Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 26 มิ.ย.2006, 5:16 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม

วัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ)
บ้านแวง ต.หนองสูงใต้ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร



คำนำ

ความเป็นมาของหนังสือหลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบปัญหาธรรม เล่มนี้สืบเนื่องจากศิษย์ผู้หนึ่งในกรุงเทพฯ ได้มาเห็นองค์หลวงปู่ตอบจดหมายซึ่งเป็นปัญหาธรรมปฏิบัติ โดยมีผู้สนใจการปฎิบัติธรรมได้มีจดหมายถามมาจากทิศทั้งสี่ ทั้งพระและฆารวาส องค์ท่านก็เมตตาไขข้อข้องใจทุกฉบับ จึงได้กราบเรียนขออนุญาตองค์ท่าน เพื่อนำสำเนาจดหมายซึ่งพระลูกศิษย์ได้เก็บไว้ไปพิมพ์เป็นหนังสือ องค์ท่านก็ไม่ขัดข้อง

การตอบจดหมายนั้นองค์ท่านได้ให้พระลูกศิษย์จดตามคำบอก เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วให้อ่านทวนให้ฟังอีกรอบหนึ่ง จากนั้นให้พระลูกศิษย์เก็บเป็นสำเนาไว้ ซึ่งการตอบจดหมายทุกฉบับ องค์ท่านได้ให้พระลูกศิษย์รับรู้ด้วยอย่างเปิดเผย เริ่มตั้งแต่การเปิดอ่านถวายจนถึงการจดตามคำบอก

การจัดทำนั้นได้มีการตัดทอนส่วนที่ไม่จำเป็นเช่นหัวจดหมาย ท้ายจดหมายออก โดยหวังว่าท่านผู้อ่านที่สนใจธรรมปฏิบัติคงใส่ใจเนื้อหาของธรรมอย่างเป็นด้านหลัก

(ที่กล่าวมานี้เป็นคำนำในหนังสือหลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบปัญหาธรรม ของคณะผู้จัดทำเขา ได้พิมพ์ครั้งที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘)
 


แก้ไขล่าสุดโดย poivang เมื่อ 29 มิ.ย.2006, 4:34 pm, ทั้งหมด 3 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
๛ poivang ๛
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 27 มิ.ย.2006, 8:40 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๑)


คำถาม :

หลวงปู่เจ้าคะ ขอเรียนถามข้อสงสัยในสมาธิ พอจิตดิฉันเข้าสู่ภวังค์ จะรู้สึกเหมือนร่างกายหล่นจากที่สูงๆ มากลึกสุดประมาณ คืออะไรเจ้าคะ ดิฉันควรจะทำอย่างไร แต่มิได้เป็นบ่อยนะเจ้าคะ นานๆ ถึงจะเป็น ทำให้ดิฉันสงสัยว่าคืออะไร กราบขอหลวงปู่ช่วยให้ความกระจ่างแก่ผู้ด้อยความรู้ด้วยเจ้าค่ะ

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

เรื่องภาวนานั้นเป็นของดีแล้ว เพราะมีความปีติและความพอใจในธรรมที่ปรากฏ เป็นอย่างนั้นด้วยอำนาจของปีติธรรม นักภาวนาก็ต้องเจออย่างนั้น บางทีปรากฏว่าเหาะเหินเดินอากาศ หรือเดินจงกรมในอากาศ หรือขัดสมาธิกลางอากาศ หรือพลิกคว่ำพลิกหงายในอากาศ เป็นการแสดงปาฏิหาริย์ไปในตัวก็มี สารพัดจะเป็นไป แต่เมื่อหมดกำลังก็ถอนออกมา เมื่อถอนออกมาแล้ว จงพิจารณาว่าธรรมอันละเอียดถึงเพียงนี้ก็ยังอยู่ใต้อำนาจอนิจจังความไม่เที่ยง ขอให้น้อมลงอย่างนั้น อย่าสำคัญว่าเป็นตัวตน เรา เขา สัตว์ บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อไม่สำคัญในส่วนนี้ จิตก็สูงขึ้นไปกว่าเดิมอีกในตัวแล้ว จงพยายามทำบ่อยๆ เทอญ

และอีกประการหนึ่งให้พิจารณาเห็นอนิจจังพร้อมกับลมออกเข้า พร้อมทั้งเห็นทุกข์ เห็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนกลมกลืนกันในขณะเดียว ไม่มีอันใดก่อน ไม่มีอันใดหลัง พร้อมกับลมออกเข้า แม้ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เรียกว่าไตรสิกขาก็รวมพลกันอยู่ ณ ที่นั้นเอง จะบัญญัติหรือไม่บัญญัติ ก็เป็นจริงอยู่อย่างนั้นเอง เมื่อเห็นชัดในส่วนนี้พร้อมทั้งชำนาญและเห็นเนืองๆ อยู่ ความระอาในวัฏสงสารที่เคยหลงมาแล้วก็จะรู้ตามเป็นจริง จะได้ไม่ทะเยอทะยานในโลกทั้งปวง เพราะโลกทั้งปวงมีแต่เกิดขึ้นและแปรดับ และมีทุกข์ไม่ใช่ตัวตนดังที่ว่ามาแล้วนั้น จะได้สิ้นความสงสัยในปัญหาของเจ้าตัวที่เคยสร้างขึ้น จะแก้ไม่ยาก โลกคืออะไร...วัตถุภายนอกคืออะไร...ที่สร้างขึ้นด้วยดิน น้ำ ไฟ ลมก็ดี หรือความนึกคิดแห่งสุข ทุกข์ อุเบกขาก็ดี เกิดขึ้นแล้วก็แปรปรวนและดับไปเสมอกันทั้งนั้น

เมื่อลูกไม้ของโลกมีเพียงเท่านี้แล้ว เราก็ไม่มีหนทางจะไปสงสัยอะไรอีก มีแต่รู้ตามเป็นจริง ปฏิบัติตามเป็นจริง พ้นจากความสงสัยตามเป็นจริงเท่านั้น ความดีใจเสียใจในโลกทั้งปวงก็ห้ามเบรกลง ปัญญาก็เกิดขึ้นเหนือความหลงของตนไปซะ เรียกว่ารู้เท่าทุกข์รู้เท่าสังขารแล้ว จิตก็โอนไปเอนไปโน้มไปในพระนิพพาน คืนกลับความหลงของเจ้าตัวแบบเย็นๆ เท่านั้นเอง...

ด้วยเดชพระพุทธศาสนา ด้วยเดชพระพุทธศาสนา พวกเราทั้งหลายจงรู้ตามเป็นจริงในสังขารทั้งปวง พร้อมกับลมออกเข้าในปัจจุบัน ยิ่งๆ ขึ้นไปในปัจจุบัน หลุดพ้นจากความหลงในปัจจุบันตามเป็นจริงอยู่ทุกเมื่อเทอญ ปัญหาของธรรมะแท้ไม่มาก ที่มันมากวนเวียน ก็เพราะกิเลสของเราทรงพระอำนาจ เมื่อพระปัญญาทรงพระอำนาจแล้ว พร้อมทั้งสติสัมปยุตกันอยู่ ความสงสัยของเราก็หายไป ไม่ขบถคืนเลย จะว่ารู้แจ้งโลกก็ดี จะว่ารู้แจ้งสังขารก็ได้ จะว่ารู้ทันความหลงของเจ้าตัวก็ได้ ความหลงเจ้าตัวก็หมดประตูจะขี่ช้างสูบบุหรี่มาจากประตูไหน จึงขอจบย่อเพียงนี้...


(โปรดติดตามอ่านเรื่องที่ ๒ ได้ในคราวต่อไป)
 
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 27 มิ.ย.2006, 3:03 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๒)


คำถาม :

หลวงปู่ค่ะดิฉันต้องปฎิบัติเช่นไรค่ะ จึงจะได้เกิดมาในภพภูมิของศาสนาพุทธ เกิดมาในภพภูมิของมนุษย์อีก แต่ดิฉันก็คิดว่า การไม่ขอเกิดมาอีกน่ะดีเยี่ยมที่สุดนะเจ้าค่ะ แต่บุญบารมีของดิฉันจะมีมากพอที่จะทำให้ดิฉันไม่ต้องเกิดอีกหรือไม่ แต่ดิฉันจะเร่งเพียรพยามยามเร่งสะสมบุญนะเจ้าค่ะ เพราะถึงอย่างไรในภพนี้ดิฉันก็ได้เกิดมาในภพภูมิของมนุษย์แล้วก็อย่าได้เสียชาติเกิด ต้องเร่งสะสมบุญไปเรื่อยๆ เร่งทำความเพียรเจริญสติตลอดเวลา เวลาที่ดิฉันต้องออกไปธุรกิจ หรือต้องขึ้นรถลงเรือไปไหนๆ ดิฉันมักจะคิดว่าถ้าดิฉันเกิดตายไปตอนนี้ดิฉันได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว ดิฉันก็เลยเกิดความรู้สึกว่าเออ....นี่เรายังไม่ได้ทำอะไรกับเขาเท่าไหร่เลย จะต้องมาตายซะแล้ว เพราะความตายเกิดได้ทุกขณะ ดิฉันนึกถึงความตายอย่างนี้ตลอดเวลา จะเรียกได้ว่า ดิฉันได้เจริญมรณานุสติ ใช่ไหมเจ้าค่ะ

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

เมื่อหลานๆ เห็นภัยในวัฎฎสงสารอย่างเต็มที่แล้ว มันก็เป็นผู้มีวาสนาอยู่ในตัว สามารถทำตัวให้พ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติได้โดยแท้ เพราะคนเราเมื่อเห็นทุกข์เป็นหลักของหัวใจแล้ว นั่นก็คือตัวศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง เมื่อเห็นอยู่เนืองๆ ติดต่ออยู่ไม่ขาดสาย ก็เรียกว่าภาวนาอยู่ไม่ขาดสาย เป็นข้อวัตรของจิตใจที่ชอบด้วย หนักเข้าก็เบื่อหน่ายคลายเมาในวัฎฏสงสารแบบเย็นๆ รอบครอบเรียกว่าปัญญาชอบในวิปัสสนา

อนึ่ง บุคคลที่จะเกิดเป็นมนุษย์อีกติดกันในชาติต่อไป เป็นผู้ถึงไตรสรณคมน์เท่านั้นก็พอแล้ว เพราะโหรเอกพระบรมศาสดาองค์ท่านทายว่า บุคคลผู้ถึงพุทธ ธรรม สงฆ์ เป็นสรณะแล้วมีคติเป็นสอง ไม่มนุษย์ก็เทวดา มันเป็นของไม่ยากของผู้ศรัทธา แต่ก็ตรงกันข้ามเป็นของยากผู้ที่ไม่ศรัทธา ความดีคนดีทำได้ง่าย ความชั่วคนดีทำได้ยาก ความชั่วคนชั่วทำได้ง่าย ความดีคนชั่วทำได้ยาก สิ่งเหล่านี้เป็นของจริงมาแต่ดึกดำบรรพ์

และการเกิดในศาสนาพุทธนั้น เมื่อเราได้ถึงไตรสรณคมน์แล้ว มันก็มีพืชไว้แล้วถึงแม้มีภพมีชาติอีก มันก็ไปเกิดเป็นมนุษย์ในพุทธศาสนานั่นเองไม่ต้องสงสัยเลยนา การเกิดเป็นเทวดาเทวบุตรและพรหมมีทุกข์น้อยกว่ามนุษย์ก็จริงอยู่แล้ว แต่เมื่อมันอยู่ใต้อำนาจความไม่เที่ยงแล้ว ก็จัดว่าเป็นทุกข์เสมอกันในด้านปรมัตถ์ และก็มรรคผลก็มีในชั้นเทวโลก และพรหมโลกเหมือนกัน บางท่านก็ภาวนาติดต่อกันในภพนั้นๆ สร้างบารมีอยู่ในภพนั้นๆ ก็เป็นพระอริยบุคคลได้เหมือนมนุษย์เรานี่เอง มันก็ล่าช้าอยู่แต่สัตว์เดรัจฉาน เปรตทุกจำพวก และสัตว์นรกทุกจำพวกเท่านั้น

“จะอย่างไรก็ตาม เราไม่ตีตนตายก่อนไข้ เราจะไม่หวังภพต่อไปในอนาคตอีก เราจองขาดผูกขาดเพื่อพ้นทุกข์ทั้งปวงในชาติปัจจุบัน เพื่อจะตัดปัญหาความมุ่งหวังหลายทาง ให้เหลือแต่ทางเดียวปัญหามันจะน้อยลง ความประสงค์ก็ไม่มีมาก แม้เราจะภาวนาเห็นกองทุกข์ขณะจิตเดียวหรือพุทโธคำเดียว ก็มีคุณค่ามากกว่าที่ปรารถนาในภพต่อไป การปรารถนาในภพต่อๆ ไปตั้งล้านๆ ขณะจิต ก็ไม่เท่าขณะจิตเดียวที่หวังพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ”

การจองคิว การสมาทาน เจตนา ความประสงค์ ความต้องการ และการอธิษฐานทั้งหลายเหล่านี้เรียกชื่อต่างกัน แต่ก็มีความหมายอันเดียวกัน ฉะนั้นความต้องการพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ เป็นสติปัญญา ศีล สมาธิมีพลังมาก แต่เราบัญญัติไม่เป็นก็กล่าวตู่ว่าศีลไม่มีในเจตนา ที่แท้นั้น เจตนาหัง ภิกขเว สีลัง วทามิ เจตนาไปทางดีนั่นเองเป็นศีล สมาธิ ปัญญากลมกลืนกันในขณะเดียว เหมือนเชือกสามเกลียวที่เราเรียกว่า ปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมนั่นเอง ไม่ใช่อื่นไกล จะบัญญัติหรือไม่บัญญัติก็ไม่เป็นปัญหา ขอให้ภาวนาติดต่อกันอยู่ไม่ขาดสายให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเป้าหมายอันเดียวพร้อมกับลมหายใจออก-เข้า นิวรณ์ทั้งหลายมันตั้งอยู่ไม่ได้ดอก

“ผู้รักใคร่ภาวนาอยู่เป็นนิจเรียกว่าผู้นั้นบารมีแก่กล้าแล้ว ท่านผู้ใดขี้เกียจก็ให้ทราบเถิดว่าบารมียังอ่อนมาก” จะอย่างไรก็ตามขอให้แบ่งเวลาภาวนาอย่าให้เสียวันเสียคืน จิตใจจะสูงขึ้นเองไม่ต้องบ่นหา จะชนะความหลงของตนแน่แท้


(โปรดติดตามเรื่องที่ ๓ ในคราวต่อไป)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
I am
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 28 มิ.ย.2006, 7:39 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตามมาอ่านครับ สาธุ..
 
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 28 มิ.ย.2006, 3:27 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอบคุณค่ะคุณ I am ที่ติดตามอ่านหลวงปู่หล้าท่านสอนอธิบายธรรมดีมากๆ จะคัดมาลงทีละเรื่อง เน้นเรื่องการปฏิบัติธรรมเพราะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านมาก

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๓)


คำถาม :

ดิฉันอยากจะขอเรียนถามหลวงปู่ ถึงเรื่องการควบคุมจิตใจให้มีความสงบอยู่นานๆ และขออุบายหรือวิธีการในการทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบเร็วขึ้นด้วยค่ะ

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

การภาวนาอยากจะให้จิตจดจ่ออยู่นานๆ ก็ต้องตัดความละโมบในอารมณ์อื่นที่มาเกยมาพาด ต้องตั้งสติไว้กับอาจารย์เดิม (คือกรรมฐานเดิมที่ตั้งไว้) ยินดีในกรรมฐานที่ตั้งไว้นั้น อย่าไปยินดีในกรรมฐานอื่นที่ยังไม่ตั้ง นึกหรือบริกรรม กรรมฐานอันเดิมนั่นแหละ ตั้งสัจจะไว้ในที่นั้น ตั้งอธิษฐานไว้ในที่นั้น ถ้ามันลืมไปก็ดึงมาอย่าได้เสียใจ เพราะความสำเร็จอยู่กับความอดทนและความเพียร เพราะเอากรรมฐานเดิมเป็นที่ตั้งเป็นตัวประกัน ยอมเป็นยอมตายกับกรรมฐานเดิมนั้น

คำว่า “ศีล” แปลทับศัพท์ก็ตัดสินลงในกรรมฐานที่ตั้งไว้นั้น แม้สมาธิก็ตั้งมั่นในกรรมฐานที่ตั้งมั่นไว้นั้น คำว่า “ปัญญา” ก็รอบรู้ในกรรมฐานที่ตั้งไว้นั้น อย่าไปวอกแวกเคลื่อนที่ไปทางอื่น เพราะเรารวมคำสอนของพระองค์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มาไว้ที่เป้ากรรมฐานที่เราตั้งไว้แล้วนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งหมดก็มีความหมายอันเดียวกัน เราเอามารวมไว้ที่เป้าหมายอันเดียวกันนั่นแล้ว เราไม่สงสัยส่งส่ายไปหาอันอื่นเลย ถ้าไม่ขนาบทิฎฐิของตนอย่างนั้นมันก็ไปคว้าอันนั้นอันนี้อยู่ จิตของเราก็ไม่รวม ความเห็นชอบของเราก็ไม่รวมอยู่ที่แห่งเดียว

ที่มันไม่ยอมอยู่ที่แห่งเดียวเพราะอุบายของเราไม่ทันกับกิเลสของเรา เพราะกิเลสของเรามันหลุกหลิกๆ อยู่เหมือนลิงกระโดดนั่นกระโดดนี่ กระโดดถูกกิ่งไม้ผุก็ตกตูมตาย เหตุนั้นจึงให้สันโดษยินดีในกรรมฐานเดิมที่ตั้งไว้ เปรียบเหมือนทิศเหนือ เมื่อทิศเหนือก็มีอำนาจในแม่เหล็ก เข็มทิศใดๆ ย่อมชี้ไปทางทิศเหนือทั้งนั้น เป็นเมืองขึ้นทิศเหนือก็ว่าได้ ฉันใดก็ดีเมื่อเราตั้งมั่นไว้ในกรรมฐานใดๆ เป็นหลักแล้ว กรรมฐานอื่นๆ มีตั้งหมื่นตั้งแสนย่อมเป็นเมืองขึ้นของกรรมฐานที่เราตั้งไว้

จะเป็นวิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานที่เกี่ยวกับปัญญาก็ดี หรือสมถะกรรมฐาน กรรมฐานที่เกี่ยวกับจิตใจก็ดี ก็มารวมพลกันอยู่กับเป้าเดิมที่เราตั้งไว้ไม่ส่งส่ายนั่นเอง แม้มรรค ผล นิพพานก็อยู่ในที่นั้นด้วย แม้เราจะกระจายออกจากเป้าเดิมที่นั้นเราก็ไม่สงสัยอีก ให้ถือว่ามันแตกออกจากเป้าเดิม ก็คือศีล สมาธิ ปัญญา อันเก่านั่นเอง ให้เข้าใจว่าสมาธินี้เหมือนเชือกเส้นยาวๆ ที่เราขึงไปทั่วไตรโลกธาตุ แต่เราสาวเข้ามาให้มันรวมเป็นกองเดียว จะโตเท่าฟ้าเท่าแผ่นดินก็ตาม หรือจะเล็กลงเท่าปลายเข็มก็ตาม ก็ให้ถือว่าเป็นเรื่องเดียวกันนั่นเอง


(โปรดติดตามอ่านเรื่องที่ ๔ ได้ในคราวต่อไป)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
I am
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 29 มิ.ย.2006, 8:31 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ครับผม รออ่านอยู่นะครับ
 
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 29 มิ.ย.2006, 1:35 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



หลวงปู่หล้า เขมปัตโต.jpg


หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๔)


คำถาม :

การปฎิบัติธรรมแบบฝึกหัดเริ่มต้น หากเรานั่งกำหนดจิตอยู่ที่ “พุทโธ” และลมหายใจเข้าออกแล้ว แต่หูก็ยังได้ยินสิ่งที่มากระทบจากภายนอกอยู่บ้าง อันนี้ถือว่าจิตลงถึงความสงบเป็นสมาธิหรือยังครับ และตอนช่วงระยะที่นั่งฝึกไปนั้นลมหายใจที่เรากำหนดอยู่ได้เริ่มเบาไปทุกทีๆ กระทั่งแทบจะไม่มี นั้นถึงจุดนี้ถือว่าจิตสงบเป็นสมาธิหรือยังครับ และหากถึงตรงจุดนี้เราควรทำอย่างไรต่อไปครับ

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

การที่เราภาวนาลมละเอียดเข้าไป แต่ได้ยินเสียงอยู่ แต่ไม่ได้ทิ้งกรรมฐานเดิม คือลมหายใจเข้าออกก็รู้ชัด พร้อมกันกับเสียงที่มากระทบอันนั้นเป็นอุปจารสมาธิ เมื่อละเอียดเข้าไปเบาเข้าไป อันนั้นละเอียดกว่าอุปจารสมาธิอีก จิตในชั้นนี้ก็เป็นสมาธิแล้ว แต่ไม่ให้ทิ้งกรรมฐานเดิมคือลมออก-เข้า ละเอียดลงไปขนาดไหนก็ไม่ทิ้ง จนวูบลงหรือวับลงไปไม่ปรากฏลมเสียเลย แล้วก็มีแต่ผู้รู้เบาหวิวอยู่อันนั้นเรียกว่า “ปฐมฌาน” (อัปนาสมาธิ)

แต่เมื่อหมดกำลังก็ถอนออกมา เมื่อถอนออกมาก็เห็นลมออก-เข้า เบาๆ อยู่ ถ้าปล่อยจิตฟุ้งซ่านไปทางอื่นก็เป็นเรื่องกรรมฐานแตกไป แต่ถ้าทวนดูว่า เอ๊ะ..... จิตขนาดนี้ก็ยังถอนออกมาอยู่แล้ว พิจารณาลงสู่อนิจจังให้เห็นพร้อมกับลมออก-เข้าต่อไป ก็แปลว่ามีวิปัสสนาควบกับสมถะด้วย วิปัสสนาก็คือปัญญานั่นเองเพราะเห็นอนิจจังควบกับลมหายใจเข้าออก เมื่อเห็นอนิจจังชัดแล้วจะเห็นทุกข์สัมปยุตกันอยู่อย่างละเอียด จะเห็นสิ่งที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขาสัมปยุตกันอยู่อย่างละเอียดอีกคล้ายๆ กับเชือกสามเกลียว ซึ่งกลมกลืนกันอยู่ไม่มีอันใดก่อนอันใดหลังพร้อมกับลมออก-เข้าด้วย อันนี้เรียกว่าสติสัมปชัญญะแก่กล้าในไตรลักษณญาณคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กลมกลืนกันอยู่นั่นเอง ก็ต้องพิจารณาอยู่อย่างนั้นติดต่อกันอยู่เสมอ เมื่อถอนออกมาก็จับเข้าไปในที่นั้นให้จนได้เพราะรู้รสชาติมันแล้ว รู้ลูกไม้ของมันอีกด้วย รู้วิธีจะเข้าไปจับมันอีกด้วย

ยกอุทาหรณ์เช่น ลมหายใจเข้าครั้งหนึ่ง ก็เห็นทั้งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กลมกลืนกันอยู่ด้วย ไม่ใช่อยู่คนละเป้า ไม่ใช่อยู่คนละขณะอีกด้วย เมื่อเห็นชัดอยู่อย่างนั้นแล้วกิเลสทั้งปวงที่เคยยึดมั่นว่า เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนก็สลายไปในตัวอยู่ ณ ที่นั้นเอง ทางนี้เป็นทางพ้นทุกข์ง่ายดีกว่าจะเอานิมิตต่างๆ ไปอวดกัน

คำว่า นิมิตก็แปลว่า “เครื่องหมาย” หมายในรูปก็เรียกรูปนิมิต หมายในนามก็เรียกว่านามนิมิต รูปก็ดี นามก็ดีเป็นเมืองขึ้นของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ในปัจจุบันนั้นแล้ว ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วก็ไม่มีท่านผู้ใดจะพ้นความสงสัยของตนไปได้ และก็ไม่มีท่านผู้ใดจะข้ามความหลงของตนไปได้อีก ซ้ำเข้าไปอีกว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นคืออะไร ก็คือโลกทั้งปวง ก็คือสังขารทั้งปวง ก็คือกองทุกข์ทั้งปวงนั่นเอง

เมื่อเวลาเห็นอยู่อย่างนั้นก็คือไตรสิกขานั่นเอง ก็คือศีล สมาธิ ปัญญากลมกลืนกันในขณะเดียวนั่นเอง (คือขณะที่เราปฏิบัติธรรมภาวนาอยู่นั้น เราอยู่ในศีลด้วยอาการสงบอยู่ในสมาธิ และ เกิดปัญญาขึ้นเมื่อเราพิจารณาเห็นอนิจจังควบกับลมหายใจเข้าออก เช่นเมื่อมีลมหายใจเข้าแล้ว ก็ต้องมีลมหายใจออก จะมีแต่ลมเข้าแล้วไม่มีลมออกเป็นไปไม่ได้ หรือจะมีแต่ลมออกแล้วไม่มีลมเข้าก็เป็นไปไม่ได้ นั่นก็หมายถึงคนตายแล้ว) ก็คือผู้รู้ปัจจุบันนั่นเอง เป็นผู้รู้ตามเป็นจริงของปัจจุบัน และตามเป็นจริงของอดีต ของอนาคตด้วย เพราะเอาปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมอยู่ในตัวแล้ว ก็ข้ามพ้นความสงสัยในโลกทั้งปวงไปแล้ว ปัญหาอะไรจะเกิดมาก็เป็นเมืองขึ้นของไตรลักษณ์ทั้งนั้น รู้ชัดในกรรมฐานที่ตั้งไว้ สันทิฏฐิโกเห็นเองได้ เหมือนได้ชิมเกลือเองรู้ว่าเค็มไม่ต้องสงสัยว่ารสเค็มเป็นอย่างไร จะมีผู้อื่นมาบอกว่ารสเกลือหวานทั้งหมดโลก เราก็ไม่เชื่อดังนี้


(โปรดติดตามอ่านเรื่องที่ ๕ ได้ในคราวต่อไป)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 30 มิ.ย.2006, 8:56 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๕)


คำถาม :

นั่งสมาธิ นั่งวิปัสสนาและกรรมฐาน เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไรหรือไม่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราปฏิบัติได้หรือทำสำเร็จแล้ว และผลของการปฎิบัติทั้ง ๓ อย่างดังกล่าวเป็นอย่างไร

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

นั่งสมาธิ นั่งวิปัสสนาและนั่งกรรมฐาน ก็มีความหมายอันเดียวกัน

- คำว่าสมาธิ แปลว่า ตั้งมั่นในการเพ่งอยู่ที่กรรมฐานที่เราสมมติตั้งไว้
- คำว่าวิปัสสนา ก็หมายความว่า เรามีปัญญารอบคอบในกรรมฐานที่ตั้งไว้นั่นเอง
- และนั่งกรรมฐานเล่า คำว่านั่งวิปัสสนา ก็หมายความว่า เรามีปัญญารอบคอบในกรรมฐานที่ตั้งไว้นั่นเอง แต่ใส่ชื่อลือนามหลายอย่างเฉยๆ

คำว่า “กรรมฐาน” เอาตัว ร ๒ ตัว , เอาตัวไม้หันอากาศก็ถูก (ภาษาบาลี หรือมคธ) แต่เอาภาษาไทยใช้ตัว ร ๒ ตัว

ก็มีคำถามต่อไปว่า เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเราปฏิบัติได้หรือทำให้สำเร็จแล้ว เรารู้ได้อย่างนี้คือ สิ่งที่มีโลภ โกรธ หลงจัดมาแต่เดิม ถึงแม้มันมีอยู่มันก็เบากว่าแต่ก่อน สมมติว่าแต่ก่อนเราฆ่าสัตว์ได้อย่างไม่อาลัย แล้วเราไม่ทำเหมือนแต่ก่อนเสียแล้วเพราะนึกละอายตนเอง

ข้อต่อไปอีก เราไม่เสียดายอยากล่วงละเมิดเสียเลย เพราะเห็นดิ่งลงไปแล้วว่ามันเป็นเวรสนองเวรจริงๆ ส่วนจะมาช้าหรือเร็วตามส่วนนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับผลของกรรมนั่นเอง เราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ก็ไม่มีปัญหา ผลของกรรมต้องตามมาไม่ต้องสงสัย เราเชื่อดิ่งลงไปอย่างนี้แล้วแม้สิ่งอื่นๆก็โดยนัยเดียวกัน

ที่ปรารภมานี้ก็พอที่จะทำให้เข้าใจได้บ้างแล้ว จะอย่างไรก็ตามธรรมะของพระพุทธศาสนา เราก็ต้องปฏิบัติเป็นคู่กับอารมณ์ของเรา ดีกว่าปล่อยอารมณ์ไปทางอื่น

ยกอุทาหรณ์อีก จะสะอาดหรือไม่สะอาดขาดตัวก็ตามแต่ก็ต้องได้อาบน้ำอยู่นั่นเอง ถ้าไม่อาบน้ำก็จะยิ่งไปใหญ่เข้าสังคมใดๆ ไม่ได้ ฉันใดก็ดีถ้าไม่ประพฤติศีลธรรมแล้ว ก็ไม่มีอะไรจะมาล้างหัวใจให้สะอาดได้ และก็ให้เข้าใจว่า ความสำเร็จอยู่กับความพยายาม ไม่ว่าจะทางดีหรือทางชั่ว แต่ให้ผลต่างกันเท่านั้น ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส “เพียรละความชั่วประพฤติความดี” เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


(โปรดติดตามอ่านเรื่องที่ ๖ ได้ในคราวต่อไป)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 01 ก.ค.2006, 3:08 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๖)


คำถาม :

เมฆหมอกที่มาบดบังจิตหรืออาการของจิตหรือเจตสิก หรืออุปกิเลสหรืออนุสัย ย่อมมีอุบายในการละการทำลายเพื่อข้ามทะเลทุกข์ ทะเลหลงเหล่านี้หลวงปู่มีอุบายอย่างไรในการถอดถอนครับ

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

เมฆก็ตามหมอกก็ตาม จิตก็ตาม อาการของจิตก็ตาม เจตสิกก็ตาม จะใส่ชื่อลือนามสักเพียงใดก็ตาม ถ้าเราไม่มีในที่นั้นๆ ของเราก็ไม่มีในที่นั้นๆ พิษสงก็ไม่มีในที่นั้นเอง เหตุนั้นการพิจารณาว่าเราไม่มีในที่นั้น เราไม่มีในที่ใดๆ ทั้งนั้น ของเราก็ไม่มีในที่ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เรื่องก็จบกัน ณ ที่นั้นไป ทำท่าทำทางวางเป็นอันผิดทั้งนั้น เพราะมันเป็นกริยาเป็นเหตุ เป็นกรรม เป็นวิบากในตัว

ยกอุทาหรณ์สมมติหยาบๆ คือ เราก็ตาดีมองไปที่สว่าง เราไม่ได้สมมติให้ความมืดหนีไป ณ ที่นั้นเอง เมื่อเราไม่มีในที่ใดๆ แล้ว ก็ไม่ควรมีอะไรมาสร้างปัญหาขึ้นให้หนักใจ หนักธรรม ชาวโลกเขาพูดอะไรก็พูดไปตามเขาซะ ไม่ควรเอาสมมติมาเป็นสงครามกับปรมัตถ์ ไม่ควรเอาสังขารคือผู้รู้ไปเป็นสงครามกับพระนิพพาน ใครเป็นผู้รู้พระนิพพานก็พระนิพพานนั่นเอง ทรงอยู่ซึ่งพระนิพพานสังขารและผู้รู้จะไปทรงมิได้ จงให้เข้าใจว่า ผู้รู้นั้นเองเป็นสังขารอันละเอียด มีผู้ไปยึดถือเอาเป็นเจ้าของก็เป็นเหตุเป็นกรรมเป็นวิบาก เป็นภพ เป็นชาติ เป็นอุปาทาน อวิชชา ตัณหา สารพัดจะบัญญัติใส่ชื่อลือนาม และก็ไม่สำคัญตัวว่าเป็นพระนิพพานด้วย จึงเรียกว่าพระนิพพานทรงไว้ซึ่งพระนิพพาน

ธรรมอันนี้เป็นธรรมอันละเอียดและ เป็นธรรมสันทิฏฐิโกสุดท้ายของพระพุทธศาสนาละเอียดมาก จะเอาโลกและสังขารไปเทียบย่อมไม่ได้ ก็มอบไว้แก่เจ้าตัวแต่ละรายจะรู้ตามเป็นจริง พระบรมศาสดาจึงยืนยันว่า เรารู้พระนิพพานตามเป็นจริงของพระนิพพาน แต่เราไม่ติดอยู่ในพระนิพพาน เรารู้สังขารตามเป็นจริงของสังขารแต่เราไม่ติดอยู่ในสังขาร (ถ้าเราติดอยู่ในสังขารก็ดีติดอยู่ในพระนิพพานก็ดี ก็เท่ากับว่าเราไม่รู้สังขารไม่รู้พระนิพพาน นกบินในอากาศวันยังค่ำก็ไม่มีรอยใช่หรือไม่ มีดเฉือนน้ำในที่ใดๆ วันยังค่ำก็ไม่มีรอยใช่หรือไม่)

ด้วยเดชพระพุทธศาสนา พวกเราทั้งหลาย (คำว่า “เรา” ตามสมมติ) อย่าได้มาท่องเที่ยวทะเลหลงนี้อีกเลย ทะเลหลงย่นมาในปัจจุบันแล้ว ข้ามก้าวเดียวสั้นๆ ก็พอเป็นบุคคลาธิษฐาน ถ้าสำคัญว่าตัวข้ามก็ผิดอีก ความสำคัญตัวนี่เอง มันเป็นมหากิเลสพร้อมทั้งกองพลด้วย เหตุนั้นพระบรมศาสดาจึงผลักทิฎฐิของพระโมฆราช ไม่ให้ถามปัญหาก่อนเพื่อนให้ถามทีหลังหมู่ เพราะเหตุว่ามานพ ๑๖ คนไปถามปัญหาพระโมฆราช สำคัญตัวว่าฉลาดกว่าเพื่อน มันเป็นมหาอุปาทานสำคัญตัว ท่านจึงให้ถามครั้งที่สาม และจึงให้ถามหลังเพื่อนๆ ทั้งหลายด้วย พระบรมศาสดาก็เทศน์อนัตตาเพื่อให้พระโมฆราชไม่สำคัญตัวในอัตตาและอนัตตา

สำคัญว่าตนเป็นอัตตา อัตตาเป็นตนก็ไม่ถูก สำคัญว่าอนัตตาเป็นตน ตนเป็นอนัตตาก็ไม่ถูกอีก เพราะมันยังมีอุปาทานอันละเอียดอยู่ เหตุฉะนี้พระอนาคามีติดอยู่ในมานะ ๙ มานะ ๙ ข้อนั้นก็คือสำคัญตัวอันละเอียด นั่นเอง


(โปรดติดตามอ่านเรื่องที่ ๗ ได้ในคราวต่อไป)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.ค.2006, 10:53 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๗)


คำถาม :

มีอยู่ครั้งหนึ่ง กระผมไปวัดถ้ำผึ้ง จ.เชียงใหม่ ได้นั่งสมาธิที่เรือนพัก ก็พยายามภาวนาพุทโธไปเรื่อยๆ สักพักเกิดความกลัวขึ้นมาเฉยๆ เพราะวังเวงมาก ก็เลยหยุดพุทโธแต่สวดพระคาถาชินบัญชร ๙ จบแทน เอาจิตไปจับอยู่ที่พระคาถาชินบัญชรก็รู้สึกดีขึ้นมากหายกลัวไปได้ ก็สวดผ่านมาเรื่อยๆ จนถึงเที่ยวที่ ๙ (เที่ยวสุดท้าย) ก็เกิดติดขัดสวดไม่ออกย้อนไปมาอยู่เรื่อยเหมือนมีอะไรมาดึงไว้ไม่ให้สวดครบ ๙ จบ สักพักกระผมพยายามสวดทบทวนใหม่ก็ยังติดขัดอีก ก็ลองใหม่ปรากฏว่าจิตรับรู้ว่าได้ฉุดรั้งกับแม่ชีคนหนึ่งที่กระผมรู้จัก คือแม่ชีไม่ยอมให้สวดจนจบ กระผมพยายามสวดให้จบให้ได้ ฉุดรั้งอยู่สักพักกระผมก็ออกจากการฉุดรั้งไว้ได้ ก็รีบสวดจนครบจบที่ ๙ ที่ตั้งใจไว้ก็ออกจากสมาธิ เลยถามเพื่อนที่นั่งภาวนาอยู่เหมือนกัน แต่ห่างกันพอสมควรเขาบอกว่าก่อนที่ผมจะออกจากสมาธิได้สักพักราว ๕ นาที มีแม่ชี (คนที่ฉุดรั้งกับกระผม) เดินผ่านตรงที่กระผมนั่งสมาธิอยู่ แล้วหยุดมองกระผมสักพักก็เดินผ่านไปเฉยๆ

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทราบว่า จิตนั้นถ้าอยู่ในอาการสงบแล้วจะสามารถรับวาระจิต (คลื่นจิต) ของผู้อื่นที่ส่งมายังผู้รับใช่ไหมครับ และถ้าเหตุการณ์ทำนองเดียวกับที่เล่าให้หลวงปู่ฟังแล้วนั้น กระผมควรจะแก้ไขและปฏิบัติตนอย่างไรบ้างครับ


หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

ที่ปรากฏว่ามีแม่ชีมาขวางนั้น จิตเมื่อมีอาการสงบสามารถรับวาระจิตของผู้อื่นได้นั้นเป็นการถูกต้องแล้ว และถามต่อไปว่าแล้วต่อไปจะปฏิบัติอย่างไรบ้างครับ ตอบว่าจะอย่างไรก็ไม่ต้องกังวล ต้องเอาเข้าหากรรมฐานเดิมที่เราตั้งไว้ ถ้าเรามัวไปกับเรื่องอื่น ทิ้งกรรมฐานเดิม เรียกว่าทัพแตก หรือเรียกว่าหลุมเพาะแตก ต้องเหนี่ยวรั้งกรรมฐานเดิมให้ติดอยู่อย่างนั้น นิมิตอะไรเกิดมาก็ตามอย่าหนีออกจากกรรมฐานเดิม


หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๘)


คำถาม :

อาการวาระที่จิตสงบนั้นเป็นอย่างไร ?

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

การสงบนั้นมีอยู่หลายอย่าง อย่างหนึ่งมันสงบพั๊บเข้าไป ร่างกายและจิตก็เบาหวิวไม่เห็นนิมิตอะไร คล้ายกับตัวลอยอยู่ในอากาศ แต่ไม่ปรากฏว่าเคลื่อนที่มีแต่ผู้รู้เฉยๆ นี่แบบหนึ่ง แต่ถ้าหมดกำลังก็ถอนออกมา เวลาเข้าพั๊บก็ถอนออกพั๊บเหมือนกัน

วิธีรวมอีกแบบหนึ่ง เมื่อจิตเข้าไปก็สว่างโร่เหมือนแสงอาทิตย์ก็มี แสงพระจันทร์ก็มี แสงเหมือนตะเกียงเจ้าพายุก็มี เหมือนกลางวันก็มี บางทีก็เห็นดอกบัวหลวง และกงจักรตลอดถึงเทวบุตรเทวดาและบุคคลสารพัดจะนับคณา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้หากเกิดให้เราเห็นอยู่ซึ่งหน้า (คำว่าหน้าคือหน้าสติหน้าปัญญา) แล้วก็ดับอยู่ที่นั้น ถ้าเราเพ่งต่อที่มันดับอยู่ มันก็เกิดอีกตะพืด แต่ไม่เป็นเรื่องเก่า เป็นเรื่องใหม่ แต่จะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องเก่า (คำว่าเก่าคือเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป)

ถ้าจิตของเราเพลินไปก็ลืมกรรมฐานเดิม คล้ายๆ กับโบราณท่านกล่าวว่า “หมาตาเหลืองเมื่อเห็นไฟที่ไหนเรืองก็แล่นเข้าไปหา” และขอให้เข้าใจว่านิมิตที่เราตั้งไว้เดิมก็ดี (และให้เข้าใจคำว่า นิมิตแปลเป็นไทยว่าเครื่องหมายที่ผูกให้ใจติดอยู่) นิมิตเดิมก็ดีนิมิตใหม่ก็ดีที่มาเกยพาดก็ดับเป็น จะมีกี่ล้านๆ ก็ตาม หรือจนนับไม่ไหวก็เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้น เราก็ได้ตัวพยานแล้ว เพราะมันเป็นอันเดียวกันกับนิมิตเดิม ที่เราจับนิมิตเดิมไว้ก็เพื่อจะเป็นตัวประกันให้เป็นพยาน หรือจะเรียกนิมิตเดิมเป็นกระจกเงา นิมิตผ่านเป็นเป็นนิมิตแขก แต่ก็เกิดดับเป็นเสมอกันนั่นเอง

ถ้าจะเอาด้านปัญญามาตัดสิน ก็ตอบตนว่านิมิตเดิมก็ดีไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา มีอภินิหารให้เห็นเพียงเกิดดับเท่านั้น เราไม่มีหน้าที่จะถือว่าได้ถือว่าเสีย ต้องลงเอยแบบนี้ รู้ตามเป็นจริงแบบนี้จึงเป็นตัวปัญญา มิฉะนั้นแล้วคล้ายๆ กับหยอกเงาตนเอง เมื่อตนเหนื่อยเงาก็เหนื่อย


(โปรดติดตามอ่านเรื่องที่ ๙ ได้ในคราวต่อไป)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.ค.2006, 11:30 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอบคุณค่ะคณะทีมงานธรรมจักร
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.ค.2006, 10:57 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๙)


เรื่องนี้ผู้พิมพ์คิดพิจารณาอยู่ว่าสมควรจะมาลงให้อ่านดีหรือไม่ แต่พิจารณาดูว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ปฎิบัติบางท่าน เผื่อจะเจออะไรแปลกๆ แบบเรื่องนี้ จะช่วยทำให้เข้าใจยิ่งขึ้นว่าควรทำอย่างไร

คำถาม :

ขณะอยู่ในกรรมฐานได้สัมผัสวิญญาณวัวดำตาสีเขียวเดินมาเป็นแถวยาวเหยียดเข้ามาหาดิฉัน เขาเหล่านั้นยังไม่ได้ส่งความรู้สึกอะไรมาที่ดิฉัน แต่ดิฉันแผ่เมตตาให้ไปก่อน ปรากฏว่ามีแสงรัศมีสีขาวออกมาจากตัวดิฉันแล้วรวมตัวพุ่งเป็นลำไปที่วิญญาณเหล่านั้นด้วยความนุ่มนวลและอ่อนโยนมาก และแสงไปถึงไหนวิญญาณเหล่านั้นก็ถอยไปตามลำแสงนั้นไปไกลมากค่ะ

ดิฉันมีข้อสงสัยเยอะแยะ แต่คงจะถามหัวข้อหลักๆ เอาไว้ก่อน ถามมากเดี๋ยวฟุ้งค่ะ แต่ขอตัดสินใจถามข้อสำคัญจะดีกว่าเพราะมันหนักใจไม่กล้าถามแล้วเก็บเอาไว้ คือว่า

ตอนที่กำลังฝึกภาวะรูปอยู่ในกรรมฐาน เครื่องหมายพิเศษหญิงปรากฏขึ้นมาตรงหน้า พร้อมกลิ่นด้วย เช่นนี้จะพิจารณาให้สอดคล้องกันในทางธรรมว่าอย่างไรค่ะ หวังว่าหลวงปู่คงเมตตาตอบให้เป็นแนวทางปฏิบัติได้ก้าวหน้าต่อไปอีกเช่นเคยนะคะ


หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

มันแสดงไปกี่ล้านๆ นัยก็ตาม มันก็ลงไปเข้าคอกอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง เราจงจับคอกตัวนี้ไว้ให้ดี เพ่งตาข่ายตัวนี้ให้ดีๆ มันพ้นตาข่ายตัวนี้ไปไม่ได้ เรียกว่ารู้ตามเป็นจริง ไม่หลงในลูกไม้ใดๆ เลย ถึงแม้จะชมก็ชมแบบไม่หลง เพราะไตรลักษณ์เป็นแว่นส่องทางอยู่แล้ว คล้ายๆ กับทิศเหนือ เข็มทิศย่อมเป็นเมืองขึ้นอยู่ไม่มีกลางวันกลางคืน

เหตุนั้นผู้เบื่อหน่ายในนิมิตทั้งหลายจึงยืนยัน พิจารณาว่าเป็นแต่สักว่ารู้เห็นพร้อมกับขณะจิต หรือลมหายใจเข้าออกติดต่ออยู่ไม่ขาดสายเพื่อทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทานอยู่ในตัว อวิชชาคือความโง่ ตัณหาคือความทะเยอทะยานอยากในความโง่ อุปาทานคือยึดถือความโง่ เมื่อเห็นชัดในไตรลักษณ์อันกลมกลืนกันอยู่ในขณะเดียว ไม่ใช่ว่าอนิจจังอยู่เป้าหนึ่ง ทุกขังอยู่เป้าหนึ่ง อนัตตาอยู่เป้าหนึ่ง อันนั้นเป็นเรื่องเห็นไม่ชัด เมื่อเห็นชัดแล้วมันอยู่เป้าเดียวกัน จนไม่มีที่หมาย เมื่อไม่มีที่หมายแล้ววิญญาณปฎิสนธิก็ไม่สามารถ จะยืนยันว่าไปตั้งอยู่ในที่นั่นที่นี่ “เอส วันโต ทุกขัสสะ” เป็นที่สุดแห่งกองทุกข์ก็บัญญัติได้เท่านั้น

ที่มีเรื่องสงสัยเยอะแยะก็เพราะโวหารของตนมาก เป็นเหตุที่ตนไม่ได้หารลงมาใส่ไตรลักษณ์ กองทัพของความสงสัยจึงไม่แตกกระเจิง มักจะขบถคืน และตอนที่ฝึกภาวะรูปอยู่ในกรรมฐาน เครื่องหมายเพศหญิงปรากฏขึ้นมาอยู่ตรงหน้าพร้อมกลิ่นด้วยเช่นนี้ จะพิจารณาทางธรรมให้สอดคล้องกันอย่างไร

ตอบว่า....พิจารณาได้หลายแง่ แง่หนึ่งพิจารณาว่าถ้าเรายังหลงหนังอยู่ตราบใด เราก็ยังจะมาหลงอวัยวะเพศอยู่อย่างนี้ อวัยวะเพศมันมาลองพญามารราคะ ถ้าเราไม่หลงหนังแล้วก็ไม่หลงดินเหมือนกัน เพราะหนังจัดเป็นธาตุดินและมันก็บอกตรงตัวอยู่แล้วพร้อมทั้งกลิ่นของมัน ส่อแสดงให้เห็นชัดว่าพระธรรมมาแสดงอสุภะสัญญาให้เห็น แปลว่าของไม่สวยไม่งามและเปลือยเน่าทั้งกลิ่นและสีและสันฐานที่ตั้ง

ถ้าว่าให้ละเอียดแล้วผู้พิจารณาเห็นธรรมะมาแสดงต่างๆ นานา ขนาดนี้ก็เป็นของหาได้ยากในสมัยโลกจรวดโลกดาวเทียม คนใช้ปัญญามากก็ต้องเห็นไปต่างๆ นานา แต่ก็ชักลงสู่ไตรลักษณ์เหมือนกัน จะว่าสังขารก็ไม่ผิด มรรคปัญญาเกิดขึ้นเพื่อให้หน่ายในสกลกายก็ถูก แต่พญามารที่ตามรังควานอยู่ทุกขณะจิตนั้น ถ้ามรรคแก่กล้าพร้อมสติปัญญาก็ทำให้หน่ายได้ ถ้าไม่อย่างนั้นก็เพิ่มความกำหนัดในราคะขึ้นอีก เพราะจะสมมติไปในกามารมณ์ต่างๆ นานา มายาของกิเลสมันแสดงท่าทีมาต่างๆ

ถ้าเราพิจารณาถูกก็กลายเป็นธรรมะในฝ่ายปฎิบัติคือธรรมขาว มิฉะนั้นแล้วกลายเป็นธรรมดำไปในตัว ส่งเสริมราคะ เมื่อส่งเสริมราคะไม่ได้สมประสงค์โทสะก็เกิดขึ้นระหว่างนั้น
ส่วนโมหะเป็นของละเอียดมาก พระอรหันต์ทรงปัญญาแก่กล้าจึงจะข้ามทะเลโมหะได้ เมื่อข้ามทะเลโมหะได้โดยสิ้นเชิง ทะเลราคะ ทะเลโทสะก็ข้ามไปในตัวอยู่ ณ ที่นั้นเอง

ตอบกันมาแบบยืดยาวก็ขอจบเพียงนี้ก่อน ด้วยเดชพระพุทธศาสนาปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรมอันใดที่รวมลงแล้วรู้ตามเป็นจริง ปฎิบัติตามเป็นจริง หลุดพ้นตามจริง ไม่เหลือต้องปรากฏแก่โยควาจรผู้ปฏิบัติโดยไม่ถอยหลังแล


(โปรดติดตามอ่านเรื่องที่ ๑๐ ได้ในคราวต่อไป)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.ค.2006, 11:14 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

พักสายตาด้วยภาพดอกบัว สักหน่อย
ค่อยติดตามอ่านเรื่องที่ ๑๐ ในคราวต่อไป
 


แก้ไขล่าสุดโดย poivang เมื่อ 04 ก.ค.2006, 12:39 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 04 ก.ค.2006, 12:37 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๑๐)


คำถาม :

ดิฉันขอรบกวนหลวงปู่ช่วยอธิบายให้ลูกหลานมีอุบายในการพิจารณาขันธ์ ๕ เพื่อการปฏิบัติธรรมจะได้เจริญก้าวหน้าต่อไปค่ะ พวกดิฉันเปรียบเหมือนกับบัวใต้น้ำ หลวงปู่โปรดเมตตาสงเคราะห์ด้วยเจ้าค่ะ ใจก็อยากจะพ้นทุกข์ในวัฎฎสงสารเป็นที่สุด แต่ก็ยังตะเกียกตะกายไม่พ้นสักที

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

แม้ขันธ์ทั้ง ๕ มีรูปขันธ์ ที่มี ดิน น้ำ ไฟ ลมประชุมกันเรียกรูปขันธ์นั่นเอง ส่วนนามขันธ์ ๔ มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้ก็มีความหมายอันเดียวกันกับที่ว่ามาแล้วนั้น คือเกิดขึ้นแปรปรวนและดับไป หาระหว่างมิได้ด้วย

การที่เราไปหลงยึดถือว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น หรือเป็นของเราเป็นของบุคคล เป็นของสัตว์นั้น เราควรหมดปัญหาที่จะไปสำคัญอย่างนั้น ไม่ต้องไปสมมติวางมันหรอก มันไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลแล้วเราจะไปสมมติเอาทำไม

เราจะไปสมมติวางทำไม ถ้าเราไม่สมมติว่าได้ว่าเสีย ความสมมติก็จบลง เพียงนั้นความดีใจเสียใจจะเกิดจากประตูใดอีก เหตุที่ดีใจเสียใจก็เพราะยืนยันว่านั่นเรา นั่นผู้อื่น นั่นของผู้อื่น เรื่องจึงไม่มีการจบคล้ายๆ กับหยอกเงา เมื่อเราหยอกเงา เงาก็หยอกเรา ถ้าไม่มีเราอยู่ในนั้นเงาของเราก็ไม่ต้องมีดังนี้แหละ เป็นสติ-ปัญญาชั้นสูง มีทั้งศีล สมาธิ และญาณปัญญาเป็นทัพธรรมรวมอยู่ขณะเดียวด้วย

พูดต่อไปอีกให้ชัดว่าเมื่อเราไม่ยืนยันเอาขันธ์ ๕ ไม่ยืนยันว่าขันธ์ ๕ เป็นเราก็รู้เท่าเราแล้วมิใช่หรือ และก็รู้สิ่งที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆ เราแล้วไม่ใช่หรือ

ท้ายนี้ด้วยเดชพระพุทธศาสนา พวกเราทั้งหลาย จงหลุดพ้นจากความหลงตนที่เคยหลงว่าขันธ์ ๕ เป็นตน ตนเป็นขันธ์ ๕ จงจบลงกันเพียงแค่นี้เทอญ เมื่อสิ้นลมปราณไปแล้วก็ไม่มีหนทางจะไปยืนยันเอาขันธ์ ๕ อีกแล้ว พระพุทธศาสนาจบลงเพียงแค่นี้......


หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๑๑)


คำถาม :

เพื่อนดิฉันให้ช่วยเรียนถามหลวงปู่ว่าเวลาภาวนาอยู่ สัญญาเก่าๆ จะผุดขึ้นมารบกวนบ่อยๆ ถ้าปล่อยวางตอนนี้ก็เหมือนกับหินทับหญ้า เวลาทำสมาธิครั้งต่อๆ ไปก็จะเกิดขึ้นอีก จะต้องพิจารณาอย่างไรจึงจะให้เป็นอนิจจัง อนัตตาโดยมิให้เกิดขึ้นอีก และเมื่อเวลามีสุขหรือมีทุกข์เกิดขึ้นจะพิจารณาอย่างไรให้เป็นอุเบกขา โดยที่จิตจะไม่ไปยึดติดกับมัน

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

เรื่องภาวนาสัญญาเก่าๆ ผุดขึ้นมารบกวนก็จริง แม้สัญญาเก่าก็ตามสัญญาใหม่ก็ตาม คำว่าสัญญาหมายความว่าความจำในสิ่งนั้นๆ แต่ว่าสัญญาเก่าสัญญาใหม่ก็มีคุณค่าเสมอกัน มีภาพพจน์เสมอกัน เกิดขึ้นแล้วก็แปรปรวนและดับไป อยู่ในวงแขนของอนิจตาธรรมทั้งนั้น เราไม่ต้องสงสัยและไม่ต้องยืนยันว่าสัญญาทั้งสองนี้ (ทั้งของเก่าและของใหม่) ไม่ใช่เป็นเราเป็นเขา เป็นสัตว์เป็นบุคคล คือเป็นของว่างจากเรา เขา สัตว์ บุคคลอยู่ในตัวโต้งๆ อยู่แล้ว

เราจงพิจารณาตามความเป็นจริงอย่าได้ขุ่นเคืองทั้งสัญญาของเก่าและสัญญาของใหม่ มันเกิดขึ้นมาเองมันก็ดับไปเอง จะเกิดขึ้นกี่รอบๆ ตั้งหมื่นตั้งแสนรอบก็ตาม ทั้งสัญญาเก่าทั้งสัญญาใหม่มีลูกไม้และหน้าที่ เกิดขึ้นแล้วก็แปรปรวนและดับไปทั้งนั้น ไม่สามารถจะนับรอบของมันได้

ข้อสำคัญก็อยู่กับความเข้าใจตามเป็นจริงของเราว่า นั่นไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราขาดตัวอยู่แล้ว ไม่เป็นหน้าที่เราจะไปเดือดร้อน มันไม่รับรู้อิโหน่อิเหน่กับเราเลย สัญญาเกิดขึ้นมาอย่างผึ่งผาย แปรปรวนและดับไปอย่างผึ่งผายหาระหว่างมิได้อีกด้วย พระสติพระปัญญาของเราที่กลมกลืนกันในปัจจุบัน ก็มีหน้าที่รู้ตามเป็นจริงเท่านั้น เมื่อรู้ตามเป็นจริงในปัจจุบันแล้วมันก็วางเฉยเองไม่ต้องแต่ง


(โปรดติดตามอ่านเรื่องที่ ๑๒ ได้ในคราวต่อไป)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 05 ก.ค.2006, 12:32 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๑๒)


คำถาม :

ในขณะภาวนาหลังจากจิตลงตั้งมั่นเป็นอารมณ์อันหนึ่ง ได้นำกายขึ้นมาพิจารณาและพยายามตั้งรูปกายในส่วนนั้นๆ ตัดมันออกเป็นส่วนๆ ซึ่งจะไม่ปรากฏรูปทุกครั้งไป หากแต่กายส่วนที่ตัดนั้นกลับมาปรากฏ ในขณะที่เลิกภาวนาแล้ว แต่ปรากฏในขณะจิตเคลิ้มหลับจะเห็นได้ชัดเจน เช่นมือขาดเป็นต้น เหตุไรจึงเป็นเช่นนี้

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

เหตุที่เป็นเช่นนี้นั้น ก็เพราะพระธรรมจะแสดงให้เราเห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นของน่าเบื่อหน่าย เป็นของที่ไม่ควรหลงว่าเป็นตัว ตน เรา เขา สัตว์ บุคคล ภาวนาตอนนี้ถ้าพิจารณาถูกอย่างที่ว่ามานี้ จะทำให้จิตใจและธรรมมีกำลังมากขึ้น ถ้าทำบ่อยๆ จิตใจจะระอาในวัฏฏสงสาร และจะไม่เห็นว่าร่างกายเป็นของสวยงามอะไรเลย และจะเห็นว่าเป็นของปฏิกูลอีกด้วย การเห็นดังกล่าวมาแล้วนี้เรียกว่าเห็นตามเป็นจริง เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ในชั้นนี้อยู่ในตัวและก็เป็นพุทธ ธรรม สงฆ์ในชั้นนี้อยู่ในตัวอีกด้วย ถ้าทำให้มากติดต่ออยู่เป็นเหตุจะให้พ้นทุกข์ คือข้ามทะเลหลงของเจ้าตัวที่เคยเข้าใจผิดมาเป็นแน่แท้


หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๑๓)


คำถาม :

ปัจจุบันนี้ผมได้ทำการพิจารณาธรรมมาโดยตลอด บางทีวันหนึ่งจะทำประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง แต่บางวันโดยส่วนใหญ่จะทำตลอดทั้งวันโดยจะมีเสียงมาเตือนเราเอง แล้วบางครั้งจะมาทำการสอนเราเองในเรื่องกรรมบ้าง ในเรื่องขันติบ้างหรือสมาธิบ้าง ฯลฯ มากมายเลย ธรรมที่ปรากฏในช่วงนั้นก็มุ่งที่จะสอนให้จิตใจตัดรอนอุปาทาน ที่เป็นอวิชชาครอบงำจิตและก็ด้วยเหตุแห่งธรรมะมาสอนจิตนี้เอง แต่ละวันจึงรู้สึกสบายใจเป็นพิเศษ และก็ไม่ค่อยรู้สึกทุกข์อะไรเท่าไหร่

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

เรื่องภาวนาได้ยินเสียงมาเตือนบ้าง มาทำการสอนเราเองในเรื่องกรรมบ้าง ในเรื่องอดทนบ้างต่างๆ เหล่านี้ เป็นธรรมฝ่ายอุปจารสมาธิ เป็นมงคลอันดีในชั้นนี้ แต่ขอให้เข้าใจว่าอุปจารสมาธิเป็นบุญเป็นกุศลทางภาวนา ยังอยู่ใต้อนิจจังเพราะเกิดดับอยู่ และก็รู้สึกสบายใจเป็นพิเศษด้วย


หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๑๔)


คำถาม :

ศีลข้อ ๑ ห้ามฆ่าสัตว์ เรามีจิตใจรักสัตว์ทุกชนิดมาก แต่เหตุสุดวิสัยหลายครั้งที่ทำให้ชีวิตสัตว์เล็กๆ น้อยๆ ต้องตาย เช่นขับรถไปบนถนนเหยียบสัตว์เล็กๆ ตาย ทำให้จิตใจกังวลมากเพราะทำผิดศีลข้อนี้แล้ว

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

ศีลขาดโต้งๆ ในการฆ่าสัตว์เพราะมีเจตนาฆ่าสัตว์.... รู้ว่าสัตว์มีชีวิตพยายามฆ่าสัตว์ตายตามประสงค์ อันนี้ศีลขาดจริงเพราะเจตนาเต็มภูมิ ส่วนไม่เจตนาแต่ทำให้เขาตายก็บาปเหมือนกันแต่ศีลไม่ขาด ให้เข้าใจว่าศีลทั้ง ๕ ข้อเป็นศีลที่มีเจตนาจะล่วง ถ้าไม่มีเจตนาจะล่วงแล้วศีลไม่ขาด แต่เป็นบาปเวรอยู่เหมือนกันเพราะบาปเวรที่ไม่เจตนา เช่น ขับรถไปไม่เจตนาจะชนเขา แต่มันไปชนซะก็ได้รับโทษตามความเสียหายเป็นเกณฑ์


หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๑๕)


คำถาม :

มีผู้สอนศาสนาบางคนเขาสอนว่าเฉยๆ เป็นโมหะ แล้วเฉยอย่างไรเจ้าค่ะ จึงจะเป็นเฉยในโลกุตร ถ้าเราชอบความว่างก็จะกลายเป็นอรูปฌานอีกใช่ไหมเจ้าค่ะ


หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

คำว่าเฉยก็ดีก็คือใจเป็นผู้เฉย ไม่สำคัญว่าตนเป็นเฉย เฉยเป็นตน เป็นแต่สักว่าเฉย แล้วมันก็ปล่อยเฉยอยู่ในตัวแล้วเพราะรู้เท่าทัน ถ้าไม่ว่าเรารู้เท่าทันก็ใช้คำว่า “ปัญญารู้ทัน” และบางแห่งพระบรมศาสดาก็บอกว่า มีสติกับอุเบกขาวางเฉยต่อสังขารทั้งปวง เป็นการทำลายความโง่ไปในตัวที่เรียกว่า อวิชชา เป็นโลกุตรด้วย

อนึ่ง มันก็มีเฉยหลายอย่าง เฉยเกียจคร้านทำงานทำการมันก็เป็นโมหะ การงานในที่นี้หมายเอาปัญญาภาวนาที่เรียกว่า “วิปัสสนา” เห็นสังขารเกิดดับพร้อมกับลมหายใจออกเข้าแล้ววางเฉย จะเรียกโมหะไม่ถูกเพราะพักปัญญาชั่วคราว

และเมื่อเราชอบความว่าง เป็นอรูปฌานก็มีไม่เป็นก็มี ที่ไม่เป็นนั้นคือความว่างจากเรา จากเขา จากสัตว์ จากบุคคลนั้นมันเป็นว่างที่มีปัญญา รู้ชอบเรียกว่ารู้ตามเป็นจริงแห่งปัญญา และก็ไม่สำคัญว่าว่างนั้นเป็นตน ตนเป็นว่างด้วย ถ้าไม่สำคัญอย่างนั้นกิเลสก็แตกกระเจิงไปหมดแล้ว ไม่ใช่อรูปฌานเลย....

ที่เป็นอรูปฌานนั้นเพราะไม่มีปัญญาเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาสัมปยุตอยู่ในขณะเดียวก็เลยกลายเป็นอรูปฌาน อรูปฌาน ๔ นั้นโดยใจความคือไม่เห็นอนัตตาธรรมนั่นเอง และก็เข้าใจว่าอรูปฌานนั้นเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนอยู่


(โปรดติดตามอ่านเรื่องที่ ๑๖ ได้ในคราวต่อไป)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 07 ก.ค.2006, 3:29 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๑๖)


คำถาม :

การบำเพ็ญเพียรมีหลักใหญ่คือสติสัมปชัญญะ (สติปัฏฐาน ๔) พิจารณาลงในพระไตรลักษณ์ แล้วยังมีอะไรอีกครับ

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

คำถามว่าการบำเพ็ญเพียรมีหลักใหญ่คือสติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ๔ พิจารณาลงในพระไตรลักษณ์ กายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ธรรมก็ดี พิจารณาลงไตรลักษณ์ให้เป็นเป้าอันเดียวเป็นเชือก ๔ เกลียว แล้วให้เข้าใจว่าผู้รู้จักไตรลักษณ์ตามเป็นจริงนั้น ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เป็นอนัตตาธรรมชั้นสูง “แล้วยังมีอะไรอีกไหมครับ” นั้นตอบว่าไม่มีอะไรอีก มีแต่พิจารณาเนืองๆ ให้ชำนาญเท่านั้น

เพราะเหตุว่าพระบรมศาสดาเทศน์อยู่ ๔๕ พรรษา เราเอามารวมไว้ในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้วซึ่งปะปนกันอยู่ แต่เราก็สามารถแยกออกได้ในเวลาที่เราต้องการแยก คือแยกอนัตตาออกจากอนิจจัง ทุกขังซะ เพราะเหตุว่ารสชาติของพระนิพพานเป็นอนัตตาธรรมอันเย็นสนิท ไม่ผสมกับอะไรใดๆ ด้วย จะเอาอนิจจัง ทุกขังในฝ่ายกองนามรูปไปบวกกับอนัตตาอนุปาทิเสสนิพพาน ที่ดับกิเลสไปด้วยพร้อมเบญจขันธ์ก็ไม่ถูก เป็นมิจฉาทิฏฐิในชั้นละเอียด เพราะไม่เป็นหน้าที่จะเอาจิตไปบวกกับอนุปาทิเสสนิพพานธรรม ก็เรียกว่าไม่รู้จักฐานะของธรรม เอาธรรมที่เป็นนามขันธ์ไปบวกกับธรรมอันพ้นจากรูปขันธ์นามขันธ์ไปแล้ว เดี๋ยวจะถูกกล่าวตู่ว่าไม่แตกฉานในธรรม ไม่มีปฏิสัมภิทาญาณในตัว


หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๑๗)


คำถาม :

บุคคลกลุ่มหนึ่งชอบกล่าวอ้างพระองค์นั้นพระองค์นี้เป็นพระอรหันต์ หลวงปู่เองก็มีผู้จดหมายถามว่าหลวงปู่เป็นพระอรหันต์หรือเปล่า และบางครั้งยกยอให้หลวงปู่เป็นพระอรหันต์ หลวงปู่ก็ได้เมตตาตอบจดหมายเขาเหล่านั้น

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

ที่ให้คะแนนหลวงปู่เป็นพระอรหันต์ แท้จริงแล้วหลวงปู่หาพระอรหันต์ในสกลกาย สกลใจ สกลวาจามาช้านานแล้วไม่พบเลย พบแต่กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขารเท่านั้น แม้จิตสังขารเล่าก็เกิดดับเร็วยิ่งกว่าพยับแดด ติดต่อกันเป็นรอบๆ เป็นพืดหาระหว่างมิได้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็คือผลลัพท์

การปฏิบัติกาย วาจา ใจให้ถูกทางเป็นหนทางไปสู่พระอรหันต์เท่านั้น ไม่ใช่กาย วาจา ใจเป็นพระอรหันต์ ถ้าปฏิบัติผิดเล่าก็เป็นทางไปสู่ความเสื่อม จิปาถะนรกก็ว่าเพราะมันรกอยู่ที่ใจเดือดร้อน เมื่อมีผู้สรรเสริญว่าหลวงปู่เป็นพระอรหันต์ หลวงปู่ก็เฉยเสียไม่รับไม่ปัด มีผู้ยกยอปอปั้นว่าเราเป็นพระอรหันต์ก็อย่าดีใจ เพราะพระวินัยทรงห้ามปรามไว้แจ่มแจ้งแล้ว

พระอรหันต์ไม่มีในรูปกาย นามกายคือขันธ์ ๕ เพราะรูปกายนามกาย ขันธ์ห้าเป็นขันธมาร กิเลสมารก็เข้าไปสิ่งถือเอาเป็นตัวตน เรา เขา สัตว์บุคคล ชนะกิเลสมารด้วยพระปัญญาอันถ่องแท้แน่ใจ มารทั้งหลายก็หายหน้าไปพร้อมกันทันเวลาพริบตาเดียว

รู้เท่าอันใดนั้นก็หายไปเพราะไม่ได้มาสงสัยอันนั้นอีกใช่หรือไม่ ใจที่ฝึกฝนดีแล้วกลายเป็นทรงธรรมอันไม่ตาย ไม่ได้มาบัญญัติว่าใจอีก แต่เพียงบัญญัติว่าธรรมอันไม่ตาย ธรรมทรงธรรม นิพพานทรงนิพพานก็ว่าได้

จดหมายของลูกๆ นั้น หลวงปู่ได้รับแล้วรู้สึกซาบซึ้งในสัมมาวาจาที่ลูกๆ พูดลูกๆ ปรารภ การที่ลูกให้คะแนนว่าหลวงปู่เป็นพระอรหันต์นั้นมันเป็นเรื่องของลูกๆ ต่างหาก ไม่ใช่เรื่องของหลวงปู่เลย หลวงปู่มาตรวจดูในรูปขันธ์ก็สักแต่ว่าเป็นรูปขันธ์ไปเสีย มาตรวจดูในนามขันธ์ก็เป็นแต่สักว่านามขันธ์เสีย มาตรวจดูในคำว่าหลวงปู่ก็เป็นแต่สักว่าคำว่าสมมติหลวงปู่ไปเสีย พระอรหันต์ไม่มีในหลวงปู่เสียแล้ว เหตุนั้นหลวงปู่จึงไม่ดีใจเสียใจในเรื่องนี้

อนึ่ง รูปขันธ์ก็ดี นามขันธ์ก็ดีที่เรียกว่าเราๆ เขาๆ ท่านๆ ตลอดจนถึงจิตใจและผู้รู้ ถ้าปฏิบัติถูกก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหนทางเดินเข้าสู่พระนิพพาน ถ้าทำถูกทางก็เป็นหนทางเพื่อเข้าสู่พระอรหันต์ ถ้าทำผิดก็ตรงกันข้าม หนทางเข้าสู่พระอรหันต์กับหนทางสู่พระนิพพานก็รสชาติอันเดียวกัน ต่างกันก็แต่คำว่าชื่อเท่านั้น

สุดท้ายด้วยเดชพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงเป็นสุขทุกถ้วนหน้าในโลกุตรธรรมของพระบรมศาสดาอยู่ทุกเมื่อเทอญ


(โปรดติดตามอ่านเรื่องที่ ๑๘ ได้ในคราวต่อไป)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 09 ก.ค.2006, 8:02 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๑๘)


คำถาม :

กระผมมีความขัดข้องบางประการในการปฏิบัติ กระผมจึงกราบเรียนหลวงปู่มาทางจดหมายนี้ กระผมหวังว่าคงได้รับความเมตตาจากหลวงปู่ ชี้แนะแนวทางให้ข้อธรรมเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป ดังกระผมจะเล่าถวายต่อไปนี้

ในการปฏิบัติตั้งแต่ช่วงได้รับความเมตตาธรรม ได้รับจดหมายของหลวงปู่ชี้แนะแนวทางให้เจริญสติให้มากและให้พิจารณาเข้าๆ ออกในขันธ์ ๕ กระผมได้ปฏิบัติตามที่หลวงปู่ชี้แนะมา ไม่ว่าจะอยู่ในอริยาบถใด กระผมจะพิจารณาเรื่องขันธ์ ๕ และสติปัฏฐาน ๔ เป็นประจำ และต่อมาผลที่ได้รับจิตจะสงบง่ายและ เร็วกว่าเดิม ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม พอกำหนดลงไปจิตจะสงบและพร้อมจะพิจารณาได้เลย และบางครั้งในการพิจารณาจะมีรสชาติมาก จิตจะมีความปราโมทย์อิ่มอยู่ในการพิจารณานั้น และรู้เรื่องชัดว่าสิ่งนั้นเป็น อันนั้นเป็นสถานะไม่เที่ยงเป็นทุกข์ และเมื่อพิจารณาเพียงพอแล้ว เมื่อจิตถอนออกมาจะเป็นปกติมีความปราโมทย์ อิ่มอยู่ในรสชาติที่เข้าไปรู้เห็นนั้น

แต่กระผมมีปัญหาอยู่ว่า เมื่อพิจารณาเพียงพอแล้วอยากจะเข้าไปสงบในสมาธิ ทำให้จิตละเอียดลึกไปกว่านั้นอีก พอกำหนดเข้าไปจิตจะถอนออกมา อยู่ในระดับการพิจารณาทุกครั้งไป เมื่อจิตอยู่ในลักษณะนี้ จะเรียกว่าสมาธิเสื่อมหรือติดอยู่ในความอยากไหม และกระผมขอกราบเรียนถามหลวงปู่อีกว่า ที่ท่านกล่าวไว้ว่า เจริญญาณให้ครบองค์ธรรม ที่กล่าวนี้มีความหมายอย่างไร

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

ข้อ ๑. จิตลักษณะนี้ไม่ใช่สมาธิ และไม่ใช่ความอยาก เป็นจิตที่มีข้อวัตรต่างหาก มีข้อวัตรเป็นเครื่องอยู่

ข้อ ๒. ที่กล่าวว่าเจริญญาณให้ครบองค์ธรรมนั้นก็คือ สมถะและวิปัสสนากลมกลืนกันไปในขณะเดียวกันนั้นเอง ที่พิจารณาอยู่เดี๋ยวนี้มันก็ครบองค์ญาณองค์ธรรมนั่นเอง เป็นแต่เพียงว่าเราพิจารณาไม่พอจึงเป็นเหตุไม่ให้มีญาณเบื่อหน่ายที่เรียกว่านิพพิทาญาณ เพราะธรรมชั้นนี้ยังเหนี่ยวเอาพระนิพพานมาเป็นอารมณ์ไม่ได้ ถ้าหากว่าเมื่อหน่ายความเมาโดยประการทั้งปวงแล้ว จึงจะน้อมเอาพระนิพพานมาเป็นอารมณ์สนิทสนมโดยสะดวก ที่ว่านี่ก็เพราะยังไม่ถึงฝั่งโดยถ่องแท้ จะทิ้งเรือทิ้งแพก็ไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยเรือแพอยู่อย่างเดิม


(โปรดติดตามอ่านเรื่องที่ ๑๙ ในคราวต่อไป)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ค.2006, 10:52 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๑๙)


คำถาม :

ปัจจุบันผมเป็นอาจารย์อยู่ภาควิชา.....มหาวิทยาลัย.....ผมเคยฝึกปฏิบัติภาวนาบ้างเล็กๆ น้อยๆ จากครูอาจารย์แปลงวัดป่าอุดมสมพรฯ อาจารย์ทองวัดภูกระแต อำเภอบึงกาฬ ตอนไปอยู่กรุงเทพฯ ผมมีโอกาสได้ฟังธรรมจากหลวงปู่หลุย ได้ฝึกมองกายแยกธาตุใช้มาพอเป็นนิสัยจนถึงทุกวันนี้

การภาวนาของผมจิตใจยังไม่มีหลักฐานอะไร จึงเกิดข้อสงสัยขึ้นว่า.....การเพ่งที่กายอย่างเดียว ตลอดทุกอริยาบถ (ตามหนังสือมุตโตทัย) จนหายสงสัยในกาย แล้วจึงหันมาจับแต่เฉพาะจิต ไม่ทราบว่าถูกหรือผิด (ผมเป็นครูมีอารมณ์ต่างๆ มากระทบมากมาย วางจิตไม่ถูกครับ)

ขณะที่ผมเขียนอยู่เกิดความรู้สึกแวบขึ้นมาที่ใจว่า กลางวางอารมณ์อยู่เป็นกลางๆ ดูจิตแวบไปแวบมามีอารมณ์ต่างๆ เข้ามาออกไปมากมายไม่หลงตามอารมณ์ น่าจะถูกกว่าเพ่งดูกายอย่างเดียว หรือว่าถูกทั้งสองอย่าง ผมก็ยังสงสัยอยู่ การสงสัยของผมคงไม่ใช่การสงสัยในข้อปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์เคยพาประพฤติปฏิบัติมา ด้วยตัวผมเองปัญญายังน้อย อยากจะกราบหลวงปู่ช่วยชี้แจงโดยละเอียดทีเถิดขอรับผม

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

การเพ่งที่กายลงแห่งเดียวตลอดทุกอริยาบถ ตามหนังสือมุตโตทัยก็เป็นการถูกต้องดีแล้ว เพราะมีสติอยู่กับกาย ตรงกับคำที่พระมหากัสสปะกล่าว และท่านก็สมาทานว่าเราจะพิจารณากายเป็นอารมณ์ ทั้งกายนอกและกายใน กายใกล้ให้เป็นสักแต่ว่าดิน น้ำ ไฟ ลม มันจะรวมหรือไม่รวมก็เอากายเป็นตัวประกัน

เมื่อมันยังไม่หน่ายไม่คลายกำหนัดตราบใดก็จำเป็นจะได้รื้อกายให้เห็นตามเป็นจริงว่าเป็นของปฏิกูล น่าเกลียดโสโครก พร้อมทั้งมีโรคต่างๆ เกิดขึ้นสารพัดโลกจิปาถะ พระพุทธศาสนาจึงยืนยันว่ากายนี้มีทุกข์มากมีโทษมาก เหล่าอาพาธต่างๆ ย่อมตั้งอยู่ในกายนี้ โรคในตา โรคในหู โรคในลิ้นโรคในฟัน โรคในจมูก โรคในปาก ทวารหนักทวารเบา โรคกลากเกลื้อน ฝีทุกชนิด เหล่านี้เป็นต้น

การพิจารณาอย่างนี้เป็นศีล สมาธิ ปัญญากลมกลืนกันด้วย คนเราถ้ารู้เท่าทันกายแล้วการหลงหนังหุ้มก็จะเบาลง และเป็นธรรมดาอยู่เองที่มีอารมณ์ต่างมากระทบจิต สิ่งที่มากระทบจิตย่อมเป็นยาวิเศษเป็นเหตุให้ระอาการมากระทบ ผู้ที่ราคะโทสะไม่กระทบจิตนั้นเป็นญายะปฏิปันโนคือพระอนาคามีนั่นเอง

ที่เกิดความรู้สึกแวบขึ้นมาว่า การวางอารมณ์อยู่เป็นกลางๆ ก็เป็นการถูกอยู่ชั่วคราว จะให้เบื่อหน่ายในกายย่อมเป็นไม่ได้ เป็นเพียงหลบอารมณ์ชั่วคราวเฉยๆ แต่ก็ถูกทั้งข้อ๑และข้อ๒ และอีกประการหนึ่งเราต้องหัดรู้ล่วงหน้าว่ากายก็ดี อารมณ์ก็ดีเกิดขึ้นแล้วก็แปรดับเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลผูกขาดอยู่แล้ว

เราก็ต้องพิจารณากายและใจให้ลงสู่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตากลมกลืนกันอยู่ในตัว ขณะเดียวพร้อมกับลมออกเข้าก็ได้ หรือพร้อมกับกรรมฐานที่ทรงอยู่ซึ่งหน้า กรรมฐานที่ทรงอยู่ซึ่งหน้าซึ่งเป็นเป้าเดิมนั้น ที่เราตั้งไว้เฉพาะปัจจุบันซึ่งมีสติปัญญาสมดุลกันอยู่ขณะเดียวไม่ได้ส่งส่ายหนีจากเป้าเดิม เป้าเดิมคืออะไรเล่า คือกายและใจที่กลมกลืนกันอันเราตั้งไว้ และที่ไม่สงสัยในคำสอนและข้อปฏิบัติของครูบาอาจารย์นั้นก็เป็นการถูกต้องแล้ว


หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๒๐)


คำถาม :

มีอยู่วันหนึ่งลองนั่งสมาธิตอนตีหนึ่ง โดยใช้เทปทำวัตรเช้าเย็นเปิดและเอาจิตไปจดจ่ออยู่กับเสียงสวดมนต์ ทำให้เกิดอาการขนลุก เนื้อตามแขนขา หน้า แก้ม กระตุกถี่ๆ วูบวาบไปหมด จิตขณะนั้นคงรวมวูบไป พอรู้ตัวก็พยายามภาวนาพุทโธไปเรื่อยๆ สักพักอาการก็หายไปทำให้ตกใจเล็กน้อย เลยไม่ได้นั่งสมาธิต่อจวบจนเวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน อาการดังกล่าวไม่ปรากฏขึ้นเลยครับ มีแต่ความสงบเฉยๆ ในความมืด

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

ที่เป็นอาการอย่างนั้นก็เพราะเป็นอุปจารสมาธิ อิงปิติ ความอิ่มใจด้วยแต่เกิดขึ้นแล้วก็หายไปเพราะเหตุว่าบุญชั้นนี้ สังขารชั้นนี้เกิด-ดับเป็น เราต้องอาศัยหลักอนิจจังเป็นเครื่องตัดสิน และเมื่อมันสงบอยู่เฉยๆ อย่ารบกวนมัน เดี๋ยวมันก็แปรไปทางอื่นอีก ก็ส่อแสดงให้เห็นชัดว่าแม้อุเบกขา (สงบอยู่เฉยๆ) นี้ก็อยู่ใต้อำนาจอนิจจัง โดยนัยเดียวกัน ถ้าอยู่ใต้อำนาจอนิจจังก็อยู่ใต้อำนาจทุกขัง อนัตตาในตัว


หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๒๑)


คำถาม :

หลานได้อ่านหนังสือ ในเรื่องปัญญาอบรมสมาธิและสมาธิอบรมปัญญา ท่านกล่าวว่าเหตุที่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเพราะจิตของผู้นั้นเป็นผู้คิดวุ่นวายตลอดเวลา ไม่สามารถสงบลงได้ง่ายจึงต้องใช้ปัญญากล่อมๆ เข้ามาจนจิตจนด้วยเหตุผล หลวงปู่กรุณาอธิบายให้แจ่มชัดด้วยครับ

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

ปัญญาอบรมสมาธิได้ ปัญญาก็ต้องชำนาญในสมาธิมาก่อนจึงจะจับฉวยได้โดยเร็ว สมาธิอบรมปัญญานั้นคือบริกรรมกับกรรมฐานที่ตั้งไว้ล้วนๆ เมื่อบริกรรมพอแล้วจิตก็รวมลงไปตามสติกำลังของตน เมื่อจิตถอนออกมาแล้วจึงรู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาหลังฉาก เพราะตีความหมายตนว่าสมาธิชั้นนี้แล้วยังอยู่ใต้อำนาจของความเกิดดับแล้วแปรดับ ได้สอนตนเองอย่างนี้ก็มี เพราะสติปัญญามันประสบกับความเกิดดับเสียก่อนจึงกล้าตอบตนได้ แต่เมื่อชำนาญทั้งสองด้านแล้วคือ ด้านปัญญาอบรมสมาธิ ด้านสมาธิอบรมปัญญา บุคคลผู้นั้นก็ไม่หนักใจต้องการวิธีใดได้ทั้งนั้น ชัดทั้งนั้นถือว่ามีรสชาติคุณค่าอันเดียวกันด้วย


(โปรดติดตามอ่านเรื่องที่ ๒๒ ในคราวต่อไป)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 13 ก.ค.2006, 3:34 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๒๒)


ถาม :

การปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิสงบมากที่ไม่สงบมีน้อย พอสงบแล้วโยมจะพิจารณาสังขาร แต่คิดไม่ถึงว่าจะส่งจิตน้อมไปไม่ถึง เหมือนกับมีความว่างมากีดกั้นระหว่างอยู่ พอสงบแล้วบางทีว่างๆ เหมือนบนท้องฟ้า ถ้าไม่มีเสียงอะไรแล้วเหมือนกับว่าโยมอยู่ในโลกนี้คนเดียว จิตก็ละเอียดๆๆ สั้นเข้าๆๆ แล้วก็ดับไปแล้วก็เกิดมา เกิดๆ ดับๆ ไม่คงที่อยู่ได้ โอ้อนิจจัง อนัตตาแท้หนอ ไม่มีอะไรคงที่ดีงามอยู่ได้ตลอดไป สมมติทั้งนั้นหนอสัพเพธรรมาอนัตตาทั้งนั้นหนอ

๑๘ มีนาคม ๒๕๓๘ ตอนบ่าย นั่งสมาธิก็สงบแล้วก็ว่างๆ พอออกจากสมาธิแล้วนึกถึงอะไรในการปฏิบัติ นึกถึงไปทางไหนทั้งศีล สมาธิ ปัญญา และอื่นๆ ก็ไม่มีอะไรเลย มีแต่ว่างๆ นึกๆ อะไรก็ไปไม่ถึง ไม่มีอะไรมีแต่ว่างๆ จิตนี้ไม่ค่อยรับรู้อะไร เรื่องต่างๆ ก็รู้สึกเฉยๆ จะปฏิเสธก็ไม่ใช่จะรับก็ไม่ใช่ เพียงแต่ฟังๆ รู้ๆ จิตนี้มีแต่ละเอียดๆๆๆๆ แล้วก็ว่างๆๆๆ นึกไปถึงอะไรก็ไม่มี มีแต่ว่างๆ คิดถึงปัจจุบันก็ว่าง คิดถึงอนาคตก็ว่าง คิดไปไม่ถึงอีกว่างๆ พยามยาม ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๔ ก็ไม่ได้อีก เลยปล่อยให้ว่างๆ อีกราว ๓๐-๔๐ นาที จิตที่ว่างๆ อยู่ก็ค่อยๆ ถอยๆๆ ออก จนสามารถคิดอะไรได้เล็กน้อย แล้วดิ่งลงไปอีกได้ชั่วโมงกว่าๆ เป็นอย่างนี้ทุกครั้งที่นั่งสมาธิ

ตอนนี้จิตที่เคยมีแต่ความละเอียดได้หมดไปหรือมีน้อย มีแต่ว่างๆมาแทนหรือเข้าสู่ความว่าง ออกจากความว่าง จิตไม่มีอะไร สลับกันไปสลับกันมา แต่ก่อนๆ พยายามหาวิธีต่างๆมาปฏิบัติ ก็ยังไม่หมดทุกข์ไม่หมดปัญหา คิดๆ ดูแล้วเหนื่อยไม่มีทางสิ้นสุด จึงเอาวิธีใหม่สัพเพธรรมาอนัตตา หรือรู้ก็สักแต่ว่ารู้ หรือเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยินตามที่หลวงปู่กรุณาสอนทางจดหมาย แล้วหมดเรื่องไปเลย ปฏิบัติได้ง่ายขึ้นถูกทางขึ้น โยมคิดว่าโยมได้ถึงพระอนาคามีแล้วจึงขอคำยืนยันจากหลวงปู่ว่าถูกต้องหรือไม่ ?

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

น่าสงเสริมและยินดีด้วย เพราะพิจารณาถึงธรรมอันว่าง คำว่า “ว่าง” ไม่ใช่ว่างและสูญจนเลยเถิด ว่างเฉพาะไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ธรรมอันว่างๆ มีอยู่ก็คือสัพเพ ธัมมา อนัตตานั่นเอง แต่ธรรมฝ่ายเกิดฝ่ายดับก็เป็นทุกข์อยู่ในตัว เพราะสิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นก็เป็นทุกข์อยู่ในตัวแล้ว คำว่า “เกิดดับ” ก็เหมือนกัน ธรรมฝ่ายไม่เที่ยงและเกิดดับว่างเพราะเหตุว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของ มีอิทธิพลเกิดดับอยู่ตามธรรมชาติ ส่วนธรรมชาติอันไม่เกิดดับก็โดยนัยเดียวกันแต่เป็นธรรมชั้นสูงกว่ากันเท่านั้น คือสูงสุดในพระพุทธศาสนาเป็นอนัตตาธรรมฝ่ายสุข คำว่าสุขในที่นี้มิใช่สุขอิงอามิส เป็นนิรามิสสุข สุขไม่อิงอามิสเป็นสุขเที่ยงยั่งยืนด้วย

และใครเป็นผู้เสวยสุขในพระนิพพานเล่า...... ก็พระนิพพานนั่นเองเสวยสุขในพระนิพพาน ไม่เป็นหน้าที่ของสังขารฝ่ายเกิดดับจะไปอาจเอื้อม และไม่เป็นหน้าที่ของความหลงแห่งกิเลสจะไปเอื้อมถึง ถ้าจะเอื้อมถึงก็เอื้อมถึงธรรมฝ่ายเกิดดับเท่านั้น แต่ก็คล้ายกับว่ากำแดดกำลมก็ว่างและหายไป ณ ที่นั้นเอง คำว่าว่าง ฝ่ายเกิดดับอนัตตา ฝ่ายเกิดดับก็ว่ามีความหมายอันเดียวกัน คำว่าว่างฝ่ายไม่เกิดดับคือ พระนิพพานก็เป็นธรรมาอนัตตา แต่จะไปตีคุณค่าเหมือนเกิดดับก็ไม่ได้ เพราะเป็นธรรมอันทรงคุณค่าสุดยอดแห่งธรรมทั้งหลาย จะว่าจบกิจพระพุทธศาสนาก็ถูก

ฉะนั้นจึงไม่ควรไปถุ่มเถียงในเรื่องอนัตตาธรรม ผู้ขบอนัตตาธรรมไม่แตกก็คือขบความหลงของเจ้าตัวไม่แตกนั่นเอง เพราะยังยึดถืออันใดอันหนึ่งเป็นเจ้าหัวใจอยู่โดยใจความ ก็คือยึดถืออัตตวาทุปาทานความเห็นว่าตนๆ นั่นเอง เป็นเพียงแต่ไม่รู้ตัว ก็สำคัญตัวว่าหลุดพ้นแล้ว อ้ายที่แท้ความสำคัญตนนั่นเองเป็นอุปาทานอันละเอียด ความหลงอันละเอียด ชั้นนี้ไม่ใช่ของง่าย เราตีความหมายว่าเป็นน้ำที่ไม่มีตะกอน อ้ายที่แท้มันมีตะกอนอยู่ในตัวมันนั่นเอง

ที่คุณถามว่า “ดิฉันถึงพระอนาคามีหรือไม่” นั้น ข้อนี้จงเป็นผู้เห็นเองเพราะสันทิฏฐิโก และปัจจัตตังชั้นพระอนาคามี เป็นของละเอียดกว่าพระโสดาบันและพระสกทาคามี และให้สังเกตตนเองว่าเมื่อมีมดเข้าหูหรือเข้ารูจมูกเราๆ หงุดหงิดหรือไม่ ถ้าหงุดหงิดอยู่ก็ไม่ใช่พระอนาคามี และสังเกตกามารมณ์ของเราที่รบกวนเราแบบละเอียดละออให้ขณะจิตเรานึกจะเสพนั้นหรือไม่ ถ้ามีอยู่ก็ไม่ใช่พระอนาคามี พระอนาคามีไม่มีกามวิตก ความตรึกในทางกาม และไม่ส่งเสริมในใจของตนเองด้วยคือไม่กำหนัดนั่นเอง

ความหงุดหงิดไม่มี ปองร้ายหมายขวัญไม่มีในพระอนาคามีเลย ขอให้เข้าใจว่ากามก็ดี โทสะก็ดีพระอนาคามีขาดไปแล้วไม่ขบถคืน อันนี้เข้าใจชัดกว่าที่พูดมาแล้วนั้น ส่วนโมหะความสำคัญตัวยังมีอยู่ ความสำคัญตัวเกี่ยวกับเรากับเขา เพราะมีเราเขาสัมปยุตอยู่ ดองอยู่ในหัวใจยังไม่ขาดไปได้ เพราะเป็นกิเลสอันละเอียดคล้ายๆ กับขวดน้ำปลาที่ล้างไม่ดียังมีกลิ่นน้ำปลาอยู่ ส่วนพระอรหันต์นั้นขาดไปแล้วไม่มีกลิ่นน้ำปลาอยู่ในขวดเลย ถ้าหากเทียบในทางไฟ พระอรหันต์นั้นเปรียบเหมือนไฟที่ดับไปแล้วไม่มีไออุ่น ด้วยเดชพระพุทธศาสนา พวกเราทั้งหลายจงข้ามทะเลหลงด้วยความไม่หลงอยู่ทุกเมื่อเทอญฯ


(โปรดติดตามอ่านเรื่องที่ ๒๓ ในคราวต่อไป)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
I am
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ค.2006, 8:39 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตามมาอ่านตลอดครับ..
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง