Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ใต้ร่มโพธิญาณ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 29 ก.ค.2006, 5:01 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ใต้ร่มโพธิญาณ
พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)

ชีวประวัติหลวงพ่อชา สุภทฺโท
วัดหนองป่าพง
ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี



คำนำ

เช้าตรู่วันครู ปี 2535 หลวงพ่อละสังขาร ไปตามกฎธรรมชาติ ศิษย์ต่างรำลึกว่า..... หลวงพ่อมิได้จากไปไหน ภาพลักษณ์แท้จริงของท่านคือ ปฏิทาอันงดงาม และธรรมคำสอนที่ลึกซึ้ง แต่ง่ายต่อการเข้าใจ ยังปรากฏอยู่กับเราตลอดเวลา

คณะศิษย์จึงร่วมเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้น จากงานเขียนเก่าของครูบาอาจารย์ จากธรรมเทศนาของหลวงพ่อในแถบเสียง และการบอกเล่าจากญาติมิตรของท่าน โดยมุ่งหมายให้เรื่องราวเหล่านี้ เป็นเช่นบทศึกษา แก่ผู้แสวงหาชีวิตที่งดงาม ผู้มีปัญญา ย่อมค้นพบสัจธรรมในสรรพสิ่ง และยังอาจพบเห็นสารธรรม จากหนทางชีวิตของหลวงพ่อ ในหนังสือเล่มนี้


คณะศิษย์
ฤดูหนาว 2535
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 29 ก.ค.2006, 6:29 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 29 ก.ค.2006, 5:21 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

สารบัญ

1. ย้อนกระแสแลอดีต
2. บทเรียนชีวิต
3. ใต้ร่มโพธิญาณ
4. ภาษิตอีสาน
5. คำขอร้องของบิดา
6. เริ่มต้นชีวิตพระธุดงค์
7. หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
8. ประสบการณ์ในป่าช้า
9. หลวงปู่กินรี
10. ภัยในป่าใหญ่
11. ที่สุดแห่งสมาธิ
12. ทุกข์เพราะคิดผิด
13. หลวงตา
14. สัจธรรมในป่าช้า
15. หลงทาง
16. เพื่อนเก่า
17. อยุธยา
18. คืนสู่อีสาน
19. “หนองป่าพง”
20. “สุนัขก็อยู่ด้วยไม่ได้”
21. ครู
22. พ่อหนู
23. ร่มเงาวัดหนองป่าพง
24. ศิษย์ชาวต่างประเทศ
25. จาริกสู่ตะวันตก ครั้งที่ 1
26. จาริกสู่ตะวันตก ครั้งที่ 2
27. อาพาธ
28. เช้ามืดของวันครู
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 29 ก.ค.2006, 10:51 pm, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 29 ก.ค.2006, 6:28 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

1. ย้อนกระแสแลอดีต

ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำมูลทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวนาแห่งหนึ่ง บ้านก่ออยู่ในเขตตำบลธาตุ (ปัจจุบันเป็นตำบลแสนสุข) อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ณ หมู่บ้านแห่งนั้น พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท) ได้ถือกำเนิดในสกุล ช่วงโชติ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2461 ท่านเป็นบุตรคนที่ 5 ของพ่อมา แม่พิมพ์ ช่วงโชติ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 10 คน

ครอบครัวของท่านประกอบอาชีพกสิกรรม มีฐานะมั่นคง บิดามารดามีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี มักเอื้อเฟื้อทั้งวัตถุและไมตรีแก่เพื่อนบ้านเสมอ รวมทั้งมีใจบุญสุนทานเข้าวัดฟังธรรมอยู่เป็นประจำ อันเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของชาวชนบทอีสานโดยทั่วไป

หลวงพ่อเติบโตในบรรยากาศอบอุ่นมั่นคงของครอบครัวใหญ่ แวดล้อมด้วยหมู่วงศาคณาญาติ ที่ต่างพึ่งพาอาศัย เคารพ รัก นับถือกันและกัน ครอบครัวของท่านจึงเป็นครอบครัวหนึ่งในชนบทที่มีความสงบสุขตามอัตภาพ

ในวัยเด็ก หลวงพ่อมีรูปลักษณ์น่าเอ็นดู ด้วยรูปร่างอ้วนกลมพุงพลุ้ย และปากกว้างที่เชิดขึ้น เล็กน้อย เพื่อนๆ จึงขนานนามท่านว่า "อึ่ง" น้องชายของท่านเล่าถึงลักษณะและอุปนิสัยของ พี่ชายว่า "เป็นคนมีรูปร่างลักษณะแม้ไม่หล่อ แต่ก็ไม่ขี้เหร่ ดูได้ทั้งวันไม่น่าเบื่อ และเป็นคนพูดเก่ง อารมณ์ดี ชอบสนุก รวมทั้งมีอารมณ์ขัน ชอบนำเรื่องตลกมาเล่าให้เพื่อนๆ ได้หัวเราะครื้นเครงอยู่เสมอ"

หลวงพ่อมีลักษณะของผู้นำมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเล่นกับเพื่อนๆ ชอบเป็นหัวหน้า แต่ก็เป็นผู้นำที่ฝักใฝ่ธรรมาธิปไตย ไม่นิยมความรุนแรง รักสันติ มีความเป็นกลาง มักช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาและความขัดแย้งของเพื่อนๆ

เอกลักษณ์โดดเด่นอีกอย่างคือ เป็นคนซื่อสัตย์ ไม่ชอบการโกหก มีนิสัยตรงไปตรงมา รักในความเป็นธรรมและเสียสละ เวลาเฉลี่ยแบ่งปันสิ่งของในหมู่เพื่อน มักขอส่วนแบ่งที่น้อยกว่าผู้อื่น และมีนิสัยเช่นนี้เสมอต้นเสมอปลาย

นอกจากมีนิสัยชอบเป็นผู้นำที่มีคุณธรรมแล้ว บางครั้งยังชอบเล่นเป็นพระอีกด้วย หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า "ตอนเด็กๆ คิดอยากจะเล่นเป็นพระ ก็เลยตั้งตนเป็นสมภารขึ้นมา เอาผ้าขาวม้ามาห่มเป็นจีวร ถึงเวลาฉันเพลก็ตีระฆังแก๊งๆ ให้เพื่อนๆ ที่เล่นเป็นโยมอุปัฏฐาก เอาน้ำมาให้ฉัน แล้วรับศีลรับพร" ท่านเล่าถึงอดีตและหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

ต่อมา หลังจากจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จากโรงเรียนบ้านก่อแล้ว เด็กชายชาได้รบเร้าให้พ่อแม่พาตนไปฝากเป็นศิษย์วัด พ่อมาและแม่พิมพ์ก็ไม่ขัดข้อง กลับรู้สึกยินดีที่ลูกใฝ่ใจเรื่องวัดเรื่องวา จึงนำเด็กชายชาไปฝากฝังกับท่านอาจารย์ลีที่วัดบ้านก่อนอก

ครั้นได้เป็นเด็กวัดดังปรารถนาแล้ว เด็กชายชาก็มีโอกาสได้เรียนรู้ความเป็นอยู่ของชาววัด พร้อมทั้งฝึกหัดไหว้พระสวดมนต์ และอุปัฏฐากรับใช้ครูบาอาจารย์ ท่านอาจารย์ลีเฝ้าจับตามองอยู่หลายเดือน เห็นว่าเป็นเด็กเรียบร้อย และขยันหมั่นเพียรดี จึงจัดการบวชเณรให้พร้อมกับเพื่อนๆ อีกหลายคน โดยมีพระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2474 ขณะนั้นอายุได้ 13 ปี

เมื่อบรรพชาแล้ว ได้ศึกษาหลักสูตรนักธรรม และเรียนหนังสือพื้นเมืองที่เรียกกันว่า หนังสือตัวธรรม รวมทั้งท่องบ่นบทสวดมนต์ต่างๆ ได้อย่างเชี่ยวชาญ

บวชเณรได้สามปี ก็ลาสิกขาบท กลับไปใช้ชีวิตทางโลกอีกครั้งหนึ่ง เป็นเหตุให้ได้ศึกษาบทเรียนชีวิตหลายอย่าง ซึ่งต่อมามันได้กลายเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่า ที่ท่านนำมาเป็นหลักพิจารณาให้เกิดศรัทธาและปัญญาอันเป็นประโยชน์
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 29 ก.ค.2006, 10:52 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 29 ก.ค.2006, 10:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

2. บทเรียนชีวิต

เมื่อลาสิกขากลับมาอยู่บ้าน นายชาผู้ผ่านการบวชเรียนมาสามปี เกิดความซาบซึ้งในพระคุณบิดามารดามากยิ่งขึ้น สิ่งใดจะนำความสุขกายสบายใจมาให้ท่านทั้งสอง ก็พยายามกระทำอยู่อย่าง สม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกในส่วนลึกของจิตใจ ได้ปรากฏขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ ว่า ชีวิตแบบชาวบ้านนี้ไร้แก่นสาร ท่านเล่าความรู้สึกนั้น ให้ศิษย์ฟังในภายหลังว่า

"...ตอนนั้นอายุประมาณสิบห้าสิบหกปี เบื่อ.. ไม่อยากอยู่กับครอบครัว คิดอยากจะไปอยู่คนเดียวเรื่อยๆ ไม่รู้ทำไมถึงคิดอย่างนั้น เป็นอยู่หลายปีเหมือนกัน ไม่รู้มันเบื่ออะไร มันอยากไปไหนๆ คนเดียว เป็นอย่างนั้นอยู่ระยะหนึ่งแล้วก็มาบวช อันนี้มันเป็นนิสัยหรือบารมี แต่เราไม่รู้จักมัน แต่ก็มีความรู้สึกอย่างนี้ตลอดมา..."

แต่เหมือนโลกต้องการฝากบทเรียนชีวิตให้แก่ผู้จะสละโลกเสียก่อน นายชาจึงยังไม่มีโอกาสทำตามความรู้สึกในส่วนลึกของจิตใจได้ นายชามีเพื่อนรักคนหนึ่งชื่อ นายพุฒ ทุมมากรณ์ ซึ่งเป็นเพื่อนที่สนิทสนมเคยเล่นกันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เมื่อทั้งสองแตกเนื้อหนุ่ม การละเล่นอย่างเด็กๆ ก็จืดจางไร้รสชาติ จึงพากันแสวงหาของเล่นแบบใหม่ที่เหมาะกับวัยของตน

การมีคนรักเป็นเรื่องสนุกตื่นเต้นและท้าทายสำหรับวัยรุ่น แต่มันก็อาจเป็นที่มาของความล้มเหลว หรือความรุ่งโรจน์ของชีวิตในขณะเดียวกันได้ ในที่สุดนายชาได้เกิดสัมพันธ์รักกับนางสาวจ่าย ซึ่งเป็นลูกติดแม่เลี้ยงของนายพุฒเพื่อนรักนั่นเอง

ความรักของหญิงชายคู่นี้ ญาติผู้ใหญ่ทางฝ่ายหญิงไม่มีใครรังเกียจ เพราะเห็นว่านายชาเป็นคนดีมีคุณสมบัติเพียบพร้อมทั้งนิสัยใจคอและฐานะทางครอบครัว พ่อแม่ของหญิงสาวถึงกับกีดกันหนุ่มอื่นไม่ให้มีโอกาสย่างกรายผ่านขึ้นมาบนเรือนเลยทีเดียว

เวลานั้นนายชาอายุได้ 19 ปี ส่วนหญิงสาวอายุ 17 ปี ทั้งสองได้สัญญาต่อกันว่า จะรอจนกว่านายชาผ่านการเกณฑ์ทหาร แล้วบวชทดแทนคุณพ่อแม่สักหนึ่งพรรษา เมื่อทุกอย่างพร้อมก็จะแต่งงานกันทันที

ย่างเข้าฤดูฝน ชาวนาต่างตระเตรียมคราด ไถ และวัวควาย รอการปักดำ นายชาก็ง่วนอยู่กับการงานที่กระท่อมกลางนา โดยหารู้ไม่ว่าความผิดหวังบทเรียนเรื่องอนิจจัง กำลังจะเกิดขึ้นกับตน

"ให้มันแต่งกับไอ้พุฒ ลูกชายของเรานี่แหละ" พ่อของนายพุฒปรารภเรื่องการแต่งงานของนางสาวจ่ายกับภรรยาตน เพราะเห็นว่านายชากับนางสาวจ่ายถึงจะเหมาะสมกันก็จริง แต่ต้องรอกันอีกหลายปี ดีไม่ดีนายชาอาจเปลี่ยนใจ ลูกของตนจะมีแต่ทางเสีย และยังมีความเห็นในแง่เศรษฐศาสตร์อีกว่า "เรือล่มในหนองทองจะไปไหน"

ข่าวการแต่งงานของนายพุฒกับนางสาวจ่าย แพร่กระจายไปทั่วหมู่บ้าน กระทั่งไปไกลถึงกระท่อมกลางนา นายชารู้สึกเสียใจมาก แต่ในที่สุดก็ทำใจได้ไม่โกรธแค้นเขาทั้งสอง เพราะรู้ว่าเขาจำเป็นต้องทำตามความปรารถนาของพ่อแม่

ความผิดหวังครั้งนี้ จึงกลับกลายเป็นบทเรียนเรื่องอนิจจังบทแรกให้แก่ท่าน นายชายังคงรักษาความสัมพันธ์ฉันเพื่อนที่ดีกับนายพุฒเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่สำหรับแม่จ่ายนั้นนายชายังตัดห่วงหาอาลัยไม่ขาด

หลวงพ่อเคยเล่าว่า ต้องระวังใจตัวเองมาก แม้บวชเป็นพระแล้ว ถ้าเห็นแม่จ่ายเดินมาต้องรีบหลบเข้าป่าทันที เจ็ดปีแรกที่บวชท่านยอมรับว่า ยังสลัดความอาลัยในสาวจ่ายออกไม่ได้ กระทั่งออกธุดงค์เจริญกรรมฐานอย่างเด็ดเดี่ยวจริงจัง ความรู้สึกนั้นจึงค่อยคลายหายไป

เมื่อหลวงพ่ออบรมพระเณรเรื่องกาม ท่านมักพูดถึงพ่อพุฒในฐานะเป็นผู้มีบุญคุณต่อท่านว่า "ถ้าเขาไม่แต่งงานกับแม่จ่าย เราก็คงไม่ได้บวช" หลังจากได้รับบทเรียนแห่งอนิจจังบทแรก ความรู้สึกที่มีต่อโลกในแง่เบื่อหน่ายก็ยิ่งปรากฏขึ้นชัดเจน ทำให้เริ่มมองเห็นความไม่เที่ยงแท้และแน่นอนในชีวิต เกิดความระมัดระวังในเรื่องความรักหรือเพศตรงข้ามมากขึ้น

สมัยที่บวชเณร นายชาสนิทสนมกับเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งบวชเป็นพระ แม้เมื่อลาสิกขาแล้วทั้งสองยังคงไปมาหาสู่กัน ด้วยความรักและนับถือเสมือนพี่น้อง ต่อมาเพื่อนคนนั้นป่วยหนักและถึงแก่กรรม นายชาได้ไปช่วยงานศพตั้งแต่วันแรก จนกระทั่งงานลุล่วงไป และด้วยความคุ้นเคยกับ ครอบครัวนี้ จึงเกิดความเป็นห่วงว่า ภรรยาและลูกๆ ของผู้ตายจะรู้สึกว้าเหว่ จึงพักค้างคืนอยู่เป็น เพื่อน เพื่อให้กำลังใจแก่กันก่อน

คืนแรกผ่านไป ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอคืนที่สอง ตกดึกภรรยาของผู้ตายได้เข้ามานอนแอบอิงอยู่แนบข้าง พร้อมทั้งจับมือเพื่อนสามีมาลูบไล้เรือนร่างตน แต่นายชาก็หาได้ตอบสนองตามความต้องการของนางไม่ กลับแสร้งทำเป็นหลับ ไม่รับรู้อะไร เมื่อนางไม่อาจทำในสิ่งที่ปรารถนาได้ จึงลุกหนีไปด้วยความอับอาย คืนนั้นนายชาได้เอาชนะกามราคะเป็นครั้งแรกในชีวิต ชนะด้วยความอดทน ด้วยจิตสำนึกในความถูกต้องดีงามและละอายต่อบาป
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 29 ก.ค.2006, 10:35 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

3. ใต้ร่มโพธิญาณ

หลังจากใช้ชีวิตทางโลกอยู่หลายปี วันหนึ่งในฤดูร้อนของปี พ.ศ. 2482 ขณะนั้นนายชา อายุ 21 ปี ได้ตัดสินใจบอกความในใจของตนต่อบุพการี

พ่อมาและแม่พิมพ์ ต่างปลาบปลื้มยินดีในเจตจำนงของบุตรชายที่ประสงค์จะออกบวช เพราะชาวพุทธมีคติว่า การบวชพระให้ลูกชายเป็นบุญกุศลอันประเสริฐยิ่ง จึงบอกข่าวแก่ญาติมิตรบ้านใกล้เรือนเคียง มาร่วมตระเตรียมงานบวชบุตรชายของตน พร้อมทั้งนำนายชาไปฝากเป็นนาคฝึกหัดและเรียนรู้ความเป็นอยู่ของพระ ที่วัดก่อนอก

ตะวันบ่าย 13.55 นาฬิกา ของวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2482 นายชาได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เป็นพระภิกษุชา มีฉายาว่า สุภทฺโท (ผู้เจริญด้วยดี) โดยมี ท่านพระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิรุฬสุตการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการสวน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดก่อใน ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อบวช แล้วได้จำพรรษาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดก่อนอกสองพรรษา

หลวงพ่อเคยพูดถึงความรู้สึกของท่านตอนบวชใหม่ๆ เพื่อให้เป็นคติแก่บรรดาสานุศิษย์ว่า

"เราบวชมาก็ไม่ได้ปรารถนาว่าจะมาอยู่อย่างนี้ ไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นครูอาจารย์ใคร ไม่ได้นึกจะหนีจากวัฏสงสารอันนี้ ก็บวชธรรมดาไปอย่างนั้นแหละ... แต่พอบวชเข้ามาแล้ว ได้เรียน ได้ปฏิบัติ ก็เกิดศรัทธาขึ้น ครั้งแรกก็เกิดวิตกถึงความเป็นอยู่ของสัตว์โลกทั้งหลาย... น่าสลดสังเวช... คนเราเกิดมาแล้วประเดี๋ยวก็ตายไปทั้งนั้น ทิ้งบ้าน ทิ้งข้าวของให้ลูกหลานแย่งกันทะเลาะกัน

เมื่อเราเห็นแล้วก็เข้าถึงจิตใจเรา เกิดสลดสังเวชในความเป็นอยู่ ทั้งของคนจน คนรวย ทั้งคนโง่ คนฉลาด อยู่ในโลกก็เป็นอย่างนี้

ธรรมะหรือความรู้สึกนี้เต็มอยู่ในใจของเรา ไม่รู้จะพูดให้ใครฟัง เมื่อจิตมันตื่นขึ้นมาแล้ว อะไรก็ตื่นตาม พบสิ่งต่างๆ ก็ตื่นอยู่เสมอ

เราสำนึกอยู่เสมอว่า เราได้รู้จักธรรมะ เรียกว่ามันสว่างขึ้นแล้ว ทำให้มองเห็นอะไรหลายๆ อย่าง เวลานั้นก็มีธรรมะ มีปิติอิ่มใจ ... และเมื่อยิ่งศึกษาไป... ปฏิบัติไป ก็ยิ่งมีศรัทธา ยิ่งอิ่มใจยิ่งสงบ และมีปัญหามากขึ้นทุกที...

พอออกพรรษา พระเณรที่บวชพร้อมๆ กันก็พากันสึก เรามองเห็นว่า เอ... ไอ้พวกนี้ มันยังไงกันหนอ แต่ก็ไม่ได้พูดกับเขา เพราะยังไม่ไว้ใจความรู้สึกของตัวเอง

พวกที่จะสึกพากันตื่นเต้น บางทีก็เอาเครื่องแต่งตัวมาใส่ เราเห็นว่าพวกนี้ บ้าหมดแล้ว แต่เขาว่ามันดี มันสวย สึกแล้วจะต้องไปทำอย่างนั้น อย่างนี้...

ตอนนั้นภายในใจเราคิดว่า นี่มันโง่มาก บวชมันบวชยาก สึกมันสึกง่าย พวกนี้บุญน้อยเห็นทางโลกมีประโยชน์มากกว่าทางธรรมะ เราก็เห็นไป แต่ไม่พูด ได้แต่มองจิตของตัวเอง ไม่กล้าพูดให้เพื่อนเขาฟังว่า คิดอย่างนั้นมันผิด ไม่กล้าพูด เพราะว่าตัวเราก็ยังเป็นของไม่แน่เหมือนกัน ไม่รู้ว่าศรัทธาของเราจะยั่งยืนยาวไปถึงขนาดไหน...

พอเพื่อนสึกไปแล้วก็ทอดอาลัย ไม่มีใครอยู่ด้วย ก็เอาหนังสือปาฏิโมกข์มาท่องสบาย ไม่มีใครมาล้อเลียน ก็ตั้งใจว่าจะพยายามปฏิบัติ ให้มีความนึกคิดเห็นโทษเห็นภัยของโลกอยู่เสมอ ไม่ให้คลายความเพียร ไม่ให้เปลี่ยนศรัทธา จะให้มันสม่ำเสมออย่างนี้...

แต่การบวช... ไม่ใช่ทุกข์นะ ยิ่งพรรษาหนึ่งพรรษาสอง หรือเป็นพระหนุ่มเณรน้อยนี่ยิ่งทุกข์มาก ผมนี่มันเคยทุกข์มามาก ทุกข์กับอาหารการกิน นี่ก็ยิ่งทุกข์ อยากกินตำส้มมะละกอ อยากกินนั่น กินนี่ อยากกินทุกอย่างนั่นแหละ น้ำลายนี่ไหลยืดเลย คนกำลังกินกำลังนอน กำลังสนุก เอามายึด มาขังเอาไว้ มันก็ทุกข์มาก เหมือนกับน้ำกำลังไหลไปขวางเอาไว้ ยิ่งไปกันใหญ่ เอาได้ก็ดี เอาไว้ไม่ได้ก็พัง

บวชปีแรกไม่คอยได้อะไร มีแต่อยากกินนั่นกินนี่ วุ่นวายไปหมดแย่เหลือเกิน บางครั้งนั่งคิดอยู่เหมือนกับได้กินกล้วยจริงๆ รู้สึกเหมือนได้หักกล้วยเข้าปากอยู่อย่างนั้น... มันเป็นของมันเอง

แต่ถ้าเราพิจารณาดีๆ เรื่องเหล่านี้ คือเรื่องของการปฏิบัติทั้งนั้น ยิ่งยาก ยิ่งลำบาก นั่นแหละดี สิ่งไหนไม่ยากไปทำมันทำไม ใครๆ ก็ทำได้หรอก... สิ่งที่ยากๆ คือการปฏิบัตินี่ต้องทำให้มันได้...

บางคนมาพูดว่า ถ้าออกบวชตั้งแต่อายุน้อยๆ ไม่ได้สร้างครอบครัวเหมือนหลวงพ่อคงปฏิบัติง่าย ไม่ต้องคิดอะไรมาก ว่าไปนั่น คนพูดอย่างนี้ อย่ามาพูดอยู่ใกล้ๆ นะเดี๋ยวโดนไม้ตะพดหรอก... แหม พูดยังกับว่าเราไม่มีหัวใจ เรื่องการปฏิบัติฝืนจิตใจตน ไม่ใช่เรื่องย่อยๆ นะ มันเรื่องของชีวิตทั้งชีวิตนั่นแหละ..."


การจำพรรษาอยู่ที่วัดก่อนอก หลวงพ่อได้ศึกษาปริยัติธรรม และสอบนักธรรมตรีได้ในปีนั้น การเล่าเรียนทำให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้งศรัทธาในพุทธประวัติและพระธรรมคำสอนยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้ท่านตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ว่า จะมอบชีวิตไว้ใต้ร่มโพธิญาณ หลวงพ่อเล่าถึงความรู้สึกก่อนจะตัดสินใจอย่างนี้ว่า

"ก่อนที่ผมจะปฏิบัติ ผมมีความคิดว่า ศาสนาตั้งอยู่ในโลก ทำไม ? บางคนทำตาม บางคนไม่ทำ บางคนทำแบบนิดๆ หน่อยๆ แล้วเลิก หรือผู้ไม่เลิกก็ไม่ประพฤติปฏิบัติเต็มที่ นี่เป็นเพราะอะไร ก็ความไม่รู้นั่นเอง ผมจึงอธิษฐานในใจว่า เอาละชาตินี้ เราจะมอบกายใจอันนี้ให้มันตายไปชาติหนึ่ง แล้วจะทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการเลย จะทำให้มันรู้แจ้งในชาตินี้ แม้ว่าจะทุกข์ยากลำบากขนาดไหน ก็ต้องทำ... ไม่เช่นนั้นก็จะสงสัยอยู่เรื่อยไป ทำไมมันยุ่งยากนัก วัฏสงสารนี้..."
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 29 ก.ค.2006, 11:26 pm, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 29 ก.ค.2006, 10:48 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

4. ภาษิตอีสาน

"บ่ ออกจากบ้าน... บ่ฮู้ห่อนทางเทียว... บ่เฮียนวิชา... ห่อนสิมีความฮู้" (ไม่ออกจากบ้าน ไฉนจะรู้ทางไปมา... ไม่เรียนวิชา ไฉนจะมีความรู้)

ภาษิตอีสานบทนี้ กระตุ้นเตือนเจตนาอันแรงกล้าของหลวงพ่ออยู่เสมอ เมื่อท่านกำหนดวิถีชีวิตลงในเพศบรรพชิตแล้ว จึงคิดสร้างรากฐานให้แก่ตนเอง ด้วยการศึกษาพระธรรมวินัยให้รู้แจ้งเสียก่อน

ครั้นได้พิจารณาเห็นว่า ครูบาอาจารย์ในท้องถิ่นที่แตกฉานและชำนาญในการสอนปริยัติไม่ค่อยมี ดังนั้นในปี พ.ศ. 2484 หลวงพ่อจึงตัดสินใจไปแสวงหาความรู้ในต่างถิ่น สำนักแรกที่เข้าพำนัก คือ วัดสวนสวรรค์ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี แต่เนื่องจากวัดนี้ยังไม่มีสำนักเรียน หลวงพ่อจึงต้องใช้วิธีเดินไปเรียนที่วัดโพธิ์ตาก ซึ่งอยู่ไม่ไกลนักแล้วกลับมาพักที่วัดสวนสวรรค์

วัดสวนสวรรค์ในสมัยนั้น มีกุฏิสองหลังและศาลาโรงธรรมหนึ่งหลัง มีภิกษุ สามเณร และศิษย์วัด พักเต็มไปหมด ประกอบกับขณะนั้นกำลังอยู่ในระหว่างสงครามเอเชียมหาบูรพา บางครั้งมีพวกทหารเข้ามาขอพักอาศัยด้วย บรรยากาศของวัดจึงไม่สงบเท่าที่ควร และอาหารขบฉัน รวมทั้ง น้ำดื่มน้ำใช้ขาดแคลนมาก แต่หลวงพ่อก็อดทน ตั้งใจเล่าเรียนอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 1 พรรษา

ปี พ.ศ. 2485 หลวงพ่อจึงได้เดินทางไปสำนักเรียนวัดหนองหลัก ตำบลเหล่าบก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีพระครูอรรคธรรมวิจารณ์ เป็นเจ้าอาวาส แต่ระยะนั้นเป็นฤดูแล้ง อาหารการขบฉันฝืดเคือง เพื่อนที่ไปด้วยออกความเห็นว่า อยากไปอยู่สำนักอื่น หลวงพ่อไม่อยากขัดใจสหธรรมิก จึงตกลงเห็นด้วย ทั้งที่มีความรู้สึกชอบอัธยาศัยและสนใจในอุบายการสอนของครูอาจารย์ที่วัดหนองหลักมาก

ในปีนั้นจึงจำพรรษา และศึกษานักธรรมชั้นโท รวมทั้งบาลีไวยากรณ์ ที่วัดบ้านเค็งใหญ่ อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ในขณะนั้น) โดยมี พระมหาแจ้ง เป็นครูสอน ในปีนั้นสามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท

ปี พ.ศ. 2486 ได้กลับไปวัดบ้านหนองหลักตามที่ตั้งใจไว้ ในพรรษานี้หลวงพ่อพากเพียรทุ่มเทจิตใจให้กับการศึกษาอย่างเต็มที่ เพราะได้พบครูบาอาจารย์ที่มากด้วยความสามารถ บรรยากาศในวัดก็เหมาะต่อการพำนักอาศัย พรรษานั้นได้เรียนทั้งนักธรรมเอก และบาลีไวยากรณ์ ได้รับสาระ ประโยชน์จากสำนักเรียนนี้มาก

หลังออกพรรษาและกรานกฐินผ่านไป หลวงพ่อได้รับข่าวจากทางบ้านว่า โยมพ่อป่วยหนัก จึงเกิดความพะว้าพะวง ห่วงทั้งพ่อและการศึกษา แต่เกิดความคิดว่า โยมพ่อนั้นเป็นผู้มีพระคุณอันใหญ่หลวง ควรที่เราจะตอบแทนพระคุณท่านตามฐานะที่จะพึงกระทำได้ ส่วนเรื่องการเรียน หากเราไม่ตายเสียก่อนคงมีโอกาสได้ร่ำเรียนอีกตามที่เราปรารถนา ในที่สุดหลวงพ่อจึงตัดสินใจหยุดพักการเรียนและการสอบนักธรรมไว้ แล้วรีบเดินทางกลับบ้านเพื่อดูแล และช่วยพยาบาลโยมพ่อ

เมื่อมาถึงบ้าน ได้พบเรือนร่างร่วงโรยซีดเซียวของโยมพ่อ นอนแน่นิ่งหายใจรวยรินอยู่บนที่นอน แม้ญาติมิตรและหมอจะเยียวยารักษาอย่างไร อาการป่วยไข้ของพ่อมา ก็ไม่ดีขึ้น มีแต่ทีท่าว่าร่างกายที่ถูกบีบคั้นด้วยความชราและพยาธินั้น จะคืนสู่ธรรมชาติเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ โดยส่วนเดียว
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 29 ก.ค.2006, 11:00 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

5. คำขอร้องของบิดา

นับตั้งแต่ลูกชายอุปสมบทแล้ว พ่อมาภูมิใจในตัวพระลูกชายยิ่งนัก ด้วยสังเกตเห็นว่ามีความเอาใจใส่ต่อการบวชเรียนอย่างจริงจัง

ทุกครั้งที่หลวงพ่อมาเยี่ยมเยือนที่บ้าน พ่อมามักกล่าวย้ำเตือนด้วยความปรารถนาดีว่า "อย่าลาสิกขานะ อยู่เป็นพระอย่างนี้ดีแล้ว โลกภายนอกมันยุ่งยากลำบาก หาความสบายไม่ได้"

และในครั้งสุดท้ายของการพบกันระหว่างพ่อลูก พ่อมาซึ่งนอนป่วยมานานวัน จนร่างกายผ่ายผอมสิ้นเรี่ยวแรง กระทั่งไม่อาจช่วยตัวเองได้ แต่ด้วยความรักลูกสุดใจ อยากให้ลูกเลือกทางเดินสงบ จึงพยายามพูดขอร้องอีกเป็นครั้งสุดท้าย หลวงพ่อได้ให้คำตอบที่พ่อมาปรารถนาจะได้ยินว่า "ไม่สึกหรอก... จะสึกไปทำไมกัน"

นอกเหนือจากความกังวลว่า พระลูกชายจะลาสิกขาแล้ว พ่อมายังห่วงเรื่องการเล่าเรียนนักธรรม ของบุตรด้วย เมื่อทราบว่าอีกไม่กี่วันจะถึงกำหนดสอบ จึงกล่าวเตือนให้พระลูกชายกลับวัดเสีย ไม่ต้องเป็นห่วงตน

หลวงพ่อพิจารณาอาการป่วยของโยมพ่อแล้ว ก็ปลงใจว่าจะขออยู่ดูใจของผู้มีพระคุณ เพื่อทำหน้าที่ของบุตรจนสุดความสามารถ ต่อมาไม่กี่วันพ่อมาก็ถึงแก่กรรม ละทิ้งสรรพสิ่งไว้เบื้องหลัง คงเหลือแต่พระคุณที่ฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของลูกๆ ตลอดกาล

ระหว่างที่เฝ้าพยาบาลโยมพ่อที่ป่วยหนักกระทั่งถึงแก่กรรม หลวงพ่อก็ได้พิจารณาถึงสภาวธรรมไปด้วย เกิดความสลดใจในความแปรเปลี่ยน และเสื่อมสลายของชีวิต อันเป็นสมบัติสากลที่โลกแบ่งปันให้แก่ทุกคนอย่างเที่ยงธรรม จะยากดีมีจน ก็ล้วนแต่กระเสือกกระสนไปจนมุมที่ความตาย

เมื่องานบำเพ็ญกุศลให้แก่โยมบิดาเสร็จสิ้นลง หลวงพ่อเดินทางกลับวัดบ้านหนองหลัก เพื่อศึกษาปริยัติธรรมต่ออีกครั้งหนึ่ง บางวันหลังเวลาเรียน เมื่ออยู่คนเดียวหลวงพ่อมักรำลึกถึงภาพโยมพ่อที่นอนป่วย แล้วสิ้นใจไปต่อหน้า จิตใจจึงเกิดความสลดสังเวช ต่อความเป็นไปของผู้คนยิ่งนัก

ระหว่างพรรษาปี พ.ศ. 2487 หลวงพ่อแปลหนังสือธรรมบทจบไปหลายเล่ม จึงได้ศึกษาพุทธประวัติและพุทธสาวกโดยละเอียด หลวงพ่อได้แง่คิดว่า ระหว่างการประพฤติปฏิบัติของตนกับภิกษุในครั้งพุทธกาลนั้น ช่างห่างไกลกันลิบลับ เปรียบเทียบกันไม่ได้เลย จิตใจเริ่มเบื่อหน่ายต่อการศึกษา คิดว่านี่คงไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ทำให้เกิดความสนใจการปฏิบัติธรรมมากขึ้น จึงหยุดการเล่าเรียนแล้วกลับมาวัดก่อนอก

ต่อมาได้ทราบข่าวว่า มีอาจารย์สอนกรรมฐานอยู่ที่วัดปีเหล่อ อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี จึงเดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ ได้ศึกษาแนวทางอยู่ระยะหนึ่ง ครั้นใกล้เข้าพรรษาก็กลับมาที่วัดก่อนอกอีกครั้ง พรรษานั้นหลวงพ่อมีโอกาสได้ตอบแทนพระคุณครูบาอาจารย์ ด้วยการแบ่งเบาภาระด้านการสอนปริยัติธรรม และท่านสอบได้นักธรรมเอกในปีนั้น

พอออกพรรษา ท่านตัดสินใจหยุดการเรียนการสอนด้านปริยัติธรรม แล้วจัดเตรียมบริขารสำหรับจาริกธุดงค์ เพื่อออกแสวงหาครูอาจารย์ด้านการปฏิบัติธรรมต่อไป
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 30 ก.ค.2006, 9:01 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 29 ก.ค.2006, 11:23 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

6. เริ่มต้นชีวิตพระธุดงค์

ต้นปี พ.ศ. 2489 หลวงพ่อกับพระถวัลย์ ญาณจารี ได้จาริกธุดงค์จากอุบลราชธานีมุ่งสู่ภาคกลาง เพื่อสืบเสาะหาครูอาจารย์ด้านการปฏิบัติ ท่านทั้งสองเดินทางรอนแรมมาเรื่อย กระทั่งผ่านดงพญาเย็นเข้าสู่เขตจังหวะสระบุรี ได้หยุดพักอยู่ที่บ้านยางคู่ระยะหนึ่ง ...

หลังจากนั้น หลวงพ่อได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงพ่อเภา แห่งวัดเขาวงกฏ จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นครูอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมปฏิบัติในเขตนั้น จึงตกลงกับเพื่อน แล้วเดินทางไปยังวัดเขาวงกฏ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า หลวงพ่อเภาท่านมรณภาพไปเสียแล้ว คงเหลือแต่ท่านอาจารย์วรรณ ซึ่งเป็นศิษย์ดูแลสำนักแทน เมื่อพิจารณาสถานที่วัดเขาวงกฏ ก็พบว่ามีความสงบวิเวก เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติ จึงขอพำนักจำพรรษาที่นั่น

ในพรรษานั้น ได้มีโอกาสศึกษาข้อวัตรปฏิบัติที่หลวงพ่อเภาวางแนวทางไว้ หลวงพ่อเคยเล่าถึงปฏิปทาบางอย่างของหลวงพ่อเภาให้พระเณรฟังว่า...

วันหนึ่งขณะหลวงพ่อเภานั่งสนทนาอยู่กับลูกศิษย์รูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระมหาเปรียญ มีโยมผู้หญิงมากราบนมัสการและออกปากนิมนต์ว่า... "หลวงพ่อ... วันนี้ดิฉันขอนิมนต์หลวงพ่อไปเที่ยวด้วย จะไปไหมคะ"

หลวงพ่อเภานิ่งเฉย ไม่พูดอะไร พระมหารูปนั้นก็นึกว่า หลวงพ่อเภาคงไม่รู้เรื่องหรือคงไม่ได้ยิน จึงบอกว่า "หลวงพ่อๆ โยมถาม ได้ยินไหม ? เขาจะนิมนต์ไปเที่ยวที่โน้น" หลวงพ่อเภาก็ว่า "ได้ยิน"

โยมผู้หญิงก็ถามอีกว่า "หลวงพ่อไปหรือเปล่าคะ"

ท่านก็เฉย ไม่พูด ไม่ตอบ เลยไม่รู้เรื่องกัน เมื่อโยมผู้หญิงกลับไปแล้ว พระมหาก็ถามว่า... "หลวงพ่อ โยมเรียนถาม ทำไมหลวงพ่อไม่พูด"

หลวงพ่อเภาตอบว่า "โอ้ มหา ท่านรู้หรือเปล่า คนที่มาเมื่อกี้มีแต่ผู้หญิงทั้งนั้น จะชวนพระร่วมเดินทางด้วย... นี่คุณจะไปรับปากกับเขาทำไม... ให้เขาชวนข้างเดียวไม่เป็นอะไร เมื่อเราอยากจะไป... ก็ไป เพราะเราไม่ได้ชวนเขา เขาชวนเราข้างเดียว" (พระชวนผู้หญิงร่วมเดินทางด้วยเป็นอาบัติปาจิตตีย์) ท่านมหาก็เลยนั่งคิด "อือ... เราเสียคนเหลือเกินนะ"

หลวงพ่อเล่าต่ออีกว่า ครั้งนั้นมีคนเอาเงินมาถวายหลวงพ่อเภา พอเขาเอาใส่ถาดมา ท่านก็ปูผ้าเช็ดหน้าไปรับ เมื่อเขาเอาถาดวางลงบนผ้า ท่านก็ปล่อยมือจากผ้าเช็ดหน้า... เงินก็ทิ้งไว้ที่เตียงนั้น ท่านรู้แล้วแต่ไม่สนใจ ลุกหนีไป คือในพระวินัยกล่าวว่า ถ้าเราไม่ยินดีในเงินนั้น ไม่บอกเขาก็ได้ เสร็จธุระแล้วก็ให้เป็นหน้าที่ของโยม แต่ถ้าหากว่าเรามีความยินดีก็ต้องบอกเขาว่า "โยม สิ่งนี้ไม่สมควรแก่พระ" ต้องห้ามเขาในสิ่งที่มันผิด (ภิกษุรับเอง ให้ผู้อื่นรับซึ่งเงินทอง หรือยินดีเงินทองอันเขาเก็บไว้ให้ เป็นอาบัตินิสสัคคีย์ปาจิตตีย์)

และที่วัดเขาวงกฏ หลวงพ่อยังได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ชาวกัมพูชารูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระธุดงค์ที่ชอบอยู่อย่างสันโดษตามป่าเขา มีความรู้แตกฉานเชี่ยวชาญทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง

ในวันหนึ่งหลังจากสนทนากันแล้ว ต่างก็แยกย้ายกลับไปบำเพ็ญภาวนาตามปกติ ตอนกลางคืนหลวงพ่อชอบขึ้นไปเดินจงกรม และนั่งสมาธิที่บนเขา ประมาณสี่ทุ่มกว่าของคืนวันนั้น ขณะหลวงพ่อเดินจงกรมในความมืด ได้ยินเสียงผิดปกติเกิดขึ้นในป่าข้างทางจงกรม ในครั้งแรกหลวงพ่อคิดว่า คงเป็นเสียงงูหรือสัตว์ป่าออกหากิน แต่พอเสียงเดินคล้ายสัตว์ย่ำเท้าหนักๆ บนใบไม้แห้งเข้ามาใกล้ ก็ปรากฏเป็นเงาตะคุ่มดำของคนเดินออกมาจากป่า แล้วหยุดยืนอยู่ที่เบื้องหน้า หลวงพ่อเพ่งดูจึงรู้ว่าเป็นท่านอาจารย์ชาวกัมพูชา จึงถามขึ้นว่า...

"อ้อ ท่านอาจารย์นั่นเอง มีธุระอะไรหรือครับ ถึงได้มาทั้งดึกๆ อย่างนี้"

"เมื่อตอนกลางวัน ผมอธิบายพระวินัยให้ท่านฟังผิดไปข้อหนึ่ง" พระอาจารย์ชาวกัมพูชาตอบ

"ท่านอาจารย์ไม่ควรลำบากถึงขนาดนี้เลย ไฟส่องทางก็ไม่มี เอาไว้พรุ่งนี้จึงอธิบายให้ผมฟังใหม่ก็ได้" หลวงพ่อกราบเรียนด้วยความเกรงใจ

"ไม่ได้ๆ ถ้าหากผมตายไปคืนนี้ ท่านก็อาจจะนำไปสอนคนอื่นผิดๆ อีก จะเป็นบาปเป็นกรรมไปเปล่าๆ" พระอาจารย์รูปนั้นยืนยันเจตนาเดิม

เมื่ออธิบายวินัยใหม่แล้วท่านก็ลากลับไป หลวงพ่อรู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจของพระอาจารย์รูปนั้นมาก ท่านคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่นอย่างแท้จริง แม้มีความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็มิได้ประมาท ไม่ปล่อยให้ข้ามวันข้ามคืน รีบแก้ไข ปฏิปทาอันน่าสรรเสริญของท่านอาจารย์ชาวกัมพูชา ได้ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของหลวงพ่อตลอดมา

การปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อที่วัดเขาวงกฏ ท่านพยายามแสวงหาอุบายหลายอย่าง เพื่อหาหลักการภาวนาที่ถูกกับจริตของตน

วันหนึ่ง หลวงพ่อรำลึกถึงครั้งยังเป็นสามเณรอยู่ที่วัดก่อนอก เคยเห็นพระบางรูปมีลูกประคำห้อยคอ สำหรับใช้บริกรรมภาวนา จึงคิดอยากจะได้มาทดลองใช้ดูบ้าง แต่ยังไม่รู้จะไปหาที่ไหน มองไปเห็นลูกตะแบกกลมๆ อยู่บนต้น พอจะใช้แทนกันได้ ครั้นจะปีนขึ้นไปปลิดเอาลงมาเองก็เป็นการผิดวินัยจึงได้แต่เพียงคิด

ต่อมาไม่กี่วันลิงฝูงหนึ่ง พากันมาหักกิ่งรูดลูกตะแบกเล่นหล่นลงมามากมาย ท่านจึงเก็บมาคิดจะร้อยเป็นพวง แต่ไม่มีด้ายจะร้อย จึงใช้วิธีถือในมือ เมื่อบริกรรมภาวนาจบบทหนึ่ง ก็หย่อนลูกตะแบกลงกระป๋องทีละลูก จนครบร้อยแปดครั้ง ทำอยู่เช่นนั้นสามวันรู้สึกไม่ถูกจริตตนนัก จึงหยุดทำพร้อมนึกขำตัวเองอยู่ในใจว่า "เรานี่เหมือนพ่อค้านับลูกหมากขาย"

การบวชเรียนตั้งแต่วัยหนุ่มฉกรรจ์ ซึ่งเป็นวัยที่สภาพร่างกายมีความสมบูรณ์พร้อมต่อพฤติกรรมทางธรรมชาติบางอย่าง ดังนั้น การเผชิญหน้ากับสัญชาติญาณอันรุนแรง จึงเป็นสิ่งที่ภิกษุทุกรูปจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับอุบายและปัญญาของแต่ละคนว่า จะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคนั้นได้อย่างไร

ในพรรษาที่ 8 ที่วัดเขาวงกฏนี้ หลวงพ่อได้ทดลองค้นหาวิธีเอาชนะกามราคะหลายวิถีทาง ดังท่านเล่าว่า "พรรษานั้นผมไม่มองดูหน้าผู้หญิงเลย พูดก็พูดด้วย แต่ไม่ดูหน้า แต่ในใจนะ มันอยากจะดูแทบตาย..."

"ไม่มองหน้าผู้หญิงตลอดพรรษา คิดว่ากิเลสมันคงจะโทรมไปแล้ว ออกพรรษาไปบิณฑบาตที่ลพบุรี ก็ทดลองดูหน้าเขา โอ้ย... เกือบตาย แข้งขาอ่อนหมด เห็นเครื่องแต่งตัว เห็นอะไรวูบวาบไปหมด แหม... นึกว่าเมื่อไรหนอ มันจะหมดกิเลส ท้อใจเลยนะ"

"...การปฏิบัติไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่การหลบ มันต้องสู้ ต้องพิจารณาหรือภาวนาให้รู้เรื่องตามความเป็นจริง แต่ครั้งแรกก็ต้องห่างไว้ก่อน และต้องสำรวมมากๆ"

นอกจากนั้น หลวงพ่อยังเล่าถึงความรู้สึกของท่าน ที่ถูกกิเลสมารหลอกล่อจนเกือบถลำเข้าบ่วงของมันว่า...

"สมัยผมออกปฏิบัติใหม่ๆ พรรษายังไม่มาก พอปฏิบัติไปมันก็คิดห่วงโลก อยากจะกลับไปอีกนั่นแหละ จะไปสร้างโลกสักพักหนึ่งคงดีมั้ง มันจะได้รู้เรื่องอะไรดี พระพุทธเจ้าท่านก็ยังมีราหุล นะ..."

"ก็นั่งภาวนาไปเรื่อยๆ เลยเกิดความรู้ขึ้นมาว่า คิดอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน แต่เรานี้คงจะไม่เหมือนพระพุทธเจ้าละมั้ง ถ้าออกไปแล้วน่ากลัวจะจมลงไปในโคลนเลย... นี่ ความคิดมันต่อต้านกันเรื่อยมา ตั้งแต่หกเจ็ดพรรษาถึงยี่สิบพรรษานี่ โอ้ย ! มันรบกันขนาดหนัก"

การพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาวงกฏ หลวงพ่อได้ศึกษาคำสอนและข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ของหลวงพ่อเภา รวมทั้งได้ศึกษาพระธรรมวินัยจากหนังสือวิสุทธิมรรค และบุพสิกขาวรรณนา และได้รับคำแนะนำด้วยน้ำใจจากภิกษุชาวกัมพูชา ตลอดจนใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งต่างๆ เป็นหลักในการปฏิบัติ และในพรรษานั้น หลวงพ่อยังได้ตั้งสัตย์ปฏิญาณกับตนเองว่า สิ่งใดที่ไม่บริสุทธิ์และไม่ถูกต้องตามพระวินัย จะไม่เกี่ยวข้องและไม่ล่วงละเมิดเป็นอันขาด ดังคำกล่าวของท่านที่ว่า...

"บำเพ็ญจิตของตนอยู่เรื่อยไปไม่ได้สงสัยในอาบัติทั้งหลายทั้งปวง ขนาดที่ว่าจิตของเรามันละอาย แล้ว ไม่กล้าทำความผิดแล้ว ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ไม่ฆ่าสัตว์แม้แต่ตัวเล็กๆ มดตัวหนึ่ง... ปลวกตัวหนึ่ง... ถ้าจะเอามือไปบี้มัน หรือหากจะให้ฆ่าโดยเจตนา ถึงจะให้ตัวหนึ่งราคาหลายๆ หมื่น ก็ฆ่าไม่ได้"

และเมื่อมาอยู่วัดหนองป่าพงแล้ว แม้ความเป็นอยู่ในสมัยแรกจะอัตคัตขัดสนมากเพียงใด หลวงพ่อมิเคยออกปากขอต่อผู้ใด (พระขอของจากคนมิใช่ญาติ มิใช่ปวารณาเป็นการผิดวินัย) รวมทั้งการปลูกสร้างเสนาสนะต่างๆ เช่น ศาลา โบสถ์ กุฏิ และอื่นๆ ก็ไม่กระทำในรูปแบบของการเรี่ยไร หรือตั้งตู้รับบริจาค คงปล่อยให้เป็นไปตามมมีตามได้ ท่านจะเน้นความบริสุทธิ์ในความเป็นอยู่มากที่สุด

โดยเฉพาะเรื่องการเกี่ยวข้องกับปัจจัยเงินทอง หลวงพ่อเคร่งครัดต่อพระวินัยข้อนี้มาก พระเณรในวัดหนองป่าพง จึงไม่มีเงินทองเป็นของส่วนตัว รวมทั้งไม่ให้ผู้อื่นรับหรือเก็บไว้เพื่อตน

มีพระรูปหนึ่ง มาขออยู่ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติที่วัดหนองป่าพง หลวงพ่อก็ไม่ปฏิเสธที่จะรับ แต่ได้พูดชี้แจงก่อนว่า "เมื่อมาอยู่กับผม จะสะสมเงินทองและสิ่งของไม่ได้ ผมถือตามวินัย"
พระรูปนั้นต่อรองว่า "ถ้าผมจะใช้เงินทอง แต่ไม่ยึดไม่หมายจะได้ไหม ?"

"ได้ ! ถ้าท่านเอาเกลือมาฉันหมดกะทอ (เข่งเล็ก) ดูแล้วไม่เค็ม"
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 29 ก.ค.2006, 11:41 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

7. หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

ในระหว่างที่จำพรรษาที่วัดเขาวงกฏ หลวงพ่อได้ฟังเรื่องราวของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จากโยมคนหนึ่ง ซึ่งเคยไปนมัสการหลวงปู่มั่นที่สำนักป่าหนองผือนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เกิดความรู้สึกเลื่อมใส และตั้งใจว่าจะต้องไปศึกษาแนวทางปฏิบัติจากท่าน

เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อพิจารณาเห็นว่า พระถวัลย์มีความสนใจในการศึกษาตำรับตำรา จึงปรารภเรื่องวิถีชีวิตกันระหว่างเพื่อน พระถวัลย์ตกลงใจจะไปเรียนปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ หลวงพ่อกับคณะพระภาคกลางรวมกันสี่รูป จึงออกเดินทางย้อนกลับมาที่อุบลราชธานี พักอยู่ที่วัดก่อนอกระยะหนึ่ง แล้วจาริกธุดงค์มุ่งหน้าไปจังหวัดสกลนคร

ระหว่างการเดินทางไปสำนักหลวงปู่มั่น ได้แวะสนทนาและศึกษาตามสำนักต่างๆ ที่จาริกผ่านไปเรื่อย เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ และเปรียบเทียบแนวทางปฏิบัติของแต่ละสำนัก

การเดินทางครั้งนั้น ผู้ร่วมทางบางคนในคณะเกิดท้อถอย เพราะมีความเหน็ดเหนื่อยและยากลำบากมาก ประกอบกับเป็นผู้ไม่คุ้นเคยต่อการเดินทางไกลนัก จึงขอแยกทางกลับคืนถิ่นเดิม หลวงพ่อกับพระอีกสองรูปที่ไม่เลิกล้มความตั้งใจ ได้ออกเดินทางต่อในที่สุดก็ถึงสำนักของหลวงปู่มั่น

ก้าวแรกที่ย่างเข้าสู่สำนักป่าหนองผือนาใน หลวงพ่อรู้สึกประทับใจในบรรยากาศอันสงบ ร่มรื่นของสำนัก มองดูลานวัดสะอาดสะอ้าน กิริยามารยาทของเพื่อนบรรพชิตเป็นที่น่าเลื่อมใส จึงเกิดความพึงพอใจยิ่งกว่าสำนักใดๆ ที่เคยสัมผัสมา

ยามเย็นวันแรกที่ไปถึง ได้เข้ากราบนมัสการหลวงปู่พร้อมศิษย์ของท่านเพื่อฟังธรรมร่วมกัน หลวงปู่มั่นได้ปฏิสันถารสอบถามเกี่ยวกับอายุ พรรษา และสำนักที่เคยได้ศึกษาปฏิบัติ จากนั้นท่านก็ให้โอวาทและปรารภถึงเรื่องนิกายทั้งสอง คือ ธรรมยุติและมหานิกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่หลวงพ่อสงสัยอยู่มาก

หลวงปู่มั่นกล่าวว่า "การประพฤติปฏิบัตินั้น หากถือเอาพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง"

เมื่อคลายความสงสัยในเรื่องนิกายแล้ว หลวงพ่อได้กราบเรียนถามปัญหากับหลวงปู่มั่น ซึ่งหลวงพ่อถ่ายทอดบทสนทนาของท่านกับหลวงปู่มั่นให้ศิษย์ฟังว่า

"เกล้ากระผมเป็นผู้ปฏิบัติใหม่... ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร... มีความสงสัยมาก ยังไม่มีหลักในการปฏิบัติเลยครับ"

"มันเป็นยังไง" หลวงปู่มั่นถาม

"ผมหาทางปฏิบัติ... ก็เลยเอาหนังสือวิสุทธิมรรคขึ้นมาอ่าน มีความรู้สึกว่ามันจะไปไม่ไหวเสียแล้ว เนื้อความในสีลานิทเทส สมาธินิทเทส ปัญญานิทเทสนั้น ดูเหมือนไม่ใช่วิสัยของมนุษย์จะทำได้ ผมมองเห็นว่ามนุษย์ทั่วโลกนี้ มันจะทำตามไม่ได้ครับ มันยาก มันลำบาก มันเหลือวิสัยจริงๆ..."


หลวงปู่มั่นจึงกล่าวให้ฟังว่า...

"ท่าน... ของนี้มันมากก็จริงอยู่ ถ้าเราจะกำหนดทุกๆ สิกขาบทในสีลานิทเทสนั้น นะมันก็ลำบาก แต่ความจริงแล้ว สีลานิทเทสก็คือสิ่งที่บรรยายออกมาจากใจของคนเรานั่นเอง ถ้าหากว่าเราอบรมจิตของเราให้มีความละอาย มีความกลัวต่อความผิดทั้งหมด เราก็จะเป็นคนที่สำรวมสังวรระวัง เพราะมีความละอายและเกรงกลัวต่อความผิด...

เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็จะเป็นเหตุให้เราเป็นคนมักน้อย และสติก็จะกล้าขึ้น จะยืนเดิน นั่ง นอนอยู่ที่ไหน มันจะตั้งอกตั้งใจมีสติเต็มเปี่ยมเสมอ ความระวังมันก็เกิดขึ้น...

อะไรทั้งหมดที่ท่านศึกษาในหนังสือน่ะ มันขึ้นต่อจิตทั้งนั้น ถ้าท่านยังไม่อบรมจิตของท่านให้มีความรู้ มีความสะอาดแล้ว ท่านจะมีความสงสัยอยู่เรื่อยไป...

ดังนั้น ท่านจงรวมธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ที่จิต สำรวมอยู่ที่จิต อะไรที่เกิดขึ้นมา ถ้าสงสัย... ถ้ายังไม่รู้แจ้งแล้วอย่าไปทำ... อย่าไปพูด... อย่าไปละเมิดมัน"


คืนนั้น... หลวงพ่อนั่งฟังธรรมร่วมกับศิษย์ของหลวงปู่มั่น จนกระทั่งถึงเที่ยงคืน จิตใจเกิดความสงบระงับเป็นสมาธิ ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทางได้อันตรธานไปสิ้น...

คืนที่สอง... หลวงปู่มั่นได้แสดงปกิณกธรรมต่างๆ ให้ฟังอย่างละเอียดลึกซึ้ง จนหลวงพ่อคลายความลังเลสงสัยในวิถีทางการปฏิบัติ มีความปลาบปลื้มปิติในธรรมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ในวันที่สาม... หลวงพ่อได้กราบลาหลวงปู่มั่น แล้วเดินธุดงค์ลงมาทางอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม

จากการได้พบหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ในครั้งนั้น เป็นประสบการณ์สำคัญที่นำวิถีชีวิตของหลวงพ่อเข้าสู่กระแสธรรมปฏิบัติอย่างถูกต้องและมั่นคง หลวงพ่อเล่าถึงบรรยากาศของการได้สัมผัสหลวงปู่มั่น และสำนักป่าหนองผือนาใน แก่พระเณรในเวลาต่อมาว่า...

"...ที่ผมได้ความรู้ความฉลาด จนได้มาแบ่งปันพวกท่านทั้งหลายนั้น ก็เพราะผมได้ไปกราบครูบาอาจารย์มั่น... ไปพบท่าน แล้วก็เห็นสภาพวัดวาอารามของท่าน ถึงจะไม่สวยงาม แต่ก็สะอาดมาก

พระเณรตั้งห้าสิบหกสิบ เงียบ ! ขนาดจะถากแก่นขนุน (แก่นขนุนใช้ต้มเคี่ยว สำหรับย้อมและซักจีวร) ก็ยังแบกเอาไปฟันอยู่โน้น... ไกลๆ โน้น เพราะกลัวว่าจะก่อกวนความสงบของหมู่เพื่อน... พอตักน้ำทำกิจอะไรเสร็จ ก็เข้าทางจงกรมของใครของมัน ไม่ได้ยินเสียงอะไร นอกจากเสียงเท้าที่เดินเท่านั้นแหละ

บางวันประมาณหนึ่งทุ่ม เราก็เข้าไปกราบท่านเพื่อฟังธรรม ได้เวลาพอสมควรประมาณสี่ทุ่มหรือห้าทุ่มก็กลับกุฏิ เอาธรรมะที่ได้ฟังไปวิจัย... ไปพิจารณา เมื่อได้ฟังเทศน์ท่าน มันอิ่ม เดินจงกรมทำสมาธินี่... มันไม่เหน็ดไม่เหนื่อย มันมีกำลังมาก

ออกจากที่ประชุมกันแล้วก็เงียบ ! บางครั้งอยู่ใกล้ๆ กัน เพื่อนเขาเดินจงกรมอยู่ตลอดคืนตลอดวัน จนได้ย่องไปดูว่าใคร ท่านผู้นั้นเป็นใคร ทำไมถึงเดินไม่หยุดไม่พัก นั่น... เพราะจิตใจมันมีกำลัง..."
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 12:08 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

8. ประสบการณ์ในป่าช้า

หลังจากออกจากสำนักหลวงปู่มั่นแล้ว หลวงพ่อกับคณะเดินธุดงค์รอนแรมพักภาวนาตามป่าเขามาเรื่อยๆ ในขณะนั้นไม่ว่าจะเดินจงกรม หรือนั่งสมาธิอยู่ที่ใดก็ตาม มีความรู้สึกราวกับว่า หลวงปู่มั่นคอยติดตามให้คำแนะนำตักเตือนอยู่ตลอดเวลา...

วันหนึ่งหลวงพ่อกับคณะเดินทางถึงวัดโปร่งคลอง ซึ่งเป็นสำนักของพระอาจารย์คำดี ขณะนั้นเป็นฤดูแล้ง พื้นดินแห้งเหมาะแก่การพักตามโคนไม้ พระบางรูปในสำนักจึงไปอยู่ป่าช้า เพื่อฝึกฝนตนเอง หลวงพ่อเกิดความสนใจใคร่จะศึกษาดูว่า การอยู่ป่าช้าจะช่วยขัดเกลากิเลสได้อย่างไร


หลวงพ่อเล่าถึงประสบการณ์ที่ป่าช้าในครั้งนั้นว่า...

" ...วันนั้นตอนบ่ายๆ ตั้งใจว่าคืนนี้จะไปภาวนาในป่าช้า พอจะไปจริงๆ ใจชักไม่อยากไปซะแล้ว ก็บังคับมัน คิดว่าถ้าจะตายก็ยอมตายเพราะมันลำบากนัก มันโง่นัก พูดในใจอย่างนี้...

พอไปถึงป่าช้า ปะขาวแก้วจะมาพักใกล้ๆ ก็ไม่ยอม ให้ไปอยู่ไกลๆ โน่น ความจริงแล้วอยากให้มาอยู่ใกล้ๆ เป็นเพื่อนกัน แต่ไม่เอาเดี๋ยวตัวเองจะอาศัยเขา กลัวนักก็ให้มันตายเสียในคืนนี้ พอค่ำลงเขาหามศพมาฝังพอดี ทำไมถึงเหมาะเจาะอย่างนี้... คิดอยากจะหนี... เขานิมนต์ให้สวดมาติกา ก็ไม่เอา เดินหนีไป... มันกลัว... เดินก็แทบไม่รู้สึกว่าเท้าแตะดิน

สักพักก็เดินกลับมา เขาเอาศพฝังไว้ใกล้ๆ แล้วยังเอาไม้ไผ่ที่หามศพมาทำเป็นร้านให้นั่ง... จะทำอย่างไรดี... หมู่บ้านกับป่าช้าก็ไม่ใช่ใกล้ๆ กัน ห่างกันตั้งสองสามกิโล

พอตะวันตกดิน ใจหนึ่งก็บอกให้เข้าไปอยู่แต่ในกลดท่าเดียว จะเดินไปหาหลุมศพ ก็เหมือนมีอะไรมาดึงขาเอาไว้ ความรู้สึกกลัวกลับกล้ามันฉุดรั้งกันอยู่

พอมืดสนิทจริงๆ ก็มุดเข้ากลดทันที รู้สึกเหมือนมีกำแพงเจ็ดชั้น เห็นบาตรตั้งอยู่ข้างๆ ก็รู้สึกดีใจ ได้อาศัยบาตรเป็นเพื่อน นั่งอยู่ในกลดทั้งคืน ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย นั่งเงียบอยู่ จะง่วงก็ไม่ง่วง มันกลัว ทั้งกลัวทั้งกล้า นั่งอยู่อย่างนั้นตลอดทั้งคืนเลย

พอสว่างขึ้น ก็รู้สึกว่าเรารอดตายแล้ว ดีใจจริงๆ ภายในใจเราอยากให้มีแต่กลางวันเท่านั้น ไม่อยากให้มีเวลากลางคืนเลย อยากฆ่ากลางคืนทิ้ง มันจะได้มีแต่กลางวัน...

ตอนเช้าไปบิณฑบาตคนเดียว หมาวิ่งตามหลังมาจะกัด แต่ก็ไม่ไล่ จะกัดก็กัดไปเลย ให้มันกัดให้ตายซะ หมาก็งับผิดงับถูก โยมชาวภูไท ไม่รู้จักไล่หมา เขาว่าผีมันมากับพระ หมาจึงได้เห่าได้กัด เขาจึงไม่ไล่มัน ช่างมัน ! เมื่อคืนนี้ก็กลัวจนเกือบตายทีหนึ่งแล้ว ตอนเช้านี้หมาจะกัด ก็เลยปล่อยให้มันกัดซะ ถ้าหากว่าแต่ก่อนเราเคยกัดมัน ก็ปล่อยให้มันกัดคืนซะ แต่มันก็งับผิดงับถูกอยู่อย่างนั้น

กลับจากบิณฑบาตก็ฉัน พอฉันเสร็จ แดดออกมาบ้างรู้สึกอบอุ่นได้เดินจงกรม และพักผ่อนเอาแรงบ้าง คืนนี้จะได้ภาวนาให้เต็มที่ คงไม่มีอะไรน่ากลัว เพราะได้ทดลองมาคืนหนึ่งแล้ว

พอบ่ายๆ ชาวบ้านหามศพมาอีกแล้ว เป็นผู้ใหญ่เสียด้วย เขาเอามาเผาไว้ใกล้ๆ ด้านหน้ากลด แล้วก็กลับบ้านกันหมด ช่วงหัวค่ำศพที่ถูกเผามีกลิ่นเหม็นตลบอบอวล จะเดินจงกรมไปข้างหน้าก็ก้าวไม่ออก ที่สุดเลยเข้าไปในกลด... นั่งหันหลังให้กองไฟ ไม่คิดอยากนอนเลย ตาตื่นแข็งอยู่อย่างนั้น ตกดึกประมาณสี่ทุ่ม มีเสียงอยู่ข้างหลังในกองไฟดังเหมือนตกลงมา หรือหมาจิ้งจอกมากินซากศพ แต่ฟังอีกที เหมือนเสียงควายดังครืดคราดๆ...

พอสักพัก มีเสียงเหมือนคนเดินเข้ามาหาทางด้านหลัง เดินหนักเหมือนควาย แต่ไม่ใช่... แต่จะเข้ามาก็ไม่เข้า เดินโครมๆ ออกไปทางปะขาวแก้ว นานประมาณครึ่งชั่วโมง เดินกลับมาอีกแล้ว เหมือนคนเดินจริงๆ ตรงดิ่งเข้ามาเหมือนจะเหยียบเราอย่างนั้นแหละ... หลับตาสนิทไม่ยอมลืมตา ให้มันตายทั้งหลับตานี่แหละ

มันมาถึงใกล้ๆ หยุดกึก ! ยืนนิ่งอยู่เงียบๆ ข้างหน้ากลด รู้สึกเหมือนกับว่ามันเอามือที่ถูกไฟไหม้คว้าไปมาอยู่ข้างหน้า...

ตายคราวนี้ละ ! พุทโธ ธัมโม สังโฆ ลืมหมด มีแต่ความกลัวอย่างเดียว เต็มแน่นเอี๊ยดอยู่ในใจ ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยมีความกลัวเหมือนครั้งนี้เลย มันกลัวมาก เปรียบเหมือนกับน้ำที่เราเทใส่ในโอ่ง เทใส่มากจนเต็มมันก็ล้นออกมา ความกลัวเหมือนกัน มันกลัวมากจนหมดกลัว แล้วก็ล้นออกมา... ใจหนึ่งเลยถามว่า...

ที่กลัวมากกลัวมายนัก มันกลัวอะไร?

กลัวตาย อีกใจหนึ่งตอบ

แล้วความตายมันอยู่ที่ไหน... ทำไมกลัวเกินบ้านเมืองเขานัก... หาที่ตายดูซิ มันอยู่ไหน ความตายอยู่กับตัวเอง อยู่กับตัวเอง แล้วจะหนีไปไหนจึงจะพ้นมันล่ะ... วิ่งหนีก็ตาย... นั่งอยู่ก็ตาย เพราะมันอยู่กับเราไปไหนมันก็ไปด้วย เพราะความตายมันอยู่กับเรา... กลัวหรือไม่กลัว... ก็ตายเหมือนกัน หนีมันไม่ได้หรอก...

พอคิดได้อย่างนี้เท่านั้น สัญญาพลิกกลับ... ความคิดก็เปลี่ยนขึ้นมาทันที ความกลัวทั้งหลายเลยหายไป ปานพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ อัศจรรย์เหลือเกิน ความกลัวมากๆ มันหายไปได้ ความไม่กลัวมันกลับมาแทนในที่เดียวกันนี้ โอ... ใจมันสูงขึ้น... สูงขึ้นเหมือนอยู่บนฟ้านะ... เปรียบไม่ถูก

พอเอาชนะความกลัวได้แล้ว ฝนเริ่มตกทันทีเลย ลมพัดแรงมาก แต่ก็ไม่กลัวตายแล้ว ไม่กลัวต้นไม้กิ่งไม้มันจะหักลงมาทับ ไม่สนใจมันเลย...

ฝนตกลงมาหนักเหมือนฝนเดือนสี่ พอฝนหยุด... เปียกหมดทั้งตัว นั่งนิ่งไม่กระดิกเลย... ร้องไห้... นั่งร้องไห้น้ำตาไหลอาบแก้มลงมา เพราะเกิดนึกไปว่า ตัวเรานี่ทำไมเหมือนคนไม่มีพ่อมีแม่แท้ มานั่งตากฝนยังกับคนไม่มีอะไร ยังกับคนสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง คนที่เขามีบ้านอยู่ดีๆ เขาคงจะไม่คิดหรอกว่า จะมีพระมานั่งตากฝนอยู่ทั้งคืนอย่างนี้ เขาคงจะนอนห่มผ้าสบาย คิดไปวิตกไป เลยสังเวชชีวิตของตน ร้องไห้น้ำตาไหลพรากๆ เอ้า... น้ำไม่ดีนี่ให้มันไหลออกมาให้หมด... อย่าให้มันมีอยู่

เมื่อคิดได้อย่างนี้... เมื่อชนะความรู้สึกแล้ว ก็นั่งดูจิตดูใจอยู่อย่างนั้น ความรู้เห็นสารพัดเรื่องเกิดขึ้นมา... พรรณนาไม่ได้ คิดถึงพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน... ความทุกข์ที่นั่งตากฝน... ความกลัวที่มันหายไป ความรู้สึกต่อมาเป็นอย่างไร ก็รู้แต่เฉพาะเราเอง ใครอื่นจะมารู้ด้วย... นั่งพิจารณาอยู่อย่างนี้จนสว่าง จิตมีกำลังศรัทธาขึ้น

ส่วางขึ้นมา ลืมตาครั้งแรกมองไปทางไหนเหลืองไปหมด ลุกไปปัสสาวะเพราะมันปวดตั้งแต่เมื่อคืน ปวดจนหายปวดไปเฉยๆ... ปัสสาวะออกมามีแต่เลือด รู้สึกตกใจเล็กน้อย คิดว่าไส้หรืออะไรข้างในคงขาดหมดแล้ว... ขาดก็ขาด... ตายก็ตายไปซิ... ตายเพราะการปฏิบัติอย่างนี้ก็พอใจตาย แต่ตายเพราะไปทำความชั่วซิไม่ค่อยดี ตายเพราะปฏิบัติแบบนี้ตายก็ตาย...

ในใจมันแย้งกันอยู่อย่างนี้ ใจหนึ่งมันเบียดเข้ามาว่าเป็นอันตราย อีกใจหนึ่งมันสู้ มันค้าน และตัดขึ้นมาทันที

คืนนั้นฝนตกทั้งคืน วันรุ่งขึ้นจับไข้สั่นไปทั้งตัว แต่ก็อดทนออกไป บิณฑบาตในหมู่บ้าน บิณฑบาตก็ได้แต่ข้าวเปล่าๆ...

หลังคืนสยองผ่านไป โดยมิรู้ว่าอาคันตุกะลึกลับผู้นั้นคือใคร เหตุใดจึงมาเยี่ยมเยือนด้วยอาการดุร้ายน่ากลัวเช่นนั้น... หลวงพ่อไม่กล่าวถึงมัน ท่านกลับเน้นให้ศิษย์มองเห็นคุณค่าของการต่อสู้ให้ถึงที่สุด... สู้ชนิดเอาชีวิตเข้าแลก แล้วปัญญาความรู้แจ้งเห็นจริงจะเกิดขึ้นตรงนั้น ดังคำที่หลวงพ่อมักใช้ปลุกใจลูกศิษย์ว่า

ไม่ดีก็ให้มันตาย... ไม่ตายก็ให้มันดี !"


เมื่อหลวงพ่อพักบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่ป่าช้าได้เจ็ดวัน ก็มีอาการป่วยหนัก จึงออกมาพักรักษาตัวที่สำนักท่านอาจารย์คำดี พักอยู่ประมาณ 10 วัน อาการก็ทุเลาลง แม้ร่างกายอ่อนล้าเพราะพิษไข้ แต่จิตใจกลับกล้าแกร่งองอาจยิ่งนัก เพราะได้ฝ่าฟันอุปสรรคคือ ความกลัวตายในคืนนั้นได้ด้วยความอดทนและภูมิปัญญา

หลังจากอาการไข้สร่างซาลง มีพละกำลังกลับคืนมา ก็กราบลาท่านอาจารย์คำดี เดินทางมาพักอยู่ในป่าใกล้บ้านต้อง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม พักอยู่ที่นั่นหลายวัน อาการไข้หายเป็นปกติ แต่อาการไข้ใจจากไฟราคะ ที่ถูกควบคุมความร้อนแรงไว้ด้วยการหลีกเร้นและภาวนา กลับถูกจุดให้ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง โดยม่ายสาวผู้รวยรูปลักษณ์และทรัพย์สิน นางมาถวายอาหารและพูดคุยด้วยทุกวัน จนจิตใจหลวงพ่อหวั่นไหวไปตามแรงจริตที่นางแสดงออก ซึ่งส่อถึงความรู้สึกอันพิเศษเกินขอบเขตที่อุบาสิกาจะพึงมีต่อพระ...

หลวงพ่อชั่งใจว่าจะเอาอย่างไรดีอยู่หลายวัน กระทั่งคืนหนึ่งขณะนั่งภาวนาพิจารณาไป สังเกตเห็นใจตัวเองเอนเอียงไปทางนางมากขึ้นทุกที จึงตัดสินใจลุกขึ้นเก็บบริขารในกลางดึกของคืนนั้น แล้วเดินไปปลุกปะขาวแก้ว ซึ่งกำลังหลับสบายอยู่ในกลด ปะขาวแก้วสะดุ้งตื่น ลุกขยี้ตา ถามอย่างงัวเงียว่า "ไปพรุ่งนี้ไม่ได้หรือครับ"

"ไม่ ! จะไปเดี๋ยวนี้แหละ" หลวงพ่อตอบอย่างเด็ดขาด เพราะตรึกตรองดีแล้วว่า ถ้าไม่หนีคืนนี้คงจะเสียทีแก่นางแน่

หลายปีต่อมา หลังจากหลวงพ่อมาอยู่วัดหนองป่าพงแล้ว ครั้งหนึ่งท่านได้เยี่ยมลูกศิษย์ที่สำนักสาขาแถวบ้านต้อง ระหว่างพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับญาติโยม ท่านปรารภถึงความหลัง และพูดถึงการปฏิบัติของตัวเองในสมัยก่อนอย่างขำๆ ว่า...

"การปฏิบัติของอาตมามันยากหลายแนว แต่แนวที่มันยากนำอีหลีก็เรื่องแม่ออก นี่ล่ะ" (การปฏิบัติของอาตมามันยากหลายอย่าง แต่ที่ยากกับมันจริงๆ ก็เรื่องผู้หญิง นี่แหละ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 12:33 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
หลวงปู่กินรี จนฺทิโย


9. หลวงปู่กินรี

หลบหลีกออกจากบ้านต้องในคืนนั้น หลวงพ่อเดินทางไปยังวัดป่าหนองฮี ตำบลหนองฮี อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ซึ่งมี หลวงปู่กินรี จนฺทิโย เป็นประหนึ่งร่มโพธิธรรมอยู่ที่นั่น ศึกษาประพฤติปฏิบัติอยู่กับท่านหลายวันได้กำลังใจคืนมา ขณะนั้นเป็นฤดูแล้ง เป็นช่วงเวลาที่เหมาะต่อการหลีกเร้นภาวนาในป่าตามธรรมชาติ หลวงพ่อจึงกราบลาหลวงปู่กินรีออกจาริกธุดงค์ต่อไป ครั้นย่างเข้าฤดูฝนในปี พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นพรรษาที่เก้าของหลวงพ่อ ท่านได้ย้อนกลับมาจำพรรษากับหลวงปู่กินรีที่วัดป่าหนองฮี

หลวงปู่กินรีเป็นครูบาอาจารย์ที่มีปฏิปทาเรียบง่ายน่าเคารพบูชา ชอบใช้ชีวิตโดดเดี่ยว มั่นคงในข้อปฏิบัติ มักน้อยสันโดษ บริขารเครื่องใช้ของท่านล้วนแต่เป็นของปอนๆ เรียบง่าย และส่วนใหญ่ท่านทำใช้เอง แม้ไม่สวยงามแต่มันจะถูกใช้จนสึกกร่อนไปตามกาลเวลา

อุปนิสัยพิเศษอย่างหนึ่งของหลวงปู่คือ ความขยันในการงานทุกอย่างที่พระจะพึงทำได้ ท่านไม่เคยอยู่นิ่งเฉย นอกจากขณะทำสมาธิภาวนาเท่านั้น แม้ในวัยชราหลวงปู่ก็ยังรักษาปฏิปทานี้ไว้อย่างมั่นคง หลวงพ่อเล่าถึงปฏิปทาของหลวงปู่กินรีว่า...

ในพรรษาที่อยู่กับหลวงปู่นั้น ท่านเองทำความเพียรอย่างหนัก เดินจงกรมทั้งวัน ฝนตก แดดออกอย่างไรก็เดินจนทางจงกรมเป็นร่องลึก แต่หลวงปู่กลับไม่ค่อยเดิน บางครั้งเดินเพียงสองสามเที่ยวก็หยุด แล้วไปเอาผ้ามาปะ มาเย็บ หรือไม่ก็นั่งทำนั่นทำนี่...

เราประมาท คิดว่าครูบาอาจารย์จะไปถึงไหนกัน เดินจงกรมก็ไม่เดิน นั่งสมาธินานๆ ก็ไม่เคยนั่ง คอยแต่จะทำนั่นทำนี่ตลอดวัน แต่เรานี่ปฏิบัติไม่หยุดเลย ถึงขนาดนั้นก็ยังไม่รู้ไม่เห็นอะไร ส่วนหลวงปู่ปฏิบัติอยู่แค่นั้น จะไปรู้เห็นอะไร

เรามันคิดผิดไป หลวงปู่ท่านรู้อะไรๆ มากกว่าเราเสียอีก คำเตือนของท่านสั้นๆ และไม่ค่อยมีให้ฟังบ่อยนัก เป็นสิ่งที่ลุ่มลึกแฝงไว้ด้วยปัญญาอันแยบคาย ความคิดของครูบาอาจารย์กว้างไกลเกินปัญญาของเราเป็นไหนๆ... ตัวแท้ของการปฏิบัติ คือ ความพากเพียรกำจัดอาสวะกิเลสภายในใจ ไม่ใช่ถือเอากิริยาอาการภายนอกของครูอาจารย์มาเป็นเกณฑ์...

ในปีนั้นจีวรของหลวงพ่อเก่าคร่ำคร่าจนผุขาดเกือบทั้งผืน แต่ท่านไม่ยอมออกปากขอใคร หลวงปู่กินรีก็มองดูอยู่เงียบๆ ไม่ว่ากระไร วันหนึ่งหลวงพ่อนั่งปะชุนจีวรอยู่ ขณะเย็บผ้าคิดอยากให้เสร็จเร็วๆ จะได้หมดเรื่องหมดราว แล้วไปนั่งภาวนา เดินจงกรมให้เต็มที่สักที หลวงปู่กินรีเดินมาหยุดยืนดูอยู่ใกล้ๆ หลวงพ่อก็ยังไม่รู้เพราะจิตกังวลอยากเย็บผ้าให้เสร็จเร็วๆ เท่านั้น

หลวงปู่ถามว่า "ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า"

"ผมอยากให้เสร็จเร็วๆ"

"เสร็จแล้วท่านจะไปทำอะไร" หลวงปู่ถามอีก

"จะไปทำอันนั้นอีก"

"ถ้าอันนั้นเสร็จ ท่านจะทำอะไรอีก"

"ผมจะทำอย่างอื่นอีก"

"เมื่ออย่างอื่นของท่านเสร็จ ท่านจะไปทำอะไรอีกเล่า ?"

หลวงปู่กินรีให้ข้อคิดว่า...

"ท่านรู้ไหม นั่งเย็บผ้านี่ก็ภาวนาได้ ท่านดูจิตตัวเองสิว่าเป็นอย่างไร แล้วก็แก้ไขมัน ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า ทำอย่างนี้เสียหายหมด ความอยากมันเกิดขึ้นท่วมหัว ท่านยังไม่รู้เรื่องของตัวเองอีก"

คำพูดสั้นๆ แต่มีความหมายและเจือความปรารถนาดีของหลวงปู่ ทำให้หลวงพ่อหูตาสว่างขึ้น ท่านปรารภให้ฟังว่า "เรานึกว่าทำถูกแล้ว อุตสาห์รีบทำ อยากให้มันเสร็จเร็วๆ จะได้ภาวนา แต่ที่ไหนได้ เราคิดผิดไปไกลทีเดียว"

อยู่ต่อมา หลวงปู่กินรีปรารภกับญาติของท่านว่า มีพระรูปหนึ่งมาอยู่ด้วย จีวรขาดหมดแล้ว ช่วยตัดจีวรใหม่ถวายท่านด้วย พอดีมีคนเอาผ้าฝ้ายด้ายดิบเนื้อหนามาถวาย หลวงปู่จึงให้แม่ชีช่วยกันตัดเย็บถวายหลวงพ่อ

หลวงพ่อเล่าถึงความรู้สึกตอนนั้นว่า... "ดีใจที่สุด ใช้อยู่ตั้งหลายปีก็ยังไม่ขาด ใส่ในครั้งแรกดูกระปุกกระปุย เพราะผ้าหนาและแข็งกระด้าง ยิ่งใส่สังฆาฏิซ้อนเป็นสองชั้น ยิ่งดูตัวเองอ้วนใหญ่ เวลาเดินดังสวบสาบๆ เพราะผ้ามันแข็ง ใส่ไปตั้งปีสองปีผ้าจึงอ่อน แต่เราก็ไม่เคยบ่น ได้อาศัยผ้าผืนนั้นมาเรื่อย ยังนึกถึงบุญคุณของท่านอยู่เสมอ..."

เมื่อปัญหาเรื่องเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งทำให้ใจเร่าร้อนกระสับกระส่ายถูกดับลงด้วยการภาวนา และหยาดน้ำใจจากครูอาจารย์ ผ่านไปไม่นานศัตรูคู่ปรับเก่าที่หลวงพ่อเคยออกปากในทำนองว่า ยากยิ่งสิ่งเดียวได้หวนกลับมาย่ำยีจิตใจอีกครั้ง...

คืนหนึ่ง ขณะหลวงพ่อพากเพียรภาวนาอยู่ตามลำพัง อารมณ์แห่งกามราคะได้เกิดขึ้น คืนนั้นไม่ว่าจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือพลิกยุทธวิธีใดๆ ก็ไม่สามารถกำราบกิเลสมารลงได้ รูปลักษณ์ของอวัยวะเพศหญิงปรากฏเป็นมโนภาพเด่นชัดตลอดเวลา เกิดความรู้สึกทางธรรมชาติของบุรุษอย่างรุนแรง จนแทบภาวนาต่อไปไม่ได้ ต้องอดทนต่อสู่กับความรู้สึกและมโนภาพนั้นอย่างยากเย็น

หลวงพ่อเปรียบเทียบว่า จิตใจถูกกิเลสย่ำยีอย่างหนัก พอๆ กับครั้งที่เกิดความกลัวใน คราวอยู่ ป่าช้าครั้งแรกนั่นเอง

การต่อสู้กับราคะดำเนินไปอย่างดุเดือด ขับเคี่ยวรุกไล่กันอยู่ถึง 10 วัน ความรู้สึกและมโนภาพนั้นจึงได้เลือนหายไป

หลังการต่อสู้กับกามราคะในวันนั้น หลวงพ่อยิ่งบากบั่นเร่งภาวนาหนักขึ้น เพื่อสร้างเกราะและภูมิคุ้มกันภัยให้มั่นคง ศรัทธาและกำลังใจกล้าแกร่งขึ้นตามลำดับ

คืนหนึ่งในพรรษานั้น หลังทำความเพียรเป็นเวลาพอสมควร หลวงพ่อได้ขึ้นไปพักผ่อนบนกุฏิ กำหนดสติเอนกายลงนอน พอเคลิ้มไปเกิดนิมิตเห็นหลวงปู่มั่น เดินเข้ามาหยุดยืนอยู่ใกล้ๆ แล้วส่งลูกแก้วให้ลูกหนึ่ง พร้อมกับกล่าวว่า... "ชา... เราขอมอบลูกแก้วนี้แก่ท่าน มันมีรัศมีสว่างไสวมากนะ" ในนิมิตนั้นปรากฏว่าตนได้ลุกขึ้นนั่ง พร้อมกับยื่นมือไปรับลูกแก้วจากหลวงปู่มั่นมากำไว้ พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นแปลกใจมาก ที่พบตัวเองนั่งกำมืออยู่ดังในความฝัน จิตใจเกิดความสงบระงับผ่องใส พิจารณาสิ่งใดไม่ติดขัด มีความปลื้มปิติตลอดพรรษา

หลวงพ่อได้อยู่ร่วมศึกษาปฏิบัติและอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่กินรีเรื่อยมา กระทั่งถึงฤดูแล้งของปี พ.ศ. 2491 หลวงพ่อจึงได้กราบลาครูบาอาจารย์จาริกต่อไป

ก่อนจาก หลวงปู่กล่าวตักเตือนศิษย์สั้นๆ ตามอัธยาศัยของท่านว่า "ท่านชา อะไรๆ ในการปฏิบัติท่านก็พอสมควรแล้ว แต่อยากให้ระวังเรื่องการเทศน์นะ"
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 30 ก.ค.2006, 9:02 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 2:55 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

10. ภัยในป่าใหญ่

การจาริกธุดงค์ของหลวงพ่อในช่วงนั้น มีพระเลื่อมเป็นเพื่อนร่วมทาง วันหนึ่งท่านทั้งสองหยุดพักอยู่ในป่าข้างหมู่บ้าน ได้มีเด็กชายพิการสองคนมาช่วยอุปัฏฐากรับใช้ ต่อมาเด็กทั้งสองเกิดสนใจการผจญภัยในชีวิตพระธุดงค์จึงขอร่วมเดินทางติดตามไปด้วย ซึ่งหลวงพ่อก็ไม่ขัดข้อง

เมื่อเด็กได้รับความยินยอมจากพ่อแม่แล้ว ก็เก็บข้าวของส่วนตัวออกเดินทางไปกับหลวงพ่อ เด็กชายทั้งสองเป็นผู้มีศรัทธาอุตสาหะมาก แม้ต้องตรากตรำกรำแดดลมฝน อดบ้าง อิ่มบ้าง ก็ไม่เคยปริปากบ่น คงร่วมเดินทางต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ ทั้งที่มีความไม่สมประกอบทั้งสองคน

คนหนึ่งหูหนวก ส่วนอีกคนหูดี ตาดี แต่ขาเป๋ เวลาบุกป่าฝ่าหนามขาเกี่ยวกันล้มลุกคลุกคลาน แต่ความพิการหาได้เป็นอุปสรรคของการสร้างความดีไม่ เมื่อหลวงพ่อสอนให้นั่งสมาธิ และเดินจงกรม เด็กก็ปฏิบัติตามด้วยความตั้งใจ

การมีเด็กพิการมาร่วมทาง ทำให้หลวงพ่อได้พิจารณาเห็นหลักแห่งกรรมชัดเจนขึ้น อีกทั้งยังได้คติสอนใจตัวเองด้วยว่า คนพิการทางกายอย่างเด็กทั้งสองนี้ ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร แต่คนที่ใจพิการเพราะขาดคุณธรรม ย่อมนำความเดือดร้อนมาสู่ตนและคนอื่นอย่างมากมาย

วันหนึ่งหลวงพ่อกับคณะพากันเดินทางมาถึงป่าใหญ่ ใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตจังหวัด นครพนม ขณะนั้นพลบค่ำพอดีจึงตกลงกันหยุดพักในป่าแห่งนั้น

เมื่อเดินทางสำรวจหาที่กางกลด สังเกตเห็นทางเก่าที่คนเลิกใช้แล้ว เป็นทางทอดยาวจากดงใหญ่ที่พัก ไปสู่ภูเขาที่สูงทะมึนอยู่เบื้องหน้า นึกถึงคำพูดของคนโบราณว่า เข้าป่าอย่านอนขวางทางเก่า หลวงพ่อคิดสงสัยอยากพิสูจน์ให้เห็นจริง จึงให้พระเลื่อมเข้าไปพักในป่า ส่วนตัวท่านกางกลดขวางทางเก่าเอาไว้ ให้เด็กทั้งสองคนนอนพักอยู่ตรงกลาง

แสงตะวันลับหายจากขอบฟ้า เสียงนกกลางคืนและสัตว์กู่ก้องสะท้านป่า แสงเรืองๆ ระยิบระยับจากหิ่งห้อย สว่างวูบวาบเป็นจุดเล็กๆ บนผืนความมืดอันกว้างใหญ่ แต่งเติมสีสันบรรยากาศ ของป่ายามราตรีให้วิเวกวังเวงยิ่งนัก ค่ำคืนในป่าเปลี่ยว คงมีเพียงมุนีผู้แสวงหาอิสรธรรมเท่านั้นที่ยินดีนำชีวิตตนมาแขวนไว้กับภยันตรายเช่นนี้

ดึกสงัด... หลังนั่งสมาธิภาวนาแล้ว หลวงพ่อตลบผ้ามุ้งขึ้นไว้บนหลังกลด เพื่อให้เด็กทั้งสองมองเห็นตัวท่าน จะได้อุ่นใจคลายกลัวบ้าง จากนั้นก็เอนตัวลงนอนตะแคงขวา กำหนดสติดูลมหายใจ แล้วหลับตาลง

ชั่วขณะหนึ่ง ได้ยินเสียงฝีเท้าแผ่วเบาก้าวเป็นจังหวะบนใบไม้แห้ง เสียงเดินเข้ามาใกล้จนได้ยินลมหายใจ และกลิ่นสาบสางลอยมากับสายลม หลวงพ่อคงนอนนิ่งอยู่ทั้งที่รู้ดีว่านั่นคือเสียงและกลิ่นของเสือ

จิตหนึ่งห่วงชีวิต แต่กลัวอยู่ไม่นาน อีกจิตหนึ่งออกมาแย้งและให้เหตุผลว่า "อย่าห่วงมันเลยชีวิตนี้ แม้ไม่ถูกเสือกัดตาย... เราก็ต้องตายอยู่แล้ว การตายขณะเดินตามรอยบาทพระศาสดานี้ ชีวิตย่อมมีความหมาย เราขอยอมเป็นอาหารของเสือ หากว่าเราเคยกินเลือดกินเนื้อกันมา จะได้ชดใช้หนี้ให้หมดกันไป แต่หากไม่เคยเป็นคู่เวรคู่กรรม มันคงไม่ทำอะไรเรา" แล้วก็น้อมดวงจิตระลึกถึงพระรัตนตรัยและความบริสุทธิ์ของตัวเองเป็นที่พึ่งในยามนั้น

เมื่อคิดได้เช่นนี้ จิตใจเบาสบายขึ้นมาทันทีไม่มีกังวลใดๆ สักครู่หนึ่งเสือก็จากไป

การใช้ชีวิตในป่าของพระธุดงค์กรรมฐาน มีภยันตรายเป็นด่านคอยตรวจสอบความเข้มแข็งอดทนอยู่ทุกขณะ ทั้งภัยจากธรรมชาติ คือ ดิน ฟ้า อากาศ และภัยจากสัตว์ร้าย ซึ่งรายล้อมพร้อมที่จะเป็นอันตรายแก่ผู้อยู่ป่าได้ทุกเมื่อ แต่หากพระป่ามีธรรมาวุธ คือ ขันติและปัญญา รวมทั้งความบริสุทธิ์ใจ ย่อมฟันฝ่าอุปสรรคในป่าออกมาได้โดยปลอดภัย พร้อมกับกำลังใจที่กล้าแกร่งยิ่งขึ้น

หลวงพ่อกล่าวว่า "เมื่อเราทอดอาลัยในชีวิต ไม่เสียดายไม่กลัวตาย ความเบาสบายใจจะเกิดขึ้น สติปัญญาก็จะเฉียบคมกล้า จิตเกิดความองอาจไม่สะทกสะท้านต่อสิ่งใด แม้แต่ความตาย"

ภัยภายนอกจากธรรมชาติผ่านพ้นไป ภัยภายในจากกิเลสเริ่มก่อตัวขึ้นมาอย่างเงียบเชียบ แต่กลับเร่าร้อนกว่าไฟใดๆ

ในปี พ.ศ. 2491 นั้น หลวงพ่อกับคณะคือ พระเลื่อมและเด็กผู้ติดตาม คงร่วมทุกข์สุขแสวงหาสันติธรรมไปบนเส้นทางทุรกันดารต่อไป การอยู่ร่วมกันนานๆ ธาตุแท้ของแต่ละคนย่อมปรากฏขึ้นมา หลวงพ่อคิดพิจารณาในตอนนั้นว่า

"การเดินธุดงค์ร่วมกับผู้มีปฏิปทาไม่เสมอกัน นำมาซึ่งความเนิ่นช้าในการปฏิบัติ" และยังรู้สึกอึดอัดรำคาญหมู่คณะ จิตใจจึงวุ่นวายคิดอยากปลีกตัวไปตามลำพัง

หลวงพ่อได้ตกลงแยกทางกับพระเลื่อม โดยพระเลื่อมอาสานำเด็กนั้นกลับไปส่งที่บ้านเดิม ส่วนท่านเองได้เดินทางไปตามลำพัง เมื่อถึงวัดร้างในป่าใกล้บ้านข่าน้อย จังหวัดนครพนม ได้พิจารณาเห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะแก่การปฏิบัติภาวนา จึงพักอยู่ที่นั่นหลายวัน

การแยกจากหมู่คณะในระยะแรกๆ รู้สึกเป็นอิสระมาก ไม่ห่วงกังวลต่อสิ่งใด ได้เร่งความเพียรเต็มที่ สำรวมระวังอินทรีย์ (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ตลอดเวลา แม้ไปบิณฑบาตก็ไม่มองหน้าใคร เพียงแต่รู้ว่าเป็นหญิงหรือชายเท่านั้น

เสร็จจากการขบฉันเก็บบริขารแล้ว หลวงพ่อเดินจงกรมทันที ปฏิบัติสม่ำเสมอเช่นนี้อยู่หลายวัน จนเท้าบวมเป่งขึ้นเพราะเดินจงกรมมาก จึงหยุดเดินแล้วนั่งสมาธิอย่างเดียว ใช้ความอดทนระงับความเจ็บปวดอยู่ถึงสามวัน เท้าจึงเป็นปกติ

ในระหว่างนั้นไม่ยอมพบปะกับใครทั้งสิ้น เพราะเห็นการคลุกคลี คือ ความเนิ่นช้าของการประพฤติธรรม อยู่มาวันหนึ่ง กิเลสที่หลบไปเพราะเกรงอำนาจสมาธิธรรม ได้กลับออกมารบกวนจิตใจให้วิตกว่า...

"เราอยู่คนเดียวเช่นนี้ ถ้าได้เณรตัวเล็กๆ หรือผ้าขาวสักคนมาอยู่ด้วยคงดีนะ เพื่อจะได้ใช้อะไรเล็กๆ น้อยๆ"

...แต่ภาวะความคิดก็แย้งกันเองว่า...

"เอ ! ตัวแกนี่สำคัญนะ เบื่อเพื่อนมาแล้ว... ยังอยากได้เพื่อนมาทำไมอีกเล่า ?"

"เบื่อก็จริงแต่เบื่อเฉพาะคนไม่ดี ส่วนเวลานี้ต้องการเพื่อนที่ดีๆ"

"คนดีอยู่ที่ไหนล่ะ ? เห็นไหม หาคนดีได้ไหม เพื่อนร่วมทางกันมาก็คิดว่าเขาไม่ดีทั้งนั้น คงคิดว่าตัวเองดีคนเดียวละมั้ง จึงหนีเขามานี่"

จากนั้นก็ถามและตอบตัวเองอีกว่า... "คนดีอยู่ที่ไหน... คนดีอยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราดี ไปไหนมันก็ดี เขาจะนินทา สรรเสริญ จะว่าอะไร ทำอะไร เราก็ยังดีอยู่ แต่ถ้าเรายังไม่ดี เขานินทา เราก็จะโกรธ ถ้าเขาสรรเสริญ เราก็ยินดี... ก็หวั่นไหวอยู่อย่างนั้น

เมื่อรู้ว่าคนดีอยู่ที่ไหนแล้ว เราจะมีหลักในการปล่อยวางความคิด เราจะไปอยู่ที่ไหน... คนเขาจะรังเกียจ หรือเขาจะว่าอะไร ก็ถือว่าไม่ใช่เขาดีหรือเขาชั่ว เพราะดีหรือชั่วอยู่ที่ตัวเรา... เราย่อมรู้จักตัวเราเองยิ่งกว่าใคร..."
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 3:18 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

11. ที่สุดแห่งสมาธิ

เมื่อตอบปัญหา คนดีอยู่ไหนแก่ตนเองแล้ว หลวงพ่อเกิดความปลื้มปิติเยือกเย็นใจมาก และได้ถือเอาความรู้นั้นเป็นคติสอนใจตลอดมา

หลวงพ่อได้ออกจาริกต่อตามวิถีทางของพระกรรมฐาน ผู้ไม่ยึดติดและไม่ยอมให้สิ่งใดผูกมัดตน แม้จะต้องผ่านพบกับสิ่งต่างๆ ทั้งดีและเลว ทั้งสุขและทุกข์ ก็เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยการเห็นโทษ และมีปัญญาในการสลัดออก

วันหนึ่งหลวงพ่อเดินผ่านดงใหญ่ถึงวัดร้าง ใกล้หมู่บ้านโคกยาว จังหวัดนครพนม พบว่าสถานที่วิเวกดี จึงหยุดพักอยู่ที่นั่น ได้รับความสงบระงับดีมาก ท่านเล่าถึงประสบการณ์เกี่ยวกับการภาวนาที่วัดร้างนั้นให้ฟังว่า...

"คืนนั้นประมาณห้าทุ่มกว่าๆ ขณะเดินจงกรมอยู่ รู้สึกแปลกๆ มันแปลกมาตั้งแต่กลางวันแล้ว รู้สึกว่าไม่คิดอะไรมาก มีอาการสบายๆ เมื่อเดินจงกรมเมื่อยแล้ว จึงขึ้นไปนั่งกระท่อมเล็กๆ ขณะจะนั่งคู้ขาเข้าแทบไม่ทัน จิตมันอยากสงบ มันเป็นของมันเอง... พอนั่งลงแล้วจิตมันก็สงบจริงๆ รู้สึกตัวหนักแน่น...

คืนนั้นในหมู่บ้านมีงาน เขาร้องรำทำเพลงกัน ได้ยินอยู่แต่จะทำให้ไม่ได้ยินก็ได้ เมื่อไม่เอาใจใส่ก็เงียบไม่ได้ยิน จะให้ได้ยินก็ได้ยิน ไม่รู้สึกรำคาญ...

ดูจิตกับอารมณ์ก็เห็นตั้งอยู่คนละส่วน เหมือนวัตถุสองอย่างตั้งอยู่โดยไม่ติดกัน ก็เลยเข้าใจว่า เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ถ้าน้อมไปก็ได้ยินเสียง ถ้าว่างก็เงียบ ถ้ามีเสียงขึ้น ก็เห็นจิตกับเสียงเป็นคนละส่วน...

จิตใจขณะนั้นไม่เอาใจใส่ในสิ่งอื่นเลย ไม่มีความเกียจคร้าน ไม่มีความเหนื่อย ไม่มีความรำคาญ ของเหล่านี้ไม่มีในจิต มีแต่ความพอดีหมดทุกอย่างในนั้น...

ต่อมาจึงหยุดพัก หยุดแต่การนั่งเท่านั้น ใจเหมือนเก่ายังไม่หยุด ดึงเอาหมอนมาวางไว้ ตั้งใจจะพักผ่อน เพื่อเอนกายลงจิตยังสงบอยู่อย่างเดิม พอศรีษะถึงหมอนมีอาการน้อมเข้าไปในใจ คล้ายกับมีสายไฟอันหนึ่งไปถูกสวิตช์ไฟฟ้าเข้า มีความรู้สึกว่ากายระเบิดเสียงดังมาก ความรู้ที่มีอยู่นั้นละเอียดที่สุด พอมันผ่านตรงจุดนั้น ก็หลุดเข้าไปในโน้น แม้อะไรๆ ทั้งปวงก็ส่งเข้าไปไม่ได้ ไม่มีอะไรเข้าไปถึง หยุดอยู่ข้างในสักพักหนึ่ง ก็ถอยออกมาจนถึงปกติธรรมดา ที่ว่าถอยออกมานี้ไม่ใช่ว่าเราจะให้ถอย มันเป็นเอง เราเป็นเพียงผู้ดู ผู้รู้เท่านั้น...

เมื่อจิตเป็นปกติดังเดิมแล้ว คำถามก็มีขึ้นว่า นี่มันอะไร ? คำตอบเกิดขึ้นว่า สิ่งเหล่านี้ของมันเป็นเอง ไม่ต้องสงสัยมัน คิดเท่านี้จิตก็ยอม

เมื่อหยุดอยู่สักพักหนึ่ง ก็น้อมเข้าไปอีก เราไม่ได้น้อมมันน้อมเอง พอน้อมเข้าไปๆ ก็ไปถูกสวิตช์ไฟดังเก่า ครั้งที่สองนี้ร่างกายแตกละเอียดหมด แล้วหลุดเข้าไปข้างในอีก... เงียบ !... ยิ่งกว่าเก่า ไม่มีอะไรส่งเข้าไปถึง... พอสมควรแล้ว ก็ถอยออกมาตามสภาวะของมัน... ในเวลานั้นมันเป็นอัตโนมัติ มิได้แต่งว่าจงเป็นอย่างนั้น จงเป็นอย่างนี้ จงออกอย่างนั้น จงออกอย่างนี้... ไม่มี เราเป็นเพียงผู้ทำ ความรู้ดูเฉยๆ

เมื่อนั่งพิจารณาก็น้อมเข้าไปอีก ครั้งที่สามนี้โลกแตกละเอียดหมด ทั้งพื้นปฐพีแผ่นดิน แผ่นหญ้าภูเขาเลากาเป็นอากาศธาตุหมด ไม่มีคนหมดไปเลย ตอนสุดท้ายนี้ไม่มีอะไร ดูยาก พูดยาก ของสิ่งนี้ ไม่มีอะไรมาเปรียบปานได้เลย สามขณะนี้ใครจะเรียกว่าอะไร ใครรู้ เราจะเรียกว่าอะไรเล่า"

หลวงพ่อกล่าวต่อไปอีกว่า...

"ที่เล่ามานี้เป็นเรื่องจิตตามธรรมชาติทั้งนั้น เราไม่ต้องการอะไร มีศรัทธาก็ทำเข้าไปจริงๆ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เมื่อถึงวาระที่เป็นอย่างนี้ออกมาแล้ว โลกนี้แผ่นดินนี้มันพลิกหมด ความรู้ความเห็นมันแปลกไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง

ในระยะนั้น ถ้าคนอื่นเห็นอาจจะว่าเราเป็นบ้าจริงๆ ถ้าผู้ควบคุมสติไม่ดีอาจเป็นบ้าได้ เพราะมันไม่เหมือนเก่าสักอย่างเลย เห็นคนในโลกไม่เหมือนเก่า แต่มันเป็นเฉพาะเราผู้เดียวเท่านั้น แปลกไปหมดทุกอย่าง ความนึกคิดทั้งหลายทั้งปวงก็เช่นกัน เขาคิดไปทางโน้น แต่เราคิดไปทางนี้ เขาพูดมาทางนี้ เราพูดไปทางโน้น มันต่างกับมนุษย์ไปหมด นี่เป็นเรื่องกำลังของสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิถึงขั้นนี้ ถึงที่สุดของมันแล้ว

เราเอาความสงบขั้นนี้มาพิจารณา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่มากระทบใจ... อารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้นมา เราเอาความสงบมาพิจารณารู้เท่าทันหมด รู้ว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี อาการที่พิจารณาออกมาจากความสงบเหล่านี้แหละ เรียกว่า ปัญญา เป็นวิปัสสนา"
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 30 ก.ค.2006, 3:34 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 3:31 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

12. ทุกข์เพราะคิดผิด

วันคืนที่วัดร้างบ้านโคกยาวผ่านไปสิบเก้าวัน การบำเพ็ญเพียรทางจิตได้รับผลดียิ่ง คุ้มค่า กับการต่อสู้ที่เอาชีวิตเป็นเดิมพัน โดยมีความบากบั่นอดทนและปัญญาเป็นธรรมาวุธ รวมทั้งเป็นดังเพื่อนร่วมทางในชีวิตพระธุดงค์...

หลวงพ่อเดินทางออกจากวัดร้างนั้น พร้อมกับความสงบแห่งจิต ยากยิ่งที่จะบรรยายความรู้สึกนี้แก่ใคร ระหว่างทางได้พบปะชาวบ้าน บางแห่งมีผู้มาไต่ถามปัญหาต่างๆ ก็สามารถตอบได้โดยแจ่มแจ้งและฉับพลัน ไม่มีความติดขัดทั้งในปัญหาของตนเองและคนอื่น

เดินธุดงค์พักตามป่าเขา เงื้อมผา คูหาถ้ำ ริมลำธาร ไปเรื่อยๆ จนถึงอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม พักภาวนาอยู่ริมแม่น้ำโขง แล้วข้ามไปนมัสการพระพุทธบาทพลสันต์ที่ฝั่งลาว ต่อจากนั้นได้ย้อนกลับมาที่อำเภอศรีสงครามอีกครั้ง

ขณะที่พักอยู่ที่บ้านหนองกา อำเภอศรีสงคราม แม้จิตจะเคยผ่านภาวะที่สุดของสมาธิ จนจิตใจแปลกแตกต่างจาปกติจิตก็ตาม แต่หาใช่ว่ารากเหง้าของกิเลสจะถุกกำจัดสิ้นไปไม่ เพราะสมาธิมีอำนาจเหนือกิเลสบางอย่างเท่านั้น ไม่อาจระงับกิเลสที่สะสมนอนเนื่องในจิตใจได้ทั้งหมด

ในขณะนั้น บริขารของหลวงพ่อคร่ำคร่าแทบจะใช้ไม่ได้ จึงเกิดความอยากได้ของใหม่ จนใจกระวนกระวาย ท่านเล่าถึงประสบการณ์ในครั้งนั้นว่า...

"ตอนไปอยู่ศรีสงคราม บริขารเราเก่ามาก จะขอใครก็ไม่ได้เพราะไม่มีญาติ ไม่มีใครปวารณา จิตมันดิ้นรนกระวนกระวาย... ในเวลานั้นบาตรที่ใช้มีขนาดเล็กมากและยังรั่วอีกหลายรู พระที่วัดหนองกาท่านสังเกตเห็น จึงนำบาตรขนาดใหญ่แต่มีรูรั่วด้วยมาถวาย ฝาบาตรก็ไม่มี...

นึกขึ้นได้ สมัยเป็นเด็กไปเลี้ยงควายเห็นเพื่อนเอาเถาวัลย์มาถักเป็นหมวก เลยให้เขาเอาหวายมาให้ แล้วเหลาให้แบนอันหนึ่ง กลมอันหนึ่ง แล้วถักเป็นวงๆ ได้ฝาบาตรใช้เหมือนกัน แต่ดูแล้วเหมือนกระติบใส่ข้าวเหนียว เวลาไปบิณฑบาตมองดูฝาบาตรตัวเองรู้สึกขวางหูขวางตา ใครเห็นเขาเรียกว่า พระบาตรใหญ่

จึงทำมาใหม่... ทำทั้งกลางวันกลางคืน ตอนนั้นคิดผิดเพราะอยากได้มาก กลางคืนจุดไต้ ทำอยู่ในป่าคนเดียว สานไปสานมา มือไปชนไต้ที่จุดไว้ ขี้ไต้ตกใส่มือ ไฟไหม้หนังหลุดหมด มีแผลเป็นอยู่กระทั่งเดี๋ยวนี้...

จึงรู้สึกตัว เอ... นี่เรากำลังทำอะไร... คิดผิดแล้วนี่ บวชมาเพื่อเอาบริขาร บาตร จีวร แค่นี้หรือ ถึงขนาดทำจนไม่ได้หลับได้นอน

เลยมานั่งพิจารณาอยู่ แล้วก็เดินจงกรม เดินไปยังคิดถึงฝาบาตรอีกนั่นแหละ เดินจนจวนสว่างรู้สึกเหนื่อย จึงพักมานั่งสมาธิ นั่งก็คิดอีก พอเคลิ้มไปนิดหนึ่ง เห็นเป็นภาพพระพุทธเจ้าองค์ใหญ่ท่านบอกว่า... มานี่จะเทศน์ให้ฟัง... เข้าไปกราบท่าน ท่านก็เทศน์เรื่องบริขารให้ฟังว่า เครื่องบริขารทั้งปวงเป็นเพียงเครื่องประดับขันธ์ห้าเท่านั้น...

สะดุ้งตื่นตัวสั่นเทาเลย เสียงนั้นยังติดอยู่ในใจจนทุกวันนี้... เข็ดหลาบเลย... ความอยากได้จนไม่รู้จักตัวเองนี่ ที่นี้เลยเลิกทำแบบนั้นมาทำเป็นเวลา... ทำแล้วพัก... เดินจงกรม... นั่งสมาธิด้วย"

เมื่อกล่าวถึงอดีต หลวงพ่อมักพูดด้วยอารมณ์ขันและไม่ปิดบังปัญหาส่วนตัวต่างๆ ที่ท่านผ่านพบ เพื่อให้เป็นคติแก่ศิษย์ว่า... แม้ครูบาอาจารย์เอง เมื่อเริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ก็ผจญกับปัญหาแทบเอาตัวไม่รอดเหมือนกัน และท้ายสุดของเรื่องคิดผิดเพราะบริขารนี้ หลวงพ่อเล่าต่อไปว่า

"... งานอะไรก็ตาม ถ้าเราทำไม่เสร็จทิ้งเอาไว้ แล้วมาทำสมาธิ ใจมันก็ไปติดอยู่ที่งานนั่นแหละ สลัดทิ้งก็ไม่ได้ งัดยังไงก็ไม่หลุด... คิดว่าจะลองฝึกให้ได้ว่า เมื่อทำงานก็ให้ทำไป เมื่อเลิกทำก็ให้วาง ให้มันเป็นคนละอย่าง ไม่ต่อกัน ไม่ให้เป็นทุกข์ แต่ว่ามันหัดยากเหลือเกิน ตัวอุปทานมั่นหมายนี้ละยาก... วางยาก

หรือการคิดว่า ทำอะไรก็ทำให้เสร็จไปเลย มันจะได้รู้แล้วรู้รอด ไม่ต้องมาคอยเป็นห่วง คิดอย่างนั้นก็ถุกอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าคิดให้ถึงธรรมะจริงๆ มันไม่ถูก เพราะไม่มีอะไรจะรู้จบได้เลย ถ้าใจเรายังไม่ยอมเลิก... ไม่ยอมหยุด...

ต่อมาจึงทดลองฝึกหัด ทำอะไรก็ไม่รีบเร่งให้เสร็จเร็วๆ ทำไปพอสมควร วางไว้ไปเดินจงกรม พอจิตกลับไปพะวงกับงานก็ทักท้วงตัวเอง ฝึกตัวเองไม่ให้คิดอย่างนั้น...

ปฏิบัติอย่างนี้เรื่อยมา คือฝึกให้ได้ว่า ถึงเวลาวางก็ให้มันวาง ให้มันเป็นคนละอย่าง... ทำก็ได้ วางก็ได้ ให้มันขาดกันไปเลย ฝึกไปก็ค่อยเบาไป ง่ายขึ้น จึงได้รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ คือความอยากนั่นเอง

จากนั้นมา ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ก็มีแต่ความสดชื่นเบิกบาน จนกระทั่งถักฝาบาตรเสร็จ แต่พอไปบิณฑบาต เขาก็ยังมองอยู่ว่า พระองค์นี้ทำไมใช้บาตรแปลกๆ และใหญ่อย่างนั้น"
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 3:57 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

13. หลวงตา

ใกล้ฤดูเข้าพรรษา หลวงพ่อเดินธุดงค์มาถึงวัดป่าแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในป่าช้า เขตอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม มีพระหลวงตาพำนักอยู่กับพระลูกวัดหลายรูป

วันนั้น เมื่อกล่าวธรรมปฏิสันถารกันพอสมควร หลวงตาสมภารวัดปรารภถึงภูมิจิตกับตัวเองว่า "ผมหมดความโกรธแล้ว" หลวงพ่อรู้สึกแปลกใจมาก เพราะคำพูดเช่นนี้ไม่ค่อยได้ยินใครกล่าวบ่อยนักในหมู่ผู้ปฏิบัติ จึงอยากพิสูจน์ให้รู้ชัด และช่วงนั้นจวนเข้าพรรษาแล้ว หลวงพ่อตัดสินใจขอจำพรรษาด้วย

แต่ไม่ง่ายเสียทีเดียว หลวงตาไม่ไว้ใจใครง่ายๆ เหมือนกัน เพราะหลวงพ่อเป็นพระแปลกหน้า และยังจรมาผู้เดียว ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่าจะมาดีหรือร้ายอย่างไร หลวงตากับพระลูกวัดจึงปฏิเสธไม่ยอมให้พำนักด้วย แต่ผ่อนผันให้ไปจำพรรษาที่ป่าช้านอกเขตวัด

ครั้นถึงวันเข้าพรรษา หลวงตาให้พระไปนิมนต์หลวงพ่อมาจำพรรษาด้วย เพราะได้รับคำทักท้วงจากพระรูปหนึ่งว่า "พระมีพรรษามากขนาดนี้ ให้จำพรรษานอกเขตวัดเห็นจะไม่เหมาะ บางทีท่านอาจเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็ได้ ไม่ควรประมาท"

แม้จะได้ร่วมจำพรรษาในสำนัก แต่หลวงตากับลูกศิษย์ก็ตั้งกติกากีดกันหลวงพ่อไว้หลายอย่างคือ

ไม่ให้รับประเคนของจากโยม ต้องคอยรับจากพระรูปอื่นส่งให้
ไม่ให้ร่วมอุโบสถสังฆกรรม ให้บอกปริสุทธิเท่านั้น
เวลานั่งฉันอาหาร ให้นั่งต่อท้ายพระพรรษาน้อยที่สุดของสำนัก

กติกาทั้งสามข้อนี้ หลวงพ่อยินดีปฏิบัติตามทุกอย่าง แม้ท่านจะมีพรรษาสิบแล้วก็ตาม ท่านกลับพิจารณาน้อมเอาประโยชน์จากข้อกีดกันนั้น โดยให้คติแก่ตนเองว่า "หลวงตากับคณะกำลังทดสอบเรา และการนั่งหัวแถวหรือท้ายแถวก็ไม่แปลกอะไร เหมือนกับเพชรนิลจินดา จะวางไว้ที่ไหนก็มีคุณค่าเท่าเดิม และการปฏิบัติตามกติกานี้ จะช่วยลดทิฐิมานะของเราให้เบาบางลงด้วย"

การจำพรรษาร่วมกับหลวงตาผ่านไปด้วยความสงบ เพราะหลวงพ่อวางความรู้สึกนึกคิดได้ถูกและเป็นปกติ จึงพากเพียรภาวนาอย่างสม่ำเสมอ พยายามพูดน้อย เมื่อได้ยินใครพูดสิ่งใดก็น้อมมาพิจารณาเป็นปัญญาแก้ไขตัวเอง และเฝ้าสังเกตเลือกเอาแต่สิ่งที่ดีงามจากข้อวัตรปฏิบัติที่มีอยู่ในสำนัก เพื่อถือเอาเป็นบทเรียน

ขณะเดียวกัน หลวงตาและคณะก็จับตามองหลวงพ่ออย่างไม่ให้คลาดสายตาเช่นกัน แต่ท่านวางเฉย ไม่แสดงกิริยาอาการใดๆ โต้ตอบ กลับคิดขอบคุณเขาว่า

"เขาช่วยไม่ให้เราเผลอไปประพฤติบกพร่อง เปรียบเหมือนมีคนมาช่วยป้องกันความสกปรก ไม่ให้แปดเปื้อนแก่เรา"

ในพรรษานั้น หลวงพ่อทำความเพียรภาวนาสม่ำเสมอ เคารพกฏกติกาอย่างไม่บกพร่อง พระเณรร่วมสำนักเริ่มยำเกรงท่านมากขึ้น

เช้าวันหนึ่ง ชาวบ้านนำข้าวหมากมาถวาย หลวงตากับพระลูกวัดทุกรูปฉันกันอย่างเอร็ดอร่อย ส่วนหลวงพ่อเพียงแต่รับประเคนแล้ววางไว้ข้างๆ หลวงตาสังเกตดูอยู่จึงถามว่า

"ท่านชา ไม่ฉันข้าวหมากหรือ... ทำไมล่ะ ?"

"ไม่ฉันครับ... ผมว่ากลิ่นและรสมันไม่เหมาะแก่พระเท่าไหร่"

หลวงตาได้ฟังก็หน้าเสีย... ฉันอาหารแทบไม่รู้รส

อยู่ต่อมาวันหนึ่งในกลางพรรษา หลวงตาพาพระเณรลงเรือไปเก็บฟืนมาไว้ใช้ เมื่อถึงไร่ร้างริมน้ำ พระลูกวัดพากันขึ้นไปขนฟืนมากองไว้ที่ฝั่งห้วย หลวงพ่อทำหน้าที่ขนลงเรือ

ขณะจัดเรียงฟืน หลวงพ่อสังเกตเห็นไม้พะยุงท่อนหนึ่ง มีรอยถากเป็นทรงกลมยาวประมาณ 2 เมตร ท่านคิดว่าไม้ท่อนนี้ต้องมีเจ้าของแน่ หากขนลงเรือจะมีความผิดเป็นการลักทรัพย์ ทำให้ขาดจากการเป็นพระได้ จึงไม่ยอมแตะต้อง

พอได้เวลาจวนกลับ หลวงตาเดินมาถึงเห็นไม้ท่อนนั้นถูกทิ้งอยู่ริมตลิ่ง จึงร้องถามว่า

"ท่านชา... ทำไมไม่ขนไม้ท่อนนี้ลงเรือ ?"

"ผมเห็นว่าไม่เหมาะครับ มันคงมีเจ้าของเพราะมีรอยถากไว้"

เมื่อหลวงพ่อตอบเช่นนี้ หลวงตาชะงักงันอยู่ชั่วครู่ แล้วจึงแกล้งร้องบอกแก้เก้อให้พระเณรรีบลงเรือ โดยทิ้งไม้ท่อนนั้นไว้ริมฝั่งนั่นเอง

ความผิดพลาดของหลวงตา ผู้มีทีท่าว่าเป็นนักปฏิบัติที่เคร่งครัดส่งเสริมให้คุณค่าของหลวงพ่อสูงขึ้นตามลำดับ เพราะหลวงพ่อไม่ซ้ำเติมหรือดูหมิ่นเหยียดหยามใคร กลับเก็บตัวภาวนาอยู่เงียบๆ เช่นเดิม

หลังจากนั้นหลายวัน ชาวบ้านมาเผาข้าวหลามข้างโรงครัว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกุฏิหลวงพ่อ หลวงพ่อกลับจากบิณฑบาตก็ขึ้นกุฏินั่งพักผ่อน สักครู่หนึ่งเห็นหลวงตาเดินผ่านไปทางโรงครัว ขณะนั้นไฟลุกไหม้กระบอกข้าวหลามจนเกรียม เพราะไม่มีใครคอยพลิกกลับ

หลวงตามองซ้ายมองขวานึกว่าไม่มีใครเห็น จึงพลิกกระบอกข้าวหลามเสียเอง หลวงพ่อนั่งอยู่ที่หน้าต่างจึงเห็นการกระทำนั้น ครั้นถึงเวลาฉัน ชาวบ้านนำข้าวหลามมาถวาย พระเณรฉันกันหมด แต่หลวงพ่อรับแล้ว วางไว้เฉยๆ หลวงตาฉันไปได้สักพัก ก็เหลือบตาสำรวจกิริยาการขบฉันของลูกศิษย์ตามความเคยชิน แต่สายตาต้องสะดุดหยุดลงทันที เพราะเห็นหลวงพ่อไม่ยอมฉันข้าวหลาม จึงถามเบาๆ ว่า "ท่านชา ฉันข้าวหลามหรือเปล่า ?"

"เปล่าครับ" หลวงพ่อตอบ

คราวนี้หลวงตาถึงกับสะอึก แล้วพูดอย่างอายๆ ว่า

"ผมต้องอาบัติแล้ว" (พระจับอาหารที่ยังไม่ได้รับประเคน ถ้าของที่จับยังไม่เคลื่อนที่ ต่อมามีคนมาประเคนในภายหลัง หากพระผู้จับฉันอาหารนั้นเป็นอาบัติ ส่วนพระรูปอื่นฉันได้ แต่ถ้าทำให้ของเคลื่อนที่ไป แม้มีผู้มาประเคนใหม่ หากพระรับมาฉันก็เป็นอาบัติด้วยกันทุกรูป)

หลวงตานึกรู้ทันทีว่า หลวงพ่อต้องเห็นตนพลิกกระบอกข้าวหลามแน่ จึงสารภาพผิดออกมา ครั้นฉันอาหารเสร็จ หลวงตาเข้ามาขอแสดงอาบัติด้วย แต่หลวงพ่อพูดว่า "ไม่ต้องก็ได้ครับ ให้พยายามสำรวมระวังต่อไป"

หลวงตากับพระเณรรู้สึกทึ่งและนึกนิยมในอัธยาศัยของหลวงพ่อมากขึ้น ทั้งที่พวกตนพยายามกีดกันรังเกียจด้วยความไม่ไว้ใจ แต่พระอาคันตุกะรูปนี้กลับหนักแน่นและใจสูงยิ่งนัก จึงตกลงกันว่าให้ล้มเลิกกติกากีดกันนั้น

แต่หลวงพ่อตอบด้วยนิสัยที่เคารพต่อกฎระเบียบว่า "ทำอย่างนั้นคงไม่เหมาะครับ ขอให้ถือตามกติกาเดิมที่ตั้งไว้ดีกว่า เพื่อความสงบเรียบร้อยต่อไป" ต่อจากนั้นมา พระทุกรูปได้ให้ความสำคัญและเคารพยำเกรงต่อหลวงพ่อมาก ความรู้สึกอคติที่มีต่อกันถูกทำลายลงด้วยคุณธรรม

แล้ววันหนึ่ง กาลเวลาได้พิสูจน์คำพูดของหลวงตาที่ว่า "ผมหมดความโกรธแล้ว" ให้ได้ประจักษ์ข้อเท็จจริงขึ้นมาดังพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "ศีล (ความประพฤติ) จะพึงรู้ได้เมื่ออยู่ร่วมกันนานๆ"

ท้ายพรรษา พายุฝนพัดกระหน่ำติดต่อกันหลายวัน ท้องทุ่งนาแปรสภาพเป็นทะเลสาบขนาดย่อม ชาวบ้านต่างเดือดร้อนกันทั่วหน้าและวุ่นวายไปถึงวัวควาย เพราะไม่มีที่อยู่และหญ้าจะกิน วัดหลวงตาตั้งอยู่ที่บนดอนจึงรอดพ้นจากภัยน้ำท่วม วัวควายของชาวบ้านจึงมุ่งหน้ามากินหญ้าริมรั้ววัดประทังชีวิต บางตัวกินเพลินหลงเดินลึกเข้าเขตสำนัก หลวงตาไม่ชอบใจจึงให้พระเณรไล่ออกไปบ่อยๆ

เจ้าวัวน่าสงสารตัวหนึ่งถูกไล่ต้อนออกไปแล้ว แต่ด้วยความหิวจึงยื่นคอลอดรั้วกลับเข้ามากินหญ้าอีก หลวงตาซึ่งถือไม้รอท่าอยู่แล้วก็ตรงรี่เข้าไปตีวัวหลายที วัวตัวนั้นร้องด้วยความเจ็บปวด รีบมุดหัวกลับไป แต่กว่าจะหลุดไปได้ ก็ลิ้มรสไม้ตะพดหลวงตาเสียหลายตุ๊บ

หลวงพ่อยืนดูอยู่เงียบๆ นึกสงสารวัวอย่างจับใจ เพราะสิ่งที่พวกมันควรได้จากวัด คือ ความสุขจากเมตตาจิตของสมณะ แต่นี่กลับเป็นความไร้น้ำใจจากนักบวชผู้ซึ่งเคยกล่าวไว้ว่า "เราหมดความโกรธแล้ว !"
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 30 ก.ค.2006, 9:09 pm, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 4:17 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

14. สัจธรรมในป่าช้า

กลางป่าช้าข้างวัดหลวงตา มีศาลาเล็กๆ หลังหนึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางหลุมฝังศพที่เรียงรายเกลื่อนกลาด หลวงพ่อมักหลีกเร้นมานั่งสมาธิ พิจารณาสภาวธรรมอยู่ที่ศาลาหลังนั้นอยู่เสมอ ความวังเวงและหลุมฝังศพรวมทั้งกองกระดูกช่วยให้จิตใจสงบระงับ เกิดธรรมสังเวชในความเป็นไปของสัตว์โลก ที่ต่างถูกกระแสกรรมนำมาเกิด ถูกความแก่ชราต้อนไป ถูกความเจ็บไข้รุมเร้าเบียดเบียน แล้วบีบคั้นให้ตายในที่สุด

วันหนึ่งขณะหลวงพ่อนั่งอยู่บนศาลาในป่าช้า มีกาตัวหนึ่งบินมาจับที่กิ่งไม้ใกล้ๆ แล้วส่งเสียงร้อง กา กา หลวงพ่อไม่ได้ใส่ใจ เพราะคิดว่ามันคงร้องไปตามประสาสัตว์

การู้ว่าหลวงพ่อไม่สนใจ จึงร่อนลงมายืนบนพื้นศาลาตรงหน้าท่าน มันคาบหญ้าแห้งมาวางแล้วร้อง กา กา แสดงอาการเหมือนจะส่งหญ้าให้ หลวงพ่อเห็นกิริยามันแปลกๆ จึงหันมามองและคิดในใจว่า "เจ้าจะบอกอะไรเราหรือ ?" เมื่อกาเห็นท่านสนใจ ก็ทิ้งหญ้าแห้งไว้แล้วบินหายไป หลังจากนั้นสามวัน ชาวบ้านได้หามศพเด็กชายคนหนึ่งป่วยเป็นไข้ตายมาเผาข้างๆ ศาลานั้น

สามสี่วันต่อมา อีกาบินมาหาหลวงพ่อที่ศาลานั้นอีก ครั้งแรกเกาะอยู่บนกิ่งไม้ เมื่อเห็นหลวงพ่อไม่สนใจ กาก็บินลงมาที่พื้นแล้วแสดงกิริยาเหมือนครั้งแรก พอหลวงพ่อหันมาดู มันก็บินหนีไปอย่างเคย

จากนั้นไม่กี่วัน ชาวบ้านหามศพมาอีก คราวนี้เป็นพี่ชายของเด็กที่ตายไปเมื่อไม่นานนั่นเอง ซึ่งเกิดป่วยกระทันหัน ตายตกตามกันอย่างน่าประหลาดใจ กาตัวนั้นเป็นทูตมรณะจริงๆ เพราะอีกสามวันเท่านั้น มันได้บินมาส่งข่าวหลวงพ่ออีกครั้ง แล้วไม่กี่วันพี่สาวของเด็กชายทั้งสองที่ตายไปก่อนนั้นมีอันต้องป่วยตายไปอีกคน

ทุกข์ใดๆ ในโลก ดูเหมือนจะโถมทับลงมาที่พ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นทั้งหมด เพราะช่วงเวลาเพียงสองอาทิตย์ ต้องสูญเสียลูกๆ ที่รักดังแก้วตาดวงใจไปถึงสามคน จึงต่างร่ำไห้ด้วยความโศกเศร้าอาลัย

หลวงพ่อเห็นสภาพของคนเหล่านั้น ยิ่งเกิดความสลดสังเวชในความเป็นจริงของชีวิต ได้น้อมนำเหตุการณ์นั้นมาเตือนตนมิให้ประมาท พิจารณาเห็นว่าความทุกข์โศกย่อมเกิดจากของที่เรารักและหวงแหน

สัจธรรมในป่าช้าเร่งเร้าให้หลวงพ่อไม่ยอมเนิ่นช้าในการปฏิบัติ ท่านเพิ่มเวลาในการภาวนามากขึ้น ลดเวลาพักผ่อนลง มุ่งหน้าทำความเพียร แม้ฝนตกพรำๆ ก็เหยียบย่ำน้ำเดินจงกรมอยู่อย่างนั้น

วันหนึ่งเกิดนิมิตว่าได้เดินไปยังที่แห่งหนึ่ง พบคนแก่นอนป่วยร้องครวญครางปานจะขาดใจ หลวงพ่อหยุดพิจารณาดู แล้วเดินต่อไประหว่างทางพบคนป่วยหนักจวนตาย ร่างกายซูบผอมเหลือเพียงหนังหุ้มกระดูก นอนหายใจรวยรินอยู่ริมทาง ได้หยุดดูแล้วเดินผ่านไปไม่ไกลก็พบคนตายนอนหงายขึ้นอืด ตาถลน ลิ้นจุกปาก และมีหนอนชอนไชอยู่เต็มร่าง เกิดความสลดสังเวชเป็นอย่างยิ่ง

พอตื่นขึ้นมา ภาพนั้นยังติดตามติดใจไม่เลือนลาง รู้สึกเบื่อหน่ายต่อชีวิต อยากหลุดพ้นออกจากกองทุกข์นี้โดยเร็ว จึงคิดจะปลีกตัวขึ้นไปทำความเพียรบนยอดเขาสักเจ็ดวัน หรือสิบห้าวัน จึงจะลงมาบิณฑบาต แต่มีปัญหาว่าบนยอดเขาไม่มีน้ำดื่ม พอดีนึกถึงกบจำศีลในรู มันกินน้ำเยี่ยวของตัวเอง ยังมีชีวิตอยู่ได้ จึงทดลองดูบ้างแต่ไม่ได้ผล เพราะน้ำปัสสาวะนั้นเมื่อดื่มซ้ำเข้าไปหลายๆ ครั้ง พอตกถึงกระเพาะก็ไหลออกมาทันที

เมื่อคิดว่าไม่อาจไปอยู่บนยอดเขาได้ จึงทดลองอดอาหาร ฉันวันเว้นวันสลับกันไป ทำอยู่ประมาณสิบห้าวัน ขณะอดอาหารรู้สึกว่าร่างกายร้อนดังถูกไฟแผดเผา มีอาการทุรนทุรายแทบทนไม่ได้ จิตใจกระสับกระส่ายไม่สงบ จึงล้มเลิกวิธีนี้เพราะไม่ถูกกับจริต

ต่อมาได้นึกถึงอปัณณกปฏิปทา (ข้อปฏิบัติไม่ผิด) คือ โภชเนมัตตัญญุตา การรู้จักประมาณในการฉันอาหารให้พอสมควร ไม่มากหรือน้อยเกินไป อินทรียสังวร สำรวมระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ถูกกิเลสครอบงำ ชาคริยานุโยค ทำความเพียรสม่ำเสมอ ไม่เกียจคร้านหรือเห็นแก่หลับนอนจนเกินไป

เมื่อน้อมใจไปถึงทางดำเนินนี้จึงหยุดวิธีทรมานตน กลับมาฉันอาหารวันละครั้งดังเดิม แล้วทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง การบำเพ็ญภาวนาก้าวหน้าขึ้นมาก จิตใจสงบระงับปราศจากนิวรณ์ การพิจารณาธรรมก็แตกฉานแจ่มแจ้ง ไม่ติดขัด

ครั้นออกพรรษาแล้ว หลวงตาซึ่งเฝ้าจับตามองหลวงพ่อมานาน เห็นหน่วยก้านและภูมิปัญญาน่าเลื่อมใส จึงชักชวนให้ข้ามโขงไปตั้งสำนักทางฝั่งลาวด้วยกัน แต่ได้รับคำปฏิเสธจากหลวงพ่อ พอจวนจะสิ้นปี หลวงตาก็พาคณะออกธุดงค์ข้ามโขงไปฝั่งลาว ละทิ้งหลวงพ่อและสำนักของตนไว้เบื้องหลัง...
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 4:32 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

15. หลงทาง

ต้นปี พ.ศ. 2492 หลังจากหลวงตาและคณะละทิ้งสำนักไปได้เจ็ดวัน หลวงพ่อได้ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ภูลังกา อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม ในระหว่างนั้น การปฏิบัติสมาธิภาวนาของท่านมีอันต้องสะดุดหยุดอยู่กับที่ คล้ายกับเดินไปถึงจุดๆ หนึ่ง แล้วเดินต่อไปไม่ได้

หลวงพ่อฟื้นความหลังให้ลูกศิษย์ฟังว่า

"...ขณะนั้นคิดว่า ใครหนอจะช่วยเราได้ ก็นึกถึงอาจารย์วัง ท่านอยู่ที่ภูลังกา ก็ไม่เคยพบท่านหรอก แต่ได้คิดว่าพระองค์นี้ท่านคงจะมีดีอย่างใดอย่างหนึ่งแน่ จึงขึ้นไปอยู่บนยอดเขาอย่างนั้น"

หลวงพ่อเดินธุดงค์ขึ้นสู่ภูลังกา ได้พบท่านอาจารย์วังดังปรารถนา ท่านพำนักอยู่กับเณรน้อยสองรูป ปลูกกุฏิเล็กๆ ตามพลาญหินและเงื้อมผา มีที่หลีกเร้นเหมาะแก่การภาวนามาก คืนหนึ่งหลังเสร็จจากกิจวัตรส่วนตัว หลวงพ่อได้ขอโอกาสสนทนาและถามปัญหาธรรม ที่ตนขัดข้องต่อท่านอาจารย์วัง หลวงพ่อได้ถ่ายทอดให้ศิษย์ฟังว่า

"ที่ผมขึ้นมากราบท่านอาจารย์ครั้งนี้ เพราะผมจนปัญญาแล้ว คล้ายๆ กับว่าเราเดินไปบนสะพานที่ทอดยาวไปในแม่น้ำ เราเดินไปแล้วก็หยุดอยู่ไม่มีที่จะไปอีก พอหันเดินกลับมา บางทีก็เดินเข้าไปอีก นี่เป็นสมาธินะครับ ไปถึงตรงนั้นแล้วมันก็จบอยู่ไม่มีที่ไป เลยต้องหันกลับมาอีก กำหนดไปต่อก็ไปไม่ได้ บางทีกำหนดไปเหมือนมีอะไรมาขวางอยู่ แล้วก็ชนกึ๊กอยู่ตรงนั้น เป็นอาการอย่างนี้มานานแล้ว มันคืออะไรครับ"

ท่านอาจารย์วังตอบว่า

".... มันเป็นที่สุดแห่งสัญญาแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต้องไปไหน ให้ยืนอยู่ตรงนั้นแหละ ให้กำหนดอยู่ตรงนั้น มันจะแก้สัญญา มันจะเปลี่ยนเอง ไม่ต้องไปบังคับมันเลย ให้เรากำหนดรู้ว่าอันนี้มันเป็นอย่างนี้ เมื่อมีความสุขอย่างนี้แล้ว จิตมีอาการอย่างไรก็ให้รู้ว่าเป็นอย่างนั้น ให้รู้เข้ามา ถ้ารู้จักแล้ว เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน เปลี่ยนสัญญา คล้ายๆ กับว่าสัญญาของเด็กเปลี่ยนเป็นสัญญาผู้ใหญ่ อย่างเด็กมันชอบของเล่นอย่างนี้ พอโตขึ้นมาเห็นของชิ้นเก่านี้ไม่น่าเล่นเสียแล้ว ก็เลยไปเล่นอย่างอื่น นี่มันเปลี่ยนอย่างนี้"

ท่านอาจารย์วังเสริมต่ออีกว่า

"...มันเป็นได้ทุกอย่างก็แล้วกันเรื่องสมาธินี่ แต่จะเป็นอะไรก็ช่างมันเถอะ อย่าไปสงสัย เมื่อเรามีความรู้สึกอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็ค่อยเปลี่ยนไปเอง ให้กำหนดรู้และเพ่งตรงนี้ แต่อย่าเข้าใจว่ามันหมดนะ เดี๋ยวจะมีอีก แต่ให้วางมัน รู้ไว้ในใจแล้วปล่อยวางเสมอ อย่างนี้ไม่เป็นอันตราย กำหนดอยู่อย่างนี้ให้มีรากฐาน อย่าไปวิ่งตามมัน พอเราแก้อันนี้ได้ มันก็ไปได้"

หลวงพ่อเรียนถามอีกว่า

"ทำไมบางคนไม่มีอะไรขัดข้องในการภาวนาล่ะครับ ?"

"อันนี้เป็นบุพกรรมของเรา ต้องต่อสู้กันในเวลานี้ ตอนจิตมันรวมนี่แหละ สิ่งที่เกิดขึ้นมาไม่ใช่ของร้ายอย่างเดียวนะ ของดีของน่ารักก็มี แต่เป็นอันตรายทั้งนั้น อย่าไปหมายมันเลย" ท่านอาจารย์วังตอบ

เหมือนบอกทางแก่คนหลงทาง หลังจากสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์วัง หลวงพ่อเกิดความเข้าใจในความละเอียดลึกซึ้งของธรรมปฏิบัติมากขึ้น ครั้นพูดคุยเรื่องต่างๆ กันพอสมควร หลวงพ่อก็กราบลาท่านอาจารย์วังกลับที่พัก

ในขณะพักอยู่บนภูลังกา หลวงพ่อได้เร่งความเพียรอย่างหนัก พักผ่อนเพียงเล็กน้อย ไม่คำนึงถึงเวลาว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืน คงยืนหยัดปฏิบัติไปอย่างต่อเนื่อง จิตพิจารณาเรื่องธาตุและสมมุติบัญญัติอยู่ตลอดเวลา หลวงพ่อพักอยู่ที่ภูลังกาได้สามวัน ก็กราบลาท่านอาจารย์วัง เดินลงมาถึงวัดแห่งหนึ่งตั้งอยู่เชิงเขา พอดีฝนตกจึงหลบเข้าไปนั่งสมาธิที่ใต้ถุนศาลา

ทันใดนั้น จิตเกิดความตั้งมั่นขึ้น แล้วมีความรู้เห็นตามมาเหมือนอยู่ในอีกโลกหนึ่ง ดูอะไรเปลี่ยนไปหมด กาน้ำวางอยู่ข้างๆ ก็ดูเหมือนไม่ใช่กาน้ำ บาตรก็ดูเหมือนไม่ใช่บาตร ทุกๆ อย่างเปลี่ยนสภาพไปหมด ต่างกันราวกับหน้ามือเป็นหลังมือ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธาตุ เป็นของสมมุติขึ้นทั้งนั้น แล้วน้อมเข้ามาดูตัวเอง ดูทุกสิ่งในร่างกายก็เห็นว่าไม่ใช่ของเรา ล้วนแต่เป็นของสมมุติทั้งหมด

การได้พบกับอาจารย์วังครั้งนั้น หลวงพ่อได้ความกระจ่างในทางธรรมปฏิบัติยิ่งขึ้น ท่านจึงให้อุทาหรณ์แก่บรรดาศิษย์ว่า

"...คนเราจะไปภาวนาคนเดียวมันก็ได้อยู่หรอก แต่บางคนอาจจะวกวนไปมาจนช้า ถ้ามีใครชี้บอกทางให้มันไปเร็ว และมีลู่ทางที่จะพิจารณามากกว่า..."

จากภูลังกา หลวงพ่อมุ่งหน้าสู่วัดป่าหนองฮี เพื่อกราบเยี่ยมหลวงปู่กินรี การพบกันในครั้งนี้ หลวงปู่ให้คำแนะนำสั้นๆ ตามอัธยาศัยของท่านว่า

"ท่านชา การเที่ยวธุดงค์ของท่านก็พอสมควรแล้ว ควรไปหาที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่งในที่ ราบๆ บ้างนะ"

หลวงพ่อกราบเรียนหลวงปู่ว่า

"กระผมตั้งใจจะธุดงค์กลับไปทางบ้านที่อุบลครับ"

"...จะกลับบ้านเพราะคิดถึงใครหรือเปล่า...? ถ้าคิดถึงผู้ใด ผู้นั้นจะให้โทษแก่เรา..." หลวงปู่กล่าวทิ้งท้ายด้วยคำอมตะ

เมื่อหลวงพ่อมาอยู่วัดหนองป่าพงแล้ว ได้นิมนต์ให้หลวงปู่กินรีมาพำนักด้วย เพื่อจะได้ปฏิบัติ อาจริยวัตร อุปัฏฐากรับใช้ท่าน แต่หลวงปู่ก็เพียงมาเยี่ยมเยือนเป็นครั้งคราวเท่านั้น ต่อมาหลวงพ่อได้ส่งพระเณรไปอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่กินรี จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 1:11 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

16. เพื่อนเก่า

ออกจากวัดป่าหนองฮี หลวงพ่อเดินธุดงค์ลงมาทางอีสานใต้ รอนแรมมาในป่าหลายวัน จนถึงบ้านป่าตาว ตำบลคำเตย อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ชาวบ้านถิ่นนั้นพอทราบข่าวว่า มีพระกรรมฐานมาพักอยู่ใกล้หมู่บ้าน ต่างพากันมาคารวะขอฟังธรรม หลวงพ่อได้แนะแนวทางปฏิบัติต่างๆ แก่พวกเขาจนเข้าใจและเกิดศรัทธา นำไปปฏิบัติตามสมควร

พักอยู่ที่บ้านป่าตาวสองเดือน ได้อำลาชาวบ้านออกแสวงหาความสงบวิเวกต่อไป โดยมุ่งหน้าลงมาทางอุบลฯ ชาวบ้านคนหนึ่งมีศรัทธามากได้ฝากฝังลูกชายนามว่า ทองดี ให้เป็นศิษย์ติดตามไปด้วย เมื่อหลวงพ่อเดินทางมาถึงบ้านก่อ ท่านได้แวะพักที่ป่าช้าวัดก่อนอกเพื่อเยี่ยมเยือนโยมมารดาและญาติพี่น้อง และได้ฝึกสอนเด็กชายทองดีกับเด็กชายเที่ยง (หลวงพ่อเที่ยง โชตธมฺโม ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าอรัญวาสี สาขาที่หนึ่งของวัดหนองป่าพง)

พอฝึกหัดเด็กทั้งสองให้รู้จักวิธีการบวชพอสมควรแล้ว หลวงพ่อจึงพาไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดวารินทราราม แล้วนำกลับมาพักที่วัดก่อนอก

ขณะที่พักอยู่ในป่าช้า ญาติมิตรที่คุ้นเคยกับหลวงพ่อในวัยเด็กได้มานมัสการสนทนาด้วยความยินดี เพราะนับแต่ท่านออกธุดงค์แล้วก็ไม่ได้พบกันบ่อยนัก แต่การพบกันในครั้งนี้เพื่อนสนิทคนหนึ่งสังเกตเห็นว่า หลวงพ่อกลับมาคราวนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก จากคนที่พูดเก่ง ชอบหัวเราะร่าเริง กลายเป็นคนเงียบขรึม พูดน้อย ไม่รื่นเริงเหมือนเก่า เมื่อเฝ้าสังเกตเห็นเช่นนั้นหลายวัน เกิดอยากรู้ความในใจว่าเป็นเช่นใด วันหนึ่งได้เข้าพบหลวงพ่อที่ป่าช้า สนทนากันพักหนึ่งจึงถามว่า "ท่านจะไม่สึกหรือครับ"

"ยังไม่อยากตอบ เพราะมันเป็นเรื่องของวันข้างหน้า ถ้าอาตมาจะตอบว่าไม่สึก แต่หากต่อไปมันอยากสึกขึ้นมาล่ะ ก็เป็นการโกหกกัน"

หลังจากสนทนากันตามวิสัยผู้คุ้นเคยแล้ว เพื่อนรักก็กราบลากลับไปพร้อมกับคาดการณ์ว่า หลวงพ่อคงจะรุ่งเรืองและมั่นคงในบวรศาสนา เพราะนับตั้งแต่ท่านบวชแล้วออกธุดงค์กลับมา อุปนิสัยและกิริยาท่าทางของท่านเปลี่ยนไปเป็นคนละคน แม้จะยังเป็นภิกษุหนุ่ม แต่ก็ดูน่าเคารพเลื่อมใสมาก แต่การที่ท่านตอบคำถามเลี่ยงๆ ไปนั้น คงเป็นเพราะความรอบคอบ ซึ่งเป็นลักษณะของคนมีปัญญามากกว่า

หลวงพ่อพักอยู่ป่าช้าวัดก่อนอกประมาณสิบห้าวัน ได้ให้ข้อคิดและคำแนะนำแก่มารดา และญาติมิตรพอสมควร จากนั้นหลวงพ่อกับสามเณรทองดี ได้เดินทางไปยังอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ

ในปี พ.ศ. 2492 ซึ่งเป็นพรรษาที่สิบเอ็ดของหลวงพ่อ วันหนึ่งท่านจาริกไปถึงบ้านสวนกล้วย อำเภอกันทรลักษณ์ ได้พำนักอยู่ในป่าห่างจากหมู่บ้านพอสมควร ป่าแห่งนั้นมีบรรยากาศสงบร่มรื่น เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนามาก จึงตัดสินใจจำพรรษาอยู่ที่นั่น

พรรษานั้นหลวงพ่อเล่าว่า การบำเพ็ญสมณธรรมของท่านดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่ย่อหย่อนและท้อถอย จิตใจสงบระงับมาก
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 1:23 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

17. อยุธยา

ต้นปี พ.ศ. 2493 หลวงพ่อได้รับจดหมายจากพระมหาบุญมี ซึ่งเป็นเพื่อนที่เคยปฏิบัติธรรมร่วมกัน ส่งข่าวเรื่องหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ให้ทราบ จึงออกเดินทางจากบ้านสวนกล้วย สู่กรุงเทพฯ ได้ศึกษาแนวทางปฏิบัติที่วัดปากน้ำประมาณ 7 วัน จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังวัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ในระหว่างปี พ.ศ. 2493 - 2494 ซึ่งเป็นพรรษาที่สิบสองและสิบสาม หลวงพ่อได้จำพรรษาอยู่ที่ วัดใหญ่ชัยมงคล ได้พบกัลยาณมิตรสองท่าน คือ พระอาจารย์ฉลวย (ปัจจุบันพำนักอยู่ที่วัดเขาต้นเกตุ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) และหลวงตาแปลก

ครั้งหนึ่งขณะอยู่ที่วัดนั้น หลวงพ่ออาพาธหนัก ท้องทางด้านซ้ายบวมขึ้น มีความเจ็บปวดมาก ทั้งโรคหืดที่เคยเป็นก็กำเริบซ้ำเติมอีก ได้รับความทุกข์ทรมานมาก จึงปรารภกับตัวเองว่า

"เรานี้อยู่ห่างไกลญาติพี่น้อง เงินทองก็ไม่มี และยังมาป่วยหนักอีก จะไปโรงพยาบาลก็คงต้องเป็นภาระยุ่งยากแก่ผู้อื่น ไม่ไปดีกว่า จะใช้ธรรมโอสถรักษา ถ้าหายก็หาย ถ้าไม่หายก็ให้ตายไป"

หลวงพ่อเล่าว่า... เมื่อปลงตกเช่นนี้ จึงทอดอาลัยในชีวิตแล้วอดอาหาร ดื่มเพียงน้ำเปล่า บ้างไม่ยอมพักผ่อนหลับนอน เดินจงกรมสลับกับนั่งสมาธิตลอดวัน ร่างกายเกิดความอ่อนเพลียมาก แต่จิตใจกลับเข้มแข็งไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใด

รุ่งเช้า พระเณรไปบิณฑบาต หลวงพ่อก็เดินจงกรมและนั่งสมาธิ เมื่อเพื่อนพระเณรกลับมานั่งฉันอาหาร หลวงพ่อได้พิจารณาดูจิตเกิดคิดผิดว่า การฉันอาหารเป็นเรื่องยุ่งยาก ท่านให้ความเห็นเรื่องการอดอาหารแก่ศิษย์ว่า

"การอดอาหารนั้น ระวังให้ดี บางทีจะทำให้เราหลงได้ เพราะจิตอาจคิดผิดเห็นเพื่อนๆ เขาฉันอาหารแล้วคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก เป็นภาระที่ทำความลำบากแก่ตนเอง เมื่อคิดอย่างนี้อาจจะไม่ยอมฉันอาหาร จึงเป็นทางตายได้ง่ายๆ เหมือนกัน"

หลวงพ่ออดอาหาร เร่งความเพียรอย่างหนักถึง 8 วัน โรคร้ายนั้นได้หายไป และไม่กลับมากำเริบอีก ท่านอาจารย์ฉลวยเฝ้าสังเกตอาการด้วยความเป็นห่วง ครั้นเห็นว่าเพื่อนอดอาหารนานพอสมควรแล้ว จึงมาขอร้องให้ฉันอาหารดังเดิม

จากประสบการณ์ในครั้งนั้น หลวงพ่อยังได้แนะนำลูกศิษย์อีกว่า "เมื่อเราอดอาหารนานหลายๆ วัน เวลากลับมาฉัน ต้องระวังอย่าเพิ่งฉันมากในวันแรกๆ เพราะธาตุขันธ์ยังไม่เป็นปกติ ถ้าฉันมากอาจตายได้ เพราะอาหารไม่ย่อย ควรฉันวันละน้อย และเพิ่มขึ้นไปทุกวันจนเป็นปกติ"

การอาพาธของหลวงพ่อทุกครั้ง มักผ่านพ้นไปได้ด้วยความอดทน และกำลังใจที่เกิดจากความคิดที่ถูกต้อง รวมทั้งการทอดอาลัยในสังขารร่างกาย "หายก็เอา ตายก็เอา ถ้าคิดอยากหายอย่างเดียวทุกข์แน่" ท่านจะให้กำลังใจแก่ศิษย์ด้วยคำพูดเช่นนี้เสมอ หรือบางครั้งก็หยิบยกเอาเหตุการณ์ที่ได้เผชิญและฝ่าฟันมาเล่าเป็นคติ ดังครั้งหนึ่ง...

ระหว่างรอนแรมโดดเดี่ยวอยู่ในป่า เขตสกลนครกับนครพนม หลวงพ่อเกิดอาพาธหนัก นอนซมเพราะพิษไข้อยู่ผู้เดียวบนภูเขา ไข้สูงมากจนลุกไม่ขึ้น รู้สึกอ่อนเพลียมากจนม่อยหลับไป พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นก็เป็นเวลาพลบค่ำ ขณะนอนลืมตาคิดถึงสภาพความลำบากยากไร้ของตนอยู่ ได้ยินเสียงเก้งร้องดังก้องภูเขา จึงตั้งปัญหาถามตัวเองว่า "อีเก้งและสัตว์ป่าต่างๆ มันป่วยเป็นไหม ? มันป่วยเป็นเหมือนกัน เพราะมันก็มีสังขารร่างกายเหมือนเรานี่แหละ"

มันมียากิน... มีหมอมาฉีดยาให้หรือเปล่า ?

เปล่า... ไม่มีเลย... มันคงหายอดไม้ใบหญ้าตามมีตามได้

สัตว์ป่ามันไม่มียากิน ไม่มีหมอรักษา แต่ก็ยังมีลูกหลานสืบเผ่าพันธุ์ต่อมาเป็นจำนวนมาก มิใช่หรือ ?

ใช่.... ถูกแล้ว !"

พอหลวงพ่อพิจารณาได้ข้อคิดเช่นนี้ ก็มีกำลังใจดีขึ้นมาก พยายามลุกตะเกียกตะกายไปเอาน้ำในกามาดื่ม แล้วลุกขึ้นนั่งทำสมาธิ จนอาการไข้ทุเลาลงเรื่อยๆ รุ่งเช้าก็มีกำลังออกไปบิณฑบาตได้

หลังอาการอาพาธหนักที่วัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อคงทำความเพียรภาวนาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ได้แสดงธรรมแก่ผู้ใด มีแต่อบรมและพิจารณาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

เมื่อออกพรรษา ได้เปลี่ยนสถานที่ภาวนาไปยังเกาะสีชัง พักอยู่บนเกาะประมาณหนึ่งเดือน แล้วย้อนกลับมาพักอยู่ที่วัดใหญ่ชัยมงคลอีกระยะหนึ่ง จากนั้นก็อำลาสหธรรมิก คือ ท่านอาจารย์ ฉลวยและหลวงตาแปลกกลับคืนสู่อีสาน
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 1:40 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

18. คืนสู่อีสาน

จากอยุธยา หลวงพ่อเดินทางกลับมาที่อุบล ได้แวะพักที่ป่าช้าบ้านก่อ พอญาติพี่น้องรู้ข่าว ต่างพากันมานมัสการด้วยความยินดี เพราะจากกันไปนานถึงสองปี โดยไม่ทราบข่าวคราวกันเลย และญาติมิตรยังสังเกตเห็นว่า หลวงพ่อกลับมาคราวนี้มีท่าทีน่าเลื่อมใสมาก จึงพากันให้ความเคารพยำเกรง ท่านจะแนะนำสิ่งใดทุกคนก็สนใจฟัง ไม่แสดงอาการโต้แย้งใดๆ ทำให้โยมแม่และญาติพี่น้องหลายคนเกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องบาปบุญคุณโทษยิ่งขึ้น

ค่ำคืนหนึ่ง พระภิกษุเที่ยง โชติธมฺโม ซึ่งเมื่อครั้งเป็นสามเณรเคยได้รับการอบรมสั่งสอนจากหลวงพ่อ ได้เข้ามากราบคารวะขอฟังธรรม และตัดสินใจออกปากฝากตัวเป็นศิษย์ขอติดตามออกบำเพ็ญกรรมฐาน แต่หลวงพ่อกลับนิ่งเฉย ไม่ตอบรับและตอบปฏิเสธ ทำให้พระภิกษุเที่ยงเกิดความลังเลและรู้สึกผิดหวังบ้าง

เมื่อนั่งนิ่งกันอยู่ชั่วครู่หลวงพ่อได้เอ่ยขึ้นว่า

"ทำไมถึงอยากจะไป"

"กระผมเห็นว่าอยู่ที่นี่ไม่มีอะไรดีขึ้น จึงอยากไปปฏิบัติเช่นครูบาอาจารย์บ้างครับ"

พระเที่ยงตอบพร้อมกับใจชื้นขึ้นมาเล็กน้อย

"เอ้า... ถ้าจะไปจริงๆ ให้ท่านทองดี (สามเณรทองดีบวชเป็นภิกษุแล้ว) เขียนแผนที่บอกทางไปบ้านป่าต่าวให้นะ แล้วไปรอผมอยู่ที่นั่น"

เมื่อแนะแนวทางปฏิบัติแก่ญาติพี่น้องบ้างแล้ว หลวงพ่อก็ออกจาริกไปตามสถานที่วิเวกต่างๆ ต่อไป จนกระทั่งถึงบ้านป่าตาว อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร (เมื่อก่อนเป็นจังหวัดอุบลราชธานี) และได้พำนักจำพรรษาที่ 14 (พ.ศ. 2495) อยู่ที่วัดถ้ำหินแตก

ในปีนั้น หลวงพ่อจำพรรษาร่วมกับพระเณรหลายรูป มีพระเที่ยงกับพระทองดีรวมอยู่ด้วย ท่านได้นำหมู่คณะประพฤติปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ บางวันเดินจงกรมนั่งสมาธิตลอดวันตลอดคืน โดยให้ข้อคิดแก่ศิษย์ว่า

"อย่าพากันติดในสมมุติบัญญัติจนเกินไป ที่ว่าเป็นกลางวันกลางคืนนั้นมันเป็นการสมมุติของชาวโลกเท่านั้นเอง เมื่อกล่าวโดยปรมัตถธรรมแล้ว ไม่มีกลางวัน กลางคืน ไม่มีข้างขึ้น ข้างแรม

ฉะนั้น เรามาสมมุติกันใหม่ ให้กลางวันเป็นกลางคืน ให้กลางคืนเป็นกลางวันก็ได้ ถ้าเราคิดได้ว่า กลางวันหรือกลางคืนก็ไม่แตกต่างอะไรกัน เราก็จะทำความเพียรโดยไม่อ้างเวลา"


วันหนึ่ง หลวงพ่อสังเกตเห็นพระเที่ยงฉันยาบางอย่างอยู่เป็นประจำ จึงถามว่า

"ท่านเที่ยง ฉันยาพวกนี้มานานแล้วหรือ ?"

"กระผมฉันมาหลายปีแล้วครับ"

"แล้วมันดีขึ้นไหม ?"

"พอทุเลาลงบ้างครับ"

หลวงพ่อนิ่งอยู่ชั่วครู่แล้วพูดขึ้นว่า

"เอ้อ... ฉันยาพวกนี้ก็นานแล้ว ยังไม่เห็นว่ามันจะหายสักที... เอามันโยนทิ้งไปซะ แล้วมาฉันยาขนานใหม่กัน คือ ฉันอาหารให้น้อย นอนให้น้อย และพูดให้น้อย แล้วทำความเพียรเดินจงกรมนั่งสมาธิให้มาก ลองทำดูนะ ถ้ามันไม่หาย เราก็ยอมตายไปซะ..."

ชาวบ้านป่าตาวในสมัยนั้น ส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ค่อนข้างยากจน แม้จะมีจิตศรัทธาต่อการทำบุญกุศล แต่ก็ขัดสนเรื่องความเป็นอยู่บ้าง จึงอุปัฏฐากพระสงฆ์ตามมีตามได้ อาหารที่บิณฑบาตได้โดยมากเป็นข้าวเหนียวเปล่าๆ วันใดมีกล้วยสุกหรือพริกเกลือถือว่าเป็นวันพิเศษ สำหรับพระที่ถ้ำหินแตกเลยทีเดียว

แม้จะอดอยากขาดแคลนสักปานใด หลวงพ่อกับศิษย์ก็คงบากบั่นหมั่นเพียรเจริญภาวนาอย่างไม่ย่อท้อ กลับน้อมเอาความยากไร้มาเป็นครูผู้สอนให้มีความอดทน ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง แต่วันหนึ่งก็มีสิ่งมาทดสอบความมุ่งมั่นของท่าน บริเวณสำนักที่หลวงพ่อพำนักอยู่นั้น ด้านทิศเหนือเป็นแอ่งน้ำใหญ่ มีปลาชุกชุมมาก เวลาฝนตกหนักน้ำล้นฝั่ง ปลาต่างตะเกียกตะกายตามน้ำมาเพื่อจะเข้าไปในแอ่งน้ำใหญ่ บางตัวที่มีเรี่ยวแรงดีก็ข้ามคันหินธรรมชาติที่กั้นเป็นขอบแอ่งน้ำขึ้นไปได้ แต่บางตัวหมดกำลังเสียก่อน ก็นอนดิ้นกระเสือกกระสนหายใจพะงาบๆ อยู่บนคันหินนั้น หลวงพ่อสังเกตเห็นได้ช่วยจับมันปล่อยลงไปในแอ่งน้ำอยู่บ่อยๆ

Image

เช้าวันหนึ่งก่อนจะออกบิณฑบาต หลวงพ่อเดินไปดูปลาเพื่อจะช่วยชีวิตมันดังทุกวัน พบปลาติดเบ็ดดิ้นทุรนทุรายอยู่หลายตัว คิดจะช่วยมันแต่ก็จนใจ เพราะเบ็ดมีเจ้าของ ซึ่งเขาอาจไม่พอใจก็ได้หากไปทำเช่นนั้น จึงได้แต่เพียงยืนมองดูด้วยความสลดใจ แล้วคิดไปว่าเพราะความหิวแท้ๆ ที่ทำให้เจ้าต้องกินเหยื่อที่เขาล่อไว้ จึงได้คติเตือนตนเองว่า "เรานี่ก็เหมือนกัน ถ้าฉันอาหารโดยไม่พิจารณา ก็จะเป็นเหมือนปลากินเหยื่อแล้วติดเบ็ด"

เมื่อพิจารณาธรรมจากปลาติดเบ็ดแล้วก็ออกไปบิณฑบาต ครั้นกลับมาถึงวัด ชาวบ้านนำต้มยำปลามาถวาย หลวงพ่อรู้ว่าต้องเป็นปลาติดเบ็ดที่เห็นเมื่อเช้านี้แน่ๆ และอาจเป็นตัวที่เราช่วยชีวิตมันก็ได้

พอชาวบ้านยกหม้อต้มยำปลามาประเคน หลวงพ่อก็รับแล้ววางไว้ไม่ยอมฉัน เพราะนึกสงสารปลา และยังคิดยาวไกลไปอีกว่า ... "หากเรายินดีฉันของเขาในวันนี้ ต่อไปปลาในแอ่งน้ำจะถูกฆ่าหมด"

เมื่อพิจารณาได้เช่นนั้น ก็ยกหม้อแกงส่งให้พระทองดีซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ พระทองดีสังเกตเห็นหลวงพ่อไม่ฉัน ก็ไม่ยอมฉันเหมือนกัน ชาวบ้านเห็นดังนั้นจึงถามว่า

"ท่านอาจารย์ ไม่ฉันต้มปลาหรือครับ ?"

"ไม่ฉันหรอก... สงสารมัน" หลวงพ่อตอบ

โยมคนนั้นถึงกับอึ้งไปชั่วครู่ แล้วจึงพูดว่า

"ถ้าเป็นผมหิวๆ อย่างนี้คงอดไม่ได้แน่"

นับตั้งแต่นั้น ชาวบ้านก็ไม่มารบกวนปลาในแอ่งน้ำนั้นเลย และพวกเขายังถือกันว่า มันเป็นปลาของวัดที่ควรช่วยกันรักษาด้วย

ปี พ.ศ. 2496 (พรรษาที่ 15) หลวงพ่อกับลูกศิษย์ยังคงพำนักอยู่ที่บ้านป่าตาวต่อเป็นปีที่สอง แต่ในพรรษา หลวงพ่อได้ปลีกตัวไปอยู่ตามลำพังบนภูกอย ซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำหินแตก ประมาณสามกิโลเมตร ตอนเช้าหลวงพ่อจะลงมาบิณฑบาต แล้วแวะฉันอาหารร่วมกับพระเณรที่วัดถ้ำหินแตกทุกวัน ครั้นฉันเสร็จก็กลับขึ้นสู่ภูกอยตามเดิม

แม้หลวงพ่อไม่ได้ร่วมจำพรรษากับลูกศิษย์ แต่ก็ได้ตั้งกติกาข้อวัตรเคร่งครัดไว้ควบคุมพระเณรแทนตัวท่าน เมื่อถึงวันอุโบสถหลวงพ่อจะลงมาร่วมสังฆกรรม พร้อมทั้งให้โอวาทแก่ศิษย์และญาติโยม ในระหว่างพรรษานั้นหลวงพ่อต้องประสบกับการเจ็บป่วยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นบททดสอบ สำคัญที่ท่านฝ่าฟันมาด้วยความอดทนและปัญญา

วันหนึ่ง ขณะทำความเพียรอยู่บนภูกอย ท่านรู้สึกปวดฟันมาก รวมทั้งเหงือกก็อักเสบบวมขึ้นทั้งข้างล่างและข้างบน จึงหยิบเอาว่านยาสมุนไพรมาฝนกับน้ำแล้วฉันตามมีตามได้ แต่ความเจ็บปวดก็เพียงแต่ทุเลาลงเล็กน้อยเท่านั้น

หลวงพ่อจึงตั้งจิตพิจารณาว่า "เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่มีใครหลีกหนีความเจ็บป่วยนี้ไปได้" แล้วพยายามแยกกายกับใจออกเป็นคนละส่วน... แม้กายจะมีอาการเจ็บป่วย แต่ก็ไม่ปล่อยให้ใจป่วยด้วย เพราะหากปล่อยให้ใจกังวลในร่างกาย ก็จะเป็นทุกข์ถึงสองขั้น หลวงพ่อเฝ้าดูและต่อสู้กับความรู้สึกเจ็บปวดนี้นานถึงเจ็ดวัน อาการเหงือกบวมจึงทุเลาและหายไป

พอออกพรรษา หลวงพ่อลงมาพักที่วัดถ้ำหินแตก แล้วให้พระเณรแยกย้ายกันไปภาวนาในป่าตามลำพัง โดยกำหนดให้เจ็ดวันมารวมกันที่วัดครั้งหนึ่ง หลวงพ่อพาลูกศิษย์ประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น จนกระทั่งถึงปลายเดือนสามของปี พ.ศ. 2497 แม่พิมพ์ (มารดาของหลวงพ่อ) พร้อมกับผู้ใหญ่ลา (พี่ชาย) และญาติมิตรชาวบ้านก่ออีกห้าคน ได้เดินทางมานิมนต์หลวงพ่อให้กลับไปโปรดญาติโยมทางบ้านก่อบ้าง

หลวงพ่อพิจารณาเห็นว่า ถึงเวลาสมควรแล้วที่จะได้ให้ธรรมานุเคราะห์แก่ผู้มีพระคุณ จึงรับนิมนต์ และให้แม่พิมพ์กับญาติมิตรขึ้นรถกลับไปก่อน จากนั้นหลวงพ่อได้เรียกลูกศิษย์มาประชุมกัน แล้วมอบให้พระเที่ยง พระทองดี กับพระ เณรบางส่วนอยู่ดูแลสำนัก (ต่อมาพระเที่ยงได้ติดตามไปอยู่กับหลวงพ่อที่ป่าพง ส่วนพระทองดีไปศึกษาปริยัติที่กรุงเทพฯ)

เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อกับพระเณรอีกส่วนหนึ่งก็อำลาชาวบ้านป่าตาว ออกเดินทางกลับสู่มาตุภูมิ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง