Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 อนุปุพพิกถา คืออะไร อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
อยากถาม
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 28 มิ.ย.2006, 7:32 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อยากถามว่าการแสดงธรรมโดยอนุปุพพิกถานั้น หมายถึงเรื่องว่าด้วยอะไรบ้าง

และการแสดงธรรมโดยอนุปุพิกถานั้นมีการแสดงกี่ครั้งในสมัยพุทธกาล และผลการแสดงธรรมโดยอนุปุพพิกถานั้นทำให้มีผู้บรรลุธรรมมากน้อยเท่าใด

หรืออยากทราบการแสดงธรรมโดยอนุปุพพิกถาครั้งสำคัญๆ ว่าแสดงแก่ใครบ้าง
 
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 28 มิ.ย.2006, 8:44 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ธรรมจักร การแสดงธรรมโดยอนุปุพพิกถานั้น หมายถึงเรื่องว่าด้วยอะไรบ้าง

อนุปุพพิกถา คือ พระธรรมเทศนาที่แสดงความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของสัตว์ให้หมดจดและประณีตขึ้นไปเป็นชั้นๆ จากง่ายไปหายาก เพื่อเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟังอริยสัจ ๔

อนุปุพพิกถา มี ๕ ประการ คือ

๑. ทานกถา

พรรณนาเรื่องทาน กล่าวถึง การให้ การเสียสละเผื่อแผ่แบ่งปันช่วยเหลือกัน

๒. สีลกถา
พรรณนาเรื่องศีล กล่าวถึง ความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม

๓. สัคคกถา
พรรณนาเรื่องสวรรค์ กล่าวถึง ความสุขความเจริญ และผลที่น่าปรารถนาอันเป็นส่วนดีของกามที่จะพึงเข้าถึง เมื่อได้ประพฤติดีงามตามหลักธรรมสองข้อต้น

๔. กามาทีนวกถา
พรรณนาเรื่องโทษแห่งกาม กล่าวถึง ส่วนเสียข้อบกพร่องของกาม พร้อมทั้งผลร้ายที่สืบเนื่องมาแต่กาม อันไม่ควรหลงใหลหมกมุ่นมัวเมา จนถึงรู้จักที่จะหน่ายถอนตนออกได้

๕. เนกขัมมานิสังสกถา
พรรณนาเรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม รวมทั้งอานิสงส์แห่งการออกบวช กล่าวถึง ผลดีของการไม่หมกมุ่นเพลิดเพลินติดอยู่ในกาม และให้มีฉันทะที่จะแสวงความดีงามและความสุขอันสงบที่ประณีตยิ่งขึ้นไปกว่านั้น


ธรรมจักร การแสดงธรรมโดยอนุปุพิกถานั้นมีการแสดงกี่ครั้งในสมัยพุทธกาล

ไม่ทราบจำนวนแน่ชัด เพราะมีจำนวนมากค่ะ


ธรรมจักร ผลการแสดงธรรมโดยอนุปุพพิกถานั้นทำให้มีผู้บรรลุธรรมมากน้อยเท่าใด

ผลการแสดงธรรมโดยอนุปุพพิกถานั้น ทำให้ผู้ฟังมีจิตสงบ มีจิตอ่อนโยน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน และมีจิตผ่องใส อันสมควรที่จะรับฟังพระธรรมเทศนาขั้นสูงขึ้นไป คือ อริยสัจ ๔ (พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค) กล่าวคือ เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดง “อนุปุพพิกถา” และ “อริยสัจ ๔” จบแล้ว ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทินควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดีฉะนั้น ก็จะเกิดแก่ผู้ฟัง คือ ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล นั่นเอง

ตัวอย่างข้างล่างนี้ แสดงให้เห็นความสำคัญของการแสดงธรรม “อนุปุพพิกถา”
ที่ทำให้มีผู้บรรลุธรรมเป็นจำนวนมากถึงจำนวน ๑๑ นหุต คือ เท่ากับ ๑๑๐,๐๐๐ คน


[๕๘] ลำดับนั้น ท่านพระอุรุเวลกัสสปลุกจากอาสนะ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ซบเศียร
ลงที่พระบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวก,
พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวก พระพุทธเจ้าข้า

ลำดับนั้น พราหมณ์คหบดีชาวมคธทั้ง ๑๒ นหุตนั้น ได้มีความเข้าใจว่า ท่านพระอุรุเวลกัสสป
ประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งจิต
ของพราหมณ์คหบดีชาวมคธทั้ง ๑๒ นหุตนั้น ด้วยพระทัยของพระองค์แล้ว
ทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษความต่ำทราม
ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พวกเขามีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์
มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่พราหมณ์คหบดีชาวมคธ ๑๑ นหุต
ซึ่งมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นประมุข ณ ที่นั่งนั้นแล ดุจผ้าที่สะอาด ปราศจากมลทิน
ควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น พราหมณ์คหบดีอีก ๑ นหุต แสดงตนเป็นอุบาสก

[๕๙] ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ได้ทรงเห็นธรรมแล้ว
ได้ทรงบรรลุธรรมแล้ว ได้ทรงรู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว ทรงมีธรรมอันหยั่งลงแล้ว
ทรงข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ทรงถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องทรงเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้ทูลพระวาจานี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า
ครั้งก่อน เมื่อหม่อมฉันยังเป็นราชกุมาร ได้มีความปรารถนา ๕ อย่าง
บัดนี้ ความปรารถนา ๕ อย่างนั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว



ธรรมจักร อยากทราบการแสดงธรรมโดยอนุปุพพิกถาครั้งสำคัญๆ ว่าแสดงแก่ใครบ้าง

ตามปกติ เมื่อพระพุทธองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่ “ฆาราวาส” หรือ “คฤหัสถ์” ผู้มีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุธรรมพิเศษ จะทรงแสดง “อนุปุพพิกถา” นี้ก่อน แล้วจึงตรัสแสดงอริยสัจ ๔ เป็นลำดับต่อมา โดยทรงแสดงอนุปุพพิกถาครั้งสำคัญๆ แก่บุคคลดังต่อไปนี้

๑. พระเจ้ามหากัปปินะ (พระมหากัปปินเถระ เอตทัคคะในทางผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ) และอำมาตย์บริวาร

๒. พระนางอโนชาเทวี (พระราชเทวีของพระเจ้ามหากัปปินะ) และหญิงบริวาร (ภริยาของอำมาตย์)

๓. ยสกุลบุตร (พระยสเถระ)

๔. เศรษฐีผู้เป็นบิดาของยสกุลบุตร (อุบาสกคนแรกในพระพุทธศาสนา)

๕. มารดาและภรรยาเก่าของยสกุลบุตร

๖. สหายคฤหัสถ์ ๔ คน ของยสกุลบุตร คือ วิมล ๑, สุพาหุ ๑, ปุณณชิ ๑ และ ควัมปติ ๑
ซึ่งเป็นบุตรของสกุลเศรษฐีสืบๆ มา ในพระนครพาราณสี

๗. สหายคฤหัสถ์ ๕๐ คน ของยสกุลบุตร คือ เป็นชาวชนบท ซึ่งเป็นบุตรของสกุลเก่าสืบๆ กันมา

๘. อุคคตคหบดี ชาวหัตถิคาม แคว้นวัชชี เอตทัคคเลิศกว่าพวกอุบาสกผู้เป็นสังฆอุปัฏฐาก ฯลฯ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
อยากแจม
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 28 มิ.ย.2006, 8:45 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อนุปุพพิกถา เทศนาที่แสดงไปโดยลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของสัตว์ให้หมดจดเป็นชั้นๆ จากง่ายไปหายาก เพื่อเตรียม
จิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟังอริยสัจ มี ๕ คือ
๑. ทานกถา พรรณนาทาน
๒. สีลกถา พรรณนาศีล
๓. สัคคกถา พรรณนาสวรรค์ คือความสุขที่พรั่งพร้อมด้วยกาม
๔. กามาทีนวกถา พรรณนาโทษของกาม
๕. เนกขัมมานิสังสกถา พรรณนาอานิสงส์แห่งการออกจากกาม
 
แจมต่อ
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 28 มิ.ย.2006, 8:46 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระยสเถระ

พระยสเถระ ท่านเป็นบุตรของเศรษฐี ในกรุงพาราณสี ซึ่งมีเรือน ๓ หลังเป็นที่อยู่ในสามฤดู ครั้งหนึ่งในช่วงของฤดูฝน ยสกุลบุตรอาศัย อยู่ในเรือนซึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูฝน มีสตรีล้วนประโคมดนตรีบำรุงบำเรอ ในคืนหนึ่ง ยสกุลบุตรนอนหลับก่อนหมู่ชนที่เป็นบริวาร เมื่อตื่นขึ้นมาตอนใกล้รุ่ง จึงเห็นหมู่ชนที่เป็นบริวารของตนนอนหลับมีอาการพิกลต่าง ๆ ไม่เป็นที่พอใจปรากฏแก่ยสกุลบุตร ดุจซากศพที่ทิ้งอยู่ในป่าช้า ยสกุลบุตรเกิดความสลดใจ เบื่อหน่าย จึงอุทานออกมาว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ" สวม รองเท้าเดินออกจากประตูเมือง มุ่งหน้าไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

ในเวลา จวนใกล้รุ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ทรงได้ยินเสียงยสกุลบุตรเปล่งอุทานเดินใกล้เข้ามา จึงตรัสเรียกว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มาที่นี่เถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน" ยสกุลบุตรได้ยินเสียงตรัสเรียกอย่างนั้นแล้วจึงถอด รองเท้าเดินเข้าไปถวายบังคม นั่ง ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาชื่อว่า "อนุปุพพิกถา" เพื่อฟอกจิตใจยสกุลบุตรให่ห่างไกลจากความยินดีในกาม ต่อมาพระองค์ทรงแสดง "อริยสัจ ๔" ยสกุลบุตรได้เห็นธรรมพิเศษ ณ สถานที่นั้นนั่นเอง ในภายหลังได้พิจารณาภูมิธรรมที่ตนเห็นแล้ว จิตก็พ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ส่วนมารดา ของยสกุลบุตร (มารดาดาของยสกุลบุตร คือนางสุชาดา ผู้เคยถวายข้าวมธุปายาสแด่พระมหาบุรุษก่อนตรัสรู้เป็นพระสัมมา สัมพุทธเจ้า) พอรุ่งเช้าก็ขึ้นไปบนเรือนไม่เห็นลูก จึงบอกแก่เศรษฐีผู้เป็นสามีให้ทราบ เศรษฐีใช้ให้คนไปตามหาในทิศทั้งสี่ ส่วนตนเองก็เที่ยวตามหาอีกทางหนึ่งด้วย แต่บังเอิญเดินทางมุ่งสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้เห็นรองเท้าของลูกชายวางอยู่ ณ ที่นั้นจึงตามไปเมื่อเศรษฐีเดินไปถึงแล้วพระบรมศาสดาจึงแสดงพระธรรมเทศนาชื่อว่า อนุปุพพิกถา และ อริยสัจ ๔ ในที่สุด แห่งพระธรรมเทศนา เศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสก ว่า "ข้าพระพุทธเจ้าขอ ถึงพระองค์ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ ที่พึ่งที่ระลึก ขอพระองค์จงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัย เป็นที่ระลึกตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป" เศรษฐีนับได้ว่าเป็นอุบาสกที่อ้างเอาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็น สรณะก่อนกว่าชนทั้งปวงในโลก

เศรษฐี ผู้เป็นบิดายังไม่ทราบว่า ยสกุลบุตรเป็นผู้ที่สิ้นอาสวะแล้ว จึงขอร้องให้กลับไปเพื่อให้มารดาคลายจากความโศกเศร้าเสียใจ ภายหลังเมื่อทราบว่ายสกุลบุตรมีอาสวะสิ้นแล้ว ไม่สามารถจะหวนกลับไปครอบครองเรือนบริโภคกามคุณเหมือนแต่ก่อน จึง ทูลอาราธนาพระบรมศาสดากับยสะเป็นปัจฉาสมณะตามเสด็จรับบิณฑบาตในเวลาเช้า พระองค์ทรงรับด้วยอาการดุษณียภาพ (ดุษณีภาพ คือการรับนิมนต์ของพระบรมศาสดา ได้แก่ ทรงนิ่ง) เศรษฐีทราบว่าพระองค์ทรงรับนิมนต์ จึงลุกขึ้นจากที่นั่ง ถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้วก็หลีกไป เมื่อเศรษฐีกลับไปแล้ว ยสกุลบุตรจึงทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระบรมศาสดา พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เถิด" ในที่นี่ไม่ได้ตรัสว่า "เพื่อจะทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ" เพราะพระยสะได้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว

เช้าวันรุ่งขึ้น พระบรมศาสดามีพระยสเป็นปัจฉาสมณะตามเสด็จไปรับบิณฑบาตในเรือนของเศรษฐี พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ชื่อว่า อนุปุพพิกถา และ อริยสัจ ๔ แก่สตรีทั้งสอง คือ มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ ปรากฏว่าสตรีทั้งสองได้ดวงตา เห็นธรรม แสดงตนเป็นอุบาสิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่ระลึก และนับได้ว่าสตรีทั้งสองเป็นอุบาสิกาที่เกิดขึ้นในโลกก่อนกว่า หญิงอื่นใด เมื่อเสร็จภุตกิจ ตรัสเทศนาสั่งสอนชนทั้งสามแล้วพรองค์จึงเสด็จกลับไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

การอุปสมบท ของพระยสะในครั้งนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะว่าเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์สุขให้หมู่ชนเป็นอันมาก เพราะว่าท่านยังสามารถ ชักจูงผู้อื่นเข้ามาอุปสมบทด้วย เช่น สหายของท่านอีก ๕๔ คน ท่านได้เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยประกาศพระศาสนาในตอน ปฐมโพธิกาลอีกองค์หนึ่ง เมื่อดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน
 
อยากถาม
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 28 มิ.ย.2006, 1:00 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ดีมากจริงๆ ครับ ขอบคุณมากครับที่ช่วยหามา แต่ก็ยังอยากทราบเพิ่มเติมอีกว่ายังมีอีกกว่านี้หรือไม่
 
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 28 มิ.ย.2006, 2:08 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ประวัติพระยสเถระ

พระยสเถระ เป็นหนึ่งในพระมหาเถระลำดับแรกๆ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้รับการบรรพชาโดยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยเป็นพระสงฆ์องค์ที่ ๖ ของโลก โดยได้รับการบวช จากพระบรมศาสดา ต่อจากกลุ่มพระปัญจวัคคีย์ ๕ องค์ มารดาของพระเถระก็คือ นางสุชาดา เสนียธิดาผู้ถวายข้าวมธุปายาสแด่พระบรมศาสดาเมื่อครั้งทรงตัดสินพระทัยเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา ในตอนเช้าวันวิสาขบุรณมี ถือเป็นพระกระยาหารมื้อก่อนที่จะทรงบรรลุพระโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมานางได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดาก็ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล ใน วันนั้น ภายหลังต่อมา พระศาสดาเมื่อทรงสถาปนาเหล่าอุบาสิกาไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาอุบาสิกาผู้นี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถึงสรณะ

พระเถระรูปนี้ ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้ว ในพระพุทธเจ้าพระองค์ ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้นๆ ดังนี้

บุรพกรรมในสมัยพระสุเมธพุทธเจ้า

ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สุเมธะ ท่านได้เกิดเป็นนาคราชผู้มีอานุภาพมาก ได้นำภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขไปยังนาคภพของตนแล้ว ได้ถวายมหาทาน ได้ถวายไตรจีวรที่มีค่ามากให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครอง ได้ถวายคู่แห่งผ้า และเครื่องสมณบริขารทั้งปวงอันมีค่ามากแก่พระภิกษุรูปละคู่ ในครั้งนั้นพระสุเมธพุทธเจ้า ได้ตรัสพยากรณ์ท่านดังนี้

บุคคลใด อังคาสเราด้วยข้าวและน้ำ ให้เราเหล่านี้ทั้งหมดอิ่มพอแล้ว เราจะสรรเสริญผู้นั้น พวกท่านจงฟังเรากล่าวเถิด.

ตลอดกาล ๑,๘๐๐ กัป ผู้นั้นจักชื่นชมยินดีอยู่ในเทวโลก จักชื่นชมอยู่ในความเป็นพระราชา ๑,๐๐๐ ครั้ง แล้วจักเป็น พระเจ้าจักพรรดิ์.เมื่ออุบัติในกำเนิดใด ก็อุบัติแต่ในกำเนิดเทวดาและมนุษย์ เท่านั้น

ในกัปที่สามหมื่น พระมหาบุรุษพระนามว่า โคตมะ โดยพระโคตร จักทรงสมภพในพระราชวงศ์แห่งพระเจ้าโอกกากราช จักเป็นพระศาสดาในโลก.เขาจักเป็นทายาทในธรรมของพระองค์ เพราะกำหนดรู้อาสวะทั้งสิ้นแล้ว จักเป็นผู้ ไม่มีอาสวะปรินิพพาน.

เมื่อหมดอายุขัยแล้ว ก็ท่องเที่ยวไปในภูมิเทวดาและภูมิมนุษย์ทั้งหลาย วนเวียนอยู่เช่นนั้นตลอดสามหมื่นกัป

บุรพกรรมในสมัยพระสิทธัตถพุทธเจ้า

ในกาล แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สิทธัตถะ ท่านได้เกิดเป็นบุตรเศรษฐี ได้นำเอารัตน ๗ ประการบูชารอบต้นมหาโพธิ์

เมื่อหมดอายุขัยแล้ว ก็วนเวียนเที่ยวตายเกิดอยู่ในเทวโลกและมนุษย์โลก

บุรพกรรมในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระ นามว่า กัสสปะ ก็ได้บวชในพระศาสนา ได้บำเพ็ญสมณธรรม เมื่อหมดอายุขัยแล้ว ก็วนเวียนเที่ยวตายเกิดอยู่ในเทวโลกและมนุษย์โลก

กำเนิดเป็นยสกุลบุตรในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ในกาลแห่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ได้มาเกิดเป็นบุตรของเศรษฐีผู้มีสมบัติมาก ในกรุง พาราณสี มารดาของท่านเป็นธิดาเศรษฐี ชื่อนางสุชาดา ผู้ถวายข้าวปายาส ผสมน้ำนมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า บิดามารดาตั้งชื่อว่า ยสะ เป็นผู้ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ยสะนั้นมีปราสาท ๓ หลัง คือ หลังหนึ่งสำหรับอยู่ในฤดูหนาว หลังหนึ่งสำหรับอยู่ในฤดูร้อน หลังหนึ่งสำหรับในฤดูฝน

เมื่อเขาอยู่ในปราสาทฤดูฝน ตลอดทั้ง ๔ เดือนในฤดูฝน ก็จะมีนักดนตรีสตรีล้วนบำเรออยู่ มิได้ลงมายังพื้นปราสาทชั้นล่างเลย

เมื่อเขาอยู่บนปราสาทประจำฤดูหนาวตลอด ๔ เดือน ทั่วทั้งปราสาทก็จะปิดบานประตูหน้าต่างอย่างสนิทดี และเขาก็จะอยู่ประจำบนปราสาทนั้นนั่นแล

เมื่อเขาอยู่บนปราสาทประจำฤดูร้อน ปราสาทนั้นก็จะเป็นปราสาทที่เต็มไปด้วยบานประตูและหน้าต่างมากมาย อยู่ประจำบนปราสาทนั้นนั่นแล กิจการงานที่เกี่ยวกับการนั่งเป็นต้น บนภาคพื้นไม่มี เพราะมือและเท้าของเขาละเอียดอ่อน เขาลาดพื้นให้เต็มไปด้วย ปุยนุ่นและปุยงิ้วเป็นต้นแล้ว จึงทำการงานบนหมอนที่รองพื้นนั้น

วันหนึ่ง ท่ามกลางความเพียบพร้อมด้วยกามคุณทั้ง ๕ ที่กำลังบำเรอขับกล่อมอยู่ ยสกุลบุตรก็ม่อยหลับไปก่อน ฝ่ายนางบำเรอที่กำลังขับกล่อมด้วยเสียงเพลงและดนตรีอยู่นั้น เมื่อเห็นผู้เป็นนายหลับไปแล้วก็หยุดการบรรเลงขับกล่อมล้มตัวลงนอนบ้าง ครั้นเวลาจวนสว่าง ยสกุลบุตร ก็ตื่นขึ้นมาก่อนจึงได้พบเห็นบริวารของตนนอนหลับใหล บางนางก็มี พิณอยู่ที่รักแร้ บางนางก็มีตะโพนอยู่ที่ข้างลำคอ บางนางก็มีเปิงมางอยู่ที่รักแร้ บางนางก็สยายผม บางพวกก็มีน้ำลายไหล บางพวกก็บ่นเพ้อละเมอ บางพวกก็นอนแบมือคล้ายซากศพในป่าช้า

ครั้นได้มองเห็นแล้ว โทษจึงได้ปรากฏชัดแก่ยสกุลบุตรนั้น จิตเบื่อหน่ายแล้วมีความดำรงมั่น ลำดับนั้นแล ยสกุลบุตร จึงได้เปล่งอุทานว่า ผู้เจริญทั้งหลาย ที่นี่วุ่นวายหนอ ผู้เจริญทั้งหลาย ที่นี่ขัดข้องหนอ.

ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้า

ยสกุลบุตรจึงสวมรองเท้าทองคำเดินไปยังประตูนิเวศน์ เดินออกจากบ้านไปยังประตูพระนคร จนได้เข้าไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

ในเวลานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จลุกขึ้นในเวลาเช้ามืด ทรงจงกรมอยุ่ ได้ทอดพระเนตรเห็นยสกุลบุตรแต่ไกลเทียว จึงเสด็จลงจากที่จงกรม ประทับนั่งบนบัญญัตตาอาสน์ ทรงได้ยินเสียง ยสกุลบุตร ที่ได้เปล่งอุทานในที่ไม่ไกลจากที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ดังนี้ว่า ผู้เจริญทั้งหลาย ที่นี่วุ่นวายหนอ ผู้เจริญทั้งหลาย ที่นี่ขัดข้องหนอ ดังนี้.

บรรลุพระโสดาบัน

เมื่อได้ยินดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ตรัสกะยสกุลบุตรนั้นว่า ยสะ ที่นี่แลไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ยสะ เธอจงมานั่งเถิด เราจักแสดงธรรม ให้เธอฟัง ยสกุลบุตรเมื่อได้ยินดังนั้น ก็เกิดความยินดี ด้วยได้ยินว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง จึงถอดรองเท้าทองคำออกแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้ว ก็นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโดยได้ตรัสแสดงอนุปุพพิกถา คือ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษของกามทั้งหลาย ความต่ำช้าคือสังกิเลส แล้วทรงประกาศอานิสงส์ในเนกธัมมะ แก่ยสกุลบุตร ครั้นเมื่อ พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงทราบว่าขณะนี้ยสกุลบุตรนั้นมี จิตอันสมควร มีจิตอ่อนโยน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตร่าเริง มีจิตแจ่มใสแล้ว จึงได้ทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงเอง อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ยสกุลบุตรก็บรรลุโสดาบัน บังเกิดจิตอันปราศจากธุลี จิตอันปราศจากมลทิน คือธรรมจักษุขึ้น ณ ที่นั่งนั้นนั่นเอง รู้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีเหตุเป็นแดนเกิด สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับเป็นธรรมดา

แสดงธรรมโปรดเศรษฐีผู้บิดาเป็นอุบาสกรูปแรกของโลก

รุงเช้า นางวิสาขา มารดาของยสกุลบุตรนั้นไปยังปราสาท มองไม่เห็น ยสกุลบุตร จึงเข้าไปหาท่านเศรษฐีคฤหบดี พอเข้าไปหาแล้วจึงกล่าวกะท่าน เศรษฐีคฤหบดีนั่นว่า ท่านคฤหบดี ยสะ บุตรของท่านไม่อยู่ที่ปราสาท ท่านเศรษฐีคฤหบดี จึงส่งพวกทูตม้าเร็วไปติดตามทั่วทั้ง ๔ ทิศแล้ว ตัวท่านเองก็เข้าไปตามหาบุตรยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ก็ได้พบแต่รองเท้าทองคำที่ยสกุลบุตรถอดไว้ จึงได้ติดตามเข้าไป

พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทอดพระเนตรเห็นเศรษฐีคฤหบดี ผู้มาแต่ที่ไกลทีเดียว จึงทรงมีพระดำริว่า เราพึง แสดงฤทธิ์ให้เศรษฐีคฤหบดีผู้นี้มองไม่เห็นยสกุลบุตรที่นั่งอยู่ที่นี่ แล้วจึงได้แสดงฤทธิ์อย่างที่ทรงดำริไว้

เมื่อเศรษฐีคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมองไม่เห็นบุตรตน ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เห็นยสกุลบุตรบ้างไหม? พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ท่านคฤหบดี เชิญนั่งก่อน ท่านนั่งแล้วในที่นี้ ก็จะพึงได้เห็นยสกุลบุตรผู้นั่งอยู่ แล้วในที่นี้ เศรษฐีคฤหบดีจึงคิดว่า นัยว่าเรานั่งแล้วในที่นี้เท่านั้น จักได้เห็นยสกุลบุตรผู้นั่งอยู่แล้วในที่นี้เป็นแน่ ดังนี้แล้ว จึงร่าเริงดีใจ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่งแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่เศรษฐีคฤหบดีผู้นั่งอยู่แล้ว ณ ที่สมควรนั้นแล ฯลฯ

เมื่อจบพระธรรมเทศนาท่านเศรษฐีคฤหบดีก็ได้เป็นผู้มีความเชื่อในคำสั่งสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ พระดำรัสน่ายินดียิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระดำรัสน่ายินดียิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือจุดไฟให้สว่างไสวในที่มืด ด้วยคิดว่า รูปทั้งหลายย่อมปรากฏแก่คนนัยน์ตาดี ดังนั้นฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ ฉันนั้นเช่นกัน ทรงแสดงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายแล้วแล ข้าแต่พระ องค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมเจ้า และพระภิกษุ สงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพระองค์ขอถึงสรณะจนตลอดชีวิต

ท่านเศรษฐีนั้น ได้เป็นอุบาสก (ผู้กล่าวถึงสรณะ ๓) คนแรกในโลกดังนี้

ยสกุลบุตรบรรลุพระอรหัต

เมื่อพระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่บิดาของยสกุลบุตรอยู่นั้น ยสกุลบุตรก็ได้พิจารณาถึงภูมิธรรมดาตามที่ตนเห็นแล้ว ตามที่ตนทราบแล้ว จิตก็หลุดพ้นจากอาสาวะทั้งหลายเพราะไม่ยึดมั่น บรรลุเป็นพระอรหันต์ ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่ายสกุลบุตรบรรลุพระอรหันต์แล้วจึงทรงพระดำริว่า บัดนี้ ยสกุลบุตรจิตหลุดพ้น แล้วจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ยึดมั่น ยสกุลบุตรไม่สมควรเวียนมาเพื่อ ความเป็นคนเลว เพื่อบริโภคกามคุณ เหมือนคนครองเรือนในกาลก่อนอีก ถ้ากระไรเราพึงระงับฤทธิ์ที่กำบังตานั้นเสีย.

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงระงับฤทธิ์นั้นเสียแล้ว ท่านเศรษฐีคฤหบดีจึงได้เห็นยสกุลบุตรนั่งอยู่ตรงนั้นเอง ครั้นเมื่อได้เห็นบุตรจึงได้กล่าวว่า พ่อยสะเอ๋ย! มารดาของเจ้า กำลังได้ประสบ ความเศร้าโศกปริเทวนาการมา เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาเถิด ยสกุลบุตรมิได้ตอบคำเศรษฐีผู้เป็นบิดา แต่ได้แลดูพระผู้มีพระภาคเจ้า ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสกะท่านเศรษฐีคฤหบดีนั้นว่า ท่านคฤหบดี ท่านจะเห็นเป็นอย่างไร ธรรมที่ยสกุลบุตรได้เห็นแล้ว ได้ทราบแล้ว เหมือนกับท่าน แต่เมื่อยสกุลบุตรนั้น พิจารณาถึงภูมิธรรมตามที่ตนเห็นแล้ว ตามที่ตนทราบแล้ว จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ยึดมั่น เขาเป็นผู้สมควรที่จะกลับมาเพื่อความเป็นคนเลว เพื่อบริโภคกามคุณ เหมือนคนครองเรือนในกาลก่อนอย่างนั้นหรือ ?

ท่านเศรษฐีกราบทูลว่า มิใช่ ยสกุลบุตรเป็นผู้ไม่สมควรเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว เพื่อบริโภคกามคุณ เหมือนกับคนครองเรือน ในกาลก่อนเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเป็นลาภของยศกุลบุตรแล้วหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยสกุลบุตรได้ดีแล้วหนอ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงรับนิมนต์เสวยภัตตาหาร ในวันพรุ่งนี้ พร้อมด้วยยสกุลบุตรเถิด

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพแล้ว

ครั้นแล้วท่านเศรษฐีคฤหบดีจึงได้ทูลลากลับไป จากนั้น ยสกุลบุตร จึงได้กราบทูลขอบวชต่อพระ ผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคำนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่ยสกุลบุตรโดยตรัสว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด แล้วได้ตรัสว่า ธรรมเรากล่าวไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด พระวาจานั้นแลได้เป็นอุปสมบทของท่านยสกุลบุตรนั้น.

มารดาและภรรยาเก่าของพระยสได้ธรรมจักษุ

รุ่งเช้าวันต่อมา พระผู้มีพระภาคผู้มีท่านพระยสเป็นปัจฉาสมณะ (พระติดตาม) เสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่นิเวศน์ของเศรษฐีผู้คหบดี ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดถวาย ลำดับนั้น มารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสพากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพิกถาแก่นางทั้งสอง คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทรามและความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกจากกาม ตรั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นางทั้งสองมีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อจบพระธรรมเทศนา ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ก็ได้เกิดแก่นางทั้งสอง นางทั้งสองก็ได้บรรลุโสดาบัน ณ ที่นั่งนั้นเอง

ครั้นแล้ว มารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสก็ได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ หม่อมฉันทั้งสองนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำหม่อมฉันทั้งสองว่า เป็นอุบาสิกาผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.

ก็มารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยส ได้เป็นอุบาสิกา กล่าวอ้างพระรัตนตรัยเป็นชุดแรกในโลก

ครั้งนั้น มารดาบิดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสได้อังคาสพระผู้มีพระภาคและท่านพระยส ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตนๆ จน ทรงให้ห้ามภัต ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้มารดาบิดา และภรรยาเก่าของท่านพระยส เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้วเสด็จลุกจากอาสนะกลับไป.

สหายคฤหัสถ์ ๔ คนของพระยสออกบรรพชา

สหายคฤหัสถ์ ๔ คนของท่านพระยส คือ วิมล ๑ สุพาหุ ๑ ปุณณชิ ๑ ควัมปติ ๑ ซึ่งเป็นบุตรของสกุลเศรษฐีสืบๆ มา ในพระนครพาราณสี ได้ทราบข่าวว่า ยสกุลบุตรปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตแล้ว ครั้นทราบดังนั้นแล้วได้ดำริว่า ธรรมวินัยและบรรพชาที่ยสกุลบุตรที่กระทำลงไปนั้น คงไม่ต่ำทรามแน่นอน ดังนี้ จึงพากันเข้าไปหาท่านพระยส ท่านจึงพาสหายคฤหัสถ์ทั้ง ๔ นั้น เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานโอวาทสั่งสอนสหายของข้าพระองค์เหล่านี้.

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่พวกเขา คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทรามและความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกจากกาม เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พวกเขามีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่พวกเขา พวกเขาก็บรรลุโสดาบัน ณ ที่นั่งนั้นเอง จากนั้นท่านทั้ง ๔ จึงได้ทูลขอบบรรพชา อุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาค.พระผู้มีพระภาคจึงทรงโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่ท่านทั้ง ๔ โดยทรงตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด.

พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านทั้ง ๔ เหล่านั้น.

ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นด้วยธรรมีกถา เมื่อจบพระธรรมเทศนา จิตของภิกษุเหล่านั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.บรรลุเป็นพระอรหันต์

สมัยนั้น จึงมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๑๑ องค์.

สหายคฤหัสถ์ ๕๐ คน ของพระยสออกบรรพชา

สหายคฤหัสถ์ของท่านพระยส เป็นชาวชนบทจำนวน ๕๐ คน เป็นบุตรของสกุลเก่าสืบๆ กันมา ได้ทราบข่าวว่า ยสกุลบุตร ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ครั้นทราบดังนั้นแล้วได้ดำริว่า ธรรมวินัยและบรรพชาที่ยสกุลบุตรที่กระทำลงไปนั้น คงไม่ต่ำทรามแน่นอน ดังนี้ จึงพากันเข้าไปหาท่านพระยส ท่านจึงพาสหายคฤหัสถ์ทั้ง ๕๐ นั้น เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานโอวาทสั่งสอนสหายของข้าพระองค์เหล่านี้..

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่พวกเขา คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทรามและความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกจากกาม เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พวกเขามีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่พวกเขา พวกเขาก็บรรลุโสดาบัน ณ ที่นั่งนั้นเอง จากนั้นท่านทั้ง ๕๐ จึงได้ทูลขอบบรรพชา อุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาค.พระผู้มีพระภาคจึงทรงโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่ท่านทั้ง ๕๐ โดยทรงตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด.

พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านทั้ง ๕๐ เหล่านั้น.

ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นด้วยธรรมีกถา เมื่อจบพระธรรมเทศนา จิตของภิกษุเหล่านั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.บรรลุเป็นพระอรหันต์.

สมัยนั้น จึงมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖๑ องค์.

บุรพกรรมของชน ๕๕ คนมียสกุลบุตรเป็นต้น

วันหนึ่งพระศาสดา ทรงประชุมพระสาวกที่พระเวฬุวัน ทรงประทานตำแหน่งพระอัครสาวกแก่พระเถระทั้งสองแล้วทรง แสดงพระปาติโมกข์ เหล่าภิกษุบางพวกจึงกล่าวติเตียนว่า

“พระศาสดา ประทานตำแหน่งแก่พระอัครสาวกทั้งสองโดยเห็นแก่หน้า พระองค์เมื่อจะประทานตำแหน่งอัครสาวก ควรประทานแก่พระปัญจวัคคีย์ผู้บวชเป็นพวกแรกสุด พ้นจากพระปัญจวัคคีย์เหล่านั้น ก็ควรประทานแก่ภิกษุ ๕๕ รูป มีพระยสเถระเป็นประมุข พ้นจากภิกษุเหล่านั้น ก็ควรประทานแก่พระพวกภัทรวัคคีย์ พ้นจากภิกษุเหล่านั้น ก็ควรประทานแก่ภิกษุ ๓ พี่น้อง มีพระอุรุเวลกัสสปะเป็นต้น แต่พระ ศาสดาทรงละเลยภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เมื่อจะประทานตำแหน่งอัครสาวก ก็ทรงเลือกหน้า ประทานแก่ผู้บวชภายหลังเขาเหล่านั้น”

พระศาสดาตรัสถามภิกษุทั้งหลายถึงเรื่องที่พวกภิกษุเหล่านั้นพูดกันอยู่ ภิกษุทั้งหลายทูลเรื่องที่ตนพูดกัน พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ ภิกษุทั้งหลาย เราหาเลือกหน้าให้ตำแหน่งแก่พวกภิกษุไม่ แต่เราให้ ตำแหน่งที่แต่ละคน ๆ ตั้งจิตปรารถนาไว้แต่ปางก่อนแล้ว ๆ นั่นแล” และพระศาสดาทรงเล่าถึงบุรพกรรมของชนเหล่านั้น โดยเล่าถึงบุรพกรรมของยสกุลบุตรและสหายอีก ๕๔ คนไว้ดังนี้

กลุ่มพระยสกุลบุตรทั้ง ๕๕ คนนั้น เคยตั้งจิตปรารถนาพระอรหัต ไว้ในสำนักพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง และปฏิบัติทำกรรมที่เป็นบุญไว้เป็นอันมาก ครั้งหนึ่งในสมัยเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้น เขาเหล่านนั้นเป็นสหายกัน ร่วมเป็นพวกกันทำบุญโดยเที่ยวจัดแจงศพคนไร้ที่พึ่ง วันหนึ่ง พวกเขาพบศพหญิงตายทั้งกลม จึงตกลงกันว่าจะเผาเสีย จึงนำศพนั้นไปป่าช้า เมื่อนำศพมาถึงป่าช้าแล้ว ยสกุลบุตรกับเพื่อนอีก ๔ คน จึงอยู่ที่ป่าช้านั้นเพื่อจัดการเผาศพ ส่วนเพื่อนที่เหลืออีก ๕๐ คนก็กลับไป

ในขณะที่ทำการเผาศพหญิงตายทั้งกลมอยู่นั้น ยสกุลบุตรได้ใช้หลาวเขี่ยศพนั้นเพื่อพลิกศพกลับไปกลับมาให้โดนไฟทั่วๆ ขณะที่เอาไม้เขี่ยร่างศพอยู่นั้นก็ได้พิจารณาศพที่ถูกเผา ได้อสุภสัญญาแล้ว เขาจึงแสดงอสุภสัญญาแก่สหายอีก ๔ คนนั้นว่า “นี่เพื่อน ท่านจงดูศพนี้ มีหนังลอกแล้วในที่นั้นๆ ดุจรูปโคด่าง ไม่สะอาด เหม็น น่าเกลียด” สหายทั้ง ๔ คนนั้นก็ได้อสุภสัญญาในศพนั้น แล้วคนทั้ง ๕ นั้นเมื่อเผาศพเสร็จแล้วจึงได้นำอสุภสัญญาที่ปรากฏแก่ตนนั้น ไปบอกแก่สหายที่เหลือ ส่วนยสกุลบุตรนั้นเมื่อกลับถึงเรือนแล้วก็ได้บอกแก่มารดาบิดาและภรรยา คนทั้งหมดนั้นก็เจริญอสุภสัญญาแล้ว

นี้เป็นบุพกรรมของคน ๕๕ คน มียสกุลบุตรเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้นในสมัยปัจจุบัน ความที่เห็นว่าในเรือนของตน ที่เกลื่อนไปด้วยสตรีเป็นดุจป่าช้าจึงเกิดแก่ยสกุลบุตร และด้วยอุปนิสัยสมบัติแห่งอสุภสัญญาที่เคยได้มานั้น การบรรลุคุณวิเศษจึงเกิดขึ้นแก่พวกเขาทั้งหมด คนเหล่านี้ได้รับผลที่ตนปรารถนาแล้วเหมือนกัน ด้วยประการอย่างนี้ หาใช่พระบรมศาสดาเลือกหน้าแต่งตั้งให้ไม่

ที่มา : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7527
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 28 มิ.ย.2006, 2:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อุคคตคฤหบดี ชาวหัตถิคาม แคว้นวัชชี
เอตทัคคะในทางผู้อุปัฏฐากภิกษุสงฆ์


คัดลอกจากสารานุกรม พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน

คหบดีคนหนึ่ง เป็นชาวหัตถิคาม แคว้นวัชชี ท่านผู้นี้พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมว่าใครหมดในด้านการบำรุงสงฆ์ (สังฆุปัฏฐาก(๑)) ท่านได้รับตำแหน่งเศรษฐีแทนบิดาในเมื่อบิดาท่านสิ้นชีวิตไปแล้ว

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จจาริกไปยังหมู่บ้าน หัตถิคามประทับอยู่ที่อุทยานนาควัน เวลานั้นท่านอุคคเศรษฐีได้ดื่มสุราเมามายเป็นเวลา ๗ วัน ในวันสุดท้าย ได้พาพวกเต้นรำออกไปยังอุทยานนาควัน มีการบำรุงบำเรอและเฮฮาร่าเริงกันอย่างเอกเกริก แต่เมื่อเข้าไปพบพระพุทธองค์แล้ว ก็เกิดความละอาย ความเมามายของท่านจึงหายไป ท่านได้ถวายบังคมพระพุทธองค์แล้วนั่งอยู่ในที่สมควรข้างหนึ่ง พระพุทธองค์จึงทรงแสดงธรรมโปรด ท่านได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์แล้ว ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี ตั้งแต่นั้นมา ท่านจึงงดการร่าเริงต่าง ๆ เสีย แล้วอนุญาตให้พวกเต้นรำไปอยู่ที่อื่นตามใจชอบ ส่วนตัวท่านเองได้อุทิศชีวิตถวายทานแก่พระสงฆ์ด้วยความเลื่อมใสยิ่ง คืนหนึ่งเทวดาตนหนึ่งได้เข้าไปบอกท่านว่า ภิกษุรูปโน้นได้บรรลุวิชาชา ๓ รูป นั้นได้บรรลุอภิญญา ๖ รูปนั้นเป็ฯผู้มีศีล รูปนี้เป็นผู้ทุศีล แม้จะทราบความจริงเช่นนั้น ท่านก็มิได้คำนึงถึงข้อเสียหายของภิกษุบางรูป ได้แต่พูดสรรเสริญในแง่ดีทั้งนั้น แม้เวลาถวายทานก็ถวายด้วยจิตใจเป็นกลาง สม่ำเสมอ ไม่มีลำเอียง หรือเลือกหน้าถวาย ทั้งถวายด้วยความยินดีเท่าเทียมกัน(๒)

ต่อมา พระพุทธเจ้าตรัสบอกพระสงฆ์ว่า ท่านอุคคคหบดีมีคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ถึง ๘ อย่าง พอถึงตอนเช้าภิกษุรูปหนึ่งซึ่งได้ฟังพระพุทธดำรัสนั้น ได้ไปบิณฑบาตที่หมู่บ้านหัตถิคามแล้วเข้าไปหาท่านอุคคคหบดี ได้ถามท่านคหบดีเกี่ยวกับคุณธรรมที่แปลกน่าอัศจรรย์ ๘ อย่างนั้น ท่านคหบดีตอบว่า ท่านเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าคุณธรรม ๘อย่าง ที่พระพุทธองค์ตรัสถึงนั้นได้แก่อะไรบ้าง แต่ท่านคหบดีได้อธิบายถึงคุณธรรม ๘ อย่างที่เกิดในใจท่านให้ภิกษุรูปนั้นฟังโดยลำดับว่า

(๑) ขณะที่ท่านกำลังเมาสุราอยู่ที่อุทยานนาควันนั้น เมื่อเห็นพระพุทธองค์เสด็จมา ความเมาสุราของท่านก็ได้สูญสิ้นไป นี้เป็นคุณธรรมข้อแรกที่เกิดขึ้นในใจท่าน

(๒) เมื่อท่านมีใจเลื่อมใสได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ได้ฟังอนุปุพพิกถา ๕ คือ ทานกถา สีลกถา สัคคกถา กามาทีนวกถา และเนกขัมมกถา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงโปรด แล้วมีจิตปลอดโปร่ง อ่อนโยน ปราศจากนีวรณธรรม เบิกบาน และผ่องใสยิ่ง เหมือนผ้าที่ขาวสะอาดปราศจากจุดด่างดำ ควรรับน้ำย้อมได้ฉะนั้น พระพุทธองค์ทรงทราบภาวะจิตของท่าน แล้วได้ทรงแสดงสามุกกังสิกธรรมเทศนา คือ อริยสัจ ๔ อันได้แก่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โปรดท่าน ขณะที่นั่งอยู่บนอาสนะนั่นเองท่านก็ได้ดวงตาเห็นธรรม คือมีปัญญาเห็นประจักษ์ว่า สิ่งใดที่เกิดมาแล้วสิ่งนั้นทั้งหมดก็จะต้องดับ จึงชื่อว่าท่านได้เห็นธรรม ได้บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งถึงธรรม หมดความสงสัย ไม่มีความเคลือบแคลง เป็นผู้มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในเรื่องสัตถุศาสน์ ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะสมาทานสิกขาบทมีพรหมจรรย์เป็นที่ ๕ นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่สอง

(๓) โดยที่ท่านมีภริยา ๔ คนท่านจึงแจ้งให้ภริยาทราบ ท่านสมาทานสิกขาบทแล้ว ผู้ใดปรารถนาจะใช้โภคทรัพย์ จะทำบุญทำทาน หรือจะกลับไปอยู่บ้านญาติของตน ก็เชิญตามใจชอบ หรือถ้าปรารถนาชายใดก็จะยกให้ชายนั้นตามต้องการ ภริยาหลวงจึงขอให้ท่านยกให้ชายที่ตนชอบคนหนึ่ง ท่านก็ยินดีจัดการให้ตามความประสงค์ ขณะที่บริจาคภริยานั้น ท่านก็มิได้มีจิตคิดฟุ้งซ่าน นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่สาม

(๔) ท่านมีโภคสมบัติมากมายแต่ท่านมิได้ตระหนี่ ท่านได้แจกจ่ายแก่ท่านผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมโดยทั่วหน้ากัน นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่สี่

(๕) ท่านเข้าไปหาภิกษุรูปใด ก็เข้าไปหาด้วยความเคารพ เมื่อฟังธรรมก็ฟังด้วยความเคารพเมื่อภิกษุไม่แสดงธรรมให้ฟัง ท่านก็แสดงให้ภิกษุฟัง นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่ห้า

(๖) เมื่อท่านนิมนต์พระสงฆ์แล้ว แม้จะมีเทวดามาบอกท่านว่า ภิกษุรูปนั้นมีคุณธรรมอย่างนั้น รูปนี้มีคุณธรรมอย่างนี้ รูปนี้มีศีล รูปโน้น ไม่มีศีล ท่านก็มีใจสม่ำเสมอ ได้ถวายทานแก่ภิกษุเหล่านั้นโดยเท่าเทียมกัน นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่หก

(๗) แม้จะมีเทวดาเข้าไปหาท่านและได้สนทนาธรรมกับท่านเสมอ ท่านก็มิได้เกิดความลำพองใจในเพราะเหตุนั้น นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่เจ็ด

(๘) หากท่านจะสิ้นชีวิตก่อนพระพุทธเจ้าท่านก็มิได้อัศจรรย์ใจอะไรเลย ที่พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า ท่านจะเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเกี่ยวพัน อันจะทำให้เวียนมาเกิดในโลกนี้อีก นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่แปด

ภิกษุรูปนั้น เมื่อได้สนทนาและได้ฟังคำอธิบายเช่นนั้นแล้วได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลถึงคำอธิบายที่ตนได้ฟังมานั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสรับรองว่า ธรรมที่ท่านคหบดีแสดงนั้น เป็นธรรมที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ในพระทัย ในเวลาที่ทรงสรรเสริญท่านคหบดีแล้ว(๓)

ในสังยุตตนิกายเล่าว่า ท่านอุคคคหบดีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่หัตถิคาม ได้ทูลถามพระพุทธองค์ว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย มิให้สัตว์บางพวกปรินิพพาน ให้บางพวกปรินิพพานในปัจจุบันชาตินี้? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ผู้มีอุปทานย่อมไม่ปรินิพพานในปัจจุบันชาตินี้ ส่วนผู้ไม่มีอุปทานย่อมปรินิพพานในปัจจุบันชาตินี้(๔)

ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านอุคคคหบดีก็เคยเป็นคหบดีเช่นกัน วันหนึ่งท่านได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระปทุมุตตรพุทธเจ้าได้เห็นพระพุทธองค์ทรงประกาศยกย่องอุบาสกคนหนึ่งว่า เป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าใครหมดในด่านบำรุงสงฆ์ (สังฆุปัฏฐาก) ท่านมีความเลื่อมใสได้ปรารถนาจะได้รับตำแหน่งเช่นนั้นในอนาคต จึงได้บำเพ็ญบุญกุศลจนตลอดชีวิต และได้รับตำแหน่งนั้นสมปรารถนา ในพุทธุปาทกาล(๕) นี้

อ้างอิง
๑. องฺ. ๒๐/๓๓ ; สํ. สฬา. ๑๘/๑๓๘
๒. องฺ.อ. ๑/๔๒๖
๓. องฺ. ๒๓/๒๑๕-๒๑๙
๔. สํ. สฬา. ๑๘/๑๘๓
๕. องฺ.อ. ๑/๔๒๖

ที่มา : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7409

เทียน ประวัติ “พระมหากัปปินเถระ”
เอตทัคคะในทางผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=4440
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 28 มิ.ย.2006, 3:50 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ดอกไม้ อนุปุพพิกถา คืออะไร ?
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=42446

ดอกไม้ อนุปุพพิกถา (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=59934
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
jo_swu
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 28 มิ.ย.2006, 5:59 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ซึ้ง สาธุ ความเพียร ยิ้มเห็นฟัน

ปล. ถอนสมอ สู้มะไหว อิอิ
 
สาธุจ้า
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 23 ก.ค.2006, 6:45 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 
ธุลี
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 23 ก.ค.2006, 8:30 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ข้างล่างที่ยกมานี้ แสดงให้เห็นความสำคัญของการแสดงธรรม “อนุปุพพิกถา” ที่ทำให้มีผู้บรรลุธรรมจำนวนมาก คือ จำนวน 11 นหุต คือ เท่ากับ 110,000 คน

[๕๘] ลำดับนั้น ท่านพระอุรุเวลกัสสปลุกจากอาสนะ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ซบ
เศียรลงที่พระบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวก,
พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวก พระพุทธเจ้าข้า.

ลำดับนั้น พราหมณ์คหบดีชาวมคธ ทั้ง ๑๒ นหุต นั้น ได้มีความเข้าใจว่า ท่านพระ
อุรุเวลกัสสปประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความ
ปริวิตกแห่งจิตของพราหมณ์คหบดีชาวมคธทั้ง ๑๒ นหุตนั้น ด้วยพระทัยของพระองค์แล้ว ทรง
แสดงอนุปุพพิกถา คือทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้า
หมองของกามทั้งหลายและอานิสงส์ในความออกจากกาม. เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พวก
เขามีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศ
พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ
มรรค. ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่พราหมณ์คหบดีชาวมคธ ๑๑ นหุต ซึ่งมีพระเจ้า
พิมพิสารเป็นประมุข ณ ที่นั่งนั้นแล ดุจผ้าที่สะอาด ปราศจากมลทิน ควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี
ฉะนั้น. พราหมณ์คหบดีอีก ๑ นหุต แสดงตนเป็นอุบาสก.

[๕๙] ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามคธราช ได้ทรงเห็นธรรมแล้ว ได้ทรงบรรลุ
ธรรมแล้ว ได้ทรงรู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว ทรงมีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ทรงข้ามความสงสัยได้แล้ว
ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ทรงถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องทรงเชื่อผู้อื่นในคำสอน
ของพระศาสดา ได้ทูลพระวาจานี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ครั้งก่อน เมื่อหม่อมฉันยังเป็นราชกุมาร
ได้มีความปรารถนา ๕ อย่าง บัดนี้ ความปรารถนา ๕ อย่างนั้น ของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว.
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง