Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๑ (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 13 มิ.ย.2006, 8:03 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๑
ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติ
โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก


วัดป่าสุนันทวนาราม
บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี



คำนำ

อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข เล่มที่ 1, 2 และ 3

การจัดทำหนังสืออานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข เต็มชุดนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะเป็นหัวข้อใหญ่และละเอียดอ่อนแล้ว ยังมีเรื่องรูปเล่ม รูปแบบ การแบ่งเล่ม จะเอาเฉพาะเรื่องการปฏิบัติ 16 ขั้นล้วนๆ หรือจะเอาธรรมะและเรื่องราวส่วนประกอบอื่นๆ รวมไว้ด้วย ทำอย่างไรจึงจะไม่ยาวเกินไป ที่สำคัญที่สุดคือต้องเป็นสำนวนและลีลาการสอนของท่านพระอาจารย์ล้วนๆ ทั้งหมด ในที่สุดได้ตัดสินใจว่าจะแบ่งเป็น 3 เล่ม ดังนี้

เล่มที่ 1 อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๑ ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติ

เล่มที่ 2 อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๒ ว่าด้วยอานาปานสติขั้นที่ 1-8 คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยมีเรื่องราวประกอบตามสมควร

เล่มที่ 3 อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๓ ว่าด้วยอานาปานสติขั้นที่ 9-16 คือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน พร้อมธรรมะและเรื่องราวประกอบ

หวังว่าหนังสือชุดนี้ จะเป็นคู่มือสำหรับผู้ปฏิบัติได้ดีพอสมควร ขออนุโมทนากับทุกๆ ท่านที่มีส่วนช่วย รวมทั้งผู้ที่ช่วยอนุเคราะห์การจัดพิมพ์ด้วย

ขอกราบขอบพระคุณท่านพระอาจารย์ที่อนุญาตให้จัดทำ ได้ช่วยตรวจแก้และแนะนำในเรื่องต่างๆ และเหนือสิ่งอื่นใด คือกราบขอบพระคุณสำหรับธรรมะที่ท่านพระอาจารย์ได้เมตตามอบให้พวกเรา เพื่อเป็นแนวทางดำเนินชีวิตชอบต่อไป


มูลนิธิมายา โคตมี
กรกฎาคม 2547
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 มิ.ย.2006, 8:09 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สารบัญ

ตอนที่ 1
ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติ

อิริยาบถแห่งอานาปานสติ

อิริยาบถยืน : ยืนอานาปานสติ
อิริยาบถเดิน : เดินอานาปานสติ
อิริยาบถนั่ง : นั่งกำหนดอานาปานสติ
อิริยาบถนอน : นอนกำหนดอานาปานสติ
นิวรณ์ 5 : คบคนพาล พาลพาใจไม่สงบ
เจริญอานาปานสติ :
การเลือกคบกัลยาณมิตร ทำให้ไม่ติดอารมณ์
ลมหายใจยาว - สั้น

ตอนที่ 2
ธรรมะเพื่อเข้าถึงอานาปานสติ
โครงสร้างข้อปฏิบัติเพื่อเข้าถึงอานาปานสติ 10 ประการ

1. กัลยาณมิตร
2. โยนิโสมนสิการ
3. อัปปมาทะ
อปัณณกปฏิปทา 3
4. อินทรียสังวร
5. โภชเน มัตตัญญุตา
6. ชาคริยานุโยค
อารักขกัมมัฏฐาน 4
7. พุทธานุสสติ
8. เมตตาภาวนา
9. อสุภกรรมฐาน
10. มรณัสสติ
อมทุกข์ - อมสุข
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 1:32 pm, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 มิ.ย.2006, 8:16 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ 1
ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติ


ตราบที่ยังมีลมหายใจอยู่ จงอยู่ด้วยอานาปานสติ
อย่างพระพุทธเจ้า

จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะกิน ดื่ม ขับถ่าย ทำครัว
ทำความสะอาดบ้าน ขับรถ ทำงานทุกชนิด ให้อยู่กับอานาปานสติ
เดินเล่น พักผ่อน ก็ทำอานาปานสติได้
พูดได้ว่า ชีวิตทั้งหมดนี้ให้อยู่ด้วย อานาปานสติ

เจริญอานาปานสติ เพื่อเป็นการรักษาใจให้เป็นปกติ ให้ใจเป็นศีล

โดยเพียงแต่กำหนดรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกติดต่อกันอย่าง
ต่อเนื่องและอย่างสม่ำเสมอ ไม่ลืม ไม่เผลอ แม้แต่ขณะที่เห็นรูป
ได้ยินเสียง ได้ดมกลิ่น ได้รู้รส ได้สัมผัส

การกำหนดรู้ต้องอาศัยจิตใจที่สงบ
จึงจะสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง
ก่อนที่จะฝึกอานาปานสติ ต้องพยายามปล่อยวางความคิดต่างๆ
พยายามทำใจให้นิ่ง ให้สงบเสียก่อน แม้จะเป็นความสงบเพียง
ชั่วคราวก็ตาม

อานาปานสติ ทำได้ในอิริยาบถทั้ง 4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน
ให้มีสติระลึกรู้ทุกครั้งที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกติดต่อกัน
โดยเฉพาะช่วงที่ปรารภความเพียรทำได้ 24 ชั่วโมง ในวันหนึ่ง
ทีเดียว หรือเว้นเฉพาะขณะหลับเท่านั้น

อานาปานสติ สามารถเจริญเป็น สมถกรรมฐาน ให้สมบูรณ์ได้
อานาปานสติ สามารถเจริญเป็น วิปัสสนากรรมฐาน ให้
สติปัฏฐาน 4 สมบูรณ์ ได้

ในอิริยาบถบางอย่างไม่สะดวกที่จะเจริญอานาปานสติ หรือ
กำหนดรู้ลมหายใจ
เช่น ขณะที่กำลังขับรถบนถนน บนทางด่วน
เราไม่ต้องกังวล คือไม่ต้องระลึกถึงลมหายใจ แต่ให้อยู่ในหลัก
อานาปานสติให้ครบถ้วนคือ

ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด
ปัจจุบัน เป็นสำคัญ

เรื่อง อดีต ไม่สำคัญ ไม่ต้องคิดถึง
เรื่อง อนาคต ไม่สำคัญ ไม่ต้องคิดถึง
เรื่องคนอื่น ไม่สำคัญเท่าไร โดยเฉพาะความชั่วของคนอื่นอย่าแบก
ตัวเราเองทำดี ทำถูก นั่นแหละ สำคัญที่สุด

ขอให้ตั้งใจขับรถดีที่สุด อย่าให้เกิดอุบัติเหตุก็ใช้ได้
ใครจะขับรถไม่ดี ไม่รักษากฎจราจร แซงตัดหน้าเรา เกือบชน
เกือบมีอุบัติเหตุก็ตาม น่าโมโหอยู่ แต่ช่างมัน
เรื่องความชั่วของเขา อย่าให้เราเกิดโมโห อย่าให้ใจเสีย
อย่าให้เกิดอุบัติเหตุ
รักษาใจเป็นปกติ ใจดี แล้วทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

เมื่อเราเจริญอานาปานสติเป็นประจำ เราจะมีสติตลอดเวลา
สามารถจัดการกับงานหลายอย่างที่เร่งรัดเข้ามาในเวลาเดียวกันได้
เพราะเมื่อรู้สึกวุ่นวาย สติจะกำกับให้กลับมาที่ลมหายใจทันที
โดยอัตโนมัติ จิตจะเริ่มสงบและรับรู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง
ทีละอย่าง ทำให้เกิดปัญญาที่จะแก้ไข หรือ จัดการกับงานเหล่านั้น
ให้สำเร็จทีละอย่าง และเมื่องานแล้วเสร็จ สติจะกำกับให้กลับมาที่
ลมหายใจทันทีที่ว่างจากงาน เป็นการพักผ่อนด้วยอานาปานสติ

ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติ
คือ ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด ด้วยใจดี มีสุข



(มีต่อ 1)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 04 ส.ค. 2007, 2:27 pm, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 มิ.ย.2006, 8:19 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อานาปานสติ

* อานะ (อัสสาสะ) คือ ลมหายใจเข้า
* อาปานะ (ปัสสาสะ) คือ ลมหายใจออก

อานะ + อาปานะ คือ อานาปานะ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

สติ คือ ความระลึกรู้ การกำหนดรู้ในปัจจุบัน ไม่ใช่การคิด จำเอา

อานาปานสติ คือ การกำหนดรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ในปัจจุบัน แต่ละขณะ

--------------------------------------------------

* - พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
ของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) หน้า 116 และ 404
- มติที่ประชุมคณะสงฆ์ วัดหนองป่าพงและสาขา
ปี 2542 เมื่อ 16 มิถุนายน 2542


(มีต่อ 2)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 09 ก.ค.2006, 8:50 am, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 มิ.ย.2006, 8:29 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อิริยาบถแห่งอานาปานสติ

หลวงพ่อชาอธิบายว่า
“เมื่อใดที่เราระลึกรู้ลมหายใจ ก็เป็นอานาปานสติเมื่อนั้น”

ลมหายใจนี้มีอยู่ตลอดเวลาทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน
แม้ขณะหลับอยู่ก็มีลมหายใจ
เฉพาะอานาปานสติขั้นที่ 4 เท่านั้น ที่ต้องระงับลมหายใจแล้วเข้าสู่ฌาน

ในการปฏิบัติเราต้องอาศัยอิริยาบถนั่งมากเป็นพิเศษ ทำให้
หลายท่านพูดว่า การเจริญอานาปานสติทั้งในอิริยาบถ ยืน เดิน
นอน นั้นผิดพุทธบัญญัติ ต้องเข้าป่าแล้วก็นั่งขัดสมาธิเท่านั้น
แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วในอานาปานสติสูตรท่านก็ไม่เคยบอกว่าปฏิบัติ
ไม่ได้ในอิริยาบถยืน เดิน นอน แต่ที่นั่งเจริญอานาปานสติ ก็เพราะ
ว่าสะดวก ยิ่งอานาปานสติขั้นที่ 4 นั้น มีจุดมุ่งหมายที่จะระงับ
กายสังขาร เข้าฌาน ก็ต้องนั่ง

การปฏิบัติในเบื้องต้น ให้พยายามรักษาความรู้สึกที่ดี หรือจิตที่
เป็นกุศลเอาไว้ตลอดเวลาทุกลมหายใจเข้า - ออก ในทุกอิริยาบถ

ยืน เดิน นั่ง นอน สำหรับบางคนอิริยาบถยืน เดิน อาจจะเหมาะสม
กว่านั่ง แต่เมื่อจะฝึกเข้าฌานหรือวิปัสสนาขั้นละเอียด อิริยาบถนั่ง
น่าจะเหมาะสมกว่า

ในที่สุด กำลังสติปัญญา ก็ต้องเสมอกัน ในทุกอิริยาบถ
ยืน เดิน นั่ง นอน เรียกว่า “อิริยาบถเสมอกัน”
เป็นมหาสติ มหาปัญญา


อิริยาบถยืน : ยืนอานาปานสติ

ยืนอย่างสำรวม เท้าทั้งสองห่างกันพอสมควร ประมาณ 20 เซนติเมตร
เพื่อยืนได้อย่างมั่นคง และเอามือขวาทับมือซ้าย วางลงที่หน้าท้อง
เหมือนกับท่านั่ง เพื่อให้ดูเรียบร้อย แต่ถ้าอยู่คนเดียวจะปล่อยมือข้างๆ
ตัวตามสบายๆ แบบโครงกระดูกที่ถูกแขวนไว้ก็ได้

จากนั้นทอดสายตาให้ยาวพอดีๆ ประมาณเมตรครึ่ง แต่ไม่ให้จ้องอะไร
กำหนดสายตาไว้ครึ่งๆ ระหว่างพื้นดินกับตัวของเราเอง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้
ดูอะไรเป็นพิเศษนั่นเอง หรืออาจกำหนดดูที่ปลายจมูกก็ได้

บางครั้งอาจจะกำหนดสายตาไว้ที่ที่สบายตา เช่น กำหนดที่
สนามหญ้าสีเขียว ต้นไม้ ดอกไม้ หรือสระน้ำ แต่ไม่ให้คิดปรุงแต่ง
เป็นเรื่องเป็นราว ถ้ารู้สึกมีอะไรเกะกะตาหรืออยู่ด้วยกันหลายคน
อาจจะหลับตาก็ได้เหมือนกัน แต่ระวังอย่าให้ล้ม ต้องมีสติ ทรงตัวไว้ให้ดี

หายใจจากทางเท้า

หายใจเข้าลึกๆ ยืดตัวหน่อยๆ
หายใจออกสบายๆ ปล่อยลมลงตามตัวทางเท้า

หายใจเข้าลึกๆ ยืดตัวหน่อยๆ ตั้งกายตรง
หายใจออก ปล่อยลมลงทางเท้า สบายๆ
2 - 3 ครั้ง หรือ 3 - 4 ครั้ง
หายใจเข้าลึกๆ หน่อยๆ
หลังจากนั้น หายใจสบายๆ ธรรมดาๆ
แต่ส่งความรู้สึกให้มันถึงเท้าทุกครั้ง
ทำความรู้สึกคล้ายกับว่า ลมเข้า ลมออก จากทางเท้า
วิธีนี้ช่วยทำให้ ลมเข้า ลมออก ยาวขึ้น

โอปนยิโก น้อมจิตเข้ามาดูกายยืน
ไม่ให้ส่งจิตคิดออกไปข้างนอก
ให้มีความรู้ตัวชัดๆ ในการยืน ยืนเฉยๆ
ทุกอย่างให้มันเป็นธรรมดาๆ
ยืนสบายๆ นั่นแหละดี และถูกต้อง
รู้ชัดว่ากายกำลังยืน รู้ชัดว่าลมหายใจปรากฏอยู่

ลมหายใจปรากฏอยู่อย่างไรก็รับรู้ รับทราบ กำหนดรู้ ระลึกรู้เฉยๆ
มีหลักอยู่ว่า ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตก็อยู่ที่นั่น

การระลึกรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า คือ การรักษาใจไม่ให้
ฟุ้งซ่าน ให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ให้ติดอารมณ์

การหายใจให้ปล่อยตามธรรมชาติและธรรมดาที่สุด สบายๆ ที่สุด
กำหนดเบาๆ ให้พยายามมีความรู้สึกนิดหน่อยว่า มีลมเข้า มีลมออก
ทุกครั้งไปเท่านั้น ถ้าสบาย สงบ มีความสุข แสดงว่า กำหนดได้ถูกต้อง

ถ้ากำหนดลมหายใจแล้วรู้สึกเหนื่อย เครียดและสับสน
แสดงว่ากำหนดไม่ถูกต้อง ให้พิจารณาทบทวนใหม่

อย่าบังคับลมหายใจมากมาย
หายใจสบายๆ เป็นธรรมชาติที่สุด
การส่งความรู้สึกหรือจิตไปถึงเท้า ก็เพื่อให้
ลมหายใจค่อนข้างยาวขึ้นตามธรรมชาตินั่นเอง

นี่เป็นวิธีการหายใจจากทางเท้า

การฝึกระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เป็นการฝึกเจริญสติ
เป็นการรักษาความรู้สึกให้เป็นปกติ คือ เบาสบาย

ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย
เป็นการตั้งเจตนาถูกต้อง

เป็นการรักษาใจให้เป็นปกติ คือ ใจสงบ ใจเป็นศีล ศีลถึงใจ
เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นสัมมาปฏิปทา



(มีต่อ 3)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 09 ก.ค.2006, 8:54 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 มิ.ย.2006, 8:37 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อิริยาบถเดิน : เดินอานาปานสติ

การเดินที่ถูกต้อง คือ เดินอย่างธรรมดา
เอากาย เอาใจ มาเดิน
เมื่อกายกำลังเดิน ให้ใจเดินด้วยกัน
ไม่ใช่ว่า เมื่อกายกำลังเดิน ใจคิดไปเที่ยวในอดีต อนาคต หรือ
คิดเที่ยวไปทั่วโลก อย่าให้กายกับใจทะเลาะกัน อยู่คนละทิศ
คนละทาง ให้กายกับใจสามัคคีกัน รักกัน อยู่ด้วยกัน
ให้มีสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการเดิน
เดินให้ถูกต้องและเป็นธรรมชาติที่สุด


ลักษณะการเดิน

มีมากมายหลายวิธี แล้วแต่สำนักและครูบาอาจารย์
- เดินช้าๆ ช้ามากๆ ชั่วโมงละ 10 - 40 เมตร ก็ได้
- ค่อยๆ เดิน
- เดินอย่างธรรมดา
- เดินเร็ว
- วิ่งก็มี

โยมคนหนึ่งบอกอาจารย์ว่า หลวงพ่อใหญ่ (พระอาจารย์มั่น)
เดินเร็วมาก ท่านเดินกลับไปกลับมาและเดินเร็วมาก

วิธีกำหนดขณะที่เดิน

มี 2 วิธีด้วยกัน คือ กำหนดที่กาย และกำหนดที่จิต

วิธีกำหนดที่กาย คือ การตั้งใจเพ่งกำหนดดูการเคลื่อนไหวของเท้า
เช่น เดินช้าๆ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ค่อยๆ เดิน
พยายามกำหนดรู้ เท้าสัมผัสดิน หรือทำความรู้สึกอยู่ที่การก้าว
ขวาก้าว ซ้ายก้าว บางทีก็ให้นึกก้าวขาขวาว่า พุท ก้าวขาซ้ายว่า โธ
ขวาพุท ซ้ายโธ พุทโธๆ เป็นต้น

วิธีกำหนดที่จิต ตั้งใจรักษาจิต หรือ พินิจพิจารณาในหัวข้อธรรม
ต่างๆ ไม่ต้องกังวลในอิริยาบถยก ย่าง เหยียบ ฯลฯ เช่น พิจารณา
ความตาย พิจารณาร่างกายเป็นอสุภะ หรือแยกออกเป็น ธาตุ 4
เป็นต้น เดินธรรมดา หรือเดินเร็ว หรือ ช้าๆ แล้วแต่จริตนิสัย
ของแต่ละบุคคล ไม่ต้องกังวลในเท้าที่เคลื่อนก้าวไป

การฝึกอานาปานสติ จะกำหนดทั้งกายและจิตพร้อมกัน
ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก คือ กาย
จิตก็อยู่ที่ลมหายใจเฉพาะหน้า
การกำหนดรู้ลมหายใจ จึงเป็นการตามดูจิต
เป็นการรักษาจิตด้วย


เดินจงกรม

เราจะฝึกเดินจงกรมแบบธรรมชาติที่สุด
ให้เดินธรรมดาๆ แต่ช้ากว่าปกตินิดหน่อย
ขวาก้าว ซ้ายก้าว ขวาก้าว ซ้ายก้าว
เดินไปเรื่อยๆ นั่นแหละ คือเดินจงกรม
เดินเฉยๆ ธรรมดาๆ แต่ให้มีอาการสำรวมระวังในการเดิน

มีสติ ระลึกรู้ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ทุกครั้ง

บางคนอาจจะไม่เคยชินกับการกำหนดลมหายใจขณะเดิน
เพราะว่าความรู้สึกที่เท้ากำลังก้าวอยู่ ความรู้สึกที่ฝ่าเท้ากำลัง
ถูกดิน ความรู้สึกตัวในการเดินเด่นชัดมากกว่าลมหายใจหลายเท่า
หลายสิบเท่าก็เป็นได้ แต่ไม่ต้องสงสัยอะไร

อะไรที่กำลังปรากฏอยู่โดยธรรมชาติ รับรู้ รับทราบหมด
รู้ชัดว่ากายกำลังเดิน แต่เราไม่ทิ้งลมหายใจ
ให้มีความพยายามที่จะกำหนดรู้ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
รู้นิดหน่อยว่า ลมเข้า ลมออก เท่านั้น เบาขนาดไหนก็ช่างมัน
แต่ให้มันรู้ติดต่อกัน


เดินไป เดินมา เริ่มจะเมื่อยคอ เมื่อยหลัง หายใจเข้าลึกๆ 2 - 3 ครั้ง
ยืดตัวหน่อยๆ เป็นระยะๆ เพื่อช่วยผ่อนคลายความรู้สึก
ทำให้เบาตัว สบายตัว เดินไปเรื่อยๆ
ถ้าจิตไม่สงบ หยุดเดินก่อนก็ได้ หายใจเข้าลึกๆ 2 - 3 ครั้ง
หรือนานพอสมควร จนกว่าจิตจะสงบเรียบร้อย
ตั้งหลัก ตั้งสติ แล้วค่อยๆ เดินต่อไป

เดินกำหนดอานาปานสติ เหมือนการยืนกำหนดอานาปานสติ
ต่างกันเพียงการเคลื่อนไหวของกายเท่านั้น
ไม่ว่าจะวิ่ง เดินเร็ว เดินธรรมดา เดินช้า หยุดอยู่คือ ยืน เรามีหน้าที่
ระลึกรู้ทุกครั้งที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกติดต่อกันเท่านั้น

หาจุดสบายๆ หายใจเข้าสบายๆ หายใจออกสบายๆ
เป็นการเจริญสติที่จะระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
เป็นการรักษาจิตใจให้เป็นปกติ
เป็นการรักษาความรู้สึกให้เป็นปกติ คือ
เบาสบาย หายใจสบายๆ กายสบาย ใจสบาย สบายๆ

อานิสงส์ของการเดินจงกรม มี 5 อย่างคือ

1. เป็นผู้ทนต่อความเพียร
2. เป็นผู้ทนต่อการเดินไกล
3. เป็นผู้มีการเจ็บไข้น้อย
4. อาหารที่บริโภคเข้าไปย่อมย่อยง่าย
5. สมาธิซึ่งได้ขณะเดินจงกรม ดำรงอยู่ได้นาน


(มีต่อ 4)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 09 ก.ค.2006, 8:55 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 มิ.ย.2006, 8:46 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อิริยาบถนั่ง : นั่งกำหนดอานาปานสติ

ใครเคยฝึกนั่งสมาธิในท่าไหน หรือถนัดนั่ง ก็ให้นั่งอย่างนั้น
นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบกับพื้น หรือนั่งบนเก้าอี้ก็ได้ ข้อสำคัญ
อยู่ที่หลังตั้งตรง และไม่ควรพิงหลังกับสิ่งใด เพราะจะทำให้เกิด
ความสบายมากไป ทำให้ง่วงนอนได้ง่าย

โบราณาจารย์สอนไว้ว่า ลักษณะการนั่งที่เรียบร้อยนั้น ให้เอาขาขวา
ทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง พอเหมาะ พอดี พองาม
ไม่ให้เอียงขวา เอียงซ้าย ไม่ก้มหน้าเกินไป และไม่เงยหน้าเกินไป
ให้เอาท่านั่งของพระพุทธรูปเป็นตัวอย่าง พยายามนั่งให้เรียบร้อย
อย่างนั้น เมื่อใครได้เห็น ย่อมรู้สึกศรัทธา เกิดความชื่นอกชื่นใจด้วย

สำหรับท่านั่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
คือ ท่าขัดสมาธิเพชร หรือ ขัดสมาธิ 2 ชั้น โบราณเรียกว่า
ท่านั่งดอกบัว พระเซนในญี่ปุ่น หรือนักกรรมฐานในอินเดีย
นิยมใช้ท่าดอกบัวนี้มาก

การนั่งแบบดอกบัวนั้น ให้เหยียดขาทั้งสองออกไปก่อน ยกเท้าขวา
เข้ามาวางบนต้นขาซ้ายแนบกับท้อง แล้วยกขาซ้ายขัดเข้ามาวางบน
ต้นขาขวาให้แนบกับท้องเหมือนกัน ลักษณะมั่นคงเป็นสองชั้น
คล้ายดอกบัว ถ้าฝึกนั่งมากๆ จนเคยชิน และสามารถนั่งได้นานๆ
แล้ว ท่านี้จะเป็นท่าที่ดีที่สุด

แต่ไม่ว่าจะเป็นท่าไหนก็ตาม ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า นั่งสบาย ตั้งกาย
ได้ตรง มั่นคง และนั่งได้นาน
โดยไม่ต้องใช้ความพยายามในการ
ทรงตัวมากนัก ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีความรู้สึกกังวลทางกาย เพราะ
การปฏิบัติงานทางจิตในสมถะและวิปัสสนากรรมฐานเป็นงานที่
ละเอียดสุขุม บางครั้งอาจจะเข้าลักษณะมีกาย แต่รู้สึกเหมือนไม่มี
ให้พยายามฝึกปฏิบัติกันมากๆ ไม่ให้มีความกังวลต่อการนั่ง

นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติให้มั่น หายใจเข้าลึกๆ ปล่อย
ลมหายใจออก หายใจเข้าลึกๆ สุดๆ ยืดตัว แล้วก็ปล่อย ทำอยู่
อย่างนี้ 2 - 3, 3 - 4 ครั้ง แล้วค่อยๆ ปล่อย หายใจสบายๆ ธรรมดาๆ
รู้กายนั่ง รู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ทำใจให้เรียบร้อย
รู้ความรู้สึกเป็นปกติ
นั่งสบายๆ หายใจสบายๆ นั่นแหละดี และถูกต้อง

หายใจสบาย

หายใจเข้า ให้เบาสบาย
หายใจออก ให้เบาสบาย
ไม่ต้องตั้งใจกำหนดลงไปที่ไหน
ให้กำหนดเบาๆ สบายๆ ก่อน
นั่งสบาย นั่งเฉยๆ ลมหายใจปรากฏอยู่ กำหนดเบาๆ
ระลึกรู้อยู่เฉยๆ
หายใจเข้า สบาย หายใจออก สบาย

ถ้าคิดออกไปเรื่องอื่น พอรู้ตัว ให้รีบกลับมาที่
ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

ถ้าคิดอะไรมากไปหน่อย
ให้หายใจเข้าลึกๆ หายใจออก สบาย
หายใจเข้าลึกๆ หน่อย หายใจออก ปล่อย สบายๆ 3 - 4 ครั้ง
แล้วปล่อยตามปกติ กำหนดรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

ถ้าง่วงนอนให้ลืมตา
ให้มีสติในการนั่ง
ทรงตัวในการนั่งเรียบร้อย
ให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการนั่ง

ให้มีเจตนาในการหายใจเข้าลึกๆ หน่อย
หายใจออก ปล่อยตามธรรมชาติ
หายใจเข้าลึกๆ หายใจออก หายใจเข้าลึกๆ
ช่วยทำให้เพิ่มกำลัง นั่งได้ตรง ตื่นตัว ตื่นใจ
ขับไล่ความง่วงนอน ความขี้เกียจออกไปได้

ถ้ามีพลังมากไป
กายร้อน ใจร้อน ตื่นเต้น
หายใจออก ยาวๆ หน่อย
หายใจเข้า ปล่อยตามปกติ

ให้มีเจตนาในการหายใจออกยาวๆ หน่อย
หายใจเข้า ปล่อยตามสบาย
หายใจออก ยาวๆ สบายๆ
หายใจเข้า สบายๆ
กำหนดรู้ลมหายใจออกสบาย ลมหายใจเข้าสบาย
รักษาจิตให้เป็นปกติ รักษาความรู้สึกเป็นปกติ

หลับตาหรือลืมตา

โดยมากเราทั้งหลายมักเข้าใจกันว่า การนั่งสมาธิ คือการนั่งหลับตา
แต่ถ้าเราสังเกตดูพระพุทธรูป มีองค์ไหนบ้างที่หลับตา ส่วนใหญ่
แล้ว พระพุทธรูปจะอยู่ในท่านั่งแล้วลืมตาเล็กน้อยใช่ไหม สำหรับ
พระในนิกายเซนที่ประเทศญี่ปุ่น เวลานั่งสมาธิท่านก็ห้ามหลับตา

เวลานั่งสมาธิหลับตา อาจจะรู้สึกสงบและสบายก็จริง แต่นิวรณ์
มักจะเข้ามาครอบงำจิตได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความง่วงเหงา
หาวนอน หรือ ถีนมิทธะนิวรณ์
ถ้าลืมตาให้มีแสงสว่างเข้าตาอยู่ตลอด จะสังเกตและจับความ
ง่วงนอนได้ง่าย และจัดการขับไล่ได้สะดวก

แต่หากมั่นใจว่าไม่ง่วงเหงาหาวนอนแน่ๆ จะหลับตาก็ได้เหมือนกัน
ที่สุดของการทำสมาธิ คือ ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา เมื่อเห็นอะไร
ได้ยินอะไร รู้สึกอย่างไรก็ตาม ให้ทำจิตตั้งมั่น เป็นสมาธินั่นแหละ


(มีต่อ 5)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 09 ก.ค.2006, 8:58 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 มิ.ย.2006, 8:53 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อิริยาบถนอน : นอนกำหนดอานาปานสติ

เราสามารถฝึกอานาปานสติในอิริยาบถนอนได้อย่างง่ายๆ สบายๆ
โดยการนอนหงาย สบายๆ ธรรมดาๆ อิริยาบถคล้ายการยืน
วางแขนลงข้างลำตัว ฝ่ามือหงายขึ้นห่างจากกายพอสมควร
ประมาณ 1 - 2 คืบ นอนเหยียดสบายๆ เหมือนคนตายที่ไม่รับรู้
อะไร หากเราคุ้นเคยกับการนอนตะแคงก็สามารถทำได้เช่นกัน

จากนั้นให้สำรวจร่างกายทั้งหมด โดยเริ่มจากปลายเท้าขึ้นมา
ผ่อนคลายกล้ามเนื้อของร่างกายทุกส่วน ไม่ให้มีกล้ามเนื้อส่วนใด
เกร็งอยู่เลย จนกระทั่งมีความรู้สึกตัวเบาเหมือนสำลี

เวลาหายใจเข้า หายใจออก ให้กำหนดความรู้สึกเหมือนกับว่า
หายใจเข้า หายใจออก ทางเท้า


เมื่อหายใจออกให้กวาดเอาความรู้สึกที่ไม่ดี ความเครียด ความ
กังวล ความรู้สึกเจ็บป่วย ไม่สบาย ทั้งทางกายและทางใจ ออกไป
จากร่างกายให้หมด โดยหายใจให้ไกลออกไปจากเท้าหลายเมตรก็ได้

เมื่อหายใจเข้า ตั้งสติไว้ที่เท้า ให้ความรู้สึกสะอาดบริสุทธิ์ผ่านเข้า
มาทางร่างกาย จนถึงใบหน้าและจมูก สุขภาพของใจจะดีขึ้นและ
ทำให้อายุยืนไปด้วยพร้อมๆ กัน

หายใจทางเท้าจะทำให้อายุยืน

กายหายใจจากทางเท้า ถ้าทำได้ชำนาญจนเป็นปกติ สบายๆ
แล้วลมหายใจจะค่อนข้างยาวขึ้น 2 - 3 เท่า ปกติคนทั่วไปหายใจ
17 ครั้งต่อ 1 นาที ผู้ที่หายใจทางเท้าได้เป็นปกติจะหายใจได้ถึง
5 - 6 ครั้งต่อ 1 นาที การหายใจยาวนี้ ช่วยทำให้จิตสงบ ร่างกาย
ก็สงบสบาย ปล่อยวางร่างกายได้ ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ จะสามัคคีกัน

โรคเกิดจากอุปาทาน

ทางการแพทย์ได้วิจัยว่า โรคต่างๆ ที่เราประสบอยู่ในโลกนี้
ประมาณ 1 ใน 3 เกิดจาก ความเครียด ความโกรธ อุปาทาน
ความยึดมั่นถือมั่น
ในโรคภัยต่างๆ ในความคิดที่เป็นฝ่ายทุกข์ก็ดี
มีผลกระทบกระเทือนต่อร่างกายมาก
จิตอุปาทาน นั้นจะกีดกั้นระบบการทำงานของร่างกาย ทำให้เกิด
โรคต่างๆ ถ้ามีโรคอยู่แล้วก็ทำให้แย่ลงอีก ถ้าไม่มีโรคก็ทำให้เกิดโรคได้

** พระองค์หนึ่งเข้าห้องกรรมฐาน ปิดวาจาอย่างพวกเราอย่างนี้
นานหลายเดือน ไม่ต้องไปบิณฑบาต พระเณรจัดอาหาร
เอามาถวายที่กุฏิ ไม่มีน้ำร้อน น้ำปานะ รอบๆ กุฏิเอาจีวรเก่าๆ
ทำเป็นม่านปิดไว้ไม่ให้คนอื่นดูท่าน ท่านก็ไม่ต้องมองข้างนอก
มองดูแต่ กาย เวทนา จิต ธรรมของตน ปฏิบัติกำหนดช้าๆ

พระองค์นี้ท่านเป็นโรคกระเพาะ เจ็บท้องเป็นเดือนๆ วันหนึ่งๆ มี
แต่กังวลเจ็บท้อง ภาวนาก็ไม่ขึ้น เมื่อออกพรรษา ก็ออกจากกุฏิ
เดือนหนึ่งผ่านไป นึกขึ้นมาได้ว่า โรคกระเพาะหายไป ทั้งที่ยังไม่ได้
รักษา ลืมไปไม่ได้นึกถึง ทั้งที่เคยเจ็บท้องเกือบทั้งวัน เป็นหลาย
เดือนทีเดียว ทั้งนี้เพราะเมื่ออยู่ในห้องเฉยๆ จิตมีแต่อุปาทานเรื่อง
โรคกระเพาะ คิดแต่ว่าตัวเองเป็นโรคกระเพาะอยู่อย่างนั้น

** โยมคนหนึ่งบอกว่า เมื่อถึงช่วงใกล้สอบลูกสาวจะถ่าย
เป็นเลือด ความเครียดมันลงกระเพาะ จนกระเพาะทะลุ

** คนเรานี้มันแปลก อยู่ดีๆ ก็อยากจะไม่สบาย เพราะไม่อยากไป
โรงเรียนก็มี ไม่อยากไปทำงานก็มี มีความรู้สึกผิดปกติอะไร
นิดหน่อยก็ยึดมั่นถือมั่น จนไม่สบายไปจริงๆ ก็มี

** บางคนก็ทำร้ายร่างกายของตัวเอง เพื่อเรียกร้องความสนใจ
ความเห็นใจ ความรัก จากคนอื่น ก็มี

การหายใจทางเท้า หายใจเข้า - ออก ยาวๆ อย่างถูกวิธี ทำให้
ร่างกายได้รับออกซิเจนในปริมาณที่มากพอ ถ่ายเทอากาศเสีย
ออกจากร่างกายได้เต็มที่ ทำให้เรามีสุขภาพดี มีอายุยืน


(มีต่อ 6)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 09 ก.ค.2006, 9:00 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 มิ.ย.2006, 9:02 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

นิวรณ์ 5 : คบคนพาล พาลพาใจไม่สงบ

ตลอดเวลาที่เราฝึกอานาปานสติ ให้เราพยายาม
ตั้งตัว ตั้งสติ โอปนยิโก น้อมเข้ามาสู่ตัว เพื่อให้อยู่กับกาย
อยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

เราพยายามสร้างความพอใจที่จะอยู่กับกาย อยู่กับลมหายใจนี้
พยายามสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และพยายาม
ไม่ให้จิตนี้คิดออกไปภายนอก คือไม่ส่งจิตออกนอก

เมื่อใดก็ตามที่เราเกิดความรู้สึกไม่สงบ แสดงว่ามีเพื่อนเก่าแวะ
เข้ามาเยี่ยมเยียนเราแล้ว เพื่อนกลุ่มนี้มีชื่อว่า นิวรณ์ 5 ซึ่งก็คือ
ความ “ไม่สงบ” คำเดียวนี่แหละ

นิวรณ์ 5 มีอะไรบ้าง

กามฉันทะ : ความคิดชอบใจ พอใจ รักใคร่ ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
พยาบาท : ความที่จะทะเลาะกัน ความขัดเคืองแค้นใจ ไม่ชอบสิ่งนี้ ไม่ชอบสิ่งนั้น
ไม่ชอบคนนี้ ไม่ชอบคนนั้น ความคิดปองร้ายอาฆาตพยาบาท
ถีนะมิทธะ : ความหดหู่ เซื่องซึม ง่วงเหงาหาวนอน ความขี้เกียจ ขี้คร้าน
อุทธัจจกุกกุจจะ : ความคิดฟุ้งซ่าน ความรำคาญใจ คิดไปสารพัดอย่าง
วิจิกิจฉา : ความลังเลสงสัย จะทำอะไรก็ทำไม่ได้ เพราะทำไปได้นิดหน่อยก็
เกิดความสงสัยขึ้นมา

นิวรณ์ทั้ง 5 นี้เป็นสิ่งกีดขวางความดีความงามไม่ให้เกิดขึ้น
ในตัวเรา
เมื่อเราจะทำอะไรที่เป็นกุศล ก็จะมีพวกนี้เข้ามาขวาง
ไม่ให้เราทำความดี เมื่อเรามีสติ สังเกตดูจิตใจเราอย่างละเอียดแล้ว
เราจะพบว่านิวรณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะ เปรียบเหมือนเพื่อนคนหนึ่ง
ของเรา และในแต่ละวัน นิวรณ์อาจเกิดขึ้นเป็นพันๆ หมื่นๆ ครั้ง

เท่ากับว่า เราได้คบคนพาล คบเพื่อนที่ไม่ดี เป็นพันเป็นหมื่นคน
แต่เราก็ไม่รู้สึกอะไร เพราะเป็นเพื่อนเก่า เป็นเพื่อนที่สนิทสนมกับเรา
มานาน สำหรับปุถุชนคนธรรมดาแล้ว นิวรณ์ทั้งหลายเป็นเพื่อนที่
ดี เป็นเพื่อนคลุกคลีพาสนุกสนานเฮฮาสารพัดตลอดเวลา

เมื่อเราได้ยินได้ฟังธรรมะแล้ว ได้รู้จักเพื่อนใหม่ เป็นกัลยาณมิตร
เป็นเพื่อนที่ดีจริงๆ คือ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ของตัวเราเอง
นี่แหละ เราก็พยายามเจริญสติ แล้วก็ โยนิโสมนสิการ คือ รู้จักคิด
อย่างถูกต้องตามธรรมะ รู้จักวิเคราะห์หาเหตุผล เพื่อให้เกิดปัญญาที่
จะตรวจดูว่า เรามีความพอใจที่จะอยู่กับกัลยาณมิตรนี้ไหม

เราต้องถามจิตใจของเราดูว่า เราอยากจะเป็นคนดีจริงๆ ไหม
เราต้องการความสุขความเจริญจริงๆ ไหม
โดยอาศัยสติมาตรวจดู
เมื่อมีสติแล้ว ธัมมวิจยะ คือ การพิจารณาธรรมจะเกิดขึ้นและเกิดปัญญา
วินิจฉัยได้ว่า นิวรณ์ทั้ง 5 นี้เป็นตัวทุกข์ หากเรายินดีพอใจที่จะคิดไป
ตามนิวรณ์ จะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดทุกข์กับตัวเรามากขึ้น

นิวรณ์ทั้งหมดเป็นเหมือนเพื่อนเก่าๆ ที่เราคบอยู่ประจำ เราเคย
พอใจคลุกคลีอยู่กับเพื่อนเหล่านี้ แต่เมื่อเราพิจารณาเห็นแล้วว่า
เขาเป็นผู้ที่ไม่นาคบ ถึงเขาจะมาเยี่ยมเรา เราเฉยเสีย ไม่ต้องใส่ใจ

ถ้าเปรียบก็คือ เหมือนแขกที่เราไม่ชอบ มาเยี่ยมเรา เราไม่ต้อง
ต้อนรับ และไม่แสดงความรังเกียจ พยายามทำเฉยๆ เหมือน
กับมีธุระ ไม่มีเวลาว่างที่จะเอาใจใส่ แล้วในที่สุดเขาจะไปเอง

แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าเราจะไม่รู้อะไรเลย เราต้องคอยระวังเหมือนกัน
ไม่ว่าเขาจะชวนเราไปไหน ชวนเราทำอะไร เราต้องทำตัวเหมือน
คนไม่มีเวลา ทำตัวเฉยๆ อย่าไปด่าว่าเขา ถ้าเราไปด่าเขา ประเดี๋ยว
เขาจะด่าคืน แต่ถ้าเราแสดงความยินดีต้อนรับ เขาจะติดใจไม่ยอมไปเสียที

ถ้าจิตนี้มีความพอใจที่จะอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
เหมือนอยู่กับกัลยาณมิตร นิวรณ์จะตั้งอยู่ไม่ได้

ที่เรามาปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าเราจะเอาความสุขเดี๋ยวนี้ วันนี้
หรือว่าละ
กิเลสให้ได้ภายใน 10 วัน 20 วัน การตั้งเป้าหมายอย่างนี้ จะทำให้เรา
สับสนวุ่นวายใจ เพราะเมื่อมาปฏิบัติแล้ว อาจจะมีแต่ความฟุ้งซ่าน
มีแต่ทุกข์ มีแต่ทรมาน ไม่สบายเหมือนอยู่ที่บ้าน ก็เป็นได้

ให้เราทำความเข้าใจว่า เรามาปฏิบัติเพื่อศึกษาตัวเอง
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ ฟุ้งซ่าน ไม่สงบหรืออะไรก็ตาม
ไม่ต้องกังวลมาก เพราะเราจะรู้สึกอย่างไรนั้น ไม่สำคัญ
ขอให้เรารู้ความเป็นจริงว่า เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ เราเป็นอย่างไรเท่านั้น

ถ้ามีกิเลสต้องดูกิเลส ถ้ามีทุกข์ต้องดูทุกข์

ถ้าเรามีของสกปรกตกค้างอยู่ มันก็ต้องสกปรกเป็นธรรมดา
เราต้องดูของสกปรกก่อน จนกระทั่งเห็นอย่างชัดเจนแล้ว
ก็จะเกิดปัญญาว่าควรจะทำอะไรต่อไป

ดังนั้น ขอให้เรา ดูกาย ดูวาจา ดูจิต ด้วยการปฏิบัติธรรม
เจริญสติ สมาธิ จนกระทั่งในที่สุด เกิดความรู้ชนิดหนึ่งขึ้นมาว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเหตุผล เป็นไปตามเหตุปัจจัย

คิดดี พูดดี ทำดี ให้ผลเป็นความสุข ความสงบ
คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว ให้ผลเป็นความทุกข์ เดือดร้อน ไม่สงบ

สงบ หรือไม่สงบ ช่างมัน


ขอให้ใจเรานี้พยายามตั้งอยู่ในความถูกต้อง คือ เอาลมหายใจเป็น
กัลยาณมิตร ระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก จะยืน จะเดิน
จะนั่ง จะนอน เห็นอะไร ได้ยินอะไรก็ตาม รักษาใจให้เป็นปกติ รักษา
ความรู้สึกให้เป็นปกติ ให้ศีลถึงใจ ใจเป็นศีล ตลอดกาล ตลอดเวลาเถิด

เมื่อเกิดสติที่จะกำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเมื่อไร
ความไม่สงบจะหายไปเอง



(มีต่อ 7)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 09 ก.ค.2006, 9:01 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 มิ.ย.2006, 9:16 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เจริญอานาปานสติ : การเลือกคบกัลยาณมิตร ทำให้ไม่ติดอารมณ์

โดยปกติ จิตของเรามักจะอยู่กับเรื่องภายนอก ทั้งอดีต อนาคต
สิ่งนี้ดี สิ่งนั้นไม่ดี คนนั้นดี คนนี้ไม่ดี ฯลฯ และเรามักจะปล่อยให้
จิตของเราคิดไปเรื่อยๆ ไม่หยุดหย่อน

ถ้าเราประสบกับความรู้สึกที่ไม่ดีไม่ชอบ เพราะเราได้เห็นหรือ
ได้ยินสิ่งที่ไม่ถูกใจ เรามักจะเก็บความรู้สึกอันนั้นไว้นานๆ เป็น
ชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน หรือเป็นปีๆ เราจึงไม่ค่อยมีความสุขมาก
นักในชีวิตประจำวัน

หากเราประสบกับสิ่งที่รักที่พอใจ เรามักจะเก็บความรู้สึก และ
ความจำนั้นไว้นานเป็นปีเช่นกัน แต่เมื่อต้องพบว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เที่ยง
เราต้องประสบกับความพลัดพราก การเสียของรัก เราก็เป็นทุกข์อีก

ถ้าเราสามารถมีสติระลึกรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าใน
แต่ละขณะ
หมายความว่า เราสามารถอยู่กับปัจจุบันในแต่ละ
ขณะได้ เราจะไม่ติดอารมณ์

เราจะไม่เก็บความรู้สึกเก่าๆ ที่เคยสร้างความขุ่นเคืองเศร้าหมองแก่จิตใจ
ของเราเอาไว้ รวมทั้งไม่เก็บความจำที่เคยทำให้เรามีความสุข จนเราไม่อยาก
พลัดพรากจากความสุขนั้น เราจะสามารถตัดทิ้งและปล่อยความรู้สึกเหล่านั้น
ให้ผ่านไปได้ และในที่สุดเราก็จะมีความสุขได้แน่นอน

ทำความรู้จักลมหายใจหรือกัลยาณมิตรที่เราเคยมองข้าม
ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งบัดนี้ ลมหายใจของเราไม่เคยขาดหายไป
ที่ไหนเลยแม้แต่เวลาที่นอนหลับสนิท ถึงแม้เราจะไม่รู้สึกตัว
ลมหายใจยังเข้า – ออก อยู่อย่างนี้ตลอดเวลา แต่คนเรา
โดยมาก จะไม่เคยให้ความสนใจกับลมหายใจ ไม่เคยเห็น
ลมหายใจ ไม่เคยสังเกตว่า ลมหายใจของเรามีอิทธิพลต่อร่างกาย
และต่อความรู้สึกนึกคิดของเราอย่างไร

พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า
การระลึกรู้ลมหายใจเข้า - ออกนี้มีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้
ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้บำเพ็ญ
อานาปานสติมาหลายภพหลายชาติ ในพระชาติสุดท้าย เมื่อครั้งที่
พระองค์ยังทรงเป็นพระกุมารประทับใต้ร่มหว้า ในคราวที่
พระพุทธบิดาทรงประกอบพิธีแรกนาขวัญ ทรงกำหนดลมหายใจ
ออก ลมหายใจเข้า และได้บรรลุปฐมฌานในครั้งนั้น

ในวันที่ทรงตรัสรู้เป็นพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงประทับใต้
ร่มศรีมหาโพธิ์ ก็ทรงอาศัยอานาปานสติเป็นพื้นฐาน
หลังจากตรัสรู้ ก็ทรงใช้อานาปานสติเป็นวิหารธรรม ได้ทรงสอน
ลูกศิษย์ว่า ถ้ามีใครถามว่า พระสมณโคดมอยู่อย่างไรในพรรษา
ให้ตอบว่า ท่านอยู่ด้วยอานาปานสติเป็นส่วนใหญ่

การฝึกสติหรือการเจริญสติโดยกำหนดรู้ ลมหายใจเข้า
ลมหายใจออกตลอดเวลา
เป็นการเริ่มต้นให้เราได้สังเกตและให้
ความเอาใจใส่กับลมหายใจ และจะช่วยให้เราสังเกตเห็นลมหายใจ
ของเรามากขึ้นๆ

ลมหายใจของเรานั้นเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย
อยู่ตลอดเวลา
ไม่ว่าจะเป็นระบบร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึกหรือ
สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

เมื่อเราไม่สบาย ลมหายใจก็ติดขัด
เมื่อเกิดอารมณ์หงุดหงิดขัดเคือง ลมหายใจก็พลอยขัดข้องไปด้วย
เมื่ออารมณ์ดี ลมหายใจก็โปร่งโล่ง
เมื่ออากาศร้อน ลมหายใจก็ถี่เร็วขึ้น

ลมหายใจเป็นสะพานเชื่อมระหว่างร่างกายกับจิตใจ
ลมหายใจ
ได้รับอิทธิพลจากร่างกายและจิตใจ
และลมหายใจ ก็มีอิทธิพลต่อร่างกายและจิตใจของเราด้วย

เมื่อเรารู้จักและเข้าใจเหตุปัจจัย และความเป็นไปตามเหตุและผล
ของลมหายใจอย่างดีแล้ว เราจะได้เรียนรู้วิธีการปรับปรุงร่างกาย
และจิตใจ โดยอาศัยลมหายใจออกและลมหายใจเข้าต่อไป

ลมหายใจยาว - สั้น

โดยปกติ มนุษย์เราจะหายใจประมาณ 17 ครั้งต่อนาที อาจจะน้อย
กว่าหรือมากกว่านี้เล็กน้อยแล้วแต่บุคคล

ลมหายใจสั้น
เมื่อร่างกายเหนื่อย อ่อนเพลีย
เมื่อเจ็บไข้ไม่สบาย
เมื่อมีอารมณ์ตื่นเต้น เพราะความดีใจ เสียใจ ความกลัว โกรธ ฯลฯ

ลมหายใจยาว
เมื่อมีสุขภาพแข็งแรงดี
เมื่อหมดความกังวล โล่งอกโล่งใจ
เมื่อรู้สึกสบายอกสบายใจ สบายอารมณ์

การปรับปรุงลมหายใจให้ยาวๆ จะช่วยทำให้กายสงบ
อารมณ์สงบ ลงได้เป็นอย่างดี

เราสามารถควบคุมอารมณ์โกรธด้วย ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
การหายใจออกกับการหายใจเข้า ใช้ระบบประสาทที่แตกต่างกัน

สามารถแยกแยะได้ตามความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิตใจของเราเอง

การหายใจออก มีลักษณะผ่อนคลาย (Relaxed)
ให้ความรู้สึกที่สบาย โล่งอกโล่งใจ หมดความกังวล
ส่วนการหายใจเข้านั้น มีลักษณะของความตั้งใจ หรือความ
เคร่งเครียด
เช่น เมื่อตั้งใจจะทำอะไรอย่างเต็มที่ หรือเมื่อโกรธ
อยากจะชกหน้าเขา ฯลฯ

เมื่ออารมณ์หรือความรู้สึกเปลี่ยนแปลง ลมหายใจจะเปลี่ยนแปลง
ไปด้วย
แต่เราอาจจะไม่ทันรู้ตัว เช่น เมื่อกระทบอารมณ์ที่ทำให้
โกรธโมโหอย่างรุนแรง ลมหายใจจะสั้น ถี่และหนัก จนกระทั่งหัวใจ
สูบฉีดเลือดขึ้นสมอง หน้าจะแดง

ปกติ เมื่อเราเกิดอารมณ์โกรธ ถ้าเราสังเกตดูจะพบว่า
- ลมหายใจเกิดการเปลี่ยนแปลงก่อน
- จึงเกิดความคิดโกรธ
- แล้วเป็นความรู้สึกโกรธ

สำหรับผู้ที่ยังใหม่ต่อการปฏิบัติธรรม คงจะเป็นเรื่องยากที่จะห้าม
ความรู้สึกโกรธหรือห้ามความคิดเอาไว้ได้ทันท่วงที แต่การปรับ
เปลี่ยนลมหายใจนั้น ใครๆ ก็ทำได้ เพราะไม่ยากจนเกินไป
ขอเพียงแต่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องเท่านั้น

เราสามารถควบคุมหรือเปลี่ยนอารมณ์โกรธด้วยการ
ปรับเปลี่ยนลมหายใจ ดังนี้


ตั้งสติ หายใจออกยาวๆ สบายๆ
หายใจเข้า ปล่อยตามธรรมชาติ
หายใจออกยาวๆ สบายๆ
เพื่อคลายความรู้สึกที่ไม่ดีออกไปพร้อมกับลมหายใจออก
หายใจเข้า ปล่อยตามปกติ ให้ลมหายใจเข้า ช้าๆ ลึกๆ พอสมควร
หายใจออก ตั้งอก ตั้งใจ เอาใจใส่ ให้เป็นลมหายใจยาวๆ สบายๆ

เมื่อทำซ้ำๆ อยู่เช่นนี้ จะรู้สึกสบายกาย สบายใจ เกิดความสงบ
เย็นใจ แล้วก็เกิดความละอายต่ออารมณ์โกรธ หรืออารมณ์โมโห
จนกระทั่งความโกรธไม่กล้าโผล่หน้ามาให้เห็นอีก

ความโกรธเกิดขึ้นได้ในกรณีต่างๆ ดังนี้

เขาพูดจริงโดยหวังดีต่อเรา แต่ไม่ถูกใจเรา..... เราโกรธ
เขาพูดธรรมดา แต่ไม่ถูกใจเรา..... เราโกรธ
เขาไม่พูด ไม่ถูกใจเรา..... เราโกรธ
เราคิดว่าเขานินทาเรา (ที่จริงเขาไม่ได้นินทาเรา)..... เราโกรธ
เขาว่าเรานินทาเขา (แต่เราไม่ได้นินทาเขา)..... เราโกรธ
เราเข้าใจผิดว่าเขาทำผิด (ทั้งๆ ที่เขาทำดี)..... เราโกรธ
เขาเข้าใจผิดว่าเราทำผิด (ทั้งๆ ที่เราทำดี)..... เราโกรธ
เขาหน้าบึ้ง ใจไม่ดี เรารู้สึกว่าเขาไม่พอใจเรา..... เราโกรธ

พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบความโกรธว่า เหมือนไฟไหม้ป่า
ไม่ว่าอะไรขวางหน้าเผาทั้งหมด เผาหมดเลย
เผาแม้แต่คนที่รักที่สุดหรือแม้แต่หัวใจของตัวเอง
เผาหมด ไม่มีอะไรเหลือ เหมือนตกนรกทั้งเป็น
มีแต่โทษร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีคุณเลย แม้แต่นิดเดียว

สำหรับผู้มีปัญญาสมบูรณ์ดีแล้ว รักความสงบ รักความสุข
ใครจะให้โกรธก็โกรธไม่ได้อีกแล้ว (อนาคามีบุคคล)
ลมหายใจเปรียบได้กับอาหารมีทั้งปริมาณและคุณภาพ


การเจริญอานาปานสติเปรียบได้กับอาหารที่เราบริโภคอยู่ทุกวัน
มีทั้งปริมาณและคุณภาพ ถ้าใครมีฐานะยากจนจริงๆ จะแสวงหา
อาหารในด้านปริมาณเป็นหลักก่อน ขอให้มีข้าวกินทุกวัน เพื่อให้อิ่มท้อง
ถ้าหิวจริงๆ ข้าวกับเกลือหรือน้ำปลา ไข่ทอดหรือปลาเค็มก็อร่อยได้เหมือนกัน

แต่เมื่อมองดูในระยะยาว อาจจะเกิดปัญหาต่อร่างกาย เพราะ
อาหารที่ไม่สมบูรณ์ ไม่มีคุณภาพ ขาดสารอาหาร ทำให้การเจริญ
เติบโตของร่างกายไม่สมบูรณ์ เจ็บไข้ป่วยได้ง่าย เกิดโรคต่างๆ
นานา สติปัญญาไม่ดี และอายุจะสั้น ไม่อาจสำเร็จประโยชน์ในชีวิต
ได้ ทำให้เกิดความทุกข์กาย ทุกข์ใจด้วย

ดังนั้น นอกจากปริมาณแล้ว การบริโภคอาหาร
จึงต้องคำนึงถึงคุณภาพด้วย

ปริมาณในอานาปานสติ หมายถึง การมีสติเพียงพอที่จะรักษาใจ
ให้เป็นปกติ โดยอาศัยการกำหนดรู้ที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ตลอดกาล ตลอดเวลา ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน

หรือเราเอาลมหายใจเป็นกัลยาณมิตร
เมื่อเกิดอารมณ์ไม่ดี ก็นึกถึงลมหายใจ เพื่อระงับอารมณ์ที่ไม่ดีนั้น
สามารถทำใจให้สงบธรรมดาๆ ได้ตลอด ไม่ติดอารมณ์พอใจและ
ไม่พอใจ มีใจสงบเป็นปกติ เรียกว่าใจเป็นศีล

คุณภาพในอานาปานสติ
เมื่อได้สติในปริมาณที่เพียงพอ ศีลสมบูรณ์แล้ว ต่อไปก็พัฒนา
คุณภาพให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ตามหลักอานาปานสติ 16 ขั้น
อานาปานสติ 16 ขั้น นั้น เมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก ย่อมมีผลให้
สมถะและวิปัสสนาสมบูรณ์
ทำให้สติปัฏฐาน 4 สมบูรณ์
ทำให้โพชฌงค์ 7 สมบูรณ์
จนกระทั่งถึง วิมุตติ คือ พระนิพพานในที่สุด



(มีต่อ 8)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 09 ก.ค.2006, 9:03 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 มิ.ย.2006, 9:33 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอนที่ 2
ธรรมะเพื่อเข้าถึงอานาปานสติ


1. กัลยาณมิตร

การมีกัลยาณมิตร หรือ เพื่อนที่ดีงาม อันนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด
ในการบรรลุเป้าหมายที่ถูกต้อง สำหรับพวกเราผู้ปฏิบัติธรรม

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
“เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายนอกอื่น แม้สักอย่างเดียวที่มีประโยชน์
มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะเหมือนความมีกัลยาณมิตรเลย”
“ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตรย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น”


ภิกษุ ในที่นี้ไม่ได้หมายเฉพาะผู้ชายที่อุปสมบทในพระพุทธศาสนาอย่างเดียว
เพราะภิกษุ แปลตามคำศัพท์ว่า ผู้ขอ หรือ ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร อย่างพวกเรา
ทุกคนที่กำลังตั้งใจเจริญอานาปานสติอยู่นี้ ก็ถือว่าเราเป็นคนหนึ่งในภิกษุทั้งหลาย
เหมือนกัน ถ้าเราเห็นภัยในวัฏฏสงสาร

สำหรับผู้เป็น เสขะ ก็เป็นอย่างพวกเราอีกเหมือนกัน คือ ผู้ที่ยังมีทุกข์
มีกิเลส ผู้ที่ยังไม่สมบูรณ์ ไม่จบการศึกษา ศีล สมาธิ ปัญญา
อเสขะ คือ ผู้จบการปฏิบัติ หมดทุกข์ พ้นทุกข์ หมดกิเลส
เราเรียก พระอรหันต์ว่า อเสขะบุคคล

ยอดของกัลยาณมิตร คือพระพุทธเจ้า รองลงมา คือพระอริยสาวก
ส่วนผู้ที่กำลังปฏิบัติเพื่อละลดกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ อย่างพวกเรานี้
ก็เป็นกัลยาณมิตรได้เหมือนกัน โดยเฉพาะพวกเราที่ชอบทำบุญ ฟังเทศน์
และปฏิบัติธรรม ก็ถือว่าเป็นกัลยาณมิตร เป็นกำลังใจให้กันและกันได้

หน้าที่ของกัลยาณมิตร คือ ทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีงาม พูดคุย
แนะนำ ให้หยุดทำความชั่วและส่งเสริมให้ทำความดี
ถ้าเรามีกัลยาณมิตรที่ดีจริงๆ ก็อาจพูดได้ว่า
การปฏิบัติของเราสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง


เพราะเราจะมีผู้ชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องโดยตลอด
ไม่มีการหลงทาง เปรียบเหมือนกับการวิ่งมาราธอนที่เรา
มีความอุตสาหะวิ่งมาถึงครึ่งทาง กำลังจะเข้าใกล้จุดหมายปลาย
ทางแล้ว ใจเย็นๆ ไม่ต้องรีบร้อนอะไร วิ่งไปเรื่อยๆ

ถ้าเหนื่อยมากจะพักนิดหน่อยก็ไม่เป็นอะไร แต่อย่าประมาท
ก็แล้วกัน อย่าถอยหลัง ให้พักอยู่กับที่ อาจจะถึงจุดหมาย
ปลายทางในชาตินี้หรือชาติหน้า
2 ชาติ 3 ชาติ 10 ชาติ
หรือจะ 100 ชาติ ก็ช่างมัน
อย่างไรก็ตาม เราก็มาถึงครึ่งทางแล้ว อย่าไปคิดอะไรมาก
ขณะนี้ เวลานี้ ขอให้มีสติถูกต้อง เป็นสัมมาปฏิปทาก็เพียงพอแล้ว

สติถูกต้อง คือ สัมมาสติ เป็นไปเพื่อความปล่อยวาง
ไม่ยินดี ยินร้าย เป็นไปเพื่อลดละกิเลส
สติไม่ถูกต้อง เช่น การมีสติว่องไวคอยจับผิดคนอื่น
อันนี้ไม่เป็นสัมมาสติ

ทำไมแค่คบกัลยาณมิตร ทำให้การปฏิบัติธรรมของเราสำเร็จ
ไปแล้วครึ่งทาง


พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธรรมบทว่า

“เป็นการยากที่ได้เกิดเป็นมนุษย์
เป็นการยากที่ชีวิตสัตว์ จะอยู่สบาย
เป็นการยากที่จะได้ฟังธรรมของสัตตบุรุษ
เป็นการยากที่พระสัมพุทธจะอุบัติมา”


พวกเราทุกคนสอบผ่านข้อที่หนึ่งแล้ว ผู้รู้ท่านรับรองไว้ว่า เป็นการ
ยากจริงๆ ที่พวกเราทั้งหลายจะเกิดมาเป็นมนุษย์ได้ในชาตินี้
ชาติหน้าบางคนอาจจะเกิดเป็นผี เป็นเปรต เป็นยักษ์ เป็นสัตว์เดรัจฉาน
หรือเปล่าก็ไม่รู้ ตัวเราเองอาจจะไม่รู้ว่าเป็นการยากลำบากขนาดไหนที่
จะได้มาอยู่ที่จุดนี้ เพราะเราไม่มีความสามารถที่จะระลึกชาติได้
อย่าพลาดโอกาสที่จะทำความดี ทำประโยชน์นะ

พวกเรายังสอบผ่านข้อที่สองด้วย
คือ “ยากที่จะมีชีวิตที่สบาย”
ถึงจะเกิดเป็นมนุษย์ได้ก็ตาม แต่ก็มีคนจำนวนมากในโลกนี้ที่อดอยาก
ไม่มีข้าวกิน ต้องดิ้นรน เพื่อปากท้อง น้อยคนที่จะได้อยู่สบายอย่างพวกเรา
อย่าพลาดโอกาสที่จะทำความดี ทำประโยชน์นะ

พวกเรายังอยู่ในข้อที่สามด้วย “ยากที่จะได้ฟังธรรมของสัตตบุรุษ”
น้อยคนที่จะได้มาวัดปฏิบัติธรรมอย่างนี้ เพราะมีเหตุปัจจัย
บางอย่างหรือยังไม่พร้อมที่จะมาวัด สำหรับหลายคนแค่ต้องตื่นตี
3 หรือ ทานข้าวมื้อเดียว นอนในป่า ก็กลัวแล้ว

ข้อสุดท้ายคือข้อที่สี่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติมาแล้ว ถึงแม้
เราจะไม่ได้ทันพบพระองค์ แต่พระองค์ก็ทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า

“เมื่อเราปรินิพพานไปแล้ว
พระธรรมคำสั่งสอนจะเป็นตัวแทนของเรา
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา”


ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์จนรู้แจ้งชัดในธรรม
ก็เท่ากับว่าได้พบพระพุทธองค์เช่นกัน

กัลยาณมิตรภายใน นอกจากกัลยาณมิตรภายนอก
เราก็มีกัลยาณมิตรภายใน คือ ลมหายใจของเราเอง
ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เป็นกัลยาณมิตรที่ดีที่เราอาจจะ
ไม่เคยรู้จักมาก่อน เพราะเราไม่เคยสนใจกับลมหายใจของเราเลย
ถ้าเราระลึกรู้และอยู่กับลมหายใจเข้าลมหายใจออกตลอดเวลา
เราจะมีแต่ความปลอดภัย และมีแต่สันติสุข

ลมหายใจจะช่วยให้เราหลีกพ้นจากเพื่อนที่ไม่ดีต่างๆ
ความคิดรัก คิดชัง คนนี้ คนโน้น สิ่งนี้ สิ่งโน้น
ความคิดน้อยอกน้อยใจ ความคิดบ่น คิดนินทา คิดตำหนิผู้อื่น
คิดอาฆาตพยาบาท เหล่านี้เป็นเพื่อนที่ไม่ดี

ลมหายใจอยู่กับเราตลอด
ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงาน หรือไป
เที่ยวที่ไหน ขึ้นเขาหรืออยู่ในถ้ำคนเดียว ตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่
กัลยาณมิตรท่านนี้อยู่กับเราตลอด แต่เราจะคบหรือไม่คบขึ้นกับเราเอง

ความจริงกัลยาณมิตร คือ ลมหายใจนี้ เรามีตั้งแต่เกิดจากท้องแม่
จนถึงวันนี้ แต่หลายคนไม่ได้คบ ไม่ได้รู้จัก เราคบแต่คนอันธพาล
เราคบแต่อารมณ์ไม่ดี
คิดบ่น ตำหนิคนโน้นคนนี้ คิดอยากได้
อยากมีอยากเป็น อะไรไม่ดีก็คิดไป บ่นไปเรื่อยๆ
ความคิดไม่ดีต่างๆ คือ คนพาล ความพาลนี่อยู่ในใจของเรา
อะเสวนา จะพาลานังฯ คบคนพาลพาลพาไปหาผิด ไม่เจริญ

เราควรคบแต่บัณฑิต คือ คนดี ความคิดดีๆ
ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนี้ เป็นเพื่อนที่ดี
ถ้าเราอยู่กับลมหายใจ อยู่ที่ไหนก็ไม่เหงา
อยู่ที่ไหนก็สงบ มีความสุขได้ ไม่วุ่นวายใจ

เมื่อเกิดอารมณ์ ยินดี ยินร้าย ใจเสีย เสียใจ เสียความรู้สึก
ให้รีบกลับมาหากัลยาณมิตร คือลมหายใจเข้า ลมหายใจออกของเราเอง


ถ้าเราสามารถเอาลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเป็นกัลยาณมิตรได้
ศีล สมาธิ ปัญญาก็จะเกิดขึ้นตามลำดับ และในที่สุดก็เข้ามรรคผลนิพพานได้


(มีต่อ 9)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 09 ก.ค.2006, 9:06 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 มิ.ย.2006, 9:39 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

2. โยนิโสมนสิการ

โยนิโสมนสิการ คือการคิดทบทวน พินิจพิจารณาด้วยเหตุผล
ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง
เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งสำหรับพวกเราผู้ปฏิบัติธรรม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักข้อหนึ่ง
ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็
เจริญขึ้น เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”


เมื่อเรามีกัลยาณมิตรแล้ว มีโอกาสได้ฟังเทศน์ฟังธรรม ได้สนทนาธรรม
ได้รับการตักเตือนจากกัลยาณมิตร ได้ฟังเทปธรรมะ ได้อ่านหนังสือธรรมะ ฯลฯ

ธรรมะที่จำได้จากการได้ยินได้ฟังเหล่านั้น ถ้าเป็นอาหารก็เป็นอาหารดิบ
ที่ยังอยู่ในโรงครัว เช่น ข้าวสาร เนื้อ ปลา ผัก น้ำมัน น้ำปลา เป็นต้น
ซึ่งแม้จะเป็นของเราก็จริง แต่ยังไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเรา


ต้องปรุงเป็นอาหารเสียก่อน แล้วก็กิน เคี้ยวๆ ให้มันละเอียดผสม
กับน้ำย่อยในปาก แล้วกลืนลงไปในท้อง ผสมกับน้ำย่อยในกระเพาะ
อาหารอีกที จึงเกิดประโยชน์ต่อร่างกายของเราจริงๆ

ธรรมะต่างๆ ที่เราได้ยินได้ฟังก็เหมือนกัน แค่จำได้ คิดได้ พูดได้
ยังอยู่แค่ในสมองของเรา เหมือนอาหารดิบอยู่ในโรงครัวในบ้านเรา
ยังช่วยเราไม่ได้ ยังไม่ใช่ของเรา ยังไม่อาจจะบำรุงหัวใจของเราได้

เพื่อให้ธรรมะเข้าถึงใจ เราต้องอาศัยสติควบคุมความคิด
พิจารณาด้วยเหตุผล ด้วยปัญญา
พิจารณาลึกๆ เข้าไปในจิตใจ
ค่อยๆ ย่อย ค่อยๆ ย่อย จนใจเราเห็นดีเห็นชอบและยอมรับธรรมะนั้นๆ ด้วยใจ... จริงๆ
เหมือนกับว่าธรรมะเกิดขึ้นในใจของเราเอง เป็นปัญญา เป็นสัมมาทิฏฐิ

วันหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่บรรดาพระภิกษุทั้งหลาย
ทรงอธิบายถึง พละ 5 ซึ่งประกอบด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา
แล้วทรงถามพระสารีบุตรว่า “ท่านเชื่อไหม”

พระสารีบุตร ตอบว่า “ยังไม่เชื่อพระเจ้าข้า”
บรรดาพระภิกษุทั้งหลายก็ตำหนิพระสารีบุตรว่าไม่เคารพพระพุทธองค์
แต่พระพุทธองค์ทรงอธิบายว่า “ถูกต้องแล้ว”

“พระสารีบุตรท่านเป็นผู้มีปัญญาสูง ท่านไม่เชื่อใครง่ายๆ แม้แต่
พระพุทธองค์ ท่านต้องพินิจพิจารณาตามเหตุผล ด้วยจิตใจของท่าน
คือ โยนิโสมนสิการ เสียก่อน”

ขนาดพระสารีบุตรฟังเทศน์พระบรมศาสดาแล้วยังต้องโยนิโสมนสิการ
ท่านให้พวกเราฝึกหัดเจริญโยนิโสมนสิการให้ดี
โยนิโสมนสิการนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งนักที่จะทำให้เกิดปัญญา

เมื่อใจของเราพอใจที่จะอยู่กับลมหายใจเข้าลมหายใจออก
ระลึกรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
ในขณะที่กระทบอารมณ์ทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา
จิตใจของเราสงบเป็นปกติได้ นี้เป็นผลแห่งโยนิโสมนสิการที่สมบูรณ์



(มีต่อ 10)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 09 ก.ค.2006, 9:09 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 มิ.ย.2006, 9:48 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

3. อัปปมาทะ

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเราผู้ปฏิบัติธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ
อัปปมาทะ ความไม่ประมาท คือ การมีชีวิตอยู่อย่างมีสติตลอดเวลา

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
“เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักข้อหนึ่ง เป็นเหตุให้อริยมรรคมีองค์ 8
ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์ เหมือนความถึง
พร้อมด้วยความไม่ประมาทนี้เลย”


ดังนั้น จงอาศัย ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ให้เกิด ให้มี ให้เป็น
อัปปมาทะ โดยสมบูรณ์เถิด

หลังจากตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระบรมศาสดา
ทรงอบรมสั่งสอนพุทธบริษัท 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ตลอดเวลา 45 พรรษา

เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบว่า อีกไม่นาน ก็จะทรงเข้าสู่มหา
ปรินิพพาน ละสังขาร จะหมดลมหายใจแล้ว ท่านได้พยายามสอนดี
ที่สุด สั้นที่สุด เป็นปัจฉิมพุทโธวาท ดังนี้

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า
สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด


นี้เป็นพระวาจามีในครั้งสุดท้ายของพระตถาคตเจ้า
คงจะพูดได้ว่า พระธรรม หรือ คำสั่งสอนของพระพุทธองค์
ทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์ รวมอยู่ในคำเดียว คือ “อัปปมาทะ”

ผู้ที่มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อย่าประมาท
เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นของเก่า มีแต่จะหมดไป เสื่อมไปในที่สุด
ผู้ที่อยู่ที่สูง เมื่อตกลงมา ย่อมเจ็บหนักเป็นธรรมดา
จึงอย่าประมาท ให้หมั่นสร้าง ทาน ศีล ภาวนา อยู่เป็นนิตย์

ขอให้เจริญอริยมรรคมีองค์ 8 จนกระทั่งเกิดมรรคสมังคี
สามารถละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสลงได้
อย่างน้อยก็ให้เข้าสู่กระแสพระนิพพาน จึงจะมั่นใจได้ว่าไม่ตก
นรก และไม่ตกอบายภูมิอย่างแน่นอน เรียกว่า ผู้ไม่ประมาท

ตอนหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงปรารภถึงอัปปมาทะ ว่า

“ความไม่ประมาท เป็นทางอมตะ
ความประมาท เป็นหนทางแห่งความตาย
ผู้ไม่ประมาท ไม่มีวันตาย
ผู้ประมาท ถึงมีชีวิตอยู่ ก็เหมือนคนตายแล้ว”

ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย

ความประมาท คือความไม่มีสติในความคิด ไม่มีสติควบคุมจิต
คิดฟุ้งซ่าน คิดน้อยใจ คิดเสียใจ คิดอาฆาตพยาบาท เป็นความคิดผิด
คิดผิดเมื่อใดก็ตายจากความดีเมื่อนั้น
จึงกล่าวว่า ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย

ในชีวิตประจำวัน ความประมาท คือ ความขาดสติ ทำให้เกิดความ
เสียหายและความตายจริงๆ เช่น ถ้าเดินหกล้ม เหยียบแก้ว หรือ
ขับรถประมาท เป็นความประมาทขาดสติทั้งนั้น ทำให้เกิดอุบัติเหตุ
ทำให้บาดเจ็บ และอาจเสียชีวิตได้

ครูบาอาจารย์จึงพูดเตือนบ่อยๆ ว่า
“ขาดสติ 3 นาที ก็บ้า 3 นาที”

ผู้ประมาท ถึงมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนตาย ตายจากความดีทุกประการ
อาจจะเลวยิ่งกว่าคนตายก็เป็นได้ ต้องระวังในชีวิตประจำวัน
ถ้าไม่ระวัง เราก็ทำบาปเพิ่มขึ้น ทำอกุศลกรรมอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลา

เกียรติยศชื่อเสียง ความดีงามที่เราสะสมมาหลายสิบปีในปัจจุบันชาติก็ดี
ความดีงามที่สั่งสมมาจากชาติก่อนๆ ก็ดี ถ้าเราประมาทขาดสตินิดหน่อย
อาจจะสูญเสียไปหมด และเราอาจจะเสียชื่อเสียงไปทันทีก็เป็นได้

ความไม่ประมาทเป็นทางอมตะ
หมายถึงสภาวะที่ไม่มีความตาย ไม่มีตัวตน เป็นอนัตตา

เมื่อละกิเลส ตัณหา อุปาทานได้ สติปัฏฐาน 4 สมบูรณ์แล้ว
ก็ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา เป็นอนัตตา
ก็ไม่มีใครตาย ไม่มีความรู้สึกว่ามีใครตาย สักแต่ว่าเป็น
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ ธาตุรู้เท่านั้น
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ เท่านั้น ไม่มีใครตาย

เมื่อเราไม่ประมาท เจริญสติอยู่ตลอดเวลา
ศีล สมาธิ ปัญญา รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
เป็นมรรคสมังคี ก็ละสังโยชน์ เข้าสู่มรรคผลนิพพานได้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในธัมมจักรกัปปวัตตนสูตรว่า
“เราไม่เกิดอีกแล้ว ความเกิดครั้งนี้เป็นความเกิดครั้งสุดท้ายของเรา”
พระองค์ได้เข้าถึงอมตธาตุ วิสังขารธาตุ พุทธภาวะ
คือภาวะแห่งความเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นั่นเอง

“สะจิตตะปะริโยทะปะนัง เอตัง พุทธานะ สาสะนัง”

การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ
นี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

จงเป็นผู้ยินดีในการเจริญสติทุกเมื่อ
จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด



(มีต่อ 11)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 09 ก.ค.2006, 9:02 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 มิ.ย.2006, 10:00 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อปัณณกปฏปทา 3

อปัณณกปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด มี 3 อย่าง

1. อินทรียสังวร
คือ สำรวมอินทรีย์ 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
2. โภชเน มัตตัญญุตา คือ ความรู้จักประมาณในการบริโภค
3. ชาคริยานุโยค คือ การประกอบความเพียร ไม่เห็นแก่นอน

อปัณณกปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติที่ควรทำทุกคน ไม่ว่าผู้เจริญกรรมฐานแบบไหน
แม้แต่นักเรียน นักศึกษา ผู้ทำงานทุกชนิด ควรจะปฏิบัติอย่างยิ่ง ให้ปฏิบัติทุกคน
ตั้งแต่เดี๋ยวนี้เป็นต้นไป เพื่อให้มีสมองปลอดโปร่ง สติปัญญาเฉลียวฉลาด อารมณ์ดี
ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นข้อปฏิบัติที่ไม่มีโทษไม่ผิด

4. อินทรียสังวร

อินทรียสังวร คือ การสำรวมระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ขณะที่เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส รู้สัมผัสทางกาย
รู้ทางใจ ให้มีความสำรวมอยู่เสมอ

ระวังไม่ให้ยินดี ยินร้าย ไม่ให้ติดอารมณ์นั้นๆ ระวังทุกอย่าง
ตา หู จมูก ลิ้น กาย มือ แขน เท้า ปาก ใจ ระวังการกิน และที่
สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ ระวังเรื่องการพูด แล้วก็ระวังเรื่องความคิด

พูดมากเรื่องมาก พูดน้อยเรื่องน้อย ไม่พูดไม่มีเรื่อง
การพูดนี้ ทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ ทุกคนมีประสบการณ์
อยู่ในชีวิตประจำวัน แต่เราไม่ค่อยรู้สึกตัวเท่าที่ควร
ปิดปากภายนอกก่อน แล้วค่อยปิดปากข้างใน คือ ความคิด

คิดมาก ทุกข์มาก คิดน้อย ทุกข์น้อย
รักษาใจให้สงบ รักษาความเป็นปกติของใจ คือ สงบเป็นปกติ
เมื่อใจสงบเป็นปกติ ใจเป็นศีล ศีลถึงใจ
ก็สะดวกที่จะฝึกอานาปานสติต่อไปได้

กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ปฏิบัติมากๆ
ทำให้อินทรียสังวรสมบูรณ์

5. โภชเนมัตตัญญุตา

โภชเน มัตตัญญุตา คือ “กินน้อย” รู้จักประมาณในการบริโภค
การกินมาก เป็นอุปสรรคต่อการเจริญสติ เจริญสมาธิ เมื่อกินมาก
อาหารก็ทับขันธ์ เลือดจะต้องลงไปทำการย่อยอาหาร ทำให้เหนื่อย
ง่วงนอน ขี้เกียจ ไม่อยากทำอะไรเลย มีแต่อยากนอนอย่างเดียว
วิกาลโภชนา เวระมะณี คือการงดเว้นจากการบริโภคอาหารใน
เวลาวิกาล คือ ตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงเช้าวันใหม่ เป็นการช่วยจำกัด
การบริโภคเป็นอย่างดี และตอนเย็นพอท้องว่าง จะภาวนาได้ดี

กินพอดี พระพุทธเจ้าสอนว่า ก่อนที่จะรู้สึกอิ่ม 5 คำ ให้หยุด แล้ว
ดื่มน้ำครึ่งแก้วหรือหนึ่งแก้ว ถ้าทำได้อย่างนี้จะรู้สึกพอดี ตัวเบา
เจริญความเพียร เจริญอานาปานสติได้สะดวก
วิธีสังเกตเพื่อดูว่า เรากินมากไปหรือเปล่า คือ หลังจากรับประทาน
เสร็จแล้ว นั่งสมาธิได้สะดวกไม่อึดอัด ไม่รู้สึกไม่สบายท้อง ไม่ง่วง
ไม่จำเป็นต้องนอนพักผ่อนเพื่อย่อยอาหาร ก็ใช้ได้

ท่านให้เราพิจารณาอาหาร อาหารที่สะอาด น่ากิน เช่น แอปเปิ้ล
5 - 6 ลูก วางไว้ข้างหน้าเรา แล้วพิจารณา : แอปเปิ้ลนี้มาจากไหน
มาจากดิน เมล็ดแอปเปิ้ลเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นต้นใหญ่ๆ ผลิตผล
แอปเปิ้ลที่สวย น่ากิน น่ารับประทาน แอปเปิ้ล คือ “อาหาร”

เราหั่นแอปเปิ้ล แล้วใส่ปากเคี้ยว คำใหญ่ๆ หน่อย เคี้ยวๆ ๆ สัก 1 นาที
คายออกมาไว้บนฝ่ามือ แอปเปิ้ลเมื่อถูกเข้ากับร่างกายแล้ว
เป็นอย่างไร ท่านให้เราพิจารณาดู สกปรกใช่ไหม เราชอบไหม

อาหารที่เข้าปาก เคี้ยว กลืน ลงไปอยู่ในกระเพาะ ท่านเรียกว่า
“อาหารใหม่” เมื่อผ่านลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ย่อยๆ แล้วก็ถ่ายออก
มาทางทวารหนัก ท่านเรียกว่า “อาหารเก่า”

พิจารณาแล้ว ดูความรู้สึกของเราว่าเป็นอย่างไร
มันจะบอกความจริงบางอย่างแก่เรา
เราต้องพิจารณา เรียนรู้จากอาหาร อาหารใหม่-อาหารเก่า
พิจารณาอยู่อย่างนี้ ทัศนคติจะค่อยๆ เปลี่ยนไป

ติดอาหาร เรื่องกินนี่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับสัตว์ อย่างพวกเราก็
เรียกว่า สัตว์มนุษย์ บางคนตลอดชีวิตไม่ต้องทำอะไรมาก ดิ้นรน
เพื่อกินอย่างเดียวก็มี แม้แต่อยู่ในวัด เราไม่มีภาระอะไร
บางทีเราอาจจะคิดเรื่องกินทั้งวันก็เป็นได้
บางคนก็ติดอาหาร ชอบอาหารบางอย่าง ต้องกินให้ได้
อาจก่อความทุกข์ เดือดร้อน ร้อนใจได้มากมายเหมือนกัน

กินเป็นยา การบริโภคอาหาร ท่านให้พิจารณาให้ดีแล้วค่อยฉัน
ฉันเป็นยา เพื่อความดำรงอยู่ได้ของชีวิตและเพื่อเกื้อกูลการประพฤติ
พรหมจรรย์ หรือ การปฏิบัติธรรม เรียกว่า “กินแบบพระอริยเจ้า”

6. ชาคริยานุโยค

ชาคริยานุโยค คือการไม่เห็นแก่นอน นอนน้อย
มีสติตื่นอยู่เสมอ หมั่นประกอบความเพียรเพื่อชำระจิต

นอนให้พอดี เราพูดว่า “นอนน้อย” เพราะปกติเรานอนมาก
นอนพอดีนั่นแหละดีที่สุด ไม่น้อยไม่มาก ขจัดความง่วงเหงา
หาวนอน ความเซื่องซึม หดหู่ คือ ถีนมิทธะออกจากจิตใจของเรา

นอนมาก คนที่มีกามารมณ์มาก ติดสุข มักจะนอนมาก
คนที่มีวิภวตัณหามาก อะไรๆ ก็ไม่ชอบ ไม่อยากรู้ ไม่อยากทำ
อยากหนีจากปัญหา คือ จมอยู่ในสภาวะที่ไม่อยากจะรับรู้ อยากนอน
หลับอย่างเดียว จิตจมอยู่ในสัญญาขันธ์หรือที่ท่านเรียกว่า
สัญญาครอบงำจิต คือง่วงนอนหรือถีนมิทธะนั่นเอง ถ้าเป็นเช่นนี้
สมาธิวิปัสสนาเกิดไม่ได้ ไม่มีทางรู้เห็นตามความเป็นจริงของ
ขันธ์ 5 ได้ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติเบื้องต้น ต้องนอนน้อยและตื่นอยู่เสมอ

ไม่นอน ผู้ปฏิบัติธรรมบางทีก็เนสัชชิก งดเว้นอิริยาบถนอน ปฏิบัติ
แต่อิริยาบถ 3 อย่าง คือ ยืน เดิน นั่ง ตลอดวัน ตลอดคืน
การปฏิบัติเนสัชชิก 3 วัน 7 วัน ตลอด 3 เดือน ก็มีเหมือนกัน
อันนี้ก็เป็นการประกอบความเพียรเพื่อแก้ถีนมิทธะนิวรณ์

ผู้เริ่มปฏิบัติก็อาจจะนอนคืนละ 5 ชั่วโมง แต่ถ้าปฏิบัติดีแล้ว
การพักผ่อนคืนละ 4 ชั่วโมงในช่วงมัชฌิมยาม คือ 4 ทุ่มถึง ตี 2
ก็เป็นการเพียงพอแล้ว

นอนตื่นเดียว หลวงพ่อชาสอนไว้ว่า เมื่อถึงเวลานอนให้สอนใจ
ตัวเอง แล้วอธิษฐานไว้ว่า “ข้าพเจ้าจะไม่เอาความสุขในการนอน
ข้าพเจ้าจะขอพักผ่อนให้เพียงพอกับสภาพร่างกาย เมื่อข้าพเจ้า
รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาเมื่อใด ข้าพเจ้าจะลุกขึ้นปรารภความเพียรต่อไปทันที”

แล้วเอนกายนอนอย่างมีสติ

เมื่อมีความรู้สึกตัวขึ้นมาให้ลุกขึ้นทันทีและไม่ยอมให้หลับต่อไป
ตลอดวัน จนกว่าถึงเวลาที่จะกำหนดไว้ ไม่ใช่ดูนาฬิกาแล้ว
อีกสักครึ่งชั่วโมงนะ อีก 15 นาทีนะ แล้วก็ หลับๆ ตื่นๆ เป็นชั่วโมงๆ
นั่นเป็นอาการของกิเลสแท้ๆ

เมื่อปฏิบัติเช่นนี้บางครั้งก็อาจจะนอนเพียงครึ่งชั่วโมงบ้าง
หนึ่งชั่วโมงบ้าง สองสามชั่วโมงบ้าง ไม่จำเป็นต้องกำหนดชั่วโมงในการนอน
วิธีนี้ทำได้ยากพอสมควร แต่เป็นวิธีขัดเกลากิเลสได้อย่างดี

ถ้าง่วงมาก หายง่วง จึงนอน
อีกอย่างหนึ่งท่านสอนไว้ว่า เมื่อง่วงนอน อยากนอน ไม่ให้นอน
ให้ปรารภความเพียรจนหายง่วงนอน เมื่อหายง่วงแล้วจึงนอน
พักผ่อนเพื่อให้ร่างกายพัก ตื่นขึ้นมาก็ปรารภความเพียรต่อไป

ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ บางครั้งนอนไม่กี่นาทีก็ตื่นขึ้นมา แล้วมี
ความรู้สึกสดชื่นเหมือนได้พักผ่อนหลายชั่วโมงก็มี แต่สำหรับ
พวกเราจะให้ปฏิบัติอย่างนี้ติดต่อกันหลายๆ วัน หรือปฏิบัติจน
หมดถีนมิทธะนิวรณ์ คงจะยากหน่อย

การนอนเป็นกิเลสที่ละเอียดพอสมควร ละเอียดกว่ากามและ
การกิน มีบางอาจารย์สอนว่า ความสุขที่สุดในโลกคือการนอนหลับ
ความสุขของชีวิตคือแค่นั้น อดกิน อดกาม อดได้ แต่อดหลับ ทำยาก !

ที่สุดของชาคริยานุโยค คือ หลับในตื่น ตื่นในหลับ


(มีต่อ 12)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 09 ก.ค.2006, 9:00 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 มิ.ย.2006, 10:09 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อารักขกัมมัฏฐาน 4

ผู้ปฏิบัติธรรมต้องเจริญอารักขกัมมัฏฐานอย่างสม่ำเสมอ
ในการทำวัตรสวดมนต์ เราสาธยายธรรมะทั้ง 4 ข้อนี้เป็นประจำ
สม่ำเสมอทุกเช้า - เย็น ก็เพื่อให้เป็นอารมณ์กรรมฐาน เพื่อไม่ให้
อารมณ์โลภะ ราคะ โทสะ โมหะ รบกวน ถ้าเรายังมีอารมณ์เหล่านี้
รบกวนอยู่ ก็เจริญอานาปานสติไม่ได้

อารักขกัมมัฏฐานมี 4 อย่าง คือ

1. พุทธานุสสติ
การระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า
2. เมตตา การปรารถนาความสุขแก่ตนเองและแก่สัตว์โลกทั้งปวง
3. อสุภกรรมฐาน การพิจารณาร่างกายของตนและของผู้อื่น ให้เห็นว่าเป็นของไม่งาม
4. มรณัสสติ การระลึกถึงความตาย อันจะมีแก่ตนและผู้อื่น

อารักขกัมมัฏฐาน คือ ธรรมะที่จะรักษาผู้ประพฤติปฏิบัติให้พ้น
จากภัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากภายนอกและภายใจได้

ใครมีความโลภมาก..... ก็มีภัยมีปัญหา..... และมีทุกข์มากเป็นธรรมดา
ใครมีโทสะมาก........... ก็มีภัยมีปัญหา..... และมีทุกข์มากเป็นธรรมดา
ใครมีโมหะมาก........... ก็มีภัยมีปัญหา..... และมีทุกข์มากเป็นธรรมดา

ฉะนั้น การเจริญอารักขกัมมัฏฐาน ก็เพื่อช่วยรักษาใจ ไม่ให้เกิดกิเลส
3 ตัว คือ โลภะ โทสะ โมหะ นี้แหละ เป็นการรักษาตัวเราเองให้
ปลอดภัยจากภัยอันตรายและปัญหาต่างๆ ทั้งจากภายนอกและภายใน

โลภะ ถ้าไม่ให้เกิดอารมณ์โลภได้ ก็จะดำรงสัมมาอาชีวะ
ทำมาหากินทางสุจริตได้ ไม่คิดเอาเปรียบคนอื่น ไม่ลักขโมยของคนอื่น
ไม่คอรัปชั่น ยินดีในสิ่งที่ได้และพอใจในสิ่งที่มีอยู่ ไม่ต้องทะเลาะกัน
ไม่ต้องกลัวตำรวจ ไม่ต้องติดคุกติดตะราง สงครามระหว่างประเทศ
ก็เกิดจากความโลภของมนุษย์ทั้งสิ้น ถ้าควบคุมความโลภได้
ก็สามารถคุ้มครองชีวิตให้อยู่ได้อย่างปลอดภัย

ราคะ ถ้าไม่ให้เกิดอารมณ์ราคะได้ ก็จะรักษาศีลข้อที่ 3 คือ
ศีลข้อกาเมได้สบาย ไม่ต้องแย่งสามีภรรยาของเขา ไม่ต้องเที่ยวกลางคืน
ไม่ต้องเสี่ยงภัยจากโรคเอดส์ กามโรค โรคเหล่านี้ก็จะน้อยลง
คนเราทะเลาะกัน ฆ่าฟันกันไม่เว้นแต่ละวัน เพราะกามราคะนี้ก็มีมาก

โทสะ ถ้าไม่ให้เกิดอารมณ์โทสะได้ ก็จะไม่มีการทะเลาะวิวาทกัน
ไม่ตีกันฆ่ากัน ยิ่งถ้าเรามีเมตตาจิตแล้ว คนที่ไม่ชอบเราก็จะน้อยลง

โมหะ ถ้าไม่ให้เกิดอารมณ์โมหะได้ ก็จะไม่หลงลืม มีสติดี ขับรถก็
ปลอดภัย คิดอะไร พูดอะไร ทำอะไร ทุกอย่างก็จะมีเหตุผล
ความผิดพลาดก็น้อยลง

อสุภกรรมฐานใช้ปรับและแก้ ความโลภและราคะ
เมตตาใช้ปรับและแก้ ความโกรธ
มรณัสสติใช้ปรับและแก้ ความหลง
พุทธานุสสติใช้ปรับและแก้ ความกลัว ทำให้เกิด
ความศรัทธา และส่งเสริมการปฏิบัติให้ดียิ่งๆ ขึ้น


7. พุทธานุสสติ

การระลึกถึงพระพุทธคุณ
ทำให้จิตใจแจ่มใส สมองปลอดโปร่งเกิดกำลังใจแก่กล้า เอาชนะ
ความกลัวได้ โดยเฉพาะคนที่กลัวผีและสัตว์ป่าต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดศรัทธาในการศึกษาและปฏิบัติธรรม
ตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา เอาจริงเอาจังในการฝึกเจริญ
อานาปานสติภาวนา ทำให้ใจสงบ

ให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก แล้วพิจารณาพระพุทธคุณ
มี พระบริสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ เป็นต้น
ทั้ง 3 อย่างนี้เป็นพระคุณอันยิ่งใหญ่หาที่เปรียบเทียบมิได้ของ
พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเราทั้งหลาย
พยายามทำใจนิ่งๆ สงบ รู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
ทำความรู้สึกน้อมเข้ามา น้อมเข้ามา

พุทธัง สะระนัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
เป็นสรณะ ให้เกิดความยินดีปราโมทย์ นึกบริกรรม พุทโธก็ได้
หายใจเข้า นึกบริกรรมว่า พุท หายใจออก นึกบริกรรมว่า โธ
นึกในใจพุทโธๆ ๆ แล้วก็หยุดพุทโธ พิจารณาพระพุทธคุณพอสมควร
แล้วพุทโธๆ อีก ซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น พยายามรักษาความรู้สึกปีติสุข
ยินดีปราโมทย์ในพระพุทธคุณ

น้อมเข้าไปจนถึงพุทธภาวะ คือ สภาวะของผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบาน
ให้เกิดขึ้นในใจของเรา ผลที่สุดก็จะเกิด ศรัทธา เชื่อมั่น และมั่นใจใน
การที่จะเจริญอานาปานสติและอริยมรรคมีองค์ 8 ให้สมบูรณ์บริบูรณ์

นี่เป็นวิธีเจริญพุทธานุสสติที่ถูกต้อง


(มีต่อ 13)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 09 ก.ค.2006, 8:57 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 มิ.ย.2006, 10:21 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

8. เมตตาภาวนา

อานิสงส์ของการเจริญเมตตาภาวนา

1. หลับเป็นสุข
2. ตื่นเป็นสุข
3. ไม่ฝันร้าย
4. อมนุษย์รักใคร่
5. มนุษย์ทั้งหลายรักใคร่
6. เทวดาทั้งหลายย่อมคุ้มครอง
7. ไฟ ศาสตราวุธ ยาพิษ ไม่อาจกล้ำกลาย
8. ผิวหน้าย่อมผ่องใส
9. จิตย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิเร็ว
10. เมื่อตายเป็นผู้ไม่หลง
11. เมื่อจากโลกนี้ไป ก็ไปบังเกิดในพรหมโลก

เมื่อเจริญเมตตาภาวนาบ่อยๆ จะมีอานิสงส์ช่วงระงับความโกรธได้
ให้เจริญเมตตาให้กับตัวเองก่อนโดยอาศัยสติ สมาธิ และปัญญา
ให้พยายามรักษาใจให้สงบนิ่ง กำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า สักพักหนึ่ง

การแผ่เมตตาให้กับตัวเอง

อะหังสุขิโตโหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ถึงสุข
ยกขึ้นมาพิจารณาทุกครั้งที่รู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

ความสุขอยู่ที่ไหน ความสุขไม่ใช่อยู่ที่อารมณ์โกรธ หรือเมื่อเราได้
โกรธคนอื่น เราโกรธเขา เขาก็เป็นทุกข์เหมือนเรา หรือทุกข์มาก
กว่าเรานั่นแหละ เขาก็กำลังแก่ กำลังเจ็บไข้ ป่วย กำลังจะตาย
เหมือนเรานั่นแหละ

เขาก็กำลังประสบกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เหมือน
กับเรา เพราะ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ล้วนแต่เกิดขึ้นแล้วดับไป
ในที่สุด ไม่แน่นอน ไม่คงอยู่ได้

ความสุขอยู่ที่การปล่อยวางสิ่งภายนอก และสัญญาอารมณ์ต่างๆ
ระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ถอนจิต ถอนใจอุปาทาน
จากอารมณ์โกรธ น้อมเข้ามาๆ ให้จิตพักอาศัยอยู่ที่ลมหายใจ

เอาลมหายใจเป็นกัลยาณมิตร
หายใจเข้ายาวๆ สบายๆ หายใจออกช้าๆ ลึกๆ หน่อย
หายใจเข้ายาวๆ สบายๆ หายใจออก สบายๆ ภาวนาว่า
ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ถึงสุข หายใจเข้า
หายใจออก สบายๆ แล้วพิจารณาต่อว่า

นิททุกโข โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไร้ทุกข์
ความชั่วร้ายของเขา เป็นของเขา ไม่ใช่ของเรา เราไม่ต้องไปคิด
ไปเกาะติดยึดมั่นถือมั่น แบกเอาไว้
ความชั่วของใครก็เป็นของร้อนเป็นทุกข์ทั้งนั้น เราไปยึดติดเมื่อไร
ก็เดือดร้อน เป็นทุกข์เมื่อนั้น
ถึงแม้ว่า เขาผิดจริงก็ตาม ผู้มีปัญญา ผู้หวังความสุข ไม่เอามาคิด
เป็นอารมณ์ ให้ระวังๆ แล้วพิจารณาต่อว่า

อะเวโรโหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไม่มีเวร
ตรวจตราดูความรู้สึกภายในใจตัวเอง หรือสังเกตดูความนึกคิด
ของเรา ว่ามีเวรหรือไม่
จองเวรเขา ก็เหมือนจองเวรตัวเอง ทำให้จิตเศร้าหมอง

“เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร เวรระงับด้วยการไม่จองเวร”
ถ้าเราต้องการความสุข เราต้องเป็นผู้ไม่มีเวร ให้ระงับความรู้สึก
นึกคิดจองเวรใครๆ ออกไปจากภายใจใจของเรา
ให้อภัย อโหสิกรรมแก่ทุกคน ทุกครั้งที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
ชำระความรู้สึก ความนึกคิดจองเวรให้หมดไปๆ เอาลมหายใจเป็น
กัลยาณมิตร หายใจเข้า หายใจออก สบายๆ แล้วพิจารณาต่อ

อัพยาปัชโฌโหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
ตรวจตราภายในใจดูว่า มีความรู้สึกนึกคิดเบียดเบียนใครหรือไม่
ถ้าเขาคิดอย่างนี้กับเราพูดอย่างนี้กับเรา ทำอย่างนี้กับเรา เราจะ
รู้สึกอย่างไร ถ้าเราไม่สบายใจ เราก็ไม่น่าคิดกับเขาอย่างนั้น
รักษาใจ ไม่ให้หวั่นไหวต่ออารมณ์พอใจ และไม่พอใจที่มากระทบ

จงสร้างเกาะไว้เป็นที่พึ่งด้วย สติ สัมปชัญญะ ปัญญา สมาธิ
หิริโอตตัปปะ และขันติ คือความอดทน รวมกันไว้ที่ลมหายใจเข้า
ลมหายใจออก ไม่ให้เกิดทุกข์ ไม่ให้มีทุกข์ ไม่ให้เบียดเบียนใคร
ทุกลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

สุขีอัตตานัง ปะริหะรามิ จงรักษาตนอยู่เป็นสุขเถิด
ให้ระลึกถึงปีติสุขทุกลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เรื่อยๆๆๆ
รู้เฉพาะปีติสุข หายใจเข้า รู้เฉพาะปีติสุข หายใจออก
ให้หัวใจของเรานี้เต็มไปด้วยปีติสุข แล้วแผ่ความสุขออกไปๆๆๆ

การแผ่เมตตานี้ ต้องแผ่เมตตาให้แก่ตัวเองก่อน จนให้เกิดความสุขใจ
การจะให้เกิดความสุขใจนั้นต้องอาศัย สมาธิ และ ปัญญาสนับสนุนกัน
ด้วยอำนาจสมาธิ จิตสามารถยังปีติสุขให้เกิดได้ และต้องใช้ปัญญา
เห็นโทษของการคิดผิด คิดเบียดเบียน ฯลฯ ให้ระงับความคิด
เหล่านั้นด้วยสติปัญญาจึงจะเกิดเมตตาได้

การแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์

สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ
ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ถึงความสุข

เมื่อใจเรามีความสุข มีเมตตา มีความรู้สึกรักใคร่ ปรารถนาดี
มีความรักที่บริสุทธิ์ ให้แผ่ความรัก ความเมตตาที่บริสุทธิ์กระจาย
ออกไปจากหัวใจของเราไปยังสรรพสัตว์

วิธีแผ่เมตตา มี 2 วิธี คือ

วิธีที่ 1. อาศัยนิมิต วิธีที่ 2. ไม่มีนิมิต


อาศัยนิมิต เมื่อใจเราเต็มไปด้วยความสุขแล้ว ขณะที่ลมหายใจออก
ลมหายใจเข้า ให้นึกมโนภาพถึงคนที่เราตั้งใจจะแผ่เมตตาไปให้ไว้เฉพาะ
หน้าหรือไว้ที่หัวใจ นึกมโนภาพ ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส กำลังมีความสุข
ของเขาและส่งกระแสเมตตาจิตไป ทุกลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
เริ่มต้นจากคนใกล้ชิดตัวเราที่รักกันอยู่ก่อน เช่น พ่อ แม่ ลูก ภรรยา
เพื่อนรัก เพื่อนร่วมงาน เป็นต้น ต่อไปก็คนที่เป็นกลางๆ ไม่รัก ไม่ชัง
ค่อยๆ แผ่ไปๆ ทีละคน ทีละกลุ่ม

ต่อไปก็ถึงคนที่เรากำลังมีปัญหาอยู่กับเขา ตั้งใจ หวังดีต่อเขา
ปรารถนาดีต่อเขา ขอให้เขาจงมีความสุขเถิด ขอให้ไม่มีเวรซึ่งกัน
และกันเถิด ขอให้เราอย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย

ไม่มีนิมิต เมื่อเราพร้อมแล้ว เรามีปีติและสุข ทุกลมหายใจออก
ลมหายใจเข้าแล้ว สัพเพสัตตา สุขิตาโหนตุ ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
จงเป็นผู้ถึงความสุข พยายามทำความรู้สึกที่ดี
ความปรารถนาดี ความรักที่บริสุทธิ์ แผ่ออกไปรอบๆ ตัวเรา
ทุกลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

พยายามนึกไปกว้างๆ ไกลๆ คลุมไปทั่วโลก ทั่วจักรวาล มีแต่ความสุข
ทุกลมหายใจออก - เข้า สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ
หายใจออกเต็มไปด้วยความสุข หายใจเข้าเต็มไปด้วยความสุข

กามวิตก พยาบาทวิตก หิงสาวิตก เป็นศัตรูต่อการเกิดเมตตาจิต
เมื่อใจเรามีเมตตา จิตใจก็จะสงบ มีความสุข ไม่ต้องคิดเรียกร้อง
ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ ความรัก จากใครอีกต่อไป
พ่อแม่ไม่รักเรา ลูกหลานไม่รักเรา สามีภรรยาไม่รักเรา ปัญหาเหล่านี้ก็หมดไป
เพราะหัวใจของเราเต็มไปด้วยความสุขและความรัก เรามีแต่ให้ๆๆๆๆ

พรหมวิหาร 4

คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นธรรมประจำใจของผู้ใหญ่
เมตตา
คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีต่อผู้อื่นและตัวเอง
ใครที่อดอยากทุกข์ยากลำบาก ด้อยกว่าเรา เราอยากให้เขามีความสุข
ด้วยการให้ทาน ช่วยเหลือสงเคราะห์เขา เมื่อเขามีความสุขเราก็มี
ความสุขด้วย แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน เช่น หมา แมว กำลังอดๆ
หิวข้าวอยู่ เราก็ให้อาหาร เขาก็มีความสุขในการกิน
เราก็มีความสุข แต่ก็ต้องระวังเหมือนกัน ถ้าเราตามใจลูกหลาน
เขาอาจพอใจ แต่เสียนิสัยก็เป็นได้ ต้องระวัง

พรหมวิหาร มี 4 ข้อ แต่ต้องเจริญเมตตาก่อน ไม่มีเมตตา กรุณามีไม่ได้
ไม่มีกรุณา มุทิตา อุเบกขาก็มีไม่ได้ การเจริญเมตตาง่ายกว่าข้ออื่นทุกข้อ

กรุณา คือ มีจิตใจสงสาร อยากให้เขาพ้นทุกข์ เป็นจิตที่สูงกว่า
และยากกว่าเมตตา เป็นความปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ รู้จักผิดถูก
เมื่อเขาทำผิดต้องชี้แจง แนะนำ สั่งสอน เพื่อให้เขาละความชั่ว
ความผิด แก้ไขตัวเอง อันนี้เราต้องมีจิตใจกล้าหาญ ถ้าใจดีแต่ใจ
อ่อนก็ทำไม่ได้ เพราะเราเจตนาดีแต่เขาอาจจะไม่พอใจ อาจจะ
กระทบกระเทือนใจเขา เขาอาจจะโกรธเรา
พ่อแม่ที่เมตตารักลูกก็มีแยะ แต่คนที่มีกรุณาก็น้อย เพราะต้องดุ
ต้องว่า ต้องสอน บางทีก็ต้องลงโทษด้วย นี่เป็นกรุณา

มุทิตา คือ พลอยยินดีเมื่อเขาได้ดีมีความสุข ทำจิตยากกว่า
กรุณาอีก เขาได้ดีกว่าเรา เราไม่อิจฉา ยินดีมีความสุขกับเขาด้วย
เช่น เพื่อนรุ่นเดียวกับเราเรียนเก่งกว่าเรา หล่อกว่าเรา รวยกว่าเรา
ตำแหน่งก็ได้สูงกว่าเรา ภรรยาของเขาสวยกว่าภรรยาเรา
เรารู้สึกว่าเขาดีกว่าเรา มีความสุขกว่าเรา อะไรๆ ก็ดีกว่าเราทุกอย่าง
(จริงๆ แล้วไม่แน่) แต่เรายินดีกับเขาด้วย อันนี้เป็นมุทิตาจิต

มุทิตาจิตนี้ละเอียด ทำยาก ขนาด พระ ครูบาอาจารย์ ที่มีเมตตา กรุณามาก
แต่มุทิตาจิตนี้ก็มียาก มุทิตาจิต เป็นจิตที่ไม่อิจฉา สูงกว่ากรุณา และทำยากกว่า

อุเบกขา วางเฉยนี้ยิ่งยากกว่ามุทิตาจิตอีก อะไรจะเกิด
ใครจะนินทาก็ไม่ให้หวั่นไหว รักษาใจเป็นกลาง เฉยๆ ต้องเข้าใจกฎแห่งกรรม
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามกรรม ต้องเข้าใจเรื่อง
เหตุผลและเหตุปัจจัย ต้องมีปัญญา จึงจะเกิดอุเบกขาได้ เช่น
ลูกติดยาเสพติด พ่อแม่ก็ต้องทำใจอุเบกขา เพราะเราได้ทำดีที่สุดแล้ว

อุเบกขา ต้องประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา
จึงจะเป็นอุเบกขาจริงๆ



(มีต่อ 14)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 09 ก.ค.2006, 9:05 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 มิ.ย.2006, 10:38 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

9. อสุภกรรมฐาน

คือ การพิจารณาร่างกาย ให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ไม่สวย ไม่งาม

อสุภะ
แปลว่า ไม่สวย ไม่งาม
ท่านให้พิจารณาร่างกายของตัวเองว่าไม่สวยไม่งาม เป็นปฏิกูล
เป็นของน่าเกลียด เพื่อคลายกำหนัด เป็นวิราคะ และถอนอุปาทาน
ความยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ออกเสียได้

สาธยาย

ถ้าใจยังไม่สงบเท่าที่ควร ให้สาธยายชื่อของอวัยวะต่างๆ ก่อน เช่น
สาธยายอาการ 32 ตามบทสวดมนต์ ทำวัตรเช้า เย็น สวดในใจ
ตามนั้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก หลายๆ ครั้ง จนกว่าใจจะสงบลง หรือ

สาธยายกรรมฐาน 5 ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
ถ้าชอบภาษาบาลีก็เป็น เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ
สาธยายกลับไปกลับมา อนุโลมปฏิโลม

เมื่อใจค่อยๆ สงบลง จิตใจต้องสงบพอสมควร
จึงเริ่มต้น กำหนดพิจารณา อวัยวะทีละส่วนๆ ต่อไป
แล้วแต่ชอบ ชื่ออวัยวะใดที่ทำให้เกิดความรู้สึกปฏิกูล ทำให้ใจ
สงบได้ ช่วยให้ได้สติ มีความพอใจ ก็เอาอย่างนั้น จะเอาอวัยวะ
หนึ่งเดียว หรือมากกว่านั้น สุดแล้วแต่ความพอใจของแต่ละบุคคล

วิธีกำหนดพิจารณาอสุภะ

อะยัง โข เมกาโย กายของเรานี้แล ภายในร่างกายของเรานี้
ประกอบด้วย อวัยวะต่างๆ เหมือนแกงเผ็ด ที่มีเนื้อไก่ กระดูกไก่
มันฝรั่ง ฯลฯ มีถุงพลาสติกห่อหุ้มไว้ บางครั้งเราก็พิจารณารวมๆ
ให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นอสุภะ ไม่ต้องตั้งใจเจาะจงกำหนดลงไปที่
อวัยวะแต่ละส่วน ดึงจิตเข้าไปอยู่ในร่างกาย รักษาจิตสงบ ให้มีความ
รู้สึกว่าเป็นอสุภะ เกิดความสลดสังเวชในร่างกายของตนเอง

พิจารณาทีละอย่าง พิจารณาทีละอวัยวะ ส่วนว่าจะพิจารณา
นานเท่าไหร่นั้น ก็สุดแล้วแต่ความเหมาะสม ความพอใจของแต่ละคน
เริ่มต้นปฏิบัติใหม่ๆ มักจะเปลี่ยนอวัยวะเร็วหน่อย และ
การพิจารณานั้น จะพิจารณาตามลำดับหรือพิจารณาตามใจชอบก็ได้

เวลาพิจารณาอวัยวะส่วนใดก็พยายามตั้งจิตตั้งสติ กำหนดลงไปที่นั่น
โดยนึกในมโนภาพว่า อวัยวะนี้ตั้งอยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไร
สีอะไร ขนาดเท่าไร พยายามเห็นในใจ เหมือนเห็นด้วยตา
แล้วผูกจิตเอาไว้ที่นั่นด้วย สติ สัมปชัญญะ ไม่ให้คิดออกไปข้างนอก

ใช้คำบริกรรม ควบคู่ไปด้วย เช่น เกสา เกสา เกสา ไม่ให้เร็วเกินไปหรือ
ช้าเกินไป ให้พอดีๆ ถ้าสงบพอแล้ว ก็ยกเลิกการใช้คำบริกรรม ก็ได้

พิจารณาตามลำดับ ที่ว่าตามลำดับ คือ พิจารณาอาการ 32
ตามลำดับที่เราสวดมนต์ ส่วนไหนไม่ชัดนึกไม่ออกว่าสีอะไร ลักษณะ
อย่างไรก็ให้ผ่านไป ที่พอจะนึกออก กำหนดได้ก็กำหนดไป
ในที่สุดเหลือไว้แต่ที่กำหนดได้ชัดจริงๆ

อารมณ์กรรมฐานที่ใช้พิจารณา มี
อสุภะ : ความไม่สวย - ไม่งาม
อนิจจัง : ความไม่เที่ยง
ทุกขัง : ความทนได้ยาก
อนัตตา : ไม่ใช่ตัวตน


จะพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง สองอย่าง หรือ ทั้งหมดก็ได้
สุดแล้วแต่ใจจะรู้สึก เช่น กำหนดพิจารณาเกสา เกสา เกสาๆๆๆ

อสุภะ :
กำหนดพิจารณา เกสา เป็น อสุภะ
พยายามเห็นความไม่สวยไม่งาม สกปรก เป็นปฏิกูลของผม
ถ้าพิจารณาแล้ว รู้สึกเฉยๆ ไม่เกิดอารมณ์อสุภะ ก็ให้ผ่านไป

อนิจจัง :
กำหนดพิจารณา ความไม่เที่ยงของ เกสา
ให้เห็นว่าผมนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
ถ้าพิจารณาแล้วรู้สึกเฉยๆ ไม่เห็นอนิจจัง ก็ให้ผ่านไป

ทุกขัง :
กำหนดพิจารณา เกสา เป็น ทุกขัง
ทนได้ยาก ไม่คงทน เป็นทุกข์เพราะผมไม่สวย
เป็นทุกข์เพราะผมร่วง เป็นทุกข์เพราะผมมีโรค
ถ้าพิจารณาแล้ว ไม่รู้สึกเป็นทุกขัง ก็ให้ผ่านไป

อนัตตา :
กำหนดพิจารณา เกสา เป็น อนัตตา
มองเห็นชัดๆ ว่า เกสา คือ วัตถุชิ้นหนึ่ง
ไม่มีเกสา เราก็ไม่หายไปไหน ไม่มีก็ไม่เป็นไร
เอาเกสาปลอมที่ผลิตจากโรงงานมาเปลี่ยนก็ได้
มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา สักแต่ว่าธาตุดิน
พิจารณาจนได้ความรู้สึกว่าเป็นอนัตตา ซึ่งเป็นวิปัสสนาอารมณ์
เมื่อวิปัสสนาอารมณ์เกิดขึ้นในข้อไหนก็ให้พิจารณาข้อนั้นมากๆ

การพิจารณากาย

เมื่อสมาธิหนักแน่น จะเกิดการ “เห็นกาย”
“เห็นกาย”
นี้ เห็นได้ 2 แบบ คือ เห็นด้วยนิมิต และเห็นด้วยปัญญา

เห็นด้วยนิมิต เมื่อพิจารณาไปเรื่อยๆๆๆ จนใจนิ่งสงบ
ภาพอวัยวะจะปรากฏขึ้นมาเอง หรือ อาจจะเกิดนิมิตในช่วงที่ไม่ได้
พิจารณา ขณะที่กำลังเอนกายพักผ่อนบ้าง บางครั้งเป็นภาพนิ่ง
บางครั้งเป็นภาพต่อทีละภาพ คล้ายดูหนัง นั่งดูไปเรื่อยๆ ไม่ต้อง
คิดอะไร เมื่อออกจากสมาธิแล้ว ก็คิดว่าโอ้ อันนั้นชื่อว่าอะไร คิดขึ้นมา
บางครั้งเกิดความรู้สึกสนุก แปลกดี บางครั้งเกิดสลดสังเวชใจ
แล้วแต่เหตุปัจจัย ไม่เหมือนกัน

หลวงพ่อพระอาจารย์มั่นท่านสอนไว้ว่า นิมิตที่เห็นครั้งแรกนั่นแหละ
ถูกจริต ให้พิจารณาส่วนนั้นๆ เป็นหลัก แล้วพิจารณาอวัยวะ
ส่วนเดียว เช่น ถ้าเห็นกระดูก ก็พิจารณากระดูกๆๆ ยืน เดิน นั่ง นอน
ก็พิจารณาอยู่อย่างนั้น นี่เป็นวิธีหนึ่ง

เห็นด้วยปัญญา บางคนจิตสงบ แต่ไม่มีภาพนิมิตปรากฏให้เห็น
แต่จิตเป็นสมาธิดี สามารถเข้าใจด้วยปัญญาเห็นชอบว่า ร่างกาย
ของเราเป็นอสุภะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาจริงๆ รู้ด้วยปัญญา
ไม่ใช่รู้ด้วยสัญญา เริ่มต้นก็เอาสัญญามากำหนด บัดนี้เปลี่ยนเป็น
ปัญญา เกิดสลด สังเวช เห็นกายของใครก็ไม่หลง สามารถขจัด
กามราคะได้ดีขึ้น เช่นนี้เรียกว่า เห็นด้วยปัญญา

การพิจารณาสองระดับ

การใช้ความคิดพินิจพิเคราะห์ตามเหตุผลเป็นลักษณะ โยนิโสมนสิการ
เป็นการพิจารณาระดับธรรมดา
เมื่อจิตสงบจนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว สังเกตดูสิ่งที่พิจารณาอยู่
เป็นการพิจารณาในสมาธิ
เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ แล้วเห็นสิ่งนั้นๆ จริงๆ ให้ตั้งใจสังเกตดู
เข้าไปดูชัดๆ รอบๆ จนรู้แจ้ง เป็นความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นจริง
เป็นการเห็นจริงที่เกิดขึ้นจากการเข้าไปดูจนถึงที่ เข้าไปดูด้วยจิตที่เป็นสมาธิ

เมื่อมีสมาธิแล้ว จะกำหนดพิจารณากายง่ายขึ้นหรือไม่ ?
ไม่ง่ายเสมอไป แล้วแต่จริต ต้องฝึกจนชิน จนติดเป็นนิสัย
เป็นโอปนยิโก พอกำหนดจิตปุ๊ป ก็สามารถน้อมเข้ามาหาตัวเองได้

ธรรมชาติของจิตชอบออกไปข้างนอกไกลๆ ถึงแม้ว่าจิตสงบเป็น
สมาธิแล้ว ถ้าไม่กำหนดพิจารณาร่างกายของตัวเอง จิตก็จะออกไป
ข้างนอกทันที ต้องฝึกให้กลับมากำหนดพิจารณาร่างกายของตนเอง
อันนี้เป็นงานชิ้นหนึ่งที่ต้องฝึก ต้องหัด ต้องภาวนา กระทำอยู่เสมอๆ

บางกรณี บางคน บางจริต ชอบใช้ความคิดพิจารณา ก็ยกเอาผม
มาพิจารณา ตั้งจิตตั้งสติที่ผม เดินกลับไปกลับมา ภาวนาว่า
ผม ผม ผม พิจารณา อสุภะ ความไม่สวย ไม่งาม
ถ้าพิจารณาอย่างไรๆ ก็ไม่เป็นอสุภะ ถ้าเช่นนั้นก็เปลี่ยน
ยกความเป็น อนิจจัง ไม่เที่ยง มาพิจารณาดู
ถ้าไม่รู้สึกว่าเป็นอนิจจัง ก็ให้ผ่านไป
แล้วเปลี่ยนไปพิจารณาให้เห็นว่าเป็นทุกข์ ทนยาก คือ ทุกขัง
ถ้าไม่รู้สึกอีกก็ให้ผ่านไป เปลี่ยนพิจารณา อนัตตา ไม่ใช่ตัว
ไม่ใช่ตน ถอนผมทิ้ง ทิ้งลงไปบนดินแล้วเหยียบไปเหยียบมา
เหมือนเหยียบดิน พิจารณาให้เห็นว่าเป็นธาตุดิน
อาศัยมโนภาพนึกว่าไม่มีผมก็ไม่เป็นไร ถอนทิ้งๆ ลงไปบนทางเดิน
เหยียบไปเหยียบมา ให้เกิดความรู้สึกว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราจริงๆ เป็นอนัตตา

โลมา คือ ขน ก็ถอนทิ้งลงไปบนทางเดิน แล้วเหยียบไปเหยียบมา
เหมือนเหยียบดิน พิจารณาเป็นธาตุดิน เล็บ ฟัน หนัง ก็ทำ
เหมือนกัน ผ่านไปแล้ว 5 อย่าง อาการ 32 ลบ 5 เหลือ 27

32 - 5 = 27 เมื่อไม่มี หนัง ฟัน เล็บ ขน ผม แล้ว ลองคิดดูว่า
ร่างกายของเราจะมีลักษณะเป็นอย่างไร ก็นึกเอา..... เริ่มจะเป็น
ผีแล้ว ถ้าใครเห็นขณะนี้ ก็วิ่งหนีกันทั้งนั้น ถึงแม้ว่าคนที่รักเรา
มากที่สุด ก็คงจะวิ่งหนีด้วย แล้วตะโกนว่า ผีๆๆๆ

ภาวนาต่อไปพิจารณาทีละอย่างๆ ให้หลุดออกจากร่างกายของเรา
น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด เมื่อธาตุน้ำตกลงบนทางเดินแล้ว
ทางเดินจะเปลี่ยนเป็นแฉะๆ หน่อยๆ ธาตุดิน ธาตุน้ำ
ให้หลุดออกจากร่างกาย ให้เหลือโครงกระดูกอย่างเดียว ให้
เหลืออาการเดียว คือ อัฐิ กระดูก กายคือกระดูก กระดูกคือกาย
โครงกระดูกเดิน โครงกระดูกนั่ง โครงกระดูกยืน โครงกระดูกนอน
โครงกระดูกพูด โครงกระดูกเคี้ยวอาหาร

ลมพัดไปพัดมา คือ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
มีความรู้สึก มีความคิด คือ ธาตุรู้
พิจารณาเห็นว่า เป็นอสุภะ สักแต่ว่า ธาตุ สักแต่ว่าธาตุดิน
สักแต่ว่าธาตุลม สักแต่ว่ารู้สึก สักแต่ว่าคิด และสักแต่ว่ารู้
เดินไปเดินมา พิจารณาอยู่อย่างนั้น
ดำรงสติให้มั่นอยู่ระหว่างจิตกับกาย หาความเป็น
ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา ไม่ได้ เป็นอนัตตา


ลำดับการกำหนดพิจารณากาย

ขั้นสติ - ศีล :
เอาสัญญามาฝึกสติ โดยการนึกมโนภาพ เช่น
นึกถึง “กระดูกนิ้วมือ” แล้วผูกจิตไว้ที่นั่น
เป็นการฝึกจิตโดยอาศัยอดีตสัญญา

ขั้นสมาธิ :
เมื่อจิตเริ่มสงบ ความคิดต่างๆ ไม่มี จิตตั้งมั่นที่กระดูก
นิ้วมือ สติหนักแน่นติดต่อกัน ก็กลายเป็นสมาธิ

ขั้นปัญญา :
เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ให้พิจารณากระดูกนิ้วมือ
นั้นต่อไป จนเห็นด้วยปัญญาว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง
อนัตตาจริงๆ จนปล่อยวางได้
เมื่อพิจารณากระดูกนิ้วมือ คือกายแล้ว ก็ให้พิจารณาจิต
ต่อไปจนเห็นว่า จิตก็สักแต่ว่าจิต กายก็สักแต่ว่ากาย

แล้วให้ดำรงสติไว้ระหว่างกายกับจิต


(มีต่อ 15)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 09 ก.ค.2006, 9:08 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 มิ.ย.2006, 10:45 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

10. มรณัสสติ

ท่านให้เจริญมรณัสสติ เพื่อความไม่ประมาท เป็นการเร่งเร้า
ให้ทำความดี ให้มีความขยันหมั่นเพียร ละความชั่ว เร่งทำความดี

เราต้องเตือนสติไว้ว่า
การพิจารณาความตาย ถ้าปราศจากปัญญาอาจจะเกิดโทษ
ทำให้กลัวตายมากขึ้น หรืออาจเกิดวิภวตัณหาในชีวิตปัจจุบัน
เกิดความเกียจคร้านในชีวิต ไม่มีจิตใจที่จะต่อสู้กับปัญหาชีวิต

การพิจารณาความตายจนเกิดความสลดสังเวช อยากพ้นทุกข์
แล้วพิจารณาอริยสัจ 4 และเจริญอานาปานสติต่อไป เช่นนี้เป็นการ
พิจารณามรณัสสติที่ถูกต้อง ถึงแม้จะเกิดปัญหาหนักๆ ในชีวิต
ก็สามารถตั้งมั่นอยู่ในความดีความถูกต้องได้

ความตาย คือการพลัดพรากจากกัน เป็นความเสื่อมไป
การแตกสลายไปแห่งสังขาร การพิจารณาความตาย ก็เพื่อให้เรา
ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง กำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าๆๆ
ปล่อยวางอดีตอนาคต ปล่อยวางสิ่งอื่นคนอื่น
ปล่อยวางความรู้สึกนึกคิด ความจำต่างๆ ทุกอย่าง
รวมทั้งร่างกาย และจิตใจของตัวเองด้วย


สิ่งใดที่ปรากฏอยู่ อย่ายึด ปล่อยไป
ทำความรู้สึกน้อมเข้ามาๆ ทุกครั้งที่ลมหายใจออก น้อมเข้ามา
ลมหายใจเข้า น้อมเข้ามาๆๆ

วิธีกำหนดความตาย
พยายามกำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า สงบๆ ก่อน
ยกคาถาขึ้นในใจ และกำหนดพิจารณาในเนื้อความตามบทสวดมนต์
ด้วยใจสงบ พร้อมๆ กับหายใจออก หายใจเข้าอยู่อย่างนั้น

มะระณะปะริโยสานัง เม ชีวิตัง
ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุดรอบ

ไม่ต้องรีบให้คำตอบ ไม่ต้องให้เหตุผล
เพียงแต่กำหนดรู้แล้วหายใจออก หายใจเข้า
รักษาใจสงบนิ่ง ให้เกิดความสลดสังเวช จนเป็นสมาธิ
เมื่อเกิดสมาธิแล้ว คำตอบก็จะเกิดขึ้นเอง

เพื่อเข้าใจความตาย เราต้องเข้าใจว่า ชีวิตคืออะไร
เพื่อเข้าใจว่าชีวิตคืออะไร เราต้องเข้าใจตามความเป็นจริงว่า
เราคืออะไร โดยการศึกษาและปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน 4
ในอานาปานสติ ตามที่เรากำลังปฏิบัติอยู่นี่แหละ

มรณัสสติภาวนา เป็นการเจริญสมถกรรมฐานและ
วิปัสสนากรรมฐาน
ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย

เริ่มตั้งแต่
ใจเป็นศีล ใจสงบ ไม่ยินดี ยินร้าย
ใจเป็นสมาธิ สงบโดยธรรมชาติ เข้าสู่สมาธิ จิตมั่นคง

จนกระทั่งสามารถมองเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา
เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในสังขาร
เข้าสู่ วิสังขาร ในที่สุด



(มีต่อ 16)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 09 ก.ค.2006, 9:10 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 มิ.ย.2006, 10:56 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อมทุกข์ - อมสุข

ปกติคนเรานี้อมทุกข์ได้เก่งมากจริงๆ แต่อมสุขไม่เป็นเลย
ความสุข ความพอใจ ที่เกิดขึ้นนี้ เราต้องฝึกที่จะรักษาเอาไว้
ปกติแล้วเรามักจะชำนาญในการเก็บความทุกข์มากกว่าความสุข
เรียกว่าเก่งโดยไม่ต้องปฏิบัติ
อะไรที่ไม่ถูกใจ อะไรที่เป็นทุกข์
ก็มักจะเก็บไว้ รักษาไว้ เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี เป็นชาติ
บางครั้งก็ผูกอาฆาต พยาบาทได้นานๆ หลายภพหลายชาติ
อย่างนี้เรียกว่า เป็นคนเก่งในการอมทุกข์

แต่ตรงกันข้าม เราไม่เก่งในการอมสุข อมทุกข์เก่ง แต่อมสุข
ไม่เก่ง ไม่สมดุล
ถ้าเปรียบเป็นขาก็เหมือนคนมีความยาวของขา
ไม่เท่ากัน เป็นคนพิการ ถ้าเราเก่งในการอมทุกข์ได้ถึงขนาดนี้
เราก็ต้องฝึกให้เก่งในการอมสุขด้วย คอยตามสังเกตดูก็ได้ มีใครสัก
คนหนึ่งยกย่อง สรรเสริญเราแค่คำเดียว เรารู้สึกมีความสุขมาก
แต่ความสุขนี้ไม่นานก็หายไปเหมือนน้ำแข็งก้อนเล็กๆ ในฤดูร้อน
ไม่นานก็ละลายหมดไป

ตรงกันข้ามถ้ามีใครนินทาเราสักคำเดียว เราก็รู้สึกทุกข์
เจ็บใจตลอดไป หลายสิบปีอาจจะไม่ลืมเลยก็ได้
เหมือนก้อนหินใหญ่ๆ ก้อนหนึ่งอยู่ในหัวใจตลอดไป
ความสุขเดี๋ยวเดียวก็หายไป แต่ความทุกข์ตกค้าง
อยู่ในใจเรานานแสนนาน

ความจริงสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขก็มีมาก
เห็นรูปสวย ได้ยินเสียงไพเราะ ได้ดมกลิ่นหอม ได้ลิ้มรสอร่อย
ได้สัมผัสที่ดี ใจคิดถึงเรื่องดีๆ ก็ได้รับความสุขมากมายตลอดเวลา
แต่ความรู้สึกสุขก็อยู่ไม่นาน ผ่านไปๆ หมด
เรื่องที่ทำให้เรามีความสุข มีมากกว่าเรื่องทุกข์หลายร้อยเท่า
แต่เรามีความรู้สึกว่าเรามีความทุกข์มาก
เราสะสมทุกข์ไว้เต็มอกเต็มหัวใจของเรา
เราจึงเครียดเป็นทุกข์มาก สังคมจึงมีคนเครียดมากขึ้นๆ

เป้าหมายของการปฏิบัติก็คือ พยายามทำความทุกข์ที่เหมือน
ก้อนหินใหญ่ๆ ที่อยู่ในหัวใจของเรา ให้เป็นน้ำแข็งก้อนเล็ก
ในฤดูร้อน ไม่นานก็หายไป

ฝึกอมสุข

อานาปานสติขั้นที่ 5 - 6 - 7 เรายกเอาปีติและสุขมาเป็นบทศึกษา

เราทำใจของเราให้มีปีติและสุข ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
ทำใจของเราให้เต็มไปด้วยปีติและสุข
เหมือนกับอาบปีติและสุขทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
คือฝึกอมสุขนั่นเอง เมื่อเราอมปีติ - สุขได้มากขึ้นเท่าไร
อมทุกข์ก็จะค่อยๆ จางไป ใจเราก็จะเข้าสู่สมดุลที่ดี

เมื่อใจเราเข้าสู่สมดุลที่ดีแล้ว เราก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นในเวทนา
ความสุขเกิดขึ้นก็ให้ดับไป ความทุกข์เกิดขึ้นก็ให้ดับไป
เห็นธรรมชาติของเวทนา

เห็นว่าทั้งสุขและทุกข์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
เห็นความสลายไป คือ ความดับๆๆๆ ของเวทนา
เมื่อเราทำได้อย่างนี้ เราก็ไม่อมทุกข์ ไม่ทุกข์ ไม่เครียด
ไม่เหนื่อย มีแต่เบาสบาย มีแต่สันติสุข

ยึดความสุขเหมือนไส้เดือนกลัวดินหมด

ทีนี้พอเรามีความสุข เราก็ยึดความสุขอีก กลัวความสุขจะหมดไป
เหมือนไส้เดือนกลัวดินจะหมด
ไส้เดือนก็กินดินเป็นอาหารทุกวัน เขาก็กลัวดินหมด
ใจของเราก็เป็นอย่างนั้น พอจะมีความสุขบ้าง ก็ยึดเอาความสุขนั้น
กลัวว่าความสุขนั้นจะหมดไปแล้วจะไม่มีอีกในอนาคต

พอยึดก็เป็นทุกข์ ความสุขก็เลยกลายเป็นความทุกข์ทันที
เช่น บุรุษคนหนึ่งเห็นหญิงสาวสวยมากคนหนึ่งในที่ทำงานเดียวกัน
ก็มีความสุขมาก เหมือนคนที่เห็นดอกไม้สวย เห็นธรรมชาติที่สวย
ก็มีความสุข ถ้าเราไม่ยึด ก็จะเป็นความสุขชั่วขณะ เป็นปกติ
ต่อจากนั้นก็เห็นรูปสวยๆ ต่อๆ ไป หลายสิ่งหลายอย่างก็ผ่าน
สายตาของเราไปเรื่อยๆ เราก็สบายตา สบายใจ
เราอาจจะมีความสุขมากๆ ในชีวิตก็ได้

แต่ถ้าเรายึดในความสุข เกิดยินดี เกิดตัณหาอยากได้
เป็นของเรา บุรุษคนนั้นก็ดิ้นรนหาทางทำความรู้จักกับหญิงสาวคนนั้น
หาโทรศัพท์ หาที่อยู่ อยากจะสัมผัส อยากได้เป็นภรรยาของตน
เขาอาจจะมีสามีแล้ว ตัวเองก็มีภรรยาแล้ว ทุกข์ก็เกิดขึ้นทันที

ทันทีที่ยึด ความสุขก็กลายเป็นความทุกข์ทันที
ทีนี้สมมุติว่าเขาเป็นโสด เราก็เป็นโสด แต่เขาไม่สนใจเรา ก็เป็น
ทุกข์อีก หรือต่างคนต่างเป็นโสด ได้แต่งงานกัน ก็มีความสุข แต่ไม่ช้า
ก็เกิดความหวงหึง กลัวเขาจะไปมีแฟนใหม่ เกิดความทุกข์อีก
ความสุขก็กลายเป็นทุกข์ได้อย่างนี้

หลวงพ่อชาก็เปรียบเทียบว่า การยึดในความสุขก็เหมือน
คนจับงูเห่า เมื่อเราจับหางงูเห่า เราก็มีความรู้สึกที่ดี
แต่ไม่นานก็ถูกงูเห่ากัดแน่นอน
ท่านจึงสอนว่า ความสุขก็อย่ายึด ความทุกข์ก็อย่ายึด
ชอบไม่ชอบอย่ายึดมั่นถือมั่น อย่ายินดี อย่ายินร้าย

อานาปานสติขั้นที่ 5 - 6 - 7 คือการศึกษาเวทนา

โดยยกเอาปีติสุขมาเป็นบทศึกษา
ถ้าเราศึกษาและฝึกจนชำนาญแล้ว
เราก็จะเข้าใจเวทนาทุกอย่างตามความเป็นจริง
และสามารถเอาชนะเวทนาทุกชนิดทั้งหลายทั้งปวง


อ้างอิง

1. หัวข้อธรรมะในหนังสือชุดอานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๑, ๒, ๓ ส่วนมากมาจากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมของพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ปัจจุบันคือ ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

2. เรื่องราวประกอบหลายเรื่องได้มาจากหนังสือชุด พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ของมหามกุฎราชวิทยาลัย


>>>>> จบ >>>>>
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 09 ก.ค.2006, 9:13 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 มิ.ย.2006, 10:59 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ประวัติและปฏิปทาพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=20086

รวมคำสอนพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
http://www.dhammajak.net/book-mitsuoe/2.html
http://www.dhammajak.net/dhamma/dhamma18.php

วัดป่าสุนันทวนาราม-มูลนิธิมายา โคตมี และแผนที่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=20076

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 09 ก.ค.2006, 9:12 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง