Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 อย่าหลงเสน่ห์มาร (ก.เขาสวนหลวง) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ส.ค. 2006, 7:36 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

อย่าหลงเสน่ห์มาร
โดย ท่าน ก.เขาสวนหลวง

สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง จ.ราชบุรี
๒ สิงหาคม ๒๕๑๕



วันนี้เป็นวันเปิดโอกาสที่จะปรารภข้อปฏิบัติ สำหรับผู้ที่มีความตั้งอกตั้งใจมาประพฤติปฏิบัติให้เคร่งครัดในระหว่างเข้าพรรษานี้ ก็ต้องปรารภความเพียรให้เหมาะสม เพราะว่าวันคืนที่ล่วงไปๆ นี้ไม่ได้ล่วงไปแต่วันคืนอย่างเดียว รวมทั้งชีวิตนี้ก็สิ้นไปเสื่อมไปอยู่ทุกขณะด้วย จึงไม่ควรจะมีความประมาทเลย เพราะที่ยังมีโอกาสนี้นับว่าเป็นลาภอันประเสริฐ ที่ได้มาประพฤตปฏิบัติเพื่อให้เป็นการดับทุกข์ของตัวเองได้ก่อนเจ็บก่อนตาย ฉะนั้นจึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญยิ่ง เพราะว่าเรื่องการปฏิบัติธรรมนี้ให้ผลในปัจจุบันทันตาเห็นทีเดียว โดยที่ไม่ต้องไปรอรับผลข้างหน้าโน้นเลย ทุกขณะที่มีสติมีความรู้อยู่ กิเลสมันจะได้ลดกำลังลงไปทุกที

เพราะว่าการควบคุมจิตใจอยู่เป็นประจำทุกอิริยาบถ ในขณะยืน เดิน นั่ง นอนนี้ย่อมเป็นเครื่องทำลายถ่ายถอนโรคร้าย คือกิเลสตัณหาภายในจิตใจให้ลดน้อยลงไปเป็นลำดับ แล้วก็พยายามที่จะพิจารณาให้รู้เรื่องจริงภายในตัวเองว่า ทุกขณะไปมันอยู่กับความเปลี่ยนแปลง ความเป็นทุกข์ แล้วก็บังคับบัญชาไม่ได้ทั้งนั้น แต่ถ้าไม่ได้พิจารณาให้รู้รายละเอียดภายในตัวเองแล้ว ก็มีการเพลิดเพลินไป โดยที่ไม่รู้ว่า ชีวิตที่ตกอยู่ในสังสารวัฏ ซึ่งเป็นกองทุกข์ภัยใหญ่หลวงนัก ควรจะต้องพยายามประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้เป็นการทำลายถ่ายถอนเชื้อโรคร้ายภายในจิตใจ ให้ได้ผลดีขึ้นทุกวี่ทุกวันทุกเวลาทีเดียว แล้วก็นับว่าวันคืนที่ได้มาปฏิบัติธรรมนี้มีแต่ความสว่าง ซึ่งมีความเยือกเย็นเป็นการอาบรดจิตใจอยู่ได้ เพราะไม่มีความเร่าร้อนเศร้าหมองไปด้วยอำนาจของกิเลสมากมายหลายประการนัก

เพราะฉะนั้นในโอกาสที่ยังมีลมหายใจอยู่นี้ เราได้ศึกษาเรื่องจริงภายในตัวเอง ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะต้องมีการตรวจสอบ ให้รู้เรื่องละเอียดของความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจนี้ ที่มันยังไม่รู้จักตัวของมันเอง จึงมีการหลงไป เพราะฉะนั้นจะต้องรู้เรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้นมาให้ได้ว่า บางทีเข้ามาอยู่ในสถานที่สงบแล้ว หรือว่าอยู่ในวัดวาอารามก็ตาม แต่จิตนี้เป็นของสำคัญนัก เพราะว่ามันเคยท่องเที่ยวไปหาเหยื่อของมาร และไปเที่ยวเก็บเอาดอกไม้ของพระยามาร แล้วยังหลงเสน่ห์ของมารอยู่ในลักษณะอย่างไร ? นี่ต้องตรวจสอบให้ดีให้รู้เรื่องจริงๆ ว่าชีวิตที่ได้หลุดรอดออกมาได้เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรม และมันได้เสียสละเหยื่อมารมามากมายหลายชนิดหรือไม่ ? หรือว่ามันยังเป็นห่วงเป็นใยอยู่ในลักษณะอย่างไร ?

ทั้งนี้จะได้เป็นเครื่องสอบตัวเองดูให้มันรู้เรื่องเสีย อย่าให้มันไปพัวพันอยู่กับบ้านเรือนและทรัพย์สมบัติหรือญาติวงศ์พงศ์พันธุ์อะไรอีกเลย ล้วนแต่ว่าเป็นเครื่องพาให้เนิ่นช้าทั้งนั้น ถ้าไม่รู้เรื่องอย่างนี้แล้ว คนที่จะออกมาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ แม้ว่าจะออกมาห่างไกลแต่จิตใจก็ยังไม่มีความเบื่อหน่าย ยังไม่เห็นโทษของกามแล้ว ก็เป็นของยากนักยากหนาที่จะทำให้เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ไม่เข้ามาพัวพันจิตได้ เพราะว่ามันคุ้นเคยมาอย่างนั้นเหมือนกับลูกโคที่เคยอยู่กับแม่ซึ่งยังต้องการความอบอุ่นอยู่ ทีนี้เขาจะต้องพรากเอาลูกโคมาฝึกเพื่อจะใช้งาน ส่วนลูกโคที่มันต้องมาฝึกมาอยู่ตัวเดียวนี้มันจะต้องว้าเหว่ เพราะว่ามันเคยอยู่กับแม่มันมีความอบอุ่นมาก

ข้อนี้ก็เปรียบได้กับคนที่เคยอยู่กับบ้านกับเรือนมา ที่ยังมีความพัวพันอยู่อีกมาก ครั้นได้นำมาฝึกก็เหมือนลูกโคที่ถูกพรากมาจากแม่ ในครั้งแรกๆ ก็จะคิดถึงแม่ของมันคือว่า โลกียารมณ์ทั้งหลายที่คุ้นเคยมานั่นเอง เมื่ออยู่กับบ้านกับเรือนทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการกินอยู่หลับนอนอะไรทั้งหมดนี้ ล้วนแต่คุ้นเคยกันมาแล้วทั้งนั้น แต่ครั้นได้มาฝึกอยู่ในวงการของการปฏิบัตินี้แล้ว จะต้องมีสติอยู่ทุกอิริยาบถ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้น เฉพาะต้องมีการฝึกโดยให้งดเว้นการทำ การพูด การคิดสารพัดอย่างไม่ให้ทำตามความคุ้นเคยมา ก็นับว่าเป็นประโยชน์ทีเดียว

ฉะนั้นเมื่อมาอยู่ในที่ปฏิบัติธรรมแล้ว ก็ย่อมจะต้องมีความรู้สึกตัวได้หลายๆ แง่ ทั้งที่ต้องพรากมาจากบ้านจากเรือนจากลูกจากหลานจากญาติพี่น้องอะไรก็สุดแท้ เพราะว่าจะต้องออกมาเป็นตัวคนเดียวจริงๆ แล้วก็จะต้องพยายามพินิจพิจารณาตัวเองให้รอบครอบให้ถี่ถ้วนว่า การประพฤติหรือปฏิบัติธรรมนี้ เพื่ออะไรกันแน่ แล้วก็ต้องรู้ทุกข์โทษของกิเลสกาม หรือพวกวัตถุกามที่เคยหลงใหลยึดถือมามากมายก่ายกอง ต้องเห็นว่าพวกนี้ล้วนแต่เป็นยาพิษเป็นของแสลง เพราะว่าเรื่องวัตถุกามก็ดี หรือกิเลสกามก็ดี ที่จิตใจนี้ยังพัวพันอยู่ มันก็เป็นความทุกข์หรือความสกปรกเศร้าหมองเร่าร้อนของจิตทั้งนั้น

ถ้าไม่มีการตรวจสอบรอบรู้อะไรของตัวเองให้ละเอียดชัดเจนแล้ว มันเป็นเครื่องเย็บย้อมจิต เพราะฉะนั้นจึงได้เรียกว่าฉาบทา มันเย็บย้อมฉาบทาเอาไว้อย่างเหนียวแน่นภายในจิตใจ มันอาลัยอาวรณ์มันรักใคร่นัก ในที่สุดก็รู้สึกว่า การที่จะปฏิบัติธรรมะเพื่อจะเอาตัวรอด ก็จะต้องเห็นทุกข์เห็นโทษอย่างนี้มาให้เพียงพอเสียก่อน จึงจะปฏิบัติได้ตลอดรอดฝั่งไปได้ แต่ถ้าว่ายังไม่รู้สึกเบื่อหน่าย มันก็จะเกิดความว้าเหว่เหหันไปหาที่คุ้นเคยของมันอย่างนั้นเหมือนลูกโคที่เคยอยู่กับแม่

ฉะนั้นต้องพิจารณาดูให้ลึกซึ้ง เพราะว่าความยึดถือรักใคร่พัวพันนี้ มันเป็นของหนักหน่วงเหนียวแน่นกว่าเรื่องความชัง เพราะความชังนี้ยังเห็นโทษง่าย แต่ความพัวพันนี่เห็นโทษยากเหลือเกิน แล้วก็จะต้องพิจารณาให้รู้เรื่องจริงของตัวเองเสียว่า ที่เกิดมานี่เกิดมาเอาอะไร เกิดมาทำไม ถ้าได้ประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว ก็จะได้รู้สึกขึ้นมาว่า เกิดมาเพื่อปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะ แต่ถ้าหากว่าไม่ได้มีการประพฤติปฏิบัติแล้ว ก็นึกว่าเกิดมาเพื่อทำมาหากิน ได้เงินได้ทองได้ข้าวของเยอะแยะก็แล้วกัน แล้วก็แก่เจ็บตายไปโครมๆ อยู่กับบ้านเยอะแยะไปนั่น เพราะว่าไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ความรู้สึกที่จะเป็นการรู้ด้วยสติปัญญาของตัวเองก็ไม่มี เพราะฉะนั้นก็หลงงมจมโคลนอยู่นั่นเอง เกิดมาแก่เจ็บตายไปทำบาปบุญคุณโทษอะไรก็สุดแท้ มันก็ทำใส่ตัวของตัวเอง แล้วก็ซ้ำซากอยู่อย่างนั้น

เพราะฉะนั้นถ้ามีความรู้สึกว่าชีวิตนี้มีความทุกข์ จึงได้ออกมาปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ นี่เป็นเรื่องของคนมีสติปัญญา เป็นเครื่องเตือนตัวเองแล้ว และก็วันเวลาของชีวิตนี่มันล่วงไปๆ ชีวิตก็หมดไปสิ้นไป ทีนี้จะต้องรีบด่วนทีเดียวเพราะว่าชีวิตนี้จวนจะเน่าเข้าโลงอยู่แล้วไม่ว่าสาวว่าแก่ เด็กหรือผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน จะต้องตายไม่รู้วันไหนเวลาไหน แต่ถ้าว่ามีสติปัญญาพิจารณาเรื่องซ้ำๆ บ่อยๆ แล้วย่อมจะเกิดความกระตือรือร้นสนใจว่า อย่างไรๆ ต้องปฏิบัติให้ได้เสียก่อน ก่อนเจ็บ ก่อนตาย

ถ้าจะมัวผัดเพี้ยนไปเมื่อนั้นเมื่อนี่ก็ไม่ได้เสียแล้ว เพราะว่าเวลาก็จำกัดและกิเลสมันก็เผา แล้วก็ทุกข์ของความที่จะต้องแก่ ต้องเจ็บต้องตาย มันก็มีปรากฏอยู่กับเนื้อกับตัวทั้งหมดนี้ แต่ว่ามันยังไม่ได้พิจารณามันก็ทำให้หลงระเริงไป นึกว่าอยู่สบายไปวันวันหนึ่งก็ดีแล้ว ที่สุดก็ไม่รู้ว่าชีวิตนี้มันหมดไปสิ้นไปอย่างไร และก็อยู่ไปเพลินๆ ถ้าว่ามีเรื่องเจ็บไข้อะไรก็รักษาพยาบาลมันวุ่นวายไป พอหายแล้วเมื่อรอดตายแล้วก็เลยลืมไปเสียอีก ทั้งยังนึกว่าจะมีชีวิตอยู่ร่ำไป และคิดจะเอาโน่นเอานี่อีกต่อไปใหม่ เพราะว่ายังเป็นคนหลง มันก็เลยมีแต่หาเชื้อมาเพิ่มยิ่งขึ้น และยังหลงเสน่ห์มารเรื่อยไป ไม่ได้คิดถึงว่าตัวนี้มาคนเดียว และก็จะไปคนเดียว และก็ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งมันจะว้าเหว่ไหม ถ้าหากว่าไม่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมให้เป็นหลักของจิตใจแล้ว เวลาทุกข์ภัยมาถึงเข้ามันจะว้าเหว่เหหันไปหมด แล้วก็เป็นเรื่องของความทุกข์ทั้งนั้น แต่ว่าไม่รู้เพราะมันหลง

เพราะฉะนั้นเรื่องของการปฏิบัติธรรม จึงเป็นเรื่องที่จะดับทุกข์ดับโทษได้รอบข้างไปหมด แต่ว่าจะต้องมีสติปัญญาพิจารณาจะรู้ได้ เพราะว่ากรปฏิบัตินี้ถ้าไม่มีปัญญาแล้วมันจะไม่รู้เรื่องว่า จะปฏิบัติละกิเลสนั้นอย่างไร และไม่รู้ว่ากิเลสนั้นคืออะไร ทั้งนี้จะต้องรู้ว่าการรักษาศีลก็เพื่อจะละกิเลส การทำจิตใจให้สงบก็เพื่อจะละกิเลส การปฏิบัติธรรมนี้ก็เป็นเรื่องของการอดทนต่อสู้ ที่จะเอาชนะทุกข์เอาชนะกิเลสให้ได้ผลดีเรื่อยๆ ไป มันเป็นเรื่องอย่างนี้

ถ้าว่าการปฏิบัติไม่ได้พิจารณาตัวเอง ให้รู้เรื่องความประพฤติทางกายวาจาใจนี้ว่า เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อให้มีความบริสุทธิ์หมดจดขึ้นมาได้อย่างไร อย่างนี้ต้องเป็นความสนใจให้มาก เพราะว่าถ้าไม่มีการสำรวมระวังแล้ว การพูด การทำ การคิดก็คงเหมือนกับคนธรรมดา แม้แต่จะมีศีลก็มีศีลไปชั้นนอกๆ นั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้มันก็ยังไม่ได้รายละเอียด ของการที่จะต้องรักษาอินทรียสังวรศีล คือจะต้องงดอะไรหลายๆ อย่าง เช่นการดู การฟัง การพูด การทำ การคิด ที่ไม่เป็นไปเพื่อความสงบแล้ว ก็จะต้องทำตัวให้เหมาะสมแก่ในหมู่ที่เขามีการปฏิบัติกันอย่างไร ? เขามีการสำรวมกายวาจาใจกันอย่างไร ?

ทั้งนี้ผู้ที่จะเข้ามาปฏิบัติก็จะต้องศึกษาและพิจารณาตัวเองด้วยจึงจะเป็นการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบขึ้นมาได้ เพราะว่าการคุ้นเคยมาแต่กาลก่อนนั้น ถ้าขาดสติปัญญาและก็ไม่มีการสังวรความประพฤติก็เหมือนอย่างคนที่อยู่บ้านเรือน หรือย่างคนที่อยู่แบบโลกๆ เพราะฉะนั้นเมื่อได้เข้ามาอยู่ในวงของการปฏิบัติธรรมแล้ว จะต้องเปลี่ยนใหม่หมด จะทำตามนิสัยเดิมๆ ที่เคยมานั้นไม่ได้ เพราะว่าทำให้เกิดทุกข์โทษของการทุศีล ไม่ว่าจะทำอะไรถ้าเป็นโทษทางกาย ทางวาจา หรือทางจิตใจก็ตาม ล้วนแต่จะต้องมีความกลัวมีความละอาย นั่นแหละการประพฤติปฏิบัติจึงจะเป็นการก้าวหน้าได้ ถ้าไม่มีเครื่องเตือนตัวเตือนใจอะไร ให้ประพฤติคุณงามความดีให้มากขึ้นแล้ว นั่นแหละพวกกิเลสตัณหา ที่มันมีมาในสันดานมันจูงลงกลับหมด ให้ไปทำตามความชินเคยไปทั้งนั้น

เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียงอะไรก็ไปยึดมั่นถือมั่นหมด เป็นดีเป็นชั่ว เป็นตัวเป็นตน เกิดความรักความชังอะไรสารพัดอย่าง ถ้าไม่รู้จักควบคุมจิตใจ หรือไม่รู้จักควบคุมทวารทั้งหก คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่แล้วมันเที่ยวหาเรื่องก่อทุกข์ก่อโทษให้ตัวเองเท่าไร แม้บางคนอยู่วัดนานๆ ก็ไม่รู้สึกตัวอะไรเลย เขาเรียกว่าแก่กิเลส มันก็กล้ากระทำการทุศีลให้แก่ตัวเองก็มี ชนิดที่ไม่กลัวทุกข์กลัวโทษเลย นึกจะพูดอะไรก็พูดไปตามสันดานของคนทุศีลอย่างนั้น ฉะนั้นต้องระวังตัวทั้งนั้นและต้องระวังการพูดจาทั้งหมด จะต้องลดลงทุกอย่าง ทิฏฐิมานะและกิเลสตัณหาอะไรที่มันเคยครอบงำสันดานมาแล้ว ตังเองจะต้องอดทนต่อสู้กับมันอย่างไร ? จะเอาชนะมันได้อย่างไร ? ไม่ว่าความโลภ ความโกรธ ความหลง อะไรทั้งหมดนี้ ล้วนแต่เป็นภัยอันใหญ่หลวงที่ครอบงำจิตใจอยู่ทั้งนั้น

อย่านึกว่าปฏิบัติอยู่สบายๆ อย่างนี้อย่านึกว่าดี เพราะโรคกิเลสตัณหานี่มันละเอียดมาก อย่าเพิ่งมาสำคัญว่าตัวเป็นคนดีคนถูกให้มากนัก มันจะเป็นดินพอกหางหมู มันต้องรอบคอบทั้งนั้น ไม่ว่าการกระทำอะไรด้วยกาย วาจา ใจ ต้องตรวจสอบแล้วสอบอีก ให้มันรู้ว่าจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร ? ที่ทำผิดพลาดไม่บริสุทธิ์ไปมันน่าละอายไหม ? มันน่ากลัวไหม ? นี่ถ้าไม่รู้เรื่องอย่างนี้ของตัวเองแล้ว บางทีก็ทำหน้าไหว้หลังหลอกไป และทุกข์โทษอะไรมันก็เข้ามาหมักดองอยู่ในสันดานนั่นแหละ แล้วก็ไม่ชำระชะล้าง มันก็สกปรกโสมมจมโคลนอยู่เรื่อยไป มันจะเป็นของน่ากลัวสักเท่าไร และความกลัวหรือความละอายนี้ก็ไม่ใช่อยู่ข้างนอกเหมือนกับจะทำอะไรผิดก็กลัวคนโน้นเขาจะว่า คนนี้เขาจะว่า นี่มันยังเป็นคนทุศีลอยู่

ถ้าว่าเป็นคนมีศีลแล้วเขาละอายอยู่ข้างใน กลัวก็กลัวอยู่ข้างใน ไม่ได้ละอายอยู่ข้างนอก ไม่ได้กลัวอยู่ข้างนอก คนที่กลัวข้างนอกละอายข้างนอกยังเป็นคนทุศีลคือว่าจิตใจนั้นยังไม่มีความซื่อตรงต่อตัวเอง แต่กลับไปละอายกลัวต่อคนนั้นจะว่าคนนี้จะเห็นไปอย่างนั้น ควรจะลายข้างในเพราะเห็นทุกข์โทษของกิเลสด้วยใจจริงแล้วก็จะทำตามกิเลสไม่ได้ มันละอายแก่ใจ หรือว่ากิเลสจะมายุยงส่งเสริมให้ทำอะไรตามอำเภอใจก็ไม่เอา และไม่ทำตามด้วย เพราะฉะนั้นต้องมีความละอายอยู่บ้างในที่คนอื่นเขามองไม่เห็น นั่นแหละศีลจะบริสุทธิ์ได้ครบถ้วน ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งจิตใจ แต่ถ้ามันยังทำหน้าไหว้หลังหลอกอยู่แล้ว ต่อหน้าคนก็มีความประพฤติดี หรือว่ามีความละอาย แต่พอลับหลังแล้วมันก็เปลี่ยนไปอีกอย่าง เคยมีความประพฤติหยาบคายก็แสดงออกไปโดยไม่ได้สำรวมกาย ไม่ได้สำรวมวาจา แล้วก็มีการพูดไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา ที่มันเกิดอะไรขึ้นมาก็จะให้พูดไปให้ทำไป ฉะนั้นจึงทุศีลอีกก็ไม่รู้สึกตัว เพราะฉะนั้นการรู้เรื่องของตัวเองมันต้องรู้หลายอย่าง รู้ทั้งความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ ในกายวาจาใจของตัวเองทั้งหมดโดยไม่ต้องไปรู้เรื่องของคนอื่นก็ได้

โดยเฉพาะต้องรู้เรื่องของตัวเองนี้เป็นของสำคัญที่สุด เพราะว่าเรื่องทุกข์ เรื่องกิเลสที่เกิดขึ้นที่ใจนี้มันทำให้จิตใจเศร้าหมองเร่าร้อน สำหรับโรคภัยอะไร ขั้นกายนั้นมันยังนิดหน่อย แต่ว่าโรคกิเลสตัณหาอุปาทานที่มันมีอยู่ในจิตในใจทุกขณะก็ว่าได้ ฉะนั้นควรจะต้องสอบต้องตรวจให้ได้รายละเอียด แล้วนั่นแหละมันจึงจะเป็นการปฏิบัติที่จะดับทุกข์ดับกิเลสที่ยังอยู่ให้ลดน้อยเบาบางไปได้ เพราะฉะนั้นจะอวดดีอวดเก่งไม่ได้ หรือว่าจะทำเคร่งครัดมัธยัสถ์อะไรในขั้นศีล หรือในขั้นปัญญาก็ตาม จะทำเป็นการโอ้อวดกัน หรือแข่งขันกันในลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ก็ตาม ซึ่งล้วนแต่เป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ในจิตในใจทั้งนั้น

สำหรับเรื่องมิจฉาทิฏฐิที่มีความเห็นผิดนี่ต้องตรวจให้ได้รายละเอียดอยู่ทุกขณะที่มีความเห็นผิด ถ้ามีความยึดมั่นถือมั่น เป็นเที่ยงสุขตัวตนขึ้นมาเมื่อไร ก็เป็นมิฉาทิฏฐิที่อยู่ต่อหน้าต่อตานั่นแหละ แล้วก็อย่าไปสำคัญตัวว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ส่วนสัมมาทิฏฐินี้ต้องเห็นความไม่เที่ยงจริง เป็นทุกข์จริง ไม่ใช่ตัวตนจริง ทุกขณะที่จะมองเห็นด้วยสติปัญญาจริง ไม่มีการไปเที่ยวหลงใหลไขว่คว้ายึดถือเอาอะไร แม้ว่าจะเป็นสัมมาทิฏฐิคือว่าปัญญาเห็นชอบ แต่ถ้ายังเห็นผิดอยู่ว่าตัวเราตัวเขามีรักมีชัง มีโกรธ มีเกลียดอะไรกันอยู่ก็ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ ฉะนั้นจะต้องตรวจเข้ามาหาตัวเองให้มากสักหน่อย มิฉะนั้นแล้วก็จะนึกว่าตัวนี้เป็นสัมมาทิฏฐิก็ได้ นึกว่าตนเห็นถูกไปหมดแล้ว ถ้าตรวจรายละเอียดแล้วยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ตั้ง ๙๕ เปอร์เซ็นต์ เพราะว่ามันยังยึดมั่นถือมั่นอยู่และยังเพ่งเล็งอยู่ทั้งนั้น ยังไม่รู้ความจริงในเรื่องความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาจริง แล้วมันก็ต้องเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่นั่นแหละ

เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะอบรมจิตภาวนาโดยการพิจารณาให้รู้เห็นแจ้งประจักษ์ชัด โดยเฉพาะอย่าเข้าใจเรื่อง ความสงบ กับ ความสยบ นี้ไม่ปนกัน ควรตีความทั้งสองคำนี้ให้กระจ่างว่า “ความสงบ” มีลักษณะอย่างไร และ “ความสยบ” มีลักษณะเป็นอย่างไร อย่าเอามาปนกันเสีย เพราะว่าเรื่อง ความสยบ กับ ความสงบ นี้มีลักษณะคล้ายกัน สำหรับคนไม่รู้แล้วก็นึกว่าจิตของเรามีความสงบแต่ว่านั่นยังไม่ใช่เป็น “ความสงบ” มันเป็น “ความสยบ” เพราะว่าไม่รู้จึงไปหลงเอาว่าจิตของเราสงบแล้วในลักษณะอย่างนั้น ในลักษณะอย่างนี้ ความจริงแล้วล้วนแต่เป็น ความสยบ ไม่ใช่ ความสงบ นี่ต้องตรวจดุให้ดี เพราะว่าเรื่องความสงบกับความสยบนี้มีลักษณะตรงกันข้าม แต่ก็รู้ยากเหมือนกัน

ฉะนั้นต้องสังเกตว่าถ้าเป็นลักษณะของ ความสยบ แล้วมันไม่รู้อะไรเลย เพราะเป็นมิจฉาทิฏฐิจึงไม่รู้ไม่เห็นอะไร ทั้งนั้น แต่มันก็เข้าไปสยบเฉยๆ เพลินๆ อยู่กับความสุขเวทนา หรือว่าเพลินอยู่กับจิตที่มีความระงับลงไปเท่านั้น แล้วมันก็ไปเพลินๆ เฉยๆ นั่นแหละเขาเรียกว่า เป็น “ความสยบ” ไม่ใช่ “ความสงบ” ระวังให้ดี ต้องพยายามตรวจให้ได้รายละเอียด แล้วอย่าเอามาปนกันจะได้ไม่เข้าใจผิด เพราะว่าความสงบนี่มันต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ ส่วนความสยบนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ ต้องสอบอย่างนี้ ถ้ายังไม่ได้สอบให้รู้ว่ามิจฉาทิฏฐิเป็นความสยบและสัมมาทิฏฐิเป็นความสงบแล้ว จะต้องมีการตรวจสอบรอบรู้อยู่ในตัวเองจึงจะได้ เพื่อให้เป็นการรู้ข้อเท็จจริงขึ้นมา อย่าได้มีความสำคัญผิดเอาเองเลย

เรื่องข้อปฏิบัติเป็นของละเอียดมาก ควรจะประพฤติให้ถูกต้องตามแนวทางธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า โดยไม่คาดคะเนเอาเองว่า ดีอย่างนั้น ถูกอย่างนี้ เพราะว่าสติปัญญาของตัวเอง มันยังอยู่ใต้อำนาจของอวิชชา และอาสวะที่สำคัญคือโมหะเพราะฉะนั้นจะไปคาดคะเนเอาเองว่าเราปฏิบัติถูกแล้ว ในลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าว่าใครขืนไปเข้าใจเอาเองอย่างนี้แล้วก็มีแต่หลง คือว่าหลงทาง ทางที่พระพุทธเจ้าชี้ให้เดินนี้ ต้องนำเอามาพิจารณาค้นคว้าให้รู้ ไม่ใช่เป็นการรู้เพียงเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็เอามาทำความเข้าใจเอาเองว่า เรารู้แนวทางของพระพุทธเจ้าทั่วถึงแล้ว นั่นยังหลอกตัวเองอยู่ทั้งนั้น มันจะไปรู้ได้ทั่วถึงอย่างไร เพราะพระพุทธเจ้าทรงวางระเบียบข้อปฏิบัติเอาไว้ละเอียดมาก เหลือวิสัยของปุถุชน เพราะว่าสติปัญญาของปุถุชนนั้นยังไม่รู้ทั่วถึงจะรู้ทั่วถึง ก็เพียงแต่ตามหลักตามเกณฑ์อะไรบ้างเล็กน้อยที่เรียนรู้ตามตัวหนังสือเท่านั้นเอง

ส่วนเรื่องรายละเอียดที่เป็นการค้นคว้าเข้าด้านในของตัวเองไม่ใช่รู้ได้ง่ายๆ เลย เพราะว่าเรื่องกิเลสอาสวะที่มันอยู่ในสันดานนี้ มันเป็นของลึกซึ้งมากนัก เพราะเชื้อโรคร้ายยังแฝงอยู่ และยังทำให้จิตใจร้อนเร่าเศร้าหมองระทมทุกข์อยู่ ถ้าหากว่าไม่มีอะไรที่รุนแรงมันก็เพลินๆ ก็เลยหลงว่าสบายดี นี่แหละมันหลอกตัวเองให้ตกหล่มจมทุกข์โดยที่ไม่รู้สึกตัวแล้วก็มีการทะนงตัวว่า รู้คำสอนของพระพุทธเจ้าหมดแล้ว เหตุนี้ปุถุชนส่วนมากจึงมีความสำคัญทะนงตัวผิดๆ เพราะว่าการปฏิบัติมันยังไม่มีการซักฟอกเข้าข้างใน พอจะมีความรู้อะไรขึ้นมาเล็กๆ น้อยๆ ก็ทะนงตัวอวดดีเสียแล้ว มันเป็นอยู่อย่างนี้ เพราะสันดานของปุถุชน เนื่องจากว่ายังมีกิเลสอาสวะที่เป็นเครื่องห่อหุ้มสันดานอยู่ ทั้งนี้เพราะไม่ได้มีการพิจารณาสอดส่องเข้าไปให้รู้รายละเอียดนั่นเองแล้วมันก็เลยมาเพลินๆ อยู่ ก็นึกว่าเป็นการดีการถูกไปตามประสาคนโง่ๆ ด้วยกัน

ถ้าว่าเป็นคนมีสติปัญญาละเอียดแล้ว การปฏิบัตินี้จะต้องสอบเข้าข้างใน ต้องให้รู้ลึกซึ้งเข้าไป แม้ว่าจะรู้อะไรขึ้นมาก็ยัง ยังไม่สมยอมหรือยกย่องตัวเองว่า เรารู้ดีอย่างนั้นเรารู้ถูกอย่างนี้ไม่ได้ เพราะจะต้องจับความผิดอยู่ในตัวของตัวเองอีกหลายชั้นนัก ไม่ใช่ชั้นเดียวและก็ไม่ใช่สองชัน มันหลายชั้นทีเดียวและความรู้อะไรที่มันสับปลับกลับกลอกหลอกหลอนอยู่ในตัวรู้นี้ก็หลายชนิดอีก แล้วก็จะต้องตรวจ ต้องจับอยู่เรื่อยไปทีเดียว อย่าได้ทะนงตัวว่าเราเป็นคนรู้ดีรู้ถูกและได้ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าถูกแล้ว แต่ที่ถูกนี้ประมาณสักหนึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนที่ผิดนี่ยังมากมายนัก เพราะฉะนั้นจะต้องมีความพากเพียรอย่าได้มีความประมาท ที่จะเป็นการรู้แจ้งแทงตลอดเข้าข้างในนั้นไม่ใช่ของง่าย เพราะเป็นของฝืนสันดานของปุถุชน ที่เป็นคนหนาด้วยกิเลสตัณหาอุปาทาน แต่ว่ามันก็ไม่ใช่ของเหลือวิสัยอะไรนัก ย่อมสามารถที่จะหยั่งเข้าไปรู้ได้ ไม่ว่ากิเลสตัณหาประเภทไหนที่จะสอพลอก่อเกิดมาได้จากขึ้นหยาบก็รู้ และขั้นกลางจนถึงขั้นละเอียด

ทั้งนี้จะต้องตรวจเชื้อโรคของตัวเองให้ได้รายละเอียด ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็นึกว่าตัวเป็นคนรู้ดีรู้ถูก อวดเก่ง มันจะไปอวดเก่งกับใครได้ เพราะยังมีความระทมทุกข์อยู่ข้างใน ยังยึดถือตัวตนอยู่ กระทบกระทั่งอะไรก็ยังไวอยู่ ว่องไวที่จะแล่นรับอยู่แล้วมันจะดีจะถูกไปได้อย่างไร ถ้ายิ่งปฏิบัติไปก็จะยิ่งได้ทราบโรคละเอียดลออเข้าข้างใน ได้ส่องเข้าข้างใน จึงได้ตรวจ ได้จับเชื้อโรคร้ายได้หลายๆ อย่าง เพราะแต่ก่อนไม่รู้เรื่อง นึกว่าตัวดีตัวถูกไปหมดแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าคนอื่นเขาตรวจไม่ได้รายละเอียด นอกจากตัวเองนี้ ถ้าไม่สมยอมกับกิเลสแล้ว ก็ตรวจกิเลสได้ละเอียด ถ้าจะผิดพลาดพลั้งเผลอไปในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เป็นการรู้สึกได้ แล้วก็จะต้องพิจารณาค้นคว้าดูว่า เชื้อโรคอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาอย่างไร ทำไมจึงจะรอบรู้มันได้ จึงจะดับมันได้ เพราะว่าเกิดขึ้นมาทีไรถ้าว่าเผลอสติแล้ว มันก็ยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาทุกที แล้วมันก็เกิดทุกข์ขึ้นมา เดือดร้อนขึ้นมาสารพัดอย่าง

ทางผัสสะก็มากมายอีกเหมือนกัน เพราะทางด้านในก็มีความจำความคิดอะไรอีก มันไปเที่ยวแส่ส่ายไปยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาอย่างไร แต่ก็อย่าเป็นการอยู่อย่างเพลินๆ ก็แล้วกัน เพราะจะทำให้ตกหล่มจมเหวไปเสีย ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิแล้วมันเพลินไม่ได้ ตัวเพลินนี้มันเป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งนั้น เพราะความเห็นผิดคิดว่าเพลินดีอย่างนั้น ถูกอย่างนี้ สบายอย่างนั้นก็จะสำคัญไปเอง มัวเมาเพลิดเพลินไปเอง

ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิแล้วไม่ได้ต้องรู้มองรายละเอียดลึกซึ้งเข้าไปทีเดียว เข้าไปตรวจเข้าไปจับ เข้าไปจับเชื้อโรคร้ายที่มีอยู่ในสันดานอย่างไร ไหวตัวออกมาในลักษณะอย่างไร ยึดถือขึ้นมาให้เกิดเดือดเนื้อร้อนใจขึ้นมาทำไม เพราะว่าโรคอย่างนี้มันเป็นโรคจับหัวใจรู้ยากเห็นยาก แต่ก็ไม่เหลือวิสัย เพราะพระพุทธเจ้าได้ชี้ข้อปฏิบัติเอาไว้ให้ตรวจเอาเอง เพราะว่าธรรมะนี้ต้องเป็นสันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติจะต้องเห็นเองได้ไม่เลือกกาลไม่เลือกเวลาทุกๆ ขณะไปหมด นี่ต้องตรวจสอบรอบรู้จิตใจอยู่ทั้งนั้น ไม่ใช่อวดดีเย่อหยิ่งไปอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ทำจองหองไปไม่ได้ หรือจะทำอวดเก่งเคร่งครัดอะไรก็ไม่ได้ทั้งหมด จะต้องทำด้วยความซื่อตรงภายในจิตใจของตนเองจริงๆ ทั้งในที่ลับที่แจ้งจึงจะได้ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วมันหลอกลวงเป็นคนลวงโลก แล้วใครจะตรวจจะมาจับให้ได้ ตัวเองนี่แหละจะต้องจับเชื้อโรคร้ายหรือคนลวงโลกในตัวเองได้ทุกขึ้นทุกชั้นหมด

การปฏิบัติมันต้องเป็นไปแบบนี้ เหมือนกับคนเรียนเป็นหมอ แล้วก็ต้องตรวจโรคเองรักษาตัวเอง แล้วก็ใช้พระธรรมโอสถของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องระงับดับเชื้อโรคร้ายภายในจิตใจ เรื่องต้องอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องอวดรู้อวดเก่งเลย เพราะฉะนั้นยิ่งปฏิบัติไปนานๆ มันยิ่งอ่อนน้อม ไม่มีการเผยอผยองพองตัวพองลมเพราะว่ามันได้ข่มขี่ทิฏฐิมานะอยู่เรื่อยไปทีเดียว ทำให้เป็นคนที่มีการเปลี่ยนนิสัยตัวเองได้โดยไม่มีความกระด้าง กลับเป็นคนอ่อนน้อม เพราะที่อ่อนน้อมนี้เนื่องจากกลัวกิเลสของตัวเองนั่นแหละ ไม่ใช่ไปกลัวกิเลสของคนอื่นเมื่อไร ถ้าหากเป็นคนแข็งกระด้างแล้ว กิเลสนี่เองมันทำให้กระด้างขึ้นมา เพราะฉะนั้นจะต้องลดอำนาจของกิเลสลงมา ให้อ่อนโยนลงให้ได้ ไม่ให้เป็นคนแข็งกระด้างอยู่อย่างนั้น

ฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเป็นเครื่องรู้ของตัวเอง เป็นเครื่องบังคับของตัวเอง แล้วก็ตรวจจับดับกิเลสของตัวเอง ดับทุกข์ของตัวเอง อยู่ทุกวี่ทุกวันทุกเวลาทุกขณะไปทั้งหมด นั่นแหละจึงจะได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติธรรมแท้ ถ้าว่าเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว เป็นการเห็นชอบรอบรู้อยู่ แต่ถ้าไม่รู้อย่างนี้แล้ว ก็หลับหูหลับตาเป็นมิจฉาทิฏฐิต่อไปอีก แล้วก็เป็นการสยบไป เพราะนึกว่าเป็นความสงบดีแล้ว จะเอาสุขจะเอาความสบาย เอาความว่างอะไรก็ตามที่มันจะเข้าไปสยบ แล้วก็นั่นแหละคือมิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดนั่นเอง

เพราะฉะนั้นขั้นที่เข้าไปสยบนี้ยังไม่ค่อยรู้ลักษณะกันได้ชัดเจนนัก แล้วก็มักจะเอามาปนกันเสีย เอาความสยบ มาเป็นความสงบได้ จึงทำให้การปฏิบัติไม่ถูกต้องตามแนวทาง เพราะเหตุนี้ การที่จะออกไปไม่ได้ เพราะว่ามันยังเพลินอยู่ ถ้าไม่รู้ลักษณะของความเพลินแล้วก็เป็นมิจฉาทิฏฐิเป็นความสยบทั้งนั้น ฉะนั้นต้องตรวจสอบรอบรู้ให้เป็นการทำลายถ่ายถอนเสีย มันจะได้ไม่เข้าไปสยบกบดานอยู่อย่างนั้น นี่จะต้องเป็นการรู้จริงเห็นแจ้งประจักษ์ในลักษณะของความเกิดดับ หรือรู้ทุกข์โทษของกิเลสตัณหาที่มันเกิดขึ้นในลักษณะอย่างไรก็จะต้องจับได้

แม้ว่ามันจะเกิดประมาณสักยี่สิบสามสิบครั้ง แต่ถ้าจับได้สักครั้งหนึ่งก็ยังนับว่าดี มันยังจะทำลายถ่ายถอนไม่เข้าไปสยบอยู่กับลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ทั้งนี้จะต้องอ่านเอาภายในจิตใจของตัวเองออกมาให้ได้ไม่ใช่ตามตัวหนังสือที่เรียนที่รู้มา ทีนี้ในจิตในใจที่ยังมีโรคร้าย ที่ทำความเข้าใจผิดอยู่ในตัวของตัวเองนี้ แล้วก็สำคัญว่ามันเป็นคนรู้ ซึ่งเป็นการหลอกตัวเองตู่ตัวเอง ที่ไม่รู้ก็มาบอกว่าตัวมันเป็นคนรู้เสียแล้ว มันก็ยังรู้ผิดเห็นผิดอยู่ มันก็ว่าเป็นคนรู้ถูกเสียแล้ว ฉะนั้นใครจะเขาจะมาจับความสับปลับกลับกลอกได้ นอกจากตัวของตัวเอง เพราะสติปัญญาของตัวเองนี้ จะต้องจับเชื้อโรคร้ายภายในตัวเองให้ละเอียดไม่ใช่เอาเรื่องดีๆ มาพูดอวดกัน แต่ต้องเป็นการค้นคว้าตรึกตรองมากมายหลายประการทีเดียว จึงเรียกว่าการปฏิบัติธรรมเพื่อทำลายเชื้อโรคร้าย ที่มีอยู่ในสันดานให้เบาบางจางคลายออกไป แล้วก็มีความพากเพียรพยายามอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกถึงจะได้

ถ้ายังห่างเหินอยู่แล้วไม่ได้ เพราะเชื้อโรคร้ายอย่างนี้มันละเอียดนัก จะทำด้วยความประมาทไม่ได้เลยเป็นอันขาด ยิ่งประพฤติปฏิบัติไปนานๆ แล้ว มันยิ่งกลัวทุกข์โทษมากมายหลายอย่าง ที่ยังสอพลอก่อเกิดให้ยึดมั่นถือมั่นอยู่ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจะต้องพิจารณาแล้วพิจารณาอีก สอบแล้วสอบอีก ตรวจแล้วตรวจอีก ไม่ใช่ชั้นเดียว หลายชั้นทีเดียวถาว่าตรวจได้หลายชั้น สอบแล้วสอบอีกอยู่เรื่อยไปแล้วก็เหมือนกับการถางทางหญ้ารกมันต้องถางไป ตัดไป โค่นไป เผาไป สำหรับการถางป่ากิเลสภายในจิตใจก็ต้องให้วิจิตรพิสดารออกไปทีเดียว ถ้าว่าเป็นการตรวจสอบรอบรู้เข้าด้านในแล้ว มันเป็นการถางป่ากิเลสได้ดีเหลือเกิน ถ้าจะเกิดโลภ โกรธ หลง อะไรขึ้นมาก็เอากับมันทีเดียว ถางมัน ขุดมัน เผามัน นี่การปฏิบัติธรรมแท้ต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องอวดดีอวดเก่งอวดรู้ แต่ต้องรู้เรื่องของกิเลสทุกชนิดทุกชั้นที่เกิดขึ้นมาภายในจิตในใจ ฉะนั้นเรื่องการปฏิบัติธรรมต้องให้เป็นการรู้เห็นตัวตนเองจริงๆ แล้วจะต้องมีความพากเพียรพยายามให้ยิ่งขึ้นเสมอ ไม่ให้มีความประมาท และก็อย่ามีความสำคัญตัวว่าเป็นคนรู้ดีรู้ถูกแล้ว มันยังหลงเปะปะอยู่

เพราะฉะนั้นจะต้องมีสติปัญญาอะไรที่เป็นเครื่องค้นคว้าพิจารณาเดินทางให้มันถูก แล้วก็ดับทำลายทุกข์โทษได้เรื่อยไป และจะต้องพยายามไปจนตลอดชีวิตจึงจะได้ จึงจะไม่เสียทีที่เกิดมาพบคำสอนของพระศาสดาที่ได้วางหลักเกณฑ์เอาไว้ให้ประพฤติปฏิบัติ อย่างนี้มันก็นับว่าเป็นลาภอย่างประเสริฐแล้ว เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้จงอย่ามีความประมาทเท่านั้นเอง

ถ้าว่าเป็นการรู้สึกตัวด้วยใจจริงแล้ว การประพฤติปฏิบัติธรรมทุกวันทุกเวลาก็จะมีความก้าวหน้าไปเอง เหมือนการถางป่า มันเตียนโล่งเรื่อยไปเอง ถ้าไม่ทำแบบนี้แล้วก็เท่ากับหล่อเลี้ยงกิเลสเอาไว้อีก หล่อเลี้ยงตัวกูไว้อีก ระวังให้ดี ถ้าว่ามันคิดอ่านโค่นตัวนี้ได้เรื่อยไป ไม่ว่ามันจะโผล่มารูปไหน เรื่องอะไร แง่ไหน ต้องข่มขี่มันลงไป ดับมันลงไป ทำลายมันลงไป แล้วนี่จะหาข้อปฏิบัติอย่างอื่นไม่ได้ เพราะว่าตัวตนนี่มันเก่งนัก มันอยากจะอวดเก่งอวดรู้สารพัดอย่าง ต้องเอาตัวนี้ลงไปนั่นแหละถึงจะเป็นการปฏิบัติไปสู่โลกุตรสุญญตาได้ และเป็นการปฏิบัติในแง่นี้แง่เดียวก็ได้ ไม่ต้องไปเอาอย่างอื่นอีกก็ได้ โดยจะต้องข่มขี่ทิฏฐิทำลายมานะตัวตนให้ราบไปให้ได้ ไม่ว่าจะยึดถืออะไรขึ้นมา จะต้องไม่ตามใจมันต้องขัดอำนาจของกิเลสหรือตัวกูเรื่อยไป แล้วก็นั่นแหละคือหนทางของการปฏิบัติที่จะไปสู่โลกุตรสุญญตาเรื่อยไป ไม่ข้องแวะอะไรทั้งหมด ถูกผิดดีชั่วอะไรสารพัดอย่างต้องยกเลิกเพิกทิ้งไปให้หมด ไม่สนใจ การปฏิบัติจึงจะเรียบร้อยไปเที่ยวไปหาเรื่องอะไรอีก ถ้าเป็นการปฏิบัติถูกทางมันก็ไม่มีเรื่องอะไรจริงๆ เหมือนกัน

เพราะความโง่นั่นเองเที่ยวส่ายสายตาไปดู หูก็เที่ยวตะแคงฟังไปยึดมั่นถือมั่นเท่านั้นเอง มันจึงโง่อย่างนี้ ถ้าไม่ทำเป็นคนตาไว หูไว ไปยึดมั่นถือมั่นแล้ว การปฏิบัตินี้จะดับทุกข์ดับกิเลสได้ จิตใจก็เป็นอิสระได้จริงๆ โดยที่ไม่ต้องมาเสียเวลากับเรื่องหลอกๆ ลวงๆ กันนี่เลย มันรู้หมด หลอกลวงมาแล้วแต่หนหลังอย่างไร ที่มันตกเป็นทาสของกิเลสมาเท่าไร ที่นี้ก็เป็นเครื่องอ่านออกด้วยกันทุกคน เพราะมีการปฏิบัติธรรมขึ้นนี้ จึงเป็นความรู้สึกตัวได้หลายแง่หลายมุมนัก แล้วก็ต้องพยายามปฏิบัติต่อไปด้วยความไม่ประมาท

เพราะฉะนั้นจึงต้องปรึกษาหารือกัน เพื่อให้เกิดความรู้ที่จะดำเนินการปฏิบัติต่อไป อย่าให้มีความล่าช้า หรือย่าให้มีความเพลิดเพลินอยู่ในแง่หนึ่งแง่ใด ซึ่งจะได้มีความสนใจที่จะพิจารณาตรึกตรอง เพื่อจะได้การสอบเข้าด้านในให้ได้รายละเอียดยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้วันคืนมีแต่ความสว่าง และเป็นวันคืนที่รุ่งเรืองด้วยสติปัญญาเป็นเครื่องดับทุกข์ดับโทษของตนเอง ให้ได้ผลดีทุกประการเทอญ



.................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
pump
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 07 พ.ย. 2006
ตอบ: 12
ที่อยู่ (จังหวัด): pathumthani

ตอบตอบเมื่อ: 09 พ.ย.2006, 11:04 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง