Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา (สมเด็จพระญาณสังวรฯ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 25 ม.ค. 2006, 2:00 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก



บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระพุทธศาสนาแปลว่าศาสนาของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระพุทธเจ้า การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า และผลที่ได้จากการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เหล่านี้ รวมเข้าในคำว่าศาสนาของพระพุทธเจ้า หรือพุทธศาสนาทั้งหมด และพระพุทธศาสนาดังกล่าวนี้ที่เป็นคำสอน เมื่อกล่าวอย่างสรุปคือโดยย่อ ก็เป็นคำสอนที่สอนให้ ละบาปอกุศลคือความชั่วทั้งหมด ให้ประกอบกุศลคือความดีทั้งหมด และให้ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส นี้เป็นพุทธศาสนาที่เป็นคำสอน ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ให้ปฏิบัติโดยย่อ

และการปฏิบัตินั้นก็เป็นการปฏิบัติตามคำสอนนี้ แม้การปฏิบัติก็เป็นพุทธศาสนา ผลที่ได้จากคำสอนนี้ก็เป็นพุทธศาสนา และคำสอนดั่งกล่าวมานี้ การปฏิบัติดังกล่าวมานี้ พร้อมทั้งผลของการปฏิบัติ เมื่อแสดงอีกชื่อหนึ่ง ก็ได้แก่ศีลสมาธิปัญญา


๏ ไตรสิกขา

ศีล นั้นคือความประพฤติปรกติเรียบร้อยดีงาม ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ตามพระวินัยซึ่งเป็นพระบัญญัติของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ศีลจึงต้องมีวินัย และเมื่อปฏิบัติตามวินัยก็ชื่อว่าศีล สมาธิ นั้นได้แก่ความที่ทำจิตให้สงบตั้งมั่น อยู่ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความสงบทั้งหลาย หรือเป็นที่ตั้งของกุศลธรรม คือธรรมะที่ดีที่ชอบทั้งหลาย สมาธินี้เป็นความสำคัญ เพราะว่าจิตใจนี้ถ้าไม่มีสมาธิ ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้ และไม่สามารถจะเกิด ปัญญา ได้ ต่อเมื่อจิตมีสมาธิจึงจะทำให้เกิดการปฏิบัติทางกายวาจาใจได้ และทำให้เกิดปัญญาได้

เพราะสมาธินี้เมื่อกล่าวอย่างย่อที่สุด ก็คือความตั้งใจ จะทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ก็ต้องมีความตั้งใจ คือตั้งใจที่จะทำ ตั้งใจที่จะพูด ตั้งใจที่จะคิด จึงเกิดการทำการพูดการคิดขึ้นได้ และจะรู้อะไรที่เป็นปัญญาก็ต้องมีความตั้งใจ คือตั้งใจที่จะรู้ ดังเช่นการมาฟังธรรมะซึ่งเป็นการอบรมกรรมฐาน ผู้ฟังก็ต้องตั้งใจฟัง คือตั้งใจฟังคำพูดที่พูดออกมานี้ จึงจะสามารถได้ยินคำพูดนี้ทุกคำ และเมื่อได้ยินคำพูดทุกคำ จึงจะมีความเข้าใจในเรื่องที่พูด ความเข้าในเรื่องที่พูดนี้แหละเป็นตัวปัญญาอย่างหนึ่ง ถ้าหากว่าขาดสมาธิในการฟัง คือไม่มีความตั้งใจฟัง ไม่มีการรวมใจเพื่อจะฟัง ก็ไม่สามารถจะได้ยินคำพูดนี้ทุกคำได้ และจะไม่เข้าใจ จึงไม่ได้ปัญญาในการฟัง เพราะฉะนั้น สมาธินี้จึงสำคัญมาก คือความตั้งใจ ทุกคนย่อมมีสมาธิคือความตั้งใจที่เป็นพื้นฐานอยู่ด้วยกันทุกคน น้อยหรือมาก


๏ เหตุที่ต้องฝึกจิตให้เกิดสมาธิ

แต่ว่าโดยปรกติแล้วจิตใจนี้มักจะดิ้นรนกวัดแกว่ง กระสับกระส่ายไปในอารมณ์ทั้งหลาย ปรากฏเป็นความชอบบ้างหรือเป็นความรักบ้าง เป็นความชังหรือความเกลียดชังบ้าง ถ้าไม่เช่นนั้นจิตนี้ก็มักจะง่วงเหงาหาวนอน ซึมเซาไม่โปร่งไม่แจ่มใส หรือถ้าไม่เช่นนั้นจิตนี้ก็มักเคลือบแคลงสงสัยโน่นสงสัยนี่ ไม่ได้ความตั้งใจที่แน่นอน เหล่านี้เรียกว่าเป็นนิวรณ์ คือเป็นเครื่องกั้นจิตไว้ไม่ให้สามารถได้สมาธิ ไม่ให้สามารถได้ปัญญา

จิตที่มีความตั้งใจอยู่ด้วยกัน อันเป็นพื้นฐานอยู่ด้วยกันทุกคนนี้ จึ่งไม่เป็นความตั้งใจมั่น คือไม่ตั้งอยู่มั่นคง ตั้งอยู่ได้ประเดี๋ยวประด๋าว แล้วก็ฟุ้งซ่านกวัดแกว่ง หรือว่าง่วงเหงาหาวนอน หรือว่าเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ ฉะนั้น คนเราจึงได้ทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ผิดๆ พลาดๆ และจึงไม่ได้ปัญญาที่เป็นตัวความรู้จริงในสิ่งทั้งหลาย แม้ว่าที่สมควรจะรู้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องฝึกจิตใจนี้ให้ได้สมาธิให้มากขึ้น ด้วยการปฏิบัติในกรรมฐาน ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ ดังเช่นที่ได้ตรัสสอนให้ตั้งสติคือความนึกความระลึกได้ พร้อมทั้งความรู้ตัว อยู่ในที่ตั้งของสติ ๔ ประการ คือ กาย เวทนา จิต และ ธรรม ดังที่ได้มีการสวด และมีการอธิบายมาโดยลำดับ


๏ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

กายก็คือกายอันนี้ ซึ่งประกอบด้วยส่วนทั้งหลาย ของร่างกายนี้เป็นอันมาก เป็นต้นว่าลมหายใจเข้าลมหายใจออก การหายใจเข้าการหายใจออก ซึ่งเป็นตัวชีวิตของทุกๆ คน เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสสอนให้กำหนดที่ลมหายใจเข้าออก

คือตั้งสติความระลึกรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก หายใจเข้าก็ให้รู้ว่าเราหายใจเข้า หายใจออกก็ให้รู้ว่าหายใจออก และพระอาจารย์ก็ได้สอนไว้ง่ายๆ ให้กำหนดคำว่าพุทโธ เช่นหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ให้จิตรวมอยู่ที่ลมหายใจเข้าพุท ลมหายใจออกโธ ไม่ให้ไปข้างไหน ถ้าเผลอสติใจออกไป ก็นำกลับเข้ามาตั้งมั่นไว้ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกใหม่ ดั่งนี้ ก็เป็นข้อหนึ่งหรือวิธีหนึ่ง สำหรับฝึกจิตให้เป็นสมาธิ


๏ ปัญญา ๓

และเมื่อตั้งใจฝึกไปดั่งนี้ จะทำให้จิตรวมดีขึ้นมั่นคงขึ้น ก็นำจิตที่ตั้งมั่นดีขึ้นนี้ไปทำงาน งานที่ทำนั้นก็มีต่างๆ สุดแต่ใครจะทำงานอะไร ก็ใช้จิตที่ตั้งมั่นดีนี้ทำงานอันนั้น แม้ว่าต้องการจะเรียนรู้อะไร ก็ใช้จิตที่ตั้งมั่นดีนี้ในการเรียนรู้ เช่นในการอ่านหนังสือ ในการฟัง ในการฝึกหัดปฏิบัติต่างๆ ให้จิตรวมอยู่ ตั้งมั่นอยู่ในการเรียน ในการฝึกหัดปฏิบัตินั้นๆ ก็จะช่วยทำให้ความจำก็ดีขึ้น จะทำให้ความรู้ความเข้าใจก็เร็วขึ้น ง่ายขึ้น จึงเป็นเครื่องเจริญปัญญา

และยิ่งขึ้นไปกว่านี้ก็เป็นตัวปัญญาที่พระพุทธเจ้าประสงค์ คือให้รู้จักการกระทำทางกายทางวาจาทางใจของตน อันหมายรวมทั้งการพูดด้วย และการคิดนึกต่างๆ ด้วย ให้มีปัญญาที่จะตรวจสอบอยู่เสมอ ว่าผิดชอบชั่วดีอย่างไร ให้คุณให้โทษอย่างไร ถ้าเป็นการพูดการทำการคิดที่ไม่ดี ก็ให้รู้จักว่าไม่ดีอย่างไร และที่ดีก็ให้รู้จักว่าดีอย่างไร เรียกว่าให้รู้จักเหตุรู้จักผลนั้นเอง นี้เป็นหน้าที่ของปัญญาคือความรู้จักเหตุรู้จักผล

และความรู้จักเหตุรู้จักผลนี้ ก็เป็นเหตุผลตามสามัญสำนึกนี่แหละ เป็นเหตุเป็นผลตามที่ศึกษาเล่าเรียนมา ได้ยินได้ฟังมานี่แหละ

เป็นเหตุผลที่ได้ประสบพบผ่านมาจากการกระทำของตน จากการพูดของตน จากการคิดของตนนี่แหละ ให้รู้จักว่าอันนี้ดีคือดีอย่างนี้ๆ อันนั้นไม่ดีคือไม่ดีอย่างนั้นๆ แม้ว่าจะรู้ไปตามศรัทธาคือความเชื่อตามศาสนาที่นับถือก่อนก็ได้ จะเป็นความรู้ไปตามที่ศึกษาเล่าเรียนมาจากศิลปวิทยาการนั้นๆ ก็ได้ หรือว่าจะเป็นความรู้ที่เกิดจากการที่ตนได้สังเกตุสังกามาด้วยตนเองก็ได้

ก็รวมความเข้าแล้วก็เป็น ๓ คือเป็นปัญญาคือความรู้ที่ได้จากการสดับฟังการอ่านต่างๆ อย่างหนึ่ง เป็นความรู้ที่ได้จากความคิดนึกพิจารณาไตร่ตรองอย่างหนึ่ง เป็นความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติอบรมต่างๆ ประการหนึ่ง ก็พิจารณากำหนดให้รู้จัก เหตุผล ของสิ่งที่ได้สดับตรับฟังมา หรือสิ่งที่ได้อ่าน ให้รู้จักความคิดของตัวเอง ความคิดอ่านของตัวเองว่าเป็นอย่างไร ให้รู้จักการฝึกหัดปฏิบัติอบรมของตัวเองว่าเป็นอย่างไร


๏ ตัวปัญญาที่แท้จริง

แล้วจะได้ตัวปัญญาที่เป็นความรู้นี้ ที่มีลักษณะเป็นความรู้ในด้านเจริญ เป็นความรู้ในด้านเสื่อม เป็นความรู้ในด้านที่จะปฏิบัตินำตนให้พ้นจากด้านเสื่อมไปสู่ด้านเจริญ ดั่งนี้แหละจึงเป็นตัวปัญญา คือรู้จักทางเสื่อม รู้จักทางเจริญ รู้จักปฏิบัติตนให้พ้นจากทางเสื่อมไปสู่ทางเจริญ อย่างแท้จริง จึงรวมลงที่สัจจะคือตัวความจริง ให้รู้ความจริงในด้านเสื่อมด้านเจริญ และในด้านที่จะปฏิบัติอย่างไร จึงจะพาตนให้พ้นเสื่อมไปสู่เจริญได้ นี้เป็นตัวปัญญาที่แท้จริง


๏ ข้อว่าปัญญาเกิดจากสมาธิ

ซึ่งปัญญาที่กล่าวมานี้ทั้งหมดนั้น ย่อมได้จากสมาธินี่เอง คือความที่มีจิตตั้งมั่น คือมีความตั้งใจมั่นที่เป็นสมาธินี้ แล้วทุกคนจะได้ปัญญาขึ้นมาโดยลำดับ ที่เกิดจากการอ่าน การสดับตรับฟังบ้าง เกิดจากการคิดค้นพินิจพิจารณาบ้าง เกิดจากการปฏิบัติฝึกอบรมบ้าง ปรากฏเป็นตัวความรู้ฉลาด รู้จักเสื่อม รู้จักเจริญ รู้จักการปฏิบัติที่จะให้พ้นเสื่อมไปสู่ความเจริญต่างๆ

ปัญญาดังกล่าวนี้ย่อมใช้ได้ทั้งในทางคดีโลก และในทางคดีธรรม สามารถที่จะนำตนให้ดำรงอยู่ด้วยดีในโลก ให้เจริญในธรรมะปฏิบัติของพระพุทธเจ้าได้เต็มที่ สำหรับในทางคดีธรรมที่เป็นทางธรรมะปฏิบัติในพุทธศาสนานั้น ต้องการที่จะให้ละชั่วคืออกุศลธรรมทั้งหลาย ต้องการที่จะให้ทำดีคือประกอบกุศลธรรมทั้งหลาย ตั้งใจที่จะให้ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส อันนี้แหละเป็นบทสรุปที่สุด

ฉะนั้น เมื่อได้ปฏิบัติมาตามหลักดังกล่าวนี้ คือปฏิบัติมาในหลักศีล คือทำตนให้เป็นผู้ที่มีศีล มีความประพฤติดี มีวินัย และฝึกตนให้มีสมาธิให้มีความตั้งใจมั่นดี คือมีความตั้งใจที่เป็นพื้นนั่นแหละแต่ให้มั่นคง และให้มีปัญญาดั่งที่กล่าวมา ก็ชื่อว่าได้ปฏิบัติในพุทธศาสนา จะรู้จักพุทธศาสนา หรือไม่รู้จักก็ตาม จะนับถือพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ หรือไม่นับถือพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ก็ตาม เมื่อตนปฏิบัติให้ถูกต้องดั่งนี้ ตามหลักของศีล หลักของสมาธิ หลักของปัญญา ดังกล่าวมานี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติละชั่ว ปฏิบัติทำดี และปฏิบัติชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส อันเป็นพุทธศาสนา ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติพุทธศาสนาโดยแท้จริง

เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนานี้จึงกล่าวได้ว่าเป็นศาสนาสากล พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนแก่ชาวโลกทั้งสิ้น ไม่จำกัดว่าชายหญิง เด็กผู้ใหญ่ ชาตินั้นชาตินี้ หรือศาสนานั้นศาสนานี้ ทุกคนสามารถที่จะปฏิบัติให้ได้รับผลดีด้วยกันทั้งนั้น ต่อไปนี้ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป



.......................................................

คัดลอกมาจาก
เทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
(กัณฑ์ที่ให้ความเข้าใจในการปฏิบัติเริ่มต้นที่ดีเยี่ยม)
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
http://www.mahayana.in.th/tsavok/tsavok.html
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง