Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 นิวรณ์ข้ออุทธัจจะกุกกุจจะ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 07 ก.ย. 2005, 7:09 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

นิวรณ์ข้ออุทธัจจะกุกกุจจะ

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก



บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงนิวรณ์ ๕ พร้อมทั้งธรรมะที่เป็นอาหารของนิวรณ์ และธรรมะที่มิใช่อาหารของนิวรณ์มาโดยลำดับ วันนี้ถึงข้ออุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ นิวรณ์ข้อนี้ตรงกันข้ามกับถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม คือไม่ง่วงแต่ว่าไม่สงบ ใจฟุ้งซ่าน และใจรำคาญ

อันความฟุ้งซ่านนั้น คืออาการที่ใจคิดพล่านไปในอารมณ์คือเรื่องต่างๆ ไม่สามารถจะทำให้สงบได้โดยง่าย โดยปรกติทุกๆ คนก็จะไม่ค่อยรู้สึกว่าใจนี้คิดพล่านไปเพียงไร ต่อเมื่ออ่านหนังสือ หรือว่าฟังสอน ฟังคำบรรยายธรรมเป็นต้น หรือในขณะที่กำลังสวดมนต์ จึงจะรู้ว่าใจนี้คิดพล่านไปมาก เช่นในขณะที่กำลังอ่านหนังสือ ตาก็อยู่ที่หนังสือ แต่ว่าใจไม่อยู่

คิดพล่านไปเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง ตาที่อยู่กับหนังสือนั้นก็เป็นตาที่ดับ เหมือนอย่างมองไม่เห็นหนังสือ ไม่รู้เรื่องในหนังสือที่กำลังอ่านนั้น

ในขณะที่กำลังฟังธรรมบรรยาย หรือฟังธรรมเทศนา หูก็ตั้งใจฟัง เสียงก็เข้ามากระทบกับโสตะประสาท คือประสาทหู แต่ว่าใจนั้นไม่ฟัง คิดพล่านไปในเรื่องต่างๆ โสตะประสาทคือประสาทหูก็เหมือนดับ ฟังไม่ได้ยิน ไม่รู้เรื่องในธรรมะที่ฟัง หรือในเรื่องที่กำลังฟังนั้น

แม้ในขณะที่กำลังสวดมนต์ ปากก็สวดมนต์ หรือว่าสวดมนต์อยู่ในใจ แต่ว่าใจก็ยังคิดพล่านไปในเรื่องต่างๆ ใจไม่ได้สวดมนต์ด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็เหมือนอย่างใจดับในเรื่องสวดมนต์ ไม่รู้ว่ากำลังสวดไปถึงไหน อย่างไร แต่ว่าสวดไปได้ก็เพราะความคล่องปาก หรือสวดในใจ ก็คล่องใจไปตามบทสวดเท่านั้น ดั่งนี้ จะเห็นว่าใจนี้คิดพล่านมาก สงบยาก อาการที่ใจคิดพล่านดั่งนี้เป็นอุทธัจจะความฟุ้งซ่าน มีอาการคิดพล่านไปในเรื่องต่างๆ และเมื่อจับพิจารณาดูแล้ว ก็จะจับได้ว่าในชั่วแว๊บเดียวก็คิดพล่านไปหลายเรื่องหลายราว ใจจึงวิ่งไปเร็วมาก ในอารมณ์คือเรื่องนั้นๆ

กุกกุจจะความรำคาญใจ มีลักษณะที่จิตใจเบื่อหน่ายระอา ไม่เพลิดเพลินในกิจที่พึงทำ เช่น กำหนดนั่งทำสมาธิภาวนา คืออบรมสมาธิ ใจก็รำคาญ ไม่อยากจะนั่ง อยากจะเลิก นั่งชั่ว ๕ นาที ๑๐ นาที ก็ดูนานมาก ขาดความเพลิดเพลิน ขาดความพอใจ หรือจะเรียกว่าขาดปีติสุขในสมาธิภาวนา อันเป็นกิจที่พึงทำนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้น ความรำคาญใจนี้ คือกุกกุจจะ จึงมีปรกติที่ทำให้จับจด ทิ้งการปฏิบัติได้ง่าย ไม่ติดต่อ เพราะมีความรำคาญ ไม่พอใจ ไม่มีปีติสุขในสมาธิภาวนา แต่ว่าไปชอบใจในอารมณ์ต่างๆ ที่ใจคิดพล่านไปนั้น

เพราะฉะนั้น อุทธัจจะกุกกุจจะ ท่านจึงแสดงไว้เป็นคู่กัน และบางอาจารย์ท่านมีแสดงต่างกันอยู่ คืออุทธัจจะความคิดพล่านหรือความฟุ้งซ่านจัดเข้าในโมหะ คือกิเลสกองหลง แต่ว่ากุกกุจจะความรำคาญใจจัดเข้าในกิเลสกองโทสะ แต่ว่าบางอาจารย์ท่านก็จัดทั้งอุทธัจจะความฟุ้งซ่าน กุกกุจจะความรำคาญใจ เข้าในกองโมหะด้วยกัน

เพราะฉะนั้น นิวรณ์ข้อนี้จึงครอบงำจิตอยู่เป็นอันมาก ทำให้ไม่สามารถทำจิตให้เป็นสมาธิได้ง่าย เพียงแต่คุมใจในขณะที่สวดมนต์ ในขณะที่ฟังเทศน์หรือฟังธรรมบรรยาย หรือในขณะที่อ่านหนังสือ ไม่ให้คิดพล่านไป ก็เป็นการทำยากแล้ว เมื่อมานั่งทำสมาธิ ก็ยิ่งเป็นการรวมใจได้ยาก ใจไม่ยอมรวม คอยคิดพล่านไป ทั้งมีความรำคาญไม่เพลิดเพลินไม่พอใจ ไม่เป็นสุขใจในการนั่งสมาธิ อันเป็นกิจที่พึงทำดังกล่าว

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเอาไว้ว่า ความไม่สงบแห่งใจ และการกระทำไว้ให้มากด้วยอโยนิโสมนสิการ คือการไม่กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย จับเหตุจับผล เป็นอาหารของความฟุ้งซ่านรำคาญใจข้อนี้ อันความไม่สงบแห่งใจนั้นก็คือ อาการที่ใจคิดพล่านไปนั้นเอง ไม่สงบ และเมื่อปล่อยใจให้ไม่สงบดั่งนั้น ไม่คิดสำรวมใจเข้ามา และปฏิบัติสำรวมใจเข้ามา ทั้งนี้ก็ประกอบด้วยการที่ไม่ทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือไม่คอยพิจารณาจับเหตุจับผล ปล่อยใจไปตามเรื่องโดยมาก ก็เป็นการไม่มีเครื่องหยุดยั้งความไม่สงบของใจ

อันการไม่พิจารณาจับเหตุจับผล อันเรียกว่าอโยนิโสมนสิการนั้น ก็คือไม่มาปฏิบัติจับพิจารณาจิตใจอันนี้ที่คิดพล่าน

เช่นไม่พิจารณาว่า ความคิดพล่านบังเกิดจากอะไร เช่นในขณะที่กำลังสวดมนต์ ต้องการให้ใจสวดไปด้วยพร้อมกับปาก หรือพร้อมกับใจที่สวด เมื่อตั้งใจให้ใจสวดไปด้วยดั่งนี้ ก็สามารถทำได้บ้าง แต่ว่าใจก็คิดพล่านออกไปได้ง่าย เช่นบางทีใจกำลังรวมอยู่ ได้ยินเสียงคนพูดกัน ใจก็ละการสวดมนต์ วิ่งไปที่เสียงคนพูดกันนั้น แล้วก็ไปเรื่องโน้นเรื่องนี้อะไรต่อๆ ไปอีก เริ่มมีสติก็นำใจมากลับตั้งไว้ใหม่ในบทสวด

ในตอนนี้ก็ให้หัดจับพิจารณาสอบสวนใจเอง ว่าใจนี้วิ่งออกไปแล่นออกไป คิดพล่านไป เพราะอะไรเป็นเหตุ เมื่อจับพิจารณาดั่งนี้ก็อาจจับเหตุได้ว่า เนื่องมาจากเสียงคนพูดกันดังที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้นก่อน และเมื่อออกไปที่เสียงนั้นแล้ว ใจก็พล่านไปที่ไหนอีก ก็อาจจับได้ว่าใจพล่านไปจากเสียง ก็ถึงเรื่องนั้น ถึงเรื่องโน้น ดั่งนี้เป็นต้น กว่าจะได้สตินำกลับเข้ามาใหม่ ก็หลายเรื่อง อาจจะสอบสวนได้ ก็จับใจนี้มาตั้งไว้ใหม่ ให้ใจสวดมนต์ไปใหม่ หรือตั้งไว้ในสมาธิที่กำลังปฏิบัติ ให้ใจปฏิบัติในสมาธิต่อไป หรือมาตั้งฟังเทศน์ หรือฟังธรรมบรรยายต่อไป

แต่ว่าใจนี้ก็แล่นพล่านออกไปอีก ได้สติก็กลับมาตั้งไว้ใหม่ ก็จับสอบสวนใหม่อีกว่า มีอะไรเป็นเหตุให้ใจพล่านออกไป ก็อาจจับได้ แล้วก็จับสอบสวนว่า จากเรื่องนั้นแล้วไปไหนอีก ไปไหนอีก ไปไหนอีก ก็อาจจับได้ จนถึงได้สติก็กลับมาตั้งไว้ใหม่

หัดคิดสอบสวนใจดั่งนี้ บางทีอาจจะต้องใช้เวลากว่า ๕ นาที ๑๐ นาที ใจจึงจะยอมสยบอยู่กับสวดมนต์ อยู่กับฟังเทศน์ อ่านหนังสือ หรืออยู่กับการทำสมาธิ แต่ว่าให้สังเกตว่า การจับสอบสวนดั่งนี้ แม้ว่าจะต้องสอบสวนกันหลายหน

แต่น่าสังเกตว่า เมื่อใจถูกสอบสวนคราวหนึ่ง หากว่าใจแล่นออกไปอีก ใจจะไม่คิดพล่านไปในเรื่องที่เคยถูกสอบสวนแล้ว จะคิดพล่านไปในเรื่องอื่นๆ นอกจากที่ถูกสอบสวน เพราะฉะนั้น เมื่อถูกสอบสวนหลายๆ ครั้งเข้า เรื่องที่ใจจะแล่นพล่านไปก็น้อยเข้าๆ จนถึงใจกลับมาตั้งสงบอยู่

ดั่งนี้ เป็นวิธีที่เรียกว่าทำไว้ในใจโดยแยบคายประการหนึ่ง ให้ปฏิบัติทำให้มาก ถ้าหากว่าไม่ทำให้มากซึ่งการพิจารณาโดยแยบคายดั่งนี้ ใจนี้ก็จะต้องคิดพล่านไปบ่อยๆ เป็นความไม่สงบของใจ เพราะฉะนั้น ความไม่สงบของใจดังกล่าว และความที่ไม่กระทำให้มากซึ่งการพิจารณาโดยแยบคาย หรือการกระทำให้มากด้วยการพิจารณาโดยไม่แยบคายดังที่กล่าวมา จึงเป็นอาหารของความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

และแม้ตัวความรำคาญใจเองก็เหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องจับพิจารณาว่า เมื่อสมควรจะปฏิบัติอย่างนี้ คือในขณะที่อ่านหนังสือก็ดี ฟังเทศน์ฟังธรรมก็ดี สวดมนต์ก็ดี ควรจะมีความพอใจ ควรจะมีความสุข ควรจะมีความตั้งใจ ไม่ควรที่จะรำคาญเบื่อหน่าย ซึ่งเป็นตัวความรำคาญใจหรือกุกกุจจะดังที่กล่าว พิจารณาส่งเสริมใจที่จะให้หมดความรำคาญ ด้วยมีความพอใจและมีความสุขอยู่ในการปฏิบัติกิจที่ควรปฏิบัติดังกล่าว

แต่หากว่าถ้าไม่พิจารณาดั่งนั้น ก็ชื่อว่าเป็นการกระทำไว้ให้มาก ด้วยการพิจารณาโดยไม่แยบคาย เพราะฉะนั้น จึงเป็นอาหารที่ส่งเสริมความรำคาญใจ ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วให้มากขึ้นไปอีก

เพราะฉะนั้น เป็นอันว่าความไม่สงบของใจ และการกระทำให้มากโดยไม่แยบคาย เป็นอาหารที่บำรุงเลี้ยง อุทธัจจะความฟุ้งซ่าน กุกกุจจะความรำคาญใจ ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วให้มากขึ้น

ส่วนธรรมะที่เป็น อนาหาร คือธรรมะที่ไม่เป็นอาหารของนิวรณ์คู่นี้ ก็ได้แก่ความสงบของใจ และการกระทำไว้ให้มากด้วยการพิจารณาโดยแยบคาย ความสงบของใจนั้น ก็ต้องอยู่ที่การมาปฏิบัติในกรรมฐานที่ทำให้ใจสงบ และอยู่ที่สร้างฉันทะคือความพอใจ ความสุขความเพียรในการปฏิบัติทำใจให้สงบ อาศัยการพิจารณาโดยแยบคาย จับเหตุจับผล ดังที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น

เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ชื่อว่าได้ปฏิบัติในธรรมที่ไม่เป็นอาหาร ของอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ อันทำให้ความฟุ้งซ่านรำคาญใจที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว ให้สงบลงไปได้ ต่อจากนี้ก็ให้ตั้งใจฟังสวด และทำความสงบสืบต่อไป



มีต่อ >>>>> อนาหารของอุทธัจจะกุกกุจจะ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 07 ก.ย. 2005, 10:54 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อนาหารของอุทธัจจะกุกกุจจะ

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงนิวรณ์ข้ออุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจสืบต่อไป นิวรณ์นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ อันเรียกว่ากิเลส ซึ่งมีประจำอยู่ในจิตใจของสามัญชนทั่วไป ซึ่งยังมีจิตใจตกอยู่ในกามาวจรภูมิ คือภูมิจิตที่ยังท่องเที่ยวไปในกาม จึงมีจิตที่ประกอบไปด้วยกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม พยาบาท ความกระทบกระทั่งหงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคือง จนถึงมุ่งร้าย ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม และอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ กับวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัย


๏ เหตุที่จิตเป็นสมาธิได้ยาก

ฉะนั้น เมื่อมาปฏิบัติในสมาธิจึงยากที่จะทำจิตให้เป็นสมาธิได้ เพราะจิตใจไม่ยอมที่จะตั้งอยู่ในกรรมฐาน อันเป็นที่ตั้งของสมาธิ

แต่จะออกไปท่องเที่ยวอยู่ในกาม เป็นกามฉันท์เป็นต้น ต่อเมื่อสามารถสงบรำงับนิวรณ์ได้ จิตจึงจะเป็นสมาธิได้ ฉะนั้น ในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ข้อธรรมานุปัสสนา ตั้งสติพิจารณาธรรม จึ่งได้แสดง นิวรณปัพพะ คือข้อนิวรณ์นี้ไว้เป็นข้อแรก เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติสงบรำงับนิวรณ์ทั้งหลาย

และก็ได้แสดงมาโดยลำดับถึงอาหารของนิวรณ์เหล่านี้ และอนาหารคือข้อปฏิบัติที่ไม่เป็นอาหาร หรือลักษณะอาการที่ไม่เป็นอาหารของนิวรณ์เหล่านี้ เพราะนิวรณ์เหล่านี้เมื่อได้สิ่งที่เป็นอาหาร นิวรณ์ที่ยังไม่เกิดก็จะเกิดขึ้น นิวรณ์ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะเจริญมากขึ้น แต่เมื่อมาได้ข้อปฏิบัติ หรือภาวะของจิตที่เป็นอนาหาร คือไม่ใช่อาหารของนิวรณ์เหล่านี้ นิวรณ์เหล่านี้ที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็จะสงบระงับลงไป

และโดยเฉพาะในข้ออุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ได้แสดงข้อที่เป็นอาหารมาแล้ว ก็คือความไม่สงบของใจ และการกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการ คือการกระทำโดยไม่แยบคาย ในการปฏิบัติเพื่อสงบรำงับ ส่วนอนาหารคือข้อที่ไม่เป็นอาหารของความฟุ้งซ่านรำคาญใจนั้น ก็ตรงกันข้าม ได้แก่ความสงบของใจ และการกระทำให้มากในโยนิโสมนสิการ คือการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ในการปฏิบัติละ ก็คือการใช้ปัญญาพิจารณา จับเหตุจับผล และปฏิบัติไปในเหตุที่ทำให้ความฟุ้งซ่านรำคาญใจนี้ดับ


๏ กสิณ ๑๐ เครื่องจูงใจให้สงบ

พระอาจารย์ได้แสดงกรรมฐานไว้ข้อหนึ่ง สำหรับปฏิบัติเพื่อละความฟุ้งซ่านรำคาญใจ คือกสิณที่แปลว่าวัตถุเป็นเครื่องจูงใจให้สงบ

โดยใช้สิ่งต่างๆ สำหรับกำหนดจิตใจให้เป็นหนึ่งอยู่ในสิ่งเหล่านั้น เป็นกสิณ ๑๐ ประการ อันได้แก่ดินที่เรียกว่าปฐวี น้ำที่เรียกว่าอาโป ไฟที่เรียกว่าเตโช ลมที่เรียกว่าวาโย ก็คือธาตุทั้ง ๔ นั้นเองในโลก ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือว่าที่จัดไว้สำหรับ ทั้ง ๔ นี้ เรียกว่า ภูตกสิณ

กับอีก ๔ ก็คือ สีขาว สีเหลือง สีแดง สีเขียว หรือสีขาบ อันเรียกว่า วรรณกสิณ กสิณเกี่ยวกับสีที่จัดเตรียมไว้สำหรับ และแสงสว่างเช่นแสงไฟ ที่ลอดเข้ามาตามช่องเป็นต้น อันเรียกว่า อาโลกกสิณ กับอากาศหรือแสงอากาศ อันหมายถึงว่าความสว่างของอากาศ อันเรียกว่า อากาสกสิณ รวมเป็นกสิณ ๑๐ ประการ

จะกำหนดข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น กสิณสีขาว ซึ่งมีการจัดเตรียมไว้สำหรับ คือใช้ไม้มาขดเป็นวงกลม ศูนย์ไส้ขนาด ๑๖ นิ้ว และเอาผ้าขาวมาขึง และตั้งไว้ให้ห่างจากตนประมาณสักสองศอกคืบ นั่งเพ่งดูผ้าขาวในวงกลม อันเรียกว่ากสิณสีขาวนี้ บริกรรมว่า โอทาตัง โอทาตัง หรือ สีขาวๆ


๏ บริกรรมสมาธิ

กิริยาที่ทำนี้เรียกว่าบริกรรม กสิณสีขาวที่ทำขึ้นเรียกว่าบริกรรมนิมิต คือนิมิตสำหรับบริกรรม และการที่นั่งลืมตาดูกำหนดให้ปรากฏในจิตใจ พร้อมกับกำหนดใจว่าสีขาวๆ ดังที่กล่าวนั้น เรียกว่าบริกรรมภาวนา และเมื่อนั่งเพ่งดูอยู่ดั่งนี้ ลืมตาดู กำหนดไว้ แล้วก็หลับตาลง เพื่อให้สีขาวมาปรากฏในจิตใจ จนหลับตามมองเห็น ก็เรียกว่าอุคหนิมิต คือนิมิตติดตา สมาธิในขณะที่ได้นิมิตติดตานี้ก็เป็นบริกรรมสมาธิ สมาธิในบริกรรม

และเมื่อได้อุคหนิมิต นิมิตติดตาแล้ว ก็หลับตาเห็นนิมิตที่ติดตานั้น ตั้งใจให้ใหญ่ขึ้น ก็ใหญ่ได้ ตั้งใจให้เล็กลง ก็เล็กลงได้ โดยมีส่วนสัดตามเป็นจริงของภาพอุคหนิมิตนั้น เหมือนอย่างภาพถ่ายของบุคคล ภาพเล็ก ทุกๆ อย่างก็เล็กลง เมื่อขยายภาพให้โตขึ้น ทุกๆ อย่างก็โตขึ้นตามส่วนสัดของร่างกาย ตามความเป็นจริง


๏ ขั้นที่จิตเริ่มเป็นสมาธิ

ดั่งนี้ เมื่อทำได้ก็เป็นปฏิภาคนิมิต คือนิมิตเทียบเคียง และการภาวนาก็เป็นอุปจารภาวนา คือเป็นภาวนาที่เริ่มได้สมาธิ เฉียดใกล้อัปปนาสมาธิ สมาธิแนบแน่น จึงเป็นอุปจารสมาธิ สมาธิที่ใกล้จะแนบแน่น และเมื่อปฏิบัติต่อขึ้นไปก็ย่อมจะได้อัปปนาสมาธิ เมื่อเข้าลักษณะขององค์ปฐมฌาน ก็จะได้ขั้นปฐมฌาน และจะได้ต่อขึ้นไปเป็นทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

กสิณดังที่กล่าวมานี้เป็นกรรมฐาน สำหรับสงบรำงับอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ แม้กสิณข้ออื่นจากนี้ ข้อใดข้อหนึ่งก็ใช้ได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น หากปฏิบัติทางสมาธิโดยใช้กรรมฐานข้ออื่น แต่ไม่สามารถจะสงบรำงับอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจได้ ก็ให้พักกรรมฐานนั้นไว้ มาใช้กสิณข้อใดข้อหนึ่ง เพ่งกสิณกำหนดใจให้รวมอยู่ที่กสิณ จนให้กสิณติดตาติดใจ ตั้งต้นเป็นบริกรรมภาวนาเรื่อยขึ้นมา จนได้อุคหนิมิต อันเริ่มแต่บริกรรมนิมิต แล้วมาอุคหนิมิต แล้วมาปฏิภาคนิมิต จนถึงยิ่งขึ้นไป ก็จะสามารถสงบรำงับอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจได้

การปฏิบัติดั่งนี้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติทำจิตให้สงบระงับ ทำใจให้สงบระงับ และทำให้มากในโยนิโสมนสิการ คือการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ในกสิณภาวนานี้ ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจสวด และทำความสงบสืบต่อไป



.......................................................

คัดลอกมาจาก
เทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
http://www.mahayana.in.th/tsavok/tsavok.html
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง