Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 งานก่อสร้างเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติด้านจิตใจ (ก.เขาสวนหลวง) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ส.ค. 2006, 7:45 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

งานก่อสร้างเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติด้านจิตใจ
โดย ท่าน ก.เขาสวนหลวง


สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง จ.ราชบุรี
๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๔



วันนี้จะพูดถึงเรื่องที่ได้มาอยู่เขาสวนหลวง ตั้งแต่วันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๗ วันอังคาร ตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๘๘ สถานที่นี้เงียบสงัด เป็นป่าน่ารื่นรมย์ อยู่กัน ๓-๔ คน ไม่มีภาระมาก ต่อมามีคนมาเยี่ยมพักอยู่บ้าง จึงปลูกกระท่อมหลังเล็กๆ เป็นหลังคาจากฝาขัดแตะ กว้าง ๔ ศอก ยาว ๕ ศอก มีประมาณ ๘-๙ หลัง การสร้างกระท่อมหลังเล็กๆ ไม่เสียเวลามาก ทำเพียง ๑๐ กว่าวันก็เสร็จ ทำให้คนที่มาพักชั่วคราวได้รับประโยชน์ในด้านจิตใจแทบทุกคน จึงมีคนไปมาอยู่เสมอ ได้ทำข้อปฏิบัติกันเรื่อยมาเป็นเวลาถึง ๑๐ ปี

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้ทำการก่อสร้างหอสวนมนต์ การก่อสร้างได้เริ่มขยายตัวตั้งแต่นั้นมา เพราะตัณหาได้เข้ามาเป็นเจ้าเป็นนายเสียแล้ว มีความขยันต่อการงานด้านวัตถุมากขึ้น ทำให้เสียประโยชน์ทางด้านจิตใจโดยไม่รู้สึกตัว และยังคิดว่าเป็นการทำด้วยการมีสติ ไม่รู้ถึงความเสียหายภายในจิตใจ จึงหลงทำติดต่อเรื่อยมาไม่รู้จัดเหน็ดเหนื่อย ไม่ใช่ทำเพื่ออยากได้บุญ

แต่เห็นว่าเป็นสถานที่ที่ปฏิบัติธรรม เมื่อมีผู้มาอาศัยจะได้สะดวก และเพื่อความเรียบร้อย บุญอย่างที่เขาหวังกันมันไม่ต้องการ เพราะตัณหามันเข้าใจหลอกหาทางหลีกเลี่ยงเหนื่อยทั้งกายและใจไม่คำนึงถึง จึงเป็นความโง่เขลารู้ไม่เท่าทันตัณหา เห็นเขามีศรัทธามาก็รับทั้งนั้น มารู้สึกตัวเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ จึงได้งดการก่อสร้างตั้งแต่นั้นมาเป็นเวลา ๕ ปี กว่าจะรู้สึกตัวได้ ก็ทำให้เสียเวลาตั้ง ๑๒ ปี เมื่องดการก่อสร้างแล้ว ทำให้การปฏิบัติดีขึ้นมาก คนที่มาสมัครอยู่ ๕ ปีก็มีหลายคน ในระหว่างนั้นได้นำหนังสือขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์มาตรวจคัดเลือก เพื่อจะได้เป็นหลักของการปฏิบัติธรรม เพราะคำขนาบนี้เป็นตัวยาอย่างประเสริฐ จึงมีความสนใจใคร่ครวญตรวจสอบเรื่อยมา ตลอดเวลา ๕ ปีที่ได้หยุดก่อสร้างรู้สึกว่าได้ประโยชน์ด้านจิตใจมาก เมื่อถึง พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้เปิดโอกาสให้ซ่อมแซม ก็รู้สึกว่าทำให้สับสนอลหม่านพอใช้

ฉะนั้นเรื่องการปฏิบัติ ถ้าไม่มีความรู้สึกตัวเองแล้ว ก็ล้วนแต่เป็นอาหารของกิเลสตัณหาอยู่ทุกขณะ มันช่างจัดช่างแจงเก่งไปตามอำนาจของกิเลส เพราะความโง่เขลาเบาปัญญาจึงเสียประโยชน์ทางจิตใจ เมื่อรู้ว่าการก่อสร้างมันเป็นข้าศึกต่อการปฏิบัติธรรมแล้ว ตั้งแต่นั้นมาก็ได้งดการก่อสร้าง ทำให้ได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก และได้นำเอาคำขนาบของพระพุทธเจ้ามาขนาบตัวเองอยู่เรื่อยๆ ทำให้กิเลสและตัณหาลดปริมาณลง แม้ว่าจะไม่เด็ดขาด แต่ก็ต้องพยายามให้มันหยุดจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงข้อปฏิบัติเรื่อยขึ้นมาเป็นลำดับ ไม่ใช่ทำอยู่อย่างไร ก็ทำอยู่อย่างนั้น จะต้องเข้มงวดกวดขันให้ยิ่งๆ ขึ้น ไม่ใช่ไปทำตามกิเลสตัณหาอย่างเดียว

ต้องเปลี่ยนหมดหรือมันจะไปเสียท่ากับกิเลสประเภทไหน ที่จะให้เอาอะไรก็ไม่เอา “ต้องหยุด” เพราะว่าเข็ดมามากแล้ว เสียหายทางด้านจิตใจมามากแล้ว เพราะเจ้าตัวตัณหามันฉลาดอ้าง อวดตัวว่าเป็นคนเสียสละ ทำไว้เป็นของกลาง แท้ที่จริงแล้วมันโง่ซ้ำโง่ซากอยู่กับตัวเองทั้งนั้น คอยพูดเข้ากับตัวเองอยู่เสมอ ถ้าไม่ได้คำขนาบของพระพุทธเจ้าแล้ว มันคงจะเน่าในเปียกแฉะไปอีกนาน จึงได้พูดย้ำอยู่เรื่อยว่าคำขนาบของพระพุทธเจ้าเป็นตัวยาอย่างประเสริฐ ได้นำมาตรวจสอบตัวเองว่าได้ทำอะไรผิดอะไรถูก

ฉะนั้นตัวอย่างของพระที่ท่านมุ่งต่อการปฏิบัติธรรมท่านจึงไม่มีการก่อสร้าง เพราะท่านมุ่งต่อการปฏิบัติธรรมตามรอยพระอรหันต์ หรือตามรอยพระพุทธองค์โดยแท้ เพราะในสมัยพระพุทธเจ้าท่านสร้างแค่กุฏิเล็กๆ กว้างประมาณ ๔ ศอก ยาวประมาณ ๕ ศอก แต่ส่วนมากท่านชอบอยู่ตามโคนไม้เสนาสนะตามป่า และตรัสบอกกับภิกษุทั้งหลายว่าให้อยู่โคนไม้เรือนว่างเปล่า ให้อยู่ในถ้ำ หรือยู่ในป่าช้า นี่เป็นคำของพระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายให้ไปอยู่ แล้วได้รับประโยชน์ในด้านจิตใจ ที่เกิดปัญญาอย่างสูง จนได้สำเร็จอรหันต์ แต่ตัวเรามันโง่แกมหยิ่ง จึงได้สร้างสรรค์เพราะมันเห่อความเจริญในด้านวัตถุ แต่มันเจริญเพียงด้านวัตถุเท่านั้น

ส่วนในด้านจิตใจแล้วมันกลับเสื่อม ไม่เหมือนสถานที่ที่เป็นป่า ฉะนั้นพระที่ท่านเคร่งครัดต่อการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ท่านจึงไม่คบกับพวกเมาบุญ แม้ท่านจะมีที่ดินตั้ง ๒๐๐ ไร่ ท่านก็มีกุฏิเพียง ๒๐ กว่าหลัง ใครจะมาขอสร้างให้อีกท่านก็ไม่เอา นี่ท่านฉลาดส่วนเรามันโง่เพราะว่าตัณหามันมาเป็นนาย แล้วก็ทำงานไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย กลางคืนก็มานั่งประชุมทำกัมมัฏฐานสักชั่วโมงสองชั่วโมงก็อวดเก่งทำไปอย่างนั้นเอง นี่หลงทำผิดมาทั้งนั้น ไม่ใช่ทำถูก เพราะเชื่อตัณหาจึงได้จัดทำไป ทีนี้จะต้องหยุด ถ้าไม่หยุดแล้วมันใช้ตาย ตามใจตัณหาไม่ไหว ไปเชื่อมันไม่ได้ต้องเชื่อพระพุทธเจ้าอย่างเดียว

ตลอดเวลา ๒๗ ปี ทั้งปีนี้ ก็มีพิเศษที่ว่าอุบาสถเปลี่ยน รักแซ่ ได้เป็นผู้ปฏิบัติธรรมที่เขาสวนหลวงจนตลอดชีวิต แล้วประวัติของท่านก็มีคนเลื่อมใสซึ่งเป็นตัวอย่างของผู้ปฏิบัติที่ดีมีเพียงคนเดียวเท่านั้นตลอดเวลา ๒๖-๒๗ ปี แต่ก็ไม่เสียทีเพราะได้เผยแพร่คำพูดของท่านที่ได้บันทึกเสียงเอาไว้ สองอย่างนี้เท่านั้นที่นับว่าเป็นประโยชน์ นอกจากนั้นแล้วยังไม่เห็นประโยชน์อะไร จึงได้หยุดการก่อสร้าง ทีนี้ไม่ต้องให้ทำอะไร จะทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะอยากก่อสร้างกันนัก อยากจะเอาบุญกัน แล้วเราต้องรับหน้าที่ทั้งนั้นโดยที่ไม่ได้นึกอยากจะเป็นหัวหน้า แต่ก็เป็นขึ้นมาเองไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเมื่อมีใครมาก็อดสงสารไม่ได้ อดตามใจไม่ได้ เลยเป็นภาระเพิ่มขึ้นมา

ถ้าไม่ขยายที่ดินจากของเดิมที่มีอยู่ให้ออกไปอีก และอยู่กันตามแค่เจตนาเดิมเพียง ๔-๕ คนก็อยู่กันไปจนตลอดชีวิต แม้ว่าอายุจะสั้นไปเร็วก็ยังดีกว่าที่จะมาเสียเวลาในการก่อสร้างมากมาย ฉะนั้นเรื่องการปฏิบัติธรรมถ้ารู้เสียตั้งแต่ตอนแรกแล้ว จะไม่เอาอะไร ไม่ต้องการ อยู่อย่างแบบของพระที่ท่านปฏิบัติจริง แต่นี่มันโง่จึงต้องเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นจึงต้องพูดเอาไว้ว่าใครมีความมุ่งหมายต่อการปฏิบัติอย่างแท้จริงแล้ว อย่าสร้างสรรค์วัตถุให้เป็นของสวยงามถาวร ทำแบบอยู่กันง่ายๆ แต่ได้ผลทางจิตใจกันมากกว่า

ฉะนั้นเรื่องการก่อสร้างจะให้ทำเรื่อยเปื่อยไม่ได้ เพราะว่ามันเสียกำลังกายไปเปล่าๆ ที่ไหนไม่จำเป็นก็ไม่ต้องทำ ไม่ต้องเอาความสวยงามมั่นคงอะไรกับพวกเบ็ดเตล็ดเหล่านี้ ส่วนเรื่องปฏิบัติธรรมนี้จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขให้ก้าวหน้าไป ไม่ใช่เรื่องทำซ้ำซากอยู่อย่างนั้น จึงได้บอกเสียให้รู้ แล้วให้ทำงานทางจิตกันอย่างเดียว จะได้คุ้มค่ากับการที่ได้ทำงานลงทุนลงแรงไปมาก เพราะงานทางจิตนี้ไม่ค่อยจะได้ปรารภกันนัก หรือว่าทำก็เพียงชั่วคราว เช่นจะอยู่อินทรียสังวรสักสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ แต่พอออกมาก็หาเรื่องทำตามกิเลสตัณหาอีก การทำตามกิเลสจึงได้โชกโชนมาด้วยกันทุกคน ที่จะขยันทำความเพียรเพื่อความพ้นทุกข์ของตัวเองไม่ค่อยจะเอา มันขี้เกียจคอยหาเรื่องทำงานข้างนอกเป็นการหลอกตัวเองอยู่ซ้ำๆ ซากๆ จึงต้องรู้สึกตัวว่านี่มันจะโง่ไปถึงไหน จะทำไปถึงไหน ให้รู้จักหยุดเสียบ้าง ให้รู้จักพอเสียบ้าง

เพราะว่าถ้าไม่หยุดแล้วก็ทำไปจนตาย งานทางจิตก็เหินห่างไป กิเลสตัณหามันไม่ชอบให้นั่งหลับตา ชอบให้หางานทำ มันว่าสบายไปตามประสาที่หลงงมงาย แล้วโดยเฉพาะเรื่องการทำงานทางจิตมีคุณประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ต้องทำให้จริง ไม่ใช่ทำชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็ไปให้อาหารแก่กิเลส จึงทำให้เสียงานทางจิตไปมาก ถ้าคิดเอาดีทางข้อปฏิบัติแล้วก็จะพ้นทุกข์และดับทุกข์ได้เร็ว ให้สมกับวันเวลาของชีวิตที่ได้มาอยู่ปฏิบัติธรรม

ต่อไปนี้จะต้องรวบรวมกำลังใจพยายามปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ของตัวเอง ไม่ใช่มานั่งทำงานที่ไม่สมควรแก่คนอยู่วัด หรือมาอยู่เพื่อปฏิบัติ จะต้องรู้สึกตัวเองได้ดี แล้วก็ลองคิดดูซิว่า วันเวลาของชีวิตใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว ที่มีลมหายใจอยู่นี้จะได้แก้ตัวกันใหม่แล้วการที่จะปรับปรุงให้เกิดประโยชน์ในด้านจิตใจ กลับมีเรื่องคัดค้านขึ้นมา แทนที่จะเห็นด้วยแต่กลับไม่ชอบที่จะปรับปรุงให้ก้าวหน้าของการปฏิบัติ

แล้วอย่างนี้ก็คิดดูซิว่ามันทำให้ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหาเท่าไร ถ้าไม่รู้สึกตัวแล้วก็อยู่กันไปจนตาย สงบบ้างไม่สงบบ้าง แล้วก็ไม่รู้ว่าการทำสติให้ติดต่อ หรือจะมีสติสัมปชัญญะทุกอิริยาบถนั้นจะต้องทำอย่างไร เพราะว่าเรื่องของจิตเป็นงานละเอียด จะทำไปตามความชินเคยไม่ได้ มิฉะนั้นแล้วข้อปฏิบัติก็ไม่ก้าวหน้าไปในทางที่จะดับทุกข์ดับกิเลสให้ดีขึ้น ให้สูงขึ้นมาได้เหมือนกับการที่จะจูงกันเดินไป จะต้องถางสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้า จึงเป็นของที่ไม่ง่ายนักที่จะเด็ดเดี่ยวในการปฏิบัติจริงนั้นหายาก ถ้าไม่พิจารณาแล้วก็ไม่รู้เรื่อง แล้วเรื่องอาหารก็เป็นเรื่องวุ่นวาย ไม่เหมือนกับพระที่ท่านออกบิณฑบาตท่านได้อะไรมาท่านก็ฉันไปอย่างนั้น ไม่ต้องมาปรุงแต่งคาวหวานกันมากมาย

ฉะนั้นจึงต้องพูดกันให้เข้าใจจะได้ไม่หลงติด เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไปอีก ถ้าเป็นคนมีสติปัญญาที่จะสอดส่องมองตัวเองแล้ว ก็จะจับความโง่งมงายของตัวเองได้ แล้วก็ต้องพยายามพากเพียรเพื่อความพ้นทุกข์ของตัวให้สูงขึ้น เพราะการเอาอะไรต่ออะไรมากมาย มันเป็นการทำตามตัณหา คือความอยากที่คอยยุแหย่อยู่ ที่เสียเวลามามากก็เป็นเครื่องรู้ว่า การปฏิบัติธรรมถ้าย่อหย่อนอ่อนแอแล้ว มันพาโลเลเหลวไหลง่ายที่สุด มันต้องดัดนิสัยสันดาน คอยข่มขี่ทิฏฐิมานะให้ลดลง ไม่อวดเก่ง ถ้าขืนอวดเก่งก็จะต้องทนทุกข์ทรมานเพราะทิฏฐิมานะจัดนั่นเอง

แล้วการที่จะย้อนเข้ามาทำลายเชื้อโรคร้ายชนิดนี้ จึงเป็นของยาก เพราะความยึดมั่นถือมั่นที่เป็นตัวเป็นตนยังหนาแน่นอยู่ ฉะนั้นเรื่องเปลือกๆ คนโง่ชอบเอามาอวดอ้าง แต่สำหรับคนฉลาดแล้วเขาปอกเปลือกทิ้ง เพื่อจะเข้าถึงแก่น อย่างนี้ก็เป็นเยี่ยงอย่างที่ดีในข้อปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ และถ้าไม่ได้คำขนาบในขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์มาตรวจมาสอบแล้ว ก็จะตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาอุปาทานอยู่เช่นนั้น จึงต้องอาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้าเอามาตรวจสอบตัวเอง เพื่อชะล้างสิ่งสกปรกโสมมภายในจิตใจ เหตุนี้จึงต้องสนใจน้อมนำเอาคำขนาบมาสอบกันให้มากๆ เพื่อเป็นเครื่องอ่านตัวเอง ถ้ารู้สึกตัวขึ้นมาด้านไหนแง่ไหนแล้ว มันมีประโยชน์ที่ได้กวาดล้างออกไป ที่เคยยึดมั่นถือมั่นมาแต่กาลก่อนจะได้ผ่อนคลายลง ถ้าไม่รู้สึกด้วยสติปัญญาแล้ว ก็จะหมักหมมอมเชื้อ เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ว่า มันเน่าในเปียกแฉะหรือเหมือนกับบ่อเทขยะมูลฝอย แล้วใครจะรู้บ้างในคำขนาบเหล่านี้ ว่าเป็นคำที่ลึกซึ้งเพียงไร ล้วนแต่เป็นตัวยาขนานเอกทั้งนั้น

จะขอเล่าเรื่องประกอบอีกสักหน่อย เรื่องเปรียบเทียบของการปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะ มีเรื่องว่าเจ้าชายหนุ่มองค์หนึ่งจะเดินทางไปอภิเษกกับเจ้าหญิงเมืองไกล มีอำมาตย์ห้าคนเข้ามาขอร้องว่าจะขอตามเจ้าชายไปด้วย เจ้าชายก็บอกว่าการที่จะเดินทางไปนี้มันทุรกันดารมาก เพราะว่ามีนางผีเสื้อยักษ์ที่มันมีมายามากมายในการที่จะให้หลงไปในทาง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกาย ถ้าไปลุ่มหลงเข้าแล้วก็จะถูกนางยักษ์มันกัดกินตาย อำมาตย์ทั้งห้าคนก็ขอร้องว่าจะขอตามไป และจะพยายามอดทนที่จะทำตามคำสั่งของเจ้าชาย

ก็เป็นอันว่าเจ้าชายกับอำมาตย์ทั้งห้าคนเดินทางไป เมื่อเดินทางเข้าเขตของนางผีเสื้อยักษ์ เจ้าชายก็บอกกับอำมาตย์ทั้งห้าคนนั้นว่า นี่เข้ามาในแดนนางผีเสื้อยักษ์แล้วนะต้องระมัดระวังทางผัสสะให้ดีทาง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกายนี้ แล้วทรงสั่งสอนให้อำมาตย์ทั้ง 5 คนควบคุมจิตและมีการสังวรไว้แล้วก็พากันเดินทางไป นางผีเสื้อก็จำแลงเป็นนางสาวงาม นุ่งน้อยห่มน้อยทำกิริยามารยาทยั่วยวนตรงเข้ามาหาเจ้าชายและอำมาตย์ เจ้าชายทรงสำรวมจิตมีการเพ่งพิจารณาโดยเห็นความเป็นธาตุ อำมาตย์คนหนึ่งได้ติดใจในรูปจึงได้ตามนางสาวงามนี้ไป แล้วนางผีเสื้อยักษ์ก็จับกินเป็นอาหารเสีย

ทีนี้เจ้าชายก็ทรงกำชับอำมาตย์ทั้ง 4 คนให้มีความสำรวมกวดขันให้มากขึ้นทีเดียว เพราะว่าได้ตายไปคนหนึ่งแล้ว อำมาตย์ทั้ง 4 คนก็รับคำแล้วก็พากันเดินทางต่อไป คราวนี้นางผีเสื้อยักษ์ก็จำแลงเป็นนางสาวงามกว่าคนแรก แล้วก็ฟ้อนรำขับร้องเข้ามาหาเจ้าชายและอำมาตย์ เจ้าชายก็สำรวมจิตเพ่งพิจารณาให้เห็นความเป็นธาตุ ทีนี้อำมาตย์อีกคนหนึ่ง พอได้ยินเสียงนางผีเสื้อก็ติดใจในเสียงจึงได้ตามนางสาวงามนั้นไป นางผีเสื้อยักษ์ก็เลยจับกินเสีย

ทีนี้ก็มีเหลืออยู่ 3 คน เจ้าชายก็กำชับกำชาสั่งสอนให้มีการสำรวมยิ่งขึ้นให้มีการเพ่งพิจารณามากขึ้น นางผีเสื้อยักษ์ก็แปลงเป็นสาวงามให้ยิ่งกว่าสองครั้งแรก แล้วมันอบกลิ่นคือมีกลิ่มหอมหมดทั้งตัว เดินเข้ามาใกล้ แต่เจ้าชายก็สำรวมเพ่งพิจารณาเดินไปโดยความสงบตามที่เคย ทีนี้อำมาตย์คนที่ 3 ก็ติดใจในกลิ่นหอม เดินตามนางสาวงามนี้ไป นางผีเสื้อยักษ์ก็จับกินเป็นอาหารเสียอีก

ทีนี้เหลือ 2 คน เจ้าชายก็กำชับกำชาสั่งสอนใหญ่ทีเดียว อำมาตย์ทั้ง 2 คนก็รับคำ นางผีเสื้อก็จำแลงเป็นนางสาวงามยิ่งกว่าทั้งสามคนที่ผ่านไปแล้ว จัดโภชนาหารล้วนแต่เนื้อสัตว์และเป็นของเอร็ดอร่อยทั้งนั้น นำมาร้องเชิญเจ้าชายว่าให้รับประทานอาหารเนื้อสัตว์เถิด ถ้ารับประทานแล้วก็จะมีกำลังวังชามากทีเดียว เพราะว่าเนื้อสัตว์ที่จัดมานี้เป็นของมีรสอร่อยทั้งนั้น แต่เจ้าชายกลับไม่สนพระทัยได้เสด็จผ่านไปโดยการพิจารณาในความเป็นธาตุ ฝ่ายอำมาตย์คนที่สี่จึงมาคิดว่า เราเดินทางมากับเจ้าชายหลายวันแล้ว อาหารการบริโภคก็อดอยาก เราอย่าไปกับเจ้าชายดีกว่า เพราะว่านางสาวงามนี้เขามีอาหารดีๆ ทั้งนั้น ก็เลยไม่ตามเจ้าชายไป นางผีเสื้อยักษ์ก็จับกินเสีย

ตอนนี้ก็เหลือคนเดียวที่ติดตามเจ้าชายไป เจ้าชายก็สั่งสอนให้อดทนแล้วให้เพ่งพิจารณามากขึ้น ทีนี้นางผีเสื้อก็แปลงเป็นนางฟ้างามที่สุด ประดับประดาร่างกายด้วยเพชรนิลจินดาเครื่องอาภรณ์แล้วก็จัดที่นอนหมอนมุ้งล้วนแต่เป็นของดีมีค่า ร้องเชื้อเชิญให้เจ้าชายมาพักผ่อนนั่งนอนให้เป็นผาสุก แล้วมันจะเป็นคนปรนนิบัติให้ แต่เจ้าชายก็ได้ผ่านไป ด้วยการพิจารณาโดยความเป็นธาตุตามเคย อำมาตย์คนที่ 5 ก็มาคิดว่าเราก็ได้เดินทางมากับเจ้าชายก็ลำบาก จะนั่งจะนอนอะไรก็ไม่สบาย อย่าเลยเราจะอยู่กับนางฟ้านี่ดีกว่า จะได้นอนสบาย แล้วอำมาตย์คนนั้นก็ไม่ตามเจ้าชายไป นางผีเสื้อยักษ์ก็จับกินเสียหมดทุกคน เจ้าชายได้เสด็จไปโดยลำพังด้วยความสงบ นางผีเสื้อยักษ์จะตามไปทำมายาสาไถยล่อลวงอย่างไรก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ในที่สุดเจ้าชายได้เดินทางถึงแดนของเจ้าหญิง มีคนมาต้อนรับคับคั่งได้อวยชัยให้พรที่ได้เดินทางมาด้วยความสวัสดี แล้วเจ้าชายก็ได้อภิเษกกับเจ้าหญิง

นี่เป็นเรื่องเปรียบเทียบ เพราะเจ้าหญิงก็นางสาวสุญญตานั่นเอง แล้วเจ้าชายก็คือพระโยคาวจร ที่มีข้อปฏิบัติไปตามลำดับจนได้บรรลุโลกุตตรสุญญตา คือพระนิพพาน แล้วนางผีเสื้อยักษ์ก็ได้แก่ กิเลสตัณหาอุปาทานทั้งหลายทั้งปวงก็มีข้อสอบกันอยู่ว่าเรานี่ยังตกเป็นเหยื่อของนางผีเสื้อยักษ์กันอยู่หรือเปล่า ในชีวิตประจำวันที่มีการปฏิบัติกันอยู่นี้ จะต้องรู้ในเรื่อง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกาย เรายังตกเป็นทาสของมันอยู่หรือเปล่า ยังลุ่มหลงอยู่หรือเปล่า ต้องพยายามสอบกัน อย่าเอาแต่เรื่องดีเรื่องเด่น เรื่องสวยเรื่องงาม เรื่องจะเอานั่นเอานี่ ในการควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติประจำวัน

แล้วถ้ายังเพลิดเพลินอยู่ก็ต้องตกเป็นเหยื่อของผีเสื้อยักษ์ คือกิเลสตัณหา อุปาทานทั้งหลายทั้งปวงที่กำลังกัดกินให้จิตใจเจ็บปวดอยู่ ถ้าไม่รู้สึกตัวในเรื่องนี้ ก็ยังปฏิบัติไม่ถูกทางที่จะไปสู่โลกุตตรสุญญตา ตามรอยของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร มีความทุกข์ทรมานอยู่ทั้งนั้น ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสสอนให้ออกไปจากทุกข์โทษโดยส่วนเดียว

เพราะว่าในโลกของวัฏฏสงสารนี้ มีความทุกข์ทรมานมากมายนัก จึงได้ชี้ทางให้ออกไปสู่นิพพาน หรือโลกุตตรสุญญตา คือว่างจากตัวตน โดยที่ให้พิจารณาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นของว่าง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอยู่เสมอ ทั้งภายในภายนอก จึงจะปฏิบัติตามทางของพระพุทธองค์ได้ถูกต้อง และมีความพ้นทุกข์ได้ผลดียิ่งขึ้น โดยการปฏิบัติด้วยความไม่ประมาทจนตลอดชีวิต



.................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง