Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 จากพระพุทธเจ้าถึงพระเจ้าอโศกมหาราช (เสฐียรพงษ์ วรรณปก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 8:05 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

จากพระพุทธเจ้าถึงพระเจ้าอโศกมหาราช
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก


แฟนคอลัมน์นี้ ท่านหนึ่งเขียนถามมานานแล้ว ได้เคยอ่านที่ไหนว่าพระเจ้าอโศกมีเชื้อสายศากยะ หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่าเป็นลูกหลานพระพุทธเจ้า "อาจารย์มีหลักฐานที่ไหนบ้างหรือเปล่า ถ้ามีขอผมด้วยหรือเล่าให้ฟังด้วย" แฟนท่านนี้ใช้ชื่อว่า "อดีตนวกะฉายา ปภากโร"

ผมไม่ได้ตอบ เพราะผมไม่เคยมีหลักฐานชัดเจน เรื่องประเภทนี้ผมรับทราบในรูปเป็นเรื่องเล่า ทำนอง "ประวัติศาสตร์กระซิบ" อ้างอิงเป็นหลักเป็นฐานไม่ได้ คุณสนใจฟัง "กระซิบ" ไหมละครับผมจะนำมาปะติดปะต่อให้ฟัง เรื่องทำนองนี้ผมเคยเล่าหลายครั้งต่างกรรมต่างวาระ เล่าอีกก็คงไม่เสียหาย

ก็ต้องเริ่มจากพวกศากยะ เผ่าพันธุ์ของพระพุทธองค์ เผ่าศากยะและเผ่าโกลิยะ พี่น้องกัน เท่าที่ทราบเป็นกลุ่มเล็กๆ อาศัยอยู่เชิงเขาหิมาลัย อ้างตนว่าเป็น "เชื้อสายพระอาทิตย์" ดังนั้นพระพุทธองค์จึงมีพระนามอีกอย่างหนึ่งว่า อาทิจจพันธุ (เชื้อสายพระอาทิตย์) ว่าไปทำไมมี แม้โคตรของพระพุทธองค์ โคตมะ = รัศมีอันสูงสุด ก็คือชื่อพระอาทิตย์

เผ่าศากยะ เป็นอารยันแท้หรือไม่ ถกเถียงกันมาก ผู้รู้บางท่านกล่าวว่า คงไม่ใช่ เพราะมีประเพณีแตกต่างจากอารยันในชมพูทวีปหลายประการเช่น การบูชากระดูกบรรพบุรุษ เวลามีคนตายลงก็จะเผาศพเอากระดูกบรรจุไว้บูชา ยิ่งกระดูกของผู้ที่เป็นที่เคารพนับถือต้องก่อเจดีย์บรรจุไว้บูชาด้วย ในขณะที่อารยันเขาเผาศพแล้วเอากระดูกลอยน้ำ

ไทยเรารับเอาทั้งสอง เผาศพแล้ว เอาส่วนหนึ่งบรรจุโกศไว้บูชาบ้าง ก่อเจดีย์บรรจุบ้าง ส่วนหนึ่ง (ส่วนมากเป็นอังคาร) เอาไปลอบน้ำขณะลอยก็ทำใจว่ากำลังลอยในแม่น้ำคงคา

ธรรมเนียมที่ว่า พระนางสิริมหามายา ตอนพระครรภ์แก่จะต้องกลับไปมีพระประสูติกาล (คือคลอดบุตร) ยังเมืองมาตุภูมิ เพราะ "เป็นธรรมเนียมแต่โบราณ" นั้น ก็คงมีเฉพาะในเผ่าศากยะ ไม่ปรากฏว่าธรรมเนียมอย่างนี้มีในหมู่อารยัน หรือลูกหลานอารยัน

กระซิบไปกระซิบมา กลายเป็นว่า พระพุทธองค์คงมิใช่อารยันแท้เผลอๆ จะเป็นเผ่าผิวเหลืองมิใช่ผิวขาว ดังมีคำพูดถึงพระฉวีวรรณของพระพุทธองค์ว่า สุวัณณวัณโณ = มีพระฉวีดังทองคำ ผิวเหลืองใช่ไหมครับ

น่าคิดไหม

น่าคิดอีกแหละว่า ท่านเนห์รู เคยพูดว่า ที่พระพุทธศาสนาไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับจากชาวชมพูทวีปนั้น เพราะคำสอนคัดค้านลัทธิความเชื่อเดิมของฮินดูอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งชาวชมพูทวีปถือว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนนอก และเพราะเหตุนี้ พระเจ้าอโศกผู้สนับสนุนพระพุทธศาสนาจึงถูกชาวชมพูทวีปลืมมาเป็นศตวรรษๆ โดยหาว่าพระเจ้าอโศกเป็นผู้สนับสนุนศาสนาของคนนอก

นี้ก็ "กระซิบ" ผมจำไม่แม่นว่าได้อ่านมาจากไหน จากหนังสือที่ท่านอาจารย์กรุณา กุศลาลัย แปลหรือเปล่าไม่แน่ใจ (ท่านอาจารย์กรุณา ช่วยฟื้นความจำผมด้วยครับ)

จะอย่างไรก็ตาม มีหลักฐานค่อนข้างชัดว่า เผ่าศกยะของพระพุทธเจ้า เป็นเผ่าเล็กๆ สมัยนั้นอยู่ใต้อำนาจของประเทศมหาอำนาจคือ เมืองสาวัตถี แห่งรัฐโกศล อันมีพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นผู้ปกครอง

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงสันนิษฐานว่า คำบาลีบรรยายพวกศากยะว่าเป็น "นิเกติโน" (ชาวพื้นถิ่น) แห่งแคว้นโกศลนั้น ก็คือเป็น "เมืองขึ้น" นั้นเอง เพราะอรรถกถาแก้ว่า "ได้แก่ "วสวัตติโน" (เป็นไปในอำนาจ,ตกอยู่ในอำนาจ) แสดงว่าศากยะเป็นเผ่าเล็กๆ ที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีและระบอบการปกครองเป็นของตนเอง แต่อยู่ภายใต้ปกครองของประเทศมหาอำนาจ

จากข้อความแวดล้อมในพระไตรปิฎก เผ่านี้ปกครองผ่านรัฐสภาซึ่งเรียกว่า "สัณฐาคาร" บ้าง "ศากยสภา" บ้าง เลือกตั้งกันขึ้นมาเป็นราชา หรือกษัตริย์ปกครอง และอยู่ในหน้าที่เป็นวาระ หมดวาระก็เลือกตั้งขึ้นมาใหม่ ข้อนี้ค่อนข้างชัดเจน เพราะปรากฏในคัมภัร์ศาสนาว่าเผ่าศากยะประชุมการตัดสินปัญหาสำคัญๆ เป็นครั้งคราว

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เผ่าศากยะสูญหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ก็ปรากฏหลักฐานอันส่อถึงระบอบการปกครองนี้เช่นกัน คือพระเจ้าปเสนทิโกศล ต้องการจะเป็นพระญาติทางสายเลือดกับพระพุทธองค์คืออยากเป็น "ลูกเขย" พวกศากยะ ว่าอย่างนั้นเถอะ จึงส่งทูตไปขอขัตติยกัญญา จากราชสำนักศากยะไปอภิเศกสมรส พวกศากยะผู้ที่ไม่ต้องการให้สายโลหิตของตนปะปนกับเผ่าอื่น ไม่อยากยกให้ แต่จะไม่ให้ก็ไม่ได้ จะให้ก็ไม่ได้ จึงประชุมปรึกษากันที่รัฐสภา


(มีต่อ 1)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 1:52 pm, ทั้งหมด 3 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 8:07 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ในที่สุดก็มีทางออก ส่งวาสภขัตติยา ธิดาของเจ้าชายมหานามที่เกิดจากนางทาสี ไปให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงอภิเษกสมรสสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งอัครมเหสี ต่อมามีพระราชโอรสนามว่า วิฑูฑภะเมื่อเจ้าชายวิฑูฑภะ เสด็จไปเยี่ยมพระเจ้าตาที่กรุงกบิลพัสดุ์ ถูกพวกศากยะดูหมิ่น ไม่ให้การต้อนรับสมกับเป็นมกุฎราชกุมาร แห่งโกศลรัฐอันยิ่งใหญ่ เจ้าชายวิฑูฑภะจึงผูกอาฆาต เมื่อได้ราชสมบัติแล้ว จึงยกทัพไปฆ่าพวกศากยะล้มตายจำนวนมาก ไม่เว้นลูกเล็กเด็กแดง

ว่ากันว่าเมืองกบิลพัสดุ์ของเหล่าศากยะได้ล่มสลายในเวลาต่อมาไม่นาน เพราะน้ำมือของพระเจ้าวิฑูฑภะ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพระพุทธปรินิพพานไม่กี่ปี

ว่ากันอีกนั่นแหละว่า หลังจากนั้นมา (กี่ปีกี่เดือนอย่าให้ระบุเลยเพราะผมจำตัวเลขไม่แม่น) มหาโจรคนหนึ่งก็เกิดขึ้น มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่ว ท่านผู้นี้นามว่า จันทรคุปต์ จันทรคุปต์มิใช่โจรธรรมดาหากแต่จุดมุ่งหมายคือการเป็นเจ้าครองเมืองปาตลีบุตร เคยยกพลไปตีเมืองปาตลีบุตรหลายครั้ง แต่พ่ายมาทุกครั้ง

ในช่วงเวลาที่จันทรคุปต์พยายามรวบรวมพลพรรคเพื่อต่อสู้กับเมืองปาตลีบุตรนี้ ก็มีมหาราชหนุ่มจากประเทศกรีก นามว่า อเล็กซานเดอร์มหาราช หรือที่บาลีเรียกว่า "อลิกสุนทระ" ยกทัพข้ามฮินดูกฎเข้ามายังชมพูทวีป ด้วยแสนยานุภาพมหาศาล ยึดครองเมืองตักสิลาได้เคลื่อนทัพเข้ามายังลุ่มแม่น้ำปัญจาป สู้รบเป็นสามารถกับเจ้าแห่งแคว้นปัญจาปพระองค์หนึ่งนาม โปรุส กว่าจะเอาชนะวีรบุรุษแห่งปัญจาปท่านนี้ได้ก็เล่นเอาอเล็กซานเดอร์เหงื่อตก

ในระหว่างนี้ มหาโจรจันทรคุปต์ ได้ไปเจรจาขอแรงจากอเล็กซานเดอร์ให้ช่วยตีเมืองปาตลีบุตร แต่จะด้วยเหตุอันใดมิทราบได้ ทั้งสองเกิดผิดใจกัน (แบ่งเค้กไม่ลงตัวหรือไม่ ไม่ทราบสิครับ) อเล็กซานเดอร์จึงสั่งจับจันทรคุปต์ พร้อมที่ปรึกษานามว่าจาณักยะขังไว้แต่ทั้งสองแหกที่คุมขังออกได้

ในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน บรรดาแม่ทัพนายกองทั้งหลายเหนื่อยหน่ายต่อความกระหายอำนาจไม่มีสิ้นสุดของอเล็กซานเดอร์จึงพากัน "แข็งข้อ" ไม่ยอมเคลื่อนทัพต่อไป พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช จึงจำต้องยกทัพกลับ ว่ากันอีกนั้นแหละว่า อเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์ระหว่างทาง

แม้ทัพขุนทหารบางกลุ่ม ไม่ยอมเดินทางกลับไปด้วย คงยึดครองจักรวรรดิ์ที่อเล็กซานเดอร์เคยตีได้ต่อไป จันทรคุปต์ในช่วงนี้เพิ่งจะพ่ายสงครามแย่งเมืองปาตลีบุตรมาอย่างย่อยยับ หนีกระเซอะกระเซิงผ่านไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ได้ยินแม่ค้าขายขนมคนหนึ่งด่าลูกสาวที่กัดขนมตรงกลาง ขนมร้อนลวกปากว่า "อีลูกหน้าโง่" มึงนี้โง่เหมือนโจรจันทรคุปต์ มึงกัดขนมตรงกลางมันก็ลวกปากซิวะ ทำไมไม่กัดตั้งแต่ขอบเข้ามา ไอ้โจรหน้าโง่ก็เหมือนกัน จะตีเมืองทั้งทีเสือกยกเข้าไปตีใจกลางเมือง ทำไมไม่ตีตั้งแต่ขอบนอกเข้าไป"

ได้ยินแล้วก็ได้คิด เออ จริงของแม่ค้าขายขนม จากนั้นจึงรวบรวมสมัครพรรคพวกใหม่ ยกไปตีเมืองเล็กเมืองน้อยในรอบนอก ที่เคยอยู่ในอิทธิพลของอเล็กซานเดอร์ ที่ว่านี้รวมถึง นครตักสิลาแห่งคันธารราฐลุ่มน้ำปัญจาปในอินเดียเหนือ ไล่ดะลงมาจนถึงลุ่มคงคา คือเมืองปาตลีบุตร ของกษัตริย์ราชวงศ์นันทะ

คราวนี้ตีได้สำเร็จครับ จับกษัตริย์นันทะสำเร็จโทษ สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นพระราชาพระนามว่าพระเจ้าจันทรคุปต์ แห่งราชวงศ์โมริยะ หรือเมารยะ

ที่เล่าเรื่องพระจ้าจันทรคุปต์ มายืดยาวนี้ เนื่องจากท้าวเธออ้างว่าเป็นลูกหลานของเผ่าศากยะ ที่แตกมาจากคราวสงคราม "ล้างโคตร" กันเอง ก่อนพุทธปรินิพพานโน้น เท็จจริงอย่างไร ไม่มีใครยืนยัน

พระเจ้าจันทรคุปต์ หลังจากสถาปนาราชวงศ์โมริยะครอบครองเมืองปาตลีบุตรแล้ว ก็ต้องรบกับอาณาจักรกรีก รบกันไปรบกันมาไม่มีใครแพ้ใครชนะ จึงเจริญสัมพันธไมตรีกัน แลกเปลี่ยนทูตแลกเปลี่ยนผู้คน ชาวกรีกมาอยู่อินเดีย ชาวอินเดียไปอยู่กรีก อะไรทำนองนี้

สมัยผมเรียนหนังสืออยู่เมืองฝรั่ง (เคมบริดจ์) อาจารย์ให้ทำรายงานเรื่องศิลาจารึกพระเจ้าอโศก assign ให้อ่านหนังสือมากมายรวมถึงประวัติศาสตร์อินเดียด้วย ผมสงสัยว่าให้อ่านทำไมวะประวัติศาสตร์ แต่ก็หายสงสัย เพราะการจะวิเคราะห์วิจารณ์งานของใคร ก็ควรรู้ภูมิหลัง และวิธีคิดของคนๆ นั้น ว่าได้อิทธิพลมาจากไหนด้วย

เลยได้รู้ว่า พระเจ้าอโศกมีเชื้อกรีก จำประโยคฝรั่งได้แม่นประโยคหนึ่งว่า Ashoka got greek blood in his vein คือฝรั่งเขาเชื่อว่า พระเจ้าจันทรคุปต์มีมเหสีกรีก พระเจ้าพินทุสารพระราชโอรสของจันทรคุปต์ ก็มีมเหสีกรีก จึงสรุปเอาว่า พระเจ้าอโศกมีเชื้อกรีก

อีกเล่มหนึ่งว่า พระเจ้าจันทรคุปต์นั้น อ้างตนเองว่าเป็นศากยะถ้าเช่นนั้น พระเจ้าอโศก พระราชนัดดาพระเจ้าจันทรคุปต์ ก็คงไม่พ้นการ "กระซิบ" ว่า ทรงมีทั้งเชื้อกรีกและเชื้อศากยะ

ทั้งหมดนี้ มิได้ตอบปัญหาของคุณ "อดีตนวกะฉายาปภากโร" เป็นเพียงได้ยินเขากระซิบมา ผมก็กระซิบต่อเท่านั้นเอง เรื่องก่อนเกิดอย่าไปซีเรียส ขนาดเรื่องเกิดทันเห็นอยู่ เขายังเขียนยังเล่าผิดเพี้ยนเลยครับ


(มีต่อ 2)
 


แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 1:53 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 8:13 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระเจ้าอโศกเป็นเชื้อสายศากยะ ?

อาทิตย์ที่แล้วได้พูดถึงเผ่าศากยะและโกลิยะ ว่าอาจมิใช่อารยันแท้ก็ได้ เพราะมีขนบธรรมเนียมประเพณีแตกต่างจากอารยันในชมพูทวีปหลายอย่าง แต่ก็มิได้ซีเรียส เป็นเพียงการสันนิษฐาน (ก็คือเดา แต่เดามีเหตุผลสนับสนุนเท่านั้น) อาจสันนิษฐานหรือเดาผิดก็ได้เพราะเรื่องก่อนเกิด ไม่มีใครรู้จริงดอกครับ

ถ้าถามว่า พระพุทธเจ้า ผู้ทรงอุบัติขึ้นในเผ่าศากยะนั้นทรงเป็นเชื้อชาติอะไร ถ้ามิใช่อารยัน นักปราชญ์หลายท่าน เช่น วี.เอ.สมิธ บอกว่าน่าจะเป็นชาวมองโกเลีย สมิธกล่าวว่าพระคัมภีร์ยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทรงมีพระฉวีวรรณสีเหลือง (สุวัณณวัณโณ) และว่าพวกกษัตริย์ลิจฉวี พวกมัลละ ก็มีผิวเหลืองเหมือนกัน

เออ แล้วเผ่ามองโกล ไปยังไง มายังไง จึงมาเกี่ยวข้องกับเนปาลประเทศมาตุภูมิของพระพุทธเจ้า ก่อนอื่นควรทราบว่า เนปาลเมืองมาตุภูมิของพระพุทธเจ้า ถึงจะเป็นประเทศเล็ก แต่ก็มีประวัติความเป็นมาไม่แพ้ชาติโบราณอื่นๆ ก่อนสมัยพุทธกาลขึ้นไปยาวนานไกลประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า มีพวกมองโกลอพยพเข้ามาทางทิศเหนือเข้ามาเป็นใหญ่ในเนปาลแถบภูมิภาคภูเขาและหุบเขา ต่อมามีพวกอารยันเข้ามาสมทบ พวกมองโกลนี้ต่อมากลายเป็นชนเผ่าเนวาร์พระพุทธเจ้าจึงน่าจะสืบเชื้อสายมาจากเผ่ามองโกลก็ได้

ก็ว่ากันไป เพียงเพราะมีผิวเหลือง มิใช่ผิวขาวเหมือนอารยัน และประเพณีนิยมบางอย่างไม่เหมือนชาวอารยัน จะตัดสินว่าพวกศากยะเป็นเผ่ามองโกลเลยก็ไม่ควรด่วนเชื่อ นักปราชญ์อย่าง เสถียร โพธินันทะ ยืนยันหัวเด็ดตีนขาดว่า ไม่เชื่อเด็ดขาด ท่านว่าท่านเชื่อตามพระคัมภีร์ที่ว่า พระพุทธเจ้าประสูติจากตระกูลศากยะแท้ๆ เพียวๆ เป็นสายเลือดอารยัน

มีข้อน่าคิดอยู่นิดหนึ่ง เผ่าศากยะของพระพุทธเจ้า มีระบอบการปกครองแบบสามัคคีธรรม (ปกครองผ่านรัฐสภา) เช่นเดียวกับเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีแห่งเมืองไพศาลี และพวกมัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินาราและปาวา เพราะเหตุนี้เอง พระองค์จึงทรงคุ้นเคยเป็นพิเศษกับเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี และมัลลกษัตริย์ ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะพระองค์ทรงเป็นพระญาติกับกษัตริย์เหล่านั้นด้วย

เฉพาะเมืองไพศาลี แคว้นวัชชีนั้น พระพุทธองค์ชอบมาประทับพักผ่อนอยู่เป็นครั้งคราว ทรงมีความคุ้นเคยเป็นพิเศษ ถ้าเรียกด้วยภาษาสามัญว่า "ทรงชอบ" เมืองนี้เป็นพิเศษ เมื่อครั้งจะเสด็จไปปรินิพพานที่เมืองกุสินารา เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองแล้วขณะเสด็จออกนอกเมือง ก็ทรงเอี้ยวพระศอไปทอดพระเนตรเป็นการ "อำลา" ครั้งสุดท้าย พระบาลีเรียกพระอิริยาบถนี้ว่า "นาคาวโลก" (มองดูดุจช้างเหลียวหลัง) ตรัสกับพระอานนท์ว่า การเห็นเมืองไพศาลีครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว

ยิ่งเมืองกุสินาราของชาวมัลลกษัตริย์ยิ่งไม่ต้องพูดถึงถ้าพระองค์ไม่มีความผูกพันมาก พระองค์คงไม่ตั้งพระทัยจะไปปรินิพพานที่เมืองนี้แน่นอน ทั้งๆ ที่เป็นเมืองเล็ก พระอานนท์ทูลอาราธนาให้ไปปรินิพพานที่เมืองใหญ่ๆ แห่งอื่น เช่น สาวัตถี ราชคฤห์ พระองค์ก็ทรงยืนยันว่า เมืองกุสินารานี้แหละเหมาะที่จะปรินิพพาน ถ้าจะเอาความเล็กความใหญ่มาตัดสิน เมืองกุสินารานี้ปัจจุบันอาจเล็ก แต่ในอดีตกาลอันยาวนานโพ้น เป็นเมืองใหญ่ชื่อ กุสาวดี เป็นที่ประทับของพระมหาจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่

เรียกว่า เมืองไม่ใหญ่ในปัจจุบัน ในอดีตก็ใหญ่ ว่าอย่างนั้นเถิด

เหตุผลเบื้องหลังความตั้งพระทัยจะไปปรินิพพานที่เมืองกุสินาราให้ได้นั้น ผมเคยสันนิษฐาน (เดาไว้แล้ว) ใน "บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์" ที่พิมพ์เผยแพร่แล้ว หนึ่งในหลายสาเหตุก็คือ พระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธประสงค์จะทรงบำเพ็ญ "ญาตัตถจริยา" (การสงเคราะห์ญาติ) ให้สมบูรณ์ พระญาติเมืองอื่นทรงสงเคราะห์มาหมดแล้วยังเหลือแต่พระญาติเมืองกุสินาราและปาวานี้แล ที่ยังไม่ได้สงเคราะห์เพราะถ้าญาตัตถจริยายังไม่สมบูรณ์ พระพุทธองค์ก็คงยังไม่ปรินิพพาน

ขอทิ้งประเด็นว่าศากยะเป็นอารยันหรือมองโกลไว้เท่านี้ ให้ท่านผู้อ่านถกเถียงกันเอง

มาพูดถึงราชวงศ์โมริยะหรือเมารยะ ของจันทรคุปต์ ที่อ้างตนว่าเป็นศากยะ ทั้งปราชญ์และ "ปาด" หลายท่านเห็นลงรอยกันว่า มีความเป็นไปได้สูง

คราวก่อนเล่าถึงตอนพระเจ้าวิฑูฑภะยกทัพไปล้างโคตรพวกศากยะ เพราะความอาฆาตแค้นที่ถูกพวกศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ดูถูกเหยียดหยาม พระเจ้าวิฑูฑภะรับสั่งให้ฆ่าหมด ไม่เว้นลูกเล็กเด็กแดง ยกเว้นเฉพาะพระเจ้าตากับพวกที่อยู่กับพระเจ้าตาเท่านั้น

แสดงว่าสงครามล้างโคตรคราวนั้น ไม่ถูกล้างหมด อย่างน้อยพระเจ้าตา (เจ้ามหานาม) และพรรคพวกจำนวนหนึ่งยังรอดชีวิตประวัติศาสตร์ (ไม่รู้กระซิบหรือไม่) ระบุว่าเจ้าศากยะที่ถูกปลงพระชนม์คราวนั้นจำนวนถึง 77,000 องค์ ส่วนที่หนีไปได้ก็มีจำนวนหนึ่ง


(มีต่อ 3)
 


แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 1:54 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 8:18 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

"จำนวนหนึ่ง" ที่อ้างถึงนี้ก็มีเจ้ามหานามกับพรรคพวก และเจ้าศากยะอื่น หนีลึกเข้าไปยังป่าหิมพานต์ ได้พบชัยภูมิพื้นที่แห่งหนึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณและน้ำ มีนกยูงส่งเสียงร้องอยู่ทั่วไป และมีเมืองโบราณตั้งอยู่ไม่มีผู้คน จึงเข้าครอบครอง

จันทรคุปต์ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โมริยะ (หรือเมารยะ) อ้างตัวว่ามาจากศากยะพวกที่หนีตายมานี้แล เมื่อยึดเมืองปาตลีบุตรได้ตั้งราชวงศ์ใหม่ จึงเอานกยูงมาเป็นสัญลักษณ์ตั้งว่า "ราชวงศ์โมริยะ" ด้วยประการฉะนี้แล เรื่องมันเป็นอย่างนี้แหละ ท่านสารวัตร

เมื่อจันทรคุปต์สงบศึกกับพวกกรีกผู้เป็นลูกหลานพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ เพราะรบไม่แพ้ไม่ชนะสักที ได้มีการแลกทูตกัน ชาวกรีกอพยพมาอยู่ชมพูทวีป ชาวชมพูทวีปอพยพไปอยู่เมืองกรีกมีจำนวนมาก พระเจ้าจันทรคุปต์ก็ได้ขัตติยนารีเชื้อสายกรีกมาเป็นมเหสีหลายองค์ว่ากันว่าพระราชโอรสของพระเจ้าจันทรคุปต์พระนามว่า พินทุสาร มีความเก่งกล้าสามารถในการรบยิ่งกว่าพระราชบิดาอีก จนพวกกรีกให้สมญาว่า "จอมพิฆาตศัตรู" (สุตตุม็อต) พินทุสารก็คงอภิเษกสมรสกับขัตติยนารีกรีกเช่นเดียวกัน

จึงไม่แปลกที่มีเสียงกระซิบว่า "เจ้าชายอโศก" ต่อมาคือพระเจ้าอโศกมหาราชอาจมีพระราชมารดาเป็นชาวกรีก ขณะเดียวกันก็มีเชื้อสายศากยะคือเป็นลูกหลานพระพุทธเจ้าด้วย

เมื่อสมัยยังทรงดำรงตำแหน่งรัชทายาท พระราชบิดาส่งให้ไป "กินเมือง" อุชเชนี แคว้นอวันตี ขณะเคลื่อนพลไป ก็ทรงพบธิดานายบ้านวิทิสา ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากศากยวงศ์ด้วย จึงทรงรับไว้เป็นชายา

ดูแล้วพระเจ้าอโศกทรงมีความผูกพันกับศากยวงศ์อย่างมากเมื่อหันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว จึงทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาของพระศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นการใหญ่ ชนิดที่ไม่เคยมีกษัตริย์แห่งราชวงศ์ใดกระทำได้เท่า

พระเจ้าอโศกนี้เอง ที่ทรงเป็นต้นแบบนำเอาคำสอนของพระพุทธศาสนามาปรับประยุกต์กับการบริหารบ้านเมือง อันเรียกว่า "อโศกธรรม" และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ประกาศให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

สิ่งหนึ่งที่กษัตริย์แต่โบราณไม่ทำ แต่พระเจ้าอโศกทำคือ การจารึกข้อความลงในแผ่นศิลาบ้าง หลักศิลาบ้าง อันเรียกว่า "ศิลาจารึกพระเจ้าอโศก" จารึกเหล่านี้ ได้เล่าเรื่องราวที่สำคัญๆ พระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญ การนำเอาหลักธรรมพระพุทธศาสนามาปรับประยุกต์ใช้ ประกาศให้ชาวเมืองถือปฏิบัติ

เสด็จ "ธรรมยาตรา" คือเสด็จจาริกแสวงบุญไปยังสถานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ คือสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนาและเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงค้นจนแน่พระทัยว่าใช่สถานที่เหล่านั้นแน่ จึงทรงให้จารึกหลักศิลาบอกไว้ให้เป็นหลักฐาน เผื่อพุทธบริษัทในภายหลังจะได้ไปนมัสการถูก

เช่น ลุมพินี สถานที่ประสูติ ก็ทรงประดิษฐานเสาศิลามีข้อความจารึกว่า "สมเด็จพระปิยทรรศี ผู้เป็นที่รักของเทวดา เมื่ออภิเษกได้ 20 พรรษา ได้เสด็จมาด้วยพระองค์เอง แล้วทรงกระทำการบูชา ณ สถานที่นี้เพราะว่าพระศากยมุนีพุทธเจ้าได้ประสูติแล้ว ณ ที่นี้ พระองค์(พระปิยทรรศี) ได้โปรดให้สร้างรั้วศิลา และโปรดให้ประดิษฐาน เสาศิลาขึ้นไว้"

โดยเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประสูติแล้ว ณ ที่นี้ สถานที่นี้จึงทรงโปรดให้หมู่บ้านตำบลลุมพินีเป็นเขตปลอดภาษี และให้เสียสละผลิตผลจากแผ่นดินเป็นทรัพย์แผ่นดินเพียงหนึ่งในแปดส่วน"

เรื่องราวของพระเจ้าอโศกมหาราชกับพระพุทธศาสนา แม้ทรงจารึกไว้มากมาย นำไปประดิษฐานยังส่วนต่างๆ แห่งพระราชอาณาจักรพอสิ้นสุดยุคพระเจ้าอโศก สิ้นสุดราชวงศ์โมริยะไม่นาน เรื่องราวเหล่านี้ก็ถูกลืม

หลักฐานต่างๆ ก็ถูกทิ้งให้จมหายไปในดิน เป็นศตวรรษๆ แทบไม่มีใครรู้เรื่อง นักประวัติศาสตร์อินเดียก็ดูเหมือนจงใจลืมมหาราชผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ รวมถึงพระพุทธศาสนาด้วย

มาในยุคหลังนี้เท่านั้น ที่ความจริงอันจมลึกอยู่ใต้แผ่นดินถูกขุดขึ้นมาศึกษาแล้วเผยแพร่ให้รับทราบกันโดยทั่วไป ประวัติพระพุทธศาสนา ประวัติพระเจ้าอโศก ในช่วงเวลานี้ จึงทอแสงเจิดจ้าแจ่มแจ้ง ยากที่จะมีอะไรมาปิดบังไว้ได้ต่อไป

ก็ต้องขอบคุณนักวิชาการฝรั่ง ที่ได้เปิดเผยความจริงนี้ให้โลกได้รับทราบ จะได้นำมาเล่าให้ฟังในตอนต่อไป


(มีต่อ 4)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 1:58 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 8:23 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เรื่องราวพระเจ้าอโศก และกิจกรรมที่พระเจ้าอโศกกระทำเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ไม่ค่อยมีบันทึกไว้ในหลักฐานฝ่ายอื่นนอกจากคัมภีร์ฝ่ายเถรวาท ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งหาได้จากศิลาจารึกของพระองค์เอง และศิลาจารึกนี้ ก็ถูกละเลยให้จมดินไปเป็นศตวรรษๆ ถ้าไม่ได้นักวิชาการฝรั่งมาขุดขึ้นมาศึกษา ก็ไม่แน่นักว่า ชื่ออโศกมหาราชจะเด่นดังในประวัติศาสตร์อินเดียเหมือนปัจจุบัน

ขอว่าถึงคัมภีร์ศาสนาก่อน คัมภีร์ฝ่ายเถรวาท อาทิ สมันตปาสาทิกา (อรรถกถาพระวินัยปิฎก) เล่าไว้ละเอียด ว่า เมื่อสมัยเป็นอุปราช ถูกพระราชบิดาส่งไป "กิน" เมืองอุชเชนี แคว้นอวันตีอยู่นั้น พระราชบิดาสวรรคต บรรดาพี่น้องพระเจ้าอโศก มีทั้งหมด 100 พระองค์ (จากมเหสีหลายองค์) แย่งราชสมบัติกัน อโศกกุมารทราบข่าว ถือว่าตนเป็นรัชทายาทโดยชอบธรรม ราชบัลลังก์จะเป็นของใครไม่ได้ จึงยกทัพเข้ามาเมืองปาตลีบุตร สั่งจับพี่ชายน้องชายมาสำเร็จโทษสิ้นจำนวน 99 องค์ ยกเว้นองค์เดียวคือ ติสสกุมารพระอนุชาร่วมพระอุทร

พระเชษฐาหรือพี่ชายใหญ่ที่มิได้เกิดจากอัครมเหสี นามว่าสุมนะก่อนถูกสำเร็จโทษ ได้สั่งให้พระราชาผู้ทรงครรภ์แก่ รีบหนีเอาตัวรอดให้รักษาลูกในครรภ์ให้ดี นางหลบหนีไปอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านคนจัณฑาลแห่งหนึ่ง นอกเมือง ให้กำเนิดแก่บุตรชายน่าเกลียดน่าชังคนหนึ่ง ตั้งชื่อว่า นิโครธ (ไทร) เพราะคลอดใต้ต้นไทร

เพราะเหตุที่พระเจ้าอโศกตะลุยบัลลังก์เลือดขึ้นครองราชย์โดยฆ่าฟันพระเชษฐาและพระอนุชาทั้งหมด (ยกเว้นพระอนุชาร่วมพระอุทร) และเพราะทรงนิยมแผ่พระราชอาณาจักรโดยการทำสงครามพระองค์จึงได้สมญานามว่า "จันฑาโศก" (แปลว่าอโศกผู้ดุร้าย) อย่างนี้เขาเรียกว่าชื่อเสียงครับ มิใช่ชื่อเสียง

แต่หลังจากเสร็จสิ้นสงครามกับแคว้นกลิงคะไม่นานพฤติกรรมของพระเจ้าอโศกเปลี่ยนไป คราวนี้ทรงหันมาใช้สันติวิธีเน้นความไม่เบียดเบียน ว่ากันว่า พระเจ้าอโศกทรง "ได้คิด" หรือ "คิดได้" เกิดสลดพระทัยที่เห็นผู้คนล้มตายในสงครามจำนวนมาก ทรงรู้สึกเป็นบาปอย่างยิ่งที่เป็นต้นเหตุให้คนตายมากมาย

ในศิลาจารึกของพระองค์เอง เล่าไว้ว่า พระองค์หันมาใช้สันติวิธี และความไม่เบียดเบียนตามหลักพระพุทธศาสนามาแต่ครั้งนั้นจะนับถือพระพุทธศาสนาตั้งแต่เวลานั้นหรือไม่ ไม่มีหลักฐาน ในศิลาจารึก มีแต่เพียงว่า หลังจากเป็นพุทธศาสนิกแล้ว พระเจ้าอโศก ก็ "เข้าถึงพระสงฆ์ชั่วคราว" คำว่า "สังฆังคะโต" = เข้าถึงพระสงฆ์ ในศิลาจารึก ผู้รู้บางท่านแปลว่า ทรงผนวชเป็นภิกษุชั่วคราว ขณะครองราชย์อยู่

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา ได้บอกได้ว่า พระเจ้าอโศกหันมานับถือพระพุทธศาสนา เป็นพุทธศาสนิกชน เพราะการชักนำของสามเณรนามว่านิโครธ สามเณรน้อยรูปนี้ ก็คือบุตรชายของพระชายาของเจ้าชายสุมนะ ที่เอ่ยไว้ข้างต้นนั้นเอง เด็ดน้อยโตมารู้เรื่องราวของตน ก็สลดใจ ขออนุญาตมารดาไปบวช มารดาเห็นว่าเป็นทางหนึ่งที่ลูกจะปลอดการราชภัย จึงยินดีอนุญาต

เมื่อบวชแล้ว วันหนึ่งไปบิณฑบาตในเมือง ผ่านพระราชวังพระเจ้าอโศกทรงยืนอยู่ใกล้สีหบัญชร ทอดพระเนตรเห็นนิโครธสามเณรเดินเหินด้วยกาอัปกิริยาสงบสำรวม น่าเลื่อมใสยิ่ง จึงให้คนไปนิมนต์สามเณรมาสนทนาด้วย ทรงทราบว่า สามเณรน้อยนี้ ที่แท้ก็คือหลานของพระองค์เอง ยิ่งศรัทธามากขึ้น ถวายอาหารบิณฑบาตแล้ว ขอให้สามเณรแสดงธรรมให้ฟัง

สามเณรน้อยยกพุทธภาษิตในธรรมบทมาแสดงให้ฟังพระเจ้าอโศกก็ทรงเลื่อมใส ขอประกาศตนเป็นพุทธศาสนิก นับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต

คงอยากทราบว่า พุทธภาษิตที่สามเณรน้อยยกมาเทศน์นั้นเกี่ยวกับอะไร เกี่ยวกับความไม่ประมาทครับ มีใจความว่า

"ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย ผู้ใดประมาท ถึงแม้มีชีวิตอยู่ ก็เสมือนคนตายแล้ว"

เมื่อเป็นพุทธศาสนิกแล้วพระเจ้าอโศกก็ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ สร้างวัดแปดหมื่นสี่พันวัด สร้างเจดีย์แปดหมื่นสี่พันองค์พระสงฆ์องคเจ้าก็อยู่สบาย ไม่ลำบากด้วยปัจจัยสี่ พวกนักบวชนอกพระพุทธศาสนา อันเรียกรวมว่า "อัญญเดียรถีย์" ก็พากันมาปลอมบวช เพื่อหวังจะได้อยู่ดีกินดีเหมือนพระภิกษุสงฆ์บ้าง


(มีต่อ 5)
 


แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 1:59 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 8:25 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

บวชมาแล้ว ไม่ศึกษาเล่าเรียน แสดงธรรมผิดๆ ถูกๆ สร้างความสับสนให้เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาจนเกิดความวุ่นวายในพระศาสนา พระภิกษุผู้เคร่งในพระธรรมวินัย ก็แสดงความรังเกียจพวกเดียรถีย์ จนถึงขั้นไม่ร่วมทำอุโบสถสังฆกรรมด้วย

เรียกสำนวนชาวบ้านว่า "ไม่ลงโบสถ์ด้วย"

เรื่องรู้ไปถึงพระกรรณ พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมอบภาระให้มหาอำมาตย์คนหนึ่งไป "จัดการ" ให้พระสงฆ์สามัคคีกัน ร่วมลงโบสถ์สังฆกรรมกัน มหาอำมาตย์ ถือว่าตนได้รับมอบดาบอาญาสิทธิ์ให้ไปจัดการ ก็จัดการจริงๆ

คือเรียกประชุมสงฆ์ อ้างกระแสพระราชดำรัสของในหลวงขอให้พระภิกษุทั้งหลาย ร่วมลงอุโบสถสังฆกรรม

พระเถระผู้ยึดมั่นในหลักแห่งพระธรรมวินัยก็ไม่ยอม มหาอำมาตย์จึงตัดศีรษะพระที่ไม่ยอมตายไปสองรูป พระถึงรูปที่สามไม่กล้าทำอะไร พอชักดาบจะฟันคอท่านเท่านั้น ก็ทิ้งดาบกลับไปกราบทูลในหลวงว่า จัดการไม่สำเร็จ เพราะพระอนุชาของพระองค์มาขัดขวาง

ถามว่าทำไม มหาอำมาตย์จึงฟันคอพระหนุ่มไม่ลง ก็เพราะพระหนุ่มรูปนี้เห็นเรื่องมันจะไปกันใหญ่ จึงถลันมานั่งขวาง มหาอำมาตย์จำหน้าท่านได้ ว่าท่านเป็นพระอนุชาของพระเจ้าอยู่หัว จึงไม่กล้าทำอะไร

ไม่อย่างนั้น คุณเอ๋ย เลือดคงไหลนองท่วมท้องช้างแน่ๆ

พอพระเจ้าอโศกทรงทราบว่า มหาอำมาตย์ไปทำเกินคำสั่งก็เดือดร้อนมากที่เป็นสาเหตุให้พระเถระมรณภาพตั้งสองรูป จึงไปกราบเรียนถามพระมหาเถระรูปหนึ่งนามว่า ติสสะ โมคคัลลีบุตร ว่าพระองค์จะบาปไหม

พระก็บอกตรงๆ ว่า บาป บาปมากด้วย

"จะมีทางใด ผ่อนหนักเป็นเบาได้บ้าง"

"มีทางเดียว พระองค์ต้องให้ความอุปถัมภ์การทำสังคายนาชำระพระศาสนาให้บริสุทธิ์"

ด้วยเหตุนี้แล การทำสังคายนาครั้งที่สามจึงเกิดขึ้น ในส่วนตัวพระราชาเอง พระองค์ก็ได้ชำระบาปที่ก่อไว้ ในส่วนรวม พระสงฆ์ทั้งปวงก็ได้ชำระพระศาสนาและสังฆมณฑลให้บริสุทธิ์ ดำรงสถาพรสืบต่อไป

เขาว่า คนเราเมื่อคิดว่าตนทำบาปมาก เมื่อมีโอกาสมักจะทำบุญกุศลเป็นการใหญ่เพื่อล้างบาป พระเจ้าอโศกก็คงจะคิดเช่นนี้จึงสร้างวัดสร้างเจดีย์ตั้งมากมายเป็นประวัติการณ์

ทั้งหมดนี้ว่าตามคัมภีร์ฝ่ายเถรวาท แต่คัมภีร์อีกฝ่ายหนึ่งไม่พูดถึงการทำสังคายนาสมัยพระเจ้าอโศกเลย จึงปฏิเสธว่า ไม่มีการทำสังคายนาในสมัยพระเจ้าอโศก นักปราชญ์ตะวันตก อย่างโอลเดนเบอร์ก ชาวเยอรมัน ถึงกับยืนยันว่า ไม่มีการทำสังคายนาไม่มีการส่งคณะธรรมทูตไปประกาศพระพุทธศาสนายังต่างแดน ในสมัยพระเจ้าอโศก

ว่าไปก็ประหลาดนะครับ ในศิลาจารึกพระเจ้าอโศก ไม่มีพูดถึงการที่พระองค์ทรงอุปถัมภ์สังคายนาเลย ไม่ว่าในหลักไหน แผ่นไหนทำท่าจะสอดคล้องกับทัศนะของท่านศาสตราจารย์ดอกเตอร์โอลเดนเบิร์กนะครับ

แต่เพื่อนผม ผู้มีสายเลือดเถรวาทเข้มข้น ยืนยันว่า พระเจ้าอโศกทรงสนับสนุนการทำสังคายนาครั้งที่สามแน่นอน ทรงส่งพระธรรมทูตไปเผยแพร่พระพุทธศาสนายังต่างแดนแน่นอน

ถามว่า ถ้ามีเหตุการณ์ดังว่าจริง ทำไม ไม่มีบันทึกไว้ในศิลาจารึก เรื่องอื่นเล็กน้อยกว่าพระองค์ยังทรงบันทึกเลย เรื่องทะนุบำรุงพระศาสนา ทำสังคายนา ส่งพระธรรมทูตไปเผยแพร่พระศาสนาเป็นเรื่องใหญ่ เป็นผลงานชิ้นโบแดง ทำไมพระเจ้าอโศกไม่บันทึกไว้เป็นเกียรติประวัติเล่า

ข้อนี้ตอบไม่ยาก (เพื่อนผู้นั้นกล่าว) ท่านก็คงบันทึกไว้เหมือนกันแต่บังเอิญศิลาจารึกที่เกี่ยวกับเรื่องนี้หายไป

ไม่บันทึก กับบันทึกแล้วหายไป มันคนละประเด็น ว่าอย่างนั้น


(มีต่อ 6)
 


แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:00 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 8:30 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระอุปคุตปราบมาร

เรื่องพระเจ้าอโศกนับถือพระพุทธศาสนา เพียงในหลักฐานฝ่ายเถรวาทก็เห็นแย้งกันแล้ว คือแห่งหนึ่งว่า นับถือเพราะสามเณรนิโครธแสดงธรรมให้ฟังอีกแห่งหนึ่ง คือหลักศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกเองว่า สลดใจในการตายของพวกกลิงคะ จึงละความโหดเหี้ยมหันมาถือแนวทางไม่เบียดเบียนตามหลักพระพุทธศาสนา

ถ้าจะหันไปเมียงมองคัมภีร์อโศกาวทาน ของนิกายสรวาสติวาทินจะได้ข้อมูลแปลกไปอีกคือ พระเจ้าอโศกเมื่อครั้งยังเป็น "จัณฑาโศก" = อโศกผู้โหดร้ายนั้น ได้สร้างแดนประหารนักโทษ และผู้ที่ผิดต่อพระองค์ชื่อว่า นรกาลัย มีเพชฌฆาตร่างกำยำคนหนึ่งชื่อ จัณฑคีริกะทำหน้าที่ วันหนึ่งมีภิกษุรูปหนึ่งเดินเข้าไปยังแดนนี้ นายจัณฑคีริกะจับภิกษุรูปนั้นโยนลงในกระทะกำลังเดือดพล่าน แต่มหัศจรรย์อะไรเช่นนั้น ภิกษุรูปนั้นลอยอยู่บนกระทะนั้น ไม่รู้สึกร้อนอะไรเลย นายจัณฑคีรีกะตกใจมาก วิ่งไปกราบทูลพระเจ้าอโศก พระเจ้าอโศกเสด็จเข้าไปยังนรกาลัย ก็เห็นภาพอัศจรรย์ใจนั้น

พระภิกษุรูปนั้นก็เทศนาโปรดพระเจ้าอโศกให้ละการฆ่าและเบียดเบียนคนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ พระเจ้าอโศกทรงเชื่อ จึงสั่งให้ทำลายนรกาลัยแต่บัดนั้น ในช่วงนั้นเอง พระเจ้าอโศกก็พบพระเถระรูปหนึ่งนามว่าอุปคุต และเปลี่ยนใจมานับถือพระพุทธศาสนาตั้งแต่บัดนั้น

ว่ากันว่าพระอุปคุต เป็นพระนิกายสรวาสติวาทิน ซึ่งความจริงก็เป็นแขนงหนึ่งของหินยานหรือเถรวาท แต่ใช้ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาศาสนา ถ้าเชื่อตามนี้ ก็แสดงว่า พระเจ้าอโศกกันมานับถือพระพุทธศาสนาเพราะได้พระนิกายสรวาสติวาทินเทศนาให้กลับใจ ซึ่งนิกายเถรวาทคงรับไม่ได้ จึงพยายามดึงเอาพระเจ้าอโศกมาเกี่ยวข้องกับเถรวาทอย่างเดียว ไม่ยอมพูดถึงพระนิกายอื่นเลย

การทำสังคายนาครั้งที่สาม ก็เป็นเรื่องของนิกายเถรวาทเท่านั้น พระเจ้าอโศกเป็นผู้อุปถัมภ์เถรวาทเท่านั้น ชื่ออุปคุตไม่ปรากฏในคัมภีร์เถรวาทเลย ทั้งๆ ที่จากหลักฐานฝ่ายโน้น พระอุปคุตมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ว่ากันว่า เมื่อคราวพระเจ้าอโศกฉลองเจดีย์ 84,000 องค์ และวิหาร 84,000 แห่งซึ่งเป็นงานบุญยิ่งใหญ่นั้น มีพญามารวสวัตตีจะมาทำลายพิธี ก็ได้พระอุปคุตนี้แล้ว มาขัดขวางมิให้มาทำลายพิธี

เรื่องพิลึกพิลั่นก็ได้เล่าสืบทอดกันมา พระเจ้าอโศกให้คนไปนิมนต์พระอุปคุตมาช่วยอารักขาพิธีฉลองพระวิหารและเจดีย์ พระอุปคุตก็มาช่วย ได้ต่อสู้กับพญามารอย่างพิสดารอยู่ยกใหญ่ ตอนแรกไม่มีใครแพ้ใครชนะ ในที่สุดพระอุปคุตงัดไม้เด็ดเผด็จพญามาร คือเสกหนังหมาเน่าผูกติดพญามาร ส่งกลิ่นคลุ้งไปทั่วจักรวาล พญามารสลัดไม่ออก จนกระทั่งยอมแพ้ และให้สัญญาว่าจะไม่ไปทำลายพิธีบุญของพระเจ้าอโศก

พระอุปคุตไม่เชื่อใจมาร จึงเสกเชือกผูกพญามารติดกับเขาพระสุเมรุ บอกว่าท่านจะไปร่วมพิธี เสร็จพิธีแล้วจึงจะมาแก้เชือก พอพระอุปคุตคุยคล้อยหลัง พญามารก็ดิ้นหวังจะให้หลุดจากพันธการยิ่งดิ้นเชือกก็ยิ่งรัดแน่น จนท้อใจ ร้องด้วยความเจ็บใจว่า "กูหนอกูพยายามสู้กับพระสมณะโคดม ก็สู้เข้าไม่ได้ มาบัดนี้มาแพ้แก่ศิษย์พระสมณะโคดมอีก ไม่รู้จะเอาหน้าไว้ที่ไหน เมื่อสู้เข้าไม่ได้ ก็ไม่รู้จะเป็นมารไปทำไม ต่อไปนี้กูจะเลิกรังควาญคนแล้ว ตั้งปณิธานเป็นพระโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนพระสมณโคดมดีกว่า"

บังเอิญพระอุปคุตเสร็จจากพิธี เดินกลับมาเพื่อจะปล่อยพญามารได้ยินคำอธิษฐานของพญามารพอดี จึงเปล่งสาธุการว่า "สาธุๆๆ" แล้วก็แก้มัดพญามาร ถามเพื่อแน่ใจว่า ตั้งใจจะเป็นพระโพธิสัตว์จริงหรือ พญามารก็ยืนยันเป็นมั่นเหมาะ

พระอุปคุต กล่าวกับพญามารว่า ท่านมีอายุยืนทันเห็นพระพุทธเจ้าขอให้เนรมิตพระพุทธเจ้าให้อาตมาดูเป็นขวัญตาสักครั้งจะได้ไหม

พญามารกล่าวว่า ไหนๆ จะเนรมิตแล้ว ก็ขอให้แสดงต่อที่ประชุมมหาชนอันมีพระเจ้าอโศกเป็นประมุขดีกว่า แล้วในที่สุดพญามารก็ได้เนรมิตพระพุทธเจ้าให้มหาสันนิบาตชม แต่ไม่วายกำชับพระอุปคุตว่า นี้เป็นภาพเนรมิตขึ้น มิใช่พระองค์จริงของพระพุทธเจ้าท่านอย่าได้นมัสการเป็นอันขาด แล้วพญามารก็เนรมิตพระรูปอันสมบูรณ์ไปด้วยมหาบุรุษลักษณะงดงามอย่างยิ่งให้พระอุปคุตและพระราชาพร้อมมหาชนได้ชม


(มีต่อ 7)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:02 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 8:35 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระอุปคุตก็ก้มลงอภิวาทด้วยความลืมตัว ถูกพญามารทักว่าไฉนลืมสัญญา พระอุปคุตจึงว่า ขนาดมิใช่องค์จริง ยังสวยงามปานฉะนี้ ถ้าเป็นพระองค์จริงจะสวยงามปานใด อาตมาอดใจมิได้ จึงก้มลงกราบทั้งที่รู้ว่ามิใช่พระสัมพุทธเจ้าพระองค์จริง อภัยเถิดที่อาตมาผิดสัญญา

มีเพียงแต่พระอุปคุต ประชาชนทั้งปวง อันมีพระราชาเป็นประมุขต่างก็ก้มกราบด้วยความเลื่อมใสกันพร้อมหน้า หลักฐานบางแห่งก็แต่งต่อว่า พระเจ้าอโศกได้รับสั่งให้ช่างสร้างพระพุทธรูป โดยจำลองมาจากภาพที่พญามารเนรมิตให้ดูในครั้งนั้น ซึ่งข้อมูลนี้เป็นไปไม่ได้เพราะการสร้างพระพุทธรูปเกิดขึ้นจากนั้นอีกนาน

บาปที่พระเจ้าอโศกทรงทำไว้ จะว่าไปก็สนองผลในภายหลังเหมือนกัน แม้ว่าจะทรง "แก้เคล็ด" ด้วยการทุ่มสร้างวัดสร้างเจดีย์อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ก็ตาม ถึงจะไม่ได้รับโดยตรงก็โดยอ้อม แต่ก็เจ็บปวดอย่างยิ่ง คือมาตกที่พระราชโอรสที่ทรงรักมากที่สุด

พระเจ้าอโศกมีพระมเหสีหลายองค์ เท่าที่ปรากฏชื่อก็มีอสันธิมิตตา มหาเทวี ปัทมาวตี ติษยรักษิตา มเหสีองค์ท้ายว่ากันว่าร้ายกาจมาก อิจฉาแม้กระทั่งต้นโพธิ์ พระเจ้าอโศกเสด็จไปนมัสการต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นไม้ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทุกวัน รับสั่งให้ดูแลอย่างดี พระนางติษยารักษิตาหาโอกาสให้คนของเธอเอาน้ำร้อนไปราดโคนมันทุกวันจนตาย เดือดร้อนพระเจ้าอโศกต้องไปหาหน่อใหม่ปลูก คนอะไรหึงแม้กระทั่งต้นไม้

พระนางขี้ริษยาองค์นี้เองได้ก่อกรรมทำเข็ญกับพระราชโอรสอันประสูติแต่พระอัครมเหสี นามว่าเจ้าชายกุณาละ พระราชบิดาทรงสถาปนาเจ้าชายกุณาละในตำแหน่งอุปราช ส่งไปครองเมืองอุชเชนีแคว้นอวันตี ด้วยความรำลึกถึงพระราชปิโยรส พระเจ้าอโศกทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระราชโอรส ข้อความตอนหนึ่งทรงเตือนให้พระราชโอรสหมั่นศึกษาศิลปวิทยาเพื่อจะได้กลับมาสืบราชสมบัติแทนพระองค์

ตรงนี้คำศัพท์ว่า "อัธยายนะ" (แปลว่าการสาธยายหรือท่องบ่นวิชาการ) พระนางอิจฉาแอบแปลงสารเมื่อพระราชาเผลอ เติมตัว น เข้าอีกตัวเป็น "อันธยายนะ" (แปลว่าทำตาให้บอด) เมื่อจดหมายถึงมือเจ้าชายกุณาละ นึกว่าเสด็จพ่อสั่งให้ควักดวงตาทิ้ง จึงจัดการให้ควักดวงตาตนตามคำสั่งเสด็จพ่อ มิไยใครจะทัดทานอย่างไรก็ไม่ฟัง

ในที่สุดก็บอดสนิททั้งสองข้าง แล้วก็ส่งสารถึงเสด็จพ่อว่าได้กระทำตามพระราชประสงค์ของเสด็จพ่อทุกประการ เรื่องได้ล่วงรู้ถึงพระเจ้าอโศกภายหลัง พระองค์ทรงเศร้าโศกเสียพระทัยมาก ได้สืบสาวราวเรื่องได้ต้นตอคน "แปลงสาร" คือพระนางติษยรักษิตา จึงรับสั่งให้ประหารชีวิต แล้วให้อำมาตย์ไปเชิญสัมปทิ โอรสเจ้าชายกุณาละเจ้าเมืองปาตลีบุตรสถาปนาขึ้นเป็นรัชทายาทสืบแทนบิดา

พระเจ้าสัมปทิขึ้นครองราชย์ ในช่วงที่ทรัพย์คงคลังแทบไม่เหลือ นัยว่าพระเจ้าอโศกทรงขนออกมาถวายทานให้พระพุทธศาสนาจนเกือบหมด พระเจ้าสัมปทิจึงมีอคติต่อพระสงฆ์ ต่อพระพุทธศาสนา เพราะท่านเหล่านี้เป็นเหตุให้เสด็จปู่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว จึงไม่สนใจทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา หันไปนับถือศาสนาเชน เช่นเดียวกับบรรพบุรุษแห่งราชวงศ์โมริยะ สิ้นสัมปทิ พระเจ้าทศรถขึ้นครองราชย์ ก็หันไปนับถือพวกอาชีวก ไม่สนใจพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็เสื่อมโทรมลง พระสงฆ์องค์เจ้าก็พากันปลีกตัวไปอยู่ถิ่นอื่น

ในที่สุดราชวงศ์โมริยะก็ถึงกาลอวสาน เมื่ออำมาตย์ปุษยมิตรลุกขึ้นยึดอำนาจ สถาปนาราชวงศ์ศุงคะขึ้น ศาสนาพราหมณ์ซึ่งซบเซามานานก็ฟื้นตัวโดยการนำของปุษยมิตร พระพุทธศาสนาที่อ่อนแออยู่แล้วก็เข้าสู่อาการสลบไสล วัดวาอาราม สถูปวิหารที่พระเจ้าอโศกสร้างไว้ถูกเผาทำลายไปหมดสิ้น

พระพุทธศาสนา มิได้เป็นศาสนาประจำชาติอีกต่อไป แต่ปุษยมิตรผู้ทำลายล้างพระพุทธศาสนา ก็ใช่ว่าจะเจริญรุ่งเรือง บาปกรรมมีจริง ราชวงศ์ศุงคะไปได้หน่อยหนึ่งก็ถูกพวกกรีกลูกหลานอเล็กซานเดอร์มหาราชรุกราน

กษัตริย์กรีกองค์หนึ่งพระนามว่า เมานานเดอร์ ภาษาบาลีว่ามิลินทะ ยึดครองอินเดียเหนือ เลือกเอาเมืองสาคล หรือสกลใกล้ตักสิลา เป็นจุดศูนย์กลาง

แรกๆ มิลินทะก็มิได้นับถือพระพุทธศาสนา ต่อมาได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โดยการชักนำของพระเถระนาม นาคเสน ก็ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองมา ชั่วระยะเวลาอันสั้น แล้วก็เสื่อมถอยลงอีก

ศึกษาประวัติศาสตร์ ยิ่งศึกษามากก็ยิ่งเข้าถึงหลักอนิจจัง ขอยุติแค่นี้ก่อน ขืนเขียนไปมาก วิปัสสนาญาณเกิดแล้ว เดี๋ยวก็บรรลุอรหัตพร้อมปฏิสัมภิทาเสียก่อน ถึงตอนนั้นแล้ว เรื่องอะไรจะมานั่งเขียน "รื่นร่มรมเยศ" อยู่เล่า แม่นกา


(มีต่อ 8)
 


แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:03 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 8:39 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

จารึกอโศก

เขียนเรื่องพระเจ้าอโศก กำลังคิดจะจบ หันไปเขียนเรื่องอื่นบังเอิญนึกขึ้นมาได้ว่า ลูกศิษย์เข้าพิมพ์หนังสือ จารึกอโศก งานแปลของพระธรรมปิฎก แจกในงานวันเกิดผมเมื่อปีที่แล้ว เรามักพูดกันถึงจารึกอโศก แต่ไม่เคยได้อ่านเนื้อหาทั้งหมดของจารึก ผมว่าน่าจะนำมาลงให้อ่านกันในคอลัมน์นี้ เพื่อประกอบการศึกษาประวัติพระเจ้าอโศก และประวัติพระพุทธศาสนา ขออนุญาตนำมาลงตั้งแต่ฉบับแรกจนฉบับสุดท้าย ดังต่อไปนี้ครับ

จารึกศิลา 28 หลัก

จารึกถ้ำแห่งเขาบาราบาร์


- ถ้ำไทรนี้ อันสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี พระราชทาน แล้วแก่เหล่าอาชีวิกะทั้งหลาย เมื่อทรงอภิเษกแล้ได้ 12 พรรษา
- ถ้ำแห่งนี้ (ซึ่งอยู่) ในเขาขลติกะ อันสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปริยทรรศีพระราชทานแล้วแก่เหล่าอาชีวิกะทั้งหลาย เมื่ออภิเษกได้แล้ว 12 พรรษา
- (บัดนี้) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีทรงอภิเษกแล้วได้ 19 พรรษา "ถ้ำในเขตขลติกะแห่งนี้ซึ่งเป็นที่โปรดปรานยิ่ง อันข้าฯประทานแล้ว เพื่อเป็นที่พักพิงแห่งเหล่าบรรพชิตทั้งหลาย ให้พ้นจากอุทกภัยในฤดูฝน"

จารึกหลักศิลานิคลิวะ (นิคลี สาคร)

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ 14 พรรษา ได้โปรดให้ขยายพระสถูปแห่งพระพุทธเจ้ากนกมุนี ใหญ่โตขึ้นอีกเป็นสองเท่า และเมื่ออภิเษกแล้วได้ 20 พรรษา ก็ได้เสด็จมาด้วยพระองค์เอง ทรงกระทำการบูชาแล้วโปรดให้ประดิษฐานหลักศิลาจารึกไว้

จารึกหลักศิลาที่ลุมพินี

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ 20 พรรษา ได้เสด็จมาด้วยพระองค์เอง แล้วทรงกระทำการบูชา (ณ สถานที่นี้ ) เพราะว่า "พระพุทธศากยมุนีได้ประสูติแล้ว ณ ที่นี้" และ (พระองค์) ได้โปรดให้สร้างรั้วศิลา และโปรดให้ประดิษฐานหลักศิลาขึ้นไว้

โดยเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ประสูติแล้ว ณ สถานที่นี้ จึงโปรดให้หมู่บ้านตำบลลุมพินีเป็นเขตปลอดภาษี และให้เสียสละ (ผลิตผลมาจากแผ่นดินเป็นทรัพย์แผ่นดิน เพียงหนึ่งในแปดส่วน)

จารึกหลักศิลาแห่งพระราชเทวี (อัลลาหะบัด) มหาอำมาตย์ทั้งหลายทั่วทุกสถาน พึงได้รับแจ้งตามกระแสพระราชดำรัส แห่งพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพว่า "สิ่งใดใดก็ตาม ที่เป็นของอันพระทุติยราชเทวี พระราชทานแล้ว ณ ที่นี้ จะเป็นป่ามะม่วงก็ดีเป็นสวนก็ดี เป็นโรงทานก็ดี หรือแม้สิ่งอื่นๆสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันพอจะนับได้ (ว่าเป็นของที่พระนางพระราชทาน) สิ่งนั้นๆย่อมเป็นสมบัติของพระนางนั้นเอง" โดยอาการอย่างนี้ให้พึงถือว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นของอันพระทุติยราชเทวี พระนามว่า การุวากี ผู้เป็นชนนีของตีวระพระราชทานแล้ว

ศิลาจารึกแห่งไพรัต

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีแห่งมคธได้ทรงอภิวาทพระภิกษุสงฆ์แล้วตรัสปราศรัยกับพระภิกษุสงฆ์จำนงความไร้อาพาธ และความอยู่สำราญ

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายย่อมทราบว่าโยมมีความเคารพและเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์มากเพียงใด

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ สิ่งใดก็ตามที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว สิ่งนั้นๆ ทั้งปวงล้วนเป็นสุภาษิตทั้งสิ้น

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ก็ข้อที่โยมควรจะชี้แจงนั้นคือข้อที่ว่า "พระสัทธรรมจักดำรงอยู่ได้ตลอดกาลนาน ด้วยอาการอย่างนี้ๆ" โยมสมควรจะกล่าวความข้อนั้น

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ มีธรรมบรรยายอยู่ดังต่อไปนี้คือ

1. วินยสมุกฺกํส - หลักธรรมดีเด่นในพระวินัย
2. อริยวาส - ความเป็นอยู่อย่างพระอริยะ
3. อนาคตภย - ภัยอันจะมีในอนาคต
4. มุนิคาถา - คาถาของพระจอมมุนี
5. โมเนยฺยสุตตฺ - พระสูตรว่าด้วยโมเมยฺยปฏิปทา
6. อุปติสฺสปญฺทา - ปัญหาของอุปติสส
7. ข้อความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในราหุโลวาท อันว่าด้วยเรื่องมุสาวาท

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ โยมมีความปรารถนาในส่วนที่เกี่ยวกับธรรมบรรยายเหล่านี้ว่า ขอพระภิกษุผู้เป็นที่เคารพ และพระภิกษุทั้งหลายเป็นอันมาก พึงสดับ และพิจารณาใคร่ครวญในธรรมบรรยายเหล่านี้อยู่โดยสม่ำเสมอเป็นประจำ แม้อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลายก็ (พึงสดับและนำมาพิจารณาใคร่ครวญอยู่เสมอๆ) เช่นกัน

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้แล โยมจึงให้เขียนจารึกนี้ขึ้นไว้เพื่อประชาชนทั้งหลายจักได้รู้เข้าใจ ถึงความมุ่งหมายในใจของโยม


(มีต่อ 9)
 


แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:04 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 8:45 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ศิลาจารึกฉบับน้อย
จารึกฉบับเหนือ


พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้ตรัสไว้ดังนี้

นับเป็นเวลานานกว่าสองปีครั้งแล้วข้าฯ ได้เป็นอุบาสก แต่กระนั้นข้าฯ ก็มิได้กระทำความพากเพียรจริงจังเลย และนับเป็นเวลาได้ 1 ปีเศษแล้ว ที่ข้าฯ ได้เข้าสู่สงฆ์ และได้กระทำความพากเพียรอย่างจริงจัง

แต่ก่อนมาจนถึงบัดนี้ ทวยเทพทั้งหลายในชมพูทวีปยังไม่มีความสนิทสนมกลมกลืนกับมนุษย์ทั้งหลายแล้ว ก็ข้อนี้ย่อมเป็นผลแห่งความพากเพียร และผลนี้ อันบุคคลผู้เป็นใหญ่เท่านั้นจะพึงบรรลุถึง ก็หามิได้ แม้แต่บุคคลเล็กน้อยต่ำต้อย เมื่อพากเพียรอยู่ก็สามารถประสบสวรรค์อันไพบูลย์ได้ เพื่อประโยชน์อันนี้ ข้าฯ จึงได้ทำประกาศนี้ขึ้นไว้ ขอชนทั้งหลาย ทั้งคนต่ำต้อยเล็กน้อย และคนผู้ใหญ่จงพากันกระทำความพากเพียรเถิด แม้ชนชาวเขตแดนข้างเคียงก็จงพากันทราบความข้อนี้ และขอความพากเพียรนี้จงดำรงอยู่ชั่วกาลนาน เพราะว่าประโยชน์ที่มุ่งหมาย จักเพิ่มพูนขึ้นอีกมากมายและจักเจริญไพบูลย์ขึ้นอย่างน้อยที่สุดถึงหนึ่งเท่าครึ่ง

อนึ่ง ท่านทั้งหลายจงจารึกความข้อนี้ขึ้นไว้ตามภูผาโขดหินทั้งหลายในเมื่อมีโอกาส ณ ที่นี้ (ภายในแว่นแคว้นของข้าฯ) มีหลักศิลาอยู่ ณ สถานที่ใดก็ตาม พึงได้เขียนจารึกไว้ที่หลักศิลานั้นพึงกระจายข้อความนี้ ให้แพร่หลายออกไปทั่วทุกหนทุกแห่งที่อำนาจปกครองของท่านทั้งหลายแผ่ไปถึงโดยให้เป็นไปตามข้อนำอันนี้

ประกาศนี้ ข้าฯ ได้กระทำแล้ว เมื่อเดินทางอยู่นอกพระนครหลวง การเดินทางนี้ข้าฯ ได้ดำเนินมาแล้ว 256 ราตรี

ศิลาจารึกฉบับน้อย
จารึกฉบับใต้ ตอนที่ 1


พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้ตรัสไว้ดังนี้

นับเป็นเวลานานเกินกว่าสองปีครึ่งที่ข้าฯ ได้เป็นอุบาสก แต่ตลอดเวลา 1 ปี ข้าฯ มิได้กระทำความพากเพียรใดๆ อย่างจริงจังเลย และนับเป็นเวลา 1 ปีเศษแล้วที่ข้าฯ ได้เข้าหาสงฆ์ ข้าฯ จึงได้ลงมือทำความพากเพียรอย่างจริงจัง (นับแต่นั้นมา)

ตลอดระยะเวลา (ที่ผ่านมา) นี้ มนุษย์ทั้งหลายยังมิได้คลุกคลีสนิทสนมกันกับเทวดาทั้งหลาย แต่มาบัดนี้มนุษย์ทั้งหลายได้คลุกคลีสนิทสนม(กับทวยเทพทั้งหลาย)แล้วก็ข้อนี้ย่อมเป็นผลแห่งความพากเพียร (ในการทำความดี) (สวรรค์นั้น) มิใช่ว่ามหาบุรุษเท่านั้นจึงจะบรรลุถึงได้ แม้คนเล็กน้อยต่ำต้อยเมื่อพากเพียรอยู่ก็สามารถประสบสวรรค์อันไพบูลย์ได้เช่นกัน เพื่อประโยชน์นี้นั่นแล ข้าฯ จึงได้ให้ทำคำประกาศนี้ขึ้นไว้ ขอชนทั้งหลาย ทั้งที่ยากจนและมั่งมี จงกระทำความพากเพียรในเรื่องนี้ และชนชาวเขตแดนข้างเคียงทั้งหลายจงทราบข้อความนี้ด้วย ขอให้ความพากเพียรนี้ดำรงอยู่ชั่วกาลนานประโยชน์อันไพบูลย์ก็จักเจริญเพิ่มพูน และจักงอกงามขึ้นอย่างน้อยที่สุดถึงหนึ่งเท่าครึ่ง

คำประกาศนี้ ข้าฯ ได้กระทำแล้วในระหว่างการเสด็จประพาสนอกพระนครหลวงครั้งที่ 256

จารึกฉบับใต้ ตอนที่ 2

พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้ตรัสไว้ดังนี้

"ท่านทั้งหลายพึงประพฤติปฏิบัติ ตามที่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสนอนไว้ เจ้าหน้าที่รัชชูกะทั้งหลายต้องได้รับคำสั่ง แล้วเขาจักสั่งต่อไปแก่ชนชาวชนบท และเจ้าหน้าที่ราษฎริกะทั้งหลายว่า พึงตั้งใจฟังมารดาบิดา พึงตั้งใจฟังครูทั้งหลายเช่นเดียวกัน พึงมีความเมตตาต่อสัตว์ทั้งหลาย พึงกล่าวคำสัตย์ พึงเผยแผ่คุณธรรมเหล่านี้ให้แพร่หลายโดยทั่ว" ขอท่านทั้งหลายจงสั่งการตามพระดำรัสของพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพด้วยประการฉะนี้

อนึ่ง ท่านทั้งหลายพึงสั่งความอย่างเดียวกันนี้แก่ครูทั้งหลาย ผู้เดินทางด้วยช้าง และแก่พราหมณ์ทั้งหลาย ผู้เดินทางด้วยรถ ในทำนองเดียวกันนี้ ท่านทั้งหลายจงประกาศแก่ศิษย์ในปกครองทั้งหลายให้ทราบว่า โบราณประเพณีมีอยู่อย่างนี้ พึงตั้งใจตามคำสอนว่าดังนี้ให้มีความเคารพยำเกรงอย่างจริงจังต่อท่านอาจารย์ของข้าฯ ที่เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตนเหมาะสมพึงแนะนำญาติทั้งหลายให้ปฏิบัติต่อญาติตามที่เหมาะที่ควร ประชาชนทั้งหลายเหล่านี้พึงได้รับคำแนะนำให้ปฏิบัติต่อศิษย์ในปกครองทั้งหลาย ตามที่เหมาะสมที่ควร ตามเยี่ยงอย่างโบราณประเพณีที่มีมา ขอให้คำประกาศนี้จงเป็นสิ่งที่ทรงไว้ซึ่งความสำคัญ ขอท่านทั้งหลายจงสั่งความและประกาศแก่ศิษย์ในการปกครองทั้งหลายตามนี้

พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้มีพระราชโองการดำรัสสั่งไว้ด้วยประการฉะนี้


(มีต่อ 10)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:05 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 8:52 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

จารึกหลักศิลา 7 ฉบับ

จารึกหลักศิลา ฉบับที่ 1


ธรรมโองการนี้ ข้าฯ ได้ให้จารึกขึ้นไว้ เมื่ออภิเษกแล้วได้ 26 พรรษา ประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้า ย่อมเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติให้สำเร็จได้โดยยากหากปราศจาก

- ความเป็นผู้ใคร่ธรรมอย่างยิ่งยวด
- การใช้ปัญญาไตร่ตรองอย่างยิ่งยวด (บางฉบับว่า การพิจารณาตรวจสอบตนเองอย่างยิ่งยวด)
- การตั้งใจฟังคำสอนอย่างยิ่งยวด
- ความเกรงกลัว (ต่อบาป) อย่างยิ่งยวด และ
- ความอุตสาหะอย่างยิ่งยวด

บัดนี้ ด้วยอาศัยคำสั่งสอนของข้าฯ ความมุ่งหวังในทางธรรมและความฝักใฝ่ใคร่ธรรมได้เจริญงอกงามแล้วทุกๆ วัน และจักเจริญงอกงามยิ่งขึ้นเรื่อยไป แม้บรรดาข้าราชการทั้งหลายของข้าฯ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีตำแหน่งสูง มีตำแหน่งปานกลาง ต่างพากันประพฤติตาม และปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จโดยเหมาะสม เพื่อเป็นการชักจูงบุคคลที่ยังไม่มั่นคง (ให้มาประพฤติปฏิบัติกุศลกรรม) ตามที่ตนสามารถ (วรรคนี้อาจแปลอีกนัยหนึ่งว่า และข้าราชการเหล่านี้ก็เป็นผู้สามารถที่จะแนะนำชักจูงให้บุคคลอื่นๆ มายอมรับนับถือคำสั่งสอนของข้าฯ ไปปฏิบัติตามด้วย) อนึ่ง มหาอำมาตย์แห่งเขตชายแดนทั้งหลาย (ได้แก่เทศาภิบาลหัวเมืองชายแดน) ก็ได้ปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้

ต่อไปนี้ คือระบบวิธีในการปฏิบัติราชการ กล่าวคือ

- การปกครองโดยธรรม
- การวางระเบียบข้อบังคับ (หรือบัญญัติกฎหมาย) ให้เป็นไปโดยธรรม
- การอำนวยความผาสุกแก่ประชาชนโดยธรรม
- การช่วยปกป้องคุ้มครองโดยธรรม

จารึกหลักศิลา ฉบับที่ 2

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยธรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้

ธรรมเป็นสิ่งดีงาม ก็สิ่งใดเล่าชื่อว่าธรรม ธรรมนั้นก็ได้แก่สิ่งต่อไปนี้ ความมีกิเลสน้อย 1 การมีความดีมาก 1 ความเมตตากรุณา 1 การเผื่อแผ่แบ่งปัน 1 ความสัตย์ 1 ความสะอาด 1

ข้าฯได้มอบให้แล้ว ซึ่งดวงตาปัญญา (จักษุทาน) ด้วยวิธีการต่างๆ มากมายหลายวิธี ข้าฯได้กระทำการอนุเคราะห์แล้วด้วยประการต่างๆ แก่เหล่าสัตว์ทวิบาท สัตว์จตุบาท ปักษิณชาติ และสัตว์น้ำทั้งหลาย ตลอดถึงการให้ชีวิตทาน แม้กรรมอันดีงามอื่นๆ อีกหลายประการ ข้าฯได้ประกอบแล้ว

เพื่อประโยชน์นี้ ข้าฯ จึงได้จารึกธรรมโองการนี้ขึ้นไว้ ขอชนทั้งหลายจงได้ประพฤตปฏิบัติตามคำสอนนี้และขอจารึกธรรมนี้จงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน อนึ่งบุคคลใดตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามคำสอนนี้บุคคลนั้นจักได้ชื่อว่า กระทำกรรมอันดีงามแล

จารึกหลักศิลา ฉบับที่ 3

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้

บุคคลย่อมมองเห็นเฉพาะแต่กรรมของตนอย่างเดียวว่า "กรรมอันนี้เราได้กระทำแล้ว" แต่เขาไม่แลเห็นกรรมชั่วของตนเองว่า "กรรมชั่วนี้เราได้กระทำแล้ว" หรือเห็นว่า "กรรมอันนี้ได้ชื่อว่าเป็นกรรมชั่ว" ก็การที่จะพิจารณาเห็นดังนี้ ย่อมเป็นสิ่งยากแท้ที่จะกระทำได้ กระนั้นก็ตาม บุคคลพึงพิจารณาเห็นดังนี้ ย่อมเป็นสิ่งยากแท้ที่จะกระทำได้ กระนั้นก็ตาม บุคคลพึงพิจารณาเห็นในเรื่องนี้ว่า "สิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้ ย่อมชักนำไปสู่การกระทำบาป กล่าวคือความดุดัน 1 ความโหดร้าย 1 ความโกรธ 1 ความถือตัว 1 ความริษยา 1 ขอข้าพเจ้าจงอย่าให้ถูกติเตียน (หรือถึงความพินาศ) เพราะความชั่วเหล่านี้เป็นเหตุเลย" บุคคลจะต้องพิจารณาโดยรอบคอบว่า "สิ่งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เราในโลกบัดนี้ สิ่งนี้เป็นเพื่อประโยชน์สุขแก่เราในโลกเบื้องหน้า"

จารึกหลักศิลา ฉบับที่ 4

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้

ธรรมโองการนี้ ข้าฯ ได้จารึกขึ้นไว้ เมื่ออภิเษกแล้วได้ 26 พรรษา ข้าฯได้แต่งตั้ง (เจ้าหน้าที่ชั้นสูงในตำแหน่ง) รัชชูกะขึ้นไว้ให้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในหมู่ประชาชนจำนวนหลายแสนคน ข้าฯได้มอบอำนาจสิทธิ์ขาดในการพิจารณาตั้งข้อกล่าวหา หรือในการลงโทษ (ผู้กระทำความผิด) ให้แก่เจ้าหน้าที่รัชชูกะเหล่านั้น ข้อนี้เพราะเหตุว่าเจ้าหน้าที่รัชชูกะทั้งหลาย เมื่อมีความมั่นใจ และปราศจากความหวาดกลัว ก็จะพึงบริหารหน้าที่การงานให้เป็นไป พึงปฏิบัติกิจเพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขของประชาชนในชนบท และกระทำการอนุเคราะห์แก่ประชาชนเหล่านั้น ข้าราชการเหล่านี้จักหยั่งทราบถึงสิ่งที่จะทำให้เกิดความสุขและความทุกข์แก่ประชาชนด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเหล่านั้นสามารถประสบประโยชน์สุขทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า

เจ้าหน้าที่รัชชูกะทั้งหลาย ย่อมขวนขวายที่จะปฏิบัติหน้าที่สนองตามคำสั่งของข้าฯถึงแม้ข้าราชการทั้งหลาย (โดยทั่วไป) ขอข้าฯ ก็จักปฏิบัติหน้าที่สนองตามความประสงค์ของข้าฯเช่นกัน และข้าราชการเหล่านั้นจะช่วยชี้แจงแก่ประชาชนได้บ้างบางส่วน อันจะเป็นเหตุช่วยให้เจ้าหน้าที่รัชชูกะสามารถปฏิบัติการให้สำเร็จตามความประสงค์ของข้าฯได้

เปรียบเหมือนว่าบุคคล เมื่อได้มอบหมายบุตรของตนให้แก่พี่เลี้ยงผู้สามารถช่วยดูแลแล้ว ย่อมมีความรู้สึกมั่นใจว่า "พี่เลี้ยงผู้ชำนาญจักสามารถคุ้มครองดูแลบุตรของเราได้ด้วยดี" ฉันใด เจ้าหน้าที่รัชชูกะของข้าฯ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมได้รับการแต่งตั้งไว้เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแห่งประชาชนชาวชนบท ด้วยมุ่งหวังว่าเจ้าหน้าที่เหล่านั้น เมื่อเป็นผู้ไม่มีความหวาดกลัว มีความมั่นใจ และไม่อัดอั้นใจ ก็จะพึงบริหารหน้าที่การงานให้เป็นไปได้ด้วยเหตุผลเช่นนี้ ข้าฯ จึงมอบอำนาจสิทธิ์ขาดในการจับกุมหรือในการลงโทษ แก่เจ้าหน้าที่รัชชูกะทั้งหลาย

อนึ่ง สิ่งต่อไปนี้เป็นข้อที่ปรารถนา คือ ควรจะมีความสม่ำเสมอเป็นแบบแผนเดียวกัน ในการพิจารณาไต่สวนอรรถคดีในศาล และความสม่ำเสมอเป็นแบบเดียวกันในการตัดสินใจลงโทษ

อีกประการหนึ่ง ในเรื่องนี้ ข้าฯ ยังได้มีโองการไว้ต่อไปอีกว่า สำหรับผู้ที่จองจำคุมขังอยู่ และเมื่อได้รับการพิจารณาโทษแล้วถูกตัดสินประหารชีวิต ข้าฯ ขออนุญาตสิทธิพิเศษให้เป็นเวลา 3 วันระยะเวลาเหล่านั้น บรรดาญาติมิตรของผู้ต้องโทษได้ขอร้องให้ (เจ้าหน้าที่รัชชูกะ) บางท่านพิจารณาไต่สวน (เป็นการทวนย้อนหลัง) เพื่อช่วยชีวิตนักโทษเหล่านั้น (คือ ทำการยื่นฎีกาของพระราชทานอภัยโทษประหาร) ถ้าแม้ไม่มีผู้มายื่นคำขอให้พิจารณาสอบสวนคดีใหม่อีก นักโทษเหล่านั้นก็จะ (ได้รับโอกาสให้) ทำการบริจาคทาน หรือรักษาอุโบสถอันจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ในโลกหน้า ทั้งนี้เพราะข้าฯ มีความปรารถนาอยู่อย่างนี้ว่า แม้ในยามที่ถูกจองจำคุมขังอยู่ นักโทษเหล่านี้ก็จะได้สามารถบำเพ็ญตนเพื่อประสบประโยชน์สุขในโลกเบื้องหน้าด้วย และในหมู่ประชาชนก็จะมีการประพฤติปฏิบัติคุณธรรมต่างๆ ความสำรวมใจและการจำแนกแจกทานเจริญเพิ่มพูนขึ้นด้วย


(มีต่อ 11)
 


แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:09 pm, ทั้งหมด 3 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 8:58 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

จารึกหลักศิลา ฉบับที่ 5

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้

ข้าฯ เมื่ออภิเษกแล้วได้ 26 พรรษา ได้ออกประกาศให้สัตว์ทั้งหลายต่อไปนี้ เป็นสัตว์ปลอดภัยจากการถูกฆ่า กล่าวคือ นกแก้ว นกสาลิกา นกจากพราก หงส์ นกน้ำ มันทิมุข (บางท่านว่า นกเป็ดหงส์) นกน้ำคราฏะ ค้างคาว มดแดงมะม่วง ปลาไม่มีกระดูก ตัวเวทาเวยกะ ตัวคังคาปุฏกะ (บางท่านว่านกกระเรียน) ปลากระเบน เต่าและกบ (บางท่านว่าเม่น) กระต่ายที่อยู่ตามค่าคบไม้ (บางท่านว่ากระรอก) นกพิราบบ้าน และบรรดาสัตว์สี่เท้าทั้งปวงที่มิใช่สัตว์ใช้งานและมิใช่สัตว์สำหรับบริโภค

แม่แพะ แม่แกะ และแม่หมู ที่กำลังมีท้องก็ดี กำลังให้นมอยู่ก็ดี ย่อมเป็นสัตว์ที่ไม่พึงฆ่า และแม่ลูกอ่อนของสัตว์เหล่านั้นที่อายุยังไม่ถึง 6 เดือน ก็ไม่พึงถูกฆ่าเช่นกัน ไม่พึงกระทำการตอนไก่ไม่พึงเผาแกลบที่มีสัตว์มีชีวิตอยู่ไม่พึงเผาป่าเพื่อการอันหาประโยชน์มิได้ หรือเพื่อการทำลายสัตว์ ไม่พึงเลี้ยงชีวิตด้วยชีวิต

ไม่พึงฆ่าและขายปลา เนื่องในวันเพ็ญที่คำรบจาตุรมาศทั้ง 3 (วันเพ็ญที่ครบรอบ 4 เดือน ได้แก่เพ็ญเดือน 8 เพ็ญเดือน 12 และเพ็ญเดือน 4 ซึ่งเป็นวาระเปลี่ยนฤดู) และในวันเพ็ญแห่งเดือนติษยะ (คือเดือนยี่ หรือเดือนสอง) คราวละ 3 เดือน คือ ในวันจาตุททสี วันปัณณรสี และวันปาฏิบท (ในที่นี้หมายถึงวันขึ้น 14 ค่ำ ขึ้น 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ) และในทุกวันอุโบสถ เป็นการเสมอไป อนึ่ง ในวันดังกล่าวนี้ ไม่พึงฆ่าสัตว์แม้เหล่าสัตว์ชนิดอื่นๆ ในป่าช้างและในเขตสงวนปลาของชาวประมง

ในดิถีที่ 8 แห่งปักษ์ (ขึ้นหรือแรม 8 ค่ำ) ก็ดี ในดิถีที่ 14 และ 15 ก็ดี ในวันติษยะ และวันปุนัพสุ (ปุนัพสุ เป็นชื่อดาวฤกษ์ที่ 7 จันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์นี้ในระหว่างแห่งเดือนอ้าย และเดือนยี่) ก็ดีในวันเพ็ญครบจาตุรมาสทั้งสามก็ดี และในวันมงคลทั้งปวงไม่พึงทำการตอนวัว แม้ถึงแกะ แพะ หมู และเหล่าสัตว์อื่นๆ ที่เคยตอนกันอยู่ ก็ไม่พึงทำการตอน (ในวันเช่นนั้น) ไม่พึงทำการประทับตรา ม้าและโค ในวันติษยะและวันปุนัพสุ ในวันเพ็ญครบจาตุรมาส และตลอดทุกวันในปักษ์แห่งวันเพ็ญครบจาตุรมาสนั้น

ตราบถึงบัดนี้ เมื่ออภิเษกแล้วได้ 26 พรรษา ข้าฯ ได้สั่งให้มีการราชทานอภัยโทษแล้วรวม 25 ครั้ง

จารึกหลักศิลา ฉบับที่ 6

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้

ข้าฯ เมื่ออภิเษกแล้วได้ 26 พรรษา จึงได้เริ่มจารึกธรรมโองการขึ้นไว้เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ประชาชนทั้งหลายประชาชนเหล่านั้นเมื่อไม่ฝ่าฝืนธรรมโองการนั้นก็จะพึงประสบความเจริญงอกงามแห่งคุณธรรม

ข้าฯ ย่อมพิจารณาสอดส่องอยู่ว่า ประโยชน์เกื้อกูลและความสุขของประชาชนทั้งหลาย จะมีได้ด้วยวิธีการอย่างนี้ๆ ข้าฯ ปฏิบัติเช่นนี้ต่อหมู่ญาติทั้งหลาย ฉันใด ข้าฯ ก็ปฏิบัติต่อหมู่ชนผู้ใกล้ชิด และหมู่ชนที่ห่างไกลฉันนั้น เมื่อเห็นว่าข้าฯ จะนำความสุขมาให้แก่ชนเหล่าไหนได้อย่างไร ข้าฯ ก็จะจัดดำเนินให้เป็นไปอย่างนั้น ข้าฯ สอดส่องดูแลกลุ่มชน ทุกพวกทุกหมู่สม่ำเสมอ เช่นเดียวกันหมดดังนี้ แม้ถึงลัทธิศาสนาทั้งหลาย ทั้งปวง ข้าฯ ก็ได้กระทำการเคารพนับถือทั่วกันหมด ด้วยวิธีการเคารพบูชาต่างๆ แบบต่างๆ ชนิด แต่ข้อที่ข้าฯ ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการได้เข้าไปพบปะถึงกัน

ธรรมโองการนี้ ข้าฯ ได้ให้จารึกขึ้นไว้เมื่ออภิเษกแล้วได้ 26 พรรษา

จารึกหลักศิลา ฉบับที่ 7
(พบที่หลัก Delhi-Topra แห่งเดียว)

1. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้

ตลอดกาลยาวนานล่วงมาแล้ว ได้มีพระราชาหลายองค์ ทรงปรารถนาว่า "ทำไฉนประชาชนทั้งหลาย จะพึงเจริญก้าวหน้าด้วยความเจริญทางธรรม" แต่ประชาชน ก็หาได้เจริญก้าวหน้าขึ้น ด้วยความเจริญทางธรรมตามสมควรไม่

2. ในเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้

ข้าฯ ได้เกิดมีความคิดขึ้นว่า ตลอดกาลยาวนานล่วงมาแล้ว ได้มีพระราชาหลายองค์ ทรงปรารถนาว่า "ทำไฉนประชาชนทั้งหลายจะพึงเจริญก้กาวหน้าด้วยความเจริญทางธรรม" แต่ประชาชนก็หาได้เจริญก้าวหน้าขึ้น ด้วยความเจริญทางธรรมตามสมควรไม่ ก็แลด้วยอุบาย วิธีอันใดหนอ ประชาชนทั้งหลายจะพึงประพฤติปฏิบัติตามด้วยอุบาย วิธีอันใดหนอ ประชาชนทั้งหลายจะพึงเจริญก้าวหน้าด้วยความเจริญทางธรรมตามสมควร ด้วยอุบายวิธีอันใดหนอ ข้าฯ จะพึงยกระดับประชาชนขึ้นด้วยความเจริญทางธรรมได้บ้าง

3. ในเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้

ข้าฯ ได้เกิดความคิดขึ้นว่า ข้าฯ จักจัดให้มีการประกาศธรรม ข้าฯ จักจัดให้มีการอบรมสั่งสอนธรรมประชาชนทั้งหลาย ครั้นได้สดับธรรมนี้แล้ว ก็จักพากันประพฤติปฏิบัติตาม จักยกระดับตนเองสูงขึ้น และจักมีความเจริญก้าวหน้าสูงขึ้น ด้วยความเจริญทางธรรมอย่างมั่นคง

เพื่อประโยชน์นี้ ข้าฯ จึงจัดให้มีการประกาศธรรม และสั่งให้มีการอบรมสั่งสอนธรรมขึ้นเป็นหลายแบบหลายอย่าง เพื่อให้ข้าราชการทั้งหลาย ที่ข้าฯ ได้แต่งตั้งไว้ดูแลประชาชนจำนวนมาก จักได้ช่วยกันแนะนำสั่งสอนบ้าง ช่วยอธิบายขยายความออกไปให้แจ่มแจ้งออกไปบ้าง แม้เจ้าหน้าที่รัชชูกะ ข้าฯ ก็ได้แต่งตั้งไว้ดูชีวิตหลายแสนชีวิต เจ้าหน้าที่รัชชูกะเหล่านั้น ก็ได้รับคำสั่งจากข้าฯ ว่า "ท่านทั้งหลาย จงอบรมสั่งสอนประชาชนให้เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมอย่างนี้ๆ"


(มีต่อ 12)
 


แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:13 pm, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 9:05 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

4. ในเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้

เมื่อได้พิจารณาใคร่ครวญในเรื่องนี้ โดยถ่องแท้แล้วนั่นแล ข้าฯ จึงให้ประดิษฐานหลักศิลาจารึกธรรมขึ้นไว้แต่งตั้งธรรมมหาอำมาตย์ขึ้นไว้และจัดให้มีการประกาศธรรม

5. ในเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้

แม้ตามถนนหนทาง ข้าฯก็ได้ปลูกต้นไม้ไทรขึ้นไว้ เพื่อจักได้เป็นร่มเงาให้แก่สัตว์ และมนุษย์ทั้งหลาย ให้ปลูกสวนมะม่วง ให้ขุดบ่อน้ำไว้ทุกระยะกึ่งโกรษะ ให้สร้างที่พักคนเดินทางขึ้นไว้ และให้สร้างอ่างเก็บน้ำจำนวนมากมายขึ้นไว้ ในที่ต่างๆ ด้วยการใช้สอยแห่งสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ในการใช้ประโยชน์เช่นนี้ ยังจัดว่าเป็นสิ่งเล็กน้อย พระราชาทั้งหลายในกาลก่อนก็ดี ตัวข้าฯก็ดี ต่างก็ได้ บำรุงประชาชนทั้งหลาย ให้มีความสุขด้วยวิธีการ บำรุงสุขประการต่างๆ แต่ที่ข้าได้กระทำการเช่นนี้ ก็ด้วยความมุ่งหมาย ข้อนี้คือ เพื่อให้ประชาชนทั้งหลายประพฤติปฏิบัติตามธรรม

6. ในเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้

แม้ธรรมมหาอำมาตย์ทั้งหลาย ข้าฯ ก็ได้มอบหมายให้ทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจการต่างๆ มากหลายประการอันจะเป็นไปเพื่อการอนุเคราะห์ทั้งแก่บรรพชิต และคฤหัสถ์ทั้งหลาย และธรรมมหาอำมาตย์เหล่านั้นได้รับมอบหมาย ให้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับหมู่ชน ผู้นับถือลัทธิศาสนาทั้งปวง และเพื่อประโยชน์และคณะสงฆ์ ข้าฯ ก็ได้มีคำสั่งว่า ให้มีเจ้าหน้าที่ธรรมมหาอำมาตย์ ที่มีหน้าที่ (เกี่ยวกับผลประโยชน์ของคณะสงฆ์) แม้สำหรับพวกพราหมณ์ และอาชีวิกะทั้งหลายก็เช่นกัน ข้าฯก็ได้มีคำสั่งว่า ให้มีเจ้าหน้าที่ธรรมมหาอำมาตย์ ซึ่งจักมีหน้าที่รับผิดชอบ (เกี่ยวกับผลประโยชน์ของพราหมณ์ และอาชีวิกะเหล่านั้น) สำหรับในหมู่นิครนถ์ทั้งหลายก็เช่นกัน ข้าฯก็ได้มีคำสั่งไว้ว่า ให้มีเจ้าหน้าที่ธรรมมหาอำมาตย์ซึ่งจักมีหน้าที่รับผิดชอบ (เกี่ยวกับผลประโยชน์ของนิครนถ์เหล่านั้น) แม้สำหรับในหมู่ชนผู้นับถือลัทธิศาสนาต่างๆ ข้าฯ ก็ได้มีคำสั่งไว้ว่า ให้มีเจ้าหน้าที่ธรรมมหาอำมาตย์ซึ่งจักมีหน้าที่รับผิดชอบ (เพื่อผลประโยชน์ของลัทธิศาสนาเหล่านั้นด้วย) เจ้าหน้าที่มหาอำมาตย์ตำแหน่งต่างๆ ย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบรักษาหน้าที่อันเฉพาะของตนๆ เท่านั้น ส่วนพวกธรรมมหาอำมาตย์นี้ ข้าฯ มอบหมายให้มีหน้าที่รับผิดชอบทั้งกิจการเหล่านี้ด้วย และมีหน้าที่เกี่ยวกับลัทธิศาสนาทั้งหลายอื่นทั้งหมดด้วย

7. ในเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้

เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ และพวกอื่นๆ อีกจำนวนมาก ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ทำการจำแนกแจกทาน ทั้งในนามของข้าฯเอง เองและในนามแห่งพระราชเทวีทั้งหลายทั่วทุกสำนักฝ่ายในของข้า เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้สามารถจักดำเนินการกิจการต่างๆ ที่มุ่งหมายจนเป็นที่น่าพอใจได้ ด้วยวิธีการมากมายหลายประการ ทั้งใจ (พระนครหลวง) นี้ และในส่วนต่างๆ (ของประเทศ)

อนึ่ง ในส่วนแห่งโอรสของข้าฯ และเจ้าชายอื่นๆ ซึ่งประสูติแต่พระราชเทวีทั้งหลาย ข้าฯ ก็ได้สั่งให้กระทำการจำแนกแจกทานเช่นนี้โอรสของข้าฯ เหล่านี้จักเป็นผู้ฝักใฝ่ในการจำแหนกแจกทาน อันจะเป็นการส่งเสริมหลักการในทางธรรมและการประพฤติปฏิบัติตามธรรม

หลักการในทางธรรม และการประพฤติปฏิบัติตามธรรมเหล่านี้ กล่าวคือ ความเมตตากรุณา 1 การเผื่อแผ่แบ่งปัน 1 ความสัตย์ 1 ความสะอาด 1 ความสุภาพอ่อนโยน 1 และความเป็นสาธุชน 1 จะพึงเจริญเพิ่มพูนขึ้นในหมู่ประชาชน

8. ในเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้

กรรมใดใดก็ตามที่ข้าฯ ได้กระทำแล้ว ประชาชนทั้งหลายก็ได้พากันประพฤติปฏิบัติกรรมดีนั้นๆ ตามอย่างแล้ว และยังคงดำเนินตามกรรมดีนั้นๆ อยู่ต่อไป ด้วยการกระทำเช่นนี้ ประชาชนทั้งหลาย ก็ได้มีความเจริญงอกงามขึ้นแล้ว และยังจักเจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ด้วยการเชื่อฟังมารดา บิดา การเชื่อฟังครูทั้งหลาย การปฏิบัติชอบต่อท่านผู้เฒ่าชรา การปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์และสมณะต่อคนยากจน และคนตกทุกข์ ตลอดถึงคนรับใช้ และคนงานทั้งหลาย

9. ในเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้

ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ความเจริญงอกงามแห่งธรรมย่อมเกิดมีขึ้นได้ ด้วยวิธีการ 2 ประการคือ ด้วยการบัญญัติกฎข้อบังคับในทางธรรมประการหนึ่ง และด้วยการนำธรรมไปเพ่งพินิจประการหนึ่งบรรดาวิธีการทั้งหลายนั้น การบัญญัติกฎข้อบังคับในทางธรรมเป็นสิ่งไม่สำคัญ การนำไปเพ่งพินิจนั่นแลเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง กระนั้นก็ตามข้าฯ ก็ได้กระทำการบัญญัติกฎข้อบังคับในทางธรรมขึ้นไว้แล้ว เช่นว่า ดังนั้น "สัตว์จำพวกนี้ๆ เป็นสัตว์ที่ห้ามมีให้ฆ่า" ก็แลกฎเข้าบังคับในทางธรรมอื่นๆ ที่ข้าฯได้บัญญัติไว้แล้วยังมีเป็นอันมาก แต่หากด้วยอาศัยการนำไปเพ่งพินิจนั่นแล ความเจริญงอกงามแห่งธรรม จึงได้เพิ่มพูนขึ้นแล้วอย่างมากมาย ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย นำผลให้บังเกิดการไม่เบียดเบียนเหล่าสัตว์ และการไม่ฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ

เพื่อประโยชน์นี้ ข้าฯ จึงได้กระทำการจารึกอย่างนี้ขึ้น เพื่อว่าลูกหลานทั้งหลายของข้าฯพึงเชื่อฟังความที่จารึกนั้นและจารึกนั้นจักได้ดำรงอยู่ตลอดไป ตราบเท่าที่เดือนและตะวันยังส่องแสง อีกทั้งประชาชนทั้งหลายก็จะพึงประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นด้วย ก็แลบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติตามอยู่เช่นนั้น ย่อมเป็นผู้ประสบประโยชน์สุขทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า ธรรมโองการนี้ข้าฯ ได้ให้จารึกไว้ เมื่ออภิเษกได้ 27 พรรษา


(มีต่อ 13)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:14 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 9:10 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

10. ในเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ ดังนี้

หลักศิลาหรือแผ่นศิลามีอยู่ ณ สถานที่ใด ธรรมโองการนี้จะต้องถูกนำไปจารึกไว้ ณ สถานที่นั้น เพื่อให้ดำรงอยู่ชั่วกาลนาน

ศิลาจารึกพิเศษแห่งกลิงคะ ฉบับที่ 1

มหาอำมาตย์ทั้งหลายผู้มีหน้าที่ดำเนินงานตุลาการในเมืองโตสลีพึงได้รับแจ้งตามพระราชดำรัสของพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพว่า : ข้าฯ พิจารณาเห็นสิ่งใดก็ตาม ข้าฯ ย่อมมีความปรารถนาในสิ่งนั้นว่า ขอข้าฯ พึงดำเนินการในสิ่งนั้นๆ ให้สำเร็จลุล่วงลงไปด้วยการลงมือกระทำและขอข้าฯ พึงดำเนินการในสิ่งนั้นด้วยวิธีการ (อันเหมาะสม) ในเรื่องนี้ ข้าฯ ถือว่าคำสั่งสอนของข้า แก่ท่านทั้งหลายนั่นแลเป็นวิธีการอันสำคัญยิ่ง เพราะท่านทั้งหลายได้รับการแต่งตั้งให้มีหน้าที่ดูแลชีวิตจำนวนมากมายหลายพัน ด้วยความหวังว่า พวกท่านคงจะถนอมความรักของมนุษย์ทั่วทุกคนไว้ด้วยแน่แท้

คนทุกคนเป็นลูกของข้าฯ ข้าฯ มีความปรารถนาต่อลูกของข้าฯ ว่า ขอลูกทั้งหลายของข้าฯ จงประสบแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและความสุขทุกสิ่งทุกประการ ทั้งที่เป็นโลกนี้และโลกหน้า ฉันใด ข้าฯ ก็มีความปรารถนาแม้ต่อมนุษย์ทั้งหลายทั่วทุกคนฉันนั้น แต่ท่านทั้งหลายอาจไม่รู้ซึ้งว่าความประสงค์ของข้า ข้อนี้มีความหมายกว้างขวางเพียงใด อาจมีบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งในบรรดาพวกท่านนี้ ที่เข้าใจถึงความหมายอันนี้ แต่กระนั้นบุคคลผู้นั้นก็คงรู้คงเข้าใจเพียงส่วนหนึ่งส่วนเดียวหาได้เข้าใจโดยสิ้นเชิงไม่ ถึงแม้ท่านทั้งหลายจะได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งสูงเพียงใดก็ตาม ท่านทั้งหลายก็ต้องใส่ใจในเรื่องรัก หลักการข้อนี้เป็นสิ่งที่จัดวางไว้เป็นอย่างดีแล้ว

อาจมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งต้องได้รับการจองจำ หรือการลงโทษด้วยการทรมาน และในกรณีนี้ผลอาจปรากฏว่าเป็นการจับกุมลงโทษ โดยปราศจากมูลเหตุอันสมควร เนื่องจากเหตุนี้ประชาชนอื่นๆ อีกจำนวนมากที่จะพลอยได้รับความทุกข์ด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายควรตั้งใจแน่วแน่ว่า "เราจะวางตนเป็นกลาง (ให้เกิดความเที่ยงธรรม)" แต่กระนั้นก็ยังอาจไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ โดยเนื่องมาจากข้อบกพร่องบางประการ อันได้แก่ ความริษยา ความพลั้งจิต ความเกรี้ยวกราด ความหุนหันพลันแล่น การขาดความใส่ใจอย่างจริงจัง (หรือขาดความรอบคอบ) ความเกียจคร้าน และความเหนื่อยหน่าย ฉะนั้น ท่านทั้งหลายพึงตั้งใจว่า "ขอข้อบกพร่องเหล่านี้ อย่าพึงเกิดมีแก่เราเลย"

รากฐานแห่ง (ความสำเร็จ) ทั้งมวลนี้ อยู่ที่การไม่มีความพลั้งจิตและการไม่มีการหุนหันเร่งร้อนในการนำหลักการแห่งยุติธรรมมาใช้ บุคคลที่เหนื่อยหน่ายย่อมไม่สามารถลุกขึ้นมาทำงานได้โดยกระฉับกระเฉงแต่ท่านทั้งหลายจะต้องเคลื่อนไหวก้าวหน้า และดำเนินไป (เพื่อให้ถึงจุดหมาย) ท่านทั้งหลายจะต้องพิจารณาใส่ใจในเรื่องนี้ ดังกล่าวมาฉะนี้ด้วยเหตุนี้ จึงขอให้ท่านทั้งหลายพึงได้รับถือเป็นคำสั่งว่า "ท่านทั้งหลายจะต้องคอยเอาใจใส่ดูแล (ตักเตือน) ซึ่งกันและกันว่า คำสั่งสอนของพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพมีอยู่อย่างนี้ๆ" การประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพมีอยู่อย่างนี้ๆ" การประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนนี้โดยเพียบพร้อม ย่อมอำนวยผลมาก แต่การไม่ประพฤติปฏิบัติตามโดยชอบ ย่อมนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเป็นอันมาก ผู้ไม่ประพฤติปฏิบัติตามย่อมไม่ได้ประสบสวรรค และไม่ทำให้พระเจ้าอยู่หัวพอพระทัยได้ เพราะข้าฯ ถือว่า การฝักใฝ่สนใจอย่างจริงจังต่อกิจเช่นนั้น ย่อมมีผลสองประการ คือ ในการประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของข้าฯ โดยเพียบพร้อมนี้ ท่านทั้งหลายจักได้ประสบสวรรค์สมบัติด้วย และจักได้ปลดเปลื้องหนี้ต่อข้าฯ ด้วย

จารึกนี้ พึงให้มีการสดับในวันติษยนักษัตร และในบางโอกาสในระหว่างแห่ง วันติษยะ ถึงจะมีบุคคลอยู่คนเดียวก็พึงสดับฟัง เมื่อกระทำได้เช่นนั้นนั่นแล ท่านทั้งหลายจึงจักชื่อว่า สามารถกระทำตามคำสั่งสอนของข้าฯ ได้เพียบพร้อมสมบูรณ์ เพื่อประโยชน์นี้ จึงได้ให้เขียนจารึกนี้ขึ้นไว้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตุลาการนครได้พยายาม โดยสม่ำเสมอทุกเวลา (ที่จะปฏิบัติด้วยความมุ่งมั่นในใจ) ว่าจะมิให้เกิดมีการบีบบังคับ หรือการลงโทษทัณฑ์แก่ชาวเมืองโดยไร้เหตุอันสมควร

เพื่อประโยชน์นี้ข้าฯ จักส่งมหาอำมาตย์ทั้งหลายซึ่งจะไม่เป็นผู้หยาบคาย ไม่ดุร้าย และซื่อสัตย์ในการปฏิบัติงาน ออกเดินทางตรวจตราราชการทุกๆ 5 ปี มหาอำมาตย์เหล่านั้น เมื่อทราบความประสงค์อันนี้ (ของข้า) แล้ว ก็จักปฏิบัติตามคำสั่งสอนของข้าฯ แม้จากนครอุชเชนีก็เช่นกัน องค์อุปราชโอรส จะส่งกลุ่มเจ้าหน้าที่อย่างเดียวกันให้ออกเดินทางตรวจตราราชการเพื่อความมุ่งหมายอันเดียวกันนี้แล (ในการส่งออกแต่ละคราวนี้) จักไม่ปล่อยให้เวลาล่วงไปเกิน 3 ปี แม้จากนครตักกสิลา ก็เช่นเดียวกัน (องค์อุปราชราชโอรส จักส่งกลุ่มเจ้าหน้าที่ออกเดินทางตรวจตราราชการอย่างนี้) เมื่อมหาอำมาตย์เหล่านี้ยังคงออกเดินทางตรวจตราราชการอยู่ไม่ทอดทิ้งหน้าที่ของตนเขาก็จักเข้าใจในคำสั่งสอนของข้าฯ และด้วยเหตุนั้น ก็จักปฏิบัติงานได้ตามคำสั่งสอนของพระเจ้าอยู่หัว

ศิลาจารึกพิเศษแห่งกลิงคะ ฉบับที่ 2

พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้ตรัสไว้ดังนี้

มหาอำมาตย์ทั้งหลาย ณ สมาปา พึงได้รับแจ้งตามกระแสพระราชดำรัสว่า เมื่อข้าฯ พิจารณาเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ข้าฯ ย่อมมีความปรารถนาว่า ขอข้าฯ จงจัดทำสิ่งนั้นๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยการลงมือกระทำ (จริงๆ) และขอข้าฯ จงริเริ่มทำสิ่งนั้นด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้าฯ ถือว่าคำสั่งสอนของข้าฯ แก่ท่านทั้งหลายนั่นแล เป็นวิธีการอันสำคัญยิ่งเพื่อให้บรรลุถึงจุดประสงค์อันนี้


(มีต่อ 14)
 


แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:18 pm, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 9:13 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ประชาชนทุกคนเป็นลูกของข้าฯ ข้าฯ ย่อมปรารถนาเพื่อลูกชายลูกสาวของข้าฯ ว่าขอข้าฯ ว่าของเขาทั้งหลายพึงประสบสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและความสุขทั้งที่เป็นในโลกนี้และโลกหน้าทุกประการฉันใด ความปรารถนาของข้า ต่อประชาชนทั้งปวงย่อมเป็นฉันนั้นเหมือนกัน

ประชาชนชาวเขตแดนข้างเคียงทั้งหลาย ซึ่งข้าฯ ยังมิได้พิชิตอาจเกิดมีความคิดขึ้นอย่างนี้ว่า "พวกเราใคร่ทราบว่า พระราชาทรงมีความมุ่งประสงค์ต่อพวกเราเป็นประการใด" ข้าฯ มีความปรารถนาต่อประชาชนชาวเขตแดนข้างเคียงอยู่เพียงว่า ขอให้ประชาชนเหล่านั้นพึงเข้าใจเถิดว่า "พระราชาทรงมีความปรารถนาว่า ประชาชนเหล่านั้นไม่พึงมีความครั้นคร้ามหวาดระแวงต่อข้าฯ และพึงมีความเชื่อมั่นวางใจในตัวข้าฯ พึงหวังได้รับความสุขเพียงอย่างเดียวจากข้าฯ หาได้รับความทุกข์มิได้เลย และพึงมีความเข้าใจ (ต่อไป) อีกว่า พระองค์จักทรงพระราชทานอภัยโทษแก่เราทั้งหลายเท่าที่จะทรงอภัยให้ได้ และเพื่อเห็นแก่ข้าฯ ขอประชาชนเหล่านั้นพึงประพฤติปฏิบัติธรรมและพึงได้ประสบ (ประโยชน์สุข) ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า"

เพื่อประโยชน์นี้ ข้าฯ จึงพร่ำสอนท่านทั้งหลาย ด้วยการกระทำเพียงนี้ ข้าฯ ย่อมเป็นอันพ้นจากหนี้ (ที่มีต่อประชาชน) ปณิธานและประกาศเจตจำนงปณิธานและปฏิญญานั้นๆ เป็นสิ่งที่มั่นคงแน่นอนไม่แปรผัน ท่านทั้งหลายพึงปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยการกระทำตามเช่นนั้นเถิด และประชาชนเหล่านั้น พึงได้รับการปลุกปลอบใจให้มีความเชื่อมั่นวางใจในตัวข้าฯ จนทำให้เขาเข้าใจว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นเหมือนบิดาของพวกเรา พระองค์ทรงมีความรักใคร่ปรารถนาดีในเราทั้งหลาย เหมือนดังที่ทรงรักใคร่ปรารถนาดีต่อตัวพระองค์เอง พวกเราเหมือนลูกของพระเจ้าอยู่หัว

โดยเหตุที่ปณิญญาของข้าฯ อันบ่งแจ้งในการแนะนำพร่ำสอนพวกท่าน และในการประกาศให้พวกท่านทรงทราบเจตจำนงของข้าฯ เป็นสิ่งมั่นคงแน่นอนไม่แปรผัน ฉะนั้น ในกรณีเช่นนี้ ข้าฯ จึงจัดให้มีท่านทั้งหลายผู้เป็นเจ้าพนักงานประจำท้องถิ่น เพราะว่าท่านทั้งหลายย่อมเป็นผู้มีความสามารถ (แท้ทีเดียว) ในการปลุกปลอบใจประชาชนเหล่านั้น ช่วยนำให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลและความสุข ทั้งที่เป็นไปในโลกนี้และโลกหน้าแก่ประชาชนทั้งหลายเหล่านั้นเมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ ท่านทั้งหลายจักได้ประสบสวรรค์สมบัติด้วย และจักเป็นผู้ได้ปลดเปลื้องหนี้ที่มีต่อข้าฯ ด้วย

เพื่อประโยชน์นี้ จึงได้เขียนจารึกนี้ขึ้นไว้ ณ สถานที่นี้ เพื่อให้บรรดามหาอำมาตย์เอาใจใส่อยู่โดยสม่ำเสมอตลอดกาลต่อไปเบื้องหน้าในอันที่จะทำการแนะนำชักจูงพลเมืองชายแดนทั้งหลายให้เกิดมีความเชื่อมั่นวางใจ (ในตัวข้าฯ) และทำให้การประพฤติปฏิบัติธรรมเกิดมีขึ้น

พึงให้มีการสนับตรับฟังจารึกนี้ไว้วันติษยะ ในระหว่างทุกๆ จาตุรมาสพึงให้มีการสดับฟัง แม้ในระยะเวลาระหว่างนั้น และเมื่อโอกาสพิเศษแม้จะมีบุคคลผู้เดียวก็พึงให้สดับฟังเมื่อปฏิบัติได้เช่นนั้นแลท่านทั้งหลาย จึงจักได้ชื่อว่าสามารถปฏิบัติได้เพียบพร้อมตามคำสั่งสอนของข้า

จารึกศิลา 14 หลัก

จารึกศิลา ฉบับที่ 1


ธรรมโองการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้โปรดจารึกไว้

ณ ถิ่นนี้ บุคคลไม่พึงฆ่าสัตว์มีชีวิตใดๆ เพื่อการบูชายัญไม่พึงนัดงานชุมนุมเพื่อการเลี้ยงรื่นเริงใดๆ เพราะว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงมองเห็นโทษเป็นอันมากในการชุมนุมเช่นนั้น ก็แลกการชุมชนบางอย่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพทรงเห็นชอบว่าเป็นสิ่งที่ดีย่อมมีอยู่อีกส่วนหนึ่ง

แต่ก่อนนี้ในโรงครัวหลวงของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ สัตว์ได้ถูกฆ่าเพื่อทำเป็นอาหารวันละหลายแสนตัวครั้นมาในบัดนี้เมื่อธรรมโองการนี้อันพระองค์โปรดให้จารึกแล้วสัตว์เพียง 3 ตัวเท่านั้นที่ถูกฆ่าคือนกยูง 2 ตัว และเนื้อ 1 ตัว ถึงแม้เนื้อนั้นก็มิได้ถูกฆ่าเป็นประจำก็แลสัตว์ทั้งสามนี้ (ในกาลภายหน้า) ก็จักไม่ถูกฆ่าอีกเลย

ศิลาจารึก ฉบับที่ 2

ณ ที่ทุกสถาน ในแว่นแคว้นของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพและในดินแดนข้างเคียงทั้งหลาย กล่าวคืออาณาจักรชาวโจละชาวปาณฑยะ กษัตริย์สัตยปุตระ เจ้าครองนครเกรบปุตระ ผู้ครองแผ่นดินจดแม่น้ำตามรปรรณี กษัตริย์โยนะ (กรีก) พระนามอันว่า อันติโยคะ (Antiodhos) พร้อมทั้งกษัตริย์ทั้งหลายอื่น ในแคว้นใกล้เคียงแห่งพระเจ้าอันติโยคะพระองค์นั้น ในสถานที่ทั้งปวงนั้นพระเจ้าอยู่ปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้โปรดให้จัดบริการในด้านเวชกรรมไว้ 2 ประการ คือการรักษาโรคของมนุษย์ประการหนึ่ง เครื่องสมุนไพรที่เป็นยาสำหรับมนุษย์ และที่เป็นยาสำหรับสัตว์ไม่มี ณ สถานที่ใด ก็โปรดให้นำเข้ามาและให้ปลูกขึ้นไว้ ณ สถานที่นั้นๆ ตามถนนหนทางทั้งหลายก็โปรดให้ปลูกต้นไม้ และขุดบ่อน้ำขึ้นไว้เพื่อให้สัตว์และมนุษย์ทั้งหลายได้อาศัยใช้บริโภค


(มีต่อ 15)
 


แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:19 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 9:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

จารึกศิลา ฉบับที่ 3

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้

"ข้าฯ เมื่ออภิเษกแล้วได้ 12 ปี ได้สั่งประกาศความข้อนี้ไว้ว่า

ทุกหน ทุกแห่ง ในแว่นแคว้นของข้าฯ เจ้าหน้าที่ยุกตะ เจ้าหน้าที่รัชชูกะ และเจ้าหน้าที่ปราเทศิกะ จงออกเดินทาง (ตรวจตรา) ทุกๆ 5 ปี เพื่อประโยชน์อันนี้ คือเพื่อการสั่งสอนธรรมนี้ พร้อมไปกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างอื่น (เจ้าหน้าที่เหล่านั้นพึงสั่งสอน) ว่า

- การเชื่อฟังมารดาบิดา เป็นความดี
- การเผื่อแผ่แบ่งปันแก่ มิตรสหาย ญาติ และแก่สมณพราหมณ์เป็นความดี
- การไม่ทรมานผลาญชีวิต เป็นความดี
- การประหยัด ใช้จ่ายแต่น้อย การไม่สะสมสิ่งของเครื่องใช้ให้มากเป็นความดี

อนึ่ง แม้สภาคณะมนตรี ก็จะสั่งกำกับแก่เจ้าหน้าที่ยุกตะให้คิดคำนวณ (ค่าใช้จ่ายทั้งปวงเจ้าหน้าที่ผู้เดินทาง) ให้เป็นไปตามความมุ่งหมายและตามลายลักษณ์อักษร (แห่งพระราชกำหนดกฎหมาย)

จารึกศิลา ฉบับที่ 4

กาลอันยาวนานล่วงไปแล้ว ตลอดเวลาหลายร้อยปี การฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ การเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย การไม่ปฏิบัติชอบต่อหมู่ญาติการไม่ปฏิบัติชอบต่อสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ได้เจริญพอกพูนขึ้นถ่ายเดียว แต่มาในบัดนี้ เพราะอาศัยการประพฤติธรรมของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เสียงกลอง (เภรีโฆษ) ได้กลายเป็นเสียงประกาศธรรม (ธรรมโฆษ) ไปแล้ว แลทั้งการแสดงแก่ประชาชนซึ่งภาพวิมาน ขบวนช้าง คบพลิงและทิพยรูปอื่นๆ ก็ได้มีขึ้นด้วย

การไม่ฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ การไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย การปฏิบัติชอบต่อหมู่ญาติ การปฏิบัติชอบต่อสมณพราหมณ์ทั้งหลาย การเชื่อฟังมารดาบิดา ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตลอดเวลาหลายร้อยปีได้เจริญงอกงามขึ้นแล้วในบัดนี้เพราะการสั่งสอนธรรมของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ความดีอันนี้ และการปฏิบัติธรรมอย่างอื่นๆ อีกหลายประการ ได้เจริญงอกงามขึ้นแล้ว พระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพจักทำให้การปฏิบัติธรรมนี้เจริญยิ่งขึ้นไปอีก และพระราชโอรส พระราชนัดดา พระราชปนัดดา ของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ก็จักส่งเสริมการปฏิบัติธรรมนี้ให้เจริญยิ่งขึ้นต่อไปจนตลอดกัลป์ ทั้งจักสั่งสอนธรรมด้วยการตั้งมั่นอยู่ในธรรม และในศีลด้วยตนเอง เพราะว่าการสั่งสอนธรรมนี้แลเป็นการกระทำอันประเสริฐสุด และการประพฤติธรรมย่อมไม่มีแก่ผู้ไร้ศีล

ก็แลความเจริญงอกงาม และความไม่เสื่อมถอยในการปฏิบัติธรรมนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ดีเพื่อประโยชน์อันนี้จึงได้จารึกธรรมโองการนี้ขึ้นไว้ขอชนทั้งหลายจงช่วยกัน ประกอบกิจ เพื่อความเจริญงอกงามแห่งประโยชน์นี้และจงอย่าได้มีวันกล่าวถึงความเสื่อมเลย

ธรรมโองการนี้ พระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพโปรดให้จารึกไว้แล้ว เมื่ออภิเษกได้ 12 พรรษา

จารึกศิลา ฉบับที่ 5

พระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ว่า

กรรมดีเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากบุคคลใดเป็นผู้กระทำกรรมดีเป็นคนแรกบุคคลนั้นชื่อว่า กระทำกรรมอันบุคคลกระทำได้ยากก็กรรมดีเป็นอันมากอันข้าฯ จักประพฤติตามอย่างเดียวกับข้าฯ จนตลอดกัลป์แล้วไซร้ เขาเหล่านั้นจักได้ชื่อว่า กระทำกรรมอันดีแท้ ส่วนผู้ใดจักปล่อยให้ย่อหย่อนบกพร่องไปแม้เพียงส่วนหนึ่ง (ของหน้าที่ของตนหรือของบัญญัตินี้) ผู้นั้น จักชื่อว่ากระทำกรรมชั่ว เพราะขึ้นชื่อว่าบาปย่อมเป็นสิ่งที่ควรกำจัดให้สิ้นเชิง

ก็กาลอันยาวนานได้ล่วงไปแล้ว ยังไม่เคยมีธรรมมหาอำมาตย์เลย แต่ธรรมมหาอำมาตย์เช่นนั้น ข้าฯ ได้แต่งตั้งแล้วเมื่ออภิเษกได้ 13 ปี ธรรมมหาอำมาตย์เหล่านั้นเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในหมู่ศาสนิกชนแห่งลัทธิศาสนาทั้งปวง ทำหน้าที่เพื่อความตั้งมั่นแห่งธรรม เพื่อความเจริญงอกงามแห่งธรรมกับทั้งเพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขของเหล่าชนผู้ประกอบด้วยธรรม

ธรรมมหาอำมาตย์เหล่านั้น ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขของชาวโยนะ (กรีก) ชาวกัมโพชะ และชาวคันธาระ พร้อมทั้งประชาชนเหล่าอื่นผู้อาศัยอยู่ ณ ชายแดนตะวันตก กับทั้งเพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแห่งลูกจ้างและนายจ้าง พราหมณ์ คนมั่งมี คนอนาถา และคนเฒ่าชรา และเพื่อช่วยปลดเปลื้องเหล่าชน ผู้ประกอบด้วยธรรม มิให้ต้องได้รับความเดือดร้อน

ธรรมมหาอำมาตย์เหล่านั้นมีหน้าที่ขวนขวาย เพื่อช่วยหาทางให้มีการแก้ไข ผ่อนปรนคำพิพากษาของศาล ช่วยให้มีความไม่เดือดร้อนและการปลดปล่อยพ้นโทษแก่บุคคลที่ถูกจองจำ ในกรณีที่ได้คำนึงเห็นเหตุผลว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้มีบุตรผูกพันอยู่ เป็นผู้ได้รับความบีบคั้นกดดันอย่างหนัก หรือเป็นผู้มีอายุมาก

ณ ที่นี้ และในเมืองอื่นๆ ภายนอก ธรรมมหาอำมาตย์ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ทั่วทุกหนทุกแห่ง ทั้งในสำนักฝ่ายในแห่งภาดาและภคินีของข้าฯ และมวลญาติอื่นๆ ทุกหนทุกแห่งในแว่นแคว้นของข้าฯ ธรรมมหาอำมาตย์เหล่านั้นได้รับมอบหมายหน้าที่ให้สอดส่องดูในหมู่ชนผู้ประกอบด้วยธรรมว่า บุคคลผู้นี้เป็นผู้ฝักใฝ่ในธรรม หรือว่าบุคคลนี้เป็นผู้ใส่ใจในการบริจาคทานเพื่อประโยชน์อันนี้ จึงโปรดให้จารึกธรรมโองการนี้ขึ้นไว้ ขอจารึกธรรมนี้จงดำรงอยู่ตลอดกาลและขอประชาชนของข้าฯ จงประพฤติปฏิบัติตามดังนั้น


(มีต่อ 16)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:20 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 9:25 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

จารึกศิลา ฉบับที่ 6

พระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ดังนี้

กาลอันยาวนานล่วงไปแล้ว ตลอดกาลทั้งปวงนั้น ยังไม่เคยมีการดำเนินงานติดต่อราชการหรือการรายงานข้าราชการ (อย่างน่าพอใจ) เลย ฉะนั้นข้าฯ จึงได้จัดดำเนินการขึ้นไว้ดังนี้

ตลอดเวลา ไม่ว่าข้าฯ จะเสวยอยู่ดี อยู่ในสำนักฝ่ายในก็ดีอยู่ในห้องใน (ห้องส่วนพระองค์) ก็ดี อยู่ในคอกสัตว์ก็ดี อยู่บนหลังม้าก็ดี อยู่ในอุทยานก็ดี ทุกหนทุกแห่ง เจ้าหน้าที่ผู้รายงานข่าว พึงรายงานให้ข้าฯ ทราบกิจการงานของประชาชนในที่ทุกแห่ง ก็แม้ถ้าข้าฯ จักออกคำสั่งใดๆ ด้วยวาจาแก่เจ้าหน้าที่ผู้สั่งจ่ายเงิน หรือเจ้าหน้าที่ผู้ออกประกาศคำสั่งหรือ อีกประการหนึ่งเมื่อข้าฯ ออกคำสั่งไปยังมหาอำมาตย์ทั้งหลายในกรณีที่มีเรื่องรีบด่วน และในกรณีนั้น เกิดมีข้อโต้แย้งกันหรือการถกเถียงเพื่อยุติข้อขัดแย้งดำเนินไปในสภาคณะมนตรีเรื่องราวความเป็นไปนั้น จะต้องถูกรายงานไปให้ข้าฯ ทราบทันทีในที่ทุกสถาน และในกาลทุกเมื่อ

ข้าฯ ได้ออกคำสั่งไว้ดังนี้ เพราะว่าข้าฯ ยังไม่มีความอิ่มใจเลย ในความแข็งขันปฏิบัติหน้าที่หรือในการพิจารณาดำเนินกิจการประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งมวล นี่คือสิ่งที่ข้าฯ ถือเป็นหน้าที่อันจะต้องทำ อนึ่งเล่าความขยันขันแข็ง และความฉับไวในการปฏิบัติราชการย่อมเป็นมูลรากแห่งการปฏิบัติหน้าที่เช่นนั้น แท้จริงกิจการอื่นใด ที่ยิ่งไปกว่าประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกย่อมไม่มี และกิจการใดก็ตามที่ข้าฯ ลงมือทำนั่นก็ย่อมเป็นเพราะเหตุผลที่ว่าข้าฯ จักได้ปลดเปลื้องหนี้ของข้าฯที่มีต่อสัตว์ทั้งหลาย เพื่อว่าข้าฯ จักได้ช่วยทำให้สัตว์บางเหล่า ได้รับความสุขในโลกบัดนี้ และสัตว์เหล่านั้น จักได้สวรรค์ในโลกเบื้องหน้าเพื่อประโยชน์นี้ จึงโปรดให้จารึกธรรมโองการนี้ขึ้นไว ขอจารึกธรรมนี้จงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน และขอบุตรและภรรยาของข้าฯ จงลงมือทำงานเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก ก็งานนี้หากปราศจากความพยายามอย่างยิ่งยวดเสียแล้ว ย่อมเป็นสิ่งยากแท้ที่จะกระทำให้สำเร็จได้

จารึกศิลา ฉบับที่ 7

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงมีพระทัยปรารถนาทั่วไปในที่ทุกหนทุกแห่งว่า ขอศาสนิกชนแห่งลัทธิศาสนาทั้งหลายทั้งปวงจงอยู่ร่วมกันเถิด เพราะว่าศาสนิกทั้งปวงนั้น

ล้วนปรารถนาความสำรวมตน และความบริสุทธิ์แห่งชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น กระนั้นก็ตาม ธรรมดามนุษย์ย่อมมีความพอใจและความปรารถนาสูงต่ำแตกต่างกันไป ศาสนิกชนเหล่านั้น จึงจักปฏิบัติตามลัทธิความเชื่อถือของตนๆ ได้ ครบถ้วนบ้าง ได้เพียงส่วนเดียวบ้าง แต่กระนั้น ถึงแม้ว่าบุคคลผู้ใด (ในลัทธิศาสนาเหล่านั้น) จะมิได้กระทำการบริจาคทานอย่างมากมาย (บุคคลนั้น) ก็ยังมีความสำรวมตน ความทำใจให้บริสุทธิ์ ความกตัญญู และศรัทธาอันมั่งคงอยู่อย่างแน่แท้ หย่อนบ้าง ยิ่งบ้าง (หมายความว่า ถึงแม้ว่าคนบางคนจะไม่สามารถบริจาคทานได้มากถึงกระนั้น ทุกคนก็มีคุณธรรม เช่น การสำรวมตนเอง เป็นต้น อยู่โดยแน่นอนทั่วทุกนิกาย แม้จะยิ่งหน่อยกว่ากันบ้าง)

จารึกศิลา ฉบับที่ 8

ตลอดกาลยาวนานที่ล่วงลับไปแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งหลายได้เสด็จไปในวิหารยาตรา (การท่องเที่ยวหาความสำราญ) ในการวิหารยาตรานั้น ได้มีการล่าสัตว์ และการแสวงหาความสนุกสนานอื่นๆ ในทำนองเดียวกันนั้น

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพเมื่ออภิเษกแล้วได้ 10 พรรษา ได้เสด็จไปสู่สัมโพธิ (พุทธคยา-สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า) จากเหตุการณ์ครั้งนั้น จึงเกิดมีธรรมยาตรา (การท่องเที่ยวโดยทางธรรม) นี้ขึ้น ในการธรรมยาตรานั้น ย่อมมีกิจดังต่อไปนี้ คือ การเยี่ยมเยียนสมณพราหมณ์และการถวายทานแด่ท่านเหล่านั้น การเยี่ยมเยียนท่านผู้เฒ่าผู้สูงอายุ และการพระราชทานเงินทองเพื่อ (ช่วยเหลือ) ท่านเหล่านั้น การเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบทการสั่งสอนธรรม และซักถามปัญหาธรรมแก่กัน ความพึงพอใจอันเกิดจากการกระทำ เช่นนั้น ย่อมมีเป็นอันมาก นับเป็นโชคลาภของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี อีกอย่างหนึ่งทีเดียว

จารึกศิลา ฉบับที่ 9

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ว่า

ประชาชนทั้งหลาย ย่อมประกอบพิธีกรรมต่างๆ เป็นอันมาก ในคราวเจ็บป่วย ในคราวแต่งงานบุตร (อาวาหะ) ในคราวแต่งงานธิดา (วิวาหะ) ในคราวคลอดบุตร และในคราวออกเดินทางไกล ในโอกาสเหล่านั้นและโอกาสอื่นๆ ที่คล้ายกันนี้ ประชาชนทั้งหลายพากันประกอบพิธีมงคลต่างๆ

มากมายก็ในโอกาสเช่นนั้น แม่บ้านและมารดาทั้งหลาย ย่อมประกอบพิธีกรรมมากมายหลายอย่าง อันเป็นเรื่องหยุมหยิมไร้สาระและไม่ประกอบด้วยประโยชน์ อย่างไรก็ตาม อันพิธีกรรมย่อมเป็นสิ่งที่ควรประกอบโดยแท้ แต่ว่าพิธีมงคลอย่างนี้มีผลน้อย โดยนัยตรงกันข้ามยังมีพิธีกรรมที่เรียกว่า "ธรรมมงคล" ซึ่งเป็นพิธีกรรมมีผลมาก ในพิธีกรรมธรรมมงคลนั้นย่อมมีกิจต่อไปนี้ คือ

- การปฏิบัติชอบต่อคนรับใช้และคนงาน
- การแสดงความเคารพนับถือต่อครูอาจารย์
- การสำรวมต่อสัตว์ทั้งหลาย
- การถวายทานแก่สมณพราหมณ์


(มีต่อ 17)
 


แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:21 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 9:28 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การกระทำเหล่านี้ และการกระทำเหล่าอื่นๆ ที่คล้ายกันเช่นนี้นั่นแล ได้ชื่อว่า ธรรมมงคล ฉะนั้น บิดาก็ดี พี่น้องชายก็ดีนายหรือสามีก็ดี มิตรและผู้คุ้นเคยก็ดี ตลอดถึงเพื่อนบ้าน พึงกล่าวถ้อยคำ (แก่กัน) ดังนี้ ธรรมมงคลนี้ประเสริฐแท้ พิธีมงคลอย่างนี้เป็นสิ่งที่ควรประกอบจนกว่าจะสำเร็จผลที่ประสงค์ ข้อนี้เป็นอย่างไร (คือว่า) พิธีกรรมชนิดอื่นๆ นั้นยังเป็นสิ่งที่น่าเคลือบแคลงสงสัย (ในผลของมัน) มันอาจให้สำเร็จผลที่พึงประสงค์ หรืออาจไม่สำเร็จอย่างนั้นก็ได้ เพราะว่ามันเป็นเพียงสิ่งที่เป็นไปได้ในโลกนี้เท่านั้น ส่วนธรรมนี้เป็น "อกาลิกะ" (อำนวยผลไม่จำกัดกาลเวลา) แม้ถ้าว่ามันไม่อาจให้สำเร็จผลที่ประสงค์นั้นได้ในโลกบัดนี้ มันก็ย่อมก่อให้เกิดบุญอันหาที่สุดมิได้ในโลกเบื้องหน้า ถ้าแม้นว่ามันให้สำเร็จผลที่ประสงค์นั้นได้ในโลกนี้ไซร้ ในคราวนั้น ย่อมเป็นอันได้ผลกำไรทั้งสองประการกล่าวคือ ผลที่ประสงค์ในโลกบัดนี้ (ย่อมสำเร็จ) ด้วย และในโลกเบื้องหน้า บุญอันหาที่สุดมิได้ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยธรรมมงคลนั้นด้วย

อนึ่ง มีคำที่กล่าวไว้ว่า การให้ทานเป็นความดี ก็แต่ว่าทานหรือการอนุเคราะห์ที่เสมอด้วยธรรมทาน หรือธรรมานุเคราะห์ย่อมไม่มี ฉะนั้นจึงควรที่มิตร เพื่อนรัก ญาติ หรือสหาย จะพึงกล่าวแนะนำกันในโอกาสต่างๆ ว่า (ธรรมทานหรือธรรมานุเคราะห์) นี้เป็นกิจควรทำนี้เป็นสิ่งดีงามแท้ ด้วยธรรมทานหรือธรรมานุเคราะห์นี้ ย่อมสามารถทำให้สำเร็จได้ และจะมีอะไรอื่นอีกเล่าที่ควรกระทำให้สำเร็จ ยิ่งไปกว่าการลุถึงซึ่งสวรรค์

จารึกศิลา ฉบับที่ 10

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ไม่ทรงถือว่ายศหรือเกียรติ จะเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งประโยชน์อันยิ่งใหญ่ได้ เว้นแต่จะทรงปรารถนายศหรือเกียรติเพื่อความมุ่งหมายดังนี้ว่า ทั้งในบัดนี้และในเบื้องหน้าของประชาชนทั้งหลายจงตั้งใจสดับฟังคำสอนธรรมของข้าฯ และจงปฏิบัติตามหลักความประพฤติในทางธรรม เพื่อประโยชน์ในทางธรรม เพื่อประโยชน์อันนี้เท่านั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ จึงจะทรงปรารถนายศหรือเกียรติ

การกระทำใดๆ ก็ตาม ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงพากเพียรกระทำ การกระทำนั้นๆ ทั้งปวงย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขในชีวิตเบื้องหน้าโดยแท้ คืออย่างไร ? คือเพื่อว่าทุกๆ คนจะได้เป็นผู้มีทุกข์ภัยแต่น้อย อันทุกข์ภัย (ที่กล่าว) นั้น ก็คือความชั่วอันมิใช่บุญก็ภาวะเช่นนั้นย่อมเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากโดยแท้ไม่ว่าจะโดยคนชั้นต่ำก็ตามหรือคนชั้นสูงก็ตาม เว้นแต่จะกระทำด้วยความพยายามอย่างสูงสุดโดยยอมเสียสละสิ่งทั้งปวง แต่การเสียสละเช่นนี้เป็นสิ่งยากยิ่งนักที่คนชั้นสูงจะกระทำได้

จารึกศิลา ฉบับที่ 11

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้

ไม่มีทานใดเสมอด้วยการให้ธรรม (ธรรมทาน) การแจกจ่ายธรรม (ธรรมสังวิภาค) และความสัมพันธ์กันโดยธรรม (ธรรมสัมพันธ์) อาศัยธรรม (ธรรมทานเป็นต้น) นี้ ย่อมบังเกิดสิ่งต่อไปนี้คือ

- การปฏิบัติชอบต่อคนรับใช้และคนงาน
- การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเผื่อแผ่แก่มิตร คนคุ้นเคย ญาติ และแก่สมณพราหมณ์
- การไม่ฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ

บิดาก็ดี บุตรก็ดี พี่น้องชายก็ดี นาย (หรือสามี) ก็ดี มิตรและคนคุ้นเคยก็ดี ตลอดถึงเพื่อนบ้านพึงกล่าวคำนี้ (แก่กัน) ว่า "นี่เป็นสิ่งดีงามแท้ นี่เป็นกิจควรทำ" สำหรับบุคคลที่ควรปฏิบัติเช่นนี้ ความสุขอันเป็นไปในโลกนี้ย่อมสำเร็จด้วย และในโลกเบื้องหน้า บุญหาที่สุดมิได้ย่อมบังเกิดมี เพราะอาศัยธรรมทานนั้นด้วย

จารึกศิลา ฉบับที่ 12

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ย่อมทรงยกย่องนับถือศาสนิกชนแห่งลัทธิศาสนาทั้งปวง ทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ด้วยการพระราชทานสิ่งของ และการแสดงความยกย่องนับถืออย่างอื่นๆ แต่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ย่อมไม่ทรงพิจารณาเห็นทานหรือการบูชาอันใดที่จะเทียบได้กับสิ่งนี้เลยสิ่งนี้คืออะไร ? สิ่งนั้นก็คือการที่จะพึงมีความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมในลัทธิศาสนาทั้งปวง

ก็ความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมนี้ มีอยู่มากมายหลายประการแต่ส่วนที่เป็นรากฐานแห่งความเจริญงอกงามอันนั้นได้แก่สิ่งนี้คือ การสำรวจวาจา ระวังอย่างไร ? คือไม่พึงมีการยกย่องศาสนาลัทธิของตน และการตำหนิลัทธิศาสนาของผู้อื่น ในเมื่อมิใช่โอกาสอันควรหรือแม้เมื่อถึงโอกาสอันสมควรอย่างใดอย่างหนึ่ง (การยกย่องลัทธิศาสนาของตน และการตำหนิลัทธิศาสนาของผู้อื่น) นั้นก็พึงมีแต่เพียงเล็กน้อยเพราะลัทธิศาสนาทั้งหลายอื่นก็ย่อมเป็นสิ่งที่ควรแก่การเคารพบูชา ในแง่ใดแง่หนึ่ง บุคคลผู้กระทำ (การเคารพบูชาลัทธิศาสนาทั้งหลายอื่นด้วย) เช่นนี้ ชื่อว่าเป็นการส่งเสริมลัทธิศาสนาของตนให้เจริญขึ้นด้วยและทั้ง (ในเวลาเดียวกัน) ก็เป็นการเอื้อเฟื้อแก่ลัทธิศาสนาอื่นด้วยแต่เมื่อกระทำโดยวิธีตรงข้าม ย่อมชื่อว่าเป็นการทำลายลัทธิศาสนาของตนเองด้วย และทั้งเป็นการทำร้ายแก่ลัทธิของคนอื่นด้วย

อันบุคคลผู้ยกย่องลัทธิศาสนาของตน และกล่าวติเตียนลัทธิศาสนาของผู้อื่นนั้น ย่อมทำการทั้งปวงนั้นลงไปด้วยความภักดีต่อลัทธิศาสนาของตนนั่นเอง ข้อนั้นอย่างไร ? คือด้วยความตั้งใจว่า "เราจะแสดงความดีเด่นแห่งลัทธิศาสนาของเรา" แต่เมื่อเขากระทำลงไปดังนั้นก็กลับเป็น การทำอันตรายแก่ลัทธิศาสนาของตนหนักลงไปอีก


(มีต่อ 18)
 


แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:22 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 9:35 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ด้วยเหตุฉะนั้น การสังสรรค์ปองดองกันนั่นแลเป็นสิ่งดีงามแท้จะทำอย่างไร ? คือ จะต้องรับฟังและยินดีรับฟังธรรมของกันและกันจริงดังนั้น พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพทรงมีความปรารถนาว่า เหล่าศาสนิกชนในลัทธิศาสนาทั้งปวง พึงมีความรอบรู้ และเป็นผู้ยึดมั่นในกรรมดี ชนเหล่าใดก็ตาม ซึ่งมีศรัทธาเลื่อมใสในลัทธิศาสนาต่างๆ กันชนเหล่านั้นพึงกล่าว (ให้รู้กันทั่วไป) ว่าพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพไม่ทรงถือว่าทานหรือการบูชาอันใด จะทัดเทียมกับสิ่งนี้เลย สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนี้ได้แก่การที่จะพึงมีความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมในลัทธิศาสนาทั้งปวง และ (ความเจริญงอกงามนี้) พึงมีเป็นอันมากด้วย

เพื่อประโยชน์อันนี้ จึงได้ทรงแต่งตั้งไว้ซึ่งธรรมมหาอำมาตย์สตรีอัธยักษมหาอำมาตย์ (มหาอำมาตย์ผู้ดูแลสตรี) เจ้าหน้าที่วรชภูมิก (ผู้ดูแลท้องถิ่นเกษตรกรรม) พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่หมวดอื่นๆ และการกระทำเช่นนี้ ก็จะบังเกิดผลให้มีความเจริญงอกงามแห่งลัทธิศาสนาของตนๆ และความรุ่งเรืองแห่งธรรมด้วย

จารึกหลักที่ 13

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ 8 พรรษา ทรงมีชัยปราบแคว้นกลิงคะลงได้ จากแคว้นกลิงคะนั้นประชาชนจำนวนหนึ่งแสนห้าหมื่นคนได้ถูกจับเป็นจำเลยจำนวนประมาณหนึ่งแสนคนถูกฆ่า และอีกเท่าของจำนวนนั้นได้ล้มตายไปนับแต่กาลนั้นมาจนบัดนี้ อันเป็นเวลาที่แคว้นกลิงคะได้ถูกยึดครองแล้วทรงประพฤติปฏิบัติธรรม ความมีพระทัยใฝ่ธรรม ก็ได้เกิดมีขึ้นแล้วแก่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ

ก็แต่ข้อที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถือว่าเป็นกรรมอันร้ายแรงยิ่งกว่านั้นอีกก็คือ ทุกหนทุกแห่ง (ในแคว้นกลิงคะนั้น) ย่อมเป็นที่อยู่อาศัยของพรมหมณ์สมณะ ศาสนิกชนผู้นับถือลัทธิศาสนาอื่นๆ หรือเหล่าคฤหัสถชนทั้งหลายซึ่งมีการประพฤติปฏิบัติคุณธรรมเหล่านี้คือการเชื่อฟังท่านผู้ใหญ่ การเชื่อฟังมารดาบิดา การเชื่อฟังครูอาจารย์การปฏิบัติตนด้วยดีต่อมิตร คนคุ้นเคย สหายและญาติ ต่อทาสและคนรับใช้ และความซื่อสัตย์มั่นคงต่อหน้าที่ ณ ที่นั้นประชาชนเหล่านี้ต้องได้รับบาดเจ็บบ้าง ถูกประหัตประหารบ้าง บุคคลผู้เป็นที่รักต้องพลัดพรากไปเสียบ้าง

อนึ่ง บรรดาประชาชนผู้สร้างชีวิตเป็นหลักฐานได้มั่นคงแล้วยังมีความรักใคร่กันมิจืดจาง เสื่อมคลาย มิตร คนรู้จักมักคุ้น สหายและญาติของเขา ก็ต้องพากันมาถึงความพินาศลง แม้อันนี้ก็ต้องนับว่าเป็นการทำร้ายต่อประชาชนเหล่านั้นอย่างหนึ่งเหมือนกัน

การประสบเคราะห์กรรมของมวลมนุษย์ทั้งนั้น พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพทรงสำนึกว่า เป็นกรรมหนัก เว้นแว่นแคว้นของชาวโยนะเสียย่อมไม่มีถิ่นฐานแห่งใดที่ไม่มีกลุ่มชนประเภทพราหมณ์ และสมณะเหล่านี้อาศัยอยู่และย่อมไม่มีถิ่นฐานแห่งใด ที่ในหมู่มนุษย์ทั้งหลายไม่มีความเลื่อมใสนับถือในลัทธิศาสนาอันใดอันหนึ่ง

ด้วยเหตุฉะนั้น ในคราวยึดครองแคว้นกลิงคะนี้ จะมีประชาชนที่ถูกฆ่าล้มตายลง และถูกจับเป็นเชลยเป็นจำนวนเท่าใดก็ตามแม้เพียงหนึ่งในร้อยส่วน หรือหนึ่งในพันส่วน (ของจำนวนที่กล่าวนั้น) พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพย่อมทรงสำนึกว่าเป็นกรรมอันร้ายแรงและแม้หากจะพึงมีบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งกระทำผิด (ต่อพระองค์) บุคคลผู้นั้นก็พึงได้รับความอดทนหรืออภัยโทษจากพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพเท่าที่พระองค์จะทรงสามารถอดทน (หรืออภัยให้) ได้

สำหรับประชาชนป่าดง ที่มีอยู่ในแว่นแคว้นของพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ พระราชอำนาจของพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ พึงเป็นเรื่องนำมาซึ่งความอุ่นใจ พึงเป็นเครื่องนำให้เขาทั้งหลายมีความดำริ (ในทางที่เหมาะสม) และชักนำให้เขาทั้งหลายมีความรู้สึกสำนึกสลดใจ (ในการกระทำกรรมชั่ว) พึงแจ้งให้พวกเขาทราบดังนี้ "ท่านทั้งหลายพึงมีความละอาย (ต่อการกระทำความชั่ว) ถ้าไม่ต้องการที่จะประสบความพินาศ" เพราะว่าพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงปรารถนาให้สรรพสัตว์มีความปลอดภัย มีการบังคับใจตนเองได้ (สํยมะ) มีความประพฤติสมควร (สมจริยา) และมีความสุภาพอ่อนโยน (มัททวะบางฉบับเป็น รภสิเย มีความสุขความร่าเริง)

สำหรับพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ชัยชนะที่ทรงถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดได้แก่ "ธรรมวิชัย" (ชัยชนะโดยธรรม) และธรรมวิชัยนั้น พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ทรงกระทำสำเร็จแล้วทั้ง ณ ที่นี้ (ในพระราชอาณาเขตของพระองค์เอง) และในดินแดนข้างเคียงทั้งปวง ไกลออกไป 600 โยชน์

ในดินแดนอันเป็นที่ประทับแห่งกษัตริย์โยนะ (Ionian Greek) พระนามว่าอันติโยคะ (Antiochos) และดินแดนต่อจากพระเจ้าอันติโยคะนั้นไป (คือในทางตะวันตกเฉียงเหนือ) อันเป็นที่ประทับแห่งกษัตริย์ 4 พระองค์ พระนามว่า พระเจ้าตุรมายะ (หรือตุลมย-Ptolemy) พระเจ้าอันเตกินะ (Antigonos) พระเจ้ามคะ (Magas) และ พระเจ้าอลิกสุนทระ (Alexander) และถัดลงไป (ในทางทิศใต้) ถึงแว่นแคว้นของชาวโจละ (Cholas) แว่นแคว้นของชาวปาณฑยะ (Pandyas) ตลอดถึงประชาชนชาว (แม่น้ำ) ตามรปรรณี (Tamraparni) และในแว่นแคว้นภายในพระราชอำนาจของพระองค์ก็เช่นเดียวกัน คือแว่นแคว้นของชาวโยนะ (Ionians และ Greeks) และชาวกัมโพชะ (Kambojas) ชนชาวนาภปันติแห่งนาภคะชาวโภชะ และชนชาติปิตินิกชนชาวอันธระ (Andhra) และชนชาวปุลินทะ ทุกหนทุกแห่ง (ประชาชนเหล่านี้) พากันประพฤติปฏิบัติตามคำสอนธรรม ของพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ แม้ในถิ่นฐานที่ราชทูตของพระผู้เป็นที่รักของทวยเทพมิได้ไปถึง ประชาชนทั้งหลาย เมื่อได้ทราบถึงธรรมวัตร ธรรมวิธานและธรรมานุศาสน์ของพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพแล้ว ก็พากันประพฤติตามธรรม และจักประพฤติปฏิบัติตามธรรมนั้นต่อไป


(มีต่อ 19)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:23 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 9:40 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ด้วยเหตุเพียงนี้ ชัยชนะนี้เป็นอันได้กระทำสำเร็จแล้วในที่ทุกสถานเป็นชัยชนะอันมีปีติเป็นรส พรั่งพร้อมด้วยความเอิบอิ่มใจเป็นปิติที่ได้มาด้วยธรรมวิชัย แต่กระนั้นก็ตาม ปีตินี้ยังจัดว่าเป็นสิ่งที่เล็กน้อย พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ย่อมทรงพิจารณาเห็นว่าประโยชน์อันเป็นไปในโลกเบื้องหน้าเท่านั้นเป็นสิ่งที่มีผลมาก เพื่อประโยชน์อันเป็นไปในโลกเบื้องหน้าเท่านั้นเป็นสิ่งที่มีผลมาก เพื่อประโยชน์อันนี้ จึงโปรดให้จารึกธรรมโองการนี้ขึ้นไว้ด้วยมุ่งหมายว่าขอให้ลูกหลานของข้าฯ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใดก็ตาม จงอย่าได้คิดถึง (การแสวงหา) ชัยชนะเพิ่มขึ้นใหม่อีกเลย ถ้าหากว่าเขาแสวงหาชัยชนะมาเป็นของตนเพิ่มขึ้นใหม่แล้ว ก็ขอให้เขาพอใจในการให้อภัย และการใช้อาชญาแต่เพียงเล็กน้อย และขอให้เขายึดถือว่า ชัยชนะอันแท้จริงนั้นจะต้องเป็น "ธรรมวิชัย" เท่านั้น ด้วยธรรมวิชัยนั้น เป็นไปได้ทั้งโลกบัดนี้และโลกเบื้องหน้าของปวงความยินดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย จงเป็นความยินดีในความพากเพียรปฏิบัติธรรม เพราะว่าความยินดีนั้นย่อมอำนวยผลทั้งในโลกบัดนี้ และในโลกเบื้องหน้า

จารึกศิลา ฉบับที่ 14

ธรรมโองการนี้ พระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้โปรดให้จารึกขึ้นไว้ ให้มีขนาดย่นย่อพอได้ความบ้าง มีขนาดปานกลางบ้าง มีข้อความละเอียดพิศดารบ้าง เพราะเหตุว่า สิ่งทุกสิ่งจะเหมาะสมเหมือนกันไปในที่ทุกแห่งก็หาไม่ แว่นแคว้นของข้าฯ นี้กว้างใหญ่ไพศาล สิ่งที่จารึกไปแล้ว ก็มีเป็นอันมาก และข้าฯ ก็จักให้จารึกเพิ่มขึ้นเรื่อยไป

อนึ่ง ในการจารึกนี้มีข้อความบางอย่างที่กล่าวซ้ำซากทั้งนี้เนื่องจากมีอรรถะ อันไพเราะ อันจะเป็นเหตุช่วยให้ประชาชนประพฤติปฏิบัติตาม ในจารึกทั้งนี้ความบางอย่างที่เขียนขึ้นไว้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ (แต่ทั้งนี้ก็ได้กระทำไป) โดยพิจารณาถึงถิ่นที่จารึกบ้างพิจารณาถึงเหตุต่างๆ ที่จะทำให้ลบเลือนไปบ้างหรืออาจเกิดจากความผิดพลาดของผู้เขียนจารึกบ้าง

จารึกหลักศิลาเบ็ดเตล็ด

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้มีพระบรมราชโองการให้ประกาศแก่อำมาตย์ทั้งหลาย ณ พระนครปาฏลีบุตรและ ณ นครอื่นๆ ว่า

ข้าฯ ได้กระทำให้สงฆ์มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว บุคคลใดๆ และเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตามก็ไม่อาจทำลายได้ ก็แลหากบุคคลผู้ใด จะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม จักทำสงฆ์ให้แตกกันบุคคลผู้นั้นจักต้องถูกบังคับให้นุ่งห่มผ้าขาวและไปอาศัยอยู่ ณ สถานที่อื่น (นอกวัด) พึงแจ้งสาสน์พระบรมราชโองการนี้ให้ทราบทั่วกันทั้งในภิกษุสงฆ์และในภิกษุณีสงฆ์ด้วยประการฉะนี้

พระผู้เป็นที่รักด้วยทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้

ก็ประกาศพระบรมราชโองการเช่นนี้ ท่านทั้งหลายพึงนำไปติดไว้ ณ ทางสัญจรภายในเขตใกล้เคียงของท่านทั้งหลายฉบับหนึ่ง และจงเก็บรักษาประกาศพระบรมราชโองการอันเดียวกันนี้แลไว้ในเขตใกล้เคียงของอุบาสกทั้งหลายอีกฉบับหนึ่ง ทุกๆ วันอุโบสถ บรรดาอุบาสกเหล่านั้น พึงทำตนให้มีความรู้ความเข้าใจแนบแน่นในประกาศพระบรมราชโองการนี้ และทุกๆ วันอุโบสถ มหาอำมาตย์ทุกๆ คนพึงไปร่วมในการรักษาอุโบสถด้วยเป็นประจำเพื่อจักได้เกิดความคุ้นเคยแนบสนิท และรู้เข้าใจทั่วถึงซึ่งประกาศพระบรมราชโองการนั้นแล

ทั่วทุกหนทุกแห่งที่อำนาจบริหารราชการของท่านทั้งหลายแผ่ไปถึง ท่านทั้งหลายพึงขับไล่ (บุคคลผู้ทำลายสงฆ์) ออกไปเสีย และในทำนองเดียวกันนั้น ท่านทั้งหลายพึงขับไล่ (บุคคลที่ทำลายสงฆ์) ในเมืองด่าน และในท้องถิ่นทั้งหลายออกไปเสีย โดยให้เป็นตามข้อความในประกาศนี้

สรุปแถบท้าย

ผมได้นำคำแปลศิลาจารึกพระเจ้าอโศก โดยพระเดชพระคุณพระธรรมปิฎก สมัยยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระศรีวิสุทธิโมลี มาลงติดต่อกันตั้งแต่ต้นจนจบ บอกไว้ในตอนต้นแล้ว แต่ท่านผู้อ่านหลายท่านไม่ทราบ นึกว่าเป็นข้อเขียนของผม มิใช่ครับ ลอกท่านมาขอประกาศให้ทราบอีกที

ท่านศาสตราจารย์ดอกเตอร์อมร รักษาสัตว์ นักวิชาการผู้สนใจหลายศาสตร์หลายสาขามาก ในด้านพระพุทธศาสนาท่านก็มีความสนใจศึกษาและปฏิบัติจนซาบซึ้ง ท่านอ่านคอลัมน์ของผมแล้วบอกว่า น่าจะรวมพิมพ์เป็นเล่ม แล้วท่านจะเขียน introduction ให้ท่านว่าอย่างนั้น กราบขอบพระคุณครับ ที่เห็นข้อเขียนเล่นๆ อย่างนี้พอมีประโยชน์ ก่อนจะถึงขั้นนั้น ขอความกรุณาท่านอาจารย์ช่วยเขียนข้อสังเกต หรือความเห็นบางอย่างมาให้ก่อนได้ไหม จะได้นำลงในคอลัมน์นี้เพื่อประโยชน์ของผมโดยตรง

ผมจะได้ "อู้" ไปสักพักนะสิครับ ตอนนี้ยังไม่ค่อยมีแรงเขียนหนังสือ

ผมว่าบรรดาพระมหากษัตริย์ในอดีต พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นพระองค์หนึ่งที่เด่นมากเป็นแบบอย่างของพระมหากษัตริย์ในยุคต่อมา หลังพระเจ้าอโศกแล้วก็มีผู้พยายามเป็น ทุติยอโศก หรืออโศกหลายพระองค์ อาทิ กนิษกมหาราช กษัตริย์เผ่าง้วนสี (พ.ศ. 621-644) พระเจ้าหรรษาวรรธนะ (พ.ศ.1149-1191) พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1761) แห่งอาณาจักรขอมโบราณ ในเมืองไทยก็เช่น พ่อขุนรามคำแห่งมหาราช พระเจ้าลิไทแห่งสุโขทัย พระเจ้าพิลกหรือติโลกราชแห่งล้านนา พระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา


(มีต่อ 20)
 


แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:24 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง