Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 โพชฌงค์ ๗ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 16 พ.ย.2005, 12:42 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

โพชฌงค์ ๗

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก



บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ซึ่งประกอบด้วยธรรมะ ๗ หมวด และได้แสดงมาแล้วโดยลำดับคือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ จึงมาถึงหมวดโพชฌงค์ ๗ และหมวดโพชฌงค์ ๗ นี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรวมไว้ ในหมวดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในมหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ ในหมวดธรรมานุปัสสนานี้ ทรงแสดงเริ่มด้วยนิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ และจึงแสดงโพชฌงค์ ๗

โพชฌงค์ ๗ นี้ทรงแสดงในหมวดธรรมานุปัสสนาดังกล่าว และก็ทรงแสดงในหมวดโพธิปักขิยธรรมนี้ด้วย ต่อจากพละ ๕ ในหมวดโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการอันประกอบด้วยธรรมะ ๗ หมวดเหล่านี้

สติปัฏฐาน ๔ ซึ่งทรงแสดงไว้เป็นหมวดแรก เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นหลักยืนในเบื้องต้น และในการปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ก็ต้องอาศัย สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ และเมื่อสติปัฏฐานได้อาศัยธรรมะเหล่านี้ สติซึ่งเป็นสติปัฏฐานนั้น ก็เลื่อนขึ้นเป็นโพชฌงค์ ๗


๏ ข้อปฏิบัติข้อแรกในกายานุปัสสนา

หากว่าจะแสดงแต่ชื่อของหมวดธรรม โดยไม่จำแนกออกไปโดยละเอียดทุกข้อ ก็กล่าวได้ว่าในการปฏิบัติตั้งสติกำหนดพิจารณา กาย เวทนา จิต และธรรมะในจิต ก็เป็นการปฏิบัติอาศัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้รู้ผู้เห็น และทรงแสดงแนะนำไว้ จับเริ่มตั้งแต่อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก อันเป็นข้อแรกในหมวดกายานุปัสสนา

ผู้ปฏิบัติเมื่อไม่ประสงค์จะจดจำหัวข้อธรรมะไว้ให้มาก เมื่อได้ฟังข้อที่ทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติในการกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็น้อมเข้ามากำหนดดูลมหายใจเข้าออกที่ตนเอง เพราะทุกคนต้องหายใจเข้าต้องหายใจออกอยู่โดยปรกติ แต่มิได้ตั้งสติกำหนดให้รู้ เพื่อให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ และเพื่อให้เกิดญาณปัญญา ความหยั่งรู้ซึ่งเป็นตัวปัญญา หรือปัญญาที่เป็นตัวความหยั่งรู้

ในการทำสติ และการทำญาณปัญญาดังกล่าว เมื่อปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอนก็ไม่ยาก คือไม่ปล่อยจิตให้ฟุ้งซ่านไปในที่อื่น ให้กำหนดเข้ามาดู กำหนดที่ลมหายใจของตนเอง ซึ่งเมื่อกำหนดก็ย่อมจะรู้ว่าเราหายใจเข้าออกอยู่ เราหายใจเข้าอยู่ เราหายใจออกอยู่ ย่อมจะรู้ที่ตนเอง และเมื่อกำหนดให้จิตตั้งรู้อยู่ดั่งนี้ ก็ย่อมจะรู้ว่าเมื่อหายใจเข้านั้น ลมก็มาสัมผัสกระทบที่ริมฝีปากเบื้องบน หรือที่ปลายกระพุ้งจมูก เข้าไป ร่างกายก็ปรากฏว่าอุทรคือท้องพองขึ้น

ก็ทำความกำหนดเหมือนอย่างว่า ลมหายใจผ่านจากปลายจมูกเข้าไปสู่อุทรที่พองขึ้น และเมื่อออก อุทรคือท้องก็ยุบลงแล้วก็ผ่านออกมาถึงปลายจมูก ก็มากระทบปลายจมูก เป็นวิธีกำหนดที่พระอาจารย์ได้สอนไว้ โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงทางกายวิภาควิทยา ที่ว่าหายใจเข้าไปสู่ปอดและออกจากปอด เพราะว่าไม่สามารถจะกำหนดให้รู้ได้ สามารถจะกำหนดให้รู้ได้ที่ผัสสะคือการกระทบ คือจุดที่ปลายจมูกและที่อุทรที่พองหรือยุบ

และเมื่อทำความกำหนดดั่งนี้ ก็เพื่อให้เป็นที่ตั้งของสมาธิเท่านั้น และก็สมมติเพิ่มเอาว่าผ่านอุระคือทรวงอกอันเป็นจุดกลาง อันจุดกลางนี้จะถือว่าเป็นปอดก็ได้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องไปนึกถึง ให้กำหนดอยู่ที่อาการที่ลมมากระทบ และที่มีอาการของร่างกายของอุทร คือท้องที่พองขึ้นหรือยุบลง ตั้งสติกำหนดลมหายใจที่เข้า สมมติว่าเป็น ๓ จุดดังกล่าว เมื่อเข้าก็เข้าที่จมูกแล้วไปสุดที่อุทร เมื่อออกก็ออกจากอุทรแล้วมาสุดที่ปลายจมูก ก็สมมติเอาเพียงเท่านั้นสำหรับเป็นที่ตั้งของสมาธิ ให้จิตรวมดั่งนี้


๏ นิมิตของสมาธิ

และเมื่อรวมจิตได้ดั่งนี้แล้ว เวทนาก็จะปรากฏเป็นปีติเป็นสุข แต่ก่อนที่จะมีเป็นปีติเป็นสุข ทุกขเวทนาอาจจะปรากฏก่อนเมื่อเริ่มทำ คืออาการที่จิตใจเหมือนดังถูกบังคับให้มากำหนด เหมือนอย่างถูกบีบคั้นให้มากำหนด อันทำให้รู้สึกว่าไม่เป็นสุข เป็นทุกข์ เมื่อเพียรล่วงทุกข์อันนี้ได้แล้ว คือหมายความว่าไม่ยอมเลิก แต่ว่าคงเหมือนอย่างบังคับจิตฝืนจิตให้ทำต่อไป จนจิตเชื่องเข้า จิตรวมเข้า จะปรากฏนิมิตของสมาธิเช่นว่าแสงสว่าง และเมื่อเริ่มได้สมาธิ ก็จะเริ่มได้ปีติได้สุขในสมาธิ อันนำให้จิตที่ไม่ชอบนั้นกลับชอบขึ้นมา ก็ตั้งอยู่ได้


๏ ความเพียร

เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติดั่งนี้ ก็ต้องอาศัยปธานะคือความเพียร ที่ตั้งขึ้นไว้เบื้องหน้า ไม่ยอมที่จะสละความเพียร ต้องอาศัยอิทธิบาทพยุงความเพียร ต้องอาศัยอินทรีย์คือความเป็นใหญ่ คือให้จิตที่มุ่งทำความเพียรนี้เป็นใหญ่กว่าความเกียจคร้านเป็นต้น โดยที่มีศรัทธาคือความเชื่อตั้งมั่น ว่าการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เป็นสิ่งที่ทำได้และให้ผลดีจริง และก็ต้องมีพลังคือกำลังใจในการปฏิบัติ เป็นอันว่าต้องมีสัมมัปปธาน ต้องมีอิทธิบาท ต้องมีอินทรีย์ มีพละในการปฏิบัติ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็รวมอยู่ที่จิตหรือใจนี้เอง คือใจต้องตั้งความเพียรไว้เบื้องหน้าให้มั่นคง ใจต้องมีอิทธิบาทคือต้องพอใจในการปฏิบัติเป็นต้น ใจต้องเป็นใหญ่เหนือกิเลส ใจต้องมีพละคือกำลังในอันที่จะต่อสู้กับกิเลส และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วอานาปานสติก็จะสำเร็จเป็นสติปัฏฐานขึ้นมา

และเมื่อตั้งปฏิบัติเพียงข้อนี้เพียงข้อเดียว ก็จะรู้เวทนา รู้จิตของตน รู้ธรรมะในจิตของตน ไปพร้อมกัน เพราะกายเวทนาจิตธรรมนี้รวมกันอยู่เป็นก้อนเดียวกัน เหมือนอย่างเก้าอี้หนึ่งตัวมีขาสี่ขา ทั้งสี่ขานี้ก็รวมเป็นเก้าอี้ตัวเดียวกัน กายเวทนาจิตธรรมนี้ก็เนื่องเป็นอันเดียวกัน เป็นสติที่กำหนดรู้ เป็นญาณปัญญาที่หยั่งรู้ ลมหายใจเข้าออกก็จะปรากฏแก่ความรู้ที่เป็นตัวสติและปัญญานี้ เวทนาจิตธรรมที่รวมอยู่ก็จะปรากฏขึ้น

อันอาจที่จะรู้ได้พร้อมกันว่า นี่กาย นี่เวทนา นี่จิต นี่ธรรม หรือว่านี่ลมหายใจ นี่เวทนาเป็นสุข นี่จิต และนี่ธรรมะคือเรื่องในจิต ก็ได้แก่ลมหายใจนั้นเองที่เป็นเรื่องในจิต และสติกับญาณปัญญานั้นก็เป็นเรื่องในจิตไปพร้อมกัน


๏ โพชฌงค์

เพราะฉะนั้น จึงมาถึงสติสัมโพชฌงค์ ซึ่งคำว่าโพชฌงค์นั้น แปลว่าธรรมะที่เป็นไปเพื่อความรู้ หรือธรรมะที่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ เป็นพระพุทธาธิบายที่เมื่อภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลถามว่า ที่เรียกว่าโพชฌงค์นั้นคืออะไร ก็ตรัสตอบว่าคือธรรมะที่เป็นไปเพื่อความรู้ หรือตรัสรู้ เรียกว่าโพชฌงค์ เพราะฉะนั้นสติที่เป็นโพชฌงค์นี้ ก็เป็นสติที่กำหนดรู้กายเวทนาจิตธรรม รวมเข้าเป็นก้อนเดียวกัน และเป็นความกำหนดรู้ที่รู้อยู่ในภายใน ภายในจิต ความกำหนดรู้ ที่กำหนดรู้อยู่ภายในจิตนี้ ก็คือเป็นตัวธรรมารมณ์ อารมณ์คือธรรมะเรื่องราว ไม่ใช่รูป

ลมหายใจเข้าออกที่เป็นธรรมารมณ์อยู่ในจิตใจนี้ จึงไม่ใช่ลมหายใจเข้าออกที่เป็นรูป คือที่มากระทบปลายจมูก หรือที่ทำให้ร่างกายแสดงอาการหายใจ เช่นท้องพองท้องยุบ เป็นลมหายใจที่กำหนดรู้อยู่ในจิต เป็นตัวธรรมารมณ์อยู่ในจิต ซึ่งมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านไปสู่ที่อื่น

สติที่กำหนดรู้นี้ เมื่อเป็นตัวรู้ที่เป็นสติกำหนดอยู่ภายในจิต ทุกอย่างเป็นธรรมารมณ์อยู่ในจิต เป็นตัวรู้ในกายคือลมหายใจเข้าออกเอง ในเวทนาเอง ในตัวจิตเอง และธรรมะคือเรื่องของจิตเอง กายเวทนาจิตธรรมที่เป็นอารมณ์เมื่อเริ่มปฏิบัตินั้นเป็นสิ่งที่ถูกรู้ สติและญาณปัญญานั้นเป็นตัวรู้ เป็นตัวรู้อยู่ในภายใน

เมื่อเป็นตัวรู้ที่รวมเข้ามาทั้งหมดดั่งนี้ ก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ดังกล่าว เป็นตัวสติที่ประกอบด้วยปัญญา คือญาณปัญญา รู้รวบยอดเข้ามาทั้งหมดเป็นอันเดียวกัน เหมือนอย่างคนที่ยืนมองเก้าอี้ที่มีสี่ขา เห็นพร้อมกันทั้ง ๔ ขา

และเก้าอี้ที่เป็นสี่ขานั้นก็เป็นสิ่งที่ถูกตามอง ตาซึ่งเป็นผู้มอง ก็มองเห็นทั้ง ๔ ขา ซึ่งทีแรกนั้นก็แยกมองทีละขาทีละขา แล้วก็มารวมเห็นทั้งสี่ขาคราวเดียวกันทั้งหมด เป็นสติสัมโพชฌงค์

และเมื่อสติรวมเข้ามารู้ดั่งนี้ สิ่งที่ผ่านเข้ามาแทรกแซง อันทำให้สติหวั่นไหว ไม่อาจจะกำหนดรู้รวมอยู่ได้ ก็พึงบังเกิดขึ้นได้ เพราะว่าในจิตนี้มีกิเลสที่เป็นอาสวะอนุสัยนอนจมหมักดองอยู่ อันเป็นอย่างละเอียด ที่เปรียบเหมือนเป็นตะกอนก้นตุ่ม เทียบกับอนุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในจิต แล้วเปรียบเหมือนสิ่งที่ระคนอยู่ในจิตอย่างละเอียด เหมือนอย่างเครื่องทำให้เมา ที่ระคนอยู่ในน้ำเมา ดูน้ำเมาก็เป็นน้ำใสๆ แต่ว่ามีเครื่องทำให้เมาระคนอยู่ หรือเปรียบเหมือนว่าน้ำที่เป็นสีแดงสีเขียว ก็มีตัวสีที่แดงหรือเขียวปนอยู่ แม้น้ำจะใส น้ำก็ยังเป็นสีแดงสีเขียวนั่นเอง หรือว่าแม้น้ำจะใส เหมือนอย่างน้ำขาวๆ หรือน้ำที่บริสุทธิ์ แต่ก็เป็นน้ำเมาอยู่นั่นเองเมื่อมีความเมาปนอยู่ สิ่งที่ปนอยู่อย่างละเอียดดั่งนี้คือตัวอาสวะที่แปลว่าดองจิต

และยังมีอายตนะคือตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ ที่รับอารมณ์ต่างๆ อารมณ์คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราวทั้งหลาย และเมื่ออายตนะที่เป็นภายในมาประจวบกับอายตนะที่เป็นภายนอก ก็มาทำจิตให้ตกจากสติที่ตั้งไว้นั้นได้ ทำให้ฟุ้งซ่านออกไปได้ ทำให้เกิดความยินดีความยินร้ายได้

เพราะฉะนั้นเมื่อมีสติกำหนดดูให้รู้จัก ความที่เป็นสติที่รวมเข้ามาได้ กับความที่สติต้องสลายตัว ให้รู้จักอาการที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบันของตัวเอง ดั่งนี้ต้องอาศัยสัมโพชฌงค์ข้อที่ ๒ คือธัมวิจยสัมโพชฌงค์ อันเนื่องมาจากสติเสนอ อาการต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นในจิตอันประกอบด้วยสติ สติก็ย่อมกำหนดรู้ได้ เมื่อรู้ได้ก็เสนอปัญญาในจิตนี้เองพิจารณา

เลือกเฟ้นธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิตนี้เอง เมื่อกล่าวโดยสรุป ก็คือให้รู้จักว่านี่กุศล นี่อกุศล นี่มีโทษ นี่ไม่มีโทษ นี่ละเอียด นี่หยาบ นี่มีส่วนเปรียบด้วยดำและขาว วิจัยและเลือกเฟ้นจิตของตนเองให้รู้จัก ก็ต้องอาศัยสติเสนอสิ่งที่บังเกิดขึ้นในจิตเพื่อวิจัยด้วย และสติก็ระลึกได้ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนไว้ในวิธีที่จะวิจัย ทั้งในด้านกุศล ทั้งในด้านอกุศล เป็นต้น

คือในด้านที่เป็นกุศล ไม่มีโทษ ละเอียด และเทียบกับธรรมะที่ขาวนั้น คือที่ความที่ได้อาศัยปธานะคือความเพียร อิทธิบาท อินทรีย์ พละ ตั้งสติกำหนดไว้ในกายเวทนาจิตธรรม ดั่งที่ตั้งเอาข้อลมหายใจเข้าออกเป็นต้น ต้องๆ อาศัยธรรมะเหล่านี้มาประคับประคอง และก็ได้ปฏิบัติธรรมะเหล่านี้มาประคับประคองเป็นตัวสติที่ตั้งมั่นกำหนด กายเวทนาจิตธรรมรวมกันอยู่เป็นก้อนเดียวกัน เหมือนอย่างมองดูเก้าอี้สี่ขา เห็นทั้งสี่ขาพร้อมกัน

และในบางคราวก็มีอารมณ์อื่นมาดึง ให้หันไปมองทางโน้นทางนี้ ทิ้งสติที่มองเก้าอี้สี่ขาในบางคราว ก็ต้องกำหนดให้รู้จักว่า เมื่อมีสติอาศัยปธานะเป็นต้น กำหนดดูตามเห็นกายเวทนาจิตธรรมเป็นไปอยู่ เมื่อมีสติกำหนดดูอยู่ได้ดั่งนี้ก็เป็นกุศล ไม่มีโทษ ประณีต และเหมือนอย่างธรรมขาว แต่เมื่อถูกอาสวะอนุสัย ที่อาศัยอารมณ์มากระทบกับอายตนะ คือทวารทั้ง ๖ ทำให้ใจกระเพื่อม จิตไม่อยู่นิ่ง ก็หลุกหลิกไปในรูปบ้างเสียงบ้างเป็นต้น ที่เข้ามากระทบนั้น ก็ทิ้งเก้าอี้สี่ขานั้น สติก็กำหนดให้วิจัยว่านั่นเป็นอกุศล มีโทษ หยาบ และเทียบกับธรรมะที่ดำ


๏ สัญโญชน์

และอะไรที่มาทำให้เกิดธรรมะที่เป็นอกุศลมีโทษ ก็ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ในหมวดอายตนะ ว่าอาศัยตากับรูป ก็เกิดสัญโญชน์คือความผูก ก็ใช้ปัญญาวิจัยว่าความผูกนี้เอง เป็นตัวเหตุซึ่งมากระทบจิต ทำจิตให้วอกแวกไม่สงบ ความผูกที่เป็นตัวสัญโญชน์ในเมื่อตาเห็นอะไร หูได้ยินอะไรเสียงอะไรเป็นต้น และความผูกนี้ ก็คือผูกเอาสิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยินเป็นต้นนั้นมาเป็นอารมณ์อยู่ในใจ เมื่อเป็นดั่งนี้อารมณ์ของสมาธิ คือสติปัฏฐานนั้นก็สลายตัวไป อารมณ์รูปอารมณ์เสียงก็มาแทน

และสัญโญชน์คือตัวความผูกนี้ไม่ใช่มีความหมายว่าผูกไว้เฉยๆ ท่านจึงมีอธิบายไว้ด้วยว่าได้แก่ ฉันทราคะ คือความพอ ความติด ด้วยอำนาจความพอใจ คือความยินดี ความรัก ความชอบ ถ้าอารมณ์คือรูปที่ผูกไว้นั้นเป็นที่ตั้งของราคะความติดใจยินดี แต่ถ้าอารมณ์ที่ผูกนั้นเป็นที่ตั้งของความยินร้ายไม่ชอบ ก็ให้เกิดความกระทบกระทั่ง ความโกรธแค้นขัดเคืองความพยาบาท ซึ่งเป็นความยินร้าย และถ้าอารมณ์ที่จิตผูกนั้นเป็นกลางๆ ไม่พอจะให้ยินดี ไม่พอจะให้ยินร้าย ก็เป็นที่ตั้งของความหลง คือไม่สนใจที่จะมากำหนดดูแต่ว่าสยบติดอยู่ จึงไม่รู้จักโทษ


๏ นิวรณ์

เพราะฉะนั้นเมื่อความผูก มาเป็นผูกใจยินดี ผูกใจยินร้าย ผูกใจให้หลงติด สัญโญชน์คือตัวความผูกดั่งนี้ก็ปรากฏเป็นนิวรณ์ขึ้นมา ก็คือนิวรณ์ทั้ง ๕ นั้นเอง เป็นกามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกาม คือสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย หรือด้วยอำนาจกาม พยาบาท เป็นอันว่านิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ก็มาทำลายสติในสติปัฏฐาน อารมณ์ของนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้มาตั้งอยู่แทน ก็บังเกิดเป็นความฟุ้งซ่านไม่สงบ ทำให้จิตนี้ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย เพราะฉะนั้นก็ต้องมีวิจัย คือให้รู้จักว่าอันนี้แหละเป็นตัวอันตรายของสติ

ผู้ปฏิบัติจะต้องทำสติสกัดกั้นความผูกใจ ในเวลาที่เห็นอะไรได้ยินอะไรเป็นต้น เพราะถ้าหากว่าสกัดกั้นความผูกใจไม่ได้ก็เกิดนิวรณ์ ก็ต้องปฏิบัติเพื่อระงับนิวรณ์ ก็อาศัยกรรมฐาน ก็รวมอยู่ในหมวดกายเวทนาจิตธรรมนี้เองมาปฏิบัติเพื่อระงับนิวรณ์ ที่เคยเห็นเก้าอี้ทั้งสี่ขาก็เป็นอันว่า ต้องมาดูเป็นขาๆ ไปอีก เพื่อระงับนิวรณ์ ขาไหนจะระงับนิวรณ์ข้อไหน ก็ใช้ขานั้น และเมื่อระงับนิวรณ์ได้ ก็หมายความว่าระงับความผูกได้ จึงจะมาเห็นเก้าอี้รวมกันทั้งสี่ขาใหม่ และจิตที่ตุกติกดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายก็จะกลับสงบ รวมอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ความที่วิจัยธรรมะให้รู้จักธรรมะในจิตของตัวเองดั่งนี้ จึงเป็นโพชฌงค์ข้อที่ ๒ และการที่เมื่อวิจัยรู้แล้วก็ต้องปฏิบัติ อาศัยวิริยะคือความเพียรเป็นโพชฌงค์ข้อที่ ๓ คือเพียรละธรรมะที่เป็นอกุศล ที่เป็นโทษ ที่หยาบ หรือที่เปรียบเหมือนอย่างธรรมะที่ดำนั้น เป็นปหานะ ละ ภาวนาคืออบรมธรรมะที่เป็นกุศล ที่ไม่มีโทษ ที่ประณีต และที่เปรียบเหมือนอย่างสีขาว คือสติและญาณปัญญาที่กำลังปฏิบัติอยู่นั้นเอง ให้มาครอบครองจิต ให้เป็นใหญ่อยู่ในจิต ให้เป็นพละเป็นกำลังอยู่ในจิต


๏ สุขเป็นที่ตั้งของสมาธิ

เมื่อปฏิบัติดั่งนี้จิตก็จะเริ่มได้สมาธิ มีวิตกคือความตรึกได้แก่นำจิตให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิได้ มีวิจารตรองก็คือว่าประคองจิตไว้ในอารมณ์ของสมาธิได้ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็เริ่มได้ปีติได้สุขในสมาธิ และก็จะปรากฏนิมิตของสมาธิบางอย่าง เช่นแสงสว่างเป็นต้น และจะได้ปีติได้สุขนี้ ซึ่งทำให้จิตนี้ติดได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องกำหนดรู้ ต้องมีสติ มีธรรมวิจัย มีวิริยะ ควบคู่กันไปทิ้งไม่ได้

แต่ว่า เมื่อไม่ให้ปีติสุขมาเป็นอุปกิเลสของสมาธิของปัญญา ก็จะได้ปัสสัทธิอาศัยปีติสุขนั้นเอง คือความสงบกายสงบจิตเป็นสุข สุขนี้เองก็เป็นที่ตั้งของสมาธิ จะทำให้สมาธิมั่นคงขึ้น และทำให้ได้อุเบกขาคือความที่เข้าไปเพ่งเฉยอยู่ในภายใน ไม่ตุกติกออกไปในภายนอก สงบอยู่ในภายใน ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ซึ่งเป็นโพชฌงค์ ๗ ที่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป



.......................................................

คัดลอกมาจาก
เทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
http://www.mahayana.in.th/tsavok/tsavok.html
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
I am
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 16 พ.ย.2005, 1:24 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

โมทนาด้วยครับ สาธุ...
 
สายลม
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 16 พ.ย.2005, 6:00 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน





สาธุด้วยครับ



 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง