Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ดูเกิดดับให้ติดต่อเพื่ออบรมบ่มปัญญาให้แก่กล้า (ก.เขาสวนหลวง) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 04 ส.ค. 2006, 12:52 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ดูเกิดดับให้ติดต่อเพื่ออบรมบ่มปัญญาให้แก่กล้า
โดย ท่าน ก.เขาสวนหลวง



การมีสติติดต่อจะต้องเป็นข้อสังเกตได้ว่า การกระทบผัสสะก็ดี หรือว่าการอยู่สงบที่จะได้เป็นการอ่านภายในก็ดี มันล้วนแต่ว่าเราจะต้องรักษาหลักจิตปกติ แล้วก็สังวรด้วย ถ้าว่ามีการสังวรอยู่ได้ติดต่อ จิตนี่ก็เป็นปกติได้เป็นส่วนมาก

การพิจารณาจิตในจิตนี่ ก็เป็นสิ่งที่จะต้องพยายามอยู่ทุกอิริยาบถ ขณะนั่ง ยืน เดิน นอน จะต้องพยายามให้ติดต่อ ถ้าว่าการพิจารณาจิตในจิตให้ติดต่อได้อย่างเดียว มันเป็นเครื่องอ่านอยู่ภายใน หรือผัสสะจะมีการกระทบ มันก็แค่เกิด - ดับ อ่านอยู่ภายใน หรือผัสสะจะมีการกระทบ มันก็แค่เกิด - ดับ

ทีนี้เกิด - ดับภายในกับเกิด-ดับภายนอก เช่น ตาเห็นรูป หูฟังเสียง นี่มันเกิด - ดับผัสสะภายนอก

แต่เราจะต้องพยายามรู้ภายใน ที่มันมีความรู้สึกขึ้นมาภายในจิตนี่

ถ้าว่ารู้จิตในจิตให้ติดต่อแล้ว ผัสสะภายนอกมันก็แค่เกิด - ดับไปตามธรรมดา

เราจะสังเกตได้ ขณะไหนที่ความรู้ภายในมันเผลอมันก็รับผัสสะ มันเผลอออกไป ถ้าเผลอในระยะสั้น ก็ยังไม่มีทุกข์โทษอะไรนัก แต่ถ้ามันเผลอไปในระยะยาวนี่สิ มันเป็นความเพลิดไปยึดถือ ไปจำ ไปหมาย ไปคิดอะไรขึ้นติดต่อไปยาวๆ นั้นต้องพยายามหยุด คือว่าหยุดในระหว่างที่มันคิดอะไรไปยาวๆ

ถ้าว่าเป็นการรู้เกิด - ดับได้ มันก็หยุดได้เร็ว คือว่าเกิดขึ้น - ตั้งอยู่ - ดับไป นี้มันก็เป็นการตัดเรื่อง ที่จะให้จิตนี่มันกลับมารู้พิจารณาจิตเสียใหม่ แล้วความรู้สึกอย่างนั้นมันก็ดับสลายตัวไป มันไม่ปรุงต่อ มันไม่ติดต่อ เรื่องมันก็หยุด มันก็สงบได้

ทีนี้เราจะต้องพยายามสังเกตดูให้ดีว่า การรู้เกิด - ดับเฉพาะหน้าปัจจุบันนี้ มันจะทำให้การปรุง การคิด การจำหมายอะไร ไม่ยืดยาว พอว่ารู้สึกแล้วก็ดับแค่ความจำ ไม่นำมาคิดต่อปรุงต่อ นี่เป็นการหยุดได้ทันที

เหมือนอย่างกับเราหยุดรู้อยู่เดี๋ยวนี้นะ จิตนี่ กำลังพูดอยู่นี่ กำลังรู้อยู่นี่ พูดออกไปคำหนึ่ง มันก็เกิด - ดับอยู่ในคำพูดแล้วได้ยิน มันก็เกิด - ดับอยู่

ทีนี้ถ้าว่าเรารู้ลักษณะเกิด - ดับเฉพาะหน้าปัจจุบันแล้ว จิตนี้มันจะไม่ไปไหนเลย มันจะรู้อยู่สงบอยู่ได้ติดต่อ แม้ว่ามันจะมีความจำหมายอะไรขึ้นมาคิด พอว่ารู้ว่ามันเกิด - ดับ มันก็หยุด ! หยุดแค่นี้ ไม่มีเรื่องอะไรดีชั่วที่จะปรุงออกไปยืดยาว หยุด ! หยุด ! หมดเลย

ทีนี้ที่หยุดบ่อยๆ นี่เอง จิตนี่จะมีโอกาสพิจารณาจิตในจิตได้รายละเอียด แล้วสังเกตดูว่า ถ้าว่ามันไม่ได้หยุดดูหยุดรู้ภายในแล้ว จิตนี่ก็ฟุ้งซ่าน คือว่าถูกปรุง ถูกความจำหมายอะไรขึ้นมา แล้วก็คิดต่อไป ยืดยาวไป

ทีนี้เราสังเกตได้นะว่า การมีสติติดต่อนี่ มันต้องติดต่อแบบนี้ ที่ว่ารู้เกิด - ดับเฉพาะหน้าปัจจุบัน

เอาให้มันรู้อยู่ให้มากทีเดียว ความเผลอเพลินน้อย ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เผลอเพลินเสียเลย แต่ว่าเมื่อมีสติรู้เกิด - ดับอยู่เฉพาะหน้าแล้ว ความเผลอเพลินจะน้อยลง จิตจะมีโอกาสหยุดแล้วก็พิจารณาจิตในจิตให้ละเอียดเข้าหน่อย จนกว่าสติหรือความรู้นี่ จะมีการรู้ประจักษ์ชัดในความเกิด - ดับภายใน

แล้วก็เป็นข้อสังเกตดูว่า การอบรมจิตภาวนาที่เราพยายามกำหนดรู้จิต พิจารณาจิตนี่นะมันจะทำให้เกิดสติปัญญาขึ้นมารู้เห็นความจริง ในเรื่องความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของของเรา

ทีนี้การที่จะรู้ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์นี่ต้องรู้ให้จริง ถ้าว่ารู้ไม่จริงแล้ว ที่ว่าไม่มีตัวเรา ไม่ใช่ของของเรานี่ ก็ยังไม่รู้เรื่อง

ฉะนั้นมันต้องรู้เรื่องนี้เสียก่อน เพราะว่ามันไม่เที่ยงนี่น่า แล้วมันก็เป็นทุกข์อยู่ในตัวความไม่เที่ยง พออ่านอันนี้ชัดว่าไม่เที่ยงจริง เป็นทุกข์จริง แล้วความไม่มีตัวตนก็ต้องเห็นตามขึ้นมาด้วย

ถ้าว่าอันนี้ยังไม่ชัดแล้ว ก็ยังไม่เห็น เพราะมันยังมีความยึดถืออยู่ แล้วความรู้สึกที่ยังไม่แจ่มแจ้งในเรื่องความไม่เที่ยงจะต้องทบทวนดู ดูความรู้สึกในขณะที่รับผัสสะก็ได้ หรือว่าในขณะไหนที่เราไปจำ ไปคิดอะไรขึ้นมาก็ได้ หรือว่าขณะปัจจุบันที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียง ก็กำหนดรู้เกิด - ดับก็ได้

ตกลงว่ามัน ต้องรู้เกิด - ดับทางผัสสะที่เป็นภายนอก แล้วก็รู้เกิด - ดับผัสสะที่เป็นภายใน ที่เป็นความจำความคิดอะไรขึ้นมา นี่เป็นสองลักษณะ แล้วก็รวมลงว่าเป็นลักษณะอย่างเดียวกัน คือว่าความรู้สึกภายในมันเกิดขึ้น แล้วความรู้สึกนั้นดับไป

หรือว่าเสียงที่สัมผัส ที่เป็นภายนอกมันก็เกิด - ดับไปตามเรื่องของภายนอก แต่เราก็กำหนดรู้จิตเพราะว่ามันต้องรวมรู้อยู่ที่จิตดีกว่า ถ้าว่าไปเอาเรื่องภายนอกแล้ว จิตนี่จะฟุ้งซ่านไป

ถ้าว่าเรื่องเฉพาะกิจ กำหนดรู้จิต พิจารณาจิตอยู่เป็นประจำทำให้มากแล้ว อย่างนี้มันทำให้เกิดสติปัญญาขึ้นมาให้รู้เห็นความจริงได้ง่าย แล้วสังเกตได้ ในขณะที่จะเผลอเพลินไปกับอะไร แล้วขณะที่มีสติติดต่ออยู่ รู้จิตในจิต พิจารณาจิตเกิด - ดับ, เกิด - ดับ ดูมันเฉยๆ เกิด - ดับ, เกิด - ดับนี่ ไม่มีเรื่องอะไร แล้วจิตนี่ก็ไม่ไปไหน ไม่แส่ส่าย ไม่ฟุ้งซ่าน

การรู้จิตในจิตให้ติดต่อเป็นตัวประธานนี่ จะอ่านออกไปในตัวเอง จะอ่านกายก็ได้ เวทนาก็ได้ สัญญา สังขารอะไรก็รวมอยู่ที่จิตนี่ ถ้ารู้จิตให้ติดต่อแล้ว ก็ยืนหลักอย่างนี้ให้ติดต่อให้ได้ทุกอิริยาบถ มันจะดับทุกข์โทษ ดับกิเลส ตัณหา อุปาทาน พร้อมอยู่ในนี้เสร็จ

ข้อสำคัญว่าต้องพยายามให้มาก เพราะว่าจิตนี่มันมีการไหวรับอารมณ์ง่ายในขณะผัสสะกระทบ แล้วเราจะควบคุมอย่างไรดีก็ต้องรักษาอินทรียสังวร คือว่าสำรวมตา สำรวมหู สำรวมจมูก สำรวมลิ้น สำรวมกาย สำรวมใจ

ที่สำรวมๆ นี่ มันก็มารวมสำรวมอยู่ที่จิตนั่นเอง แล้วสังเกตได้ว่า จิตที่มีสติอยู่แล้วทวารทั้งห้านี่มันก็สงบได้ มองเห็นรูปเฉยๆ ได้ หูฟังเสียงเฉยๆ ได้ จมูกได้กลิ่น ลิ้นรู้รส กายได้รับสัมผัสผิวกาย มันก็วางเฉยได้ เพราะว่าสังวรนี่มันเป็นเครื่องกั้น แล้วก็พิจารณาประกอบด้วย มันก็เป็นเครื่องตัดรอนไม่ให้ไปยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง ปล่อยวาง

เพราะว่าการปล่อยวางนี่นะ จะต้องรู้ให้ชัด ในขณะที่รู้ขึ้นมาในลักษณะเกิด - ดับ ถ้าว่ารู้ชัดแล้ว มันไม่ยึดถืออย่างหนึ่ง หรือว่าไปยึดถือหยิบฉวยเอามาแล้ว พอรู้ขึ้นมาก็ปล่อยไปปล่อยวางไป นี้อย่างหนึ่ง เป็นสองลักษณะ คือว่าขณะที่มันรู้เกิด - ดับ แล้วมันก็หยุดกันแค่นั้น มันไม่ยึดถือแล้วนะ

ทีนี้มาขั้นที่สอง มันยึดถือขึ้นมาแล้ว แต่พอรู้แล้วมันก็ปล่อยวางได้ ต้องสังเกตดูนะ แล้วก็จะรู้ว่าที่มันรู้เฉยๆ แล้วไม่ยึดถือนี่ก็ไม่มีเรื่องอะไร แต่ขณะไหนเผลอไปนิดเผลอไปหน่อยอะไร เพลินไปนี่ ไปยึดถือเอามาแล้ว แต่ว่าเร็ว ปล่อยได้เร็วละก็ได้

ต้องเอาผลตรงที่ปล่อยได้เร็วขึ้น ไม่ต้องมาลูบคลำ หรือกันความฟุ้งซ่าน รู้อยู่ เห็นอยู่ สงบอยู่ พิจารณาประกอบอยู่แล้ว มันก็ไม่มีทุกข์โทษอะไรขึ้นมา หรือมีก็ในระยะแรกพอว่ามันเกิดอะไรขึ้นมา ก็รู้ดับ ไม่เอาเรื่อง ไม่คิดว่านี่มันเป็นเรื่องอะไร จะต้องไปซักไซ้ไต่ถามอะไรกัน ก็ไม่ต้องหยุด ดับมันแค่นั้น ปล่อยมันแค่นั้น วางมันแค่นั้นละก็ได้

นี่สติมันทันกัน เพราะว่ามีสติสำรองอยู่แล้ว แต่ถ้าว่ามันเผลอๆ เพลินๆ แล้วนะ บางทีมันอาจจะช้าไป คือว่าสติที่จะมารู้เกิด - ดับมันช้าไป ทีนี้ถ้ามันช้าอย่างนี้ พอรู้ขึ้นมาก็ว่า เกิด - ดับ เอาปากว่าไปก่อนก็ได้นะ "เกิด - ดับ" จนกว่าสติมารู้จริงๆ ว่า เกิดแล้วก็ดับ แล้วก็ปล่อยมันแค่นั้น หยุด ! หยุดนิ่ง ! หยุดนิ่ง ! เป็นปกติ นี่ต้องพยายามอย่างนี้นะ แล้วมันละตัณหาได้

ตัณหามันก็เกิด - ดับเหมือนกัน เกิดแล้วมันก็ดับเหมือนกัน แต่ถ้าไม่รู้แล้วมันปรุงจิตดิ้นรนกระวนกระวายใหญ่เกิดใหญ่ดับใหญ่ ไปเป็นเรื่องเป็นราวอะไรมากไป ทีนี้หยุด ! รู้หยุด ! รู้หยุด ! รู้หยุด ! บ่อยๆ เข้านะ กำลังของสติก็มากขึ้น

นี่ต้องใช้ความสังเกตให้รู้แยบคายของตัวเอง มันถึงจะดับทุกข์ดับกิเลสให้ถูกจุดหมายได้ ไม่ต้องมีเรื่องปรุงเรื่องคิด เรื่องจำอะไรมามากมายนัก ไม่ต้องฟุ้งซ่านไป เอาให้มันตรงจุดที่มันเกิดแล้วมันก็ดับ แต่ต้องมีสติแนบแน่น จิตต้องมีการสงบเป็นพื้น อย่าให้ฟุ้งซ่าน แล้วถึงจะรู้เกิด - ดับละเอียด

อาศัยจิตที่ได้ฝึกมีสติให้ติดต่ออยู่ทุกอิริยาบถนั่นเอง และสังวรอินทรีย์อยู่ทุกอิริยาบถด้วย มันก็เลยช่วยให้จิตสงบรู้ตัวเองได้เป็นส่วนมาก แล้วก็หยุดดูหยุดรู้ให้ลึกซึ้งเข้าไปอีกจะได้ไหม

การหยุดดูหยุดรู้แค่ปกตินี่ก็ยังเป็นขั้นหนึ่ง ยังไม่ละเอียดยังไม่ลึกซึ้ง ทีนี้การหยุดดู หยุดรู้เข้าไปให้ซึ้ง มันน่ามอง มองให้ซึ้งเข้าไป การเกิด - ดับที่ซึ้งๆ นี่นะ มันก็เกิด - ดับไปตามธรรมชาตินั่นเอง ดูไปรู้ไป แล้วมันไม่ได้ดูรู้อยู่อย่างเดียว มันพิจารณาประกอบด้วย ตัวรู้นั่นแหละเป็นตัวพิจารณา แต่ว่าไม่ได้พิจารณาเป็นคำพูดเป็นความคิด ถ้ามันดูแล้วก็รู้ว่าดับไปๆ ดูอยู่เฉยๆ หัดดูให้มันรู้นะว่าไม่ต้องพูดไม่ต้องคิด หรือว่าคิดนั่นก็เกิด - ดับ พูดนี่ก็เกิด - ดับ จับใจความให้ได้ว่าทุกสิ่งเกิด - ดับไปตามธรรมชาติ ก็แล้วกัน

ทีนี้ก็ถึงเวลาที่จะรวบรวมสติเข้ามารู้จิต พิจารณาจิต เพราะว่าจิตที่มีสติติดต่อมาเป็นความคุ้นเคยมากแล้วนะ ทีนี้พอนั่งตั้งกายตรงดำรงสติมั่นก็พร้อมแล้ว พร้อมที่จะรู้แล้ว พร้อมที่จะกำหนดรู้จิต พิจารณาจิตได้ในขณะนี้ทีเดียว

ความรู้ที่มันรู้เกิด - ดับ ที่เป็นการกระทบผัสสะ แล้วจิตนี่ไม่ออกไปหมายดีชั่วอะไร มันก็วางเฉยได้ ถ้ารักษาหลักนี้เอาไว้วางเฉยเป็นปกติ แล้วผัสสะมันก็เกิดเองดับเอง ไม่ออกไปมีความหมายดีชั่วอะไร จิตนี่มันก็สงบได้ แต่ว่าสงบขึ้นนี้เป็นการสงบชนิดที่ไม่ยินดียินร้ายต่อผัสสะ แต่ว่ามันก็ระงับนิวรณ์ได้ แล้วก็ตลอดชั่วโมงนี้ คงดำรงสติอยู่ รู้อยู่ได้ภายในผัสสะภายนอกเกิด - ดับ ส่วนภายในที่มันมีความรู้สึก มันก็เกิด - ดับ ทั้งภายในทั้งภายนอกมันก็เกิดเองดับไปเอง จิตนี่ก็ดำรงอยู่ในความสงบได้

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีการพิจารณาที่เป็นการรู้เห็นเข้าไปในด้านใน แต่ว่าความรู้อย่างนี้มันก็เป็นความรู้ที่ทรงตัวเป็นปกติได้ ก็ควรจะพยายามรักษาหลักความรู้อย่างนี้ให้ติดต่อเอาไว้ให้มันสงบเฉยๆ

การสงบเฉยๆ นี่ควรจะปรับให้มันเป็นพื้นฐานของจิตเข้าไว้ แล้วก็พยายามพิจารณาให้มันซึ้งเข้าไป ถ้ามันยังเข้าไม่ถึงภายใน ก็ให้รักษาความเป็นปกติขั้นผัสสะภายนอกไปก่อนแล้วก็พิจารณาประกอบไว้ มันจะได้ไม่ก่อเรื่อง เรื่องจำเรื่องคิดอะไรเหล่านี้มันก็หยุด หยุดดู หยุดรู้อยู่เฉยๆ ทีนี้มันก็ระงับไปได้ขั้นหนึ่งคือนิวรณ์ ไม่แส่ส่ายไปในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสผิวกาย แล้วก็ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่สงสัย ซึ่งเป็นการระงับนิวรณ์ได้ตลอดชั่วโมง

ปรับพื้นไว้อย่างนี้ จิตนี่มันตื่น มันรู้อยู่ภายใน รู้แล้วเป็นปกติวางเฉย ไม่ฟุ้งซ่าน ถ้าว่าความรู้อย่างนี้มันดำเนินไปได้ติดต่อทุกอิริยาบถแล้ว ผัสสะมันก็เกิดเองดับเอง ส่วนจิตก็พิจารณาตัวเองไว้ ถ้าเพียงขึ้นนี้ก็ยังคงดับทุกข์ได้ เพราะว่าจิตนี้มันไม่วุ่น มันว่าง มันสงบ

ปรับพื้นนี้เอาไว้ แล้วก็ค่อยพิจารณาดูไปเฉยๆ ไม่ต้องมีคำพูดไม่ต้องไปคิดอะไรขึ้น ดูจิตล้วนๆ ดูผัสสะเกิด - ดับล้วนๆ จิตก็วางเฉยได้ ไม่วุ่นวาย แล้วไม่ต้องไปหมายอาการอะไรทั้งหมดรู้แล้วก็วางเฉย มันก็เป็นการปล่อยอยู่ในตัว พอรู้แล้วก็ปล่อยวาง, เกิด - ดับ ปล่อยวาง, แต่ว่าไม่เป็นคำพูด ปล่อยวางอยู่ในตัวรู้นั่นแหละ รู้เกิด - ดับ แล้วมันก็หยุดเฉย ไม่จำ ไม่คิด ไม่หมายดี ไม่หมายชั่วอะไร นี่มันก็ปล่อยอยู่ในตัวเหมือนกัน แล้วก็ไม่กังวล

ความไม่กังวลต่อผัสสะนี้ มันทำให้จิตสงบ คอยสังเกตดู ผัสสะก็เกิด-ดับไปตามเรื่องตามราวของมัน ถ้าไม่ไปกังวลนะ จิตนี้มันไม่วุ่น มันว่าง มันว่างของมันเอง แล้วก็ควรรักษาหลักอย่างนี้ให้ติดต่อ ดูไปรู้ไป มันก็ปล่อยอยู่ในตัวปล่อยอยู่ในตัวดูตัวรู้นั่น พอว่ามันรู้แล้ว มันก็ไม่หมาย ไม่ไปยึดถือ รู้แล้วก็แล้วกัน ไม่กังวล ไม่สนใจ ทีนี้มันก็ดับทุกข์ได้เรื่อยไปเอง

แม้ว่าตัวอะไรจะเกิด ความรู้สึกอะไรจะเกิดความพอใจไม่พอใจ ก็ดับได้ทันที ไม่โสมนัส ไม่โทมนัส จิตก็เป็นปกติอยู่เสมอ แล้วก็พิจารณาประกอบเอาไว้ ข้อปฏิบัติก็มีเท่านี้ ไม่ต้องเอามากหรอกเพียงเท่านี้นะ ประกอบความเพียร ดูอยู่ รู้อยู่ สงบอยู่ จิตนี่จะไม่วุ่นเลย นิวรณ์เข้าไม่ได้ ปลุกให้จิตมันตื่นอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ ไม่ง่วง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เคลือบแคลงสงสัยอะไรอีก เรียกว่าละโมหะ ถ้าไม่ง่วง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่สงสัย ขณะนี้โมหะไม่มี แล้วก็เป็นการละนิวรณ์ คือว่ากามฉันทนิวรณ์ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสผิวกาย ขณะใดรู้เกิด - ดับ มันก็ไม่ออกไปพอใจต่อรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสผิวกาย ถ้ามันเกิดขึ้นนิดๆ หน่อยๆ ก็แค่เกิด - ดับ เท่านั้นก็หมดเรื่อง

แล้วทีนี้ถ้าดับกามฉันทนิวรณ์ได้ ก็เป็นอันว่ามันก็ละพยาบาทนิวรณ์ มันไม่เกิดเป็นพยาบาท แล้วความหงุดหงิดไม่มี ถ้าพยายามควบคุมอยู่ พิจารณาอยู่ทุกอิริยาบถให้ได้แล้วมันจะเรียบร้อยไปเอง แต่อย่าให้มันไปจับเรื่องคิด เรื่องจำนะ หยุด ! หยุดเสีย ! หยุดรู้เสีย หยุดรู้จิต หยุดพิจารณาจิตให้ติดต่อเอาไว้ วางเฉยเอาไว้ให้ได้ ปรับพื้นนี้ให้ติดต่อทุกอิริยาบถทุกขณะ จะมีประโยชน์มาก แล้วมันตื่นอย่างนี้ จิตมันก็ไม่เศร้าหมอง

เมื่อละนิวรณ์ได้แล้วจิตก็ไม่เศร้าหมอง สำรวจจิตดูให้ดีแล้วจะรู้ว่า รู้อย่างนี้ เกิด - ดับอย่างนี้ ผัสสะดับไป ไม่มีความหมายดีชั่วอะไรทั้งหมดแล้ว มันปล่อยวางไปเสร็จในตัว จิตก็ไม่เศร้าหมอง ควรพยายามพิจารณาให้ดี ชำระจิตให้บริสุทธิ์ ที่ไม่เศร้าหมองนี่มันก็บริสุทธิ์ ในขั้นของละนิวรณ์ได้ปกติได้ ปกตินี่ไม่เศร้าหมอง จิตไม่เศร้าหมองเพราะราคะ โทสะ โมหะ ควรจะพยายามอย่างยิ่งทีเดียวนะ เพราะมีเรื่องอยู่เท่านี้เอง คือพยายามไม่ให้จิตเศร้าหมอง พิจารณาจิตในจิตอย่าให้จิตไปมีความหมายยึดถืออะไรขึ้นมา จิตมันก็ไม่เศร้าหมอง เรียกว่าผ่องใส ถ้ายังไม่ผ่องใสก็เพียงแต่ว่าปกติ เป็นการวางเฉย ไม่เศร้าหมอง เอาอย่างนี้นะ

ทีนี้ถ้าว่าหลักนี้มันดำเนินไปได้แล้ว มีการพิจารณาจิตในจิตเข้าไป แล้วจะมีวิธีการที่จะรู้ได้ว่า เมื่อพิจารณาจิตในจิตเข้าไปแล้ว มันปล่อย มันวาง มันว่างขึ้นภายใน ทั้งนี้ปราศจากไฝฝ้าราคีของนิวรณ์ที่เข้าไปขั้นลึก ตรวจขั้นลึก ถ้าว่าตรวจขั้นลึกนี้ได้ จิตนี้ก็ผ่องใส ไม่มีนิวรณ์ ปกติธรรมดาแล้วก็พิจารณาเข้าไป รู้เข้าไป พิจารณาจิตในจิตเข้าไปเหมือนอย่างกับเป็นการซักฟอกไฝฝ้าราคีของโมหะที่เป็นขั้นละเอียด ถ้าพยายามรู้ พิจารณาเข้าไปให้ลึกซึ้งแล้ว มันก็เหมือนกับพระจันทร์วันเพ็ญ ไม่มีเมฆหมอกมาปิดบัง จิตถึงจะผ่องใส แล้วเมื่อผ่องใสความเบิกบานก็เกิดขึ้นได้ เราจะสังเกตดูจิตของเราได้ในระยะตั้งแต่ขั้นปกติ แล้วในขั้นที่จะพิจารณารู้เห็นความจริง จิตนี่เป็นลักษณะที่ผ่องใส แม้ว่าผ่องใสขึ้นมาในระยะแรกๆ ไปก่อน ต่อมาเมื่อมันซาบซึ้งขึ้นมาอีกขั้น มันก็ผ่องใสเพิ่มมากขึ้น เหมือนกับกำลังแรงของไฟฟ้าห้าแรงเทียนมันก็สว่างแค่นี้ ถ้าเพิ่มเป็นสิบแรงเทียนมันก็สว่างขึ้น เพิ่มเป็นยี่สิบแรงเทียนมันก็สว่างขึ้นอีก

นี่สติความรู้ที่เข้าไปรู้จิต พิจารณาจิตในจิตนี่มันจะต้องเพิ่ม ถ้าไม่เพิ่มมันก็อยู่ในระดับที่ปกติธรรมดา ถ้ามันเพิ่ม ความรู้จริงเห็นแจ้งก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เรียกว่าเป็นผู้รู้ ผู้รู้ต้องรู้จริงๆ พอรู้จริงแล้วก็เป็นผู้ตื่น คือว่ามันตื่นด้วยสติ เพราะว่าการตื่นนี่เหมือนกับเราตื่นนอน ตื่นที่มันยังไม่ได้ตื่นด้วยสติน่ะ มันตื่นธรรมดามันงัวเงีย แต่การตื่นด้วยการมีสติมันไม่งัวเงีย มันตื่นขึ้นมาอย่างแจ่มใส สังเกตดูว่าที่ตื่นด้วยโมหะมันงัวเงีย มันมืดมัวจิตนี่ก็ไม่ผ่องใส เมื่อมันไม่ผ่องใสแล้ว มันก็ถูกคลุมด้วยโมหะ

ถ้าดูจิตในจิตเข้าไป ซักฟอกเข้าไปให้มันรู้ ให้มันละให้มันปล่อยมันวางอะไรของมันขึ้นมาเป็นอัตโนมัติภายในได้ แม้ว่ามันจะเป็นชั่วขณะ ที่เรียกว่าตทังควิมุติ ชั่วขณะต้องพยายามกำหนด กำหนดที่มันปล่อยวางเป็นตทังควิมุติชั่วขณะๆ นี่ แล้วก็พิจารณาดู แล้วมันอาจจะเพิ่มเป็นหลายๆ ขณะก็ได้ หรือว่าเพิ่มขึ้นเป็นวิกขัมภนวิมุติ นานๆ สงบนานๆ นิ่ง หยุดไปนานๆ ระงับหมด ระงับสัญญา ระงับสังขาร หยุด ! หยุดจำ หยุดคิด หยุดรู้อยู่ในตัว เพราะว่าเป็นการหยุดดูหยุดรู้อยู่ในตัวจิตอย่างเดียว

ตามหลักที่ว่า อวิชชาดับ สังขารจึงดับ, สังขารดับ วิญญาณจึงดับ, ที่ตรงนี้นะ เมื่อวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ, เมื่อนามรูปดับ อายตนะจึงดับ, เมื่ออายตนะดับ ผัสสะดับ, เมื่อผัสสะดับ เวทนาดับ, เมื่อเวทนาดับ ตัณหาดับ, ทีนี้ความรู้สึกภายในมันไม่เหมือนอย่างกับพูดอย่างนี้หรอก มันเกิด - ดับไปรวดเดียวทีเดียวเลย ความเร็วมันเร็วมาก ความเร็วของความรู้ แล้วก็ความเร็วของความละ รู้กับละมันควบคู่นะ ความรู้กับความละมันควบคู่กัน มันไม่ใช่เป็นความรู้ของขั้นสัญญา อย่างนี้มันยังแยกความละอายมาอีกลักษณะหนึ่ง สัญญาเช่นเดียวกับความจำได้หมายรู้อะไรขึ้นมานี่ มันก็เป็นความยึดถือแล้ว ทีนี้มันต้องมีความละ ละความยึดถือนี่ มันเป็นสองลักษณะไปแล้ว

ทีนี้ความรู้กับความละที่มีอยู่ในปฏิจจสมุปบาท ที่ว่าอวิชชามันดับ แล้วสังขารดับ แล้ววิญญาณดับนี่ ความรู้กับความละอย่างนี้มันเป็นอันเดียวกันเสีย รู้ก็ละเลยถึงจะเป็นวิชชาขึ้นเป็นสติ เป็นปัญญา เป็นญาณขึ้นมา แล้วสังขารนี่ก็ระงับดับวิญญาณดับ ดับไปด้วยกันทีเดียว ที่พูดตามตัวหนังสือ หรือพูดเป็นคำพูดอย่างนี้ มันเป็นคนละอย่าง คนละอย่างไป ถึงจะมีการเนื่อง แต่มันคล้ายๆ กับว่าอวิชชาดับ สังขารจึงดับ, พอสังขารดับ วิญญาณจึงดับ, คำพูดหรือตัวหนังสืออะไรที่เขามีไว้ มันเป็นแผนที่ แต่ว่าความรู้จริงๆ ที่รู้สึกข้างในนี่ มันรวดเดียว มันแรงไปรวดเดียว เป็นการรู้แจ้งแทงตลอดไปรวดเดียว เหมือนเราฉายไฟ พอฉายไฟแสงมันก็พุ่งไป ถ้าพูดตามภาษาใจ แล้วก็สังเกตดูว่าความรู้กับความละที่มันรู้จริงๆ นะ มันรู้จริงๆ แล้วมันละลงไปได้ มันขาดลงไปได้ ครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง เพราะความรู้กับความละมันอยู่ด้วยกัน

แล้วควรจะสังเกตอย่างนี้เอาไว้นะ ถ้าว่ามันยังไม่อยู่ด้วยกันแล้ว มันรู้แต่มันยังละไม่ได้นะ มันรู้เป็นสัญญาหรือความเข้าใจอะไรเล็กๆ น้อยๆ ยังละไม่ได้ แล้วความพัวพันอะไรมันมีอยู่มันละไม่ได้ ละขาดไปได้จะเป็นขณะสองขณะ ก็ลองสังเกตดูขาดออกไปทีเดียว "รู้กับละ" รู้แล้วก็ละได้ขาดออกไป แต่ที่รู้แล้วละไม่ได้ มันยังหน่วงเหนี่ยวอยู่นะ เหมือนอย่างที่เขาดึงเชือกอะไรที่มันเหนียวๆ มันดึงไปดึงมามันก็ไม่ขาด นี่รู้แล้วละไม่ได้มันอย่างนั้น เพราะมันรู้ไม่จริง เมื่อมันรู้ไม่จริง มันรู้ตามสัญญา มันรู้ตามความเข้าใจเล็กน้อยเท่านั้น แล้วมันก็มาถูกปรุง คลุกเคล้าพัวพันเอาไว้ เลยไม่รู้อยู่นั่นเอง แล้วโมหะมันก็เข้า ไม่รู้แม้แต่จะแยกให้รู้ว่า นี่ผัสสะเกิด - ดับ ก็ไม่รู้แล้ว ไม่ชัดแล้ว โมหะเข้า

ทีนี้บอกว่าให้ยืนหลักสติเอาไว้ แล้วรู้ผัสสะเกิด - ดับเท่านี้ก็พอจะได้ทางแล้วนะ ทางที่จะรู้ ทางที่จะดับ ทางที่จะละ ทางที่จะปล่อยวาง มันอยู่ที่นี่ คือต้องรวมรู้ดูจิตในจิตเข้าไป แล้วมารู้ผัสสะดับ เหมือนกับผัสสะข้างนอกดับก็รู้เหมือนกัน แต่ข้างในนี้ยังไม่ชัดก็ดูไปอีก ดูไปอย่างนี้มีทางแล้ว ถ้าว่าดูรู้อย่างนี้มีทางที่จะรู้ ทางที่จะรู้เข้าไปภายใน แล้วอย่าไปเอารู้ข้างนอก เอารู้ข้างใน นี้มันก็เป็นเครื่องเปรียบ เครื่องเปรียบได้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิด - ดับ เกิด - ดับ ผัสสะเกิด - ดับ ทีนี้ผัสสะน่ะมันเกิด - ดับไปเฉยๆ นะ ก็ไม่มีทุกข์ไม่มีโทษ สังเกตได้ว่า ทำไมเรามองไปเห็นรูป มองไปทีเดียวนี่ ไม่ได้ไปยึดถืออะไรเลย ตานี่สัมผัสรูปไปเฉยๆ อย่างนี้ ผัสสะนี่ยังไม่มีทุกข์ไม่มีโทษ



.................................................

คัดลอกมาจาก ::
ผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/dhamma/viewbrowse.aspx?BrowseNewsID=8100&Page=10
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แมวขาวมณี
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 28 ก.ค. 2006
ตอบ: 307

ตอบตอบเมื่อ: 04 ส.ค. 2006, 4:59 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สา.....ธุ

สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Email
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง