Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 จดหมายที่มีคุณค่า (ท.เลียงพิบูลย์) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 04 เม.ย.2006, 12:10 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



book.gif


จดหมายที่มีคุณค่า
โดย ท.เลียงพิบูลย์

(จากหนังสือคำนำ แจกในงานฉลองอายุครบ ๘๐ ปี
ของพระมหาเทพกษัตรสมุห เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๓)

จากหนังสือกฎแห่งกรรม
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เล่ม ๓



เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๒๓ ได้อ่านหนังสือเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ของคุณ ท. เลียงพิบูลย์ เรื่องที่ ๑๐๐ เล่าถึงการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ เสด็จในพระราชพิธีเลียบมณฑลเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นผมรับราชการในหน้าที่หัวหน้ามหาดเล็กโดยเฉพาะ

เกิดความเลื่อมใสที่คุณ ท. เลียงพิบูลย์ ได้จดจำเก็บเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีมาเล่าได้ใกล้เคียงที่สุด ทั้งสิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ในความทรงจำของผม จึงเขียนจดหมายแนะนำตัว พร้อมด้วยส่งเสริมกำลังใจ และเล่าเรื่องเก่าๆ ที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและประชาชนทั่วไปสำหรับผู้สนใจที่ยังไม่รู้

คุณ ท. เลียงพิบูลย์ พอใจขออนุญาตมาทางจดหมายเพื่อนำไปลงในชุด “กฎแห่งกรรม” ดังปรากฏในเรื่อง “จดหมายที่มีคุณค่า” เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๑๓ ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ได้รับจดหมายเป็นจำนวนไม่น้อย มีทั้งบันทึกเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันและในอดีตที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน คิดว่าผู้ที่ยังไม่รู้คงมีอีกมาก ข้าพเจ้าพิจารณาดูข้อความล้วนแต่มีคุณค่าในสัจธรรมทางศาสนา ที่ท่านอาวุโสได้บันทึกส่งมาให้

ท่านคงเห็นในยุคนี้ชาวพุทธไทยเราส่วนมากขาดความสนใจในเรื่องศีลธรรม ห่างไกลจากหลักพระศาสนา ไม่มีความละอายต่อการทำบาป เหลือเพียงแต่ชื่อว่านับถือพุทธศาสนาเท่านั้น เพื่อส่งเสริมให้เห็นชัดถึงในหลักสัจธรรมนั้นเป็นความจริงไม่มีข้อสงสัย ความหวังดีส่วนรวมของท่านทำให้ข้าพเจ้าเกิดความปีติยินดี เมื่อท่านได้เสียสละเวลาบั้นปลายของชีวิตด้วยความอดทน เขียนบันทึกและจดหมายเหตุหลายหน้ากระดาษแทนการพักผ่อนหาความสงบ

บันทึกเรื่องประสบการณ์ในอดีตสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ลูกหลานอนุชนรุ่นหลังจะได้พิจารณาเห็นชัดแจ้งความจริงของหลักธรรม เพื่อส่งเสริมศีลธรรมทางพุทธศาสนา ให้บังเกิดผลยกระดับจิตที่กำลังตกต่ำลงทุกวัน ใช้หลักธรรมะยึดเหนี่ยวประคองจิตใจให้สูงขึ้น มองเห็นบุญบาปชั่วดี กรรมสร้างไว้ในชาตินี้และชาติก่อน ทำดีทำชั่วผลของกรรมย่อมตามสนองทั้งชาตินี้ชาติหน้าจริง จิตใจมนุษย์ก็จะคลายความเสื่อมทรามเหี้ยมโหดดุร้ายลง คงจะเกิดประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลังๆ เพราะธรรมะย่อมชนะอธรรมเสมอไป อยู่ที่เวลาปฏิบัติเท่านั้น ความชั่วย่อมจะพ่ายแพ้ความดี

หากเราทุกท่านช่วยกันอบรมลูกหลานทั่วไปทุกครัวเรือน มิใช่คิดแต่อาศัยโรงเรียนหรืออาศัยพระที่เทศน์สั่งสอน ความสงบเกิดสันติสุขนั้นจะเริ่มต้นเกิดขึ้นในตัวเราและครอบครัวเราทุกคน ส่วนใหญ่สำคัญยิ่งก็คือ บิดามารดาผู้ปกครองจำเป็นที่สุด ที่อบรมสั่งสอนศีลธรรมชี้ให้เห็นกรรม และคอยระวังสอดส่องอย่าให้คบคนชั่วเป็นเพื่อน คอยสอดส่องความประพฤติบุตรหลานของตัวอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยไว้ตามบุญกรรม

ถ้าครอบครัวใดมีลูกไม่สนใจในพ่อแม่ คบเพื่อนชั่วจนเสียผู้เสียคน หัวอกพ่อแม่จะได้รับความชอกช้ำเพียงใด ยิ่งรักมากก็ยิ่งทุกข์ช้ำมากเพราะลูกชั่วมาก อย่าปล่อยไปตามเรื่องตามราว คิดว่าถ้ามันจะดีมันดีเอง จะมีดีเองสักกี่คนเป็นส่วนน้อย พ่อแม่จะต้องปฏิบัติตนให้ดีเพื่อเป็นตัวอย่างของลูกต่อไป เพราะเด็กย่อมเอาอย่างผู้ใหญ่

พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก เป็นเรื่องธรรมดาทั่วๆ ไปเด็กรุ่นหลังที่จะเติบโตต่อไป ถ้าผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองต่างช่วยกันแก้ด้วยหลักศีลธรรมทางพุทธศาสนา รีบเริ่มต้นทุกครัวเรือนแล้ว คงจะทำให้เด็กรุ่นหลังๆ จิตใจสูงขึ้น พร้อมทั้งมีจิตใจเห็นความทุกข์ยากของมนุษย์ด้วยกัน แผ่เมตตาจิตให้กัน ความสงบทั่วไปก็จะเกิดขึ้น

หนังสือทางพระที่ท่านผู้มีความรู้สูงเขียนขึ้น ก็สามารถที่จะชี้นำให้ปฏิบัติชีวิตครองเรือนได้อย่างดี ยิ่งเริ่มต้นอยากให้ท่านสอนให้เด็กรู้จักประโยชน์ของศีล ๕ ผู้ปฏิบัติอยู่ในศีล ๕ เกิดผลบุญกุศลอย่างไร ผู้ไม่ปฏิบัติเกิดผลทำลายตัวเองอย่างไร หลักธรรมทางพุทธศาสนานั้น ผู้ใดทำก็เกิดผลแก่ผู้นั้น

เมื่อข้าพเจ้าได้รับจดหมายเป็นจำนวนมากที่ผู้บันทึกส่งมาให้ เมื่ออ่านดูแล้วทำให้ข้าพเจ้ามีความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อน และคิดว่าคนจำนวนมากก็ไม่เคยรู้เช่นกัน จึงอยากจะนำจดหมายฉบับนี้เข้าในชุด “กฎแห่งกรรม” เพื่อจะได้มีโอกาสได้อ่านกันทั่วๆ ไป จึงได้ขออนุญาตไปยังท่านเจ้าของจดหมาย เมื่อได้รับอนุญาตแล้วข้าพเจ้าก็ได้จัดพิมพ์ขึ้นในชุด “กฎแห่งกรรม” ขอให้ท่านได้โปรดอ่านแล้วพิจารณาดู ก็จะได้มีโอกาสที่ได้รู้ในสิ่งที่เราไม่ได้รู้อีกมาก ในบันทึกของท่านเจ้าของ คือ ขุนตำรวจเอกพระมหาเทพกษัตรสมุห ดังที่ท่านได้กรุณาแนะนำตัวต่อไปนี้

พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) บ้านเลขที่ ๔๗ ถนนเศรษฐศิริ ตำบลสามเสนใน กรุงเทพฯ คำว่า ขุนตำรวจเอก เป็นยศของกรมตำรวจหลวงในสมัยนั้น ซึ่งใช้เทียบยศทหารปัจจุบันดังนี้ นายร้อยตรี, โท, เอก = นายตำรวจตรี, โท, เอก นายพันตรี, โท, เอก = ขุนตำรวจตรี, โท, เอก นายพลตรี, โท, เอก = พระตำรวจตรี, โท, เอก ส่วนตำแหน่งยศจอมพลนั้น = พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นโดยเฉพาะ พวกผมเรียกว่า “สมเด็จพระตำรวจ” เป็นที่รู้กันว่า ท่านจอมพล ที่ผมใส่ยศขุนตำรวจเอกไว้หน้าบรรดาศักดิ์พระมหาเทพกษัตรสมุห ก็เพื่อการศึกษาของเยาวชน ข้อแปลกก็คือมี นายตำรวจ ขุนตำรวจ พระตำรวจหลวงยังไม่มี

เหตุชื่อบรรดาศักดิ์ของผมเป็นมหาเทพกษัตรสมุห มีความเป็นมาดังนี้ ก่อนรัชกาลที่ ๔ ตำแหน่งบรรดาศักดิ์เก่าว่า มหาเทพ เสพกษัตริย์สมุห ต่อมารัชกาลที่ ๔ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ทรงถือคำว่าเสพเป็นคำที่หยาบ เช่น เสพเมถุน จึงต้องออกเสียงเหลือแต่ มหาเทพกษัตรสมุห

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมหาธีราชเจ้า ทรงเห็นว่าคำว่า ‘กษัตริย์’ นั้นออกเสียงตามหลักของสันสกฤต ใกล้กับคำว่า ‘กษัตรี’ ซึ่งหมายถึง เพศหญิง ที่มีความหมายของคำตรงกันข้ามกับ ‘กษัตร’ ซึ่งหมายถึง ชายชาตินักรบ ด้วยเหตุนี้ในสัญญาบัตรของผมจึงเป็น พระมหาเทพกษัตรสมุห

ความจริงแล้วบรรดาศักดิ์ที่ชื่อ มหาเทพกษัตรสมุหนี้ มีแต่พระยามาแต่ครั้งกลางรัชสมัยของรัชกาลที่ ๕ แล้ว เพราะทรงเห็นว่าคำว่าพระมหาเทพมักจะไปพ้องกับผู้ที่สอบเปรียญตามวัดต่างๆ เป็นอันมาก แต่ที่ผมเปลี่ยนบรรดาศักดิ์จากเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์มาแทน พระยามหาเทพกษัตรสมุห ที่ถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๗ นั้น ตามปกติก็ต้องเป็นพระยาอยู่แล้ว หากแต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีพระราชประสงค์ว่าจะตั้งเฉพาะผู้สูงอายุสักหน่อย ขณะนั้นผมมีอายุ ๓๘ ปีเท่านั้น

แต่เมื่อผมเป็นพระมหาเทพฯ ได้ไม่ถึงปี ก็เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วต่อมาอีกไม่ถึง ๖ เดือน ก็ต้องยุบกรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ ที่คุณเห็นยังมีแต่งตัวอย่างกรมพระตำรวจฯ แห่นำตามเสด็จอยู่ในทุกวันนี้ ทางการใช้พวกกรมวังมาทำหน้าที่ตำรวจวังเพราะมีความจำเป็น


(มีต่อ)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 26 ก.ค.2006, 8:07 pm, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 04 เม.ย.2006, 12:16 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๓
เรียน คุณ ท. เลียงพิบูลย์ เพราะความนับถือ

ผมได้รับหนังสือ “กฎแห่งกรรม” ฉบับ ส.ค.ส. ๒๕๑๓ แล้วพร้อมด้วยความขอบคุณอย่างยิ่ง และได้อ่านทุกตัวอักษรจบแล้วด้วยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ ๑๐๐ ตอนที่คุณบรรยายถึงภาพที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จเลียบมณฑลเชียงใหม่นั้น บังเอิญเป็นเวลาที่ผมรับราชการเป็นหัวหน้ามหาดเล็ก จึงมีหน้าที่ขี่ช้างชื่อแก้วไหลมาตามเสด็จในขบวนพยุหยาตราครั้งนั้นด้วย ในหนังสืองานศพเจ้าคุณอนุมานราชธน ท่านให้ความคิดเห็นไว้ว่า ความสุขเมื่อเด็กคือ เล่น ความสุขเมื่อหนุ่มสาวคือ รัก ความสุขเมื่อกลางคนคือ การงาน ความสุขเมื่อแก่ (เช่นผมอายุย่างเข้า ๗๒) คือความหลัง

คำบรรยายของคุณจึงทำให้ผมมีความสุขใจได้มาก เวลานั้นผมอยู่วงในใกล้ชิดพระยุคลบาท จึงได้โอกาสเห็นเหตุการณ์มากกว่าที่คุณบรรยายเสียอีก แต่ถึงกระนั้นผมก็ต้องขอชมเชยคำบรรยายของคุณ ที่เก็บความจริงมากล่าวได้ละเอียดถี่ถ้วนดีมากที่สุด จนทำให้ผมอ่านแล้วเกิดความรู้สึกว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง ขอรับรองว่าคำกล่าวของคุณเฉพาะเรื่องนี้เป็นความจริงทุกคำ

สำหรับชาวเวียงพิงค์ที่ทำงานกรมรถไฟนั้น ผมใคร่ทายว่า คือ เจ้ากาวิละ ณ เชียงใหม่ ถ้าผิดก็ขออภัยด้วย ความเห็นของคุณที่ตรงกับผมเผงก็คือ ระเบียบประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของชาวเมืองเชียงใหม่ ในสมัยนั้นเขารักษาไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แม้แต่ในสมัยหลังๆ นี้ก็ยังดีกว่าทางพระนคร ที่กล้ากล่าวเช่นนี้ก็เพราะเห็นในหลวงรับแขกเมืองที่เชียงใหม่เป็นส่วนมาก

อุปนิสัยใจคอของคนเรานั้นอ่านกันได้จากการแสดงออกของคนคนนั้น แต่การแสดงออกของคนที่จะใช้แทนตัวหนังสือ ให้พออ่านได้ความมีหลายอย่าง อาทิเช่น มารยาทในสังคม การพูด การเขียน ฯลฯ ผมได้เฝ้าสังเกตการเขียนของคุณมานานแล้ว เกิดความคิดเห็นโดยสุจริตใจว่า มีแนวการเขียนที่ผมนับถือมากที่สุด เพราะทุกเรื่องเขียนจากความจริง และก็ทุกเรื่องอีกเหมือนกันที่คุณชี้ให้เห็น “กฎแห่งกรรม”

ผมสารภาพความจริงใจว่า ผมอ่านคุณว่าเป็นผู้มีจิตใจสูงมาก เพราะไม่ปรากฏว่าคุณเคยเขียนขึ้นเพื่อหาทรัพย์เลย ในชีวิตผมซึ่งเห็นคุณเป็นคนแรก ผมจึงนับถือมากและอยากรู้จัก การกินอาหารร่วมกันในวันบำนาญออก ผมเห็นคุณสนิทเอาหนังสือของคุณมาแจก ตอนแรกผมลืมชื่อคุณสนิทจึงเข้าใจผิดว่า ท. เลียงพิบูลย์ เดือนต่อมาจึงไปถามเขาๆ ว่าเพื่อนเขาเอง ผมจึงฝากนามบัตรไป ต่อมาอีกราวเกือบอาทิตย์เขาโทรฯ มาว่าให้พูดโทรศัพท์ไปที่ ๘๙๑๕๗๒ ผมรีบโทรฯ ไปหลายครั้งแต่เงียบ จึงถามไปที่ ๐๗ ตอบมาว่าเบอร์นี้ไม่มี ต่อมาผมจึงได้รับ ส.ค.ส. ของคุณ แต่ยังไม่ทราบเบอร์โทรศัพท์

ผมมีเรื่อง “กฎแห่งกรรม” อยู่อีกหลายเรื่องแต่ไม่ใช่นักเขียน จึงคิดจะเล่าความจริงส่งมาให้คุณ ทั้งนี้ถ้าผมมีโอกาส ผมเป็นเด็กบ้านนอกที่มาเป็นข้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งรัชกาลที่ ๖ และที่ ๗ ตลอดรัชกาลทั้งสองรัชกาลมีประสบการณ์ทั้งทางทะเลทางการทำนา และราชสำนักตั้งแต่พอมีอายุรู้ความ จนถึงขณะนี้มีอายุ ๗๑ ปีกับ ๗ เดือน ได้ผ่านสำนักที่ต่ำสุดจนถึงราชสำนัก ผมได้ตั้งจุดดำเนินชีวิตของผมไว้จุดใหญ่ที่สุด ก็คือใครทราบว่ากฎแห่งกรรมนั้นมีจริงหรือไม่

ตั้งแต่ผมมีอายุได้ประมาณ ๑๙ ปี และทำการค้นคว้ามาจนถึงอายุเกือบ ๖๐ ปี จึงได้เกิดความมั่นใจว่ามี “กฎแห่งกรรม” ตามพระบรมพุทโธวาท แน่เหลือเกิน บางทีคุณจะเกิดความสงสัยว่าทำไมผมจึงได้ความเชื่อเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ช้ามากถึงเพียงนี้ ผมขออธิบายว่าอุปนิสัยของผมนั้น ทั้งโง่และดื้อ สิ่งใดที่ไม่เป็นจริงด้วยตนเองแล้วเป็นไม่ยอมเชื่อ แต่เมื่อส่วนมากเขาเชื่อก็อดที่จะค้นคว้าให้เห็นประจักษ์แก่ตัวไม่ได้

วิธีการค้นคว้าหาความจริงเรื่อง “กฎแห่งกรรม” นี้ ผมได้ปกปิดไว้เป็นเวลานาน ยิ่งกว่านั้นผมยังตั้งใจไว้ว่าจะเปิดเผยเอาเมื่อผมตายแล้ว โดยการพิมพ์เป็นหนังสือแจกงานศพผมด้วยซ้ำ ที่ไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง ก็เพราะแนวความคิดเขาไม่มองเห็นความสำคัญเช่นคุณ และผมคุณมีแนวความคิดที่ผมนับถือ ผมจึงคิดจะเล่าความจริงใจให้คุณฟัง

ผมขอย้ำถึงอุปนิสัยของผมอีกครั้งหนึ่งว่า การที่ผมดันเอาความโง่และความดื้อของผมให้ขึ้นนำมาเป็นถึงบรรดาศักดิ์ชั้นพระได้ ก็เพราะความมานะหรือความเพียร ซึ่งลงได้อยากรู้อะไรแล้วเป็นต้องมีใจจดจ่ออยู่กับเรื่องที่อยากรู้นั้นๆ ไม่เว้นว่างเลย พยานคำกล่าวนี้ของผมก็คือหนังสือเรื่อง “การดนตรีและการฟัง” ที่ผมส่งมานี้ ผมเขียนขึ้นเมื่อภรรยาผมทำบุญอายุครบ ๖๐

ต้นเหตุที่ทำให้ผมต้องลงมือค้นคว้าเรื่อง “กฎแห่งกรรม” มีดังนี้ มารดาผมถึงแก่กรรมตั้งแต่ผมยังจำหน้าท่านไม่ได้ จนบัดนี้ก็นึกหน้าท่านไม่ออก รูปถ่ายท่านก็หาไม่ได้ บิดาท่านพาผมมาเลี้ยงได้ไม่ถึงปี ผมก็มาอยู่กับรัชกาลที่ ๖ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๔ เรียนหนังสือจบห้อง ๘ เป็นครั้งแรกที่มีห้อง ๘ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ รับราชการเป็นมหาดเล็กกองตั้งเครื่องเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๑ ทำงานได้ ๗ เดือน ก็ได้เป็นรองเสวกโท (เทียบร้อยโท) มีบรรดาศักดิ์เป็นนายรองสุจินดา

บิดาผมถึงแก่กรรมไป ๕ ปีแล้ว เห็นเพื่อนๆ เขาฉลองสัญญาบัตรกันสนุกสนานพร้อมหน้าบิดามารดาของเขา ส่วนผมนั้นได้แต่หลับตานึกกว่า ถ้าคุณพ่อคุณแม่เรายังมีชีวิตอยู่ ท่านจะดีใจสักเพียงไหน ผมสวดมนต์ก่อนนอนทุกคืนมาตั้งแต่อายุ ๑๑ ขวบ ผมสวดนะโม ๓ จบ พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ อีก ๓ จบ แล้วก็พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ (กราบหมอนครั้งละหน รวม ๓ หน) ต่อไปก็นึกถึงคุณบิดามารดา กราบอีกหนหนึ่งแล้วนึกถึงผู้มีอุปการะคุณ ตลอดจนครูบาอาจารย์และเจ้าที่เจ้าทางแล้วก็กราบอีกหนหนึ่งรวมกราบ ๕ ครั้ง ผมทำจนติดนิสัยอยู่จนบัดนี้ วันไหนเพลียลืม ตื่นขึ้นนึกได้ก็สวดใช้หนี้

ส่วนมากในตอนคิดถึงมารดามาก หลังสวดมนต์ก็ขอให้ฝันเห็นหน้าแม่ แต่จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ก็ยังนึกหน้าท่านไม่ออก เมื่ออายุ ๑๙ กำลังสำคัญผิดว่าตัวกำลังปราดเปรื่อง เพราะเล่นฟุตบอลก็กำลังถูกเลือกเข้าทีมชาติ สอบไล่จบชั้น ๘ ก็ได้ที่ ๑ เมื่อปี ๒๔๖๐ ทำราชการ ๗ เดือนก็ได้เป็นขุนนาง จะทำอะไรได้ผลทุกอย่าง แต่ขอให้ฝันเห็นหน้ามารดาสักครั้ง ทำไมจึงไม่ฝัน

เกิดความสงสัยในเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ว่าเมื่อตายไปแล้วคงจะไม่มีการไปเกิดใช้กรรมเก่าอีก ความสงสัยในเรื่องนี้แรงกล้าขึ้นทุกวัน ประกอบกับยิงปืนแม่นด้วย แล้วยังนิยมธรรมชาติอีก จึงชอบหาโอกาสเข้าป่ายิงนกยิงเนื้ออยู่เรื่อย ครั้นรับราชการต่อมาครบ ๒ ปีพอดี ก็โปรดพระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นหุ้มแพร (เทียบเท่าร้อยเอก) มีบรรดาศักดิ์เป็นนายเสนองานประภาษ ทรงโปรดผมมากถึงกับให้มีหน้าที่ในห้องทรงพระอักษร ซึ่งเต็มไปด้วยราชการลับสุดยอด

บางโอกาสทรงสนทนาด้วย ๒ ต่อ ๒ พอประสบโอกาสสิ่งที่ผมอยากทราบก็หลุดออกจากปากผมว่า “ผีมีจริงไหมพ่ะย่ะค่ะ” เวลานั้นราว ๒๓.๐๐ น. เศษ ทรงแปรพระพักตรงอยู่ครู่หนึ่งและก็รับสั่งตอบ “ตามทางวิทยาศาสตร์นั้นเขาว่าผีไม่มี แต่ข้าเคยถูกหลอกมาแล้ว”

ทรงเล่าถึงเรื่องที่ทรงเห็นผีหลอกหลายเรื่อง เช่น เมื่อเสด็จทรงซ้อมรบเสือป่าที่พระราชวังสนามจันทร์และที่อื่นอีกมาก ผมฟังอย่างที่ไม่สนใจจะจำ เพราะจิตผมมุ่งแต่เรื่องที่ท่านจะทรงพระราชวินิจฉัยว่า ผีมีจริงหรือไม่เท่านั้น แต่ผมก็ได้คำตอบจากตัวผมเองว่า ให้ค้นหาความจริงด้วยตัวของผมเอง ตัวเองจึงจะเชื่ออย่างสนิทใจ ทั้งนี้เพราะทรงเล่าถึงเรื่องผีหลอกให้ผมฟังตั้งแต่เวลา ๒๓.๐๐ น. เศษ จึงถึงเวลา ๓.๓๐ น. ก็เสด็จเข้าห้องทรงพระบรรทม ทำให้ผมรู้ในภายหลังว่าเรื่องผีมีคือตายแล้วเกิดอีก หรือว่าผีไม่มีคือตายแล้วสูญนั้น

ถ้าถามปราชญ์ผู้รู้แล้ว จะไม่มีปราชญ์คนไหนบอกเราตรงๆ เลยถ้าใครบอกตรงๆ คนนั้นก็มิใช่ปราชญ์ เพราะผู้รู้จะหาหลักฐานให้เห็นจริงไม่ได้อย่างแบบวิทยาศาสตร์ แต่ปราชญ์ท่านก็รู้ว่ากฎแห่งกรรมนั้นมีจริงแน่นอน ที่ไม่ทรงตอบตรงๆ ก็เพื่อให้เราค้นหาความจริงเอาเอง นี่คือหลักพระพุทธศาสนา

เมื่อผมตามเสด็จพระราชวังบางปะอินใน พ.ศ. ๒๔๖๔ ความคิดถึงบิดามารดาและความอยากรู้เรื่อง “กฎแห่งกรรม” มีความแก่กล้าและรุนแรงขึ้นอย่างสุดขีด เห็นว่าเข้าบรรพชาในพระพุทธศาสนาเท่านั้นจะสมความประสงค์ คือ

๑. มีทางทราบเรื่อง “กฎแห่งกรรม”
๒. การประกอบกรรมดี อาจส่งกุศลไปให้ท่านผู้ให้กำเนิดที่เรานึกถึงบุญคุณท่านได้

จึงเขียนหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายขอพระราชทานบวชเป็นนาคหลวง ทรงยินดีบวชให้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จำพรรษาวัดบวรนิเวศวิหาร ผมเกิดวันอาทิตย์ สมเด็จพระมหาสมณะเจ้าประทานนามว่า “อาชัญโญ” (หมายความว่า ผู้รู้เร็ว หรือม้าที่ฝึกง่าย) แต่กรมหลวงชินวรศิริวัฒน์ ทรงเป็นอุปัชฌาย์ให้ผม เพราะสมเด็จพระมหาสมณฯ ทรงประชวรหนักที่ชะอำ และสิ้นพระชนม์เมื่อผมบวชได้ ๒ วัน ผมได้พิจารณาดูแล้วเห็นว่า พระผู้ทรงคุณวุฒิในวัดบวรนิเวศที่ผมจะเรียนถามเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ได้ก็คือ พระอมรโมฬี (มหาอาบ) เพราะความรู้ของท่านก็เท่ากับมือขวาสมเด็จพระมหาสมณะเจ้าก็ว่าได้

ผมเป็นพระบวชใหม่ จึงพยายามทำความสนิทสนมกับท่าน นานจนผมเกือบจะถึงกำหนดสึก จึงมีโอกาสถามท่านว่าผีมีจริงหรือไม่ เป็นปราชญ์ท่านหยั่งรู้ทันทีว่าเราสงสัยอะไรเป็นสำคัญ ท่านพูดกับผมเพียงข้อความต่อไปนี้เท่านั้นคือ

“คุณเสนอคุณไม่น่าจะเกิดมีความสงสัยเรื่อง “กฎแห่งกรรม” แต่ประการใดเลย เพราะคุณก็อยากดีเหมือนผมจึงได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา คุณลองชั่งใจเลือกดู ๒ ทาง ดังนี้ การที่เราปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วทางที่ ๑ ถ้ากฎแห่งกรรมมีจริงทำให้เราไปเกิดใหม่ในภพหน้า ผลแห่งกรรมดีที่ทำไว้แล้วในชาตินี้ก็จะตามสนอง ทำให้เกิดผลกำไรในภพหน้า

ทีนี้ สมมติว่ากฎแห่งกรรมไม่มีจริงคือตายแล้วสูญ สิ่งที่เราปฎิบัติธรรมไว้ในชาตินี้ก็ไม่เสียหรือจะเรียกว่าเสมอตัวก็ได้ ทางที่ ๒ ถ้าเราไม่เชื่อกฎแห่งกรรม โดยเห็นว่าตายแล้วก็สูญ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรมขาดความสำราญใจ อยากยิงนกตกปลา หรือหาความสนุกตามที่ตนมีความปรารถนาก็ทำไปสุดแต่ความอยาก ดังนี้ สมมุติว่า กฎแห่งกรรมไม่มีจริง และไม่มีการเกิดคือตายแล้วสูญ ก็เรียกว่าเสมอตัว แต่ถ้ากฎแห่งกรรมมีจริงต้องไปเกิดในภพหน้าอีกก็คงไม่มีปัญหาอะไรที่กรรมชั่วต่างๆ ในชาตินี้จะต้องตามไปส่งให้เกิดวิบากกรรมให้เกิดขาดทุน

ฉะนั้นทางที่ ๑ มีแต่เสมอตัวกับได้กำไร ส่วนทางที่ ๒ นั้นมีแต่จะเสมอตัวกับขาดทุน คุณเสนอจะเลือกเอาทางไหน” คำตอบคำที่ ๒ นี้ก็ให้ตนเองวินิจฉัย

เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๙๐ คุณหลวงศรีวโรสถ (ศิริ ศิริเวทิน) แพทย์และอาจารย์ประจำโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ท่านเป็นทั้งแพทย์และครูของผม อยู่บ้านติดกับผม ท่านทำบุญขออยู่ในฐานะที่ท่านเคยเป็นต้นกุฏิของสมเด็จพระสังฆราชวัดสุทัศน์ คือสมเด็จพระวันรัต ท่านจึงนิมนต์พระสังฆราชองค์นี้มาฉันที่บ้านท่าน ท่านเห็นว่าผมเคยเป็นมหาดเล็กซึ่งมีหน้าที่บริการพระเจ้าแผ่นดินมาถึง ๒ รัชกาล คือที่ ๖ - ๗ จึงมอบให้คอยรับใช้เวลาสมเด็จเสวยอาหาร (ฉันเพล)

ผมก็เห็นเป็นโอกาสเหมาะ เพราะทราบดีว่าสมเด็จองค์นี้ทรงปราดเปรื่องในทางธรรมะเป็นยอดเยี่ยมอยู่ในสมัยนั้น ชาติต่างๆ ที่จะมาถามเรื่องของพระพุทธศาสนาแล้ว ทางการต้องส่งไปพบสมเด็จพระองค์นี้ทุกครั้ง พอเหมาะโอกาสผมก็ทูลถามขึ้นว่า ใคร่อยากทราบมานานแล้วว่า ผีมีจริงหรือไม่ ระหว่างที่ทรงตรึกตรองหาคำตอบผมอยู่นั้น คุณหลวงศรีก็ทูลว่าเห็นจะไม่ต้องอธิบายเพราะพระมหาเทพคงจะไม่มีทางจะเข้าใจแน่ ท่านจึงทรงดุว่า

“อย่าเพิ่งไปดูถูกเขานะเขา มีความหมายลึกซึ้งอยู่”

สักครู่ก็รับสั่งกับผมว่า “เอายังงี้ก็แล้วกัน คุณพระทิ้งตัวคุณพระได้ไหม ถ้าทิ้งได้ผีก็ไม่มี แต่ถ้าตราบใดยังทิ้งตัวไม่ได้ผีก็มี”

คุณ ท. เลียงพิบูลย์ ที่นับถือ ผมมาคิดได้ทีหลังว่า คำตอบที่ ๓ นี้ ท่านตอบอย่างสงฆ์สูงมากยากที่คนสามัญจะเข้าใจ คือน่าจะทรงหมายถึงว่าสละจากขันธ์ ๕ รูป รส กลิ่น เสียง และความเป็นตัวตนเสียได้ก็จะไม่มีการเกิด หรือที่ผมเรียกว่าผีเสียได้ แต่ถ้าเรายังถือว่าร่างกายเราเป็นของเราอยู่ เราสามารถนำเอาจิตวิญญาณของเราไปได้ทุกหนทุกแห่งตลอดกาลแล้วนั้น ก็คือผีเราดีๆ นั่นเอง รวมความว่าคำตอบทั้งสามนี้เป็นคำที่เป็นต้นเหตุทำให้ผมเชื่อแน่ว่า จำเป็นจะต้องค้นหาความจริง เรื่อง “กฎแห่งกรรม” ด้วยตัวของตัวเองต่อไป

ทั้งนี้คุณกับผมก็คงเห็นตรงกันว่า ความจริงเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ตัวเอง หรือแก่ผู้ที่เราเห็นด้วยตาของตัวเองเท่านั้น เราจึงจะใช้เป็นหลักประกันความเชื่อของตัวเองได้ คนเราส่วนมากปฏิบัติตนในวงการสังคมไปด้วยความเชื่อและมั่นใจว่าสิ่งที่ตนทำไปนั้นดี ส่วนการที่จะทำอย่างไรจึงจะดีจริงดีแท้นั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะชี้ให้เห็นทุกอย่าง คนที่ทำชั่วเพราะเชื่อว่าการกระทำนั้นๆ จะดีก็เพราะขาดความเชื่อในทางพระพุทธศาสนา ความเชื่อมั่นจึงเป็นต้นเหตุแห่งกรรม

สำหรับคนที่ทำกรรมดีแต่กลับได้รับผลชั่วนั้นก็เพราะขาดการศึกษาเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ซึ่งบันดาลให้กรรมเก่ามาตามสนอง หรืออยู่ๆ ก็เกิดถูกล็อตเตอรี่ ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องของ “กฎแห่งกรรม” ถ้าทุกคนเชื่อมั่นในเรื่องกฎแห่งกรรมแล้ว คงจะไม่มีคนบางคนเขียนไปถามคุณว่าทำดีแล้วเหตุไรจึงได้ผลไม่ดี หรือว่าต้นเหตุเกิดมาอย่างนี้ แต่ผลที่ได้รับกลับกลายเป็นอย่างอื่นไป ฯลฯ

ประสบการณ์ที่เป็นความจริงผ่านมาในชีวิตหลายเรื่อง บางเรื่องเล่าให้เพื่อนฟังเขาไม่เชื่อ แต่ผู้ที่ทำงานอยู่กับผมเขาเห็นเหตุก่อนที่จะเกิดผลเขาจึงเชื่อ เป็นเรื่องที่น่าจะเข้าในเกณฑ์ของกฎแห่งกรรมได้ และดูเหมือนจะแปลกกว่าเรื่องที่คุณเขียนมาแล้วด้วย ผมเคยเขียนส่งไปลงในหนังสือวชิราวุธานุสรณ์เมื่อ ๒ ปีมาแล้ว เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ แต่เขาไม่ลงให้เพราะไม่เชื่อว่าเป็นความจริง ผมขอต้นฉบับคืนก็ทำหายเสีย ผมก็จนปัญญา แต่ผมจำต้องขอผลัดกับคุณไว้ก่อนเพราะเหตุ ๒ ประการ

(๑) ผมไม่ใช่นักเขียน เป็นแต่กล้าเล่าความจริงใจ จนรู้สึกว่าคุณจะรู้สึกเบื่อในการอ่านหนังสือที่พูดยืดยาวมาตั้ง ๗ - ๘ หน้าอยู่แล้ว

(๒) ยังไม่แน่ใจนักว่า หนังสือนี้จะถึงมือคุณหรือหาไม่ เพราะจ่าหน้าซองถึงคุณสั้นเหลือเกิน ฉะนั้น ถ้าคุณได้รับกรุณาตอบด้วย จะขอบคุณยิ่ง


ด้วยความนับถือมากอย่างสุจริตใจ
พระมหาเทพกษัตรสมุห



.................... เอวัง ....................
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง