Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เพียรละพยศร้ายในสันดาน (ก.เขาสวนหลวง) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ส.ค. 2006, 7:48 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เพียรละพยศร้ายในสันดาน
โดย ท่าน ก.เขาสวนหลวง

สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง จ.ราชบุรี
๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๔



วันนี้จะต้องปรารภข้อปฏิบัติ เพราะว่าเรื่องการปฏิบัติธรรมเป็นของสำคัญ เฉพาะชีวิตทุกชีวิต ถ้าไม่มีการปฏิบัติธรรม มันจะทุกข์ยากมากมาย และไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยแม้ว่าจะยากจนทรัพย์สมบัติอะไรข้างนอกก็เป็นของนิดหน่อย แต่ยากจนชนิดที่ไม่มีศีลไม่มีการอบรมจิตใจ ให้รู้เรื่องทุกข์เรื่องกิเลสแล้ว มันจะยากจนที่สุด เรียกว่าโรคในตัวนี่มันมีอยู่เต็มตัวเต็มใจ แต่ก็ไม่ค่อยจะรู้ประสาอะไรนัก ถึงแม้ว่าจะเข้ามาอยู่กันก็รู้บ้างนิดๆ หน่อยๆ

ฉะนั้น จึงต้องปรึกษาหารือกันอยู่เรื่อยๆ เพื่อจะได้ปรับปรุงให้มีการปฏิบัติที่ถูกต้อง ตามธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ถ้าจะเอาแค่ความรู้ของตัวเองนี้ก็ยังไม่ได้ เพราะความรุ้ของตัวเองมันยังเป็นความรู้ของกิเลสและโดยเฉพาะเรื่องทิฏฐิมานะอะไรเหล่านี้มันก็ยังตระหง่านอยู่ มันเป็นโรคร้ายที่สุด จะทำเล่นๆ กับมันไม่ได้เลย ถ้าทำเป็นอวดดีกับมันแล้วมันยิ่งเอาใหญ่ เพราะตัวทิฏฐิมานะนี่ไม่ใช่ของนิดหน่อย

อาหารของทิฏฐิมานะก็คือ ตัณหากับสัญญา เพราะสัญญาที่มันเที่ยวจำหมายในความมีตัวตน แล้วตัณหานี่ก็เป็นโรคร้ายที่สุด ที่เป็นต้นเหตุยุยงส่งเสริมให้มานะทิฏฐิจัดเข้าทุกที เช่น ราคะ โทสะ โมหะ อย่างที่พระพุทธเจ้าบอกว่า เมื่อโลภะหรือราคะมันเกิดขึ้น นั่นแหละความฉิบหมายมันเกิดขึ้นแล้ว หรือว่าโทสะ โมหะก็ตาม ล้วนแต่เป็นความฉิบหายอยู่ภายในจิตใจของตัวเอง ไม่ยกเว้นใคร นอกจากพระอรหันต์ที่ท่านละ ราคะ โทสะ โมหะ ได้ขาดแล้ว และเรื่องอุปกิเลส ๑๖ ที่เราท่องๆ กันอยู่ ซึ่งรู้กันอยู่บ้างแล้ว ก็ยังนับว่าเป็นประโยชน์

แม้จะยังรู้กันไม่มากมายนัก ก็ยังรู้ว่า โรคกิเลสนี่ต้องคอยตรวจ คอยจับ ให้มันรู้อย่างถูกต้อง ให้เป็นการศึกษาโรคร้ายภายในจิตใจของตัวเอง ต้องตรวจอยู่เสมอเผลอไม่ได้ โดยเฉพาะอุปกิเลส ๑๖ นี้ แต่ละข้อๆ มันก็แตกไปจาก ราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งทั้งสามกองนี้ก็รวมเอาไว้เป็นกองใหญ่ แล้วก็แจกออกไปเป็น ๑๖ ข้อ ทั้ง ๑๖ ข้อที่มีความร้ายกาจที่สุดก็คือมาโน ก็คือมานะทิฏฐิ แล้วการที่จะรู้เรื่องนี้มันก็เป็นของยาก เพราะว่าตัวทิฏฐิมานะนี้ มันมีมากมายมาด้วยกันในสันดานของเราทั้งหมด

ทีนี้เรื่องอุปกิเลสตั้งแต่ข้อหนึ่งถึงข้อหกยังมีเรื่องที่จำมาได้ เขาเล่าเปรียบเทียบถึงข้อ “ปลาโส” มีเรื่องว่าเจ้าสุนัขตัวหนึ่งมันนอนอยู่ใต้ถุนบ้าน แล้วมีคนบนบ้านพูดกันว่า ไปป่าไปเจอเสือ แล้วคนหนึ่งก็ถามว่า “เสือนั้นรูปร่างมันเป็นอย่างไร ?” คนก็บอกว่า “เสือมันมีหู” ส่วนสุนัขใต้ถุนก็นึกว่า “กูก็มีหูเหมือนกัน” แล้วคนนั้นก็พูดอีกว่า “เสื้อนั้นมันมีหาง” สุนัขใต้ถุนก็นึกว่า “กูก็มีหางเหมือนกัน”

ทีนี้คนนั้นก็พูดว่า “เสือมันมีขนทั่วตัว” สุนัขใต้ถุนก็นึกว่า “กูก็มีขนทั่วตัวเหมือนกัน” คนนั้นก็บอกว่า “เสือมันมีเขี้ยวมีเล็บสำหรับตะครุบสัตว์กินเป็นอาหาร” เจ้าสุนัขใต้ถุนก็นึกว่า “กูก็มีเขี้ยวมีเล็บเหมือนกัน กูก็ตะครุบสัตว์กินเป็นอาหารก็ได้” ตั้งแต่วันนั้นมาเจ้าสุนัขตัวนั้นมันก็ไม่กินน้ำข้าว เพราะมันทะนงตัวสำคัญว่ามันเป็นเสือ มันก็เที่ยวไปตะครุบเป็ดตะครุบไก่ที่เขาเลี้ยงเอาไว้มากิน ทีนี้เจ้าของเขาก็เอาไม้ไล่ตีมัน หนักๆ เข้ามันก็ชักไม่มีอาหารจะกิน จึงมารู้สึกตัวว่า กูนี่เป็นเสือไม่ดีเลยมันอดอยาก จะไปกินอะไรที่ไหน เขาก็มาไล่ตีเอาเจ็บแทบล้มแทบตาย มันเลยนึกว่า กูไม่เป็นแล้วเสือ เจ้าสุนัขตัวนี้มันก็ไปกินน้ำข้าวตามเดิม นี่เขาเปรียบถึงข้อปลาโส

ฉะนั้นเรื่องปลาโสนี่ก็ยังเป็นรอง เป็นรองของเจ้า “มาโน” เพราะว่าทิฏฐิมานะเป็นตัวการสำคัญที่สุด และจะต้องศึกษาเอาในตัวนี่แหละ เพราะมันมีอยู่ด้วยกันทุกคน ต้องศึกษาให้ดีว่าตัวมานะทิฏฐิที่มันเกิดขึ้นมานี้ มันทำฤทธิ์ทำเดชอย่างไรบ้าง อย่างต่ำที่สุด เมื่อมันทำผิดแล้วมันไม่ยอมรับผิด ตัวไม่ยอมนี่มันก็เป็นตัวถัมโภ หรือสารัมโภ ทีนี้รองลงมามันก็ยอมรับ แต่การยอมรับผิดนี้ก็ยอมรับเป็นคนๆ มันรับแต่เฉพาะคนนี้หรอกนะ ถ้าผิดจากคนนี้แล้วมันไม่รับทีเดียว มันก็ยังกระด้างอยู่ข้างใน ยังใช้ไม่ได้ การยอมรับผิดอย่างนี้ยังใช้ไม่ได้ หรือว่ามันจะยอมรับว่าผิดจริงบ้าง ก็ยังใช้ไม่ได้

ทีนี้ขั้นที่สาม เมื่อไม่ผิดก็ยอมรับผิด นี่เป็นการข่มทิฏฐิมานะได้อย่างงดงาม ในลักษณะอย่างนี้ เป็นการฝืนมานะทิฏฐิ แต่ตัวมานะทิฏฐิจริงๆ ไม่ยอม แต่ว่าตัวนี้มันยอม ไม่ผิดก็ยอมรับว่าผิด นี่มันตรงกันข้าม เพราะผิดแล้วยอมว่าผิดนี่มันเป็นธรรมดา แต่ไม่ผิดแล้วยอมรับว่าผิดนี่มันฝืนทิฏฐิมานะทีเดียว เรื่องนี้จะต้องศึกษาให้ดีทุกคน เพราะมีอยู่ในตัวด้วยกันทุกคน ว่าลักษณะที่สามนี่มันมีอย่างไร ถ้าอ่านตัวเองรู้เรื่องนี้แล้ว มันจะมีประโยชน์มากต่อการปฏิบัติธรรม เพราะว่ามันฝืนนิสัยตรงจุดเหลือเกิน ไม่ผิดยอมรับว่าผิดนี่ เป็นการเข้าไปโค่นต้นตอต้นขั้วของมันทีเดียว จึงไม่ใช่ที่จะทำได้ง่ายๆ เลย แต่ว่าต้องทำได้ อย่างไรก็ต้องโค่นต้นตอให้ได้ ว่าการยอมแล้วมันได้อะไรบ้าง หรือไม่ผิดแล้วมายอมรับผิดนี่มันได้อะไรบ้าง เป็นการทำลายอุปกิเลสตั้งแต่ข้อ ๑ มาจนถึงข้อ ๑๔

ส่วนข้อ ๑๕, ๑๖ เป็นลักษณะของโมหะ แล้ว ๑๔ ข้อนี้ อาศัยผัสสะ คือการกระทบ ฉะนั้นการกระทบผัสสะนี่เอง มันเป็นเครื่องวัดความผิดถูกเท็จจริง ตัวตนหรือทิฏฐิมานะมันมีขั้นมาได้อย่างไร จะเป็นเครื่องตรวจสอบตัวเองได้ในเรื่องนี้แต่ว่าต้องตรวจสอบให้ถูกจุดด้วย ไม่ให้หลีกเลี่ยงว่าอุปกิเลสที่มันเกิดขึ้นมา มันแผลงฤทธิ์อย่างไร เพราะว่ามาโนหรืออติมาโนนี่มันมีฤทธิ์เท่าไร แล้วยังจะมี ถัมโภ ความแข็งกระด้าง ส่วนสารัมโภมันอ้างเหตุผลหลอกลวงอยู่อย่างไร ทุกข้อที่มันเกิดขึ้นนี้อย่าไปหลงเลี้ยงเอามันไว้ ตัวศัตรูงูพิษทั้งนั้นพระพุทธเจ้าระบุชื่อเอาไว้ให้เสร็จแล้ว ตรวจง่าย เมื่อไรก็ได้ข้อไหนที่เกิดขึ้น มีขึ้น หรือว่ามันปกปิดบังอำพรางไว้อย่างไรหรือสาเถยยัง อำพรางไว้มันมีขึ้นมาอย่างไร ก็มีให้สอบอยู่เสร็จทีเดียว เพราะพวกนี้อาศัยผัสสะทั้งนั้นจึงเกิดขึ้น มันจึงตรวจง่าย

ส่วนโมหะที่ไม่ได้อาศัยผัสสะนี่มันยังรู้ยาก แต่ถ้าอาศัยผัสสะแล้วรู้ง่าย เราค้นหาเหตุผลง่ายที่สุด แล้วทำลายให้ถูกต้นขั้วตัวตนเสร็จไปทีเดียว ก็ลองดูซิ ลองไปสอบเอาเอง ทีนี้มันสูงขึ้นไปกว่านั้นอีก ที่ไม่ผิดยอมรับว่าผิดนี่ แต่ทีนี้มันไม่เอา มันว่างจากตัวตน มันพิเศษไปเลย เมื่อมันว่างจากตัวตนแล้วมันหมดเรื่องไปทีเดียว เรื่องข้อปฏิบัติจะต้องเอาผัสสะเป็นเครื่องวัดเป็นเครื่องอ่านตัวเอง ค้นหากิเลส ที่เป็นรากฐานภายในมันเกิดขึ้นมาปรุงจิตใจอย่างไร มันมีพิษสงออกมาทางกายทางวาจาอย่างไร จะต้องค้นหาสมุฏฐานในตัวเองทั้งหมด ไม่ใช่ไปค้นหาในตำรับตำราเท่านั้น เพราะว่าเรื่องของกิเลส โลภ โกรธ หลง หรือตัณหาอะไร มันต้องค้นที่จิตใจ ที่ถูกกระทบผัสสะ ซึ่งอาศัยผัสสะเกิด แล้วมันยึดถือขึ้นมาอย่างไร เป็นตัวเป็นตนอวดดีอวดเก่งขึ้นมาแค่ไหนมันมีให้สอบอยู่ในตัวเอง

ฉะนั้นข้อปฏิบัติจึงไม่ต้องไปเรียนอะไรที่ไหน เรียนเอาในนี้ เรียนเรื่องกิเลส เรื่องเกิดดับ เรื่องไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แปรปรวนดับไป เป็นความว่างจากตัวตน มันมีให้ตรวจให้สอบ ให้รอบรู้อยู่ในตัว ถ้ารู้ได้แล้วนั่นแหละ มันจึงจะเปลี่ยนจากคนหนา ที่เรียกว่าปุถุชนแล้วเรานี่ก็ยังเป็นปุถุชนอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าตรวจกิเลสและดับทำลายมานะทิฏฐิลงไปได้ ก็เรียกว่าทิฏฐิมานะมันเบาบางแม้ว่ายังมีอาสวะ แต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง เบาบางลงไป ก็ยังจัดว่าเป็นกัลยาณปุถุชน หรือเป็นปุถุชนชั้นดี ไม่ใช่เป็นปุถุชนชั้นต่ำซึ่งชั่วช้าที่สุด เราก็ต้องมีการสอบได้โดยไม่ต้องให้มีใครมาแต่งตั้ง

เพราะว่าเรื่องกิเลสตัณหา เป็นเครื่องวัดอยู่ในตัว ว่ามันเบาบางลงไปหรือเปล่าหรือยังเผามากขึ้น ยิ่งแก่วัดก็ยิ่งมากขึ้น ทิฏฐิมานะก็ยิ่งจัดมากเข้าทุกที นี่ต้องสอบตัวเองจริงๆ จึงจะได้ อย่ามาพูดอวดเก่งไม่ได้ เพราะว่าตัวทิฏฐิมานะนี่หาเรื่องเก่งที่สุด เป็นคนพาลเกเรที่สุด ไว้ใจไม่ได้เพราะว่ามันเป็นคนคดโกง เป็นคนสอพลอก่อเรื่องสารพัดแล้วจะมานิ่งนอนใจทำอวดดีอยู่อย่างไรได้ ถ้าใครขืนอวดดีก็เป็นการหล่อเลี้ยงทิฏฐิมานะเอาไว้ เป็นสัตว์นรกไปเท่านั้นเอง เพราะว่าตัณหานี่มันเป็นมีดสองคม ให้ทำชั่วก็ได้ ให้ทำบาปก็ได้ ให้ทำบุญก็ได้

ฉะนั้นฝ่ายที่เป็นบาป เช่นอกุศลกรรมบถก็เป็นนรก ฝ่ายกุศลก็เป็นหนทางสวรรค์ ถ้าทำให้บริสุทธิ์ที่มีอยู่ในกรรมบถวิภาค ซึ่งเราจะต้องเอามาตรวจอีก เพราะว่าการตรวจเรื่องกุศลหรืออกุศลนี้ เป็นภาคพื้นของสันดานที่ทำอะไรมาด้วยกาย วาจา ใจ ที่ผิดทำนองคลองธรรมในกรรมบถอย่างไร ที่เป็นฝ่ายอกุศลอย่างไร เป็นกุศลอย่างไร มันจะต้องซักฟอกดูในกรรมบถวิภาค ๔๐ ที่แยกออกไปจากกรรมบถ ๑๐ ทางมโนกรรม มีความโลภเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของต่างๆ นานา ที่ทำด้วยตนเอง และชักชวนให้คนอื่นทำ แล้วก็พรรณนาคุณของความโลภ แล้วก็มีความยินดี คือมีความโลภอยากได้ทุกๆ ชนิด

ข้อที่สองคือพยาบาท ความโกรธเคืองที่เรียกว่าโทสะหรือพยาบาทก็ตามซึ่งมันก็ล้วนแต่ไฟทั้งนั้น ถ้ามันเผาตัวเองแล้วก็ไปชักชวนคนอื่นให้เขาเดือดร้อนอีก เผาไปด้วยกันอีก แล้วก็พรรณนาคุณและมีความยินดี นี่เป็นข้อที่สอง

ข้อที่สามก็คือโมหะ ความเห็นผิดในสภาวธรรม เพราะความจริงมันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน แต่ไปเห็นผิดว่าเที่ยง สุข ตัวตนขึ้นมาเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือมันเห็นผิด เมื่อตัวเห็นผิดแล้วก็ไปชักชวนให้คนอื่นเขาเห็นผิดด้วย และพรรณนาคุณด้วย แล้วก็มีความยินดีในมิจฉาทิฏฐิ นี่เป็นฝ่ายอกุศลกรรมบถ สำหรับฝ่ายกุศลมันตรงกันข้าม คือถ้าตัวเองละความโลภได้ ก็ชักชวนให้คนอื่นละความโลภได้ด้วยแล้วพรรณนาคุณของความไม่โลภ ว่าความไม่โลกมีดีมีพิเศษอะไรมากมาย แล้วก็มีความยินดีในความไม่โลภและตนเองก็ละความโกรธ ความพยาบาทได้ แล้วก็ชักชวนคนอื่นให้ละความโกรธ ความพยาบาทได้ด้วย แล้วก็พรรณนาคุณของความไม่พยาบาท ของความไม่โกรธ ว่ามีดีมากมายหลายประการนัก แล้วยินดีในความไม่พยาบาทไม่โกรธ

ข้อที่สามก็คือเมื่อตัวเองเป็นสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นชอบเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน แล้วก็ชักชวนให้คนอื่นมามีความเห็นชอบอย่างนี้ด้วย แล้วก็พรรณนาคุณของความเห็นชอบอย่างนี้ ว่าเป็นความดับ ทำลายทุกข์ได้เป็นการพรรณนาคุณของความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ที่ตัวเองก็ทำได้และให้คนอื่นทำได้ด้วย นี่เป็นทางมโนกรรม จะไปดูเอาในหลักก็ได้ ต้องไปตรวจดูให้รู้เรื่องของศีลเพราะว่าศีลในกรรมบถมีอยู่สิบข้อคือ กายกรรมสาม วจีกรรมสี่ มโนกรรมสาม เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของทุกคนที่จะต้องรู้ ถ้าไม่รู้เรื่องของกรรมบถสิบ ที่เป็นภาคพื้นแล้ว การปฏิบัติธรรมขั้นต่อๆ ไปมันจะไม่มีหลักอะไร

ฉะนั้นจะต้องปรับพื้นความรู้เรื่องศีลให้ถูกต้องเสียก่อน ต้องศึกษา ต้องไต่ถาม ต้องตรวจสอบ เรื่องอุปกิเลสนี่ก็เป็นเรื่องสำคัญ อย่าได้มีความประมาทเลย แม้ว่าเราจะท่อง จะสวดกันได้ก็ต้องเอามาตรวจ ถ้าไม่เอามาตรวจตัวเองแล้ว ก็จะมีความผิดมากมายยึดถืออะไรขึ้นมาให้มีทุกข์มีโทษ แล้วก็พลอยไปสอพลอก่อเกิด ให้ทุศีลไปด้วยกันแล้วจะน่ากลัวหรือเปล่า ถ้าไม่กลัวมันก็ตกนรก เป็นสัตว์นรกไปเท่านั้นเอง ไม่ใช่ทำกันอย่างซ้ำๆ ซากๆ ชนิดที่ตามใจตัวเอง จะต้องค้นคว้าดูว่ารากเหง้าเค้ามูลมันเป็นอย่างไร มาจากอะไร จากผัสสะชนิดไหน เรื่องที่จะต้องสอบสวนทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องว่าเอาเอง เดาเอาเอง อวดเก่งว่าเรียนมาแล้ว รู้มาแล้ว ไม่ได้หรอก เพราะเรื่องกิเลสตัณหา อุปาทานหรือมานะทิฏฐินี่ร้ายกาจที่สุด ต้องบอกให้รู้กันทั่วๆ ไปทีเดียว ว่าฤทธิ์เดชของมันมากมายเท่าไร มันน่ากลัวไหม แต่ละข้อที่เกิดขึ้นมาเผานั่นมันน่ากลัวไหม มันเข็ดหรือเปล่าถามตัวเองดู

อย่าเอาอะไรต่ออะไรให้มากนักเลย กิเลสมันจะเผาตาย มันบอกอยู่อย่างนี้และจะต้องชวนกันอย่างนี้ ชวนกันดับทุกข์ดับกิเลสอยู่อย่างนี้ ทิฏฐิมานะปั้นน้ำเป็นตัวขึ้นมาอย่างไร มันล้วนแต่เป็นข้อปฏิบัติที่จะต้องมีสติปัญญา เป็นเครื่องอ่านเป็นเครื่องรอบรู้ทั้งนั้น มิฉะนั้นแล้วไม่ได้ ไม่ไหว มันเก่งกว่าพระพุทธเจ้าเสียอีกด้วย คำสอนของพระพุทธเจ้ามันก็รู้หมด มันอวดเก่งถึงขนาดนั้น แล้วก็คิดดูซิว่า ความโง่งมงายนี่มันร้ายกาจเท่าไร มันปั้นน้ำเป็นตัวให้เกิดทุกข์ขึ้นมาในตัว แล้วก็ไปชวนคนอื่นให้ทุกข์อีกด้วย ให้หลงอีกด้วย ถ้าไม่ได้พิจารณาตัวเองให้ละเอียดลออลงไปแล้ว ก็อยู่วัดไปจนตาย มันกลับเอาหนักเข้า เพราะว่ามันแก่วัด มันแก่จัดเข้า ความถือตัวถือตนและทิฏฐิมะนะก็จัดเข้า

ฉะนั้นจึงต้องพูดแล้วพูดอีก เพื่อจะให้ข่มขี่ทิฏฐิมานะลงไป ว่ามันเป็นยักษ์เป็นมารอยู่อย่างไร มันจะเอาดีไปถึงไหน นี่มันต้องกดหัวตัวเอง ไม่มีใครเขาด่า ก็ต้องด่าตัวกูนี่แหละ ว่ามันเสือกทะเล้นอยู่อย่างไร ถ้ามันมีมาหยาบๆ ก็ต้องด่ามันอย่างหยาบๆ จะเอาใจมันไม่ได้ ไปคอยเอาอกเอาใจมันไม่ได้เสียแล้ว มันมีอำนาจใหญ่ทีเดียว โรคร้ายที่มีประจำสันดานอยู่นี้ ไม่มีใครพูดถึง มันอวดดีเรื่อย มันอวดเก่งเรื่อย อวดเป็นคนดีคนถูกไปทีเดียว ฉะนั้นมันจะอวดดีต่อไปไม่ได้

เรื่องที่จะทำคุณงามความดียังมีอีกมากมาย ที่จะดับทุกข์ ดับโทษ ดับโลภ โกรธ หลง ดับตัวตนที่มันยังมี มีให้ทำแต่ว่าไม่ทำเอง เที่ยวเถลไถลไปอื่นเสีย จะทำตามกิเลสตัณหา ที่มันชอบ แล้วคุณธรรมอะไรมายมาย ที่พระพุทธเจ้าชี้ช่องบอกทางเอาไว้ มันก็บอกว่ามันรู้แล้วมันเรียนมาแล้ว มันอวดดีอย่างนี้ ถ้าไม่อวดดีแบบโง่แกมหยิ่งแล้วหันมาหารือกันทำข้อปฏิบัติในด้านจิตใจก็จะได้ประโยชน์มากมาย ต้องข่มขี่ทรมานทิฏฐิมานะให้ราบเรียบไปให้ได้ อย่าให้มันโงหัวขึ้นมา กดหัวมันลงไป มันจะเก่งมาท่าไหน มันจะเอาอะไรมันจะเอาดีที่ไหน มันจะเอาดีไปให้ใคร ถามตัวเองนี่แหละ ไม่ต้องไปถามใคร

ถามให้มันจนปัญญา ถามมันบ่อยๆ ว่า “มึงจะเอาดีไปให้ใคร ไม่กี่วันมึงก็จะเน่าเข้าโลงไปแล้ว มึงจะอวดเก่งไปให้ใคร” ถามมันอย่างนี้ให้กระชั้นๆ เข้าเถิดมันจนปัญญา หุบปากไม่กลัวพูดเลย มันรู้สึกอาย มันอายเต็มที ถ้าไม่เชื่อก็ลองถามดูซีว่า ถ้าถามแบบนี้มันอายไหม ตัวกูเองนี่มันอายไหม ไม่ได้อายคนอื่นหรอก มันอายตัวเอง มันกลัวตัวเอง มันกลัวทุกข์โทษอยู่ในตัวเองทั้งหมด ข้อปฏิบัติจึงเป็นอย่างนี้เข้ามาเล่นงานตัวกูที่ชูหัวอยู่นี่ สับหัวมันลงไปไม่ต้องไปเกรงใจมัน ไม่ต้องไปรักหัวมันหรอก ถ้ารักหัวมันแล้ว มันจะชูหัวสูงใหญ่เลย แล้วพิจารณาดู มันมีตัวตนที่ไหน “มึงนั่นแหละมันโง่ โง่เอง ไปยึดถือเข้ามาทำไม” ซักถามมันทีเดียวว่า “มีตัวกูที่ไหน” ถ้าถามมันบ่อยๆ มันก็จำนนไปเอง ในที่สุดมันจะบอกว่า “อ้อ ความจริงมันว่างจากตัวตนโว้ย” แต่ความโง่มันเสือกทะเล้นยึดถือจึงทุกข์แล้วทุกข์อีกอยู่นี่เห็นไหมล่ะ มันจะได้บอกขึ้นมาอย่างนี้ ไม่ต้องไปพูดดีอะไรหรอก

ฉะนั้นเรื่องที่จะทำคุณงามความดี ก็คือข่มขี่ทิฏฐิมานะตัวตนลงไปให้เรียบร้อยราบคาบ แล้วมันก็ดีเอง มีคุณธรรมขึ้นมาเอง

ฉะนั้นจึงเป็นของแปลก สำหรับการอบรมธรรมะที่นี่มันอาจจะแปลกกว่าที่อื่น เพราะที่อื่นเขามีการอบรมที่เรียบร้อยพูดจาก็ไพเราะเพราะพริ้ง แต่ว่าที่นี่ ไม่มีไพเราะเพราะพริ้ง มีแต่จะเล่นงานตัวกูตัวเดียวนี่เท่านั้น ไม่ยกย่อง ให้ถูกเท่าไรๆ ก็ไม่ยกย่อง พูดแต่เรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางเรื่อยไป ถ้าเป็นการดำเนินข้อปฏิบัติชนิดที่ตรวจโรคเอาเองค้นหาสมุฏฐานให้ถูกต้องแล้วชักชวนกันก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมโดยความเรียบร้อย เพราะว่ามันเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ด้วยกันทั้งหมด และมีโรคกิเลสตัณหาอุปาทานอย่างเดียวกัน แม้ว่าจะหนาบ้าง บางบ้าง หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ก็ตาม เป็นเรื่องที่จะต้องประชุมปรึกษาหารือกันด้วยการมีศีล, มีสมาธิ, มีปัญญา เป็นเครื่องมือสำหรับประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามแนวทางของพระพุทธเจ้า

เมื่อเรายังรู้ผิดๆ ก็ต้องศึกษาพิจารณาไปมันจึงจะรู้ถูกขึ้นมาได้ จะไปคิดเดาเอาเองว่าอย่างนั้นถูก อย่างนี้ผิดมันไม่ได้ เพราะสันดานของคนที่มีตัวมีตนมันเข้ากับตัวของมันเอง เชื่อมันไม่ได้ มันว่าถูกแต่ประเดี๋ยวก็ไพล่ไปอื่นแล้ว ไปสอพลอยึดถืออย่างอื่นขึ้นมาอีก อย่างนี้แล้วจะไปเชื่อมันได้หรือ สำหรับคนสอพลอข้างนอก เราไม่คบค้ากับมันก็ยังได้ แต่การสอพลอของกิเลสตัณหาอุปาทานข้างในแล้วไม่ได้ จะไปทำหยาบๆ กับมันไม่ได้ การที่จะข่มขี่ทิฏฐิมานะหรือสันดานของตัวเอง นี่ไม่ใช่ของทำง่ายๆ มันเป็นของทำได้ยาก แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำแล้วมันกำเริบ เมื่อกำเริบแล้วก็เป็นสัตว์นรกไปเท่านั้นเอง แล้วใครทนไหวบ้าง มันก็ทนไม่ไหวด้วยกันทุกคน อย่างไรๆ ก็ต้องเพียรเผาอยู่ดี ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เพียรเผากิเลสทุกอิริยาบถ ข้อนี้ข้อเดียวก็พอแล้ว แต่นี่มันไม่ได้เพียรเผากิเลสทุกอิริยาบถ มันให้กิเลสเผาทุกอิริยาบถ มันกลับกันเสีย จึงต้องกลับกันเสียใหม่ เพราะมันยังกลับได้ ไม่ใช่กลับไม่ได้ ถ้ากลับไม่ได้พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงสอนเอาไว้ เราจึงต้องปรึกษาหารือกัน เรื่องเพียรเผากิเลสทุกอิริยาบถให้ได้

ทีนี้ก็มีข้อสำหรับเรื่องการบวช เราก็ไม่ได้บวชเป็นนั่นเป็นนี่กันเฉพาะการนุ่งเหลืองนุ่งขาวกันแค่นั้น แต่นี่บวชทั่วไปได้ คือเขามีการเปรียบเทียบเอาไว้ เทียบกับบริขารของ พระภิกษุ บริขารของพระภิกษุนั้นมีแปดอย่าง คือ

๑ สบง ๒ จีวร ๓ ผ้าสังฆาฏิ ๔ รัดประคดเอว ๕ บาตร ๖ มีด ๗ ผ้ากรองน้ำ ๘ ด้ายกับเข็ม บริขารของพระภิกษุแปดอย่างเท่านี้ เอามาเทียบได้สำหรับคนที่ไม่ได้บวชนุ่งเหลือนุ่งขาว แต่ว่าบวชแบบนี้จะบอกให้ คือว่า เอากายกรรมสามเป็นสงบ วจีกรรมสี่เป็นจีวร มโนกรรมสามเป็นผ้าสังฆาฏิ ส่วนรัดประคดเอวก็คือขันติความอดทน และบาตรก็คือเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แล้วก็อธิษฐานให้เป็นใบเดียวเสีย คือตั้งใจเป็นกลาง แล้วมีมีดโกน คือปัญญาเป็นเครื่องตัดกิเลสตัณหาทั้งปวง มีผ้ากรองน้ำ คือ มีโยนิโสมนสิการ ทำในใจให้แยบคายที่จะต้องพินิจพิจารณาเป็นอย่างยิ่งทีเดียว ไม่ว่ากิเลสประเภทหยาบ ประเภทกลาง หรือประเภทละเอียด อย่างนี้ก็ต้องตรึกตรอง ต้องรู้ต้องสอบสวน ส่วนด้ายกับเข็มไว้สำหรับร้อยให้กาย วาจาใจคงที่เป็นของบริสุทธิ์ ถ้าใครทำได้ครบถ้วน ก็จะเป็นพระโดยที่ไม่ต้องไปบวชกับใคร เป็นการบวชอย่างถูกต้องอยู่ในตัวเอง

เรื่องจตุปัจจัยสี่ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช และที่อยู่ที่อาศัยของกายนี้ ก็ขั้นหนึ่ง แต่ถ้ามีที่อยู่ที่อาศัยของกายอย่างเดียวแล้ว มันก็เป็นอยู่แค่ขั้นของโลกที่เขาอยู่กันอย่างโลกๆ ส่วนทางธรรมนี้ต้องมีจตุปัจจัยสี่เป็นเครื่องอยู่ภายในอีก ไม่ใช่ว่ามีแต่กายอย่างเดียว คือข้อที่หนึ่งต้องมี หิริโอตตัปปะ มีความละอายต่อบาป หรือมีความสะดุ้งกลัวต่อทุกข์โทษนานัปการ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ข้อที่สอง เมื่อมีศึลบริสุทธิ์แล้ว ความปีติ อิ่มใจ ความปราโมทย์ในธรรมก็ต้องมีขึ้น

ข้อที่สาม ที่อยู่ของใจก็คือ การทำกัมมัฏฐานที่เป็นเรื่อนชั้นใน หรือว่า เอาจิตที่เป็นสมาธิเป็นเรือนชั้นใน หรือว่า มิวิปัสสนาจิตเป็นเรือนชั้นใน คือว่า มีวิหารธรรมเป็นที่อยู่ของจิต ถ้าไม่มีวิหารธรรมสำหรับเป็นที่อยู่ของจิตแล้ว จิตมันจะเที่ยวเร่ร่อนไป ฉะนั้นจึงต้องมีวิหารให้มันอยู่ เช่นการทำกัมมัฏฐานเป็นตัน หรือว่าพิจารณาเห็นความจริง ตามรู้ตามเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนอยู่เนืองนิจ ข้อที่สี่มี พระธรรมโอสถเป็นเครื่องดับอกุศล และเพียรเจริญกุศล ที่เป็นเสมือนตัวยาที่คอยทำลายอกุศลทุกชนิด บริขารในด้านจิตใจมีอยู่อย่างนี้ แล้วเราก็สามารถที่จะอบรมทำได้ ไม่เป็นของเหลือวิสัย

เมื่อจิตอยู่ในการคุ้มครองของความมีสติ หรือมีปัญญาเป็นเครื่องรู้เครื่องเห็น ในลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์อยู่ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งภายในภายนอกแล้ว มันจะไม่ยึดถือ เช่น ขณะนี้ยังไม่มีความโลภเกิดขึ้น ความโกรธ ความหลงเดี๋ยวนี้ก็ไม่มี นี่มันว่างจากกิเลสได้ แต่กิเลสมีต่อเมื่อขณะกระทบผัสสะ จึงต้องระวังผัสสะทางหู ทางตา นี้ให้มาก เช่นตาเห็นรูป มันไปยึดถือเข้ามาเป็นดี เป็นชั่วตัวตน เอาดีอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ไม่รู้ว่ามันเป็นทุกข์โทษที่เกิดจากผัสสะ แต่จะต้องรู้ได้เพราะการปฏิบัติ จะต้องสำรวมระวังด้วยไม่ใช่รู้เฉยๆ รู้แล้วก็ต้องสำรวมระวังทางผัสสะให้มากที่สุด เพราะมันเป็นทวารที่รับเรื่องราวเข้ามายึดถือทั้งนั้น

แม้แต่หูนี่ก็ไวเหลือเกิน พระท่านจึงบอกว่า เป็นคนตาดีก็ให้ทำตาบอดเสีย หูดีก็ให้ทำหูหนวกเสีย ร่างกายแข็งแรงก็ให้ทำเป็นคนสิ้นแรงเสีย การทีไม่มีแรงนี่เองมันจึงไม่ทำตามตัณหา เพราะตัณหานี้ถ้ามันเข้ามาแล้วเรี่ยวแรงมันมาก เราจะต้องรู้อยู่ด้วยกันทุกคน เมื่อมันอยากจะเอา อยากจะทำอะไรมันต้องทำทีเดียว แรงมันยังกับยักษ์กับมาร การที่จะนั่งสงบสักชั่วโมงนี้ก็แย่แล้ว ทนไม่ไหว ปวดที่นั่นเจ็บที่นี่ หรือคิดไปฟุ้งซ่าน ถ้าทำตามตัณหา แม้กายจะเหนื่อยมันก็ไม่ยอมให้หยุด มันบอกว่าอีกประเดี๋ยวเอาให้แล้วก่อน ชั่วโมงหนึ่งก็แล้วสองชั่วโมงก็แล้วมันยังผัดไปได้ แต่ถ้านั่งนิ่งๆ นี่ไม่ได้ กิเลสมันคอยมายั่วแหย่ชักชวนให้เอาอะไรต่ออะไร ฉะนั้นอย่าได้มีความประมาทเลยในเรื่องนี้ ต้องพยายามปฏิบัติให้เป็นการสืบทราบว่า ฤทธิ์เดชของกิเลสตัณหามันมีอยู่ในสันดานอย่างไร สงบอยู่เดี๋ยวเดียว เดี๋ยวมันก็หาเรื่องไปอีกแล้ว มันหาเรื่องปรุง เรื่องคิด เรื่องทำ เรื่องอยาก เรื่องเอาโน่นเอานี่อะไรสารพัดอย่าง แล้วมันอยู่ในกองทุกข์หรือเปล่า

เรื่องการศึกษาดูตัวเองนี้ มันมีให้ศึกษาอยู่ทุกเวลานาทีไม่เลือกเวลาไหน ถ้าศึกษารู้โรคร้ายภายในตัวเอง หรือรูปนาม เกิดดับอะไรเหล่านี้ ยิ่งศึกษาเรื่องนี้อยู่เป็นประจำ แล้วมันจะต้องรู้จริงเห็นแจ้งว่า ไม่เที่ยงจริง เป็นทุกข์จริง ไม่ใช่ตัวตนจริง แต่ว่าต้องเจาะจง อย่าไปเอาเรื่องข้างนอก อย่าไปทำเรื่องข้างนอก ให้ทำงานในจิต ที่จะต้องศึกษา ต้องอดทนเหมือนคนที่ติดหมากพลู บุหรี่ น้ำชากาแฟ หรือเนื้อสัตว์อะไรเหล่านี้ มันเรื่องทำตามความอยาก แล้วมันว่าสบายดี เมื่อมันอยากขึ้นมา พอได้กินเข้าไป ก็ว่าสบายใจดี แต่ประเดี๋ยวมันอยากขึ้นมาอีกแล้วจะต้องกินอีก ถ้าได้กินเข้าไปอีกมันก็ว่าสบายดี แล้วก็ทำอยู่อย่างนี้ อยากเมื่อไรกินเข้าไปก็ว่าสบาย แล้วก็อยากอีก เพราะมันไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่า ความอยากนี่เองมันเป็นตัวทุกข์ เหมือนกับคนที่อดหมากได้แล้วก็ไม่อยากกินอีก แล้วมันสบายตลอดไปไหม ไม่เหมือนกับขณะที่กินอยู่ กินเข้าไปก็หาย แต่ประเดี๋ยวก็อยากอีก ต้องพิจารณาให้เห็นทุกข์โทษของตัวเองจึงจะได้ แม้กิเลสขั้นหยาบๆ ก็ยังแย่แล้ว ตัณหามันยังดิ้นรนเลย จะเอาเอร็ดอร่อยไปหล่อเลี้ยงมันไว้ ติดดี เมาดี หลงดี นั่นแหละมันเป็นทาสตัณหาแล้วก็ไม่รู้สึก

เรื่องข้อปฏิบัตินี่มันจะต้องรู้สึกตัวหลายแง่หลายมุม จะเป็นทาสตัณหาอยู่ในสิ่งไหนเหล่านี้ก็ต้องรู้ มันต้องอ่านออกอยู่ในตัวเอง สติปัญญาจึงจะเกิดขึ้นมาได้ มันจึงจะทำลายตัณหาได้ มิฉะนั้นแล้วมันยุ่ง มันแส่ส่ายเก่งที่สุด แล้วมันก็อ้างเหตุว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ มันจาระไนไปทีเดียว จึงต้องมีความอดกลั้นบรรเทาลงบ้าง มันจะยุแหย่แส่ส่ายไปในอะไรไม่เอา ต้องหยุด บอกให้หยุด ต่อให้ดีวิเศษก็ไม่เอา ต้องหยุด ต้องบอกกับตัวกูอย่างอย่างนี้ ไม่ว่าเรื่องอะไรทั้งหมดแล้วก็พิจารณาไปว่ามันมีอะไรจริงจังที่ไหน มันหลอกขึ้นมาแล้วก็เชื่อไปทำตามมัน มันก็เหนื่อยแล้วเหนื่อยอีก ทุกข์แล้วทุกข์อีกก็ว่าสบายดี มันจะโง่ไปถึงไหน จะหลงไปถึงไหน ตามตัวกูนี่แหละดู ไม่ต้องไปถามคนอื่น ถ้ายังดิ้นรนจะเอาอะไรอยู่ก็ถามมันดูว่า “มึงจะเอาอะไร ?” ถามไปถามมา แล้วมันก็หยุดไป แล้วมันว่างไปเลย เอาให้มันรู้ให้ได้ ว่ามันเกิดขึ้นมาหรือมันดับไปอย่างไร เพราะว่ามันจะต้องรู้ของตัวเองได้จริงๆ แต่นี่มันไม่ได้หยุดดู หยุดรู้ มันเสือกทะเล้นไปเที่ยวยึดมั่นถือมั่น

ถ้ามันหยุดดู หยุดรู้ แล้วมันดับหมด ว่างหมด เรื่องของความจริงมันตรงอยู่อย่างนี้เดี๋ยวนี้ แล้วมันจะน่ารู้ไหม ที่กำลังพูดกำลังฟังกันอยู่นี่ มันน่าดูสักเท่าไร มันไม่มีอะไรดับหมด จะไปเอาเรื่องอะไร เพียงแต่ลืมนัยน์ตาขึ้นดูก็เห็น การเบิกลูกตานี่ ไม่ใช่เอาตาเนื้อไปดูหรอกนะ ตาในโน้นมันจึงจะเห็น ส่วนตาเนื้อนี่ มันตาบอด เพราะมันมองเห็นแล้วมันก็ยังเที่ยวยึดถือไป ฉะนั้นจึงต้องมองเห็นด้วยตาใน ตาของสติปัญญาโน่น เพราะตาในมันไม่เอาเรื่องอะไร มันเห็นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น ตาในมันดูของมันอย่างนี้ แต่ว่าตานอกมันมีเรื่องยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้น แล้วก็หลงดู หลงรู้ไป หูก็เหมือนกันเที่ยวฟังไป เรื่องหลอกเรื่องลวงเรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องตัวตนในที่สุดดับหมด หูก็ดับ ตาก็ดับไม่มีจริง ตลอดจนกลิ่น รส สัมผัสกาย หรือว่าธรรมมารมณ์ก็ล้วนเป็นความว่างไม่มีอะไร ความโง่หลงยึดถือให้เกิดทุกข์แก่ตัวเอง แต่ถ้ารู้อะไรให้ถูกต้องแล้วมันกวาดทิ้งหมด ดับหมด ว่างหมด จิตมันว่างเพราะมันไม่ยึดมั่นถือมั่น ดี ชั่ว ตัวตนอะไร เป็นความว่างไม่มีใครสร้างขึ้นมา แต่พอปล่อยวางอะไรหมด แล้วมันก็ว่างเอง ไม่มีใครไปทำ ไม่มีใครไปจัดแจง

ฉะนั้น เรื่องตาข้างในนี่มันพิเศษ มันมองอะไรทะลุไปได้ แม้ว่าจะตาบอดมานาน แต่พอมันได้อบรมข้อปฏิบัติมีการพิจารณา เห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อย่างไร แต่ต้องอบรมต้องเพียร ไม่ใช่รู้เองได้ เมื่ออบรมให้เหมาะสมแล้ว ความรู้พิเศษที่เป็นสติปัญญา มันก็เจริญขึ้นมาทำลายฝ่ายอกุศลได้ ส่วนอกุศลก็คือหนทางนรก ฝ่ายกุศลก็คือทางสวรรค์ ทีนี้นิพพานนี่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล เป็นโลกุตตรกุศล หรือเรียกว่าอัพยากฤตเป็นพิเศษ ฉะนั้นเรื่องกุศล อกุศล หรือนรก สวรรค์นี่เป็นโลก คือว่ามันหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง แต่นิพพานหรืออัพยากฤตนี้ พ้นไปจากความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ให้ยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน ล้วนแต่จะต้องศึกษาพิจารณาให้รู้ ทั้งอกุศลและกุศลก็ต้องให้รู้ แล้วก็ละ ปล่อยวาง แม้จะต้องใช้กุศลเป็นเครื่องมือละอกุศลก็ตาม แต่เมื่อเป็นไปในทางอัพยากฤต คือ เป็นนิพพานแล้ว ทั้งกุศลและอกุศลและอัพยากฤตก็หมดความหมาย คือเป็นสภาวธรรมเท่านั้น ไม่ยึดถือเป็นตัวตนแล้วมันว่าง อย่างนี้มันจะน่าศึกษาน่าปฏิบัติหรือไม่ ที่จะต้องละอกุศล แล้วเจริญกุศลให้เต็มที่ขึ้นมา แล้วมันจะออกผลเป็นนิพพาน คือความพ้นทุกข์

แต่ในระหว่างกำลังปฏิบัตินี้ จะต้องอดทนต่อสู้กับกิเลส ตัณหา อุปาทาน มากมายและทั้งอารมณ์ ที่มากระทบดีชั่วอย่างไรที่จะก่อให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ นี่มันจะต้องศึกษาอยู่ในตัวเองทั้งหมด เมื่อมันกำลังกระทบกับผัสสะ ทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษขึ้นมาอย่างไร มันยึดถือดีชั่วตัวตนขึ้นมา ถ้าศึกษาปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว ในชีวิตประจำวันนี้ ก็จะได้กำไร คือความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ได้กำไรเป็นเงินเป็นทอง เป็นข้าวเป็นของ ได้ความพ้นทุกข์ที่จิตใจนี่เอง และเมื่อมองออกมาทางกาย ทางวาจา ก็เป็นความบริสุทธิ์ถ้าไม่บริสุทธิ์ในสิ่งอะไรในแง่ไหนแล้ว จะต้องรู้ เหมือนผ้าขาวที่เปื้อนเปรอะอะไรก็ต้องรู้เพราะเห็นง่าย จึงต้องซักต้องฟอกออกทันทีไม่เก็บเอามันไว้

แต่จะต้องมีความรอบคอบอยู่ในตัวเองทั้งนั้น ไม่ใช่หลับหูหลับตาว่าเอานึกเอาเดาเอาต้องสอบสวนอยู่ในตัวเอง นั่นแหละจึงจะเป็นประโยชน์ว่าได้มีชีวิตมามีการปฏิบัติธรรมเป็นการถ่ายถอนอาสวกิเลสในสันดานให้เบาบางเรื่อยไป แล้วก็ชักชวนกันปฏิบัติ ไม่ต้องการสิ่งอื่น ถ้าอยากจะพ้นทุกข์จริงๆ ก็ต้องแบบนี้ อย่าไปทางโลกเลย ทางนรก สวรรค์นั้นมันทางโลกทั้งนั้น จึงให้เดินไปสายกลางนี่เป็นทางที่ดับทุกข์ดับกิเลส เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตาอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก

รู้ความจริงอย่างนี้ จึงไม่ใช่การเรียนรู้มากตามตำรับตำราเลย ถึงจะอาศัยข้อความตามตำราซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าบ้าง ก็เอามาสอบเข้ากับจิตใจของตัวเอง โดยไม่ต้องมากหัวข้อ สอบเรื่องไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของขันธ์ห้าก็พอแล้ว ให้มันรู้จริงอย่างถูกต้อง อย่าให้มันรู้ผิดเห็นผิดไป มันเรื่องเท่านี้ เพราะที่มันทุกข์ๆ อยู่นี่ ก็เพราะรู้ผิด จำผิด เห็นผิด แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเรา ตัวเขา แต่พอรู้ถูกเห็นถูกแล้วมันกวาดทิ้งปล่อยวางไป ก็พิจารณาดูในขณะนี้ ว่าจิตใจมันว่างเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น มันไม่วุ่นไม่วาย ไม่รักนั่นชังนี่ ดี ชั่วปล่อยวางไป แล้วจิตมันก็ว่างได้เดี๋ยวนี้ เป็นการสอบได้ในตัวเอง ถ้ามันไม่สอบให้รู้จริงในเรื่องนี้ มันจะเที่ยวยึดถือ ให้เกิดทุกข์ เดือดเนื้อร้อนใจ แล้วจะไปโทษใคร

ฉะนั้นจึงต้องพูดจาหารือกันให้รู้เรื่องข้อเท็จจริงในตัวเอง ไม่อมพะนำเอาไว้ ผิดก็ไม่รู้ ถูกก็ไม่รู้ แล้วก็ชักชวนกันไปในทางผิดๆ เป็นคุ้งเป็นแควไปทีเดียว นี่ชักชวนให้มาทางถูก อย่าไปตามพวกกิเลสตัณหานักเลย มันจะลากไปตกเหวตายหมด จึงต้องชี้ช่องบอกทางให้ขึ้นมาทางนี้ ทางธรรมทางวินัยของพระพุทธเจ้านี่ อย่าไปทางยักษ์ทางมาร อย่าไปเชื่อปีศาจมันหลอก ว่านั่นดีจะเอา นี่ไม่ดีไม่เอา นั่นแหละปีศาจของตัณหามันหลอกมันลวง ถ้าใครเชื่อมันก็ไปเถอะ ไปเป็นพวกเดียวกัน แต่ถ้าใครเกิดสติปัญญา พิจารณาเห็นว่าไม่ไหว ถูกปีศาจมันหลอกลวงใหญ่แล้ว ต้องหยุดทันที พอมันยอมหยุดได้ก็หายเหนื่อย เป็นการดับทุกข์ได้ จึงต้องพูดซ้ำซากในเรื่องนี้

ถ้ายิ่งพูดจี้เข้ามาหาตัวกูได้เท่าไร นั่นแหละมันเบิกหนทางถางป่า ถ้ามันรกอยู่ เพราะมันยังไม่รู้ หมั่นปล่อยวางกวาดทิ้ง มันว่าง ปีศาจผีเสื้อที่มันค่อยหลอกคอยหลอนมันก็หายไปหมด มันก็ดับไปหมด ถ้าไม่หยุดแล้วผีเสื้อมันหลอกตาย หลอกให้หลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสกาย แล้วก็เพ้อไปตามๆ กัน ชักชวนไปตามๆ กัน นั่นก็ดี นี่ก็ดี นี่ไม่ดีกูไม่ชอบ นี่ผีเสื้อมันหลอกซับหลอกซ้อนอยู่ทั้งนั้น แล้วก็โดนมันหลอกจนแย่ จึงมีความเข็ดหลาบ แม้ว่ามันจะเข็ดหลาบแต่ส่วนหยาบๆ ก็ยังมีอยู่อีก ละเอียดก็ยังมีอยู่อีก จะอวดดีไปไม่ได้

ผีเสื้อยักษ์นี่มันร้ายเหลือเกิน มันยักน้ำกระสาย มีมายาสาไถยมากมายทั้งภายนอกภายใน ถ้าจับผีเสื้อยักษ์ได้แล้วจึงจะรู้คุณของข้อปฏิบัติ จะรู้คุณธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ถ้ายังจับไม่ได้แล้ว ก็ยังไม่รู้หรอกว่าไปเปล่าๆ จะสรรเสริมคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือว่าจะมอบกายถวายชีวิตก็ว่าไปเพ้อๆ ถ้าหากรู้เรื่องนี้ได้แล้ว จะต้องกวาดล้างนางผีเสื้อยักษ์นี่ดับไปให้ได้แล้วก็จะโล่งอกโล่งใจ แต่ถ้าตัวนี้มันมาหล่ะก็ยุ่งใหญ่ทีเดียว อยากโน่นอยากนี่เอาโน่นเอานี่ พอผีเสื้อนี่ดับไป แล้วก็ว่างหมด ไม่เอาอะไรเลย มันทั้งว่างทั้งโล่งอกโล่งใจ มันเรื่องอย่างนี้ พูดให้เบิกลูกนัยน์ตาดูกันทุกคน ถ้ามีตาในแล้วดูได้ทุกคน เห็นได้ทุกคน แต่ถ้าไม่มีแล้วมันก็มืดตื๋ออยู่นั่นเอง มันก็ปั้นน้ำเป็นตัวยั่วแหย่อยู่

ฉะนั้นถ้าจะพูดถึงข้อปฏิบัติด้านในแล้ว เมื่อยิ่งพูดมันก็จะปลุกให้จิตใจมีการตื่นตัวรู้สึกตัวที่จะต้องเข่นฆ่านางผีเสื้อยักษ์ที่มันหลอกลวง ทางหู ทางตา มันทำให้มีสติปัญญาเกิดขึ้น รู้จักพอ รู้จักปล่อยวาง แล้วจิตใจก็ว่างเปล่า มีอยู่แต่จิตว่างๆ อยู่ในขณะนี้ ที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น ในความมีตัวตนนี่ ดับหมดไม่ต้องการอะไร ไม่เอาอะไร ข้อสำคัญก็คือว่า ต้องรักษาภาวะของจิตที่มีความว่างอยู่เดี๋ยวนี้ มีความสงบอยู่เดี๋ยวนี้ให้ติดต่อไปทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน มันเรื่องต้องรักษาเหมือนกัน มิฉะนั้นประเดี๋ยวลุกขึ้นแล้วผีเสื้อยักษ์มันจะมาเข้าสิงอีก ระวังให้ดี ว่างๆ โปร่งๆ อยู่อย่างนี้ ระวังผีเสื้อยักษ์มันจะเข้ามา มันจะเข้ามาหลอกลวงเอานั่นดี นี่ชั่วตัวตนอะไรสารพัด เวลาจะเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนอิริยาบถก็ต้องรักษาภาวะของจิตที่ว่าง ที่สงบให้ติดต่อ รักษาสิ่งนี้ไว้ก่อน เพราะมันเป็นของสำคัญ กว่าจะรู้จะเห็นของตัวเองขึ้นมาได้ก็ไม่ใช่ง่าย การที่จะรับฟังจริงหรือจะรู้จริง ก็ไม่ใช่ง่ายอีกเหมือนกัน มันต้องเป็นการรับฟังด้วยจิตใจที่ว่าง ซึ่งก็ยังไม่ใช่ง่ายเลย และไม่ใช่จะมีกันได้ทุกคน

ฉะนั้นเรื่องของการปรารภธรรมะ ในด้านที่จะพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ก็ไม่ใช่เป็นการรับฟังกันได้ทั่วไป เพราะว่ามันแล้วแต่สติปัญญาของคนฟัง ที่จะรู้ได้ขั้นไหน ถ้ายังมีทิฏฐิมานะมากมันก็ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจ แต่มันก็ไม่เอา ถ้าทิฏฐิมานะเบาบางมันก็ดับได้ ปล่อยได้ วางได้ ว่างได้ แล้วก็ไม่ไปคว้าเอาอะไรมายุ่ง มาปรุง มาแต่งมายึดถืออีก ทิ้งไปแล้ว ดับไปแล้วก็แล้วไป ไม่ต้องไปยึดมันขึ้นมาอีก ถ้ามีความรู้จริงอย่างนี้ได้ ก็รักษาหลักความรู้ได้เรื่อยไป ควบคุมไว้พิจารณาไป ปล่อยวางทุกขณะไปหมด เป็นการเจริญสติได้เต็มที่ ความเพียรเต็มที่มีปัญญาสอดส่องเต็มที่

ก็หวังว่าผู้ปฏิบัติคงจะมีความเข้าใจในคำพูดมาแล้วตัวแต่ต้นจนจบนี้ ถ้าเป็นความเข้าใจจริงแล้วจิตใจมันว่าง มันสงบจริงก็ขอให้ภาวะจิตอย่างนี้มีการทรงตัวตลอดไปทุกๆ ขณะเถิด



.................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 31 ส.ค. 2006, 9:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอ Copy ไว้อ่านครับ สาธุ
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง