Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ปาฐกถาพิเศษโดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
Chantra
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ค.2005, 12:04 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



14521452.jpg




พุทธทาสที่ …. ข้าพเจ้ารู้จักในทางการเมือง





คำนำ



กระแสโลกาภิวัฒน์ มีผลทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในหลายด้าน ส่งผลให้สังคมและสถาบันทางสังคมอ่อนแอลงอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการขาดคุณภาพและคุณธรรมเป็นสำคัญ นับว่าเป็นอัตรายต่อความมั่นคงของชาติเป็นอย่างยิ่ง จึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธีและทันต่อเหตุการณ์

การแก้ไขวิธีหนึ่ง คือ การยึดเอาหลักธรรมเป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทุกยุคสมัย เพื่อหลอมรวมจิตวิญญาณของคนในชาติให้สมัครสมานสามัคคี ยึดผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะนักการเมืองและข้าราชการทุกระดับ ควรที่จะยึดหลักธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในการปฏิบัติหน้าที่

บทปาฐกถาและเสวนาของ ฯพณฯ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่นำมาเสนอต่อท่านทั้งหลายในที่นี้เป็นนิยามหนึ่งของการปลุกกระแสจิตของนักการเมืองและข้าราชการทุกระดับ เพื่อให้คิดและตระหนักตลอดจนได้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติตน ครอบครัว และนำไปสู่ชุมชน สังคม ประเทศชาติในที่สุด

กระทรวงมหาดไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลักธรรมที่ปรากฎในบทปาฐกถาและบทเสวนาดังกล่าวนี้ จะช่วยเสริมสร้างให้ผู้อ่านทั้งหลาย ได้ยึดมั่นและถือเอามาเป็นหลักปฏิบัติตนและปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ประเทศชาติ และราชบัลลังก์ให้มั่นคงสถาพรยิ่งยืนนานสืบไป

กระทรวงมหาดไทย

15 สิงหาคม 2546





สารบัญ

1. ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พุทธทาสที่ข้าพเจ้ารู้จักในทางการเมือง”

2. เสวนาโต๊ะกลม เรื่อง “พุทธทาส กับการเมืองที่แก้วิกฤติได้จริง



ปาฐกถาพิเศษเรื่อง พุทธทาสที่ …. ข้าพเจ้ารู้จักในทางการเมือง



นมัสการพระคุณเจ้า เรียนท่านวิทยากร ท่านผู้จัดงาน โดยเฉพาะท่านประธานมูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐท่านวิโรจน์ ศิริอัฐ ที่กรุณาให้เกียรติผมเป็นองค์ปาฐกถาในวันนี้

ผมขอกราบเรียนว่า ผมมีความเต็มใจและมีความตั้งใจที่จะมาร่วมงานนี้เพราะต้องการมีส่วนสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านพุทธทาสตามที่ท่านบอกว่าพุทธทาสจักไม่ตาย

นั่นคืออยากให้ปรัชญาที่ท่านพุทธทาสได้ค้นพบนั้นได้รับการเผยแพร่ ได้รับการปฏิบัติตลอดไป มุ่งไปสู่จุดหมายสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนาของเราคือ การดับทุกข์

ผมอยากให้คนไทยทุกคน ชาวพุทธทุกคนได้มีโอกาสเห็นพระพุทธเจ้าดังที่พระพุทธองค์ได้เคยตรัสกับพระวักกลิว่า “ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา” เพราะฉะนั้น การเห็นธรรมจึงถือเป็นหัวใจสำคัญมากของสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมใด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยทุกวันนี้ เป็นสังคมที่วิกฤติในหลายด้าน เรากำลังต้องการธรรมะที่ถูกต้อง ไม่ต้องการธรรมะที่เป็นลักษณะบิดเบือน หรือชักจูงไปในทางที่ผิด เราต้องการธรรมะที่ทำให้คนไทยสามารถดับทุกข์ได้ โดยคนไทยปราศจากซึ่งตัวกูของกู คือการปราศจากกิเลสนั่นเอง

ผมจะขอเริ่มตรงนี้ ถึงแม้ว่าท่านจะเคยฟังประวัติของท่านพุทธทาสมาบ้างแล้ว แต่ผมอยากกล่าวถึงท่านในสิ่งที่เป็นปรัชญาผมคิดว่าท่านเป็นปัญญาวิมุตติบุคคล คือบุคคลที่บรรลุธรรมด้วยปัญญาที่หลุดพ้นจากกิเลส

ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่ในป่า อยู่กับธรรมชาติ เฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ธรรมชาติและศึกษาพระไตรปิฎก ศึกษาธรรมะ ศึกษาศาสนาต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบ ซึ่งมีน้อยคนนักที่จะสามารถค้นคว้าศึกษาและเป็นนักคิดนักอ่านเช่นท่านได้

ชีวิตของท่านได้สะท้อนหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์และเป็นบทเรียนที่ดีของสังคมไทย

ท่านได้เปรียญ 3 ประโยค พอจะขึ้นเปรียญ 4 ท่านเข้าใจไปว่าท่านสอบตก เนื่องจากคณะกรรมการสมัยนั้นตีความภาษาบาลีไม่เหมือนกับท่าน ซึ่งท่านเองได้ไปค้นคว้าและพิสูจน์ให้เห็นว่าภาษาบาลีของท่านนั้นได้นำมาซึ่งความรู้ใหม่ๆ หลายอย่าง คือท่านมีความชัดเจน

สิ่งที่ได้บอกอะไรเราบางอย่างว่า การศึกษานอกระบบนั้น สามารถทำให้คนฉลาดและเก่งได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นการศึกษาในระบบเท่านั้น เพราะการศึกษาในระบบบางครั้งอาจผิดพลาดได้ อาจทำให้เด็กของเราเติบโตขึ้นมาในทางที่มีปัญหาต่อวิธีคิดและวิธีปฎิบัติมากพอสมควร เพราะฉะนั้นการศึกษานอกระบบบางครั้งก็เป็นประโยชน์มาก

มีตัวอย่างมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ แม้กระทั่งคนดังอย่าง บิลล์ เกทส์ เรียนหนังสือไม่ทันจบก็ออกไปทำงานของตัวเองจนกระทั่งบัดนี้กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก ด้วยวัยเพียง 40 ต้นๆ เท่านั้น

สิ่งที่ผมศรัทธาท่านพุทธทาสอีกประการหนึ่ง และอยากให้สังคมได้ทราบ คือ ท่านพุทธทาสเป็นนักคิดที่กล้าคิดนอกรอบที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Think out of box

ท่านพูดว่าถ้าจะศึกษาพระไตรปิฎก ต้องกล้าที่จะคิดนอกกรอบของพระไตรปิฎก คือต้องเองหลุดพ้นออกมาจากพระไตรปิฎกเสียก่อน นั่นคือ อย่างที่ผมกล่าวไปนั้น ท่านไปศึกษาจากธรรมะจากข้อเขียนหลากหลายที่รวมทั้งพระไตรปิฎกด้วย ผลสุดท้ายท่านได้ข้อสรุปหลายเรื่อง

ยกตัวอย่างวิธีคิดที่ท่านได้สอนสังคมไทยอย่างหนึ่ง คือ ในพระบาลีเรื่องของกาลามสูตร 10 ข้อ ท่านพุทธทาสไม่อยากให้เราไปเชื่อในสิ่งที่คนอื่นพูด ไปเชื่อเพราะว่าคนเราศรัทธาพูด โดยที่เราไม่กลับไปคิดค้นอีกทีว่าสิ่งที่พูดมานั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า ดังนั้นการที่เราไปเชื่ออะไรง่ายๆ ทำให้เราอาจจะไม่ได้ค้นพบความรู้ใหม่ๆ

มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง คนเขียนชื่อ ชาร์ลส์ แวนเดอร์แลน เขาเขียนหนังสือเรื่อง History of Knowledge หรือประวัติศาสตร์ของความรู้ จะพูดถึงเรื่องศาสนาต่างๆ ที่มาของศาสนาต่างๆ ซึ่งเป็นที่มาของความรู้

ตรงส่วนของพุทธศาสนาเขาบอกว่า พระพุทธศาสนานั้นเป็นความคิดทางจริยธรรมที่ยิ่งใหญ่ และยังมีพลวัตทางความคิดที่ทันสมัยอยู่ การอธิบายของศาสนาพุทธจึงมีความหมายในเชิงโครงสร้างที่แข็งแกร่งกว่าศาสนาอื่น ซึ่งตอนนี้กลับไปมีอิทธิพลในตะวันตก

ผมเชื่อว่างานของท่านพุทธทาสส่วนหนึ่ง มีส่วนผลักดันให้เกิดขึ้นเพราะท่านได้เขียนหนังสือหลายเรื่องที่เป็นภาษาอังกฤษ ได้สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติที่มาฟังธรรมกับท่านเป็นประจำ

ท่านเองไม่ได้เรียนหนังสือมาก แต่ท่านศึกษาด้วยตนเองจนกระทั่งภาษาอังกฤษของท่านอยู่ในขั้นที่สามารถจะเทศน์และสนทนาธรรมกับฝรั่งได้ เป็นสิ่งที่น่าทึ่งมาก

ปรัชญาโดดเด่นอีกประการของท่านคือ ความสามารถที่ยิ่งใหญ่ที่ท่านสามารถสืบทอดเจตนารมณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า การตรัสรู้ หรือความรู้ที่มีอยู่ทั่วไปนั้น เปรียบเสมือนใบไม้ทั้งป่าแต่หลักที่จะจำและนำเอาไปปฎิบัติในชีวิตนั้นเท่ากับใบไม้เพียงกำมือเดียว

นี่ละครับเป็นสิ่งที่ผมมองว่าวิเศษสุด เพราะยิ่งเรามาดูในหนังสือ History of Knowledge จะยิ่งรู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้เป็นผู้เขียนพระไตรปิฎกด้วยตนเอง

เพราะฉะนั้นการแปลธรรมมะต่างๆ ก็ออกไปในหลายรูปแบบแล้วแต่ใครจัดเจนหรือถนัดตรงไหนหรืออยากให้คนที่มาฟังเชื่ออย่างไร โดยมีวิธีการที่จะทำให้เขาเชื่อได้แบบไหน บ้างก็ทำถูกวิธี บ้างก็ทำอย่างไม่เหมาะสม

แต่ผลสุดท้ายคำที่พระพุทธเจ้าได้บอกไว้ว่าสิ่งที่จะเป็นความรู้ เป็นปรัชญาจริงๆ นั้น มีเพียงกำมือเดียวเท่านั้นเอง ตรงนี้ละครับคือหัวใจ

กำมือเดียวที่ท่านพุทธทาสท่านหยิบยกขึ้นมานั้นน่าสนใจมาก ท่านบอกว่าศาสนาพุทธมีหลักพื้นฐาน คือ การดับทุกข์และคามไม่ยึดมั่นถือมั่น เหล่านี้ คือจุดที่ต้องการให้คนหลุดพ้นจากกิเลสหลุดพ้นจากความเป็นตัวกูของกู เพราะว่าการหลุดพ้นได้แล้วนั้น จะทำให้จิตว่าง

จิตว่าง ที่ท่านพยายามเน้นคือว่างจากการเป็นตัวตน ว่างจากการปรุงแต่ง ว่างจากการรบกวนทางอารมณ์ อันนี้เป็นจุดที่เป็นหัวใจ

หากเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้แล้ว คนทุกคนจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ทุกข์ ขณะเดียวกันก็สามารถทำให้ตัวเองและผู้อยู่ร่วมด้วยมีความสุขได้ เป็นปรัชญาที่สั้นแต่มีความสำคัญ

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือท่านได้เปรียบเทียบธรรมะคือ ธรรมชาติ ให้คำจำกัดความของธรรมชาติใน 4 ลักษณะ ผมเชื่อว่าทุกท่านในที่นี้เป็นลูกศิษย์ของท่านพุทธทาส ผมมีเวลาเพียง 25 นาที คงไม่ขอพูดอะไรมากกว่านี้

ท่านพุทธทาสได้มองการเมืองว่า การเมืองคือ ธรรมะ ธรรมะคือการเมือง เพราะการเมืองเป็นหน้าที่ การเมืองคือ การจัดให้คนในสังคมหมู่มากได้อยู่กันอย่างสันติโดยไม่ต้องใช้อาญา

มันตรงกับทฤษฎี Social Contract theory หรือ ทฤษฎีสัญญาประชาคมที่นักปราชญ์รุ่นเก่าอย่าง มองเตสกิเออร์, รุสโซ, จอห์น ล็อค, โทมัส ฮอบบ์ ได้พูดไว้ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นเรื่องของการจัดการให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติไม่ให้มีการรังแกหรือเอาเปรียบซึ่งกันและกัน

ในเมื่อการเมืองเป็นหน้าที่ มันก็ตรงกับธรรมมะข้อที่สาม คือเรื่องของการทำหน้าที่ตามกฎธรรมชาตินั่นเอง เป็นสิ่งที่ฟังแล้วมีเหตุผลมาก

สิ่งที่ท่านมักเน้นโดยวกเข้าสู่การเมือง คือ ธรรมะเป็นความถูกต้องที่อยู่บนรากฐานของความไม่เห็นแก่ตัว ความไม่เห็นแก่ตัวเป็นรากฐานที่สำคัญของประชาธิปไตย

ถ้าผู้คนในระบอบประชาธิปไตยมีความเห็นแก่ตัว ท่านบอกว่าจะเป็นประชาธิปไตยในแบบที่เรียกว่าประชาธิปไตยตาย

คนเราถ้าขาดคุณธรรมแล้วสังคมจะยุ่งเหยิง การเมืองที่มีธรรมะ คือ การเมืองของสัตบุรุษ ท่านยังบอกว่าสภานั้นคือ ที่ชุมนุมของสัตบุรุษ หรือที่ชุมนุมของนักการเมืองที่มีธรรมะ

แต่ถ้าสภาใดมีการทะเลาะกันด่าทอกัน หรือทำลายล้างกันมัวแต่ปกป้องผลประโยชน์ของตนนั้น ไม่น่าจะเป็นการเมืองของสัตบุรุษ ที่นั้นจึงไม่น่าจะเรียกว่าสภา

เหมือนกับท่านพุทธทาสกำลังจะบอกกับนักการเมืองว่าเราควรจะพิจารณากันได้ดี เราเองต้องเข้าใจว่านักการเมืองในปัจจุบันของบ้านเรานั้นได้รับอิทธิพลมาจากการเมืองของอังกฤษ

การเมืองแบบอังกฤษคือมีการโต้แย้งกันในแบบของนักกฏหมายซึ่งอาจจะขัดแยังกับสิ่งที่ท่านต้องการเห็นว่า สภาคือที่รวมของสัตบุรุษ อย่างไรก็ตาม การเมืองต้องเก็บเอาตรงนี้ไปคิดว่า เมื่อไหร่การเมืองจะเป็นการเมืองของสัตบุรุษ

ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ว่า ตราบใดที่ยังมีนักโกงเมือง นักกินเมือง เราเรียกการเมืองนั้นเป็นการเมืองเนื้องอก เป็นการเมืองที่ไม่มีธรรมะ เป็นการเมืองที่โกงเมืองกินเมือง

ท่านพูดการเมืองในภาษาธรรมะเพื่อจะให้นักการเมืองทำในสิ่งเหล่านี้ คือ ทำการเมืองที่สร้างสรรค์ เลิกทำลายกัน ท่านต้องการเน้นไม่ให้มีการคอรัปชั่น

ท่านต้องการให้นักการเมือง หรือคนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองรู้จักคำว่า กตัญญู ซึ่งคำนี้กินความกว้างมากเหลือเกิน

ท่านบอกว่าศัตรูนั้นเรายังต้องกตัญญูต่อศัตรู เพราะถ้าไม่มีศัตรูก็ไม่มีสมรรถภาพ เพราะมีศัตรูเราจึงต้องปรับปรุงสมรรถภาพเพื่อให้สู้ศัตรูได้ ความกตัญญูของท่านนั้นจะเห็นว่าท่านใจกว้างมาก ท่านไปไกลถึงขนาดนั้น

เพราะฉะนั้นนับประสาอะไรกับนักการเมืองที่จะต้องกตัญญูต่อประชาชน ทำไมต้องกตัญญู ก็เพราะประชาชนให้ศรัทธาแก่นักการเมือง

เราต้องกตัญญูต่อศรัทธาของประชาชน ต้องกตัญญูต่อเงินเดือนที่ได้รับจากภาษีอากรของประชาชน ต้องกตัญญูต่อเงินเดือนที่ได้รับจากภาษีอากรของประชาชน ต้องกตัญญูกับการที่ประชาชนให้โอกาสเรามาแสดงผลงาน มาทำงานให้เป็นที่ประจักษ์ ต้องกตัญญูเพราะเราได้เกียรติยศ ที่สังคายอมรับเราในความเป็นนักการเมือง

เพราะฉะนั้นการกตัญญูตรงนี้ต้องมี นอกเหนือจากการกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด กตัญญูต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณมากล้นต่อแผ่นดิน อันเป็นความกตัญญูที่นักการเมืองจะเน้น

ท่านพุทธทาสได้พูดถึงลักษณะธรรมะ 2 ข้อ ที่ผมพยายามเข้าใจให้ตรงกับสิ่งที่เป็นปัญหาในทางการเมืองมาโดยตลอด คือท่านพูดถึงเรื่องของธรรมิกสังคมนิยม ท่านเอาคำ 2 คำ คือ สังคมนิยม กับธรรมิกมารวมกันไม่ใช่ลัทธิการเมือง

ท่านต้องการเห็นการเมืองที่นึกถึงประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้งมากกว่าประโยชน์ส่วนบุคคล การนึกถึงประโยชน์ของสังคมนั้นจะอยู่บนพื้นฐานของการมีธรรมะ

ผมอ่านหนังสือของท่านพุทธทาสมาตลอดได้ค้นพบว่า ท่านมีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก ท่านพูดเมื่อวัน 3 กรกฎาคม 2513 ที่สวนโมกข์ วันนี้ยังใช้ได้และเป็นจริงอยู่

ท่านบอกว่า อย่ามองประเทศไทยเป็นแค่ประเทศไทย แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของโลก โลกติดต่อกันง่ายยิ่งขึ้นทุกวัน ท่านพูดถึงเรื่องโลกาภิวัฒน์ตั้งแต่ปี 2513 แต่ไม่ได้บัญญัติศัพท์ว่าโลกาภิวัฒน์เท่านั้นเอง

วันนี้เราเพิ่งมาคิดกันได้ตอนที่ปี 2000 กำลังมาเราเพิ่งมาตกใจตื่นกัน แต่ท่านเตือนเรามาตั้งแต่ปี 2513 แล้ว

อันนี้คือวิสัยทัศน์ที่ไม่น่าเชื่อ สำหรับท่านที่แยกตัวออกไปอยู่ในป่าโมกข์ ศึกษาอยู่ตรงนั้น แต่กลับมองล่วงหน้า และเห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ด้วยวิสัยทัศน์ที่เกิดจากการอ่านและเป็นนักคิดของท่าน

ผมขอโยงเรื่องของตัวผมกับคำสอนของท่านพุทธทาสสักนิดหนึ่ง ซึ่งจะสะท้อนปรัชญาของท่านที่มีผลต่อสังคม ซึ่งได้เกิดขึ้นจริงและมีผลต่อตัวผมมาแล้ว

ถ้าใครเคยอ่านหนังสือของท่านเรื่อง Danger of I หรือเรื่องอันตรายซึ่งตัวกู เป็นหนังสือที่ท่านแปลเป็นภาษาอังกฤษ ท่านไม่ต้องการให้คนทุกคนมีชีวิตที่มันกัดเจ้าของของมัน ท่านใช้คำว่า “ชีวิตที่กัดเจ้าของ” เป็นคำพูดที่มีความหมายในตัวมาก

ท่านแยกความเจ็บป่วยของคนออกเป็น 3 อย่าง เดิมพระพุทธเจ้าท่านแยกไว้ 2 อย่าง คือ ทางกายกับทางจิต แต่ท่านพุทธทาสเห็นว่าทางจิตสมัยนี้ มีจิตแพทย์ด้วย ท่านกลัวปนกัน ท่านจึงเรียกว่าทางกาย ทางจิตและทางวิญญาณมีการป่วยทางวิญญาณ หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Spiritual disease

ผมยอมรับว่ามีอยู่ช่วงหนึ่ง ผมป่วยเป็นโรคทางวิญญาณ ช่วงนั้นผมเป็นรองนายกฯ ในสมัยที่คุณบรรหารเป็นนายกฯ

ผมป่วยทางวิญญาณต่อเนื่องมาเป็นปี จนผมพักจากการเมืองไปช่วงหนึ่ง ภรรยาผมนี่ละครับเป็นคนบอกว่าผมป่วย แต่ไม่รู้ป่วยด้วยโรคอะไร ป่วยตรงนั้นคือว่าผมมีคำว่า self

ท่านพุทธทาสได้พูดคำว่า self ภาษาลาตินเรียกว่า ego ภาษากรีกเรียกเซนทีกอน ที่แปลว่า center นั่นก็คือว่าคนที่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง คนที่มีความรู้สึกเป็นตัวกู ของกู คนที่มีการปรุงแต่งทางอารมณ์ จิตวุ่น นั่นคือภาวะของความป่วยของผมในช่วงนั้น

ภรรยาผมบอกว่าเธอป่วยแน่ เธอพูดคำว่า self ผมจึงเริ่มรู้สึกว่าผมป่วยจริง ผมจึงไปหาแพทย์ แพทย์ของผมชื่อ พระอิสระมุนี ซึ่งเป็นองค์หนึ่งที่เป็นลูกศิษย์ท่านพุทธทาส

ท่านอิสระมุนีใช้คำสอนของอาจารย์อย่างแม่นยำ ท่านได้เทศน์ให้ผมฟังโดยที่ผมไม่ได้นัดหมายกับท่านเลยว่า ผมไปหาท่านด้วยเรื่องอะไร อยู่ๆ ท่านก็เทศน์ให้ฟัง

ท่านพูดถึง ตถตา มันเป็นอย่างนั้นเอง ท่านพูดถึงเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ท่านพูดเรื่อง อิทัปปัจจยตา ท่านพูดถึง ตัวกูของกู การยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง

ผมสว่างเลยครับ ก่อนหน้านั้นผมยอมรับเลยว่า ความจำที่เคยแม่น กลับไม่แม่น ตรงกับที่ท่านพุทธทาสบอกว่า ถ้าเราวุ่น คือ จิตไม่ว่างๆ สมาธิไม่เกิด ปัญญาจะหายไป

ถ้าจิตว่าง สมาธิมี ปัญญาเข้ามาหา ปรากฎว่าหลังจากนั้นผมคลายลงอย่างง่ายๆ เลยครับ หลังจากนั้นชีวิตผมมีความสุขมาก คิดอะไรก็ง่าย จำแม่น สมองโปร่ง

ผมบอกได้เลยว่าคาถาบทนี้คือ ความรู้ที่เป็นหลักที่เปรียบเสมือนใบไม้เพียงกำมือเดียวนั้น ถ้าเราพยายามเข้าใจกับหลักแล้ว จะทำให้ชีวิตเรามีความสุขมาก ไม่เครียด และปัญญาจะเกิด แล้วเราจะแก้ปัญหาชีวิตได้ อันนั้นคือสิ่งที่ผมอยากจะมาสื่อให้ฟังว่านี่คือสิ่งที่เป็นประโยชน์

สิ่งที่ท่านพุทธทาสได้บอกอีกอย่างหนึ่งคือ เหงื่อของเรานี้คือน้ำมนต์ที่ดีที่สุด อย่าคิดไปวิ่งหาน้ำมนต์ที่ไหนเลย เหงื่อคือความรักงาน เอาใจใส่งาน มุ่งมั่นทำงานเพื่อสร้างตัวเองให้ดีที่สุด

ท่านยังบอกว่าโง่สำหรับฉลาด ถ้าไม่โง่ ก็ไม่มีฉลาด จงเอาความโง่มาใช้เหมือนมีไฟ ไฟมันอันตรายเพราะมันร้อน แต่สามารถเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากมาย

นั่นคือเอาความโง่ในอดีตมาเป็นครู มาเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับอนาคต เพราะฉะนั้นใครที่เจอวิกฤติในวันนี้ ขอให้เอาคาถา 3-4 ข้อนี้ละครับไปใช้กับชีวิต

พยายามเข้าถึงธรรมะที่เป็นธรรมชาติ โดยการหลุดพ้นจากตัวกูให้มากที่สุด ที่สำคัญให้เริ่มต้นจากสังคมในครอบครัวก่อน สังคมเล็กๆ นี้ละครับ

ท่านบอกว่าทุกคนเป็นนักการเมืองทั้งนั้น หัวหน้าครอบครัวก็ต้องเป็นนักการเมือง เพราะต้องจัดครอบครัวให้มีความสุข หัวหน้าหมู่บ้านก็เป็นนักการเมือง เพราะต้องจัดหมู่บ้านให้คนในหมู่บ้านมีความสุข

เพราะฉะนั้นต้องเริ่มต้นที่ครอบครัวก่อน ถ้าเราหลุดพ้นจากตัวกูของกูในครอบครัว ครอบครัวก็จะสันติ มีความสุข

ท่านพุทธทาสบอกว่า คนขาดสติจะเป็นคนที่วิ่งหาธรรมะ แต่ธรรมะจะวิ่งหาคนที่มีสติ เพราะฉะนั้นขอให้ท่านปราศจากความเป็นตัวกูของกู และจงมีสติเพื่อให้เกิดปัญญา คิดหาทางแก้ไขปัญหาของท่านและครอบครัวต่อไป

ถึงแม้ว่าเราอยู่ในโลกประชาธิปไตย แต่ขอให้เข้าใจว่าเป็นประชาธิปไตยที่มีทุนนิยมปนอยู่ เพราะเรารับสังคมของตะวันตกมาเต็มที่

อย่างที่คุณหมอประเวศ ท่านเขียนหนังสือไว้ว่า ความสุขตามคำสอนของท่านพุทธทาสกับความสุขในค่านิยมทางตะวันตกนั้นแตกต่างกัน ตะวันตกถือว่าความสุข คือ การที่สามารถตอบสนองกิเลสของตัวเองได้

ส่วนท่านพุทธทาสนั้น ท่านสอนให้หลุดพ้นจากการเป็น ตัวกู ของกู หลุดพ้นจากกิเลสเพื่อให้จิตว่าง ถ้าจิตว่างอย่างที่สุดนั้น ท่านเรียกว่านิพพาน ซึ่งนิพพานนั้น อาจจะอยู่ในวัฏฏสงสารได้ เป็นอะไรที่เป็นข้อขัดแย้งที่สนุกดีเหมือนกัน

สุดท้ายคงจำได้ที่ว่าเราเรียนหนังสือตอนเด็กๆ เรื่องที่พระพุทธเจ้าโปรดองคุลิมาล ผมอยากให้คำโปรดของพระพุทธเจ้าครั้งนั้นเหมือนกับเป็นการโปรดให้แก่นักการเมืองทั่วไปด้วย

องคุลิมาลเรียกให้ท่านหยุด พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงตรัสว่าเราหยุดแล้วตัวท่านต่างหากที่ยังไม่หยุด องคุลิมาลก็ครุ่นคิดในคำว่าหยุด ว่าคืออะไร เพราะจะหยุดได้อย่างไรในเมื่อยังเห็นพระพุทธเจ้ายังเสด็จต่อไปข้างหน้าเรื่อยๆ

หยุดของพระพุทธเจ้าที่โปรดองคุลิมาลในที่นี้ คือ หยุดความเป็นตัวกูของกู หยุดกิเลส และจงหลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งองคุลิมาลก็หยุดได้ในที่สุด

เพราะฉะนั้นถ้านักการเมืองทุกคนสามารถหยุด ตัวกูของกู ปราศจากตัวกูของกูได้ ประเทศชาติจะมีความสุขมาก ถ้าเราทำอะไรเพื่อคนอื่น เพื่อเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมเกิด ร่วมแก่ ร่วมเจ็บ ร่วมตายได้นั้น ย่อมทำให้สังคมมีสุขและสันติสุขตลอดไป

ขอให้ทุกท่านมีความสุขตลอดไป ขอขอบคุณ สวัสดี











เสวนาโต๊ะกลม

เรื่อง พุทธทาส กับ การเมืองที่แก้วิกฤติได้จริง



ต้องขอเลียนคำที่ท่านพุทธทาสได้ใช้หลายครั้งในหลายๆ เรื่อง เพราะวันนี้เป็นวันที่เรากำลังพูดถึงธรรมะกับการเมือง ซึ่งท่านเองได้พูดเอาไว้มากที่สุด

ท่านพูดว่า เมื่อสังคมเครียด ปั่นป่วนวุ่นวาย ก็เป็นโอกาสที่ธรรมะจะเป็นที่พอใจของสังคมที่ต้องการความสงบเย็น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในช่วงเวลาตรงนี้ น่าจะเหมาะที่ธรรมะจะได้ไปมีบทบาทให้เราแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ผมขอเอาธรรมของท่านมาพูดสัก 4-5 ข้อ เป็นสิ่งที่สอนให้เราได้คิดทบทวนตัวเองได้ดีเหมือนกัน



ปรัชญาการแก้ปัญหา

ต้องแก้ที่ต้นเหตุ

อย่างมีเรื่องหนึ่งที่ท่านเคยพูด คือเรื่องลูกเสือกับลูกหมา ซึ่งสะท้อนถึงวิธีแก้ปัญหา เพราะลูกหมาเวลาคนเอาไม้ไปแหย่มัน มันจะกัดไม้แต่ลูกเสือจะกัดคนที่เอาไม้ไปแหย่ คือกัดที่ต้นเหตุ นั่นคือปรัชญาของการแก้ปัญหาคือการแก้ที่ต้นเหตุไม่ใช่ปลายเหตุ

วันนี้ประเทศไทยเราแก้ปัญหาปลายเหตุแทบทุกเรื่อง เราเลยกลายเป็นนักย้าย ปัญหามากกว่านักแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นเราต้องใช้ปรัชญาของท่านที่ว่าอยากเป็นลูกเสือหรืออยากเป็นลูกหมา เป็นคำพูดที่มีความหมายมาก แล้วก็สอนสังคมได้จับใจที่สุด



การแก้ปัญหา

ต้องคิดนอกรอบ

วิธีการอีกอย่างหนึ่งที่ท่านบอกไว้คือ วิธีศึกษาพระไตรปิฎก คือต้องศึกษาโดยที่หลุดพ้นออกจากพระไตรปิฎกเสียก่อน จึงจะเห็นพระไตรปิฎกอย่างแท้จริง นี่ล่ะครับบอกให้รู้วิธีการแก้ปัญหาคือการคิดนอกรอบ หรือคิดใหม่

ปัญหาของประเทศไทยที่เกิดขึ้นในวันนี้ บางทีเราต้องคิดหลุดพ้นจากประเทศไทยสักนิดหนึ่ง แล้วค่อยกลับมาดูในประเทศมันเหมือนกับว่าเรามีปัญหาอยู่ในห้องนี้ กำลังวุ่นวาย ถ้าเราอยู่ในห้องนี้ชุลมุนกับเขา เราไม่เห็นหรอกว่าปัญหาจริงๆ คืออะไร แต่ถ้าเราไปยืนอยู่นอกห้องจะเห็นว่าเขากำลังชุลมุนกันเพราะเรื่องนี้ เราอาจจะพบวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องได้

นั่นคือเราต้องพยายามคิดให้ได้ว่า โลกเขาเป็นอย่างไรคิดอย่างไร แล้วค่อยกลับมาดูว่าประเทศไทยวันนี้ปัญหามันคืออะไร เราจะแก้อย่างไรภายใต้พื้นฐานแห่งการมีธรรมะในสังคมทุกระดับ



มีพฤติกรรมที่เป็นธรรมะ

โดยไม่ต้องให้ใครบังคับ



ที่นี้สิ่งที่ท่านพูดในหลายๆ ข้อ ความจริงแล้วที่ IMF มาบอกประเทศไทยว่าให้เป็นรัฐบาลที่มี good governance หรือเป็นรัฐบาลที่คุณธีรยุทธ บุญมี ใช้คำว่าธรรมรัฐ ในภาษาอังกฤษมีอยู่ 2 คำ รวมกันคือ Transparency กับ accountability หมายความว่า โปร่งใสตรงไปตรงมา กับมีความรับผิดชอบหรือมีความชัดเจนในเรื่องนั้นๆ เพราะฉะนั้นตรงนี้ที่ท่านได้พูดเอาไว้นานแล้วแต่มันไม่ออกมาเป็นธรรมรัฐหรือ good governance เท่านั้นเอง

สิ่งที่ท่านพูดมานั้นถ้าปฏิบัติต่อไป เราก็ไม่ต้องให้ IMF มาบอกว่าเราต้องเป็นรัฐบาลที่เป็น good governance หรือไม่ต้องมาบอกภาคเอกชน ถ้าภาคเอกชนมีพฤติกรรมที่เป็นธรรมะอย่างนี้ ก็ไม่ต้องมาบอกว่าคุณต้องเป็นลักษณะ corperate good governance เป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความโปร่งใสชัดเจนในระบบบัญชีไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น

ความจริงธรรมะบอกแล้ว ท่านพระพุทธทาสก็พูดเอาไว้ตั้งแต่ปี 2519 เป็นแนวทำนองนี้ อันนี้มันเป็นการบอกให้รู้ ไม่ว่าเรื่องของการเห็นแก่ตัว เรื่องของการเป็น ตัวกูของกู

ท่านบอกว่าเดี๋ยวนี้มีแต่คนหน้าด้าน ไม่รู้จักกลัวบาป ละอายบาปแก่ตัวเอง จึงทำสิ่งที่ไม่ควรทำอยู่ได้ แล้วยืนยันและยืนกรานที่จะทำอยู่เรื่อยๆ นี่คือคำพูดของท่านพุทธทาสนะครับ ไม่ใช่คำพูดของผม นี่กำลังบอกอะไรบางอย่างว่าท่านพูดมานานแล้ว

แต่วันนี้ถามว่าความหน้าด้านตรงนี้มันหยุดยั้งหรือยัง ยังครับเพราะฉะนั้น ถ้าหากความมีหิริโอตตัปปะมันเกิดขึ้น ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนมันลดลงไปนะครับ อย่างที่ท่านบอกว่านิพพานมันมีๆ หายๆ ก็ได้ มันไม่ใช่ความนิ่งหรือความสงบหรือความมีจิตว่าง มันไม่ใช่ว่ามีแล้วก็อยู่ตลอดไป บางทีอาจจะมีแล้วหายไป หรือความว่างอะไร พวกนี้ที่มีแล้วก็หายไป ถ้าเรามีสิ่งนี้ คำว่า good governance ไม่ต้องให้ IMF มาบอกแต่เราทำได้เอง



นักการเมือง

ต้องรักเพื่อนมนุษย์

ท่านพูดถึงเรื่องนักการเมืองโพธิสัตว์ ซึ่งบอกให้เรารู้ว่า ถ้าหากเป็นนักการเมืองต้องรักเพื่อนมนุษย์

ผมบอกนักการเมืองที่จะเข้ามาทำงานการเมืองกับผมว่าถ้าใครไม่มีทัศนคติรักประชาชน อย่าคิดมาเป็นนักการเมือง เพราะมันผิดตั้งแต่เบื้องต้นแล้วเป็นไปมันก็มีแต่เสียทุกอย่าง เสียทั้งตัวเขา เสียทั้งบ้านทั้งเมือง เสียทั้งพรรค เพราะฉะนั้นคำว่ารักเพื่อนมนุษย์เป็นคำพูดที่เหมาะสมมาก

คนที่คิดจะมาทำงานการเมือง หรือผู้แทน ชื่อก็บอกแล้วว่าคุณมีหน้าที่เป็นตัวแทนมากทำงานเพื่อประชาชน มาจัดการให้คนทั้งหลายอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข แต่เขาไม่ได้บอกให้คุณอาสาเพื่อมาทำงานให้ตัวคุณเองร่ำรวย ทำให้คุณหลงใหลในเกียรติยศของคุณ มันไม่ใช่ตรงนั้น

เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ได้ทำงานด้วยความรักเพื่อนมนุษย์ คุณก็จะมีแต่ตัวตน ตัวกูของกู ตรงนี้ท่านบอกไว้หมดแล้ว ว่าเราต้องรักเพื่อนมนุษย์



นักการเมืองต้องเป็น

ตัวอย่างที่ดีของความกตัญญู

ประการสุดท้ายที่น่าสนใจ คือ ความกตัญญู อย่างที่ผมพูดไปแล้ว นักการเมือง ต้องเป็นตัวอย่างของความกตัญญูที่ดี เพราะนักการเมืองเป็นคนที่อยู่ในจุมองเห็นชัดที่สุดของสังคม มีสื่อมวลชนต้องเดินตามนักการเมืองตลอดเวลา ต้องสัมภาษณ์ ต้องถ่ายออกทีวี พฤติกรรมของนักการเมืองที่แสดงออกมาย่อมสะท้อนต่อสังคมมากกว่าอาชีพอื่น

เพราะฉะนั้นถ้านักการเมืองเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ตรงนี้จะให้พระไปโปรดเท่าไหร่ ให้ธรรมะไปเท่าไหร่ ก็ยังคงทำให้เด็กรุ่นใหม่ๆ เข้าใจผิด แบบเดิมๆ อยู่ นักการเมืองเป็นคนที่เห็นได้ชัดที่สุด จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้



เน้นการเรียนรู้

ด้วยความเข้าใจ



อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องการศึกษา ท่านได้พูดว่าธรรมะนี้มันอยู่ในตัวคน มันไม่ใช่ว่าใครมาท่องมาอ่าน มาจำ มาท่องแบบเครื่องจักรกล ที่ส่งเสียงอย่างนั้นไม่ได้อะไรขึ้นมา เพราะฉะนั้นถ้าคนที่มานั่งฟังธรรมะไปเรียนธรรมะ โดยที่ไม่มีความรู้สึกว่าตัวเองกำลังต้องการธรรมะ ก็จะไม่ได้อะไรเลย

นั่นคือท่านสอนวิธีการเรียนการสอนว่า ต้องเรียนต้องสอนด้วยความเข้าใจไม่ใช่ระบบท่องจำ ระบบการเรียนการสอนของเรากำลังสอนให้เด็กท่องจำ ซึ่งท่านกำลังสอนวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ให้เรา แล้วท่านก็ยังสอนให้คนรุ่นหลังๆ รู้จักรักสิ่งแวดล้อม ซึ่งระยะหลังเราต้องยอมรับว่าสิ่งแวดล้อมเราเสียหายมากอันนี้จะเป็นผลต่อความผาสุกของคนในสังคมในอนาคต



พรรคการเมืองต้องศึกษา

และแก้ไขจุดอ่อนของสังคม

อีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องกาลามสูตร 10 ข้อ

อันนี้ท่านสอนให้รู้ทั้งการศึกษา สอนสังคมไทย แล้วก็สอนวิธีการคิดให้คนไทยในการผลิตสินค้า ประเทศไทยเราวันนี้เป็นประเทศที่เป็นนักทำตามแต่ก็ตามไม่ค่อยทันเพราะเราไม่ค่อยคิดอะไรของเราเอง เราทิ้งภูมิปัญญาเดิมของเราที่เคยมีอยู่มากพอสมควร

ดังนั้นเราต้องกลับมาสร้างภูมิปัญญา สะสมทุนทางปัญญาของตัวเองให้มากขึ้น เพื่อที่เราจะได้ไม่เลียนแบบคนอื่นหรือตกเป็นเหยื่อของการซื้อวัตถุดิบซื้อเทคโนโลยีที่ไม่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีกรอบของการที่จะนั่งคิดฟื้นฟูภูมิปัญญาไทยแล้วก็คิดสร้างภูมิปัญญาใหม่สะสมทุนปัญญาใหม่

อันนั้นก็เป็นสิ่งที่ท่านพูดในกาลามสูตร 10 ข้อ สอนวิธีคิดให้เชื่อ หรือไม่เชื่อคน แล้วสังคมไทยเรามีจุดอ่อนตรงนี้จริงๆ เราเชื่อง่ายเป็นสังคมกระแสเพราะคนนี้พูดอย่างนี้เราจึงเชื่อ หรือเพราะคนว่าอย่างนั้นมาเราเลยเชื่อ บางทีเราไม่ได้ดูต่อ ไม่ได้ศึกษาว่าที่เขาเชื่อนั้นคืออะไร

บางทีพรรคการเมืองเห็นจุดอ่อนของสังคมตรงนี้ แล้วใช้จุดอ่อนตรงนี้เป็นประโยชน์แก่การเมืองของตัวเอง ซึ่งตรงนี้อันตรายมาก พรรคการเมือง มีหน้าที่ศึกษาจุดอ่อนของสังคมแล้วแก้ไข ไม่ใช่มาใช้จุดอ่อนของสังคม เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง ตรงนี้สังคมจะแย่ลง เลวร้ายลงกว่าเดิม

เพราะฉะนั้นวันนี้ พรรคการเมืองต้องมีสำนึกที่จะหาทางว่าทำยังไงที่สังคมมีจุดอ่อนแล้วมาช่วยกันแก้ ตรงนี้ยังเป็นจุดอ่อนจุดหนึ่ง คือวิธีคิดวิธีเชื่อของคน เชื่อเพราะว่าคนนี้เราชอบแล้วเชื่อ ซึ่งบางครั้งความเกลียด หรือความรักมันทำให้จิตไม่ว่าง ไม่เป็นกลาง เพราะฉะนั้นถ้าจิตไม่ว่าง การตัดสินใจทั้งหลายบนสิ่งที่ไม่มีธรรมะ ก็จะผิดหมด

ท่านบอกว่าธรรมะไม่มีซ้ายไม่มีขวา ธรรมะคือตรงกลาง ถ้าจิตคนไม่ว่างต้องไปเชื่อตรงนั้นตรงนี้นี่จะทำให้คนหลงผิดแล้วเข้าใจผิดได้ อันนั้นก็เป็นวิธีสอนของท่านที่จะให้สังคม และการศึกษาได้พัฒนาเพื่อป้องกันมิให้คนเชื่อสิ่งใดโดยขาดวิธีคิดที่รอบด้านและรอบคอบ



การเมืองไทย

ในปี 2000



การเมืองบ้านเราในวันนี้ เราใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในปี 2000 คือ ปีหน้าผมเชื่อว่าอย่างน้อยๆ ความตื่นตัวของประชาชนและองค์กรต่างๆ จะออกมาผลักดันมากขึ้น เพราะหลายฝ่ายอยากเห็นการเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นให้สมกับเจตนารมณ์ที่ตั้งใจไว้ว่า จะปฏิรูปการเมือง

แต่การปฏิรูปจะสมบูรณ์ดต่อเมื่อกฏหมายลูกทั้งหมดออกมากเรียบร้อยและมีการปฎิบัติภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ผมเชื่อว่าอย่างน้อยการเมืองในปี 2000 คงจะดีขึ้น คนหน้าใหม่ๆ จะเข้าสู่การเมืองมากขึ้น แต่คนหน้าเก่าๆ จะทำพฤติกรรมแย่อย่างงเก่าก็คงยากขึ้นด้วยเพราะระบบตรวจสอบถ่วงดุลจะมีมากขึ้น

อีกประการหนึ่ง ในเมื่อยุคสงครามเย็นมันสงบ แล้วสงคราม มันไม่ใช่การแบ่งเป็น 2 ขั้วอีกต่อไป มันเหลือขั้วเดียว ก็กลายเป็นว่าอเมริกาเป็นประเทศที่แทบจะครองทุกอย่าง เพราะฉะนั้นการที่จะดำเนินกลยุทธ์ทุกอย่างทั้งเรื่องของการค้าขาย การลงทุนในแบบของอเมริกัน หรือแบบของตะวันตกมันจะรุนแรงมากขึ้น

ระบบนี้เป็นระบบที่แน่นอน และเอื้ออำนวยต่อทุนนิยมมาก ยิ่งใหญ่ยิ่งได้ประโยชน์ทั้งประเทศทั้งตัวบริษัท เพราะฉะนั้นบริษัทต่างประเทศจึงพยายามใช่วิธีการควบคุมกิจการข้ามชาติมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะเห็นข่าวมากขึ้นเรื่อยๆ



การเมืองที่ดีต้องช่วยผลักกระบวนการสร้างเถ้าแก่รายใหม่

ฐานสำคัญที่สุดของประเทศไทยวันนี้คือ ต้องสร้างฐานคนที่ทำธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ให้แข็งแกร่งในทุกระดับ ระดับหนึ่งคือฐานที่ตัวใหญ่ๆ ทำไม่ได้ หรือทำสู้คนเล็กๆ ไม่ได้ ตรงนี้เราทำได้

อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องการใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของเรา ที่มาพัฒนาให้ทันต่อโลกต่อการบริโภคของโลก ตามแนวทางที่โลกต้องการบริโภค อันนั้นคือเรื่องของเศรษฐกิจ

แต่ก่อนคนไทยถูกสอนว่าเรียนจบมาให้ไปหางานทำ ไปเป็นมนุษย์เงินเดือนให้หมด จึงไม่เกิดคนที่สร้างงานหรือคนที่เป็นเถ้าแก่รุ่นใหม่ๆ ปัจจุบันความเข้าใจลึกซึ้งที่จะส่งเสริมให้คนที่จะสร้างงาน หรือเป็นเถ้าแก่ใหม่ๆ ไม่มีเพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องเกิดระบบการสร้างเถ้าแก่รายใหม่ๆ ไม่มีเพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องเกิดระบบการสร้างเถ้าแก่รายใหม่ เพื่อจะให้คนที่ตกงานวันนี้ หรือจบใหม่วันนี้ได้มีงานทำมากขึ้น อันนี้ก็เป็นแนวทางที่เศรษฐกิจในยุคปี 2000 หรือแนวทางในยุค 2000 การเมืองยุค 2000 จะเป็นอย่างนั้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนเราอย่าทิ้งหลักธรรมะ อย่างน้อยๆ มันช่วยตัวเองมันช่วยครอบครัว แล้วก็ถ้าเรามีความสงบที่ตัวเราเอง ที่ครอบครัวเรามีปัญญา ฉลาดขึ้น ทำให้คิดอะไรมากขึ้น ทำให้เราฝ่าคลื่นลมได้ เราต้องยอมรับว่าคลื่นลมข้างหน้ามันมีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลื่นลมที่เราหวังจะเอาธรรมะไปต่อสู้ ต้องยอมรับว่ากระแสที่สวนทางมามันใหญ่โตมากกว่าพลังที่เรามีอยู่ แต่ว่าก็ยังสามารถรอดได้ ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ในตัวเอง





ธรรมะนำการเมือง

สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ

ทีนี้ท่านถามเกี่ยวกับจะใช้ธรรมะข้อไหนในการแก้ปัญหาบ้านเมืองนั้นผมคิดว่า วันนี้จริงๆ แล้ว จิตสำนึกของเราจะต้องคิดเรื่องความกตัญญูเรื่องของการตัดสินใจทุกสิ่งด้วยจิตที่เป็นกลาง เพราะธรรมะเขาบอกให้เป็นกลาง จิตที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด จิตที่นึกถึงสังคมส่วนใหญ่เป็นหลัก นึกถึงประเทศชาติเป็นหลักในการตัดสินใจ ในการแก้ปัญหา

คงเคยได้ยินว่าท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ตอนที่เป็นนายกรัฐมนตรีท่านได้ไปพบกับท่านพุทธทาส ท่านพุทธทาสได้บอกว่าอันความดีก่อนที่ท่านจะเป็นนายกฯ นั้น ท่านก็พึงกระทำมาพอสมควร แต่ทำไมถึงมาเป็นนายกฯ แล้วไม่มีความดีเหลือเลย ถูกสื่อมวลชนด่าทุกวัน ซึ่งตอนนั้นต้องยอมรับว่าท่านอาจารย์สัญญาถูกว่ากล่าวจากสาธารณะมาก

ท่านพุทธทาสจึงให้คำไว้ 4 คำ คือ สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ นั้น ก็คือ ต้องมีความบริสุทธิ์ใจในการทำหน้าที่ บริสุทธิ์อย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้ปัญญา ใช้ความรู้ ต้องมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ เพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วสุดท้ายก็ต้องมีความอดทนหรือขันติ ถือเป็นธรรมะที่น่าจะไปสอนใจคนที่ต้องไปทำหน้าที่นี้ในทุกๆ ยุค







สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ

พุทธทาสที่ข้าพเจ้ารู้จักในทางการเมือง

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร



ประชาธิปไตย ที่ว่าของประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชนนั้น ใช้ได้เฉพาะประชาชนที่มีธรรมเท่านั้น, ถ้าประชาชนไม่มีธรรม มันก็กลายเป็นประชาธิปตาย เท่านั้นเอง, ดังนั้นต้องหว่าพืชธรรมก่อนพืชประชาธิปไตย

ประชาธิปไตย เพื่อลดหรือป้องกันความหกต. ถ้าเห็นแก่ตัวก็มีแต่ประชาธิปตาย, โดยไม่รู้สึกตัว ความไม่เห็นแก่ตัวจึงเป็นรากฐานของประชาธิปไตย, ประชาธิปไตยแท้จึงมีแต่ ความไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นของมีได้ยาก สำหรับปุถุชน สมัยนี้ที่บูชาวัตถุ

ธรรมมีความเป็นประชาธิปไตย อยู่ในตัวเองเพราะหมายถึงความไม่เห็นแก่ตัว อยู่โดยธรรมชาติ, อย่าแยกความไม่เห็นแก่ตัว ออกจากประชาธิปไตย





เรียบเรียงจากปาฐกถาพิเศษโดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

จัดโดย มูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐ ณ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์

วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน 2542

 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง