Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 รำลึก 100 ปี ชาตกาล “ท่านพุทธทาสภิกขุ” อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 28 พ.ค.2006, 7:36 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

รำลึก 100 ปี ชาตกาล “ท่านพุทธทาสภิกขุ”


องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ประกาศยกย่องพุทธทาสภิกขุในฐานะบุคคลสำคัญของโลก ประจำปี 2549-2550 ด้วยผลงานที่โดดเด่นในการส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม เป็นบุคคลที่มีคุณูปการต่อสังคมไทยและสังคมโลก อุทิศตนเพื่อการสั่งสอนธรรมะ ผดุงไว้ซึ่งสันติธรรมแห่งโลก

อัตโนประวัติ ท่านพุทธทาสภิกขุ มีนามเดิมว่า เงื่อม พานิช เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 27 พฤษภาคม 2449 ในสกุลของพ่อค้าที่ตลาดพุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายเซี้ยง และ นางเคลื่อน พานิช ครอบครัวของท่านมีเชื้อสายจีน ประกอบอาชีพหลัก คือ การค้าขายของชำ เฉกเช่นชาวจีนที่นิยมทำกันทั่วไป แต่อิทธิพลที่ได้รับจากบิดา กลับเป็นเรื่องของความสามารถทางด้านกวี และด้านช่างไม้ ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่รักยิ่งของบิดา

ในวัยเด็กได้แสดงความฉลาดออกมาให้เห็น เช่น การละเล่นกับเพื่อนๆ ได้รู้จักการเอาชนะด้วยน้ำใจดี พูดจาอ่อนหวาน จึงเป็นที่รักใคร่ของบรรดาเพื่อนด้วยกัน เมื่ออายุ 8 ขวบท่านได้ไปอยู่วัดเพื่อเรียนหนังสือ จนอายุได้ 11 ปีจึงกลับมาอยู่บ้าน และเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่วัดเหนือ (โพธาราม) และต่อ ม.1 ที่โรงเรียนสารภีอุทิศ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี จนจบชั้น ม.3

ในปี พ.ศ. 2469 มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ท่านได้ออกบวชที่วัดนอก (อุบล) และมาประจำอยู่ที่วัดใหม่ (พุมเรียง) ได้รับฉายาว่า "อินทปัญโญ" แปลว่า ผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ แต่เดิมท่านตั้งใจจะบวชเรียนตามประเพณี เพียง 3 เดือนเท่านั้น แต่ความสนใจ ความซาบซึ้ง ความรู้สึกเป็นสุข สนุก ในการศึกษา ทำให้ท่านไม่อยากลาสิกขาบท ต่อมาได้เดินทางมาศึกษาพระปริยัติธรรมต่อ ที่กรุงเทพฯ และสอบได้นักธรรมชั้นเอก ก่อนเรียนภาษาบาลีจนสอบได้เปรียญ 3 ประโยค

ระหว่างที่เรียนเปรียญธรรม 4 ประโยค ด้วยความที่เป็นคนรักการศึกษาค้นคว้าจากพระไตรปิฎก และศึกษาค้นคว้าออกไปจากตำรา ถึงเรื่องการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา อินเดีย และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก ทำให้ท่านรู้สึกขัดแย้งกับวิธีการสอนธรรมะ ที่ยึดถือรูปแบบตามระเบียบแบบแผนมากเกินไป ความหย่อนยานในพระวินัยของสงฆ์ ตลอดจนความเชื่อที่ผิดๆ ของพุทธศาสนิกชน

ทำให้ท่านมีความเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนาที่สอนที่ปฏิบัติกันในเวลานั้น คลาดเคลื่อนไปมากจากที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะ ท่านจึงตัดสินใจหันหลังให้กับการศึกษาของสงฆ์เวลานั้น กลับไชยา เพื่อศึกษาและทดลองปฏิบัติตามแนวทางที่ท่านเชื่อมั่น โดยร่วมกับนายธรรมทาส (นายยี่เก้ย เป็นน้องชายแท้ๆ) และคณะธรรมทาน จัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม สวนโมกขพลาราม เมื่อปี พ.ศ.2475

จากนั้นท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น จนเชื่อมั่นว่าท่านเดินทางไม่ผิดพลาดอย่างแน่นอน และได้ประกาศใช้ชื่อนาม พุทธทาส เพื่อแสดงให้เห็นถึงอุดมคติสูงสุดแห่งชีวิต ด้วยอุดมคติที่หยั่งรากลึกลงนี้ ทำให้ท่านสนใจใฝ่หาความรู้ทางธรรมะตลอดเวลา ไม่เฉพาะแต่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทหรือหีนยาน แต่ครอบคลุมไปถึงพระพุทธศาสนาแบบมหายาน และศาสนาอื่น เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิกข์ เป็นต้น

จากความรอบรู้ที่กว้างขวางนี้เอง ทำให้ท่านสามารถประยุกต์วิธีการสอนและปฏิบัติธรรมได้อย่างหลากหลาย ให้คนได้เลือกปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับพื้นความรู้และอุปนิสัยของตนได้ โดยไม่จำกัดชนชั้น เชื้อชาติ และศาสนา เพราะท่านเชื่อว่ามนุษย์ทุกคน คือ เพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น และหัวใจของทุกศาสนา คือ ต้องการให้คนพ้นจากความทุกข์

ท่านได้ตั้งปณิธานในชีวิตไว้ 3 ข้อ คือ 1. ให้พุทธศาสนิกชนหรือศาสนิกแห่งศาสนาใดก็ตาม เข้าถึงความหมายอันลึกซึ้งที่สุดแห่งศาสนาของตน 2. การทำความเข้าใจระหว่างศาสนา และ 3. ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม

ในที่สุดท่านได้รับการยอมรับจากวงการคณะสงฆ์ไทย วงการศึกษาของไทย และวงการศึกษาธรรมของโลก ได้รับการยอมรับให้เป็นเสนาบดีแห่งกองทัพธรรมในยุคหลังกึ่งพุทธกาล เยี่ยงพระมหากัสสปะในครั้งพุทธกาล


ลำดับสมณศักดิ์ที่ท่านได้รับ พ.ศ. 2489 เลื่อนเป็นพระครูอินทปัญญาจารย์

พ.ศ. 2493 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอริยนันทมุนี

พ.ศ. 2500 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชชัยกวี

พ.ศ. 2514 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวิสุทธิเมธี

พ.ศ. 2520 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมโกศาจารย์

แม้ท่านจะได้รับสมณศักดิ์ตามลำดับ แต่ท่านจะใช้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นต้องติดต่อราชการเท่านั้น ถ้าเป็นเรื่องอื่น ท่านจะใช้ชื่อ "พุทธทาส อินทปัญโญ" เสมอ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อมถ่อมตัวของท่านประการหนึ่ง

สำหรับปริญญาทางโลกที่ท่านได้รับ อาทิ พ.ศ. 2522 พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พ.ศ. 2528 อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และ พ.ศ. 2528 ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ในระดับนานาชาติ ปัจจุบันทุกมหาวิทยาลัยที่มีแผนกสอนวิชาศาสนาสากล ทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ ล้วนศึกษางานของท่าน หนังสือของท่านกว่า 140 เล่ม ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ, กว่า 15 เล่ม เป็นภาษาฝรั่งเศส และอีก 8 เล่ม เป็นภาษาเยอรมัน นอกจากนี้ ยังแปลเป็นภาษา จีน อินโดนีเซีย ลาว และตากาล็อก อีกด้วย

ถือได้ว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสมีผลงานที่เป็นหนังสือแปลสู่ต่างประเทศมากที่สุด

ตลอดชีวิตของท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านย้ำอยู่เสมอว่า "ธรรมะ คือ หน้าที่" เป็นการทำหน้าที่ เพื่อความอยู่รอด ทั้งทางฝ่ายกายและฝ่ายวิญญาณของมนุษย์ และท่านได้ทำหน้าที่ในฐานะทาสผู้ซื่อสัตย์ของพระพุทธเจ้าทุกอณูแห่งลมหายใจเข้าออก จนแม้วาระสุดท้ายแห่งชีวิต จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า ผลงานที่ท่านสร้างสรรค์ไว้ เพื่อเป็นมรดกทางธรรมนั้นจะมีมากมายสักปานใด ซึ่งจะขอนำมากล่าวเฉพาะผลงานหลักๆ ดังนี้ คือ

1. การจัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม สวนโมกขพลาราม และสวนโมกข์นานาชาติ

2. การร่วมกับคณะธรรมทาน ในการออกหนังสือพิมพ์พุทธศาสนา ราย 3 เดือน นับเป็นหนังสือพิมพ์ทางพระพุทธศาสนาเล่มแรกของไทย เริ่มตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2476 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลารวม 61 ปี นับเป็นหนังสือพิมพ์ทางพระพุทธศาสนาที่มีอายุยืนยาวที่สุดของไทย

3. การพิมพ์หนังสือชุด "ธรรมโฆษณ์" ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมพิมพ์จากปาฐกถาธรรม ที่ท่านแสดงไว้ในวาระต่างๆ และงานหนังสือเเล่มอื่นๆ ของท่าน


ท่านพุทธทาสได้ละสังขารกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 สิริอายุ 87 พรรษา 67 คงเหลือไว้แต่ผลงานที่ทรงคุณค่าให้อนุชนคนรุ่นหลัง ได้สืบสานปณิธานรับมรดกความเป็นพุทธทาส

สมดังวลี "พุทธทาส จักอยู่ไป ไม่มีตาย"



............................................................

คัดลอกมาจาก ::
หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 1 คอลัมน์ มงคลข่าวสด
วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 16 ฉบับที่ 5659
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 22 ม.ค. 2007, 10:01 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 28 พ.ค.2006, 7:55 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ร้อยคน ร้อยธรรม ร้อยปี พุทธทาส
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก



เข้าสำนักพิมพ์บ่ายวันนี้ (พฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม) มีถุงผ้าใส่หนังสือเล่มใหญ่เล่มหนึ่ง พร้อมแผ่นซีดี 2 แผ่น เป็นอภินันทนาการจากสำนักพิมพ์สุขภาพใจ ส่งมาให้ในฐานะผมเป็นหนึ่งในร้อยคนที่เขียนบทความเกี่ยวกับหลวงพ่อพุทธทาส

ดีใจที่ได้หนังสือเล่มใหญ่ พิมพ์สวยงาม จึงเปิดดูซีดีก่อนอื่น กลายเป็นภาพเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในอิริยาบถต่างๆ และสำเนาข้อเขียนของคุณเนาว์ ผมเดาเอาว่า คนมาส่งนึกว่าผมเป็นเนาวรัตน์ ดังที่ถูกเข้าใจผิดมานักต่อนัก (ทั้งที่ผมหล่อกว่าเนาว์แก ฮิฮิ)

ครั้งหนึ่งไปประชุมที่ทบวง วันนั้นนั่งแท็กซี่ไป ขากลับก็เรียกแท็กซี่ ทันทีที่จอดก็ร้องเสียงดังว่า เชิญครับพี่เนาวรัตน์ ผมบอกว่าไม่ใช่ หมอนั่นยืนยันว่าพี่คือกวีใหญ่แห่งรัตนโกสินทร์แน่นอน ผมบอกว่าไม่ใช่ แกก็ยืนยันอยู่อย่างนั้น เอาวะ เป็นก็เป็น เลยคุยถึงกลอนและวิธีแต่งกลอนเสียยาวยืด!

อีกครั้งหนึ่งขึ้นเครื่องบิน อุตส่าห์ใส่สูท ยังมีคนเข้าใจผิด ได้ยินเสียงชายสองคนกระซิบกันเบาๆ (แต่เราได้ยิน) ว่า "เฮ้ย นั่น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์" อีกคนหนึ่งร้องค่อนข้างดัง "โอ้โฮ วันนี้เนาวรัตน์ใส่สูทเสียด้วยโว้ย" ผมละก็รำคาญ ที่ถูกทักผิดอยู่เรื่อย

เจ้าหน้าที่สำนักพิมพ์สุขภาพใจ ให้มารับซีดีคืนไป ถ้าที่จะให้ผมไปอยู่กับเนาวรัตน์ ก็ขอคืนด้วย

"ร้อยคน ร้อยธรรม ร้อยปี พุทธทาส" เป็นหนังเรียนรู้ธรรม ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ แบบลัดสั้น ทันใจ สำหรับคนร่วมสมัย จากปากคำของคนเด่น คนดัง และคนธรรมดาสามัญ ที่มากด้วยประสบการณ์ชีวิต ให้ข้อคิดและบทเรียน มีทั้งบรรพชิตและฆราวาส

บรรพชิตเช่นหลวงพ่อปัญญานันทะ สหายธรรมของหลวงพ่อพุทธทาส พระพรหมคุณาภรณ์ (ปยุตฺโต) พระธรรมโกศาจารย์ (ธมฺมจิตฺโต) พระราชธรรมนิเทศ (พยอม กลฺยาโณ) พระภาวนาโพธิคุณ (หลวงพ่อโพธิ์) พระไพศาล วิสาโล พระดุษฎี (เมธงฺกุโร) พระมหาจรรยา สุทฺธญาโณ

ฆราวาสมีแม่ชี ศันสนีย์ เสถียรสุต แม่ชีไพเราะ ทิพยทัศน์ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ คุณชนิด สายประดิษฐ์ อาจารย์ระพี สาคริก อาจารย์ประเวศ วะสี นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ อุบาสิการัญจวน อินทรกำแหง ประชา หุตานุวัตร ส. ศิวรักษ์ ดร.ระวี ภาวิไล พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร และอีกหลายๆ ท่าน จาระไนไม่หมด

ที่ขาดไม่ได้คือ กรุณา กุศลาสัย "น้องชายโดยธรรม" ของหลวงพ่อพุทธทาส

ท่านอาจารย์กรุณาได้เล่าไว้น่าสนใจของคนรุ่นหลัง ว่าท่านเป็นหนึ่งในจำนวนพระเณร 100 รูปที่ตัดสินใจเดินธุดงค์ตามท่าน "โลกนาถ" พระอิตาเลียน จากวัดบวรนิเวศ เดินผ่านพม่าไปจนถึงอินเดีย ในจำนวนนั้นมีหลวงพ่อปัญญาอยู่ด้วย ส่วนท่านพุทธทาสนั้น พระโลกนาถชวน แต่ท่านปฏิเสธบอกว่ายังมีเรื่องที่ต้องรีบทำให้เสร็จ นิมนต์พากันไปเถอะ

กรุณา กุศลาสัย ดูจะเป็นสามเณรตัวเล็กรูปหนึ่ง เป็นเด็กกำพร้าบิดามารดา อาศัยญาติอุปถัมภ์ให้ได้เรียน เมื่อคิดว่าตัวคนเดียวไม่มีญาติพี่น้องจะพึ่งพาอาศัยได้ ตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้าดีกว่า จึงตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่า ถ้าเดินทางไปถึงอินเดียจะหาโอกาสเรียนเอาความรู้ให้ได้ จึงร่วมเดินทางไปด้วย

ไปถึงพม่า ได้เวลาเข้าพรรษาพอดี คณะผู้ติดตามพระโลกนาถ ก็ทะเลาะไม่ลงรอยกัน (เรื่องอะไรไม่ได้บอก) พากันกลับเกือบหมด เหลือเพียง 10 รูปเท่านั้น ออกพรรษาแล้วพระโลกนาถก็พาลงเรือไปยัง กัลกัตตา ประเทศอินเดีย หลังจากดั้นด้นจนถึงสารนาถ (สารนาถ เมืองพาราณสี) ได้มีโอกาสไหว้สังเวชนียสถานแล้ว พระเณรส่วนมากก็กลับเมืองไทยหมด

กรุณา กุศลาสัย ได้อาศัยอยู่ที่พุทธสมาคมที่สารนาถ ซึ่งท่านอนาคาริกะ ธรรมปาละ สร้างไว้ ที่นั่นมีพระเณรศรีลังกามาอยู่ประจำเป็นพระธรรมทูต เขาก็สงสารให้สามเณรน้อยใจสิงห์จากเมืองไทยรูปนี้ได้อาศัยอยู่ อยู่ที่นั่นจากปี พ.ศ.2476 ถึง พ.ศ.2482 เรียนทั้งภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ และภาษาฮินดี จนอินทรีย์แก่กล้าสามารถแปลบทความทั้งภาษาอังกฤษและฮินดีได้คล่อง พอได้ข่าวสารอะไรเกี่ยวกับแวดวงชาวพุทธ และพระพุทธศาสนาในต่างแดน ก็แปลส่งมาให้หลวงพ่อพุทธทาสที่พุมเรียง ไชยา

หลวงพ่อพุทธทาสได้ส่งหนังสือที่ท่านแต่งชื่อ "พุทธประวัติจากพระโอษฐ์" ไปให้ พร้อมทั้งลายมือเขียนของท่านว่า "วัตถุเป็นเครื่องบูชาความบากบั่นอย่างเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญของคุณ" ทำให้ใจชื้นว่าได้รับเมตตาธรรมจากหลวงพ่อ ทำให้มีกำลังใจศึกษาต่อไป บางครั้งเกิดความท้อแท้เพราะ "หัวเดียวกระเทียมลีบ" อยู่ในต่างถิ่น อยากกลับบ้าน ทั้งๆ ที่กลับมาแล้วก็คงว้าเหว่เหมือนกัน เพราะอยู่เมืองไทยก็ไร้ญาติขาดมิตรเช่นกัน หลวงพ่อพุทธทาสก็มีจดหมายเตือนสติ

ท่านเห็นว่าสามเณรรูปนี้ใจเด็ดจริงๆ อุตส่าห์ฝ่าฟันความยากลำบากไปถึงอินเดียด้วยการเดินเท้าเปล่า คนเช่นนี้น่านับถือ คนเช่นนี้จะทำงานใหญ่ได้ในอนาคต ท่านจึงเตือนว่า หวังว่ากลับมาจะเป็นกำลังแก่พระศาสนา

เมื่อปรารภว่าตนมีการศึกษาน้อย "หลวงพี่" (หลวงพ่อพุทธทาส) ต้องช่วยด้วยว่าจะทำอย่างไร ท่านก็ปลอบว่า ตัวท่านเองยิ่งร้ายกว่าอีก เรียนจบแค่ ม. 2 บวชเรียนก็สอบได้แค่เปรียญ 3 แต่นั่นไม่สำคัญ ที่สำคัญเราต้องขวนขวายฝึกฝนอบรมตนทั้งด้านปริยัติ ปฏิบัติ เพื่อให้มีความรู้และประสบการณ์เพิ่มขึ้น

"การที่น้องชายโดยธรรมมีโอกาสมายังเมืองอินเดีย อันเป็นเมืองมหัศจรรย์เป็นแหล่งปรัชญา เป็นแหล่งอารยธรรม มีแหล่งข้อมูลมากมาย น้องโดยธรรม "ต้องเอาสิ่งดีๆ กลับมาให้ได้" แถมกำชับว่า ถ้าไม่ได้วิชาความรู้อย่ากลับมา ขอให้ตั้งใจเรียนต่อไป เพื่อไม่ให้ใครลูบคมได้ว่า มาทั้งทีเป็นการเหลวไหล"

ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตา รู้จักกันผ่านจดหมายติดต่อ หลวงพ่อพุทธทาสชื่นชมในความเด็ดเดี่ยวจริงจังของสามเณรใจสิงห์ คอยให้กำลังใจ ปลุกใจไม่ให้ท้อแท้ ด้วยหวังลึกๆ ว่า คนเด็ดเดี่ยวเช่นนี้แหละจะเป็นกำลังแก่พระพุทธศาสนาในอนาคต ถือได้ว่าหลวงพ่อพุทธทาสเป็น "กัลยาณมิตร" ที่แท้จริงของกรุณา กุศลาสัย

"แต่ชีวิตเลือกไม่ได้" ดุจดังหนังสือของท่าน กรุณา กุศลาสัย ถูกจับเป็นเชลยสงคราม เมื่อคราวเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพากับญี่ปุ่น จึงต้องสึกมาเป็นนักโทษ ทำไมถูกจับ อดีตเณรน้อยใจสิงห์มิได้เล่าไว้ เมื่อสงครามสงบ อังกฤษจึงส่งท่านกลับเมืองไทย

พบหลวงพ่อพุทธทาสอีกทีก็เมื่ออดีตเณรน้อยทำงานอยู่สถานทูตอินเดีย หลวงพ่อพุทธทาสจะไปอินเดีย ท่านไปขอวีซ่าจะเข้าอินเดีย จึงไปกราบนมัสการท่าน เล่าให้ท่านฟังถึงสาเหตุที่หยุดติดต่อกับท่าน

จากนั้นมาทั้งสองก็ได้พบกันเป็นครั้งคราว ภาพอดีตสามเณรใจสิงห์และภรรยา (ศาสตราจารย์เรืองอุไร กุศลาสัย) นั่งพับเพียบอย่างนอบน้อม ต่อหน้า "หลวงพี่" ของท่าน ทำให้มองเห็นคุณธรรมคือความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างยิ่ง ตัวท่านเองก็ประทับใจในหลวงพ่อที่ไม่ถือเนื้อถือตัวเลย

"ประทับใจที่ว่าท่านวางตัวเป็นพระธรรมดามาก ไม่มีอัตตา ไม่ถือเนื้อถือตัวว่าเป็นพระผู้ใหญ่เป็นเจ้าคุณ วางตัวเป็นธรรมดามาก และการสอนของท่านก็เป็นการสอนแบบใหม่ ศาสนาพุทธในบ้านเรามีอะไรงอกเงยมาเยอะ ทั้งไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถา อมน้ำมนต์พ่นน้ำหมาก แต่ท่านพุทธทาสไม่เป็นเช่นนั้น ผมจึงเลื่อมใสท่านมาก" อดีตสามเณรใจสิงห์กล่าว

อดีตสามเณรใจสิงห์รูปนี้แหละครับ ที่เคยบอกผมว่า ได้ส่งหนังสือเกี่ยวกับนิกายเซนมาให้หลวงพ่อพุทธทาสหลายเล่ม เป็นเหตุให้ท่านสนใจวิธีแพร่ธรรมแบบเซน จนกระทั่งนำมาเทศน์สอนเกี่ยวกับเรื่องนี้

ผมเคยเขียนหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งชื่อ "จากเสฐียรพงษ์ถึงพระเทพเวที (พระพรหมคุณาภรณ์ ในปัจจุบัน) และพุทธทาสภิกขุ" ผมได้ตั้งข้อสังเกตวิธีสอนแบบเซนของหลวงพ่อพุทธทาสหลายเรื่อง เช่น ท่านตั้งชื่อสุนัขว่า "สมพาล" (ล ลิงสะกดนะครับ) และเรียกสมพาลว่า "อาจารย์หมา" ทำให้ผู้คนตกใจไปตามๆ กัน

ครั้งหนึ่งมีโยมคนหนึ่งเข้ามาถามหลวงพ่อว่า "สมภารอยู่ที่ไหน" ท่านดูออกว่าโยมคนนี้คงมาขอหวยขอเบอร์ จึงชี้ไปข้างหน้า อยู่แถวโน้นแหละ

โยมคนนั้นเดินหาไม่เจอใคร เจอแต่เณรน้อยรูปหนึ่ง จึงถามว่า "เณร สมภารอยู่ที่ไหน" เณรน้อยชี้ไปที่หมาสมพาลซึ่งนอนแอ้งแม้งอยู่ใต้โต๊ะ

"นั่นไงโยม สมพาล นอนอยู่ใต้โต๊ะนั่น"

โยมมองล่อกแล่ก ยังกะถูกผีหลอกกลางวันแสกๆ แน่ะครับ

นี่คือวิธี "กระตุกโพธิ" แบบเซน รับรองตั้งแต่นั้นมา โยมคนนั้นคงเลิกถามหาหวยอีกต่อไป



............................................................

คัดลอกมาจาก ::
หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10305
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 29 พ.ค.2006, 8:13 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

โมทนาธรรมครับ คุณสาวิกาน้อย สาธุ..
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง