Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ถาม - ตอบปัญหาธรรมะ (สุวัฒน์ พิทักษ์วงษ์) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 03 ส.ค. 2006, 10:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถาม - ตอบปัญหาธรรมะนี้คัดมาจาก หนังสือมนุษย์..... เกิดมาทำไม (เล่ม ๔) ซึ่งรวบรวมและเรียบเรียงโดย คุณสุวัฒน์ พิทักษ์วงษ์ ได้คัดเลือกเพียงบางคำถาม - ตอบ ซึ่งเป็นคำถาม - ตอบที่ไม่ได้จัดเรียงกันไว้ แต่จะคละกันอยู่ตามเรื่องของทาน ศีล สมาธิ เป็นต้น


ถาม - ตอบปัญหาธรรมะ
รวมและเรียบเรียงโดย สุวัฒน์ พิทักษ์วงษ์


คำถามที่ ๑

ถาม : ทำไมคนเราเกิดมาจึงต่างกัน เพราะเหตุอะไร ?

ตอบ : คนเราเกิดมาก็มาจากภูมิที่ต่างกัน (ใน ๓๑ ภูมิ) เมื่อมาจากภูมิที่ต่างกัน เกิดมาจึงต่างกัน เหตุที่ต่างกันก็เพราะผลแห่งกรรม (วิบาก)


คำถามที่ ๒

ถาม : เพราะเหตุใดจึงพูดว่าการเกิดเป็นมนุษย์เป็นของยาก ก็เห็นมีคนเกิดมาในโลกนี้ตั้งมากมาย

ตอบ : สัตว์โลกทั้ง ๓ ภพ มีถึง ๓๑ ภูมิ และในอบายภูมิ โดยเฉพาะสัตว์เดรัจฉานมีมากมายนับไม่ถ้วน เมื่อนำมาเปรียบเทียบแล้วมนุษย์มีน้อยนัก พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย กล่าวถึงความยากที่สุดในโลก ๔ อย่าง

๑. กิจฉัง มนุสสปฏิลาโภ : ความได้อัตภาพเป็นมนุษย์เป็นการยาก
๒. กิจฉัง มัจจานชีวิตัง : ชีวิตสัตว์ทั้งหลายเป็นอยู่ยาก
๓. กิจฉัง สัทธัมมัสสวนัง : การได้ฟังพระสัทธรรมเป็นของยาก
๔. กิจโฉ พุทธานมุปปโท : การอุบัติขึ้นของท่านผู้รู้ (พุทธะ) แสนยาก

พระไตรปิฎกกล่าวถึงความเมา ที่เป็นเหตุให้คนเราประมาท แล้วไม่รีบสร้างความดีไว้ ๓ ประการคือ

๑. เมาในความเป็นหนุ่มสาว ว่ายังไม่แก่เฒ่าแล้วประมาทไม่ทำความดี
๒. เมาในความไม่มีโรค ว่ายังแข็งแรงแล้วประมาทไม่ทำความดี
๓. เมาในชีวิต ว่ายังไม่ตายง่ายๆ แล้วประมาทไม่ทำความดี

ผู้ที่หวังจะเกิดเป็นมนุษย์นี้อีกจงละความเมา ๓ อย่างนี้ จงละความเมา ๓ อย่างนี้ แล้วรีบเร่งสร้างความดีให้เต็มที่


คำถามที่ ๓

ถาม : ทำบุญกุศลอย่างไรจึงจะได้อานิสงส์มาก

ตอบ : การทำบุญกุศลสร้างความดีมี ๒ ระดับ

๑. ระดับโลก (โลกียกุศล) ได้แก่ การให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิสมถะภาวนา ต้องเวียนเกิดเวียนตาย ยังไม่เป็นทางพ้นทุกข์เพราะยังต้องเกิดอีก
๒. ระดับเหนือโลก (โลกุตรกุศล) ได้แก่การเจริญวิปัสสนา เจริญสติเกิดปัญญา ไม่ต้องเวียนเกิดเวียนตาย เป็นทางพ้นจากทุกข์เพราะไม่ต้องเกิดอีก เมื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์ บรรลุธรรมเห็นธรรม มีมรรคผลนิพพานเป็นที่สุด


คำถามที่ ๔

ถาม : ที่กล่าวว่า “อปราปรเจตนา” คืออะไร และเป็นการช่วยมิให้อกุศลเกิดได้จริงหรือ

ตอบ : การให้ทานมีอานิสงส์มาก จะต้องถึงพร้อมด้วยเจตนา และต้องประกอบด้วยเจตนา ๓ ได้แก่ ปุพพเจตนา ๑ คือ เจตนาก่อนให้ทานมีใจดี , มุญจเจตนา ๑ คือ เจตนาขณะกำลังให้มีจิตเลื่อมใส และอปราปรเจตนา ๑ คือ เจตนาภายหลังการให้ทานแล้วปลื้มใจ

เจตนาภายหลังการทำบุญกุศล กล่าวคือเมื่อได้ทำบุญให้ทานรักษาศีล เจริญภาวนาปฏิบัติธรรมแล้ว ให้มีความยินดีปลื้มใจอยู่ในกุศลความดีนั้น เพื่อป้องกันมิให้อกุศลเกิดควรระลึกถึงกุศลความดีนั้นให้เกิดปิติความอิ่มเอมใจ

ยกตัวอย่าง ชาดกนิทาน อุบาสกสองคนสนทนากันในวันพระ ขณะพบกันกลางทาง

คนแรก : “ถ้ารู้ว่าวันนี้มีปลาชุมมากอย่างนี้ ก็จะไม่ไปทำบุญที่วัด”
คนหลัง: “ถ้ารู้ว่าวันนี้เป็นวันพระ ก็จะไม่ไปจับปลา”
คนแรกไม่มี “อปราปรเจตนา” ในกุศลความดีที่ทำแล้ว คนหลังแม้จะไปทำบาปมาแล้ว แต่มีความสลดใจในอกุศลกรรม ย่อมมีจิตใจบริสุทธิ์ดีกว่าคนแรก

นิพเพธิกสูตร “เรากล่าวว่า เจตนาเป็นตัวกรรม” (พุทธวจนะ)
ทุติยาปุตตกสูตร “ทำกรรมใดไว้ด้วย กาย วาจา ใจ กรรมนั่นแหละเป็นสมบัติของเรา จะพาเราไป” (พุทธวจนะ)


คำถามที่ ๕

ถาม : ก่อนตายผู้ตายจะได้รับอารมณ์ หรือนิมิตอย่างหนึ่งอย่างใดก่อนตาย อยากทราบว่านิมิตหรืออารมณ์ก่อนตายมีอย่างไร

ตอบ : นิมิตหรืออารมณ์ก่อนตายมี ๓ ประการคือ

๑. กรรมอารมณ์ เป็นอารมณ์ที่เกิดกับผู้ใกล้ตาย ชนิดไม่มีภาพปรากฏ ปรากฏแต่อารมณ์ทางใจเท่านั้น ทำให้ได้ระลึกถึงบุญหรือบาป กรรมที่ได้ทำไว้

๒. กรรมนิมิตอารมณ์ เป็นนิมิตที่เกิดกับผู้ใกล้ตาย ปรากฎได้ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นภาพอุปกรณ์เครื่องใช้เครื่องมือต่างๆ มาปรากฏให้เห็น อย่างในทางบุญ เช่นจะเห็นภาพของใช้ในการทำบุญ เช่นขันข้าวทัพพี หนังสือธรรมะ พระไตรปิฏก เครื่องกฐิน โบสถ์ ศาลา พระเจดีย์ เป็นต้น เมื่อตายลงย่อมไปสู่สุคติด้วยอำนาจของบุญนั้น หรือถ้าเจริญภาวนาจนได้ฌาน ถ้าก่อนตายฌานไม่เสื่อมกรรมนิมิตก็จะเกิดขึ้นและทำให้ไปเกิดในพรหมภูมิ ส่วนทางบาป เช่น จะได้เห็นภาพของอาวุธ หรือเครื่องมือในการทำบาป เช่นมีด ปืน แห อวนหรืออาวุธต่างๆที่เป็นเครื่องมือในการฆ่า อุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นภาพปรากฏให้เห็น เป็นต้น เมื่อตายไปสู่ทุคติภูมิ

๓. คตินิมิตอารมณ์ เป็นนิมิตที่เกิดกับผู้ใกล้ตาย ปรากฎได้ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่จะพบได้เสวยในภพหน้า เช่นเห็นภาพเป็นสถานที่ที่ผู้ทำบุญ หรือทำบาปไว้จะต้องไปเกิด เช่น เห็นหมู่สัตว์นรกกำลังถูกทรมาน เห็นไฟนรก เห็นหมู่เปรตที่หิวโหย เห็นหมู่สัตว์เดรัจฉาน เมื่อตายลงก็ย่อมไปเกิดในภูมินั้นๆด้วยอำนาจของบาปที่ทำไว้ ถ้าเห็นเป็นวิมานเทวดา เห็นหมู่เทวดา หรือเห็นครรภ์ของมารดา เห็นหมู่มนุษย์ที่ทำบุญทำกุศลกัน เมื่อผู้นั้นตายก็จะไปเกิดเป็นเทวดา หรือมนุษย์ตามภูมิที่ได้เห็นนั้น

นิมิตทั้ง ๓ อย่างนี้มนุษย์ผู้ใกล้ตายจะปรากฏเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สำหรับพระอรหันต์จะไม่มีนิมิตก่อนตาย เพราะพระอรหันต์เมื่อเข้าสู่พระนิพพานแล้วจะไม่มีการเกิดอีก อนึ่งเหตุของการตายมีด้วยกัน ๔ เหตุ ได้แก่ ตายเพราะสิ้นกรรม ๑ , เพราะสิ้นอายุ ๑ , เพราะสิ้นกรรมและสิ้นอายุ ๑ , เพราะกรรมตัดรอนอีก ๑ (อุปัจเฉทกรรมหรืออุปัตฆาตกรรม)


(มีต่อ 1)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 04 ส.ค. 2006, 10:27 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คำถามที่ ๖

ถาม : การทำบุญอุทิศไปให้ผู้ที่เขาล่วงลับไปแล้ว เขาเหล่านั้นจะได้รับหรือไม่ เพราะเหตุใด

ตอบ : ได้รับก็มีไม่ได้รับก็มี เพราะการที่จะได้รับนั้น จะต้องพร้อมด้วยองค์ประกอบ ๓ ประการ

๑. ทานนั้นจะต้องถวายแก่สงฆ์
๒. หลังจากถวายแล้ว ผู้ถวายต้องตั้งจิตอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
๓. ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะต้องอยู่ในภพภูมิที่สามารถรับรู้ และร่วมอนุโมทนาได้

ตามหลักฐานมีเปรตจำพวก “ปรทัตตุปชีวกเปรต” เท่านั้นที่อยู่ในวิสัยที่จะมารับรู้และร่วมอนุโมทนาได้ ถ้าผู้ที่ล่วงลับไม่รู้หรือรู้แต่ไม่ได้อนุโมทนา ก็ไม่ได้รับส่วนบุญที่ญาติมิตรแผ่ไปให้


คำถามที่ ๗

ถาม : คำว่าขันติกับอุเบกขา ฟังดูคล้ายๆ กันขอทราบว่าเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร

ตอบ : ขันติแปลว่าความอดทน แบ่งออกเป็น ๓ อย่าง คืออดทนต่อความลำบากตรากตรำ ๑ อดทนต่อทุกขเวทนา ๑ อดทนต่อความเจ็บใจ ๑

ส่วนอุเบกขา แปลว่าวางเฉย แบ่งออกเป็น ๓ อย่าง คือ อุเบกขาเวทนา ๑ ได้แก่การวางเฉยในอารมณ์ อุเบกขาในพรหมวิหาร ๑ ได้แก่การวางเฉยในสัตว์ บุคคล ไม่ลำเอียง และอุเบกขาในโพชฌงค์ ๑ คือวางเฉยในธรรมคุมการปฏิบัติธรรมอย่างมีสติ


คำถามที่ ๘

ถาม : เคยเห็นสามีภรรยาบางคู่อยู่กันยืดยาวจนตายจากกัน แต่บางคู่ก็ต้องหย่าร้างอยู่กันไม่ยืด เป็นเพราะอะไร

ตอบ : เพราะกรรม ทุกคนมีกรรมเป็นของของตนเอง

ตัวอย่างในพระไตรปิฎก (อิสิทาสีเถรีคาถา) อิสิทาสีเถรีเล่าชีวิตก่อนบวชว่า บิดามารดาเป็นเศรษฐีมีศีลธรรม ได้ยกเธอให้ไปเป็นภรรยาเศรษฐีปรนนิบัติสามีและตระกูลสามี ไม่เกียจคร้านและสมบูรณ์ด้วยศีล แม้อย่างนี้สามีก็ไม่ยอมอยู่ร่วมเรือนด้วย กลับส่งคืนทั้งๆ ที่หาความผิดไม่ได้

อิสิทาสีเป็นหญิงหม้ายรูปสวย ต่อมาบิดาได้ยกให้กุลบุตรตระกูลมั่งคั่งน้อยกว่าสามีเก่าครึ่งหนึ่ง อยู่เรือนร่วมสามีคนที่สองได้เพียงหนึ่งเดือน แม้จะรับใช้สามีดั่งทาสี ก็ถูกขับออกจากเรือนเขาอีก

ต่อมาบิดาได้ยกนางให้กับชายขอทาน อยู่กินกันได้เพียงครึ่งเดือน ชายขอทานก็หนีทิ้งไปอีก นางเศร้าสลดใจในชีวิตจึงออกบวช บวชได้ ๗ วันก็บรรลุวิชชา ๓ ระลึกชาติแต่หนหลังของตนได้ถึง ๗ ชาติ

กรรมเก่าของอิสิทาสีเถรี เคยเกิดเป็นลูกชายนายช่างอยู่ในนครเอรกกัจฉะ เป็นคนมัวเมาลุ่มหลงเป็นหนุ่มคะนอง ได้คบชู้กับภรรยาของชายอื่น ตายแล้วต้องหมกไหม้อยู่ในนรกตลอดกาล ครั้นเมื่อพ้นนรกมาเกิดเป็นลูกวานร ได้ถูกหัวหน้าฝูงวานรกัดอวัยวะสืบพันธ์ นี่เพราะผลกรรมที่ได้คบชู้ เมื่อตายจากวานร ได้มาเกิดในท้องของแพะตาบอดอยู่ในแคว้นสินธุ อายุได้ ๑๒เดือน ก็ถูกตัดอวัยวะสืบพันธ์ นี่เพราะโทษคบชู้กับภรรยาของชายอื่น

เมื่อจุติจากกำเนิดแพะแล้วได้ไปเกิดในท้องของแม่โค พอมีอายุ ๑๒ เดือนก็ถูกตอน ถูกใช้งานเทียมไถเข็นเกวียน ต่อมาเป็นโคขี้โรคและตาบอด นี่แหละโทษอีกชาติ จุติจากกำเนิดโคแล้วไปเกิดในเรือนของนางทาสี จะเป็นหญิงก็ไม่ใช่ชายก็ไม่เชิง

ต่อมาชาติที่หก มาเกิดเป็นลูกสาวของนายช่างสานเสื่อ สกุลขัดสนถูกฉุดคร่าไปเป็นภรรยาของนายคิริทาส ซึ่งมีภรรยาอยู่แล้วเป็นคนมีศีล ต่อมาได้บังคับให้นายคิริทาสขับไล่ภรรยาเก่าไปเสีย ต่อมาได้เกิดในชาติปัจจุบันผลแห่งการคบชู้กับภรรยาของชายอื่นในชาติที่ ๑ (ที่ระลึกได้) และได้บังคับให้สามีขับไล่ภรรยาเก่าของเขาไปในชาติที่ ๖ (ที่ระลึกได้) จึงได้มารับกรรมในชาติปัจจุบันนี้

ในสมชีวิสูตร พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “คฤหบดีและคฤหปตานี (สามีภรรยา) ถ้าต้องการพบกันเป็นสามีภรรยากัน ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตแล้วไซร้ ทั้งสองฝ่ายนั้นพึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน และมีปัญญาเสมอกัน ทั้งสองนั้นย่อมได้พบกันและกัน ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต”


คำถามที่ ๙

ถาม : การทำบุญให้ทานหรือทำความดีเพราะความโลภ จะได้ผลดีหรือไม่

ตอบ : ทำความดีแม้จะมีเหตุมาจากความโลภ โกรธ หรือหลงก็ตาม ก็ยังดีกว่าทำความชั่วหรือไม่ได้ทำอะไรที่ดีเลย การปฏิบัติธรรมมีขั้น ทาน ศีล สมาธิเจริญภาวนา ต่อไปๆ ก็จะค่อยๆ ประคับประคองพัฒนาให้ถูกต้องสมบูรณ์ต่อไป


คำถามที่ ๑๐

ถาม : สมาธิทำให้เกียจคร้าน ไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติขั้นสูงจริงหรือ

ตอบ : สมาธิเป็นกุศล แต่เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ สมาธิขั้น อัปนาสมาธิจะเกิดปิติสุข เมื่อติดสุขก็จะเกียจคร้าน เพราะสมาธิเข้าได้กับโกสัชชะคือความเกียจคร้าน เช่นสมาธิแรงแต่วิริยะอ่อน ความเกียจคร้านก็เข้าครอบงำ เมื่อโกสัชชะเข้าครอบงำ ก็จะติดเพลินในความสุขสงบปรุงแต่งเป็นอเนญชาภิสังขารติดเพลินในรูปฌาน อรูปฌาน เป็นอัปนาสมาธิ แน่วแน่ตั้งมั่นเป็นสมาธิในฌาน แล้วกิจหน้าที่การพิจารณาเจริญไตรสิกขาก็ไม่เร่งรัดดำเนินไป กลายเป็นเฉื่อยไม่พัฒนา กิเลสไม่หมด ทุกข์ไม่หมด

สมาธิขั้นอุปจารสมาธิ สมาธิจวนจะแน่วแน่ยังไม่ดิ่งถึงที่สุด เป็นขั้นที่ทำให้กิเลสนิวรณ์ระงับก่อนจะเป็นอัปนาฌาน สมาธิขั้นอุปจารสมาธิจะเป็นประโยชน์แก่การเจริญปัญญา หรือหากปฏิบัติแนววิปัสสนาโดยตรงก็ควรใช้ขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วขณะ สมาธิขั้นต้น พอสำหรับให้จิตสงบสบายและเริ่มปฏิบัติวิปัสสนา


(มีต่อ 2)
 


แก้ไขล่าสุดโดย poivang เมื่อ 07 ส.ค. 2006, 3:26 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 07 ส.ค. 2006, 3:23 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คำถามที่ ๑๑


ถาม : คนไทยชอบใช้คำว่า อนิจจังไม่เที่ยงเพื่อปลอบใจให้คลายทุกข์โศก พอสบายใจแล้วก็ปล่อยปละละเลย ไม่กระตือรือร้น ขวนขวายจัดแจง เมื่อเป็นเช่นนี้ควรจะแก้ไขอย่างไร

ตอบ : อนิจจังแปลว่าไม่เที่ยง เมื่อสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงจึงไม่ควรประมาท ให้ตระหนักนึกถึงว่าให้ปล่อยวางเสียได้ แต่มิใช่ปล่อยปละละเลย อันจะกลายเป็นความประมาทไป อนิจจังเมื่อปลงแล้วก็ให้เกิดความสังเวช กระตุ้นเตือนใจให้สำนึกถึงความจริง แห่งพระไตรลักษณ์ให้เกิดตื่นตัว เกิดกำลังใจที่จะปฏิบัติธรรม


คำถามที่ ๑๒

ถาม : คำว่ามารหมายถึงอะไร และเจ้ากรรมนายเวรเป็นอย่างไร

ตอบ : มารแปลว่าผู้ฆ่า ขัดขวาง หรืออุปสรรค มี ๕ อย่าง คือ ๑) ขันธมาร มารคือร่างกายจิตใจ ๒) กิเลสมาร มารคือกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ๓) อภิสังขารมาร มารคือเจตนาดีชั่วปรุงแต่งให้ทำดีทำชั่ว ๔) มัจจุมาร มารคือความตาย ๕) เทวปุตตมาร มารคือเทพ (ฝ่ายไม่ดี) หรือบุคคลที่มาชักจูงหลอกลวงให้ทำชั่ว

เจ้ากรรมนายเวร หมายถึง กรรมที่ทำไปแล้วมาคอยขัดขวางหรือเป็นอุปสรรค การที่จะย้อนกลับไปแก้กรรมที่ทำไปแล้วนั้น ทำไม่ได้ แต่ถ้าตั้งหน้าทำแต่กุศลกรรมไว้มาก กรรมเก่าหรือเจ้ากรรมนายเวรก็อาจตามไม่ทันเหมือนกัน ถ้าเปรียบบาปเหมือนก้อนเกลือ บุญคือน้ำสะอาด ถ้าเติมน้ำสะอาดมากๆ เกลือก็จางจนหมดความเค็มได้


คำถามที่ ๑๓

ถาม : เวลานั่งสมาธิมักจะหลับหรือง่วงนอนเพราะอะไร

ตอบ : เพราะอินทรีย์ไม่แก่กล้า พละกำลังของสมาธิจึงไม่มี ต้องใช้คุณธรรมข้ออินทรีย์ ประกอบด้วยองค์ธรรม ๕ ประการ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา เข้ากำกับปรับอินทรีย์ให้สมดุลกัน โดยใช้ปัญญากำกับศรัทธา เอาวิริยะกำกับสมาธิ ใช้สติเป็นเครื่องตรวจสอบ ถ้าทำได้อย่างนี้ นิวรณ์ธรรมอันเป็นเครื่องกั้นสมาธิ ก็เข้ามารบกวนไม่ได้ ประการสำคัญคือ ทำความรู้สึกตัวให้เป็น ถ้ารู้สึกตัวเป็นก็จะไม่ง่วงไม่หลับ ถ้าง่วงไม่ควรนั่งสมาธิต่อไป ควรลุกเดินจงกรมหรือดูอิริยาบถอื่น


คำถามที่ ๑๔

ถาม : ทางโลกกล่าวว่า คนยุคปัจจุบันต้องคิดเป็น ทางพระพุทธศาสนาอธิบายเรื่องนี้ว่าอย่างไร

ตอบ : คิดเป็นทางธรรมคือการทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย นั่นคือ “โยนิโสมนสิการ” ที่เป็นไปในทวารทั้ง ๖ ได้แก่ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้รู้เท่าทันอารมณ์ ไม่ยินดียินร้าย หรือชอบชังไปตามอารมณ์เมื่อเห็นรูป ได้ยินเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส และคิดนึกแต่ในแง่ดีสิ่งที่ดี รู้จักต้อนรับอารมณ์ด้วยธรรมปฏิสันถาร คือต้อนรับอารมณ์ด้วยโยนิโสมนสิการ ถ้ามีปัญญาก็คิดเป็นโยนิโสมนสิการ ถ้าไม่มีปัญญาก็คิดไม่เป็น อโยนิโสมนสิการ

ส่วนคำว่าคิดเป็นทางโลกคือ รู้จักแสวงหาทรัพย์ ลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุข คิดในทางรักษาตัวรอด บางครั้งก็ถึงกับต้องดิ้นรนแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันซึ่งเป็นกิเลสอกุศล


คำถามที่ ๑๕

ถาม : ขอให้อธิบายคำว่า “โยนิโสมนสิการ”

ตอบ : โยนิโสมนสิการ แปลว่า กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย คือคิดเป็นคิดเชิงปัญญา พิจารณาสืบสาวหาเหตุปัจจัย รู้จักคิดให้เป็นคิดถึงสภาพของจิตตน แยกแยะกุศลอกุศล ผลดีผลร้ายตรวจสอบสืบค้นสาวหาความจริง ถ้าระดับปุถุชนก็คงต้องอาศัย “ปรโตโฆสะ” คือคำบอกเล่า แนะนำ สั่งสอน ชักจูง จากกัลยาณมิตรมาประกอบ เพื่อให้เกิดกำลังมีโยนิโสมนสิการ (แต่ต้องไม่ใช่การคิดปรุงแต่งด้วยการยินดียินร้าย เป็นไปในทางทวารทั้งหกและล่วงล้ำ เลยไปเป็นเวทนาไปสู่สังขาร การปรุงแต่งจนเกิดตัณหาเกิดทุกข์โทษไม่เกิดปัญญา) โยนิโสมนสิการที่ถูกจะเกิดโสมนัสเวทนาเป็นมหากุศล

โยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาธรรม พิจารณาสิ่งทั้งหลายโดยมองตามสิ่งนั้นๆตามที่มันเป็นของมัน และคิดหาเหตุผลสืบค้นต้นเค้าสืบสาวให้ตลอดสาย แยกแยะสิ่งนั้นๆหรือปัญหานั้นๆออกให้เห็นตามสภาวะ และตามความสัมพันธ์สืบทอดแห่งเหตุปัจจัย โดยไม่เอาความรู้สึกด้วยตัณหาอุปาทานของตนเข้าจับ

โยนิโสมนสิการเป็นองค์ประกอบภายในที่ต้องพัฒนาขึ้นเอง แม้คบกัลยาณมิตรแล้วถ้าปราศจากโยนิโสมนสิการก็ไม่อาจเกิดปัญญาพ้นจากอวิชชาได้ โยนิโสมนสิการไม่ใช่ตัวปัญญาเองแต่เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา

ความคิดปรุงแต่งคือ อภิสังขาร มี ๓ อย่างคือ

๑) ปุญญาภิสังขาร คือ การปรุงแต่งดีเป็นบุญ เป็นความสุขสร้างสรรค์ เป็นโยนิโสมนสิการ
๒) อปุญญาภิสังขาร คือ การปรุงแต่งไม่ดี เป็นบาปเป็นทุกข์ เป็น อโยนิโสมนสิการ
๓) อเนญชาภิสังขาร คือ การปรุงแต่งสูงสุดที่ประณีตขึ้น ได้แก่สมาธิขั้นอรูปฌาน มีความสุขติดเพลินในความสุขนั้น ซึ่งไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ และไม่เป็นโยนิโสมนสิการ แต่หากไม่ติดเพลินสามารถใช้ปัญญาพิจารณาเป็นบาทฐานเจริญสติต่อเป็นวิปัสสนาให้บรรลุธรรมพ้นทุกข์ได้

เอกนิบาต : “เมื่อบุคคลใดใส่ใจโดยแยบคาย กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป”


(มีต่อ 3)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 08 ส.ค. 2006, 10:32 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คำถามที่ ๑๖

ถาม : ปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างไร

ตอบ : ปัญญาเกิดได้ ๓ ทาง คือ

๑) สุตะมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง (การศึกษาเล่าเรียน)
๒) จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิดพิจารณา
๓) ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการเจริญภาวนา ฝึกอบรมเจริญปัญญามี ๒ อย่าง คือ สมถภาวนาฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ ๑ และวิปัสสนาภาวนา ฝึกอบรมให้เกิดความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริง ๑ (หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า จิตตภาวนา ๑ และปัญญาภาวนา ๑)

ปัญญา ๓ ประเภท แบ่งโดยปัญญินทรีย์เจตสิก ได้แก่
- กัมมัสสกตาปัญญา (ปัญญาที่รู้เรื่องกรรม ๑)
- วิปัสสนาปัญญา (ปัญญาที่รู้เรื่องวิปัสสนา ๑)
- โลกุตตรปัญญา (ปัญญาที่รู้เรื่องอริยสัจสี่ ๑)


คำถามที่ ๑๗

ถาม : ธรรมะขั้นสูงข้อหนึ่งสอนให้รู้จักปล่อยวางนั้น เข้าใจว่าไม่ต้องทำอะไรเลยใช่หรือไม่

ตอบ : การปล่อยวาง คือ การให้รู้จักสอนใจตนเอง ไม่ให้กลัดกลุ้มวุ่นวาย ให้รู้จักคลายความเครียด ความฟุ้งซ่าน ให้รู้จักเท่าทันความจริง (สัจจะ ๔) แห่งชีวิต มิใช่ปล่อยวางโดยไม่ทำอะไรเลย การไม่ยอมทำหน้าที่การงานที่รับผิดชอบ เป็นการปล่อยปละละเลย เป็นการปล่อยวางที่ผิดก่อให้เกิดความเสียหาย


คำถามที่ ๑๘

ถาม : อยากทราบว่าพระพุทธศาสนาสอนเรื่องปัญญาไว้อย่างไร

ตอบ : ปัญญาในพระพุทธศาสนามีหลายระดับ จากระดับต้นไปจนถึงระดับสูง ดังนี้

๑. สุตะมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง (การศึกษาเล่าเรียน)
๒. จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิดพิจารณา
๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการเจริญภาวนา
๔. อายะโกศล ปัญญาฉลาดสร้างความเจริญ
๕. อบายะโกศล ปัญญาฉลาดเลี่ยงความเสื่อม
๖. อุบายะโกศล ปัญญาฉลาดสร้างความเจริญ และเลี่ยงความเสื่อม
๗. อุทยัพพยปัญญา ปัญญาวิปัสสนาญาณ เห็นความเกิดดับของรูปนาม
๘. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอริยมรรค ฯลฯ

เรื่องญาณ (ปัญญา) ๗๓ ประการ เป็นญาณทั่วไปของพระสาวก ๖๗ ประการ ส่วนอีก ๖ประการมีเฉพาะในพระพุทธเจ้าเท่านั้น (หาอ่านได้จากพระสุตตันตปิฎก ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาวรรค)


คำถามที่ ๑๙

ถาม : ที่กล่าวว่าพระพุทธองค์ทรงย่อโลกให้มาอยู่ที่ตัวเรา หมายความว่าอย่างไร

ตอบ : ทรงให้พิจารณาทวารทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอารมณ์หก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธัมมารมณ์ เมื่อเกิดกระทบกัน เกิดผัสสะและเวทนา ทำให้เกิดความยินดียินร้าย ถ้าหากไม่รู้จัก โยนิโสมนสิการให้แยบคายแล้ว จะตกเป็นทาสแห่งอารมณ์ไปตามกระแสโลก เกิดทุกข์โทษได้ จึงสอนให้รู้เท่าทันโลก รู้กฎแห่งสามัญลักษณะว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

พระพุทธองค์ ทรงตรัสไว้ในโลหิตัสสสูตร “เราบัญญัติเรียกว่า “โลก” เหตุให้เกิดโลก การดับของโลก และทางให้ถึงความดับโลก ในสรีระร่างกาย อันมีความยาวประมาณวาหนึ่งนั้น ที่มีพร้อมทั้งสัญญาและใจครองอยู่”


คำถามที่ ๒๐

ถาม : ที่กล่าวว่าไม่ให้ยึดติดทั้งดีและเลวนั้นหมายความว่าอย่างไร

ตอบ : อุปมาเปรียบเหมือนแพ อันบุคคลอาศัยแพ (ความดี, บุญกุศล) ข้ามน้ำ (วัฏสงสาร) ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องแบกแพขึ้นฝั่ง (พระนิพพาน)


คำถามที่ ๒๑

ถาม : อะไรเป็นเหตุให้เกิดภพเกิดชาติไม่มีจบหรือสิ้นสุดของวัฏสงสาร

ตอบ : อุปธิ คือกิเลส กิเลสทำให้เกิดโมหะ ความโง่ คืออวิชชา ทำให้เกิดชาติ อันไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลาย วนเวียนเป็นวัฏฏะ ทางแก้คือดับอวิชชา คือทำวิชชาให้เกิด วิชชาคือปัญญารู้แจ้ง แก้ข้อสงสัยในโลกทั้งปวง โลกคือสังขาร เกิดแล้วแปรปรวนเปลี่ยนแปลงสลายไป เมื่อรู้ก็ไม่ยึดถืออดีตไม่ยึดอนาคต ไม่ยึดว่าเป็นเราเป็นเขา สัตว์ บุคคล ฯลฯ ก็จะไม่ต้องถามหาภพชาติต่อไป


คำถามที่ ๒๒

ถาม : ปฏิจจสมุปบาท คืออะไร

ตอบ : ปฏิจจสมุปบาท คือธรรมที่เป็นสภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น สิ่งที่อาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา มีองค์คือหัวข้อ ๑๒ ประการ ได้แก่ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ

ปฏิจจสมุปบาท เป็นห่วงโซ่ต่อเนื่องกัน เป็นเหตุให้สัตว์โลกเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารเป็นทุกข์ การตัดห่วงโซ่ใดห่วงโซ่หนึ่งได้ก็จะเป็นการพ้นทุกข์ได้ การตัดคือการทำอวิชชาให้หมดไป ทำวิชชาให้เกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง


(มีต่อ 4)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 09 ส.ค. 2006, 10:58 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คำถามที่ ๒๓

ถาม : เหตุการณ์ธรณีพิบัติ (เกิดแผ่นดินไหวคลื่นใต้น้ำ สึนามิ) เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ปรากฎว่ามีประเทศที่ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมากเป็นแสน จึงสงสัยว่าชาวต่างชาติและประเทศต่างๆ ที่ได้รับความเสียหาย ต้องมาตายพร้อมๆ กัน เพราะเหตุใด

ตอบ : พระพุทธศาสนาสอนว่า “สัตว์โลกมีกรรมเป็นของๆ ตน ใครทำกรรมอันใดไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น” พระไตรปิฎก พระสุตตันปิฎก ได้แสดงไว้ตอนหนึ่งว่า “พระเจ้าวิทูฑภ กษัตริย์แห่งแคว้นโกศล กลับจากการทำสงครามล้างแค้นนครกบิลพัสดุ์ ญาติข้างพระนางวาสภขัตติยาพระมารดา กลับแวะพักทัพที่ริมฝั่งแม่น้ำอจิรวดี ตกกลางคืนน้ำได้ไหลบ่ามากวาดเอาทหารทั้งกองทัพ รวมทั้งพระเจ้าวิทูฑภจมหายไปกับสายน้ำ”

พระพุทธองค์ทรงตรัสเล่าว่า เป็นเพราะกรรมในอดีตชาติ ที่เขาเหล่านั้นได้ร่วมกันทำปาณาติบาตใช้ยาพิษเบื่อปลาตายมากมาย นี่แสดงให้เห็นโทษว่า ไม่มีอะไรจะยุติธรรมเท่ากับกรรมที่ทำไว้ ไม่มีใครจะสร้างความเดือดร้อนให้กับเราได้ นอกจากตัวเรา เรื่องกฎแห่งกรรมนี้เป็นอจินไตย

ภัยแผ่นดินไหวเป็นภัยภายนอกยังน่ากลัว แต่ภัยภายในอันเกิดจากผัสสะและเวทนาทางทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หากไม่สำรวมระวังปล่อยให้ไหวไปตามอารมณ์ เป็นภัยที่น่ากลัวยิ่งกว่าเพราะทำให้ก่อภพก่อชาติ เวียนว่ายเป็นวัฏฏะ เป็นทุกข์อันไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายหาที่จบมิได้


คำถามที่ ๒๔

ถาม : การจะจูงคนให้เกิดศรัทธาเข้าหาพระพุทธศาสนา เพื่อถือศีล ปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องยากยิ่ง เป็นเพราะเหตุใด บางคนไม่สนใจท่าเดียวจะทำอย่างไร

ตอบ : การเกิดมาของคนแต่ละคนมีอุปนิสัยปัจจัยที่แตกต่างกัน บางคนชอบให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา บางคนชอบทำแต่บุญทานอย่างเดียว บางคนไม่ชอบทำบุญทานเลย ฯลฯ นั่นเพราะในอดีตชาติทำมา เมื่อเกิดมาในชาตินี้ปัจจัยใหม่ในชาตินี้ ที่จะเกื้อกูล ได้แก่กัลยาณมิตร คือได้คบมิตรดีแนะนำสิ่งมีประโยชน์ อยู่ในถิ่นฐานที่มีพระพุทธศาสนา ได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ เป็นต้น

ส่วนคนที่มีโทวจัสสตา เป็นคนว่านอนสอนยากแนะนำยาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชักสะพานเสียคือไม่ทรงสั่งสอน เพราะแม้บัณฑิตจะเข้าไปนั่งใกล้คนพาลจนตลอดชีวิตก็ไม่รู้แจ้งเรื่องธรรม คนพาลนั้นเปรียบเหมือนทัพพีที่ไม่รู้รสแกง, บัวในตม ถ้าแผ่เมตตามีกรุณาแล้วไม่สำเร็จ ก็คงต้องวางอุเบกขาว่าสัตว์โลกมีกรรมเป็นของของตน


คำถามที่ ๒๕

ถาม : คำว่าสังสารวัฏ หมายความว่าอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะซาบซึ้งถึงโทษภัยของสังสารวัฏ

ตอบ : สังสารวัฏคือภพที่เวียนว่ายตายเกิด การเกิดตายของสัตว์คือทุกข์ พวกเราทุกคนเกิดมาหลายภพหลายชาติแล้ว แต่มีอวิชชาปิดบังจึงจำไม่ได้ ทำให้มีความคิดเห็นผิด เห็นของไม่งามว่างาม เห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง เห็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นความไม่มีตัวตนว่าเป็นตัวตน ตามปกติจิตใจคนเราย่อมไหลลงสู่ที่ต่ำ จึงต้องทวนกระแสจิตกระแสโลก “ราตรีของผู้ตื่นนาน โยชน์ของผู้เมื่อยล้ายาว สังสารวัฏของผู้ไม่รู้สัทธรรม แสนจะยาวนานยิ่งนัก” (พระพุทธวจนะ)

สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ข้อเวียนว่ายตายเกิด “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเสมือนท่อนไม้ที่โยนขึ้นไปในอากาศ บางครั้งก็ตกลงทางโคน บางครั้งก็ตกลงทางกลาง บางครั้งก็ตกลงทางปลาย สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกมัด วิ่งไปท่องเที่ยวไป บางครั้งก็ไปสู่โลกอื่นเมื่อจากโลกนี้ บางครั้งก็มาสู่โลกนี้จากโลกอื่น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสาร (การเวียนว่ายตายเกิด) นี้มีที่สุดอันตามไปไม่พบ ไม่ปรากฏเงื่อนเบื้องต้นเงื่อนเบื้องปลายของสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกมัด วิ่งไปท่องเที่ยวไปอยู่ควรพึงจะเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในสังขารทั้งปวง ควรจะพ้นไปเสีย” (พระพุทธวจนะ)

ธรรมอันเป็นกำลังคือ

พละธรรม ๕ ประการ คือ ๑) สัทธา ๒) วิริยะ ๓) สติ ๔) สมาธิ ๕) ปัญญา
สัทธา ๔ คือ ๑) กัมมสัทธา (เชื่อกรรม) ๒) วิปากสัทธา (เชื่อผลของกรรม) ๓) กัมมัสสกตาสัทธา (เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของของตน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ๔) ตถาคตโพธิสัทธา (เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต)


คำถามที่ ๒๖

ถาม : ความสุขนั้นใครๆ ก็ต้องการ แต่ไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นที่ตรงไหน

ตอบ : พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ให้เดินทางสายกลาง คือมัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ ว่าโดยย่อ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา

ประการแรก ต้องสร้างปัญญาให้เกิด กล่าวคือ มีสัมมาทิฎฐิมีความเห็นชอบถูกและตรง ต้องเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อในความตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การสร้างปัญญาทำได้ ๓ ทาง คือ สุตะ (การฟัง การศึกษาเล่าเรียน), จินตา (การคิดพิจารณาหาเหตุผล) และภาวนา (การปฏิบัติทำจิตให้ตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใสให้เกิดปัญญา)

เมื่อเกิดปัญญาจะรู้ผิดชอบชั่วดี รู้จักแยกแยะอะไรเป็นสาระอะไรไม่ใช่ จะมีความเพียรมีสมาธิ และมีสติรู้ตื่นอยู่เสมอ ไม่เผลอไผลหลงใหลงมงาย มีสมาธิจิตมั่นคงไม่หลงทำชั่วกลัวบาปจึงไม่มีโทษเป็นทุกข์

เมื่อมีสมาธิก็เท่ากับว่ามีศีล เพราะผู้มีสติและจิตตั้งมั่นจะสำรวม เมื่อมีสมาธิอยู่คุม กาย วาจา ใจ (ศีลชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์) เมื่อมีศีลอยู่ อินทรีย์สังวร ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ และสติสัมปชัญญะย่อมมีอยู่



................. จบ .................
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง