Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 วิปัสสนาภูมิ ตอนที่ 6 อริยสัจจ์ 4 อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
kit_allwhat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 02 ส.ค. 2006
ตอบ: 25

ตอบตอบเมื่อ: 21 ส.ค. 2006, 12:19 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

วิปัสสนาภูมิ ตอนที่ 6 “อริยสัจจ์ 4”
โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)


นมตถรตนตตยสส ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอความผาสุกความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย บัดนี้จะได้น้อมนำธรรมะ ตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบรรยายสู่จิตใจของญาติโยมท่านผู้ฟังเช่นเคย เมื่อถึงเวลาของการสดับตรับฟังธรรมะแล้ว ก็ขอให้ญาติโยมได้ตั้งอกตั้งใจด้วยดี มีความระลึกรู้ตัวพร้อม น้อมมาพิจารณาดูกายดูใจของตนอยู่ขณะนี้ เดี๋ยวนี้

วันนี้ก็จะได้มาพูดวิปัสสนาภูมิที่ 5 คือเรื่องอริยสัจจ์ 4 ซึ่งได้บรรยายผ่านมาแล้ว 4 ภูมิด้วยกัน วันนี้จะได้พูดถึงภูมิที่ 5 คืออริยสัจจ์ 4 ซึ่งเป็นภูมิของวิปัสสนาเช่นเดียวกัน

อริยสัจจะ มีอยู่ 4 อย่าง คือ

1) ทุกขสัจจะ
2) สมุทยสัจจะ
3) นิโรธสัจจะ
4) มรรคสัจจะ

ก็จำง่ายๆ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ญาติโยมทั้งหลายก็คงจะ เคยได้ยินได้ฟังอยู่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เรื่องอริยสัจจะ 4 ซึ่งเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ถามว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ก็ตรัสรู้อริยสัจจะ 4 ก็ไม่ผิด คำว่าอริยสัจจะนี้แปลว่าอะไร อริ แปลว่า ข้าศึก ยะ แปลว่า ไป อริยะก็แปลว่า ไปจากข้าศึก เรียกว่า ธรรมอันประเสริฐ อริยะ ธรรมอันประเสริฐ คือไปจากข้าศึกได้ สัจจะ ก็คือ ความจริง ความจริงอันประเสริฐเรียกว่าอริยสัจจะ หรือว่าเป็นความจริงของพระอริยเจ้า

ธรรมที่เป็นความจริงของพระอริยเจ้าทั้งหลายชื่อว่า อริยสัจจะ อันนี้ก็หมายความว่า เรื่องอริยสัจจะนี้ปุถุชนไม่สามารถเข้าไปเห็นได้โดยชัดเจน ถูกต้อง ถ้าหากว่าเกิดเข้าไปรู้อริยสัจจะ 4 ขึ้นเมื่อไหร่ ก็จะโอนชาติจากปุถุชน เป็นอริยบุคคล ทันที จึงเรียกว่าเป็นความจริงเฉพาะของอริยเจ้าเท่านั้น เพราะว่าเมื่อรู้อริยสัจจะ 4 ก็จะต้องเป็นอริยบุคคลขึ้นไป ปุถุชน ย่อมจะไปรู้เห็นโดยลึกซึ้งไม่ได้ ปฏิบัติตามได้ รู้จักทุกข์ ก็รู้ทุกข์โดยยังไม่ลึกซึ้ง ละสมุทัยก็ยังละไม่ได้เด็ดขาด นิโรธความดับทุกข์ก็ยังไม่สามารถที่จะเข้าถึง มรรค

เจริญองค์มรรคก็ปฏิบัติเจริญไปแต่ก็ยังไม่ได้สมบูรณ์ ยังไม่ได้เป็นมรรคสมังคี แต่ถ้าเกิดว่าไปรู้ทุกข์โดยชัดเจน ละสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ได้อย่างเด็ดขาด เข้าไปแจ้งนิโรธคือนิพพาน เจริญองค์มรรคเต็มที่ นั่นก็เป็นอริยบุคคลทันที เปลี่ยนจากปุถุชนเป็นอริยบุคคล ฉะนั้นอริยสัจจะ 4 นี้คือความจริงที่เป็นของพระอริยเจ้า หรือว่าเป็นธรรมอันประเสริฐ คือ ธรรมที่ไปจากข้าศึก อีกอย่างหนึ่งอริยสัจจะนี้เป็นความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง หมายความว่าอย่างไร

ก็หมายความว่า ธรรมที่ชื่อว่าทุกขสัจจะนั้นก็ย่อมจะเป็นทุกข์จริง คือทำให้สัตว์ทั้งหลายได้รับความเดือดร้อนได้รับความลำบาก สมกับที่ได้ตั้งชื่อว่าเป็นทุกขสัจจะ นี่เรียกว่าสมจริง จริงๆ ส่วนสมุทยสัจจะ ทางที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้นก็สมจริงจริงๆ เหมือนกัน คือเป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริงๆ นิโรธสัจจะเป็นธรรมที่ดับทุกข์ ก็ดับทุกข์ได้จริงๆ บุคคลใดถึงนิโรธก็ดับทุกข์ได้จริงๆ มรรคสัจจะเป็นข้อปฏิบัติให้เข้าถึงความดับทุกข์ ก็เป็นข้อปฏิบัติให้เข้าถึงความดับทุกข์ ก็เป็นข้อปฏิบัติให้เข้าถึงความดับทุกข์ได้จริงๆ บุคคลใดปฏิบัติตามมรรคสัจจะนี้ก็จะพ้นจากทุกข์ได้จริงๆ

อีกประการหนึ่ง การที่บุคคลทั้งหลายหรือว่าคนโบราณเขาตั้งชื่อสรรพสิ่งทั้งหลาย จะเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ เรียกชื่อกันไปต่างๆ นานา นั่นมันเป็นสมมุติ เป็นความจริงเหมือนกันแต่เป็นจริงโดยการสมมุติ เป็นความจริงโดยการตั้งขึ้น แต่โดยเนื้อแท้แล้วมันมีแต่รูปกับนามเท่านั้นแหละ อย่างที่เราเรียกว่า ผู้ชาย ผู้หญิง เป็นสุนัข เป็นแมว ความจริงก็คือรูป คือนาม คือ ขันธ์ 5 เรามาสมมุติเรียกว่าเป็นคน เป็นสัตว์ ภูเขา ต้นไม้ แม่น้ำ อะไรนี้ก็เป็นเพียงรูปขันธ์ เป็นรูปธรรม โดยเนื้อแท้แล้วหาความจริงไม่ ที่จริงๆ ก็คือรูปกับนาม ความเป็นคนเป็นสัตว์ เป็นสิ่งของนี้มันเป็นสมมุติ เป็นจริงโดยสมมุติ แต่ว่าอริยสัจจะนี่เป็นของจริงโดยแท้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ก็จะได้ให้ญาติโยมมาดูรายละเอียดของอริยสัจจะทั้ง 4 อริยสัจจะ 4 คือ

1) ทุกขสัจจะ ธรรมที่เป็นทุกข์ องค์ธรรมก็คือ โลกิยจิต 81 เจตสิก 51 เว้นโลภะ และก็รูป 28 เรียกว่ารูปคือร่างกายทั้งหมดนี้ เป็นทุกข์ทั้งหมดเลย เป็นตา เป็นหู เป็นจมูก เป็นลิ้น เป็นกาย เป็นอวัยวะต่างๆ เป็นทุกข์ เป็นทุกขสัจจะ แสดงความเป็นทุกข์ คือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ถ้าหากบุคคลใดเข้าไปเห็นทุกข์ในกายนี้ว่ามันทนอยู่ไม่ได้ ก็เรียกว่าเห็นทุกขสัจจะ หรือในส่วนของจิตใจ จะเป็นสภาพเห็นก็ดี สภาพได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส คิดนึก ก็เป็นทุกข์ เห็นก็เป็นทุกข์ ได้ยินก็เป็นทุกข์

เพราะว่ามันทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เห็นแล้วก็ดับไป ได้ยินแล้วก็ดับไป รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส คิดนึก แล้วก็ดับไป นี้เป็นทุกข์ เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต ไม่ว่าจะเป็นเจตสิกฝ่ายไม่ดี เช่นโลภะ โทสะ โมหะ ก็เป็นทุกข์เพราะมันเกิดดับ เจตสิกฝ่ายกุศล เช่น ศรัทธา สติ ปัญญา ก็เกิดดับเป็นทุกข์เข่นเดียวกัน ในทางการประพฤติปฏิบัติ ต้องกำหนดรู้ทุกข์ ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ สมุทัยเป็นสิ่งที่ควรละ ทำไมทุกข์ถึงเรียกว่าทุกขสัจจะ คือเป็นธรรมอันประเสริฐ อริยสัจจะ แปลว่าธรรมอันประเสริฐ ทำไมจึงเรียกว่า เป็นธรรมอันประเสริฐทั้งๆ ที่ว่าเป็นทุกข์

ทำไมเรียกว่าเป็นธรรมอันประเสริฐ ที่เป็นธรรมอันประเสริฐ ที่เป็นธรรมอันประเสริฐก็เพราะว่าทุกข์อันใดที่เป็นสิ่งที่สิ่งที่ ถูกกำหนดรู้เป็นอารมณ์ของสติปัญญาก็กลายเป็นทุกข์อันประเสริฐ เพราะอะไร เพราะรู้ทุกข์ก็จะสามารถละสมุทัยได้ ฉะนั้นโยมก็อย่าไปหลบหนี อย่าไปรังเกียจความทุกข์ การปฏิบัติธรรมต้องทุกข์ การเห็นทุกข์นั่นแหละก็จะทำให้เบื่อหน่าย ทำให้คลายกำหนัด ละเหตุแห่งทุกข์ได้ ถ้าไม่เห็นทุกข์มันก็ไม่เกิดความสำนึก ไม่เกิดความเบื่อหน่ายไม่เกิดคลายกำหนัด

จิตไม่หลุดพ้น ไม่ละเหตุแห่งทุกข์ได้ ฉะนั้นทุกข์จะต้องกำหนดรู้ ทุกข์อันใดที่กำหนดรู้ ทุกข์อันนั้นก็เป็นทุกข์อันประเสริฐ ในสังขารร่างกายนี้เป็นทุกข์ทั้งหมด มีตาก็ปวดตา มีหูก็เจ็บหู มีจมูกก็เจ็บจมูก มีลิ้น มีกาย อวัยวะต่างๆ เจ็บปวดทุกข์ทรมานด้วยกันทั้งนั้น เป็นทุกข์ ทุกขเวทนาคือความไม่สบายกาย แต่ต้องเห็นทุกข์ในทุกข์คือความไม่สบายกายนั้นทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ฉะนั้นแม้ความสบายใจ ดีใจ ก็เป็นทุกข์ เพราะมันทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ฉะนั้นแม้ความสบายใจ ดีใจ ก็เป็นทุกข์เพราะมันทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ทุกขสัจจะ ต้องกำหนดรู้ กำหนดรู้ทุกข์

อาตมาก็พูดมาคร่าวๆ ในองค์ธรรมโลกิยจิต 81 เจตสิก 51 เว้นโลภะ รูป 28 จะไม่ได้กระจายโดยละเอียด ยกมาพอเป็นแนวทางแห่งความเข้าใจว่าให้กำหนดดูที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหวนี่แหละคือการกำหนดรู้ทุกข์ ที่ยีนก็เป็นทุกข์ เดินก้าวเดินนั่นก็เป็นทุกข์ นอนก็เป็นทุกข์ คู้เหยียดเคลื่อนไหวก็เป็นทุกข์ เห็นก็เป็นทุกข์ ได้ยินก็เป็นทุกข์ รู้กลิ่น รู้รส ทุกข์จริงๆ ถ้ากำหนดดูก็จะเห็นว่ามันทนอยู่ในสภาพเดิม ไม่ได้จริงๆ

อริยสัจจะที่ 2 คือ สมุทยสัจจะ ความจริงอันประเสริฐ คือเหตุให้เกิดทุกข์ได้แก่โลภะ โลภเจตสิกที่ในโลภมูลจิต นี่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ท่านยกเอาโลภะมาแสดงอย่างเดียวเพราะถือว่าเป็นตัวสำคัญ ที่สร้างภพสร้างชาติก็ด้วยอำนาจตัณหา ความเป็นยางเหนียว ความอยาก เพราะว่าอยากมี อยากเป็น ติดในภพชาติ ติดในความเป็นไปต่างๆ ความอยากมันทำให้เกิดทุกข์ ถ้าละความอยากเสียได้ก็จะพ้นทุกข์ โยมพิจารณาให้ดี ที่ทุกข์ต่างๆ เกิดขึ้นมาเพราะมีความอยาก ความต้องการ ถ้าไม่ต้องการ แสดงว่ามันก็พ้นทุกข์ เหมือนคนติดยาเสพติด

คนที่ติดยาเสพติด มันดิ้นรนด้วยอำนาจของความอยาก โลภะ อยากจะเสพ อาการที่ดิ้นรนนั้นก็เป็นทุกข์ ทุกข์ทรมาน พอไปเสพสนองตัณหาก็เหมือนกับว่าจะพ้นทุกข์ แต่มันไม่ได้พ้นทุกข์จริง มันไปเพิ่มความอยากให้ทวีขึ้นอีก ตอนนี้จะอยากกว่าเก่าอีก ต้องเสพมากกว่าเก่า ถ้าหากบุคคลสิ้นความอยากไม่อยากเสพเสียอย่างแล้ว ถึงยาเสพติดจะมาวางอยู่ตรงหน้า ก็ไม่รู้สึกเป็นทุกข์อะไรเพราะไม่มีความอยากไม่ติดเสียแล้ว มันไม่รู้สึกดิ้นรนให้เป็นทุกข์อะไรเลย แต่ถ้าคนติดมันทรมาน หรือแม้แต่ในเรื่องกามคุณอารมณ์ก็เหมือนกัน รูปสวยๆ เสียงเพราะ กลิ่นหอมๆ รสอร่อย ที่เรามาบัญญัติเป็นว่าผู้หญิง ผู้ชาย ผู้ชายก็ชอบผู้หญิงคือชอบรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของผู้หญิง

ผู้หญิงก็ชอบในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของผู้ชาย เหมือนกับติดยาเสพติดเหมือนกัน ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ไม่มีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสอันใดที่จะครอบงำจิตใจสตรีเท่ากับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของบุรุษ และก็ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอันใดจะครอบงำจิตใจของบุรุษเท่ากับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของสตรี ตรงกันข้ามกันเมื่อติดใจต้องการนี่แหละมันทำให้ดิ้นรนแสวงหา แล้วก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะว่าความอยากในสิ่งเหล่านั้นๆ ถ้าสิ้นความอยากความปรารถนา เสร็จแล้วไม่รู้สึกอะไร มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีสัมผัส ก็เฉยๆ

ไม่มีความรู้สึกต้องการดิ้นรนก็ไม่เป็นทุกข์ จะเห็นว่าตัณหามันก่อให้เกิดการสร้างภพสร้างชาติสร้างทุกข์ต่างๆ ท่านก็ยกตัณหามาแสดงว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์ ทำไมตัณหาหรือว่าสมุทยสัจจะจึงว่าเป็นธรรมอันประเสริฐ ที่ประเสริฐก็คือละได้ ตัณหาอันใดละได้ตัณหาอันนั้นก็กลายเป็นตัณหาอันประเสริฐจะละได้เด็ดขาดก็ต้องเจริญวิปัสสนา ทำสติกำหนดรู้รูปนามตามเป็นจริง ก็กำหนดรู้ทุกข์นี่แหละ จนเห็นทุกข์โดยแจ้งชัดก็จะละเหตุแห่งทุกข์ได้ นั่นก็ต้องก้าวขึ้นสู่ขั้นของมรรคผล ต้องบรรลุมรรคผลคือขั้นของโลกุตตระ โลกุตตระก็ไปจากโลกิยะนี่เอง การเห็นรูปนามก็ถือเป็นโลกิยะ

อริยสัจจะประการที่ 3 ก็คือ นิโรธสัจจะ ความจริงอันประเสริฐคือความดับทุกข์ องค์ธรรมก็คือพระนิพพาน พระนิพพานเป็นธรรมอันดับทุกข์ บุคคลใดเข้าถึงพระนิพพาน ก็ดับทุกข์ได้จริงๆ การจะเข้าถึงพระนิพพานก็ต้องเจริญวิปัสสนา เจริญวิปัสสนา ก็กำหนดรู้ทุกข์นี่เอง เมื่อละสมุหทัยได้ก็ถึงนิพพานแจ้งนิพพาน นิพพานนี้เป็นธ์มมายตนะ เป็นธัมมธาตุ เป็นธรรมารมณ์ เป็นอารมณ์ปรากฏได้ทางใจ ความดับทุกข์ต้องปฏิบัติวิปัสสนาให้ถึง ก็จะเข้าถึงความดับทุกข์

ในฐานะที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ถึงนิพพานได้ ผู้ที่สำเร็จเป็นอริยบุคคลตั้งแต่ขั้นที่ 1 ไป คือโสดาบัน ก็ไปรับนิพพานเป็นอารมณ์ รู้จักนิพพาน แต่ปุถุชนนี่ยังไม่ได้พบนิพพานเลย ยังไม่ถึงนิพพานโดยแท้ ที่เราปฏิบัติกันแล้วจิตมันสงบ จิตมันว่าง มันเบา มันสบาย มันไม่ยินดียินร้าย มันยังไม่ใช่นิพพาน แต่แม้ไม่ใช่นิพพาน ในขณะจิตในขณะจิตมันว่าง มันสงบ มันเย็น เราก็จะรู้สึกมันมีความสุข มันสบาย แต่นั่นยังไม่ใช่นิพพาน นิพพานจริงๆ จะต้องเข้าถึงด้วยอริยมรรค ต้องปฏิบัติวิปัสสนาจนถึงขั้นโลกุตตระ จึงจะไปรับนิพพานเป็นอารมณ์ที่แท้จริงได้

อริยสัจจะที่ 4 ก็คือ มรรคสัจจะ มรรคสัจจะหมายถึงข้อปฏิบัติให้เข้าถึง ความดับทุกข์ ปฏิปทาให้เข้าถึงความดับทุกข์ก็เป็นธรรมข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้จริงๆ บุคคลปฏิบัติตามนี้ก็ดับทุกข์ได้จริงๆ เข้าไปถึงนิพพานได้จริงๆ ก็ได้แกองค์มรรค 8 ในมรรคจิต องค์มรรค 8 คืออะไรบ้าง ก็คือ

องค์มรรคที่ 1 สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ องค์ธรรมก็คือตัวปัญญา เห็นอะไร รู้จักรูปรู้จักนาม เห็นรูปเห็นนาม เห็นลักษณะของรูปของนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นปัญญา เป็นสัมมาทิฏฐิ โยมปฏิบัติกำหนดรู้ทุกข์ เห็นว่ามันเป็นเพียงรูป เป็นเพียงนาม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เช่น โยมกำหนดยืน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว ลมหายใจเข้า หายใจออก เห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส คิดนึก กำหนดรู้อยู่ เห็นว่าเป็นเพียงแต่รูปแต่นาม รูปนามนี้ก็เกิดขึ้น ดับไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นองค์มรรคที่ 1

องค์มรรคที่ 2 สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ดำริในการออกจากกาม ดำริในการไม่พยาบาทไม่เบียดเบียนผู้อื่น โดยเฉพาะดำริในเรื่องของรูปนาม มันเป็นตัววิตกเจตสิก คือการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์กรรมฐาน โยมนั่งอยู่โยมก็ยกจิต ขึ้นมาสู่ที่กายที่เวทนาที่จิตที่ธรรม คือการตรึกขึ้นมาให้รู้ ตรึกให้ยกจิตของตนเองที่มันเผลอที่มันล่องลอย กลับมารู้ที่รูปที่นาม เวลาเห็นก็ยกจิตให้รู้ ได้ยินก็รู้ รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส เวลาคู้ เหยียด เคลื่อนไหว ตรึกอยู่ที่รูปที่นาม นี่เป็นสัมมาสังกัปปะดำริชอบ คิดชอบนี่เอง ก็คิดอยู่ที่รูปที่นาม

องค์มรรคที่ 3 สัมมาวาจา การกล่าววาจาชอบ กล่าววาจาชอบก็คือ พูดที่เว้นจากวจีทุจริต 4 คือ พูดจริง ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ในทางการปฏิบัติแล้วก็คือพูดโดยมีสติ เวลาพูดก็มีการไหววาจา ก็ทำสติรู้เวลาไหววาจา ทำสติรู้ก่อนพูด หรือเวลาพูดมีสติรู้วาจาที่พูดออกไป ว่าจะต้องมีการไหววาจา เวลาพูดจะมีการเคลื่อนไหววาจา ที่ปากเรามีการไหวตัว พูดออกไปทำสติรู้ก็เป็นสัมมาวาจา กล่าววาจาชอบ องค์ธรรมก็คือสัมมาวาจาเจตสิก

องค์มรรคที่ 4 สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ ก็คือการทำงานที่เว้นจากกายทุจริต 3 จะทำการงานอันใดก็ตาม ต้องเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม นี่เป็นสัมมากัมมันตะ และโดยเฉพาะในทางการปฏิบัติ เวลาโยมทำงานอันใดก็ให้รู้ตัวทั่วพร้อมไปด้วย โยมเวลากวาดบ้านมือแก่วงไกวไปก็ทำสติรู้ รู้มือที่เคลื่อนไหว รู้ขาที่ก้าวไป รู้ใจที่คิดนึก เวลาถูบ้านทำสติรู้การเคลื่อนไหว เวลารีดผ้า เวลาซักผ้า ทำสติรู้การเคลื่อนไหว เวลาที่โยมทำการงานอยู่ ทำความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่กับรูปกับนาม แขนที่เหยียดออก ขาที่เหยียดออกไป ที่งอ มันก็เป็นรูปธรรม จิตที่รู้เป็นนามธรรม เห็นรูปเห็นนาม เห็นความเกิดดับของรูปของนาม ก็เป็นสัมมากัมมันตะ เป็นการทำการงานชอบ

องค์มรรคที่ 5 สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงชีพชอบนั้นเป็นอย่างไร ก็คือโยมประกอบอาชีพอันใดก็ตามให้เว้นจากกายทุจริต 3 วจีทุจริต 4 หมายความว่า อาชีพของโยมนั้นอย่าไปฆ่าสัตว์ อย่าไปลักทรัพย์ อย่าไปประพฤติผิดในกาม อย่าไปโกหกเขาทำอาชีพ อย่าไปส่อเสียด พูดคำหยาบ เพ้อเจ้อ ในอาชีพของตนเอง ในทางการปฏิบัติจริงๆ แล้วก็คือ เวลาบริโภคอาหารให้มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม เวลานุ่งห่มผ้ามีสติรู้ตัวทั่วพร้อม เวลาใช้เสนาสนะที่นั่งที่นอนก็มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม เวลากินยาก็มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม การแสวงหาปัจจัย 4 มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ในอาชีพที่ทำอยู่เป็นสัมมาอาชีวะเลี้ยงชีพชอบ องค์ธรรมก็คือสัมมาอาชีวเจตสิก

องค์มรรคที่ 6 สัมมาวายามะ ทำความเพียรชอบ ทำความเพียรชอบก็คือเพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว บาปอันใดที่โยมทำไปแล้วก็ละเพียรละให้มันหมดไป บาปอันใดที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เพียรพยายามอย่าให้มันเกิดขึ้น แล้วก็เพียรพยายามทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้มันเกิดขึ้น อย่างเช่น ยังไม่เคยรักษาศีล 5 ก็รักษาศีล 5 ไม่เคยรักษาศีล 8 ก็รักษาศีล 8 ไม่เคยปฏิบัติกรรมฐานก็ปฏิบัติกรรมฐาน เพียรทำกุศลให้เกิดขึ้น แล้วก็เพียรทำกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป กุศลอันใดที่เกิดขึ้นแล้วก็รักษาโดยเฉพาะก็คือ เพียรพยายามรู้ตัวอยู่ เพียรกำหนดรู้ตัวเวลาเห็นได้ยิน เพียรพยายามให้มีสติเวลารู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส ยืน เดิน นั่ง นอน เพียรพยายาม เพียรตั้งสติอยู่เสมอ องค์ธรรมก็คือ วิริยเจตสิก เป็นสัมมาวายามะ เป็นองค์มรรคที่ 6

องค์มรรคที่ 7 สัมมาสติ ความระลึกรู้ชอบ ความระลึกรู้ชอบนี้ก็คือตัวสติเจตสิก สติที่ระลึกรู้เป็นไปภายในกาย สติระลึกรู้ในเวทนา สติระลึกรู้ในจิต สติระลึกรู้ในธรรม เวลาหายใจเข้าหายใจออกทำสติกำหนดรู้ เวลายืนมีสติ เวลาเดินมีสติ เวลานั่งมีสติ เวลานอนมีสติ เวลาคู้ เหยียด เคลื่อนไหว เหลียวซ้าย แลขวา กระพริบตา อ้าปาก กลืนน้ำลาย ทำสติรู้ตัวอยู่อย่างนี้ เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติรู้ในกาย เวลาเกิดสบายกายขึ้นมาทำสติรู้ ไม่สบายกายก็ทำสติรู้ เฉยๆ ก็รู้ ดีใจก็รู้ เสียใจก็รู้ ก็เป็น เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติรู้ในเวทนา เวลาจิตเห็นจิตได้ยินก็รู้ เห็นก็รู้ ได้ยินก็รู้ รู้รสก็รู้ รู้สัมผัสรู้ รู้คิดนึกรู้ ทำสติรู้ในจิต เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน รู้สัญญา รู้สิ่งที่ปรุงแต่งในจิตใจ พอใจไม่พอใจ วิตก วิพากษ์วิจารณ์ สงบไม่สงบ มีสมาธิไม่มีสมาธิ ในกระแสจิตใจ ทำสติรู้อยู่ ก็เป็นธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตรู้ในสภาพธรรม นี่ก็เป็นสัมมาสติ เป็นสติชอบ เป็นองค์มรรคที่ 7

องค์มรรคที่ 8 สัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชอบ คือความตั้งมั่นในอารมณ์ องค์ธรรมก็คือ เอกัคคตาเจตสิก ต้องมีความมั่นในการตั้งมั่นในอารมณ์ เป็นตัวมั่นในอารมณ์

ฉะนั้น ญาติโยมทั้งหลายนี่เป็นองค์มรรคทั้ง 8 เป็นปฏิปทาข้อปฏิบัติให้เข้าถึง ความดับทุกข์ ซึ่งในการปฏิบัติก็เป็นการเจริญองค์มรรคทั้ง 8 สติเป็นผู้นำต่อๆ ไปปัญญาก็นำละกิเลสได้โดยเด็ดขาด ก็ต้องอาศัยสะสมไป ถ้าหากว่ามรรคนี้มันเกิดประชุมพร้อมกันมันก็จะเข้าไปรู้ทุกข์ ละสมุทัยได้โดยเด็ดขาด แจ้งนิโรธ เจริญตัวเองเต็มที่ ก็จะละกิเลสได้โดยเด็ดขาด

ในอริยสัจจะทั้ง 4 นี้ ตัวสมุทยสัจจะนี่เป็นตัวเหตุ ทุกขสัจจะเป็นผล มรรคสัจจะเป็นเหตุ นิโรธสัจจะเป็นผล ทุกขสัจจะกับสมุทยสัจจะนี้เป็นโลกิยสัจจะเป็นธรรมที่พ้นโลก โลกิยธรรมก็ยังเป็นไปในโลก ส่วนโลกุตรธรรมนั้นพ้นโลก ทุกขสัจจะก็คือรูปนาม มันก็เกิดในวัฏฏสงสาร เป็นทุกข์ เป็นความจริงที่อยู่ในวัฏฏสงสารเรียกว่า ปวัตติสัจจะ ถือว่าเป็นสัจจะที่ไม่ดี สมุทยสัจจะที่ให้เกิดทุกขสัจจะ เป็นไปในวัฏฏสงสาร ก็เป็นสัจจะที่ไม่ดีเหมือนกัน เรียกว่า ปวัตติเหตุสัจจะ ส่วนนิโรธสัจจะเป็นสัจจะที่ถอยออกจากวัฏฏสงสาร เรียกว่า นิวัตติสัจจะ เป็นสัจจะที่ดี และมรรคสัจจะนั่นก็เป็นเหตุให้ ถึงความถอยจากวัฏฏสงสาร ชื่อว่า นิวัตติเหตุสัจจะ เป็นสัจจะที่ดีเหมือนกัน

ฉะนั้น ญาติโยมทั้งหลาย อาตมาก็บรรยายในเรื่องอริยสัจจะทั้ง 4 มาคร่าวๆ พอเป็นแนวทางตามสมควรด้วยเวลา พูดเพื่อให้จบในเวลา ก็เพื่อจะให้ญาติโยมได้เข้าใจ นำมาประพฤติปฏิบัติ


สาธุ
 

_________________
ดีชั่วรู้หมด......แต่ใจคนเรามันอดไม่ได้
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง