Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 วิปัสสนาภูมิ ตอนที่ 10 นิวรณ์ 5 อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
kit_allwhat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 02 ส.ค. 2006
ตอบ: 25

ตอบตอบเมื่อ: 21 ส.ค. 2006, 12:26 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

วิปัสสนาภูมิ ตอนที่ 10 “นิวรณ์ 5”
โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)


นมตถุรตนตตยสส ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอความผาสุกความเจริญในธรรม จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ต่อไปนี้จะได้ปรารภธรรมะตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ในเรื่องที่กำหนดไว้คือ เรื่องนิวรณ์และกิเลส คำว่า นิวรณ์ ก็หมายถึงธรรมชาติที่กั้นที่ขวางความดีไว้ นิวรณ์เป็นตัวกั้นไม่ให้ความดีเกิดขึ้น ความดีที่กระทำอยู่เมื่อถูกนิวรณ์กั้นอยู่ ความดีนั้นก็ต้องหมดไป นิวรณ์นั้นท่านแสดงไว้เป็นนิวรณ์ 5 ก็มี เป็นนิวรณ์ 6 ก็มี หรือถ้าแยกละเอียดแล้วก็จะมากกว่านั้น

ประการที่ 1 ก็คือ กามฉันทะ ก็คือ ธรรมชาติที่เป็นเครื่องกั้นความดี ได้แก่ ความยินดีติดใจในกามคุณอารมณ์ กามคุณอารมณ์นี้จะกั้นความดีเหมือนกัน คำว่ากามคุณอารมณ์ก็หมายถึง รูปสวย เสียงไพเราะ กลิ่นหอม รสอร่อยสัมผัสที่ดี กามคุณอารมณ์เป็นตัวอารมณ์ แต่ตัวที่เข้าไปยินดีติดใจเป็นตัวกามฉันทนิวรณ์ ตัวอารมณ์คือรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสที่น่าใคร่น่าปรารถนานั้นอย่างหนึ่ง ตัวที่เข้าไปยินดีติดใจนั้นก็อย่างหนึ่ง รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสนั้นเป็นเพียงอารมณ์ ไม่ใช่ว่าไปโทษรูปสวย เสียงไพเราะ อย่างบางคนไปบอกว่านั่นคือตัวกิเลสบ้าง ไปเห็นรูปสวยๆ บ้าง บอกว่านั่นคือตัวกิเลส

ที่จริงแล้วไม่ถูก กิเลสมันอยู่ที่ใจไม่ได้อยู่ที่อารมณ์ พระอรหันต์ท่านก็เห็นเหมือนกัน พระอรหันต์ท่านก็เห็นรูปสวย ได้ยินเสียงไพเราะ กลิ่นหอมรสอร่อยสัมผัสที่ดีเหมือนกัน แต่ท่านไม่มีความรู้สึกยินดีพอใจติดใจ ฉะนั้นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นั้นเป็นเพียงอารมณ์ ท่านใช้คำว่ากามคุณอารมณ์ มีคำว่าคุณอยู่ด้วย จึงไม่ใช้กามโทษ ใช้ คำว่ากามคุณ ที่จริงมันมีคุณเพราะว่ามันเป็นผลของบุญ ใครๆ ก็ปรารถนา ไม่มีใครเลยที่จะไม่ปรารถนารูปสวย เสียงไพเราะกลิ่นหอมรสอร่อย ทุกคนปรารถนาทั้งนั้น คนที่จะได้รับก็ต้องมีบุญ

ทำบุญไว้จึงมาได้เห็นภาพดีๆ มาได้ยินเสียงไพเราะ ได้กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสดีๆ ต้องมีบุญกุศลไว้ เมื่อไปรับสัมผัสอารมณ์ที่ดีนั้นแล้วก็เกิดความยินดีติดใจ อันนี้เป็นตัวกามฉันทะ องค์ธรรมก็คือ โลภเจตสิก ความโลภ ความต้องการติดใจในอารมณ์เป็นโลภะแล้ว ฉะนั้นก็ขอให้ทำความเข้าใจว่าขณะที่เห็นภาพสวยๆ ได้ยินเสียงไพเราะแล้วเกิดความยินดีพอใจ ขณะนั้น โลภะเกิดขึ้นแล้ว อกุศลธรรมเกิดขึ้นแล้ว ถ้าไม่เรียนก็จะคิดว่า ไม่ได้มีอะไร ไม่ได้เป็นอกุศล พอเราได้ศึกษารู้ว่า อ๋อ นี่เป็นอกุศล และได้เป็นผู้เจริญสติก็จะเห็นสภาวะของความยินดีพอใจนั้นจะมีความดิ้นรนอยู่

ไม่มีความสงบไม่มีความเป็นปกติ นักปฏิบัติเมื่อปฏิบัติไปเกิดกามฉันทะขึ้นมา บางทีการปฏิบัตินั้นก็ไม่สามารถดำเนินไปได้ก็สืบเนื่องมาจากความตรึกนึกคิดนั่นเอง ถ้าไม่มีการปรุงแต่งนึกคิดไปเป็นมโนภาพเป็นเหตุการณ์ต่างๆ แล้ว ความยินดีติดใจในกามคุณอารมณ์นั้นก็ไม่เกิดขึ้น ฉะนั้นกามฉันทะไม่ได้หมายถึงในเรื่องของกาม ในเรื่องของเพศอย่างเดียว ความพอใจในรูปสวยเสียงไพเราะกลิ่นหอมนั่นก็เป็นกามฉันทะต้องมีสติรู้เท่าทันเมื่อเกิดขึ้น อย่าปล่อยให้จิตคิดปรุงแต่งไปในเรื่องต่างๆ มิฉะนั้นกามฉันทะมันก็เกิดขึ้น ต้องคอยระลึกรู้เท่าทันความคิดความตรึกนึกคิด เมื่อเกิดกามฉันทะขึ้นมาแล้วก็กำหนดรู้สภาวะของกามฉันทะนั้นมันก็จะสงบตัวลง

ประการที่ 2 พยาบาท ธรรมชาติที่กั้นความดี คือ ความพยาบาท ความโกรธ องค์ธรรมก็คือโทสเจตสิก อยู่ในโทสมูลจิต 2 อันนี้ก็เกิดขึ้นในจิตใจของปุถุชน เวลามันเกิดขึ้นแล้วมันก็กั้นความดีไปหมด แทนที่จะปฏิบัติธรรม พอเกิดความโกรธความคับแค้นใจขึ้นมา ก็เลิกปฏิบัติ ฉะนั้นก็ต้องกำหนดรู้เวลาเกิดความโกรธขึ้น มีสติรู้ลักษณะความโกรธ ก็เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง

ประการที่ 3 ถีนมิทธะ ความหดหู่ท้อถอยในอารมณ์ ตัวนี้ที่ทำให้ง่วงได้ ฉะนั้นเราต้องสังเกตดู เรื่องการปฏิบัติสิ่งที่นักปฏิบัติหนีไม่พ้น ก็คือเรื่องของความฟุ้งกับเรื่องของความง่วง เป็นปัญหา เป็นนิวรณ์ที่จะต้องเกิดขึ้น ความง่วงเกิดขึ้นอย่างไร ต้องสังเกตดู อาจจะเกิดขึ้นจากการ บริโภคอาหารมากเกินไป เราก็ต้องพิจารณาว่า มันง่วงจากการที่เราบริโภคอาหารมากเกินไปหรือเปล่า เวลายังไม่ได้กินอาหาร มันไม่ง่วง แต่พอหลังอาหารก็รู้สึกจะง่วง แสดงว่าอาหารนั้นมากเกินไป เราก็ต้องแก้ไขบริโภคให้น้อยลง อย่าให้มากเกินไปอย่าให้น้อยเกินไปนัก

อันนี้ต้องพิจารณาต้องสังเกต ความง่วงอีกอย่างก็เกิดจาก การบังคับจิตนี้ก็ทำให้ง่วงเหมือนกัน การไปบังคับจิต การที่เราไปเพ่งกำหนดพยายามที่จะรู้เท่าทันจิตใจ มันก็ทำให้ง่วงได้ คือมันเพลียจิตมันเพลีย มันอ่อนเพลีย เราไปบังคับไปเพ่งมันมากมันเพลีย ความอ่อนเพลียก็ทำให้เกิดความง่วง ฉะนั้นก็ต้อง ปล่อยๆ วางๆ ลงไปบ้าง อีกอย่างความง่วงที่เกิดจากการที่จิตมันไม่มีการงานคือมันเกิดความเคลิ้มๆ สงบตัวนี่แหละ มันเคลิ้มๆ ลงไป ไม่มีวิตกที่จะรับรู้อารมณ์ต่างๆ มันไม่มีการงาน มันก็ขาดสติ พอขาดสติจิตก็ลงสู่ภวังค์ลงสู่ความหลับสัปหงกไป

เพราะว่ามันไม่มีความรู้สึกนึกคิด มันเกิดสมาธิ นั่นแหละแต่ว่ามันไปทางเคลิ้มลงไปแล้วก็เกิดขาดสติ ขาดสติมันก็ลงสู่ภวังค์ ถ้าหากเราสังเกตว่า ความง่วงที่เกิดจากลักษณะอย่างนี้ ก็ลองแก้ไขดูหลายๆ อย่าง เช่นแก้ไขโดยการยกจิตให้สูงๆ คือเอาจิตมารับรู้ในส่วนสูงๆ ของกาย เช่นตั้งสติระลึกจิตไว้ที่ท้ายทอย เพ่งไว้ที่ท้ายทอยหรือหน้าผาก เพ่งอยู่อย่างนั้น ให้จิตมันผ่องใส คือถ้าหากว่าเอาจิตลงต่ำ เช่นเอาจิตไปเพ่งไว้แถวหน้าท้องต่ำๆ จิตมันไม่เบิกบาน ไม่ผ่องใสง่าย ถ้าเพ่งไว้สูงๆ จะเกิดความผ่องใสได้ง่ายขึ้น นี่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ ลองไปใช้ดูได้

อีกอย่างหนึ่งก็หางานให้จิต ถ้าเกิดความง่วงจากการที่จิตมันไม่มีงาน มันไม่มี ความรู้สึกนึกคิด ก็หางานให้จิต หางานให้จิตทำอย่างไร เช่น พิจารณาธรรม หาข้อธรรมะอันใดอันหนึ่งมาพิจารณาวิพากษ์วิจารณ์วินิจฉัยในธรรมนั้น ให้จิตมันมีการงานขึ้นก็ทำให้เกิดการ คลายความง่วงได้ อีกวิธีหนึ่งก็ลองหัดรวมจิตให้เป็นหนึ่ง รวมจิตให้เป็นเอกคือเอาจิตเพ่งไว้ที่ใจ กำหนดจิตไว้ที่จิตใจ เพ่งให้มันเกิดความร้อน ให้มันเกิดพลังขึ้น มันก็จะทำให้หายง่วงได้เหมือนกัน อีกอย่างหนึ่งก็ลองใช้วิธีการอัดลมหายใจเข้าไป ถ้ามันง่วง สูดลมหายใจเข้าไปเต็มที่อัดไว้ แล้วค่อยๆ ผ่อนออกมาแล้วก็ทำความรู้สึกคลายง่วงออกมา อันนี้ก็จะหายง่วงได้

อัดเข้าไปเต็มที่มันหายใจไม่ออก ขึ้นมาเดี๋ยวมันก็หายง่วง นี่ก็เป็นวิธีที่จะแก้ไขความง่วงที่เกิดจากการที่จิตมันขาดการงานจิตมันเคลิ้มๆ ก็ต้องใช้วิธีการต่างๆ เหล่านี้ ความง่วงอีกอย่างก็เกิดจากการที่มีความท้อแท้มีจิตใจท้อแท้สิ้นหวัง มองไม่เห็นผลของการปฏิบัติ ปฏิบัติก็ไม่เห็นผลอะไรไม่ได้สมาธิ ไม่ได้สติปัญญาเกิดความท้อถอย เกียจคร้าน ความง่วงก็เข้ามาได้ ก็ต้องเข้าหากัลยาณมิตรผู้ที่จะแนะนำ ผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ที่เขามีความเพียร เขาขยันเดินจงกรมนั่งกรรมฐาน เพื่อจะช่วยให้เราได้เกิดความเพียรบ้าง หรือยอมให้เขาตักเตือน ยอมให้กัลยาณมิตรดุด่าว่ากล่าวตักเตือน ยอมให้เขาว่าบ้าง เราจะได้มีความเพียร จะได้ไม่ท้อถอย จะได้ไม่ง่วง

ประการที่ 4 คือ อุทธัจจกุกกุจจะ อันนี้เป็น 2 ธรรมชาติ รวมเป็นข้อเดียวกัน อุทธัจจะ เป็นความฟุ้งซ่าน กุกกุจจะ นั้นเป็นความรำคาญใจ ฟุ้งซ่านกับรำคาญใจมันคนละอย่างกัน ฟุ้งซ่านเป็นไปพร้อมด้วยโลภะก็ได้ เป็นไปพร้อมด้วยโทสะก็ได้ แต่ความรำคาญใจเป็นไปพร้อมกับโทสะเท่านั้น อย่างในขณะที่เกิดความโลภ โลภมากอยากจะได้อย่างนั้นอยากจะได้อย่างนี้ มันก็ฟุ้งซ่านได้เหมือนกัน อย่างนักปฏิบัติที่หวังจะทำให้มันสำเร็จจะให้มันได้อย่างนั้นจะให้มันได้อย่างนี้มันก็ฟุ้งได้ ความปรารถนา อำนาจของโลภะฟุ้งได้ แต่ฟุ้งพร้อมด้วยโทสะก็แน่นอน

เวลาโกรธเคืองใครมันก็ฟุ้งไป ส่วนรำคาญใจนั้นมันจะเกิดพร้อมกับโทสะ รำคาญใจในบาปที่ได้ทำไปแล้ว เราไม่น่าทำบาปอันนั้นเลย เราไม่น่าทำผิดอันนั้น รำคาญใจหงุดหงิดใจ หรือในบุญที่ยังไม่ได้ทำ จะทำกรรมฐานให้ได้หรือความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่ได้ทำ เกิดความรำคาญใจ อันนี้ก็กั้นความดีไว้ ความฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้นบางครั้ง เกิดจากการที่เราไปเพ่งเกินไปบังคับจิตมากเกินไป ในการทำความเพียรบางครั้งเราไปบังคับจิต จิตมันก็ดิ้นรน ทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน เหมือนเราจับสัตว์ไปกักขังเข้าไว้ เช่น จับเอาโคมากักขังไว้มันก็ดิ้นรน

ฉะนั้น บางครั้งเวลาเกิดความฟุ้งซ่านมากๆ บางทีต้องปล่อย ปล่อยให้มันฟุ้งไปให้เต็มที่ กำหนดยังไงก็ไม่อยู่ ประคองปลอบใจก็ไม่อยู่ บางครั้งก็ต้องปล่อย อุปมาเหมือนเด็ก เด็กบางครั้ง เมื่อร้องขึ้นมา บางทีเราก็ต้องใช้ขู่ เด็กบางคนขู่แล้วมันก็เงียบแต่เด็กบางคนขู่มันก็ไม่เงียบ ต้องปลอบโยนหาของล่อของอะไรให้มันก็เงียบ แต่บางคนปลอบก็แล้ว ขู่ก็แล้ว มันก็ยังร้องอยู่อย่างนั้นแหละ พี่เลี้ยงเขาทำยังไง ก็ต้องปล่อยปล่อยให้มันร้องไป เดี๋ยวมันก็เหนื่อยมันก็หยุดร้อง เองแหละ ไม่ร้องไปตลอดทั้งวันได้ จิตใจนี่เหมือนกัน บางครั้งกำหนดพยายามเพ่งดูมันก็ไม่สงบ ประคองแล้ว อะไรอีกแล้วก็ไม่สงบ มันฟุ้งไปฟุ้งมาก็ปล่อยมันเลย

ฟุ้งก็ฟุ้งให้เต็มที่ แต่คอยดูมันไป ไม่ใช่ปล่อยปละเด็กที่ร้องเสียเลย เดี๋ยวมันไปตกน้ำตกท่า ต้องดูแลไว้ด้วย คือมันฟุ้งก็ปล่อยให้มัน ฟุ้งไป อยากฟุ้งก็ฟุ้งไป แต่ว่าดูมันไปๆ มันหมดแรงเดี๋ยวก็สงบเอง อันนี้ลองทดสอบดูได้เวลามัน ฟุ้งมากๆ เราปล่อย เพราะความฟุ้งที่เกิดจากการที่เราไปเพ่งเกินไป ไปเพ่งจิต มันฟุ้ง นับตั้ง แต่เราไม่เคยดูแลจิต ไม่เคยรู้จิต พอไปดูจิตก็เห็นจิตมันคิดโน่นคิดนี่มันก็เลยชักเกิดจะบังคับไม่ให้ มันคิดไปบังคับไปบังคับมาก็เลยฟุ้งใหญ่ อันนี้บางครั้งต้องปล่อย แต่มีสติรู้เท่าทัน

ประการที่ 5 ก็คือ วิจิกิจฉา ก็คือ ความสงสัยลังเลใจในสิ่งที่ควรเชื่อมันก็เกิดขึ้นได้ กั้นความดี บางทีนั่งกรรมฐานไปก็เกิดความสงสัยเสียแล้ว ปฏิบัติอย่างนี้มันจะถูกหรือ เอาแบบนั้นดีกว่ามั้ง ทำอย่างนั้นไม่ถูกมาอย่างนี้ มัวสงสัยอยู่ตกลงใจไม่ได้ ก็ต้องมีสติรู้เท่าทัน ความสงสัยเกิดขึ้นก็รู้ลักษณะความสงสัย จิตจะได้กลับเป็นปัจจุบันขึ้น

เรื่องนิวรณ์ก็ได้แสดงมาพอเป็นเค้าย่อๆ


สาธุ
 

_________________
ดีชั่วรู้หมด......แต่ใจคนเรามันอดไม่ได้
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง