Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ความเป็นมาของพระไตรปิฎก (เสฐียรพงษ์ วรรณปก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 พ.ค.2006, 7:56 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ความเป็นมาของพระไตรปิฎก
โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก


พระไตรปิฎก เป็นคัมภีร์หลักของพระพุทธศาสนา ดุจเดียวกับคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ คัมภีร์อัลกุรอานของศาสนาอิสลาม และไตรเพทของศาสนาพราหมณ์

ตามรูปศัพท์ คำว่า "พระไตรปิฎก" (บาลี - ติปิฏกํ หรือเตปิฏกํ) มาจาก พระ (คำยกย่อง แปลว่า ประเสริฐ) + ไตร (สาม) + ปิฎก (ปิฏก) รวมแล้วแปลว่า ปิฎกสามอันประเสริฐ

เฉพาะคำว่า "ปิฎก" (บาลี - ปิฏกํ) พระอรรถกถาจารย์ได้ให้ความหมายไว้ 2 ประการ คือ

1. ปิฎก หมายถึง คัมภีร์หรือตำรา ดังประโยคบาลีว่า มา ปิฏกสมฺปทาเนน อย่าเชื่อถือโดยการอ้างตำรา

2. ปิฎก หมายถึง ภาชนะ (เช่น ตะกร้า) ดังประโยคบาลีว่า อถ ปุริโส อาคจฺเฉยํย กุทฺทาลปิฏกมาทาย ครั้งนั้นบุรุษคนหนึ่งถือจอบและตะกร้าเดินมา

ดังนั้น พระไตรปิฎก จึงหมายถึงคัมภีร์หรือตำราที่บรรจุคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า (และของพระสาวกสำคัญบางรูป) รวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ ดุจเดียวกับตะกร้าอันเป็นภาชนะสำหรับใส่รวมของต่างๆ ไว้


๏ ปิฎกทั้ง 3 คือ

1. พระวินัยปิฎก ว่าด้วยวินัยหรือข้อบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์

2. พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระสูตรหรือเทศนาที่ตรัสแก่บุคคลต่างๆ ในเวลาและสถานที่แตกต่างกัน เป็นรูปคำสนทนาโต้ตอบบ้าง คำบรรยายธรรมบ้าง เป็นรูปร้อยกรองบ้าง ร้อยแก้วบ้าง ร้อยแก้วผสมร้อยกรองบ้าง ตลอดถึงเทศนาของพระสาวกสำคัญบางรูป

3. พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยหลักธรรมต่างๆ ที่อธิบายในแง่วิชาการล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ ส่วนมากเป็นคำสอนด้านจิตวิทยาและอภิปรัชญาในพระพุทธศาสนา


๏ การจัดรูปแบบพุทธวจนะในสมัยพุทธกาล

สมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น หลักธรรมคำสอนต่างๆ ของพระองค์ยังมิได้จัดเป็นหมวดหมู่หรือเป็นระเบียบแบบแผนแต่อย่างใด ยังไม่มีพระไตรปิฎกบันทึกคำสอนดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน พุทธวจนะ หรือคำสอนของพระพุทธเจ้ามีชื่อเรียกกันสมัยนั้น 2 อย่างคือ

(1) เรียก พรฺหฺมจริย (พรหมจรรย์) ดังพุทธวจนะที่ตรัสเมื่อครั้งทรงส่งพระอรหันต์สาวก 60 รูปไปเผยแผ่พระศาสนาครั้งแรกว่า

จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย
อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ เทเสถ ภิกฺขเว ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ
มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ
ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ


ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขแก่พหูชน เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงแสดงธรรม อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะอันบริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง

(2) เรียก ธมฺมวินย (ธรรมวินัย) ดังพุทธวจนะที่ตรัสแก่พระอานนท์ พุทธอนุชาก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า

โย โว อานนฺท ธมฺโม จ วินโย จ มยา เทสิโต
ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา

ดูก่อนอานนท์ ธรรม และ วินัย ใดที่เราตถาคตแสดงไว้แล้ว บัญญัติไว้แล้ว
ธรรม และ วินัย นั้นจะเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อเราตถาคตล่วงลับไปแล้ว



๏ มีหลักฐานบางประการบ่งชี้ว่า
ได้มีการแบ่งพุทธวจนะเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งบ้างแล้ว เช่น


1. แบ่งเป็นนวังคสัตถุสาสน์ (สัตถุสาสน์ 9 ประการ) คือ

(1) สุตตะ คำสอนประเภทร้อยแก้วล้วน อรรถกถาอธิบายว่า ได้แก่อุภโตวิภังค์ (ปาติโมกข์ทั้งสองฝ่าย) ขันธกะ บริวาร นิเทศ และพระสูตรในสุตตนิบาตรวมทั้งสูตรอื่นๆ ที่ไม่มีชื่อกำกับว่า "สูตร" ด้วย

(2) เคยยะ คำสอนประเภทร้อยแก้วผสมร้อยกรอง หมายเอาพระสูตรที่มีคาถาทั้งหมดโดยเฉพาะสคาถวรรคสังยุตตนิกาย

(3) เวยยากรณะ คำสอนประเภทที่เป็นอรรถาธิบายโดยละเอียดเป็นร้อยแก้วล้วนๆ เช่น อภิธรรมปิฎก พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพระพุทธพจน์อื่นที่ไม่นับเข้าในองค์ 8 ข้อที่เหลือ

(4) คาถา คำสอนประเภทร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนในสุตตนิบาตที่ไม่มีชื่อกำกับว่า "สูตร"

(5) อุทาน คำสอนประเภทที่เปล่งขึ้นจากแรงบันดาลใจของพระพุทธเจ้า และพระสาวก ส่วนมากจะเป็นบทร้อยกรอง

(6) อิติวุตตกะ คำสอนประเภทคำอ้างอิงที่ยกข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มาอ้างเป็นตอนๆ ได้แก่ พระสูตรสั้นๆ 110 สูตรที่ขึ้นต้นด้วยว่า "วุตฺตํ เหตํ ภควตา"

(7) ชาตกะ (ชาดก) คำสอนประเภทนิทานชาดกหรือเรื่องราวในชาติปางก่อนของพระพุทธเจ้าขณะเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่

(8) อัพภูตธรรม คำสอนประเภทเรื่องอัศจรรย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย เช่น พระพุทธองค์สมัยอยู่ในพระครรภ์พระนางสิริมหามายา นั่งสมาธิผินพระพักตร์ออกมาทางด้านหน้าพระอุทร ไม่แปดเปื้อนด้วยมลทินครรภ์เหมือนทารกธรรมดาทั่วไป นี้เป็นเรื่องอัศจรรย์เกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ เป็นต้น

(9) เวทัลละ คำสอนประเภทคำถาม-คำตอบ เวทัลละ แปลว่า ได้ความรู้ ความปลื้มใจ หมายถึง ผู้ถามได้ความรู้และความปลื้มใจแล้วก็ถามต่อไปเรื่อยๆ

การแบ่งพุทธวจนะเป็น 9 หมวดนี้ มีมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล ก่อนที่จะมีพระไตรปิฎก เป็นการจัดรูปแบบหรือการแบ่งหมวดหมู่ที่เก่าแก่มากเท่าที่มีหลักฐานปรากฏ

2. แบ่งเป็นวรรค

นอกจากแบ่งเป็นนวังคสัตถุสาสน์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว มีเค้าส่อให้เห็นว่า พระพุทธวจนะได้ถูกรวบรวมเป็น "วรรค" แล้ว ส่วนจะมีกี่วรรคนั้นสืบไม่ได้ มีหลักฐานอยู่แห่งเดียวคือ ในพระวินัยปิฎกเล่าไว้ว่า พระโสณกุฏิกัณณะ ลัทธิวิหาริกของพระมหากัจจายนะถูกพระอุปัชฌายะส่งไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทูลขอให้พระองค์ทรงลดหย่อนสิกขาบทบางข้อ พระโสณกุฏิกัณณะพักอยู่ที่เดียวกับพระพุทธเจ้า ได้สวดพระพุทธวจนะส่วนที่เรียกว่า "อัฏฐกวรรค" โดยทำนองสรภัญญะ ให้พระพุทธเจ้าฟัง

อัฏฐกวรรค ที่ว่านี้มีบันทึกอยู่ใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เป็นสูตรสั้นๆ รวม 16 สูตร

3. แบ่งเป็นหมวด 1 ถึงหมวด 10

ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุสงฆ์จบแล้ว ครั้นทรงเห็นว่าพวกเธอยังมีฉันทะจะฟังธรรมต่อ จึงมีพุทธบัญชาให้พระสารีบุตรอัครสาวกแสดงธรรมให้พวกเธอฟังต่อ พระสารีบุตรเถระ ได้ปรารภเหตุที่พวกนิครนถ์ (พระในศาสนาเชน สาวกของมหาวีระหรือนิครนถ์นาฏบุตร) แตกแยกความคิดเห็นกันรุนแรงหลังจากศาสดาของพวกตนล่วงลับไปไม่นาน พระเถระชี้ว่า เพราะเหตุที่ศาสดามหาวีระมิได้รวบรวมคำสอนไว้เป็นหมวดหมู่ จึงทำให้สาวกถกเถียงกัน ไม่ลงรอยกัน จึงแนะนำให้ภิกษุทั้งหลาย "สังคายนา" (รวบรวม) ธรรมวินัยไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่ยืนนานสืบไป

ธรรมะทั้ง 10 หมวดนี้ มีปรากฏอยู่ใน "สังคีติสูตร" พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 11 ทั้ง 221-263 หน้า 222-287


(มีต่อ 1)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 19 พ.ค.2006, 8:05 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ การแบ่งพุทธวจนะเป็นพระไตรปิฎกหลังพุทธปรินิพพาน

ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียง "เค้า" ส่อให้เห็นว่าพระพุทธวจนะได้ถูกจัดเป็นหมวดหมู่บ้างแล้ว ในสมัยพุทธกาล แต่ยังมิได้แบ่งไว้ชัดเจนว่า หมวดนี้เป็นวินัย หมวดนี้เป็นพระสูตร หมวดนี้เป็นอภิธรรม จึงยังไม่มีคำว่า "พระไตรปิฎก" หากเรียกขานกันในนามว่า "ธรรมและวินัย" และการจัดหมวดหมู่อย่างเป็นระบบและแน่นอน ซึ่งเรียกว่า "การทำสังคายนา" นั้น เริ่มมีขึ้นหลังพุทธปรินิพพานได้ 3 เดือน และทำติดต่อกันมาเป็นช่วงๆ ทั้งหมดถึง 5 ครั้งกว่าพระพุทธวจนะจะได้รับการจารเป็นลายลักษณ์อักษร ดังจะกล่าวโดยสังเขปต่อไป

คำว่า "สังคายนา" มีความหมายทั้งกว้างและแคบ แล้วแต่ความประสงค์ของผู้ใช้และกรณีที่ใช้ (ที่กล่าวนี้มิได้รวมความหมายที่รับรู้กันในภาษาไทยทั่วไปด้วย) สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้ให้ความหมายไว้ชัดเจนและครอบคลุม ดังนี้

ส่วนการสังคายนานั้น แปลตามศัพท์ว่า ร้อยกรอง คือประชุมสงฆ์ จัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะ แล้วรับทราบทั่วกันในที่ประชุมนั้นว่าตกลงกันอย่างนี้ แล้วก็มีการท่องจำนำสืบต่อๆ กันมา ในชั้นเดิมการสังคายนาปรารภเหตุความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา จึงจัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะไว้ ในครั้งต่อๆ มา ปรากฏมีการถือผิด ตีความหมายผิด ก็มีการชำระวินิจฉัยที่ถือผิดความหมายผิดนั้นชี้ขาดว่าที่ถูกควรเป็นอย่างไร แล้วทำการสังคายนาโดยการทบทวนระเบียบเดิมบ้าง จัดระเบียบใหม่ในบางข้อบ้าง ในชั้นหลังๆ เพียงการจารึกลงในใบลาน การสอบทานข้อผิดในใบลานก็เรียกกันว่าสังคายนา ไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์ถือผิด เข้าใจผิดเกิดขึ้น แต่ความจริงเมื่อพิจารณารูปศัพท์แล้ว การสังคายนาก็เท่ากับการจัดระเบียบ ปัดกวาดให้สะอาด ทำขึ้นครั้งหนึ่งก็มีประโยชน์ครั้งหนึ่ง เหมือนการทำความสะอาดการจัดระเบียบที่อยู่อาศัย


๏ การทำสังคายนา

ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา การทำสังคายนาได้กระทำสืบต่อกันมาหลายครั้ง การนับจำนวนสังคายนาก็ไม่เป็นที่ยุติ เพราะพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น 2 นิกายใหญ่ๆ (เถรวาทกับมหายาน)

แต่ละนิกายนับการทำสังคายนาไม่ตรงกัน เพราะต่างฝ่ายก็ไม่ยอมรับการทำสังคายนาของอีกฝ่ายหนึ่ง ในที่นี้จะขอยกการทำสังคายนาของสายเถรวาทเป็นหลัก

สังคายนาครั้งที่ 1 จัดทำหลังจากพุทธปรินิพพาน 3 เดือน สาเหตุเนื่องมาจากพระภิกษุบวชเมื่อแก่รูปหนึ่งชื่อ สุภัททะ กล่าวดูหมิ่นพระธรรมวินัย พระมหากัสสปะเกรงว่า พระธรรมวินัยจะเสื่อมสูญ จึงเรียกประชุมสงฆ์อรหันต์ 500 รูป ทำสังคายนา ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเวภารพบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์ พระมหากัสสปะเป็นประธานซักถามพระธรรมวินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม พระอุบาลี เป็นผู้วิสัชนาพระวินัย ในการนี้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นผู้อุปถัมภ์กระทำอยู่ 7 เดือนจึงสำเร็จ

สังคายนาครั้งที่ 2 เกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพาน 100 ปี สาเหตุเนื่องมาจากพระภิกษุวัชชีบุตรกลุ่มหนึ่งได้ปฏิบัติย่อหย่อนทางพระวินัย 10 ประการ เช่น เก็บเกลือไว้ในเขาสัตว์เพื่อนำมาผสมอาหารไว้สำหรับฉันได้ตลอดไป เมื่อตะวันชายเกินเที่ยงวันไปแล้วประมาณสององคุลีฉันอาหารได้ รับเงินและทองได้ ฉันสุราอ่อนๆ ได้ เป็นต้น พระเถระผู้ใหญ่ร่วมมือกันกระทำการครั้งนี้ 8 รูป คือ พระสัพพกามี พระสาฬหะ พระขุชชโสภิตะ พระวาสภคามิกะ พระเรวตะ พระสัมภูตสาณวาสี พระยศกากัณฑบุตร และพระสุมนะ ในการนี้พระเรวตะเป็นผู้ซักถาม พระสัพพกามีเป็นผู้ตอบวินิจฉัยเรื่องทั้ง 10 ประการ ท่ามกลางประชุมสงฆ์ 700 รูป การสังคายนาครั้งนี้กระทำที่ วาลุการาม เมืองไพศาลี มีพระเจ้ากาฬาโสก เป็นผู้อุปถัมภ์ กระทำอยู่ 8 เดือนจึงสำเร็จ

สังคายนาครั้งที่ 3 กระทำเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 235 ปี (บางแห่งว่า 234 ปี) สาเหตุเนื่องมาจากเดียรถีย์ปลอมบวชในพระพุทธศาสนามากขึ้น แสดงธรรมวินัยผิดแผกไปจากหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ด้วยความร่วมมือจาก พระเจ้าอโศกมหาราช เรียกประชุมสงฆ์จำนวน 1,000 รูป สอบสวนชำระสะสางพระธรรมวินัย กำจัดเดียรถีย์เหล่านั้น การสังคายนาครั้งนี้กระทำที่อโศการาม เมืองปาตลีบุตร ทำอยู่ 9 เดือนจึงสำเร็จ

มีข้อน่าสังเกตคือ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้แต่งคัมภีร์กถาวัตถุ ซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในจำนวนพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ และมีการส่งคณะสมณทูตไปประกาศพระพุทธศาสนายังต่างประเทศด้วย ว่ากันว่าประเทศไทยได้รับสืบทอดพระพุทธศาสนามาจากพระโสณะ และพระอุตตระ ที่ถูกส่งมาเผยแผ่ศาสนา ณ ภูมิภาคแถบนี้ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

สังคายนาครั้งที่ 4 ทำเมื่อพุทธศักราช 238 พระมหินทเถระ ได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนา ที่ประเทศศรีลังกา มีพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เป็นผู้อุปถัมภ์

สังคายนาครั้งที่ 5 ทำเมื่อพุทธศักราช 450 (บางแห่งว่า 433) เพื่อต้องการจารึกพระพุทธวจนะ เป็นลายลักษณ์อักษร ด้วยเกรงว่าการถ่ายทอดโดยระบบท่องจำอาจวิปริตคลาดเคลื่อน สังคายนาครั้งนี้ทำที่อาโลกเลณสถาน มตเลชนบท ซึ่งชาวไทยเรียกว่า มลัยชนบท ประเทศศรีลังกา พระรักขิตมหาเถระ เป็นประธาน ทำอยู่นานเท่าใดไม่ปรากฏหลักฐาน


(มีต่อ 2)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 19 พ.ค.2006, 8:44 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ ปัญหาการนับสังคายนา

น่าสังเกตว่า แม้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทด้วยกันโดยเฉพาะไทย พม่า และลังกา ยังนับครั้งการสังคายนาไม่ตรงกัน เนื่องจากการสังคายนาบางครั้งไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศอื่น สรุปการนับสังคายนาของประเทศต่างๆ ดังนี้

(1) ประเทศศรีลังกา ยอมรับการสังคายนา 3 ครั้งที่ประเทศอินเดีย และนับจากสังคายนาที่ประเทศของตนต่อมาอีก 3 ครั้ง ครั้งที่ 6 หรือครั้งสุดท้ายของลังกา กระทำเมื่อ พ.ศ. 2406 ที่รัตนปุระ ประเทศศรีลังกา พระหิกขทุเว สิริสุมังคละ เป็นประธาน กระทำอยู่ 5 เดือนจึงสำเร็จ การสังคายนาครั้งนี้เป็นที่รับรู้กันเฉพาะในศรีลังกาเท่านั้น

(2) ประเทศพม่า นับสังคายนาที่ทำที่อินเดีย 3 ครั้ง แล้วนับครั้งที่ 2 ที่ทำที่ศรีลังกา (สังคายนาครั้งที่ 5 พ.ศ. 450 หรือ 433) เป็นครั้งที่ 4 และมีเพิ่มครั้งที่ 5 และ 6 ที่ประเทศพม่า คือ สังคายนาครั้งที่ 5 ทำให้รัชสมัยพระเจ้ามินดง พระชาคราภิวังสะ พระนรินทาภิธชะ และพระสุมังคลสามี ผลัดกันเป็นประธาน ท่ามกลางที่ประชุมพระและคฤหัสถ์ผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก 2,400 ท่าน กระทำอยู่ 5 เดือนจึงสำเร็จ สังคายนาครั้งนี้มีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2414

สังคายนาครั้งที่ 6 เนื่องในโอกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษของพม่า รัฐบาลพม่าได้เชิญผู้นำชาวพุทธต่างประเทศ โดยเฉพาะสายเถรวาทเข้าร่วมด้วย จุดประสงค์ของการสังคายนาครั้งนี้เพื่อพิมพ์พระไตรปิฎก พร้อมอรรถถถาและคำแปลเป็นภาษาพม่า ได้ทำอยู่ 2 ปี คือระหว่าง 17 พฤษภาคม 2497-24 พฤษภาคม 2499 เสร็จแล้วได้แจกจ่ายพระไตรปิฎก ฉบับอักษรพม่า ไปยังประเทศต่างๆ ด้วย

(3) ประเทศไทย ยอมรับการสังคายนาที่ทำตามกันมาโดยลำดับ ถือว่าเป็นประวัติที่ควรรู้เกี่ยวกับความเป็นมาแห่งพระธรรมวินัย ในหนังสือสังคีติยวงศ์ รจนาเป็นภาษาบาลี โดยสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนฯ (รจนาเมื่อครั้งยังเป็นพระพิมลธรรม) ในรัชกาลที่ 1 ได้จัดลำดับสังคายนาไว้ 9 ครั้ง คือ

สังคายนาครั้งที่ 1-2-3 ทำในประเทศอินเดียดังกล่าวแล้ว

สังคายนาครั้งที่ 4-5 ทำในประเทศลังกา

สังคายนาครั้งที่ 6 ทำในลังกา เมื่อ พ.ศ. 956
พระพุทธโฆสาจารย์ ชาวอินเดีย ได้แปลและเรียบเรียงอรรถกถาจากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลี ในรัชสมัยพระเจ้ามหานาม การสังคายนาครั้งนี้มิได้ชำระพระไตรปิฎก หากแต่ชำระอรรถกถา ทางลังกาจึงไม่นับเป็นการสังคายนา

สังคายนาครั้งที่ 7 ทำในลังกา เมื่อ พ.ศ. 1587 พระกัสสปเถระ เป็นประธาน ได้รจนาและชำระคัมภีร์ฎีกาต่างๆ ร่วมกับภิกษุผู้เชี่ยวชาญพุทธธรรมกว่า 1,000 รูป

สังคายนาครั้งที่ 8 ทำในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2020 ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา มีพระธรรมทินนเถระ เป็นประธาน ร่วมกับพระเถระหลายร้อยรูปที่วัดโพธาราม ทำอยู่ 1 ปีจึงสำเร็จ

สังคายนาครั้งที่ 9 ทำในประเทศไทย ในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2331 พระเถระ 218 รูป ราชบัณฑิตคฤหัสถ์ 32 คน ร่วมมือกันทำเป็นเวลา 5 เดือนจึงสำเร็จ


๏ พระไตรปิฎกเกิดขึ้นเมื่อไร

ถ้าอ่านประวัติการทำสังคายนามาตั้งแต่ต้น จะสังเกตได้ว่าสังคายนาครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เท่านั้น มีบันทึกอยู่ในพระไตรปิฎก คือมีอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 7 ข้อ 614-664 หน้า 379-423 วินัยปิฎก จุลวรรค นอกนั้นไม่มีกล่าวถึงและการพูดถึงสังคายนาทั้ง 2 ครั้งนี้ไม่ได้พูดถึง "พระไตรปิฎก" ใช้คำว่า ธมฺมวินยสงฺคีติ (การสังคายนาพระธรรมและวินัย) แสดงว่า พระพุทธวจนะ นั้นยังไม่มีการจัดแบ่งเป็น "ปิฎก" หากเรียกรวมๆ ว่า "ธรรมวินัย" เท่านั้น ต่อมาธรรมวินัยได้แยกออกเป็น 3 ส่วน แต่ละส่วนเรียกกันว่า "ปิฎก" คือ ธรรม แยกเป็นสุตตันตปิฎก กับอภิธรรมปิฎก ส่วนวินัยคงเป็นวินัยปิฎก

คำถามต่อมาก็คือ พระพุทธวจนะหรือพระธรรมวินัยถูกจัดเป็นรูปแบบ และประเภทดังกล่าวนี้เมื่อใด

ในศิลาจารึกที่ค้นพบที่สาญจิสถูป (ซึ่งจารึกไว้ในต้นพุทธศตวรรษที่ 3 ก่อนสมัยพระเจ้าอโศก) มีรายนามผู้สร้างส่วนต่างๆ ของพระสถูปปรากฏอยู่ พร้อมกับคุณศัพท์แสดงคุณสมบัติของบุคคลนั้นๆ
เช่น

ธมฺมกถิกา ผู้กล่าวธรรมทั้งหลาย
เปฏกินฺ ผู้ทรงจำปิฎกทั้งหลาย
สุตฺตนฺติกา ผู้ทรงจำพระสูตร
สุตฺตนฺตินี สตรีผู้ทรงจำพระสูตร
ปญฺจเนกายิกา ผู้ทรงจำนิกายทั้ง 5

ในศิลาจารึกพระเจ้าอโศกที่ค้นพบที่ ภาบรา มีข้อความอ้างถึงพระสูตรต่างๆ ที่พระเจ้าอโศกทรงพิจารณาเห็นว่าดีและทรงแนะนำให้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หมั่นสดับตรับฟังและพิจารณาใคร่ครวญเสมอๆ เช่น

อริยวํสานิ วงศ์แห่งพระอริยะทั้งหลาย
อนาคตภยานิ ภัยในอนาคตทั้งหลาย
มุนิคาถา คาถาของพระมุนี
โมเนยฺยสุตฺต สูตรว่าด้วยความเป็นมุนี
อุปติสฺสปสิน ปัญหาของพระอุปติสสะ


คำแรกปรากฏอยู่ในทีฆนิกาย สังคีติสูตร คำที่สองมีอยู่ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต คำที่สามปรากฏใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต คำที่สี่มีอยู่ทั้งใน อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย อิติวุตตกะ คำสุดท้ายหมายถึง ปัญหาของพระสารีบุตร มีทั่วไปในพระสูตรต่างๆไม่ทราบว่าพระเจ้าอโศกทรงเจาะจงเรื่องใด

จากหลักฐานทั้งสองแห่งนี้ พอสรุปได้คร่าวๆ ว่า หลังจากสังคายนาครั้งที่สองเป็นต้นมา พระพุทธวจนะหรือพระธรรมวินัยถูกจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ในชื่อว่า "ปิฎก" และ "นิกายทั้งห้า" (ทีฆนิกาย) มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย) แล้ว ระยะแห่งพัฒนาการของพระไตรปิฎกคงกินเวลายาวนานเกือบศตวรรษกว่าจะลงตัวเป็นพระไตรปิฎกที่สมบูรณ์ และเชื่อว่าพอตกถึงรัชสมัยพระเจ้าอโศก พระไตรปิฎกคงสมบูรณ์ทุกคัมภีร์แล้ว ด้วยปรากฏหลักฐานบางแห่ง (อาทิ สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎก) บอกว่าคัมภีร์กถาวัตถุ หนึ่งในจำนวนพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ ได้ถูกรจนาและผนวกเข้าไว้ในอภิธรรมปิฎก โดยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เมื่อคราวทำสังคายนาครั้งที่สาม เหตุผลสนับสนุนอีกประการหนึ่งคือ ในพระไตรปิฎกไม่มีข้อความใดกล่าวถึงพระเจ้าอโศกเลย แสดงว่าพระไตรปิฎกสำเร็จเป็นรูปร่างสมบูรณ์แล้วก่อนสมัยพระเจ้าอโศก


(มีต่อ 3)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 19 พ.ค.2006, 11:39 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พระไตรปิฎกเป็นพุทธพจน์มากน้อยเพียงใด

ถ้าจะถามว่าพระไตรปิฎกเป็นพระพุทธพจน์มากน้อยเพียงใด ตอบได้ทันที (เช่นเดียวกับกรณีพระอภิธรรมปิฎก) ว่าพระไตรปิฎกไม่ใช่พระพุทธพจน์ทั้งหมด แต่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

ผู้ศึกษาย่อมทราบดีว่าพระไตรปิฎกมิใช่ "คำพูด" ของพระพุทธเจ้าทั้งหมด มีหลายสูตรที่เป็นเทศนาของพระเถระผู้ใหญ่บางรูป บางส่วนเป็นภาษิตของเทวดาที่พระพุทธเจ้าทรงรับรองว่าเป็นสุภาษิต เฉพาะสูตรในทีฆนิกาย 34 สูตร มีสูตรที่เป็น "คำพูด" ของสาวกไม่น้อยกว่า 5 สูตร ไม่จำต้องพูดถึงนิกายอื่นๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก

แม้พระสูตรซึ่งเป็นเทศนาของพระพุทธเจ้าเอง ก็มีถ้อยคำของผู้รวบรวมประหัว ประท้ายด้วย เช่น พระสูตรนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ใคร ที่ไหน มีเนื้อหาว่าอย่างไร หลังจากแสดงธรรมจบแล้วได้ผลอย่างไร ส่วนที่ถือว่าเป็น "คำพูด" ของพระองค์ก็คือตรงที่เนื้อหาสาระของพระสูตร แม้กระนั้นก็ตามก็เป็นการ quote ข้อความซึ่งผู้ที่ "โควต" อาจจำมาผิดพลาดจากที่ตรัสจริงๆ ก็ได้ แต่ "สาระ" ยังคงอยู่ครบ เฉพาะพระอภิธรรมปิฎกนั้น หลักฐานแบ่งชัดแล้วว่ามิใช่ "คำพูด" ของพระพุทธเจ้า

ถ้าคำว่า "พระพุทธพจน์" หมายถึง "คำพูดจริงๆ" ของพระพุทธเจ้า พระไตรปิฎกก็มิใช่พระพุทธพจน์ทั้งหมดดังกล่าวมา แต่ถ้าหมายถึงว่า เป็น "คำสอน" ของพระพุทธองค์หรือไม่ ไม่น่าจะมีเหตุผลใดที่จะปฏิเสธว่าไม่ใช่ เพราะวิธีตัดสินพระพุทธเจ้าทรงวางหลักการตัดสินพระธรรมวินัย 8 ประการไว้แล้ว

หลักตัดสินพระธรรมวินัย 8 ประการคือ

ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อ

1. วิราคะ ความคลายกำหนัด, ไม่ติดพัน มิใช่เพื่อความกำหนัดย้อมใจ การเสริมให้ติด

2. วิสังโยค ความหมดเครื่องผูกรัด, ความไม่ประกอบทุกข์ มิใช่เพื่อผูกรัดหรือประกอบทุกข์

3. อปจยะ ความไม่พอกพูนกิเลส มิใช่เพื่อพอกพูนกิเลส

4. อัปปิจฉตา ความมักน้อย มิใช่เพื่อความมักมาก

5. สันตุฎฐี ความสันโดษ มิใช่เพื่อความไม่สันโดษ

6. ปวิเวก ความสงัด มิใช่เพื่อความคลุกคลีอยู่ในหมู่

7. วิริยารัมภะ การประกอบความเพียร มิใช่เพื่อความเกียจคร้าน

8. สุภรตา ความเป็นคนเลี้ยงง่าย มิใช่เพื่อความเลี้ยงยาก

ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่าเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุสาสน์ (คำสอนของพระศาสดา) ตรงข้ามจากนี้ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุสาสน์

แสง จันทร์งาม ให้เหตุผลที่พระไตรปิฎกยังคงเป็นพระพุทธพจน์ไว้ 4 ประการดังนี้

1. ตามธรรมเนียมอินเดียนั้น การถ่ายทอดเรื่องราวทางศาสนาด้วยปาก มิใช่ทำอย่างสุกเอาเผากิน แต่กระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง และด้วยความเคารพอย่างสูง มิให้ข้อความใดๆ ผิดแผกไปจากเดิม ไม่เฉพาะข้อความเท่านั้นที่ต้องระมัดระวัง แม้การออกเสียงคำต่างๆ ก็ต้องให้ถูกต้องตามอักขร-ฐานกรณ์อย่างเคร่งครัด ต้องจำได้ขึ้นใจอย่างถูกต้องทั้ง "อรรถ" และ "พยัญชนะ"
เฉพาะอย่างยิ่งในศาสนาฮินดูนั้น การออกเสียงคำว่า "โอม" คำเดียว อาจารย์อาจใช้เวลาหลายวันในการสอนศิษย์ให้ว่าได้ถูกต้อง วิธีการศึกษาทางพุทธศาสนาซึ่งได้รับอิทธิพลจากธรรมเนียมพราหมณ์ ก็คงจะเอาใจใส่ในการศึกษาถ่ายทอดอย่างระมัดระวังเช่นกัน

2. ข้อที่ว่าอาจารย์บางท่านอาจแทรกมติของตนลงในสูตรบางสูตร แล้วอ้างว่าเป็นพุทธพจน์นั้นอาจเป็นไปได้ แต่คงมีน้อยที่สุด เพราะพระสาวกผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ย่อมมีความเคารพบูชาในคำสอนดั้งเดิมอย่างสูง ไม่กล้าอ้างคำพูดของตนว่าเป็นพุทธพจน์ ไม่กล้าถอนพุทธพจน์ดั้งเดิม ดังเราจะเห็นได้ว่า พระสูตรส่วนมากมีสาระสำคัญหรือเนื้อหาแท้ๆ เพียงเล็กน้อย แต่มีคำบรรยายซ้ำๆ ซากๆ มากมาย ตามสำนวนนิยมสมัยนั้น พระสูตรที่มีความยาว 3-4 หน้า ถ้าจะสรุปเอาเฉพาะเนื้อหาแท้ๆ จะเหลือเพียงครึ่งหน้าเท่านั้น แม้กระนั้น พระอาจารย์ทั้งหลายก็ไม่กล้าตัดทอนคงจำสืบๆ กันมาอย่างนั้นด้วยความเคารพ

3. ตามประวัติการสืบอายุพระพุทธศาสนานั้น ปรากฏว่าได้มีการทำสังคายนาชำระพระธรรมวินัยเป็นครั้งคราว การสังคายนาก็หมายถึงการประชุมพระเถระผู้จำพระธรรมวินัยได้ แล้วให้พระเถระรูปใดรูปหนึ่งสวดพระธรรมวินัยเท่าที่ตนจำได้ต่อที่ประชุม ขณะนั่งฟัง พระเถระอื่นๆ ก็คิดเทียบเคียงกับข้อที่ตนจำได้ ถ้าได้ฟังข้อความใดผิดแผกออกไปก็ทักท้วงขึ้น เมื่อมีผู้ทักท้วงประธานในที่ประชุมก็ขอให้องค์อื่นๆ สวดสูตรนั้นตามที่ตนได้เรียนมา ที่ประชุมจะพิจารณาถกเถียงกันหลายแง่หลายมุม ในที่สุดก็มีการลงมติเสียงข้างมากว่าข้อความนั้นถูกต้อง ข้อความนี้ผิด ขอให้พระสงฆ์ทั้งปวงยึดถือตามข้อความที่ถูก ตัดข้อความที่ผิดออกเสีย แล้วสงฆ์ทั้งหมดก็สวดขึ้นพร้อมกัน (สังคายนา : สํ = พร้อมกัน + คายนา = การสวด) เพื่อยืนยันข้อความที่ถูกต้องนั้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากการทำสังคายนานั้นแล้ว พระเถระทั้งหลายก็นำเอาข้อความซึ่งที่ประชุมรับรองนั้นไปสอนศิษย์ต่อไป วิธีสังคายนาจึงจัดเป็นการกำจัดมติของเกจิอาจารย์ได้เป็นอย่างดี

4. เหตุผลประการสุดท้ายยืนยันว่า พระไตรปิฎกส่วนใหญ่เป็นพุทธพจน์คือ เนื้อของพระไตรปิฎกลงรอยกันเป็นอย่างดี มีจุดประสงค์แน่นอน มีวิธีการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์นั้นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน แม้จะมีความคิดบางอย่างซึ่งส่อแสดงว่ามิใช่พุทธพจน์แทรกอยู่บ้าง ก็หาทำให้พระไตรปิฎกเสียเอกภาพแต่อย่างใดไม่ คุณสมบัติเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า คำสอนส่วนใหญ่ในพระไตรปิฎกมีแหล่งกำเนิดมาจากบุคคลคนเดียวกันคือ พระพุทธเจ้า แม้จะมีวาทะของพระสาวกหรือมติของอาจารย์รุ่นหลังแทรกอยู่อย่างแนบเนียน ก็เป็นแต่เพียงคำอธิบายขยายความของพระพุทธพจน์ให้แจ่มแจ้งขึ้น ไม่มีวาทะใดเลยที่ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจไขว้เขวไปจากจุดมุ่งหมายและวิธีการปฏิบัติแบบพุทธแท้และดั้งเดิม

ในเทศนาเรื่อง "เพชรในพระไตรปิฎก" พุทธทาสภิกขุ มองเห็นว่าในพระไตรปิฎกยังมีส่วนที่มิใช่พุทธพจน์อีกมาก ถ้าคิดเทียบเปอร์เซ็นต์ของส่วนที่ควรตัดออก สำหรับนักศึกษาทั่วไปควรตัดออก 30 เปอร์เซ็นต์ เหลืออยู่ 70 เปอร์เซ็นต์ สำหรับนักวิทยาศาสตร์ นักศึกษาโบราณคดี ครูบาอาจารย์ชั้นเลิศแล้ว ควรตัดออกได้อีก 30 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ควรตัดออกคือเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ เช่น เรื่องราหูจับอาทิตย์ ราหูจับจันทร์ ข้อความที่เป็นไปในลักษณะสัสสตทิฐิ เป็นตัวเป็นตน เป็นคนคนเดียวเวียนว่ายตายเกิด อันเป็นลักษณะทิฐินอกพุทธศาสนา และในขั้นสุดท้าย พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมดควรตัดออกด้วย "ทีนี้ที่เหลือ 40 เปอร์เซ็นต์ ก็มาเลือกเฟ้นได้โดยง่าย พบเครื่องขุดเพชรแล้วก็ขุดเพชร พบเพชรที่เรียกว่าหัวใจของพระไตรปิฎก คือเพชรเม็ดเดียว ได้แก่หลักคำสอนและวิธีการปฏิบัติและผลของการปฏิบัติที่ว่า "สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น"

สำหรับพุทธทาสภิกขุ เครื่องชี้บ่งว่าเป็นพุทธพจน์หรือไม่ของพระไตรปิฎก มิได้อยู่ที่ "ข้อความ" นั้นๆ เป็น "คำพูด" ของพระพุทธเจ้าหรือไม่ หากอยู่ที่ "สาระ" ของคำสอนนั้นๆ เป็นหลักปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ได้จริงหรือไม่


(มีต่อ 4)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 19 พ.ค.2006, 2:42 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ การถ่ายทอดพระไตรปิฎก

ดังที่ทราบกันแล้วว่า สมัยพระพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ เมื่อพระองค์เสด็จไปแสดงธรรมที่ไหน หรือทรงบัญญัติพระวินัยข้อไหน เมื่อใด สาวกที่ได้ยินได้ฟังก็ช่วยกันจดจำไว้ แล้วถ่ายทอดให้ศิษย์ด้วยวาจา เพราะสมัยนั้นยังไม่มีการจารคำสอนลงเป็นลายลักษณ์อักษร

เคยมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า สมัยพุทธกาลคนยังไม่รู้จักการเขียนหนังสือหรืออย่างไร จึงไม่ปรากฏว่า มีตำรับตำราจารึกไว้เป็นหลักฐาน แม้บริขารของพระภิกษุก็ไม่ระบุหนังสือไว้ด้วย

พระมหาเสฐียรพงษ์ ปุณฺณวณฺโณ แสดงทรรศนะไว้ในหนังสือภาษาศาสตร์ อะไรคือบาลี ว่า

ความจริงการเขียนหนังสือน่าจะมีมาก่อนพุทธกาลแล้ว ในพระไตรปิฎกเองก็มีข้อความเอ่ยถึงการขีดเขียนเป็นครั้งคราว เช่น ตอนหนึ่งห้ามภิกษุเล่นเกม "อักขริกา" (ซึ่งพระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า ได้แก่ การเล่นทายอักษรในอากาศหรือบนหลังของเพื่อนภิกษุ) วิชาเขียนหนังสือ (เลขา) ได้รับยกย่องว่าเป็นศิลปะพิเศษอย่างหนึ่ง สิกขาบทบางข้อห้าม ภิกษุณีเรียนศิลปะทางโลก หนึ่งในศิลปะเหล่านี้มีวิชาเขียนหนังสือด้วย ในบทสนทนาภายในครอบครัว พ่อปรารภว่าจะให้บุตรเรียนวิชาอะไรดี ถ้าจะให้เรียนเขียนหนังสือ บุตรอาจยังชีพอยู่ได้สบายแต่อาจเจ็บนิ้วมือ (เพราะเขียนหนังสือ) ถ้าภิกษุเขียนหนังสือพรรณนาคุณของอัตวินิบาตกรรม ปรับอาบัติทุกกฎทุกตัวอักษร ถ้ามีผู้อ่านพบข้อความนั้นเข้าเห็นดีเห็นงามด้วยแล้ว ฆ่าตัวตายตามนั้นปรับอาบัติปาราชิก หลักฐานเหล่านี้แสดงว่าอักษรหรือการเขียนหนังสือมีมาก่อนสมัยพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ทีพระพุทธองค์ไม่นิยมใช้หันมาใช้วิธีมุขปาฐแทน น่าจะทรงเห็นประโยชน์อานิสงส์บางสิ่งบางอย่างกระมัง หรือว่าระบบการขีดเขียนยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร ทั้งยังไม่มีอุปกรณ์การขีดเขียนเพียงพอก็ยากจะทราบได้ แต่ที่น่าคิดอยู่อย่างหนึ่ง วิธีเรียนด้วยมุขปาฐนี้

นอกจากจะสร้างสัมพันธภาพอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้เรียนและผู้สอนแล้ว ยังเป็นการสร้างสมาธิฝึกจิตของผู้เรียนไปในตัวด้วย นักปราชญ์ยุคก่อนมีความคิดเช่นนี้ก็มีไม่น้อย เปลโต เคยกล่าวไว้ว่า "การคิดอักษรขึ้นใช้แทนการท่องจำ ทำให้มนุษย์ขาดอานุภาพแห่งความทรงจำ คือแทนที่จะจดจำจากอินทรีย์ภายใน ต้องอาศัยสัญลักษณ์ภายนอกเข้าช่วย

ในพระสูตรหลายแห่ง เช่น อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต บอกวิธีศึกษาเล่าเรียนเพื่อให้การถ่ายทอดคำสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพไว้ 5 ประการ คือ

1. พหุสฺสุตา ต้องฟังให้มาก หาโอกาสสดับตรับฟังเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ให้มาก

2. ธตา ฟังแล้วพยายามจำให้ได้ จับหลักหรือสาระได้ ทรงจำไว้แม่นยำ

3. วจสา ปริจิตา ท่องบ่นสาธยายจนคล่องปาก

4. มนสานุเปกฺขิตา เพ่งพินิจพิจารณาความหมายด้วยใจ จนนึกครั้งใดก็ปรากฏเนื้อความสว่างชัด

5. ทิฏฺฐิยา สุปฏิวิทฺธา ขบให้แตก คือ ทำความเข้าใจลึกซึ้ง มองเห็นประจักษ์ด้วยปัญญา ทั้งแง่ความหมายและเหตุผล

วิธีการทั้ง 5 นี้ เอื้ออำนวยให้ระบบการถ่ายทอดหลักคำสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสืบทอดต่อๆ กันมาเป็นเวลานานหลังจากพุทธปรินิพพาน เนื่องจากคำสอนของพระพุทธองค์มีมากมายเกินความสามารถของปัจเจกบุคคลคนเดียวจะจดจำได้หมด จึงได้มีการแบ่งหน้าที่กันในหมู่สงฆ์ ให้บางรูปที่เชี่ยวชาญทางพระวินัยรับผิดชอบท่องจำพระวินัย เรียกว่า วินัยธร ให้บางรูปรับหน้าที่ท่องจำพระสูตร เรียกว่า ธัมมธร แม้พระสูตรก็แบ่งหน้าที่ท่องจำเป็นส่วนๆ เช่น ทีฆภาณกะ (ผู้ท่องจำสูตรขนาดยาว) มัชฌิมภาณกะ (ผู้ท่องจำสูตรขนาดกลาง) เป็นต้น ระยะต้นๆ ก็เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ต่อมาได้ขยายจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ละกลุ่มก็มีศิษย์ศึกษาเล่าเรียนอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก เมื่อพระธรรมวินัยได้รับการจัดแบ่งเป็น 3 ปิฎกแล้ว การท่องจำพุทธวจนะได้พัฒนาเป็นระบบยิ่งขึ้น ถึงกับ (เชื่อว่า) มี "อาจริยปรัมปรา" หรือ "สำนัก" สืบทอดคำสอน มี 3 สำนักด้วยกัน แต่ละสำนักล้วนอ้างว่าสืบทอดกันมายาวนาน ดังนี้คือ

1. สำนักพระวินัยปิฎก สืบทอดมาแต่พระอุบาลีเถระ

2. สำนักพระสุตตันตปิฎก สืบทอดมาแต่พระอานนทเถระ

3. สำนักพระอภิธรรมปิฎก สืบทอดมาแต่พระสารีบุตรเถระ


พระไตรปิฎกได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาด้วยวิธีมุขปาฐะ หรือการท่องจำอย่างเป็นระบบ จนได้รับการจารลงเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อพุทธศตวรรษที่ 5 ในรัชสมัยพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย ประเทศลังกา ระบบมุขปาฐะจึงได้เพลาความเข้มลง แต่ก็ยังถือปฏิบัติอยู่บ้างในบางประเทศ เช่น ไทย และพม่า มาจนบัดนี้


(มีต่อ 5)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.ค.2006, 11:39 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระวินัยปิฎก

1. โครงสร้างพระวินัยปิฎก

2. เนื้อหาสาระ


พระวินัยปิฎก บรรจุอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 1-8 มีเนื้อหาสาระ (โดยย่อ) ดังนี้

1. มหาวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบท (ศีล) ของพระภิกษุ 227 ข้อ คือ ปาราชิก 4 สังฆาทิเสส 13 อนิยต 2 นิสัคคิยปาจิตตีย์ 30 ปาจิตตีย์ 92 ปาฏิเทสนียะ 4 เสขิยวัตร 75 อธิกรณสมถะ 7 เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สิกขาบทในปาติโมกข์ (ภิกขุปาติโมกข์)

2. ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทของนางภิกษุณี หรือ ภิกขุนีปาติโมกข์ 311 สิกขาบท

3. มหาวรรค เล่าเรื่องตั้งแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เสด็จออกไปประกาศพระศาสนา การประทานอุปสมบทแก่ผู้มาขอบวช พูดถึงการอุปสมบท อุโบสถ การจำพรรษา เครื่องหนัง เภสัช กฐิน จีวร นิคหกรรม การออกจากอาบัติ การระงับอธิกรณ์ การทะเลาะวิวาท และสามัคคี

4. จุลวรรค ว่าด้วยการบัญญัติปลีกย่อย เรื่องเสนาสนะ สังฆเภท วัตรปฏิบัติต่างๆ การงดสวดปาติโมกข์ เรื่องกำเนิดและพัฒนาการของภิกษุณีสงฆ์ ลงท้ายด้วยประวัติการทำสังคายนาครั้งที่ 1 และที่ 2

5. ปริวาร ประมวลเรื่องเบ็ดเตล็ด เกี่ยวกับสิกขาบทของภิกษุและภิกษุณี เป็นคู่มือศึกษาพระวินัย นำเสนอโดยแต่งเป็นคำถามคำตอบเพื่อให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

พระวินัยปิฎก มีการแบ่งอีกอย่างหนึ่งคือ อาทิกัมมิกะ ปาจิตตีย์ มหาวรรค จุลวรรค และปริวาร ย่อเพื่อจำง่ายว่า อา-ปา-ม-จุ-ป ดังนี้

อาทิกัมมิกะ ว่าด้วยสิกขาบทเกี่ยวกับอาบัติหนัก คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส และอนิยต

ปาจิตตีย์ ว่าด้วยสิกขาบทเกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จนถึงเสขิยะ รวมตลอดถึงภิกขุนีวิภังค์ทั้งหมด

มหาวรรค ว่าด้วย สิกขาบทนอกปาติโมกข์ 10 ขันธกะ หรือ 10 ตอน

จุลวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาติโมกข์อีก 12 ตอนสุดท้าย

ปริวาร ว่าด้วยเรื่องปลีกย่อย หรือคู่มือศึกษาพระวินัย บรรจุคำถามคำตอบสำหรับซักซ้อมความรู้ความเข้าใจพระวินัย

3. ข้อสังเกตบางประการและจุดที่ควรเน้น

1) สถาบันสงฆ์เกิดและพัฒนาขึ้นเพราะกระแสสังคมผลักดัน

- พระพุทธเจ้ามิได้กำหนดรูปแบบตายตัว เพียงวางไว้หลวมๆ ว่า ผู้บวชต้องประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติอย่างไรบ้างไม่มีรายละเอียด

- ผู้มาบวชระยะแรกเป็นผู้ "เบื่อโลก" แล้ว จึงไม่ต้องมีสิกขาบท (ศีล) ว่าจะต้องทำอะไร ไม่ทำอะไร เพราะทำถูกต้องโดยอัตโนมัติแล้ว

- พิธีบวชทำง่ายๆ เพียงตรัสว่า เอหิ ภิกขุ = จงเป็นภิกษุมาเถิด ก็เสร็จพิธี

- คุณสมบัติผู้บวชก็มิได้กำหนดแน่ชัด ต่อเมื่อมีผู้อายุน้อย (ราหุล) มาบวชจึงกำหนดอายุ และวางคุณสมบัติอื่นๆ ด้วย

2) สิกขาบท มิได้ตรัสขึ้นสำเร็จรูปเหมือนกฎหมาย หากตราขึ้นหลังมีการทำผิดแล้ว มีขั้นตอน ดังนี้

(1) มีผู้ประพฤติไม่สมควรแก่สมณะ ชาวบ้านตำหนิติเตียน

(2) เรื่องรู้ถึงพระพุทธองค์ ทรงเรียกมาสอบสวน ท่ามกลางสงฆ์ เมื่อยอมรับสารภาพ ทรงตำหนิและทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามทำเช่นนั้นอีก ผู้ทำผิดคนแรกไม่เอาผิด เรียกว่า

"อาทิกัมมิกะ" = ต้นบัญญัติ (เป็นที่อ้างอิงในทางชั่ว) ขั้นตอนนี้เรียก "บัญญัติ"

(3) เมื่อมีการล่วงละเมิดอีกเพราะมีช่องโหว่บางอย่าง ก็ทรงบัญญัติเพิ่มเติมเรียกว่า "อนุบัญญัติ"

(4) หลังบัญญัติแล้ว ถ้ามีการทำผิดสงฆ์ไม่สามารถตัดสินได้ พระพุทธเจ้าทรงวินิจฉัยเป็นเรื่องๆ ให้เป็นแบบอย่างการตัดสินใจในกาลต่อมา เรียกว่า "วินีตวัตถุ"

(5) สิกขาบทวิภังค์ และปทภาชนีย์ ให้คำนิยามและอธิบายความของศัพท์ยาก ตลอดถึงตั้งสมมติฐานว่า ถ้าทำอย่างนั้นๆ จะผิดหรือไม่

(6) ข้อยกเว้น สิกขาบทแต่ละข้อ มีข้อยกเว้น เช่น ไม่มีเจตนาไม่ผิด วิกลจริตไม่ผิด เป็นต้น

3) อาบัติและการต้องอาบัติ

(1) ปาราชิก อาบัติหนัก ทำแล้วขาดจากความเป็นภิกษุทันที

(2) สังฆาทิเสส อาบัติหนักรองลงมา ทำผิดแล้วต้องให้ "อยู่กรรม"

(3) ถุลลัจจัย อาบัติหนักรองลงมาจากปาราชิก และสังฆาทิเสส

เกิดขึ้นเมื่อตั้งใจจะละเมิดอาบัติ 2 อย่างนั้นแล้วทำไม่สมบูรณ์ เช่น ตั้งใจจะฆ่าเขา แต่เขาไม่ตาย ต้องถุลลัจจัย บางทีเรียก อนิยต (ไม่แน่) แต่อนิยตไม่ใช่ชื่ออาบัติ

(4) ปาจิตตีย์ อาบัติเบาทำผิดแล้ว "ปลงอาบัติตก"

(5) ปาฏิเทสนียะ ความผิดที่ต้อง "แสดงคืน" คือ ต้องอาบัติเกี่ยวกับบุคคลใด ให้แสดงกับบุคคลนั้น

(6) ทุกกฎ อาบัติเบา ส่วนมากเกี่ยวกับมารยาทต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม

(7) ทุพภาษิต "พูดไม่ดี" อาบัติเบาเกิดจากความผิดพลาดในการพูดไม่เหมาะสม

4) จุดประสงค์ของการบัญญัติสิกขาบท

ประโยชน์แก่พระสงฆ์โดยส่วนรวม

(1) เพื่อความดีงามของพระสงฆ์
(2) เพื่อความผาสุกของพระสงฆ์

ประโยชน์เฉพาะบุคคล

(3) เพื่อขจัดคนหน้าด้าน
(4) เพื่อความผาสุกของผู้ทรงศีล

ประโยชน์คือความดีงามแห่งชีวิต

(5) เพื่อป้องกันความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
(6) เพื่อขจัดความเลวร้ายในอนาคต

ประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชน

(7) เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส
(8) เพื่อให้ผู้เลื่อมใสแล้ว เลื่อมใสยิ่งขึ้น

ประโยชน์แก่พระศาสนา

(9) เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม
(10) เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย (สนับสนุนความมีระเบียบวินัย)

5) กำเนิดภิกษุณีสงฆ์

- นางปชาบดีโคตมี ทูลขอบวช เบื้องแรกทรงปฏิเสธ ต่อมาทรงบวชให้ตามที่พระอานนท์กราบทูลขอ โดยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ข้อ อย่างเคร่งครัด (ครุธรรม 8)

- ข้อน่าพิจารณา คือ เหตุผลที่ทรงปฏิเสธในเบื้องต้น และคำถามที่ว่าพระพุทธเจ้า (หรือพระพุทธศาสนา) ไม่สนับสนุนหรือ ที่ไม่อนุญาตให้สตรีบวช จริงหรือไม่ เป็นเรื่องพึงพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน ก่อนจะสรุปอะไรง่ายๆ

6) ได้เรียนรู้เทคนิค และวิธีการปกครองสงฆ์ และการแก้ปัญหาของพระพุทธเจ้า

- คนหมู่มากต้องมีวินัย วินัยจึงบัญญัติสำหรับปกครองคนหมู่มากให้เรียบร้อย
- การบัญญัติวินัย ทรงดูกฎหมายทางโลกด้วย ทรงปรึกษานักกฎหมายและทรงให้มี "ประชาพิจารณ์" ด้วย
- ทรงให้แก้ไขลดหย่อน และเพิ่มความเข้มงวด เพื่อความเหมาะสม
- คำนึงถึงปัณณัตติวัชชะ และโลกวัชชะ เพื่อความสมบูรณ์ของข้อปฏิบัติ

7) ในวินัยปิฎก มีพุทธประวัติตอนตรัสรู้ จนถึงประกาศพระศาสนาอย่างละเอียด

8) มีการสังคายนา 2 ครั้ง


- การบันทึกสังคายนาไว้เพียง 2 ครั้ง ทำให้สันนิษฐานว่าระยะเวลาที่ พระธรรมวินัย ได้แตกออกเป็นปิฎก 3 ปิฎก มีขึ้นก่อนสังคายนาครั้งที่ 3 เพราะถ้ามีภายหลังสังคายนาครั้งที่ 3 คงถูกบันทึกไว้ด้วย ประมาณเวลาคร่าวๆ ของกำเนิดพระไตรปิฎกคือ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 2-3


(มีต่อ 6)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.ค.2006, 11:43 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระสุตตันตปิฎก

1. พระสุตตันตปิฎก หรือเรียกสั้นๆ ว่า "พระสูตร" เป็นประมวลเทศนาของพระพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงแก่บุคคลต่างชั้น ต่างวรรณะ ตามโอกาสต่างๆ แต่ละสูตร มีทั้งบทนำ เนื้อหาสาระของพระเทศนา และบทสรุปว่าหลังจบพระเทศนาแล้วผู้ฟังได้รับผลอย่างไรบ้าง แบ่งเป็น 5 นิกาย (เรียกย่อว่า ที.ม.สัง.อัง.ขุ.) คือ (1) ทีฆนิกาย (รวมพระสูตรยาวๆ) (2) มัชฌิมนิกาย (รวมพระสูตรขนาดกลาง) (3) สังยุตตนิกาย (รวมพระสูตรที่มีเนื้อหาเดียวกันเข้าด้วยกัน) (4) อังคุตตรนิกาย (รวมพระสูตรที่มีข้อธรรมจากน้อยไปหามาก) (5) ขุททกนิกาย (รวมพระสูตรเบ็ดเตล็ดที่ตกหล่นจากการรวบรวมเป็น 4 นิกายข้างต้น)

2. โครงสร้างพระสุตตันตปิฎก

3. โครงสร้างทีฆนิกาย

4. เนื้อหาสาระ

4.1 พรหมชาลสูตร เนื้อหาแบ่งเป็นสองตอน ตอนต้นว่าด้วยศีล 3 ระดับ คือ (1) ศีลระดับต้น (จุลศีล) (2) ศีลระดับกลาง (มัชฌิมศีล) และ (3) ศีลระดับสูง (มหาศีล) ตอนปลายว่าด้วยทิฐิ หรือทฤษฎี หรือปรัชญาของลัทธิต่างๆ ร่วมสมัยพุทธกาล มีทั้งหมด 62 ทฤษฎี พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นมาอธิบายชี้ให้เห็นว่า พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนต่างจากทฤษฎีทั้ง 62 นี้อย่างไร

4.2 สามัญญผลสูตร ว่าด้วยผลของความเป็นสมณะ ชี้ให้เห็นว่าการเข้ามาบวชถือพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนานั้น ได้อานิสงส์ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับสูงสุดอย่างไร คือ

4.2.1 พ้นจากสถานภาพเดิม หรือเลื่อนสถานภาพทางสังคม เช่น พ้นจากทาสกรรมกร ชาวนา เป็นพระภิกษุทรงศีล ได้รับการนับถือจากคนทั่วไปแม้กระทั่งพระมหากษัตริย์

4.2.2 เมื่อสมบูรณ์ด้วยศีล สำรวมอินทรีย์ มีสติสัมปชัญญะ สันโดษ บำเพ็ญสมาธิ ก็จะได้ฌานระดับต่างๆ

4.2.3 ได้วิชชา 3 อันมีการทำอาสวะให้สิ้นไปในที่สุด

4.3 อัมพัฏฐสูตร โต้ตอบกับอัมพัฏฐมาณพ ศิษย์ของโปกขรสาติพรมหมณ์ เรื่องวรรณะพราหมณ์กับวรรณะกษัตริย์ใครสูงกว่ากัน ทรงชี้แจงว่า "ความรู้และความประพฤติสำคัญกว่าชาติสกุล" "ใครก็ตามยังถือชาติ ถือโคตร ถืออาวาหะ วิวาหะ คนเหล่านั้นจะห่างไกลจากวิชชา (ความรู้) และจรณะ (ความประพฤติ) อย่างยอดเยี่ยม แต่เมื่อละการยึดติดสิ่งเหล่านั้นได้ จึงจะทำให้แจ้งซึ่งความรู้และความประพฤติอันยอดเยี่ยม"

พระสูตรนี้กล่าวถึงประวัติศาสตร์แห่งศากยวงศ์ด้วย

4.4 โสณทัณฑสูตร โต้ตอบกับโสณทัณฑพราหมณ์ ด้วยเรื่องสมบัติ 5 อย่างของพราหมณ์ ทรงให้พราหมณ์พิจารณาอย่างรอบคอบ แล้วให้ตัดข้อที่มีความสำคัญน้อยออกไปทีละข้อๆ ผลที่สุดเหลือแต่ศีลกับปัญญา แล้วทรงชี้ว่า ศีลกับปัญญา นี้แหละ เป็นคุณสมบัติที่แท้จริงของพราหมณ์ ชาติ ชั้น วรรณะ ไม่ใช่ตัวกำหนด

4.5 กูฏทันตสูตร ว่าด้วยการบูชายัญที่ถูกต้องและมีประโยชน์มาก คือ การสังคมสงเคราะห์ มิใช่ด้วยการฆ่าสัตว์บูชายัญดังที่นิยมทำกัน พระสูตรได้แสดงวิธีการแก้ปัญหาสังคมที่จะให้ผลดีที่สุดด้วย

4.6 มหาลิสูตร โต้ตอบกับมหาลิลิจฉวี ด้วยเรื่องตาทิพย์ หูทิพย์ ทรงชี้ว่า ผลสำเร็จระดับนี้มิใช่จุดหมายปลายทางของการประพฤติพรหมจรรย์ "ภิกษุทั้งหลายมิได้ประพฤติพรหมจรรย์ ในสำนักของพระองค์เพื่อเจริญสมาธิให้เป็นเหตุได้หูทิพย์ ตาทิพย์ เพราะยังมีคุณธรรมที่สูงกว่านั้น คือ การทำอาสวะให้สิ้นไป"

4.7 ชาลิยสูตร ทรงสนทนากับนักบวชสองคน คือ ชาลิยะ กับมัณฑิยปริพาชก เรื่องสรีระ (ร่างกาย) กับชีวะ (จิต) ว่าผู้รู้เห็นความเป็นจริง ย่อมไม่กล่าวว่า สรีระกับชีวะเป็นอันเดียวกันหรือต่างกัน

4.8 มหาสีหนาทสูตร ตรัสแก่ชีเปลือยชื่อ กัสสปะ (ไตร ฉบับยุโรป "กัสสปสีหนาทสูตร") ว่า พระองค์มิได้ปฏิเสธตบะทุกชนิดว่าไม่ดีไปหมด (ในตัว "ตบะ" เองคงไม่ดีไม่ชั่ว ตบะอย่างเดียวกันคนประพฤติคนหนึ่งอาจไปนรก อีกคนอาจไปสุคติก็มี) กัสสปะ กล่าวว่า การบำเพ็ญวัตรปฏิบัติเข้มงวดต่างๆ เช่น เปลือยกายเป็นสิ่งประเสริฐ ทำได้ยากยิ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่า เพียง "การแก้ผ้า" ใครๆ ก็่ทำได้ มิได้ประเสริฐอะไร ความสมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เจริญเมตตาจิต ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ มีประโยชน์ที่สุดทรงสรุปว่า พระองค์กล้าบันลือท่ามกลางบริษัท กล้าตอบปัญหา และทำให้ผู้ฟังเลื่อมใสปฏิบัติตามจนได้ผล ก็เพราะพระองค์เองทรงปฏิบัติจนได้ผลมาเองในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ข้างต้นนั้น

4.9 โปฏฐปาทสูตร ตอบคำถามของโปฏฐปาปริพาชก เกี่ยวกับเรื่องปัญญา กับ อัตตา ว่าเป็นอย่างเดียวกันหรือต่างกัน จนโปฏฐปาทเข้าใจ และเห็นด้วยกับพระองค์ วันต่อมาเขามากราบทูลอีกว่าตนถูกพวกปริพาชกติเตียนว่า คนขนาดเขาไปเชื่อพระสมณโคดมได้อย่างไร พระสมณโคดมไม่เคย "ยืนยันอะไรในแง่เดียว" เลย ไม่ชี้ชัดเลยว่า โลกเที่ยงหรือไม่ โลกนี้ที่สิ้นสุดหรือไม่ พระพุทธเจ้าตรัสแก่เขาว่า พระองค์ทรงพยากรณ์ปัญหา (ตอบปัญหา) หลายวิธี คือทรงใช้ทั้งวิธี "เอกังสิกะ" (ตอบยืนยันในแง่เดียว) และวิธี "อเนกังสิกะ" (ตอบหลายแง่ ตอบมีเงื่อนไข)

4.10 สุภสูตร เป็นพระสูตรที่พระอานนท์แสดงแก่สุภมาณพ สุภมานพ ถามว่า สมัยที่พระพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ได้ตรัสชักชวนประชาชนให้ตั้งอยู่ในธรรมะข้อใดมากที่สุด พระอานนท์ตอบว่า ทรงชักชวนประชาชนให้ตั้งอยู่ใน ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นอริยะมากที่สุด

4.11เกวัฏฏสูตร ว่าด้วยปาฏิหาริย์ 3 อย่าง คือ 1. อิทธิปาฏิหาริย์ 2. อาเทสนาปาฏิหาริย์ (ดักใจ ทายใจคนอื่นได้) และ 3. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (แสดงธรรมจนเกิดผลดีน่าอัศจรรย์) พระองค์ทรงรังเกียจปาฏิหาริย์ 2 ข้อข้างต้น ทรงสรรเสริญเฉพาะอนุสาสนีปาฏิหาริย์ (ทรงห้ามสาวกแสดงอิทธิปาฏิหาริย์โดยไม่จำเป็น) พระสูตรนี้เล่าถึงพระรูปหนึ่งมีฤทธิ์เหาะไปถามข้อข้องใจของตนกับเทวดา พรหม ก็ไม่มีใครแก้ข้อสงสัยได้ ท้าวมหาพรหมบอกให้มาถามพระพุทธเจ้า เท่ากับแสดงว่าถึงจะมีฤทธิ์มากมาย ฤทธิ์ก็ช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ คำสอนที่ถูกต้องสำคัญกว่า

4.12 โลหิจจสูตร โลหิจจพราหมณ์เข้าใจผิดว่า ผู้ที่บรรลุธรรมแล้วไม่ควรสอนคนอื่นเพราะจะเป็นคนโลภ เช่น โลภอยากได้สาวก อยากได้ชื่อเสียง พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า คนที่ไม่สอนคนอื่นนั่นแหละเป็นคนโลภ เป็นคนเบียดเบียนคนอื่น ไม่อนุเคราะห์คนอื่น เหมือนผู้บริโภคของที่ควรบริโภคแต่เพียงผู้เดียว ไม่เผื่อแผ่แก่คนอื่น แล้วทรงแสดงศาสดา 3 ประเภทที่ควรติ (1. ปฏิบัติไม่ได้ตามที่สอนเขา 2. ตนปฏิบัติไม่ได้ตามที่สอน แต่สาวกตั้งใจฟังคำสอนไม่ละทิ้ง 3. ตนปฏิบัติได้ตามที่สอนเขาแต่สาวกไม่ตั้งใจฟังพากันละทิ้ง) และศาสดาที่ควรสรรเสริญ คือศาสดาที่มีคุณ สมบัติสมบูรณ์ในตัวเอง ทั้งที่สาวกตั้งอยู่ในศีล ไม่ฌานทั้ง 4 และวิชชา 8 ประการ

4.13 เตวิชชสูตร ว่าด้วยวิธีการปฏิบัติเพื่อเข้าถึง "พรหมัน" (หรือ "พระพรหม") จุดหมายสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ พราหมณ์หนุ่มสองคนคือ วาเสฏฐะ กับ ภารทวาชะ ต่างอ้างว่าตนรู้ทางที่จะเข้าถึงพระพรหม ตกลงกันไม่ได้ไปถามพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงทักว่า ที่พวกเขาอ้างว่า รู้วิธีการที่จะเข้าถึงพระพรหมนั้น เคยเห็นพระพรหมบ้างไหม พวกเขาบอกว่าไม่เคย ทรงถามต่อว่า อาจารย์ อาจารย์ของอาจารย์ ฯลฯ จนถึงเจ็ดชั่วยุคของพวกเขามีใครเคยยืนยันไหมว่าเคยเห็นพระพรหม ได้รับคำตอบว่า "ไม่มี" จึงตรัสสำทับว่า ก็เมื่อพระพรหมตนก็ไม่เคยเห็น ย่อมฟังไม่ขึ้น พราหมณ์ผู้รู้ไตรเพทเหล่านี้ต่างก็สอนต่อๆ กันมาอย่างมืดบอด ไม่ต่างอะไรกับคนตาบอดจับเชือกจูงคนตาบอด คนต้น คนกลาง และคนปลายต่างมองไม่เห็นกัน ตอนท้ายพระสูตรพระองค์ทรงแสดงวิธีการเข้าถึงพระพรหม(ในความหมายของพระองค์) คือ ต้องออกบวช ประพฤติพรหมจรรย์ ดำรงอยู่ในศีล ละนิวรณ์ แผ่เมตตาจิตไปสู่ทิศทั้งหลายอย่างหาประมาณมิได้ อย่างนี้จึงจะถือว่าเข้าถึงพระพรหมจริง

4.14 มหาปทานสูตร ว่าด้วยประวัติของพระพุทธเจ้าในอดีต 6 พระองค์ คือ พระวิปัสสี พระสิขี พระเวสสภู พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ รวมเป็น 7 ทั้งประวัติของพระโคตมะของเราด้วย พระสูตรนี้มีข้อความควรทราบคือ "ธรรมดาของพระโพธิสัตว์" 15 อย่างเช่น เวลาลงสู่พระครรภ์มีสติสัมปชัญญะ อยู่ในพระครรภ์ไม่เปื้อนมลทิน ประสูติแล้วทรงดำเนินด้วยพระบาท 7 ก้าว เป็นต้น มีในพระสูตรนี้ มิใช่ว่าอาจารย์รุ่นหลังแต่งพระพุทธประวัติว่าเอาเอง


(มีต่อ 7)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.ค.2006, 11:47 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

4.15 มหานิทานสูตร ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท พระอานนท์นึกว่า ปฏิจจสมุปบาทนี้ง่าย พระพุทธเจ้าทรงห้ามมิให้คิดเช่นนั้น แท้จริงเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง หยั่งรู้ได้ยากยิ่ง แล้วทรงแสดงปฏิจจสมุปบาท ทั้งฝ่ายอนุโลม (แต่น่าสังเกตว่า มิได้สาวไปถึงอวิชชา สาวไปถึงวิญญาณแล้วย้อนกลับ) พระสูตรนี้แสดงปฏิจจสมุปบาทสังคมด้วย (โปรดดูข้อสังเกตข้างท้าย)

4.16 มหาปรินิพพานสูตร บันทึกเหตุการณ์ช่วงสุดท้ายแห่งพระพุทธเจ้า จนถึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน เสด็จดำเนินออกจากเมืองไพศาลี ไปอัมพลัฏฐิกา ปาฏิกคาม นาทิกคาม อัมพวันของอัมพปาลี เสด็จจำพรรษาที่เวฬุวคาม (ทรงปลงอายุสังขารที่นี่) ทรงเรียกประชุมสงฆ์ที่ป่ามหาวันแสดงโพธิปักขิยธรรม 37 เสด็จไปภัณฑคาม หัตถิคาม อัมพคาม โภคนคร (ทรงแสดงมหาปเทศ 4 ที่นี่) เสด็จสู่เมืองปาวา (เสวยสูกรมัททวะของนายจุนทะ) ทรงประชวรหนัก เสด็จเมืองกุสินารา ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน ของพวกมัลลกกษัตริย์ พระสูตรนี้มีหลักธรรมที่ควรทราบมาก โดยแยกเฉพาะพระพุทธวจนะที่แสดง "เจตนารมณ์ของพระองค์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในอนาคต" (ซึ่งมีผลกระทบต่อสถาบันสงฆ์อย่างใหญ่หลวงในกาลต่อมา) และปัจฉิมโอวาทที่สำคัญยิ่ง

4.17 มหาสุทัสสนะสูตร แสดงประวัติเมืองกุสินารา ในอดีตเป็นเมืองใหญ่ปกครองโดยพระเจ้ามหาสุทัสสนะ เป็นกาลเล่าพงศาวดารให้พระอานนท์ฟัง แต่ตอนท้ายทรงสรุปเห็นกฎของไตรลักษณ์น่าฟังยิ่ง

พระเจ้าจักรพรรดิมหาสุทัสสนะถึงจะครองเมืองมากมาย แต่ก็ประทับอยู่เมืองเดียว มีปราสาทมากมาย ก็ประทับอยู่เพียงปราสาทเดียว มีช้างมากมายก็ขึ้นทรงเพียงเชือกเดียว มีมเหสีมากมายก็คอยปรนนิบัติคราวละคนเดียว มีพัสตราภรณ์มากมายก็นุ่งห่มได้คราวละชุดเดียว มีอาหารมากมายก็เสวยได้คราวลบะทะนานเดียว ผลสุดท้ายก็แตกดับ ดูเอาเถิดสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้แหละ

4.18 ชนวสภสูตร ว่าด้วยพระเจ้าพิมพิสารถูกพระเจ้าอชาตศัตรูโอรสทรมานให้อดอาหารจนสิ้นพระชนม์ไปเกิดเป็นยักษ์ชื่อชนวสกะ (คำว่ายักษ์ ในที่นี้หมายถึงเทวดาชั้นจากจาตุรมหาราช)

4.19 มหาโควินทสูตร แสดงถึงโควินทพราหมณ์ปุโรหิตคนสำคัญของพระเจ้าทิสัมปติ แนะนำพระเจ้าแผ่นดินจัดระบบการปกครองอย่างดี ต่อมาออกบวชสอนแนวทางเข้าถึงพระพรหมแก่ประชาชน ท้ายพระสูตรพระพุทธองค์ตรัสว่า โควินทพราหมณ์อย่างเก่งก็สอนแค่เข้าถึงพรหม แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เข้าถึงพระนิพพาน สูงกว่าพรหมโลก

4.20 มหาสมยสูตร แสดงถึงการประชุมของเทวดาทั้งหลาย มาเฝ้าพระพุทธเจ้าต่างก็กล่าวคาถาคนละบท แสดงความประพฤติชอบของพระสงฆ์และประกาศเข้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ

4.21 สักกปัญหาสูตร กล่าวถึงพระอินท์มาทูลถามปัญหา 10 ข้อ ต่อพระพุทธเจ้า เช่น เทวดา มนุษย์ เป็นต้น มีอะไรผูกมัด (ริษยา และความตระหนี่) ริษยาและตระหนี่เกิดจากอะไร (เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รักและสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก) เป็นต้น พระอินทร์อาศัยปัญจสิขะ คนธรรพ์เป็นผู้พาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหลังจากเข้าเฝ้าแล้ว ได้ประกาศตนถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ พระสูตรนี้มี "บทเพลงรัก" ของปัญจสิขะด้วย (โปรดอ่าน "เพลงรักจากพระไตรปิฎก" ของผู้บรรยายประกอบ)

4.22 มหาสติปัฏฐานสูตร ว่าด้วยการตั้งสติอย่างใหญ่ 4 อันเป็นเอกายนมรรค (ทางเอก และทางเดียว เพื่อทำให้แจ้งพระนิพพาน) 4 คือ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธัมมานุสปัสสนา

4.23 ปายาสิกราชัญญสูตร พระกุมารกัสสปปะโต้ตอบกับพระยาปายาสิ ผู้ไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ หลังจากได้ทดลองพิสูจน์ตามกรรมวิธีต่างๆ ของตนแล้ว พระกุมารกัสสปะยกเหตุผลมาชี้แจงจนสามารถทำให้พระยาปายาสิละทิ้งความเห็นผิดของตนในที่สุด พระสูตรนี้น่าสนใจตรงที่ความสามารถทำให้พระยาปายาสิ ละทิ้งความเห็นผิดของตนในที่สุด พระสูตรนี้น่าสนใจตรงที่ความสามารถของพระมหาเถระหาเหตุหาผลมาหักล้างฝ่ายที่คัดค้านได้อย่างคมคาย ควรศึกษาอย่างยิ่ง (กลวิธีการตอบคล้ายกับมิลินทปัญหามาก คมชัดแจ่มแจ้งด้วยอุปมา)

4.24 ปาฏิกสูตร พระสูตรนี้เล่าถึงสุนักขัตตะลิจฉวี ขอให้พุทธองค์แสดงปาฏิหาริย์ พระองค์ตรัสว่า ถึงจะแสดงหรือไม่แสดง พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ย่อมนำผู้ปฏิบัติให้สิ้นทุกข์โดยชอบอยู่แล้ว สุนักขัตตะไม่พอใจลาสิกขาหนีไป ทรงเล่าถึงปาฏิกะอเจลกะ (ชีเปลือย) ท้าพระพุทธเจ้าแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แข่งกับตน ครั้นเอาเข้าจริง ไม่กล้าสู้หน้าพระพุทธองค์

4.25 อุทุมพริกสูตร ว่าด้วยการโต้ตอบกับนิโคธปริพาชกเกี่ยวกับการบำเพ็ญตบะที่พวกปริพาชกถือว่าเป็นสิ่งสุดยอด พระองค์ตรัสว่า ตบะที่พวกเขาถือว่าบริสุทธิ์สุดยอดยังมีข้อบกพร่อง เช่น คนบำเพ็ญตบะแล้วอิ่มเอิบใจ เต็มไปด้วยความปรารถนา ยกตนข่มผู้อื่นเพราะตบะนั้น บำเพ็ญตบะเพราะใคร่จะได้ชื่อเสียง เป็นต้น แล้วทรงแสดงตบะที่เป็นยอดสูงขึ้นตามลำดับ คือ สังวร (ระวัง) 4 อย่าง กำจัด นิวรณ์ 5 เจริญพรหมวิหารแผ่ไปทั่วทิศ ระลึกชาติได้ ได้ทิพยจักษุ เห็นสัตว์ตายเกิดตามอำนาจกรรม แล้วตรัสว่ายังมีสูงกว่านี้อีก จนปริพาชกแปลกใจว่าเท่านี้ก็สูงที่สุดแล้วยังมีสูงกว่านี้อีกหรือ ตรัสตอบว่า "พระผู้มีพระภาครู้เองแล้ว แสดงธรรมเพื่อให้คนรู้ตามฝึกตนเองได้แล้ว จึงแสดงธรรมเพื่อฝึกคนอื่น สงบระงับ ข้ามพ้นเองแล้วจึงแสดงธรรมเพื่อการข้ามพ้น ดับเย็นลงแล้ว จึงแสดงธรรมเพื่อความดับเย็น" เท่ากับแสดงนัยให้เห็นว่า ยอดของตบะก็คือการปฏิบัติความดับเย็น (นิพพาน)


(มีต่อ 8)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.ค.2006, 11:51 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

4.26 จักกวัติตสูตร แสดงความเสื่อม ความเจริญ แห่งศีลธรรมอันเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันไป เท่ากับเป็นการแสดงปฏิจจะสมุปบาท หรือปัจจยาการแห่งทุกข์ของสังคม (โปรดดูข้อสังเกตข้างท้าย) ในพระสูตรนี้มีการกล่าวถึงพระศรีอริยเมตไตรยด้วย

4.27 อัคคัญญสูตร แสดงวิวัฒนาการของโลก โลกเกิดขึ้นได้อย่างไร มนุษย์เกิดขึ้นได้อย่างไร การแบ่งชั้นวรรณะ ระบอบการปกครอง ตลอดจนปัญหาสังคมเกิดขึ้นได้อย่างไร มีผู้กล่าวว่า พระพุทธเจ้ากล่าวตามความเชื่อเดิมของพวกพราหมณ์ แต่บางท่านว่าเป็นคติพุทธแท้ๆ แต่นั่นเป็นประเด็นย่อย ประเด็นหลักอยู่ที่

1) ชี้ว่า โลกมิได้ "ถูกสร้างเบ็ดเสร็จ" ขึ้นมาทันที แต่เป็นผลของวิวัฒนาการมาเป็นขั้นเป็นตอน ตามเหตุปัจจัย โดยกฎธรรมดาแห่งความสัมพันธ์ ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีวิทยาศาสตร์

2) ไม่ว่าคนจะเกิดมาอย่างไร ถูกแบ่งชั้นวรรณะอย่างไรก็ตาม สาระอยู่ที่ว่า ทุกคนมีความเป็นคนทัดเทียมกัน ทุกคนสามารถประพฤติดีปฏิบัติชั่ว และได้รับผลตามกฎธรรมชาติเสมอกันเมื่อประพฤติถูกต้องก็บรรลุนิพพานเหมือนกันหมด

3) จะเห็นกฎแห่งเหตุปัจจัยสัมพันธ์หรือปัจจยาการแห่งสังคมได้ชัดเจน คือ มนุษย์มิใช่ผู้กำหนดสภาพแวดล้อมอย่างเดียว และธรรมชาติแวดล้อมก็มิใช่ตัวกำหนดมนุษย์อย่างเดียว แต่เป็นกระบวนการอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นปัจจัยแก่กัน (ดูข้อสังเกตข้างท้าย)

4.28 สัมปสาทนียสูตร พระสารีบุตรประกาศความเลื่อมใส เชื่อมั่นในพระพุทธเจ้า ประกาศข้อที่น่าเลื่อมใสของพระพุทธเจ้า 15 ข้อ แล้วสรุปย้ำว่า "ไม่มีสมณพราหมณ์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ที่จะยิ่งไปกว่าพระผู้มีพระภาคในทางตรัสรู้"

4.29 ปาสาทิกสูตร ว่าด้วยพระธรรมวินัยที่กล่าไว้ไม่ดี และที่กล่าวไว้ดี รวมทั้งข้อปฏิบัติของสาวกตรัสแนะให้พระจุนทะ จัดระเบียบพระธรรมวินัย ตรัสแนะลักษณะสอบสวนพระธรรมวินัยตลอดถึงแนะข้อโต้ตอบกับลัทธิอื่นๆ ว่า ถ้าเขากล่าวหาอย่างนั้นๆ จงตอบอย่างนั้นๆ เป็นต้น มีข้อความนิยามความหมายของคำว่า "ตถาคต" (ที่พระองค์ใช้เป็นสรรพนามเรียกพระองค์เอง) ด้วย

4.30 ลักขณสูตร แสดงถึงมหาปริสลักษณะ 32 ประการ ซึ่งเป็นผลให้มีคติเป็น 2 ข้อ คือ ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ ถ้าออกบวชจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่น่าสังเกต คือ ลักษณะทางกายภาพทั้ง 32 ในพระสูตรไม่มีข้อใดที่เกินเลย หรือผิดมนุษย์ดังหนังสือรุ่นหลังแต่งเลยและที่เน้นอย่างหนึ่งก็คือ ความสมบูรณ์พร้อมแห่งพระลักษณะเหล่านี้เกิดมีได้เพราะองค์ทรงสร้างกุศลกรรมต่างๆ ในชาติก่อน (ดูข้อสังเกตข้างท้าย)

4.31 สิงคาลกสูตร พระสูตรนี้แสดงหลักธรรมพื้นฐานสำหรับผู้ครองเรือนจะพึงปฏิบัติเรียกว่าเป็น "ศีลของผู้ครองเรือน" เช่น ให้หลีกเลี่ยงอบายมุข รู้จักมิตรแท้มิตรเทียม เรื่องทิศหกเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว (โปรดดู นวโกวาท ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ และพจนานุกรมพุทธศาสตร์ของพระราชวรมุนี ประกอบ)

4.32 อาฏานาฏิยสูตร ว่าด้วยการรักษาอาฏานาฏิยนคร ซึ่งท้าวจาตุโลกบาล กราบทูลถวายพระพุทธองค์

4.33 สังคีติสูตร พระสารีบุตรเห็นศาสดามหาวีระนิพพานแล้วสาวกเถียงกัน เนื่องจากศาสดามิได้รวบรวมคำสอนเป็นหมวดหมู่ไว้ กลัวจะเกิดสภาพอย่างนี้ขึ้นในพระพุทธศาสนา จึงดำริ "สังคายนา" (ร้อยกรอง) พระธรรมวินัย โดยแสดงสูตรนี้เป็นตัวอย่าง มีการประมวลหลักธรรมไว้เป็นหมวดหมู่จากหมวดที่หนึ่งถึงหมวด 10

4.34 ทสุตตรสูตร เป็นเทศนาของพระสารีบุตรเช่นเดียวกัน ท่านได้ร้อยกรองพระธรรมวินัยเป็นหมวดหมู่อีกประเภทหนึ่ง ทำนองเดียวกับสังคีติสูตร แต่หัวข้อธรรมไม่ซ้ำกัน

5. ข้อสังเกตบางประการและจุดที่ควรเน้น

5.1 น่าสังเกตว่า การจัดหมวดหมู่พระสูตร มิได้จัดตามลำดับเนื้อหา (แต่ถือขนาดยาว สั้น) เป็นเกณฑ์ ชื่อพระสูตรก็ตั้งโดยไม่มีระบบแน่นอน บางสูตรตั้งชื่อตามเนื้อหา แต่อีกหลายสูตรเอาชื่อคนที่ฟังพระธรรมเทศนามาตั้ง เนื้อหาก็ไม่เป็นเอกภาพ มักกล่าวซ้ำกัน (เช่น เรื่องศีล 3 ระดับ เรื่องฌาน 4 เป็นต้น)

5.2 ภาษาในพระสูตร ต่างจากพระวินัยปิฎกบ้างเล็กน้อย ตรงที่ในพระวินัยปิฎกไม่ใช่ภาษาสนทนา เป็นความเรียงส่วนมาก โดยเฉพาะสิกขาบทแต่ละข้อ เป็นภาษาร้อยแก้วที่เรียงอย่างดีต่างจากในพระสุตตันตปิฎก ภาษาส่วนมากเป็นบทสนทนา จึงมักจะพูดข้อความเดียวกันซ้ำ อยู่เสมอ (คงต้องการให้ท่องจำได้ง่าย) โครงสร้างประโยคก็ไม่ยาก ไม่ซับซ้อนเหมือนในพระอธิธรรมปิฎก (ซึ่งเป็นภาษาเขียนที่เป็นระบบ) แต่ฉบับแปลเป็นภาษาไทย ผู้ไม่คุ้นกัน "ภาษาพระ" มักจะเข้าใจยากเพราะท่านแปลตามอักษรเกินไป เช่น สำนวนว่า "กายสส เภทา ปรมฺมรณา" ท่านที่จะแปลว่า "หลังจากตายไป" ก็แปลตามตัวว่า "เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก" เป็นต้น

5.3 พระสูตรเป็นเทศนาของพระพุทธเจ้าก็จริง แต่มิได้เป็นการบรรยายพระองค์เดียว ส่วนมากเป็นบทสนทนาโต้ตอบ ซักถาม คอยตะล่อมผู้ฟังให้เข้าหาบทสรุป บางครั้ง "คำตอบอยู่ที่คำถาม" คือ ผู้ถามเองนั้นแหละจะค้นพบคำตอบเองหลังจากพระองค์ทรงย้อนและชี้นำเเข้าหาจุด วิธีการเช่นนี้ ปรากฏว่า โสกราตีส นักปรัชญากรีก (ผู้มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยพระพุทธองค์) ก็นิยมใช้ ที่จริงพระพุทธเจ้าทรงมีวิธีตอบปัญหาหลายวิธี (โปรดดูวิธีการตอบปัญหาของพระพุทธเจ้าข้างหน้า)


(มีต่อ 9)
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 20 ก.ค.2006, 11:59 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.ค.2006, 11:54 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

5.4 ในการโต้ตอบสนทนานั้น จะเห็นว่าพระพุทธองค์ทรงรู้ดีกว่าคู่สนทนา จึงสามารถทำให้เขายอมรับโดยดุษณี เช่น ทรงรู้ประวัติศาสตร์ รู้ภูมิหลังของคู่สนทนา รู้จุดด้อย จุดเด่นของคู่สนทนา ดังกรณีโต้ตอบกับอัมพัฏฐมาณพ เรื่องวรรณะ บางครั้งทรงยกเหตุผลง่ายๆ ชัดแจ้งที่อีกฝ่ายหนึ่งยอมจำนนทันที เช่น อัมพัฏฐมาณพ อ้างว่า พวกพราหมณ์เกิดจากปากของพระพรหม จึงสูงกว่าวรรณะอื่น พระองค์จึงตรัสตอบว่า "ไม่จริง พราหมณ์ก็คลอดจากครรภ์ของนางพราหมณีเห็นๆ กันอยู่ ยังจะอ้างว่าเกิดจากปากพระพรหมที่ไหนกัน"

5.5 วิธีปฏิบัติตนเวลาคนอื่นติเตียนหรือสรรเสริญ ในพรหมชาลสูตรบอกวิธีวางตนเวลาคนอื่นเขาติเตียนหรือสรรเสริญ ซึ่งน่านำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้ด้วย โดยใช้หลักว่า

ถ้าคนอื่นติเตียนว่าร้ายเรา ไม่ควรอาฆาต โทมนัสน้อยใจ คับแค้นใจ เพราะถ้าทำเช่นนั้น จะมีแต่ผลเสีย ควรพิจารณาดูว่า ที่เขาว่านั้นจริงหรือไม่ ถ้าไม่จริงก็ชี้แจงเขาว่าที่กล่าวว่านั้นไม่เป็นจริง

ถ้าคนอื่นเขาสรรเสริญ ก็ไม่ควรเบิกบานใจ ดีใจ กระหยิ่มยิ้มย่องในคำชมนั้น เพราะถ้าทำเช่นนั้นจะมีแต่ผลเสีย ถ้าจริงตามที่เขาชม ก็รับรู้ในใจว่ามันเป็นจริงเท่านั้นก็พอ

5.6 เรื่องศีล 3 ระดับ (จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล) ความจริงเป็นศีลของพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่าคนที่กล่าวชมพระองค์นั้น อาศัยเกณฑ์การวัดหลายระดับ บางคนชมเพราะพระองค์มีจุลศีล บางคนชมเพราะมัชฌิมศีล บางคนชมเพราะมหาศีล หมายความว่า แล้วแต่คนชมนั้นตั้ง "มาตรฐาน" ไว้สูงหรือต่ำแค่ไหน แต่ไม่ว่าจะตั้งมาตรฐานระดับไหน พระพุทธเจ้าก็ทรงมีพร้อมให้ควรแก่การกล่าวชมได้สนิทใจ ศีลทั้ง 3 ระดับนี้ถ้าแปลตามตัวอักษร ไม่สื่อความหมาย

จุลศีล ควรแปลว่า ศีลระดับต่ำ หรือระดับหยาบๆ ที่มองเห็นได้ชัด เช่นการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งคนทั่วไปก็พอมีพอรักษาได้

มัชฌิมศีล ควรแปลว่า ศีลระดับกลาง หรือละเอียดขึ้นอีกหน่อย เช่น การไม่พรากของเขียว การไม่สะสมบริขาร การไม่ดูการละเล่นต่างๆ เป็นต้น

มหาศีล ควรแปลว่า ศีลระดับสูงหรือละเอียดยิ่งขึ้น เช่น การไม่เลี้ยงชีพด้วยดิรัจฉานวิชา เช่น ดูหมอ ทายลักษณะ ทำพิธีเข้าเจ้าทรงผี ดูฤกษ์ดูยาม บวงสรวง รดน้ำมนต์พ่นน้ำหมาก เป็นต้น
คำว่า "ดิรัจฉานวิชา" หมายเอาวิชาที่ "ขัดขวางต่อการบรรลุมรรคผล" หรือวิชาที่ไม่นำไปสู่การบรรลุ มิได้หมายถึง "วิชาเดรฉาน หรือวิชาเลวทราม" อย่างใด

อนึ่ง พระบาลีว่า "ติรจฺฉานวิชฺชาย มิจฺฉาชีเวน ชีวิกํ กปฺเปนฺติ" (ย่อมสำเร็จการเลี้ยงชีพผิดด้วยเตรัจฉานวิชา) ท่านผู้รู้บางท่านกล่าวว่า ท่านมิได้ห้ามเรียน แต่ห้ามมิให้นำเอาวิชาเหล่านี้ไปหากิน เพราะฉะนั้นการที่พระเรียนรู้ และใช้วิชานี้ช่วยเหลือชาวบ้าน หรือใช้เป็นสื่อสำหรับนำคนเข้าหาศาสนา ท่านไม่น่าจะผิด - ข้อนี้ฝากพิจารณาด้วย

5.7 ทิฐิ (หรือทฤษฎี) 62 เป็นอภิปรัชญาร่วมยุคสมัยพุทธกาล มีถึง 62 ก็จริง แต่สรุปแล้วมีอยู่ 7 เรื่องเท่านั้น

(1) เกี่ยวกับการตายแล้วเกิด มีสองทรรศนะ คือ พวกหนึ่งเห็นว่าตายแล้วเกิดอีก อีกพวกหนึ่งเห็นว่าไม่เกิด

(2) เกี่ยวกับสุขและทุกข์ บางพวกว่าไม่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเอง ดับเอง บางพวกว่ามีเหตุปัจจัย

(3) เกี่ยวกับสถานภาพของโลก บางพวกว่าโลกมีที่สุด บางพวกว่าไม่มีที่สุด บางพวกว่ามีที่สุดบางส่วน บางพวกก็ว่ามีที่สุดก็ไม่ใช่ ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่

(4) เกี่ยวกับสถานภาพของสรรพสิ่ง บางพวกว่าสรรพสิ่งนิรันดร บางพวกว่านิรันดรเพียงบางอย่าง

(5) เกี่ยวกับชีวิตหลังตาย บางพวกว่าตายแล้วยังมีสัญญา (ความจำ) อยู่ บางพวกว่าไม่มีสัญญา บางพวกว่าจะเรียกว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่เชิง

(6) เกี่ยวกับเป้าหมายสูงสุดของชีวิต บางพวกว่ากามารมณ์เป็นเป้าหมายสูงสุด บางพวกว่าการได้ฌานระดับต่างๆ เป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต

(7) อีกพวกหนึ่งมีทรรศนะไม่แน่นอน ไม่ยืนยันและปฏิเสธความเห็นใดๆ ถือว่าการปฏิเสธและยอมรับอะไรง่ายๆ อาจผิดพลาดขึ้นได้ ดังนั้น พวกนี้จึงไม่ผูกมัดตัวเองกับทฤษฎีใดๆ

สรุปทฤษฎี 62 ลงให้สั้นเพียง 2 ประการ คือ

- พวกหนึ่งเห็นว่ามีตลอดไป เที่ยงนิรันดร (อัตถิตา, สัสสตะ)
- พวกหนึ่งเห็นว่าขาดสูญ ไม่นิรันดร (นัตถิตา, อุจเฉทะ หรืออสสัสตะ)

พระพุทธศาสนาเป็น "มัชฌิมาปฏิปทา" (ทางสายกลาง) ไม่ใช่ทั้งสองอย่างข้างต้น พระพุทธเจ้าทรงสอนหลัก "ปฏิจจสมุปบาท" หรือ "อิทัปปัจจยตา" สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นหรือดับไป เพราะมีเงื่อนไขและหมดเงื่อนไข จะชี้ชัดลงไปตายตัวไม่ได้ แล้วแต่เงื่อนไข เช่น ถ้าตอบว่า "เกิด" ก็เป็นมิจฉาทิฐิ (สัสสตะ) ถ้าตอบว่า "ไม่เกิด" ก็เป็นมิจฉาทิฐิ (อุจเฉทะ)


(มีต่อ 10)
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 21 ก.ค.2006, 12:01 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.ค.2006, 11:58 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

5.8 วิธีการตอบปัญหาของพระพุทธเจ้า มี 2 อย่าง คือ

- เอกังสิกธรรม (ตอบทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข, ตอบตรงไปตรงมา)
- อเนกังสิกธรรม (ตอบมีเงื่อนไข)

แต่ในอังคุตตรนิกายในอรรถกถาแบ่งซอยออกเป็น 4 อย่าง โดยกระจายอเนกังสิกธรรมออกเป็น ปฏิปุจฉา (ย้อมถาม) วิภัชชะ (แยกความตอบ) และฐปนียะ (ปัญหาไม่ควรตอบ) เป็น 4 อย่างด้วยกัน โปรดดูแผนภูมินี้

5.9 เรื่องปฏิหาริย์ ในพระพุทธศาสนานั้นกล่าวถึงปาฏิหาริย์ 3 อย่าง แสดงว่ายอมรับว่าปาฏิหาริย์มีจริง เช่น การแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ การรู้ใจคนอื่น ทายใจคนอื่นได้ มีจริงทำได้จริง แต่มีข้อที่น่ากำหนดไว้ในใจอย่างหนึ่งคือ พระพุทธศาสนาไม่ได้ถือว่าปาฏิหาริย์เหล่านั้นเป็นจุดสูงสุดของชีวิต ตรงข้ามพระองค์กลับยกย่องว่า การแสดงธรรมให้คนฟังรู้แจ้งเห็นจริงเท่านั้นเป็นปาฏิหาริย์อย่างแท้จริง พระองค์ไม่สนับสนุนให้สาวกแสดงปาฏิหาริย์ แม้กระทั่งพระองค์เองก็มิได้ทรงใช้อิทธิปาฏิหาริย์อย่างพร่ำเพรื่อ จะทรงใช่ก็ต่อเมื่อต้องการเปลี่ยนให้เป็นสื่อนำไปสู่อนุศาสนีปาฏิหาริย์เท่านั้น พระพุทธศาสนามิอยู่บนรากฐานของอิทธิปาฏิหาริย์ แม้จะตัดอิทธิฤทธิ์ออก พระธรรมคำสอนของพระองค์ก็ยังทำให้ผู้ปฏิบัติตามได้บรรลุมรรคผลอยู่เช่นเดิม

5.10 ในกูฏทันตสูตร แสดงวิธีแก้ปัญหาสังคมที่จะให้ได้ผลที่สุดคือ อาชญากรรมปราบไม่ได้ด้วยวิธีการรุนแรง เช่น ฆ่า จองจำ เพราะยิ่งฆ่าก็ยิ่งจะมีมากขึ้น ตัวตายตัวแทน การปราบอาชญากรรมชนิดถอนรากถอนโคนนั้น จะต้องทำโดยการจัดระบบเศรษฐกิจให้ดี ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ให้ทุกคนมีอาชีพ มีรายได้พอแก่อัตภาพ นับว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ทันสมัย และใช้ได้กระทั่งทุกวันนี้ ด้วยวิธีนี้เท่านั้น "ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลาย จะปราศจาก เสี้ยนหนาม ไม่ถูกบีบคั้น รื่นเริงบันเทิงใจ อุ้มลูกฟ้อนรำไปมา สนุกสนาน บ้านช่องก็ไม่ต้องปิดประตูลั่นกุญแจ"

5.11 หลักปฏิจจสมุปบาท นอกจากจะเป็นทฤษฎีว่าด้วยการเกิดและการดับแห่งทุกข์แล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้อธิบายกฎแห่งปัจจัยสัมพันธ์อื่นๆ ได้อีกด้วย พูดง่ายๆ ปฏิจจสมุปบาทเดิมเป็นหลักแสดงความเกิด ทุกข์แห่งชีวิต แต่อย่างหลังแสดงความทุกข์แห่งสังคม ดังนี้

อีกสูตรหนึ่ง (จักกวัตติสูตร) แสดงไว้ดังนี้

ผู้ปกครองไม่ปันทรัพย์แก่ผู้ยากไร้ - ความยากจนระบาดไปทั่ว - อทินนาทาน - การใช้อาวุธ - อภิชฌา - พยาบาท - มิจฉาทิฐิ - อธรรมราคะ - ความละโมบ - มิจฉาธรรม - ไม่นับถือพ่อแม่ สมณพราหมณ์ - อายุ วรรณะเสื่อม

ในอัคคัญญสูตร แสดงวิวัฒนาการของโลกตามหลักปัจจยาการสังคมดังนี้

คนเกียจคร้านสะสมอาหารไว้กิน - ต้องแบ่งปันเขตแดนกัน - คนโลภลักส่วนของคนอื่น - เกิดการติเตียน กล่าวเท็จ ทำร้ายกัน - ต้องตั้งคนมาปกครองเพื่อความสงบ - เกิดกษัตริย์ขึ้น - บางพวกเกิดความเบื่อหน่ายความชั่วร้ายของสังคม ออกบำเพ็ญฌานในป่า ท่องมนต์เขียนตำรา - เกิดพราหมณ์ขึ้น - คนมีครอบครัวประกอบอาชีพต่างๆ เกิดแพศย์ขึ้น - คนนอกนี้ทำงานเล็กๆ น้อยๆ เกิดศูทรขึ้น - เกิดการดูถูกกันในสังคม ทุกข์ของสังคมก็เกิด

แต่ถ้าวรรณะทั้ง 4 บางพวกออกบวชเป็นสมณะปฏิบัติธรรมก็แก้ปัญหาการแบ่งวรรณะการดูถูกกันได้ ทุกข์ของสังคมก็หมดไป

5.12 พุทธปณิธานของพระพุทธเจ้า มีอยู่ในมหาปรินิพพานสูตร คือ พระองค์ตั้งพระทัย จะไม่ปรินิพพาน จนกว่าพุทธบริษัทของพระองค์จะมีความพร้อมทุกประการคือ

(1) การศึกษาพระธรรมวินัยจนมีความรู้แตกฉาน แกล้วกล้าในธรรม
(2) ปฏิบัติธรรมจนสามารถสัมผัสผลอันควรแก่การปฏิบัติ
(3) สามารถแสดงธรรมได้ดี ถ่ายทอดให้คนเข้าใจแจ่มแจ้ง
(4) เมื่อมีผู้กล่าวจ้วงจาบ หรือให้ร้ายบิดเบือนพระศาสนาก็สามารถชี้แจง ขจัดปัดเป่าให้หมดไป ทำการปกป้องพระศาสนาไว้ได้

5.13 สูกรมัททวะ ที่นายจุนทะถวายพระพุทธเจ้านั้น เราแปลกันว่า "เนื้อสุกรอ่อน" แต่น่าจะไม่ใช่ ในอรรถกถาตีความไว้ 3 นัย คือ

(1) เนื้อสุกรอ่อน
(2) ข้าวหุงด้วยนมโค
(3) ยาสมุนไพร บางท่านว่าเห็ดไม้จันทน์


(มีต่อ 11)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 ก.ค.2006, 12:08 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ข้อน่าเป็นไปได้น่าจะเป็นข้อ (3) (โปรดอ่านพุทธศาสนา ทัศนะและวิจารณ์ของผู้บรรยายประกอบ)

5.14 มหาปุริสลักษณะ ในพระไตรปิฎก (ลักขณสูตร) เป็นข้อที่เป็นไปได้เพราะไม่มีลักษณะอะไรเกินเลยดังที่หนังสือรุ่นหลังเขียน (เช่น มีชิวหาใหญ่ หนังสือรุ่นหลังเขียนว่า มีพระชิวหายาว ตวัดเลียรอบท้ายทอยได้ เป็นต้น) ขอนำมาลงไว้เพื่อศึกษาพิจารณาดังต่อไปนี้

(1) พระบาทประดิษฐานเป็นอันดี (เรียบงาม)
(2) ณ ฝ่าพระบาทมีจักร มีซี่กงบริบูรณ์
(3) ส้นพระบาทยาว
(4) พระองคุลียาว
(5) ฝ่าพระหัตถ์ ฝ่าพระบาทนุ่ม
(6) พระบาทและพระหัตถ์ลายดุจตาข่าย
(7) พระบาทเหมือนสังข์คว่ำ
(8) พระชงฆ์เรียวเหมือนแข้งทราย
(9) พระหัตถ์ทั้งสองยาวยืนคลำถึงพระชานุ
(10) พระคุยหะเร้นในฝัก
(11) พระฉวีดังทอง
(12) พระฉวีละเอียด
(13) พระโลมชาติเกิดขุมละเส้น
(14) พระโลมชาติปลายช้อนขึ้นขดเป็นทักษิณาวัตร
(15) พระวรกายตรง
(16) พระมังสะเต็มในที่ 7 สถาน
(17) กึ่งพระกายท่อนบนเหมือนท่อนหน้าของสีหะ
(18) ระหว่างพระอังสะเต็ม
(19) วาเท่ากับพระวรกาย
(20) พระศอกลม
(21) ปลายเส้นประสาทรับรสอาหารอย่างดี
(22) พระหนุดุจคางราชสีห์
(23) พระทนต์ 40 ซี่
(24) พระทนต์เรียบเสมอ
(25) พระทนต์ไม่ห่าง
(26) พระทาฐะขาวงาม
(27) พระชิวหาใหญ่
(28) พระสุรเสียงไพเราะดังเสียงพระพรหม
(29) พระเนตรดำสนิท
(30) ดวงพระเนตรดุจตาโค
(31) อุณาโลมขาวอ่อนเกิดระหว่างพระขนง
(32) พระเศียรดุจประดับกรอบพระพักตร์

ข้อที่น่าสังเกต "สุวณฺณวณฺโณ" พระฉวีวรรณดังทอง (ผิวเหลือง) ไม่ขาวเหมือนฝรั่ง (อารยัน) จึงมีผู้สังเกตว่า พระพุทธองค์ไม่ใช่อารยัน หรือฝรั่งแท้ คงเป็นเชื้อสายมงโกลเลียน (เป็นเพียงข้อเสนอพิจารณาเท่านั้น)

5.15 พุทธวจนะเกี่ยวกับพระอานนท์ว่า "อานนท์ ต่อไปภายหน้า ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยบ้างก็ได้" แสดงถึงเจตนารมณ์ของพระองค์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในอนาคต ทรงรู้ว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไป สิกขาบทบางข้ออาจไม่เหมาะสมและยากจะรักษาไว้ได้ จึงทรงวางหลักการกว้างๆ ไว้ให้ แต่บังเอิญพระอานนท์มิได้ทูลถามว่าสิกขาบทเล็กน้อยคือข้อไหน พระสงฆ์จึงยุติกันไม่ได้ เลยมีมติคงไว้ตามเดิม จากจุดนี้เอง ทำให้พระสงฆ์แตกแยกออกเป็นนิกายต่างๆ ต่อมา

๕.๑๖ วิเคราะห์มหาปรินิพพานสูตร

๑. เรื่องวัสสการพราหมณ์เข้าเฝ้า

วัสสการพราหมณ์เป็นปุโรหิตของพระเจ้าอชาตศัตรูกษัตริย์ผู้ครองเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ในช่วงปลายพุทธกาล เจ้าชายอชาตศัตรูถูกพระเทวทัตยุยง จับพระราชบิดา คือ พระเจ้าพิมพิสารขังคุกให้อดอาหารจนสิ้นพระชนม์ พระเทวทัตเองก็แพ้ภัยตัวเอง ถูกแผ่นดินสูบ พระเจ้าอชาตศัตรูได้สำนึกในความผิดมหันต์ของตน จึงเข้าเฝ้าฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ถวายตนเป็นสาวก นับถือพระรัตนตรัย ถวายความอุปถัมภ์แด่พระพุทธศาสนาอย่างแข็งขัน (หลังพุทธปรินิพพานก็ได้ทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่หนึ่งจนเสร็จสิ้น)

ในเวลานั้นมีแคว้นที่ยิ่งใหญ่อยู่แคว้นหนึ่ง มีระบอบการปกครองแบบ "สามัคคีธรรม" คือปกครองเป็นหมู่คณะเรียกว่าเหล่ากษัตริย์ "ลิจฉวี" โดยหัวหน้าหรือประชุมที่รับเลือกขึ้นมาบริหารประเทศผ่านรัฐสภาคณะผู้บริหารอยู่เป็นวาระ ครบวาระแล้วก็เลือกตั้งกันใหม่ แคว้นดังกล่าวนี้ชื่อแคว้นวัชชี มีเมืองหลวงชื่อไพศาลี แปลว่าเมืองที่กว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งก็ไพศาลสมชื่อ หนังสืออรรถกถาได้อธิบายความยิ่งใหญ่มั่งคั่งของเมืองนี้ไว้มากมาย

มหาราชแห่งมคธรัฐ คือ พระเจ้าอชาตศัตรู มีพระประ สงค์จะครอบครองเมืองไพศาลี ยกทัพเข้าตีหลายครั้งไม่สำเร็จสักที จึงรับสั่งให้วัสสการพราหมณ์ไปเข้าเฝ้าพระ พุทธเจ้า ให้ไปเล่าถึงความแข็งแกร่งของแคว้นวัชชีของกษัตริย์ลิจฉวีให้พระพุทธองค์ทรงทราบ แล้วคอยกำหนดจดจำว่าพระพุทธองค์จะรับสั่งอย่างไร พูดง่ายๆ ว่าอยากให้ไปขอคำปรึกษาว่าทำอย่างไรจึงจะตีแคว้นวัชชีได้ แต่ไม่กล้าบอกให้วัสสการพราหมณ์กราบทูลตรงๆ เพราะถ้าทำอย่างนั้น พระพุทธองค์คงไม่ตรัสบอกแน่นอน การแนะนำให้เมืองหนึ่งไปโจมตีอีกเมืองหนึ่ง มิใช่วิสัยของพระบรมครูแห่งชาวโลกอยู่แล้ว

วัสสการพราหมณ์คนนี้คงมิได้นับถือพระพุทธศาสนา สังเกตจากคำพูดที่กราบทูลพระพุทธองค์ว่า "โภ โคตม" (ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ) คนต่างลัทธิเท่านั้นที่ใช้คำพูดว่า "โคตม" กับพระพุทธองค์ สาวกพระพุทธองค์จะใช้คำว่า "ภนฺเต"

วัสสการพราหมณ์กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า พระเจ้าอยู่หัวแห่งเมืองราชคฤห์ (อชาตศัตรูเวเทหิบุตร) ฝากถวายบังคมด้วยเศียรเกล้า แล้ววัสสการพราหมณ์ได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่า พระเจ้าอชาตศัตรูกษัตริย์แห่งมคธรัฐโจมตีแคว้นวัชชีอย่างไรก็ไม่สามารถจะตีแตกได้ แคว้นวัชชีของกษัตริย์ลิจฉวีเข้มแข็งเหลือเกิน

พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสกับวัสสการพราหมณ์ ทรงหันไปตรัสกับพระอานนท์พุทธอุปัฏฐากซึ่งนั่งถวายงานพัดอยู่ข้างๆ ตรัสถามพระอานนท์ว่า เคยได้ยินไหมว่ากษัตริย์ลิจฉวีมีคุณสมบัติ ๗ ประการ อันเป็นทางทำให้มีแต่ความเจริญ ไม่มีเสื่อม ทรงถามทีละข้อๆ พระอานนท์กราบทูลว่าเคยได้ยิน คุณสมบัติ ๗ ประการ หรืออปริหานิยธรรม ๗ ประการที่เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีประพฤติอยู่เป็นประจำ ได้นำมาลงไว้แล้ว

วัสสการพราหมณ์เป็นคนฉลาด พอได้ฟังอย่างนี้แล้วก็ได้คิดว่าที่พวกกษัตริย์ลิจฉวีเข้มแข็งข้าศึกศัตรูไม่สามารถเอาชนะได้เพราะมีความสมัครสมานสามัคคีกัน ทางเดียวที่จะตีแตกได้ต้องหาทางทำลายความสามัคคีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี

ข้อนี้เป็นความฉลาดของวัสสการพราหมณ์เอง มิใช่พระพุทธเจ้าท่านชี้แนะแต่ประการใด จะหาว่าพระองค์ทรงบอกใบ้หรือชี้แนะให้กษัตริย์สองเมืองรบรากันนั้น ไม่ถูกต้องแน่นอน เพราะพระพุทธจริยาวัตรของพระองค์ทรงเต็มเปี่ยมด้วยพระมหากรุณา มุ่งให้สรรพสัตว์รักใคร่ปรองดองกันฉันญาติพี่น้อง ส่วนใครฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระองค์แล้วจะนำไปคิดไปใช้ในแง่ลบเบียดเบียนคนอื่น เป็นความผิดของผู้อื่นเอง

หลังจากวัสสการพราหมณ์จากไปแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วทรงแสดงอปริหานิยธรรม (หลักแห่งความไม่เสื่อม) สำหรับพระภิกษุไว้ ๖ นัย ในที่นี้จะขอนำมาให้รับทราบไว้ ๒ นัย คือ

๑. อปริหานิยธรรม ๗ นัยที่ ๑

๑) หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

๒) พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจสงฆ์ที่จะต้องทำ

๓) ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติ ไม่ล้มล้างสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้

๔) ภิกษุเหล่าใดเป็นใหญ่ เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายกเคารพนับถือภิกษุเหล่านั้นเห็นถ้อยคำของท่านเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง ตีความง่ายๆ ก็คือ ให้เคารพพระผู้ใหญ่ เชื่อฟังคำตักเตือนสั่งสอนของพระผู้ใหญ่

๕) ไม่ลุอำนาจตัณหาที่เกิดขึ้น หมายความว่า ไม่ตกอยู่ในอำนาจความทะยานอยากเพราะความทะยานอยากจะชักจูงให้ออกนอกธรรมนอกวินัย

๖) ยินดีในเสนาสนะป่า คือ ยินดีอยู่อย่างสงบในป่าในดง

๗) ตั้งสติระลึกเสมอว่า เพื่อนพรหมจารีที่มีศีล ที่ยังไม่มาก็ขอให้มา ที่มาแล้วก็ขอให้อยู่เป็นสุข หมายความว่ามีความปรารถนาดีต่อเพื่อนพระภิกษุที่ทรงศีลด้วยกัน ยินดีต้อนรับให้ท่านเหล่านั้นมาอยู่ด้วยกันอย่างผาสุก

๒.อปริหานิยธรรม ๗ นัยที่ ๒

๑. ไม่มัวเพลิดเพลินในการงานต่างๆ เช่น การเย็บจีวร การทำบริขาร การก่อสร้าง จนเสียการศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติธรรม

๒. ไม่มัวเพลิดเพลินในการพูดคุย

๓. ไม่มัวเพลิดเพลินกับการนอน

๔. ไม่มัวเพลิดเพลินกับการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ คือ การคบหาสมาคมกับคนมาก

๕. ไม่มีความปรารถนาลามก ไม่ตกอยู่ในความปรารถนาลามก ผิดสมณวิสัย

๖. ไม่คบมิตรชั่วที่ชักพาให้ประพฤตินอกธรรมนอกวินัยเป็นอลัชชี

๗. ไม่นิ่งนอนใจ พยายามฝึกฝนตนเพื่อให้ได้บรรลุคุณวิเศษยิ่งๆ ขึ้นไป

ถ้าพระภิกษุทั้งหลายปฏิบัติตามนี้เคร่งครัด รับรองได้ว่าจะมีแต่ความเจริญในพระศาสนาไม่มีความเสื่อมเลย

กล่าวถึงวัสสการพราหมณ์ หลังกลับจากเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วจะไปทำอะไรนั้น พระสูตรนี้ไม่ได้พูดถึง แต่เราทราบจากแหล่งข้อมูลอื่นว่าวัสสการพราหมณ์ได้ไปกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรูให้ไปตีเมืองไพศาลีของกษัตริย์ลิจฉวี โดยวางกลอุบายอันแนบเนียน คือ "แผนยอมเจ็บตัว" ในที่สุดก็สามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนที่วางไว้

แผนยอมเจ็บตัวที่ว่าก็คือ ให้พระเจ้าอชาตศัตรูสั่งให้โบยด้วยหวายจนเนื้อแตกไปทั้งตัว แล้วก็ให้ไปปล่อยไว้ชายแดนเมืองไพศาลี หนีไปเข้ากับราชสำนักเมืองไพศาลี พยายามทำตนให้เป็นที่โปรด ปรานของพวกกษัตริย์ลิจฉวี จนได้รับความไว้วางใจตั้งให้เป็นพระอาจารย์ของยุวกษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลาย เมื่อได้โอกาสวัสสการพราหมณ์จอมเจ้าเล่ห์ก็ยุยงให้เจ้าชายน้อยๆ ของพวกลิจฉวีแตกกัน เมื่อลูกๆ ทะเลาะกัน ก็พาลพาให้พ่อแม่ทะเลาะกันไปด้วย เพราะต่างฝ่ายต่างก็เข้าข้างลูกของตน

เมื่อแน่ใจว่ากษัตริย์ลิจฉวีผู้เกรียงไกรแตกสามัคคีกัน แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ก็ส่งข่าวไปยังกษัตริย์แห่งมคธรัฐ ไม่ใช่ให้มารอ "เสียบ" แต่ให้ยกมาขยี้ให้แหลกลาญเลยทีเดียว ในที่สุดแคว้นวัชชีก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของแคว้นมคธ ภายใต้การปกครองของ อชาตศัตรูมหาราช

เรื่องนี้ ชิต บุรทัต กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ ได้รจนาเป็นคำฉันท์ไพเราะเพราะพริ้งมาก ใช้เป็นหนังสือเรียนของเด็กไทยสมัยก่อนชื่อว่า สามัคคีเภทคำฉันท์ เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักแล้วกระมัง ถ้าอยากรู้ว่าคนรุ่นปู่รุ่นพ่อเขาได้ศึกษาวรรณคดีที่มีอรรถรสลึกซึ้งกินใจ จนท่องบทอาขยานขึ้นใจกันอย่างไร ก็ขอให้ไปหามาอ่านดู

ข้อมูลเกี่ยวกับวัสสการพราหมณ์น่าสนใจ แกถือตัวว่าเป็นมหาอำมาตย์ของราชสำนัก มีความรู้ดี จึงไม่ค่อยเคารพพระสงฆ์ (ข้อนี้ยืนยันว่าวัสสการพราหมณ์มิใช่ชาวพุทธ) ว่ากันว่า พระธนิยะถูกหาว่าลักไม้หลวงจนเป็นต้นเหตุปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ ก็เพราะวัสสการพราหมณ์เป็นคนเอาเรื่อง ครั้งหนึ่งเขาเห็นพระมหากัจจายนะเดินลงจากเขาคิชฌกูฏ พูดขึ้นว่า ท่านรูปนี้เป็นเหมือนลิง เมื่อมีผู้ขอให้ไปขอขมาเขาก็ไม่ยอม ภายหลังพระพุทธเจ้าทรงทราบตรัสว่า ถ้าวัสสการพราหมณ์ไม่ขอขมาท่านมหากัจจายนะ ตายไปจะเกิดเป็นลิงในพระเวฬุวัน

วัสสการพราหมณ์ได้ยินก็กลัวจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ (แต่ไม่ยอมขอขมาพระ แสดงถึงความมีทิฐิมานะเหนียวแน่นจริงๆ) จึงไปปลูกไม้ผลไว้มากมายที่พระเวฬุวัน เผื่อเกิดเป็นลิงจริงตามพุทธพยากรณ์ จะได้มีผลไม้กิน ว่าอย่างนั้นเถอะ

และแล้วเขาก็ไปเกิดเป็นลิงจริงๆ หลังจากสิ้นชีวิต ข้อมูลนี้มีบันทึกไว้ในอรรถกถาทีฆนิกาย โดยพระอรรถกถาจารย์นามพุทธโฆษาจารย์ครับ

๒. ข้อคิดเรื่องการสร้างที่อยู่อาศัย และการบูชาเทวดา

มีประเด็นที่จะคุยกันต่อเกี่ยวกับวัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ของพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อแกได้คิดจากการที่ฟังพระพุทธเจ้าตรัสบอกพระอานนท์ว่า แคว้นวัชชีนั้นผู้คนมีความสามัคคีกันดีมาก จึงไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เขาจึงเข้าเฝ้าพระเจ้าอชาตศัตรู เตรียมวางแผนทำลายความสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชี ในขณะเดียวกันก็ร่วมมือกับสุนิธพราหมณ์สร้างเมือง "ยุทธศาสตร์" ไว้ที่ปาฏลิคามเพื่อป้องกันชาววัชชี

ปาฏลิคามเป็นชายแดนระหว่างแคว้นมคธกับแคว้นวัชชี มีแม่น้ำคงคากั้นเป็นเขตแดน ทางมคธจึงได้สร้างเมืองยุทธศาสตร์ขึ้นที่จุดนั้น

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึงสถานที่นั้น พวกเขาได้นิมนต์พระองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ฉันภัตตาหาร ณ ที่อยู่ของตน เมื่อพระองค์เสวยเสร็จ ทรงอนุโมทนาแล้วเสด็จต่อไป มหาอำมาตย์ทั้งสองตามส่งเสด็จยังท่าน้ำ พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ สถานที่จักเป็นที่อยู่อันประเสริฐ เป็นทางค้าขาย เป็นนครอันเลิศ ชื่อว่าปาฏลีบุตร เป็นที่แก้ห่อภัณฑะ นครปาฏลีบุตรจักมีอันตราย ๓ ประการ คือ ไฟไหม้ น้ำท่วม และการยุให้แตกกัน

พุทธพยากรณ์เป็นจริงในเวลาต่อมา กษัตริย์แห่งมคธรัฐได้ย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่เมืองใหม่นี้ เมืองหลวงใหม่นามว่าปาฏลีบุตร ได้เป็นเมืองท่า เป็นศูนย์กลางการค้าขาย เจริญรุ่งเรืองมาก แต่ก็ดังที่ทรงพยากรณ์ไว้ มีการยุแยงตะแคงรั่วกัน แตกสามัคคีกัน เกิดปฏิวัติรัฐประหารเปลี่ยนผู้ครองนครกันบ่อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงศ์กษัตริย์พิมพิสาร ประหนึ่งต้องอาถรรพณ์อชาตศัตรูฆ่าพิมพิสาร พระราชบิดาแห่งตนขึ้นครองราชย์ ท้ายรัชกาลอุภัยภัททะโอรสอชาตศัตรูก็ฆ่าอชาตศัตรูผู้เป็นพระราชบิดา ขึ้นครองบัลลังก์เช่นเดียวกัน แล้วในที่สุดก็ถูกโอรสของตนแย่งราชบัลลังก์โดยวิธีเดียวกัน จนประชาชนเห็นราชวงศ์นี้เป็นราชวงศ์ปิตุฆาต จึงร่วมใจกันปฏิวัติ โดยการนำของอำมาตย์คนหนึ่งเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่ ว่ากันอย่างนั้น

มีข้อที่น่าคิดอยู่นิดหนึ่ง ทันทีที่ทอดพระเนตรเห็นชัยภูมิพื้นที่นี้ พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า สถานที่นี้เทวดาชั้นสูง "หวงแหน" แล้วตรัสว่า เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่หวงแหนที่ใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ผู้มีศักดิ์ใหญ่ย่อมน้อมไปเพื่อสร้างนิเวศในส่วนนั้น เทวดาชั้นกลางหวงแหนที่ใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ชั้นกลางย่อมน้อมไปเพื่อสร้างนิเวศในส่วนนั้น

นี่กระมังครับที่โบราณท่านว่า "เจ้าที่" สถานที่ทุกแห่งจะมีเทวดา หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ยึดครองหรือหวงแหนอยู่ ถ้าผู้ไปครอบครองหรือสร้างบ้านเรือนอยู่ไม่มี "บุญ" หรือ "บารมี" พอ หรือไปอยู่โดยไม่บอกเล่าเก้าสิบ หรือไม่ได้รับความยินยอมจาก "เจ้าที่" เหล่านั้น ก็อาจอยู่ด้วยความไม่ผาสุกก็ได้ ตำราดูชัยภูมิพื้นที่ ตำราดู "ฮวงจุ้ย" จึงเกิดขึ้น และยึดถือกันเคร่งครัดในหมู่ประชาชนบางพวก

พระพุทธศาสนามิได้ปฏิเสธความมีอยู่แห่งเทวดาเหล่านี้ รวมถึงยอมรับว่ามีเทวดาระดับอื่นๆ ด้วย ในคัมภีร์ทางศาสนาก็พูดถึง "ภุมมเทวดา" และ "รุกขเทวดา" บ่อยครั้ง อย่างเช่นคราวภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ทูลลาพระพุทธเจ้าไปจำพรรษาในป่าแห่งหนึ่ง เหล่ารุกขเทวดาพากันลงจาก "วิมาน" (คือต้นไม้นั่นเอง) ของตนๆ มาอยู่บนพื้นดินเพื่อแสดงความเคารพพระสงฆ์ทั้งหมดก็คงจะจากไป แต่เมื่อเห็นพวกท่านไม่ไป จึงพากันหลอกหลอนให้เกิดความกลัว

ภิกษุเหล่านั้นกลับไปหาพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสให้สวดแผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทรงสอนให้ท่อง "กรณียเมตตสูตร" แล้วส่งกลับไปใหม่ เมื่อพวกเธอกลับไปใหม่ และสวดกรณียเมตตสูตรทุกเช้าเย็น จิตใจของเหล่ารุกขเทวดาทั้งหลายก็อ่อนโยน มีความรักใคร่ปรารถนาดีต่อพระสงฆ์ทั้งหลาย และพากันอารักขาให้พวกท่านจำพรรษาอยู่อย่างปลอดภัยตลอด ๓ เดือน

อีกเรื่องหนึ่งน่าคิดมาก คนที่ทรงศีลมีคุณธรรมนั้น เทวดาก็กลัวเกรง อนาถปิณฑิกเศรษฐีเป็นเศรษฐีที่ใจบุญ สร้างวัดพระเชตวันถวายพระพุทธเจ้า ถวายความอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาด้วยจิตศรัทธาอันเต็มเปี่ยม ตั้งโรงทานสี่มุมเมือง ใส่บาตรพระวันละหลายร้อยเป็นประจำ แม้บางครั้งการค้าขายจะขาดทุน ทรัพย์สินเงินทองร่อยหรอ ก็มิได้ลดจำนวนการทำบุญลง จนเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูคฤหาสน์ทนไม่ได้มาปรากฏตัว แล้วห้ามปรามว่า ไม่ให้ทำบุญมากขนาดนั้น ให้ลดๆ ลงบ้าง

เมื่อเศรษฐีรู้ว่าผู้ที่มาห้ามคือเทวดาที่อาศัยอยู่ที่ซุ้มประตู จึงออกปากขับไล่ ไม่ต้องการให้เทวดาจิตใจคับแคบอย่างนี้มาอยู่ด้วย เทวดาถูกขับไล่ ไม่มีที่อยู่ ต้องไปขอพระพุทธคุณเป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้ารับสั่งให้ไปขอขมาเศรษฐีเสีย เทวดาเธอจึงกลับไปขอขมา เศรษฐีได้ยกโทษให้ และอนุญาตให้อยู่ที่ซุ้มประตูตามเดิม

เรื่องอย่างนี้บันทึกอยู่ในคัมภีร์พระศาสนา ปุถุชนบางท่านก็บอกว่าไม่ทราบว่าจะเชื่อหรือไม่เพราะมองไม่เห็น การอ้างว่าไม่อยากเชื่อเพราะตัวเองไม่เห็น ไม่มีน้ำหนักอะไร เหมือนคนตาบอดสองข้าง ปฏิเสธว่าไม่มีพระจันทร์และพระอาทิตย์ เพราะเขามองไม่เห็น คนตาดีที่เขามองเห็นมีอยู่มากมาย

คนที่เขามี "อภิญญา" สามารถสื่อกับเทวดาได้ก็มีอยู่ แม้ปุถุชนธรรมดาๆ บางทีถ้าเทวดาเขาอยากจะติดต่อสื่อสารด้วยก็สามารถติดต่อได้ เช่น ผ่านความฝัน ผ่านความสังหรณ์ใจ หรือมองเห็นด้วยตาเนื้อ "จะว่าหลับอยู่ก็ไม่ใช่ ตื่นอยู่นี่แหละ มองเห็นหรือได้ยินเขาพูดกับเรา" (คำพูดอย่างนี้คงเคยได้ยินบางคนเขาเล่าให้ฟังมาบ้าง)

พระพุทธเจ้าตรัสให้ถึงเทวดาเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ยังเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏเช่นเดียวกับเรา บางสถานะเทวดาต่ำต้อยกว่ามนุษย์เสียอีก คือ ไม่มีโอกาสจะประพฤติพรหมจรรย์เพื่อพ้นทุกข์ดุจมนุษย์ เทวดาอยากเป็นพระอรหันต์ก็ต้องเกิดเป็นมนุษย์ก่อน ท่านจึงสอนให้ทำ "เทวตาพลี" (สงเคราะห์เทวดา)

พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาสั่งสอนชาวโลกเพื่อพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง คือ เพื่อบรรลุนิพพาน ดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล อันเป็นเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิตก็จริงอยู่ ใช่ว่าพระองค์จะละเลยประโยชน์และเป้าหมายธรรมดาๆ ที่โลกียชนพึงได้พึงถึง บางครั้งพระองค์ตรัสสอนหลักการและวิธีการสร้างความมั่นคงทางทรัพย์สิน พูดง่ายๆ ว่าทรงสอนวิธีหาเงินทอง ทรงสอนวิธีใช้เงินทองที่หามาได้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคมไว้อย่างเป็นระบบ อยากจะสรุปย่อมาให้ดูเป็นตัวอย่างสักข้อหนึ่งอันเรียกว่า "โภคอาทิยะ" ประโยชน์ที่ควรได้จากโภคทรัพย์ ๕ ประการ คือ เมื่อแสวงหาทรัพย์มาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง และโดยวิธีสุจริตแล้ว พึงปฏิบัติดังนี้

๑) เลี้ยงตัว มารดา บิดา บุตร ภรรยา และคนในปกครองทั้งหลายให้มีความสุข

๒) บำรุงมิตรสหายและผู้ร่วมกิจการงานให้เป็นสุข

๓) ป้องกันภยันตราย พูดอย่างสมัยนี้ก็ว่าประกันภัยไว้บ้างหลายๆ กรมธรรม์หน่อย ว่าอย่างนั้นเถอะ

๔) ทำพลี (สงเคราะห์) ๕ อย่าง คือ

- ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ ทั้งญาติฝ่ายตน และญาติฝ่ายสามี ภรรยา

- อติถิพลี ต้อนรับแขก กันไว้บางส่วนเป็นงบต้อนรับแขก

- ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับตามคติทางพุทธศาสนา

- ราชพลี บำรุงราชการด้วยการเสียภาษีอากร เป็นต้น ทำได้มากก็เสียมาก อย่าได้หลบเลี่ยงภาษี

- เทวตาพลี สงเคราะห์เทวดาตามความเชื่อถือ (ในกรณีเช่นนี้จะลงทุนสร้างศาลพระภูมิ หรือสถานที่ให้เทวดาอยู่ แล้วสักการบูชาตามความเหมาะสมก็ได้ หรือไม่สร้างศาลไม่ให้ที่อยู่ เวลาทำบุญกุศลใดมาก็ตั้งใจอุทิศให้เทวดา หรือแผ่เมตตาไปให้ อย่างนี้ก็จัดเข้าในเทวตาพลีเหมือนกัน)

๕) อุปถัมภ์บำรุงสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติธรรม ไม่ว่าพระสงฆ์ หรือ อุบาสก อุบาสิกาก็ตาม ใครที่ประพฤติธรรม เป็นผู้นำทางสติปัญญาแก่สังคม ก็ควรได้รับการอุปถัมภ์บำรุงตามสมควร

เห็นได้ชัดว่า พระพุทธศาสนามิได้ตั้งหน้าตั้งตาจูงคนเข้าถึงนิพพานท่าเดียว ใครที่บารมียังไม่ถึง อยากจะ "เวียนว่าย" อยู่ในโลกียวิสัย ก็ผ่อนปรนให้อยู่ต่อไป และให้อยู่อย่างมีคุณค่านั่นคือพึ่งตนได้ทางเศรษฐกิจ แล้วก็ให้สังคมได้พึ่งได้ด้วย

ขอวกกลับมายังวัสสการพราหมณ์และสุนิธพราหมณ์ ทั้งสองคิดว่าวันนี้ถ้าพระพุทธเจ้าเสด็จออกประตูเมืองประตูใด จะตั้งนามประตูตามพระนามของพระองค์ เสด็จข้ามแม่น้ำคงคา ณ ท่าใด จะตั้งชื่อตามพระนามของพระองค์เช่นกัน

ที่เมืองปาฏลีบุตร จึงเกิดมี "ประตูโคตมะ" และ "ท่าน้ำโคตมะ" มาแต่บัดนั้น พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นผู้คนกำลังลงเรือแพข้ามน้ำอย่างขวักไขว่ จึงตรัสปริศนาธรรมให้นำไปคิดว่า

อยากจะข้ามห้วงน้ำก็ต้องสร้างสะพานหรือพึ่งเรือแพ

ขณะที่ชนบางหมู่เหล่ากำลังสร้างสะพานหรือผูกทุ่นอยู่ คนมีปัญญาเขาข้ามได้ตั้งนานแล้ว

๓. ธรรมะที่ทรงแสดงมากที่สุด

คราวก่อนๆ ลืมบอกท่านผู้อ่านไปว่า อยากตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอนแก่พระอานนท์บ้าง แก่พระภิกษุสงฆ์ที่มาเข้าเฝ้าตามรายทางบ้าง ว่าทรงเน้นธรรมะข้อใดมากที่สุด ในช่วงที่เสด็จพุทธดำเนินจากกรุงราชคฤห์ มุ่งตรงไปยังเมืองกุสินารา สถานที่ดับขันธปรินิพพาน

ขณะประทับอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์นั้น พระบาลีบันทึกไว้ว่าธรรมีกถา (อ่านว่า "ทำมีกะถา" แปลว่า ถ้อยแถลงเกี่ยวกับธรรมะ) เรื่องไตรสิกขา พระองค์ได้ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายบ่อยที่สุด ทรงสรุปสารประโยชน์ของไตรสิกขาไว้ว่า

"อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ปัญญา สมาธิอันศีลอบรมแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ"

ไตรสิกขา เป็นระบบฝึกฝนอบรมกาย วาจา ใจ หรือฝึกฝนอบรมใน ๓ ด้านใหญ่ๆ คือทางปัญญา ทางศีล และทางจิต ไตรสิกขา คือ สรุปเนื้อหาของอริยมรรคมีองค์ ๘ ไตรสิกขากับอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นอย่างเดียวกันนั้นเอง

เพราะฉะนั้น ถ้าใครพูดว่าแนวทางปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ คือ ไตรสิกขา เรียกว่าเขาพูดถูก หรือใครจะพูดว่าแนวทางปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็เรียกว่าพูดถูกอีกเหมือนกัน

เหมือนพูดว่า ท่านนายกฯ ชวนเป็นผู้นำที่ดีที่สุดในยุคโลกาภิวัตน์นี้ กับพูดว่า "ลูกแม่ถ้วน" เป็นนายกฯ ที่ดีที่สุดในโลกยุคโลกาภิวัตน์ นี้ก็ใช้ได้เหมือนกันครับ ยิ่งถ้าคนพูดเป็นลูกน้องใกล้ชิดยิ่งจะดีใหญ่!

เพื่อความกระจ่าง ผมขอ "ขึ้นธรรมาสน์" เทศน์เรื่องนี้สักเล็กน้อย (อ้าว ไหนว่าจะเทศน์ใต้ธรรมาสน์ไง)


(มีต่อ 12)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 ก.ค.2006, 12:11 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย

1. โครงสร้างมัชฌิมนิกาย

มัชฌิมนิกาย

มูลปัณณาสก์ (ล.๑๒) มัชฌิมปัณณาสก์ (ล.๑๓) อุปริปัณณาสก์ (ล.๑๔)

มูลปริยายวรรค (๑๐ สูตร) คหปติวรรค (๑๐ สูตร) เทวทหวรรค (๑๐ สูตร)

สีหนาทวรรค (๑๐ สูตร) ภิกขุวรรค (๑๐ สูตร) อนุปทวรรค (๑๐ สูตร)

โอปัมมวรรค (๑๐ สูตร) ปริพาชกวรรค (๑๐ สูตร) สุญญตวรรค (๑๐ สูตร)

มหายมกวรรค (๑๐ สูตร) ราชวรรค (๑๐ สูตร) วิภังควรรค (๑๐ สูตร)

จูฬยมกวรรค (๑๐ สูตร) พราหมณวรรค (๑๐ สูตร) สฬายตนวรรค (๑๐ สูตร)

2. เนื้อหาสาระ

ก. มูลปัณณาสก์

(1) มูลปริยายวรรค


2.1 มูลปริยายสูตร ว่าด้วยสิ่งอันเป็นมูลแห่งธรรมทั้งปวง หรือสิ่งที่เป็นต้นเดิม เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ ในสายตาของปุถุชนและพระอริยะมองและให้ความสำคัญแก่สิ่งเหล่านี้ไม่เหมือนกัน

2.2 สัพพาสวสังวรสูตร ว่าด้วยการระมัดระวังอาสวกิเลสหรือ หลักการละอาสวกิเลสทุกชนิด

2.3 ธัมมทายาทสูตร ว่าด้วยมรดกคือธรรมและเหล่าสาวกคือผู้รับมรดกธรรม

2.4 ภยเภรวสูตร ว่าด้วยอกุศลที่เป็นภัย ทรงเล่าประสบการณ์ของพระพุทธองค์ก่อนตรัสรู้ด้วย

2.5 อนังคณสูตร ว่าด้วยคนผู้ไม่มีกิเลส เป็นบทสนทนาของพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ

2.6 อากังเขยยสูตร ว่าด้วยผลที่ภิกษุควรหวัง

2.7 วัตถูปมสูตร ว่าด้วยอุปกิเลสย้อมจิตดุจผ้าย้อมสี ท้ายพระสูตรมีผู้ชวนพระพุทธเจ้าไปอาบน้ำล้างบาป พระองค์ตรัสว่า ความบริสุทธิ์มิได้มีด้วยการอาบน้ำ

2.8 สัลเลขสูตร ว่าด้วยวิธีขจัดกิเลส "เพียงแต่คิดในกุศลธรรมยังมีคุณค่ามาก ไม่ต้องกล่าวถึงการลงมือทำ"

2.9 สัมมาทิฏฐิสูตร ว่าด้วยความเห็นถูกต้อง เป็นเทศนาของพระสารีบุตร ชี้ความเห็นถูกต้อง 15 นัย

2.10 สติปัฏฐานสูตร ว่าด้วยการตั้งสติ 4 อย่าง เช่นเดียวกับมหาสติปัฏฐานสูตร ในเล่มที่ 10


(2) สีหนาทวรรค

2.11 จูฬสีหนาทสูตร ว่าด้วยการการบันลือสีหนาทสูตรเล็ก ตรัสว่าพระอริยบุคคล 4 จำพวกมีเฉพาะในธรรมวินัยนี้เท่านั้น

2.12 มหาสีหนาทสูตร ว่าด้วยการบันลือสีหนาทขนาดใหญ่ พูดถึง ตถาคตพละ 10 เวสารัชชะ 4 บริษัท 8 กำเนิด 4 คติ 5 พรหมจรรย์ 4 เป็นต้น

2.13 มหาทุกขักขันธสูตร ว่าด้วยกองทุกข์สูตรใหญ่ เน้นโทษของกามคุณ

2.14 จูฬทุกขักขันธสูตร ว่าด้วยกองทุกข์สูตรเล็ก เช่นเดียวกับสูตรใหญ่ สูตรนี้ตรัสสอนมหานามศากยะ

2.15 อนุมานสูตร เทศนาของพระมหาโมคคัลลานะสอนพระทั้งหลายให้สำรวจตนเอง

2.16 เจโตขีลสูตร แสดงกิเลสดุจ "ตะปูตอกใจ" 5 ชนิด

2.17 วนปัตถสูตร คุณและโทษของการอยู่ป่า

2.18 มธุปิณฑิกสูตร "สูตรที่แสดงได้ไพเราะดุจขนมหวาน" แสดงความสามารถของพระมหากัจจายนะที่ขยายความพระพุทธวจนะ โดยย่อให้พิสดารได้อย่างถูกต้อง

2.19 เทวธาวิตักกสูตร สูตรว่าด้วยความตรึก 2 ทาง คือ กุศลวิตก กับ อกุศลวิตก การชี้ทางที่ดีให้เดิน เป็นหน้าที่ของพระศาสดาอยู่แล้ว "นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง จงเพ่งเถิด อย่าประมาท อย่าเดือดร้อนในภายหลังเลย นี่คือคำสอนของเรา"

2.20 วิตักกสัณฐานสูตร ว่าด้วยที่ตั้งแห่งความคิด หมายถึงให้รู้ว่าอะไรเป็นเหตุให้ความคิดฝ่ายชั่วเกิดขึ้น แล้วละเสีย


(3) โอปัมมวรรค

2.21 กกจูปมสูตร ว่าด้วยวิธีหักห้ามความโกรธ ให้ทำจิตให้หนักแน่นดุจแผ่นดิน แม้ใครจะเอาเลื่อยมาเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ ถ้าภิกษุโกรธแค้นผู้กระทำก็ไม่นับว่าทำตามคำสอนของพระพุทธองค์

2.22 อลคัททูปมสูตร สูตรว่าด้วยการเรียนธรรมผิด ย่อมมีโทษเหมือนจับงูพิษไม่ระวังอาจถูกแว้งกัดได้ สูตรนี้เปรียบธรรมะดุจแพ ตราบใดที่ยังไม่ข้ามฝั่งแพก็ยังมีความหมายต่อเขา ต่อเมื่อข้ามฝั่งแล้ว ทิ้งแพได้ ฉันใดฉันนั้น พึงละแม้ธรรมะ เมื่อบรรลุเป้าหมายแล้ว

2.23 วัมมิกสูตร สูตรว่าด้วยการขุดจอมปลวก เป็นสูตรปริศนาธรรม สอนพระกุมารกัสสปะ เปรียบร่างกายคนเหมือนจอมปลวกประหลาด "กลางคืนเป็นควัน กลางวันลุกโพลง"

2.24 รถวินีตสูตร บทสนทนาระหว่างพระสารีบุตรกับพระปุณณมันตานีบุตร เปรียบวิสุทธิ 7 เหมือนเดินทางด้วยรถ 7 ผลัด

2.25 นิวาปสูตร ว่าด้วยกามคุณเหมือนเหยื่อล่อสัตว์ให้ติดกับดัก

2.26 ปาสราสิสูตร สูตรว่าด้วยกามคุณเป็นดุจบ่วงดักสัตว์ มีเล่าถึงประวัติของพระพุทธองค์ด้วย (ไตร.ฉบับยุโรป เรียก อริยปริเยสนาสูตร)

2.27 จูฬหัตถิปโทปมสูตร สูตรแสดงเปรียบเทียบด้วยรอยเท้าช้างสูตรเล็ก เห็นรอยเท้าช้างใหญ่ก็อย่าเพิ่งปลงใจว่าเป็นช้างพลายใหญ่ จนกว่าจะเห็นด้วยตนเองฉันใด เห็นพระพุทธเจ้าตรัสรู้ชอบเอง ก็อย่าเพิ่งเชื่อ จนกว่าตนเองได้ปฏิบัติตามพระพุทธองค์จนตรัสรู้ตามด้วยนั่นแหละ จึงควรปลงใจว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้จริง ฉันนั้น

2.28 มหาหัตถิโทปมสูตร สูตรเปรียบด้วยรอยเท้าช้างสูตรใหญ่ ว่าด้วยธรรมทั้งหมดรวมลงในอริยสัจ 4 เหมือนรอยเท้าสัตว์ทั้งหลาย รวมลงในรอยเท้าช้างหมด (หมายความว่าไม่มีรอยเท้าอะไรจะใหญ่เท่ารอยเท้าช้าง)

2.29 มหาสาโรปมสูตร สูตรเปรียบเทียบด้วยแก่นไม้ใหญ่ ลาภสักการะเปรียบกิ่งและใบไม้ ความสมบูรณ์ด้วยศีลเปรียบดุจสะเก็ดไม้ ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิเปรียบเปลือกไม้ ญาณทัสนะเปรียบดุจกะพี้ วิมุติเปรียบดุจแก่นไม้

2.30 จูฬสาโรปมสูตร สูตรเปรียบแก่นไม้สูตรเล็ก คล้ายสูตรข้างต้น ชี้ว่าควรบวชเพื่อแสวงหาแก่นแห่งชีวิตให้ได้ "พรหมจรรย์นี้มีการหลุดพ้นแห่งจิตเป็นแก่นแท้"


(4) มหายมกวรรค

2.31 จูฬโคสิงคสาลสูตร ตรัสสรรเสริญพระอนุรุทธะ พระนันทิยะ พระกิมพิละ ว่าอยู่ด้วยกันด้วยเมตตาปรารถนาดีต่อกัน มีความเพียร มีคุณธรรมเสมอกัน

2.32 มหาโคสิงคสาลสูตร พระเถระผู้ใหญ่มีพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธะ พระอานนท์ สนทนากันว่าป่าเป็นที่สงบสงัดอย่างนี้ ควรที่ใครจะอยู่ แต่ละท่านก็ยกภิกษุผู้มีคุณสมบัติที่คล้ายตน เมื่อไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า ป่านี่เหมาะสำหรับพระที่ยังไม่บรรลุธรรมมานั่งบำเพ็ญสมาธิ

2.33 มหาโคปาลสูตร สูตรเปรียบเทียบเด็กเลี้ยงโคสูตรใหญ่ แสดงลักษณะที่ดีเปรียบด้วยคุณสมบัติเด็กเลี้ยงโค 11 ประการ

2.34 จูฬโคปาลสูตร สูตรเปรียบเทียบนายโคบาลที่โง่และฉลาดในการพาฝูงโคข้ามแม่น้ำ สมณพราหมณ์ที่ฉลาดพาผู้เชื่อฟังประสบสุข ส่วนสมณพราหมณ์ที่โง่ พาผู้เชื่อฟังประสบทุกข์

2.35 จูฬสัจจกสูตร ว่าด้วยบทสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับสัจจกนิครนถ์เรื่องขันธ์ 5

2.36 มหาสัจจกสูตร ว่าด้วยการอบรมกาย อบรมใจ พระพุทธองค์ทรงเล่าประวัติของพระองค์ในสูตรนี้ด้วย

2.37 จูฬตัณหาสังขยสูตร ทรงแสดงเหตุทำให้ตัณหาสิ้นไป แก่ท้าวสักกะ ท้าวสักกะทรงเล่าให้พระโมคคัลลานะฟังด้วย

2.38 มหาตัณหาสังขยสูตร ปฏิเสธวิญญาณอมตะ แสดงถึงคนเกิด และพัฒนาการอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งแสดงหลักปฏิจจสมุปบาท

2.39 มหาอัสสปุรสูตร แสดงถึงธรรมที่ทำให้เป็นสมณะและพราหมณ์ กล่าวถึงนิวรณ์ 5 ด้วยอุปมาน่าฟังยิ่ง

2.40 จูฬอัสสรปุรสูตร แสดงว่าสมณะที่ดีจะต้องละมลทินของสมถะ 12 อย่าง


(5) จูฬยมกวรรค

2.41 สาเลยยกสูตร กล่าวถึงกุศลกรรมบถ 10 และอกุศลกรรมบถ 10 ทำให้ผู้ประพฤติไปสู่สุคติและทุคติ

2.42 เวรัญชสูตร เนื้อหาเช่นเดียวกับสูตรข้างต้น เพียงแต่แสดงต่างสถานที่และแก่ต่างบุคคล เวรัญชพราหมณ์ผู้ฟังเทศนาครั้งนี้ เป็นคนเดียวกับที่กล่าวล่วงเกินพระ

2.43 มหาเวทัลลสูตร พระสารีบุตรแสดงแก่พระโกฐิตะ เกี่ยวกับการอธิบายหลักธรรมสำคัญในแง่วิชาการลึกซึ้ง เช่น เรื่องปัญญา วิญญาณ (น่าสังเกตว่า ในที่นี้ท่านนิยามวิญญาณว่า รู้สุข รู้ทุกข์ ต่างจากที่ทั่วไปว่ารู้อารมณ์)

2.44 จูฬเวทัลลสูตร พระธัมมทินนาเถรีแสดงแก่วิสาขอุบาสกเรื่องสักกาย (ทิฐิ) อริยมรรคมีองค์ 8 และอื่นๆ

2.45 จูฬธัมมสมาทานสูตร ว่าด้วยการประพฤติธรรม 4 อย่าง คือ สมาทานธรรมที่สุขในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิบาก, ทุกข์ในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิบาก, ทุกข์ในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบาก, สุขในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบาก


(มีต่อ 13)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 ก.ค.2006, 12:13 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

2.46 มหาธรรมสมาทานสูตร ว่าด้วยการสมานธรรม 4 อย่าง เช่น ข้างต้น แต่พิสดารกว่าพร้อมยกอุปมา อุปไมยให้เห็นชัด

2.47 วีมังสกสูตร สูตรว่าด้วยการวิพากษ์หรือสอบสวน ทรงเปิดโอกาสให้สาวกสอบสวนแม้กระทั่งพระพุทธองค์เอง ว่ามีข้อบกพร่องหรือไม่ ไม่ให้ติดศาสดา (พึงเปรียบเทียบกับอีกสูตรหนึ่งที่คล้ายกัน คือปวารณา สูตร สัง.ส.15)

2.48 โกสัมพิยสูตร แสดงสาราณียธรรมและญาณอันเป็นอริยะ 7 ประการ แก่ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี หลังจากระงับการทะเลาะครั้งใหญ่ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

2.49 พรหมนิมันตนิกสูตร สูตรว่าด้วยการโปรดพกะพรหมให้สละทิฐิผิด

2.50 มารตัชชนียสูตร ว่าด้วยพระมหาโมคคัลลานะปราบมารที่มาคอยแกล้ง


ข. มัชฌิมปัณณาสก์

(1) คหปติวรรค


2.51 กันทรสูตร แสดงถึงบุคคล 4 ประเภท แก่บุตรควาญช้างชื่อเปสสะและกันทรกปริพาชก เปสสะแสดงแสดงทัศนะน่าฟังว่า "สัตว์เดรัจฉานดูง่าย มนุษย์ดูยาก ปากอย่างใจอย่าง" และสรรเสริญสติปัฏฐาน 4 ว่าเหมาะแม้กระทั่งแก่คฤหัสถ์ทั่วไป

2.52 อัฏฐกนาครสูตร พระอานนท์แสดงทางพระนิพพาน เริ่มตั้งแต่ระดับต้นๆ จนสุดท้ายแก่คฤหบดีเมืองอัฏฐกะชื่อทสมะฟัง ในพระสูตรนี้ใช้คำว่า "โอปปาติกะ" เป็นชื่อเรียกพระอนาคามี (เทียบกับพระสูตรหมายเลข 2.12 ข้างต้น)

2.53 เสขปฏิปทาสูตร เป็นเทศนาของพระอานนท์ เรื่องเกี่ยวกับข้อปฏิบัติฝึกฝนตนของพระเสขะ (คือผู้ที่ยังต้องศึกษาปฏิบัติอยู่) แสดงแก่มหานามศากยะที่ "สัณฐาคาร" เมืองกบิลพัสดุ์

2.54 โปตลิยสูตร แสดงว่า "ผู้สละสมมติอย่างโลก" (โวหารสมุจเฉท) ที่แท้จริงต้องมีคุณธรรม 8 ประการ เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ เป็นต้น พระสูตรนี้กล่าวถึงโทษของกาม ไว้อย่างน่าฟังยิ่ง

2.55 ชีวกสูตร หมอชีวกทูลถามเกี่ยวกับเรื่องการฉันเนื้อสัตว์ แก้ข้อสงสัยของคนทั่วไปในเรื่องนี้ได้อย่างดี (ประวัติหมอชีวก อ่าน "ชีวิตตัวอย่าง" ของผู้บรรยาย)

2.56 อุปาลิวาทสูตร โต้ตอบกับอุบาลีคหบดี สาวกคนสำคัญของนิครนถ์นาฏบุตร (มหาวีระ) เรื่องกรรม (นิครนถ์ใช้ทรัพย์ว่า "ทัณฑ์") อุบาลีเลื่อมใส หลังจากได้ฟังอริยสัจ ขอมอบตนเป็นสาวก แทนที่จะทรงรีบรับ พระพุทธองค์ตรัสให้คิดให้ดีก่อน

2.57 กุกกุโรวาทสูตร แสดงแก่ชีเปลือยชื่อเสนิยะและปุณณะโกลิยบุตร ผู้ประพฤติวัตรคลานสี่ขาเหมือนสุนัข เรื่องกรรม 4 (กรรมดำ, กรรมขาว, กรรมทั้งดำทั้งขาว, กรรมไม่ดำไม่ขาว)

2.58 อภัยราชกุมารสูตร แสดงแก่อภัยราชกุมารโอรสพระเจ้าพิมพิสาร เรื่องวาจาเช่นใดที่พระองค์ตรัสและไม่ตรัส

2.29 พหุเวทนิยสูตร แสดงเรื่องเวทนาประเภทต่างๆ มากมายถึง 108 อย่าง และแสดงถึงความสุขระดับต่างๆ ถึง 10 ชั้น

2.60 อปัณณกสูตร ว่าด้วยธรรมะที่ไม่ผิด 4 ข้อ ซึ่งได้แก่ ความเห็นถูกต้องตรงข้ามกับมิจฉาทิฐิต่างๆ เช่น นัตถิกทิฐิ อกิริยทิฐิ เป็นต้น


(2) ภิกขุวรรค

2.61 จูฬราหุโลวาทสูตร พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทแก่ราหุลสามเณร ตรัสสอนเรื่องโทษของการพูดเท็จพร้อมทั้งใช้ "สื่อการสอน" ด้วย เพื่อให้เหมาะแก่เด็ก

2.62 มหาราหุโลวาทสูตร ตรัสสอนภาคปฏิบัติที่สูงขึ้น คือ อานาปานสติ เมตตาภาวนาแก่ราหุล
2.63 จูฬมาลุงกโยวาทสูตร ว่าด้วยอัพยากตปัญหา (เรื่องที่ไม่ทรงพยากรณ์ 10 ข้อ) เพราะไม่มีประโยชน์ "อุปมาด้วยบุรุษถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ" น่าฟังและไม่ทำให้เข้าใจแจ่มแจ้งดีมาก

2.64 มหามาลุงกโยวาทสูตร ทรงแสดงสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 และปฏิปทาเพื่อละสังโยชน์นั้น (น่าสังเกตว่าพระองค์ตรัสว่าเด็กอ่อนไม่มี "สักกายทิฐิ" แต่อนุสัยหรือกิเลสแฝงตัว เป็นเหตุให้ยึดถือว่ากายของตนนั้นมี

2.65 ภัททาลิสูตร ตรัสสอนภัททาลิภิกษุให้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา พระสูตรนี้กล่าวถึงพระสมัยพุทธกาลฉันอาหารมื้อเดียว พระภัททาลิอ้างว่าไม่สามารถอยู่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า กินเพื่ออยู่สบายมื้อเดียวก็พอ

2.66 ลฑุกิโกปมสูตร สูตรเปรียบด้วยนกไส้ "นกตัวเล็กเห็นเถาวัลย์เล็กๆ มันก็นึกว่าเส้นใหญ่เหลือเกินแทบเอาชีวิตไม่รอด ภิกษุผู้ไม่เอาใจใส่ในสิกขาก็เช่นเดียวกัน ข้อห้ามเล็กๆ น้อยๆ ก็เห็นว่าใหญ่โต ปฏิบัติไม่ได้" พระสูตรนี้แสดงว่าแต่เดิมไม่จำกัดเวลาฉันอาหาร มีเรื่องเล่าว่าพระอุทายีไปบิณฑบาตเวลามืดค่ำ ชาวบ้านนึกว่าผีหลอก ต่อมาตรัสห้ามฉันเวลา "วิกาล" (ปัญหาเรื่องการตีความคำนี้ไม่เหมือนกัน-ดูข้อสังเกตข้างท้าย)

2.67 จาตุมสูตร สูตรนี้พระพุทธองค์บำราบภิกษุที่ไม่สำรวม เอะอะส่งเสียงดังให้สำนึก ด้วยวิธีการรุนแรงคือขับไล่ (ประณาม) ไม่ให้เข้าเฝ้า ภายหลังทรงให้เข้าเฝ้าแล้ว ตรัสสอนภัยของภิกษุ 4 ประการ คือ คลื่น(การไม่อดทนต่อโอวาท) จระเข้ (เห็นแก่ปากท้อง) วังวน (กามคุณ) ปลาฉลาม (สตรี)

2.68 นฬกปานสูตร ทรงสนทนากับพระสาวกหลายรูป เช่น พระอนุรุทธะ พระภัททิยะ ถึงจุดหมายของการประพฤติพรหมจรรย์ เรื่องอาสวะ เรื่องการที่พระองค์ทรงพยากรณ์ว่าสาวกที่ตายไปคนไหนไปเกิดเป็นอะไร มิใช่เพื่อเรียกร้องให้คนนับถือว่าเก่ง แต่เพื่อกระตุ้นให้เกิดศรัทธาแล้วอยากปฏิบัติ


(มีต่อ 14)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 ก.ค.2006, 12:15 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

2.69 โคลิสานิสูตร ว่าด้วยข้อปฏิบัติของภิกษุอยู่ป่า 17 ข้อ ที่พระสารีบุตรเสนอให้พระป่าถือปฏิบัติ พระมหาโมคคัลลานะถามว่าพระบ้านไม่จำเป็นต้องถือตามนั้นใช่หรือไม่ พระสารีบุตรบอกว่า ข้อปฏิบัติเหล่านี้แม้ผู้อยู่ป่า (คนเดียว) ยังควรประพฤติ ผู้อยู่ชายบ้าน (อยู่ด้วยกันมากคน) ยิ่งจำต้องประพฤติ

2.70 กีฏาคิริสูตร พระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ ไม่ปฏิบัติตามพระบัญญัติที่ให้ฉันมื้อเดียว ยกเว้นเวลาวิกาลอ้างว่าฉันหลายมื้อ (เช้า, กลางวัน, เย็น, กลางคืน) ทำให้สุขภาพร่างกายดี แถมยังชวนให้รูปอื่นทำตามพระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระเหล่านั้นมาสอนเรื่องกุศลธรรม อกุศลธรรม และบุคคล 7 ประเภท (อุภโตภาควิมุต, ปัญญาวิมุต, กายสักขี, ทิฏฐิปัตตะ, สัทธาวิมุต, ธัมมานุสารีและสัทธานุสารี) เกี่ยวกับคำ "วิกาล" ดูเทียบกับสูตร 2, 65 - 66 ข้างต้น)


(3) ปริพาชกวรรค

2.71 จูฬวัจฉโคตตสูตร ตอบคำถามของวัจฉโคตตปริพาชกว่า ที่มีคนพูดว่า พระองค์เป็นสัพพัญญูเป็นการกล่าวถูกต้อง กล่าวว่าได้วิชชา 3 ก็เป็นการกล่าวถูกต้อง ตรัสว่า คฤหัสถ์ที่มีกิเลสตายไปไปเกิดสุคตินับไม่ถ้วน แต่พวกอาชีวกที่ไปสวรรค์ไม่มี ยกเว้นพวกที่เป็นกัมมวาทีและกิริยวาที (ไตร.ฉบับยุโรปเรียกว่า "เตวิชชวัจฉโคตตสูตร")

2.72 มหาวัจฉโคตตสูตร ตอบคำถามของอัคคิวัจฉโคตตปริพาชกว่า ผู้ที่มีจิตหลุดพ้นแล้ว (พระอรหันต์) ดับขันธ์แล้ว ไม่มีคำว่า "เกิดอีก" หรือ "ไม่เกิดอีก" "เกิดด้วย ไม่เกิดด้วย" "เกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่" พูดได้แต่ว่า "ดับสนิท" เหมือนไฟดับเพราะหมดเชื้อ, กล่าวถึงทิฐิ 10 (คือโลกเที่ยงหรือไม่ เป็นต้นด้วย)

2.73 มหาวัจฉโคตตสูตร แสดงกุศลธรรม และอกุศลธรรม 3 และ 10 ปริพาชกเห็นว่า พุทธศาสนามีบริษัทที่บรรลุธรรมชั้นสูงมากมาย เกิดความเลื่อมใสทูลขอบวชเรียนสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานจนบรรลุธรรม

2.74 ทีฆนขสูตร โต้ตอบกับทีฆนขปริพาชก ผู้ประกาศว่าตนไม่ยึดถือทัศนะใดๆ พระพุทธองค์ตรัสย้อนว่า ที่ไม่ยึดถือนั่นแหละยึดถือ ทรงสอนเรื่องการละทิฐิ เรื่องเวทนาชี้ให้เห็นความไม่เที่ยง เมื่อรู้ว่าไม่เที่ยงก็เบื่อหน่ายหลุดพ้นในที่สุด "ผู้ที่มีจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมไม่วิวาทกับใคร สิ่งใดที่เขาพูดกันในโลก ก็พูดตามโวหารนั้นแต่ไม่ยึดถือ" (พระสารีบุตรนั่งฟังอยู่ด้วยได้บรรลุอรหัตเพราะสูตรนี้)

2.75 มาคัณฑิยสูตร ตรัสสอนมาคัณฑิยปริพาชกเรื่องโทษของกามคุณ ทรงเล่าประสบการณ์ในหนหลังของพระองค์เอง ว่าเพียบพร้อมด้วยกามคุณอย่างไรมาก่อน จนเบื่อหน่าย ละทิ้งได้ อุปมาการเห็นโทษในกามคุณไว้น่าฟังมาก

2.76 สันทกสูตร บทสนทนาระหว่างพระอานนท์กับสันทกปริพาชก เรื่องศาสดาที่ไม่ชื่อว่า ประพฤติพรหมจรรย์ 4 ประเภท และที่ประพฤติพรหมจรรย์ไม่น่าพอใจ 4 ประเภท และตอนท้ายพระอานนท์กล่าวว่าการประพฤติพรหมจรรย์ที่ได้ผลดีต้องสละกาม สละอกุศลธรรมได้ฌาน 4 วิชชา 3

2.77 มหาสกุลุทายิสูตร ตรัสสอนว่าสาวกเคารพสักการะพระองค์เพราะทรงมีคุณธรรม 5 ข้อ (มีศีล, แสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง, แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์, มีปัญญา บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกปฏิบัติตามมากมาย)

2.78 สมณมุณฑิกสูตร ทรงแสดงธรรม 10 ประการ ที่ทำให้คนสมบูรณ์ด้วยกุศล ทำให้เป็น "คนดีโดยสมบูรณ์" คือ อเสขธรรม 10 (มรรค 8 ข้อ กับสัมมาญาณะและสัมมาวิมุต) บางครั้งเรียกว่า "สัมมัตตะ 10"

2.79 จูฬสกุลุทายิสูตร บทสนทนากับสกุลุทายิปริพาชก ถึงเรื่องวรรณะที่เยี่ยมที่สุด ปฏิปทาที่ทำให้โลกมีสุขที่สุด ปริพาชกเล่าทัศนะของลัทธิตนให้ฟังแล้วพระพุทธองค์แสดงเหตุผลหักล้าง แล้วตรัสแสดงข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุโลกที่มีสุขที่สุด ตั้งแต่ขั้นฌานจนถึงอาสวักขยญาณ

2.80 เวขณสูตร คล้ายสูตรข้างต้น เวขณปริพาชกพูดเรื่องวรรณะที่ยอดเยี่ยม ครั้นถูกซักเข้าก็ชี้ชัดไม่ได้ ทรงแสดง เรื่องกาม สุขในกาม สุขที่เลิศกว่าสุขในกาม คนที่เป็นอรหันตขีณาสพเท่านั้นจึงจะรู้ดี


(4) ราชวรรค

2.81 ฆฏิการสูตร ตรัสเล่าเรื่องฆฏิการ (ช่างหม้อ) คนหนึ่งเมื่อครั้งสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะให้พระอานนท์ฟัง สูตรนี้แปลกที่ทรงเล่าเรื่องเก่าๆ ให้พระอานนท์ฟัง โดยไม่มีกรสอนธรรมข้อใดแทรกเลย (นอกจากจะหาเอาเองว่าแฝงแง่คิดอะไรไว้บ้าง)

2.82 รัฐปาลสูตร ประวัติพระรัฐปาล สาวกสำรูปหนึ่งของพระพุทธเจ้า และธรรมเทศนาเรื่องธัมมุเทศ 4 ที่พระรัฐปาลแสดงแก่พระเจ้าโกรัพยะแห่งรัฐกุรุ

2.83 มฆเทวสูตร ทรงเล่าให้พระอานนท์ฟังเรื่องพระเจ้ามฆเทพแห่งกรุงมิถิลาในอดีตเห็นศีรษะหงอกแล้วเกิดธรรมสังเวชออกบวช เจริญพรหมวิหาร 4 ตายไปเกิดในพรหมโลก แล้วทรงแสดงธรรมแทรกว่า ข้อปฏิบัติที่ทำให้ได้ผลสูงกว่าพรหมโลกคือ อริยมรรคมีองค์แปด

2.84 มธุรสูตร เทศนาของพระมหากัจจายนะแก่พระเจ้ามธุระแห่งแคว้นอวันตีเรื่องวรรณะ ที่พวกพราหมณ์ว่าวรรณะพราหมณ์สูงกว่าวรรณะอื่นเป็นเพียงการอวดอ้างเท่านั้น ผู้ที่ประพฤติดีทางกาย วาจา ใจ นั่นแหละประเสริฐสุด ไม่ว่าจะเกิดในวรรณะไหน

2.85 โพธิราชกุมารสูตร ทรงเล่าให้โพธิราชกุมารฟังว่า เคยทรมานกายต่างๆ ก็ไม่ตรัสรู้ พอบำเพ็ญทางจิตจึงตรัสรู้ เมื่อเขาทูลถามว่าจะใช้เวลานานเท่าไรจึงจะทำที่สุดพรหมจรรย์ได้ ตรัสว่าไม่ขึ้นกับเวลา แต่ขึ้นอยู่กับว่ามีคุณสมบัติพร้อมหรือไม่ (ในอรรถกถาธรรมบทว่า โพธิราชกุมาร เป็นหมันอยากได้บุตรชาย พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่สำเร็จเพราะชาติก่อนเคยทำกรรมพรากลูกนก แต่พระสูตรนี้ไม่พูดถึง)


(มีต่อ 15)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 ก.ค.2006, 12:18 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

2.86 อังคุลิมาลสูตร เล่าประวัติพระองคุลิมาล โดยละเอียด วาทะที่ทราบกันทั่วไปคือ "หยุดสมณะ" (ติฏฺฐ สมณ ติฏฺฐ สมณ) "เราหยุดแล้ว ท่านสิจงหยุด" (ฐิโต อหํ ตฺวญฺจ ติฏฺฐ) สัตยาธิษฐานของพระองคุลิมาลภายหลังกลายเป็นมนต์ขลัง (ดูข้างข้อสังเกตท้าย)

2.87 ปิยชาติกสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความโศก ความปริเทวนา ความทุกข์ ความโทมนัส ความคับแค้นใจเกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก คำสอนนี้เดิมทีพระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ปักใจเชื่อ ต่อเมื่อพระนางมัลลิกาช่วยชี้แจงยกเหตุผลให้ฟังจึงเชื่อว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นเป็นจริง

2.88 พาหิติยสูตร พระเจ้าปเสนทิโกศล สดับเทศนาของพระอานนท์แล้วเลื่อมใส ถวายผ้าที่ทออย่างดีจากแคว้นพาหิติ เป็นการบูชาธรรม

2.89 ธัมมเจติยสูตร ตรัสถามพระเจ้าปเสนทิโกศล เกี่ยวกับเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล แสดงความเคารพพระองค์อย่างนอบน้อมยิ่ง พระราชากราบทูลว่าที่เคารพอย่างยิ่งเพราะพระพุทธเจ้ามีคุณสมบัติ 10 ประการ

2.90 กัณณกัตถลสูตร พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามเรื่อง สัพพัญญุตา เรื่องวรรณะ เรื่องอธิเทพ และเรื่องอธิพรหม ทรงอธิบายให้ฟังจนเข้าใจ ข้อน่าคิดเกี่ยวกับวรรณะ คือ ไฟไม่ว่าจะเกิดจากไม้ชนิดไหน ก็มีเปลว สี แสงเหมือนกัน คนไม่ว่าจะมาจากวรรณะไหน ก็ไม่ต่างกัน คุณธรรมเท่านั้นทำให้ต่างกัน


(5) พราหมณวรรค

2.91 พรหมายุสูตร แสดงอนุปุพพีกถาและอริยสัจ 4 แก่พรหมายุพราหมณ์ ผู้ถือเคร่งตำราทายลักษณะ และเชี่ยวชาญพระเวท

2.92 เสลสูตร เสลพราหมณ์เห็นมหาปุริสลักษณะครบจึงทูลเชิญให้พระองค์ไปครองราชย์ พระองค์ตรัสว่าพระองค์เป็นธรรมราชาอยู่แล้ว มีแม่ทัพธรรม คือพระสารีบุตรแล้ว ไม่จำเป็นต้องครองราชย์ทางโลก

2.93 อัสสลายนสูตร พวกพราหมณ์หนุ่มชื่ออัสสลายนะ อายุ 16 ปี ผู้เชี่ยวชาญพระเวท ไปโต้กับพระพุทธเจ้าเรื่องวรรณะ ผลสุดท้ายอัสสลายนะยอม แล้วมอบตนเป็นสาวก นี่อีกสูตรหนึ่งที่แสดงการโต้ตอบ อย่างแหลมคมของพระพุทธองค์เกี่ยวกับเรื่องวรรณะที่น่าศึกษายิ่ง

2.94 โฆฏมุขสูตร พระเถระชื่ออุเทนแสดงบุคคล 4 ประเภท และบริษัท 2 ประเภท แก่ พราหมณ์ชื่อโฆฏมุข

2.95 จังกีสูตร พราหมณ์หนุ่มชื่อ กาปทิกะ ตามจังกีพราหมณ์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้โต้เถียงเรื่องต่างๆ กับพระองค์คือ เรื่องบทมนต์ของพราหมณ์เท่านั้นจริงแท้, เรื่องการรักษาสัจจะ, เรื่องการตรัสรู้สัจจะ, เรื่องการบรรลุความจริง กาปทิกะยอมรับเหตุผลของพระองค์

2.96 เอสุการีสูตร ทรงสนทนากับเอสุการีพราหมณ์ เอสุการีพราหมณ์ เชื่อว่าคนวรรณะสูงรับใช้คนวรรณะต่ำไม่ได้ ตรัสว่าวรรณะไม่ใช่สิ่งกำหนดคุณค่าของคน ความประพฤติเท่านั้นเป็นตัวกำหนด

2.97 ธนัญชานิสูตร พระสารีบุตรถามธนัญชานิพราหมณ์ว่าทำไมทำชั่ว พราหมณ์บอกว่าเพราะความจำเป็นต้องหาเลี้ยงบุตรภรรยา พระเถระบอกว่าจะอ้างความจำเป็นมาทำความชั่วไม่ได้ เมื่อพราหมณ์ป่วยหนักใกล้ตายพระเถระมาแสดงธรรมโปรด

2.98 วาเสฏฐสูตร ว่าด้วยมาตรฐานการเป็นพราหมณ์มิใช่อยู่ที่ชาติสกุล แต่อยู่ที่การกระทำความดีต่างๆ ในสูตรนี้พระพุทธเจ้าได้วางมาตรฐานของการเป็นพราหมณ์ในทัศนะพุทธไว้มากมาย (ความเหมือนคาถาธรรมบทพราหมณวรรค โปรดดู "พุทธวจนะในธรรมบท" ของผู้บรรยาย)

2.99 สุภสูตร สุภมาณพแสดงทัศนะว่า คฤหัสถ์บรรลุญาณธรรมได้ บรรพชิตบรรลุไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเรื่องนี้ตอบเป็น "วิภัชชาวาทะ" (คือแยกตอบเป็นเรื่องๆ ไม่ควรตอบแบบ "เอกังสะ" (คลุมไปหมด, ตอบตรงๆ) ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ถ้าปฏิบัติผิดก็ไม่บรรลุ แต่ถ้าปฏิบัติถูกก็บรรลุได้ทุกคน ในเรื่องอื่นๆ ก็เช่นกัน

2.100 สคารวสูตร โตเทยยมาณพถามถึงสมณพราหมณ์พวกไหน ที่อยู่จบพรหมจรรย์บรรลุถึงฝั่งอย่างสมบูรณ์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า สมณพราหมณ์มีหลายประเภท ประเภทรู้ไตรเพทก็มี พวกนักเดานักคิดก็มี พวกที่รู้แจ้งธรรมด้วยตนเองก็มี แล้วทรงเล่าประวัติของพระองค์ตั้งแต่เริ่มแสวงหาทางพ้นทุกข์จนตรัสรู้


ค. อุปริปัณณาสก์

(1) เทวทหวรรค


2.101 เทวทหสูตร ทรงเล่าว่าทรงตอบโต้กับพวกนิครนถ์ ในหลักคำสอนของพวกเขา เช่น พวกเขาเชื่อว่า สุขทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ที่คนได้รับในปัจจุบัน เป็นผลจากการกระทำในชาติก่อนเท่านั้น ทรงย้อนว่าแล้วที่พวกเขาทรมานกายต่างๆ ได้รับความเจ็บปวดไหม นี้ใช่การกระทำในชาติก่อนหรือไม่ ตอนท้ายทรงแสดงความเพียรพยายามที่ถูกต้อง

2.102 ปัญจัตตยสูตร ทรงแสดงให้พระฟังว่า สมณพราหมณ์บางพวกมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องอัตตาต่างๆ ซึ่งพระองค์มิได้เห็นดังนั้น

2.103 กินติสูตร ทรงสอนพระให้สามัคคีปรองดองกัน เอาใจใส่ศึกษาโพธิปักขิยธรรม ถ้าความเห็นไม่ตรงกันในอภิธรรม ก็ให้ซักซ้อมชี้แจงให้เข้าใจเป็นอย่างดี ช่วยประดิษฐานกันและกันในกุศลธรรม (คำว่าอภิธรรม ในที่นี้ มิได้หมายถึงอภิธรรมปิฏก)


(มีต่อ 16)
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 28 ก.ค.2006, 3:44 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 ก.ค.2006, 12:20 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

2.127 อนุรุทธสูตร พระอนุรุทธะอธิบายความแตกต่างระหว่าง อัปปมาณาเจโตวิมุติ (ความหลุดพ้น แห่งจิตไม่มีประมาณ) กับมหัคตาเจโตวิมุติ (ความหลุดพ้นแห่งจิตที่เป็นฌาน) ว่าต่างกันโดยอรรถะ (ความหมาย) และพยัญชนะ (ตัวอักษร) แก่ช่างไม้ชื่อปัญจังคะ

2.128 อุปปักกิเลสสูตร ว่าด้วยอุปกิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองแห่งจิต 11 อย่าง อันทำให้การเจริญสมาธิไม่ได้ผลก้าวหน้า (ในที่นี้กล่าวถึง ฌาน 5 ซึ่งในที่อื่นกล่าวถึงฌาน 4 เท่านั้น)

2.129 พาลปัณฑิตสูตร แสดงลักษณะของคนพาล 3 (คิดชั่วพูดชั่วทำชั่ว) และลักษณะของบัณฑิต 3 ตรงกันข้าม กล่าวถึงการลงทัณฑ์ในนรกแก่คนชั่ว หลายวิธีด้วย

2.130 เทวทูตสูตร กล่าวถึงนายนิรยบาล จับคนชั่วไปแสดงแก่พญายมบาล พญายมบาลซักถามว่าเมื่อเห็นเด็ก คนแก่ คนเจ็บ คนตายแล้ว คิดบ้างไหมว่าตนเองก็จะเป็นอย่างนั้น ควรไม่ประมาท ทำความดีทางกาย วาจา ใจ ให้มาก ถ้าเขาปฏิเสธก็จะทำโทษในนรกต่างๆ นานา สองสูตรนี้กล่าวถึงนรกในแง่ "กายภาพ" ค่อนข้างชัด ในขณะที่แห่งอื่นพูดถึงนรกสวรรค์ผ่านๆ เท่านั้น


(4) วิภังควรรค

2.131 ภัทเทกรัตตสูตร แสดงความสำคัญของปัจจุบันขณะ มากกว่าอดีตและอนาคต ให้อยู่ด้วยความไม่ประมาท

2.132-4 อานันทภัทเทกรัตตสูตร มหากัจจายนภัทเทกรัตตสูตร และโลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร เนื้อความเหมือนสูตรข้างต้น เป็นแต่การขยายความของพระอานนท์ พระมหากัจจายนะ และพระโลมสกังคิยะเท่านั้น

2.135 จูฬกัมมวิภังคสูตร ว่าด้วยคนทำกรรมแล้วได้รับผลต่างๆ (อายุสั้นเพราะชอบฆ่าสัตว์ ขี้โรคเพราะเบียดเบียนสัตว์ ไม่สวยเพราะขี้โกรธ มีศักดาน้อยเพราะริษยา ยากจนเพราะไม่ให้ทาน เกิดในสกุลต่ำเพราะไม่อ่อนน้อม โง่เพราะไม่เข้าหาสมณพราหมณ์)

2.136 มหากัมมวิภังคสูตร กล่าวถึงคน 4 ประเภท คือ ทำความชั่วไปเกิดในอบาย ทำชั่วไปเกิดในสุคติ ทำดีไปเกิดในอบาย ทำดีไปเกิดในสุคติ ซึ่งผู้ไม่เข้าใจตลอดสายอาจสับสน การอธิบายควรใช้วิธีวิภัชชะ (แยกแยะ) ไม่ใช่วิธีเอกังสิกะ (ตอบแง่เดียว)

2.137 สฬายตนวิภังคสูตร อธิบายอายตนะ 6 หมวด วิญญาณ 6 หมวด ผัสสะ 6 มโนปวิจาร 18 สัตตบท 36 การตั้งสติของศาสดา 3, การที่ศาสดาเป็นยอดผู้ฝึกคน

2.138 อุทเทสวิภังคสูตร ตรัสอุเทศสั้นๆ ว่า ภิกษุควรพิจารณาโดยประการที่ "วิญญาณ" จะไม่ซัดส่ายไปภายนอก ไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วจะไม่มีชาติ ชรา มรณะ ทุกขะ สมุทัย พระทั้งหลายไม่เข้าใจไปขอให้พระมหากัจจายนะอธิบาย ท่านอธิบายว่า "วิญญาณ" ในที่นี้คือจิต

2.139 อรณวิภังคสูตร แสดงทางสายกลางที่ไม่ติดอยู่ในกามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค ไม่พึงแสดงธรรมยกย่องหรือรุกรานคนอื่น ไม่พึงส่อเสียด ไม่พึงพูดเลอะเทอะ พูดรีบด่วน ไม่พึงติดถ้อยคำของชาวบ้าน และไม่พึงข้ามบัญญัติโลก (หมายถึงไม่ยึดมั่นในโวหารอย่างโลกๆ นัก ขณะเดียวกันก็ไม่ขวางโลกเสียจนพูดกับเขาไม่รู้เรื่อง) ทั้งหมดนี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่ก่อศัตรู

2.140 ธาตุวิภังคสูตร ขณะพระพุทธเจ้าพักแรมคืนที่โรงช่างหม้อแห่งหนึ่งในแคว้นมคธ ปุกกุสาติ นักบวชหนุ่ม บวชเองอุทิศพระพุทธเจ้ามาค้างอยู่ด้วย ได้ฟังเรื่องการจำแนกธาตุ ว่ามนุษย์มีธาตุ มีอายตนะ 6 มโนปวิจาร 18 มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ 4 ไม่ควรปล่อยให้กิเลสเข้าไปครอบงำ ไม่ควรประมาทปัญญา ควรรักษาสัจจะ ควรเจริญการละ ควรศึกษาความสงบ ปุกกุสาติแน่ใจว่า เป็นพระพุทธเจ้า ก้มลงกราบแทบพระบาทขอบวช ตรัสสั่งให้หาบาตรมาก่อน ขณะที่เขาไปหาบาตรถูกแม่โคขวิดตาย (เรื่องนี้เป็นเค้าให้คาร์ล เจลเลอรุป นำมาแต่งเรื่อง กามนิตตอนพบพระพุทธเจ้า)

2.141 สัจจวิภังคสูตร พระสารีบุตรแสดงอริยสัจแก่พระทั้งหลาย ในสูตรนี้มีข้อที่น่าสนใจก็คือ พระองค์ตรัสว่าพระสารีบุตรเป็น "ผู้ให้กำเนิด" พระมหาโมคคัลลานะเป็น "ผู้เลี้ยงดู" ในทางธรรม พระสารีบุตรสามารถสอนให้บรรลุโสดาปัตติผล พระมหาโมคคัลลานะสามารถให้บรรลุคุณธรรมสูงขึ้นไป

2.142 ทักขิณาวิภังคสูตร แสดงทักษิณา (การทำทาน) และความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา มีข้อที่น่าสนใจ คือ "ในอนาคตนานไกล จักมีโคตรภู (สงฆ์) ผู้มีผ้ากาสายะพันคอ เป็นผู้ทุศีลมีบาปกรรม บุคคลจักถวายทานแก่โคตรภู (สงฆ์) ทุศีลเหล่านั้นแม้กระนั้น ผลทานก็ประมาณมิได้ ทานที่ให้เจาะจงมีผลมากสู้ให้แก่สงฆ์ไม่ได้" ข้อความนี้แสดงผลของ "สังฆทาน" แม้แก่พระทุศีลก็มีผลมากกว่าให้เจาะจงบุคคล

2.143 อนาถปิณฑิโกวาทสูตร พระสารีบุตรแสดงแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้ป่วยหนักหลายข้อ ส่วนใหญ่เน้นไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น เศรษฐีร้องไห้ เมื่อถามว่ายังติดใจอาลัยอะไร ตอบว่าไม่เคยได้ฟังธรรมไพเราะอย่างนี้มาก่อน แล้วขอให้พระสารีบุตรแสดงแก่คฤหัสถ์มากๆ ด้วย อย่าแสดงเฉพาะบรรพชิตเลย

2.144 ฉันโนวาทสูตร พระฉันนะอาพาธหนัก พระสารีบุตรแสดงธรรมให้ฟัง ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น ต่อมาพระฉันนะฆ่าตัวตาย พระสารีบุตรไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ฉันนะ "ไม่มีโทษ" อรรถกถาว่าเธอบรรลุอรหัต เป็นอริยบุคคลประเภท "สมสีสี")

2.145 ปุณโณวาทสูตร พระปุณณะทูลลาไปสู่ป่าปรันตะ แดนที่มีคนดุร้ายมาก พระพุทธองค์ทรงทดสอบเธอจะมีความอดทนมากน้อยแค่ไหนเมื่อเธอยืนยันเจตนารมณ์แน่วแน่จึงทรงอนุญาตให้ไป

2.146 นันทโกวาทสูตร พระนันทกะได้รับพุทธานุมัติให้สอนนางภิกษุณีได้ให้โอวาทเรื่องไตรลักษณะ

2.147 จูฬราหุโลวาทสูตร สูตรนี้ทำให้พระราหุลบรรลุอรหัต เนื้อความเกี่ยวกับให้พิจารณาอายตนะภายใน-ภายนอก วิญญาณ สัมผัส สัมผัสสชาเวทนา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

2.148 ฉฉักกสูตร ว่าด้วยธรรมหมวด 6 รวม 6 ข้อ พร้อมทั้งให้พิจารณายกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ พระสูตรนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระ 60 รูป เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระเหล่านั้นบรรลุอรหัต

2.149 สฬายตนวิภังคสูตร ว่าด้วยจำแนกอายตนะ 6 อย่างพิสดาร และว่าด้วยธรรมะเทียมคู่คือ สมถะกับวิปัสสนา ธรรมควรละคืออวิชชากับภวตัณหา ธรรมควรเจริญคือ สมถะกับวิปัสสนา ธรรมควรทำให้แจ้งคือวิชชากับวิมุติ


(มีต่อ 17)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 ก.ค.2006, 12:25 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

2.150 นครวินเทยยสูตร ว่าด้วยสมณพราหมณ์ที่ควรสักการะ เคารพ และที่ไม่ควรสักการะเคารพ ผู้ที่ไม่ควรสักการะเคารพ คือผู้มีราคะ โทสะ โมหะ ลุ่มหลงในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ประพฤติลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ต่างจากคฤหัสถ์ ผู้ที่ควรสักการะเคารพมีลักษณะตรงข้าม

2.151 ปิณฑปาตปริสุทธิสูตร ทรงชมเชยพระสารีบุตรผู้อยู่ด้วยสุญญตาวิหาร โดยมากแล้วแสดง วิธีบิณฑบาตที่บริสุทธิ์

2.152 อินทริยภาวนาสูตร พวกพราหมณ์สอนการอบรมอินทรีย์ (ฝึกควบคุมการแสดงออก) โดยไม่พยายามดู ไม่ฟัง ฯลฯ พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่ต่างอะไรกับคนตาบอด หูหนวก การอบรมอินทรีย์ที่ถูกต้อง ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ฯลฯ ให้มีสติ รู้เท่าทัน


3. ข้อสังเกตบางประการและจุดที่ควรเน้น

3.1 ความเชื่อหรือค่านิยมที่ยึดถือกันอย่างหนึ่งของคนอินเดียโบราณ นอกจากวรรณะก็คือความเชื่อในเรื่องน้ำศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าเมื่ออาบหรือกินแล้วจะทำให้บริสุทธิ์ จึงมีคนลงอาบน้ำในแม่น้ำคงคาประจำ โดยเฉพาะที่พาราณสีซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเมืองพระศิวะ และที่เมืองคยาซึ่งถือกันว่าเป็นเมืองพระวิษณุ (วิษณุบาท) แม้ก่อนตายก็สั่งให้ญาติมิตรนำศพไปเผาริมน้ำ แล้วลอยกระดูกและเถ้าถ่าน ที่ยากจนไม่มีฟืนเผาก็เอาศพลอยน้ำ แต่น่าประหลาดทั้งที่น้ำสกปรก ไม่ปรากฏว่าเป็นพิษแก่ผู้ดื่มกิน (เมื่อสมัยอังกฤษครองอินเดีย ได้มีผู้นำตัวอย่างน้ำไปวิจัย ปรากฏว่ามีความเป็นด่างอย่างแรงพอที่จะทำลายเชื้ออหิวาต์ให้หมดฤทธิ์) การที่พราหมณ์ชวนพระพุทธเจ้าไปอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์มิใช่เป็นการดูหมิ่นพระพุทธเจ้า แต่ด้วยความปรารถนาดี พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ความบริสุทธิ์มิได้มีด้วยการอาบน้ำ ถ้าจะอาบจริงๆ ก็ให้อาบใจ คือปฏิบัติธรรมดีกว่า เป็นการปฏิเสธอย่างนิ่มนวล แต่พระเถรีรูปหนึ่ง (ปุณณิกาเถรี) ว่าเอาแรงๆ กับผู้มาชวนว่า "ถ้าความบริสุทธิ์มีด้วยการอาบน้ำจริง กบ เต่า นาก จระเข้ ปลา คงได้ไปสวรรค์กันหมดแน่ๆ" (ดูตำราพระพุทธศาสนาสำหรับ ม.4 ของผู้บรรยาย)

3.2 มีศัพท์ที่ควรทราบในแง่วิชาการศัพท์หนึ่ง คือ "โอปปาติกะ" หรือ อุปปาติกะ ในมหาสีหนาทสูตร ได้ให้นิยามว่า ได้แก่ "เทวดา มนุษย์บางจำพวก วินิบาตบางจำพวก" ส่วนใหญ่เวลาโอปปาติกะ มักนึกถึงเทวดา สัตว์นรก ไม่นึกว่ามนุษย์ก็เป็นโอปปาติกะได้ และมนุษย์ประเภทไหนล่ะในอัฏฐกนาครสูตร ได้ตอบข้อสงสัยนี้ กล่าวว่า "...เธอตั้งอยู่ในศีลคือสมถะวิปัสสนา ย่อมถึงความสิ้นแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้าไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะยินดี เพลิดเพลินในธรรม คือสมถะวิปัสสนานั้น เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 เธอย่อมจะเป็นโอปปาติกะ จะปรินิพพานในที่นั้น มีอันไม่กลับมาโลกนั้นเป็นธรรมดา" ข้อความที่เน้นนั้น หมายถึงพระอนาคามีถึงแม้จะไม่ระบุโดยตรงก็รู้ได้ เพราะพระอนาคามีมีละโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 ได้ (และในอรรถกถาบอกชัดว่าโอปปาติกะคือพระอนาคามี) เพราะฉะนั้น พระอนาคามี คือ โอปปาติกะ พระสูตรบางสูตรที่กล่าวว่า ผู้ไม่เชื่อมีโอปปาติกา เป็นมิจฉาทิฐิ นักวิชาการบางคนไปเน้นแต่เรื่องผีสางเทวดา ที่จริงน่าจะหมายถึงว่า คนที่ไม่เชื่อว่ามีผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบระดับอนาคามี เป็นมิจฉาทิฐิ

3.3 ข้อเปรียบเทียบที่คมคายอย่างหนึ่งคือ เปรียบปริยัติ (การศึกษาเล่าเรียน) ที่เรียนไม่ดีไม่ถูก เช่น เรียนเพื่อโก้ เพื่ออวดคนอื่น เพื่อให้เขาสรรเสริญว่าตนรู้มาก ยิ่งเรียนทิฐิยิ่งมาก มีแต่นำโทษมาให้เหมือนจับงูพิษที่หาง ย่อมถูกงูแว้งกัดเอาถึงตายได้ (ในอรรถกถาธรรมบท เล่าเรื่องนักปริยัติตายไปเกิดเป็นปลาทองปากเหม็น หรือพระพหูสูตรูปหนึ่ง ชื่อ โปฐิละ ถูกพระพุทธเจ้าเรียกว่า "ใบลานเปล่า" แสดงว่าไม่ทรงสรรเสริญความรู้โดยไม่ปฏิบัติ) อีกแห่งหนึ่งในพระสูตรเดียวกันนี้ (คืออลคัททูปมสูตร) เปรียบธรรมเหมือนแพ สำหรับพาคนข้ามน้ำ ตราบใดที่ยังข้ามไม่ถึงฝั่งแพก็จำเป็น แต่ถ้าถึงฝั่งแล้วใครแบกมันไปด้วย เพราะเห็นว่ามันมีประโยชน์เหลือเกิน ก็จะถูกหาว่าบ้า หรือทำไม่ถูกเรื่อง ธรรมก็เหมือนกัน เป็นเพียง "อุปกรณ์" ให้ผู้ปฏิบัติไปสู่เป้าหมายสูงสุด มิใช่ตัว "เป้าหมายเอง" ตราบใดที่ยังไม่บรรลุนิพพาน ธรรมะก็ยังจำเป็น แต่ถ้าบรรลุแล้วก็หมดความจำเป็น ข้อความตรงนี้เน้นด้วยว่าไม่ควรยึดมั่นถือมั่นแม้กระทั่งความดี (ธรรม)

3.4 วัมมิกสูตร เป็นตัวอย่างปริศนาธรรม (โกอาน) ซึ่งมีไม่มากในเถรวาท ปริศนามีว่า (1) มีจอมปลวก หนึ่ง กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นไฟ (2) พราหมณ์บอกให้ลูกศิษย์ชื่อสุเมธขุด (3) สุเมธใช้จอบขุด (4) พบลิ่มสลัก (5) ถอดลิ่มสลักออกเจออึ่งอ่าง (6) ขุดต่อไปเจอทางสองแพร่ง (7) หม้อน้ำด่าง (8) เขียงหั่นเนื้อ (9) ชิ้นเนื้อ (10) งูใหญ่ (11) พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์บอกให้เลิกขุด กล่าวว่าอย่าทำอะไรมัน จงปฏิบัติต่อมันให้ดี

ไขความว่า

(1) จอมปลวก หมายถึง ตัวเรา กลางคืนเป็นควัน หมายถึง เวลากลางคนก็นอนคิดวางแผนว่าจะทำอะไรบ้าง กลางวันเป็นไฟ หมายถึงกลางวันก็ต้องทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำตามแผนการที่คิดเอาไว้

(2) พราหมณ์ หมายถึง พระศาสดา ลูกศิษย์หมายถึงสาวกผู้ใคร่ธรรมที่ฉลาด (สุเมธ แปลว่าฉลาด)

(3) จอบ หมายถึง ปัญญา การขุด หมายถึงความเพียร

(4) ลิ่มสลัก หมายถึงอวิชชา ความโง่เขลา

(5) อึ่งอ่าง หมายถึง ความเคียดแค้น โทสะ

(6) ทองสองแพร่ง หมายถึง วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย

(7) หม้อน้ำด่าง หมายถึง นิวรณ์ 5

(8) เขียงหั่นเนื้อ หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ ความคิดคำนึง

(9) ชิ้นเนื้อ หมายถึง ความเพลิดเพลินยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้นนั้น

(10) งูใหญ่ หมายถึง พระอรหันต์ พอถึงภาวะเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ไม่ต้อง "ขุด" อีกต่อไป เพราะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางแล้ว

3.5 สาระของการบวช หรือเป้าหมายของการบวชอยู่ที่ไหน ในจูฬสาโรปมสูตร ได้พูดถึงบุรุษต้องการแก่นไม้ แต่แทนที่จะเอาแก่นก็เอากิ่งและใบบ้าง สะเก็ดบ้าง เปลือกบ้าง กระพี้บ้าง ด้วยสำคัญผิดคิดว่าเป็นแก่น แล้วเปรียบเทียบกับกุลบุตรบางคน (หรือหลายคน) ออกบวชตั้งใจจะพ้นทุกข์ แต่ข้อปฏิบัติของเขาไม่ต่างอะไรกับบุรุษไม่รู้จักแก่นไม้

- บางคนบวชแล้ว มีลาภสักการะ มีชื่อเสียง ก็อิ่มใจ พอใจ นึกว่าตนเป็นพระรวย พระดัง ดูถูกพระรูปอื่น คนชนิดนี้บวชมาได้เพียง "กิ่งและใบศาสนา"


(มีต่อ 18)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 ก.ค.2006, 12:28 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

บางคนไม่พอใจแค่ลาภสักการะ ชื่อเสียง พยายามรักษาศีลให้บริบูรณ์ พอใจในศีล กระหยิ่มว่าเราเป็นพระเคร่ง ดูถูกดูหมิ่นพระอื่นๆ ว่าไม่เคร่งเท่าตน เขาได้เพียง "สะเก็ดศาสนา"

- สมาธิ = เปลือก

- บางคนไม่พอใจแค่นั้น พยายามปฏิบัติจนได้ญาณทัศนะ (การรู้เห็นตามความจริง) หรือปัญญา พอใจแค่นั้น ยกตนข่มเหงผู้อื่น เพราะปัญญาที่ได้นั้น คนนี้ได้เพียง "กระพี้ศาสนา"

- บางคนไม่พอใจแค่นั้น พยายามปฏิบัติจนได้อาสวักขยญาณ (หมดอาสวะ), วิมุตติ (หลุดพ้นจากกิเลส) คนนี้เรียกว่าบวชมาแล้วได้ "แก่นศาสนา"

สรุป

ลาภสักการะ = กิ่งและใบศาสนา
ศีล = สะเก็ดศาสนา
สมาธิ = เปลือกศาสนา
ญาณทัศนะ หรือ ปัญญา = กระพี้ศาสนา
อาสวักขยญาณ หรือวิมุตติ (หลุดพ้นจากกิเลส) ที่ไม่กำเริบอีก = แก่นศาสนา

3.6 พระพุทธศาสนานั้นมิได้ละเลยคนที่ด้อยโอกาส ถือว่าทุกคนเป็น "เวไนย" (ผู้ที่ฝึกอบรมได้) มหาโคสิงคสาลสูตร "สติ" เกี่ยวกับเรื่องนี้ ป่าโคสิงคสาละ ร่มรื่น สงบสงัดดีเหลือเกิน พระเถระหลายรูปมี พระสารีบุตร พระมหากัสสปะ เป็นต้น สนทนากัน พระสารีบุตรตั้งคำถามว่าป่าที่น่ารื่นรมย์เหมาะที่พระเช่นใดจะอยู่ พระเถระแต่ละรูปเอาคุณสมบัติที่ตัวมีเป็นเกณฑ์วัด

พระมหากัสสปะ ซึ่งเป็นผู้ถือธุดงค์เป็นวัตร สันโดษอยู่อย่างปอนๆ ก็บอกว่า พระที่มีลักษณะอย่างนี้ ควรอยู่ป่านี้

พระอนุรุทธะ ผู้เป็นเลิศทางทิพยจักษุ ก็บอกว่า พระที่ได้ทิพยจักษุควรอยู่ป่านี้

พระอานนท์เลิศทางพหูสูต ก็บอกว่า พระที่เป็นพหูสูต ควรจะอยู่ป่านี้

พระเรวตะ ผู้ชอบหลีกเร้นเข้าฌานสมาบัติ ก็บอกว่าพระเช่นนี้ควรอยู่ป่านี้

พระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ควรที่พระสองรูปจะอยู่ด้วยกัน สนทนา "พระอธิธรรม" กันตลอด ไม่หยุดพักเลย

พระสารีบุตร ไม่เห็นด้วยในทัศนะของท่าน ท่านว่าพระที่ยังจิตให้อยู่ในอำนาจได้ อยากจะเข้าสมาบัติเวลาใดก็ทำได้ทันที ควรจะอยู่ป่านี้

พระเถระทั้ง 6 รูป ไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า ทัศนะของแต่ละท่านถูก "โดยปริยาย" แต่ไม่ถูกทั้งหมด เพราะแต่ละท่านวางเกณฑ์ไว้สูงเกินไป ผู้ที่มีความพร้อมอย่างนั้น จะอยู่ที่ไหนก็ได้ไม่มีปัญหา แต่ป่าที่เป็นสัปปายะเช่นนี้ ควรที่พระธรรมดาๆ จะอยู่บำเพ็ญเพียรทางจิต "ภิกษุ (ปุถุชน) ในศาสนานี้ กลับจาก บิณฑบาต ใช้เวลาหลังภัตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้าว่าจิตของเรายังไม่หมดความยึดมั่น ยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะ ตราบใด เราจะไม่ทำลายบัลลังก์ (คือไม่ยอมลุก) ตราบนั้น ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้"

3.7 พระพุทธเจ้าทรงเป็นยอดนักสอนคน (อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ) กลวิธีการสอนที่ทรงใช้บ่อย คือ ยกสภาวะแวดล้อมใกล้ตัวขึ้นมาเปรียบเทียบ จะเรียกว่าใช้เป็น "สื่อการสอน" ก็ได้ สิ่งหนึ่งที่เห็นบ่อยๆ ในอินเดีย คือ โค โคเป็นอุปกรณ์สำหรับนำมาสอนพระสาวกและประชาชนบ่อยครั้ง เช่น

"คนโง่ ย่อมแก่เปล่าเหมือนโคถึก เจริญแต่เนื้อหนังมังสา แต่ปัญญาหาเจริญไม่" (ธรรมบท)

"เด็กเลี้ยงโคต้อนโคไปหากิน ชราและมรณะก็ไล่ต้อนอายุคนเช่นกัน" (ธรรมบท)

"โค่จ่าฝูงนำลูกฝูงข้ามแม่น้ำ ถ้าจ่าฝูงเดินคด ฝูงโคก็เดินคดตาม ผู้นำไม่ดี ประชาชนก็ไม่ดีไปด้วย" (สังยุตตนิกาย)

ในมหาโคปาลสูตร ได้ยกเอาคุณสมบัติของเด็กเลี้ยงโคมาเป็นตัวอย่างแก่พระสาวกน่าสนใจ คือ

- นายโคบาลที่ดี ต้องรู้จักรูปพรรณของโค เปรียบกับพระรู้จักมหาภูตรูปและอุปาทายรูป

- รู้จักลักษณะโค เปรียบกับพระรู้จักลักษณะพาลและบัณฑิต

- รู้จักเขี่ยไข่ขาง (ขี้แมลงวันที่แผลโค) เปรียบพระที่รู้จักกำจัดความคิดฝ่ายอกุศล

- รู้ปิดแผลโค เปรียบพระรู้จักสำรวมอินทรีย์ (ตา หู...)

- รู้จักสุมควัน เปรียบกับพระรู้จักแสดงธรรมให้คนฟังโดยพิสดารได้

- รู้จักท่าน้ำ เปรียบกับพระรู้จักเข้าไปปรึกษาหารือกับพระผู้รู้ธรรม

- รู้จักน้ำดื่ม เปรียบกับพระรู้อรรถรู้ธรรม เมื่อมีผู้แสดงธรรมที่พระตถาคตประกาศแล้ว

- รู้จักทาง เปรียบกับพระรู้จักอริยมรรคมีองค์แปด

- รู้จักทำเล (โคจร) เปรียบพระที่รู้จักสติปัฏฐาน

- รู้จักรีดนม เปรียบกับพระรู้จักประมาณในการรับปัจจัยสี่

- รู้จักทะนุถนอมพ่อโคผู้นำฝูง เปรียบกับพระรู้จักแสดงความเคารพนับถือพระผู้ใหญ่ที่เป็นสังฆบิดร

3.8 พระธรรมเทศนาสอนเด็ก มีไม่มาก แต่วิธีการสอนเด็กของพระพุทธเจ้านั้น นับว่าน่าสนใจมาก พระองค์จะตั้งคำถามง่ายๆ พร้อมทั้งอุปกรณ์ประกอบ ให้เด็กคิด เช่น ตอนสอนเรื่องพูดเท็จ ทรงต้องการสอนว่า คนที่พูดเท็จประจำ ไม่มีความดีอะไรเหลือในตัว ทรงเอาขันตักน้ำแล้วเททิ้ง เหลือน้ำในขันหน่อยหนึ่ง..เทน้ำหน่อยหนึ่งทิ้งเสีย..คว่ำขันลง..หงายขันเปล่าขึ้น แต่ละขั้นตอนทรงถามนำให้เด็กคิด น่าจะนำมาประยุกต์สอนธรรมแก่เด็กอย่างยิ่ง

3.9 จากหลักฐานในพระสูตรน่าเชื่อว่า เดิมพระท่านฉันมื้อเดียว (เอกาสนํ เอกโภชนํ) แต่ไม่จำกัดเวลา ฉันเวลาไหนก็ได้ เวลาไปบิณฑบาตได้อาหารมาพอฉันแล้ว ก็หาที่ฉันเลย ฉันเสร็จก็เดินกลับวัด พระอุทยีไปบิณฑบาตเวลามืดค่ำ ชาวบ้านเห็นตกใจ นึกว่าผีหลอก บางคนก็ด่า (คำด่า น่าสนใจ ปิตา เต มาริ มาตา เต มาริ = พ่อมึงตาย แม่มึงตาย น่าจะตรงกับคำด่าแม่ของไทย) ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามฉันเวลาวิกาล ถ้อยคำแวดล้อมน่าสนใจ "จงงดเว้นการฉันในเวลาวิกาลในเวลากลางคืน (รตฺติ วิกาลโภชนํ ปชหถ) แสดงว่าเวลาวิกาล หมายเอาตั้งแต่มืดไป ก่อนมืดเป็นกาล ฉันได้ มีข้อน่าคิดในแง่วิชาการก็คือ

คำ "วิกาล" มีใน 2 สิกขาบท คือ "เข้าบ้านเวลาวิกาล ต้องบอกลาเพื่อนพรหมจรรย์ก่อน" และ "ห้ามฉันอาหารในเวลาวิกาล" พระอรรถกถาจารย์ตีความไม่เหมือนกัน (ทั้งที่ศัพท์เดียวกัน)

วิกาล ในเรื่องการเข้าบ้าน หมายเอาตั้งแต่มืดไปแล้ว

วิกาล ในเรื่องฉันอาหาร หมายเอาตั้งแต่เที่ยงไป แต่ในพระบาลีท่านหมายเอา "ตั้งแต่มืดไป" เหมือนกันเพราะเหตุนี้กระมังพระทิเบตจึงฉันข้าวเวลาเย็นกัน


(มีต่อ 19)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 ก.ค.2006, 12:30 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ส่วนการฉันสองมื้อนั้น เนื่องมาจากนางวิสาขา ทำข้าวยาคูไว้ถวายพระเวลาเช้า ก่อนออกบิณฑาตพระรูปใดต้องการก็ไปฉันข้าวยาคูก่อน ต่อมาก็เลยกลายมาเป็นฉันอาหารมื้อเช้าไป (เรื่องนี้มีเล่าในอรรถกถาธรรมบท อาจเป็นเหตุการณ์ในลังกาสมัยผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ก็ได้)

การบิณฑบาตมิใช่เพียงการไปขอข้าวชาวบ้านฉัน แต่เป็นการหาโอกาสแสดงธรรมแก่ชาวบ้านด้วย เพราะฉะนั้นจึงเรียกกันว่าเป็นการ "โปรดสัตว์" ขณะเดียวกันพระพุทธองค์ก็ทรงสอนว่าการบิณฑบาตที่จะบริสุทธิ์ควรทำอย่างไร เช่น สำรวมมิให้อกุศลเกิดในใจ ละกามคุณ นิวรณ์ เป็นต้น พูดง่ายๆ ว่าให้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นการฝึกตนชนิดหนึ่งด้วย

3.10 พวกพราหมณ์ มักมีความเชื่อฝังหัวว่า คนเก่ง คนดี จะต้องมีบุคลิกดี นรลักษณ์ดี หาไม่แล้วจะไม่ยอมสนทนาด้วย บังเอิญว่าพระพุทธองค์ทรงมีคุณสมบัติเช่นนี้ครบถ้วน จึงสนทนากับพวกเขาได้สบาย ในหลายสูตรพราหมณ์มักจะส่งลูกศิษย์มาดู (หรือมาดูเอง) นรลักษณ์พระพุทธเจ้าก่อนจึงจะยอมสนทนาธรรมด้วย นรลักษณ์ที่สำคัญคือ ลิ้นใหญ่ คุยหะซ่อนอยู่ในฝัก (โกโสหิตํ วตฺถุคุยฺหํ) จนพระพุทธเจ้าต้องแสดงให้ดู

นอกจากนี้ยังดูลายเท้าด้วย ดังเรื่องเล่าในอรรถกถาธรรมบท พราหมณีผู้เชี่ยวชาญ "ปาทศาสตร" บอกไว้ว่า

คนเจ้าราคะ เท้าเว้ากลาง รตฺตสฺส หิ อุกฺกุฏิกํ ปทํ ภเว
คนเจ้าโทสะ เท้าหนักส้น ทุฏฺฐสฺส โหติ สหสานุปีฬิตํ
คนเจ้าโมหะ เท้าจิกปลาย มูฬหสฺส โหติ อวกฑฺฒิตํ ปทํ
คนหมดกิเลส เท้าเรียบเสมอ วิวฏจฺฉทสฺส อิทมีทิสํ ปทํ

3.11 พระพุทธเจ้าเป็น "ศาสดาที่ไม่กระหายสาวก" ไม่คำนึงว่าใครจะนับถือหรือไม่ ต้องการชี้ทางสว่างแห่งชีวิตแก่เขาเป็นที่ตั้ง พระสูตรหลายแห่งเล่าถึงสาวกคนสำคัญของศาสนาเชน เช่น สีหเสนาบดี ที่มาสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใส อยากจะทิ้งศาสนาเดิมของตน มานับถือพระพุทธศาสนา แทนที่พระพุทธองค์จะรีบรับ กลับตรัสให้เขาคิดให้ดีก่อนตั้งสามครั้ง สร้างความประหลาดใจให้แก่สีหเสนาบดีมาก ถึงกับอุทานว่า เมื่อสมัยเขามานับถือศาสนาเชนใหม่ๆ พวกเขาถือธงเที่ยวประกาศทั่วเมืองไพศาลี ว่า คนสำคัญเช่นเสนาบดีนับถือศาสนาเชนของเราแล้ว แต่พระพุทธองค์กลับตรัสเตือนว่า คิดดูให้ดีก่อน

ในหมู่พระสงฆ์สาวก พระพุทธองค์เป็น "ศูนย์รวมจิตใจ" เป็นกัลยาณมิตรที่ดี คอยประทานโอวาทแนะนำมิใช่ "คุมอำนาจสั่งการ" ทรงเปิดโอกาสให้สาวกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบพระองค์ได้ดังใน วีมังสกสูตร และปวารณาสูตร เป็นตัวอย่าง ที่ทรงทำเช่นนี้เพราะต้องการให้สาวกนับถือเคารพพระองค์ เพราะคุณธรรมมากกว่าติดในบุคคล (ดังกรณีเตือนพระวักกลิ เป็นต้น)

3.12 อัคคิวัจฉโคตตสูตร ให้แนวคิดว่า พระพุทธศาสนาอยู่กึ่งกลางระหว่างสัสสตทิฐิ กับอุจเฉททิฐิอย่างไร ถ้ามีคนถามว่า พระอรหันต์ตายแล้วเกิด หรือไม่เกิด พระองค์ไม่ตอบตรงๆ เพราะถ้าตอบว่า "เกิด" คนฟังก็จะคิดว่าอาตมันยั่งยืน นิรันดร ไม่ตาย ถ้าตอบว่า "ไม่เกิด" คนฟังก็จะคิดว่าอาตมันดับสูญ ไม่นิรันดร พระองค์จึงตรัสตอบด้วยอุปมาว่า

"ถ้ามีเชื้อไฟอยู่ ไฟก็ลุกไหม้ เมื่อเชื้อหมดไป ไฟก็ดับ พระอรหันต์ท่าน "ดับสนิท" เหมือนไฟดับ" แต่จากอุปมานี้เอง พวกมหายานนำเอามาคิดในแง่อภิปรัชญา จนได้คำตอบว่า ไฟที่ดับไปแล้วยังคงอยู่ (Exist) ฉันใด พระอรหันต์ดับไปแล้วก็ตอบได้เหมือนกันว่า คงอยู่ เพราะเหตุนี้ ฝ่ายมหายานจึงบัญญัติความคิดเรื่อง ตรีกาย เชื่อว่าพระพุทธเจ้านิรันดร ขึ้น เป็นการพัฒนาการเลยเส้นเดิมของเถรวาท

3.13 อังคุลิมาลปริตต์ ที่ชาวพุทธถือว่า เป็นบทมนต์ทำให้คลอดบุตรง่าย พระนิยมสวดในงานมงคลต่างๆ นั้น บางท่านอ้างว่ามีมาแต่สมัยพุทธกาล แต่ที่จริง ในพระสูตรพูดถึงพระองคุลิมาลตั้งสัจจะกล่าวคาถานี้จริง หญิงมีครรภ์หายปวด คลอดลูกด้วยความปลอดภัยจริง แต่ไม่ปรากฏว่าถือเป็นมนต์ขลังเลย การถือขลังเรื่องปริตร ต่างๆ เกิดขึ้นในสมัยหลัง (คงเกิดที่ประเทศลังกา) แต่บางครั้งผู้แต่งหนังสือมักจะเอามาพัวพันกับสมัยพุทธกาล


(มีต่อ 20)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง