Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระมหากัปปินเถระ (พระอาจารย์สุโข กตปุญโญ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 2:11 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระอาจารย์สุโข กตปุญโญ ในงานพิธีสาธยายพระไตรปิฎกบาลีนานาชาติ ครั้งที่ ๔
ระหว่างวันที่ ๑-๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๑
ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย



พระมหากัปปินเถระ
เอตทัคคะในทางผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ
ตรวจทานโดย พระอาจารย์สุโข กตปุญโญ


สำนักปฏิบัติธรรมแก้วมณีนพเก้า (วัดแก้วมณี)
ต.ลาดบัวหลวง อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา



อนุโมทนา

ด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้า ขอให้จิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จงบังเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระปัญญาอันประเสริฐ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ปราศจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แม้ปรินิพพานนานแล้วก็ตาม

ด้วยอานุภาพของพระธรรม ขอให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จงประพฤติตนตามพระธรรมอันประเสริฐ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว อันเป็นทางเดียวที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์

ด้วยอานุภาพของพระสงฆ์ ขอให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จงนอบน้อมในพระคุณของพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมอันเป็นเครื่องนำออกจากความทุกข์ ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐของโลก

ขอพระสัทธรรมจงรักษาท่านทั้งหลายผู้ประพฤติธรรม ขอท่านทั้งหลายจงถึงความเจริญในธรรมที่พระอริยเจ้าแสดงแล้วเถิด ขอความสันติสุขจงบังเกิดแก่ชาวโลกด้วยเดชแห่งพระรัตนตรัยถ้วนหน้ากันเทอญ


สำนักปฏิบัติธรรมแก้วมณีนนท์นพเก้า (วัดแก้วมณี)
ต.ลาดบัวหลวง อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 2:16 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระอาจารย์สุโข กตปุญโญ ในงานพิธีสาธยายพระไตรปิฎกบาลีนานาชาติ ครั้งที่ ๔
ระหว่างวันที่ ๑-๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๑
ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย



คำนำ

หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวม ประวัติและขั้นตอนการสร้างบารมีของ “พระมหากัปปินเถระ” เอตทัคคะในทางผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ พระเถระผู้เปล่งอุทานว่า “สุขหนอ สุขหนอ” โดยคณะผู้จัดทำมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำขึ้น เพื่อน้อมถวายแด่พระภิกษุและสามเณร โดยเฉพาะพระภิกษุและสามเณรผู้บวชใหม่

ถ้าหากพระภิกษุ สามเณร และสาธุชนสายบุญที่ได้อ่านและศึกษา ประวัติและขั้นตอนการสร้างบารมีของพระเอตทัคคมหาสาวกรูปนี้แล้ว เกิดกำลังใจในการเพียรมุ่งมั่นปฏิบัติธรรม เพียรมุ่งมั่นปฏิบัติตน เพื่อหน้าที่ทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง เพื่อความพ้นทุกข์ และเพื่อความไม่เบียดเบียนตน ก็คงจะนำมาซึ่งปีติอันใหญ่หลวงยิ่ง จากการอนุโมทนาบุญและการร่วมกันจัดทำขึ้นของ “คณะเจ้าภาพผู้ร่วมสมทบปัจจัยและคณะผู้จัดทำ” แล้ว


ขออนุโมทนาบุญ
คณะเจ้าภาพผู้ร่วมสมทบปัจจัยและคณะผู้จัดทำ
ณ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๘
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 5:32 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
ท่านเจ้าคุณพระธรรมโพธิวิเทศ (ทองยอด ภูริปาโล ป.ธ. ๙ Ph.D.)
เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ตำบลพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
ถวายใบประกาศสาธยายพระไตรปิฎกบาลีแด่พระอาจารย์สุโข กตปุญโญ



สารบัญ

(๑) อนุโมทนา
(๒) คำนำ
(๓) พระมหากัปปินเถระ
(๔) ชาติภูมิ
(๕) ตั้งจิตปรารถนาในการเป็นยอดของภิกษุผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ
(๖) บุรพกรรมในสมัยว่างจากพระพุทธเจ้า
(๗) พระปัจเจกพุทธเจ้าทูลขอหัตถกรรมทำเสนาสนะ
(๘) พวกบ้านช่างหูกทำบุญ
(๙) บุรพกรรมในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า
(๑๐) คฤหบดีถวายมหาทานแด่พระกัสสปพุทธเจ้า
(๑๑) ภริยาของหัวหน้าคฤหบดีถวายดอกอังกาบ
(๑๒) กำเนิดเป็นพระมหากัปปินะในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า
(๑๓) พระราชาทรงทราบข่าวพระรัตนตรัยอุบัติขึ้นแล้วในโลก
(๑๔) พระราชาเสด็จออกผนวชพร้อมด้วยอำมาตย์
(๑๕) พระบรมศาสดาทรงรับเสด็จ
(๑๖) พระราชเทวีและบริวารเสด็จออกผนวช
(๑๗) พระราชเทวีและบริวารบรรลุโสดาปัตติผล
(๑๘) พระมหากัปปินะเปล่งอุทานว่า “สุขหนอ สุขหนอ”
(๑๙) พระมหากัปปินะดำริจะไม่ทำอุโบสถ
(๒๐) ทรงแต่งตั้งพระมหากัปปินะเป็นเอตทัคคะ
(๒๑) พระมหากัปปินะร่วมโปรดนางเปรตผู้เป็นอดีตมารดาพระสารีบุตร
(๒๒) พระพุทธองค์ทรงแสดงพระมหากัปปินะเป็นตัวอย่าง
(๒๓) พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญพระมหากัปปินะ
(๒๔) พระพุทธองค์และพระอรหันต์ ๔ ทิศทรมานพกพรหม
(๒๕) ธรรมวาทะของพระมหากัปปินเถระ
(๒๖) พระมหากัปปินเถระปรินิพพาน
(๒๗) นิทานธรรม : พระมหากัปปินะ
ตอนที่ ๑ : อดีตชาติที่ ๑
ตอนที่ ๒ : อดีตชาติที่ ๒.....สร้างเสนาสนะ
ตอนที่ ๓ : อดีตชาติที่ ๒.....ดอกอังกาบ
ตอนที่ ๔ : คำทำนาย
ตอนที่ ๕ : กำเนิดพระเจ้ามหากัปปินะ
ตอนที่ ๖ : พระเจ้ามหากัปปินะ.....ออกผนวช ๑
ตอนที่ ๗ : พระเจ้ามหากัปปินะ.....ออกผนวช ๒
ตอนที่ ๘ : เอหิภิกขุอุปสัมปทา
ตอนที่ ๙ : พระนางอโนชาเทวีเสด็จออกผนวช
ตอนที่ ๑๐ : ผู้เป็นเลิศในทางการให้โอวาทแก่ภิกษุ
ตอนที่ ๑๑ : พระธรรมเทศนา-พระเถระปรินิพพาน
(๒๘) คำอธิบายเพิ่มเติม
(๒๙) บรรณานุกรม
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา

แก้ไขล่าสุดโดย TU เมื่อ 01 ก.ค.2006, 4:39 pm, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 5:42 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

พระมหากัปปินเถระ
เอตทัคคะในทางผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ


ในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า
ผองชนเข้าฟังธรรมคำสั่งสอน
ณ วิหารหังสวดีนคร
บุรุษหนึ่งซึ้งซ้อนซ่อนยินดี

บุรุษท่านนั้นคือผู้พิพากษา
กอปรกิจจาในพระนครนี่
ฟังธรรมแล้วให้เกิดความปีตี
แหละท่านมีความคิดพิสิฐนัย

เพราะระหว่างกำลังฟังพระธรรมนั้น
สายตาพลันเหลือบเห็นสงฆ์หนึ่งไซร้
มีตำแหน่งเหนือพระรูปอื่นใด
ฐานะนั้นท่านได้จากพระศาสดา

คืออยู่ในเอตทัคคะตำแหน่ง
ที่เลิศแห่งให้โอวาทภิกษุหนา
เมื่อยินแล้วให้เกิดความศรัทธา
จึงนิมนต์พระมาฉันที่บ้านตน

เมื่อพระพุทธองค์ทรงแล้วเสวยอาหาร
ผู้พิพากษาหมอบคลานประสานสน
ถึงตำแหน่งแฝงเฝ้าเคล้ากมล
พระองค์กล่นเกริ่นกล่าวราวทำนาย

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า
ดูมหาอำมาตย์แกล้วกล้าการณ์ทั้งหลาย
หมอบอยู่แทบเท้าเราเหมือนเดียวดาย
แต่สหายเขามีมากหลากบริวาร

มีวรรณะนัยน์ตาหน้าผ่องใส
มีความปลาบปลื้มใจในสถาน
มียศใหญ่ในกิจราชการ
จะพบพานเสวยสุขทุกภพไป

ด้วยการบริจาคบิณฑบาตนี้
พร้อมทั้งมีความปรารถนาพิสมัย
เขาจะสบพบทุกสิ่งที่ตั้งใจ
ทั้งแสนกัปนับไว้ตลอดกาล

แต่ในกัปซึ่งมีพระศาสดา
พระนามว่า “โคดม” ทรงสถาน
มหาอำมาตย์นี้ได้เป็นธรรมบริวาร
ละสงสารทุกข์ได้ในกัปนี้

เมื่อเขาเป็นสาวกของพระศาสดา
จะชื่อว่า “กัปปินะ” เลิศวิถี
ได้ตำแหน่งสมปรารถนาพายินดี
จะสุขีจวบถึงซึ่ง “นิพพาน” ๚



๏ ชาติภูมิ

พระมหากัปปินเถระ เป็นพระราชโอรสของพระราชาผู้ครองนครกุกกุฏวดี พระราชบิดาและพระราชมารดาไม่ปรากฏพระนาม ในปัจจันตชนบท คือเมืองชายแดนหรือหัวเมืองด้านนอก มีพระนามเดิมว่า “กัปปินะ” เมื่อพระราชบิดาทิวงคตแล้ว ได้เสวยราชสมบัติสืบต่อมา จึงได้พระนามใหม่ว่า “พระเจ้ามหากัปปินะ” มีพระอัครมเหสีพระนามว่า “อโนชาเทวี” ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระราชาผู้ครองนครสาคละ แห่งแคว้นมัททรัฐ

การที่ท่านได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดา ให้อยู่ในตำแหน่งพระเอตทัคคมหาสาวกผู้เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายในทางผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุนั้น ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือ “โดยเหตุเกิดเรื่อง” กล่าวคือ ได้รับยกย่องตามเรื่องที่เกิดขึ้น (อัตถุปปัตติโต) ด้วยท่านได้แสดงความสามารถออกมาให้ปรากฏได้อย่างชัดแจ้ง ในเรื่องการแสดงธรรมให้พระสมณะศิษย์บริวารของท่าน ดำรงอยู่ในพระอรหัตผลได้พร้อมคราวเดียวกันถึง ๑,๐๐๐ รูป ด้วยโอวาทเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และอีกเหตุหนึ่งก็คือ “โดยการมาก่อน” กล่าวคือ ได้รับยกย่องตามที่ได้สั่งสมบำเพ็ญบารมีมาในอดีตชาติ (อาคมนโต) ด้วยท่านได้สั่งสมบำเพ็ญบารมีในด้านการให้โอวาทแก่ภิกษุนั้นมาตั้งแต่อดีตชาติ พร้อมทั้งได้ตั้งจิตปรารถนาเพื่อให้ได้ตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๑
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 5:46 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ ตั้งจิตปรารถนาในการ
เป็นยอดของภิกษุผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ


ท่านได้เคยบำเพ็ญกุศลสั่งสมบุญญาธิการ อันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากหลายต่อหลายชาติในสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ครั้นในกาลของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้มาบังเกิดในหังสวดีนคร บรรลุนิติภาวะแล้วได้เป็นผู้พิพากษา (อำมาตย์ผู้วินิจฉัยอรรถคดี) อยู่ในพระนคร วันหนึ่งระหว่างที่ท่านกำลังฟังพระธรรมเทศนาอยู่แถวท้ายหมู่พุทธบริษัทในสำนักของพระศาสดา ได้แลเห็นภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า “ชลชุตตมะ” ซึ่งพระศาสดาทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งผู้เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายในทางผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ แล้วเกิดปีติโสมนัสยิ่ง ท่านจึงปรารถนาที่จะได้เป็นเหมือนอย่างชลชุตตมะภิกษุนี้ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลเช่นนั้นบ้าง

ดังนั้น ท่านจึงได้ทำการสักการบูชาและนิมนต์พระปทุมุตตรพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ให้มารับบิณฑบาต แล้วหมอบลงแทบพระบาทของพระบรมศาสดา ได้แสดงความปรารถนาในตำแหน่งนั้น

พระปทุมุตตระบรมศาสดาผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่าความปรารถนาของเขาจักสำเร็จผล จึงได้ทรงตรัสพยากรณ์ว่า “จงดูมหาอำมาตย์ผู้แกล้วกล้าในการตัดสิน หมอบอยู่แทบเท้าของเรา มีใจสูงด้วยปีติ มีวรรณะ นัยน์ตาและหน้าผ่องใส มีบริวารเป็นอันมาก ทำราชการมียศใหญ่ มหาอำมาตย์ผู้นี้ท่านปรารถนาตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ เพราะด้วยการบริจาคบิณฑบาตนี้และด้วยการตั้งเจตน์จำนงไว้ ท่านจักไม่เข้าถึงทุคติเลยตลอดแสนกัป จักเสวยความเป็นผู้มีโชคดีในหมู่ทวยเทพ และจักเสวยความเป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์ บุคคลใดเมื่อได้ทำสักการะในพระสัมพุทธเจ้าแล้วย่อมไม่เป็นผู้ปราศจากผล

ในกัปที่แสนนับจากภัทรกัปนี้ พระศาสดาทรงพระนามโดยพระโคตรว่า ‘โคดม’ เป็นผู้ทรงสมภพจากราชตระกูลพระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก มหาอำมาตย์นี้จักได้เป็นธรรมทายาทและสาวกของพระสมณโคดมพุทธเจ้า มีนามว่า ‘กัปปินะ’ จักตั้งอยู่ในเอตทัคคะในทางผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุสมดังปรารถนา จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะได้บรรลุถึงพระนิพพาน และจักยังพระศาสนาให้รุ่งเรือง”


ครั้งนั้น ท่านได้สดับพระพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว มีใจปราโมทย์ บำรุงพระบรมศาสดาพระองค์นั้นด้วยปัจจัยทั้งหลายตราบเท่าสิ้นชีวิต



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๒
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 5:49 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ บุรพกรรมในสมัยว่างจากพระพุทธเจ้า

ท่านได้กระทำกุศลกรรมไว้ในมนุษยโลกเป็นอันมากจนตลอดอายุขัย จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ครั้นมาในสมัยว่างจากพระพุทธเจ้า ท่านได้มาบังเกิดเป็น หัวหน้าช่างหูก ในหมู่บ้านช่างหูก (ช่างทอผ้าแบบพื้นเมือง) แห่งหนึ่ง ในที่อันไม่ไกลจากกรุงสาวัตถีนัก



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๓
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 5:51 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พระปัจเจกพุทธเจ้า
ทูลขอหัตถกรรมทำเสนาสนะ


ในคราวนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าประมาณ ๑,๐๐๐ รูป อยู่ที่ภูเขาหิมวันต์ ๘ เดือน เวลาจะเข้าพรรษาก็มาอยู่ในชนบท ๔ เดือน พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นครั้งแรกก็ลงมาในที่อันไม่ไกลจากกรุงพาราณสี แล้วส่งพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ รูปไปพบพระราชายังพระราชวัง ด้วยคำว่า “พวกท่านจงทูลขอหัตถกรรมเพื่อก่อสร้างเสนาสนะเถิด”

พระราชานั้นได้ทรงทราบนัยว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมา จึงเสด็จออกมาถามถึงเหตุที่พากันมา แล้วตรัสว่า “ท่านผู้เจริญ วันนี้ยังไม่มีโอกาส เพราะวันพรุ่งนี้เป็นวันพระราชพิธีวัปปมงคล (พืชมงคล) ของข้าพระองค์ ในวันที่ ๓ ข้าพระองค์จักทำเสนาสนะถวายให้ พระพุทธเจ้าข้า” ฉะนั้น พระราชาก็ไม่ได้นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ท่านพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายจึงได้พากันหลีกไป ด้วยกล่าวว่า “พวกเราจักเข้าไปขอความอนุเคราะห์ยังหมู่บ้านอื่น”



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๔
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 5:59 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พวกบ้านช่างหูกทำบุญ

ในสมัยนั้น ภริยาของหัวหน้าช่างหูก เดินทางไปยังกรุงพาราณสี ด้วยหน้าที่การงานบางอย่าง ได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นเข้า จึงเอ่ยถามว่า “พระคุณเจ้า ท่านมาในกาลอันมิใช่เวลาเพื่อต้องการอะไรเจ้าคะ”

พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นได้เล่าเรื่องตั้งแต่ต้นให้ฟัง พอได้ฟังเรื่องนั้นแล้ว หญิงผู้บริบูรณ์ด้วยศรัทธาถึงพร้อมด้วยปัญญาจึงกราบนิมนต์ว่า “ท่านเจ้าขา พรุ่งนี้นิมนต์มารับภิกษา (อาหาร) ของพวกดิฉันนะเจ้าคะ”

พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า “โยมน้องหญิง พวกอาตมภาพมีด้วยกันมากองค์”

หญิงภริยาของหัวหน้าช่างหูกนั้นกราบเรียนถามว่า “มีกี่องค์เจ้าคะ พระคุณเจ้า”

พระปัจเจกพุทธเจ้าตอบว่า “มีประมาณ ๑,๐๐๐ องค์ น้องหญิง”

หญิงคนนั้นกราบเรียนว่า “ท่านเจ้าขา ในหมู่บ้านของพวกดิฉันนี้ก็มีคนอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ คนเช่นกัน คนคนหนึ่งจะถวายภิกษาแก่ภิกษุองค์หนึ่ง ขอนิมนต์ท่านจงมารับภิกษาเถิด ดิฉันคนเดียวจักให้ช่างก่อสร้างที่อยู่สำหรับพระคุณเจ้าทั้งหลายเจ้าคะ”

เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายรับนิมนต์แล้ว หญิงคนนั้นก็เข้าไปยังหมู่บ้าน โฆษณาป่าวร้องว่า “แม่และพ่อทั้งหลายเอย ฉันได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าประมาณ ๑,๐๐๐ องค์ ได้นิมนต์ท่านไว้แล้ว พวกท่านจงช่วยกันตระเตรียมที่สำหรับพระคุณเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด และจงช่วยกันตระเตรียมข้าวยาคูและภัตรเป็นต้นด้วยเถิด”

ต่อมาภริยาของหัวหน้าช่างหูกนั้น ได้ให้คนช่วยกันก่อสร้างมณฑปในท่ามกลางหมู่บ้าน ให้ปูลาดอาสนะทั้งหลายไว้ พอถึงวันรุ่งขึ้นจึงนิมนต์ให้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั่งแล้ว อังคาส (ถวายพระ, เลี้ยงพระ) ด้วยขาทนียะ (ของควรเคี้ยว, ของขบของเคี้ยว ได้แก่ ผลไม้ต่างๆ และเหง้าต่างๆ เช่น เผือกมัน เป็นต้น) และโภชนียะ (ของควรบริโภค, ของสำหรับฉัน ได้แก่ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ) อันประณีต ในเวลาเสร็จภัตรกิจแล้วได้พาผู้หญิงทั้งหมดในหมู่บ้านนั้น มาไหว้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายอย่างพร้อมเพรียงกัน หลังจากนั้นจึงได้นิมนต์ให้ท่านอยู่จำพรรษาตลอดไตรมาส

ต่อมาภริยาของหัวหน้าช่างหูกได้ป่าวร้องในหมู่บ้านอีกว่า “แม่และพ่อทั้งหลาย บุรุษคนหนึ่งๆ จากตระกูลหนึ่งๆ คือ คัดเอาผู้ชายบ้านละคน ให้ถือมีดและขวานเป็นต้น เข้าป่าไปนำทัพพสัมภาระ (เครื่องเคราและส่วนประกอบทั้งหลาย, สิ่งและเครื่องอันเป็นส่วนประกอบที่จะคุมกันเข้าเป็นเรือน เรือ รถ หรือเกวียน เป็นต้น) มาแล้ว จงสร้างบรรณศาลาถวายสำหรับพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายเถิด”

พวกชาวบ้านได้ฟังคำของนางนั้นแล้ว แต่ละคนก็สร้างบรรณศาลาคนละหลัง โดยทำงานก่อสร้างทั้งคืนทั้งวันจนบรรณศาลา ๑,๐๐๐ หลังเสร็จเรียบร้อย แล้วกราบเรียนพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ซึ่งเข้าไปอยู่ในบรรณศาลาของตนว่า “เราจักบำรุงท่านโดยความเคารพ” แล้วจึงได้พากันบำรุง

พอถึงเวลาออกพรรษา ภริยาของหัวหน้าช่างหูกจึงกล่าวว่า “พวกท่านจงตระเตรียมผ้าจีวรสาฎกถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้อยู่จำพรรษาในบรรณศาลาของตนเถิด” เมื่อได้ช่วยกันตระเตรียมเสร็จแล้ว จึงได้ช่วยกันถวายผ้าจีวรมูลค่า ๑,๐๐๐ กหาปณะแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า องค์ละ ๑ ผืน ครั้นถึงเวลาออกพรรษา พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายกระทำอนุโมทนา แล้วก็หลีกไป

พวกบ้านช่างหูกที่ได้กระทำกุศลกรรมนี้แล้ว จุติจากอัตภาพนั้นก็ได้ไปบังเกิดในดาวดึงส์เทวโลก เสวยทิพยสมบัติเป็นคณเทวดา



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๕
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 6:02 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ บุรพกรรมในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ พวกบ้านช่างหูกได้พากันมาบังเกิดในบ้านเรือนของพวกคฤหบดีผู้มั่งคั่งในกรุงพาราณสี หัวหน้าช่างหูกในกาลก่อนได้มาบังเกิดเป็น หัวหน้าคฤหบดี และภริยาของหัวหน้าช่างหูกในกาลก่อนก็ได้มาบังเกิดเป็นภริยาของหัวหน้าคฤหบดีนั้น ส่วนพวกช่างหูกและภริยาที่เหลือทั้งหมด ก็ได้มาบังเกิดในสกุลคฤหบดีบริวาร ครั้นเจริญวัยแล้ว เมื่อจะแต่งงานมีเหย้าเรือน ต่างก็แต่งงานกับคู่ของตนในกาลก่อน



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๖
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 6:05 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ คฤหบดีถวายมหาทานแด่พระกัสสปพุทธเจ้า

วันหนึ่ง เมื่อมีการป่าวประกาศให้ไปฟังธรรมที่สำนักของพระศาสดา พวกคฤหบดีเหล่านั้นทั้งหมดได้ทราบว่า พระศาสดาจักทรงแสดงธรรม จึงได้ไปยังพระวิหารพร้อมกับภริยาเพื่อฟังธรรม ในขณะที่คนเหล่านั้นเข้าไปยังท่ามกลางสำนักของพระศาสดา ฝนก็ตกลงมา พวกคนที่รู้จักมักคุ้นกับพระภิกษุหรือมีญาติที่เป็นสามเณรเป็นต้น ต่างก็เข้าไปยังที่พักของพระภิกษุและสามเณรที่คุ้นเคยเป็นญาติกันเหล่านั้นเพื่อหลบฝน แต่พวกคฤหบดีเหล่านั้นไม่อาจจะเข้าไปในที่แห่งใดแห่งหนึ่งได้ เพราะไม่มีพระภิกษุสามเณรที่รู้จักหรือเป็นญาติเช่นนั้นเลย จึงได้ยืนอยู่ท่ามกลางฝนนั้น

หัวหน้าคฤหบดีกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย จงดูอาการอันน่าอับอายของพวกเรา ธรรมดากุลบุตรทั้งหลายละอายด้วยเหตุเช่นนี้ ก็สมควรแล้ว”

พวกคฤหบดีจึงถามว่า “พวกเราจะทำอย่างไรดีนาย”

หัวหน้าคฤหบดีจึงพูดว่า “พวกเราถึงซึ่งการอันน่าอับอายนี้ เพราะไม่มีที่พักของผู้คุ้นเคยหรือเป็นญาติกัน พวกเราทั้งหมดจักรวบรวมทรัพย์เพื่อสร้างพระวิหาร”

พวกคฤหบดีจึงพูดว่า “ดีละนาย”

หัวหน้าคฤหบดีจึงได้ให้ทรัพย์หนึ่งพันกหาปณะ คฤหบดีคนที่เหลือได้ให้ทรัพย์คนละห้าร้อยกหาปณะ พวกผู้หญิงได้ให้ทรัพย์คนละสองร้อยห้าสิบกหาปณะ พวกคฤหบดีเหล่านั้นนำทรัพย์นั้นมาแล้ว มอบให้ช่างเพื่อสร้างพระวิหารเรียงรายไป ๑,๐๐๐ หลัง ได้ชื่อว่าเป็นบริเวณกว้างขวาง เพื่อเป็นที่ประทับสำหรับพระศาสดา เพราะค่าที่การก่อสร้างนั้นใหญ่ไป เมื่อทรัพย์ที่บริจาคไปนั้นไม่เพียงพอ จึงได้ช่วยกันออกให้อีกครึ่งหนึ่งของจำนวนทรัพย์ที่ได้บริจาคให้แล้วในครั้งก่อน เมื่อพระวิหารสร้างสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว พวกคฤหบดีเหล่านั้นก็ทำการฉลองและถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์ มีพระกัสสปพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอด ๗ วัน รวมทั้งจัดแจงถวายผ้าจีวรสำหรับภิกษุสงฆ์จำนวน ๒๐,๐๐๐ รูป



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๗
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 6:09 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
ดอกอโนชา (ดอกอังกาบ) สีชมพูอ่อน


๏ ภริยาของหัวหน้าคฤหบดีถวายดอกอังกาบ

ส่วนภริยาของหัวหน้าคฤหบดีคิดว่า “เราจักไม่ทำให้เสมอกับพวกเขา แต่จักทำให้ยิ่งไปกว่าพวกเขา คือ เราจักทำการสักการบูชาพระศาสดา” ดังนี้แล้วนางจึงถือเอาผอบบรรจุ ดอกอโนชา (ดอกอังกาบ) พร้อมกับผ้าสาฎกซึ่งมีสีดุจดอกอโนชามูลค่า ๑,๐๐๐ กหาปณะ โดยเอาดอกอโนชาบูชาพระศาสดา และวางผ้าสาฎกนั้นไว้ใกล้แทบพระบาทของพระกัสสปพุทธเจ้า แล้วได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยอานุภาพแห่งทานนี้ ขอให้สรีระของข้าพระองค์จงมีสีคล้ายดอกอโนชาในที่ที่ข้าพระองค์เกิดแล้วเถิด และจงมีชื่อว่า อโนชา ดังนี้เถิด” พระศาสดาได้ทรงกระทำอนุโมทนาด้วยพระดำรัสว่า “จงสำเร็จดังปรารถนาเถิด”

พวกคฤหบดีเหล่านั้นและภริยาได้บำเพ็ญกุศลกรรมไว้เป็นอันมากจนตลอดอายุขัย จุติจากอัตภาพนั้นแล้วได้ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลกตลอดพุทธันดรหนึ่ง



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๘
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 6:13 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ กำเนิดเป็นพระมหากัปปินะ
ในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า


ครั้นมาในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้านี้ ในชาติสุดท้ายบรรดาพวกคฤหบดีเหล่านั้นที่จุติจากเทวโลกแล้ว ผู้เป็นหัวหน้าคฤหบดีได้มาบังเกิดเป็น “พระเจ้ามหากัปปินะ” ในราชตระกูลในนครกุกกุฏวดี ใกล้ป่าหิมพานต์ ทรงเป็นพระราชาผู้ถึงพร้อมด้วยความสุข หากทรงปรารถนาสิ่งใดก็จะสำเร็จดังประสงค์ทุกประการ คฤหบดีคนที่เหลือได้มาบังเกิดในตระกูลอำมาตย์ทั้งหมด ทางด้านภริยาของหัวหน้าคฤหบดีได้มาบังเกิดในราชตระกูลในนครสาคละ แคว้นมัททรัฐ พระนางได้มีพระสรีระงามมีสีดุจดอกอโนชาทีเดียว ด้วยเหตุนั้นพระชนกพระชนนีจึงได้ทรงขนานพระนามของพระนางว่า “อโนชา” นั่นแล เมื่อพระนางทรงเจริญวัยแล้วก็อภิเษกเป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้ามหากัปปินะ ได้มีพระนามปรากฏว่า “อโนชาเทวี”

ส่วนพวกผู้หญิงที่เหลือก็ได้มาบังเกิดในตระกูลอำมาตย์ เมื่อเจริญวัยแล้วก็ได้แต่งงานกับบุตรอำมาตย์ที่เป็นคู่ของตนในกาลก่อน คนเหล่านั้นทั้งหมดในตระกูลของอำมาตย์ได้เสวยสมบัติเช่นเดียวกันกับสมบัติของพระราชา ในกาลใดพระเจ้าแผ่นดินทรงประดับด้วยเครื่องทรงอลังการพร้อมสรรพ เสด็จขึ้นหลังพญาช้างเที่ยวไป แม้ในกาลนั้นพวกอำมาตย์เหล่านั้นก็เที่ยวไปอย่างนั้นเหมือนกัน เมื่อพระราชาพระองค์นั้นเสด็จเที่ยวไปด้วยม้าหรือด้วยรถ ถึงพวกอำมาตย์เหล่านั้นก็เที่ยวไปอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะกำลังแห่งบุญกุศลเป็นอันมากที่ได้ทำไว้ร่วมกัน พวกอำมาตย์เหล่านั้นจึงได้เสวยสมบัติอย่างเดียวกันกับพระราชา

พระเจ้ามหากัปปินะมีพระราชหฤทัยใฝ่ต่อการศึกษา (สุตะ) แสวงหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะทรงฝักใฝ่ในการออกผนวชเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพานอันเป็นคุณธรรมเบื้องสูง
ด้วยพระอุปนิสัยอันสั่งสมไว้กับพระรัตนตรัย ทุกๆ วัน พระองค์จะให้อำมาตย์บริโภคแต่เช้าตรู่ แล้วทรงส่งพวกเขาออกไปสืบข่าวจากทิศทั้ง ๔ ว่ามีข่าวอะไรบ้าง โดยเฉพาะข่าวเกี่ยวกับพระรัตนตรัยว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม หรือว่าพระสงฆ์ได้อุบัติขึ้นแล้ว อำมาตย์เหล่านั้นออกจากพระนครไปไกล ๒-๓ โยชน์ทุกวัน ค่ำแล้วก็กลับมารายงานข่าวให้ทรงทราบ พระเจ้ามหากัปปินะมีม้าอันเป็นพระราชพาหนะ ๕ ตัว คือ พละ, พลวาหนะ, ปุปผะ, ปุปผวาหนะ และสุปัตตะ โดยปกติพระองค์จะทรงม้าชื่อสุปัตตะเป็นประจำ ส่วนม้าที่เหลือจะพระราชทานให้อำมาตย์หรือทหารใช้เป็นพาหนะไปสืบข่าวต่างๆ



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๙
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 6:18 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พระราชาทรงทราบข่าว
พระรัตนตรัยอุบัติขึ้นแล้วในโลก


วันหนึ่ง พระราชาเสด็จขึ้นม้าสุปัตตะ ทรงมีอำมาตย์พันคนเป็นบริวาร กำลังเสด็จไปยังพระราชอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นพวกพ่อค้าผู้ซึ่งมีร่างกายอิดโรยเหนื่อยอ่อนประมาณ ๕๐๐ คน กำลังเข้าไปยังพระนคร จึงทรงดำริว่า “พวกพ่อค้าเหล่านี้อิดโรยเหนื่อยอ่อนเพราะเดินทางไกล เราจักได้ฟังข่าวสารอันเจริญจากสำนักของพวกพ่อค้าเหล่านี้เป็นแน่” จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้อำมาตย์ไปเรียกพวกพ่อค้าเหล่านั้นมา แล้วตรัสถามว่า “พวกเธอมาจากเมืองไหนกันเล่า”

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ นครหนึ่งนามว่าสาวัตถี แห่งแคว้นโกศล ซึ่งอยู่ไกลจากที่นี้ไปอีก ๒๐๐ โยชน์ พวกข้าพระองค์มาจากพระนครนั้น พระเจ้าข้า”

พระราชาตรัสถามว่า “มีข่าวสารอะไรเกิดขึ้นในเมืองถิ่นที่อยู่ของพวกเธอบ้างหรือไม่”

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ก็มีอยู่บ้าง แต่พวกข้าพระองค์ไม่อาจกราบทูลข่าวนี้ด้วยทั้งปากที่ไม่สะอาด พระเจ้าข้า”

ลำดับนั้น พระราชาจึงให้พระราชทานน้ำด้วยพระเต้าทอง พวกพ่อค้าเหล่านั้นบ้วนปากแล้วหันหน้าไปทางพระทศพล ประคองอัญชลี แล้วก็กราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ในบ้านเมืองของข้าพระองค์ ข่าวสารอะไรอย่างอื่นไม่มี นอกจากข่าวที่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลกเท่านั้น พระเจ้าข้า”

ในขณะนั้นนั่นเอง ด้วยมหาปีติโสมนัสอย่างท่วมท้นที่บังเกิดจากข่าวที่ทรงได้ยินว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระราชาทรงหลงลืมพระสติไปชั่วขณะ ไม่อาจจะกำหนดอะไรๆ ได้ ทรงนิ่งเงียบไปครู่หนึ่ง พอสติสัมปชัญญะกลับคืนมาแล้ว พระองค์จึงได้ตรัสถามซ้ำอีกว่า “พูดอะไรนะพ่อคุณ”

พวกพ่อค้าก็กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระเจ้าข้า”

พระราชาทรงนิ่งเงียบไปครู่หนึ่ง แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ ก็เหมือนครั้งแรกนั่นแล แล้วตรัสถามซ้ำเป็นครั้งที่ ๔ ว่า “พูดอะไรนะพ่อคุณ”

เมื่อพวกพ่อค้ากราบทูลยืนยันเช่นเดิมว่า “พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระเจ้าข้า”

จึงตรัสว่า “พ่อค้า ! เพราะการที่ได้ฟังข่าวสารอันเป็นสุข เราจะให้ทรัพย์ ๑ แสนกหาปณะแก่พวกเธอ” แล้วตรัสถามว่า “ข่าวสารอะไรที่นอกเหนือไปกว่านี้ยังมีอีกไหมพ่อคุณ”

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ มีพระธรรมทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระเจ้าข้า”

พระราชาทรงสดับถ้อยคำนั้นแล้ว ทรงนิ่งเงียบไปครู่หนึ่งตลอด ๓ วาระเหมือนนัยก่อนนั่นแล ในวาระที่ ๔ เมื่อพวกพ่อค้ากราบทูลยืนยันเช่นเดิมว่า “พระธรรมทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระเจ้าข้า”
จึงตรัสว่า “แม้ในวาระนี้เราก็จะให้ทรัพย์ ๑ แสนกหาปณะแก่พวกเธอ” แล้วตรัสถามว่า “ข่าวสารอะไรที่นอกเหนือไปกว่านี้ยังมีอีกไหม พ่อคุณ”

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ มีพระสงฆ์ทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระเจ้าข้า”

พระราชาทรงสดับถ้อยคำนั้นแล้ว ทรงนิ่งเงียบไปครู่หนึ่งตลอด ๓ วาระเหมือนนัยก่อนนั่นแล ในวาระที่ ๔ เมื่อพวกพ่อค้ากราบทูลยืนยันเช่นเดิมว่า “พระสงฆ์ทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระเจ้าข้า”

จึงตรัสว่า “แม้ในวาระนี้เราก็จะให้ทรัพย์ ๑ แสนกหาปณะแก่พวกเธอ”

ลำดับนั้น พระราชาทรงทอดพระเนตรดูอำมาตย์พันคน และตรัสถามว่า “พ่อคุณ พวกเราจักกระทำอย่างไร”

พวกอำมาตย์กราบทูลย้อนถามว่า “ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์จักกระทำอย่างไร พระเจ้าข้า”

พระราชาตรัสว่า “พ่อคุณ เราได้สดับว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระธรรมทรงอุบัติขึ้นแล้ว และพระสงฆ์ทรงอุบัติขึ้นแล้ว เราจักไม่หวนกลับไปยังพระนครกุกกุฏวดีของเราอีก เราจักมุ่งสู่พระนครสาวัตถี เราจักไปในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อบวชอุทิศพระองค์”

พวกอำมาตย์กราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ พวกข้าพระองค์ก็จักบวชพร้อมพระองค์ พระเจ้าข้า”



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๑๐
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 6:29 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

๏ พระราชาเสด็จออกผนวชพร้อมด้วยอำมาตย์

พระราชาทรงรับสั่งให้อำมาตย์เขียนพระราชสาสน์ถึงพระราชเทวี ดังนี้แล้วมอบพระราชสาสน์นั้นให้พวกพ่อค้านำไปถวายแด่พระราชเทวี พระนามว่า อโนชา พระนางนั้นจักพระราชทานทรัพย์จำนวน ๓ แสนกหาปณะแก่พวกเธอ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเธอพึงกราบทูลพระราชเทวีนั้นว่า “ทราบว่า พระราชาทรงสละราชสมบัติแด่พระองค์ ขอพระองค์จงเสวยราชสมบัติสืบต่อไปตามความสุขสำราญเถิด”

ถ้าพระนางตรัสถามว่า “พระราชาของพวกท่านเสด็จไปที่ไหนเสีย” พวกท่านพึงกราบทูลว่า “พระราชาตรัสว่า เราจักบวชอุทิศเฉพาะพระศาสดา แล้วก็เสด็จไปแล้ว” แม้พวกอำมาตย์ก็ส่งข่าวสารไปยังภริยาของตนเช่นนั้นเหมือนกัน พระราชาทรงส่งพวกพ่อค้าไปแล้ว ก็เสด็จขึ้นม้า มีอำมาตย์พันคนติดตามแวดล้อม แล้วเสด็จออกจากพระราชอุทยานมุ่งสู่พระนครสาวัตถี ด้วยต่างก็ไม่เยื่อใยเหย้าเรือนหรือทรัพย์สมบัติ จะเห็นได้ว่า การออกผนวชของพระเจ้ามหากัปปินะ คล้ายกับการออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะ กล่าวคือ เป็นการสละราชสมบัติเพื่อการออกผนวช

เส้นทางเสด็จของพระเจ้ามหากัปปินะนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบากทุรกันดาร ผ่านทั้งป่าและภูเขา
โดยเฉพาะมีแม่น้ำใหญ่ ๓ สาย คือ แม่น้ำอารวปัจฉา แม่น้ำนีลวาหนา และแม่น้ำจันทภาคา ขวางหน้าอยู่ ซึ่งแม่น้ำแต่ละสายนั้นทั้งกว้างและลึกมาก อีกทั้งกระแสน้ำก็ไหลเชี่ยวกราก จะข้ามได้ก็ต้องอาศัยเรือหรือแพขนาดใหญ่ซึ่งก็หาได้ยาก

เมื่อพระราชาเสด็จมาถึงแม่น้ำสายหนึ่ง ก็ตรัสถามว่า “แม่น้ำสายนี้ชื่ออะไร”

พวกอำมาตย์กราบทูลว่า “แม่น้ำสายนี้ชื่อว่า อารวปัจฉา พระเจ้าข้า”

พระราชาตรัสถามว่า “พ่อคุณ แม่น้ำสายนี้มีขนาดประมาณเท่าไร”

พวกอำมาตย์กราบทูลว่า “แม่น้ำสายนี้ลึก ๑ คาวุต กว้าง ๒ คาวุต พระเจ้าข้า”

พระราชาตรัสถามว่า “ในที่นี้มีเรือหรือแพบ้างไหม”

พวกอำมาตย์กราบทูลว่า “ไม่มี พระเจ้าข้า”

พระราชาจึงตรัสว่า “ถ้าเรามัวห่วงถึงพาหนะมีเรือหรือแพเป็นต้น ก็จะทำให้ล่าช้า เพราะชาติคือความเกิดย่อมนำเข้าไปหาชราความแก่ ชราความแก่ย่อมนำเข้าไปหาพยาธิความเจ็บ และพยาธิความเจ็บย่อมนำเข้าไปหามรณะความตาย ทุกลมหายใจเข้าออกย่อมนำไปสู่ความแก่ ความเจ็บ และความตายทั้งนั้น เราไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงเราเมื่อไร เราเป็นผู้ไม่มีความสงสัย ออกเดินทางมาแล้วก็เพื่ออุทิศต่อพระรัตนตรัย ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยนั้น ขอน้ำในแม่น้ำนี้จงเป็นเช่นแผ่นหินเถิด”

ลำดับนั้น ทรงตั้งพระสัตยาธิษฐานระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย โดยทรงตั้งพระสัตยาธิษฐานระลึกถึงพระพุทธคุณว่า “อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ฯ......... แม้เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ฯ”


ดังนี้ เมื่อพระราชาพร้อมด้วยอำมาตย์บริวารกับม้า ๑,๐๐๐ ตัว เสด็จไปบนแม่น้ำ ม้าสินธพทั้งหลายวิ่งไปบนแม่น้ำนั้นเหมือนกับว่าวิ่งไปบนแผ่นหินดาดฉะนั้น ม้าทุกตัวจึงเปียกเพียงแค่ปลายกีบเท่านั้นแล

พระราชาพระองค์นั้นทรงข้ามแม่น้ำนั้นแล้ว ก็เสด็จพระราชดำเนินไปข้างหน้า ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำอีกสายหนึ่ง ตรัสถามว่า “แม่น้ำสายนี้ชื่ออะไร”

พวกอำมาตย์กราบทูลว่า “ชื่อว่า นีลวาหนา พระเจ้าข้า”

พระราชาตรัสถามว่า “แม่น้ำสายนี้มีขนาดประมาณเท่าไร”

พวกอำมาตย์กราบทูลว่า “ทั้งส่วนลึก ทั้งส่วนกว้างมีขนาดประมาณครึ่งโยชน์ พระเจ้าข้า”

พระราชาทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำนั้นแล้ว ก็ทรงตั้งพระสัตยาธิษฐานระลึกถึงพระธรรมคุณว่า “สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ฯ......... พระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว ฯ” ดังนี้แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินล่วงพ้นแม่น้ำนั้นไปได้โดยสวัสดิภาพ

พอเสด็จพระราชดำเนินล่วงพ้นแม่น้ำนั้นไปแล้ว พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำอื่นอีก ตรัสถามว่า “แม่น้ำสายนี้ชื่ออะไร”

พวกอำมาตย์กราบทูลว่า “ชื่อว่า จันทภาคา พระเจ้าข้า”

พระราชาตรัสถามว่า “แม่น้ำสายนี้มีขนาดประมาณเท่าไร”

พวกอำมาตย์กราบทูลว่า “ทั้งส่วนลึก ทั้งส่วนกว้างมีขนาดโยชน์หนึ่งพอดี พระเจ้าข้า”

พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำนั้นแล้ว ก็ทรงตั้งพระสัตยาธิษฐานระลึกถึงพระสังฆคุณว่า “สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ฯ......... พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติดีแล้ว ฯ” ดังนี้แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินล่วงพ้นแม่น้ำนั้นไปได้โดยสวัสดิภาพ



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๑๑
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 6:36 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พระบรมศาสดาทรงรับเสด็จ

เวลาใกล้รุ่งของราตรีนั้น พระบรมศาสดาทรงตรวจดูอุปนิสัยของสัตว์โลก ได้ทอดพระเนตรเห็นเรื่องราวของพระเจ้ามหากัปปินะและพระอุปนิสัยแห่งอรหัตผลแล้ว จึงทรงพระดำริว่า “พระเจ้ามหากัปปินะพระองค์นี้ได้ทรงทราบข่าวจากสำนักพวกพ่อค้าว่า พระรัตนตรัยอุบัติขึ้นแล้ว จึงทรงเอาทรัพย์ ๓ แสนกหาปณะบูชาถ้อยคำของพวกพ่อค้าเหล่านั้น แล้วทรงสละราชสมบัติ ทรงมีอำมาตย์พันคนแวดล้อม ทรงมีพระประสงค์จะบวชอุทิศเรา พรุ่งนี้เราจักเสด็จออกกระทำการต้อนรับพระองค์ พระราชาพระองค์นั้นและบริวารจักได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔”

ครั้นในวันรุ่งขึ้น เมื่อจะเสด็จไปต้อนรับพระราชาผู้แม้จะครอบครองบ้านเมืองเล็ก แต่ก็ทรงกระทำคล้ายกับว่าเสด็จไปต้อนรับพระเจ้าจักรพรรดิฉะนั้น หรือประหนึ่งว่าพระเจ้าจักรพรรดิทรงเสด็จไปต้อนรับกำนันนายบ้านฉะนั้น พระบรมศาสดาโดยลำพังเพียงพระองค์เดียวทรงครองสบง ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จไปต้อนรับสิ้นระยะทาง ๑๒๐ โยชน์ ทรงประทับนั่งขัดสมาธิบัลลังก์ดำรงพระสติเฉพาะหน้า เปล่งฉัพพรรณรังสี พระพุทธรัศมี มีวรรณะ ๖ ประการ แผ่ซ่านออกจากพระวรกายประมาณ ๘๐ ศอกให้ปรากฏ ณ ควงไม้นิโครธ ใกล้กับฝั่งแม่น้ำจันทภาคา

พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นฉัพพรรณรังสี พระพุทธรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระสรีระของพระบรมศาสดา สว่างไสวกระทบรอดออกจากกิ่งค่าคบและใบของต้นนิโครธ จนทำให้กิ่งค่าคบและใบของต้นนิโครธมีสีเจิดจ้าดั่งทองคำนั้นแล้ว จึงทรงพระดำริว่า “แสงสว่างนี้มิใช่แสงสว่างของพระจันทร์ มิใช่แสงสว่างของพระอาทิตย์ มิใช่แสงสว่างของเทวดา มาร พรหม ครุฑ และนาคอย่างใดอย่างหนึ่ง จักต้องเป็นแสงสว่างแห่งพระบรมศาสดาอย่างแน่นอน เราเดินทางมาก็เพื่ออุทิศพระศาสดา เห็นทีจักได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเป็นแน่”

ดังนั้น พระราชาก็เสด็จลงจากหลังม้าพร้อมทั้งบริวารพันคน น้อมพระสรีระเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาตามแนวแสงแห่งพระรัศมีนั้น ถวายบังคมด้วยความนอบน้อมเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดง “อนุปุพพิกถา” แก่พระราชาพร้อมทั้งอำมาตย์บริวารให้สดับ

อนุปุพพิกถา คือ พระธรรมเทศนาที่แสดงความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของสัตว์ให้หมดจดและประณีตขึ้นไปเป็นชั้นๆ จากง่ายไปหายาก เพื่อเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟังอริยสัจ ๔

อนุปุพพิกถา มี ๕ ประการ คือ ทานกถา (เรื่องทาน, กล่าวถึงการให้ การเสียสละเผื่อแผ่แบ่งปันช่วยเหลือกัน) ; สีลกถา (เรื่องศีล, กล่าวถึงความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม) ; สัคคกถา (เรื่องสวรรค์, กล่าวถึงความสุขความเจริญ และผลที่น่าปรารถนาอันเป็นส่วนดีของกามที่จะพึงเข้าถึง เมื่อได้ประพฤติดีงามตามหลักธรรมสองข้อต้น) ; กามาทีนวกถา (เรื่องโทษแห่งกาม, กล่าวถึงส่วนเสียข้อบกพร่องของกาม พร้อมทั้งผลร้ายที่สืบเนื่องมาแต่กาม อันไม่ควรหลงใหลหมกมุ่นมัวเมา จนถึงรู้จักที่จะหน่ายถอนตนออกได้) และเนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งความออกจากกาม รวมทั้งอานิสงส์การบวช, กล่าวถึงผลดีของการไม่หมกมุ่นเพลิดเพลินติดอยู่ในกาม และให้มีฉันทะที่จะแสวงความดีงามและความสุขอันสงบที่ประณีตยิ่งขึ้นไปกว่านั้น)

ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบว่า พระราชาพร้อมทั้งบริวารมีจิตสงบ มีจิตอ่อนโยน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน และมีจิตผ่องใส อันสมควรที่จะรับฟังพระธรรมเทศนาขั้นสูงขึ้นไปแล้ว จึงได้ทรงประกาศพระธรรมเทศนา “อริยสัจ ๔” ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค

เมื่อจบพระธรรมเทศนา ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทินควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดีฉะนั้น ได้เกิดแก่พวกเขา พระราชาพร้อมทั้งบริวารก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ณ ที่นั่งนั้นเอง แล้วได้พากันลุกขึ้นยืนกราบทูลขออุปสมบท ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้ประทานให้เป็นภิกษุด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”
(คือวิธีอุปสมบทที่พระพุทธเจ้าประทานด้วยพระองค์เอง ด้วยการเปล่งพระวาจาว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” วิธีนี้ทรงประทานแก่พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นบุคคลแรก)

ลำดับนั้น พระศาสดาทรงพิจารณาใคร่ครวญว่า “บาตรและจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์จักมาบังเกิดแก่กุลบุตรเหล่านี้ (พระเจ้ามหากัปปินะและอำมาตย์บริวาร) หรือไม่หนอ” ซึ่งก็ทรงทราบด้วยพระญาณว่า กุลบุตรเหล่านี้ได้เคยถวายจีวรพันผืนแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าจำนวนพันองค์ และในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ได้เคยถวายจีวรสองหมื่นผืนแด่ภิกษุสงฆ์จำนวนสองหมื่นรูป ดังนั้น การมาแห่งบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ จึงไม่เป็นเหตุอัศจรรย์แก่กุลบุตรเหล่านี้เลย

ดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์ขวามีวรรณะดั่งทองคำ แล้วตรัสว่า “พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
ในขณะนั้นเองภิกษุเหล่านั้นก็ได้ทรงบริขาร ๘ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถคล้ายดังพระเถระที่มีพรรษาตั้ง ๖๐ พรรษา ต่อมาภิกษุเหล่านั้นได้เหาะขึ้นสู่เวหาส แล้วกลับลงมาถวายบังคมพระศาสดา แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๑๒
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 6:45 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พระราชเทวีและบริวารเสด็จออกผนวช

ฝ่ายพวกพ่อค้าเหล่านั้นได้เดินทางไปยังกรุงราชคฤห์ เพื่อกราบทูลข่าวสารที่พระราชาส่งไปถวายแด่พระราชเทวีให้ทรงทราบ พระราชเทวีตรัสถามพวกพ่อค้าเหล่านั้นว่า “พ่อคุณ เพราะเหตุใดจึงเดินทางมาที่นี่”

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า “พระราชาทรงส่งพวกข้าพระพุทธเจ้า มาเข้าเฝ้าพระองค์ นัยว่า พระองค์จะพระราชทานทรัพย์ ๓ แสนกหาปณะแก่พวกข้าพระองค์ พระเจ้าข้า”

พระราชเทวีตรัสว่า “พ่อคุณ ! พวกท่านพูดมากไปแล้ว พวกท่านทำประโยชน์อะไรในสำนักของพระราชา พระราชาทรงเลื่อมใสในเรื่องอะไร จึงรับสั่งให้พระราชทานทรัพย์มากถึงเพียงนี้แก่พวกท่าน”

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า “ข้าแต่พระราชเทวี พวกข้าพระองค์มิได้กระทำเรื่องอะไรอย่างอื่นเลย เพียงแต่แจ้งข่าวสารอย่างหนึ่งให้พระราชาทรงทราบเท่านั้น พระเจ้าข้า”

พระราชเทวีตรัสถามว่า “พ่อคุณ พวกท่านอาจพอที่จะบอกข่าวสารนั้นแก่เราบ้างได้หรือไม่”

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า “ข้าแต่พระราชเทวี ก็อาจจะได้ แต่พวกข้าพระองค์ไม่อาจกราบทูลข่าวนี้ด้วยทั้งปากที่ไม่สะอาด พระเจ้าข้า”

ลำดับนั้น พระราชเทวีจึงให้พระราชทานน้ำด้วยพระเต้าทอง พวกพ่อค้าเหล่านั้นบ้วนปากแล้ว ก็กราบทูลทำนองที่กราบทูลพระราชามาแล้วว่า “ข้าแต่พระราชเทวี พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก พระเจ้าข้า”

เมื่อพระราชเทวีได้สดับถ้อยคำนั้นแล้วก็เกิดปีติโสมนัสอย่างท่วมท้น ไม่ทรงอาจจะกำหนดอะไรๆ ได้ ทรงนิ่งเงียบไปครู่หนึ่งตลอด ๓ วาระ ในวาระที่ ๔ เมื่อพวกพ่อค้ากราบทูลยืนยันเช่นเดิมว่า “พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระเจ้าข้า”

จึงตรัสว่า “พ่อคุณ ในเพราะบทนี้พระราชาทรงพระราชทานทรัพย์ให้พวกท่านเท่าไร”

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า “๑ แสนกหาปณะ พระเจ้าข้า”

พระราชเทวีตรัสว่า “พ่อคุณ พระราชาพระราชทานทรัพย์ ๑ แสน กหาปณะแก่พวกท่านเพราะได้สดับข่าวสารอันเป็นสุขถึงขนาดนี้ นับว่าทรงกระทำไม่สมควรเลย เราจะให้ทรัพย์ ๓ แสนกหาปณะแก่พวกท่าน แล้วพวกท่านได้กราบทูลเรื่องอะไรอย่างอื่นอีกหรือไม่”

พวกพ่อค้ากราบทูลถึงข่าวสารอีก ๒ อย่างแม้นอกนี้ ให้ทรงทราบว่า “ข้าแต่พระราชเทวี พระธรรมทรงอุบัติขึ้นแล้ว และพระสงฆ์ทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระเจ้าข้า”
พระราชเทวีไม่ทรงอาจจะกำหนดอะไรๆ ได้ ทรงนิ่งเงียบไปครู่หนึ่งตลอด ๓ วาระ เหมือนกับนัยที่กล่าวแล้วในตอนแรกนั่นแล ทุกๆ วาระที่ ๔ ได้พระราชทานทรัพย์ครั้งละ ๓ แสนกหาปณะ รวมความว่า พวกพ่อค้าเหล่านั้นได้รับทรัพย์ทั้งหมดไปถึง ๑๒ แสนกหาปณะ (หนึ่งล้านสองแสนกหาปณะ)

ลำดับนั้น พระราชเทวีจึงตรัสถามพวกพ่อค้าเหล่านั้นว่า “พ่อคุณ พระราชาเสด็จไปที่ไหนเสียเล่า”

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า “ข้าแต่พระราชเทวี พระราชาตรัสว่า เราจักบวชอุทิศพระศาสดา แล้วก็เสด็จไป พระเจ้าข้า”

พระราชเทวีตรัสถามว่า “ข่าวสารอะไรที่พระราชาพระองค์นั้นได้มอบแก่เรามีบ้างไหม”

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า “ทราบว่า พระราชาทรงสละราชสมบัติ และมอบความเป็นใหญ่ทั้งหมดแด่พระองค์ ขอพระองค์จงเสวยราชสมบัติสืบต่อไปตามความสุขสำราญเถิด พระเจ้าข้า”

พระราชเทวีตรัสถามว่า “พวกอำมาตย์ไปไหนเสียเล่าพ่อคุณ”

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า “ข้าแต่พระราชเทวี แม้พวกอำมาตย์เหล่านั้นก็พูดว่า พวกเราจักบวชกับพระราชา แล้วก็ไป พระเจ้าข้า”

พระราชเทวีจึงรับสั่งให้เรียกพวกภริยาของอำมาตย์เหล่านั้นมา แล้วตรัสว่า “แม่คุณ สามีของพวกเจ้าสั่งไว้ว่า พวกเราจักบวชกับพระราชา แล้วก็พากันไปแล้ว พวกเจ้าจักกระทำอย่างไร”

พวกภริยาของอำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลถามว่า “ข้าแต่พระราชเทวี ข่าวสารอะไรที่พวกสามีส่งฝากมาถึงพวกหม่อมฉันมีบ้างไหม เพคะ”

พระราชเทวีตรัสว่า “ทราบว่า พวกอำมาตย์เหล่านั้นได้สละมอบสมบัติของตนแก่พวกเธอ ขอพวกเธอจงบริโภคสมบัติสืบต่อไปตามความสุขสำราญเถิด”

พวกภริยาของอำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลย้อนถามว่า “ข้าแต่พระราชเทวี พวกเราจักกระทำอย่างไรดีเล่า เพคะ”

พระราชเทวีจึงตรัสว่า “เบื้องแรก พระราชาของพวกเราพระองค์นั้นดำรงอยู่ในหนทางเอาทรัพย์ ๓ แสนกหาปณะบูชาพระรัตนตรัย แล้วทรงสละราชสมบัติที่คล้ายกับก้อนเขฬะ (น้ำลาย) ออกไปได้ ด้วยตั้งพระราชหฤทัยว่าเราจักบวชอุทิศพระศาสดา แม้เราได้สดับข่าวสารของพระรัตนตรัยก็เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้าเช่นกัน จึงนำเอาทรัพย์ ๙ แสนกหาปณะบูชาพระรัตนตรัย ก็ขึ้นชื่อว่าสมบัตินั้นมิใช่จะเป็นทุกข์แก่พระราชาพระองค์เดียวเท่านั้น ย่อมเป็นทุกข์แม้แก่เราเหมือนกัน ใครจักคุกเข่าลงที่พื้นดินแล้วอ้าปากรับก้อนเขฬะที่พระราชาถ่มแล้วเล่า เราไม่มีความต้องการราชสมบัติ เราจักบวชอุทิศพระศาสดาด้วยเช่นกัน”

พวกภริยาของอำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระราชเทวี พวกหม่อมฉันก็จักบวชพร้อมพระองค์ เพคะ”

พระราชเทวีตรัสว่า “ถ้าพวกเจ้าสามารถทำได้ก็นับว่าเป็นการดียิ่ง”

พวกภริยาของอำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่า “พวกหม่อมฉันสามารถทำได้ เพคะ”

พระราชเทวีตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้นพวกเจ้าจงมา”

ดังนี้แล้วรับสั่งให้ตระเตรียมรถพันคัน แล้วก็เสด็จขึ้นรถ เสด็จออกไปพร้อมกับพวกภริยาของอำมาตย์เหล่านั้น ในระหว่างทางได้ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำสายแรก ได้ตรัสถามเหมือนอย่างที่พระราชาตรัสถามครั้งแรกเช่นกัน เมื่อทรงสดับความเป็นไปทั้งหมดแล้ว จึงตรัสว่า “พวกเธอจงแลดูหนทางที่พระราชาเสด็จไปแล้วซิ”

เมื่อพวกภริยาของอำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่า “พวกหม่อมฉันมองไม่เห็นรอยเท้าของม้าสินธพเลย เพคะ”

พระราชเทวีด้วยเพราะทรงเป็นคนฉลาด จึงทรงดำริว่า “แม่น้ำทั้งกว้างและลึกมาก อีกทั้งกระแสน้ำก็ไหลเชี่ยวกราก ยานพาหนะที่จะให้ข้ามก็ไม่มี ในการนี้พระราชาคงจะทรงกระทำพระสัตยาธิษฐานเป็นแน่ จึงทรงสามารถเสด็จข้ามไปได้โดยสวัสดี การเสด็จอุบัติขึ้นในโลกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นเอกอัครบุคคลไม่มีใครเสมอเหมือน มิใช่ว่าพระองค์จะทรงอำนวยประโยชน์เกื้อกูลแก่บุรุษจำพวกเดียวเท่านั้น แท้จริงแล้วพระองค์ทรงอำนวยประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งปวง”

เมื่อพระราชเทวีดำริดังนี้แล้ว จึงทรงตั้งพระสัตยาธิษฐานระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยเช่นเดียวกับพระสวามี ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย รถพันคันก็แล่นไปบนแม่น้ำนั้น เหมือนกับว่าแล่นไปบนแผ่นหินดาดฉะนั้น รถทุกคันจึงเปียกเพียงแค่ขอบล้อเท่านั้นแล สำหรับแม่น้ำอีก ๒ สายนั้น พระราชเทวีและบริวารทุกคนก็ได้ข้ามล่วงพ้นไปได้ด้วยอุบายวิธีเดียวกันนี้นั่นแล



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๑๓
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 6:50 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

๏ พระราชเทวีและบริวารบรรลุโสดาปัตติผล

ครั้นเมื่อพระศาสดาทรงทราบว่าพระราชเทวีและบริวารมาถึงแล้ว ทรงกระทำการรับเสด็จดุจเดียวกันกับพระเจ้ามหากัปปินะ แล้วทรงดำริว่า “ถ้าสตรีเหล่านั้นแลเห็นพระภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสามี มีลักษณะอันแปลกไป เช่น ครองผ้าเหลือง ศรีษะโล้น ตั้งแต่ในขณะที่มาถึงซึ่งจิตยังไม่แน่วแน่และศรัทธายังคลอนแคลน พอเห็นเข้าแล้วเกิดฉันทราคะคือความกำหนัดยินดี จิตใจก็จะฟุ้งซ่านไม่ดิ่งลงเป็นหนึ่ง ก็จะพึงเป็นอันตรายต่อมรรคผล ทั้งไม่อาจจะฟังพระธรรมเทศนาได้” จึงทรงบันดาลด้วยฤทธิ์ไม่ให้สามีภริยาเหล่านั้นเห็นกันและกันได้

เมื่อพระราชเทวีได้ทอดพระเนตรเห็นฉัพพรรณรังสี พระพุทธรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระสรีระของพระศาสดาแล้ว ก็ได้ทรงจินตนาการเช่นเดียวกันกับพระเจ้ามหากัปปินะ แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมด้วยความนอบน้อมเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง แล้วประทับยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ลำดับนั้น จึงกราบทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้ามหากัปปินะเสด็จออกเดินทางมาเพื่ออุทิศต่อพระองค์ บัดนี้ พระราชาพระองค์นั้นประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ขอพระองค์จงแสดงพระราชาพระองค์นั้นให้ปรากฏแก่พวกหม่อมฉันเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

พระศาสดาตรัสว่า “เชิญพวกเธอนั่งก่อนเถอะ พวกเธอจักได้พบเห็นพระราชาพระองค์นั้นพร้อมทั้งอำมาตย์บริวารในที่นี้แหละ”

หญิงเหล่านั้นทั้งหมด ก็ร่าเริงดีใจพูดกันว่า “นัยว่าพวกเรานั่งแล้วในที่นี้แหละ จักได้พบเห็นพวกสามีของพวกเราเป็นแน่”

ลำดับนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดง “อนุปุพพิกถา” และ “อริยสัจ ๔” โดยลำดับ แก่หญิงเหล่านั้นทั้งหมดให้สดับ เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระราชเทวีและหญิงบริวารก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ส่วนด้านพระมหากัปปินะพร้อมทั้งภิกษุบริวารซึ่งนั่งฟังอยู่ด้วย ได้สดับพระธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดงแก่พระราชเทวีและหญิงบริวารนั้นแล้ว ก็ได้ส่งจิตไปตามแนวพระธรรมเทศนา พิจารณาถึงภูมิธรรมตามที่ตนเห็นแล้ว ตามที่ตนทราบแล้ว จิตก็หลุดพ้นจากอาสาวะทั้งหลายเพราะไม่ยึดมั่น ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ ด้วยกันทั้งหมดทุกรูป กิจแห่งบรรพชิตของพระมหากัปปินเถระ พร้อมทั้งภิกษุบริวารได้ถึงที่สุดแล้ว

ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบว่า พระราชเทวีและหญิงบริวารได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว มีศรัทธาอันไม่คลอนแคลนแล้ว จึงทรงคลายฤทธิ์ให้พระราชเทวีเห็นพระราชสามี และหญิงบริวารเห็นสามีของตนๆ ได้ เมื่อพระราชเทวีและหญิงบริวารได้แลเห็นพระภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสามีแล้ว ก็ได้เข้าไปกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ต่อมาพระราชเทวีและหญิงบริวารเหล่านั้นได้กราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้ไปอุปสมบทในสำนักของนางภิกษุณี ที่เมืองสาวัตถี

ในขณะที่พระราชเทวีและหญิงบริวารกล่าวคำขออุปสมบท พระศาสดาได้ทรงดำริถึงพระนางอุบลวรรณเถรี เพียงพระศาสดาทรงดำริเท่านั้น พระนางอุบลวรรณเถรีก็รู้วาระการทรงดำริของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ต้องการให้ท่านไปสู่สถานที่นั้น ด้วยเจโตปริยญาณคือความรู้จักวาระจิตของผู้อื่น พระเถรีจึงเหาะมาในสถานที่นั้น รับเอาพระราชเทวีและหญิงบริวารเหล่านั้นทั้งหมด เดินทางโดยทางอากาศมาสิ้นระยะทางหนึ่งร้อยยี่สิบโยชน์ ก็ถึงสำนักของนางภิกษุณี แล้วจึงให้อุปสมบท ไม่นานเท่าไรนักหญิงเหล่านั้นทั้งหมด ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๑๔
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 6:55 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พระมหากัปปินะเปล่งอุทานปรารภความสุข

ครั้งนั้น พระมหากัปปินเถระบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว รู้ว่ากิจของตนถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นผู้ขวนขวายน้อย ทำเวลาให้ล่วงไปด้วยสุขในผลสมาบัติ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด จะนั่ง ยืน เดิน นอน อยู่ป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า “อโห สุขํ อโห สุขํ แปลว่า สุขหนอ สุขหนอ”

ภิกษุทั้งหลายได้ยินแล้วเกิดพูดกันขึ้นว่า “พระมหากัปปินเถระระลึกถึงสุขในกาม สุขในราชสมบัติของตนอย่างแน่นอน จึงเปล่งอุทานเช่นนั้น เพราะพระเถระเคยเป็นพระราชาได้เสวยความสุขในกาม และในราชสมบัติมาก่อน”

ภิกษุเหล่านั้นจึงพากันไปกราบทูลพระตถาคตว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระมหากัปปินะเที่ยวเปล่งอุทานว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’ ท่านเห็นจะปรารภสุขในกาม สุขในราชสมบัติของตน พระพุทธเจ้าข้า”

พระศาสดาแม้ทรงทราบความจริงแล้ว แต่ก็รับสั่งให้เรียกพระมหากัปปินะมาเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามถึงเหตุแห่งการเปล่งอุทานให้ได้ยินกันทั่ว ณ ที่นั้น เพื่อคลายความสงสัยให้แก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นว่า “ดูก่อนกัปปินะ ได้ยินว่า เธอเปล่งอุทานปรารภสุขในกาม สุขในราชสมบัติ จริงหรือไม่ประการใด ?”

พระมหากัปปินะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ย่อมทรงทราบอยู่แล้วว่า ข้าพระองค์เปล่งอุทาน หมายถึง ปรารภสุขในกาม สุขในราชสมบัติหรือไม่ พระพุทธเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ทรงทราบความจริง เพราะเหตุนี้จึงทรงตรัสรับรองพระมหากัปปินะว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราเปล่งอุทานปรารภสุขในกาม สุขในราชสมบัติหามิได้ ก็แต่ว่า ความปีติเอิบอิ่มในธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่บุตรของเรา บุตรของเราเปล่งอุทานอย่างนั้นเพราะปรารภอมตมหานิพพาน”


ครั้นพระศาสดาตรัสรับรองพระมหากัปปินเถระดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถาธรรม ความว่า

ธมฺมปีติ สุขํ เสติ วิปฺปสนฺเนน เจตสา
อริยปฺปเวทิเต ธมฺเม สทา รมติ ปณฺฑิโต.

“บุคคลผู้มีปีติเอิบอิ่มในธรรม มีใจผ่องใส ย่อมอยู่เป็นสุข
บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศแล้วในกาลทุกเมื่อ”


ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อได้ฟังคำตรัสรับรองของพระศาสดาแล้ว ก็สิ้นความสงสัยในคำกล่าวอุทานของท่านพระมหากัปปินะ และกล่าวยกย่องสาธุการที่ท่านเปล่งอุทานปรารภอมตมหานิพพานอันเป็นความสุขยอดเยี่ยมนั้น



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๑๕
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 6:59 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พระมหากัปปินะดำริจะไม่ทำอุโบสถ

สมัยนั้น พระมหากัปปินะพักอยู่ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน เขตพระนครราชคฤห์ คราวหนึ่งท่านไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นว่า “เราควรไปทำอุโบสถ (การสวด ปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์ทุกครึ่งเดือน) หรือไม่ควรไป เราควรไปทำสังฆกรรม (งานของสงฆ์) หรือไม่ควรไป เพราะบัดนี้เราเป็นผู้หมดจดแล้ว ด้วยความหมดจดอย่างยิ่ง (หมด กิเลสแล้ว)”

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของพระมหากัปปินะด้วยพระทัยของพระองค์แล้ว ได้ทรงหายพระองค์ไปจาก คิชฌกูฏบรรพต แล้วมาปรากฏอยู่ตรงหน้าพระมหากัปปินะ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน พระองค์ทรงประทับนั่งเหนือพุทธอาสนะที่เขาจัดถวาย ฝ่ายพระมหากัปปินะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับพระมหากัปปินะว่า “ดูก่อนกัปปินะ เธอไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นว่า เราควรไปทำอุโบสถหรือไม่ควรไป เราควรไปทำสังฆกรรมหรือไม่ควรไป เพราะบัดนี้เราเป็นผู้หมดจดแล้ว ด้วยความหมดจดอย่างยิ่ง ดังนี้มิใช่หรือ ?”

พระมหากัปปินะกราบทูลรับว่า “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

เพราะเหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า “ดูก่อนกัปปินะ ถ้าพวกเธอไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชาซึ่งอุโบสถ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาซึ่งอุโบสถ ฉะนั้น เธอจงไปทำอุโบสถ จะไม่ไปไม่ได้ จงไปทำสังฆกรรม จะไม่ไปไม่ได้”

พระเถระน้อมรับสนองพระพุทธพจน์ด้วยเศียรเกล้า เพราะเห็นแจ้งชัดสิ้นความสงสัย หมดความปริวิตกแห่งจิตทั้งปวง

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงหายพระองค์ไปจากที่ตรงหน้าพระมหากัปปินะ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน มาปรากฏ ณ คิชฌกูฏบรรพต โดยรวดเร็ว เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๑๖
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 7:07 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

๏ ทรงแต่งตั้งพระมหากัปปินะเป็นเอตทัคคะ

ต่อมาวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงตรัสถามพวกภิกษุทั้งพันรูปผู้เป็นอันเตวาสิก (ภิกษุผู้อยู่ในปกครองของอาจารย์, ภิกษุผู้เป็นศิษย์) ของท่านพระมหากัปปินะนั้นว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัปปินะผู้เป็นอาจารย์ของพวกเธอ เคยแสดงธรรมข้อใดข้อหนึ่งแก่พวกเธอบ้างไหม ?”

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า อาจารย์ของข้าพระองค์มิได้แสดงธรรมเลย ท่านเป็นผู้ขวนขวายน้อย ประกอบความเพียรอยู่ด้วยความสุขในทิฐธรรมสุขวิหาร คือ อยู่ด้วยความสุขสบายในธรรมที่ท่านได้เห็นแล้ว ไม่ยอมให้แม้เพียงแต่โอวาทแก่ผู้ใดผู้หนึ่งเลย พระพุทธเจ้าข้า”

พระศาสดาจึงทรงรับสั่งให้เรียกพระมหากัปปินเถระมาเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามว่า “ดูก่อนกัปปินะ ได้ยินว่า เธอไม่ยอมให้แม้เพียงแต่โอวาทแก่พวกอันเตวาสิกทั้งปวงนั้น จริงหรือไม่ประการใด ?”

พระเถระกราบทูลตอบว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า จริงดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

เพราะเหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า “ดูก่อนกัปปินะ เธอเป็นขีณาสพ เธออย่ากระทำอย่างนี้เลย ตั้งแต่วันนี้ไปเธอจงแสดงธรรมแก่พวกภิกษุผู้เข้าไปหาแล้วเถิด”

พระเถระน้อมรับพระดำรัสพระศาสดาด้วยเศียรเกล้า แล้วแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายสืบต่อมาโดยลำดับ

ในคราวแรก ท่านพระมหากัปปินะไม่กล้าจะแสดงธรรมกล่าวสอนใครเพราะยังไม่ได้รับพระบรมพุทธานุญาต ต่อมาภายหลังเมื่อท่านได้รับมอบหมายจากพระศาสดาให้เป็นผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลาย ท่านก็ได้สนองพระบัญชาด้วยดี จากนั้นท่านสามารถแสดงธรรมให้พระสมณะศิษย์บริวารของท่าน ดำรงอยู่ในพระอรหัตผลได้พร้อมคราวเดียวกันถึง ๑,๐๐๐ รูป ด้วยโอวาทเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

พระผู้มีพระภาคทรงพอพระทัยยิ่งนัก จึงได้ทรงปรารภความสามารถของท่านพระมหากัปปินะในเรื่องนี้ขึ้นเป็นต้นเหตุตามเรื่องที่เกิดขึ้น (อัตถุปปัตติเหตุ) ด้วยเหตุนั้นพระศาสดาเมื่อจะทรงแต่งตั้งตำแหน่งพระเถระผู้สาวกของพระองค์ตามลำดับ ในท่ามกลางหมู่พระอริยเจ้า จึงทรงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ พระมหากัปปินะเป็นผู้เลิศแห่งหมู่ภิกษุสาวกทั้งหลายเหล่านั้น”


ครั้นต่อมาวันหนึ่ง ท่านพระมหากัปปินะได้แสดงธรรมสอน “พระภิกษุณี” ทั้งหลายให้พิจารณาเห็นแจ้งถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ในอนาคตกาล แล้วรีบกระทำสิ่งที่มีประโยชน์ ละสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ อย่าให้ศัตรูหรือหมู่อมิตรจับผิดได้ บุคคลผู้นั้นเรียกว่า ผู้มีปัญญาดี

ลำดับนั้น พระเถระได้แสดงธรรมสอนต่อมาอีกว่า “ผู้ใดเจริญอานาปานสติให้บริบูรณ์ด้วยดีแล้ว อบรมแล้ว โดยลำดับตามที่พระศาสดาทรงแสดงไว้ ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสวเหมือนพระจันทร์เพ็ญออกจากกลีบเมฆ ฉะนั้น จิตของเราผ่องใสแล้วหนอ อบรมดีแล้วหาประมาณมิได้ ประคองจิตไว้แล้วเป็นนิตย์ ย่อมทำทิศทั้งปวงให้สว่างไสว”

นอกจากนี้แล้ว ท่านยังได้สอนพระภิกษุณีให้เข้าใจถึง “คุณค่าของปัญญา” ความว่า

บุคคลผู้มีปัญญาถึงจะสิ้นทรัพย์ก็ยังมีชีวิตอยู่ได้แน่แท้
ส่วนบุคคลผู้ไม่มีปัญญาถึงจะมีทรัพย์ก็ไม่ชื่อว่ามีชีวิตอยู่
ปัญญาย่อมเป็นเครื่องตัดสินสิ่งที่ตนฟังมาแล้ว
ปัญญาเป็นเครื่องทำให้มีชื่อเสียงและความสรรเสริญ
(จากวิญญูชนทั้งหลาย)

นรชนในโลกนี้ บุคคลผู้มีปัญญาแม้ในเวลาที่ตกทุกข์
ก็อาจแสวงหาความสุขได้


ต่อจากนั้น ท่านได้สอนพระภิกษุณีให้เข้าใจถึงเรื่อง “ความไม่เที่ยง” ความว่า

ความไม่เที่ยง ไม่ใช่ไม่เคยมีมา
ไม่ใช่เพิ่งมามีในวันนี้ แต่มีมานานแล้ว
และไม่ใช่ของแปลกประหลาด เพราะมีให้เห็นอยู่เนืองๆ

เมื่อสัตว์ที่เกิดมาแล้ว
ก็มีความเป็นอยู่กับความตายเท่านั้นเป็นของแท้แน่นอน
สัตว์ที่เกิดมาแล้วย่อมตายไปเป็นธรรมดาอย่างนี้

ชีวิตใดเป็นประโยชน์แก่บุคคลเหล่าอื่น
ชีวิตอย่างนั้นย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว


ขณะนั้นท่านพิจารณาเห็นว่าภิกษุณีบางรูปยังเสียใจถึง คนที่ตายจากไป จึงสอนว่า

อันการร้องไห้ถึงผู้ที่ตายไปแล้ว ย่อมไม่ทำให้เกิดยศ
ไม่ทำให้เกิดทรัพย์ ไม่ทำให้เกิดความสรรเสริญ

สมณพราหมณ์ทั้งหลายไม่สรรเสริญการร้องไห้
การร้องไห้ย่อมกระทำให้เสียจักษุ
กระทำให้ผิวพรรณเสื่อม กระทำให้เสียความคิด
ผู้ที่เป็นข้าศึกทั้งหลายย่อมมีจิตใจยินดี
ส่วนผู้ที่เป็นมิตรก็พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย

เพราะฉะนั้น บุคคลจึงต้องการให้ผู้มีปัญญา (นักปราชญ์)
ผู้สดับเล่าเรียนมา (พหูสูต) อยู่ในตระกูลของตน
เพราะกิจทุกอย่างจะสำเร็จได้ด้วยกำลังปัญญา
ของนักปราชญ์และพหูสูตเหล่านั้น
เหมือนกับบุคคลข้ามแม่น้ำใหญ่อันมีน้ำเต็มเปี่ยมฝั่งได้ด้วยเรือ ฉะนั้น


เมื่อพระภิกษุณีเหล่านั้นตั้งอยู่ในโอวาทเหล่านี้แล้ว ก็บรรเทาความเศร้าโศกลงได้ ปฏิบัติได้ถูกต้อง แล้วกระทำประโยชน์ของตนให้บริบูรณ์



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๑๗
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง