิ่งที่เราทำแล้ว ทางกายก็ดี วาจาก็ดี ใจก็ดี แล้วมีความรู้สึกไม่สบายใจ สิ่งนั้นเรียกว่า บาป ให้พยายามงดเว้น ไม่ทำอีกต่อไป หรือหากจำเป็นต้องทำจริงๆ ก็ให้ทำน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตรงกันข้าม เมื่อระลึกถึงการกระทำของตนแล้วสบายใจ ภูมิใจ สิ่งนั้นเรียกว่า บุญ ก็ทำต่อไป นี่เป็นหลักพิจารณาดูการกระทำของตนเอง ว่าเป็นบุญหรือเป็นบาป

บางคนอาจแย้งถามว่า ถ้าเราฆ่าสัตว์หรือขโมยของคนอื่นแล้วรู้สึกว่า สบายใจ ภูมิใจ เรียกว่าเป็นบุญได้ไหม อย่างนี้ก็มีบ้างเหมือนกัน เช่น คนชอบล่าสัตว์ ตกปลาเป็นงานอดิเรก ชอบทำ ทำแล้วมีความสุข เมื่อจิตหยาบ อวิชชาครอบงำจิตใจของเขาแล้ว ความคิดอย่างนี้ก็มีได้เหมือนกัน

อาจารย์เองสมัยเด็กๆ เคยตกปลา ได้ปลาแล้วดีใจ อวดพ่อแม่ ไม่รู้สึกบาป กลับดีใจ สุขใจ พอเมื่อบวชพระพรรษาที่ 6-7 นั่งสมาธิเป็นชั่วโมงๆ พิจารณาทุกขเวทนา แล้วระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต เห็นปลากินเบ็ดจนกว่าจะปิ้งให้ตาย ปลาคงจะทุกข์ทรมานอย่างนี้เป็นเวลาหลายชั่วโมง เอาใจปลามาใส่ใจเรา เห็นใจของปลาแล้ว สำนึกผิดว่า เราได้ทำบาป ทรมานสัตว์ เป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ควรทำ

เมื่อเราเป็นทุกข์ หรือเห็นทุกข์ด้วยปัญญาแล้ว เราจะเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นด้วยเช่นกัน เอาใจเขามาใส่ใจเราดูบ้าง สิ่งใดที่เราไม่ชอบ เขาก็ไม่ชอบ สิ่งนั้นไม่ควรทำ คนที่ถูกอวิชชาครอบงำจิตใจ ก็มีมากในโลก หรือที่มองไม่เห็นว่าบาปเป็นบาป ก็มีมาก

แต่สำหรับการปฏิบัติของเรา ไม่ต้องกังวล ใช้หลักเบื้องต้นที่อธิบายตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ สิ่งใดเห็นว่าบาป ละไป เลิกไป จิตใจของเราจะค่อยๆ ละเอียดเข้า ละเอียดเข้า ปฏิบัติไปเรื่อยๆ จิตใจก็จะละเอียดขึ้นแล้วมองเห็นบาปเป็นบาป ละเอียดขึ้นจนในที่สุด เข้าถึงการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
 


แก้ไขล่าสุดโดย ลูกโป่ง เมื่อ 23 ส.ค. 2006, 2:20 am, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 23 ส.ค. 2006, 2:19 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถาม 2

คนที่ฆ่าตัวตายมีบาปมากใช่ไหม


ตอบ

ใช่ ลองคิดดู ถ้าลูกหรือญาติพี่น้องของตัวเองฆ่าตัวตาย เวลาจัดงานศพก็พยายามจัดเงียบที่สุด เพราะอายสังคม ถ้าตายธรรมดาก็สามารถบอกคนอื่นๆ เพื่อให้มาแสดงความอาลัยได้ ตั้งแต่โบราณ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็สอนลูกหลานว่า ถ้าฆ่าตัวตายไม่ต้องทำบุญให้ เพราะตายไปแล้วเป็นเปรต ทำบุญให้จะไม่ถึง

ให้เตือนสติเขาอย่างนั้น การทำลายจิตใจผู้บังเกิดเกล้า คุณพ่อ คุณแม่ เป็นบาปหนัก สังเกตดูจากประวัติขององคุลีมาล ฆ่าคนไปแล้ว 999 คน เช้าวันนั้นมารดาจะมาเยี่ยม ลูกชายเป็นมหาโจรขนาดไหนก็ตาม หัวใจของพ่อแม่คิดถึงลูกเป็นธรรมดา

การฆ่าแม่ เรียกว่า อนันตริยกรรม บาปหนัก ห้ามสวรรค์ นิพพาน ตั้งใจปฏิบัติอย่างไรก็ตาม ไม่สามารถขึ้นสวรรค์ บรรลุนิพพานได้ในชาตินี้ อนันตริยกรรม ได้แก่

1. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
2. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
3. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
4. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต
5. สังฆเภท ทำสงฆ์ให้แตกกัน


ฆ่าพ่อแม่คนเดียว บาปหนักกว่าฆ่าคนเป็นพันคน การฆ่าตัวตายของลูก เป็นการฆ่าน้ำใจ ทำลายจิตใจของพ่อแม่เป็นอย่างมาก คงจะเป็นความเสียใจที่สุดของพ่อแม่ก็ได้ ถึงแม้ว่าไม่มีพ่อแม่พี่น้องแล้ว คิดว่าการฆ่าตัวตายไม่ได้ทำร้ายจิตใจใคร ความจริงแล้วการทำลายชีวิตตนเอง ก็เท่ากับฆ่ามนุษย์คนหนึ่งให้ตาย หมายความว่า เป็นบาปหนัก จึงอย่าคิดฆ่าตัวตายนั้นแหละ
 


แก้ไขล่าสุดโดย ลูกโป่ง เมื่อ 23 ส.ค. 2006, 2:30 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 23 ส.ค. 2006, 2:29 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถาม 3

คนที่ฆ่าตัวตาย ต้องไปเกิดใช้กรรมอีกกี่ภพกี่ชาติ


ตอบ

นับไม่ถ้วน


ถาม 4

จะมีวิธีแนะนำคนที่คิดจะฆ่าตัวตายอย่างไร
เพราะเคยชวนเขามาถือศีลแล้ว เขาบอกว่าช่วยอะไรเขาไม่ได้



ตอบ

เข้าวัดฟังธรรม ปฏิบัติธรรมเท่านั้นที่จะช่วยได้ เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้ากล่าวถึงทุกข์กับความดับทุกข์ สามารถดับทุกข์ พ้นทุกข์ได้ แต่ต้องอาศัยกัลยาณมิตร ฟังธรรม สนทนาธรรม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ แล้ว โยนิโสมนสิการ พิจารณาด้วยปัญญาของตัวเองตามเหตุและผลจนเข้าใจชัดเจน และปฏิบัติแก้ปัญหาไป สามารถดับทุกข์ได้ทุกคน คนที่กำลังคิดฆ่าตัวตาย เนื่องจากเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ จนรูสึกว่ามองจากทิศไหนก็ไม่มีทางออก

แต่จริงๆ แล้ว ความดับทุกข์ก็มีอยู่คือ ความดับทุกข์ก็ดับลงตรงใจที่เป็นทุกข์ เช่นเดียวกับความบริสุทธิ์อยู่ที่ความไม่บริสุทธิ์ ความสะอาด อยู่ที่ความไม่สะอาด

คนที่ฆ่าตัวตาย เรียกว่าคิดผิดและจิตมีอุปาทาน ยึดมั่น ความยึดมั่นถือมั่นนี้เอง ที่ทำให้มองเห็นเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ มองไม่เห็นความดี ความงดงาม ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของเขา เหมือนที่เรียกว่า ผมสันเดียวบังภูเขา

เราสังเกตดูเมื่อนั่งสมาธิ ยุงตัวเดียวบินอยู่รอบๆ หน้า บางครั้งก็รำคาญ จริงๆ น่ากลัวจริงๆ คล้ายๆ เครื่องบินทิ้งระเบิดมาทำลายชีวิตของเรา หรือบางครั้งเมื่อนั่งสมาธิจนเหงื่อไหลที่หน้า เกิดอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในทุกขเวทนาว่าทนไม่ไหว อุปาทานยึดมั่นถือมั่นทำให้เราหน้ามืดจริงๆ

หนุ่มสาวบางคน รักเขาข้างเดียว แล้วเกิดเสียใจจนทำลายชีวิตตัวเองก็มี ทำลายชีวิตของอีกฝ่ายหนึ่งก็มีหรือบางครั้งก็ทำลายตนเองและคนรัก

คนคิดฆ่าตัวตายทุกคน คิดผิด มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น จึงเห็นเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเราคิดได้ “พลิกนิดเดียว” คิดถูกดับทุกข์ได้ “ปล่อยวาง”

ฆ่าพ่อแม่บาปหนัก
ฆ่าตัวเองบาปมาก
ฆ่าคนอื่นบาปมากพอสมควร
ฆ่าสัตว์บาปเหมือนกัน
...ไม่ควรคิดจะฆ่าตัวเองเลย
 


แก้ไขล่าสุดโดย ลูกโป่ง เมื่อ 23 ส.ค. 2006, 2:35 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 23 ส.ค. 2006, 2:35 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถาม 5

เพราะเหตุใดสัตว์เช่น งู ไส้เดือน ลิง จึงสามารถเกิดเป็นมนุษย์ได้


ตอบ

ตามหลักพุทธศาสนาถือว่า จิตวิญญาณของเราท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏสงสาร ภพน้อย ภพใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 31 ภพ ประกอบด้วย กามภพ 11 (โลกมนุษย์ 1 อบายภูมิ 4 คือ นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน และสวรรค์ 6) รูปภพ 16 และ อรูปภพ 4

จิตของเรานั้นเป็นสิ่งอัศจรรย์ เป็นสิ่งที่เล็กที่สุดในโลกก็เป็นได้ ใหญ่ที่สุดในโลกก็เป็นได้ ละเอียดที่สุดในโลกก็เป็นได้ หยาบที่สุดในโลกก็เป็นได้ วิมุตติพ้นจากโลกก็เป็นได้เหมือนกัน คือจิตใจของเรา

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธรรมบทเกี่ยวกับเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของจิต วิญญาณหลายกรณี เช่น มารดาของพระโมคคัลลานะเกิดเป็นเปรต มนุษย์ทำบุญกับพระอริยเจ้าแล้วกิดเป็นเทวดา พระภิกษุตายแล้วเกิดเป็นตัวไร สัตว์เดรัจฉาน เช่นงูเกิดเป็นมนุษย์และมาฟังเทศน์พระพุทธเจ้า เป็นต้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรมาในอดีตชาติก็เกิดเป็นมนุษย์ได้ เพราะการเวียนว่ายตายเกิดจะมีอยู่ในภพทั้ง 31 ภพ ดั้งนั้น การที่สัตว์ งู ไส้เดือน ลิง มาเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นเรื่องธรรมดา
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 23 ส.ค. 2006, 2:42 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถาม 6

ที่พระอาจารย์สอนเรื่องกรรมดำ กรรมขาว ขอเรียนถามว่า กรรมไม่มีดำไม่มีขาวมีหรือไม่


ตอบ

กรรมมี 4 อย่าง

กรรมดำ การทำชั่ว เช่น ฆ่าสัตว์ ลักขโมย

กรรมขาว การทำดี เช่น ทำบุญให้ทาน ช่วยเหลือผู้อื่น ฯลฯ

กรรมทั้งขาวทั้งดำ เมื่อทำแล้วเกิดสิ่งดีและสิ่งที่ไม่ดี เช่น การสร้างเขื่อน ทำให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายหนึ่ง และเสียหายกับอีกฝ่ายหนึ่ง

กรรมไม่ดำไม่ขาว การเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ เหนือความดี ความชั่ว เป็นโลกุตตระ

จุดสำคัญของคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น อยู่ในข้อสุดท้าย คือ กรรมไม่ดำไม่ขาว ไม่ใช่เพียงแต่ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นโลกิยะ และวัฏฏสงสาร ถ้าเราสังเกตดูจากพฤติกรรมของตัวเองแล้ว ถึงแม้ว่าทำความดีขนาดไหนก็ตาม แต่ยังทำผิดพลาด ยังทำความชั่วอยู่พอสมควร เราอยู่ในกฎแห่งกรรม ต้องรับผลกรรมชั่วตลอดไป ไม่สิ้นสุดกี่ภพกี่ชาติ ทำอะไรไว้บ้างก็ไม่รู้อีกด้วย ไม่มีวันสงบสุขได้ ถึงแม้ว่าวันนี้ไม่เป็นอะไรก็ตาม อนาคตมันน่ากลัวจริงๆ

การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือ วิธีชำระกรรมเก่า วิธีพ้นทุกข์ จนเข้าถึงสันติสุขตลอดไป เป็นโลกุตตระ

ตัวอย่างคือ กรณีองคุลีมาล ทำผิดพลาด ฆ่าคนตายไปแล้ว 999 คน ก็ตาม เมื่อเจริญวิปัสสนา ก็สามารถชำระความชั่ว พ้นทุกข์ ทำให้จิตใจขาวรอบบริสุทธิ์ได้

การเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 เป็นวิถีทางที่จะหลุดพ้นจากกฎแห่งกรรม จากวัฏฏสงสาร
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 04 ก.ย. 2006, 11:20 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถาม 7

ทำไมพ่อแม่พี่น้องท้องเดียวกันจึงมีสภาพความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน เช่น คนหนึ่งรวย คนหนึ่งจน คนหนึ่งขี้โรค คนหนึ่งแข็งแรง เกิดจากเหตุปัจจัยอะไรเจ้าคะ


ตอบ

ลูกไม่ใช่ผลผลิตของพ่อแม่ จิตวิญญาณของเขา ท่องเที่ยวมาในวัฏฏสงสารหลายภพหลายชาติ ทำความดีความชั่วต่างๆ เรียกว่าสร้างกรรม บางครั้งการทำความดีเรียกว่าการสร้างบารมี การทำความดีนั้นก็มีมากแต่ข้อสำคัญมี 3 อย่าง คือ

ให้ทานเป็นเหตุปัจจัยให้ฐานะดี รักษาศีล รักษากาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย เป็นเหตุปัจจัยให้มีรูปดี สุขภาพแข็งแรง อายุยืน ภาวนาเป็นเหตุปัจจัยให้มีสติปัญญาดี

สิ่งเหล่านี้นี่แหละที่เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้คนต่างกัน เราต่างทำความดีความชั่วไม่เท่ากัน และอาศัยพ่อแม่มาเกิดในชาตินี้เท่านั้น บารมี กรรมดี กรรมชั่ว ที่สะสมไว้ในจิตวิญญาณของแต่ละคนต่างกัน จึงทำให้เกิดมามีสภาพความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 04 ก.ย. 2006, 11:39 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถาม 8

ขอกราบหลวงพ่อช่วยอธิบายธรรมอบรมใจในการปฏิบัติเพื่อต่อสู้กับโรคร้ายที่รักษาไม่หาย เช่น มะเร็ง หรือ โรคเอดส์


ตอบ

โรคร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคนเรานั้นมีเหตุหลายอย่าง มากกว่า 1 ใน 3 ส่วน เกิดขึ้นจากจิตอุปาทาน บางอย่างเกิดขึ้นจากวิบากกรรมก็มี ยางอย่างเกิดจากเหตุปัจจัยในปัจจุบัน เช่น การรับพิษการกินอาหารไม่ถูกต้อง บางอย่างมากไป บางอย่างน้อยไป ขาดไป เป็นต้น

บางคนเป็นโรคร้ายอยู่หลายสิบปี แต่พอมาเจริญกรรมฐานแล้วหายไปก็มี เช่น คิริมานันทเถระอาพาธ แต่พอฟังเทศน์จากพระอานนท์เรื่องสัญญา 10 ประการแล้ว ก็ได้เจริญวิปัสสนาตามนั้น และไม่นานก็หายจากอาพาธหนัก

อย่างไรก็ตาม การเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานก็ดี การหายใจทางเท้าก็ดี คิดดี พูดดี ทำดี การกระทำความดีทั้งหมดนี้ มีผลทำให้โรคมากกว่า 1 ใน 3 ส่วนหายได้ ถึงไม่หายก็ช่วยให้จิตใจมีปีติสุข มีความสงบ สบาย

เมื่อจิตของเรายึดมั่นถือมั่นในโรคร้าย เท่ากับว่าจิตก็ป่วยด้วยเหมือนกัน แต่ถ้าถอดอุปาทานยึดมั่นถือมั่น จิตสงบเป็นเอกเทศน์ กายป่วยแต่ใจไม่ป่วย

พยายามภาวนา มีสติอยู่กับธาตุรู้ เข้าไปหาสภาวะผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นพุทธะ ปล่อยวางร่างกายที่กำลังบูดเน่าเหม็น ปล่อยวางเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ โอปนยิโก น้อมเข้ามา น้อมเข้ามา เป็นสันทางเข้าไปหาพุทธภาวะ

บางครั้งโรคเจ็บไข้ป่วยทางกายก็จะหาย บางครั้งก็ไม่หาย แต่สิ่งที่แน่ๆ คือป่วยใจจะหายแน่นอน ถึงแม้ว่าจะต้องตาย ก็ตายดี ไปสู่สุคติ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 04 ก.ย. 2006, 1:00 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถาม 9

การที่เราไปศึกษาปฏิบัติธรรมหลายๆ สำนัก ทำให้ตอนปฏิบัติเกิดความลังเล สงสัยว่าจะเริ่มปฏิบัติอันไหนดี เพราะคิดว่าอันนั้นก็ดี อันนี้ก็ดี พระอาจารย์มีคำแนะนำอย่างไร ?


ตอบ

เมื่อเราเห็นว่าถูกจริต และคำสอนของอาจารย์นั้นถูกต้องตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 เราก็ปฏิบัติตามด้วยความสม่ำเสมอดีกว่าไปหลายที่ เพราะจะไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติ การปฏิบัติธรรมของเราเปรียบเทียบได้ว่า เป็นการปลูกต้นไม้ต้นหนึ่ง เอาใจใส่ดูแลมาสักปีหนึ่ง โตช้าไม่ทันใจ ก็คิดว่าที่ไม่ดี จึงย้ายที่ใหม่ ผ่านไป 2-3 ปี ยังไม่ผลิดอกออกผล ก็ย้ายที่ใหม่อยู่เช่นนี้ ต้นไม้จะไม่โต หรืออาจตายเลยก็ได้

หากปฏิบัติต่อเนื่องกันจนจับหลักได้แล้วพอสมควร และไปองค์อื่นๆ บ้างก็จะไม่สับสน และอาจจะเพิ่มความรู้ดีเหมือนกัน ในทางพระวินัย พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ว่า เมื่อบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาแล้ว ต้องอยู่กับอุปัชฌาย์ 5 ปี หรืออุปัชฌาย์มอบต่อให้อาจารย์องค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ ให้อยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมอย่างน้อย 5 ปี เพื่อศึกษาข้อวัตร วิธีปฏิบัติตัว รักษาศีล 227 ข้ออย่างสม่ำเสมอ และมั่นคงได้ รู้จักการสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เกิดยินดี ยินร้าย (อินทรีย์สังวร) รู้จักประมาณในการบริโภค (โภชเนมัตตัญญุตา) และรู้จักประกอบความเพียร ไม่เห็นแก่นอน (ชาคริยานุโยค) ตลอดจนฝึกปฏิบัติให้รู้จักวิธีรักษาใจ รักษาอารมณ์ได้ จากนั้น จึงจะออกธุดงค์หรือไปหาอาจารย์ต่างๆ ที่ตนเองสนใจศรัทธา เพื่อเพิ่มความรู้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 04 ก.ย. 2006, 1:16 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถาม 10

ตามที่พระอาจารย์ได้บรรยายถึงเรื่องวิบากกรรมว่าทำให้คนที่เกิดมาในชาติปัจจุบันต้องได้รับผลดีหรือไม่ดี เช่น รูปร่าง ฐานะ และปัญญา ถามว่าคนพิการ ปัญญาอ่อน สมควรที่จะได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นหรือไม่ เพราะในเมื่อเขารับวิบากการรมของเขาเอง เขาก็ควรชดใช้กรรมนั้นด้วยตัวเองใช่หรือไม่


ตอบ

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สัตว์ที่เกิดมาในวัฏฏสงสารนี้ ที่ไม่เคยเป็นญาติ พ่อ แม่ พี่น้องกันนั้นนั้นไม่มี โดยเฉพาะมนุษย์เรา ล้วนเคยเป็นญาติกันมาทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรมีใจเมตตาและเข้าใจว่า สัตว์ทั้งหลายล้วนเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น

สำหรับในชาตินี้ ตัวเราเองในวันข้างหน้า เมื่อเราแก่แล้วก็มีลักษณะอย่างนั้นทุกคน คือเหมือนคนพิการ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ขี้ลืม จนถึงความจำเสื่อม ไม่ยกเว้น จึงไม่ควรดูหมิ่นเขา เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นบาป อนาคตของเราทุกคนก็จะต้องเป็นเช่นนั้น

ตามหลักกฎแห่งกรรมช่วยเหลือคนที่ตกอยู่ในสภาพทุกข์ เดือดร้อน ด้วยไมตรีจิต มีเมตตากรุณา มีผลคือ เราจะไม่ตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น หรือถึงแม้ตกอยู่ในสภาพทุกข์เดือดร้อน ก็จะมีคนช่วยเหลือเรา ทำให้หนักเป็นเบาได้ เพราะฉะนั้นควรสงเคราะห์เขา มีเมตตา กรุณาต่อเขาอย่างเต็มที่ เป็นการเพิ่มความดีของเราและสังคมของเรา
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 04 ก.ย. 2006, 1:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถาม 11

พระสงฆ์ที่มีอิทธิฤทธิ์แต่ใช้ในทางที่ผิด ในสมัยพุทธกาลมีหรือไม่ และจะได้รับผลกรรมอย่างไร


ตอบ

มี เช่น พระเทวทัต มีอิทธิฤทธิ์ แต่ใจบาป มีมิจจฉาทิฎฐิ จึงใช้อิทธิฤทธิ์ไปเพื่อแสวงหาลาภสักการะ เช่น ในครั้งหนึ่ง พระเทวทัตเกิดความริษยาพระพุทธเจ้า ที่มีเหล่าสาธุชนที่ไปฟังธรรม นำเครื่องสักการะไปถวายแด่พระองค์เป็นจำนวนมาก พระเทวทัตจึงคิดหาผู้อุปการะตน และมองเห็นว่าเจ้าชายอชาตศัตรู โอรสของพระเจ้าพิมพิสาร ยังเป็นเด็กหนุ่ม น่าจะเกลี้ยกล่อมได้ง่าย จึงแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการแปลงร่างเป็นราชกุมารพร้อมทั้งเสกงูพิษขึ้นมา 4 ตัว พันที่รอบคอ แขน ขา และอีกตัวหนึ่งพันรอบศีรษะเป็นมงกุฎ แล้วขึ้นไปนั่งบนตักของเจ้าชายอชาตศัตรู เมื่อเห็นเจ้าชายอชาตศัตรูกลัว จึงแปลงร่างกลับดังเดิม และเจรจาให้หลงเชื่อ จนเจ้าชายอชาตศัตรูเลื่อมใส ต่อมาได้สร้างที่พำนักและให้บำรุงพระเทวทัตด้วยลาภสักการะต่างๆ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องจากเหล่าภิกษุ จึงตรัสว่า “เธออย่าพอใจในลาภสักการะ และความสรรเสริญของเทวทัตเลย” เทวทัตหวังความเลื่อมใสในกุศลธรรมทั้งหลายถ่ายเดียว หวังความเจริญไม่ได้”

พระองค์อื่นๆ ที่ใช้อิทธิฤทธิ์เพื่อหาลาภ หาสรรเสริญ ก็มีอีกมาก พระพุทธองค์ทรงเห็นโทษของการแสดงอิทธิฤทธิ์ จึงบัญญัติห้ามภิกษุแสดงอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 04 ก.ย. 2006, 1:25 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถาม 12

มนุษย์ที่ยังมีกรรมเก่า ได้บวชในพุทธศาสนา จะมีโอกาสบรรลุนิพพานและพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้หรือไม่ ?


ตอบ

ได้ เพราะทุกคนที่เกิดมาล้วนเกิดจากกรรมเก่าทั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงเรียก ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ว่าเป็นกรรมเก่า รู้เท่าทันตามความจริง หมายถึงการเห็นอนิจจัง ทุกข์ อนัตตา ของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า บรรลุนิพพาน

ในที่นี้ “กรรมเก่า” ในความหมายที่โยมถาม อาจหมายถึงชีวิตที่เกิดมาในชาตินี้ ลำบาก ยากจน มีความทุกข์มาก หรืออาจเคยทำอกุศลกรรมไว้มากก็ตาม หากศึกษาจากประวัติของอริยบุคคลในสมัยพุทธกาลแล้ว จะเห็นว่ามนุษย์ทุกคนมีโอกาสบรรลุนิพพานได้ ตั้งแค่สมัยพุทธกาล เด็กอายุ 7 ขวบ บรรลุอรหันต์ก็มี คนที่เป็นขอทาน เป็นโสเภณี เป็นโจร ฆ่าคนมาเป็นร้อยๆ ก็บรรลุนิพพานได้ ดังนั้น มนุษย์ทุกคนสามารถบรรลุนิพพานได้ ถ้าเจริญอริยมรรคมีองค์ 8
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 04 ก.ย. 2006, 1:29 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถาม 13

จิตของพระอรหันต์นั้น เมื่อกายเนื้อดับแล้วจิตยังอยู่หรือสูญสลายไป


ตอบ

ตามหลักพุทธศาสนา คนประกอบด้วย รูป (ประกอบด้วยธาตุ 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ) และ นาม (ประกอบด้วย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) หรือรวมเรียกว่า ขันธ์ 5 (ขันธ์แปลว่ากองหรือการรวมเข้า เป็นหน่วยเดียว) ขันธ์ 5 คือ

1. รูป หมายถึง ร่างกาย
2. เวทนา หมายถึง ความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือไม่สุข ไม่ทุกข์
3. สัญญา หมายถึง ความจำ
4. สังขาร หมายถึง การปรุงแต่ง
5. วิญญาณ หมายถึง การรับรู้ของจิต

ขันธ์ 5 ของพระอรหันต์เป็นขันธ์บริสุทธิ์ หมายถึง จิตของพระอรหันต์นั้น ไม่มีการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 ว่า เรา ของเรา เมื่อพระอรหันต์ตายไป จึงเรียกว่า ดับขันธ์ คือปล่อยวางขันธ์ 5 ต่างขันธ์ต่างดับไป ผู้รู้อธิบายไว้อย่างนั้น
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 04 ก.ย. 2006, 1:34 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถาม 14

“พึงละเว้นจากกาม” หมายถึง ละเว้นจากทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้จิตไม่สงบใช่ไหมครับ เช่น การดูหนังฟังเพลง การเล่นกีฬา การสังสรรค์เฮฮาในหมู่เพื่อนฝูง ขอคำแนะนำในการดำเนินชีวิตที่ไม่ขัดแย้งกับสังคม แบะสามารถละเว้นจากกามหรือความไม่สงบได้ครับ


ตอบ

การดำเนินชีวิตตามปกติธรรมดาของชาวพุทธที่สมบูรณ์ คือ รักษาศีล 5 อย่างมั่นคง แสวงหาความสุขทางกามคุณในขอบเขตศีล 5 ดังนั้น การดูหนัง ฟังเพลง เล่นกีฬา จึงเป็นสิ่งที่ที่ทำได้ ศีล 5 เป็นศีลของโสดาบัน ในสมัยพุทธกาลก็มีตัวอย่างเช่น นางวิสาขาบรรลุเป็นโสดาบันตั้งแต่อายุ 7 ขวบ พอโตเป็นสาวก็แต่งงานมีครอบครัว มีบุตรธิดา ถึง 24 คน เป็นต้น

สำหรับฆราวาสผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนามากๆ ก็ให้สมาทานศีล 8 ซึ่งเป็นศีลพรหมจรรย์ ตามกาลเวลา เช่น ถึงวันพระ 8 ค่ำ 14-15 ค่ำ วันเสาร์-อาทิตย์ หรือบางช่วง 3-4 วัน 10 วัน รักษาศีล 8 กินง่าย นอนง่าย อยู่ง่าย รักสงบ พอใจในสันโดษ พอใจในการเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เช่น พิจารณาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พิจารณาอาการ 32 เจริญเมตตาภาวนา เป็นต้น เมื่อปฏิบัติธรรม รักษาใจสงบ มีสติสำรวมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (อินทรียสังวร) หมายถึงไม่ให้เกิดยินดียินร้าย ไม่ให้คิดไปตามกามตัณหา (กามวิตก) ก็เรียกว่าละเว้นจากกาม
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 07 ก.ย. 2006, 1:58 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถาม 15

มนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร


ตอบ

คำถามนี้เป็นปัญหาโลกแตก สำหรับเจ้าชายสิทธัตถะหลังจากบำเพ็ญทุกรกิริยา 6 ปี นับถึงวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือนวิสาขะ ก่อนพุทธศักราช 45 ปี พระองค์ทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า แม้เลือดเนื้อจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ตาม สิ่งใดที่สำเร็จได้ด้วยความเพียร ความบากบั่นของตนแล้ว ถ้าเราไม่ถึงจุดนั้น จะไม่ลุกขึ้นจากที่นั่งเป็นอันขาด แล้วพระองค์ก็ได้บำเพ็ญเพียรเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เกิดวิปัสสนาญาณได้เห็นถึงการเวียนว่ายตายเกิดของพระองค์เองในอดีตชาติ รู้ว่าวัฏฏสงสารมีจริง กฎแห่งกรรมีจริง และได้ตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พระพุทธเจ้าจึงเข้าใจว่า พระองค์เกิดมาเพื่ออะไร

สำหรับพวกเราสาธุชน พระพุทธเจ้าได้ให้อุบายในการพิจารณาชีวิต โดยให้เราพิจารณากฎแห่งกรรม เรามีกรรมเป็นของของตน เรามีกรรมเป็นผู้ให้ผล เรามีกรรมเป็นแดนเกิด เรามีกรรมเป็นผู้ติดตาม เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมอันใดที่ทำไว้ ความดีก็ดี ความชั่วก็ดี เราเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นๆ เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาชอบอย่างรอบคอบลึกซึ้งแล้ว คำตอบจะเกิดขึ้นภายในใจของเราว่า เราเกิดมาเพื่อละความชั่ว ทำความดี ชำระจิตของตนให้ขาวบริสุทธิ์
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 07 ก.ย. 2006, 2:10 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถาม 16

ตามที่ท่านอาจารย์เล่าให้ฟังว่ามีบุคคลจำนวนมากฟังพระพุทธเจ้าเทศน์เพียงครั้งเดียวก็สามารถสำเร็จเป็นโสดาบัน หรืออริยบุคคลระดับต่างๆ อยากทราบว่าเขาเหล่านั้นจะต้องผ่านการนั่งภาวนาอย่างที่เราทำอยู่หรือเปล่าคะ


ตอบ

การบรรลุโสดาบัน หรือดวงตาเห็นธรรมนั้น เมื่อศีล สมาธิ ปัญญา เกิดพร้อมกันในขณะจิต จิตจะเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นอริยะได้ เช่น นางวิสาขาเมื่ออายุ 7 ขวบ พร้อมทั้งบริวาร 500 คน ฟังเทศน์พระพุทธเจ้า จิตเกิดสมาธิโดยธรรมชาติเป็นเอง และเกิดปัญญา จิตเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงหรือจิตสัมผัสกับพระนิพพาน ชั่วขณะก็สำเร็จเป็นโสดาบัน (นางวิสาขาหรือหลายคนไม่เคยนั่งสมาธิมาก่อน เมื่อฟังเทศน์ จิตจะว่างจากนิวรณ์ 5 เกิดปัญญา เห็นไตรลักษณ์ จิตว่างจากอารมณ์ สัมผัสกับนิพพาน) แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ในชาติก่อนๆ ก็สร้างบารมีมาก่อน เช่น นักบวชในลัทธิต่างๆ ได้บำเพ็ญศีล ฝึกสมาธิ ปฏิบัติหนักๆ มาก่อน เมื่อฟังเทศน์แล้วเกิดปัญญา เกิดมรรคสมังคี คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นพร้อมกัน เข้าถึงอริยมรรค อริยผล ที่เรากำลังปฏิบัติอยู่นี้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่บรรลุแต่ก็ยังเป็นการสร้างนิสัย สร้างบารมี ในช่วงนี้การปฏิบัติของเรานั้น พยายามให้มีสติสัมปชัญญะ ให้จิตตั้งมั่นกับลมหายใจออกเที่ยวหนึ่ง ลมหายใจเข้าเที่ยวหนึ่ง เพียงเท่านี้ต่อๆ กันไปก็พอ
 


แก้ไขล่าสุดโดย ลูกโป่ง เมื่อ 07 ก.ย. 2006, 2:22 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 07 ก.ย. 2006, 2:21 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถาม 17

สำหรับผู้ทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากๆ จนบางครั้งเป็นฟุ้งซ่านไป งานประเภทนี้จะทำให้เกิดอารมณ์ทำให้จิตไม่สงบ สมควรที่มุ่งเน้นงานประเภทนี้ต่อไปหรือไม่


ตอบ

เราต้องพัฒนาเป็นสุขภาพใจที่ดีก่อน เมื่อเราทำอาชีพมาทางด้านนี้ ก็เพราะเหตุปัจจัยที่จะมาทางนี้ เรื่องจิตใจที่ไม่สงบมันอยู่ที่ตัวจิต อย่าคิดว่าอาชีพอื่นจะสงบสบาย ชาวนา คนขับรถก็ฟุ้งซ่านได้ในทุกระดับ ถึงแม้ พระ เณร อุบาสก อุบาสิกา คนที่กินดีอยู่ดี ฐานะดี ทุกอย่างสมบูรณ์ แต่พูดถึงจิตใจแล้วก็ยังฟุ้งซ่านเป็นส่วนใหญ่ ยังน้อยใจ เสียใจ ขี้โกรธ ขี้กลัว เพราะฉะนั้น จึงต้องแก้ปัญหาโดยการทำสุขภาพใจให้ดีก่อน

เมื่อคิดก็คิดให้เต็มที่ เมื่อหยุดคิดก็หยุดคิดให้ได้ ฝึกจิตอยู่อย่างนั้น ปล่อยวาง ไม่ต้องคิดถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว ไม่ต้องคิดถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง อยู่กับปัจจุบัน เมื่อมีเหตุที่จะต้องคิด ไม่ว่าคิดถึงอดีต หรืออนาคต ให้คิดด้วยสติปัญญา ในอาการสงบ เรียกว่ามีสติอยู่ในปัจจุบันเหมือนกัน

ฝึกจิต ฝึกนิสัย ให้เป็นคนเอาใจใส่ปฏิบัติหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุดอยู่เสมอ ด้วยใจดี ใจเมตตา ใจกล้าหาญ และอดทน
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 07 ก.ย. 2006, 2:40 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถาม 18

พระอรหันต์กบพระโพธิสัตว์ต่างกันอย่างไร และทำไมไม่เรียกพระพุทธเจ้าว่าเป็นพระสงฆ์องค์แรก ในเมื่อพระพุทธเจ้าผนวชก่อนองค์อื่นๆ


ตอบ

พระโพธิสัตว์นั้นตั้งปณิธานไว้ว่า จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต จึงบำเพ็ญบารมี 10 ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี ในหลายภพหลายชาติ เกิดในฐานะต่างๆ เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง เป็นมนุษย์บ้าง ปรารถนาพุทธภูมิ เมื่อบำเพ็ญบารมีจนเต็มเปี่ยม จึงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงตั้งปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านับชาติได้ 20 อสงไขย [1] กับอีกแสนกัป [2]

พระโพธิสัตว์มีขณะจิตที่ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าครั้งแรกในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ นับชาติไม่ถ้วน ด้วยจิตที่คิดว่า

เราตรัสรู้แล้ว จะให้ผู้อื่นตรัสรู้ด้วย
เราพ้นแล้ว จะให้ผู้อื่นพ้นด้วย
เราข้ามได้แล้ว จะให้ผู้อื่นข้ามได้ด้วย

พระพุทธเจ้า คือ ผู้ตรัสรู้อริยสัจ 4 ด้วยพระองค์เอง แบ่งเป็น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ผู้ตรัสรู้เองและสอนให้ผู้อื่นให้รู้ตาม
พระปัจเจกพุทธเจ้า คือ ผู้ตรัสรู้เองจำเพาะผู้เดียว มิได้สั่งสอนผู้อื่น

ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ พระองค์ต้องบำเพ็ญบารมี 10 อย่าง หลายภพ หลายชาติ หลายกัป ยาวนาน กว่าจะมีบารมีครบสมบูรณ์ ในยุคหนึ่งๆ มีเพียงองค์เดียว คัมภีร์แต่ละคัมภีร์ก็นับจำนวนพระพุทธเจ้าต่างกัน เช่น 5 องค์ 7 องค์ 25 องค์ [3]

5 องค์ อดีต 3 องค์ ปัจจุบัน 1 องค์ อนาคต 1 องค์
7 องค์ อดีต 6 องค์ ปัจจุบัน 1 องค์
25 องค์ อดีต 24 องค์ ปัจจุบัน 1 องค์

พระพุทธเจ้าในอนาคตองค์ต่อไป คือ พระศรีอาริย์ หรือ พระศรีอริยเมตไตรย

พระสงฆ์ คือ หมู่ชนที่รู้ตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระสงฆ์ มี 2 ประเภท
1. สมมุติสงฆ์ หมายถึง ท่านที่เป็นนักบวช แต่ยังเป็นปุถุชน
2. อริยสงฆ์ หมายถึง ท่านที่เป็นพระสงฆ์เจริญอริยมรรคมีองค์ 8 เป็นอริยบุคคล 4 คู่ 8 จำพวก ได้แก่

คู่ที่ 1 (1) ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค
(2) ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
คู่ที่ 2 (1) ท่านผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค
(2) ท่านผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล
คู่ที่ 3 (1) ท่านผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค
(2) ท่านผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล
คู่ที่ 4 (1) ท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค
(2) ท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล

คำว่า “มรรค” และ “ผล” นั้น อธิบายให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นได้
จากตัวอย่าง ดังนี้ เมื่อเราเดินทางจากกาญจนบุรีกลับบ้านที่กรุงเทพ
ขณะที่กำลังเดินทาง ผ่านราชบุรี นครปฐม เรียกว่า “มรรค”
เมื่อถึงกรุงเทพแล้วแต่ยังไม่ถึงบ้าน ก็ยังอยู่ในมรรค
คือ กำลังเดินทางกลับบ้านอยู่ในความรู้สึกของเรา กลับถึงบ้านแน่นอน
พอเข้าบ้านแล้ว ปิดประตูเป็นการถึงบ้านจริงๆ จึงเรียกว่า “ผล”

พระอรหันต์ คือผู้เจริญอริยมรรคมีองค์ 8 อย่างสมบูรณ์ ละสังโยชน์ 10 ประการ
ละกิเลสจนบรรลุอรหัตตผลได้ในชาตินี้ เดี๋ยวนี้


--------------------

[1] อสงไขย หมายถึง เลข1 แล้วมีเลข 0 ตาม 140 ศูนย์ หรือเท่ากับ 1 โกฏิ ยกกำลัง 20
เท่ากับ 10,000,000,000 ยกกำลัง 20 ปี

[2] กัป หมายถึง ระยะเวลาอันยาวนานมาก อุปมาว่า มีภูเจาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูง
ด้านละ 1 โยชน์ ทุกร้อยปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง
จนกว่าภูเขานี้จะสึกหรอสิ้นไป กัปหนึ่งยังยาวนานกว่า

[3] - มีพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในภัทรกัปนี้ - พุทธปกิรณภัณฑ์ พุทธวงศ์ขุททกนิกาย
พระไตรปิฎก เล่ม 33

- มีพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ นับย้อนไป 7 กัป - มหาปทานสูตร ทีฆนิกายมหาวัคค์
พระไตรปิฏกเล่ม 10

- มีพระพุทธเจ้า 25 พระองค์ นับย้อนกัปไปอันประมาณมิได้ - พุทธวงศ์ขุททกนิกายอปทาน
พระไตรปิฎกเล่ม 33
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง